โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

หมายเหตุประเพทไทย #220 Temple of Priapus ศาสนาจับลึงค์จับไข่

Posted: 29 Jul 2018 09:35 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ "ชานันท์ ยอดหงษ์" เล่าถึงศาสนาแปลกๆ ที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดานั่นคือ Temple of Priapus หรือวิหารของเทพพรีอาปุส ก่อตั้งโดย Francis Cassidy อดีตนักสังคมสงเคราะห์ที่เคยช่วยเหลือเกย์ไร้บ้านและผู้ด้อยโอกาส โดยในวิหารของเทพพรีอาปุสซึ่งเป็นเทพกรีก-โรมันแห่งนี้ นอกจากจะมีประติมากรรมลึงค์มหึมาที่สร้างสรรค์โดยศิลปินที่เคยถูกนาซีจับเพราะจูบกับเพื่อนชายแล้ว ศาสนาของ Francis Cassidy ยังให้สาวกทักทายกันด้วยกับจับอวัยวะเพศและไข่ รวมทั้งกิจกรรมทางเพศอื่นๆ 

Temple of Priapus เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเชื่อใหม่ๆ ในห้วงกระแส New Age ในยุค 1980 อย่างไรก็ตาม "คำ ผกา" ยังตั้งคำถามถึงสาระของศาสนาที่ว่านี้ว่าเป็นคำสอน/ความเชื่อ หรือเป็นแค่กิจกรรมทางเพศ

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: ลิเกปราบโกง

Posted: 29 Jul 2018 09:35 AM PDT

ต่อตระกูล ยมนาค ผู้เคยเรียกร้องให้ประชาชนส่งข้อความถึง ป.ป.ช. แสดงความไม่พอใจที่ถ่วงเวลาสอบ "นาฬิกาเพื่อน" น่าจะเปลี่ยนใจซาบซึ้งน้ำตาไหล เมื่อได้ฟังประธาน ป.ป.ช.เปิดใจ ว่าสายสัมพันธ์ "พี่ป้อม" ไม่ใช่จุดอ่อน แต่เป็นจุดแข็งต่างหาก ทำให้ต้องเข้มงวดตัวเอง ระมัดระวังยิ่งกว่าคนอื่น เพราะถูกมองมากกว่า ถูกโยงอยู่ตลอดเวลา

จริงๆ นะ ปู่มีชัยเขียนรัฐธรรมนูญผิด ที่ห้ามเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง 10 ปี ก่อนมาเป็นองค์กรอิสระ ทำให้ได้แต่สมาชิกพรรคข้าราชการ หรือพวกเสแสร้งอาโนเนะไม่เลือกข้าง มันต้องชัดๆ ไปเลย อย่างประธานวัชรพลนี่สิ ไม่ปิดไม่บังว่าเป็นน้องรักพี่ป้อม ตัดสินอะไร สังคมก็จับจ้องได้ ไม่สามารถอ้างตัวเป็นเทวดา ลอยจากฟ้ามาเป็นกลาง

ความเป็นกลางมีที่ไหน เห็นจะมีแต่เมืองไทยเมืองพุทธจุดธูปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อว่ายังมีคนดีลุโสดาบัน เที่ยงธรรม เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่มีคอนเน็กชั่น จนยกอำนาจให้ชี้เป็น ชี้ตายทุกอย่าง

ปัญหาจึงไม่ใช่แค่วัชรพลมีสายสัมพันธ์กับพี่ป้อม แต่พี่ป้อมมีอำนาจจากรัฐประหาร วัชรพลเป็น ป.ป.ช.โดยมติ สนช.แต่งตั้ง แถม สนช.ยังเขียนกฎหมายให้อยู่ต่อ อยู่ยาวถึงรัฐบาลหน้า ที่คาดกันว่าจะสืบทอดอำนาจ

มองให้กว้างจึงไม่ใช่แค่วัชรพล แต่ ป.ป.ช.เกือบทั้งคณะ องค์กรอิสระทุกองค์กร ไม่ได้มาจากกระบวนการชอบธรรม มาจากรัฐประหารตั้ง แต่แสร้งทำให้มีกระบวนการ ดูเหมือนมีอิสระ มีหน้ามีตา ถามว่าอิสระอะไรกัน ม.44 ยังปลด กกต.สมชัยได้

เอาเข้าจริงก็เป็นปาหี่ หรือลิเกโรงใหญ่ ทำให้ดูว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่จะปราบทุจริตประพฤติมิชอบ ดูแลเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ยึดโยงอำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากอำนาจรัฐประหารคนดี (ที่กำลังดูด ส.ส.สืบทอดอำนาจ)

เพียงโชคดีที่การรีเซ็ต เซ็ตซีโร่ อยู่ต่อ ต่ออายุ ทำกันโจ๋งครึ่ม การสรรหา แต่งตั้ง ก็ปั่นป่วน ทำให้สังคมรู้ทัน เสียเครดิตตั้งแต่ต้น

องค์กรปราบโกงที่ไม่ยึดโยงประชาชน ยังได้อำนาจเพิ่มจนเป็นองค์กรอันตราย หลักๆ คือวางโครงสร้างไว้แทรกแซงการเมือง เช่น กกต.มีอำนาจระงับสิทธิผู้สมัคร ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนพรรค ป.ป.ช.มีอำนาจยับยั้งนโยบายรัฐบาล ส่งศาลเอาผิดถ้าขัดยุทธศาสตร์ชาติ

แต่บางเรื่องก็เพิ่มอำนาจเพื่อเอาใจกระแสบ้าจี้ คลั่งยาแรง ซึ่งเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งของคนดีในสังคมไทย เช่น ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินกิ๊ก ทั้งที่ไม่มีสถานะตามกฎหมาย ให้ข้าราชการทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกับต้นสังกัด ไว้ ป.ป.ช.อยากดูเมื่อไหร่จะเรียก ซึ่งมองผิวเผินเหมือนดี แต่ข้าราชการระดับล่างส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ ไปสร้างภาระให้เขาทำไม

ว่าตามความเป็นจริง การยื่นบัญชีทรัพย์สินตั้งแต่มีมาในประเทศไทย มีไว้เพื่อ "จับผิด" ไม่ใช่ "จับโกง" จับผิดคนไม่ยื่น ยื่นไม่ตรง ปกปิด ฯลฯ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ทุจริต ตั้งแต่ทักษิณถึงชูวิทย์

ขณะที่คนโกง ก็รู้กัน มันไม่เอามาใส่บัญชีทรัพย์สินหรอก แต่องค์กรปราบโกงถนัดจับผิดเอกสาร หรือติดคุกเพราะการตีความ ทุจริตจริงจับมือใครดมไม่ได้ เว้นแต่ฝรั่งญี่ปุ่นจับส่งให้

บัญชีทรัพย์สินจึงจะกลายเป็นภาระของข้าราชการ ซึ่งในชีวิตจริง อาจมีรายได้อื่นของครอบครัว ของลูกเมีย ที่ไม่อยู่ในระบบภาษี ต่อจากนี้ต้องรู้จักแต่งบัญชี เตรียมที่มาที่ไป ไม่งั้นอีก 20 ปีโดน ป.ป.ช.สอบตอบไม่ได้ ปปง.ยึดทรัพย์ ฉิบหายเลย

อันตรายของโรคบ้าจี้ ถ้าเทียบให้เห็นชัดๆ คือรัฐประหาร 2549 มุ่งเอาผิดเฉพาะทักษิณ ไทยรักไทย แต่ 4 ปียุคนี้ มีการเข้มงวดจัดระเบียบประชาชน ไม่เฉพาะทางการเมืองแต่ไปถึงการใช้ชีวิต การทำมาหากิน ซึ่งเท่ากับเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร ปกครอง เทศกิจ ป่าไม้ เจ้าท่า ศุลกากร ฯลฯ ที่มีอำนาจจับกุมและออกใบอนุญาตต่างๆ

ขณะเดียวกัน ก็ออกระเบียบกฎหมายมาควบคุมความประพฤติ การทำงาน ของข้าราชการ เช่น กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งส่งผลชะงัด ถ้าไม่บังคับก็ไม่มีใครอยากเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เอาคอเข้าไปเสี่ยง เพราะ สตง. ป.ป.ช. ป.ป.ท. ปปง. ไล่ตอมเต็มไปหมด

แต่ถามว่าทุจริตหมดไปไหม คนโกงก็ยังหาช่องได้ หรือการเอื้อประโยชน์เชิงนโยบาย การประมูลโครงการใหญ่ๆ โดยคนที่มีอำนาจจริง คนที่อยู่ในขั้วอำนาจ ใครกล้าแตะ

ลิเกปราบโกงโรงนี้ ทั้งพันธนาการและประจานตัวเอง อยากรู้จัง จะแสดงได้นานเท่าไหร่

 

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1381831

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปราศจากอุดมการณ์

Posted: 29 Jul 2018 09:29 AM PDT

"ฉันเป็นเสรีนิยมนะ"
"ฉันเป็นอนุรักษ์นิยมใหม่"
"ฉันเป็นมาร์กซิสต์"

ในปัจจุบันเราจะเห็นคนนิยาม(อุดมการณ์)ตัวเองว่าเป็นประเภทนั้น ประเภทนี้ กันอยู่เต็มไปหมด ซึ่งดูเป็นเรื่องน่าสนุกในตอนแรกเพราะเราสามารถจะนิยามตัวเองว่าเป็นอะไรก็ได้ อารมณ์เหมือนได้เดินช็อปปิ้งเลือกเสื้อผ้า บางคนก็บอกว่าตัวเองสมาทานอุดมการณ์แปลกๆ(ที่ตัวเองก็ไม่เคยศึกษา)เพราะว่ามันดู "ยูนีค" ดี หรือบางคนมาเหนือกว่าคือประกาศว่า "ฉันเป็นคนปราศจากอุดมการณ์ ฉันไม่นิยามตัวเองว่าเป็นพวกไหนทั้งนั้น ฉันก็คือฉัน"

จากตัวอย่างเหล่านี้ คือ วิธีคิดของผู้คนก่อนที่จะ "รู้สึกถึงโครงสร้าง"

เพราะเมื่อเรา "ตื่น" และ "รู้สึกถึงโครงสร้าง" เมื่อไร เราจะรู้ว่า
 

"เราไม่ได้เป็นคนเลือกอุดมการณ์ อุดมการณ์ต่างหากที่เลือกเรา"

เห้ย จ้อจี้ป่ะเนี่ย !? อุดมการณ์มันจะมาเลือกเราได้ไงวะ ?
 

ในบทความนี้ผมจะช่วยเปิดไฟฉายส่องไปยังผนังถ้ำ "อุดมการณ์" ที่ครอบงำเราอยู่

ถ้าพร้อมผจญภัยไปกับผมก็อ่านต่อเลยครับ!

ตอนเราพึ่งตื่นลืมตาดูโลกได้ไม่นาน นั่นคือสภาวะที่เรายังไม่ถูกชุดอุดมการณ์ใดๆเข้ามาควบคุม
เราเหมือนกับผ้าขาวที่รอการแต่งแต้มเติมสีสัน..

ต่อมาเราโตขึ้นแล้วเริ่มเรียนรู้ภาษา เมื่อนั้นเมล็ดพันธุ์ "อุดมการณ์" ได้ถูกหว่านลงในผืนจิตใต้สำนึกของเรา

"ภาษา" นั้นเป็นหนึ่งในผลผลิตทางสังคมซึ่งยึดโยงกับค่านิยม,วัฒนธรรม,วิธีคิดอย่างเหนียวแน่น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น

ในสังคมที่เชื่อใน "ความอาวุโส" จะมี "คำ" ที่ใช้เรียกลำดับชั้นอายุ อย่างประเทศไทยเราก็จะมี "พี่-น้อง-น้า-ลุง-ทวด ฯลฯ"

หรือในภาษาเกาหลี (ที่มีวัฒนธรรมแบบอาวุโสนิยมเช่นกัน) ก็จะมีคำเรียกลำดับชั้นอายุ ซึ่งละเอียดกว่าไทยเข้าไปอีก

ซึ่งค่านิยมแบบอาวุโสนิยมของเกาหลีนั้นก็มีที่มาจาก "ลัทธิขงจื๊อ" ( Confucianism ) ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งใน "อุดมการณ์รัฐ"

(State  ideology)ของเกาหลี (และประเทศข้างเคียงที่ได้รับอิทธิพลจากจีน) ซึ่งต่อมาค่านิยมนี้ก็ได้สร้างปัญหาถึงขั้นทำให้เครื่องบินตกได้กันเลยทีเดียว

(บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน: Assertive Pilot)

ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาแบบนี้จะเกิดกับทุกที่ ที่มีการใช้คำเรียก "พี่-น้อง" นะครับ อุดมการณ์นั้นเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่รอการเติบโต ดิน,น้ำ,สภาพอากาศ (ปัจจัยภายนอก) เป็นสิ่งที่ช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโต ดังนั้น "อุดมการณ์"เดียวกันจะงอกเงยและเข้มข้นแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

ซึ่งในขณะเดียวกันประเทศที่ไม่ได้มีการใช้คำแบ่งลำดับอายุว่า "พี่-น้อง" ก็จะไม่มีค่านิยมวัฒนธรรมแบบอาวุโสนิยม (โดยส่วนใหญ่) เช่น คนฝรั่งที่ใช้สรรพนามว่า "I-You"  ก็เรียกคนอายุเด็กกว่าหรือแก่กว่าด้วยสรรพนามเดียวกัน ก็จะไม่ค่อยถือเรื่องความอาวุโส แต่ถ้าในภาษานั้นมีการ "แบ่งเพศ" ในการเรียก เช่น ในภาษาแถบยุโรปหลายๆภาษา สิ่งของต่างๆจะมีเพศของมัน (บางภาษามีเพศกลางด้วย) คนในวัฒนธรรมนั้นๆก็จะซีเรียสกับลำดับชั้นทางเพศมากกว่าลำดับชั้นทางอายุแบบเราๆ หรือ ถ้าจะมีการนับถือผู้สูงวัยก็จะนับถือในแง่ความเชี่ยวชาญและสกิลมากกว่านับถือที่ตัวเลขอายุเพียวๆ

พูดง่ายๆคือ "คำ" หรือ "ภาษา" นั้นเป็น "ฐาน" ในการจัดวางชิ้นส่วนวัฒนธรรมและค่านิยมลงไป ถ้าปราศจากฐานแล้ว ก็ไม่สามารถนำค่านิยมอะไรไปวางบนนั้นได้

ภาษาจึงเป็นตัวบรรจุ "อุดมการณ์" ซึ่งจะเกี่ยวโยงและตอบสนองต่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคม (และอุดมการณ์รัฐตลอดเวลา)

นอกจากตัวภาษาเองแล้ว อีกขั้นหนึ่ง คือ การเรียนรู้ภาษานั้น ๆ แล้วได้ใช้ในการอ่าน/เสพสื่อ ของประเทศเจ้าของภาษานั้น ๆ เราก็จะได้รับ "อุดมการณ์" ที่แอบแฝงมาในสื่อนั้นๆด้วย

เช่น ถ้าเราชอบดูหนังฟังเพลงของสหรัฐอเมริกา เราก็จะได้สมาทานอุดมการณ์แบบอเมริกันมาด้วย
นั่นคือ อุดมการณ์ที่เรียกว่า "American dream"
 

 ความหมายโดยทั่วๆ ไปแต่เดิมของ "ความฝันอเมริกัน" อาจนิยามได้ว่าเป็น "ความเท่าเทียมทางโอกาสและเสรีภาพที่เอื้อให้พลเมืองบรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตด้วยการทำงานหนักและด้วยความมุ่งมั่น ปัจจุบัน ความหมายโดยทั่วไปได้ปรับเปลี่ยนเป็นว่า ความมั่งคั่งของบุคคลขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและการทำงานหนัก ไม่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างระดับชั้นที่ตายตัวของสังคมซึ่งความหมายนี้ไปเปลี่ยนไปตามเวลาของประวัติศาสตร์ - Wikipedia

เพลงที่มีเนื้อหาให้ความหวังว่า "ชีวิตต้องเดินตามความฝัน" "ถ้าพยายามเต็มที่แล้วจะประสบความสำเร็จแน่นอน" โดยไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยภายนอกตัวบุคคลที่มีผลต่อความสำเร็จ ความเชื่อในพลังของปัจเจกบุคคลนั่นแหละ คือ "ความฝันแบบอเมริกัน"

ซึ่งจะต่างกับค่านิยมแบบไทยๆดั้งเดิมที่ยังเชื่อเรื่องผีสางนางไม้โชคชะตากำหนด ลิขิตสวรรค์ ตั่งต่าง ว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลสำคัญต่อความสำเร็จ/ไม่สำเร็จของมนุษย์

ที่น่าสนใจคือตอนที่เราสมาทานอุดมการณ์แบบอเมริกันมานั้นเราแทบไม่รู้ตัวเลยว่านั่นนับเป็น "อุดมการณ์"

เราคิดว่ามันเป็น "เรื่องปกติ" ที่ใครๆก็คิดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดที่มาจากประเทศมหาอำนาจ ย่อมเป็นไอเดียที่เชื่อถือได้มากกว่าไอเดียแบบ อนุรักษ์นิยมบ้านๆ ของประเทศเรา ประเทศพี่ใหญ่บอกว่าเรื่องนี้ปกติ มันก็ต้องปกติสิ เอ้อ

ในเวลาต่อมาเมื่อเราเสพสื่อที่มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมหว่านเอาไว้อยู่ เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็ค่อยๆเติบโตภายในความคิดเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

และเราจะคิดว่ามันคือเรื่อง "ปกติ"
 

ไม่ต่างอะไรกับการที่ฝนตกจากฟ้า ปลาว่ายในน้ำ

คุณเองที่กำลังอ่านบทความนี้ก็คงมีความเข้าใจเดียวกับผมว่าเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" เป็นเรื่องปกติและสากลของโลก ถ้ามีการละเมิดสิทธิกันแสดงว่าเกิดเรื่อง "ไม่ปกติ" ขึ้นและเราต้องต่อต้านการละเมิดสิทธิด้วยวิธีการอะไรสักอย่าง ขั้นต่ำสุดคือการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะก้าวไปได้ถึงขั้นไหนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเราอีกด้วย ว่าจะช่วย "บ่มเพาะ"อุดมการณ์เราขนาดไหน

Louis Althusser อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า

"Ideology has very little to do with 'consciousness' - it is profoundly unconscious."

อุดมการณ์ทำงานน้อยนิดในระดับจิตสำนึก แต่ทำงานอย่างลึกซึ้งในระดับจิตไร้สำนึก

จิตของเราเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนยอดโผล่พ้นน้ำออกมานิดๆ (จิตสำนึก) แต่ส่วนใหญ่นั้นอยู่ใต้น้ำ (จิตใต้สำนึก)

จิตใต้สำนึกเราถูกบ่มเพาะมาด้วยการเลี้ยงดู การศึกษา วัฒนธรรม ภาษา ค่านิยม สื่อที่เสพ ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆเหมือนหัวหอมใหญ่ที่ถ้าหากแกะ "เปลือก"ออกทีละชั้นๆจะพบในที่สุดว่าไม่มีอะไรอยู่ข้างใน

หากแต่เป็นเปลือกจำนวนหลายชั้นมาประกอบกัน หัวหอมใหญ่จึงเป็นหัวหอมใหญ่

ดังนั้นเวลาเรา "เลือก" ว่าฉันจะเป็นเสรีนิยม ฉันจะเป็นสังคมนิยม ฉันเป็น ฯลฯ .. เป็นเพียงแค่การตัดสินใจจาก "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" เท่านั้น หากแต่สิ่งที่กำหนดอุดมการณ์ของเราจริง ๆ นั้นอยู่ "ใต้พื้นผิวน้ำ"ลงไป ลึกแค่ไหน มิอาจหยั่งถึง
 

เมื่อชาวไทยเดินผ่านผู้ใหญ่ต้องค้อมหัว นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์
เมื่อชาวมุสลิมทำละหมาดเมื่อได้ยินเสียงอะซาน นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์
เมื่อคนในประเทศที่เจริญแล้ว หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปก่อน

นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์

"สามัญสำนึก" คือ รูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์

ด้วยเหตุนี้ "มนุษย์" โดยปกติแบบเราๆท่านๆ จึงไม่สามารถ "เป็นอิสระ" จากอุดมการณ์ได้

ต่อให้วันนึงคุณเดินเข้าป่า (จะเจอเสือตัวใหญ่มั้ยผมก็ไม่แน่ใจ) แล้วตัดสินใจว่าต่อไปจะใช้ชีวิตเยี่ยงฤาษี ไม่ออกมาพบผู้คน อาศัยเก็บผักผลไม้กิน คุณก็ไม่สามารถหนีจาก "การเมือง" (อุดมการณ์) ที่อยู่ภายใน "ส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็ง"ได้

เช่นเดียวกัน การที่คุณสามารถ "หลุด" จากอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมไทยๆ ที่ต้องถืออาวุโส ต้องเชื่อฟังคนมีอำนาจและทำตามกฏระเบียบ ไปได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นอิสระจากอุดมการณ์โดยสิ้นเชิง หากแต่คุณแค่ "ย้ายกรงขัง" ไปอยู่ในกรงใหม่ที่คุณอาจจะสบายใจกว่ากรงเก่า เท่านั้นเอง

ซึ่งถ้าถามว่าแล้วมีมนุษย์ที่สามารถเป็น "อิสระ" จากอุดมการณ์ทุกอย่างได้อย่างแท้จริงมั้ย
ก็อาจจะมี

ผมเคยได้ยินมาว่าพวกเขาชอบไปรวมตัวกันที่ "โรงพยาบาลศรีธัญญา"

เผื่อใครสนใจอยากสัมภาษณ์ว่า ทำยังไงถึงชะล้างอุดมการณ์ออกไปได้ ควรลองปรึกษาบุคคลเหล่านี้ดู

โดยสรุปแล้วการ "นิยามตัวเอง" ว่าเป็นคนสมาทานอุดมการณ์แบบไหน นั้นไม่ได้สลักสำคัญในแง่ที่ว่า "นิยามแล้วจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ" หากแต่สำคัญในแง่ของการ "รู้ตัวว่าตัวเองกำลังสมาทานอุดมการณ์ชุดใดอยู่"

ซึ่งการนิยามตัวเองว่า "เป็นกลาง" หรือ "ปราศจากอุดมการณ์" มีความหมายว่า "ส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็ง" คุณมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าคุณเองจะเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าคุณ "ปราศจาก" อุดมการณ์

ในจุดนี้ก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่คุณยังไม่ได้ "ปราศจากอุดมการณ์" ถึงขั้นที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังคาแดง

ขอบคุณที่อ่านจบครับ (ฝากแชร์ด้วยเด้ออ)

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หวาน...อำนาจอันหอมหวาน

Posted: 29 Jul 2018 09:08 AM PDT

อำนาจ เป็นคำสั้นๆ ที่เต็มไปด้วยความหมายในตัวเองอันยิ่งใหญ่ ความหมายที่ไม่ว่าใครก็ตามต่างถวิลหาที่จะได้มันมาไว้ในครอบครอง เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการอวดอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ เหนือคนที่อยู่ภายใต้อำนาจตนเอง ซึ่งบางครั้งการที่จะได้มันมาก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย บ้างก็จ่ายเป็นเงิน บ้างก็จ่ายเป็นมิตรภาพ หรือบางครั้งก็ต้องจ่ายด้วยอุดมการณ์ของตนเอง แล้วทีนี้มันหอมหวานยังไงล่ะ ในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์คนหนึ่ง เราจะลองมาวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ผ่านองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ในเนื้อหาส่วนที่ได้ร่ำเรียนไปเมื่อภาคเรียนที่ 1 ที่ผ่านมา (ขณะนี้ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ตามทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบื้องตนที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ Authority และ Power ซึ่งที่มาของอำนาจทั้ง 2 ชนิดนี้ล้วนต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย Authority นั้นจะเป็นอำนาจที่มีความชอบธรรมทั้งในเรื่องที่มาของอำนาจและขอบเขตการใช้อำนาจ ซึ่งแตกต่างจาก Power อย่างสิ้นเชิงที่อำนาจจะมาด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้โดยไม่สนใจบริบทรอบด้านที่ไม่เอื้อ แต่ก็ยังดื้อดึงที่จะถวิลหาอำนาจ

แต่ไม่ว่าที่มาของอำนาจจะเป็นอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์ก็ถูกกำหนดให้มีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดภายใต้บริบทต่างๆ ที่จำกัดตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ผู้คนต่างๆ จึงแสวงหาลู่ทางที่จะนำพาอำนาจเข้าสู่ตนเองให้เป็นที่ "เฉิดฉาย" ในกลุ่มสังคมที่ตนเองนั้นสังกัดอยู่ ทั้งในแบบ Authority หรือในแบบ Power เริ่มเห็นความหอมหวานของมันแล้วใช่มั้ยล่ะ 

ความหอมหวานที่เห็นได้ชัดที่สุดและดูเป็นรูปธรรมที่สุดที่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างก็คือ การได้อำนาจด้วยวิธี Power โดยเราสามารถเห็นอำนาจประเภทนี้ได้ทั่วๆ ไปในสังคมไทยทุกระดับ ทุกชนชั้น ทุกกลุ่มสังคม บ้างก็มาในรูปแบบ Hard Power หรือไม่ก็ Soft Power ซึ่งไม่ว่ารูปแบบใดก็เป็นหนทางสู่อำนาจอันหอมหวานอยู่ดี 

Hard Power เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดและสมกับความเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ที่สุดก็คงไม่พ้นอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้ Hard Power ทั้งในด้านกำลังทหารที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือในด้านการปิดกั้นสื่อต่างๆ รวมทั้งการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง ถ้ามองให้แคบลงมาใกล้ตัวในชีวิตประจำวันหน่อยก็คงเป็นกระบวนการในการเข้าห้องเชียร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่มีกระบวนการลิดรอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) อยู่แทบจะทุกครั้งที่ได้ไปสัมผัสผ่านระบบโซตัส (SOTUS) ซึ่งถือได้ว่าเป็น Hard Power ในรั้วมหาวิทยาลัยชนิดหนึ่ง เพราะไม่ได้ผ่านสัญญาประชาคม (Social Contract) จากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แต่ระบบนี้ก็ได้กระทำเสมือนได้ผ่านสัญญาประชาคมนั้นจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แล้ว ทั้งๆ ที่บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องเจอกับอะไร จากทฤษฏีของนักปรัชญาการเมืองสำนักสัญญาประชาคมทั้งหลาย ซึ่งในกรณีนี้ดูเหมือนว่า หลักการของ Thomas Hobbes ดูจะเข้าข่ายกับระบบโซตัสมากที่สุด ในด้านการทำสัญญาประชาคมมอบอำนาจให้ระบบ แม้ในช่วงแรกจะไม่ได้มอบอำนาจให้ระบบ แต่เมื่ออยู่ในระบบนานวันเข้าไปก็จะกลายเป็นเรามอบอำนาจให้กับระบบโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นว่าเราทำสัญญาประชาคมให้กับระบบไปโดยสมบูรณ์ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ภายในรั้วมหาวิทยาลัย

ส่วน Soft Power นั้น ถ้าเป็นการเมืองในระดับประเทศเราก็จะเห็นในรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะชวนเชื่อทั้งอุดมการณ์ นโยบาย วัฒนธรรม วาทกรรม สิ่งยึดเหนี่ยวต่างๆ ที่รัฐเสนอให้ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง ซึ่งจะช่วยค่อยๆ นวดความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตต่างๆ ของประชาชนให้คล้อยตามรัฐ และให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งที่รัฐอยากให้เป็นในที่สุด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถ้ามองให้แคบลงมาก็จะเห็นได้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้เข้าร่วม หรือเลือกที่จะเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นในระดับคณะหรือระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงแรกอาจจะไม่เชื่อ ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เจอ หรืออาจจะต่อต้านในช่วงแรก แต่พออยู่ในสังคมคณะหรือมหาวิทยาลัยนานๆ เข้าไปผ่านกระบวนการต่างๆ วาทกรรมต่างๆ ที่ระบบป้อนให้เรา "สมยอม" และ "กลายเป็นเนื้อเดียวกับระบบ" โดยไม่รู้ตัว และโดนกลืนเป็นเนื้อเดียวกันในที่สุด 

จะเห็นได้ว่าเราสามารถพบเห็น พบเจอ สัมผัสอำนาจอันหอมหวานผ่านสิ่งแวดล้อมหรือบริบทต่างๆ รอบๆ ตัว ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ เราจึงต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะวิพากษ์สิ่งต่างๆ รอบตัวโดยใช้องค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนไป และเลือกที่จะพัฒนาอย่างถูกวิธีด้วยพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยและกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) โดยเฉพาะวิพากษ์ต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่เป็นอำนาจอันหอมหวานของผู้มีอำนาจในสังคมในทุกระดับของสังคมไทย เพราะถ้าเราไม่วิพากษ์ เราก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่มาเรียนเพื่อเอาใบปริญญาและ "คอนเนคชัน" ในการทำงานไปวันๆ ตลอดช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมองไปถึงระดับประเทศ ลองสังเกตดูรอบตัวสิ อำนาจอันหอมหวานรอบตัวผู้อ่านนั้นมีอะไรบ้างล่ะ? ก่อนจะจากกันไปผู้เขียนขอฝากวิวาทะหนึ่งซึ่งผู้เขียนคิดว่ามันได้สะท้อนถึงแนวคิดของการใช้อำนาจชนิด Power แบบ Hard Power ในสังคมไทยปัจจุบันในทุกระดับได้ดีที่สุด 

"พูดปากเปล่า ไร้กองทัพ ไม่มีใครฟัง อำนาจรัฐ ต้องมาจากปลายกระบอกปืน."
- Mao Zedong

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ข้อสังเกตบางประการ: กรณีคุณแชมป์กับประธานาธิบดีตุรกี

Posted: 29 Jul 2018 07:11 AM PDT

คำถามสำคัญที่เราจำเป็นต้องพิจารณาต่อกรณีเรื่องของคุณแชมป์ ผู้สื่อข่าวรายการกีฬาช่อง 3  ที่มีความเห็นต่อประธานาธิบดีตุรกี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน คือคุณแชมป์มีสิทธิจะให้ความเห็นและแสดงทัศนะเรื่องการเมืองกับฟุตบอลหรือไม่ ? ต่อประเด็นเราสามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง ไม่ว่ามองจากมุมไหนก็ย่อมไม่พ้นประเด็นพื้นฐานสุดคือ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

สำหรับผมแล้วนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมากต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีต่อ "นักการเมือง" และ "บุคคลสาธารณะ" ในทางด้านวิชาการ "นักการเมือง" สามารถวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงทัศนะ ความเห็นต่าง ๆ ได้นับว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของการทำงานของคนทำงานทางด้านสื่อ และประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ  

การจะมีใครพูดว่าประธานาธิบดีตุรกี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน เป็นเผด็จการ ก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกและต้องอ่อนไหวรับไม่ได้ เพราะอย่างน้อย ๆ ผลการเลือกตั้งตุรกีที่ผ่านมาปี 2018 คนตุรกีที่ไปเลือกตั้งจำนวน 48 % ก็ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน และคนที่เห็นต่างในประเทศตุรกี ก็เรียกว่าเขาว่าเผด็จการ หรือสุลต่านคนใหม่ ไม่นับการล้อเลียนภาพผู้นำ ทำเป็นรูปการ์ตูนต่าง ๆ จากสื่อต่าง ๆ และคนตุรกีที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันทางการเมืองเพื่อต้องการเสียงโหวต 

ข้อตกลงร่วมกันของประชาชนในประเทศตุรกีคือ การไม่ยอมรับให้ทหารเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ และประชาชนจะเลือกผู้นำเอง โดยผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแข่งขันตามกฎกติกาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผลคือพรรคอัคได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งคือ 52 % พรรคผ่านค้านก็ยอมรับการเลือกตั้ง เดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไป ทั้งวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและต่างประเทศ และแน่นอนเรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน คือเผด็จการในสายตาของคนตุรกีเกือบครึ่งประเทศ 

ผมอยากจะเรียนว่า เราไม่ต้องไปหาสื่อที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ มีแต่เราเท่านั้นที่จะใช้สติปัญญาในการรับฟังสื่อ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะผู้ทำงานด้านสื่อไม่สามารถบังคับให้เราเชื่อได้

เราพบเห็นความผิดพลาดทางด้านการสื่อสาร การให้ข้อมูลทางด้านสาธารณะจำนวนมาก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการเลือกขอมูลหรือว่าเกิดจากทัศนะคติส่วนตัวที่แสดงผ่านพื้นที่ Onlineและ Offline  ทั้งแบบทางการและไม่ทางการ 

ต่อกรณีของคุณแชมป์ในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง เขามีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและทำหน้าที่สื่อ จะดีหรือไม่ดีนั้นอีกเรื่องนะครับ เพราะผู้รับชมจะเป็นคนตัดสินใจ 

โปรดพิจารณาว่า ประธานาธิบดีตุรกีคือประชาชนอย่างเรา ๆ โดยทั่วไป หากทว่าก็มีบทบาทที่แตกต่างกัน  และการให้ข้อมูลจากคุณแชมป์ ตั้งแต่การจับนักข่าว ปิดกั้นสื่อ การจับกุมนักวิชาการ และสร้างระบบการเมืองแบบใหม่ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในประเทศตุรกี ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่เรารับฟังและพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ส่วนเรื่องท่าทีในการเสนอข่าวนั้นของคุณแชมป์นั้นก็เป็นอีกประเด็น เราควรปกป้องและรับฟังด้วยสติปัญญาและหากว่าเราไม่เห็นด้วยก็ควรใช้ปัญญาในการตอบ เพื่อให้คนเข้าใจ ในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง 

ผมอยากจะกล่าวถึงพี่น้องมุสลิมไทยที่ต้องการล้มแชมป์ว่า เราล้มแชมป์ได้ แต่เราก็ไม่สามารถพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพได้ กล่าวให้ถึงที่สุด เราเองก็วิพากษ์วิจารณ์ ผู้นำของโลกตะวันตกและผู้นำต่าง ๆ ของโลกที่เราไม่เห็นด้วยจำนวนมากและกระทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่รับรวมที่หลายต่อหลายครั้งมุสลิมไทยจำนวนหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนาของเราเอง นับตั้งแต่ระดับอีหม่ามจนถึงจุฬาราชมนตรี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติในสังคม เราสามารถกระทำได้เพราะเรามีสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้คุณค่าสังคมแบบนี้ เราควรหันกลับมาพิจารณาในเชิงหลักการของหลักสิทธิและเสรีภาพอันเป็นสิ่งที่เราสำคัญ

ต่อประเด็นการวิจารณ์ประธานาธิบดีตุรกี ที่เราจะเข้าใจว่าเป็นผู้นำของโลกมุสลิม ถึงจะมีคนบ้างกลุ่มสมาทานความคิดนี้ก็ไม่อาจจะเหมารวมได้ทั้งหมดว่ามุสลิมทั้งหมดจะเห็นด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือเรื่องของการเข้าใจหลักการสิทธิและเสรีภาพ ของสื่อที่มีต่อบุคคลสาธารณะ ที่นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ 

คุณแชมป์และประธานาธิบดีตุรกี  สังคมมุสลิมไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในความแตกต่างทางด้านความคิด ประชาชาติมุสลิมไทยมีหนทางที่จะเข้าสู่วงถกเถียงด้วยหลักการสากลของการอยู่ร่วมกัน และควรจะทำ เราต้องเสาะหากลุ่มคนที่พร้อมจะขึ้นสู่เวทีการเผชิญหน้าในโลกคุณค่าสมัยใหม่สากลทางความคิดและอุดมคติที่ทั้งสำคัญ ทั้งจุดประกายปัญญา 

ประชาชาติมุสลิมมีภาระหน้าที่จะต้องอธิบายให้ชัดว่า ชุดคุณค่าแห่งอิสลามนั้นได้เคารพความหลากหลายและความเป็นปัจเจกทางความคิดในลักษณะต่าง ๆ  หาใช่วิธีการฟ้องร้องและบดขยี้คุณแชมป์อย่างเอาเป็นเอาตาย เราไม่มีบุคลิกภาพแห่งศาสนาที่เป็นมรดกของศาสนาอันสำคัญคือ การรับฟังด้วยความอดกลั้นและการอ่อนน้อมถ่อมตน ทบทวนพิจารณาให้รอบด้าน

และท้ายสุด หากว่าเราคิดว่าข้อมูลเราถูกต้อง คนอื่นก็น่าจะมีข้อมูลส่วนถูกต้องด้วย และหากคิดว่าคนอื่นผิดพลาด เราเองก็อาจจะผิดพลาดหรือตกหล่นอะไรไปบ้าง ในสิ่งที่เรายังไม่มีข้อมูล สิ่งที่แน่ ๆ คือประธานาธิบดีตุรกีคือคนปกติ ไม่ใช่สิ่งบุคคลศักสิทธิ์  ไม่ควรมีใครถูกลงโทษด้วยการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำของประเทศ ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม

ในนามของมุสลิมคนหนึ่ง ขอยืนยันว่าหลักการของการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะสามารถกระทำได้อย่างมีสิทธิและเสรีภาพ และสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ใครก็ตามที่เข้ามาใช้อำนาจสาธารณะ ไม่ว่าในตำแหน่งใด ๆ ก็ย่อมต้องยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคม รวมถึงกลุ่มคนผู้สนับสนุนด้วยบุคคลสาธารณะด้วย นี้ต่างหากคือสปิริตของสังคมประชาธิปไตยและหลักการของการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่ 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.pataniforum.com

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'อนาคตใหม่' จัดเสวนา 'ฟังเสียงอนาคตระยอง' ชูเลือกตั้งนำการเปลี่ยนแปลง

Posted: 29 Jul 2018 05:41 AM PDT

29 ก.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่พร้อมด้วย ดร.สุรชัย ศรีสารคาม อดีต ปลัดกระทรวงไอซีที รองหัวหน้าพรรคและทีมงาน จัดวงเสวนา 'ฟังเสียงอนาคตระยอง' สะท้อนปัญหาในพื้นที่ ร่วมแสดงความคิดเห็น ที่ห้องแสงดาว โรงแรมหาดแสงจันทร์ ซีฟู้ด แอนด์รีสอร์ท ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง มีประชาชนรวมทั้งกลุ่มเสื้อแดงบางรายให้ความสนใจ โดยนายพิมล สิทธิเวช นายกสมาคมพัฒนาสับปะรดไทยภาคตะวันออก เสนอปัญหาเรื่องราคาสับปะรด นายสินธ์ กีรติยาคม อดีตกำนัน ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง เสนอปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเขตป่าหวงห้าม ตัวแทนกลุ่มประมง ตัวแทนกลุ่มยางพารา ตัวแทนกลุ่มแรงงานและตัวแทนเรื่องการศึกษาจำนวน 100 คน ร่วมเสนอปัญหา

หลังรับฟังปัญหาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆเรื่องแรงงานนอกระบบ ราคาสินค้าการเกษตร สิทธิในที่ดินทำกิน ปัญหาประมงและการศึกษา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะเก็บเอาไปทำเป็นนโยบายของพรรคต่อไป และกล่าวในตอนหนึ่งว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญมาก ผมขอชักชวนพี่น้องทุกคนที่รักความเป็นธรรม อยากเรียกความเป็นปกติกลับคืนสู่สังคมไทย อยากได้เศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และเป็นธรรม อยากจะเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนมาช่วยกันทำงาน ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้เราเวลาอีกไม่มากที่จะมีการเลือกตั้งเพื่อเดินทางไปสู่การเลือกตั้งเราจะเข้มแข็ง แข็งแกร่งพอ ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการตัดสินอนาคตไทย จะอยู่กับความกลัวหรือจะอยู่กับความหวังจะอยู่กับการกดขี่หรือจะอยู่แบบเสรีภาพ

"ใช้อาวุธที่สำคัญที่เรามีอยู่คือ 1 เสียงของพวกเรา 1 เสียงของพวกเราจะเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติสุข ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ นั่นคืออาวุธเดียวที่เรามี 1 สิทธิ 1 เสียงที่เราจะใช้ต่อสู้ ถ้าทุกท่านมีความช่วยเหลือผมมีศรัทธาร่วมกัน ผมชักชวนมาทำด้วยกัน นั่งเฉยๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถึงเวลาพวกเราทุกคนที่จะมาช่วยกัน" นายธนาธร ระบุ

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'นคร' รอเปิดหลักฐานในชั้นศาล 'ประชาธิปัตย์' สมคบล้ม 'ทักษิณ'

Posted: 29 Jul 2018 04:22 AM PDT

'นคร มาฉิม' อดีต ส.ส.พิษณุโลก ขออุบหลักฐาน 'ประชาธิปัตย์' สมคบล้ม 'ทักษิณ' ระบุรอเปิดในชั้นศาล แย้ม 'เพื่อไทย' ชวนเข้าพรรคบอกอุดมการณ์เดียวกัน ชี้ไม่ควรมีระบบทหารเรียกปรับทัศนคติแล้ว เผยถูกค้นบ้านกล่อมกลับพรรคเดิม ด้าน 'แรมโบ้อีสาน' ระบุแกนนำ นปช. สู้เพื่อตำแหน่ง ไม่ได้สู้เพื่อประชาธิปไตย


นายนคร ฉิมมา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

29 ก.ค. 2561 MGR Online รายงานว่านายนคร มาฉิม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้แสดงหลักฐานว่าใครร่วมกันล้มสองพี่น้องตระกูลชินวัตร ว่าตนยืนยันทุกอย่างจริง จะเปิดก็ต้องไปเปิดที่ศาลเห็นเขาขู่จะฟ้อง พร้อมเปิดทุกอย่างในชั้นศาล ตนฝากไปถึงพี่น้องฝ่ายการเมือง พี่ๆ น้องๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตนเคารพรักเหมือนเดิม ว่าปลายลูกธนูของตนต้องการพุ่งเป้าไปที่ใจกลางของระบอบเผด็จการ ไม่ต้องการมาเสียเวลาสาละวนโต้เถียงไปมา นี่ขนาดตนปิดช่องว่าเอาไว้ ไม่เปิดทั้งหมดเขาก็จะมาเล่นตน ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีก ที่ถามว่า ทหารคนไหน ตุลาการคนไหน ใครบ้าง พวกเขารู้อยู่แก่ใจ ถ้าไม่อย่างนั้นจะนำไปสู่กระบวนการในการยึดอำนาจได้อย่างไร ตนถามกลับย้อนไปว่า ทำไมพรรคถึงบอยคอตการเลือกตั้ง หลักฐานถ้าอยากจะได้ ที่ขู่ร่ำๆจะฟ้องก็ให้ฟ้องมา ตนจะขอหมายศาลออกหมายเรียกไปทุกกลุ่มทุกฝ่ายเอาประวัติศาสตร์การเมืองมากางกันบนโต๊ะเลยว่าใครทำอะไรต่างๆซึ่งมันปรากฏชัดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเคยถูกทหารเชิญไปปรับทัศนคติ 2 ครั้ง แต่ขอนำสื่อเข้าไปด้วยแต่ไม่ได้รับอนุญาต และให้นายทหารโทรมาขอยกเลิกนัด ที่ผ่านมามีทหาร ตำรวจมาค้นบ้าน ซึ่งทหารได้บอกผ่านทีมงานตนว่า อยากให้กลับไปอยู่ในสังกัดพรรคเดิม ไม่ต้องไปต่อสู้โต้แย้ง กลับไปเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาล แต่ถ้าไปอยู่ฝ่ายเพื่อไทยเป็นเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เหนื่อยหน่อย

นายนคร กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายชวน หลีกภัย ในฐานะผู้มีบารมีในพรรค กล้าประกาศต่อสาธารณะ และกล้ายืนยันชัดๆไหมว่า เลือกตั้งครั้งหน้า อย่างไรก็จะไม่เอานายกฯคนนอก ไม่เอาพวก คสช. มาเป็นนายกฯ เอาให้ชัดได้ไหม ว่าอย่างไรก็จะล้างระบอบเผด็จการด้วยกัน ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.มาเป็นนายกฯ มาร่วมกันล้างมรดกบาปด้วยกัน กล้าประกาศต่อสาธารณะหรือไม่ ถ้ากล้าประกาศประชาชนจะให้โอกาสประชาธิปัตย์ รวมถึงตนจะยอมคำนับให้ แต่หากไม่กล้าประกาศ เท่ากับทรยศประชาชน มันมีอะไรแฝงถึงไม่กล้า ถ้าอ้ำๆอึ้งๆกั๊กๆ มันไม่แฟร์กับประชาชน แล้วเหตุผลอะไรประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งมาสองครั้ง แล้วทั้งสองครั้งถูกทหารยึดอำนาจทุกครั้ง อะไรมันคือคำตอบละ ประชาธิปัตย์ต่างหากที่จะต้องมาชี้แจง

นายนคร กล่าวอีกว่าขอถามกลับไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่าทำไมต้องมีการบอยคอร์ดการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง และทำไมทหารจะต้องเข้ามายึดอำนาจทั้ง 2 ครั้ง มันคืออะไร ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ตนเป็นศัตรูกับระบอบเผด็จการ และเครือข่ายของเผด็จการ ตนไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงมาเดือดเนื้อร้อนใจอะไร

"ผมขอชวนพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมกับกับฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อสู้และล้างระบอบเผด็จการ พรรคประชาธิปัตย์กล้าบอกต่อสาธารณะได้หรือไม่ว่าจะไม่เอานายกฯ คนนอก และพร้อมร่วมกันล้างมรดกบาปของคสช. ล้างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการชุดนี้ให้หมดไปได้หรือไม่"

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าจะไปอยู่สังกัดพรรคเพื่อไทย นายนคร กล่าวว่า ตนยอมรับว่าได้พูดคุยกับผู้ใหญ่บางท่านของพรรคเพื่อไทย แต่ยังไม่สามารถขยับอะไรได้ ซึ่งผู้ใหญ่ได้ทาบทามมายังตนว่า ถ้าเรามีอุดมการณ์เดียวกัน ก็มาร่วมต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตยมาร่วมอุดมการณ์เดียวกันได้หรือไม่ โดยตนได้ตอบไปว่าถ้าเรามีอุดมการณ์เดียวกัน และต่อต้านเผด็จการเราก็มาร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยมีการเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง เช่น เข้าข้างรัฐบาล หรือสนับสนุนรัฐบาล หรือสนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ ตนก็ไม่ขอเข้าร่วมด้วย

เมื่อถามว่า หลังจากนี้หากมีทหารติดต่อเพื่อเชิญไปพูดคุย หรือปรับทัศนคติ พร้อมหรือไม่ นายนคร กล่าวว่า ความจริงไม่ควรมีพฤติการณ์แบบนั้นแล้ว ตนเคยถูกเชิญให้ไปปรับทัศนคติ 2 ครั้ง แต่ตนได้ขอนำสื่อเข้าไปด้วย ซึ่งเขาบอกว่าไม่ได้ และให้นายทหารโทรมายกเลิกนัด

"ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าได้เคยมีทหารมาตรวจค้นที่บ้านของผม ซึ่งทหารได้บอกผ่านทีมงานของผมว่าอยากให้ผมกลับไปอยู่ในสังกัดพรรคเดิม ไม่ต้องไปต่อสู้โต้แย้ง กลับไปเป็นพวกเดียวกับรัฐบาล แต่ถ้าไปอยู่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็เป็นฝ่ายตรงข้ามกัน ก็เหนื่อยหน่อย"

'แรมโบ้อีสาน' ระบุแกนนำ นปช. สู้เพื่อตำแหน่ง ไม่ได้สู้เพื่อประชาธิปไตย

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายสุภรณ์​ อัตถาวงษ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 ก.ค. 2561 ช่วงหนึ่งว่าการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย มันไม่มีใครหรอกไม่ว่าฝ่ายไหนเสื้อสีไหน ก็ต้องมีครอบครัวทุกคน มันต้องมีชีวิต ต้องกินข้าวทุกคน ดังนั้นแล้วจะมาบอกว่า สู้เพื่ออุดมการณ์ถวายชีวิต ไม่สนใจครอบครัว ไม่สนใจลูกเมีย ไม่สนใจตัวเอง มันไม่มี มันเป็นไปไม่ได้ การต่อสู้ทุกคนก็หวัง เอ้าคนนี้อยากเป็นรัฐมนตรี อยากมีตำแหน่ง อยากให้ผู้ใหญ่สนับสนุน ต่อรองกันเยอะแยะ ตนรู้หมด มีแต่ตนที่เห็นคนเขาต่อรองกัน สู้แล้วเรียกร้องผลประโยชน์ สู้แล้วเรียกร้องตำแหน่ง 

"ผมเห็นหมด ผมรู้หมด พอไม่ได้ก็งอแง ตั้งท่าจะอาละวาด ตั้งท่าจะโกรธไม่พอใจ ตั้งท่าจะตั้งก๊วนจัดมุ้ง ตั้งท่าจะแตกแถวออก ตั้งท่าจะโวยวายว่าสู้แล้ว มีการรับปากแล้วจะให้เป็นรัฐมนตรีแล้วมาไม่ให้เป็น เรื่องเหล่านี้มีหมด เราเห็นหมดในวงการ เห็นทุกอย่าง แล้วก็จะได้ดีไม่กี่คนที่ต่อรอง คนที่ต่อรองเท่านั้นถึงจะมีอำนาจ คนไม่ต่อรองก็ไม่ได้อะไร แล้วนิสัยผมไม่ใช่คนต่อรอง"นายสุภรณ์​กล่าว

นายสุภรณ์​กล่าวว่าตนเห็นสัจธรรมหลายอย่าง ก็บอกว่ามันไม่ใช่แล้ว เพราะเห็นหมด ตนอยู่มานานตั้งแต่ก่อตั้งไทยรักไทย เห็นทุกอย่างว่ามันไม่ได้เป็นไปตามระบบที่อาวุโส ความเหมาะสม คุณธรรม บางคนมาพรรคทีหลัง ย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เป็นรัฐมนตรีเลย แล้วหลักการอยู่ตรงไหน บางคนเคยย้ายออกไปจากไทยรักไทย แล้วไปดึงกลับมา ก็ให้ตำแหน่ง แบบนี้คืออะไร แล้วคนที่เขาสู้แทบตาย ที่ไม่ได้หมายถึงตน แต่หลายคนในพรรคที่เขาทุ่มเทให้พรรค ก็ควรให้เขา แต่ไม่ใช่เพราะพอถึงเวลา ก็มีคนในพรรคจัดสรรปันส่วนกัน ดูว่าใครสนิทสนมกัน ใครเอาใจผู้ใหญ่ในพรรคได้ คนนั้นก็มีโอกาสได้ดิบได้ดี แบบนี้มันไม่ใช่แล้ว เราก็เก็บสุมๆๆ สุมมา ว่าเราเองไม่เคยเรียกร้องอะไร แต่เขามองค่าเราแค่เศษธุลีดิน แม้กระทั่งการมาต่อสู้บนเวที นปช.

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักเศรษฐศาสตร์แนะปฏิรูปการบริหารกองทุน กยศ. ใหม่

Posted: 29 Jul 2018 02:11 AM PDT

ปฏิรูปการบริหารกองทุน กยศ. ใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่การมีระบบกลไกในการจัดสรรเงินกู้ยืมที่มีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายมากกว่าเดิม มีระบบการติดตามการชำระหนี้ที่มีประสิทธิผลให้เหมือน กรอ.

    
29 ก.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าหนี้เสียของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ใกล้แตะ 70,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ทั้งหมด 5.4 ล้านคน ผิดนัดการชำระหนี้จำนวน 2.1 ล้านคน นั้นจะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีนโยบายในการแก้ไขอย่างเป็นระบบและจริงจัง ปัญหาขาดทุนเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของ กยศ. มากขึ้นตามลำดับและอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุนในระยะยาว มีผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของผู้กู้รายใหม่ รวมทั้งเกิดภาระทางงบประมาณของรัฐบาลมากขึ้นอีกด้วย ปัญหาหนี้เสียจำนวนมากของ กยศ. เป็นผลจากผู้กู้เงินจาก กยศ. คืนเงินให้กับกองทุนคิดเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าประเทศอื่นมาก การไม่ชำระหนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 ของหนี้ทั้งหมด จำนวนที่ได้คืนมานี้เมื่อหักด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ของกองทุนแล้วจะเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้กองทุน กยศ. มีอัตราคืนทุนในระดับต่ำมาก 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่ากรณีนักศึกษากู้ยืมเงิน กยศ. แล้วไม่ชำระหรือเบี้ยวหนี้จนทำให้ครูผู้ช่วยค้ำประกันต้องรับผิดชอบแทนจนถูกฟ้องร้องบังคับคดีนั้น เห็นว่าทางกองทุน กยศ. ควรงดการบังคับคดีในกรณีดังกล่าวและหาวิธีการในบังคับหนี้จากผู้เป็นหนี้โดยตรงก่อน ไม่ควรต้องให้ครูที่ทำหน้าที่ในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ศิษย์ต้องเดือดร้อน ทั้งนี้ผลสรุปของงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า กยศ. ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับครอบครัวฐานะยากจนอันนำมาสู่การกระจายรายได้และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดีนักเนื่องจากยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนและมีรายได้น้อย ผู้กู้ที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 15-20 จากผู้กู้ทั้งหมด ขณะที่ผู้กู้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวฐานะปานกลางคิดเป็นร้อยละ 80 กยศ. ต้องเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและขาดทุนทรัพย์โดยเฉพาะนักเรียนเรียนดีแต่ยากจนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงนักเรียนที่ออกกลางคันระหว่างศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนกลุ่มนี้บางส่วนรัฐบาลควรจัดสรรทุนแบบให้เปล่าหรือทุนการศึกษาเพิ่มเติม เป็นทุนการศึกษาสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ (Need-Based Scholarship)  

ขณะเดียวกัน กยศ. มีบทบาทในการขยายทางเลือกทางการศึกษาเนื่องจากผู้กู้สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอกชนได้มากขึ้น รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และ กยศ. จึงควรปฏิรูปการบริหารกองทุน กยศ. ใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่การมีระบบ กลไกในการจัดสรรเงินกู้ยืมที่มีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายมากกว่าเดิม มีระบบการติดตามการชำระหนี้ที่มีประสิทธิผล กยศ. ควรใช้แนวทางของ กองทุนให้กู้ยืมที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ด้วยการผูกจำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้กับรายได้ในแต่ละปีของผู้กู้จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เสียของ กยศ. ได้มากขึ้น นอกจากนี้ควรใช้การแก้ปัญหาด้วยระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนโดยอัตโนมัติและรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกต่อส่วนรวม การรณรงค์การชำระหนี้และกำหนดบทลงโทษของผู้กู้ที่ไม่ชำระหนี้ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา กล่าวอีกว่าย้อนกลับไปในปี 2555 ได้มีการจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่งกองทุน กรอ. มีความแตกต่างจากกองทุน กยศ. คือ ประการที่หนึ่ง กยศ. เป็นกองทุนที่มอบให้เฉพาะนักเรียนในระดับมัธยมปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ยากจน ขณะที่ กรอ. เปิดโอกาสให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกคน ประการที่สอง กยศ. เปิดให้กู้กับนักศึกษาทุกสาขาและคณะ ส่วน กรอ. กำหนดให้เฉพาะสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของประเทศเท่านั้นจึงมีสิทธิกู้ ประการที่สาม กยศ. กำหนดจำนวนเงินที่แน่นอนที่ผู้กู้ต้องผ่อนชำระหนี้ ภายหลังจบการศึกษา ขณะที่ กรอ. ผูกจำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้กับรายได้ในแต่ละปีของผู้กู้ 

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็น กองทุน กยศ. กองทุน กรอ. หรือกองทุนการศึกษาแบบให้เปล่าต่างๆ ก็ดี ล้วนเป็นนโยบายที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขยายโอกาสทางการศึกษาและการหลุดพ้นจากความยากจน เกิดการยกระดับฐานะของผู้ยากไร้ (Social Mobility) ทำให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อันเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ควรศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกองทุน กรอ. และ กองทุน กยศ. ไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกันและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการศึกษา ควรปรับบทบาทของกองทุนเงินกู้ยืมให้ช่วยส่งเสริมการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ควรศึกษาผลของระบบการให้ทุนและกู้ยืมเพื่อการศึกษาต่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาของไทย และศึกษาความคุ้มค่าจากการลงทุนทางการศึกษาทั้งในแง่ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณสำหรับการลงทุนทางการศึกษาและการพัฒนาคนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผู้พิพากษาศาลมาเลเซีย นัดรวมพลทำความสะอาดศาล-ขัดส้วมเอง หลังภารโรงหยุดงานประท้วง

Posted: 29 Jul 2018 01:06 AM PDT

หลังจากที่ผู้รับเหมาว่าจ้างภารโรงของศาลในกรุงกัวลาลัมเปอร์เบี้ยวไม่จ่ายค่าจ้างให้กับภารโรง ทำให้ภารโรงพากันหยุดงานประท้วง ส่งผลให้ผู้พิพากษาและคนทำงานในศาลทั้งหลายต้องพากันมาทำงานปัดกวาดเช็ดล้างห้องต่างๆ ในอาคารศาลเอง รวมถึงการขัดห้องน้ำซึ่งผู้พิพากษารายหนึ่งบอกว่าเธอไม่ต้องทำเองเลยมาเป็นเวลานานแล้ว

สื่อมาเลเซียกินีรายงานว่าหัวหน้าผู้พิพากษา ริชาร์ด มาลันจุม ขับเคลื่อนให้คนทำงานศาลในกรุงกัวลาลัมเปอร์ทำงาน "อาสาหมู่คณะ" ในการทำความสะอาดอาคารศาลเองรวมถึงทำความสะอาดห้องน้ำด้วย

สาเหตุที่เหล่าผู้พิพากษาต้องมาล้างห้องน้ำเองเป็นเพราะว่าภารโรงของศาลกำลังอยู่ในช่วงหยุดงานประท้วงมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว ภารโรงเหล่านี้หยุดงานประท้วงเพราะพวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างมานานนับตั้งแต่ช่วงรอมฎอนถึงแม้ว่าผู้รับเหมาว่าจ้างจะได้รับเงินจากรัฐบาลในส่วนที่ควรจะเอาไปจ่ายค่าจ้างให้กับภารโรงเหล่านี้ได้จนถึงสิ้นปีแล้วก็ตาม

หนึ่งในผู้พิพากษาศาลสูงของกัวลาลัมเปอร์เปิดเผยว่าคนทำงานในศาลต้องทำความสะอาดทั้งห้องพิจารณาคดีและโถงทางเดินในอาคารมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว ตัวเขาเองก็ต้องล้างห้องน้ำตัวเองในอาคารศาลจากที่เขาไม่ได้ทำเองนับตั้งแต่ล้างห้องน้ำที่บ้านมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว 

ผู้พิพากษาผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนนี้บอกอีกว่าเธอวางแผนจะจ้างคนทำความสะอาดส่วนตัวให้ไปทำงาน "อาสาหมู่คณะ" ของมาลันจุม โดยอ้างว่าพวกเขามีงานเอกสารจำนวนมาก ต้องทำความสะอาดห้องพิจารณาคดี และงานทำความสะอาดมันทำให้เธอรู้ว่ากำลังอยู่ในเล้าไก่

มีทนายความที่ไม่ประสงค์ออกนามอีกรายหนึ่งบอกว่าห้องน้ำชายไม่มีใครทำความสะอาดเลยทำให้มันส่งกลิ่นเหม็นเน่าก่อนที่จะได้เห็นตัวห้องน้ำเสียอีก

เรียบเรียงจาก

CJ mobilises KL judges to clean court toilets, Malaysiakini, 28-07-2018
https://www.malaysiakini.com/news/436335

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'สวนดุสิตโพล' ชี้ประชาชนมองกระแสข่าว ดูด ส.ส. เป็นเรื่องปกติ

Posted: 29 Jul 2018 12:58 AM PDT

'สวนดุสิตโพล' ชี้ประชาชนมองกระแสข่าว ดูด ส.ส. เป็นเรื่องปกติทางการเมือง มองผู้สมัคร ส.ส.ย้ายพรรค อันดับ 1 เป็นเรื่องผลประโยชน์ มองหาความมั่นคง และโอกาสที่ดีกว่า 38.90% อันดับ 2 มีความขัดแย้งภายใน พรรคไม่มีเสถียรภาพ 32.89%

29 ก.ค. 2561 กระแสข่าวดูด ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส.ย้ายพรรค ยังคงเป็นประเด็นทางการเมืองที่น่าจับตามอง ในขณะที่หัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคก็ออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งการย้ายพรรคถือเป็นสิทธิของผู้สมัครที่ไม่อาจไปก้าวก่ายการตัดสินใจได้เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนกรณีผู้สมัคร ส.ส. ย้ายพรรค 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,096 คน ระหว่างวันที่ 24-28 ก.ค. 2561 สรุปผลได้ ดังนี้

1. ประชาชนคิดอย่างไร? กรณีผู้จะสมัคร ส.ส.ย้ายพรรค 
อันดับ 1 เป็นเรื่องปกติทางการเมือง มีให้เห็นในช่วงเลือกตั้ง 47.04%
อันดับ 2 ถูกจับตามองน่าจะเกี่ยวข้องกับการดูด ส.ส. 31.19%
อันดับ 3 เป็นสิทธิของผู้สมัครที่มีอิสระในการย้ายพรรค 30.28%
อันดับ 4 ทำให้ระบบพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ต้องหาทางแก้ไข รับมือ 22.16%
อันดับ 5 ประชาชนควรติดตามข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจ 16.88%

2. ระหว่าง "ตัวผู้สมัคร ส.ส." กับ "พรรคการเมือง" ประชาชนให้ความสำคัญอะไรมากกว่ากัน
อันดับ 1 พอ ๆ กัน 38.69% เพราะการทำงานจะมีประสิทธิภาพต้องอาศัยทั้งตัวผู้สมัคร และพรรคการเมืองที่ร่วมมือกันสำคัญทั้งคู่ฯลฯ  
อันดับ 2 ตัวผู้สมัครมากกว่า 33.30% เพราะเป็นปากเสียงให้กับประชาชน เป็นผู้ปฏิบัติ รู้ปัญหาในพื้นที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน ฯลฯ
อันดับ 3 พรรคที่สังกัดมากกว่า 28.01% เพราะถ้าพรรคเข้มแข็งหัวหน้าพรรคดีมีนโยบายโดนใจจะส่งเสริมการทำงานของผู้สมัครได้ดีขึ้น ฯลฯ

3. ในความคิดเห็นของประชาชนทำไม? ผู้สมัคร ส.ส.จึงย้ายพรรค
อันดับ 1 เป็นเรื่องผลประโยชน์ มองหาความมั่นคง และโอกาสที่ดีกว่า 38.90%
อันดับ 2 มีความขัดแย้งภายใน พรรคไม่มีเสถียรภาพ 32.89%
อันดับ 3 อุดมการณ์ แนวคิด ทัศนคติการทำงานไม่ตรงกัน 24.87%
อันดับ 4 ต้องการเปลี่ยนแปลง ลองหาประสบการณ์จากพรรคอื่น 19.52%
อันดับ 5 ถูกชักชวน รู้สึกว่าได้รับความสำคัญ และการยอมรับ 15.64%

4. ถ้าผู้สมัคร ส.ส.ที่เคยเลือกเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้วย้ายพรรคประชาชนจะยังเลือกผู้สมัครคนนี้อีกหรือไม่
อันดับ 1 ไม่แน่ใจ 50.91% เพราะคงต้องรอดูก่อนว่าย้ายไปพรรคไหน ใครเป็นหัวหน้าพรรค ดูนโยบาย พิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย ฯลฯ
อันดับ 2 เลือก 27.28% เพราะดูที่ตัวบุคคล ชื่นชอบ มีผลงานดี เป็นคนเก่ง มีความสามารถ มีประสบการณ์ เข้าใจปัญหาในพื้นที่ ฯลฯ
อันดับ 3 ไม่เลือก 21.81% เพราะรู้สึกผิดหวังไม่เชื่อมั่นเหมือนเป็นคนขาดอุดมการณ์เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่า ฯลฯ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น