โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23-29 ก.ค. 2561

Posted: 28 Jul 2018 02:43 PM PDT

กรมจัดหางานเล็งซื้อเครื่องสแกนม่านตาล็อตใหญ่ 100 เครื่อง

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดี กรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา ที่ใช้ในการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานประมง ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ดำเนินการจัดซื้อจัดหา เครื่องสแกนม่านตา เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกิจการประมง พร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าวที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน อธิบดีกรมการกงสุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) เป็นกรรมการ อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมเจ้าท่า และอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ตั้งแต่เดือน พ.ย.2560 แต่การดำเนินการเป็นได้ด้วยความล่าช้าจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตำหนิกระทรวงแรงงานที่ไม่ดำเนินการจัดซื้อ ทั้งที่ได้สั่งการไปแล้ว ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว. แรงงาน ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการ

นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้จัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาท ให้ กกจ. ดำเนินการจัดซื้อจัดหาเครื่องสแกนม่านตา 100 เครื่องซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่กรมเจ้าท่าเคยจัดซื้อมาก่อน อย่างไรก็ตามตนได้มีการทำหนังสือสอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้วว่า ถ้าหากจะต้องซื้อเครื่องสแกนม่านตาสเปกเดิม เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลเดิม จะสามารถซื้อโดยวิธีใด ถ้าซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงคือการล็อคสเปกตามที่กรมเจ้าท่าเคยซื้อ กกจ.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะถ้ายังดำเนินการ จะเป็นการผิดระเบียบ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจะต้องจัดซื้อตามระเบียบพัสดุ ก็คือต้องมีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บิดดิ้ง

"เนื่องจากระบบเดิมมีการเก็บข้อมูล เมื่อมีการสแกนม่านตา ข้อมูลจะเข้ามาในระบบ แต่ข้อมูลที่ได้จะถูกเข้ารหัสเก็บไว้ ซึ่งจะต้องใช้ซอฟแวร์ของเขา หากเราจะไปใช้รหัส จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้นจะต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ ทั้งการจัดซื้อ และระบบต่างๆ หาก กกจ. ซื้อแล้วใช้ไม่ได้ ก็ต้องให้กรมเจ้าท่าเป็นคนจัดซื้อ ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้สั่งว่า เป็นคำสั่งรัฐบาล ที่จะต้องปฎิบัติตาม แต่ต้องถูกตามตามระเบียบของกฎหมาย" นายอนุรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า การจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา มีปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่สมัยของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็น รมว.แรงงาน โดย คสช. มีคำสั่งมาตรา 44 เด้งด่วนนายวรานนท์ ปีติวรรณ อดีตอธิบดีกรมการจัดหางาน ในขณะนั้น ไปเป็นรองปลัดกระทรวง โดยมีปมเหตุจากไม่ยอมทำเรื่องของบกลางจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา จนเป็นเหตุให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีต รมว.แรงงานพร้อมทีมงานลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นด้วยกับนายวรานนท์ เรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ที่ประเทศต้นทางรับรอง และการออกบัตรประจำตัวชั่วคราวที่ทำอยู่ เพียงพอแล้ว รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลม่านตา น่าจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น และกรมเจ้าท่ามีใช้อยู่แล้ว 30 เครื่อง ขณะนั้นมีกระแสข่าวว่าการใช้เครื่องสแกนม่านตาจำนวนมาก ในราคาชุดละ 1 แสนบาท จะต้องมีระบบเก็บรักษาข้อในมูลระยะยาว เพราะระบบจะมีฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ในการเก็บข้อมูลซึ่งยังต้องใช้เงินจำนวนมากและเป็นงบผูกพันที่ต้องดูแลระยะยาว

ที่มา: โลกวันนี้, 28/7/2561

ภาคประมงประชุมเตรียมยื่น 8 ประเด็นให้รัฐบาลแก้ปัญหา 1 ส.ค. นี้ ลั่น หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน จะหยุดเรือออกหาปลาพร้อมกันทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล

27 ก.ค. 2561 ที่ห้องประชุมสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม  นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม ประชุมสมาชิก 4 องค์กร คือ สมาคมการประมงสมุทรสงคราม , สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม , สหกรณ์ประมงแม่กลอง และสหกรณ์ประมงบางจะเกร็งบางแก้วเพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนภาคประมงในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากภาครัฐ และอียู โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงทั่วประเทศ กว่า 40,000 คน ที่ยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงานให้แก้ปัญหาแต่ก็ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน , ปัญหากฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , ปัญหากฎหมายของกรมเจ้าท่า , ปัญหากฎหมายของกรมประมง , ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO , ปัญหา VMS และ ปัญหากระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันถึงความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมานานกว่า 3 ปี จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ ใบเหลืองไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 แม้ภาคประมงจะหารือถึงแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาน้อยมาก ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้นายกสมาคมประมงทุกสมาคมในจังหวัดสมุทรสงครามเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องความเดือดร้อนต่อรัฐบาลรวม 8 ประเด็น ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพุธที่ 1 สิงหาคม นี้ เวลา 10.00 น. ส่วนในวันเดียวกัน ชาวประมงในพื้นที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมกับ 22 จังหวัดชายทะเล อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ชาวประมงทั่วประเทศจะพร้อมใจกันหยุดเรือออกหาปลาอย่างน้อย 7 วัน และหากยังไม่แก้ปัญหาอีกชาวประมงจะเดินทางไปยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป

นายมงคล กล่าวว่าการแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาล 3 ปี ที่ผ่านมา ชาวประมงเดือดร้อนหนักมากขึ้นทุกวัน ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพการทำประมง โดยในอดีตมีเรือประมงพาณิชย์ขนาด 10 ตันกรอสส์ขึ้นไป กว่า 20,000 ลำ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10,600 ลำ และก็ยังไม่สามารถออกเรือทำประมงอีกกว่า 2,000 ลำ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ยังมีปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน , ปัญหากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , กรมเจ้าท่าและกรมประมงที่ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ ปัญหาการแจ้งเข้าแจ้งออก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานและเจ้าหน้าที่แต่ละศูนย์ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่กำลังจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1 - 5 ปี ข้างหน้า คือ การที่กระทรวงแรงงานจะนำไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เรือประมงต้องรื้อเก๋งเรือเพื่อทำห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ความสูงเพดานเก๋งเรือใหม่ต้องใช้เงินอีกนับล้านบาทต่อลำ ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มประเทศอียูมีผู้รับรองภาคีนี้เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์มานานถึง 8 ปี แต่ในเอเชียก็ยังไม่มีประเทศใดได้รับการรับรอง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ก็ยังไม่รับรอง ชาวประมงจึงขอคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2560 อีกด้วย

ที่มา: คมชัดลึก, 27 ก.ค. 2561

รมว.แรงงาน ชี้แจงกรณีการผลักดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฉบับที่ 188

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม พร้อมนายกสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนเนื่องจากประสบความเดือดร้อน จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง เพื่อแก้ปัญหาไอยูยู ซึ่งการที่กระทรวงแรงงานจะผลักดันประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C 188 นั้น จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1-5 ปีข้างหน้า ในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 (2550) กระทรวงแรงงานมีเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันการทำงานบนเรือประมงให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานอย่างเหมาะสมตามหลักปฏิบัติสากล

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 จะทำให้คนงานประมง มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าตามข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานบนเรือประมง อาทิ มีข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องอายุขั้นต่ำ มีใบรับรองแพทย์ก่อนลงเรือ มีเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมง และ 77 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์มีทะเบียนลูกจ้าง สัญญาจ้าง การจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบบัญชีธนาคาร มีที่พัก อาหาร น้ำดื่มที่เพียงพอเหมาะสม มียารักษาโรคเบื้องต้นกรณีเจ็บป่วย มีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับบนฝั่ง มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับสิทธิความคุ้มครองด้านการประกันสังคม และเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนสำคัญที่จะต้องแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในประเด็นการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) การค้ามนุษย์ในเรือประมงและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในมิติด้านสิทธิมนุษยชนและการกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาหาจุดสมดุลที่ถูกต้องเหมาะสมควบคู่กัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาคกับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน

"ขอให้ผู้ประกอบการและแรงงานประมงมั่นใจได้ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/7/2561

กยศ. ชี้แจงกรณีครูผู้ค้ำประกันถูกยึดทรัพย์

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงพร้อมให้ความช่วยเหลือกรณีครูค้ำประกันนักเรียนที่กู้ยืมเงินแล้วค้างชำระหนี้จนถูกยึดทรัพย์ เตือนผู้กู้ยืมให้มีจิตสำนึกในการชำระเงินคืนเพื่อไม่ให้เดือดร้อนผู้ค้ำประกันและแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาสู่รุ่นน้อง

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า "จากกรณีที่ครูวิภา บานเย็น ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกันนั้น กองทุนได้ตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่ครูวิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่า มีจำนวน 60 ราย จากจำนวนดังกล่าวมีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้วซึ่งกองทุนจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป ในส่วนคดีอีก 17 คดีที่เหลือนั้นอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท สำหรับการช่วยเหลือครูวิภาในส่วนของคดีที่รอการบังคับคดีนั้น กองทุนจะดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนการยึดทรัพย์ ซึ่งภาระหนี้ดังกล่าวจะไม่ถึงขั้นล้มละลายตามที่เป็นข่าว กองทุนขอชื่นชมคุณครูที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบและเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม กองทุนขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในการติดตามหนี้กองทุนไม่ได้ละเลยที่จะติดตามผู้กู้ยืม และได้ดำเนินการตามขั้นตอนติดตามหนี้จากผู้กู้ยืมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่ผู้กู้ยืมครบกำหนดชำระหนี้ กองทุนจะส่งจดหมายแจ้งภาระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืม จากนั้นกองทุนจะมีจดหมายติดตามหนี้ค้างชำระ แจ้งเตือนให้แก่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งเตือนภาระหนี้ และส่งข้อความ SMS รวมถึงประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้รับทราบเพื่อดำเนินการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากผู้กู้ยืมไม่ได้รับจดหมายจากกองทุนก็สามารถตรวจสอบยอดหนี้และสถานะของตนเองได้ทางเว็บไซต์ กยศ. (www.studentloan.or.th) และหากผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้ จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 12 หรือ 18 ต่อปี ของเงินต้นงวดที่ค้างชำระแล้วแต่กรณี จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วสามารถไปขอไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้ และชำระหนี้เป็นรายเดือนได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาลและศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งหมด กองทุนยังได้ให้เวลาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย มิฉะนั้นกองทุนจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน

ทั้งนี้ กองทุนจึงขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ผู้ค้ำประกันจะต้องตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย และขอฝากถึงผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดา มารดา ญาติ หรือครู อาจารย์ เพราะหากค้างชำระเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดเบี้ยปรับจำนวนมากอีกด้วย

ปัจจุบัน กองทุนได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระ 2.1 ล้านราย โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 1 ล้านราย กองทุนขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านมีจิตสำนึกความรับผิดชอบ ในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป"

ที่มา: กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง, 25/7/2561

สำนักงานประกันสังคมย้ำให้สิทธิผู้ประกันตนผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาไม่ต้องสำรองจ่าย

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.ให้สิทธิการรักษาผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับกระจกตา และต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา โดยผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะใช้สิทธิการเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา จะต้องมีข้อบ่งชี้คือ โรคแผลเป็นที่กระจกตา โรคกระจกตาเป็นแผล โรคกระจกตาขุ่นเป็นฝ้าขาว บวม เช่น อุบัติเหตุจากสารเคมี หรือกระจกตาบวมหลังการผ่าตัด กระจกตาเสื่อมตามอายุ กระจกตาผิดปกติแต่กำเนิดหรือผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อแต่กำเนิด กระจกตาขุ่นจากโรคทางภูมิร่างกายผิดปกติ เช่น การแพ้ยาบางชนิด โรคกระจกตามีความโค้งผิดรูป กระจกตาบาง กรณีจำเป็นเร่งด่วน เช่น โรคติดเชื้อที่กระจกตารุนแรง กระจกตาทะลุ หรือกรณีอื่นๆ ตามที่จักษุแพทย์ผู้รักษาระบุ หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยโรคเกี่ยวกับกระจกตา และต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา สามารถรับบริการตรวจรักษาได้ ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่เลือกไว้ทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

ทั้งนี้ สปส.ได้มีการอนุมัติสิทธิให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิกรณีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแล้วจำนวน 628 ราย โดย สปส. ได้จัดสถานพยาบาลในบันทึกข้อตกลงที่มีศักยภาพเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดในกรณีสถานพยาบาลตามสิทธิฯ ส่งต่อการรักษา 29 แห่ง โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: PPTV, 25/7/2561

ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้งบกลางเพิ่ม 439 ล้านบาท ต้นปีใช้ไปแล้ว 364 ล้านบาท

24 ก.ค. 2561 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าสำนักงบประมาณเตรียมโอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีอุกเฉินหรือจำเป็น ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ให้กับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) วงเงินรวม 439,747,855 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ศปมผ. ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561

ทั้งนี้ เป็นงบประมาณให้กับ ศปมผ. 316,339,200 บาท กรมประมง 58,741,200 บาท กรมเจ้าท่า 10,620,300 บาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 14,604,000 บาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) 2,452,000 บาท กรมการจัดหางาน 10,000,000 บาท กรมสวัสติการและคุ้มครองแรงงาน 8,223,900 บาท สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 812,400 บาท และ สำนักงานอัยการสูงสุด 7,382,200 บาท

งบประมาณดังกล่าว เพื่อเป็นการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในดำเนินการตรวจเรือประมง และโรงงานแปรรูปสัตว์นํ้า ตามเป้าหมายที่กำหนด การทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2558-2562 แผนปฏิบัติการระดับชาติในการป้องกันยับยั้งและขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม พ.ศ.2558-2562

แผนการควบคุมและตรวจตราการประมงระดับชาติ ระบบการตรวจสอบยัอนกลับ แผนงานเร่งด่วนตามข้อเสนอแนะของผู้แทนสหภาพยุโรปไปสู่การปฏิบัติ และการเตรียมความพร้อมในการส่งผ่านการดำเนินงานให้กับหน่วยงานหลัก โดยคำนึงถึงการบูรณาการขีดความสามารถ ฐานข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อลดความซํ้าซ้อน ลดความต้องการงบประมาณในการบำรุงรักษาระบบ ให้การแก้ไขป้ญหาการทำการประมงผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุด

มีรายงานว่า เมื่อช่วงต้นปี 2561 ศปมผ. ได้รับงบประมาณมาแล้ว 364.25 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ประกอบด้วย ศปมผ. 282 ล้านบาท กรมประมง 24 ล้านบาท กรมเจ้าท่า 10 ล้านบาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 19.99 ล้านบาท กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 5.5 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 20 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 1.58 ล้านบาท เป็นภารกิจระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2560-31 มี.ค.2561

ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดภารกิจในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของส่วนงานต่างๆ ใน ศปมผ. โดยเน้นกาการพัฒนาระบบงานให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย การจัดการกองเรือประมง การติดตามควบคุมและเฝ้าระวังการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาบุคลากร ระบบงาน ระบบสนับสนุน ตลอดจนพิจารณาการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการของ ศปมผ.ให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า เป็นต้น ภายหลังจากที่ ศปมผ.เสร็จสิ้นภารกิจ

ที่มา: MGR Online, 24/7/2561

หนุนไอเดีย ให้แรงงานต่างด้าว ซื้อประกันภัยคุ้มครองเจ็บป่วย

วันที่ 24 ก.ค. 2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่าในการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมแรงงานเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางอธิบดีฯ เมียนมาได้แสดงความห่วงใยแรงงานเมียนมาที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ซึ่งยังไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ระหว่างการเดินทาง จึงมีการหารือกันว่าน่าจะมีการซื้อประกันภัยระยะสั้นๆ ซึ่งตนก็เห็นด้วย และเสนอให้ดำเนินการทำมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง โดยให้เป็นแบบสมัครใจ อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการหารือกันเท่านั้น และยังไม่ทราบว่าทางการเมียนมาจะดำเนินการอย่างไรต่อ

นายอนุรักษ์ กล่าวต่อว่าเรื่องนี้ตนได้นำเรียน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ทราบแล้ว ซึ่งในเรื่องของการทำประกันภัยแรงงานต่างด้าวนั้น ท่านรมว.ก็เห็นด้วยเพราะมองว่าที่ผ่านมาไม่มีอะไรคุ้มครองเลย เช่น ไฟไหม้รถแรงงานต่างด้าวที่ อ.แม่สอด แล้วไม่ได้รับการชดเชย ดังนั้นคิดว่าควรมี และคิดว่าเป็นประกันภัยระยะสั้นระหว่างรอเข้าระบบประกันสังคมของประเทศไทย ดังนั้นราคาค่าประกันน่าจะไม่แพงมาก ไม่กี่ร้อยบาท เหมือนที่เราไปต่างประเทศ ก็จะมีระบบประกันภัยการเดินทางซึ่งเป็นแบบสมัครใจเหมือนกัน คนไหนทำก็ได้รับการคุ้มครอง ใครไม่ทำก็ดูแลตัวเอง  อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะมียกเว้นแรงงานอยู่ 2 กลุ่มที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม คือ คนรับใช้ตามบ้าน และประมงทะเล แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็จะมีการซื้อประกันสุขภาพกับ รพ.อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าเนื่องจากตอนนี้เมืองไทยนำเข้าแรงงานผ่านเอ็มโอยู ซึ่งรู้แน่ชัดว่าใครเป็นนายจ้าง พอมีกระแสข่าวนี้ออกมาทำให้นายจ้างกังวลว่าจะต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าทำประกันภัยด้วยหรือไม่ นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ไม่มีใครบังคับ เรื่องการประกันภัย เป็นสิทธิของผู้เอาประกัน หากสมัครใจทำก็ทำ และได้รับการคุ้มครอง ถ้าไม่ทำก็ไม่มีสิทธิอะไร หากเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาก็รับผิดชอบตัวเอง เพราะฉะนั้นแรงงานต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าประกันภัยเอง ทั้งนี้เป็นการหยิบยกของทางเมียนมา ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้คุย แต่คิดว่าน่าจะมีแนวคิดคล้ายๆ กัน อย่างไรก็ตามคงไม่ได้จะหยิบยกมาเป็นเรื่องที่ต้องหารือร่วม 3 สัญชาติ

ที่มา: คมชัดลึก, 24/7/2561

ครูสาวร้องกองปราบ หลังถูก ผอ.โรงเรียนลวนลาม-เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

นางสาวภัทรพร กลิ่นภิรมย์ อดีตครูอนุบาล โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านมีนบุรี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม กรณีถูกผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านมีนบุรี ที่ตนเองเคยเป็นครูสอนอยู่ ลวนลาม คุกคามทางเพศ และเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ด้านนางสาวภัทรพร เปิดเผยว่า ตนได้เข้ามาเป็นครูประจำชั้นนักเรียนอนุบาล 2 และอนุบาล 3 อยู่ที่โรงเรียนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2556 และถูกคุกคามในช่วงระหว่างปี 2558 ถึง 2560 ซึ่งผู้อำนวยการคนดังกล่าว ส่งคลิปลามาอนาจารมาในไลน์ส่วนตัว และชอบชักชวนครูสาว ๆ ออกไปรับประทานอาหารหลังจากเลิกงาน โดยอ้างว่าไปพูดคุยเพื่อมอบหมายงานสำคัญ หรือ พูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ ซึ่งได้กระทำการลวนลามตนเอง จากนั้นก็ได้แสดงพฤติกรรมไปในเขิงชู้สาวมาโดยตลอด แต่ตนเองก็พยายามหลีกเลี่ยง เพราะไม่อยากมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการคนดังกล่าว ได้ออกหนังสือเลิกจ้าง ไล่ตนเองออกจากงาน โดยไม่มีเหตุอันควร และเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าก่อน 60 วัน อีกทั้งยังไม่ได้จ่ายเงินชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น ตามกฎหมายแรงงาน วันนี้ตนเองจึงมาแจ้งความเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นครู และความเป็นลูกผู้หญิงของตนเอง ที่ไม่เคยมีเรื่องเสื้อมเสียตลอดการมีอาชีพเป็นครูมี 17 ปี อีกทั้งผู้อำนวยการคนดังกล่าวยังกระทำกับครูสาวรายอื่นอีกหลายคน ที่ต้องทนทุกข์กับพฤติกรรมดังกล่าว ไม่กล้าเอาเรื่อง เพราะกลัวตกงาน โดยวันนี้ได้นำหลักฐานเป็นสำเนาข้อความ รูปภาพ และคลิปที่ผู้อำนวยการคนดังกล่าวเคยส่งให้ตนเอง รวมถึงหนังสือเลิกจ้างงานที่ให้เหตุผลอย่างไม่เป็นธรรมมาด้วย

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 23/7/2561

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แสดงความรับผิดชอบ

Posted: 28 Jul 2018 02:02 PM PDT

กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง (Save the Mekong) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการและธนาคารผู้ให้ทุนต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายและอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด


ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2561 กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน และพลเมืองผู้ใส่ใจในลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ระบุว่าขอแสดงความตกใจ และความกังวลเกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยในประเทศลาว เมื่อเร็วๆ นี้ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ ทั้งในลาวใต้และชุมชนด้านท้ายน้ำในประเทศกัมพูชา 

การพังทลายของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นภัยพิบัติ แต่ไม่ใช่ภัยพิบัติตามธรรมชาติ หากเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ในส่วนของผู้พัฒนาโครงการเขื่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศลาวและลุ่มน้ำโขง เสี่ยงต่อภัยพิบัติและภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 11 แห่งในตอนล่างของแม่น้ำโขงสายประธาน และอีก 120 แห่งในลำน้ำสาขาภายในปี 2583 แผนการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงมากในประเทศลาว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของประเทศที่ประกาศว่าจะทำให้ลาวเป็น "แบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้สังคมตระหนักมากขึ้นถึงเสียงเรียกร้องในประเทศลาว ให้มีการทบทวนการลงทุนมหาศาลในโครงการพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายในประเทศอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดชอบจากนักลงทุนจากต่างชาติ 

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นโครงการที่มีความอื้อฉาวมาตั้งแต่ต้น เมื่อปี 2556 หน่วยงานภาคประชาสังคมได้ชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีการปรึกษาหารือกับสาธารณะมากเพียงพอ มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ ขาดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่มีหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ช่วงเริ่มวางแผน ชุมชนในท้องถิ่นแทบไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการ และแผนบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ในพื้นที่รองรับผู้อพยพจากโครงการเขื่อน ผู้วิจัยพบว่าประชาชนต้องต่อสู้กับปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงอาหาร น้ำ และที่ดินอย่างเพียงพอ 

แม่น้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยไหลลงสู่แม่น้ำเซกอง ซึ่งเป็นหนึ่งในลำน้ำสาขาที่สำคัญสุดของแม่น้ำโขง แม่น้ำเซกงมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงในภาคกลางของเวียดนาม ไหลผ่านประเทศลาว จากนั้นไปบรรจบกับแม่น้ำโขงในกัมพูชา พื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำเซกงในลาวและพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำสาขาอีกจำนวนมาก เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนหลายหมื่นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างน้อย 20 กลุ่ม ทั้งหมดต้องพึ่งพาอาศัยการจับปลาจากแม่น้ำและทรัพยากรจากป่าไม้ และอาศัยผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อเก็บของป่าและเพาะปลูก นอกจากนั้น ยังมีประชาชนกว่า 30,000 คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเซกงในจังหวัดสตึงเตร็งในกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนพื้นเมือง ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากผืนดินและป่าต้นน้ำเพื่อการยังชีพ สภาพแวดล้อมของชุมชนริมฝั่งน้ำเซกงและระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำ กำลังถูกคุกคามจากโครงการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่ก้าวร้าว โดยมีการวางแผนสร้างเขื่อนอย่างน้อย 17 แห่งในลุ่มน้ำแห่งนี้ เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกไปยังเวียดนามและไทย 

แม้ก่อนเขื่อนแตก โครงการผันน้ำจากแม่น้ำเซเปียน ลงไปสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ก็ได้สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อพื้นที่ท้ายน้ำแล้ว การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและคุณภาพน้ำส่งผลให้จำนวนสัตว์น้ำในพื้นที่ลดลงอย่างมาก ในขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำเซเปียนไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ จากความสูญเสียด้านอาชีพเหล่านี้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์เซเปียนซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเซเปียน ก็ได้รับผลกระทบด้านลบจากโครงการนี้เช่นกัน 

ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ให้ทุนสนับสนุน และนักลงทุน ต้องถูกกดดันให้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย สอดคล้องกับกฎหมายของลาวและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีสุด 

โครงการแห่งนี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยบริษัท SK Engineering and Construction (เกาหลีใต้) บริษัท Korea Western Power บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ Lao Holding State Enterprise  ตามกำหนดเดิม เขื่อนแห่งนี้จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในปี 2562 โดย 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งออกไปประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ซื้อรายเดียว ส่วนธนาคารขนาดใหญ่จากไทยหลายแห่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงการประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา  

ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ในการดำเนินงานให้บริษัทและธนาคารเหล่านี้ต้องรับผิดชอบ เพราะระบบยุติธรรมในลาวยังต้องมีการปฏิรูปอีกมาก ทั้งยังมีอุปสรรคสำคัญในการกดดันให้นักลงทุนต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้น เนื่องจากมีความอ่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศ มีความกลัวที่จะถูกตอบโต้ ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงกลไกเพื่อขอรับการเยียวยาจากบรรษัทได้ 

แผนการสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งทั่วลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงและความมั่นคงด้านอาหาร อาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยสะท้อนรูปแบบทั่วไปของการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในลาวและที่อื่น ๆ ในภูมิภาค กล่าวคือเป็นการตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้ โดยไม่มีการปรึกษาหารืออย่างเพียงพอกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และไม่คำนึงถึงข้อกังวลเกี่ยวกับต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์และผลกำไรส่วนใหญ่ของโครงการนี้จะตกอยู่ในมือของผู้พัฒนาโครงการและนักลงทุน ปล่อยให้ชุมชนในท้องถิ่นต้องแบกรับผลกระทบและความเสี่ยง ในขณะที่ยังมีทางเลือกเพื่อการผลิตพลังงานและการพัฒนาอย่างอื่นที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ จึงต้องมีการประเมินทางเลือกเหล่านี้อย่างรอบด้าน และต้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประกอบการตัดสินใจและการวางแผนพัฒนา 

หลังเกิดเหตุภัยพิบัติครั้งนี้ พันธมิตรกลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงมีข้อเรียกร้องดังนี้ 

•    ผู้พัฒนาโครงการและธนาคารผู้ให้ทุนต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายและอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำในกัมพูชา
•    เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดในความตกลงสัมปทานของโครงการ ในส่วนที่เป็นข้อกำหนดความรับผิดชอบของบริษัท 
•    ต้องมีการจัดทำระบบที่เป็นอิสระและรอบด้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้รอดชีวิตสามารถแสดงความคาดหวังที่ตนมีต่อการเยียวยาครั้งนี้
•    ผู้พัฒนาโครงการต้องให้ข้อมูลว่า จะดำเนินการเพื่อตอบสนองความคาดหวังของชาวบ้านอย่างรอบด้านได้อย่างไร และจะมีการดำเนินงานตามแผนบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูในระยะยาวอย่างไร การฟื้นฟูต้องเริ่มต้นในทันทีโดยไม่ชักช้า
•    รัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องชะลอแผนก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างออกไป จนกว่าจะมีการทบทวนอย่างรอบด้าน เป็นอิสระ และโปร่งใส เพื่อพิจารณาแผนที่มีอยู่และทางเลือกอื่น ๆ ในการวางแผนด้านพลังงานและการหารายได้จากการพัฒนา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พล.อ.ประยุทธ์นำพสกนิกรจุดเทียนชัยถวายพระพรในหลวง ร.10

Posted: 28 Jul 2018 08:30 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลและถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2561

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

เมื่อเวลา 19.00 น. คืนวันที่ 28 กรกฎาคม ณ เวทีใหญ่ ท้องสนามหลวง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 66 พรรษา 28 กรกฎาคม2561 โดยมี นางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พร้อมด้วย ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญพร้อมคู่สมรส คณะรัฐมนตรีพร้อมคู่สมรส ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทหาร ตำรวจ พลเรือนและภาคประชาชน เข้าร่วมในพิธี

โดยในรายงานของเว็บไซต์รัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติและกล่าวนำถวายพระพรชัยมงคลหน้าพระฉายาลักษณ์ฯ  ความว่า ข้าพระพุทธเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในนามของคณะรัฐมนตรี และพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทั้งที่มาชุมนุมพร้อมกันอยู่ ณ ที่นี้ และที่อยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีความปลาบปลื้มปีติโสมนัสเป็นล้นพ้นที่ได้มาร่วมกันแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม ศกนี้
 
ปวงข้าพระพุทธเจ้า ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อขจัดปัดเป่าปัญหาความทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎร์เพื่อให้อยู่ดี กินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยถ้วนหน้า ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การส่งเสริมการศึกษา การทำนุบำรุงศาสนา การสาธารณสุข รวมทั้งพระราชทานโครงการจิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ ทำให้ประชาชนมีความรัก ความสามัคคี ได้ร่วมแรงร่วมใจกันในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อสร้างสรรค์ให้สังคมไทยให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็นในใต้ร่มพระบารมี พระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จักสถิตอยู่ในดวงใจของทวยราษฎร์ตลอดไป
 
เนื่องในศุภวาระมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2561 ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาต นำพสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วพระราชอาณาจักร ถวายพระพรชัยมงคลโดยพร้อมเพรียงกัน ดังนี้
 
"ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอพระราชทานตั้งสัตยาธิษฐานถวายพระพรชัยมงคล ขออัญเชิญอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจแห่งสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล โปรดดลบันดาลอภิบาลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ทรงพระเกษมสำราญ พระบารมีแผ่ไพศาล มีพระราชประสงค์จำนงหมายสิ่งใดขอจงสัมฤทธิ์ ทรงสถิตเป็นพระมิ่งขวัญร่มเกล้าของปวงข้าพระพุทธเจ้า และพสกนิกรชาวไทยตราบกาลนิรันดร์ เทอญ" ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
 
จากนั้นนายกรัฐมนตรีนำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วนายกรัฐมนตรีและภริยา รับมอบโคมเทียนและร่วมร้องเพลงสดุดีจอมราชา จบแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวนำ "ทรงพระเจริญ" 3 ครั้ง ประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างเปล่งเสียง "ทรงพระเจริญ" ดังกึกก้อง เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ASEAN Weekly: ระบอบลูกผสม (1) เลือกตั้งกัมพูชาถึงรัฐบาลใหม่มาเลเซีย

Posted: 28 Jul 2018 08:00 AM PDT

พูดถึงการเมืองระบอบลูกผสม หรือ 'Hybrid regime' ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งต้นจากการเลือกตั้งกัมพูชา ที่ฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชาควบคุมเบ็ดเสร็จ และพิจารณาบทเรียนการปฏิรูปของมาเลเซียเมื่อพรรค 'พันธมิตรแห่งความหวัง' นำโดยแนวร่วมฝ่ายค้านที่หันมาจับมืออดีตนายก 'มหาธีร์ โมฮัมหมัด' พลิกชนะพรรครัฐบาล 'แนวร่วมแห่งชาติ' ที่ครองอำนาจมากกว่า 61 ปี ซึ่งต้องกระเด็นออกจากอำนาจเมื่อเผชิญวิกฤตศรัทธาและข้อครหาทุจริต

ASEAN Weekly เทปนี้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช เรื่องการเลือกตั้งกัมพูชาที่จัดขึ้นเมื่อ 29 กรกฎาคมที่จะเป็นการขยายเวลาอยู่ในอำนาจของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) และฮุนเซน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาแล้ว 33 ปี และทำท่าว่าจะได้เป็นยาวๆ หลังกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก่อนเลือกตั้ง อันได้แก่ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านคู่แข่ง จับกุมแกนนำฝ่ายค้าน กวาดล้างเครือข่ายพรรคสงเคราะห์จนทำให้แกนนำพรรคลี้ภัยไปต่างประเทศ รวมทั้งสม รังสี โดยพรรคสงเคราะห์ชาติได้ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ทำให้เหลือพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ เป็นคู่แข่งของพรรคประชาชนกัมพูชาเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด รวมทั้งปิดสื่อทั้งวิทยุเอเชียเสรี (RFA) วิทยุวอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐจากหนังสือพิมพ์เดอะ แคมโบเดีย เดลี ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ต้องยุติการตีพิมพ์ และยังได้นักลงทุนชาวมาเลเซียซึ่งใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชายังเข้าซื้อกิจการ "พนมเปญโพสต์" หนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษฉบับสุดท้าย ตามด้วยการไล่บรรณาธิการ และทีมงานอีก 4 ราย

กัมพูชา

แรงงานกัมพูชาร้องเลขาฯ ยูเอ็น ไม่รับรัฐบาล-การเลือกตั้งที่หลอกลวง, 27 ก.ค. 2561

เลือกตั้งกัมพูชา 101: ใครเป็นใครในมหกรรมเข้าคูหาที่อาจไม่เสรี-ไม่แฟร์, 24 ก.ค. 2561

พร้อมกันนี้ยังชวนเปรียบเทียบระบอบการเมืองลูกผสม (Hybrid regime) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศยังอยู่ใน "พื้นที่สีเทา" หรือ "Grey zone" คืออยู่ระหว่างระบอบอำนาจนิยมเต็มพิกัดหรือเข้าสู่การแนวทางประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ

โดยพื้นที่สีเทายังแบ่งออกเป็นกลุ่มแรก Hegemonic Electoral Authoritarianism หรือระบอบการเมืองอำนาจนิยมที่ผู้ปกครองได้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง แต่ควบคุมกลไกสถาบันการเมือง-สังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งกัมพูชาจัดอยู่ในกลุ่มนี้

ในขณะที่มาเลเซีย มีแนวโน้มเป็นประเทศกลุ่มที่ 2 คือ Competitive Authoritarianism ซึ่งผู้ปกครองเดิมอย่าง "พรรคแนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional) ภายหลังได้รับเอกราช ก็ตั้งรัฐบาลและคุมกลไกราชการปกครองมาเลเซียมาตลอด 61 ปีนั้น 

อย่างไรก็ตามความเสื่อมศรัทธาและข้อครหาในตัวนายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัก ก็ทำให้พรรคฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" (Pakatan Harapan) ซึ่งเป็นการรวมตัวของฝ่ายค้านเดิมและอดีตผู้นำฝ่ายรัฐบาลคือ "มหาธีร์ โมฮัมหมัด" สามารถพลิกชนะการเลือกตั้งได้เป็นผลสำเร็จ โดยแนวโน้มการเมืองมาเลเซียอันใกล้นี้ยังคงอยู่ในเส้นทางปฏิรูป หากรัฐบาลชุดใหม่แข็งขันที่จะปราบทุจริต รวมทั้งยกเครื่องกลไกภาครัฐและมาตรการปฏิรูปประเทศหลายด้าน จนทำให้มาเลเซียออกจาก "พื้นที่สีเทา" ในที่สุด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เพิ่ม 'ยาเค' ใช้ทางเลือกบำบัดฟื้นฟู แทนการลงโทษหรือดำเนินคดี

Posted: 28 Jul 2018 04:11 AM PDT

ราชกิจจานุเบกษาประกาศ ใช้อำนาจ ม.44 เพิ่ม 'คีตามีน' หรือ 'ยาเค' เป็นยาเสพติดในบัญชีแนบท้ายประกาศ คสช. ฉบับที่ 108/2557 เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ใช้ทางเลือกบำบัดฟื้นฟู แทนการลงโทษหรือดำเนินคดี


ภาพประกอบจาก ศูนย์ข้อมูลวัตถุเสพติด

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2561 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เห็นชอบให้เพิ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ได้แก่ คีตามีน เป็นยาเสพติดในบัญชีแนบท้ายประกาศ คสช. ดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยว่ากระทําความผิดฐานเสพคีตามีน หรือเสพและมีคีตามีนไว้ในครอบครอง ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม สามารถนำมาตรการทางเลือกในการบำบัดฟื้นฟู มาใช้แทนการลงโทษหรือการถูกดำเนินคดีได้ ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 25 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป

อนึ่ง เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่าคีตามีน (Ketamine) หรือที่รู้จักกันในหมู่ผู้ใช้ยาเสพติดว่า 'ยาเค' จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ใช้เป็นยาสลบก่อนทำการผ่าตัด สามารถระงับปวด ช่วยขยายหลอดลม ต่อต้านอาการซึมเศร้าได้ ซึ่งจะออกฤทธิ์ประมาณ 5 - 10 นาที เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยาเคจึงถูกนำมาใช้ในกรณีของการผ่าตัด ที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ เป็นยาที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในทางการแพทย์มาเป็นเวลานาน แต่ต่อมาพบว่า มีการนำมาใช้ในทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เพื่อความบันเทิงร่วมกับยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น ยาอี และ โคเคน ผู้เสพจะรู้สึกมึนงง ความคิดสับสน ตาลาย หูแว่ว การรับรู้และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจเกิดอาการประสาทหลอน การเสพในระยะเวลานาน จะทำให้ผู้เสพประสบกับสภาวะโรคจิต และกลายเป็นคนวิกลจริตได้ แต่หากพบว่า ไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู จะต้องถูกดำเนินคดีข้อหาเสพ ซึ่งมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี - 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี สำหรับผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท - 2,000,000 บาท

ยาเค หรือ คีตามีน

ชื่อทางเคมี : Cyclohexanone, 2-(-2-chlorophenyl)-2-(methylamino)

สารออกฤทธิ์ : Ketamine HCl

ลักษณะรูปแบบ : เป็นผงผลึกสีขาว มีกลิ่นอ่อนๆเฉพาะตัว ละลายได้ดีในน้ำและแอลกอฮอล์

การออกฤทธิ์ : เป็นยาหลอนประสาท

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปชป.ให้ทีมกฎหมายตรวจสอบคำพูด 'นคร มาฉิม' หากบิดเบือนจะฟ้องร้อง

Posted: 28 Jul 2018 03:01 AM PDT

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ทีมฝ่ายกฎหมายดูว่าประเด็นไหนที่ 'นคร มาฉิม' พูดแล้วบิดเบือนความจริง จะฟ้องร้องเพราะทำให้พรรคเสียหาย ระบุเป็นเพียงอดีต ส.ส. และออกจากพรรคไปแล้ว เพื่อไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา 


นายนคร ฉิมมา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

28 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่าจากกรณีที่ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ออกมาโพสต์เฟสบุ๊คขอโทษ นายทักษิณ ชินวัตร และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยร่วมให้มีการล้มรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ทั้งยังเล่าถึงสารพัดวิธีในการกำจัดรัฐบาลของนายทักษิณ โดยอ้างถึง นักการเมือง กองทัพ ข้าราชการ และทุกสรรพกำลัง จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมเป็นวงกว้าง

ล่าสุดนายนราพัฒน์ แก้วทอง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีที่นายนคร ฉิมมา อดีต ส.ส.ปชป. ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กขอโทษ 2 อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยระดมทุนและร่วมแผนล้ม 2 รัฐบาล ซึ่งในเรื่องนี้มองว่าไม่ได้มีเหตุตามที่นายนครอ้าง ตนอยู่พรรค ปชป.มานาน ผ่านการเมืองมาตลอด ไม่เคยมีเรื่องนี้ ดังนั้น เรื่องนี้คงจะต้องให้ประชาชนใช้พิจารณาว่าสิ่งที่นายนครพูดออกมาเจตนาพูดเพื่ออะไร

นายนราพัฒน์กล่าวอีกว่า อยากจะบอกนายนครว่าอย่ายกเรื่องที่ไม่เป็นความจริงมาพูด เพื่อจะเอาใจ เพื่อทำให้ตัวเองมีบทบาทหรือเอาใจอดีตนายกรัฐมนตรี อยากให้พิจารณาคำพูดของตัวเองและจะต้องออกมารับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ทางพรรคเองคงจะต้องให้ทีมฝ่ายกฎหมายดูว่าประเด็นไหนที่นายนครพูดออกมาบิดเบือนความจริง จะต้องมีการฟ้องร้องเพราะทำให้พรรคเสียหาย ที่ผ่านมาพรรค ปชป.เองไม่ได้ให้ความสำคัญกับนายนครอยู่แล้วหลังจากไปอยู่พรรคอื่น

"การที่นายนครออกมาพูดแบบนี้เพื่อหวังตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจวาสนาว่าจะได้หรือไม่ ผมมองว่าความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ต้องรอดูกันยาวๆ โดยนายนครเป็นเพียงอดีต ส.ส.ปชป. และออกจากพรรคไปแล้ว เพื่อไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา หลังจากนั้นนายนครก็ถูกดูดไปอยู่พรรคเพื่อไทย" นายนราพัฒน์กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทำไมผู้นำประเทศมุสลิมถึงไม่วิจารณ์จีนกรณี 'ค่ายกักกัน' ชาวอุยกูร์

Posted: 28 Jul 2018 01:54 AM PDT

นิตยสาร Foreign Policy นำเสนอรายงานตั้งข้อสังเกตเรื่องที่เหล่าผู้นำโลกอิสลามต่างก็เพิกเฉยต่อกรณีค่ายกักกันชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีน ทั้งๆ ที่มันเป็นการพยายามกวาดล้างศาสนาที่มาจากพื้นฐานความคิดเกลียดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล ต่างจากกรณีอื่นๆ เช่นชาวปาเลสไตน์ถูกปราบจากรัฐบาลอิสราเอล เรื่องนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะประเทศที่มีผู้นำเป็นชาวมุสลิมกำลังมีผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกับจีน

รายงานของผู้สื่อข่าวอิสระที่ติดตามประเด็นในเอเชีย นิธิน โคคา เปิดเผยว่าในจีนมีชาวอุยกูร์ถูกจับขังในค่ายกักกันนับล้านคน ซึ่งมีทั้งชาวบ้านที่ถูกกวาดต้นจนหลายเป็นย่านร้าง นักเรียน นักดนตรี นักกีฬา และนักวิชาการสันติภาพ ทางการจีนต่างก็ขังพวกเขาเหล่านี้ไว้ในค่ายที่มีเทคโนโลยีการสอดแนมไฮเทคที่คอยติดตามพวกเขาอยู่ทุกฝีก้าว 

โคคาระบุว่านี่เป็นเรื่องของการที่ทางการจีนรุกปราบปรามชาวอูยกูร์ในซินเจียง ซึ่งเน้นการลบล้างศาสนาอิสลามในพื้นที่ด้วยจากการที่มัสยิดในเมืองใหญ่ๆ เริ่มว่างเปล่า นักโทษที่ถูกคุมขังถูกสั่งให้เลิกนับถือพระเจ้าและหันไปศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์ มีการห้ามการละหมาด การศึกษาทางศาสนา หรือกระทั่งการถือศีลอด มีการถอดตัวอักษรอาหรับจากอาคารสาธารณะ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมความเกลียดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลจากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์เองด้วย

แต่ในขณะที่ชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์และการกวาดล้างชาวโรฮิงญาทำให้เกิดแรงต่อต้านและความโกรธเคืองจากผู้นำโลกอิสลาม แต่แทบจะไม่เห็นผู้นำโลกอาหรับออกมาประณามจีนกรณีอุยกูร์เลย "นักการเมืองและผู้นำศาสนาจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นผู้ออกปากแทนทางศรัทธาความเชื่อกลับเงียบเฉยต่ออำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน"

ปีเตอร์ เออร์วิน ผู้จัดการโครงการเวิร์ลอุยกูร์คองเกรสกล่าวว่าสิ่งที่กลายเป็นกำแพงกั้นพวกเขาคือการที่กลุ่มประเทศผู้นำมุสลิมไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้ โอเมอร์ คานัต ผู้อำนวยการโครงการสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์กล่าวว่าสาเหตุที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มผู้นำมุสลิมไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นเพราะกรณีของอุยกูร์มัการเก็บข้อมูลเป็นอย่างดีและมีการเผยแพร่ออกไป

ในทางตรงกันข้ามประเทศที่มีผู้นำเป็นชาวมุสลิมจำนวนมากเริ่มจะสานสัมพันธ์กับจีนหรือบ้างก็ถึงขั้นหันไปสนับสนุนจีน เช่น ในปีที่แล้วอียิปต์ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปให้กับจีนที่เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะถูกจำคุกหรือเลวร้ายกว่านั้นคือถูกสังหาร ส่วนประเทศอย่างมาเลเซียและปากีสถานก็เคยทำแบบเดียวกันในปี 2554 โคคาระบุว่าสิ่งเหล่านี้ดูแล้วเป็นภาพที่ขัดแย้งกับการที่ผู้นำเหล่านี้ประณามชาติตะวันตกเช่นอิสราเอลในกรณีข่มเหงรังแกชาวปาเลสไตน์จนเชื่อแน่ว่าถ้าชาติเหล่านี้มีการส่งตัวชาวปาเลสไตน์ให้กับอิสราเอลคงมีการโต้ตอบด้วยความไม่พอใจอย่างหนัก

รายงานของโคคาวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะผลประโยชน์ทางการเงินจากจีน จีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศที่มีผู้นำสายมุสลิมทุกประเทศ และโดยมากก็เป็นสมาชิกของธนาคารการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีจีนเป็นเจ้าของหรือไม่ก็เข้าร่วมโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีน สำหรับประเทศเอเชียใต้เช่นปากีสถานเรื่องนี้หมายถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าอย่างน้ำมันปาล์มและถ่านหิน ขณะที่ในตะวันออกกลางก็ได้ประโยชน์จากการที่จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดและเริ่มมีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ในสถานการณ์เช่นนี้เองทำให้รายงานของ Foreign Policy เรียกว่าเป็น "ภราดรภาพเหล็ก" ที่กลุ่มผู้นำประเทศมุสลิมต่างก็ชั่งตวงวัดอยู่บนเรื่องผลประโยชน์กับจีนมากกว่าจะมองเรื่องสิทธิมนุษยชน

แต่รายงานของโคคาก็ชี้ประเด็นเพิ่มเติมว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุยกูร์ถูกละเลยน่าจะเพราะเรื่องความสำคัญของตำแหน่งแห่งที่ในโลกมุสลิมเองด้วย ขณะที่ปาเลสไตน์ดูมึความสำคัญเนื่องจากเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับดินแดนศักดิสิทธิ์ที่อิสราเอลเรียกว่าเยรูซาเลม แต่กรณีของจีนการแผ่อิทธิพลของจีนในตะวันออกกลางดูภายนอกเหมือนจะไม่ได้ครอบงำมากเท่าอิสราเอลหรือสหรัฐฯ นอกจากนี้จีนยังทำการตัดซินเจียงออกจากโลกภายนอกได้สำเร็จจากการเซนเซอร์รูปแบบต่างๆ ทำให้มีการพูดถึงกรณีค่ายกักกันปรบทัศนคติในซินเจียงไม่มากเท่ากรณีความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์ที่มีภาพออกมายูทูปทุกวัน

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการที่ประเด็นปาเลสไตน์มีการปักหลักปัญหามานานแล้วเมื่อเทียบกับกรณีซินเจียง สำหรับเหล่าผู้นำที่เป็นห่วงภาพลักษณ์มากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน การพูดด่าพวกยิวไซออนนิสต์หรือการแสดงออกว่าอยู่ข้างชาวปาเลสไตน์คงได้คะแนนนิยมมากกว่าเมื่อเทียบกับการพูดถึงโรฮิงญาหรืออุยกูร์

ถ้าหากจะมีที่ๆ มีความหวังที่จะพูดเรื่องนี้น่าจะเป็นประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อินโดนีเซีย กับมาเลเซีย ในหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่ 2 ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองซึ่งหาได้ยากในกลุ่มประเทศผู้นำอิสลาม มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับจีนแต่ก็มีความรู้สึกต่อต้านจีนอยู่ในทั้งสองประเทศโดยเฉพาะอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียก็เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งครั้งสำคัญไปทำให้รมต.การคลังคนใหม่บอกว่าจะพิจารณาข้อตกลงทางการค้ากับจีนใหม่อีกครั้งและอาจจะมีการระงับโครงการปัจจุบันหลายโครงการ

อาห์หมัด ฟารูค มุซา ผู้อำนวยการเอ็นจีโออิสลามมิคเรเนสซองฟรอนต์ในมาเลเซียกล่าวว่าทางการจีนมีอิทธิพลมากในการให้เงินกู้กับนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่ตอนนี้ถูกดำเนินคดีฉ้อโกงโครงการรัฐ เขาหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนนโยบายตัวเองให้เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

อีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองว่าจะมีท่าทีต่อจีนอย่างไรคือตุรกีซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชิงวัฒนธรรมกับชาวอุยกูร์ที่พูดภาษาตุรกี ในตุรกีเองก็มีชุมชนชาวอุยกูร์พลัดถิ่นขนาดใหญ่ที่สุด ในช่วงที่มีจลาจลปี 2552 เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกีก็เป็นผู้นำคนเดียวที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ และในตุรกีก็เป็นประเทศเดียวที่มีการประท้วงใหญ่จีนในเรื่องการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เช่นการประท้วงในปี 2558

อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าตุรกีที่เริ่มมีรัฐบาลแบบอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเริ่มมองว่าจีนเป็นพันธมิตรของพวกเขาในการต่อกรกับตะวันตก นับตั้งแต่ที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของตุรกี เมฟลุต คาวูโซกลู ไปเยือนจีนเมื่อปีที่แล้วก็มีการเปิดเผยว่าจะมีการขจัดการนำเสนอข่าวต่อต้านจีนทำให้มีความสนใจต่อกรณีของอุยกูร์น้อยลง แต่ชาวอุยกูร์ก็ยังฝากความหวังว่าตุรกีจะเป็นที่พึ่งพาได้ ถึงสภาพความเป็นจริงที่จีนใช้เงินแผ่อิทธฺพลไปยังประเทศมุสลิมต่างๆ จะทำให้ความหวังที่ชาติเหล่านี้จะพูดถึงพวกเขาดูริบหรี่ลงก็ตาม

เรียบเรียงจาก

Islamic Leaders Have Nothing to Say About China's Internment Camps for Muslims, Nithin Coca, Foreign Policy, 24-07-2018
https://foreignpolicy.com/2018/07/24/islamic-leaders-have-nothing-to-say-about-chinas-internment-camps-for-muslims/#

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ดินสไลด์ทับบ้าน จ.น่าน ส่วนที่แม่สอดฝนกระหน่ำหนัก 24 ชม.

Posted: 28 Jul 2018 01:41 AM PDT

ดินสไลด์ทับบ้าน 4 หลัง จ.น่าน เสียชีวิต 8 คน ส่วนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ฝนกระหน่ำหนัก 24 ชม. น้ำป่าทะลักท่วมเทศบาล-โรงเรียน

เหตุดินสไลด์ทับบ้าน ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 7 ราย ยังสูญหายอีก 2 ราย ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

28 ก.ค. 2561 สถานการณ์ฝนตกสะสมมาหลายวันใน จ.น่าน และมีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อท่วม ล่าสุด (28 ก.ค.) อ.บ่อเกลือ จ.น่าน บนเขาดินชุ่มน้ำมากได้ไหลลงมาในพื้นที่บ้านห้วยขาบ หมู่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ  ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่ในหุบเขา มีบ้านเรือนถูกดินโคลนทับ 4 หลัง เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 7 ราย ยังสูญหายอีก 2 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอบ่อเกลือเร่งประสานหลายหน่วยงานเข้าช่วยเหลือ  

ด้าน พ.อ.รัตนะ พัฒนโสภณ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน 32 สั่งการให้ชุดบรรเทาสาธารณภัยของ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 32 กองกำลังผาเมือง จัดชุดเฉพาะกิจ 4 ชุด ช่วยค้นหาผู้สูญหาย แต่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากยังมีฝนตกและดินโคลนเลื่อนไหลลงมาเป็นระยะ นอกจากนี้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ได้ถูกตัดขาดจากดินถล่มเป็นอุปสรรคต่อทำงานการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือและการติดต่อสื่อสาร

ล่าสุด เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่าสำหรับเหตุดินสไลด์ทับบ้านเรือนประชาชน ที่บ้านห้วยขาบ หมู่ ที่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ขณะนี้พบผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ 1.นายตุ่ย อักขระ อายุ 47 บ้านเลขที่ 21, 2. นางกาบแก้ว อักขระ อายุ 57 บ้านเลขที่30 , 3.นายธนกร อักขระ อายุ 33 บ้านเลขที่ 67, 4.น.ส.กมลรัตน์ อักขระ อายุ 34 บ้านเลขที่ 67 , 5.ด.ญ.ชรินรัตน์ อักขระ อายุ 10 บ้านเลขที่ 67, 6. น.ส.ณัฐทิชา อักขระ อายุ 21 บ้านเลขที่ 29, 7. ด.ญ.ชรินรัตน์ อักขระ อายุ 3 บ้านเลขที่ 29 และ 8. นางกา อักขระ อายุ 64 บ้านเลขที่ 29 ทั้งหมดได้นำส่งโรงพยาบาลบ่อเกลือ เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนี้ได้สั่งการให้กันจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูง ห้ามบุคคลเข้าไปในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดดินสไลด์ลงมาเพิ่ม เพราะในพื้นที่ยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ดินเกิดการชุ่มน้ำจนอิ่มตัว ทำให้เกิดสไลด์ลงมา ส่วนชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 61 ครัวเรือน ให้อพยพมาพักเป็นการชั่วคราวที่โรงเรียนสว้า ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง ขณะนี้ทางอำเภอได้จัดที่พักและอาหารไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว โดยจะให้พักอยู่ในบริเวณดังกล่าวจนกว่าเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวปลอดภัย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเคลียร์พื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าไปดูแลความปลอดภัย ส่วนการเยียวยาผู้ประสบภัยจะเป็นไปตามกฎระเบียบของทางราชการต่อไป

แม่สอดฝนกระหน่ำหนัก 24 ชม.

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2561 ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง ส่งผลถนนสายแม่สอด-ตาก หน้าสำนักงานเทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก มีน้ำท่วมขังสูงกว่า 40 เซนติเมตร ขณะที่หลายจุดในเขตเทศบาลนครแม่สอดระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชุมชนที่อยู่ติดลำห้วยถูกน้ำท่วมสูง เทศบาลนครแม่สอดต้องระดมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออก

ส่วนที่โรงเรียนบ้านแม่ตาว ริมเมย ใกล้แนวชายแดนไทย-เมียนมา ก็โกลาหลไม่แพ้กัน เมื่อน้ำป่าทะลักเข้าท่วมโรงเรียน ครูที่มีบ้านพักในโรงเรียนต้องช่วยย้ายสิ่งของและสื่อการเรียนการสอนขึ้นที่สูง ล่าสุดฝ่ายปกครองแม่สอด ทหาร และตำรวจเร่งเข้าไปช่วยเหลือ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รมว.พลังงานลาวชี้ก่อสร้างเขื่อนไม่ได้มาตรฐาน คู่สัญญาต้องชดใช้

Posted: 28 Jul 2018 01:19 AM PDT

นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มาภาพ: raosukunfung.com

MGR Online อ้างรายงานเว็บไซต์ข่าวภาษาลาว 'เล่าสู่กันฟัง' รายงานโดยอ้างคำแถลงของ นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 ว่าสาเหตุที่ทำให้คันกั้นน้ำเขื่อน D ซึ่งเป็นเขื่อนย่อยของเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกนั้น ในเบื้องต้นเป็นเพราะการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ส่วนสาเหตุในรายละเอียดกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และตามพันธสัญญานั้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

นายคำมะนี กล่าวอีกว่า ภารกิจหลักของรัฐบาลในฐานะผู้พัฒนาโครงการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมุ่งไปที่การฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตก ซึ่งภารกิจนี้จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการมุ่งช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุน้ำท่วม ระยะที่ 2 เป็นระยะยาวจะมีการฟื้นฟูหมู่บ้าน ก่อสร้างบ้านเรือน จัดหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชน 

ขณะที่ นายไซปะเสิด พมสุพา อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงรายละเอียดการจ่ายชดเชยค่าเสียหายในขณะนี้ จะต้องไปดูถึงสาเหตุและความเสียหายที่เกิดจากเขื่อนภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงการสัมปทาน ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่าง ฉะนั้น จะต้องไปย้อนดูจึงจะทราบอย่างละเอียดว่าบริษัทจะต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ลงทุนในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยคือ บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% (อ่านรายละเอียด)

สำหรับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้นอยู่ 45%

4 สถาบันการเงินไทยให้กู้สร้างเขื่อน 22,000 ล้านบาท

อนึ่งเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2557 ยอง จู ชอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย (PNPC) เปิดเผยว่าประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว โดยมีกำลังติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่าย 1,860 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (อ่านรายละเอียด) โดยในเว็บไซต์ของบริษัท PNPC ระบุว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี  2562

สำหรับสถาบันการเงิน 4 แห่งที่ให้เงินกู้ก่อสร้างโครงการในรูปแบบสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต

โดยตามสัญญากระแสไฟฟ้า 370 เมกะวัตต์ จะจำหน่ายให้กับ กฟผ. โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศลาว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลชัยภูมิมีคำสั่งจำคุกชาวบ้าน 3 ราย ไม่รอลงอาญา คดีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติไทรทอง

Posted: 27 Jul 2018 11:20 PM PDT

28 ก.ค. 2561 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่าไม่เคยมีหลักประกันใดที่จะมารองรับให้ชาวบ้านที่เป็นเพียงเกษตรกรคนธรรมดา ดำเนินชีวิตทำกินอยู่กับป่าได้ด้วยความปกติสุข โดยเฉพาะในช่วง 4 ปี ของ คสช.เพราะสิงที่เกิดขึ้นหลังจากหัวหน้าคณะ คสช.มีนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" กลับมาตกอยู่บนความทุกข์ยากของชาวบ้านอย่างหนักหน่วง เช่น ชาวบ้านบ้านซับหวาย ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ผลักดันให้ออกจากที่ดินทำกิน และในขณะที่พื้นที่พิพาทอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองกลับอ้างความชอบธรรมอาศัยอำนาจทางกฎหมาย แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน จำนวน 14 ราย 19 คดี
 
ท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปมพิพาทของชาวบ้านที่ให้ปากคำในห้องพิจารณาคดีความตามที่ศาลจังหวัดชัยภูมินัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย นับแต่วันที่ 3 พ.ค.61 เป็นต้นมา จนวาระสุดท้ายของการสืบพยานในชั้นกระบวนการยุติธรรม สิ้นสุดลงเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2561 กระทั่งถึงกำหนดวันที่ศาลจังหวัดชัยภูมินัดฟังคำพิพากษาจำเลย 3 รายแรก จากทั้งหมด 14 รายนั้น ศาลมีคำสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญา พร้อมปรับค่าเสียหายทั้ง 3 ราย และให้ออกจากพื้นที่ทำกิน ตามรายละเอียดดังนี้
 
วันที่ 17 ก.ค.2561 ศาลพิพากษานางสีนวล พาสังข์ มีคำสั่งจำคุก 5 เดือน 10 วัน โดยไม่รอลงอาญา ปรับค่าเสียหายจำนวนเงิน 1,50000
 
วันที่ 25 ก.ค.2561 ศาลพิพากษานางปัทมา โกเม็ด (ถูกแจ้งความ 2 คดี แต่สามารถรวมคดีได้) มีคำสั่งจำคุก 8 เดือน ปรับค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 2,50000 บาท
 
วันที่ 25 ก.ค.2561 ศาลพิพากษานายสมพิตร แท่นนอก มีคำสั่งจำคุก 10 เดือน ปรับค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 1,00000 บาท
 
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 3 ราย ต้องออกจากพื้นที่ทำกิน ตามคำสั่งศาล ส่วนจำนวนเงินค่าปรับนั้นทางทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องกับกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอความช่วยเหลือในการประกันตัวออกมา ต่อสู้คดีความในชั้นอุทธรณ์
 
จำเลยทั้ง 14 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง แจ้งความดำเนินคดี
 
ส่วนจำเลยรายต่อไปศาลจังหวัดชัยภูมิ นัดอ่านคำพิพากษาคดีของนางสาวนิตยา ม่วงกลาง ในวันที่ 8 ส.ค. 2561 ซึ่งนางสาวนิตยา ถูกแจ้งความรวม 2 คดี โดยคดีที่ 1 ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ในเวลา 9.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 1 และอีก 1 คดี ที่ห้องพิจาณาคดี 2 โดย นางสาวนิตยา ม่วงกลางได้ยื่นคำร้องในการใช้ประกันตัวกับทางกองทุนยุติธรรมไว้แล้วทั้ง 2 คดี เป็นจำนวนเงินในคดีความละ 1,50000 บาท
 
นางสาวนิตยา ม่วงกลาง ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ในวันที่ 8 ส.ค. 2561
 
เป็นอีกมุมหนึ่งของความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากข้อกล่าวหาที่อุทยานแห่งชาติไทรทองแจ้งความดำเนินคดีทางอาญา ฐานความผิดบุกรุกป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของชาวบ้านที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ต้องมาทรุดหนักกว่าเดิมจากการที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำ เพราะต้องเสียเวลาทำมาหากิน เสียค่าเอกสาร ภาระในครอบครัว รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำรงชีพ
 
มาตรฐานเหล่านี้ เป็นเพียงอีกหนึ่งในปัญหาข้อพิพาทที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน ที่สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมที่เป็นภัยคุกคามต่อความเป็นธรรม เหล่านี้คือวงจรเดิมๆที่เกิดขึ้นเป็นซ้ำซาก ที่ไม่เคยมีหลักประกันใดที่จะมารองรับให้ชาวบ้านดำเนินชีวิตทำกินอยู่กับป่าได้ด้วยความปกติสุข เป็นเพราะความล่าช้า การเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหา หรือการไม่ยินยอมในความร่วมมือของหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหาทางนโยบาย  หรือเป็นการมองเพียงมุมเดียวมาตลอดว่าชาวบ้านเป็นเพียงเกษตรกรคนธรรมดา ที่ไร้เกียรติฐานะทางสังคม ไม่มียศตำแหน่งใดๆ ทั้งๆที่พวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีภูมิปัญญา มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านสูงกว่าบางบุคคลที่มองตัวเองและจำพวกที่ชอบยกตัวเองว่าเป็นชนชั้นที่มีเกียรติทางสังคม
 
ท้ายที่สุดแล้ว โดยเฉพาะกรณีพิพาทเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ทั้งที่ชาวบ้านถือครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตป่าทับซ้อน เมื่อผู้เดือดร้อนร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรม ได้มีแนวทางร่วมประชุมกับหน่วยงานรัฐหลายครั้ง กระทั่งมีข้อตกลงในการที่จะยุติการคุกคาม การดำเนินคดีใดๆ รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา กลับถูกดำเนินคดีความ ซ้ำเติมชีวิตให้ทุกข์ยากหนักยิ่งขึ้น
 
ฉะนั้นรัฐหรือหน่วยงานใดก็ตามที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา ควรดำเนินการด้วยความชำนาญอย่างรอบด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น