โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

'มหาดไทย' สั่ง ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ช่วยผู้สูญหาญที่ถ้ำหลวงจนเสร็จภารกิจ ก่อนย้ายไปพะเยา

Posted: 05 Jul 2018 10:40 AM PDT

ที่มาคำสั่งกระทรวงมหาดไทย จากเฟสบุ๊ค Thapanee Ietsrichai

6 ก.ค.2561 ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.พะเยา ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จ.เชียงราย เฉพาะภารกิจช่วยผู้สูญหาญที่ถ้ำหลวงจนเสร็จภารกิจ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ เรื่อง "แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ" โดยที่ ณรงค์ศักดิ์ เป็น 1 ใน 11 คน ของข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทยที่พ้นจากตําแหน่งเดิม และแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง โดยประกาศดังกล่าวเป็นผลมาจาก มติ คณะรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โบว์ ณัฏฐา' แจ้งความ ศรีวราห์ ย้ำตำรวจต้องซื่อสัตย์ หวังหยุดสังคมอุดมมโน

Posted: 05 Jul 2018 06:30 AM PDT

แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แจ้งความเอาผิด พล.ต.อ.ศรีวราห์ เหตุให้สัมภาษณ์โยงกลุ่มตนกับกลุ่มโพสต์โจมตี รอง ผบ.ตร. ปมทีมหมูป่าฯ ชี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่พยายามโยง-บิดเบือนให้สังคมเข้าใจว่ากลุ่มมีความเชื่อมโยงกับเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ต่างๆ 
 
5 ก.ค.2561 ที่ สน.พญาไท เวลา 10.30 น. ณัฏฐา มหัทธนา หรือ "โบว์" ครูและนักกิจกรรมเพื่อสังคม หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เดินทางพร้อมนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน จากเหตุที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กรณีที่มีเฟสบุ๊คโพสต์ล่ารายชื่อให้ถอดถอนตน โดยระบุตอนหนึ่งว่าเพจที่มีการทำภาพโจมตีพร้อมคำพูดว่าตนจะเอาตัวเด็กๆ เข้าคุกนั้นมีที่มาจากเขมร และมีการพาดพิงหลายครั้งว่ากลุ่มคนที่ทำได้แก่ พวกโกตี๋ กลุ่มคนที่มาเรียกร้องอ่านประกาศหน้ายูเอ็น และพวกที่โดนยึดตึก 100 ปี โดยน.ส.ณัฏฐา กล่าวว่าเป็นที่ชัดเจนสำหรับคนทั่วไปที่ได้ชมคลิปการแถลงข่าว ว่า "กลุ่มคนที่มาเรียกร้องหรืออ่านประกาศหน้ายูเอ็น" นั้น น่าจะหมายถึงตนและกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในการชุมนุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งตนได้ยืนอ่านประกาศต่อหน้า พล.ต.อ.ศรีวราห์ ที่ยืนดูอยู่ ก่อนมอบตัวขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจและถูกนำตัวมาควบคุมไว้ถึงสองคืนที่ห้องขัง สน.พญาไท 
 
ณัฏฐา กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่คนระดับรอง ผบ.ตร. สามารถจะพูดจาให้ร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยไม่มีมูล และเป็นการพูดออกสื่อทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ตนและพวกเกิดความเสียหาย แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับการเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชน เพราะการพูดความจริงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนที่มีความซื่อสัตย์ และหากคนที่ทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมไม่ให้ความสำคัญกับคุณสมบัตินี้ ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าประชาชนจะหาความเป็นธรรมได้จากใคร
 
นอกจากนี้ ณัฏฐา ระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามเชื่อมโยงและให้ข่าวบิดเบือนให้สังคมเข้าใจว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีความเชื่อมโยงกับเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ต่างๆ นานา ซึ่งตนมองว่าเป็นการให้ร้ายคนทั้งสองกลุ่มโดยไม่มีมูล แล้วครั้งนี้ยังมีการทำซ้ำอีก จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาและในอนาคต จะมีคำพูดใดของรองผบ.ตร.ที่เชื่อถือได้บ้าง
 
"การมาแจ้งความครั้งนี้จึงถือเป็นการยืนยันความสำคัญของการใส่ใจกับข้อเท็จจริง และการสื่อสารที่สร้างสรรค์ สังคมต้องช่วยกันส่งเสริมวัฒนธรรมนี้ เราได้เห็นแล้วว่าการสร้างข่าวเท็จต่างๆแพร่ขยายได้เร็วและสร้างความเสียหายได้มากเพียงใด หากไม่ช่วยกันยับยั้ง เมืองไทยก็จะกลายเป็นสังคมอุดมมโน ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าทางความคิด" ณัฏฐา กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาญณรงค์ บุญหนุน : ภาพสะท้อนการเมืองไทยผ่านความขัดแย้งระหว่างนิกาย-กม.คณะสงฆ์

Posted: 05 Jul 2018 06:07 AM PDT

มองกฎหมายคณะสงฆ์ผ่านประวัติศาสตร์ เมื่อการเมืองในอาณาจักรกับการเมืองในศาสนจักรสัมพันธ์กันเรื่อยมาและส่งผลต่อกันและกัน ผลลัพธ์คือกฎหมายคณะสงฆ์ในช่วงเวลาต่างๆ ย่อมแอบอิงกับสถานการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุค

- กฎหมายคณะสงฆ์คือภาพสะท้อนระบบและเจตจำนงทางการเมืองในแต่ละยุค

- ความขัดแย้งระหว่างธรรมยุติและมหานิกายมีผลต่อการออกกฎหมายคณะสงฆ์

- บทบาทของมหานิกายที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกประชวร ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่พุทธศาสนา บวกกับความสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกาย ทำให้สายธรรมยุติรู้สึกไม่มั่นคง

- การแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งนี้ส่งผลต่อวงการสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างไร

ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีมติเอกฉันท์ 217 คะแนน เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวดในวันที่ 5 ก.ค. 2561 โดยมีสาระสำคัญคือการคืนพระราชอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม และแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ หลังจากที่มีการแก้ไปแล้วรอบหนึ่งเมื่อปลายปี 2559 เพื่อคืนพระราชอำนาจการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชแก่พระมหากษัตริย์

'ประชาไท' สนทนากับ ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไทยนั้นสัมพันธ์กับรูปแบบการปกครองและความไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายธรรมยุติและฝ่ายมหานิกายมาโดยตลอด ส่วนการแก้กฎหมายครั้งนี้ อาจส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ

อาณาจักร-ศาสนจักร

ชาญณรงค์กล่าวว่า หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เป็นการเข้ามาควบคุมความประพฤติของสงฆ์ผ่านการให้โอวาทมากกว่าเป็นการใช้กฎหมายบังคับ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการออกกฎหมายตราสามดวง ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเรียกว่า กฎพระสงฆ์ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการออกกฎเกณฑ์ตามวาระที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น โดยให้กรมสังฆการีมีอำนาจดูแลจัดการคณะสงฆ์และการละเมิดวินัย แต่ยังไม่มีการสร้างรูปแบบการปกครอง

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ประเทศไทยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ พระมหากษัตริย์ต้องการสร้างสถาบันสงฆ์ให้มีความเรียบร้อย จึงมีการออก พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 หรือ พ.ศ.2445 โดยในตอนต้นของกฎหมายฉบับนี้มีคำปรารภว่า

'ทุกวันนี้การปกครองข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไข และจัดตั้งแบบแผนการปกครองให้เรียบร้อยเจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นหลายประการแล้ว

'และฝ่ายพระพุทธจักรนั้น การปกครองสังฆมณฑล ย่อมเป็นการสำคัญทั้งในประโยชน์แห่งพระศาสนา และในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักรด้วย ถ้าการปกครองสังฆมณฑล เป็นไปตามแบบแผนกันเรียบร้อย พระศาสนาก็จะรุ่งเรืองถาวร และจะชักนำประชาชนทั้งหลายให้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสโนวาท ประพฤติสัมมาปฏิบัติและร่ำเรียนวิชาคุณในสังฆ์สำนักยิ่งขึ้นเป็นอันมาก'

"พูดง่ายๆ คือต้องการให้การปกครองสังฆมณฑลเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อย เป็นประโยชน์แก่ศาสนาและอาณาจักร ในแง่นี้ก็คือการเข้ามาคุมคณะสงฆ์ การสร้างรูปแบบการปกครองสงฆ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของรัฐ มันจึงอาจไม่เกี่ยวกับวินัยโดยตรง

"นอกจากนี้ ยังมีข้อความของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสนิพนธ์ไว้ตอนท้ายของแถลงการณ์คณะสงฆ์ที่ออกมาก่อนหน้า พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ว่า ภิกษุสงฆ์แม้มีวินัยเป็นกฎหมายสำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจแห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอีกส่วนหนึ่งซึ่งตราไว้เฉพาะหรือเพื่อคนทั่วไป และควรอนุวัตตามบ้านเมืองโดยไม่ขัดต่อกฎหมายสองประเภทนี้ สรุปคือภิกษุสงฆ์ต้องมีกฎหมายและพึงฟังอยู่ 3 ประเภท คือกฎแผ่นดิน กฎวินัย และจารีต ที่น่าสนใจคือกฎหมายแผ่นดินมาก่อนพระวินัย พ.ร.บ. นี้เป็นกฎหมายแผ่นดินจึงสมควรเรียนรู้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง" ชาญณรงค์ กล่าว

การเมืองทางโลก-การเมืองทางสงฆ์

ภายหลังจากมี พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 พระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งคณะสงฆ์ที่เป็นผู้ปกครองระดับสูงลงไปจนกระทั่งถึงระดับเจ้าอาวาสพระอารามหลวงบางแห่ง กล่าวได้ว่ามีอำนาจเต็มที่ในการจัดการคณะสงฆ์โดยเฉพาะตำแหน่งทางการปกครอง

นอกจากนี้ คณะธรรมยุติยังได้สิทธิ์ปกครองตนเองโดยไม่ต้องขึ้นกับการปกครองของผู้ปกครองใดๆ ที่มาจากฝ่ายมหานิกาย ขณะที่ฝ่ายธรรมยุติหากได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองก็สามารถปกครองพระสงฆ์มหานิกายได้ ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของฝ่ายมหานิกายที่รู้สึกว่าการจัดสรรอำนาจไม่มีความเป็นธรรมเมื่อคนกลุ่มน้อยกว่ามีสิทธิ์ปกครองคนกลุ่มใหญ่กว่า

"เป็นเหตุให้กลุ่มยุวสงฆ์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มปฏิสังขรพระศาสนาวางแผนประชุมกันลับๆ หาวิธีเข้าถึงรัฐบาลเพื่อเสนอ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่ปรับรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับระบอบใหม่ในช่วงเวลานั้น คือสมเด็จพระสังฆราชไม่มีอำนาจปกครองโดยตรง แต่ปกครองผ่านสังฆมนตรี สังฆสภา และคณะวินัยธรซึ่งมีลักษณะเหมือนฝ่ายตุลาการของฝ่ายบ้านเมือง

"ในช่วงนี้ผมคิดว่าความขัดแย้งระหว่างธรรมยุติกับมหานิกายไม่ได้ลดลง แต่ขัดแย้งกันมากกว่าเดิม เพราะตอนที่เสนอ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มีคำปรารภว่าการปกครองสงฆ์แบบที่เป็นอยู่ หมายถึงตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เป็นการไม่เคารพผู้อาวุโส คือพระหนุ่ม เณรน้อย ที่มาทำหน้าที่ในสังฆสภาสามารถอภิปรายพระเถระได้ จึงยุบเสีย และที่ว่าขัดแย้งก็คือสมาชิกที่เลือกมาจากคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเลือกยังไง พระสงฆ์จากมหานิกายก็เยอะกว่า เวลามีการอภิปรายลงมติทำให้กลุ่มธรรมยุติเสียเปรียบพอสมควร พอถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงทำการแก้กฎหมาย พูดง่ายๆ คือไม่ให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง รวบอำนาจมาไว้ที่มหาเถรสมาคม"

ธรรมยุติ-มหานิกาย

ชาญณรงค์ อธิบายอีกว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี 2505 ระบุให้มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งไม่ต่ำกว่า 4 รูป แต่ไม่เกิน 8 รูป ขณะที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขปี 2535 ขยายเป็น 12 รูป

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขปี 2535 ยังแก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เปลี่ยนเป็นระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และมีการขยายความว่าในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลงให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามของสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีความอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

"ผมคิดว่าช่วงที่มีการปรับปรุงปี 2535 ความตึงเครียดระหว่างธรรมยุติกับมหานิกายเริ่มผ่อนคลายลงมาก ไม่มีการดูหมิ่นกันออกนอกหน้าแล้ว ไม่ขัดแย้งกันเหมือนรุ่นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ความผ่อนคลายนี้แสดงผ่านการปรับปรุงกฎเกณฑ์การได้มาซึ่งตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และการขยายจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมเพิ่มเป็น 12 รูปทำให้บรรดาพระสงฆ์ที่อยู่ในสายมหานิกายมีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการด้วย อีกทั้งความอาวุโสโดยสมณศักดิ์ก็มีผลสำคัญ เพราะช่วงนั้นมีสมเด็จทางสายมหานิกายอยู่มาก ก็ค่อยๆ ขับเคลื่อนมาตามลำดับ สมเด็จในสายมหานิกายมีเพิ่มขึ้นขณะที่สายธรรมยุติกลับน้อยลง นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สายมหานิกายมีบทบาทสูง

"โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวรทรงอาพาธ ปี 2547 ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ในช่วงเวลานั้นทำให้สายมหานิกายเข้าไปมีอำนาจมากพอสมควร อย่างเช่นสมเด็จเกี่ยว (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)) ก็มีบทบาทสูงในคณะสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ทำให้สายมหานิกายได้ชั้นสมเด็จ ได้ชั้นพระราชาคณะ พอสมเด็จเกี่ยวมรณะภาพหลังจากนั้นก็เหลือสมเด็จวัดปากน้ำ วัดชนะสงคราม ก็ขึ้นมา ความอาวุโสได้ ทำให้มหานิกายมีบทบาทสูง

"เท่ากับเป็นสิบสามสิบสี่ปีที่มหานิกายมีบทบาทสูงและแผ่บทบาทนี้ออกไปมากขึ้นๆ ผนวกกับความสัมพันธ์ระหว่างมหานิกายกับวัดธรรมกาย เพราะธรรมกายก็เป็นศิษย์สมเด็จเกี่ยว สมเด็จเกี่ยวก็เป็นศิษย์วัดปากน้ำด้วย มีสายสัมพันธ์กันอยู่ แล้วกรณีวัดพระธรรมกายมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น มันก็สะท้อนว่าคณะสงฆ์ไม่อยากปฏิเสธธรรมกายเพราะกลัวภัยคุกคามที่มาจากเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบทบาทเข้ามาสนับสนุนธรรมกายให้มีบทบาทขึ้นมา เมื่อฝ่ายปกครองสงฆ์กับฝ่ายธรรมกายผนึกกันทำให้ฝ่ายมหานิกายดูน่ากลัว"

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้บทบาทของมหานิกายโดดเด่นขึ้นคือการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ชาญณรงค์ อธิบายว่าสายมหานิกายมีความเป็นเสรีนิยมอยู่พอสมควร อย่างน้อยในด้านการศึกษาเล่าเรียนของสายมหานิกายก็ไม่ค่อยจำกัดตัวเอง ยอมรับความคิดใหม่ๆ ในด้านวิถีปฏิบัติ

"ขณะที่ธรรมยุติต้องระมัดระวังในแง่พระธรรมวินัย ความคิดแบบก้าวหน้า และการแสดงออก จะเรียกว่าอนุรักษนิยมก็ได้ การบุกเบิกสิ่งใดก็ไม่อยากทำแบบโผงผาง การเรียกร้องสิทธิจากรัฐก็ไม่ทำ เพราะไม่อยากเปิดตัว ไม่อยากถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐและการเมือง แต่สายมหานิกายไม่ค่อยสนใจ ก็ไปมีความสัมพันธ์กับนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองกลุ่มที่ถูกรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549

"ท่าทีที่เปิดรับความคิดใหม่ๆ และบุกเบิกอะไรใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นในสายมหานิกายมากกว่า ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเข้าไปมีบทบาทในมหาเถรสมาคมด้วย เริ่มทำให้ท่านเข้าไปมีบทบาทในการผลักดัน การเปิดรับวิทยากรตะวันตก เปิดรับความคิด เพื่อปรับปรุงการเผยแผ่คำสอน การจัดอีเวนต์ต่างๆ แม้กระทั่งการประชุมในวันวิสาขะโลก การประชุมร่วมกันระหว่างเถรวาทและมหายาน ล้วนเป็นบทบาทของอธิการบดีมหาจุฬาฯ ส่วนหนึ่งเมื่อพระสายมหานิกายสมณศักดิ์ถึงและเข้าไปมีบทบาทในมหาเถรสมาคม ปรากฏว่าคนที่มีความคิดก้าวหน้าเข้าไปก็ทำให้มหานิกายเติบโตผ่านการศึกษา ขณะที่การศึกษาของสายธรรมยุติหดตัว"

แต่สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป

"ผมคิดว่ามีสายที่สมาทานธรรมยุติที่อาจเป็นพระและฆราวาส ที่รู้สึกว่าปล่อยไว้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่จะมีสมเด็จพระสังฆราชจากสายมหานิกายและมีความสัมพันธ์กับธรรมกาย มันสร้างความไม่มั่นคงมากในสายธรรมยุติ"

และหลังจากนี้บทบาทของสายมหานิกายคงมีการชะลอตัวพอสมควร เพราะมีบาดแผลจากความเสรี ความไม่ระมัดระวังด้านพระธรรมวินัยมากเกินไป ไม่ได้มีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ทรงวินัยแบบธรรมยุติ เพราะฉะนั้นการควบคุมมหานิกายจึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของฝ่ายบ้านเมืองที่จะทำได้ โดยอ้างว่าพระสายมหานิกายไม่ค่อยอยู่ในพระธรรมวินัย การจะให้สมณศักดิ์ การเลื่อนชั้นเป็นผู้ปกครอง ก็อาจมีเหตุผลไม่ให้ขึ้นไปได้

"ในกรณีที่พระมหากษัตริย์เห็นว่าพระสงฆ์ที่ควรได้รับการโปรดเกล้าให้มีอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็อาจเทไปทางสายธรรมยุติมากกว่า เพราะมีภาพลักษณ์พิเศษที่ทำให้คนเชื่อว่ามีการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยกว่าสายมหานิกาย ในแง่นี้มีผลกระทบต่อสายมหานิกายแน่นอน"

ผลที่จะตามมา

มองในแง่ผลที่จะติดตามมาจากการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ครั้งนี้ ชาญณรงค์ กล่าวว่า ในแง่จิตวิทยา คณะสงฆ์ทั้งธรรมยุติและมหานิกายจะมีความรู้สึกว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยมีความมั่นคงสูง เพราะความมั่นใจของคณะสงฆ์ไทยอยู่ที่การอุปถัมภ์ของรัฐ เมื่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของรัฐเข้ามาสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ค่อนข้างตรงมาก ย่อมเป็นเจตนารมย์ของคณะสงฆ์ไทยอยู่แล้วที่จะให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศเข้ามาอุปถัมภ์ค้ำชู เสียงที่ออกมาส่วนใหญ่จึงเห็นดีด้วย

"แต่ในแง่การแต่งตั้ง พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกสรรเองหรือมีกระบวนการอื่นที่ทำให้การเลือกสรรเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ถ้ากระบวนการนั้นยังเป็นระบบอุปถัมภ์อยู่เหมือนที่เคยเป็นก็อาจมีปัญหาถ้าผู้ที่สนองพระบรมราชโองการไม่จริงจังหรือไม่โปร่งใสในการเลือก เพราะภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่มั่นคงในสังคมไทย คนที่จะเข้าถึงอำนาจก็คือคนที่มีความใกล้ชิดกับอำนาจ"

ส่วนในแง่การควบคุมดูแลพระสงฆ์ให้อยู่ในพระธรรมวินัยนั้น ชาญณรงค์ กล่าวว่า

"ผมคิดว่าระบบที่มีการควบคุมให้อยู่ในพระธรรมวินัยก็มีส่วนดี แต่ในแง่การปล่อยให้คณะสงฆ์พัฒนาตัวเองอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่เข้าไปอิงอาศัยอำนาจรัฐจะเกิดขึ้นยากมากในอนาคต ส่วนตัวคิดว่ารัฐไม่ควรมีบทบาทกำหนดรูปแบบของคณะสงฆ์ รูปแบบวัตรปฏิบัติของพระ ควรปล่อยให้คณะสงฆ์ได้พัฒนาตัวเองภายใต้อุดมการณ์ พระธรรมวินัย และสิทธิตามกฎหมาย น่าจะเกิดความมั่นคงยั่งยืนกว่าในอนาคต"

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องการขึ้นเงินเดือน ‘ศาล-องค์กรอิสระ’ หลัง สนช. จ่อพิจารณาขึ้นอีก 10% ย้อนหลัง 4 ปี

Posted: 05 Jul 2018 04:31 AM PDT

จ่อขึ้นเงินเดือน ศาล-องค์กรอิสระ ประมาณ 10% ย้อนหลัง 4 ปี เตรียมงบฯ รวม 450 ล้าน ชี้ให้สอดคล้องกับที่เคยปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือน-ทหาร-ตำรวจ พร้อมชวนย้อนดูปี 57 คสช. อนุมัติเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวข้าราชการตุลาการ-ดะโต๊ะยุติธรรม งบฯ 390 ล้าน ขณะที่ปี 58 สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ปรับเพิ่มเงินเดือนของตุลาการทหาร กับอัยการศาลทหารให้เทียบเท่าศาลพลเรือน

4 ก.ค. 2561 วอยซ์ทีวี รายงานว่า ยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า สนช.จะมีวาระการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้ ผู้บริหารระดับสูงของข้าราชการด้านกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ ให้สอดคล้องกับที่เคยปรับขึ้นเงินเดือนให้ ข้าราชการพลเรือน ครู ทหาร ตำรวจ และรัฐสภา ไปเมื่อเดือนธ.ค. 2557 ตามการปรับแก้ร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับคือ 1. ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 3. ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 4. ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 5. ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ 

ยุทธนา กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าตอบแทนจะย้อน (หมายความว่าจะได้ค่าส่วนต่างย้อนหลัง) ไปถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะย้อนไปถึงปี 2548 เนื่องจากที่ผ่านมา กสม.ได้รับเงินเดือนตามพระราชกฤษฎีกา ไม่เป็นกฎหมายเหมือนองค์กรอิสระอื่น พร้อมกันนี้ได้เตรียมงบประมาณในส่วนการขึ้นค่าตอบแทนนี้ไว้แล้ว โดยแบ่งเป็นตั้งแต่ปี 2557-2561 วงเงิน 350 ล้านบาท และปี 2561-2562 วงเงิน 100 ล้านบาท รวม 450 ล้านบาท โดยทั้งหมดนี้ปรับขึ้นจากเดิมประมาณ 10% โดยบัญชีอัตราเงินเดือนและประจำตำแหน่งมีดังนี้

1.ข้าราชการตุลาการซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2554 โดยประธานศาลฎีกา เงินเดือน 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท

2.ตุลาการศาลปกครองซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2554 โดยประธานศาลปกครองสูงสุด เงินเดือน 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท

3.ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2555 โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 81,920 บาท จากเดิม 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท จากเดิม 42,500 บาท

4.ข้าราชการอัยการซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2554 โดยอัยการสูงสุด เงินเดือน 81,920 บาท จากเดิม 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท จากเดิม 42,500 บาท

5.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งปรับเงินเดือนครั้งล่าสุดปี 2555 รวมทั้งประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เงินเดือน 81,920 บาท จากเดิมที่ 68,140 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท จากเดิม 45,000 บาท ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์อิสระ เงินเดือน 80,540 บาท จากเดิม 67,060 เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาทซึ่งเท่ากับของเดิม

โดยก่อนหน้านี้ ไทยพับลิกา รายงานว่า ในปี 2557 หลังการรัฐประหาร คสช. ได้มีการอนุมัติเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม โดยใช้งบประมาณกลางปี 2557 จำนวน 390 ล้านบาท มีผลใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2557

นอกจากขึ้นเงินเดือนข้าราชการด้านกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระแล้ว ก่อนหน้านี้ปี 2558 สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหารฉบับใหม่ ปรับเพิ่มเงินเดือนของตุลาการทหาร กับอัยการศาลทหารเพื่อให้สอดคล้องกับค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลอื่น โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับใช้มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2498 หลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย เนื่องจากโครงสร้างและกิจการทางทหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเพื่อเป็นการยกระดับศาลทหารให้เทียบเท่ามาตรฐานศาลพลเรือน

ทั้งนี้ ไอลอว์ เคยรายงานไว้ว่า เงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่งสำหรับผู้พิพากษาเริ่มต้นที่ประมาณ 36,000 บาท ส่วนตำแหน่งพนักงานอัยการปัจจุบันเริ่มต้นที่ประมาณ 33,000 บาท ซึ่งอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่รับราชการและอาจสูงสุดได้ถึงประมาณ 140,000 บาท ซึ่งปกติตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลพลเรือนจำเป็นต้องเรียนจบกฎหมายและสอบผ่านหลักสูตรของเนติบัณฑิตยสภาก่อน จึงจะมีคุณสมบัติครบถ้วน ขณะที่ผู้พิพากษาศาลทหารบางส่วนจบด้านกฎหมาย แต่อีกบางส่วนเช่นกันเป็นข้าราชการทหารที่ไม่ต้องมีความรู้กฎหมายก็ได้ ส่วนอัยการทหารแม้จะจบด้านกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ต้องผ่านการสอบของเนติบัณฑิตยสภามาก่อน

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกชัย ยันเป็นห่วงทีมหมูป่าฯ ไม่ต่างกัน แต่ประสิทธิภาพของทหารก็ต้องตั้งคำถาม

Posted: 05 Jul 2018 03:37 AM PDT

หลังกลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจสังคม 15 คน มาประณามที่หน้าบ้าน 'เอกชัย หงส์กังวาน' เหตุตั้งคำถามปมประสิทธิภาพรัฐ-กองทัพในการช่วยเหลือทีมหมูป่า เจ้าตัวเผยไม่ได้รู้สึกอะไร ย้ำมีสิทธิประท้วงตนได้ แต่ควรแจ้งล่วงหน้า ยันเป็นห่วงทีมหมูป่าไม่ต่างกัน แต่ประสิทธิภาพของทหารก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม

จากกรณีที่ 'กลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจสังคม' เดินทางมารวมตัวที่บริเวณหน้าบ้านของ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง หลังจากที่เขาเขียนเฟสบุ๊คแสดงความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพในการช่วยเหลือกรณีนักฟุตทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง และได้เดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้มีหน่วยกู้ภัยแห่งชาติขึ้นมา

โดยเวลาประมาณ 11.00 น. วันนี้(5 ก.ค. 2561) กลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจสังคม ทั้งหมด 15 คนได้เดินทางมาถึงที่บริเวณหน้าบ้านของเอกชัย ทั้งนี้ทางกลุ่มได้ชูแผ่นป้ายเขียนข้อความประณามเอกชัย พร้อมสลับกันพูดประณามเอกชัย โดยใช้เครื่องขยายเสียง(โทรโข่ง) พร้อมอ่านแถลงการณ์ซึ่งมีใจความว่า

จากสถานการณ์การช่วยน้องๆ ทั้ง 13 คน ผู้คนทั้งประเทศ หน่วยงานต่างๆ ระดมกำลังกันอย่างเต็มที่ท่ามกลางความกดดันเพื่อที่จะช่วย น้องๆ ให้ดีที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความเสียสละของเจ้าหน้าที่ในการทำภารกิจช่วยเหลือคน ถือเป็นการกระทำที่น่ายกย่องตามหลักมนุษยธรรม แต่กลับมีผู้ไม่หวังดีคือคุณ เอกชัย หงส์กังวาน ที่พยายมสร้างกระแสหยิบยกประเด็นต่างๆ เพื่อทำลายกำลังใจของผู้ปฎิบัติหน้าที่ และมุ่งหวังเชื่อมโยงทางการเมือง ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามหลักการแสดงออกที่หวังผลทางการเมือง ที่ไม่แยกแยะผิดชอบชั่วดี ความเหมาะสมตามหลักมนุษยธรรมและความเห็นใจคนไยด้วยกัน แสดงออกถึงการไร้ซึ่งการไร้วุฒิภาวะ พยายามปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคมไทยโดยไม่มีเหตุอันชอบธรรมทางกลุ่มจึงขอประณาม เอกชัย หงส์กังวาน ในพฤติกรรมต่ำทรามไร้สามัญสำนึก

ขณะเดียวกันหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจสังคม ระบุว่า กลุ่มตนเองได้ให้กำลังเจ้าหน้าที่ทุกคน แต่กลุ่มพบว่ามีบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่พยายามจะดิสเครดิตเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อทำให้การให้การช่วยเหลือเด็กๆ ล่าช้า พยายามตีกินทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่กลุ่มตนเองรับไม่ได้ เลยต้องพาเพื่อนที่ไม่เห็นด้วยเหมือนมาในวันนี้ เพื่อแสดงออกให้เห็นว่า พวกเราอยู่เคียงข้างกับทหารหน่วยซิล และเป็นกำลังใจให้กับทหารทุกท่าน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ เอกชัย ชี้แจงว่า ตนเองก็เป็นห่วงเด็กทั้ง 13 คนไม่น้อยไปกว่าพวกคนไทยทั้งประเทศ แต่สิ่งที่ตนตั้งคำถามคือ ทำไมคนไทยถึงยังแต่อยู่กับความคิดว่า ทหาร คือหน่วยกู้ภัย ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน

"ทหารมีปัญญาซื้อเรือดำน้ำ แต่กลับไม่มีปัญญาซื้อถ่านฉาย มีเงินซื้อเรือดำน้ำ แต่ไม่พอถ่านไฟฉายคุณกลับเปิดรับบริจาคตั้งแต่วันแรกๆ เลย คุณบอกว่าเป็นหน่วยงานที่พร้อมที่สุด แต่ไม่มีกระทั่งถ่านไฟฉาย วันต่อมาก็ขอเครื่องสูบน้ำ จนกระทั่งเข้าวันที่ 7 เครื่องสูบน้ำถึงจะมา แล้วถ้าไม่มีเครื่องนี้จนป่านนี้ไม่รู้จะผ่านโถง 1 โถง 2 ได้หรือเปล่า"

ทั้งนี้ในขณะที่เอกชัยกำลังชี้แจง ทางกลุ่มฯ ก็ได้พูดแทรกโต้แย้งว่า อย่าเอาเรื่องดังกล่าวมาโยงกับการเมือง และค่อยๆเดินออกจากซอยบ้านของเอกชัยไป โดยระหว่างที่ทางกลุ่มได้เข้ามาทำกิจกรรม ได้มีเจ้าหน้าตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยด้วย

เอกชัย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เขาไม่ได้ทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีกลุ่มดังกล่าวมาที่บ้าน เพิ่งจะรู้จากเพื่อนตอน 09.00 น. ทั้งนี้เห็นว่าการมาแสดงความคิดเห็น หรือประท้วงตนเองแบบนี้ เป็นสิทธิที่ทางกลุ่มสามารถทำได้ เพียงแต่ของให้มีการแจ้งล่วงหน้าก่อน เพราะตนเองไม่ได้อยู่บ้านทุกวัน

ชายพกมีดพับบุกประชิดเอกชัย หน้าทำเนียบ ตร.ล็อคตัวทัน

มือชกเอกชัย สารภาพถูกปรับ 1 หมื่น รอลงอาญา 2 ปี

'เอกชัย' ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ชนะสงคราม ตามหมายจับคดีชุมนุม 'คนอยากเลือกตั้ง'

สำหรับ เอกชัย นอกจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปหาที่บ้านพักเป็นประจำช่วงที่เขาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว  เขายังเคยถูกบุคคลผู้เห็นต่างทางการเมืองกับเขา คือ ฤทธิไกร ชัยวรรณศาสน์  ดักทำร้ายร่างกายที่บริเวณป้ายรถเมล์ปากซอยเข้าบ้านของเขา จนมีการแจ้งความดำเนินคดีและ ฤทธิไกร ถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท และเนื่องจากให้การรับสารภาพมีเหตุให้บรรเทาโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิกิพีเดียอิตาลี ปิดเว็บชั่วคราวประท้วงกฎหมายลิขสิทธิออนไลน์ของสหภาพยุโรป

Posted: 05 Jul 2018 03:06 AM PDT

เว็บไซต์วิกิพีเดียฉบับภาษาอิตาลีปิดหน้าเว็บชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2561 เพื่อประท้วงร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ของสหภาพยุโรป โดยกฎหมายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะสร้างผลกระทบต่อวัฒนธรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมีม การตัดต่อล้อเลียน หรือการตัดต่อดัดแปลงอื่นๆ ทั้งนี้ยังอาจจะส่งผลกระทบต่องานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจากการที่ร่าง กม. ดังกล่าวสั่งให้ต้องจ่ายค่าการเชื่อมโยงลิงค์ข่าวต่างๆ ด้วย

5 ก.ค. 2561 ในขณะที่ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ของสหภาพยุโรปกำลังอยู่ในขั้นตอนการลงมติ เว็บไซต์วิกิพีเดียฉบับภาษาอิตาลีก็ประท้วงด้วยการปิดตัวเองชั่วคราวเปลี่ยนให้การเชื่อมโยงเข้าสู่บทความทุกหน้ากลายเป็นการเชื่อมโยงไปสู่หน้าแถลงการณ์ของพวกเขาที่ระบุว่าถ้าหากกฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้ "วิกิพีเดียเองก็เสี่ยงจะปิดตัวลง"

วิกิพีเดียอิตาลีระบุต่อไปว่ากฎหมายลิขสิทธิฉบับใหม่ของอียู "อาจจะทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะแชร์บทความหนังสือพิมพ์ลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือค้นข้อมูลได้ตามหน้าเว็บเครื่องมือค้นหา"

สำหรับเว็บไซต์วิกิพีเดียที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นแม้ว่าจะไม่มีการปิดตัวชั่วคราวหรือถูกตัดออกจากหน้าบทความ แต่ก็มีการเผยแพร่แบนเนอร์โฆษณาขนาดใหญ่ที่ขอร้องให้ผู้อ่านติดต่อกับผู้แทนยุโรปหรือ ส.ส. ช่วงก่อนการโหวต

วิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์ที่มีคนทั่วโลกเข้าชมจำนวนมากติดอันดับที่ 5 จากการสำรวจของอเล็กซา พวกเขาเป็นองค์กรที่ทำการต่อต้านอย่างหนักมาโดยตลอดต่อมาตรการเรื่องลิขสิทธิจากอียูที่เป็นตลาดดิจิทัลรวมตลาดเดียว มีสองมาตราจากร่างกม.ฉบับดังกล่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์คือมาตรา 11 และมาตรา 13

มาตรา 13 ของร่างกม. ลิขสิทธิ์ออนไลน์อียูระบุว่าเว็บไซต์จะต้องบังคับใช้มาตรการทางลิขสิทธิแม้แต่กับเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง นั่นหมายความว่าเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างๆ จะต้องคอยตรวจเช็คเนื้อหาทุกเนื้อหาที่ถูกอัพโหลดขึ้นเว็บซึ่งถ้าใช้คนทำจะยุ่งยากมากในระดับเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเว็บต่างๆ ก็จะถูกบีบให้ใช้วิธีการตรวจเช็คอัตโนมัติแทน แต่นั่นก็มีปัญหาตามมาอีกเพราะระบบตรวจเช็คนี้จะแพงมากและมีโอกาสผิดพลาดสูง เรื่องระบบตรวจลิขสิทธิอัตโนมัติที่ผิดพลาดนี้เคยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาแล้วในกรณีของเว็บไซต์ยูทูบ

ชาวเน็ตที่ต่อต้านมาตรา 13 นี้ต่างก็พากันเรียกว่าเป็น "เครื่องมือเซนเซอร์" หรือ "เครื่องกรองการอัพโหลด" ชวนให้กังวลว่าอาจจะทำให้วัฒนธรรมหรือสื่อบันเทิงที่ผลิตเผยแพร่กันเองบนอินเทอร์เน็ต อย่างมีม การตัดต่อรีมิกซ์ การยั่วล้อ และผลิตผลอื่นๆ อาจจะไม่สามารถเผยแพร่ได้อีกต่อไป

ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะระบุว่ามีการงดเว้นการบังคับใช้กับ "สารานุกรมออนไลน์ที่ไม่แสวงผลกำไร" แต่ก็ทำให้วิกิพีเดียกังวลในเรื่องนี้อยู่ดี นอกจากจิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดียจะต่อต้าน กม. นี้แล้ว ทิม เบิร์นเนอร์-ลี ผู้คิดค้นเวิร์ลไวด์เว็บก็ต่อต้านในเรื่องนี้ด้วย

อีกมาตราหนึ่งคือมาตราที่ 11 ว่าด้วยการจ่ายค่าธรรมเนียมการทำลิงค์สู่เนื้อหาต่างๆ ทำให้ผู้คนเรียกว่าเป็นมาตรา "ภาษีลิงค์" และสร้างภาระให้กับบรรษัทไอทีใหญ่ๆ ที่มีลิงค์ในเว็บมากมายอย่างกูเกิล และเฟสบุ๊คมาก และขณะเดียวกันก็จะสร้างภาระให้กับสื่อหรือผู้นำเสนอเนื้อหาขนาดเล็ก นอกจากนี้ตัวกฎหมายเองก็มีปัญหาไม่มีการกำหนดนิยามชัดเจนว่า "ลิงค์" คืออะไร ซึ่งผู้วิจารณ์กฎหมายนี้กังวลว่าจะถูกรัฐบาลนำมาอ้างใช้ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้

นอกจากชาวไอทีแล้วนักวิชาการยุโรป 169 ราย ลงนามในจดหมายต่อต้านกฎหมายนี้โดยระบุว่ามันเป็น "กฎหมายชุดที่แย่" ที่อาจจะถูกใช้จำกัดการรับส่งข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตยได้

ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการออกกฎหมายนี้คือ แอ็กเซิล ฟอสส์ สมาชิกสภายุโรปชาวเยอรมนี เขาปกป้องกฎหมายฉบับนี้และอ้างว่ามี "กลุ่มที่มีฐานใหญ่โต" อยู่เบื้องหลัง "การใส่ร้าย" กฎหมายฉบับนี้ ฟอสส์บอกว่าในปัจจุบันระบบลิขสิทธิ์มีลักษณะ "ไม่สมดุลอย่างมาก" จึงต้องมีกฎหมายนี้ ฟอสส์อบกอีกว่าการสร้างลิงค์ "เพื่อจุดประสงค์ส่วนบุคคล" จะถูกยกเว้นไม่ถูกนับรวมในการบังคับกฎหมายนี้ ซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับส่วนที่ใช้ด้วยจุดประสงค์ทางการค้าเท่านั้น

ฟอสส์บอกอีกว่ามันจะไม่กลายเป็นเครื่องกรองการอัพโหลดแบบที่ผู้ตีความ มันจะส่งผลต่ออินเทอร์เน็ตในระดับ ร้อยละ 1 ถึง ร้อยละ 5 เท่านั้น ฟอสส์ระบุว่ากฎหมายนี้จะส่งผลต่อ "กลุ่มคนที่เผยแพร่เนื้อหาที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์จริงๆ" และได้รับเงินจากการเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวเท่านั้น

สื่อบีบีซีระบุว่าถ้าหากมีการผ่านร่างกม. นี้แต่ละประเทศจะต้องนำไปใช้ร่างกม.ในแบบของประเทศตัวเอง ซึ่งในกรณีสหราชอาณาจักรนั้นจะต้องทำตามถ้าหากกม.นี้ประกาศมีผลบังคับใช้ในระดับอียูก่อนวันที่ 29 มี.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูอย่างเป็นทางการ

 

เรียบเรียงจาก

Italy Wikipedia shuts down in protest at EU copyright law, BBC, 03-07-2018

 

วิกิพีเดียอิตาลี

https://it.wikipedia.org/wiki/Wikipedia:Comunicato_3_luglio_2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งมหาเถรสมาคม

Posted: 05 Jul 2018 02:42 AM PDT

สนช.ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม

การประชุม สนช. (แฟ้มภาพ)

5 ก.ค.2561 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงสาระสำคัญของการจัดทำร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ต่อที่ประชุม สนช. จากนั้นที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์ 217 คะแนน เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยการพิจารณาของ สนช.นั้นไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเป็นการเฉพาะ แต่ได้พิจารณาสามวาระทั้งวาระรับหลักการ การพิจารณาเป็นรายมาตรา และให้ความเห็นชอบไปในคราวเดียวกัน

    โพสต์ทูเดย์ รายงานมีสาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า คือ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

    องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้

    สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้นนอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก

    วานนี้ (4 ก.ค.61) มีกลุ่มเครือข่ายองค์กรพุทธเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อขอให้ สนช. ระงับการพิจารณา ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และเข้าชื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.77 และ ม.148 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วย

    ทั้งนี้ เมื่อ 29 ธ.ค.2559 สนช. ก็มีมติผ่าน 3 วาระรวด เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แล้วครั้งหนึ่ง โดยถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยเป็นการแก้ไขจากกฎหมายฉบับเดิมคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 ที่กำหนดให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมก่อน โดยให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ร่างที่ สนช.เสนอแก้ไขนี้ เสนอมาตรา 3 ให้เป็นการแก้ไขมาตรา 7 ดังกล่าว บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ห้ามฉาย! 'When Mother's Away' สารคดีชีวิตนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมชาวเวียดนาม

    Posted: 05 Jul 2018 01:33 AM PDT

    FCCT ยกเลิกฉาย 'When Mother's Away' หลังสถานทูตเวียดนามร้องเรียน สน. ลุมพินี โดยสารคดีเกี่ยวกับชีวิตนักกิจกรรมชาวเวียดนาม ผู้เขียนบล็อกเผยแพร่ปัญหาสิ่งแวดล้อม-เสรีภาพการแสดงออก-ความอยุติธรรม และถูกตั้งข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี

    'When Mother's Away' ภาพยนตร์สารคดีชีวิตบล็อกเกอร์นักกิจกรรมชาวเวียดนาม 'มี นาม' หรือ 'Mother Muchroom' ซึ่งถูกตัดสินจำคุกในปี 2560 10 ปี หลังเผยแพร่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสารพิษรั่วจากโรงงานเหล็ก มีกำหนดฉายที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อบ่ายวานนี้ (4 ก.ค. 61) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ยกเลิกการฉายหลังได้รับการร้องเรียนจากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยตามรายงานของไอลอว์ซึ่งอ้างจากบางกอกโพสต์

    'Mother Muchroom' หรือ 'เหงียน ง็อก งือ กวิน' (Nguyen Ngoc Nhu Quanh) หนึ่งในสตรี 13 คนจากทั่วโลก ผู้ได้รับรางวัลสตรีผู้กล้าหาญสากล ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำปี 2560 ถูกคุมขังในเรือนจำมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2559 หลังจากที่เธอเขียนบล็อกเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เสรีภาพการแสดงออกและความอยุติธรรมในเวียดนาม และถูกตั้งข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม 

    FCCT แถลงถึงการยกเลิกการจัดฉายภาพยนตร์ว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม มีหนังสือจากสวนลุมพินีส่งมาถึง FCCT ขอความร่วมมือให้งดการจัดฉายภาพยนตร์ หลังจากนั้นได้รับการร้องเรียนจากสถานทูตเวียดนาม และมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาพูดคุยกับทาง FCCT ขอให้งดการฉายภาพยนตร์ FCCT ระบุด้วยว่า "เราเสียใจกับความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับผู้ที่วางแผนจะมาร่วมชมภาพยนตร์เรื่องนี้"

    ไอลอว์ได้สอบถามไปยัง Voice องค์กรที่ทำงานรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้จัดการฉายภาพยนตร์นี้ครั้งแรกวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ FCCT โดยการจัดฉายครั้งแรกดำเนินไปด้วยดีไม่มีการแทรกแซงใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ของ Voice ที่อยู่ในงานสังเกตว่ามีชายคนหนึ่งตั้งกล้องวิดีโอบันทึกการเสวนาหลังการฉายภาพยนตร์โดยตลอดแต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าชายคนดังกล่าวเป็นใคร

    เจ้าหน้าที่ของ Voice ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเหตุที่กิจกรรมฉายภาพยนตร์ครั้งแรกดำเนินไปโดยไม่มีการแทรกแซงอาจเป็นเพราะมีการประชาสัมพันธ์อย่างจำกัด แต่เนื่องจากการจัดฉายในรอบแรกมีกระแสตอบรับดี FCCT จึงจัดฉายภาพยนตร์ดังกล่าวเองอีกครั้งก่อนที่จะถูกแจ้งให้ยกเลิก

    ไอลอว์ตั้งข้อสังเกตว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศเวียดนามที่ FCCT ถูกขอให้ยกเลิก

    สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทยยกเลิกงานแถลงสถานการณ์สิทธิฯในเวียดนาม

    15 พฤศจิกายน 2560 การแถลงข่าว"เวียดนาม - นักโทษแห่งมโนธรรม 165 คน 999 ปีหลังลูกกรง" ก็ถูกยกเลิกหลังตัวแทน FCCT เข้าประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสน.ลุมพินีสองครั้ง และก่อนหน้านั้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เจ้าหน้าที่ก็เคย "ขอความร่วมมือ" ให้ยกเลิกการแถลงข่าวเปิดตัวรายงานของ Human Rights Watch เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม "Vietnam: End "Evil Way" Persecution of Montagnard Christians" โดยเจ้าหน้าที่สน.ลุมพินีระบุเหตุในการ "ขอความร่วมมือ" ครั้งนั้นว่าการแถลงข่าวดังกล่าวอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย

    'เหงียน ง็อก งือ กวิน' (ภาพจากเฟซบุ๊ค mothermushroom)

    สารคดีเรื่อง When Mother's Away เล่าถึงครอบครัวและความเป็นแม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในประเทศเวียดนาม โดยเล่าเรื่องผ่าน 'เหงียน ง็อก งือ กวิน' ซึ่งต้องพลัดพรากจากครอบครัวหลังถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยเล่าเรื่องผ่าน แม่ของ 'เหงียน ง็อก งือ กวิน' ที่ต้องทำหน้าที่เป็น "แม่" คนที่สองดูแลหลานในยามที่แม่ตัวจริงต้องสูญสิ้นอิสรภาพ และต้องตอบคำถามว่าทำไมแม่ของพวกเขาทั้งสองไม่สามารถกลับมาบ้านได้ แม้สารคดีเรื่องนี้เต็มไปด้วยอารมณ์เศร้าและความเจ็บปวดแต่ก็พยายามสื่อถึงความหวังและแรงบันดาลใจที่ยังพอมีอยู่ในสังคมเวียดนามผ่านความช่วยเหลือของญาติๆและเพื่อนๆที่มีต่อครอบครัว ในวันที่เธอไม่อยู่

    'เหงียน ง็อก งือ กวิน' เริ่มเขียนบทความบนโลกออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2549 และเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายนักเขียนบล็อกของเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์อิสระที่มีอยู่ไม่มากนักในประเทศที่การควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ บทความที่เธอเขียนนำไปสู่การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเวียดนามหลายครั้ง และมีผู้ประท้วงจำนวนมากถูกจับกุม ตัวของเธอเองเคยถูกคุมขังมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังเขียนบทความเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองแห่งหนึ่งในเวียดนาม ที่มีรัฐวิสาหกิจจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ธเนศปั่นป่วน EP2 เสวนาจักรญาณวิทยา #2

    Posted: 05 Jul 2018 01:20 AM PDT

    คลิปเสวนา "ธเนศ ปั่นป่วน" ฉลอง 60 ปีแห่งความปั่นป่วนของธเนศ วงศ์ยานนาวา ในปีที่ 61 เมื่อ 22 มิถุนายน 2561 ที่พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน (ห้องไอยรา) ช่วงที่ 2 "เสวนาจักรญาณวิทยา #2" อภิปรายโดย ปรีดี หงส์ต้น, ประจักษ์ ก้องกีรติ, อาทิตย์ ศรีจันทร์ ดำเนินรายการโดย พศุตม์ ลาศุขะ เล่าเรื่องหนังสือและวัฒนธรรมการอ่าน 'อ่าน' วรรณกรรม/วรรณคดีไทย หนังสือในดวงใจ ความทรงจำการอ่านร่วมสมัยในสังคมไทย ฯลฯ 

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ใบตองแห้ง: เอาใจช่วยเฉพาะกิจ

    Posted: 04 Jul 2018 11:12 PM PDT



    "แต๊งกิ้ว ๆ" ภาพเด็ก ๆ ทีมหมูป่า 13 ชีวิต ตะโกนด้วยความดีใจ ในวินาทีที่นักดำน้ำชาวอังกฤษไปพบ หลังติดอยู่ในถ้ำมืดมิด 10 วัน ทำให้คนไทยทั้งประเทศน้ำตาคลอด้วยความตื้นตัน คนทั้งโลกที่ตามลุ้นเอาใจช่วย ก็ดีใจด้วยกัน

    ต้องขอบคุณทุกคนในทีมงาน ทั้งไทยฝรั่ง ทุกชาติทุกหน่วย ที่ร่วมแรงแข็งขัน ทั้งหน่วยซีล ตำรวจ ทหาร มหาดไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ภาคเอกชน จิตอาสา ภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าฯ

    ที่ต้องพูดอย่างนี้เพราะสังคมไทยชอบดราม่า หาพระเอก หาฮีโร่ แล้วเห็นทีมงานเป็นตัวประกอบ ทั้งที่เหนื่อยยากมาด้วยกัน

    แบบเซเลบเข้าใจผิด คิดว่าซีลไทยเจอเป็นคนแรก แล้วเย้ยหยันฝรั่ง ที่ไหนได้ เงิบ! ลบโพสต์แต่ไม่ทัน ซึ่งความจริงแม้เป็นฝรั่ง ก็ทำงานร่วมกับซีลไทย กับทีมภายนอกที่ช่วยสำรวจ สูบน้ำ กับหน่วยสนับสนุนวางสายไฟ ส่งเสบียงอาหาร ฯลฯ ไม่งั้นก็ไปไม่ถึงไหน

    ไม่มีใครเก่งคนเดียว ต่างคนต่างทำหน้าที่ ต้องยกย่องความร่วมแรงร่วมใจ ไม่เว้นแม้ครูบาทำพิธี ถึงไม่เชื่อเรื่องภูตผีเข้าฝันปูอลาสก้า แต่ก็ถือว่าให้กำลังใจญาติและคนทำงาน (แถมยังอวยพรให้เมืองไทยมีเลือกตั้งโดยเร็ว)

    อาจยกเว้นแค่คนไม่มีหน้าที่ แล้วดันเข้าไปเกะกะ ขนาดนายกฯ ยังถาม มาทำไม

    ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยทั้งประเทศตามลุ้น เอาใจช่วย อย่างจดจ่อ อย่างที่หลายฝ่ายชื่นชม คนไทยใจหนึ่งเดียวเพื่อทีมหมูป่า 13 คน

    แต่ที่บางคนมองว่านี่จะเป็นจุดแข็งนำชาติเดินหน้า อย่างคำพูดหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็รวบรัดตัดความเป็นจริงมักง่ายไป ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเพื่อผู้ประสบภัย ไม่สามารถตีขลุมใช้แก้ปัญหาทุกอย่างได้ โดยไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองซึ่งมีหลายเหตุปัจจัย

    เอาง่าย ๆ ที่สูบน้ำลงไปท่วมไร่นา เกษตรกรก็ไม่ว่า เพราะเห็นแก่ 13 ชีวิต อยากให้ช่วยออกมาก่อน แต่หลังจากนี้ที่รัฐจะชดเชยไร่ละ 1,113 บาท ถ้าเขาเดือดร้อนร้องเรียนบ้างจะว่ากันไหม

    เวลามีผู้ประสบภัย ทุกคนก็เอาใจช่วยอย่างนี้ เอาใจช่วย 13 ชีวิต เอาใจช่วยเจ้าหน้าที่ เอาใจช่วยรัฐบาล ทั้งที่ขัดแย้งเห็นต่าง ไม่ชอบขี้หน้า บางคนก็บ่นรำคาญ ว่าผู้นำจะไปอวดนโยบายอะไรถึงหน้าถ้ำ แต่เอาน่า ช่วยเด็กก่อนก็แล้วกัน (ขอเพียงอย่าผิดคิวไปถามว่า มีใบอนุญาตแล้วหรือยัง)

    ลองย้อนนึกถึงตอนสึนามิ คนไม่ชอบทักษิณก็เยอะ พากันอึดอัดหัวฟัดหัวเหวี่ยง แต่ไม่รู้จะทำไง เพราะสังคมร่วมแรงร่วมใจหนุนรัฐบาล ท่านผู้นำแม้วตอนนั้นกอดหมอหัวฟูน้ำตาคลอ คะแนนติดเสื้อไปบาน

    ก็เหมือนปรากฏการณ์ตูน บอดี้สแลม นักวิชาการบางคนตื้นตัน พลังทางบวกที่ซ่อนเร้น เพราะตัวมหาศาล เสร็จแล้วเป็นไง แม้ครั้งนั้นต่างจากครั้งนี้ เพราะการช่วยชีวิตคนเป็นฉันทามติไม่มีใครขัดแย้ง การบริจาคเงินยังมีข้อถกเถียง รัฐเอางบไปใช้อะไร

    ลองตั้งตุ๊กตาใหม่ สมมติม็อบอยากเลือกตั้งตกอุโมงค์ยักษ์ กทม. แม้เชื่อว่ารัฐบาลช่วยเต็มที่ แต่สังคมจะน้ำหนึ่งใจเดียวไหม

    พูดอย่างนี้ไม่ได้หมิ่นน้ำใจคนไทย เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวได้ ถ้ายอมรับว่ามีปัญหาแล้วแก้ไข แต่ไม่ใช่เรียกร้องน้ำหนึ่งใจเดียว สร้างชาติกันใหม่ บนความไม่เท่าเทียม และให้ลืมความไม่ยุติธรรม

     

    เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.kaohoon.com/content/239321

     

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    บทเรียนช่วยทีมหมู่ป่า สพฉ.แนะฝึกอบรมผู้นำจังหวัดให้พร้อมเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์วิกฤต

    Posted: 04 Jul 2018 11:08 PM PDT

    เลขา สพฉ.ร่วมถอดบทเรียนการให้ความช่วยเหลือทีมหมู่ป่า ระบุความร่วมมือของทุกฝ่ายทำให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ ยกผู้ว่าฯเชียงรายบัญชาการเหตุการณ์ดี เสนอฝึกอบรมผู้นำจังหวัดให้พร้อมเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์หากเกิดเหตุการณ์วิกฤตได้ ขณะที่นักวิชาการชี้ไทยขาดผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ ทั้งประเทศมีแค่ 1 คน

    ภาพการแถลงข่าวของณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเมื่อคืนวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา (ที่มา: PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย)
     
    5 ก.ค.2561 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รายงานว่า จากกรณีที่เยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี่ พร้อมผู้ช่วยผู้ฝึกสอน จำนวน 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ล่าสุดวันนี้ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ได้ถอดบทเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยระบุว่า  ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของทั้ง 13 ท่านที่เจ้าหน้าที่พบตัวแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการนำเด็กๆ เหล่านี้ออกมาจากถ้ำ โดย สพฉ.เองได้เตรียมความพร้อมตลอดเวลาหากได้รับการประสานหรือร้องขอการสนับสนุนการช่วยเหลือเราก็พร้อมทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประสานงานกับองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสุนการเข้าช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับผู้ประสบเหตุทั้ง 13 คนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตามหากเราจะมองเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า ตนมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เราสามารถที่จะนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุจากการเกิดภัยพิบัติในลักษณะแบบนี้ได้ ตนอยากให้นำวิกฤตมาเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบการให้การช่วยเหลือของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์อื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้
     
    เลขาธิการ สพฉ.  กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีการทำงานของเจ้าหน้าที่หลายส่วนที่หากนำมาถอดบทเรียนแล้วจะเห็นถึงความสมบูรณ์และการเตรียมความพร้อมที่แม่นยำในการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ 1คือการบริหารระบบในการให้ความช่วยเหลือเด็กๆทั้งระบบที่นำมาจากแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานและระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่ชัดเจน ซึ่งตนมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบนี้คือ ผู้บัญชาการเหตุการณ์นั่นก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่มีวิสัยทัศน์และสามารถควบคุมและสั่งการในเหตุการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตเราอาจจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกผู้นำในแต่ละจังหวัดให้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในลักษณะนี้ให้ได้  ส่วนที่ 2. คือการปฏิบัติงานภายใต้ระบบการสั่งการในเหตุการณ์ครั้งนี้ยังมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมาก โดยเฉพาะระบบในการเลือกใช้ทรัพยากรบุคคลที่ได้มีการคัดเลือกและร้องขอหน่วยงานที่เข้าทำการช่วยเหลือทุกหน่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นหน่วยซีลที่ถูกเลือกให้เข้ามาให้ช่วยเหลือเด็กในครั้งนี้เพราะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการดำน้ำ และลักษณะของการเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ก็เหมือนกับการเข้าไปช่วยตัวประกัน เพราะเหมือนเด็กๆ ถูกจับกุมและห้อมล้อมด้วยแม่น้ำจนไม่สามารถออกมาจากถ้ำได้   ทั้งนี้ยังมีส่วนการทำงานของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศกับผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยในหลากหลายสาขาก็มีความน่าสนใจมากไม่แพ้กันว่าการเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านนั้นเราใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเชิญและระบบการทำงานร่วมกันนั้นทำอย่างไรถึงได้การทำงานที่มีประสิทธิภาพออกมาเช่นนี้
     
    อัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีเรื่องของการรวมทรัพยากรทั้งภาครัฐ ทหารพลเรือน ภาคประชาชน ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันทำงานอย่างเป็นระบบและสนับสนุนกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่นับรวมเรื่องของการสนับสนุนในส่วนของอุปกรณ์ดำน้ำและแนวทางในการช่วยเหลือทางน้ำในครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องถอดบทเรียนกันด้วย เพราะตามปรกติแล้วการดำน้ำทั่วไปจะเป็นการดำน้ำในพื้นที่กว้างแต่การกู้ชีพเด็กๆในครั้งนี้เป็นการดำน้ำในพื้นที่แคบจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเขาทำกันได้อย่างไร และมีระบบดูแลเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลืออย่างไร เพราะในการดำน้ำปรกติเราก็อาจจะป่วยจากการดำน้ำได้ เท่าที่ตนทราบคือได้มีการจัดเตรียมทีมแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำของกองทัพเรือที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน  มีห้องปรับความดันบรรยากาศให้กับทีมดำน้ำเพราะหากเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดำน้ำเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กๆเกิดมีฟองอากาศในเลือดหรือมีอาการผิดปรกติ ก็จะสามารถทำการรักษาทีมได้ทันที นี่คือระบบเซฟตี้ของทีมช่วยเหลือในเหตุการณ์นี้ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
     
    เลขาธิการ สพฉ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนระบบการช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มีหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ดูภาพรวมในเรื่องนี้เพื่อให้การให้บริการในพื้นที่ประสบเหตุเป็นระบบ โดยผู้บัญชาการเหตุการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับเขตสุขภาพจะเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในระดับจังหวัดก็จะเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด โดยทีมที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านสาธารณสุขก็จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และในบางจังหวัดที่มีทรัพยากรจำกัดก็จะมีทีมแพทย์จากทหารของกองทัพบก กองทัพเรือ หรือจากตำรวจเข้าไปเสริมซึ่งการทำงานร่วมกันตรงนี้ก็น่าสนใจและถอดบทเรียนร่วมกัน ทั้งนี้ภายหลังหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ.2554 ประเทศไทยเราได้มีพัฒนาการในการดำเนินการในลักษณะนี้เยอะขึ้นและเป็นระบบมากขึ้น โดยเราได้มีการสร้างทีมแพทย์ฉุกเฉินตอบโต้สาธารณภัย (Medical Emergency Response Team : MERT) และมินิเมิร์ท (Mini MERT) ซึ่งเป็นทีมแพทย์ฉุกเฉินภาคสนาม โดยขณะนี้เรามีทีม MERT ที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัด จังหวัดละ 1 ทีมและมีทีม  Mini MERT ระดับอำเภออีก 700 กว่าทีมที่พร้อมจะเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉินทันที
     
    "ในส่วนของการเตรียมการเรื่องการเคลื่อนย้ายเด็กๆ  เราจะเห็นภาพการเตรียมการด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งประเทศไทยเราได้มีระบบกายสกายดอกเตอร์ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ผมคิดว่าเรื่องนี้จะมีส่วนทำให้การช่วยเหลือในครั้งนี้มีความพร้อมมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาถอดบทเรียนร่วมกันแล้วทำเป็นต้นแบบในการช่วยเหลือประชาชนคนอื่นๆได้อีกในโอกาสต่อไป" อัจฉริยะ กล่าว

    นักวิชาการชี้ไทยขาดผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ ทั้งประเทศมีแค่ 1 คน

    วานนี้ (4 ก.ค.61) สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยขาดผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำหรือน้ำถ้ำ โดยปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว คือ นชัยพร ศิริพรไพบูลย์ นักธรณีวิทยา ที่มีความชื่นชอบในเรื่องดังกล่าว
     
    อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอว่า เนื่องจากในอนาคตสถานการณ์น้ำของไทยมีแนวโน้มผันผวนสูง เนื่องจากฤดูกาลไม่แน่นอน อาจต้องทำป้ายแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวเป็นระบบที่มีอักษรเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บวกลบสภาพอากาศอย่างน้อย 1 เดือน
    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    สุรพศ ทวีศักดิ์: แนวคิดโลกวิสัยปลดปล่อยศาสนาและสังคมไทยสู่อิสรภาพ

    Posted: 04 Jul 2018 10:55 PM PDT



    มีความกังวลกันว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งหันมาสนใจแนวคิดโลกวิสัย (secularism) จึงทำให้เลิกนับถือศาสนา เป็นคนไม่มีศาสนามากขึ้น ดูเหมือนฝ่ายที่กำลังคิดหามาตรการรักษาความมั่นคงของพุทธศาสนาซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ความมั่นคงของชาติ" กำลังวิตกกังวลในเรื่องนี้และกำลังคิดหาแนวทางแก้ไข คาดว่าหลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายคณะคณะสงฆ์แล้ว ฝ่ายความมั่นคงและผู้เชี่ยวชาญพุทธศาสนาน่าจะมีการประชุมกำหนดแนวทางดังกล่าวตามมา

    แต่ความกังวลดังกล่าว อาจเกิดจากความเข้าใจแนวคิดโลกวิสัยผิดไป เพราะแนวคิดโลกวิสัยไม่ได้ปฏิเสธหรือต่อต้านศาสนาใดๆ นักโลกวิสัยนิยม (secularists) อาจจะเป็นคนนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาก็ได้ เขาอาจนับถือศาสนาที่มีพระเจ้า หรือเป็นพวกเอธีสต์ (atheists) ที่เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าก็ได้  หรือเป็นพวกปฏิเสธความเชื่อว่ามีพระเจ้า เพราะไม่มีใครรู้จริง (agnostics) ก็ได้ ทั้งสองพวกนี้อาจนับถือศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าหรือเป็นพวกไม่มีศาสนา (irreligionists) ก็ได้ ดังนั้นจึงไม่จริงเสมอไปว่าคนไทยบางส่วนหันมาสนใจแนวคิดโลกวิสัยแล้วจะทำให้เลิกนับถือศาสนา เป็นคนไม่มีศาสนา

    แท้จริงแล้ว แกนกลางของแนวคิดโลกวิสัยคือการยืนยัน "เสรีภาพทางศาสนา" และการใช้หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาปฏิบัติต่อความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ถ้าคนไทยสนใจแนวคิดโลกวิสัยจริง ยิ่งจะทำให้เข้าใจและยืนยันเสรีภาพทางศาสนาชัดเจนขึ้น

    ปัญหาที่สำคัญมากในปัจจุบันคือ เพราะเราไม่เคยเข้าใจแนวคิดโลกวิสัยถ่องแท้ เราจึงเข้าใจผิดๆ ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเสรีภาพทางศาสนาสมบูรณ์แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้แล้ว และเสรีภาพทางศาสนาในความหมายที่เข้าใจกันก็คือ เราแต่ละคนมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ เปลี่ยนศาสนาก็ได้ ไม่นับถือศาสนาก็ได้

    แต่เสรีภาพทางศาสนาตามแนวคิดโลกวิสัย  นอกจากจะหมายถึงปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ เปลี่ยนศาสนาได้ ไม่นับถือศาสนาก็ได้แล้ว ยังหมายถึงการ "ปฏิเสธการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน" ด้วย เช่นปฏิเสธการที่รัฐนำหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นหลักการปกครองและการบัญญัติกฎหมาย ปฏิเสธการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ปฏิเสธการที่องค์กรศาสนาใดๆ จะเอาอำนาจสาธารณะ (กฎหมาย) ไปใช้ปกป้อง คุ้มครอง สนับสนุนส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนาของตนเป็นต้น

    ดังนั้น การยืนยันเสรีภาพทางศาสนาตามแนวคิดโลกวิสัย จึงเป็นการยืนยันบนหลักการสำคัญว่า รัฐจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้ศาสนาสร้างอุดมการณ์ครอบงำประชาชนไม่ได้ และกลุ่มบุคคลหรือองค์การศาสนาใดๆ จะใช้อำนาจรัฐอุปถัมภ์ คุ้มครอง สนับสนุนการเผยแผ่ศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มตัวเองไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐกับศาสนาจึงต้องแยกเป็นอิสระจากกัน (separation of church and state) ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่การเมืองกับศาสนาจะไม่ก้าวก่ายกัน รัฐจะเข้ามายุ่งก็ต่อเมื่อมีการใช้ศาสนาละเมิดสิทธิพลเมืองเท่านั้น เรื่องศาสนาไหนสอนถูก สอนผิด ปฏิบัติถูก ปฏิบัติผิดหลักความเชื่อทางศาสนารัฐไม่ยุ่ง เท่ากับว่าศาสนาจะไม่ถูกทำให้มีอำนาจบังคับคนอย่างเด็ดขาด เมื่อศาสนาไม่ถูกทำให้มีอำนาจบังคับคน ศาสนาจึงเป็นเรื่อง "เสรีภาพส่วนบุคคล" ได้อย่างแท้จริง

    ทำไมเราจึงต้องปฏิเสธการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน (ไม่ว่าบังคับผ่านอำนาจรัฐหรืออำนาจของคนหมู่มากในสังคมก็ตาม) ก็เพราะสังคมมนุษย์เรียนรู้ความผิดพลาดจากประวัติศาสตร์มามากเกินพอแล้วว่า เมื่อศาสนามีอำนาจบังคับคนมันย่อมนำไปสู่โศกนาฏกรรมในนามของ "ความดี" ที่น่าเศร้า เช่นการประหารชีวิตบุคคลที่มีคุณค่าต่อโลกอย่างโสเครตีสในข้อหาปฏิเสธเทพเจ้าของรัฐ ตรึงกางเขนพระเยซูในข้อหาดูหมิ่นพระเจ้า กักบริเวณกาลิเลโอให้อยู่ในบ้านของตัวเองตลอดชีวิตในข้อหาเสนอความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเป็นต้น ในยุคกลางที่ศาสนาเรืองอำนาจ มนุษย์ไม่มีเสรีภาพแม้แต่จะเสนอความคิด ความรู้ที่แตกต่างจากความเชื่อทางศาสนา ในเอเชีย,เอเชียอาคเนย์และสยามไทย ศาสนาสถาปนาระบบวรรณะ,ชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส เสรีภาพแบบที่สัมผัสได้ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่อาจมีได้

    ดังนั้น ยุคศาสนาเรืองอำนาจในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ ก็คือยุคกดขี่เสรีภาพ ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ความรู้ สติปัญญาเกิดขึ้นได้จริงเมื่อมีการแยกศาสนาจากรัฐ หรือ "ยกเลิกการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน" จึงทำให้การสถาปนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นไปได้จริง หรือทำให้เสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคล เสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพแห่งมโนธรรม ความเชื่อ เสรีภาพในการพูด การแสดงออก เสรีภาพทางสังคมและการเมืองเป็นไปได้จริง

    แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน ยังไม่แยกศาสนาจากรัฐ จึงมีการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน เช่นรัฐกำหนดให้พระสงฆ์มียศศักดิ์ ตำแหน่ง และอำนาจทางกฎหมายที่ห้ามเรื่องสอนผิดหลักธรรมวินัยได้ เอาผิดการละเมิดธรรมวินัยในบางเรื่องได้ (เช่นต้องอาบัติปาราชิกแล้วไม่ยอมสึกมีความผิดทางกฎหมายเป็นต้น)

    นอกจากนี้รัฐไทยยังทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคนซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่นบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ บังคับร่วมกิจกรรมทางศาสนา จะอบรมจริยธรรมนักเรียนนักศึกษาก็ต้องจริยธรรมพุทธ จะอบรมจริยธรรมครูอาจารย์ ข้าราชการ แพทย์ นักกฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา นักการเมือง ก็ต้องจริยธรรมพุทธ แถมยังมีการเสนอความคิด วาทกรรม การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้ประชาธิปไตยต้องมี "ธรรมาธิปไตย" กำกับและเรียกร้อง "คนดี" เป็นผู้ปกครอง โดยถือว่าผู้ปกครองที่เป็นคนดีนั้นมี "ความชอบธรรม" ในการใช้อัตวิสัยทางศีลธรรมตัดสินว่า อะไรเป็นหรือไม่เป็นประโยชน์ของบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นต้องเคารพและปฏิบัติตามกติกาประชาธิปไตยก็ได้ ทั้งหมดนี้เป็นต้น ล้วนขัดหลัก "เสรีภาพทางศาสนา" ตามกรอบคิดโลกวิสัยทั้งสิ้น

    เมื่อมองจากมุมของคนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธ ก็อาจไม่รู้สึกว่าตนเองถูกบังคับ หรือรู้สึก แต่คิดว่าพอรับได้ หรืออาจมีเหตุผลว่า เรื่องที่คณะสงฆ์มีกฎหมายบังคับก็เพื่อรักษาคำสอนที่ถูกต้องตามธรรมวินัย รักษาวัตรปฏิบัติที่น่าศรัทธาของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นการรักษาความมั่นคงของพุทธศาสนาอันเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ ส่วนการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเป็นการบังคับให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้สิ่งที่ดีและมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของพวกเขา การใช้หลักจริยธรรมพุทธอบบรมข้าราชการทุกภาคส่วน และการอ้างธรรมาธิปไตยในทางการเมืองก็เพราะสังคมเราคนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ก็ถูกแล้วที่จะนำหลักจริยธรรมพุทธไปใช้ในการอบรมคนทุกภาคส่วนของรัฐให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม อันจะยังประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติในที่สุด

    แต่นักโลกวิสัยนิยมชี้ให้เราเห็นว่า คนส่วนใหญ่ในยุคโบราณและยุคกลางก็เชื่อเช่นกันว่าศาสนาไม่ได้มีอำนาจบังคับพวกเขามากนัก เพราะที่จริงศาสนาคือหลักการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย คือรากฐานของศีลธรรมประเพณีทางสังคมที่ทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีสงบสุข ดังนั้นก็ยุติธรรมแล้วที่คนขบถต่อความเชื่ออันถูกต้องดีงามของคนส่วนใหญ่อย่างโสเครตีส พระเยซู กาลิเลโอ และคนนอกรีตอื่นๆ สมควรถูกประหาร และรับโทษทัณฑ์ด้วยการถูกทำให้เป็น "คนนอก" ของสังคม

    คนส่วนใหญ่ในเอเชียและเอเชียอาคเนย์ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ พุทธในโบราณและยุคประเพณีก็คงเชื่อเช่นกันว่ามันยุติธรรมแล้วที่คนเราเกิดมามีวรรณะ 4 เพราะพระพรหมผู้สร้างโลกกำหนดไว้ และการมีชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสก็ย่อมยุติธรรมแล้วเช่นกัน เพราะเป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ว่าคนเราทำกรรมมาต่างกันก็ย่อมทำให้เกิดมามีชนชั้นที่ต่างกัน ส่วนการเอาเรื่องราวการลงโทษสัตว์นรกขุมต่างๆ ตามที่บรรยายไว้ในคัมภีร์ศาสนามาออกแบบคุกและกำหนดวิธีลงโทษทรมานและประหารชีวิตนักโทษอย่างทารุณโหดร้าย ก็ถือว่ายุติธรรมแล้วเช่นกัน เพราะคนเราทำกรรมชั่วก็ควรได้รับผลชั่วอย่างสาสม

    จะเห็นว่า คนส่วนใหญ่ในอดีตย่อมไม่รู้ถึงความผิดพลาดของการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน ต่อเมื่อมีคนส่วนน้อยพยายามแหกจารีตทางศาสนาและอุทิศตนแสวงหาความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เกิดคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคนอย่างจริงจัง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ปรัชญาสังคมและการเมือง และเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย การแยกศาสนาจากรัฐ และการยืนยันหลักสิทธิมนุษยชนเป็นกติกากลางรองรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เพศ และอื่นๆ

    จริงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ศาสนาไม่ได้มีอำนาจบังคับคนเข้มข้นเท่ายุคกลาง แต่สภาวะที่รัฐกับศาสนาไม่แยกจากกัน ย่อมทำให้รัฐควบคุมศาสนา ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และทำให้องค์กรศาสนาใช้อำนาจรัฐปกป้อง สนับสนุนความเชื่อเฉพาะทางศาสนาของพวกตน ทำให้จริยธรรมพุทธเป็นศูนย์กลางอำนาจทางจริยธรรมในสังคมไทยที่ทั้งใช้บังคับเรียนในระบบการศึกษาของรัฐ ใช้อบรมจริยธรรมบุคลากรทุกภาคส่วนของสังคมดังกล่าวแล้ว

    ผลก็คือทำให้ทัศนะทางศีลธรรมของสังคมไทยคับแคบและไปกันไม่ได้กับคุณค่าสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และการเคารพความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมและอื่นๆ

    จึงไม่จริงว่าหากคนไทยหันมาสนใจแนวคิดโลกวิสัยแล้วจะเกิดปัญหา แต่ถ้าคนส่วนใหญ่สนใจแนวคิดโลกวิสัยอย่างจริงจังต่างหากจะเป็นทางแก้ปัญหา เพราะแนวคิดโลกวิสัยที่ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาอย่างแท้จริงต่างหากที่จะปลดปล่อยสังคมไทยให้มีอิสรภาพจากการขึ้นต่ออำนาจบังคับทางศาสนา ที่ทำให้เราถูกครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมหนึ่งเดียว สู่คุณค่าและศีลธรรมหากหลายตามที่แต่ละคนพึงใจที่จะเลือก

    ยิ่งกว่านั้น แนวคิดโลกวิสัยต่างหากที่จะปลดปล่อยพุทธศาสนาจากการตกเป็นเครื่องมือของรัฐ สู่อิสรภาพในการปกครองกันเองและเคารพเสรีภาพในการศึกษาตีความที่แตกต่างหลากหลายระหว่างชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ไม่ต้องทะเลาะขัดแย้งกันอีก เพราะไม่มีกลุ่มไหนมี "ดาบ" หรืออำนาจรัฐไว้เอาผิดฝ่ายที่ตีความต่างจากพวกตนอีกต่อไป

    อีกประเด็นหนึ่งคือ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าแนวคิดโลกวิสัยเป็นของตะวันตกหรือตะวันออก เป็นของฝรั่งหรือของไทย ไม่ได้อยู่ที่ว่าภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตะวันตกกับของเราต่างกัน เพราะอันที่จริงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคมไหนๆ ในโลกล้วนขัดแย้งกับเสรีภาพทางศาสนา ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนมาก่อนทั้งนั้น มันจึงไม่ใช่ปัญหาว่าการนำแนวคิดโลกวิสัย เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนมาใช้แล้วจะทำให้เราสูญเสีย "ความเป็นไทย" เพราะคนไทยก็ย่อมมี "ความเป็นคน" ไม่ต่างจากมนุษย์ที่ไหนๆ ในโลก เราต่างคือ "คน" ที่ล้วนเป็นสมาชิกครอบครัวของมนุษยชาติเดียวกันกับคนทั้งโลก จึงไม่มีเหตุผลที่จะอ้างความเป็นตะวันตก ตะวันออก ความเป็นฝรั่ง ความเป็นไทยมาปฏิเสธการสถาปนาหลักการและกติกาที่ทำให้เรามีความเป็นคนเท่ากัน

    ที่สำคัญถ้าเดินตามแนวคิดโลกวิสัย ย่อมจะทำให้รัฐไทยไม่ตกเป็น "เวทีขัดแย้ง" ระหว่างศาสนาอีกต่อไป เพราะเมื่อแยกศาสนาจากรัฐ จะไม่มีศาสนาใดๆ สถาปนาอำนาจของกลุ่มตนขึ้นมาในโครงสร้างอำนาจรัฐได้ ทุกองค์กรศาสนาเป็นเอกชนทั้งหมด มีเสรีภาพเผยแผ่ศาสนาเท่าเทียมกัน ไม่ต้องมาเถียงหรือต่อรองกันว่ารัฐบาลเข้าข้างศาสนานั้นมากกว่าศาสนานี้ ผ่านกฎหมายให้ศาสนานั้นมากกว่าศาสนานี้ หรือให้งบประมาณสนับสนุนศาสนานั้นมากกว่าศาสนานี้ อย่างที่เป็นมาอีกต่อไป

    ทุกศาสนาก็ยังมั่นคงต่อไปได้ ชาติก็ยังมั่นคงต่อไปได้ และเป็นความมั่นบนความมั่นคงของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน "ทุกคน" ทั้งคนนับถือศาสนา และคนไม่มีศาสนาเท่าเทียมกัน จึงไม่มีเหตุผลที่สังคมไทยจะระแวงแนวคิดโลกวิสัยแต่อย่างใด ยกเว้นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคมที่ยังไม่พร้อมจะปรับตัวให้เคารพและยอมรับความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในความหมายที่แท้จริง

     

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    กรรมการสิทธิฯ เสนอออก กม.ห้ามแต่งงานก่อนวัยอันควรครอบคลุมเด็กทุกคน

    Posted: 04 Jul 2018 10:37 PM PDT

    จากกรณีชาย 41 วิวาห์เด็ก 11 กรรมการสิทธิฯ เสนอออก กม.ห้ามแต่งงานก่อนวัยอันควรครอบคลุมทุกกรณี เผยใน 4 จังหวัดภาคใต้กฎหมายมุสลิมไม่ได้ระบุเรื่องอายุที่สามารถแต่งงานได้ หรือบางกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือยังมีพิธีฉุดเด็กสาว ระบุการแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก ชี้ผิด พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก

    วันนี้ (5 ก.ค. 61) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีข่าวชายสัญชาติมาเลเซียอายุ 41 ปี เดินทางมาเพื่อแต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปี ในช่วงเทศกาลฮีรายอที่ผ่านมา โดยระบุว่าการแต่งงานก่อนวัยอันควร เป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 26 ซึ่งกล่าวว่าการปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองของตน พร้อมเสนอให้ประเทศไทยออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรทุกกรณี นอกจากนี้ การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะความยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยเฉพาะชายสามีที่เป็นผู้ใหญ่ ย่อมถือว่าได้กระทำผิดต่อเด็กหลายกรณี

    อังคณา นีละไพจิตร. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้เรื่องห้ามแต่งงานก่อนวัยอันควรจะมีระบุไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กแล้ว แต่อาจจะมีกรณีที่ขอต่อศาลได้ หรือกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือก็ยังมีประเพณีฉุดเด็กผู้หญิง หรือกรณีเป็นเด็กมุสลิมในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกซึ่งในรายละเอียดไม่ได้ระบุอายุที่สามารถแต่งงานไว้ ทำให้มีผู้นำศาสนาที่อนุญาตให้เด็กอายุน้อยแต่งงานได้ สิ่งที่กังวลมากคือการแสวงประโยชน์จากเด็ก เช่น กรณีที่เด็กอายุน้อยมากอายุ 11-12 ปี อยู่ในครอบครัวยากจนและพ่อแม่ให้แต่งงานเพื่อแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดู ขณะที่มาเลเซียใช้กฎหมายอิสลามแต่ก็ระบุไว้ในกฎหมายว่าห้ามแต่งงานก่อนอายุ 16 ปี และกำลังจะขยายเป็น 18 ปี  ดังนั้นรัฐไทยควรจะควรจะพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเด็กและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นให้การศึกษาแก่เด็ก และมีกลไกที่จะคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กชาติพันธุ์ใด

    เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ แพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในไทยและมาเลเซียมาตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา และวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา วัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล ภรรยาอันวาร์ อิบราฮิม ที่ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลมาเลเซียแถลงว่าการแต่งงานระหว่างชายชาวกลันตันอายุ 41 ปี กับเด็กอายุ 11 ปี ที่ไปทำพิธีที่สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและควรจะมีการแยกทั้ง 2 คนออกจากกัน

    รองนายกฯ มาเลเซียประณามกรณีชาย 41 วิวาห์เด็ก 11 ชี้ ผิด กม.อิสลาม

     

    แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
    กรณีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร

    ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนกรณีชายสัญชาติมาเลเซีย อายุ 41 ปี เดินทางมายังอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อแต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปี ในช่วงเทศกาลฮารีรายอที่ผ่านมา นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการแต่งงานกรณีดังกล่าว นั้น

    คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงใยและกังวลต่อเหตุการณ์การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร หรือผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากการจัดให้เด็กผู้หญิงแต่งงานก่อนวัยอันควรถือเป็นการตัดอนาคตของเด็กผู้หญิงในการได้รับการศึกษา ตลอดจนเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนาความพร้อมด้านต่าง ๆ สู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 26 ที่บัญญัติให้การปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองของตน ซึ่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) วินิจฉัยแล้วว่า การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรถือเป็นการกระทำก่ออันตรายให้แก่เด็ก และมีข้อเสนอแนะให้รัฐภาคีทั้งสองอนุสัญญาออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร รวมทั้งในการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (Universal Periodic Review) ครั้งล่าสุด คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรทุกกรณี นอกจากนี้ การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะความยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยเฉพาะชายสามีที่เป็นผู้ใหญ่ ย่อมถือว่าได้กระทำผิดต่อเด็กหลายกรณี

    กสม. จึงขอให้บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องนำข้อห่วงกังวลดังกล่าวของ กสม.ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการเพื่อมิให้มีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร และเห็นว่า ควรดำเนินการอนุวัติกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งสังคมโลกมีเป้าหมายร่วมกันประการหนึ่งว่า จะต้องไม่มีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรภายในปี 2573

    คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
    5 กรกฎาคม 2561

     

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ประกันสังคมปทุมฯ จ่าย 1 แสนให้ผู้ประกัน เหตุเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์

    Posted: 04 Jul 2018 12:33 PM PDT

    ประกันสังคม จ.ปทุมฯ จ่าย 1 แสนให้ 'เจริญ' ผู้ประกันตนตาม ม.39 หลังร้องเรียน รพ.ในพื้นที่วินิจฉัยโรคผิด ทำเสียสุขภาพ จิตใจ รักษายืดเยื้อ ขาดรายได้ นักสิทธิแรงงานชี้เป็นกรณีแรก ใน จ.ปทุมธานี ที่ได้รับเงินเยียวยาเบื้องต้น

    ภาพรองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้มอบเช็คให้ที่สำนักงานประกันสังคม จ.ปทุมธานี

     

    4 ก.ค.2561 จากกรณีเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2560 ประชาไท รายงานข่าวว่า เจริญ อินทร ผู้ป่วยและผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อ หัวหน้า สํานักงานประกันสังคม จ.ปทุมธานี ด้วยเหตุที่ โรงพยาบาลปทุมเวช ตามสิทธิรักษาประกันสังคม วินิจฉัยโรคผิด นั้น

    ล่าสุดวันนี้ สุธิลา ลืนคำ กรรมการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ในฐานตัวแทนของ เจริญ ในการยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมดังกล่าว แจ้งกับผู้สื่อข่าวประชาไท ว่า ล่าสุดวันนี้ (4 ก.ค.61) ประกันสังคม จ.ปทุมธานี แจ้งผลการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับ เจริญ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ จำนวนเงิน 100,000 บาท โดยมี มนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าราชการ จ.ปทุมธานี เป็นผู้มอบเช็คให้ ที่สำนักงานประกันสังคม จ.ปทุมธานี

    สุธิลา ระบุว่ากรณีนี้ถือเป็นกรณีแรก ใน จ.ปทุมธานี ที่ได้รับเงินเยียวยาเบื้องต้นให้ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์

    จดหมายแจ้งผลการจ่ายเงินช่วยเหลือ ระบุด้วยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ หน่วยที่ 4 เห็นว่าความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ครั้งนี้ เป็นเหตุสุดวิสัยจากระบบบริการรักษาพยาบาล จึงมีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ
     
    สำหรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ของเจริญ ที่ยื่นต่อหัวหน้า สํานักงานประกันสังคม จ.ปทุมธานี ระบุว่า ประมาณกลางเดือน ก.ย. 2560 เจริญ มีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวาและมีอาการปวดเสียดไปถึงด้านหลัง และได้ไปพบหมอที่โรงพยาบาลปทุมเวชติดต่อกันถึง 2 ครั้ง หมอวินิจฉัยตามอาการว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบและหมอได้จ่ายยาแก้ปวด พร้อมกับยาเคาเตอร์เพนมาทาแก้ปวดกล้ามเนื่อหลัง แต่อาการไม่ดีขึ้น จากนั้น วันที่ 18 ก.ย.60 เจริญได้ไปตรวจอาการปวดท้องที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยจ่ายเงินเอง ผลปรากฏว่าเป็นนิ่วในถึงน้ำดี จากนั้นหมอที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ได้เขียนบันทึกและผลการตรวจให้เพื่อกลับไปพบหมอที่ รพ.ปทุมเวช เพื่อรักษาตามสิทธิประกันสังคม ซึ่งต่อมาหมอที่ รพ.ปทุมเวช ออกใบนัดเพื่อผ่าตัดในวันที่ 16 ต.ค.2560 
     
    หนังสือร้องขอความเป็นธรรมระบุอีกว่า เจริญตัดสินใจผ่าตัดแบบส่องกล้อง พร้อมกับจ่ายเงินเพิ่มเป็นค่าส่วนต่างให้กับ รพ. แต่สรุปผลผ่าตัดไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ต้องผ่าตัดแบบเปิดอีกครั้ง ส่งผลให้มีแผลผ่าตัดถึง 2 แผล และต้องนอนพักฟื้นที่ รพ.ปทุมเวช 8 วัน จ่ายค่าส่วนต่าง 12,780 บาท จึงกลับไปพักฟื้นที่บ้าน แต่หลังจากนั้นกลับมีอาการตาเหลือง แน่นท้อง ปวดท้องมาก ในที่ 29 ต.ค.2560  จึงได้ไปพบหมอที่ รพ.ปทุมเวช ตามนัด และได้ปฏิบัติตัวตามหมอสั่งทุกอย่าง แต่อาการยังไม่ดีขึ้น วันที่ 30 พ.ย.และวันที่ 3 ธ.ค.2560 ไปพบหมอ ซึ่งอาการก็ยังเหมือนเดิมทุกประการ  จนกระทั่งวันที่ 4 ธ.ค.2560 ได้ตัดสินใจไปตรวจที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ หมอได้ตรวจอย่างละเอียด พร้อมให้นำบันทึกการวินิจฉัยไปให้ รพ.ปทุมเวช เพื่อใช้สิทธิรักษาตามประกันสังคม แต่เจริญกังวลใจเป็นอย่างมาก จึงขอรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ต่อไป
     
    เจริญจึงขอความเป็นธรรมจากหัวหน้า สนง.ประกันสังคม และตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี 1. หมอที่ รพ.ปทุมเวช วินิจฉัยโรคไม่ตรงกับที่เป็น ทำให้ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจ เกิดความกลัว กังวลใจ ไม่มั่นใจในการรักษาที่นี่อีกต่อไป 2. การดำเนินการยืดเยื้อยาวนาน ทำให้ได้รับผลกระทบด้านร่างกายและจิตใจเกินกว่าเยียวยา และหมอไม่เอาใจใส่ในการรักษาผู้ป่วยจริงๆ จังๆ 3. ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มกับการรักษาที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระที่เกิดจากการรักษา และ 4. ต้องการขอย้ายสิทธิประกันสังคมไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ทันที
    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช. | EP2 เสรีภาพสื่อกับ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล

    Posted: 04 Jul 2018 09:30 AM PDT

    "คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช." โดย iLaw X Prachatai สัปดาห์นี้พาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557, 103/2557 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ที่จำกัดการทำงานของสื่อมวลชน สื่อถูกห้ามไม่ให้สัมภาษณ์บุคคลบางกลุ่ม หรือห้ามนำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสน หรือความขัดแย้ง พร้อมให้อำนาจ กสทช. เข้ามาตีความบังคับใช้ได้โดยไม่ต้องรับผิด พบกับ "คุณปลื้ม" ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ที่เคยทั้งถูกแบนการทำหน้าที่ ถูกตักเตือน ถูกปิด ฯลฯ มาหลายต่อหลายครั้ง

    รับชมรายการ คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช. ได้ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ทางเพจ @prachatai และ @ilaw ทุกคืนวันพุธ ตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป และรับชมทาง YouTube ได้ในวันพฤหัสบดี

    iLaw X Prachatai คืนวันพุธ #ปลดอาวุธคสช

    คุณคิดว่า ข้อมูลจากสื่อมวลชนทุกวันนี้ครบถ้วนรอบด้านหรือยัง?

    สื่ออาจจะถูกคาดหวังให้นำเสนอมุมมองรอบด้าน
    แต่ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ทุกด้านที่นำเสนอได้
    ภายใต้ ประกาศ/คำสั่ง คสช. สื่อถูกสั่งลงโทษไปแล้วอย่างน้อย 54 ครั้ง
    VoiceTV ช่องเดียวทั้งโดนปิด โดนแบน อย่างน้อย 20 ครั้ง

    พูดอะไรออกไปแล้วถึงถูกปิด?
    ยังมีอะไรที่สื่อควรนำเสนอ แต่ทำไม่ได้ในยุคนี้?

    iLaw X Prachatai ขอนำเสนอ "คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช." รายการที่พาคุณจะหาคำตอบว่า ที่ผ่านมาประกาศ / คำสั่ง จำนวนมากของ คสช. ถูกใช้ในฐานะ 'อาวุธ' ทางกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในมิติต่างๆ อย่างไรบ้าง

    เกิดผลกระทบอะไรขึ้นกับชีวิตของประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ 'อาวุธ' เหล่านั้น
    และที่สำคัญที่สุด
    ประชาชนคนธรรมดาอย่างไรจะสามารถช่วยกัน 'ปลดอาวุธ' ทางกฎหมายของคสช. เพื่อคืนความสุขและสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนได้อย่างไร

    ช่วยกันคนละชื่อเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. รวม 35 ฉบับ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อประชาธิปไตย โดยดูรายละเอียดขั้นตอนและวิธีการที่ www.ilaw.io

    ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น