โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

กระทรวงการต่างประเทศตอบโต้ TIME ชี้คนไทยไม่เรียก 'สฤษดิ์น้อย' ต้องเรียก 'ลุงตู่'

Posted: 07 Jul 2018 11:35 AM PDT

อธิบดีกรมสารนิเทศชี้แจงนิตยสารไทม์ฉบับ 'พล.อ.ประยุทธ์' ว่าไทยไม่ได้ถอยหลังไปสู่ 'เผด็จการถาวร' แต่เรียกว่า 'ประชาธิปไตยยั่งยืน' บวกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมปฏิเสธสัมพันธ์แนบแน่นไทย-จีน เพราะไทยคบทุกชาติรวมทั้งสหรัฐ ที่สำคัญห้ามเรียก 'สฤษดิ์น้อย' ต้องเรียก 'ลุงตู่' สะท้อนบุคลิกภาพเปิดเผย-เข้าถึงได้

กรณีนิตยสารไทม์ ฉบับ Jul 2, 2018 Vol 192 ที่ตีพิมพ์บทความ "Thailand's Leader Promised to Restore Democracy. Instead He's Tightening His Grip" ของ Charlie Campbell โดยมีภาพปกเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี และต่อมาเอกชนในประเทศไทยที่เป็นผู้นำเข้านิตยสารไทม์ระบุว่าจะไม่นำเข้านิตยสารฉบับดังกล่าวมาวางจำหน่ายเพราะ "มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม" ตามรายงานของวอยซ์ออนไลน์นั้น

แฟ้มภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษ เพื่อตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ระหว่างสถานีชุมแสง และสถานีนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เมื่อ 11 มิถุนายน 2561 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

ปกนิตยสารไทม์ฉบับ Jul 2, 2018 Vol 192

ต่อมากระทรวงการต่างประเทศโดย น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ชี้แจงนิตยสารไทม์ เกี่ยวกับบทความที่ไทม์ตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม เรื่องผู้นำไทยสัญญาที่จะคืนประชาธิปไตยแต่กลับกระชับอำนาจ (Thailand's Leader Promised to Restore Democracy. Instead He's Tightening His Grip) ว่า "เป็นบทความที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง"

หนังสือเปิดผนึกดังกล่าวระบุต่อไปว่า "บทความดังกล่าวมีความไม่สมดุลและมีการบิดเบือนข้อมูล ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปกับบทสรุปที่เป็นเท็จต่อเนื้อหาและวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทความดังกล่าวเขียนขึ้นจากความคิดที่มีอคติเพื่อจะทำให้เป็นไปตามวาระที่สรุปไว้ก่อนแล้ว ผู้เขียนได้เลือกที่จะหยิบข้อมูลเพียงบางส่วนจากการสัมภาษณ์ เพื่อสนับสนุนความเห็นที่ต่อต้านนายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านการโควตคำพูดที่เป็นลบจากองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มการเมือง ซึ่งไม่สะท้อนความเห็นส่วนใหญ่ของคนในประเทศไทย"

ในขณะที่ผู้เขียนพยายามที่จะทำให้รัฐบาลไทยมีความด่างพร้อย ด้วยการระบุถึงจุดอ่อนมากมาย ข้าพเจ้าขอชี้ว่ารัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่และเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย บทวิเคราะห์ของผู้เขียนบทความระบุว่าประเทศไทยกำลัง 'ถอยหลังไปสู่การเป็นเผด็จการอย่างถาวร' เป็นการกล่าวหาที่เกินจริงอย่างเลวร้าย มองข้ามการดำเนินการของไทยเพื่อไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยยั่งยืนตามโรดแมปที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

ในข้อเท็จจริง นับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ ตัวเลขสถิติต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมทำให้เกิดผลขึ้นได้จริง และยังมีการแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกและมีความยากลำบาก อาทิ การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู)  มากไปกว่านั้นรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ

รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้เป็นอย่างที่บทความนำเสนอว่าจะเป็นเครื่องมือเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่จะเป็นการช่วยรัฐบาลให้มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการวางแผนระยะยาวและเป็นมาตรการเพื่อให้การปฏิรูปบังเกิดผล

 

หนังสือชี้แจงนิตยสารไทม์ของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

ในจดหมายของอธิบดีกรมสารนิเทศ ยังระบุว่า ด้วยพื้นฐานที่เข้มแข็งของประเทศและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับอนาคต รัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยคุณค่าและนวัตกรรม และอ้างว่าความพยายามเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากคู่ค้าจากสหภาพยุโรป จะเห็นได้จากการเยือนที่ประสบความสำเร็จครั้งล่าสุดของนายกรัฐมนตรีที่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส

อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ 12 กันยายน ค.ศ. 2016 รัฐบาลได้เลิกใช้ศาลทหารไต่สวนคดีของพลเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวที่บทความในนิตยสารไทมส์ระบุไว้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว

ในแง่ของความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่สำคัญ เรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยที่ไปอ้างถึงกรณีโรงงานผลิตอาวุธร่วมทุนที่ จ.ขอนแก่น ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างจีนและประเทศไทย ที่เป็นการสูญเสียของสหรัฐอเมริกา ในข้อเท็จจริง ประเทศไทยไม่ได้ติดต่อกับจีนฝ่ายเดียว แต่มาตรการดูแลรักษานี้เป็นหนึ่งในโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยได้เชิญจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ มาเข้าร่วม นอกจากนี้ในปีนี้ประเทศไทยกำลังฉลองครบรอบ 200 ปีแห่งความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุด แต่ไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างสมดุลกับทุกประเทศ

"ข้อสุดท้ายแต่สำคัญไม่น้อย คำเรียก "สฤษดิ์น้อย" (Little Sarit) ที่อ้างถึงโดยผู้เขียนบทความ ไม่เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายในสาธารณชนชาวไทย และเป็นเรื่องผิดประเด็น ทั้งบุคลิกภาพและบริบททางประวัติศาสตร์ของผู้นำทั้ง 2 คนนั้นต่างกัน ในข้อเท็จจริงคนไทยมักจะเรียกชื่อเล่นยอดนิยมของนายกรัฐมนตรีว่า "ลุงตู่" (Uncle Tu) ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกภาพที่เข้าถึงได้และมีความเปิดเผย เพราะคำว่า "ลุง" เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกขานผู้ที่เป็นสมาชิกในครอบครัว"

"ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะตีพิมพ์จดหมายฉบับนี้ เพื่อชี้แจงผู้อ่านของท่านด้วยมุมมองต่อประเทศไทยที่ยุติธรรมและสมดุล และนอกจากนี้เพื่อรักษามาตรฐานความเป็นมืออาชีพด้านวารสารศาสตร์ที่นิตยสารไทม์พยายามรักษาเอาไว้" อธิบดีกรมสารนิเทศระบุ

หนังสือชี้แจงนิตยสารไทม์ของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.ชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูฯ ชุมชนลุ่มน้ำมูล ระบุเรื่องพรรคการเมืองเป็นสิทธิของชาวบ้าน

Posted: 07 Jul 2018 04:15 AM PDT

คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ออกแถลงการณ์รับรองคณะทำงานจำนวน 18 คน ชี้ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านไม่มีใครมีสิทธิ์ผูกขาดเป็นเจ้าของ หรือกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ ระบุเคารพมติที่ประชุมพ่อครัวใหญ่ของสมัชชาคนจนที่ไม่มีการชี้นำทางการเมือง ยืนยันว่าเรื่องพรรคการเมืองเป็นสิทธิของชาวบ้าน 

 
 
7 ก.ค. 2561 คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่าคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ได้จัดประชุมใหญ่ ตามกำหนดการที่ได้นัดหมายในวันที่ 2 ก.ค. 2561 ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมจำนวน 1,907 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน และติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งได้ประชุมเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น จึงขอชี้แจงสรุปผลการประชุมและรายงานเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
 
1. ที่ประชุมคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.)ได้มีมติที่ประชุมรับรองคณะทำงานจำนวน 18 คน ให้ทำหน้าที่ประสานงานกับแกนนำตัวแทนชาวบ้านอีกบ้านละ 1 คน (43 หมู่บ้าน)เพื่อวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เนื่องจากที่ผ่านมาขาดการดูแลบำรุงรักษาจนอาคารศูนย์ฯและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ มีสภาพทรุดโทรมผุพัง 
 
2. ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านโดยได้รับการสนับสนุน งบประมาณจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และใช้เป็นสถานที่ทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ โดยชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์ผูกขาดเป็นเจ้าของ หรือกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้ 
 
3. ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน บริหารจัดการโดยคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) มีสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล จำนวน 3,000 กว่าครอบครัว จาก 3 อำเภอ 56 หมู่บ้าน และเป็นคนละส่วนกันกับสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด ซึ่งมีปัญหาคาราคาซังและไม่ได้ดำเนินงานมาหลายปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด มีสมาชิกคงเหลืออยู่ประมาณ 300 คน 
 
4. นายกฤษกร ศิลารักษ์ (หรือ นายไพจิตร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ) ที่อ้างตัวเองเป็นผู้จัดการสหกรณ์ฯ เป็นผู้ดูแลสถานที่และต้องขออนุญาตใช้ก่อนนั้น ถือเป็นเรื่องเข้าใจผิด และสำคัญตัวเองผิดคิดเอาเอง เพราะว่านายกฤษกร ศิลารักษ์ ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น ในการใช้พื้นที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน หากจะอ้างตัวว่าเป็นพนักงานสหกรณ์ฯ ก็ต้องดูว่าสมาชิกสหกรณ์ฯ คิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ เพราะยังไม่ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ชี้แจงต่อสมาชิก ในการแต่งตั้งตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์อย่างเป็นทางการ เพียงหารือกับแกนนำกรรมการสหกรณ์ฯไม่กี่คน ก็ตั้งตนขึ้นมาควบคุมการดำเนินงานแนวทางกิจกรรมของสหกรณ์ฯ โดยที่สภาพที่แท้จริงของสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด ไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ มาเป็นเวลานานแล้ว จึงมีสมาชิกร้องเรียนไปยังสหกรณ์จังหวัด ให้ออกมาตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด 
 
5. สืบเนื่องจากการกระทำของนายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่มีพฤติกรรมอวดอ้างตัวเองเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจนฯพยายามครอบงำความคิดแกนนำชาวบ้านและประพฤติตนกล่าวอ้างอยู่เหนือองค์กรชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา นำพาชาวบ้านไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก สร้างความร้าวฉานภายใน จนชาวบ้านอึดอัดใจและห่วงกังวลว่าปัญหาจะบานปลายจนยากจะเยียวยา คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) จึงมีข้อสรุปให้ นายกฤษกร ศิลารักษ์ ยุติบทบาทการทำงานที่ใดๆเกี่ยวข้องกับชาวบ้านปากมูน และชวนเชิญให้กลับไปยังที่ที่เคยจากมา และขอยืนยันว่านายกฤษกร ศิลารักษ์ ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน ที่เป็นองค์กรของชาวบ้านตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด 
 
6. ช่วงเวลา 8.00 น.ชาวบ้านจำนวน 1,907 คน มีความจำเป็นต้อง สะเดาะแม่กุญแจเพื่อเปิดประตูรั้วเข้าไปใช้อาคารศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อติดตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูล การที่นายกฤษกร ศิลารักษ์  โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวและแชร์ต่อในที่สาธารณะกล่าวให้ร้าย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าเสมือนเป็นผู้กระทำการทุบกุญแจเข้าไปนั้นถือว่าเป็นการตั้งใจของนายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงและเบี่ยงเบนประเด็นให้กลายไปเป็นเรื่องการเมืองตามสถานการณ์นั้น ถือเป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่งและหมิ่นต่อการกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่กล่าวละเมิดต่อผู้อื่นพร้อมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง หากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจจะฟ้องร้องก็สามารถกระทำได้ ทั้งนี้คงเป็นเรื่องส่วนตัว
 
7. นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและครอบครัว เดินทางมาถึงศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เวลา 9.20 น. เพื่อมาแวะเยี่ยมเยียนกลุ่มชาวบ้านปากมูนที่กำลังประชุมกันตามปกติ ในฐานะลูกหลานที่เคยลงพื้นที่และร่วมต่อสู้กับชาวบ้านปากมูนตั้งแต่สมัยอดีตเป็นนักศึกษาและทำงาน สนนท. ชาวบ้านก็รักเหมือนลูกหลานคนหนึ่งเหมือนกับนักศึกษาคนรุ่นใหม่อีกหลายๆคน พอรู้ข่าวการมาเยี่ยมเยียนของเอก ธนาธร ชาวบ้านจึงตระเตรียมผูกข้อมือข้อบายศรีสู่ขวัญถือเป็นพิธีกรรมตามธรรมเนียมของคนอีสานที่แสดงความรักต้อนรับแขกผู้มาเยือน และพอทราบว่า เอก ธนาธร จะลงมือทำงานด้านพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ชาวบ้านก็แสดงความยินดีด้วยและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
 
8. คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) เคารพมติที่ประชุมพ่อครัวใหญ่ของสมัชชาคนจน ที่ไม่มีการชี้นำทางการเมือง ยืนยันว่าเรื่องพรรคการเมืองเป็นสิทธิของชาวบ้าน และมีจุดยืนชัดเจนว่าพวกเราไม่ฝักใฝ่เผด็จการและสนับสนุนระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างเต็มที่
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: อำนาจในถ้ำ

Posted: 07 Jul 2018 03:38 AM PDT

 

พบแล้ว 13 ชีวิต แม้ยังช่วยออกมาไม่ได้ คนส่วนใหญ่ ก็เบาใจ หันไปดราม่าหน้าถ้ำ เชิดชู สดุดี เล่าขาน ความซาบซึ้งประทับใจ แต่ก็ไม่วายตั้งคำถาม ถกเถียงกัน เช่น 13 ชีวิตเป็นฮีโร่หรือผู้ประสบภัย มหาดไทยย้ายผู้ว่าฯ ทำไม ครูบาบุญชุ่มเป็นผู้นำทางจิตใจ หรือไม่ควรเชื่อเรื่องงมงาย

คนเราก็เป็นอย่างนี้ เวลาเกิดภัยพิบัติ มักน้ำหนึ่งใจเดียว แต่พอเหตุการณ์ผ่านพ้น เวลาต้องสรุปข้อเท็จจริง เก็บรับบทเรียน ประเมินความเสียหาย จ่ายชดเชย ให้ความดีความชอบ ฯลฯ ก็ไม่ใช่ลงเอยกันง่าย

ใครที่ปลาบปลื้มว่าคนไทยร่วมแรงร่วมใจ เป็นจุดแข็ง ให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไป ก็ต้องเข้าใจความเป็นจริง การร่วมใจช่วยผู้ประสบภัย ไม่ใช่แปลว่าเรื่องอื่นร่วมกันได้ ความเห็นต่างความเห็นแตก ก็ยังแตกกันต่อไป เพียงแต่ระหว่างกู้ภัย คนทั่วไปไม่สามารถทำอะไรได้ ได้แต่เอาใจช่วยทีมกู้ภัยและรัฐบาล

แต่พอเหตุการณ์คลี่คลาย สังคมก็ย่อมกลับมาถกเถียงกันเรื่องต่างๆ เรื่องเลือกตั้ง เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ พลังดูดก็กลับมาพาดหัวข่าว จนชาวบ้านสงสัย ทำไมไม่ไปดูดน้ำในถ้ำบ้าง

ความขัดแย้งต่างๆ ไม่มีทางลงเอยง่าย เพราะเป็นเรื่องโครงสร้าง เรื่องของการจัดสรรแบ่งปันอำนาจ ให้คนไทยทุกกลุ่มทุกชั้นอยู่ร่วมกันได้ โดยต่างก็พึงพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งแน่ละ ไม่มีใครได้อะไรทุกอย่าง แต่อย่างน้อยก็ยังรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียง ได้รับความเป็นธรรม

คือถ้ารำคาญนัก จะลบคำว่าสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ทิ้งไปก็ได้ แล้วคิดใหม่จากศูนย์ ว่าทำอย่างไร จะให้คน 60 กว่าล้านอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้กติกาเดียว ที่ทำให้ทุกคนมีโอกาส มีเศรษฐกิจปากท้องดีขึ้น ได้รับบริการสาธารณะ อย่างสะดวกเท่าเทียม โดยขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าคนยุคปัจจุบันไม่ใช่ยุคสฤษดิ์ ถนอม ผู้ใหญ่ลี ทุกคนมีมือถือให้ไลฟ์สดออกโซเชี่ยล แถมยังแยกสีแยกข้างแสดงพลังมาสิบกว่าปี ลงเอยที่เสียงข้างมากเป็นฝ่ายแพ้ คับแค้น อัดอั้น ไม่ได้รับความยุติธรรม

คิดอย่างไรก็ไม่สามารถคิดให้พ้นจากคำว่าเสรีภาพ ประชา ธิปไตย นิติรัฐ การปกครองด้วยระบบกฎหมายที่มีมาตรฐานเสมอหน้า ซึ่งรากฐานของทุกอย่างคืออำนาจมาจากเลือกตั้ง

อ.เกษียร เตชะพีระ ชี้ว่า "รัฐพันลึก" ชนชั้นนำไทย อยากเป็นแบบจีน คือสร้างระบอบการเมืองอำนาจนิยม ควบคุมสังคมเข้มงวด แต่เศรษฐกิจเป็นทุนนิยม ที่เติบโตไม่หยุดยั้ง เพื่อให้คนระดับล่างพอใจไม่ต่อต้าน แม้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมการแสดงความคิดเห็น

เท่าที่ดู ระบอบตู่ก็เป็นอย่างนั้น รักนะ ประชาชน แต่อย่าต่อต้าน กินอาหารกลางวันหัวละ 20 บาทในถาดหลุมกับเด็กนักเรียน แจกบัตรคนจน ประชารัฐ ไทยนิยม ทำทุกอย่าง หวังให้ ปากท้องประชาชนดีขึ้น จะได้ไม่เรียกร้องต้องการอำนาจ

แต่ไม่รู้ทำไม ชาวบ้านบ่นว่าปากท้องแย่ และมองอย่างไร ก็ไม่เห็นโอกาสที่รัฐไทยจะทำได้แบบจีน หรือแบบรัสเซีย

ไม่ต้องพูดถึงบริบท ประวัติศาสตร์ จีนมาจากจุดต่ำสุด ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ 42 ปีก่อน ที่แน่ๆ รัฐราชการไทย ชนชั้นนำไทย ไม่ได้เข้มแข็งเป็นเอกภาพมีประสิทธิภาพอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังเป็นรัฐล้มเหลวรัฐล้าหลัง แต่สร้างภาพใหม่หลังรัฐประหาร ให้เป็นรัฐยิ่งใหญ่รัฐศักดิ์สิทธิ์ผู้มีอำนาจชี้ขาด โดยอ้างกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ที่ปั๊มออกมามากมาย ในช่วง 4 ปี

เผลอแป๊บเดียว ดูอีกทีก็กลายเป็นรัฐพันธนาการ รัฐแห่งการออกคำสั่ง ไม่ใช่รัฐบริการ สร้างปัญหาตั้งแต่คนทำมาหากิน ไปถึงคนทำงานภาครัฐ และรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ที่เจอทั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระ ส.ว.แต่งตั้ง

โธ่ถัง แค่รัฐบาลนี้จะสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟทางคู่ ก็ยังติดล็อกกฎหมายวินัยการคลัง

โครงสร้างทางการเมือง เอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องตลก จำใจต้องมี เลือกตั้ง แต่วางกลไกบังคับ ถ้าไม่สืบทอดอำนาจ หรือได้รับฉันทานุมัติ นักการเมืองจากเลือกตั้งชนะถล่มทลายก็บริหารประเทศไม่ได้

แต่ใครอยากสืบทอดอำนาจก็จำใจต้องเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในระบบที่มีฝ่ายค้าน ที่ต้องมีฐานนักการเมือง ปากพูดเรื่อง ธรรมาภิบาล แต่ดูดอดีต ส.ส.เข้าถ้ำสามมิตร จนตัวเองก็ตกเข้าไปในหลุมดำ อ้าว ไหนว่าคนดี แต่ดูหน้าพวกที่หนุนแต่ละราย อ้าว ไหนว่าจะจัดเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ทั้งหมดนี่มันเห็นกันชัดๆ ว่าไปทางไหนก็ลำบาก สืบทอดอำนาจก็อยู่ยาก ไม่สืบทอดก็ยุ่ง แต่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องดำน้ำ ดำลงไปแล้วจะคลำเชือกทางไหน ยังไม่รู้เลย



ที่มา: ข่าวสดออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวงวันที่ 14 เร่งหาโพรงส่งอากาศ-ระบายน้ำ

Posted: 07 Jul 2018 03:37 AM PDT

สรุปปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวงวันที่ 14 ผบ.ถ้ำหลวงระบุเร่งทำ 2 ภารกิจ "หาโพรงส่งอากาศ-ระบายน้ำ" ลำเลียงท่ออากาศไปยังจุดพบเข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย (เนินนมสาว) ปัจจุบันถึงแค่จุดโถง 3 ด้านบนสำรวจโพรงใหม่อีก 2 โพรง ที่ทหารลาดตระเวนผ่านและได้ยินเครื่องเสียงจักรกลทำงานด้านล่าง คาดว่าจะเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับหาดพัทยา

 
 
7 ก.ค. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แถลงย้ำถึงภารกิจที่ต้องทำต่อไปหลังจากการค้นหาเยาวชนทั้ง 13 คนเจอแล้ว คือ การกู้ภัย และส่งกลับ ซึ่งการกู้ภัยนั้นมีควมยากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการภารกิจค้นหา ทั้งนี้ยอมรับว่าการปฏิบัตงานในระยะดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์มาก่อนในโลก ส่วนที่หลายฝ่ายสอบถามว่าการทำงานที่ล่าช้า อาจทำให้เยาวชนทั้ง 13 คนเป็นอันตรายนั้น ตนขอชี้แจงว่าปัจจุบันได้ใช้เทคโนโลยี และความสามารถเฉพาะตัวของนักดำน้ำเข้าปฏิบัติหน้าที่และทำงานอย่างหนัก ดังนั้นผู้ที่ไม่อยู่หน้างานอาจไม่รู้ถึงความยากของภารกิจนี้
 
นายณรงค์ศักดิ์ แถลงด้วยว่าสำหรับภารกิจหลังจากนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การกู้ภัยเพื่อนำตัวเยาวชนออกมาจากถ้ำ และ การหาโพรง เพื่อนำอากาศและอาหารลงไปให้กับคนที่ติดในถ้ำ อย่างไรฏ็ตามการหาโพรงรวมถึงการเจาะถ้ำนั้นยังไม่มีจุดใดที่ตรงกับพื้นที่ที่ทีมเยาวชนหมู่ป่าอะคาเดมี่อยู่ เพราะพิกัดไม่ชัดเจน ขณะที่การระบายน้ำภายในถ้ำอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
 
"สิ่งที่ห่วงมากที่สุด คือ ปริมาณออกซิเจนที่อยู่ในถ้ำ เพราะหากปริมาณเหลือน้อยกว่า 12 เปอร์เซ็นต์อาจทำให้คนที่อยู่ภายในมีอาการมึน เบลอ หรือหมดสติได้ เพราะจะมีปัจจัยอื่นรวมด้วย ทั้งปริมาณคอร์บอนไดออกไซด์ เพราะหากออกซิเจนมีน้อยปอดจะไม่สามารถเปลี่ยนออกซิเจอกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ทำให้เกิดพิษในร่างกาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ เพิ่มอากาศภายในถ้ำ และจากการติดตามข้อมูลพบว่าพื้นที่โถง 3 มีปริมาณออกซิเจนเหลือน้อยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเจ้าหน้าที่ จึงนำถอนกำลังออกมาบางส่วนและเหลือไว้เฉพาะคนที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานเท่านั้น" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
 
นายณรงค์ศักดิ์ แถลงด้วยว่าสำหรบแผนกู้ภัยนั้นได้วางแผนและทดสอบเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งแต่ละแผนจะมีองค์ประกอบและปัจจัยพิจารณาที่สำคัญ อาทิ นำตัวเยาวชนออกทางหน้าถ้ำ แต่ปริมาณน้ำขณะนี้มีจำนวนมาก หากจะรอให้ระดับน้ำลดจนเข้า-ออกปลอดภัยนั้น ต้องรอไปจนถึงเดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคม ซึ่งตามแนวทางช่วยเหลือแผนที่จะรอนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการตัดสินใจช่วยเหลือ ยอมรับว่าทุกทางมีความเสี่ยง ดังนั้นแผนช่วยเหลืออาจไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก
 
ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวถึงสภาพของ 13 เยาวชนที่ติดในถ้ำหลวง ด้วยว่า มีสภาพร่างกายที่ดี แต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย และอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ดังนั้นในอีก 1-2 วันหากสภาพร่างกายของเยาวชนดีขึ้น สภาพอากาศดี และสถานการณ์น้ำดีที่สุด ต้องหารือถึงการปฏิบัติการร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดต่อการนำตัวเยาวชนกลับบ้านอย่างปลอดภัย
 
"ผมขอความกรุณาสื่อหลายๆ ท่านหรือเกรียนคีย์บอร์ดที่อาจจะมีประสบการณ์จากการอ่านตำราอย่างเดียวไม่เคยออกมาเจอสถานการ์จริงหน้างาน เพราะหน้างานคนที่อยู่ตรงนี้ทราบสถานการณ์ดี ไม่เหมือนคนที่เล่นหมากรุกคนที่เล่นดูไม่ออก แต่คนดูคนนอกรู้ว่าคนไหนจะชนะ แต่คนเล่นเล่นทีไรก็แพ้ ดังนั้นเราจึงได้มองหลายๆมุม โดยหารือกับผู้ที่มีความรู้ นักวิชาการ ที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ เพื่อให้สิ่งที่ออกมาดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ในสถานการณ์ของพวกเรา และเอาชนะสงครามที่เหลือ คือ การสู้กับน้ำและรักษาน้องๆ ให้ได้" ผู้บัญชาการศูนย์ฯ กล่าว
 
ลำเลียงท่ออากาศไปยังจุดพบเข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย (เนินนมสาว) ปัจจุบันได้ลำเลียงถึงจุดโถง 3
 
เพจกองทัพเรือ Royal Thai Navy รายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. การปฏิบัติของชุดช่วยเหลือ (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.)/NAVY SEAL) เพื่อช่วยเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปฏิบัติการของ NAVY SEAL ณ วันที่ 14 การปฏิบัติ จัดชุดช่วยเหลือฯ (NAVY SEAL) จำนวน 3 นาย, พ.ท.ภาคย์ โลหารชุน ฝึกทักษะการดำน้ำ ทำการตรวจประเมินสุขภาพและฟื้นฟูให้กับผู้ประสบภัย โดยจัดชุดช่วยเหลือฯ (NAVY SEAL) ส่วนใหญ่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารบก, นักดำน้ำจากต่างประเทศ (อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, จีน) ,นักดำน้ำอาสาสมัครกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ กฝผ. ดำเนินการลำเลียงอาหาร , เกลือแร่ , น้ำดื่ม , ยา และขวดอากาศ เข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย (เนินนมสาว) ดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำบริเวณปากทางเข้าถ้ำ และโถง 2 ลำเลียงขวดอากาศเพิ่มเติมเพื่อให้ชุดช่วยเหลือฯ (NAVY SEAL) สามารถปฏิบัติงานได้เพียงพอ พร้อมทั้งสำรวจหาโพรงที่อาจจะสามารถเชื่อมต่อกับเนินนมสาวหรือบริเวณใกล้เคียง
 
ทั้งนี้พบว่าระดับน้ำจุดเริ่มดำ 50 ซม. คงที่จากที่ผ่านมา หน้าถ้ำ 24 ซม. คงที่จากที่ผ่านมา ด้านสภาพอากาศไม่มีฝนตก ส่วนผู้ประสบภัยที่อยู่ในถ้ำ 13 คน ปลอดภัย ความตั้งใจในการปฏิบัติต่อไป ดำเนินการที่ได้ปฏิบัติมา รวมถึงการดำเนินการลำเลียงท่ออากาศไปยังจุดพบเข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย (เนินนมสาว) ปัจจุบันได้ลำเลียงถึงจุดโถง 3
 
คณะทำงานจะสำรวจโพรงใหม่อีก 2 โพรง ที่ทหารลาดตระเวนผ่านและได้ยินเครื่องเสียงจักรกลทำงานด้านล่าง คาดว่าจะเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับพัทยาบีช
 
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อเวลา 16.36 น. ว่านายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจำนวน 180 นาย พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้เร่งออกสำรวจโพรงถ้ำที่คาดว่าอยู่ใกล้เนินพัทยาบีช ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเพิ่มเติม หลังจากเมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ได้ร่วมกับทีมเก็บรังนกนางแอ่น บนเกาะลิบง จ.ตรัง ออกสำรวจโพรงถ้ำไป 4 จุด แล้วพบว่าไม่สามารถไปต่อได้ทั้งหมด ซึ่งความสูงของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร วันนี้จะสำรวจโพรงใหม่อีก 2 โพรง ที่ทหารลาดตระเวนผ่านและได้ยินเครื่องเสียงจักรกลทำงานด้านล่าง คาดว่าจะเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับพัทยาบีชเลยจากโถงที่ 3 มาแล้ว และเลยบริเวณที่หน่วยซีลดำน้ำผ่านเข้าไป นอกจากนี้ยังได้แบ่งกำลังไปสำรวจเส้นทางน้ำบริเวณกิ่วคอนาง และลำห้วย 3 เส้น คือลำห้วยกิ่วคอนาง ห้วยน้ำดั้น และห้วยฮี้ เพื่อหาทางเบี่ยงเบนลำน้ำไม่ให้น้ำไหลลงไปในถ้ำและเพิ่มระดับน้ำขึ้นอีก นอกจากนั้นจะลาดตระเวนสำรวจโพรงถ้ำบริเวณผาฮี้ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร เป็นพื้นที่ราบที่อยู่บนเขา ซึ่งการเดินทางยากลำบากต้องสำรวจทั้งวันทั้งคืน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยยอดเสียชีวิตเหตุเรือล่มภูเก็ตล่าสุดรวม 41 คน

Posted: 07 Jul 2018 02:53 AM PDT

เจ้าหน้าที่อาจต้องขยายพื้นที่ค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้สูญหายจากเหตุเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต ล่าสุดช่วงบ่ายของวันที่ 7 ก.ค. พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 41 ราย พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลแล้ว 17 ราย

 
 
7 ก.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่าขณะนี้ (เวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 7 ก.ค.) ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 41 คน และยังสูญหาย 15 คน ยืนยันปฏิบัติการในวันนี้จะยังไม่ยุติลง และจะพยายามหาผู้สูญหายให้ครบในวันนี้ (7 ก.ค.) และเจ้าหน้าที่อาจต้องขยายพื้นที่ค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้สูญหาย โดยจะเน้นที่ซากเรือฟีนิกซ์ไดวิ่งบริเวณห้องโถงและห้องเครื่อง นอกจากนี้ผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต ยังระบุว่าพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลแล้ว 17 ราย ส่วนอุปสรรคสำคัญในการค้นหาคือความลึกถึง 40 เมตร
 
สธ.ตั้ง รพ.วชิระภูเก็ตเป็น One stop service เหตุเรือล่ม
 
ก่อนหน้านี้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตำรวจ ทหาร เจ้าของบริษัทเรือ ว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาล (รพ.) วชิระภูเก็ต บูรณาการการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรือล่ม ภายใต้การสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด  ขณะนี้อยู่ระหว่างการค้นหานักท่องเที่ยวที่สูญหาย
 
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานดูแลสำหรับผู้ประสบเหตุเรือล่มทั้งหมด อาทิ การติดตามผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย การเยียวยาผู้ประสบภัย การประสานส่งกลับ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน จิตอาสา สมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ช่วยเป็นล่าม รวมทั้งจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช ดูแลด้านสุขภาพจิตร่วมกับจิตอาสาและล่าม สำหรับญาติและผู้ร่วมทริปเดินทาง ระหว่างรอการค้นหาผู้ประสบภัยและรอการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต 
 
ส่วนผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาเหลือนอนพักรักษา 13 คนใน 2 โรงพยาบาล คือ รพ.องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต 10 คน และรพ.วชิระภูเก็ต 3 คน ทุกคนอาการปลอดภัยอยู่ระหว่างฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ 
 
"รมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยมอบให้ผมมาดูแล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งเราพร้อมจะสนับสนุนดูแลเต็มที่ในทุกเรื่องร่วมกับหน่วยงานอื่นๆทั้งตำรวจ ทหาร ท้องถิ่น เอกชน อาสาสมัคร และจิตอาสา" ปลัดสธ. กล่าว
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ชินวัฒน์' ปราม ส.ส.เพื่อไทยย้ายพรรค หากไปอยู่กับซีกเผด็จการอาจเป็น 'แกะดำ'

Posted: 07 Jul 2018 02:20 AM PDT

'ชินวัฒน์ หาบุญพาด' อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ระบุหาก ส.ส.เพื่อไทยและนักประชาธิปไตยย้ายไปอยู่ซีกเผด็จการ ไม่นึกถึงวันที่เคยขึ้นเวทีพูดเรื่องประชาธิปไตยกับประชาชนไว้บ้างหรือ เท่ากับโกหกคนทั้งประเทศ แน่ใจหรือว่าจะได้เป็น ส.ส. จะได้ทำงาน ไปอยู่ตรงนั้นก็เป็นแกะดำอีก 

 
นายชินวัฒน์ หาบุญพาด อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง
 
7 ก.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายชินวัฒน์ หาบุญพาด อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีออกมาโจมตีอดีต ส.ส. และนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่ย้ายพรรคไปร่วมงานกับขั้วตรงข้าม โดยถึงขั้นเปรียบเปรยเป็นโสเภณีย้ายซ่อง (อ่านรายละเอียดข่าว : กระหรี่ย้ายซ่อง! แกนนำเสื้อแดงด่าแหลก อดีต ส.ส.เพื่อไทยย้ายพรรค) ว่าที่พูดอย่างนั้นก็เพื่อจะบอกว่า คนที่ย้ายออกบางคน โดยเฉพาะคนที่เคยร่วมเวทีเสื้อแดงแล้วย้ายออกไป เป็นเหมือนพวกยาหมดอายุแล้ว คนพวกนี้จะไปอยู่ซีกเสื้อเหลืองเขาก็ไม่เอา เลยต้องมาอยู่ตรงนี้ บางคนเคยต่อสู้กับประชาชนมา เรียกร้องประชาธิปไตย หากไปอยู่พรรคซีกประชาธิปไตยจะไม่ว่าเลยแต่ไปอยู่กับซีกเผด็จการอย่างนี้ไม่นึกถึงวันที่เคยขึ้นเวทีพูดเรื่องประชาธิปไตย บอกเผด็จการไม่ดี ที่เคยพูดไว้กับประชาชนบ้างหรือ การทำอย่างนี้เท่ากับโกหกคนทั้งประเทศใช่หรือไม่ แล้วแน่ใจหรือว่า ไปอยู่ตรงนั้นแล้วจะได้เป็น ส.ส. จะได้ทำงาน เพราะภาพคุณมีความเป็นเสื้อแดงอยู่ไปอยู่ตรงนั้นก็เป็นแกะดำอีก 
 
"ที่ผมเปรียบเทียบพวกย้ายพรรคเป็นเหมือนโสเภณีนั้น ไม่ได้เป็นการดูถูกหรือเหยียดหยามผู้หญิงที่ทำอาชีพนี้ แต่เพื่อต้องการทำให้มองเห็นแบบชี้ชัดว่า ไม่ใช่ว่าซ่องไหนดีกว่าหรือได้ตังค์มากกว่า ได้ประโยชน์มากกว่าเลยต้องถีบออกจากที่เดิม ที่ผ่านมาก็เห็นแล้ว การบริหารเป็นอย่างไร เศรษฐกิจก็ไม่ดี บ้านเมืองก็วุ่นวายแล้วยังไปอยู่กับกลุ่มนี้ แล้วประเทศ ประชาชนจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เท่ากับทำลายนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหมดหรือไม่ คนเลยยิ่งด่าว่านักการเมืองเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์"
 
นายชินวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแกนนำกลุ่มสามมิตร ต้องดูว่ามาเล่นการเมืองหวังเรื่องอะไร ในอดีตเคยมีตำแหน่งเป็นอดีตเลขาธิการพรรค เป็นเพราะประชาชนศรัทธาในความเป็นพรรค ไม่ใช่ตัวคุณ ดังนั้นอย่าทะนงตัวว่าไปอยู่พรรคไหนแล้วจะได้เป็นรัฐบาล
 
เมื่อถามว่า ส่วนตัวถูกทาบทามให้ไปร่วมงานพรรคการเมืองอื่นบ้างหรือไม่ นายชินวัฒน์ กล่าวว่า มี แต่ไม่ใช่พรรคทหาร แต่เป็นพรรคที่พรรคพวกแยกออกไปตั้งพรรคเอง แต่ก็ได้บอกว่า ถึงเป็นนักการเมืองคนจน ก็ไม่ได้ต้องการตำแหน่ง ขออยู่กับพรรคที่ยังยืนในระบอบประชาธิปไตยต่อไป พรรคไหนที่ตั้งขึ้นแล้วสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ยินดีกับทุกพรรค แต่ถ้าไปอิงกับทหาร รัฐบาลนี้หรือไปสนับสนุนบิ๊กไหนก็ตาม หากเป็นเพื่อนกันก็ต้องขอตัดขาดจากความเป็นเพื่อนกัน
 
นายชินวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ต้องไปดูว่าทำไม เป็นเพราะไม่ถูกใจแล้วถึงย้ายใช่หรือไม่ บ้านเมืองเรา คนมีอำนาจถ้ามีอำนาจแล้วใช้อย่างเป็นธรรม ยุติธรรม คงไม่ว่า ไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ มันเลยเกิดความแตกแยก เมื่อก่อนเป็นเสื้อสี วันนี้มีสีรัฐบาลอีก ไปเป็นศัตรูคนอีกซีกเท่ากับก่อตัวเป็นอีกกลุ่มขึ้นมาอีก บ้านเมืองจะสงบได้อย่างไร แล้วจะมาอยู่ต่ออีก5 ปี 10 ปี พวกที่ไปสนับสนุน ไม่ได้มองตรงนี้เลยหรือ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่งฟ้อง 38 ผู้ชุมนุมอยากเลือกตั้งชุด UN 62

Posted: 07 Jul 2018 01:57 AM PDT

อัยการส่งฟ้อง 38 ผู้ชุมนุมอยากเลือกตั้งชุด UN62 ชุมนุมครบรอบ 4 ปี คสช. 5 ข้อหา ศาลนัดตรวจหลักฐานเช้า 20 ส.ค.นี้

 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อ 6 ก.ค. 2561 เวลา 9.30 น. ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตได้นัดหมายผู้ต้องหาในคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ ในช่วงกิจกรรมครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 หรือคดี "UN62" เพื่อสั่งฟ้องคดีต่อศาล
 
สำหรับการยื่นฟ้อง อัยการได้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดใน 5 ข้อหาหลัก ได้แก่
 
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก
- ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้แก่ กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (1)(3), มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11, ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16 (1)(4)(7)(9) และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 และ 114 เรื่องการเดินขบวนและวางสิ่งของกีดขวางการจราจร
 
อัยการยังได้บรรยายฟ้องถึงการชุมนุมเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีวัตถุประสงค์ปราศรัยแสดงความคิดเห็น ขับไล่และโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช. เรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุนและเลิกปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล เรียกร้องให้ทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ทหารออกมายืนเคียงข้างกับผู้ชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลและคสช. ซึ่งเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนและข้าราชการทหารเกิดความกระด้างกระเดื่อง
 
อัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปถึงเหตุการณ์ชุมนุมพร้อมระบุว่าจำเลยทั้ง 38 ไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุมทางการเมืองจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม และทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ และสถานศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กีดขวางการจราจาร และได้บังอาจร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยร่วมกันใช้รถยนต์ขับขี่เข้าชนแนวแผงเหล็ก ร่วมกันใช้มือยื้อยุดฉุดกระชากและผลักแนวแผงเหล็กได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายนาย และเมื่อเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ออกคำสั่งให้เลิก จำเลยทั้ง 38 คนไม่ยอมเลิกการชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
 
ศาลแขวงดุสิตได้รับฟ้องคดีนี้ไว้ จำเลยทั้งหมดจึงได้ถูกนำตัวเข้าไปยังห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่เวลาประมาณ 12.25 น. ศาลแขวงดุสิตจะอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้ง 38 คน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกัน เนื่องจากจำเลยทั้งหมดมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ศาลแขวงดุสิตได้กำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 20 ส.ค 25.61 เวลา 9.00 น.
 
สำหรับคดีนี้มี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ คณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช. เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวน 41 ราย และผู้ที่ถูกออกหมายเรียกได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 61
 
ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในส่วนของนายชเนศ ชาญโลหะ คนเสื้อแดงในจังหวัดระยองและเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ซึ่งให้การตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทั้งสองวันดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับถูกแจ้งความดำเนินคดี
 
ส่วนผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 1 ราย ได้แก่ น.ส.อาอิซะห์ เสาะหมาน ไม่ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกันกับผู้ถูกออกหมายเรียกคนอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีการขออำนาจศาลในการออกหมายจับแล้ว
 
หากนับตั้งแต่วันแจ้งข้อกล่าวหาจนถึงการสั่งฟ้องของอัยการในวันนี้เป็นเวลา 1 เดือนพอดี โดยที่อัยการเพิ่งได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ จำเลยหนึ่งรายในคดีนี้ คือนางสาวนีรนุช เนียมทรัพย์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แม้จะให้การยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา แต่ไปปฏิบัติหน้าที่เก็บข้อมูลและสังเกตการณ์การชุมนุมในฐานะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ โดยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ผู้ต้องหาได้มีการแขวนบัตรและสวมเสื้อเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ เพื่อแสดงตัวตามปกติของการปฏิบัติงานแล้ว แต่ก็ยังมีการสั่งฟ้องจำเลยรายนี้ในที่สุด
 
แก้ไขเนื้อหาเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2561 เวลา 18.00 น.

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด ‘ข้อเสนอบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้าน’ แนะปรับสิทธิบัตรทองครอบคลุม ลดภาระ รพ.

Posted: 07 Jul 2018 01:11 AM PDT

เปิด "ร่างข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้าน" เขตสุขภาพที่ 7 ปรับระบบบัตรทองครอบคลุมกลุ่มคนไร้บ้าน-คนไทยไม่มีบัตรประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงการรักษาได้ เสนอจัดสรรงบดูแล ลดภาระค่าใช้จ่าย รพ. พัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูล พร้อมจัดแนวทางเบิกจ่ายและบริการจำเพาะสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน อาทิ สนับสนุนค่าเดินทาง การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิกรุก และการจัดให้มีผู้ประสานงานเพื่อติดตามดูแลต่อเนื่อง  

        
 
7 ก.ค. 2561 ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนนามกุล หัวหน้ากลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะคณะทำงาน (ร่าง) ข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยแก่นสารสิน) กล่าวว่า การจัดทำร่างข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านฯ เริ่มต้นจาก สปสข.เขต 7 ขอนแก่น ได้จัดกระบวนการรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไร้บ้านเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกนำเสนอ จึงได้ประสานให้ร่วมเป็นคณะทำงานตั้งต้นในการรับฟัง รวบรวมความเห็น และจัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงบริการได้   
 
ทั้งนี้คนไร้บ้านเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีที่อยู่และพื้นเพไม่เอื้อต่อความเป็นอยู่ปกติเหมือนคนทั่วไป ดังนั้นในเรื่องสุขภาพไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจทั้งในและต่างประเทศ จะพบปัญหาสุขภาพที่แย่กว่าคนทั่วไปในหลายมิติ ทั้งการเจ็บป่วย โรคเรื้อรังและอายุขัยที่สั้นกว่าคนทั่วไป รวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่มีบัตรประชาชน หลายคนเคยมีบัตรประชาชนแล้วหาย ไม่ต่ออายุบัตร และมีทั้งที่ไม่เคยมีบัตรประชาชนมาก่อนเลย ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งที่จากที่ได้สัมผัสพูดคยคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นคนต่างชาติ และมีอยู่จำนวนไม่น้อย จากที่เคยทำสำรวจกลุ่มคนไร้บ้าน เฉพาะในเทศบาลนครขอนแก่นมีประมาณกว่าร้อยคน    
 
"ที่ผ่านมาได้มีความพยายามคืนสิทธิความเป็นคนไทยให้กับคนกลุ่มนี้ จากที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คนไร้บ้านบางคนที่เคยมีบัตรประชาชนและอยากทำบัตร เราก็จะช่วยเหลือพาไปทำ โดยประสานเจ้าหน้าที่เพื่อค้นข้อมูลเดิมในฐานะทะเบียนราษฎร์และยืนยันตัวตนให้ ทำให้ได้สามารถทำบัตรประชาชนได้ แต่บางคนที่ไม่มีหลักฐานใดๆ เลย เป็นเรื่องยาก ทั้งยังมีขั้นตอนพิสูจน์สิทธิที่ยุ่งยาก เพราะต้องตามหาญาติพิสูจน์ตรวจดีเอ็นเอ ทำให้คนเหล่านี้จึงยังคงไม่มีบัตรประชาชนและเสียสิทธิต่างๆ ตามสวัสดิการรัฐที่ควรได้รับ"
 
อย่างไรก็ตามในกรณีที่จำเป็นต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยในกลุ่มที่ยังพิสูจน์สถานะไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาจากที่ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ อย่าง โรงพยาบาลขอนแก่นจะให้การดูแลคนเหล่านี้ค่อนข้างดี โดยให้การรักษาพยาบาลก่อนและมีนักสังคมสงเคราะห์คอยดูแล ซึ่งกรณีที่ไม่มีเงินค่ารักษาโรงพยาบาลจะไม่เรียกเก็บ แต่ปัญหาคือหากโรงพยาบาลต้องดูแลคนกลุ่มนี้ต่อเนื่อง โดยไม่มีงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน จะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ ดังนั้นจึงนำมาสู่การระดมความเห็นเพื่อร่วมหาทางออก
 
ผศ.ดร.วิบูลย์ กล่าวว่า ในการจัดทำร่างข้อเสนอบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านนั้น คณะทำงานได้ทำรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจสุขภาพคนไร้บ้าน เปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและศูนย์จิตเวชในพื้นที่ เอ็นจีโอที่ทำงานกับคนไร้บ้าน เป็นต้น และได้จัดเวทีระดมความเห็น โดยได้สังเคราะห์ข้อเสนอในร่างข้อเสนอบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านเพื่อเดินหน้าในระบบบัตรทอง อาทิ สปสช.ควรจัดสรรเงินดูแลสุขภาพคนไร้บ้าน โดยมีแนวทางการเบิกจ่ายเพื่อการดูแลที่มากกว่าคนทั่วไป อย่างค่าเดินทาง เพราะคนเหล่านี้ไม่มีเงิน ค่าเดินทางจึงเป็นอุปสรรคหนึ่งต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ, การสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก ไม่เพียงบริการนอกสถานที่ แต่เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับชุมชน, การจัดให้มีผู้ประสานงาน รับผิดชอบและติดตามสุขภาพคนไร้บ้าน โดยใช้แนวคิดเดียวกับการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
ข้อเสนอให้ สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รุกดูแลคนไร้บ้านที่เป็นเด็กให้ครอบคลุมบริการที่จำเป็น เช่น การแจ้งเกิด การให้วัคซีน การดูแลสุขภาพและป้องกันโรคทุกช่วงวัย เป็นต้น, สปสช.ควรให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จำเป็น ครอบคลุมบริการจำเป็นสำหรับคนไร้บ้านจำเพาะ อาทิ การตรวจหาเชื้อวัณโรค ไม่เพียงแต่นำไปสู่การรักษา แต่ยังเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาและการแพร่ระจายโรค, สปสช.ควรกำหนดหลักเกณฑ์การส่งต่อคนไร้บ้านเป็นกรณีเดียวกับอุบัติเหตุที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องสิทธิการรักษาหรือค่าใช้จ่ายในการรักษา เนื่องจากคนไร้บ้านส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสิทธิ ไม่มีบัตรประชาชนและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ สปสช.ควรพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลการบันทึกกิจกรรมให้สามารถบันทึกกิจกรรมการรักษากลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชนได้ เพื่อเป็นฐานข้อมูล ทั้งจำนวนและการบริการ เพื่อสนับสนุนนการจัดสรรงบประมาณ และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยบริการในการดูคนกลุ่มนั้  
 
นอกจากนี้ยังให้ สปสช.ควรร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สช. ในการสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติคนในสังคมที่มีต่อคนไร้บ้านที่เป็นอุปสรรคสำคัญค่อการพัฒนาเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจในการประสานการนำส่งคนไร้บ้านเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้บ้าน ศูนย์จิตเวช และสถานีตำรวจ เป็นต้น
 
หัวหน้ากลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า จากข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านนี้ คณะทำงานฯ จะนำเสนอต่อ สปสช.เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อเสนอบางส่วน สปสช.สามารถที่จะดำเนินการได้ทันที เช่น การพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลการบันทึกกิจกรรมของคนไร้บ้านที่เข้ารับบริการยังโรงพยาบาล แต่บางข้อเสนออาจต้องใช้เวลาและผลักดัน อย่างการจัดงบประมาณเพื่อจัดบริการสุขภาพสำหรับคนไร้บ้าน ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการจัดสรรงบประมาณรวมถึงการเบิกค่าใช้จ่ายจะต้องผูกติดกับบัตรประชาชนและเลข 13 หลัก ที่คนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่มี ทั้งการพิสูจน์สิทธิยังเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก
 
อย่างไรก็ตามจากมติบอร์ด สปสช.เมื่อปี 2549 ในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข ได้เห็นชอบให้เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติงบระบบบัตรทองให้ครอบคลุมประชากรที่รอพิสูจน์สถานะ เป็นช่องทางที่เป็นไปได้ เพราะหากปล่อยให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่ารักษากลุ่มคนไร้บ้านเอง แนวโน้มอนาคตจะทำให้โรงพยาบาลไม่อยากดูแลคนกลุ่มนี้ เพราะไม่สามารถเบิกเงินสนับสนุนได้ อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับกองทุนรักษาพยาบาลคนรอพิสูจน์สถานะ เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเน้นการดูแลเฉพาะชาวเขาที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบของประเทศ และกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 50-60 ปี   
 
"หลายคนสงสัยว่าทำไมเราต้องไปช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน บางคนก็เมาเหล้า บางคนก็ติดยา ซ้ำขโมยของ ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งเป็นปัญหาสังคม แต่เมื่อเข้าไปดูต้นเหตุที่ทำให้เขาเหล่านี้กลายเป็นคนไร้บ้าน นอกจากจากปัจจัยตัวบุคคลแล้ว และมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งรายได้ การศึกษา และความเป็นอยู่ เป็นต้น สังคมจึงเป็นผู้ผลิตคนไร้บ้าน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือเพื่อลดช่องว่างนี้ และการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไร้บ้านได้รับการดูแลที่ดีขึ้นได้" ผศ.ดร.วิบูลย์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. ประณามการวางกับระเบิดในพื้นที่สวนยางพารายะลา

Posted: 07 Jul 2018 12:16 AM PDT

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ประณามการวางกับระเบิดในพื้นที่สวนยางพาราจังหวัดยะลา

 
 
7 ก.ค. 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ประณามการวางกับระเบิดในพื้นที่สวนยางพาราจังหวัดยะลา โดยระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-5 ก.ค. 2561 ได้เกิดเหตุระเบิดในบริเวณสวนยางพารา พื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 5 ครั้ง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการฝัง 'กับระเบิด' ไว้ในบริเวณสวนยางพาราเป็นเหตุให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งสิ้นจำนวน 5 ราย
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมาย และละเมิดสิทธิในชีวิตด้วยการวางกับระเบิดในสวนยางพาราอันเป็นพื้นที่ทำมาหากินของเกษตรกรและเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาอยู่เสมอ จึงเป็นการกระทำที่หวังผลทำลายล้างโดยไม่เลือกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประชาคมโลกไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ค.ศ. 1997 หรือ อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2542
 
กสม.มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่งและขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยการวางกับระเบิดหรือทุ่นระเบิดสังหารบุคคลผู้บริสุทธิ์ในครั้งนี้ อนึ่ง กสม. จะติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิดโดยหวังว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับ ยับยั้ง ภยันตรายทั้งปวงที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความสงบสุขอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลระบุประทับใจคนไทยสามัคคีกันมากที่สุดจากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง

Posted: 06 Jul 2018 11:40 PM PDT

กรุงเทพโพลสำรวจความเห็น 1,198 คน 91.2% ระบุว่าปรากฏการณ์ที่ประทับใจมากที่สุด จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คือได้เห็นความสามัคคี ความมีน้ำใจและความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันทั้งชาวบ้านและจิตอาสา 52% อยากแทนความสำเร็จของการค้นหา 13 ชีวิต ด้วยคำว่า "ขอบคุณความเสียสละและความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย" ทั้งนี้บทเรียนหรือข้อคิดที่คนไทยได้จากปฏิบัติการครั้งนี้คือ ทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือต้องปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการจึงสำเร็จ

 
 
7 ก.ค. 2561 จากข่าวการปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายในขณะนี้ กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  จึงสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง"ปรากฏการณ์ที่คนไทยเห็นจาก ปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต...ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,198 คน พบว่า
 
ปรากฏการณ์ที่คนไทยเห็นและประทับใจมากที่สุด จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คือ ได้เห็นความสามัคคี ความมีน้ำใจและความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันทั้งชาวบ้านและจิตอาสา ร้อยละ 91.2 รองลงมาคือ เห็นการอาสาเข้าช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากนานาชาติ ร้อยละ 80.8 และเห็นความความช่วยเหลือจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เช่น การเดินสายไฟ เครื่องสูบน้ำ เครื่องเจาะบาดาล การวางถังออกซิเจน ฯลฯ ร้อยละ 76.9 นอกจากนี้ยังเห็นถึงความกระตือรือร้นของภาครัฐทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ นายกฯ ผู้ว่า ตำรวจ ทหาร ร้อยละ 76.2 และเห็นประชาชนทั่วประเทศร่วมเกาะติดสถานการณ์และส่งใจไปช่วยทหารหน่วย ซีล ในการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ร้อยละ 68.4
 
ทั้งนี้ความสำเร็จของการค้นหา 13 ชีวิตครั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่อยากแทนด้วยคำพูดว่า "ขอบคุณความเสียสละและความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย" ร้อยละ 52.0 รองลงมาคือ "คนไทยไม่ทิ้งกัน" ร้อยละ 31.0 และ "สุดยอดมาก" ร้อยละ 6.9
 
สำหรับบทเรียนที่คนไทยได้จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คนไทยส่วนใหญ่ระบุว่า ความสำเร็จในการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง เกิดจากการปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ร้อยละ 39.0 รองลงมาระบุว่า ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือกันและกันจากสังคมทั่วโลกในยามคับขันเป็นสิ่งสำคัญและมีค่า ร้อยละ 31.0 และระบุว่าผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ร้อยละ 14.5
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อียูลงมติคัดค้าน มาตรา 13 กม. ลิขสิทธิ์ออนไลน์ใหม่ หลังถูกประท้วงจากหลายฝ่าย

Posted: 06 Jul 2018 11:01 PM PDT

จากกรณีที่ชาวเน็ตและผู้ให้บริการข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตอย่างวิกิพีเดียประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางสภายุโรปลงมติคัดค้านมาตรา 13 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว โดยผู้วิพากษ์วิจารณ์บอกว่ามันเป็นมาตราที่เป็นอันตรายต่ออินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี

 
 
สื่อ Wired รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ระบุว่าสภายุโรปลงมติคัดค้านมาตรา 13 ของร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ฉบับใหม่ หลังจากมีการประท้วงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นภัยต่ออินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี สภายุโรปลงมติคัดค้านมาตราดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 318 ต่อ 278 โหวต โดยมี 31 เสียงที่งดออกเสียง
 
การโหวตคัดค้านมาตราดังกล่าวทำให้ร่าง กม. ถูกส่งกลับไปในกระบวนการร่างใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ของอียูจะมีการนำมาถกเถียงอภิปรายอีกครั้งในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ทำให้กลุ่มผู้แทนฯ มีเวลาในการหารือและปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ต่อไป 
 
หนึ่งใน ส.ส. ยุโรปที่ต่อต้านกฎหมายใหม่นี้คือ จูเลีย เรดา สมาชิกสภายุโรปจากพรรคโจรสลัด (Pirate Party) เธอระบุถึงเรื่องการลงมติคัดค้านมาตรา 13 ผ่านทวิตเตอร์ว่าถือเป็น "ความสำเร็จครั้งใหญ่ การประท้วงของพวกคุณได้ผล!"
 
ร่างกฎหมายมาตราดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ผลักภาระให้กับเว็บไซต์ต่างๆ มากเกินไปในการตรวจเช็คเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ที่ต่อต้านในเรื่องนี้มีทั้ง พอล แมคคาร์ทนีย์ อดีตสมาชิกวงดนตรีบีทเทิลและผู้คิดค้นระบบเวิร์ลไวด์เว็บ ทิม เบอร์เนอร์ลี
 
สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงอังกฤษ (BPI) แถลงถึงเรื่องการโหวตคัดค้านในครั้งนี้ว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายในการ "อธิบายว่ามาตรการที่เสนอมานี้จะให้ผลประโยชน์ไม่ใช่เพียงต่อความคิดสร้างสรรค์ของชาวยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและภาคส่วนเทคโนโลยีด้วย" แต่มูลนิธิโมซิลลาเจ้าของเบราเซอร์ Firefox ชื่นชมการโหวตคัดต้านในครั้งนี้ว่า กม. ลิขสิทธิ์อียูจะบีบให้บริษัทอินเทอร์เน็ตต้องกรองเว็บตัวเองและทำให้เกิดการเก็บภาษีการวางลิงค์ออนไลน์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
สื่อ Wired ระบุว่าการลงมติในครั้งนี้แต่ละกลุ่มก็มีการพยายามวื่งเต้นในแบบของตัวเอง ขณะที่ฝ่ายเจ้าของลิขสิทธิ์อ้างว่าควรจะมีกฎหมายที่บังคับใช้กับระบบตลาดในอียู แต่สำหรัยคนจำนวนมากมองว่าร่างกม.ฉบับนี้ยังคงคลุมเครือมากเกินไปและมีการบังคับใช้ตีขลุมกว้างเกินไปโดยที่ไม่มีความเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตทำงานอย่างไร
 
ในจดหมายเปิดผนึกต่อต้านกม.นี้จากผู้นำไอที 70 ราย รวมถึงเบอร์เนอร์-ลี  เตือนว่าร่างกม.นี้จะเป็น "ภัยร้ายแรง" ต่ออนาคตของอินเทอร์เน็ต โดยที่นอกจากกม.มาตรา 13 ที่ระบุให้บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์จริงจังมากขึ้นแล้ว อีกมาตราหนึ่งคือมาตรา 11 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเรื่องการบังคับให้ต้องจ่ายเงินถ้าหากมีการแชร์ลิงค์ด้วย ทำให้ถึงแม้ว่ามาตรใหม่นี้จะอ้างเจตนาว่าต้องการอัพเดทกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เข้ากับเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่บางส่วนของกม.นี้ก็ใช้การจริงไม่ได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการใช้ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกสร้างสรรค์ต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตด้วย
 
 
เรียบเรียงจาก
The EU's dodgy Article 13 copyright directive has been rejected, Wired, 05-07-2018
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มพยาบาลอุดรฯ ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา แถมจะถูกสอบเรื่องให้ข้อมูลราชการแก่สาธารณะ

Posted: 06 Jul 2018 10:53 PM PDT

ภาพการเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เมื่อเดือน พ.ค. 2561 (ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์)

สืบเนื่องจากกรณีที่กลุ่มพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ได้ลงนามร้องทุกข์ขอให้โรงพยาบาลพิจารณาการทำงานของหัวหน้าพยาบาลรายหนึ่ง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 ต่อมาพยาบาลระดับหัวหน้าตึก รองหัวหน้า พยาบาลอาวุโส ลงนามร้องทุกข์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 และเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 กลุ่มพยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ประมาณ 50 คน ได้ออกมาประท้วงหน้าโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

โดยในวันที่ 9 พ.ค. 2561 นั้นกลุ่มพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องได้ระบุว่าในระหว่างการถูกร้องทุกข์ก็ยังคงมีการบริหารงานโดยขาดหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังมีพฤติกรรมก้าวร้าว เสียงดัง ลุแก่อำนาจ ข่มขู่ คุกคามผู้ร้องทุกข์ เกิดความขัดแย้งเป็นวงกว้างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการ 3 คณะแต่กลุ่มพยาบาลไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงใจและล่าช้า โดยกลุ่มผู้เรียกร้องยืนยันว่าไม่ต้องการหัวหน้าพยาบาลรายนี้อยากให้ย้ายออกไปนอกพื้นที่ให้การสอบสวนดำเนินไปอย่างโปร่งใส (อ่านรายละเอียดการเรียกร้องวันที่ 9 พ.ค. 2561: พยาบาลอุดรฯครึ่งร้อย ฮือไล่หัวหน้า ชี้ ลุแก่อำนาจ ออกคำสั่งนอก กม. มาสายโทษไล่ออก, มติชนออนไลน์, 9/5/2561)

ล่าสุดในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมากลุ่มพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันปัญหาที่กลุ่มพยาบาลได้ออกมาร้องเรียนนั้นยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา แม้จะได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่ก็จะมีการสอบเรื่อง 'การให้ข่าวสารของทางราชการ' ซึ่งยกมาตาม 'ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวสารและบริการของทางราชการ พ.ศ. 2529' กับกลุ่มพยาบาลที่ออกมาร้องเรียนด้วย โดยมีการระบุว่าการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมานั้นได้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ โดยการบันทึกวีดีทัศน์หรือบันทึกเสียงที่เป็นข่าวหรือข้อเท็จจริงในทางราชการหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับทางราชการของโรงพยาบาลอุดรธานี ซึ่งมิได้รับอนุญาตในการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวออกสู่สาธารณะจากผู้มีอำนาจในส่วนราชการนั้นๆ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายและเกิดความเข้าใจผิดหรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อทางราชการได้ เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2561

ต่อมากลุ่มพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องได้ทำหนังสือเรื่อง ขอความคุ้มครอง ถึงผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 โดยระบุว่าสืบเนื่องจากการร้องทุกข์ หัวหน้าพยาบาล และคณะกรรมการบริหารฝ่ายการพยาบาล และ ผู้อำนวยการโรง พยาบาลอุดรธานี ของกลุ่มข้าราชการพยาบาลผู้ร้องทุกข์ เรื่องการบริหารงานโดยขาดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ตามประเด็นการร้องทุกข์ กลุ่มผู้ร้องทุกข์ใคร่ขอความคุ้มครอง ตาม ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 162 ง. ราชกิจจานุเบกษา หน้า 83 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2552 ข้อ 16 (2) ขอให้คุ้มครองข้าราชการกลุ่มผู้ร้องทุกข์ มิให้ถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม กับกลุ่มข้าราชการพยาบาลผู้ร้องทุกข์ โดยไม่ให้ผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารและผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี ดังกล่าวมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการออกคำสั่ง แต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลร้ายหรือกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของกลุ่มข้าราชการพยาบาลที่ร้องทุกข์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น