โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ก้องภพ ก้องจักรวาล ปัจจุบัน  อนาคต  และโอกาสสำหรับประเทศไทย

Posted: 24 Jul 2018 09:32 AM PDT

เป็นประจำทุกปีที่ ดร.ก้องภพ  อยู่เย็น  วิศวกรประจำองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (The National Aeronautics and Space Administration: NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา  จะกลับมาเยี่ยมบ้านที่ประเทศไทย  และทุกครั้งก็จะเต็มไปด้วยตารางนัดหมายที่มาจากทั่วทุกสารทิศ  ทั้งการรับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ เข้าร่วมสัมมนาหรือประชุมวิชาการ รวมทั้งมีนัดสัมภาษณ์จากสื่อทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์

และปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านมา  เนื่องจาก ดร.ก้องภพ กลับมาคราวนี้ก็เพื่อเตรียมข้อมูลและความพร้อมในการกลับมาทำวิจัยที่บ้านเกิดในอนาคตอันใกล้นี้  ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยที่จะได้ทรัพยากรบุคคลที่เคยทำงานในองค์กรระดับโลกกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทยเพิ่มอีกหนึ่งคน  บทสัมภาษณ์นี้จึงเริ่มต้นในแบบเป็นกันเอง  สบายๆ  และไม่เคร่งเครียดมากนัก  แต่มีเนื้อหาที่น่าสนใจ  อีกทั้งบางเรื่องก็เป็นโครงการริเริ่มใหม่หรือจะนำมาต่อยอดในประเทศไทย  หากมีโอกาสเราจะนำมาเผยแพร่ให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

1. อยากให้เล่าถึงชีวิตประจำวันในการทำงานที่นาซ่า
    
ที่นาซ่า  ผมมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นวิศวกรไฟฟ้า  ทำวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านไมโครเวฟเพื่อใช้ในการตรวจจับสัญญาณและพลังงานจากนอกโลก  ซึ่งในแต่ละวันจะมีหน้าที่หลักคือ  การพัฒนาเทคโนโลยี  โดยจะออกแบบทำโมเดลคอมพิวเตอร์ของวงจรไฟฟ้าที่ใช้สารตัวนำยิ่งยวด
    
การทำงานทั่วไปในนาซ่า  เราจะมีกลุ่มงานวิจัยที่แบ่งออกเป็นหลายสาขาด้วยกัน  มีงานวิจัยเกี่ยวข้องกับการสำรวจโลก , สำรวจดวงอาทิตย์ , สำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ  และสำรวจนอกระบบสุริยะซึ่งก็คือกาแล็กซีต่างๆ  ผมจะเน้นงานวิจัยที่อยู่นอกระบบสุริยะเป็นหลัก  นาซ่าจะมีทีมงานที่ทำโครงงานพัฒนาเทคโนโลยีหลายส่วนด้วยกัน  ซึ่งโครงงานที่ผมทำส่วนใหญ่จะประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร  ประมาณ 6 คนต่อ 1 ทีม  และมีช่างเทคนิคที่จ้างเป็นชั่วคราวจำนวนหลายคน  โดยจะทำตั้งแต่การเสนอหัวข้อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นไปตามความต้องการของนาซ่า  หรือทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่นาซ่ากำหนดขึ้นมา  งานวิจัยจะเริ่มตั้งแต่การออกแบบ  สร้างอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อใช้พิสูจน์ทฤษฎี  และทดลองในห้องแล็บตามสภาพแวดล้อมจริงที่จะนำไปใช้งานในอวกาศ  เสร็จแล้วจะเป็นชิ้นงานที่นำไปประยุกต์ใช้  ติดตั้ง  และทดสอบในกล้องดูดาวบนภาคพื้นดินหรือในอวกาศต่อไป

2. ปัจจุบันที่นาซ่ามีงานวิจัยใหม่ที่สนใจบ้าง

งานวิจัยที่นาซ่ามีหลายอย่างด้วยกัน  โครงการที่ผมทำนั้นจะเน้นศึกษาพลังงานที่เกิดจากการปะทุหรือระเบิดจากในจักรวาลตามทฤษฎีของ Big Bang ซึ่งจะจับภาพพลังงานเหล่านี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในเชิงเวลาและในเชิงขนาด  รวมถึงการตรวจจับคลื่นพลังงานจากกาแล็กซี  เพราะเราต้องการทราบองค์ประกอบของกาแล็กซีว่า  ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง  เพื่อจัดลำดับทำฐานข้อมูลทั้งหมดของดวงดาวในกาแล็กซี  และดูว่ากาแล็กซีนั้นมีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่มากน้อยแค่ไหน  นี่เป็นโครงงานในปัจจุบัน  ส่วนโครงงานในอนาคต  เราจะต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ใช้งานในการวัดพลังงานในย่านความถี่ที่สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพในการตรวจจับพลังงานได้ไวและรวดเร็วมากขึ้น

3. เทคโนโลยีเหล่านี้จะมา Disrupt ของเก่าได้อย่างไร

ที่นาซ่า  เทคโนโลยีเหล่านี้จะมาใช้แทนของเก่า  ปัจจุบันเราเน้นเรื่องการย่อส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีขนาดเล็กลง  สมัยก่อนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งจะมีขนาดใหญ่มาก  และถ้าขนออกไปนอกโลกจะมีน้ำหนักมาก  ดังนั้นเราจะย่อส่วนทุกอย่างให้เป็น Chip ขนาดเล็กโดยทำให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง  สามารถผลิตได้ง่ายขึ้นและเอาไปใช้งานได้หลากหลายโครงงาน  ซึ่งจะ Disrupt ทั้งในเชิงขนาดและประสิทธิภาพในการตรวจจับพลังงาน  หรืออาจเรียกว่านาโนเทคโนโลยีก็ได้  ขณะนี้จะใช้งานในนาซ่าไปก่อน  เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างลงทุนสูงและไม่มีใครนำไปใช้ตรวจจับพลังงานที่น้อยขนาดนี้นอกจากองค์กรที่สำรวจอวกาศอย่างนาซ่า  จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์

4. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีกี่ประเภท  อะไรบ้าง
  

เทคโนโลยีจะมี 2 ส่วน  คือ
    
1. เทคโนโลยีส่วนพลเรือน
    
2. เทคโนโลยีส่วนความมั่งคงทางการทหาร  ซึ่งพลเรือนจะเห็นการประยุกต์ใช้งานอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่  หรือเมื่อต้องการแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร เช่น การใช้ระเบิดปรมาณูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  เป็นต้น

ซึ่ง 2 ส่วนนี้จะแยกออกจากกัน  เราจะพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีของพลเรือน  เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์สำหรับคนจำนวนมากและสามารถใช้งานในปัจจุบัน  ประชาชนสามารถเห็นและจับต้องได้

การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลเรือนจะ Disrupt เทคโนโลยี  เราจะเน้นทำสิ่งหนึ่งที่ยังไม่มี  ให้มีขึ้นมา  สิ่งที่เมื่อก่อนเคยทำได้ยากก็จะกลายเป็นของง่าย  ตัวอย่างในอดีตเช่น  การสร้างเครื่องบิน  จะร่นระยะทางจากการเดินหรือการใช้รถยนต์  จะลดเวลาในการเดินทาง  นี่ก็เป็นการ Disrupt เทคโนโลยีอย่างหนึ่ง  หรือการส่งของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง  ต้องใช้เวลานาน  เดี๋ยวนี้สามารถสั่งซื้อออนไลน์และมาส่งถึงบ้าน  เทียบกับเมื่อก่อนที่ต้องไปรับที่ไปรษณีย์  ดังนั้นการ Disrupt เทคโนโลยี  คือ  การทำสิ่งที่เมื่อก่อนทำได้ยาก  มาทำให้ง่าย  และการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตก็เป็นการ Disrupt เทคโนโลยีอีกเช่นกัน  เพราะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

ในอนาคตจะเป็นเรื่องของ AI (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) และหุ่นยนต์  จะใช้คอมพิวเตอร์ในการคิด  วิเคราะห์  ตัดสินใจแก้ปัญหาเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์  รวมถึงเรื่องการใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบไร้สาย  หรือที่เรียกว่า Internet of Things  ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในการทำงานหลายอย่าง  หรือเรื่องการซื้อขายต่างๆ ในโลก Virtual (โลกเสมือนจริง) เช่น Bitcoin, Blockchain, Cryptocurrency ซึ่งจะเป็นมาตรฐานการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในยุคต่อไป  รวมถึงเรื่องของ Virtual Reality การสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเพื่อมิติในการรับรู้หรือเรียนรู้

5. ปัญหาหรืออุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

ปัญหาและอุปสรรคของการทำงานด้านนี้คือ  เทคโนโลยีในประเทศไทยยังตามหลังต่างประเทศอยู่มาก  แต่ถ้าจะแข่งขันกับต่างประเทศนั้นเราต้องมีความคิดที่สร้างสรรค์และต้องอาศัยแรงงานที่มีคุณภาพสูงในการทำวิจัยด้วย  ซึ่งตรงนี้เป็นการตามที่ยากพอสมควร  แต่ก็มีวิธีที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้  นั่นคือ  เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด  วิธีการทำงาน  วิธีแก้ปัญหาเสียใหม่  ต้องเปลี่ยนทางไปอีกกระแสหนึ่งให้ได้  เช่น  เศรษฐกิจสมัยนี้เน้นการบริโภคสิ่งของต่างๆ เราก็เปลี่ยนจาก Consumer (ผู้บริโภค) มาเป็น Prosumer (ผู้ซื้อกึ่งผู้ขาย)  คือ  นอกจากบริโภคแล้วยังสามารถที่จะคิดหรือสร้างอะไรเป็นของตัวเองได้  ผลิตสินค้าที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนใคร  หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน

6. ขอให้ยกตัวอย่างจากงานวิจัยที่กำลังทำอยู่

ยกตัวอย่างเช่น  เรารู้จัก Wi-Fi  คือ  การส่งข้อมูลไร้สาย  ต่อไปอาจจะมี Wi-Power ซึ่งนอกจากส่งข้อมูลแล้วยังส่งพลังานไร้สายได้ด้วย  เช่น  เมื่อก่อนโทรศัพท์ต้องชาร์จไฟโดยการเสียบปลั๊ก  ต่อไปก็ไม่ต้องเสียบปลั๊ก  โดยจะมีการชาร์จไฟทางอากาศแทน  พัดลม , ทีวี ก็ไม่ต้องเสียบปลั๊กเช่นกัน  เหล่านี้คือลักษณะของอุปกรณ์ไร้สายที่จะมาคู่กับการส่งข้อมูลไร้สายในอนาคต

อีกตัวอย่างเช่น  ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราอาจจะคิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทุ่นแรงเกษตรกรหรือทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณสูงขึ้น  โดยไม่ต้องใช้สารเคมีมากนัก แต่จะใช้พลังงานสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแทน  หรือกรณียารักษาโรค  แทนที่เราจะมุ่งเน้นไปรักษาที่ปลายเหตุหรือไปวิเคราะห์ที่เชื้อโรค  ให้เปลี่ยนมุมมองใหม่มาเป็นการผลิตนวัตกรรมเพิ่มภูมิต้านทานเพื่อไปจัดการกับเชื้อโรคแทน  นี่คือการมองต่างมุมในการแก้ปัญหา  หรือปัญหารถติด  ถ้าเราสร้างระบบยกลอยที่ทำให้รถสามารถซ้อนกันได้หลายๆ ชั้นเหมือนในหนังสตาร์วอร์  ก็จะแก้ปัญหารถติดได้  นี่เป็นการ Disrupt เทคโนโลยีอย่างหนึ่ง  แต่ว่าจะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย  เช่น  จินตนาการ , วิธีคิด , วิธีการสังเกตธรรมชาติ , วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคนเพื่อผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมา

7. รูปแบบหรือลักษณะงานในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เศรษฐกิจในอนาคต  เราอาจจะเห็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสร้างงานอีกต่อหนึ่งมากกว่าในปัจจุบัน  จะมีการสร้างธุรกิจใหม่  สร้างอุตสาหกรรมใหม่  ดังนั้นจะมีแรงงานเกิดใหม่ขึ้นมาแทนที่ของเก่า  โดยเป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมเดิมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่  และวิธีการทำงาน  การบริหารงาน  หรืองานทั่วไปก็จะเปลี่ยนไปด้วย  จากเดิมเป็นแรงงานคนที่ทำงานในรูปแบบซ้ำๆ  ต่อไปจะเป็นการบริการจัดการโดยหุ่นยนต์อัตโนมัติหรือบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์แทน  ทำให้งานที่มนุษย์ต้องทำซ้ำๆ จะลดลง  แต่งานใหม่จะเป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ , การแก้ปัญหา , การซ่อมเครื่องจักร , การพัฒนาเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย

8. ในอนาคต  นักเรียน  นักศึกษา  หรือคนทั่วไปควรเลือกประกอบอาชีพประเภทใดจึงจะอยู่รอดได้

อาชีพไหนก็ได้  ถ้าคนที่เรียนมีความคิดสร้างสรรค์  อาชีพไหนก็ได้ที่ใจเรารักและมีความต้องการพัฒนาสาขาอาชีพเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม  นอกจากนั้นแล้วควรมีความรู้อย่างกว้างขวาง  ศึกษาหาความรู้จากหลายด้านแล้วนำมาประยุกต์รวมกับความเชี่ยวชาญหลัก  ก็จะเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีการบูรณาการมากขึ้น  เกิดอุตสาหกรรมใหม่  เศรษฐกิจใหม่  และอยู่รอดได้ด้วยการเป็นผู้ให้ในสิ่งที่ตนเองรักหรือถนัดต่อสังคม

9. ในสมัยเด็ก  อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้หันมาสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์

แรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจเรียนและทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เพราะว่า  ต้องการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคมโลก  และพัฒนาระดับสติปัญญาในเวลาเดียวกัน  ซึ่งหากเรามีความรู้  มีทักษะในกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมบนโลกได้  ก็จะทำให้ชีวิตเรามีคุณค่าที่ได้เกิดมา  เป็นความสุขแบบหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

10. ตามที่ ดร.ก้องภพ  จบการศึกษาปริญญาตรีที่ประเทศไทย  และปริญญาโท-เอกที่สหรัฐอเมริกา  อยากให้เปรียบเทียบความแตกต่างใน

การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยว่า   แตกต่างกันอย่างไร  ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงมีความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงมาก

ประเทศสหรัฐอเมริกาให้โอกาสคนในการคิดและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ  มีทุนให้วิจัยแบบหวังผลเฉพาะด้านและทุนให้เปล่า  กล้าที่จะลงทุนกับทรัพยากรบุคคลด้านการศึกษา  กล้าที่จะให้คนเหล่านั้นทดลองทำงานบางอย่างที่จะมีประโยชน์ต่อค์กร  มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาและการเรียนรู้   ให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง  เรื่องกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ก็มีส่วนสำคัญด้วย  มีการสร้างระบบให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขันและลดการเอารัดเอาเปรียบ  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีความคิดจะสร้างผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ให้กับสังคมหรือโลกมีความกล้าที่จะทำ  อีกทั้งมีผู้ที่พร้อมให้การสนับสนุนปัจจัยในหลายด้านด้วย

11. ประเทศไทยสามารถมีนวัตกรรมเป็นของตนเองได้หรือไม่

ประเทศไทยสามารถมีนวัตกรรมเป็นของตนเองได้หลายแบบด้วยกัน  ทั้งจากต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ  สำหรับต้นน้ำนั้นควรเน้นการผลิตนวัตกรรมที่มี Deep Technology ที่ยังไม่มีในท้องตลาดปัจจุบันและต้องมีประโยชน์สูง  ถ้าหากประสบความสำเร็จในการวิจัย  ก็สามารถสร้างสายการผลิตในประเทศแล้วผลิตส่งขายต่างประเทศทั่วโลก

12. ปัญหาและอุปสรรคในการวิจัยหรือการทำ Startup ในประเทศไทยคืออะไร

อุปสรรคที่สำคัญ  คือ  ทักษะฝีมือแรงงานของคนไทยและความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีในเชิงลึก  แต่เราสามารถเรียนรู้และทำไปพร้อมกันได้  นอกจากนั้นยังมีเรื่องกฎหมาย  มาตรฐานการผลิต  และกำแพงภาษี  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้บอกได้ยากว่า  จะประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด  แต่คาดว่าในอนาคตจะเกิดอุตสาหกรรมแบบใหม่ในประเทศไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม  ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการสร้าง Startup ที่มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันและสร้างงานด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศต่อไป

13. ในมุมมองของ ดร.ก้องภพ อะไรเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยจึงเหมาะสำหรับการทำงานด้านนวัตกรรม

แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงบุคลากรที่มีความพร้อมสูงกว่าประเทศไทยก็ตาม  แต่ประเทศไทยมีอิสระในการทำงานและการคิดนอกกรอบสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว  อีกทั้งมีต้นทุนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่สูงมากนัก  รวมถึงมีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย  มีทำเลที่ตั้งใกล้กับประเทศจีน  และสามารถส่งงานบางส่วนไปผลิตที่ประเทศจีนได้  เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือคนได้ทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับเกษตรกร  ชาวไร่  ชาวนา  รวมถึงคนที่มีฐานะ  เป็นข้าราชการ  หรือนักธุรกิจ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถรองรับคนจำนวนมากได้  หากต้องเทียบกับการทำงานที่นาซ่าแล้ว  จะเป็นการทำงานเพื่อรองรับด้านวิทยาศาสตร์เฉพาะทางเป็นหลัก  ส่วนการผลิตนวัตกรรมที่นาซ่านั้นจะเป็นการผลิตเป็นจำนวนน้อย  ใช้งานเฉพาะด้านและในระยะเวลาจำกัดเท่านั้น

14. ทำอย่างไรให้คนไทยมีกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ต้องทำทุกอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม  พิสูจน์ได้  วัดได้  จับต้องได้  เป็นเหตุ  เป็นผล  และที่สำคัญ  ให้เห็นประโยชน์จากการทำงานวิทยาศาสตร์  นั่นคือ  วิจัยและพัฒนาแล้ว  ต้องนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง

การผลิตนวัตกรรมให้กับประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จนั้น  ควรพิจารณาปัญหาของประเทศเป็นโจทย์หลักแล้วนำปัญหานั้นมาสร้างนวัตกรรม  ดูว่ามีอะไรบ้างที่คนส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไข  ซึ่งผลวิจัยที่ทำออกมาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง  เป็นประโยชน์ได้จริง

แต่การทดลองทำอะไรใหม่ๆ ต้องมีการลองผิดลองถูกเสมอ  และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราทำงานได้ถูกต้องและมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต  ดังนั้นการใช้ทฤษฎีที่มีสมมติฐานที่แตกต่างจากตำราเรียนจึงไม่ใช่ปัญหา  เพราะเราจะเน้นการแก้ปัญหาของสังคม  โดยไม่ยึดติดว่าจะใช้ทฤษฎีอะไร  นั่นคือต้องเน้นผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ

15. อยากให้ฝากถึงเยาวชนไทยหรือประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์  และเทคโนโลยี

เยาวชนไทยมีศักยภาพไม่แพ้เยาวชนในต่างประเทศ  เพราะปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต  เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้เท่าเทียมกันทั่วโลก  เพียงแต่ว่า  ใครสามารถแยกแยะได้ว่า  อะไรจริง  อะไรไม่จริง  อะไรที่สามารถทำได้  และคนไหนมีความกล้าที่จะฉีกออกจากกรอบทฤษฎีปกติโดยเน้นการบรรลุเป้าหมาย  คนนั้นก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน  
เราต้องวิเคราะห์ว่า  อะไรคือศักยภาพของตัวเองและสามารถนำศักยภาพเหล่านั้นไปทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน  หากขาดตกบกพร่องด้านใดก็ควรศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนั้น  อีกส่วนหนึ่งเราจะมีแนวทางการพัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างไรให้สูงขึ้น  โดยไม่ให้กรอบความคิดบางอย่างมาปิดกั้นหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

16. เป้าหมายในอนาคตที่อยากจะทำคืออะไร  นอกเหนือจากการทำวิจัย

ในเบื้องต้น  ผมอยากถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานในต่างประเทศ  จากองค์กรระดับโลกอย่างนาซ่าที่มีบุคลากรชั้นนำทั้งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่มีศักยภาพสูง  ผมอยากสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์  สามารถสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาใช้เองภายในประเทศ  โดยคาดการณ์อนาคตว่า  สิ่งที่โลกควรจะมีในอีก 10-20 ปีข้างหน้าคืออะไร  ผมอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ศึกษาวิธีแก้ปัญหาด้วยการคิดนอกกรอบจากสมมติฐานเดิมที่อยู่ในตำราเรียนปัจจุบัน  และสนับสนุนคนเหล่านั้นให้มีความพร้อมในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น

                            
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สันเขื่อนลาวแตก องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้เป็นบทเรียนเรื่องออกแบบเขื่อนและการเตือนภัย

Posted: 24 Jul 2018 06:12 AM PDT

กรณีเขื่อนแตกที่แขวงอัตตะปือ ประเทศลาว โดยเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าป้อนไทยซึ่งร่วมทุนโดยเกาหลีใต้-ไทย-รัฐวิสาหกิจลาวนั้น องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้ว่ามีบทเรียนที่สำคัญก็คือ "ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้" รวมทั้งข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว

ที่มา: สำนักข่าวสารประเทศลาว

กรณีสันเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า "เซเปียน-เซน้ำน้อย" แตกคืนวันที่ 23 ก.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว  โดยเขื่อนที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างดังกล่าวผู้ลงทุนคือ บริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC)

สำหรับบริษัท PNPC เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% หากก่อสร้างเสร็จจะมีกำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ โดยตามสัญญาจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 370 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 27 ปีขณะที่ราชบุรีโฮลดิ้งชี้แจงว่า 1 ใน 5 สันเขื่อนกั้นช่องเขา คือสันเขื่อนส่วน D แตกร้าว โดยอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งกระทบต่อการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีหน้านั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ขณะเดียวกัน องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ในวันนี้ (24 ก.ค.) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเขื่อนแตกที่แขวงอัตตะปือ โดยตอนหนึ่งระบุว่า "เขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนขั้นบันไดเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมดห้าเขื่อน เป็นเขื่อนลักษณะที่เรียกว่า เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (saddle dam) หมายถึงเป็นเขื่อนเสริมพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากเขื่อนหลัก เพื่อให้สามารถยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บน้ำได้ โครงการนี้ตั้งอยู่บนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จุดที่แม่น้ำเซเปียนบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่ปากเซ"

"จากข้อมูลที่มีอยู่ บริเวณเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยได้แตกออกประมาณสองทุ่มเมื่อคืนที่ผ่านมา"

องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ให้ข้อมูลด้วยว่า "เมื่อวานนี้ (23 กรกฎาคม) หัวหน้าโครงการจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ประชาชนของโครงการ ส่งจดหมายไปถึงหัวหน้าแผนกจัดสรรที่อยู่ใหม่ของโครงการที่แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ โดยระบุว่าสภาพการณ์อันตรายอย่างมาก เนื่องจากมีน้ำหลากจากแนวสันเขื่อน และเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ใกล้จะแตกออก จดหมายระบุว่า หากเขื่อนแตก น้ำปริมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. จะไหลไปด้านท้ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเซเปียน ในจดหมายระบุให้มีการเร่งเตือนฉุกเฉินแจ้งให้หมู่บ้านด้านท้ายน้ำอพยพและย้ายไปอยู่ในที่สูง ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังมีการออกจดหมาย (ในค่ำของวันจันทร์) เขื่อนได้แตกออก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทะลักในปริมาณมหาศาลไปด้านท้ายน้ำ การแตกของเขื่อนเป็นผลมาจากฝนที่ตกหนักตามฤดูอย่างต่อเนื่อง และฝนที่ตกหนักโดยเฉพาะในพื้นที่นี้เมื่อวันจันทร์ ส่งผลให้กว่า 4,000 ครอบครัว (บางตัวเลขระบุว่ากว่า 6,600 ครอบครัว) ต้องสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สินเนื่องจากถูกน้ำท่วม และมีผู้สูญหายกว่า 200 คน มีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อยเจ็ดแห่งประกอบด้วย บ้านท่าบก หินลาด สมอใต้ ท่าแสงจัน ท่าหินใต้ ท่าบก ท่าม่วง เขต สนามชัย แขวงอัตตะปือ

"ชาวบ้านจำนวนมากเหล่านี้ได้ถูกอพยพมาที่อยู่ใหม่ก่อนหน้านี้ หรือที่ผ่านมาได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากินเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน มาในคราวนี้ยังต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวไป"

ลาวเขื่อนแตกอพยพใหญ่-พบมีสัญญาป้อนไฟฟ้าไทย 27 ปีหลังสร้างเสร็จ

องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ชี้ว่าการแตกของเขื่อนเผยให้เห็นบทเรียนที่ชัดเจนหลายประการ ได้แก่ "มีความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้ อย่างกรณีที่เกิดฝนตกหนักมากๆ ปัจจุบันความผันผวนด้านสภาพอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์และรุนแรง เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในลาวและในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ"

"ทั้งยังแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยสำหรับการสร้างและการเดินเครื่องเขื่อน เนื่องจากมีการเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว"

"ทั้งสองประเด็นต่างทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานของเขื่อนและความปลอดภัยของเขื่อนในประเทศลาว รวมทั้งความเหมาะสมของโครงการเหล่านี้ในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบ การตรวจสอบได้และความสามารถในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในโครงการที่เป็นของและดำเนินการโดยเอกชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้างหรือมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้ากว่า 70 แห่งตลอดทั่วสปป.ลาว โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการของและดำเนินการโดยบริษัทเอกชน (ในรูปแบบสัญญา BOT) เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการเขื่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยทันที" องค์กรแม่น้ำนานาชาติระบุ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

มิ.ย. 2561 ผู้ประกันตนว่างงาน 165,310 คน สูงสุดตั้งแต่ ม.ค. 2557

Posted: 24 Jul 2018 05:56 AM PDT

เดือน มิ.ย. 2561 พบมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม 165,310 คน สูงสุดตั้งแต่เก็บข้อมูลมาเมื่อเดือน ม.ค. 2557


ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

24 ก.ค. 2561 จาก ข้อมูลเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน มิ.ย. 2561 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าจากข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 2561 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 11,454,211 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 8.04 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน มิ.ย. 2560) ซึ่งมีจำนวน 10,601,371 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (%YoY) ของเดือน มิ.ย. 2561 เทียบกับเดือน พ.ค. 2561 พบว่าในเดือน มิ.ย. 2561 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.04 ขยายตัวจากเดือน พ.ค. 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.80 สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่าร้อยละ 1 จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

สถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม : SSO) จากข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 2561 มีผู้ว่างงานจำนวน 165,310 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 5.57 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน มิ.ย. 2560) ซึ่งมีจำนวน 156,587 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือน พ.ค. 2561) ซึ่งมีจำนวน 160,180 คน โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.20 และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน มิ.ย. 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.44 มีอัตราขยายตัวเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน พ.ค. 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.41 ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน มิ.ย. 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.0

อนึ่งจากการเก็บข้อมูลของกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 – มิ.ย. 2561 จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือน มิ.ย. 2561 นี้ที่ 165,310 คน เป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 (สถิติสูงสุดที่ทำไว้ก่อนหน้านี้คือในเดือน ส.ค. 2559 ที่จำนวน 161,012 คน)

สถานการณ์การเลิกจ้าง อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน มิ.ย. 2561 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 23,707 คน คิดเป็นร้อยละ 0.21 มีอัตราชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2561ที่มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างที่ร้อยละ 0.22 แต่มีอัตราขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ที่มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้าง ที่ร้อยละ 0.20

นอกจากนี้ใน รายงานข้อมูลแรงงานรายเดือน มิ.ย. 2561 ยังระบุถึงสถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศและคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศ  พบว่ามีแรงงานทั้งหมด 445,202 คน ไปแบบถูกกฎหมาย 236,046 คน ไปแบบผิดกฎหมาย 209,156 คน ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศรวม 9,785 ราย ช่วยเหลือเงินสิทธิประโยชน์ 4,019 ราย ช่วยเหลืออื่นๆ 5,766 ราย

ในด้านข้อมูลตำแหน่งงานจากกรมการจัดหางาน พบว่าเดือน มิ.ย. 2561 มีตำแหน่งงานว่าง 26,691 คน ผู้ลงทะเบียนสมัครงาน 27,971 คน ได้รับการบรรจุงาน 21,700 คน ส่วนในด้านแรงงานสัมพันธ์สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่าผลการตรวจแรงงาน/สถานประกอบการณ์ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย. 2561 มีสถานประกอบการณ์ปฏิบัติถูกต้อง 3,666 แห่ง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 954 แห่ง ลูกจ้างได้รับการปฏิบัติถูกต้อง 113,114 คน ได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้อง 37,636 คน มีการชุมนุมเรียกร้อง 1 ครั้งในสถานประกอบการณ์ 1 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 620 คน ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 387 คน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เลือกตั้งกัมพูชา 101: ใครเป็นใครในมหกรรมเข้าคูหาที่อาจไม่เสรี-ไม่แฟร์

Posted: 24 Jul 2018 05:53 AM PDT

ข้อมูลพื้นฐานเรื่องประวัติศาสตร์และโครงสร้างทางการเมืองของกัมพูชาก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 ก.ค. นี้ หนึ่งในไฮไลท์ที่หลายคนกังวลคือความโปร่งใส เสรี และบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งจะยังมีอยู่หรือไม่ ในวันที่พรรครัฐบาลปิดสื่อ ฟ้องยุบฝ่ายค้าน ข่มขู่คนให้ไปเข้าคูหา หรือการเลือกตั้งจะเป็นลิเกฉากใหญ่ให้ฮุนเซนสืบอำนาจเท่านั้น

เนื้อหาโดยย่อ

  • การเลือกตั้งในกัมพูชาที่จะมีขึ้นใน 29 ต.ค. เป็นที่จับตามองในแง่ความฟรีและแฟร์
  • สมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาอยู่ในอำนาจมาแล้วรวมทั้งสิ้น 33 ปี
  • ที่ผ่านมารัฐบาลที่นำโดยพรรคซีพีพีพยายามควบคุมเกมการเมืองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องพรรคฝ่ายค้านที่นำไปสู่การยุบพรรคฝ่ายค้าน หรือการออกกฎหมายให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการ
  • องค์กรนานาประเทศกังวลว่าการเลือกตั้งนี้จะเป็นเพียงตรายางให้ฮุนเซนสืบทอดอำนาจต่อไป หลายองค์กร รวมถึงสหรัฐฯ และอียู ตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
  • เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ระบุว่า จำนวนผู้สังเกตการณ์ที่ กกต. กัมพูชาบอกว่ามี 80,000 คนนั้น ครึ่งหนึ่งมาจากองค์กรที่นำโดยลูกชายของฮุนเซนและรองนายกฯ เมินสัมอัน

(ซ้าย) ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (ขวา) คัตเอาท์หาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปกครองกัมพูชามาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยในภาพมีเฮงสัมริน และฮุนเซน แกนนำสำคัญของพรรค (ที่มา: Thaigov.go.th/Wikipedia)

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในราชอาณาจักรกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ค. 2561 หากพูดกันในรายละเอียดแล้วจะพบว่าการเลือกตั้งของกัมพูชาอาจไม่สามารถนำมาล้อเลียนหรือตบหน้าการเมืองไทยที่รถถังขวางทางไปคูหามาแล้วสี่ปี เพราะข้อสงสัยเรื่องความฟรีและแฟร์ของการเลือกตั้งในรอบนี้เนื่องจากพรรครัฐบาลที่เปิดการ์ดจู่โจม กดดันฝ่ายค้านและสุ้มเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่เนิ่นๆ ในแบบที่เรียกว่าง้างแข้งมาตั้งแต่นอกกรอบเขตโทษ

ประชาไทรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจสนามการเมืองของประเทศที่เพิ่งผลัดเปลี่ยนการปกครองจากระบอบเขมรแดงที่คร่าชีวิตคนในประเทศเป็นหลักล้านราว 4 ทศวรรษได้มากขึ้นก่อนที่การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามจะมีขึ้นและจบลง

เส้นทางการเมืองการปกครองกัมพูชาจากอดีตถึงปัจจุบัน

ราชอาณาจักรกัมพูชามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเส้นทางทางการเมืองของราชอาณาจักรกัมพูชาถ้าเป็นเส้นทางรถเมล์ก็ต้องผ่านหลายป้าย

  • เป็นรัฐใต้อารักขาของฝรั่งเศสช่วงปี 2406
  • ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (2484-2488)
  • ถูกฝรั่งเศสกลับมาผนวกเข้าไปในสหภาพฝรั่งเศสเมื่อปี 2489 โดยให้อำนาจการปกครองดินแดนตนเอง เรื่อยมาถึงการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2490
  • ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสหลังเจ้าอาณานิคมจากยุโรปพ่ายแพ้ในการรบกับเวียดมินห์ที่เวียดนาม เกิดเป็นความตกลงเจนีวาที่ให้ฝรั่งเศสมอบเอกราชแก่เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชาในปี 2496
  • ถูกนายพลลอน นอล ยึดอำนาจจากกษัตริย์สีหนุ ซึ่งตอนนั้นสละราชสมบัติแต่ดำรงสถานะประมุขรัฐในปี 2513 กษัตริย์สีหนุจึงลี้ภัยไปยังปักกิ่ง ประเทศจีน จับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชาหรือที่รู้จักกันในชื่อเขมรแดง
  • เขมรแดงยึดอำนาจจากลอน นอล ในปี 2518 ตามมาด้วยการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ขนย้ายคนจากเมืองเข้าระบบนารวม ตามมาด้วยการเข่นฆ่า รวมถึงความตายที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีจำนวนราว 1.7-2 ล้านคน
  • ปี 2521 กองทัพของเวียดนามและแนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา นำโดยฮุนเซน เฮง สัมรินและเจียซิม (United Front for the National Salvation of Kampuchea) เข้าโจมตีกัมพูชา ในปีต่อมายึดกรุงพนมเปญได้ในปีต่อมา ผู้นำของเขมรแดงหลบหนีไปทางตะวันตกมาตั้งหลักกันใหม่ในเขตแดนไทย
  • ปี 2525 เขมรแดงตั้งรัฐบาลสามฝ่าย ในขณะที่เวียดนามก็ให้การช่วยเหลือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้ระบอบที่เรียกว่า 'สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา' ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชาอยู่ใต้ระบอบการเมืองการปกครองดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ส่วนกองทัพเวียดนามถอนกำลังจากกัมพูชาในปี 2533
  • ปี 2534 ภาคีต่างๆ ในกัมพูชาเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเห็นชอบกับการจัดการเลือกตั้งภายใต้การดูแลขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ซึ่งเขมรแดงได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งที่จัดโดยยูเอ็น และปฏิเสธที่จะสลายกองกำลังที่มีอยู่
  • ปี 2536 รัฐบาลเลือกตั้งนามว่า รัฐบาลหลวงแห่งกัมพูชา (Royal Government of Cambodia) ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือพรรคของสมเด็จพระนโรดม รณฤทธิ์ พระราชโอรสพระองค์ที่สองของกษัตริย์สีหนุชนะเลือกตั้ง แต่ทางฝ่ายสมเด็จฮุน เซน ซึ่งก็เป็นอดีตเขมรแดงไม่ยอมรับ ต่อมาเกิดการประนีประนอมตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประเทศกัมพูชาจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีหนึ่งรัฐบาลแต่มีสองนายกรัฐมนตรี คือ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกัน
  • จากปี 2536 ถึงปัจจุบันสมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา นับเวลารวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 25 ปี แต่หากนับรวมเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาตั้งแต่ปี 2529 นับเวลาได้ 33 ปี

ที่มา: วิกิพีเดีย, Cambodia Tribunal, Worldatlas, aseanthai.net

ทำความรู้จักการเมืองกัมพูชาและภาวะเผด็จการรัฐสภาของฮุนเซนและพรรคซีพีพี

รายงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาระบุว่า การเลือกตั้งปีนี้มีพรรคการเมืองลงทะเบียนแข่งขันในสนามเลือกตั้งทั้งสิ้น 20 พรรค มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 25 เขต ประชาชนจะได้เลือกผู้แทนของพวกเขาเข้าไปในสภาขนาด 125 ที่นั่ง จำนวนนี้ถูกเพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่เลือกตั้งครั้งที่แล้วมี 123 ที่นั่ง โดยสองที่นั่งที่เพิ่มมาจะไปอยู่ในเขตจังหวัดสีหนุวิลล์ เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้สีหนุวิลล์มีเก้าอี้ผู้แทนทั้งหมดสามที่นั่ง

ระบบรัฐสภาของกัมพูชามีสองสภา รัฐสภาที่จะมีการเลือกตั้งกันนั้นเป็นสภาล่าง อีกสภาหนึ่งคือสภาสูง ประกอบด้วยวุฒิสภาจำนวน 62 คน สภาท้องถิ่นใน 24 จังหวัดทั่วประเทศและรัฐสภาเป็นผู้เลือกตั้งทางอ้อม 58 คน ส่วนอีกสี่คนที่เหลือจะถูกแต่งตั้งโดยกษัตริย์จำนวนสองคน และสภาล่างเป็นคนแต่งตั้งอีกสองคน โดยรัฐสภามีหน้าที่หลักสามด้าน หนึ่ง ออกกฎหมาย สอง อนุมัตินโยบายของรัฐ และคอยตรวจสอบรัฐบาล

การเลือกตั้ง ส.ว. ล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) กวาดที่นั่งในสภาได้ 58 ที่นั่งเต็มโควตาการเลือก จากนั้นรัฐสภาเลือกสมาชิกจากพรรคฟุนซินเปกสองคน กษัตริย์นโรดมสีหมุนีแต่งตั้งอีกอีกสองคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ส่วนคณะกรรมาธิการภายในจำนวน 10 คนที่ ส.ว. เลือกกันเองมาจากพรรคซีพีพีทั้งหมด

ข้อกังวลสำหรับการเลือกตั้งกัมพูชาปีนี้คือความโปร่งใสในการเลือกตั้งเพราะพรรครัฐบาลใช้หลายวิธีตัดทอนคู่แข่งและฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2556 พรรคประชาชนกัมพูชาที่มีฮุนเซนเป็นหัวหน้าพรรคชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในสภาไปทั้งสิ้น 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชาหรือ CNRP ได้ที่นั่งที่เหลือไปคือ 55 ที่นั่งกลายเป็นฝ่ายค้าน โดยฝ่ายค้านได้ประท้วงผลการเลือกตั้งโดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จนพรรคฝ่ายค้านได้ทำการคว่ำบาตรสภาในเดือน ก.ย. 2556 โดยกล่าวว่าจะไม่เข้าสภาจนกว่าจะมีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง การประท้วงของฝ่ายค้านกลายเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

ในปี 2557 รัฐสภาที่มีพรรคซีพีพีเป็นเสียงข้างมาก ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับฝ่ายตุลาการสามชิ้น ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยองค์กรและศาล พ.ร.บ. ว่าด้วยผู้พิพากษาและอัยการ และกฎหมายว่าด้วยโครงสร้างและหน้าที่ของสภาคณะผู้พิพากษาสูงสุด โดยสาระสำคัญหนึ่งของกฎหมายเหล่านี้คือการเพิ่มบทบาทให้ รมว.กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงยุติธรรมมีส่วนในการกำหนดกลไกด้านการบริหาร งบประมาณฝ่ายตุลาการ พิจารณาโยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ปลดหรือดำเนินการทางวินัยต่างๆ กับตัวผู้พิพากษา ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายตุลาการ

จนในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว (2560) ศาลสูงกัมพูชามีคำตัดสินยุบพรรค CNRP หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแจ้งความว่าพรรค CNRP ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้วางแผนโค่นล้มรัฐบาลผ่านการประท้วงของผู้ไม่พอใจรัฐบาลหรือที่ทางภาครัฐมักเรียกว่า 'ปฏิวัติสี (Color Revolution)' ซึ่งเป็นชื่อเรียกของการโค่นล้มระบอบการปกครองในสหภาพโซเวียตเดิมและตะวันออกกลาง

กึม สุขขา หัวหน้าพรรค CNRP ถูกจับกุมที่บ้านพักของเขาช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ก.ย. ปีที่แล้ว เขาถูกรัฐบาลกัมพูชาตั้งข้อหา "ทรยศชาติ" ซึ่งมีโทษจำคุกระหว่าง 15-30 ปี พวกเขาอ้างข้อหานี้จากการที่สุขขาเคยปราศรัยไว้ในปี 2556 ว่าเขาได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

อีกหลักฐานที่ถูกยกมาใช้ในศาลคือวิดีโอของสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ที่ปราศรัยขอให้กองทัพหันเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล นอกจากทั้งสองคนแล้ว ภาคประชาสังคมหลายองค์กรก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเป็นผู้อำนวยความสะดวกกับการปฏิวัติด้วย สถานีวิทยุเรดิโอ ฟรี เอเชียที่รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ช่วย และหน่วยงานที่ตรวจสอบการเลือกตั้งชื่อคอมเฟรลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

คำตัดสินของศาลสุดท้ายนำไปสู่การปลด ส.ส. พรรค CNRP ในสภาจำนวน 55 ที่นั่ง โดยตำแหน่งที่ว่างลง 55 ที่นั้น 44 ที่นั่งถูกแทนที่ด้วยผู้แทนจากพรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละห้าจากเสียงทั้งหมด อีก 11 ที่นั่งพรรคซีพีพีได้ไป โดยสมาชิกพรรค CNRP ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึงห้าปี เท่ากับไม่สามารถเข้าสู่สนามการเมืองได้ทันการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เท่ากับการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคซีพีพีไม่มีคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่ในสนามการเลือกตั้งทั้งในแง่พรรคและตัวบุคคล

12 ก.ย. ปีเดียวกันนั้น พรรคสงเคราะห์ชาติซึ่งถูกเล่นงานด้วยคดีการเมืองประกาศต่อสมาชิกพรรคว่า "ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากจะต้องออกมาชุมนุมมวลชนอย่างสันติวิธี"

การประกาศดังกล่าวตามมาด้วยการตอบโต้ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Fresh News ซึ่งมักใช้เผยแพร่ข่าวของรัฐบาล โดย ฮุน เซน ระบุว่าเขาได้บอกแก่กองกำลังรักษาความมั่นคงว่า การประท้วงดังว่านั้น "จะไม่อนุญาตให้เกิดเด็ดขาด"

ในวันที่ 12 ก.ย. นั้นเอง รถยนต์บรรทุกทหาร ตำรวจ หลายคันรถมาจอดหน้าที่ทำการพรรคสงเคราะห์ชาติเมื่อคืนวันที่ 12 ก.ย. และวนเวียนไปมาจนถึงเช้าตรู่วันที่ 13 ก.ย. โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก็มีเฮลิคอปเตอร์ของทหารกัมพูชา และเรือยนต์ติดปืนกล เข้ามาใกล้ที่ทำการพรรคสงเคราะห์ชาติ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาฮุน เซน ระบุเป็นเพียงการ "ฝึกซ้อม" ก่อนงานฉลองวันก่อตั้งหน่วย

ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. 2560 รัฐบาลกัมพูชาสั่งปิดหนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษ เดอะแคมโบเดียเดลี โดยอ้างว่าสำนักข่าวไม่ได้จ่ายเงินภาษีมูลค่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 19 ล้านบาท แคมโบเดียเดลีเป็นหนึ่งในสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เรื่อยๆ รัฐบาลยังได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงของสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย วอยซ์ออฟเดโมเครซีและวอยซ์ออฟอเมริกา ด้วยเหตุผลด้านภาษีและสถานะการจดทะเบียน เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อใหญ่อย่างพนมเปญโพสท์ถูกเทคโอเวอร์กิจการโดยนายทุนชาวมาเลเซียที่มีความสนิทสนมกับฮุนเซน

ฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการแทนผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวกรณีประชาธิปไตยในการเลือกตั้งกัมพูชาในวันนี้ (24 ก.ค. 2561) ว่าปัจจุบันมีสถานีวิทยุ 32 สถานีถูกปิดไปแล้ว

เทคโอเวอร์ "พนมเปญโพสต์" กรุยทางฮุนเซนก่อนเลือกตั้งกัมพูชา

2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากกัมพูชาเล่าวิกฤติ รบ. ปิดสื่อ ห่วงต่อไปแตะต้องรัฐบาลไม่ได้

องค์กรต่างชาติอัด ซีพีพีมุ่งสืบอำนาจผ่านลิเกเลือกตั้ง สหรัฐฯ-อียู ไม่สังเกตการณ์ ไม่สนับสนุน

จากพฤติการณ์ของพรรครัฐบาลปัจจุบันทำให้องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งแสดงความกังวลถึงการเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมาถึง โดยห่วงว่าการเลือกตั้งอาจเป็นเพียงตรายางเพื่อให้ความชอบธรรมแก่ฮุนเซนในการครองอำนาจต่อไป

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL- Asian Network for Free Election) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 24 ก.ค. ระบุว่าการเลือกตั้งกัมพูชาครั้งนี้ไม่สามารถบรรลุมาตรฐานสากลในด้านสิทธิทางการเมืองและประชาชนรวมถึงบรรทัดฐานต่างๆ ที่ประเทศกัมพูชาเคยให้คำมั่นสัญญา ซึ่งการเลือกตั้งนี้จะไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ฟรีและแฟร์

กกต. และรัฐบาลกัมพูชาที่ถูกยึดกุมโดยพรรคซีพีพีได้เหนี่ยวรั้งพัฒนาการการแข่งขันของระบบการเลือกตั้งและทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคลงไปจากการยุบพรรค CNRP และการปิดสื่อหลายสำนัก

ANFREL ยังรายงานว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่พรรคซีพีพีได้ทำการข่มขู่บุคคลที่จะไม่ไปเลือกตั้ง โดยขู่ว่าจะสูญเสียผลประโยชน์หลายประการไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ หากไม่มีหมึกอยู่บนนิ้วหลังวันเลือกตั้ง (การเลือกตั้งกัมพูชาจะต้องปั๊มนิ้วลงบนแผ่นหมึกเพื่อเป็นหลักฐานว่าไปเลือกตั้งแล้ว)

ฟิล กล่าวในประเด็นข้างต้นว่า ได้รับรายงานว่ามีกรณีนายจ้างข่มขู่ลูกจ้างว่าหากไม่ไปเลือกตั้งจะถูกไล่ออก มีกรณีที่ประชาชนถูกข่มขู่ว่า หากไม่ไปเลือกตั้งจะไม่สามารถเข้ารับบริการจากรัฐได้ เช่น การออกสูติบัตร

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีหน่วยงานสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่เป็นกลาง แม้ กกต. จะประกาศว่ามีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่มาจากภายในประเทศถึง 80,000 คน แต่ ANFREL ก็แย้งว่า ผู้สังเกตการณ์จำนวนเกินครึ่งมาจากสององค์กรใหญ่ หนึ่ง สหภาพแห่งสหพันธ์เยาวชนกัมพูชา (UYFC - Union of Youth Federation of Cambodia) และกลุ่มสตรีกัมพูชาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (CWPD - Cambodian Women for Peace and Development) ซึ่งทั้งสององค์กรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคซีพีพี องค์กรแรกนำโดยฮุนมณี หนึ่งในบุตรชายของฮุนเซน องค์กรที่สองนำโดยรองนายกฯ เมินสัมอัน ส่วนผู้สังเกตการณ์ที่เหลือมาจากองค์กรเล็กๆ น้อยๆ ซึ่ง ANFREL มีข้อสงสัยถึงวิธีการได้มาซึ่งผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้ รวมถึงแรงจูงใจเบื้องหลังของการมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

นอกจากนั้น องค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาสังเกตการณ์นั้นก็ขาดทักษะที่จำเป็นในการทำงาน รวมทั้งยังมีข้อกังขาเรื่องความเป็นอิสระด้วย จึงมีความเสี่ยงที่การรายงานเหตุการณ์ของกลุ่มเหล่านี้จะไปเสริมในสิ่งที่พรรคซีพีพีต้องการจะนำเสนอ

ทั้งนี้ ANFREL ร่วมกับภาคประชาสังคมหลายองค์กรทั้งในกัมพูชาและต่างชาติจะไม่เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งนี้ ด้วยเชื่อว่าสภาวะทางการเมืองที่กดดันเช่นนั้นสร้างความเสียหายให้กับกระบวนการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย โดยผู้แทนจากสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงสหรัฐฯ เองก็ไม่เข้ามาสังเกตการณ์และไม่ให้การสนับสนุนกับการเลือกตั้งครั้งนี้

ประชาไทจึงชวนจับตาดูการเลือกตั้งในกัมพูชาว่าจะจบลงเช่นไร การเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรในกัมพูชาที่ทุกวันนี้ทิวทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไป เนื่องจากรัฐบาลสถาปนาอำนาจทางการเมืองและกฎหมายไว้ถนัดมือเหลือเกิน

แปลและเรียบเรียงจาก

Phnom Penh Post [1] [2] [3] [4] [5]

Press Release: NEC Has Accredited 20 Political Parties Running for the Election, NEC, May 23, 2018

Table of Official Result of Voter List Update and Voter Registration 2017, NEC, Jan. 24, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ราชกิจจาฯ ประกาศ ก.ม.ป้องกันทุจริต ให้ จนท.รัฐหลายตำแหน่งยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ

Posted: 24 Jul 2018 05:23 AM PDT

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระและเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะรวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคล

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้ข้าราชการต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ประกอบด้วย

มาตรา ๑๐๒ ในการดําเนินการตามมาตรา ๒๘ (๓) อย่างน้อยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งดังต่อไปนี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

(๑) ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
(๒) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
(๓) ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ
(๔) ข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป
(๕) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป
(๖) ข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป
(๗) ผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูง
(๘) ตําแหน่งอื่นตามที่กฎหมายอื่นกําหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
(๙) ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด

มาตรา ๑๐๓ เจ้าพนักงานของรัฐตําแหน่งใดจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนดโดยให้นําความในวรรคสองของมาตรา ๑๐๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๑๓๐ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๔๒ มาตรา ๑๐๓ และมาตรา ๑๕๘ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิได้มีเงินเดือนและตําแหน่งประจําในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งดํารงตําแหน่งหลายตําแหน่ง ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินสําหรับตําแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประจําเพียงตําแหน่งเดียว

บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาไว้ที่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และให้ถือเป็นความลับในราชการที่จะเปิดเผยมิได้เว้นแต่จะส่งมอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ร้องขอ หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งนั้นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๓ หรือเมื่อมีกรณีที่จะต้องดําเนินการสอบสวนทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐย้ายไปสังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใหม่ ให้หน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นสังกัดอยู่เดิมส่งมอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้นั้นให้แก่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไปสังกัดใหม่ ทั้งนี้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นพ้นจากหน่วยงานของรัฐนั้น

ระยะเวลาการยื่น แบบรายการ หลักเกณฑ์ วิธีการยื่นและการเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องคํานึงถึงการตรวจสอบได้ ความสะดวก และไม่สร้างภาระจนเกินจําเป็น ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จ้างมาเป็นการชั่วคราว หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางประเภท ให้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา ๑๕๘ ให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้อํานวยการกองขึ้นไป ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตําแหน่งและหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมท้ังทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนดระเบียบมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นการเฉพาะก็ได้

มาตรา ๒๐๐ กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก เพื่อมิให้เกิดภาระเกินสมควร ในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๓๐ จะกําหนดการเริ่มใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละระดับหรือแต่ละประเภทแตกต่างกันตามที่เห็นสมควรก็ได้

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ป.ฉบับนี้ ในตอนท้ายด้วยว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทําให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความรวดเร็วสุจริต และเที่ยงธรรม รวมทั้งได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตลอดจนวาระการดํารงตําแหน่งไว้อีกทั้งได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวดตามมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการสมควรบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจําเป็นต้องตรา พ.ร.ป.นี้

อ่านรายละเอียดทั้งฉบับที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รับรอง กกต. ถอดถอนย้อนหลัง อุ้มเพื่อนโดดประชุม: 5 เรื่องลับๆ ที่ สนช. ไม่อยากให้ประชาชนฟัง

Posted: 24 Jul 2018 05:17 AM PDT

ย้อนดูการประชุมลับของ สนช. ที่นอกจากเรื่องความมั่นคง หรืองบกลาโหมแล้ว การถอดถอนนักการเมืองย้อนหลัง การพิจารณาคุณสมบัติ กกต. การอภิปรายสมาชิกที่โดดประชุม หรือการผ่านกฎหมายบริหารราชการในพระองค์ ก็ต้องดำเนินการประชุมแบบปิดลับด้วยเช่นกัน

ภาพหน้าจอโทรทัศน์วงจรปิดรัฐสภาเมื่อมีการประชุมแบบปิดลับ (ภาพจากเดลีนิวส์)

ประชุมลับ คือหนึ่งในมาตรการที่ถูกใช้บ่อยในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อที่ 13 ระบุว่า "ถ้าคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ" ซึ่งจะไม่อนุญาติให้สื่อมวลชนและผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังเนื้อหาการประชุม รวมถึงงดการกระจายเสียง และแพร่ภาพทางโทรทัศน์วงจรปิดของรัฐสภา

การประชุมลับกรณีล่าสุดที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วบ้านทั่วเมือง คือการประชุมลับของของคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงกลาโหมโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง แต่นอกจากประเด็นด้านความมั่นคงแล้ว การประชุมอื่นๆ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาคุณสมบัติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การอภิปรายถอดถอนนักการเมืองย้อนหลัง หรือการอภิปรายสมาชิกที่โดดประชุม ทาง สนช. ก็มีมติให้เป็นการประชุมลับด้วยเช่นกัน และนี่คือ 5 การประชุมของ สนช. ที่น่าตั้งคำถามว่า "ทำไมถึงต้องเป็นความลับ?"

1. พิจารณาคุณสมบัติ กกต.

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา สนช. ได้มีมติเปิดการประชุมลับเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชุดใหม่ จำนวน 7 คน ประกอบไปด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 4.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีต ผวจ.หลายจังหวัด 5.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 6.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 7.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผลของการประชุมคือมีผู้ผ่านการรับรอง 5 คน ยกเว้นนายสมชาย และนายพีระศักดิ์

การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติ กกต. ครั้งที่ 2 นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยในการสรรหารอบที่ 1 สนช. ได้มีมติไม่รับรองคุณสมบัติของผู้ผ่านการสรรหาทั้งหมด 7 คน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นเหตุให้กระบวนการสรรหา กกต. ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งการประชุมดังกล่าวก็เป็นการประชุมแบบปิดลับด้วยเช่นกัน โดยทาง สนช. อ้างว่า เพื่อต้องการให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ รายงานผลการสอบความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ทั้ง 7 คน ให้ที่ประชุม สนช. รับทราบ

ในอดีต หน้าที่ในการรับรองคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. เป็นของสมาชิกวุฒิสภา โดยในการประชุมวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ กกต. เมื่อปี 2556 กลับไม่มีการขอให้เปิดการประชุมลับแต่อย่างใด และนอกจาก นอกจาก กกต. แล้ว ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือบอร์ด กสทช. ทาง สนช. ก็มีมติให้ดำเนินการประชุมแบบปิดลับเช่นกัน

2. อุ้ม 7 สนช. โดดประชุม

ต้นปี 2560 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สนช. หลัง ไอลอว์เปิดเผยว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ได้แก่ 1. พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 2. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 3. นายดิสทัต โหตระกิตย์ 4. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี 5. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา 6. พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง และ 7. พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ของการประชุม สนช.ในรอบ 90 วัน เสี่ยงต่อการพ้นสมาชิกภาพตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557

จากกรณีดังกล่าว สนช. ได้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของสมาชิกทั้ง 7 คน และได้มีการประชุมลับขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ระบุว่า สมาชิกทั้ง 7 คน ได้ยื่นใบลาเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างถูกต้องตามระเบียบ จึงไม่ถือว่าขาดการประชุม โดยที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม ไอลอว์ได้ติดต่อไปทาง สนช. เพื่อขอดู "รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องร้องเรียนจริยธรรมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกี่ยวกับกรณีการไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 63 และข้อ 82" แต่ได้คำตอบว่า เอกสารดังกล่าวเป็นความลับ หรือแม้กระทั่งใบลาของสมาชิกทั้ง 7 คน ทาง สนช. ก็ปฏิเสธที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะด้วยเช่นกัน โดยอ้างว่าเป็นเอกสารส่วนบุคคล

ในวันเดียวกันนั้น สนช. ยังได้ลงมติด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งตัดเนื้อหาในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. ออก โดยยกเลิกข้อบังคับที่กำหนดให้สมาชิกต้องมาแสดงตน เพื่อลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วัน

3. ถอดถอนย้อนหลังยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว

16 มกราคม 2558 สนช. เปิดการประชุมเพื่อดำเนินการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว แต่ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเนื่องจากติดภารกิจ จึงส่งผู้เกี่ยวข้อง 9 คนเข้าร่วมอภิปรายแทน

อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช. หลายคนได้ลุกขึ้นทักท้วงว่า ยิ่งลักษณ์ในฐานะถูกผู้กล่าวหาต้องมาเข้าร่วมการประชุมและตอบการซักถามด้วยตนเอง นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. จึงเสนอญัตติให้เปิดการประชุมลับเพื่อพิจารณาแนวทางการประชุมในกรณีที่ยิ่งลักษณ์ไม่เดินทางมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง โดย,uมติ 153 ต่อ 1 ให้เปิดการประชุมลับ หลังถกเถียงกันเป็นเวลา 40 นาที สนช. จึงได้ข้อสรุปว่าให้ดำเนินการซักถามผู้เกี่ยวข้องในคดีคนอื่นไปก่อน จากนั้นที่ประชุมเริ่มซักถามนายวิชา มหาคุณ กรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา และยืนยันไม่ยอมให้ทีมของยิ่งลักษณ์ตอบข้อซักถามแทนเจ้าตัว

4. ถอดถอนย้อนหลังอดีตประธานสภา

17 ตุลาคม 2557 สนช. เปิดการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของ ป.ป.ช. ที่กล่าวหาสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องที่มาของ ส.ว. โดยที่ประชุมต้องการหาข้อสรุปว่า สนช. มีอำนาจถอดถอนอดีตนักการเมืองทั้งสองคนหรือไม่ นายสมชาย แสวงการได้เสนอญัตติให้เปิดการประชุมลับ โดยอ้างว่าการพิจารณาดังกล่าวอาจกระทบต่อกฎหมาย ข้อเท็จจจิง และบุคคลภายนอก ซึ่งที่ประชุมมีมติ 175 ต่อ 1 งดออกเสียง 6 ให้ดำเนินการประชุมแบบปิดลับ  ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน ทาง สนช. ได้ลงมติเรื่องดังกล่าวด้วยคะแนน 87:75 ให้ สนช. มีอำนาจในการรับรายงานของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณา

5. ผ่านกฎหมายบริหารราชการในพระองค์ 3 วาระรวด

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 สนช. เปิดการประชุมเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ทางคณะรัฐมนตรีได้ขอให้ดำเนินการประชุมแบบปิดลับ โดยอ้างระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ให้การพิจารณาร่างกฎหมายเป็นเรื่องลับที่สุดทุกขั้นตอน

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหลือเพียง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1.สำนักพระราชวัง ประกอบด้วย สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง 2.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ประกอบด้วย กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักนายตำรวจราชสำนักประจำ และ 3.สำนักงานองคมนตรี เพื่อให้การบริหารหน่วยงานมีความกระชับมากขึ้น ซึ่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาและได้ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระรวด โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยบอกเพียงว่าเป็นการประชุมลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้

  

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลนัดฟังคำสั่งคดีทหารวิสามัญฯ 'อาเบ' ชาวลีซู 26 ก.ค.นี้ ทนายชี้ประเด็น จนท.ป้องกันตัวตามสมควรแก่เหตุหรือไม่

Posted: 24 Jul 2018 04:04 AM PDT

ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำสั่งไต่สวนการตาย คดีทหารวิสามัญฯ 'อาเบ แซ่หมู่' ชาวชาติพันธุ์ลีซู ทนายชี้ ประเด็นสำคัญการกระทำของทหารป้องกันตัวตามสมควรแก่เหตุหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ภาพ ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ (ที่มาภาพ
google map ม.ค.2012)

24 ก.ค.2561 ความคืบหน้าคดีไต่สวนการตาย อาเบ แซ่หมู่ ชาวชาติพันธุ์ลีซู ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560 โดยที่ผ่านมาที่พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ร้อง นำพยานสืบต่อศาลรวม 7 ปาก ส่วนทางด้านมารดา และบิดาของ อาเบ ผู้ร้องคัดค้าน นำพยานสืบต่อศาลรวม 6 ปาก เสร็จแล้ว ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำสั่งไต่สวนการตายในวันที่ 26 ก.ค.นี้ เวลา 09.00น. เป็นต้นไป ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่

ก่อนที่ฟังคำสั่งศาล ประชาไทคุยกับ รัษฎา มนูรัษฎา หนึ่งในทนายความคดีดังกล่าวถึงความสำคัญของคดีนี้ ประเด็นในการสืบพยานและความคาดหวัง

ความสำคัญของคดีนี้ รัษฎา กล่าวว่า กรณีนี้คือทหารยิงชาวบ้านเสียชีวิต ชีวิตคนทุกชีวิตล้วนแล้วแต่สำคัญไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เขาก็ไม่ควรจะถูกฆ่า ไม่ว่าจะเป็นชาวเขาหรือชนชาติใดก็ตามก็ไม่มีใครสมควรที่จะถูกฆ่า เพราะชีวิตคนทุกคนนั้นมีค่า

ส่วนประเด็นสืบคดีสำคัญๆ รัษฎา กล่าวว่า คดีนี้เวลายื่นคำร้องต่อศาลคือ อาเบ ถูกทหารใช้อาวุธยิงเพื่อป้องกันตัว เป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว แต่ว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการลงพื้นคือเขายิงโดยที่ไม่ใช่การป้องกันตัว  มันไม่มีเรื่องที่ว่าคนที่มากับคนตายยิงเจ้าหน้าที่หรือคนตายปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ ดังนั้นประเด็นของคดีนี้ก็คือ การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารเป็นการกระทำไปเพื่อป้องกันตัวตามสมควรแก่เหตุหรือไม่ ถ้าไม่เป็น เจ้าหน้าที่ทหารก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 

"หวังว่าคนตายจะได้รับความยุติธรรม" รัษฎา กล่าว

สำหรับคดีนี้ ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยอ้างว่า อาเบ จะขว้างอาวุธระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนประจำกายยิงสังหาร อาเบ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และกล่าวหาว่า อาเบ มียาเสพติดประเภทเฮโรอีน 2 หลอด ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสะพาย เหตุเกิด ณ บริเวณถนนระหว่างบ้านรินหลวง-บ้านป่าบงงามลีซอ ซึ่งอยู่เลยด่านตรวจบ้านรินหลวงไม่ไกลนัก

กรณีนี้คล้ายกับคดีของ ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 โดยกล่าวหาว่าชัยภูมิ พยายามต่อสู้ขัดขืนเจ้าหน้าที่ด้วยการขวางระเบิดใส่ จึงถูกยิงจนเสียชีวิต  โดยเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งชี้ว่า ผู้ตายคือ ชัยภูมิ เสียชีวิตโดย ถูกยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารและเสียชีวิตบริเวณด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ส่วนเรื่องข้อโต้แย้งของญาติที่ไม่เชื่อว่าชัยภูมิมียาเสพติดไว้ในครอบครอง และไม่เชื่อว่าชัยภูมิใช้มีดและระเบิดเพื่อจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ศาลไม่ได้มีคำวินิจฉัยให้ โดยศาลเห็นว่า หากมีผลคำสั่งใดๆ ออกไปจะมีผลต่อรูปคดีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ศาลจึงไม่วินิจฉัยสาเหตุที่เจ้าหน้าที่ทหารยิง ชัยภูมิ ส่วนกระบวนการต่อจากนี้ศาลจะส่งคำไต่สวนทั้งหมดให้กับพนักงานอัยการเพื่อให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งประเด็นว่า เจ้าหน้าที่ทหารกระทำไปโดยชอบหรือไม่ รวมทั้งพยานและหลักฐานสำคัญโดยเฉพาะกล้องวงจรปิดที่ยังไม่ถูกเปิดเผย ก่อนที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ลาวเขื่อนแตกอพยพใหญ่-พบมีสัญญาป้อนไฟฟ้าไทย 27 ปีหลังสร้างเสร็จ

Posted: 24 Jul 2018 02:13 AM PDT

เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ลาวตอนใต้ เหตุจาก "เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย" ที่กำลังก่อสร้างแตก ภาครัฐเร่งอพยพประชาชน พบเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าลงทุนโดยเกาหลีใต้-ไทย-ลาว "ราชบุรีโฮลดิ้ง" ถือหุ้น 25% โดยมี 4 สถาบันการเงินไทยให้สินเชื่อก่อสร้าง 2.2 หมื่นล้านบาทได้แก่กรุงไทย เอ็กซิมแบงก์ กรุงศรีอยุธยา และธนชาต หากก่อสร้างเสร็จจะมีกำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ โดยตามสัญญาจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 370 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 27 ปี

ที่มา: สำนักข่าวสารประเทศลาว

24 ก.ค. 2561 กรณีสำนักข่าวสารประเทศลาว รายงานข่าวพาดหัวว่า "เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกภาครัฐเร่งเข้าช่วยเหลือขนย้ายประชาชน" โดยระบุว่าเนื่องจากเกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า "เซเปียน-เซน้ำน้อย" แตกเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 23 ก.ค. โดยที่ตั้งเขื่อนอยู่ที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว

ไทยรัฐซึ่งอ้างสำนักข่าวเอบีซีลาว ระบุว่า สันเขื่อนบางส่วนของเขื่อนที่กำลังก่อสร้างอยู่เกิดพังลง ทำให้บริษัท PNPC ผู้ก่อสร้างเขื่อนแจ้งประชาชนอพยพขึ้นที่สูง

โดยในรายงานของสำนักข่าวสารประเทศลาว น้ำได้ไหลทะลุลงมาตามลำน้ำเซเปียนเข้าท่วมบ้านเรือนและที่ดินเพาะปลูกของประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก "ท่านนาง บุนนาน" หัวหน้าแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงอัตตะปือ แจ้งกับสำนักข่าวสารประเทศลาวว่า รัฐบาลได้ระดมกำลังฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ รวมทั้งกำลังพลจากกองพลที่ 5 ให้ความช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน รวมทั้งส่งเฮลิคอปเตอร์ไปสมทบเพื่อกอบกู้ ช่วยเหลือประชาชนอีกด้วย ส่วนความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้

ขณะที่บ่ายวันนี้ (24 ก.ค.) วอยซ์ออนไลน์ สัมภาษณ์ท่านคำม่วน เลขาคณะรับผิดชอบแก้ไขสภาพฉุกเฉินแขวงอัตตะปือ โดยระบุว่ามีประชาชนต้องอพยพกว่า 4,282 คน และพื้นที่ 8 หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม ได้รับความเสียหาย 100% เนื่องจากน้ำท่วมสูงและไหลแรง ประกอบกับฝนยังคงตกต่อเนื่อง

ราชบุรีโฮลดิ้งถือหุ้น 25% ร่วมทุนเกาหลีใต้ รัฐวิสาหกิจลาวก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ทางน้ำผ่าน และจุดติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ที่มา: PNPC)

แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ทางน้ำผ่าน และจุดติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ที่มา: PNPC)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ลงทุนในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยคือ บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% (อ่านรายละเอียด)

สำหรับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้นอยู่ 45%

4 สถาบันการเงินไทยให้กู้สร้างเขื่อน 22,000 ล้านบาท

อนึ่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 ยอง จู ชอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย (PNPC) เปิดเผยว่าประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว โดยมีกำลังติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่าย 1,860 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (อ่านรายละเอียด) โดยในเว็บไซต์ของบริษัท PNPC ระบุว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี  2562

สำหรับสถาบันการเงิน 4 แห่งที่ให้เงินกู้ก่อสร้างโครงการในรูปแบบสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต

โดยตามสัญญากระแสไฟฟ้า 370 เมกะวัตต์ จะจำหน่ายให้กับ กฟผ. โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศลาว

ราชบุรีโฮลดิ้ง ชี้แจงสันเขื่อนส่วน D แตกร้าว เร่งประเมินความเสียหาย

ล่าสุดมติชนออนไลน์ รายงานคำชี้แจงของกิจจา ศรีพัฆฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่าบริเวณที่เสียหายคือสันเขื่อนเก็บน้ำส่วน D โดยในการก่อสร้าง มีการทำเขื่อนกั้นช่องเขา 5 เขื่อนเพื่อเก็บน้ำ โดยเขื่อนส่วน D เกิดแตกร้าว เนื่องจากมีปริมาณน้ำอยู่ในเขื่อนมากเกินไปจากพายุเข้ามามากทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มวลน้ำราว 600 ล้านลูกบาศก์ไหลท่วมบ้านเรือนในเมืองสะหนามไซ  แขวงอัตตาปือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินว่ามีคนสูญหายหรือไม่ และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ส่วนการซ่อมเขื่อนคงต้องปล่อยให้น้ำไหลออกจากเขื่อนดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไข โดยบริษัทกำลังประเมินว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ หรือ COD ได้ตามกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่ แต่บริษัทฯ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ โดยขณะนี้ได้สั่งให้ผู้รับเหมาเกาหลีเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ก่อนประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์เพื่อให้ผู้รับเหมาและบริษัทประกันรับผิดชอบต่อไป

สถานทูตไทยที่เวียงจันทน์ประกาศระดมความช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ได้ออกประกาศลงวันที่ 24 ก.ค. เชิญชวนร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาวด้วย

สันเขื่อนลาวแตก องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้เป็นบทเรียนเรื่องออกแบบเขื่อนและการเตือนภัย

ขณะเดียวกันองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเขื่อนแตกที่แขวงอัตตะปือ โดยชี้ว่าชาวบ้านกว่า 4,000 ครอบครัว หรืออาจถึง 6,600 ครอบครัว ที่สญเสียบ้านเรือนเนื่องจากน้ำท่วมนั้น "ชาวบ้านจำนวนมากเหล่านี้ได้ถูกอพยพมาที่อยู่ใหม่ก่อนหน้านี้ หรือที่ผ่านมาได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากินเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน มาในคราวนี้ยังต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวไป"

บทเรียนที่สำคัญก็คือ "ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้ อย่างกรณีที่เกิดฝนตกหนักมากๆ ปัจจุบันความผันผวนด้านสภาพอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์และรุนแรง เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในลาวและในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ทั้งยังแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยสำหรับการสร้างและการเดินเครื่องเขื่อน เนื่องจากมีการเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว"

"ทั้งสองประเด็นต่างทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานของเขื่อนและความปลอดภัยของเขื่อนในประเทศลาว รวมทั้งความเหมาะสมของโครงการเหล่านี้ในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบ การตรวจสอบได้และความสามารถในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในโครงการที่เป็นของและดำเนินการโดยเอกชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้างหรือมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้ากว่า 70 แห่งตลอดทั่วสปป.ลาว โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการของและดำเนินการโดยบริษัทเอกชน (ในรูปแบบสัญญา BOT) เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการเขื่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยทันที" องค์กรแม่น้ำนานาชาติระบุ (อ่านรายละเอียด)

ฝนตกหนักลาวตอนเหนือได้รับผลกระทบ แขวงอุดมไซอพยพ 102 ครอบครัว

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เวียงจันใหม่ ได้รายงานด้วยว่าจากสถานการณ์ฝนตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมที่แขวงอุดมไซ ทางตอนเหนือของลาว โดยเมืองที่ได้รับผลกระทบได้แก่ เมืองปากแบง เมืองนาหม้อ เมืองหล้า  และเมืองหุน โดยแผนกแรงงานสวัสดิการสังคม แขวงอุดมไซแจ้งด้วยว่ามี 10 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 4 เมืองที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มีผู้ได้รับกระทบ 524 คน รวม 102 ครอบครัว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อธึกกิต แสวงสุข

Posted: 24 Jul 2018 02:01 AM PDT

"หน้าที่สื่อจึงไม่อาจอยู่ในกรอบ แต่หน้าที่สื่อคือการถกเถียงเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง"

คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา 'ใบตองแห้ง' กล่าวโต้ประกาศ 5 ข้อสื่อไม่ปลอดภัยฯ ของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ, 17 ก.ค.2561
https://prachatai.com/journal/2018/07/77869

นักกิจกรรมข้ามเพศได้รับบทซูเปอร์ฮีโร่ข้ามเพศคนแรกในซีรีส์ 'ซูเปอร์เกิร์ล'

Posted: 24 Jul 2018 12:45 AM PDT

นิโคล เมนส์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Variety (ที่มา: Variety)

เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ทีมโปรดิวเซอร์ของซีรีส์ซูเปอร์เกิร์ลประกาศเรื่องซูเปอร์ฮีโร่หญิงข้ามเพศคนใหม่ในงานมหกรรมคอมิคคอนปี 2561 ที่ซานฟรานซิสโก โดยนักแสดงที่จะมารับบทในครั้งนี้เป็นหญิงข้ามเพศชื่อ นิโคล เมนส์ เธอได้รับบทเป็นตัวละครตัวใหม่ที่ชื่อ "ไนอา นาล (Nia Nal)" หรือ "ดรีมเกิร์ล"

เมนส์บอกว่าเธอรู้สึกปลาบปลื้มมากที่มีโอกาสได้รับบทคนข้ามเพศที่มีภาพลักษณ์เชิงบวกผ่านจอโทรทัศน์ และดีใจที่จะได้สวมชุดซูเปอร์ฮีโร เมนส์บอกอีกว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีซูเปอร์ฮีโร่เป็นคนข้ามเพศบ้างเพื่อให้เยาวชนที่เป็นคนข้ามเพศได้มีแบบอย่างเพื่อการยอมรับนับถือตนเอง

ซูเปอร์เกิร์ลซีซัน 4 จะเริ่มแพร่ภาพครั้งแรกทางช่องโทรทัศน์ CW ของสหรัฐฯ ในวันที่ 14 ต.ค. ปีนี้ ดรีมเกิร์ลจะปรากฏตัวในฐานะฮีโร่คนใหม่ของซีรีส์ซีซันนี้ เธอมีอาชีพเป็นนักข่าวของบริษัทสื่อแห่งหนึ่งในเนื้อเรื่องที่ชื่อ CatCo Worldwide Media ในฉบับหนังสือการ์ตูนตัวละครดรีมเกิร์ลมีความสามารถมองเห็นอนาคตได้ผ่านความฝัน

อีกเรื่องหนึ่งที่น่ายินดีคือการที่บทบาทฮีโรข้ามเพศในครั้งนี้พูดถึงชีวิตของตัวละครในแง่มุมอื่นๆ ไม่ได้เน้นแต่แง่มุมเรื่องความเป็นคนข้ามเพศของพวกเธอแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมนส์บอกว่า "ไนอาไม่ใข่เป็นแค่ซูเปอร์ฮีโร่ข้ามเพศ เธอยังเป็นนักข่าว เป็นคนที่มีความใฝ่ฝัน ทรงพลัง ฉลาดและเป็นเพื่อนที่ดี"

สำหรับความสำเร็จบนเส้นทางการแสดงของเธอ เมนส์เคยได้รับรางวัลด้านการแสดงจากองค์กรต่อต้านการเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศ (GLAAD) ในปี 2559 จากบทบาทที่เธอเล่นในตอนพิเศษเกี่ยวกับคนข้ามเพศของซีรีส์ที่ชื่อรอยัลเพนส์ เธอยังเคยเป็นนักกิจกรรมที่เรียกร้องในประเด็นห้องน้ำของคนข้ามเพศในโรงเรียนเขตโอโรโนของรัฐเมน ทำให้เธอได้รับการยกย่องเป็น "ฮีโรของบ้านเกิด" ติดอันดับ 50 ผู้หญิงยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Glamour

สำหรับเมนส์แล้วการเป็นตัวแทนทางอัตลักษณ์ในสื่อเป็นเรื่องสำคัญในเวลานี้ และสิ่งที่ถูกรับชมผ่านโทรทัศน์ก็มีผลกับสังคมอย่างมาก เธอให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร Variety ในคอมิคคอนว่าถึงแม้จะมีตัวแทนของคนข้ามเพศในโทรทัศน์ปรากฏบ้างแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการให้บทบาทที่เหมาะสมในฐานะตัวแทนอัตลักษณ์ที่ดีพอสำหรับคนข้ามเพศ

 

 

เธอกล่าวต่อไปว่า สมัยที่เธอเปิดเผยอัตลักษณ์กับผู้ปกครองในช่วงทศวรรษ 2530 คนที่ได้แสดงเป็นคนข้ามเพศก็มักจะเป็นดาราที่มีเพศตรงตามเพศกำเนิด (cisgender) และถูกให้แสดงเป็นผู้ให้บริการทางเพศ หรือไม่ก็ติดยาเสพติด มันจึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้เห็นนักเขียน ผู้กำกับ และฝ่ายแคสติงนักแสดง ยกระดับตัวเองด้วยการไม่ผลิตซ้ำภาพเหมารวมคนข้ามเพศอีก

อย่างไรก็ตามบทบาทการแสดงเป็นซูเปอร์ฮีโรคนข้ามเพศคนแรกก็ทำให้เธอประหม่าอยู่เหมือนกันเพราะอยากจะแสดงมันให้ดี "มันคงเหมาะที่จะพูดว่า พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง" เมนส์ยกคำพูดประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นที่ติดปากและโด่งดังหลังการ์ตูนและภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เรื่องสไปเดอร์-แมนจากค่ายมาร์เวลนำไปใช้

เรียบเรียงจาก

Nicole Maines chosen to play TV's first transgender superhero, Gay Star News,  Jul 22, 2018

Trans Teen Nicole Maines's Acting Debut in Royal Pains Has an Important Message, Advocate, Jun. 28, 2015

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Nicole_Maines

https://en.wikipedia.org/wiki/Nura_Nal

https://quoteinvestigator.com/2015/07/23/great-power/

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น