โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร: ต้องถอดบทเรียนกู้ภัยถ้ำหลวง เพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนทั้งโลก

Posted: 10 Jul 2018 12:50 PM PDT

หลังภารกิจส่ง 13 เยาวชนและโค้ชออกจากถ้ำหลวง ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วม (ศอร.) กล่าวว่าได้ทำในสิ่งที่คนไม่คาดคิดว่าจะทำได้นับเป็น "Mission Impossible" ของทีมไทยแลนด์ โดยเขากล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศที่ช่วยเหลือ รวมทั้งยกย่อง จ.อ.สมาน กุนัน ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยเขาหวังว่าการกู้ภัยที่ถ้ำหลวง จะมีการถอดบทเรียนเพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนทั้งโลก

10 ก.ค. 2561 เวลา 21.30 น. ที่ อบต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.พะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) แถลงสรุปภารกิจ (ชมคลิปแถลงจากเพจ LiveNBT2HD)

ทีมหมูป่าได้รับความช่วยเหลือจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนครบทั้ง 13 คน (10 ก.ค. 18.47 น.)

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.พะเยา (กลาง) ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวเมื่อคืนวันที่ 10 ก.ค. 2561 (ที่มา: NBT HD)

โดยณรงค์ศักดิ์เริ่มต้นกล่าวว่า "ผมขอเดชะบุญ เดชะบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงเป็นห่วงเป็นใยน้องๆ ทั้ง 13 ชีวิต และเจ้าหน้าที่ทุกคน พวกเราซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ จะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เพื่อเป็นสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าตลอดไป และต้องกราบขอบคุณทุกกำลังใจของชาวโลก และชาวไทยทุกคน"

ณรงค์ศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ขอแถลงข่าวดีอย่างเป็นทางการ เราได้ช่วยน้องทั้งหมดออกมาอย่างปลอดภัย และพ่อแม่กลับบ้านไปอาบน้ำแล้ววันนี้แพทย์จะให้เยี่ยมผ่านห้องกระจกแล้ว หมอภาคย์ (พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน) และหน่วยซีลทั้ง 3 ชีวิต พ้นโถง 2 แล้ว วันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ภารกิจวันนี้ใช้กำลังพลกว่า 100 นาย ชุดดำน้ำ 12 นาย แพทย์ออสเตรเลีย 1 นาย โดยวันนี้คนแรกออกมาได้ราวบ่ายสามโมงกกว่าๆ รวมทั้งหมดใช้เวลาร่วม 6 ชั่วโมง ทุกคนถึง รพ.ประชานุเคราะห์

สำหรับทุกข้อสงสัย ในวันที่ 11 ก.ค. จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากทุกหน่วยว่าได้ดำเนินการอะไรบ้าง เบื้องหน้าเบื้องหลังในการปฏิบัติเป็นอย่างไร จะนำมาเล่าสู่กันฟัง อย่างไรก็ตาม วันนี้เราดีใจมากและไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในโลกอีก

ขอบคุณหน่วยงานราชการที่ช่วยเหลือ ตั้งแต่กองทัพบก กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยขึ้นตรงต่างๆ กองกำลังทหารพัฒนา จาก บก.สส. กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ ที่สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ เดินสำรวจพื้นที่ทางเหนือของถ้ำ ดูแลการจราจร กอ.รมน.เชียงราย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าช่วยบายพาสน้ำไม่ให้ไหลเข้าถ้ำ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตร ฯลฯ

ด้าน พล.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า เรื่องการนำโดรนขึ้นบินเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ตำรวจทราบเรื่องวันที่ 9 ก.ค. จึงสั่งให้มีการตรวจสอบ รับคดี และส่งฟ้องศาลในวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งช่วงเย็นวันเดียวกันศาลได้ตัดสินลงโทษปรับ 10,000 บาท 

จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ถือว่าคนไทยโชคดีได้แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เป็นหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีแผนการในอนาคตสุดท้ายขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของ จ.อ.สมาน กุนัน อดีตหน่วยซีล ท่านเป็นวีรบุรุษไม่เพียงแต่อยู่ในหัวใจคนไทย เป็นวีรบุรุษของคนทั่วโลก

จากนั้นณรงค์ศักดิ์ ได้ขอให้ทุกคนปรบมือให้เกียรติกับ "แซม" หรือ จ.อ.สมาน อีกครั้งหนึ่ง โดยเขายกย่องว่าเป็นวีรบุรุษตัวจริง ผมอาจจะเรียกเขาว่าเป็นวีรบุรุษถ้ำหลวง ทั้งนี้เขาทราบมาว่ารองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมเครื่องใช้ของเจ้าหน้าที่กู้ภัย อาจมีการทำพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งแผนฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้

ณรงค์ศักดิ์ ซึ่งเป็น ผบ.ศอร. กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะทำต่อไปจากนี้คือ ต้องถอดบทเรียนมาเป็นบทเรียนให้กับน้องๆ เวลาไปเที่ยวที่ไหนต้องระวังอย่างไร ให้เขารู้บริบท จะได้ถอดบทเรียนว่าการกู้ภัยในถ้ำเราขาดแคลนอะไร เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก โดยตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. เป็นต้นไปศูนย์อำนวยการร่วมฯ จะหยุดภารกิจค้นหาและกู้ภัย จะเหลือเพียงภารกิจการส่งกลับ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นอกจากนี้ ยังจะทำการฟื้นฟูทรัพยากร คืนอุปกรณ์ที่มีการส่งมาช่วยจากทั่วประเทศและทั่วโลก จาก 400-500 หน่วยงานที่ส่งเครื่องมือมาช่วย

ผบ.ศอร. กล่าวด้วยว่า บทเรียนที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่เราทำงานประสบความสำเร็จอย่างนี้ได้ เพราะส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าพวกเรามีพลังในความรัก พลังในการรักกัน ทุกคนส่งไปถึงน้อง 13 คน และเจ้าหน้าที่ให้การปฏิบัติงานมีกำลังกาย กำลังใจ

บทเรียนที่ถอดมา ผมอยากเห็นชาวโลกรักกัน ผมอยากเห็นประเทศไทยเรารักกันเหมือนวันนี้ที่เราทำเสร็จ ผมอยากเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ 17 วันที่ผ่านมา ผมเห็นว่าเป็นความร่วมมืออย่างเต็มที่กับทุกภาคส่วน ไม่เคยเห็นสื่อมวลชนบ่นที่เราผลักดันออกๆ สื่อมวลชนทราบว่าสิ่งที่ ศอร.ทำเป็นสิ่งที่ดีกับทุกคน อยากให้เอาบทเรียนตรงนี้ไปขยาย บทเรียนจากแม่สาย บทเรียนจากโป่งผา บทเรียนจากเชียงราย เป็นบริบทของภูเขาลูกหนึ่ง เขานางนอน ถ้าเราไปสืบทอดต่อ จะเป็นบทเรียนขับเคลื่อนประเทศไทยในระยะยาว ผมอยากให้เรานำบทเรียนนี้ไปใช้ ประเทศไทยจะได้พัฒนาก้าวไกลตามศักยภาพ วันนี้ คนไทย ทีมไทยแลนด์ ทีมราชการ เอกชน สื่อมวลชน รวมทั้งกำลังใจจากทั่วโลก

"เราทำในสิ่งที่คนไม่คาดคิดว่าเราจะทำได้ครั้งแรกในโลก" เป็นความภูมิใจ เป็น Mission Impoosible ของทีมไทยแลนด์ อยากให้โป่งผาเป็นโมเดลของประเทศไทยทั้งประเทศ และโมเดลของทั้งโลก บุญกุศลที่เราทำในครั้งนี้ให้น้องๆ 13 คน ขอให้เราทุกคนมีความสุข เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ร่ำรวยกันทุกคน สำหรับพระเอกครั้งนี้คือคนทั้งโลก สื่อมวลชนที่ใจดีกับพวกเรา คนหมื่นกว่าคนที่ช่วยกันทำงานให้เราสำเร็จใน 17 วัน

เรามีข่าวเคียงที่ผมดูข่าวตลอดเวลา เพราะสื่อไม่สามารถหาข่าว Official จากผมได้เพราะเราแถลงแค่ 2 เวลา แต่ในข่าวเคียงมีเรื่อง น้องคนหนึ่งซักผ้าให้กับซีล น้องอีกกลุ่มเอาก๋วยเตี๋ยวมาแจก จิตอาสามาเก็บขยะให้ มีอะไรมากมายที่เป็นมุมที่เป็นความสุขของคนที่ได้เห็น ผมว่ามีเป็นล้านๆ ภาพในเหตุการณ์ 17 วันนี้ ขออย่าให้ 17 วัน มลายหายไป ขอให้เป็นล้านๆ ภาพที่คนไทยจดจำ แล้วนำไปเป็นบทเรียนในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป"

หลังจากจบการแถลงฐปณีย์ เอียดศรีไชย เป็นตัวแทนสื่อมวลชนภาคสนาม กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่และกล่าวด้วยว่าหากมีอะไรผิดพลาดระหว่างปฏิบัติงานก็ขอให้อภัยต่อกัน โดยณรงค์ศักดิ์ในฐานะ ผบ.ศอร.กล่าวว่า "ไม่ผิดพลาดครับ ดีเยี่ยม" จากนั้น ผบ.ศอร. ได้ชวนสื่อมวลชนร่วมกันถ่ายภาพ

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุ้มแน่หรือเจรจา RCEP? บทเรียนการคุ้มครองนักลงทุน (มากกว่าประชาชน)

Posted: 10 Jul 2018 11:12 AM PDT

จับตาก่อนถึงวันประชุมการค้าพหุพาคี 16 ประเทศ RCEP ที่กรุงเทพฯ หวั่นผลประโยชน์นักลงทุน นำหน้าประโยชน์สาธารณะ จับตากลไกระงับข้อพิพาทรัฐ-เอกชน "ISDS" ที่คุ้มครองนักลงทุนข้ามชาติ เอื้อต่อเอกชนมากกว่ารัฐ

"ประเด็นของการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติในข้อตกลง RCEP ที่กำลังเจรจากันอยู่จึงเป็นเรื่องน่าอกสั่นขวัญแขวนไม่น้อยสำหรับสาธารณชนผู้เสียภาษีให้รัฐ เพราะรัฐของท่านเสี่ยงจะถูกฟ้องร้องและต้องจ่ายค่าชดเชยมหาศาลให้เอกชน หากวันดีคืนดีถึงทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์เอกชนกับสาธารณชน แล้วรัฐของท่านเลือกอย่างหลัง"

ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP-The Regional Comprehensive Economic Partnership ) หรืออาร์เซ็ป เป็นการเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคี ครอบคลุม 16 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ +  ประเทศคู่ค้าอีก 6 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เริ่มต้นเจรจาอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2556 ตั้งใจจะปิดดีลให้ได้ในปี 2558 แต่ตกลงกันไม่ได้และขยายเวลามาจนปีนี้ เนื่องจากเป็นการเจรจาแบบองค์รวมหรือกรอบกว้าง 'Comprehensive Agreement' ครอบคลุมการค้า การบริการ การลงทุน ทำให้การเจรจาคืบหน้าช้า ต้องต่อรองกันหนักเพราะแต่ละประเทศมีความพร้อมในประเด็นต่างๆ แตกต่างกัน โดยอินเดียเป็นหัวเรือใหญ่ที่ยังไม่ยอมลดภาษีเป็นอัตราร้อยละ 0 ในสินค้าจำนวนมาก

อาจต้องกล่าวก่อนว่า การเจรจาการค้ากลุ่มใหญ่ในโลกตอนนี้มีอยู่ 2 ข้อตกลงสำคัญ นำโดย 2 มหาอำนาจ อันหนึ่งคือ TPP (Trans Pacific Partnership) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) และสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งถอนตัวออกไปเมื่อต้นปีเพราะเปลี่ยนทิศทางไปเน้นการเจรจาแบบทวิภาคี (ประเทศต่อประเทศ) แล้ว อีกอันหนึ่งคือ RCEP มีจีนเป็นพี่เบิ้ม สถานะของประเทศไทยนั้นร่วมการเจรจากับ RCEP มาหลายปีแล้ว และกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะร่วม CPTPP หรือไม่

กล่าวสำหรับขนาดของ RCEP นั้นก็เป็นข้อตกลงฉบับใหม่มาก จำนวนประชากรของ 16 ประเทศที่กำลังเจรจากันอยู่นี้นับเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลก รวมกันแล้วมีขนาดจีดีพีคิดเป็น 29% ของจีดีพีทั้งโลก สมาชิก RCEP มีตั้งแต่ประเทศพัฒนาน้อย กำลังพัฒนาไปจนถึงพัฒนาแล้ว เฉพาะ 3 ประเทศใหญ่อย่างจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญนั้นพบว่า มี GDP รวมกันในปี 2559 สูงถึง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือ 77.3% ของ GDP รวมทุกประเทศใน RCEP

ในปี 2559 ไทยมีการค้าขายกับสมาชิก RCEP รวม  2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 59% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย จึงเป็นตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและพยายามผลักดันการเจรจาอย่างยิ่ง โดยไทยพยายามผลักดันให้จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าไทย เช่น ประมงแปรรูป (ปลาทูน่า กุ้ง ปลาหมึก) มันสำปะหลังอัดเม็ด น้ำตาลจากอ้อย ข้าว ปิโตรเคมี ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

ราวต้นปี 2561 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชุติมา บุณยประภัศร ให้สัมภาษณ์ว่า มีการหารือร่วมกันระหว่างอาเซียนกับอินเดียเพื่อผลักดันอินเดียให้หาข้อสรุปในประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้แต่ดูเหมือนยังไม่คืบหน้านัก สมาชิกอาเซียนมีความคาดหวังว่าจะเปิดตลาดลดภาษี 0% ในสินค้า 92% จากรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันทั้งหมด แต่สมาชิก RCEP บางประเทศต้องการเปิดตลาดในระดับที่ต่ำกว่านั้น มีบางประเทศเสนอเปิดตลาดเพียง 70-80% เนื่องจากแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไม่เท่ากัน มีประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่างกัน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (ทีดีอาร์ไอ) ยังประเมินผลประโยชน์ไว้สวยงามว่า หากมีการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรลงจนเป็นอัตราร้อยละ 0 โดยไม่มีการยกเว้นรายการสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง, ลดมาตรการกีดกันการค้าบริการลงจากเดิมร้อยละ 33, ลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรลงจากเดิม ร้อยละ 35 ได้สำเร็จ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์วัดเป็นมูลค่าสวัสดิการสังคมเทียบเท่า 27 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยประโยชน์ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มการลงทุนและการเพิ่มเทคโนโลยี GDP จะเพิ่มขึ้น 13.5% การส่งออกเพิ่มขึ้น 14.4% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 13.3%

ความคืบหน้าล่าสุดคือ ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 17-27 กรกฎาคม 2561 ที่กรุงเทพฯ

ความตกลง RCEP ที่ไทยเตรียมเจรจา จะก่อผลกระทบต่อชาวนา ที่ดิน และอาหาร, 20 มิ.ย. 2561

ข้อตกลงการค้าข้ามชาติที่ไทยเจรจา ทำชาวนาสูญเสียการควบคุมเมล็ดพันธุ์, 6 มิ.ย. 2561

(เอกสารประกอบ) RCEP ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ปล้มสะดมจากชุมชนเพื่อผลกำไร

 

เมื่อการคุ้มครองนักลงทุน นำหน้าประโยชน์สาธารณะ

จากภาพฝันถึงการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีซึ่งจะนำประโยชน์มาให้แก่บรรดาผู้ส่งออกและขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ท่ามกลางฝันดีเหล่านั้น ยังมีประเด็นที่สำคัญในข้อตกลง RCEP ที่อาจเป็นฝันร้ายต่อสาธารณชนด้วย นั่นคือ การคุ้มครองนักลงทุน

ในข้อตกลงการค้าเสรีไม่ว่าทวิภาคีหรือพหุภาคีกับประเทศยักษ์ใหญ่มักมีบทว่าด้วยการคุ้มครองนักลงทุนให้สามารถฟ้องร้องรัฐได้ผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน หรือ ISDS (investor state dispute settlement) ในข้อตกลง RCEP เองแม้จะไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการถึงรายละเอียดการเจรจา แต่ภาคประชาชนไทยก็ออกมาระบุว่า มีเอกสารหลุดรอดออกมาและปรากฏชัดเจนว่ามีเรื่องนี้อยู่

กลไกนี้เป็นมรดกจากยุคอาณานิคม มีการนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปลายทศวรรษ 1950 ปรากฏในสนธิสัญญาหลายฉบับระหว่างรัฐบาลอดีตประเทศอาณานิคม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแปรรูปทรัพย์สินทางกายภาพของบรรษัทข้ามชาติให้เป็นของรัฐ โดยให้อำนาจบรรษัทในการฟ้องรัฐบาลกับอนุญาโตตุลาการแบบลับ หากรัฐบาลออกฎหมาย นโยบายหรือกฎระเบียบใดที่ขัดขวางการทำธุรกิจของบริษัท

เราพบว่าคดีที่บรรษัทข้ามชาติมีการฟ้องร้องผ่านกลไก ISDS นั้นจำนวนมากเป็นไปเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี, ขัดขวางนโยบายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ, ลงโทษรัฐบาลซึ่งจำกัดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา, ลงโทษรัฐบาลที่ยกเลิกการแปรรูปกิจการต่างๆ ให้เป็นเอกชน, รัฐบาลที่อ้างกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และเรื่องสารธาณประโยชน์ ที่ละเมิดสิทธิของนักลงทุน

ข้อมูลจาก UNCTAD (ISDS Navigator) พบว่า ปี 2530-2559 มีการฟ้องร้องระหว่างเอกชนกับรัฐต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากค้นหาว่าบริษัทของประเทศใหญ่ๆ ที่กำลังร่วมเจรจา RCEP ใช้กลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศฟ้องรัฐอื่นใดบ้างแล้วจะพบว่า บริษัทสัญชาติออสเตรเลียฟ้องประเทศอื่น 4 กรณี, บริษัทสัญชาติจีนฟ้องประเทศอื่น 5 กรณี, บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นฟ้องประเทศอื่น 3 กรณี บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ฟ้องประเทศอื่น 4 กรณี เป็นต้น มีทั้งที่ตัดสินเรียบร้อยแล้วและยังดำเนินการอยู่  

ล่าสุดที่เจอกับตัวสดๆ ร้อนๆ คือ กรณีของเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ในจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ที่ถือหุ้นโดยบริษัท Kingsgate ประเทศออสเตรเลีย ได้ยื่นข้อเสนอพิพาท (statement of claim) ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อ 31 พ.ค.2561 จากกรณีที่รัฐบาล คสช.ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.มาตรา 44  สั่งระงับการดำเนินโครงการเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนเสียก่อน Kingsgate ยืนยันว่าไทยผิดข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองนักลงทุนใน FTA ระหว่างไทย-ออสเตรเลียที่เคยลงนามกันไว้แล้วตั้งแต่ปี 2548 และเรียกค่าเสียหายสูงถึง 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 30,000 ล้านบาท กระบวนกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีทำนองนี้หลายกรณี เช่น ปี 2540 รัฐบาลแคนาดาออกคำสั่งห้ามนำเข้าและขนย้ายสารเอ็มเอ็มที เนื่องจากเป็นสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัท เอธิล คอร์พ จากอเมริกา ฟ้องร้องรัฐบาลแคนาดาเรียกค่าชดเชยเป็นเงิน 251 ล้านเหรียญสหรัฐ กรณีจบลงที่รัฐบาลแคนาดายอมประนีประนอม จ่ายค่าชดเชยให้ 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

ปี 2550 รัฐบาลแอฟริกาใต้ออกกฎหมายสร้างเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจแก่คนผิวดำในประเทศ เพื่อเยียวยาผลร้ายจากนโยบายแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) โดยกำหนดให้บริษัทเหมืองแร่ต้องโอนหุ้นจำนวนหนึ่งให้แก่นักลงทุนผิวดำ ทำให้บริษัท ปีเอโร ฟอเรสติ จากอิตาลี ฟ้องร้องรัฐบาลแอฟริกาใต้ สุดท้ายบริษัทสามารถลดจำนวนหุ้นที่ต้องโอนให้แก่นักลงทุนผิวดำได้เป็นจำนวนมากและยังได้รับใบอนุญาตฉบับใหม่

แน่นอน กระบวนการต่อสู้คดีลักษณะนี้ รัฐอาจแพ้หรือชนะ แต่อย่าลืมว่าแม้รัฐจะชนะคดี ในระหว่างทางก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องจ่ายงบประมาณ 58 ล้านเหรียญในการต่อสู้คดีเนื่องจากถูกบริษัท fraport ฟ้อง เพราะรัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องการให้มีการเจรจาเงื่อนไขสัญญาใหม่ เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริต งบที่ใช้สู้คดีนี้มากพอจะจ่ายเงินเดือนครู 12,500 คนตลอดปีเลยทีเดียว

 

หลายประเทศเรียกร้องให้นำ ISDS ออกจากการเจรจาการค้าเสรี

ปลายปี 2560 ภาคประชาสังคมไทย นำโดย FTA Watch ซึ่งจับตาประเด็นปัญหาในข้อตกลงการค้าเสรีมายาวนาน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ที่ร่วมเจรจาข้อตกลง RCEP ไม่นำเรื่องกลไก ISDS มาเจรจาในข้อตกลงฯ รวมถึงไม่รับข้อบทที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ตัวแทนของกลุ่ม FTA Watch กล่าวว่า รัฐบาลของ 16 ประเทศกำลังเจรจาโดยไม่เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ แต่จากสำเนาเอกสารที่หลุดออกมาแสดงให้เห็นว่ามีข้อเสนอให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องดำเนินคดีกับรัฐบาลภายใต้กลไกอนุญาโตตุลาการได้

"กรณีฟ้องร้องโดยใช้กลไก ISDS ที่ผ่านมา ท้าทายนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ภาษี และการเงิน โดยมีจำนวนสูงถึง 696 คดี มีรัฐบาล 107 ประเทศที่ถูกฟ้อง และจำนวนการฟ้องร้องได้สูงขึ้นอย่างมากในแต่ละปี ซึ่งคดีเหล่านี้ส่วนมากจะตัดสินโดยคำนึงถึงสิทธิของนักลงทุนเป็นหลัก แต่จำกัดอำนาจของรัฐบาลในการออกกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ จนทำให้รัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนากลับมาพิจารณาใหม่ว่าสมควรจะสนับสนุนการคุ้มครองการลงทุนที่มีมาตรการนี้ในสนธิสัญญาการลงทุนแบบทวิภาคีต่างๆ หรือไม่" แกนนำกลุ่ม FTA Watch กล่าวและเรียกร้องให้เผยแพร่เนื้อหาที่มีการเจรจา RCEP ต่อสาธารณะ

เป็นเรื่องน่าย้อนแย้งและแสบทรวงที่มีข้อมูลว่า แม้แต่ประเทศที่ร่วมเจรจา RCEP ด้วยกันเองยังมีการพิจารณาจะถอนตัวจากข้อตกลงที่มีกลไก ISDS นี้เองเลย เช่น 

• อินเดียและอินโดนีเซียกำลังจะถอนตัวจาก BITs
• อัยการสูงสุดของสิงคโปร์และหัวหน้าผู้พิพากษาของศาลสูงสุดในออสเตรเลียได้แสดงความกังวลต่อกลไก ISDS
• หัวหน้าผู้พิพากษาของนิวซีแลนด์ตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาคดีโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนในศาลท้องถิ่นต่างๆ อาจก่อให้เกิดการฟ้องร้องโดยใช้กลไก ISDS ได้

ส่วนประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ก็มีท่าทีคัดค้านกลไก ISDS เช่นกัน เช่น

• รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีคัดค้านกลไก ISDS ในการเจรจา FTA ระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ
• สมาชิกรัฐสภาของเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และออสเตรียคัดค้านกลไก ISDS ในการเจรจา FTA กับแคนาดาและสหรัฐฯ
• สภาในระดับรัฐของสหรัฐฯ ของทุกรัฐคัดค้านกลไก ISDS ในสนธิสัญญาต่างๆ

"แม้แต่ในรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญอิสระในเรื่องสิทธิมนุษยชน 10 คนยังกล่าวถึงคดีภายใต้กลไก ISDS ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า กลไกการกำหนดนโยบายของรัฐและอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ กำลังอยู่ในอันตรายเพราะจะทำให้การออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ของรัฐต้องเป็นอัมพาต" FTA Watch ระบุ

ประเด็นของการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติในข้อตกลง RCEP ที่กำลังเจรจากันอยู่จึงเป็นเรื่องน่าอกสั่นขวัญแขวนไม่น้อยสำหรับสาธารณชนผู้เสียภาษีให้รัฐ เพราะรัฐของท่านเสี่ยงจะถูกฟ้องร้องและต้องจ่ายค่าชดเชยมหาศาลให้เอกชน หากวันดีคืนดีถึงทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์เอกชนกับสาธารณชน แล้วรัฐของท่านเลือกอย่างหลัง

 

แหล่งข้อมูล:

http://apwld.org/wp-content/uploads/2018/05/RCEP-briefer-Thai-5-03-2018.pdf
http://investmentpolicyhub.unctad.org/ISDS/FilterByCountry
https://prachatai.com/journal/2016/08/67254
https://prachatai.com/journal/2017/09/73133
https://www.prachachat.net/economy/news-98486
https://www.prachachat.net/economy/news-175863
https://tdri.or.th/2015/09/rcep_seminar/
https://voicetv.co.th/read/Skenh6Kyem
https://www.thairath.co.th/content/1297379
https://www.scbeic.com/th/detail/product/3358
 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: เส้นทาง-รากฐาน ‘ระบอบรัฐประหาร’ ที่ไม่จีรังแต่วนลูป

Posted: 10 Jul 2018 11:11 AM PDT

คุยกับผู้เขียนหนังสือ 'การเมืองไทยร่วมสมัย' สืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 2247/2561 ย้อนดูประวัติศาสตร์การยึดอำนาจ รัฐธรรมนูญหลายเวอร์ชั่นที่แก้การรัฐประหารไม่ได้ ย้อนสู่คำถามพื้นฐาน ใครต้องรับผิดชอบกับโครงสร้างสังคม การเมืองที่ยึดแย่งอำนาจได้ง่ายดายนี้

  • บัณฑิตมองว่าการรัฐประหารว่าเป็นการยึดเอาอำนาจจากคนที่ครองอำนาจอยู่เดิม แล้วตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ
  • วังวนรัฐประหารเริ่มต้นขึ้นหลังปี 2490 เป็นช่วงเวลาที่คนยึดอำนาจขึ้นมาก็ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่เมื่อมีอำนาจในมือ
  • รัฐธรรมนูญหลายฉบับพยายามแก้ไขการรัฐประหาร ปฏิรูปการเมือง แต่สุดท้ายการรัฐประหารก็วนลูปกลับมาอีกครั้ง
  • การพูดถึงระบอบรัฐประหารเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ปัญหาวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดเพราะทหารฝ่ายเดียว แต่ผู้ศรัทธาอำนาจจากกระบอกปืนเองก็มีส่วน

'ระบอบรัฐประหาร' เป็นคำที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กรณีที่จ่าสิบเอกอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านการปฏิรูปกฎหมาย ฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2557 หลังชูป้ายกระดาษขนาด A4 "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 หนึ่งวันหลัง คสช. เข้ายึดอำนาจ

"จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจาก คสช. ได้อำนาจการปกครองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของ คสช. ในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น แต่เมื่อ คสช. เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การใดๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แม้แต่คณะรัฐบาลรักษาการก็ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการยึดอำนาจและบริหารราชการของ คสช. ถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว"

(ส่วนหนึ่งของคำพิพากษา อ่านคำพิพากษาตัวเต็มที่นี่)

ศาลอุทธรณ์ตัดสิน 'อภิชาติ' ชุมนุมต้านรัฐประหารมีความผิด อ้าง ICCPR ไม่ได้

การสานเสวนาหรือถกเถียงต่อคำสำคัญดังกล่าวบนฐานแนวคิดทางกฎหมายก็เป็นทางหนึ่ง แต่ในแง่การเมืองว่าด้วยแนวคิดการรัฐประหาร ความชอบธรรม รวมถึงปมปัญหาบนเส้นทางของวงจรการยึดอำนาจรัฐไทยที่เกิดแล้วเกิดอีกประหนึ่งว่าตั้งค่าให้เพลย์ลิสต์เล่นเพลงซ้ำวนไปวนมา หรือที่อาจจะรู้จักกันในชื่อ 'วงจรอุบาทว์' ก็เป็นเรื่องที่น่าหยิบยกมาพูดอีกครั้งเมื่อสถาบันตุลาการอย่างศาลหยิบพูดถึง 'ระบอบรัฐประหาร' ขึ้นมา

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ว่าด้วยตุลาการและระบอบแห่งการรัฐประหาร

ประชาไทคุยกับ ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ 'การเมืองไทยร่วมสมัย' ถึงแนวคิดการสถาปนาอำนาจรัฐ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับความพยายามตัดวงจรรัฐประหารจนสุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็กลับมายืนที่เดิม ในวันที่การชูป้ายแสดงความเห็นเป็นเรื่องต้องห้ามในข้อหาท้าทายอำนาจรัฐอีกครั้งหนึ่ง

ว่าด้วยคอนเซปต์ เส้นทางความคิด และวงจรของการรัฐประหาร

บัณฑิตให้ความหมายของการรัฐประหารว่าเป็นการยึดฉวยเอาอำนาจจากคนที่ครองอำนาจอยู่เดิม แล้วตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่โบราณ แต่การยึดอำนาจค่อยๆ ถูกมองเป็นเรื่องไม่ปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของอำนาจจากผู้ถือครองคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่ง หรือตามแนวคิดด้านการเมืองการปกครองที่ขยับและ/หรือขยายไปตามเวลา

คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ย้อนดูสถิติรัฐประหารทั่วโลกในรอบ 11 ปี พบยังมีความพยายามยึดอำนาจอยู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ

"เวลาเราพูดถึงการตั้งรัฐ อำนาจรัฐ การเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็ต้องเริ่มจากการอธิบายว่าที่มาของรัฐเป็นอย่างไร สมัยโบราณเราก็บอกว่าอำนาจรัฐเป็นเรื่องของการสืบตระกูล พอโลกเปลี่ยนแปลงเราก็เห็นว่ามีอะไรใหม่ๆ มีการพูดถึงอำนาจรัฐที่ไม่ใช่เพียงแค่การแย่งชิงกัน แต่เป็นเรื่องราชวงศ์ที่เมื่อมีอำนาจก็มีการสืบอำนาจในตระกูล เป็นเรื่องเครือญาติ ระบบธรรมเนียมประเพณี จนกระทั่งมันมีความท้าทายของความคิดสมัยใหม่ที่บอกว่าอำนาจรัฐมันเป็นของที่คนจะต้องตกลงกันไม่ใช่ว่าคุณจะมาตั้งรัฐแล้วบริหารตามอำเภอใจ ทฤษฎีจำพวกนี้คือทฤษฎีสัญญาประชาคม ทฤษฎีว่าด้วยการก่ออำนาจรัฐสมัยใหม่ อันนี้ก็เปลี่ยนความรู้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับรัฐว่าใครควรจะมีอำนาจอันนี้คือหลักคิดพื้นฐาน การท้าทายตัวนี้ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่ารัฐราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) คือกษัตริย์มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เขียนคือกษัตริย์ไม่มีอำนาจ แล้วเราก็มีระบอบการเมืองที่เรียกว่าสาธารณรัฐ (Republic) คือรัฐซึ่งประชาชนรวมตัวกันเลือกผู้นำ คือไม่มีกษัตริย์ แนวคิดแบบนี้ก็ทำให้เกิดคำถามกับรัฐสมัยใหม่ที่เราเห็นมาในรอบ 100-200 ปี ระบอบการเมืองเก่าๆ มันก็เริ่มสูญหายไป รัฐสืบราชสมบัติก็ลดน้อยลง รัฐที่เป็นอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ยังอยู่ที่กษัตริย์ก็เหลือไม่กี่รัฐถ้ามีก็เป็นรัฐขนาดเล็กมากๆ จำนวนหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นอำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ หรือเราจะเรียกว่าเป็นระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญก็ตามแต่"

บัณฑิตเล่าต่อไปว่าไทยได้รับอิทธิพลทางความคิดเรื่องใครจะเป็นผู้ถืออำนาจแห่งรัฐ หรืออำนาจอธิปไตยเอาไว้ จะเป็นกษัตริย์ ประชาชน หรือใคร ซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เรื่อยมาจนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2475 แต่วงจรอุบาทว์ของการยึดอำนาจอย่างแท้จริงมาเริ่มในช่วงหลัง พ.ศ. 2490

"ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับเปลี่ยนพระราชประเพณีโบราณในหลายส่วน โดยเฉพาะการที่ทรงเห็นว่าการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาหรือการแช่งน้ำ หรือดื่มน้ำสาบานนั้น แทนที่จะเป็นฝ่ายขุนนางดื่มถวายกษัตริย์แต่ฝ่ายเดียว ก็ทรงให้ดื่มร่วมกันทั้งสองฝ่ายคือพระเจ้าแผ่นดินกับข้าราชบริพาร"

(ที่มา: บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, การเมืองไทยร่วมสมัย)

"ปี 2475-2490 มันยังไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าวงจรอุบาทว์ มันยังไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า วัฏจักรชั่วร้ายของการเมืองไทย เพราะว่าการทำรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนาในปี 2476 ต่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เนื่องมาจากพระยามโนฯ งดใช้รัฐธรรมนูญและปิดสภา คือปิดไม่ให้มีตัวแทนของประชาชนออกมาพูดออกมาทำงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระยาพหลทำก็คือยึดอำนาจแต่ว่าไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 2475 ฉบับ 10 ธ.ค. 2475 ยังคงอยู่ เป็นการยึดอำนาจเพื่อเปิดใช้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญคือรัฐประหารปี 2490 ทีนี้คนก็สงสัยว่ารัฐธรรมนูญ 2489 ล่ะ รัฐธรรมนูญ 2489 มันเกิดจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาของคณะราษฎร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงครามพยายามที่จะอาศัยจังหวะที่เกิดสงคราม อาศัยจังหวะที่คนไม่ค่อยมั่นใจต่อความเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนในสถาบันการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางประเพณี จอมพล ป. ก็ใช้โอกาสนี้ในการสร้างความนิยมของตัวเองให้มาเป็นผู้นำในลักษณะหนึ่งที่เราอาจจะเข้าใจว่าเป็นยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ในยุคนี้ก็มีการเลื่อนการเลือกตั้งเพราะฉะนั้นหมายความว่าจอมพล ป. ได้อำนาจที่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสิ้นสุดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจะเห็นว่าคณะราษฎรพยายามจะแก้ปัญหาก็เริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญ พอเริ่มแก้ไปแก้มา กรรมาธิการที่แก้ก็บอกว่าแก้แบบนี้ไม่ไหวร่างใหม่ดีกว่าจึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เองที่แบ่งอำนาจออกเป็นสองส่วนชัดๆ ในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติก็คือให้มีวุฒิสภาในสมัยนั้นเรียกว่า พฤฒสภา กับสภาผู้แทนราษฎร คือให้มีสภาผู้ทรงคุณวุฒิกับสภาที่เป็นตัวแทนของประชนทั่วไป ทีนี้ก็กลายมาเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอื่นๆ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 2489 คือจุดเริ่มต้น บังเอิญเกิดกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 สถานะของรัฐบาลปรีดี และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในเวลาต่อมาก็เกิดสั่นคลอนและถูกรัฐประหารโดยคณะกลุ่มราชครูในปี 2490 ซึ่งกลุ่มนี้ก็ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวแล้วก็และฉบับถาวรในเวลาต่อมา ซึ่งใช้เพียง 2 ปีก็ฉีกทิ้งแล้วเอาฉบับ 2475 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้  เราก็จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ปี 2490 ใครก็ตามที่ต้องการยึดอำนาจก็จะฉีกรัฐธรรมนูญแล้วประกาศตัวเองว่าเป็นผู้บริหารประเทศ"

ใครมีส่วนรับผิดชอบต่อภาวะรัฐประหารที่ง่ายดายและรัฐธรรมนูญหลายเวอร์ชั่น

บัณฑิตเล่าประวัติศาสตร์การเมืองว่าด้วยเวอร์ชั่นของรัฐธรรมนูญที่ต่อจากปี 2490 เรื่อยมา ตั้งแต่สมัยประชาชนขับไล่เผด็จการแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในยุค 14 ต.ค. 2516 ต่อด้วยการยึดอำนาจของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2521 ที่ถูกฉีกอีกครั้งหลังรัฐประหารปี 2534 และแทนที่ด้วยฉบับ 2535 ที่ถูกฉีกอีกครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬ ซึ่งถือเป็นจุดจบของประชาธิปไตยครึ่งใบและเริ่มมีการพูดถึงการตัดวัฏจักรของการยึดอำนาจที่บ่อยจนดูยืดยาวเมื่อต้องเขียนเป็นความเรียง แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในปี 2549 และ 2557 ตามมาด้วยสภาวะการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก ก็ต้องวนลูปกลับมาถามคำถามพื้นฐานกันใหม่ว่า ใครกันแน่ที่มีส่วนรับผิดรับชอบ

"(หลังพฤษภาฯ ทมิฬ) ก็บอกว่าอย่างนี้ไม่เอา มันเป็นวงจรอุบาทว์ เป็นวัฏจักรชั่วร้าย ต้องมองการปฏิรูปการเมือง มองช่องทางที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมีการยึดโยง จึงมีการถกเถียง มีการทำวิจัยกันใหญ่โตเพื่อที่จะหาโครงสร้างทางการเมืองที่เหมาะสมแล้วในที่สุด ก็มีการบอกว่าเพื่อที่จะผ่าทางตันทางการเมืองไทยนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2535 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2535 เขาแก้เพื่อให้มีการเลือกตั้งชั่วคราวแก้เพื่อที่จะให้มีนายกฯ มาจากการเลือกตั้งก็จริงแต่มันยังไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐาน กรรมการการปฏิรูปการเมืองในสมัยนั้นคือการรณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 211 (ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง"

"ในที่สุดก็เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 คือรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยอย่างมากมายมหาศาล เพราะว่าองค์กรอิสระมีหน่วยทางการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หน่วยทางการเมืองเหล่านี้ก็มีพูดถึงแม้กระทั้งเรื่องของการต้านรัฐประหารโดยสันติ สิทธิของประชาชนที่จะมายืนบนถนนต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรอง แต่อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราพูดกันในกระดาษแต่ความเป็นจริงมันก็เป็นอย่างที่เราเห็น ถ้าถามว่าในรอบ 80 กว่าปีนี้เราเผชิญกับอะไร คือเราเผชิญกับปัญหาพื้นฐานของการนิยามคำว่าอำนาจอธิปไตย อำนาจของประชาชนแล้วมันถูกสั่นคลอนเพราะอะไร มันถูกสั่นคลอนเพราะหนึ่งคือตัวนักการเมืองเอง มันถูกสั่นคลอนเพราะว่าความมั่นใจจากอำนาจที่มาจากปากกระบอกปืนของคนจำนวนหนึ่งเหมือนกัน จะไปโทษทหารฝ่ายเดียวไม่ได้ แล้วตรงนี้เองก็เป็นจุดที่ทำให้คิดว่าคำอธิบายเกี่ยวกับระบอบรัฐประหารมันค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน"

"สิ่งที่เราตั้งคำถามตอนนี้ตกลงเรามีสิทธิต้านรัฐประหารไหม เรามีสิทธิตั้งคำถามกับคณะรัฐประหารที่ถือปืนมายึดอำนาจเราไหม แล้วถ้าเราตั้งคำถามแล้วใครจะคุ้มครองเราซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด บางท่านบอกว่าผมยังคุ้มครองตัวเองไม่ได้เลยผมจะมาคุ้มครองอะไรคุณ มันก็จะกลับไปหลักพื้นฐานเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรมในวิชาชีพว่า ยามถึงวิกฤติแล้วคุณเอาตัวรอดโดยไม่คำนึงถึงการวิชาชีพหรือเปล่า แล้วคุณเคยคำนึงถึงที่เคยปฏิญาณหรือเคยสัญญาเอาไว้ไหม มันเป็นปัญหาพื้นฐานที่รัฐสมัยใหม่ในโลกเผชิญกันมาแล้วทั้งสิ้น"

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังอธิบายองค์ประกอบของภาวะยอมรับการยึดอำนาจทั้งในด้านแนวคิดที่รับรองการได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิธีใดก็ได้ และโครงสร้างรัฐที่สอดรับกับการยึดอำนาจ ซึ่งเขามองว่าเป็นรากฐานของการรัฐประหารที่ค่อนข้างง่ายดายและเบ็ดเสร็จในไทย

"ในความเป็นจริงทฤษฎีอำนาจเป็นธรรม (แนวคิดว่าคนที่มีอำนาจสามารถบัญชาการได้ ใครมีปืน มีกำลังคนนั้นก็คือคนที่มีอำนาจ[ที่มา:บัณฑิต]) เหมือนกับเป็นทฤษฎีที่มีการยอมรับกันอยู่ แม้กระทั่งฝ่ายซ้ายเองก็ยอมรับว่าอำนาจรัฐนั้นจักมาด้วยปากกระบอกปืน คณะรัฐประหารทุกคณะถ้าไม่มีกองทัพก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นเรื่องการมีกำลังทางกายภาพมันเป็นปัญหาใหญ่ ทีนี้คำถามต่อไปคือว่าใครเป็นคนให้ฉันทานุมัติในการเอากองทัพมาใช้งาน ใครมีอำนาจ ผบ.ทบ. หรือเปล่าหรือจะเป็นคนอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือว่ากำลังพลจำนวนหนึ่งก็เพียงพอแล้วสำหรับการยึดอำนาจ หลายคนบอกว่าประเทศไทยนั้นยึดอำนาจได้ง่ายมาก คุณมีกองพันที่อยู่ในกรุงเทพฯจำนวนหนึ่ง มีนายทหารยศพันเอกจำนวนหนึ่งคุณก็สามารถดึงคนมายึดอำนาจได้แล้ว"

"มันมีสภาวะยกเว้นที่มันเกิดขึ้นหลายๆ อย่างเกิดขึ้นโดยที่ระบบกลไกอำนาจรัฐก็ยอมรับรัฐประหาร มันเกิดสภาวะยกเว้นแม้กระทั่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วยว่าการกระทำของคณะรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เรามีรัฐธรรมนูญที่ยอมรับอำนาจของการรัฐประหารตรงนี้คิดว่ามันจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะมันไม่มีหลักประกันเลยว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารกระทำนั้นมันจะถูกต้องเสมอไป

สิ่งที่บัณฑิตพูดถึงคือมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 โดยเขาเห็นว่าเป็นฐานคติหนึ่งที่ทำให้การยึดอำนาจด้วยกระบอกปืนเป็นไปได้และเป็นที่ยอมรับกัน

บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและ การกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ (ที่มา:www.ombudsman.go.th)

"ในขณะที่ทฤษฎีทางการเมืองแบบประชาธิปไตยบอกว่าประชาชนมีอำนาจถ้าประชาชนไม่ยินยอมก็ใช้อำนาจนั้นไม่ได้ คำถามคือคนที่ถือปืนใช้อะไรยึดโยงกับประชาชน ก่อนรัฐประหารปี 2535 คุณสุจินดา คราประยูรบอกว่าถ้ามีไปรษณียบัตรถึงเขา จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ คงประมาณหนึ่งล้านใบแล้วจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ตอนนั้นคุณทวี ไกรคุปต์ (อดีตหัวหน้าพรรคประชาไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมไทย และพรรคเอกภาพ; ที่มา วิกิพีเดีย) ถึงกับตั้งคำถามว่า ท่าน ผบ.ทบ. ใช้อะไรคิดใช้อะไรพูดซึ่งก็สร้างความตึงเครียดทางการเมืองไปพักหนึ่ง หลายท่านก็บอกไม่ยึด ไม่ปฏิวัติ ไม่รัฐประหาร ถึงคราวก็ลากรถถังลากปืนออกมา คือมันแทบจะไม่มีอะไรแน่นอน เพราะฉะนั้นทฤษฎีอำนาจคือธรรม ธรรมคืออำนาจคือคนที่มีกำลังทางกายภาพสามารถกดดันข่มขู่ได้"

ประชาธิปไตยไทยเถียงเรื่องรัฐประหารกันยังไม่จบ-แลดูยังไม่เห็นทางออก

ต่อคำถามเรื่องการเอาการเมืองไทยออกจากวังวนรัฐประหาร บัณฑิตเห็นว่าเป็นข้อถกเถียงที่จบแล้วในหลายที่ทั่วโลก แต่ไม่ใช่ที่ไทย เจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการรัฐประหารเมื่อปี 2540 บัดนี้ตกหายไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

"เราเถียงกันในสิ่งที่เขาเถียงจบไปแล้วร้อยปี เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนผ่านสังคมการเมืองเข้าสู่ลักษณะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันน่าเสียดายว่าเราทุบทำลายสถาบันการเมืองจำนวนมากที่เคยเหนี่ยวรั้ง ที่เคยให้สติ นักวิชาการ เพื่อนผม กระทั่งอาจารย์หลายคนก็ติดคดีเพียงแค่ออกมาวิจารณ์การรัฐประหาร เพียงแค่ชูป้าย ซึ่งว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ที่สุดในรอบ 20 มานี้เรายังไปไหนได้ไม่ไกล"

"วิกฤตในรอบนี้ถ้าจะเข้าใจมันต้องไปดูความพยายามที่จะแก้ปัญหาหลังปี 2535 แล้วก็เป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมันเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทย ภูมิทัศน์การเมืองไทย ช่วงชั้นของคนในสังคม ความเป็นอิสระในทางเศรษฐกิจของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไป การเติบใหญ่ก้าวหน้าทางการศึกษาของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป คุณภาพเหล่านี้ ถ้าเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยยะสำคัญมันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือธรรมชาติของระบบการเมืองใดๆ เมื่อเอาสมการนี้ไปใส่ในรัฐธรรมนูญ 40 เราก็จะเห็นได้ว่าช่วงชั้นทางการเมืองไทยมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล"

"สภาพสังคมมันเปลี่ยนไปจนเราไม่สามารถนิยามสังคมได้แบบเดิมอีกต่อไป แต่เรายังมีความนิยามกฎหมายที่ค่อนข้างไม่สอดคล้องต่อสิ่งที่มันควรจะเป็นต่อโลกที่ทันสมัย จุดนี้ถ้ามาดูตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ดูรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มันพยายามจะออกแบบสถาบันการเมืองขึ้นเพื่อแก้ปัญหา เพื่อเหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ เกิดขึ้นอีก คำถามที่มันสำคัญมากอีกชุดหนึ่งคืออะไรที่มันทำให้คนที่เคยสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540 ออกมาสนับสนุนทหารให้ยึดอำนาจ"

"ตอนเราเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ผมคิดว่าคณะราษฎรต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในอนาคตชะตากรรมของชาติ มีรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับผิดรับชอบแทนที่จะเป็นสถาบันกษัตริย์แล้วคนเหล่านี้ควรจะต้องตรวจสอบได้ในฐานะที่เป็นรัฐบาลของประชาชน แต่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองของสังคมไทยมันเปลี่ยนแปลงไป มันถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆตามมา การปฏิรูปการเมืองที่เราเห็นเมื่อปี 2540 ก็คือพยายามที่จะมิให้เกิดวงจรอุบาทว์ตามมาอีก ความพยายามที่จะป้องกันมิให้นักการเมืองฉวยโอกาสที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน 4 ปีโดยที่ไม่ฟังใครนี่คือเจตนารมณ์ เพราะฉะนั้นเราถึงมีองค์กรอิสระ เราถึงมีการจัดการโน่นนี่นั่นเข้ามา เจตนารมณ์ปี 2540 มันคือความพยายามที่จะแก้ปัญหาตรงนี้

แต่เราก็จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 พยายามกลับไปมากกว่าเดิม ทั้งยุทธศาสตร์ 20 ปีรวมไปถึงระเบียบยิบย่อยอื่นๆ คือมันไม่ได้อยู่เฉพาะในรัฐธรรมนูญ แต่ลงในรายละเอียดแม้กระทั่งวิธีการปฏิบัติราชการในปัจจุบัน ความกลัวการทุจริตอย่างออกหน้าออกตา ผมคิดว่ามันทำให้เราเห็นความไม่ไว้วางใจในสังคมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันในความไม่ไว้วางใจ เราก็กลับไปฝากความคาดหวังไว้กับอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด อำนาจที่เหนือกว่าอำนาจของพลังประชาชน ตรงนี้แหละที่มันจะก่อปัญหาระยะยาว คือภูมิทัศน์มันเปลี่ยนไปแล้ว ผมไม่อยากจะบอกว่านี่คือประชาธิปไตยครึ่งใบแต่ผมคิดว่ามันย้อนกลับไปเมื่อปี 2500 คือย้อนกลับไป 60 ปี  นิตยสารไทม์ถึงได้นิยามว่านี่คือสฤษดิ์น้อย"

บัณฑิตให้ความเห็นทิ้งท้ายในประเด็นแบบอย่างกลไกอำนาจรัฐที่ต่อต้านหรือปฏิเสธการรัฐประหารว่า อย่างน้อยที่สุดประชาชนต้องมีพื้นที่ในการแสดงออกและตรวจสอบรัฐบาลตามธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย

"ในบางประเทศสถาบันกษัตริย์ก็มีบทบาทอย่างในประเทศสเปน แต่เราคงไม่ต้องไปถึงขั้นนั้น แต่สำคัญที่สุดคือเราควรจะคิดถึงประชาชนมากขึ้นว่ากระดาษแผ่นเดียวมันจะทำลายความมั่นคงของชาติได้อย่างไร ที่ออกมาชูป้าย หรือว่าถ้านักวิชาการบอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารคือมันควรจะเป็นสิ่งที่เราพูดได้หรือเปล่า แล้วยิ่งมีรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้วเรายังพูดในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ การกระทำในช่วงที่เกิดขึ้นระหว่างที่คณะรัฐประหารมีอำนาจอยู่ เราตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แล้วจะไปตรวจสอบรัฐบาลในอนาคตได้อย่างไร ผมคิดว่าคำถามพื้นๆ เหล่านี้มันจะดันไปที่กลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่า ต่อให้เขาไม่ตอบในเวลานี้หรือต่อให้เขาจะเลื่อนคำตอบของเขาไปเรื่อยๆ แต่ในสักวันเขาก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ในที่สุดและตรงนั้นก็จะบอกอนาคตการเมืองไทย

คืออย่างน้อยประชาชนทุกคนจะต้องมีพื้นที่ ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติถ้าเราทำอะไรที่มันฝืนธรรมชาติระบบการเมืองนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ แม้กระทั้งคนที่ไปขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ทุกวันนี้ก็ยังรอเลือกตั้งยังกลับมาตั้งพรรคการเมือง มันจะมีโครงสร้างการเมืองไหนที่ดีกว่านี้ นั่นแสดงว่าเขาตอบตัวเองได้แล้วว่ามันไม่ดี ที่เป็นอยู่มันไม่ใช่"

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ว่าด้วยตุลาการและระบอบแห่งการรัฐประหาร

Posted: 10 Jul 2018 06:15 AM PDT

คำว่า 'ระบอบแห่งการรัฐประหาร' ปรากฏขึ้นในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 2247/2561  'ประชาไท' จึงต้องกลับมาสนทนากับ 'วรเจตน์ ภาคีรัตน์' เกี่ยวกับคำคำนี้ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงบทบาทของตุลาการในระบอบแห่งการรัฐประหาร วรเจตน์ชักชวนวิเคราะห์คดีที่เกิดขึ้น คำวินิจฉัยของศาล การดำรงอยู่ของระบอบแห่งการรัฐประหาร

  • อำนาจในทางข้อเท็จจริงของศาลน้อยกว่าอำนาจของคณะรัฐประหาร ศาลจึงไม่สามารถเอาผิดคณะรัฐประหารได้
  • ศาลควรใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อตีความลดทอนความอัปลักษณ์อันเนื่องจากคำสั่ง คสช.
  • ระบอบแห่งการรัฐประหารสร้างกลไกแบ่งแยกอำนาจเทียมขึ้นและพยายามทำให้ความผิดปกติกลายเป็นสิ่งปกติ
  • รัฐประหารเป็นเพียงระบบหนึ่งภายใต้ระบอบที่ใหญ่กว่า

จุดตั้งต้นของบทสนทนาขนาดยาวชิ้นนี้มีที่มาจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 2247/2561ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายโจทก์ กับจ่าสิบเอกอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ฝ่ายจำเลย ในความผิดต่อประการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557

ข้อต่อสู้ประการหนึ่งของฝ่ายจำเลยคือ

'การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมิใช่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พลเอกประยุทธ์จึงไม่อยู่ในฐานะรัฐาธิปัตย์ที่จะออกประกาศมาบังคับใช้โดยไม่ผ่านความยินยอมของประชาชนได้'

ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า

'ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศนั้น เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปตามที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ว่า ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนลุกลามไปสู่แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ ขาดความสามัคคีและมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน บางครั้งเกิดความรุนแรง ใช้กำลังและอาวุธสงครามเข้าทำร้ายประหัตประหารกัน สวัสดิภาพและการดำรงชีพของประชาชนไม่เป็นปกติสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองชะงักงัน กระทบต่อการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการ การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล นับเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

'แม้รัฐจะแก้ไขปัญหาด้วยกลไกและมาตรการทางกฎหมาย เช่น นำกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในภาวะต่างๆ มาใช้บังคับ ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และฝ่ายที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี เช่น องค์กรธุรกิจภาคเอกชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กองทัพ และวุฒิสภาได้พยายามประสานให้มีการเจรจาปรองดองกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ กลับจะเกิดข้อขัดแย้งใหม่ในทางกฎหมายและการเมือง เป็นวังวนแห่งปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังกล่าว

'และแม้การกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ... สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยในขณะนั้น ก็คลี่คลายเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน หรือแม้แต่คณะรัฐบาลที่รักษาการอยู่ในขณะนั้นก็ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการกระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อันถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งใดๆ อันถือเป็นกฎหมายตามระบอบแห่งการรัฐประหารมาใช้ในการบริหารประเทศ...'

ระบอบแห่งการรัฐประหารที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นคำสำคัญที่ทำให้ 'ประชาไท' ต้องมานั่งคุยกับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยบทบาทของศาล-ตุลาการและระบอบแห่งการรัฐประหาร...อีกครั้ง

ศาลไม่มีอำนาจในทางความเป็นจริงที่จะเอาผิดคณะรัฐประหารได้

วรเจตน์แบ่งการอธิบายเป็น 2 กรณีเนื่องจากมีมิติและเนื้อหาสาระที่แตกต่างกัน กรณีที่ 1 คือกรณีที่ประชาชนฟ้องคณะรัฐประหารหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีไม่กี่คดี ส่วนกรณีที่ 2 คือกรณีที่ คสช. ผ่านกลไกของตนฟ้องประชาชนซึ่งมีมากมายหลายคดี เขาขยายความว่าหากนำทั้งสองกรณีมาพิจารณารวมกันจะทำให้เห็นภาพไม่ชัด เรียกร้องต่อศาลได้ไม่ตรงเป้า และประเมินอำนาจของศาลสูงเกินความเป็นจริง

"ตัวอย่างล่าสุดที่ศาลอ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน คดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องเอาผิดคณะรัฐประหาร 5 คน ซึ่งในอดีตก็เคยมีคนฟ้องแล้ว อย่างกรณีคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ซึ่งศาลไม่รับฟ้อง หลังจากนั้นจอมพลถนอมออกคำสั่งให้ติดคุก หรือกรณีคุณฉลาด วรฉัตร คดีกลุ่มนี้เป็นการฟ้องให้ศาลเอาผิดคณะรัฐประหารที่ยึดครองอำนาจอยู่ คิดจากสภาวะธรรมดา มันคงยากที่จะให้ศาลตัดสินเอาผิดคณะรัฐประหารได้ อันนี้เรามองถึงอำนาจในแง่ความเป็นจริงก่อน"

ที่ผ่านมาเวลาศาลไม่รับฟ้องคดีทำนองนี้จะให้เหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายอย่างในกรณีของอุทัย พิมพ์ใจชน หรือประการที่ 2 ซึ่งเป็นเป็นเหตุผลที่ศาลใช้ในช่วงหลังๆ คือคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จและนิรโทษกรรมให้ตนเองเรียบร้อยแล้ว การกระทำของคณะรัฐประหารจึงพ้นจากความผิดและการรับผิดโดยสิ้นเชิง ศาลจึงไม่สามารถรับฟ้องโจทก์เอาไว้พิจารณาได้ ชอบที่จะยกฟ้อง

แต่ วรเจตน์ ชวนตั้งคำถามว่า ถึงที่สุดแล้ว อะไรคือเหตุผลจริงๆ ที่ศาลไม่รับฟ้องคดี

"ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะเหตุผลสองประการข้างต้น นี่เป็นเหตุผลที่ให้ในทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงคืออำนาจศาลเป็นอำนาจที่น้อยกว่ารัฐประหาร อำนาจทางความเป็นจริงของคณะรัฐประหารใหญ่กว่า การฟ้องศาลให้เอาผิด มันยากมากที่จะเอาคณะรัฐประหารมาติดคุก เพราะคณะรัฐประหารบังคับกลไกในทางความเป็นจริง สมมติว่ามีการฟ้องหลังจากการทำรัฐประหารทันที แล้วศาลตัดสินว่าคณะรัฐประหารผิด สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือเขาอาจยึดอำนาจซ้ำทันทีและปลดผู้พิพากษาออก เราเรียกร้องผู้พิพากษามากไปหรือไม่ ในขณะที่เขาไม่สามารถสู้กับคณะรัฐประหารได้ เพราะคนที่สู้กับคณะรัฐประหารจริงๆ คือประชาชนนั้นแพ้แล้ว ศาลคืออะไรหลังยึดอำนาจเสร็จ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าศาลก็จะกลายเป็นเพียงกลไกของระบอบหลังรัฐประหาร"

วรเจตน์ ยกเหตุผลของศาลในคดีที่พลเมืองโต้กลับว่า การยึดอำนาจไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย แต่เมื่อยึดอำนาจได้จะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ต้องไปว่ากล่าวในทางอื่น แต่ คสช. มีอำนาจในทางข้อเท็จจริงว่าเป็นบุคคลที่ใช้อำนาจในทางบริหารและนิติบัญญัติ แต่เมื่อคณะรัฐประหารคุมกลไกและอำนาจรัฐได้แล้ว ย่อมมีอำนาจในการออกกฎหมายและศาลจำยอมต้องผูกพันตามกฎหมายที่คณะรัฐประหารออกมา

เหตุผลที่ศาลให้ ผิดหรือไม่? วรเจตน์ คิดว่า คงกล่าวแบบนั้นไม่ได้เสียทีเดียว เพราะมันก็เป็นความจริงที่ว่าอำนาจศาลไม่อาจต่อสู้กับอำนาจคณะรัฐประหารได้ อีกทั้งเขายังมองว่ากรณีแบบนี้ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย แต่เป็นประเด็นทางการเมือง

"การฟ้องคดีแบบนี้มันเป็นเรื่องทางการเมือง สมมติว่ามีการฟ้องคดีในช่วงที่คณะรัฐประหารอ่อนอำนาจลง หมายความว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มาต่อเนื่อง และคณะรัฐประหารไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในแง่นี้ การฟ้องคดีต่อศาลโอกาสที่ศาลจะเป็นคนที่สู้กับคณะรัฐประหารอาจมีมากกว่า เป็นกลไกของประชาชนเพื่อสู้ให้คณะรัฐประหารล้มเหลวลงในที่สุด

ถ้าอย่างนั้น ศาลควรทำอย่างไร ประชาชนไม่ควรฟ้องดำเนินคดีคณะรัฐประหารต่อศาลอย่างนั้นหรือ? วรเจตน์ เห็นว่าวิธีที่น่าจะสง่างามที่สุดและไม่เป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารคือการยอมรับอย่างตรงไปตรงมา

"ถ้าเป็นผมก็คงเขียนคำพิพากษาออกมาตรงๆ ว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จแล้ว บัดนี้อำนาจตุลาการได้อยู่ใต้อำนาจรัฐประหารไปแล้ว คณะรัฐประหารยึดอำนาจไปหมดแล้ว คุมศาลไปแล้ว แต่ผมไม่ได้หมายความว่าการฟ้องคดีของกลุ่มพลเมืองโต้กลับไม่มีประโยชน์ มันมีประโยชน์ในแง่ที่ชี้ให้เห็นว่าอำนาจในความเป็นจริงสุดท้ายคืออะไร

"เราไม่ควรพูดอีกต่อไปหรือเปล่าว่า ศาลสามารถช่วยประชาชนในการต่อสู้กับคณะรัฐประหารได้โดยการตัดสินว่าคณะรัฐประหารผิดในฐานเป็นกบฏและนำคณะรัฐประหารเข้าคุก คำพิพากษาทั้งหมดที่ออกมาเป็นการพยายามเอากฎหมายไปใช้ เหมือนกับเรากำลังรู้สึกว่ากฎหมายยังเป็นกฎหมาย สามารถฟ้องคณะรัฐประหารได้ แต่คณะรัฐประหารไม่ผิดเพราะมีการนิรโทษกรรม แต่ผมมองให้ลึกลงไปกว่านั้นว่าเหตุผลจริงๆ คือ อำนาจตุลาการไม่สามารถต่อกรกับอำนาจรัฐประหารได้"

ข้อสังเกตประการหนึ่งของวรเจตน์ต่อกรณีการฟ้องคดีเอาผิดคณะรัฐประหารคือ การทำเสมือนหนึ่งว่ายังคงมีระบบแบ่งแยกอำนาจ-นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เขาตั้งคำถามว่ามันมีอยู่จริงหรือ? หรือเป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบเทียมๆ เพราะทั้งคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติล้วนไม่ได้มีที่มาจากประชาชน ขณะที่ศาลก็มีปัญหาเฉพาะอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรื่อยมาถึงปัจจุบันว่าหลุดออกจากห่วงโซ่ของความชอบธรรมที่เชื่อมร้อยกลับมาหาประชาชน และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ควรต้องมีการแบ่งอำนาจจริงๆ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมาตรา 44 ยังดำรงอยู่ ยังมี คสช. อยู่

"คณะรัฐประหารอาจได้ประโยชน์จากการทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าศาลยังเป็นอิสระอยู่ ไม่ถูกครอบงำ เท่ากับว่าศาลยังสามารถอำนวยความยุติธรรมตามปกติได้และมันช่วยทำให้การรัฐประหารอ่อนนุ่มลง ไม่แข็งกร้าว ทำให้สภาวะการต่อต้านมีไม่มาก การที่เรารู้สึกว่าศาลยังอิสระอยู่จริงๆ ในด้านหนึ่งมันกลับเป็นการสนับสนุนระบอบรัฐประหารด้วย

"แต่ผมไม่ได้บอกว่าศาลไม่มีอิสระอะไรเลย ผมคิดว่าหลายคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง คณะรัฐประหารก็ไม่มายุ่ง ปล่อยให้ศาลดำเนินไปตามงานประจำปกติ แต่คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ยิ่งถ้าเกี่ยวข้องกับการอยู่หรือไปของคณะรัฐประหาร ตอบได้เลยว่าศาลไม่สามารถต่อกรกับคณะรัฐประหารได้ตั้งแต่แรก เพราะคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จแล้ว และเราไม่ควรแสร้งบอกอีกต่อไปว่าศาลสู้ได้ คุณูปการของพลเมืองโต้กลับคือชี้ให้เราเห็นจุดนี้"

วรเจตน์ กล่าวว่า หนทางเอาผิดคณะรัฐประหาร ถึงที่สุดแล้วต้องทำโดยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ต้องสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วประกาศว่าการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเป็นโมฆะ เท่ากับเสียเปล่าไม่เคยมีขึ้นในระบบกฎหมายมาก่อน ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนประสบชัยชนะอย่างแท้จริงในทางการเมือง และนั่นจะเปิดทางให้ศาลใช้อำนาจพิจารณาลงโทษคณะรัฐประหารได้

ลดทอนความอัปลักษณ์

แม้ยังคงอำนาจตามมาตรา 44 ไว้ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2560 กลายสภาพเป็นกฎหมายสูงสุดเพียงในนาม แต่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย วรเจตน์ แสดงทัศนะว่า ในแง่กฎหมาย อย่างน้อยรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังมีประโยชน์ในกรณีที่คณะรัฐประหารดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง

"กรณีที่คณะรัฐประหารฟ้องประชาชน ผมคิดว่ากรณีแบบนี้เราต้องเรียกร้องจากศาล ถ้าศาลบอกว่าสิ่งที่ คสช. ประกาศออกมาเป็นกฎหมาย ศาลมีหน้าที่ต้องบังคับใช้อย่างสิ้นเชิง ผมว่าอันนี้เป็นปัญหา เพราะกรณีนี้คือการที่คณะรัฐประหารเองผ่านกลไกของรัฐ ตำรวจ อัยการ ขออำนาจของศาลลงโทษคนที่ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศของตัวเอง ซึ่งส่งผลให้คนต้องรับโทษในทางอาญาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างมาก ศาลจะบอกว่ายึดอำนาจสำเร็จ มีกฎหมายแล้วก็ต้องลงโทษ ศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการลงโทษแบบเบาอาจจะปรับหรือจำคุกแล้วรอลงอาญา กรณีที่ศาลใช้ดุลยพินิจแบบนี้ศาลก็รู้สึกว่านี่คือการทำให้มันเบาลงแล้ว คือบังคับใช้กฎหมายของรัฐประหาร แต่ลงโทษไม่หนัก ผมถามว่าแบบนี้มันใช่ไหม

"เราอาจเรียกร้องศาลไม่ได้ว่าให้ศาลลงโทษรัฐประหาร แต่เราเรียกร้องศาลไม่ได้หรือในการวิเคราะห์ความเป็นกฎหมายของคณะรัฐประหาร ของบรรดาประกาศคำสั่ง เราเรียกร้องศาลไม่ได้หรือว่าในแง่กฎหมายศาลต้องดูวัตถุประสงค์ของการลงโทษว่าเป็นไปเพื่ออะไร ผมว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเรียกร้องศาลได้ทั้งสิ้นและควรต้องเรียกร้องด้วย และด้วยเหตุนี้จึงมีคำพิพากษาของศาลจำนวนหนึ่งที่ต้องถูกวิจารณ์"

ศาลมักให้เหตุผลว่าเมื่อยึดอำนาจสำเร็จ คำสั่งของคณะรัฐประหารย่อมถือเป็นกฎหมาย ทั้งที่อำนาจในความเป็นจริง คณะรัฐประหารสามารถสั่งลงโทษประชาชนที่ขัดขืนคำสั่งได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านศาล เช่นที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ คสช. ไม่ใช้อำนาจแบบดิบๆ เช่นนั้น เพราะยังมีสายตาของประชาคมโลกมองอยู่ จึงใช้อำนาจที่ละมุนกว่าผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อบอกว่าประชาชนมีสิทธิต่อสู้คดีในทางกฎหมาย ทั้งที่การใช้กฎหมายเข้าดำเนินการแบบนี้เป็นการคุกคามบุคคลที่มีทัศนะทางการเมืองไม่เหมือนกับคณะรัฐประหาร

"ถามว่าทำไมคณะรัฐประหารยุคหลังๆ ไม่ใช้อำนาจแบบนั้น เพราะมันอาจเกิดแรงต้านที่สูงมากทั้งจากภายในและภายนอก การลดแรงต้านลงคือการใช้กฎหมายแจ้งดำเนินคดี แล้วใช้กลไกที่มีอยู่ดำเนินการไป มีการสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมา โดยยังรู้สึกว่ากลไกที่สร้างขึ้นมาเป็นอิสระอยู่ ยังเป็นอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งหลุดจากรัฐประหาร คือการสร้างภาพให้การรัฐประหารดูเบาลง แต่ความเดือดร้อนยังตกอยู่กับคนถูกดำเนินคดี ผมว่าคณะรัฐประหารได้ประโยชน์มากจากกลไกแบบนี้

"การอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายคือเป็นไปตามกฎหมายในสองมิติ คือกฎหมายที่มีอยู่แล้วและกฎหมายที่คณะรัฐประหารออกเอง คำว่าเป็นไปตามกฎหมายคือเป็นไปตามกฎหมายที่คุณออกเอง คุณเป็นคนคุมกฎ มิติที่สองที่ว่าเป็นไปตามกฎหมายคือเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมในทางกฎหมาย แต่คณะรัฐประหารมั่นใจว่ากลไกในทางกฎหมายก็จะใช้กฎหมายของคณะรัฐประหารเอง"

จุดนี้นำมาสู่ประเด็นว่า เวลาที่ศาลใช้กฎหมายของคณะรัฐประหาร ศาลควรใช้อย่างไร

"ศาลก็รับว่าบรรดาประกาศคำสั่งต่างๆ มีสภาพเป็นกฎหมายแล้วศาลก็ใช้เต็มที่ คำว่าใช้เต็มที่หมายถึงว่าเป็นกฎหมายที่มีสภาพเหมือนกับพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งออกมา คือศาลไม่มองในแง่แบบพิธีการออกกฎหมาย เนื้อหาของกฎหมาย ศาลดูแต่เพียงว่าพอยึดอำนาจเสร็จ กฎหมายนี้จะชื่อว่าคำสั่งรัฐประหาร คำสั่งหัวหน้า คสช. หรือประกาศอะไรก็แล้วแต่ มันมีสภาพเหมือนกันกับพระราชบัญญัติที่รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยออกมา แต่คำถามคือถูกไหม? นี่คือคำถามที่เราต้องถาม"

วรเจตน์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวจากการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพถ่ายทอดลงไป ซึ่งเขาเห็นว่าถ้อยคำเหล่านี้คือเครื่องมือที่ศาลจะนำมาใช้ประกอบการตีความบรรดาคำสั่งต่างๆ

"แต่เท่าที่ผมเห็นตอนนี้ ศาลไม่เอามาใช้เลย เพราะแม้คณะรัฐประหารอยากจะหล่อ แต่ก็ยังมีมาตราหนึ่งที่รับรองความชอบโดยกฎหมายและให้ถือเป็นที่สุดของบรรดาคำสั่งต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ทีนี้เวลาศาลใช้ ถ้ามีบทบัญญัติที่ดูดีกับที่อัปลักษณ์เมื่อเทียบกับเกณฑ์ปกติ เราควรจะตีความลดทอนสิ่งที่มันอัปลักษณ์ลง

"ยกตัวอย่างการชุมนุม ที่มี พ.ร.บ.ชุมนุม มีรัฐธรรมนูญ แล้วยังมีประกาศ คสช. อีก ถ้ามีการแจ้งความตามคำสั่ง คสช. ถ้าสู้ว่าคำสั่ง คสช. ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะไม่ตรวจสอบอะไรเลย ถ้าเอาด้านอัปลักษณ์มาใช้คือด้านที่รับรองความชอบด้วยกฎหมายมาใช้ ประเด็นคือเกณฑ์ที่ห้ามแบบนี้มันได้มาตรฐานความชัดเจนแน่นอนตามรัฐธรรมนูญ ตามพันธะกรณีที่เราเป็นสมาชิกหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ศาลก็ต้องตีความว่าคำสั่งนี้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเอาด้านอัปลักษณ์มาใช้ก็เท่ากับบทบัญญัติที่รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย แล้วจะเขียนไว้ทำไม

"ตอนนี้เข้าสู่ระบบที่มีรัฐธรรมนูญถาวรแล้ว คุณยังจะตีความแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นอำนาจตุลาการก็ไม่มีความหมายอะไร คุณใช้กฎหมายอย่างอื่นไม่ได้ เพราะคนเขียนรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องเป็นแบบนี้ กล่าวคือคนเขียนรัฐธรรมนูญช่วงชิงอำนาจการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปไว้กับตัวเองแล้วผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญ เท่ากับเข้ามาทำร้ายอำนาจตุลาการเสียแล้วในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ทำให้ศาลต้องจำนน แล้วศาลควรจะยอมหรือไม่ กลายเป็นว่าบทบัญญัตินี้มาตราเดียวทำลายบทบัญญัติอื่นทั้งหมด รวมทั้งทำลายความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าศาลยืนยันแต่เพียงว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มันก็คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากศาลยอมตามกฎเกณฑ์รัฐประหารโดยไม่มีการตรวจสอบเลย"

ใครคือผู้ชี้ว่ารัฐประหารสำเร็จ?

วรเจตน์ ยกตัวอย่างคดี บก.ลายจุด หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ถูกฟ้องข้อหาขัดขืนคำสั่ง คสช. เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของศาลดังนี้

"คดีของ บก.ลายจุดหรือคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ยกข้อต่อสู้ว่า ณ เวลานั้นยังไม่รู้ว่าการยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ ที่ผ่านมาศาลมักบอกว่าเมื่อการยึดอำนาจไม่มีการต่อต้าน มันสำเร็จผลเรียบร้อยแบบกว้างๆ แล้วถือว่าการรัฐประหารสำเร็จตั้งแต่การประกาศยึดอำนาจ ประเด็นคือการยึดอำนาจสำเร็จตอนไหน หลังการรัฐประหารหนึ่งวัน สองวัน หรือสามวัน แล้วบอกว่าการรัฐประหารสำเร็จ จริงๆ แล้วใครเป็นคนบอกว่าสำเร็จ

"ผู้ที่บอกว่าการทำรัฐประหารสำเร็จก็คือศาลในภายหลัง กว่าคดีจะมาฟ้องศาลอาจผ่านไป 5-6 เดือน ซึ่งตอนนั้นรัฐประหารสำเร็จไปแล้ว แต่ศาลเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น 3-5 วันมาชี้ในอีก 5-6 เดือนต่อมาแล้วบอกว่าการรัฐประหารสำเร็จตั้งแต่วันแรก สำเร็จตั้งแต่วินาทีที่ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ถ้าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือตอน 4 โมงครึ่ง ณ วินาทีนั้นเลย

"ผมถามจริงๆ ว่าวันที่ประกาศยึดอำนาจในวินาทีนั้น มีใครบอกได้ว่ายึดอำนาจสำเร็จ เวลาศาลวินิจฉัย ศาลต้องย้อนกลับไปตรงจุดนั้น ถามว่า ณ จุดที่มีการประกาศยึดอำนาจคุณรู้หรือว่ารัฐประหารสำเร็จ หรือคุณเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังย้อนกลับไปชี้สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าซึ่งยังไม่มีความแน่นอน ถ้าเป็นแบบนี้มันก็ไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกดำเนินคดี เพราะเวลาเราจะดำเนินคดี กฎหมายต้องมีความชัดเจนและแน่นอน ศาลจะบอกว่ายึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ ต้องมีเกณฑ์ที่มีความแน่นอนถ้าจะลงโทษคน ประเด็นนี้เท่ากับศาลเป็นผู้ชี้ว่าการรัฐประหารสำเร็จ และผมเชื่อว่าในทางข้อเท็จจริงตอนนั้นไม่มีใครบอกได้หรอกว่าการรัฐประหารสำเร็จ

"มันเคยมีกรณีที่คณะทหารคณะหนึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แล้วเรียกบุคคลไปรายงานตัว มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับอธิบดีท่านหนึ่งไปรายงานตัวต่อคณะทหารเพราะเข้าใจว่ายึดอำนาจสำเร็จแล้ว สองสามวันหลังจากนั้นรัฐบาลพลเอกเปรมสามารถโต้กลับทำให้คณะทหารกลายเป็นกบฏ เจ้าหน้าที่รัฐท่านนี้ถูกฟ้องเพราะไปรายงานตัวกับกบฏและถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ แต่รอลงอาญา ซึ่งมันเป็นประเด็นที่คุณสมบัติยกขึ้นสู้ เท่ากับว่าให้คนที่ไปรายงานตัวต้องเสี่ยงเอาเองว่าจะไปหรือไม่ไป ประเมินเอาเองว่ายึดอำนาจสำเร็จหรือไม่อย่างนั้นหรือ

"ศาลควรมีเกณฑ์ที่แน่นอนเพื่อลงโทษคนทางกฎหมาย ถ้าศาลใช้เกณฑ์ประสิทธิภาพ มันอาจใช้ไม่ได้ชัดเจนว่ามันเกิดผลตั้งแต่วันที่ทำรัฐประหารเลยหรือไม่ เพราะมันอาจมีการต่อต้าน ประชาชนยังชุมนุมอยู่ แม้การต่อต้านจะไม่สำเร็จก็ตาม เพราะฉะนั้นตราบที่ยังมีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารโดยตรง แล้วสภาวะที่ยังไม่ห่างไกลจากวันรัฐประหาร อาจต้องถือว่าประสิทธิภาพของการรัฐประหารยังไม่เกิดขึ้นจริง จุดที่รัฐประหารสำเร็จคือตอนไหน มันคือจุดที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริง เพราะถ้าข้อเท็จจริงยังไม่แน่นอน คุณจะใช้สิ่งที่ยังไม่แน่นอนในทางข้อเท็จจริงมาเป็นผลร้ายกับคนที่ต้องถูกลงโทษในคดีอาญาหรือ

"ถ้าศาลทำแบบนั้น เราพอจะบอกได้ว่าอันที่จริงศาลเป็นคนที่บอกว่าการยึดอำนาจนั้นสำเร็จในมิติของการลงโทษคน ในกรณีนี้เท่ากับศาลกลายเป็นกลไกหนึ่งด้วยของคณะรัฐประหารในภายหลัง อันนี้เป็นคำถาม เราสามารถตั้งคำถามได้ไหมว่าคนที่บอกว่าการยึดอำนาจสำเร็จนั้นก็คือศาลในอีก 5 เดือนต่อมาแล้วชี้ย้อนกลับไปว่าสำเร็จแล้ว พอ พล.อ.ประยุทธ์ อ่านประกาศยึดอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ สำเร็จเลยในทันที ทั้งที่ความเป็นจริงในตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ"

รัฐประหารสำเร็จเมื่อใด?

"ทีนี้มันอาจต้องหาเกณฑ์ว่าจะใช้เกณฑ์ไหน เกณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจคือคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ อ้างเกณฑ์ต้องดูว่ามีการต่อต้านจากประชาชนหรือไม่ หน่วยงานของรัฐยอมรับคำสั่งคณะรัฐประหารหรือไม่ มีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิดของคณะรัฐประหารหรือไม่ และมีพระบรมราชโองการรับรองฐานะของคณะรัฐประหารหรือไม่

"คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2578/2560 ให้ความเห็นไว้ว่า การรัฐประหารสำเร็จคือไม่ปรากฏว่ามีการต่อต้านโดยประชาชนหรือองค์กรของรัฐต่อต้านการยึดอำนาจครั้งนี้จน คสช. ไม่อาจบริหารประเทศได้ แต่ส่วนที่อ้างว่าต้องมีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิดของ คสช. หรือมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์มารองรับฐานะของ คสช. นั้น เป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเอง หาได้มีกฎเกณฑ์ไว้ในที่ใดว่าจะต้องมีการดำเนินการดังกล่าวเสียก่อน จึงจะถือว่าการยึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นผลสำเร็จดังที่จำเลยฎีกาไม่

"คุณสมบัติต่อสู้ว่าคณะรัฐประหารที่เรียกคุณสมบัติไปรายงานตัว 1 วันหลังการยึดอำนาจ ตอนนั้นรัฐประหารยังไม่สำเร็จ ประชาชนยังต่อต้าน ไม่มีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิด แล้วก็ไม่มีพระบรมราชโองการรับรองฐานะด้วย ศาลก็ปฏิเสธว่าเป็นความเข้าใจของคุณสมบัติเอง แต่คนที่ถูกฟ้องต้องการบอกว่ามันต้องมีความชัดเจนแน่นอน เขาจะได้ประพฤติปฏิบัติตัวถูก และศาลซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องดูว่า มันต้องมีเกณฑ์ที่จะบอกคนได้แน่นอน

"ทีนี้ ศาลบอกว่าการมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์มารองรับเป็นความเข้าใจของจำเลยเอง หาได้มีกฎเกณฑ์ไว้ว่าต้องมีการดำเนินการเสียก่อนการรัฐประหารจึงจะประสบความสำเร็จ แล้วมีกฎเกณฑ์บอกเหรอครับว่ามันมีประสิทธิภาพแบบที่ศาลกำหนดและถือว่าสำเร็จ กฎเกณฑ์เรื่องประสิทธิภาพศาลก็ยกขึ้นมาเองเหมือนกัน มันไม่มีในระบบกฎหมายเขียนว่า พอประกาศยึดอำนาจแล้วก็ถือว่ายึดอำนาจสำเร็จ คือมันมีความคลุมเครือไม่แน่นอนสูงมาก

"ถามว่าเกณฑ์ที่คุณสมบัติกล่าวอ้างมีความชัดเจนหรือไม่ ผมคิดว่าก็มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง เพราะการมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. มันมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เป็นเอกสารทางกฎหมายที่อาจเรียกได้ว่ารองรับสถานะความมีประสิทธิภาพของการรัฐประหารอย่างชัดเจนที่สุด อาจจะเป็นความเข้าใจของคุณสมบัติเอง แต่การที่ศาลบอกว่าไม่มีการต่อต้านก็เป็นความเข้าใจของศาลเองหรือเปล่า ตกลงว่าต่างก็เป็นความเข้าใจของแต่ละคน คุณสมบัติเข้าใจแบบนี้ ศาลเข้าใจแบบนี้ ก็แสดงว่าศาลเข้าใจต่างจากคุณสมบัติ แล้วจะลงโทษได้เหรอ หรือควรจะลงโทษคุณสมบัติในกรณีแบบนี้หรือเปล่า

"แน่นอนว่าในที่สุดการวินิจฉัยว่าการรัฐประหารสำเร็จหรือไม่ เป็นประเด็นปัญหาในทางการเมือง ไม่ใช่ปัญหาที่จะวินิจฉัยในทางกฎหมาย หรือถ้าใครจะบอกว่านี่เป็นเรื่องในทางกฎหมายก็เท่ากับว่าดุลพินิจในการชี้อยู่ที่ศาลเต็มร้อย สุดท้ายศาลเป็นคนบอก ศาลอาจจะบอกว่าการรัฐประหารสำเร็จ 22 พฤษภาคมก็ได้หรือ 26 พฤษภาคมก็ได้ ถ้าศาลแค่ใช้เกณฑ์ต่างกัน วันที่การรัฐประหารสำเร็จต่างกัน มันจะส่งผลต่อการลงโทษบุคคลไม่เหมือนกัน ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสิทธิเสรีภาพของคน และถ้าดูจากตัวอย่างที่ผมกล่าวถึง แบบนี้จะเป็นธรรมกับคนที่ถูกฟ้องหรือไม่ ถ้าเขาไปตามคำสั่งแล้วปรากฏว่ายึดอำนาจไม่สำเร็จ เขาก็ผิดอีก กลายเป็นว่าระบบกฎหมายผลักภาระการประเมินว่าคำสั่งของ คสช. ในเวลานั้นเป็นกฎหมายหรือไม่ไปให้คนแต่ละคนวินิจฉัยหรือเสี่ยงเอาเอง ก็เท่ากับเป็นการพนันขันต่อกับตัวเอง การผลักภาระการประเมินให้กับปัจเจกบุคคลที่ต้องถูกลงโทษ ผมว่ามีปัญหาเรื่องความยุติธรรม

"ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกฉีกให้สิทธิ์ประชาชนในการต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เขาก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้มันจะถูกฉีก แต่การรัฐประหารสำเร็จหรือไม่ ยังไม่รู้ในช่วงเวลานั้น ถ้าถือแบบนี้ก็เท่ากับว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญจะไม่มีทางถูกใช้ได้เลย อย่างนั้นก็อย่าเขียนไว้ เพราะประชาชนก็ใช้สิทธิของเขา เมื่อเขาใช้สิทธิแล้วมันไม่ได้ แต่ก็ถือว่าเขาใช้สิทธิ แล้วเราควรจะลงโทษหรือเปล่า

"อีกประเด็นหนึ่ง เวลาศาลตัดสินลงโทษคนต้องดูว่าลงโทษไปทำไม เพื่อให้บุคคลหลาบจำว่าต่อไปถ้ายึดอำนาจสำเร็จ เขาเรียกมา ต้องมานะ อย่างนั้นเหรอ ต่อให้เขาถูกจับปรับทัศนคติ มันก็จับไปแล้ว เป้าหมายคือเท่านี้ใช่หรือไม่ แล้วถ้ามันผ่านไปแล้ว จะใช้กฎเกณฑ์นี้ในการลงโทษเพื่ออะไร มันต่างกันมากกับการมีกฎหมายห้ามฆ่าคนตาย ถ้าทำแล้วต้องถูกลงโทษ ในการเรียนการสอนกฎหมายอาญา การลงโทษต้องมีวัตถุประสงค์ในการลงโทษ แล้วเราจะตอบคำถามนี้กันอย่างไร ศาลต้องพิจารณาเรื่องนี้ ศาลอาจจะคิดว่ามันเป็นกฎหมาย เมื่อฝ่าฝืนกฎหมายก็ต้องมีการลงโทษ แต่ผมคิดว่ามันต้องเยอะกว่านี้หรือไม่ในแง่การตัดสิน มิฉะนั้นศาลจะกลายเป็นกลไกหนึ่งของรัฐประหาร ซึ่งตรงนี้จะมาถึงคำว่าระบอบแห่งการรัฐประหาร"

กล่าวคือศาลไม่ควรบังคับใช้ประกาศของคณะรัฐประหารแบบไม่มีข้อจำกัด แต่ต้องตระหนักว่ามันเป็นกฎเกณฑ์ทางอาญาที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดังนั้น จะต้องมีความแน่นอน และศาลต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการลงโทษ

ศาลไม่พึงสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหาร

"ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นใหญ่ เพราะศาลก็มีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้น ถ้ามีการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ผมคิดว่าถึงที่สุดถ้าศาลจะต้องพิพากษาคดี ศาลจะต้องเป็นกลาง การให้เหตุผลต้องให้เหตุผลที่ไม่สร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหาร

"ถามว่าแบบไหนที่เป็นการให้ความชอบธรรม สมมติถ้าศาลบอกว่ารัฐประหารดีแล้ว สมควรมี ถูกต้อง แบบนี้ถือว่าให้ความชอบธรรม ซึ่งในคำพิพากษาบางฉบับศาลละประเด็นนี้เอาไว้ เช่นอาจจะเขียนกลางๆ ว่าศาลรับไว้การได้มาซึ่งอำนาจไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ชอบธรรมหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง อย่างเช่นศาลฎีกาในคดีพลเมืองโต้กลับ ศาลละไว้ ไม่ยุ่ง ก็โอเคอยู่ในความเห็นผม

"แต่ถ้าศาลเห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แบบนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหามากๆ แล้วเรื่องแบบนี้ถ้าเกิดการเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง ผมคิดว่าอาจต้องดำเนินคดีกับผู้พิพากษาที่สร้างความชอบธรรมผ่านการให้เหตุผลในคำพิพากษาให้กับการรัฐประหาร เพราะการให้ความชอบธรรมการรัฐประหารเท่ากับการสนับสนุน ศาลต้องไม่ตัดสินประเด็นพวกนี้ มันเป็นปัญหาในทางการเมือง ศาลไม่พึงเขียนคำพิพากษาอะไรที่สะท้อนความชอบธรรมของการรัฐประหาร ทีนี้ ศาลสร้างความชอบธรรมหรือไม่ แต่ละคนอ่านคำพิพากษาเอง แล้วตัดสินเอง ไม่ต้องถามผม"

ระบอบแห่งการรัฐประหาร

ระบอบแห่งการรัฐประหารในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คืออะไร นี่คงไม่ใช่คำถามเชิงกฎหมายที่วรเจตน์จะตอบได้ชัดเจน เขาบอกว่าควรไปถามนักรัฐศาสตร์ แต่ถ้าให้ทดลองตอบ

"ผมเข้าใจว่าคำว่า ระบอบแห่งการรัฐประหาร น่าจะปรากฏเป็นครั้งแรกในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของคุณอภิชาติและดูเหมือนว่าจะวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ด้วย ซึ่งถ้าผมเข้าใจผิดก็ขออภัยด้วย จึงน่าสนใจว่าคำคำนี้มีความหมายว่าอะไร ศาลไม่ได้ขยายความว่าอะไรคือระบอบแห่งการรัฐประหาร ถ้าจะดูง่ายๆ ก็คือศาลคงหมายความว่าเมื่อยึดอำนาจสำเร็จ มันก็เกิดระบอบแห่งการรัฐประหารขึ้น โดยนัยแค่นี้แหละ

"ส่วนมันทำงานยังไง เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจแล้ว เขาก็สร้างระบบกลไกระบบขึ้นมารองรับการทำงาน เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้กลไกเหล่านี้สามารถดำเนินไปได้โดยทำเทียมหลักการแบ่งแยกอำนาจโดยปกติ ส่วนศาล คณะรัฐประหารก็ไม่ได้ยุ่งเท่าไหร่ เพราะศาลก็ไม่ยุ่งอะไรกับคณะรัฐประหารอยู่แล้ว มันเป็นระเบียบของการปกครองในช่วงที่ทหารมีอำนาจอยู่ แล้วมันก็มีฟังก์ชั่นอยู่

"ระบอบแห่งการรัฐประหารมีพัฒนาการอยู่ในระบบกฎหมายของเรา มันมีความเปลี่ยนแปลงในแง่เทคนิคทางกฎหมาย รวมทั้งการปกครอง สมัยจอมพลสฤษดิ์ก็เป็นอีกแบบ ปัจจุบันก็เป็นอีกแบบ สภาวะมันเปลี่ยน แต่สังเกตดูจะเห็นว่าระบอบนี้จะพยายามเลียนแบบระบบปกติ ทำสภาผู้แทนราษฎรเทียม ทำคณะรัฐมนตรีเทียม องค์กรตุลาการไม่ไปยุ่ง แต่องค์กรตุลาการก็เป็นปัญหาในตัวเอง เพราะว่าระบอบแห่งการรัฐประหารจะเป็นปัญหามากต่อศาลในระบบกฎหมายมหาชน ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบมากที่สุดเพราะมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ โดยสภาพศาลรัฐธรรมนูญจะดำรงอยู่ไม่ได้ แต่ระบอบรัฐประหารของบ้านเรามีความพิเศษคือศาลรัฐธรรมนูญยังดำรงอยู่ได้ ศาลปกครองก็เช่นกันยังสามารถตัดสินเรื่องความชอบด้วยกฎหมายต่อไปได้ แต่เป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร

"ระบอบแบบนี้เวลาทำงาน คณะรัฐประหารก็มีวิธีการใช้อำนาจได้หลายแบบ ผมถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจถ้ามองในมุมการเมือง คือสามารถสร้างกลไกทางกฎหมายในระบบปกติเข้าไปสอดแทรกและพยายามใช้ให้ดูเหมือนว่ามีความเป็นปกติอยู่ พูดง่ายๆ คือพยายามทำให้ความไม่ปกติกลายเป็นความปกติ และทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันเป็นปกติ การพูดถึงระบอบแห่งการรัฐประหารยิ่งเหมือนสร้างความเป็นปกติให้แล้วอีกชั้นหนึ่งทั้งที่มันไม่ปกติ

"ถามว่าระบอบรัฐประหารซึ่งทำให้สิ่งไม่ปกติเป็นปกติมีความชัดเจนมากขนาดไหน คำตอบคือไม่ชัด เช่นถามว่าตอนนี้ยังอยู่ในระบอบนี้มั้ย ยังอยู่เหมือนตอนยึดอำนาจใหม่ๆ ถ้าถามว่าระบอบนี้เริ่มต้นเมื่อไหร่และจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ถ้าศาลใช้คำนี้ ตอนนี้จบหรือยัง มันน่าจะจบแล้วหรือเปล่า เพราะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มุ่งหมายให้ถาวรแล้ว บางคนบอกว่ายังไม่จบเพราะมาตรา 44 ซึ่งเป็นผลพวงของรัฐประหารยังมีอยู่ต่อไป บางคนบอกว่าจบตอนมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ แล้วสิ่งที่คณะรัฐประหารฝังเอาไว้ในระบบล่ะ สรุปแล้วระบอบรัฐประหารมันจบเมื่อไหร่ มันมีวันจบมั้ย หรือไม่มี โดยสภาพมันก็มีความคลุมเครือในตัวเอง ผมไม่รู้ว่าทำไมต้องมีคำว่าระบอบรัฐประหารขึ้นมา"

สุดท้าย วรเจตน์ ชวนตั้งคำถามว่า มีระบอบแห่งการรัฐประหารหรือไม่ หรือถึงที่สุดแล้ว มันเป็นเพียงกลไกลหนึ่ง เป็นเพียงระบบหนึ่งของระบอบที่ใหญ่กว่า

"ระบอบแห่งการรัฐประหารที่มีการใช้คำนี้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มันเป็นระบอบโดยตัวมันเองหรือจริงๆ มันเป็นแค่ระบบ สำหรับผมการรัฐประหารไม่ใช่ระบอบ เรียกว่าระบบรัฐประหารน่าจะถูกกว่า มันเป็นระบบแห่งการรัฐประหาร ซึ่งสังกัดกับระบอบที่ครอบระบบอีกที ส่วนระบอบที่ครอบรัฐประหารคืออะไร ก็สุดสติปัญญาผมที่จะอธิบายได้"

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมหมูป่าได้รับความช่วยเหลือจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนครบทั้ง 13 คน (10 ก.ค. 18.47 น.)

Posted: 10 Jul 2018 06:13 AM PDT

เพจ Thai NavySEAL ยืนยันว่าเยาวชนนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี 5 คนที่เหลือ ได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงรายแล้ว ทำให้ขณะนี้ "ทีมหมูป่า" ทั้ง 13 คนได้รับการช่วยเหลือและอยู่ระหว่างรักษาตัวที่ รพ.ประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย โดยใช้เวลาปฏิบัติการค้นหารวม 18 วัน

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร: ต้องถอดบทเรียนกู้ภัยถ้ำหลวง เพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนทั้งโลก

เพจซีลยืนยันช่วยเหลือครบทั้ง 13 คน

เมื่อเวลา 18.47 น. ในเพจ Thai NavySEAL โพสต์ว่ายืนยันว่าเยาวชนนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คน ได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แล้ว

"หมูป่า 12 ตัว และโค้ช ออกจากถ้ำแล้ว ปลอดภัยทุกคน
เวลานี้รอรับมนุษย์กบ 4 คน ออกมาครับผม
Hooyah"

ก่อนหน้านี้ เพจ Thai NavySEAL โพสต์เมื่อเวลา 16.50 น. ระบุว่าเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีที่ติดถ้ำได้รับความช่วยเหลือออกมาจากถ้ำตั้งแต่เวลา 16.06 น.

โดยตั้งแต่ช่วงเช้า เวลา 11.50 น. ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.พะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) เปิดเผยว่าปฏิบัติการเคลื่อนย้ายเยาวชนที่ติดถ้ำเริ่มขึ้นเป็นวันที่ 3 แล้ว ตั้งแต่เวลา 10.08 น. มีทีมนักดำน้ำ 19 คน โดยจะพาทีมหมูป่าที่เหลือทั้ง 5 คนออกมาทั้งหมด รวมทั้งแพทย์และ จนท.หน่วยซีลที่คอยดูแลที่จุดเนินนมสาว 4 คนด้วย

อนึ่ง "โค้ชเอก" เอกพล จันทะวงษ์ ผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี เป็นหนึ่งในคนที่จะได้รับความช่วยเหลือเป็นกลุ่มสุดท้ายในวันนี้

 

 

ใช้เวลาปฏิบัติการช่วยเหลือรวม 18 วัน

แฟ้มภาพนักฟุตบอล "ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย"

ทั้งนี้ทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 12 คน อายุระหว่าง 11-17 ปี และโค้ชอายุ 25 ปี รวม 13 คน  ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน

โดยทีมกู้ภัยปฏิบัติการค้นหาจนพบตัว 13 เยาวชนและโค้ช "ทีมหมูป่า" เมื่อเวลา 21.38 น. คืนวันที่ 2 กรกฎาคม มีการเตรียมแผนเคลื่อนย้าย และปฏิบัติการเคลื่อนย้ายวันแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม โดยสามารถช่วยเหลือเยาวชนได้ 4 คน วันที่ 9 กรกฎาคม สามารถช่วยเหลือได้อีก 4 คน และวันที่ 10 กรกฎาคม สามารถช่วยเหลือเยาวชนและโค้ชได้อีก 5 คน รวม 13 คน รวมใช้เวลาปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนจนถึงวันนี้ (10 ก.ค.) รวม 18 วัน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รู้จัก 'ไพรมารีโหวต' ที่ร่างมาแต่อาจไม่ได้ใช้ หลังผุด 4 แนวทาง

Posted: 10 Jul 2018 06:11 AM PDT

ทำความเข้าใจระบบไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมือง หลายพรรคกังวลว่าจะดำเนินการไม่ทันเพราะ คสช.ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ตอนนี้มี 4 ทางให้เลือก โหวตระดับจังหวัด โหวตระดับภาค ยกเลิกการโหวตในครั้งนี้ หรือหาวิธีการอื่นมาใช้แทน

กลับมาเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอีกครั้งสำหรับเรื่องการทำไพรมารีโหวต (Primary Vote) ซึ่งหมายถึงการดำเนินการให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทนพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หลังจากที่มีข่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ยกร่าง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 53/2560 ขณะเดียวกันมีรายงานว่า คสช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ก็ได้ยกร่างแก้ไขคำสั่งดังกล่าว แล้วส่งมาให้ กกต. พิจารณาเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปลดล็อกพรรคการเมือง และการจัดทำไพรมารีโหวต

ร่างทั้งสองฉบับมีเนื้อหาที่เป็นไปในทางเดียวกันคือ ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมพรรคการเมืองได้ มีการแก้ไขข้อบังคับในเรื่องการหาสมาชิก ให้ความเห็นกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ และสามารถจัดทำไพรมารีโหวตได้ โดยให้กับ กกต. ก่อนดำเนินการ นอกจากนี้ยังให้อำนาจกับบ กกต. ดำเนินการออกหลักเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (กฎหมายผ่านการพิจารณาแล้ว รอลงพระประมาภิไธยและประกาศลงราชกิจจานุเบกษา)

แต่ประเด็นเรื่องการทำไพรมารีโหวตนั้น ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยเวลานี้มีทั้งหมด 4 แนวทางคือ 1.ยืนยันการทำไพรมารีโหวตแบบเดิมเป็นรายจังหวัด 2.เปลี่ยนเป็นการทำไพรมารีโหวตรายภาค 4 ภาค 3.ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ และ 4.หาแนวทางอื่นเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งหมดนี่คือการสรุปข้อเรียกร้องจากประชุมเพื่อหารือระหว่าง 74 พรรคการเมือง กับรัฐบาล คสช. โดยผู้ที่เป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางใดคือ กกต. 

รู้จักกระบวนการทำไพรมารีโหวต ตามกฎหมายพรรคการเมือง

ภายใต้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีการทำ 'ไพรมารีโหวต' โดยกฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติให้มีจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน มาจากระบบแบ่งเขตทั้งหมด 350 ที่นั่ง และระบบบัญชีรายชื่อ 150 ที่นั่ง และการจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตหนึ่งๆ พรรคการเมืองจะต้องมีสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองในจังหวัดนั้น

หากพรรคจะส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตต้องทำอย่างไร

มาตรา 47 กำหนดว่า การที่พรรคการเมืองจะส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในในระบบแบ่งเขตได้ จะต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นๆ และผู้ที่จะลงรับสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองในจังหวัดนั้นๆ

                สำหรับสาขาพรรคการเมือง ตามกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ ภายในหนึ่งปีหลังจากที่กลุ่มผู้ประสงค์ตั้งพรรคการเมืองได้รับการจดทะเบียน และมีสถานะเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายแล้ว จะตั้งดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง อย่างน้อยภาคละ 1 สาขา โดยในแต่ละสาขาจะต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในในเขตพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งหมดต้องมีสมาชิก 500 คนขึ้นไป ขณะที่การตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้นจะต้องมีสมาชิกในจังหวัดนั้นๆ 100 คนขึ้นไป

 


สำหรับวิธีการสรรหานั้นได้กำหนดไว้ในมาตรา 50 โดย ให้คณะกรรมการสรรหาผู้รับสมัครเลือกตั้ง (ซึ่งจะได้มาจากการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง โดยการเลือกตั้ง ตามมาตรา 38) ของแต่ละพรรคการเมืองกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกของพรรคทราบ

เมื่อกำหนดเวลารับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในแต่ละเขต แล้วส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น

เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัคร ให้จัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งมา

การประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน โดยในการลงคะแนนให้สมาชิกมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้หนึ่งคน และเมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วให้นับคะแนนและประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกให้คณะกรรมการสรรหาฯ

จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละเขตเลือกตั้งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบ ให้แสดงเหตุผลและให้พิจารณาผู้สมัครซึ่งได้คะแนนในลำดับถัดไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เห็นชอบกับรายชื่อทั้งหมด ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการสรรหาฯ ประชุมร่วมกัน หากที่ประชุมร่วมกันมีมติเห็นชอบกับผู้สมัครรายใด ให้เสนอชื่อผู้สมัครรายนั้น

หากพรรคจะส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องทำอย่างไร

มาตรา 48 กำหนดให้การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง โดย กกต. จะเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนระหว่างชายและหญิง ซึ่งจะมีการหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ ก่อน

สำหรับการสรรหาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อกำหนดไว้ในมาตรา 51  ให้คณะกรรมการสรรหาผู้รับสมัครเลือกตั้ง กำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบ

เมื่อกำหนดเวลาเสนอรายชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน 150 คน โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปยังสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

จากนั้นให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจัดประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 15 คน โดยการประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เมื่อลงคะแนนเลือกเสร็จสิ้นแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเร็ว

คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเรียงลำดับตามผลรวมของคะแนนที่ได้รับจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวเทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้พิจารณาให้ความเห็นชอบ หากคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่เห็นชอบให้ดำเนินการใหม่จนกว่าจะได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เงื่อนไข ข้อจำกัด และปัญหา

สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า เคยให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิกา เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2560 ว่า ระบบไพรมารีโหวตนี้ "ยากต่อการปฏิบัติ" และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคปั่นป่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใดก็ตาม

"พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครได้จะมีน้อยมาก เพราะต้องเป็นพรรคที่มีความพร้อมที่จะจัดไพรมารีโหวต เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้หมายความว่า พรรคที่มีความพร้อมแบบนี้จะไม่เจอกับปัญหา" สติธร กล่าว

สติธร ยกตัวอย่างปัญหาทางเทคนิคที่พรรคการเมืองจะต้องเผชิญ เช่น พรรคเพื่อไทย อาจจะเจอกับปัญหาเรื่อง สาขาพรรค เพราะที่ผ่านมาใช้ระบบศูนย์ประสานงานของพรรค มากกว่าการตั้งสาขาพรรค ก็อาจจะต้องแก้ด้วยการปรับศูนย์ประสานงานให้เป็นสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดก็สามารถทำได้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีสาขาพรรคมาก แต่ก็จะเจอกับปัญหาอื่นแทน เช่นเดียวกับพรรคขนาดกลางและเล็ก ก็จะพบกับปัญหาเช่นกัน จนคาดว่าจะมีพรรคที่มีความพร้อมที่จะจัดเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวตไม่เกิน 5 พรรคการเมืองเท่านั้น

ขณะที่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองที่จดทะเบียนอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง หลังจากที่มีการดำเนินการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองลดลงมากกว่าร้อยละ 90 พรรคประชาธิปัตย์ มีจำนวนสมาชิกพรรคเดิมทั้งสิ้น 2,896,109 คน แต่รับการยืนยันกลับมาเพียง 1.3 แสนคน พรรคเพื่อไทย มีสมาชิกพรรคเดิม 134,896 คน แต่สมาชิกพรรคยืนยันประมาณ 1 หมื่นคน พรรคชาติไทยพัฒนาเดิมมีสมาชิก 26,050 คนเหลือ 2,500 คน พรรคภูมิใจไทยเดิมมีสมาชิก 153,095 คน เหลือ 1,800 คน และบางพรรคการเมืองยังมีสมาชิกพรรคไม่เกิน 100 คนในบางจังหวัด

นอกจากนี้พรรคการเมืองทั้งใหม่เก่าต่างมีความกังวลในเรื่องระยะเวลาว่าอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน และกังวลกับระบบไพรมารีโหวตซึ่งมีเงือนไข ข้อจำกัดมาก จนอาจทำให้พรรคไม่สามารถส่งผู้รับสมัครเลือกตั้งได้ ประกอบกับการยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ และยังไม่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งที่ชัดเจน

ขณะที่ ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์กับข่าวสด เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ว่า ระบบไพรมารีโหวตที่มีการกำหนดไว้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับพรรคการเมือง แต่ยิ่งจะเป็นประโยชน์เพราะจะทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันมากขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือการไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้

 

เรียงเรียบจาก: iLaw , มติชนออนไลน์ , ประชาชาติธุรกิจ , ไทยพับลิกา , ข่าวสดออนไลน์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตัวแทนสหรัฐฯ ขวางมติ-ข่มขู่ตัวแทนประเทศหนุนเด็กกินนมแม่บนเวทีนานาชาติ

Posted: 09 Jul 2018 11:39 PM PDT

ตัวแทนสหรัฐฯ ขวางมตินานาชาติที่ให้เด็กดื่มนมแม่ในที่ประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO)  ทั้งยังข่มขู่ตัวแทนประเทศที่สนับสนุนข้อเสนอจนผู้แทนรัสเซียต้องเข้ามาแก้เกม หลายกลุ่มมองว่าการขัดขวางดังกล่าวเป็นความพยายามปกป้องอุตสาหกรรมนมผงยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ที่โยงใยกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

ภาพคุณแม่ระหว่างฝึกให้นมเด็ก (ที่มา: UNICEF Ukraine)

10 ก.ค. 2561 ในการประชุมประจำปีขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับนานาประเทศ นั่นคือประเด็นที่สหรัฐฯ คัดค้านมติของประเทศอื่นๆ ที่ส่งเสริมการให้นมแม่ในเด็กและจำกัดการโฆษณาสรรพคุณของนมอื่นๆ ที่ใช้แทนนมแม่เกินจริงหลังจากที่มีงานวิจัยออกมาหลายงานวิจัยระบุว่านมแม่เป็นนมที่ดีที่สุขภาพเด็กที่สุด

เดิมทีแล้วมีการคาดการณ์ว่ามติเรื่องนมแม่นี้จะผ่านร่างได้อย่างง่ายดาย แต่ทว่าตัวแทนที่เข้าประชุมจากสหรัฐฯ ก็คัดค้านเรียกร้องให้แก้ภาษาในร่างมตินี้โดยนำวลีที่ว่า "คุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนการให้นมแม่ (protect, promote and support breast-feeding)" ออก ซึ่งเป็นไปได้ว่าน่าจะเพราะต้องการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มบรรษัทธุรกิจนมผง

นิตยสารไทม์รายงานว่า เมื่อการคัดค้านไม่สำเร็จ ตัวแทนจากสหรัฐฯ ได้หันมาใช้วิธีการขู่ประเทศอื่น เช่น ขู่เอกวาดอร์ที่วางแผนเสนอมตินี้ว่าถ้าพวกเขาไม่ยกเลิกข้อเสนอนี้สหรัฐฯ จะ ลงโทษพวกเขาด้วยการปรับมาตรการทางการค้าและลดความช่วยเหลือทางทหารในการปราบปรามความรุนแรงจากแกงค์อาชญากรรม ทำให้ตัวแทนจากเอกวาดอร์และผู้รณรงค์ด้านสุขภาวะมีความยากลำบากในการหาผู้สนับสนุนรายอื่นๆ ต่อมตินี้ การข่มขู่เช่นนี้ได้รับการยืนยันจากตัวแทนคนอื่นๆ ที่ขอสงวนไม่ออกนามเนื่องจากกลัวการตอบโต้จากสหรัฐฯ

แพตตี รันดัลล์ ผู้อำนวยการนโยบายของกลุ่มรณรงค์เรื่องนมแม่ 'เบบีมิลค์แอ็คชัน' กล่าวว่า สิ่งที่ตัวแทนสหรัฐฯ ทำถือเป็นการขู่กรรโชกหรือแบล็กเมล์ เหมือนว่าสหรัฐฯ กำลังจับหลายประเทศในโลกเป็นตัวประกันเพื่อพยายามยับยั้งมติที่จะออกมาคุ้มครองสุขภาพเด็กอ่อน

ทางการเอกวาดอร์กล่าวถึงการขู่ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องที่น่าตกตะลึง "พวกเราไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องที่ดูเป็นประเด็นเล็กๆ อย่างการให้นมเด็กจะกระตุ้นให้เกิดการโต้ตอบอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์เช่นนี้ได้"

เรื่องนี้ทำให้ตัวแทนจากรัสเซียเข้ามานำเสนอมาตรการข้างต้นในท้ายที่สุด โดยไม่ถูกตอบโต้จากสหรัฐฯ ตัวแทนจากรัสเซียกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้อยากเล่นบทฮีโร่พวกเขาแค่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดที่ประเทศใหญ่ๆ พยายามบีบเค้นประเทศเล็กๆ ในประเด็นที่มีความสำคัญกับทั้งโลก

สุดท้ายแล้ว ร่างมติดังกล่าวก็มีข้อความแบบเดิมแทบจะทั้งหมด ยกเว้นแต่ว่ามีข้อความส่วนหนึ่งถูกตัดออกไปคือข้อความที่ระบุให้ประเทศสมาชิกพยายามยับยั้ง "การโฆษณาอย่างไม่เหมาะสมเกี่ยวกับอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก (inappropriate promotion of foods for infants and young children,)" โดยกลุ่มเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ 'มัมส์ไรส์ซิง' กล่าวว่า การแสดงออกของตัวแทนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องประหลาดและน่าอับอาย

วารสารแลนเซตเคยนำเสนอผลการศึกษาเมื่อปี 2559 ว่าการให้นมแม่จะช่วยชีวิตเด็กได้ 823,000 ราย และช่วยชีวิตแม่ 20,000 ราย ต่อปี นอกจากนี้ยังจะลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวน 300,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าหากมีการให้นมแม่กันทุกครัวเรือนและจะช่วยส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ (economic prospect) สำหรับเด็กด้วย

ตลาดอาหารเด็กทารกเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนมากผู้ผลิตมักจะเป็นแค่กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บรรษัทที่มีฐานในสหรัฐฯ และยุโรป สื่อเดอะการ์เดียนระบุว่า หนึ่งในบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านนี้คือแอบบ็อตนูทรีชัน เคยเป็นผู้บริจาคให้กับพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือน ม.ค. 2560

ลูซี ซัลลิแวน ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรส่งเสริมโภชนาการเด็ก 1,000 Days ระบุว่าการโต้ตอบของสหรัฐฯ ในที่ประชุมนับได้ว่าเป็นประเด็นของ "การสาธารณสุขปะทะกับผลกำไรของเอกชน" โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือคนที่ให้นมลูกจากอกกับชีวิตของเด็ก กับคนที่กลัวจะเสียผลประโยชน์อย่างธุรกิจนมผงเด็กทารก

ข่าวสืบสวนสอบสวนของเดอะการ์เดียนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่าบรรษัทนมผงสำเร็จรูปใช้วิธีการรุกล้ำในการแก้ไขกฎหมายเพื่อบีบเค้นให้แม่และคนทำงานด้านสาธารณสุขต้องเลือกนมผงแทนการให้นมแม่ มาตรการเช่นนี้ยังมีการนำไปใช้กับกลุ่มประเทศที่ยากจนที่ธุรกิจนมผงจากสหรัฐฯ พยายามจะไปเติบโตที่นั่นด้วย

เรียบเรียงจาก

U.S. Delegates Opposed an International Resolution That Supported Breastfeeding, Fortune, Jul 8, 2018

Trump administration's opposition to breastfeeding resolution sparks outrage, The Guardian, Jul 8, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.ให้โควต้าผ่าตาต้อกระจก 1.2 แสนดวง เตรียมแผนอนาคตต้องไม่ตาบอดจากต้อกระจก

Posted: 09 Jul 2018 11:21 PM PDT

มติ สปสช. วางเป้าช่วยเหลือผู้ที่ตาบอด หรือมองเห็นเลือนรางจากตาต้อกระจก ให้ได้รับการผ่าตัดเพื่อให้กลับมามองเห็นได้อย่างเดิม เป้าสูงสุดภายในปี 63 ต้องไม่มีผู้ป่วยตาบอดจากตาต้อกระจกในไทยอีกต่อไป

9 ก.ค.2561 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะประธานคณะทำงานเกี่ยวกับตาต้อกระจก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยตาต้อกระจกถือเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศมานาน โดยขณะนี้ยังมีประชาชนที่ตาบอดจากตาต้อกระจกจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มติของ สปสช. ที่ร่วมดำเนินการกับกระทรวงสาธารณสุข เห็นตรงกันคือต้องเกิดเป้าหมายเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ตาบอด หรือมองเห็นเลือนรางจากตาต้อกระจก ให้ได้รับการผ่าตัดเพื่อให้กลับมามองเห็นได้อย่างเดิม ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือภายในปี 2563 จะต้องไม่มีผู้ป่วยตาบอดจากตาต้อกระจกในประเทศไทยอีกต่อไป เพื่อเพิ่มคุณภาพในการใช้ชีวิตของประชาชน 

นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดโควต้าการผ่าตัดในปี 2561 โดย สปสช.สามารถผ่าตัดตาต้อกระจกทั้งสำหรับผู้ที่ตาบอดและมองเห็นเลือนรางในจำนวน 120,000 ดวงตา ซึ่งจะกระจายโควต้าไปยังเขตบริการสุขภาพทุกแห่งทั่วประเทศ ตามผลสำรวจประชากรที่ต้องได้รับการผ่าตัดตามสิทธิประโยชน์ 

"เราแบ่งเป็นการผ่าตัด 100,000 ดวงตาให้กับเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ ขณะที่อีก 20,000 ดวงตาจะกันเอาไว้ในส่วนกลาง เพื่อเป็นโควต้าสำรองให้กับผู้ป่วยแต่ละเขตบริการสุขภาพที่ต้องการผ่าตัดเพิ่มเติม" นพ.สุพรรณ กล่าว 

นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลที่ผ่าตัดตาต้อกระจกนั้น สปสช.จะมีอัตราเหมาจ่ายค่าผ่าตัดให้ตั้งแต่5,000-9,000 บาท ซึ่งความแตกต่างจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการผ่าตัด 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากพบว่าเป้าหมายแรกสำเร็จแล้ว คือไม่ให้มีคนตาบอดจากตาต้อกระจกในประเทศไทยอีกต่อไป ก็จะเป็นขั้นตอนการพัฒนาโดยการอบรมแพทย์ให้เชี่ยวชาญด้านจักษุ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการฝึกอบรมแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งในส่วนตำบล อำเภอ เพื่อให้ได้แพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญกลับไปอยู่ในพื้นที่เขตบริการสุขภาพ และช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ และเมื่อสำเร็จแล้วแผนการอนาคตคือนำสิทธิประโยชน์ผ่าตัดตาต้อกระจกเข้าสู่ระบบบริการปกติต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ พนง.สอบสวนหญิง ชี้ให้ห้องสืบสวนติดกล้องฯ ต้องให้งบประมาณด้วย

Posted: 09 Jul 2018 09:57 PM PDT

ที่มาภาพประกอบจากหนังสั้นเรื่องห้องสอบสวนหมายเลขศูนย์ (อ้างใน BKK Clear)

12 ก.ค. 2561 จาก ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 12 ก.ค. 2561 นี้ ได้มีการระบุเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงมาใช้ในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนี้

"มาตรา 13/1 ในการจับหรือค้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือค้นจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วนหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจดำเนินการได้ก็ให้เจ้าพนักงานนั้นบันทึกเหตุดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานในบันทึกการจับหรือบันทึกการค้น แล้วแต่กรณี"

และ

มาตรา 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 136 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

"มาตรา 136 การถามคำให้การหรือสอบปากคำผู้ต้องหาในคดีที่มีข้อหาความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วนหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจดำเนินการได้ ก็ให้พนักงานสอบสวนนั้นบันทึกเหตุดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวน"

 

ต่อกรณี เพจพนักงานสอบสวนหญิง ได้ระบุในวันที่ 10 ก.ค. 2561 ว่าหากบังคับใช้ตามกฎหมายใหม่ ก็ควรจะให้งบประมาณค่าทำห้องและค่าอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงให้มีพร้อมทุกทีในทุกสถานีตำรวจ 1,482 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งห้องบันทึกภาพและเสียง อย่างน้อยค่าใช้จ่ายต่อห้องประมาณ 100,000 บาท เมื่อคำนวณคร่าวๆ ในการของบประมาณกระทรวงยุติธรรม (กองทุนยุติธรรม) มาอุดหนุนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 100,000 x 1,482 = 148,200,000 เท่านั้นเอง แต่ก็อย่าลืมอุดหนุนแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงที่ต้องส่งให้ศาลเป็นพยานหลักฐานซึ่งเป็นวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้หมดไปด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อสื่อติดถ้ำ ดรามาสื่อที่ดอยนางนอน

Posted: 09 Jul 2018 06:08 PM PDT

ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เชียงรายตลอดวันสองวันที่สังคมรุมถล่มสื่อนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่ารับฟัง

หนึ่ง ตอนผมทำวิจัย สัมภาษณ์สื่อหลายๆคนก็กังวลว่า influencer เพจอย่าง drama addict แหม่มโพธิ์ดำ และอื่นๆ ได้กลายเป็น "สื่อ" แทนสื่อหลักจริงๆ แล้วในความรู้สึกของ "ชาวเน็ต" ทั่วไป

พอเขียนลงในงาน ฝรั่งก็งงเหมือนกัน เพราะในต่างประเทศเอง influencer (ฝรั่งให้คุณค่าในฐานะ Commentator มากกว่า) กับสื่อ นั้นแยกจากกันชัดเจน ไม่ได้มีความพยายามเอา influencer มาจัดเป็นสื่อเหมือนคนไทยเรา

เพราะคนพวกนี้ไม่ได้มีข้อมูลปฐมภูมิ ไม่ได้ทำหน้าที่ fact finding เหมือนสื่อหลัก

หากแชร์อะไรผิดๆ หรือรุมถล่มผิดคน 30 นาที ต่อมา เขาก็อาจจะลบโพสต์ออก ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือฟลัดโพสต์เรื่องอื่นๆ กลบไป ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการจับกระแสสังคม มาเรียกความสนใจจากแฟนเพจ

แต่ที่น่าสนใจกว่าคือสื่อหลักเราในออนไลน์ กลับไปเอาความเห็นของเพจพวกนี้มาลงข่าวเสียเอง เช่น แหม่มโพธิ์ดำแฉ... จ่าพิชิตสับ.... ซึ่งยิ่งทำให้คนพวกนี้คิดว่าตัวเองมีอิทธิพลเหนือสื่อไปแล้ว

แล้วพอ Influencer พวกนี้เปิดวอร์กับสื่อหลัก เราก็จะเห็นความเละแบบนี้แหละครับ...

ปัญหาก็คือ Influencer นั้นผิดได้ แต่สื่อพวกเรานั้นผิดไม่ได้ เพราะพวกเราแบกองค์กรและความน่าเชื่อถือ (ที่เคยมีเยอะกว่านี้) ของสังคมไว้ด้วย

จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญของสื่อยุคหลังก็คือ พอเราเห็น Influencer ได้รับความนิยมสูงจากเรื่อง "ดราม่า" เราก็เปลี่ยนตัวเองไปทำเรื่อง "ดราม่า" มากขึ้นตามคนพวกนี้ไปด้วย

ผมเคยพูดไปแล้วว่า สื่อไทย ยุคหลัง disruption และการเกิดใหม่ของทีวีดิจิตอล นั้น Emotional เกินจริง และในสถานการณ์หนึ่งๆ พวกเรามักจะหาคนผิด หาฮีโร่ บิวท์กันจนถึงขั้นเอาภาพพวกนี้มาออกซ้ำๆ ทำเอ็มวี แต่งเพลง ฉายไปฉายมาเพื่อให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมมากที่สุด

เรื่องนี้ หากใครทันยุคสรยุทธบูมใหม่ๆ ก็คงจำได้ว่า นักนิเทศศาสตร์ นักวิชาการสื่อสารมวลชนทั้งหลาย ก็สวดสรยุทธเหมือนกัน แต่แน่นอน สรยุทธยังมีลิมิต เพราะอย่างน้อย แกก็อยู่ภาคสนามมาก่อน

วิธีแบบนี้ เรียกเรตติ้งได้มาก และทำให้ผู้รับสื่อก็ติดตามต่อเนื่อง

ถ้าเราดูเรตติ้งรายการข่าวก็จะพบว่า หากผู้ประกาศข่าวบิวท์ได้ดี แฟนก็จะมากตาม เพราะคนไทยเราชอบอะไรแบบนี้ สังเกตดูได้จากรายการข่าวที่มีคนอันดับต้นๆ ก็มาจากรายการที่มีผู้ประกาศในแนวนี้ทั้งนั้น

คงเป็นลักษณะพิเศษของการรายงานข่าวของไทย ที่ฝรั่งเองคงยากที่จะเข้าใจ

แต่ในสถานการณ์แบบนี้ เราเห็นได้ชัดเลยว่า การเร้าอารมณ์ประเภทนี้ ไม่ได้มีประโยชน์อะไร ซึ่งทำให้สื่อฝรั่งหลายสำนัก รายงานเหตุการณ์ได้ดีกว่าที่พวกเรากำลังทำ

นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือของตัวสื่อเองก็หายไปด้วย เพราะพวกเราหันไปสนใจแต่ว่าชม.นี้จะ "บิวท์" ยังไงดี แทนที่จะทำข่าวยังไงให้ดีขึ้น

สอง สื่อในฐานะ Check & Balance ผมคิดว่าหน้างาน พวกเรายังพยายามทำหน้าที่นี้ได้ดี โดยเฉพาะคนที่อยู่ภาคสนาม ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงแหล่งข่าว การแข่งขันกับสำนักอื่น และการแข่งขันกับบรรดาข้อมูลจำพวก fake news ที่ขยันแต่งกันเหลือเกิน

บางคนที่แชร์ Fake News มาให้ผม ก็เป็นสื่อด้วยกันด้วยซ้ำ

แต่นั่นแหละครับ ในเมื่อพายุข่าวปลอมมันเยอะ และแพร่ไวขนาดนี้ หน้างานเลยวุ่น จนทำให้ผู้สื่อข่าวถูกมองว่า "เสือก" ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน แต่ในทางกลับกัน หากพวกเขาไม่ทำหน้าที่นี้ สังคมเราจะระบาดไปด้วยเรื่องอะไรก็ไม่รู้จริงๆ

แต่ข้อนี้จะดีเฟนด์สื่ออย่างเดียวก็คงไม่ถูก เราอาจต้องฟังฟีดแบ็คจากสังคมไทย (อันเปราะบาง) ให้มากขึ้น เพราะสื่อไม่อาจทำหน้าที่ได้หากไร้การสนับสนุนจากเหล่า audience ของเรา

สาม สถานการณ์ที่ดอยนางนอน ผมถือเป็นบทเรียนแรก สำหรับพวกเราที่อยู่ในธุรกิจสื่อแบบที่มีจำนวนนักข่าวมากขนาดนี้ (เห็นว่าลงทะเบียนสื่อกันเป็นพันคน) ไม่ใช่สื่อหลักอย่างเดียว แต่ยังมีสื่อท้องถิ่น ฟรีแลนซ์ สื่อต่างชาติ

สถานการณ์แบบนี้ฝรั่งเรียกว่าเป็น Media Circus ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งเวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆ และสามารถเลี้ยงกระแสได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่เกิดมาแล้วจบไป

ความผิดพลาดนั้นเกิดเป็นประจำ แต่ในยุคก่อน ความเสี่ยงน้อยกว่า เนื่องจากเราอยู่ในยุคที่ทีวีมีไม่กี่ช่อง งานที่นักข่าวได้รับมอบหมาย มีเพียงรายงานสดผ่านทีวี วิทยุ หรือพิมพ์ข่าวส่งตามที่โรงพิมพ์ต้องการเท่านั้น

แต่เมื่อเราสามารถไลฟ์ด้วยตัวเอง ความผิดพลาดก็เห็นชัดมากขึ้น ยิ่งเรามีพวก Influencer เป็น active audience ที่มี follower ในจำนวนใกล้เคียงกับสื่อจริงๆ สื่อยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น

เช่น สมมติว่าวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงรับตำแหน่งหัวหน้า คสช.นั้น แกหลุดปากด่าสื่อ แล้วผมเกิดนั่งส่ายหัว ในปัจจุบันอาจมีใครถ่ายไลฟ์สดอยู่พอดี ผมก็อาจโดน influencer เอาไปปั่นได้ว่า ผมรับเงินทักษิณมา แล้วโดนคนอีกร้อยคน inbox มาด่าผมได้ ทั้งที่เวลาเขียนข่าวผมก็เขียนข่าวปกติ

เรื่องอย่างนี้จะละเอียดอ่อนมากขึ้น และทำให้สื่อยุคใหม่ที่วางตัวยากอยู่แล้ว ทำงานหนักอยู่แล้ว และค่าตอบแทนต่ำมากอยู่แล้ว วางตัวยากขึ้นไปอีก

ทั้งหมดนี้ ยังต้องการให้กำลังใจสื่อดีๆ ทุกคน และยังยืนยันว่าหากจะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ เรายังต้องการสื่อที่ทำหน้าที่ check balance และเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน

มากกว่าสื่อที่ทำหน้าที่ "ถูกใจ" ใครบางคนเพียงเท่านั้นอยู่ดี

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: facebook Supachat Lebnak

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ศีลธรรมผู้บงการและผู้ใต้บงการ

Posted: 09 Jul 2018 05:28 PM PDT


ที่มา: https://www.winnews.tv/news/5954


แม้เราจะเห็นปัญหาว่า การอ้างศีลธรรมในทางการเมืองโจมตีฝ่ายตรงข้าม และอ้างสนับสนุนความเป็นคนดีของฝ่ายตนให้มี "อภิสิทธิ์" แก้ปัญหาด้วยวิธีการนอกระบบ มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิกฤตการเมืองดำเนินมาถึงวันนี้ และยังดำเนินต่อไป แต่เราก็ยังมองไม่เห็นทางออกว่า ทำอย่างไรการอ้างศีลธรรมทางการเมืองแบบนี้จะหมดไป หรือถึงจะมีการอ้างก็ไม่ได้ผลอีกต่อไป

คำถามคือ เราควรจะหันหลังให้กับการอ้างศีลธรรมทางการเมืองแบบที่เคยเป็นมา ทำเป็นไม่รับรู้ ไม่สนใจ แล้วมันก็จะหายไปเอง หรืออ้างไม่ได้ผลไปเอง หรือว่าเราควรจะหันหน้าไปเผชิญกับมัน ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์มันอย่างถึงราก

ดูเหมือนประวัติศาสตร์ของตะวันตกจะใช้วิธีแบบหลัง เพราะการปฏิวัติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนระบบหรือโครงสร้างเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการปฏิวัติทางความคิด, ภูมิปัญญาหรืออุดมการณ์ควบคู่กันไปด้วย และการปฏิวัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ "การแยกศีลธรรมออกจากศาสนา" ที่ส่งผลให้เกิดโลกทัศน์ทางศีลธรรมแบบใหม่ อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประชาธิปไตยสมัยใหม่

จากเดิมที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของศาสนาเท่านั้น และศีลธรรมศาสนาย่อมเป็น "ศีลธรรมที่มีอำนาจบังคับคน" คือมีลักษณะเป็นคำสั่ง กฎ หรือบัญญัติของผี วิญญาณบรรพบุรุษ เทพเจ้า พระเจ้า ธรรมชาติ ที่มีผู้รู้คำสั่ง กฎ หรือบัญญัติเหล่านั้นคือพวกหมอผี พระศาสดา นักบวช ผู้นำศาสนาต่างๆ และบรรดาผู้รู้เหล่านี้ก็ยกให้หัวหน้าเผ่า กษัตริย์ จักรพรรดิมี หรือรัฐอำนาจคุมควบคุมให้เกิดการปฏิบัติตามคำสั่ง กฎหรือบัญญัติทางศีลธรรมเหล่านั้น พร้อมกับสถาปนาอำนาจของพวกตัวเองคู่ขนานกันไป คืออำนาจของนักบวช กลุ่มผู้นำศาสนา ศาสนจักร

ศีลธรรมศาสนาที่เป็นศีลธรรมที่มีอำนาจบังคับคนดังกล่าว คือ "ศีลธรรมผู้บงการ" กับ "ศีลธรรมผู้ใต้บงการ" โดยมีผู้บงการเหนือธรรมชาติ เช่นผี วิญญาณบรรพบุรุษ เทพเจ้า พระเจ้า ที่เป็นผู้กำหนดคำสั่ง กฎหรือบัญญัติทางศีลธรรมผ่านมาทาง "ปาก" ของหมอผี พระศาสดา นักบวช ผู้นำศาสนา ศาสนจักร

แต่เพื่อให้แน่ใจว่าศีลธรรมต้องมีสภาพบังคับได้จริงในทางปฏิบัติ ผู้บงการเหนือธรรมชาติจึงได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเผ่า กษัตริย์ จักรพรรดิ นักบวช กลุ่มผู้นำศาสนา ศาสนจักรใช้อำนาจในนามสิ่งเหนือธรรมชาติออกคำสั่ง, กฎหมาย และใช้กองกำลังอื่นๆ ในการควบคุมบังคับให้เป็นไปตามคำสั่ง กฎหรือบัญญัติทางศีลธรรมที่สิ่งเหนือธรรมชาติให้มา

ศาสนาไม่มีพระเจ้าที่เชื่อเรื่อง "กฎธรรมชาติ" ก็เชื่อเช่นกันว่า มีกฎธรรมชาติควบคุมการกระทำและการให้ผลของการกระทำ เรียกว่า "กฎแห่งกรรม" และศาสนาเช่นนี้ก็สถาปนาผู้ปกครองให้เป็นธรรมราชาที่ใช้ธรรมเป็นอำนาจในการปกครอง พร้อมๆ กับอุปถัมภ์ศาสนา และใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาผู้ใต้ปกครองให้เป็นคนดี มีศีลธรรม สามัคคี สงบสุขภายใต้อำนาจเผด็จการโดยธรรมของผู้ปกครอง และมีสำนึกเชื่อฟัง จงรักภักดีต่อผู้ปกครองที่ทรงธรรม

ดังนั้น ศีลธรรมผู้บงการจึงหมายถึงศีลธรรมในรูปคำสั่ง กฎหรือบัญญัติที่มาจากสิ่งเหนือธรรมชาติและมาจากกฎธรรมชาติ (ซึ่งมีมิติเร้นลับเหนือการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์) และผู้บงการเหนือธรรมชาติ,กฎธรรมชาติได้มอบอำนาจหรือความชอบธรรมให้ผู้ปกครองฝ่ายบ้านเมืองและศาสนจักรมีหน้าที่บังคับควบคุมและอบรมสั่งสอนผู้ใต้ปกครองให้ปฏิบัติตามคำสั่ง กฎศีลธรรมเหล่านั้น ผู้ปกครองจึงเป็นผู้ครอบครองศีลธรรมผู้บงการ ขณะที่ผู้ใต้ปกครองเป็นผู้ครอบครองหรือถูกปลูกฝังให้มีศีลธรรมผู้ใต้บงการ

ศาสนาในมิติที่เน้นความหลุดพ้น หรือ "เสรีภาพด้านใน" เสนอศีลธรรมแบบปฏิเสธสถานะผู้ใต้บงการของบุคคลหรือไม่? ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า เป็นเพียงการเสนอให้ปฏิเสธสถานะผู้ใต้บงการของ "กิเลส" ในใจของแต่ละคนเท่านั้น ส่วนในทางสังคมและการเมือง พระศาสดา สาวก และศาสนจักรต่างมีบทบาทสำคัญในการเสนอความคิดและสถาปนา "ธรรมราชา" ขึ้นมา ซึ่งเป็นการสร้างศีลธรรมผู้บงการ และการเสนอศีลธรรมของบุคคลตามสถานภาพทางสังคม ก็ย่อมมีลักษณะเป็นศีลธรรมของผู้ใต้บงการ มากกว่าที่จะเป็นศีลธรรมเพื่ออิสรภาพจากการตกเป็นผู้ใต้บงการ

ศีลธรรมเพื่ออิสรภาพจากการตกเป็นผู้ใต้บงการ คือศีลธรรมที่ปฏิเสธสถานะผู้ใต้บงการของตัวเอง ซึ่งเป็นการปฏิเสธอำนาจทางศีลธรรมเหนือหัวที่คอยบงการเราไปด้วย นี่เป็นสิ่งที่นักปรัชญาตะวันตกพยายามคิดกันมายาวนานมาก

ในที่สุดก็พบคำตอบว่าต้อง "แยกศีลธรรมออกจากศาสนา" ด้วยการวิพากษ์ให้เห็นว่า ศีลธรรมแบบศาสนาที่มีธรรมชาติเป็นศีลธรรมผู้บงการและศีลธรรมผู้ใต้บงการนั้น มักจะนำไปสู่การครอบงำกดขี่หลากมิติ ตั้งแต่ที่เห็นได้ทางกายภาพ เช่นการสร้างระบบชนชั้น ให้ความชอบธรรมกับระบบทาส ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เป็นฐานอำนาจของทรราชที่เป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือทรราชเสียงส่วนใหญ่ที่ใช้อำนาจทางสังคมกดขี่เสรีภาพของปัจเจกบุคคลผ่านจารีตประเพณีตามความเชื่อทางศาสนาต่างๆ

และครอบงำลึกสุดถึงระดับ "จิตวิญญาณ" ของบุคคล ด้วยการกล่อมเกลาให้จงรักภักดีและเกรงกลัวอำนาจเหนือธรรมชาติ กฎแห่งกรรม และอำนาจของผู้ปกครองในนามของพระเจ้าหรือในนามของธรรม

การวิพากษ์ทำนองนี้ เริ่มมาตั้งแต่โสเครตีส เพลโต อาริสโตเติล แล้วจึงเสนอศีลธรรมทางโลก (secular morality) คือ ศีลธรรมที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา เราไม่สามารถมีศีลธรรมได้จากการถูกอบรมสั่งสอนให้เชื่อและทำตาม แต่การมีศีลธรรมเกิดจากการใช้เหตุผลหรือปัญญาตัวเราเอง ซึ่งอาริสโตเติลเรียกว่า "practical wisdom –ปัญญาเชิงปฏิบัติ" อันเป็นปัญญาที่ไม่ได้เกิดจากการถูกสอน เราสอน "theoretical wisdom-ปัญญาเชิงทฤษฎี" ได้ แต่ปัญญาเชิงปฏิบัติเกิดจากการฝึกฝนและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลที่จะสามารถรู้ได้เองว่า อะไรคือความฉลาด ความกล้าหาญ ความพอประมาณ ความยุติธรรม และควรจะใช้มันในสถานการณ์เช่นไร

พอมาถึงยุคสว่างทางปัญญาและยุคสมัยใหม่ การแยกศีลธรรมออกจากศาสนาของนักปรัชญาอย่างอิมมานูเอล คานท์, จอห์น สจ๊วต มิลล์, จอห์น รอลส์, ฌอง ปอล ซาตร์ และคนอื่นๆ ได้นำมาสู่การเสนอศีลธรรมในความหมายของ "หลักการทั่วไป" ที่อธิบายได้ว่าฟรีและแฟร์กับทุกคน และเป็นหลักการที่อยู่บนพื้นฐานของการยืนยันเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์

ตามหลักการทั่วไปทางศีลธรรมดังกล่าว อำนาจรัฐและศาสนจักรจะเข้ามาแทรกแซงเรื่องศีลธรรมของปัจเจกบุคคลไม่ได้ เช่นรัฐจะเอาเนื้อหาศีลธรรมแบบศาสนาในรูปคำสั่ง กฎ หรือบัญญัติของพระเจ้าและอื่นๆ เช่นบัญญัติ 10 ประการ ศีล 5 และ ฯลฯ มาบังคับสอนประชาชนไม่ได้ ถ้าใครสนใจจะนำเนื้อหาศีลธรรมเหล่านั้นมาใช้กับชีวิตตัวเอง ก็ให้เป็นเสรีภาพที่เขาจะเลือกเอง

ส่วนแนวคิดศีลธรรมในทางปรัชญาก็ไม่ได้ให้ "เนื้อหา" ศีลธรรมเป็นข้อๆ เป็นชุดๆ มาให้คนปฏิบัติตามแบบศีลธรรมศาสนา แต่ให้เพียงหลักการทั่วไปว่า ปัจเจกแต่ละคนคือผู้ที่จะบอกตนเองว่าการใช้ชีวิตแบบไหนดีสำหรับตนเอง นั่นคือ คุณเป็นผู้กำหนดเนื้อหาของศีลธรรมสำหรับตัวคุณเอง ภายใต้เงื่อนไขว่าคุณต้องเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิศรีของมนุษย์ของตนเองและผู้อื่นเสมอกัน

ส่วนอำนาจรัฐก็ไม่ใช่อำนาจของผู้บงการ (แบบอำนาจรัฐที่อิงหลักศาสนา) แต่เป็นอำนาจในการบัญญัติกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งบริหารนโยบายต่างๆ บนพื้นฐานของการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน พูดในเชิงรูปธรรมก็คือรัฐต้องใช้อำนาจบนหลักสิทธิมนุษยชน รัฐจึงเป็นทรราชไม่ได้

แต่ปัญหาของบ้านเราคือ เมื่อมีการอ้างศีลธรรมทางการเมือง เรามักอ้างศีลธรรมตามกรอบคิดพุทธศาสนา ซึ่งยังคงมีความหมายสำคัญเป็น "ศีลธรรมผู้บงการ" กับ "ศีลธรรมผู้ใต้บงการ" อันเกิดจากการปลูกฝังอบรมผ่านสถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษาของรัฐ ภายใต้ระบบการกล่อมเกลาดังกล่าวนี้ พลเมืองถูกปลูกฝังให้เชื่อในศีลธรรมผู้บงการหรือผู้ปกครองที่ตั้งคำถามและตรวจสอบไม่ได้ และให้ปฏิบัติตามศีลธรรมผู้ใต้บงการ คือศีลธรรมของผู้ใต้ปกครองที่ต้องเชื่อฟังจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง

เมื่อว่าโดยกรอบคิดและเนื้อหา ศีลธรรมผู้บงการกับศีลธรรมผู้ใต้บงการดังกล่าว ไม่ใช่ "ศีลธรรมเชิงหลักการทั่วไป" แต่ถูกนำมาอ้างอิงใช้เสมือนเป็นหลักการทั่วไปว่า ถ้าผู้ปกครองเป็นผู้มีคุณธรรมหรือเป็นคนดีแล้วเขาจะปกครองและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองเป็นหลักเสมอ และสำหรับพลเมืองที่เป็นคนดีมีศีลธรรม ก็ต้องนึกถึงชาติบ้านเมืองสำคัญสูงสุดเช่นกัน แต่ชาติบ้านเมืองในความหมายของผู้ปกครองและพลเมืองย่อมไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับหลักการทั่วไปที่รับรองเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และจึงไม่ต้องยึดโยงกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างจำเป็นด้วย

ดังนั้น เมื่อสังคมไทยตกอยู่ภายใต้โลกทัศน์ทางศีลธรรมแบบผู้บงการกับผู้ใต้บงการดังกล่าว การสร้างประชาธิปไตยในเชิงความคิดและอุดมการณ์จึงเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นผู้นิยามตนเองว่า "ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิด" เขียนอะไรในทำนองว่าเขาไม่อยากใช้ "คำใหญ่คำโต" เช่นคำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่เขากลับใช้คำว่าธรรมะ คนดีที่สังคมนี้นิยมใช้กันดาษดื่น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วคำใหญ่คำโตจริงๆ ในสังคมนี้คือคำว่า "ธรรมะ, ความดี, คนดี, ความรู้รักสามัคคี, สงบสุข" เมื่อคำเหล่านี้ถูกอ้างในทางการเมือง คำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ต้องหลีกทางให้เสมอ

หลายๆ ครั้ง คำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็มักถูกทำให้ "แปลกแยก" และเป็นคำที่สร้าง "ความแตกแยก" ทำลายความสามัคคี และความสงบสุขของสังคมไปเลย

มันจึงไม่ใช่เรื่องที่เราควรหันหลังให้ หรือเดินหนีการเมืองเชิงศีลธรรม หรือการเมืองวัฒนธรรม ที่อ้างศีลธรรมผู้บงการกับศีลธรรมผู้ใต้บงการ แต่จำเป็นที่เราต้องตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ถอดรื้อให้เห็นมายาคติและเล่ห์กลอันซับซ้อนของมัน เพื่อที่เราจะมีอิสรภาพจากการตกเป็นผู้ใต้บงการของคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจครอบงำทางศีลธรรม และครองอำนาจนำทางการเมืองอย่างปราศจากความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เราคือใคร

Posted: 09 Jul 2018 05:10 PM PDT



เราผิดพลั้งเผลอคิดพลาด
หรือธรรมชาติเขาโหดร้าย
จึงคนถูกทำลาย
ด้วยเพทภัยอย่างทารุณ

ในโลกอันกว้างใหญ่
เทพมารดาจะค้ำจุน
แต่เมื่อโลกขาดดุล
ผลสะท้อนสุดสะเทือน

ไม่มีเขตพรมแดน
ทั่วทุกแคว้นไม่คลาดเคลื่อน
เพียงแต่เราแชเชือน
โลกจะเชือดเราเท่ากัน!

แม่อุ้มโอบชีวิต
และก็ปลิดให้อาสัญ
รู้ เห็น เป็นสำคัญ
ตระหนักแน่เป็นส่วนเดียว

ญี่ปุ่นจึงป่นปี้
ขุนคีรีจึงกราดเกรี้ยว
ท้องทะเลที่คนเทียว
ก็โถมพายุทำลาย

แม่จ๋าแม่ของโลก
กรีดรอยโศกเป็นร้อยสาย
ธรรมชาติเขาโหดร้าย
หรือเราพลาดเราผิดพลั้ง?
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น