ประชาไท Prachatai.com |
- นโยบายเสรีนิยมใหม่ทางการศึกษา : จากอุดมการณ์ด้านเศรษฐกิจการเมืองสู่วาทกรรมการปฏิรูปการศึกษา
- ผู้ว่าฯ เชียงรายแถลงยืนยันไม่มีรับบริจาคเงินช่วยปฏิบัติการถ้ำหลวง
- เพื่อไทยจี้ กกต.สอบกลุ่มการเมืองดูดอดีต ส.ส. ชี้ผิดชัดเจน
- หมายเหตุประเพทไทย #216 นครรัฐ/รัฐชาติ LGBT
- นักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยเกิดวิกฤตแบบปี 2540 ยาก แต่ให้ระวังความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลัง
- พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ในวันที่มหาวิทยาลัยไทยกำลังรอวันเสื่อมสลาย
- กวีประชาไท: สังคมอมตุ่ย
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25- มิ.ย.-1 ก.ค. 2561
- ชี้รัฐใช้กฎหมายปิดปากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
- สปสช.เผย 6 เดือนยอดผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับเกือบ 1 พันราย ช่วยลดความแออัด รพ. ประหยัดงบ
- สื่อ 'แคปปิทัลกาเซตต์' ออกหน้าว่างในหมวด 'ความคิดเห็น' ไว้อาลัยเหยื่อในสำนักงานตัวเองในเหตุกราดยิง
- รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เสนอหลังเลือกตั้งให้มีการประชามติ 'แก้-ไม่แก้' รธน.
นโยบายเสรีนิยมใหม่ทางการศึกษา : จากอุดมการณ์ด้านเศรษฐกิจการเมืองสู่วาทกรรมการปฏิรูปการศึกษา Posted: 01 Jul 2018 09:04 AM PDT
นับตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดี Ronald Reagan ระบบการศึกษาในสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนโฉมรูปแบบให้มีความสอดคล้องกับความต้องการในการแข่งขันของบรรษัทขนาดใหญ่ภายใต้ระบบตลาดโลก สืบเนื่องมาจากรายงานเรื่อง A Nation at Risk เมื่อ ปี 1983 ซึ่งนักการศึกษาส่วนใหญ่ถือว่ารายงานฉบับดังกล่าวนี้ถูกนำเสนอโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความเป็นเลิศทางการศึกษา (National Commission on Excellence in Education) รานงานฉบับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานการศึกษาของประเทศ และต่อเนื่องมาถึงการประชุมสุดยอดกลุ่มผู้นำทางการศึกษาระดับชาติ โดยมีเจ้าภาพหลักคือ บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์และให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศรายใหญ่ของโลกที่ชื่อว่า International Business Machines (IBM) การประชุมในครั้งดังกล่าวนี้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญกับแบบทดสอบอิงมาตรฐาน อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้การจัดการศึกษาต้องยึดหลักความรับผิดชอบต่อสาธารณะชน แนวทางการจัดการศึกษาจึงค่อยๆ ถูกปรับรูปโฉมให้สอดคล้องกับอุดมการณ์และนโยบายเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากรัฐบาลและกลุ่มบรรษัทรายใหญ่ต่างๆ |
ผู้ว่าฯ เชียงรายแถลงยืนยันไม่มีรับบริจาคเงินช่วยปฏิบัติการถ้ำหลวง Posted: 01 Jul 2018 05:06 AM PDT ผู้ว่าฯ เชียงรายแถลงการปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ใช้งบประมาณของทางราชการและมีเพียงพอ หากใครอ้างรับบริจาคจะดำเนินการตามกฎหมาย ขณะนี้จับผู้กระทำผิดไปแล้ว 1 ราย รอง ผบช.ภ.5 ยืนยันถ้ำหลวงไม่ใช่เส้นทางลำเลียงยาเสพติด หรือแหล่งซุกซ่อนยา 1 ก.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นำทีมชี้แจงผลการปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ระบุว่างบประมาณในการปฏิบัติราชการค้นหาทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ใช้งบประมาณของทางราชการและมีเพียงพอ หากใครอ้างรับบริจาคใดๆ เพื่อมาปฏิบัติภารกิจนี้จะดำเนินการตามกฎหมาย ขณะนี้จับผู้กระทำผิดไปแล้ว 1 ราย ส่วนของกองทัพบกส่งทีมขึ้นไปสำรวจ 30-40 ทีม บนยอดดอยต่างๆ ว่าจะมีช่องหรือโพรงใดที่พอจะเข้าไปได้หรือไม่ พบมีช่องที่มีศักยภาพอยู่ 2 หรือ 3 จุด สำหรับการดูแลเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ ได้ดูแลเป็นอย่างดี และไม่ได้ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ในการทำงาน ด้าน พล.ต.สุภโชค ธวัชพีระชัย รองแม่ทัพภาคที่ 3 แถลงความคืบหน้าการปฏิบัติงานของหน่วยซีลที่อยู่ในถ้ำหลวง วันนี้คืบหน้าไปมาก โดยเข้าไปถึงโถงที่ 3 แล้ว และรุกคืบเข้าไปได้เพิ่มอีก 600 เมตร พล.ต.ตรี.ชูรัตน์ ปานเหง้า รอง ผบช.ภ.5 ยืนยันถ้ำหลวงไม่ใช่เส้นทางลำเลียงยาเสพติด หรือแหล่งซุกซ่อนยา และไม่ใช่พื้นที่สีแดง ไม่เคยปรากฏข้อมูลว่าใช้ถ้ำเป็นทางผ่าน หลังมีเพจบนโซเชียลพาดพิงถึงคดีเก่า สำหรับคดีที่ถูกพาดพิงผู้ต้องหายาเสพติดถูกจับที่บริเวณบ้านน้ำจำและใช้เส้นทางพหลโยธิน โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่าพล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวถึงกรณีสังคมโซเชียลวิเคราะห์ว่า เยาวชน นักฟุตบอลอะคาเดมีแม่สาย และโค้ช รวม13ชีวิตอาจแต่ถูกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดจับกุมตัวไป เนื่องจากพื้นที่เลยขึ้นไปมีช่องว่าง ระหว่างดอยผาหมีกับหุบเขาเป็นพื้นที่สีแดงที่ขบวนการค้ายาเสพติดใช้ลำเลียงยาเสพติด ว่าจากการตรวจสอบยืนยันว่าไม่เป็นความจริงและมั่นใจไม่เกี่ยวข้องกันกับผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน คนทำไม่ดีเขาหากินอยู่แถวนั้นอยู่แล้ว เด็กไปเที่ยวเกิดผลัดหลงปกติ ก่อนหน้านี้ เพจพลเมืองต่อต้าน Single Gateway เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม วิเคราะห์ว่ากรณีทีมหมูป่าหายไปที่ถ้ำหลวงตั้งข้อสงสัยว่า ผ่านมา7วันแล้วการค้นหาไม่มีความคืบหน้า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทีมหมูป่าอาจไปเห็นอะไรเข้า เพราะพื้นดังกล่าวเป็นพื้นที่สีแดง โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพ.ย.มีการยึดยาเสพติดซึ่งถูกลำเลียงออกมาจากถ้ำหลวง เหตุใดต้องใช้หน่วยซีลเข้ามาปฎิบัติการช่วยค้นหาทั้งที่อยู่ห่างไกลกันมากและทำไมถึงไม่ใช่คนในพื้นที่ชำนาญเส้นทาง
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เพื่อไทยจี้ กกต.สอบกลุ่มการเมืองดูดอดีต ส.ส. ชี้ผิดชัดเจน Posted: 01 Jul 2018 03:42 AM PDT รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยจี้ กกต.ตรวจสอบกลุ่มการเมืองดูดอดีต ส.ส. ชี้หากเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองชัดเจน ด้าน 'สามมิตร' โต้ใช้เงินดูด แต่เดินสายกลาง 'ดูดสมอง-ความคิดร่วมพัฒนาประเทศ' 1 ก.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการที่มีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวดูดอดีตส.ส.ของพรรคการเมืองต่างๆว่า แม้รัฐบาลจะบอกไม่ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะไม่ได้รวมตัวกันเพื่อปั่นป่วน แต่กฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 30 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ใด ให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้บุคคลสมัครเข้าเป็นสมาชิก ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี มีโทษปรับ เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งนับเป็นความผิดทางการเมืองที่รุนแรง และสวนทางกับการปฏิรูปการเมือง จึงอยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สนใจ ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย นอกเหนือจากการจัดประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้ง 5 พันล้านบาท และหากคิดแต่จะจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวก็ควรพิจารณาตัวเอง เนื่องจากกกต.เป็นองค์กรที่เป็นหลัก เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชน ว่าจะต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม เสมอภาค ไม่เป็นที่สืบทอดอำนาจของใคร 'สามมิตร' โต้ใช้เงินดูด แต่ 'เดินสายกลาง-ดูดสมอง-ความคิดร่วมพัฒนาประเทศ' ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 ที่ อ.เมืองนครราชสีมา นายภิรมย์ พลวิเศษ เลขากลุ่มสามมิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มสามมิตรที่ถูกโจมตีอย่างหนัก เหตุผลที่กลุ่มสามมิตรอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะเท่าที่ตนลงพื้นที่สัมผัสชาวบ้านมา 7 ปี ชาวบ้านชี้ให้เห็นชัดเจนว่านายกฯประยุทธ์เป็นขวัญใจคนจน คือ ทำงานโดนใจชาวบ้าน คนยากคนจน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เดิมมีเงินเดือนคนละ300 บาท ปัจจุบัน 500 บาท ครอบครัวที่ไม่พร้อมเรื่องฐานะ แต่มีกับข้าว อาหารให้ลูกหลานได้กินทุกวันนี้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายแบ่งเบาภาระของทุกครัวเรือนทั่วประเทศได้สบายขึ้น รวมทั้งเรื่องราคาพืชผลการเกษตรสูงขึ้น ข้าวหอมมะลิ ราคา 19 บาทต่อกิโลกรัม , มันสำปะหลังกิโลกรัมละเกือบ 4 บาท , ข้าวโพดละ 10 บาท , น้ำมันปาล์ม 4 บาท และราคาทุเรียนวันนี้ไม่ต้องพูดถึงเป็นเศรษฐีทุกคน ฉะนั้นมาตรการที่นายกฯประยุทธ์ฯทำ ประชาชนได้ประโยชน์ทุกคน นายภิรมย์กล่าวอีกว่า ถ้าอยากจะทำให้พี่น้องประชาชนคนธรรมดา ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากกว่านี้ เสนอให้นายกประยุทธ์ฯให้ยุบห้องพิเศษ หรือห้อง VIP ภายในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง เพราะห้องพิเศษ หรือ ห้องVIP เวลาคนยากคนจนไปรักษาเป็นผู้ป่วยในไม่มีที่นอน ต้องอาศัยนอนตามระเบียงและทางเดินของโรงพยาบาลแน่นไปหมด เพราะประชาชนเหล่านี้ไม่ใช่คนรวยไม่มีที่นอนรักษาตัวเอง แต่ห้องพิเศษหรือห้อง VIP สะดวกสบายมีแอร์ ทีวีดูบอลโลก ตู้เย็น ห้องน้ำห้องสุขาส่วนตัว แต่คนยากจนยุงเยอะนอนสูดกลิ่นเหม็น และร้อน ตรงนี้จะเห็นชัดเจนว่ามีความเหลื่อมล้ำทางสังคม โรงพยาบาลของรัฐใช้เงินภาษีของประชาชนสร้าง นายแพทย์ พยาบาลรัฐก็จ่ายให้ ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาให้คนยากคนจนก็อยากให้โอกาสได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล ควรยุบห้องพิเศษหรือห้องVIPเสีย แล้วให้คนที่เบิกได้ทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ทหาร ตำรวจ หรือคนรวยถ้าอยากเข้าห้องพิเศษก็ไปโรงพยาบาลเอกชน ฉะนั้นถ้านายกฯประยุทธ์ฯทำเรื่องนี้ได้จะได้ใจคนยากจนคนทั้งประเทศ "ตอนนี้ถนนทุกสายพูดกันมากว่า กลุ่มสามมิตรมีดีตรงไหน ทำไมอดีต ส.ส. อดีต สว.อยากเข้ามาร่วมทำงาน เป็นเพราะกลุ่มสามมิตรเข้าใจปัญหาและหัวอกประชาชนทุกกลุ่มว่าจะแก้ปัญหาประเทศและประชาชนอย่างไร และ เห็นว่านายกฯประยุทธ์ฯควรจะต้องอยู่ทำงานไปข้างหน้าอีก 4 ปี เพื่อความต่อเนื่อง ที่ผ่านมากลุ่มสามมิตรได้ศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดมากับหลายกลุ่มและออกเดินสายไปพบกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจนในหลายจังหวัดเพื่อรับทราบปัญหา เมื่อตกผลึกแล้วจะนำความคิดที่ดีเสนอไปยังรัฐบาล ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมา เราจะเติมเต็มหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มาหลอมรวมเพื่อให้รัฐบาลคราวหน้าทำต่อไป" นายภิรมย์ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเปิดตัวและเปิดเผยรายชื่ออดีต ส.ส.และอดีต สว.ที่จะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเมื่อใด นายภิรมย์ตอบว่า ยังไม่กล้าบอกฟันธงว่าจะมีเพิ่มหรือลด ขอเวลาให้กลุ่มสามมิตรได้ทำงานก่อนว่า จะทำงานได้แบบไหนแล้ว "เขามั่นใจกับพวกเราได้แค่ไหนว่า สามมิตรจะเป็นตัวประสานระหว่างของเขาถึงเรา แล้วถึงรัฐบาล แต่ ณ วันนี้เราค่อนข้างมั่นใจว่าเราเดินทางถูกทาง ส่วนอดีต ส.ส.บางพรรคกล่าวหาว่ากลุ่มสามมิตรมีคสช.หนุนหลังสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้นั้น นายภิรมย์ฯตอบว่ากลุ่มสามมิตรไม่ใช่พรรคการเมือง เมื่อไม่ใช่พรรคก็ไม่ผิดกฎหมาย คสช. เราทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนกับกลุ่มปัญหา กลุ่มก้าวหน้า เราคือกลุ่มสามมิตร ไม่ใช่พรรคทางการเมือง ตนถามว่าจะผิดกฏหมายตรงไหน และ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือพล.อ.ประวิตร หรือ คสช. ผมยังไม่เคยพบไม่ได้คุยกันสักที ขนาดเป็นเลขากลุ่มสามมิตร แต่เห็นว่า คสช. หรือรัฐบาลทำงานถูกใจ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ถูกใจ อดีต ส.ส. , ส.ว.ก็ถูกใจก็แค่นี้ ไม่ผิดกฏหมาย และเราไม่ได้พาดพิงถึงพรรคอื่นที่ตั้งมาก่อน เราทำการเมืองสายกลาง สามมิตรผูกทุกมิตร ฉะนั้นอาจจะไปกระทบพรรคอื่นตามที่หัวหน้ากลุ่มนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ บอกแล้วว่าอาจจะไปกระทบกระทั่งพรรคอื่นเรื่องความรู้สึกก็ขอโทษด้วย โดยกลุ่มสามมิตรจะไม่ไปเฉพาะ จ.เลย เท่านั้นกว่าจะเลือกตั้งทั่วไปอีก 7-8 เดือนข้างหน้ากลุ่มสามมิตรจะเดินสายไปทุกจังหวัดทุกภาค ส่วนที่ถูกโจมตีจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่าไปดูดแล้วเอาเงินมาจากไหนนั้น ผมถามว่าท่านรัฐมนตรีปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็นเจ้าของโรงโม่ เจ้าของบริษัทรับเหมาชั้นหนึ่งกรมทางหลวงปีละหลายพันล้านบาท เราจะไปดูดเขากี่ล้านเขาถึงจะมา หรือที่มีข่าวว่านายสันติ พร้อมพัฒน์ แกนนำพรรคเพื่อไทยจะมาร่วมกับเราด้วยนั้นจะเอาเงินไปซื้อกลุ่มนายสันติได้ไหม และยังมีข่าวนายวิรัช รัตนเศษฐ หรือ ตระกูลรัตนเศรษฐในโคราช ก็รู้ว่าท่านยิ่งใหญ่แค่ไหนเรื่องเงินเรื่องทอง ฉะนั้นอย่าคิดว่าพวกเราจะไปใช้เงินดูด ไม่เป็นความจริง การดูดของกลุ่มเราคือ ไปดูดเอาสมอง ดูดความคิดที่จะมาพัฒนาประเทศชาติมากกว่า ผมบอกเลยว่า ถ้ามีเงินไปดูดมันต้องดังกว่านี้ ถ้าจ่ายคนละ 40-50 ล้านตามที่เขากล่าวหา คิดดู ถ้า 100 คนต้องใช้เงินถึง 5,000 ล้าน จะใช้กี่รถตู้ขนเงินไปจ่ายเขาแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายเขา ทุกวันนี้ ผมเห็นว่าการซิ้อตัวหรือดูด อดีต สส.มันเป็นการเมืองแบบเก่า พวกเราเอาสมองเอานโยบายนำหน้า นี่คือข้อเท็จจริง เราจะไม่เอาทุนนำหน้าพรรคเหมือนการเมืองแบบเก่า ซึ่งโอกาสข้างหน้านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้ากลุ่มสามมิตรจะนำเสนอว่า เราตกผลึกเรื่องนโยบายแล้ว 1-10 ข้อคืออะไร มันจะเป็นไฮไลท์ของคำว่า สามมิตร ที่จะทำประโยชน์ให้ประชาชนจะเห็นได้ชัดเจนว่า เราไม่ได้ดูดเขามาด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา โดยเฉพาะเท่าที่สอบถามอดีต ส.ส.เพื่อไทยที่มาร่วมงานกันเขาบอกเลยว่าไม่อยากเป็นฝ่ายค้านเพราะโอกาสจะได้ทำงานเพื่อประชาชนจริงๆมีน้อย" นายภิรมย์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #216 นครรัฐ/รัฐชาติ LGBT Posted: 01 Jul 2018 03:21 AM PDT เพื่อหลบหนีการเลือกปฏิบัติต่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงจำเป็นต้องมีรัฐของ LGBT หรือไม่ หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชวนทำความรู้จัก Gay Homeland Foundation องค์กรที่ทำงานข้ามประเทศ เริ่มต้นจากการช่วยเหลือ LGBT ที่ต้องการลี้ภัยออกจากรัฐหรือดินแดนที่เลือกปฏิบัติ กดขี่ข่มเหง LGBT ไปจนถึงข้อเสนอสถาปนาเกาะแห่งหนึ่งในออสเตรเลียแยกไปตั้งประเทศของ LGBT อย่างไรก็ตามมีคำถามใหญ่เกิดขึ้นว่าการหนีไปตั้งรัฐตั้งประเทศจะเป็นทางออกจากการเลือกปฏิบัติและการข่มเหง LGBT หรือควรผลักดันให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเคารพความหลากหลายทางเพศและมีมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่างๆ อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในรายการ หมายเหตุประเพทไทย "นครรัฐ/รัฐชาติ LGBT" พบกับ ชานันท์ ยอดหงษ์ และประภาภูมิ เอี่ยมสม ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยเกิดวิกฤตแบบปี 2540 ยาก แต่ให้ระวังความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลัง Posted: 01 Jul 2018 01:36 AM PDT คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต วิเคราะห์ถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในอนาคตเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี การลอยตัวค่าเงินบาทหรือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 มองประเทศไทยมีความเสี่ยงตํ่าในการเกิดวิกฤตแบบปี 2540 แต่ให้ระวังความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลัง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และตุรกี มีโอกาสเกิดวิกฤตแบบปี 2540 ได้ 1 ก.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและวิเคราะห์ถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในอนาคตเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปีการลอยตัวค่าเงินบาทหรือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 หรือ 'วิกฤตต้มยำกุ้ง' ว่าประเทศไทยจะยังไม่เผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 จนกระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจการเงินค่อนข้างดี อย่างน้อยเราจะไม่เจอกับภาวะวิกฤตแบบปี 2540 ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ขณะนี้ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับ 45-47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นไม่มาก อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังค่อนข้างตํ่า สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจแม้นเพิ่มขึ้นแต่ยังคงเป็นการกู้เงินในประเทศ เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการ การกู้จากต่างประเทศและหนี้สินจะมีการทำประกันความเสี่ยง ผศ.ดร.อนุสรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตซํ้ารอยปี 2540 จะไม่เกิดในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าหากเราควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ดี ได้แก่ การก่อหนี้และการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนโดยเฉพาะหนี้สินต่างประเทศ ต้องติดตามการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในเขต EEC มีความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่หรือไม่ ส่วนการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินเอกชนและตลาดการเงินอยู่ในเกณฑ์ดีไม่น่ามีปัญหาอะไร ที่น่าเป็นห่วงจะเป็นพวกฟินเทค การเก็งกำไรใน Cryptocurrency สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์และพวก non-bank ทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม แม้นโอกาสในการเกิดวิกฤตแบบปี 2540 มีน้อยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า แต่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเรื่องฐานะทางการคลังในระยะต่อไปหากไม่มีการปฏิรูปรายได้ภาครัฐทั้งระบบภาษีและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและการไม่กระจายของรายได้ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแลใกล้ชิด และยังมีปัญหาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ยังค่อนข้างสูงอยู่ การเลือกตั้งในปีหน้าจะไม่ได้ทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเต็มใบแต่เป็นระบอบกึ่งประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ก็ต้องรอดูว่าระบอบการเมืองลักษณะแบบนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมและภาคการลงทุนอย่างไรบ้าง การจะก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความถดถอยและกับดักรายได้ระดับปานกลางรวมทั้งวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างแท้จริงและการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตร่วมกันของทุกคน และควรดำเนินการภายใต้หลักการและกระบวนการประชาธิปไตยจะดีที่สุด ความขัดแย้งโดยรวมและในระยะยาวจะน้อยที่สุด จะสมานฉันท์ปรองดองมากที่สุด สภาวะความเหลื่อมลํ้าซึ่งมีอยู่หลายมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ (รายได้ การถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ระบบสวัสดิการ) ด้านสิทธิและอำนาจ ด้านโอกาส ด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพ ความเหลื่อมลํ้าที่มากเกินไปได้บั่นทอนศักยภาพ โอกาสและความสามารถของประชาชนไม่ให้มีพลังในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้กล่าวอีกว่าประเทศอาเซียนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตแบบปี 2540 คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมี ตุรกี อาร์เจนตินา และอิตาลี ที่มีโอกาสเข้าโครงการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน สำหรับบทเรียนและวิเคราะห์วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เทียบกับปัจจุบัน ปี 2561 นั้น ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้วิเคราะห์ไว้ดังนี้ 1. ช่วงวิกฤติปี 2540 ไทยมีช่องว่างระหว่างระดับการออมและระดับการลงทุนสูงและ การลงทุนเกินตัวทำให้ต้องอาศัยเงินออม (กู้เงิน) จากต่างประเทศ เอกชนลงทุนเกินตัวเพราะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวยการลงทุนในประเทศและการส่งออกของไทย ทำให้ภาคเอกชนไทยเร่งการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ราคาที่ดินและราคาหุ้นในประเทศสูงขึ้น ดึงดูดให้ภาคการเงินแข่งขันกันปล่อยกู้ในกิจกรรมดังกล่าว การเปิดเสรีภาคการเงินทำให้สถาบันการเงิน กู้เงินจากต่างประเทศ ที่มีต้นทุนตํ่ามาปล่อยกู้ในประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนมากเกินไป ในขณะที่ภาคการเงินที่มีโครงสร้างแบบผูกขาดมาเป็นเวลานาน ขาดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่ปี 2561 สัญญาณการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนมีในบางภาคเศรษฐกิจและบางพื้นที่เท่านั้นและการลงทุนเอกชนไม่ได้ร้อนแรงมากเหมือนก่อนปี 2540 แต่การลงทุนภาครัฐมีเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเกินตัวสะท้อนจากงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ไม่เป็นปัญหาหากโครงการลงทุนต่างๆสามารถสร้างการเติบโตในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2538 มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.6 ขณะที่อัตราการขยายตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช ตํ่ากว่าร้อยละ 3 ประเทศไทยจึงมีปัญหาการเติบโตตํ่ากว่าศักยภาพในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามากกว่าปัญหาเศรษฐกิจขยายอย่างร้อนแรง ช่วงก่อนวิกฤตการณ์ปี 2540 นั้นสัดส่วนของการลงทุนภายในประเทศต่อรายได้ประชาชาติพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 41.4% จึงต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อตอบสนองการเติบโตของการลงทุน ส่วนปัจจุบันสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีอยู่ที่ตํ่ากว่า 25% สภาพคล่องภายในมีมากเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องกู้จากต่างประเทศ 2. การพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในอัตราสูงไม่ใช่ปัญหา หากมีการบริหารจัดการที่ดีไม่ให้มีสัดส่วนของเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป เงินทุนที่ไหลเข้าก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สองสามปีมีสัดส่วนของการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) น้อย การลงทุนเข้ามาถือหุ้นร่วมกิจการก็น้อยเมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าในรูปของเงินกู้และที่สำคัญเงินกู้เหล่านี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นทางด้านสถาบันการเงินก็ต้องมีระบบการปล่อยสินเชื่อที่มีมาตรฐานและโปร่งใส สถานการณ์ขณะนี้ เราเปิดกว้างในการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะEEC จำเป็นต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างทุนชาติและทุนข้ามชาติจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลข FDI ขณะนี้ก็ยังน้อยกว่าในช่วงปี 2544-2548 3. ช่วงก่อนปี 2540 มีการเปิดเสรีการเงินผ่านการเปิดเสรีวิเทศธนกิจ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบสถาบันการเงินไทยจำนวนมาก ทำให้สถาบันการเงินในประเทศมีการขยายสินเชื่อในอัตราเร่ง คุณภาพสินเชื่อเริ่มลดลง อัตราส่วนระหว่างการปล่อยสินเชื่อต่อปริมาณเงินฝากสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เมื่อสิ้นไตรมาสสองของปี พ.ศ. 2538 นอกจากนี้เริ่มมีสัญญาณของหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนขณะนี้ สถานะทางการเงินของระบบสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง หนี้เสียตํ่า แต่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อันเป็นผลกระทบจากนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน การแข่งขันในภาคการเงินรุนแรงขึ้นจากการแข่งให้บริการโดยกลุ่ม non-bank 4. ในช่วงก่อนปี 2540 การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) ขณะที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่พร้อมกับยังมีการเติบโตร้อนแรงอยู่ในภาคการลงทุนส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศยิ่งสร้างแรงผลักดันให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นและดึงดูดเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 ผู้ให้กู้ให้สินเชื่อแบบผ่อนคลายมากขึ้น โครงการต่างๆ ขยายโดยใช้สัดส่วนของสินเชื่อค่อนข้างสูงและหลายโครงการกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อประหยัดดอกเบี้ย โดยมีสมมติฐานว่าไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะมั่นใจว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ระบบตะกร้าเงิน ขณะนี้ นโยบายการเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบที่ยืดหยุ่นลอยตัวตามกลไกตลาดมากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงในเชิงระบบลงได้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มาทำหน้าที่แทน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน 5. ช่วงก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 สภาพคล่องที่ผ่อนคลายและปริมาณเงินขยายตัวในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาผสานเข้ากับความร้อนแรงของการลงทุนและการเก็งกำไรทำให้ราคาที่ดินและหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจัยพื้นฐานมากจนเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในปัจจุบันราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมากในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น เขตเศรษฐกิจ EEC หัวเมืองใหญ่ ยังไม่มีสัญญาณชัดนักในภาวะฟองสบู่ในระดับประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศควรมีระบบข้อมูล Big Data ครอบคลุมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ซื้อหรืออุปสงค์ สินเชื่อสถาบันการเงิน เป็นต้น สาเหตุปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกช่วงปี 2540 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดข้อมูล ทำให้เกิดปัญหา oversupply การเก็งกำไร และสินเชื่อด้อยคุณภาพ ปัญหาฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ได้ก่อให้เกิดหนี้เสียจำนวนมากในระบบสถาบันการเงิน 6. ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ก่อนปี 2540 ทางการไทย (รัฐบาลไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงาน ทางเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ) ไม่สามารถใช้มาตรการหรือนโยบายต่างๆ หยุดยั้งภาวะฟองสบู่และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของอุปสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นโยบายการคลังที่เข้มงวดและเกินดุลมากพอที่จะลบล้างความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้าไม่ได้เกิดขึ้น นโยบายการเงินเข้มงวดโดยปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยสูงไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก นโยบายเพิ่มทุนสำรองและกีดกันการนำเข้าของเงินกู้ระยะสั้นมีการดำเนินแต่ไม่เพียงพอ ไม่มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากพอ 7. มีการโจมตีและการเก็งกำไรค่าเงินโดยกองทุนเก็งกำไรและนักลงทุนช่วงก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 มีการโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น ได้มีพฤติกรรมการโจมตีค่าเงินในประเทศอ่อนแอ ทางเศรษฐกิจ ค่าเงินของหลายประเทศรวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานในหลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น การโจมตีค่าเงินในสหภาพยุโรป ปี 2535 และเม็กซิโก 2537 ประเทศที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นจะมีแนวโน้มที่ถูกโจมตีมากกว่าประเทศอื่นๆ (IMF Research Department Staff (1997)) นอกจากนี้วิกฤตการณ์ทางการเงินในเม็กซิโก ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลใจกับเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ที่มีปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด และมีแนวโน้มว่าจะมีการลดค่าเงิน นักลงทุน นักเก็งกำไรเริ่มเห็นโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากการที่ประเทศไทยมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง อัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจร้อนแรงมีภาวะฟองสบู่ ค่าเงินถูกกำหนดให้แข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลพยายามลดความรุนแรงของปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะฟองสบู่ กิจกรรมเก็งกำไรแต่ไม่เป็นผลนัก เงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นของภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้เสียสถาบันการเงินอันเนื่องมาจากอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมเก็งกำไร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศลดลงอย่างมาก อันดับความน่าเชื่อถือของไทยถูกปรับลดลงโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เงินทุนต่างประเทศเริ่มทยอยไหลออกเป็นจำนวนมากจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท ช่วงเดือน ธ.ค. 2539 ใช้เงินตราต่างประเทศในการแทรกแซงตลาดเป็นจำนวน 4.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาเมื่อมีข่าวลือการลดค่าเงินในช่วงเดือน ม.ค. 2540 นักลงทุน ได้เข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท ธปท. แทรกแซงตลาดเป็นจำนวน 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2539 และมีฐานะเงินสำรองทางการหักยอดคงค้างสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือทุนสำรองทางการสุทธิ เมื่อสิ้นเดือน ก.พ. เป็นจำนวน 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การโจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2540 การปกป้องค่าเงินบาททำให้ทุนสำรองสุทธิลดลงจากระดับ 24.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดือน มิ.ย. 2540 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออก ส่งผลให้เงินทุนของนักลงทุนไทยไหลออกนอกประเทศ ส่งผลให้ทุนสำรองสุทธิลดลง จนกระทั่งในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ในที่สุดภายใต้แรงกดดันของตลาดการเงินระหว่างประเทศและปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทหรือเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนระบบคงที่แบบตะกร้าเงิน (Pegged Exchange Rate System) เป็น ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Floated Exchange Rate System) โดยในวันดังกล่าวทุนสำรองสุทธิของไทยเหลืออยู่ในระดับ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สถานการณ์การโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากตลาดการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากเงินทุนไหลกลับจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา และ QE exit ของธนาคารกลางยุโรป 8. ก่อนวิกฤตปี 2540 ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เมื่อใช้ในสภาวะที่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดจำกัดอุปสงค์รวมได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูง ผู้ลงทุนจะหันไปกู้เงินจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยตํ่ากว่าและในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นก็ตํ่ากว่าไทยมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้ต่อประเทศระยะสั้นจำนวนมาก 9. เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ประเทศจะสามารถขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องได้จะต้องมีการเกินดุลบัญชีเงินทุน ในกรณีของประเทศไทย มีการเกินดุลบัญชีเงินทุนในส่วนของเงินกู้จากต่างประเทศและเป็นหนี้ระยะสั้น ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เชื่อว่าประเทศสามารถจ่ายหนี้ได้ในอนาคต และสามารถรักษาระดับเงินทุนไหลเข้า 10. การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยหลักใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัย การผลิตมากขึ้นมิใช่จากการยกระดับผลิตภาพและเทคนิคการผลิต การเพิ่มคุณภาพของปัจจัยการผลิตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่าในบรรดาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอิสราเอล การเพิ่มผลิตภาพรวมของปัจจัยการผลิต (Total Factor Productivity, TFP) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของคุณภาพของปัจจัยการผลิต และการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้นนั้นเป็นที่มา (Source) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ในวันที่มหาวิทยาลัยไทยกำลังรอวันเสื่อมสลาย Posted: 01 Jul 2018 12:40 AM PDT
การเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษา แม้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เป็นประเด็นหรือเป็นเรื่องระดับชาติ โดยนัยนี้เราจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในส่วนของวงการการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลต่อระบบการจัดการศึกษาของไทยอย่างไรบ้าง ประการแรก สถาบันการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองขนานใหญ่จากระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่กำลังเข้ามา ซึ่งส่งผลให้มีการปรับลดบุคลากรในสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และอาจารย์ผู้สอนในสถาบันการศึกษาลง ประการที่สอง ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีน้อยลง เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนสามารถอาศัยหรือพึ่งพาแหล่งความรู้จากนอกสถาบันการศึกษาในระบบได้ ทั้งในและต่างประเทศ ประการที่สาม การเรียนที่ไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของสังคมหรือชุมชน ทำให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนประหนึ่งนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง คือ เท้าไม่ติดดิน เรียนจบมาเพื่ออวด เพื่อแสดงสถานะทางสังคมเหนืออื่นใด มากกว่าการเรียนเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ประการที่สี่ การเรียนการสอน แนวท่องจำ หรือแนวปรนัยแบบเดิม ถือได้ว่าเป็นแนวที่การปฏิบัติที่ล้าหลัง ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในสภาพการณ์ปัจจุบันได้ โดยที่แนวการเรียนการสอนแบบปัจจุบันหรือ 4.0 ก็คือ การเรียนการสอนแบบใช้ปัญญาญาณ (Critical Thinking) ให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์เองเป็น ทั้งยังช่วยให้เกิดนวัตกรรมได้อย่างดีอีกด้วย ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องคิดหรือปฏิบัติแบบเดียวกับผู้สอน ผู้เรียนสามารถคิดต่างจากครูผู้สอนได้ในเชิงการวิเคราะห์เนื้อหาที่เรียน คำถามที่มีคำตอบในลักษณะปลายเปิด ควรถูกนำมาใช้ในการออกข้อสอบมากขึ้น แต่ทั้งนี้ การสอบหรือการวัดผลด้วยวิธีการดังกล่าวจะทำให้ภาระของผู้สอนเพิ่มมากขึ้นกว่าแนวปรนัย ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ไม่ใช้กันแล้ว การที่ระบบการศึกษาของประเทศไทยยังเดินแนวนี้อยู่ถือว่ายังล้าหลังอยู่มาก ประการที่ห้า ค่านิยมปริญญาของคนไทยที่น้อยลงในปัจจุบัน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้รับความนิยมน้อยลงไปด้วย ไม่เหมือนเมื่อหลายปีก่อน ที่คนไทยเห่อปริญญาบัตรแบบกลายเป็นค่านิยม ปัจจุบันทางเลือกทางลัดในการศึกษามีมากขึ้น เช่น การศึกษาผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่เลือกสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย เป็นทางเลือกในการศึกษาของพวกเขาอีกต่อ ประการที่หก การทำงานด้านวิจัยที่ไม่เป็นโล้เป็นพายของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งก็คืออาจารย์หรือนักวิชาการที่ทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่สามารถวิจัยประเด็นปัญหาที่สำคัญจริงๆ ของสังคมไทย เช่นเดียวกันกับที่มีการพบว่างานวิจัยที่ทำกันจำนวนมากนั้นไม่ถูกนำมาใช้ชีวิตจริงเลย หรือนำมาใช้ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนงานวิจัยทั้งหมด คือสักแต่วิจัยไปเท่านั้นเอง ทำวิจัยกันไปเพื่อตอบสนองหรืออยากได้ทุนสนับสนุนงานวิจัย หรือผู้วิจัยอยากได้เงินงบประมาณแค่นั้นเอง งานวิจัยแทบไม่ตอบโจทย์ปัญหาของสังคมใดๆ เลย ซึ่งก็น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง แถมงานวิจัยที่ทำกันนั้นยังตั้งอยู่บนฐานของระบบอุปถัมภ์ หรือระบบเส้นสายภายในระหว่างผู้ให้ทุนกับผู้วิจัย นับเป็นความน่าละอายส่วนหนึ่งในแวดวงวิชาการของไทย ประการที่เจ็ด คุณภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเสื่อมทรามลงอย่างเห็นได้ชัด ยังคงเต็มไปด้วยระบบเส้นสาย ไม่เปิดโอกาสให้คนเก่งเข้าถึงห้องเรียน ข้อนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อาจารย์ที่เข้าไปทำงานในมหาวิทยาลัยโดยมหาวิทยาลัยนั้นๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ส่วนใหญ่ไม่เคยซึมซับรับรู้แนวทางการเรียนการสอนแบบ student center หรือ Critical Thinking ความรู้จึงถูกผูกขาดหรือจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน บนฐานความคิดของอาจารย์ท่านนั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้ความรู้ของอาจารย์ที่ล้าสมัย (เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก) ไม่สัมพันธ์หรือไม่สามารถแปรสภาพองค์ความรู้ให้สัมพันธ์กับการแก้ไขหรือมองปัญหาสังคม อาจารย์ผู้สอนไม่ปรับตัวให้อยู่กับกระแสปัจจุบัน มีลักษณะของอาการท่าดีทีเหลว (Monkey Suit) ก็เป็นเหตุประการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความเสื่อมค่าของมหาวิทยาลัย เพราะความรู้แขนงใดๆ ก็ตาม หากไม่ตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของสังคม ความรู้นั้นก็ไร้ค่า เกินความจำเป็นจำเป็นที่จะรู้ ไม่รู้จะรู้ไปเพื่ออะไร ประการที่แปด การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ เหมือนเช่นที่อาจารย์นิพนธ์ กลิ่นวิชิต จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวไว้ว่า "ผมสอนที่ (ม.ราชภัฏ) สวนสุนันทาเด็กเพิ่มทุกปี แต่ที่ม.กรุงเทพเด็กลดทุกปี" ซึ่งอาจหมายถึงนัยทางเศรษฐกิจของผู้ปกครองก็เป็นได้ ควรที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยหรือภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาพึงพิจารณาว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ความเสื่อมหรือล้าสมัยของมหาวิทยาลัยของไทยจากสาเหตุเศรษฐกิจนี้ได้ ขณะที่ในปัจจุบันความรู้ได้ถูกทำให้มีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก จากฐานของระบบออนไลน์และปัญญาประดิษฐ์ หากสถาบันการศึกษาของไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว เชื่อว่าอีกไม่นานคงเหลือแต่ซาก มิหนำซ้ำยังต้องแข่งขันกับสถาบันการศึกษาของต่างประเทศอีกด้วย และโอกาสพ่ายแพ้ก็มีสูงเสียด้วย ถ้าคุณภาพของสถาบันการศึกษาเป็นอย่างที่เห็น นอกเหนือไปจากการที่หน่วยงานหรือสถาบันของเอกชนปัจจุบันเองยังนิยมสร้างองค์กรการศึกษาเฉพาะทางของตัวเอง เพื่อตอบสนองหรือป้อนบุคลากรให้กับกิจการของตนเอง เช่นเดียวกับที่ชุมชนไทยเองเวลานี้ก็มีทางออกโดยไม่ต้องพึ่งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด นั่นคือ ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน (The learning Center for Community) ที่นำความรู้ ลัดตัดตรงเข้าไปยังวิถีชีวิตของชุมชนเลยทีเดียว รวมถึงการทำให้ชุมชนเล็กๆ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโลก (Global Community) ด้วยเทคโนโลยี 4.0 โดยไม่จำเป็นต้องใช้ฐานหรือพึ่งพามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด จึงเป็นอันว่า ณ เวลานี้ มหาวิทยาลัยของไทยรูปแบบปัจจุบันใกล้เข้าขั้นเอวังเข้าไปทุกขณะแล้ว
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 01 Jul 2018 12:31 AM PDT
บนดอยบนเขา ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25- มิ.ย.-1 ก.ค. 2561 Posted: 30 Jun 2018 09:47 PM PDT 20 ภาคีแรงงานหนุน 'ปฏิรูป สปส.' เน้น 'อิสระ-มืออาชีพ' พ้นราชการ/เตรียมขยายลาคลอดบุตรจาก 90 เป็น 98 วัน/รายงาน TIP Report ยกระดับไทยดีขึ้นสู่ "Tier 2"/คสรท. ชี้ครึ่งปีหลังเสี่ยงคนตกงานมากขึ้น พบภาคธุรกิจขนเครื่องจักรเทคโนโลยีลดต้นทุน/ก.แรงงาน เปิดศูนย์ตรีเทพ ช่วย ป.ตรีมีงานทำ 11 แห่งทั่วไทย 20 ภาคีแรงงานหนุน 'ปฏิรูป สปส.' เน้น 'อิสระ-มืออาชีพ' พ้นราชการ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2561 นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ในฐานะนักวิจัยสิทธิแรงงาน กล่าวว่าจริงๆ ประกันสังคมต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ และต้องปฏิรูปในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการปรับให้เป็นองค์กรที่ทำงานโดยอิสระ ไม่ใช่เหมือนราชการทุกวันนี้ เนื่องจากประกันสังคมเป็น กองทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินของผู้ประกันตนจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน การทำงานต้องคล่องตัว เป็นอิสระมากกว่าที่จะอิงระบบราชการ เพราะที่ผ่านมากว่าจะพิจารณาแต่ละเรื่องต้องผ่านอนุกรรมการมากมาย อย่างกรณีการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมก็ยังไม่ดำเนินการ ล่าสุดตั้งอนุกรรมการยกร่างระเบียบการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่บอร์ดชุดเก่าที่ตั้งขึ้นด้วย ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 จะครึ่งปีแล้วยังไม่มีบอร์ดจริงๆ เสียที "นี่คือการทำงานที่ไม่คล่องตัว อิงระบบราชการทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ประกันสังคมต้องทำงานอย่างอิสระ มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ จะเป็นองค์การมหาชน หรือจะเป็นหน่วยงานแบบไหน ขอมีความเป็นอิสระเป็นพอ เพื่อให้มีการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วและเพื่อประโยชน์ผู้ประกันตน ยกตัวอย่าง 1.กรณีการปรับฐานค่าจ้างเพื่อนำมาคิดคำนวณปรับเงินสมทบในกลุ่มฐานเงินเดือน 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท ผมเห็นด้วย เพียงแต่เรื่องนี้ก็อาจติดขัดอยู่ เพราะอาจมีคนเข้าใจผิดว่า การปรับฐานค่าจ้างเพื่อนำมาคิดคำนวณปรับเงินสมทบนั้นจะกระทบไปหมด แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทยังจ่ายเงินสมทบเท่าเดิม ไม่เพียงแต่เรื่องการปรับฐานเงินค่าจ้างเพื่อคิดการจ่ายเงินสมทบ" นายบัณฑิตย์กล่าว นักวิจัยสิทธิแรงงานกล่าวอีกว่า 2.การปรับปรุงสูตรการคำนวณ เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน อย่างการจ่ายเงิน 20% ของค่าจ้างตลอด 60 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงาน จริงๆ ควรมีแนวคิดเอาฐานค่าจ้างสูงสุดมาคำนวณให้ก่อนออกจากงานมากกว่า 3.ในแง่ของกฎหมายประกันสังคมก็ไม่มีการกำหนดหลักการคำนวณเงินบำนาญขั้นต่ำที่เพียงพอต่อค่าครองชีพของผู้ประกันตนที่รับบำนาญนั้นๆ ซึ่งจริงๆ ควรมีการคำนวณในแต่ละปีว่า ปีนี้สำหรับผู้ประกันตนที่รับบำนาญเงินที่ได้รับเพียงพอหรือไม่ เพื่อนำมาคำนวณว่า การเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนควรเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ในเรื่องของผู้ประกันตนที่รับบำนาญแล้ว แต่เสียชีวิตก่อน 60 ปี ทายาทจะได้รับไม่เกิน 10 เท่าของบำนาญที่ผู้ประกันตนจะได้รับ จริงๆ ต้องให้ตามความเป็นจริงที่ผู้ประกันตนจะได้ เช่น ผู้ประกันตนอายุ 55 ปี รับบำนาญไปไม่ถึง 2 เดือนเสียชีวิต ก็ควรให้ทายาทตามจำนวนที่เหลือก่อนผู้ประกันตนจะถึง 60 ปี หรือปรับจำนวนเท่าจาก 10 เท่า เป็น 15 เท่า หรือแล้วแต่สูตรการพิจารณาที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกันตน "การทำงานควรต้องทำงานอย่างมืออาชีพ เอาคนเชี่ยวชาญมาบริหาร มีความเป็นอิสระ ไม่อิงกับระบบราชการ อย่างการขยายฐานเงินเดือนเพิ่มเพื่อนำมาคิดเงินสมทบเพิ่มนั้น จริงๆ ต้องควบคู่กัน ทั้งการขยายฐานเงินเดือน กับร้อยละการจ่ายเงินสมทบ เพื่อให้เพียงพอต่อการรับเงินบำนาญชราภาพ สมมุติว่า สปส.จะปรับร้อยละการจ่ายเงินสมทบ เพิ่มจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 4 ก็ต้องมีวิธีประกาศหรือแจ้งเตือนผู้ประกันตนว่าจะปรับเพิ่มในอีก 2 ปีข้างหน้า แล้วเราจะได้สิทธิประโยชน์อะไร อย่างไปเพิ่มเงินบำนาญ ก็ต้องเพิ่มส่วนนั้น หรือจะเพิ่มส่วนไหนก็ต้องระบุให้ชัดเจน เป็นต้น ประเด็นคือ สปส.ยังทำงานที่ผ่านหลายขั้นตอน การจะพิจารณาหรือให้สิทธิประโยชน์ใดๆ กับผู้ประกันตนก็ต้องผ่านหลายอนุกรรมการกว่าจะเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งหากมีความเป็นอิสระก็จะดีกว่านี้" นายบัณฑิตย์กล่าว นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า คปค.และภาคีเครือข่าย 20 องค์กร อาทิ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิเพื่อนหญิง สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ สนับสนุนการปฏิรูปประกันสังคม อย่างเรื่องการจ่ายเงินสมทบเพิ่มสำหรับผู้ประกันตนเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปที่ทาง สปส.กำลังดำเนินการ ถือเป็นเรื่องที่ดี ทราบมาว่าขณะนี้อยู่ในขั้นการให้ความรู้ความเข้าใจ เพราะประชาพิจารณ์ผ่านไปแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งการเก็บเพิ่มส่วนนี้ประมาณ 800-1,000 บาท/คน ขึ้นกับเงินเดือนแต่ละคน จะทำให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเพิ่มก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม และจะส่งผลดีต่อสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ฯลฯ นายสมพร จองคำ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ สปส.ต้องเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้การบริหารงานให้รวดเร็วขึ้น ส่วนเรื่องการเก็บเงินสมทบเพิ่มสำหรับผู้มีเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ไม่ได้เห็นต่าง แต่เห็นว่าข้ามขั้นตอนไป จริงๆ ต้องไปดูก่อนว่าให้รัฐเอาเงินที่ค้างจ่ายสมทบ 56,000 ล้านบาท เอามาช่วยในเรื่องให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนทุกกลุ่มก่อนดีกว่าหรือไม่ เพราะกรณีการเก็บเงินสมทบเพิ่มในผู้มีรายได้ 15,000 บาทขึ้นไปก็จะได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มฐานบน แต่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อภาพรวมจริงๆ ข้างล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนมาก 80% ก็ไม่ได้สิทธิประโยชน์ไปด้วย ต้องมาคุยก่อนว่าส่วนล่างได้อะไรด้วย จริงๆ การเอาเงินไปก็เหมือนมีนัยยะอะไรหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าการเก็บเงินจะเป็นอย่างไร ก็น่าคิดอยู่ เตรียมขยายลาคลอดบุตรจาก 90 เป็น 98 วัน 30 มิ.ย. 2561 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. ได้เตรียมผลักดันในการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรโดยให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตร และปรับเพิ่มสิทธิวันลาเพื่อคลอดบุตร จากเดิมที่สามารถลาคลอดบุตรหนึ่งครรภ์ได้ 90 วัน เป็น 98 วัน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ฉบับที่183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาซึ่งได้กำหนดให้ภาครัฐต้องดูแลผู้หญิงตั้งครรภ์ ระหว่างและหลังคลอด และต้องให้วันหยุดมารดาหลังคลอด 14 สัปดาห์ โดยให้นับรวมการลาเพื่อตรวจครรภ์และลาคลอดบุตรใน 98 วัน เนื่องจากเป็นสิทธิการลาประเภทเดียวกัน ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานกรรมการกฤษฎีกาและหากร่างดังกล่าวผ่านก็จะนำเสนอให้สนช.พิจารณาเพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป สำหรับประเด็นที่มีการเสนอให้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการตามมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เกี่ยวกับการจัดสิ่งแวดล้อมให้สิ่งแวดล้อม ให้ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ที่ผ่านมา กสร. ได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้นายจ้าง ลูกจ้างเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งการจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายกำหนดและเป็นการดำเนินการโดยความสมัครใจและขึ้นอยู่กับความพร้อมของนายจ้างทั้งในเรื่องสถานที่ การบริหารจัดการและค่าใช้จ่าย ดังนั้นการจะออกกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากนายจ้าง ลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบก่อน ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 30/6/2561 คสรท. ชี้ครึ่งปีหลังเสี่ยงคนตกงานมากขึ้น พบภาคธุรกิจขนเครื่องจักรเทคโนโลยีลดต้นทุน นายชาลี ลอยสูง รองประธานสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เปิดเผยกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นถึงสถานการณ์แรงงานครึ่งปีหลัง 2561 ว่า ยังคงน่าเป็นห่วง เสี่ยงที่จะว่างงานมากขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีและเครื่องจักร เข้ามาทดแทนแรงงานเพื่อลดต้นทุนมากขึ้น ขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน ก็มีความลำบาก เพราะผู้ประกอบการ ลดหรือเลิกโอทีไปเลย ทำให้แรงงานขาดรายได้ที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับแรงงานในยุคไทยแลนด์ 4.0 คือ จะต้องพัฒนาฝีมือ ทักษะพร้อมกับฝึกอาชีพเสริม เพื่อที่จะได้นำมาประกอบอาชีพหลังทำงานประจำเสร็จ รองประธาน คสรท. กล่าวอีกว่าสำหรับงานที่ตลาดต้องการมากในขณะนี้คือ งานที่เกี่ยวข้องกับทักษะ ฝีมือ เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามา ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 30/6/2561 รายงาน TIP Report ยกระดับไทยดีขึ้นสู่ "Tier 2" ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ฉบับล่าสุดของสหรัฐฯ ประกาศยกระดับให้ประเทศไทย อยู่ในกลุ่ม "เทียร์ 2" ปรับอันดับดีขึ้นจาก เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์ ที่อยู่ติดกันมา 2 ปี ขณะที่ "อินเดีย" และ "อินโดนีเซีย" ก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม เทียร์ 2 เช่นกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยได้พยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการปัญหาการค้ามนุษย์ เมื่อเทียบกับรายงานครั้งก่อน แต่การดำเนินการยังไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำ ทั้งนี้รายงานได้ระบุข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยในรายงานปีนี้ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับปีที่ผ่าน อันได้แก่ การเสนอให้ไทยสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้าข่ายมีความผิดและมีส่วนในกระบวนการการค้ามนุษย์ รวมถึงการพิพากษาและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ได้เสนอให้ ไทย ควรเพิ่มความพยายามในการระบุอัตลักษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ อาทิ ผู้อพยพ ชาวประมง บุคคลไร้สัญชาติ และเด็กผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกัน ไทยควรดำเนินคดีนักค้ามนุษย์ด้วยการใช้แนวทางที่เน้นผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ "มาเลเซีย" ถูกปรับลดอันดับลงสู่ "เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์" จากอันดับ เทียร์ 2 ในปี 2017 โดยรายงานระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียพยายามอย่างหนักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งออกกฏมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดต่างๆ แต่ผลงานเมื่อเทียบกับปีก่อนไม่ได้ดีขึ้นจนมีนัยสำคัญ พร้อมระบุว่า "ความพยายามในการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ของภาครัฐยังไม่เพียงพอ" ส่วน "บังกลาเทศ" ยังคงระดับเดิมอยู่ที่ "เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์" โดยให้เหตุผลว่า ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ในบังกลาเทศยังคงเป็นปัญหาร้ายแรง และเมื่อปีที่ผ่านมามีการประกาศลงโทษผู้กระทำผิดน้อยกว่าเป้าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ "ฟิลิปปินส์" ยังคงอันดับเดิมที่ "เทียร์ 1" เป็นปีที่ 3 ติดกัน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า การทำงานของรัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่มีผลงานโดดเด่น คงรักษาคุณภาพไว้เท่าเดิม โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครอง และการเข้าช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ เช่น บริการการฟื้นฟูด้านสภาพจิตใจ และการฝึกอบรมเพื่อจัดหางาน เป็นต้น ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/6/2561 มอบเงินทดแทน 4,990,000 บาท แก่ทายาทแรงงานไทยที่เสียชีวิตขณะทำงานในสิงคโปร์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหาร ร่วมมอบเช็คเงินทดแทนให้แก่ทายาทของนายพงศ์ศักดิ์ มีแต้ม อายุ 45 ปี ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากการทำงานในประเทศสิงคโปร์ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยนายพงศ์ศักดิ์ มีแต้ม ปฏิบัติหน้าที่ลูกเรือของบริษัท RCL Shipmanagement Pte Ltd และเสียชีวิตด้วยสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เนื่องจากเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจอุดตัน ที่โรงพยาบาล สลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ซึ่งสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ (สนร.สิงคโปร์) ได้ดำเนินการประสานกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ และนายจ้างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้เสียชีวิต และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสอบสวนพบว่า การเสียชีวิตของนายพงศ์ศักดิ์ฯ เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน ทายาทของนายพงศ์ศักดิ์ฯ จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ส่งเช็คธนาคารทหารไทย จำนวน 204,000 เหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,990,000 บาท สั่งจ่ายในนามนายน้อม มีแต้ม ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียชีวิต กระทรวงแรงงานจึงได้ประสานให้ทายาทของนายพงศ์ศักดิ์ฯ มารับเช็คเงินทดแทนของผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างทายาท โดยแบ่งสิทธิประโยชน์เป็น 5 ส่วนเท่าๆ กัน คือ บิดา และบุตรของนายพงศ์ศักดิ์ฯ จำนวน 4 คน พล.ต.อ. อดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะส่งผลให้คนงานได้รับความคุ้มครอง รวมถึงสิทธิประโยชน์ อัตราค่าจ้าง สวัสดิการตามกฎหมายแรงงานของประเทศนั้นๆ กล่าวคือหากประสบภัย เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต จะได้รับการคุ้มครองดูแลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อย่างถูกต้องและเป็นธรรม อีกทั้งยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว หลบซ่อนหรือวิตกกังวลว่าจะถูกจับได้ เพราะเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ หากประสบปัญหาในต่างประเทศ สำนักงานแรงงานไทยหรือสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ จะเป็นตัวแทนรัฐบาลในการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศเช่นกัน ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/6/2561 ก.แรงงาน เปิดศูนย์ตรีเทพ ช่วย ป.ตรีมีงานทำ 11 แห่งทั่วไทย นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ซึ่งในเบื้องต้นจะใช้ชื่อ "ศูนย์ตรีเทพ" ดำเนินการภายใต้สโลแกน "ประชารัฐ ร่วมใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ" ตามข้อสั่งการของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งตั้งขึ้นทั้งในภูมิภาคและส่วนกลาง จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง ชลบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร เน้นการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นผู้อำนวยศูนย์ฯ มีแรงงานจังหวัดเป็นเลขานุการ ซึ่งเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. - 30 ก.ย.2561 นางเพชรรัตน์ กล่าวต่อว่าศูนย์ตรีเทพแห่งนี้จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการแรงงานในพื้นที่ มีตำแหน่งงานว่างในพื้นที่สำหรับวุฒิปริญญาตรี การจับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ บริการให้คำปรึกษาแนะแนวอาชีพรายบุคคล ส่งต่อการบริการจัดหางานและฝึกอบรมเพิ่มทักษะ ติดตามการมีงานทำรายบุคคล ส่วนผู้ที่ต้องการฝึกทักษะเพิ่มกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ (Up skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อให้สามารถมีงานทำประกอบอาชีพอิสระหรือรับงานไปทำที่บ้านได้ โดยศูนย์ตรีเทพทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ จะเป็นการบูรณาการร่วมกันตามแนวทางประชารัฐเพื่อให้คนไทยมีงานทำ อาทิ คณะกรรมการร่วมภาค เอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สถานประกอบการในจังหวัดจะส่งข้อมูลความต้องการทักษะ รวมทั้งจำนวนผู้ฝึกงานที่สถานประกอบการมีความประสงค์ ความร่วมมือของสถานศึกษาในการสำรวจข้อมูลผู้กำลังจะจบการศึกษา เพื่อส่งต่อข้อมูลการฝึกงานในสถานประกอบการ และกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะสนับสนุนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนกรณีเลิกจ้างในการเพิ่มทักษะ (Up skill/Re-skill) แก่ภาครัฐและเอกชนอีกด้วย ที่มา: สำนักข่าวไทย, 27/6/2561 กอช.เร่งถกรื้อกม. ขยายส่งเงินสะสม หวังดูดสมาชิกเพิ่ม นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่าง การหารือเพื่อทบทวนการแก้ไขกฎหมายของ กอช. เรื่องการขยายอัตราการจ่ายเงินสะสมของรัฐบาล จากปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 1.32 หมื่น บาทต่อปี และจ่ายสมทบของสมาชิก รวมถึงการขยาย ช่วงอายุในการสมัครสมาชิก เป็นเริ่มต้นตั้งแต่ 7 ปี จนถึงอายุ 63 ปี จากเดิมอยู่ที่ 15 ปี ถึง 60 ปี เพื่อให้มีแรงจูง ใจในการออมเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้ง หมดภายในปีนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน กอช.มีสมาชิกทั้งสิ้น 5.64 แสนคน โดยสมาชิกอายุตั้งแต่ 15-30 ปี สัดส่วน 6.1%, สมาชิกอายุ 30-50 ปี สัดส่วน 42.3%, สมาชิกอายุ 50-60 ปี สัดส่วน 37.1% และสมาชิกอายุตั้ง แต่ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัด ส่วน 14.6% นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้ยังตั้งเป้าหมายสมาชิกกอง ทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ได้ 1 ล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกอยู่ที่ 5.64 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมา กอช.ได้พยายามเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการออมของสมาชิกให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญ ของรัฐบาลชุดนี้คือการสนับ สนุนพฤติกรรมและวินัยการ ออมตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้มีรายได้เพียงพอรองรับการดำรงชีวิตในช่วงเกษียณ และ เพื่อเป็นการรองรับสังคมผู้สูง อายุ ที่ปัจจุบันประชากรมี อายุเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันมีแรงงานทั้งสิ้น 43 ล้านคน เป็นแรง งานในระบบประมาณ 16 ล้าน คน และเป็นแรงงานนอกระบบประมาณ 27 ล้านคน ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าจะดำ เนินการอย่างไรเพื่อให้แรง งานที่อยู่นอกระบบเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ และเป็นสมาชิกของ กอช.มากที่สุด "ปีนี้ตั้งเป้าหมายให้มีสมาชิก กอช. ที่ 1 ล้านคน แต่ถ้าท้ายที่สุดจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ไม่เป็นอะไร เพียงแต่ให้มีอัตราสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็พอ โดยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา กอช.ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสามารถดำเนินการด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ กรอกข้อมูลรายละเอียดของการสมัคร พร้อมส่งเงินสะสมงวดแรก" นายวิสุทธิ์กล่าว ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 27/6/2561 สนร.โซล ย้ำทำงานเกาหลีระบบ EPS ไม่ต้องเสี่ยงถูกจับส่งกลับ จากกรณีกระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐเกาหลี มีมาตรการจัดเจ้าหน้าที่ออกระดมจับกุมชาวต่างชาติที่ลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดในระยะนี้ เนื่องจากพบผู้พำนักเกินเวลาอนุญาต เป็นจำนวนสูงมากกว่า 300,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวไทยเกินกว่า 100,000 คน ทำให้ต้องเข้มงวดกวดขันอย่างเข้มข้น ชาวต่างชาติผู้มีพฤติกรรมลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ ต้องหลบหนีและหลบซ่อนตัว ดังปรากฎเป็นคลิปที่มีคนไทยหลบหนีการจับกุมที่ถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ผู้ถูกจับส่งกลับจะต้องจ่ายค่าเครื่องบินเองเป็นเงินราว 600,000 วอน และถูกขึ้นบัญชีห้ามเข้าสาธารณรัฐเกาหลี ไม่ต่ำกว่า 5 ปี สนร.โซล ในนามของกระทรวงแรงงาน ประเทศไทย ขอเน้นย้ำว่า หากต้องการเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่าเทียมกับคนท้องถิ่น ไม่ต้องกังวลถูกจับกุมส่งกลับ สามารถติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดได้ทุกจังหวัด Smart Job Center ทั่วประเทศ หรือติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://www.doe.go.th/overseas ที่มา: สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล Office of Thai Labour in Seoul, 25/6/2561 คสรท. เผยแรงงานมีชีวิตลำบากหนี้มาก ขณะนายจ้างลดโอทีอ้างขาดทุน นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานในขณะนี้ยังมีความลำบากอยู่ แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้วก็ตาม เนื่องจากนายจ้างลดการทำงานล่วงเวลาลง ขณะที่บางส่วน ผู้ประกอบการก็ไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยอ้างว่าขาดทุน ซึ่งผู้ใช้แรงงานก็ต้องยอมรับสภาพไป เนื่องจากกลัวตกงาน ไม่มีงานทำ ทั้งนี้ในปัจจุบันแรงงานกว่าร้อยละ 90 มีภาระหนี้สินจึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยที่ไม่ต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพราะหากมีการขึ้นค่าแรง ก็จะส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ส่วนตัวอยากให้ภาครัฐจัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ใช้แรงงานขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือภาคแรงงานเป็นการเฉพาะ คสรท.เดินรณรงค์ส่งเสียงถึงภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศกรณีละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมเชิญทุกภาคส่วนร่วมถกแถลงแต่ไร้เงาเจ้าหน้าที่รัฐไทย ILO พร้อมรับช่วยแก้ปัญหาโดยใช้กลไกไตรภาคี วันที่ 24 มิ.ย. 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ร่วมกับองค์กรแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้เดินรณรงค์ เรื่องสถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทย "สิทธิแรงงานคือสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิแรงงาน คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน" นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ในชีวิตการทำงานของคนงานแม้ว่ากระบวนการผลิต หรือรูปแบบทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การกดขี่ขูดรีดยังคงรูปแบบเดิม แต่มีความซับซ้อน และรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่กลไกกฎหมาย และนโยบายของรัฐที่ปฏิบัติไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับคนงาน ทั้งแรงงานในระบบ ทั้งลูกจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน แรงงานนอกระบบ ภาคเกษตรกรรม และบริการ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ที่ยังคงมีการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน เช่น แรงงานในระบบ ประกอบด้วย 1.ลูกจ้างภาครัฐ การจ้างงานที่ไม่มั่นคง การจ้างงานระยะสั้นตามสัญญาจ้างชั่วคราว จ้างงานนอกงบประมาณ ค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการ และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการจ้างงานดังกล่าวมีการจ้างงานอยู่ทุกหน่วยงานของรัฐทุกกระทรวงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ฯลฯ 2.ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ แม้ว่ากฎหมายให้โอกาสสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์การขึ้นมา เพื่อปกป้องคุ้มครองได้ แต่ก็ยังถูกแทรกแซงจากรัฐ เช่นการเจรจาต่อรองด้านสวัสดิการ แม้ว่าระบบทวิภาคจะเจรจาตกลงกันได้ แต่ว่า ต้องไปสู่ระบบการอนุมัติเป็นมติในคณะรัฐมนตรี การเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์รัฐยังเป็นผู้กำหนด การที่ถูกแบ่งแยกออกจากลูกจ้างเอกชนการใช้กฎหมายคนละกฎหมายทำให้ขบวนแรงงานอ่อนแอ แต่ว่าก็มีความพยายามที่จะทำงานร่วมกันอยู่ตลอด 3.ประเด็นปัญหาลูกจ้างภาคเอกชน แม้ว่ากฎหมายจะให้โอกาสสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิได้แต่ปัญหา มีมากมายจากฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับ การบังคับใช้ หรือกลไกปฏิบัติกลับไม่เอื้อต่อการคุ้มครอง และทำให้คนงานเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐานได้ เช่นค่าจ้างขั้นต่ำไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ยังคงเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง การยื่นข้อเรียกร้องไม่ได้รับการคุ้มครองดูแล เมื่อเจรจาเสร็จสิ้นแล้วนายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย ผู้นำแรงงาน หรือสมาชิกสหภาพแรงงานถูกกลั่นแกล้ง ไม่ให้เข้าทำงาน และถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยที่รัฐไม่ได้บังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้แรงงานนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวต้องใช้เวลายาวนาน เรื่องต่อมา คือประเด็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรม ซึ่งไม่มีกฎหมายแรงงานฉบับไหนสามารถปกป้องคุ้มครองแรงงานได้ ซึ่งมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาชีพที่เสี่ยงกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้ราคา ชีวิตไม่มีหลักประกัน ขณะนี้มีการเรียกร้องเรื่องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีในกระบวนการเกษตร ด้วยเกิดปัญหาด้านสุขภาพ ประสบปัญหาอันตรายจากสารเคมีมากมาย ซึ่งทั้งต่อแรงงานภาคเกษตร และตัวเกษตรกรเองด้วยเกิดโรคระบาดต่างๆทั้งคน สัตว์ และพันธ์พืชเป็นต้น ประเด็นแรงงานนอกระบบในกรณีผู้รับงานไปทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน ภาคบริการต่างๆ ที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย หาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองจากอาชีพที่ไม่มั่นคงทางรายได้ ความปลอดภัยในการทำงานด้วยต้องแบกรับความเสียงต่างๆเองทั้งหมด แม้ว่า บางอาชีพจะมีกฎหมายคุ้มครองแต่ว่าก็ไม่ได้มีการปฏิบัติ หรือคุ้มครองได้จริง ประเด็นต่อมา กรณีปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 4 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการของนายจ้างที่อ้างว่า ขาดแคลนแรงงาน และต้องการที่จะใช้แรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งขอให้รัฐประกาศให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานในอาชีพสงวน ที่รัฐเคยกำหนดไว้ราว 39 อาชีพนั้นได้ ด้วยประชากรที่เป็นคนไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งการจ้างงานแรงงานข้ามชาติภายใต้ความต้องการมากขึ้น พร้อมทั้งแรงงานเหล่านั้นก็ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมากอย่างต่อเนื่อง แรงงานข้ามชาติยังไม่สามารรถรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้มีค่าจ้าง สวัสดิการที่ดีได้ แม้ว่าบางพื้นที่จะมีการลุกขึ้นมาเรียกร้องบ้างว่ายังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย เรื่องการยึดเอกสารต่างๆของแรงงานข้ามชาตินายจ้างยังคงกระทำอยู่เช่นเดิม แม้รัฐจะมีการจัดการขึ้นทะเบียนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ซึ่งภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้จะสิ้นสุดการผ่อนผันแล้ว ซึ่งยังมีแรงงานที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติอีกจำนวนหนึ่ง ที่เมือถึงกำหนดระยะเวลาการผ่อนผันรัฐก็จะปราบปรามจับกุมแรงงานข้ามชาติ และลงโทษนายจ้างที่ให้ทำงาน และพักอาศัย อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็มีเสียงของนายจ้างที่ออกมาส่งเสียงให้มีการผ่อนผันไปก่อนอีกเช่นเดิม จากที่ตนกล่าวมาเป็นเพียงภาพรวมของปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานแต่ละสาขา อาชีพ ซึ่งในรายละเอียดการลงพื้นที่ไปสัมผัสปัญหาจริงเพื่อทำความเข้าใจคนงานมากขึ้น ยิ่งในอนาคตตามที่รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ชาติ ว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งการผลิตภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การบริการ แต่หากมองภาพที่เกิดขึ้นคือ อนาคตคนงานต้องเผชิญต่อภาวะเสี่ยงต่อการตกงาน ความเสียงหายต่อคนงานย่อมตามมาซึ่งรัฐไม่ได้กล่าวถึง หรือว่าจะวางมาตรการอย่างไรเพื่อรองรับผลกระทบในอนาคต ซึ่งอาจมีคนตกงานจำนวนมากเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาแทนคนในการทำงาน แม้ว่า รัฐบาลจะปลอบใจคนทำงานว่าการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะใช้ หลักสิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติ ในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิคนทำงาน และประชาชน แต่อย่างไรก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ และยังขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายที่จะเห็น คนงานขบวนการแรงงาน และภาคประชาชน การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นการรณรงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาลตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และการปกป้องคุ้มครองสิทธิให้เป็นไปตามหลักการทางสากลโดยไม่เลือกปฏิบัติ และรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนโดยไม่ปิดกั้น และต้องสนับสนุน ส่งเสริม ให้ผู้ใช้แรงงาน ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ประชาชน สามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นปฏิญญาสากลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิรัฐบาลต้องแสดงออกถึงความจริงใจในการยัดถือปฏิบัติ และคสรท. ขอเรียกร้องให้ ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ผู้ใช้แรงงาน ประชาชน ในทุกสาขาอาชีพได้ตระหนักถึงสิทธิแห่งตน รวมพลังกันจัดตั้งองค์กรของตนเองขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิแห่งตน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สืบต่อไป และคสรท.จะติดตามตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และนำเสนอต่อภาคีต่างๆทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ด้วย ซึ่งในเวที ถกแถลง "การละเมิดสิทธิแรงงาน"ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.),นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท., นางธนัญภรณ์ สมบรม ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง, นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคสรท., นางสาวสุรินทร์ พิมพา ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ , ตัวแทนสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ ประเทศไทย,ตัวแทนแรงงานนอกระบบ,และผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ซึ่งสรุปเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานได้ดังนี้ ประเด็นกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างปิดงาน หลังจากที่มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และชุมนุมเจรจากันจนยุติทำข้อตกลงกันได้ระหว่างนายจ้าง และสหภาพแรงงานฯแล้ว ซึ่งขณะนี้นายจ้างได้รับลูกจ้างส่วนหนึ่งกลับเข้าทำงาน แต่ว่ายังเหลือสหภาพแรงงาน พร้อมสมาชิกอีกกว่า 400 คนที่นายจ้างยังไม่เรียกให้กลับเข้าทำงาน ซึ่งส่วนนี้ยังคงได้รับความเดือดร้อนอยู่ในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ต้องการที่จะให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้นายจ้างรับลูกจ้างทั้งหมดที่เหลือกลับเข้าทำงาน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของสหภาพแรงงานเองก็มีปัญหาสมาชิกลดลงเหลือไม่เกินกึ่งหนึ่ง โดยจะมีการเรียกประชุมใหญ่กัน เนื่องจากลูกจ้างส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำงานก็มีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาภายใน สภาพปัญหาหลังจากที่มีการเจรจาตกลงกันได้นายจ้างได้ให้ลูกจ้างรายงานตัวเพื่อเข้าทำงาน แต่มีส่วนหนึ่งกว่า 400 คนที่ไม่ได้กลับเข้าทำงาน นายจ้างได้เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ใช้ระยะเวลา 2 เดือน เพื่อทำกิจกรรมCHR ทำความสะอาดวัด โรงเรียน บ้านพักคนชรา ทำแนวกันไฟ จากนั้นก็อบรมในค่ายทหาร จังหวัดสระบุรี และค่ายทหารที่ราชบุรี แม้ว่าจะทำกิจกรรมตามที่นายจ้างจัดให้แล้ว ก็ยังไม่ได้เรียกให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ซึ่งได้มีข่าวมาอีกว่า หากลูกจ้างใน 400 กว่าคนต้องการที่จะกลับเข้าทำงานต้องไม่ร่วมเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมกับสหภาพแรงงาน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ถือว่า เป็นการละเมิด แทรกแซงการทำงานของสหภาพแรงงาน ซึ่งขณะนี้สมาชิกสหภาพแรงงานค้อนข้างกลัวไม่ได้กลับเข้าทำงานจึงไม่กล้าเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน อีกประเด็นคือหากสมาชิกฯต้องการกลับเข้าทำงานต้องเขียนจดหมายถึงบริษัทฯก่อนแล้วจึงจะเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ ซึ่งสหภาพแรงงานเองก็ทำหนังสือเพื่อสอบถามเรื่องกลับเข้าทำงาน ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้ร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว ประเด็นต่อมาสถานการละเมิดสิทธิแรงงานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง นั้นสภาพปัญหาการจ้างงานระยะสั้น เป็นการจ้างงานชั่วคราวสัญญาจ้างปีต่อปีทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงาน ปัญหาการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งแรงงานสัญญาจ้างไม่สามารถที่จะเข้าเป็นสมาชิดสหภาพแรงงานได้ หากมาร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงานก็อาจไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้างให้ อีกประเด็นคือ หากคนงานตั้งครรภ์ จะไม่ถูกต่อสัญญาจ้างเช่นกัน หรือบางรายเมื่อคลอดบุตรจะลาได้เพียงหนึ่งเดือน ไม่สามารถใช้สิทธิลาคลอด 90 วันได้ การลาป่วย พักร้อน ลากิจจะถูกนำมาพิจารณาเรื่องการต่อสัญญาจ้างด้วยทำให้คนงานส่วนนี้ถูกเอาเปรียบและละเมิดสิทธิอย่างมาก เรื่องความไม่มั่นคงในการมีงานทำ และการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งการจ้างงานแบบสหภาพแรงงานจะอ่อนแอลง เพราะไม่สามารถมีสมาชิกเพิ่มได้เลย กรณีแรงงานนอกระบบ ด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสิทธิแรงงาน แม้แรงงานนอกระบบจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่ว่าไม่มีกฎหมายคุ้มครองด้านแรงงานนอกระบบ แม้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองคนทำงานบ้าน หรือผู้รับงานไปทำที่บ้านก็ยังขาดเรื่องการบังคับใช้ทำให้แรงงานนอกระบบ ยังไม่ได้รับการดูแล ด้านสิทธิสวัสดิการ ค่าจ้างที่เป็นธรรม และการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง หากรวมตัวนายจ้างก็จะไม่ส่งงานให้ทำ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาชีพอีก การละเมิดสิทธิแรงงานในภาคตะวันออกนั้นนายจ้างมีแนวคิดเรื่องลดต้นทุนการผลิต ซึ่งนั้นคือการลดคน กดค่าจ้างให้ต่ำแต่นายจ้างไม่เคยบอกว่ากระทบเรื่องผลประกอบการที่ต่ำลง ซึ่งค่าจ้างที่เป็นเพียงค่าจ้างที่ตำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคนงานและครอบครัว นายจ้างบางแห่งผิดข้อตกลงเรื่องสภาพการจ้างที่ตกลงโดยไม่ได้สนใจเรื่องผิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิการมอบหมายงานล่วงเวลาที่นายจ้างได้ใช้วิธีการให้เซ็นต์ชื่อรับการทำงานล่วงเวลาไว้ล่วงหน้า หากจะไม่สามารถทำได้ คนงานต้องหาคนอื่นมาทำงานแทน ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการบีบบังคับให้ลูกจ้างต้องรับข้อเสนอของนายจ้าง แม้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองแต่ว่ากระบวนการที่จะเข้าถึงสิทธินั้นยากมาก หากยื่นข้อเรียกร้อง รวมตัวกันเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็พิพาทแรงงาน และนายจ้างปิดงาน กรณีการละเมิดสิทธิแรงงานในพื้นที่นครปฐม-สมุทรสาคร มีหลายประเด็นกรณีแรกนายจ้างไม่ยอมแจ้งลูกจ้างว่า บริษัทล้มละลาย โดยปล่อยให้ลูกจ้างทำงานตามปกติแต่ไม่จ่ายค่าจ้างให้ แต่ก็ไม่เลิกจ้างจนกระทั้งนายจ้างถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ลูกจ้างจึงได้ร้องต่อเจ้าหน้าที่แรงงานเพื่อให้เข้ามาดูแล ซึ่งเมื่อมีการฟ้องศาลชนะก็ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดเพื่อขายทอดตลาด ซึ่งประเด็นนี้ยังมีกรณีคนงานผลิตลำโพง ซึ่งอันนี้นายจ้างก็ไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชย แจ้งเพียงให้ฟ้องศาลหากต้องการสิทธิ ประเด็นที่สอง กรณีการกำหนดการเกษียณอายุ 60 ปี ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีการประกาศบังคับใช้ ซึ่งแรงงานในหลายสถานประกอบการไม่มีการกำหนดเรื่องการเกษียณอายุ เมื่อกฎหมายออกมาก็มีการแสดงเจตนาที่จะขอเกษียณอายุ แต่ว่าโรงงานทอถุงเท้ากับอ้างว่าไม่มีเงินจ่ายชดเชยการเกษียณอายุให้ ทางสหภาพแรงงานจึงไปร้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (กรอก คร. 7) เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายภายใน 90 วัน ซึ่งล่าสุดนายจ้างได้ยินยอมจ่ายให้กับลูกจ้างที่ต้องการเกษียณอายุ จำนวน 18 คน ซึ่งในโรงงานดังกว่า มีคนงานที่สูงอายุทำงานอยู่ตั้งแต่อายุ 60-77 ปีด้วย ปัญหาการเลิกจ้างผู้นำแรงงาน กรณีนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทยัม เรสเตอรองท์ อินเตอร์เนชั่นเเนล (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ ที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างตั้งแต่การก่อตั้งสหภาพแรงงานครั้งแรก โดยการขับเคลื่อนช่วงแรกมีหลายคนโดยมีการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) กรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทางครส.ได้มีมติให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน ซึ่งนายจ้างได้รับกลุ่มเข้าไปแต่ว่าไม่ได้มอบหมายงาน และนายจ้างได้ฟ้องศาลให้ยกเลิกคำสั่ง แต่ศาลก็ตัดสินยืนตามครส.ให้รับกลับเข้าทำงาน ซึ่งนายจ้างก็ยื่นฟ้องแต่ศาลฎีกา ปัญหายังไม่จบหลังจากนายจ้างได้มีการขายเฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสฟู้ดส์ ให้กับบริษัท คิวเอสเอ ไทยเบฟ และบริษัทยัม เรสเตอรองท์ฯอ้างว่าผู้ซื้อไม่มีตำแหน่งที่จะรองรับนางอภันตรี จึงต้องขอเลิกจ้างเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งได้มีการนำประเด็นดังกล่าวร้องต่อครส.อีกครั้งซึ่งทางครส.ได้มีมติให้นายจ้างรับนางอภันตรีกลับเข้าทำงานอีก ซึ่งก็มีการนำเรื่องขึ้นสู่ศาล และมีการนัดเพื่อไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ประเด็นคือ เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือไม่ ในประเด็นดังกล่าว จากนั้นทางคสรท. ได้ยื่นหนังสือต่อตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ถึงประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เชิญตัวแทนภาครัฐมารับข้อเสนอด้วยแต่ว่าไม่มีตัวแทนมาร่วม หรือรับหนังสือดังกล่าว โดยผู้แทนILO ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหา และพร้อมที่จะรับเป็นคนกลางในการที่จะพูดคุย ซึ่งในส่วนของผู้ใช้แรงงานสามารถเสนอประเด็นร้องเรียนผ่านองค์กรสหภาพแรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ(สรส.) เพื่อร้องเรียน ประเด็นปัญหามายังILO เพื่อการให้ความช่วยเหลือ รณรงค์ ให้เกิดการเจรจาร่วมกัน ด้วยระบบไตรภาคี รัฐ นายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง ที่มา: Voice Labour, 24/6/2561
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชี้รัฐใช้กฎหมายปิดปากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม Posted: 30 Jun 2018 09:34 PM PDT วงเสวนา 'การฟ้องคดีปิดปากกรณีโรงไฟฟ้าและทางออก' ระบุรัฐใช้อำนาจกฎหมายปิดปากนักเคลื่อนไหวโรงไฟฟ้า หวังสกัดกั้น-หยุดนักวิชาการวิจารณ์โครงการรัฐ กรีนพีซชี้สื่อออนไลน์มีอิทธิพลเยอะขึ้น ความท้าทายคือทำอย่างไรให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพและไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วย เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมาว่าที่หอศิปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) และกรีนพีซ (Green Peace) จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ "การฟ้องคดีปิดปากกรณีโรงไฟฟ้าและทางออก" โดยประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าที่ผ่านมาการแสดงเพียงด้านเดียวในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ตนมองว่าจะทำให้สาธารณะได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวในสิ่งที่ภาครัฐต้องการสื่อสารทำให้ส่งผลเสียต่อการตัดสินใจของประชาชนในโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการเพราะการที่เปิดให้อีกฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมหรือเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจอีกทั้งถือว่าเป็นกระบวนการสื่อสารได้ดีและลดความขัดแย้ง "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการให้ข้อมูลของเราเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ให้ประชาชนรับทราบไม่ใช่เป็นการครอบงำหรือเป็นการชี้นำให้ประชาชนตัดสินใจในสิ่งที่พูดรวมถึงการแสดงความคิดเห็นของเรานั้นไม่ได้มีเจตนาเพื่อทำลายองค์กรของรัฐ เพราะท้ายสุดแล้วประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจ อย่างไรก็ตามมองว่าการสั่งฟ้องที่ผ่านมาอาจจะมีกลไกบางอย่างที่ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหรือนักวิชาการนั้นต้องหยุดเคลื่อนไหว และผมคิดว่าหากภาครัฐยิ่งดำเนินการฟ้องบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นสังคมก็ยิ่งวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น" ประสิทธิชัย กล่าว อัครเดช ฉากจินดา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียที่นำเสนออีกมุมหนึ่งของโครงการรัฐตนมองว่าควรจะมีการเปิดช่องทางให้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมซึ่งการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวแล้วส่งผลให้โดนคดีนั้นตนมอว่าเป็นเหมือนการสกัดกั้นหรือกลั่นแกล้งมากกว่าเพราะการตั้งคำถามของตนนั้นเป็นการนำเสนอข้อมูลเพื่อมาประกอบในการหาทางออกอย่างไรก็ตามตนยังมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นมีบางมาตราที่ยังจำกัดสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นประโยชน์สาธารณะเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการอิสระกล่าวว่าตนอยากให้นักวิชาการไม่ต้องกังวลใจหรือกลัวในการที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นช่วยเหลือชุมชนเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นการทำการทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่งโดยที่อยากให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐทบทวนการรับฟังข้อมูลที่โปร่งใสเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหากข้อมูลไหนที่มองว่าการแสดงความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางหน่วยงานรัฐก็น่าจะออกมาชี้แจ้งมากกว่าที่จะดำเนินการฟ้องกับบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเพราะประโยชน์จะไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ในเพจ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW ได้ระบุว่าธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าหลายครั้งหลายคราวการทำงานของกรีนพีซในประเทศไทยก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องคดีอยู่แล้ว ในช่วงต้นๆ ที่เราทำเรื่องรณรงค์ในหลายๆเรื่อง รวมถึงเรื่องโรงไฟฟ้า ในฐานะที่กรีนพีซเป็นองค์กรรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็รู้อยู่แล้วว่าต้องโดนเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มีอยู่ทั่วโลก เพราะการดำเนินการของกรีนพีซบางครั้งก็ใช้วิธีเผชิญหน้า อย่างในสหรัฐก็มีกรณีการฟ้องคดีปิดปากจากการรณรงค์คัดค้านการวางท่อน้ำมันในพื้นที่ชนพื้นเมือง แต่การฟ้องคดีปิดปากในต่างประเทศจะเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ก็ประมาณ 900 ล้านเหรียญ แต่โชคดีที่มีการยกฟ้อง ธารา บัวคำศรี กล่าวถึงการสื่อสารต่อสาธารณะว่าเมื่อภูมิทัศน์ในการสื่อสารสาธารณะเปลี่ยนไป สื่อออนไลน์มีอิทธิพลเยอะขึ้น ความท้าทายคือทำอย่างไรให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพและไม่ไปละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่นด้วย ดังนั้นโพสต์แต่ละอันที่เราโพสต์ได้อ่านสามรอบก่อนโพสต์ เป็นการกรองว่าข้อมูลที่โพสต์มันจะเป็นประเด็นที่ทำให้คนได้รับรู้มากขึ้น ส่วนการถูกดำเนินคดีนั้น ไม่ได้กังวลอะไร มันก็เป็นเรื่องของการที่ต้องเปิดเวทีให้มากขึ้น และสร้างพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพภายใต้ทิศทางของประเทศไทยที่มีอยู่ขณะนี้ เพราะพื้นที่แบบนี้มันกำลังหดแคบลงไปเรื่อยๆ ถ้ามีใครโดนคดีเพิ่มอีก ก็จะทำให้พื้นที่หดแคบลงไปอีก "พื้นที่สื่อสารสาธารณะเป็นช่องทางที่ทำให้การขับเคลื่อนสังคมดีขึ้น ถ้ามีการฟ้องคดีปิดปากแล้ว เราเลิกพูดไปเลย สังคมก็จะไม่ไปไหน เราต้องลุกขึ้นมาพูดต่อ" ธารา ระบุ ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สปสช.เผย 6 เดือนยอดผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับเกือบ 1 พันราย ช่วยลดความแออัด รพ. ประหยัดงบ Posted: 30 Jun 2018 09:15 PM PDT สปสช.เผย 6 เดือน ยอดผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับสะสม 947 ราย ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบสูงสุด 378 ราย สะท้อนผลสำเร็จ เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วย เข้าถึงการรักษาเพิ่ม ลดความแออัด รพ. ทั้งประหยัดงบประมาณ ผลความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมรุกพัฒนา "ไทยแลนด์ 4.0 ด้านสาธารณสุข" ตามมติ ครม. 1 ก.ค. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากแนวทางการพัฒนาประเทศไทย "ไทยแลนด์ 4.0 ด้านสาธารณสุข" ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ สปสช., กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ส่งเสริมการรักษาด้วยระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (one day surgery: ODS) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ราชวิทยาลัยแพทย์, สมาคมและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือพัฒนาระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับในการดูแลผู้ป่วย ในส่วนของการดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อเป็นการสนับสนุนการบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ สปสช.ปรับกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายชดเชยค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขรักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการสอดคล้องกับการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ และ สปสช.ได้ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ พ.ศ. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่าจากรายงานผลการดำเนินงานระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายหลังจาก สปสช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์เบิกจ่ายฯ นั้น ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2561 มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและเบิกจ่ายในระบบจำนวน 68 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น โดยเดือนมกราคม 2561 ที่เริ่มต้นดำเนินการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายนี้ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ จำนวน 43 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไป ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือน มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับสะสมทั้งสิ้น จำนวน 947 ราย (ข้อมูล 1 ม.ค. – 20 มิ.ย. 2561) ทั้งนี้เมื่อแยกดูข้อมูลบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับตามรายโรค มีการให้บริการผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนขาหนีบมากที่สุด จำนวน 378 ราย รองลงมาเป็นผ่าตัดหลอดเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะ จำนวน 181 ราย ตัดติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ จำนวน 147 ราย โรคนิ่วในท่อน้ำดี จำนวน 60 ราย โรคถุงน้ำอัณฑะ จำนวน 58 ราย ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด จำนวน 46 ราย ภาวะหลอดอาหารตีบ จำนวน 38 ราย โรคริดสีดวงทวาร จำนวน 29 ราย และภาวะท่อน้ำดีตีบ จำนวน 10 ราย "จากข้อมูลผลการดำเนินงานนี้ นอกจากสะท้อนการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้ร่วมพัฒนาระบบการรักษาและดูแลผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดทั้งเวลานอนในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อของผู้ป่วย ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด รวมถึงลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทำให้มีเตียงว่างเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินและซับซ้อนเพิ่มขึ้น" เลขาธิการ สปสช. กล่าว นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สปสช.พร้อมสนับสนุนการผ่าตัดแบบวันเดียวกับ นอกจากเป็นหนึ่งในภารกิจและบทบาทหน้าที่ของ สปสช.ในการร่วมพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานแล้ว ในอนาคตเชื่อว่าการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าแล้ว ยังดีกับตัวผู้ป่วยและระบบบริการสาธารณสุขในภาพรวมประเทศ เพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยภายใต้งบประมาณจำกัด ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งได้มีการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแล้ว อาทิ การให้ผู้ป่วยเตรียมตัวที่บ้านก่อนมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ การพักฟื้นหลังผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองและกลับบ้านได้ในวันเดียวหรืออยู่ในโรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สื่อ 'แคปปิทัลกาเซตต์' ออกหน้าว่างในหมวด 'ความคิดเห็น' ไว้อาลัยเหยื่อในสำนักงานตัวเองในเหตุกราดยิง Posted: 30 Jun 2018 09:03 PM PDT สื่อ 'เดอะแคปปิทัลกาเซตต์' ยังคงออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ต่อไปในวันถัดจากที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงสำนักงานจนมีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยปล่อยหน้า 'ความคิดเห็น' ของพวกเขาให้เป็นหน้าว่างพร้อมข้อความ "วันนี้ พวกเราถูกทำให้พูดไม่ออก" นอกจากนี้ยังมีประชาชนในท้องถิ่นสำนักงานของสื่อนี้ออกมาร่วมชุมนุมแสดงความไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิต หลังจากที่เกิดเหตุคนร้ายบุกยิงนักข่าวและคณะทำงานในสำนักงานของสื่อแคปปิทัลกาเซตต์ สื่อเก่าแก่ในเมืองแอนนาโพลิส รัฐแมรีแลนด์ จนมีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา สื่อแคปปิทัลกาเซตต์ก็ยังคงออกหนังสือพิมพ์ของตัวเองในฉบับวันศุกร์ต่อไป แม้จะเกิดเหตุรุนแรงดังกล่าวที่ตำรวจบอกว่าเป็น "การโจมตีแบบตั้งเป้าหมายไว้ก่อน" ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันศุกร์ (29 มิ.ย. 2561) ของแคปปิทัลมีการแสดงความไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตที่เป็นนักข่าว 4 ราย และเป็นเจ้าหน้าที่ 1 ราย โดยการปล่อยให้หน้าแรกของส่วนแสดงความคิดเห็นกลายเป็นหน้าว่างพร้อมกับข้อความว่า "วันนี้ พวกเราถูกทำให้พูดไม่ออก" พร้อมข้อความไว้อาลัยตามด้วยชื่อชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย "ในวันพรุ่งนี้หน้านี้ของแคปปิทัลจะกลับมาพร้อมรับหน้าที่เดิมในการนำเสนอความคิดเห็นเชิงข้อมูลให้กับผู้อ่านเกี่ยวกับโลกรอบตัวพวกเขา แต่สำหรับวันนี้ พวกเราไม่มีอะไรจะกล่าวจริงๆ" เดอะแคปปิทัลระบุในหน้าแรกหลังคำไว้อาลัย เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุชื่อ จาร์รอด รามอส มีการตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ยังไม่ระบุว่าแรงจูงใจในการสังหารครั้งนี้คืออะไร อย่างไรก็ตามมีสื่อในท้องถิ่นระบุว่ารามอสมีความไม่พอใจกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มานานแล้ว รายชื่อผู้เสียชีวิตมี ร็อบ ฮยาเซน ผู้ช่วยบรรณาธิการอายุ 59 ปี เจราล์ด ฟิสช์แมน บรรณาธิการหน้าบท บก. อายุ 61 ปี เวนดี วินเทอร์ส นักข่าวอายุ 65 ปี จอห์น แมคนามารา นักข่าวกีฬาอายุ 56 ปี และรีเบคกา สมิทธ์ ผู้ช่วยฝ่ายขายอายุ 34 ปี นักข่าวฝ่ายอาชญากรรม ฟิล ดาวิส ระบุถึงกรณีการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมงานว่ามันทำให้เขานอนหลับไม่ลง สิ่งที่เขาทำได้อย่างเดียวจึงมีแต่รายงานข่าวเรื่องนี้ ขณะที่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็รู้สึกตกใจและสะเทือนใจเมื่อได้รับข่าวนี้และพากันเขียนรำลึกถึงเพื่อนร่วมงานของตัวเอง ขณะเดียวกันนักข่าวจากสื่ออื่นๆ นักการเมือง รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนพากันประณามการก่อเหตุสังหารในครั้งนี้ แมคกี ฮาเบอร์แมน ผู้สื่อข่าวจากนิวยอร์กไทม์ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่าการสนับสนุนนักข่าวท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นกับแคปปิทัลกาเซตต์ ถือเป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึกแย่ "เท่าที่จำได้มีแต่ทรัมป์คนเดียวที่เป็นประธานาธิบดีที่เรียกสื่อว่าเป็นศัตรูของประชาชน" โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความเสียใจต่อผู้ที่ถูกสังหารและครอบครัวของผู้ถูกสังหารเช่นกัน ขณะที่ประธานาธิบดีจัสติน ทรูโด ของแคนาดากล่าวว่าการโจมตีในแอนนาโพลิสถือเป็นสิ่งที่สร้างความสูญเสียอย่างมาก และบอกว่า "นักข่าวเป็นผู้ที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนเรา ปกป้องประชาธิปไตย และมักจะเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อทำงานของพวกเขา" คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) กล่าวว่าพวกเขารู้สึกสะเทือนใจกับเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น ในแถลงการณ์ของ โจเอล ไซมอน ระบุว่าความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้และพวกเขาจะยืนดีถ้าหากมีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องแรงจูงใจเบื้องหลังการก่อเหตุนี้ ประชาชนชาวแอนนาโพลิสยังพากันออกมาชุมนุมเพื่อแสดงการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน มีการจุดเทียนและกล่าวไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตโดยที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเข้าร่วมการชุมนุมรำลึกในครั้งนี้ด้วย เรียบเรียงจาก Capital Gazette: Victims remembered in first edition after attack, Aljazeera, 30-06-2018 Candlelight vigil held for victims of Maryland newsroom shooting, ABC News, 30-06-2018 ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เสนอหลังเลือกตั้งให้มีการประชามติ 'แก้-ไม่แก้' รธน. Posted: 30 Jun 2018 08:50 PM PDT ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ระบุในงาน 'Pridi Talk มุมมองประวัติศาสตร์ 2475' เสนอหลังจัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว ให้ทำประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ (แฟ้มภาพ) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวบรรยายในงานสัมมนาทางวิชาการ Pridi Talk นำเสนอมุมมองประวัติศาสตร์ 2475 เนื่องในโอกาสครบรอบ 86 ปีของประชาธิปไตยไทยว่า เหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเป็นเหตุการณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 86 ปีหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับและมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางโดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงสองช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และ ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เวลานี้ประเทศไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเช่นเดียวกับช่วงเวลาหลังการอภิวัฒน์ 2475 ช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร 2490 ช่วงเวลาหลังการรัฐประหารช่วงเวลาหลังรัฐประหาร 2549 ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร 2534 และช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร 2519 แต่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะแตกต่างจากหลายครั้งในอดีต หากสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้โดยยึดมั่นในแนวทางสันติประชาธรรม และสามารถทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่จริงเราจะพัฒนาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของการเมืองสยามยุคใหม่เป็นหน้าที่ของพลเมืองผู้รักชาติทุกคนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าโดยยึดหลักสันติธรรม และยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยอย่างไม่หวั่นไหว ประเทศไทยมีศักยภาพด้วยตำแหน่งทางภูมิยุทธศาสตร์ที่เราอยู่ใจกลางของประชาคมอาเซียน ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน Supply chain และ Logistics หากเรามีระบอบประชาธิปไตยที่มีความต่อเนื่องมั่นคง หลังทศวรรษแห่งความขัดแย้งและความเสื่อมถอย เราควรช่วยกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ประชาธิปไตยสมบูรณ์อันประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตประชาธิปไตย ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทยทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุน กับ แรงงานรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรายย่อยปราศจากที่ดินทำกิน มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินเทียบกับจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 30% (มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.32 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2560 ภายใต้รัฐบาล คสช หมายความว่า มีคนเพียง 50 คนที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งในสี่ ของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยจะทำให้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรมีการกระจายตัว มีการตรวจสอบถ่วงดุลสภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างมากได้ทำลายศักยภาพของประเทศและคนไทยส่วนใหญ่ทำให้ขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดรายได้และไร้ซึ่งทรัพย์สินและการเข้าถึงปัจจัยการผลิตทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง ตกอยู่ในวังวนของ ธนาธิปไตย และระบอบรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลงภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยและหลักการกระจายอำนาจความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลง ต้องใช้วิธีลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน เพิ่มโอกาส เพิ่มสิทธิให้ประชนชนจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดอำนาจผูกขาดและเพิ่มการแข่งขันเพิ่มโอกาสการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เพิ่มสวัสดิการ ลดการรั่วไหลและการทุจริตงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวอีกว่า "ความเป็นจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือหลังการเลือกตั้งระบอบการเมืองของประเทศไทยจะยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้กติกาสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้วุฒิสภาและองค์กรอิสระที่ยังยึดโยงกับประชาชนภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนหากต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอันเป็นหลักประกันพื้นฐานต่อความมั่นคงและความก้าวหน้าของประเทศ, หลักประกันพื้นฐานต่อสิทธิเสรีภาพ, สิทธิมนุษยชนและคุณภาพชีวิตของประชาชนความยุติธรรมและหลักการปกครองโดยกฎหมาย (นิติรัฐ) สังคมไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินการดังต่อไป 1. ต้องปลดล็อคพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองโดยยกเลิกคำสั่งต่างๆที่ปิดกั้นเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ มีความเป็นธรรมมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยพรรคการเมืองต้องแสดงเจตจำนงในการรณรงค์หาเสียงและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ 2. คืนความเป็นธรรมให้กับคดีทางการเมืองทั้งหลายและยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและหยุดการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ 3. ต้องมีการจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริตโปร่งใส เสรีและเป็นธรรมสามารถตรวจสอบข้อมูลและผลการเลือกตั้งได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ หากเกิดความไม่มั่นใจอย่างกว้างขวางว่าระบบการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งและเชิญองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมาร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งหรือร่วมจัดการเลือกตั้ง หาก กกต.หรือผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งสามารถสร้างความมั่นใจสามารถจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมก็ไม่จำเป็นต้องเชิญองค์กรระหว่างประเทศร่วมจัดการเลือกตั้ง 4. เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งเกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้อง มีธรรมาภิบาลและเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในอนาคตแกนนำ คสช ที่ต้องการทำงานทางการเมืองต่อ (สืบทอดอำนาจ) ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเข้าสู่การเสนอตัวแข่งขันอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมกับพรรคการเมืองต่างๆ และควรลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งมีความเป็นกลางเป็นธรรมและไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน 5. เมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้ง ครม.ต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนโดยเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาท ขณะที่ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ต้องวางตัวเป็นกลางและงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนกับความต้องการของ คสช ซึ่งอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์การเมืองได้ 6. เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วให้มีการจัดลงประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งถามประชาชนด้วยว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปประเทศเกิดจากการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมของประชาชน หากผู้มีอำนาจและทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนตามข้อเสนอหัวข้อข้างต้น จะทำให้เกิดความมั่นใจ เราจะมีระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง (ไม่ใช่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย) อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ นำไปสู่ความก้าวหน้ารุ่งเรือง ของประเทศ สันติสุข ความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน" ตลอดระยะเวลา 86 ปีหลังอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยามได้เกิดสายธารของพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยจาก "ทุนศักดินาสยาม" สู่"ทุนไทยโลกาภิวัตน์" มากขึ้นตามลำดับระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งอุปถัมภ์กึ่งผูกขาดคลายตัวลงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมมีการแข่งขันมากขึ้นโครงสร้างระบบทุนนิยมไทยจะยังมีอำนาจผูกขาดดำรงอยู่ทำให้ปัญหาความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นมากนักแม้นเราจะแก้ปัญหาความยากจนได้ดีพอสมควรในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนการเมืองนั้นได้ย้อนยุคกลับไปเป็นยุคกึ่งประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้งปีหน้าแต่เชื่อว่าไม่อาจดำรงอยู่ได้นานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เนื่องเพราะระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยไม่สอดคล้องกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ได้ปิดท้ายการบรรยายด้วยคำพูดในปาฐกถาเรื่องอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์เคยพูดเอาไว้ว่า "ท่านอาจได้ยินวาทะของบางคนว่าระบบประชาธิปไตยในอนาคตของประเทศไทยนั้นจะต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างไทยๆ วาทะนี้ฟังดูแล้วน่าเลื่อมใสถ้าผู้กล่าวปรารถนาอย่างจริงใจให้ระบบการเมืองของไทยเหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาลสมัยของมวลราษฎรไทย แต่ก็ควรพิจารณาว่าคำที่ว่าอย่างไทยๆ นั้นขออย่าให้เหมาะสมเพียงแต่เฉพาะคนไทยส่วนน้อยของสังคมนั้น" ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น