โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ชีวิตผู้บริสุทธิยังเป็นเหยื่อ: ความท้าทายของรัฐในกระบวนการยุติธรรม

Posted: 08 Jul 2018 09:20 AM PDT


 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน
 
ในช่วงเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2561จนกระทั่งปัจจุบันมีเหตุผู้บริสุทธิถูกลอบสังหาร ถูกระเบิด จนได้รับบาดเจ็บเเละเสียชีวิตเกือบทุกวัน (ผู้เขียนขอประณามผู้ก่อเหตุทำร้ายผู้บริสุทธิเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา)

เหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งเพิ่มดีกรีความไม่ไว้วางใจระหว่างพุทธมุสลิมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ อันจะส่งผลต่อกระบวนการสันติภาพ/สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

ช่วงเดือนรอมฎอนการลอบสังหารผู้คนกว่า 10 ศพ ทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่า 4 ศพที่นราธิวาส 2 ศพที่ปัตตานีและ 5 ศพ ที่ยะลาโดยเฉพาะการลอบสังหารนายอดุลเดชร์ เจ๊ะแน รองประธานกรรมการอิสลามปัตตานีอันเป็นผู้นำศาสนาที่เคารพนับถือของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้

ช่วง 10 วันนี้ตั้งแต่ ปลายเดือน มิถุนายน จนถึงวันนี้ 8 กรกฎาคม 2561 มีการวางกับระเบิดในสวนยางไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งยังผลให้ผู้บริสุทธิได้รับบาดเจ็บเเละเสียชีวิตซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทยพุทธ (อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1327003)

เหตุการณ์ช่วงรอมฎอน มุสลิมเสียชีวิต หลังรอมฎอน ชาวพุทธได้รับบาดเจ็บสาหัสปางตาย อันสะท้อนภาวะดีกรีความไม่ไว้วางใจระหว่างพุทธ-มุสลิมที่มีอยู่เดิมแล้ว
 
(โปรดดูข้อกังวลและข้อเสนอชาวพุทธจังหวัดชายแดนใต้ผ่านงานวิจัยhttps://mgronline.com/south/detail/9610000048952)

สิ่งที่ประชาชนหวังคือรัฐต้องรีบส่งผู้ใหญ่ฝีมีดีคลี่คลายคดีสังหารทั้งผู้นำศาสนาจังหวัดชายแดนใต้ (นายอดุลเดชร์ เจ๊ะแน ถือเป็นผู้นำศาสนาหนุ่มในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานต่อเนื่องด้านการศึกษา กระบวนการสันติภาพ) และผู้บริสุทธิอื่นๆที่ตายเหมือนใบไม้ร่วง

รัฐต้องรีบส่งผู้ใหญ่ฝีมือดีคลี่คลายคดีเหล่านี้เพราะทั้งแถลงการณ์ของ นายอัสนาวี มุคุระ ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 15 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ "แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า นายอดุลเดชร์ ถูกประกบยิงถึง 3 นัด ถูกที่ศรีษะ คนร้ายเดินออกจากมัสยิดพร้อมกับท่าน ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้น เพราะทุกคนต่างก็ละหมาดวันศุกร์ร่วมกันด้วย แม้แต่คนร้ายก็ละหมาดวันศุกร์ เป็นเรื่องที่สะเทือนใจแก่ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งนี้ ในนามประธานสมาพันธ์ฯ ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ติดตามให้ประจักษ์โดยเร็ว มิฉะนั้นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคงหมดขวัญและกำลังใจในการทำงาน" 

และแถลงการณ์เครือข่ายขาวพุทธในพื้นที่นำโดยเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพได้ออกแถลงการณ์ ประณามการก่อเหตุอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมกรณีลอบวางระเบิดชาวบ้านในสวนยาง ชี้มุ่งโจมตีชาวพุทธและมีเจตนาแอบแฝง สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ชาวพุทธในพื้นที่ สร้างความแตกแยก สร้างความเกลียดชังทางชาติพันธุ์(โปรดดูhttps://sinaran.news/th/11508)

ผู้เขียนเคยเขียนบทความแสดงความกังวลในมติชนสุดสัปดาห์ (โปรดดู https://www.matichonweekly.com/special-report/article_112662) ว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น(หากดูสถิติหลังผู้นำศาสนาอิสลามเสียชีวิตก็จริง)หรือ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการสังหารหลายศพ แต่คดีไม่ถึงไหน ทั้งๆที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน่วยความมั่นคงทหาร ตำรวจ กล้องโทรทัศน์วงจรปิด ด่านตรวจ นับไม่ถ้วน อีกอย่างประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคดีที่อื่นไม่ว่าฆ่ายกครัวที่กระบี่ เหตุการณ์การสังหารที่ส่วนกลางและที่อื่นของประเทศไทยตำรวจไทยมีความสามารถคลี่คายได้หมด แม้กระทั่งเป็นศพเผานั่งยาง มาหลายปี 

ข้อสังเกตของผู้เขียน กล่าวคือสถานการณ์ความไม่สงบที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ ได้เกิดอย่างยืดเยื้อและเรื้อรัง (มานานหลายทศวรรษ) มีความพยายามทุกรัฐบาลในการแก้ไขและยุติปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหายังดำรงอยู่ เพียงแต่สถานการณ์ความรุนแรงในบางช่วงได้ลดระดับและขนาดลงเป็นการชั่วคราว และย้อนกลับมามีความรุนแรงขึ้นอีกสลับไปมา ซึ่งปัญหาได้ลดทอนความเจริญในจังหวัดชายแดนภาคใต้และส่งผลโดยรวมเป็นปัญหาประเทศไทยมาก

ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนที่จะดำรงชีวิตอย่างปกติในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพทุกเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม มีหลักประกันความเป็นธรรมและความยุติธรรม การทำความจริงให้ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา มีความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นสิ่งสำคัญเเละต้องรีบนำสู่ปฏิบัติเพราะมิฉะนั้นข่าวลือที่จะสร้างความเกลียดชังระหว่างพุทธ-มุสลิมจะเพิ่มดีกรีไฟใต้

ในขณะเดียวกันผู้นำศาสนาทั้งสอง ภาคประชาชน ทั้งระดับชาติเเละพื้นที่รวมทั้งตัวเเทนประชาชนทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหา สานเสวนาอย่างมีอารยะ ละทิ้งสิ่งที่เห็นต่างเเต่พูดคุยในประเด็นร่วมก่อน บทเรียนคนไทยทั้งชาติที่ทะเลาะกันเเต่สามัคคีตั้งเเต่เหนือจรดตายระดมทุกองคาพยพช่วยเหลือเด็กติดถำ้ทีเชียงรายน่าจะเป็นบทเรียนในการร่วมเเก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: มหาวิทยาลัยกำลังจะตาย

Posted: 08 Jul 2018 09:11 AM PDT



ใครคิดว่าในปัจจุบันมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาแบบเดิมๆ  เช่น โรงเรียน วิทยาลัย (College) ยังจำเป็นต่อชีวิตหรือสำคัญการศึกษาอยู่บ้าง?

น่าจะมีคนที่ตอบว่า แท้จริงแล้วสถาบันการศึกษาในระบบแบบนี้อาจไร้ความสำคัญหรือได้สูญเสียความสำคัญลงไปในราวๆ สองทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว จากปรากฏการณ์ปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้นที่ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเผอิญผมมีโอกาสใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่นในช่วงเวลาดังกล่าว

แม้เราไม่อาจกล่าวถึงบุคคลเยี่ยงสตีฟ จ้อบบ์  (แอพเปิ้ล) ว่าเป็นบุคคลผู้มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้รังสรรค์นวัตกรรมทั้งหมดก็ตาม แต่คุณูปการของจ้อบบ์ ก็มีมหาศาลต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงการปฏิวัติวัฒนธรรมการสื่อสารบนโลกใบนี้ หากเป็นเพราะเขามิเพียงย่อโลกทั้งหมดลงในสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือแค่เครื่องเดียว นี่คือมหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยีจริงๆ เพราะนับแต่นั้นสมาร์ทโฟนที่ว่า ได้กลายเป็นปัจจัยที่ห้าหรือปัจจัยที่หกที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน (ปัจจัยที่ห้านั้นว่ากันว่าคือรถยนต์หรือยานพาหนะใดๆ ก็ตาม)

สาเหตุดังกล่าวทำให้มองกันว่าโครงสร้างใดๆ ทุกด้านของสังคมต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการศึกษาหรือทางวัฒนธรรมที่จะต้องเปลี่ยนตามลักษณะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร

โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา หลังจากเว็บไซท์ยาฮูและกูเกิลได้ปลดล๊อกการรับรู้ ค้นหาข้อมูลที่มีอยู่อย่างท่วมท้นทั่วโลก เพื่อการเอนกประสงค์ ในนามของ search engine นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติในวงการการศึกษาโลกที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสหรัฐอเมริกาและทำให้ทิศทางหรือแนวทางการศึกษาของโลกต้องเปลี่ยนไปอย่างแทบสิ้นเชิง เนื่องจากเกิดการย้ายห้องเรียนไปไว้นอกโรงเรียน สามารถวางห้องเรียนเหล่านั้นไว้ได้ทุกๆ ที่

ในเอเชีย เราจะเห็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดไอที อย่าง แจ๊ค หม่า เดินสายโปรโมทไอเดีย "โรงเรียนอยู่ทุกๆ ที่ ทุกๆ แห่ง" (world academy) หลายต่อหลายครั้ง ที่แสดงให้เห็นว่า โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ที่อยู่ในระบบเวลานี้นั้น ล้าสมัย งี่เงาไร้สาระเพียงใด สอนหรือผลิตคนผิดทาง ไม่ตรงกับกระแสโลกอย่างไร ผลาญเวลา ผลาญทรัพยากรมหาศาลอย่างไรบ้าง

ประเด็นนี้สามารถสาวไปถึงคุณภาพของอาจารย์หรือครูผู้สอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ จำนวนมากว่า อ่อนด้อย ไร้มาตรฐาน เกรดต่ำเพียงใด เพราะผู้สอนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในบริบทของกระแสสังคมปัจจุบัน ทำโครงการการเรียนการสอนหรือแม้แต่โครงการวิจัย กันแบบลูบหน้าปะจมูกแทบทั้งสิ้น

ผมได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ บอกว่า โครงการดีลด้านการศึกษากับสถาบันการศึกษาต่างประเทศของไทยส่วนหนึ่งนั้น กระทำเพื่อเอาหน้าเอาตา เอาไปอวดโชว์ผู้ปกครองในเมืองไทยทำนองต้มตุ๋นอย่างไรบ้าง ทั้งๆ ที่ผู้บริหารหรือผู้สอนในมหาวิทยาลัยของไทยมีทักษะแม้แต่เรื่องการสื่อสารน้อยมาก

ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารหรืออาจารย์ตามสถาบันอุดมศึกษาของไทยพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องนะครับ แต่เขาบอกผมว่า ประเด็นข้อบกพร่องของผู้สอนหรือผู้บริหารเหล่านี้ ไม่เข้าใจบริบทวัฒนธรรมทางการศึกษาของประเทศที่ไปดีลด้วย ประเภทนึกจะดีลก็ดีลเลยซึ่งไม่น่าจะใช่ มุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ทางการศึกษามากกว่าการมุ่งเนื้อหาที่คู่พันธะสัญญาพึ่งจะได้ เช่น การเปิดสาขาของมหาวิทยาลัยไทยในต่างประเทศที่ชอบนำมาอ้างกัน แท้จริงแล้วเป็นที่ยอมรับของทางการของประเทศนั้นๆ แค่ไหน หรือไม่  หรือเป็นแค่มหาวิทยาลัยห้องแถวที่คนไทยชอบกล่าวดูถูกกัน เรื่องนี้ยังไม่มีการพิสูจน์อะไรมากมาย เป็นแต่ข้ออ้างผลงานของผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไทยบางแห่งในเวลานี้อยู่เสมอ แน่นอนว่าประเทศที่สถาบันการศึกษาไทยเข้าไปดีลเปิดสาขา ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่แยแสต่อวุฒิบัตรทางการศึกษาอะไรมากนัก เขาสอนโดยเน้นเนื้อหา (หลักสูตร) ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าเนื้อหาที่ไม่จำเป็น ไม่เน้นการเรียนเพื่ออวดวุฒิการศึกษาแบบของไทย เรียนจบออกมา สามารถนำมาใช้ทำงานหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ นี้จึงต่างกับการเรียนการสอนของไทย ที่เรียนมุ่งเอาแต่ดีกรี (วุฒิบัตร/ปริญญา) แต่จบออกมาทำอะไรไม่เป็น เอาวุฒิบัตรหรือปริญญาไว้อวดชาวบ้านในฎีกาผ้าป่าหรือทอดกฐิน 

และก็ดูเหมือนอาจารย์ผู้สอนก็เป็นอย่างว่าเสียด้วย เพราะประยุกต์ความรู้ให้เข้ากับบริบทหรือกระแสของสังคมไม่ค่อยจะได้ ผมได้ข่าวว่ามีอาจารย์บางมหาวิทยาลัยของไทยวิ่งหนีสื่ออยู่ประจำ ไม่กล้าสู้หน้าสื่อ เพราะกลัวที่จะตอบคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับกระแส หรือเหตุการณ์สังคมปัจจุบัน ไม่กล้าที่จะแสดงความเห็น ไม่กล้าแสดงจุดยืนให้สังคมประจักษ์ ความรู้ที่มีก็เหลวเป๋ว เพราะไร้ประโยชน์ประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวันไม่ได้

นี่เป็นเรื่องน่าสมเพทเวทนา ของระบบการศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษาใช่หรือไม่ อย่างนี้มหาวิทยาลัย ควรเป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือไม่?

สรุปแล้วประเด็นปัญหาการศึกษานั้น เราคงไปโทษเด็กอย่างเดียวไม่ได้ คงต้องโทษผู้ใหญ่คือผู้สอนด้วย เพราะผู้สอนในสถาบันการศึกษาไทยไร้คุณภาพ เกรดต่ำ ที่รับกันเข้าไปทำหน้าที่สอนก็เด็กเส้นเสียมาก ดังเป็นที่รู้ๆ กันดีในบรรดาคณาจารย์ด้วยกัน ใช่หรือไม่?

ขอบอกจากประสบการณ์อันน้อยนิดในโลกตะวันตกของผมว่า โลก 4.0 นั้น สถาบันการศึกษาในระดับสูงขึ้นไปจากระดับประถมศึกษามีความสำคัญน้อยลงไปทุกขณะและอาจถึงขั้นปลาสนาการ เพราะความรู้หาได้จากอากาศธาตุ หาได้ทุกที่ ถ้าเด็กมีฐานที่สำคัญคือ อ่านออกเขียนได้ เพียงเท่านี้ บทบาทของครูอาจารย์ก็ต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่ไม่ใช่ทำตัวเป็นฮีโร่ตัวจอมปลอมอย่างที่ระบบวัฒนธรรมการศึกษาไทยเป็นกันในปัจจุบัน

ไม่แปลกหรอกครับ ถ้าเราไปดูการศึกษาของฟินแลนด์ ประเทศครองแชมป์ PISA แทบตลอดกาล เขาระดมทุกอย่างใส่ลงในการศึกษาระดับปฐมวัยแทบทั้งหมด

ครูสอนอนุบาลของฟินแลนด์ ถึงเงินเดือนมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยครับ เพราะเขามองว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั้น กำลังเสื่อมค่าลงทุกขณะ ผลาญทรัพยากรมหาศาล แต่ได้ผลลัพธ์กลับมาไม่คุ้ม พูดง่ายๆ ลงทุนไม่คุ้มได้ อันนี้คนละเรื่องกับงานวิจัยนะครับ

เพียงแค่นี้มหาวิทยาลัยก็ไร้ค่าเต็มทีในโลกปัจจุบัน

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #217 ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตะวันตก-ตะวันออก

Posted: 08 Jul 2018 09:03 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ชวนคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภายหลังการเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นมหาอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้นักวิเคราะห์จากตะวันตกก็กังวลว่าการแข่งอิทธิพลเช่นนี้จะนำไปสู่สงครามกับสหรัฐอเมริกา หรือเกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจนำจากสหรัฐอเมริกาไปยังจีนหรือไม่ อย่างไรก็ตามกรอบทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบโลกตะวันออกอาจไม่สามารถใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเอเชีย เมื่อชาติต่างๆ ไม่ได้คิดจะคานอำนาจกับจีน และการขยายอิทธิพลของจีนก็ไม่ถึงจุดที่ทำให้เกิดสงครามแบบที่เคยเกิดขึ้นในยุโรป

ทั้งนี้การจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะไม่สามารถเข้าใจโดยผ่านทฤษฎีที่พัฒนาจากโลกตะวันตกได้ทั้งหมด รวมทั้งมีความจำเป็นต้องพัฒนาทฤษฎีการศึกษาระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยยกตัวอย่างหรือใช้มุมมองจากภูมิภาคนั้นๆ แทน

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: จมลงในอุทกภัยแห่งความเศร้า

Posted: 08 Jul 2018 08:38 AM PDT


กลางคืนทาทาบภูมิทัศน์หม่นหมอง
อนาคตลับหายจากจอเรดาร์
ตกลงสู่ก้นห้วงมหรรณพ
มัจจุราชวิปลาสหิวโซ
กลืนกินลมหายใจอย่างบ้าคลั่ง
ในดวงตารื้นเร้น
เปียกชุ่มโศกสลด
อ้อมกอดโหวงเหวง
กอดไว้เพียงทรงจำที่ระลึก
ความหวังปลาสนาการในถ้อยคำอธิษฐาน
ทุกข์โศกหลั่งไหลเป็นห่าฝน
เสียงสะอื้นกึกก้อง
แทรกผ่านความเงียบของค่ำคืน
ดวงจันทร์หม่นแสง
คว่ำยิ้มราวกับไม่เคยเริงร่า
เหม่อมองไปสุดเส้นขอบฟ้า
รัตติกาลขื่นขม
บทกวีไม่สามารถบรรเทาใดๆ
ความสุขปลิวหาย
อ้างว้างยะเยือก
ดวงตาเปียกชุ่ม
ความเงียบกัดกินสภาวะภายใน
จมลงในอุทกภัยแห่งความเศร้า 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กำลังใจให้ Rescue ทุก ท่าน

Posted: 08 Jul 2018 08:33 AM PDT

 


อาวุธข้างกายหรือคือท่ออากาศ                มุ่งมาดปรารถนาตามภารกิจ

คลี่คลายปัญหาทุกข์คุกคามชีวิต                  เด็ก ๆ ติดถ้ำมืดยังยืดเยื้อ

ชีวิตหน่วย " ซีล " นี้ไม่มีถอย                  ไม่เคยคอยวาสนามาอยู่เหนือ

ลุยอย่างเดียวไม่เลี้ยวลดกฎมีเพื่อ          ได้ช่วยเหลือชีวิตคนพ้นอันตราย


สดุดีคนดีและความดี                         จิตใจที่วีรอาจหาญท่านฉานฉาย

ข้าง ๆ ชีวิตแนบสนิทติดความตาย        มีเส้นด้ายบาง ๆ ขวาง  ทุกคน

ไม่มีใครรู้เบื้องหน้าว่าจะตายตอนไหน       แต่มีใจให้ไม่กลัวไม่มัวหม่น

จึงเป็นภารกิจผู้กล้าลือชาชน                    อยู่ในผลของงานที่ท่านทำ


ทุกยุคทุกสมัยได้จารึก                      และบันทึกตำนานผ่านมืดค่ำ

บ้านเกิดกำเนิดกายใต้ลำนำ                เหนือลำน้ำใต้ถ้ำตอกย้ำเรา

จ่าสมานตำนานคนนายพลเอ๋ย                    วันนี้เผยใจจ่าว่าไม่เฉา

อายุชั้นยศไยให้เสกเป่า                    จ่าแซมเข้าเขาถ้าจำหลักแล้ว

                                                     

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ปิ๊กบ้านเต๊อะลูก

Posted: 08 Jul 2018 08:24 AM PDT


เจ้าปิ๊กบ้านหาป้อแม่เต๊อะ..ลูกเอ๋ย
มาหื้อกอดหื้อชิดเชยเหมือนดังเก่า
มาฮับพรมาฮ้องขวัญตี้บ้านเฮา
มาคืนถิ่นมาคืนเหย้ามาคืนเฮือน

ด้วยวิถีแห่งลูกชายคนชายขอบ
มีพงไพรอยู่รายรอบแม้ถ้ำเถื่อน
อยู่กับดินกินกับป่าใต้ดาวเดือน
ธรรมชาติคือผองเพื่อนแต่วัยเยาว์

ด้วยพลั้งพลาดหรือเผลอไผลใครจะรู้?
ลูกของพ่อจึงติดอยู่ใต้ภูเขา
แต่สายเลือดแห่งนักสู้ของหมู่เฮา
จะปกป้องลูกหลานเรา..จนกลับมา

เจ้าปิ๊กบ้านหาแม่ป้อเน้อ..ลูกเน้อ
อยากจะกอดอยากจะเจออยากพบหน้า
กำลังใจเจ้าแข็งขืนฝืนชะตา
เพราะทุกคนคือ "หมูป่า" แห่งดงดอย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันดีเดย์พาเยาวชนหมูป่าออกจากถ้ำหลวง ช่วยได้แล้ว 4 ราย (8 ก.ค. 19.47 น.)

Posted: 08 Jul 2018 05:47 AM PDT

ผลปฏิบัติการวันแรกช่วยเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีได้แล้ว 4 ราย หลัง 'ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร' ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมฯ ประกาศดีเดย์-ส่งผู้เชี่ยวชาญดำน้ำศักยภาพสูงไทยและเทศเข้าถ้ำ ใช้วิธีประกบเด็ก 1 ต่อผู้ดูแล 2 โดยต้องช่วยให้ได้วันนี้หลังประเมินความพร้อม 4 ด้าน 1. สภาพอากาศ 2. ระดับน้ำ 3. ผู้ปฏิบัติงาน และ 4. จิตใจน้องๆ ขณะที่ปฏิบัติการช่วยเหลือรอบ 2 จะเริ่มทันทีเมื่อพร้อมภายใน 10-20 ชม. ข้างหน้า

กรณีความคืบหน้าการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแม่สายและโค้ช รวม 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ก่อนที่ทีมกู้ภัยจะพบตัวเมื่อเวลา 21.38 น. คืนวันที่ 2 กรกฎาคม และมีการเตรียมแผนเคลื่อนย้าย 13 เยาวชนนั้น

 

ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมฯ สรุปปฏิบัติการรอบแรกช่วยทีมหมูป่า 4 ราย

ล่าสุดวันนี้ (8 ก.ค.) เวลา 20.47 น. ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แถลงข่าวที่ อบต.โป่งผา ซึ่งมีการไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊คเพจ PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย โดยณรงค์ศักดิ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "16 วันแห่งการรอคอย วันนี้เราเห็นหน้าหมูป่าแล้ว วันนี้เป็นวันที่สมบูรณ์ที่สุด สถานการณ์ดีที่สุด ทั้งสภาพอากาศ สภาพร่างกายเด็ก ระดับน้ำในถ้ำที่จัดการได้ดี 4-5 วันที่ผ่านมา และมีปฏิบัติการกู้ภัย"

โดยอย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าขั้นตอนช่วยเหลือประกอบด้วย 1. ค้นหา 2. กู้ภัย 3. ส่งกลับ โดยผ่านขั้นตอนค้นหาแล้ว และวันนี้เริ่มขั้นตอนกู้ภัยและส่งกลับ โดยยืนยันว่าส่งเยาวชน 4 คน ไปที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์แล้ว

ทีมกู้ภัยของปฏิบัติการวันนี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่เป็นนักดำน้ำ 10 อีก 3 คนเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคคอยประสานงานและจัดระเบียบ และมีทีมซีลไทย 5 คนเข้าไปช่วย

ขณะที่ในการปฏิบัติการจริง มีเจ้าหน้าที่ดำน้ำทั้งหมด 90 นาย 50 กว่ารายเป็นนักดำน้ำต่างประเทศ ประมาณ 40 รายเป็นดำน้ำจากของไทย  สำหรับรูปแบบการเคลื่อนย้ายเยาวชนสวมหน้ากากดำน้ำที่กันน้ำเข้า มีระบบเซฟตี้ น้องๆ สามารถหายใจแบบปกติได้

โดยทีมช่วยเหลือเข้าปากถ้ำไปตั้งแต่เวลา 10.00 น. เคยประเมินว่าเห็นคนแรกออกมา 21.00 น. แต่ปฏิบัติการสำเร็จมากกว่าที่คาด น้องคนแรกพ้นถ้ำเวลา 17.40 น. น้องคนที่ 2 ออกมาเวลา 17.50 น. หรือ 10 นาทีถัดมา หลังจากดูแลสุขภาพให้มั่นคงแล้วก็ไปส่ง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์

เยาวชนลำดับที่ 3 กับ ลำดับที่ 4 ออกมาเวลา 19.40 น. และ 19.50 น. และส่งไป รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์แล้ว

ถือว่าวันนี้ได้กู้ภัยและส่งตัวที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 4 คนแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

หลังจากนี้ทุกฝ่ายทุกด้านจะมีการประเมินว่าจะปฏิบัติการอย่างไรต่อ โดยต้องวางถังอ็อกซิเจนและอุปกรณ์ช่วยเหลือใหม่ โดยทีมที่ทำหน้าที่วางถังอ็อกซิเจนเมื่อพร้อมก็จะวางทันที โดยปฏิบัติการถัดไปจะเริ่มเมื่อไหร่ยังบอกไม่ได้ แต่ประเมินว่าภายใน 10 กว่าชั่วโมง ไม่เกิน 20 ชั่วโมงข้างหน้า ถ้าสถานการณ์ Stable (นิ่ง) ก็จะเริ่มเลย

โดยในเวลา 21.00 น. คืนนี้ จะเรียกทุกทีมมาประเมินสถานการณ์ รวมทั้งปรับแก้ไขสำหรับภารกิจในครั้งต่อไป รวมทั้งแผนเคลื่อนย้าย แผนจัดการจราจร ทีมแพทย์ทุกคนต้องเตรียมหมดว่าเมื่อกู้ภัยแล้วสภาพร่างกายเยาวชนเป็นอย่างไร ให้อ็อกซิเจนแล้วผลเป็นอย่างไร หายใจอย่างไร รวมทั้งประเมินอุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงกู้ภัยในถ้ำ และประเมินทุกทีม รวมทั้งทีมตำรวจทีมบริหารจัดการทั้งหมด

"วันนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่สำเร็จของทีมปฏิบัติงานทุกทีม" ณรงค์ศักดิ์กล่าว พร้อมกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่สละพื้นที่หน้าถ้ำ โดยกล่าวด้วยว่าใช้เวลาเคลื่อนย้ายเยาวชนจากหน้าถ้ำไปถึงจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ใช้เวลา 2 นาที ไวกว่าที่เคยฝึกซ้อมแรกๆ ที่ใช้เวลาถึง 10 นาที

ณรงค์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า "ขอบคุณทุกคนที่ร่วมส่งกำลังใจ ที่สำคัญที่สุดคือด้วยเดชะพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านกรุณาพวกเราทุกคน ทรงให้กำลังใจพวกเราทุกคน วันนี้เราถึงมีภารกิจที่สำเร็จในวันนี้ ผมในนามตัวแทนทีมปฏิบัติทุกคน กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยให้กำลังใจพวกเรา ถือว่าสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแต่ยังไม่ครบถึงทั้งหมด โดยเราจะทำภารกิจต่อไปให้ดีเท่าๆ กับวันนี้"

โดยเท่าที่รายงานข่าวในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อเยาวชน 4 รายที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำ โดยจะมีรายงานเพิ่มเติมในลำดับต่อไป

 

เพจหน่วยซีลยืนยันช่วยได้แล้ว 4 ราย

ก่อนหน้านี้เมื่อ เวลา 19.47 น. ในเพจ Thai NavySEAL ของหน่วยซีลแจ้งว่า "19.47 หมูป่าตัวที่ 4 ออกจากถ้ำ"

เวลา 19.35 น. ในเพจ Thai NavySEAL ยืนยันว่า "หมูป่า 3 ตัวออกจากถ้ำ"

เวลา 19.17 น. สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำพูด นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ระบุว่ามีเยาวชน 2 คน ออกจากถ้ำหลวงแล้ว และกำลังตรวจเช็คสภาพร่างกาย

 

จัดโซนรายงานข่าวใหม่ กันพื้นที่ห่างจากหน้าถ้ำ

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า เมื่อเวลา 06:45 น. เจ้าหน้าที่ขอให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่บริเวณหน้าถ้ำ โดยจัดพื้นที่แถลงข่าวใหม่เป็นด้านหน้า อบต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นอกจากนี้มีการกั้นพื้นที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าในเขตโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่เด็ก ๆ และโค้ชที่จะถูกส่งตัวไป และให้สื่อมวลชนไปรอรายงานอยู่ที่โรงเรียนเทศบาล 5 ห่างจากโรงพยาบาล 1 กม.

 

ผบ.ศูนย์อำนวยการฯ ดีเดย์ส่งผู้เชี่ยวชาญดำน้ำไทย-เทศ 18 รายเข้าถ้ำ

เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 13 คน และผู้เชี่ยวชาญของไทยที่มีศักยภาพในการดำน้ำสูงจำนวน 5 คนเข้าไปปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือ 13 เยาวชนและโค้ช

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แถลงเมื่อเวลา 10.25 น. วันที่ 8 ก.ค. 61 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

10.25 น. ในรายงานของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แถลงว่าว่าหลังจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้ปร้บสภาพพื้นที่ ยืนยันว่าในการช่วยเหลือเด็กทั้ง 13 คนจะต้องมีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งตัวเด็ก เจ้าหน้าที่ และระดับน้ำ ซึ่งในวันนี้เป็นวันดีเดย์จะปฏิบัติการนำตัวเด็กทั้ง 13 คนออกจากถ้ำ โดยส่งผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ 13 คน และผู้เชี่ยวชาญไทย 5 คน เข้าไปช่วยเหลือเแล้ว ยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อมทุกด้าน ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวดี และส่งกำลังใจให้การปฏิบัติภารกิจประสบความสำเร็จ จากการประเมินคาดว่าจะนำตัวเด็กคนแรกออกมาเร็วที่สุดในเวลา 21.00 น. และจะมีการทำภารกิจต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะออกมาจากถ้ำได้ทั้งหมด

ในการแถลงข่าว ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมฯ ชี้แจงว่า วิธีช่วยเหลือจะใช้วิธีประกบคู่เด็กหนึ่งคนต่อผู้ดูแลสองคน จะเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากน้ำลดตั้งแต่โถง 1 ถึงโถง 3 สามารถเดินได้หลายจุด อุปสรรคสำคัญของปฏิบัติการครั้งนี้คือน้ำกับเวลา จึงต้องทำทุกวิถีทาง ขอให้มีเพียงเสี้ยววินาทีที่เหมาะสมพอเพียงที่จะนำเด็กออกมา อย่างปลอดภัย หากเป็นไปตามแผน เยาวชนคนแรกจะออกมาถึงประมาณ 21.00 น. คืนนี้ (8 ก.ค.61) ซึ่งการปฏิบัติงานต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 - 4 วัน 

ส่วนการเจาะโพรงและนำน้ำออกจากถ้ำก็ยังดำเนินการควบคู่กันตลอดเวลา แต่ยังไม่พบโพรงที่เชื่อมกับถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ขอขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และทรัพยากรมาช่วยทำงาน ขณะนี้มีความพร้อม 4 ด้านทั้ง 1. สภาพอากาศ 2. ระดับน้ำ 3. ความพร้อมของผู้ปฏิบัติงาน และ4. ความพร้อมของจิตใจน้องๆ

ณรงค์ศักดิ์ ให้ข้อมูลระดับน้ำด้วยว่า วันนี้ระดับน้ำลดลงต่ำสุด อย่างไรก็ตามจากพยากรณ์อากาศพายุลูกใหม่กำลังจะเข้ามา ถ้ามีน้ำฝนเติมเข้ามาอีก การทำงานต้องเริ่มต้นใหม่  ขณะเดียวกันเด็กๆ ทั้งหมดรับทราบภารกิจ พร้อมจะออกมากับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเผชิญอะไร ครอบครัวของเด็ก ๆ รับทราบและเห็นด้วยกับภารกิจแล้ว ขณะที่ทีมแพทย์มีความพร้อม ได้ซักซ้อมทดสอบแผนช่วยเหลือก่อนปฏิบัติจริง โดยภารกิจจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าคนสุดท้ายจะออกมา ได้มีการซักซ้อมรับทั้งทางบก ทางอากาศ จัดเฮลิคอปเตอร์ไว้ 6 ลำ รถพยาบาล 13 คัน

สาธารณสุขเชียงรายยืนยันความพร้อมทุกด้าน ปภ.พร้อมสูบน้ำเต็มที่

11.00 น. ข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์ปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ถ้ำหลวง กรมประชาสัมพันธ์ พล.ต.ฉลองชัย ชัยยะคำ รองแม่ทัพภาคที่ 3  กล่าวว่า ปฏิบัติการร่วมใช้แผนที่มีความสมบูรณ์ ง่าย และปฏิบัติได้จริง โดยได้เลือกแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด มีการซ้อมแผน เมื่อมั่นใจจึงปฏิบัติ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ด้าน นพ.ทศเทพ บุญทอง สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวยืนยันความพร้อมทุกด้านทางการแพทย์ ขณะนี้เตรียมพร้อมทั้งหมดแล้ว

ส่วนกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การสนับสนุนไฟฟ้าในถ้ำเพื่อช่วยในการสูบน้ำมีความเสถียร ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ขณะนี้ระดับน้ำในถ้ำลดอย่างต่อเนื่อง

ด้านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลด้วยว่า  สภาพอากาศ ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันนี้ ท้องฟ้าครึ้มมีเมฆปกคลุมมากและมีฝนตกลงมาบ้างเล็กน้อย

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาชี้การรับน้องคือการทำลายตัวตนด้วยอำนาจนิยม

Posted: 08 Jul 2018 05:13 AM PDT

เสวนา 'รับน้องต้องสมัครใจ ไม่ละเมิด เปิดเผย' ระบุการรับน้องคือการทำลายความเป็นตัวตนโดยใช้อำนาจนิยมที่ปลูกกันฝังมาในสังคมไทย แนะแก้ไขระบบโซตัสเบื้องต้นอาจให้คนหัวก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน มาเป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่มรุ่นพี่

 
 
8 ก.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ Warehouse 30 ซอยเจริญกรุง เขตบางรัก New Gen Network จัดเสวนา "รับน้องต้องสมัครใจ ไม่ละเมิด เปิดเผย" ประกอบด้วย น.ส.วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หรือ "นานา" กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่, นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย หรือ "เหน่อ หนองกระโดน" อดีตรองเลขากลุ่มปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Anti Sotus), นายชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ ประธานนักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมปี 2560 (เทียบโอน) ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายภัทร กองทรัพย์ อดีตนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนในอเมริกา ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์รับน้องในประเทศ แชร์กิจกรรมทางเลือกสร้างสรรค์ และหาทางออกสู่การรับเพื่อนใหม่อย่างมีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมฟังเสวนาเป็นจำนวนมาก
 
น.ส.วิภาพรรณ วงษ์สว่าง กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าจากประสบการณ์การรับน้องโดยส่วนตัวคิดว่าคือการทำลายความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคน เพราะคนที่เข้าเรียนปีหนึ่งส่วนใหญ่จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง พอเข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วระบบโซตัสจะทำลายอัตลักษณ์ของแต่ละคนหลายคน โดยสั่งให้เปลี่ยนสีผม เปลี่ยนทรงผม การแต่งตัว บางครั้งถูกบังคับให้ทำอะไรเหมือนๆ คนอื่น รวมถึงความรุนแรง ซึ่งคนแต่ละคนมีเส้นความรุนแรงแตกต่างกัน หลายคนอาจรับได้หรือไม่ได้กับความรุนแรง แต่ความจริงระบบโซตัสคือเรื่องของการกดความคิด เช่น คำพูดจากรุ่นพี่ที่ใช้ด่าทอน้องๆว่า "ทำได้แค่นี้เองเหรอ" "อ่อนแอ" หรือ "เสียงดังได้แค่นี้" หลายคนต้องทนเพราะไม่อยากให้ถูกตราหน้าว่าอ่อนแอ ซึ่งคือการทำลายความเป็นตัวตนของคนๆ นั้น โดยใช้อำนาจนิยมที่ปลูกกันฝังมาในสังคมไทย
 
"บางมหาลัยมีบังคับด้วยว่าการไม่เข้ากิจกรรมรับน้องจะเรียนไม่จบ เพื่อกดดันนักศึกษาที่เข้าใหม่ ซึ่งก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบบการศึกษาของบางมหาลัยก็เหมือนอำนาจนิยมที่ส่งเสริมและให้สิทธิแก่รุ่นพี่ในการตัดสินว่าคนๆนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านกิจกรรมจนหลายสิ่งหลายอย่างเกื้อหนุนให้รุ่นพี่คิดว่าตัวเองมีอำนาจและจะสั่งให้รุ่นน้องทำอะไรก็ได้ตามต้องการ และเด็กปีหนึ่งทุกคนต้องทำตามถ้าไม่ทำตามจะเรียนไม่จบ บางครั้งรุ่นพี่ก็ใช้อนาคตมากดกันอย่างเช่น การบอกรุ่นน้องว่าโลกการทำงานมันแคบถ้าไม่สร้างความสัมพันธ์หรือสร้างเครือข่ายตอนนี้จะถูกกีดกันในการทำงาน"
 
"ระบบการศึกษาหลายสถาบันควรจะเลิกตั้งคำถามได้แล้วว่าจะให้รุ่นน้องที่เข้าใหม่ ร่วมร้องเพลงเชียร์หรือทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างไร หรือสร้างคนให้เป็นเหมือนกันอย่างไรเพื่อให้น้องพี่สามัคคีกันได้ ซึ่งสิ่งนี้เหมือนคือการกดคนให้เป็นแบบที่คุณต้องการ ทำไมไม่ลองคิดว่าคุณอยากสร้างคนแบบไหนขึ้นมา ระหว่างคนที่ถูกจำกัดความคิดไว้ให้เป็นแบบที่คุณต้องการเหมือนๆ กันหมด หรืออยากจะรับคนที่มีหัวคิดก้าวหน้า ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง" น.ส.วิภาพรรณกล่าว
 
นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย กล่าวว่า การรับน้องเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล และความรุนแรงในระบบโซตัสที่น่ากลัวที่สุดคือการที่ทำให้ทุกคนที่เข้าการรับน้องตื่นมาทุกเช้าแล้วเกิดความหวาดกลัวว่าวันนี้จะทำอะไรไม่ถูกใจรุ่นพี่หรือเปล่า ซึ่งนักศึกษาปีหนึ่งมักเป็นประจำ การรับน้องคือวัฒนธรรมที่สิ้นเปลือง เราไม่จำเป็นต้องรับน้อง ทุกคนมีสิทธิเลือก บางคนคิดว่าถ้าไม่ทนบน้องจะโดนต่อต้านจากรุ่นพี่และถูกรุ่นพี่ดูถูก เรียนไม่จบหรืออะไรก็ตาม ร้ายแรงสุดคือผู้ชายจะถูกรุ่นพี่ทำร้ายร่างกาย สิ่งเหล่านี้เราไม่จำเป็นต้องทนกับมัน ไม่ว่าจะละเมิดหรือไม่ละเมิด ตนไม่เคยเข้ารับน้องก็เรียนจบได้มีอนาคตได้
 
"คำว่าละเมิด-ไม่ละเมิด พูดได้ยาก การรับน้องที่ดีก็แค่ทำกิจกรรมสันทนาการก็พอแล้ว ถึงแม้จะมีความเป็นอำนาจนิยมบ้าง แต่คือทางเลือกที่ดีที่สุดหากอยากจะรู้จักกัน ไม่จำเป็นต้องมาจูบปากหรือจูบดิน ความสามัคคีเกิดขึ้นได้เสมอแค่ระยะสั้นๆ บางคนไปเข้าค่ายกันแค่สองวันก็ก็สนิทกันไปถึง 4 ปี ระบบโซตัสต้องการให้สร้างความสามัคคีระยะยาว แต่บังคับให้คนต้องสนิทกันทุกวันแค่นี้ก็คือความเผด็จการแล้ว"
 
นายชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ กล่าวว่าการรับน้องคือการใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ โซตัสถูกพ่วงกับระบบอำนาจนิยม เมื่อต้องการให้รุ่นน้องเชื่อฟัง ก็ต้องใช้ความกลัวเข้าข่ม หลายคนต้องอดทนตลอด 1 ปี หรืออาจต้องทนไปจนเรียนจบ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในระบบการศึกษาของไทย การแก้ไขระบบโซตัสเบื้องต้น โดยส่วนตัวคือการค้นหาบุคคลที่มีหัวก้าวหน้าในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ถ้าสามารถดันคนแบบนั้นขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่มรุ่นพี่ได้ ก็อาจจะแก้ไขได้ในส่วนหนึ่ง
 
นายภัทร กองทรัพย์ กล่าวว่าสิ่งที่ตนได้ไปพบเจอมาจากระบบการศึกษาของที่อเมริกาซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นสิทธิมนุษยชนมาก แต่พอย้ายมาเรียนปีหนึ่งที่ประเทศไทย ความแตกต่างเหล่านั้นทำให้รู้สึกไม่โอเค จุดประสงค์ของระบบโซตัสในไทยคือการทำให้คนในองค์กรได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันและปรับเข้าหากัน ทั้งที่ต้องเป็นองค์กรเองที่ต้องเรียนรู้แล้วปรับตัวให้เข้ากับคนที่เข้ามาใหม่ได้อย่างไร ต้องคงไว้ซึ่งความคิดและตัวตนของเขา ไม่ใช่กดความคิดให้เขาคิดเหมือนๆ กัน ในฐานะที่เคยเรียนที่อเมริกาที่นั่นไม่มีระบบการรับน้อง ไม่มีการสร้างสังคมแบบไทย แต่การสร้างความสัมพันธ์ของที่นั่นคือระบบชมรมหรือคลับที่มีปลดปล่อยอิสระทางความคิดของนักศึกษา เป็นช่วงเวลาที่รุ่นพี่และรุ่นน้องได้สร้างความสัมพันธ์อย่างแท้จริงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาว้ากใส่กัน มากดดัน มาบังคับความคิดกันเลยด้วยซ้ำ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางการจีนจะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสอบสวนเหตุเรือล่ม จ.ภูเก็ต

Posted: 08 Jul 2018 03:52 AM PDT

ยอดผู้เสียชีวิตเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต ณ วันที่ 8 ก.ค. อยู่ที่ 41 คน และสูญหาย 15 คน ทางการจีนจะมีการส่งคณะทำงานเข้าร่วมตรวจสอบหาสาเหตุร่วมกับทางการไทย

 
8 ก.ค. 2561 ความคืบหน้าเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต จนถึงขณะนี้ยอดของผู้เสียชีวิตที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการยังคงตัวเลขอยู่ที่ 41 คน และสูญหาย 15 คน เช้านี้หลายฝ่ายยังคงเร่งค้นหาผู้สูญหายที่เหลือ ขณะที่บรรยากาศการท่องเที่ยวทางทะเลที่ภูเก็ต ยังคงมีนักท่องเที่ยว เดินทางลงทะเลตามปกติ
 
การค้นหาผู้สูญหายวันนี้พุ่งเป้าไปที่การใช้อากาศยานค้นหา หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์แล้วเชื่อว่าขณะนี้ 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีร่างของผู้เสียชีวิตติดอยู่ภายในเรือ Phoenix ลำที่จบแล้ว โดยวันนี้การค้นหาจะเพิ่มรัศมีให้กว้างขึ้น พุ่งเป้าไปที่ บริเวณเกาะพีพี และเกาะลันตา ห่างจากจุดที่เรือจมประมาณ 50ไมล์ทะเล 
 
โดยการขึ้นบินค้นหา จะเป็นไปในลักษณะของการบินพร้อมกันครั้งละ 2 ลำ ไล่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามทิศทางการไหลของกระแสน้ำ คู่ขนานไประหว่างเกาะยาวใหญ่ และเกาะพีพี  แต่หากวันนี้ไม่พบร่างผู้สูญหายก็อาจต้องค้นหาในจุดที่อยู่ไกลออไปบริเวณเกาะดอกไม้ 
 
ส่วนกรณีที่มีรายงานว่าพบร่างผู้เสียชีวิตจำนวน 1 คน ติดอยู่บริเวณช่วงหัวเรือฟินิกส์ที่จม แต่ยังนำออกมาไม่ได้นั้น เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ ระหว่างการหาแนวทาง รวมกันอยู่ว่าจะใช้วิธีการไหน อย่างไร  ซึ่งหากนับร่างผู้เสียชีวิตที่ยังติดอยู่ในเรือรายนี้ด้วยก็จะทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการรวมทั้งสิ้น 42 คน คงเหลือสูญหาย 14 คน
 
ด้าน นายหลู่ว เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางมายังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เรือล่ม เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน หลังเกิดเหตุการณ์ 
 
โดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยระบุว่าพอใจการค้นหาผู้สูญหายที่ทางการไทยยังคงกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ และพอใจที่ทางการไทยรับปากว่าจะไม่ยุติการค้นหาหากยังไม่พบผู้สูญหายที่เหลือ  โดยทางการจีนจะมีการส่งคณะทำงานเข้าร่วมตรวจสอบหาสาเหตุ เรือล่มร่วมกับทางการไทยด้วย เพื่อหาว่าใครต้องผู้รับผิดชอบเหตุการณ์นี้บ้าง ส่วนการเยียวยาการช่วยเหลือผู้สูญเสียว่าจะชดเชย และดูแลอย่างไรบ้างจะมีการคุยกันอีกครั้งหลังจากนี้ 
 
ด้าน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมต.ท่องเที่ยว ระบุว่าวันนี้ ทางการไทยจะมีการตั้งศูนย์รับรองครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต และจุดอำนวยความสะดวกแบบ ONESTOP SERVICE ภายในสนามบินนานาชาติภูเก็ต ยืนยันว่า ทางการไทยจะยังคงใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อค้นหาผู้สูญหาย และจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะการช่วยเหลือ ดูแล เยียวยาทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สิน และสภาพจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย รวมไปถึงการหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงเหมือนเช่นครั้งนี้ขึ้นอีก 
 
ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุเรือล่มที่เกาะเฮและเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ช่วงวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ยังถือเป็นวันแรกที่มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาลงเรือที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลองได้ หลังจากที่ทางสำนักงานเจ้าท่าประกาศปิดบริการชั่วคราวเป็นเวลา 2 วัน 
 
โดยจากการสังเกตพบว่า นักท่องเที่ยวมาลงเรือบริเวณนี้เพื่อไปท่องเที่ยวและดำน้ำตามเกาะแก่งต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน
ตม.ตั้งศูนย์ส่วนหน้า ช่วยผู้ประสบภัยเรือล่ม
 
ด้านผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งด่าน ตม.สนามบินภูเก็ต ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยประสานข้อมูลผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต โรงพยาบาล เบอร์โทรศัพท์ติดต่อประสานงาน แนะนำขั้นตอนของ ตม. ศุลกากร และล่ามแปลภาษาจีน เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่ฑูต  และญาติผู้ประสบภัยที่มาจากประเทศจีน รวมถึงการอำนวยความสะดวกการส่งศพ กลับทางเครื่องบิน ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุมีผู้ประสบภัย ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บเล็กน้อย เดินทางกลับประเทศแล้ว 18 คน ส่วนญาติผู้สูญหายเดินทางมาประเทศไทย เพื่อติดตามข้อมูลแล้ว 78 คน
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์เสนอปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัย-พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

Posted: 07 Jul 2018 11:02 PM PDT

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เสนอปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัยและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานเพื่อชีวิตและความปลอดภัยของทุกชีวิต เสริมความแข็งแกร่งของการท่องเที่ยวไทยและเศรษฐกิจไทย

 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
    
8 ก.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่ากรณีเรือล่มมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจำนวนมาก เด็ก 13 คนติดในถ้ำหลวงและอุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยไม่ดีนัก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยว กฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยก็ยังไม่ได้มาตรฐาน คนต่างชาติบางส่วนที่เข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวในไทยก็หลบเลี่ยงกฎหมายใช้นอมินีคนไทยในการดำเนินการในกิจการที่กฎหมายห้ามไม่ให้ทำ ทำให้การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายไม่เต็มประสิทธิภาพ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ซ้ำเติมภาพลักษณ์เกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัย ปัญหาด้านอาชญากรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งมีทัศนคติด้านลบต่อความปลอดภัยของไทยอยู่แล้ว เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงติดอันดับ 2 ของโลก หากปล่อยให้ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นโดยไม่มีการปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยว การบังคับใช้กฎหมายให้ได้มาตรฐานเพื่อชีวิตและความปลอดภัยของทุกชีวิต ระบบการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและฉับไว ระบบเยียวยาผู้เสียหายอย่างเหมาะสมแล้ว จะส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในระยะยาวได้ นอกจากนี้ไทยยังมีความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมโดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำทางทะเล และระบบราง ระบบรางไทยสามารถเดินทางด้วยความเร็วราว 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แตกต่างจากประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูงทำให้ประหยัดเวลาและมีความปลอดภัย การขยายสนามบินหลายแห่งในไทยมีความล่าช้าไม่สามารถทันต่อการขยายตัวของนักท่องเที่ยว อย่างสนามบินสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารล่าสุดมากกว่า 54 ล้านรายต่อปี แต่สนามบินรองรับได้ประมาณ 45 ล้านรายต่อปี หรือเกินความจุกว่า 120%  
 
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าภาคการท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นมาอยู่ที่มากกว่า 12% ของ GDP อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นส่งผลดีต่อการจ้างงาน มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าหากรายได้ของการท่องเที่ยวลดลง 10%-15% จะส่งผลกระทบต่อ GDP ลดลงถึง -0.9-1% ขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้นมีจุดเด่นและมีความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน ท่องเที่ยวพ่วงบริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยวด้านการจัดประชุม ทางการควรส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านใหม่ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงการศึกษาและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวผจญภัย เป็นต้น ภาครัฐและภาคเอกชนท่องเที่ยวต้องร่วมกันพัฒนาด้านอุปทานของธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีคุณภาพมากขึ้น การบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยว มีความเพียงพอของบุคลากรในการดูแลด้านความปลอดภัย นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและคุณภาพการบริการ เป้าหมายสร้างรายได้ท่องเที่ยวปี พ.ศ. 2561 ททท. ตั้งเป้าไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.1 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโต 5% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 34-35 ล้านคน ซึ่งยังคงเป็นเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้หากสามารถจัดการปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งขยายการท่องเที่ยวไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่และเมืองรอง 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 ก.ค. 2561

Posted: 07 Jul 2018 08:52 PM PDT

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดผิดกฎหมาย โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 แสนบาท

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสพักผ่อนหรือทำกิจธุระ หากนายจ้างมีความจำเป็นต้องให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเพื่อประโยชน์แก่การผลิต จำหน่าย และบริการอาจให้ลูกจ้างทำงานได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

ทั้งนี้เมื่อให้ลูกจ้างทำงานแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง โดยจ่ายไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ ส่วนกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กสร.จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 7/7/2561

 กสร.เผยข่าวดีเตรียมให้สัตยาบัน ILO 98 ภายในปี 2562

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ว่า ขณะนี้คืบหน้าไปมาก โดยได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งอาจมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมและให้สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองแก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นและสอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ 98 ด้วย

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงแรงงาน และคาดว่าจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ในเดือนตุลาคม 2561  ในส่วนของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2562 ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาอีกหนึ่งก้าว ในการยกระดับการดูแลแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและการอยู่ร่วมกัน   อย่างสันติและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ที่มา: โลกวันนี้, 6/7/2561

หวั่น 8 แมตช์สุดท้ายฟุตบอลโลก เล่นพนันสูงขึ้น ห่วง "แรงงาน" กลุ่มเสี่ยงเกิดหนี้สิน

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา"นับถอยหลัง 8 แมตช์อันตราย เหยื่อพนันจะเลี่ยงหรือจะเสี่ยง?" โดยนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ฟุตบอลโลก 2018 เหลือ 8 แมตช์สุดท้ายชี้ชะตา ซึ่งน่าห่วงว่ากระแสชวนพนันอาจขึ้นสูง ไม่เฉพาะเด็กเยาวชน แต่กลุ่มคนวัยทำงานยิ่งมีเงินยิ่งมือเติบ และเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เล่นพนันบอลมากกว่ากลุ่มเด็กเยาวชน ทั้งจำนวนคนเล่นและจำนวนเงินที่ใช้เล่น ทั้งนี้ คนเล่นพนันบอลที่เสียตั้งแต่เริ่มเล่น มักจะเล่นไม่นานก็เลิก แต่คนที่เล่นแล้วได้ในตอนแรก มักจะได้ใจและเล่นต่อจนถลำลึก เข้าทำนองไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ซึ่งมีประมาณ 6 โลง คือ 1.การงานย่ำแย่ เพราะเอาสมาธิและเวลางาน เวลาเรียนไปหมกมุ่นกับการคิดและหาข้อมูลเล่นพนันบอล

2.แพ้พนันจนเพลีย เพราะที่ผ่านมาเชื่อว่าโชคต้องเข้าข้าง แต่วันนั้นก็ไม่มาถึงเสียที 3.เสียจนหมดตัว เพราะพนันบอลมักจะเดิมพันสูง บางคนเล่นคู่ละหลักหมื่นขึ้นไป ยิ่งเสียมากในคู่ก่อนๆ ยิ่งทำให้ทุ่มหมดหน้าตักในคู่ต่อไป จนเสียหายหนัก 4.กลัวเขามาอุ้ม เป็นอาการของนักพนันที่ไปกู้หนี้นอกระบบมา และยังเคลียร์ไม่ได้ ก็กังวลว่าจะโดนอุ้มไปทำร้าย 5.กลุ้มคุกทุกข์เข็ญ คือ กลุ่มที่กังวลว่าจะถูกเจ้าหน้าที่สืบสาวมาจนถึงตนเองว่าเป็นผู้เล่นพนัน และมีโทษตามกฎหมายถูกจำคุก และ 6.เห็นหายนะเพื่อน คือ เริ่มเห็นเพื่อนที่เล่นพนันมาด้วยกันประสบผลเสียหาย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกออกจากงาน หรือประสบปัญหาครอบครัว

นายภาคภูมิ สุกใส ประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ กล่าวว่า ปัญหาการพนันในกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังคงน่าห่วง ไม่เฉพาะบอลโลก แต่บอลทุกฤดูเอื้อต่อการเล่นพนันได้ ปัญหาใหญ่ คือ การจัดการเรื่องเงินของผู้ใช้แรงงานมักไม่เป็นระบบ สิ้นเดือน กลางเดือน ต้องมาใช้หนี้บัตรเครดิต เพราะกดไปเล่นพนันบอล ส่งผลให้ไม่มีเงินเก็บ คุณภาพชีวิตก็ย่ำแย่ สุดท้ายกลายเป็นภาระของลูกหลาน หลังจากบอลโลกจบต้องจับตาดูว่าจะมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกตามเช็กบิลตามทวงหนี้พนันบอล ฝากรัฐบาลทำการบ้านเร่งหาแนวทางป้องกันและหยุดปัญหาการพนันให้ได้

"ต้องยับยั้งสื่อโฆษณาที่โหมกระตุ้นให้เกิดการเล่นพนัน โดยเฉพาะที่มากับสื่อออนไลน์ มือถือ ตอนนี้เว็บไซต์หรือหน้าเพจที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก มักพบว่ามีป็อบอัปของเว็บพนันโผล่ขึ้นมาชักจูงใจให้เล่น ซึ่งตรงนี้ต้องเร่งจัดการ ไม่ใช่แค่ลุยกันเฉพาะช่วงบอลโลกเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ในส่วนขององค์กรแรงงานเราอยากเห็นรัฐบาลนี้กล้าหาญ ตั้งคณะกรรมการควบคุมการพนันแห่งชาติขึ้นมา เพราะไม่ว่าจะเป็นการพนันรูปแบบไหนก็ต้องถูกจัดการและควบคุมด้วยคณะกรรมการชุดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีเจ้าภาพในการจัดการปัญหาการพนัน" นายภาคภูมิ กล่าว

นายเอกซ์ (นามสมมติ) หนุ่มโรงงานแห่งหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์ที่เสียหายกับการพนันฟุตบอล ว่า เริ่มจากเล่นตามเพื่อนๆ ในโรงงาน ค่อยๆ ขยับจากแทงบอลชุด50 บาท ยามใจมาแทงบอลเดี่ยวคู่ละหลักร้อย แทงปากเปล่าสองอาทิตย์เคลียร์กันที จนมาเสียหนักในคืนเดียวราวห้าหมื่นบาท พยายามเล่นหวังจะเอาเงินคืน ช่วงนั้นเสียไปมากกว่าห้าแสน ต้องกู้เงินทุกวิถีทาง ทั้งบัตรเครดิตต่างๆ ทั้งเงินกู้นอกระบบ จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ย่าผู้ที่เลี้ยงผมมา ท่านป่วยแต่มีเงินไม่พอรักษา เพราะเงินที่ย่ามี ก็เอามาช่วยใช้หนี้พนัน ย่าเสียชีวิตโดยที่ตนช่วยอะไรได้ บ้านและที่ดินต้องขายเอาเงินมาใช้หนี้พนัน จึงก้มกราบเท้าย่าและตั้งใจเลิกเล่นพนันตั้งแต่นั้นมา

"กว่าจะใช้หนี้พนันหมดก็หลายปี ส่วนที่เป็นหนี้นอกระบบผมก็ต้องหนี เพราะถูกขู่จะทำร้าย ผมไม่กล้ากลับบ้าน เก็บตัวอยู่ในหอพัก ไม่มีแม้เงินจะซื้อข้าวกิน การเลิกพนันอยู่ที่ใจล้วนๆ ถ้าตั้งใจจริงเราเลิกได้ เพื่อนไม่โกรธ ไม่เลิกคบ คนใกล้ชิดมีอิทธิพลมาก ถ้าอยู่ในสังคมที่เพื่อนร่วมงานเล่นพนัน เราต้องเข้มแข็ง กล้าปฏิเสธ สถานที่ทำงานต้องหาทางตัดตอนไม่ให้มีคนกลางมาชวนเล่นพนัน และควรส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต และสนับสนุนให้มีระบบการดูแลกันและกัน ทุกวันนี้มีโอกาสผมจะพยายามแนะนำน้องๆ ที่ทำงานเสมอ ดูบอลเป็นกีฬา คุยกันวิเคราะห์ผลกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเล่นพนัน" นายเอกซ์ กล่าว

ด้าน นางสาวหนึ่ง (นามสมมติ) อายุ 32ปี กล่าวถึงกรณีที่คนในครอบครัวเล่นพนันบอลจนเกิดผลกระทบว่า พ่อมีอาชีพเปิดร้านขายของเล็ก ๆในชุมชน กิจการพออยู่ได้มาตลอด สักพักเริ่มมาเอ่ยปากยืมเงินจากแม่ จนสุดท้ายขอยืมจากตน เมื่อผิดสังเกตจับได้ว่าพ่อเอาเงินไปเล่นพนันบอล ทั้งรับแทงพนันจากพนักงานบริษัทแถวนั้นแล้วส่งต่อโต๊ะใหญ่ และเล่นพนันเองด้วยจากแทงบอลชุดขยับมาแทงบอลเดี่ยวพอไม่พอใช้ก็มาขอยืมเงินจากตน รวมทั้งให้ไปช่วยค้ำประกันเงินกู้จากคนรู้จักแถวบ้าน ทำให้ตนกับสามีทะเลาะกัน เมื่อไม่พอใช้หนีพนันห้าแสน ก็ต้องขายทุกอย่างในบ้าน สุดท้ายพ่อเลิกเล่นพนันบอลและทำงานหนักทั้งที่อายุ54แล้ว เงินเดือนที่ได้นำมาใช้หนี้ทั้งหมด

"ด้วยความที่เป็นพ่อ ทำให้ลูกไม่อยากเข้าไปยุ่งในตอนแรกที่รู้ว่าเริ่มเล่นพนันบอล แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ลูกๆ เข้าไปดูแลจัดการเรื่องเงินแทนทั้งหมด พ่อเป็นคนขี้เหนียว ไม่คิดว่าเขาจะพลาดขนาดนี้ ทุกวันนี้มาทำงานที่เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ทำให้พ่อหยุดยั้งตัวเองได้ คนแถวนั้นที่เคยเป็นลูกค้าแทงบอลกับพ่อ ได้เห็นป้าย เห็นสื่อรณรงค์หยุดพนันก็หยุดยั้งมีสติกันมากขึ้น แม้ยังมีเล่นพนันกันอยู่บ้างแต่ก็เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น" น.ส.หนึ่ง กล่าว

ที่มา: MRG Online, 6/7/2561

บังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าว 3 วันแรก จับต่างด้าวได้กว่า 100 ราย

วันที่ 4 ก.ค. 2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยผลการบูรณาการปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายของชุดปฏิบัติการ 113 ทีม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ที่ร่วมกันออกตรวจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) พบว่า ล่าสุด ตั้งแต่ 1-3 ก.ค. 2561 เพียง 3 วัน สามารถตรวจสอบนายจ้าง สถานประกอบการได้ 298 ราย พบกระทำความผิด 26 ราย แบ่งเป็น ดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 22 ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 4 ราย

ขณะเดียวกัน ได้ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 2,879 คน พบกระทำความผิด จำนวน 118 คน เป็นเมียนมา 94 คน ลาว 7 คน กัมพูชา 8 คน เวียดนาม 7 คน และอื่นๆ อีก 2 คน แบ่งเป็นดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 58 คน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 60 คน โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

"หากผู้ใดพบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย หรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร. 0-2354-1729 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป" นายอนุรักษ์ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/7/2561

กสร. จับมือประธาน JCC หารือกฎหมายแรงงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 ได้ให้การต้อนรับ Mr. Yosuhiro Morita ประธานคณะกรรมการด้านแรงงานหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) พร้อมคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะประเด็น การจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 400 วัน ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งทาง JCC มีความห่วงใยว่าสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนมากอาจเตรียมตัวเรื่องงบประมาณไม่ทัน ทั้งนี้ ได้ชี้แจงว่าการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวมุ่งยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้นและเป็นธรรมต่อลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งก่อนจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว กสร. ได้จัดสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรม ผลจากการรับฟังนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องเห็นด้วยในประเด็นการเพิ่มอัตราค่าชดเชย ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ผ่านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วและกสร. ได้ยืนยันร่างกฎหมายเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

​อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะต้องมีการพัฒนาในการให้สัตยาบันดังกล่าว โดยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กร สหภาพแรงงาน และสมาคมนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ สำหรับกระบวนการในการเจรจาต่อรองเรื่องที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย เช่น การขยายเวลาในการเจรจา เป็นต้น รวมไปถึงการลดอำนาจของภาครัฐในการแทรกแซงด้วย ซึ่งคาดว่าจะให้สัตยาบันได้ภายในปี 2562

"ผู้ประกอบการถือเป็นส่วนสำคัญในการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะต้องรับไปปฏิบัติ กสร.มีความยินดีที่จะชี้แจงรายละเอียดของกฎหมายและหารือร่วมกันถึงแนวทางในการดำเนินงานต่อไปเพื่อให้สถานประกอบกิจการเตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว" อธิบดีกสร.กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/7/2561

ตม.แม่สอดจี้ผู้ประกอบการใช้แรงงานต่างด้าวผิด กม.เจอโทษปรับหนัก

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจด่าน ตม.ตาก (แม่สอด) บูรณาการกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 แม่สอด กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 แม่สอด สำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก และอาสาสมัคร( อส.) อ.แม่สอด ออกตรวจกวดขันจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในลักษณะผิดกฎหมายอย่างจริงจัง หลังหมดช่วงเวลาการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี ผู้บังคับการกองบังคับการด่าน ตม.5 และ พ.ต.อ.ชูศักดิ์ พนัสอัมพร รองผู้บังคับการ ตม.5 ที่ได้มีคำสั่งให้ ตำรวจด่าน ตม.ตาก (แม่สอด) ได้เพิ่มความเข้มข้นในการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย หลังจากที่หมดระยะเวลาการผ่อนผัน

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 การกวาดล้างจับกุมแรงงานที่ผิดกฎหมายบริเวณตลาดสดพาเจริญ เขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวนางโมโมอ่อง(Mr. Moe Moe Aung) อายุ 32 ปี สัญชาติพม่า พร้อมพวกรวม 6 คน ในข้อหา เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ โดยแรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมนั้นถูกจับกุมระหว่างขายของอยู่ในตลาดพาเจริญ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายและผลักดันออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ ซึ่งมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท พร้อมส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ

สำหรับนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และหากพบมีการกระทำผิดซ้ำก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งต่อไปนี้หากแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น

ที่มา: MRG Online, 3/7/2561

ปลัดแรงงานชี้ยังไม่ถึงเวลาปรับโครงสร้าง 'ประกันสังคม'

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และภาคีเรียกร้องให้มีการปฎิรูประบบประกันสังคม โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นอิสระ ไม่ยึดโยงกับระบบราชการ และบริหารงานอย่างมืออาชีพ ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีการเรียกร้องกันมาระยะหนึ่ง

"เรารับรู้ และรับฟังเรื่องนี้มาพอสมควร แต่การจะทำหรือไม่ทำเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากทำจะต้องมีการศึกษาข้อมูลรายละเอียด หาข้อดีข้อเสียระหว่างการคงสภาพเดิม หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องใช้เวลา ไม่ใช้เรียกร้องแล้วสามารถทำได้ทันที เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำในระดับนโยบาย" นายจรินทร์ กล่าวและว่า นับตั้งแต่มีระบบประกันสังคมในประเทศไทย แม้จะมีปัญหาบ้างในบางเรื่อง แต่ส่วนใหญ่จะได้รีบการแก้ไขจนระบบสามารถเดินไปได้อย่างไม่ติดขัด จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีเรื่องใดที่วิกฤตจนถึงขั้นที่จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร

อย่างไรก็ตาม นายจรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ แม้จะทำในระดับโครงสร้างไม่ได้ แต่ก็ได้มีการพัฒนาการให้บริการผู้ประกันตนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสามารถดูแลผู้ประกันตนได้เป็นที่น่าพอใจดีขึ้นตามลำดับจนได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติเรื่อยมา และยังไม่เคยเห็นนานาประเทศมองว่าประกันสังคมของไทยบกพร่องแต่อย่างใด

ทางด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอฟังระดับนโยบายสั่งการลงมา หากมีแนวโน้มจะปรับโครงสร้างองค์กร ก็ต้องศึกษาในรายละเอียดทั้งหมด ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เคยศึกษาหรือไม่ว่าองค์กรในลักษณะเดียวกับ สปส.ในต่างประเทศมีโครงสร้างการบริหารอย่างไร นพ.สุรเดช กล่าวว่า แต่ละประเทศมีโครงสร้างและการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ เอง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/7/2561

ปิดศูนย์ทะเบียนแรงงานต่างด้าว ป้อนเข้าระบบกว่า 1.2 ล้านคน

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว ว่า มีแรงงานต้องเข้าศูนย์ OSS ตามมติ ครม. 16 ม.ค.61 จำนวน 1,320,035 คน ดำเนินการภายใน 31 มี.ค. จำนวน 840,736 คน และต่อมามติ ครม. ได้มีการขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. ซึ่งในระยะที่ 2 มี 348,022 คน ผลการดำเนินงานจนถึงวันสุดท้ายในวันที่ 30 มิ.ย. เป็นที่น่าพอใจ มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา มาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานทั้งสิ้น 347,067 คน คิดเป็น 99.73% เป็นกัมพูชา 156,569 คน ลาว 18,210 คน เมียนมา 172,288 คน โดยสรุปมียอดแรงงานต่างด้าวที่เดิมทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้รับการผ่อนผันมาตั้งแต่ปี 2558 เข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมาย 1,187,803 คน เป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน ส่วนยอดที่หายไปกว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่ออกนอกประเทศไปแล้ว และกลับเข้ามาใหม่ตามเอ็มโอยู บางส่วนอาจยังเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่มีจำนวนน้อยลงมาก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแผนการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย อย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง หากพบกระทำผิด ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะต้องถูกดำเนินคดี คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 - 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับ จะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามเข้ามาทำงานภายใน 2 ปี นับส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ส่วนแผนการตรวจสอบปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย จะเริ่มช่วงแรกตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.ค. จะบูรณาการการร่วมกับตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ออกตรวจจับอย่างต่อเนื่อง ทั่วประเทศจะมีชุดปฏิบัติการ 113 ชุด เน้นจับในกลุ่มคนผิดกฎหมายก่อน และจะตรวจเข้มใน 3 เดือนแรก ได้มีการประสานทูตทั้ง 3 ชาติ เปิดศูนย์รับส่งคนผิดกลับประเทศ ตามแนวชายแดนจังหวัด ระนอง ตาก เชียงราย ซึ่งการจัดระบบจะทำให้มีฐานข้อมูลต่างด้าวที่ชัดเจน โดยในประเทศมีแรงงานต่างชาติทุกกลุ่ม ทำงานตามกฎหมาย 3.2 ล้านคน ถือว่ามีจำนวนมาก ซึ่งต่อไปการใช้แรงงานต่างชาติจะต้องตามความจำเท่านั้น

ที่มา: ไทยรัฐ, 2/7/2561

สศอ.แนะเอกชนปรับการผลิต ใช้หุ่นยนต์มากขึ้น รับแรงงานนอกตีตั๋วกลับบ้าน

นายณัฐพล รังสิตพล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการผลิต โดยจะต้องเริ่มวิเคราะห์กระบวนการผลิตว่าควรจะเริ่มในจุดใดก่อน จากนั้นก็ค่อยๆขยายไปสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ทำให้ในแต่ละขั้นตอนการปรับปรุงใช้เม็ดเงินไม่มาก และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่คุ้มในการนำหุ่นยนต์มาใช้ และต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ก็ควรจะย้ายไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำ

"แม้ว่าในขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมาก เห็นได้จากในช่วงปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดตรวจจับแรงงานต่างด้าว และเร่งดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ทำให้มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากรีบกลับประเทศ ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการเกิดการช็อกทางธุรกิจ ซึ่งในอนาคตแรงงานต่างด้ายก็จะค่อยๆกลับไปทำงานของประเทศตัวเองมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวรับมือกับปัญหาแรงงานที่จะเกิดขึ้น"นายณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ จากการศึกษาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเทียบกับประเทศไทยพบว่าในปี 2561 ไทยมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 6,314 – 8,195 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 5% รวมค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 6,630 – 8,605 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ รองลงมาประเทศเวียดนาม มีค่าจ้างขั้นต่ำ 3,850 – 5,552 บาทต่อเดือน แตกต่างกันตามพื้นที่ มีเงินประกันสังคม 17.5% เงินประกันสุขภาพ 3% เงินประกันการว่างงาน 1% รวมแล้วอยู่ที่ 4,679 – 6,747บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่างจากไทยไม่มาก จึงคาดว่าแรงงานจากเวียดนาม จะเป็นกลุ่มแรกที่ย้ายกลับประเทศ

ส่วนประเทศรองลงมาเป็นประเทศกัมพูชา มีค่าจ้างขั้นต่ำ 5,421 บาทต่อเดือน มีเงินประกันสังคม 0.8% รวมแล้วอยู่ที่ 5,465 บาทต่อเดือน สปป.ลาว ค่าแรงขั้นต่ำ 4,168 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 5% รวมแล้วอยู่ที่ 4,377 บาทต่อเดือน และประเทศเมียนมา มีค่าแรงขั้นต่ำ 2,910 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 2.5% รวมแล้วอยู่ที่ 2,982 บาทต่อเดือน

ที่มา: ไทยโพสต์, 2/7/2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

10 ปี ทันตกรรมสิทธิบัตรทอง เสริมสุขภาพ ปชช.เพิ่มความสุข มีฟันบดเคี้ยว

Posted: 07 Jul 2018 08:31 PM PDT

สปสช.เผย สิทธิประโยชน์ทันตกรรมใส่ฟันเทียมกว่า 10 ปี ดูแลประชาชนแล้วกว่า 6.3 แสนคน ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ยกคุณภาพชีวิตคนไทยเพิ่มขึ้น เน้นผู้สูงอายุ ชี้ผลสำเร็จจากความร่วมมือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการทันตกรรมทั่วประเทศ และคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย   

 
 
8 ก.ค. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมีสุขภาพปากและฟันที่ดีเป็นส่วนสำคัญต่อการมีสุขภาพกายที่ดี เพราะทำให้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เล็งเห็นความสำคัญของการบริการทันตกรรม โดยเฉพาะการใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่ไม่มีฟันบดเคี้ยว ในปี 2551 จึงได้บรรจุบริการทันตกรรมและใส่ฟันเทียมเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมในผู้ที่จำเป็น ต่อมาในปี 2554 จึงได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนิน "โครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง
 
ทั้งนี้จากการดำเนินสิทธิประโยชน์ใส่ฟันเทียมในปี 2551 ที่เป็นปีแรกเริ่มต้น มีผู้รับการใส่ฟันเทียม ทั้งที่ใส่ฟันเทียมบางส่วนและใส่ฟันเทียมทั้งปาก ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้อายุต่ำกว่า 60 ปี และผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 28,390 คน และหลังจากนั้นได้มีการดำเนินสิทธิประโยชน์ใส่ฟันเทียมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551-2561 (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) มีผู้รับบริการใส่ฟันเทียมทั้งสิ้นจำนวน 631,051 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 367,291 คน คิดเป็นร้อยละ 58.20 และผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี จำนวน 263,759 คน คิดเป็นร้อยละ 41.8  
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เมื่อดูข้อมูลจำเพาะในส่วนผู้รับบริการฟันเทียมทั้งปากตาม "โครงการฟันเทียมพระราชทานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ที่ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2554 จากผลดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 7 ปี 6 เดือน (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) มีผู้รับบริการ 412,844 คน โดยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 274,579 คน คิดเป็นร้อยละ 66.51 และกลุ่มอายุต่ำกว่า 60 ปี จำนวน 138,265 คน คิดเป็นร้อยละ 33.49โดยการดำเนินงานบริการทันตกรรมใส่ฟันเทียมทั้งปากในปี 2560 ยังเป็นไปตามเป้าหมาย มีผู้เข้ารับบริการทันตกรรม จำนวน 33,670 คน จากเป้าหมาย 35,000 คน คิดเป็นร้อยละ 96.2 ส่วนในปี 2561 นี้ มีผู้เข้ารับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากแล้วจำนวน 17,707 ราย (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) จากเป้าหมาย 35,000 คน คาดการณ์ว่าการบริการจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เช่นกัน
 
นอกจากนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการใส่ฟันอย่างครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.จึงได้ดำเนิน "โครงการฟันเทียมพระราชทาน โดยความร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย เพื่อใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุ โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย 1) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล 2) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 5) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.รังสิต 6) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 7) รพ.คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.นเรศวร 8) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น 9) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ทั้งนี้จากข้อมูลปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการไปแล้วจำนวน 1,124 คน โดยในปี 2561 ได้มีการขยายเวลาดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันครบตามเป้าหมายโครงการจำนวน 1,610 คน
 
"สิทธิประโยชน์ทันตกรรม โดยเฉพาะการใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่มีปัญหาไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร สามารถดำเนินงานจนเห็นผลสำเร็จ โดยมีผู้รับบริการแล้วกว่า 630,000 คน นับเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมถึง คณะทันตแพทย์ศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมดูแลประชาชนทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี" เลขาธิการ สปสช.กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Toma Feminista การเคลื่อนไหวสตรีนิยมในหมู่นักศึกษาชิลี การสร้างพื้นที่ใหม่ท้าทายการครอบงำแบบเดิม

Posted: 07 Jul 2018 08:17 PM PDT

3 เดือนที่แล้วจนถึงตอนนี้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาในหลายสถานศึกษาทั่วชิลีร่วมกันปฏิบัติการต่อต้านชั้นเรียนที่ถูกครอบงำทางความคิดจากระบอบปิตาธิปไตย ทั้งการยึดพื้นที่ การจัดหารืออภิปราย และการสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงได้พูดประเด็นความอยุติธรรมของตัวเอง เรื่องนี้อาจจะมาจากความไม่พอใจจากคำตัดสินกรณีอาจารย์ล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็มีผู้คนเห็นว่าน่าจะขยายผลไปสู่ประเด็นอื่นๆ ที่กระทบจากเรื่องเพศสภาพด้วย

 
8 ก.ค. 2561 ในชิลีมีกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหญิงจากหลายสิบสถานศึกษาทั่วประเทศปฏิบัติการต่อต้านวัฒนธรรมกดขี่ข่มเหงแบบชายเป็นใหญ่ในชั้นเรียนของชิลี มีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมหลายหมื่นคน พวกเธอเริ่มจากการทำการประท้วงยึดกุมพื้นที่ของมหาวิทยาลัยพร้อมป้ายผ้า "Toma Feminista" หรือ "การยึดกุมพื้นที่ของเฟมินิสต์" จากการประท้วงครั้งนั้นผ่านมาแล้ว 3 เดือน การเคลื่อนไหวก็ยังคงดำเนินต่อไป
 
สื่อ Toward Freedom ระบุว่าชิลีเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์การประท้วงของนักศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งมักจะเป็นการประท้วงต่อต้านการทำให้ระบบการศึกษาออกนอกระบบกลายเป็นของเอกชนซึ่งเป็นปัญหาที่ตกทอดมาจากสมัยเผด็จการทหาร ออกุสโต ปิโนเชต์ การประท้วงครั้งนี้ก็มีที่มาจากขบวนการในอดีตแต่มีเสาหลักเป็นประเด็นสตรีนิยม
 
การเคลื่อนไหวต่อเนื่องครั้งล่าสุดนี้เริ่มต้นที่การประท้วงยึดพื้นที่อาคารคณะปรัชญาและมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออสตรัลในวัลดิเวียเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผานมาเพื่อประท้วงการจัดการของคณะในกรณีที่ศาตราจารย์คนหนึ่งถูกพบว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ อีกสิบวันหลังจากนั้นก็มีการประท้วงตามมาที่คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชิลีในซานติเอโก จนกลายเป็นการจุดฉนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวไปทั่วประเทศ
 
สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับพวกเธอคือกรณีการล่วงละเมิดทางเพศที่ศาตราจารย์ คาร์ลอส คาร์โมนา อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนเกี่ยวข้อง ทางมหาวิทยาลัยใช้เวลามากถึง 8 เดือนในการดำเนินคดีและลงโทษแค่ให้คาร์โมนาพักงานเป็นเวลา 3 เดือน โทษฐาน "ขาดคุณธรรม" ซึ่งไม่ได้ระบุถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องนี้ทำให้เกิดการยึดพื้นที่ประท้วงจนกระทั่งลามไปทั่วสถานศึกษาอื่นๆ ของชิลี
 
มิลลาเรย์ ฮัวคิมิลลา โฆษกของกลุ่มยึดพื้นที่อธิบายว่าโดยส่วนหนึ่งแล้วพวกเขาต้องการเน้นให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการพยายามใช้ "ยาแก้ปวดชั่วคราว" ดำรงระบบปิตาธิปไตย แต่ไม่ได้จัดการปัญหาจริงๆ พวกเขาต้องการให้มีการรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางเพศผ่านทางกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย จากที่ถึงแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะมีหลักเกณฑ์เหล่านี้ แต่นักศึกษาก็มองว่ายังไม่ดีพอ พวกเขาต้องการให้สร้างระเบียบและหลักสูตรในแบบที่ไม่มีการเหยียดเพศ และมีความละเอียดอ่อนต่อเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี
 
ทั้งนี้ ในการประท้วงแต่ละแห่งก็ยังมีประเด็นนำที่ให้ความสำคัญสูงสุดในแบบของตัวเองอยู่ มีจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นที่สำหรับนักเรียนนักศึกษาได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและทางจิตใจ สำหรับหลายแห่งข้อเรียกร้องหลักๆ คือการให้สถานศึกษายอมรับความแตกต่างหลากหลายของเพศสภาพและเพศวิถี บางแห่งก็มีประเด็นเรื่องขอให้นักเรียนนักศึกษาที่มีลูกระหว่างเรียนยังคงศึกษาต่อไปได้
 
นอกจากจะเป็นการต่อสู้เพื่อให้ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของตัวเองแล้ว การประท้วงยึดพื้นที่ในครั้งนี้ยังกลายเป็นพื้นที่สำหรับการสะท้อนความคิดของผู้เข้าร่วมและพื้นที่การมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย จากการที่พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการร่างเอกสารร้องเรียนในกระบวนการที่เน้นความเป็นหมู่คณะและเป็นไปในแนวระนาบ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการตัดสินใจผ่านการโหวตลงมติแบบประชาธิปไตยด้วย
 
ก้าวแรกของขบวนการนี้เริ่มจากการให้ผู้เข้าร่วมได้พูดถึงประสบการณ์การถูกเหยียดเพศมาก่อน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับระบบวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดการเหยียดเพศเช่นนี้ ในสถานศึกษาบางแห่งยังมีการจัดงานวันเกี่ยวกับสตรีนิยมที่มีตั้งแต่การฝึกซ้อมป้องกันตนเอง การเวิร์กช็อปการเย็บปักถักร้อยในเชิงแสดงออกต่อต้าน การเดี่ยวไมโครโฟนสตรีนิยม การอภิปรายกันเรื่องสังคมนิยมสตรีนิยม การจัดแข่งฟุตบอลในแบบที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่มาครอบงำ และบทเรียนเรื่องกายวิภาคอวัยวะเพศ
 
คาทาลินา ซานเชซ โฆษกของวิทยาลัยสังคมสงเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยียูทีเอ็มที่เข้าร่วมโครงการนี้พูดถึงเรื่องที่การรวมกลุ่มปรึกษาหารือสตรีนิยมที่เธอเข้าร่วมทำให้เกิดสายสัมพันธ์แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับครอบครัวเธอ ทำให้เธอรู้สึกตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัว คาทาลินายังเน้นย้ำถึงเรื่องที่พวกเธอมาจากแหล่งคนยากจนที่เป็นคนชายขอบของสังคมเธอพูดถึงว่ากลุ่มคนยากจนต้องเผชิญกับความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากการเหยียดเพศอย่างไรบ้าง และวิจารณ์ว่าการเคลื่อนไหวบางส่วนยังคงละเลยเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบทางชนชั้นในหมู่ผู้หญิงด้วย สำหรับคาทาลินาแล้ว สตรีนิยมควรจะท้าทายทุนนิยมที่มีการกดขี่ทางเชื้อชาติและชนชั้นด้วย
 
ถึงแม้การประท้วงจะขยายตัวไปตามที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แต่ผู้ที่เชี่ยวชาญประเด็นเพศสภาพก็บอกว่าพวกเขาจะต้องขยายผลการเคลื่อนไหวต่อไปนอกมหาวิทยาลัยด้วย ลูนา โฟลเลกาตี นักประวัติศาสตร์ที่เน้นศึกษาเรื่องประเด็นเพศสภาพกล่าวว่าเธอเห็นด้วยที่ขบวนการสตรีนิยมในชิลีควรขยายผลออกไปให้มากกว่าเรื่องนโยบายการศึกษาแบบไม่มีการเหยียดเพศ โดยควรจะขยายไปสู่การท้าทายประเด็นสังคมอื่นๆ อย่างสุขภาวะ ที่อยู่อาศัย สวัสดิการ ซึ่งผู้หญิงอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยงมากกว่าในประเด็นเหล่านี้
 
การประท้วงของนักเรียนนักศึกษา ทำให้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี เซบาสเตียน ปิเนรา ประกาศให้มี "วาระของผู้หญิง" ซึ่งจะเป็นการออกมาตรการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในหลายประเด็น เช่น เรื่องสุขภาวะ เรื่องการถูกล่วงละเมิด เรื่องการดูแลเด็ก แต่มาตรการของประธานาธิบดีก็จะส่งผลดีแค่กับผู้หญิงส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นมีอันจะกินเท่านั้นแต่ไม่ได้ส่งผลดีกับผู้หญิงที่เป็นแรงงานและมีงานทำแบบไม่ประจำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเลย อีกทั้งฮัวคิมิลลายังวิจารณ์ว่าเป็นมาตรการที่ออกมาเพียงเพื่อให้ผู้หญิงยอมตามระบบตลาดเท่านั้น แต่ทางรัฐไม่ได้ยอมรับประเด็นของผู้หญิงเอง
 
ในขบวนการประท้วงของนักศึกษาชิลีในปัจจุบัน บ้างก็มีการยกเลิกการเคลื่อนไหวไปแล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่เพิ่งเข้าร่วม ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวจะพัฒนาไปในทิศทางใดต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือขบวนการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากในระดับไม่เคยมีมาก่อนและทำให้ผู้คนได้เห็นปัญหาความรุนแรงจากฐานเรื่องเพศสภาพ นอกจากนี้ยังถือได้ว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการท้าทายบทบาททางเพศแบบที่ถูกครอบงำจากบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (heteronormative) และที่สำคัญที่สุดคือการสามารถสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อสะท้อนจินตนาการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
 
ในขณะที่ประธานาธิบดีฝ่ายขวายังคงกุมอำนาจอยู่ ขบวนการเคลื่อนไหวชุดนี้ถือเป็นการต่อต้านเชิงวัฒนธรรมที่ส่งผลดีและอาจจะกลายเป็นแหล่งกำเนิดของแรงบันดาลใจให้เกิดปฏิบัติการในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากชิลี
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
An Unprecedented Wave of Feminist Civil Disobedience Sweeps Chile, Toward Freedom, 02-07-2018
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น