โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ย้อนดูสถิติ 10 ปีอุบัติเหตุทางอากาศกองทัพ-ตำรวจ เกิดเหตุ 52 ครั้ง ตาย 59

Posted: 14 Jul 2018 07:50 AM PDT

สถิติอุบัติเหตุทางอากาศของกองทัพและตำรวจย้อนหลังไป 10 ปี พบจำนวนอุบัติเหตุ 52 ครั้ง ตาย 59 เจ็บ 46 เฮลิคอปเตอร์อุบัติเหตุบ่อยสุด รองลงมาเป็นเครื่องบิน กองทัพบกมีผู้เสียชีวิตมากสุดที่ 44 ราย

เมื่อ 12 ก.ค. 2561 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ได้เดินทางไปยังวัดดงสวอง ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรีเพื่อเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพนายทหารที่เสียชีวิตสามนายจากเหตุการณ์เครื่องบินลาดตระเวนตกที่ จ.แม่ฮ่องสอน

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. เมื่อเครื่องบินเล็ก ทบ. CESSNA 182 ที่เป็นเครื่องบินลาดตระเวนของกองทัพบกขาดการติดต่อจากหอบังคับการบินที่ จ.แม่ฮ่องสอนเมื่อเวลาประมาณ 10.56 น. โดยในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง กำลังพลชุดค้นหาได้ติดตามค้นหาจนเข้าถึงจุดที่เครื่องตก และพบว่ามีผู้เสียชีวิตสามนาย ได้แก่ ร.ท.นฤพล พุกทอง ร.ท.วิโรจน์ แตงกระโทก และ ร.ท.เขมราช ดวงแก้ว มีผู้บาดเจ็บหนึ่งนาย ได้แก่ จ.ส.อ.ชัชชนันท์ เขื่อนแก้ว ทั้งนี้ สาเหตุที่เครื่องบินตกนั้นยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

อุบัติเหตุทางการบินของกองทัพและตำรวจปรากฏบนหน้าข่าวอยู่เป็นระยะๆ จากการค้นหาพบว่า ในช่วงปี 2551-2561 ที่ผ่านมามามีอุบัติเหตุทางอากาศของกองทัพและตำรวจทั้งสิ้น 52 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 59 ราย บาดเจ็บ 46 ราย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท/สังกัด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ รวม
เฮลิคอปเตอร์ 16 1 5 4 26
เครื่องบิน 2 1 21 - 24
เรือเหาะ 2 - - - 2
เจ็บ 21 1 16 8 46
ตาย 44 - 15 - 59
รวมจำนวนอุบัติเหตุ 52        

 

ว/ด/ป

ประเภท

สังกัด

พฤติการณ์

5 ก.ค. 2561

เครื่องบินตรวจการกองทัพบกรุ่น U 17

กองทัพบก

ตกที่แม่ฮ่องสอนระหว่างเส้นทางเมืองสามหมอก-ดอยไตแลง เขตปางมะผ้า บริเวณบ้านห้วยผึ้ง จ.แม่ฮ่องสอน เสียชีวิต 3 เจ็บ 1

22 พ.ค. 2561

เครื่องบินฝึก

กองทัพอากาศ

ตก อ.สามเงา จ.ตาก นักบินเสียชีวิตหนึ่งนาย บาดเจ็บสาหัสหนึ่งนาย

10 ต.ค. 2560

เครื่องบินแบบ BT-67 หรือเครื่องบินแบบดาโกต้า

กองทัพอากาศ

ไถลออกนอกรันเวย์ขณะฝึกบิน นักบินสองนายไม่บาดเจ็บ

10 มิ.ย. 2560

เครื่องบิน NAX-1

กองทัพเรือ

ลงจอดฉุกเฉินนอกชายฝั่ง บางส่วนจมน้ำ นักบินบาดเจ็บหนึ่งนาย

14 ม.ค. 2560

เครื่องบินขับไล่ ยาส39ซี กริพเพน

กองทัพอากาศ

ตกระหว่างการแสดงทางอากาศในวันเด็กที่ฐานทัพอากาศหาดใหญ่ นักบินเสียชีวิตหนึ่งนาย

16 ก.ย. 2559

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพบก

กระแทกพื้นและเพลิงลุกไหม้ที่ฐานทัพพิเศษ จ.นราธิวาส บาดเจ็บ 4 นาย

25 ส.ค. 2559

ฮ. Bell 212

ตำรวจ

ลงจอดแบบฉุกเฉินในป่าบริเวณ อ.ธารโต จ.ยะลา บาดเจ็บสาหัส 4 นาย

14 ส.ค. 2559

ฮ. UH 72A ลาโคต้า

กองทัพบก

ชนกับหน้าผาบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เสียชีวิต 5 นาย

25 มิ.ย. 2559

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพอากาศ

หายจากจอเรดาร์ขณะอยู่บริเวณเขาชะเมาและเขาวงกต จ.จันทบุรี พบซากอีกครั้งในหุบเขา เสียชีวิต 3 นาย

15 มิย 2559

ฮ. UH 1H HUEY

กองทัพบก

ตกกระแทกพื้นระหว่างลงจอดที่ดอยหัวม้า จ.แม่ฮ่องสอน ไม่มีผู้บาดเจ็บ

15 ต.ค. 2558

ฮ. Bell 205A

ตำรวจ

ลงจอดฉุกเฉินในป่ากล้วยใกล้ ต.แม่จันทร์ จ.ตาก หลังจากเครื่องยนตร์ขัดข้อง ไม่มีผู้บาดเจ็บ

26 มิ.ย. 2558

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพอากาศ

ลงจอดฉุกเฉิน ต.หนองไฮ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ไม่มีผู้บาดเจ็บ

24 มิ.ย. 2558

เครื่องบินขับไล่ GD F-16A ADF

กองทัพอากาศ

เครื่องติดแล้วดับ พุ่งแล้วไหลลงคูน้ำ นักบินดีดตัวออกมาได้

20 มี.ค. 2558

เครื่องบินลำเลียง Basler BT-67

กองทัพอากาศ

ยางแตกขณะลงจอดแล้วไถลออกจากรันเวย์ เครื่องบินกลับมาใช้งานได้ในวันเดียวกัน ไม่มีผู้บาดเจ็บ

20 ก.พ. 2558

เครื่องบินขับไล่ GD F-16A AF

กองทัพอากาศ

ตกที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ขณะฝึกยิงมิสไซล์ นักบินเสียชีวิต 1 นาย

29 ม.ค. 2558

ฮ. Bell 212

กองทัพบก

ลงจอดฉุกเฉินที่โรงเรียนใน จ.อ่างทองและ จ. กาญจนบุรี เนื่องจากเครื่องยนตร์ขัดข้อง ไม่มีผู้บาดเจ็บ

27 ม.ค. 2558

เครื่องบินลำเลียง Basler BT-67

กองทัพอากาศ

วิ่งออกนอกรันเวย์ขณะลงจอดที่ จ.ลพบุรี ไ่ม่มีผู้บาดเจ็บ

20 ม.ค. 2558

เครื่องบินลำเลียง Basler BT-67

กองทัพอากาศ

ไถลออกนอกรันเวย์ที่ จ.ลพบุรี ไม่มีผู้บาดเจ็บ

21 ธ.ค. 2557

ฮ. Jet Ranger

กองทัพบก

ตกที่ อ.เมือง จ.ยะลา เนื่องจากสาพอากาศไม่ดี บาดเจ็บ 4 นาย

17 พ.ย. 2557

ฮ. Bell 212

กองทัพบก

ตกและถูกทำลายด้วยไฟในป่ายางที่ ต.ท่าวังทอง เสียชีวิต 9 นาย

13 พ.ย. 2557

ฮ. Bell UH-1H

ตำรวจ

ตกจากความสูง 10-20 ม. หลังขึ้นบินจากจุดจอด ผู้โดยสาร (พยาบาล) บาดเจ็บ 2 ราย

5 ก.ย.

เรือเหาะ sky dragon

กองทัพบก

ลงจอดฉุุกเฉินที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ไม่มีผู้บาดเจ็บ

14 มี.ค. 2557

เครื่องบินฝึก Aero L-39ZA

กองทัพอากาศ

ไถลออกจากรันเวย์ระหว่างลงจอดฉุกเฉิน ลูกเรือ 2 คนไม่บาดเจ็บ

19 ก.พ. 2557

เครื่องบินฝึก CT/4E

กองทัพอากาศ

ลงจอดฉุกเฉินแถวกำแพงแสน ลูกเรือ 2 คนไม่บาดเจ็บ

3 ก.พ. 2557

ฮ. Schweizer TH-300C

กองทัพบก

ลุกไหม้และถูกทำลายขณะลงจอดที่ จ.นครศรีธรรมราช

13 ธ.ค. 2556

เครื่องบินโจมตี-ธุรการ Fairchild AU-23A

กองทัพอากาศ

ได้รับรายงานอุบัติเหตุ

9 ต.ค. 2556

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพบก

ตกลงในคลองน้ำ ต.เทพา จ.สงขลา หลังบินชนสายไฟฟ้าแรงสูงขณะบินตรวจสอบอาคารส่งไฟฟ้าแรงสูงระห่าง จ.ปัตตานีและสาม อ. ของจ.สงขลา ลูกเรือบาดเจ็บ 1 คนจากทั้งหมด 10 คน

27 ส.ค. 2556

เครื่องบินฝึก Aero L-39ZA

กองทัพอากาศ

รังเพลิงระเบิดขณะพยายามแก้ปัญหากระสุนติดขัดที่สนามบินอู่ตะเภา เสียชีวิต 1 บาดเจ็บ 3

20 ก.ค. 2556

เครื่องบินโจมตี-ธุรการ AU-23A

กองทัพอากาศ

ได้รับรายงานการตก

17 มิ.ย. 2556

ฮ. UH-1H

กองทัพบก

ตกในสระน้ำบริเวณ อ.บ้านนา จ.นครนายก หลังจากใบพัดส่วนหางติดขัด ลูกเรือบาดเจ็บ 5 จากทั้งหมด 8 คน

13 ธ.ค. 2555

เรือเหาะ Aeros 40D Airship

กองทัพบก

ได้รับความเสียหายที่ จ.ปัตตานี

30 เม.ย. 2555

เครื่องบินเล็ก ATR-72

กองทัพอากาศ

ลื่นออกจากรันเวย์ขณะลงจอดที่บังกลาเทศขณะฝึกบินจากกรุงเทพฯ ไปยังนิวเดลีจากกรุงดักกา บังกลาเทศ ลูกเรือบาดเจ็บ 2 จากทั้งหมด 15 คน

23 มี.ค. 2555

เครื่องบินโจมตี-ธุรการ Fairchild AU-23A

กองทัพอากาศ

ลงจอดฉุกเฉินที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี นักบิน 2 นายไม่บาดเจ็บ ช่างบาดเจ็บเล็กน้อย 1 คน

16 ธ.ค. 2554

ฮ. Bell 212

กองทัพเรือ

ใบพัดส่วนหางเสียหายโดยกระสุนปืนกลจากชายแดนกัมพูชาขณะขนส่งอาหารให้ทหารห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา 50 ม.

27 ก.ค. 2554

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพอากาศ

ลงจอดฉุกเฉินที่ทุ่งนาใน จ.อุดรธานี ไม่มีผู้บาดเจ็บ

24 ก.ค. 2554

ฮ. Bell 212

กองทัพบก

ใบพัดส่วนหางเสียหาย เสียการควบคุม จากนั้นก็ตกและลุไหม้ใกล้ๆ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะบินปฏิบัติภารกิจรับศพของผู้เสียชีวิตจาก ฮ.แบล็คฮอว์คที่ตกเมื่อ 19 ก.ค. 2554 มีผู้เสียชีวิต 3 บาดเจ็บ 1

19 ก.ค. 2554

ฮ. UH-60L Black Hawk

กองทัพบก

ตกในพม่าหลังข้ามจากชายแดนบริเวณอุทยานฯ แก่งกระจานเนื่องจากอากาศย่ำแย่และมีฝนตกหนัก เสียชีวิต 9 ราย (บินทำภารกิจนำทหารที่เสียชีวิตจากเหตุ ฮ.ตก เมื่อ 16 ก.ค. 2554 ตอนอากาศแย่ ฮ. สองลำที่ฏิบัติภารกิจถอยกลับ)

16 ก.ค. 2554

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพบก

ตกในอุทยานฯ แก่งกระจานขณะลงจอดขณะมีลมพายุ หลังได้รับภารกิจไปรับทหารที่ติดอยู่ ณ ที่หมาย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

2554

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพบก

พบซากห่างจากทิศใต้ของ สปป. ลาว 3 กม. เมื่อ 11 พ.ย. 2554

14 ก.พ. 2554

เครื่องบินขับไล่ GD F-16A ADF 2 ลำ

กองทัพอากาศ

เครื่องบิน F-16 สองลำชนกันกลางอากาศขณะร่วมฝึกซ้อมรบคอบร้า โกลด์ 2554 ที่ จ.ชัยภูมิ นักบินสองคนดีดตัวออกมาได้

11 ม.ค. 2554

ฮ. Bell 205A-1

ตำรวจ

ลงจอดฉุกเฉินที่ทุ่งนา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ขณะสำรวจเส้นทางขบวนเสด็จฯ แต่ลงจอดอย่างรุนแรงและได้รับความเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย

18 ต.ค. 2553

เครื่องบินขับไล่ F-16A

กองทัพอากาศ

ตกขณะบินฝึกบนเส้นทางตาคลีไปเชียงใหม่ เสียชีวิต 1 ราย

17 มิ.ย. 2553

เครื่องบินฝึก CT/4 Airtrainer

กองทัพอากาศ

ตกในทุ่งนาบริเวณ อ.พนมทวน บาดเจ็บ 2 ราย

23 ธ.ค. 2552

เครื่องบินขับไล่ Northrop F-5E

กองทัพอากาศ

ตกที่ จ.อุบลฯ นักบินเสียชีวิต 1 ราย

14 ก.ย. 2552

เครื่องบินขับไล่ GD F-16B

กองทัพอากาศ

ได้รับความเสียหายขณะลงจอด

31 ส.ค. 2552

ฮ. Jet Ranger

กองทัพบก

เครื่องดับขณะบินตรวจวัตถุระเบิดี่ อ.หาดใหญ่ ลงอจอดบริเวณทุ่งนาแล้วล้มกลิ้ง ไม่มีผู้บาดเจ็บ

6 มี.ค. 2552

เครื่องบินโจมตีและลำเลียง Nomad

กองทัพอากาศ

ตกหลังจากบินขึ้นจากโคกกระเทียม จ.ลพบุรี เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 4 ราย

4 ต.ค. 2551

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพอากาศ

ตกขณะอากาศย่ำแย่และมีลมแรงบริเวณยอดภูกระดึง จ.เลย บาดเจ็บ 3 จาก 5

6 ส.ค. 2551

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพอากาศ

ตกขณะบินขนส่งนายทหารระดับสูงไปประชุมด้านความมั่นคงใน อ.เบตง เสียชีวิต 10 ราย

20 มิ.ย. 2551

ฮ. Bell UH-1H

กองทัพบก

เครื่องยนต์ขัดข้องและตกบริเวณหุบเขาขณะพยายามลงจอดใน จ.ยะลา เสียชีวิต 10 ราย

21 พ.ค. 2551

เครื่องบิน Cessna T-41B หรือ Maule MX-7

กองทัพบก

ตกใน มทบ. 9 จ.กาญจนบุรีหลังบินมาจากศูนย์การบินกองทัพบก จ.ลพบุรี บาดเจ็บสาหัส 3 ราย

23 ม.ค. 2551

ฮ. Schweizer TH-300C

กองทัพบก

ตกในทุ่งนา อ.เมือง จ.ศรีสะเกษขณะฝึกบิน บาดเจ็บ 2 ราย

ที่มาข่าว: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ สำนักข่าวไทย

ที่มาข้อมูล: Thai Aviation Website ไทยรัฐ Thai PBS มติชน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระราชทานเพลิงศพ 'นาวาตรีสมาน กุนัน'

Posted: 14 Jul 2018 05:13 AM PDT

พระราชทานเพลิงศพ 'นาวาตรีสมาน กุนัน' อย่างสมเกียรติ 'ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร' ผอ.ศอร.อ่านคำไว้อาลัย ปาฏิหาริย์ครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากปราศจากความทุ่มเทของทุกคน และความดีของ 'จ่าแซม' จะตราตรึงในใจของพวกเราตลอดไป 

 
 
 
14 ก.ค. 2561 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานบรรยากาศที่วัดบ้านหนองคู ต.เมืองหงษ์ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งได้มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ นาวาตรี สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตหน่วยซีล เสียชีวิตขณะเข้าช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ซึ่งช่วงบ่ายวันนี้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ท่ามกลางความไว้อาลัยของครอบครัว ญาติ และแขกเหรื่อเป็นจำนวนมาก
 
โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องค์มนตรี ผู้แทนพระองค์ ได้เดินทางเข้าไปในศาลาสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นพล.ร.อ.นริส กลิ่นประทุม ผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่ (ผบ.ทร.)ได้อ่านพระราชโองการพระราชทานยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์พร้อมใบกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และสัญญาบัตรยศ จากนั้นครอบครัวของนาวาตรีสมาน โดยนางวลีพร กุนัน ภรรยา ได้เข้ารับพระราชโองการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์พร้อมใบกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และสัญญาบัตรยศ แล้วมอบให้เจ้าหน้าที่นำไปวางหน้าหีบศพ
 
จากนั้น นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย และ ผวจ.พะเยา ได้กล่าวขอบคุณและไว้อาลัย 'จ่าแซม' ว่าปาฏิหาริย์ ครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากปราศจากความทุ่มเทของทุกคน และท่านหนึ่งคือจ่าแซมที่ช่วยเราจนสุดความสามารถและจากเราไปอย่างไม่มีการกลับ ซึ่งความดีของจ่าแซมจะตราตรึงในใจของพวกเราตลอดไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เพื่อไทย' ค้านยกเลิกเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต กทม.

Posted: 14 Jul 2018 03:19 AM PDT

'นพดล ปัทมะ' อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศพรรคเพื่อไทย ค้านการแก้กฎหมายที่จะไม่ให้คน กทม. เลือกสมาชิกสภาเขตหรือ สข. อีกต่อไป แต่จะให้มาจากการแต่งตั้ง ระบุประชาชนควรมีสิทธิเลือกตัวแทน

 
14 ก.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าที่มีการเปิดรับฟังความเห็นประกอบการแก้กฎหมายที่จะไม่ให้ คนกรุงเทพฯเลือกสมาชิกสภาเขตหรือ สข. อีกต่อไป แต่จะให้มาจากการแต่งตั้งนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เนื่องจากเป็นการสวนกระแสการกระจายอำนาจให้คนกรุงเทพฯมีสิทธิเลือกตัวแทนของตนไปดูแลงานในเขตต่างๆ ทั้ง 50 เขต สข. ที่ประชาชนเลือกน่าจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในเขตมากกว่าการได้รับการแต่งตั้ง อีกทั้งยังเป็นปากเป็นเสียงให้คนในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ
 
"การให้ประชาชนเลือกเอง คิดเองไม่ดีกว่าหรือ อีกทั้งสภาเขตเป็นเวทีฝึกฝนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ด้วย คำถามที่ผู้เสนอแก้กฎหมายต้องตอบคือที่ผ่านมาหลายสิบปีการมีสข. มีปัญหาอะไร  เป็นอุปสรรคในการทำงานอย่างไร ท่านยังเชื่อในการตัดสินใจของคนกรุงเทพหลายล้านคนหรือจะเชื่อในคนที่จะแต่งตั้งไม่กี่คน และถามว่าคนที่ประชาชนเลือกจะช่วยตรวจสอบการทำงานของเขต การใช้งบประมาณ ดีกว่าการแต่งตั้งหรือไม่" นายนพดล กล่าว 
 
นายนพดล กล่าวว่านอกจากไม่ควรยกเลิกสภาเขตแล้วมีประเด็นว่าควรให้คนกรุงเทพเลือกผู้บริหารในเขตพื้นที่ของตนหรือไม่ เพราะคนที่ประชาชนเลือกด้วยตนเอง น่าจะตอบสนองการแก้ไขปัญหาในเขตได้ดีกว่า ซึ่งในเรื่องนี้มีการพูดคุยเบื้องต้นในพรรคเพื่อไทย ถ้าได้ข้อสรุปอย่างไรคงจะได้รับฟังความเห็นจากชาวกรุงเทพฯต่อไป เมื่อสามารถทำได้ตามกฎหมายเนื่องจากปัญหาของคนกรุงเทพฯต้องแก้โดยคนกรุงเทพฯ และต้องรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดุลยภาค ปรีชารัชช: วิเคราะห์การเมืองสันติภาพเมียนมา

Posted: 14 Jul 2018 02:03 AM PDT

ประธานาธิบดีวินมินท์ จับมือกับมูตูเซโพ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในการประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 รอบที่ 3 เมื่อวันพุธที่ 11 กรกฎาคม 2018 ในภาพยังมีอองซานซูจี มนตรีแห่งรัฐ และ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส. ที่มา: MNA/The Global New Light of Myanmar, 12 July 2018 P.1

ในช่วงวันที่ 11 ถึง 16 กรกฏาคมนี้ เมียนมามีการประชุมสันติภาพปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 รอบที่สาม จัดขึ้นที่กรุงเนปิดอว์โดยมีคณะผู้แทนรัฐบาลเมียนมากับกองกำลังชนชาติพันธุ์ รวมถึงตัวแทนจากภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ในแง่พัฒนาการการเมือง รัฐบาลพรรค NLD (National League for Democracy) ประกาศให้มีการประชุมสันติภาพแห่งสหภาพ หรือ UPC (Union Peace Conference) ภายใต้ชื่อ "ปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21" ขึ้นครั้งแรกในปลายเดือนสิงหาคมจนถึงต้นกันยายน ค.ศ. 2016 ต่อมาจัดให้มีประชุมรอบสองในเดือนพฤษภาคม 2017 และการประชุมรอบสามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้

นางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐได้ย้อนระลึกถึงการประชุมปางโหลงเมื่อปี ค.ศ. 1947 ซึ่งนายพลอองซาน (บิดาของเธอ) เคยแสดงบทบาทเจรจากับผู้นำชาติพันธุ์จนช่วยวางรากฐานการบูรณาการดินแดนและประชากรระหว่างเขตบริหารพม่าแท้กับเขตชาติพันธุ์ชายแดนภูเขา พร้อมเบิกทางให้เมียนมาจัดตั้งรัฐเอกราชสำเร็จ ทว่า สารัตถะข้อตกลงปางโหลงที่สัมพันธ์กับสิทธิอำนาจปกครองตนเองของชนชาติพันธุ์และความพยายามที่จะสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Democratic Federation) ได้ถูกทำลายลงสิ้นเชิงนับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 1962 พร้อมถูกกดทับแทนที่ด้วยกระบวนการโยงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางใต้ร่มรัฐเดี่ยวและระบอบเผด็จการทหารซึ่งกินเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมรดกตกทอดจากระบบเอกรัฐอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในวิวัฒนาการประวัติศาสตร์ หากแต่หลังปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 2011 จนถึงตลอดสมัยรัฐบาล NLD กระบวนการสันติภาพเมียนมากลับแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าบางประการ โดยเฉพาะการก่อรูปของสถาบันและกลไกสันติภาพซึ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนเจรจาการเมืองที่กรุยทางไปสู่การสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตยในอนาคต เพราะฉะนั้น การประชุมปางโหลงรอบล่าสุดในสัปดาห์นี้ จึงมีนัยสำคัญต่อประวัติศาสตร์สันติภาพ หากแต่พลังปางโหลงที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใต้รัฐเสนาธิปัตย์ที่กองทัพยังทรงบทบาทในฐานะผู้สร้างรัฐผ่านการรณรงค์สงครามที่ยาวนานและใต้รัฐพหุชาติพันธุ์ที่เต็มไปด้วยปมขัดแย้งที่รุนแรงร้าวลึก ก็คงทำให้การเนรมิตสันติภาพที่จีรังยั่งยืน ไม่ใช่ภารกิจที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้โดยง่าย

ในบทความนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการจัดการความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในเมียนมามีทั้งความก้าวหน้าและความคงที่ถดถอยระคนปนเปกันไป อันเป็นผลจากชุดปัจจัยตัวแปรที่รุกกระทบเข้ามาบนเส้นทางสันติภาพ โดยแต่ละปัจจัยมีจุดอ่อนจุดแข็งที่ก่อให้เกิดทั้งความรวดเร็วและความล่าช้าในกระบวนการสันติภาพ หากแต่ชุดปัจจัยที่ห้อมล้อมเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน ดังนั้น ผู้เขียนจึงพยายามประดิษฐ์กรอบแนวคิดทฤษฏีใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจที่ง่ายขึ้นและคมชัดขึ้นเกี่ยวกับการเมืองสันติภาพเมียนมา โดยจะแบ่งปัจจัยวิเคราะห์ออกเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ 1. ปัจจัยเชิงโครงสร้าง (Structural Factor) 2. ปัจจัยตัวแสดงหรือผู้กระทำการ (Agent Factor) และ 3. ปัจจัยกลไก (Mechanism Factor) โดยปัจจัยทั้งสามมีความเชื่อมโยงประสานกันแนบแน่นซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยดังนี้

1. ปัจจัยเชิงโครงสร้าง หมายถึง สภาวะแวดล้อมขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวเข้าประชิดและส่งอิทธิพลต่อโครงสร้างรัฐเมียนมาระยะเปลี่ยนผ่านจนก่อเกิดทั้งความเปลี่ยนแปลงและความสืบเนื่องในกระบวนการสันติภาพซึ่งประกอบด้วยตัวแปรแยกย่อย อาทิ

1.1.  ตัวแปรการเมือง: การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยช่วยเอื้อหนุนต่อบรรยากาศการเจรจาสันติภาพที่ดูเปิดกว้างมีเสรีขึ้น รวมถึงช่วยกระตุ้นการบ่มเพาะองค์ความรู้ใหม่ๆทางด้านการเมืองให้กับกลุ่มผู้นำและประชาชน เช่น การพัฒนาประชาธิปไตยและสหพันธรัฐนิยม (Federalism) หากแต่มรดกอำนาจนิยมจากระบอบการเมืองชุดเก่าก็ส่งผลให้ทหารเมียนมาทรงบทบาทสำคัญในการออกแบบรัฐซึ่งกองทัพได้เน้นย้ำไปที่เอกภาพชาติและการรวมอำนาจหลายส่วนไว้ที่ศูนย์กลาง

1.2. ตัวแปรสังคมชาติพันธุ์: สภาวะพหุชาติพันธุ์ในเมียนมาส่งผลให้การสร้างสันติภาพต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มใหญ่กับคนกลุ่มน้อยที่สัมพันธ์กับการรบพุ่งทางการเมืองการทหารที่รุนแรงยาวนานและการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างพลังชาตินิยมของคนพม่าแท้กับชนชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวพม่าอีกหลายกลุ่ม กลับส่งผลต่อความหวาดระแวงไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันในกลุ่มผู้นำและประชากรเมียนมา

1.3. ตัวแปรเศรษฐกิจทรัพยากร: ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและการเปิดพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม ทำให้การแบ่งสรรอำนาจทรัพยากร (Power Sharing) ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงหลักบนเวทีสันติภาพและการออกแบบสหพันธรัฐ กระนั้น การขับเคี่ยวแย่งชิงทรัพยากร เช่น สินแร่ อัญมณี และป่าไม้ในรัฐคะฉิ่น กลับนำมาซึ่งสงครามและความขัดแย้งการเมืองจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาหยุดยิงและกระบวนการสันติภาพ

1.4. ตัวแปรการทหาร: สงครามกลางเมืองที่ดำรงอยู่ยาวนานทำให้การปะทะทางทหารดำเนินควบคู่ไปกับการเจรจาสันติภาพจนทำให้กองทัพเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์กลายเป็นคู่เจรจาหลักทั้งในส่วนการหยุดยิงและการเจรจาการเมือง โดยแม้จะมีความพยายามที่จะยุติการสู้รบทั่วประเทศ แต่การปะทุของไฟสงครามในหลายพื้นที่ล้วนมีผลต่อการชะงักงันของพลังสันติภาพ โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของกองทัพเมียนมาเพื่อใช้ความรุนแรงทางทหารเข้ากดปราบทำลายหรือลดอำนาจต่อรองของฝ่ายตรงข้าม

1.5. ตัวแปรระหว่างประเทศ: เมียนมาได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนนานาชาติในการพัฒนาสันติภาพเพิ่มขึ้น เช่น การให้เงินอุดหนุนจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อฝึกอบรมบุคลากรพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการเมืองสันติภาพและสหพันธรัฐนิยม หรือ การกดดันของจีนต่อกองกำลังติดอาวุธ เช่น ว้าและโกก้าง เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้หันมาเจรจาสันติภาพกับทางการเมียนมามากขึ้น ทว่า เป้าหมายยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจและกลุ่มติดอาวุธเอง ก็อาจชักนำความเปราะบางมาสู่กระบวนการสันติภาพได้ อาทิ การแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐในรัฐฉาน รัฐคะฉิ่นและรัฐอาระกัน หรือ การที่กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ยังติดต่อรับความช่วยเหลือด้านการเมืองหรือด้านยุทโธปกรณ์จากมหาอำนาจ ซึ่งกองทัพเมียนมามองว่าเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพรัฐ

จากการประเมินชุดปัจจัยเชิงโครงสร้างแบบสังเขป พบว่า แต่ละตัวแปรล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันรวมถึงมีทั้งจุดอ่อนจุดแข็งหรือจุดสร้างสรรค์และจุดเสี่ยงผสมปะปนกันไป จนทำให้กระบวนการสันติภาพในเมียนมามีทั้งภาวะก้าวหน้าและภาวะคงที่ถดถอยหรือชะงักงันสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่เป็นระยะ

2.ปัจจัยตัวแสดงหรือผู้กระทำการ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่กลุ่มการเมืองที่เข้ามามีบทบาทในการเจรจาสันติภาพครอบคลุมทั้งฝ่ายรัฐบาล กองทัพ รัฐสภา กองกำลังชาติพันธุ์ ตลอดจน พรรคการเมือง ประชาสังคม และ ชุมชนนานาชาติ โดยแนวคิดการเมืองและการตัดสินใจของตัวแสดงล้วนส่งผลต่อเส้นทางสันติภาพระยะเปลี่ยนผ่าน การปรับเปลี่ยนอุดมการณ์การเมืองและการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ของผู้กระทำการย่อมได้รับอิทธิพลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง หากแต่การเจรจาต่อรองการเมืองของบรรดาตัวแสดงก็ส่งผลต่อทั้งบริบทเชิงโครงสร้างและต่อเส้นทางสันติภาพดุจเดียวกัน

ในที่นี้ ผู้เขียนขอกล่าวเฉพาะแค่กลุ่มรัฐบาล กองทัพและกองกำลังชาติพันธุ์ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งที่ทำสงครามรบพุ่งกันรุนแรงในอดีต รวมถึงมีบทบาทโดดเด่นในกระบวนการหยุดยิงซึ่งเป็นยุทธศาสตร์พื้นฐานในการบริหารควบคุมความขัดแย้งระยะสั้นซึ่งจะปูทางไปสู่การเจรจาการเมืองและการสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขระงับความขัดแย้งระยะกลางและระยะยาว โดยในช่วงก่อนปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 2011 หรือในสมัยการปกครองรัฐบาลทหาร อาจถือได้ว่า กองทัพกับรัฐบาลคือตัวแสดงกลุ่มเดียวกัน แต่หลังจากการก่อรูปรัฐบาลกึ่งพลเรือนของพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) จนถึงรัฐบาลใหม่พรรค NLD กองทัพกับรัฐบาลเมียนมาจัดเป็นผู้กระทำการที่เริ่มมีแนวคิดและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการเมืองที่แตกต่างกัน หากแต่ก็มีจุดร่วมบางประการที่ทำให้ทั้งสองกลุ่มต้องร่วมมือกันในการต่อรองกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

สำหรับทหารเมียนมา มักเชื่อว่าการสร้างเอกภาพชาติ (National Unification) มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้น การสร้างรัฐเดี่ยวรวมศูนย์หรือรัฐกึ่งสหพันธ์ที่วางอยู่บนฐานการโยงอำนาจเข้าสู่แกนกลาง จึงเป็นตัวแบบการปกครองที่น่าจะเหมาะสมกับรัฐเมียนมามากที่สุดเพราะทำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพขึ้นในเวลาเดียวกัน ส่วนทางฟากรัฐบาล กลุ่มผู้นำในชุดบริหารพรรค USDP มักมีแนวคิดการออกแบบรัฐที่ใกล้เคียงกับกองทัพเมียนมา เช่น การเน้นรักษาอำนาจให้เหนียวแน่นในระดับสหภาพและต่อต้านการแยกดินแดนแบบเต็มที่ หากแต่ผู้นำรัฐบาลก็มักมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากรอบกลไกเจรจาการเมืองเพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพและวางแนวทางแก้ไขความขัดแย้งให้มีประสิทธิภาพขึ้น ส่วนทางฟากรัฐบาล NLD ได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างสหพันธรัฐและการพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อยุติความขัดแย้งการเมืองแบบถาวร หากแต่ก็มีจุดยืนเหมือนกองทัพและรัฐบาล USDPในเรื่องการต่อต้านการเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพของหน่วยดินแดนมลรัฐ ขณะที่ทางฟากกองกำลังชาติพันธุ์ ประกอบด้วยกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนอย่างรุนแรงในอดีตกับกลุ่มที่พยายามเรียกร้องให้มีการสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งต้องมีการกระจายอำนาจที่เท่าเทียมกันระหว่างสหภาพกับมลรัฐ ตลอดจนให้มลรัฐมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองและมีอำนาจบริหารปกครองดินแดนในระดับสูง

เมื่อย้อนพินิจดูทฤษฏีเกม (Game Theory) ในทางรัฐศาสตร์ ตัวแสดงในระบบการเมืองสันติภาพเมียนมาอาจถูกจัดกลุ่มจำแนกออกเป็นพวก "Hardliner" กับ "Soft-liner" ซึ่งหมายถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยมในฝั่งรัฐบาล/กองทัพ ที่เน้นการใช้กำลังรุนแรงกับกลุ่มปฏิรูปนิยมที่เน้นการเจรจาประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้าม และ พวก "Radical" กับ "Moderate" ซึ่งหมายถึงกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีทั้งพวกที่มีอุดมการณ์ปฏิวัติรุนแรงพร้อมสู้รบกับรัฐบาลและพวกที่ยอมปฏิรูปผ่อนปรนกับส่วนกลาง วิวัฒนาการสันติภาพเมียนมาห้วงปัจจุบันได้สะท้อนให้เห็นว่าพวก "Hardliner" กับ "Radical" ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มที่พร้อมใช้กำลังรุนแรงเข้าสัประยุทธ์กับคู่ปรปักษ์ เริ่มหันมาเจรจารอมชอมกับคู่ขัดแย้งในอดีตมากขึ้น เช่น การที่กองทัพเมียนมาประกาศร่วมมือกับรัฐบาลในการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ กระนั้นก็ตาม ตัวแสดงสายนี้ มักเลือกที่จะเล่นบทบาทเป็นผู้ถอยห่างออกจากความเสี่ยงในวงประชุมสันติภาพแบบเป็นทางการเพื่อให้กระบวนการสันติภาพสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็กลับแสดงบทบาทเป็นผู้แสวงหาความเสี่ยงในสมรภูมิรบจริง ซึ่งหากกลุ่มที่เลือกเล่นเกมแนวนี้ทำสำเร็จในการก่อสงครามหรือใช้กลยุทธ์การเมืองเข้าทำลายฝ่ายตรงข้าม กลุ่มดังกล่าวก็จะมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นในกระบวนการหยุดยิงและการเจรจาการเมือง

จากแบบแผนดังกล่าว อาจมองได้ว่า การแปรเปลี่ยนแนวคิดการเมืองของกลุ่มตัวแสดงที่ค่อยๆลดความรุนแรงสุดโต่งลง เช่น การที่ผู้นำสายอนุรักษ์นิยมภายในกองทัพและรัฐบาลยอมคลายความยึดมั่นจากตัวแบบรัฐเดี่ยวรวมศูนย์มาเป็นกึ่งสหพันธรัฐรวมศูนย์ หรือ การลดทอนอุดมการณ์จากการตั้งรัฐอิสระแยกตัวออกจากสหภาพแบบเปิดเผยมาเป็นการเรียกร้องระบบสหพันธรัฐใต้ร่มสหภาพในหมู่ผู้นำชนกลุ่มน้อย ก็ได้ช่วยเปิดโอกาสให้การเจรจาการเมืองมีลักษณะรอมชอมขึ้นจนนำไปสู่การพัฒนาสันติภาพและการปฏิรูปสหพันธรัฐที่ค่อยๆรุดหน้าตามลำดับ แต่กระนั้นก็ตาม การพยายามรักษาสถานภาพเดิมและการปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย ทำให้กลุ่มตัวแสดงที่เคยเป็นปฏิปักษ์ผ่านการทำสงครามกลางเมืองที่รุนแรงยาวนานในอดีต เกิดความหวาดระแวงต่อกันและพร้อมที่จะเข้าแข่งขันปะลองกำลังทางการเมืองการทหารจนส่งผลต่อความถดถอยชะงักงันในกระบวนการสันติภาพ

แผนภาพแสดงกรอบวิเคราะห์กระบวนการสันติภาพเมียนมาซึ่งแบ่งออกเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง ปัจจัยตัวแสดง และ ปัจจัยเชิงกลไก โดยปัจจัยแรกมีองค์ประกอบแยกย่อยในเชิงบริบทที่ทั้งส่งเสริมและสกัดกั้นความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพ ส่วนปัจจัยตัวแสดงล้วนเต็มไปด้วยกลุ่มผู้เล่นจำนวนมาก แต่ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอเพียงแค่รัฐบาล กองทัพและกองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งสามารถแบ่งแยกย่อยได้หลากแง่มุม เช่น ผู้เล่นในฝั่งรัฐบาลที่มีทั้งรัฐบาลพรรค USDP กับ NLD หรือ รัฐบาลมลรัฐที่เน้นเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่และรัฐบาลสหภาพที่เน้นการประชุมลงนามข้อตกลงและการเจรจาการเมืองทั่วประเทศ ขณะที่ฟากกองทหารชาติพันธุ์ในปัจจุบัน อาจจำแนกคร่าวๆออกเป็นสามกลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลและกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2015 ซึ่งมีทั้งหมดแปดกลุ่ม เช่น RCSS (Restoration Council of Shan State) และ KNU (Karen National Union) (แต่ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็นสิบกลุ่ม ) 2. กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสหพันธรัฐและประชาธิปไตยที่สอดคล้องล้อรับกับโครงสร้างสังคมพหุชาติพันธุ์ในเมียนมา หรือที่เรียกกันว่า UNFC (United Nationalities Federal Council) ซึ่งมีสมาชิกอาทิ KNPP (Karenni National Progressive Party) และ LDU (Lahu Democratic Union) และ 3. กลุ่ม FPNCC หรือ Federal Political Negotiation and Consultative Committee ซึ่งนำโดย UWSA (United Wa State Army) พร้อมกลุ่มติดอาวุธพันธมิตรฝ่ายเหนือรวมถึงกลุ่มอื่นๆในเขตรัฐฉานและบางส่วนของรัฐคะฉิ่น อาทิ SSPP (Shan State Progress Party) และ TNLA (Ta'ang National Liberation Army) สำหรับปัจจัยสุดท้าย คือ ปัจจัยกลไกซึ่งผู้เขียนแบ่งออกเป็นกลไกสถาบันสันติภาพกับกลไกแห่งอำนาจที่มุ่งเน้นไปที่เกมยุทธศาสตร์ แต่เนื่องจากรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมากเกี่ยวกับกลไกปฏิบัติการสันติภาพของเมียนมา บทความนี้จึงเพียงแต่นำเสนอเฉพาะแค่ข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น โดยรายละเอียดเชิงลึก ผู้อ่านสามารถสืบค้นได้จากบรรณานุกรมท้ายบทความ

3.ปัจจัยเชิงกลไก หมายถึง กลไกปฏิบัติการในการเมืองสันติภาพ โดยผู้เขียนเห็นว่ามีกลไกอย่างน้อยสองประเภทหลักในกระบวนการสันติภาพเมียนมา ได้แก่ 1.กลไกเชิงสถาบันที่แสดงถึงการก่อตัวขององค์กรที่รับผิดชอบสายงานด้านสันติภาพรวมถึงขั้นตอนการทำงานของสถาบันสันติภาพที่ถูกเนรมิตปลูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มการเมืองพร้อมถูกผลักดันโดยมิติเชิงบวกของปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะเปลี่ยนผ่าน และ2.กลไกแห่งอำนาจที่มุ่งเน้นไปที่การแย่งชิงผลประโยชน์และการดำเนินเกมยุทธศาสตร์ของกลุ่มการเมืองต่างๆซึ่งเป็นผลมาจากรากเหง้าการต่อสู้ประหัตประหารกันในอดีตระหว่างกลุ่มปฏิปักษ์ รวมถึงจากมิติเชิงลบของปัจจัยโครงสร้าง การผสมผสานระหว่างกลไกสถาบันกับกลไกอำนาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางสันติภาพเมียนมาซึ่งมีทั้งการร่วมมือประนีประนอมกันและการแข่งขันขับเคี่ยวแย่งชิงอำนาจระหว่างคู่เจรจาจนก่อเกิดทั้งความก้าวหน้าและความถดถอยบนเส้นทางสันติภาพ

นับตั้งแต่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 กระบวนการสันติภาพเมียนมาถูกทำให้เป็นสถาบันมากขึ้น ประธานาธิบดีเต็งเส่งเคยประกาศแนวทางสันติภาพสามขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1.ระดับมลรัฐ (State-Level) ที่มุ่งย้ำไปที่การหยุดยิงและการตั้งสำนักงานประสานติดต่อระหว่างตัวแทนรัฐบาล/กองทัพกับตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 2.ระดับสหภาพ (Union-Level) ที่เน้นการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการเจรจาการเมืองในวงกว้าง และ 3. ระดับรัฐสภา (Parliamentary-Level) ที่มุ่งสู่การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติพร้อมรับรองข้อตกลงให้ถูกต้องตามกฏหมาย จากบันไดสันติภาพสามขั้น การพบปะพูดคุยระหว่างรัฐบาล กองทัพและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ได้ทยอยเคลื่อนตัวไต่ระดับอย่างเป็นระบบระเบียบจากขั้นมลรัฐ ขึ้นสู่ขั้นสหภาพไปจนถึงขั้นรัฐสภา

ระหว่างเส้นทางพัฒนาการดังกล่าว ทั้งรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ได้พยายามประดิษฐ์กลไกสันติภาพเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการทำงานของแต่ละฝ่าย สำหรับฟากรัฐบาลUSDP ได้จัดตั้งทีมทำงานสันติภาพขึ้น ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการกลางจัดทำสันติภาพสหภาพ (UPCC – Union Peacemaking Central Committee) ซึ่งมีสมาชิกครอบคลุมผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับสูงสุดในด้านนโยบายการเมืองความมั่นคงและแผนสันติภาพ เช่น ประธานาธิบดี ประธานสภาประชาชน ประธานสภาชนชาติ และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ 2. คณะกรรมการทำงานจัดทำสันติภาพสหภาพ (UPWC-Union Peacemaking Working Committee) ซึ่งมีหน้าที่นำแนวนโยบายสันติภาพของ UPCC ไปปฏิบัติ มีสมาชิกทำงานทั้งสิ้น 52 ท่าน เช่น รัฐมนตรีในระดับสหภาพ มุขมนตรีในระดับมลรัฐ และ แม่ทัพภาค ส่วนทางฝั่งกองกำลังชาติพันธุ์ ได้มีการจัดตั้งทีมประสานหยุดยิงแห่งชาติ หรือ NCCT (National Ceasefire Coordination Team) เมื่อปี ค.ศ. 2013 (จากการประชุมที่ไลซาในรัฐคะฉิ่น) ซึ่งทำหน้าที่เสริมสร้างเอกภาพในกลุ่มกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยและเป็นตัวแทนสมาชิกองค์กรการเมืองชาติพันธุ์ในการเข้าไปเจรจาหยุดยิงกับตัวแทนทางการเมียนมา สมาชิกประกอบด้วยกลุ่มองค์กรต่างๆ อาทิ องค์กรอิสระคะฉิ่น (KIO-Kachin Independence Organization) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU – Karen National Union) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP – New Mon State Party) พรรครัฐฉานก้าวหน้า (SSPP – Shan State Progress Party) ฯลฯ การพบปะเจรจากันบ่อยครั้งระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กับรัฐบาลเมียนมา โดยเฉพาะการนัดพบระหว่าง NCCT กับ UPWC รวมถึงการเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งและส่งเสริมการเจรจาการเมืองแบบสันติวิธีขององค์กรประสานช่วยเหลือทางเทคนิคอย่าง MPC (Myanmar Peace Center) หรือ EBO (Euro-Burma Office) ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าในกระบวนการสันติภาพและการอภิปรายเกี่ยวกับการออกแบบสหพันธรัฐนิยม ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ การเจรจาหยุดยิงแห่งชาติ (NCA-National Ceasefire Agreement) ซึ่งจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและมีการลงนามข้อตกลงระหว่างตัวแทนรัฐบาลเมียนมากับตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์แปดกลุ่ม ในวันที่ 15ตุลาคม ค.ศ. 2015

ความสำเร็จของการหยุดยิงทั่วประเทศสะท้อนขั้นตอนการทำงานของกลไกสันติภาพ โดยกิจกรรมต่อรองที่สัมพันธ์กับการยุติการสู้รบในพื้นที่เกิดขึ้นในระดับมลรัฐก่อน เช่น การเจรจาระหว่างรัฐบาลรัฐฉานกับกองกำลังติดอาวุธไทใหญ่ หลังจากนั้น กระบวนการได้เคลื่อนย้ายสู่ระดับสหภาพซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเจรจาการเมืองและการสร้างวงอภิปรายเกี่ยวกับการออกแบบสหพันธรัฐ จนเมื่อขั้นตอนมลรัฐและสหภาพเสร็จสิ้นลง กระบวนการขั้นสุดท้ายจึงเข้าสู่ระดับรัฐสภา ซึ่งหมายถึง การลงนามและรับรองข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติให้มีความชอบธรรมตามกฎหมาย จากกรณีดังกล่าว สารัตถะของNCA จึงมิได้ครอบคลุมแค่แนวปฏิบัติเรื่องการหยุดยิงและการระงับการใช้ความรุนแรงทางทหารในระดับมลรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร่วมมือก่อตั้งระบบสหพันธรัฐประชาธิปไตยในระดับสหภาพบนรากฐานของความเท่าเทียมกันและจิตวิญญาณข้อตกลงปางโหลงเมื่อปี ค.ศ. 1947 (หากแต่ก็ต้องเคารพไว้ซึ่งหลักความมั่นคงแห่งชาติสามประการ ซึ่งเป็นอุดมการณ์การเมืองหลักของกองทัพเมียนมา นั่นคือ มิให้สหภาพต้องแตกแยก มิให้ความสามัคคีสมานฉันท์ต้องถูกทำลาย และ การรักษาอธิปไตยต้องมั่นคง)

หลังจากการลงนาม NCA รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศแผน "Roadmap" ที่ชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนกระบวนการสำคัญที่จะเกิดขึ้นต่อจาก NCA ซึ่งไล่เรียงกันมาเป็นอันดับโดยเริ่มต้นจากการทบทวนแก้ไขกรอบเจรจาการเมือง การจัดประชุมสันติภาพแห่งสหภาพ การลงนามข้อตกลงการเมืองแห่งสหภาพ (ยึดตามผลเจรจาของการประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21) การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อตกลงการเมืองแห่งสหภาพ ไปจนถึง การจัดให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยพหุพรรค ซึ่งในที่สุดก็จะปูทางไปสู่การสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยในเมียนมา ดังนั้น การเมืองสันติภาพเมียนมาจึงต้องเดินทางไปตามกรอบ Roadmap ที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบัน รัฐบาลพรรค NLD กำลังอยู่ในช่วงจัดประชุมสันติภาพแห่งสหภาพ หรือ UPC (Union Peace Conference) ซึ่งเป็นห้วงประชุมภายใต้ชื่อ "ปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21" รอบที่สาม โดยคาดกันว่า หากไม่มีเหตุสะดุดหรืออุปสรรคขัดขวางสำคัญระหว่างทาง กระบวนการสันติภาพเมียนมาก็คงจะผ่านขั้นตอนที่เหลือทั้งหมดจนก้าวเข้าสู่การจัดตั้งระบบสหพันธรัฐประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งทั่วประเทศในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นตัวแบบการเมืองการปกครองที่สามารถแก้ไขความขัดแย้งเมียนมาได้ยั่งยืนสถาพร

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆที่การเมืองสันติภาพเมียนมากำลังถูกทำให้เป็นสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ หากแต่การสู้รบและการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองระหว่างตัวแสดงต่างๆกลับก่อตัวปะทุอยู่เป็นระยะ จนส่งผลให้เกิดความถดถอยชะงักงันอยู่เป็นห้วงๆ การทำงานของกลไกแห่งอำนาจเหล่านี้เผยให้เห็นถึงพัฒนาการของเกมยุทธศาสตร์ (Strategic Game) ที่รุกกระทบเข้าไปในเส้นทางสันติภาพเมียนมาระยะเปลี่ยนผ่าน โดยพบเห็นการส่งออกกลยุทธ์เชิงแข่งขันของกลุ่มตัวแสดงเข้าไปในกรอบขั้นตอนสันติภาพและเข้าไปในสมรภูมิการสู้รบจริงในห้วงเวลาประชิดไล่เลี่ยกัน

กองทัพเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ได้เล่นเกมปะทุสงคราม (War Escalation) เพื่อรักษาสถานภาพเดิมและเพิ่มอำนาจเจรจาต่อรองของแต่ละฝ่าย ตัวอย่างเด่นชัด คือ ระหว่างการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ ทหารบกเมียนมาพร้อมกำลังสนับสนุนทางอากาศได้เปิดสงครามโจมตีฐานที่มั่นสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS-Restoration Council of Shan State) ซึ่งคาดว่าจะเป็นการกดดันให้ทหารไทใหญ่ถอนกำลังกลับสู่ที่ตั้งและเปิดทางให้กองทัพเมียนมามีอำนาจอิทธิพลสูงขึ้นในการเจรจาการเมือง หรือ การบีบคั้นทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรงโดยทหารเมียนมา ได้ทำให้กองกำลังติดอาวุธสี่กลุ่มหลักรวมตัวกันจัดตั้งค่ายพันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance) ซึ่งประกอบด้วยกองทัพคะฉิ่นอิสระ (KIA - Kachin Independence Army) กองทัพอาระกัน (AA - Arakan Army) กองทัพโกก้าง หรือ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MDAA-Myanmar National Democratic Alliance Army) และ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA-Ta'ang National Liberation Army) โดยกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือได้ให้เหตุผลว่าการถูกทหารเมียนมาลุกไล่เข้ามาในเขตอิทธิพลทำให้กลุ่มติดอาวุธทั้งสี่ต้องรวมพลังตอบโต้ทหารเมียนมา พฤติกรรมพันธมิตรฝ่ายเหนือถือเป็นการเล่นเกมประลองสงครามเพื่อตีโต้ถ่วงดุลกับเกมปะทุของฝ่ายทหารเมียนมาอีกต่อหนึ่ง หากแต่ผลที่ตามมา คือ อำนาจต่อรองที่พุ่งสูงขึ้นของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการเจรจาการเมืองของกลุ่มบนเวทีสันติภาพทั้งในระดับสหภาพและในรัฐฉานตอนบนกับรัฐคะฉิ่น

นอกเหนือจากเกมสงครามแล้ว ยังพบเห็นเกมกลยุทธ์ในลักษณะอื่นที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพเมียนมา การจัดประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ของรัฐบาล NLD ถูกรับรู้จากกองกำลังชนกลุ่มน้อยบางส่วนว่าเป็นการเล่นกลยุทธ์แปลงผัน (Conversion Strategy) ซึ่งมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงสารัตถะของการประชุมที่หันเหออกจากความเข้าใจรับรู้ดั้งเดิมหรือเป็นการตีความยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ฝั่งรัฐบาลมากกว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อย รัฐบาลเมียนมาได้กำหนดให้ปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นการประชุมสันติภาพที่รวบรวมตัวแสดงที่เกี่ยวข้องเข้ามามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมสร้างวงอภิปรายที่กินเนื้อหากว้างขวางตั้งแต่เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร ที่ดินและทรัพยากร ซึ่งถึงแม้จะส่งผลดีตามหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและสอดรับกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่แบ่งแยกย่อยออกเป็นหลายมิติ หากแต่ก็แฝงเร้นไปด้วยกลยุทธ์แปลงผันที่มีจำนวนตัวแสดงหรือสารัตถะบางอย่างแตกต่างจากการประชุมปางโหลง 1947 ซึ่งเน้นแต่เพียงการเจรจาการเมืองระหว่างตัวแทนรัฐบาลเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ หรือเน้นหนักไปที่การจัดวางปฏิสัมพันธ์ทางการปกครองระหว่างเขตพม่าแท้กับเขตชาติพันธุ์ชายแดนภูเขา ผลกระทบที่ตามมา คือ ความหวาดวิตกของกองกำลังชาติพันธุ์ในเรื่องความโดดเด่นและดุลอำนาจต่อรองของฝ่ายตนที่อาจถูกข่มให้มัวหรือถูกแทนที่ด้วยอำนาจต่อรองของฝ่ายพม่าที่พุ่งสูงกว่า เช่น การรวมพลังกันระหว่างรัฐบาล กองทัพ รัฐสภา พรรคการเมืองและภาคประชาสังคมพม่าแท้ เพื่อกดดันกองกำลังชนกลุ่มน้อยให้ตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบในกระบวนการสันติภาพและการออกแบบสหพันธรัฐ

กระนั้นก็ดี กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางส่วนก็มียุทธศาสตร์การเมืองเฉพาะเพื่อรักษาสถานภาพเดิมและธำรงไว้ซึ่งความอยู่รอดโดยพบเห็นการเลือกใช้กลยุทธ์ชะลอเบี่ยง (Drift Strategy) ที่พุ่งเป้าไปที่การทำสถานการณ์ให้ค้างเติ่งทอดระยะเวลาออกไปเพื่อให้ฝ่ายตนได้ออมกำลังสะสมพลังต่อสู้ใหม่พร้อมเฝ้าจับตาดูพฤติกรรมของฝ่ายกองทัพและรัฐบาลให้แน่ชัดก่อนที่ฝ่ายตนจะตัดสินใจเจรจากับฝ่ายตรงข้ามในรอบถัดไป ตัวอย่างสำคัญเช่น ข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ให้ยืดระยะเวลาการจัดทำข้อตกลงการเมืองแห่งสหภาพออกไปก่อน แทนที่จะอยู่ในกรอบระยะเวลาที่รวดเร็วตามที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอ หรือการนิ่งเงียบเพื่อรักษาสถานภาพเดิมและเฝ้าประเมินความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลและกองทัพ ซึ่งทำให้กระบวนการสันติภาพในช่วง ค.ศ. 2013-2014 เกิดอาการชะลอตัว จนเมื่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทั้งแปดกลุ่มเกิดแน่ใจในการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของฝ่ายตนแล้ว จึงค่อยหันมาตัดสินใจลงนามในข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติช่วงปลายปี ค.ศ. 2015

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลไกสถาบันกับกลไกอำนาจมีความเชื่อมโยงลึกซึ้งพร้อมส่งผลต่อความก้าวหน้าและความถดถอยในกระบวนการสันติภาพ โดยขณะที่คู่เจรจาหลักต้องพยายามร่วมมือรอมชอมกันมากขึ้นเพื่อให้เกิดพัฒนาการตามกรอบขั้นตอนสันติภาพ การงัดเกมกลยุทธ์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองหรือรักษาสถานภาพเดิมของตัวแสดงแต่ละฝ่ายก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนกล่าวได้ว่า การเมืองสันติภาพที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน (Institutionalized Peace Politics) กับ การเมืองสัจนิยม (Realist Politics) ที่เน้นไปที่การแข่งขันต่อรองอำนาจและการต่อสู้การเมืองการทหารที่รุนแรงเพื่อธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์และความอยู่รอด คือ ระเบียบกลไกการทำงานที่เป็นจุดหัวใจหลักของระบบการเมืองสันติภาพเมียนมายุคปัจจุบัน

ส่วนในแง่ลักษณะของเกมยุทธศาสตร์ อาจมีเพียงแค่เกมปะทุสงครามที่ผู้เล่นได้ใช้สนามรบบนภูมิประเทศจริงเป็นสนามแข่งขันดิบซึ่งอยู่นอกเขตสนามต่อรองในวงประชุมสันติภาพซึ่งมีลักษณะเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนในเกมกลยุทธ์อื่นๆ ผู้เล่นเกมต่างจำเป็นต้องเดินหมากตามกรอบขั้นตอนกระบวนการสันติภาพซึ่งถูกทำให้เป็นสถาบันการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม แม้เกมสมครามจะถูกจุดขึ้นนอกวงประชุมเจรจาสันติภาพแบบเป็นทางการ แต่ถ้าจะมองให้ลงลึกขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ผลการสู้รบทางทหารของแต่ละฝ่ายย่อมถูกแปลงค่าออกมาเป็นแต้มคะแนนเพื่อให้ฝ่ายที่กุมชัยชนะในสนามรบจริงมีอำนาจต่อรองสูงกว่าฝ่ายตรงข้ามในการเจรจาการเมืองใต้กรอบสถาบันสันติภาพ จากแบบแผนการละเล่นดังกล่าว การเมืองสัจนิยมจึงถูกเชื่อมโยงบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับการเมืองเชิงสถาบัน ซึ่งถึงแม้จะมีการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์กันอยู่ แต่อย่างไรเสีย ตัวแสดงต่างๆย่อมต้องตัดสินใจดำเนินยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการเมืองให้สัมพันธ์หรือเคลื่อนตัวไปตามขั้นตอนของกระบวนการสันติภาพที่ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการไม่มากก็น้อย หรืออาจถูกดูดให้เข้ามาเจรจาหรือร่วมสังเกตการณ์ในวงประชุมสันติภาพที่ถูกทำให้เป็นสถาบันการเมืองมากขึ้นนั่นเอง ผลคาดคะเนดังกล่าว ทำให้กระบวนการสันติภาพเมียนมาสามารถดำรงอยู่ได้หรือเดินหน้าต่อไปได้เพราะได้เกิดพัฒนาการชุดใหญ่ของกระบวนทำให้เป็นสถาบัน (Institutionalization) ขึ้นในระบบการเมืองสันติภาพเมียนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กระนั้นก็ตาม หากการแพร่ระบาดของเกมปะทุสงครามที่เข้าไปโยงใยกับเกมแย่งชิงอำนาจรูปแบบอื่นๆ มีระดับขอบเขตที่เข้มข้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะควบคุม ก็อาจมีแนวโน้มที่สามารถหักโค่นระเบียบแห่งสถาบันสันติภาพลงได้พร้อมชักนำให้ตัวแสดงหันมาสัประยุทธ์ขับเคี่ยวกันผ่านวิถีการเมืองสัจนิยมแบบเต็มตัว ซึ่งก็ถือเป็นภูมิทัศน์การเมืองที่น่าจับดูกันต่อไปในอนาคต

จากชุดปัจจัยตัวแปรทั้งสามส่วน อันได้แก่ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ปัจจัยตัวแสดงและปัจจัยกลไก ผู้เขียนเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันจนก่อเกิดภาพซับซ้อนในระบบการทำงานของกระบวนการสันติภาพเมียนมา ทั้งนี้จุดอ่อนจุดแข็งของปัจจัยโครงสร้างย่อมมีผลต่อแนวคิดการเมืองและการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ของตัวแสดง พร้อมๆกับมีผลต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาสถาบันสันติภาพหรือการดำรงอยู่ของความขัดแย้ง ส่วนการส่งออกกลยุทธ์ของตัวแสดงก็ล้วนสัมพันธ์กับระบบปฏิบัติการของกลไกแห่งสันติภาพกับกลไกแห่งอำนาจ โดยจุดสร้างสรรค์ในการเนรมิตสถาบันสันติภาพกับจุดเสี่ยงในการสัประยุทธ์ทางการเมืองการทหาร ย่อมส่งผลกระทบกลับไปหาปัจจัยเชิงโครงสร้างเช่นกัน (ซึ่งย่อมมีทั้งส่วนประกอบที่ส่งเสริมและสกัดกั้นความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพ)

สำหรับการขยายความที่ดูละเอียดลุ่มลึกขึ้น คือ ภาพพัฒนาการเชิงบวกของปัจจัยการเมือง สังคมชาติพันธุ์ เศรษฐกิจทรัพยากร ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลให้ตัวแสดงต่างๆ เช่น รัฐบาล กองทัพเมียนมาและกองกำลังชนชาติพันธุ์ หันมาดำเนินยุทธศาสตร์เจรจาต่อรองประนีประนอมกันมากขึ้น พร้อมช่วยกระตุ้นให้กระบวนการพัฒนาสถาบันสันติภาพดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน การดำรงอยู่ของพลังลบในปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น มรดกตกทอดจากสงครามกลางเมืองและระบอบเผด็จการอำนาจนิยม รวมถึงการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์และการแทรกแซงทางยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ ย่อมส่งผลให้บรรดาตัวแสดงการเมือง เกิดอาการหวาดระแวงขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันจนต้องตัดสินใจเลือกเกมยุทธศาสตร์ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันหรือการสัประยุทธ์ที่รุนแรง พร้อมทำให้การพัฒนาสถาบันสันติภาพเกิดอาการติดขัดสะดุดลงเป็นระยะอันเป็นผลมาจากระดับความเข้มข้นของการเมืองสัจนิยมที่พุ่งสูงขึ้นนั่นเอง ในอีกมุมหนึ่ง แนวคิดการเมืองของตัวแสดงที่เน้นการถกเถียงเจรจาเรื่องการออกแบบสหพันธรัฐมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการเจรจาสันติภาพ หากแต่ การดำรงอยู่ของแนวคิดเรื่องรูปแบบรัฐบางชุด เช่น การสร้างรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในกองทัพเมียนมาและการแยกรัฐออกมาจากสหภาพของกลุ่มปฏิวัติที่รุนแรงทางฝั่งกองกำลังชาติพันธุ์ ก็ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงหรือการใช้กำลังทางการเมืองทหารเพื่อต่อกรกับฝ่ายตรงข้ามหรือเพื่อให้ฝ่ายตนมีพลังผลักดันตัวแบบรัฐที่ตนปราถนา โดยการผสมผสานระหว่างแรงรอมชอมกับแรงปะทะได้ส่งออกกลับไปหาปัจจัยเชิงโครงสร้างจนทำให้เกิดทั้งจุดเด่นและจุดเสี่ยงในบริบทแวดล้อมระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนเป็นวิถีวงจรลูกโซ่รุกกลับเข้าหาปัจจัยเชิงกลไกกับปัจจัยตัวแสดงเป็นทอดๆอีกทีนั่นเอง

บทความนี้ ผู้เขียนมีความทะเยอทะยานที่จะผลิตกรอบแนวคิดทฤษฏีใหม่เพื่อใช้อ่านกระบวนการสันติภาพเมียนมาให้ทะลุปรุโปร่งขึ้น การนำเอาปัจจัยเชิงโครงสร้างขนาดยักษ์เข้ามาฉายภาพจุดอ่อนจุดแข็งของตัวแปรบริบทแวดล้อมช่วยให้เห็นแรงพลังของหน่วยวิเคราะห์ระดับมหภาค (Macro-Level) ที่รุกกระทบเข้ามาในกระบวนการสันติภาพ ขณะที่การนำเสนอปัจจัยตัวแสดงได้ช่วยสร้างความคมชัดต่อหน่วยวิเคราะห์ระดับจุลภาค (Micro-Level) ที่ให้ภาพแนวคิดการเมืองและพลังอำนาจของตัวกระทำการซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมระยะเปลี่ยนผ่าน หากแต่ก็สามารถส่งออกกลยุทธ์จนสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อวิถีสันติภาพเมียนมาได้เช่นกัน พลังโครงสร้างและพลังตัวแสดงได้ถูกปลดปล่อยเข้าไปยังระบบกลไกสันติภาพและระบบกลไกแห่งอำนาจซึ่งการเชื่อมโยงระหว่างกลไกทั้งสองส่วนนี้ ช่วยแสดงภาพปฏิบัติการในระดับมัธยภาค (Meso-Level) จนทำให้การเมืองเชิงสถาบันและการเมืองเชิงสัจนิยมถูกขับออกมาจนสร้างความโดดเด่นต่อแนวทางการอธิบายกระบวนการสันติภาพ การบูรณาการปัจจัยทั้งสามระดับนี้ จึงทำให้พอสรุปได้ว่าเส้นทางสันติภาพเมียนมาถูกทำให้ก้าวหน้าและมีความเป็นสถาบันมากขึ้น หากแต่ก็ยังคงถูกท้าทายด้วยการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงซับซ้อน

ท้ายที่สุด ผู้เขียนหวังว่า กรอบแนวคิดในบทความนี้ จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์การเมืองสันติภาพเมียนมาได้แม่นยำเป็นระบบระเบียบขึ้น ซึ่งแม้บทความนี้จะมิได้ให้ภาพรายละเอียดเชิงลึกนักเกี่ยวกับกลไกกระบวนการสันติภาพเมียนมาในภาพรวม หรือต่อเรื่องการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 รอบล่าสุดเป็นการเฉพาะ หากแต่การประยุกต์ใช้กรอบทฤษฏีเกม การเมืองแห่งอำนาจ การเมืองเชิงสถาบัน และ การอธิบายกลไกความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Mechanism) ผ่านชุดตัวแปรระดับต่างๆ ได้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของผู้เขียนในการหยิบยืมวิธีวิทยารัฐศาสตร์บางแนวทาง เพื่อผลักดันให้การสร้างสันติภาพเมียนมากลายเป็นกรณีศึกษาที่สามารถถกเถียงอภิปรายกันได้ในทางสากล

 

 

แนะนำบรรณานุกรมและงานศึกษาเพิ่มเติม

สำหรับงานที่ให้ภาพพื้นฐานเรื่องความขัดแย้ง สงครามและสันติภาพในเมียนมาเป็นการเฉพาะ โปรดดู

Callahan, M. P. 2005. Making Enemies: War and State Building in Burma. Ithaca, NY: Cornell      University Press.

--------------------. 2007. Political Authority in Burma's Ethnic Minority States: Devolution, Occupation,          and Coexistence. Washington, D.C.: East-West Center.

Cheesman, N. and Nicholas F. (eds.). 2016. Conflict in Myanmar: War, Politics, Religion. Singapore: ISEAS Publications.

Jolliffe, K. 2015. Ethnic Armed Conflicts and Territorial Administration in Myanmar. Yangon: The   Asia Foundation.

Keenan, P. 2012. Burma's Ethnic Ceasefire Agreements. Yangon: Burma Centre for Ethnic Studies.          Briefing Paper no.1.

Kyaw Yin Hlaing. (ed.). 2014. Prisms on the Golden Pagoda: Perspectives on National      Reconciliation in Myanmar. Singapore: NUS Press.

Min Zaw Oo. 2014. Understanding Myanmar's Peace Process: Ceasefire Agreements. Yangon:   Swisspeace.

Sadan, M. (ed.). 2016. War and Peace in the Borderlands of Myanmar: The Kachin Ceasefire,       1994-2011. Copenhagen: NIAS Press.

Smith, M. 1999. Burma: Insurgency and the Politics of Ethnicity. New York: St Martin's Press, Inc.

South, A. 2007.  Ethnic Politics in Burma: States of Conflicts. London; New York: Routledge.

สำหรับงานที่ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมในยุคปฏิรูปการเมืองล่าสุดของเมียนมา โปรดดู

Chaw Chaw Sein 2016. 'Myanmar Foreign Policy under New Government: Changes and Prospects', in          Chenyang Li. et al. (eds.), Myanmar: Reintegrating into the International Community, pp. 27-      39. Singapore: World Scientific Publishing Ltd.

Lall, M. 2016. Understanding Reform in Myanmar: People and Society in the Wake of Military         Rule. London: C.Hurst & Co. (Publishers) Ltd. (published in Southeast Asia in 2016 by Silkworm Books, Chiang Mai, Thailand).

Ko Ko Hlaing. 2016. 'Myanmar's Reform: Current Situation and Future Prospects', in Chenyang Li.        et al. (eds.), Myanmar: Reintegrating into the International Community, pp. 183-195. Singapore: World Scientific Publishing Ltd.

Kyaw Sein and Farrelly, N. 2016. Myanmar's Evolving Relations: The NLD in Government. Stockholm: Institute for Security and Development Policy (ISDP).

สำหรับงานที่นำเสนอข้อถกเถียงเชิงทฤษฏีในประเด็นต่างๆ อาทิ ความขัดแย้ง เกมยุทธศาสตร์ตัวแสดง การเมืองสัจนิยม การเมืองสหพันธรัฐ ฯลฯ โปรดดู

Ackerman, F. and Eden, C. 2011. 'Strategic Management of Stakeholders: Theory and Practice', Long Range Planning, 44(1): 179-196.

Broschek, J. 2013. 'Between Path Dependence and Gradual Change: Historical Institutionalism and    the Study of Federal Dynamics', in Benz, A. and Jörg B. (eds.), Federal Dynamics:      Continuity, Change, & the Varieties of Federalism, pp. 93-116. Oxford: Oxford University       Press.

Esman, M.J. 2004. An Introduction to Ethnic Conflict. Cambridge: Polity Press.

Galtung, J. 1958. Theories of Conflict: Definitions, Dimensions, Negations, and Formations. New York, NY: Columbia University.

Kern, L. 1998. 'A Game-Theoretic Model of the War in Chechnya', in Leinfellner, W. and Kohler, E. (eds.), Game Theory, Experience, and Rationality: Foundations of Social Sciences,            Economics and Ethics, pp. 337-347. Dordrecht: Kluwer Academic Publishers.

Morrow, J. 1994. Game Theory for Political Scientists. Princeton, NJ: Princeton University Press.

Pammer, W.J. and Killian J. 2003. Handbook of Conflict Management. New York, NY: Marcel      Dekker. 

Vasquez, J.A. 1998. The Power of Power Politics: From Classical Realism to Neotraditionalism.     Cambridge: Cambridge University Press.

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุเทพ' มั่นใจ 'รวมพลังประชาชาติไทย' ได้สมาชิกครบ 500 คนภายในเดือน ก.ค. 2561 นี้

Posted: 14 Jul 2018 12:00 AM PDT

'สุเทพ' ระบุทุนประเดิมตั้งพรรคเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง หวังให้ทุกคนเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน มั่นใจเดือนนี้ได้ครบ 500 คน 'ภูมิใจไทย' พร้อมเดินหน้าเลือกตั้งระบุประชาชนเบื่อข่าวเรื่องดูด ส.ส. ชี้สุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่าจะเลือกใคร

 
 
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และในฐานะประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเป็นเจ้าของพรรคไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว suthep thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เรื่องผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นหนึ่งที่ประสงค์จะทำความเข้าใจว่าเป็นบทบัญญัติในกฎหมายพรรคการเมือง ที่ต่อไปนี้ถ้าจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น จะต้องรวบรวมผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันไม่น้อยกว่า 500 คนเพื่อร่วมกันจัดตั้ง โดยกฎหมายกำหนดว่าผู้ที่จะร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องออกเงินเป็นทุนประเดิมจัดตั้งพรรค 
 
"ทั้ง 500 คนเศษนี้อย่างน้อยต้องออกทุนประเดิมคนละไม่ต่ำกว่า 1 พันบาทและสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท ตรงนี้สำคัญ เป็นเรื่องที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเมือง เมื่อก่อนนี้การจะตั้งพรรคการเมืองจะไปรวบรวมญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเพียงไม่กี่คนก็ไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่วันนี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของกฎหมายพรรคการเมืองต้องการให้พรรคการเมือง จึงได้กำหนดตัวเลขขั้นต่ำสำหรับการที่จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคหรือจัดตั้งพรรคอย่างน้อย 500 คน" นายสุเทพ กล่าว
 
นายสุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้พรรครวมพลังประชาชาติไทยรวบรวมผู้มีอุดมการณ์เดียวกันได้กว่า 400 กว่าคนแล้ว และมั่นใจภายในเดือนนี้จะมีผู้ร่วมก่อตั้งได้เกิน 500 คน หลังจากนั้นจะจัดการประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรค เลือกคณะกรรมการชุดที่จะดำเนินการให้พรรคการเมืองของเรา ของประชาชนเป็นพรรคที่สมบูรณ์แบบตามเจตนารมณ์ของพวกเรา โดยตั้งใจว่าจะประชุมประมาณต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะประชุมเพื่อเลือกคณะผู้บริหารพรรคชุดแรก แล้วจะนำหลักฐานการประชุมไปจดทะเบียนให้เป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย 
 
"จากนั้นจะรณรงค์ให้ประชาชนมาเป็นเจ้าของร่วมหรือเป็นสมาชิกพรรค โดยขอให้แต่ละคนเสียสละเงินคนละ1บาทต่อวันหรือปีละ 365 บาท เงินที่ผู้จัดตั้งพรรคช่วยกันเสียสละคนละ 5 หมื่นบาทหรือเงินที่สมาชิกพรรคช่วยกันเสียสละวันละ 1 บาทจะเป็นเงินทุนสำหรับพรรคในการดำเนินงานทางการเมือง ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงเพียงพอในการรับใช้บ้านเมืองรับใช้ประเทศชาติและประชาชนต่อไป และหากผู้ใดสนใจขอให้ติดตามทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของผมได้ ผมจะมารายงานให้ทราบเป็นระยะถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ" นายสุเทพ กล่าว
 
'ภูมิใจไทย' พร้อมเดินหน้าเลือกตั้งระบุประชาชนเบื่อข่าวเรื่องดูด ส.ส.
 
14 ก.ค. 2561 นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงความพร้อมของพรรคหากมีการปลดล็อคทางการเมือง และเดินหน้าเข้าสู่โรดแม็พในช่วงต้นปี 62 ว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยถือว่าเหลือเวลาอีกไม่มากที่จะถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งทางพรรคได้เตรียมความพร้อมมาอย่างตลอดต่อเนื่อง หากปลดล็อกทางการเมืองก็จะลุยได้เลยทันที ส่วนนโยบายของพรรคเรายังยึดประชาชนเป็นหลักสำคัญ พรรคต้องการที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนทั้งในระยะเร่งด่วน และแกัปัญหาในระยะยาว โดยเราเอาสภาพปัญหาเป็นตัวตั้งจากการพบปะกับพี่น้องประชาชนทั่วทุกภาค ถ้าหากนโยบายของเรานำไปสู่การปฏิบัติก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง ยกตัวอย่างคือเรื่องการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้ง ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมามันไม่ได้แก้แบบองค์รวม ดังนั้น จึงอยากฝากพี่น้องประชาชนว่า เมื่อถึงเวลาเดินเข้าคูหา ต้องให้ 1 คะแนนเสียงที่ท่านมีอยู่ ทำให้มันคุ้มค่าที่สุด เพราะเรามีบัตรเพียง 1 ใบ นั่นคืออำนาจที่ประชาชนมี อย่าให้เสียของ
 
เมื่อถามถึง พลังดูดจากกลุ่มสามมิตร ที่เดินหน้าดูด อดีตส.ส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ในขณะนี้ รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตอนนี้พี่น้องประชาชนเบื่อจะฟังข่าวเรื่องพลังดูดทางการเมืองแล้ว และส่วนตัวก็เห็นว่าใครจะย้ายไปไหนก็เป็นสิทธิของท่าน แต่ท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะได้เป็นผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น อย่าไปให้ความสำคัญมากนัก เพราะอาจเป็นแค่การปั่นราคาสร้างมูลค่าให้กับตัวเองมากกว่า
 
"วันนี้เราต้องใช้กลไกการเลือกตั้งแก้ปัญหา รีบเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อให้การเมืองเข้าสู่การเมืองปกติ หลังจากนี้ก็ว่ากันไปตามระบอบรัฐสภา อย่าลากการเมืองออกไปข้างถนนอีกเหมือนที่ผ่าน ๆ มา" นายศุภชัย กล่าว
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลิปขอบคุณจาก 13 หมูป่าอะคาเดมี่ ยืนยันว่าสุขภาพแข็งแรงดี

Posted: 13 Jul 2018 11:06 PM PDT

เพจโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เผยแพร่ภาพการรายงานสถานการณ์ทางการแพทย์ของสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี่พร้อมคำกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าสุขภาพแข็งแรงดี รมว.สาธารณสุขขอความร่วมมือสื่อต่างๆ ให้ความร่วมมือให้พ้นช่วงรักษาบาดแผลทางใจก่อนเชิญออกสื่อ

 
 
14 ก.ค. 2561 เพจโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้เผยแพร่ภาพการรายงานสถานการณ์ทางการแพทย์ของสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พร้อมเผยคลิปสมาชิกหมูป่าอะคาเดมี่แต่ละคนกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยทุกคนต่างยืนยันว่าสุขภาพแข็งแรงดี
 
 
นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมให้กำลังใจนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าและโค้ช 13 คน ซึ่งพบว่าทุกคนมีสภาพร่างกายที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วันตามแผนการรักษา ส่วนด้านจิตใจทุกคนมีสภาพจิตใจที่ดี โดยครอบครัวและญาติเข้าเยี่ยมได้ ภายใต้ระบบการป้องกันการติดเชื้อของโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน สำหรับผลการตรวจ ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้อโรคติดต่อที่เป็นอันตราย และหากสภาพร่างกายแข็งแรงไม่มีปัญหาการติดเชื้อใดๆ คาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ในเร็วๆ นี้
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงมี 2 เรื่องสำคัญ ดังนี้เรื่องที่ 1 เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านต้องระวังการติดเชื้อจากคนหมู่มากที่มาเยี่ยม เพราะทีมหมูป่ายังอยู่ในระยะพักฟื้น อาจจะติดโรคจาก ผู้ที่มาเยี่ยมได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป จึงจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ปกครองและญาติเข้าใจ เรื่องที่ 2 ทีมหมูป่าอาจถูกสัมภาษณ์หรือเชิญไปออกรายการต่างๆ ซึ่งทีมจิตแพทย์ได้แนะนำให้ทีมหมูป่าได้รับการฟื้นฟูจิตใจจากเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตของชีวิตอย่างน้อย 1 เดือน โดยอยู่กับครอบครัวอยู่กับเพื่อนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำบุญ หรือบวช เป็นต้น ดังนั้นในช่วงเวลาฟื้นฟูจึงขอความร่วมมือสื่อต่างๆ ให้ความร่วมมือให้พ้นช่วงรักษาบาดแผลทางใจจะเป็นสิ่งที่ดีกับทีมหมูป่าทั้งหมด
 
"ขอชื่นชมและขอขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ จากทุกหน่วยงาน และทีมต่างชาติ ที่ทุกคนเสียสละทำงาน มุ่งให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ทั้งที่โรงพยาบาลสนามและที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นับเป็นการทำงานระดับชาติที่จะเป็นบทเรียน และประสบการณ์นำไปใช้ในภาวะวิกฤตต่างๆ และยืนยันว่าโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มีศักยภาพในการจัดระบบดูแลด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือ รวมทั้งการบริหารจัดการทุกขั้นตอน และการป้องกันควบคุมโรคที่ได้มาตรฐาน จนทำให้การดูแลรักษาทีมหมูป่าเป็นไปด้วยดี โดยไม่ส่งผลกระทบกับการบริการผู้ป่วยทั่วไป" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
 
อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาในโรงพยาบาลขณะนี้เป็นไปตามมาตรฐานการรักษามีการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขารวมทั้งทีมจิตแพทย์ พร้อมทั้งได้เตรียมแผนติดตามการดูแลต่อเนื่องเมื่อ เด็กๆ นักฟุตบอล และโค้ช ออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นต่อที่บ้าน โดยมีทีมหมอครอบครัวโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลแม่สายและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เข้าไปดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ
 
โฆษก ยธ.กระตุกคิด พวกแขวะหมูป่า อย่าเยอะ อย่านอยด์
 
เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่านายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า อย่าเยอะ อย่านอยด์...!! นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศไทยมาจวบจนถึงปัจจุบัน ตนยังไม่เคยเห็นมีกิจกรรมใดที่ทำให้คนรู้จักประเทศไทยของเราตั้งแต่ผู้นำประเทศ ผู้นำทางศาสนา ทุกวงการ จนถึงลูกเด็กเล็กแดงในทุกประเทศทั่วโลกรู้จักประเทศไทยได้มากเท่านี้ ตนเดินทางไปทั่วโลกในนามประเทศไทยแนะนำตนเองว่า เรามาจากประเทศไทย คนก็จะถามย้อนว่า ไต้หวัน เจอหน้าก็ทักเราก่อนว่า หนีห่าว คิดว่าเราเป็นคนจีน แต่ต่อไปนี้แนะนำตนเอาว่ามาจากประเทศไทย เชื่อว่าเขาจะรู้จักดีจากเหตุการณ์นี้ และยังชวนเราสนทนาเหตุการณ์นี้ต่อ ทำให้เรามีโอกาสแนะนำสิ่งดีงามในประเทศของเราต่อยอดไปได้อีก
 
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุด้วยว่าเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุการณ์ที่ดึงเครื่องมือที่ดีที่สุดและคนที่เก่งที่สุดในโลกมารวมตัวก่อให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนและพัฒนาต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเพื่อช่วยมนุษยชาติโดยไม่หวังผลตอบแทน ยังไม่รวมถึงการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ซึ่งอาจมากไม่แตกต่างจากอุบัติด้านการท่องเที่ยวแบบพืชสวนโลก แต่ที่สำคัญคนมาจากทั่วโลก ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมทั้งของประเทศและท้องถิ่น เหตุการณ์ที่เกิดเป็นอุบัติภัยมิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาท แต่สามารถสร้างอุบัติการณ์ด้านต่างๆ ที่มีคุณูปการต่อท้องถิ่นประเทศและมวลมนุษยชาติในโลกนี้อย่างมหาศาล
 
แค่นี้ยังไม่เป็นการสร้างคุณูปการอีกหรือ..!!
 
"ผมเคารพในความคิดเห็นต่าง แต่ก็ขอสงวนสิทธิที่จะแสดงความเห็นและเหตุผลเพื่อชวนให้สังคมได้ตระหนักรู้และคิดรวมกัน การให้ประโยชน์กับเด็กถือเสียว่าเป็นการปลอบขวัญแทนการสวมกอด เหมือนผู้ใหญ่ใจดีที่เรียกขวัญกลับคืนมาก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเด็กชุดนี้ เพราะถึงอย่างไร เขาก็ยังต้องใช้ชีวิตที่เหลืออีกยาวนานที่จะทำประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมและประเทศนี้ต่อไปได้อีกมากมาย" รองปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ
 
จิตอาสาพรึ่บ 'บิ๊กคลีนนิ่ง' ปรับปรุงฟื้นฟู 5 จุดถ้ำหลวง
 
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานบรรยากาศหน้าถ้ำหลวง ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 14 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ประชาชนจิตอาสาจำนวนมากเดินทางมาร่วมกิจกรรม บิ๊กคลีนนิงเดย์ ในพื้นที่ 5 จุด ได้แก่ จุดอำนวยการร่วม ซึ่งเป็นที่แถลงข่าวและเป็นที่พักของสมาชิกครอบครัวทีมหมูป่า ในช่วงรอฟังข่าวการช่วยเหลือ บริเวณดอยผาหมี ที่เจ้าหน้าที่เคยทำการเบี่ยงน้ำ ถ้ำสร้อยทอง จุดตั้งท่อสูบน้ำซิ่งพญานาค จุดกิ่วคอนาง ซึ่งเป็นจุดกั้นทางน้ำไม่ให้ไหลเข้าถ้ำหลวง และพื้นที่วัดต่างๆ รอบเขตถ้ำหลวง ซึ่งเคยเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ในช่วงปฏิบัติภารกิจทั้งนี้ คาดว่าการปรับปรุงพื้นที่จะต้องใช้เวลาทำความสะอาดและฟื้นฟูนานถึง 3-5 เดือน นอกจากนี้จะมีพิธีทำบุญครั้งใหญ่ที่ถ้ำหลวง ในวันที่ 16 ก.ค. 2561 นี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจ้าหน้าที่รุดช่วยเหลือนักท่องเที่ยวติดน้ำป่า อ.ปาย

Posted: 13 Jul 2018 10:43 PM PDT

ฝนตกหนักน้ำป่าทะลักปิดทางเข้า-ออกน้ำตกแม่เย็น ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน นักท่องเที่ยวติดในป่าเจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย สั่งห้ามเข้าเที่ยวน้ำตกชั่วคราว

 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 เวลา 22.00 น. พ.ต.ท.วุฒิพงษ์ จีนอิ่ม สารวัตรสำนักงานตำรวจท่องเที่ยว 4 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว 2 ( สว.ส.ทท.4 บก.ทท.2 ) หัวหน้าสำนักงานตำรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน ได้รับแจ้งเหตุจาก ปายเซอร์คัสรีสอร์ท อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ว่า มีนักท่องเที่ยว จำนวน 2 คน เป็นหญิงสาว ติดอยู่ในน้ำตกแม่เย็น หลังฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเชี่ยวกราก ไม่สามารถเดินทางกลับออกมาได้ ต่อทางตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานปาย ได้ประสานไปยัง ฝ่ายปกครองอำเภอปาย , สถานีตำรวจภูธรอำเภอปาย หน่วยกู้ภัยปายสามัคคีปาย ร่วมกับ ร.ต.เอี่ยม กันทาน้อย กำนันตำบลแม่ฮี้ และ นางจุไรรัตน์ จันทร์พรมมิน ผู้ใหญ่บ้านแม่เย็น หมู่ 1 ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน รุดไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อทำการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
 
เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบนักท่องเที่ยวหญิงจำนวน 2 รายคือ เป็นนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน ได้แก่ นางสาว Thiele Alice อายุ 23 ปี และ นางสาว Haubner Anne อายุ 21 ปี ติดอยู่บริเวณน้ำตกแม่เย็น ไม่สามารถข้ามน้ำที่เชี่ยวกรากออกมายังถนน เพื่อเดินทางกลับที่พักได้ ทางเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยทีมกู้ภัย จึงได้ทำการโยงเชือกข้ามแม่น้ำและลำเลียงออกมาได้สำเร็จโดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
 
นางจุไรรัตน์ จันทร์พรมมิน ผญบ.แม่เย็น ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า น้ำตกแม่เย็น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก พากันเดินทางไปเที่ยว แต่เนื่องจากในห้วงนี้ ได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวไม่เข้าใจถึงสถานการณ์เกี่ยวกับฝนและเรื่องน้ำป่า ทำให้เล่นน้ำเพลิน จนเกิดน้ำป่าและไม่สามารถเดินทางออกมาได้
 
อย่างไรก็ตามล่าสุดในวันนี้ ( 14 ก.ค.2561 ) ทางหมู่บ้านแม่เย็นจะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการระงับการเข้าไปเที่ยวบริเวณน้ำตกแม่เย็น จนกว่า สถานการณ์เกี่ยวกับฝนจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระราชทานยศ 'นาวาตรี' เป็นกรณีพิเศษให้ 'จ.อ.สมาน'

Posted: 13 Jul 2018 10:15 PM PDT

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศนาวาตรีเป็นกรณีพิเศษให้จ่าเอกสมาน กุนัน และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือกเป็นกรณีพิเศษ

 
 
14 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศเรื่อง พระราชทานยศทหารและเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ จ่าเอก สมาน กุนัน โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่าจ่าเอกสมาน กุนัน ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ชั้นที่ 3 สังกัดกองเรือยุทธการ เป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี และได้อุทิศความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนกระทั่งตนเองเสียชีวิต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน องค์กร และนานาประเทศ
 
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช 2479 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ นาวาตรี เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ จ่าเอก สมาน กุนัน และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก เป็นกรณีพิเศษ
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561
ประกาศ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบ ‘รพ.เอกชน’ ทยอยออก ‘ประกันสังคม’ แม้ผู้ประกันตนมีแนวโน้มใช้บริการมากกว่า ‘รพ.รัฐ’

Posted: 13 Jul 2018 09:50 PM PDT

พบ 'รพ.เอกชน' ทยอยออกจากโครงการ 'ประกันสังคม' ลดลงเฉลี่ย 1.1-2.4% ต่อปี ในรอบปี 2551-2561 จาก 104 แห่ง เหลือเพียง 78 แห่ง แม้งานวิจัยระบุผู้ประกันตนมีแนวโน้มใช้บริการมากกว่า 'รพ.รัฐ' ด้าน 'สมาคม รพ.เอกชน' ชี้แบกต้นทุนไม่ไหวไม่ได้รับค่าเหมาจ่ายเพิ่ม ต้องทยอยออกโครงการ

15 ก.ค. 2561 จากข้อมูล จำนวนสถานพยาบาลโครงการประกันสังคม ปี 2551-2561 ของสำนักงานประกันสังคม (เข้าถึงข้อมูล ณ 13/7/2561) พบว่าในรอบ 11 ปี ที่ผ่านมา (2551-2561) มีจำนวนสถานพยาบาลหลักที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมลดลงจาก 257 แห่งในปี 2551 เหลือ 237 แห่งในปี 2561 แม้โรงพยาบาลรัฐจะเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 153 แห่งในปี 2551 เป็น 159 แห่ง ในปี 2561 แต่โรงพยาบาลเอกชนกลับลดลงอย่างมากจาก 104 แห่ง ในปี 2551 เหลือ 78 แห่ง ในปี 2561 ส่วนสถานพยาบาลเครือข่าย (ส่วนใหญ่เป็นคลินิก) มีเพิ่มมากขึ้นจาก 2,530 แห่ง ในปี 2551 เพิ่มเป็น 3,758 แห่ง ในปี 2561 สามารถเช็ครายชื่อสถานพยาบาลประกันสังคม ปี 2561 แยกตามจังหวัด ได้ที่นี่

ทำไม รพ.เอกชน ทยอยออกจากโครงการประกันสังคม?

ในอดีตพบว่าจากวิกฤตต้มยำกุ้งช่วงทศวรรษ 2540 โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีรายได้ลดลง ทำให้มีความพยายามปรับตัวขนานใหญ่ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการประกันสังคมก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้โรงพยาบาลมีรายได้แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้พบว่าตั้งแต่ปี 2542 มีโรงพยาบาลเอกชนขอเข้าร่วมระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นก่อนเกิดช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในปี 2538 มีโรงพยาบาลเอกชนเพียง 63 แห่งเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม ถึงปี 2545 พบว่ามีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการประกันสังคมถึง 132 แห่ง (อ่านเพิ่มเติม: เจาะอุตสาหกรรม 'โรงพยาบาลเอกชน' ถอดรหัสค่าบริการแสนแพงสู่ 'ทุนผูกขาด', TCIJ, 15/11/2558) แต่ปัจจุบันสถานการณ์กลับเปลี่ยนไป จำนวนของโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมได้ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ดังที่ได้กล่าวไปในขั้นต้น 

เมื่อปี 2560 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน, ชมรมโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาประกันสังคม และตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ที่กำกับดูแลสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อให้ปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายปีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น โดยในครั้งนั้นมีการระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาประกันสังคมลดลงเพราะต้นทุนสูงขึ้นจนอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้เมื่อโรงพยาบาลเอกชนดูแลผู้ประกันตน ประกันสังคมก็ต้องดูแลโรงพยาบาลด้วย แต่ในระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2560 สปส. ไม่ได้เพิ่มอัตราเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ทางวิชาชีพ ด้านแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มขึ้นมากเกือบเท่าตัว ผู้ประกันตนมีอายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ต้องรับเข้ามารักษามากขึ้น มีการเพิ่มโรคให้รักษาเพิ่มขึ้น มีโรคซับซ้อน โรคเรื้อรัง ล่าสุดเพิ่มรักษาโรคจิตเวชแต่ค่ารักษายังยืนในราคาเดิม  แต่ สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาโดยเหมาจ่ายค่ารักษาผู้ประกันตนคนละ 1,460 บาทต่อปีเท่านั้น (ข้อมูล ณ ปี 2560) ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบางแห่งทนแบกภาระขาดทุนไม่ไหว เช่น โรงพยาบาลคามิลเลียน โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ซึ่งรักษาผู้ประกันตนกว่า 1 แสนคน ต้องลาออกจากคู่สัญญา และมีบางแห่งที่จะทยอยลาออกที่ยังอยู่ก็ต้องรัดเข็มขัดจ้างหมอพยาบาลน้อยลง สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจึงขอให้ปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ที่เป็นธรรมมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม: สมาคม รพ.เอกชน จี้ สปส.เพิ่มค่าหัวรักษาคนไข้ โอดยืนราคา 1,460 นาน 6 ปี, ไทยรัฐออนไลน์, 9/5/2560)

ไม่กระจายตัว กระจุกอยู่ในเขตเมือง

ทั้งนี้ใน รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการวิเคราะห์สถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนได้ทุกสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม ที่เผยแพร่ในปี 2559 ได้ทำการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2556-2558 (ใช้ข้อมูลอัพเดท ณ เดือน พ.ค. 2559) รวมทั้งมีการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างผู้ประกันตนจำนวน 809 คนใน 6 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา) พบผลการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่

เหตุผลในการเข้าร่วมบริการในระบบประกันสังคม: จำนวนงบประมาณที่ได้รับจากการจัดบริการดูแลผู้ประกันตน เป็นเหตุผลหลักอย่างเดียวของสถานพยาบาลในการเข้าร่วมในระบบประกันสังคม ในขณะที่การเข้าร่วมในระบบประกันสังคมก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์คือ ภาระงานที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรในองค์กร ผลกระทบต่อระบบบริการอื่นในโรงพยาบาล กำไรต่อหน่วยที่ได้จากการจัดบริการให้ประกันสังคมเมื่อเทียบกับบริการอื่นๆ และภาพลักษณ์สถานพยาบาลจากการรับดูแลผู้ประกันตน จนเป็นเหตุให้หลายแห่งตัดสินใจออกจากระบบประกันสังคม

จำนวนสถานพยาบาลหลักและเครือข่าย: จำนวนสถานพยาบาลหลักมีแนวโน้มคงที่ แต่เป็นที่สังเกตว่าจำนวนสถานพยาบาลเอกชนลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 1.1-2.4 ต่อปี ในขณะที่จำนวนสถานพยาบาลเครือข่ายมีจำนวนรวมมากขึ้น แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากสถานพยาบาลภาครัฐ ในขณะที่จำนวนสถานพยาบาลภาคเอกชนลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่พบในกลุ่มสถานพยาบาลหลัก ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนส่วนใหญ่เลือกไปใช้บริการที่สถานพยาบาลเอกชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ เพราะจำนวนผู้ประกันตนส่วนใหญ่นิยมไปรับบริการจากสถานพยาบาลเอกชนเป็นหลัก

การกระจายตัวของสถานพยาบาล: สถานพยาบาลทั้งหลักและเครือข่ายมีลักษณะการกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ โดยมักกระจุกตัวตามพื้นที่เขตเมือง ทำให้ประชากรที่อาศัยนอกพื้นที่เขตเมืองอาจประสบความยากลำบากในการเข้ารับบริการยามต้องการจำเป็น ทั้งนี้จังหวัดที่มีความเป็นเมืองสูง เช่น กรุงเทพมหานคร จะมีความหนาแน่นของสถานพยาบาลทั้งสองประเภทมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพได้

ผู้ประกันตนนิยมใช้ รพ.เอกชน มากกว่า

งานวิจัยฯ ยังระบุว่าแนวโน้มการใช้บริการทางการแพทย์ทั้งในแผนกผู้ป่วยนอกและแผนกผู้ป่วยใน ณ สถานพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนมากขึ้นในแต่ละปี อย่างไรก็ตามพบว่าจำนวนข้อร้องเรียนมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้จากการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างผู้ประกันตน จำนวน 809 คนใน 6 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา) พบว่าผู้ประกันตนมีแนวโน้มไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ (ร้อยละ 67 และ 33 ตามลำดับ)

โดยเงื่อนไขเรื่องความสะดวกในการเข้าถึงและการใช้สิทธินั้นรวมกันแล้วถือเป็นเหตุผลหลักของการเลือกใช้สถานพยาบาลของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 73 ส่วนผู้ประกันตนร้อยละ 22 ตัดสินใจจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองเพราะใกล้บ้าน บริการดี และสะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้ร้อยละ 75 ของผู้ที่จ่ายเองนั้น จ่ายไปโดยประมาณต่ำกว่า 5,000 บาทต่อปี

ยังพบอีกว่าร้อยละ 72 พอใจกับการบริการของสถานพยาบาล แต่ร้อยละ 28 คิดว่าการเปลี่ยนต้นสังกัดมีกระบวนการที่ยุ่งยากและไม่ทันต่อความต้องการ และร้อยละ 17.68 เคยประสบปัญหาจากการไปรับบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือการไม่ดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยเท่าที่ควรและบริการช้า นอกจากนี้ร้อยละ 96.54 ของกลุ่มตัวอย่างผู้ประกันตนสนับสนุนให้เกิดนโยบายรับรองสิทธิให้สามารถใช้บริการได้ทุกสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น