โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ประมวล เพ็งจันทร์ : พุทธศาสนามีมิติทางสังคมหรือไม่? (1)

Posted: 18 Jun 2011 02:12 PM PDT

“ถ้าสมมติว่าเราพูดถึงนิพพานในฐานะซึ่งเป็นเป้าหมายของปัจเจก ก็เรื่องราวคำอธิบายก็จะเป็นปัจเจก แต่ถ้าเราบอกว่านิพพานเป็นเป้าหมายของสังคม เรื่องก็จะถูกอธิบายในความหมายทางสังคม เพราะเวลาที่เราพูดถึงนิพพานก็คือสภาวะที่มันสงบเย็นใช่ไหม คำถามก็คือว่าเป็นความสงบเย็นเชิงปัจเจกหรือเป็นความสงบเย็นเชิงสังคม ถ้าสมมติมันเป็นความสงบเย็นทางสังคม ก็แน่นอนมีพื้นที่หรือมีมิติทางสังคม ก็อธิบายได้ว่ามีมติติทางสังคม” (ประมวล เพ็งจันทร์)
 
 
 
 
(สัมภาษณ์เมื่อ 17 มิถุนายน 2554,10-12.00 น. ที่วิไอพี คอนโดเชน หัวหิน)
 
ชาวพุทธบ้านเรามักมองว่า พุทธศาสนาตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่ก็มีมุมมองตรงข้าม เช่นนักสังคมวิทยาอย่าง แม็ก เวเบอร์ มองว่า พุทธศาสนาไม่มีมิติทางสังคม เป็นเรื่องของความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลเท่านั้น อาจารย์คิดอย่างไรครับ?
 
ผมคิดว่าเมื่อเราพูดถึงพุทธศาสนาส่วนที่เป็น หลักธรรม  หรือเป็น หลักการ นะครับ มันก็ยังไม่มีความหมายว่าจะถูกตีความไปในมิติไหน แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เวลาเราศึกษาพุทธศาสนา บางครั้งเราไปศึกษาในลักษณะที่เป็น ปรากฏการณ์ ซึ่งถูกตีความแล้ว พอถูกตีความแล้วมันก็มีความหมายว่าปรากฏการณ์นั้นมันต้องผ่านสถานการณ์ ทีนี้ในสถานการณ์นั้นมันมี บริบท ส่วนใหญ่เราก็จะเอาสถานการณ์และบริบทนั้นๆ มาเป็นตัวกำหนดความหมายของหลักการ
 
ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดเรื่องชาดก ส่วนใหญ่เราจะจำสถานการณ์และบริบท แต่เราไม่ค่อยคิดถึงหลักการสักเท่าไหร่ ทั้งที่ความจริงแล้วชาดกคือเรื่องราวที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาโดยเอาหลักการในพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้ง แล้วก็สร้างสถานการณ์ สร้างบริบทขึ้นมาเพื่ออธิบายความหมายของหลักการนั้น
 
ทีนี้เวลาเขาสร้างสถานการณ์หรือบริบทขึ้นมาอธิบายหลักการนั้น มันมีความสัมพันธ์กับสังคมในยุคสมัยนั้นด้วย เราก็ทราบดีว่าชาดก 500 เรื่องนั้นเกิดขึ้นเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาสู่ลังกาแล้ว พุทธศาสนาที่เป็นชาดกในตอนต้นจริงๆ มีอยู่ประมาณสัก 10 เรื่อง เพราะฉะนั้น สถานการณ์หรือบริบทที่ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นตอนที่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าไปสู่ลังกาแล้ว แต่ลังกาก็ยังสร้างขึ้นให้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดีย ในยุคที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ นี่เราพูดในแง่ของหลักวิชาการนะครับ
 
ถ้าบอกว่าเอาบริบทมาอธิบายหลักการ ในชาดกเช่นพระเวสสันดร ชัดเจนว่าที่ทำทุกอย่าง เช่นบริจาคช้างคู่เมืองแม้กระทั่งลูกเมียเพื่อเป้าหมายคือการบรรลุพระโพธิญาณหรือนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงปัจเจก ก็เลยเกิดคำถามว่า หลักการพุทธศาสนาไปตอบโจทย์ปัจเจกบุคคลเท่านั้นหรือ ยอมสละทุกอย่างแม้กระทั่งให้ลูกเมียต้องทนลำบากเพื่อเป้าหมายส่วนตัว?
 
คือสิ่งที่ผมพูดแต่แรกก็ชัดขึ้น ก็คือจริงๆ แล้วในกรณีนี้หลักการในพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักธรรมเรื่องทาน   ทาน หมายความว่าอย่างไร ทานมีผลอย่างไร ถูกอธิบายความล่ะทีนี้ ใช้ทานไปในความหมายอย่างไร เพราะหลักการของพุทธศาสนาก็คือสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่ถูกเรียกว่าทานเนี่ยเป็นสภาวธรรมที่จำเป็น ขาดไม่ได้สำหรับบุคคลที่ประกาศตน หรือต้องการเข้าถึงพระโพธิญาณ เข้าให้ถึงความเป็นพุทธะ
 
เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดในประเด็นนี้มันจึงมีความหมายว่า เอ๊ยเราจะทำยังไง ก็มีสถานการณ์ ก็มีปรากฏการณ์ก็คือกรณีพระเวสสันดร แต่บางครั้งเราก็ไปติดสิ่งที่เรียกกันว่าปรากฏการณ์หรือบริบทที่ผมพูดถึงเมื่อตะกี้ว่า มันต้องแยกให้ออกว่าระหว่างสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นความหมายเพื่อให้เข้าใจหลักการ ทีนี้ความหมายมันจะไม่ปรากฏ เพราะว่าความหมายจะต้องปรากฏผ่านสถานการณ์ ผ่านบริบท กรณีนี้มันจึงมีสิ่งที่ทับซ้อนกันระหว่างสิ่งที่เรียกว่าความหมายของทานที่ถูกอธิบายผ่านปรากฏการณ์หรือบริบทของพระเวสสันดร
 
อาจารย์กำลังจะบอกว่าหลักการของพุทธศาสนาจริงๆ มันไม่เกี่ยวกับมิติปัจเจก หรือมิติทางสังคม?
 
นั่นคือสิ่งที่ผมตอบคำถามอาจารย์ว่า ต้องกลับไปสู่ประเด็นเริ่มต้นก่อนที่พุทธศาสนาถูกวิจารณ์ว่าไม่มีมิติทางสังคมใช่ไหมครับ ผมจึงบอกว่าต้องกลับไปสู่ประเด็นก่อนว่าสิ่งที่เป็นพุทธศาสนาที่ตอนที่เป็นหลักการอยู่นั้นมันยังไม่มีความเป็นมิติว่า เป็นสังคมหรือเป็นปัจเจกบุคคล
 
แล้วมิติของมันคืออะไรครับ?
 
มิติของมันคือถูกอธิบายสิทีนี้ ถูกอธิบาย เพราะฉะนั้น เวลาพุทธศาสนาถูกอธิบาย คำถามคือใครคือผู้นำพุทธศาสนามาอธิบาย ถ้าสมมติว่านักปกครองนำพระพุทธศาสนามาอธิบายเขาก็อธิบายในสถานการณ์ของนักปกครองถูกไหมครับ
 
ทีนี้ผมเริ่มไม่เข้าใจอาจารย์แล้ว คือพุทธศาสนามันเป็นอะไร มันจะลอยๆ อยู่โดยที่ตัวของมันเองไม่เกี่ยวข้องกับปัจเจกกับสังคมเลยหรือครับ?
 
ก็นี่คือประเด็นที่เรากำลังพูดถึง เวลาเราพูดถึงหลักพุทธศาสนา เช่นเพียงแค่เราบอกว่า อริยสัจสี่ หรือ ปฏิจจสมุปบาท ถ้าโดยความหมายของมันนี่ลอยๆ ชัดเจนอยู่แล้ว
 
ลอยๆ อยู่ยังไงครับ?
 
ก็คือว่าเรื่องเหตุเรื่องผลใช่ไหมครับ ลอยๆ อยู่ ทุกข์ เหตุของทุกข์ คำถามก็คือแล้วเราจะเอาหลักการเนี่ยมาใช้ปฏิบัติการอย่างไร ตรงนี้ครับสิ่งที่ลอยอยู่บนฟ้าถูกดึงให้มาสัมพันธ์กับดินแล้วทีนี้ เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงสิ่งที่เรียกกันว่าอริยสัจสี่ ถ้าในการพูดถึงในกรณีของนักบวชจึงถูกดึงมาใช้ในความหมายของการที่จะใช้หลักนี้เพื่อที่จะเป็นกระบวนการในการทำความเข้าใจเพื่อจะหาหนทางในการดับทุกข์
 
แต่พวกเราก็ยอมรับใช่ไหมครับว่า บางครั้งอริยสัจสี่ก็ถูกดึงมาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม จึงมีคำถามและคำตอบในเชิงโต้แย้งกันว่า ต้องตอบไปที่เหตุซิ ทำไม เพราะสิ่งที่มันเป็นผลอยู่ในปัจจุบันนี้ต้องหาสาเหตุให้เจอ ถ้าหาสาเหตุไม่เจอเราก็ไม่สามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าอริยสัจสี่เนี่ยเวลาถูกดึงให้มาสัมพันธ์กับปรากฏการณ์หรือสถานการณ์ ก็มีความหมายเปลี่ยนไปแล้ว ที่เราบอกว่าไม่มีมิติทางสังคมก็มีขึ้นมาแล้ว นั่นก็คือความหมายที่ผมกำลังจะตอบคำถามอาจารย์ว่า คำพูดว่าพุทธศาสนามีหรือไม่มีมิติทางสังคมนั้น มันก็ต้องดูว่าเขาพูดถึงความหมายในเชิงหลักการหรือเชิงปรากฏการณ์
 
ถ้าในเชิงหลักการมันก็ไม่เกี่ยวกับอะไร?
 
มันยังไม่เกี่ยวกับอะไรเป็นการจำเพาะ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเอาหลักการนั้นมาใช้ เหมือนกับเราบอกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ลอยมากเลยนะนี่ (หัวเราะ) ลอยชนิดที่เรียกว่าไม่ได้ลอยอยู่บนฟ้า ลอยอยู่บนห้วงอวกาศเลยนะ
 
อาจารย์กำลังจะบอกว่า นี่มันเป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ?
 
ไม่ใช่ ไม่ถึงขนาดนั้นครับ ผมกำลังจะพูดให้เห็นว่าถ้าเราจะตั้งต้นพูดคุยกันถึงเรื่องพุทธศาสนา เราก็ต้องมีข้อควรคิดคำนึงก่อนที่จะสรุปว่า ที่นักวิชาการท่านหนึ่งพูดนั้นผิดหรือถูกจริงหรือไม่จริงใช่ไหมครับ ว่าความหมายที่แท้จริงมันต้องอยู่ในจุดเริ่มต้นประมาณนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติใครมาเถียงบอกว่าไม่จริง พุทธศาสนามีมิติทางสังคมแล้วก็ยกเรื่องราวอะไรขึ้นมา ก็ยังงั้นก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเรื่องราวที่ยกขึ้นมาเป็นเรื่องราวที่ถูกปรุงให้มีสถานการณ์แล้ว
 
พุทธศาสนาบอกว่านิพพานคือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ถ้าเราดูในชาดกไม่ว่าคุณจะทำดีในมิติอื่นๆ ยังไงก็แล้วแต่ อย่างเช่นเลี้ยงดูพ่อแม่ เสียสละเพื่อสังคม เพื่อคนอื่นๆ แม้กระทั่งเสียสละชีวิตเพื่อคนอื่น หรือเสียสละลูกเมียอย่างพระเวสสันดร แต่คำตอบสุดท้ายก็คือที่ทำทั้งหมดนั้นเพื่อบรรลุนิพพาน อย่างนี้หมายความว่า หลักการพุทธศาสนาจริงๆ ก็เพื่อความหลุดพ้นของปัจเจกบุคคลเท่านั้น?
 
อา...ผมเข้าใจว่าแล้วแต่เราจะดึงไป เพราะถ้าสมมติว่าเราพูดถึงนิพพานในฐานะซึ่งเป็นเป้าหมายของปัจเจก ก็เรื่องราวคำอธิบายก็จะเป็นปัจเจก แต่ถ้าเราบอกว่านิพพานเป็นเป้าหมายของสังคมเรื่องก็จะถูกอธิบายในความหมายทางสังคม เพราะเวลาที่เราพูดถึงนิพพานก็คือสภาวะที่มันสงบเย็นใช่ไหม คำถามก็คือว่าเป็นความสงบเย็นเชิงปัจเจกหรือเป็นความสงบเย็นเชิงสังคม ถ้าสมมติมันเป็นความสงบเย็นทางสังคม ก็แน่นอนมีพื้นที่หรือมีมิติทางสังคม ก็อธิบายได้ว่ามีมติติทางสังคม
 
ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับ คือถ้าเป็นความคิดของตะวันตกสมัยใหม่ เขาก็จะมีความชัดเจนว่าเวลาคุณพูดถึงเรื่องสังคม คุณก็จะมีปรัชญาทางสังคมรองรับใช่ไหม เช่นพูดถึงธรรมชาติที่เป็นสากลของมนุษย์ อย่างเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค จากความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากลนี้ก็ถูกนำมาเป็นหลักการสำหรับออกแบบกติกาที่ยุติธรรมในการอยู่ร่วมกัน เป็นระบบสังคมการเมืองขึ้นมาใช่ไหม แล้วมิติทางสังคมแบบนี้ของพุทธศาสนามีไหมครับ พุทธศาสนามองคุณลักษณะสากลของมนุษย์แล้วไปตอบคำถามเรื่องกติกาที่เป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันไหม พุทธศาสนามีความชัดเจนในเรื่องอย่างนี้อย่างไรครับ?
 
คือ ถ้าเราจะตอบคำถามนี้ โดยใช้มิติหรือข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ นั่นก็คือพุทธศาสนาที่เรากำลังพูดถึงนี้มันกำลังมีความหมายไม่ใช่เป็นเพียงแค่ หลักการบริสุทธิ์ แล้ว เรากำลังพูดถึงกระบวนการอะไรบางสิ่งบางอย่าง หรือหลักการอะไรบางสิ่งบางอย่างแล้วถูกอ้างว่าเป็นพุทธศาสนา
 
เช่นสมมติว่า ในสมัยพระเจ้าอโศกก็ประกาศชัดเจนว่าตัวท่านเองนำเอาคำสอนของพุทธศาสนามาเป็นหลักการปฏิบัติในการปกครอง จนกลายเป็นต้นแบบของประเทศในทวีปเอเชียหลายประเทศที่นับถือพุทธศาสนาในอดีต มีพระเจ้าอโศกเป็นต้นแบบในการที่จะเป็นธรรมิกราชหรือเป็นธรรมราชา ผมเข้าใจว่าในกรณีอย่างนี้ก็คือในกรณีที่เราไปดึงเอาหลักการในพุทธศาสนามาใช้เพื่อการปฏิบัติ และการปฏิบัติเช่นนี้ก็จะมีมิติทางสังคมแล้ว เพราะเป็นการอ้างอิงว่าหลักการปกครองหรือสิ่งที่เรียกกันว่ารัฐกิจ หรือกระบวนการของรัฐโดยใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาเป็นตัวอ้างอิงเพื่อความชอบธรรม
 
ผมเข้าใจว่า ในกรณีเช่นที่ว่านี้เรากำลังพูดถึงพุทธศาสนาในมิติที่เป็นสถานการณ์จำเพาะขึ้นมาแล้ว หมายความว่า ทันทีที่เราอ้างอิงถึงพระเจ้าอโศกในฐานะเป็นธรรมิกราชหรือธรรมราชา คำถามก็คือสิ่งที่พระเจ้าอโศกปฏิบัตินั้นน่ะอยู่ในสถานการณ์เช่นไร เช่นสมมติว่าเมื่อเราพูดถึงพระเจ้าอโศกก็แสดงว่าในสมัยนั้นรัฐยังเป็นรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีนครัฐเล็กๆ ซ้อนกันอยู่ในรัฐใหญ่ๆ อีกทีหนึ่ง ผมเข้าใจว่านี่คือกรณีที่เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดขึ้นเมื่อเรามาถึงปัจจุบัน
 
ในปัจจุบันเวลาเราพูดถึงธรรมิกราชหรือธรรมราชานั้น จะพูดถึงในความหมายอย่างไร เพราะในขณะที่เราพูดถึงพระเจ้าอโศกนั้น พระเจ้าอโศกมีอำนาจเต็มอยู่ในมือ แต่พอมาปัจจุบันรัฐของเราไม่ใช่รัฐแบบนั้นแล้ว รัฐของเรามีมิติของความหมายของรัฐที่เป็น นิติรัฐ คือหมายความว่ารัฐนี้จะอ้างอิงความชอบธรรมและจะสามารถอธิบายความหมายของอำนาจรัฐเนี่ย ต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่ามีกฎหมายรองรับ
 
พอเป็นอย่างนี้ปุ๊ปเรากำลังพูดถึงสถานการณ์สองสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันในเชิงบริบทค่อนข้างมากแล้ว
 
หมายความว่า จะเอามิติทางสังคมแบบพระเจ้าอโศกมาเป็นบรรทัดฐานปัจจุบันไม่ได้?
 
จะเอามิติทางสังคมแบบพระเจ้าอโศกมาวินิจฉัยความชอบธรรมของปัจจุบัน ก็ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเข้าใจความหมายตรงกันได้ พอนึกถึงกษัตริย์ที่ดีปุ๊ปก็นึกถึงพระเจ้าอโศกปั๊บ ผมเข้าใจว่าอย่างนี้มันง่ายเกินไปแล้ว เพราะมันมีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง มีความซับซ้อนในเชิงความหมาย
 
ที่พูดเช่นนี้ก็เพื่อจะกลับมาสู่ประเด็นว่า เวลาเราพูดว่าพุทธศาสนามีมิติทางสังคมหรือไม่เนี่ยนะครับ มันมักจะมีคำถามในความหมายที่ทำให้เกิดความสับสนว่า ตัวพุทธศาสนาซึ่งเป็นบริบทอธิบายปรากฏการณ์ในช่วงนั้นเนี่ยนะครับกับพระพุทธศาสนาที่เราดึงมาในปัจจุบันนี้มันอยู่ในโตรงสร้าง (ทางสังคม) อันเดียวกันไหม ถ้ามันอยู่ในโครงสร้างคนละโครงสร้าง ถ้าเราจะตอบแบบสำเร็จรูปนะว่า ถ้าสิ่งใดที่พระเจ้าอโศกเคยทำแล้วเป็นความชอบธรรม ประกอบด้วยธรรมอยู่ในอดีต เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างนั้นเลยอย่างเนี่ยนะครับ ผมก็จะบอกว่า เอ๊ มันไม่ได้ ไม่ได้นะ เพราะสมัยนั้นพระเจ้าอโศกถึงกับให้สึกพระเป็นจำนวนมากเมื่อพิสูจน์ทราบว่าเป็นอลัชชีปลอมบวช
 
มีการตัดศีรษะพระอริยสงฆ์เพราะความเข้าใจผิดด้วย?
 
ใช่ สมมติว่าปัจจุบันนี้จะทำแบบนั้น
 
ก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน?
 
ใช่ๆ นี่คือสิ่งที่ผมกำลังชวนอาจารย์ให้มองด้วยว่า ใครจะมาอ้างแบบนั้นจะถูกหัวเราเยาะอย่างแน่นอน จะอ้างว่าครั้งหนึ่งพระเจ้าอโศกก็ทำได้ และพระเจ้าอโศกก็ถูกยกย่องมาตั้งเกือบสองพันปีแล้วประมาณนี้ แล้วเราจะไปทำแบบนั้นมันก็เป็นเรื่องที่จะถูกหัวเราะได้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กษัตริย์โมร็อกโก แถลงลดอำนาจสถาบันฯ เปลี่ยน “ไพร่” ให้เป็น “พลเมือง”

Posted: 18 Jun 2011 09:51 AM PDT

กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก แถลงทางโทรทัศน์ต่อพสกนิกร จะลดอำนาจสถาบันกษัตริย์ เพิ่มอำนาจบริหารให้รัฐสภา เผย เพื่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มิ.ย.54) สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก ทรงประกาศต่อพสกนิกรทั่วประเทศว่า รัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดอำนาจสถาบันกษัตริย์ พร้อมเพิ่มอำนาจบริหารและความอิสระให้แก่รัฐสภาและตุลาการ โดยจะจัดให้มีการลงประชามติทั่วประเทศในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งประเทศโมร็อกโกในราชวงศ์ Alaouite ซึ่งปกครองประเทศยืนยาวที่สุดในตะวันออกกลาง ทรงประกาศทางโทรทัศน์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดอำนาจกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเปลี่ยนให้เป็นระบอบ “พลเมืองภายใต้ระบอบกษัตริย์”

โดยกษัตริย์มูฮัมหมัดที่ 6 หวังว่า “ระบบดังกล่าว จะทำให้เกิดระบบรัฐสภาที่มีประสิทธิภาพ มีความอิสระและการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือเสรีภาพและศักดิ์ศรีของพลเมืองทุกคน”

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมาจากการได้รับเลือกจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ ตำแหน่งนายกฯ ถูกแต่งตั้งจากกษัตริย์เท่านั้น และให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการแต่งตั้ง และถอดถอนคณะรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ในรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ยังคงมีพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งผู้ว่าส่วนภูมิภาค และมีอำนาจสูงสุดทางความมั่นคง การทหาร และศาสนาเช่นเดิม นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ จะให้มีการแก้ไขมาตราที่ว่าด้วยกษัตริย์ โดยแทนที่จาก “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ” เป็น “ศักดิ์ศรีของพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคล จะมีใครมาล่วงละเมิดมิได้”

การปฏิรูปประเทศดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการลุกฮือของประชาชนในโมร็อกโกในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการลุกฮือในโลกอาหรับ อันเริ่มมาจากตูนีเซียและอียิปต์ ด้วยสภาพของโมร็อกโกที่มีภาวะคนว่างงาน การคอร์รัปชั่น และความยากจนสูง ประกอบกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่เริ่มมีมากในหมู่ประชาชน ที่มาจากความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาล นอกจากนี้ พรรคการเมืองก็ยังถูกวิจารณ์ว่า ได้รับการชี้นำจากกษัตริย์มากเกินไป

สถาบันกษัตริย์โมร็อกโกยังถูกครหาว่าครอบครองทรัพย์สินของประเทศสูงเกินไป โดยเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของ National Investment Company ซึ่งควบคุมธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมถึงบริษัทประกัน บริษัทน้ำมัน และอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ และหลายฝ่ายมองว่าเป็นการกีดกันความสามารถของธุรกิจอื่นๆ ในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า สถาบันกษัตริย์มีนโยบายทางวัฒนธรรมที่สิ้นเปลืองและผลาญเงินของประเทศมากเกินไป เช่น เทศกาล Mawazine ซึ่งเป็นมหกรรมทางดนตรีประจำปีที่ยิ่งใหญ่และจัดขึ้นทุกปี ซึ่งฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้มีการยกเลิก เป็นต้น

การปฏิรูปการปกครองดังกล่าว ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทั้งในด้านดีและด้านลบ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นขั้นแรกในการเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยที่เปิดกว้างขึ้น ในขณะที่ฝ่ายค้านเห็นว่านี่เป็นการดำเนินการเพียงผิวเผินเท่านั้น เพื่อลดความตึงเครียดของการลุกฮือและการปฏิวัติของประชาชน ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกา
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลีอองพยากรณ์: เปิดดวงพรรคการเมือง ใครจะอยู่ใครจะไป

Posted: 18 Jun 2011 05:57 AM PDT

'การะเกต์' ถอดรหัสพรรคการเมืองด้วยการดูดวงแบบเลขศาสตร์ เผยเพื่อไทยมาแรง จับคู่ภูมิใจไทยจะได้โดดเด่นที่สุด แต่เผชิญศัตรูหนัก ถ้าเพื่อไทยบวกชาติไทยพัฒนา จะสงบเรียบร้อย ตกลงกันด้วยดีมากกว่า ส่วนปชป. เลขฟ้องท่าดีทีเหลว

000

เบอร์ 1 พรรคเพื่อไทย
☼ รหัสรวมกับชื่อพรรค 7 ดาวเสาร์
รหัสตัวเลข 1 ดาวอาทิตย์นำมา แสดงถึงโอกาสที่โดดเด่น การมีชื่อเสียง ผลงานด้านวิชาการ มีการนำเอางานวิชาการ หรือนักวิชาการจำนวนมากเข้ามาวางแผนนโยบาย และยังเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้น การริเริ่มสร้างสรรค์ การวางกลยุทธ์ใหม่ๆ เน้นที่การแสดง “ภาพลักษณ์” ที่สง่างาม และโดดเด่น แต่ผลรวมร่วมกับชื่อพรรคเป็นดาวเสาร์ (7) แสดงถึงความเหนื่อยยาก สิ่งที่ท้าทายสุดคือการร่วมงานกับคนอนุรักษ์นิยม หรือผู้ที่มีบทบาทสูงมาแต่ดึกดำบรรพ์ อนึ่ง อาทิตย์กับเสาร์ ต่างเป็นประธานฝ่ายบาปเคราะห์ แรงส์เสมอกัน แต่เป็นคู่ธาตุ ซึ่งมีความแนบแน่นในลักษณะเครือญาติมากกว่าจะเป็นเพื่อน การเคลื่อนของพรรคจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ศัตรูคู่แข่งขันหลักของพรรค คือบุคคลในเครื่องแบบ, ทหาร (3) และสตรี (6)

(ตามตำราโบราณว่า อาทิตย์ผิดกับอังคาร, ศุกร์กับเสาร์เป็นเสี้ยนศัตรู)

เบอร์ 10 พรรคประชาธิปัตย์
☼ รหัสรวมกับชื่อพรรค 3 ดาวอังคาร
รหัส 10 หมายถึงดาวอาทิตย์ที่ประกบมากับมฤตยู อาทิตย์หมายถึงการริเริ่มสร้างสรรค์ การเริ่มต้นด้วย “ท่าดี” แต่มฤตยู หมายถึงสิ่งที่เอาแน่นอนไม่ได้ การสิ้นสุด ความแปรปรวน พูดแบบบ้านๆ ก็คือ “ทีเหลว” จึงแสดงถึงต้นดีปลายเสีย และก็มักต้องมีการวางกลยุทธ์ใหม่ๆ อยู่เนือง ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า สิ่งที่วางแผนไว้ จะเริ่มดูดีแล้วก็มีเหตุให้พังพาบไป

ผลรวมกับชื่อพรรค เป็นดาวอังคาร (3) บอกว่ามีการปะทะกันเองอย่างดุเดือด มีความเห็นไม่ตรงกันภายใน และมีการเกี่ยวข้องกับบุคคลในเครื่องแบบ ทหาร ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นความหมายหลักของดาวอังคาร อนึ่ง พึงระวังการศึก การสงคราม การรบ การใช้อาวุธ และการใช้ความรุนแรงต่อกันและกัน การเคลื่อนของพรรคจะเป็นลักษณะจากบนลงล่าง มีการกำหนดนโยบายและปกครองตามลำดับขั้น ศัตรูคู่แข่งขันหลักของพรรค คือ นักวิชาการ, ข้าราชการหรือนักการเมืองที่มีตำแหน่งสูง และบุคคลที่อยู่ในราศีกรกฏ (เกิดระหว่าง (15 กค.-16 สค.) หรือลัคนาสถิต)

เบอร์ 16 พรรคภูมิใจไทย
☼ รหัสรวมกับชื่อพรรค 4 ดาวพุธ
รหัส 16 หมายถึงอาทิตย์กับศุกร์ อาทิตย์นั้นถือว่ามีความโดดเด่น เก่งวิชาการ มีเกียรติยศชื่อเสียงอย่างมาก มีความสามารถ ความขยันขันแข็งเป็นที่ต้องตา และยังมากับศุกร์ เป็นพรรคที่มีศิลปะในการแสดงความสามารถ มีเสน่ห์อย่างไม่น่าเชื่อ ไปไหนใครก็จำได้ มีชื่อเสียงไม่แพ้พรรคอื่นๆ แต่ผลรวมของรหัสเลือกตั้งเป็นดาวเสาร์ แสดงถึงความเหนื่อยยาก ปัญหาที่จะ “ฝืด” กว่าครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา เสาร์บอกถึงความเหน็ดเหนื่อย ความขรุขระทุรกันดาร ผลรวมกับชื่อพรรคเป็น 4 เด่นในการพีอาร์ประชาสัมพันธ์ ในพรรคมีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวรวดเร็ว มีสิ่งที่เป็นกลยุทธ์พลิกแพลง ยากที่ใครจะเดาใจได้ เน้นการวางแผนด้านสื่ออย่างเต็มที่ แต่ความที่มีเสาร์คุมอยู่ หลายเรื่องจึงพูดไม่ออกบอกไม่ถูก ที่ควรจะเร็วก็ช้า ที่ควรจะยั่งยืนก็พลิกโผเสีย

ศัตรูคู่แข่งขันหลักของพรรค คือนักวิชาการ, ข้าราชการหรือนักการเมืองที่มีตำแหน่งสูง (เช่นเดียวกับที่ประชาธิปัตย์เจอ) แถมด้วยมวลชนที่มีลักษณะรักพวกพ้อง ท้องถิ่นนิยม หรือคนที่มีความเชื่อทางเดียวกันอย่างแน่นแฟ้น ตลอดจนกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะนอกกรอบ นอกกฏเกณฑ์ต่างๆ

► ► ดูความสอดคล้องของตัวเลข
♥ ♥ เพื่อไทย กับ ประชาธิปัตย์ ♥ ♥ 7+3 เสาร์กับอังคาร
บางตำราว่าเสาร์ (7) เป็นดาวของเกษตร กสิกรรม กรรมกร ชนชั้นล่าง ผู้ใช้แรงงาน ขณะที่อังคาร (3) คือดาวนักรบ นักปกครอง ทหาร บุคคลในเครื่องแบบ ซึ่งโดยทั่วไปถือว่ามีพลังกันคนละแบบ แต่อยู่คนละชนชั้นสถานะ ลำพังเสาร์กับอังคารไม่ได้เป็นศัตรูกันโดยตรง แต่รหัสเลือกตั้งเป็นอาทิตย์ (1) เป็นศัตรูกับอังคาร (3) อยู่เป็นนัยๆ ยังไงก็เข้ากันไม่ด้าย

♥ ♥ เพื่อไทย กับ ภูมิใจไทย ♥ ♥ 7+4 เสาร์กับพุธ
ได้ออกมา 11 อาทิตย์ชิงดวง ผลรวมเป็นจันทร์ มีโอกาสเจรจาอย่างลึกซึ้งและไม่เปิดเผย ที่เด่นคือต่างฝ่ายต่างเห็นศักยภาพในกันและกัน ดวงแบบนี้ไม่เป็นศัตรูก็ต้องเอามาเป็นมิตรเสียจึงจะดี สมมุติว่ารวมตัวกัน (ผลรวมเป็น 2 ดาวจันทร์) ศัตรูจะกลายเป็น อังคาร (3) อันได้แก่ทหาร บุคคลในเครื่องแบบ ผู้ปกครองระดับสูง-สูงมาก

♥ ♥ เพื่อไทย กับ ชาติไทยพัฒนา ♥ ♥ 7+7 เสาร์กับเสาร์
รวมกันเป็น 14 อาทิตย์มากับพุธ ผลออกมาเป็นพฤหัสอีกที อันนี้แหละเรียกว่าปรองดอง ฮ่า เพราะว่าพฤหัสคือการเป็นใหญ่ สันติภาพ ภราดรภาพ การใช้แนวบุ๋นในการสู้รบปรบมือ และพฤหัสเป็นดาวใหญ่ ส่งอิทธิพลต่อดาวอื่นๆ อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ศัตรูของพฤหัสคือ 2 ดาวจันทร์ กับ 8 ราหู อันได้แก่สตรีมียศ, บุคคลในราศีกรกฏหรือลัคนาสถิต และกลุ่มบุคคลที่กระทำการโดยไม่เปิดเผย มีลักษณะท้องถิ่นนิยม รักพวกพ้อง คนส่วนใหญ่จะมีผิวคล้ำ ผมบาง ชอบความรื่นเริงและดนตรี ถ้าเป็นนักการเมืองหรือบุคคลผู้มีอิทธิพลจะเป็นคนที่ชอบร้องเพลงมาก

♥ ♥ ประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย ♥ ♥ 3+4 อังคารกับพุธ
รวมกันได้ 7 เป็นดาวเสาร์ เหนื่อยมาก ช้ามาก และต่างฝ่ายต่างได้ดาวประจำตัวที่เน้นความเร็ว ความคล่องแคล่ว พออยู่ร่วมกันต่างจะเห็นกันและกันไร้ประสิทธิภาพ (เสียนี่) ค่อนข้างจะต้องใช้ความอดทนต่อกันและกันมาก

♥ ♥ ประชาธิปัตย์ กับ ชาติไทยพัฒนา ♥ ♥ 3+7 อังคารกับเสาร์
รวมกันเป็น 10 อาทิตย์กับมฤตยู อย่างที่เรียกว่า “ท่าดีทีเละ” นั่นเอง เริ่มต้นหวานชื่นน ดูดี ดูมีความก้าวหน้า แต่จะไปกันไม่รอดจนได้ จุดสำคัญคือการเดาทิศทางกันไม่ถูก มีความแปรปรวนและไว้ใจไม่ได้ทั้งคู่ เดี๋ยวรักเดี๋ยวชัง เดี๋ยวแสดงออก เดี๋ยวไม่แสดงออก หนำซ้ำ มฤตยูเป็นตัวแทนของวิญญาณธาตุ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จับกระแสการเคลื่อนไหวลำบาก จะอยู่ที่ไหนเมื่อไหร่ยังไง ใครจะรู้

☼ ☼ ☼ ดูในภาพรวมแล้ว เพื่อไทยกับภูมิใจไทย โดดเด่นที่สุด สอดคล้องกันที่สุด แต่ศัตรูคู่แข่งขันก็จะหนักสุดเช่นกัน

☼ ☼ ถัดลงมาจึงเป็นเพื่อไทยกับชาติไทยพัฒนา จะสงบเรียบร้อย ตกลงกันด้วยดีมากกว่า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สรรเสริญ" แจงอ่านบทกวีโดยจำชื่อคนแต่งผิด ไม่มีเจตนาอื่นใด-แต่ทำเพื่อชาติและประชาชน

Posted: 18 Jun 2011 02:56 AM PDT

ตามที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อ่านบทกวี "เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้งฯ" ผิดไปจากต้นฉบับหลายท่อน และจำคนแต่งผิดจาก "นเรศ นโรปกรณ์" กลายเป็นรัชกาลที่ 6 นั้น ล่าสุดเจ้าตัวชี้แจงรู้ที่มาของกลอนแล้ว เผยเคยเห็นกลอนดังกล่าวแปะข้างฝาสมัยเรียนเตรียมทหาร ยันนำมากล่าวเพื่อสื่อสารว่าการทำหน้าที่ทหารไม่มีเจตนาอื่นใด นอกจากเพื่อชาติและประชาชน

ตามที่ มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบกอ่านบทกวีรูปแบบกาพย์ยานี 11 "เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้งฯ" ระหว่างการแถลงข่าวโดยระบุว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ร.6  แต่มติชนออนไลน์รายงานว่าแท้จริงบทกวีดังกล่าวเป็นบทกวีของ "นเรศ นโรปกรณ์" ซึ่งแต่งในปี พ.ศ. 2495 และ พ.อ.สรรเสริญ อ่านผิดไปจากต้นฉบับหลายท่อนนั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ล่าสุดวันนี้ (18 มิ.ย.) มติชนออนไลน์ เผยแพร่คำชี้แจงของ พ.อ.สรรเสริญ ซึ่งระบุว่า ตอนที่กล่าวถึงบทกลอนในครั้งแรกนั้น ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ประพันธ์ จึงกล่าวว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 หรือเปล่า คาดว่าคงสื่อสารผิดพลาดจึงออกมาเป็นเช่นที่เป็นข่าว แต่ต่อมามีผู้ชี้แจงให้ตนทราบแล้วว่าบทกลอนดังกล่าวเป็นผลงานของใคร และมีที่มาอย่างไร

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า สำหรับบทกลอนที่นำมากล่าวถึงนั้น ตนเห็นมาตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมทหาร โดยบทกลอนนั้นแปะอยู่ข้างฝา ซึ่งการนำมากล่าวก็เพื่อสื่อว่าการทำหน้าที่ของทหารไม่ได้มีเจตนาอื่นใด เพียงแต่ทำเพื่อชาติและประชาชนเท่านั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมแรงงานชุมนุมหน้าสถานทูตไทยในเดนมาร์ค ร้องปล่อย "สมยศ พฤกษาเกษมสุข"

Posted: 18 Jun 2011 02:33 AM PDT

นักกิจกรรมยุโรป “Clean Clothes Campaign” ประท้วงหน้าสถานทูตไทยที่เดนมาร์ค พร้อมยื่นจดหมายเรียกร้องปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ด้านเจ้าหน้าที่สถานทูตบอกปล่อยตัวสมยศแล้วทั้งที่ยังถูกขังอยู่ ด้านจดหมายข่าว "แรงงานปริทัศน์" เขียนบทบรรณาธิการให้กำลังใจ "สมยศ" และนักโทษการเมืองคนอื่นๆ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 นักกิจกรรมในยุโรปจากเครือข่าย “Clean Clothes Campaign” จัดชุมนุมหน้าสถานทูตไทย ประจำประเทศเดนมาร์ค เพื่อประท้วงการคุมขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข และได้ยื่นจดหมายต่อสถานทูตไทย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศจากการคุมขัง

มีรายงานจากเว็บไซต์ https://freesomyot.wordpress.com เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ว่า นักกิจกรรมจากหลายประเทศในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ฝรั่งเศส จากเครือข่าย Clean Clothes Campaign ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่รณรงค์ด้านสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้รวมตัวกันประท้วงหน้าสถานทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค และยื่นจดหมายต่อตัวแทนสถานทูตไทย เพื่อกดดันให้ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร เรด พาวเวอร์ ซึ่งถูกจับกุมในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 และปัจจุบันยังคงถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ทางสถานทูตไทยได้แจ้งต่อนักกิจกรรมที่ไปยื่นจดหมายว่า สมยศถูกปล่อยตัวแล้ว นักกิจกรรมเครือข่ายดังกล่าว จึงคาดว่า อาจเกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากสมยศเคยถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และถูกปล่อยตัวหลังจากนั้นหนึ่งเดือนถัดมา ในวันที่ 13 มิถุนายน 2553

อนึ่ง ในบทบรรณาธิการของจดหมายข่าว “แรงงานปริทัศน์” ฉบับเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นจดหมายข่าวของมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ที่รายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในประเทศไทย ยังได้แสดงท่าทีให้กำลังใจต่อสมยศในฐานะอดีตผู้ร่วมงานคนหนึ่งของแรงงานปริทัศน์ในยุคก่อตั้ง พร้อมระบุว่า หวังว่าผู้ที่ได้รับชะตาเดียวกันกับสมยศ จะได้รับความยุติธรรมตามครรลองของกฎหมาย

สุดท้ายนี้ แรงงานปริทัศน์ขอให้กำลังใจต่อคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้ร่วมงานคนหนึ่งของแรงงานปริทัศน์ในยุคก่อตั้ง ซึ่งกำลังถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาทางการเมือง หวังว่าคุณสมยศและนักโทษทางการเมืองร่วมชะตาเดียวกันอีกหลายท่าน จะได้รับความยุติธรรมตามครรลองของกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่แม้จะมีความคิดแตกต่างกัน แต่ทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมเดียวกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พันธมิตรฯ เดินขบวนกลางเชียงใหม่เรียกร้อง "โหวตโน"

Posted: 18 Jun 2011 12:28 AM PDT

"พรรคเพื่อฟ้าดิน" และ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" จัดเดินรณรงค์ "โหวตโน" ที่เชียงใหม่ โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ "โหวตโน" ที่จัดพร้อมกันทั่วประเทศ ขณะที่เสื้อแดงที่ตลาดวโรรสตะโกน "เบอร์ 1" สวน

วันนี้ (18 มิ.ย.) ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อฟ้าดิน และผู้สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใน จ.เชียงใหม่ ราวสามร้อยคนได้รวมกันที่หน้าชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาเชียงใหม่ ถ.มหิดล จ.เชียงใหม่ เพื่อเดินรณรงค์โหวตโน หรือ การลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน

หลังจากตั้งขบวนแล้ว พันธมิตรฯ เชียงใหม่ ได้เริ่มเคลื่อนขบวนรณรงค์ซึ่งมีทั้งการเดินเท้า ขบวนรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ จาก ถ.มหิดล เข้าสู่คูเมืองเชียงใหม่ด้าน ถ.บุญเรืองฤทธิ์ ก่อนเลี้ยวขวาที่แจ่งหัวรินเข้าสู่ ถ.มณีนพรัตนฺ์ เลี้ยวขวาที่แจ่งศรีภูมิ เข้าสู่ถนนชัยศรีภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนช้างม่อย ผ่านตลาดวโรรส เข้าสู่ถนนช้างคลานผ่านย่านไนท์บาร์ซาร์

โดยสองข้างทางที่ขบวนรณรงค์เคลื่อนผ่าน ผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ ได้แจกจ่ายสติ๊กเกอร์โหวตโน และใบปลิวชี้แจงเหตุผลที่ต้องโหวตโนด้วย โดยการเดินขบวนสิ้นสุดในเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ โดยหลังจากนี้ในช่วงบ่าย พันธมิตรฯ เชียงใหม่ได้จัดเสวนาเรื่องโหวตโนที่โรงแรมซีเอส เชียงใหม่ ย่านไนท์บาร์ซาร์ ถ.เจริญประเทศ ซอย 8 โดยมี พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน เข้าร่วมในการเสวนา

ทั้งนี้ระหว่างที่พันธมิตรฯ เชียงใหม่ ขบวนเคลื่อนเข้าสู่ตลาดวโรรส ด้านถนนวิชยานนท์ ได้มีพ่อค้าแม่ค้าบางส่วนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงได้โบกธงแดง และตะโกนตอบโต้ขบวนของพันธมิตรฯ ว่า "เบอร์หนึ่ง เบอร์หนึ่ง" ขณะที่ขบวนของพันธมิตรฯ ตะโกนว่า "โหวตโน โหวตโน" แต่ไม่มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งใดๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังดูแลสถานการณ์ที่ย่านตลาดวโรรสด้วย

สำหรับการเดินรณรงค์โหวตโนใน จ.เชียงใหม่ วันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเดินรณรงค์โหวตโนทั่วประเทศของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ มีการรณรงค์โหวตโนของพันธมิตรฯ โดยตั้งขบวนที่ ถ.อิสรภาพ ย่านวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี และการรณรงค์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา [1]  ด้วย

ขณะที่เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า มีการรณรงค์โหวตโน ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ด้วย [2]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: คลินิกรัฐศาสตร์ฯ มมส.เปิดเวทีถกประเด็นรับน้องเดือด

Posted: 18 Jun 2011 12:19 AM PDT

อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครองชี้คนเผยแพร่คลิปรับร้องช่วยสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย เพราะกล้าเปลี่ยนแปลง ด้านนายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้การรับน้อง-ให้รุ่น ช่วยสร้างเครือข่าย ชูสามารถรวมคนกว่า 18 คณะมาร่วมร้องเพลงของมหาลัยได้

 
วันที่ 15 มิ.ย.54 คลินิกรัฐศาสตร์ คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดงานคลินิกรัฐศาสตร์ในหัวข้อเรื่อง “การรับน้อง การละเมิดสิทธิเสรีภาพในมหาลัย” โดยมีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันนิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) และนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งอาจารย์ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม
 
นิสิตกลุ่มเถียงนาประชาคมร่วมกับชมรมคนสร้างฝันและคลีนิกรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันเล่นดนตรีและอ่านผญา (ปรัชญา) เป็นภาษาอีสานก่อนเริ่มการเสวนา
 
กิจกรรมคลินิกรัฐศาสตร์ฯ จัดขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเมืองและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ภายใต้พื้นฐานสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น รวมถึงเป็นการสร้างพื้นที่ในการใช้เสรีภาพในด้านความคิดโดยไม่ถูกปิดกั้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ทุกคนจะเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมประชาธิปไตยที่มีการยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายของผู้คนในสังคม
 
รศ.สีดา สอนศรี คณะบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ว่า ต้องการให้เป็นเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกร่วมกัน รวมถึงกำหนดการของงานได้มีการวางแผนไว้ก่อนหน้านี้แล้วไม่ได้มีการสร้างกระแสใดใด
 
จากนั้น ได้เริ่มเปิดการเสวนา โดยวิทยากรได้แสดงทัศนะคติเกี่ยวกับประเด็นการรับน้อง เพื่อเป็นการเปิดประเด็นให้มีการแลกเปลี่ยน
 
ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำสาขาวิทยาลัยการเมืองการปกครอง แสดงความเห็นต่อกรณีการที่มีผู้นำคลิปประชุมเชียร์ไปเผยแพร่จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า ส่วนตัวไม่ได้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เสื่อมเสีย แต่เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาลัย เพราะสังคมภายนอกได้แสดงความคิดเห็นที่เห็นด้วย และยกย่องกลุ่มนิสิตที่กล้าออกมาเรียกร้องว่าเป็นนิสิตที่มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงไม่เห็นว่าการที่นำคลิปไปเผยแพร่จะเป็นการทำให้มหาลัยเสื่อมเสียแต่อย่างใด
 
ด้าน วิเศษ นาคชัย นายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การรับน้องและการให้รุ่นยังสำคัญอยู่เพราะถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับน้องๆ และมหาลัยสารคามอาจเป็นมหาลัยเดียวด้วยซ้ำที่สามารถรวมคนกว่า 18 คณะมาร่วมร้องเพลงของมหาลัยได้และยังเป็นกิจกรรมที่มีนิสิตเข้าร่วมเยอะที่สุด นอกจากนี้นายกองค์การนิสิตยังได้อธิบายถึงการจัดกิจกรรมรับน้องในมหาลัยว่า กิจกรรมเหล่านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากกองกิจการนิสิต และรองคณะบดีหรือคณะบดีจากคณะต่างๆ ในมหาลัย ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ได้ผ่านความคิดเห็นและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในมหาลัยด้วย
 
อิทธิพล โคตะมี นิสิตสำนักนิสิตอาสาสมัครวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า  การรับน้องนั้นควรมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง จึงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการทำงานของระบบ SOTUS ที่ทำให้ระบบยังดำรงอยู่มาได้ว่า ระบบ SOTUS มุ่งปลูกฝังค่านิยมให้เชื่อฟังต่อผู้ปกครอง เช่น การสั่งให้มีการแต่งตัวให้ถูกระเบียบ การจัดแถวให้ตรงเพื่อสร้างระเบียบวินัย แต่ระเบียบวินัยที่พูดถึงคือ การง่ายต่อการควบคุมสอดส่องของผู้บริหารในขณะเดียวกันการเป็นเหตุเป็นผลที่เหมือนจะดีก็ไม่สามารถตั้งคำถามได้
 
“อำนาจนี้ในสมัยใหม่มีการปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบของสถาบัน โดยการผ่านระบบขององค์การนิสิตนักศึกษากันเอง คือแทนที่องค์การนิสิตจะพูด Support ในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของนิสิตด้วยกัน แต่กลับเป็นการพูด Support ระบบผู้บริหารหรือระบบโครงสร้างอำนาจนิยม ซึ่งมีหัวหน้าแก๊ง SOTUS ตัวจริง คือ อธิการบดี” นายอิทธิพลกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในงานเสวนามีการแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย หลากทัศคติหลายมุมมอง ด้านกลุ่มที่เห็นด้วยกับระบบการรับน้องแบบเดิม ต่างก็พยายามชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
“กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรักความสามัคคีระหว่างพี่น้องเท่านั้นและในกิจกรรมนั้นรุ่นน้องเป็นผู้ที่ต้องการเข้าร่วมเองไม่มีการบังคับแต่อย่างใดและถ้าน้องยินยอมหรืออยากมาร่วมกิจกรรมเองก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ” วิชุดา อาจารย์ประจำคณะวิศวะกรรมศาสตร์มหาลัยมหาสารคาม กล่าว
 
ในด้านกลุ่มที่เห็นด้วยกับการรับน้อง แต่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือกระบวนการได้นำเสนอมุมมองการรับน้องว่า ควรให้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องเล่นบทโหดและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น เช่น มีการบายศรีสู่ขวัญ การทำกิจกรรมออกค่าย การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการใช้แรงงานในด้านอื่น เช่น ดำนาช่วยชาวนาเป็นต้น ในขณะที่การแลกเปลี่ยนทัศนะคติกำลังเข้มข้นขึ้น อย่าไรก็ตามด้วยเงื่อนไขของเวลาที่ทำให้การเสวนาต้องสิ้นสุดลง ส่งผลให้การเสวนาในครั้งนี้ไม่สามารถหาข้อสรุปได้
 
ด้าน ยุทธนา ลุนสำโรง นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งขับเคลื่อนประเด็นไม่เอาการรับน้องแบบระบบ SOTUS กล่าวแสดงความเห็นว่าเวทีการถกเถียงแลกเปลี่ยนในครั้งนี้อาจจะเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างให้ดีขึ้นในมหาลัยแห่งนี้
 
“วันนี้พวกผมไม่ได้ต้องการที่จะล้มเชียร์ แต่ต้องการเห็นการปฏิรูปการรับน้องไปในทางที่ดีและเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคม รวมถึงไม่อยากให้เวทีนี้เป็นเวทีสุดท้ายอยากให้มีอีกหลายๆ เวทีเพื่อให้เกิดการต่อยอดและหาทางออกร่วมกัน” นายยุทธนา กล่าว  
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น