โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

เสรีนิยมใหม่ในระบบโรงเรียนของรัฐ: จุดเริ่มต้นของวาทกรรมการปฏิรูปการศึกษา

Posted: 23 Jul 2018 09:50 AM PDT

ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นที่มีความสืบเนื่องจากบทความเรื่อง นโยบายเสรีนิยมใหม่ทางการศึกษา: จากอุดมการณ์ด้านเศรษฐกิจการเมืองสู่วาทกรรมการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นบทความตอนที่หนึ่ง โดยประเด็นการนำเสนอในบทความตอนที่สองนี้คือ กำเนิดมาตรฐานการศึกษา การทดสอบ และหลักความรับผิดชอบต่อสาธารณะชน และจุดเริ่มต้นของวาทกรรมการปฏิรูปการศึกษาในสหรัฐอเมริกา 

กำเนิดมาตรฐานการศึกษา การทดสอบ และหลักความรับผิดชอบต่อสาธารณะชน

บทบาทนำของอุดมการณ์เศรษฐกิจการเมืองตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ได้ส่งผลให้เกิดการนิยามความหมายของคำว่า "Education" หรือ "การศึกษา" ขึ้นมาในแง่ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและการตลาดมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ การศึกษาถูกปรับเปลี่ยนรูปโฉมให้กลายเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ โดยนิยามความหมายของการศึกษาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การศึกษาในฐานะที่เป็นปัญหา (ที่ไม่สามารถสร้างผลิตภาพในการทำงานให้แก่แรงงานโดยใช้ทักษะประเภทต่างๆ อย่างหลากหลายและมีความยืดหยุ่นตามสภาพงาน) และการศึกษาในฐานะที่เป็นทางออกของปัญหา (โดยการพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงานและช่วยเสริมสร้างทรัพยากรแรงงานเหล่านั้นให้มีความสามารถในการผลิตและสร้างผลกำไรให้แก่ประเทศมากยิ่งขึ้น) (Blackmore, 2000; Parker, 2008) ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ประจำกระทรวงเศรษฐกิจการคลังของประเทศอาร์เจนตินาได้กล่าวไว้ว่า สิ่งที่เราพยายามตรวจสอบก็คือ โรงเรียนระดับต่างๆ ได้ทำหน้าที่จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการในการผลิตและระบบตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด (Puiggros, 1999) 

ผู้นำบรรษัทต่างๆ และพันธมิตรทางธุรกิจของรัฐบาลมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแปลงรูปเปลี่ยนรากการจัดการศึกษาในแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยวิศวกรชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า Frederic W. Taylor (ค.ศ. 1856-1915) ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการนำหลักประสิทธิภาพทางสังคมและการบริหารจัดการเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นวิธีการเพิ่มความสามารถในการผลิตให้แก่แรงงาน (Au, 2011) โดย Peter Drucker ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ด้านทฤษฎีองค์การและการจัดการสมัยใหม่กล่าวว่า Frederic Taylor เป็นเสมือนบิดาของศาสตร์การบริหารจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific management) และได้คิดศัพท์คำว่า "การจัดการ" ขึ้นมาใช้ (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2553) 

อนึ่ง หลักประสิทธิภาพทางสังคมและการบริหารจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ปรากฏในผลงานสำคัญเรื่อง The Principles of Scientific Management (Taylor, 1911) ต่อมานักวิชาการไทยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงการประยุกต์ใช้ในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ เช่น การบริหารรัฐกิจ การบริหารธุรกิจ และการบริหารการศึกษา ด้วยแนวคิดนี้เน้นเรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ในประเด็นที่ว่าผู้บริหารหรือฝ่ายจัดการซึ่งอยู่ในโครงสร้างระดับบนของหน่วยงานได้ใช้อำนาจหน้าที่ไปในทิศทางที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางวัตถุ เช่น การประหยัดและผลกำไรของหน่วยงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับหลักการแบ่งงานและแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่างฝ่ายจัดการกับฝ่ายปฏิบัติซึ่งอยู่ในโครงสร้างระดับล่างของหน่วยงาน


Frederic W. Taylor ผู้ให้กำเนิดแนวคิดหลักประสิทธิภาพทางสังคม
และการบริหารจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้เขียน

สำหรับในพื้นที่ทางการศึกษา นักทฤษฎีหลักสูตรและผู้กำหนดนโยบายการศึกษาในเวลานั้นได้นำเอาทั้งหลักการและวิธีการจัดการศึกษาเชิงเทคนิคที่ตั้งอยู่บนรากฐานอุดมการณ์ประสิทธิภาพทางสังคมและการบริหารจัดการเชิงวิทยาศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งใน "การจัดการ" การศึกษา (the educational management) ที่การศึกษากลายสภาพเป็นเสมือนวัตถุที่สามารถจัดการได้ โดยเน้นรูปแบบหรือวิธีการจัดการศึกษาที่ดีที่สุด (one best way)  ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ เช่น ครูผู้สอน ผู้เรียน บุคลากรประเภทต่างๆ ในโรงเรียน วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา และอาคารสถานที่ต่างๆ ถือว่าเป็นปัจจัยรองหรือปัจจัยประกอบในการจัดการการศึกษา จะเห็นได้ว่าแนวคิดของ Taylor ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องชีวิตของคน(งาน)ที่อยู่ในโรงเรียนมากเท่าที่ควร

โดยนัยนี้ ในฐานะนักการศึกษา เราควรหันกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า "การบริหารการศึกษา" และ "การจัดการการศึกษา" มากขึ้น โดยมองว่าทั้งคู่ต่างก็สื่อนัยถึงการบังคับควบคุม การเข้าไปจัดระบบระเบียบเพื่อให้เรื่องการศึกษาเป็นสิ่งที่เราต้องบริหารหรือจัดการไปในทิศทางที่เราต้องการ เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้งการบริหารการศึกษาและการจัดการการศึกษาจึงมิใช่คำที่เป็นกลางหรือไร้เดียงสาทางการเมืองสักเท่าใดนัก หากแต่อัดแน่นไปด้วยระบบคุณค่าและวิธีคิดชุดหนึ่ง นั่นคือ การควบคุม (control)  ยิ่งไปกว่านั้นนักการศึกษา        

เชิงวิพากษ์และนักการศึกษาแนวหลังโครงสร้างนิยม ได้หันมาให้ความสนใจศึกษาบทบาทของภาษาในการสร้างองค์ความรู้และสร้างความชอบธรรมให้กับความรู้ที่ผลิตขึ้นมาในรูปของวาทกรรม (discourse) มากกว่าการยึดติดอยู่กับญาณวิทยาแนวปฏิฐานนิยม (positivism) ที่มองไม่เห็นความสำคัญของภาษา

การมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่สามารถจัดการให้มีประสิทธิภาพได้เสมือนเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมากในแวดวงการบริหารและการจัดการในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือตัวอย่างรูปธรรมที่เด่นชัดที่สุดของคุณค่าและวิธีคิดแบบการควบคุมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2553) และด้วยฐานคิดนี้เองที่นำไปสู่การจัดรูปแบบ ระบบ และโครงสร้างขององค์กรทางการศึกษา ระบบการศึกษา ซึ่งรวมถึงรูปแบบของหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และแนวทางการวัดและประเมินผลอีกด้วย โดยรูปแบบ ระบบ และโครงสร้างทางการศึกษาดังกล่าวคือรูปแบบขั้นบันไดเพื่อผลในการควบคุมกำกับติดตามและสั่งการ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นกล่าวคือ คุณค่าและวิธีคิดแบบการควบคุมนำไปสู่การสร้างรูปแบบการศึกษา (the educational model) การนำรูปแบบการศึกษาไปใช้ การประเมินรูปแบบการศึกษา รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการศึกษาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของ Taylor มีอิทธิพลอย่างมากต่ออุดมการณ์การจัดการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้มุ่งหน้าไปสู่การจัดการศึกษาที่ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางการศึกษาที่รัฐเริ่มมีบทบาทน้อยลง และเน้นการกระจายอำนาจไปสู่ภาคประชาสังคมและท้องถิ่น และในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนถึงการยอมรับวาทกรรมการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรกระแสหลักในฐานะที่เป็นสิ่งปกติวิสัยซึ่งปรากฏชัดเจนในรูปแบบที่เรียกว่า the New Taylorism ซึ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถที่ได้รับการยอมรับว่าจำเป็นและมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการสร้างสรรค์ผลิตผลต่างๆ ภายใต้ปัจจัยทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Nozaki, Openshaw, & Luke, 2005; Au, 2011)

นอกจาก Taylor แล้ว ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ David Snedden ผู้เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำมลรัฐ Massachusetts ที่เสนอว่า หน้าที่หลักของโรงเรียนคือการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการอบรมบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกแห่งการทำงานในอนาคต โดยแนวโน้มการจัดการศึกษาบนฐานอุดมการณ์ประสิทธิภาพทางสังคมจะให้ความสำคัญกับการตัดสินใจตามลำดับขั้นบังคับบัญชาโดยมีผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร นักวัดและประเมินผลการศึกษา ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายของการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร ขณะที่ครูผู้สอนทำหน้าที่แปลงเป้าหมายการศึกษาและหลักสูตรที่ถูกกำหนดมาแล้วไปสู่การเรียนการสอนจริงในชั้นเรียน โรงเรียนจึงถูกมองว่าเป็นสถานที่ขัดเกลาทางสังคมของแรงงานให้เข้าสู่ระบบสายพานการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และยังเป็นพื้นที่เสริมสร้างเสถียรภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง (Fones-Wolf, 1994)

อนึ่ง ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ที่ระบบทุนนิยมเข้าสู่ขั้นรูปแบบการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism) ซึ่งเน้นการจ้างงานตลอดชีวิตและการรับรองสิทธิการรวมตัวของแรงงาน รวมถึงการเริ่มต้นของการสร้างระบบสวัสดิการเต็มรูปแบบที่ต่อมากลายเป็นรัฐสวัสดิการ และการพัฒนาระบบการผลิตแบบสายพาน นอกเหนือจากการที่รัฐทุนนิยมเข้ามารับรองสิทธิของแรงงานในรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังรวมถึงการผลิตแบบสายพานที่ทำให้แรงงานรวมตัวกันได้ง่ายขึ้นในโรงงานเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก ขบวนการแรงงานกลายมาเป็นพลังสำคัญในการต่อรองกับรัฐและทุน และนำไปสู่การขยับขยายสิทธิด้านอื่นๆ ของพลเมือง อาจกล่าวได้ว่า ระหว่างช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 จนถึงคริสต์ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การต่อสู้ของแรงงานจะอยู่ในรูปของสหภาพแรงงาน (Unionism) เป็นหลัก ที่แรงงานรวมตัวกันเพื่อต่อรองและเรียกร้องการดูแลจากรัฐ (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2557)

จุดเริ่มต้นของวาทกรรมการปฏิรูปการศึกษาในสหรัฐอเมริกา 

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นไป ภายใต้อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ที่เคลื่อนตัวจากระบบฟอร์ดสู่ระบบหลังฟอร์ด (Post-Fordism) ระบบทุนนิยมได้ปรับโครงสร้างขนาดใหญ่อีกครั้งเพื่อตอบโต้ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานที่มีฐานอยู่ที่สหภาพแรงงานและพรรคชนชั้นแรงงาน (Negri, 2005) กล่าวคือ เกิดการรวมตัวจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ภาคเอกชนประกอบด้วยกลุ่มองค์กรธุรกิจและบรรษัทขนาดใหญ่ และภาครัฐ ได้แก่ รัฐบาลกลางและผู้นำทางการศึกษา ส่งผลให้กลุ่มองค์กรธุรกิจและบรรษัทขนาดใหญ่มีบทบาทในการบริหารนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษาของสหรัฐอเมริกาได้มากยิ่งขึ้น กลุ่มดังกล่าวได้กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่สำคัญ เพราะการส่งเสริมของรัฐบาลให้ภาคธุรกิจเอกชนมีบทบาทเข้าร่วมมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รูปแบบการรวมตัวนี้นับว่าเป็นการจัดตั้งองค์การแบบภาคีรัฐและสังคม (state corporatism) ซึ่งก็คือแนวทางการจัดตั้งกลุ่มโดยรัฐเข้าไปมีบทบาทในการจัดตั้งสมาคมหรือสถาบันที่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ๆ อย่างเป็นทางการ 

อนึ่ง การปฏิรูปการศึกษาในสหรัฐอเมริกาเริ่มขึ้นเมื่อประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 จากการที่ชาวอเมริกันเริ่มเกิดความไม่แน่ใจว่าการจัดการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาล (public school) จะยังคงเชื่อถือได้ เมื่อปี ค.ศ. 1940 มีการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันต่อการจัดการศึกษา ผลปรากฏว่า ชาวอเมริกันจำนวน 87% มีความพึงพอใจในการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนรัฐ แต่พอมาถึงช่วงปลายปี ค.ศ. 1990 ชาวอเมริกันกลับคิดว่าถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนรัฐต้องทำการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ประกอบกับที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1998 ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งในสภาจากเกือบทุกมลรัฐได้ยกเรื่องการปฏิรูปการศึกษาขึ้นเป็นประเด็นสำคัญประเด็นแรกในการหาเสียง ส่งผลให้ประเด็นความต้องการในการปฏิรูปการศึกษาเด่นชัดยิ่งขึ้น การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้นับว่าเป็นกระแสการเคลื่อนไหวตั้งแต่ระดับประเทศจนมาสู่ระดับมลรัฐ แม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนเองก็เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีในลักษณะของการจัดตั้งองค์การแบบภาคีรัฐและสังคม ที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้น 

เมื่อชาวอเมริกันเริ่มขาดศรัทธาในการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนรัฐดังกล่าว ในปี ค.ศ. 1983 ตรงกับสมัยของประธานาธิบดี Ronald Reagan (ค.ศ. 1981-1989) กระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติ (Department of Education) ในสมัยนั้นได้แถลงรายงานเรื่อง A Nation at Risk ซึ่งแสดงถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอันหนักหน่วงของประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 และชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เป็นผลมาจากการจัดการศึกษาที่ล้มเหลว (ปองสิน วิเศษศิริ, 2550) รายงานฉบับนี้จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดวาทกรรมการปฏิรูปการศึกษา (Discourse on Educational Reform) แต่รายงานฉบับนี้ก็ไม่ใช่ฉบับแรกที่วิจารณ์ความล้มเหลวในการจัดการศึกษาของโรงเรียนรัฐว่าต้องดำเนินการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ยังมีนักวิชาการ นักการศึกษา นักกฎหมาย รวมถึงนักธุรกิจและผู้ประกอบการทางธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นผู้เสนอร่างและผู้พิจารณาผ่านกฎหมายได้ออกมาแสดงความเห็นเพื่อเร่งให้ทำการปฏิรูปการศึกษา นอกจากนี้จากรายงานการศึกษาหลายๆ ฉบับที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ก็แสดงข้อมูลเรื่องความบกพร่องหรือข้อผิดพลาดในการจัดการศึกษาในโรงเรียนรัฐด้วย จากเหตุผลดังกล่าวในสมัยของประธานาธิบดี Reagan นี้เองที่มลรัฐต่างๆ ได้ออกกฎหมายและนโยบายทางการศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่สะสมเรื้อรังมานาน การดำเนินการดังกล่าวนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในการปฏิรูปการศึกษาซึ่งสาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้มี 3 ประการ คือ 1) การกำหนดมาตรฐานการศึกษา 2) การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับวิชาชีพครูและผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษา และ 3) การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐาน
 


รายงานเรื่อง A Nation at Risk (1983) กล่าวถึงความล้มเหลวในการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน

ของสหรัฐอเมริกาที่ไม่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

 ในบทความตอนต่อไป ผู้เขียนจะอภิปรายเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์โยงใยกันระหว่างวาทกรรมการปฏิรูปการศึกษาซึ่งนำไปสู่การสร้างวาทกรรมการศึกษาอิงมาตรฐาน (Standard-Based Education) ซึ่งให้ความสำคัญกับมาตรฐาน (Standards) และผลลัพธ์ (Outcomes) จนกลายเป็นวาทกรรมกระแสหลักทางการศึกษาและสามารถครองอำนาจนำในพื้นที่ทางการศึกษาได้สำเร็จตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน 

รายการอ้างอิง
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2557). "เราทุกคนคือศิลปิน": อวัตถุศึกษาว่าด้วยแรงงาน. วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, 33(2), 129-158. 
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2553). ภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา. 
ปองสิน วิเศษศิริ. (2550). รายงานการวิจัยเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 
Au, W. (2011). Teaching under the New Taylorism: High-Stakes Testing and the Standardization of the 21st Century Curriculum. Journal of Curriculum Studies, 43 (1), 25-45. 
Blackmore, J. (2000). Globalization: A Useful Concept for Feminists Rethinking Theory and 
Strategies in Education. Globalization and Education: Critical Perspectives. NewYork: Routledge. 
Fones-Wolf, E. (1994). Selling Free Enterprise: The Business Assault on Labor and Liberalism 1945-1960. Urbana-Champaign: University of Illinois. 
Negri, A. (2005). Books for Burning: Between Civil War and Democracy in 1970s Italy. New York: Verso.
Nozaki, Y., Openshaw, R., & Luke, A. (2005). Struggles over Difference: Curriculum, Texts, and Pedagogy in the Asia-Pacific. New York, NY: SUNY Press. 
Parker, W. (2008). "International Education": What's in a name? Phi Delta Kappan, 90(3), 196-202.
Puiggros, A. (1999). Neoliberalism and Education in Latin America. Boulder, Co.: Westview. 
Taylor, F. (1911). The Principles of Scientific Management. NY: Harper & Row.

 
บทความตอนแรก: นโยบายเสรีนิยมใหม่ทางการศึกษา : จากอุดมการณ์ด้านเศรษฐกิจการเมืองสู่วาทกรรมการปฏิรูปการศึกษา

 

กี่ยวกับผู้เขียน: ออมสิน จตุพร เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ความขัดแย้งภายใต้โซตัส (SOTUS) คิดต่างถูกแบ่งแยก

Posted: 23 Jul 2018 09:32 AM PDT

เริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ การรับน้องกำลังคึกคัก หลายๆมหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในช่วงรับน้อง บทความนี้จัดทำขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว และจากการรับฟังเรื่องราวต่างๆ ของเพื่อนที่ไม่ยอมรับระบบโซตัส (Sotus) และได้รับผลกระทบจากระบบโซตัส (Sotus) โดยกลุ่มคนเหล่านั้น มาแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวให้ผู้เขียนได้รับฟังตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการเป็นนักศึกษาปี1 แม้ว่าส่วนตัวจะอยู่ในระบบโซตัส (Sotus)เพียง 1 เทอม แต่ได้รับประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนสำคัญในการแบ่งปันเรื่องราวสู่คนที่จะถูกรับน้อง

เมื่อทราบว่า Sotus ในคณะสายสังคม เป็นการสร้างคนเข้าสู่ระบบราชการ ผ่านการใช้วิธีต่างๆ คล้ายคลึงกับการฝึกทหาร แทนที่นักศึกษาผู้เป็นปัญญาชนจะสามารถก้าวออกจากการอยู่ภายใต้ผู้อื่นตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียน นักศึกษาไทย จะต้องตกอยู่ภายใต้แนวคิดของผู้ใหญ่ตลอดเวลาซึ่งการเชื่อฟังเป็นสิ่งที่ดี แต่บางสิ่งก็ควรจะต้องฝึกคิดเองทำเอง โดยอายุของนักศึกษาคือช่วงที่ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่  แต่กลับเชื่อฟังคนที่เรียกตัวเองว่า "พี่" แล้วออกกฎนานับประการมาใช้กับนักศึกษาใหม่ อย่างไร้จริยธรรม และไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเป็นคน แทนที่จะพัฒนาทักษะทางวิชาการ การทำกิจกรรมให้กับสังคม หรือเป็นประโยชน์ มากกว่าการรักษาวัฒนธรรมเดิมๆที่ไม่ได้นำไปพัฒนาสังคมได้จริง แต่กลับฝึกให้คนชินชา กับการอยู่ภายใต้ผู้อื่นตลอดเวลา

วัฒนธรรม (Culture) คือสิ่งที่เป็นพฤติกรรมหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยรูปแบบกิจกรรมของมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ ซึ่ง โซตัส (Sotus) ในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งถูกเรียกว่าเป็น วัฒนธรรม และมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามการพลวัต (Dynamic) ของสังคม แท้จริงแล้วหากได้สัมผัสกับ โซตัส (Sotus)  จะรู้ได้ว่าการพลวัตนั้น น้อยมาก หากมีการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก หรือองค์กรนักศึกษาเอง ก็จะมีการสร้างภาพอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา จากประสบการณ์โดยตรงและการเก็บข้อมูลพบว่า องค์กรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เข้าไปตรวจสอบระบบโซตัส (Sotus)นั้น แจ้งกับทางคณะล่วงหน้าทำให้การตรวจสอบไม่เกิดประโยชน์ แล้วสิ่งที่หลายๆคณะมีความพยายามบอกว่า ปรับเปลี่ยนให้เบาลงซึ่งความเป็นจริงจะไม่รู้สึกว่าปรับเปลี่ยนอะไรเนื่องจากคนที่จะต้องเข้าในระบบนั้นไม่ได้ออกแบบระบบเอง  

บอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบเจอกับการรับน้อง คือ ระบบโซตัส (Sotus)มีกฎระเบียบที่มาก เช่น การแต่งกาย การห้อยป้าย การไหว้พี่ ห้องเชียร์คือห้องว้าก นัดทำกิจกรรมบ่อยถ้าแบ่งเวลาไม่ดีกระทบการเรียน ใช้หลักจิตวิทยาในการกล่อมเกลาเก่ง "พี่บริการเป็นอย่างดีทุกอย่าง จัดเตรียมขนม น้ำหวาน มาแจกน้องๆ ตะโกนเรียกน้องในห้องเพราะถึงเวลาพัก พาน้องเข้าห้องน้ำ เฝ้ารอแล้วก็พาน้องกลับมารอนั่งที่ห้อง มีการให้ความบันเทิงดูแลเป็นอย่างดี ทำกิจกรรมร่วมกัน สนุกสนาน ทุกคนประทับใจ ความผูกพันกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้น"

วันเสาร์ที่ทุกคนไม่ได้เรียนแต่เราพี่น้องร่วมคณะมาทำกิจกรรมกัน พี่ดูแลน้องทำความรู้จักกับน้อง พี่รหัสน้องรหัสไว้ดูแลกัน เมื่อได้พี่รหัสรู้สายตระกูลแล้ว พี่ก็ซื้อของมาให้น้อง พาน้องไปเลี้ยงอาหาร ปี 1 จะหลงระเริงในการที่พี่ดูแล ซื้อของให้ พาไปเลี้ยงอาหารที่มักจะเรียกว่า "เปย์" ซึ่งเปรียบดั่ง ลัทธิกุมารทอง คือการเลี้ยงดูแลเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้น้องออกจากตระกูล และคำว่า "รุ่น"ปรากฏขึ้น 

จนกระทั่งวันหนึ่งมีการไปสาบานตนกับรูปปั้นบางสิ่ง มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า นี้คือการนำวิธีทางความเชื่อมาใช้กับคนดั่งเช่นสมัยอยุธยาที่เขาสัตย์สาบานตนกัน   มีการสาบานจะไม่ทรยศเพื่อนทรยศพี่ อีกหรอทั้งๆที่เรา มีจิตสำนึกได้ด้วยตนเองการกระทำด้วยการสาบานเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

"ห่วย ระเบียบเชียร์ไปดิ ง่วงก็ไปนอน ใส่ใจหน่อย ไม่พอใจก็คืนของเลย" ของที่ว่านั้นก็คือเนคไทด์ กับติ่ง และหัวเข็มขัด ผู้ชายที่รูปร่างลักษณ์เหมือนโจร ไว้หนวดเครา ตะโกนตะคอกใส่ ปี1 อย่างไร้มนุษยธรรม และนำอำนาจมาใช้ในทางลบ การแสดงละครหลังเลิกเรียนเกิดขึ้นทุกวันระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือน ห้องผู้คนที่เรียกตนเองว่า พี่ มาแสดงพฤติกรรมอันป่าเถื่อน ที่ปัญญาชน หรืออนาคตของชาติไม่ควรทำแม้ว่าอดีตที่ผ่านมามีการใช้ระบบนี้ เรียกว่า โซตัส ทั้งๆที่เป็นการสร้างอำนาจนิยมให้กับนักศึกษาที่กำลังจะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย แต่โชคดีปัจจุบันหลายๆ แห่งไม่มีระบบเลวทรามต่ำช้านี้ ที่ไม่เคารพในสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน ใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่หลายๆยังคงอนุรักษ์ 

แท้จริงแล้วอาจารย์หลายๆท่านไม่เห็นด้วยแต่ทำไมยังคงอยู่? คำถามนี้น่าสนใจตรงที่อาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยกลับเพิกเฉยนั้น เกิดความรู้สึกที่ว่าพยายามจะเปลี่ยนแปลงหลายครั้งแต่มันก็ยังคงมีอยู่ รวมไปถึงปัจจัยด้านอื่นๆเข้ามา เช่นกลุ่มอาจารย์บางคนที่ต้องการคงระบบ โซตัสไว้ มีความพยายามอยู่เบื้องหลังการดำเนินกิจกรรม และ ศิษย์เก่าเองที่เคยผ่านระบบเหล่านี้มารู้สึกว่าระบบนี้ต้องอยู่สืบต่อไปทำให้การใช้อำนาจที่เหล่าพี่ๆมีมาทำลายสิทธิเสรีภาพของคนยังคงอยู่ในชื่อ การรับน้อง ในทางตรงกันข้ามก็มีกลุ่มอาจารย์ที่เห็นว่าระบบดังกล่าวไม่ควรอยู่และผลักดันมันให้ออกไป จนบางคณะประสบความสำเร็จในการยกเลิกระบบนี้ 

หากไม่มี Sotus แล้วจะใช้ระบบอะไรมารองรับ? ส่วนตัวเป็นคนทำกิจกรรมมาเกือบ10 ปีรูปแบบกิจกรรมที่จะจัดหากมีความน่าสนใจและดึงดูด คนก็จะสามารถมาร่วมกิจกรรมได้มากขึ้น หรือไม่หากคนอยากทำกิจกรรมหรือเรียกร้องหากิจกรรมคนเหล่านั้นก็จะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อหางบประมาณในการทำกิจกรรมอย่างแน่นอน บางค่ายที่เข้าร่วมเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วทำไมเรายังรู้สึกผูกพันกับคนๆนั้น หรือค่าย 5วันขึ้นไป เราสามารถจดจำเพื่อนจากต่างถิ่นได้จนวันนี้ ยกตัวอย่าง ประเพณีฟุตบอล จุฬา-ธรรมศาสตร์ ทำไมคนสนใจที่จะเข้าร่วมหรือซื้อเสื้อที่ผลิตขึ้นจาก2มหาวิทยาลัยนี้ในแต่ละปี หรือกิจกรรมรับน้องรถไฟ มช.นักศึกษาไม่ได้รู้จักกันมาก่อนแต่ทำไมกิจกรรมนี้ดึงดูดคนให้เข้าร่วมมาก อีกสิ่งที่น่าคิด คือมีคนกลุ่มหนึ่ง พยายามบอกว่า "มาเรียนไม่ได้มาทำกิจกรรม" คำพูดเหล่านี้อาจจะต้องทบทวนกันหน่อยว่า ความเป็นจริงแล้วการทำกิจกรรมและการมีประสบการณ์สำคัญแค่ไหนกับชีวิต

หลังจากได้สัมผัสกับห้องเชียร์มาระยะหนึ่ง เกิดคำถามมากมายในหัว "ทำไมเราต้องใส่เสื้อผ้าตัวใหญ่ ทำไมต้องสาบาน ทำไมต้องทำตามที่พี่บอก การแต่งกายถูกระเบียบเราทำได้ด้วยจิตสำนึก พี่ยังแต่งตัวเหมือนโจร บางคนก็กระโปรงสั้นไม่ถูกกาลเทศะ  ที่สำคัญทำไมเราต้องใส่ป้ายเหมือนเข้าค่ายตลอดเวลา" ทำให้ไม่รู้สึกว่าตนเองต้องการประโยชน์อะไรจาก ระบบโซตัส 

ในส่วนของค่ายอาสา ชมรมกีฬาที่มีการบังคับน้องเข้ามีการมอมเมาทั้งเหล้าเบียร์และปลูกฝังอำนาจนิยมให้น้องคิดว่าระบบนี้มันดี พี่น้องจะช่วยเหลือกันตอนทำงานได้ ความเป็นจริงแล้วสังคมในอนาคตต้องการอะไรจากคนรุ่นใหม่หากระบบนี้อยู่และคนยังอยู่ในระบบจำนวนมาก ประเทศก็จะใช้คำว่า กำลังพัฒนาสืบต่อไป

สิ่งเหล่านี้และอีกมากมายเกิดขึ้นจากเรื่องจริง จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น เมื่อมีคนส่วนน้อยเห็นต่างกับสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ก็จะถูกการกลั่นแกล้ง(BULLY) ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์(การเหยียดแบ่งแยกว่าไม่เอารุ่นคิดต่าง) ซึ่งสามารถอธิบายถึงความขัดแย้งที่จะนำเสนอเป็นรูปแบบของแผนภาพได้ดังนี้โดยทฤษฏี Conflict Mapping ของ ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส 
 


1. แผ่นภาพนี้เกิดขึ้นจากอะไร เมื่อไหร่ และจากมุมมองไหน เกิดจากสถานการณ์จริงของนักศึกษา 2 กลุ่มของคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง   คือ การไม่ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มคนที่ไม่เอารุ่นไม่ยอมรับระบบโซตัสและคัดค้าน มีความขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบโซตัสทั้งยอมรับระบบและไม่ยอมรับระบบโซตัส โดยกลุ่มที่คัดค้านมีการแสดงออกคัดค้านการมีอยู่ของโซตัสที่มีการจัดกิจกรรมบนพื้นฐานของการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล  โดยกลุ่มคัดค้านมีการนำเสนอเป็นบทความวิชาการหรือทัศนคติ(Attitude) ในมุมมองใหม่ของคนรุ่นใหม่ ในปีการศึกษา 2560 กับวัฒนธรรมโซตัสแบบเดิม

แต่ฝั่งตรงข้ามกลับมองว่าคนที่คัดค้านนี้บ่อนทำลายระบบและมีความพยายามในการยกเลิกระบบทำลายชื่อเสียงของคณะ หมิ่นคณะ หมิ่นมหาวิทยาลัย ทั้งที่ระบบถูกออกแบบให้เข้ากับยุคกับสมัยแล้วทำไมคนคัดค้านถึงรับไม่ได้ จนนำมาสู่ความขัดแย้งทางช่องทางออนไลน์ (Cyber bully) มีการโต้ตอบกันทาง เฟซบุ๊ค  ทวิตเตอร์และ อินสตราแกรม จนถึงปัจจุบัน

2. ความพลวัต ของสถานการณ์ สถานการณ์การต่อว่าด่าทอของทั้ง2ฝ่ายค่อนข้างที่จะยาวนานตามกระแสของกิจกรรมในช่วงนั้นระยะเวลา1 เทอม โดยที่ไม่มีการไกล่เกลี่ยหรือมีตัวกลางในการเจรจาแต่ปัญหานี้ยังไม่มีจุดจบ ซึ่งคิดว่าสิ่งที่ทำได้คือการหันหน้าคุยกันและลดเลิกอคติ ต่างฝ่ายต่างยอมรับซึ่งกันและกัน อาจจะมีการปรับรูปแบบกิจกรรม โซตัส ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้และต่างฝ่ายต่างยอมรับในความคิดเห็นและพยายามใช้เหตุผล ตรรกะมาโต้แย้งมากกว่าอารมณ์ 

3. มิติของกลุ่มและความสัมพันธ์ตามแผนภาพสามารถระบุเป็นประเด็น (issues) ได้ดังนี้

1. คนเอารุ่นไม่เห็นด้วยกับระบบโซตัส ไม่ต่อต้าน คนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเป็นแนวร่วมกับคนที่เอารุ่นเอาระบบและต้องการให้ระบบยังคงอยู่ ความน่าสนใจอยู่ที่คนกลุ่มนี้ไม่ชอบการถูกบังคับแต่ว่า มองเห็นประโยชน์ (Interest) เช่นการได้มาซึ่งตำแหน่งต่างๆ การมีพี่รหัสที่ดูแลเลี้ยงอาหารซื้อของให้  และได้รับสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น เสื้อ หัวเข็มขัด หากคนกลุ่มนี้ไม่ยอมอยู่ในรุ่นแล้วสิ่งที่พวกเขาจะได้ก็จะไม่ได้ อีกอย่างมีความรู้สึกที่ไม่อยากมีปัญหากับใครหรือแสดงความแตกต่างออกมาชัดเจน ดังนั้นจึงอยู่แบบฝืนทน

2. คนเอารุ่นยอมรับระบบโซตัสอยากสานต่อโซตัส กลุ่มนี้เป็นแนวร่วมกับคนกลุ่มที่1 และมีความขัดแย้งที่รุนแรงกับกลุ่มคนที่ไม่เอารุ่น ไม่เอาระบบโซตัส และคัดค้าน ทำเกิดการโต้ตอบทางออนไลน์ ในเชิงรุนแรง ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ดูถูก เหยียดหยาม และคนกลุ่มที่2นี้เป็นแนวร่วมที่แตกแยกกับกลุ่มเอารุ่นไม่ยอมรับโซตัสและต่อต้านเพราะมีความแตกต่างกันในการยอมรับระบบโซตัส คนกลุ่มนี้จะไม่ชอบการพยายามยกเลิกโซตัส 

3. กลุ่มคนเอารุ่นไม่ยอมรับโซตัสและต่อต้าน คนกลุ่มนี้เป็นแนวร่วมกับคนไม่เอารุ่นทั้งต่อต้านและไม่ต่อต้าน  โดยคนกลุ่มนี้สามารถมองได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่พยายามจะเป็นจากข้างใน และอีกมุมมองได้ว่าคนกลุ่มนี้ยังคงกลัวการถูกมองแตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ จึงต้องการที่จะได้รุ่นแต่แท้จริงแล้วไม่ชอบระบบและอยากเปลี่ยนแปลง 

4. ไม่เอารุ่นไม่เอาระบบโซตัส ไม่ต่อต้าน กลุ่มนี้ไม่ชอบการโดนถูกละเมิด เลยออกจากระบบไป ไม่เห็นด้วยแต่ไม่ได้แสดงออกว่าต่อต้านกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกกลุ่มแต่ จะถูกกลุ่มเอารุ่นเอาระบบ สืบสานโซตัส เหมารวมว่าบ่อนทำลายเนื่องจากไม่เอารุ่น

5.  ไม่เอารุ่นไม่เอาระบบต่อต้าน   คนกลุ่มนี้ได้ยินชื่อโซตัสก็จะต่อต้านแบบสุดตัวแสดงออกชัดเจนว่าต่อต้าน ซึ่งการเป็นคนกลุ่มนี้แบ่งได้2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1.อาจจะมาจากพื้นฐานเดิมเคยมีประสบการณ์มากและคิดว่าระบบนี้ไม่ควรอยู่ต่อ คิดว่าตนเองค่อนข้างมีศักยภาพมากพอในการใช้ชีวิตโดยไม่อยู่ภายใต้ใคร 2.กลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากโซตัสจนไม่สามารถรับได้และมีความเข้มแข็งพอที่จะต่อต้านอย่างเปิดเผย  กลุ่ม5 มีความขัดแย้งกับกลุ่มสานต่อโซตัสอย่างชัดเจนมากที่สุด แต่ก็เป็นแนวร่วมกับคนที่เอารุ่นไม่เอาระบบ คัดค้านโซตัส และมีความขัดแย้งเล็กๆกับกลุ่มที่เอารุ่นเอาระบบไม่ต่อต้าน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีค่อนข้างน้อยมาก ทำให้ไม่มีแรงจะทำให้อีกฝ่ายรับฟังได้ด้วยเหตุผล ตรรกะ หรือแนวคิดที่แปลกไปจากวัฒนธรรมเดิม

จากการวิเคราะห์ความขัดแย้งข้างต้นมองว่าโซตัส เป็นปัญหาใหญ่และยังมีปัญหาย่อยๆตามมาอีกมากมายดังเช่นตัวอย่าง ซึ่งปัญหานี้ควรจะได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของกระทรวงศึกษาที่จะต้องมีบทบาทสำคัญหากมีการบังคับใช้จริงกับทุกมหาวิทยาลัยแม้ว่าหลายๆมหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบจริง ตัวมหาวิทยาลัยที่มีโซตัส หลงเหลืออยู่ต้องมีความพยายามในการมอบนโยบายให้แต่ละคณะสาขาเลิกการบังคับไม่ว่าจะผ่านการเช็คชื่อ หรือกิจกรรมใดๆที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลให้หมดไปและเมื่อเกิดปัญหาขึ้นอาจจะต้องมีตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาเหล่านั้นให้ทุกคนหาจุดตรงกลางได้
 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปธน.ฟิลิปปินส์จ่อลงนามกฎหมายจัดตั้งเขตปกครองตนเองมุสลิมหลังเจรจา 22 ปี

Posted: 23 Jul 2018 07:59 AM PDT

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เตรียมลงนามกฎหมายจัดตั้งเขตปกครองตนเองบังซาโมโรบนเขตปกครองตนเองมุสลิมทางตอนใต้ของเกาะมินดาเนา มีรัฐบาลและสภาของตัวเอง ใช้กฎหมายอิสลามและชนเผ่าร่วมกับกระบวนการยุติธรรมปกติ ปิดฉากการสู้รบแบ่งแยกดินแดนที่ยาวนาน 40 ปี และกระบวนการสันติภาพที่ทำมา 22 ปี

โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ (ภาพจาก wikimedia)

22 ก.ค. โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศขณะแถลงการทำงานประจำปีว่า จะลงนามในกฎหมายบังซาโมโรในอีกสองวัน เพื่อแปรสภาพพื้นที่เขตปกครองตนเองมุสลิมที่ตั้งอยู่บนเกาะทางใต้ของเกาะมินดาเนาเป็นเขตปกครองตนเองใหม่ในชื่อบังซาโมโร หลังกบฏชาวโมโรสู้รบกับกองกำลังของฟิลิปปินส์มาเป็นเวลา 40 กว่าปีเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลาม ตามมาด้วยกระบวนการสันติภาพที่นับจากวันนี้ก็ยาวนานกว่า 22 ปีแล้ว

สภาคองเกรสของฟิลิปปินส์ได้อนุมัติตัวกฎหมายตั้งแต่คืนวันพุธที่แล้ว (18 ก.ค. 2561) หลังจากประชาพิจารณ์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหกวัน และจริงๆ ประธานาธิบดีมีกำหนดให้ลงนามในระหว่างการแถลงฯ ข้างต้น แต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของคองเกรสไม่สามารถลงนามอนุมัติได้ทันเวลาเนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้นำสภาฯ

หากร่างกฎหมายได้รับการลงนามจากประธานาธิบดีแล้ว กระบวนการต่อไปที่จะเกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองมุสลิมที่ตอนนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์มีอำนาจปกครองเสียเป็นส่วนใหญ่คือ

  • กฎหมายจะถูกนำไปลงประชามติในพื้นที่ที่จะถูกรวมอยู่กับบังซาโมโร ซึ่งคาดว่าจะมีการประชามติในเดือน พ.ย. ปีนี้ ตามมาด้วยการแต่งตั้งสมาชิกหน่วยงานด้านการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโรในเดือน ธ.ค. ปีนี้หรือเดือน ม.ค. ปีหน้าโดยประธานาธิบดี
  • เขตปกครองถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า 'บังซาโมโร' ซึ่งแปลว่าชาติของโมโร
  • จะมีรัฐบาลบังซาโมโรที่มีหัวหน้ารัฐมนตรี (chief minister) และประธานในทางพิธีการเรียกว่า วาลี (Wali)
  • จะมีรัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 80 คน แบ่งสัดส่วนเป็นผู้แทนพรรคร้อยละ 50 ผู้แทนอำเภอร้อยละ 40 และผู้แทนเขตร้อยละ 10 ในจำนวนนี้รวมไปถึงผู้แทนสองคนสำหรับชนพื้นเมืองและชุมชนที่ไม่ใช่ชาวโมโร
  • เขตการปกครองบังซาโมโรจะไม่มีทหารและตำรวจเป็นของตัวเอง แต่จะเป็นกองกำลังจากทางการฟิลิปปินส์ กฎหมายนี้ยังห้ามไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นจัดซื้ออาวุธเองเพื่อป้องกันการกระทำการกบฏ
  • รายได้ของบังซาโมโรร้อยละ 25 จะถูกส่งให้กับรัฐบาลกลาง ที่เหลือจะเป็นของบังซาโมโร ซึ่งคำนวณแล้วเท่ากับเขตปกครองเกิดใหม่จะได้รายได้มากกว่าเดิมร้อยละ 5 โดยรายได้ที่ได้มาจากภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ รวมถึงภาษีจากทรัพยากรธรรมชาติ
  • ด้านกระบวนการยุติธรรม จะมีศาลปกติ แต่จะใช้กฎหมายอิสลามหรือชารีอะห์กับคดีที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม และจะใช้กฎหมายชนเผ่าในกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองในบังซาโมโร
  • จะมีการโอนถ่ายลูกจ้างในหลายภาคส่วนไปอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลบังซาโมโร โดยมีเพียงลูกจ้างในภาคการศึกษา สาธารณสุขและสวัสดิการสังคมเท่านั้น คาดว่าจะมีพนักงานประจำมากกว่า 6,000 คนที่ทำงานกับเขตปกครองตนเองปัจจุบันที่จะต้องตกงาน

หากกฎหมายนี้ผ่านจะถือเป็นการสิ้นสุดการเจรจาสันติภาพอันยาวนานถึง 22 ปีระหว่างกลุ่มแนวหน้าปลดปล่อยอิสลามโมโรในมินดาเนา (MILF) และรัฐบาลฟิลิปปินส์ กลุ่ม MILF แยกตัวมาจากแนวหน้าปลดปล่อยชาติโมโรหรือ MNLF ที่ก่อตั้งขึ้นมาและกระทำการต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2513 โดยมีเป้าหมายเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลามที่เป็นเอกราชจากฟิลิปปินส์

หลังจากนั้น 6 ปี เมื่อกลุ่ม MNLF ตกลงปลงใจกับภาวะการเป็นเขตปกครองตนเอง สมาชิกบางคนได้แยกตัวออกมาตั้งกลุ่ม MILF เพื่อดำเนินการต่อสู้ต่อไป จากนั้นมีการเจรจากับ MILF และรัฐบาลในปี 2539 ในยุครัฐบาลฟิเดล รามอส แต่ในปี 2542 รัฐบาลโจเซฟ เอสตราดาประกาศสงครามเต็มรูปแบบกับกลุ่ม MILF ทำให้กระบวนการเจรจาชะงักไป และมาเริ่มใหม่ในปี 2544 ในรัฐบาลกลอเรีย อาโรโย กระทั่งมีสัญญาสันติภาพเกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม MILF และประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนในเดือน ต.ค. 2555 ตามมาด้วยข้อตกลงอย่างครอบคลุมในปี 2557

กฎหมายบังซาโมโรถูกร่างโดยสภาคองเกรสมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 ในชื่อ "กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร" ในขณะนั้นมีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจกับกลุ่มนักสู้ของ MILF เมื่อตำรวจปฏิบัติการจับกุมกลุ่มก่อความไม่สงบเจอาห์ อิสลามียา ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายอัลเคดา หลังจากนั้นมีการกล่าวโทษกลุ่ม MILF ในสภานิติบัญญัติซึ่งทำให้กระบวนการทำกฎหมายบังซาโมโรถูกลดความสำคัญลง

ประธานาธิบดีดูเตอร์เตผู้มาจากมินดาเนาและระบุว่าตนมีเชื้อสายโมโรให้สัญญาว่าจะก่อตั้งบังซาโมโรทันทีหลังจากขึ้นเถลิงอำนาจในปี 2559

โมโรเป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำเรียกภาษาสเปนที่เรียกชาวมัวร์ ชาวโมโรคือกลุ่มคนจำนวนมากกว่าสิบล้านคนจากหลายชาติพันธุ์ในมินดาเนา พวกเขาหลบหนีการถูกครอบงำจากสเปนและศาสนาคริสต์ในฟิลิปปินส์ในช่วงศตวรรษที่ 16-19 พวกเขายังต่อต้านการที่สหรัฐฯ เข้ามายึดฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 20 ด้วย

เส้นทางการต่อต้านที่ยาวนานทำให้พวกเขามีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากชาวฟิลิปปินส์อื่นๆ ทำให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติรวมถึงการถูกลงโทษโดยรัฐบาลกลาง หลายจังหวัดของโมโรติดรายชื่อจังหวัดที่ยากจนที่สุดในฟิลิปปินส์

แปลและเรียบเรียงจาก

Duterte to sign Bangsamoro Organic Law within 48 hours, CNN Philippines, Jul 23, 2018

Philippines: Duterte to approve autonomous 'Bangsamoro' proposal, Aljazeera, Jul 22, 2018

Congress approves final Bangsamoro Basic Law, Davaotoday, Jul 19, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ทุเรียนบ้าน' ราคาร่วง ปีนี้มาเลเซียขายลูกละ 8 บาท 30 สต.

Posted: 23 Jul 2018 07:37 AM PDT

ที่มาเลเซียปีนี้ "ทุเรียนกำปง" หรือ "ทุเรียนบ้าน" ทุเรียนพื้นเมืองลูกเล็กๆ เม็ดโตๆ รสและกลิ่นแรง ราคาตกต่ำอย่างมาก แม่ค้าขายทุเรียนที่รัฐเคดาห์ตั้งราคาขายไว้ลูกละ 1 ริงกิต หรือ 8 บาท 30 สต. โดยเปิดขาย 15 นาทีสินค้าก็หมดลงอย่างรวดเร็ว

(แฟ้มภาพ) ทุเรียนที่ตลาดแห่งหนึ่งในปีนัง ประเทศมาเลเซีย ภาพถ่ายปี 2011 (ที่มา: Jetsun/Wikipedia)

Channelnewsasia และ Bernama รายงานว่าที่มาเลเซีย "ทุเรียนบ้าน" ราคาลูกละ 1 ริงกิต กลายเป็นสิ่งที่พูดถึงกันแพร่หลายกลายเป็นไวรัลไปทั่วอินเทอร์เน็ต ทำให้มีความต้องการทุเรียนชนิดพุ่งสูงขึ้นจนขายหมดอย่างรวดเร็ว

แม่ค้าทุเรียนชาวมาเลเซียที่เมืองกูลิม รัฐเคดาห์ "อัยซะวาตี อับดุล ลาติบ" กล่าวว่าพวกเขาขาย "ทุเรียนบ้าน" ได้มากขึ้น หลังจากเกิดกระแสไวรัล อย่างไรก็ตามนอกจากทุเรียนบ้านแล้ว พวกเขายังขายทุเรียนชนิดอื่นๆ ตั้งแต่ราคากิโลกรัมละ 3 ริงกิต ไปจนถึง 35 ริงกิต (ราว 24.90 บาท ถึง 290 บาท) โดยทุเรียนที่ราคาแพงที่สุดคือพันธุ์กิมโป กิโลกรัมละ 35 ริงกิต พันธุ์อื่นๆ อย่าง D14 กิโลกรัมละ 12 ริงกิต D15 กิโลกรัมละ 18 ริงกิต กาจังฮิเจา กิโลกรัมละ 18 ริงกิต นอกจากนี้ทุเรียนบ้านลูกใหญ่ขายกันที่กิโลกรัมละ 3-10 ริงกิต

สำหรับ "ทุเรียนบ้าน" หรือ "ทุเรียนกำปง" เป็นทุเรียนพื้นเมือง ที่ยังไม่ได้พัฒนาสายพันธุ์ ยังคงพบได้ทั้งในมาเลเซียและภาคใต้ของไทย ทุเรียนบ้านจะมีผลขนาดเล็กกว่าทุเรียนพันธุ์และส่วนใหญ่จะมีเนื้อน้อย เมล็ดโต รสชาติและกลิ่นแรงกว่าทุเรียนพันธุ์

อัยซะวาตีบอกอีกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ราคาทุเรียนถูก แต่ในปีนี้ราคาทุเรียนบ้านเกิดถูกมากจนเหลือเพียงลูกละ 1 ริงกิต แต่ยังดีว่าพอเริ่มขายในช่วงตี 3 ก็จะมีคนมาต่อแถวรอซื้อแล้ว โดยจะขายทุเรียนกำปงกับทุเรียนพันธุ์ได้อย่างน้อย 2 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังยอมให้ผู้ซื้อกลับมาเปลี่ยนทุเรียนได้ถ้าหากทุเรียนที่ซื้อไปเน่าเสีย รวมทั้งยังบริการบรรจุหีบห่อให้สำหรับผู้ที่เดินทางมาไกลๆ จากรัฐหรือเมืองอื่นๆ เพื่อไม่ให้ทุเรียนส่งกลิ่นในรถด้วย

เรียบเรียงจาก
Durian prices drop to RM1 at Malaysia stall,
Channel News Asia, 21-07-2018
Durian berharga serendah RM1 di Kulim,
Bernama, 20-07-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปมรุ่นพี่ซ้อมรุ่นน้อง กสม. แนะสถาบันการศึกษาให้ความรู้-ดูแลการจัดกิจกรรม ป้องกันละเมิดสิทธิฯ

Posted: 23 Jul 2018 06:26 AM PDT

'กสม. ฉัตรสุดา' ห่วงกรณีนักศึกษารุ่นพี่ซ้อมรุ่นน้องละเมิดสิทธิฯ แนะสถาบันการศึกษาให้ความรู้-ดูแลการจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข

23 ก.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนักศึกษาสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกรุ่นพี่ทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกายจนมีอาการม้ามแตก ว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลยิ่ง เนื่องด้วยที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของนักศึกษาในสถาบันการศึกษาหลายครั้ง ซึ่งบางกิจกรรมเป็นเหตุให้เกิดการใช้ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของนักศึกษา

อย่างไรก็ดี แม้กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นจะเป็นการทำโทษรุ่นน้องนอกเขตสถาบันการศึกษาและเกิดเหตุในยามวิกาล แต่ขอเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาให้ความใส่ใจและเฝ้าระวังการจัดกิจกรรมของนักศึกษาให้มากขึ้น โดยที่การจัดกิจกรรมรับน้องหรือกิจกรรมสานความสัมพันธ์ของนักศึกษาควรเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างประสบการณ์และสติปัญญาควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสามัคคีอย่างสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษาจึงควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาในการจัดกิจกรรมที่จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรุ่นน้องและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายและผู้กระทำความผิดอาจได้รับโทษซึ่งจะส่งผลให้ต้องสูญเสียอนาคตและโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

ฉัตรสุดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม. จะติดตามสถานการณ์การจัดกิจกรรมของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายกรณีจะเป็นตัวอย่างให้นักศึกษารุ่นพี่มีความระมัดระวังในการจัดกิจกรรมมากขึ้น และสถาบันการศึกษาทุกแห่งจะได้ร่วมกันตรวจสอบ ติดตาม และให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาเพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะดังกล่าวอีกต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'อีสานใต้ 2' ชงของบฯ ครม.สัญจร 1.4 หมื่นล้าน หวังพัฒนาโครงสร้างคมนาคม

Posted: 23 Jul 2018 06:08 AM PDT

กลุ่มจังหวัดอีสานใต้ 2 ชงของบประมาณ ครม.สัญจร  1.4 หมื่นล้าน หวังพัฒนาโครงสร้างคมนาคม โดยตั้งแต่ปี 60 จนถึงปัจจุบันประชุม ครม.สัญจร ไปแล้วหลายครั้ง อนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดไปแล้วทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ผักอินทรีย์เมืองเกษตรไร่ภูตะวัน ออร์แกนิคฟาร์ม บ้านหนองเม็ก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ 22 ก.ค. 2561 (ภาพจากคลังภาพเว็บไซต์รัฐบาลไทย)

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2561 กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จะเกิดใน วันพรุ่งนี้(24 ก.ค.61) ที่ จ.อุบลราชธานี ทางคณะรัฐมนตรีจะมีวาระประชุมร่วมกับภาคเอกชนของ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาญเจริญ และยโสธร เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ร่วมกัน

โดยงบประมาณทั้งหมดที่จะมีการขออนุมัติทั้งหมดประมาณ 14,300 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนา 5 หมวดหลักคือ 1.โลจิสติกส์หรือการคมนาคม เช่น ขยายสนามบิน รถไฟทางคู่ 2.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.ยกระดับการเป็นเกษตรอินทรีย์นำร่อง 4 จังหวัด โดยเฉพาะยโสธร และอำนาจเจริญ เน้นเกษตรปลอดภัยและลดรายจ่ายของ 4.พัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยง ทั้งศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสานตอนล่าง 2 เชื่อมสามเหลี่ยมมรกตกับประเทศเพื่อนบ้าน และ5.ชูศักยภาพส่งเสริมเขตการค้าชายแดนให้เติบโต และพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 จากอุบลราชธานี-สาละวัน เชื่อมโยงการค้า และท่องเที่ยวกับเพื่อนบ้าน

สมชาติ พงคพาไกร ประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับ PPTV ว่า ภาคเอกชน จะเสนอหลายโครงการที่สำคัญ ทั้งโครงการ ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี ฝั่งตะวันออกให้ได้ก่อสร้างเป็นถนน 4 เลน ให้เร็วขึ้น โดยขอเร่งอนุมัติงบประมาณมาเป็นช่วงปี พ.ศ.2562-2563 จากเดิมที่จะก่อสร้างในช่วงปี พ.ศ.2564-2565 ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณก้อนโตที่สุด กว่า 13,000 ล้านบาท และมีความหวังว่าจะได้รับการอนุมัติในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้

ส่วนอีกโครงการที่จะถูกเสนอให้ ครม. คือ การของบประมาณในการสร้างลานจอดเครื่องบิน เพิ่ม 5 ลาน ประมาณ 500 ล้านบาท สำหรับบริการผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ภาคเอกชนหวังให้รัฐบาลเลื่อนอนุมติงบประมาณให้เร็วขึ้น จากที่จะอนุมัติ ปี พ.ศ. 2565-2567 ก็ขอเลื่อนมาเป็น พ.ศ. 2562-2563 เพื่อเร่งลดปัญหาการดีเลย์ของไฟล์บิน ในช่วงเวลาเร่งด่วนและ ยังมีโครงการโรงงานต้นแบบ หรือ Pilot Plant  ระยะที่2 ที่เป็นโครงการสร้างนโยบายการตลาดนำการผลิตให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้ยกระดับสินค้าและคุณภาพชีวิตได้ด้วยเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ขอในงบประมาณ 300 ล้านบาท รวมถึง โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และโครงการอื่นๆ ราว 500 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ที่กลุ่มเอกชน เตรียมเสนอที่ประชุมครม. เพื่อพิจารณาและศึกษาความเป็นไปได้  ทั้ง  การขยายเส้นทางรถไฟรางคู่ จากสถานีอำเภอวารินชำราบ ไปยังช่องเม็ก เชื่อมโยง สปป.ลาว การขอถนนทางเข้าท่ากาศยานอุบลราชธานี ทางทิศใต้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 ที่ อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี  และ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือตองล่าง 2 รวมถึง ความพยายามในการผลักดัน จ.อำนาญเจริญ ให้เป็นเมืองสมุนไพร และ ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการรักษาพยาบาล ด้วยการขอขยายพื้นที่ของโรงพยาบาลศูนย์อุบลราชธานีอีก 280 ไร่

สำหรับการประชุม ครม. สัญจรในรัฐบาล คสช. ในช่วงที่ผ่านมีแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 11 ในปี 2558 มีการประชุมนอกสถานที่ 2 ครั้ง(ไม่มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ในการประชุม) ปี 2559 ไม่มีการประชุมเกิดขึ้นเลย แต่ในปี 2560 (ปีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ) พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกิดข้องจัดเตรียมการดำเนินการเพื่อประชุม ครม. สัญจรอีกครั้ง โดยตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีการประชุมไปแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง มีการอนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดไปแล้วทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘สภาการพยาบาล-สปสช.’ จัดรับฟังความเห็นจาก ‘พยาบาล’ พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ

Posted: 23 Jul 2018 05:53 AM PDT

สภาการพยาบาล จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ โดยมีพยาบาลวิชาชีพใน รพ.ระดับต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล

23 ก.ค. 2561 ที่ จ.น่าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสื่อสารข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 250 คน ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพใน รพ.ระดับต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า พยาบาลนั้นมีส่วนอย่างยิ่งในการให้บริการสาธารณสุข การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาการพยาบาลและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จัดรับฟังความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่าใน 1 ปี ต้องรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้จัดรับฟังความเห็นมาโดยตลอด แต่อาจจะไม่ได้เจาะจงถึงวิชาชีพ

นายกสภาการพยาบาล กล่าวต่อว่า จึงได้มีการพูดคุยกันว่า พยาบาลถือเป็นวิชาชีพด่านหน้าและเป็นคนหน้างานที่ใกล้ชิดผู้ป่วยมาก และเป็นสัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขที่มีมากที่สุดในระบบบริการ ดังนั้นน่าจะมีการจัดรับฟังความเห็นเฉพาะจากคนที่อยู่หน้างาน จึงเป็นที่มาของการทำโครงการนี้ร่วมกับ สปสช. โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2560 จัด 1 ครั้งที่กรุงเทพฯ ปี2561 นี้ ขยายเป็น 2 ครั้ง คือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ปีต่อไปอาจจะขยับไปภาคอื่น การรับฟังความเห็นจากพยาบาลถึงปัญหาที่พบเจอในการทำงาน ทางฝ่ายนโยบายจะได้นำไปปรับและแก้ไขเพื่อให้การทำงานจริงมีประสิทธิภาพมากที่สุด  

"นอกจากการจัดรับฟังความเห็นแล้ว ก็เห็นว่าปัจจุบันมีนโยบายและโครงการต่างๆ ที่ออกมามาก ปัจจุบันที่เห็นเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกสิทธิ์ หรือ UCEP, ระบบบริการปฐมภูมิที่เชื่อมโยงกลไกคลินิกหมอครอบครัว(PCC), การคุ้มครองสิทธิ์ผู้ให้บริการมาตรา 18(4) และผู้รับบริการตามมาตรา 41 เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น เพิ่งดำเนินการ จึงเห็นว่าน่าจะมีการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลในประเด็นเหล่านี้ด้วย ซึ่งทั้งการให้ข้อมูลและการรับฟังความเห็นเพื่อให้ระบบยั่งยืนเป็นธรรมอยู่คู่กับสังคมไทยได้ต่อไป" รศ.ดร.ทัศนา กล่าว  

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ได้ร่วมกับสภาการพยาบาลจัดทำโครงการสื่อสารข้อมูลและรับฟังความเห็นผู้ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ซึ่งปี 2561 นี้ จัดเป็นปีที่ 2 สำหรับการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มพยาบาล โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากว่า สปสช.จัดรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำในทุกปี แต่อาจจะไม่ได้รับฟังจากกลุ่มพยาบาลโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าของระบบบริการ ทางสภาการพยาบาลจึงเห็นว่าควรจัดรับฟังความคิดเห็นและขยายเนื้อหาเรื่องการสื่อสารข้อมูลเชิงนโยบายต่างๆที่ออกมาด้วย นอกจากรับฟังความเห็น

"ซึ่งปี 2560 ที่ผ่านมาจัดระดับใหญ่ที่กรุงเทพฯ ครั้งเดียว ปี 2561 นี้ สภาการพยาบาลหารือและเห็นว่าควรรับฟังในเขตภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งปี 2561 นี้ก็จัด 2 ครั้งและปีต่อไปก็อาจจะขยายไปภาคอื่น ผลการรับฟังที่ผ่านมาก็เข้าสู่กระบวนการตามลำดับ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายประการที่มาจากการรับฟังความเห็น ซึ่ง สปสช.ได้คืนข้อมูลที่ได้จากการรับฟังให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย" ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.

โดยได้จัดแบ่งกลุ่มแสดงความเห็นแต่ละกลุ่ม คือ 1.บทบาทพยาบาลฉุกเฉินกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน 2.บทบาทพยาบาลฉุกเฉินกับการสนับสนุนงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน 3.บทบาทพยาบาลปฐมภูมิกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน 4.บทบาทพยาบาลปฐมภูมิกับการดำเนินงานด้านการจัดบริการปฐมภูมิ 5.บทบาทพยาบาลฉุกเฉินกับการคุ้มครองสิทธิ์ 6.บทบาทพยาบาลปฐมภูมิกับการคุ้มครองสิทธิ์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักวิจัย TDRI ชี้ขยะล้น ขยะพิษ เหตุโรงงานกำจัดถูกกฎหมายมีน้อย

Posted: 23 Jul 2018 05:28 AM PDT

TDRI ชี้ไทยผลิตขยะพิษเพิ่มขึ้นอย่างน่าห่วง กำจัดได้ไม่ถึงครึ่ง ระบุขยะพิษอันตรายต้องกำจัดอย่างพิเศษ แต่โรงงานกำจัดถูกกฎหมายได้มาตรฐานยังมีน้อย แถมยังมีธุรกิจสีเทาลักลอบทิ้งหรือกำจัดโดยไม่ถูกต้อง แนะควรเปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความรู้และเทคโนโลยีสูงเข้ามาลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะมากขึ้น ควบคู่กับปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะและเพิ่มการกำกับดูแลให้เข้มข้น

ที่มาภาพประกอบ: INESby(CC0)

23 ก.ค.2561 วันนี้ (23 ก.ค.61) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รายงานว่า กะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร นักวิจัย TDRI กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาขยะพิษของประเทศไทย โดยระบุว่า ปัญหาขยะของประเทศไทยไม่ได้มีเพียงอุตสาหกรรมการรีไซเคิลขยะตามข่าวที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นปัญหาขยะพิษอื่นๆ ที่ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด

ขยะพิษเกิดขึ้นจากกิจกรรมหลัก 2 ประเภท คือ ขยะครัวเรือน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กระป๋องสเปรย์ และขยะจากภาคอุตสาหกรรม (การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมารีไซเคิลถือเป็นกิจกรรมภาคอุตสาหกรรม) ขยะพิษจากทั้งสองแหล่ง ต้องได้รับการกำจัดจากโรงงานกำจัดขยะพิษที่ได้รับใบอนุญาตและมาตรฐาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แต่สถานการณ์และประเด็นปัญหาการกำจัดขยะพิษในประเทศไทยในขณะนี้ คือ วงจรการกำจัดขยะพิษที่เกิดจากภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมไปไม่ถึงโรงงานที่สามารถกำจัดได้อย่างถูกต้อง

กรณี ขยะครัวเรือน มีปัญหาเรื่องการกระบวนการจัดการเพื่อนำไปกำจัด จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2559 คนไทยผลิตขยะพิษจากบ้านเรือนทั้งหมด 6 แสนตัน ประกอบไปด้วย อิเล็กทรอนิกส์ 65% และขยะอันตรายอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และกระป๋องสเปรย์ 35% ขยะเหล่านี้มีสารอันตรายเป็นองค์ประกอบอยู่ เช่น ปรอท ตะกั่ว และสารหนู ต้องมีการกำจัดถูกต้องถูกวิธีในโรงงานกำจัดขยะอันตราย แม้มีกฎหมายสาธารณสุขที่ให้อำนาจ ส่วนราชการท้องถิ่นมีหน้าที่ในการกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล แต่กฎหมายไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดแยกและกำจัดขยะที่เป็นระบบ ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่มีการแยกขยะก่อนทิ้ง ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่านำขยะอันตรายมาคัดแยกและขายส่วนที่มีมูลค่า ทำให้ขยะเหล่านี้ไม่สามารถติดตามได้ว่าถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องหรือไม่ กระบวนการคัดแยกและการกำจัดขยะพิษที่เหลือจากการคัดแยกส่วนใหญ่ดำเนินการไม่ถูกต้อง เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ดำเนินการสำรวจการปนเปื้อนของสารพิษจากการคัดแยกขยะของชุมชนแยกขยะขนาดใหญ่ ในจังหวัดบุรีรัมย์ พบสารหนู ตะกั่ว เกินค่ามาตรฐาน ในบริเวณที่เผาขยะกลางแจ้งจากการแยกชิ้นส่วนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ (รายงาน TDRI: การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย 2016)

ส่วนขยะในภาคอุตสาหกรรม หรือกากอุตสาหกรรมอันตรายนั้น พบว่า เกิดปัญหาโรงงานลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม แม้มีกฎหมายโรงงาน และกฎหมายวัตถุอันตราย ให้อำนาจแก่ กรอ. ในการกำกับดูแลโรงงานในภาคอุตสาหกรรม กฎหมายกำหนดให้ผู้ก่อกำเนิดขยะ หรือ Waste Generator ต้อง ขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานเพื่อนำไปกำจัด (สก.2) โดยในรายงานจะต้องระบุจำนวนขยะที่นำไปกำจัด ผู้ขนส่ง และโรงงานรับกำจัดที่มีใบอนุญาตจาก กรอ. แต่จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า ในปี 2559 ประเทศไทยผลิตกากอุตสาหกรรมอันตรายออกมา 2.8 ล้านตัน พบว่ามีผู้ขออนุญาตตามแบบ สก.2 หรือนำไปกำจัดโดยโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ได้รับใบอนุญาตเพียง 40% เท่านั้น ที่เหลืออีกประมาณ 1.6  ล้านตัน คือขยะพิษที่ไม่มีการขออนุญาตนำไปกำจัด และอาจเข้าสู่กระบวนการลักลอบทิ้งขยะผิดกฎหมาย เช่น บริษัทลักลอบรับกำจัดขยะทุกประเภทด้วยต้นทุนต่ำ แต่เป็นการรับขยะมาแล้วไม่นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง อาทิ ขยะอันตรายไปฝังกลบในหลุมฝังกลบขยะไม่อันตราย และนำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่ง กรอ ไม่มีการเปิดเผยว่ามีโรงงานใดบ้างที่ไม่ได้สำแดงขยะในจำนวนนี้ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการติดตามและดำเนินคดีตามกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าขยะอันตรายเหล่านั้น ถูกนำไปกำจัดอย่างไรและผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมายทั้งหมดหรือไม่  

 นักวิจัย TDRI ระบุว่า จากการที่การจัดการกากอุตสาหกรรมประสบปัญหาการลักลอบทิ้งและกำจัดผิดกฎหมาย ไม่แปลกเลยที่ โรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย หรือ ขยะพิษ ซึ่งมีจำนวนน้อยรายในตลาด พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถกำจัดขยะพิษที่สามารถกำจัดสารพิษได้ทุกประเภทเพียง 4 โรงงานเท่านั้น โดย มี 3 โรงงาน ฝังกลบ และ 1 โรงงาน ที่ได้รับอนุญาตให้เผาอันตรายโดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาเฉพาะ ที่เหลือเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีประเภทการเผาโดยใช้เตาปูนซีเมนต์ซึ่งสามารถเผาขยะพิษได้บางประเภท เตาเผาขยะไม่อันตราย และโรงงานฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย เป็นต้น ซึ่งการมีผู้ประกอบการโรงงานกำจัดขยะพิษในตลาดน้อยรายอาจทำให้เกิดการกำหนดราคาและผูกขาดตลาดได้

เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนในการกำจัดขยะอันตราย ทีมวิจัยได้ศึกษาราคาการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายของบริษัทรับเผากากอุตสาหกรรมอันตราย ด้วยเตาเผาเฉพาะ พบว่า ขยะอันตราย 1 ตัน มีต้นทุนราคาการกำจัดสูงตั้งแต่ 4,000-5,000 บาท ไปจนถึง 150,000 บาท นอกจากนี้ราคาการกำจัดกากอุตสาหกรรมยังสามารถเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด สวนทางกับโทษตามกฎหมาย พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน โดยกำหนดค่าปรับสูงสุดไว้ 200,000 บาท และจำคุกไปเกิน 2 ปี อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบปรับในราคาต่ำกว่าโทษปรับสูงสุดที่กฎหมายกำหนดได้ จึงเป็นข้อสังเกตว่าทำไมจึงมีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอยู่ 

นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แค่ขยะที่ผลิตกันเองในประเทศยังไม่มีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพได้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถรับจัดการขยะจากประเทศอื่น (นำเข้าขยะ) ตามที่เป็นข่าว ไทยไม่ควรเป็นถังขยะให้ใคร หากประเทศไทยต้องการแก้ปัญหาขยะพิษ ให้เกิดขึ้นจริง จะต้องดำเนินการอย่างน้อย 3 เรื่อง ดังนี้

1) แก้ปัญหาการจัดการขยะพิษจากครัวเรือน โดยสร้างหลักเกณฑ์มาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอย ให้แก่ส่วนราชการท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดการขยะมูลฝอยตามกฎหมาย และผลักดันกฎหมาย "ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments)" ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับคืนซากอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปกำจัด ให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ววัน เพราะการรณรงค์หรือการขอความร่วมมือเป็นครั้งคราวยังไม่เพียงพอ ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จะมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการแยกขยะครัวเรือน และมาตรฐานการจัดการขยะของหน่วยงานทรับผิดชอบในการรวบรวม นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท และบางประเภทผู้ใช้หรือครัวเรือนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการกำจัดร่วมกับผู้ผลิต

2) แก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยต้องมีการปรับปรุงการกำกับดูแลให้ดีขึ้น เริ่มจาก กรอ ควรเปิดเผยข้อมูลปริมาณการขออนุญาตกำจัดกากอุตสาหกรรมต่อสาธารณะ มีความโปร่งใสในการตรวจจับโรงงานที่ไม่ถูกต้อง และมีมาตรการในการยกเลิกใบอนุญาตของบริษัทที่กระทำผิดชัดเจนและจะต้องเพิ่มโทษปรับ ในระยะยาวต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลตามกฎหมาย เนื่องจาก กรอ. ทำหน้าที่้เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านมลพิษอุตสาหกรรม อาจทำให้การกำกับดูแลไม่เป็นกลาง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลมาตรฐานมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม คือ หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Protection Agency (EPA)

3) เมื่อประเทศไทยดำเนินการแก้ปัญหาการจัดการขยะพิษครัวเรือน และการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการพร้อมการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมในการจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากหากมีขยะพิษและขยะอุตสาหกรรมทั่วไปเข้าสู่ระบบการกำจัดอย่างถูกหลักเพิ่มขึ้น จะทำให้โรงงานรับกำจัดขยะอันตรายที่มีอยู่น้อยรายในตลาดถือโอกาสเพิ่มราคาการกำจัด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ กำลังการกำจัดขยะอันตราย อาจไม่เพียงพอกับขยะที่จะเข้ามาในระบบกว่าเท่าตัว

ต้นเหตุของขยะส่วนใหญ่ล้วนมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของเรา การไม่คัดแยกขยะ ทิ้งขยะพิษรวมกับขยะมูลฝอย ไม่สามารถกำกับดูแลและจัดการขยะครัวเรือนได้ รวมถึงการผลิตขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมในแต่ละวัน รัฐต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปการกำจัดขยะของประเทศ ออกกฎหมาย และแคมเปญรณรงค์อย่างยิ่งใหญ่ ให้ประชาชนตระหนักเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะจากครัวเรือน และแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตรายให้ได้ เพราะแม้เราสามารถห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หากขยะพิษที่ทับถมภายในประเทศไม่สามารถกำจัดอย่าง "หมดจด" ประเทศไทยอาจเข้าสู่สภาพมลพิษล้นประเทศได้ในอนาคต

ทั้งนี้ การตรวจจับโรงงานนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์พิษ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา เข้าตรวจโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีทั้งหมด 7 โรงงาน พบโรงงานที่มีกิจการการคัดแยก รีไซเคิล และกำจัดผิดกฎหมาย ถึง 5 โรงงาน การตรวจจับครั้งใหญ่นี้เป็นผลจากการขยายผลจับ จากผู้ร้องเรียนมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะทำให้เกิดควันและมลพิษบริเวณโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัด ฉะเชิงเทรา จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมศุลกากรออกมาเผยว่า ตั้งแต่ที่จีนมีมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมาทำให้ขยะจากทั่วโลกจำเป็นต้องหาช่องทางการกำจัดในประเทศอื่น จากสถิติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2560 พบว่ามีการนำเข้า 7 หมื่นตัน แต่ในครึ่งแรกของปี 2561 พบว่ามีการนำเข้ามาแล้วมากผิดปรกติเป็นจำนวนกว่าแสนตัน

กระทั่งล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและระงับการอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้นำเข้าจำนวน 5 ราย ที่พบการกระทำผิด และออกประกาศ ชะลอการพิจารณาอนุญาตซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร และกำลังเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งห้ามโรงงานใช้วัตถุดิบที่ใช้แล้วจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ชี้ ปชช.ยังเข้าถึงยารักษาไวรัสตับอักเสบซีไม่ได้ หากรัฐยังไม่หนุนระบบวินิจฉัย

Posted: 23 Jul 2018 12:17 AM PDT

'มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์' เสนอ 'อธิบดีกรมควบคุมโรค' เนื่องในวันตับอักเสบโลกให้พิจารณาเพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัย-ลดข้อจำกัดในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาดีในระบบประกันสุขภาพมากขึ้น

 

(ซ้ายมือ) ผู้รับมอบหนังสือ นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุขนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค รองประธานคณะอนุกรรมการป้องกันควบคุมโรคตับอักเสบจากไวรัส

23 ก.ค. 2561 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่กระทรวงสาธารณะสุข ห้องประชุมจันทวิมล มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ได้ร่วมเข้ายื่นข้อเสนอต่ออธิบดีกรมควบคุมโรคให้เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันถึงแม้ว่าระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยได้ครอบคลุมถึงตัวยาการรักษา แต่เงื่อนไขในการวินิจฉัยโรคนั้นทำให้ผู้ป่วยยังไม่สามารถไปถึงขั้นตอนการรักษาได้ หรือแม้ว่าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจริงแต่หากยังไม่ถึงเกณฑ์การเข้ารับการรักษาก็ยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้

โดยในวันนี้ กรมควบคุมโรคจัดแถลงข่าวสัปดาห์วันตับอักเสบโลกเพื่อเปิดแคมเปญสำหรับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีในโรงพยาบาลทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งการแถลงถึงตัวยารักษาไวรัสตับอักเสบซีชนิด DAAs ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ ระบุว่า ปัจจุบันตัวยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยนั้นมี โซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ (Sofosbuvir/Ledipasvir) สำหรับรักษาในจีโนไทป์ที่ 1,2,4,5,6  และ เพคอินเตอเฟรอน โซฟอสบูเวียร์ ไรบาไวริน (Peginterferon/Sofodbuvir/Ribavirin) สำหรับรักษาในจีโนไทป์ที่ 3 แต่เนื่องจากตัวยาทั้งหมดนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียา จ(2) ที่มีเงื่อนไขและแนวทางกำกับที่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่ระบุว่าโรงพยาบาลที่จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคนั้นต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีใบรับรองหรือต้องเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านทางเดินอาหารไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งในความเป็นจริงโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับท้องถิ่นนั้นมีจำนวนแพทย์ดังกล่าวไม่เพียงพอ หากผู้ป่วยต้องการวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซีในแต่ละครั้งอาจจำเป็นต้องเดินทางข้ามอำเภอหรือข้ามจังหวัด และขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัยนั้นก็ไม่ได้จบลงด้วยการไปโรงพยาบาลเพียงครั้งเดียว นั่นเป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลายคนหลุดจากระบบการตรวจวินิจฉัยจากปัญหาค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง

"การรักษาโรคไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรามียาที่ดีเสมอไป หากระบบยังไม่เอื้อหนุนให้คนสามารถรับรู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ยาที่ต่อให้มีประสิทธิสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้จำนวนผู้ป่วยในประเทศลดลงได้" จีระศักดิ์ ศรีประมง หัวหน้าโครงการเข้าถึงยารักษาไวรัสตับอักเสบซี มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ กล่าว

นอกจากนี้ระบบการคืนเงินกลับไปยังหน่วยบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังมีเงื่อนไขที่ว่าหากผู้ป่วยนั้นได้รับการยืนยันว่าป่วยจริงแต่ยังไม่เข้าเกณฑ์การรักษาก็ยังไม่สามารถรับยาได้ เช่น ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อจริงจากการตรวจ RNA แต่มีค่าเชื้อน้อยกว่า 5,000 IU/ml ผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถรับยาได้ต้องกลับมาตรวจเพิ่มอีกภายหลัง

"โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่มีระยะเวลาการดำเนินโรคช้า ถือว่าเป็นภัยเงียบที่คุกคามได้เป็น 10 ปี แต่ก็ถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนได้ หากการรักษายังต้องรอให้ผู้ป่วยป่วยถึงขั้นวิกฤติแล้วค่อยทำการรักษา ความชะล่าใจนี้จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถกำจัดไวรัสตับอักเสบซีออกไปได้" จีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

องค์กรแรงงานสหรัฐฯ เรียกร้องสิทธิ ‘ปกป้องคนทำงานกลางแจ้งจากความร้อน’

Posted: 22 Jul 2018 05:16 PM PDT

องค์กรแรงงานและองค์กรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ เรียกร้องให้แรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง ต้องได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานความปลอดภัย จากสภาพอากาศร้อนรุนแรง ขณะที่สหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นมาก ที่มาภาพ: citizen.org

เมื่อเดือน ก.ค. 2561 องค์กรภาคประชาชนด้านสุขภาพและแรงงานของสหรัฐฯ นำโดย Public Citizen, United Farm Workers Foundation และ Farmworker Justice ได้จัดการรณรงค์ 'ปกป้องคนทำงานกลางแจ้งจากความร้อน' เรียกร้องให้มีคุ้มครองแรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง ต้องได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานความปลอดภัยจากสภาพอากาศร้อนรุนแรง เช่น มีระเบียบการหยุดพักระหว่างทำงาน มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น ชุดทำความเย็น เครื่องระบายอากาศ และการฝึกอบรมแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้มีองค์กรภาคประชาชนกว่าอีก 130 แห่ง เข้าร่วมการรณรงค์เรียกร้องนี้

มีข้อมูลว่าระหว่างปี 2535-2559 ในสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตจากความร้อนในการทำงานกลางแจ้งถึง 783 คน และมีผู้ได้รับการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากเหตุเดียวกันนี้ถึงเกือบ 70,000 คน และในปี 2548 รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่มีการออกข้อกำหนดมาตรฐานการทำงานภายใต้ความร้อน โดยกำหนดให้มีการจัดการพักผ่อนและพื้นที่ร่มเงาให้แรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง ส่วนในมินนิโซตาและวอชิงตันก็ได้มีการออกข้อกำหนดมาตรฐานการทำงานภายใต้ความร้อนแล้ว แต่ข้อกำหนดของมลรัฐมินนิโซตาครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ทำงานในร่มเท่านั้น โดยมีการให้แรงงานพักและฝึกอบรมพนักงานรวมถึงมาตรการอื่นๆ ส่วนข้อกำหนดของวอชิงตันนั้นครอบคลุมแรงงานกลางแจ้ง นอกจากนี้การทำงานในอู่ต่อเรือของสหรัฐฯ ก็มีการกำหนดขีดจำกัดความร้อนไว้ตั้งแต่ก่อนในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ส่วนกองทัพเรือและกองทัพอากาศได้ใช้มาตรการป้องกันความร้อนตั้งแต่ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 แล้ว

อนึ่งทั่วโลกเริ่มมีการออกกฎระเบียบจำกัดการทำงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อนมากขึ้น เช่น ในจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ออสเตรเลีย กรีซ และโปแลนด์ และว่าข้อปฏิบัติดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนกันมากขึ้นเนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Heat Wave Safety: 130 Groups Call for Protections for Farm, Construction Workers (InsideClimate News, 17/7/2018)
Protecting Workers from Heat Stress in a Warming Climate (Public Citizen, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 21/7/2018)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น