โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ปู่คออี้ทำบัตรประชาชนใบแรกเมื่ออายุ 107 ปี สอบหลักฐานชัดเป็นคนไทยตั้งแต่เกิด

Posted: 31 Jul 2018 09:27 AM PDT

ปู่คออี้วัย 107 ปี ผู้นำอาวุโสชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ทำบัตรประชาชนใบแรก สอบพยานหลักฐานย้ำชัดเป็นคนไทยตั้งแต่เกิด หลังจากนี้เตรียมทำเรื่องใช้สิทธิรับเบี้ยผู้สูงอายุ ขณะที่ทนายสิทธิมนุษยชนชี้ปู่คออี้ทำบัตรประชาชนในฐานะคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ กรมประชาสงเคราะห์เคยสำรวจมาแล้ว ชี้ชัดปู่คออี้เกิดเมืองไทย ด้านนายอำเภอเผยหลายปีก่อนเคยชวนทำบัตรแต่ปู่คออี้ปฏิเสธ เพราะปู่คออี้ต้องการกลับบ้านเกิดที่บางกลอยบนมากกว่า

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน "ปู่คออี้" อายุ 107 ปี ผู้นำอาวุโสชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน (ที่มา: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายโคอิ มีมิ หรือ "ปู่คออี้" อายุ 107 ปี ผู้นำอาวุโสกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจานเดินทางมาถ่ายรูปทำบัตรประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทั้งนี้เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิสถานะบุคคลและชนเผ่าพื้นเมือง ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนด้วย

ในจดหมายข่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ "ปู่คออี้" ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องสิทธิสถานะบุคคล และมอบหมายให้ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอรับรองสัญชาติไทย ซึ่งต่อมาสุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายทะเบียนอำเภอแก่งกระจาน ได้ทำการตรวจสอบพยานเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลเสร็จสิ้นตามกระบวนทางกฎหมายและได้อนุมัติให้เพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ทร. 14) ให้แก่ "ปู่คออี้" แล้ว

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากหลักฐานทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือ ทร.ชข. ปรากฏว่า "ปู่คออี้" เกิดเมื่อปี 2454 บริเวณต้นน้ำลำภาชี รอยต่อของจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี และทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบริเวณที่เรียกว่า
บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนเรื่อยมา โดยในการสอบสวนประวัติของ "ปู่คออี้" มีนายสังวาลย์ 
อ่อนเผ่า อดีตหัวหน้าศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา และอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาที่เดินสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติเป็นพยานบุคคล ดังนั้นจึงถือว่า "ปู่คออี้" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์คนไทยติดแผ่นดินซึ่งย่อมมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เตือนใจกล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในการทำบัตรประจำตัวประชาชนของ "ปู่คออี้" ในวัย 107 ปี ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเป็นพลเมืองไทยที่สมบูรณ์ หลังจากที่หน่วยงานต่าง ๆ มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสัญชาติร่วมกันมานับ 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถานะบุคคลในกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติ
ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ประสบปัญหาดังกล่าวอีกจำนวนมาก เนื่องด้วยกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้แม้อยู่ในดินแดนประเทศไทยมานานแต่เป็นเรื่องยากที่จะขอรับรองการมีสัญชาติไทย เป็นเหตุให้ดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก ขาดโอกาสในหลายด้าน ทั้งยังเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เช่น การได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และสิทธิในการเดินทางโดยเสรี 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ.... เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนและสัญชาติที่เป็นปัญหายืดเยื้อมานานของกลุ่มผู้ไร้สัญชาติในประเทศไทย

 

'เตือนใจ'โต้สื่อ เปิดหลักฐานปู่คออี้เกิดในไทยไม่ใช่พม่า, 15 มิ.ย. 2561

ศาลสั่งจ่าย 'ปู่คออี้กับพวก' เพิ่มเป็น 50,000 แต่ไม่ให้กลับที่เดิม- 'ชัยวัฒน์' ยันไม่ขอโทษ, 12 มิ.ย. 2561

 

ทนายสิทธิชี้ปู่คออี้เป็นคนไทยมาตั้งแต่เกิด แต่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์

ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน ระบุว่าปู่คออี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2454 (ที่มา: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า วันนี้ปู่คออี้มาทำบัตรประชาชนในฐานะคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ เพราะปู่คออี้เป็นคนไทยอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาเพิ่งได้เพิ่มชื่อคนไทยในระบบทะเบียนราษฎร์และเลข 13 หลัก แต่โดยกรณีของปู่คออี้ มีการสอบพยานหลักฐานจนเชื่อได้ว่าปู่เป็นคนไทยแน่นอน มีพยานทั้งชาวกะเหรี่ยง ผู้ใหญ่บ้านมารับรองยืนยัน นอกจากนี้ยังมีสังวาลย์ 
อ่อนเผ่า อดีตหัวหน้าศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.กาญจนบุรี และอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาที่เดินสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติเป็นพยานบุคคล ที่เคยดูแลพื้นที่ภาคตะวันตกด้านกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และเคยมาสำรวจบริเวณบ้านใจแผ่นดิน หมู่บ้านบางกลอยเดิมในปี 2528 และได้พบกับปู่คออี้

นอกจากนี้ครูพันทิพย์ เจริญวัย ชุดสำรวจชาวเขา ก็เคยพบกับปู่คออี้และครอบครัว มีการสำรวจประชากรบนพื้นที่สูงในปี 2530 และได้จัดทำทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน (ทร.ชข.) ของกรมประชาสงเคราะห์ ให้กับปู่คออี้

เมื่อพิจารณาพยานอื่นๆ ประกอบกับ สุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายอำเภอแก่งกระจานเชื่อว่าปู่คออี้เป็นคนไทยจริง โดยเมื่อเพิ่มชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์แล้ว นายอำเภอยังเดินทางไปสอบปากคำปู่ถึงหมู่บ้านด้วย ก่อนหน้านี้มีการนัดปู่คออี้มาถ่ายบัตรประชาชน แต่มีช่วงหนึ่งฝนตกถนนขาด เลยยังไม่ได้ดำเนินการ จนสุดท้ายได้นัดปู่คออี้ลงมาถ่ายบัตรประชาชนได้ในวันนี้ 

โดยก่อนหน้านี้ข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลในทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านสำหรับชาวเขา หรือ ทร.ชข. ซึ่งระบุว่าปู่คออี้เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2454 ที่ จ.เพชรบุรี บิดาชื่อนายมิมิ และมารดาชื่อนางพีนอคี นอกจากนั้นยังมีหลักฐานภาพถ่ายที่ปรากฏว่าปู่คออี้และกะเหรี่ยงใจบ้านแผ่นดินเดินทางไปหากำนันตำบลสวนผึ้งเพื่อนำของป่าไปขายยังตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นอภ.เผยก่อนหน้านี้ปู่ไม่ยอมทำบัตร เพราะอยากกลับบ้านเดิมที่บางกลอยบนมากกว่า

ส่วนในรายงานของสยามรัฐ  สุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายอำเภอแก่งกระจาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อน อำเภอแก่งกระจาน ได้เดินทางไปบ้านบางกลอยล่าง เพื่อชักชวนปู่คออี้ให้ลงมาดำเนินการขอสัญชาติไทย แต่ปู่คออี้ปฏิเสธ บอกว่าไม่อยากเป็นคนไทย แต่อยากกลับไปอยู่ที่บ้านเดิมคือบ้านบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน กระทั่งครูเตือนใจได้มาประสานอีกครั้ง ตัวเขาจึงเดินทางไปพูดคุยกับปู่คออี้จนยินยอมที่จะเป็นคนไทย แต่ปู่คออี้พูดและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ประกอบกับสภาพร่างกายและอายุที่มาก ปู่คออี้จึงมอบอำนาจให้ทนายความมายื่นคำร้องขอสัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อนายทะเบียนดูจากหลักฐานเอกสารและพยานบุคคลแล้วเห็นควรพิจารณาให้สัญชาติแก่ปู่คออี้ดังกล่าว

 

เตรียมยื่นเรื่องสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

อนึ่ง การจัดทำประจำตัวประชาชนของ "ปู่คออี้" ในวันนี้ มีลูกหลานและเครือข่ายกะเหรี่ยงเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมาก ทั้งนี้ อำเภอแก่งกระจานได้ประสานงานความร่วมมือไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรีและองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียงให้มาดำเนินการเรื่องสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พร้อมทั้งประสานโรงพยาบาลแก่งกระจานมาตรวจสุขภาพให้แก่ "ปู่คออี้" ด้วย

สำหรับปู่คออี้และสมาชิกครอบครัวชาวกะเหรี่ยงเคยอาศัยอยู่ที่ "บ้านบางกลอยบน" หรือ "ใจแผ่นดิน" ในผืนป่าแก่งกระจานก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานให้ชาวบ้านอพยพลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ไม่ชินกับสภาพแวดล้อมจึงขอกลับไปอยู่ "บ้านบางกลอยบน" กระทั่งในปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ดำเนินการไล่รื้อบ้านและยุ้งฉาง และยึดเครื่องมือเครื่องใช้รวม 6 ครั้ง และพาปู่คออี้ลงมาอยู่พื้นที่ด้านล่าง  
โดยสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในเดือนมิถุนายนนี้ให้กรมอุทยานแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมให้ปู่คออี้และพวกกรณีถูกเจ้าหน้าที่เผาไล่รื้อ 50,000 บาทต่อราย แต่ไม่สั่งให้กลับไปอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่เดิม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รัฐบาลสหรัฐฯ สอดแนมผู้โดยสารเครื่องบินในประเทศ นักสิทธิฯ กังวลขัดรัฐธรรมนูญ

Posted: 31 Jul 2018 08:26 AM PDT

สื่อสหรัฐฯ  เผย รัฐบาลสอดแนมผู้โดยสารในสนามบินและบนเครื่องบินในประเทศผ่านกองอำนวยการความปลอดภัยการคมนาคมและตำรวจอากาศติดอาวุธ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิ้นเปลืองภาษีเปล่าๆ

ภาพเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติลอสแองเจลิส (LAX) สหรัฐฯ (ที่มา: flickr/ Prayitno)

สื่อบอสตันโกลบเปิดโปงกรณีที่กองอำนวยการความปลอดภัยการคมนาคมสหรัฐฯ (TSA) ดำเนินโครงการสอดแนมที่ชื่อว่า "Quiet Skies" มาตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสอดแนมผู้โดยสารทั้งในสนามบินและบนเครื่องบินโดยอ้างว่าเป็นการสอดส่องพฤติกรรมชาวอเมริกันว่ามีพฤติกรรมอย่างไรบนเครื่องบินโดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ โดยมีชาวอเมริกันจำนวนมากตกเป็นเป้าการสอดแนมนี้แล้วอย่างไม่รู้ตัว

โครงการดังกล่าวให้ตำรวจอากาศตรวจสอบพฤติกรรมต่างๆ ของผู้โดยสารหรือผู้ใช้งานสนามบินไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์ การเข้าห้องน้ำ การพูดคุยกับคนอื่น หรือการเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วรายงานให้ TSA รับทราบ ในบางกรณีตำรวจอากาศของสหรัฐฯ อาจจะบันทึกเพิ่มเติมลงไปด้วยว่าผู้โดยสารมีพฤติกรรมต่างๆ อย่างไร เช่น แสดงความกระวนกระวายหรือไม่ ใช้คอมพิวเตอร์หรือไม่ ลูกกระเดือกแสดงอาการอย่างไร หรือกระทั่งมีพฤติกรรม "จ้องมองทะลุทะลวงอย่างเยือกเย็น" หรือไม่

โดยโครงการดังกล่าวนี้มีการนำมาใช้กับหลายๆ เมืองทั้งเมืองเล็กและเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นบอสตัน, แฮร์ริสเบิร์ก, วอชิงตันดีซี, เมอร์เทิลบีช ทาง TSA ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อบอสตันโกลบอ้างว่าสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อเป็นการสกัดกั้นการก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้แต่ก็พยายามปฏิเสธจะตอบคำถามว่า Quiet Skies สามารถป้องกันภัยก่อการร้ายได้บ้างหรือไม่หรือแม้กระทั่งไม่ยอมตอบว่าโครงการนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งจอห์น เกรกอรี โฆษกของ TSA บอกว่าการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ "อาจจะทำให้ผู้โดยสารปลอดภัยน้อยลง"

อย่างไรก็ตามบอสตันโกลบระบุว่าโครงการที่เปิดโปงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า TSA ล้ำเส้นออกจากปฏิบัติการแบบเดิมมาก โดยที่ช่วงหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 11 ก.ย. 2544 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ไนน์-วันวัน' ก็มีการวางกำลังตำรวจอากาศติดอาวุธตามเส้นทางต่างๆ ที่มีความเสี่ยงหรือบนเครื่องบินที่มีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ในครั้งนี้ถือเป็นการสอดแนมพลเรือนที่ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ถือเป็นการล้ำเส้นไปไกลจากขอบเขตอำนาจของของกองทัพอากาศสหรัฐฯ มาก และบางส่วนก็กังวลว่าการสอดแนมเช่นนี้อาจจะผิดกฎหมายสหรัฐฯ

สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) วิจารณ์ว่าการสอดแนมเช่นนี้ไม่เพียงแค่ไร้เหตุผลเท่านั้น แต่ยังเป็นการเอาเงินของผู้เสียภาษีไปใช้อย่างสิ้นเปลืองและชวนให้สงสัยว่ามันถูกต้องตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือไม่ และ  TSA เคยมีประวัติใช้วิธีการติดตามและสอดส่องแบบที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์และพึ่งพาไม่ได้มาก่อนจนกลายเป็นการไปสอดแนมคนที่ไม่ได้ทำอะไรผิด

ฮิวจ์ ฮันดีย์ไซด์ เจ้าหน้าที่อัยการระดับสูงประจำโครงการด้านความมั่นคงของ ACLU กล่าวว่าการเปิดโปงในครั้งนี้ทำให้เกิดความน่าเป็นห่วงว่า TSA ทำการสอดแนมคนเดินทางอย่างรุกล้ำความเป็นส่วนตัวแม้ว่าบุคคลนั้นๆ จะไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยหรือไม่ และถ้าหากว่า TSA อาศัยอัตลักษณ์อย่างเชื้อชาติหรือศาสนาเป็นตัวคัดกรองก็อาจจะนับว่าเป็นการละเมิดสิทธิความรัฐธรรมนูญของพลเมืองสหรัฐฯ ได้

เรียบเรียงจาก

Welcome to the Quiet Skies, Jana Winter, Boston Globe, Jul 28, 2018

'Creepy Violation of Constitutional Rights': TSA Uses Armed Undercover Air Marshals to Surveil Unsuspecting Travelers, Common Dreams, Jul 30, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

3 อนาคตใหม่เข้าพบ ปอท. สอบพยานเพจธนาธร-อนาคตใหม่ ไลฟ์เรื่อง คสช. ดูด ส.ส.

Posted: 31 Jul 2018 06:44 AM PDT

'ธนาธร-จารุวรรณ-ไกลก้อง' 3 แกนนำพรรคอนาคตใหม่ เข้าพบ ปอท. สอบปากคำ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา หลัง คสช. ฟ้องผิด พ.ร.บ.คอมฯ เหตุ เฟสบุ๊กไลฟ์ ผ่านเพจธนาธร-อนาคตใหม่ พาดพิงถึง คสช. ว่ามีการดูด ส.ส.โดยใช้คดีความที่ติดตัว ส.ส. แต่ละคน มาเป็นเครื่องต่อรอง

31 ก.ค. 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ไกลก้อง ไวทยการ ว่าที่กรรมการบริหารพรรค พร้อมทีมกฎหมายได้เข้าให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)​ หลังถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความเอาผิดเพจอนาคตใหม่และเพจThanathorn juangroongruangkit ซึ่งมีการพาดพิงถึงคสช.ว่ามีการดูดส.ส.โดยใช้คดีความที่ติดตัวส.ส. แต่ละคน มาเป็นเครื่องต่อรอง นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนให้คนที่ติดตามมาเพจ มาร่วมลงชื่อรื้อกระบวนการยุติธรรม เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561

ไกลก้อง ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจว่า คสช. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้งสองเพจ ว่ามีการกระทำอันเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) เรื่องการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และสร้างความตื่นตระหนก ยุยง และเป็นภัยต่อความมั่นคง จากการพูดถึงเรื่องการ ดูด ส.ส. โดย คสช. ซึ่งในวันนี้เป็นเพียงขั้นตอนเรียกสอบปากคำพยาน ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยใช้ระยะเวลาในการสอบปากคำพยานทั้งหมดราว 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งพยานทั้งหมดยืนยันไม่ให้การใดๆ

ไกลก้อง กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้สื่อหลายสำสักต่างก็รายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเดินสายดูดอดีต ส.ส. เพื่อเข้ามาสนับสนุน คสช. อยู่แล้ว แต่สำหรับพรรคอนาคตใหม่อาจจะถูกจับตาเป็นพิเศษ ว่าจะมีการทำอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อฝ่ายความมั่นคงประเมินแล้วก็อาจจะเห็นศักยภาพของอนาคตใหม่ จึงเริ่มมีการทำอะไรบ้าง ที่เป็นการปราม

สำหรับเรื่องของการดูด ส.ส. หรือเรื่องของการยื่นข้อเสนอให้ ส.ส. ย้ายพรรค ไกลก้อง เห็นว่าเป็นการทำงานทางการเมืองแบบเดิมที่มีการดึง ส.ส. ที่ที่เคยได้รับเลือกตั้งให้มาเป็นพวก แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เป็นไปด้วยการเจรจาการต่างตอบแทน ที่สำคัญก่อนหน้านี้ทาง คสช. เองก็ได้พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักการเมือง แต่มาถึงยุคนี้เรื่องเล่านี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เช่นเดิม และเกิดขึ้นในฝั่งพรรคที่มีความคิดจะสนับสนุน คสช. ต่อ

เมื่อถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นปัญหากับการก่อตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ ไกลก้อง เห็นว่า บรรยากาศทางการเมืองโดยรวมในเวลานี้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ส่วนการดำเนินการเรื่องการจดจัดตั้งพรรคก็ยังอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. อยู่ ซึ่งในกระบวนการจดจัดตั้งพรรคก็คงมีการดำเนินการไปตามขั้นตอน

ไกลก้อง ระบุด้วยว่า ก่อนหน้าที่ทุกการทำงานของอนาคตใหม่ต่างก็มีการจับตาจากฝ่ายความมั่นคงอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชน ซึ่งจะพบเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอยู่เสมอ และมีเรื่องของการใช้อำนาจกดดัน และการกระทำในลักษณะที่เป็นการคุกคามมักจะเกิดกับผู้ประสานงานในส่วนภูมิภาค นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเข้ามาเกี่ยวข้องการทำงานในส่วนกลางของพรรค

ไม่ใช่กรณีแรก! รองนายก อบต.น้ำพี้ ถูกกดดันให้ลาออก หลังร่วมกิจกรรมพรรคอนาคตใหม่

เขายังแสดงความคิดเห็นถึง เจตจำนงของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้มีความต้องการที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่มีเจตจำนงที่จะคุมครองผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และในช่วงที่มีการร่างกฎหมาย ในปี 2560 ทางฝั่งผู้ร่างกฎหมายเองก็ยืนยันว่า หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท จะมีการแยกออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การนำเข้าข้อมูลจะใช้กับข่าวลวง จะไม่นำมาเกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ยังคงมีการใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอยู่อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ธนาธร ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์ออนไลน์ว่า ข้อมูลที่พูดในเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นั้นเป็นเรื่องที่ได้รับทราบมาจาก ส.ส. หลายคนที่ถูกทาบทาม และเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทราบกันโดยทั่วไป ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวหาหรือใส่ความคสช. ซึ่งการที่ คสช. ออกมาแจ้งความในลักษณะดังกล่าวก็เท่ากับยอมรับ ว่าได้กระทำจริง และมองว่าอนาคตใหม่เป็นศัตรู 

ธนาธร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ถ้าถูกแจ้งข้อกล่าวหาในภายหลังก็ไม่กลัว  เพราะเป็นเรื่องปกติของนักการเมืองที่จะต้องโดนโจมตีจากฝั่งตรงข้าม  ส่วนเรื่องคดีดังกล่าวจะกระทบต่อชื่อเสียงของตนเองหรือไม่ มองว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียงและเกิดผลกระทบต่อพรรคของตนเอง เนื่องจากพรรคยังไม่ได้รับการอนุมัติจัดตั้งจากกกต.  โดยหลังจากนี้ก็จะยังคงไลฟ์เฟสบุ๊กตามปกติเพราะไม่ได้มีทำผิดกฎหมายชุมนุมเกิน 5 คน และจะไม่มีการปรับเนื้อหาในรายการ

ด้านพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการ ประจำกองบัญชาการ กองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของคสช. เปิดเผยว่าคดีดังกล่าวตนเองเข้ามาแจ้งความกับปอท.ตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคดีดังกล่าวธนาธร มีการพาดพิงถึง คสช. ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อมูลกระบวนการยุติธรรมและเป็นการกล่าวหา คสช. นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการโจมตีกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยคดีดังกล่าวจะให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับธนาธรและพวกต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พยาบาลสหรัฐฯ หยุดงานประท้วงบริษัทต้นสังกัดเสนอสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม

Posted: 31 Jul 2018 04:58 AM PDT


ที่มาภาพ: providencejournal.com

31 ก.ค. 2561 การหยุดงานประท้วงของพยาบาลจาก 2 โรงพยาบาลในรัฐโรดไอซ์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เพิ่มภาระผู้ป่วยให้โรงพยาบาลข้างเคียง เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

พยาบาลและผู้ผดุงครรภ์ในโรงพยาบาล 2 แห่ง ที่รัฐโรดไอซ์แลนด์ คือโรงพยาบาลโรดไอซ์แลนด์ และโรงพยาบาลเด็กแฮสโบร ได้หยุดงานประท้วงเป็นเวลา 4 วันเต็มตั้งแต่ วันที่ 24-27 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้การเสนอสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทลิฟสแปน ซึ่งเป็นบริษัทต้นสังกัดของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ทั้งนี้ทางบริษัทได้ปรับลดแผนการขึ้นเงินเดือนที่สหภาพแรงงานได้เสนอมาก่อนหน้านี้

แม้ว่าก่อนหน้านั้นสำนักงานสาธารณสุขของโรดไอซ์แลนด์ ได้เร่งจ้างงานกว่า 1,000 ตำแหน่งเพื่อเตรียมเข้าแทนที่พยาบาลและผู้ผดุงครรภ์ของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง เป็นการชั่วคราว ในช่วงที่มีการหยุดงานประท้วง ที่มีมากถึง 2,400 คน จะทำให้โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งสามารถดำเนินงานต่อไปได้ แต่พบว่าผู้ที่มาทำงานแทนที่ชั่วคราวนั้นต้องทำงานเกินว่าเวลาไปมาก ตลอด 4 วันที่มีการหยุดงาน โดยส่วนใหญ่มีงานประจำที่อื่นอยู่แล้ว จึงต้องทำงานรวมกันถึง 12-16 ชั่วโมง ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วย

นอกจากนั้นยังพบว่าในขณะที่มีการหยุดงานประท้วง ผู้ป่วยประจำของโรงพยาบาลจะเริ่มมองหาโรงพยาบาลแห่งอื่น ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลอื่นในระแวงข้างเคียงต้องรับผู้ป่วยมากกว่าปกติ อย่างในโรงพยาบาลเคนท์ มีผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 แผนกฉุกเฉินเพิ่มร้อยละ 13 และผู้หญิงและทารกเพิ่มร้อยละ 14 หรือในโรงพยาบาลมีเรียมที่มีจำนวนผู้ป่วยในสูงขึ้นร้อยละ 20 นับตั้งแต่มีการหยุดงานจนถึงการประท้วงสิ้นสุดแล้ว

 

ที่มาเรียบเรียงจาก

Rhode Island nurse strike causing influx of patients to other area hospitals (Healthcare Finance, 25/7/2018)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: อุปสรรคคือเครื่องหมายแห่งความสำเร็จของอนาคตใหม่

Posted: 31 Jul 2018 04:19 AM PDT

วันนี้ผมและคุณจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กับคุณไกลก้อง ไวทยการ ว่าที่กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ได้ไปให้ถ้อยคำตามหมายเรียกพยานของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือบก.ปอท. โดยได้รับแจ้งว่าคสช. กล่าวโทษเจ้าของเพจหรือผู้ดูแลเพจอนาคตใหม่กับพวก และเพจธนาธร จึงรุ่งเรืองกับพวก ในความผิดตามพรบ.คอมฯ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลเท็จอันน่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือสร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน และเราได้ขอสงวนสิทธิไม่ให้การใดๆ เพียงแต่ไปตามหมายเรียกพยานเพื่อให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และแสดงความบริสุทธิ์ใจ

ข้อหาดังกล่าวมุ่งไปที่เนื้อหาจากเฟซบุ๊กไลฟ์รายการ #คืนวันศุกร์ให้ประชาชน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ซึ่งเนื้อหาของไลฟ์นั้นไม่ได้มีประเด็นพิเศษไปกว่ารายการในสัปดาห์อื่น ผมได้พูดถึงประเด็นการดูด ส.ส. ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในเวลานั้น และมีนักการเมืองรวมถึงสื่ออีกจำนวนมากพูดถึง ส่วนกรรมการอีก 2 ท่านได้ร่วมกันเล่าถึงการพบประชาชนในพื้นที่ ที่อุตรดิตถ์และพิษณุโลก กล่าวถึงปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ปัญหาที่ดินทำกินของพี่น้องสวนทุเรียนหลง/หลินลับแล และการก่อสร้างอาคารในพื้นที่โบราณสถาน

ทั้งหมดนี้ไม่มีประเด็นอะไรมีน้ำหนักพอจะเข้าข่ายความเท็จ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคง โดยเฉพาะประเด็นการดูด ส.ส. เพราะเป็นเรื่องที่นักการเมือง รวมถึงสื่อทั่วประเทศพูดกันทั่วไป แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐบาล คสช. ใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก แทนที่จะใช้กฎหมายปกป้องสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ในภาวะเช่นนี้ เราไม่อาจมองเห็นได้เลยว่าการเลือกตั้งที่ คสช.สัญญาว่าจะเกิดขึ้นภายในต้นปีหน้า จะดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อพรรคการเมืองและประชาชนยังคงไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเสรี

อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่าคดีที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้อนาคตใหม่ท้อถอยหรือหวาดกลัว ในทางตรงข้าม นี่คือหมุดหมายแห่งความสำเร็จของเรา เพราะในการต่อสู้ทางการเมือง การมีอุปสรรค มีศัตรู ย่อมหมายความว่าเรามีจุดยืนที่ชัดเจน เราต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว ผู้ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงจึงหวังสกัดกั้นเราในทุกวิถีทาง

แต่ไม่มีใครหยุดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งพลังของประชาชนที่ต้องการกำหนดอนาคตใหม่ได้
 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Thanathorn Juangroongruangkit

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แอร์โดอัน VS แชมป์: การเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตก

Posted: 31 Jul 2018 02:15 AM PDT


Credit: ภาพจาก BBC Thai

เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมพอสมควร เมื่อนายพีรพล เอื้ออารียกูล หรือ "แชมป์ พีรพล" ผู้ประกาศข่าวหนุ่มของสถานีโทรทัศน์ 28 SD ถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนด หลังคุณพีรพลได้วิจารณ์นายเรเจป ฏอยยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) ผู้นำของประเทศตุกีอย่างรุนแรงผ่านรายการที่ตนเป็นพิธีกร (Voice TV 2561)

หลังรายการของคุณพีรพลออกอากาศไปก็มีคนไทยจำนวนมากเข้ามาต่อว่าการทำหน้าที่ของคุณพีรพล ผมคิดว่าคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศข่าวครั้งนี้ หากพิจารณาจากสาเหตุของความไม่พอใจแล้วจะสามารถแบ่งออกคร่าวๆได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ หนึ่ง กลุ่มที่ไม่พอใจเพราะกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและตุรกี สอง กลุ่มที่ไม่พอใจเพราะชื่นชอบในตัวประธานาธิบดีแอร์โดอันเป็นการส่วนตัว และสามกลุ่มที่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและตัวของแอร์โดอันแต่ไม่เชื่อถือข้อมูลที่คุณพีรพลนำเสนอ

ผมไม่แน่ใจว่าจำนวนผู้ไม่พอใจคุณพีรพลฝ่ายใดมีจำนวนมากกว่ากัน แต่ค่อนข้างจะมั่นใจว่ากลุ่มที่ไม่พอใจเพราะชื่นชอบแอร์โดอันถือว่ามีจำนวนมากพอสมควร ซึ่งตามข้อสังเกตของผมคนไทยกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิม[1] ผมขออนุมานเอาเอง (โดยไม่มีตัวเลขมาสนับสนุน) ว่าเมื่อเทียบกับนักการเมืองต่างประเทศในโลกยุคปัจจุบันแล้ว นายแอร์โดอันอาจจะเป็นหนึ่งในนักการเมืองต่างชาติที่คนไทยนิยมชมชอบมากที่สุดคนหนึ่งก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจพอสมควร

เหตุใดนักการเมืองจากชาติที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยค่อนข้างน้อยอย่าง ปธน. แอร์โดอันจึงมีความนิยมสูงเช่นนั้น? ผมคิดว่าหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้นายแอร์โดอันได้รับความนิยมสูงในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของชาวมุสลิม คือกระแสการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตก (Anti-western sentiment) ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ในรอบ 2-3 ทศวรรษหลังนี้

พูดอีกอย่างคือ ผู้ไม่พอใจคุณพีรพลมีมุมมองว่า ปธน. แอร์โดอันเป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านตะวันตก ในขณะที่คุณพีรพลถูกมองว่าเป็นตัวแทนของฝั่งตะวันตก (ที่รับข่าวจากสื่อตะวันตกเพียงด้านเดียว แล้วเอามาถ่ายทอดต่ออย่างไม่รอบด้าน) เพราะฉะนั้นความนิยมของแอร์โดอันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อคุณพีรพลจึงเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง บทความนี้ต้องการจะแนะนำผู้อ่านให้รู้จักกับความรู้สึกต่อต้านตะวันตกและวิเคราะห์ว่าผลจากการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนี้มีอะไรบ้าง โดยจะไม่ขอพูดถึงประเด็นเรื่องการนำเสนอข่าวของคุณพีรพลหรือการลงโทษคุณพีรพลนั้นเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงจะไม่ขอพูดถึงประเด็นเรื่อง freedom of speech โดยตรง เนื่องจากมีคนกล่าวถึงเยอะแล้วพอสมควร

ก่อนจะเข้าประเด็นหลักเราควรจะเริ่มทำความรู้จักตัวละครสำคัญอย่าง ปธน. แอร์โดอันเสียก่อน แอร์โดอันคือประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศตุรกีซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2014 โดยก่อนหน้านั้นยังเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแห่งเมืองอิสตันบูลและนายกรัฐมนตรีของตุรกีอีกด้วย (Biography.com 2018 และ CNN 2018)

ความนิยม (รวมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์) ของแอร์โดอันส่วนใหญ่นั้นได้มาจากการที่เค้ามีจุดยืนอนุรักษ์นิยมที่ชัดเจนและมีความพยายามอย่างจริงจังในการนำนโยบายเชิงอนุรักษ์นิยมมาใช้ สำหรับเรื่องเพศแอร์โดอันเคยกล่าวในที่สาธารณะว่า "ผู้ชายและผู้หญิงไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากธรรมชาติของพวกเขาต่างกัน" และ "ผู้หญิงไม่ควรเรื่องมาก (picky) ในการเลือกสามี" นอกจากนี้ แอร์โดอันยังให้ความสำคัญกับศาสนาและพยายามอย่างมากในการนำพาตุรกีให้กลับไปเป็นรัฐศาสนา (religious state) อีกครั้ง (CNN 2018) มีการกำหนดให้อิสลามเป็นวิชาบังคับ และมีการทุ่มงบประมาณมหาศาลให้กับโรงเรียนสอนศาสนาอย่าง Imam Hatip School (T News 2561 และ Reuters 2018)


Credit: ภาพจาก Reuters.com

ปธน. แอร์โดอันเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีทั้งคนรักและคนชังจำนวนมหาศาล มีหลักฐานจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรักและความเกลียดที่ประชาชนมีต่อผู้นำประเทศคนนี้ อาทิ การที่คนส่วนมากเลือกพรรคของเขาเข้าไปบริหารประเทศ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลือกตั้งในตุรกีนั้นไม่โปร่งใส ล่าสุด แอร์โดอันยังทำประชามติเพื่อขอเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง ซึ่งแม้ผลที่ออกมาจะเป็น Yes แต่แอร์โดอันก็เฉือนชนะไปด้วยคะแนนเพียง 51% เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2016 กองทัพได้พยายามทำการรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจของแอร์โดอัน แต่สุดท้ายก็มีประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านกองทัพ จนคณะรัฐประหารจำต้องยอมแพ้ไปในที่สุด (Biography.com 2018 และ CNN 2018)

หลายครั้งที่ ปธน. แอร์โดอันใช้อำนาจและกลวิธีการต่างๆจัดการกับผู้วิพากษ์วิจารณ์เค้า เช่น มีรายงานว่ามีองค์กรสื่อในตุรกีถึง 160 รายที่ถูกสั่งปิด ผู้สื่อข่าวกว่า 2,500 คนถูกปลดจากงาน และมีการเก็บสถิติว่าตุรกีเป็นประเทศหนึ่งในประเทศที่มีการสั่งจำคุกผู้สื่อข่าวมากที่สุดในโลก (BBC Thai 2560) นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าในปี 2013 มีการสืบสวนคดีทุจริตครั้งใหญ่เกิดขึ้นในตุรกี โดยมีผู้ต้องสงสัยกว่า 50 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีคนใกล้ชิดของแอร์โดอันรวมอยู่ด้วย แต่หลังจากการสืบสวนเริ่มขึ้นไม่นานรัฐบาลตุรกีก็มีการสั่งปลดตำรวจกว่า 350 นาย จนในที่สุดการทำคดีก็ตกไป (CNN 2018)

อย่างไรก็ดี ด้วยบุคคลิกที่เข้มแข็ง (Strongman) ของ ปธน. แอร์โดอันที่ไม่เพียงพูดอย่างเดียวแต่เดินหน้านโยบายอนุรักษ์นิยมของตนเองอย่างจริงจังด้วย บวกกับความเบื่อหน่ายในระบอบการเมืองแบบโลกวิสัย (Secular state) ทำให้ตัวของ ปธน. แอร์โดอันและนโยบายของเขาเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนตุรกีจำนวนมาก แอร์โดอันจึงถูกมองว่ามีความเป็นนักปฏิรูปมากกว่าเป็นนักการเมืองที่มีแต่ความฉ้อฉลเช่นคนอื่นๆ

นอกจากนี้ ปธน. แอร์โดอันไม่เพียงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนตุรกีเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับจากประชาชนจำนวนหนึ่งในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งความชื่นชอบในตัวของเขานี้คงจะไม่สามารถมีสูงขนาดนี้ได้หากปราศจากกระแสการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตก (Anti-western sentiment)

เราจะเห็นได้ว่าบทบาทของ ปธน. แอร์โดอันในตุรกีนั้นส่งผลต่อการเมืองในระดับโลกด้วย มีหลายครั้งที่แอร์โดอันใช้บุคลิกอันแข็งกร้าวของเขาแสดงจุดยืนไม่ยอมอ่อนข้อให้กับตะวันตก เช่น การประกาศกร้าวว่าตุรกีสามารถอยู่ได้โดยปราศจาก EU (BBC Thai 2017) หรือการต่อว่าทูตของสหรัฐฯว่า "ไม่นับว่าเป็นตัวแทนของอเมริกาอีกต่อไป" หลังจากมีปัญหาเรื่องวีซ่า (Daily Sabah 2017) ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามในการพาตุรกีกลับสู่การเป็นรัฐศาสนาก็ทำให้ผู้ต่อต้านตะวันตกที่ไม่ชอบแนวคิดโลกวิสัย (Secularism) เพราะมองว่าเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขยายอำนาจของตะวันตกหันมาสนับสนุนเขาอีกด้วย ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อตะวันตกและแนวนโยบายที่ตรงข้ามกับแนวคิดตะวันตกนี้เองที่อาจทำให้แอร์โดอันถูกมองว่าเป็นแกนนำคนสำคัญในการต่อต้านตะวันตกไปโดยปริยาย และเมื่อประกอบกับความรู้สึกต่อต้านตะวันตกที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วจึงทำให้ผู้ต่อต้านตะวันตกจำนวนมากหันมาชื่นชอบแอร์โดอันไปโดยอัตโนมัติ

แล้วความรู้สึกต่อต้านตะวันตกคืออะไร? โดยทั่วไปแล้วหมายถึงความรู้สึกทางลบต่อความเป็นตะวันตกบางอย่าง เช่น ผู้คน วัฒนธรรม ค่านิยม หรือนโยบายของตะวันตก จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบว่าความรู้สึกทางลบต่อความเป็นตะวันตกเหล่านี้มีอยู่จริง และที่สำคัญคือมันแพร่กระจายอยู่ในหลายประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ เพื่อนชาวต่างชาติของผมหลายคนที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่เคยตกเป็นอณานิคมของตะวันตกทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิม (เช่น อินเดีย บังคลาเทศ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน มัลดีฟส์ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ ฯลฯ) ส่วนใหญ่มีความรู้สึกทางลบต่อความเป็นตะวันตกในระดับไม่มากก็น้อยกันทั้งสิ้น

ถ้าความเข้าใจของผมถูกต้องจริง สิ่งที่น่าสนใจก็คือความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในกลุ่มผู้นับถือศาสนาอื่นๆด้วย เช่น ฮินดู (เพื่อนชาวอินเดียของผม) คริสต์ (เพื่อนชาวไนจีเรียและแอฟริกาใต้) พุทธ (เช่น กระแสต่อต้านสินค้าอเมริกาในประเทศไทยที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้งตามกลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม) หรือแม้กระทั่งการต่อต้านตะวันตกในกลุ่มคนไม่มีศาสนาเองก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนั้นไม่ได้โดนผูกขาดด้วยปัจจัยด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว

ในทางตรงกันข้าม ผมเชื่อว่าความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนี้มีที่มาจากรากทางประวัติศาสตร์มากกว่า กล่าวคือ ประเทศที่มีผู้ต่อต้านตะวันตกจำนวนมากมักจะเป็นประเทศที่โดนเอาเปรียบหรืออยู่ใต้อำนาจของชาติตะวันตกมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่าอณานิคมแบบดั้งเดิม การถูกสังคมกดอัตลักษณ์เอาไว้ การถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจ หรือถูกครอบงำผ่านการล่าอณาณิคมใหม่ (neo-colonialism) การได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านสงครามกับการก่อการร้าย (war on terrorism) ตลอดจนถึงการถูกวาดภาพให้เป็นผู้ร้ายผ่านสื่อและผลิตภัณฑ์ของตะวันตก ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจจะพอทำให้เรากล่าวแบบหยาบๆได้ว่า ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนั้นเกิดจากการกระทำของตะวันตกเองก็คงไม่ผิดนัก

เพราะฉะนั้น หากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกเป็นตัวผลักดันความนิยมในตัวของ ปธน. แอร์โดอันในต่างประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) เป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง และหากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดกับชาวมุสลิมเท่านั้น เราน่าจะพอจะสรุปได้ว่าหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ ปธน. แอร์โดอันเป็นที่ชื่นชอบในประเทศไทยก็คือความรู้สึกต่อต้านตะวันตก ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในกลุ่มชาวไทยมุสลิมและชาวไทยกลุ่มอื่นๆ[2] หรือกล่าวในทางตรงกันข้ามก็คือความนิยมต่อตัว ปธน. แอร์โดอันแสดงให้เราเห็นว่าประเทศไทยมีผู้รู้สึกต่อต้านตะวันตกอยู่จำนวนหนึ่งนั่นเอง

ถ้าอย่างนั้นการมีความรู้สึกต่อต้านตะวันตกที่รุนแรงแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง? แน่นอนว่าการมีอยู่ของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในแง่ของข้อดีนั้น ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกอาจช่วยให้ผู้อยู่ใต้การครอบงำของตะวันตกปลดแอกตนเองจากการรีดไถของตะวันตกได้[3] และอาจจะทำให้เกิดการตั้งคำถาม และนำไปสู่การตื่นตัวกับปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการทำสงครามกับการก่อการร้าย หรือปัญหาการล่าอณานิคมใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกเองก็มีปัญหาเช่นกัน Sen (2006) วิเคราะห์ถึงปัญหาความรู้สึกต่อต้านตะวันตกไว้เป็นอย่างดีในหนังสือชื่อ "Identity & Violence: The Illusion of Destiny" โดย Sen กล่าวว่าปัญหาประการแรกของการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกก็คือการลดทอนความซับซ้อนในโลกแห่งความเป็นจริง และทำให้เราเห็นเพียงภาพลวงว่าความเป็นตะวันตกและความเป็นตะวันออกนั้นสามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิงและแตกต่างกันอย่างชัดเจน เสมือนสีขาวและสีดำ

แต่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นตะวันตกและตะวันออกนั้นแยกออกจากกันได้ยากกว่าที่เราคิดนัก หลายสิ่งหลายอย่างที่เราเข้าใจว่าเป็นของตะวันตกในทุกวันนี้แท้จริงแล้วอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากตะวันออก เช่นเดียวกันบางสิ่งที่ดูเป็นตะวันออกอาจจะมีฐานมาจากตะวันตกก็ได้[4] Sen แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านตะวันตกเป็นการผลิตซ้ำสิ่งที่อาจไม่มีอยู่จริงอย่าง "ความเป็นตะวันตก-ตะวันออก"

ยิ่งไปกว่านั้น วาทกรรมความเป็นตะวันตก-ตะวันออกยังนำไปสู่ปัญหาภาพลวงตาว่าความเป็นตะวันตก-ตะวันออกนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน แตกต่างกัน และไม่สามารถปรับเข้าหากันได้ (ทั้งๆที่ในความเป็นจริงอาจจะมีจุดร่วมมากกว่าจุดต่างก็ได้) และยังอาจจะทำให้เรายึดติดกับอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวว่าคนๆหนึ่งจะมีแค่อัตลักษณ์เดียว (เช่น เป็นมุสลิม) ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วคนๆนั้นมีอัตลักษณ์หลายๆอย่างที่ซับซ้อนกว่านั้น (เช่น เป็นมุสลิม ในขณะเดียวกันก็เป็นคนในประเทศไทย เป็นครูสอนหนังสือ หรือในกรณีของเมซุท โอซิลก็คือการเป็นพลเมืองเยอรมนี และการเป็นนักเตะเยอรมนี พร้อมๆไปกับการมีรากเหง้าเป็นชาวตุรกี เป็นต้น) การยึดติดกับอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวและภาพลวงเกี่ยวกับความเป็นตะวันตก-ตะวันออกนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาอคติ การสร้างความเป็นอื่น การสร้างสังคมที่ปราศจากพหุวัฒนธรรมที่แท้จริง

ปัญหาประการที่สองของการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาประการแรก คือ หลังจากเราติดอยู่กับภาพลวงว่าความเป็นตะวันตก-ตะวันออกนั้นแตกต่างกันและไม่สามารถเข้ากันได้แล้ว ผู้ที่มีความรู้สึกต่อต้านตะวันตกอาจจะปฏิเสธข้อดีต่างๆของตะวันตกไปด้วยเพราะมองว่าเข้ากันกับความเป็นตะวันออกของตนไม่ได้ และจากมุมมองของ Sen หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ต่อต้านตะวันตกมักจะปฏิเสธก็คือระบอบและแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั่นเอง ดังที่เรามักจะได้ยินวาทกรรมอยู่เสมอว่า "ตะวันตกแตกต่างกับตะวันออก ดังนั้น แนวคิดประชาธิปไตยที่โตมาจากตะวันตก ย่อมเอามาใช้ในสังคมตะวันออกไม่ได้"

Sen ตอบโต้ความเชื่อว่าประชาธิปไตยมีรากมาจากตะวันตกเท่านั้นและไม่สามารถใช้ในสังคมตะวันออกไว้อย่างน่าสนใจ โดย Sen เห็นว่าความเป็นตะวันตก-ตะวันออกนั้นอาจจะไม่มีอยู่จริง และต่อให้มีอยู่จริงก็ยังมีหลักฐานจำนวนมากว่าในสังคมตะวันออกก็มีรากฐานประชาธิปไตยเช่นกัน ตัวอย่างที่ Sen ยกขึ้นมาใช้โต้แย้ง เช่น ในยุคใกล้เคียงกับยุคนครรัฐของเอเธนส์ เมือง Susa ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา เช่นเดียวกันระบบสภาของสังฆะ (Buddhist councils) ในอินเดียก็มีการตัดสินใจผ่านการปรึกษาหารือ (Deliberation) ส่วนในญี่ปุ่นมีการเขียนหลักการปกครองประเทศชื่อ "the constitution of seventeen articles" ที่กำหนดให้ผู้ปกครองต้องตัดสินใจผ่านการปรึกษาหารือ ซึ่งหลักการข้อนี้ในญี่ปุ่นนี้เกิดขึ้นก่อน Magna Carta กว่า 600 ปี เสียอีก (Sen 2006 บทที่ 3) นอกจากนี้ในศาสนาอิสลามเองก็มีคำสอนเกี่ยวกับการปรึกษาหารือกำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกรุอานเช่นกัน (มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง 2559)

กล่าวโดยสรุปคือ ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกแม้จะช่วยให้เกิดการตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา แต่ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกที่รุนแรงจนเกินไปก็อาจจะทำให้เรามองเห็นแต่ภาพลวงตาของอัตลักษณ์ที่ว่าความเป็นตะวันตกและตะวันออกนั้นมีอยู่จริง เปรียบเสมือนสีขาวและสีดำที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและไม่สามารถเข้ากันได้ ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมที่ว่าความคิดประชาธิปไตยที่เป็นของตะวันตก (หรือสิ่งดีๆอื่นๆในตะวันตก) นั้นไม่เหมาะสมกับความเป็นตะวันออก ทั้งๆที่แท้จริงแล้วความเป็นตะวันตก-ตะวันออกอันสมบูรณ์นั้นอาจจะไม่มีอยู่ และหากย้อนกลับไปดูตามประวัติศาสตร์แล้วหลายประเทศที่เรามองว่าเป็นตัวแทนของฝั่งตะวันออกในปัจจุบันก็มีรากฐานประชาธิปไตยอยู่เช่นกัน

ในกรณีความขัดแย้งระหว่างคุณพีรพลกับ ปธน. แอร์โดอันนั้น ผมคงไม่สามารถตอบได้ว่ากระแสความรู้สึกต่อต้านตะวันตกในประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับใด และมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน แต่เพียงอยากจะเสนอว่ากระแสสนับสนุน ปธน. แอร์โดอันนั้นน่าจะเกิดจากความเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก (รวมถึงในประเทศไทยด้วย) โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดกับชาวมุสลิมเท่านั้น และอยากจะแสดงให้เห็นว่าแม้ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกจะช่วยให้เราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา แต่เราก็ควรจะรู้เท่าทันความซับซ้อนของวาทกรรม "ความเป็นตะวันตก-ตะวันออก" ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เราเสียโอกาสที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นเพียงเพราะการด่วนสรุปว่าเขาแตกต่างจากเราและไม่มีวันจะเข้ากันได้

 

เอกสารอ้างอิง

BBC Thai (2560) ปธน.ตุรกีปฏิเสธจำคุกนักข่าวนับร้อย ประกาศไม่แคร์ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกอียู. สืบค้นจาก: https://www.bbc.com/thai/international-40583327 (สืบค้นเมื่อ: 27/7/2561)

//Biography.com (2018) Recep Tayyip Erdogan: Biography. Available from: https://www.biography.com/people/recep-tayyip-erdogan-37630 (Accessed: 27/7/2018).

CNN (2018) Recep Tayyip Erdogan Fast Facts. Available from: https://edition.cnn.com/2015/11/26/middleeast/recep-tayyip-erdogan-fast-facts/index.html (Accessed: 27/7/2018).

Daily Sabah (2017) Erdoğan says US envoy Bass not welcome in Turkey. Available from: https://www.dailysabah.com/diplomacy/2017/10/10/erdogan-says-us-envoy-bass-not-welcome-in-turkey (Accessed: 27/7/2018).

Reuters (2018) With more Islamic schooling, Erdogan aims to reshape Turkey. Available from: https://www.reuters.com/investigates/special-report/turkey-erdogan-education/ (Accessed: 27/7/2018).

Sen (2006) Identity and Violence: The Illusion of Destiny.

T News (2561) เปิดประวัติ "เรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน" ผู้นำตุรกี: เติบโตจากครอบครัวยากจน วิสัยทัศน์ไม่ธรรมดาจนนำพาความรุ่งเรืองสู่ตุรกี. สืบค้นจาก: http://www.tnews.co.th/contents/473922 (สืบค้นเมื่อ: 27/7/2561)

Voice TV (2561) ช่อง 3 พักงาน 'แชมป์-พีรพล' ไม่มีกำหนด ปมพูดละเมิดผู้นำตุรกี. สืบค้นจาก: https://www.voicetv.co.th/read/Sk7vezuVX (สืบค้นเมื่อ: 27/7/2561).

มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง (2559) อิสลามกับประชาธิปไตย: บทสะท้อนเบื้องต้น. สืบค้นจาก: https://deepsouthwatch.org/th/node/9354 (สืบค้นเมื่อ: 27/7/2561).

 

[1] แม้จำนวนผู้ชื่นชอบที่เป็นมุสลิมอาจจะมากกว่าก็ตาม

[2] หลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีคนไทยจำนวนมากทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิมสนับสนุน ปธน. แอร์โดอันในกรณีความขัดแย้งกับคุณพีรพลก็คือปฏิกิรยาตอบรับจากโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเราจะเห็นว่าผู้ออกมาสนับสนุนแอร์โดอันเพราะความชื่นชอบนั้นมีทั้งกลุ่มที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิม กลุ่มที่เป็นมุสลิม เช่น เพจ  "Save Islam : สมาคมปกป้องอัลอิสลาม" ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น สำนักข่าว T News (ดูเพิ่มเติมจาก T News 2561)

[3] ซึ่งผมไม่ปฏิเสธว่ามันมีอยู่จริง

[4] อาทิเช่น แกงกะหรี่ของอินเดียเริ่มใช้พริกครั้งแรกหลังจากโปรตุเกสนำเข้ามา หรือวัฒนธรรมไทยที่เรายึดถือในปัจจุบันจริงๆแล้วคือวัฒนธรรมวิคตอเรียน หรือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตกวางอยู่บนพื้นฐานคณิตศาสตร์ของตะวันออก เป็นต้น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: พรรคเพื่อไทยหายไปไหน 1

Posted: 31 Jul 2018 02:04 AM PDT

 

ผมไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยหายไปไหน และหายไปตั้งแต่เมื่อไร จะได้โผล่กลับมาอีกหรือไม่

อดีต ส.ส.ของพรรคกำลังถูกพรรคทหารดูด ภารกิจของแกนนำพรรคจึงเหลือเพียงสองอย่าง หนึ่งตอบโต้ ประณาม เหยียดหยันสมาชิกที่ถูก "ดูด" ไป และสอง ปลอบประโลมสมาชิกที่ยังไม่ออกจากพรรคให้ยังมั่นคงอยู่กับพรรคต่อไป "รางวัล" รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะท่วมท้น หรืออะไรอื่นที่คนนอกคาดไม่ถูก

แล้วประชาชนผู้ลงคะแนนให้ล่ะครับ จะได้อะไรจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะอย่างท่วมท้น หรือเพียงแค่เป็นฝ่ายค้าน (ซึ่งคงทำอะไรได้มากทีเดียว หากไม่นั่งคอตกหายใจทิ้งไปเรื่อยๆ) ไม่ใช่หน้าที่ของพรรคการเมืองหรอกหรือ ที่จะต้องคิดให้ดีว่าจะทำอะไรหลังเลือกตั้ง ชนะจะทำอะไร และแพ้จะทำอะไร มีประโยชน์แก่ประชาชนอย่างไร พรรคการเมืองอย่างนี้แหละครับที่หายไปจากเพื่อไทย อันที่จริงควรคิดเลยไปถึงว่า หากไม่มีการเลือกตั้งจะทำอะไรด้วย

ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย พรรคทหารตั้งรัฐบาลได้ก็ด้วยสองปัจจัย หนึ่งเขียนรัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส.ส.ประเภท 2 ไว้ครึ่งสภา หรือตั้งวุฒิสมาชิกที่มีอำนาจทางการเมืองเกือบเท่า ส.ส.ไว้เลือกนายกฯ อีกหนึ่งสภา นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญกว่าเงินหรือตำแหน่งในการดูดอดีต ส.ส. มีเงื่อนไขนี้ในมือ ก็ทำเงื่อนไขที่สองได้ง่ายขึ้น คือลงมือดูดอดีต ส.ส.หรือดูดพรรคการเมืองได้เลย มันไม่ใช่ความโลภหรือความกลัวเพียวๆ ที่อดีต ส.ส.จะปล่อยตัวปล่อยใจไปตามแรงดูด

อำนาจที่หนุนหลังพรรคทหารนั้นใหญ่มาก จนกระทั่งเผาผลาญความใฝ่ฝันจะไปให้ถึงประชาธิปไตยของหลายคนให้กลายเป็นความเพ้อฝัน ดูมันไกลจากความเป็นจริงจนเหนื่อยเสียก่อนจะฝัน และอย่าหลอกตัวเองว่า พรรคทหารล้มเหลว

จริงอยู่ที่การณ์ไม่เป็นไปตามที่พรรคทหารคาดหวังทั้ง 100% เพราะความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงย่อมเกิดขึ้นในทุกสังคม แต่เมื่อพูดถึงที่สุดแล้ว พรรคทหารไม่ว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลโดยตรงหรือไม่ ครองอำนาจทางการเมืองจากรัฐประหาร 2490 มา 10 ปี จึงสามารถรวบอำนาจให้แข็งแกร่งขึ้น (consolidation of power) แล้วจัดตั้งรัฐบาลโดยตรงต่อมาอีก 17 ปี รวมสองยุคนี้เข้าไป 27 ปี คือหนึ่งชั่วอายุคนเข้าไปแล้ว จากปี 2519-2529 เป็นเวลาอีก 11 ปี รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นอยู่ใต้เงาพรรคทหารตลอด พอเริ่มจะดิ้นหลุดจากเงาอำมหิตก็เกิดรัฐประหารอีกในปี 2534 เงาอำมหิตกลับมาใหม่ แต่เกิดพลาดพลั้งจนกระทั่งทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 คลอดออกมาได้แต่ก็มีอายุไม่ถึง 10 ปีดี จากนั้นพรรคทหารก็กลับมายืนทะมึนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลพลเรือน ตลอดจน 2557 ก็ยกเลิกรัฐบาลพลเรือนเสีย

นักการเมืองที่ยังใฝ่ฝันถึงการเมืองประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นคนเพ้อฝัน ในขณะที่นักการเมืองที่ถูกดูด กลับเป็นฝ่ายที่มองสถานการณ์ตามความเป็นจริงมากกว่า (แยะ) แต่ความใฝ่ฝันที่แม้แต่ดูเหมือนเพ้อฝันนั้น สำคัญทางการเมือง ปราศจากเสียซึ่งความใฝ่ฝัน การเมืองย่อมจมปลักอยู่กับการแบ่งสรรผลประโยชน์กันในวันนี้ โดยไม่มีความหวังเหลือให้ใครสำหรับวันพรุ่งนี้อีกเลย

และในความเป็นจริง ความใฝ่ฝันของผู้คนต่อการเมืองประชาธิปไตยก็ผลักสังคมไทยให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้มากขึ้นอย่างช้าๆ ด้วย

ถึงกระนั้น ก็อย่าไปสนใจอดีต ส.ส.ที่ตัดสินใจให้ดูดเลย ระหว่างทางเลือกสองทาง เขาเลือกทางที่ดูเป็นจริงมากกว่าเท่านั้น เพื่ออะไรก็เรื่องของเขา พรรคเพื่อไทยถือตัวว่าสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งประสบความสำเร็จในการเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง แทนการเสนอตัวบุคคล การเลือกตั้งสองครั้งของพรรคไทยรักไทยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนไทยจำนวนมากได้เปลี่ยนไปแล้ว ความผูกพันกับผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่น ถึงยังมีอยู่ ก็ไม่แรงเท่ากับความผูกพันที่มีต่อรัฐ หากรัฐมีนโยบายที่สามารถเข้าไปแทนที่การอุปถัมภ์ของบุคคลได้

ดังนั้น เพื่อไทยจะห่วงกับตัวบุคคลที่ถูกดูดไปทำไม ที่ควรห่วงกว่าก็คือจนถึงวันนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเพื่อไทยมีนโยบายอะไร จะดำเนินงานทางการเมืองอย่างไร นอกจากเดินตามรัฐธรรมนูญที่พรรคทหารวางไว้ให้อย่างเซื่องๆ ประชาชนไม่ต้องรู้หรือว่า หากเลือกเพื่อไทยแล้ว เขาจะได้อะไร ซึ่งไม่ใช่รับจำนำข้าว หรือขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้สถานการณ์ที่พรรคทหารจะยึดอำนาจต่อไปอย่างยาวนานนี้ ความใฝ่ฝันร่วมกันของพรรคการเมืองและประชาชนคืออะไร

ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤตขนาดนี้ หากพรรคการเมืองไม่กล้าเป็นผู้นำของความฝัน จะมีพรรคการเมืองไปทำไม

ไม่ใช่อดีตนักการเมืองเท่านั้นที่เดินมาถึงทางสองแพร่ง คนไทยทั้งประเทศก็เดินมาถึงทางสองแพร่งทางการเมืองเช่นกัน คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไปแล้ว ไม่ว่าจะเลือกแพร่งไหน ผิดหรือถูก โง่หรือฉลาด ล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น พรรคการเมืองก็ต้องเลือกระหว่างทางสองแพร่งเหมือนกัน ซ้ำต้องเลือกให้ชัดด้วย ไม่ใช่เพื่อยกพวกไปตีกับคนที่เลือกทางอื่น แต่เพื่อสามารถทำให้คนซึ่งยังไม่เลือกหรือเลือกไปแล้วมองเห็นว่า ทางเลือกดังกล่าวของพรรคนั้นน่าจะสดใสกว่า และเป็นไปได้ยิ่งกว่าอย่างไร

คำสัญญาที่จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่คะแนนเสียงของพรรคเพียงอย่างเดียว ไม่ช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งนี้ไปได้ ลองคิดดูเถิด สมมติว่าพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าลดแลกแจกแถม สถานการณ์แบ่งขั้วในประเทศไทยเวลานี้ จะทำลายความชอบธรรมจากการเลือกตั้งลงในเวลาไม่นาน พรรคทหารก็จะกลับมายึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง หากไม่ทำผ่านข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ก็ทำโดยเปิดเผยหน้าด้านๆ เลยก็ได้

วิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเกิดขึ้นในทศวรรษ 2550 และ 2560 สังคมไทยได้เปลี่ยนไปเกินกว่าจะย้อนกลับไปหายุค 2500 ได้อีกแล้ว แม้แต่ย้อนกลับไปสู่ยุคทศวรรษ 2520 ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่ในขณะเดียวกัน การเมืองประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญ 2540 ให้มา ก็ทำความประหวั่นพรั่นพรึงให้เสียงข้างน้อยซึ่งเคยคุมอำนาจการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

คนชั้นกลางระดับบนๆ ในเขตเมืองนั้น มีส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองสูง และยิ่งสูงขึ้นตามลำดับ เมื่อล้มรัฐบาลทหารได้ใน 2516 และ 2535 แต่คนชั้นกลางระดับนี้คือเสียงข้างน้อยทางการเมือง ที่ยังคุมอำนาจทางการเมืองไว้ได้ก็เพราะคะแนนเสียงของเสียงข้างมากจากชนบทแตกออกเป็นหลายเสี่ยง จึงไม่เคยกำกับควบคุมรัฐบาลซึ่งได้รับคำรับรองจากเสียงข้างน้อยในเขตเมืองได้เลย จนกระทั่งรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งที่จริงก็ยังไม่ได้พิสูจน์ตนเองให้ชัดเท่าไรนักว่า เป็นรัฐบาลของเสียงข้างมากในชนบทจริง แม้กระนั้นก็พอจะเห็นได้ว่าเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทย มาสู่การเมืองที่เสียงข้างมากเริ่มจะเข้ามาแทนที่เสียงข้างน้อย

ไม่มีที่ไหนในโลก ที่เมื่อเสียงข้างน้อยซึ่งเคยคุมอำนาจไว้สูงกำลังจะสูญเสียอำนาจนั้นไป แล้วต่างยอมสยบต่อความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ลุกขึ้นมาปกป้องอำนาจของตนเองเลย การเปลี่ยนผ่านตรงนี้สำคัญ ซึ่งทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคิดถึงน้อยเกินไป ในที่สุดจึงลงเอยด้วยข้อเสนอของฝ่ายเสียงข้างน้อยให้ทำลายหลักความเสมอภาค ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และอาจนำไปสู่ความรุนแรง (เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เสียงข้างมากจะยอม นอกจากถูกบังคับ) ในขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงข้างมาก ได้แต่คิดอย่างตื้นเขินว่าถึงอย่างไรตัวก็กุมเสียงข้างมากไว้ได้แน่ ถึงกับกล้า "สุดซอย" กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเท่ากับตบหน้าเสียงข้างน้อยอย่างไม่ต้องเกรงใจใดๆ เลย

แนวโน้มของการแยกขั้ว อันเกิดขึ้นจากพัฒนาการทางการเมืองของสังคมเอง มีอยู่ แต่ไม่มีใครตอบสนองแนวโน้มนี้อย่างจริงจัง ในที่สุดก็นำมาสู่การแยกขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการเมืองสมัยใหม่ของไทย ไม่มีประชาธิปไตยอะไรอยู่รอดในสภาวะแยกขั้วทางการเมืองที่แรงขนาดนี้ ในขณะเดียวกัน เผด็จการทหารก็ไม่น่าจะอยู่รอดในภาวะนี้เช่นกัน

หากภาวะนี้จบลงด้วยการนองเลือดก็ยังดี แต่ที่น่าเศร้าก็คือแม้นองเลือดแล้ว ก็ยังไม่จบต่างหาก การแยกขั้วไม่ยุติลง มีแต่จะยิ่งแยกกันแรงมากขึ้น

พรรคการเมืองต้องเข้าใจวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่นี้ให้ดี ถ้าไม่ต้องการให้พรรคทหารกำกับการเมืองไทยตลอดไป ก็ต้องระวังอย่าให้เกิดการนองเลือด เพราะจะยิ่งมีความชอบธรรมที่พรรคทหารจะต้องคอยกำกับการเมืองตลอดไป ดังนั้น ขบวนการเสื้อแดงซึ่งเป็นพันธมิตรนั้น ต้องรักษาไว้ แต่อย่าคิดเป็นอันขาดว่าขบวนการเสื้อแดงคือเครื่องมือต่อรองทางการเมืองกับพรรคทหาร เวทีต่อสู้ของพวกเขาควรอยู่ที่หีบบัตรเลือกตั้ง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเพื่อไทยได้จัดองค์กรเพื่อการนี้มากน้อยแค่ไหน และมีประสิทธิภาพเพียงไร

เพื่อไทยต้องหยุดต่อสู้กับพรรคทหารด้วยเกมเดียวกัน (ซ้ำเป็นเกมที่พรรคทหารเป็นฝ่ายกำหนดเสียด้วย) คือเกมเสนอตัวบุคคล ไม่ว่าตัวบุคคลที่จะเป็นนายกฯ หรือตัวบุคคลที่จะเป็น ส.ส. คนไทยจะออกจากถ้ำได้อย่างไร สำคัญกว่าใครจะเป็นผู้พาออกไป ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ หรือหน่วยซีล ก็ได้ทั้งนั้น เพื่อไทยยังไม่เคยพูดให้เข้าใจสักครั้งว่า แล้วเราจะออกจากถ้ำได้อย่างไร โดยไม่บาดเจ็บล้มตายด้วย

อยากไปพบคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ไปเลย อย่างน้อยคุณทักษิณเคยเป็นหัวหน้าพรรค และริเริ่มกระบวนการทางการเมืองแบบที่สมาชิกเพื่อไทยอ้างว่าศรัทธา เราไม่ทิ้งเพื่อนยามที่เพื่อนตกทุกข์ได้ยาก ผมเข้าใจว่าเป็นคุณธรรมที่คนไทยส่วนใหญ่ยังยกย่องอยู่ แต่อย่าฝากความหวังไว้กับคุณทักษิณเลย ไม่มีหรอกครับนักการเมืองคนไหนในโลก ที่ออกไปจากวงจรการเมืองเป็นสิบปีเช่นนี้ จะยังมี "เสียง" ดีโดยไม่ตกเลย แม้แต่ท่านมหาตมะ คานธี หยุดบทบาทในพรรคคองเกรสไปนาน แต่ไม่ได้ไปนั่งปั่นด้ายอยู่ที่อาศรมเฉยๆ ท่านรักษาสายใยกับวงจรการเมืองอย่างไม่ปล่อยให้ขาด ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ และการพบปะกับแกนนำในพรรคตลอดมา ฉะนั้น เมื่อเวลามาถึง เพียงแต่ก้าวออกจากอาศรม คนอินเดียก็พร้อมจะเดินตามทันที

คุณทักษิณไม่ได้ทำอย่างนั้น (เพราะทำไม่ได้ หรือเพราะอะไรก็ตามที) ถ้าสมาชิกเพื่อไทยอยากฟังความเห็น หรือแม้แต่นโยบายจากคุณทักษิณก็ฟังเลย เพียงแต่ว่าหากรับนโยบายนั้น มันก็คือนโยบายของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ของคุณทักษิณ (ไม่ใช่เพราะกฎหมายพรรคการเมืองห้ามไว้นะครับ แต่พรรคเพื่อไทยต้องพร้อมที่จะให้คนเกลียดทักษิณเลือกด้วย ซึ่งสำคัญกว่าให้คนรักทักษิณเลือก เพราะถึงอย่างไร เขาก็เลือก และดังที่กล่าวข้างต้น นับวันคนประเภทนี้จะมีแต่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของการเมือง)

การชูทักษิณก็ไม่ต่างอะไรกับการชูประยุทธ์ของพรรคทหาร ความหวั่นไหวที่อดีต ส.ส.ของพรรคถูกพรรคทหารดูด ก็เป็นเรื่องเดียวกับการดูดอดีต ส.ส.ของพรรคทหาร เพียงแต่ยึดติดตัวบุคคลกันคนละด้านเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้บอกเลยว่า ทำไมผมและคนไทยอื่นๆ จึงควรเลือกพรรคเพื่อไทย ผมจะออกจากถ้ำด้วยองคาพยพครบ 32 ได้หรือไม่ หรือต้องออกจากถ้ำหนึ่ง เพื่อมาติดอีกถ้ำหนึ่ง อย่างที่ 13 หมูป่าโดนอยู่เวลานี้

พรรคการเมืองต้องมีนโยบาย ยิ่งในภาวะวิกฤตทางการเมืองอันใหญ่หลวงครั้งนี้ ยิ่งต้องมีนโยบายที่ตอบโจทย์ได้หลายด้านมากขึ้น มัวแต่เล่นการเมืองที่แวดล้อมตัวบุคคลอยู่ ทำให้มองไม่ออกว่าเพื่อไทยกับพรรคทหารต่างกันอย่างไร

หากจะแก้ตัวว่า ที่ไม่แถลงนโยบายก็เพราะ คสช.ยังไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง ก็ยิ่งน่าทุเรศหนักขึ้น พรรคการเมืองไม่มีทางสื่อสารให้สังคมรู้หรอกหรือ ว่าในยามหน้าสิ่วหน้าขวานถึงเพียงนี้ จุดยืนของคุณอยู่ตรงไหน ทำไมถึงต้องยืนที่จุดนั้น และยืนที่จุดนั้นแล้วจะมีผลดีแก่ส่วนรวมอย่างไร ทำแค่นี้ก็ยังทำไม่ได้ ยังเป็นพรรคการเมืองอยู่หรือ

พรรคเพื่อไทยหายไปไหน

 

ที่มา: www.matichon.co.th/columnists/news_1062559

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ไทย' ขอ 'อังกฤษ' ส่ง ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับ ระบุเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

Posted: 31 Jul 2018 01:13 AM PDT

รัฐบาลไทยร้องต่อรัฐบาลอังกฤษอย่างเป็นทางการแล้ว ขอให้ส่งตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีกลับไทย 


เพจ Yingluck Shinawatra Forever โพสต์ภาพ ยิ่งลักษณ์ พร้อมข้อความ "ตะลุยกินไอติม Vegan ฮิตหนักมากที่ ลอนดอน ส่วนผสมและสีสัน ทำมาจากธรรมชาติล้วนๆ" เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา

31 ก.ค.2561  สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย รายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักร ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ไปที่กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร (Foreign and Commonwealth Office) เพื่อร้องขอต่อทางการของอังกฤษให้ส่งตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย โดยอ้างถึง สนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรและสยามปี 1911 ที่ว่าด้วยการส่งตัวอาชญากรผู้หลบหนีคดีกลับประเทศ อ้างสิทธิร้องขอให้ส่งตัว ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็น บุคคลที่มีสัญชาติไทย และเชื่อว่าพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรกลับไปรับโทษในประเทศไทย (รายละเอียดจดหมาย ดูได้ที่บีบีซีไทย https://www.bbc.com/thai/thailand-45008967)

ความตอนหนึ่งในจดหมายระบุด้วยว่า ยิ่งลักษณ์เป็นบุคคลที่ทางการไทยต้องการนำตัวมารับโทษจำคุก 5 ปี ภายหลังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาว่าเธอมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงออกหมายจับตั้งแต่มีคำตัดสิน เพื่อนำตัว ยิ่งลักษณ์ มารับโทษ

บีบีซีไทย ยังรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย ติดต่อไปที่ พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้ แต่ได้รับคำตอบว่า "ทำงานอยู่ไอร์แลนด์ตอนนี้" ผู้สื่อข่าวจึงติดต่อไปที่ บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้คำตอบว่า หน่วยงานของไทยกำลังดำเนินการเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ แต่เมื่อถามย้ำว่า ได้ส่งคำขอเป็นทางการไปที่รัฐบาลอังกฤษหรือยัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "ไม่สะดวก" เนื่องจากกำลังยุ่งอยู่กับการช่วยเหลือคนไทยในเหตุแผ่นดินไหวที่เกาะลอมบอก ประเทศอินโดนิเซีย

ด้านกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้ ส่งต่อให้ กระทรวงมหาดไทย (Home Office) ชี้แจง ส่วน โฆษกของกระทรวงมหาดไทย ตอบเป็นอีเมลมาว่า "เราถือเป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติตลอดมาว่า เราจะไม่ตอบยืนยันหรือปฏิเสธว่าเราได้ร้องขอ หรือได้รับการร้องขอ ในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน จนกว่าบุคคลนั้นจะถูกจับกุมตามคำร้องนั้น"

ขณะที่เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา เฟสบุ๊ก Yingluck Shinawatra Forever ได้โพสต์คลิปวิดีโอจากอินสตาแกรม dear_khattiya ของ ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอ ยิ่งลักษณ์ เดินเล่น ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยภาพพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยอีกหลายคนร่วมเดินเล่นด้วย หลังจากมาร่วมงานฉลองวันคล้ายวันเกิดของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา

'ดอน' ระบุขอตัวตามขั้นตอน ไม่เกี่ยว 'ประยุทธ์' เยือนอังกฤษ

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ด้วยว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอน สื่อควรไปสอบถามจากคนที่รู้เรื่องเพราะตนยังไม่ทราบรายละเอียดเห็นแต่เพียงที่เป็นข่าว

เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้รายงานเรื่องดังกล่าวมายัง รมว.ต่างประเทศ ดอน ตอบว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ไม่ต้องรายงานเพราะเขาทำตามขั้นตอนไม่ใช่เรื่องนโยบาย และเรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร ของนายกฯ เมื่อถามย้ำว่าแม้เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน แต่การขอตัวเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องรายงานรัฐมนตรี ดอน ตอบว่า "จำไม่ได้เลยว่าเรื่องนี้เคยผ่านเข้ามา ผมยังสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าเรื่องนี้เคยผ่านมาทางเราหรือไม่ เพราะเหมือนไม่เคยเห็น เพราะมันมาตามขั้นตอนของมัน และทราบว่าเรื่องนี้เป็นการทำตามขั้นตอนคงมีการเดินเรื่อง เพราะต้องมาจากทางตำรวจ อัยการ"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: ข่าวที่เร้าใจ

Posted: 31 Jul 2018 01:01 AM PDT

หากมีใครได้แชมป์ประดับโลก                 สุขกับโศกใครใคร่รู้ไม่แจ้งขาน
ข่าวธรรมดาชักช้าน่ารำคาญ                   ข่าวตื่นเต้นส่งสาส์นสำราญใจ

มิเป็นข่าวเงียบกริบขมิบปาก                   ทุจริตซ้ำซากยากแก้ไข
หากเป็นข่าวเช้าสายระคายใจ                  ยุ่งกันใหญ่ใครก็รู้ทั่วชั่วดี

มาตีตราพวกข้าฯ อย่าทำข่าว                  ตั้งเรื่องราวเศร้าสลดหมดวิถี
ทำข่าวไขคนชั่วตัวอัปรีย์                        จำได้ดีมีประโยชน์โจษกันไกล

จรรยาบรรณพันธุ์ข่าวพึงสดับ                   ข้าฯ น้อมรับลิขิตพิสมัย
เสรีภาพทำข่าวเร่งเร้าใจ                        แล้วไฉนไร้ประโยชน์มาโกรธกัน
                                                                   

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อนาคตทุเรียนไทยภายใต้ความท้าทาย ราคาดีปีนี้อีก 5 ปีอยู่ตรงไหน

Posted: 31 Jul 2018 12:00 AM PDT

หลังอิ่มหนำถ้วนหน้ากับทุเรียนแสนอร่อยราคาแพงในปีนี้ และปรากฏการณ์ "แจ๊คหม่า" เราจะสรุปภาพรวมการปลูกทุเรียน หลังเกษตรกรเริ่มโค่นพืชอื่นหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ลงท้ายจะเหมือนยางพาราหรือไม่ เพื่อนบ้านของเราที่เป็นคู่แข่งในตลาดทุเรียนอย่างสำคัญ ประเทศไหนอยู่ตรงไหน แล้วยักษ์ใหญ่อย่างจีนเข้ามายึดกุมกี่จุดแล้วในเส้นทางการค้าทุเรียน 

เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นกันพอสมควรหลังรัฐบาลไทยทำความตกลงกับบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แห่งแดนมังกรอย่าง อาลีบาบา ของแจ๊ค หม่า โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ว่าด้วยการนำร่องโครงการจัดซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ทุเรียนและข้าว เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 จากนั้นเพียง 1 วัน สื่อหลายสำนักพากันพาดหัวใหญ่ปรากฎการณ์แจ๊ค หม่า ใช้พลังอีคอมเมิร์ซขายทุเรียนหมอนทอง 80,000 ลูกลูกละประมาณ 1,000 บาท หมดภายใน 1 นาทีผ่านแอปพลิเคชั่น Tmall สิ่งที่เกิดขึ้นถูกกล่าวขานราวกับเวทมนต์

ทว่าผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนชาวไทย หรือล้ง [1] กลับชี้ให้เห็นว่าจำนวนทุเรียน 80,000 ลูกนั้นเป็นปริมาณทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีนอยู่แล้วตลอดเดือนเมษายน ก่อนมีการลงนาม MOU และถือเป็นปริมาณการสั่งซื้อปกติ โดยวันหนึ่งๆ มีการส่งทุเรียนไปจีนอย่างน้อย 2,000 ตันต่อวัน ทุเรียน 80,000 ลูกมีน้ำหนักเพียง 240 ตัน ส่วนราคาที่เพิ่มสูงขึ้นก็ไม่เกี่ยวกับ MOU แต่อย่างใด หากแต่เกิดจากปัญหาการขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนทำให้สินค้าขาดตลาด ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น  

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี ประธานกรรมการบริษัท ริชฟิลด์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด บริษัทผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปรากฎการณ์ แจ๊ค หม่า ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแต่เพียงการโฆษณาเสียมากกว่า แม้ว่าจะขายได้ 80,000 ลูก ใน 1 นาที แต่ขายขาดทุนกิโลกรัมละ 100 บาท รวมๆ แล้วขาดทุนเพื่อการโฆษณาไป 4 ล้านเหรียญ

"เขาขาดทุนไป 4 ล้านเหรียญ แล้วมันก็ไม่ได้ขายยาก เขามีเครือข่ายของเขา มันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ เป็นการสร้างกระแส เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษทางการค้าเท่านั้น แจ๊ค หม่า ไม่ได้เป็นคนทำให้ทุเรียนขึ้นราคา ทุเรียนมันขึ้นราคาตามกระแสตลาด แล้วเขาใช้กระแสนี้มาสร้างอิมเมจให้ตัวเอง ไม่มีเขา ราคาทุเรียนก็ราคานี้อยู่แล้ว บ้าจี้กันไปหมด" สัญชัยกล่าว

จะอย่างไรก็ตาม เรื่อง "ทุเรียน" กลายเป็นข่าวที่มีให้อ่านแทบทุกวันตลอดฤดูกาลของทุเรียนในปีนี้ แต่ข่าวที่ดูจะโดดเด่นจากบรรดาข่าวทุเรียนราคาดี ทุเรียนไม่พอขาย หรือกระทั่งข่าววิ่งราวทุเรียน คือ ปีนี้ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เกษตรกรเริ่มทยอยโค่นพืชพันธุ์ที่เคยปลูกอยู่ก่อนหน้าแล้วหันมาปลูกทุเรียนแทน เพื่อตอบสนองกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของจีน ด้วยเหตุที่คนชั้นกลางในจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฎิรูปเศรษฐกิจโดยการเปิดเสรีการค้าการลงทุนต่อเนื่องมา 30 ปี จนจีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก

พื้นที่ปลูกทุเรียนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากภาพรวมพื้นที่ปลูกทุเรียนจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่าปี 2558[2]  มีพื้นปลูกที่ให้ผลแล้วทั้งหมด 498,952 ไร่ พื้นที่ปลูกทั้งหมด 618,709 ไร่ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น[3] 603,332 ตัน ทั้งหมดร้อยละ 84.29 เป็นทุเรียนหมอนทอง ปี 2559[4] มีพื้นที่ให้ผลลดลงเหลือ 495,981 ไร่ แต่มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 621,689 ไร่ และมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 613,593 ตัน ทั้งหมดร้อยละ 89.59 เป็นทุเรียนหมอนทอง ปี 2560[5] มีพื้นที่ให้ผลทั้งหมด 581,659 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 517,955 ตัน คาดว่าปี 2561 จะมีพื้นที่ปลูกทุเรียนซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้แล้วทั้งหมด 611,186 ไร่ จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าผลผลิตทุเรียนปีนี้จะมีประมาน 760,000 ตัน[6]

หากดูรายจังหวัด ข้อมูลในปี 2559 พบว่าจันทบุรีเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 165,046 ไร่ รองมาเป็นจังหวัดชุมพร 138,801 ไร่ นครศรีธรรมราช 60,194 ไร่ ระยอง 52,706 ไร่ สุราษฎร์ธานี 46,113 ไร่ นอกจากนี้ข้อมูลยังเผยให้เห็นว่า ไม่ได้มีแต่เพียงภาคใต้หรือภาคตะวันออกเท่านั้นที่มีการปลูกทุเรียน

สำหรับราคาเฉลี่ยทุเรียนพันธุ์หมอนทอง[7] พบว่านับตั้งแต่ปี 2551 ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่หน้าสวน มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จากราคาเฉลี่ย 20.93 บาทต่อกิโลกรัมจนมาถึง 81.73 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2561 ขณะที่ราคาทุเรียนสูงสุดที่ขายได้คือ 134.98 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมีนาคม 2560 ส่วนในปี 2544 – 2550 ทุเรียนหมอนทองมีราคาเฉลี่ยไม่ถึง 20 บาท ต่อกิโลกรัม

ไทยครองแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีน ตำแหน่งนี้กำลังถูกท้าทาย

ในภาพใหญ่ จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญประเทศหนึ่งของไทย นับตั้งแต่ปี 2553 จีนกลายเป็นประเทศผู้ซื้อสินค้าส่งออกจากประเทศไทยมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 มูลค่าทั้งหมด 678,631.83 ล้านบาท แม้ในปี 2558-2559 ประเทศผู้ซื้อสินค้าส่งออกจากประเทศไทยจะพลิกกลับมาเป็นสหรัฐอเมริกา

ในปี 2560 จีนได้กลับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 อีกครั้ง มีมูลค่าทั้งหมด 995,474.82 ล้านบาท คิดเป็น 12.47 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย รองมาเป็นสหรัฐอเมริกา 898,823.30 ล้านบาท 11.23 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ในปี 2553 ยังเป็นปีที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในปี 2557 จีนกลายเป็นประเทศที่ขายสินค้าให้กับประเทศไทยเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าทั้งหมด 1,251,528.28 ล้านบาท ปี 2560 มีมูลค่าทั้งหมด 1,514,987.66 ล้านบาท คิดเป็น 19.97 % ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย  รองมาเป็นญี่ปุน 1,097,916.09  ล้านบาท คิดเป็น 14.47% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด  [8] ทั้งหมดนี้คือหนึ่งสิ่งที่เป็นหลักฐานยันว่า จีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอีกประเทศหนึ่ง

ตลาดส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 15 อันดับ ตั้งแต่ปี 2558-2561
ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

ในกลุ่มสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ทุเรียนจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็นและอบแห้ง ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ติดอยู่ใน 15 อันดับที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด

ในปี 2660 มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนทั้งสิ้น 22,396.91 ล้านบาท จากมูลค่าส่งออกทั้งหมด 75,700.46 ล้านบาท ขณะที่ประเทศซึ่งนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับ 1 คือประเทศเวียดนาม มีมูลค่าทั้งสิ้น 34,867.58 ล้านบาท แต่จีนก็ยังถึงว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ เพราะความเป็นจริงแล้ว อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยอธิบายกับบีบีซีไทย[9]ว่า ผลไม้ที่ส่งออกไปเวียดนามนั้น บริโภคภายในประเทศเวียดนามเพียงร้อยละ 30 ที่เหลือนำไปแปรรูปหรือติดฉลากว่า Made in Vietnam เพื่อส่งไปขายในจีนต่อ โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านภาษี

ตลาดส่งออกทุเรียนสดของไทย 15 อันดับ ตั้งแต่ปี 2558-2561
ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่การส่งออกทุเรียนของประเทศไทยนั้นมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง มูลค่าการการส่งออกทุเรียนสดให้กับ 3 ประเทศในปี 2560 มีมูลค่า 21,239.46 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 22,098.44 ล้านบาท และเมื่อเทียบส่วนต่างจากมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดในปี 2558 และ 2559 จะพบว่าการส่งออกทุเรียนมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2558 มีมูลค่า 13,246.39 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 มีมูลค่า 17,505.76 ล้านบาทเท่านั้น

ตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ประกอบความต้องการซื้อที่มหาศาลจากประเทศจีน ดูแล้วจะเป็นไปในทางที่ดี เกษตรกรไทยในเวลานี้ต่างปลูกทุเรียนหมอนทองกันเพิ่มมากขึ้น กระนั้นก็ตามประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สามารถปลูกทุเรียนได้

คู่แข่งสำคัญของไทยคือ มาเลเชีย ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ[10] ระบุว่ามาเลเชียในปี 2560 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนซึ่งให้ผลได้แล้วทั้งสิ้น 319,053 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 441,298.75 ไร่ ในปี 2558 มีผลผลิตทั้งสิ้น 368,270.7 ตัน หากเทียบกับไทยมาเลเชียมีพื้นที่ปลูกน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง

แม้พื้นที่ปลูกและผลผลิตจะน้อยกว่าเรา แต่มาเลเชียมีจุดเด่นที่สายพันธุ์ทุเรียนซึ่งได้รับการยอมรับในระดับ Premium Grade นั่นคือ พันธุ์มูซานคิง เป็นพันธุ์พื้นเมืองของมาเลเชียและได้รับการขนานนามว่าเป็น "ราชาแห่งทุเรียน" เพราะมีรสชาติดี เนื้อเนียนสีแหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว และเป็นที่นิยมของชาวจีน มูซานคิงมีราคาสูงกว่าหมอนทองมาก ตกกิโลกรัมละประมาณ 300-400 บาท

สำหรับการส่งออก ในปี 2559 มาเลเซียส่งออกทุเรียนในรูปผลไม้แช่แข็งในปริมาณราว 1,300 ตัน มีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ของการส่งออกรวมทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลมาเลเชียกำลังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อปีให้มากถึง 303,000 ตัน

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี ในฐานะผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ของไทยเห็นว่า หากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศเจ้าผลไม้แห่งเอเชีย แต่ในวันนี้ไทยเริ่มมีคู่แข่งที่แข็งแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทุเรียน ประเทศไทยเคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตทุเรียนดีที่สุดในโลก แต่วันนี้อาจไม่ใช่แล้ว เพราะเวลานี้ทุเรียนที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกอยู่ในประเทศมาเลเชีย โดยมูซานคิงได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดทุเรียนโลก สถานการณ์ในวันนี้มาเลเชียเป็นประเทศที่ผลิตทุเรียนคุณภาพดีที่สุด เพียงแต่ประมาณยังน้อยเกินไป

สัญชัย ระบุด้วยว่า เวียดนามเองก็กำลังขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เพราะมีการแข่งผลิตทุเรียนหมอนทอง โดยมีการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนวันละประมาณ 500 ตัน ขณะเดียวกันมาตราการในการจัดการคุณภาพทุเรียนของไทยเองก็ด้อยลง เพราะมีการตัดทุเรียนอ่อน และกำลังจะเป็นปัญหาการส่งออกทุกเรียนในอนาคตอันใกล้ หากเทียบกันมาเลเชียมีทุเรียนที่คุณภาพดีกว่า ส่วนเวียดนามมีต้นทุนในการขนส่งน้อยกว่า ใช้เวลาเดินทางเพียง 18 ชั่วโมงขณะที่ไทยใช้เวลาส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนประมาณ 3 วัน สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ส่งออกที่ได้แต่ปริมาณ คุณค่าไม่ได้ ซึ่งภาวะนี้มีความอ่อนไหวกับตลาดมาก เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์[11] ระบุว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาเวียดนามได้เปลี่ยนไปปลูกทุเรียนพันธุ์ใหม่แทนพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งพันธุ์ที่เลือกปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง มีสัดส่วนร้อยละ 40 ของพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศ

"วันนี้ทุกคนยังมองว่าทุเรียนราคาดี โค่นยางปลูกทุเรียน โค่นมังคุดปลูกทุเรียน แล้วมันก็จะเหมือนกับลำไยที่มีการซื้อกับข้ามปี แล้ววันหนึ่งก็บอกว่าไม่เอาแล้ว หรือยางพาราเคยได้ราคา 130 บาท แต่พอปริมาณมันเยอะขึ้น ประเทศคู่แข่งมากขึ้น ทีนี้ก็ต้องบอกว่า 50 บาทก็ขอเถอะ มันมีมีอะไรง่ายๆ แล้วถ้ายังไม่มีการพัฒนาอะไร ตอนนี้ประเทศข้างๆ เราพัฒนากันหมดแล้ว เราพัฒนาไม่ทัน นี่คือปัญหาใหญ่" สัญชัยกล่าว

นอกจากประเทศมาเลเชียที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยแล้ว อัทธ์ พิศาลวานิช ยังเผยข้อมูลให้เห็นว่า อินโดนีเซียเองก็เป็นประเทศที่ปลูกทุเรียนได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปีในปี 2559 จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดเพียง 382,787 ไร่ ส่วนใหญ่เน้นบริโภคภายในประเทศ ฟิลิปปินส์เองก็ปลูกทุเรียน103,856.25 ไร่ มีผลผลิต 71,444 ตัน ในขณะที่เวียดนามปลูกทุเรียนทางตอนใต้ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง มีพื้นที่ปลูก 168,759 ไร่ ให้ผลผลิต 259,436 ตัน ส่วนกัมพูชา มีพื้นที่ปลูก 7,456 ไร่ ได้ผลผลิต 3.3 หมื่นตัน ทั้งหมดนี้คือหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ปัจจุบันไทยยังเป็นแชมป์ส่งออกทุเรียน แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้คือ ความท้าทาย

นิทานยางพารา สู่อนาคตทุเรียนไทย

ทุเรียนที่ดีต้องสีเหลืองเข้ม นี่คือเทรนด์ทุเรียนในตลาดจีนปัจจุบัน สัญชัยชี้ให้เห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมาทุเรียนเนื้อเหลืองเข้มเช่นพันธุ์กระดุม ชะนี พวงมณี ก้านยาว ราคาไม่ตกยังยืนราคาได้ ในขณะที่ทุเรียนสีเหลืองอ่อนอย่างหมอนทอง ราคาขึ้นๆ ลงๆ ตามความต้องการของตลาด

ภายใต้เทรนด์ดังกล่าว สัญชัยขยายภาพให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งดูจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะเกษตรกรไทยหลายรายหันมาปลูกทุเรียนพันธ์หมอนทองเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นทุเรียนที่ผลโตมีน้ำหนักมากและให้ผลผลิตต่อต้นสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ เขาคาดการณ์ว่าทุเรียนหมอนอาจจะล้นตลาดใน 5 ปีข้างหน้า

"มีคนชอบพูดเข้าข้างตัวเองว่า ทุเรียนเป็นโรค ติดเชื้อรา มีโรคอื่นๆ แล้วก็ไม่กลัวว่ามีคนปลูกเยอะ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เพราะอัตราส่วนที่จะรอดมีสูงกว่าต้นที่จะตาย และตลาดในช่วงที่ผ่านมา 3 ปี เรียกได้ว่าโตไปกว่า 100-200 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปก็อาจจะมีการชะลอตัว และจะไม่ได้ราคาเหมือนตอนนี้" สัญชัยกล่าว

คล้ายกับ อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมองว่า เวลานี้หลายประเทศพยายามผลักดันเรื่องทุเรียนน ประเทศไทยเองก็ขยายพื้นที่การปลูก เนื่องจากเกษตรกรเห็นว่าทุเรียนมีราคาดีขึ้น แต่คำถามที่สำคัญคือ ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าอีก 5 ปีข้างหน้าความต้องการทุเรียนจะเพิ่มขึ้นเท่าไร ขณะที่การผลิตมีมากขึ้นทั้งจากไทยเองและประเทศเพื่อนบ้านที่อย่างมาเลเชียและเวียดนาม ทั้งหมดตลาดทุเรียนร้อยละ 80 อยู่ที่จีน นั่นหมายความว่าในตลาดมีผู้ซื้อรายใหญ่อยู่คนเดียว แต่กำลังมีผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้นทุกปี

"โจทย์ใหญ่ในวันนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้าเราต้องมีตัวเลขการผลิตทั้งของเราเอง และของประเทศเพื่อนบ้าน มีตัวเลขเท่าไหร่ ความต้องการของตลาดมีอยู่เท่าไหร่ หากเรามองตรงนี้ชัด มันจะทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น แต่วันนี้เรายังมองไม่เห็นตรงนั้น" อัทธ์ กล่าว

หากเทียบประเทศในอาเซียน มาเลเชียและเวียดนามคือ สองประเทศที่มีศักยภาพในการขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันในตลาดทุเรียนกับไทยมากที่สุด สัญชัยให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนเกษตรกรเพิ่มเพิ่มผลผลิตทุเรียนนอย่างเต็มที่ คุณภาพทุเรียนหมอนทองที่เวียดนามกับไทยไม่แตกต่างกัน เพราะอยู่ในพื้นที่ที่มีเส้นรุ้งเส้นแวงเท่ากันหมด เช่นเดียวกับกันอัทธ์ที่ชี้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของมาเลเชียประกาศว่า มาเลเชียตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก

แม้ทุกวันนี้ไทยจะยังคงเป็นประเทศเดียวที่มีผลผลิตที่ผ่านมาตรฐานการค้าทุเรียนกับจีน[12] โดยสาระสำคัญอยู่ที่ผลผลิตจะต้องได้รับการรับรองแหล่งผลิต GAP ใช้โรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรอง GMP และทุเรียนที่จะส่งออกได้ต้องปลอดจากศัตรูพืชควบคุมของจีน ทำให้เป็นประเทศเดียวที่สามารถส่งทุเรียนสดไปขายที่จีนได้ แต่ก็ใช่ว่าไทยจะเป็นประเทศเดียวอีกต่อไป ทั้งสองประเทศพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพผลิตผลให้ผ่านมาตรฐานดังกล่าว

สถานการณ์ทุเรียนที่เป็นอยู่ในเวลานี้มีโอกาสที่ซ้ำรอยกับกรณีของยางพารา เพราะเป็นพืชที่ปลูกได้ในหลายประเทศในอาเซียน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ผลผลิตล้นตลาด ราคาก็จะตกลงตามธรรมชาติ ทุเรียนหมอนทองก็กลายเป็นทุเรียนอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปแปรรูปมากขึ้น  

สัญชัย เห็นว่า หากจะเดินผ่านสถานการณ์นี้ไปได้เกษตรกรควรจะหันมาปลูกทุเรียนที่หลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น ไม่ควรทุ่มกำลังผลิตไปกับทุเรียนหมอนทองทั้งหมด ขณะที่อัทธ์เห็นว่าเมื่อผลผลิตกำลังจะเพิ่มขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องเร่งหาตลาดเพิ่มขึ้น เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น พร้อมกันกับเพิ่มศักยภาพให้กับสหกรณ์การเกษตรเพื่อที่จะดำเนินการส่งออกสินค้นไปยังต่างประเทศเองให้ได้มากขึ้น อีกทั้งจำเป็นต้องมีการคิดค้นการแปรรูปทุกเรียนในหลายหลากรูปแบบ นอกจากนี้ต้องทำมาตรฐานทุเรียนไทยให้เป็นที่ยอมรับและต้องมีความแตกต่างจากทุเรียนประเทศอื่นๆ

มองสองมุมเรื่อง "ล้งจีน" ครองตลาดทุเรียนไทย

การส่งออกทุเรียนจากสวนไปถึงมือผู้บริโภคในประเทศจีนโดยหลักแล้วจะขนส่งทางถนน ผู้ที่เป็นตัวเชื่อมสะพานนี้คือ ล้ง หรือผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ โดยจะมีการเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรจากสวน นำมาคัดแยกคุณภาพแล้วดำเนินการส่งออกไปขายยังประเทศจีน ผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น

รายงานการพิจาณาศึกษาเรื่อง การตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ของผู้ประกอบการต่างชาติในจังหวัดจันทบุรี ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2559[13] เผยให้เห็นข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดจันทบุรีซึ่งระบุว่าในเวลานั้นจันทบุรีมีโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน GMP ทั้งหมด 122 แห่ง แบ่งเป็นทุเรียน 38 แห่ง มังคุด 24 แห่ง ลำไย 34 แห่ง กล้วยไข่ 1 แห่งและผลไม้รวมอีก 25 แห่ง โดยในจำนวนทั้งหมดเป็นกิจการของพ่อค้าชาวจีนไม่ถึงครึ่ง แต่กลับพบว่ามีปริมาณการซื้อสินค้าร้อยละ 70 ของปริมาณทั้งหมดในจังหวัด โดยสินค้าที่มีปริมาณการซื้อมากที่สุดคือ ทุเรียน

ในด้านหนึ่ง สัญชัยมองว่า การที่นักธุรกิจจากจีนเข้ามารับซื้อสินค้าจากเกษตรกรเองเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยกระจายสินค้าให้ไปทั่วประเทศจีน และล้งจีนกลุ่มทุเรียนมีความหลากหลาย ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ต่างคนต่างแย่งกันซื้อสินค้า แตกต่างจากกรณีของลำไยเพราะโรงอบแห้งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งจึงทำให้ล้งจีนกลุ่มลำไยรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ได้ง่ายกว่า โดยสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ผู้ที่จะเสียผลประโยชน์คือ ล้งไทยรายย่อย ซึ่งจำเป็นตัวปรับตัวเพื่อตามความเปลี่ยงแปลงให้ทัน

อย่างไรก็ตามรายงานของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช. กลับตรวจพบว่า ระยะหลังมานี้พ่อค้าชาวจีนได้เข้ามาประกอบธุรกิจโดยอาศัยชื่อคนไทยในลักษณะของการเป็นตัวแทนแอบแฝง และด้วยความที่มีเงินทุนสูงจึงมักรับซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าชาวไทย ทำให้ล้งไทยไม่สามารถแข่งขันได้ หลายรายต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น จึงยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ไปอีก 5 ปี อาจจะทำให้ธุรกิจรับซื้อผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีตกอยู่ในมือของล้งจีนทั้งหมด และอาจจะส่งผลต่อการเกิดวิกฤติราคาและตลาดผลไม้

ดังเช่นกรณีของลำไย ปี 2537 มีพ่อค้าชาวจีนและไต้หวันเริ่มเข้ามารับซื้อสินค้าเพื่อไปขายต่อ ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น จนทำห้เกษตรกรหันมาปลูกลำไยมากขึ้น จากนั้นพ่อค้าชาวจีนก็ได้ขยับจากการรับซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว เข้ามาลงทุนทำโรงรับซื้อและคัดแยกลำไย แต่ยังใช้ชื่อคนไทยเป็นตัวแทนแอบแฝง จากการตรวจของสำนักข่าว TCIJ[14] พบว่าปัจจุบันมีการจดทะเบียนโรงรับซื้อลำไยทั้งหมด 112 โรง ร้อยละ 90 เป็นของพ่อค้าจีน ทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูง ส่วนล้งไทยที่มีอยู่เดิมส่วนมากได้เลิกกิจการไป เนื่องจากนักลงทุนจีนมีระบบเงินทุนหมุนเวียนที่ดีกว่า มีการจองผลผลิตด้วยเงินสด และผู้ประกอบการชาวไทยไม่สามารถสู้ราคาได้ จึงได้ปรับตัวด้วยการให้คนจีนเช่าโรงคัดแยกผลผลิตที่มีอยู่ แล้วผันตัวเองไปเป็นผู้รับจ้างรวบรวมผลผลิต ตามความต้องการของผู้ประกอบการคนจีนที่มีออเดอร์เข้ามา

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ล้งจีนจะเข้ามาควบคุมตลาดทุเรียน โดยตอนนี้ล้งต่างชาติมีอยู่ 2 ประเภทคือ ล้งปกติที่เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาเหมาสวนทุเรียน รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และล้งที่เป็นล้งออนไลน์ก็มีโอกาสที่อาจจะผูกขาด และหากมีความกังวลในเรื่องนี้ สหกรณ์ก็ต้องปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถที่จะนำทุเรียนส่งออกไปต่างประเทศเองได้

เขามองต่อไปว่า การเข้ามาของแจ๊ค หม่า ด้านหนึ่งส่งผลดีที่จะส่งกระจายสินค้าจากไทยไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งช่องทาง แต่อย่าลืมว่าอาลีบาบาเป็นหน้าร้าน เหมือนห้างๆ หนึ่ง เขาก็จะต้องหาของมาขายในห้าง และของเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากไทยเท่านั้น เขาอาจเอาของมาเลเชียมาด้วย คำถามที่สำคัญคือ สินค้าเราเมื่อเข้าไปอยู่ในอาลีบาบา มันอาจจะธรรมดามาก ต้องมีอะไรที่แตกต่าง ฉะนั้นจึงต้องสร้างเอกลักษณ์ของเราให้ได้

"อาลีบาบา จริงๆ แล้วก็คือล้งออนไลน์ แต่การขนส่งทุเรียนยังเป็นของเราอยู่ หากอนาคตเขาเอาระบบการขนส่งของเขาเข้ามาด้วย เขาก็จะคุมได้หมด อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ลองไปดูที่ห้วยขวางสิ ห้องแถวต่างๆ มีแต่ผู้ประกอบการที่เป็นคนจีน ถามว่ากฎระเบียบต่างๆ ไม่มีเหรอ มันก็มีแต่ก็เห็นอย่างที่ปรากฎอยู่ การบังคับกฎหมาย กฎระเบียบที่เรามีอยู่ยังไม่ครอบคลุมหรือ ไม่ได้ให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการชาวไทยหรือเปล่า" ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์[15] หลังจากมีข่าวการขายทุเรียนของแจ๊คหม่าว่า แม้จะมีการพูดว่าจะนำสินค้าไทยไปขายยังประเทศจีน ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการชาวไทยและสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย แต่นี่คือความจริงเพียงด้านเดียว เขาเห็นว่าการเข้ามาของแจ๊คหม่านั้นยังมีความจริงอีกด้านหนึ่งที่ยังไม่มีการพูดถึง สิ่งที่แจ๊คหม่ากำลังทำคือการสร้างประตูที่คนไทยสามารถเอาสินค้าไปขายยังประเทศจีนได้ มีกลไกพิเศษมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ในทางกลับกันประตูนี้จะเป็นช่องทางในการนำสินค้าเข้ามาในไทยได้เช่นกัน และมีเป็นไปได้ว่ากองทัพสินค้าจากประเทศจีนจะไหลเข้ามาในไทย ซึ่งย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการชาวไทยแน่นอน

ภาวุธเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับการเข้ามาของธุรกิจอย่างอาลีบาบา หรือนักธุรกิจจีนในกลุ่มอื่น เขาไม่ได้เข้ามาเพียงธุรกิจเดียว เขามีเรื่องอีคอมเมิร์ชเข้ามา มีเรื่องการเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีเรื่องของการขนส่ง ซึ่งสามารถรู้ได้หมดว่ามีสินค้นอยู่ที่ไหนบ้าง คนซื้ออะไรบ้าง สินค้าประเภทไหนขายได้หรือขายไม่ได้ พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้คือข้อมูลมหาศาลที่เขาจะได้ และจะทำให้เขาเข้าใจคนไทยมากกว่าคนไทยเข้าใจตัวเอง เขาสามารถนำเข้ามูลเหล่านี้มาคาดการณ์ และวางแผนการขายในอนาคตได้

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ทิ้งทายว่าสถานการณ์ทุเรียนไทยเป็นเพียงภาพหนึ่งที่ทำให้เห็นพลังทางเศรษฐกิจของประเทศจีน จีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก  33 มณฑลมีกำลังซื้อเยอะ มีรายต่อหัวเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่ามีตลาดเป็นหลักประกัน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน[16] ระบุว่า ในปี 2560 GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.9 จีนมีประชากรจำนวน 1.39 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 7.37 ล้านคนจากปี 2559 โดยจีนมีประชากรเพศชาย 711.37 ล้านคน และเพศหญิง 678.71 ล้านคน มีประชากรวัยทำงาน (อายุ 16 – 59 ปี) จำนวน 901.99 ล้านคน ครองสัดส่วนร้อยละ 64.9 ของประชากรทั้งหมดของจีน ในปี 2560 รายได้เฉลี่ยของประชากรจีนอยู่ที่ 25,974 หยวน (130,876.38 บาท) ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองอยู่ที่ 36,396 หยวน (183,390.19 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ระบุต่อว่า นอกจากพลังซื้อแล้ว จีนยังเงินทุนอีกมหาศาล คนจีนสามารถเข้ามาซื้อทุเรียนเหมาสวนในไทยได้ หรือตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา เข้ามาเปิดห้องแถวขายสินค้าส่งออกไปจีน เข้ามาทำโรงแรม นี่คือสิ่งที่ทำเห็นถึงพลังอำนาจทางการเงินของประเทศจีนที่มีผลต่อไทย

ส่วนพลังอำนาจทางนโยบายของประเทศจีน ดูได้จากโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ One Belt, One Road (OBOR) ซึ่งนี่คือนโยบายของรัฐบาลจีนที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจออกไปนอกประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางในการส่งเสริมผู้ประกอบการที่จะออกไปลงทุนในต่างชาติ ขณะเดียวกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี และความศักยภาพในทางวิชาการของจีนก้าวล้ำหน้าไปมากกว่าทุกประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทย

"เราพูดถึงทุเรียนเราก็เห็นการเข้ามาทำธุรกิจของนักธุรกิจจีน ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังผลักดันให้นักวิชาการมาทำวิจัยเรื่องสินค้าเกษตรในอาเซียนแล้ว นักธุรกิจจีนไม่ได้อยู่ที่จีนอย่างเดียว แต่เขาไปทุกที่ ขณะที่สถานการณ์โลกในเวลานี้อเมริกากำลังทำสงครามทางการค้ากับประเทศจีน จีนไม่หลบนะครับ เขายืนแลกหมัด" ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศกล่าว

 


[1] ล้งวิพากษ์จีน ! ซื้อทุเรียน 8 หมื่นลูก ชี้ออร์เดอร์ปกติก่อนเซ็น MOU "อาลีบาบา" / อ้างอิงจาก https://www.prachachat.net/local-economy/news-148618

[7] ข้อมูลจาก: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าถึงได้ที่  http://oldweb.oae.go.th/download/price/monthlyprice/Horticulture/durian.pdf

[8] ข้อมูลจาก: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

[9] เข้าถึงได้จาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-42941461

[10] ข้อมูลการผลิตและการตลาดทุเรียนในมาเลเชีย เข้าถึงได้จาก: http://www.ditp.go.th/contents_attach/226581/226581.pdf

[11] เข้าถึงได้จาก: http://www.ditp.go.th/contents_attach/138082/138082.pdf

[12] อ่านเงื่อนไขการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนได้ที่นี่: http://www.chanidservice.com/pdf/050560_16.pdf

[14] อ้างจาก : ทุนจีนรุกคืบทำ 'ล้งจีน' บุกสวนผลไม้ไทย จี้รัฐ 'ล้อมคอก-ขันน็อต-ใช้กฎหมาย' เข้าถึงได้ที่ https://www.tcijthai.com/news/2016/08/scoop/6187

[15] เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=2b3sFsgdfCU

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น