โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

สปสช.แจงแนวบริหารกองทุนบัตรทอง 62 เพิ่มสิทธิ ปรับเบิกจ่าย หนุน รพ.ดูแล ปชช.ง่ายขึ้น

Posted: 18 Jul 2018 10:20 AM PDT

เลขาฯ สปสช. แจงทิศทางบริหาร 'กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562' เน้นปรับเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ ปรับแนวทางการเบิกจ่ายในบางรายการ เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลในการดูแลประชาชน พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์สุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น

18 ก.ค.2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2562 ตามที่ ครม.อนุมัติจำนวน 181,584,093,700 บาท ในปีนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงการดำเนินงานและการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อความเหมาะสมในการดำเนินงานกองทุนฯ ยิ่งขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่ได้ปรับปรุงและเพิ่มเติม ดังนี้

บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป ได้ปรับบริการคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ โดยเป้าหมายคัดกรองแต่ละพื้นที่ให้ผ่านความเห็นชอบคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) ส่วนการบริการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ปรับให้เบิกจ่ายตามผลงานจริง (Fee schedule)

บริการผู้ป่วยในทั่วไป ปรับแนวทางการจ่ายเพื่อให้หน่วยบริการมีความมั่นใจในการบริการเพิ่มขึ้น โดยกันเงินในระดับประเทศ 100 ล้านบาทจากงบผู้ป่วยใน เพื่อปรับเกลี่ยค่าน้ำหนักสัมพันธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (AdjRW) และการกำหนดอัตราจ่ายขั้นต่ำคงตลอดทั้งปีในจำนวน 8,050 บาทต่อ AdjRW เป็นต้น

บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ประกอบด้วยคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไวรัสตับอักเสบบี, เพิ่มการจ่ายค่าบริการตามผลงานจริง (Fee schedule) ในรายการที่ต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการในหญิงตั้งครรภ์เป็น 8 รายการ ได้แก่ บริการตรวจยืนยันโลหิตจากธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี การตรวจคัดกรองดาว์นซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปี บริการป้องกันยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย, บริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด, บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรในผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นต้น และการปรับประสิทธิภาพบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่จะมีการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่ เป็นต้น 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะที่ในส่วนบริการเฉพาะ ปี 2562 ได้เพิ่มเติมวัคซีนพิษสุนัขบ้าในกลุ่มยาจำเป็น โดยย้ายงบจากค่าบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 10.67 ต่อผู้มีสิทธิเพื่อดำเนินการจัดซื้อ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนนี้, เพิ่มรายการยาตามบัญชียา จ.(2) หรือยาที่มีความจำเป็นแต่มีราคาแพง จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ยาราลทิกราเวียร์ (Raltegravir) เพื่อขยายการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และ ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดตาในจอตาอุดตัน และเพิ่มรายการถุงอุจจาระโคลอสโตมี่ (Colostomy Bag) เป็นอุปกรณ์และอวัยวะเทียมเพื่อเบิกจ่ายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้กับผู้ป่วย

นอกจากนี้ปี 2562 ยังได้มีการพัฒนาเพื่อดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ทั้งบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยในปีนี้จะนำร่องโครงการความร่วมมือการจัดบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็น บริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เน้นการควบคุมภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ขณะเดียวกันยังได้มีการปรับบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว ทั้งการปรับสัดส่วนการจ่ายชดเชยบริการปฐมภูมิเพื่อสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัวเพิ่มขึ้น (Primary Care Cluster: PCC) เพื่อสนองต่อนโยบายรัฐบาล

"การปรับปรุงการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2562 ไม่เพียงแต่เป็นการปรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบริหารกองทุนยิ่งขึ้น แต่ยังสนองต่อรูปแบบการบริการของหน่วยบริการที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อความครอบคลุมและทั่วถึงในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศ" เลขาธิการ สปสช.กล่าว 

กสทช. ย้ำจะเข้าสู่มาตรการเยียวยาได้ ต้องยื่นประมูลแสดงความประสงค์ใช้คลื่นความถี่เท่านั้น

Posted: 18 Jul 2018 10:13 AM PDT

18 ก.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า วันนี้ (18 ก.ค. 2561) ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ความถี่ย่าน 850 MHz และ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 และได้มีมติตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2561 ดังนี้

1. เรื่องนี้ได้มีความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ให้ความเห็นว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานได้โดยนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี ซึ่งไม่ผูกพันที่ต้องนำประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 มาบังคับใช้ทุกกรณี

2. สืบเนื่องจาก กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740-1784/1835-1880 MHz เพื่อจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 และได้กำหนดให้มีการยื่นคำขอเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2561 แต่ผลปรากฏว่า ไม่มีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทในเครือด้วย จนกระทั่งต่อมา กสทช. จึงได้พิจารณาและมีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ดังกล่าว รวมทั้งได้อนุมัติให้จัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เพิ่มเติมด้วยโดยกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค. 2561 และกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 19 ส.ค. 2561 ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ดังนั้น โดยหลักการแล้ว เมื่อ กสทช. ดำเนินการจัดประมูลเพื่อเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่ผู้รับสัมปทานหรือบริษัทในเครือไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ย่อมไม่สามารถได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้ เนื่องจากถือเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานหรือบริษัทในเครือเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว แต่กระบวนการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่จะต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง (ประมาณ 3 เดือน) ดังนั้น ไม่ว่าผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่1800 MHz และ 900 MHz จะเป็นผู้รับสัมปทานเดิมหรือบริษัทในเครือหรือไม่ก็ตาม ผู้รับสัมปทานเดิมย่อมได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้จนกว่า กสทช. จะได้จัดสรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่และกำหนดวันหยุดการให้บริการ เนื่องจากถือเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานแสดงประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

3. เมื่อพิจารณาจากหลักการตามข้อ 1 และ 2 ประกอบกับข้อเท็จจริงแล้ว ที่ประชุม กสทช. จึงได้พิจารณาแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และได้มีมติ ดังนี้

3.1 ให้ความเห็นชอบแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้จนกว่า กสทช. จะได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่และกำหนดวันหยุดการให้บริการ ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทในเครือจะต้องเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHzเนื่องจากเป็นกรณีที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) แสดงความประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง แต่หากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 เนื่องจากเป็นกรณีที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการอีกต่อไป

3.2 โดยที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ในระบบให้บริการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ประมาณ 430,000 ราย และมีระบบรองรับการโอนย้ายเลขหมายโทรคมนาคมไปยังผู้ให้บริการรายอื่นสามารถรองรับการโอนย้ายได้สูงสุด 60,000 เลขหมายต่อวัน จึงเห็นควรเร่งรัดให้มีการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับรู้เป็นการล่วงหน้าถึงวันที่จะสิ้นสุดการให้บริการ อีกทั้งให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น กรณีการโอนย้ายเลขหมายโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการที่มีความประสงค์จะโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการ

4. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ติดตามตรวจสอบข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการคงเหลือพร้อมเงินคงค้างในระบบให้ กสทช. ทราบเป็นระยะ

 

นวัตกรรมกับความเป็นขบถของอเมริกัน

Posted: 18 Jul 2018 08:32 AM PDT

 

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นภาพความไม่ยอมจำนนมีอยู่ทั่วไปในอเมริกา ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ภาพการใช้เวลาที่คุ้มค่าจากการทำงานเป็นรายชั่วโมง ชีวิตอยู่ด้วยการทำงาน

เหนือไปกว่านั้น ก็คือการอยู่ด้วยกันท่ามกลางความหลากหลาย ความแตกต่างคือสีสันที่เห็นได้โดยทั่วไปจนมันกลายเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่า ไม่มีใครสนใจชีวิตคุณหรอกถ้าความแตกต่างของคุณไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้สังคมหรือคนอื่นๆ

จนกล่าวได้ว่า คนอเมริกันมุ่งแสวงหาความแตกต่างกันเป็นหลัก จนคุณอาจเกิดความรู้สึกว่าการเป็นอยู่ การใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปเป็นสิ่งที่น่าอึดอัด น่ารังเกียจ อายที่จะเหมือนคนอื่น ซึ่งที่จริงแล้ววัฒนธรรมที่มาจากความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นกับพวกเขา (อเมริกัน) ในช่วงวัยของความเป็นเด็กเสียด้วยซ้ำ ครูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกระดับจึงมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นหรือสนับสนุนเด็กในช่วงวัยเรียนก้าวไปอย่างถูกทิศทาง

เราคงได้ยินกันมามากว่า เด็กเก่งหรือเด็กอัจฉริยะน้อยคนที่จะอยู่กับระบบการศึกษาแบบเข้าชั้นเรียนโดยทั่วไป (ทุกระดับ) ได้ ตัวอย่างบุคคลในยุคร่วมสมัยมีให้เห็นมากมาย สตีฟ จอบบ์, มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ค ฯลฯ บุคคลที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ ล้วนเป็นคนที่เลี้ยงยากมาตั้งแต่พวกเขายังเล็กๆ มีทัศนคติและวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ โดยทั่วไป โรงเรียนหรือสถานศึกษาไม่สามารถทำให้พวกเขาเหล่านี้อยู่ในอาณัติได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นคือ โรงเรียนหรือสถานศึกษาเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกว่า เด็กที่มีคิดเห็นแตกต่างจากครูและโรงเรียนเหล่านี้ เป็นบุคคลแปลกประหลาด ควบคุมยาก ควบคุมไม่ได้ มักเถียง แม้ในวันหนึ่งที่พวกเขาเดินออกจากโรงเรียนหรือสถานศึกษากลางคัน  ทว่าโรงเรียนกลับเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความสวยงาม ครูกลับจะคอยสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาและประสานไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง

เพราะฉะนั้นในระบบการศึกษาของอเมริกัน เด็กที่สั่งขวาไปซ้าย สั่งซ้ายไปขวา หรือแย้งคำสั่งครูอยู่เสมอ คือเด็กที่ครูผู้สอนต้องคอยสังเกตเพื่อดูความอัจฉริยะในตัวเขา ไม่ด่วนตัดสินว่าพวกเขาเป็นเด็กดื้อหรือเป็นเด็กมีปัญหาเสียก่อน เมื่อพิจารณาดูแล้วว่าเด็กเป็นอย่างไรแล้ว ก็เติมเต็มความเป็นตัวตนของเด็กในด้านนั้นๆ ให้พวกเขา ซึ่งก็เป็นงานที่หนักสำหรับผู้สอน ครูไทยคงไม่คุ้น แต่ทำไงได้เล่าในเมื่อมันเป็นหน้าที่ที่สำคัญของครูผู้สอนในอเมริกา

แหละนี้คือสิ่งที่จะส่งผลต่อศักยภาพของเด็กหรือเยาวชนในอนาคต ไกด์ให้พวกเขาก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ซึ่งที่จริงก็คือ "การแนะแนว" นั่นเอง ไม่ใช่การแนะแนวแบบไทยๆ ที่เราเข้าใจไขว้เขวมานานหลายทศวรรษว่า การแนะแนวคือการชี้ช่องให้เด็กไปเรียนหรือไปทำงานนั่นนี่ การแนะแนวแบบไทยๆ ที่ว่านี้เป็นการแนะแนวแบบศรีธนญชัยตะหากเล่า เป็นการแนะแนวตามใจครู ไม่ใช่ตามใจเด็ก น่าประหลาดที่การแนะแนวแบบนี้ยังคงมีการประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ วัตรปฏิบัติแบบนี้นับว่าล้าสมัยเต็มที

การแนะแนวแบบเดิมๆ ของไทยเรานั้น สะท้อนให้เห็นความชุ่ยของครูผู้สอนที่ไม่ลงลึกไปยังรายละเอียดของตัวเด็ก มองเด็กไม่ออกว่าเขาคือใครและต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับเขา ครูอาจารย์จำต้องช่วยชี้ช่องทางที่เหมาะสมสำหรับเขา นี่คือการแนะแนวในความหมายที่แท้จริง

ปัญหา (ด้านการศึกษา) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็คือ ครูอาจารย์ ไม่เคยสังเกตเด็กเชิงลึกจริงๆ ว่าพวกเขาควรไปทางไหนอย่างไร นอกจากทางเลือก 2 ทาง คือ สายอาชีวะกับสายสามัญ ขณะที่ในปัจจุบันฐานความรู้และฐานการงานอาชีพมีหลากหลายมากขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องวางกรอบเด็กให้อยู่ในสายใดสายหนึ่งจาก 2 สายดังกล่าว หากแต่ควรอยู่บนสายของความสามารถหรือความสนใจของตัวเด็กเองมากกว่า

ตรงนี้ยังมีประเด็นการทำงานอย่างมีความสุขอีกด้วย พวกเขาสามารถทำงานประเภทใด ที่ไหนก็ได้ อย่างมีความสุข ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อปัจเจกมีความสุขสังคมก็มีความสุขไปด้วย

เพราะฉะนั้นการศึกษาที่เน้นไปที่ความเหมือนกันของเด็ก ผลลัพธ์ที่ออกมาต้องเหมือนกัน เชื่อว่าความเหมือนกันคือสิ่งสวยงาม น่าจะเลิกไปได้แล้ว เพราะไม่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการศึกษาและนวัตกรรม ครูอาจารย์และผู้บริหารการศึกษาจำเป็นต้องอดทนต่อความแตกต่างหลากหลายของเด็กหรือผู้เรียนให้มากขึ้น ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเหมือนเมื่อก่อน เหนืออื่นใดการคอยสังเกตเชิงลึกถึงรายละเอียดของตัวเด็กเป็นสิ่งสำคัญและต้องทำ หากไม่ทำเช่นนี้ ในปัจจุบันคุณจะไม่สามารถประเมินผลได้เลยว่า อะไรคือสัมฤทธิผลของการเรียนการสอนที่แท้จริง คุณจะไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรคือกูเกิล อะไรคือตัวตนของเด็กเองที่แท้จริง

บทบาทของครูผู้สอนจึงต้องมากขึ้น เข้มข้นขึ้นโดยแง่นี้ และนี่คือ การศึกษาในโลกสมัยใหม่ ซึ่งเป็นโลกแห่งการขบถหรือแย้งสวนองค์ความรู้เดิม หรือมีการตั้งคำถามต่อองค์ความรู้เดิมตลอดเวลา ปรับฐานอารยธรรมเพื่อที่จะต่อยอดมันขึ้นไปอีก การต่อยอดดังกล่าวมาจากความคิดต่างเป็นสำคัญ จากผู้ให้ความรู้ซึ่งก็คือครู ครูไม่ใช่บุคคลผู้ควรเคารพ หรือควรเชื่อฟังในแง่ผู้ประสาทความรู้ หากแต่ครูคือเพื่อนที่เท่าเทียมกันกับศิษย์ คือกัลยาณมิตรทุกประการ

กลับมาประเด็นที่ว่า การเติบโตจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของอเมริกาเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมนวัตกรรมแทบทั้งหมดของโลกไปตกอยู่ที่ประเทศนี้?

หากสาวไปยังร่องรอยอดีต หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีให้เห็นมากมาย

แค่ถ้าคุณดูหนังฮอลลีวูด สารคดีหรือข่าว หรือสื่อใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับอเมริกา คุณก็จะเห็นว่า คนอเมริกันเติบโตมาภายใต้วิญญาณขบถ นั่นคือการไม่ยอมจำนน ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธสิ่งที่คนรุ่นก่อนเคยทำไว้ วันชาติของอเมริกัน (4 ก.ค.) คือวันประกาศอิสรภาพ (independence day) จากอังกฤษซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่ได้หมายถึงอิสรภาพในแง่ของดินแดนคือการแยกตัวเองเพื่อปกครองตนเองเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงอิสรภาพทางความคิด ทางวัฒนธรรมอีกด้วย

จากประวัติศาสตร์ในช่วงแรกของการประกาศอิสรภาพ ยกเว้นภาษาแล้ว คนอเมริกันปฏิเสธแทบทุกอย่างที่เป็นอังกฤษ กระทำในสิ่งตรงกันข้าม เช่น อังกฤษขับรถซ้าย อเมริกันขับรถขวา วัฒนธรรมอาหารการกินที่ประดิษฐ์มันขึ้นมาใหม่ และอีกหลายเรื่องที่เห็นว่า มันคือการปฏิเสธของเก่าๆ หันมาสร้างของใหม่ด้วยลำแข้งของตนเอง

จากฐานความคิดขบถหรือวิญญาณขบถ "อเมริกันสอนให้คิดต่าง" ดังกล่าว นวัตกรรมจึงเกิดมีในประเทศนี้มากที่สุดในโลก และก็ยังเป็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้...  

 

เมื่อองค์กรวิชาชีพสื่อสั่งสอนจริยธรรมสื่อโดยละเลยคำว่า "ตรวจสอบข้อเท็จจริง"

Posted: 18 Jul 2018 07:50 AM PDT

นับเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจของผมอย่างยิ่งต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่ผู้ควบคุมดูแลจริยธรรมมุ่งแต่สั่งสอนผู้อื่นโดยละเลยที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง และรับผิดชอบต่อผลกระทบ ผมยกกรณีของ ข่าวเวิร์คพ้อยท์ ที่โดนโจมตีเรื่องการ "ดักฟังวิทยุของราชการ"

สืบเนื่องจากผู้สื่อข่าวภาคสนามของทีวีสาธารณะคนหนึ่ง ถ่ายภาพตอนเวิร์คพ้อยท์นำเสนอข่าวเด็กติดถ้ำที่มีการปล่อยเสียงจากวิทยุสื่อสารออกมาอากาศนำมาโพสต์และเขียนข้อความระบุว่า "ดักฟังวิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่ ยังนำมาปล่อยเสียง และเป็นแหล่งข่าว...มาเปิดเผยสาธารณะ อ้าววว เขาทำข่าวแบบนี้กันแล้วเหรอ" และโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ส่งต่อไปจำนวนหลายพันคน เพจต่างๆ นำไปขยายความต่อ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม

ต่อมานายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกมาเขียนสเตตัส สื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่ เผยแพร่ในเพจจริยธรรมสื่อวิทยุโทรทัศน์ 

ซึ่งทำให้นายฤทธิชัย ชูวงษ์ บรรณาธิการข่าวภูมิภาคของเวิร์คพ้อยท์เขียนชี้แจง และทางเพจจริยธรรมสื่อวิทยุโทรทัศน์นำไปเผยแพร่ต่อ (https://bit.ly/2LnLSgG) ระบุความผิดพลาดในบทความของนายบรรยงค์ที่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่า การนำเสนอคลิปข่าวดังกล่าวไม่ได้มาจากการดักฟังวิทยุสื่อสารของทางราชการ

ขณะเดียวกัน ทางศูนย์พญาอินทรี เครือข่ายวิทยุภาคประชาชนเจ้าของได้เขียนชี้แจงว่า

"ข่าวเวิร์คพ้อยท์น่าจะรับฟังผ่านเครื่องมือสื่อสารความถี่ภาคประชาชน (Citizen Band) เครื่องแดง ช่อง 49 ซึ่งเรารายงานสถานการณ์จากถ้ำหลวงตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน..."

และ

"ส่วนการรับฟังข่าวสารจากศูนย์พญาอินทรี ประชาชนคนไทยสามารถรับฟังได้โดยเสรี....หากมีวิทยุสื่อสารเครื่องแดงในมือ"

ซึ่งข้อมูลนี้ ตรงกับคำชี้แจงของทางนายฤทธิชัย ชูวงษ์ บรรณาธิการข่าวภูมิภาคของเวิร์คพ้อยท์ที่ระบุว่า "ทางฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์ไม่ได้ดักฟังวิทยุสื่อสารของทางราชการแต่อย่างใด ฝ่ายข่าวได้คลิปเสียงส่งต่อมาทางไลน์ในกลุ่มสื่อทั่วไป ทั้งนี้ หลังจากเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าวแล้ว ทางฝ่ายข่าวก็ได้มีการติดต่อสัมภาษณ์อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายทางโทรศัพท์ เพื่อให้ท่านชี้แจงว่าข้อมูลในคลิปนั้น ถูกต้องหรือไม่ (ข่าวเช้าวันที่ 9 ก.ค. 61)

และคลิปที่ถูกกล่าวหาก็เป็นเสียงของการรายงานข่าวของนายพลสิงห์ แสนสุข ประธานอำนวยการศูนย์สู้ภัยพิบัติแห่งชาติพญาอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่เสียงของเจ้าหน้าที่หรือเสียงจากเครื่องมือของหน่วยงานราชการแต่อย่างใด"

ประโยคข้างต้นนี้ ขัดแย้งกับสิ่งที่ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยระบุ คือคำว่า "ดักฟัง" ซึ่งหากกิริยาดังกล่าวเป็นอย่างข้อกล่าวหาจะผิดกฏหมายของ กสทช. มาตรา 32 แต่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณีการนำเสนอเสียงจากสัญญาณวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือครั้งนี้ ว่า วิทยุสื่อสารสีแดง (ว.แดง) เป็นวิทยุคลื่นสาธารณะ ไม่ใช่คลื่นเฉพาะ ทุกคนจึงฟังได้ ดังนั้น จึงไม่มีความผิดฐานลักลอบดักฟัง อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นประเด็นอยู่ที่ความเหมาะสมมากกว่า ในการนำเนื้อหาที่คนอื่นพูดไปเผยแพร่ต่อ

จากการไล่เรียงประเด็นนี้ทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามและคำตอบบางส่วนคือ

1.เรื่องนี้ คือการดักฟังวิทยุราชการหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่ แล้วเหตุใดผู้ใหญ่ในองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง จึงใช้คำนี้เขียนเป็นหัวเรื่องในสเตตัสของตนเองอย่างจงใจว่า "สื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่" ทำให้ชุดคำ "ดักฟังวิทยุของราชการ" ถูกผลิตซ้ำต่อไปทั้งที่มันขัดกับข้อเท็จจริง (และเมื่อ กสทช. ออกมาชี้ชัดแล้วก็ยังไม่มีการแก้ไขใดๆ แต่กลับแก้ไขเนื้อหาในข้อเขียนเพียงบางส่วนเท่านั้น)

2.สเตตัสต้นทางของผู้สื่อข่าวทีวีสาธารณะที่จุดประเด็นนี้ ถูกเจ้าตัวลบทิ้งไปแล้วอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น เหตุใดนายบรรยงค์จึงไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเรียกร้องจริยธรรมสื่อกรณีการกล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร

3.ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนายฤทธิชัย ชูวงษ์ ที่มีการถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนด กระทบครอบครัว กระทบชีวิตส่วนตัว และถูกล่าแม่มดไปใส่ร้ายป้ายสีสร้างความเกลียดชังในเพจต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่องด้วย เหตุอันมาจากข้อชี้แจงที่เขาโต้แย้งข้อเขียนของนายบรรยงค์และถูกนำไปขยายความต่อ ทั้งที่การกระทำ (กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีการดักฟัง) ไม่มีความชัดเจนว่าจะผิดจริยธรรมสื่อข้อใด (ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆ จากองค์กรวิชาชีพสื่อ) เป็นความผิดเกินกว่าเหตุหรือไม่

4.การหยิบกระแสสังคมออกมาสอนจริยธรรมสื่อโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง (จริงๆ มีกรรมการอยู่แล้ว) เป็นความเหมาะสมหรือไม่สำหรับคนที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ

5.นายบรรยงค์คิดเห็นอย่างไรกับชุดคำที่ขัดแย้งกันในข้อกล่าวหาและข้อชี้แจง

"ดักฟัง" และ "ไม่ได้ดักฟัง"

"ราชการ" และ "สาธารณะ

"ผิดจริยธรรม" และ "ไม่เหมาะสม"

"ผิดกฏหมาย" และ "ไม่ผิดกฏหมาย"

หากนำชุดคำดังกล่าวมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ผมไม่แน่ใจว่านายบรรยงค์จะรู้สึกรับผิดชอบขึ้นหรือไม่ว่า การออกมาสั่งสอนจริยธรรมสื่อท่ามกลางข้อเท็จจริงที่พร่ามัวโดยใช้กระแสสังคมนำ ไม่ต่างกับการชี้ว่าผิดจริยธรรม เพราะเท่ากับหนุนนำกระแสโดยไม่มีใครสนใจข้อเท็จจริง ใช้แต่ความรู้สึกนำ และต่างคนต่างมุ่งจะแสดงความเห็น และหากไม่อคติเกินไปนักก็จะรับฟังได้ว่า การกล่าวหาว่าทางเวิร์คพ้อยท์ดักฟังวิทยุราชการ คือการบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งโดยจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อข้อหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนจะกล่าวหาใคร ยิ่งเป็นองค์กรวิชาชีพก็ควรระมัดระวังก่อนจะลงแส้ใส่ผู้ใดมิใช่หรือ

ผลกระทบต่อนายฤทธิชัย ชูวงษ์ในวันนี้ เกินกว่าเหตุ เกินความเหมาะสม เกินกว่าความผิดที่เขากระทำหรือไม่ (ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นความผิดใดๆ เพราะความเหมาะสมเป็นเรื่องของวิจารณญาณ) ก็ยังไม่มีใครออกมายอมรับความผิดพลาด ไม่มีใครรับผิดชอบ และดูเหมือนการตีตราและทำร้ายตัวบุคคลครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะมีผู้ร้าย มีการลงโทษที่รุนแรง และ ผู้กล่าวหาดูจะมีจริยธรรมสูงส่งขึ้นหรือไม่ คิดว่าในใจของเจ้าตัวน่าจะรู้ดี

ซึ่งก็น่าเศร้ากับสมาคมวิทยุและโทรทัศน์ ที่หากยังใช้วิธีการเช่นนี้อยู่ (สั่งสอนจริยธรรมตามกระแสโดยละเลยข้อเท็จจริง) ใช้พละกำลังถีบสื่อออกไปแทนการพูดคุย เสนอแนะ ซึ่งอาจนำพาความร่วมมือหรือป้องกันปัญหาได้ในอนาคต

น่าเสียดายจริงๆ ที่ต่อไปคงไม่มีใครสนใจว่าคุณบรรยงค์จะพูดอะไร.

 

ส่องการปรับเงินเดือนทหาร ปี 21-ปัจจุบัน

Posted: 18 Jul 2018 05:49 AM PDT

แม้ยกเลิก 'จอมพล' แต่เงินเดือนเท่าเดิม ย้อนดู พ.ร.บ.ทหาร ปี 21-58 ปรับเงินเดือน 5 ครั้ง เพิ่มเกินเท่าตัวปี 31 และ 51 ล่าสุดปี 58 เพิ่ม 8% ใช้งบ 2 หมื่นล้าน ปี 59 ปรับเงินเดือนทหาร-ตำรวจ ตำแหน่ง พล.ท.สูงสุด 76,800 บ. งบฯ กลาโหมปี 61 เพิ่ม 8.8 พันล้าน ขณะที่ปี 57 ไทยมีนายพลรวม 1,500-2,000 คน มากกว่าสหรัฐฯ 1 ใน 3 แม้ประชากรน้อยกว่า 5 เท่า

เปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนระดับชั้นของข้าราชการทหาร พ.1 ป.1 น.1 น.5 และ น.9 กับ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในปี 2527, 2531, 2535, 2551 และ 2558 

จากข่าว เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 61 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ยกเลิกตำแหน่งจอมพลแต่รับอัตราเงินเดือน น. 9 เท่าเดิม ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่) พ.ศ.... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ พ.ศ.2551  

โดยเมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะส่งผลให้กระทรวงกลาโหมไม่มีตำแหน่งอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ โดยนายทหารสัญญาบัตรยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ที่มีอัตราเงินเดือนจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ในระดับ น.9 จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก และได้รับอัตราเงินเดือนพลเอกพิเศษ พลเรือเอกพิเศษ พลอากาศเอกพิเศษ ในระดับ น.9 เช่นเดิม ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่อเงินเดือน เนื่องจากนายทหารสัญญาบัตรเหล่านี้ยังคงได้รับเงินเดือนระดับ น.9 ต่อไปเช่นเดิม

ประชาไทชวนย้อนดูการขึ้นเงินเดือนทุกระดับชั้นของข้าราชการทหาร ตั้งแต่ พ.1, พ.2, ป.1, ป.2, น.1, น.2, น.3, น.4, น.5,

1.ทหารกองประจําการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ได้รับเงินเดือนระดับ พ.1

2.พลทหารประจําการ (พลอาสาสมัคร) ให้ได้รับเงินเดือนระดับ พ.2

3.นายทหารประทวนยศตั้งแต่สิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ถึงสิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.1

4.นายทหารประทวนยศตั้งแต่จ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี ถึงจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.2

5.นายทหารประทวนยศจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก อัตราเงินเดือน จ่าสิบเอกพิเศษ พันจ่าเอกพิเศษ พันจ่าอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.3

6.นายทหารสัญญาบัตรยศร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ถึงร้อยเอก เรือเอก เรืออากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.1

7.นายทหารสัญญาบัตรยศพันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.2

8.นายทหารสัญญาบัตรยศพันโท นาวาโท นาวาอากาศโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.3

9.นายทหารสัญญาบัตรยศพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.4

10.นายทหารสัญญาบัตรยศพลจัตวา พลเรือจัตวา พลอากาศจัตวา หรือพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกอัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ น.5

11.นายทหารสัญญาบัตรยศพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.6

12.นายทหารสัญญาบัตรยศพลโท พลเรือโท พลอากาศโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.7

13.นายทหารสัญญาบัตรยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.8

14.นายทหารสัญญาบัตรยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ที่เคยครองอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.9

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร 21-58 ปรับเงินเดือน 4 ครั้ง ล่าสุดเพิ่ม 8% ใช้งบ 2 หมื่นล้าน

โดย พ.ร.บ. ฉบับแรกคือ พ.ศ. 2521 จากนั้น พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2527 ได้ปรับเงินเดือนข้าราชการทหารขึ้นเป็นครั้งแรก ปรับครั้งที่ 2 ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2531 ปรับครั้งที่ 3 ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2435 จากนั้นเว้นไปอีก 15 ปี และปรับครั้งที่ 4 ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2551 และปรับครั้งที่ 5 เพิ่มขึ้นประมาณ 8% ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2558 โดย สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ปรับเงินเดือนข้าราชการทหารเพื่อปรับเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ด้วยมติ 163 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง จากทั้งหมด 177 เสียง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยวงเงินที่ใช้ในการดำเนินการในการปรับขึ้นเงินเดือนอัตรา 8 % จะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ระดับเงินเดือน

2521 (รวมบัญชี 1,2,3)

2527

2531 (รวมบัญชีก. ข. ค. ง.)

2535

2551

2558

พ.1

300-660

420-1,255

560-2,900

800-3,000

1,360-6,050

1,469-6,534

พ. 2

900-1,950

1,255-3,535

2,100-7,010

3,000-6,350

4,870-15,290

5,260-16,513

ป. 1

1,000-3,115

1,255-4,685

2,100-8,270

3,000-7,610

4,870-19,520

5,260-21,082

ป. 2

1,485-3,535

2,765-5,745

3,550-10,270

5,260-9,700

7,140-23,400

7,711-25,272

ป. 3

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

10,350-26,990

11,178-29,189

น. 1

1,785-6,935

2,485-7,285

3,150-12,720

4,760-12,480

6,470-26,990

6,988-29,149

น. 2

4,110-8,895

5,205-9,385

5,800-15,770

8,390-15,380

13,160-28,880

14,213-31,190

น. 3

5,210-10,855

6,935-12,535

7,200-19,470

9,740-18,840

16,190-35,220

17,485-38,038

น. 4

6,710-13,095

8,475-13,095

8,950-22,770

11,980-23,170

19,860-49,830

21,449-53,816

น. 5

8,160-15,575

10,365-15,575

12,350-32,500

18,060-31,990

24,400-53,080

26,352-57,326

น. 6

9,790-16,975

11,975-16,975

14,300-36,250

22,180-37,740

29,980-62,080

32,378-67,760

น. 7

11,650-18,515

13,695-18,515

16,700-40,000

25,960-42,520

35,090-67,560

37,897-72,965

น. 8

12,690-18,515

14,935-18,515

18,400-40,000

28,920-42,520

39,090-67,560

42,217-72,965

น. 9

13,820-19,325

19,325

24,000-41,250

37,800-44,160

51,960-70,930

56,117-76,604

เปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์

ระดับเงินเดือน

2527

2531

2535

2551

2558

พ.1

90

131

3

102

8

พ. 2

81

98

-9

140

8

ป. 1

50

77

-8

157

8

ป. 2

63

79

-6

141

8

ป. 3

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

ตำแหน่งใหม่

8

น. 1

5

75

-2

116

8

น. 2

6

68

-2

88

8

น. 3

15

55

-3

87

8

น. 4

0

74

2

115

8

น. 5

0

109

-2

65

8

น. 6

0

114

4

64

8

น. 7

0

116

6

64

8

น. 8

0

116

6

59

8

น. 9

0

113

7

61

8

เมื่อคำนวณอัตราการเพิ่มของเงินเดือน โดยคิดจากอัตราเงินเดือนสูงสุดของแต่ละระดับ พบว่า ปี 2527 แต่ละระดับเงินเดือนมีทั้งที่ไม่เพิ่มขึ้นเลย (น.9) ไปจนถึงเพิ่มขึ้นประมาณ 90% (พ.1) ปี 2531 ทุกระดับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จนถึงเกินเท่าตัว เพิ่มสูงสุด 131% (พ.1) รองลงมาคือ 116% (น.8) ปี 2535 เป็นปีที่เงินเดือนสูงสุดในแต่ละระดับลดลงหรือหากเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นทหารในระดับสูง เช่น น.6 น.7 น.8 น.9 แต่ที่เพิ่มมากที่สุดคือ น.9 เพิ่ม 7% ปี 2551 เพิ่มขึ้นอย่างมากอีกครั้งทั้งเกือบทั้งตัวจนถึงเกินเท่าตัว และเพิ่มตำแหน่ง ป.3 เข้ามาด้วย เพิ่มสูงสุด 157% (ป.1) ส่วน น.4 เพิ่มขึ้น 115% น.5 เพิ่มขึ้น 65% น.6, น.7 เพิ่มขึ้น 64% น.8 เพิ่มขึ้น 59% และ น.9 เพิ่มขึ้น 61% และปี 2558 เฉลี่ยแล้วทุกระดับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 8%

เปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานครแต่ละปีตามราชกิจจานุเบกษาได้ดังนี้

 

2521

2527

2531

2535

2551

2558

บาท/ต่อวัน

35

70

76

115

203

300

บาท/ต่อเดือน

910

1,820

1,976

2,990

5,278

7,800

อัตราการเพิ่ม

 

100%

8.57%

51.31%

76.52%

47.78%

*ค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนคำนวณจากค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน x 26 วัน

ปี 59 ปรับเงินเดือนทหาร-ตำรวจ 400-1,300 บ. ตำแหน่ง พล.ท.สูงสุด 76,800 บ.

ปี 2559 (22 มี.ค.) ปรับเพิ่มเงินเดือนอีกครั้งเมื่อ ครม. เห็นชอบปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการทหาร ตำรวจ เพิ่มอัตราละ 400-1,300 บาท ตามหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาให้กับข้าราชการทหาร ตำรวจและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือน เนื่องจากที่ผ่านมามีการปรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน ทำให้ฐานเงินเดือนสูงสุดของฝ่ายพลเรือนมีอัตราที่สูงกว่าภาคข้าราชการทหาร ตำรวจ จึงมีการเสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำลง

โดยจะปรับเพดานอัตราเงินเดือนดังนี้ ระดับพล.ท. พล.ร.ท. พล.อ.ท.จากเงินเดือน 74,320 บาท เยียวยาเป็น 75,560 ถึง 76,800 บาท ระดับ พล.ต. พล.ร.ต. พล.อ.ต. จากเงินเดือน 69,040 บาท เยียวยาเป็น 70,360 ถึง 74,320 บาท ระดับ พ.อ. น.อ. น.อ.อ. จากเงินเดือน 58,390 บาท เยียวยาเป็น 59,500 บาท ระดับจ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี ถึงจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก จากเงินเดือน 29,690 บาท เยียวยาเป็น 30,220 บาท ถึง 38,750 บาท และระดับสิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ถึงสิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก จากเงินเดือน 21,480 บาท เยียวยาเป็น 21,880 บาท ถึง 38,750 บาท ส่วนข้าราชการตำรวจ ระดับ พล.ต.ท.จาก 74,320 บาท เยียวยาเป็น 75,560 บาท ถึง 76,800 บาท ระดับ พล.ต.ต.จากเงินเดือน 69,040 บาท เยียวยาเป็น 70,360 บาท ถึง 74,320 บาท ระดับพ.ต.อ.(พิเศษ) จากเงินเดือน 69,040 บาท เยียวยาเป็น 70,360 บาท ระดับ พ.ต.อ.จาก 58,390 บาทเยียวยาเป็น 59,500 บาท

ปี 60 สนช. ใช้เวลา 15 นาที ผ่านร่าง พ.ร.บ.ฯ เพิ่มอัตราเงินเดือนประจำตำแหน่งข้าราชการวิชาการกลาโหม

ปี 2560 (23 พ.ย.) ที่ประชุม สนช. ใช้เวลาเพียง 15 นาที เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ด้วยมติเห็นชอบ 203 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากทั้งหมด 207 เสียง เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ ประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม และเพิ่มบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ ประเภทวิทยฐานะ โดยไม่นำชั้นยศทางทหารมาเป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาการดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ โดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ จากนั้น วันที่ 26 มกราคม 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการแก้ไขตามมติดังกล่าว

งบฯ กลาโหมปี 61 เพิ่ม 8.8 พันล้านจากปี 60 เพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 58

พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้จัดสรรงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนไปยังกระทรวงกลาโหมสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.7% ของงบประมาณทั้งหมด ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากงบปี 2560 ถึง 8.8 พันล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงในอันดับต้นๆ ของกลุ่มกระทรวงด้วยกัน และหากนับย้อนไปตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง จะพบว่างบกลาโหมไต่ระดับสูงขึ้นตลอด ตั้งแต่งบปี 2558 จำนวน 1.9 แสนล้าน เป็นทะลุ 2 แสนล้านในปี 2559 แล้วขยับขึ้นเป็น 2.1 แสนล้านในปี 2560 และล่าสุด 2.22 แสนล้าน ในปี 2561

งบของกระทรวงกลาโหมปี 2561 มากเป็น 2 เท่าของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลเกษตรกรอย่างน้อย 11 ล้านคน มากเป็น 5 เท่าของกระทรวงแรงงาน ที่ดูแลแรงงานในระบบและนอกระบบรวมกว่า 38 ล้านคน และมากเป็น 15 เท่าของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และหากนำไปเทียบกับงบที่กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรเมื่อเกือบสิบปีก่อนในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งอยู่ที่ 1.70 แสนล้านบาท ก็จะเพิ่มขึ้นถึง 30% เลยทีเดียว

ย้อนดูปี 57 ไทยมีนายพลรวม 1,500-2,000 คน มากกว่าสหรัฐฯ 1ใน 3 แม้ประชากรน้อยกว่า 5 เท่า

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พบว่า ปี 2557 บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล มีชื่ออยู่ในบัญชีถึง 1,092 คน นั่นคือนายพลเก่าและนายพลใหม่ (ขยับจากระดับพันเอกพิเศษขึ้นมา) รวมกัน แต่ยังไม่นับรวมนายพลที่ไม่ได้ขยับย้ายไปไหน ประเมินกันว่ารวมๆ แล้วน่าจะมีนายพลจากทุกเหล่าทัพมากถึง 1,500-2,000 คน

ย้อนดูจำนวนนายทหารชั้นนายพลในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายวาระประจำปีย้อนหลัง 5-6 ปีก็จะเห็นความผิดปกติ โดยในปี 2552 มีนายพลในบัญชีรายชื่อ จำนวน 568 คน ปี 2553 ลดลงเล็กน้อยเหลือ 530 คน ปี 2554 ขยับขึ้นเป็น 584 คน จากนั้นปี 2555 ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 811 คนตามด้วย 861 คนในปี 2556 และขึ้นถึงหลักพันในปี 2557 ที่จำนวน 1,092 คน นับจากปี 2554-2557 มีนายพลในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แน่นอนว่านายทหารยศ "พลเอก" ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย

กานดา นาคน้อย นักวิชาการเขียนถึงประเด็นนี้ในบทความ 'นายพลว่างงาน' เมื่อ ต.ค.2557 ว่า เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ มีจำนวนนายพลเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนนายพลไทย สหรัฐฯ มีกำลังพลประมาณ 3 เท่าของกำลังพลของกองทัพไทย เมื่อเปรียบเทียบด้วยจำนวนประชากรแล้ว สหรัฐฯ มีประชากรประมาณ 5 เท่าของไทย ดังนั้นสัดส่วนกำลังพลของกองทัพไทยต่อประชากรจึงสูงกว่าสัดส่วนกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯเสียอีก และเมื่อตรวจสอบดูเรื่องสวัสดิการของนายพล งบจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่ง งบค่าน้ำมัน และงบค่าเดินทางไปต่างประเทศ กลับไม่สามารถหาสถิติได้

ปฏิรูปกลาโหม ตั้งเป้าปี 71 เหลือ 384 นายพล

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ก.ค.2559 พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการปรับระบบงานด้านกําลังพล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมประสบปัญหาความคับคั่งของกําลังพลในชั้นยศสูง จึงต้องปรับลดให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยส่วนแรกได้ปรับลดกําลังพลในตําแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นสุดในปี 2571 ซึ่งจะสามารถลดจํานวนกําลังพลดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 50 โดยปี 2551 มีนายทหารระดับ พลตรี พลโท พลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทั้งหมด 768 คน และ จะลดลงในปี 2571 เหลือ 384 คน เช่นเดียวกับนายทหารชั้นยศพันเอกพิเศษ ในตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ (นปก.) ที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 2,698 คน จะต้องลดลงในปี 2571 เหลือ 1,349 คน

โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุด้วยว่า การลดจำนวนนายพล โดยลดอัตราผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จะเริ่มค่อยๆ ดำเนินการต่อไปเพราะที่ผ่านมาก็เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะสอดคล้องกับการผลิตนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมทหาร และนายร้อยฯ ทุกเหล่าทัพที่จะลดไปตามลำดับด้วย สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลังมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษในโผทหารจำนวนมากนั้น ก็เป็นปัญหาความคับคั่งในระดับรองลงไป ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมได้จัดทําโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกําหนดจํานวน 3 โครงการ เพื่อเป็นกลไกรองรับต่อภารกิจดังกล่าว ทั้งระดับชั้นยศนายพล และทุกชั้นยศ มีกําลังพลเข้าร่วมโครงการใน 3 ปี ที่ผ่านมา กว่า 15,000 นาย

'คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' โพสต์ภาพถาม เป็นที่พักข้าราชการผู้น้อย?

Posted: 18 Jul 2018 04:38 AM PDT

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพโพสต์ภาพแฉอาคารชุดสุดหรู ของผู้น้อย? และปริศนาพื้นที่บ้านเดี่ยว จี้ 'ประยุทธ์' รักษาคำพูด

ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' 

18 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 และ 17 ก.ค. เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' โพสต์แฉตุลาการ ตอนที่ 1 และ 2 อาคารชุดสุดหรู ของผู้น้อย และปริศนาพื้นที่บ้านเดี่ยว

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุว่า ข้อตกลงกับรัฐบาล 6 พ.ค.61 ไม่มีผู้อาศัย ในอาคารชุด 9 หลัง และบ้านพัก 45 หลัง จนถึงปัจจุบัน กลางเดือน ก.ค. 61 มีคนทยอยเข้าไปอยู่ในอาคารชุดทั้ง 9 หลัง ราว 30 ครอบครัว ไม่มีทีท่าว่าจะย้ายออก

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โต้สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่าเป็นข้าราชการผู้น้อย และขอความเห็นใจว่า ความจริง ในบรรดาอาคารชุดทั้ง 9 หลัง มีอาคารที่ออกแบบสำหรับข้าราชการศาล(ผู้น้อย)เพียงหลังเดียว จากการสังเกต ปัจจุบันมีผู้น้อยเข้าอยู่ เพียง 3 ห้อง ส่วนอาคารชุดที่เหลืออีก 8 หลัง เป็นอาคารชุดหรู ระดับเพนท์เฮ้าส์ ถ้าไม่เรียกว่าเพนท์เฮ้าส์ ก็น้องๆ ล่ะ เพราะทั้งอาคาร(3ชั้น) มีห้องพักเพียง 8 ห้อง พื้นที่ใช้สอยกว้างขวางโอฬารขนาดไหน นึกดู อาคารหรูเหล่านี้ เป็นของระดับผู้พิพากษา มีเงินเดือน เงินประจำและเงินพิเศษ รวมเกือบแสนบาทต่อเดือน จึงไม่แปลก ที่มี รถเบนซ์และรถหรูจอดอยู่ด้านหน้า แบบนี้จะอ้างได้อย่างไรว่าเป็นผู้น้อย
 
 
"เรามีรายชื่อพวกท่าน แทบทุกห้อง ตรวจสอบดูทราบว่าเป็นผู้พิพากษา จึงชัดเจนว่าอาคารชุดด้านบน ไม่ได้มีไว้สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย เราไม่ใช่ศัตรูกัน ขอยืนยันว่าไม่ใช่ปฏิปักษ์และคู่กรณีใดๆ แต่อยากขอร้องให้ท่านย้ายออกเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงกับรัฐบาล เราเชื่อว่าบางท่านอึดอัดใจ แต่ชาวเชียงใหม่อึดอัดใจมากกว่า และเรายังยืนยันตามติดเรื่องป่าแหว่งต่อไป" เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โพสต์
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุด้วยว่า จากนี้เป็นต้นไปทางเครือข่ายจะมีการนำข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับโครงการนี้ออกมาเปิดเผยเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบว่าการดำเนินการโครงการนี้อาจจะมีเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จากเดิมที่ต้องการเพียงขอคืนพื้นที่ป่าเท่านั้น แม้จะมีข้อมูลเชิงลึกต่างๆ อยู่มากมายตั้งแต่แรกแต่ไม่เคยเปิดเผย อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีความจำเป็นแล้วเพราะมีการผิดข้อตกลงกัน ซึ่งล่าสุด 17 ก.ค.61 มีการเปิดเผยข้อมูลและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบ้านพักทั้ง 45 หลัง ที่อาจจะดำเนินการผิดระเบียบสำนักงบประมาณ ที่เมื่อปี 2557 ที่มีการทำสัญญากัน มีการกำหนดว่าบ้านพักข้าราชการระดับอธิบดีผู้พิพากษามีเนื้อที่ไม่เกิน 155 ตารางเมตร เพราะดูแล้วน่าจะมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 300 ตารางเมตร โดยจากนี้จะมีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ ออกมาอีกไม่หยุดเพื่อให้ประชาชนช่วยกันพิจารณา

เครือข่ายขอคืนป่าฯ จี้ประยุทธ์รักษาคำพูด

ล่าสุดวันนี้ (18 ก.ค.61) เนชั่นทีวี รายงานว่า 10.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คณะอนุกรรมการจัดการกับสิ่งก่อสร้างจากกรณีก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ดังกล่าว ได้มีการจัดประชุมอนุกรรมการจัดการสิ่งก่อสร้างฯ โดยมี ธีระยุทธ กุคำใส สถาปนิก ชำนาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำโดย ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
 
รายงานข่าวระบุว่า การประชุมมีข้อสรุปว่าให้เร่งดำเนินการรื้อถอน บ้านพัก 45 หลังที่อยู่บนเนินเขา โดยเร่งด่วนเนื่องจากเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายอย่างมากในระบบโครงสร้างจากดินสไลด์ รวมทั้งกรณีเมื่อวานนี้ (17 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสชช. กล่าวถึงกรณีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ออกมาเรียกร้องอีกครั้ง ระบุพบอาคารชุด 9 หลัง ในโครงการบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ ที่รัฐบาลห้ามคนเข้าพักอาศัย มีข้าราชการระดับผู้พิพากษาเข้าไปพักอาศัยกว่า 30 ครอบครัวว่ายังไม่ได้รับรายงานเพิ่มเติม แต่พบว่าบ้านพักทั้ง 45 หลังยังไม่มีผู้เข้าไปอยู่อาศัย เพราะไม่ได้ให้พักอาศัย ส่วนของอาคารชุดมีการอยู่อาศัยมาก่อน ซึ่งได้ตกลงกันแล้วว่า เมื่อมีการก่อสร้างหลังใหม่ ต้องมีการย้ายออก และปรับพื้นที่คืนสู่สภาพเดิม แต่ก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่เขาอยู่มาก่อน เราไม่ได้ให้เพิ่มเติม หลังจากที่มีกรณีศึกษาออกมาแล้ว คนที่เขาอยู่มาแล้วในช่วงที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องให้เขาอยู่ทำงานไปก่อน ต้องเห็นใจกันทั้ง 2 ฝ่าย จะให้เขาไปอยู่ที่ไหน นั่นคือปัญหาเพราะเป็นหน้าที่ ตนขอยืนยันว่ายังเป็นไปตามกติกาทุกประการ
 
ธีระศักดิ์ กล่าวว่า ในวันนี้คณะอนุกรรมการฯ สรุปแล้วว่า จะต้องรื้อ บ้านพัก 45 หลังเป็นเด็ดขาดแล้ว ส่วนอาคารชุด 9 หลัง จะรื้อเป็นอันดับต่อไป ซึ่งจะต้องส่งข้อมูลการประชุมครั้งนี้ไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป แต่ขณะที่เมื่อวานนี้ ทางพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับพูดว่าการที่มีข้าราชการมาพักอาศัยในอาคารชุด 9 หลังนั้นก็ให้อยู่ไปก่อนจนกว่าจะหาและจัดสร้างที่ใหม่แล้วเสร็จ
 
แต่กระนั้นหากนายกฯ ลองกลับไปย้อนฟังที่ท่านเองเคยพูดไว้เมื่อ 2 เดือนก่อนว่า จะไม่อนุมัติให้ใครอยู่อาศัย ออกอากาศผ่านสื่อไปทั่วโลก ทางเครือข่ายต้องการให้นายกฯทำตามที่พูดไว้ จะมาอ้างว่าให้ผู้น้อยอยู่อาศัยไปก่อน อยู่ต่อไปจนกว่าจะหาที่อยู่ใหม่ได้นั้นจะเป็นการพูดกลับกลอก และรู้หรือไม่ว่าอาคารเดิมใช้เวลาสร้างกว่า 5 ปี ฉะนั้น หากรอให้สร้างอาคารใหม่เสร็จก็คงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-6 ปีอย่างแน่นอน
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวต่อว่า ขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ในเมื่อสัญญากับเครือข่ายกับประชาชนชาวเชียงใหม่แล้วว่าจะไม่มีผู้อยู่อาศัย ฉะนั้นควรจะมีแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม อาทิ ยังมีอาคารชุดที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่การรื้ออีก 4 หลัง ราว 40 กว่าห้อง นายกฯสามารถสั่งย้ายได้ทันที ให้ทุกคนที่อยู่ในเขตพิพาท มาอาศัยในอาคารชุดที่เหลือ 4 หลังก็หมดเรื่องแล้ว หากทำตามที่นายกฯพูดว่ารอที่ทำการใหม่เสร็จค่อยย้าย ต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี ในเมื่อจนปัจจุบันนี้ เรื่องการหาที่ใหม่ ก็ยังไม่คืบหน้า งบประมาณมาจากไหนก็ไร้คนทราบ ไม่มีสิ่งใดคืบหน้าทั้งนั้น

 

พรรคประชาธิปไตยใหม่ #2 แก้แล้ง แก้จน ปฏิรูปยุติธรรมสไตล์ไทบ้าน

Posted: 18 Jul 2018 03:58 AM PDT

ภาคต่อของการพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่และยุทธศาสตร์พรรคเล็กภายใต้เงื่อนไข รธน. 60 นอกจากนี้พวกเขายังชูนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจน ด้วยการเปิด "โรงพยาบาลรักษาหนี้" แก้ภัยแล้งด้วยบ่อบาดาลโซลาร์เซลล์ ชูข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสไตล์ไทบ้าน บัตรประชาชนใบละ 6 หมื่นบาท ใช้ประกันตัวจากคดีความ พร้อมให้กำลังใจพรรคเกิดใหม่ แต่ต้องยอมรับว่าด้วยเงื่อนไข รธน. ปัจจุบันนั้นไม่ง่าย

หลังจากพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคการเมืองขนาดเล็กแต่ไม่ธรรมดา เพราะพวกเขาเคยคว้า 1 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปี 2554 มาแล้ว โดยตอนที่แล้วพวกเขาพูดถึงการปรับยุทธศาสตร์พรรค-แก้โจทย์รัฐธรรมนูญ 2560 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้พวกเขายังเตรียมนโยบายสำหรับใช้รณรงค์ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้โดยเน้นเดินลุยทั่วประเทศ พร้อมชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้องและความยากจนสไตล์ไทบ้าน

 

เส้นทางต่อสู้จากครูถึงรัฐสภา

สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ บอกว่าเส้นทางต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขาเริ่มมาตั้งแต่สมัยลงสมัครประธานสภานักศึกษา วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี) หลังจากนั้นเมื่อรับราชการเป็นครูประชาบาล ทั้งเขาและนิพนธ์ ชื่นตา รวมทั้งเพื่อนๆ รวมตัวกันในนาม "ชมรมครูภาคอีสาน" ในปี 2521 ก่อนพัฒนามาเป็น "ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" มาชุมนุมถึงกระทรวงศึกษาธิการและทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องการบรรจุครูเป็นข้าราชการประจำ โดยเป็นที่มาของ "สมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทย" ในเวลาต่อมา

สุรทินเล่าด้วยว่าการต่อสู้ของขบวนการครูประชาบาลในเวลานั้น นอกจากต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิแล้ว ครูในชนบทก็มีเรื่องต้องช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย โดยครูบาอาจารย์ส่วนหนึ่งก็ส่งข้าวปลาอาหารไปช่วย จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายคนเริ่มคืนสู่เมือง ขบวนการครูประชาบาลยังช่วยเหลือประชาชนในปัญหาอื่น ทั้งเรื่องไม่มีที่ดินทำกิน หนี้สิน พิพาทถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขับไล่ รวมทั้งติดตามเงินช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ฯลฯ

โดยตัวของสุรทินหลังจากนั้นได้ฉีกออกมาทำงานการเมือง เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยของอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งในเวลานั้นอุทัยเป็นแกนนำพรรคก้าวหน้าและพรรคเอกภาพ กระทั่งอุทัยยุติบทบาททางการเมือง สุรทินกับเพื่อนๆ ที่เคยร่วมงานต่อสู้มาตั้งแต่สมัยครูประชาบาลจึงรวมตัวกันอีกครั้งในนามพรรคประชาธิปไตยใหม่

ส่วนเรื่องนโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐบาลในอนาคตต้องแถลงนโยบายให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือการประกาศหาเสียงก็ต้องระบุวงเงิน ระบุแหล่งงบประมาณที่จะใช้ แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่เชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถอธิบายให้ กกต. ฟังได้

พรรคประชาธิปไตยใหม่ #1 เน้นเคาะประตูบ้าน ไม่หวั่นโซเชียล ไม่กลัวพลังดูด คสช.

 

เสนอปฏิรูประบบยุติธรรม เริ่มที่บัตรประชาชนใบละ 6 หมื่น

แกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่

ป้ายประชาสัมพันธ์ภายในพรรคประชาธิปไตยใหม่ป้ายหนึ่งก็คือ "บัตรประชาชนมีค่า 60,000 บาท" ซึ่งฟังดูเหลือเชื่อ อย่างไรก็ตามสุรทินอธิบายว่า นโยบายของพรรคก็คือบัตรประชาชน 1 ใบ มีมูลค่าประกันตัวในวงเงิน 60,000 บาท เขาเสนอว่าเหมือนเป็นเครดิตด้านความยุติธรรม แต่เดิมถ้าลูกชาวบ้านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เช่น มีเรื่องในวงหมอลำถูกตำรวจจับ พ่อแม่ก็ต้องหาเงิน หาหลักทรัพย์มาประกันลูก

"วิ่งไปเอาโฉนด วิ่งไปหา อบต. ก็ไม่อยู่ กำนันก็ไม่อยู่ ครูน้อยครูใหญ่ก็ไม่อยู่ไปดูหมอลำหมด วิ่งทั้งคืนใครจะให้เงิน 50,000 ลูกก็ติดคุกฟรี เราก็ไม่ได้นอน หมอลำก็ไม่ได้ดู แต่ถ้ามีบัตรประชาชน 1 ใบมีมูลค่าประกัน 60,000 วางใส่หน้าตำรวจเลย ให้ประกันมั้ย ไม่พอ เอาบัตรประชาชนของแม่มาอีก เป็น 120,000 ตำรวจก็ให้ประกัน อย่างน้อยก็ออกมาดูหมอลำ ปรับอารมณ์ก็ดีขึ้น ก็ไม่ตีกันแล้ว" สุรทินกล่าว

 

แก้ภัยแล้งด้วยบาดาลโซลาร์เซลล์ ไม่ต้องขับรถแจกน้ำ

อีกหนึ่งก็คือแดดออก น้ำแตก คือแดดออกมาปุ๊บน้ำพุ่งออกจากดินเลย คือบาดาลโซลาร์เซลล์ ต่อไปอีสานไม่ต้องปล่อยรถแจกน้ำแล้ว ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบ เคยมีผู้ทดลองวิจัยมาแล้วที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ถังประปาสูง 20 เมตรยังสูบขึ้นถังได้ ทีนี้เราก็ทำที่นาใครนามัน หน้าแล้งก็สูบ มกราคมถึงเมษายนก็พอแล้ว เสร็จแล้วกรมบาดาลต้องบอกชาวบ้าน หน้าฝนต้องเอาน้ำลงใต้ดิน ไม่ใช่ว่ามีแต่สูบขึ้นมา คือน้ำใต้ดินของประเทศไทยหลายหมื่นปีมาแล้วยังไม่ได้เอามาใช้ ที่ผ่านมามีแต่พูดว่าแล้งๆๆ เอาน้ำมาสูบ

หน้าที่ของกรมชลประทาน คืออะไร แล้งเอาน้ำไปจ่าย สูบน้ำเข้า พอน้ำฝน ท่วม ก็สูบน้ำออก นี่คือภารกิจของกรมชลประทาน ไม่ได้คิดอย่างอื่นมากกว่านี้ ผมว่าถ้าเราเป็นรัฐบาลจะทำให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ขึ้น อย่างบาดาลโซลาร์เซลล์ เอาไปปักที่ปลายยอดของภูเขา มันก็ดูดน้ำขึ้นไปแล้วปล่อยน้ำลงมา ไฟก็ไม่ไหม้หน้าแล้ง แค่สี่ห้าเดือนเท่านั้น หน้าฝนก็ให้น้ำลงใต้ดิน นี่คือนโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่ซึ่งไม่ใช้งบประมาณเลย

 

ข้อเสนอตั้งกระทรวงศาสนา ทางออกเพื่อการอยู่ร่วมกัน?

สุรทินกล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปไตยใหม่จะมีข้อเสนอตั้งกระทรวงศาสนา โครงสร้างกระทรวงแบ่งเป็น กรมพุทธ สำนักคริสต์ สำนักมุสลิม กองซิกข์ กองฮินดู กรมกิจการพิเศษ ในกระทรวงจะมีธนาคารศาสนา ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารศาสนา หลักการคือให้ตัวแทนของทุกศาสนาที่มีสัดส่วนผู้นับถือเกิน 1% เป็นกรรมการของธนาคาร ส่วนศาสนาพุทธให้ 2 คน ศาสนาอื่นที่มีผู้นับถือ 1% ขึ้นไปจะมีตัวแทนเป็นกรรมการศาสนาละ 1 คน

ทั้งนี้นโยบายเกี่ยวกับศาสนา เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในสังคมไทย แต่สุรทินเสนอว่าที่ต้องตั้งกระทรวงศาสนา เพราะปัจจุบันยังไม่มีระบบระเบียบไปควบคุม แม้จะมีกรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนา แต่ก็ดูแลไม่ทั่วถึง การตั้งกระทรวงศาสนาจะทำให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาได้มีโอกาสพูดคุยกัน รวมทั้งขจัดความไม่เข้าใจกันในประเด็นต่างๆ โดยสุรทินยกตัวอย่างกรณีประชาพิจารณ์เพื่อสร้างมัสยิดในภาคอีสาน หรือการติดป้ายพระเจ้าสร้างโลกของผู้นับถือศาสนาคริสต์

สุรทินกล่าวด้วยว่า แต่ละศาสนาก็มีองค์กรกำกับอยู่แล้ว เช่น พระสงฆ์มีมหาเถรสมาคม แต่การตั้งกระทรวงศาสนาเป็นการบริการให้ทั่วถึง การมีธนาคารศาสนาจะช่วยให้การทำบุญเรี่ยไรไม่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ เพราะสามารถใช้บริการจากธนาคารศาสนาได้ เขายังยกตัวอย่างวัดบางแห่งถือสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ถึง 20 บัญชี ก็สามารถเปลี่ยนมาฝากที่ธนาคารศาสนาแทน

 

โรงพยาบาลรักษาคนเป็นหนี้ ด้วยการส่งไปปลูกต้นไม้

อีกนโยบายหนึ่งที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ใช้หาเสียงมาตั้งแต่ปี 2554 ก็คือการแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วย "โรงพยาบาลรักษาหนี้" โดยสุรทินขยายความว่า "โรงพยาบาลรักษาหนี้ มีวิธีรักษาหนี้ด้วยการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ หนีโรคร้อน"

โดยแนวทางปลูกต้นไม้ใช้หนี้ที่เขาพูดถึงนั้น เป็นแนวทางของ "ณรงค์ สังขะโห" แห่งศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จน วิธีการที่พรรคประชาธิปไตยใหม่นำมาต่อยอดคือตั้ง "โรงพยาบาลรักษาหนี้"

"บางคนอายว่าเป็นหนี้ แต่ถ้าเราบอกว่าป่วยเป็นหนี้ก็ได้ไม่อาย จะได้รักษา การเป็นหนี้ เขาว่าเหมือนโรคปิดบังซ่อนเร้น การตายเพราะหนี้ ทำให้ตายทั้งครอบครัว ตายทั้งตระกูลรวมทั้งคนค้ำประกันหนี้"

สุรทินอธิบายต่อว่านโยบายโรงพยาบาลรักษาหนี้ จะทำให้คนเลิกเป็นหนี้ในชาตินี้ไม่ใช่ชาติต่อไป โดยนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินเอกชนที่เขาประเมินว่าจะแก้ไขได้ราว 700,000 ล้านบาทนั้น จะไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่จะให้คณะรัฐมนตรีออกพันธบัตรมาแก้หนี้ แล้วโอนหนี้จากสถาบันการเงิน เช่นนาย ก. หนี้ ธกส. 3 ล้านบ้าน ก็โอนเข้ากองทุนพันธบัตร ออกจากหนี้ ธกส. มาเป็นหนี้โรงพยาบาล โดยวิธีแก้หนี้จะให้คนเป็นหนี้ไปปลูกต้นไม้ใช้หนี้

ส่วนคำถามว่าปลูกอะไรถึงจะพอใช้หนี้ 3 ล้านบาท สุรทินกล่าวว่า จะให้ปลูกต้นยางนา พอลูกหนี้ที่เข้าโครงการเอาต้นยางนาไปปลูกลงดินและเจริญงอกงามดีแล้ว ให้โรงพยาบาลรักษาหนี้ตรวจภายใน 2 อาทิตย์ หากเป็นหนี้ 3 ล้านบาท ปลูกยางนา 1 ต้น ต้นละ 10,000 บาท ปลูก 300 ต้นก็ออกจากหนี้ทันที แต่มีภาระว่าต้องดูแลต้นยาง 25 ปี

โดยการปลูกต้นยาง 25 ปีจะนำไปใช้หนี้ด้วยการขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หรือ "แหล่งคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset)" โดยจะเป็นการขายให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำหนดให้ภาคเอกชนที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

ทั้งนี้สุรทินประเมินว่าต้นยางอายุ 10 ปีจะเริ่มขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยต้นยางนา 1 ต้น ขายคาร์บอนเครดิตได้ 10 ตัน รัฐบาลจะขายคาร์บอนเครดิตในปีที่ 11 ถ้าเป็นหนี้ 3 ล้านบาท ขายคาร์บอนเครดิต 300 ต้น ต้นละ 2,000 บาท ก็จะได้ 6 แสนบาท พอถึงปีที่ 15 ก็จะเป็นปีที่ 5 ที่ได้ขายคาร์บอนเครดิต ก็จะครบหนี้ 3 ล้านบาทพอดี

"รัฐบาลขายอยู่ 5 ปี หนี้ของคนปลูกก็หมดแล้ว ปีที่ 16 ก็แบ่งรายได้กันคนละครึ่ง ได้กำไรไปเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 25 แต่ถ้าปีที่ 18 คนปลูกเสียชีวิต ลูกหลานก็ได้มรดกดูแลต่อไปปีที่ 25 นี่คือกำไรของรัฐบาลปีละ 300,000 บาทไปเรื่อยๆ พอถึงปีที่ 25 รัฐบาลหยุดเอาเงินคาร์บอนเครดิต จนกระทั่งรัฐบาลจะมาตัดเอาต้นไม้ เพราะต้นไม้เป็นของรัฐบาล ตัดวันไหนคนที่ปลูกก็หยุดขายคาร์บอนเครดิต"

ส่วนผลพลอยได้ระหว่างที่ปลูกยางนา ก็ได้เห็ดป่า คือเห็ดระโงก เห็ดปลวก เห็ดละหมาก เห็ดนาแดง

"เห็ดขึ้นมาทั้งปี เพราะเราไม่ทำให้ต้นยางมันเกิดไฟไหม้ เราเอาน้ำมาเติมเรื่อยๆ มันชุ่มตลอดปี นี่คือนโยบายของเรา คนมีกินอยู่ตลอดปี" สุรทินวาดฝัน

สุรทินมองภาพยาวว่าถ้าดินดีน้ำดี ส.ส. ต้องแจกพันธุ์ปลาให้ชาวบ้านเอาไปเลี้ยง ถ้าปลาเยอะ ก็ทำปลาร้าขายไปตะวันออกกลาง นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องส่งเสริมตลาดชุมชน ตลาดข้างถนน ชาวบ้านมีสถานที่กระจายผลผลิต "พี่น้องปลูกพริก มะเขือ เอาลูกอ๊อดหมกดีๆ มาขายที่ตลาด คนขับรถอย่างเราก็กินของแปลก หมกเห็ดเผาะ หมดเห็ดระโงก ฯลฯ ที่ขายในตลาด ขายไข่มดแดงอีก ปีหนึ่งไม่รู้จะได้เท่าไหร่ นโยบายเราต้องเป็นจริงแบบนี้ คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลงชีวิตพี่น้องในต่างจังหวัด"

 

ยกเลิกกองทุน กยศ. เสนอเรียนฟรีถึงปริญญาตรี

พรรคประชาธิปไตยใหม่ยังเสนอด้วยว่าต้องยกเลิกกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทนที่ด้วยนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยไม่ต้องสอบเข้าแทน

"เพราะเด็กไม่ทันมีงานทำ ก็ถูกเจ้าหนี้ฟ้องแล้ว พอเป็นคดีความ เขาจะไปสอบครู สอบตำรวจได้ไหม ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายจาก กยศ. เป็นเรียนฟรีถึงปริญญาตรีถึงสมัครใจ"

สุรทินกล่าวต่อไปว่า เพราะมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราต้องจบปริญญาตรีถึงจะเป็นรัฐมนตรีได้ มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งหน่วยกิตเกือบ 3,000 บาท ลูกชาวบ้านจะเรียนได้ที่ไหน ถ้าไม่ให้เขาเรียนฟรี

"วิธีเรียนฟรีคือไม่ต้องสอบเข้า ชอบเรียนที่ไหนก็เข้าไปเรียนก่อน แต่มีข้อแม้ว่าต้องสอบออกให้ได้ ถ้าสอบไม่ได้ก็ปรับผู้ปกครองในฐานะที่ไม่ดูแลลูกเต้า นี่คือเงื่อนไขที่วางไว้"

สมัยนี้จะฝากเอาลูกๆ หลานๆ เข้าโรงเรียนตั้งแต่เข้าอนุบาลก็หนักใจแล้ว พรรคประชาธิปไตยใหม่จะชูนโยบายเรียนฟรีทุกที่ ลดหนี้เกษตรกร เรียนฟรีทุกที่ "เรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยสมัครใจไม่ต้องสอบเข้า อยากเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าได้เลย โรงเรียนไหนมีนักเรียนเข้าเยอะ สอนดี ก็ให้ค่าตอบแทนครูเพิ่ม ให้เงินเดือนมากกว่านายกรัฐมนตรีก็ยังได้ ครูไม่ต้องไปขายแอมเวย์ ไม่ต้องขายประกัน ให้สอนกันตาเปียกตาแฉะเลย โรงเรียนไหนครูขี้เกียจสอน เงินเดือนก็ให้เท่าเดิม หมื่นห้าก็หมื่นห้าไปอย่างนั้น โรงเรียนไหนสอนนักเรียนดี มีคุณสมบัติดี มีกิริยามารยาทดี ก็เพิ่มค่าตอบแทนให้ ดีกว่าไปขายประกัน ขายแอมเวย์" สุรทินกล่าว

 

ยกเลิกหัวคิวไปทำงานต่างประเทศ รัฐบาลจัดการเอง

พรรคประชาธิปไตยใหม่ ยังมีข้อเสนอเรื่องนโยบายแรงงานว่าจะต้องยกเลิกกฎหมายแรงงานที่ใช้อยู่ และรัฐต้องมีบทบาทในเรื่องนโยบายแรงงานให้มากขึ้น เช่น เรื่องส่งคนไปทำงานต่างประเทศ แทนที่เอกชนจะประกาศรับสมัครเอง หรือผ่านนายหน้า บริษัทที่จะว่าจ้างต้องแจ้งมาที่กระทรวงแรงงาน แจ้งมาที่กรมจัดหางาน กรมจัดหางานจะประกาศรับสมัครเองโดยแบ่งไปตามท้องถิ่นต่างๆ พอได้คนมาสมัคร หากฝีมือยังไม่ได้ตามเกณฑ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะอบรมให้ จากนั้นรัฐมนตรีแรงงานบินไปส่งแรงงานถึงที่ ถ้ามีปัญหาก็แจ้งมาที่กระทรวง นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งหมอ ส่งพยาบาลไปดูแลถึงแคมป์คนงาน เพราะเงินที่แรงงานส่งกลับเมืองไทย ถือเป็นงบประมาณ

สุรทินเสนอด้วยว่ารัฐมนตรีห้ามเดินสายตัดริบบิ้นเปิดงานเกิน 4 ครั้งต่อเดือน รัฐมนตรีต้องเป็นเซลส์แมน รัฐมนตรีเกษตรต้องแบกจอบลงพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ จะได้รู้ว่ามีน้ำมีปลาไหม เขื่อนแตกต้องรู้ต้องลงไปดูพื้นที่จริง เวลาตรวจราชการ รัฐมนตรีห้ามนอนโรงแรม ต้องไปนอนที่วัด หรือนอนมัสยิดถ้าลงภาคใต้ รัฐมนตรีต้องไปกราบพระก่อน พระจะได้บอกว่าขาดเหลืออะไร รัฐมนตรีแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบจะได้ปฏิบัติ เวลามีรายงานของราชการ รัฐมนตรีรับรายงานที่ศาลาวัดได้เลย ไม่ต้องไปเฝ้ารายงานที่โรงแรม พรรคผมจะกำหนดแบบนี้ พรรคอื่นผมไม่รู้

 

ให้กำลังใจพรรคใหม่
ไม่เห็น "พรรคอนาคตใหม่" เป็นคู่ต่อสู้

พรรคที่ไปจดใหม่ 65 พรรค ผมให้กำลังใจพรรคที่ไปจดใหม่ ทำไปเถิดในระบอบประชาธิปไตยต้องแข่งกันหลายๆ พรรคให้พี่น้องได้เลือก ผมอยากให้พรรคแต่ละพรรคเอานโยบายมาแข่งขันกันชอบประชาธิปไตยใหม่ก็เลือก ชอบพรรคใหม่ก็เลือก

สำหรับพรรคใหม่ๆ หลายพรรค ผมมองว่าศักยภาพไม่พอที่จะมาต่อสู้ทางการเมือง ถึงแม้อย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่มีนักการเมืองเก่ามาแจมเลย มีแต่นักวิชาการ มีแต่คนรุ่นใหม่ ขอให้กำลังใจน้องๆ ธนาธร ส่วนปิยบุตรก็รู้จักกัน กลุ่มสหพรรคก็ให้กำลังใจอาจารย์ก็แล้วกัน การเมืองไทยไม่หมู ไม่ได้มาแนวเดียว เมืองนอกทำโซเชียลก็ได้รับเลือกตั้ง แต่ของเมืองไทยไม่ใช่ เมืองไทยต้องเปิดทุกกลยุทธ์ เปิดทุกแนวรบ ท่านถึงจะได้ ส.ส. ผมไม่คิดว่าโซเชียลจะเป็นสิ่งตัดสินใจว่าท่านจะได้ผู้แทน

พรรคประชาธิปไตยใหม่ลงหาเคาะประตู กินข้าววัด นอนศาลา ไหว้หลวงพ่อ ก็ยังไม่คิดว่าจะได้คะแนน

"ผมให้กำลังใจคุณธนาธร ท่านอาจารย์ปิยบุตรก็แล้วกันว่าทำไปเถอะ เที่ยวนี้ไม่ได้ผู้แทน เที่ยวหน้าก็ทำเรื่อยๆ เพราะว่ามันต้องให้พี่น้องได้รู้จักจริงๆ ผมไม่เชื่อว่าถ้ามาไลน์เป็นล้านๆ วันเดียวจะได้ สมัยก่อนพรรคประชาธิปไตยใหม่ก็มี ไลน์เป็นล้านแปด เวลาลงคะแนนทำไมมันได้ 3 พันคะแนน คนไลน์เข้ามาไม่ใช่เขาจะเลือก คะแนนไม่ได้อยู่ที่โซเชียล คะแนนอยู่ที่มือเขา ยิ่งเที่ยวนี้คะแนนไม่ได้อยู่ที่หน่วย เที่ยวนี้เขาจะคุยกันที่ครอบครัว จะคุยกันตอนทานข้าว"

"เพราะฉะนั้นทุกพรรคต้องถี่ถ้วน อย่าประมาท เที่ยวนี้กฎหมายไม่ได้ช่วยพรรคเล็ก แต่ไปช่วยฝังพรรคเล็ก ฝังไม่เห็นขาเลย เพราะพรรคเล็กจะได้คะแนนจริงๆ ต้องส่ง ส.ส. ลงให้ครบ 350 เขต ถึงจะมีคะแนนประเมิน 70,000 ได้ ส.ส. 1 คน"

พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับนี้ช่วยฝังพรรคเล็กไม่ได้ผุดได้เกิด ไม่เหมือนแต่ก่อน การจัดสรรงบประมาณหลังเลือกตั้งจะจัดสรรตามความนิยม ถ้าไม่ได้ ส.ส. ไม่ได้เงิน มันก็จบ จะไปเอาเงินเมียมาทำพรรคหรือ การทำพรรคการเมืองไม่ง่าย พรรคตั้งใหม่ อาจจะไม่ถึงครึ่งที่จะทำพรรคใหม่ได้ ถึงเงื่อนเวลา 180 วันก็จะสลายตัว เรื่องจะทำพรรคเอาเงิน กกต. เหมือนสมัยก่อนไม่มีทางแล้ว

"ส่วนพรรคใหม่ที่ว่าเป็นคู่ต่อสู้ของพรรคประชาธิปไตยใหม่หรือไม่ ผมว่าไม่ใช่เลย ขอให้กำลังใจพรรคใหม่เสียอีก พรรคประชาธิปไตยใหม่ก็ไปอีกแนวทางหนึ่ง" สุรทินกล่าว

สุรทินประเมินด้วยว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งมี 4 แนวทาง หนึ่ง เพื่อไทยตั้งรัฐบาล สอง ประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล สาม ทหารตั้งรัฐบาล แต่ยังมีแนวทางที่สี่ คือ พรรคขนาดกลางกับพรรคขนาดเล็กรวมกัน

"ถ้ากลุ่มที่ 4 เอนไปทางไหน ทางนั้นล่ะคือรัฐบาล" สุรทินกล่าว "แต่ถ้าพรรคใหม่รวมกัน ได้ ส.ส. ไม่ถึงพรรคละ 5 คน แล้วมันจะรวมกันตั้งรัฐบาลได้อย่างไร" ดังนั้น การเป็นพรรคการเมืองจะต้องคิดว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำอะไร พรรคประชาธิปไตยใหม่จึงเตรียมพร้อม มีการประเมินแทบทุกเดือน ทุกสัปดาห์ คุยกันว่าจะลงพื้นที่อย่างไร ไม่ใช่เน้นประชุมแถลงข่าว กินกาแฟแล้วหายไป

"การเมืองต้องทำงานอยู่ตรงนี้ 24 ชั่วโมง ต้องนอนคลุกฝุ่น นี่คือวิธีการของพรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่ได้หวั่นไหวเรื่องพรรคใหม่เลย"

คำสั่งประหารชาวนาผู้ฆ่าคนเพื่อปกป้องที่ทำกิน สะท้อนปัญหาที่ดินในเวียดนาม

Posted: 18 Jul 2018 12:38 AM PDT

ศาลอุทธรณ์เวียดนามตัดสินประหารชีวิตเกษตรกรหลังยิงปืนฆ่าคนงานบริษัทเอกชนที่ใช้กำลังปิดล้อมบ้านและที่ดินทำกิน คำพิพากษาถูกครหาว่าหนักเกินไป ในขณะที่บริษัทมีพฤติกรรมผิดกฎหมายยังคงลอยนวล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาที่ดินที่ประชาชนเป็นเจ้าของที่ดินเพียงในทางทฤษฎีเพราะรัฐบาลท้องถิ่นเป็นคนดีลกับเอกชนเอง

17 ก.ค. 2561 ในเวียดนามมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ดังวานเฮียน เกษตรกรที่ต่อสู้กลับเมื่อบริษัทเอกชนให้อันธพาลใช้กำลังบุกยึดที่ดินทำกินของพวกเขา

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ในเดือน ต.ค. ปี 2559 เมื่อบริษัทเอกชนด้านการลงทุนที่ชื่อ "ลองซัน" ใช้กลุ่มคนงานของพวกเขาติดอาวุธง่ายๆ กับรถไถอีกหลายคันบุกเข้าไปในพื้นที่พิพาทความเป็นเจ้าของระหว่างลองซันกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ กลุ่มคนงานทำลายพืชผลจำนวนมากอันเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกร ทั้งยังรวมกลุ่มปิดล้อมบ้านของเกษตรกรทำให้เกษตรกรออกมาโต้ตอบ

โดยในเหตุการณ์นั้น ดังวานเฮียน หนึ่งในเกษตรที่ถูกปิดล้อมได้ยิงอาวุธปืนดัดแปลง (improvised gun) ขึ้นฟ้าด้วยหวังว่าจะสลายฝูงชนได้ แต่กลุ่มคนที่ล้อมบ้านพวกเขากลับไม่ยอมสลายตัวและยิ่งแสดงท่าทีที่รุนแรงมากขึ้นด้วยการขว้างปาก้อนหินและใช้รถไถขับเข้าไปใกล้บ้านพวกเขา ไม่ว่าจะด้วยความกลัวหรือด้วยภาวะเข้าตาจนก็ตาม ดังวานเฮียน และเกษตรกรอีกรายหนึ่งในเหตุการณ์คือ นินห์เวียตบิน ใช้ปืนยิงใส่กลุ่มคนงานโดยไม่ได้เล็งจำนวนหลายนัดแม้คนงานได้แตกตื่นและพากันวิ่งหนีแล้วก็ตาม เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 13 ราย

มีการดำเนินคดีกับเกษตรกรกลุ่มนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นตัดสินให้เฮียนรับโทษประหารชีวิตในข้อหาฆาตกรรม คำตัดสินนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมรับฟังคำตัดสินพากันแสดงความไม่พอใจ ถึงแม้ว่าจะมีการอุทธรณ์ในเวลาต่อมาแต่ศาลชั้นอุทธรณ์ก็ตัดสินให้คงไว้ซึ่งคำพิพากษาเดิม นั่นทำให้ชาวบ้านจากท้องถิ่นเดียวกับเฮียนแสดงความไม่พอใจอย่างโกรธเกรี้ยวจากความรู้สึกสิ้นหวังที่หน้าบันไดทางขึ้นศาล

คำตัดสินของศาลยังทำให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจำนวนมากจากนักกฎหมายและจากนักวิชาการอิสระต่างๆ ที่บอกว่าการตัดสินเฮียนถึงขั้นประหารชีวิตนั้นเป็นคำตัดสินที่รุนแรงเกินความจำเป็นในขณะที่ปล่อยให้ลองซันลอยนวลทั้งที่บริษัทกระทำการแบบยุยงส่งเสริมและกระทำการผิดกฎหมายมาตลอด 8 ปีจนทำให้เกษตรกรทนไม่ไหวและออกมาโต้ตอบ

นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ศาลไม่นำปัจจัยต่างๆ ตามกฎหมายอาญามาพิจารณาร่วมเพื่อลดโทษ เช่น การที่เฮียนเข้ามอบตัวเองและการที่เขาและครอบครัวให้การชดเชยเยียวยาครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตแล้ว

ระบบจัดสรรที่ดินเวียดนามมีปัญหา

ในรายงานข่าวของเดอะเวียดนามมิสยังระบุถึงปัญหาระบบการจัดสรรที่ดินที่ย่ำแย่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าถึงแม้ว่าชื่อของระบบจะฟังดูดีอย่าง "ประชาชนเป็นเจ้าของที่ดิน" แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ก้าวหน้าแบบที่ชื่อระบุไว้ เพราะมันเป็นระบบที่รัฐบาลท้องถิ่นทำตัวเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจหรือส่งเสริมกลุ่มนักลงทุน กลุ่มบรรษัทต่างๆ ด้วยการเอื้อประโยชน์ในการกว้านซื้อที่ดินของพวกเขาจากประชาชนทั่วไป

แม้รัฐจะอ้างว่าระบบนี้จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้กระบวนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รวดเร็วขึ้นแต่ก็ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน การเล่นพรรคเล่นพวกและการพลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนมาก แม้จะผ่านการปฏิรูปมาหลายปีแล้ว แต่จากการสำรวจในปี 2560 ยังระบุว่าร้อยละ 70 ของเรื่องร้องเรียนต่อรัฐบาลระดับประเทศเป็นเรื่องปัญหาที่ดิน

ในกรณีของบริษัทลองซันนั้น ผู้ให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่พวกเขาคือเจ้าหน้าที่ทางการจังหวัดดักนง เรื่องนี้ทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทที่ดินทำกินกับเกษตรกรมานานแล้ว จนกระทั่งบริษัทลองซันตัดสินใจใช้กำลังเข้าโจมตีชาวบ้านทำให้ชาวบ้านพยายามติดต่อกับทางการเพื่อแจ้งปัญหาที่พวกเขาพบเจอ แต่ทางการก็นิ่งเฉยต่อปัญหา ทำให้ชาวบ้านต้องต่อสู้ป้องกันตัวเองจนกระทั่งเกิดเหตุน่าเศร้าดังกล่าว

หลังจากเกิดเหตุคนสังหารกันเองแล้ว เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นก็ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ เดอะเวียดนามมิสมองว่าตัวศาลเองก็ไม่มีความเข้าใจมากพอในประเด็นเรื่องข้อพิพาทที่ดินทำกินที่เป็นปัญหาที่ชาวเวียดนามต้องเผชิญ และคำตัดสินโทษประหารชีวิตเกษตรกรที่สังหารผู้พยายามข้ามาทำร้ายตนจึงมีโอกาสทำให้ประชาชนทั่วไปมองว่าศาลเข้าข้างกลุ่มผลประโยชน์จำพวกที่มีการสมคบคิดกันระหว่างนายทุนกับรัฐบาล

ขณะเดียวกันนักกิจกรรมในเวียดนามก็มองว่าคำตัดสินในครั้งนี้อาจจะเป็นคำขู่ของรัฐบาลก็ได้เพื่อที่จะข่มขวัญกลุ่มเจ้าของที่ดินทำกินและผู้ต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถ้าหากระบบศาลไม่มีการพิจารณาใหม่หรือการยื่นฎีกาต่อประธานาธิบดีเวียดนามไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการตัดสินได้ กรณีนี้ก็จะเป็นคดีแรกในเวียดนามที่ชาวนาต้องถูกประหารเพราะปกป้องผืนดินของตัวเอง

เรียบเรียงจาก

Farmer's Death Sentence Upheld On Appeal: New Climax For Land Dispute In Vietnam?, The Vietnamese, Jul. 16, 2018

TDRI แนะจัดฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติเป็น Big Data เพื่อบริหารแบบ Real time ให้เร็วที่สุด

Posted: 18 Jul 2018 12:13 AM PDT

หลังการปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน TDRI แนะจัดฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติเป็น Big Data เพื่อบริหารแบบ Real time ให้เร็วที่สุด

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน TDRI 

18 ก.ค.2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รายงานว่า รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน TDRI  กล่าวว่า การปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service - OSS) ไปเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการสิ้นสุด "การนิรโทษกรรม" แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายและลักลอบทำงาน ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ประการแรก แรงงานต่างด้าวที่รอพิสูจน์สัญชาติจำนวนมากกว่า 900,000 คน รัฐบาลได้ใช้เวลาในการพิสูจน์สัญชาติได้แล้วเสร็จผ่านระบบ OSS ในพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่แล้ว ประการที่สอง รัฐบาลยังใจดีนิรโทษกรรมนายจ้างให้พาแรงงานที่ทำงานกับนายจ้างก่อน 31 มีนาคม 2561 แต่หลักฐานไม่ตรงและ/หรือไม่มีหลักฐานเอกสารใดๆให้สามารถนำไปจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อยภายใน 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งก็ได้ใจนายจ้างเป็นจำนวนมากที่หาจังหวะนำแรงงานมาจดทะเบียนไม่ได้สักทีเพราะกลัวกฎหมายใหม่ที่จะทำโทษนายจ้างค่อนข้างรุนแรง ถึงแม้จะบ่นเกี่ยวกับการทำงานกระบวนการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติว่ายุ่งยากซับซ้อนมากจนต้องพึ่งนายหน้าก็ตาม แต่ทุกฝ่ายก็ช่วยกันดำเนินการจนผ่านไปได้ด้วยดี

และเมื่อสิ้นสุดเวลาผ่อนผันคาดว่าจะเป็น "ครั้งสุดท้าย" จำนวนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทำงานเต็มปีและแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ คาดว่าจะมีจำนวนโดยประมาณดังนี้

1)    พิสูจน์สัญชาติเดิม  1,315,615 คน

2)    นำเข้าตามกรอบ MOU 637,770 คน

3)    รวม (1 + 2) 1,953,385 คน

4)    แรงงานต่างด้าวรูปแบบอื่นๆประมาณ 236,483 คน

5)    รวม (3 + 4)  2,189,868 คน

6)    พิสูจน์สัญชาติช่วงมีนาคม-มิถุนายน 2561 1,170,000 คน

7)    รวม (5 + 6)  3,359,868 คน

หมายเหตุ รวบรวมโดย รศ.ดร.ยงยุทธ  (กรกฎาคม 2561) และ รศ.ดร.ยงยุทธ ระบุว่า อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลเป็นทางการ

จากตัวเลขข้างต้นถ้านับเฉพาะแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ น่าจะทำงานในประเทศไทยอยู่ประมาณ 3 ล้านคนเศษ หรือประมาณ 8% ของกำลังแรงงานของคนไทย นับว่าเป็นอัตราที่ตลาดแรงงานไทยต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวทุกประเภทค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานได้จัดระเบียบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายได้มากกว่า 90% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่หน้าที่ของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จบ เนื่องจากตลาดแรงงานต่างด้าวมีความเป็นพลวัตในตัวของมันเอง นั่นคือจะต้องมีคนเข้า-ออกจากงานอยู่ทุกวัน อันเนื่องมาจากแรงงานต้องการออกเองเพื่อกลับภูมิลำเนา หรือถูกนายจ้างไล่ออก หรือออกเพราะไม่พอใจสภาพการทำงานและค่าตอบแทน หรืออาจจะประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งทำให้จำนวนแรงงานพร่องลงไป ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแรงงานต่างด้าวใหม่มาทดแทนแรงงานข้ามชาติที่หายไปถ้าไม่สามารถหาแรงงานไทยมาทดแทนได้

โจทย์ที่สำคัญก็คือ 1) จะเติมเต็มแรงงานต่างด้าวที่ออกจากงาน (Turn Over)ได้อย่างไร เช่น ถ้ามีคนงานออก 2-5% คิดเป็นคนงานต่างด้าวที่ทยอยออกประมาณ 60,000 - 150,000 คนตลอดปี ในเมื่อจะไม่มีการจดทะเบียนใหม่อีกแล้ว  2) คนงานจำนวนดังกล่าว ถ้าอายุของ Passport และอายุ Work Permit ยังไม่หมด แต่กลายเป็นคนผิดกฎหมายเพราะไม่มีนายจ้างจะทำอย่างไร ถ้าแรงงานเหล่านั้นบางส่วนยังไม่อยากกลับบ้าน 3) ทางรัฐบาลไทย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ถ้าจะยังต้องการรักษาความสำเร็จที่ได้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวครั้งนี้จนสำเร็จเอาไว้ให้ได้ 4) ทำอย่างไรกับการลักลอบเข้ามาเพื่อหางานทำของแรงงานต่างด้าวใหม่และต่างด้าวผิดกฎหมายที่ค้างอยู่

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การแก้ปัญหาข้างต้นตามความคิดเห็นส่วนตัวอาจจะทำได้ดังนี้  กรณีที่ 1 แรงงานต่างด้าวที่มีหลักฐานถูกต้องแต่กลายเป็นคนผิดกฎหมายและไม่ประสงค์ที่จะทำงานในไทยอีกต่อไป ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดำเนินการส่งกลับสถานเดียว กรณีที่ 2 กรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายและพบว่าแรงงานไม่มีหลักฐานใดๆเกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำงานโดยรัฐ จะต้องทำประวัติไว้แล้วและต้องส่งกลับทันที (เพื่อลดภาระรายจ่ายของรัฐ) กรณีที่ 3  กรณีที่แรงงานต่างด้าวยังมีระยะเวลาวีซ่าผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยและเคยมีใบอนุญาตทำงานและประสงค์จะอยู่ในประเทศไทย (เท่าที่เวลาที่เหลือ) รัฐบาลอาจจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์บางประเภทเพื่อรับแจ้งจดทะเบียนผู้ประสงค์จะทำงานเหล่านี้ก็ได้ จะไปเปิดที่บริเวณชายแดนหลักๆของไทย เช่น สระแก้ว หนองคาย แม่สาย แม่สอด เป็นต้น สำหรับนายจ้างที่ต้องการแรงงานและมีโควตาอยู่แล้วก็สามารถแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวเอาไว้ที่ศูนย์จัดหางานชายแดน และสามารถ Matching กับแรงงานต่างด้าวได้โดยตรง กรณีที่ 4  ถ้านายจ้างที่มีโควตาอยู่แล้วก็อาจจะรับคนงานใหม่ผ่านกระบวนการ (MOU) มีการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป กรณีสุดท้าย ทางหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเอาไว้ 3 ล้านคนเศษนั้นจะต้องรับจัดทำฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวเป็น Big Data เพื่อให้สามารถนำมาใช้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแบบ Real time ให้เร็วที่สุด

"จึงขอเสนอทางเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะนี้โดยเร่งด่วนไม่มากก็น้อยเพื่อให้มาตรการของรัฐที่ได้ดำเนินการไปแล้วจนสำเร็จสามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจนเข้ารูปเข้ารอยไปแล้วไม่สูญเปล่า" รศ.ดร.ยงยุทธ เสนอ

อุทธรณ์ยกฟ้อง ‘วัฒนา' ละเมิดอำนาจศาล ปมให้สัมภาษณ์สื่อหน้าบันไดศาล

Posted: 17 Jul 2018 11:26 PM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง 'วัฒนา เมืองสุข' คดีละเมิดอำนาจศาล ปมให้สัมภาษณ์สื่อหน้าบันไดศาล ชี้การตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็เหมือนบุคคลทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีหรือมีผลกระทบต่อคดี 

 

ที่มาภาพ Banrasdr Photo

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา รัชดา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีละเมิดอำนาจศาล หมายเลขดำ ล.14/2560 ที่ผู้อำนวยการศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา วัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ถูกกล่าวหา

กรณีเมื่อวันที่ 28 ส.ค 2560 วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมด้วย นรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของวัฒนา ได้มายื่นคำร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งฝากขังของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในคดีกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อศาลอาญา หลังจากนั้นได้ไปยืนแถลงข่าวบริเวณหน้าบันไดศาลอาญาต่อสื่อมวลชน โดยไม่ได้ขออนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อเผยแพร่ข่าว อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติ (ก.บ.ศ.) ว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวศาลยุติธรรม
 
โดย คดีนี้ศาลอาญาที่เป็นศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 500 บาท แต่ให้รอการลงโทษ 2 ปี และคุมประพฤติโดยกำหนดห้ามกระทำผิดซ้ำอีก ต่อมา วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหายื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว จากการไต่สวนได้ความว่าก่อนวันที่ 28 ส.ค. 2560 มีการส่งข้อความทางไลน์เชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวการยื่นอุทธรณ์คำสั่งฝากขังที่บันไดศาล ลงชื่อ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต (นามสกุลเดิม) เมื่อถึงวันดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลแล้วลงไปหน้าบันไดศาล มีผู้สื่อข่าวสอบถามพูดคุย เจ้าหน้าที่จึงบันทึกภาพไว้ ปัญหาต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ผู้กล่าวหามีพยานเจ้าหน้าที่เบิกความว่าหลังการยื่นอุทธรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงต่อสื่อมวลชนประมาณ 5 นาที และได้รายงานเสนอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทราบ ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความทางไลน์ และไม่ทราบระเบียบการให้ข่าว ซึ่งสอบถามเจ้าหน้าที่แล้วบอกสามารถให้ข่าวได้ เป็นจุดที่ผู้สื่อข่าวทำอยู่เป็นประจำ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การส่งข้อความทางไลน์ดังกล่าวไม่ปรากฏชัดว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้อง ลำพังการให้สัมภาษณ์จะบอกว่าเป็นการรู้เห็นเรื่องการส่งข้อความหาได้ไม่ โดยผู้ถูกกล่าวหาเดินออกมาให้ข่าวเหมือนกับบุคคลอื่นในคดีที่ไม่ได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น และเป็นการตอบคำถามทั่วไปกับผู้สื่อข่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่น่าจะเตือนได้ถ้าขัดระเบียบ แต่กลับมีการบันทึกภาพมาแจ้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้นัดหมายผู้สื่อข่าว และการตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็เหมือนบุคคลทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีหรือมีผลกระทบต่อคดี ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบ ไม่ถือว่าเป็นการประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้น พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดละเมิดอำนาจศาล

 

1 ความคิดเห็น:

  1. ประเทศไทยมีความแตกต่างจากหลายส่วนของจีน138.com กีฬาhttps://th-bet138.com

    ตอบลบ