โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

เปิดโปงหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้เคยเสนอกองทัพใช้กฎอัยการศึก-ทำรัฐประหารตัวเอง

Posted: 09 Jul 2018 10:23 AM PDT

ส.ส.พรรครัฐบาลของเกาหลีใต้เปิดโปงเอกสารที่เสนอโดย ผบ.หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ในรัฐบาลชุดก่อน ที่จ้องปราบผู้ประท้วงต่อต้าน ปธน.ปักกึนเฮ หากผู้ชุมนุมไม่พอใจหากศาลรัฐธรรมนูญอุ้มปักกึนเฮ-ไม่ยอมถอดถอนตามมติรัฐสภา ให้เตรียมประกาศกฎอัยการศึกในกรุงโซล ส่งทหาร 4 กองพลน้อยควบคุมพื้นที่สำคัญรวมทั้งเกาะยออิโดที่ตั้งรัฐสภา อย่างไรก็ตามไม่มีการใช้แผนประกาศกฎอัยการศึกที่ว่าเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถอดถอนปักกึนเฮตามมติรัฐสภา

ภาพประกอบ (ซ้าย) ทหารเกาหลีใต้สวนสนามในกรุงโซลในโอกาสครบรอบ 65 ปีก่อตั้งกองทัพเมื่อเดือนตุลาคมปี 2556 (ขวา) ส่วนหนึ่งของเอกสาร "Wartime Martial Law and Joint Action Plan" และผู้เสนอคือ ชอฮุนชอน (Cho Hyun-chon) อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) ผู้เสนอแผนประกาศกฎอัยการศึก (ที่มา: MBC/hani.co.kr/Wikipedia)

เอกสาร "กฎอัยการศึกยามศึกสงครามและแผนปฏิบัติการร่วม" (Wartime Martial Law and Joint Action Plan) ของหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ที่ ส.ส. พรรครัฐบาลเกาหลีนำมาเปิดเผย โดยในเอกสารระบุถึงมาตรการประกาศกฎอัยการศึกในกรุงโซล หากผู้ชุมนุมไม่ยอมรับผลตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งวางแผนส่งทหารจำนวน 3 กองพลน้อยเข้าควบคุมจตุรัสกวางฮามุนและ 1 กองพลน้อยยึดเกาะยออิโดกลางแม่น้ำฮันซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภา (ที่มา: hani.co.kr)

ชอฮุนชอน (Cho Hyun-chon) อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) ผู้เสนอแผนประกาศกฎอัยการศึก (ที่มา: Wikipedia)

 

9 ก.ค. 2561 สำนักข่าว Hankyoreh จากเกาหลีใต้รายงานว่ามีการเปิดโปงเอกสารของกองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) หน่วยงานสืบราชการลับที่ขึ้นกับกองทัพเกาหลีใต้ ระบุว่าหน่วยงานนี้เคยพิจารณาจะประกาศกฎอัยการศึกและรัฐประหารตัวเองในช่วงวิกฤตการเมืองต้นปี 2560 ถ้าหากผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีปักกึนเฉที่มีเรื่องอื้อฉาวในตอนนั้นต่อไปแม้ว่าศาลปฏิเสธจะถอดถอนปาร์กกึนฮเยออกจากตำแหน่ง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามแผนของหน่วยข่าวกรองก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนปักกึนเฮตามมติรัฐสภา ส่งผลให้ไม่เกิดการทำรัฐประหารตามแผนไปด้วย

เอกสารดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "กฎอัยการศึกยามศึกสงครามและแผนปฏิบัติการร่วม" (Wartime Martial Law and Joint Action Plan) ผู้ที่นำเอกสารออกมาเผยแพร่คือ อีช็อลฮุย ส.ส.พรรคประชาธิปไตยเกาหลี พรรครัฐบาลปัจจุบันที่ชนะเลือกตั้งหลังปักกึนเฮพ้นจากตำแหน่ง

เอกสารยังระบุถึงแผนการรายละเอียดในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารผู้บัญชาการกลาโหมมาเป็นผู้บัญชาการกองรักษาการณ์และพิจารณาตัวเลือกว่าจะมี "คำสั่งรักษาการ" หรือไม่ถ้าหากผู้ประท้วงจำนวนมากพยายามบุกเข้าไปในตัวอาคารทำเนียบประธานาธิบดี

โดยผู้เสนอคือ ชอฮุนชอน (Cho Hyun-chon) ผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) ในสมัยนั้น โดยเสนอต่อ ฮันมินกู (Han Min-goo) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในยุคนั้น โดยเอกสารยังระบุถึงการเสนอให้ยกระดับกฎอัยการศึกเป็นระดับภาวะฉุกเฉินถ้าหากสถานการณ์ประท้วงหนักขึ้นและมอบหมายให้ทหารหลายกองพลน้อยประจำตามจุดประท้วงที่ต่างๆ

นอกจากนี้เอกสารยังประเมินสถานการณ์บนความเป็นไปได้ว่าถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับมติถอดถอนปักกึนเฮจากรัฐสภา ผู้ประท้วงจะก่อความวุ่นวายมากขึ้น ทำให้ ผบ.กองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) พยายามหาความเห็นชอบจากกระทรวงกลาโหมและเสนาธิการกองทัพในการเคลื่อนกำลังพล 3 กองพลน้อย ยึดจัตุรัสกวางฮามุน และอีก 1 กองพลน้อยยึดเกาะยออิโด ที่ตั้งอาคารรับสภา

ซึ่งตามกฎหมายเกาหลีใต้แล้วไม่สามารถสั่งการเคลื่อนกำลังพลจำนวนมากขนาดนี้ได้ถ้าหากไม่มีการรับรองจากกระทรวงกลาโหม และเสนาธิการกองทัพก็ไม่สามารถสั่งการเคลื่อนพลเองได้

มีการตั้งข้อสังเกตว่าข้อเสนอของ ผบ.กองบัญชาการรักษาความมั่นคง (DSC) ในเอกสารชุดที่ถูกเปิดโปงนี้มีกระบวนการคล้ายคลึงกับสมัย ผบ.กองบัญชาการรักษาความมั่นคงในอดีตคือ ช็อนดูฮวาน (Chun Doo-hwan) ที่ก่อการรัฐประหารโดยกลุ่มสมรู้ร่วมคิดของเหล่าทหารที่ชื่อ "ฮานาเฮว" ในวันที่ 12 ธ.ค. 2522

อีช็อลฮุย ส.ส.พรรครัฐบาลปัจจุบัน ผู้เปิดเผยเอกสารนี้ยังกล่าววิจารณ์กองทัพในยุคของปักกึนเฮว่าพวกเขาไม่เพียงแทรกแซงทางการเมืองอย่างผิดกฎหมายและสอดแนมประชาชนเท่านั้น  ผบ.หน่วยงานความมั่นคงยังวางแผนก่อการรัฐประหารยึดอำนาจกลายเป็นรัฐบาลทหาร โดยเขาเสนอว่าจะต้องปฏิรูปกองบัญชาการรักษาความมั่นคงอย่างสิ้นเชิง

เรียบเรียงจาก

Military considered martial law if constitutional court rejected Park's impeachment in 2017, Hankyoreh, 06-07-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อญี่ปุ่นตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยท่องเที่ยวในไทยกรณีถ้ำหลวงและเรือล่มที่ภูเก็ต

Posted: 09 Jul 2018 08:27 AM PDT

สื่อญี่ปุ่น นิกเคอิ เอเชียน รีวิว ตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในเมืองไทยหลังกรมอุทยานฯ ออกมาระบุว่ามาตรการความปลอดภัยการเข้าถ้ำมีความผิดพลาด ทำให้นักฟุตบอลทีมหมูป่าติดอยู่ในถ้ำหลวง ตลอดจนเหตุเรือท่องเที่ยวล่มปริศนาจนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 41 คน ที่ จ.ภูเก็ต

ภาพการขนย้ายผู้เสียชีวิตกรณีเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต (ที่มา:สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

เมื่อ 7 ก.ค. สื่อนิกเคอิ เอเชียน รีวิวของญี่ปุ่น ตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในประเทศไทยจากเหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าที่เข้าไปติดในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน และเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวฟีนิกซ์ล่มที่ จ.ภูเก็ต

หลังจากทีมหมูป่าเข้าไปติดอยู่ในถ้ำ ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ระบุว่าทางกรมฯ ได้สั่งปิดการท่องเที่ยวถ้ำจำนวน 169 แห่ง จนกว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยช่วงฤดูฝน นอกจากนั้นยังระบุว่าต่อไปจะต้องมีการลงทะเบียนผู้เข้า-ออกถ้ำในเขตอุทยานฯ และวนอุทยานฯ

หลังจากทีมหมูป่าเข้าไปติดในถ้ำ ธัญญาได้ออกมายอมรับว่ามีความผิดพลาดในมาตรการความปลอดภัยที่ถ้ำหลวง โดยป้ายเตือนหน้าทางเข้าถ้ำเขียนเตือนว่านักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าไปในถ้ำในช่วงเดือน ก.ค.-พ.ย. แต่เด็กๆ และโค้ชเข้าไปในถ้ำในวันที่ 23 มิ.ย. ก่อนที่ฝนจะตกหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมถ้ำจนทำให้ทีมหมูป่าติดอยู่ข้างในและต้องถอยร่นลึกเข้าไปในถ้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กล่าวเมื่อวันอังคารที่แล้วว่าว่าถ้ำหลวงได้โด่งดังไปทั่วโลก และจะเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไป ในขณะที่ทีมหมูป่ายังคงอยู่ในถ้ำ ตามมาด้วยการเสียชีวิตของ จ.อ.สมาน กุนัน ทหารนอกราชการ จบหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือหน่วยซีล รุ่นที่ 30 เจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุฝ่ายรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ท่าอากาศสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างการดำเนินการลำเลียงถังออกซิเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำหลวงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

นอกจากนั้น ในช่วงเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ก็มีกรณีเรือนักท่องเที่ยว 'ฟีนิกซ์' ล่มที่ จ.ภูเก็ตเมื่อ 5 ก.ค. ที่มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 คน สูญหาย 15 คนโดยสาเหตุของการออกเรือในวันที่มีมรสุมและการล่มยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวน ในวันเดียวกันนั้นก็ยังมีเรือยอชต์ 'เซเรนเนตต้า' ล่มที่เกาะไม้ท่อน และคู่สามีภรรยาชาวรัสเซียที่หายไประหว่างขี่เจ็ตสกีบนน่านน้ำภูเก็ตซึ่งภายหลังผู้โดยสารเรือเซเรนเน็ตต้า และสามีภรรยาชาวรัสเซียก็ถูกช่วยชีวิตไว้แล้ว ยิ่งเป็นสัญญาณที่ทำให้เกิดความกังวลกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

ภาคการท่องเที่ยวมีขนาดเศรษฐกิจนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี นอกจากนั้นยังเป็นภาคส่วนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนิกเคอิให้เหตุผลว่าเกิดขึ้นจากการมีสายการบินต้นทุนต่ำและรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยก็เป็นประเด็นที่สามารถฉุดกระแสการท่องเที่ยวที่พุ่งสูงขึ้นมา ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดอันดับให้ไทยอยู่ที่สองของประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงที่สุดในโลก โดยมีอัตราส่วนการเสียชีวิตอยู่ที่ 36.2 รายต่อคน 1 แสนคน นับเฉลี่ยเป็น 24,000 รายต่อปี และ 66 รายต่อวัน โดยร้อยละ 73 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สองล้อและสามล้อ

กราฟิกแสดงอัตราส่วนการเสียชีวิตบนท้องถนนของไทย (ที่มา: WHO)

นอกจากนั้น อุบัติเหตุที่เกิดกับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ในปีนี้ สถิติของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนรายงานว่า ในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนแล้ว 8,695 ราย เทียบกับปี 2560 ที่มีจำนวน 15,453 และปี 2559 ที่มี 9,815 ราย

เมื่อปีที่แล้วก็มีนักท่องเที่ยวหญิงชาวเบลเยียม เอลิส ดาลมานจ์ เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี สื่อเดอะมิเรอร์ของสหราชอาณาจักรได้รวบรวมมาว่าเป็นการเสียชีวิตของชาวต่างชาติรายที่เจ็ดบนเกาะเต่าในรอบสามปี (2557-2560)

แปลและเรียบเรียงจาก

Nikkei Asian Review, The Bangkok Insight, ข่าวสด, WHO

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทนายเบญจรัตน์' เข้าพบพนักงานสอบสวน หลัง 'ศรีวราห์' ฟ้องหมิ่นประมาทฯ

Posted: 09 Jul 2018 08:17 AM PDT

ทนายเบญจรัตน์ เตรียมเข้าพบพนักงานสอบสวนรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว หลัง 'พล.ต.อ.ศรีวราห์' ฟ้องหมิ่นประมาทฯ เหตุให้ข่าว 'ครูแขก' จ่อฟ้องกลับคณะตำรวจ หลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่นปี 53

ซ้าย ทนายเบญจรัตน์ มีเทียน, ขวา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล
 
9 ก.ค.2561 ความคืบหน้าคดีที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) แจ้งความเอาผิด เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของ อัมพร ใจก้อน หรือครูแขก อายุ 59 ปี ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ภายหลังให้ข่าวกับประชาไทว่าจะไปฟ้องคดีคณะตำรวจซึ่งเคยดำเนินคดีของครูแขก รวม 12 คน รวมถึง พล.ต.อ.ศรีวราห์ ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ หลังจากศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่นปี 53 ที่ อัมพร ตกเป็นจำเลยนั้น
 
ล่าสุดวันนี้ (9 ก.ค.61) เบญจรัตน์ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สน.ปากคลองสาน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่จะให้การพร้อมรวบรวมหลักฐานส่งพนักงานสอบสวน และให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มพยานอีกหลายปากในนัดหน้าคือวันที่ 3 ส.ค.61 
 
 
เบญจรัตน์ ยืนยันว่า ไม่มีประเด็นไหนที่ตนได้ใส่ร้าย ที่ตนพูดนั้นต้องการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายว่าจะให้ร้ายคนใดคนหนึ่ง เพราะ พล.ต.อ.ศรีวราห์ เป็นหัวหน้า  อยากให้กำชับตำรวจทั่วประเทศ ให้ทำงานให้ดีเพื่อไม่ให้ต้องมีแพะในกระบวนการยุติธรรม เป็นความรู้สึกของตน และเป็นความรู้สึกที่ถ่ายทอดมาจากครูแขกที่เขายืนยันว่าเขาเป็นแพะและยืนยันว่าจะฟ้องคดีนี้ เพื่อต้องการให้ตำรวจทำงานดีขึ้น ไม่ต้องการให้จับคนบริสุทธ์ไปติดคุกประมาณนี้ พร้อมยืนยันอีกว่าตนไม่มีเหตุโกรธเคืองกับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ มาก่อน   
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พา 4 เยาวชนหมูป่าออกจากถ้ำหลวงวันที่ 2 รวมช่วยได้แล้ว 8 ราย (9 ก.ค. 20.19 น.)

Posted: 09 Jul 2018 08:16 AM PDT

ความคืบหน้าปฏิบัติการเคลื่อนย้ายเยาวชนและโค้ช "ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" ซึ่งดำเนินการมาในวันที่ 2 ตั้งแต่เวลา 11.00 น. วันนี้ (9 ก.ค.) นั้น

'ณรงค์ศักดิ์' ยืนยันวันที่ 2 ช่วยได้อีก 4 ราย
รวมเยาวชนออกจากถ้ำแล้ว 8 ราย

การแถลงข่าวของ ศอร. เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 9 ก.ค. 61 (ที่มา: เพจ PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ล่าสุดเมื่อเวลา 21.30 น.  ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะ ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ศอร.) แถลงข่าวที่ อบต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยืนยันว่าปฏิบัติการช่วยเหลือในวันที่ 2 นั้น ทีมกู้ภัยได้ช่วยเหลือเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 4 ราย

เยาวชนทั้งหมดปลอดภัยดีมีสติ โดยถูกส่งตัวทางเฮลิคอปเตอร์ไปที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์แล้ว ทำให้จนถึงปฏิบัติการรอบ 2 มีเยาวชนได้รับความช่วยเหลือออกจากถ้ำแล้วรวม 8 ราย เหลืออีก 5 รายอยู่ที่จุดเนินนมสาว ห่างจากปากถ้ำประมาณ 4.3 กม.

วันนี้เริ่มปฏิบัติการเวลา 11.00 น. ช่วยเหลือเยาวชนคนที่ 4 ถึง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์เมื่อเวลา 20.00 น. เศษ เมื่อเทียบกับปฏิบัติการวันแรกถือว่าใช้เวลาปฏิบัติการเร็วขึ้น 2 ชั่วโมง

เพจ Thai NavySEAL ยืนยัน 2 วันช่วยได้แล้วรวม 8 ราย

เมื่อเวลา 20.19 น. เพจ Thai NavySEAL แจ้งว่าในรอบ 2 วันนี้ช่วยเหลือเยาวชนได้แล้ว 8 ราย

ทั้งนี้ทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแม่สายและโค้ชรวม 13 คน ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน โดยทีมกู้ภัยพบตัว 13 เยาวชนและโค้ช เมื่อเวลา 21.38 น. คืนวันที่ 2 กรกฎาคม มีการเตรียมแผนเคลื่อนย้าย และปฏิบัติการเคลื่อนย้ายวันแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม โดยสามารถช่วยเหลือเยาวชนได้ 4 คน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม สามารถช่วยเหลือได้อีก 4 คน รวมเป็น 8 คนดังกล่าว (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

 

ผบ.ศอร.เผยปฏิบัติการรอบ 2 เริ่มเมื่อ 11.00 น.

การแถลงข่าวของศูนย์อำนวยการร่วมฯ (ศอร.) ที่ อบต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 9 ก.ค. เวลา 14.55 น. (ที่มาของภาพ: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางวัน ตั้งแต่เวลา 14.55 น. วันนี้ (9 ก.ค.) ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะ ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ศอร.) แถลงข่าวที่ อบต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยืนยันว่าปฏิบัติการช่วยเหลือเยาวชนรอบที่ 2 เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 11.00 น.

โดยในการแถลงข่าว ตามที่เผยแพร่ในเฟสบุ๊คไลฟ์เพจ PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย พล.ต.ต. ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กำชับกรณีสื่อมวลชนไม่ให้ละเมิดข้อตกลงในการรายงานสด ช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติงานจริง รวมทั้งห้ามใช้โดรน เพราะอยู่ในเส้นทางแนวการบิน แม้ว่าเฮลิคอปเตอร์ยังจอดอยู่ก็ตาม นอกจากนี้ยังเตือนกรณีที่มีการดักฟังสัญญาณวิทยุเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตามกรณีพาดพิงการดักฟังสัญญาณวิทยุนั้น ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ชี้แจงว่า "ทีมข่าวไม่เคยดักฟังวิทยุหรือการสื่อสารของราชการอย่างที่มีผู้กล่าวอ้าง เสียงที่ปรากฎในข่าวมาจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงที่ประชาชนฟังได้ทั่วไป รวมทั้ง ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zello โดยผู้พูดคืออาจารย์พลสิงห์ แสนสุข ประธานศูนย์พญาอินทรี ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลข่าวสาร (ว.8) ที่ประชาชนเข้าถึงได้ปกติ" อย่างไรก็ตามได้ขออภัยต่อความไม่สบายใจ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ด้านณรงค์ศักดิ์ ในฐานะ ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมฯ ระบุว่าได้เริ่มปฏิบัติการลำเลียงเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นครั้งที่ 2 โดยเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 11.00 น. โดยเริ่มปฏิบัติการเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4-5 ชั่วโมง จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลา 20 ชั่วโมงหลังจบปฏิบัติการครั้งที่ 1 เนื่องจากหลังปฏิบัติการเสร็จต้องตรวจเช็คอุปกรณ์ให้พร้อม ต้องวางถังอากาศและอุปกรณ์ช่วยเหลือภายในถ้ำ ดึงเชือกให้ตึงเพื่อให้เยาวชนใช้ในการดึงตัว

ขณะที่ทีมช่วยเหลือยังเป็นหน่วยปฏิบัติการบูรณาการนานาชาติชุดเดิม มีการสับเปลี่ยนกำลังบางส่วนที่อาจจะอ่อนล้า โดยเป็นการปฏิบัติการต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ และเร็วต้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ฝนที่ตกลงมาไม่กระทบต่อปฏิบัติการ เพราะเบี่ยงทางน้ำแล้ว และการระบายน้ำยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ด้านกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมปัองกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุด้วยว่าการสูบน้ำเป็นไปตามความต้องการของหน่วยค้นหา ระดับน้ำภายในถ้ำลดลงตามแผน และมีการวางระบบสูบน้ำสำรองไว้ในถ้ำ

ทั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อเยาวชนกลุ่มแรก 4 ราย ที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำ โดยณรงค์ศักดิ์ยืนยันเพียงแต่ว่าทั้ง 4 คนมีสุขภาพดี เฝ้าระวังอาการที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ แต่ยังต้องแยกจากผู้ปกครองและผู้ใกล้ชิด เนื่องจากยังกังวลเรื่องการติดเชื้อ ขณะที่ทีมแพทย์พิจารณาว่าจะให้ญาติเข้าเยี่ยมระยะไกลผ่านกระจกได้หรือไม่

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

HEADACHE STENCIL : ศิลปินผู้สร้างงานศิลป์ที่เต็มไปด้วยคำถาม

Posted: 09 Jul 2018 07:35 AM PDT

คุยกับ "HEADACHE STENCIL" ศิลปิน Street Art ที่เคยเป็นกระแสในโลกออนไลน์ จากงานศิลปะเสียดสีการเมืองเรื่อง 'นาฬิกา' ณ ทางขึ้นสะพานลอยแห่งหนึ่ง ให้คนได้ขบคิด พร้อมทั้งเผยถึงแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะที่สะท้อนสังคม และยังคาดหวังว่าผู้คนจะกล้าลุกขึ้นมาพูดในสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นในสังคม

Headache Stencil เริ่มทำงาน Political Arts เพราะต้องการตั้งคำถามกับความไม่ปกติของสังคม จึงใช้ความสามารถที่เขาถนัดนั่นก็คืองานศิลป์เพื่อที่จะเอามาตีแผ่สังคม,การเมืองของไทย และเมื่อไม่นานมานี้มีงานนิทรรศการแสดงศิลปะที่ชื่อว่า 'Welcome to the Dark Side' เขาวงกตที่ชวนให้ขบคิดเรื่องของสังคมการเมือง จัดขึ้นที่ Voice Space เป็นนิทรรศการแสดงศิลปะเดี่ยวครั้งแรกของเขาและเป็นงานที่พูดแทนในสิ่งที่คนอยากพูดแต่พูดไม่ได้

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ?

HEADACHE STENCIL : แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากที่งานจริงๆ ก็คือ พอเราออกไปพ่นงานที่ต่างจังหวัด และได้ไปรับผลตอบรับ (feedback) ของคนต่างจังหวัดหรือคนที่เขาอยากจะบอกปัญหาของท้องถิ่นเค้า แต่เขาไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร พอเขารู้ว่าเราเป็นคนที่คอยทำรูปพวกนี้เรื่องเกี่ยวกับสังคม พวกเขาก็มาบอกฝากบอกนั่นบอกนี่ซึ่งมันทำให้เราเห็นว่ามันมีคนอีกเยอะมากที่อยากพูดอะไรแต่พูดไม่ได้

ศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจ?

จริงๆ แล้วถ้าเมืองนอกเลยคือผมชอบ Space Invader ซึ่งเป็นฝรั่งเศส เขาจะไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องราวสังคมมาก แต่ผมชอบในการใช้ไอเดียและก็ ความมีซิกเนเจอร์ของงานเขา ที่จะเป็น คิวบิกอาร์ต ก็คือจะทำเป็นเหลี่ยมๆ เอากระเบื้องมาต่อๆ  ซึ่งในประเทศไทยเขาก็มีมาทำไว้บ้างเหมือนกัน

เสน่ห์ของงานนิทรรศการครั้งนี้?

ผมว่าเสน่ห์ของมันคือการแสดงศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ บ้าง แทนที่เราจะต้องเดินเข้าไปดูรูปอยู่ตามเฟรมตามในกรอบรูป ตามแกลรอรี่ คือจริงๆมันเหมือนกับว่าก่อนหน้านี้เวลาที่มี Street artist แสดงงาน หลังๆเราจะได้เห็น Street artist หลายคน หลายท่านที่เอางานมาอยู่ในแคนวาสอยู่ในกรอบรูปแล้วขาย พอดีผมว่าแบบนี้น่าจะถนัดผมมากกว่าคือก็ยังคงความเป็นกำแพงให้พ่นอยู่

งานชิ้นที่ใช้เวลานานที่สุด?

"รถถัง" ที่เป็นรูปรถถังอันนั้นใช้เวลานานสุดเพราะมันใหญ่และหลายสีหลายเลเยอร์ แต่ละชิ้นมันยากง่ายไม่เหมือนกันอยู่แล้วขึ้นอยู่กับจำนวนสีหรือจำนวนบล็อกที่เราใช้

ผลตอบรับที่ได้?

คือมันก็เป็นปกติครับ มีคนชอบมีคนเกลียดเป็นเรื่องธรรมดารับฟังได้ครับ ไม่ใช่นายก

เราดังมาเพราะไปพ่นรูปในกำแพงจะเรียกว่าเป็นการทำงานศิลป์หรือทำลายทรัพย์สิน?

ผมว่ามันคือศิลปะอยู่ดี มันไม่ต่างกันหรอก แค่มันขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราไปทำงานศิลปะ และมันอยู่ตรงไหนมากกว่า ส่วนเรื่องทำลายทรัพย์สินสาธารณะนั้น ใช่ครับ บางครั้งกำแพงที่ผมพ่นมันก็คือกำแพงสาธารณะ แต่ว่าในกรณีผมมันต่าง คือเราก็เห็นคนพ่นกำแพงสาธารณะกันเยอะแยะแต่ไม่เห็นจะต้องมีใครมาถูกตาม ไม่เคยเห็นใครจะต้องมานั่งดูกล้องวงจรปิดเพื่อเช็คว่าใครเป็นคนพ่นอะไรขนาดนั้น

งานชิ้นไหนที่กระแสแรงที่สุดและช่วยเล่าช่วงที่โดนคุกคามให้ฟังหน่อย?

ที่ทำงานมาเสือดำครับ ตอนที่โดนคุกคามคือตอนนั้นพ่นรูปนาฬิกา จากกนั้นก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 13 คน มาที่ที่พักเลยโดยไม่มีหมาย ซึ่งเราอาจจะผิดในเรื่องทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่ว่า ผมว่าวิธีการที่จะจับคนที่ทำลายทรัพย์สินสาธารณะต้องไม่ใช่วิธีนี้

    ตั้งแต่จัดนิทรรศการมาเราโดนคุกคามบ้างไหม?

    ไม่มีนะ ก็มีช่วงเตรียมงานที่รู้สึกว่ามีคนมาเช็ค เพราะว่าเราก็พอจะรู้บ้างว่าใครในท้องที่เป็นใคร คือแพลนไว้ตั้งแต่ตั้งแล้วเพราะว่าปัญหามันคือ ด้วยเงื่อนไขในการก่อสร้างมันทำให้ เรามีเวลาจำกัดในการทำทั้งหมดภายใน 4 วัน คราวนี้ที่ต้องปิดเป็นความลับจริงๆ เพราะสมมติว่าเขารู้ว่าเราจะแสดงงานที่ไหน แล้วเขามาระหว่างที่เราผลิตงานอยู่นั้นมันจะล่ม แต่พอเปิดงานมาแล้วก็ไม่อะไรนะครับ feedback  ซึ่งจริงๆ แล้วงานทุกชิ้นที่ทำไปนั้นก่อนจะทำก็ได้มีการ คุยกับทนายทุกชิ้นก่อนอยู่แล้ว ว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ผิดกฎหมาย

    คิดยังไงกับคำว่าศิลปะที่ถูกจำกัดโดยรัฐ?

    ศิลปะไม่น่าจะถูกจำกัดโดยรัฐ แต่ผมว่ารัฐจำกัดทุกอย่างที่ไม่ถูกใจรัฐมากกว่า

    หลังจากจัดงานนี้เรามีความคาดหวังอย่างไรกับคนที่มาชมงานหรือกับสังคมไทย?

    สิ่งที่คาดหวังจากสังคมจริงๆแล้วคือ  คุณควรจะกล้าพูดอะไรมากขึ้นเราไม่ได้ทำอะไรผิด เรามีสิทธิ์ที่จะพูดในอะไรที่มันไม่ดีในสังคมหรืออะไรที่เราสงสัยว่ามันแปลกๆ ผมว่าเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดเพื่อนำเสนอให้ทางรัฐแก้ไขให้กับสังคม เอาจริงๆรัฐรับภาษีจากเรานะ เรามีสิทธิ์พูดไหมล่ะว่าเราไม่ชอบรัฐนี้เราไม่จ่ายภาษี ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ แต่ในเมื่อคุณรับภาษีจากเราคุณต้องฟังเราคือเราเห็นปัญหา เราบอกคุณว่าปัญหามันเป็นแบบนี้ ถ้าคุณจะบอกมันไม่ใช่ปัญหาคุณต้องอธิบายว่ามันไม่ใช่ปัญหาอย่างไรไม่ใช่ผลักเราไปเป็นปัญหา

    ภาพอื่นๆ ในนิทรรศการ : 

     

    สำหรับ ทัศมา ประทุมวัน และอัจฉริยา บุญไชย ผู้สัมภาษณ์และรายงานบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 1/2561 จากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

     

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    โทษประหารในมุมชัยวัฒน์ : อาชญากรไม่ได้หล่นมาจากฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินสังคม

    Posted: 09 Jul 2018 01:00 AM PDT

    'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์' ชวนสังคมไทยตั้งคำถามต่อโทษประหาร ลงโทษทำไม ทำไมการลงโทษจึงมีความเปลี่ยนแปลง และสังคมไทยต้องการอะไรจากโทษประหาร หรือโทษประหารกำลังสะท้อนความสิ้นหวังของเราเองต่อมนุษย์และสังคม

    • อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย
    • ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำล้วนเป็นเหยื่อ
    • โทษประหารมีพลวัตและเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด
    • โทษประหารสะท้อนความสิ้นหวังของเราต่อสังคมไทยและมนุษย์
     

    การประหารผู้ต้องขังครั้งล่าสุดหลังจากว่างเว้นไปเกือบ 10 ปี จุดกระแสการถกเถียงอันร้อนแรงในสังคมไทยว่า โทษประหารควรมีอยู่หรือไม่ มันนำไปสู่การโต้เถียงด่าทอกันระหว่างสองฟากความคิด

    สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง 'ทางออกโทษประหารกับปัญหากระบวนการยุติธรรม' เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยหนึ่งในวิทยากรคือ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านปรัชญาการเมือง ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งชวนตั้งคำถามที่น่าสนใจหลายประการ

    อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย

    ผมอยากชวนตั้งคำถามสามสี่ข้อ

    1.โทษประหารเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง คำถามที่อยากชวนคิดคือเวลาลงโทษ เราลงโทษทำไม

    2.โทษประหารในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน ผมอยากสรุปสั้นๆ ว่าทำไมมันเปลี่ยน

    3.การเรียกร้องโทษประหารในสังคมไทย จริงๆ แล้วสังคมไทยต้องการอะไร

    จากคำถามข้อแรก โทษประหารเป็นการลงโทษ แต่เวลาคิดเรื่องโทษประหาร เรื่องความยุติธรรม ทำไมเราคิดเรื่องการลงโทษแบบนี้ เอาชีวิตไปก็ต้องใช้ด้วยชีวิต ประวัติศาสตร์โบราณของเรื่องนี้คือประวัติศาสตร์ของการจัดบัญชีให้เท่ากัน เราเองก็เชื่อทำนองนั้นในความหมายที่ว่าทำอะไรก็เท่ากัน ความยุติธรรมแบบนี้เป็นความต้องการหนึ่ง ดังนั้น การลงโทษจึงเป็นไปเพื่อแก้แค้น

    ประการที่ 2 การลงโทษเป็นไปเพื่อป้องกัน ในอดีตจึงประหารในที่สาธารณะ เชื่อว่าทำแบบนี้จะป้องกันไม่ให้เกิด วิธีประหารก็พิสดารหลากหลายมาก ผมเข้าใจว่าในยุโรป ในจีนก็ทำแบบเดียวกันคือฉีกสังขาร ให้ม้าสี่ตัวดึงร่างของนักโทษออกจากกัน โดยเชื่อว่าความแรงของการลงโทษจะทำให้คนเชื่อฟังกฎหมายและไม่ทำความผิด เชิงอรรถของผมก็คือไม่รู้มันทำงานแบบเดียวกับซองบุหรี่หรือเปล่า ซองบุหรี่มีภาพปอดทะลุ แต่ปรากฏว่าบุหรี่ก็ยังขายได้ดี

    ประการที่ 3 เขาเชื่อว่าการลงโทษเป็นไปเพื่อแก้ไขผู้กระทำผิด การคิดเรื่องนี้ต้องคิดอย่างบูรณาการ การที่คนหนึ่งจะตัดสินใจเป็นอาชญากร ไม่ใช่อยู่ดีๆ เป็น แต่มีเหตุปัจจัยจำนวนมากที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ การบอกว่าโทษประหารยกเลิกไม่ได้หรอก เพราะมีปัญหาอื่นเช่นความมเหลื่อมล้ำ มีความไม่ยุติธรรม มีความยากจน ความไม่รู้มากมายไปหมด ทั้งหมดนี้ผมเรียกว่าปัจจัยทางโครงสร้าง ปัจจัยเหล่านี้แหละครับที่มันให้กำเนิดฆาตกร ไอ้หื่น อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย ซึ่งมีคุณภาพแบบนี้ มันจึงออกมาในสภาพแบบนี้ คำถามคือทำไมคนอื่นไม่เป็น ก็เพราะเงื่อนไขไม่เอื้ออำนวย มันมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นในทางสังคม ถ้าคิดจากมุมสังคมศาสตร์เราจึงต้องโฟกัสที่เหตุปัจจัยทางสังคม ซึ่งมีความสำคัญไม่แตกต่างกันและมีความสัมพันธ์กัน

    มีคำถามว่า มียีนที่ทำให้เกิดมาเป็นอาชญากรหรือไม่ ในทางกฎหมายมีคำอธิบายอย่างหนึ่ง แต่ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าในเด็กจำนวนหนึ่งที่ส่วนบางส่วนในสมองถูกฉีกห่างออกจากกันและทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าวรุนแรง ในทางการแพทย์ที่ซ่อมสมอง เขาก็ทำ ใส่ส่วนนี้กลับไป ความก้าวร้าวรุนแรงก็ลดลง ถ้าสนใจต้องเข้าไปในโลกของประสานวิทยา

    แต่ทั้งหมดแปลว่าบางทีคนที่ก่ออาชญากรมันมีเหตุอย่างอื่น เวลาเราคิดถึงอาชญากรทั้งหลายและคิดถึงคนอีกคนหนึ่งที่ใช้ดาบเชือดคอ เอาปืนยิง เราชอบคิดว่าคนยิงเป็นคนทำความรุนแรงและอีกฝ่ายเป็นเหยื่อ เหยื่อถูกกระทำ เป็นไปได้หรือไม่ว่าในทุกฉากฆาตกรรมมีเหยื่อสองคน คนหนึ่งอยู่ที่ปลายกระบอก อีกคนอยู่ที่ไกปืน ถ้าเราคิดแบบนี้มันจะวิ่งไปยังประเด็นที่ว่าในประเทศนี้มีแต่ความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด การกำจัดคนไปคนหนึ่งจึงไม่แก้ปัญหา แล้วก็เกิดคนอื่นขึ้นมาอีก ถ้าเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่หมดไป และเหตุปัจจัยเหล่านี้บางทีมันเล็กน้อยมาก มันมีคดีฆาตกรรมพยาบาลคนหนึ่งในซอยที่ถูกฆ่าข่มขืน เหตุเกิดเพราะซอยนั้นมันเปลี่ยว ไม่มีไฟ

    มนุษย์ทำอะไรบางอย่างบนเงื่อนไขบางอย่าง เราที่นั่งอยู่ตรงนี้อาจดูเหมือนเป็นคนดี เชื่อฟังกฎหมาย เชื่อฟังหลักศีลธรรม แต่พอไฟมืดหมด เราก็คิดเรื่องชั่วร้ายได้มากมายเหมือนกัน ในแง่นี้อาชญากรรมก็เป็นผลของเหตุปัจจัย ความน่าสนใจคือไม่ใช่ว่าตัวแปรทุกตัวเท่ากัน บางตัวเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งผลทันที เพราะฉะนั้นถ้าเชื่อแบบนี้ คนกระทำผิดก็อาจแก้ไขได้ หลายประเทศจึงยกเลิกโทษประหาร เพราะการมีโทษประหารคือการบอกกับตัวเราเองว่าเราหมดหวังกับคนนี้แล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

    ผมทราบครับว่าการแก้ไขต้องลงทุน อันนี้เป็นปัญหาของสังคมต้องคิดว่าเราอยากจะลงทุนหรือไม่ เราจะได้ย้อนกลับไปคิดว่าทำไมเขาจึงเดินมาถึงจุดนี้ ทำไมเขาจึงฆ่าคน อันนี้สังคมไทยต้องถาม

    ส่วนคำถามที่ว่าเรื่องนี้เกี่ยวของกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หรือไม่ ข้อต่างสำคัญ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โฟกัสที่ความสัมพันธ์ ไม่ใช่ที่เป้าหมาย เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามันซ่อมแซมอะไร มันซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำผิดกับเหยื่อ ไปถึงเรื่องการให้อภัยและอื่นๆ อีกมากมาย ถามว่าสังคมไทยเป็นเนื้อนาบุญของการให้อภัยหรือไม่ แน่นอน เราอยู่ในสังคมซึ่งอาบอยู่ด้วยรสพระธรรมของพุทธศาสนา มันก็มีพลังแบบนั้นอยู่ คำถามที่น่าสนใจคือทำไมพลังแบบนั้นจึงดูเหมือนถูกบดบังด้วยความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม แต่มีคนลุกขึ้นมาให้อภัยหรือเปล่า มีนะครับ

    พลวัตของโทษประหาร

    ประเด็นต่อมา โทษประหารในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร ก่อนหน้านั้นเรามีพระอัยการกบฏศึก มีการทรมานก่อนด้วย ทั้งหมดนี้มาเปลี่ยนใน ร.ศ.127 หยุดพระอัยการกบฏศึก หยุดการตัดหัว ทำไมถึงหยุด คำตอบคือสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยใหม่ สิ่งที่ท่านต้องทำคือต้องต่อรองกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยและไม่ยอมขึ้นต่อกฎหมายไทย รัชกาลที่ 5 จึงเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เพื่อหยุดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ความจริงรัชกาลที่ 5 เองท่านก็เสด็จประพาสไปที่ต่างๆ ท่านก็เห็นว่าต้องเปลี่ยน แล้วมาเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งปี 2477 เปลี่ยนจากตัดหัวเป็นยิงเป้า ไม่ให้คนยิงเห็น ยิงเสร็จแล้วก็ไป พยายามทำให้การลงโทษไม่เป็นเรื่องส่วนบุคคล เปลี่ยนอีกทีปี 2539 เปลี่ยนจากการยิงเป้าเป็นเป็นฉีดยา แต่มาใช้จริงปี 2546

    ประเด็นคือโทษประหารไม่ได้อยู่นิ่ง มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากการที่สังคมไทยดำรงอยู่ในมิตินานาชาติ บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่ากระบวนการทำให้สังคมไทยเป็นอารยะ  ก้าวต่อไปสู่การยกเลิกโทษประหารก็เป็นทำนองเดียวกัน เป็นเส้นทางพัฒนาการของสังคมไทย สังคมไทยเอาหรือไม่เอา ไม่ทราบ แต่พัฒนาการของสังคมในหลายประเทศเป็นเช่นนั้นและเดินทางไปสู่การไม่มีโทษประหาร

    สิ่งที่สังคมไทยต้องการจากโทษประหาร

    สังคมไทยต้องการอะไรเวลาใช้โทษประหาร ตอบอย่างรวดเร็วคือคนผิดต้องได้รับการลงโทษ แต่ความคิดนั้นอยู่บนฐานความเข้าใจที่สำคัญว่าเป็นความทุกข์ของญาติพี่น้องของคนตาย ที่บอกว่าความคิดนี้เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ ไม่มีทฤษฎี บังเอิญผมมาจากสำนักที่เชื่อว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ มีแต่ทฤษฎี รวมทั้งความคิดที่เชื่อว่าชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตก็เป็นทฤษฎีหนึ่ง

    ยกตัวอย่างเช่นอาชญากรฆ่าข่มขืนคนไปประมาณ 80 คน เหยื่อคนหนึ่งถามทำไมทำแบบนี้ มันไม่ยุติธรรมที่เอาชีวิตคนไป ในบทสนทนาที่ถอดเทปไว้ฆาตกรบอกว่า คุณเรียกร้องความยุติธรรม ความยุติธรรมยังไงเหรอ ผมฆ่าคนมาแล้ว 80 คน แล้วคุณประหารผม คุณคิดว่ายุติธรรมเหรอ ชีวิตผมแทนคนที่ผมฆ่าคนไหนเหรอ หรือคุณกำลังจะบอกว่าชีวิตผมสำคัญเท่ากับคน 80 คน โจทย์นี้น่าสนใจมาก เพราะมันกลายเป็นคำถามว่าสิ่งที่เราเรียกว่าความยุติธรรมมันเป็นจริงหรือเปล่า ชีวิตมันเท่ากันจริงหรือเปล่า แล้วมันส่งผลต่อสังคมอย่างไร

    คำถามสุดท้ายคือเวลาสังคมไทยคิดถึงโทษประหาร จริงๆ แล้วสังคมไทยต้องการอะไร ถ้าคำตอบคือต้องการแก้แค้น คำถามก็วิ่งไปว่าในที่สุดแล้วการแก้แค้นทำได้หรือไม่ ถ้าเขาฆ่าคนตายเยอะแยะ แล้วมันเป็นการแก้แค้นให้ใคร คนก็มีแค่ชีวิตเดียว ถ้าตอบว่าดีกว่าทำอย่างอื่น ถ้าตอบแบบนี้ คำถามก็คือว่าโทษประหารทุกครั้งที่เราทำ มันบ่งชี้อะไร ผมคิดว่ามันบ่งชี้ความรู้สึกหมดหวัง คล้ายๆ เราหมดหวังกับสังคม หมดหวังกับคนในสังคม คนนี้เอาไว้ไม่ได้แล้วต้องตัดหัวเขา

    ในความหมายนี้จึงเป็นสัญญาว่า เรารู้สึกหมดหวังกับมนุษย์ หมดหวังกับสังคม หมดหวังกับอะไรหลายๆ อย่าง อาจมีเหตุผลที่ประเทศต่างๆ ในโลกพัฒนาไปสู่ความคิดที่ว่ามนุษย์ยังมีทางออก มันต้องเถียงกันเยอะเลยว่าตกลงมีสิ่งที่เรียกว่าสันดานดิบอยู่จริงๆ หรือไม่ เป็นคำถามที่เราต้องถามตัวเองว่า ในที่สุดแล้วสังคมอยากจะเดินไปทางไหน ซึ่งแต่ละทางมีผลต่อการตัดสินใจว่าเราเป็นอะไร สังคมคิดอย่างไรกับเรื่องแบบนี้ เป็นแบบทดสอบที่น่าสนใจ

    เรารับผิดชอบแค่ไหนเมื่อฆาตกรปรากฏตัว

    ประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตคือการประหารชีวิตคือการฆ่า มันยุติทุกอย่างต่อชีวิต มันต้องตั้งคำถามว่าการลงโทษประหาร ฆ่าผิดตัวได้หรือเปล่า ในอเมริกาตอนนี้มีขบวนการของผู้บริสุทธ์ เขาเชื่อว่าคนที่รอโทษประหารจำนวนหนึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ อาจมี 2-5 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้บริสุทธิ์ ถามว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบของการศึกษาระยะหลังคือตำรวจซึ่งเป็นต้นทางทำงานไม่ได้เรื่อง สอง-พยานที่บอกว่าเห็น จริงๆ ไม่ได้เห็น มันเป็นอีกอย่าง สาม-การทำผิดพลาดของอัยการเอง สี่-ทนายจำเลยอาจไม่พร้อม เช่น บางกรณีไม่ได้ประมวลพยานให้มากเพียงพอ สัมภาษณ์พยานบุคคลไม่ครบ อีกอย่างคือหลักฐานทางนิติเวชที่เก็บมาอาจทำได้ไม่ดีพอ ผลที่ตามมาคือในอเมริกาจึงมีขบวนการผู้บริสุทธิ์เพื่อกรองสิ่งเหล่านี้ ที่ต้องทำก็เพราะโทษประหารเป็นการลงโทษที่เป็นที่สุด มันเอาชีวิตคน พูดตามหลักศาสนา มันเป็นหน้าที่ของพระเจ้าว่าจะสิ้นสุดชีวิตมนุษย์เมื่อไหร่ แต่ตอนนี้รัฐกำลังทำหน้าที่นี้แทนพระเจ้า มันจึงต้องมีกระบวนการกรอง

    ปัญหามีอยู่อันหนึ่งคือในสังคมไทยและสังคมโลกมีสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า Confirmation Bias คือเห็นโลกตามที่ถูกบอกให้คิดว่าคนนี้ผิดจริง คุณเชื่อแบบนี้ก็หาหลักฐานที่สนับสนุนมา แต่หลักฐานที่ไม่สนับสนุนไม่หา หลักฐานมันมีทั้งสองด้าน แต่คุณอาจให้ความสำคัญกับอีกด้านหนึ่งน้อยเกินไปหรือเปล่า นี่เป็นโจทย์ที่เราต้องคิด

    ในที่สุดแล้ว สังคมไทยจะต้องหวนคิดเพราะการรอนสิทธิ์ชีวิตคน มันเป็นที่สุด ถึงมีระบบกรอง แต่ระบบเราดีจริงหรือไม่ก่อนที่เราจะตัดสินใครสักคน บางทีในอดีตที่มีโทษประหาร มันอยู่ในระบบคิดแบบหนึ่งว่าตายแล้วก็กลับมาเกิดใหม่ แต่ถ้าเราไม่เชื่อแบบนั้น เราเชื่อว่ามีชีวิตเดียวและสำคัญ มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

    เวลาเราใช้โทษประหารคือความหมดหวังต่อชีวิตคนนั้น ถามเลยไปอีกหน่อยว่าสังคมไทยมีบทบาทรับผิดชอบแค่ไหน เมื่อใครสักคนปรากฏตัวขึ้นในสังคมในฐานะฆาตกร เราเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง เราเกี่ยวข้องแค่ไหน เราเกี่ยวข้องในฐานะคนซึ่งนั่งดูเฉยๆ เราเกี่ยวข้องในฐานะของคนที่สนับสนุน สื่อมวลชนซึ่งสื่อความรุนแรงที่ในที่สุดสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา และเราไม่เคยยกมือห้าม

    ผมเห็นเคสที่ทำวิจัย บางทีแค่นิดเดียวเพราะถนนมันมืด แต่เราไม่เคยสนใจเลยว่าต้องติดไฟถนน ถ้าเราไม่สนใจ แล้วมันเกิดขึ้น เราชี้ว่าคนนี้ทำผิด ทุกครั้งที่เราชี้ไปคนอื่น มันมีสามนิ้วชี้มาหาเรา แล้วเราควรทำอะไรบ้างหรือไม่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ผมถึงอธิบายว่าเวลาเรายิงใครสักคน ไม่ได้มีเหยื่อคนเดียวที่อยู่ปลายปากกระบอกปืน มีเหยื่อที่ไกด้วย แต่เหยื่อที่อยู่ที่ไก เรามองไม่ค่อยเห็นเพราะมาจากเหตุปัจจัยทางสังคม และนั่นเป็นปัญหาของเราทุกคน เรื่องโทษประหารจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะคิดว่า เราควรทำอะไรเพื่อยุติสิ่งเหล่านี้ หันมาสู่สังคมที่ยังมีความหวัง และให้โอกาสมนุษย์

    บนโลกนี้มีวิธีที่ง่ายและมีวิธีที่ยาก คำถามที่น่าสนใจคือวิธีที่ง่ายและดูเหมือนทันใจเป็นวิธีที่ดีสำหรับการสร้างสังคมที่เราต้องการหรือเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    คนบ้าหลังกำแพงคุก (3): คุกหรือโรงพยาบาล? ชีวิตป่วยๆ ที่ (ยัง) ไม่มีทางเลือก

    Posted: 09 Jul 2018 12:33 AM PDT

    -ระบบการดูแลรักษาผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตเวชที่ยังไม่สามารถดูแลได้เต็มประสิทธิภาพ

    -ช่องโหว่ทางกฎหมายส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มีทางรักษาถูกขังลืม

    -ปัญหาคนล้นคุก การขาดบุคลากร ทำให้การตรวจหาผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำไม่ครอบคลุม ผู้ต้องขังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยหรือไม่ ทำให้ขาดโอกาสรับการรักษา

     

    ชิต (นามสมมติ) เป็นคนเดียวที่มองเห็นแสงสว่างวูบวาบล่องลอยบริเวณศีรษะของพ่อเลี้ยงที่กำลังนอนหลับ และคิดว่ามันคือภัยคุกคามพ่อเลี้ยงของเขา ชิตลั่นไกใส่แสงสว่าง หวังขับไล่ แต่จบลงด้วยข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา 6 ปีกับการเดินเข้าออกคุก-โรงพยาบาลจิตเวช อีก 9 ปีกับการไปกลับโรงพยาบาลจิตเวช-บ้าน-ศาล สุดท้ายผู้พิพากษาตัดสินให้ชิตมีความผิด แต่รอลงอาญา 3 ปี

    คำพังเพยไทยพูดว่า 'อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา' เพราะคนสองประเภทนี้อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ การเมาไม่ใช่ข้ออ้าง แต่การ 'บ้า' กฎหมายรับฟังและผ่อนปรน การยิงหัวพ่อเลี้ยง เอามีดไล่แทงเด็กนักเรียนหญิง เอาขวานจามหัวญาติที่ค้ายาเสพติดเพราะคิดว่าตนเองกำลังช่วยตำรวจ หรือการฆ่าคนแล้วควักตับออกมาดู แม้ในใจลึกๆ ของผู้คนจะยากยอมรับความโหดเหี้ยมทำนองนี้ แต่เป็นไปได้ว่ายังมีความเข้าใจหลงเหลืออยู่

    ความเข้าใจของสังคมคือคนบ้าไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด มาตรา 65 ในประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

    ประเด็นอยู่ที่ว่า คนบ้าหรือผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีควรอยู่ในคุกหรือในโรงพยาบาล พวกเขาควรได้รับการรักษาเยียวยาแบบใดเพื่อให้หายหรือทุเลาอาการจนไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น ลองนึกอีกสิว่าถ้ามีผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีร้ายแรงแต่หลุดรอดการตรวจวินิจฉัย แล้วพ้นโทษกลับคืนสู่สังคม โดยที่ความป่วยไข้ยังสิงสู่ในจิตใจ โอกาสจะก่อความรุนแรงซ้ำจะมีสูงเพียงใด

    อีกด้านหนึ่งที่ค่อนข้างแตกต่าง คุกคือการควบคุม ผู้ต้องขังไม่มีสิทธิต่อรอง มันยึดคืนอิสรภาพของมนุษย์เพื่อลงโทษ คุณไม่อาจเป็นคนเดิมได้เมื่ออยู่หลังกำแพง มิพักต้องกล่าวถึงสภาพผู้ต้องขังล้นคุกที่ยิ่งทำให้แรงบีบอัดหนักหน่วง ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่จิตใจของคุณจะผุพังลงเมื่ออยู่ในนั้น คุณอาจกลายเป็นคนซึมเศร้า เครียด เก็บตัว หรืออยากตายให้พ้นๆ

    ประเด็นอยู่ที่ว่า ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเยียวยาอย่างไร แน่นอน อาจมีเสียงตะโกนมาว่าทำไมต้องใยดีคนกลุ่มนี้ พวกมันทำผิด สาสมแล้วมิใช่หรือ คนกลุ่มนี้ได้รับความเข้าอกเข้าใจน้อยกว่ากลุ่มแรกที่ป่วยอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าให้ตอบอย่างหยาบๆ คงตอบได้ว่า การถูกลงโทษตามกฎหมายกับการปล่อยให้ตายหรือสติแตก มันคนละเรื่องกัน อย่างน้อยๆ เขาก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

    ตอนที่แล้ว คนบ้าหลังกำแพงคุก (2): ว่าด้วยความบ้าเชิงปริมาณ เราได้รับรู้ว่ากรมราชทัณฑ์มีระบบการดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช แต่ด้วยสภาพคนล้นคุกและข้อจำกัดด้านทรัพยากร ระบบที่วางไว้จึงไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ครั้งนี้ เราจะไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชผ่านปากคำอดีตผู้ต้องขัง

    ความเป็นอยู่ของคนบ้าหลังกำแพง

    "เพชรเป็นโรคชอบลักขโมย เข้าคุกหลายครั้งเพราะขโมยของ จบปริญญาตรี พูดภาษาอังกฤษเก่ง แต่ชอบลักขโมย" แล้วทำไมไม่ส่งไปรักษา "ก็ศาลไม่ได้ส่งเขาไปรักษา ตัวเขาก็ไม่รู้ว่าเป็น หมอบอก แต่หมอในเรือนจำไม่มีอำนาจเท่ากับผู้พิพากษา แล้วโทษลักเล็กขโมยน้อยก็ไม่ได้สูง ติดแค่ไม่กี่เดือน จึงไม่จำเป็นต้องรักษา แต่เพชรเข้าคุกมา 20 กว่ารอบ"

    คำบอกเล่าจากประสบการณ์ของจิ๊บ (นามสมมติ) อดีตผู้ต้องขังในเรือนจำหญิงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ขณะที่เธอถูกคุมขัง แดนที่เธออยู่เป็นแดนที่รวมคนป่วยที่อาการยังไม่หนัก คนแก่ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คนบ้า  (เป็นคำพูดของเธอ) และคนที่โทษน้อยไม่เกิน 5 ปี ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้าหรืออื่นๆ ที่ไม่ก่อความวุ่นวายจะได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นได้ โดยกระจายไปตามห้องนอนต่างๆ ประมาณห้องละ 3 คน สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความวุ่นวาย ทำร้ายคนอื่น หรือส่งเสียงดัง จะมีห้องนอนแยกไปเฉพาะ ที่เรือนนอนของจิ๊บมีผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มที่ถูกแยกออกไปนี้ประมาณ 27 คน ให้อยู่รวมกันในห้องที่นอนได้ประมาณ 10-12 คน

    การให้ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มนี้นอนรวมกัน แล้วใครจะคอยดูแล? จิ๊บตอบว่าก็ต้องดูแลกันเอง แต่เนื่องจากห้องนี้อยู่ชั้นล่างของเรือนนอน ซึ่งเจ้าหน้าที่เวรนั่งอยู่ในบริเวณนั้น ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่เวรจะเห็นก่อน เว้นแต่เป็นช่วงผลัดเวรที่เจ้าหน้าที่คนใหม่ยังมาไม่ถึง ช่องว่างนี้ผู้ป่วยกลุ่มต้องดูแลกันเอง แต่จิ๊บบอกว่าช่วงกลางคืนไม่ค่อยมีปัญหา เพราะฤทธิ์ยาทำให้หลับ ช่วงที่มักมีปัญหาคือช่วงหัวค่ำหรือตอนเช้า เช่น แย่งกันเข้าห้องน้ำหรือบางคนหูแว่วคิดว่าเพื่อนด่าก็ปรี่เข้าไปตบเพื่อน เป็นต้น

    ในแดนที่ผู้ต้องขังมีโทษสูงตั้งแต่ 25 ปีถึงประหารชีวิต จิ๊บเล่าว่ามีผู้ป่วยจิตเวชค่อนข้างมาก แต่จะไม่มีการแยกห้อง เธอตั้งข้อสังเกตว่าผู้ป่วยจิตเวชที่โทษสูงกับที่โทษน้อยมีลักษณะไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยที่โทษสูงจะทานยาจิตเวชเพื่อกล่อมประสาทตัวเองไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพื่อจะได้ไม่ก่อเรื่อง เพราะรู้ว่าต้องอยู่อีกนาน อีกทั้งการขยับขึ้นเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นเยี่ยม มีผลต่อการอภัยโทษ ดังนั้น ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มนี้จะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองสงบมากที่สุด

    "แต่สำหรับนักโทษจิตเวชที่โทษน้อยพร้อมจะก่อเรื่องตลอดเวลา อย่างที่เรือนนอนจิ๊บ ตีกันทุกวันเลย เพราะมันไม่มีผลอะไรกับการต้องอยู่นาน เขาให้กินยา แต่พวกนี้จะดื้อ จะอมยาไว้ในปากแล้วบ้วนทิ้ง บางคนก็เอาไปขายให้คนที่ไม่ได้ป่วยจิตเวชแต่ว่านอนไม่หลับ" นี่เป็นที่มาให้ภายหลังทางเรือนจำใช้วิธีละลายยาจิตเวชในน้ำและให้ผู้ต้องขังดื่ม

    ขั้นตอนเพื่อเข้าถึงยา จิ๊บเล่าว่า ก่อนอื่นคุณต้องแจ้ง 'แม่ห้อง' หรือหัวหน้าห้องนอนก่อน แม่ห้องจะเขียนคำร้องขึ้นไป เจ้าหน้าที่ประจำเรือนนอนอ่านคำร้อง เรียกคุณมาคุย ถ้าเจ้าหน้าที่ประจำเรือนนอนเห็นควรส่งคุณไปสถานพยาบาล คุณก็จะถูกส่งตัวไป จากนั้นคุณต้องรอจิตแพทย์เข้ามาตรวจ ซึ่งจิ๊บบอกว่ามาบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าได้พบจิตแพทย์และวินิจฉัยว่าคุณป่วย คุณจึงจะเข้าถึงยา แต่ต้องรอยาอีกประมาณ 3 วัน จากนั้นคุณก็ต้องกินยาตลอดไป หรือถ้าคุณคิดว่าตัวเองอาการดีขึ้นแล้ว ต้องการหยุดยา คุณก็ต้องเขียนคำร้องไปที่แม่ห้องใหม่อีกครั้งตามกระบวนการเดิม

    "กว่าจะได้เจอหมอก็เป็นเดือน ถึงตอนนั้นคงหายบ้าแล้ว ไม่ก็ไปซื้อยาจากพวกที่ป่วยประจำกิน ถ้าอาการหนักแบบอยากจะฆ่าตัวตายถึงจะเดินเข้าไปหาผู้คุมได้ แต่นักโทษไม่กล้าหรอก ไม่มีใครกล้ายอมรับว่าตัวเองบ้า เพราะกลัวถูกเพื่อนแกล้ง ไม่มีเพื่อนคบ ถึงผู้คุมจะไม่ค่อยถือสาคนบ้า แต่มันมีการรังแกจากนักโทษด้วยกัน ซึ่งผู้คุมก็ไม่สามารถคุมได้"

    เมื่อให้จิ๊บประเมินการปฏิบัติต่อผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำว่าโดยรวมแล้วเป็นอย่างไร

    "ไม่ดี สำหรับจิ๊บการมีพวกนี้อยู่ก็สนุกดี แต่เป็นธรรมกับพวกนี้หรือเปล่า ก็ไม่เป็นธรรม แล้วในคุกมันมีเรื่องทะเลาะกันเยอะ คนที่ไม่บ้าก็แก่งแย่งชิงดีกันอยู่แล้ว คนบ้าไม่ได้มีความอดทนเท่ากับคนอื่น แล้วก็มีคนที่ชอบแกล้ง ชอบรังแก ชอบยั่วคนกลุ่มนี้ พอเขาทำผิดก็ต้องรับยาที่แรงขึ้น แต่มันไม่ได้เกิดจากเขาไง มันเกิดจากการยั่วยุของคนอื่น แต่ก็ตัดสินให้คนบ้าเพิ่มยา คนที่ยั่วยุก็ไปทำความสะอาด จิ๊บรู้สึกว่าการเพิ่มยามีผลต่อร่างกายทั้งระบบ ยาก็มีแบบเดียวคือยาง่วงหลับ ทำให้ซึมกระทือ เป็นอะไรก็กินยาเหมือนกัน กินแล้วง่วง หลับๆ ไปจะได้ไม่ก่อเรื่อง"

    อีกเรื่องหนึ่งที่จิ๊บเล่าให้ฟัง ผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชมักถูกแยกออกไปอยู่ร่วมกันตามลำพัง ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องร่วมกิจกรรม ฟังผิวเผินรู้สึกคนกลุ่มนี้น่าจะได้รับความสะดวกสบายกว่าผู้ต้องขังอื่น ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะการร่วมกิจกรรม การสอบเลื่อนขั้น มีผลต่อการลดโทษ เมื่อไม่ร่วมกิจกรรมหรือการสอบ โอกาสที่พวกเขาจะได้รับอิสรภาพเร็วขึ้นเหมือนคนอื่นๆ ย่อมหมดไป

    "เอาผู้ป่วยไปรวมกันไว้แล้วก็ไม่ให้ทำอะไร หรือเขาอาจทำกิจกรรม แต่ใช้ลดโทษไม่ได้ เช่น ไปดูคอนเสิร์ต กิจกรรมที่ลดโทษอย่างการเรียนนั่นนี่ พวกนี้ไม่ได้เรียน ส่วนการสอบ มันแล้วแต่วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ว่าจะให้สอบชั้นหรือเปล่า หรือจะเอาที่เขาบำเพ็ญประโยชน์มาใช้พิจารณาเลื่อนชั้นหรือเปล่า หรือสอบท่อง สอบร้องเพลงชาติ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี หรือสวดมนต์ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ แต่ส่วนใหญ่ก็ให้สอบแหละ เขาสงสาร"

    นอกจากประเด็นไม่ได้รับการลดโทษแล้ว การปล่อยให้ผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช 'ไม่ต้องทำอะไร' ยังส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วย อินทิรา อะตะมะ นักกิจกรรมบำบัดชำนาญการ จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ อธิบายว่า

    "สมัยก่อนคนไข้จิตเวชจะถูกคัดมาอยู่ที่กองป่วย อยู่ในเรือนพยาบาล พอจิตเวชปุ๊บก็มองว่าทำอะไรไม่ได้ คนไข้ไม่ต้องทำอะไร ผู้ป่วยจิตเวชถ้าปล่อยให้อยู่นิ่งๆ โดยไม่ทำอะไร มีโอกาสที่จะกำเริบหรือฟุ้งซ่าน หรือการพัฒนาตัวเองจะไม่มี ผู้ป่วยจิตเวชต้องทำงานเพื่อให้สมองได้จัดระเบียบใหม่ จัดลำดับขั้นตอน ถ้าไม่ทำเลย สมองจะหยุดนิ่ง คนไข้ที่อาการสงบพอ สามารถทำงานขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของกองงานได้ แต่ก่อนจะไม่ยอม เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยความเร็ว มีการกำหนดปริมาณของ ต้องแพ็กส่งๆ จะไม่ค่อยให้คนไข้ไปยุ่ง แต่เราเข้าไปคุยว่าการทำงานช่วยให้คนไข้สงบ ทำงานได้จะช่วยลดภาระได้ ตอนหลังเริ่มมีส่งคนไข้เข้ากองงาน

    "อีกอย่างคือผู้ป่วยจิตเวชจะขาดโอกาสเข้าร่วมโปรแกรมต่างๆ ในเรือนจำ พอไม่ได้เข้าร่วม โอกาสลดโทษไม่มีเลย ผู้คุมเลยมาปรึกษาว่าอยากให้นักโทษผ่านแพ็กเกจตรงนี้ เราก็สร้างโปรแกรมประมาณ 10-12 กิจกรรมเพื่อใช้ในเรือนจำนำร่องของเรา แต่เราต้องดูทรัพยากรที่เขามี ใช้อุปกรณ์เยอะไม่ได้ เชือกก็ไม่ได้"

    ขังลืม

    "คนที่บ้ามาจากข้างนอก เขาควรได้รับการรักษาจริงๆ จิ๊บไม่รู้กระบวนการที่บอกว่าให้คนนี้ไปอยู่โรงพยาบาลจิตเวช ให้รักษาตัวก่อน แล้วค่อยรับคำพิพากษา แต่มันไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ ก็เขาเป็นบ้า เขาจะหายได้ยังไง ถ้าได้รับการรักษาแบบนี้"

    เป็นความคิดเห็นของจิ๊บต่อผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีแล้วเข้าไปอยู่ในคุก จุดนี้เป็นช่องโหว่ใหญ่ของระบบ มาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ระบุว่า 'ภายใต้บังคับมาตรา 14 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สถานบำบัดรักษารับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ควบคุมและบำบัดรักษาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาหรือจำเลย จนกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้ เว้นแต่พนักงานสอบสวนหรือศาลจะมีคำสั่งหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

    'ให้จิตแพทย์ผู้บำบัดรักษาทำรายงานผลการบำบัดรักษาส่งให้พนักงานสอบสวนหรือศาลภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ ในกรณีที่จิตแพทย์เห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้รายงานผลการบำบัดรักษาทุกหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เว้นแต่พนักงานสอบสวนหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

    'ในระหว่างการบำบัดรักษา เมื่อจิตแพทย์ผู้บำบัดรักษาเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการบำบัดรักษาจนความผิดปกติทางจิตหายหรือทุเลา และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ให้รายงานผลการบำบัดรักษาต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลทราบโดยไม่ชักช้า'

    กฎหมายใช้คำว่า 'จนกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้' จุดนี้มีปัญหา 2 ประการ ประการแรก ผู้ต้องขังไม่ได้รับการบำบัดรักษาในสถานบำบัดตลอดเวลา แต่สลับไปมาระหว่างเรือนจำกับสถานบำบัด ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ผู้ต้องขังหายและอาการทุเลาหรือไม่ ประการที่ 2 หากความป่วยไข้ของผู้ต้องขังไม่มีทางรักษาหาย (ไม่ต้องพูดถึงว่าจะทุเลาหรือไม่) แล้วจะกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร เพราะกฎหมายระบุแค่ 'หาย' กับ 'ทุเลา' เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีในศาลได้ แต่ไม่ได้บอกว่าถ้ากลับขึ้นศาลไม่ได้จะให้ทำอย่างไรต่อ

    "มีคนหนึ่งชื่อยายประภา ศาลบอกว่าเป็นบ้าแต่ไม่เอาไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช ขังลืมไว้ในคุก เขาไม่มีคำพิพากษา แล้วก็ไม่ระบุวันที่ปล่อย เพราะเขายังรักษาไม่หาย แต่เขาไม่ควรอยู่ในคุก ถ้าศาลบอกว่าเขาต้องรักษา เรือนจำก็ต้องส่งเขาไปรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ใช่เอาไปไว้ในคุก" จิ๊บเล่า

    กรณีแบบนี้มีไม่มาก แต่ไม่ว่าจะน้อยแค่ไหนก็ถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะเท่ากับขังลืมคนคนหนึ่งโดยไม่มีกำหนด แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังถูกขังก็ตาม เรื่องนี้ทางกรมราชทัณฑ์รับทราบปัญหา เทพสุดา ฟูเมืองปาน นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในโครงการผู้ต้องขังสู้คดีพบว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ในเรือนจำนานถึง 10 ปี 20 ปี แต่ก็ยังคงสู้คดีไม่ได้ ทั้งที่ถ้าพวกเขาสู้คดีได้คงได้รับการปล่อยตัวไปแล้วด้วยซ้ำ

    สถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่า สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับโทษสูงสุด 20 ปี โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ในเรือนจำจริงๆ ประมาณ 10 ปี เนื่องจากได้รับการลดโทษ พักโทษ หรืออภัยโทษ การจะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดและมีกำหนดวันลงโทษชัดเจน แต่กรณีผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาไม่หาย สู้คดีไม่ได้ จะไม่มีทางได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ นี้เลย

    "ศาลให้ส่งไปบำบัดรักษาเพื่อให้กลับมาต่อสู้คดี แต่ในทางปฏิบัติคือโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายตามระบบหลักประกัน เขาไม่สามารถให้อยู่นานแบบนั้นได้ สมมติคนไข้ถูกส่งไปบำบัดรักษา โรงพยาบาลก็จะดูแลคนไข้ให้ดีในระดับที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตต่อในเรือนจำได้ คนไข้จะถูกส่งกลับมาอยู่ในเรือนจำ ดีในระดับที่เรือนจำดูแลต่อได้ แต่ก็ยังไม่สามารถสู้คดีได้ จึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ พออาการแย่ลง ก็ส่งกลับมาโรงพยาบาลใหม่ อาการดีขึ้นก็ส่งกลับมาเรือนจำ ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

    "พอเป็นผู้ต้องขังระหว่าง (ต่อสู้คดี) จะไม่ได้สิทธิประโยชน์เหล่านี้เลย ถ้าอายุความ 20 ปี ก็อยู่ไปจนหมดอายุความ นี่คือปัญหาที่เราเจอ พ.ร.บ.สุขภาพจิต มาตรา 36 ระบุไว้แบบนี้ แต่ไม่มีมาตราที่ระบุว่าถ้าไม่หายแล้วจะให้ทำยังไง อยู่ในเรือนจำนานแค่ไหน

    "ตอนนี้เรากลับมาดูว่าในกลุ่มที่ศาลสั่งให้ต่อสู้คดี จะมีมาตรการหรือแนวทางอะไร เพราะถ้าเป็นนักโทษเด็ดขาดเร็วก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เร็ว สอง-ดูว่าถ้าต่อสู้คดีไม่ได้ตลอดไป ไม่มีทางหาย เช่น โรคสมองเสื่อม ปัญญาอ่อน เราจะมีมาตรการอะไรให้เขาได้รับการรักษาดูแลอีกแบบที่ไม่ใช่ผู้ต้องขังทั่วไป เป็นมาตรการทางเลือกที่เรากำลังคุยกันอยู่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป"

    วิมลรัตน์ ตั้งมั่นวิทยศักดิ์ นักจิตวิทยาปฏิบัติการ กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า

    "กรณีแบบนี้มีไม่เยอะ แต่เราไม่รู้ว่าถ้าปล่อยไว้จะมีเพิ่มขึ้นแค่ไหน ความร้ายแรงของปัญหาอาจจะคนไม่กี่คน แค่หลักสิบ แต่เรารู้สึกว่าความรุนแรงของมันคือคนคนหนึ่งต้องอยู่ในคุกห้าปีสิบปีโดยไม่รู้อนาคตตัวเองว่าฉันกำลังจะไปทางไหนหรือฉันมาทำอะไรที่นี่ ประเด็นคือเจอกรณีที่ไม่หาย แล้วหมอก็ลงความเห็นว่ากรณีแบบนี้ไม่หายตลอดชีวิต เราไม่มีกระบวนการมารองรับ ศาลจะใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ลดโทษให้ไม่ได้ เพราะแม้แต่ไปขึ้นศาลก็ทำไม่ได้"

    อาจสงสัยว่า แล้วทำไมไม่ให้ญาติประกันตัวออกไปหรือขอศาลเพื่อรับผู้ต้องขังไปอยู่ภายใต้การอนุบาล เช่นที่ชาติดำเนินการจนสามารถรับชิตออกมาได้ คำตอบคือผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่มีญาติมาประกันตัวหรือรับไปดูแล หรือถ้ามี ญาติก็ไม่พร้อมรับไปดูแลหรือไม่ต้องการดูแล

    อ่านเรื่องประกอบ: คนบ้าหลังกำแพงคุก (1) : การเดินทางกลับบ้านของชิต

    ความป่วยไข้ที่มองไม่เห็น

    "บางคนป่วยแบบไม่แสดงอาการ บางคนดูก็รู้ว่าป่วย แต่เขาไม่ได้ก่อเรื่อง เขาก็จะไม่ต้องรับยา เขาก็เลยต้องใช้วิธีซื้อยาจากคนที่ถูกวินิจฉัยว่าป่วย เพราะบางทีเขาก็ไม่สามารถจัดการตัวเองได้ ไม่สามารถนอนเองได้ แล้วเขาก็ฟุ้งซ่าน แต่เขาไม่ถูกวินิจฉัยว่าป่วย" จิ๊บเล่า

    เป็นอีกกลุ่มที่ระบบการบำบัดรักษาเข้าไม่ถึง จะเพราะกลัวถูกตีตราและกลั่นแกล้งจากผู้ต้องขังคนอื่นหรือไม่รู้ตัวว่าป่วยก็ตาม กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานชุดโครงการเพื่อพัฒนาระบบความมั่นคงทางสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำไทย กล่าวว่า จากงานศึกษาลงพื้นที่เรือนจำหลายแห่ง เธอพบผู้ต้องขังที่ 'น่าจะ' มีอาการทางจิตที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองจำนวนหนึ่ง

    ต้องใช้คำว่า 'น่าจะ' เพราะนี่ไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์ เพียงแต่ผู้ต้องขังที่กฤตยาสัมภาษณ์บางรายควรได้รับการตรวจคัดกรอง เพราะหากป่วยจริงก็จะได้รับการรักษา เช่น กรณีผู้ต้องขังชายรายหนึ่งใช้ขวานจามหัวญาติของตนเอง เนื่องจากญาติรายนี้ค้ายาเสพติด และคิดว่าตนเป็นผู้พิพากษาและผู้ช่วยตำรวจ ขณะเล่าดวงตาของเขาสงบนิ่ง เขาไม่เคยก่อความวุ่นวายใดๆ สวดมนต์ และเป็นคนธรรมะธรรโม หากผู้ต้องขังรายนี้ไม่ได้ป่วยทางจิตก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเขาป่วยแล้วพ้นโทษออกไปโดยไม่ได้รับการรักษาหรือระบบไม่สามารถคัดกรองได้ ย่อมมีโอกาสสูงที่เขาจะก่อคดีซ้ำ

    "เราเจอเคสที่รุนแรง ผู้ต้องขังรายหนึ่งฆ่าเหยื่อแล้วควักตับออกมา เป็นคนคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยไปยิ้มไป แล้วขอร้องเพลง ถูกล่ามโซ่ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะผู้คุมก็ไม่ไว้ใจ ตามหลักการเขาไม่ควรอยู่ในคุก เพราะเขาไม่รู้เรื่องแล้ว มันมีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยบางคนไม่ควรอยู่ในเรือนจำ แต่เรายังให้เขาอยู่ในเรือนจำ เพราะเราไม่มีระบบที่จะวินิจฉัยเพื่อดึงคนเหล่านี้ออกมาแล้วส่งไปโรงพยาบาล" กฤตยา กล่าว

    โดยทั่วไปผู้ต้องขังที่จะเข้าถึงการรักษาอาการทางจิตเวช มักเป็นผู้ป่วยที่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายหรือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น กับกลุ่มที่ไม่ก่อความวุ่นวายแต่แสดงอาการชัดเจน เช่น นอนไม่หลับ เก็บตัว เดินพูดคนเดียว พยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น แต่ในกรณีที่ไม่แสดงอาการ การตรวจพบและรักษาเป็นไปได้ยาก เพราะความป่วยไข้ทางจิตเวชบางชนิดไม่แสดงอาการให้เห็น

    เทพสุดา กล่าวว่า กระบวนการส่งผู้ป่วยออกไปรักษาไม่ว่าจะเป็นอาการทางกายหรืออาการทางจิต พยาบาลมีสิทธิขอผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อส่งอออกไปรักษาได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่าโอกาสที่ผู้ต้องขังหนีมีสูงมาก การประเมินของพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่เรือนจำอาจไม่เพียงพอ ภายหลังจึงต้องมีความเห็นจากแพทย์ประกอบ ถ้า พยาบาลเห็นว่าอาการผู้ต้องขังน่ากังวล ผู้ต้องขังจะถูกส่งให้แพทย์ที่เข้ามาในเรือนจำตรวจก่อน ถ้าแพทย์เห็นว่าต้องส่งตัวออกไปรักษาก็จะเขียนใบส่งตัวให้ พยาบาลจะทำบันทึกถึงผู้บัญชาการเรือนจำตามความเห็นของแพทย์

    "แต่ในกรณีผู้ป่วยจิตเวช ถ้าไม่ได้เรียน ไม่ได้คุย ก็ไม่รู้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ หรือเจ้าหน้าที่เราไม่พอ ตรวจวันละ 100 คน คนละ 5 นาทีก็หมดเวลาแล้ว ไม่มีเวลามาซัก เราเองก็ไม่สามารถสุ่มได้ว่าจะประเมินใครดี ต้องอาศัยผู้คุมในแดนส่งต่อมา เช่น เขาอาจเห็นว่าคนนี้ดูแปลกๆ แต่เคสแบบนี้มีโอกาสหลุด โดยเฉพาะพวกอาการหลงผิด คนไข้กลุ่มนี้ใช้ชีวิตประจำวันได้ ไม่รบกวนใคร"

    ทางออกที่ยังปิดตาย

    ทางกรมราชทัณฑ์ตระหนักถึงสภาพการณ์เหล่านี้ พยายามหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การสร้างระบบ Tele Medicine หรือการปรึกษากับแพทย์ทางไกล การจับคู่ระหว่างเรือนจำกับโรงพยาบาลในพื้นที่ หรือการย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจิตเวช เป็นต้น

    งานศึกษาของสถาบันกัลยาณ์ฯ เสนอแนะว่า ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรอง เพิ่มทักษะการประเมินความเจ็บป่วยทางจิตเวชเบื้องต้นของพยาบาล เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร รวมถึงการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อช่วยสังเกตและติดตามอาการ จัดทำฐานข้อมูลกรมราชทัณฑ์และกรมสุขภาพจิตให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน มีความเที่ยงตรง และเป็นปัจจุบันเพื่อการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังจำหน่ายออกจากเรือนจำ

    จิตแพทย์หญิงกมลชนก มนตะเสวี สถาบันกัลยาณ์ฯ แสดงความเห็นว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าปัญหาจิตเวชในเรือนจำเป็นสิ่งที่คนนึกถึงน้อย การถูกคุมขังเป็นกระบวนการลงโทษ แต่ขณะเดียวกัน คนป่วยมีสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นคือต้องได้รับการรักษา ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับความปลอดภัยของทั้งตัวคนไข้และสังคม

    "แต่ทัศนคติของสังคมคือเรือนจำเป็นที่ที่เอาคนเลวมารวมกัน แล้วจบ ทุกคนมีความสุข แล้วก็ลืมไปว่าในนั้นคือแดนสนธยา แต่จริงๆ แล้วในนั้นคือ Correctional Facility คือการทำให้คนทำผิดกลับมาทำถูก บำบัดพฤติกรรม เป็นการแก้ไขระยะยาว ไม่ให้เกิดความเสี่ยงอีก แต่ความคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนไทย"

    สภาพคนล้นคุกส่งทอดแรงกดดันไปสู่ทุกองค์ประกอบในการมีชีวิตหลังกำแพง อาหารการกิน การอาบน้ำ การนอน บางเรือนจำที่ผู้ต้องขังแน่นมาก คุณต้องนอนตะแคงเท่านั้นหรือนอนเสียบ หมายถึงนอนเอาปลายเท้าชนกันโดยเสียบเข้าไปในช่องว่างแบบสลับฟันปลา ถ้าคุณตื่นไปเข้าห้องน้ำ ที่นอนของคุณจะหายไป ในห้องขังที่แออัดมีห้องส้วมแบบไม่มีประตูอยู่หนึ่งหรือสองห้อง ในวันและคืนที่โชคร้าย น้ำไม่ไหลหรือไม่พอ กับการต้องอยู่ในห้องขังที่อบอ้าวหรือหนาวเย็น วันละ 14 ชั่วโมง ไม่มีแม้แต่หนังสือให้อ่าน ความรุนแรงข้างในที่เจ้าหน้าที่อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง และอื่นๆ อีกมาก คุณจะป่วยมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ความเป็นอยู่หลังกำแพงคุกพร้อมบีบอัดให้คุณสติแตกหรือสติแตกยิ่งกว่าเดิมได้ตลอดเวลา

    ซ้ำร้ายงบประมาณกับอัตราบุคลากรยังวิ่งสวนทางกับจำนวนผู้ต้องขัง เรือนจำแต่ละแห่งมีทางเลือกไม่มากในการปรับปรุงระบบการทำงานและสภาพแวดล้อมภายใน งานดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชจึงเป็นงานตั้งรับเป็นหลัก

    ดังที่กฤตยากล่าวไว้ คนล้นคุกคือปัญหารากฐานของเรือนจำไทย หากไม่ลดจำนวนผู้ต้องขังลง การดูแลผู้ป่วย คนแก่ แม่ลูกอ่อน การฟื้นฟูและปรับพฤติกรรมเพื่อคืนสู่สังคม ก็แทบเป็นไปไม่ได้

    ผู้ต้องขังประมาณร้อยละ 80 เกิดจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด ดังนั้น การแก้ไขกฎหมาย การสร้างกระบวนการทางเลือกต่างๆ แทนการจับคนเข้าคุก การยกเลิกความผิดทางกฎหมายในสิ่งเสพติดบางชนิด การแยกแยะผู้เสพออกจากผู้ค้า ฯลฯ เป็นประตูบานแรกๆ ในการบรรเทาปัญหาเรือนจำไทย

    แต่กุญแจตัวใหญ่ที่สุดที่ลั่นดานประตูบานนี้เอาไว้ คือทัศนคติของสังคมไทยต่อยาเสพติด

    อ่านเรื่องประกอบ คุกหญิง: คนล้นคุก Over Criminalization กฎหมายยาเสพติด และกระบวนการยุติธรรม

     

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ซะการีย์ยา​ อมตยา กับ เสน่ห์​ของการเขียนหนังสือท่ามกลางโลกาภิวัตน์-ออนไลน์

    Posted: 09 Jul 2018 12:15 AM PDT

    ชวนคุยสั้นๆ กับ 'ซะการีย์ยา' กวีซีไรต์ ถึงจุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือ สถานการณ์งานเขียนชายแดน​ภาคใต้ และสถานะของงานเขียนในยุคโลกาภิวัฒน์​และออนไลน์​

    ซะการีย์ยา อมตยา เป็นกวี นักเขียน นักแปล เจ้าของรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2553 สาขากวีนิพนธ์ จากผลงานรวมบทกวีนิพนธ์ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ซึ่งได้จากการถอดความที่ ซะการีย์ยา กล่าวไว้บางส่วนในกิจกรรมค่ายเยาวชน learning to live together ครั้งที่ 6 ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา บวกกับการสัมภาษณ์เพิ่มเติม
     
    Q : จุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือ? 
    ซะการีย์ยา : สมัยเด็กๆ​ ชอบเขียน​ เขียนอะไรไปเรื่อย​ ส่วนตัวจะพกสมุด​ และปากกาติดตัวตลอด​ ฝึกเขียนเขียนเป็นประโยคเป็นความเรียง​จนกลายเป็นนิสัยที่ชอบเขียน​ หลังจากนั้น​ก็กดเข้าไปดูในเว็บบอร์ด​แล้วก็คิดว่าอยากเขียน​ คนอื่นเขียนได้เราก็ต้องเขียนได้เหมือนกัน​ จนกระทั่งรู้สึกว่าอยากเขียนหนังสือก็เขียนเรื่อยมา​
     
    Q : งานเขียนของ 3 จังหวัดชายแดน​ภาคใต้ปัจจุบัน​มีคนเขียนมากน้อยเท่าไร? 
    ถ้าพูดถึงงานเขียนในไทยสมัยใหม่ไม่ค่อยมี เดิมงานเขียนของภาคใต้จะเป็นงานเขียนด้วยอักษร​ ฮุรุฟยาวี​ ส่วนใหญ่เขียนเกี่ยวกับพงศาวดาร​ ตำนานศาสนา​ พอยุคล่าอาณานิคม​ อังกฤษ​ ฮอลแลนด์​ เข้ามาภาษายาวีหยุดชะงัก​ลง​ จนกระทั่งมาเลเซีย​ได้รับเอกราช​ ประเทศต่างๆแถบมลายู​ได้รับเอกราช​ก็เริ่มมีงานเขียนเกิดขึ้นแต่3จังหวัดถูกรวมเข้ากับไทย​ งานเขียนสมัยใหม่ไม่เกิด​ เคยมีคนสร้างนิตยาสาร​ อะซาน​ แต่กลุ่มนี้ก็สลายตัวไป​ 3จังหวัด​ก็ไม่มีงานเขียนมาลายูเหมือนประเทศ​อื่น​ คนสามจังหวัดเข้าใจภาษาไทยมากกว่ายาวี​ คนเขียนมีน้อย​ แต่คนพูดได้มากกว่า
     

    Q : คิดว่างานเขียนเป็นเล่มมีผลกระทบต่อสังคม (impact) ต่อสังคมมากแค่ไหนในยุคโลกาภิวัฒน์​นี้?

    โลกออนไลน์​สร้างผลกระทบ​ได้มากอย่างหลีกเลี่ยง​ไม่ได้​ ปัจจุบันคนอ่านหนังสือกระดาษน้อยลงอย่างหนังสือพิมพ์​ส่วนใหญ่ดูทางออนไลน์​มากกว่า​ ส่วน​ e-book กับหนังสือเหมือนกันเปลี่ยนแค่วิธีการเอง​ งานหนังสือจับต้องได้มากกว่า​ เสน่ห​์ของหนังสือคือ​ เวลาจะอ่านต้องละทิ้งทุกอย่าง​ ให้ความสนใจแต่หนังสือแต่ถ้าออนไลน์​ใจมันจะไม่นิ่ง​ คนให้ความสนใจได้น้อยลง​ ผลสะเทือน​ของหนังสือต้องย้อนไปยุค 14​ ตุลา ​ยุคนั้นต้องอ่านหนังสือยุคสังคมนิยม​ คนไหนเดินถือหนังสือจะดูเท่ห์​ Tablet, Smart​ Phone​ สมัยนี้ถือตามรสนิยม​ ค่านิยมของสังคมกำหนดคนว่าเท่ห์แค่นั้นเอง​ โลกออนไลน์​ส่งผล (มากกว่าหนังสือ​ ถ้าซื้อหนังสือต้องอยากอ่านอยากใช้จริงๆ​ มันมีราคา​ ทั้งนี้การใช​ อย่างในอดีตอยากรู้อะไรต้องอ่านให้มาก​ ปัจจุบัน​ค้นหาหน้าเว็บก็เจอหมดแล้ว​ หนังสือเป็น​ ของหายาก (rare item)​ แม้จะมีผลกระทบต่อสังคมน้อยลง

    Q : เทคนิคในการเขียนมีอะไรบ้าง?

    การเขียนไม่มีสูตรเฉพาะ​ เขียนที่เรารู้เราชอบ​ ถ้าชอบใครสักคนหรือเรื่องไหนสักเรื่องลองศึกษา​ติดตามอ่านซ้ำๆ​ ทุกเล่ม​ จะเขียนได้มาก​ เท่านี้เอง

    Q : ในอนาคตอยากนำเสนอแนวทางให้คนสนใจอ่านหนังสือมากขึ้นอย่างไร?

    ในอนาคตอยากให้สัญญาณ​อินเตอร์​เน็ต​คล้ายสัญญาณ​วิทยุ​ อยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าได้​ ถึงคนจะอ่านหนังสือเล่มน้อยลงแต่คนก็อาจจะสนใจอ่านออนไลน์​มากขึ้น​ น่าจะส่งผลที่ดี​ แต่อย่าลืมว่าหนังสือยังสำคัญมากอินเตอร์​เน็ต​เป็นทางลัด​ นักเรียน​ นักศึกษา​ นักวิชาการ​ หรืออาชีพต่างๆต้องมีคู่มือที่เป็นเล่มเป็นตำราไว้ศึกษา​หาความรู้

     

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ขอโทษปมปล่อยเสียงวิทยุสื่อสารระหว่างช่วยทีมหมูป่า แจงไม่ได้ดักฟังราชการ

    Posted: 08 Jul 2018 10:51 PM PDT

    ทีมข่าวเวิร์คพอยท์แถลงขออภัยกรณีนำเสนอเสียงจากสัญญานวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือ ทีมหมูป่าอะคาเดมี พร้อมแจงไม่เคยดักฟังวิทยุสื่อสารของราชการอย่างที่มีผู้กล่าวอ้าง เสียงที่ปรากฎในข่าวมาจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงที่ประชาชนฟังได้ทั่วไป 

    9 ก.ค.2561 เมื่อเวลา 11.43 น. เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์' ออกแถลงคำขอโทษจากทีมข่าวเวิร์คพอยท์กรณีนำเสนอเสียงจากสัญญานวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือ ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย

    รายละเอียดคำแถลงของ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ระบุว่า

    ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ขออภัยกรณีนำเสนอเสียงที่ได้มาจากสัญญานวิทยุสื่อสาร ในรายการข่าว

    กรณีรายการข่าวเวิร์คพอยท์ เช้าวันที่ 9 ก.ค.2561 ได้มีการนำเสนอเสียงจากสัญญานวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือ 13 นักเตะ
    .
    เบื้องต้นเราขออธิบายและขออภัย
    .
    1. ทีมข่าวไม่เคยดักฟังวิทยุหรือการสื่อสารของราชการอย่างที่มีผู้กล่าวอ้าง เสียงที่ปรากฎในข่าวมาจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงที่ประชาชนฟังได้ทั่วไป รวมทั้ง ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zello โดยผู้พูดคืออาจารย์พลสิงห์ แสนสุข ประธานศูนย์พญาอินทรี ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลข่าวสาร(ว.8)ที่ประชาชนเข้าถึงได้ปกติ 

    2. ข่าวดังกล่าวถูกนำเสนอ พร้อมกับการสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อสอบถามความถูกต้อง โดยช่องได้รายงานคำยืนยันของผู้ว่าว่าข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนทันที การนำเสนอในโซเชียลมีเดียเฉพาะภาพเสียงจากวิทยุสื่อสารภาพเดียว แล้วระบุว่าเราดักฟังคลื่นราชการจึงเป็นการตัดตอนบริบทที่ทำให้สังคมเข้าใจข้อมูลไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง

    3. เราขออภัยที่รีบเผยแพร่เสียงนี้ จนเกิดความไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งในเชิงการทำงานของเจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ 13 นักเตะ
    .
    เป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดขึ้น หลังจากนี้เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดและปฏิบัติภารกิจนำเสนอข่าวและข้อมูล ช่วยเหลือน้องๆ นักเตะทีมหมูป่าด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่
    .
    ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ขออภัยต่อความไม่สบายใจของทุกท่านครับ

    ขณะที่ กองบรรณาธิการข่าวพีพีทีวี เผยแพร่คำขอโทษ ต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป กรณีที่มีภาพอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ขึ้นบินในช่วงเวลาเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในภารกิจลำเลียงผู้ประสบภัยถ้ำหลวงไปยังโรงพยาบาล 

    พร้อมยืนยันด้วยว่า ทางกองบรรณาธิการฯ มิได้มีเจตนาฝ่าฝืนข้อพึงปฏิบัติในฐานะสื่อมวลชนที่ประจำการอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางกองบรรณาธิการฯ ขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และขออภัยอย่างสูงหากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลกระทบใดๆ และยืนยันว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น