โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

เตรียม #RunForSaman วิ่งระดมทุนช่วยครอบครัวอดีตหน่วยซีลเสียชีวิตขณะกู้ภัยถ้ำหลวง

Posted: 06 Jul 2018 10:34 AM PDT

จ.อ.สมาน กุนัน พนักงาน ทอท. อดีต นตท.จู่โจม รุ่น 30 ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ 13 เยาวชนที่ถ้ำหลวงฯ ล่าสุดได้เคลื่อนย้ายศพไปที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ก่อนที่จะไปประกอบพิธีที่บ้านเกิด อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด วันที่ 7 ก.ค. นี้ ขณะเดียวกันสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยเตรียมจัดงาน #RunForSaman วิ่งระดมทุนช่วยครอบครัว จ.อ.สมาน ที่สวนลุมพินี 8 ก.ค. นี้

ผู้บริหารและพนักงาน ทอท. รับศพ จ.อ.สมาน กุนัน เจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อดีตหน่วยซีล ที่เสียชีวิตระหว่างช่วยเหลือเยาวชนที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน โดยเคลื่อนย้ายศพจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เมื่อ 6 ก.ค. 2561 (ที่มา: เพจ AOT Official)

ในการแถลงข่าวประจำวันที่ 6 ก.ค. ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือหน้าถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงใหม่ โดยภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และพล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ หน่วยซีล ตามรายงานของวิทยุ สวพ.91 รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายแจ้งข่าวว่า จ่าเอกสมาน กุนันน อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ (นทต.จู่โจม รุ่น 30) อายุ 38 ปี เสียชีวิตเมื่อเวลา 02.00 น. ระหว่างขากลับของการปฏิบัติภารกิจนำขวดอากาศเข้าไปวางตามจุด ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงแสดงความเสียใจ และรับสั่งจัดงานศพอย่างสมเกียรติ ซึ่งคาดว่าจะมีในเย็นวันนี้ และจะนำส่งไปที่ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยเครื่องบินกองทัพเรือ จะมีการประกอบพิธีหลวงที่นั่น และขอรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงมีรับสั่งให้ดูแลครอบครัวและบุตรหลานอย่างดีที่สุด และยังเปิดเผยอีกว่า ญาติจะนำไปประกอบพิธีที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของญาติต่อไป

ด้าน พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ หน่วยซีล เปิดเผยว่า จ่าเอกสมาน กุนัน อายุ 38 ปี เป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ (นทต.จู่โจม รุ่น 30) อายุ 38 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุฝ่าย รปภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย

โดยจ่าเอกสมาน เสียชีวิตขณะปฏิบัติงานในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะดำน้ำเข้าไปวางขวดอากาศ บัดดี้พยายามทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นแต่ไม่เป็นผล ก่อนนำส่ง รพ.ค่ายเม็งรายมหาราช และเสียชีวิตในที่สุด

ผู้บัญชาการหน่วยซีลย้ำว่า เจ้าหน้าที่หน่วยซีลทุกคน ไม่เคยทำงานโดยไม่มีแผน เพราะถูกฝึกมาเพื่อให้ทำงานภายใต้สภาวะความกดดันอย่างนี้อยู่แล้ว การเจ็บป่วย และการเสียชีวิตถือว่าเป็นสิ่งที่หน่วยซีลต้องเผชิญ ตลอดเวลา เหตุการณ์ครั้งนี้เราจะไม่เสียขวัญ และกำลังพลของเรายังคงทำงานช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลเยาวชน หมูป่าอะคาเดมี่ และผู้ฝึกสอน 13 ชีวิต เหมือนเดิม เพื่อให้ภารกิจบรรลุเป้าหมาย การสูญเสีย จ่าเอกสมาน จะไม่สูญเปล่า

 

ทอท. ต้นสังกัด เสียใจอย่างสุดซึ้ง 

ทอท. เขียนข้อความแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ จ.อ.สมาน กุนัน (ที่มา: เพจ AOT Official)

ทั้งนี้ต้นสังกัดของจ่าเอกสมาน คือบริษัท การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ได้โพสต์แสดงความไว้อาลัยด้วย โดยนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยด้วยว่า จ่าเอกสมาน ปัจจุบันเป็นพนักงาน ทอท.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย

"ทอท.รู้สึกเสียใจ และมีความอาลัยอย่างยิ่งต่อการจากไปของจ่าเอก สมาน กุนัน และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังครอบครัวของจ่าเอก สมาน กุนัน ซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตใจสูงส่ง และเสียสละในการเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ด้วยความเต็มใจและมุ่งมั่น เป็นที่ภาคภูมิใจของประเทศชาติ และ ทอท.โดย ทอท.จะพิจารณาความดีความชอบให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครอบครัวของจ่าเอก สมาน กุนัน ต่อไป"

ในเพจของ ทอท. เปิดเผยด้วยว่า โดยนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน ทอท. ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลค่ายพญาเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.00 น. เพื่อรับศพจ่าเอก สมาน กุนัน และร่วมพิธีเคลื่อนย้ายศพจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ขณะเดียวกันได้มีคณะผู้บริหารและพนักงาน ทอท.เดินทางไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อร่วมพิธีดังกล่าวด้วย

ต่อจากนั้น จะมีการเคลื่อนย้ายศพจ่าเอก สมาน กลับไปประกอบพิธีที่บ้านเกิด อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.00 น.ต่อไป

หลังจากที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน ทอท. ยังได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจกับพนักงาน ทอท.ที่ยังคงเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย ณ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ด้วย โดยในใบแถลงข่าวของ ทอท. ย้ำด้วยว่า "ทอท. ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและพร้อมให้การช่วยเหลือครอบครัวอย่างดีที่สุดต่อไป"

 

เตรียมจัดงาน #RunForSaman

ขณะเดียวกันในเพจ "เรื่องวิ่งเรื่องกล้วย" แจ้งข่าวจาก สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ที่จะจัดงาน #RunForSaman เพื่อช่วยเหลือครอบครัวจ่าเอกสมาน กุนัน โดยผู้ร่วมกิจกรรมสามารถวิ่งได้ทั้ง Virtual Run และวิ่งด้วยกันที่สวนลุมพินี หรือบริจาคอย่างเดียวก็ได้ โดยนัดหมายจัดกิจกรรมวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 16:00 ที่หน้าห้องสมุด สวนลุมพินี โดยตัวแทนสมาพันธ์ฯ ภาคอีสานจะนำพวงหรีดและเงินบริจาคไปมอบที่งานศพของ จ.อ.สมาน ที่ จ.ร้อยเอ็ดอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสขอบใจทีมค้นหา 13 เยาวชน

Posted: 06 Jul 2018 09:13 AM PDT

"เหตุการณ์ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ความสมัครสมานสามัคคี และความรัก ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด ต่างก็ยังมีอยู่ในหัวใจอย่างเต็มเปี่ยม ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความชื่นชมยกย่องต่อท่านทั้งหลายด้วยใจจริง และขอให้ทุกท่านมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานในขั้นต่อไป ด้วยความมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอันกล้าแข็ง และมีศรัทธาเชื่อมั่นไม่เสื่อมคลาย เพื่อให้ปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปอย่างดีที่สุด สมดังความหวังตั้งใจของทุกท่านทุกฝ่าย ตลอดจนประชาชนทั้งหลายที่เอาใจช่วยอย่างเต็มที่เสมอมา"

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เปิดเผยว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชกระแสขอบใจ ชื่นชม และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ได้พบนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี รวม 13 คน ทุกคนปลอดภัยดี โดยทรงมีรับสั่งว่าความสำเร็จของการปฏิบัติการครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจ ความรู้ความสามารถ และความเสียสละของทุกฝ่าย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

โดยพระราชกระแส ที่พระราชทาน เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 6 ก.ค. มีใจความว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสขอบใจทีมช่วยเหลือทุกฝ่ายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ (ที่มา: เพจ Thai NavySEAL)

ข้าพเจ้ามีความปลื้มใจยินดีและโล่งใจมาก ที่ได้ทราบว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้พบนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี รวม 13 คน ซึ่งสูญหายไปในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 แล้ว โดยทุกคนปลอดภัยดี นับเป็นข่าวดีที่เราชาวไทย ตลอดจนชาวต่างประเทศ ที่ได้ติดตามความคืบหน้าของการค้นหามาโดยตลอด ต่างก็มีความชื่นชมยินดีถ้วนหน้า

 
ความสำเร็จของปฏิบัติการค้นหาในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นระบบระเบียบ ด้วยความรู้ความสามารถและความเสียสละ อุทิศตนของทุกคนทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญ อาสาสมัคร และจิตอาสาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากประเทศต่าง ๆ ที่มีน้ำใจเดินทางมาช่วยเหลือ สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่สนับสนุนปฏิบัติการค้นหาครั้งนี้ ตลอดจนประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ส่งกำลังใจห่วงใย ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้โดยเต็มกำลัง และยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนด้วยความเต็มใจยินดี
 
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ความสมัครสมานสามัคคี และความรัก ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด ต่างก็ยังมีอยู่ในหัวใจอย่างเต็มเปี่ยม ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความชื่นชมยกย่องต่อท่านทั้งหลายด้วยใจจริง และขอให้ทุกท่านมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานในขั้นต่อไป ด้วยความมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอันกล้าแข็ง และมีศรัทธาเชื่อมั่นไม่เสื่อมคลาย เพื่อให้ปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปอย่างดีที่สุด สมดังความหวังตั้งใจของทุกท่านทุกฝ่าย ตลอดจนประชาชนทั้งหลายที่เอาใจช่วยอย่างเต็มที่เสมอมา
 
พระปรมาภิไธย 4 กรกฎาคม 2561
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ขวัญชัย ไพรพนา' พ้นโทษแล้ว หลังถูกจำคุก 2 ปี คดีพยายามฆ่า-รื้อเวทีพธม.

Posted: 06 Jul 2018 08:59 AM PDT

ขวัญชัย ไพรพนา พ้นโทษแล้ว หลังศาลฎีกาสั่งจำคุก 2 ปี คดีพยายามฆ่า-รื้อเวทีลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51 ที่หนองประจักษ์ฯ จ.อุดร ขณะที่ 'ณัฐวุฒิ' บินไปต้อนรับ

ภาพ ณัฐวุฒิ กับ ขวัญชัย (ที่มาเพจ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ)

6 ก.ค.2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา อาภรณ์ สาราคำ ภรรยา ขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา พร้อมญาติๆ เดินทางไปเยี่ยม ขวัญชัย ที่เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี โดยเป็นการเยี่ยมครั้งสุดท้าย เนื่องจาก ขวัญชัย จะพ้นโทษ จำคุก 2 ปีเต็ม วันที่ 6 ก.ค.2561 โดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ได้เดินทางมาเยี่ยม และรับตัว ขวัญชัย ออกจากเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานีด้วย

"เมื่อคืนไม่ได้นอน ขึ้นเครื่องมาอุดรฯ ตั้งใจจะมารอรับพี่ชาย แต่เขาปล่อยมาตั้งแต่ตี 5 เจ้าหน้าที่มาส่งที่บ้าน ลูกเมียยังไปรับไม่ทัน ลงเครื่องเดินมาได้ยินเสียงเรียก เต้น เต้น เต้น นึกในใจ ใครวะ? เสียงเหมือนลุงขวัญ เจอกันก็กอดกัน" ณัฐวุฒิ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ

สำหรับ ขวัญชัย ประธานชมรมคนรักอุดร เขาเป็นจำเลย ข้อหาพยายามฆ่า ทำร้ายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทำให้เสียทรัพย์ จากกรณีนำกลุ่มมวลชนไปประท้วงต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม เขตเทศบาลเมืองอุดรธานี โดยเมื่อวันที่  25 พ.ค.2559 ศาลจังหวัดอุดรธานีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาสั่งลงโทษจำคุก ขวัญชัย 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และปรับ 350,000 บาท 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุเรือล่มภูเก็ต 3 จุด เสียชีวิต 33 ราย อยู่ระหว่างค้นหา 23 ราย

Posted: 06 Jul 2018 08:34 AM PDT

กรณีเรือล่มที่ภูเก็ต 3 เหตุการณ์เมื่อ 5 ก.ค. มีผู้ประสบภัย 148 รายนั้น กรมเจ้าท่าสรุป จนท.ช่วยลูกเรือเซรานาต้าได้ทั้ง 41 ราย ช่วยเรือเจ็ทสกีล่ม 2 ราย ส่วนเรือฟีนิกไดวิ่งล่มที่เกาะเฮที่มีผู้โดยสารรวม 105 คน จนถึงเย็นวันที่ 6 ก.ค. ช่วยเหลือได้ 49 ราย เสียชีวิต 33 ราย อยู่ระหว่างค้นหา 23 ราย

ที่มาของภาพ: กองทัพเรือ Royal Thai Navy

กรณีเรือล่มใน จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค. รวม 3 เหตุการณ์ มีผู้ประสบภัย 148 ราย ได้แก่  1. เรือ "ฟีนิกไดวิ่ง" ล่มบริเวณเกาะเฮ จำนวนผู้โดยสาร 105 คน (นักท่องเที่ยว 93 คน ลูกเรือและไกด์ 12 คน) 2. ผู้โดยสารพลัดตกเรือ "เซเรนาต้า" ที่กำลังล่มบริเวณเกาะไม้ท่อน ก่อนที่เรือจะล่มทั้งลำ จำนวนผู้โดยสาร 41 คน (นักท่องเที่ยว 39 คน ลูกเรือ 2 คน) 3. เรือเจ็ทสกีของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียล่มกลางทะเล ใกล้เกาะราชา ลูกเรือ 2 คน

ล่าสุดในวันที่ 6 ก.ค. กรมเจ้าท่า ได้ออกรายงานสถานการณ์เรือล่ม 3 ฉบับ [แถลงการณ์ (1), (2), (3)] สรุปความว่า กรณีเรือเซเนริก้า ผู้ประสบภัย 41 คน ช่วยเหลือได้ทั้งหมดแล้วในวันที่ 6 ก.ค. เวลา 08.30 น กรณีเรือเจ็ทสกี 2 คน ช่วยเหลือได้ 2 คน ขึ้นที่ท่าเรือแหลมพันวา มีเรือค้างบนเกาะราชา 12 ลำ ผู้โดยสาร 263 คน เรือที่ให้ความช่วยเหลือ คือ ทรภ.3, ตำรวจน้ำ, อบจ. และเรือประมง 4 ลำ

กรณีเรือฟินิกไดวิ่ง ที่มีผู้โดยสารรวม 105 คน ประสบเหตุเรือจมอยู่ทางด้านใต้ ห่างจากเกาะเฮ 1.5 ไมล์ทะเล (2.8 กิโลเมตร) จากการค้นหาเรือจมอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเฮ ความลึก 30 เมตร โดยประมาณ หน่วยกู้ภัยได้ช่วยเหลือ ผู้โดยสารรวมลูกเรือและไกด์ มีจำนวนทั้งสิ้น 49 ราย ผู้ประสบภัยปลอดภัยและกลับบ้าน จำนวน 12 ราย  บาดเจ็บและรักษาตัวอยู่ ร.พ.มิชชั่น และ ร.พ.องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต จำนวน 37 ราย

ทั้งนี้กรมเจ้าท่ายืนยันการเสียชีวิต จำนวน 21 ราย อยู่ระหว่างค้นหา 35 ราย ซึ่งยังไม่ยืนยันสถานะที่แน่ชัด ขณะที่นรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แถลงเมื่อเวลา 18.00 น. เย็นนี้ (6 ก.ค.) ยืนยันมีผู้เสียชีวิตแล้ว 33 ราย อยู่ระหว่างค้นหาอีก 23 ราย

ข้อมูลจากกรมเจ้าท่าระบุว่า ผู้ควบคุมเรือฟินิกซ์คือสมจริง บุญธรรม ถือประกาศนียบัตรชั้นนายเรือของเรือเดินในประเทศ ขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส (ชำนาญงาน) วันหมดอายุ 30 มกราคม 2565 ชื่อผู้ควบคุมเรือเซเรนาต้า เมธา หลิ่มสกุล ถือประกาศนียบัตรชั้นนายเรือของเรือเดินในประเทศ ขนาดไม่เกิน 250 ตันกรอส (ชำนาญงาน) วันหมดอายุ 19 มีนาคม 2565

โดยกริชเพชร ชัยช่วย รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ ได้ลงพื้นที่และเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ประสบภัย พร้อมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่าทีมกู้ชีพกู้ภัยจะวางเป้าหมายหลักทำการค้นหาในบริเวณซากเรือฟีนิกส์เป็นจุดสำคัญเพื่อหาผู้โดยสารที่ติดค้างในลำเรือให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการลาดตะเวนค้นหาในทะเลในรัศมี 10 กิโลเมตร และจะดำเนินการค้นหาอย่างต่อเนื่องทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางบก จนกว่าจะพบผู้สูญหายครบทั้งหมด

อนึ่งจังหวัดภูเก็ตได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการ โดยจัดเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ณ อาคารท่าเทียบเรือฉลอง นอกจากนี้กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 3045/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาห้ามเรือโดยสารออกจากฝั่งกรณีคลื่นลมแรง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ และให้การปฏิบัติการสั่งห้ามเรือโดยสารออกจากฝั่ง กรณีมีมรสุมคลื่นลมแรงตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูก็ต ได้รับแจ้งจากกรมอุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก ว่ามีฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีกำลังแรง จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 – 3 เมตร ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ทั้งนี้ ห้ามเรือที่มีความยาวน้อยกว่า 10 เมตรที่จะเดินทางไปเกาะพีพี เกาะราชา และพื้นที่ทะเลเปิด ออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด ยกเว้นเรือที่จะไปอ่าวพังงา เกาะโหลน และเกาะบริเวณใกล้เคียงเกาะภูเก็ต ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาสถิติมะเร็งลําไส้ใหญ่ฯ รั้งอันดับ 5 ของโลก หากไร้นโยบายคัดกรองจะเพิ่ม 2 เท่าใน 10 ปี

Posted: 06 Jul 2018 05:08 AM PDT

จับตาสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง หลังพบสถิติผู้ป่วยประเทศไทยรั้งอันดับ 5 ของโลก ระบุหากไม่มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี

 

6 ก.ค.2561 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า จากการเก็บข้อมูลอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,624 ราย ในปี 2554 มาอยู่ที่ 12,563 ราย ในปี 2557 สถิตินี้ทำให้ไทยรั้งอันดับ 5 ของโลกที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งสำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยมีการคาดการณ์ว่า หากไม่มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี มาอยู่ที่ 21,188 ราย

จากอัตราการเจ็บป่วยข้างต้น ส่งผลต่อเนื่องถึงยอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง มากกว่า 3,000 รายต่อปีอีกด้วย!!

ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงของโรคมะเร็งลำไส้ที่ลุกลามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ต้องยกระดับเป็น 'นโยบายสาธารณะ' นำมาสู่การประชุมยกร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย "การแก้ปัญหา ป้องกัน และควบคุมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีส่วนร่วม" เมื่อวันที่ 27  มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อํานวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อํานวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ มาจาก 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ 2. น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน 3. ขาดการออกกําลังกาย 4. สูบบุหรี่ 5. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจํา 6. มีประวัติเนื้องอกที่ผนังลําไส้ใหญ่และไม่ใช่เนื้อร้าย 7. ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก

สถาบันมะเร็งฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการหารือไปที่สาเหตุเฉพาะอันดับต้นๆ ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ซึ่งน่าวิตกกังวลมากที่สุดนั่นคือการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง (Red meat) หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ (Processed meat) ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยม โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง ยิ่งกระตุ้นการบริโภคมากขึ้นไปอีก และมองข้ามอันตราย เนื่องจากเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปใส่สารไนเตรทและไนไตรท์หรือดินประสิวเพื่อให้เนื้อสัตว์มีสีแดง รวมทั้งในกุนเชียง ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็ม ลูกชิ้น แหนมสด ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เป็นต้น เพื่อให้มีอายุยาวนานขึ้น 

ดร.ศุลีพร ย้ำว่า แม้จะมีประโยชน์ในการถนอมอาหาร แต่สารไนเตรทและไนไตรท์ก็มีโทษเช่นเดียวกัน เพราะสารชนิดนี้จะทําปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในอาหาร ร่วมกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะ ทําให้เกิดไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และถ้านำไปปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ก็จะมีสาร PAHs ซึ่งก่อมะเร็งที่เพิ่มขึ้นไปอีก

"การบริโภคแม้ปริมาณน้อย แต่หากบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานย่อมมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง"

คนไทยช่วงอายุ 18-34.9 ปี นิยมบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ และช่วงอายุ 13-17.9 ปี นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป

สถาบันมะเร็งฯ อ้างอิงงานวิจัยของ องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) เมื่อปี 2558 ที่จัดให้เนื้อแดงเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2A คือ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในคน ส่วนเนื้อแปรรูปจัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในคน 

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลผู้บริโภค โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กําหนดปริมาณใช้เกลือไนเตรทหรือไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก ให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กรณีที่ใช้ทั้งโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไนเตรทให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตตัวอักษรหลังฉลาก คือ  INS (International Numbering System)  ซึ่งเป็นเลขประจําตัวที่ใช้เป็นสากลของวัตถุเจือปนอาหาร โดย INS 250 คือโซเดียมไนไตรท์ และ INS 251 คือโซเดียมไนเตรท

ส่วนในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป ดร.ศุลีพร ระบุว่า ไม่ได้เป็นอาหารหลักจึงไม่มีรายงานปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมหรือปริมาณการบริโภคที่บ่งชี้โรคมะเร็ง แต่มีรายงานว่าการบริโภคเนื้อแปรรูปเพิ่มขึ้นวันละ 50 กรัม จะเพิ่มความเสี่ยง 18%

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นฯ 

ในที่ประชุมมีหน่วยงานต่างๆ ผลัดเปลี่ยนให้ข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาเอกสารสำคัญนำไปสู่การรณรงค์ครั้งใหญ่ โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้รณรงค์ให้คนตื่นตัวเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ที่มาจากการบริโภคอาหารมาหลายปี แต่กลับไม่ได้สร้างความตระหนักรู้มากนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงคือการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ต่างจากบุหรี่หรือสุราที่คนเห็นโทษชัดเจน จึงต้องปรับแผนมาใช้กลไกของสมัชชาสุขภาพเพื่อระดมเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและสื่อมาร่วมมือกันแก้ปัญหา

โดยแนวทางการรณรงค์ ต้องเน้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะ ลดหรือหลีกเลี่ยงเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนแปรรูป ทั้งแบบอุตสาหกรรมและการผลิตแบบชุมชนที่ไม่มีมาตรฐาน รวมถึงเนื้อสัตว์ปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม  หรือทอดด้วยน้ำมันทอดซ้ำ รวมถึงให้ความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมของมะเร็งต่างๆ เช่น การไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน และการสูบบุหรี่ ขณะเดียวกันต้องให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เพื่อให้คนนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องด้วย  โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อแดงต้องไม่ควรมากกว่า 500 กรัมต่อสัปดาห์  ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายประเทศใช้อ้างอิง

ในขณะเดียวกัน จะต้องร่วมมือกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปให้ติดฉลากให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นข้อมูลได้ง่ายว่ามีไนเตรทและไนไตรท์มากน้อยอย่างไร เพื่อตัดสินใจเลือกซื้อโดยยึดหลักเกณฑ์ของอย.เป็นหลัก อาทิ ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมักที่กำหนดให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ปริมาณไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยทั้งหมดจะเน้นสื่อความกับกลุ่มเสี่ยงนั่นคือผู้ที่มีอายุ 50-75 ปี

"แนวทางที่ได้จากการระดมความเห็นทั้งครั้งนี้และครั้งต่อไปจะถูกบรรจุอยู่ในแผนป้องกันและควบคุมมะเร็งแห่งชาติ แต่สิ่งสำคัญคือจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนนับจากนี้" นพ.วีรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เช็คนโยบายสังคมห้างดังในไทย ‘เทสโก้ โลตัส’ คะแนนนำ แต่ 3 ห้างไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล

Posted: 06 Jul 2018 04:17 AM PDT

'ทีมซูเปอร์มาเก็ตที่รัก' ประเมินนโยบายทางสังคมของซูเปอร์มาเก็ตในไทย ผ่าน 4 ตัวชี้วัด พบ 'เทสโก้ โลตัส' ได้คะแนนมากกว่ารายอื่นเหตุพิจารณารวมกับนโยบายบริษัทแม่ที่อังกฤษ เผยข้อมูลโดยรวมยังเข้าถึงได้น้อย หวังปีหน้าจะปรับปรุง ระบุบริษัทค้าปลีกอาหารชั้นนำโตต่อเนื่อง แต่เกษตรกรรายย่อย-แรงงานยังยากจนและอำนาจต่อรองน้อย

5 ก.ค. 2561 ทีมซูเปอร์มาเก็ตที่รัก ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของภาคประชาสังคม อาทิ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย ได้จัดงานข่าวข่าวเปิดผลประมาณนโยบายทางสังคมของซูเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ 7 รายในประเทศไทยคือ บิ๊กซี , ซีพี เฟรชมาร์ท , ฟู้ดแลนด์ , กูร์เมต์มาร์เก็ต , แม็คโคร , เทสโก้โลตัส และ วิลล่ามาร์เก็ต (มีหนึ่งรายไม่ต้องการให้เปิดเผยผลการประเมิน)   โดยมีเกณฑ์ชี้วัด 4 ด้านคือ 1.ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ 2.สิทธิแรงงานงาน 3.เกษตรกร และผู้ผลิตรายย่อย 4.สิทธิสตรี โดยพบว่าสิทธิสตรีเป็นด้านที่มีผู้ได้คะแนนน้อยที่สุด โดยมีมีซูเปอร์มาเก็ตที่ได้คะแนนในการส่งเสริมสิทธิสตรีเพียง 1 รายคือ เทสโก้ โลตัส และได้ 1 คะแนน ขณะที่นโยบายด้านการส่งเสริมเกษตรกร และผู้ผลิตรายรายย่อย มีสัญญาณเชิงบวกมากที่สุด

เทสโก้ โลตัส ซึ่งได้คะแนนมากกว่ารายอื่น เป็นเพราะมีการพิจารณารวมกับนโยบายทางสังคมของบริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษ หากคิดเพียงประเทศไทยจะพบว่า มีคะแนนในด้านสิทธิและงาน 1 คะแนน และมีคะแนนด้านการส่งเสริมเกษตรกร และผู้ผลิตรายย่อย 2 คะแนน ส่วนซุเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่มีคะแนนนั้น เป็นเพราะยังไม่มีข้อมูลที่ปรากฎต่อสาธารณะที่เป็นไปตามตัวชี้วัดทั้ง 4 ด้าน

ธีรวิทย์วิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การออมแฟมในประเทศไทย ระบุว่า การประเมินในครั้งนี้ ถือว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการประเมินพิจารณาจากนโยบายของบริษัทต่างๆ รวมไปถึงบริษัทแม่ ที่เผยแพร่สาธารณะซึ่งคนทั่วไปสามารถสอบและเข้าถึงได้เท่านั้น เช่น เว็บไซต์ รายงานประจำปี และรายการต่างๆ อย่างไรก็ตามยังคงพบว่า ภาพรวมของการเปิดเผยข้อมูลยังสามารถเข้าถึงได้น้อย

ทัศนีย์ แน่นอุดร ระบุว่าสำหรับบริษัทที่ไม่มีคะแนนนั้น ไม่ได้หมายความว่าบริษัทไม่ได้ทำนโยบายในด้านต่างๆ เพียงแต่ไม่มีปรากฎในทางสาธารณะเท่านั้น ซึ่งการประเมินครั้งนี้มีความคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้บริษัทต่างๆ ได้ปรับปรุง พัฒนา และเผยแพร่นโยบายที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

ทั้งนี้ เหล่าห้างร้านต่างๆ ที่ได้รับการประเมินนี้ถือเป็น ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าสูง ถึง 2.2 ล้านล้านบาท ตามข้อมูลในปี 2559 โดยมีสัดส่วนสูงถึงราว 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นอกเหนือจากมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ ตลาดแรงงาน โดยมีการจ้างงานราวร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ หนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยในปัจจุบันอย่างมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีจำนวนสาขา รวมกันทั่วประเทศมากกว่า 3,000 สาขา และมีอัตราการเติบโตของลูกค้าและยอดขายอย่างต่อเนื่องใน ตลอดสิบปีที่ผ่านมา

ในขณะที่บริษัทค้าปลีกอาหารชั้นนำมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมีมูลค่าทางเศรษฐกิจในหลักล้านล้านบาท แต่เกษตรกรรายย่อยและแรงงานในภาคการเกษตรและการผลิตอาหารยังคงประสบกับปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง มีความเปราะบางต่อสภาวะทางเศรษฐกิจ มีอำนาจการต่อรองที่จำกัด และในหลายกรณีพบว่ามีการถูกละเมิดและเอาเปรียบในการทำงานอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานเยาวชนจำเลยคดีล้นทรัพย์ต่างชาติที่สามร้อยยอดเสร็จแล้ว ระบุถูกซ้อมให้สารภาพ

Posted: 06 Jul 2018 04:08 AM PDT

ศาลจังหวัดหัวหินนัดสืบพยานจำเลย คดีเยาวชนถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพและตกเป็นจำเลยคดีปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ  นัดสุดท้าย เสร็จแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 19 ก.ย.นี้ 

6 ก.ค.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า สืบเนื่องจากที่ ณัฐวัตร หรือเจมส์ ธนัฏฐิกาญจนา จำเลยที่ 1 และอดิศักดิ์ หรือเจมส์ สีละมุด จำเลยที่ 2 กล่าวหาว่า ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ถูกเจ้าหน้าที่บางคนทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพว่าตนกับพวกเป็นผู้กระทำผิด กรณีนักท่องเที่ยวชาวอิตาลี และชาวโมรอคโค ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.สามร้อยยอด ว่าทั้งสองได้ถูกคนร้ายซึ่งใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ร่วมกันทำร้ายร่างกายแล้วปล้นทรัพย์ ในวันที่ 26 ก.ค. 2559 ณ บริเวณริมถนนปราณบุรี-สามร้อยยอด หมู่ที่ 1 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวต่อศาลจังหวัดหัวหินคดีหมายเลขคดีดำที่ ทอ.2/2560 โดยศาลได้ สืบพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 20 - 23 ก.พ. 2561 และสืบพยานจำเลยวันที่ 13 - 15 มี.ค. 2561 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงได้เลือนนัดสืบพยานจำเลยอีก 3 ปากมาสืบในที่ 5 - 6 ก.ค. 2561 นั้น

5 ก.ค.ที่ผ่านมา ทนายความจำเลยทั้งสามได้นำพยานจำเลยเบิกความต่อศาลทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ 1. ช่างเทคนิคที่ได้เข้าไปเก็บภาพถ่ายวีดีโอที่สถานที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และ 3 ในเวลาเกิดเหตุ ซึ่งอยู่กันคนละสถานที่กับที่เกิดเหตุ 2. ประจักษ์พยานซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งยืนยันว่าตนอยู่กับจำเลยที 1 และ 3 ในเวลาเกิดเหตุ ซึ่งเป็นคนละสถานที่กับที่เกิดเหตุ และ 3. เจ้าหน้าที่ตำรวจข้าราชการบำนาญ ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือจำเลยในการแสวงหาความเป็นธรรมจากการถูกดำเนินคดี โดยศาลได้เชิญนักจิตวิทยา เข้ามาพูดคุยและอยู่กับพยานเด็กในห้องที่ทางศาลจัดหาไว้ให้ขณะที่มีการสืบพยานด้วย ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นอันเสร็จสิ้นการสืบพยานจำเลยทั้ง 3 ปาก ภายใน 1 วัน

ทนายความจำเลยแถลงต่อศาลขอส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาต และมีคำสั่งให้มาฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ก.ย.2561 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดหัวหิน

ในคดีนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เคยเบิกความถึงการพิจารณาให้การช่วยเหลือช่วยเหลือคดีแม้การซ้อมทรมานที่ไม่มีบาดแผลปรากฏให้เห็นเนื่องจากเป็นการใช้ถุงพลาสติกทำให้ขาดอากาศหายใจ 

"ผู้ต้องหาที่ถูกซ้อมทรมานบังคับให้สารภาพส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ สภาพความเป็นจริงคือผู้ต้องหาไม่สามารถได้รับการตรวจรักษาร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเป็นอิสระ  การซ้อมทำร้ายร่างกายบริเวณช่องท้องหน้าอกไม่อาจมองเห็นร่องรอยได้ด้วยตาเปล่า การใช้ถุงพลาสติกทำให้ขาดอากาศหายใจไม่มีพยานหลักฐาน การรับฟังคำสารภาพของจำเลยในคดีอาญาจึงต้องทำความระมัดระวังอย่างยิ่ง หลักการด้านสิทธิมนุษยชนหลักฐานที่ได้จากการบังคับให้ถ่ายวีดีโอรับสารภาพนั้นห้ามไม่ให้มีการรับฟัง" พรเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติม
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุทธศาสตร์ชาติผ่านแล้ว ปัญหามาแน่ แก้เกมอย่างไร?

Posted: 06 Jul 2018 03:49 AM PDT

สนช. ผ่านร่างยุทธศาสตร์ชาติฉลุย ส่งประยุทธ์ทูลเกล้า ภายใน 20 วัน ชวนย้อนดูปัญหายุทธศาสตร์ฯ ที่ขาดการมีส่วนร่วม  รบ.ใหม่จากการเลือกตั้งก็ต้องทำตามยุทธศาสตร์ฯ ไม่ทำมีบทลงโทษ นักวิชาการชี้ เนื้อหา 'มั่นคง' ไม่พูดเรื่อง 'โปร่งใส' 'มั่งคั่ง' ไม่พูดเรื่อง 'ลดเหลื่อมล้ำ' 'ยั่งยืน' ไม่พูดเรื่อง 'มีส่วนร่วม' พร้อมเปิดข้อเสนอแก้เกมจาก ''ปิยบุตร-อนุสรณ์''

วันนี้ (6 ก.ค. 61) ไอลอว์รายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ เห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด 183 คน โดยใช้เวลาพิจารณาภายใน 1 ชั่วโมง เห็นชอบกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งขั้นตอนต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นําขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน เพื่อให้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้

หลังจากเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งใช้เวลา 22 วัน โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อร่างยุทธศาสตร์ คสช. ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะนำไประบุเพิ่มเติมในแผนแม่บทต่อไป และสรุปผลการศึกษาว่า "เห็นควรให้ความเห็นชอบ" ต่อร่างยุทธศาสตร์ คสช.

คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า แผนแม่บทจะจัดทำในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน โดยจะจัดทำเป็นแคมป์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำร่วมกัน และให้แล้วเสร็จทันปีงบประมาณ 2563 โดยตัวชี้วัดที่ชัดเจนของยุทธศาสตร์ชาติจะถูกนำไปใส่ในระดับแผนแม่บทหรือโครงการ เป็นชั้นๆ ให้เชื่อมโยงกันต่อไป และการติดตามผล จะออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อติดตามผลจากหน่วยงานรัฐ และระบบโปรแกรมให้หน่วยงานรัฐใช้กรอกอีกขั้นหนึ่ง

ปัญหาการมียุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับปัญหาของยุทธศาสตร์ชาตินั้น จากการประมวลข้อวิจารณ์ต่างๆ พบว่ามี 4 ประเด็นดังนี้ 

1. ไอลอว์ ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อใช้บังคับแล้ว นอกจากหน่วยงานราชการที่ต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว พรรคการเมืองที่จะเสนอนโยบายใดๆ ก็ต้องจัดทำให้อยู่ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ และการแถลงนโยบายของรัฐบาลหรือการจัดทำงบประมาณก็ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเหมือนกันหมด รวมทั้งมีการกำหนดขั้นตอนลงโทษในกรณีที่หน่วยงานนั้นๆ ทำผิดจากยุทธศาสตร์ไว้ด้วย ในขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่ต้องรับผิดใดๆ จึงอาจกล่าวได้ว่ากรอบที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ จะสำคัญกว่านโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกมา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

2. จำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมด 35 คน พบว่า มาจากฝ่ายกองทัพและความมั่นคง 7 คน กรรมการที่จะได้รับการแต่งตั้งอีก 17 คนโดย คสช. ประธานวุฒิสภาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นรองประธานคณะกรรมการอีก 1 คน ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ย่อมเท่ากับว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คนจาก 35 คน คือคนที่ คสช. วางเอาไว้ ก็เป็นไปได้ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งต้องเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมาย แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ในคณะกรรมการชุดนี้ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

3. นอกจากประเด็น ประเด็นที่ 1 แล้ว ไอลอว์ ยังมองว่า ยุทธศาสตร์ชาติถูกบังคับให้ต้องจัดทำตาม "พิมพ์เขียว" ที่มีก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติ ครม. ปี 2558 เป็นผู้จัดทำฉบับร่างซึ่งเขียนไว้ล่วงหน้าก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 (อันเป็นฉบับที่เขียนระบุให้มียุทธศาสตร์ชาติ) และร่างฉบับนี้ก็ไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ จนกระทั่งไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

เปิดพิมพ์เขียว 'ร่างยุทธศาสตร์ชาติ' พบคำว่าความมั่นคง 222 คำส่วนคำว่าความยุติธรรมหาไม่เจอ

4. ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะพ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ในมาตรา 28 เขียนเปิดช่องเอาไว้ว่า การรับฟังความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นใน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. มีการเปิดรับฟังความคิดจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.thaigov.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน - 20 พฤษภาคม 2560 มีประชาชนเข้าอ่านข้อมูล จำนวน 3,051 ครั้ง และแสดงตนเพื่อเสนอความเห็น เพียง 8 คน สนช. มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเมื่อ 22 มิถุนายน 2560

ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ

นอกจาก 4 ประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีข้อวิจารณ์อื่นอีก เช่น อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ชาติเดิมในปี 2558 ที่เป็นพิมพ์เขียวของยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบัน ในกรณีการพัฒนา EEC อันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ว่า นโยบายอุตสาหกรรมของยุทธศาสตร์ชาติเน้นการลดภาษีกลุ่มทุน (รัฐเสียรายได้ภาษี 2.2 แสนล้านบาทในปี 2559) แต่ไม่มีมาตรการ "การบังคับ" ให้ผู้ได้รับสิทธิพิเศษถ่ายทอดความสามารถทางเทคโนโลยีให้แก่ไทย ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดจากประเทศเอเชียตะวันออกที่ข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ เขียนข้อวิจารณ์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติไว้ว่า เนื้อหายุทธศาสตร์ชาติสรุปสั้นๆ ได้ว่า "พูดอีกก็ถูกอีก" เป็นเป้าหมายที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย ปัญหาก็คือ เป้าหมายโลกสวย 'มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน' นั้น เมื่อแยกส่วนออกมาดูแล้วอาจจะขัดแย้งกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดนิยาม และยุทธศาสตร์ที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย

สฤณี ตั้งข้อสังเกตว่า ยุทธศาสตร์ฉบับนี้มีลักษณะเด่นสามประการ 1.) นิยาม 'ความมั่นคง' ที่กว้างขวางอย่างยิ่ง ไม่มีเนื้อหาใดๆ ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่พูดถึงการแก้ปัญหาและพัฒนากองทัพ โดยเฉพาะการยกระดับ 'ความโปร่งใส' (transparency) 2.) เป้าหมาย 'มั่งคั่ง' ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้พูดถึงการสร้างและคุ้มครอง 'สนามแข่งขันที่เท่าเทียม' (level playing field) ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ 3.) เป้าหมาย 'ยั่งยืน' พูดถึง "การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ระบบธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมเกิดขึ้น" แต่ยังมิได้ระบุยุทธศาสตร์ใดๆ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมิได้สะท้อนรูปธรรมของ 'การมีส่วนร่วม'

ผ่านแล้ว คว่ำยังไง?

คสช. อ้างว่า ยุทธศาสตร์ชาตินั้นถูกจัดทำขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 "รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน..."  และยังกำชับอย่างเร่งรัดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 275 "ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 65 วรรคสอง ให้แล้วเสร็จ ภายใน 120 สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดําเนินการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ"

โดยขั้นตอนคร่าวๆ ของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์เสนอร่างให้ ครม. หลังจากนั้นหากเห็นชอบจะส่งต่อให้ สนช. หากประชาชนพิจารณาแล้วเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน วิธีการที่น่าสนใจคือการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแก้กฎหมายหลักที่ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติ มีผู้เคยเสนอขั้นตอนการแก้ไข้ไว้คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ด้วยเหตุที่ยุทธศาสตร์ชาติจัดทำมาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น ต้องแก้ไขที่รัฐธรรมนูญด้วย โดย ปิยบุตร เคยเสนอไว้ว่า ลำดับแรกคือต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าสมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยมีวิธีการคือ (1.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พ.ศ. ... เพิ่มมาตรา 256/1 กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าประชาชนเห็นชอบให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย (2.) เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/1 แล้วเสร็จ ก็ให้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติในประเด็นดังกล่าว (3.) เมื่อประชาชนเห็นชอบกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และนอกจากนี้ปิยบุตรยังเสนอให้ทบทวน พ.ร.บ. ทั้งหมดที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

อนุสรณ์  เสนอว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วให้มีการจัดลงประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งถามประชาชนด้วยว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปประเทศเกิดจากการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

สำหรับร่างยุทธศาสตร์มีสาระสำคัญ 6 ด้านดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เน้นการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้น การยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ (1) ต่อยอดอดีต โดยมองกลับไปที่รากเหง้านำมาประยุกต์ผสมผสานให้สอดรับกับ บริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ (2) ปรับปัจจุบัน เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่างๆ (3) สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคตด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด

3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองดีของชาติ

4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมให้ความสำคัญการดึงเอาพลังของ ภาคส่วนต่างๆ ร่วมขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม

5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ

6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐ โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รบ. จีนจับนักเตะดาวรุ่งอุยกูร์รุ่นยู-19 เข้าค่ายปรับทัศนคติ เหตุเดินทางไปต่างประเทศ

Posted: 06 Jul 2018 03:49 AM PDT

ในขณะที่นักเตะหลายคนกำลังเฉิดฉายร่ายมนตร์แข้งในมหกรรมฟุตบอลโลกที่รัสเซีย แต่เออร์ฟาน เฮซิม ดาวรุ่งเชื้อสายอุยกูร์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติจีนชุด ยู-19 ถูกรัฐบาลจีนจับเข้าค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อใหม่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ด้วยข้อหา "เดินทางไปต่างประเทศ"

 
 
(ซ้าย) เออร์ฟาน เฮซิม ถ่ายรูปคู่กับลิโอเนล เมสซี ดาวเตะทีมชาติอาร์เจนตินาเมื่อราวปีที่แล้วที่กรุงปักกิ่ง (ที่มา: FIFPro)
 
สหพันธ์นานาชาติผู้ประกอบวิชาชีพนักฟุตบอล (FIFPro) ซึ่งเป็นสหภาพของนักฟุตบอลทั่วโลกออกแถลงการณ์ระบุให้มีการปล่อยตัว เออร์ฟาน เฮซิม นักฟุตบอลชาวอุยกูร์ตั้งแต่ช่วงก่อนมีการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างเป็นทางการ โดยที่เฮซิมเป็นนักฟุตบอลอายุ 19 ปี ชาวอุยกูร์ผู้ถูกรัฐบาลจีนจับเขาไปเข้าค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อใหม่ ในมณฑลซินเจียงของจีนตั้งแต่เดือน ก.พ. 2561 เขาถูกจับกุมตัวทันทีหลังจากเดินทางกลับจากสเปนและดูไบ
 
ถึงแม้เฮซิมจะเป็นดาวรุ่งที่มีอนาคตไกล เคยติดทีมชาติจีนรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี (ยู-19) เคยเดินทางไปแข่งฟุตบอลในหลายประเทศและเมื่อปีที่แล้วเพิ่งเซ็นสัญญาค้าแข้ง 5 ปีกับทีมเจียงซู ทีมฟุตบอลในไชน่าซุปเปอร์ลีก แต่ปัจจุบันเขากลายเป็นหนึ่งในชาวอุยกูร์ราว 1 ล้านคนในซินเจียงที่ถูกทางการจีนจับกุมส่งเข้าค่ายกักกันเพื่อทำการเปลี่ยนความคิดทางศาสนาและการเมือง
 
ลูกยิงจักรยานอากาศของเฮซิมเมื่อปี 2560 (ที่มา: Youtube/wang jinsong)
 
มีข้อมูลน้อยมากที่ออกสู่โลกภายนอกว่าค่ายกักกันในจีนมีลักษณะหรือดำเนินการอย่างไร เท่าที่มีข้อมูลจากคนที่เคยถูกส่งตัวเข้าไปในอดีตเปิดเผยว่าค่ายมีขนาดใหญ่เหมือนเป็นเมืองย่อยๆ หรือหมู่บ้านๆ หนึ่ง มีรั้วลวดหนาม ระบบสอดแนมและตำรวจติดอาวุธ มีหลายคนบอกว่าพวกเขาถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกันนี้โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการดำเนินคดีใดๆ เลย และในค่ายกักกันนี้มีการพยายามปรับเปลี่ยนความเชื่อและพยายามทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
 
ในบล็อก Medium ของผู้ใช้งานที่ชื่อ Shawn Zhang ซึ่งเป็นนักศึกษาวิชานิติศาสตร์ใช้ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมแสดงให้เห็นภาพจากมุมบนของค่ายกักกัน ซึ่งแบ่งเป็นโซนเรือนจำกับโซนปลูกฝังความเชื่อ นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานข่าวว่ามีการบังคับให้คนที่เป็นมุสลิมกินหมูและดื่มแอลกอฮอล์โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้เป็น "พวกหัวรุนแรง" แล้ว
 
นอกจากกรณีของเฮซิมแล้ว ชาวอุยกูร์ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ก็เคยถูกจับเข้าค่ายกักกันเช่นกัน เช่นนักดนตรีที่พยายามเชื่อมวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอุยกูร์ อะบลาจัน อะวุต อะยับ ถูกจับไปในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีนักศึกษา ป.โทชาวอุยกูร์ที่เดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมาเลเซียเดินทางกลับบ้านเพื่อตามหาครอบครัวที่หายตัวไปก็ถูกจับตัวส่งค่ายกักกันเช่นเดียวกัน
 
มีชาวอุยกูร์บางส่วนที่อาศัยอยู่ในประเทศตะวันตกและเคลื่อนไหวเพื่อทำให้คนมาสนใจในเรื่องค่ายกักกันในจีน เช่น เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีชาวอุยกูร์ 100 คนประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในเนเธอร์แลนด์เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ กดดันจีนกรณีค่ายกักกันที่มีชาวอุยกูร์ถูกขังอยู่กว่าหนึ่งล้านคน
 
โดยมากแล้วทางการจีนมักจะหลีกเลี่ยงการพูดต่อโลกภายนอกถึงค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อ เว้นแต่จะนำเสนอมันออกมาในรูปแบบของตัวเอง เช่น บอกให้นักศึกษาที่มีพ่อแม่ถูกจับเข้าค่ายกักกันพูดถึงค่ายกักกันนี้ในทางที่ดี โดยแทบจะไม่มีการพูดแสดงความคิดเห็นในที่อื่นเลย หรือไม่ทางการก็อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านแนวคิดแบบสุดโต่งของมุสลิม
 
ทั้งนี้ นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ยังเคยนำเสนอบทความระบุว่า ทางการจีนมีการพยายามเปลี่ยนมณฑลซินเจียงที่มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่มากให้เป็นรัฐตำรวจมากขึ้น มีการสร้างค่ายกักกันฯ นับพันแห่ง มีบางแห่งที่ใช้วิธีการน่ากลัวๆ อย่างไม่ยอมให้ผู้ต้องขังทานอาหารจนกว่าจะกล่าวขอบคุณสีจิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบัน และมีบางแห่งที่ระบุว่ามีการทารุณกรรมผู้ต้องขัง รวมถึงมีกรณีที่ครูสอนศาสนาอายุ 82 ปีผู้เป็นที่นับถือเสียชีวิตในเรือนจำที่อุรุมฉี
 
มายา หวัง จากองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ประเมินว่า ผู้ต้องขังอาจจะมีจำนวนถึง 800,000 คน ขณะที่ทิโมธี โกรส ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโรส-ฮุลมัน ในรัฐอินเดียนาประเมินว่ามีจำนวนระหว่าง 500,000 ถึง 1 ล้านคน ซึ่งหมายความว่ามีชาวอุยกูร์ที่เป็นเยาวชนถึงวัยกลางคนเคยถูกจองจำ หรือกำลังอยู่ระหว่างถูกจองจำเป็นสัดส่วนราว 1 ต่อ 6 คนถึง 1 ต่อ 3 คน นอกจากนี้ทางการจีนยังใช้ทั้งกำลังคนและเทคโนโลยีต่างๆ ในการประเมินว่าจะต้องจับชาวอุยกูร์คนใดมาปรับความคิด เช่น เทคโนโลยีจดจำม่านตา นอกจากนั้นยังมีกรณีที่วัยรุ่นต้องส่งโทรศัพท์สมาร์ทโฟนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปใส่ในอุปกรณ์ที่นำข้อมูลจากมือถือไปเก็บไว้เพื่อทำการวิเคราะห์ในภายหลัง
 
เรียบเรียงจาก
 
Rising star footballer is among more than a million Uyghurs sent to Chinese 're-education' camps, Global Voices, Jun. 25, 2018
 
FIFPro Statement: Chinese Player 'Detained'., FIFPro, Jun 13, 2018
 
China has turned Xinjiang into a police state like no other, The Economist, May 31, 2018
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระเบิดสวนยาง เสียงดังที่เงียบงัน ณ จังหวัดชายแดนใต้

Posted: 06 Jul 2018 02:07 AM PDT


 

นับจากวันที่ 28 มิถุนายน 2561 จนถึงวันที่ 5 กรกฏาคม 2561 เสียงระเบิดในสวนยาง โดยเฉพาะจังหวัดยะลา มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวบ้านไทยพุทธที่เข้าไปกรีดยางจำนวน 4 คนได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิด ซึ่งแน่นอนว่า ปฏิบัติการดังกล่าวก็ไม่ต่างกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ที่ยังไม่อาจหาผู้รับผิดชอบในการก่อเหตุได้ จะมีก็แต่เพียงการคาดเดากันตามจุดยืนและชุดประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการครั้งนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่หลายประการ ประการที่หนึ่งคือ ลักษณะในการก่อเหตุที่ใช้ทุ่นระเบิดเป็นเครื่องมือในการใช้ความรุนแรงในสวนยางพาราของพลเรือนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ โดยรูปแบบการวางทุ่นระเบิดบนพื้นที่ปลูกยางพารานั้น เคยปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อปี 2553 แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย การนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากทิ้งช่วงมาร่วม 8 ปี จึงมีนัยยะที่สำคัญอยู่ไม่น้อย

ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นสารที่อาจอ่านได้ว่า ความรุนแรงที่เคยมีรูปแบบพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการด้านความมั่นคงในช่วงหลายปีที่ผ่านมากำลังมีทิศทางกลับมาพุ่งเป้าไปยังพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบอีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า สวนยางพาราที่เกิดเหตุทั้งหมดอยู่ในจังหวัดยะลา และเป็นสวนยางของชาวไทยพุทธทั้งหมด ปรากฏการณ์นี้ยังส่งสารความน่ากังวลต่อไปอีกว่า ความรุนแรงครั้งนี้มีเป้าหมายพุ่งตรงไปที่พลเรือนที่เป็นชาวพุทธ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ การเกิดเหตุกับพวกเขาจะนำไปสู่ความบาดหมางใจและรอยแผลเพิ่มมากขึ้น

ประการที่สอง จำนวนความถี่และความต่อเนื่องในการก่อเหตุ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 วันที่ผ่านมา แม้ว่าเพจศูนย์สันติวิธี ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนพี่น้องชาวสวนยางพาราให้ระวังผู้ก่อการร้ายวางระเบิดชนิดเหยียบเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคมที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า เป็นฝีมือของ "ผกร." (อ่าน) แต่การก่อเหตุก็ยังคงเกิดขึ้น นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม "เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ" ก็ยังได้ออกแถลงการณ์ "ประณามการก่อเหตุอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม" โดยมีข้อเสนอไปถึงกลุ่มผู้ก่อการหรือกลุ่มใด ๆ ที่ปฏิบัติการครั้งนี้ให้ยุติการกระทำอันโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมต่อพลเรือน รวมทั้งการใช้ทุ่นระเบิดต่อการสังหารบุคคลและยุติการโจมตีพลเรือนทันที และให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดในปี พ.ศ.2540 และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมก็เกิดเหตุอีกครั้ง หลังจากนั้นสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ได้ออกแถลงการณ์ขอให้คู่สงครามคำนึงถึงหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล (อ่าน) และตามมาด้วยแถลงการณ์ของสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ โดยประณามการใช้ความรุนแรง และเรียกร้องเพื่อยุติการใช้วัตถุระเบิดเช่นเดียวกัน ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเพจศูนย์สันติ (อ่าน)

ประการสุดท้าย การพุ่งเป้าหมายไปที่พลเรือนและการเลือกสถานที่สวนยางในการก่อเหตุ เป็นรูปแบบปฏิบัติการที่มีความจงใจและหวังผล ส่งผลให้มีการอนุมานจากทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้ว่า การกระทำครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่จะขับไล่คนไทยพุทธหรือไม่ ? แต่กระนั้น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มันสร้างให้เกิดความกลัวและความหวาดระแวงระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น

กล่าวได้ว่า ในช่วง 8 วันที่ผ่านมาแม้ว่าเสียงระเบิดจะดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้สร้างความเสียหายทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน แต่ดูเหมือนว่า การให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มีน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ที่ออกมา ซึ่งมีเพียงไม่กี่ฉบับ ทั้ง ๆ ที่ความรุนแรงครั้งนี้ถือว่าเป็นการยกระดับรูปแบบของการใช้ความรุนแรงในชายแดนใต้ขึ้นมาอีกครั้ง

ขณะนี้ไม่มีใครรู้ได้ว่า ปฏิบัติการดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรและที่ไหน รวมถึงความไม่ชัดเจนในตัวผู้ก่อเหตุและเหตุจูงใจ แต่ภาคส่วนต่าง ๆ ก็ไม่ควรนอนใจ และต้องไม่ยอมรับกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อีกทั้งควรจะต้องมีการศึกษาเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ เพื่อความกระจ่างกันต่อไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: งามศุกร์ รัตนเสถียร เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล


 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: วิโยคใจ!

Posted: 06 Jul 2018 01:47 AM PDT

 

ยุทธศาสตร์ชาติแชดอิหยังวะ
จะอนุรักษ์สร้างชาติไปแบบไหน
ตอกตรึงถอยหลังหรืออย่างไร
โลกไปไหนกูไม่ไปนี่คือกู

บางเรื่องก็น่าสนใจก็ดีหรอก
แต่ลุงไม่เคยบอกคนไม่รู้
มุบมิบอิบอุบเฉพาะพวกกู
คนส่วนใหญ่ไม่รับรู้ไม่ยอมรับ

สนช. คนร่างก็ลุงแก่
เดินยักแย่ยักยันประชุมหลับ
เล่นเป็นไหมมือถือคุณลุงครับ
แต่ขยับก็เหนื่อยแล้วใจอ่อนแรง

จะบอกว่าโลกรุดหน้าไปเร็วมาก
อยู่ยากถ้าไม่ทันคนอื่นแซง
จะมามัวยึดมั่นความเป็นไทย น่าแสยง
ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เท่าทัน เตรียมตัวตาย

ทุกอย่างทุกโครงการน่าละเหี่ยใจ
ราชการไทยไม่สร้างสรรค์เกรงใจนาย
ขยับยากไม่รู้ลึกกลัวถูกย้าย
วิสัยทัศน์ตายกายขี้โรควิโยคใจ

จะเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต้องกล้าหาญ
คิดนานวางแผนใจต้องพร้อมไปกันได้
ทุกภาคส่วนโหมกระหน่ำเททั้งใจ
แต่ไม่ใช่ลุงไม่ยอมรวบรวมเอง

อีก 20 ปี โอ้โหนาน คิดไม่ออก
ใครช่วยบอกอย่าหลอกกันขอคนเก่ง
ไปได้ไหมใช่หรือไม่อย่ากลัวเกรง
เลิกร้องเพลงอวยกันจะบรรลัย.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน มิถุนายน 2561

Posted: 06 Jul 2018 01:34 AM PDT

นิติจุฬาฯ ย้ำ GDPR บังคับใช้แล้วต้องเริ่มทันที ผิด กม.ข้อมูลส่วนบุคคล ปรับสูง 20 ล้านยูโร

Posted: 06 Jul 2018 01:05 AM PDT

วงสัมมนาเชิงลึกโครงการแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของ GDPR ที่สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้  นิติจุฬาฯ ย้ำต้องเริ่มทันที ผิดกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล โทษปรับสูงถึง 20 ล้านยูโร

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องบอลรูม 2 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา จัดสัมมนาเชิงลึกโครงการแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของ GDPR ที่สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ หรือ EU General Data Protection Regulation โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ

รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีพัฒนาการมากมายทั้งในกฎหมายต่างประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยพัฒนาการขั้นล่าสุด ได้แก่ สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ GDPR ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับเก่าให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา  ทั้งนี้รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายดิจิทัล โดยได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และกำลังอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติตามขั้นตอนที่อาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งในขณะนี้ก็ไม่อยากให้รอกฎหมาย แต่เราควรต้องเร่งสร้างมาตรฐานของเราขึ้นมา เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีระบบการรับรองมาตรฐานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษาและมีภารกิจในการให้ความรู้แก่ประชาชนได้ร่วมกันกับภาคเอกชนริเริ่มในเรื่องนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ทันต่อสถานการณ์

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของ GDPR การจัดอบรมให้ความรู้และเผยแพร่แนวปฏิบัติฯ ที่จัดทำขึ้น จึงร่วมกันกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ที่ต่างตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของเรื่องนี้ จัดให้มีโครงการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของ GDPR เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ของภาครัฐและภาคเอกชน และจัดทำแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบการที่จะนำไปปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้ทราบมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลล่าสุดและแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริง

ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง ที่ปรึกษา รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์และบริการทางอินเทอร์เน็ตต่างๆ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่มาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นถือว่าไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายและความพร้อมของหน่วยงานต่างๆในประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยตกเป็นข่าวถึงความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ที่อื้อฉาว เช่น

-  กรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกใช้เป็นฐานการโจรกรรมข้อมูลจากบริษัท Sony Pictures

-  กรณี ATM 21 แห่งของธนาคารออมสินถูกโจมตีด้วยมัลแวร์และขโมยเงินไป 12 ล้านบาท

- กรณี McAfee ตรวจสอบพบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกใช้เป็นฐานโจมตีทางไซเบอร์

-  กรณี Niall Merrigan นักวิจัยด้านความปลอดภัย ที่คอยสำรวจและตรวจสอบการสร้างโฟลด์เดอร์Amazon S3 บนระบบ Cloud ซึ่งหลังจากสแกนเจอโฟลเดอร์ที่เปิดเอาไว้หรือไม่ได้ล็อค ก็จะเลือกเข้าไปดูโฟลด์เดอร์ที่มีข้อมูลเยอะๆ ว่าเก็บอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่ง 1 ใน 1000 นั้นก็คือโฟลเดอร์เก็บข้อมูลลูกค้าของTruemove H

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่งผลให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมาก แม้รัฐบาลจะได้พยายามผลักดันให้มีการตรากฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่ความตระหนักรู้เรื่องความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยยังมีอยู่ค่อนข้างน้อยหรือไม่ได้รับความสนใจโดยสิ้นเชิง

"เมื่อปี 2015 Mr. Schrems นักศึกษากฎหมายชาวออสเตรีย อายุ 23 ปี ได้ไปศึกษากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในสหรัฐอเมริกา และได้ชนะคดี Facebook ในศาลแห่งยุโรปเป็นข่าวโด่งดัง ในกรณีการส่งข้อมูลส่วนบุคคลจากยุโรปไปยังสหรัฐอเมริกาที่มีระดับการคุ้มครองต่ำกว่า ทำให้สหภาพยุโรปต้องทบทวนกรอบ EU-US Privacy Shield ใหม่ในปี 2016 ปัจจุบัน Mr. Schrems ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อว่าnoyb.eu (None of Your Business) เพื่อดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ ปัจจุบัน noyb.com ได้ดำเนินการร้องเรียนต่อ Google และ Facebook ตามมาตรฐาน GDPR แล้ว และยังส่งผลให้กลุ่มต่างๆ เริ่มร้องเรียนในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" ผศ.ดร.ปิยะบุตร กล่าว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของการประกาศใช้ GDPR (EU General Data Protection Regulation) โดยสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับเก่าให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

(1) กำหนดการใช้อำนาจนอกอาณาเขต (extraterritorial jurisdiction) คือ ข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปอยู่ภายใต้ความคุ้มครองไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดในโลก

(2) บทลงโทษสูงขึ้น โดยองค์กรที่กระทำผิดอาจต้องจ่ายค่าปรับสูงถึงอัตราร้อยละ 4 ของผลประกอบการรายได้ทั่วโลก

(3) การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลต้องชัดเจนและชัดแจ้ง (clear and affirmative consent)

(4) การแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุข้อมูลรั่ว หากพบว่าข้อมูลรั่วไหล หน่วยงานผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูลต้องแจ้งให้หน่วยงานกำกับดูแล และประชาชนทราบภายใน 72 ชั่วโมง

(5) ขอบเขตสิทธิของเจ้าของข้อมูล ผู้ควบคุมข้อมูลต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบว่าข้อมูลจะถูกใช้อย่างไร เพื่อวัตถุประสงค์ใด และต้องจัดทำสำเนาข้อมูลให้กับเจ้าของข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยห้ามเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม

(6) สิทธิในการโอนข้อมูลไปยังผู้ประกอบการอื่น (Right to data portability)

(7) สิทธิที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten) เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้หน่วยงานควบคุมข้อมูลลบข้อมูลของตัวเองออกได้

นอกจากการควบคุมการส่งข้อมูลภายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว สำหรับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หากจะทำการติดต่อรับ-ส่งข้อมูลกับบุคคลของประเทศสมาชิก ก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมเพียงพอเช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อรองรับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว ที่ผ่านมากว่า 20 ปีรัฐบาลได้ผลักดันให้มีกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังต้องดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ในขณะที่องค์กรเอกชนทั้งหลายต่างได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ GDPR และมีความกังวลต่อการดำเนินการจัดการข้อมูลในความครอบครองของตนเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่กระทำผิดอาจต้องจ่ายค่าปรับสูงถึงอัตราร้อยละ 4 ของผลประกอบการรายได้ทั่วโลก โดยค่าปรับสูงสุดคิดเป็นมูลค่าถึง 20 ล้านยูโร

ผู้สนใจที่ข้อมูลโดยละเอียดในการสัมมนาครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้ดาวน์โหลดได้ที่ www.law.chula.ac.th/home/view.aspx?id=1096

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนบ้าหลังกำแพงคุก (2): ว่าด้วยความบ้าเชิงปริมาณ

Posted: 06 Jul 2018 12:29 AM PDT

-ผลการศึกษาทางสถิติของสถาบันกัลยาณ์ฯ พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช

-ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1-30 เมษายน 2561 มีผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช 3,947 คน เป็นข้อมูลจาก 130 เรือนจำจาก 142 เรือนจำ

-สภาพคนล้นคุกสร้างข้อจำกัดในการดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช

-งานศึกษาของสถาบันกัลยาณ์ฯ พบว่าการดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชมีอุปสรรคและปัญหาหลายประการ

 

เราต่างต้องการความปลอดภัยในชีวิต เรามีสิทธิ์กลัวการที่ชิต (นามสมมติ) ผู้ฆ่าพ่อเลี้ยงเพราะอาการทางจิต จะมาเดินเหินอยู่ร่วมกับเราในสังคม ถ้าเลือกได้เราคงเลือกให้ชิตและคนอย่างชิตอยู่ในคุกหรือที่ใดสักที่มากกว่าออกมาเดินเพ่นพ่าน

นอกจากผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดี ยังมีผู้ต้องขังที่จิตใจเจ็บป่วยหลังจากต้องใช้ชีวิตติดอยู่หลังกำแพงคุก ซึ่งความป่วยไข้ทางจิตนี้ก็สามารถนำไปสู่ผลกระทบที่คาดเดาไม่ได้อีกมากมาย ทั้งต่อตัวผู้ป่วย คนรอบข้าง และสังคม

เราควรบำบัดรักษาพวกเขาอย่างไร หรืออาจถามว่าเราจำเป็นต้องบำบัดรักษาหรือไม่ โดยเฉพาะกับ 'คนผิด' ที่ถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากผลของการกระทำของตน ...เป็นคำถามเชิงศีลธรรมที่ขอละวางไว้ก่อน และเราอาจพูดถึงมันบ้างในตอนต่อไป

แต่เราจะจัดการกับเรื่องนี้แทบไม่ได้เลย ถ้าเราไม่รู้ว่าพวกเขามีอยู่ มีอยู่เท่าไร และอยู่อย่างไร

เรื่องตัวเลข(ที่ไม่แน่ชัด)ของผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำ

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือทีไอเจ (Thailand Institute of Justice: TIJ) อ้างอิงการเก็บข้อมูลของ prisonstudies.org พบว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ยอดตัวเลขผู้ต้องทั้งหมด ณ วันที่ 1 มีนาคม 2561 คือ 334,279 คน แต่ความสามารถในการรองรับผู้ต้องขังโดยยังคงสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะที่สุดที่เรือนจำไทยรับได้คือ 190,000 คน มันจึงเป็นปริมาณที่เกินกว่าที่ควรเป็นไปมาก กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานชุดโครงการเพื่อพัฒนาระบบความมั่นคงทางสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำไทย กล่าวว่า

"คนล้นคุกเป็นปัญหาพื้นฐานทุกเรื่องของเรือนจำในประเทศไทย นี่เป็นปัญหารากฐานที่สุด"

ยอดตัวเลขผู้ต้องขังทั้งหมด ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 คือ 300,910 คน เป็นตัวเลขที่ใช้ในการศึกษาความชุกของปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชของผู้ต้องขังในเรือนจำ จัดทำโดยสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งพบว่าผู้ต้องขังมีโอกาสมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชสูงกว่าประชากรทั่วไป แต่จำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศที่อยู่ระหว่างรับการรักษาอาการทางจิต ณ ปัจจุบัน (เดือนกรกฎาคม 2560) คือ ร้อยละ 0.13 หรือประมาณ 300 คน เป็นจำนวนที่น้อยอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือสาเหตุให้เกิดงานศึกษาชิ้นนี้ขึ้น

จากการศึกษาของทางสถาบันกัลยาณ์ฯ โดยการเก็บข้อมูลผู้ต้องขัง 600 คน เป็นชาย 520 คน หญิง 80 คน จาก 10 เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศในระดับความมั่นคงต่างๆ โดยวิธีการสุ่มอย่างเป็นขั้นตอนและวิธีทางสถิติ เก็บข้อมูลช่วงเดือน เมษายน - สิงหาคม 2560 เมื่อแปรผลออกมาพบว่า มีผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช 274 คน จาก 600 คน หรือร้อยละ 45.67 แยกเป็นชาย 246 คน หรือร้อยละ47.31 และหญิง 28 คน หรือร้อยละ 35


ดูภาพใหญ่ที่นี่

เมื่อสำรวจจำนวนโรคและความผิดปกติที่พบต่อผู้ต้องขัง 1 ราย พบว่า ผู้ต้องขังที่มี 1 ปัญหาสุขภาพจิต ในผู้ต้องขังชายมีร้อยละ 22.5 ผู้ต้องขังหญิงมีร้อยละ 20 ผู้ต้องขังที่มี 2 ปัญหา ในผู้ต้องขังชายพบร้อยละ 12.1 ผู้ต้องขังหญิงพบร้อยละ 18.75 และผู้ต้องขังที่มีตั้งแต่ 3 ปัญหาขึ้นไป ในผู้ต้องขังชายพบร้อยละ 12.5 ผู้ต้องขังหญิงพบร้อยละ 3.75

ถ้าแยกจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดที่พบความผิดปกติตามกลุ่มอาการ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาการติดสุราและสารเสพติด คิดเป็นร้อยละ 29.83 อันดับที่ 2 และ 3 คิดเป็นร้อยละ 15.83 เท่ากันคือการเสี่ยงฆ่าตัวตายและซึมเศร้า

เฉพาะผู้ต้องขังชายที่พบความผิดปกติจำแนกตามกลุ่มอาการ อันดับ 1 คือการสุราและสารเสพติด ร้อยละ 32.5 อันดับ 2 คือซึมเศร้า ร้อยละ 17.31 และอันดับ 3 คือบุคลิกภาพ ร้อยละ 15.96

"มีโรคหนึ่งที่เรียกว่าโรคบุคลิกภาพแปรปรวน หรือ Personality Disorder" จิตแพทย์หญิงกมลชนก มนตะเสวี จากสถาบันกัลยาณ์ฯ ขยายความ "โรคกลุ่มนี้แยกเป็นชนิดย่อยๆ ได้อีกมาก แต่ที่เราสำรวจจะเรียกว่า Anti-Social Personality Disorder หรือโรคบุคลิกภาพแบบอาชญากร"

ส่วนผู้ต้องขังหญิงทั้งหมดที่พบความผิดปกติจำแนกตามกลุ่มอาการ อันดับ 1 คือเสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 20 อันดับ 2 การติดสุราและสารเสพติด ร้อยละ 12.5 อันดับ 3 จิตเภท ร้อยละ 7.5

ถ้าจำแนกโรคทางจิตเวช 3 อันดับแรกตามระดับการควบคุม พบว่า ในเรือนจำระดับความมั่นคงสูงสุด อาการที่พบ 3 อันดับแรกคือ Antisocial Personality Disorder ร้อยละ 21.5 Suicidality ร้อยละ 16.2 และ Major Depressive Episode ร้อยละ 10

เรือนจำระดับความมั่นคงสูง 3 อันดับแรกคือ Antisocial Personality Disorder ร้อยละ 18.5 Suicidality ร้อยละ 17.7 และ Substance Dependence ร้อยละ 16.9

เรือนจำระดับความมั่นคงปานกลาง 3 อันดับแรกที่พบคือ Suicidality ร้อยละ 15.3 Substance Dependence ร้อยละ 15 และ Antisocial Personality Disorder ร้อยละ 10.3

รายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สภาพในเรือนจำทำให้ชีวิตที่อยู่หลังกำแพงสติแตกได้ ถึงกระนั้น มันยังมีข้อสังเกตและรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่มีผลต่ออาการสติแตกของผู้ต้องขัง ต่อไปนี้คือปัจจัยจำนวนหนึ่ง

"เวลาลงไปสำรวจจะเห็นว่าผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำขนาดใหญ่ที่เป็นเมืองจะมีปัญหาจิตเวชเยอะมาก เมื่อเทียบกับผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำอำเภอ ใกล้บ้าน ญาติมาเยี่ยมง่าย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังกับผู้คุมก็ต่างกัน ถ้าเป็นเรือนจำใหญ่ค่อนข้างเข้มงวดกว่า แต่ถ้าเป็นเรือนจำอำเภอ ความหนาแน่นไม่มาก มีลักษณะเหมือนพ่อลูก ดังนั้น การดูแลหรือทัศนคติของผู้คุมก็มีส่วน" จิตแพทย์หญิงกมลชนก กล่าว

บทบาททางเพศก็มีผลต่อความเจ็บป่วยทางจิต กุลภา วจนสาระ นักวิจัยโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมสุขภาพในเรือนจำ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถ้ามองว่าอาการทางจิตเกิดจากประสบการณ์และพฤติกรรมส่วนตัว พบว่าในผู้ต้องขังชายลักษณะความเจ็บป่วยจะเกิดจากการเสพยา ดื่มเหล้า แล้วมีอาการถอนพิษยา ขณะที่อาการทางจิตในกลุ่มผู้ต้องขังหญิงจะเป็นความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า เนื่องจากความเป็นหญิงทำให้ต้องรับภาระครอบครัว บวกกับมีสัญชาติญาณการเลี้ยงดูสูงกว่าผู้ชาย ทำให้มีความกังวลถึงครอบครัว ลูก สามี

"จากงานที่เราทำและสัมภาษณ์ผู้ป่วยจิตเวชระดับลึกอยู่ชุดหนึ่ง 10 กว่าคน เราแบ่งได้ว่า ถ้าเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่อาการเกิดจาก Gender Role อันนี้ชัดมาก ส่วนใหญ่ห่วงลูก เราเจอเคสผู้หญิงที่รับผิดแทนลูก หลาน ผัว แฟน จำนวนพอสมควร ผู้หญิงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เข้ามาแล้วเกิดอาการเครียด บางคนเป็นซึมเศร้า โดยเฉพาะที่โทษสูง อย่างที่เราเพิ่งเจอ คนแก่อายุ 70 กว่ารับผิดแทนหลาน โดนโทษ 25 ปี แต่ก็ยังเป็นห่วงคนอื่นในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด" กฤตยา กล่าว

ตัวเลขที่ (ไม่) สะท้อนความเป็นจริง

หมายเหตุไว้ตรงนี้ ว่าการสำรวจของสถาบันกัลยาณ์ฯ ถือเป็นการสำรวจล่าสุด ซึ่งเป็นการสำรวจทาง 'สถิติ' โดยใช้กลุ่มศึกษาตามที่กล่าวไปข้างต้น ผ่านเครื่องมือที่เป็นแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป (Demographic information) และ Mini International Neuropsychiatric Interview (MINI) ผลที่ออกมาคือครึ่งหนึ่งของผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช

อีกจุดหนึ่ง การสำรวจนี้เป็นการสำรวจที่รวมเอา 'ปัญหาสุขภาพจิต' และ 'โรคทางจิตเวช' เข้าด้วยกัน ทั้งการกล่าวว่า 'โรคทางจิตเวช' ก็ชวนให้เข้าใจผิดว่าหมายถึง 'บ้า' โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งการป่วยด้วยโรคทางจิตเวชไม่ได้หมายถึง 'บ้า' เสมอไป จุดนี้เป็นข้อควรระวังที่ต้องตระหนักไว้ในใจเสมอ

จากเอกสารวิชาการอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง 'ระบบศาลสุขภาพจิต: แนวทางการบริหารจัดการผู้กระทำผิดกฎหมายที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต' กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาเรือนจำนานาชาติหรือไอซีพีเอส (International Centre for Prison Studies: ICPS) จัดทำสถิติผู้ต้องขังในปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 330,923 คน โดยในแต่ละปีมีผู้ต้องขังที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิตประมาณปีละ 3,000 คน แต่ในความเป็นจริงพบว่าผู้ต้องขังเกือบทุกคนล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตทั้งสิ้น

เมื่อดูตัวเลขของผู้ต้องขังที่ใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2559 ด้วยโรคที่ลงรหัสว่าเป็นโรคทางจิตและพฤติกรรม โดยการ 'นับครั้งที่เข้าไปใช้สิทธิ' พบว่า สำหรับผู้ป่วยใน ผู้ต้องขังชายใช้สิทธิ 652 ครั้ง ผู้ต้องขังหญิงใช้สิทธิ 57 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยนอก ผู้ต้องขังชายใช้สิทธิ 17,306 ครั้ง ผู้ต้องขังหญิงใช้สิทธิ 2,185 ครั้ง

ตัวเลขล่าสุดที่เทพสุดา ฟูเมืองปาน นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ กรมราชทัณฑ์ ให้กับเรา ซึ่งมาจากส่วนที่ดูแลรักษาพยาบาลเรียกเก็บสถิติผู้ป่วยจิตเวชและจ่ายยาให้ เป็นข้อมูลของวันที่ 1-30 เมษายน 2561 พบว่ามีผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช 3,947 คน โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากเรือนจำ 130 แห่งจากเรือนจำทั้งหมด 142 แห่งของกรมราชทัณฑ์ ตัวเลขนี้ไม่มีการแยกการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคอะไรบ้าง

เทพสุดากล่าวถึงตัวเลขผู้ต้องขังทั้งประเทศที่มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชของสถาบันกัลยาณ์ฯ ที่สูงถึงร้อยละ 45.67 ว่า

"ตัวเลขนี้ไปหนักที่ปัญหาการใช้สารเสพติดอยู่หลายเปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเลขจิตเวชอื่นๆ ลดหลั่นตามกันไป ซึ่งเราคิดว่าตัวเลขนี้เป็นไปได้ เพราะผู้ต้องขังใช้ยาและสารเสพติดมากพอสมควร ในบางเรือนจำเราอาจเจอกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับที่อยู่ไม่ถึงปี ทำให้ปัญหาจากการใช้ยาและสารเสพติดยังมีอยู่มาก แต่พอนักโทษประจำโทษสูง อยู่มานานแล้ว โรคที่เจอก็จะเปลี่ยนไป"

สถิติผู้ต้องขังทั้งหมดจากงานศึกษาของสถาบันกัลยาณ์ฯ ระบุว่า ร้อยละ 85 เป็นผู้ต้องขังจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมีความสอดคล้องกับตัวเลขผู้ที่มีปัญหาการติดสุราและสารเสพติดที่ค้นพบ

กรมราชทัณฑ์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างไร

เทพสุดา อธิบายว่า ทางกรมราชทัณฑ์พยายามดูแลเรื่องนี้ โดยผู้ต้องขังแรกรับทุกคนต้องผ่านการคัดกรองสุขภาพจิตโดยแบบประเมินที่กรมราชทัณฑ์กำหนด ซึ่งมีทั้งแบบประเมินภาวะสุขภาพจิตผู้ต้องขังไทย แบบคัดกรอง/ประเมินโรคซึมเศร้าและแบบประเมินการฆ่าตัวตาย และแบบคัดกรองโรคจิต

"ผู้ต้องขังจึงถูกคัดกรองตั้งแต่เข้ามาในเรือนจำแล้ว ถ้าคัดกรองเจอตั้งแต่กระบวนการนี้ พยาบาลหรือนักจิตวิทยาจะส่งต่อ เช่น ถ้าสงสัยว่าป่วยหรือมีปัญหาก็จะส่งให้พบจิตแพทย์ ซึ่งจะขึ้นกับแต่ละที่ บางทีมีจิตแพทย์เข้ามาตรวจข้างใน คนไข้ก็ไม่ต้องออกไป บางที่จิตแพทย์ไม่พอ ไม่สามารถเข้ามาให้บริการในเรือนจำได้ต้องนำผู้ต้องขังออกไปตรวจข้างนอก ถ้าเจอตั้งแต่ในขั้นตอนนี้

"แต่บางทีคัดกรองไม่เจอตั้งแต่แรกก็จะหลุดเข้ามา โรคบางโรคดูยากมาก ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เรียนมาโดยตรงและมีความรู้พื้นฐานด้านนี้ก็ไม่เข้าใจจนกว่าอาการจะชัดเจน มีปัญหาพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิต กลุ่มนี้จะถูกส่งมาที่สถานพยาบาล จะส่งพบแพทย์หรือไม่ก็ตามแต่ หรือในระหว่างอยู่ในเรือนจำ ถ้าเขาป่วยก็จะมีสถานพยาบาล มีพยาบาลที่เขาจะเดินไปบอกว่าป่วยเป็นอะไร แต่โดยปกติที่เคยทำงานอยู่เรือนจำตั้งแต่ 2549 คนไข้จะไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขา เวลามาตรวจจะมาด้วยอาการปวดหัว ไม่สบายตัว นอนไม่หลับ เขาจะไม่ยอมรับว่ามีปัญหาสุขภาพจิต ต้องการแค่ยาแก้ปวดหัว ต้องการยาให้อยู่สุขสบายขึ้น เพราะฉะนั้นการเข้าถึงการรักษาจึงต้องอาศัยกระบวนการ เช่น การให้ความรู้ กิจกรรมส่งเสริมป้องกันในเรือนจำ เพื่อให้เขารู้ว่าเขาเป็นอะไร มันก็จะง่ายขึ้น แต่ในรายที่ปฏิเสธ เขาจะไม่อยากกินยา ไม่อยากรักษา ไม่รู้สึกว่าตัวเองป่วย"

กรณีที่ผู้ต้องขังคิดว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตและต้องการการตรวจรักษา เทพสุดาอธิบายว่า เนื่องจากแต่ละเรือนจำมีขนาดไม่เท่ากัน การรับบริการด้านสุขภาพของผู้ต้องขังจึงต่างกัน เช่น เรือนจำใหญ่ๆ บางแห่งมีการแยกแดนเพื่อระเบียบในการคุมขังหรือเพื่อความสงบเรียบร้อย สถานพยาบาลอาจอยู่แยกออกมา ถ้าผู้ต้องขังต้องการไปแดนพยาบาลก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าเป็นเรือนจำขนาดเล็ก สถานพยาบาลอยู่ภายในแดน ผู้ต้องขังสามารถเดินไปมาได้ ทั้งหมดนี้เป็นข้อตกลงภายในของแต่ละเรือนจำ ซึ่งเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องปฐมนิเทศระเบียบต่างๆ แก่ผู้ต้องขังตั้งแต่ตอนต้น

"บางเรือนจำผู้ต้องขัง 5,000 คน แค่ 1,000 คนตัดสินใจอยากมาพบพยาบาล พยาบาลก็รับไม่ได้แล้ว เพราะมีอยู่คนเดียว แต่ละเรือนจำจึงมีระบบของเขา คนไข้คนใดที่จำเป็นต้องเจอแพทย์ ป่วยหนัก ป่วยน้อย มีระบบของมันอยู่ เพียงแต่ไม่สามารถตอบสนองชนิดว่าอยากเจอเดี๋ยวนี้ต้องได้เจอ"

ลักษณะอาการจิตเวชเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การส่งต่อเพื่อพบแพทย์ต้องถูกเลื่อนออกไป ยกตัวอย่าง ถ้ามีผู้ต้องขังรอออกไปโรงพยาบาล 4 คน คนแรกเป็นมะเร็งที่ต้องรับการฉายแสง คนที่ 2 ต้องฟอกไต คนที่ 3 ต้องผ่าตัด และคนที่ 4 เป็นคนไข้จิตเวชที่ต้องได้รับการตรวจและรับยาต่อ เมื่อเรียงลำดับความเร่งด่วน ผู้ป่วยจิตเวชจึงถูกจัดไว้ในอันดับสุดท้าย หรือในเรือนจำใหญ่ๆ บางแห่ง มีผู้ต้องขังออกไปโรงพยาบาลวันหนึ่ง 10 คนและต้องนอนโรงพยาบาล เช่น การผ่าตัดที่ต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน หมายความว่าผู้ต้องขังที่ป่วยคนอื่นๆ ต้องถูกเลื่อนการพบแพทย์ออกไป เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอสำหรับคุมผู้ต้องขังไปโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ต้องขัง 1 คนที่ออกไปนอกเรือนจำต้องมีเจ้าหน้าที่ 2 คนคอยดูแล ซึ่งก็สืบเนื่องจากปัญหาคนล้นคุกและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ

ก่อนพ้นโทษ 6 เดือน ในกลุ่มผู้ต้องขังที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตและอาการทางจิตเวชจะได้รับการประเมินซ้ำอีกรอบ หากพบสัญญาณอาการทางจิตเวชจะถูกส่งต่อให้พบจิตแพทย์เพื่อรักษา ส่วนในกรณีผู้ต้องขังที่ถูกคัดกรองว่ามีอาการป่วยทางจิตเวชมาก่อนแล้ว ก่อนพ้นโทษ 6 เดือนจะมีการคัดกรองว่ามีภาวะอันตรายหรือไม่ หากไม่มีภาวะอันตราย ทางเรือนจำจะติดตามญาติเพื่อให้รักษาต่อตามสิทธิที่ผู้ต้องขังมี กรณีผู้ต้องขังไม่มีญาติทางเรือนจำจะประสานกับสถานสงเคราะห์ ส่วนในรายผู้ต้องขังที่มีภาวะอันตราย ทางเรือนจำจะทำการส่งต่อผู้ต้องขังไปยังโรงพยาบาลจิตเวชหรือโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในพื้นที่ และทางเรือนจำจะส่งต่อข้อมูลการรักษาให้สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อรับการดูแลต่อเนื่อง และรายงานกรมราชทัณฑ์ตามแบบรายงานที่กำหนด

ภาพที่ยังไม่ตรงกัน

แนวทางปฏิบัติและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หลักการว่าด้วยการคุ้มครองผู้ป่วยทางจิตและการปรับปรุงดูแลสุขภาพจิต ซึ่งถูกรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี 2534 หลักการข้อที่ 20 เกี่ยวกับผู้กระทำผิดทางอาญา ระบุไว้ว่า บุคคลที่รับโทษจำคุกจากการกระทำผิดทางอาญา หรือผู้ถูกควบคุมตัวในระหว่างกระบวนการทางอาญา หรือการสอบสวน ต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทว่า ตัวเลขที่ต่างกันมากของหน่วยงานต่างๆ ข้างต้น ใช่หรือไม่ว่ามีช่องโหว่ในระบบที่ทำให้ไม่สามารถรู้จำนวนของผู้ป่วยจิตเวชที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดได้ ภาวะเช่นนี้ทำให้เผชิญความท้าทายสำคัญ 2 ประการ

1.ไม่รู้ว่าผู้ต้องขังคนใดกำลังมีอาการทางจิตเวช เพราะระบบที่มีอยู่ค้นหาไม่เจอ เมื่อค้นหาไม่เจอก็นำไปสู่ข้อต่อไป

2.ไม่สามารถจัดการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับอาการได้

ย้อนกลับไปดูตัวเลขจากงานศึกษาของสถาบันกัลยาณ์ฯ ด้านอัตราการเข้าถึงบริการ รูปแบบการจัดระบบบริการ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวชของผู้ต้องขังในเรือนจำ ด้วยการเก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานบริการจิตเวชในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ รายงานจากกองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 พบว่า มีผู้ต้องขังเข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวช แบ่งเป็นโรคจิต 3,815 คน คิดเป็นร้อยละ 0.16 โรคซึมเศร้า 277 คน คิดเป็นร้อยละ 0.01 และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย 11 คน คิดเป็นร้อยละ 0.001 เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขที่งานศึกษาชิ้นนี้ค้นพบทำให้ได้ข้อสรุปว่าอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในเรือนจำอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

ในด้านรูปแบบการจัดระบบบริการในเรือนจำที่แบ่งเป็น 7 ด้าน พบว่า

1.ด้านการคัดกรอง ร้อยละของการทำครบทุกกรณี (หมายถึงคัดกรองผู้ต้องขังได้ครบทุกคน) คิดเป็นร้อยละ 89.5

2.ด้านการบำบัดรักษา ร้อยละของการทำครบทุกกรณีคิดเป็นร้อยละ 51.3

3.การฟื้นฟูสมรรถภาพ ร้อยละของการทำครบทุกกรณีคิดเป็นร้อยละ 25

4.ระบบส่งต่อ ร้อยละของการทำครบทุกกรณีคิดเป็นร้อยละ 77.6

5.การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ร้อยละของการทำครบทุกกรณีคิดเป็นร้อยละ 71.1

6.การส่งต่อข้อมูล ร้อยละของการทำครบทุกกรณีคิดเป็นร้อยละ 68.4

7.ระบบยา ร้อยละของการทำครบทุกกรณีคิดเป็นร้อยละ 71.1

จะเห็นว่าในด้านการคัดกรองผู้ป่วยจิตเวช กรมราชทัณฑ์สามารถทำได้สูงถึงเกือบร้อยละ 90 ขณะที่การบำบัดรักษาทำได้เพียงครึ่งเดียว ส่วนการฟื้นฟูสมรรถภาพทำได้เพียง 1 ใน 4

ในงานศึกษาดังกล่าวยังสอบถามถึงอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวชของผู้ต้องขังด้วย อุปสรรคใหญ่สุดคือปัญหาด้านความเชี่ยวชาญของบุคลากร และขาดบุคลากรเฉพาะทาง เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ซึ่งมีผลในเรื่องการประเมินอาการป่วยของผู้ต้องขัง การเข้าถึงบริการได้ล่าช้า และการปรับยา โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานบริการจิตเวชในเรือนจำและทัณฑสถานให้น้ำหนักกับประเด็นนี้ถึงร้อยละ 52.17

ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ มีจิตแพทย์ทั้งหมด 1 คนประจำอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีนักจิตวิทยา 29 คน ประจำอยู่ที่กรมราชทัณฑ์ 7 คน อยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 3 คน ที่เหลือ 19 คนกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ ตีรวมเสียว่ามีบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวช 30 คน เทียบกับผู้ต้องขังประมาณ 300,000 คน หมายความว่าบุคลากร 1 คนต้องดูแลผู้ต้องขัง 10,000 คน

ในส่วนของปัญหาการปฏิบัติงานบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในเรือนจำ งานศึกษาชิ้นนี้แบ่งปัญหาออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วยด้านผู้ต้องขังและญาติ ปัญหาที่พบคือข้อมูลการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังขาดความต่อเนื่อง ผู้ต้องขังมีสิทธิการรักษาอยู่นอกพื้นที่ ทำให้เกิดความล่าช้าในการรักษา ผู้ต้องขังที่ขาดยา หากไม่มีอาการฉุกเฉินหรือรุนแรงจะไม่สามารถออกไปรับยานอกเรือนจำได้

ด้านสถานที่และอุปกรณ์ ปัญหาที่พบคือไม่มีสถานที่จัดให้บริการสุขภาพจิตที่เป็นสัดส่วนหรือแยกเป็นการเฉพาะ ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจำกัดการเคลื่อนไหวผู้ป่วยจิตเวชในช่วงที่ควบคุมพฤติกรรมตนเองไม่ได้ เช่น ห้องแยกผู้ป่วย ผ้าสำหรับผูกยึด เป็นต้น

ด้านเจ้าหน้าที่และบุคลากรในเรือนจำ ปัญหาที่พบคือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านจิตเวชมีไม่เพียงพอ ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของจิตเวช ทั้งเรื่องอาการ การวินิจฉัย การรักษา เรื่องยา ส่งผลถึงประสิทธิภาพในการรักษาโรค เนื่องจากไม่สามารถจำแนกผู้ต้องขังตั้งแต่แรกรับหรือในช่วงที่ผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ การไม่ได้รับความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ เช่น การทานยาไม่ครบ ไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการมีผู้ต้องขังจิตเวชค่อนข้างมากทำให้ไม่มีเวลาในการให้คำปรึกษาในกรณีรายบุคคล หรือไม่สามารถพาไปรับการรักษาโดยพบจิตแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางได้ครบ

ด้านการส่งต่อผู้ต้องขังไปยังสถานพยาบาลเครือข่าย ปัญหาคืออัตรากำลังในการควบคุมผู้ต้องขังไม่เพียงพอ ระยะทาง ความยากลำบากในการเดินทาง ความล่าช้าในการส่งประวัติการรักษา และไม่ทราบที่อยู่ที่แน่นอนของผู้ต้องขังที่ป่วย

............

ทั้งหมดนี้คือการนำภาพแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์กับผลการศึกษาของสถาบันกัลยาณ์ฯ มาทาบซ้อนกัน มันทำให้เห็นว่าภาพที่ควรเป็นและภาพที่เป็นอยู่ บางชิ้นส่วนทาบทับกันได้เกือบพอดี บางชิ้นส่วนยังหาจุดร่วมที่ลงตัวไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คุกเป็นเพียงปลายทาง ดังที่กฤตยากล่าวว่าคนล้นคุกเป็นรากฐานของปัญหาทุกอย่างของเรือนจำไทย ผลพวงจากการรับแนวคิดการปราบปรามยาเสพติดจากสหรัฐฯ เกิดสภาวะ Over Criminalization กวาดต้อนผู้คนจำนวนมากเข้าสู่เรือนจำ เมื่อจำนวนผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้สัดส่วน ภาพที่ควรเป็นกับภาพที่เป็นอยู่จึงพลอยบิดเบี้ยวไม่ได้สัดส่วนไปด้วย (คุกหญิง: คนล้นคุก Over Criminalization กฎหมายยาเสพติด และกระบวนการยุติธรรม)

แม้ทางกรมราชทัณฑ์จะมีแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำ แต่ชีวิตจริงๆ ของคนกลุ่มนี้ไม่ง่ายดาย ใช่, คนบ้าอยู่ไม่ง่ายอยู่แล้วไม่ว่าจะที่ไหน ทั้งรอยแตกรอยโหว่ของกฎหมายยังได้สร้างสภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึงให้กับผู้ต้องขังกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะค้นหาต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นมาของการจัดประกวดบทกวีประชาชน Free Write Award

Posted: 05 Jul 2018 08:55 PM PDT

ประกวดบทกวีประชาชน Free Write Award #3 ขอเชิญผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดบทกวีประชาชน ครั้งที่ 3 Free Write Award #3 ชิงเงินรางวัล พร้อมโล่รางวัล และใบประกาศผลงาน<--break- />

การประกวดบทกวีประชาชน Free Write Award #1

จัดขึ้นเพื่อรองรับความคิด ความรู้สึก ของประชาชนที่ไม่มีพื้นที่ เวที ในการแสดงออกในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งในแวดวงวรรณกรรม ก็ต้องไปอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากชนชั้นสูง ประชาชนจึงมองเห็นเพียงประชาชนด้วยกันเท่านั้น กวีประชาชนไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป จึงมีเพียงปากกาเป็นอาวุธอันแหลมคมเพื่อประจันหน้ากับผู้เข่นฆ่า อย่างเลือดเย็น จึงไม่รอคอยกวีชั้นสูงไหน ๆ มาปลอบประโลม จึงต่างลงมือเขียนบทกวีประชาชนขึ้นมาต่อสู้อย่างองอาจ ประกาศเจตจำนงเสรีและจุดยืนแห่งอยุติธรรมร่วมกัน

คณะกรรมการตัดสินผลงาน ได้แก่ วัฒน์ วรรลยางกูร, ประกาย ปรัชญา, เดือนวาด พิมวนา, ทองขาว ทวีปรังษีนุกูล, ณัฐพร อึ๊งศรีวงศ์ จัดที่ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือนตุลาคม 2553 จัดโดย กลุ่มกวีตีนแดง, Thailand Mirror, กลุ่มพี่น้องผองเพื่อน และ Free Write Award

การประกวดบทกวีประชาชน Free Write Award #2

จัดขึ้นในโอกาสครบ 40 ปี 14 ตุลา ในปี 2556 เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ของเหล่านักศึกษาและประชาชนจนได้รับชัยชนะ และยังเป็นการเชื่อมร้อยประวัติศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่น

คณะกรรมการตัดสินผลงาน ได้แก่ วัฒน์ วรรลยางกูร, เดือนวาด พิมวนา, เพ็ญ ภัคตะ, ประกาย ปรัชญา และทองธัช เทพารักษ์ จัดที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 14 ตุลาคม 2556 และห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ วันที่ 20 ตุลาคม 2556 จัดโดย คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ และ Free Write Award

การประกวดบทกวีประชาชน Free Write Award #3

เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการที่กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐบาล คสช. ในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ความทุกข์ยากของประชาชนที่ตกอยู่ในภาวะปากกัดตีนถีบ ข้าวยากหมากแพง จากปัญหาราคาน้ำมันแพงสินค้าขึ้นราคา ประชาชนรวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คสช. ให้ดำเนินการ 3 เรื่อง คือ ลดราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม, คัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และปรับลดงบประมาณรายจ่ายสิ้นเปลืองและฟุ่มเฟือย ซึ่งรัฐบาลได้ตอบสนอง  ข้อเรียกร้องบางส่วน แต่ยังไม่บรรลุผลทั้งหมด และเพื่อเป็นการส่งต่อเนื้อหาหลักดังกล่าวให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดประกวดบทกวีประชาชน Free Write Award ครั้งที่ 3 เพื่อใช้บทกวีประชาชนสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ความเดือดเนื้อร้อนใจ โดยเล็งเห็นว่าบทกวีจะเป็นสื่อที่จะบอกกล่าวเล่าเรื่องให้ได้เข้าถึงหัวใจผู้ทุกข์ยาก ในภาวะที่บ้านเมืองตกอยู่ในความมืดงำดำทมิฬ

คณะกรรมการตัดสินผลงาน ได้แก่ เพ็ญ ภัคตะ, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และทองธัช เทพารักษ์  ประกาศรางวัล วันอังคารที่ 25 กันยายน 2561 จัดโดย Free Write Award และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

สำหรับการจัดประกวดบทกวีประชาชน Free Write Award #3 ผู้จัดได้พยายามอย่างเต็มที่ในการจัดหาเงินรางวัลท่ามกลางภาวะทุกข์ยาก ประชาชนต่างตกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง จากสภาวะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และยังได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาสื่อไปถึงประชาชนชาวไทยทั้งมวล จึงเป็นคำปลอบประโลมที่ส่งจากประชาชนถึงประชาชนด้วยกันโดยตรง

ผู้จัดประกวดบทกวีประชาชน Free Write Award #3 ขอเชิญผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดบทกวีประชาชน ครั้งที่ 3 Free Write Award #3 ชิงเงินรางวัล พร้อมโล่รางวัล และใบประกาศผลงาน

ประเภทและเนื้อหาของงาน

เป็นผลงานประเภทกวีนิพนธ์ มีเนื้อหาสะท้อนเศรษฐกิจปากท้อง ความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของประชาชน ภายใต้รัฐบาล คสช. โดยเลือกเขียนประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1. ประเภทฉันทลักษณ์คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันกี่ประเภทก็ได้ กำหนดความยาว 6-10 บท
2. ประเภทไร้ฉันทลักษณ์ กำหนดความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษเอ 4

คุณสมบัติของงาน

1. เขียนเป็นภาษาไทย
2. สร้างสรรค์ขึ้นเอง ไม่แปล หรือแปลงจากงานเขียนของผู้อื่น
3. เป็นงานที่เขียนขึ้นใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์หรือรวมเล่มมาก่อน และระหว่างที่เสนอพิจารณาห้ามส่งใหนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสำนักพิมพ์เพื่อการตีพิมพ์
4. ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ในวันส่งผลงาน
5. ผู้เขียน 1 คน มีสิทธ์ส่งผลงานได้ไม่เกิน 3 ชิ้น

เกณฑ์การส่ง

1. รับสมัครทาง E-mail เท่านั้น โดยส่งมาที่ E-mail Freewriteaward3@gmail.com
2. ใส่ชื่อ นามสกุล จริง ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ พร้อมเบอร์โทรศัพท์
3. คณะกรรมการจะนับวันเวลาในการส่ง E-mail เป็นสำคัญ

คณะกรรมการตัดสิน

1. ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักคิด นักเขียน
2. ทองธัช เทพารักษ์ การ์ตูนนิสต์ และคอลัมนิสต์
3. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ
 

รางวัล

รางวัลที่ 1 จำนวน 10,000 บาท + ถ้วยรางวัล + ใบประกาศผลงาน
รางวัลที่ 2 จำนวน 6,000 บาท + ถ้วยรางวัล + ใบประกาศผลงาน
รางวัลที่ 3 จำนวน 4,000 บาท + ถ้วยรางวัล + ใบประกาศผลงาน
รางวัลชมเชย 1  จำนวน 1,000 บาท + ใบประกาศผลงาน
รางวัลชมเชย 2 จำนวน 1,000 บาท + ใบประกาศผลงาน

กำหนดเวลา

1. เปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน - 31 สิงหาคม 2561
2. ประกาศผลการตัดสินและรับรางวัล วันอังคารที่ 25 กันยายน 2561
3. ผลงานที่ผ่านการคัดเลือก 50 ผลงานสุดท้าย ผู้จัดขอลิขสิทธิ์จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่

ติดต่อสอบถาม

1. E-mail :Freewriteaward3@gmail.com
2. https://www.facebook.com/freewriteaward
3. เบอร์โทรศัพท์ 089 5007232

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น