โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

‘กลุ่มสามมิตร’ คือใคร? 'ประวิตร' ชี้หนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกก็เรื่องของเขา

Posted: 03 Jul 2018 07:16 AM PDT

เช็คประวัติทางการเมือง 'กลุ่มสามมิตร' อดีตล้วนแล้วแต่เคยร่วมทางกับไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย 3 คีย์แมนหลักเคยร่วมสร้างรัฐบาลไทยรักไทยปี 44 มาวันนี้หันหัวเรือเตรียมร่วมพลังประชารัฐ หนุนประยุทธ์ เป็นนายกฯ จนอดีต ส.ส. เพื่อไทยยื่น กกต. สอบพลังดูด ประวิทย์ชี้ ใครหนุนประยุทธ์ ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับตัวเอง

สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองในระยะประชิด อาจจะสงสัยกันอยู่บ้างว่า 'กลุ่มสามมิตร' ที่ปรากฎอยู่ในพาดหัวข่าวการเมืองตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือใครกัน

กลุ่มสามมิตร เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการกลับมาร่วมงานทางการเมืองระหว่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งมีฐานหลักมาจากกลุ่มวงน้ำยม หรือกลุ่มมัชฌิมาเดิม และทั้งสามคนมีส่วนสำคัญในการทำให้พรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อปี 2544 จากการเดินได้สายรวบรวมบรรดา ส.ส. ในพรรคต่างๆ เพื่อเข้ามารวมกันในพรรคไทยรักไทย

กลุ่มดังกล่าว ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 จากการที่สมศักดิ์, สุริยะ พร้อมด้วย ภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย และอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท ไปพบกับ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีต ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข และวันชัย บุษบา อดีต ส.ส.เลย

โดยวันนั้นปรีชาเปิดเผยว่า สุริยะ สมศักดิ์ และตนเองเคยอยู่พรรคกิจสังคมกันมาก่อน และย้ายมาอยู่พรรคไทยรักไทยด้วยกัน เห็นว่าน่าจะมาระดมสมอง นำนโยบายความคิดของพวกเรามาเป็นนโยบายสานต่อการพัฒนาประเทศ โดยทางกลุ่มเรียกตัวเองว่า กลุ่มสามมิตร มีสุริยะเป็นหัวหน้ากลุ่ม จากนี้จะมีการเดินสายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อคุยกับอดีต ส.ส. เพื่อหาแนวร่วม เมื่อรวมกลุ่มเสร็จก็จะมีการพิจารณานโยบายของพรรคการเมือง หากพรรคไหนมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ทางกลุ่มก็พร้อมจะสนับสนุน แต่ในเวลานี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมงานกับพรรคใด

แต่ที่สุดแล้ว สุริยะ เปิดเผยในภายหลังว่า กลุ่มสามมิตร จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. กลุ่มสามมิตร ได้เชิญอดีต ส.ส.ประมาณ 50 คน  เข้าหารือ ที่สนามกอล์ฟ ไพน์เฮิร์สท เพื่อเตรียมพร้อมในการรวมตัวกันเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ  ส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเป็นอดีต ส.ส.จากภาคอีสาน อาทิ จำลอง ครุฑขุนทด อดีต ส.ส.นครราชสีมา สุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา สมคิด บาลไธสง อดีต ส.ส.หนองคาย  ภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา  เวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด และ น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต ส.ส.ขอนแก่น 

โดยสุริยะ กล่าวถึงการตัดสินใจรวบรวมอดีต ส.ส.เข้าร่วมสังกัดพรรคพลังประชารัฐว่า อยากสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ ต่อไป เพราะที่ผ่านมาได้มีโอกาสหารือกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาโดยตลอด ถึงแนวทางและนโยบายที่จะดำเนินการทำให้เห็นถึงความตั้งใจของพล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจที่จะช่วยเพราะเชื่อในความสามารถ มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง พร้อมขอให้ทุกคนลงพื้นที่สอบถามความต้องการของประชาชนว่าต้องการนโยบายอะไร เพื่อนำมาสรุปเป็นนโยบายนำเสนอผู้นำพรรคต่อไป

อย่างไรก็ตาม สมคิด ระบุว่า ไม่รู้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร เพราะตนดูเศรษฐกิจ ไม่ได้ดูการเมือง สัปดาห์ที่ผ่านมาติดภารกิจต่างประเทศ เพิ่งเดินทางกลับมาเมื่อคืนวันที่ 1 ก.ค. กลับมาก็เห็นข่าวเยอะแยะไปหมด ยังงงๆ อยู่เลย การที่กลุ่มสามมิตรประกาศสนับสนุน พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯอีกสมัยนั้น ป็นการตัดสินใจของแต่ละคน และคงเห็นว่าตนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ด้วย รวมถึงคนไทยส่วนใหญ่ต่างสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ เมื่อถามว่า แกนนำกลุ่มสามมิตรระบุดีลการเมืองผ่านตน สมคิดกล่าวว่า

"เพื่อนกันทั้งนั้น พรรคการเมืองส่วนใหญ่รู้จักกันหมด"

และด้วยปรากฎการณ์กล่าวมานี้ สุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส. ลพบุรี สังกัดพรรคเพื่อไทย จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการ กกต. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. เพื่อขอให้มีการะงับ และไม่อนุญาตให้มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ พร้อมขอให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับ กลุ่มสามมิตร เนื่องจากมีเหตุให้เชื่อได้ว่าทั้งสามคนได้พยายาม เชิญชวนโดยใช้ผลประโยชน์ให้ อดีต ส.ส. หลายพื้นที่เข้าร่วมพรรคประพลังประชารัฐ พร้อมกับข้อให้มีการไต่สวนพลเอกประวิตร และรัฐมนตรีคนอื่นที่เกี่ยวข้องในกรณีสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งครั้งหน้า

สำหรับข้อร้องเรียนของ สุชาติ ระบุว่า แม้พรรคพลังประชารัฐ จะยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่กลับพบว่ามีการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ โดยกลุ่มสามมิตรได้เดินสายไปพบปะกับ อดีต ส.ส. เพื่อเชิญชวนให้ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีคนในรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (4) ที่บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

"นายสมคิดใช้ทำเนียบรัฐบาล ในการร่างนโยบาย ของพรรค แล้วยังมีการนัดพบอดีต ส.ส. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เมื่อวันที่ 11 พ.ค. เวลา 14.00 น. โดยมีการเสนอผลประโยชน์ให้ พร้อมทั้งให้ดูนโยบาย 10 ข้อ ที่พรรคพลังประชารัฐจะดำเนินการให้เสร็จ โดยอ้างว่าถ้าทำไม่เสร็จจะไม่มีการเลือกตั้ง วันนี้ชาวบ้านกำลังดูอยู่ เบื้องหลังกลุ่มสามมิตรจริงหรือไม่ ขอให้นายสมคิดออกมาพูด ถ้าไม่อยู่ ต้องบอกให้ได้ว่านโยบาย 10 ข้อ ต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ทำไว้เพื่ออะไร เพราะนายสมคิดเป็นคนไปพูดกับนายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน และคณะทำงานประสานงานประชาสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมกลุ่มสามมิตรที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือน เม.ย. แล้วนายภิรมย์ก็โทรมาชวนผม จึงบอกว่าจะเอาอะไรไปสู้พรรคใหญ่ๆ เขา นายภิรมย์บอกว่าพรรคพลังประชารัฐเตรียมนโยบาย 10 ข้อไว้แล้ว ผมไม่เชื่อเขาจึงส่งไลน์มาให้ดู" สุชาติ กล่าว

ส่วนในกรณีของ สมศักดิ์ และสุริยะ สุชาติระบุว่า ทั้งสองได้มีการเสนอผลประโยชน์ให้กับอดีต ส.ส. ทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 30-31 ที่กำหนดว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใด ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมเพื่อจูงใจ ให้บุคคลหนึ่งบุคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค จะมีโทษตามมาตรา 109 จำคุก 5-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท ทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยวิธีการชักชวนของกลุ่มสามมิตร จะถามว่ามีหนี้เท่าไร อยากได้เงินเดือนละเท่าไร และอยากได้เงินก้อนเพื่อทำมาหากินเท่าไร 

ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนต่อกรณีนี้ว่า ไม่รู้จักกลุ่มดังกล่าว ส่วนที่ระบุว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็ถือเป็นเรื่องของเขา ตนไม่ได้รับรู้ด้วย ตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองเกิดขึ้น และตนเองยังไม่ได้ทำอะไร หากใครต้องการจะร้องเรียนก็ร้องไป เพราะตนเองยังไม่ได้ทำอะไร

ใครเป็นใคร ในสามมิตร

สมศักดิ์ เทพสุทิน เริ่มต้นชีวิตในสนามการเมืองระดับชาติจากการได้รับเรื่องตั้งเป็น ส.ส. สุโขทัย ตั้งแต่ปี 2526 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ต่อมาในยุครัฐบาลชวน หลักภัย รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาลชวนสอง ก่อนย้ายมาสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งถือเป็นคนสำคัญของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นเพราะตลอดระยะเวลาของรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 ไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่เข้าไม่ได้ดำรงในระดับรัฐมนตรี

สมศักดิ์ และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำกลุ่มทางการเมืองในพรรคไทยรักไทย ที่ชื่อว่ากลุ่มวังน้ำยม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สูงของไทยรักไทยในเวลานั้น มี ส.ส. สังกัดอยู่ในกลุ่มนี้ราว 120 คน 

หลังการรัฐประหาร 2549 สมศักดิ์และกลุ่มวังน้ำยมได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ไปจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า "กลุ่มมัชฌิมา" ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรค ก่อนจะกลับมาใหม่ใต้ร่มพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งมีอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ที่สุดแล้วก็ถูกตัดสินยุบพรรคอีกครั้ง พร้อมกับพรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน  ทำให้ ส.ส. ในกลุ่มของของสมศักดิ์ ได้ย้ายมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทย

แต่ในการเลือกตั้งปี 2557 ซึ่งถูกตัดสินเป็นโมฆะไป เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 16 ต่อมาในปี 2561 เขาระบุจะไม่ทำการยืนยันสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย และได้ประกาศเข้าร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลุ่มการเมืองของตนจากกลุ่ม วังน้ำยม หรือ มัชฌิมา เป็น กลุ่มสามมิตร 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และเป็นแกนนำกลุ่มวังน้ำยม ร่วมกับสมศักดิ์ เทพสุทิน ในสมัยที่เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ประสบปัญหาในคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็สิ้นสุดลง ในปี 2555 หลัง ป.ป.ช. มีมติสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

ในปี 2550 จากกรณียุบพรรคไทยรักไทย เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นได้เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัวพรรคภูมิใจไทยในปี 2552 ก่อนจะกลับมาเป็นหัวหน้ากลุ่มสามมิตรซึ่งประกาศร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในปีนี้

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นขุนพลคนสำคัญในรัฐบาลทักษิณ เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรค จากนั้นได้ร่วมก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพรรค

หลังการรัฐประหารปี 2557 เขารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดูแลรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งกับหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จนกระทั่งในเดือน ส.ค.  2558 ดร.สมคิด จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และปรับให้หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ต่อมาปี 2561 มีกระแสข่าวต่อเนื่องว่า เขาเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญในของกลุ่มสามมิตร

ภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส. นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน

อนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย และเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากกรณียุบพรรค ต่อมาได้สนับสนุนพรรคภูใจไทย ซึ่งมีพรทิวา นาคาศัย ภรรยา เป็นเลขาธิการพรรค

ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอดีต สส. เลย พรรคเพื่อไทย และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พรรคพลังประชาชน

เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ภรรยาของปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็นอดีต ส.ส. เลย ในสังกัดพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

วันชัย บุษบา อดีต ส.ส. เลย ได้รับเลือกตั้งในปี 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้ดำรงสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำสวย 2 สมัย และเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ก่อนจะลาออกมาเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ

จำลอง ครุฑขุนทด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก่อหน้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคชาติไทย เมื่อปี พ.ศ. 2523 ต่อมาได้ย้ายไปสังกัดพรรคปวงชนชาวไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2531-2535 และย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนา ซึ่งต่อมาได้มีการยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย

เขาเคย เข้าร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่เวทีสะพานผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2553

สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อดีต ส.ส. สังกัดพรรคไทยรักไทย เขาเคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม นปช. จนกระทั่งรัฐบาลสั่งการปฏิบัติการณ์กระชับวงล้อมในวันที่ 12 พ.ค. 2553 และแกนนำ นปช. ประกาศสลายการชุมนุมไปเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ที่สี่แยกราชประสงค์

สมคิด บาลไธสง เป็นอดีต ส.ส. หนองคาย หลายสมัย เคยสังกัดหลายพรรคการเมือง อาทิ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย 

เวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด 4 สมัย และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้เคยสังกัดพรรคชาติประชาธิปไตย พรรคกิจประชาสังคม พรรคความหวังใหม่

น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ เริ่มงานการเมืองระดับชาติโดยเป็น ส.ส.ขอนแก่น ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ เมื่อพรรคความใหม่ควบรวมกับพรรคไทยรักไทย เขาได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่อมาได้เข้าร่วมกับพรรคภูมิใจไทยหลังการรัฐประหาร 2557


เรียบเรียง: ไทยรัฐออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์ , สำนักข่าวไทยออนไลน์, ไทยโพสต์ออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองนายกฯ มาเลเซียประณามกรณีชาย 41 วิวาห์เด็ก 11 ชี้ ผิด กม.อิสลาม

Posted: 03 Jul 2018 06:36 AM PDT

วัน อาซีซะห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียกล่าวว่าการแต่งงานระหว่างชายอายุ 41 ปี จากรัฐกลันตัน กับเด็กผู้หญิงอายุ 11 ปี ที่สุไหงโกลก แล้วเป็นข่าวว่อนโซเชียลมีเดียถือว่าผิดกฎหมายและควรต้องแยกทั้งคู่จากกัน และควรมีการพิจารณากรณีแต่งงานเช่นนี้ให้ถี่ถ้วน ล่าสุดยังตามตัวเจ้าบ่าวไม่เจอ

 

แฟ้มภาพ วัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล (ที่มา: วิกิพีเดีย)

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา วัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล ภรรยาอันวาร์ อิบราฮิม ที่ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลมาเลเซียแถลงว่าการแต่งงานระหว่างชายชาวกลันตันอายุ 41 ปี กับเด็กอายุ 11 ปี ที่ไปทำพิธีที่สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและควรจะมีการแยกทั้ง 2 คนออกจากกัน หลังจากที่วัน อาซิซะห์เดินทางไปทำพิธีเปิดบ้านเด็กกำพร้าอย่างเป็นทางการ

ในมาเลเซียมีกฎหมายครอบครัวอิสลามที่บังคับใช้กับทุกรัฐ กฎหมายดังกล่าวระบุว่าผู้ที่จะแต่งงานได้ต้องเป็นชายอายุ 18 ปี ขึ้นไป และเป็นหญิงอายุ 16 ปี ขึ้นไป ส่วนคนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะได้รับอนุญาตให้แต่งงานได้ถ้าหากพวกเขาได้รับความยินยอมจากพ่อแม่และได้รับการอนุมัติจากศาลชารีอะฮ์ (Syariah Court) ซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีตามหลักศาสนาอิสลามสำหรับชาวมุสลิมแล้วเท่านั้น

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันในมาเลเซียหลังข่าวคนอายุ 41 ปี แต่งงานกับเด็กอายุ 11 ปี แพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา

จากการสืบสวนเบื้องต้นของกรมสวัสดิการรัฐกลันตันพบว่าการแต่งงานดังกล่าวจัดขึ้นที่สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ในประเทศไทย และพ่อแม่ของเด็กผู้หญิงคนดังกล่าวก็เป็นชาวไทย

วัน อาซิซะห์  ผู้ดำรงตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาผู้หญิง ครอบครัว และชุมชน กล่าวว่าในตอนนี้พวกเขายังไม่สามารถตามตัวเจ้าบ่าวได้ ขณะเดียวกันเธอก็บอกว่าประเด็นการแต่งงานกับเด็กนี้ควรมีการพิจารณาแบบครอบคลุม และควรพิจารณาว่ากรณีนี้มีเรื่องของการใคร่เด็ก การฉวยประโยชน์จากเด็ก และภาพลามกอนาจารเด็กอยู่ด้วยหรือไม่

วัน อาซิซะห์ ยังเสนอว่าควรมีการเพิ่มเกณฑ์อายุการแต่งงานของผู้หญิงมาเลเซียจาก 16 ปี เป็น 18 ปี ด้วย

เรียบเรียงจาก

Wan Azizah: Marriage of 11-year-old girl is illegal,
The Star, Jul. 01, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วอยซ์ทีวี' เล็งฟ้องศาลปกครอง หลัง กสทช. แบน (อีกแล้ว) 2 รายการ

Posted: 03 Jul 2018 06:12 AM PDT

ผอ.อาวุโสฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการวอยซ์ทีวี ระบุ กสทช. พักออกอากาศสองรายการข่าวกระทบทั้งเรตติ้งและรายได้ จะปรับแก้ตามที่ถูกท้วงติงแต่ทิศทางการทำข่าวยังเหมือนเดิม กำลังปรึกษาทนาย เล็งฟ้องศาลปกครอง อดีต กสทช. ชี้ คำสั่ง คสช. ให้ กสทช. กด 'สูตรอมตะ' แบนสื่อต่อเนื่องและโฉ่งฉ่าง

โลโก้วอยซ์ทีวี

ข่าวการค้นพบทีมฟุตบอลหมูป่าที่ติดในถ้ำขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เป็นที่ปรากฏอย่างแพร่หลาย รวดเร็วบนหน้าสื่อทั้งไทยและต่างชาติ แต่ไม่ใช่ที่รายการข่าว Daily Dose และ Wake Up News ของช่องวอยซ์ทีวี เพราะเมื่อวานนี้เพิ่งมีคำสั่งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้พักออกอากาศเป็นเวลาสามวัน (2-4 ก.ค. และ 3-5 ก.ค. ตามลำดับ)

รายละเอียดคร่าวๆ ของการพักออกอากาศสองรายการข่าวมีดังต่อไปนี้

  1. คำสั่งของ กสทช. แบนรายการ Daily Dose จากเทปที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยเปรียบเทียบกรณีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่กับภาพยนตร์เรื่อง "No Country For Old Men" ว่า ผู้ครองอำนาจเดิมแทรกแซง ข่มขู่ บุคคลที่จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อให้สามารถจัดตั้งพรรคได้ อันเป็นการกีดกันไม่ให้คนยุคใหม่ได้เข้ามาบริหารปกครองประเทศในลักษณะ "No Country For Young Men" และนำเสนอบทสัมภาษณ์แกนนำกลุ่มบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ผู้ดำเนินรายการมีการแสดงความเห็นโดยปราศจากความเป็นลาง รวมทั้งแสดงความเห็นในเชิงก่อให้เกิดการแบ่งแยกของคนในสังคม ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 3(5) ของประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 (ประกาศฉบับที่ 97) และถือเป็นการออกอากาศเนื้อหาต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศ และขัดต่อเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ของวอยซ์ทีวี ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับ กสทช. ฉบับลงวันที่ 4 มิ.ย. 2557
  2. Wake Up News ถูกแบนจากเทปที่มีการสรุปความเห็นของ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียาเวส จากการเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า "การรัฐประหารมักจะถูกกระทำโดยทหารที่ถูกปลูกฝังให้อยากเป็นใหญ่แต่ไม่คิดจะทำตามระบบ ไม่คิดอยากจะเลือกตั้ง คิดแต่จะยึดอำนาจ และเขียนกฎหมายเพื่อให้รองรับการสืบทอดอำนาจ" ก่อนนำคลิปเสียงของเสรีพิศุทธ์ ในงานเสวนาดังกล่าวมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวมีผู้ร่วมเสวนาหลายคน แต่ผู้ดำเนินรายการเลือกที่จะเสนอเฉพาะความเห็นของเสรีพิศุทธ์เท่านั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นความเห็นที่ไม่เห็นพ้องและโจมตีรัฐบาล อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนต่อการปฏิบัติหน้าที่รวมถึงกระบวนการในการฝึกอบรมและวัฒนธรรมของกำลังพลในกองทัพได้ ถือว่าขัดต่อข้อ 3(5) ของประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และถือเป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศ และขัดต่อเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ของวอยซ์ทีวี ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับ กสทช. ฉบับลงวันที่ 4 มิ.ย. 2557
 

ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีกล่าวกับประชาไทว่า ทางวอยซ์กำลังหารือกับทนายความเพื่อเตรียมข้อมูลไปร้องเรียนกับศาลปกครอง  หากวอยซ์เดินหน้าฟ้องศาลปกครองจริงก็จะเป็นครั้งแรกของสถานีฯ ที่จะต่อสู้ในศาลปกครองหลังถูก กสทช. ลงโทษสารพัดชนิดมาร่วม 20 ครั้งนับตั้งแต่รัฐประหาร

"ในกระบวนการไม่มีทางเลือก ต้องไปที่ศาลปกครองอย่างเดียวเพราะโดนมาหลายครั้ง เรายังไม่เคยไปสู้ในทั้งเรียกร้องความยุติธรรมถึงศาลปกครอง ที่ผ่านมาเขาลงโทษมาเราก็ยอมรับสภาพไป ไม่ได้คิดจะต่อสู้ แต่นี่มันหลายครั้ง พอหลายครั้งมากๆ เราก็เชื่อว่าในแง่ของความผิดมันไม่ได้เป็นไปตามที่ กสทช. กล่าวหาหรือที่เขาเชื่ออย่างนั้น เราก็เชื่อว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจซึ่งเป็นเสรีภาพตามปรกติของสื่อมวลชนในโลประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้วก็พูดถึงเรื่องนี้ไว้ ถ้าเราไปฟ้องศาลปกครอง ก็จะเป็นครั้งแรกที่วอยซ์จะตัดสินใจสู้ในชั้นศาลปกครอง"

ประทีปยังระบุว่า คำสั่งพักออกอากาศยังไม่กระทบบทบาทของวอยซ์ในการเป็นสถานีโทรทัศน์วิเคราะห์ข่าวที่ให้น้ำหนักกับข่าวการเมือง ต่างประเทศ เศรษฐกิจ อันเป็นจุดแข็งที่แตกต่างจากช่องอื่นๆ รายการที่ถูกพักนั้น เมื่อกลับมาก็จะเป็นเหมือนเดิม โครงสร้างรายการจะไม่มีการเปลี่ยน ผู้ดำเนินรายการก็จะไม่เปลี่ยน แต่ต้องระวังมากขึ้นในเรื่องที่ กสทช. ท้วงติงอันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองรายการต้องปลิวชั่วคราว

"ก็ต้องระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหา หรือความเห็นที่เขาเคยท้วงติงไว้ เช่น ในแง่ความไม่รอบด้านก็ต้องระวังตรงนี้เพิ่ม ยกตัวอย่างเช่นถ้านักข่าวไปงานเสวนาทางการเมืองประเด็นต่างๆ เนื่องจากเป็นช่วงถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง แล้วมันมีคนที่เป็นตัวแทนไปคุยบนเวทีเสวนาหลายพรรคหลายฝ่าย เวลาจะนำเสนอ ถ้าเราจะปล่อยเสียงก็ควรจะปล่อยเสียงให้ครบทุกพรรค เพื่อไม่ให้เป็นช่องให้เขาหยิบมากล่าวหาว่าไม่นำเสนอรอบด้าน"

"ส่วนประเนื้อหาที่กระทบความมั่นคงเป็นการตีความของ กสทช. ก็ลำบากเหมือนกันถ้าจะไปหลีกเลี่ยงตรงนั้นเพราะเราก็เน้นข่าวเรื่องการเมือง วิเคราะห์ข่าวการเมืองมันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะนำเสนออะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือนโยบาย ถามว่าเรื่องพวกนี้จะไปกระทบกับความมั่นคงตรงไหน อย่างไร ก็เป็นมุมมองของ กสทช. ที่จะตัดสินใจ เราคิดว่ามันไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะมันคือการนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริง นักวิเคราะห์อาจมีความเห็นเพิ่มเติมแต่ก็เป็นความเห็นที่อยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ได้บิดเบือน

ประทีปกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการวิเคราะห์หรือนำเสนอข่าวแล้วไปกระทบหรือละเมิดใครนั้นก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะต้องมาพักออกอากาศกัน เนื่องจากในทางปกติก็มีกฎหมายที่จัดการได้ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งผู้ถูกละเมิดหรือพาดพิงจะออกมาปกป้องตัวเอง รวมถึงแรงต้านจากคนดูที่จะมีผลกับความน่าเชื่อถือของสถานีฯ

ว่าด้วยเรื่องเนื้อหาที่ถูก กสทช. เพ่งเล็งเล่นงานมากที่สุด ผอ.ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการตอบว่าส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่ไปพาดพิง วิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวหา คสช. หรือรัฐบาล ซึ่งในความหมายรวมๆ หมายถึงการพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หรือพาดพิงนโยบายรัฐบาลด้วย การพาดพิงทหารก็เป็นประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งเช่นกัน

ในกรณีความเสียหายทางธุรกิจ แม้ยังไม่ได้สรุปตัวเลขออกมา แต่ประทีปกล่าวว่าชะตากรรมที่ไม่แน่นอนของรายการในวอยซ์มีผลกระทบมากต่อความมั่นใจของคนที่อยากมาลงโฆษณาหรือเป็นผู้สนับสนุนรายการ รวมถึงระดับเรตติ้งจากผู้ชม

"ตัวเลขยังไม่ได้สรุปออกมา เพราะจริงๆ ก็แค่สามวัน แต่ในเชิงธุรกิจก็คือการชดเชยลูกค้าให้ได้ ถ้ารายการนี้ออกอากาศไม่ได้สามวันก็จะนับยอดชดเชยให้เขาในวันอื่น แต่กระทบแน่ คงบอกตัวเลขไม่ได้ เพราะนอกจากเรื่องการเสียโอกาสการเอาเวลาไปขายได้เพิ่มก็ต้องเอาเวลาที่จะขายได้เพิ่มมาชดเชยเพราะเราไม่ได้ออกอากาศให้เขาในวันเวลาเดิม ในแง่ความมั่นใจของลูกค้าอันนี้ประเมินยาก ลูกค้าอาจจะมีความมั่นใจลดลงในการมาซื้อโฆษณาหรือสนับสนุนเรา เพราะเดี๋ยวก็ถูกปิดรายการ ถูกพักรายการ เขาก็จะขาดความเชื่อมั่นในการสนับสนุนเรา"

"ในแง่คนดูก็มีผลกระทบ การพักรายการ เวลารายการใหม่ (ที่มาแทนช่วงเวลารายการเดิม) มาบางทีไม่สามารถดึงคนดู้ไว้อย่างรายการเดิมได้ พอรายการหายไประยะหนึ่งแล้วกลับมาก็ไม่ได้หมายความว่าคนดูที่เคยดูยู่จะกลับมาดูทันที มันจะต้องมีเวลาดึงคนดูกลับมาใหม่ เราก็จะมีปัญหานี้เป็นระยะตามที่เราถูกปิด บางทีรายการเรตติ้งกำลังมาดีๆ ก็สั่งพักเรา พอสั่งพักเสร้จ 3 วัน 5 วัน 7 วัน วันเรตติ้งก็หายไป พอรายการกลับมาใหม่ กว่าเรตติ้งจะกลับมาจุดเดิมก็ต้องใช้เวลา"

ด้าน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรรายการ The Daily Dose และ Wake Up News ให้ความเห็นว่า "ไม่เป็นไร อีกสักพักก็กลับมานำเสนอรายการตามปกติต่อ เข้าใจสภาพแวดล้อมของการทำงานขององค์กรอิสระในยุคนี้"

อดีต กสทช. ชี้ คำสั่งคณะรัฐประหารให้ กสทช. กด 'สูตรอมตะ' กำกับสื่อต่อเนื่องและโฉ่งฉ่าง

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 เรื่องการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่ให้อำนาจ กสทช. ตัดสินและกำกับสื่อมวลชนโดยเว้นโทษความผิดทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย เป็นอำนาจพิเศษที่ทำให้ กสทช. พ้นจากการต้องรับผิดชอบทางกฎหมายจากการตัดสินใจแบนสื่ออย่างต่อเนื่องภายใต้ยุคสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งในอดีต กสทช. มีความระมัดระวังมากในการใช้อำนาจในการกำกับสื่อที่มีอยู่แล้วตามในมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดกรอบความผิดไว้ว่า

ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน

ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้

"จะเห็นว่าการใช้กรณีนี้ (วอยซ์ทีวี) ต้องใช้ว่าขัดกับประกาศ คสช. เสมอ เพราะว่าอันนั้นคือตัวอิงอำนาจของ กสทช. ถ้าเคสอื่น เช่น รายการละคร ซีรีส์ เกมโชว์ ก็เป็นการใช้อำนาจปรกติตามมาตรา 37 เช่นปรับห้าหมื่น ปรับห้าแสน เตือนให้ปรับเรตรายการให้เหมาะสม หรือเรื่องจริยธรรมสื่อเช่นเรื่องถ้ำหลวงที่สื่อรายงานไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องจริยธรรม กสทช. ก็ไม่ลงโทษอยู่แล้วเพราะไม่มีอำนาจ แต่ถ้าออกอากาศที่ขัดอะไรไปก็อาจจะเตือนหรือปรับ แต่การสั่งแบนรายการมันเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น" อดีตกรรมการ กสทช. กล่าว

สุภิญญายกตัวอย่างการใช้อำนาจตามมาตรา 37 ในกรณีที่สื่อถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายของวันชัย ดนัยตโมนุท อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ที่แม้รายการจะมีความรุนแรงเข้าข่ายมาตรา 37 แต่ กสทช. ก็ไม่ได้สั่งปิดกลางอากาศแต่อย่างใด

"ตอนสื่อถ่ายทอดสดการพยายามฆ่าตัวตายของดอกเตอร์คนหนึ่ง ที่ออกอากาศ 4-5 ชั่วโมง ไม่ยอมหยุดเสียที กสทช. ก็ไม่ได้ใช้อำนาจสั่ง แต่ขอให้สำนักงานขอความร่วมมือให้ระมัดระวังการถ่ายทอดสด โดยอิงอำนาจตาม ม.37 ซึ่งเคสนั้น กสทช. ใช้อำนาจระมัดระวังมากโดยส่งจดหมายไปยังทุกช่องให้ระมัดระวังการถ่ายทอดสด และไม่ได้ลงโทษย้อนหลัง แม้ ม.37 จะให้อำนาจ กสทช. ให้สั่งระงับรายการได้โดยวาจาถ้ามีเหตุอะไรฉุกเฉินรุนแรง อำนาจเซ็นเซอร์นี้ ม.37 ให้ไว้ใช้กรณีที่ฉุกเฉินรุนแรงจริงๆ ถ้าถูกใช้ในเหตุการณ์ที่ไม่ฉุกเฉินรุนแรงจริงๆ ช่องหรืออะไรต่างๆ ก็สามารถมาร้องเรียนหรือฟ้องร้องได้ตามกฎหมายปกติ ถ้าไม่มี ม.44 รองรับ กสทช. ก็จะระวังมากในการใช้อำนาจคว่ำบาตรหรือสั่งแบนสื่อ"

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ใช่กรณีแรก! รองนายก อบต.น้ำพี้ ถูกกดดันให้ลาออก หลังร่วมกิจกรรมพรรคอนาคตใหม่

Posted: 03 Jul 2018 04:54 AM PDT

โฆษกพรรคอนาคตใหม่ชี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้สนับสนุนพรรคโดนคุกคาม ระบุหากเกิดกรณีแบบนี้อีกก็จะออกแถลงการณ์อีกเพื่อให้สื่อรับรู้ ยันไม่หยุดที่จะพบปะประชาชน ชี้ไม่รู้จะจัดตั้งพรรคมาทำไม หากมีพรรคแล้วไม่ได้ทำอะไร พร้อมชวนย้อนดูเหตุการณ์ของพรรคอื่นที่โดน คสช. ตักเตือนหลังทำกิจกรรมการเมือง 

(ภาพจากเพจ อนาคตใหม่ - the future we want) 

2 ก.ค.ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ได้ออกแถลงการณ์กรณีที่ ภิศิษฐ์ วงศ์ทอง รองนายก อบต.น้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ถูกกดดันจากองค์กรที่สังกัด โดยข้อกล่าวหาว่าเขาเข้าร่วมการมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง หลังจากที่รองนายก อบต. น้ำพี้ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่พาธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้ร่วมจัดตั้งพรรค เดินทางไปพบปะประชาชนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ รับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขจากคนในท้องถิ่น

 "ทำให้ล่าสุด ภิศิษฐ์ ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองนายก อบต.น้ำพี้ เพื่อให้การบริหารองค์กรสามารถเดินหน้าไปได้ แม้จะยืนยันว่าการเข้าร่วมสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของชาวอุตรดิตถ์ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่สามารถทำได้โดยไม่ควรถูกคุกคามโดยรัฐ" แถลงการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ระบุ

ประชาไทสัมภาษณ์ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเธอเพิ่มเติมรายละเอียดว่า ทางพรรคได้ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ไปทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก ซึ่งทางภาคเหนือพบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องการเกษตร สิทธิที่ดินทำกิน สินค้าเกษตรราคาตก  โดยการลงพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีตำรวจทหารมาสังเกตการณ์แต่ไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อกลับมา ภิศิษฐ์ รองนายก อบต.น้ำพี้ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกไปคุย และมีการกดดันว่าทำผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน และกดดันอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดต้องทำหนังสือลาออกจากการเป็นรองนายก อบต. เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

พรรณิการ์ชี้ว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่โดนคุกคาม แต่ก่อนหน้านี้สมาชิกพรรคก็ถูกคุกคามในหลายพื้นที่ ก่อนหน้านี้เราก็มีแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่กรณีนี้เป็นกรณีแรกที่ต้องมีการลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งอาจเป็นเพราะภิศิษฐ์เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคและเป็นผู้ประสานงานในพื้นที่อื่นส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านปกติ ซึ่งก็ถูกคุกคามเช่นกัน เพียงแต่ไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเช่นกรณีนี้ และพวกเขาก็ค่อนข้างชินจากการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ได้จัดการประชุมจัดตั้งพรรค ซึ่งมีสมาชิกพรรคมาเกือบทุกจังหวัดของประเทศ ในวันงานมีเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปทะเบียนรถทุกคันที่จอดอยู่บริเวณห้องประชุม หลังจากนั้นเมื่อสมาชิกกลับไปในพื้นที่ สมาชิกหรือแม้แต่สมาชิกที่เป็นเครือข่ายเยาวชนโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานถูกเจ้าหน้าที่ตามไปที่บ้านและคุกคามทำให้หวาดกลัว โดยกล่าวในทำนองว่า การไปประชุมแบบนี้เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและทำไม่ได้ ในขณะที่ความเป็นจริงคือการประชุมครั้งนี้นั้นถูกต้องตามกฎหมาย เพราะได้ขออนุญาตการประชุมจาก คสช. ผ่าน กกต. เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

"เรายืนยันที่จะลงพื้นที่ต่อไป คงไม่หยุดที่จะไปพบปะกับประชาชน เพราะพรรคการเมืองเราเป็นพรรคใหม่ แล้วก็มีเวลาไม่มากจนกว่าจะถึงการเลือกตั้ง หน้าที่ของพรรคการเมืองคือการลงไปพบคนในพื้นที่เพื่อดูว่าปัญหาคืออะไร ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเราจะจัดตั้งพรรคการเมืองมาทำไม ถ้าเราจะตั้งเสร็จแล้วก็อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย เราก็คงต้องเผชิญกับ คสช. ไปแบบนี้ ถ้าสมาชิกถูกคุกคามแบบนี้อีก คือกระทบกับชีวิตของเขาอย่างหนัก เช่น ต้องออกจากงาน เราก็ทำได้เพียงการออกแถลงการณ์แบบนี้ออกมา เพราะเอาเข้าจริงเราไม่ได้มีอาวุธหรืออำนาจที่จะไปสู้รบปรบมือกับ คสช. ได้อยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อเราแถลงการณ์และสื่อให้ความสนใจ ก็จะทำให้ คสช. ต้องคิดมากขึ้นในการจะทำอะไรโจ่งแจ้งแบบนี้" พรรณิการ์กล่าวทิ้งท้าย

ช่วงเวลาขณะนี้ที่ยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ยังห้ามการแถลงนโยบายหรือการหาเสียง การลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนดูจะเป็นทางเลือกเดียวที่เหลือสำหรับทุกพรรคการเมือง และไม่ใช่เพียงแค่พรรคอนาคตใหม่ที่ประสบปัญหา สุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตหลักสี่ ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยสาขาเขตหลักสี่ ก็เจอคำสั่งของผอ.เขตหลักสี่ อ้างคำสั่ง คสช. ไม่ให้มีกิจกรรมการเมือง สั่งห้ามขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของพรรค รวมถึงกิจกรรมฉีดยุง วัคซีนหมาแมว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว 16 ต.ค. 60 เกิดกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จากกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนย่านลาดปลาเค้า เขตลาดพร้าว และพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ เขตลาดพร้าว เขตบางเขน ร่วมงาน "ดอกดาวเรืองแทนดวงใจ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" โดยติดชื่อตนเองที่รถขยายเสียง มีรถนำขบวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่าจะให้ คสช.พูดคุยกับคุณหญิงสุดารัตน์ในเรื่องนี้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์คลิปวิดีโอในแฟนเพจเฟซบุ๊คของตนเองโดยมีข้อความบรรยายว่า ได้นำสับปะรดที่ซื้อโดยตรงจากเกษตรกรชาวไร่สับปะรดมาแจกประชาชนในย่านพระราม 8 ซึ่งเป็นเขตฐานเสียงของรัชดา โดยในวิดีโอนั้นเป็นภาพของรถขนสับปะรดที่มีรูปและชื่อของ รัชดา ธนาดิเรก ในฐานะพรรคประชาธิปัตย์อยู่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เกิดการตีความว่าผิดประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ หรือผิดคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ขอสื่อเสนอข่าว 'ทีมหมูป่า' คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล

Posted: 03 Jul 2018 03:04 AM PDT

3 ก.ค. 2561 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนปฏิบัติงานรายงานความคืบหน้าการกู้ภัยและเหตุการณ์หลังจากช่วยผู้ประสบภัยทั้ง 13 ชีวิตโดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและร่วมกันนำเสนอประเด็นอย่างสร้างสรรค์

จากเหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมี่และผู้ฝึกสอน รวม 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเจ้าหน้าที่สามารถค้นหาจนพบแล้วเมื่อค่ำวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในสถานการณ์การรายงานข่าวต่อจากนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนนำเสนอข่าวให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเคารพสิทธิของเด็กและผู้ประสบภัย ดังนี้

  1. สื่อมวลชนควรร่วมหารือแนวทางการนำเสนอข่าวร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยและครอบครัว ในลักษณะของการทำข้อมูลร่วมกัน (Pool Interview) เพื่อให้ผู้ประสบภัยไม่ต้องเสียเวลาในการตอบคำถามเดียวกันจากแต่ละสำนักข่าว และมีเวลาในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้เต็มที่ การรายงานสถานการณ์ควรร่วมมือกันทำงานไปในทิศทางเดียวกันและแบ่งปันข้อมูลกันเพื่อให้เป็นระเบียบและไม่เกิดการแย่งชิงพื้นที่จนกระทบต่อสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภัย และส่งผลต่อคุณภาพของการรายงานข่าวรวมทั้งอาจขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน
  2. สื่อมวลชนควรทำงานร่วมกับแพทย์และนักจิตวิทยาเพื่อให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ รูปแบบการตั้งคำถาม การปฏิบัติตัวต่อผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสม พึงระวังไม่ตั้งคำถามที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แตกแยก สร้างความสะเทือนใจ สื่อควรทำหน้าที่รายงานข่าวเพื่อให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ และไม่ทำให้เกิดการแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อประเด็นอันจะกระทบต่อผู้ประสบภัยในทางที่ไม่สมควร
  3. พึงละเว้นการสืบค้นประวัติ ภาพ และข้อมูลของเด็ก เยาวชน และผู้ฝึกสอน อันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และกระทบต่อสิทธิในการกลับสู่การใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่ตกเป็นเป้าของสังคมผ่านการนำเสนอเจาะลึกชีวิตของสื่อ
  4. พึงระวังการนำเสนอที่เป็นลักษณะของการพยายามหาคนผิดของเหตุการณ์ แต่ควรมีการรายงานข่าวที่นำไปสู่การหาทางออกและการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงระบบ เช่น การถอดบทเรียนการบริหารจัดการ การจัดระเบียบและความปลอดภัยของการท่องเที่ยว และการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

 

"ขอขอบคุณและชื่นชมสื่อมวลชนที่ร่วมกันนำเสนอสถานการณ์อย่างรอบด้าน ชัดเจน และช่วยกันตรวจสอบข้อมูลเพื่อเป็นที่พึ่งของสังคม โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ในการรายงานสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารของคนในสังคม จากนี้ไปการขยายประเด็นข่าวให้มีความสร้างสรรค์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมและแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะเป็นบทพิสูจน์คุณค่าของสื่ออาชีพในการเป็นที่พึ่งของสังคมอย่างแท้จริงต่อไป" สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุตอนท้าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐผุดโครงการผู้สูงอายุทุกคนต้องมีคนดูแล ลุยแก้กฎหมายเปิดช่อง อปท.จ้างนักบริบาลชุมชน

Posted: 02 Jul 2018 11:52 PM PDT

รมต.ประจำสำนักนายกฯ ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดนโยบายรัฐ ได้ข้อสรุปลุยแก้กฎหมาย-ระเบียบ เปิดช่องให้ อปท.จ้างนักบริบาลชุมชนดูแลผู้สูงอายุติดเตียงได้ คาดใช้งบประมาณ 2,000 ล้าน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนแก่ทั่วประเทศ

แฟ้มภาพจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส)

3 ก.ค.2561 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมี กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณา 3 นโยบายสำคัญ โดยหนึ่งในนั้นคือการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (ผู้ป่วยติดเตียง) ภายใต้โครงการท้องถิ่นทั่วไทยผู้สูงอายุมีคนดูแล

กอบศักดิ์ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 2 แสนราย และมีผู้ป่วยติดบ้านที่ในอนาคตจะพัฒนามาเป็นผู้ป่วยติดเตียงอีกกว่า 3 แสนราย และที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือในอนาคตทุกคนจะต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หากใครโชคดีหรือมีฐานะก็สามารถจ้างคนมาดูแลตัวเองได้ แต่คนจำนวนมากจะต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วยโดยที่ไม่มีคนดูแล

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ใส่ใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวและมองว่าผู้สูงอายุทุกคนในประเทศไทยควรจะมีคนดูแล จึงได้ร่วมกันหารือถึงการปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมในการสร้างนักบริบาลทั่วประเทศไทยเข้าไปดูแลประชาชนตามชุมชนต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีระเบียบรองรับ

กอบศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวลงทุนไม่มาก เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีสวัสดิการ และนำไปสู่การเกิดการจ้างงานในชุมชน ส่งผลให้แต่ละครอบครัวคลายกังวลและมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้น โดยรวมจะนำมาสู่ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ยืนยันว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

กอบศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือถึงแผนการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว คาดว่าในวันที่ 5 ก.ค.นี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะนำนโยบายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา หลังจากนั้นจะมีการดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ส่วนงบประมาณคาดว่าในปีแรกจะใช้ 2,000 ล้านบาท โดยในระยะยาวจะผ่องถ่ายจาก สปสช.ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลหลักต่อไป

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงต้นของโครงการ โดยให้หาแนวทางการจัดบริการเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านและติดเตียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"เราได้ดำเนินโครงการไปบางส่วนแล้ว ในวันนี้ที่รัฐบาลพิจารณาคือการนำโครงการที่ สปสช.ได้ทำร่วมกับ อปท.มาดูว่าการดำเนินงานมีข้อติดขัดอะไรบ้าง ซึ่งในวันนี้ข้อติดขัดเหล่านั้นก็ได้ทางออกแล้ว" นพ.ประจักษวิช กล่าว

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จ.ลพบุรี กล่าวว่า ที่ อ.ลำสนธิ ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ประกอบกับความเป็นชนบท ความยากจน ขณะที่คนหนุ่มสาวเข้ามาใช้ชีวิตในเมือง ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะอาศัยและดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเอง

นพ.สันติ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้สูงอายุดูแลกันเองไม่ไหว บางรายไม่ได้อาบน้ำหลายวัน บางรายรับประทานอาหารไม่ไหว สภาพดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นทุกข์ที่เกินทุกข์ นั่นจึงนำมาสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยา โดยทางโรงพยาบาลลำสนธิได้ส่งพยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด เข้าไปดูแลถึงบ้าน ซึ่งภาพรวมของกระบวนการดูแลเป็นไปอย่างดี

อย่างไรก็ตาม อีกกระบวนหนึ่งที่ดีมากๆ คือทางท้องถิ่นได้ช่วยจัดจ้างนักบริบาลชุมชนเพื่อเข้าไปช่วยดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ด้วย แต่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีกลไกการตรวจสอบเข้ามาแล้วระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่มีระเบียบหรือข้อกำหนดรองรับ นั่นทำให้โรงพยาบาลลำสนธิทำงานยากลำบากขึ้น ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นนิมิตรหมายทีดีที่จะช่วยปลดล็อกเงื่อนไขเหล่านั้นออกไป

นพ.สันติ กล่าวอีกว่า ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ต้องอาบน้ำทุกวัน ต้องรับประทานอาหารสามมื้อ การลงไปดูแลจึงเป็นงานที่หนัก เราจึงเกิดกระบวนการนักบริบาลชุมชนขึ้นมา เพื่อเข้าไปอาบน้ำ สระผม ป้อนข้าว คือทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นอย่างดี ผลก็คือทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น

"ต้องขอบคุณรัฐบาลที่หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นนโยบายเร่งด่วน และจะปลดล็อกกฎหมายต่างๆ ผมคิดว่าถ้าปลดล็อกแล้วไม่เพียงแต่โรงพยาบาลลำสนธิจะดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างเข้มข้นต่อไป แต่โรงพยาบาลอื่นๆ จะสามารถดำเนินการได้ด้วย" นพ.สันติ กล่าว

จำเริญ ต่อโชติ นักบริบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กุดตาเพชร จ.ลพบุรี กล่าวว่า ปัญหาของผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ไม่มีคนดูแล คืออยู่กับบุตรหลานที่ทำงานนอกบ้าน ในสมัยที่ยังไม่มีนักบริบาลเข้าไปดูแลพบว่าคุณภาพชีวิตแย่มาก จานข้าวที่บุตรหลานเตรียมไว้ก่อนออกไปทำงานก็เต็มไปด้วยมด ผู้สูงอายุนอนแช่อุจจาระตั้งแต่เช้าถึงเย็น

"ภาพแบบนี้ชุมชนเมืองอาจจะไม่เจอ แต่ในต่างจังหวัดหรือชุมชนชนบทจะพบมาก ผู้สูงอายุเหล่านั้นต้องการความช่วยเหลือจากเรามากๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แพมเพิด การดูแลต่างๆ นาๆ เราดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยด้วย" น.ส.จำเริญ กล่าว

จำเริญ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวอยากให้มีนักบริบาลไปดูแลผู้ป่วยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยทุกวันนี้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคนมาจ้างนักบริบาลไปดูแลผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ โดยเสนอเงินเดือนให้ 20,000 บาท แต่นักบริบาลก็ไม่ไป ส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับชุมชน ยืนยันว่าทุกอย่างที่ทำไปนั้นทุกคนทำด้วยใจ เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง

สำหรับสถานการณ์ที่รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระบุว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้พัฒนานักบริบาลชุมชน (Care Giver) จำนวนกว่า 5 หมื่นคน ในปี 2561 โดยมีเป้าหมาย 1 นักบริบาลต่อ 5-10 ผู้สูงอายุเป้าหมาย รวมทั้งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับนักบริบาลอีกเดือนละ 6,000 บาท

ในส่วนของปัญหาของผู้ป่วยติดเตียงในปัจจุบันคือยังไม่มีกฎระเบียบหรือประกาศที่กำหนดให้การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงให้เป็นภารกิจของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามศูนย์ผู้สูงอายุของท้องถิ่นหลายแห่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีแนวทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการต่างๆ ที่ชัดเจน เช่น การจ่ายค้าตอบแทนหรือค่าจ้างนักบริบาล

นอกจากนี้ ปัจจุบันงบประมาณที่ สปสช.ได้รับ เป็นค่าบริการสาธารณสุขโดยจ่ายให้หน่วยบริการซึ่งให้รวมค่าใช้จ่ายทั้งวัสดุอุปกรณ์และบุคลากรไปด้วย จึงไม่เพียงพอในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักบริบาล และการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าจ้างนั้น ในปัจจุบันยังเป็นการจ่ายในลักษณะอาสาสมัครทำให้ไม่จูงใจต่อการทำงาน

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับการจากการดำเนินโครงการ ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง จะได้รับการดูแลไม่น้อยกว่า2 แสนคนต่อปี ทำให้เกิดการจ้างงานนักบริบาลประมาณ 2.6 หมื่นคน ซึ่งจะเป็นประชากรในท้องถิ่น และท้องถิ่นราว 5,200 แห่ง จะมีระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบเพื่อให้ครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะผู้ดูแล อปท. เป็นหน่วยงานหลัก มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในท้องถิ่น

ตั้งแต่การจัดทำทะเบียนและข้อมูลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ที่รับผิดชอบ แจ้งรายชื่อให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการขอตั้งงบประมาณ ดำเนินการดูแล ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพ จัดสวัสดิการที่จำเป็น จัดกิจกรรมและการจ้างงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และให้มีระเบียบ มท.ที่กำหนดให้ อปท.สามารถตั้งงบประมาณเพื่อสมทบกองทุนได้

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. ชี้แจง 4 ปมจากรายงานสิทธิมนุษยชนประจำปีของรัฐบาลสหรัฐฯ

Posted: 02 Jul 2018 11:20 PM PDT

กสม. ออกคำชี้แจง รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่ การตรวจสอบเรือนจำในเชิงระบบและเรือนจำใน มทบ. 11 ตร.ถูกร้องว่าเป็นผู้กระทำละเมิดเพิ่ม กสม.ไม่สามารถฟ้องคดีเมื่อมีการละเมิด และปัญหานิยามของการคุกคามทางเพศที่คลุมเครือ 

3 ก.ค.2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 22/2561 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2561 มีมติให้เผยแพร่คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 2/2561 กรณีการรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่เอกสารรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. 2017 (Country Reports on Human Rights Practices for 2017) เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วย นั้น

โดย กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานฉบับดังกล่าวได้ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยบางส่วนที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม จึงได้ดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) และมาตรา 44 

รายละเอียดคำชี้แจงของ กสม. มีดังนี้ 

คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 2/2561

กรณีการรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่เอกสารรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. 2017 (Country Reports on Human Rights Practices for 2017) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วย นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานฉบับดังกล่าวได้ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยบางส่วนที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้ดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) และมาตรา 44 ดังต่อไปนี้

1. กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่าไม่มีการตรวจสอบเรือนจำในเชิงระบบ ซึ่งรวมถึงเรือนจำในมณฑลทหารบกที่ 11 นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอชี้แจงว่า ในแต่ละปี เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำหรือญาติของผู้ต้องขัง ก็ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรือนจำหลายกรณี รวมไปถึงกรณีการร้องเรียนกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารคุกคามทนายความในระหว่างการให้คำปรึกษาแก่ลูกความที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ตั้งอยู่ในมณฑลทหารบกที่ 11 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรณีดังกล่าวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับหนังสือชี้แจงข้อมูลจากกองทัพบกและกรมราชทัณฑ์ว่า เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกรมราชทัณฑ์ สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและคดีที่เกี่ยวเนื่อง ญาติของผู้ต้องขังสามารถเยี่ยมได้ตามปกติ และผู้ต้องขังมีสิทธิอื่น ๆ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์   โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถประสานงานกับกรมราชทัณฑ์เพื่อเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามปกติ

นอกจากนี้ สำหรับการตรวจสอบเรือนจำในเชิงระบบนั้น ในปี 2559-2560คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ดำเนินโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งห้องขังของสถานีตำรวจและเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งรวมถึงเรือนจำชั่วคราว  แขวงถนนนครไชยศรีด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปตรวจสภาพทางกายภาพทั่วไป เช่น สถานที่ตั้ง โครงสร้างอาคาร ห้องเยี่ยม ห้องเขียนคำร้องเรียนหรือร้องทุกข์ ห้องพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งมีการขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติงาน เช่น การรักษาความปลอดภัย การรับตัวผู้ต้องขัง การตรวจร่างกายผู้ต้องขัง การลงโทษ การจำตรวน การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังพิเศษ (อาทิ ชาวต่างชาติ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลหลากหลายทางเพศ) การรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิของผู้ต้องขังที่จะได้รับการเยี่ยมจากทนายความและญาติ เป็นต้น อีกทั้งยังได้มีการสอบถามไปถึงข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการปฏิบัติงานภายใต้ระบบงานของเรือนจำอีกด้วย โดยข้อมูลจากการตรวจเยี่ยมทั้งหมดจะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป

2. กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องจำนวน 404 เรื่อง ในจำนวนนี้ปรากฏว่ามี 94 เรื่อง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำละเมิด ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอชี้แจงว่า เนื่องจากรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในหัวข้อนี้ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลและช่วงเวลาเริ่มต้นของการจัดเก็บสถิติเรื่องร้องเรียนที่มีการร้องไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงไม่อาจตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงได้ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบในฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560   ถึงเดือนกันยายน 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องจำนวน 469 เรื่อง  ในจำนวนนี้ปรากฏว่ามี 70 เรื่อง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำละเมิด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 พบว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องจำนวน 645 เรื่อง ในจำนวนนี้ปรากฏว่ามี 94 เรื่อง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำละเมิด จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2560 จำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมดและเรื่องร้องเรียนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำละเมิดนั้น  มีจำนวนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559

3. กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถฟ้องคดีเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 257 ได้กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม แต่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการเสนอเรื่องและฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้น การที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ฟ้องคดีต่อศาลเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น จึงเป็นผลมาจากกฎหมายปัจจุบันที่ไม่ได้ให้อำนาจไว้ อย่างไรก็ตาม มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายได้ ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญา และผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้

4. กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า องค์กรพัฒนาเอกชนระบุว่าการกำหนดนิยามของการคุกคามทางเพศที่คลุมเครือ ส่งผลให้การฟ้องร้องเป็นไปได้ยากและนำไปสู่การใช้บังคับกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอชี้แจงว่า ประเทศไทยได้ให้ความคุ้มครองผู้ถูกกระทำส่อไปในเรื่องเพศกว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ (1) การละเมิดต่อจริยธรรม และการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญา ในส่วนของการละเมิดต่อจริยธรรมเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับผู้ที่มีสถานะเป็นข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐ อาทิ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 ห้ามมิให้ข้าราชการพลเรือนสามัญกระทำการต่อข้าราชการหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการอันถือว่าเป็นการละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสถานที่ราชการ โดยผู้ถูกกระทำมิได้ยินยอมต่อการกระทำนั้น หรือทำให้เดือดร้อนรำคาญ ถือว่าข้าราชการผู้นั้นกระทำผิดทางวินัย รวมถึงคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 เห็นชอบและให้หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยังได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดํารงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ต้องไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศจนเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำต้องยอมรับในการกระทำนั้น และ (2) ระดับการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญา โดยในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า หากเป็นการกระทำที่มีลักษณะที่ส่อไปในทางล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศก็จะเป็นความผิดลหุโทษ แต่หากการกระทำที่มีลักษณะเป็นการอนาจารหรือข่มขืนกระทำชำเรา ประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ ก็ได้บัญญัติโทษสำหรับความผิดหนักขึ้นตามระดับความร้ายแรงของความผิดที่ได้กระทำ

จึงชี้แจงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

27 มิถุนายน 2561

 

สำหรับการตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวังการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สนง. กสม. เคยชี้แจงไว้เมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมาด้วยว่า เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) และมาตรา 44 ซึ่งกำหนดให้ กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม  การแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จึงเป็นการทำหน้าที่ของ กสม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิใช่การตรวจหาความผิดของผู้จัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

หมายเหตุ : ประชาไทมีการแก้ไขพาดหัวและโปรยข่าว เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 3 ก.ค.2561

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ห่วงกลุ่มแรงงาน 'พม่ามุสลิม' ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ

Posted: 02 Jul 2018 08:52 PM PDT

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ชี้มีชาวพม่าหลายกลุ่มพบอุปสรรคในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากไม่มีเอกสารจากประเทศพม่า เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน เนื่องจากทางการพม่าอ้างว่าไม่สามารถออกเอกสารให้แก่บุคคลคนที่ไม่ได้พำนักในประเทศได้ เสนอผ่อนผันให้กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านให้สามารถอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

 
ที่มาภาพ: กรมการจัดหางาน
 
3 ก.ค. 2561 กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าจากผลการการดำเนินงานของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ในระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2561 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวมาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงาน ณ ศูนย์ OSS ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 347,067 คน แบ่งเป็นกัมพูชา 156,569 คน ลาว 18,210 คน เมียนมา 172,288 คน จากเป้าหมายที่ต้องดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 348,022 คน คิดเป็นร้อยละ 99.73 โดยเมื่อรวมกับผลการดำเนินการในระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2561 จำนวน 840,736 คน อย่างไรก็ตามจากผลสำเร็จในการดำเนินการครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลแรงงานต่างด้าวเพื่อให้มีการควบคุมง่ายขึ้น แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยมีแรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,187,803 คน แบ่งเป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน คิดเป็นร้อยละ 90 จากเป้าหมายที่ต้องดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 จำนวนทั้งหมด 1,320,035 คน 
 
โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และประเทศต้นทางทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการของศูนย์ OSS ให้เป็นผลสำเร็จ สำหรับขั้นตอนต่อไปแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก จะไม่มีสิทธิ์อยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัด ตำรวจ และฝ่ายปกครองจะมีการสุ่มตรวจจากข้อมูลการร้องเรียน และด้านการข่าว ซึ่งจะเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย
 
"หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ขณะเดียวกันนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงาน ในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น" พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด
 
ห่วงกลุ่มแรงงาน 'พม่ามุสลิม' ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ
 
ข้อมูลจาก MWG WEEKLY UPDATE ประจำสัปดาห์ที่ 2 ก.ค.2561 ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ระบุว่าจากมาตรการการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาตินั้นมาจากความเชื่อว่าแรงงานจะสามารถผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ แต่พบว่ามีชาวพม่าหลายกลุ่มพบกับอุปสรรคในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจนทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้ ซึ่งเครือข่ายฯ พบว่ากลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากไม่มีเอกสารจากประเทศพม่า เช่น บัตรประจำตัวประชาชน  ทะเบียนบ้าน เนื่องจากทางการพม่าอ้างว่าไม่สามารถออกเอกสารให้แก่บุคคลคนที่ไม่ได้พำนักในประเทศได้   
 
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นรัฐบาลไทยควรพิจารณาแนวทางการจัดการที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับกลุ่มพม่ามุสลิมที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาตินี้ได้มี กล่าวคือ 1. รัฐควรมีมาตรการเร่งด่วนผ่อนผันการจับกุมและการส่งกลับแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านหลังจาก 30 มิ.ย. 2561 และรวมถึงผู้ติดตามด้วย 2. เมื่อปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลไร้สถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกกลุ่ม โดยมีการได้สำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อควบคุมและบริหารจัดการไม่ให้มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก และจากปัญหาแรงงานกลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านและมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย  ดังนั้นรัฐบาลไทยควรทบทวนยุทธศาสตร์นี้เพื่อปรับใช้กับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย 
 
3. รัฐบาลไทยควรมีนโยบายเฉพาะให้กับกลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่สามารถกลับไปยังประเทศต้นทางได้  มีข้อมูลความจริงว่าชาวพม่ามุสลิมมีความเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารในประเทศต้นทางของเขา การบังคับส่งกลับคืนสู่มาตุภูมิกับคนกลุ่มนี้ไปยังประเทศพม่าอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะการส่งกลับนั้นอาจจะมีข้อกังวลต่อความปลอดภัยของพวกเขา และประเทศไทยต้องเคารพและปฏิบัติตามหลักการการไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) ในระหว่างที่หาทางออกในการให้สถานะให้คนกลุ่มนี้ รัฐบาลไทยควรจะต้องร่วมหาทางออกกับประเทศต้นทางและประเทศที่สามด้วย ทางเลือกนี้จะช่วยให้หน่วยงานระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคได้เห็นปัญหาของคนกลุ่มนี้  และ 4. พิจารณาผ่อนผันให้กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านให้สามารถอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ประกอบกับมาตรา 63/2 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น