ประชาไท | Prachatai3.info |
- กองทัพสหรัฐว้าหน่วย 171 จัดการซ้อมรบตรงข้าม อ.เีชียงดาว จ.เชียงใหม่
- "เจ้าฟ้าลั่น" อดีตเสนาธิการกองทัพ "ขุนส่า" เสียชีวิตแล้ว
- ‘ชลประทาน’ ขอตำรวจคุ้มกัน ไม่กล้าลงพื้นที่ ‘ตาปี–พุมดวง’
- เหยื่อซ้อมทรมานพร้อมสู้คดี ‘ภาณุพงศ์’ฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จ
- คำเตือนถึงนักวิชาการ ต้องระวังการแปลคำทางสังคมศาสตร์
- นักข่าวพลเมือง: ปฏิวัติการรับน้อง ความจริงในรั้วมหาลัย
- คำให้การของนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ถึงวาด รวี และ ปราบดา หยุ่น
- กก.บห.เสียงข้างมากประกาศ "พรรคการเมืองใหม่" ร่วมโหวตโน
- เสวนา "มองมุมสื่อ ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง"
- เสวนา: ถามตอบ “นักเศรษฐศาสตร์พบนักการเมือง”
- ทำไมจึงควรแก้ไข รธน.ม.291 หลังเลือกตั้ง?
- สมาคมต้านโลกร้อนพร้อมตั้งโต๊ะช่วยชาวบ้านฟ้องคดีเรือน้ำตาลล่ม
- การเลือกตั้ง : เดินไปข้างหน้า ก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวข้ามอะไร และจะเดินไปไหน ?
กองทัพสหรัฐว้าหน่วย 171 จัดการซ้อมรบตรงข้าม อ.เีชียงดาว จ.เชียงใหม่ Posted: 11 Jun 2011 11:35 AM PDT หน่วย 171 กองทัพสหรัฐว้า UWSA ซึ่งมีที่ตั้งบริเวณชายแดนไทยทางภาคเหนือ เรียกระดมกำลังพลในสังกัดเพื่อซ้อมรบและฝึกการใช้อาวุธเพื่อเพิ่มความชำนาญ มีรายงานจากแหล่งข่าวชายแดนแจ้งว่า เมื่อวันที่ 6-7 มิ.ย. ที่ผ่านมา หน่วย 171 ของกองทัพสหรัฐว้า UWSA ซึ่งมีพื้นที่เคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทยทางภาคเหนือ มีคำสั่งเรียกระดมพลหน่วยต่างๆ ทั้งทหารใหม่และหน่วยอาสาสมัครพลเรือนในพื้นที่เมืองสาด และเมืองโต๋น รัฐฉานภาคตะวันออก โดยให้ไปรวมตัวกันที่บ้านห้วยอ้อ อยู่ตรงข้ามบ้านอรุโณทัย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อทำการซ้อมรบและฝึกการใช้อาวุธต่างๆ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 มิ.ย. นี้ โดยตลอดช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีทหารและหน่วยอาสาสมัครพลเรือนได้ไปรวมตัวกันที่บ้านห้วยอ้อแล้วราว 300 – 400 นาย ในจำนวนนี้มีทั้งทหารใหม่และกำลังพลอาสาสมัครพลเรือน โดยทางกองทัพว้า UWSA จะมีการสาธิตการใช้อาวุธทั้งปืนเล็ก ปืนกล ไปจนถึงการยิงปืนใหญ่ชนิดต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้กำลังพลได้มีความชำนาญในการรบและการใช้อาวุธ สำหรับหน่วย 171 กองทัพสหรัฐว้า UWSA มีกำลังพล 5 กองพลน้อย เคลื่อนไหวในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย ฝั่งรัฐฉาน ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยกองพลน้อยที่ 778 รับผิดชอบพื้นที่ บ้านคายโหลง บ้านตากแดด และน้ำกั๊ด ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน, กองพลน้อยที่ 775 รับผิดชอบพื้นที่บ้านห้วยอ้อ บ้านปุ่งป่าแขม ตรงข้ามอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่, กองพลน้อยที่ 772 รับผิดชอบพื้นที่เมืองเต๊าะ เมืองทา และเมืองจ๊อด ตรงข้ามอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่, กองพลน้อยที่ 518 รับผิดชอบพื้นที่เมืองยอน ตรงข้าม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และกองพลน้อยที่ 248 รับผิดชอบพื้นที่บ้านหัวป่าง บ้านหัวยอด ตรงข้าม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"เจ้าฟ้าลั่น" อดีตเสนาธิการกองทัพ "ขุนส่า" เสียชีวิตแล้ว Posted: 11 Jun 2011 11:16 AM PDT เจ้าฟ้าดัง หรือ จางซูเฉียน ผู้มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกองทัพเมิงไตย ภายใต้การนำของ "ขุนส่า" ถึงแก่กรรมแล้ว มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าฟ้าดัง หรือ เจ้าฟ้าลั่น หรือ จางซูเฉียน วัย 84 ปี อดีตเสนาธิการกองทัพเมืองไตย Mong Tai Army (MTA) ของขุนส่า ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคประจำตัวขณะพำนักอยู่ที่บ้านพักส่วนตัวในกรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า เจ้าฟ้าดัง เป็นอดีตนายทหารกองกำลังจีนก๊กมินตั๋ง หรือ "จีนขาว" จบโรงเรียนนายทหารจากใต้หวัน เข้าร่วมกองกำลังขุนส่าราวปี พ.ศ. 2503 เจ้าฟ้าดัง ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำกับกองกำลังภายใต้การนำของ ขุนส่า และเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากขุนส่าเป็นพิเศษ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นทั้งที่ปรึกษาและเป็นผู้จัดการวางแผนด้านการทหารตั้งแต่กองกำลัง SUA ถึงกองกำลัง MTA ที่ล่มสลายไปเมื่อต้นปี พ.ศ.2539 นอกจากนี้ เจ้าฟ้าดัง ยังถือเป็นคู่บุญของขุนส่า ซึ่งทั้งสองต่างพึ่งพาอาศัยกันจนเป็นที่กล่าวขานกันว่า "ขุนส่า คือ นายเสนอ เจ้าฟ้าดัง คือนายปฏิบัติ" เจ้าฟ้าดัง เป็นผู้บงการในการจับตัวแพทย์ชาวรัสเซีย 2 คน เป็นตัวประกันต่อรองแลกเปลี่ยนตัว ขุนส่า ซึ่งถูกรัฐบาลทหารพม่าจับกุมตั้งแต่ปี 2512 จนขุนส่า ได้รับการปล่อยตัว เมื่อปี 2516 หลังจากขุนส่า ได้รับการปล่อยตัว ทั้งสองได้ร่วมงานกันจนกระทั่งนำกองกำลังเข้าร่วมกับกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ SURA กลุ่มนายพลเจ้ากอนเจิง และสามารถตั้งเป็นกองทัพเมืองไตย MTA ซึ่งเป็นกองกำลังต่อต้านพม่าที่มีอาวุธทันสมัยมากที่สุดและมีกำลังทหารมากกว่า 3 หมื่นนาย หลังจากขุนส่า นำกองทัพเมืองไตย MTA เข้าสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลทหารพม่า เมื่อต้นปี พ.ศ. 2539 ทั้งขุนส่า และ เจ้าฟ้าดัง พร้อมด้วยนายทหารคนสำคัญอื่นๆ ได้ย้ายไปอยู่กรุงย่างกุ้งภายใต้การดูแลของหน่วยกรองพม่าโดยที่ได้รับสิทธิประกอบธุรกิจต่างๆ และเมื่อปี 2550 ขุนส่า ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกในชื่อ "ราชายาเสพติด" ได้ถึงแก่กรรมขณะมีอายุ 73 ปี
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
‘ชลประทาน’ ขอตำรวจคุ้มกัน ไม่กล้าลงพื้นที่ ‘ตาปี–พุมดวง’ Posted: 11 Jun 2011 10:57 AM PDT นายอากาศ สุวรรณา ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมการบริหาร สำนักงานก่อสร้าง 10 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงอยู่ในขั้นตอนรังวัดที่ดิน พร้อมกับสำรวจสิ่งปลูกสร้างและผลอาสิน ภายใต้ความรับผิดชอบของฝ่ายสำรวจและรังวัดเพื่อจัดซื้อ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 27 เมษายน 2554 นายอากาศ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับการขั้นตอนการปฏิบัตินั้น ทางกรมชลประทานจะแจ้งไปยังอำเภอ จังหวัด และชาวบ้านผู้ครอบครองที่ดินที่จะเวนคืนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนลงสำรวจรังวัดที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกสร้าง พร้อมกับขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแลอำนวยความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน ที่ลงพื้นที่สำรวจรังวัดที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกสร้าง 3–5 แปลงต่อคนต่อวัน ตามหนังสือที่แจ้งระบุวันที่และเวลาให้ชาวบ้านทราบ “การสำรวจที่ดิน ผลอาสินของชาวบ้านเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน เราต้องการความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในพื้นที่ จึงได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลความปลอดภัยให้ เพราะเกรงว่าจะถูกคุกคามจากชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านการดำเนินการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง” นายอากาศ กล่าว นายวิโรจน์ ทองเกษม คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน ไม่ได้ลงสำรวจรังวัดที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกสร้าง ตามที่นัดหมายไว้ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 โดยไม่ทราบเหตุผล ทั้งที่มีหนังสือแจ้งให้ชาวบ้านจัดเตรียมทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารสิทธิในที่ดิน และชี้แนวเขตที่ดินเพื่อรังวัดแนวเขต โดยมีชาวบ้านตำบลหนองไทร อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 30 คน มารอประท้วงจากการดำเนินการของกรมชลประทาน ขณะที่ชาวบ้านในตำบลอื่นๆ รอคอยฟังข่าวเตรียมจะเดินทางมาร่วมประท้วงด้วย “ขณะนี้ทางเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ต้องคอยติดตามว่า เจ้าหน้าที่กรมชลประทานจะลงพื้นที่ไหน วันที่เท่าไหร่ โดยกำชับให้ชาวบ้านที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรมชลประทานว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ลงลงสำรวจรังวัดที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกให้แจ้งต่อทางเครือข่ายฯ เพื่อที่จะได้คัดค้านการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงร่วมกัน” นายวิโรจน์ กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เหยื่อซ้อมทรมานพร้อมสู้คดี ‘ภาณุพงศ์’ฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จ Posted: 11 Jun 2011 10:53 AM PDT เหยื่อซ้อมทรมานพยานทนายสมชายหายตัวพร้อมสู้คดี‘พล.ต.อ.ภาณุพงศ์สิงหรา ณ อยุธยา’ฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จ พนักงานสอบสวนอนุญาตให้กลับบ้าน รออัยการสั่ง นายปรีดา นาคผิว ทนายความสำนักงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน2554 นายซูดีรือมัน มาเละ พร้อมพวกรวม 11 คน ซึ่งเคยเป็นผู้ถูกควบคุมตัวที่ถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่าปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 ได้เดินทางไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว พร้อมรับทราบข้อกล่าวหา ในกรณีที่พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้องทุกข์กล่าวโทษนายซูดีรือมัน มาเละและพวกในฐานแจ้งความเท็จ โดยเดินทางไปพร้อมทนาย นายปรีดา ซึ่งเป็นทนายให้กับนายซูดีรือมัน เปิดเผยว่า ทั้ง 11 คนต่างให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนและยืนยันพร้อมต่อสู้ในชั้นศาล หลังให้การเสร็จ พนักงานสอบสวนอนุญาตให้ทุกคนกลับบ้านได้โดยไม่มีการควบคุมตัวใดๆ “หลังจากนี้ ต้องรอพนักงานสอบสวนสรุปสำนวน เพื่อส่งอัยการและต้องรอดูว่าอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า พร้อมต่อสู้ในชั้นศาล” นายปรีดากล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คำเตือนถึงนักวิชาการ ต้องระวังการแปลคำทางสังคมศาสตร์ Posted: 11 Jun 2011 10:05 AM PDT ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณคุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ได้เขียนคำโต้แย้งต่อบทความของดิฉัน “คำถามถึงอภิสิทธิ์ ทำไมทะเลาะกับเขมรแทบตาย เพื่อกลับไปที่เดิม” ดิฉันถือว่าเป็นการให้เกียรติทางวิชาการ และประเสริฐกว่าการด่าทอกันด้วยคำหยาบคายที่กำลังกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองไทยในปัจจุบัน หรือการทำให้ทุกเรื่องให้เป็นเรื่องความดีความชั่วส่วนบุคคล ทั้ง ๆ ที่เรื่องทางกฎหมายก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ ในสังคม ที่สามารถตีความได้มากกว่าหนึ่งแนวทาง การช่วยกันวิเคราะห์ให้เห็นแง่มุมที่แตกต่างก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษแก่สังคม เราจึงควรสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้มากมาย นอกจากนี้ ดิฉันต้องขออภัยที่ตอบล่าช้า เพราะบทความของคุณวีรพัฒน์มาในช่วงที่ดิฉันกำลังต้องขนย้ายสัมภาระและเดินทาง เอกสารทั้งหมดถูกเก็บลงกล่อง ฉะนั้น การเขียนตอบครั้งนี้จึงไม่มีเอกสารสำคัญอยู่ในมือ แต่แม้จะไม่สะดวก แต่ดิฉันก็เห็นว่าการนิ่งเฉยไม่ตอบ ก็จะเป็นการไม่ให้เกียรติคุณวีรพัฒน์ ดิฉันขอตอบทีละประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก คุณวีรพัฒน์กล่าวว่าดิฉันและนิติกรศาลโลกน่าจะสับสนคำว่า “la limite” กับคำว่า “frontier” และ “boundary” โดยคุณวีรพัฒน์เห็นว่าความหมายที่ถูกต้องของ “la limite” คือ “boundary” ซึ่ง “แม้โดยทั่วไปจะสื่อความหมายถึง “เขตแดน” แต่ก็มีความหมายกว้างพอที่จะหมายถึง “ขอบเขต” พูดให้ง่ายขึ้นตามภาษาของดิฉันเอง คือ “la limite-boundary” นอกจากจะหมายถึงเส้นเขตแดนแล้ว ยังหมายถึงพื้นที่ที่ติดกับเส้นเขตแดน หรือที่คนไทยมักเรียกว่า “พื้นที่ชายแดน” ได้ด้วย boundary จึงมีความหนา มีขอบเขต หรืออาณาบริเวณ ส่วนคำว่า frontier คุณวีรพัฒน์เห็นว่าหมายถึง (เส้น)เขตแดน หรือเส้นพรมแดน ที่เป็นเส้นตรงหรือเส้นเดี่ยว พออ่านมาถึงตรงนี้ดิฉันก็งงไปอยู่พักหนึ่งว่าตัวเองเข้าใจคำว่า frontier และ boundary ผิดมาตลอดได้อย่างไร แต่เพื่อความแน่ชัด ดิฉันจึงกลับไปตรวจสอบสองคำนี้ตามพจนานุกรมต่างๆ แล้วก็โล่งอก เพราะพบคำตอบดังนี้: Collins English Dictionary (ปี 1991, 1994, 1998, 2000, 2003) ระบุว่า: Boundary: something that indicates the farthest limit, as of an area; border” Frontier: 1. (Government, Politics & Diplomacy) a. the region of a country bordering on another or a line, barrier, etc., marking such a boundary 2. US and Canadian a. the edge of the settled area of a country สำหรับ Oxford Advanced Learner’s Dictionary of Current English, 2005 ระบุว่า: Boundary: the real of imagined line that marks the limits or edges of sth and separates it from other things or places; a dividing line; national boundaries. Frontier: 1. a line that separates two countries, etc; the land near this line 2. the frontier [sing] the edge of land where people live and have built towns, beyond which the country is wild and unknown, especially in the western US in the 19th century: a remote frontier settlement. ส่วน Dictionary of Military and Associated Terms (พจนานุกรมทหารและคำที่เกี่ยวข้อง) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (2005) ระบุว่า Boundary: A line that delineates surface areas for the purpose of facilitating coordination and deconfliction of operations between adjacent units, formations, or areas. พจนานุกรมฉบับนี้ไม่มีคำว่า frontier ดิฉันขออนุญาตไม่แปลภาษาอังกฤษด้านบนแบบคำต่อคำ เพราะกลัว lost in translation แต่จากตัวอย่างพอสังเขปข้างต้น (มีตัวอย่างอีกหลายสำนัก แต่เห็นว่าล้วนให้ความหมายไม่ต่างกัน) คุณวีรพัฒน์น่าจะเห็นได้ว่าการแปลของคุณเองต่างหากที่กลับตาลปัตรความหมายของสองคำนี้ กล่าวคือ boundary ต่างหากที่หมายถึง เส้นเขตแดน/เส้นพรมแดน (เป็นเส้นเดี่ยว ไม่มีความหนา) แต่ frontier มีความหมายกว้างกว่า ที่สามารถหมายถึงพื้นที่บริเวณชายแดน เป็นพื้นที่ที่มีความหนา ยากที่จะกำหนดขอบเขต ในบางพื้นที่อาจมีผู้คนมากมายอาศัยอยู่, มีตลาดการค้าชายแดน, หมู่บ้าน, ฯลฯ ก็ได้) ดิฉันกล้ายืนยันได้ว่า นี่คือความหมายที่ใช้กัน อย่างน้อยก็ในแวดวงของสังคมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของคุณวีระพัฒน์ทำให้ดิฉันสงสัยว่า หรือในแวดวงนิติศาสตร์ เขาให้ความหมายคนละแบบกับแวดวงสังคมศาสตร์? คือเป็นแบบที่คุณวีระพัฒน์ได้อธิบายมา ซึ่งดิฉันก็อยากจะทราบเหมือนกันว่า ในแวดงวงนิติศาสตร์ ได้เคยมีการบัญญัติศัพท์ของสองคำนี้อย่างเป็นทางการไว้ที่ไหนหรือไม่ ถ้ามี ก็อยากให้คุณวีระพัฒน์ช่วยให้ความรู้แก่ดิฉันและผู้สนใจทั่วไปด้วย จักขอบคุณยิ่ง แต่อีกใจหนึ่ง ดิฉันก็โน้มเอียงไปทางคำตอบว่า “ไม่น่าจะเป็นไปได้” เพราะอะไร? ตัวอย่างง่าย ๆ คือ “กองเขตแดน” ของกระทรวงการต่างประเทศไทย มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “the Boundary Division” ซึ่งเราก็รู้กันทั่วไปว่า ภาระหน้าที่ของหน่วยงานนี้คือ ดูแลและปักปันเส้นเขตแดน (boundary) ของประเทศ โดยไม่ต้องรับผิดชอบกิจกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าชายแดน การลักลอบขนของหนีภาษี ลักลอบเข้าเมือง ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นที่ชายแดน (frontier) ถ้าหน่วยงานที่สำคัญขนาดนี้ มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศมากมายที่จบจากฝรั่งเศสเช่นกัน ยังแปลชื่อกรมแบบไม่ระมัดระวัง ประเทศไทยก็คงสิ้นหวังแล้ว อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าคำในทางสังคมศาสตร์จำนวนมากดิ้นได้ มีศัพท์จำนวนมากที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างโดยสาระสำคัญ บางครั้งเจ้าของภาษาเองก็ยังใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันสับสน ไม่นับว่าเมื่อแปลเขามาแล้ว บางส่วนของความหมายเดิมอาจสูญหายไป หรือหาคำในภาษาท้องถิ่นมาแทนคำภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือในบางกรณี เราอาจใช้คำ 2-3 คำที่มีความหมายใกล้เคียงสลับกันไปมา โดยไม่ผิดก็ได้ ดังเช่นกรณีที่ทีมกฎหมายไทยใช้ฝรั่งเศสว่า “la frontière” คู่กับคำอังกฤษว่า “boundary” คราวนี้กลับมาประเด็นที่สำคัญกว่าคือ แล้วเรื่องนี้มีผลต่อการโต้แย้งในศาลโลกอย่างไร ถ้าดิฉันตีความคุณวีรพัฒน์ไม่ผิด คุณวีรพัฒน์พยายามบอกว่า ท่านทูตวีรชัย พลาศรัย “ได้ย้ำจุดยืนของไทยอีกครั้ง เช่น ตามบันทึกเอกสาร CR 2011/16 หน้าที่ ใน 25-26 ว่า คำพิพากษาปี พ.ศ. 2505 ไม่ได้ตัดสินเรื่อง “เขตแดน” แต่อย่างใด” ฉะนั้น คุณวีรพัฒน์จึงเห็นว่า “แนวของรั้วลวดหนาม หรือ “la limite” เป็นเพียงเส้นปฏิบัติการตามคำพิพากษาที่นำมาใช้ระหว่างกระบวนการจัดทำเขตแดน ยังไม่สิ้นสุด” ซึ่งหมายความต่อว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ยืนยันว่ารั้วที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร ตามการวิเคราะห์ของดิฉัน เพราะคุณวีรพัฒน์เห็นว่า “การจะตอบว่าเส้นเขตแดนที่แท้จริงคือเส้นใด ต้องว่าไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ และข้อตกลงอื่น ฯ” ดิฉันเห็นด้วยกับคุณวีรพัฒน์ที่ว่า “การจะตอบว่าเส้นเขตแดนที่แท้จริงคือเส้นใด ต้องว่าไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ และข้อตกลงอื่น ฯ” ซึ่งดิฉันขอย้ำว่า ข้อตกลงอื่นๆที่ว่านี้ รวมถึงแผนที่จากการปักปันของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส หรือแผนที่ที่คนไทยเรียกติดปากว่า 1:200000 ด้วย แต่ขอเรียนด้วยความเคารพ ดิฉันกลับไปอ่านคำแถลงของฝ่ายไทยอีกครั้ง ดิฉันก็ยังเห็นว่าฝ่ายไทยต้องการยืนยันว่ารั้วที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร และต้องการให้กัมพูชายอมรับเช่นกัน ดิฉันจึงขอยกคำแถลงของฝ่ายไทยมาไว้ตรงนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ร่วมพิจารณาไปพร้อมกัน: “On 19 July, work began to erect a barbed wire fence and a sign marking the boundary of the Temple area, according to the line which had been adopted by the Council of Ministers on 10 July for the purposes of implementing the 1962 Judgment. The work was completed by around 5 August.” (คำแปลจากภาษาฝรั่งเศส เอกสาร CR 2011/14 ฉบับ uncorrected) (ในวันที่ 19 ก.ค. (2505) ได้มีการจัดทำรั้วลวดหนามและป้ายแสดงเขตแดนของพื้นที่ของพระวิหาร ซึ่งเป็นไปตามมติครม.วันที่ 10 ก.ค. เพื่อปฏิบัติตามคำตัดสินปี 2505 การทำรั้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณวันที่ 5 ส.ค.) นอกจากนี้ ในใบแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศไทยวันที่ 31 พ.ค.ยังย้ำว่า “คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาท ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว โดยนิ่งเฉยมิได้มีการทักท้วงใด ๆ มากว่า ๔๐ ปี จนเมื่อไม่นานมานี้กัมพูชาถึงได้เปลี่ยนท่าทีเนื่องจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก” (ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน) ประเด็นที่สอง เรื่องการสงวนสิทธิ์ คุณวีรพัฒน์แย้งดิฉันว่า “การ “สงวนสิทธิ์” เอาปราสาทพระวิหารคืนมาตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น “เป็นไปได้” ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ การสงวนสิทธิ์ในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องการขอให้ศาลทบทวนคำ พิพากษาหรืออายุความเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสงวนอย่างทั่วไป ต่อเนื่อง และไม่มีระยะเวลาจำกัด” ดิฉันคิดว่าข้อโต้แย้งของคุณวีรพัฒน์จะมีน้ำหนักกว่านี้หากคุณวีรพัฒน์จะสามารถอ้างอิงข้อกฎหมายระหว่างประเทศสักข้อหนึ่งเพื่อรองรับการอ้างสิทธิ์นั้น หรือถ้าจะให้ดีก็น่าจะยกตัวอย่างคดีใดในอดีตที่เคยมีผู้สงวนสิทธิ์ไว้ แล้วผู้ขอสงวนสิทธิ์นั้นสามารถใช้สิทธิ์ได้อีก แม้ว่าอายุความจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ คุณวีรพัฒน์ยังบอกว่า “ที่ผ่านมาไม่มีนักกฎหมายอธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดเจน” ถ้าเช่นนั้น ดิฉันเข้าใจถูกไหมว่านี่เป็นการตีความของคุณวีรพัฒน์เองที่ไม่มีข้อกฎหมายใดรับรองเลย และไม่สามารถยืนยันได้ว่า “การสงวนสิทธิ์” นี้จะมีสถานะที่เหนือกว่าหรือลบล้างข้อกำหนดเรื่องอายุความในบทบัญญัติของศาลโลกได้ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ เหตุการณ์สมมติที่คุณวีรพัฒน์ยกตัวอย่างมาคือ “หากในอนาคต มีสถานการณ์หรือเหตุที่ทำให้กัมพูชาไม่ใส่ใจที่จะครอบครองปราสาทพระวิหาร หรือสละการครอบครองปราสาทพระวิหาร หรือมีเหตุตามกฎหมายทำให้สงสัยได้ว่าบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารถือเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ (terra nullius) การประพฤติปฏิบัติของไทย เช่นการ “สงวนสิทธิ์” ย่อมเป็นข้อสนับสนุนการอ้างสิทธิ (claim) การได้มาซึ่งอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารตามกฎหมาย” ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของดิฉันว่า โอกาสที่ไทยจะได้ใช้สิทธิ์ที่เคยสงวนไว้นั้นเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย ยกเว้นแต่ว่าความเป็นรัฐชาติ (nation-state) จะสูญสลายไปจากภูมิภาคนี้ ซึ่งก็คงต้องรอกันไม่รู้อีกกี่ชั่วอายุคน ในทางกลับกัน เราต่างได้ประจักษ์กันเป็นอย่างดีว่าเรื่องดินแดนถูกใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังและอันตรายหลายครั้งหลายคราในสังคมไทย ฉะนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดิฉันจะต้องยืนยันว่า “การสงวนสิทธิ์” ที่กระทำกันมาคือเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมือง กลุ่มการเมือง และเพื่อปกป้องตนเองของปัจเจกชนบางคน สิ่งที่น่าสนใจคือ คำอธิบายโดยรวมของคุณวีรพัฒน์อยู่ในแนวเดียวกันกับคำอธิบายของ ดร.สมปอง สุจริตกุล ปัญญาชนของฝ่ายพันธมิตรในเรื่องพระวิหาร ทั้งนี้ ดร.สมปอง เป็นหนึ่งในทีมงานกฎหมายที่นำโดยม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่พ่ายแพ้คดีในปี 2505 ประเด็นสุดท้าย ดิฉันไม่เห็นด้วยกับข้อความทั้งหมดของคุณวีรพัฒน์ที่ว่า “ศาลไม่เคย “วินิจฉัย” (adjudge) ว่าเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาคือเส้นใด คำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 เพียงแต่วินิจฉัยผูกพันไทยว่า อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ ส่งผลให้ประสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนกัมพูชา จริงอยู่ว่าการที่ศาลวินิจฉัยเช่นนั้นศาลได้นำ “แผนที่ภาคผนวก 1” มา “พิจารณา” แต่ศาลเองก็ย้ำในคำพิพากษาว่า “การพิจารณาแผนที่” มิใช่ “การวินิจฉัย” ว่าเส้นเขตแดนหรือแผนที่ใดผูกพันไทยหรือไม่ เพราะศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะ “วินิจฉัย” เรื่องเขตแดน” ข้อความนี้ แตกได้เป็น 3 ประเด็นดังนี้ [คือที่จริงดิฉันไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรที่จะแปลคำว่า adjudge ว่าเท่ากับคำว่าวินิจฉัย ดิฉันคิดว่าจะตรงกว่าถ้าจะใช้คำว่า “พิพากษา” “ตัดสิน” “ชี้ขาด” เพราะคำว่าวินิจฉัยในภาษาไทยมีความหมายค่อนไปในทางการพิจารณา ไตร่ตรอง มากกว่า แต่ก็ถือว่านี่เป็นอีกคำหนึ่งที่มีความหมายได้มากกว่าหนึ่ง] 1. ดิฉันเห็นว่าศาลได้วินิจฉัย (พิจารณา) เรื่องเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาว่าคือเส้นใดไว้แล้ว แต่ไม่ได้กำหนดไว้ในข้อปฏิบัติการ ดังข้อความที่ว่า ศาลจะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือบริเวณพระวิหารได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจสอบแล้วว่าเส้นเขตแดนนั้นคือเส้นใด (สำนักนายกรัฐมนตรี, คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร, หน้า 16) ศาลมีความเห็นว่าประเทศไทยใน ค.ศ. 1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา ศาลมีความเห็นต่อไปว่า เมื่อพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไป การกระทำต่อ ๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน (หน้า 45) ไม่มีเหตุผลที่จะให้คิดว่าคู่กรณีได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เส้นสันปันน้ำโดยเจาะจง เมื่อเปรียบเทียบกับความสำคัญที่เหนือกว่าของการยึดเส้นเขตแดนในแผนที่ซึ่งได้ปักปันกันในเวลาต่อมาและเป็นที่ยอมรับแก่คู่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้เรื่องได้เป็นที่ยุติกันไป ฉะนั้น อาศัยหลักในการตีความสนธิสัญญา ศาลจึงจำต้องลงความเห็นให้ถือเส้นเขตแดนตามแผนที่ของบริเวณพิพาท (หน้า 50) 2. การที่ศาลไม่พิพากษาชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดนในบริเวณพื้นที่พิพาทตามคำขอของฝ่ายกัมพูชา ก็ไม่ใช่เพราะศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะวินิจฉัยเรื่องเขตแดน แต่เป็นเพราะกัมพูชายื่นเรื่องนี้เข้ามาทีหลัง ศาลจึงวินิจฉัยว่าจะจำกัดขอบเขตการพิจารณาอยู่ที่ประเด็นอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณพระวิหารเท่านั้น หากกัมพูชายื่นประเด็นนี้เข้าไปตั้งแต่แรก ผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องเส้นเขตแดนบริเวณพระวิหารก็คงจบไปตั้งแต่ปี 2505 แล้ว (ศาลโลกตัดสินเรื่องเขตแดนมากมายหลายกรณี เลยไม่เข้าใจอะไรทำให้คุณวีรพัฒน์กล่าวว่าศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะวินิจัยฉัยเรื่องเขตแดน) 3. ดิฉันไม่เห็นด้วยที่คุณวีรพัฒน์บอกว่าคำพิพากษาปี 2505 ที่ตัดสินให้พระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เป็นผลมาจากอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ ที่ผูกพันไทย ดิฉันเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่คำตัดสินดังกล่าวมาจากการที่ศาลวินิจฉัยว่า การประพฤติปฏิบัติของฝ่ายไทยหลายครั้งหลายคราในอดีต (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ได้แสดงการยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 (1:200,000) จึงมีผลผูกมัดไทยในทางกฎหมายว่าได้ทำการรับรองเส้นบนแผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: ปฏิวัติการรับน้อง ความจริงในรั้วมหาลัย Posted: 11 Jun 2011 09:56 AM PDT 11 มิ.ย. 54 - ประเพณีการรับน้อง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาเกือบ 30 ปี โดยทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีกิจกรรมประชุมเชียร์ร้องเพลงมหาวิทยาลัยขึ้นทุกปีต่อเนื่องกัน เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกการรักในสถาบันการศึกษา และการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่กับน้องและสอดแทรกวัฒนธรรมความเป็นอีสานเข้าไปด้วย ทั้งนี้ในการดำเนินกิจกรรมการประชุมเชียร์ทางมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้คณะกรรมการประชุมเชียร์เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการประชุมเชียร์ได้ฝึกรุ่นพี่ที่จะมาทำหน้าที่เป็น Staff ในการฝึกน้องร้องเพลง ทำสันทนาการ และพี่ปกครอง เพื่อทำหน้าที่ของตน และสร้างวัฒนธรรมการให้รุ่นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในความสัมพันธ์กันเชิงอำนาจสืบเนื่องกันมาทุกปี โดยพี่ปกครองนั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยกำกับเรื่องวินัยของนิสิตใหม่ รวมถึงของพี่ Staff เอง ตลอดระยะเวลาที่มีการจัดกิจกรรมการประชุมเชียร์ที่ผ่านมานั้น พี่ปกครองจะมีบทบาทมากในการว๊ากตะโกนด่าน้อง และสร้างภาวะกดดันให้เกิดกับสภาวะจิตใจของนิสิตใหม่ เป็นการนำระบบเผด็จการอำนาจนิยมมาใช้ในมหาวิทยาลัย และถูกวางเป็นแบบปฏิบัติกันเรื่อยมา มีการส่งต่อวัฒนธรรมการใช้อำนาจเผด็จการนิยมกันเป็นรุ่นต่อรุ่น จนกลายเป็นแบบแผนปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน จนเกิดการตั้งคำถามจากกลุ่มของนิสิตในมหาลัยมหาสารคามว่า การดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างค่านิยมคลั่งสถาบันการศึกษา ความกลมเกลียวสามัคคีและความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง โดยการใช้ระบบการว้ากตะโกนด่า และอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยทีมงาน Staff จริงหรือ? มันเป็นการไปละเมิดสิทธิของนิสิตใหม่รึเปล่า และการพิสูจน์รุ่นโดยการบังคับให้น้องๆเผชิญกับภาวะกดดันจากรุ่นพี่ทั้งมาจากคณะต่างๆ ที่มารอรับน้อง ทีมงาน Staff เองที่คอยว้ากตะโกนด่าน้อง และการดำเนินกิจกรรมเป็นเวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ทั้งโดนพี่ปกครองสั่งทำโทษ โดยวิธีการเดียวกับระบบทหาร บางคนถึงกับร้องไห้ออกมาโดยภาวะกดดัน ทั้งความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า และความหิว จนน้องบางคนเกิดอาการเป็นลมจนต้องหามส่งโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางมหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบอย่างไร หรือพี่ๆ ทีมงาน Staff เองจะร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้เช่นไร จึงทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการให้มีการปฏิรูปการประชุมเชียร์ของมหาลัยมหาสารคามมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิม โดยอ้างว่าเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมากว่า 40 ปี เมื่อไม่มีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนวิธีการประชุมเชียร์ให้มันมีรูปแบบที่ดีขึ้น จึงมีนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคามบางส่วน ทั้งรุ่นน้อง และรุ่นพี่ที่มีแนวความคิดอยากเห็นการรับน้องแบบสร้างสรรค์ ได้รวมกลุ่มกันประชุมและได้รณรงค์ให้ยกเลิกระบบการประชุมเชียร์แบบเผด็จการอำนาจนิยม การว๊ากหรือตะโกนด่า เป็นการรับน้องแบบสร้างสรรค์ พาน้องทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคม และสร้างวัฒนธรรมระหว่างพี่กับน้องที่ไม่เป็นการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของกันและกัน แต่ไม่ได้มีการเรียกร้องให้ยกเลิกประเพณีการรับน้อง หรือการประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัย แต่กลับไม่ได้รับการนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา และปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการ จึงทำให้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางนิสิตกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการประชุมเชียร์โดยระบบเผด็จการอำนาจนิยม ได้รวมกลุ่มกันรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกระบบเผด็จการStaff และได้ขึ้นเวทีเพื่อประกาศเจตนารมณ์แต่กลับถูกทางทีม Staff ล๊อกจับกุมตัว และห้ามถ่ายภาพ โดยอ้างว่านิสิตกลุ่มดังกล่าว มาสร้างความวุ่นวายและแทรกแทรงประเพณีประชุมเชียร์ โดย Staff บนเวทีประกาศว่า ให้ถ่ายรูปนิสิตกลุ่มดังกล่าวไว้ และจะเอาออกจากระบบมหาวิทยาลัย จึงเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่า Staff มีหน้าที่ไล่คนที่เห็นต่างออกจริงหรือ มีขอบเขตอำนาจมากมายเพียงใด เมื่อมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอออกสู่สื่อสาธารณะ ก็เกิดกระแสตามมามากมาย ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในมหาลัยและนอกมหาลัย เป็นกระแสสังคมที่น่าจับตามองถึงความเหมาะสม และการใช้อำนาจของ Staff และเป้าหมายของกลุ่มที่ไปเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนวิธีการประชุมเชียร์ นางสาวเพ็ญศรี ชิตบุตร นิสิตชั้นปีที่ 4 หนึ่งในนิสิตที่ร่วมคัดค้านระบบการใช้อำนาจเผด็จการนิยมของ Staff เปิดเผยว่า “กลุ่มเราไม่ได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกกิจกรรมการประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัย แต่เพียงเราต้องการให้ยกเลิกการใช้อำนาจเผด็จการของรุ่นพี่ ที่ไปตะโกนด่าและสั่งทำโทษน้องเท่านั้นเอง เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิของน้อง นางสาวเพ็ญศรีกล่าวด้วยว่า อีกอย่างประเพณีที่ทำแล้วเป็นการสร้างวัฒนธรรมอันดีสร้างความประทับใจให้น้อง เราไม่ไปเรียกร้องให้ยกเลิก เรามีอารยะพอ ไม่ได้คัดค้านเสียทุกอย่าง เพียงแต่เราอยากให้รับน้องแบบที่สร้างสรรค์ และทำประโยชน์ให้แก่สังคมบ้าง อีกอย่าง เราทนไม่ได้ที่เห็นน้องเป็นลม และถูกหามส่งโรงพยาบาลมากมาย เรารู้สึกเป็นกังวลต่อตัวของน้อง เราไม่ได้ต้องการที่จะทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เราแค่ต้องการแสดงสิทธิเสรีภาพของเราเพียงเท่านั้นเอง และต้องการให้สังคมรับรู้และเข้าใจ” มหาวิทยาลัยคงต้องทบทวนรูปแบบการจัดกิจกรรมการร้องเพลงประชุมเชียร์ โดยตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของคนอื่นบ้าง ระบบเผด็จการอำนาจนิยมนี้เป็นรูปแบบของการปกครองทหาร แต่ในสังคมของปัญญาชน การใช้ระบบแบบนี้มากดขี่ข่มเหงกัน มันสมควรหรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องวอนขอให้ผู้เกี่ยวข้องลองไปตระหนักและพิจารณาดู ไม่มีใครที่ชอบการบังคับ และลงโทษ มหาวิทยาลัยเป็นที่บ่มเพราะวิชาการ ผลิตคนให้รับใช้สังคม เป็นพื้นที่ที่สามารถให้ทุกคนได้แสดงสิทธิเสรีภาพ หากยังมีกระบวนการเหล่านี้อยู่ มันก็ไม่ต่างอะไรจากระบบการปกครองของพวกทหารที่เน้นให้ปกครองกันแบบเผด็จการ
000
แถลงการณ์ร่วม กรณีรับน้อง มมส. ฉบับที่ 2 สืบเนื่องจากกิจกรรมการประชุมเชียร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2554 มีเนื้อหา รูปแบบที่มีลักษณะเผด็จการ ซึ่งมีผู้ถ่ายคลิปดังกล่าวไว้ได้ เป็นการใช้วาจาที่ส่อไปถึง ลักษณะอำนาจนิยม ของคณะกรรมการประชุมเชียร์ โดยได้มีผู้ถ่ายคลิปนำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เช่น รายการ wake up Thailand มติชนออนไลน์ และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาของนักวิชาการ คณาจารย์ นักกิกรรม นิสิตนักศึกษาโดยผ่าน social media ซึ่งส่งผลให้นักข่าวจาก สำนักข่าว astv ได้โทรสอบถาม ผศ. ดร.ศุภชัย สัมปิโต อธิการบดี มหาวิทยาลัย มหาสารคาม (อ้างอิงจาก astv ออนไลน์10 มิถุนายน 2554 11:58 น. ) ซึ่งมีเนื้อหาที่ทางกลุ่มเห็นแย้งใน 3 ประเด็นคือ การกล่าวว่า “พวกร้อนวิชาน่ะครับ เรียนวิชาพวกสิทธิมนุษยชนมาก็เลยมาเรียกร้อง“ ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าทางกลุ่มไม่ได้ร้อนวิชาดังที่ ท่านอธิการบดีกล่าว เพราะการเรียกร้องของทางกลุ่มได้มีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือให้ความสนใจ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของ การร้อนวิชาอย่างที่ท่านอธิการบดีกล่าว ประเด็นที่ 2 การที่ท่านอธิการบดีกล่าว ในกรณีภาพเด็กเป็นลม ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของกิจกรรมที่มีคนเยอะ ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าเป็นการกล่าวแบบไม่มีเหตุผลเพียงพอของท่านอธิการบดี โดยความจริงแล้ว เมื่อผมได้ถามถึงรุ่นน้องที่เป็นลม เขาได้กล่าวว่า เขารู้สึกเหนื่อย กดดันจากการว๊ากของรุ่นพี่ โดยทางกลุ่มเห็นว่าอาจจะเป็นการบ่ายเบี่ยงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของท่าน อธิการบดี ประเด็นที่ 3 การสั่งกองกิจกรรมฯประเมินความพอดี ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่า ความพอดีของกิจกรรมประชุมเชียร์มีเกณฑ์ใดมาประเมินวัดผล เช่น การสั่งลงโทษน้องด้วยการหมอบ อย่างเช่นในระบบทหาร เป็นการลงโทษที่เกินไปหรือไม่ ซึ่งในฐานะที่น้องใหม่ก็เป็นปัญญาชนคนหนึ่งก็มีความคิด มีเหตุมีผล รู้ว่าทำไมต้องเคารพรุ่นพี่ ทำไมต้องรักและเชิดชูสถาบัน ทำไมต้องสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจากเหตุผลข้างต้น ทางกลุ่มจึงขอเสนอจุดยืนของทางกลุ่มดังต่อไปนี้ 1. ขอให้อธิการบดี เปลี่ยนทัศนติต่อการเรียกร้องของกลุ่มที่เรียกร้อง เราไม่ใช่ พวกร้อนวิชา ซึ่งคำกล่าวดังกล่าวเป็นคำที่ใช้ประจำกับผู้ที่ไม่เข้าใจการเรียกร้อง ในการใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามระบอบประชาธิปไตย 2. ขอให้ท่านอธิการบดีจงภูมิใจกับนิสิตกลุ่มดังกล่าวที่มาเรียกร้องว่า มหาวิทยาลัยได้สั่งสอนให้นักศึกษา ให้นำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังคำขวัญของมหาวิทยาลัย “พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว” ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน 3. การเรียกร้องดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมมนูญ พ.ศ. 2550 อย่างชัดเจน ในมาตรา 45 “บัญญัติหลักทั่วไปในวรรคแรกว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ”และวรรคสองบัญญัติว่าการจำกัดสิทธิต้องออก เป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงกระทำตามระบอบประชาธิปไตย องค์กรภาคี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คำให้การของนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ถึงวาด รวี และ ปราบดา หยุ่น Posted: 11 Jun 2011 09:10 AM PDT หมายเหตุ: หลังจาก "ปราบดา หยุ่น" และ "วาด รวี" สองนักเขียนผู้ลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อชี้แจงกรณีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมระบุความเข้าใจที่ผิดพลาดอาจนำไปสู่ความตกต่ำของวัฒนธรรมทางปัญญาในสังคมไทย ล่าสุด นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เขียนจดหมายตอบโต้ เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม ในหัวข้อ "คำให้การของนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ถึงวาด รวี และ ปราบดา หยุ่น" เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายละเอียด ดังนี้ 000000
เรียน คุณวาด รวี และ คุณปราบดา หยุ่น ผมอ่านจดหมายเปิดผนึกของคุณทั้งสองที่มีถึงผมแล้ว ตอนแรกตั้งใจจะไม่ตอบ เพราะไม่มีเวลา แต่คิดไปคิดมาถ้าไม่ตอบคุณทั้งสองอาจจะเข้าใจผิด ว่า ผมยอมรับหรือจำนนต่อเหตุผลของคุณ ซึ่งอาจทำให้ผมได้รับความเสียหายได้ “ข้อหา” ที่คุณทั้งสองตั้งให้ผมนั้นดูเหมือนรุนแรงเกินไป และขัดต่อเหตุผลและข้อเท็จจริงหลายประการ แต่ผมให้อภัย เพราะคิดว่าคุณทั้งสองกำลัง “จินตนาการ” ตามวิสัยของความเป็นนักเขียนของคุณ แต่บังเอิญจินตนาการของคุณล้ำเข้ามาในเขตแดนของผม และทำลายความสงบสุขในเขตแดนของผมโดยไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะข้อหาที่คุณ กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ของผม “ไม่เป็นผลดีต่อการใช้เหตุผลและสติปัญญาของสังคม และอาจส่งผลให้วัฒนธรรมทางปัญญาของสังคมไทยเสื่อมเสียได้” และข้อหาที่ว่าผม “กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” ผมขอแก้ข้อกล่าวหาของคุณทั้งสอง ดังนี้ ข้อ 1 กรณีที่คุณทั้งสองกล่าวว่า มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขอชี้แจงว่า ต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันมีผู้พยายามทำความผิดตามมาตรา 112 มากขึ้นอย่างผิดปกติจะด้วยวัตถุประสงค์อย่างไรก็ตาม และต้องยอมรับว่าผู้ทำความผิดตามมาตรา 112 ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหรือผู้สนับสนุนนักการเมือง ดังนั้น เมื่อรัฐดำเนินคดีกับคนเหล่านี้ จึงเป็นการใช้อำนาจตามปกติ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม และศาลก็มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้วหลายราย ดีที่คุณทั้งสองยังไม่กล่าวหาว่า “ศาล” ก็ใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย ต่อไปภายภาคหน้าหากมีผู้กระทำความผิดฐานข่มขืน กระทำชำเรามากขึ้น คุณวาด รวี และคุณปราบดา หยุ่น อย่าเผลอว่ารัฐใช้ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกล่ะครับ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่นักการเมืองหรือผู้สนับสนุนทางการเมืองเป็นผู้พยายามละเมิดมาตรา 112 จึงต้องดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้เท่านั้นเอง ท่านทั้งสองอย่าจินตนาการอะไรไปให้มากไปกว่านี้เลยครับ ข้อ 2 ความเห็นของผมในประเด็นที่ว่าหากให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องร้องเอง เหมือนกับการเอา “สถาบัน” มาเป็น “คู่กรณี” กับประชาชน โดยคุณทั้งสอง แย้งว่า เคยมีกรณีที่สำนักราชเลขาธิการเป็นคู่กรณีมาแล้ว เช่น กรณีสำนักราชเลขาธิการมอบให้ดีเอสไอเป็นโจกท์ฟ้อง “เสี่ยอู๊ด” กรณีการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว ในประเด็นนี้ ผมขอชี้แจงว่า ความผิดของเสี่ยอู๊ด เป็นความผิดตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค , พรบ.เครื่องหมายราชการ และกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกงประชาชน เท่านั้น มิใช่ กรณีตาม มาตรา 112 ที่มอบให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องหรือมอบให้ดีเอสไอ เป็นผู้ฟ้อง เป็นเรื่องผู้เสียหาย จำนวน 921 คน ไปแจ้งความร้องทุกข์ว่า “ถูกฉ้อโกง” และเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบต้องพิจารณาหาว่า การกระทำของเสี่ยอู๊ดผิดกฎหมายใดบ้างเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีสำนักราชเลขาธิการ เป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน ตามที่คุณทั้งสองเข้าใจ ประเด็นนี้ผมไม่โทษคุณ เพราะคุณมิใช่นักกฎหมาย แต่บังเอิญคุณจินตนาการตามความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้นเอง ในฐานะผู้มีอายุมากกว่า ถือว่า “อโหสิ” กันได้ แต่หากผมไม่ตอบจะทำให้ประชาชนสับสน เพราะคุณทั้งสอง ก็มีต้นทุนทางสังคมสูงอยู่ หากคนไทยไม่ใช้หลัก “กาลามสูตร” ในการพิจารณาก็อาจเชื่อคุณทั้งสองได้ ข้อ 3 ประการต่อไปคุณทั้งสอง กล่าวว่า ผมมีความเห็นไม่ตรงกับท่านนายกรัฐมนตรี ขอชี้แจงว่า ผมและท่านนายกรัฐมนตรีมีความเห็นตรงกัน เป็นเรื่องที่คุณทั้งสองจับบางคำพูดของท่านนายกฯ มากล่าว เป็นการ “ตีความไม่แตก” เท่านั้นเอง และในบางเรื่องที่ผ่านมา ผมก็เคยมีความเห็นไม่ตรงกับท่านนายกฯ แต่เมื่อมีมติออกมาเป็นอย่างไรทุกอย่างก็ยุติ ความจริงคุณทั้งสองที่อ้าง “ประชาธิปไตย” น่าจะมายกย่องผม แต่คุณกลับตำหนิผม หาว่าผมมีความเห็นต่าง ผมจึงสับสนความเป็นบุคคลใน “ระบอบประชาธิปไตย” ของคุณทั้งสองจริง ๆ ส่วนข้อหาที่ว่าผมทำให้ “ วัฒนธรรมทางปัญญาของสังคมเสื่อมถอย ” ซึ่งเป็นข้อหาที่รุนแรง ผมยังไม่ตอบวันนี้ เพราะไม่มีเวลาจริง ๆ คุณวาด รวี และ คุณปราบดา หยุ่น ครับ ในขณะที่คุณทั้งสอง กำลังจิบกาแฟถ้วยที่ 2 ของวันนี้อยู่ในห้องที่มีอุณภูมิต่ำกว่า 25 องศา ผมอยู่ไกลออกไปเกินกว่า 1,000 กิโลเมตร จากเมืองหลวงของประเทศ อยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนเกิน 34 องศา ผมอาจจะมีอารมณ์ไปบ้างก็ต้องขอโทษอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อคุณมีอายุใกล้เคียงกับอายุของผมในขณะนี้ ผมหวังจะได้รับจดหมายตอบจากคุณทั้งสอง และ หวังว่า อีก 20 ปีข้างหน้า คุณจะเขียนมาขอโทษผมก็ได้ ผมจะรอครับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กก.บห.เสียงข้างมากประกาศ "พรรคการเมืองใหม่" ร่วมโหวตโน Posted: 11 Jun 2011 05:21 AM PDT คณะกรรมการบริหารพรรคการเมีองใหม่เสียงข้างมาก 10 คน ประกาศ "พรรคการเมืองใหม่" ร่วมโหวตโน แจงล่ารายชื่อยื่นถอดถอน "สมศักดิ์" จากตำแหน่งหัวหน้าพรรค คาดครบ 2,000 รายชื่อใน 7-8 วันนี้ 11 มิ.ย. 54 - เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมอินทนิล โรงแรมจันทรเกษม พาร์ค ได้มีการจัดงานสัมมนา "รวมพลการเมืองใหม่ Vote No ปฎิรูปประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมีองใหม่เสียงข้างมาก 10 คน ต่อมานายสำราญ ได้อ่านแถลงการณ์ในนามผู้ปฏิบัติงานพรรคการเมืองใหม่มีสาระสำคัญว่า เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งยิ่งเปลือยให้เห็นธาตุแท้ของนักการเมืองที่คิดถึงเพียงชัยชนะในการเลือกตั้งเท่านั้น โดยไม่สนใจปัญหาของประเทศที่หมัหหมมมายาวนาน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง ความมั่นคงของประเทศ หรือหารจาบจ้วงสถาบันสูงสุด ทั้งยังมีการโยนหินถามทางการนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นที่จะก่อวิกฤตรอบใหม่ ดังนั้นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ส่วนหนึ่งจึงเห็นควรในการเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มากที่สุด และลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์จะเลือกใครหรือโหวตโนร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการประกาศอิสรภาพของประชาชน เพื่อเริ่มต้นอภิวัฒน์ประเทศในทุกๆด้าน ผู้สื่อข่าวถามถึงคดีฟ้องร้องระหว่างนายสุริยะใสกับนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เรื่องนี้นายสุริยะใสกล่าวว่า ในเรื่องของพรรคยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กกต. กรณีที่พรรคไม่เคยมีมติส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งล่าสุด กกต.ได้ให้ตนไปชี้แจงเพิ่มเติม เหลือเพียงการชี้แจงของฝ่ายนายสมศักดิ์ ซึ่งหวังว่า กกต.จะมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนก่อนวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ที่เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งยังจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตด้วย เพราะหาก กกต.วินิจฉัยให้ฝ่ายนายสมศักดิ์สามารถลงเลือกตั้งได้ ก็หมายความว่ากรรมการบริหารพรรคหรือศูนย์สาขาพรรคจะไม่มีความหมาย โดยหัวหน้าพรรคสามารถตัดสินใจในทุกเรื่องได้เอง ส่วนเรื่องที่ตนฟ้องหมิ่นประมาทนายสมศักดิ์นั้น ไม่อยากให้มองว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัว เป็นเพียงความเห็นที่ต่างกันในเรื่องแนวทางพรรคเท่านั้น แต่เมื่อมีการกล่าวหาตนในทางเสียหายก็จำเป็นที่ต้องฟ้องร้องเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง นายสำราญ กล่าวเสริมด้วยว่า ในส่วนของการยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น ขณะนี้ได้มีสมาชิกพรรคทำการล่ารายชื่ออยู่ คาดว่าจะครบ 2,000 รายชื่อใน 7-8 วันนี้ ก่อนที่จะเดินหน้าตามขั้นตอนต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสวนา "มองมุมสื่อ ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง" Posted: 11 Jun 2011 04:47 AM PDT “เทพชัย" เหนื่อยแทนคนไทยมองไม่เห็นอนาคต เห็นแต่ภาพความวุ่นวาย การเผชิญหน้า "วีระ ธีระภัทรานนท์" ฟันธง เพื่อไทยชนะแต่ไม่ถึงครึ่ง "วงศ์ทนง" ชี้วัยรุ่นสนใจการเมือง "เบาบาง-ตื้นเขิน" เลือก ส.ส. แบบเอามัน นับเวลาจากนี้ไปเหลืออีกเพียง 20 กว่าวัน สำหรับการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะมีผลต่อประเทศไทย และเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้คนจากหลายภาคส่วน ต่างแสดงความห่วงใย ปนความกังวลใจลึกๆ ว่า ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ผ่านพ้นไปแล้ว ประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหน ความขัดแย้ง การก่อกวนด้วยวิธีต่างๆ ในช่วงที่ผ่านทั้งในสภาและนอกสภา จะสงบลงหรือไม่ อย่างไร แม้คำถามเหล่านี้ยังค้างคาใจอยู่ แต่มีเวทีเสวนา "มองมุมสื่อ ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง" ที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย (เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา) จงใจจัดขึ้นเร็วก่อนกำหนด เพื่อเปิดมุมมอง 4 หนุ่ม 4 มุมมองจากสายตา “สื่อ” ที่ คิดต่าง เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับอนาคตประเทศไทย ในด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ต่างประเทศ รวมทั้งบทบาทของ สื่อมวลชนภายหลังการเลือกตั้ง “เหนื่อย” ไม่มีพรรคไหนพูดถึงอนาคต คำตอบแรกๆที่ “เทพชัย หย่อง” ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ Thai PBS พูดเปิดเวทีมุมมองการเมืองหลังการเลือกตั้ง ก็คือ “เหนื่อย” ยิ่งดูจากแนวทางการหาเสียง กลับไม่มีพรรคไหนที่มีการพูดถึงอนาคตของประเทศไทยเลย มีแต่หาทางลบหนี้ ทำให้ชาวนาขายข้าวได้แพงมากขึ้น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ให้กุญแจสองดอก เป็นหนี้ซื้อคอนโดดอกหนึ่ง เป็นหนี้ซื้อรถอีกดอกหนึ่ง.... สิ่งเหล่านี้ นายเทพชัย ชี้ชัดว่า ไม่ใช่วิสัยทัศน์ แต่เป็นเพียงกลยุทธ์การหาเสียงเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงอยากเห็น อยากได้ยินยิ่งลักษณ์ สนั่น อภิสิทธิ์ บอกชัดๆ ว่า จะพาประเทศไทยไปทางไหน หรือจะยืนอยู่จุดไหนในเวทีอาเซียน พร้อมบอกด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของการรวมตัวเป็นอาเซียน ไม่ว่าจะฟิลิปปินส์ สิงค์โปร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างก็มีความพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าแล้ว แต่ประเทศไทย กลับไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกรอบตัวเลย ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่า ถูกวิเคราะห์และตั้งความหวังไว้มากที่สุด ไม่ว่าจะเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ หรือกดรีโมตเปลี่ยนโทรทัศน์ไปช่องใด จะมีคนมานั่งวิเคราะห์ตลอดเวลาว่า หลังการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ผอ.ทีวีไทย มองว่า ส่วนใหญ่จะมีแนวทางคล้ายๆ กัน นั่นคือ มองไม่เห็นอนาคต เห็นแต่ภาพความวุ่นวาย การเผชิญหน้า “เราเชื่อว่า หากมีการเลือกตั้งขึ้นมาจะช่วยล้างอะไรบางอย่าง และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ก้าวใหม่ที่ดีขึ้น แต่ปรากฏการณ์ ความเคลื่อนไหวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่มีความชัดเจนและสงสัยว่าจะจบอย่างไร หากยิ่งลักษณ์มาเป็นอันดับหนึ่ง จัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เห็นความวุ่นวาย ขวากหนาม ผลพวงที่ไม่สวยงามรออยู่ข้างหน้า อีกด้านหนึ่ง หากเป็นพรรคของอภิสิทธิ์ขึ้นมา ดูจากโพลล์ทั้งหลายชี้ว่าตัวเลข ไม่สวยนัก แต่ก็จะหาทางกระทั่งจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ซึ่งก็จะเกิดความวุ่นวายในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน” นายเทพชัย ขยายความให้เห็น วีระโพล ฟันธง เพื่อไทยชนะ ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง จะเป็นอย่างไร ในสายตา "วีระ ธีระภัทรานนท์" นักวิเคราะห์และสื่อมวลชนอิสระ ซึ่งตอบแบบตรงไปตรงมาว่า ประมวลจากหลายๆ คนที่ ได้พบปะพูดคุย จะไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเกิน 251 ที่นั่ง ก่อนที่เขาจะยกเหตุผลการวิเคราะห์มาประกอบอีก “มองจากการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจากมีการล้างไพ่ บวกกับการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาในการเลือกตั้ง คิดว่า ไม่น่าจะมีพรรคไหนที่จะได้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่ง หรือเกิน 251 ที่นั่ง ในทางกลับกัน หากไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเสียงเกินหนึ่ง ก็จะต้องมี 2 พรรคแรกที่ได้มากที่สุดแน่ เพราะการเมือง 2 ขั้วฝ่ายปรากฏชัด ทั้งนี้ จาการคาดการณ์ประชาธิปัตย์อาจได้คะแนนเสียงบวกลบเท่าเดิม หรือหากมีตัวช่วยเต็มที่ก็น่าจะได้ แค่ 175 ที่นั่ง ส่วนเพื่อไทยให้เต็มที่สุดๆ ตัดปัจจัยอื่นๆ หมดแล้ว น่าจะได้ 230 ที่นั่ง” และหากผลการเลือกตั้งเพื่อไทยได้คะแนนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ประมาณ 50 ที่นั่ง นักจัดรายการชื่อดัง ตอบแบบชัดๆว่า เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ซึ่งมีตัวแปร เพื่อไทยจะที่นั่งได้มากน้อยเพียงใด อยู่ที่ “พรรคภูมิใจไทย” จะกวาดที่นั่งในภาคอีสานได้เท่าไหร่ พร้อมกับชี้ให้เห็น "รูรั่วซึม" ของเพื่อไทย อยู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนประชาธิปัตย์ ภาคใต้ ที่จังหวัดภูเก็ต และในกรุงเทพฯ จะมีรั่วซึม กรณีที่พรรคภูมิใจไทยที่คุยไว้ว่าจะได้ 70 ที่นั่งนั้น "วีระ" บอกให้ราคาเต็มที่ แบบซื้อหนึ่งแถมสอง จัดชุดใหญ่ น่าจะได้แค่ 40 ที่นั่ง นี่จึงเป็นเหตุให้หลายคนไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา เพราะคิดว่าได้เป็นรัฐบาลแน่ ซึ่งขณะนี้พรรคที่ร่วมรัฐบาลแน่ๆ มี 2 พรรค คือ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ขณะที่กิจสังคม หากโชคดีก็ได้เป็นรัฐบาลพรรคที่สาม ไม่มีพรรคการเมือง ใช้ธรรมหาเสียง ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ครั้งนี้ จากนักจัดรายการวิทยุชื่อดังว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดหาเสียงด้วยธรรมเลย ไม่มีนโยบายต่อศาสนาแม้แต่พรรคเดียว เขาจึงอนุมานได้ว่า “มันคงไม่มีธรรมหลังการเลือกตั้ง” และ ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งหากภาพประเทศไทยเป็นแบบที่คาดเดามาก่อนหน้านี้ หลังการเลือกตั้ง หากพรรคที่ได้ที่ 1 ก็ตั้งรัฐบาล อยู่ที่ว่าจะดึงพรรคไหนร่วม และหากไม่ผิดฝาผิดตัว ก็คาดว่าจะไม่มีเรื่อง “แต่หากพรรคได้คะแนนมากที่สุด ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เราก็ต้องยอมรับ การรวมกันเกินกึ่งหนึ่งเป็นรัฐบาล เรียกว่า รัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ ผมว่า ไม่ว่า เพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์จะได้จัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่า ประเทศไทยจะมีฝ่ายค้านที่เข็มแข็ง มีการตรวจสอบเข็มข้นทุกเม็ด” นายวีระ สวมบทโหร ทำนายการเมืองไทย อย่างเมามัน ก่อนจะทิ้งท้ายไว้ว่า หากมีการตั้งรัฐบาลมาแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลไหน มีระยะฮันนีมูนโดยทั่วๆ ไป 3-4 เดือน มีกรณียกเว้นเมื่อเข้ามาแล้ว ทำอะไรแบบที่ เขาคิดว่าคุณจะทำทันที อย่างนั้นก็เป็นความ “โง่” ไม่ได้เป็นความฉลาด ซึ่งก็จบ เชื่อว่าจะมีการประท้วงกันอีก ถามไทยจะอยู่จุดไหนในเวทีโลก มองในมุมต่างประเทศบ้าง นายทนง ขันทอง บรรณาธิการ น.ส.พ. The Nation และ บรรณาธิการ Asian’s TV วิเคราะห์การเลือกตั้งของไทย โดยเปรียบเทียบให้เห็น บริบทโลก ว่า ทำไมเราถึงต้องทำความเข้าใจระบบโลก จากโลกปัจจุบันไปสู่โลกใหม่ ด้วยเพราะโลกปัจจุบันนั้นเดินต่อไปไม่ได้แล้ว อำนาจการต่อรองของโลกเริ่มเปลี่ยน ระหว่างกลุ่มประเทศโซนยุโรป อเมริกา อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าเพื่อการบริโภคเป็นหลัก กับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย ให้ได้ถึงจะอยู่รอด “สหรัฐอเมริกา อังกฤษเริ่มจะถูกท้าทาย และถูกต่อรองอำนาจจากอินเดีย จีน ซึ่งอาจทำให้ระเบียบของโลกเปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยกลับไม่เคยมีการตั้งคำถามว่า จะอยู่อย่างไร จะจับขั้วกับฝ่ายไหน” นายทนง กล่าวด้วยท่าทางที่นิ่งๆ โหน่ง a day ให้คำจำกัดความเลือกตั้ง ส่วนนายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หรือ โหน่ง a day กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ถ่ายทอดอุณหภูมิของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง โดยให้คำจำกัดความการเลือกตั้งไว้ว่า ซับซ้อน สับสน ตื่นตัว และเต็มไปด้วยความคาดหวัง (ที่ยากจะคาดเดา) เขาขยายความเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจคำว่า "ซับซ้อน" "ช่วง 2-4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สำคัญ และแปลกประหลาด มีสภาวะ สภาพที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ Connection Relationship ของผู้นำทางการเมืองมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนขั้วกันอย่างมาก เกิดภาวะของการแตกคอ และ กอดคอ ที่ไม่น่าเชื่อ เช่น ผมเห็นภาพพันธมิตรฯ แตกคอกับพรรคการเมืองใหม่ ผมประหลาดใจมาก ซึ่งหากนึกย้อนไป 2 ปีที่แล้ว เราคาดไม่ถึงจะเดินมาถึงจุดนี้ หรือย้อยไปเมื่อ 2 ปี ใครจะนึกว่า พันธมิตรฯ แตกคอกับประชาธิปัตย์ ให้นึกย้อนไกลหน่อย ใครจะเชื่อว่า เนวิน แตกคอทักษิณ ใครจะเชื่อสนธิ แตกคอทักษิณ นี่คือสภาพ Relationship ของผู้นำทางการเมือง ที่ผมคิดว่า มันกำลังอยู่ในช่วงจับคู่ แตกคู่” สภาพเช่นนี้เอง....ได้นำไปสู่ความสับสนของคนที่เป็นผู้ตาม ไม่จะเป็นคนที่อยู่ในสีแดง เหลือง น้ำเงิน จำนวนมากเกิดภาวะที่ค่อนข้างไม่แน่ใจ สิ่งที่ตนยึดถือจะใช้หรือไม่ กระทั่งมีคนจำนวนมาก ตัดสินใจเปลี่ยนสี เป็นสลิ่ม สบายใจดี ฉะนั้น ช่วงเวลานับจากนี้ นักเขียนชื่อดัง จึงมองว่า การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมนี้ นับว่ามีนัยยะสำคัญมากๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงวิถีชีวิตของคนในสังคม อีกทั้งยังเป็นที่จับตาของคนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่บอกถึงใบหน้า โฉมหน้าของเมืองไทยในอนาคต หาเสียงเหมือนฉีดสเตียรอยด์เข้าร่างกาย "วงศ์ทนง" ย้อนกลับมาตั้งข้อสังเกตถึงรูปแบบการหาเสียงปัจจุบันนี้ว่า เกิดภาวะของการเกทับ บรัฟแหลก ซึ่งเขา เห็นว่า เป็นนโยบายประชานิยมแบบ "ไร้สติ" เปรียบไปก็เหมือนกับการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในร่างกาย แรกๆ ตัวก็จะโตใหญ่ แต่ไม่ช้าก็จะตาย เหล่านี้เป็นรูปแบบการหาเสียงที่แปลกมาก โดยที่ กกต.ไม่ออกมาแอคชั่นในเรื่องนี้เลย “กกต.ควรร่วมมือกับ สคบ.ให้มีดอกจันที่ป้ายหาเสียง และบอกด้วยว่า สามารถทำได้ในชาตินี้หรือชาติไหน ซึ่งก็ไม่แปลกใจเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก ทุกพรรคต่างหวังจะต้องเอาชนะให้ได้ วิธีง่าย คือ วาดวิมานในอากาศให้สวยงาม น่าซื้อที่สุด ดึงดูดใจที่สุด ลด แลก แจก แถมกันไป” โหน่ง a day นำเสนอมุมมอง ก่อนจะแสงความเป็นห่วงใย ความสนใจทางการเมืองของวัยรุ่นขณะนี้ที่ค่อนข้างจะเบาบาง และตื้นเขิน เนื่องจากพบว่า วัยรุ่นจำนวนหนึ่งคิดจะเลือก ส.ส. เพราะความมัน โดยไม่ได้ดูผลงานที่ผ่านมา.... สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสวนา: ถามตอบ “นักเศรษฐศาสตร์พบนักการเมือง” Posted: 11 Jun 2011 04:25 AM PDT เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 กลุ่มจับตานโยบาย ปี 2 (Policy Watch) ซึ่งก่อตั้งโดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนา “นักเศรษฐศาสตร์พบนักการเมือง” เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในงานมีตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ คือกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และพรรคเพื่อไทย คือ รศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ร่วมนำเสนอนโยบาย และมีนักวิชาการคือ รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา, รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ และ ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมตั้งคำถามและให้ความคิดเห็น ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต กอร์ปศักดิ์กล่าวว่า จะมุ่งเพิ่มรายได้ของประชาชน โดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ลดรายจ่ายด้วยการจัดสวัสดิการ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ และจะดำเนินนโยบายที่ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้เนื่องจากมองว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นจุดแข็งของประเทศที่มีอยู่แล้ว เช่น การท่องเที่ยว เกษตรกรรม โครงการครัวโลก เป็นต้น ด้าน สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เน้นว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมุ่งที่การสร้างความร่ำรวยให้กับประชาชนผ่านทางนโยบายต่างๆ เช่น โครงการหมู่บ้านละล้าน โครงการพักหนี้ครัวเรือน รวมถึงการยกระดับราคาข้าว จัดทำบัตรเครดิตการ์ดเกษตรกร และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ส่วนในด้านของการพัฒนา จะเน้นสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูง สร้างเขื่อนในภาคกลางเพื่อป้องกันน้ำท่วม โครงการ “เมืองใหม่” โครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด และสร้างท่อขนส่งน้ำมัน เป็นต้น
“รายจ่ายนโยบายเหล่านี้ จากการสำรวจของสภาพัฒน์ฯ พบว่าเงินตกลงมาถึงคนจนน้อยมาก เช่นในกรณีเบี้ยผู้สูงอายุ ได้รับไม่ถึง 2% ของคนจนทั้งหมด เช่นเดียวกับนโยบายเงินกู้ คนจนเข้าถึงจริงเพียง 1% และเงินกู้การศึกษาเพียง 0.2% เท่านั้น” อภิชาตกล่าว นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมว่าประเทศไทยจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ เพื่อให้สมดุลกับรายจ่าย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการเก็บภาษีให้เต็มศักยภาพ โดยข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเก็บภาษีได้ 16% ของรายได้มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในขณะที่อัตราการเก็บภาษีดังกล่าวในประเทศโลกพัฒนาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 19% ซึ่งถ้าหากไทยสามารถเก็บภาษีได้เต็มศักยภาพ อาจเก็บภาษีได้ถึง 21% ของจีดีพี "อัตราภาษีรายได้บุคคลในประเทศไทยยังถือว่ามีอัตราต่ำ และไม่ก้าวหน้า เพราะคนที่มีรายได้สูงสามารถลดหย่อนได้มาก" อภิชาตกล่าวและพูดถึงภาษีสินทรัพย์ ว่าขณะนี้ในไทยเก็บภาษีได้เพียง 0.01% ของรายได้ประชาติ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม สามารถเก็บภาษีดังกล่าวในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นได้ 60% ในขณะที่ไทยเก็บได้เพียง 9.2% เท่านั้น ถามมา ตอบไป ต่อคำถามดังกล่าว ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตนมองว่าคำนิยามของคำว่า ‘คนจน’แตกต่างไปจากที่นักวิชาการมอง ซึ่งตนเองมองว่าในประเทศยังมีคนจนกว่า 55 ล้านคน ซึ่งสมควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และไม่ได้มองว่าคนที่ซื้อบ้านและรถเป็นคนรวย แต่มองว่าเป็นปัจจัย 4 สมัยใหม่ที่จำเป็นต้องมี ส่วนโครงการขนาดใหญ่จะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ยกเว้นการตัดถนน การสร้างแหล่งน้ำ ประปา จะให้รัฐเป็นคนจัดการ นอกจากนี้ ได้เสนอให้ลดภาษีนิติบุคคลให้สอดคล้องกับอัตราเท่ากับในประเทศอาเซียน เพื่อส่งเสริมการลงทุน และให้บรรษัทจัดสรรเงินได้เพิ่มขึ้นมา ไปกระจายให้กับลูกจ้างให้เหมาะสมและเท่าเทียมกัน ทางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มองว่า ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบภาษี เนื่องจากการเก็บภาษีไม่ตรงตามสัดส่วนของรายได้ กลายเป็นว่าผู้ที่มีรายได้น้อยจ่ายภาษีมากกว่า หากว่าเราเก็บภาษีได้รัดกุมขึ้น จะได้รายได้จากภาษี 2แสนล้าน นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และส่งผลให้จีดีพีสามารถปรับขึ้นได้รวดเร็ว นโยบายประชานิยม VS ความยั่งยืนทางการคลัง ต่อประเด็นนี้ สุชาติ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยมองว่า นโยบายประชานิยมเป็นการให้โอกาสประชาชน และยังคงมีความจำเป็น เนื่องจากนโยบายนี้ไม่ได้ให้เงินใครเปล่าๆ เพียงแต่เป็นการให้เงินกู้ให้ประชาชนนำไปบริหารจัดการต่อ และเมื่อประชาชนมีเงินทุน ก็จะทำให้ผลผลิตสูงขึ้นเนื่องจากจะมีการลงทุนกับเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า และส่งผลให้จีดีพี่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ในทางกลับกัน กอร์ปศักดิ์กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินนโยบายอนุรักษ์นิยมทางเศรษฐกิจมากกว่า และชี้ว่าปัญหาในนโยบายการคลังคือโครงสร้างการเก็บภาษีที่ผิดพลาด และต้องแก้ไขโดยเก็บเงินจากคนที่ใช้ทรัพยากรประเทศมากที่สุด และชี้ว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่นโยบายประชานิยม นอกจากบางอย่างเช่น การแจกเครื่องแบบและแบบเรียนแก่เด็กนักเรียน
ทางด้านตัวแทนพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังปกครองในระบอบศักดินาอยู่ โดยวางเวลาในการเปลี่ยนผ่านประเทศอยู่ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยกล่าวว่าชนชั้นนำควรจะต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลง และต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่ที่โครงสร้างการเมืองการปกครองที่ยังเป็นระบบศักดินา ให้เป็นระบบที่ปกครองโดยประชาชน เนื่องจากประชาชนในสมัยนี้ตื่นรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพตนเองแล้ว ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น และทำให้เอกชนอยู่ไม่ได้จำเป็นต้องปิดกิจการ และปลดลูกจ้างออกทางพรรคมีมาตรการรองรับอย่างไร ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่าต้องคุยเรื่องนี้กับนายจ้าง เพราะอย่างไรก็ตามต้องให้นักธุรกิจเดินต่อไปได้ เนื่องจากเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และเป็นผู้หารายได้หลัก จริงๆ แล้วจึงไม่สามารถไปบังคับได้ เพราะเป็นการตัดสินใจของเขา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทำไมจึงควรแก้ไข รธน.ม.291 หลังเลือกตั้ง? Posted: 11 Jun 2011 03:50 AM PDT แม้ว่าตามปกติ การเลือกตั้งถือเป็นวิธีการในการแก้ไขความขัดแย้งที่สำคัญในสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่การที่สังคมไทยในระยะห้าปีเศษที่ผ่านมาเกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างหนักชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงพอคาดหมายได้ว่า ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ถึงแม้พรรคการเมืองที่คาดกันว่าจะชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งคือพรรคเพื่อไทย (ซึ่งต่อให้ชนะแบบทิ้งห่างก็ตาม) แต่การปะทุของความขัดแย้งและการระดมต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆ จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยคงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน การเลือกตั้งที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยคาดหวังให้มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญๆของประเทศ ก็อาจประสบอุปสรรคจากสภาพที่การเมืองยังคงไร้เสถียรภาพ ประเทศยังขาดความสมานฉันท์ ทางออกในเรื่องนี้จึงไม่ควรที่พรรคที่คาดว่าจะชนะเลือกตั้งจะนำเรื่องการนิรโทษกรรมให้แก่ทุกฝ่ายมาเป็นประเด็น แต่ควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจดังเช่นที่พรรคไทยรักไทยในอดีตเคยทำงานวางระบบระยะยาวบางส่วนไว้ (ดังตัวอย่างนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ) พรรคการเมืองที่คาดกันในเวลานี้ว่าจะชนะการเลือกตั้งต้องตระหนักว่า นโยบายสำคัญในการหาเสียงครั้งนี้ที่เร่งด่วนคือการมุ่งที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน ดังนั้น จึงไม่สมควรที่จะหยิบยกประเด็นนิรโทษกรรมมาเป็นวาระเร่งด่วนหรือการอ้างว่าตนมีความชอบธรรม ได้รับเป็นฉันทานุมัติจากประชาชนที่จะดำเนินนโยบายได้ทุกอย่าง เพราะประชาชนที่ลงคะแนนให้พรรคอาจเลือกพรรคด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน โดยประชาชนจำนวนหนึ่งอาจเลือกเพราะชอบนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้สนใจคิดถึงประเด็นการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศด้วยการนิรโทษกรรมก็ได้ พรรคการเมืองที่คาดว่าจะชนะเลือกตั้งในครั้งนี้พึงตระหนักถึงข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ไม่ยากเย็นเลยว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยหรือแม้แต่กระทั่งผู้ที่เป็นข้าราชการในระดับสูงจำนวนไม่น้อย ไม่ได้มีความเข้าใจปัญหาการขัดกันในตัวเองอย่างร้ายแรงที่สุดของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่อ้างถึงหลักนิติธรรมที่ช่าง “ดูดี” ในตอนต้นของรัฐธรรมนูญ แต่ในมาตรา ๓๐๙ ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญนั้นกลับบัญญัติสิ่งที่ “เลวร้ายที่สุด” ที่ทำลายลงไปกระทั่งถึงแก่นแท้หรือรากฐานของหลักความเป็นธรรมของวิชานิติศาสตร์โดยตรง พรรคที่คาดหมายกันว่าจะชนะเลือกตั้งควรเข้าใจว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของสังคมไทยต้องใช้เวลา ควรมองวิกฤตเป็นโอกาส โดยเน้นสร้างกระบวนการสานเสวนาระหว่างประชาชน โดยเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการเลือกตั้งตัวแทนที่แยกต่างหากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมาทำหน้าที่หลักเฉพาะการปฏิรูปการเมืองด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้นกลับไปให้ประชาชนลงประชามติ หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ *หมายเหตุ นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง (sunai.setb@gmail.com) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สมาคมต้านโลกร้อนพร้อมตั้งโต๊ะช่วยชาวบ้านฟ้องคดีเรือน้ำตาลล่ม Posted: 11 Jun 2011 03:41 AM PDT สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระดมทนายความสวล.-สิทธิมนุษยชน เตรียมตั้งโต๊ะช่วยชาวบ้านฟ้องคดีเรือน้ำตาล และโรงไฟฟ้าอุทัยเพื่อให้เป็น “คดีสิ่งแวดล้อม” ตัวอย่าง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ในวันอาทิตย์ที่ 12 มิ.ย.ศกนี้ ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น สมาคมจะจัดให้มีการสัมมนาเผยแพร่ความรู้ “วิธีการใช้กฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อม” ณ หอประชุมใหญ่ตึก 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา โดยได้ระดมทนายความฝีมือดีกว่า 10 คนที่มีความช่ำชองเคยร่วมทำคดีสิ่งแวดล้อมสำคัญ ๆ มาแล้ว เช่น คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คดีตะกั่วห้วยคลิตี้ คดีไฟไหม้ท่าเรือคลองเตย คดีสารแคดเมียมแม่ตาว คดีโรงกำจัดกากของเสียสระแก้ว คดีสนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯ มาร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ชาวบ้านอย่างใกล้ชิด โดยทีมทนายดังกล่าวจะมาชี้แนะ และช่องทางในการเตรียมคดีให้กับชาวบ้าน เทคนิคการต่อสู้คดี การเตรียมเอกสารข้อมูลในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีสิ่งแวดล้อม ค่าเสียหายที่เป็นการเยียวยาความเสียหาย (Compensatory Damages) และค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive Damages) รวมทั้งการฟ้องร้องหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในคดีปกครอง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือบกพร่องการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ต่อศาลปกครอง รวมทั้งการให้ความรู้ถึงการใช้สิทธิทางกฎหมายในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับตนเองและชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้การคุ้มครองไว้แล้วด้วย นอกจากนั้น ในการสัมมนาครั้งนี้สมาคมฯจะได้ตั้งโต๊ะรับปรึกษาคดีให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนและเสียหายแบบฟรี ๆ ตัวต่อตัว และรับเรื่องดำเนินการฟ้องร้องคดีด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชาวบ้านได้ด้วยในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะกรณีเรือน้ำตาลล่มที่จังหวัดอยุธยาที่สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้าน เกษตรกร ชาวประมงนับร้อยราย ซึ่งกรณีดังกล่าวจะฟ้องร้องให้เป็น “คดีสิ่งแวดล้อมตัวอย่าง” ในศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 และตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 96 ต่อไป รวมทั้งกรณีการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอุทัย ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ย้ายมาจากบางคล้าด้วย และยังมีกรณีการคัดค้านการขยายบ่อขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภออุทัยด้วย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ามีชาวบ้านกว่า 1,000 รายได้เข้าชื่อกันเพื่อที่จะมาร้องเรียนให้สมาคมฯ ได้เป็นธุระให้ความช่วยเหลือทางคดีให้ด้วยในวันดังกล่าว จึงขอเชิญชวนชาวบ้านที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบต่อเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวมาร่วมเวทีสัมมนาฟรีโดยพร้อมเพียงกัน นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
การเลือกตั้ง : เดินไปข้างหน้า ก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวข้ามอะไร และจะเดินไปไหน ? Posted: 11 Jun 2011 03:28 AM PDT ฟังนโยบายและถ้อยคำหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในห้วงเวลานี้แล้ว ให้รู้สึกสะท้อนใจเหลือกำลัง ทั้งพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ต่างชูประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นหลัก พรรคเล็กนั้นจะชูนโยบายอะไร เอาเข้าจริงก็ต้องฟังพรรคใหญ่ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ดี เมื่อพรรคใหญ่สองพรรคมีนโยบายที่จับความได้ว่าจะเดินไปข้างหน้า จะก้าวข้ามความขัดแย้ง พวกเราที่เป็นประชาชนคนเลือก ควรหันมาถามตนเองก่อนเลือกหรือไม่ว่า ข้างหน้าที่เขาจะพาเรามุ่งไปนั้นคืออะไรกันแน่ ? และสิ่งที่จะก้าวข้ามผ่านไป ไม่มีค่าพอให้หยุดคิด เพื่อทบทวนตนเองเลยหรืออย่างไร ? สิ่งที่เราควรนึกถึงในยามนี้ จึงมิใช่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นการปรับโครงสร้างสังคมให้มีความสมดุลและเที่ยงตรงมากขึ้น เพราะจะทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงมากขึ้น ทำให้สมดุลและเที่ยงตรงหมายถึงทำให้เกิดความเป็นธรรมและความพอเหมาะพอดี ไม่เอนเอียงไปยังกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดจนเสียความยุติธรรม ไม่มุ่งเน้นแต่เศรษฐกิจแล้วปล่อยให้สังคมเละเทะ ไม่ส่งเสริมการลงทุนจนกลายเป็นการทำลายล้างธรรมชาติ แต่ไม่อนุรักษ์ธรรมชาติจนประเทศขาดการพัฒนา ไม่ทุ่มเทแสวงหาวัตถุจนลืมการปรับปรุงจิตวิญญาณ แต่มิใช่การเสริมความแข็งแกร่งทางจิตวิญญาณที่ทำให้ขาดส่วนร่วมในการพัฒนา สิ่งเหล่านี้เป็นจริงได้ต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองทำหน้าที่ทั้งการกำหนดทิศทาง ขัดเกลาและควบคุม เราจึงไม่ควรปล่อยตัวให้ถูกครอบงำโดยวาทกรรมของนักการเมือง ที่มักวาดฝันให้เห็นแต่ตัวเลขเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง กระทั่งบัดนี้ เราไม่รู้ว่าจะให้นิยามความดีและคนดีกันอย่างไร หลายครั้งที่ความดีกลายเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนผันแปรไม่แน่นอน ไม่ใช่เพราะคุณค่าเปลี่ยน แต่เปลี่ยนเพราะเลือกสังกัดพรรคใหม่ อยู่พรรคหนึ่งเป็นคนชั่ว ครั้นพอเปลี่ยนพรรคก็พลันกลายเป็นคนดี ทั้ง ๆ ที่ความคิดและจิตใจยังเปรอะเปื้อนด้วยคราบไคลความชั่วอยู่ ประชาชนจึงควรเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของสังคม แล้วเลือกนักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่เป็นกลไกในการเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ต้องไม่เรียกร้องหารัฐบาลที่ดี แต่ประชาชนกลับมองเห็นความดีอย่างเลือนลาง อย่างน้อยก็ต้องตระหนักว่าความดีไม่ใช่แค่เพียงคำพูดสวยหรู แต่ต้องประกอบขึ้นจากอุดมการณ์ในชีวิต แล้วแปรเป็นภาคปฏิบัติอันสัมผัสได้ จะเรียกว่าดีจึงไม่ใช่แค่คิดดี แต่มีการกระทำอันเป็นคุณประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ด้วย เลือกตั้งเที่ยวนี้จึงต้องพิจารณาว่ามีไหม คนดีที่ไม่เพียงแต่งดเว้นความชั่ว แต่เป็นคนดีที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมจริง และลงมือยับยั้งห้ามปรามความชั่วที่หมู่คณะของตนทำด้วย คิดและทำได้เช่นนี้ เราก็น่าจะได้รัฐบาลดีที่สามารถนำเราเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น