โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

เลือกตั้งเม็กซิโกได้ 'อัมโล' ว่าที่ ปธน.คนใหม่ผู้วิจารณ์นโยบายทรัมป์

Posted: 02 Jul 2018 01:39 PM PDT

อังเดร มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ หรือ 'อัมโล' จากพรรคโมเรนา พรรคฝ่ายซ้ายของเม็กซิโกประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาด้วยคะแนนท่วมท้นเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ

เขาประกาศจะส่งเสริมระบบภายในประเทศเพื่อทำให้คนกินดีอยู่ดีและเกิดความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งเขามองว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและผู้อพยพได้ ถึงแม้อัมโลจะบอกว่าต้องการเจรจาหาข้อตกลงกับโดนัลด์ ทรัมป์ ในประเด็นผู้อพยพซึ่งเป็นข้อพิพาทในสหรัฐฯ ตอนนี้ แต่ก็มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าเม็กซิโกจะแข็งข้อต่อสหรัฐฯ กับบรรษัทข้ามชาติมากขึ้น

แฟ้มภาพ Andrés Manuel López Obrador เมื่อ 27 มิถุนายน 2012 ล่าสุดเขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเม็กซิโกเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาอย่างถล่มทลาย
ที่มา: Eneas De Troya/Cierre de Campaña/Wikipedia

ผู้แทนฝ่ายซ้ายของเม็กซิโก อังเดร มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดอย่างถล่มทลาย จากผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 โดยแสดงให้เห็นว่าโอบราดอร์ที่ผู้สนับสนุนเขาตั้งชื่อเล่นให้ว่า อัมโล (AMLO) มีคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ทำให้ตัวแทนจากพรรคอื่นๆ ประกาศยอมแพ้

"วันนี้ พวกเขายอมรับชัยชนะของพวกเราแล้ว" อัมโลประกาศต่อหน้าฝูงชนผู้สนับสนุนเขาในเม็กซิโกซิตี โดยที่คู่แข่งหลักของเขาทั้ง 3 คน ต่างก็ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้หลังจากที่มีการนับคะแนนหลังปิดคูหาไปได้เพียง 2 ชั่วโมง

โดยขณะที่รายงานอยู่นี้ (03.27 น.) ผลการเลือกตั้งนับไปแล้ว 72% อัมโลได้ 21.641 ล้านคะแนน คิดเป็นร้อยละ 53.2% ส่วนคู่แข่ง อานาญา ได้ 9.158 ล้านคะแนน หรือ 22.5% แมเด ได้ 6.563 ล้านคะแนน หรือ 16.1%

จอห์น เฟฟเฟอร์ นักวิเคราะห์จากสหรัฐฯ ระบุว่าอัมโลเกรียบเสมือนเป็น "เบอร์นี แซนเดอร์ส แห่งเม็กซิโก" ที่เน้นเรื่องสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ขณะที่ เกลซี ฮอฟฟ์แมนน์ ประธานพรรคแรงงานของบราซิลมองว่าถ้าหากอัมโลชนะในครั้งนี้อาจจะกลายเป็นการจุดกระแสให้ฝ่ายก้าวหน้ากลับมารุ่งเรืองในลาตินอเมริกาอีกครั้งในแบบที่เรียกว่า "กระแสสีชมพู" (Pink Tide)

อัมโลเป็นตัวแทนจากพรรคฝ่ายซ้ายของเม็กซิโกที่ชื่อโมเรนา (Morena) เขามีภาพลักษณ์เป็นฝ่ายซ้ายประชานิยมผู้ที่เน้นพูดถึงการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น เน้นชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มความเข้มแข็งของระบบตลาดภายในประเทศและส่งเสริมการบริโภคสินค้าในประเทศ โดยมองว่ามันจะทำให้ "ชาวเม็กซิกันสามารถทำงานและมีความสุขกับถื่นกำเนิดของตัวเองได้ ที่ๆ ครอบครัวของพวกเขาอยู่ ที่ๆ มีวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขาอยู่"

ในประเด็นผู้อพยพนั้น อัมโลบอกว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานควรจะเป็นการกระทำที่คนๆ นั้นเลือกเอง แทนที่จะต้องอพยพหรือลี้ภัยจากประเทศตัวเองด้วยความจำเป็น ทั้งนี้อัมโลยังมีภาพลักษณ์เป็นผู้วิพากษ์โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นของการกีดกันผู้อพยพและการขู่สร้างกำแพงกั้นสหรัฐฯ กับเม็กซิโก โดยที่อัมโลบอกว่าเขาต้องการเจรจาข้อตกลงกับทรัมป์ในประเด็นผู้อพยพว่าควรแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างงานและการพัฒนามากกว่าจะสร้างกำแพงกั้นพรมแดน

อัมโลกล่าวปราศรัยหลังคำประกาศชัยชนะว่าเขาจะสานสัมพันธ์ใหม่กับสหรัฐฯ โดยเน้นเรื่องความเคารพร่วมกันทั้งสองฝ่ายและการคุ้มครองผู้อพยพชาวเม็กซืโกผู้ที่ทำงานและอาศัยอยู่อย่างสุจริตในประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังกล่าวว่าเขาจะทำตามแผนการสันติภาพร่วมกับผู้แทนของอยู่สหประชาชาติ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และองค์กรศาสนา เพื่อช่วยแก้ปัญหาอัตราอาชญากรรมที่สูงในเม็กซิโก โดยที่อัมโลเคยวิจารณ์ผู้นำคนก่อนหน้านี้ของเม็กซิโกว่าไม่สามารถจัดการปัญหาอาชญากรรมและการทุจริตได้เพราะปล่อยให้มีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ทวีตแสดงความยินดีกับอัมโลและระบุว่ามีความมุ่งหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับเขา

ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะดีขึ้นจริงหรือ?

สื่อสายก้าวหน้าจากสหรัฐฯ Toward Freedom เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับอัมโลตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาโดยระบุว่ามีการประเมินเอาไว้ในสื่อหลายสำนักว่าอัมโลมีโอกาสชนะเลือกตั้งสูงมาก ขณะที่กลุ่มธุรกิจพยายามกดดันคนงานให้เกลียดอัมโลและขบวนการโมเรนาโดยขู่ว่า "ประชานิยม" ของเขาจะทำให้ประเทศกลายเป็นแบบคิวบาและเวเนซุเอลา แต่ในความเป็นจริงแล้วอัมโลตามจากผู้นำสังคมนิยมของสองประเทศนี้มาก และขณะเดียวกันก็อาจจะส่งอิทธิพลต่อสหรัฐฯ มากกว่าที่ฮิวโก ชาเวซ เคยส่งอิทธิพลไว้เสียอีก

อย่างไรก็ตาม Toward Freedom ประเมินไปในทางตรงกันข้ามกับที่อัมโลแสดงออกไว้ โดยระบุว่าองค์การนานารัฐอเมริกัน (OAS) มักจะปล่อยให้สหรัฐฯ โดดเดี่ยวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทูตสหรัฐฯ มักจะใช้วิธีให้เม็กซิโกเป็นตัวกลางในการส่งอิทธิพลทางนโยบายต่างประเทศในภูมิภาคนี้ แต่การที่อัมโลขึ้นดำรงตำแหน่งก็อาจจะทำให้เขาไม่เล่นตามบทเดิมที่เม็กซิโกเคยเป็นตัวกลางให้สหรัฐฯ กับ OAS อีกต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่าอัมโลจะดำเนินนโยบายปรับปรุงการค้าเสรีกับต่างประเทศในทางที่ให้ประโยชน์กับเม็กซิโกมากขึ้น ขณะเดียวกันการพยายามเสนอนโยบายให้ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้น เช่นการให้สวัสดิการนักศึกษา ทุนการศึกษา ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการพัฒนาชนบท และการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ก็อาจจะทำให้ชาวเม็กซิกันมีแรงจูงใจในการอพยพออกนอกประเทศน้อยลง

ทว่า Toward Freedom ก็ยังประเมินว่าถ้าหากผู้นำฝ่ายซ้ายคนใหม่ดำเนินนโยบายสำเร็จก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะมีท่าทีเชิงรุกและอยากแทรกแซงพวกเขามากขึ้นจากข้อสังเกตที่ว่าสหรัฐฯ เคยแทรกแซงประเทศลาตินอเมริกาที่เป็นสังคมนิยม หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยมาก่อนแทบทั้งสิ้น

เรียบเรียงจาก

Lopez Obrador scores landslide victory as Mexico votes for change, CNN, 02-07-2018

Leftist Candidate López Obrador Will Likely be Mexico's Next President: What Will It Mean for the US?, Toward Freedom, 12-06-2018

Mexico's 'Bernie Sanders' Wins in a Huge Historic Landslide With Mandate to Reshape the Nation, Common Dreams, 01-07-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Andrés Manuel López Obrador, Wikipeida

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ 'บาร์เซโลนา' เลือกรับผู้อพยพมากกว่านักท่องเที่ยว

Posted: 02 Jul 2018 01:11 PM PDT

หนึ่งในภาพจำอย่างหนึ่งที่ฝ่ายขวาชอบอ้างใช้กันคือการอ้างว่าผู้อพยพเป็น "ผู้รุกราน" หรือเป็นผู้ขออาศัย แล้วมองนักท่องเที่ยวด้วยภาพบวก แต่ทว่าชาวเมืองบาร์เซโลนาไม่ได้มองเช่นนั้น เขาเห็นว่าผู้ที่ทำลายอัตลักษณ์ของเมืองไม่ใช่ผู้อพยพแต่เป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป ขณะเดียวกันก็ยินดีต้อนรับผู้อพยพมากกว่าเพราะพวกเขามองเป็นส่วนหนึ่งของผู้ช่วยสร้างบ้านเมือง

ภาพประกอบ:  Casa Milà (Barcelona) ปี 2010 ที่มา: SBA73/Wikipedia

ในบาร์เซโลนาประเทศสเปน มีผู้คนจำนวนมากที่อยากให้การต้อนรับผู้ลี้ภัยมากกว่าอยากได้นักท่องเที่ยว พวกเขาเคยเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลสเปนยอมรับผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว ในครั้งนั้นมีผู้ชุมนุมราว 150,000 คน หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนพ่นสีบนกำแพงเมืองเป็นข้อความว่า "นักท่องเที่ยวกลับบ้านไป ยินดีต้องรับผู้ลี้ภัย" รวมถึงมีการประท้วงเรียกร้องประเด็นนี้ตามมาจากฝูงชนมหาศาลที่มาพร้อมคำขวัญ "บาร์เซโลนาไม่ใช่เอาไว้ขายใคร" และ "พวกเราจะไม่ยอมถูกขับออกไป"

มีเรื่องที่ชวนสงสัยว่าเหตุใดประชาชนเหล่านี้ถึงต้อนรับผู้ลี้ภัยแต่ปฏิเสธนักท่องเที่ยว และกลับมองว่านักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มคนที่จะทำให้พวกเขา "ถูกขับออกไป" ซึ่งผิดกับข้ออ้างของกลุ่มขวาจัดที่มักจะอ้างว่าผู้ลี้ภัยเป็น "ผู้รุกราน" แต่ในบาร์เซโลนาพวกเขาไม่เชื่อตามโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มขวาจัด ในทางตรงกันข้ามพวกเขากลับมองว่านักท่องเที่ยวต่างหากที่เป็น "ผู้รุกราน" และเป็นอันตรายต่ออัตลักษณ์ของพวกเขามากกว่า

ในบาร์เซโลนามีปัญหาเรื่องจำนวนชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมแค่ร้อยละ 2 ในช่วงปี 2543 แต่ในปี 2548 ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 15 และในปี 2561 ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18 ทั้งนี้ชาวบาร์เซโลนาไม่เคยประท้วงต่อต้านผู้ลี้ภัยเลย พวกเขายังยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้มีเงินทองแทนนักท่องเที่ยวที่เอาเงินเข้าประเทศด้วยเหตุผลที่ว่า "ผู้อพยพจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเมือง แต่การท่องเที่ยวจะทำให้เมืองขาดเสถียรภาพ" ซึ่งแม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของบาร์เซโลนาก็เห็นด้วยว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปถือเป็นปัญหา

ตัวเลขของนักท่องเที่ยวในบาร์เซโลนาช่วงปี 2533 มีการรับนักท่องเที่ยว 1.7 ล้านราย แต่ในปี 2560 พวกเขารับนักท่องเที่ยวมากถึง 32 ล้านราย ถือเป็นปริมาณที่มากกว่าประชาชนในท้องถิ่น 20 เท่า การที่นักท่องเที่ยวทะลักเข้ามามากเกินไปเช่นนี้ทำให้ราคาค่าเช่าสูงขึ้น บีบให้ผู้อาศัยในพื้นที่ถูกขับออกจากย่านของตัวเอง และทำให้พื้นที่สาธารณะแออัดไปด้วยผู้คน

จากการวิจัยของเปาโล เกียกคาเรีย นักสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยตูรินระบุว่า ในกรณีของบาร์เซโลนานั้นมีการแยกแยะระหว่างคนเข้าเมืองสองจำพวกคือนักท่องเที่ยวกับผู้อพยพ แต่ก็ต่างจากที่อื่นที่มองผู้อพยพทางบวกมากกว่านักท่องเที่ยว

ในเรื่องนี้นาตาเลีย มาร์ติเนซ ส.ส. เขตซิวแทตเวลลา ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่ของบาร์เซโลนากล่าวว่า พวกเขามองทั้งผู้อพยพเข้าเมืองและนักท่องเที่ยวว่าจะส่งผลดีเพราะพวกเขาหลอมรวมทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้ ทำให้ในแง่อัตลักษณ์แล้วตนเข้าเมืองจะช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์มากกว่าฉกฉวยเอาอัตลักษณ์ไป แต่ ส.ส. อีกรายหนึ่งคือ ซานติ อิบาร์รา มองต่างออกไปเล็กน้อยคือมองว่าขณะที่ผู้อพยพจะช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของเมือง แต่นักท่องเที่ยวจะเป็นผู้ฉกฉวยอะไรบางอย่างไป

ตัวเมืองบาร์เซโลนาเองก็เป็นเมืองที่เป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมจากผู้อพยพหลากหลายทิศทางมานานแล้วโดยเฉพาะในย่านชนชั้นแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรป, ชาวลาตินอเมริกา, ชาวแอฟริกาเหนือ หรือแม้กระทั่งชาวจีนหรือชาวปากีสถาน จนมีคนที่มีเชื้อสายดั้งเดิมจริงๆ น้อยมาก แต่สิ่งนี้เองที่กลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ทำให้บาร์เซโลนามีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกาตาลุญญาหรือสเปน เด็กลูกผสมที่เกิดจากพ่อแม่ต่างเชื้อชาติกันก็มักจะบอกว่าตนเองเป็น "ชาวบาร์เซโลนา" มากกว่าจะบอกว่ามาจากที่อื่น

แน่นอนว่าในบาร์เซโลนาก็มีพวกเหยียดเชื้อชาติสีผิวแบบที่อื่น แต่ทว่าฝ่ายรัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจปล่อยให้การเหยียดเชื้อชาติกลายเป็นปัญหาลุกลาม โดยตั้งแต่ปี 2553 สภาเมืองมีการดำเนินนโยบายประสานรวมทางวัฒนธรรม (interculture) แทนการดูดกลืนวัฒนธรรม (assimilation) ที่จะเป็นการเคารพในความต่างทางวัฒนธรรมและทางศาสนาซึ่งนโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนในวงกว้าง และทำให้ผู้อพยพไม่กลายเป็นแพะรับบาปเวลาที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายปี

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะทำรายได้ให้กับบาร์เซโลนา แต่ประชาชนบาร์เซโลนาก็มองว่าควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้มากเกินไป ปัญหาเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับเมืองของอิตาลีอย่างเวนิซด้วย โดยที่แพทริเซีย ริกันตี อาจารย์ด้านสภาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมเทรนต์กล่าวว่า มีนักท่องเที่ยวจำพวกที่เรียกวา "มากินทิ้งกินขว้างแล้วก็ไป" ทำให้เกิดมลภาวะต่อท้องถิ่นของพวกเขา นักท่องเที่ยวเหล่านี้สร้างปัญหามากกว่าผู้อพยพเสียอีก

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเรื่องความรู้สึกแปลกถิ่นแม้จะอยู่ในบ้านเกิดของตัวเองซึ่งมาจากความเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์และพลวัติทางอำนาจที่มาจากการท่องเที่ยว แต่กับผู้อพยพแล้วชาวบาร์เซโลนามองว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ทำงานสร้างชุมชนและเป็นส่วนหนึ่งที่ให้อะไรบางอย่างกับเมือง แต่นักท่องเที่ยวมาแค่เป็นผู้ใช้สิ่งเหล่านี้

เรียบเรียงจาก

'Tourists go home, refugees welcome': why Barcelona chose migrants over visitors, The Guardian, 25-06-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วอยซ์ทีวีโดน กสทช. พักออกอากาศ 2 รายการข่าวเหตุขัดประกาศ คสช.

Posted: 02 Jul 2018 09:01 AM PDT

กสทช. ลงดาบวอยซ์ทีวีพักออกอากาศรายการข่าว The Daily Dose และ Wake Up News สามวัน ผอ.ฝ่ายข่าวเผย โดนแบนเพราะเนื้อหากระทบความมั่นคง อาจสร้างความแตกแยก มีอคติ ไม่เป็นกลาง ขัดประกาศ คสช. หากฝ่าฝืนอาจถึงขั้นถอนใบอนุญาต ทำให้วอยซ์ขึ้นแท่นเป็นสื่อที่ถูกลงโทษบ่อยที่สุดในยุคที่ กสทช. มีเครื่องมือควบคุมสื่อมากขึ้น

โลโก้วอยซ์ทีวี

2 ก.ค. 2561 สำนักข่าวสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี รายงานว่า มีคำสั่งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งพักออกอากาศรายการข่าว The Daily Dose และ Wake Up News เป็นเวลาสามวัน เพื่อให้บริษัทวอยซ์ทีวี ได้พิจารณาปรับปรุง แก้ไข ทบทวนแนวคิด รูปแบบและเอกลักษณ์ รวมถึงกระบวนการคัดเลือก กลั่นกรองและตรวจสอบเนื้อหารายการให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ หากยังฝ่าฝืน กสทช. อาจต้องมีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตในการให้บริการ หรือพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลที่ช่องวอยซ์ทีวีให้บริการในชื่อช่อง 21 วอยซ์ทีวี

คำสั่งของ กสทช. ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 19 ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ออกตามความในมาตรา 27 (6) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 7 มาตรา 16 พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งให้อำนาจ กสทช. มีอำนาจในการดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อใบอนุญาตของผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ กสทช. เป็นผู้กำกับดูแล

ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีโพสท์ในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า กสทช. อ้างว่ารายการที่ถูกพักออกอากาศนั้นนำเสนอเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง อาจสร้างความแตกแยก มีอคติ ไม่เป็นกลาง ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 และ 103 รวมทั้งข้อตกลงที่วอยซ์เคยทำไว้กับ กสทช. ทั้งนี้ เมื่อ กสทช.มีคำสั่งมาแล้วก็คงต้องปฏิบัติตาม แต่จะเรียกร้องความยุติธรรมกับศาลปกครองต่อไป

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 97/2557 ห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนให้ระงับการเผยแพร่ทันทีละให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 103/2557 หลังมีเสียงค้านอย่างหนักจากสมาคมวิชาชีพสื่อ จึงแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97 ให้สื่อวิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม

ประทีปเขียนในโพสท์เพิ่มเติมว่า คำสั่งพักออกอากาศ Wake Up News จะมีผลตั้งแต่วันที่ 3-5 ก.ค. นี้ โดยจะมีรายการ Voice News มาแทนชั่วคราว ส่วนรายการ The Daily Dose มีผลให้พักออกอากาศตั้งแต่คืนนี้ (2 ก.ค.) ถึง 4 ก.ค. โดยจะมีรายการ Overview มาแทนชั่วคราว แต่ส่วนตัวยังยืนยันในเสรีภาพการแสดงออกตามกรอบที่รัฐธรรมนูญรับรอง

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รายงานว่าวอยซ์ทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ถูก กสทช. ลงโทษจากการนำเสนอเนื้อหามากที่สุดหลังการรัฐประหารปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 วอยซ์ทีวีถูก กสทช. มีคำสั่งลงโทษถึง 20 ครั้ง นับว่ามากที่สุดในหมู่สื่อมวลชนด้วยกัน มาตรการที่โดนก็เป็นทั้งการตักเตือน ทำความเข้าใจ ปรับปรุงเนื้อหารายการ ปรับเงิน พักออกอากาศรายการ ระงับการดำเนินงานของพิธีการไปจนถึงระงับการออกอากาศทั้งสถานีมาแล้ว

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รายการ Tonight Thailand โดน กสทช. ระงับออกอากาศ 15 วัน หลังรายงานและวิเคราะห์กรณี "หน้ากากยุทธ์น็อคคิโอ" และครบรอบ 10 ปีทักษิณกราบแผ่นดิน ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเนื้อหาและสาระสำคัญของรายการ Tonight Thailand ในวันดังกล่าวแล้วเห็นว่าการนำเสนอรายการมีลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร จึงห้ามมิให้ออกอากาศในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 130/2557

เมื่อ 27 มี.ค. ปีที่แล้ว วอยซ์ทีวียุติการออกอากาศทั้งสถานี หลังจากถูกกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) สั่งพักใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่าวอยซ์ทีวีมีการกระทำผิดซ้ำเดิม ให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก

ตามคำสั่ง กสทช. ระบุว่า รายการที่ "มีความผิด" ทำให้ กสทช. สั่งยุติออกอากาศทั้งสถานี คือ

1.รายการใบตองแห้งออนแอร์ ตอน จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ

2.รายการ In Her View ตอน ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร

3.รายการ Overview ตอน ยันกองทัพป้องทหารยังยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี

ข้อมูลชุดเดิมจากไอลอว์ระบุว่า กสทช. ได้ลงโทษการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในเนื้อหาประเด็นการเมือง โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง, บันทึกข้อตกลงระหว่างสื่อและกสทช. และมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไปแล้ว อย่างน้อย 54 ครั้ง โดยสื่อที่ถูกลงโทษมากที่สุดรองจากวอยซ์ทีวีคือพีซทีวีซึ่งเป็นทีวีดาวเทียม ล่าสุดเมื่อ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา กสทช. สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการของพีซทีวีเป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากมีเนื้อหารายการอันเป็นการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร และยังเป็นการนำเสนอที่ขัดต่อคำสั่งศาลปกครอง ที่มีคำสั่งให้บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 และฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก

กสทช. มีเครื่องมือในการควบคุมการลงโทษการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปี 2559 มีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 41/2559 หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการใช้ ม.44 ในการออกคำสั่ง เรื่องการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่ให้อำนาจ กสทช. ตัดสินและกำหนดกับสื่อมวลชนโดยเว้นโทษความผิดแพ่งและอาญาต่อคณะทำงาน นั้นหมายความว่า กสทช. สามารถออกคำสั่งควบคุมสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิด

ต่อมาเมื่อเดือน พ.ค. 2561 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ประสงค์จะขอพักชำระหนี้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ได้ไม่เกินสามปี ให้มีการอุดหนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายดิจิตอลทีวี (MUX) ที่ต้องเช่าเพื่อใช้ออกอากาศเป็นเวลา 24 เดือน แต่ก็ให้อำนาจ กสทช. เป็นผู้พิจารณาว่าผู้ประกอบการรายใดมีสิทธิได้รับการพักชำระหนี้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทำผิดเงื่อนไข ผลิตรายการที่ขัดต่อ "กฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน" สำนักงาน กสทช. อาจพิจารณายกเลิกการพักชำระหนี้ได้

สุภิญญา กลางณรงค์: ม.44 อุ้มทีวีดิจิตอล ยิ่งคลายยิ่งรัด ทหาร-คสช. ได้ประโยชน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ว่าฯ เชียงรายยืนยันพบแล้ว "13 หมูป่าอะคาเดมี" ในถ้ำหลวง-เร่งหาทางพาออกมา

Posted: 02 Jul 2018 09:00 AM PDT

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แถลงยืนยันพบตัวเยาวชนนักฟุตบอล+โค้ชทีม "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" ปลอดภัยทั้ง 13 ชีวิต โดยพบที่เนินห่างจากหาดพัทยา 300-400 เมตร ขั้นต่อไปต้องสูบน้ำออกจากถ้ำ และหาทางพาเยาวชนออกจากถ้ำ โดยเตรียมทีมแพทย์ดำน้ำเข้าถ้ำเพื่อไปตรวจสุขภาพของเยาวชนและประเมินการเคลื่อนย้ายออกจากถ้ำต่อไป

2 ก.ค. 2561 เวลา 22.30 น. ที่หน้าถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แถลงยืนยันพบตัวเยาวชนนักฟุตบอลทีม "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" โดยปลอดภัยทั้ง 13 ชีวิต โดยพบที่เนินห่างจากหาดพัทยา 300 เมตร

การแถลงข่าวของณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเมื่อคืนวันที่ 2 ก.ค. (ที่มา: PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย)

แฟ้มภาพเยาวชน "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย"

ผู้ว่าฯ เชียงรายแถลงด้วยว่าจากแผนการทำงาน 3 ขั้นตอนคือ "ค้นหา กู้ภัย ส่งกลับ" ถือว่าแผนค้นหาสำเร็จแล้ว ขั้นต่อไปจะต้องสูบน้ำในถ้ำออกให้หมด และหาทางนำตัวเยาวชนทั้ง 13 คนออกมา วันนี้ยังต้องพร่องน้ำต่อให้หมด ขณะนี้มีการประชุมวางแผนเพื่อส่งพยาบาลหรือแพทย์เข้าไปดูแลว่าสภาพเยาวชนเป็นอย่างไร วันนี้ข่าวสารที่แจ้งออกมายังต้องยืนยันกันอีกหลายชั่วโมง ขณะนี้จึงยังยืนยันข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอะไรไม่ได้มาก แต่ยืนยันว่าเราพบเยาวชนแล้ว ถ้าแพทย์ประเมินสุขภาพของเยาวชนทั้ง 13 คนแล้ว ให้มีศักยภาพว่าเคลื่อนไหวได้ก่อน แล้วจะประเมินการเคลื่อนย้ายออกจากถ้ำต่อไป

โดยจะมีการจัดเตรียมการนำแพทย์หรือพยาบาลที่ดำน้ำได้เข้าไปดูแลสภาพร่างกายของเยาวชน หากคืนวันนี้ส่งเข้าไปได้จะส่งทันที สิ่งที่จะส่งเข้าไปร่วมกันคืออาหาร ภารกิจอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย จนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น จนกว่าจะส่งเยาวชนกลับ และฟื้นฟูจนกว่าจะปกติกลับไปเรียนหนังสือได้

ผู้ว่าฯ เชียงรายกล่าวด้วยว่า การกู้ภัยครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย พร้อมขอบคุณความช่วยเหลือและกำลังใจจากทั่วโลก โดยเขาอยากให้ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้มีสภาพความร่วมมือแบบที่ทำกัน ณ วันนี้ ที่ดอยนางนอนแห่งนี้ เชื่อว่าประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรือง

ผู้ว่าฯ เชียงราย ยังกล่าวขอบคุณทีมช่วยเหลือทุกทีม โดยทีมสูบน้ำต้องทำงานต่อไป และขอบคุณทีมค้นหาหลักๆ คือทีมซีล ที่ได้รับความกรุณาจากกองทัพเรือ ทีมค้นหาบนถ้ำคือทีมกองทัพบก กองทัพภาคที่ 3 ทั้งหมด ที่ตระเวนสำรวจทุกตารางนิ้ว ไปสำรวจหลุมเป็นร้อยหลุม และทีมหลายๆ หน่วยทั้งทีมตำรวจ ทุกภาคส่วนที่อาจจะเอ่ยไม่ครบ สำคัญที่สุดคือกำลังใจจากประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ประชาชนทั่วโลก ไม่อาจทำได้สำเร็จหากปราศจากกำลังใจเหล่านี้ โดยผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธตอบคำถามเพิ่มเติม โดยจะให้รายละเอียดเพิ่มในการแถลงตอนเช้า พร้อมย้ำมาตรการจัดระเบียบจราจรและสื่อมวลชนยังคงเป็นเช่นเดิม

 

ทีมดำน้ำเผยภาพแรกพบ 13 เยาวชนหมูป่าอะคาเดมี

ขณะเดียวกันในเพจ Thai NavySEAL เมื่อเวลา 23.44 น. ได้โพสต์ภาพและบรรยายภาพด้วยว่า "พบหมูป่าแล้ว.... แต่ภารกิจเรายังไม่จบ มนุษย์กบ ยังคงดำน้ำเข้าพื้นที่พร้อมหมอเวชศาสตร์ใต้น้ำ นำเพาเวอร์เจลและอุปกรณ์ยังชีพ ไปให้ทีมหมูป่าและส่งคนอยู่เป็นเพื่อนในจุดนั้น จนกว่าแผนการลำเลียงกลับจะเริ่มขึ้น HooYah"

 

ที่มา: เพจ Thai NavySEAL

และเมื่อเวลา 00.55 น. วันที่ 3 ก.ค. เพจ Thai NavySEAL เผยแพร่วิดีโอคลิปความยาว 5 นาที เป็นวิดีโอภาพแรกที่ชุดค้นหาซึ่งประกอบด้วยนักดำน้ำจากอังกฤษและหน่วยซีล พบกับเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี ระบุเวลาว่าเป็นเวลา 21.38 น. ของวันที่ 2 กรกฎาคม โดยบรรยายในสเตตัสว่า "Hooyah.....ทีมหมูป่า พบเยาวชนทีมหมูป่าบริเวณหาดทรายห่างจาก Pattaya beach 200 เมตร โดยนักดำน้ำหน่วยซีลดำน้ำวางไลน์เชือกนำทาง ร่วมกับนักดำน้ำจากประเทศอังกฤษ ระยะทางจากห้องโถง 3 ยาว 1,900 เมตร เมื่อเวลา 21.38 น. คืนวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 #ThainavySEAL"

โดยในวิดีโอคลิปดังกล่าวชุดค้นหาซึ่งพูดภาษาอังกฤษกับกลุ่มเยาวชนบอกว่า พวกเขาแข็งแรงมาก และอยู่มาถึงวันจันทร์ซึ่งนับเป็นวันที่ 10 แล้ว ส่วนเยาวชนกล่าวขอบคุณทีมช่วยเหลือ และบอกด้วยว่าพวกเขามีความสุขมาก

 

ปฏิบัติค้นหา "หมูป่าอะคาเดมี" จนเจอในวันที่ 10

สำหรับการค้นหาเยาวชนนักฟุตบอลทีม "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" เริ่มต้นขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นักฟุตบอลเยาวชนอายุ 11-16 ปี และโค้ชอายุ 25 ปี คือเอกพล จันทะวงษ์ เดินทางไปเที่ยวที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในช่วงบ่าย หลังเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมฟุตบอลในช่วงเช้า ต่อมาเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สังเกตเห็นรถจักรยานจอดอยู่ 11 คัน บริเวณทางเข้าถ้ำหลวงอย่างผิดสังเกต และมีผู้ปกครองแจ้งว่าไม่สามารถติดต่อลูกชายได้ โดยตั้งแต่เวลา 22.00 น. ทีมกู้ภัยของมูลนิธิสยามรวมใจแม่สาย และศูนย์วิทยุ 191 สภ. แม่สาย ได้รับแจ้งเหตุว่ามีเด็กหายตัวเข้าไปในถ้ำหลวง จนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร และหน่วยงานกู้ภัยเข้ามาร่วมการค้นหา จนกระทั่งมาค้นพบในวันที่ 2 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 10 ของการค้นหาดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความจริง(ที่คนลืม) ‘อภิวัฒน์ 2475’ ที่ต้องถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษา

Posted: 02 Jul 2018 08:59 AM PDT

วงเสวนาชวนแลกเปลี่ยนความจริงเกี่ยวกับอภิวัฒน์ 2475 เสนอต้องถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนกระทรวงศึกษา มองจากอดีตสู่อนาคตที่อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบหากยังยึดรัฐธรรมนูญ 2560 และมีระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดสร้างความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน "2475 : a year that cannot be changed" (ปีแห่งการอภิวัตน์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้) โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล จาก เว็บไซต์ 101 world วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้เขียนแนวความคิดทางเศรษฐกิจ ของ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์  และอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมแลกเปลี่ยนความจริงเกี่ยวกับอภิวัฒน์ 2475 ที่ต้องถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนกระทรวงศึกษา มองจากอดีตสู่อนาคตที่อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบหากยังยึดรัฐธรรมนูญ 2560 และมีระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำ

มายาคติอภิวัฒน์ 2475 ชิงสุกก่อนห่าม? ร.7 จะพระราชทานอยู่แล้ว?

วิชิตวงศ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงปกครองประเทศไทย เป็นวิวัฒนาการ ไม่ใช่อะไรที่ฉับพลัน เมื่อเราเปิดประเทศสนธิสัญญาเบาริ่ง ทำให้ไทยได้ติดต่อกับโลกตะวันตก และทำให้คนไทยรู้สึกถึงความต่างระหว่างไทยกับฝรั่งหลายขุม คล้ายกับความเจริญของไทยนั้นหยุดนิ่งมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ แต่ฝรั่งเปลี่ยนมหาศาล ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม ขณะที่ไทยล้าหลัง ป่าเถื่อน ไม่มีโรงเรียน คนอ่านหนังสือออกมีไม่กี่คนทั้งประเทศ ร.5 จึงเริ่มต้นเลิกทาส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย แม้ว่าจะใช้เวลาอีกกว่า 40 ปีจึงจะเรียบร้อย รวมทั้งการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการ การส่งนักเรียนไปเรียนเมืองนอกและทำให้ได้รับแนวคิด เป็นต้น ดังนั้นปัจจัยทั้งภายในและภายนอกจึงส่งผลต่อพัฒนาการของประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นก่อน 2475 แต่ 2475 เป็นจุดเปลี่ยนนั้นเอง

พันธวัฒน์ กล่าวว่า การอภิวัฒน์ 2475 ส่วนใหญ่มักนำเสนอข้อมูลจากคนนอก เช่น นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ แต่ข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์กลับไม่ค่อยได้ถูกนำมาเสนอ ซึ่งตนได้พบบันทึกของปรีดี พนมยงค์ เขียนขึ้นเมื่อปี 2515 ในวาระครบรอบ 40 ปีอภิวัฒน์สยาม ซึ่งเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งพูดเกี่ยวกับมายาคติของการอภิวัฒน์ 2475 เช่น การชิงสุกก่อนห่าม

ประการแรก คือคำกล่าวที่ว่า "เหตุการณ์ 2575 เป็นการกระทำโดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม และยังไม่มีความเข้าใจในประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้" แต่ ปรีดี บันทึกว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มมีเชื้อมาตั้งแต่ ร.5 โดยเฉพาะในกรณีของ ก.ศ.ร.กุหลาบ และ เทียนวรรณวิพากษ์วิจารณ์เรื่องระบบที่กดขี่ประชาชน อันเป็นทรรศนะที่เสี่ยงคุกตะรางอย่างยิ่ง หรือในสมัย ร.6 ก็มีแบบเรียน 'มูลบทบรรพกิจ' ในเนื้อหามีส่วนเชิงวิพากษ์ระบอบสมบูรณายาสิทธิ์เช่นกัน พอถึง ร.7 นักศึกษานอกหรือคนรุ่นใหม่ก็มีความต้องการและตื่นตัวที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบนี้ เมื่อยึดอำนาจแล้วก็ได้รับการสนับสนุนจากราษฎรจำนวนมาก ถึงกับมีผู้ต้องการสมัครเข้าเป็นคณะราษฎรมากมายจนใบสมัครมีไม่พอ

ประการต่อมา คือคำกล่าวที่ว่า "คณะราษฎรชิงยึดพระราชอำนาจ ทั้งที่ ร.7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว" นั้น ปรีดีกล่าวว่า ตนและคณะราษฎรไม่เคยทราบถึงพระราชประสงค์ข้อนี้มาก่อนโดยมีพยานหลักฐานที่ตรวจสอบได้ เช่น การบันทึกการเข้าเฝ้า

'ประจักษ์' ชี้ รธน. ฉบับ ร.7 อยู่ในกรอบสมบูรณาญาสิทธิฯ

ประจักษ์ กล่าวเสริมว่า และเมื่อพิจารณาเนื้อของของรัฐธรรมนูญ ระหว่างฉบับของ ร. 7 กับของคณะราษฎร พบว่า เนื้อหา ของ ร.7 เป็นรัฐธรรมนูญที่อยู่ในกรอบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นการรวมศูนย์อำนาจ ไม่มีการกระจายอำนาจ มีเพียงแต่การแต่งตั้งนายกฯ และสามารถปลดได้ ไม่มีการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน พูดง่ายๆ คือเป็นแค่เพียงการให้คนมาช่วยแบ่งเบาภาระของกษัตริย์มาากขึ้น

ทั้งนี้ ประจักษ์ เห็นว่า ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เป็นเอกสารสำคัญที่ทำให้เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในตอนนั้น การฉ้อราษฎร์บังหลวง ระบบอุปถัมภ์  เศรษฐกิจตกต่ำ

อภิวัฒน์ 2475 ต้องถูกบันทึกลงในแบบเรียนอย่างถูกต้อง

วิชิตวงศ์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์นั้นเพิ่งถูกบิดเบือนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ทั้งเรื่องชิงสุกก่อนห่าม หรือกระทั่งเรื่องเกี่ยวกับเสรีไทย เพราะตอนที่ตนเป็นเด็กนั้นไม่ได้ถูกสอนแบบนี้ และได้รับการปลูกฝังอย่างเกี่ยวกับการอภิวัฒน์และคณะราษฎรอย่างถูกต้อง แต่แม้ว่ามันจะถูกบิดเบื่อนแต่มันไม่อาจทำให้หายไปได้ เพราะมันเป็นข้อเท็จจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาพลังฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนแอลง ขณะที่พลังเผด็จการที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากอะไรบางอย่างเข้มแข็งขึ้น

ประจักษ์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะแต่ในสังคมไทยคนชนะไม่ได้เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ แม้ว่าอภิวัฒน์ 2475 วางรากฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตยให้ประเทศ แต่สิ่งที่เขารับรู้ส่วนใหญ่เป็นความจริงที่คลาดเคลื่อนกับสิ่งที่คณะราษฎรเขียน ประวัติศาสตร์ 2475 ที่เผยแพร่ในไทยกลับเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยฝ่ายตรงข้าม

"จนถึงตอนนี้ 2475 ยังไม่เป็นประวัติศาสตร์ที่ลงหลักปักฐาน สังคมไทยมีวิธีการจัดการอยู่สองแบบ ไม่พูดถึงเลย พูดถึงแบบผิดพลาดคลาดเคลื่อน ผ่านไป 80 กว่าปีควรมีวันหยุดราชการ ควรเข้าไปอยู่ในแบบเรียน ควรทำให้เป็นสิ่งที่คนจำได้ ในสังคมไทยแม้แต่แบบเรียนยังไม่พื้นที่ให้ 2475 คนรุ่นใหม่ไม่ได้เรียน กว่าจะได้รับรู้จริงจังก็เข้ามหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างแบบเรียนกระทรวงศึกษาในวิชาสังคมศึกษา หลักสูตรล่าสุดปี 2551 เขียนถึงกำหนดประชาธิปไตยไว้เพียงสามบรรทัด ไม่พูดถึงคณะราษฎรหรือ 2475 อยู่ดีประชาธิปไตยก็จุติขึ้นมาอย่างมี่ต้นสายปลายเหตุ" ประจักษ์ กล่าว

ประจักษ์ ชี้ว่า จุดที่ประชาธิปไตยเริ่มล้มลุกคุกคลาน คือการรัฐประหาร 2490 หลังจากนั้นประชาธิปไตยสะดุด และไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบอบของคณะราษฎรอีกต่อไป ดังนั้นถ้าจะโทษถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยของไทย นั้นคือการรัฐประหารปี 2490 และ 2500 ซึ่งเป็นประเด็นที่เรายังศึกษาและพูดถึงกันน้อย

ถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ลึกลงไปเราจะไม่เกิดคำถามว่า 2475 เป็นการปฏิวัติหรือเป็นการรัฐประหาร เพราะถ้าเรียนจะเห็นว่า 2475 นั้นวางรากฐานทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วางรากฐานจิตสำนึกใหม่ รัฐไทยเป็นรัฐสมัยใหม่จริงหลัง 2475 ในความหมายที่มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีการเลือกตั้ง มีการให้สิทธิกับประชาชนเป็นครั้งแรก เริ่มมีการกระจายอำนาจผ่านเทศบาล มีการวางรากฐานการศึกษา สาธารณสุขแบบสมัยใหม่ และรัฐเริ่มมีสำนึกในการบริการประชาชน และมีหน้าที่ต้องจัดบริการสนองความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งที่คณะราษฎรมองว่ารัฐมีหน้าที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้  และระบบราชการที่ขยายตัว มีความเป็นมีอาชีพก็เกิดขึ้นหลัง 2475

ประจักษ์ มองว่า ไทยประสบความสำเร็จในการใช้ประวัติศาสตร์สต๊าฟความคิดของคนในสังคมไว้ ประวัติศาสตร์ไทยทำหน้าที่เหมือนยานอนหลับ ยิ่งเรียนมากยิ่งถูกกล่อมเกลา ดังนั้นการปลูกฝังมิติทางความคิดและวัฒนธรรมก็สำคัญ ประชาธิปไตยจะไม่ลงหลักปักฐานถ้าเราไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดได้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาพูดเรื่อง 2475 ซ้ำๆ แบบนี้ทุกปี และเครื่องมือที่สำคัญคือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราจึงต้องทำให้ 2475 ถูกพูดถึงในแบบเรียน และอยากเสนอให้มีเว็บเกี่ยวกับ 2475 กับหนังเกี่ยวกับ 2475

'อนุสรณ์' กับ 6 ข้อเสนอกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า 2475 เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประเทศไทย แต่คณะราษฎรก็มีอำนาจที่ไม่เด็ดขาด เนื่องจากมีสงครามโลกครั้งที่สอง และมีปัญหาทางการเมืองหลายอย่าง เช่น กบฎบวรเดช จนถึงการรัฐประหาร 2490 ทำให้คณะราษฎรสายที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยหมดบทบาททางการเมืองลงไป และผ่านจุดเปลี่ยนทางการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่การรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ปี 2500 จุดเปลี่ยนผ่านในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จุดเปลี่ยนผ่านเมื่อ 6 ตุลา 2519 และรัฐประหารอีกหลายครั้ง

แม้ตอนนี้ในอนาคตเราจะมีการเลือกตั้ง แต่เราจะไม่ได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงกึ่งประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มีเนื้อหาหลายมาตราไม่เป็นประชาธิปไตย ให้อำนาจ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ทำให้เสียงประชาชนไม่มีความหมายอย่างที่ควรจะเป็น จึงถือโอกาสนำเสนอข้อเสนอเพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

1. ต้องปลดล็อคพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองโดยยกเลิกคำสั่งต่างๆ ที่ปิดกั้นเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ มีความเป็นธรรมมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยพรรคการเมืองต้องแสดงเจตจำนงในการรณรงค์หาเสียงและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์

2. คืนความเป็นธรรมให้กับคดีทางการเมืองทั้งหลายและยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและหยุดการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ

3. ต้องมีการจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริตโปร่งใส เสรีและเป็นธรรมสามารถตรวจสอบข้อมูลและผลการเลือกตั้งได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ หากเกิดความไม่มั่นใจอย่างกว้างขวางว่าระบบการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งและเชิญองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมาร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งหรือร่วมจัดการเลือกตั้ง หาก กกต.หรือผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งสามารถสร้างความมั่นใจสามารถจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมก็ไม่จำเป็นต้องเชิญองค์กรระหว่างประเทศร่วมจัดการเลือกตั้ง

4. เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งเกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้อง มีธรรมาภิบาลและเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในอนาคตแกนนำ คสช ที่ต้องการทำงานทางการเมืองต่อ (สืบทอดอำนาจ) ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเข้าสู่การเสนอตัวแข่งขันอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมกับพรรคการเมืองต่างๆ และควรลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งมีความเป็นกลางเป็นธรรมและไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

5. เมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนโดยเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาท ขณะที่ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ต้องวางตัวเป็นกลางและงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนกับความต้องการของ คสช ซึ่งอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์การเมืองได้

6. เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วให้มีการจัดลงประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งถามประชาชนด้วยว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปประเทศเกิดจากการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมของประชาชน หากผู้มีอำนาจและทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนตามข้อเสนอหัวข้อข้างต้น จะทำให้เกิดความมั่นใจ เราจะมีระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง (ไม่ใช่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย) อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ นำไปสู่ความก้าวหน้ารุ่งเรือง ของประเทศ สันติสุข ความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

เศรษฐกิจถูกผูกขาดมาตลอด ทำเหลื่อมล้ำสูง ประชาธิปไตยจึงไม่มั่นคง

อนุสรณ์ กล่าวถึงมิติด้านเศรษฐกิจว่า เดิมระบบเศรษฐกิจถูกผูกขาดโดยราชสำนักแบบศักดินา พอมีสนธิสัญญาเบาริ่ง เริ่มมีการเปิดประเทศ มีการค้าเสรีมากขึ้น ทำให้ดุลอำนาจในสังคมไทยทางเศรษฐกิจเปลี่ยน พอเปิดเสรีก็ทำให้ระบบต้องการแรงงาน และประจวบกับที่ในสมัย ร. 5 ขุนนางต่างก็มีอำนาจมาก ดังนั้นในด้านหนึ่งการเลิกทาสคือลดอำนาจขุนนาง และเป็นการปลดปล่อยพลังการผลิต ให้แรงงานเคลื่อนตัวได้มากขึ้น หมายความว่าวิถีการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตเปลี่ยนไป ทำให้โครงสร้างส่วนบน ของระบบการเมืองต้องปรับตัวและปรับวิธีคิด และขณะเดียวกันนักเรียนทุนที่ถูกส่งไปปเมืองนอกก็ย้อนกลับมาเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงระบบ

86 ปีประชาธิปไตยไทย ระบบเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจอุปถัมภ์กึ่งผูกขาดเป็นระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ เราเปิดประเทศ มีพลังทุนข้ามชาติ ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็มีอำนาจการผูกขาดสูง ทำให้เกิดความเหลื่อล้ำในทางเศรษฐกิจ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง ไม่มีทางที่จะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ดังนั้นเราต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้ได้

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ หลายครั้งคณะราษฎรผลักดันประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ก็จะถูกโต้กลับทันที เพราะเป็นเรื่องการสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของฝ่ายอำนาจเดิม และขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ถูกทำให้อ่อนแอ ไม่อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่จะทำอะไรได้มากนัก นี่จึงเป็นจุดสำคัญที่เราอาจจะต้องใช้ความพยายามที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจตรงนี้ให้ได้ เพื่อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

ถ้ามีการเลือกตั้งเรามีรัฐบาลที่ตรวจสอบได้ โปร่งใส เศรษฐกิจเป็นธรรม นักการเมืองมีคุณภาพ การเลือกตั้งเป็นอิสระและเป็นธรรม ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ และคณะรัฐประหารที่มักอ้างเหตุผลเดิมๆในการยึดอำนาจ หากผู้นำกองทัพได้รับการปลูกฝัง เชื่อมั่น ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เขาก็จะไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรที่นอกวิถีทางประชาธิปไตย ผมหวังว่าอนาคตเราจะมีประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องมั่นคง ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำคือ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาลยุติธรรม ต้องทำให้สองสิ่งยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น จะทำให้ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็งมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ศรีอำนาจ

Posted: 02 Jul 2018 08:49 AM PDT

 

เกิดเป็นคนในประเทศเขตภาษา                    มธุรสวาจากว่าที่ไหน

กักขฬะเจรจามาจากใจ                         ประโยคไปสื่อสารสันดานตน

มีกอไก่ถึงฮอนกฮูกไว้ผูกเรื่อง               บ้างประเทืองปัญญาพาเหตุผล

เป็นศรีปราชญ์ประกาศโคลงจรรโลงคน     ไม่อับจนวรรณยุกต์ทุกเหตุการณ์


เป็นศรีสุนทรโวหารท่านครูภู่                  ลูกหลานรู้ครูเพียรเรียนเขียนอ่าน

ศรีอีกคนศรีธนญชัยไอ้สันดาน                   เป็นตำนานมนุษย์บุตรบ้านเมือง

ศรีอีกศรีที่โด่งดังดั่งดาวร้าย                    ศรีนี้หมายมากอำนาจมาดโขเขื่อง

ศรีอำนาจชาติด้อยถอยรุ่งเรือง                    ศรีเปล่าเปลืองเวลาพาหาวนอน


ศรีอำนาจกับฆาตกรซับซ้อนเงื่อน        ใจแชเชือนหลายชั้นนั้นหลอกหลอน

เป็นศรีโจรปล้นอำนาจราษฎร                    เกาะกลุ่มก้อนชุมโจรโหนกันมา

ศรีเอย เหวยกลืนกล้ำศรีอำนาจ                    ประชาชาติช้ำชอกถูกหลอกฆ่า

สลิดใหญ่คุกคามสลิดน้อยตามมา                 คือชะตากะลาแลนด์แดนนี้เอย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ค้ามนุษย์ สิทธิมนุษย์

Posted: 02 Jul 2018 08:42 AM PDT


 

รัฐบาลทหารที่ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับสามารถปราบปรามการค้ามนุษย์ จนสหรัฐฯ จัดอันดับไทยดีขึ้น ๆ มาอยู่ที่เทียร์ 2 แบบไม่ต้องจับตามอง ช่างเป็นผลงานย้อนแย้งเสียนี่กระไร

ประเทศไทยถูกลดชั้นเป็นเทียร์ 3 ในปี 2557 รัฐบาลถือเป็นเรื่องใหญ่ ประกาศวาระแห่งชาติต้องแก้ไข คู่กับปัญหาประมงผิดกฎหมาย ที่อียูแจกใบเหลืองในปี 2558 มีการกวาดล้างจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งโรฮีนจา ประมงพม่า มาจนค้าประเวณี ออกมาตรการและกฎหมายใหม่หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ ตั้งศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ แก้ไข พ.ร.บ.ประมง ออก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

4 ปีผ่านไปจึงเห็นผล สหรัฐฯ เลื่อนอันดับเป็นเทียร์ 2 ที่ยังจับตามองในปี 2559 แล้วขยับขึ้นเป็นเทียร์ 2 ในปีนี้ ที่รัฐบาลคุยได้อย่างภาคภูมิใจ

แต่อันที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจ รัฐบาลทหารถนัดอยู่แล้วเรื่องการจัดระเบียบสังคม เหมือนจัดระเบียบรถตู้ มอเตอร์ไซค์ หาบแร่แผงลอย ทวงคืนผืนป่า

กล่าวได้ว่าเป็นงานถนัดอยู่แล้วของรัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษ มี สนช.แต่งตั้ง ผลิตกฎหมายทันใจ ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง คงไม่ง่ายอย่างนี้ เพราะอย่างจัดระเบียบเรือประมง ก็โดนประท้วงหลายครั้ง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ก็เกือบทำ SME ฉิบหาย ดีที่มี ม.44 ยับยั้งกฎหมายตัวเองได้

ในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ประมง แรงงานต่างด้าว หรือค้าประเวณี เราได้เห็นการใช้อำนาจจัดการคนผิดอย่างเฉียบขาดไม่ไว้หน้าใคร สะใจสาธารณชน เช่น จับขบวนการค้าโรฮีนจา มีทั้งนายทหารยศพลโท ที่นายกฯ ด่า "ไอ้มนัส" มีอดีตนายก อบจ. อดีตนายกเทศมนตรี ศาลตัดสินจำคุกสูงสุด 78 ปี คดีค้าแรงงานประมงพม่า จำคุกนายกสมาคมประมงจังหวัด 6 ปี คดีอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท แม้เพิ่งส่งศาล ก็ถูก ปปง.อายัดทรัพย์ 463 ล้าน

เป็นการเชือดไก่ให้ดูว่า อย่าคิดทำอีก คนไทยผู้รักสิทธิมนุษยชนก็ดีอกดีใจ ไม่มีใครขนโรฮีนจามาออกลูกออกหลานบ้านเราอีก (แบบอุยกูร์ก็ส่งกลับแล้วไง)

ถ้าสังเกตให้ดี การแก้ปัญหาที่ดูเหมือนได้ผลของรัฐบาล มักมาในสูตรเดียวกัน คือเพิ่มอำนาจกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ เพิ่มระเบียบข้อบังคับ เพิ่มโทษ เพิ่มอำนาจบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่นการออก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 เพิ่มอำนาจศาลผ่านการใช้ระบบไต่สวน เหมือนคดีอาญานักการเมืองหรือคดีทุจริต ถ้าศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าผิด จำเลยฎีกาได้ยาก แต่หากอัยการสูงสุดฎีกา ศาลต้องรับ

มาตรการเหล่านี้อยู่บนข้อสันนิษฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหามันชั่วมันเลว ไม่ว่าพวกค้ามนุษย์ ค้าประเวณี เลยเถิดมาถึงพวกเรือประมง หรือพวกใช้แรงงานต่างด้าว ผลด้านกลับเราจึงเห็น SME เดือดร้อนวุ่นวายเพราะ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว หรือเรือประมงประท้วง เพราะออกคำสั่งให้ต้องเก็บสลิปที่ลูกจ้างถอนเงินมาถ่ายเอกสาร ส่งศูนย์แจ้งเข้าออกหรือปีโป้ กรมเจ้าท่าก็บังคับให้ต้องซื้ออุปกรณ์จากร้านค้าที่กรมรับรอง ซึ่งแพงกว่าร้านค้าทั่วไป

พูดง่าย ๆ ว่าในขณะที่สังคมเชื่อเครดิตรัฐบาล ก็มีการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ภายใต้ความเชื่อว่าศาลศักดิ์สิทธิ์ อัยการเที่ยงธรรม ตำรวจ ทหาร แรงงาน ประมง เจ้าท่า ฯลฯ คือข้าราชการข้าของแผ่นดิน ไม่มีใครรับส่วย ไม่มีใครฉวยโอกาสเพิ่มส่วยเพื่อละเว้น

รัฐบาลอวดผลงานปราบปรามการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ ก็เป็นดาบสองคมที่น่ากลัว ทั้งง่ายต่อทุจริตและละเมิดสิทธิ ขณะที่สังคมไทยคิดว่า "ไม่ได้ทำผิดแล้วกลัวอะไร"

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/238942

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณิน บุญสุวรรณอดีต ส.ส.ร. 40 ถึงแก่กรรมด้วยวัย 71 ปี

Posted: 02 Jul 2018 08:19 AM PDT

"คณิน บุญสุวรรณ" ถึงแก่กรรมด้วยวัย 71 ปี บำเพ็ญกุศล ณ วัดธาตุทอง ศาลา 8 เริ่มวันที่ 3 ก.ค. โดยฝากผลงานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ยืนยันจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ เป็นประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย และยังเป็นผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบที่สร้างอุปสรรคต่อพรรคการเมือง

แฟ้มภาพคณิน บุญสุวรรณ ร่วมเสวนาเมื่อ 7 กันยายน 2552 (ที่มา: CBN Press)

หลังมีรายงานว่า "คณิน บุญสุวรรณ" อดีต ส.ส.ร. 2540 และคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง ด้วยวัย 71 ปีที่บ้านพักเมื่อคืนวันที่ 1 กรกฎาคม หลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่ รพ.จุฬาภรณ์นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานกำหนดการบำเพ็ญกุศล ณ วัดธาตุทอง ศาลา 8 ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ดังนี้

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2561 เวลา 17.00 น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
เวลา 18.30 น. สวดพระอภิธรรมศพ

วันพุธที่ 4 ถึงวันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม 2561
เวลา 19.00 น. สวดพระอภิธรรมศพ

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2561
เวลา 17.00 น. พระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง

สำหรับประวัติของคณิน บุญสุวรรณ ในรายงานของไทยรัฐออนไลน์ เขาเป็นชาว จ.ชลบุรี เกิดวันที่ 15 ตุลาคม 2489 เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 7 คนของ อำมาตย์ตรีแปลก และนางเสงี่ยม ภรรยาชื่อกรประภา บุญสุวรรณ (ชื่อเดิม เพ็ญศิริ) มีธิดา 2 คน

การศึกษาจบโรงเรียนกาญจนศึกษา โรงเรียนชลบุรีสุขบท มัธยมศึกษาปีที่ 8 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

เขาเริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งวิทยากรโท สำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร ต่อมาช่วยราชการ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

เส้นทางการเมืองของเขาในปี 2522 เป็น ส.ส.ชลบุรีสมัยแรกในการเลือกตั้งซ่อม สังกัดพรรคกิจสังคม

ปี 2526 ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

ปี 2528 ส.ส. กทม. เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์

27 กรกฎาคม 2529 ส.ส. (สอบตก)
16 ตุลาคม 2529 ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (ลาออก 19 พ.ค.2531)

22 มีนาคม 2535 ส.ส.(สอบตก) บุรีรัมย์ พรรคสามัคคีธรรม
13 กันยายน 2535 ส.ส. ชลบุรี เขต 1 พรรคเอกภาพ (ยุบสภา 19 พ.ค. 2535)
15 ตุลาคม 2535 กรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน
2535 กรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
19 ตุลาคม 2535 กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2 กรกฎาคม 2538 ส.ส.(สอบตก) จังหวัดชลบุรี เขต 1 พรรคเอกภาพ
29 สิงหาคม 2538 รองหัวหน้าพรรคเอกภาพ

26 ธันวาคม 2539 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จังหวัดชลบุรี (ส.ส.ร.ชลบุรี) (พ้นตำแหน่ง 11 ต.ค. 2540)
15 มกราคม 2540 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
15 มกราคม 2540 กรรมาธิการประชาสัมพันธ์

14 มิถุนายน 2543 หัวหน้าพรรคไทยมหารัฐ (ลาออก 13 ก.ย.2544)

คณิน เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง โดยมักแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง โดยผลงานทางวิชาการที่เขาเขียนเช่น ประวัติรัฐธรรมนูญไทย รัฐธรรมนูญต่างประเทศ จีนสามยุค และ 7 ปีปฏิรูปการเมืองไทย ฯลฯ

ในปี 2551 คณินเผยแพร่หนังสือ "รัฐธรรมนูญ 2550 ทำไมต้องแก้" อธิบายเหตุผล 15 ประการ ที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และต้องแก้ทั้งฉบับ ไม่ใช่ทีละมาตรา โดยที่มาตราที่ควรแก้ไขอันดับแรกคือ บทเฉพาะกาล โดยคณินเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกยกเลิกไปโดยการรัฐประหาร แต่ในความรู้สึก ในหัวใจของนักประชาธิปไตยและอีกหลายคนยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ในขณะที่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาที่ไม่ชอบบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อต่อการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้สร้างความระส่ำระสายทางการเมือง นอกจากนี้เขายังแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ "คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 6 ประเด็น ขณะที่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองของคณินนั้น เขาเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงแก้ไข และใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550

โดยในโอกาสครบรอบ 12 ปี ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เขาให้สัมภาษณ์ประชาไท ยืนยันข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับด้วย

"เหตุผลที่ผมบอกว่า ควรต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หมายความว่า ควรจะนำเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาปรับปรุงแก้ไขและนำไปใช้แทนรัฐธรรมนูญ 50 เพราะปี 50 มันแก้ไม่ได้ มันมีเป็นร้อยๆ ประเด็นที่ผิดเพี้ยนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ วิธีการเขียน เนื้อหาสาระ หลักการ แล้วแก้ไปความวุ่นวายก็จะตามมา เพราะมีทั้งกับระเบิด กับดัก มีทั้งกลเกม กลไกต่างๆ ดูคล้ายๆ ว่ามันไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แต่เป็นสมรภูมิให้ผู้คนมาฟาดฟันกัน ความสามัคคีมันก็ไม่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยุติธรรม มันเห็นชัดเจนว่าบทบาทของฝ่ายตุลาการที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญ 50 มันเกินเลยไปกว่าที่สังคมจะคาดหวังความยุติธรรมที่จะได้รับจากฝ่ายตุลาการ กลายเป็นว่าฝ่ายตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงกระบวนการในการเมือง ความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองต่างๆ

แต่อย่างน้อยที่สุดที่ผมเสนอไว้คือ ถ้ายังไม่สามารถจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือไม่สามารถนำเอารัฐธรรมนูญ 40 มาปรับแก้แล้วใช้บังคับแทน สิ่งแรกที่ควรต้องทำคือต้องแก้ไขที่บทเฉพาะกาล เพราะมีหลายมาตราที่ให้สืบทอดบรรดาองค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งตามหลักนิติธรรม และกระบวนการประชาธิปไตยด้วย และที่สำคัญยิ่งคือ มาตรา 309" คณินให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งเมื่อปี 2552 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) 

ในระยะหลังนั้นเขาเป็นประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย และเป็นผู้ที่ออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างมากในช่วงก่อนการทำประชามติ รวมทั้งวิจารณ์พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเป็นการทำลายพรรคการเมือง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) 

โดยการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเรื่องสุดท้าย คือการแสดงความไม่เห็นด้วย กรณีที่ สนช.รับหลักการร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลักการให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจสั่งจำคุกบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเวลา 1 เดือน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธเนศปั่นป่วน #1 เสวนาจักรญาณวิทยา #1

Posted: 02 Jul 2018 06:31 AM PDT

เสวนาธเนศปั่นป่วน ช่วงแรก "เสวนาจักรญาณวิทยา #1"

กฤติยา กาวีวงศ์ และธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวเปิดงาน เสวนา "ธเนศ ปั่นป่วน"

เสวนา "ธเนศ ปั่นป่วน" ฉลอง 60 ปีแห่งความปั่นป่วนของธเนศ วงศ์ยานนาวา ในปีที่ 61 เมื่อ 22 มิถุนายน 2561 ที่พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน (ห้องไอยรา) ช่วงที่ 1 "เสวนาจักรญาณวิทยา #1" อภิปรายโดย ณัฐกร เวียงอินทร์, ดุลยภาพ จาตุรงคกุล, อนุสรณ์ ติปยานนท์ ดำเนินรายการโดย วิโรจน์ อาลี

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทนายเบญจรัตน์' เตรียมเข้าพบ ตร. 9 ก.ค.นี้ หลัง 'ศรีวราห์' ฟ้องหมิ่นประมาทฯ

Posted: 02 Jul 2018 06:15 AM PDT

ทนายเบญจรัตน์ เตรียมเข้าพบพนักงานสอบสวน 9 ก.ค.นี้ หลัง 'พล.ต.อ.ศรีวราห์' ฟ้องหมิ่นประมาทฯ เหตุให้ข่าว 'ครูแขก' จ่อฟ้องกลับคณะตำรวจ หลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่นปี 53

ซ้าย ทนายเบญจรัตน์ มีเทียน, ขวา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล

2 ก.ค.2561 ความคืบหน้าคดีที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) แจ้งความเอาผิด เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของ อัมพร ใจก้อน หรือครูแขก อายุ 59 ปี ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ภายหลังให้ข่าวกับประชาไทว่าจะไปฟ้องคดีคณะตำรวจซึ่งเคยดำเนินคดีของครูแขก รวม 12 คน รวมถึง พล.ต.อ.ศรีวราห์ ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ หลังจากศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่นปี 53 ที่ อัมพร ตกเป็นจำเลยนั้น

เบญจรัตน์ แจ้งว่า ตนจะเดินทางไปพบพนักงานสอบสวน สน.ปากคองสาน วันที่ 9 ก.ค.นี้ เวลาบ่ายโมง หลังทราบว่าตำรวจจะออกหมายเรียกให้มาพบ 12 ก.ค.นี้ 

บญจรัตน์ เคยยืนยันไว้ก่อนหน้านี้ว่า ถ้อยคำที่แถลงข่าวนั้นเป็นการถ่ายทอดจากลูกความว่าเขาจะดำเนินคดีกับตำรวจและมีการฟ้องคดีจริงและลูกความเชื่อว่าถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และศาลจังหวัดมีนบุรี ได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าลูกความไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกตำรวจกล่าวหา เป็นการยืนยันข้อเท็จริงโดยมีคพิพากษาเป็นหลักฐานรองรับ ลูกความเชื่อเช่นนั้นซึ่งก่อนหน้านี้ลูกความเคยแถลงข่าวไว้แล้วว่าตนเองไม่ผิด และยืนยันจะฟ้องกลับอยู่แล้ว

ทั้งนี้เมื่อ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา อัมพร เดินทางมาที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยื่นฟ้องคณะตำรวจดังกล่าวในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และข้อหาอื่นเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งศาลรับเอกสารคำฟ้องไว้สารบบคดีหมายเลขดำ อท.121/2561 เพื่อตรวจคำฟ้องว่าถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Food Not Bombs พังก์ขับเคลื่อนสังคมด้วยการแจกอาหาร

Posted: 02 Jul 2018 02:30 AM PDT

ณัฐพล เมฆโสภณ ชวนคุยกับ "ไผ่" อภิคม คงศิลป์ หนุ่มพังก์ผู้หลงใหลในเพลงเสียดสีสังคม สมาชิกและผู้ก่อตั้งกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคม Food Not Bombs Thailand ที่ไผ่บอกว่า จุดมุ่งหมายของกลุ่ม คือ ช่วยเหลือคนที่ยากจน คนที่หิวโหย และต่อต้านความรุนแรง


วัฒนธรรม "พังก์" เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ว่าด้วยการต่อต้านระบบสังคมที่อยุติธรรม ผ่านเครื่องแต่งกายที่สุดแหวกขนบธรรมเนียม การบรรเลงบทเพลงเชิงเสียดสีแสบสัน วิพากษ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา ไม่ประนีประนอม เพื่อนำไปสู่การถกเถียงทางปัญญา และขับเคลื่อนสังคม

ภาพลักษณ์ภายนอกเหล่านี้อาจทำให้คนที่ไม่เข้าใจ มองคนกลุ่มนี้เป็นนักเลง ไม่น่าคบค้าสมาคม หัวรุนแรง หลายคนอาจตั้งคำถามว่า สิ่งที่พวกเขาทำมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร หลายคนมองพวกเขาในแง่ลบ เป็นพวกสำมะเลเทเมา แต่เรากลับมองว่า เขาก็เหมือนทุกๆ คน เป็นคนธรรมดาที่อยากยื่นมือช่วยสังคม

เราเลยมาชวนคุยกับ "ไผ่" อภิคม คงศิลป์ พนักงานบริษัท และหนุ่มพังก์รุ่นใหญ่ ผู้หลงใหลในเพลงเสียดสีสังคม และวงพังก์ The Remones นอกจากนี้ ไผ่ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกและผู้ก่อตั้งกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคม Food Not Bombs Thailand ที่ไผ่บอกว่า จุดมุ่งหมายของกลุ่ม คือ ช่วยเหลือคนที่ยากจน คนที่หิวโหย และต่อต้านความรุนแรง ทำไมเขาถึงอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม และสังคมภายนอกมองพวกเขาอย่างไรบ้าง

จากพังก์สู่นักทำกิจกรรมเพื่อสังคม

ไผ่แต่งกายด้วยเสื้อนอกลายสก๊อต ก่อนที่จะเอาเสื้อกั๊กสีครีมที่ประดับประดาไปด้วยเข็มกลัด และหนามสีเงินมาเปลี่ยน โลโก้วงดนตรีที่ตนเองชื่นชอบถูกปักเย็บตามเครื่องแต่งกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่ขาซ้ายของกางเกง และด้านหลังของเสื้อกั๊ก เผยให้เห็นโลโก้ของ Food Not Bombs อย่างแจ่มชัด โดยไม่รีรอ เราเริ่มซักไซ้ไล่เลียงถึงแรงบันดาลใจของพังก์ชาวไทย ถึงการสถาปนากลุ่ม Food Not Bombs แห่งแดนสยาม ซึ่งจะมีอายุจะครบ 4 ปีแล้วในปีนี้

"เห็นทางยูทูบครับ เปิดดูแล้วชอบวงนี้มาก 'The Rebel Riot' เพลงเขาเสียดสีสังคมมาก พอดูไปดูมาก็เห็นเขาทำ Food Not Bombs ตอนแรกไม่รู้ว่า Food Not Bombs คืออะไร ผมก็เปิดดูเรื่อยๆ เห็นพม่าเขาแชร์ว่า Food Not Bombs …ผมก็เลยศึกษาทางเว็บไซต์ พอศึกษาไปเรื่อยๆ อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ก็เลยรู้ว่าเป็นการแบ่งปันอาหารให้กับคนยากไร้ คนไร้บ้านตามสาธารณะ เน้นแจกอาหารมังสวิรัติ ไม่เบียดเบียนสัตว์ แจกอาหารทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกอายุ …คือผมคิดว่าอย่างทำเป็นแบบกลุ่มเราเองบ้าง แชร์แบบขำๆ เล่นๆ อ้าว มีคนช่วยเฉย" ไผ่ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นจากพนักงานเงินเดือน และผู้ชื่นชอบความพังก์ เยื้องย่างสู่การเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคม

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อวงดนตรีสายพังก์ "The Rebel Riot" แต่ถ้าบอกว่า "จ่อ จ่อ" (Kyaw Kyaw) หนุ่มพังก์ชาวพม่า คือ นักร้องนำวง The Rebel Riot และตัวเอกจากสารคดี "My Buddha is Punk" (2015) หลายคนอาจรู้สึกคุ้นขึ้นมา (บ้าง) ซึ่งนอกจากบทบาทในฐานะนักดนตรีแล้ว จ่อ จ่อ ยังเป็นหนึ่งในสมาชิก Food Not Bombs Myanmar อีกด้วย และตรงนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจ และเพิ่มความมั่นใจให้พังก์ชาวไทยอย่างไผ่รู้สึกว่า เขาที่เป็นพังก์เองก็สามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้

Food Not Bombs 101

Food Not Bombs มาจากไหน กลุ่มนี้มีต้นตำรับมาจาก "แดนลุงแซม" สหรัฐอเมริกา ที่มาที่ไปของกลุ่มนี้คงต้องย้อนไปในทศวรรษที่ 1980 กลุ่มนี้เริ่มจากเป็นนักกิจกรรมต่อต้านพลังงานและอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งคำว่า "…Bombs" ในชื่อกลุ่ม ก็หมายถึงอาวุธนิวเคลียร์นั่นเอง พวกเขาทวงถามถึงความยุติธรรมในสังคมมะกันว่า ขณะที่เราได้เห็นคนที่ออกแบบและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ทำสงคราม ร่ำรวยเอาๆ พอหันมองไปอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์จากความยากจน แล้วทำไมเราต้องเอาเงินไปทำสงครามกันละ?

วิธีขับเคลื่อนสังคมจะใช้วิธีการประท้วงโดยการแจกอาหาร โดยเน้นว่าอาหารมังสวิรัติเท่านั้น เพราะกลุ่มมีแนวคิดว่าไม่อยากเบียดเบียนสัตว์น้อยใหญ่ ของใช้จำเป็น หรือปัจจัยสี่ให้กับทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกรวย-จน, ดี-เลว, คุณจะนับถือศาสนา หรือสัญชาติไหนก็ตาม เขาทำอย่างนี้เพื่อบอกเป็นนัยว่า ถ้าทุกคนมีอาหารให้รับประทานอย่างพอมีพอกิน ก็คงจะไม่มีใครต้องต่อแถวรับอาหารแบบนี้อีก

Food Not Bombs เริ่มทำกิจกรรมกันครั้งแรก เมื่อปี 1981 เมื่อกลุ่มดำเนินการประท้วงกลุ่มผู้บริหารธนาคาร Bank of Boston (เพราะสืบทราบมาว่า กลุ่มผู้บริหารธนาคารขณะนั้นรั้งตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งสนับสนุนการก่อสร้างและซื้อพลังงานนิวเคลียร์) ด้านหน้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นธนาคาร อาคารเซาท์สเตชัน (South Station) โดยแต่งกายเป็นคนไร้บ้านยืนทำและแจกซุปหน้าอาคารนั้นให้ผู้สัญจรผ่านไปผ่านมา ทั้งนักธุรกิจ คนไร้บ้าน ชาวบ้าน ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา จุดมุ่งหมายก็ขยายและครอบคลุมปัญหาร่วมสมัยมากขึ้น เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้ความรุนแรง สงคราม ฯลฯ ปัจจุบันกลุ่มนี้ก็ได้รับความนิยม และมีสาขาผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ยุโรป อเมริกา รวมถึงในเอเชียอุษาคเนย์ ทั้งนี้ ก็ต้องอธิบายว่า จุดมุ่งหมายหรือการทำงานก็สามารถปรับได้ตามบริบทแต่ละประเทศ เช่น ในพม่าก็จะเน้นการส่งสารเรื่องต่อต้านสงคราม แบ่งปันเรื่องความเป็นมนุษย์ (humanity) และความเท่าเทียม ขณะที่ในไทยที่ไผ่เป็นแกนนำ ก็จะเน้นเรื่องการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ต่อสู้กับความยากจน ความหิวโหย และความรุนแรง

"ผมยังมองเรื่องความยากจน ความอดอยาก และความหิวโหย แล้วมันถือเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ทำให้เกิดการลักทรัพย์ ทำลายซึ่งกันและกัน และทำลายครอบครัว เกิดความแตกแยกในครอบครัว …แล้วก็เกิดปัญหาต่อเด็ก เกิดการติดยา ขายยา จี้ปล้นกันได้ครับ …ปัญหาความยากจนนี่สำคัญที่สุดเลยครับ"


สิ่งที่สะท้อนอุดมการณ์และความมุ่งหวังของคนกลุ่ม Food Not Bombs Thailand ได้ดีอีกอย่างหนึ่ง คงอยู่ในโลโก้ของกลุ่ม เป็นรูปเครื่องบินทิ้งระเบิด แต่แทนที่จะทิ้งระเบิด เครื่องบินลำนี้กลับทิ้งสัญลักษณ์เพื่อเสรีภาพ อย่าง "กิ่งใบมะกอก" และแครอต ซึ่งเปรียบเสมือนอาหารมังสวิรัติมาให้แทน

แจกอาหารขับเคลื่อนสังคม 

กิจกรรมของ Food Not Bombs Thailand ก็มีตั้งแต่การระดมทุนผ่านการจัดแสดงดนตรี แล้วนำเงินที่ได้ไปทำอาหาร และแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ หรือกลุ่มคนไร้บ้าน โดยไผ่หวังว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่การเข้าใจและแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง ควบคู่กับการศึกษาปัญหาสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง ไผ่เริ่มอธิบายกิจกรรมของกลุ่ม

"ก็คือเปิดทางเฟสบุ๊คให้เพื่อนช่วยแชร์กันครับ เช่นว่าวันนี้จะมีการแจกอาหารมังสวิรัติ ก็เป็นการบอกต่อๆ กัน แล้วก็มีเพื่อนๆ ก็มาช่วยระดมอาหารด้วยครับ (คอนเสิร์ตระดมทุน) จัดมาสองครั้งแล้วครับ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมาครับ โดยเหมือนกับว่าจัดงานดนตรี เอาทุกสาย ไม่จำกัดแค่พังก์ครับ มีแนวเมทัล, กรันจ์ (Grunge), พังก์, สกา เพราะถ้าเราแบ่งแค่พังก์อย่างเดียว มันก็ไม่มีสันติภาพ เหมือนกับเราแบ่งพรรคแบ่งพวก ต้องการให้สังคมเห็นว่าดนตรีทุกสายก็มาร่วมแจก (อาหาร) กันได้ ผมไม่อยากให้กระจุกแค่ว่างานดนตรีนี้เป็นงานพังก์ คือถ้าเป็นแค่งานดนตรีพังก์มันก็จะกระจุกแค่พังก์อย่างเดียว เพราะยังมีแนวดนตรีอีกหลายแนว แนวดนตรีอันเดอร์กราวนด์ก็มีเยอะครับ"

"ที่แรกของ Food Not Bombs (ที่ไปทำกิจกรรม) คือ บ้านเด็กกำพร้า แล้วก็มาเรื่อยๆ ที่เสาชิงช้า คลองหลอด แล้วก็หัวลำโพงครับ แล้วก็ที่บ้านครูเชาว์ แถวสะพานพระราม 8"

"ดีครับ ผลตอบรับดีครับ เหมือนว่าเป็นการช่วยสังคม เหมือนกับว่าพวกเขากำลังรออาหารจากพวกเราอยู่ครับ เราให้อาหารไป รอยยิ้มเขาออกมาเลยครับ เหมือนกับเป็นมิตรกันได้เลย แม้ว่าเราจะไม่รู้จักกันก็เหมือนเป็นพี่น้องกันมาสิบปี"

'ประทับใจที่ไหนที่สุดครับ' เราถามเพิ่มเติมทันทีตามธรรมเนียมปฏิบัติ

"ที่ประทับใจที่สุดคืองานดนตรีครั้งแรก กับบ้านครูเชาว์ครับ เขาเป็นคนตาบอด เขามองไม่เห็น เขาบอกว่าอย่าไปแคร์ว่าเราเป็นคนตาบอด ร่างกายเราไม่พร้อม แต่เราก็ทำได้เหมือนทุกคนทั่วไป ขนาดคนที่ร่างกายไม่ครบ เขายังทำได้มากกว่าผม เหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้ผมทำต่อ เราอย่าไปสนใจคนอื่น เราแค่ทำให้ดีที่สุดก็พอแล้วครับ"

ทัศนคติจากคนภายนอก 

"สมมติว่าเราเปิดระดมทุน แล้วเห็นคนแต่งตัวอย่างนี้ในเฟสบุ๊คทุกคนก็ไม่ค่อยอยากช่วยแล้ว เพราะสังคมไทยชอบมองคนที่ภายนอก สมมติเราระดมทุนในเฟสบุ๊คเห็นหน้าเฟซบุ๊กชื่อพังก์ ทุกคนก็จะมองข้ามไปเลยครับ"


ไผ่ เล่าถึงประสบการณ์ และปัญหาที่เจอระหว่างระดมทุน แม้ว่าปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือจะเป็นปัญหาทั่วไปของกลุ่มที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง แต่ด้วยภาพลักษณ์สไตล์พังก์ ก็ทำให้เรื่องนี้ยุ่งยากขึ้น

ไผ่ อธิบายเพิ่มว่า บางคราก็มีอินบอกซ์ข้อความเข้ามาในเพจเฟซบุ๊กของ Food Not Bombs Thailand โดยบางคนก็ถามเชิงตำหนิว่า "สร้างภาพรึเปล่า แต่ในความคิดผม คือเป็นการสร้างภาพแต่เป็นภาพที่ดี" 

เรารีบถามต่อ แล้วพังก์รุ่นใหญ่ผู้นี้ทำยังไงถึงจะหว่านล้อมให้คนเหล่านี้เชื่อว่า เราจริงจังในสิ่งที่ทำ

"การแก้ปัญหาของผมก็คือ ผมโชว์ผลงานในเพจให้เขาดูครับ ให้เขาดูว่า เราทำไปกี่ครั้งแล้ว มีการจัดงานดนตรีกี่ครั้งแล้ว ก็คือเป็นเครดิตของกลุ่มเรา ให้เขาดูว่า เราไม่ได้เอาเงินมาเข้าส่วนตัว แต่ส่วนมากคนที่เขาช่วยเหลือ เขาก็รู้จักผลงานเราอยู่แล้ว เหมือนว่าเป็นสังคมเล็กๆ ที่เขารู้ผลงานของผมกันอยู่แล้วครับ ไม่มีสังคมใหญ่ในชั้นดนตรีอันเดอร์กราวนด์อะไรแบบนี้ครับ"

จะ 4 ปีแล้วนะ Food Not Bombs แห่งสยามประเทศ

กว่าที่ไผ่จะทำกลุ่ม Food Not Bombs มาถึง 4 ปีนี้ ก็ไม่ง่ายทีเดียว "ปีแรกเงียบมากเลย เพื่อนผมก็ปลุกแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า Food Not Bombs ต้องมีต่อนะ ตอนแรกคือถอดใจแล้ว ไม่เอาแล้ว คือได้กำลังใจจากเพื่อนๆ ว่าให้ทำต่อ ผมก็เลยทำต่อครับ"

"คือ จุดที่ดีที่สุดคืองานดนตรีครั้งแรกของ Punk Not Bombs เป็นการจุดประกายให้มันดังขึ้นเรื่อยๆ แล้วมีงานดนตรีชิ้นหนึ่งก็ทำให้คนรู้จักมากขึ้นครับ ตอนนั้นก็ทำกับเพื่อนแค่สามคน ก็ช่วยกัน ซึ่งจุดนั้นเป็นจุดที่ดีที่สุดของ Food Not Bombs เลยครับ"

เนื่องในโอกาสจะครบรอบ 4 ปีของ Food Not Bombs ผมลองถามไผ่ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือคนส่วนใหญ่มองกลุ่มผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมพังก์อย่างไรบ้าง?

"ก็เหมือนเดิมครับ สังคมก็ยังมองว่าพังก์เป็นกุ๊ย เป็นสถุล เป็นขี้ยา อย่างสังคมพังก์มันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ แต่เราต้องมองตรงข้าม เรามองที่จิตใจมากกว่า รู้สึกว่าท้อแท้ แต่คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ยังไงเราก็จะขับเคลื่อนไปให้ดีที่สุด"

แม้ว่าหลายๆ คนมองพังก์นั้นเหมือนเป็นตัวปัญหา ในทางตรงกันข้าม ก็มีหลายคนที่มองว่า พังก์กลุ่มนี้ก็สร้างแรงบันดาลใจได้เช่นกัน

"เขาพูดเหมือนเราเป็นเซเลบ ไอดอลเลยอะไรแบบนี้ครับ เขาบอกว่าอย่างกลุ่มเรานี่ทำได้ด้วยเหรอ เหมือนปกติคนจะมองว่า เฮ้ย พวกพังก์แม่งเมาทุกวัน …อย่างเช่น ไปแจกที่บ้านเด็กกำพร้า ทางคุณครูที่มูลนิธิเขาก็งงว่า กลุ่มนี้มาทำแบบนี้กันด้วยเหรอ เขาบอกว่าเพิ่งเห็นครั้งแรก เหมือนกับว่าคนไปติดกับเรื่องการแต่งตัว ถ้าสมมติว่าเป็นสายฮิปฮอป สายอื่นๆ เขาก็มองเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างพังก์นี่มันติดตา โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตัว ทรงผม สีผม มันไม่เหมือนคนอื่น แต่เขาก็ยินดีครับ เขาบอกว่าขอบคุณเลยครับ"

เริ่มแรกเนื่องจากกลุ่มยังเล็กอยู่ Food Not Bombs Thailand จึงเริ่มจากกิจกรรมที่ตัวเองพอทำได้อย่างการแจกอาการ แต่ในอนาคต ไผ่และเพื่อนพังก์ก็อยากทำกิจกรรมอย่างอื่นๆ เพื่อช่วยลดปัญหาสังคม อย่างเช่น การแบ่งปันหนังสือเรียน ความรู้ และอื่นๆ ในพื้นที่ชายแดนภายใต้ สุดท้ายพังก์ชาวไทยก็หวังว่า วันหนึ่งจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ในอาเซียนเช่นกัน โดยมีทางฟิลิปปินส์ และพม่า ก็เคยชวนไปทำกิจกรรมด้วย

ไผ่เล่าด้วยความแปลกใจ เมื่อมือกลองวง The Rebel Riot ประเทศพม่า ติดต่อมาทางหลังไมค์ อยากมาร่วมแสดงดนตรีระดมทุนด้วย ซึ่งไผ่ให้ความเห็นว่า ในอดีต เราอาจเป็นศัตรู แต่ว่าเขามองข้าม และมองว่านี่เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะได้ทำงานร่วมกัน และช่วยเหลือระหว่างไทย กับเพื่อนบ้านอย่างพม่า 

"การช่วยเหลือกัน มันก็คือความเป็นมนุษย์น่ะครับ ความเท่าเทียมกัน คุณจะศาสนาไหน คุณจะเชื้อชาติไหนก็เป็นเพื่อนกันได้ สามัคคีกันได้ครับ ใครจะจนใครจะรวยก็เท่าเทียมกันหมดครับ"

 


 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 องค์กรสิทธิฯสากล แถลงยินดีที่ดีเอสไอ รับคดี 'บิลลี่' เป็นคดีพิเศษ ย้ำต้องทำมากกว่านี้

Posted: 02 Jul 2018 12:05 AM PDT

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้การรับคดีของ 'บิลลี่' ที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหายเป็นคดีพิเศษเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ทางการไทยยังคงต้องดำเนินการมากกว่านี้

แฟ้มภาพ kim chaisukprasert

2 ก.ค.2561 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) และฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ได้ออกแถลงการณ์การร่วมเพื่อแสดงความยินดีที่ดีเอสไอรับคดีของ พอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ เม.ย. 2557 ที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหายเป็นคดีพิเศษ และเรียกร้องให้การสืบสวนสอบสวนมุ่งเน้นไปที่การค้นหาชะตากรรมหรือที่อยู่ของบิลลี่ การนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือสถานะเช่นใด มาดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และให้มีการบอกกล่าวถึงความก้าวหน้าของการสืบสวนสอบสวนต่อครอบครัวของบิลลี่โดยครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง

แถลงการณ์ร่วมยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดให้มีการดำเนินการให้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางปกครองที่จะคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเกิดสัมฤทธิ์ผลตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประไทย รวมถึง การเข้าภาคยานุวัติอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และการผ่านร่างกฎหมายที่จะทำให้การทรมาน การกระทำอื่นๆที่เป็นการประติบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดเฉพาะภายใต้กฎหมายไทย เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังมีความล่าช้าอยู่ในปัจจุบัน

แถลงการณ์การร่วมระบุว่า การสืบสวนสอบสวนกรณีที่นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง พอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ ถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหายนั้นควรมุ่งเน้นไปที่การค้นหาชะตากรรมหรือที่อยู่ของบิลลี่ การดำเนินการบอกกล่าวถึงความก้าวหน้าของการสืบสวนสอบสวนต่อครอบครัวของบิลลี่โดยครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง และการนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือสถานะเช่นใด มาดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมอย่างแท้จริง คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) และฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) กล่าวในวันนี้ นอกจากนี้ องค์กรข้างต้นยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดให้มีการดำเนินการให้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางปกครองที่จะคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเกิดสัมฤทธิ์ผลตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประไทย เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังมีความล่าช้าอยู่มากในปัจจุบัน

ในวันที่ 28 มิ.ย. 2561 หลังจากการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ('ดีเอสไอ') กระทรวงยุติธรรม ได้ออกแถลงการณ์อันน่ายินดีว่าดีเอสไอมีมติให้กรณีที่นักกิจกรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง  พอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ ซึ่งถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหายนั้นเป็น "คดีพิเศษ" ที่ต้อง "ดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547" ซึ่งหมายถึงการสืบสวนสอบสวนโดยดีเอสไอนั่นเอง

มีผู้พบเห็นนายพอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ขณะอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในจังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่บิลลี่ถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหายนั้น บิลลี่ได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและนักกิจกรรมเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติโดยอ้างว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เผาและทำลายบ้าน พื้นที่เกษตรกรรม และทรัพย์สินอื่นๆของพวกเขา

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศดังกล่าวจากดีเอสไอ เพื่อให้ทราบชะตากรรมหรือที่อยู่ของบิลลี่ ภริยาของบิลลี่ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ได้ทำการยื่นคำร้องต่อดีเอสไอมาเป็นเวลานาน รวมทั้ง ไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ก็ได้ทำการเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายปี โดยขอให้ดีเอสไอรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และเรียกร้องให้ดีเอสไอดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวอย่างรวดเร็ว อิสระ เป็นกลาง มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) ซึ่งได้มีการเปิดตัวพิธีสารดังกล่าวร่วมกับกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พิธีสารมินนิโซตาฉบับปรับปรุงนี้ได้เน้นย้ำว่าหากผู้สืบสวนสอบสวนไม่สามารถระบุแหล่งที่ตั้งศพหรือซากศพได้ พวกเขายังคงต้องรวบรวมหลักฐานแวดล้อมโดยตรงอื่นๆ ต่อไป โดยพยานหลักฐานเหล่านี้อาจเพียงพอต่อการระบุตัวผู้กระทำความผิดได้

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีข้อมูลจำนวนมากที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์การที่บิลลี่ถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหาย แต่การสืบสวนสอบสวนของตำรวจในช่วงสี่ปีที่ผ่านมากลับไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังมิได้ดำเนินการตามข้อผูกพันที่ได้ให้ไว้หลายต่อหลายครั้งว่าจะทำการภาคยานุวัติอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) ที่ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555 เจ้าหน้าที่ไทยนั้นยังคงล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศในการนำความยุติธรรมมาสู่ผู้เสียหายจากการบังคับให้สูญหายและครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้น ผู้กระทำผิดยังคงสามารถหลบเลี่ยงบทลงโทษบางประการได้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบังคับให้สูญหายนั้นยังมิใช่ความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะภายใต้กฎหมายไทย

อนุสัญญาดังกล่าวได้ยืนยันว่า "บุคคลจะถูกบังคับให้สูญหายไม่ได้" และระบุให้รัฐมีพันธกรณีที่จะต้องสืบสวนสอบสวนการกระทำที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายเพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรม และทำให้การกระทำผิดดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึง "ความร้ายแรงอย่างยิ่ง" ของการกระทำดังกล่าว

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบที่จะทำการภาคยานุวัติ ICPPED แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 ไอซีเจได้รับทราบจากกระทรวงการต่างประเทศว่าการภาคยานุวัติ ICPPED จะเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการตรากฎหมายภายในประเทศเพื่อรับรองให้อนุสัญญาฯดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายในประเทศ

นอกเหนือจากการภาคยานุวัติ ICPPED แล้ว ประเทศไทยยังคงต้องทำการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินคดีต่ออาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหายตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention against Torture หรือ CAT)

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะผ่านร่างกฎหมายที่จะทำให้การทรมาน การกระทำอื่นๆที่เป็นการประติบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดเฉพาะภายใต้กฎหมายไทยนั้นยังคงล่าช้า

กระทรวงยุติธรรมประเทศไทยได้อธิบายว่าปัจจุบันการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะรอบที่สองต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ('ร่าง พ.ร.บ.') นั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินผลการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ ไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ขอเรียกร้องให้มีการเร่งรัดกระบวนการดังกล่าว

ไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ ฮิวแมนไรท์วอช ซึ่งได้เคยพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับต่างๆหลายครั้ง ยังคงกังวลว่าจากเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ร่างล่าสุดนั้นถ้านำมาบังคับใช้จะทำให้เนื้อหาในกฎหมายที่ออกมานั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2560 วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 และ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2561 กลุ่มภาคประชาสังคม รวมถึงไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอช ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย รวมถึงกระทรวงยุติธรรมของประเทศไทย เกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่จำเป็นต้องปรับแก้เพื่อให้ร่างกฎหมายเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

ความเป็นมา

"การบังคับให้สูญหาย" นั้นได้รับการนิยามไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าหมายถึงการจับกุมหรือคุมขังบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือตัวแทนบุคคลดังกล่าว ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น ทั้งนี้ การบังคับให้สูญหายนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการประกันโดยกฎหมายระหว่างประเทศหลายประการ รวมถึง การห้ามมิให้มีการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลไว้ตามอำเภอใจ การทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม สมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) นั้นมักจะให้คำอธิบายว่าการบังคับให้สูญหายนั้นเป็น "การกระทำผิดต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์" และเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ "รุนแรงและชัดเจน"

ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ ICCPR และ CAT ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ในการที่จะต้องดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี ลงโทษ และให้การชดเชยและเยียวยากับผู้เสียหาย ในอาชญากรรมการทรมาน การประติบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้บุคคลสูญหาย

ทั้งนี้ ดีเอสไอนั้นถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และมีอำนาจเหนือคดีอาญาพิเศษ ซึ่งรวมถึงคดีที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ ความผิดที่มีลักษณะเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม และความผิดที่มีผู้ทรงอิทธิพลเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานมิถุนายน 2018

Posted: 01 Jul 2018 09:30 PM PDT

สหภาพแรงงานภาคก่อสร้าง IG BAU ในเยอรมนีบรรลุข้อตกลงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง 6% หรือเฉลี่ยเดือนละ 200 ยูโร

สมาชิกสหภาพแรงงานก่อสร้างกว่า 800,000 คนจะได้รับการขึ้นเงินเดือนจากข้อตกลงนี้ หรือเฉลี่ยเดือนละ 200 ยูโร ถือเป็นการขึ้นเงินเดือนทั่วประเทศที่สูงที่สุดในปีนี้ นายโรเบิร์ต เฟเยอร์ ประธานสภาพแรงงาน IG BAU ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวรอยเตอร์ เขากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าจากผลของข้อตกลงนี้ คนงานจะได้รับส่วนแบ่งที่ยุติธรรมจากการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ

เศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีและขยายเพิ่มขึ้น 2.2% ในปี 2017 อีกทั้ง อัตราการว่างงานต่ำ ทว่าบริษัทก่อสร้างเผชิญปัญหาขาดแคลนกำลังคนให้เพียงพอกับโครงการต่างๆ จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับสภาพแรงงานที่จะต่อรองเรื่องเงินเดือน

"เราขอแสดงความยินดีกับสหภาพแรงงาน IG BAU การได้ข้อสรุปหลังจากที่เจรจามาหลายสัปดาห์ถือเป็นชัยชนะของคนงานเยอรมัน เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า คนงานจะได้ส่วนแบ่งจากผลกำไรที่มากขึ้นนับตั้งแต่ที่พวกเขาได้อุทิศเวลาทำงานจนเศรษฐกิจเฟื่องฟู" นายอัมเบ็ท ยูสัน เลขาธิการสหพันธ์แรงงานสากลคนงานก่อสร้างและคนงานทำไม้ (BWI) กล่าว

ที่มา: BWI, 3/6/2018

HP เตรียมปลดพนักงาน 5,000 คน ตามแผนปรับโครงสร้าง

HP Inc., เปิดเผยว่าบริษัทเตรียมปลดพนักงาน 4,500-5,000 คนในช่วงสิ้นปีงบการเงิน 2019 ตามแผนการปรับโครงสร้าง ทั้งนี้ HP มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 49,000 คน นับจนถึงวันที่ 31 ต.ค.ปีที่แล้ว โดย HP ถือเป็นบริษัทผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ของโลกโดยมีสัดส่วนตลาด 22.6% ในไตรมาสแรกของปี 2018

ที่มา: bloomberg.com, 6/6/2018

องค์กรสิทธิแรงงานระบุโรงงานรับจ้างผลิตให้ Gap และ H&M ล่วงละเมิดแรงงานหญิงในโรงงาน

องค์กรสิทธิแรงงาน Global Labor Justice เผยรายงานระบุว่าแรงงานหญิงโรงงานผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ดังระดับโลก อาทิ Gap และ H&M ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ค่าจ้าง สภาพการทำงาน การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการทำร้ายร่างกายอีกด้วย โดยรายงานของ Global Labor Justice ได้รวบรวมข้อมูลจากปากคำของแรงงานในหลายประเทศทั่วเอเชีย อย่าง กัมพูชา บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และอินโดนีเซีย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 2018

ที่มา: aljazeera.com, 6/6/2018

พนักงานส่งอาหารออนไลน์ในจีนหยุดงานประท้วง ไม่พอใจค่าจ้างต่ำ-สภาพการทำงานย่ำแย่

พนักงานส่งอาหารนัดหยุดงานแล้วอย่างน้อย 15 ครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2018 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการแข่งขันของธุรกิจจัดส่งอาหารอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อค่าจ้างของพนักงาน วารสารแรงงานของจีนแสดงแผนที่การนัดหยุดงานของพนักงานจัดส่งอาหารทั่วประเทศจีน ได้แก่ Yunnan, Jiangsu, Shandong, Zhejiang, Chongqing, Shanghai, Guangdong, Jilin, Hunan, Guangxi และ Shanx

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2018 พนักงานบริษัท Meituan ทางตอนเหนือของเมือง Taiyuan ออกมาประท้วงหลายประเด็น ได้แก่ ระดับค่าจ้าง เวลาในการจัดส่ง ประกันสุขภาพและอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่สูง การประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับพนักงานส่งอาหารของ Meituan ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 40 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่เอารัดเอาเปรียบพนักงานทุกบาททุกสตางค์ ตามมาด้วยการนัดหยุดงานเป็นเวลา 2 วันของพนักงานบริษัทดังกล่าว จำนวนกว่า 100 คนในเมืองฉงชิ่ง (Chongqing) เมื่อวันที่ 16-17 พ.ค. 2018 พนักงานจำนวนมากเป็นพนักงานสัญญาจ้าง ไม่ใช่พนักงานประจำของบริษัทโดยตรง แต่สภาพการจ้างถูกกำหนดโดยบริษัทเอง

พนักงานกล่าวว่า เดิมทีธุรกิจจัดส่งอาหารน่าดึงดูด เพราะพวกเขาสามารถเลือกจัดส่งออเดอร์อาหารอะไรก็ได้ แต่หลังจากที่บริษัทดังกล่าวทำแอพส่งอาหารตัวใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็มีมาตรการลงโทษพนักงานที่ปฏิเสธออเดอร์ที่ใช้เส้นทางหรือเวลาจัดส่งที่ยากจะทำได้ ส่วนค่าตอบแทนที่คิดต่อกิโลเมตรนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ค่าจ้างเที่ยวเดียวต่ำสุดอยู่ที่ 3.6 หยวนหรือ 0.56 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราค่าเที่ยว 6 หยวนต่อ 3 กิโลเมตร เวลาในการจัดส่งก็บีบรัดจาก 40 นาทีเป็น 36 นาที ในขณะที่ค่าปรับของการจัดส่งช้าก็ปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามพนักงานส่งอาหารต้องแบกค่าน้ำมันรถ ค่าซ่อมรถและค่าโทรศัพท์ หลายคนจึงเห็นว่า พวกเขาไม่สามารถหารายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงครอบครัวได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพและอุบัติเหตุวันละ 3 หยวน ซึ่งจะถูกหักจากบัญชีโดยอัตโนมัติ แต่พนักงานกล่าวว่า บริษัทประกันภัยจะไม่จ่าย ในกรณีที่พวกเขาไม่มีใบขับขี่และทะเบียนรถที่ถูกกฎหมาย ซึ่งหลายคนไม่มี หรือขับขี่อย่างผิดกฎหมายซึ่งพวกเขาก็มักจะทำเพื่อส่งอาหารให้ทันเวลา

พนักงานส่งอาหารยังบ่นเรื่องความขัดแยังกันระหว่างเส้นทางของแอพส่งอาหารกับการคำนวณระยะทาง รวมทั้งแผนที่ออนไลน์ที่ใช้กันทั่วไป คนขับรถกล่าวว่า ระยะทางที่บันทึกไว้ในแอพนั้นสั้นกว่ามาก เช่นแอพแผนที่ของไบดู อีกทั้งบริษัท Meituan ไม่คำนึงถึงการคำนวณเวลารถติดเมื่อแนะนำเส้นทางส่งอาหาร พนักงานกล่าวอีกว่าหากพวกเขาร้องเรียนปัญหาการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมในกลุ่มแอพ WeChat และ Social Media อื่นๆ บัญชีของพวกเขาอาจถูกลบทิ้งได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อไม่มีทางอื่นที่จะเรียกร้องพวกเขาจึงต้องนัดหยุดงาน

ที่มา: international.thenewslens.com ,7/6/2018

ILO เผยเยาวชน 152 ล้านคนทั่วโลกถูกใช้แรงงาน

องค์การแรงงานสากล หรือ International Labor Organization (ILO) เปิดเผยว่ามีการใช้แรงงานเด็กทั่วโลก 152 ล้านคน และเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กๆ เหล่านี้ ถูกบังคับให้ทำงานที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ รายงานฉบับนี้เป็นข้อมูลที่ใช้อ้างอิงในกิจกรรมช่วงวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก หรือ World Day Against Child Labor ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มิ.ย.

ILO รายงานว่า ประมาณ 50% ของเด็กที่ถูกใช้แรงงาน อยู่ในทวีปแอฟริกาและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เขตแอฟริกาด้านล่างทะเลทรายซาฮารา เป็นบริเวณที่มีการใช้แรงงานเด็กมากที่สุด คืออยู่ที่อัตราหนึ่งในห้าของเยาวชนในเขตดังกล่าว แรงงานเด็กทั่วโลกจำนวนมากเริ่มถูกให้ทำงานตั้งแต่ 6 ถึง 7 ขวบ และรับงานที่มีอันตรายเมื่อพวกเขาอายุมากขึ้น โดยร้อยละ 70 ของงานที่ไม่ปลอดภัยอยู่ในภาคการเกษตรกรรม นอกจากนี้ การทำเหมืองแร่ งานก่อสร้าง และการทำงานตามบ้าน ก็ยังถูกระบุว่ามีความเสี่ยงสูงต่อเยาวชน

เลขาธิการใหญ่ ILO ยังระบุว่าเป็นที่น่าตกใจว่าการกระทำเหล่านี้ทำให้มีคนเสียชีวิต 2 ล้าน 7 แสน 8 หมื่นราย และบาดเจ็บหรือไม่สบายอีก 374 ล้านคน

ที่มา: VOA, 10/6/2018

คนทำงานดูแลผู้สูงอายุที่ไต้หวันชุมนุมเรียกร้องให้มีวันหยุด

สำนักข่าวท้องถิ่นในไต้ไหวรายงานเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2018 ว่าแรงงานข้ามชาติออกมากดดันกระทรวงแรงงานให้บังคับนายจ้างจัดหาวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง 1 วันต่อสัปดาห์โดยระบุไว้ในสัญญาจ้างงาน แรงงานข้ามชาติกว่า 10 คนที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงานในกรุงไทเปเมื่อเช้าวันที่ 10 มิ.ย. 2018 เรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยให้พวกเขามีวันหยุดติดต่อกัน 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

"เราต้องการวันหยุดเพราะเราคือมนุษย์" สมาชิกสหภาพแรงงานในบ้านทาวหยวนสวมชุดขาวเรียกร้องหน้ากระทรวงแรงงานกล่าว พวกเขายังได้ล่ารายชื่อบนเศษผ้าห่มที่เย็บโดยลูกจ้างที่ไม่มีวันหยุด

Filipina Aileen ให้สัมภาษณ์ว่า เธอทำงานในไต้หวันมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกไม่มีวันหยุดเช่นเดียวกับเพื่อนแรงงานข้ามชาติหลายคนก็ถูกนายจ้างขอให้ทำงานทั้งวันและทุกวัน สมาคมแรงงานในบ้านทาวหยวน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานไต้หวันประมาณ 230,000 คนและกว่า 60% ไม่มีวันหยุด

"การขอให้มีวันหยุดนั้นไม่ใช่การขอให้มีสิทธิเพิ่มเติม แต่จะต้องบรรจุไว้ในสัญญาการจ้างงานระหว่างแรงงานดูแลผู้สูงอายุกับนายจ้าง ดังนั้น กระทรวงต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานในบ้าน โดยบังคับให้นายจ้างบรรจุไว้ในสัญญาจ้างงาน" นายหวง ซู่-หัว ประธานสมาคมแรงงานในบ้านทาวหยวน กล่าว

"การจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับแรงงานข้ามชาติวันละ 567 ดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ ทำให้นายจ้างหลายคนชอบที่จะจ่ายเงินเพิ่มแทนการปล่อยให้ลูกจ้างมีวันหยุดมากกว่า" นายหวงกล่าวเพิ่มเติม

"ลูกจ้างดูแลผู้สูงอายุควรจะมีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วันและจะต้องติดต่อกัน 24 ชั่วโมงโดยที่ลูกจ้างไม่จำเป็นต้องอยู่ในบ้านของนายจ้าง" นายหวงกล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรจะจัดสรรเงินสนับสนุนให้แก่นายจ้างที่ต้องการคนดูแลผู้สูงอายุในวันที่ลูกจ้างหยุดด้วย เนื่องจากนโยบายการดูแลผู้สูงวัยระยะยาวในปัจจุบันนั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลเลย ทำให้นายจ้างหลายคนไม่สามารถปล่อยให้ลูกจ้างหยุดงานหรือเดินทางกลับบ้านเพื่อเยี่ยมครอบครัว

ลูกจ้างที่ดูแลผู้สูงอายุซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติไม่สามารถต่อรองให้แก่ตัวเอง ดังนั้น สมาคมแรงงานในบ้านทาวหยวนจึงขอให้รัฐบาลตระหนักในเรื่องนี้ ทำความเข้าใจกับนายจ้างในเรื่องสิทธิแรงงานและให้พวกเขาหยุดงานสัปดาห์ละ 1 วัน โดยเขียนไว้ในสัญญาจ้างด้วย

ในวันชุมนุมนั้น กระทรวงแรงงานออกมาแถลงว่า ในสัญญาจ้างแรงงานในบ้าน นายจ้างต้องกำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังร่วมกับกระทรวงสวัสดิการและสุขภาพเพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ และเมื่อลูกจ้างถูกละเมิดสิทธิ สามารถโทรสายด่วน 1955 ร้องเรียนกับกระทรวงได้ทันที

ที่มา: taipeitimes.com, 11/6/2018

Rolls-Royce เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 4,000 ตำแหน่ง

Rolls-Royce ระบุว่าปัญหาคอมเพรสเซอร์ที่ทำให้เครื่องบินโบอิ้งหลายลำต้องจอดไว้ ซึ่งตอนนี้ถูกพบในเครื่องยนต์ชนิดอื่นแล้ว เมื่อรวมกับปัญหาอื่นๆ ทำให้เกิดแรงกดดันจนต้องเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 4,000 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานในอังกฤษ โดยจะกระทบกับตำแหน่งงานในส่วนบริหารและซัพพอร์ต

ที่มา: theguardian.com, 11/6/2018

'Tesla' หวังลดต้นทุน เตรียมลดพนักงานกว่า 3,000 ตำแหน่ง

บริษัท เทสลา (Tesla) วางแผนในการปรับลดพนักงานร้อยละ 9 ของบริษัท หนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุนและกระตุ้นกำไรของบริษัท หลังจากที่ Tesla พยายามเร่งเครื่องผลิตรถยนต์ซีดานพลังงานไฟฟ้า Model 3 เพื่อสร้างกำไรให้กับบริษัทในปีนี้ การปรับโครงการองค์กรของ Tesla จะกระทบกับพนักงานมากกว่า 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ได้รับเงินเดือน ครอบคลุมตั้งแต่พนักงานที่ประจำอยู่ในส่วน DIY ของ Home Depot และพนักงานของธุรกิจแผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท SolarCity ในเครือ ซึ่งพนักงานที่ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้จะถูกเสนอให้เข้าไปทำงานในฝ่ายขายแทน แต่ไม่กระทบกับพนักงานในภาคการผลิตรถยนต์

นายอีลอน มักส์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Tesla ทวีตอีเมลของเขาที่เขียนให้กับพนักงานเกือบ 1 ใน 10 องค์กร ที่ตอนนี้มีการจ้างงานมากกว่า 37,000 ตำแหน่ง ยอมรับว่าการปรับลดพนักงานของบริษัทครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก เพราะที่ผ่านมา Tesla ไม่เคยทำผลกำไรได้เลยตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเกือบ 15 ปี การทำกำไรจึงไม่ใช่แรงขับเคลื่อนของบริษัท แต่เป็นบทบาทของ Tesla ในการขับเคลื่อนโลกในการใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน ซึ่งเราจะไปถึงเป้าหมายนั้นไม่ได้หากบริษัทไม่แสดงให้เห็นว่าเราสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน โดยเมื่อเดือน พ.ค. 2018 ผู้บริหาร Tesla ได้เผยว่าบริษัทเตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยลดบทบาทของบุคลากรในภาคบริหารที่ทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งเขาเชื่อว่าจะไม่กระทบกับศักยภาพในการผลิตของบริษัท

ที่มา: VOA, 13/6/2018

เดินขบวนในกรุงโรมของอิตาลีเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ลี้ภัย

การประท้วงซึ่งจัดโดยสหภาพแรงงาน Unione Sidicato di Base หรือ USB มีทั้งชาวอิตาลีและผู้อพยพเข้าร่วมการเดินขบวน โดยหลายคนถือป้ายข้อความต่อต้านนโยบายผู้ลี้ภัยของรัฐบาล และเดินไปตามถนนผ่านศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของกรุงโรม หลังทางการอิตาลีปฏิเสธที่จะอนุญาตให้เรือกู้ภัยผู้อพยพ ' Aquarius' พร้อมผู้อพยพ 629 คนมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรืออิตาลี

ที่มา: xinhuanet.com, 16/6/2018

Telstra บริษัทคมนาคมออสเตรเลียเตรียมเลิกจ้างพนักงาน 8,000 คน

Telstra บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ของออสเตรเลียประกาศว่าจะเลิกจ้างพนักงาน 8,000 คน หรือราว 1 ใน 4 ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งจะเป็นพนักงานระดับบริหารและการจัดการ ตามยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรับมือกับการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรม การเลิกจ้างนี้เป็นหนึ่งในมาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายให้ได้อีก 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ภายในปี 2022

ที่มา: news.com.au, 20/6/2018

อดีต 'นักโทษ' สหรัฐฯ ได้รับโอกาสครั้งใหม่ในร้านอาหาร

VOA รายงานว่าอดีตนักโทษสหรัฐฯ มักเจอกับความท้าทายสำคัญ เมื่อต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ โดยเฉพาะการหาอาชีพที่สุจริตทำ แต่มีร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองคลีฟแลนด์ ที่หยิบยื่นโอกาสครั้งใหม่ให้กับพวกเขา

แบรนดอน เอ็ดวิน เปิดร้านอาหารภายใต้ชื่อของเขา ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ แต่สิ่งที่เขาแตกต่างจากร้านอาหารอื่นๆ คือ ความกล้าที่จะจ้างพนักงานที่เป็นอดีตนักโทษในเรือนจำ จากมุมคิดที่น่าสนใจว่าเราอาจเคยได้ยินว่าหากเราหยิบยื่นโอกาสให้ผู้อื่นอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน นั่นคือการแสดงถึงการส่งเสริมและสนับสนุนพวกเขา และสิ่งนี้จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้

ที่จริงแล้ว เจ้าของร้าน Edwins Restaurant ในวันนี้ คือ หนึ่งในผู้ที่เคยได้รับโอกาสนั้นมาก่อน เขาเติบโตมาจากเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่เขาได้รับโทษเพียงแค่คุมประพฤติ นั่นทำให้เขาได้รับโอกาสครั้งใหม่ในชีวิต และหันหน้าเข้าศึกษาหลักสูตรการทำอาหารอย่างจริงจัง จนประสบความสำเร็จ

ไม่เพียงแค่นั้น เขายังถ่ายทอดศิลปะการทำอาหารให้กับอดีตนักโทษในเรือนจำ ด้วยการจัดทำหลักสูตรอบรมด้านอาหารงานครัวเป็นเวลา 6 เดือน ให้กับนักโทษที่สนใจจะประกอบอาชีพนี้ และมอบโอกาสการทำงานในร้านให้กับพวกเขาด้วย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เฉพาะอดีตนักโทษที่ไม่สามารถหาอาชีพสุจริตอื่นทำได้ เนื่องจากมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน

คุณเอ็ดวิน บอกว่า นี่เป็นการลบล้างความคิดเดิมๆของคนที่ติดประวัติอาชญากรรมว่าพวกเขาไม่มีทางหางานได้ เพราะที่ร้านของเขามีงานรองรับถึง 54 ตำแหน่ง เพียงแค่ผ่านการฝึกอบรม 6 เดือน ซึ่งเหมือนกับการฝึกฝนนักกีฬาให้พร้อมเข้าแข่งในสนามอาชีพ ผู้คนในเมืองคลีฟแลนด์ ก็ให้การตอบรับกับการหยิบยื่นชีวิตใหม่ให้ผู้ต้องขังของคุณเอ็ดวินด้วย

แดเนียล ชีเกล บาทหลวงในเมืองคลีฟแลนด์ บอกว่า เขาเชื่อในการได้รับโอกาสครั้งที่สองตามหลักการทางศาสนา และสิ่งที่คุณเอ็ดวินทำ คือ การตอกย้ำว่าเราไม่ควรเหมารวมว่านักโทษนั้นเลวร้ายไปเสียหมด และพวกเขามีหนทางอีกมากมายที่จะดำเนินชีวิตต่อไป บางคนอาจได้งานทำที่นี่ บางคนอาจกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม หรือกลายเป็นคนไร้บ้านก็ได้ แต่ที่นี่พยายามผลักดันให้อดีตนักโทษประสบความสำเร็จในชีวิต และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่าพวกเขาจะทำให้สิ่งที่แตกต่างจากความผิดพลาดในอดีตได้

ด้านเจเรมี แมทธิวส์ อดีตนักโทษที่ตอนนี้กลับมาเป็นนักศึกษา รู้สึกขอบคุณในโอกาสครั้งใหม่ที่ได้รับ เพราะแม้เขาจะเคยมีอดีตที่ไม่ดี แต่เมื่อเราค้นพบหนทางในการเปลี่ยนชีวิตของตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น แม้จะเคยเป็นนักโทษมาก่อน เราก็ทำให้เห็นแล้วว่าเราสามารถเปลี่ยนตัวเองได้

ปัจจุบัน คุณเอ็ดวิน จะรับรองการทำงานให้กับนักโทษที่ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรด้านอาหาร รวมทั้งทำข้อตกลงว่าจะไม่กลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีก ซึ่งสำหรับอดีตผู้ต้องขังหลายคน รวมทั้งคุณแมทธิวส์ ข้อเสนอแบบนี้เหมือนกับการซื้อชีวิตใหม่และโอกาสในการทำสิ่งที่ดีอีกครั้ง

ที่มา: VOA, 24/6/2018

อัตราว่างงานในญี่ปุ่นต่ำสุดในรอบ 26 ปี

กระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นเปิดเผยว่าอัตราการว่างงานในญี่ปุ่นลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากร้อยละ 2.5 เมื่อ 3 เดือนก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ของปี 1992 หรือในรอบ 26 ปี

ที่มา: businessinsider.com, 29/6/2018

ไทยถูกยกระดับขึ้นเป็น Tier 2 ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปีของสหรัฐฯ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยรายงานประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์หรือ Trafficking in Persons Report ใน 187 ประเทศทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา และประเทศไทยได้รับการปรับอันดับจากระดับ Tier 2 เฝ้าระวัง หรือ Tier 2 Watch List ในช่วงสองปีที่แล้วขึ้นเป็น Tier 2 ในขณะที่เมียนมา จีน รัสเซีย ซูดานใต้ ซีเรีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ และเวเนซูเอลารวมทั้งประเทศอื่นๆ ถูกลดอันดับลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดคือ Tier 3

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่าถึงแม้ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำเพื่อกำจัดการค้ามนุษย์ก็ตาม แต่ประเทศไทยก็ได้ดำเนินการอย่างสำคัญและใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อไปถึงจุดหมายดังกล่าว

ขณะที่เมียนมาถูกลดอันดับลงไปอยู่ที่ Tier 3 เช่นเดียวกับจีน รัสเซีย ซูดานใต้ ซีเรีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ และเวเนซูเอลา เพราะกองทัพเมียนมาทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัยรวมทั้งมีการฉกฉวยประโยชน์ด้านแรงงาน เช่น มีการเกณฑ์เด็กมาเป็นทหารและบังคับใช้แรงงานของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งเป็นสมาชิกชนกลุ่มน้อยในเมียนมาด้วย

ที่มา: VOA, 30/6/2018

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น