โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชำนาญ จันทร์เรือง: ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งแบบหมากัดกัน

Posted: 28 Jun 2011 12:49 PM PDT

การต่อสู้แย่งชิงที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรกันอย่างดุเดือดในขณะนี้ทำให้ผมนึกถึงนิทานอิสปเรื่อง เรื่อง หมาป่ากับสุนัขจิ้งจอกที่แย่งถ้ำที่เก็บเสบียงอาหารไว้อย่างอุดมสมบูรณ์กัน แต่สุดท้ายถูกคนเลี้ยงแกะฆ่าตายทั้งคู่ ที่ผมนึกถึงนิทานอีสปเรื่องนี้เพราะว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฏาคมที่จะถึงนี้ เป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ดังที่เราทราบกัน คือพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการต่อสู้ระหว่างหมาป่ากับสุนัขจิ้งจอกซึ่งมีลักษณะของการเป็นคนพาลทั้งคู่

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่เก่าแก่มีพฤติกรรมที่อิงกับอำมาตย์และพรรคราชการมาโดยตลอด เป็นพรรคที่คุ้นชินกับการใช้อำนาจ ไม่มีผู้นำเดี่ยว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเหมือนหมาป่า ชอบหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองอย่างข้างๆคูๆอยู่ตลอดมาเมื่อต้องการจะใช้อำนาจ ดังเช่น นิทานเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ เป็นต้น ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็เห็นได้ชัดในการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินฯที่เป็นที่มาของการตั้ง ศอฉ.หาเหตุดำเนินกับฝ่ายตรงกันข้ามกับตัวเอง ทำได้แม้กระทั่งการจับแพะมาชนแกะในกรณีของผังล้มเจ้าที่เขียนขึ้นเพียงเพราะเหตุที่จะนำไปหาเรื่องกับลูกแกะทั้งหลาย

หรือแม้แต่ในเรื่องของกรณี 91 ศพที่โยนความผิดไปให้คนชุดดำก็เช่นเดียวกัน แต่ที่พิเศษกว่าการเป็นหมาป่าก็คือลักษณะของการ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น”(หลักฐานอ้างอิง คือ เฟซบุ๊กของนายอภิสิทธิ์ฉบับ 1-7) ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของพรรคประชาธิปัตย์เองที่พิเศษกว่าหมาป่าคือ หมาป่าเพียงแต่เอาชั่วใส่ลูกแกะเพื่อจะสำเร็จโทษ แต่ไม่เคยเห็นหมาป่าเอาดีใส่ตัวแต่อย่างใด

พรรคเพื่อไทย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นพรรคเพื่อทักษิณโดยเฉพาะ มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมทั้งในด้านธุรกิจและการเมืองทุกท่วงท่าในการล่าเหยื่อ ซึ่งเปรียบเสมือนสุนัขจิ้งจอกที่ชอบหากินเพียงลำพัง ถึงแม้จะมีการรวมฝูงกันก็เป็นฝูงที่ขึ้นอยู่กับจ่าฝูงหรือผู้นำเท่านั้น หากขาดผู้นำเสียก็เละเทะ ก็เหมือนพรรคเพื่อไทยหากขาดเสียซึ่งทักษิณ(ซึ่งตอนนี้ก็ยังคือทักษิณในร่างของยิ่งลักษณ์นั่นเอง)ก็ย่อมที่แตกเป็นเสี่ยงๆ

ลักษณะของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยหรือพลังประชาชนเดิมขึ้นอยู่กับตัวผู้นำเหมือนสุนัขจิ้งจอก ทำทุกอย่างเพื่อด้วยเล่ห์กล ไม่ว่าจะเป็นการซุกหุ้น ซ่อนหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำงบประมาณของหลวงไปไล่แจกชาวบ้านโดยทำให้ผู้คนเข้าใจว่าเป็นเงินของตัวเอง จนระบบวินัยการเงินการคลังป่นปี้มาจนถึงปัจจุบันจนกลายเป็นยาเสพย์ติดขนานใหม่ที่ชื่อว่า”ประชานิยม”ที่พรรคการเมืองต่างๆและผู้คนต่างติดยาเสพย์ติดชนิดนี้กันอย่างงอมแงม และยอมทำทุกอย่างไม่ว่าจะด้วยเล่ห์กลใดเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐกลับคืนมาให้ได้ หลังจากพ่ายแพ้เกมของหมาบ้าที่ตนเองแต่งตั้งมากับมือทำการรัฐประหารเตะออกจากเก้าอี้ไปตั้งแต่กันยายน 2549
ตอนนี้หมาป่ากับสุนัขจิ้งจอกกำลังต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย งัดทุกกลวิธีออกมาเพื่อกำชัยชนะให้ได้ เช่น การทำลายป้ายพรรคการเมืองตรงข้ามและของตัวเอง(ขอย้ำว่าของตัวเองเพื่อเรียกคะแนนสงสาร) การส่งมือปืนไปข่มขู่จนกระทั่งถึงการลอบทำร้ายเพื่อตัดกำลังคู่ต่อสู้ การสาดโคลนให้ชายชุดดำในกรณี 91 ศพ และแน่นอนว่าสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในการเลือกตั้งคราวนี้ก็คือการซื้อเสียงอย่างมหาศาล จนพระรักเกียรติ สุขธนะผู้ที่เคยสำเร็จวิชามารจนถูกศาลฎีกาาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 15 ปีได้พูดขึ้นในวงเสวนาเมื่อไม่นานมานี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างมโหฬารยิ่งกว่าครั้งที่ผ่านๆมา

แล้วเราจะทำอย่างไรดี
ตอนนี้เราคงทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะทั้งหมาป่าและสุนัขจิ้งจอกต่างก็เลือดเข้าตาแล้ว ส่วน กกต.ที่ถือได้ว่าหมดน้ำยาไปนานแล้ว ยิ่งล่าสุดการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผลการดำเนินการก็ออกมาอย่างที่เราทราบๆกันนั่นแหล่ะครับว่าโหลยโท่ยและห่วยแตกเป็นที่สุด คนเข้าคิวรอใช้สิทธิยาวเป็นกิโล ฯลฯ มีแต่ก้อนอิฐและเสียงด่าเป็นผลตอบแทน ซึ่งก็เป็นอันว่าสิ้นหวังในการบริหารจัดการการเลือกตั้งสำหรับองค์กรนี้ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้การจัดการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่สามารถป้องกันหรือจับกุมผู้กระทำความผิดในการทุจริตซื้อเสียงขายได้ทั้งหมดก็ตาม แต่ผมก็ยังเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเป็นเสียงที่บริสุทธิ์อยู่ และควรที่จะต้องได้การยอมรับและเคารพในการตัดสินใจของผู้ที่ไปลงคะแนน ไม่ว่าจะกาช่องใดก็ตาม

สิ่งที่เราจะทำได้ในตอนนี้ก็คือ เราต้องสร้างวิกฤติเป็นโอกาส นั่นก็คือ นำข้อเสนอของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่เคยเสนอไว้เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งก็คือการเลือกตั้งแบบหมากัดกัน ซึ่งหมายความว่าเมื่อมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หมามันมีสันดานชอบกัดกันกันอยู่แล้ว แทนที่เราจะปล่อยให้มันกัดกันตามใจชอบ แต่เราต้องให้มันกัดกันตามคำสั่งของเรา ซึ่งก็หมายความว่า กูสั่งให้มึงกัดใคร ไม่ใช่มึงกัดกันเองตามใจชอบ ฉะนั้นการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงมีความสำคัญ แต่ว่าไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อเลือกเครื่องมือทางการเมืองของเรา ไม่ใช่เลือกตัวแทนของเรา คนที่เราสามารถสั่งได้ ไม่ใช่คนที่ไปคิดหรือทำอะไรแทนเราไปหมดทุกอย่าง

ฉะนั้น เราจะต้องใช้สันดานหมาที่มันชอบกัดกันเพื่อแย่งอาหารให้เป็นประโยชน์ต่อการเมืองภาคประชาชน ยุทธศาสตร์ที่ผมว่านี้ก็คือ เมื่อปล่อยหมาออกไปแล้วเราไม่สามารถบังคับหมาได้ มันจะกัดกันเพื่อแย่งอาหารของมันเองเท่านั้น แต่เราก็ต้องมียุทธศาสตร์ว่า เราจะปล่อยหมาออกไปเพือให้มันไปกัดกันในสภาอย่างไร เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ถึงมันจะแย่งอาหารกันเองก็ตาม แต่ผลที่ได้จะตกแก่ประชาชนมากที่สุด

ถ้าเราทำให้อำนาจในสภาของหมาป่าหรือสุนัขจิ้งจอกไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนเกินไปนัก ก็จะทำให้มันไม่กล้าที่จะมาปิดปากผู้คนในสังคม ประชาชนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระเสรี ถูกคุกคามจากรัฐบาลที่เข้มแข็งได้น้อยลง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลที่อ่อนแอจะคุกคามประชาชนไม่ได้นะครับ แต่เราจะสามารถตอบโต้กับมันได้ดีขึ้น ได้ถนัดมากขึ้น รัฐบาลที่อ่อนแอก็ตีหัวประชาชนมาตลอดเวลาเหมือนกัน ดังเช่นสองปีกว่าที่ผ่านมา เราจึงต้องการรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งจนเกินไป เพื่อว่าพื้นที่ภาคประชาชนจะได้เปิดกว้างขึ้น โดยให้นักการเมืองเป็นแต่เพียงเครื่องมือทางการเมืองของประชาชน

อย่าปล่อยให้หมาป่ากับสุนัขจิ้งจอกมานั่งบนหัวเรา ให้มันเป็นเพียงเครื่องมือของเราเท่านั้นก็พอ

------------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลือกตั้งเพื่อกำหนดวาระประชาธิปไตย

Posted: 28 Jun 2011 12:39 PM PDT

บทความชื่อ “สังคมกำหนดวาระแห่งการปรองดอง” ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ในมติชนออนไลน์ (28 มิ.ย.54) เสนอแนวทางปรองดองหลังเลือกตั้ง สรุปประเด็นสำคัญได้ว่า

  1. ปรองดองเพื่อรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี การแก้ปัญหาเก่าทำได้ยาก และจะทะเลาะกันมากขึ้น
  2. ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในหัวใจของแต่ละคน โดยคิดว่าทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ อาจมีผิดมีถูกได้ทุกคน
  3. กำหนดเรื่องดีๆ มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่จะทำร่วมกัน เช่น
    • สร้างความเป็นธรรม – ลดความเหลื่อมล้ำ
    • สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน
    • ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง
    • สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่
    • ปฏิรูประบบความยุติธรรม
    • ปฏิรูประบบการศึกษา
    • ยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้
    • ยุติคอร์รัปชั่น และสร้างธรรมาภิบาลในระบบการเมือง
    • เป็นต้น
  4. แนวทางการร่วมมือกันทำเรื่องดีๆ เรื่องดีๆ ทำได้ยากประดุจเขยื้อนภูเขา ต้องอาศัย “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”
  5. ความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองที่จะทำเรื่องดีๆ เพื่อชาติบ้านเมือง สังคมควรจะเข้ามากำกับวาระการปรองดอง โดยทำความตกลงที่จะร่วมมือกัน ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร

ผมเห็นต่างจาก ศ.นพ.ประเวศ ดังนี้

1. โจทย์ “การปรองดอง” ที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้หาเสียงอยู่ก็ดี และที่ ศ.นพ.ประเวศ เสนอว่าสังคมควรกำหนดวาระการปรองดองก็ดี ผมคิดว่ามันเป็น “ปัญหาปลอม” เพราะถึงที่สุดแล้วเราแทบไม่มีนิยามชัดเจนว่าปรองดองหมายถึงอะไร หมายถึงฝ่ายที่ขัดแย้งกัน เช่น พรรคการเมือง นักการเมือง เสื้อสีที่ขัดแย้งกันต้องหันมาจับมือกันเช่นนั้นหรือ จับมือกันแล้วจะมีประโยชน์อะไรหากปัญหาเก่าๆ ไม่ได้ถูกแก้ไข เช่น อำนาจนอกระบบยังมีอภิสิทธิ์ทางการเมืองเหนือประชาชน ทหารยังมีช่องทางจะอ้างสถาบันทำรัฐประหารได้ตลอดเวลา คนที่บาดเจ็บล้มตายยังไม่ได้รับความยุติธรรม ฯลฯ

2. ที่ว่า “ปรองดองเพื่อรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี การแก้ปัญหาเก่าทำได้ยาก และจะทะเลาะกันมากขึ้น” ผมคิดว่าหากละเลยการแก้ปัญหาเก่าๆ ที่เป็นเงื่อนไขของความแตกแยก ไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้ การขจัดเงื่อนไขของความแตกแยกต้องกำหนด “วาระสร้างสังคมประชาธิปไตย” ที่พ้นไปจากการครอบงำกำกับของอำนาจนอกระบบ ที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดวาระดังกล่าวได้ตั้งแต่การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้เลย

เพราะเงื่อนไขของความแตกแยก คือระบบการเมืองที่อยู่ภายใต้การกำกับครอบงำของ “อำนาจนอกระบบ” หากไม่แก้ระบบนี้ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคเหมือนอารยประเทศ ความแตกแยกจะยังคงมีอยู่ และยังจะมีการอ้างสถาบันในการต่อสู้ทางการเมือง และอ้างสถาบันทำรัฐประหารอยู่ต่อไป

ที่คุณหมอบอกว่า “อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเจริญก้าวหน้า คือความเป็นสังคมทางดิ่ง (Vertical society) ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนข้างบนที่มีอำนาจกับคนข้างล่างที่ไม่มีอำนาจ” นั้นถูกแล้ว แต่คุณหมอก็ไม่ได้บอกต่อว่า โครงสร้างอำนาจทางดิ่งมันถูกออกแบบตามโครงสร้างอำนาจนอกระบบที่ครอบงำกำกับระบบการเมืองของประเทศอีกที

หากจะแก้ไขระบบอำนาจทางดิ่งก็จำเป็นต้องแก้กฎหมาย เช่น แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 เป็นต้น เพื่อให้สามารถใช้หลักการประชาธิปไตย เช่น หลักความเสมอภาค หลักเสรีภาพ หลักความยุติธรรม หลักการมีส่วนร่วม เป็นต้น เป็นพื้นฐานในการออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมให้เป็นไปในทางราบ หรือมีความเสมอภาคในความเป็นคนและเสมอภาคด้านอื่นๆ มากขึ้น

ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะใช้ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” อย่างไร แต่ถ้าเขยื้อน “ภูเขาผิดลูก” คือไม่เขยื้อนภูเขาอำนาจนอกระบบและกองทัพให้ไปอยู่ในที่ทางที่จะไม่มีอภิสิทธิ์ทางการเมืองเหนือประชาชนได้ หรือไม่สามมารถเขยื้อนภูเขาอำนาจประชาชนชนให้มีช่องทางตามกฎหมายในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “ทุกอำนาจสาธารณะ” ได้ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขามันก็จะกลายเป็น “สามเหลี่ยมบังภูเขา” ในทันที!

3. ผมเห็นด้วยกับที่ว่า “ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในหัวใจของแต่ละคน โดยคิดว่าทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ อาจมีผิดมีถูกได้ทุกคน” แต่สิ่งที่บ่งบอก “การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในหัวใจของแต่ละคน” คือการยืนยันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ให้ทุกคนในประเทศมีเสรีภาพและความเสมอภาคใช่ไหมครับ

คือถ้าโดยรูปแบบทางกฎหมายมันยังไม่รับรองความเสมอภาคและเสรีภาพ มันยังให้อภิสิทธิ์เหนือประชาชนแก่อำนาจนอกระบบ การที่เราคิดว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ อาจมีผิดมีถูกได้ทุกคน” มันจะมีความหมายอะไรเล่าครับ!

รูปธรรมที่รองรับความคิดที่ว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ อาจมีผิดมีถูกได้ทุกคน” คือรัฐธรรมนูญหรือกติกาที่รับรอง “ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม” ของทุกคนในประเทศนี้ไงครับ ทำไมคุณหมอไม่เรียกร้องประเด็นนี้ เพื่อให้ “ความคิด” กลายเป็น “ความจริง” บ้างเล่าครับ?

4. เรื่องสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจสู่ชุมชนอะไรต่างๆ นั้น ผมเห็นด้วยทั้งนั้นครับ แต่ถ้าไม่แก้โครงสร้างใหญ่ คือการออกแบบรัฐธรรมนูญหรือกติกาที่เป็นประชาธิปไตย และจัดวางสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพให้อยู่ภายใต้หลักความเสมอภาค หลักความโปร่งใส และการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบให้ได้ก่อน เงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมการเมืองที่ลึกซึ้งกว้าขวางก็ยังคงอยู่

ซึ่งหมายถึงความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจต่อรองทางการเมืองก็ยังคงอยู่ สิ่งดีๆ ต่างๆ ที่คุณหมอเสนอมานั้นก็อาจกลายเป็น “วาทกรรมบังภูเขา” ได้อีกเช่นกัน

ผมเคารพในเจตนาดี ความปรารถนาดีต่อสังคมของคุณหมอครับ แต่ผมก็ไม่คิดว่าความปรารถนาดี เจตนาดีมันควรจะมี “ความชอบธรรม” รองรับการละเลยที่จะปฏิเสธรัฐประหาร การละเลยที่จะประท้วงหรือยืนยันว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้วที่ใช้ “กระสุนจริง” สลายการชุมนุมจนทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

แล้วจู่ๆ ก็เสนอว่าไม่ควรแก้ปัญหาเก่าๆ ถ้าคุณหมอให้คิดว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์” แล้วคนที่บาดเจ็บล้มตายเขาไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ที่ควรได้รับความยุติธรรมหรือครับ

หากสังคมนี้ไม่มีคำตอบเรื่อง “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย ไม่มีคำตอบว่าจะแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนอกระบบกับการเมืองได้อย่างไรจึงจะทำให้รัฐประหารไม่มีโอกาสเกิดได้อีก สิ่งดีๆ ที่คุณหมอเสนอให้สร้างขึ้นจะเป็นไปได้อย่างไร

หรือพูดอีกอย่าง การกำหนดวาระสร้างสังคมประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำกำกับของอำนาจนอกระบบ เพื่อยุติรัฐประหารอย่างถาวรไม่ใช่ “สิ่งดีที่สุด” ที่ควรทำหรือครับ เพื่อขจัดเงื่อนไขของความแตกแยกอย่างถาวร

และไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนทุกคนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถมีส่วนร่วม “เริ่มทำ” ได้เลย ด้วยการ “ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง” ใน 3 ก.ค.นี้หรือครับ!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำขอถึงอภิสิทธิ์: อย่าซ่อน 91 ศพ อย่าซ่อน มรดกโลก

Posted: 28 Jun 2011 12:33 PM PDT

เมื่อช่วงต้นวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย สื่อมวลชนได้รายงานข่าวโดยอาศัยข้อความจาก Twitter ของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ทำนองว่าไทยได้ประกาศถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติอย่างดีที่สุด กัมพูชานำเรื่องมรดกโลกไปอ้างไม่ได้

ในวันเดียวกันนั้นผมได้เผยแพร่บทความ “คำเตือน: ไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกแล้วจริงหรือ?” และตั้งข้อสังเกตว่ายังมีข้อกฎหมายที่ไม่ควรด่วนสรุป เช่น เรื่องระยะเวลา 12 เดือน ก่อนที่การถอนตัวจะมีผล และเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงประชาชนให้ชัดเจน (อ่านบทความได้ที่ http://on.fb.me/is0avZ)

มาวันนี้วันที่ 28 มิถุนายน ดูเหมือนว่าคำถามที่คาใจผมและหลายคน ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล

ล่าสุด เว็บไซต์ 15thmove (http://bit.ly/lPUPkz) ได้เผยแพร่สำเนาหนังสือที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ยื่นต่อ ยูเนสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ให้ประชาชนได้อ่าน

บทความ-02 letter

หนังสือนี้มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งซึ่ง 15thmove ถอดความว่า

"...ผู้แทนไทยซึ่งเข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 35 ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องบอกเลิก (denounce) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก ค.ศ.1972 ตามข้อ 35 เอกสารการบอกเลิกจะถูกส่งถึงท่านในกำหนดเวลา..." (เน้นคำโดยผู้เขียน)

หากเอกสารเป็นของจริง ก็แปลว่าหนังสือที่คุณสุวิทย์ยื่นไปที่ ยูเนสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน เป็นเพียงการแสดงเจตนาเบื้องต้น "ว่าจะ" ถอนตัว กล่าวคือเป็นการยื่นหนังสือแจ้งการตัดสินใจของไทยว่าจะถอน แต่ยังไม่ใช่หนังสือประกาศไม่ยอมรับ หรือเอกสารการบอกเลิก (instrument of denunciation) อย่างเป็นทางการตามอนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 35 แต่อย่างใด. หนังสือที่คุณสุวิทย์ยื่นไปก็บอกเองว่า หนังสือประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการ จะส่งตามไปทีหลัง

ผู้เขียนขอกล่าวให้ชัดว่า ในทางกฎหมาย ระยะเวลา 12 เดือนก่อนที่การถอนตัว (withdrawal) ของไทยจะมีผลหรือไม่ จึงยังไม่เริ่มนับจนกว่าหนังสือประกาศไม่ยอมรับอนุสัญญาฯ อย่างเป็นทางการ (instrument of denunciation) จะถูกส่งไปยัง ยูเนสโก

ความน่าพิศวงของรัฐบาลไทยก็คือ ยังไม่มีการชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยชัดเจนว่า สรุปแล้วรัฐบาลไทยได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ (instrument of denunciation) ไปที่ ยูเนสโก แล้วหรือยัง!? และจะส่งเมื่อใด!? ระยะเวลา 12 เดือนเริ่มนับแล้วหรือไม่!? หากสุดท้ายไทยไม่ส่ง และทุกคนตื่นเต้นกับการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่จนเรื่องเงียบไป ก็อาจไม่มีการถอนตัวเกิดขึ้น (ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าการถอนตัวดีหรือไม่ แต่บอกว่ารัฐบาลจะทำอะไร ประชาชนย่อมมีสิทธิรู้ โดยเฉพาะก่อนเลือกตั้ง)

ล่าสุด มีรายงานข่าวเพียงว่าคณะรัฐมนตรีสนับสนุนการตัดสินใจของคุณสุวิทย์ และกล่าวทำนองว่าจะให้รัฐบาลชุดต่อไปหลังการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

เช่น หนังสือพิมพ์ Bangkok Post (http://bit.ly/mJGEIO) รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ว่ารัฐบาลชุดหน้าจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าไทย “ควรจะกลับ” เข้าเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ หรือไม่ (ซึ่งผู้เขียนยังสงสัยว่าหากผลทางกฎหมายนั้นเรายังไม่ได้ถอน แล้วเราจะกลับเข้าไปเป็นภาคีได้อย่างไร?)

ในขณะที่ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (http://bit.ly/m3R0AH) และแนวหน้า (http://bit.ly/loApM5) รายงานว่า นายปณิธาน วัฒนายากร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การถอนตัวจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย ที่นำไปสู่การพิจารณาข้อมูลของหลายฝ่าย โดยเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดหน้าจะรับหน้าที่พิจารณาเดินหน้าต่อ เนื่องจากขณะนี้คณะรัฐมนตรีไม่สามารถมีมติที่จะส่งผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดหน้าได้

ส่วนไทยรัฐ (http://bit.ly/mAtIHz) รายงานว่ารองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า "การถอนตัวจะทำได้หลังจากการเลือกตั้ง"

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับถ้อยคำล่าสุดจากกระทรวงการต่างประเทศ (http://bit.ly/m25wiu) ที่กล่าวอย่างระมัดระวังว่า "...ไทยได้ตัดสินใจประกาศเจตนารมณ์ที่จะเพิกถอนจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก..." (http://www.mfa.go.th/web/200.php?id=27660 เน้นคำโดยผู้เขียน) กล่าวคือใช้ถ้อยคำแบ่งเป็นสามขั้น (1) ตัดสินใจ (2) เพื่อประกาศเจตนารมณ์ (3) ว่าจะเพิกถอน

จากข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ผู้เขียนก็เพียงได้แต่เดาว่าไทยยังคงเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ อยู่ต่อไป และยิ่งไปกว่านั้น ณ วันนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าไทยได้ยื่นหนังสือถอนตัวอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ หรือจะไปตัดสินใจดำเนินการในรัฐบาลสมัยหน้า และยังไม่รู้ว่าระยะเวลา 12 เดือน ก่อนการถอนตัวจะมีผลนั้นเริ่มนับไปแล้วหรือไม่ และจะเริ่มนับเมื่อใด!?

(ผู้เขียนอดสงสัยในใจไม่ได้ว่า “คุณอภิสิทธิ์ครับ สรุปที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าโทรคุยกับคุณสุวิทย์จน Twitter มาหาพวกเราตอนเที่ยงคืนจากปารีส เป็นแค่การทำให้ประชาชนตื่นเต้นก่อนเลือกตั้ง จนหนังสือพิมพ์พาดหัวหน้าหนึ่งทุกฉบับ แต่สุดท้ายประชาชนต้องไปลุ้นเอากับรัฐบาลชุดหน้าเท่านั้นหรือครับ?”)

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนก็จำต้องทวงถามนักการเมืองเวลามาสวัสดีหาเสียงต่อไป ใครที่ไม่อยากให้ไทยถอนตัวจากมรดกโลก ก็อย่าเพิ่งร้อนรนต่อว่ารัฐบาล ส่วนใครที่อยากให้ไทยถอน ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจชื่นชมรัฐบาล ส่วนใครที่หลงนึกว่าการถอนตัวมีผลเรียบร้อยไปแล้ว ก็โปรดอย่าหงุดหงิดไปต่อว่ากัลยาณมิตรผู้ได้เตือนสติตน

ที่ผู้เขียนกล่าวมา ไม่ใช่ว่าไม่เห็นความดีของรัฐบาล ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ผู้เขียนสนับสนุนเต็มที่หากรัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างรอบคอบระมัดระวัง

แต่ขณะเดียวกัน ก็โปรดเห็นใจพวกเรา ประชาชนผู้เป็นเจ้าของบ้านเมืองที่กำลังจะไปเลือกตั้ง ว่าปล่อยให้เรารอคำตอบเรื่อง 91 ศพ มาปีกว่า ยังกล้าปล่อยให้เรารอได้ มาวันนี้กะแค่เรื่องว่ายื่นหนังสือมรดกโลกสรุปมีผลทางกฎหมายหรือไม่ โปรดอย่าทำใบ้หรือซ่อนอะไรจากพวกเราอีกเลยครับท่าน.

................................
บทวิเคราะห์เรื่อง “คำเตือน: ไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกแล้วจริงหรือ?” และกรณีปราสาทพระวิหาร อ่านได้ที่ http://www.facebook.com/verapat.pariyawong

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กูเกิลเผยสัดส่วนการปิดกั้น-ขอข้อมูลส่วนบุคคลตามที่รัฐบาลแต่ละประเทศร้องขอ

Posted: 28 Jun 2011 11:44 AM PDT

กูเกิลเพิ่มข้อมูลที่รัฐบาลต่างๆ ขอให้เซ็นเซอร์ละเอียดขึ้น โดยเปิดเผยเหตุผลที่ถูกให้ลบเนื้อหา และเปิดเผยสัดส่วนการยินยอมให้ข้อมูลผู้ใช้ตามที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ขอมาด้วย

ที่มา: http://www.google.com/transparencyreport/governmentrequests/TH/

หลังกูเกิลเปิดหน้า Government requests (http://www.google.com/governmentrequests/) แสดงจำนวนครั้งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ขอให้กูเกิลลบเนื้อหาจากผลการค้นหาของกูเกิลหรือผลิตภัณฑ์ของกูเกิล เช่น ยูทูบ (YouTube) และการขอข้อมูลบัญชีผู้ใช้กูเกิล เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ปีที่แล้ว โดยวางแผนจะปรับปรุงข้อมูลทุกๆ 6 เดือน และมีการเพิ่มส่วน Traffic ซึ่งเปิดเผยปริมาณการจราจรของกูเกิลจากประเทศต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่ามีเหตุผิดปกติอะไรกับการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศนั้นๆ หรือไม่ เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว

ล่าสุด (27 มิ.ย.54) กูเกิลได้ประกาศปรับปรุงหน้าตาของรายงานใหม่ พร้อมเพิ่มเติมรายละเอียดมากขึ้น โดยกูเกิลได้ไฮไลท์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญบางอย่างในสถิติข้อมูลและให้บริบทเกี่ยวกับสาเหตุที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่รายงาน และได้เปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลเพื่อให้ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลรายประเทศได้

นอกจากนี้ ในส่วนการร้องขอจากรัฐบาล (Government Requests) กูเกิลได้เปิดเผยเหตุผลที่ถูกร้องขอให้ลบเนื้อหาด้วย เช่น เข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือเป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) พร้อมเปิดเผยสัดส่วนการยินยอมให้ข้อมูลผู้ใช้ตามที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ขอมาด้วย

ทั้งนี้ ทีมงานของกูเกิลชี้แจงจุดประสงค์ของการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ว่าเพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลและเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ โดยเมื่อใดก็ตามที่กูเกิลได้รับการร้องขอข้อมูล กูเกิลจะตรวจสอบว่าการร้องขอนั้นเป็นไปตามตัวบทกฏหมายและเจตนารมณ์ของกฏหมายก่อนจะยินยอม ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ กูเกิลจะแจ้งผู้ใช้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการขอข้อมูลส่วนตัว และหากการร้องขอใดกว้างเกินไป กูเกิลจะพยายามจำกัดให้แคบลงด้วย

ในส่วนของประเทศไทย ช่วง ก.ค.-ธ.ค.53 กูเกิลเปิดเผยว่า ได้รับการร้องขอจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้ลบเนื้อหา 43 ชิ้นในเว็บยูทูบ เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกรณีนี้กูเกิลทำตามที่ร้องขอมา 100% ด้วยการไม่อนุญาตให้ผู้ใช้จากประเทศไทยดูคลิปวิดีโอทั้ง 43 ชิ้น

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก http://googleblog.blogspot.com/2011/06/updated-and-more-detailed-transparency.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แวมาฮาดี แวดาโอะ “เราจะโละการปกครองส่วนภูมิภาค”

Posted: 28 Jun 2011 10:16 AM PDT

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)เมื่อมี 2550 นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ หรือ หมอแว เป็นผู้สมัครที่โดดเด่นมาก ในฐานะหัวหน้ากลุ่มสัจจานุภาพ แต่เหมือนโชคร้ายที่ต่อมาพรรคต้นสังกัดขณะนั้น คือ เพื่อแผ่นดิน แตกกระจายออกเป็นเสี่ยงๆในเวลาต่อมา

มาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ มีชื่อเป็นผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์)ลำดับที่ 1 พรรคแทนคุณแผ่นดิน หมอแว จะเบียดแทรกขึ้นมาได้หรือ ในเมื่อต้องขายตัวเองในฐานะผู้สมัครเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งชาติ ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างที่เคยมีฐานะเสียงมาก่อน

หมอแว

..........................

ทำไมถึงได้มาอยู่พรรคแทนคุณแผ่นดิน

2 – 3 ปีที่เป็น ส.ส. ผมพยายามเรียนรู้วัฒนธรรมการเมืองไทย พบว่า สิ่งที่เราเศร้าใจคือ ส.ส.เกือบทั้งหมดเป็นตัวแทนนายทุน เพราะบางคนรู้แก่ใจว่า สิ่งที่จะสนับสนุนเป็นผลกระทบต่อประชาชน แต่ก็ยังยกมือสนับสนุน แสดงว่า แม้มาจากประชาชนเลือก แต่แท้ที่จริงเขาไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน

ผมจึงตั้งชื่อว่า ตัวแทนนายทุนหุ่นกระบอกหรือภาษาใต้เรียกว่า ส.ส. หนังตะลุงที่มีนายหนังคอยกำกับเพราะฉะนั้นมันไม่เหมาะ ในฐานะที่ประเทศกำลังวิกฤติ รวมทั้งวิกฤติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องมีตัวแทนที่กล้าพูดความจริงและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้มูลเหล่านั้น มาประกอบเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา แต่มันก็กลายเป็น ส.ส.ใบ้

ประเด็นที่สอง เราไม่ได้รังเกียจนายทุน เพราะนายทุนส่วนหนึ่งอยากช่วยให้เกิดการเมืองที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมแต่ปัจจุบันทุนใหญ่ได้เปรียบ เพราะเป็นเจ้าของพรรค ทุนเล็กทุนน้อยถูกเอาเปรียบ เพราะกฎกติกาที่มีทำให้ทุนใหญ่ได้เปรียบกว่าทุนเล็ก

ผมจึงอยากสนับสนุนการเมืองที่มีกติกาที่ทำให้ทุนเล็กไม่เสียเปรียบ เราจึงมาอยู่ในพรรคเล็กๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีทุนใหญ่ที่คอยสนับสนุนกำกับดูแลเราให้ทำตามที่เขาปรารถนา

พรรคแทนคุณแผ่นดินเป็นความร่วมมือระหว่างผมกับดร.วิชัย ศิรินคร หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม จึงสังกัดพรรคนี้ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้

 

พรรคแทนคุณแผ่นดินมีใครเป็นนายทุน?

ไม่มี ทุกคนใช้งบตัวเอง วันแรกที่สมัครระบบบัญชีรายชื่อมีทุนคนละ 12,000 บาท สมัคร 32 คน รวม 160,000 บาท ต่างคนต่างช่วยกันบริจาค โปสเตอร์ก็ทำกันเอง เราคงไม่ต้องมีนายทุนคอยควบคุมให้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ ทั้งๆที่กระทบต่อประชาชน ไม่เหมือนผู้สมัครหลายคนที่ต้องเอาเงินของนายทุนพรรค

 

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะลงสมัครกับบางพรรคใหญ่บางพรรค?

ถามว่ามีใครทาบทามไหม ก็มี แต่เราก็ยื่นเงื่อนไขอย่างเดียวว่า ต้องให้โอกาสเราสะท้อนปัญหาตามความต้องการของประชาชน ถ้าจะให้เราเข้าไปสังกัดแค่เสนอตัวเงินมา ผมว่าคงไม่ใช่แล้ว นาทีถ้าผมทำตัวอย่างนั้นกลุ่มสัจจานุภาพทำตัวแบบนั้น อย่าไปทำการเมืองดีกว่า

 

พรรคไหนบอกได้หรือเปล่า?

เกือบทุกพรรค มีคนทาบทามเยอะ แต่สิ่งที่เขาถามว่า ต้องใช้เงินเท่าไหร่โดยไม่ได้พูดถึงว่า กลุ่มเราเข้าไปแล้วจะใช้แนวทางการทำงานอย่างไร พูดเพียงว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ถึงจะชนะการเลือกตั้ง ผมก็คิดว่านั่นเป็นประเด็นสุดท้าย เช่น ใช้เป็นค่าป้ายหาเสียงหรือการรณรงค์หาเสียง แต่ต้องคุยแนวทางการทำงานก่อน ปัจจุบันผมว่าน่าเป็นห่วงประเทศไทย ที่เกือบไม่มีพรรคใดมาพูดคุยในเรื่องอย่างนี้

มี ทั้งพรรคใหญ่พรรคเล็ก ถ้าเราอยากสบายก็อยู่พรรคใหญ่ เพราะเงินเยอะ บางทีได้ส.ส.โดยไม่ต้อเหนื่อย เขาก็เสนอเป็นผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับที่เซฟอยู่แล้ว แต่เวลาบ้านเมืองชุลมุน เราไม่มีอิสระที่จะพูด

 

นั่นคือเหตุผลที่ไม่ได้ตามพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยด้วย

ใช่ ในฐานะที่ผมเป็นคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นคนไทยที่ดูวิกฤตของชาติ เห็นว่าต้องมีตัวแทนของประชาชนไปพูดความจริง เช่น เรื่องน้ำมัน ไม่มีใครพูด แต่ละพรรคไม่อนุญาตให้พูด เพราะเป็นผลประโยชน์ของคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคนั้น

จะไปเป็นรัฐมนตรีก็ได้ แต่ต้องเป็นขี้ข้านายทุน รับใช้ทุกอย่าง เป็นกระบอกเสียงให้นายทุน เดี่ยวเขาให้โบนัสเอง เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่บางคน ไม่รู้เป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร แต่ได้เป็นเพราะรับใช้นายทุน

เราต้องแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศหรือจะปล่อยให้วงวนอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่พอเป็นส.ส.แล้ว ตกอยู่ในภาวะจำยอม เราถามว่าทำไมไม่ขวางบ้าง เขาบอกว่าไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่ได้เป็นผู้สมัคร อ้าวคุณก็สมัครพรรคอื่นซิ ก็ไม่ได้เพราะพรรคนี้มันเจ๋งคะแนนดี

 

พรรคที่มาทาบทามแสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้หรือไม่?

มี เสนอให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของปาร์ตี้ลิสต์ก็มี เสนอให้เงินจำนวนมหาศาลก็มี แต่ชีวิตผมอายุ 49 ปีแล้ว ถ้าผมต้องการตำแหน่ง ผมก็ไม่คิดเรื่องการเมือง ผมว่ามาถึงตอนนี้มันเป็นอามานะฮ์ (ความรับผิดชอบ) เป็นภารกิจที่พระเจ้าได้มอบหมายให้ว่า บนหน้ามีแผ่นดินนี้ ต้องมีคนส่งเสริมความดีและห้ามปรามความชั่ว ทางการเมืองก็เหมือนกัน ต้องมีคนที่ส่งเสริมความดีและห้ามปรามความชั่ว

เราจะไปตามวัฒนธรรมที่ไม่ดีทางการเมืองทั้งหมดก็ไม่ได้ ผมเชื่อว่ามีส.ส.จำนวนมากที่อยากเดินเส้นทางนี้ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัด กลัวไม่ได้เป็นส.ส. บ้าง ก็ไม่เป็นไร ผมเข้าใจ ก็ให้กำลังใจผมก่อน แล้วในอนาคต เราได้มาทำงานร่วมกัน อินชาอัลเลาะห์(หากเป็นความประสงค์ของพระเจ้า)

 

แล้วจะไปต่อสู้กับพรรคใหญ่ได้อย่างไร?

นักวิชาการแบ่งพรรคการเมืองเป็น 3 กลุ่ม 1.พรรคใหญ่ มีพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ 2.พรรคขนาดกลาง มีพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย นอกจากนั้นก็เป็นพรรคเล็ก

เรายืนยันได้เลยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคแทนคุณแผ่นดินจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุดในกลุ่มพรรคเล็ก

 

ทำไมถึงมั่นใจอย่างนั้น?

วันแรกที่เราเดินทางหาเสียง เราคิดว่าจะได้คนเดียว ครบหนึ่งสัปดาห์ประเมินว่าน่าจะเพิ่มเป็น 5 คน คิดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้นักการเมืองบางคนจะดูถูกว่า ประชาชนรอเงิน เอาปัจจัยไปให้ก็คงได้คะแนนเสียง อย่าไปดูถูกประชาชน เดี๋ยวนี้เขาฉลาด

สิ่งที่เรานำเสนอประชาชนไม่ใช่เงิน ไมใช่ผลประโยชน์ แต่เราเสนอวิธีคิดที่จะนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติ ซึ่งได้รับการตอบรับได้ดีมาก จะได้กี่คะแนนขึ้นอยู่กับว่าเวลาที่เหลือว่า เราสามารถบอกวิธีคิดให้คนไทยทั้งประเทศได้มากน้อยขนาดไหน

สิ่งที่เรารู้สึกไม่ยุติธรรม คือสื่อพยายามจะไปจับพรรคดังๆ ทำข่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำไมสื่อไม่ให้โอกาสกับพรรคเล็กๆ ซึ่งบางครั้งพรรคเล็กๆ น่าจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาวิกฤติชาติก็ได้

 

ถ้าได้เป็นส.ส.ทำงานกับพรรคเพื่อไทยได้ไหม?

อยู่ที่ว่า แนวคิดเรา เขาสนองตอบมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าเขารับหนึ่งข้อสองข้อ เราก็รับก่อน ดีกว่าไม่ได้เริ่มเลย ในฐานะที่เป็นพรรคเล็กๆ แต่ถ้าเราขอเป็นฝ่ายค้านไปเลย ก็คงไม่ต้องตั้งพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองมีหน้าที่ในการหาทางออกให้กับประเทศ แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องเป็นฝ่ายค้านที่มีสติ มีคุณภาพ

 

ถ้าพรรคใหญ่กวาดที่นั่งไปหมด จะทำอย่างไร

ก็ไม่เป็นไร เพราะว่า ในคัมภีร์อัล – กุรอ่าน บอกว่า หากสูเจ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีงาม หรือ สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดิน เจ้าจงยับยั้งมัน เจ้าจงแก้ไขมัน ด้วยมือ ด้วยอำนาจ ด้วยพลัง ด้วยตำแหน่งของเจ้า แต่ถ้าเจ้าไม่มีอำนาจที่จะห้ามมันได้ เจ้าจงห้ามด้วยคำพูด แต่ถ้าใช้คำพูดไม่ได้ ก็ห้ามด้วยใจ

เพราะฉะนั้นถ้าได้เป็นรัฐมนตรี เราก็ใช้อำนาจรัฐมนตรีในการแก้ไข ถ้าเราเป็น ส.ส. เราก็ใช้คำพูดในการแก้ไข ถ้าเราไม่ได้รับเลือกตั้ง เราก็ห้ามในใจได้ ยังไวเราต้องไม่ยอมรับและยอมจำนนกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องห้ามแม้กระทั่งในใจ นั่นคือหลักการ

เพราะฉะนั้นก้าวแรกที่เราออกจากบ้าน เพื่อมาหาเสียงครั้งนี้ เรามีชัยชนะแล้ว เพียงแต่ว่าชัยชนะที่ 2 - 3 - 4 จะเกิดขึ้นหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เราชนะแล้ว เพราะอย่างน้อย เราได้พูดความจริงแล้ว

ถ้าหากเราได้เป็น ส.ส.อีก เราก็ได้พูดในสิ่งที่ไม่ดีงาม เพราะให้เกิดการแก้ไข แต่ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล เราก็ได้ใช้อำนาจในการแก้ไข จะมากน้อยแค่ไหน อยู่ว่า กระทรวงที่เราจะได้รับผิดชอบนั้นคือกระทรวงอะไร เพราะฉะนั้น ไม่มีคำว่าแพ้ในการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

อะไรคือจุดขายของพรรคแทนคุณแผ่นดิน?

ประเด็นแรก เรากำลังจะเปลี่ยนนักการเมืองตัวแทนนายทุน เป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง ข้อที่สอง เราจะทวงคืนทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกยึดจากประชาชนไปเป็นของนายทุน เช่น น้ำมัน ซึ่งประเทศไทยมีมากกว่าประเทศบรูไน ก๊าซธรรมชาติก็มีมากกว่าประเทศคูเวต

แต่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองโดยการสนับสนุนของนายทุน ได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งเมื่อปี 2542 โดยใช้กลไกฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภา แปรรูปปตท.(การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันคือ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ให้เป็นของเอกชนและนำเข้าตลาดหุ้น จนในที่สุด ผู้ถือหุ้นครึ่งหนึ่งเป็นนักการเมือง นายทุนและผู้มั่งมี และผูกขาด จึงทำให้ราคาน้ำมันแพง ทั้งๆ ที่มันไม่ควรอยู่ในมือของเอกชน ต้องเป็นของรัฐ 100% เหมือนบริษัท ปิโตนาสของประเทศมาเลเซีย

เราจะคืนสันติสุขสู่ชายแดนใต้ โดยการยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมแห่งความมั่นคง เพราะมันเป็นพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์ของหลายฝ่าย โดยใช้เงินของรัฐ เงินภาษีของประชาชน อ้างความมั่นคง กอบโกยผลประโยชน์และแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยความร่วมมือของนายทุน ข้าราชการและนักการเมือง

แต่เราต้องฟื้นฟูอุตสาหกรรมแห่งความมั่งคั่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นต้น หมายความว่า งบประมาณเหล่านั้นจะไปสนับสนุนให้เศรษฐกิจดีขึ้น

เราจะยกเลิกกฎหมายที่เป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานคน ฆ่าคนโดยไม่ผิดกฎหมาย นั่นคือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ(พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548) ซึ่งพรรคใหญ่ยังไม่กล้ายกเลิก ผมจึงเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยประกาศยกเลิก แล้วเราจะดีใจ

ทำไมไม่ประกาศ เพราะปัญหาความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันเกินอำนาจของส.ส. ของพรรคการเมืองแล้ว แต่เป็นเรื่องของทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง กองทัพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ที่จะเห็นด้วยไหม

หลายพรรคประกาศเจตนารมณ์ก่อนเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งทำไม่ได้ เพราะกองทัพไม่เห็นด้วย เช่น การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหา คือยกเลิกอุตสาหกรรมแห่งความมั่นคง แล้วเรื่องอื่นค่อยว่ากันจะทำกันอย่างไร เรื่องอื่นทำไมได้ถ้าไม่ยกเลิก

พอยกเลิกแล้ว เรามานั่งคุยกันว่า สมช.คิดอย่างไร พรรคการเมืองคิดอย่างไร ประชาชนคิดอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือว่า เราต้องโละการปกครองส่วนภูมิภาคออกไป ให้เหลือส่วนกลางกับท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี้คือสาระสำคัญ และหลังจากนั้น สิ่งอื่นๆ ก็น่าจะดีขึ้นอินชาอัลลอฮ์(หากเป็นความประสงค์ของพระเจ้า)

 

พรรคอื่นๆมีโมเดล(รูปแบบ)การปกครองชายแดนใต้นำเสนอแล้วพรรคแทนคุณแผ่นดินมีด้วยหรือไม่?

ถ้าไม่ยกเลิกอุตสาหกรรมแห่งความมั่นคง ก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่เสนอโมเดล แต่โดยหลักการแล้ว ต้องให้คนท้องถิ่นมีอำนาจ ไม่เฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทั้งประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตก็ต้องเป็นเรื่องของคนภูเก็ต เชียงใหม่ก็เป็นคนเชียงใหม่

เลิกกันทีตัวแทนของรัฐบาลกลางที่อยู่ในพื้นที่ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการแบ่งการปกครองส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ผมยังยืนยันว่าเห็นด้วยกับการแบ่งการปกครองส่วนกลางและท้องถิ่นเท่านั้น ไม่มีส่วนภูมิภาค

ส่วนที่จะบอกว่าเป็นมหานครปัตตานีหรือทบวงชายแดนใต้ ผมว่าคุณทำไม่ได้หรอก ถ้ากองทัพไม่เห็นด้วย ผมจะดูว่าทำได้ไหม เสียเวลาครับเรื่องเหล่านั้น

ต้องมาคิดยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอันดับแรก เพื่อไม่ให้อำนาจทหารมากเกินไป ยกเลิกการแสวงหาผลประโยชน์บนดินแดนที่เต็มไปด้วยเลือดประชาชน เอาเรื่องผลประโยชน์ออกไปก่อน แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

 

การยกเลิกอุตสาหกรรมแห่งความมั่นคงทหารต้องเห็นด้วย

ทหารต้องเห็นด้วยครับ

 

แล้วจะคุยกับทหารอย่างไร?

ต้องมอบให้กับพรรคการเมืองหลัก คือ ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย กล้าไหมที่จะไม่ตามทหาร อย่างพรรคประชาธิปัตย์รอบที่ผ่านมา ไม่สามารถทำอะไรได้หรอก เพราะทหารเป็นคนตั้งเป็นรัฐบาล ตอนที่ท่านมีอำนาจทำไมไม่ทำ เพราะท่านเกรงใจทหาร

เอาอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ถ้าเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์กล้าที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ ท่านต้องประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตั้งแต่วันแรกเลย และไม่ต่ออายุอีก แค่นั้นผมว่าประชาชนดีใจแล้ว

 

ถ้าได้เป็นส.ส.จะพร้อมที่จะเข้าร่วมกับพรรคไหนก็ได้ที่เป็นรัฐบาลหรือไม่?

ในฐานะนักการเมือง แน่นอนเราต้องมีวิธีการในการแก้วิกฤติชาติ ถ้าเรามีโอกาสที่จะเอาแนวคิดของเราให้รัฐบาลในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เราที่จะร่วม แต่คุณต้องรับในสิ่งแนวคิดของเรา ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อการต่อรองเอาตำแหน่งรัฐมนตรี

อย่างน้อยที่สุด ถ้าพรรคนี้มีโอกาสดูแลกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เราก็จะบริหารจัดการในรูปแบบเป็นไปตามนโยบายที่เรามีอยู่ แต่ถ้าไม่สามารถจะร่วมด้วย สิ่งที่เรานำเสนอไม่ถูกนำไปปฏิบัติ เราก็อาจจะพิจารณาตัวเองเป็นฝ่ายค้านก็ได้ เพราะฝ่ายค้านก็มีประโยชน์เหมือนกัน

 

นโยบายอื่นๆ

เราจะปลดแอกดอกเบี้ยเบ่งบาน สู่ธนาคารคนจนโดยการสนับสนุนสหกรณ์ให้โตขึ้น วันนี้สหกรณ์ถูกแช่แข็ง ถูกทำหมัน จึงไม่เกิดธนาคารสหกรณ์แห่งประเทศไทย ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีธนาคารสหกรณ์แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์เกิดขึ้น แต่ประเทศไทยยังไม่เกิด

ในจังหวัดที่มีชาวมุสลิม ปัจจุบันมีการตั้งสหกรณ์อิสลามปลอดดอกเบี้ย แต่ปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะกฎหมายกำหนดว่าสหกรณ์มี 7 ปะเภท ประเภทล่าสุดคือ สหกรณ์เครดิตยูเนียน แต่ไม่มีประเภทที่ 8 ที่เรียกว่าสหกรณ์อิสลาม

วันนี้เราต้องสนับสนุนให้มีสหกรณ์ประเภทที่ 8 เพราะการทำให้สหกรณ์เกิดขึ้น ก็คือคนที่เป็นเจ้าของ คือ ประชาชนระดับรากหญ้า รากแก้ว คนชั้นล่าง แต่ถ้าธนาคารก็เป็นของนายทุน นายทุนได้เปรียบ เวลาธนาคารเจ๊ง รัฐบาลก็ไปช่วย

ยกตัวอย่าง ธกส. คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แม้เป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ เอาภาษีของประชาชนเป็นทุน แต่เอาเปรียบเกษตรกร เป็นไปได้อย่างไร ธกส.ให้เกษตรกรกู้เงิน แล้วเกษตรกรติดหนี้ 7 แสนล้านบาท เป็นเงินต้น 2 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 5 แสนล้านบาท ที่ดิน 38 ล้านไร่ของเกษตรกร อยู่ในมือของ ธกส.และกำลังจะถูกยึด และนายทุนกำลังจะขอซื้อในการขายทอดตลาดด้วยราคาถูก

นั่นแสดงว่า กลไกระบบดอกเบี้ยที่อยู่ใน ธกส.มันล้มเหลว ประชาชนพึ่งไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราสนับสนุนให้เกษตรกรมีสหกรณ์ขึ้นมาเป็นของตนเอง มีทุนของตัวเอง กำไรก็ได้คืนกลับตนเอง เวลามีปัญหาก็แก้ปัญหาไปเองเลย

แต่ประเทศนี้ ทำหมันในเรื่องสหกรณ์ ไม่เฉพาะสหกรณ์อิสลาม แต่สหกรณ์อื่นด้วย เพราะฉะนั้น ต้องปลดภาวะดอกเบี้ยนี้ ไปสู่ธนาคารคนจน ซึ่งต้องเริ่มต้นที่สหกรณ์

 

ด้วยเหตุนี้สมาชิกหลายคนในภาคใต้จึงมาจากกลุ่มสหกรณ์

ส่วนหนึ่งมาจากสหกรณ์ เกษตรกร นักวิชาการที่มีคุณธรรม ส่วนหนึ่งมาเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่คิดเรื่องความยากลำบากของประชาชน เพราะฉะนั้นผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคลำดับที่ 1 – 10 ไม่มีโควตาของนายทุน แต่เป็นโควตาของกลุ่มต่างๆ ที่จะมาร่วมกันทำงาน เช่น นายก่อซี อุเซ็ง ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 3 ก็เป็นตัวแทนของสหกรณ์อิสลาม ดร.วิชัย ก็เป็นตัวแทนของกลุ่มแรงงาน ปักหลักอยู่ที่สมุทรปราการ

 

ทำไมการสมัคร ส.ส.ครั้งนี้ พรรคถึงเน้นปาร์ตี้ลิสต์

เพราะเป็นพรรคที่เริ่มต้นใหม่ และการเลือกตั้ง ส.ส.เขตครั้งนี้ มีการใช้เงินมหาศาล เกินกว่ากฎหมายกำหนด เงินนั้นมาจากนายทุนที่หาประโยชน์จากการเมือง เพื่อให้นักการเมืองเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เราไม่พร้อมที่ต้องลงไปแข่งขันลักษณะอย่างนั้น เราจึงขอเฉพาะปาร์ตี้ลิสต์ ขอแสดงเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับอามิสสินจ้างและการหาประโยชน์อย่างนั้น

 

จึงไม่ส่งสมัคร ส.ส.เขต

ส่งครับ เป็นความสมัครใจของผู้ที่จะลงสมัครเอง และอยากเริ่มต้นในพื้นที่ของตัวเองในการนำเสนอความคิดเหล่านี้ เช่น ในจังหวัดสมุทรปราการหรือกรุงเทพมหานคร แต่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ส่งใครลงสมัคร

 

เมื่อเน้นปาร์ตี้ลิสต์ก็ต้องเดินสายไปทั่วประเทศ แล้วพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หาเสียงอย่างไร

เรากำหนดแนวทางหาเสียง คือ คาราวานหาเสียง 28 วัน เริ่มจากจังหวัดนราธิวาส ขึ้นไปทั่วประเทศ

ฐานเสียงของเราไม่ใช่มีเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส เรามีเกษตรกรชาวภาคอีสาน เรามีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ในจังหวัดมหาสารคราม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อุดรธานี ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย ที่เราทำงานด้วยกันมาแล้วเป็นปีๆ ก็เพื่อให้เห็นว่าเขาถูกเอาเปรียบและหาแนวทางแก้ไข

เพราะฉะนั้น ผมพยายามจะบอกว่า ผมไม่ใช่ตัวแทนของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว แต่ผมเป็นตัวแทนของคนยากไร้ คนที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมทั้งแผ่นดินนี้ ไม่ใช่เฉพาะคนนราธิวาสต่อไป

ถ้าผมเป็นคนของนราธิวาส ผมก็ลงสมัครแบบเขตที่นราธิวาส แต่นี่ผมลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 และผมเป็นคนเดียวในภาคใต้ ที่อยู่ลำดับที่ 1 ของพรรคการเมืองต่างๆ เพราะฉะนั้น เรากำลังจะบอกว่า แม้เราจะอยู่ที่ภูธร แต่เรากำลังจะแบกภาระของคนทั้งประเทศ

ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราทำงานตลอด 3 ปี เราอ่านคุตบะห์(เทศนาธรรมในการละหมาดวันศุกร์)มาแล้ว 200 มัสยิด ในนามกลุ่มสัจจานุภาพ ในทุกวันเสาร์เราเปิดบ้านจัดเวทีชาวบ้าน วันอาทิตย์เราเข้าหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราวางโครงสร้างทั้งหมด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราคิดว่าเพียงพอที่จะเป็นฐานเสียง

 

ฝากความหวังอย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้

ฝากกับทุกคนว่า ไซดีนา อุมัร อิบนุล คอตตอบ ซึ่งเป็นผู้นำดินแดนมุสลิมในอดีต บอกว่า ประเทศจะเกิดสันติสุขได้ ต้องมีองค์ประกอบ 6 ข้อ 1.ประเทศนั้นต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.ประเทศนั้นและประชาชนต้องมีรายได้ที่เพียงพอ 3.ประเทศนั้นต้องมีความยุติธรรมในทุกเรื่อง 4.ประเทศนั้นต้องมีสวัสดิการให้กับประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย 5.ประเทศนั้นต้องปลอดจากสิ่งมึนเมาและอบายมุข และ 6.ประชาชนในปะเทศนั้น ต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน

ประเทศใดไม่สามารถทำ 6 ข้อนี้ได้ อย่าหวังว่าจะเกิดสันติสุข เพราะฉะนั้นผมจึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคทำให้ครบทุกข้อ แต่วันนี้ไม่มีซักข้อ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็ไม่มี ขนาดนายกรัฐมนตรียังต้องใช้รถกันกระสุน แสดงว่าไม่ปลอดภัยแน่ อย่างว่าแต่ประชาชนเลย คนที่ละหมาดในมัสยิดก็ยังไม่ปลอดภัย ก็ยังถูกยิงเหมือนที่มัสยิดไอร์ปาแย จังหวัดนราธิวาส ทองในร้านก็ยังถูกปล้น

ประเทศนี้ยังมีรายได้ไม่ดี เพราะประเทศนี้ติดหนี้อยู่ 2 ล้านล้านบาท จีดีพี(มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม) ของประเทศยังต่ำ คนมีรายได้ไม่เพียงพอ ยังมีคนปล้นขโมยเพราะรายได้ไม่เพียงพอ

ประเทศนี้ยังไม่มีมาตรฐานเรื่องความยุติธรรม คนเสื้อแดงก็ร้องเรื่องสองมาตรฐาน แต่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องเรื่อง 3 มาตรฐาน ประเทศนี้ยังใช้กฎหมายที่ยังไม่มีหลักนิติธรรมพื้นฐาน เช่น มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประเทศนี้ยังไม่มีความยุติธรรมในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีการปล้นทรัพยากรธรรมชาติเอาไปให้นายทุน เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ประเทศนี้ยังไม่มีสวัสดิการที่ดีพอ ไม่เหมือนที่อุมัร อิบนุลคอตตอบทำ เช่น เมื่อมีการคลอดลูก อุมัรจะให้เงินกับแม่เป็นเงิน 100 ดีนาร์จนกระทั่งลูกมีอายุ 2 ปี ประเทศนี้ยังไม่มีความปลอดภัยจากยาเสพติดและสิ่งมึนเมา เพราะคนที่ประกาศว่าจะเป็นนายกฯปรองดองยังดื่มไวน์ขวดละ 3 หมื่นบาท แสดงว่าผู้นำยังกินเหล้าเลย

ผู้นำกินเหล้าขวดละ 3 หมื่น ประชาชนต้มน้ำใบกระท่อมเสพหม้อละ 10 บาท เพราะฉะนั้นประเทศนี้ยังไม่ปลอดภัยแน่

ประเทศนี้ยังไม่มีการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น เรื่องเคหะสถาน ท่านอุมัรไม่อนุญาตแม้แต่ตำรวจให้เข้าไปในบ้านของใคร แม้ว่าเป็นบ้านของผู้ต้องสงสัย ยกเว้นขออนุญาตจากเจ้าของบ้านก่อน แต่ประเทศนี้ ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกกฎอัยการศึกทำได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นประเทศนี้ยังไม่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน

เพราะฉะนั้นประเทศนี้ จึงไม่เกิดสันติสุข ซึ่งปัญหาความไม่สันติสุขไม่ได้มีเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เกิดขึ้นทั้งประเทศ จึงขอเรียกร้องรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ทำให้ประเทศนี้มีครบทั้ง 6 ข้อ พรรคแทนคุณแผ่นดินยินดีสนับสนุนพรรคเหล่านั้นในการตั้งรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดทั้ง 6 ประการนั้น

 

การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนโยบายการเจรจาพูดคุยกับขบวนการก่อความไม่สงบด้วยหรือไม่

ตามหลักศาสนาอิสลาม และจากความพยายามในการศึกษาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในพื้นที่ บอกว่า เมื่อคนทะเลาะกัน ไม่มีแนวทางใดที่คนจะดีกันได้ ยกเว้น 3 ข้อ คือ ให้อภัย ขออภัย และนั่งเจรจาพูดคุยกัน แน่นอนว่าคัมภีร์อัล – กุรอ่าน กล่าวไว้อย่างนี้ การพูดคุยเจรจา ปรึกษาหารือกัน ก็คือ ชูรอ

 

แล้วจะมีรูปธรรมอย่างไร

รอดูว่ากองทัพโอเคหรือเปล่า ฝ่ายความมั่นคงโอเคหรือเปล่า ถ้าไม่โอเค ต่อให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ต่อให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ก็เป็นไปไม่ได้

การทำเรื่องนี้ได้ ต้องยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมแห่งความมั่นคงก่อน มาเริ่มต้นใหม่ มาบอกว่าประเทศนี้เป็นของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนเดียว เพราะฉะนั้นคุณต้องมานั่งคิดว่า ในเมื่อคนอื่นเขาห่วงใยประเทศเหมือนกัน ก็ต้องมองคนอื่นในแง่ดีบ้าง

 

ข้อเสนอเดิมๆ ของกลุ่มสัจจานุภาพได้ทำอะไรไปบ้าง

เราทำไปแล้ว 23 ข้อ จาก 43 ข้อ เช่น โครงการผลิตพยาบาล 3 พันคนเรียนจบแล้ว เพื่อมาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการที่เราเสนอมาตั้งแต่ต้น โครงการหนึ่งแพทย์ หนึ่งตำบล ตอนนี้เราส่งไปเรียนเรื่อยๆ ส่งไปเรียนที่ประเทศรัสเซีย จีน จอร์แดน ฟิลิปปินส์ เพื่อเสริมกับนักศึกษาแพทย์ที่เรียนในประเทศ ซึ่งยังไม่เพียงพอ

การขยายสนามบินบ้านทอน จังหวัดนราธิวาสกำลังจะเสร็จ คาดว่าปีหน้าจะสามารถเป็นสนามบินหลักในเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย สะพานบูเกะตา เชื่อมชายแดนไทย – มาเลเซียสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในแรงบันดาลใจ 43 ข้อของหมอแว สังเกตให้ดีจะพบว่าเราผลักดันจะมีการทำไปแล้ว 23 ข้อ แม้ว่าเราไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีหรือแม้บางครั้งเราเป็นฝ่ายค้านในช่วงสมัยที่แล้ว แต่จะการอภิปรายในสภาทำให้รัฐบาลรับไปทำในหลายเรื่อง ซึ่งต้องขอบคุณพระเจ้า

ส่วนข้อที่เหลือเราจะผลักดันต่อ เพราะนั่นเป็นความตั้งใจเดิม เป็นสัญญาประชาคมที่เราจะต้องทำให้เสร็จ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีโอกาสได้ร่วมรัฐบาลในนามพรรคแทนคุณแผ่นดิน คิดว่า ทั้ง 43 ข้อ จะเสร็จสิ้นโดยเร็วมากกว่าที่เราไม่ได้ร่วมรัฐบาล

ข้อที่เหลือ เช่น สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสเป็นศูนย์ภาษาอังกฤษ หรือเพิ่มเงินเดือน ชรบ.(ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) เป็น 7,000 บาทต่อคน ชุดละ 30 คน และมีสวัสดิการ โดยจะให้ชรบ.ดูแลหมู่บ้านกันเองแทนทหาร ซึ่งทหารจะต้องอกไปจากหมู่บ้านแล้วกลับไปอยู่ในกรมกองของตัวเอง เมื่อมีเหตุจำเป็นค่อยออกมา ไม่ต้องออกมาอยู่บนท้องถนน นอกจากนั้น จะสนับสนุนนักเรียนตาดีการายหัว 4,000 บาทต่อคน เป็นต้น ซึ่งนั่นยังไม่สำเร็จ เพราะเรายังไม่มีโอกาสได้ร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน

 

แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ก็ยังวนเวียนอยู่กับชายแดนภาคใต้

ถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่จะแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่รอบนี้เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ซึ่งผมคิดว่า พยาบาลหนึ่งหมู่บ้านจะต้องให้เกิดขึ้นทั้งประเทศ หนึ่งแพทย์หนึ่งตำบลต้องเกิดขึ้นทั้งประเทศ เพียงแต่รอบที่แล้ว ผมเป็นเพียง ส.ส.เขต ก็ต้องดูแลในเขตเลือกตั้งนั้น

แต่วันนี้ผมเป็นผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ผมก็ต้องดูแลคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นนโยบายที่เราออกก็เพื่อแก้ปัญหาความยกจนของคนทั้งประเทศ ความอยุติธรรมต้องกำจัด ต้องทวงคืนทรัพยากรธรรมชาติมาให้คนไทยทั้งประเทศ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ‘สุทัศน์ บานเย็น’ : นโยบายพรรค การกระจายอำนาจ และคนเสื้อแดง?

Posted: 28 Jun 2011 10:01 AM PDT

‘สุทัศน์ บานเย็น’ เป็นตัวแทนคนท้องถิ่นคนหนึ่งในเขตพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเลขานุการนายก อบต.ปิงโค้ง และกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์ถึงเรื่องนโยบายพรรคการเมือง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และทำไมชาวบ้านในพื้นที่ต้องเป็นเสื้อแดง?!

สุทัศน์

0 0 0

มาถึงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งกันแล้ว อยากให้คุณช่วยวิเคราะห์นโยบายของแต่ละพรรคที่กำลังหาเสียงอยู่ในขณะนี้ว่าได้มุ่งเน้นในเรื่องการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไรบ้าง
ดูจากนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว จะเห็นว่าไม่ค่อยได้มุ่งเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่นสักเท่าไหร่ จะมีก็เพียงบอกว่าจะอุดหนุนงบประมาณเพิ่มขึ้น จากเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ให้ได้เท่านี้ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่การเพิ่มงบประมาณให้ แต่จริงๆ แล้ว ต้องให้งบประมาณในส่วนของท้องถิ่นให้ครบต่างหาก และการกระจายอำนาจไม่ใช่เพียงการกระจายอำนาจงบประมาณ แต่ต้องกระจายอำนาจในการคิดและตัดสินใจของท้องถิ่นเองด้วย ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคีในท้องถิ่นเอง

ที่ผ่านมา บทบาทของพรรคการเมือง มีส่วนช่วยหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่นตรงไหน อย่างไรบ้าง
แท้จริงแล้ว พรรคการเมืองนั้นต้องมีบทบาทในการเป็นตัวกลาง เชื่อมประสานกลุ่มประชาชน ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการเมืองการปกครอง สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในประเทศ แบบประสานความร่วมมือในสังคม และสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนให้รัฐบาลได้รับทราบ ก็จะช่วยหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่นให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพียงแค่การหาโครงการมาลงให้ แล้วบอกว่าเป็นการช่วยเหลือแล้ว

คุณมองว่าพรรคการเมืองไหนที่ดูมีความจริงใจและสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของ อปท.มากที่สุดในขณะนี้?
ผมว่ายังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ดูมีความจริงใจและสอดคล้องต่อแนวทางการทำงานของ อปท.เลยนะ ส่วนใหญ่จะมองว่า อปท.เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง เป็นฐานทางการเมืองเสียมากกว่า อย่างเช่นพรรคเพื่อไทย ถ้าดูตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ อปท.โดยตรง มีเพียงการจะอุดหนุนงบประมาณให้ไม่ต่ำกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่จริงมันต้องให้ครบ 35 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

มาถึงตอนนี้ คุณมองว่าในพื้นที่เชียงดาว รวมถึงพื้นที่ เวียงแหง ไชยปราการ และฝาง กระแสพรรคการเมืองพรรคไหนมาแรงมากที่สุด สาเหตุเพราะอะไร
กระแสพรรคที่มาแรงมากที่สุด น่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยนะครับ สาเหตุน่าจะมาจากระบบอุปถัมภ์ที่ฝังลึกมานานในหมู่ผู้นำชุมชน รวมไปถึงผลงานของพรรคในอดีต และยังรวมไปถึงผลงานของพรรครัฐบาลในปัจจุบันนี้เองด้วย

ช่วยวิเคราะห์ด้วยว่าทำไมชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ถึงเลือกตัดสินใจเป็นเสื้อแดง?
เหตุที่ชาวบ้านในพื้นที่เลือกเป็นเสื้อแดง อาจเป็นเนื่องมาจากเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านได้รับข้อมูลจากสื่อต่างๆ และมองว่าความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐาน ในสังคมไทยนั้นมีอยู่จริง อีกทั้งยังมองว่ากลุ่ม นปช. หรือ กลุ่มพรรคไทยรักไทยเดิม จนถึงเพื่อไทยถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งสังคมไทยโดยพื้นฐานนั้นสงสารและเห็นใจคนง่าย และที่สำคัญชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ถูกความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน ผ่านการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ เล่นงานมาอย่างต่อเนื่อง จนอาจคิดว่า กลุ่ม นปช.เป็นเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน

ในฐานะเป็นตัวแทนของคนท้องถิ่น ยังเชื่อมั่นอยู่หรือไม่ ว่าหลังการเลือกตั้ง จะมีการตั้งรัฐบาลอย่างราบรื่น ในขณะที่มีกระแสข่าววิเคราะห์กันว่า อาจจะมีการทำรัฐประหารอีกรอบหลังศึกเลือกตั้ง?
ยังเชื่อมั่นอยู่นะครับ ว่าหลังการเลือกตั้ง จะมีการตั้งรัฐบาลอย่างราบรื่น แต่อาจจะมีการแทรกแซง แย่งชิงการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ก็คงจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งด้วย กับกระแสข่าวว่า อาจจะมีการทำรัฐประหารอีกรอบหลังเลือกตั้งนั้น คิดว่าทหารคงจะคิดหนักในการทำรัฐประหาร จะอธิบายต่อสังคมไทยและสังคมโลกยังไง และคงจะเกิดการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มประชาชน

ในเวลานี้คุณคิดว่าชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจเรื่องการเมือง เรื่องประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นหรือไม่อย่างไร
ผมคิดว่าในเวลานี้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องการเมือง เรื่องประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นนะครับ คงจะเป็นผลพวงจากเหตุการณ์เสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่ผ่านมาที่ได้จัดกิจกรรมการเมืองและประชาธิปไตยให้แนวร่วมได้รับรู้ แน่นอนว่า ในความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นอาจจะฝักใฝ่ไปทางหนึ่งทางใด และไม่ยอมรับอีกฝ่ายอยู่ด้วย ซึ่งเป็นปัญหาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะดีมากเลยถ้าความรู้ความเข้าใจการเมืองและประชาธิปไตยของชาวบ้านที่เพิ่มขึ้น มีการแสดงออกแสดงความคิดเห็นเชิงโต้แย้งทางประชาธิปไตยอย่างสร้างสรรค์ ที่เห็นด้วยและยอมรับกับเสียงส่วนใหญ่และไม่หลงลืมเสียงส่วนน้อย ซึ่งเรื่องการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่เลือกตั้ง คัดสรรผู้แทนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่ชาวบ้านควรต้องติดตามตรวจสอบด้วยว่าเข้าไปแล้ว เขาทำอะไรบ้าง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: โรงเรียนอนุบาลที่ไม่มีคำว่าหญิงหรือชาย

Posted: 28 Jun 2011 09:47 AM PDT

โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในกรุงสต็อกฮอล์ม สวีเดน หลีกเลี่ยงการเหมารวมเรื่องเพศภาวะ คุณครูในโรงเรียนจะไม่ใช้คำว่า “เด็กชาย” หรือ “เด็กหญิง” กับเด็ก แต่จะเรียกเด็กๆ ทุกคนว่า “เพื่อน”

รายงาน:  โรงเรียนอนุบาลที่ไม่มีคำว่าหญิงหรือชาย
เด็กๆ เล่นกันในลานเด็กเล่นของโรงเรียนอนุบาล Egalia ที่เน้นความเป็นกลางในเรื่องเพศภาวะ

สต็อกฮอล์ม. โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในย่านเซอเดรมาล์ม กรุงสต็อกฮอล์ม ประเทศสวีเดน มีนโยบายหลีกเลี่ยงการเหมารวมเรื่องเพศภาวะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คุณครูในโรงเรียนจะไม่ใช้คำว่า “เด็กชาย” หรือ “เด็กหญิง” กับเด็ก แต่จะเรียกเด็กๆ ทุกคนว่า “เพื่อน” ไม่ว่าเด็กจะเป็นเพศใดก็ตาม ส่วนสรรพนามของภาษาสวีเดนว่า “han” กับ “hon” ที่แปลว่า “เขา” และ “เธอ” ก็ถูกแทนด้วยคำที่เป็นกลางว่า “hen” ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีในภาษา

Lotta Rajalin ผอ. ของโรงเรียน อายุ 52 ปี กล่าวว่า “เราจะใช้คำว่า hen เช่นในกรณีที่มีหมอ ตำรวจ ช่างไฟฟ้า หรือช่างประปาจะมาที่โรงเรียน และเราไม่ทราบเพศของเขา เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสจินตนาการเอาเองว่าคนๆ นั้นอาจจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กๆ จะได้มองโลกในแง่มุมที่กว้างขึ้น”

โรงเรียนแห่งนี้ชื่อ Egalia เปิดรับเด็กอายุ 1-6 ขวบตั้งแต่ปีที่แล้ว มุมเล่นตัวต่อเลโก้ใน Egalia ถูกจัดไว้ติดกับห้องครัว เพื่อไม่ให้เด็กคิดว่าการก่อสร้างกับการเตรียมอาหารมีความแตกต่างกันมากมาย

คุณครู Jenny Johnsson อายุ 31 ปี อธิบายว่า “สังคมคาดหวังให้เด็กผู้หญิงมีความอ่อนโยนน่ารัก และรักสวยรักงาม ส่วนเด็กชายถูกคาดหวังให้มีความเข้มแข็ง และชอบสังสรรค์ แต่ Egalia จะให้เด็กเป็นอย่างที่อยากเป็น”

ผอ. กล่าวเสริมว่าในโรงเรียนนี้จะเน้นความใจกว้างต่อชายรักชาย หญิงรักหญิง คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ โดยแม้แต่ในหนังสือต่างๆ ก็มีกล่าวถึงคู่ชีวิตเพศเดียวกันและผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกคนเดียว ผอ. ยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่งที่เล่าเรื่องราวของยีราฟตัวผู้สองตัวที่เป็นคู่รักกัน แต่เศร้าเพราะไม่มีลูก จนไปพบไข่จระเข้ถูกทิ้งไว้ จึงรับมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม

ในการดูแลการเล่นของเด็ก คุณครูก็ใช้มุมมองที่เป็นกลางในแง่เพศภาวะ “เช่น ถ้าเด็กๆ เล่นพ่อแม่ลูก แล้วทะเลาะกันว่าใครจะได้เป็นแม่ เราอาจจะแนะนำว่าจะมีแม่สองคนก็ได้ หรือสามคนก็ได้” ผอ. อธิบาย

หนังสือพิมพ์ในสวีเดนรายงานเกี่ยวกับโรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อต้นปี จากนั้นสำนักข่าว AP จึงได้เข้าไปเยี่ยมชม และได้รายงานถึงโรงเรียนแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่ขึ้นชื่อว่าเสรีนิยม ว่าเป็นตัวอย่างความสุดโต่งของชาวสวีเดนที่พยายามส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศตั้งแต่เด็ก

โรงเรียนแห่งนี้ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง โดยผู้ปกครองบางส่วนมองว่าการละทิ้งบทบาทตายตัวทางเพศ อาจทำให้เด็กสับสนหรือไม่พร้อมที่จะออกไปสู่โลกภายนอก

นักจิตวิทยาเด็ก Jay Belsky จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าไม่เคยได้ยินว่ามีโรงเรียนไหนที่เหมือนกับ Egalia และยังตั้งข้อกังขาว่า วิธีการส่งเสริมความเสมอภาคของ Egalia นั้นถูกต้องหรือไม่ “เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าสิ่งที่เด็กชายมักจะชอบ เช่นการใช้ไม้เล่นฟันดาบ จะถูกมองว่าไม่ดีไปหมด” Belsky กล่าว “หรืออย่างแย่ที่สุด การถือความเป็นกลางในเรื่องเพศภาวะอาจจะทำลายความเป็นผู้ชายไปเลย”

แต่ ผอ.บอกว่าโรงเรียน Egalia เป็นที่นิยมมาก โดยผู้ปกครองถึงกับต้องจองคิวเพื่อให้ลูกเข้าโรงเรียนนี้ และเคยมีผู้ปกครองเพียงรายเดียวที่เอาลูกออกจากโรงเรียน ผอ. ยังเสริมว่าทาง Egalia ไม่ได้ปฏิเสธความแตกต่างทางชีววิทยาระหว่างเพศ แต่มีจุดมุ่งหมายสอนให้เด็กเข้าใจว่า “ความแตกต่างทางชีววิทยาไม่ได้หมายความว่าเด็กหญิงและเด็กชายจะต้องมีทักษะและความสนใจแตกต่างกันเสมอไป”

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Helsingin Sanomat ประเทศฟินแลนด์ ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

SIU เผย ปชป. แพ้เลือกตั้ง 5 ครั้งติดต่อกัน ในรอบสองทศวรรษ

Posted: 28 Jun 2011 08:19 AM PDT

ในโอกาสใกล้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 กรกฎาคม 2554 ที่จะมาถึงในสัปดาห์หน้า SIU ขอนำเสนอแผนสภาพแสดงผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ/พฤษภาประชาธรรม 2535 เป็นต้นมา

จากแผนภาพ ผู้อ่านจะเห็นได้ชัดเจนว่าการเมืองไทยหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นการปะทะกันระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทย กับพรรคการเมืองต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันมาในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น “พรรคชาติไทย” ในยุครุ่งเรืองของนายบรรหาร ศิลปอาชา “พรรคความหวังใหม่” ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ต้องเผชิญวิกฤตค่าเงินบาทในปี 2540 และ “พรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย” ที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนนำคนสำคัญ

เรียกได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็น 1 ใน 2 พรรคใหญ่มาตลอดในการเลือกตั้งทุกครั้งตลอด 19 ปีมานี้ ซึ่งก็เกิดจาก “ความเป็นสถาบัน” ที่พรรคอื่นๆ ไม่มีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 19 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 พรรคประชาธิปัตย์กลับชนะการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวคือ การเลือกตั้งปี 2535/2 (หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ) ซึ่งนายชวน หลีกภัย สามารถนำพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ากระแส “จำลองฟีเวอร์” ในช่วงนั้น ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ก่อนจะต้องยุบสภาไปเพราะคดี สปก. 4-01 ที่อื้อฉาวในช่วงเวลานั้น

ถ้าเราไม่นับการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้เป็นโมฆะ (และพรรคประชาธิปัตย์เองก็บอยคอตการเลือกตั้ง) พรรคประชาธิปัตย์ได้แพ้การเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้งติดต่อกัน ได้แก่

  • การเลือกตั้งปี 2538 แพ้พรรคชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปอาชา
  • การเลือกตั้งปี 2539 แพ้พรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (เพียง 2 เสียง แพ้แบบสูสีที่สุด)
  • การเลือกตั้งปี 2544 แพ้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
  • การเลือกตั้งปี 2548 แพ้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (แพ้ขาดที่สุด)
  • การเลือกตั้งปี 2550 แพ้พรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้การเลือกตั้งทุกครั้งตลอด 19 ปีที่ผ่านมา แต่ก็สามารถพลิกขั้วมาจัดตั้งรัฐบาลได้ถึง 2 ครั้งเช่นกัน โดยครั้งแรกเกิดหลังวิกฤตการเงินปี 2540 ซึ่ง “กลุ่มงูเห่า” ของพรรคประชากรไทยที่นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม หักหลังพรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช (ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคประชาธิปัตย์มานาน) ตั้งรัฐบาลชวน 2 ได้สำเร็จ

เหตุการณ์ “งูเห่าสอง” เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551 โดยปีกของนายเนวิน ชิดชอบ แห่งพรรคพลังประชาชน (หลังถูกตัดสินยุบพรรค) ได้ย้ายมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน

พรรคประชาธิปัตย์จะพลิกขั้วกลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในรอบ 19 ปีหรือไม่ หรือจะแพ้ต่อไปเป็นครั้งที่ 6 ผู้ตัดสินคือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้

แผนภาพแสดงประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2535-2554

ที่มา: http://www.siamintelligence.com/thai-election-history-1992-2011/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กต. ยันไม่แตกคอรัฐบาลกรณีลาออกภาคีมรดกโลก

Posted: 28 Jun 2011 06:57 AM PDT

ตามที่สื่อมวลชนบางสำนักได้รายงานอ้างแหล่งข่าวในกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความไม่พอใจกรณีที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก ค.ศ. 1972 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดวันนี้ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่ข่าวนายชยพันธ์ บำรุงพงศ์ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรักษาการโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงที่กระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยยืนยันว่าการกำหนดท่าทีของไทยในเรื่องนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสื่อมวลชนอย่างชัดเจนและครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554

ทั้งนี้ เว็บไซต์มติชนรายงานกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาถึงสาเหตุการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญาคณะกรรมการมรดกโลกว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการประชุมหารือกันหลายครั้ง โดยการถอนตัวครั้งนี้เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของไทย ที่ไม่ต้องการให้มีการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า หากกัมพูชาต้องการฟื้นฟู หรือทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับดินแดนไทย ต้องได้รับความยินยอมจากไทย และหากจะมีการเจรจาเกิดขึ้น กัมพูชาต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ก่อน ซึ่งก่อนการประชุมวานนี้ ทางกัมพูชาได้เสนอข้อมติทางเลือกเข้ามา แม้เนื้อหาจะไม่ระบุเรื่องแผนพัฒนาที่ชัดเจน แต่มีความกำกวมไทยจึงไม่อยากเสี่ยง

ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดตัว My Computer Law ชวนผู้ใช้เน็ตออกแบบพ.ร.บ.คอมเอง

Posted: 28 Jun 2011 06:53 AM PDT

(28 มิถุนายน 2554) เครือข่ายพลเมืองเน็ต, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), และ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการจัดทำ “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับประชาชน” ในชื่อ “My Computer Law” (มายคอมพิวเตอร์ลอว์ - กฎหมายคอมพิวเตอร์ของเราเอง)

โครงการ “My Computer Law” ดังกล่าว จะดำเนินกิจกรรมรณรงค์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต นำความคิดเห็นมาประมวลหาหลักการร่วม ทำงานร่วมกับนักกฎหมายและนักเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การเสนอร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยวิธีรวบรวมรายชื่อ 10,000 คน ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ มาตรา 163

โดยเชิญชวนประชาชนทุกคน ให้เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ MyComputerLaw.in.th, เฟซบุ๊ค www.facebook.com/MyComputerLaw ทวิตเตอร์ twitter.com/MyComputerLaw และติดตามปฏิทินกิจกรรมออฟไลน์ได้ทางเว็บไซต์ด้วย โดยทางโครงการมีแผนการจะจัดกิจกรรมรณรงค์การมีส่วนร่วมครั้งนี้ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยด้วย โดยกำหนดการการเดินทางจะประกาศให้ทราบทางหน้าเว็บไซต์ต่อไป 

โครงการ “My Computer Law” ดังกล่าว จะทำกิจกรรมรณรงค์ แบ่งเป็น 3 ช่วง ในระยะเวลาเบื้องต้น เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2554

ช่วงที่ 1 – แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายคอมพิวเตอร์ โดยทำกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ในจังหวัดต่าง ๆ → นำมาสรุป ได้เป็น “คำประกาศผู้ใช้เน็ต”
ช่วงที่ 2 – เขียนตัวกฎหมาย โดยยึดคำประกาศฯ เป็นหลักการ → ได้ “ร่างพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับประชาชน”
ช่วงที่ 3 – รวบรวมรายชื่อของผู้สนับสนุน 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎร

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า กฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างมาก แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะการใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น การส่งข้อความSMS ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนี้ด้วย ดั่งที่เคยมีตัวอย่างว่าคนส่ง SMS ก็ถูกจับติดคุกตามพ.ร.บ.คอมนี้ได้

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อกังวลคือมีการปิดเว็บไซด์จำนวนมาก จนอาจขาดความโปร่งใส การลงโทษตัวกลาง เช่น เว็บมาสเตอร์ และอัตราโทษซึ่งอาจจะมากเกินความจำเป็น ซึ่งกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในแง่ของสิทธิการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจพ.ร.บ.นี้ บางครั้งจึงตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว วัตถุประสงค์ของเราจึงต้องการทำกิจกรรมให้ความรู้ตามจังหวัดต่างๆ ด้วย และรับฟังเสียงของประชาชนว่าคิดอย่างไร ต้องการแก้ไขอย่างไร

ในวันดังกล่าวยังมีกิจกรรมรณรงค์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยการแต่งกายที่มีข้อความว่า "คนใช้เน็ตคิดเองได้" เพื่อแสดงจุดยืนต้องการให้ประชาชนที่ได้รับผลโดยตรงจากกฎหมาย ได้ออกแบบกฎหมายของตัวเอง และรณรงค์ภายใต้หัวข้อ "เจ้าของคอมทุกเครื่อง เป็นเจ้าของเรื่อง พ.ร.บ.คอม" เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของกฎหมายฉบับนี้

 

สำหรับผู้สนใจจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ ภายในกลุ่ม สมาคม หรือท้องถิ่นของตัวเอง สามารถติดต่อโครงการเพื่อประสานงานได้ที่อีเมล info@mycomputerlaw.in.th

 

 

ที่มา: http://ilaw.or.th/node/1055

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล: รำลึกถึงฮิโรยูกิ มุราโมโตะ

Posted: 28 Jun 2011 06:42 AM PDT

เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 ช่างภาพรอยเตอร์ส ฮิโรยูกิ มุราโมโตะ (1) ถูกยิงเสียชีวิต ขณะกำลังถ่ายภาพการปะทะระหว่างทหารไทย ผู้ประท้วงเสื้อแดงและมือปืนไม่ทราบฝ่ายในพื้นที่บริเวณราชดำเนินใจกลางกรุงเทพมหานคร ฮิโรยูกิอายุ 43 ปี เขาทิ้งภริยา เอมิโกะ กับลูกสองคนไว้ข้างหลัง (2) ฮิโรยูกิเริ่มร่วมงานกับสำนักข่าวรอยเตอร์สในฐานะช่างภาพอิสระเมื่อ พ.ศ.2535 และทำงานเต็มเวลาใน พ.ศ.2538 คลิปข่าวชุดสุดท้ายที่เขาถ่ายก่อนเสียชีวิต (3) แสดงให้เห็นว่า เขาอยู่ท่ามกลางการปะทะอย่างดุเดือด (4) ในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งในวันนั้นมีทหาร 5 นายและประชาชนอีก 20 รายเสียชีวิต เหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาถ่ายไว้ได้นั้น รวมไปถึงการยิงระเบิดปริศนาที่ทำให้พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรมเสียชีวิต พันเอกร่มเกล้าเป็นนายทหารที่กำลังรุ่งในตำแหน่งหน้าที่และเป็นรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระราชินี

นับแต่เริ่มต้น หลักฐานเกี่ยวกับการเสียชีวิตของฮิโรยูกิชี้ว่า เขาถูกฆ่าจากกระสุนที่ทหารไทยคนหนึ่งยิงใส่ ดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ที่เขาตกเป็นเป้าโดยเจตนา ทั้งนี้เพราะเขาเป็นผู้สื่อข่าว แต่เขาถูกยิงเสียชีวิตในขณะที่ทหารสาดลูกกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วงอย่างไม่เลือกหน้า นี่คือข้อสรุปของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เทียบได้กับเอฟบีไอของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้เป็นสถาบันที่ถูกการเมืองแทรกแซงอย่างเปิดเผย แต่ดีเอสไอก็ยังมีเจ้าหน้าที่สืบสวนที่ซื่อตรงและทุ่มเทให้การทำงานไม่น้อย เจ้าหน้าที่สืบสวนในคดีของฮิโรยูกิสรุปว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ฮิโรยูกิถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารกองทัพไทยคนหนึ่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ยอมรับประเด็นนี้ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 (5) ว่า

เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกี่ยวข้องด้วย เราจึงต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการส่งคดีนี้ให้ตำรวจสืบสวนต่อไป

 

ในเดือนธันวาคม รายงานการสอบสวนของดีเอสไอในคดีฮิโรยูกิและรายงานอีกฉบับเกี่ยวกับการสังหารพลเรือน 6 คนในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 รั่วไหลไปถึงรอยเตอร์ส (6) เอกสารเกี่ยวกับคดีฮิโรยูกิที่รั่วไหลออกมานี้ ยืนยันข้อสรุปของดีเอสไอว่า กองทัพไทยน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเขา และคดีนี้ถูกส่งต่อไปให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนต่อไป แต่อธิบดีธาริตกลับปฏิเสธต่อสื่อมวลชนไทยว่า เอกสารเหล่านี้ไม่ใช่ของจริง ทว่าในการสนทนากับรอยเตอร์ส เขายอมรับว่าเอกสารเหล่านี้เป็นของจริง แต่เป็นการสอบสวนเบื้องต้นเท่านั้น

ตามมาตรฐานของรอยเตอร์ส เมื่อสมาชิกในคณะทำงานคนใดเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ รอยเตอร์สจะมอบหมายให้บริษัทความปลอดภัยที่เป็นมืออาชีพเข้ามาดำเนินการสอบสวนโดยอิสระ บริษัทเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างเป็นบริษัทชั้นนำในด้านนี้ การสืบสวนกระทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ รายงานของพวกเขาสรุปออกมาเหมือนกันว่า ฮิโรยูกิเสียชีวิตจากกระสุนที่ทหารไทยผู้หนึ่งเป็นคนยิง โดยที่ไม่น่าจงใจเล็งเป้ามาที่เขา รายงานนี้ยังเสริมด้วยว่า กระสุนที่ฆ่าฮิโรยูกิน่าจะเป็นกระสุนมาตรฐานที่ใช้ในกองทัพไทย ไม่ใช่กระสุนปืน AK47 หรือปืนพก รายงานฉบับนี้ถูกเก็บเป็นความลับภายในฝ่ายบริหารของสำนักข่าวรอยเตอร์ส แต่ผมได้รับทราบผลลัพธ์การสืบสวนที่เป็นประเด็นสำคัญๆ

ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเริ่มยืนยันว่า พวกเขาพบหลักฐานใหม่ (7) ว่า ฮิโรยูกิเสียชีวิตจากกระสุนปืน AK47 และหลักฐานนี้ทำให้กองทัพไทยพ้นผิด

พนักงานสอบสวนของไทยสรุปว่า กระสุนปลิดชีวิตคือ กระสุนจากปืนขนาดลำกล้อง 7.62 มม. ส่วนทหารไทยใช้ปืนไรเฟิลเอ็ม-16 ซึ่งยิงกระสุนขนาด 5.56 มม. อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

“ลูกกระสุนที่ยิงมุราโมโตะคือกระสุน 7.62 มม. ไม่ใช่กระสุนปืนเอ็ม-16 ที่ทหารใช้” ธาริตกล่าว “มันอาจจะเป็นกระสุนปืน AK47 หรืออย่างอื่นที่คล้ายๆ กัน.....แต่ใครเป็นคนยิงเขานั้น ผมไม่สามารถตอบได้ในจุดนี้ เราจำเป็นต้องดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม”

 

เรื่องที่น่าตกใจก็คือ เป็นที่ทราบกันในภายหลังว่า ข้อสรุปนี้ได้มาจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว นั่นคือ นายตำรวจเกษียณ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา ซึ่งได้ข้อสรุปนี้มาจากการดูเพียงแค่รูปถ่ายบาดแผลบนร่างกายของฮิโรยูกิเท่านั้น ดังที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า (8)

อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของดีเอสไอ ได้พิจารณารายงานการชันสูตรพลิกศพช่างภาพ และให้ความคิดเห็นว่า ช่างภาพน่าจะเสียชีวิตจากปืนไรเฟิล AK47

นายธาริตและพลตำรวจโทอัมพรจะพบผู้สื่อข่าววันนี้เพื่อเสนอผลการสืบสวนของคณะกรรมการ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายมุราโมโตะและประชาชนคนอื่นอีก 10 รายซึ่งเสียชีวิตในการปะทะบนท้องถนน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถึงแม้พลตำรวจโทอัมพรให้คำแนะนำแก่ดีเอสไอก็ตาม แต่เขาไม่ได้อยู่ในคณะชันสูตรพลิกศพเพื่อระบุสาเหตุการตายของมุราโมโตะ เนื่องจากตอนนั้นเขาอยู่ต่างประเทศ

พลตำรวจโทอัมพรวิเคราะห์สาเหตุการตายของมุราโมโตะจากภาพถ่ายรอยแผลบนร่างกายเพียงอย่างเดียว และสรุปว่าบาดแผลนั้นเกิดจากปืนไรเฟิล AK47

 

ยิ่งกว่านั้น การกลับลำแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวแพร่ออกมาว่า ผู้บัญชาการทหารบกสายเหยี่ยว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ไปพบนายธาริต อธิบดีดีเอสไอ เพื่อต่อว่าต่อขานเกี่ยวกับข้อสรุปที่ระบุไว้ในรายงานเบื้องต้น กองทัพไทยยืนกรานกระต่ายขาเดียว (9) --อย่างพิลึกพิสดารและไม่น่าเชื่อถือ—เลยว่า กองทัพไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการตาย ของประชาชนคนใด หรือแม้แต่การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างการปะทะกันอย่างรุนแรงในกรุงเทพในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทั้งๆ ที่มีหลักฐานมากมายชี้ไปในทางตรงกันข้าม ประเด็นนี้มีรายงานไว้ในบางกอกโพสต์เช่นกัน (10)

 

กองทัพถอนใจอย่างโล่งอก หลังจากรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปว่า กองทัพไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการตายของช่างภาพญี่ปุ่นระหว่างการประท้วงของเสื้อแดงเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กองทัพอาจโล่งอกได้ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ดังที่มีกระแสข่าวว่า ผู้บัญชาการทหารบกเดินทางไปสำนักงานใหญ่ของดีเอสไอ เพื่อแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับผลสอบสวนเบื้องต้น ซึ่งได้ข้อสรุปไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายของช่างภาพญี่ปุน นายฮิโรยูกิยูกิ มุราโมโตะ ระหว่างการประท้วงที่สี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เมษายน ศกก่อน

ดีเอสไอคงจะต้องเผชิญคำถามว่า ทำไมจึงกลับลำเช่นนี้ ถึงแม้เมื่อวานนี้ อธิบดีดีเอสไอ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ยืนยันตามรายงานฉบับล่าสุด โดยกล่าวว่า รายงานนี้วางอยู่บนผลการสอบสวนที่เป็นวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ เขาปฏิเสธด้วยว่าไม่มีการพบปะกับผู้บัญชาการทหารบก

รายงานเกี่ยวกับอาวุธ ซึ่งเขาไม่ได้เผยแพร่ออกมา ระบุว่าช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ถูกยิงเสียชีวิตด้วยปืนไรเฟิล AK47 ขณะทำข่าวการปะทะ

หากเป็นเช่นนั้นตามรายงาน กองทัพก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความตายที่เกิดขึ้น เพราะทหารถืออาวุธแตกต่างออกไป

นายธาริตกล่าวว่า บาดแผลบนร่างของมุราโมโตะมีลักษณะแบบที่เกิดจากกระสุน AK-47 เขากล่าวว่าทหารไม่ได้ใช้อาวุธแบบนั้น

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้รายงานคำพูดของพลตำรวจโทอัมพรและนายธาริตระหว่างการแถลงข่าวด้วย (11) ซึ่งพลตำรวจโทอัมพรอ้างว่าสามารถพิสูจน์ลักษณะของกระสุนที่ฆ่าฮิโรยูกิได้ง่ายๆ---ด้วยการดูจากรูปถ่ายเท่านั้น

จริงหรือที่บาดแผลของเหยื่อคนเสื้อแดงมีลักษณะร้ายแรงมาก จนเจ้าหน้าที่นิติเวชศาสตร์ไม่สามารถระบุประเภทของอาวุธปืนที่ใช้สังหารพวกเขา?

พล.ต.ท.อัมพร: เราสามารถระบุได้ในบางกรณี มีหลายกรณีที่เราระบุไม่ได้

ทำไมจึงใช้เวลานานเกือบปีในการระบุประเภทของอาวุธปืน?

พล.ต.ท.อัมพร: ผมก็ไม่ทราบ ตัวผมเองสามารถคาดเดาได้ในเวลาแค่ชั่วโมงเดียว

คุณสามารถอธิบายได้ไหมว่า ทำไมในการตรวจสอบครั้งแรก จึงไม่มีการเอ่ยถึงปืนไรเฟิล AK-47 เลย?

พล.ต.ท.อัมพร: ดีเอสไอไม่เคยระบุประเภทของอาวุธปืน เรามีพยานที่อ้างว่ายืนอยู่ใกล้คุณมุราโมโตะ เขาเห็นช่างภาพถูกยิง แต่ไม่รู้ว่ากระสุนมาจากไหน เขาเชื่อว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝ่ายทหาร ดีเอสไอมีพยานแค่คนเดียว ดังนั้น ดีเอสไอจึงทึกทักว่าการตายของคุณมุราโมโตะเกี่ยวพันกับทหาร จึงส่งคดีนี้ไปให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลพิสูจน์หลักฐานต่อ

บช.น.ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และรับทำคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล ดีเอสไอได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีคุณมุราโมโตะและส่งต่อไปให้ บช.น.

ทำไมรายงานของ พล.ต.ท.อัมพรจึงไม่มีอยู่ในรายงานการสอบสวนฉบับแรก

นายธาริต: เพราะการตรวจสอบลักษณะบาดแผลเกิดขึ้นหลังจากดีเอสไอส่งรายงานไปให้ บช.น.แล้ว

ทำไมจึงใช้เวลานานมาก?

นายธาริต: เราเพิ่งเชิญ พล.ต.ท.อัมพรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวน เพราะความเชี่ยวชาญของท่านจะช่วยให้การสอบสวนมีความถี่ถ้วนและครอบคลุมมากขึ้น

แล้วเหยื่อคนอื่นๆ ล่ะ? พวกเขาถูกฆ่าตายด้วยกระสุนประเภทเดียวกันหรือเปล่า?

พล.ต.ท.อัมพร: บาดแผลของรายอื่นมีขนาดเล็กกว่า เท่าที่ผมจำได้

คุณสามารถระบุประเภทของอาวุธปืนได้หรือไม่?

พล.ต.ท.อัมพร: ผมทำไม่ได้

มีบาดแผลคล้ายๆ กันบนร่างเหยื่อคนอื่นๆ หรือเปล่า

พล.ต.ท.อัมพร: เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยเห็น

กรณีของคุณมุราโมโตะแตกต่างออกไปใช่ไหม

พล.ต.ท.อัมพร: ใช่ครับ

คุณสามารถบอกจากลักษณะบาดแผลได้ไหมว่า กระสุนยิงมาจากข้างหน้าหรือจากข้างหลัง?

พล.ต.ท.อัมพร: กระสุนยิงมาจากข้างหน้า รูกระสุนเข้าอยู่ตรงหน้าอกข้างขวา รูกระสุนออกทะลุผ่านกระดูกสะบักหัวไหล่ขวา

รายงานวิถีกระสุนสามารถบอกได้หรือไม่ว่า กระสุนนั้นถูกยิงมาจากทหาร?

พล.ต.ท.อัมพร: บอกไม่ได้

มีการใช้ปืนเอสเคเอสคาร์ไบน์และ 05-Nato ในประเทศไทยหรือเปล่า?

พล.ต.ท.อัมพร: มีสิ มิฉะนั้นผมคงไม่เอ่ยถึงมัน

 

คณะกรรมการการป้องกันนักข่าว (Committee to Protect Journalists—CPJ) ได้ออกแถลงการณ์ (12) แสดงความกังวลว่ากำลังมีการฟอกความผิดให้ทหาร

“การที่ผลการสอบสวนเบื้องต้นในกรณีการตายของฮิโรยูกิ มุราโมโตะมีข้อสรุปที่ออกมาขัดแย้งกัน ทำให้เกิดคำถามต่อความเป็นอิสระของเจ้าพนักงานสืบสวนของรัฐบาล” เป็นคำกล่าวของชอว์น คริสปิน ตัวแทนอาวุโสประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CPJ “เรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อรายงานข่าวที่ออกมาว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงคนหนึ่งเข้าไปกดดันดีเอสไอให้เซ็นเซอร์ผลการสอบสวนเบื้องต้น”

 

ในบรรดาคนที่ตั้งข้อกังขาต่อผลการสอบสวนครั้งใหม่ของดีเอสไอ (13) หนึ่งในนั้นคือรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน:

มันเป็นทฤษฎีของดีเอสไอ เป็นการดำเนินการ เป็นการสอบสวนและเป็นข้อสรุปของดีเอสไอเอง ตำรวจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย และผลการสอบสวนนี้ไม่ได้วางบนหลักฐานที่น่าเชื่อถือแม้แต่น้อย พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อสรุปมันมั่ว

เนื่องจากผมทราบผลการสอบสวนของฝ่ายที่สามที่รอยเตอร์สมอบหมายให้ดำเนินการ ซึ่งมีผลสรุปออกมาว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าฮิโรยูกิถูกยิงด้วยกระสุนที่ใช้ในกองทัพ ไม่ใช่กระสุนปืน AK47 ผมจึงส่งอีเมลไปถึงกองบรรณาธิการบริหารอาวุโสภาคพื้นเอเชีย เพื่อขออนุญาตนำผลการสอบสวนบางส่วนไปรายงานข่าว ผมไม่เคยได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการ แต่ได้รับคำบอกเล่าอย่างไม่เป็นทางการจากบรรณาธิการบริหารคนอื่นว่า บรรณาธิการบริหารภาคพื้นเอเชีย “ไม่พอใจมาก” ที่ผมเข้าไปยุ่ง ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่น่าวิตก ผมจึงติดต่อเป็นการส่วนตัวและเป็นความลับไปยังบรรณาธิการบริหารอาวุโสในสหรัฐอเมริกาเพื่อหารือข้อกังวลใจนี้

ในฐานะอดีตหัวหน้าสำนักข่าวรอยเตอร์สในแบกแดด และต่อมาได้รับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของรอยเตอร์สที่รับผิดชอบพื้นที่ตะวันออกกลางทั้งหมด ผมเคยมีส่วนร่วมโดยตรงในการสอบสวนของบริษัทเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมงาน 6 ราย ดังนี้

  • ตากล้องรอยเตอร์ส Mazen Dana (14) ถูกทหารสหรัฐฯคนหนึ่งสังหารที่หน้าคุกอาบูกราอิบทางตะวันตกของกรุงแบกแดด ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่ากล้องของเขาเป็นเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี เหตุเกิดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2003
  • Dhia Najm (15) ตากล้องอิสระที่ทำงานให้รอยเตอร์ส ถูกฆ่าในเมืองรามาดีของอิรักในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าผู้สังหารคือสไนเปอร์ของกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ
  • คนขับรถของรอยเตอร์ส Waleed Khaled (16) ถูกสังหารโดยกองทหารสหรัฐฯ ที่ระดมยิงใส่รถของเขาในพื้นที่ทางตะวันตกของกรุงแบกแดดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005
  • ช่างภาพของรอยเตอร์ส Namir Noor-Eldeen (17) และคนขับ Saeed Chmagh (18) เสียชีวิตเมื่อเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ของสหรัฐฯ ระดมยิงใส่ทั้งสองและชาวอิรักอื่นๆ อีกหลายคนในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงแบกแดดในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ความตายของพวกเขาถูกเผยแพร่ให้คนหลายล้านคนได้เห็นกับตา หลังจากวิกิลีกส์เผยแพร่คลิปวิดีโอของเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ (19) ซึ่งถ่ายจากกล้องบนเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่
  • ตากล้องรอยเตอร์ส Fadel Shana (20) ถูกสังหารในกาซ่าในเดือนเมษายน ค.ศ. 2008 จากระเบิดแบบขีปนาวุธสังหารที่ยิงจากรถถังอิสราเอลที่ห่างไปหนึ่งไมล์ ทหารในรถถังคงนึกว่ากล้องและขาตั้งของฟาเดลเป็นอาวุธบางอย่าง ฟาเดลถ่ายคลิปการยิงระเบิดจากรถถังที่ฆ่าตัวเขากับคนรอบข้างอีกหลายคนไว้ได้ (21)

 

นอกจากนี้ ผมเคยมีส่วนร่วมโดยตรงในการสอบสวนของรอยเตอร์สเกี่ยวกับการทรมานและการทารุณกรรมทางเพศที่ทหารสหรัฐฯ กระทำต่อเพื่อนร่วมงานชาวอิรักสามคน ในช่วงเวลาสามวันที่พวกเขาถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังในสถานที่ใกล้เมืองฟัลลูจาห์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2004 ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ผมมีประสบการณ์พอสมควรกับคดีสืบสวนที่ละเอียดอ่อนภายในสำนักข่าวรอยเตอร์ส ผมตระหนักดีถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อช่วยกันค้นหาความจริง ไม่ใช่สร้างความแตกแยกห่างเหินกันด้วยการโวยวายและกล่าวหาอย่างเกินกว่าเหตุ ผมยังตระหนักถึงความจำเป็นในการมีจุดยืนที่มั่นคง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ล้มเหลวในการสอบสวนอย่างโปร่งใสและซื่อตรง หัวใจสำคัญที่สุดในกระบวนการเหล่านี้ก็คือ เราทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสืบหาความจริง เราไม่ประสงค์จะล่าแม่มดหรือกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยไร้หลักฐาน เป้าหมายของเราก็เช่นเดียวกับเป้าหมายในการเป็นสื่อมวลชนที่ดี นั่นคือ การแสวงหาความจริง ความจริงเท่านั้นที่จะนำไปสู่การรับผิดและความยุติธรรม

ควรบันทึกไว้ด้วยว่า ในทุกกรณีที่ผมมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างใกล้ชิดนั้น บรรณาธิการบริหารอาวุโสของรอยเตอร์สคอยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และกล้าหาญอย่างยิ่งเมื่อถึงคราจำเป็น

แต่ทุกอย่างแตกต่างออกไปในกรณีของฮิโรยูกิ ผมไม่สบายใจอย่างยิ่งที่ได้รับรู้จากคนในฝ่ายบริหารระดับสูงว่า ไม่เพียงแค่รอยเตอร์สไม่อนุญาตให้ผมรายงานข่าวผลการสอบสวนของฝ่ายที่สามที่รอยเตอร์สจ้างมาให้ทำงานนี้ แต่รอยเตอร์สไม่ยอมทำแม้กระทั่งแจ้งผลการสอบสวนนี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยทราบด้วยซ้ำไป จริงอยู่ บางครั้งมันมีความจำเป็นที่ต้องเก็บผลการสอบสวนในคดีที่ละเอียดอ่อนไว้เป็นความลับในระหว่างที่ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและ/หรือทหารตำรวจ บางครั้งการด่วนเผยแพร่สู่สาธารณชนเร็วเกินไปอาจทำให้คนที่เราต้องการร่วมมือด้วยเกิดความหมางใจต่อกัน แต่ในประสบการณ์ของผม นี่เป็นครั้งแรกและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่รอยเตอร์สไม่ยอมแม้แต่แจ้งผลการสอบสวนต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง มันทำให้รอยเตอร์สถูกกล่าวหาได้ว่า รอยเตอร์สบกพร่องต่อหน้าที่ในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐค้นหาความจริง ผมส่งบันทึกที่เขียนอย่างละเอียดถึงฝ่ายบริหารระดับสูง เพื่ออธิบายว่าทำไมผมจึงคิดว่าพฤติกรรมของรอยเตอร์สในกรณีฮิโรยูกินั้น เป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อจรรยาบรรณและไม่สร้างสรรค์ หลังจากนั้น ผมได้รับทราบว่ามีการตัดสินใจให้แก้ไขรายงานการสอบสวนของฝ่ายที่สาม ลบชื่อบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการสอบสวน รวมทั้งลบชื่อของแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลทั้งหมดด้วย รายงานที่ถูกแก้ไขแล้วนี้จะถูกส่งให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยเป็นการลับ ผมเห็นว่าการทำเช่นนี้ยังมีข้อบกพร่องในหลายๆ ทาง แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และได้แต่รอความคืบหน้าต่อไป

ในวันที่ 24 มีนาคม กรมตำรวจไทยได้ “ยืนยัน” อย่างเป็นทางการ (22) ว่า ผลการสอบสวนครั้งใหม่ของดีเอสไอไม่พบหลักฐานว่าฮิโรยูกิถูกสังหารโดยน้ำมือของกองทัพไทย

วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตปีแรกของฮิโรยูกิ ก่อนหน้านั้นสองสามวัน บรรณาธิการบริหารภาคพื้นเอเชียของรอยเตอร์สส่งอีเมล์เวียนแก่คณะทำงานว่า จะมีการยืนไว้อาลัยแก่เขาเป็นเวลาหนึ่งนาที ผมเขียนกลับไปถามอีกครั้ง ในฐานะบรรณาธิการอาวุโสที่รับผิดชอบการนำเสนอข่าวการเมืองและข่าวทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ถามว่าผมสามารถรายงานข่าวได้ไหมว่า ถ้าพิจารณาจากหลักฐานที่รอยเตอร์สมีอยู่ ดูเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐไทยกำลังโกหกในคดีของฮิโรยูกิ ผมได้รับคำตอบเกรี้ยวกราดกลับมา ในบรรดาเหตุผลหลายๆ ข้อที่รอยเตอร์สอ้างว่าไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลนี้ มีเหตุผลหนึ่งคือ ภายใต้กฎหมายไทย มันเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่รอยเตอร์สจ้างฝ่ายที่สามมาสอบสวนการตายของฮิโรยูกิ และตอนที่จ้างบริษัทข้างนอกมาดำเนินการสอบสวน รอยเตอร์สได้ทำข้อตกลงกับบริษัทนั้นว่าจะเก็บผลการสอบสวนไว้เป็นความลับ ผมไม่คิดว่านี่เป็นเหตุผลเพียงพอที่รอยเตอร์สจะเก็บงำผลการสอบสวนการตายของฮิโรยูกิเอาไว้เช่นนี้ และผมก็บอกฝ่ายบริหารไปตามที่ผมคิด

ในวันที่ 11 เมษายน ฝ่ายบริหารระดับสูงของรอยเตอร์สประจำภาคพื้นเอเชียได้เข้าพบอธิบดีดีเอสไอ นายธาริต ที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือถึงความคืบหน้าในการสอบสวนคดีฮิโรยูกิ เรื่องที่อธิบายไม่ได้เลยก็คือ เหตุใดฝ่ายบริหารจึงไม่ยื่นผลการสอบสวนที่แก้ไขแล้วของรอยเตอร์สที่เตรียมไว้ให้แก่นายธาริต ผมได้รับทราบในภายหลังว่า มีการตัดสินใจที่จะยื่นผลการสอบสวนที่แก้ไขแล้วนี้ให้แก่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นการส่วนตัว ในการเข้าพบซึ่งยังไม่มีการยืนยันวันเวลาแน่นอน หนังสือบางกอกโพสต์รายงานการพบปะกับดีเอสไอ (23) ดังนี้

นายธาริตกล่าวว่า คณะสอบสวนของดีเอสไอได้อธิบายข้อเท็จจริงแวดล้อมทั้งหมดที่ได้จากการสอบสวนอย่างเป็นทางการต่อกรณีการเสียชีวิตของมุราโมโตะแก่ตัวแทนของสำนักข่าวรอยเตอร์สระหว่างการพบปะหารือเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง

เขากล่าวว่า เขาไม่ทราบว่าตัวแทนทั้งสองพอใจต่อคำอธิบายหรือไม่ และกล่าวว่าทั้งสองนิ่งเฉยและไม่ได้ให้เอกสารใดๆ เพิ่มเติมแก่ดีเอสไอ

“ผมเสนอต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สให้ช่วยค้นหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพิ่มเติม เพราะพยานที่รู้เห็นการสังหารครั้งนี้น่าจะกล้าให้ข้อมูลเชิงลึกแก่รอยเตอร์สมากกว่าให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่รัฐ [ไทย]” นายธาริตกล่าว

“หลังจากนั้น รอยเตอร์สสามารถแจ้งข้อมูล [ที่ได้มา] นี้แก่ดีเอสไอเพื่อทำการสอบสวนต่อไป”

ตัวแทนของรอยเตอร์สกล่าวว่า พวกเขาจะพิจารณาข้อเสนอของดีเอสไอและแจ้งกลับไปให้ทราบภายหลัง

พวกเขาจะสอบถามความคืบหน้าของคดีนี้เป็นครั้งคราวต่อไป นายธาริตกล่าว

บรรณาธิการบริหารของรอยเตอร์สปฏิเสธไม่ให้รายละเอียดใดๆ ของการหารือกันครั้งนี้ และออกแถลงการณ์เพียงแค่ว่า รอยเตอร์สได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของมุราโมโตะ

 

ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ผมลาออกจากสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน เพื่อตีพิมพ์งานเขียนขนาดยาวเกี่ยวกับประเทศไทย โดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารการทูตของสหรัฐฯ ที่รั่วไหลออกมาหลายพันฉบับ คุณสามารถอ่านงานเขียนนั้นได้ ที่นี่ รอยเตอร์สตัดสินว่างานเขียนนี้เสี่ยงเกินไปที่จะตีพิมพ์ เนื่องจากรอยเตอร์สมีนักข่าวและคณะทำงานจำนวนมากอยู่ในประเทศไทย ดังที่ผมเขียนไว้ในงานชิ้นดังกล่าวและในบทความในหนังสือพิมพ์ The Independent (24) ผมเข้าใจดีที่รอยเตอร์สตัดสินใจเช่นนั้นและขอไม่วิจารณ์รอยเตอร์สในประเด็นนี้ การลาออกของผมทำให้ผมไม่สามารถกดดันกองบรรณาธิการรอยเตอร์สเกี่ยวกับคดีของฮิโรยูกิได้อีกต่อไป แต่ผมก็เฝ้ารอคำสัญญาที่รอยเตอร์สบอกว่าจะแจ้งข้อมูลของฝ่ายตนให้แก่นายกฯอภิสิทธิ์เมื่อใดที่ได้เข้าพบ

ในวันที่ 14 มิถุนายน รอยเตอร์สได้สัมภาษณ์นายกฯอภิสิทธิ์เป็นการเฉพาะ แต่พวกเขากลับไม่ได้มอบข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ดังนั้น บัดนี้ผมจะเปิดเผยข้อความสำคัญจากรายงานการสอบสวนของฝ่ายที่สามที่รอยเตอร์สได้มอบหมายให้ดำเนินการ ผมขอเก็บชื่อบริษัทที่ดำเนินการสอบสวนไว้เป็นความลับ รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ หากรอยเตอร์สต้องการโต้แย้งว่าข้อความที่ผมจะเปิดเผยนี้เป็นข้อความจากเอกสารจริงหรือไม่ ผมสามารถให้หลักฐานเอกสารที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ได้ ผมเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ด้วยความกระอักกระอ่วนใจและไม่มีความปรารถนาใดๆ ที่จะบ่อนทำลายสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งผมยังถือว่าเป็นองค์กรข่าวที่สมควรได้รับความนับถือ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ทำงานของเพื่อนร่วมงานและมิตรสหายของผมจำนวนมาก แต่เห็นได้ชัดว่า พฤติกรรมที่ไร้สมรรถภาพ ไร้จรรยาบรรณและไม่สร้างสรรค์ของฝ่ายบริหารระดับสูงบางคนในเอเชีย จะทำให้รอยเตอร์สไม่มีทางค้นพบความจริงเกี่ยวกับการตายของฮิโรยูกิ นอกเสียจากจะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมหวังว่ารอยเตอร์สจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์นี้ และต่อไปข้างหน้าคงไม่มอบหมายอำนาจการตัดสินใจในเรื่องสำคัญเช่นนี้ให้แก่บุคคลที่ขาดความสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างมีสติและมีจรรยาบรรณในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน ครอบครัวและมิตรสหายของฮิโรยูกิ รวมทั้งคณะทำงานทุกคนของรอยเตอร์ส ควรได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านี้ ข้างล่างนี้คือข้อความที่คัดมาจากรายงานการสอบสวนของฝ่ายที่สาม มันคัดมาตรงตามตัวอักษร ยกเว้นการแก้ไขที่ระบุไว้ด้วยเครื่องหมาย xxxx ในเนื้อความ:

ฮิโรยูกิ มุราโมโตะ (‘ฮิโรยูกิ’) ถูกยิง ค่อนข้างแน่นอนว่าโดยกระสุนความเร็วสูงขนาด 5.56 มม. ในวันที่ 10 เมษายน ที่ถนนดินสอ ทางตะวันตกของกรุงเทพฯ ในเวลา 21:01/2 ตามเวลาท้องถิ่น

XXXXXXX ไม่สามารถดูรายงานการชันสูตรพลิกศพของทางการหรือการพิสูจน์ทางนิติเวชศาสตร์ใดๆ ที่กระทำต่อร่างของเขา อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ศัลแพทย์ที่ดูแลการจำแนกผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลกลางเมื่อวันที่ 10 เมษายน เขายืนยันว่า ฮิโรยูกิเสียชีวิตจากแผลฉีกขาดที่ผนังอกทะลุเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอด (tension pneumothorax) พร้อมกับการตกเลือดภายในจำนวนมาก ศัลยแพทย์คาดว่าการเสียเลือดเช่นนั้นน่าจะทำให้เสียชีวิตภายในเวลาสองนาที เจ้าหน้าที่รถพยาบาลที่นำฮิโรยูกิส่งโรงพยาบาลยืนยันว่า พวกเขาไม่พบสัญญาณชีพ และแพทย์ที่ตรวจเขาที่โรงพยาบาลกลางระบุว่าเขา ‘เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล’

แผลรูกระสุนเข้าที่เป็นสาเหตุการตายของฮิโรยูกิมีจุดศูนย์กลางอยู่ใต้กระดูกไหปลาร้าและกระดูกโอบอกและตรงกับหัวใจ ศัลยแพทย์ที่ XXXXXXX สัมภาษณ์ยืนยันว่า บาดแผลมีลักษณะของบาดแผลที่เกิดจากกระสุน นอกจากนี้ ฮิโรยูกิมีแผลรูกระสุนออกที่ท้องแขนซ้าย การที่แผลรูกระสุนออกไม่เป็นแนวตรงเช่นนี้ มีลักษณะตรงกับผลกระทบที่เกิดจากกระสุนความเร็วสูงขนาด 5.56 มม. สแตนดาร์ดเนโต้ (และลักษณะบาดแผลไม่สอดคล้องกับกระสุนชนิดอื่นๆ อาทิ ปืนสั้น .38 กระสุนยาง หรือกระสุนจากปืนไรเฟิล AK47)

 

ถึงเวลาแล้วที่รอยเตอร์สควรเริ่มต้นดำเนินการเพื่อช่วยให้ความจริงเปิดเผยออกมา แทนที่จะสมคบกับการปิดบังความจริงไว้

อ้างอิง:

  1. http://www.reuters.com/video/2011/03/08/a-tribute-to-hiro-muramoto?videoId=193534208
  2. http://thomsonreuters.com/content/press_room/media/558479
  3. http://www.reuters.com/article/video/idUSTRE63B25A20100412?videoId=71024142
  4. http://www.reuters.com/article/2010/04/12/us-thailand-reuters-video-idUSTRE63B25A20100412
  5. http://www.reuters.com/article/2010/11/16/us-thailand-muramoto-idUSTRE6AF30920101116
  6. http://www.reuters.com/article/2010/12/10/us-thailand-security-idUSTRE6B90OR20101210
  7. http://www.reuters.com/article/2011/02/28/us-thailand-security-muramoto-idUSTRE71R3YC20110228
  8. http://www.bangkokpost.com/news/politics/223792/no-firm-view-on-ak-47-role-in-deaths
  9. http://asiancorrespondent.com/43962/thai-military-we-have-not-hurt-or-killed-any-reds/
  10. http://www.bangkokpost.com/news/politics/223658/dsi-changes-ruling-on-cameraman-death
  11. http://www.bangkokpost.com/news/politics/224006/mystery-shrouds-case-of-slain-cameraman
  12. http://www.cpj.org/2011/02/concerns-of-thai-whitewash-in-killing-of-reuters-m.php
  13. http://www.nationmultimedia.com/2011/03/03/national/Police-refute-DSI-finding-on-shot-cameraman-30149971.html
  14. http://www.thebaron.info/mazendana.html
  15. http://www.thebaron.info/dhianajim.html
  16. http://www.thebaron.info/waleedkhaled.html
  17. http://www.thebaron.info/namirnooreldeenandsaeedchmagh.html
  18. http://www.thebaron.info/namirnooreldeenandsaeedchmagh.html
  19. http://www.youtube.com/watch?v=to3Ymw8L6ZI
  20. http://www.thebaron.info/fadelshana.html
  21. http://www.youtube.com/watch?v=8yF0dK7BZIs
  22. http://www.reuters.com/article/2011/03/24/thailand-security-muramoto-idUSSGE72N03120110324
  23. http://www.bangkokpost.com/news/local/231536/reuters-help-sought-in-finding-evidence
  24. http://www.independent.co.uk/opinion/commentators/andrew-macgregor-marshall-why-i-decided-to-jeopardise-my-career-and-publish-secrets-2301363.html บทความนี้ประชาไทแปลแล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง: ไม่เชื่ออย่าลบหลู่... สิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์

Posted: 28 Jun 2011 03:56 AM PDT

            ข้าแต่...สามัญชนคนธรรมดา
            ขอวิงวอนต่อสิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
            ซึ่งมีจำนวนมากมายกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายล้านเท่า
            โปรดช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง

            ให้แคล้วคลาดจากโจรร้าย
            ให้ปลอดภัยจากผู้ดีจอมปลอม
            ขอพลังแห่งสิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์
            จงยืนหยัดต้านทานการข่มขู่

            จงอยู่รอดปลอดพ้นจากคมดาบ - กระบอกปืน
            จงอดทนอดกลั้นต่อความไร้ยางอายทั้งหลายทั้งปวง
            ขอสิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ได้สำแดงอิทธิฤทธิ์
            ให้สามัญชนพลเมืองเจ้าของประเทศ

            จงก้าวข้ามขวากหนามแห่งการเหยียดหยามหมิ่นแคลน
            จงก้าวข้ามขวากหนามแห่งคำประณามกดขี่
            จงเดินไปสู่เป้าหมายแห่งสิทธิและเสรีภาพ
            ขอสิทธิแห่งปวงประชาจงเป็นของปวงประชา
            ขอบุญรักษา  ‘สิทธิ์’  นั้นด้วยเทอญ.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สู้กับซัมซุง ชัยชนะที่ขมขี่นของครอบครัวผู้สูญเสีย

Posted: 28 Jun 2011 02:42 AM PDT

เรื่องราวของแท็กซี่ผู้ปฏิเสธเงิน1 พันล้านวอน จากซัมซุงเพื่อรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับลูกสาวที่จากไปว่าจะ “ต่อสู้จนถึงที่สุดจนกระทั่งความเจ็บป่วยของเธอได้รับการยอบรับว่าอุบัติเหตุจากการทำงาน"  และครอบครัวผู้สูญเสียรวมตัวกันต่อสู้กับความพยายามที่จะกลบปัญหาของซัมซุง

ในบ่ายวันพฤหัสฯ (23 มิถุนายน) วันที่ฝนเทลงมาอย่างหนัก  ฮวาง ซัง กิ (Hwang Sang-ki) ชายอายุ 56 ปี นั่งอยู่ด้านซ้ายสุดของแถวหน้าในห้อง 203 ของศาลเกาหลีใต้ เขานั่งนิ่งไม่ไหวติง สายตาจับจ้องไปที่คำพูดจากปากของผู้พิพากษา ถ้อยคำเหล่านั้นฝังอยู่ในโสตประสาท “เหตุและผลที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กันระหว่างลูคีเมียและการทำงานตามหน้าที่ของเธอ”

“ภาพของลูกสาวที่กำลังบ่นถึงความเจ็บปวดแสนทรมานของโรคร้ายต่อหน้าเขา ผุดขึ้น เขายังนึกถึงใบหน้าของเจ้าหน้าที่ซัมซุงคนที่สัญญาว่าจะติดสินบนเขาด้วยเงิน 1 พันล้านวอน (927,391 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 27.8 ล้านบาท) หากเขาไม่ไปพบกับตัวแทนขององค์กรเอกชน/ ประชาชน.และกลุ่มทางสังคมอื่นๆ เช่นเดียวกันกับ คนที่บอกกับเขาอย่างไม่แยแสว่า  “ทำยังก็ได้ตามที่คุณรู้สึก”  โดยยืนยันว่า มันไม่มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างความเจ็บป่วยของลูกสาวของเขากับอุบัติเหตุจากการทำงาน (industrial accident)

ฮวางมีอาชีพขับแท๊กซี่มากว่า 30 ปี เขาสัญญากับลูกสาวไว้ว่าจะ “ต่อสู้จนถึงที่สุดจนกระทั่งความเจ็บป่วยของเธอได้รับการยอบรับว่าอุบัติเหตุจากการทำงาน"  จนถึงวันนี้ เขาได้รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเธอ นับป็นเวลา 4 ปีหลังจากที่ยูมิจากไป

ในปี 2007 ฮวาง ซัง กิ นำประเด็นลูคีเมียของซัมซุงไปสู่การถกเถียงสาธารณะครั้งแรก เขาได้เข้าพบกับสื่อมวลมากมายหลายแห่ง รวมทั้งองค์กรเอกชน/ประชาชน และองค์กรทางสังคมต่างๆ  ฮวาง ซัง กิ บอกกับพวกเขาว่า “ลูกสาวของผมตายอย่างไร้ความยุติธรรมด้วยอุบัติเหตุจากการทำงาน

เช้าวันพฤหัสฯ เขาไปประท้วงคนเดียวที่อาคารหลักของซัมซุงในกรุงโซลที่ซึ่งประธาน ลี คุน ฮี ทำงานอยู่  สำหรับเขาแล้ว มันเหมือนเป็นญาติพี่น้องกับคนงานซัมซุงคนอื่นๆที่เสียชีวิตด้วยลูคีเมียรวมทั้งคนงานที่กำลังสู้กับโรคร้ายคนอื่นๆ  ในวันนั้น พนักงานซัมซุงล้อมเขาไว้และกันไม่ให้เขาเข้าไปในอาคาร เขาร้องตะโกนว่า “ยอมรับเสียเถิดว่ามันเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน” เสียงของเขาแผ่ก้องไปในท้องฟ้าสั่งฝน

ยูมิเป็นลูกคนที่สองในจำนวนลูกสามคน ในเดือนตุลาคม 2003 ก่อนจบมัธยมไม่นาน เธอเข้าทำงานที่โรงงานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ของซัมซุงอิเลคทรอนิกส์ที่เมือง Giheung ในตอนนั้น เธอวางแผนว่าจะเก็บเงินส่งเสียน้องชาย  งานที่เธอทำคือการจุ่มจานเซมิคอนดัคเตอร์ลงในสารเคมีผสม  หลังจากที่เธอทำงานได้ไม่ถึง 2 ปีก็มีการวินิจฉัยว่า เธอเป็นลูคีเมีย ฮวาง กล่าวว่า เขาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากเห็นว่าความเจ็บป่วยของเธอเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน  ในปี 2006 ลี ซุก ยอง (Lee Suk-yeong) เธอทำงานอยู่ข้างๆ กับยูมิในสายการผลิตเดียวกัน เธอเสียชีวิตด้วยลูคีเมีย 

ในปี 2006 เมื่อโรคของยูมิกำเริบขึ้นอีก พนักงานซัมซุงมาที่โรงพยาบาลเพื่อขอให้เธอลาออก  ฮวาง บอกว่า “ ในตอนนั้น ผมถามพวกเขาเพื่อให้ยอมรับว่า ลูคิเมียเป็นเรื่องอุบัติเหตุจากการทำงาน พวกเขาบอกว่า “ คุณคุณตั้งใจจริงที่จะพยายามเอาจะชนะซัมซุงหรือ”

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2007 หลังจากที่เธอมารับการรักษาที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเอจู (Ajou) ในซูวอน  ระหว่างเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดกังวอน เธอได้เสียชีวิตบนเบาะหลังรถแท็กซี่ของพ่อของเธอ 

ในปีเดียวกัน  ฮวางได้เรียกร้องสิทธิประโยชน์ผู้ที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงาน ( Industrial Accident Compensation Insurance survivors’ benefits) จากหน่วยงานด้านสวัสดิการและค่าชดเชยคนงานเกาหลีใต้  (Korea Workers’ Compensation and Welfare Service (KCOMWEL) หน่วยงานนี้มอบหมายให้หน่วยงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยทำการศึกษาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น  เมื่อผลการศึกาออกมา ฮวางรู้สึกเจ็บปวดกับมัน

“สมาชิกของครอบครัวอื่นๆ ที่แพ้คดีความในวันนี้ ควรมีการดำเนินการอย่างถูกต้องโดยการยอมรับว่า กรณีทีเกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน” เขากล่าว  “มันยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากการศึกษากรณีโรคดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นอย่างไม่มีคุณภาพ  ไม่มีการนำวัตถุอันตรายมาตรวจสอบ มีบางอย่างที่มีตรวจสอบแต่ไม่เปิดเผย เนื่องจากเป็น “ความลับทางธุรกิจ”  และไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ด้านความปลอดภัยจากการทำงานเข้าไปร่วมตรวจสอบและทำการศึกษา เราไม่สามารถเชื่อใจในผลการศึกษานี้ได้

ในการเตรียมฟ้องคดี กระบวนการนี้ใช้เวลา 17 เดือน  ฮวางต้องหยุดขับรถแท็กซี่เดือนละ 3-4 ครั้ง ภรรยาของเขาทนทุกข์ทั้งทางกายและจิตใจหลังจากที่สูญเสียลูกสาวไป

หลังจากที่ได้ยินเรื่องของฮวาง ทนายความด้านแรงงาน ลี จอง รัน (Lee Jong ran) รู้สึกว่ามีบางอย่างที่จะต้องทำ ลีจึงเริ่มต้นทำงานในประเด็นอุบัติเหตุจากการทำงานในโรงงานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์

ในเดือนพฤศจิกายน 2007 องค์กรแรงงานประมาณ 20 องค์กร พรรคการเมือง และองค์กรทางสังคมร่วมกันตั้งองค์กรชื่อ Banollim  พวกเขามีข้อมูลเกี่ยวกับเซมิคอนดัคเตอร์น้อยมาก และไม่มีความคุ้นเคยแม้แต่ชื่อเรียกของกระบวนการผลิตในโรงงาน แต่พวกเขาเชื่อว่า พวกเขาสามารถนำความจริงเกี่ยวกับปัญหาการทำงานหนักนี้มาเปิดเผยเป็นที่ปรากฎได้

หลังจากที่ได้รวมตัวกันเป็นองค์กร การดำเนินการในกรณีแรกคือคือกรณีของปาร์ค จิ วอน (Park Ji veon) ซึ่งเสียชีวิตในเดือนมีนาคมปี 2010 ด้วยวัย 23 ปี  ปาร์คทำงานในหน้าที่ตรวจคัดเซมิคอนดัคเตอร์ เธอเริ่มเข้าเป็นคนงานซัมซุงอิเลคทรอนิกส์เมื่อเดือนธันวาคม 2004 ในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีสุดท้าย  ในปี 2007 เธอตรวจพบลูคีเมีย (acute myeloid leukemia) ซึ่งในที่สุดโรคนี้ได้คร่าชีวิตเธอไป ลีบอกว่า “การเฝ้าดูเธอต่อสู้กับโรคร้ายมันเป็นเรื่องทรมานใจ”

ปาร์คเสียชีวิตก่อนที่เรื่องของเธอจะมีโอกาสทำให้ผู้คนเสียน้ำตา ในเดือนมีนาคม คนงาน 120 คนได้รับแจ้งว่าพวกเขาเป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานในขณะที่ทำงานที่บริษัทซัมซุงอิเลคทรอนิกส์และโรงงานอื่นๆ

เวลา 4 ปีที่ผ่านมาเป็นวันเวลาที่เห็นแต่ความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่โกรธแค้นที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ กับทัศนะจากรัฐบาลและจากซัมซุง

ลีบอกว่า “ มันทำให้ฉันเจ็บปวดเมื่อเหยื่อที่เป็นสมาชิกของครอบครัวตัดสินใจเลิกต่อสู้กับซัมซุงหลังจากที่ซัมซุงได้ไปเยี่ยมพวกเขาและซื้อพวกเขาด้วยเงิน”

“สมาชิกของครอบครัวเหล่านี้มีความโกรธมากกว่าใครๆ และก็รู้ปัญหาทุกอย่าง แต่มันเป็นเรื่องที่หดหู่เมื่อคิดว่าพวกเขารู้สึกยากลำบากเพียงใดที่สุดท้ายต้องเลิกล้มการต่อสู้” ลี กล่าวเพิ่มเติม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: รางวัลแด่ป้ายหาเสียง

Posted: 28 Jun 2011 02:07 AM PDT

Lady and Gentleman... กราบสวัสดีอำมาตย์ ไพร่ สลิ่ม ทั้งที่มีเกียรติและถูกเกลียดทุกท่าน วันนี้ดิฉัน รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์ รู้สึกปลาบปลื้ม ยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มายืนอยู่บนเวทีนี้ (ในชุดของอาร์มานี่) เพื่อมาทำหน้าที่ประกาศผลรางวัล Prachatai Awards อันทรงเกียรติ ก่อนที่จะถึงช่วงนาทีระทึกใจ ว่าใครจะได้รับรางวัลอะไรบ้างในค่ำคืนนี้ ดิฉันขอพาทุกท่านย้อนกลับไปยังเมื่อหลายปีที่แล้ว แฟนนานุแฟนเว็บไซต์ประชาไทคงจะพอจำกันได้ว่า เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ดิฉัน...รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์ เขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่ง วิเคราะห์ป้ายหาเสียงของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งหลากหลายคน ไม่นานหลังจากที่ลงในเว็บไซต์ประชาไท ไทยรัฐก็นำมุกนี้ไปเล่นด้วย ตามด้วยที่อื่นๆ อีกมากมาย แล้วพอมาถึงการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็กลายเป็นประเพณีที่ทุกสื่อลุกขึ้นมาวิเคราะห์ป้ายหาเสียงกันอย่างจริงจัง ดูเป็นงานเป็นการ บางคนอ้างอิงทฤษฎีอีกล้านแปด ไม่ว่าจะเป็นคริส เบเกอร์ หรือสมเถา สุจริตกุล

ดิฉันก็เลยต้องหลีกทางให้ เพราะไม่มีทฤษฎีอะไรกับเค้า แต่ถ้าถามว่ายิ่งลักษณ์ทำผมแบบไหน แต่งหน้าแบบไหน อันนั้นพอตอบได้ เพราะถ่ายแฟชั่นทุกวันนี้ก็ประมาณนี้ล่ะค่ะ

กลับมาที่รางวัล Prachatai Awards กับการแจกรางวัลให้แก่ป้ายหาเสียงยอดเยี่ยมในแต่ละสาขาประจำการเลือกตั้งครั้งนี้ ปีนี้เป็นปีแรกที่จัดขึ้น แต่ขอการันตีถึงความเที่ยงธรรม ยุติธรรม เพราะผลรางวัลทุกรางวัลในค่ำคืนนี้ ตัดสินมาจากคณะกรรมการผู้ทรงเกียรติจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่แบ่งชั้นวรรณะ มีทั้งไพร่ ทั้งอำมาตย์ ทั้งสลิ่ม ปนๆ กันไปในจำนวนที่เท่าๆ กัน เป็นการลงคะแนนลับๆ ไม่มีบัตรผี บัตรเสีย หรือปิดหีบหลังบ่าย 3 ที่สำคัญไม่มี (พรรคการเมืองไหนอยากจะ) การซื้อเสียง ดังนั้นผลรางวัล Prachatai Awards จึงเชื่อถือได้ยิ่งกว่าคำพูดของนักการเมืองคนไหนๆ เอาล่ะค่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอนำทุกท่านเข้าสู่งานประกาศผลรางวัล Prachatai Awards ณ บัดนาว!

เริ่มกันที่รางวัลเล็กๆ เพื่อกระตุ้นความตื่นเต้นกันก่อน ประเดิมด้วยรางวัล ‘Best Costume’ หรือรางวัล ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม เดี๋ยวนี้เรื่องรูปหาเสียงใส่สูท ใส่ชุดครุย ถือว่าเชยมากๆ แล้วค่ะ ชุดราชการประโคมเครื่องราชย์ฯ ว่ายศไหนชั้นไหน ก็ไม่มีใครสนใจมานั่งนับเหรียญ นับแถบกันแล้ว ชุดเสื้อเชิ้ตสไตล์ลำลองแบบพับแขน ปลดไท ที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เคยเป็นผู้นำเทรนด์ในการเลือกตั้งซีซั่นก่อน ก็ถูกก๊อปจนเกลื่อน และในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมได้แก่...(เสียงวงออร์เคสตร้าประโคมอย่างตื่นเต้น แต่น...แตน...แต๊นนน...)

โสภณ ดำนุ้ย จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

ประชาไทบันเทิง

เรียกได้ว่าเป็นตัวเต็งมาตั้งแต่แรก และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีกหลายรางวัล เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่ป้ายหาเสียงปรากฏตามที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ แล้ว กับภาพในชุดกราวนด์สีเขียวอุ้มหมีแพนด้า (คาดว่าจะเป็นหลินปิง) งานนี้ได้รับคะแนนเสียงจากสลิ่มผู้รักสัตว์ (ยกเว้นอีกา แร้ง ตะกวดฯลฯ) อย่างท่วมท้น และเขาเป็นถึงอดีตผู้อำนวยการองค์กรสวนสัตว์ เรื่องเสื้อผ้าที่เป็นเหมือนชุดกาวนด์ของหมอที่ใส่เวลาเข้าห้องผ่าตัดนั้น อาจจะไม่เริ่ดเท่าไหร่ แต่พร็อปที่เป็นหมีแพนด้าหลินปิงนี่สิ ทำให้คอสตูมง่ายๆ ดูมีอะไรขึ้นมาทำให้คนพูดถึง อีกทั้งหมีแพนด้าก็เป็นแมสคอตสัตว์ยอดนิยมของสลิ่ม งานนี้จึงได้รับคะแนนเสียงโหวตอย่างท่วมท้น ส่วนคณะกรรมการที่เป็นไพร่นั้น ต่างถามไถ่กันว่าถ้าได้รับเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ ต้องเอาแพนด้าเข้าไปนั่งในสภาด้วยหรือเปล่า นี่หมายถึง 1 ที่นั่งหรือ 2 ที่นั่ง

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ดิฉันขอไม่อนุญาตให้ผู้ได้รับรางวัลขึ้นกล่าวขอบคุณใดๆ เพราะเดี๋ยวจะเป็นการหาเสียง ผิดกฎ กกต. อีก (เดี๋ยวก็หาว่า Prachatai Awards ไม่ยุติธรรม สีนั่นสีนี่ จัดงานขึ้นมาเพื่อให้นักเมืองพรรคนั้นพรรคนี้ขึ้นมากล่าวหาเสียงอีก) ขอข้ามไปยังรางวัลต่อไปเลยแล้วกันค่ะ

รางวัลลำดับที่สองของค่ำคืนนี้ ดิฉันขอประกาศรางวัล ‘Best Make Up’ แต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม ซึ่งเราๆ ท่านๆ ก็คงรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นตัวเต็งสำหรับรางวัลนี้ เพราะแค่เมื่อรูปหาเสียงออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงอลหม่าน วิเคราะห์กันถึงแก่นว่าใช้เทคนิคอะไร จัดแสงแบบไหน รีทัชตรงไหน หน้าถึงได้มีอายุกว่าตัวจริง ดัดผมแบบไหน ใช้เจล หรือสเปรย์ ปลายผมแบบนี้มีความหมายทางโลกย์ทางธรรมว่ายังไง ยาว...กันไปเลยทีเดียว และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาดิฉันขอประกาศรางวัลแต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม ได้แก่...(เสียงดนตรีอันเดิมนั่นแหละ)

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคเพื่อไทย

ประชาไทบันเทิง

งานนี้แม้ฝ่ายอำมาตย์จะกดโหวต ‘NO’ ทุกคน แต่ผลรางวัลนี้ก็ตกเป็นของเธอโดยมติเอกฉันท์คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง เนื่องด้วยฝ่ายสลิ่มแม้จะไม่ชอบเสื้อแดงเท่าไหร่ แต่ก็เป็นพวกแฟชั่นนิสต้า เห็นป้ายหาเสียงยิ่งลักษณ์แล้วก็คิดได้ประหนึ่งว่าหน้าปกโว้ก เลยลงคะแนนให้ เพราะถึงอย่างไรวันเข้าคูหาก็กาเบอร์ 10 อยู่แล้ว Prachatai Awards ไม่น่าจะมีอิทธิพลส่งผลถึงคะเนนเลือกตั้งจริง แต่ไม่รู้เพราะบทความวิพากษ์วิจารณ์ทรงผมกระตุ้นอารมณ์ทางโลกย์และของผู้ชายนั่นหรือเปล่า ยิ่งลักษณ์จึงรีบเปลี่ยนป้ายหาเสียง มีรูปใหม่อีกอันที่รีทัชและไดคัทได้ห่วยแตกสุดๆ

รางวัลต่อไปที่ดิฉันจะประกาศในค่ำคืนนี้ คือรางวัล ‘ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม’ หรือ หรือ Best Picture Editing รางวัลนี้มีผู้เข้าชิงมากมาย จากหลากหลายพรรค แต่ผลรางวัลตัดต่อภาพยอดเยี่ยมเป็นของ...(แต่น แตน แต๊นนน...)

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยค่ะ...ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ

ประชาไทบันเทิง

รางวัลนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่คณะกรรมการ ว่าป้าย ‘VOTE NO’ ของพันธมิตรฯ นั้นเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา เอ้ย! ตามกฎระเบียบของ Prachatai Awards หรือไม่ เนื่องด้วยนี่ไม่ใช่ป้ายหาเสียง และไม่ได้สังกัดพรรคหรือสมัครรับเลือกตั้ง หากพิจารณาตัวบทกฎหมาย ตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่เข้าข่ายแน่นอน แต่เนื่องด้วย Prachatai Awards ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกสี หรืออยู่ข้างใด อีกทั้งคณะกรรมการของเรานั้น ก็ไม่เคยใช้ระบบตุลาการภิวัตน์ (หรือปฏิวัติ?) อย่างที่ศาลไทยชอบใช้ และเห็นว่าป้ายของพันธมิตรนั้นก็อยู่ในกระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงอนุโลมให้เข้าชิงรางวัลในครั้งนี้ด้วย และผลก็ปรากฏว่าความสร้างสรรค์ในการตัดต่อภาพบรรดาสัตว์เหี้ยห่าสารพัดให้ (คิดไปได้ว่า) เป็นนักการเมือง พร้อมสโลแกนว่า ‘อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภาฯ’ นั้นเป็นแคมเปญที่เก๋ไก๋ สัสันสดใส ป๊อปอาร์ตมากๆ แอนดี้ วอฮอล มาเห็นอาจร้องกรี๊ดได้ แม้จะเป็นเทคนิคการตัดต่อแบบง่ายๆ เด็กอนุบาลหัดทำโฟโต้ช็อป แต่ด้วยความสร้างสรรค์และกลายเป็นกระแสสังคม คณะกรรมการของเราจึงเทคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ ร้อยเสียงในห้องส่งโหวตให้เต็มร้อยเลยทีเดียว แต่เนื่องด้วยถ้วยรางวัลของเราอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจกลุ่มพันธมิตร งานนี้เราจึงหล่อถ้วยรางวัลพิเศษขึ้นมาใหม่เป็นรูป ‘เขาพระวิหาร’ เพื่อมอบให้แก่กลุ่มพันธมิตรฯ โดยเฉพาะ (ซึ่งได้ทำจดหมายกราบเรียนเชิญสมเด็จฯ ฮุนเซน มาเป็นประธานในการมอบรางวัลนี้แล้ว แต่...ท่านไม่สะดวก (ใจ) มา จึงขอกราบขออภัยกลุ่มพันธมิตรฯ ไว้ ณ ที่นี่ด้วยค่ะ)

เอาล่ะค่ะ...3 รางวัลผ่านไปแล้ว ก่อนที่ดิฉันจะกลับมาประกาศรางวัลต่อไป ขออณุญาตไปเปลี่ยนชุดก่อนนะคะ...เชิญแขกผู้มีเกียรติทุกสังกัดอุดมการณ์ทางการเมือง ไปดื่มน้ำ ปัสสาวะได้ค่ะ ดิฉันอนุญาต

เดินทางมาถึงรางวัลที่ 4 ของค่ำคืนนี้ เนื่องด้วยคณะกรรมการของเรางงๆ ก่งก๊ง กับรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยมและองค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม (ที่จริงไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ ดิฉันขี้เกียจเขียน ชักจะยาวเกินไปละ) จึงขอรวบยอดเป็นรางวัลเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่ารางวัล ‘ทัศนศิลป์ยอดเยี่ยม’ หรือ Best Art Direction ซึ่งงานนี้มีผู้เข้าชิงรางวัลที่มีคะแนนคู่คี่สูสีถึงสองรายด้วยกัน นั่นก็คือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ และรางวัลภาพทัศนศิลป์ตกเป็นของ (แต่น แตน...แต๊นนน...)

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ค่ะ

ประชาไทบันเทิง

รางวัลนี้คณะกรรมการทำงานกันหนักมาก เนื่องด้วยคุณชูวิทย์ เป็นตัวเต็งมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อน ทั้งรูปทำท่าถะมึงทึง หรือขี่มอเตอร์ไซต์ ถือกล้องส่องทางไกล แต่พอมาถึงการเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้จะยังมี ‘มุข’ เก่าๆ ปรากฏอยู่บ้าง แต่มุขใหม่ๆ อย่างอุ้มเด็ก อุ้มหมา นั้นทำให้ ‘ภาพรวม’ ของป้ายหาเสียงของชูวิษฐ์ไม่ค่อยจะกลมกลืนไปด้วยกัน และรูปเด็ก รูปหมาก็ไม่สวย ไม่อาร์ตสักเทาไหร่ ส่วนของคุณอภิสิทธิ์นั้น โชว์ความสวยงามด้วยเลนส์ซอฟต์ใส ให้บรรยากาศฟุ้งฝัน (หรือชวนฝัน?) มีทั้งชัดลึก ชัตตื้น แบ็กกราวนด์ โฟว์กราวนด์ ครบทุกองค์ประกอบศิลป์ และรูปที่ทำให้คุณอภิสิทธิ์ชนะใจกรรมการไปได้ในสาขานี้ก็คือรูปที่ คุณอภิสิทธิ์ถือแผนที่อยู่ในมือ โอ...รูปนี้ช่างเหมือน...เหมือน...เหมือน...เสียยิ่งกระไร

ก่อนที่ดิฉันจะถูกตำรวจหิ้วปีกเข้าคุก ขอประกาศรางวัลต่อเลยแล้วกันค่ะ กลัวว่าจะอยู่ไม่ถึงประกาศผลรางวัลสุดท้าย รางวัลต่อไปคือรางวัล ‘บทหรือประโยคในป้ายหาเสียงยอดเยี่ยม’ หรือ Best Screenplay ซึ่งปีนี้ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดสูสีเข้าชิงถึง 4 พรรค คือพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และพรรครักประเทศไทยของคุณชูวิทย์ และรางวัล Best Screenplay ได้แก่...(แต่น แตน แต๊นนน...)

ป้ายหาเสียงจากพรรคภูมิใจไทยค่ะ ขอแสดงความยินดีด้วยค่า...

ประชาไทบันเทิง

ในสาขานี้ชูวิทย์คะแนนนำโด่งมาตั้งแต่แรก ด้วยประโยคเด็ดๆ หลากหลายประโยคที่อ่านแล้ว ‘ฮุก’ อย่างกับหมัดซ้ายของเขาทราย (ว่าแต่ เขาทรายถนัดหมัดข้างไหนคะ...) ทั้ง ‘การเมืองเหมือนผ้าอ้อม ยิ่งเปลี่ยนยิ่งดี’ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ก็มีหลายแคมเปญ เด็ดๆ ทั้งนั้น ทั้ง ‘เบนซิน 35 ดีเซล 30’ ‘เกิดวันนี้ 20 ปีมีเงินล้าน’ ส่วนเพื่อไทยก็เล่นตลาดทุกวัยทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ ไล่มาเป็นตัวเลขและช่วงอายุเลยทีเดียว หรือเด็กวัยรุ่นอย่างแคมเปญเสนอแทบเล็ตให้คนละเครื่อง (ดิฉันก็อยากได้ไอแพดเหมือนกันนะ) แต่ภูมิใจไทยสามารถคว้ารางวัลนี้ไปได้ ด้วยป้ายหาเสียงที่มีแคมเปญสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘Sale 2% ทั้งชาติ ถูกทั้งประเทศ’ โอ้...นี่ต้อง Copy Writer มือขั้นเมพขิงๆ เลยทีเดียว แคมเปญหาเสียงยิ่งกว่าป้ายลดราคาห้างพารากอนเสียอีก ดึงดูดใจชะมัด! เชิญรับรางวัลไปเลยค่ะ

รางวัลต่อมาคือรางวัล Best Effect หรือ Best Special Effect หรือในภาษาไทยที่ว่า รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของ (แต่น...แตน แต๊นนน...)

ป้ายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยค่ะ ! เชิญขึ้นมารับไปอีกหนึ่งรางวัลค่ะ

ประชาไทบันเทิง

รางวัลนี้เป็นการแย่งชิงกันระหว่างสองพรรคที่มีผ้ายหาเสียงคล้ายคลึงกันนั่นก็คือพรรคภูมิใจไทย กับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่เล่นรูปแบบคล้ายๆ กันคือใช้ ‘ภาพ’ เพื่อดึงดูดสายตา อันสอดคล้องไปกับนโยบายที่เสนอ ดังเช่นพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่มีกลุ่มคนหลากหลายอายุ อาชีพ มาชู 2 นิ้วตามแคมเปญต่างๆ แม้จะดึงดูดสายตาและไปกันได้ดีกับนโยบายที่เสนอ แต่เมื่อพิจารณาจากภาพต้องบอกว่าเบๆ ฟลอร์ๆ (พื้นๆ) แต่เมื่อเทียบกับภาพของพรรคภูมิใจไทยที่ใช้เทคนิคอลังการดาวล้านดวง อย่างเช่น เมื่อพูดถึงของราคาถูกลง 2% ก็เป็นภาพชายชูป้าย 2% ทำหน้าดีใจอย่างกับถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง 32 ล้าน! ข้างหลังเป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตสีทองอร่ามสวยเชียว! หรือแคมเปญสร้างที่ทำกิน 1 ล้านคนก็เป็นคนหาบเร่แผงลอยกับวินมอเตอร์ไซต์ข้างหลังมีวินรถตู้เป็นแบ๊กราวนด์ พร้อมด้วยฟ้าสีทองผ่องอำไพ (เมื่อภูมิใจไทยเป็นใหญ่ในแผ่นดิน) ต้องบอกว่าใช้เทคนิคขั้นเมพขิงๆ (อีกรอบ) จริงๆ

มาถึงนาทีระทึกใจกับช่วงสุดท้ายของการประกาศรางวัลแล้ว คิดว่าหลายๆ คนคงตื่นเต้นใช่ไหมคะ ดิฉันก็ตื่นเต้นค่ะ ว่าจะเข้าคุก หรือโดนใคร อะไร ยังไง ฟ้อง (ข้อหาสุดฮิต) หรือเปล่างานนี้ เอาเป็นว่า ขอไม่เปลี่ยนชุดแล้วกันค่ะ ประกาศรางวัลต่อไปเลยแล้วกัน

รางวัลต่อไปที่ดิฉันจะประกาศคือรางวัล ‘นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม’ หรือ Best Actor In A Supporting Role ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ได้แก่...(แต่น แตน แต๊นนน...)

ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยค่ะ...ขอเชิญผู้แทนขึ้นรับรางวัลด้วยค่ะ เพราะทักษิณเข้าประเทศไม่ได้ อีกทั้งยังไม่รู้ว่าอยู่ประเทศไหนด้วย

ประชาไทบันเทิง

ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นจากคณะกรรมการที่มอบให้กับทักษิณชนะขาดในรางวัลนี้ เพราะแม้ตัวจะไม่ได้อยู่เมืองไทย ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็มีข่าวออกมาไม่เว้นแต่ละวัน อย่างกับลงเลือกตั้งเอง น่าจะเปลี่ยนจากคำว่า ‘สมทบ’ เป็น ‘สนับสนุน’ เสียมากกว่า พิสูจน์ได้จากป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่เขียนไว้ว่า ‘ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ’ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้คิดว่าชักใย อุ๊ย! สนับสนุน อุ๊ย! สมทบอยู่เบื้องหลังได้ยังไงล่ะคะ

ตามติดมาด้วยรางวัล ‘นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม’ หรือ Best Actress In A Supporting Role ซึ่งได้แก่...(แต่น...แตน...แต๊นนน...)

ไม่มีผู้ใดได้รับรางวัลนี้ค่ะ!

ที่จริงทางคณะกรรมการกะจะมอบรางวัลนี้ให้แก่บรรดาหญิงสูงศักดิ์ที่หนุนหลัง อุ๊ปส์ ดิฉันหมายถึงคุณหญิงคุณนายผู้ดีเก่าเงินถุงเงินถังสมทบทุนบริจาคให้พรรค"ประชาธิปัตย์ แต่เนื่องด้วยมีหลายคนและแต่ละคนไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือถูกอ้างถึงในป้ายหาเสียงอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถมอบรางวัลนี้ให้ได้ ขอแสดงความเสียใจด้วยนะคะ

เอาล่ะค่ะ มาถึงรางวัลใหญ่สำหรับค่ำคืนนี้ 3 รางวัลสุดท้าย ซึ่งก็คือ นักแสดงนำยอดเยี่ยมทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง และภาพป้ายหาเสียงยอดเยี่ยม มาเริ่มกันที่รางวัล นักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม Best Actress In A Leading Role แน่นอนค่ะ รางวัลนี้จะเป็นของใครไม่ได้นอกจาก ...(แต่น แตน แต๊นนน...)

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยค่ะ

เหตุผลกลใด คงไม่ต้องสาธยายนะคะ เอาเป็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เธอเป็น ‘นำหญิง’ ยอดเยี่ยมอย่างไร้ขอ้กังขา

ส่วนรางวัล นักแสดงนำชายยอดยี่ยม สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ได้แก่ (แต่น แตน แต๊นนน...)

แน่นอนเช่นกันค่ะ รางวัลนี้ตกเป็นของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากเหตุผลป้ายหาเสียงที่โชว์ความหล่อความใส ประหนึ่งทอม ครูซ ในหนังเรื่อง Top Gun (เอ๊ะ! แก่ไปไหม) แล้ว คงไม่มีใครจะเหมาะสมกับตำแหน่ง ‘นำชาย’ ที่พอจะเบียดเสียด คู่คี่ ตีรันฟันแทง สาดโคลน โค่นฐานเสียง กับ ‘นำหญิง’ ได้เท่าอภิสิทธิ์อีกแล้ว แม้จะมีเสียงติติงมาจากคณะกรรมการอีกฟากหนึ่งว่าชูวิทย์ควรได้รางวัลนี้ไป แต่ด้วย ‘รสนิยม’ ของคณะกรรมการแล้วพิจารณาเห็นว่า ชูวิทย์นั้นแม้จะเล่นบทบาทดราม่าได้ถึงพริกถึงขิง อีกทั้งเนื้อเรื่องก็มีทั้งการประชดประชันสียดสี นี่ถ้าเป็นออสการ์คงได้ทั้งบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและดารานำชายยอดเยี่ยมไปแล้ว

แต่เนื่องด้วยอภิสิทธิ์นั้นมาเหนือกว่าด้วยบทบาทที่เล่น ‘น้อย’ แต่ได้ ‘มาก’ หรือ Less Is More ซึ่งเป็นเทรนด์ของนักแสดงในตอนนี้ ดูได้จากป้ายหาเสียง ที่แค่ยิ้มหวานๆ แต่กินใจ ใช้องค์ประกอบอื่นๆ อย่างยืนทำท่าเคร่งเครียดถือแผนที่เข้าช่วย นัยว่าบุกไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเอาจริงเอาจังทุกหย่อมหญ้าถิ่นทุรกันดาร นั่งยิ้มหวานพูดกับตาสีตาสาที่ไหนไม่รู้ นัยว่าติดดินเข้าถึงประชาชน หรือยืนสายตามองไปข้างบนเด่นเป็นสง่าข้างหลังเป็นแบ๊กกราวนด์เบลอๆ เหมือนธงชาติหลายๆ ชาติประหนึ่งเป็นผู้นำภูมิภาค เห็นไหมว่า เล่นน้อยแต่ได้มาก ไม่ต้องทำหน้ายักษ์หน้ามาร แสดงอารมณ์มากมาย แถมยังหล่ออีก จะไม่ได้รางวัลนี้ได้อย่างไร

Lady And Gentleman อำมาตย์ ไพร่ สลิ่ม ทั้งที่มีเกียรติและถูกเกลียดทุกท่านคะ มาถึงรางวัลสุดท้ายของค่ำคืนนี้ ที่ทุกท่านรอคอยด้วยความตื่นเต้น ใจจดใจจ่อกันแล้วค่ะ กับรางวัล Best Picture หรือภาพป้ายหาเสียงยอดเยี่ยมสำหรับการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาจากทุกองค์ประกอบทั้งหมดที่ได้ให้รางวัลมา และรางวัล ภาพป้ายหาเสียงยอดเยี่ยม Best Picture ประจำการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่...(แต่น..แตน แต๊นนน...)

ป้ายหาเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ค่ะ! (ทุกคนยืนปรบมือ Standing Ovation อย่างพร้อมเพียง)

 

  

ขอแสดงความยินดีกับรางวัลสูงสุดของงานด้วยนะคะ คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีภาพป้ายหาเสียงยอดเยี่ยมที่สุด ถ้าเทียบเป็นหนังก็เรียกได้ว่ามีครบทุกรส มีทั้งแนวไซไฟ กับภาพรถไฟฟ้าความเร็วสูงปรี๊ดสิ่งอยู่ข้างหลัง แนวบู๊กับภาพใส่หมวกออกไซต์งาน แนวดราม่ากับภาพการถ่ายร่วมกับชาวบ้านหลากหลาย แนวโรแมนติกคอมเมดี้ หรือหนังวัยรุ่นกับภาพถ่ายคู่กับนักศึกษา หรือแนวไซโคอย่างประโยค ‘ผมจะไม่ล้างผิดให้คนใดคนหนึ่ง’ ฯลฯ อีกทั้งยังรวมถึงภาพแคมเปญเดี่ยวๆ ที่กล่าวมาในข้ออื่นๆ อีกที่มีอีกหลากหลายแนว ครบทุกรสทุกชาติ แสดงได้เก่งสมบทบาท สมควรได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและภาพป้ายหาเสียงยอดเยี่ยมไปอย่างไร้ขอกังขาและข้อติฉินนินทา

ดิฉัน รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์ ของกราบขอบพระคุณอำมาตย์ ไพร่ สลิ่ม ทั้งที่มีเกียรติและถูกเกลียดทุกท่านที่มาเป็นเกียรติ (และอาจเกลียดดิฉัน) ในการประกาศผลรางวัล Prachatai Awards ครั้งนี้ และกราบขออภัยหากมีข้อผิดพลาดประการใดเกิดขึ้น ดิฉันขอให้ทางผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทรับไว้แต่เพียงผู้เดียว (อย่ามาข้องเกี่ยวกับดิฉัน) และก่อนที่งานนี้จะจบลงดิฉันขออาราธนา (ใช้คำนี้ถูกต้องไหมคะ...ไม่ค่อยถนัดเรื่องพระเรื่องเจ้าน่ะค่ะ) ท่าน ว.วชิรเมธี ขึ้นกล่าวธรรมะประโยคเด็ดๆ (เอาเด็ดๆ สั้นๆ เลยนะท่าน แบบว่า Copy Writer เห็นต้องร้องว่าเมพขิงๆ คนจำกันได้ทั่วประเทศเอาไปโพสต์ลงเฟซบุ๊คทั้งบ้านทั้งเมืองเลย) เพื่อเป็นการเตือนสติประชาชนชาวไทยทั้งหลายก่อนถึงวันเลือกตั้งค่ะ

ส่วนดิฉัน รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์ ขอลาแต่เพียงเท่านี้...สวัสดีค่ะ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้”

Posted: 28 Jun 2011 12:51 AM PDT

วานนี้ (27 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ เครือข่ายสื่อประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ เว็บไซต์ประชาไท.คอม จัดงาน นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้” ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ในงานมีการเปิดตัวหนังสือ WeWatch Book ฉบับ In Between; Restive South พร้อมจัดแสดงภาพถ่ายจากเครือข่ายช่างภาพ และเสวนาในหัวข้อ “การเมืองภาพถ่ายในชายแดนใต้”

ตติกานต์ เดชชพงศ บรรณาธิการของหนังสือ WeWatch Book ฉบับ In Between; Restive South เล่าว่า รูปถ่ายและเรื่องราวที่นำมาถ่ายทอดในหนังสือความยาว 159 หน้าเล่มนี้ เป็นผลมาจากการทำงานของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (Deep South Photojournalism) ซึ่งประกอบไปด้วยช่างภาพจากกลุ่มต่างๆ ทั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเยาวชน ทั้งไทยพุทธและมุสลิม และช่างภาพจากนอกพื้นที่ที่มีความสนใจในประเด็นดังกล่าว เธอเล่าความเป็นมาของเครือข่าวดังกล่าวว่า

“เมื่อมีการรวมกลุ่มกัน ก็พบว่าแต่ล่ะกลุ่มเริ่มมีประเด็นที่ร่วมขับเคลื่อนได้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำประเด็นของตัวเอง ในช่วงแรก เมื่อปีที่แล้ว มีช่างภาพที่สนใจมารวมกันได้ราว 30 คน และเมื่อเราจัดงานรวมตัวกันอีกเมื่อต้นปีนี้ ราวเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีช่างภาพเข้ามาร่วมมากขึ้นถึงราว 100 คน โดยกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น กลุ่ม Peace Media และกลุ่ม Bintang Photo”

เธอเล่าว่าเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (DSP) นี้ ทำงานเป็นเครือข่ายซึ่งประสานกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ที่แตกต่างไปจากกระแสหลัก

“วิสัยทัศน์ของ DSP คือเรานำเสนอความหลากหลายของภาพ เพราะเราไม่สามารถนำเสนอภาพใดภาพหนึ่งที่เป็นตัวแทนของพื้นที่ได้ เราต้องการนำเสนออัตลักษณ์ที่หลายหลาย และสามารถสะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงในพื้นที่” ตติกานต์อธิบาย

เช่น ต่อกรณีน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคใต้ในปลายปีที่แล้ว ทางเครือข่ายช่างภาพก็ได้ลงไปเก็บภาพและบันทึกวีดีโอความเสียหายในพื้นที่ และได้นำมาจัดนิทรรศการในที่เกิดเหตุ นับว่ามีประโยชน์ต่อชาวบ้านด้วยในการช่วยเก็บบันทึกข้อมูล

“ที่ผ่านมา คนในพื้นที่ก็ไม่ได้รอส่วนกลาง เพียงแต่ว่าตอนนี้เขามีเครื่องมือที่จะพูดให้ดังขึ้น” บรรณาธิการสาวกล่าว

ฟูอัด แวสะแม คนพื้นเพปัตตานี และช่างภาพอิสระกลุ่ม Seed ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ว่า ได้เริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจังมาสี่ปีแล้ว และสนใจลักษณะการถ่ายภาพสวยงาม เช่น วิวทิวทัศน์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชายแดนใต้เป็นพิเศษ เนื่องจากมองว่า ภาพดังกล่าวเป็นมิติของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ค่อยได้ถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลัก เพราะมักจะต้องการภาพอีกแบบหนึ่งซึ่งมีแต่ความรุนแรง

“ผมมองว่าการถ่ายภาพสามารถบอกเล่าเรื่องราวจากข้างในที่ภายนอกไม่สามารถบอกได้ เช่น วิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ในภาวะปรกติเป็นอย่างไร รวมถึงความสวยงามของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะสื่อไปถึงคนข้างนอกแล้ว ยังทำให้สามารถดึงดูดช่างภาพด้วยกันได้ด้วย... แค่ทำให้คนอื่นอยากลงมาเยือนและเก็บภาพในสามจังหวัดผมก็ดีใจแล้ว” ฟูอัดกล่าว

“สำหรับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สะสมมายาวนาน การถ่ายภาพคงไม่ได้ช่วยพลิกสถานการณ์ทันที แต่หวังว่าจะเยียวยาวความรู้สึกของคนที่นี่ได้บ้าง ให้รู้สึกว่ามีอักมุมหนึ่งที่มีความสวยงามและกิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งมองว่าเป็นการเยียวยาได้อีกทางหนึ่ง”

มูฮัมหมัดซอเร เด่ง หรือ “ซอเร” นักกิจกรรรมและช่างภาพอิสระกลุ่ม Bintang Photo เท้าความไปถึงในสมัยที่ตนเองได้ทำกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชนอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เขาเริ่มเห็นความสำคัญของการถ่ายภาพในฐานะส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคม เนื่องจากมองว่าเป็นการสื่อสารกับคนภายนอกให้รับรู้ถึงสิ่งดีๆ เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ซอเร กล่าวว่า เขาเพิ่งจะเริ่มสนใจถ่ายรูปจริงจังก็เมื่อปลายปีที่แล้ว

“สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตคือ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อพายุดีเปรสชั่นถล่มปัตตานี ทุกคนจะโฟกัสในจุดใหญ่ๆ เช่น หมู่บ้านดาโต๊ะ แต่ในจุดเล็กๆ กลับถูกมองข้าม ในหมู่บ้านหนึ่งบริเวณเมืองปัตตานี ใช้เวลาถึงสองวันกว่าคนจะรู้ว่ามีความเสียหาย มีคนเสียชีวิตหนึ่งคน ผมจึงอยากจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือ จึงได้ไปถ่ายสภาพบ้านที่พังและโดนน้ำซัด และนำไปโพสต์ในเฟซบุคเพื่อหาเงินบริจาคให้ครอบครัว ทำให้เราสามารถหาเงินบริจาคได้หมื่นกว่าบาทเพื่อไปช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบภัย” ซอเรกล่าว

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้ทำให้เขาเริ่มสนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจัง และได้เข้าไปรู้จักช่างภาพคนอื่นๆ ในเครือข่าย DSP มากขึ้น พร้อมทั้งได้ตั้งกลุ่ม Bintang Photo โดยรวมเป็นกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพื่อรวบรวมคนที่สนใจภาพถ่ายที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 200 คน และต่อมาได้พัฒนาเป็นเว็บไซต์ www.bintangphoto.com ซึ่งเป็นความพยายามของเขาและกลุ่มเพื่อนำเสนอสิ่งที่หาดูได้ยากในสามจังหวัด โดยเน้นเรื่องการดำเนินวิถีชีวิตในชุมชน

“ในกลุ่มคนที่มาโพสต์รูปในกรุ๊ป ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวิถีชีวิต มันบ่งบอกว่า คนในสามจังหวัดไม่ได้อยากนำเสนอภาพที่รุนแรงออกไป ผมอยากให้ทุกคนมองสิ่งที่เรียกว่ารัก ซึ่งเป็นอารมณ์ร่วมของคนในพื้นที่ การถ่ายรูปมันเป็นส่วนหนึ่งในการระบายจากหัวใจ” ซอเรกล่าว

นครินทร์ ชินวรโกมล หรือ “ป๋าโด่ง” ช่างภาพสื่อมวลชนเครือเนชั่น,อีเอพี และคนพื้นเพชาวจีนจากจังหวัดยะลา ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจในฐานะช่างภาพข่าวมืออาชีพ และในขณะเดียวกันก็เป็นคนในพื้นที่ด้วยว่า การนำเสนอภาพเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ต้องนำเสนออย่างรับผิดชอบ โดยนำเสนอตามความเป็นจริง แต่ให้ลดความรุนแรงของภาพลง เพื่อเป็นการเคารพคนที่เสียชีวิต และคนในพื้นที่ที่ยังมีชีวิตอยู่

“ภาพดีๆ มันไม่ค่อยขายเป็นข่าวได้ มันต้องมีความรุนแรง ภาพถ่ายที่ได้ออกไปสู่สาธารณะจึงมักจะเป็นภาพที่ดูรุนแรง และผมเองก็มักจะเป็นจำเลยในทุกวงว่า เป็นคนทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดูรุนแรงขึ้นหรือไม่ แต่อย่าลืมว่า ภาพที่ถ่ายออกมานั้น ก็เป็นการสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น และอยากให้ทุกคนเห็นว่าที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะทำยังไงให้ภาพพวกนี้มันหายไปในพื้นที่” นครินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นครินทร์ ในฐานะที่ประจำการในจังหวัดยะลากล่าวว่า ตนมองว่าความเป็นอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีส่วนที่สันติมากกว่าความขัดแย้งเยอะกว่ามาก บทบาทของสื่อทางเลือก เช่น DSP จึงมีความสำคัญในการนำเสนอพื้นที่ตรงนี้ออกไปสู่สังคม เพื่อมาถ่วงดุลกับภาพความรุนแรงในสื่อกระแสหลัก

“ตราบใดที่เราคิดให้เป็นกลาง ภาพที่เราถ่ายจะเกิดสันติภาพและไม่เกิดอคติ ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่ามีอคติประกอบอยู่ในรูปภาพส่วนใหญ่ เช่นว่า มุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ผมไม่เชื่อเช่นนั้น เราต้องมีสันติภาพในความคิดตัวเองก่อน จึงจะได้ภาพที่ดีออกมา” “ป๋าโด่ง” กล่าวส่งท้าย

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท และคอลัมนิสต์อิสระ ได้พูดถึงการเมืองในภาพถ่ายว่า ในปัจจุบัน ภาพถ่ายกำลังทำงานทางการเมือง ต่อรอง แย่งชิงพื้นที่ของตัวเอง ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ภาพถ่ายก็มีหน้าที่การทำงานแบบหนึ่งในฐานะเครื่องมือของชนชั้นสูง เช่น ในสมัยรัชกาลที่สี่และห้า เมื่อตอนที่สยามยังมีอาณานิคม ภาพถ่ายก็ถูกใช้เพื่อเป็นการยืนยันและรับรองในสิทธิของตนเองเหนือดินแดนใดดินแดนหนึ่ง แต่หากมองกลับมาในยุคนี้ เครื่องมือชิ้นนี้ก็ได้เปลี่ยนไปเช่นกัน

“เมื่อก่อน กล้องอยู่แต่ในมือของคนที่มีอำนาจ จำกัดเฉพาะคนบางสถานะ บางชนชั้น แต่ปัจจุบันใครสามารถถ่ายก็ได้ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถเพิ่มโอกาสในพูดถึงเรื่องราวของเราได้มากขึ้น ในการทำประเด็นที่เราสนใจ และสื่อสารให้คนอื่นรับรู้ได้มากขึ้น” ภาพันธ์กล่าว และมองว่า การถ่ายภาพเองยังมีคุณค่าต่อความทรงจำ

“บางทีเราอาจมองการถ่ายรูปเป็นเรื่องความโรแมนติกก็ได้ เช่น บางสิ่งที่ไม่เราเคยให้ความหมาย เมื่อได้มาเห็นรูป อาจจะมองเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการช่วยเตือนความจำในอดีต และเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังสำหรับอนาคต”

นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้”

นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้”

นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้”

นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้”

นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้”

นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น