ประชาไท | Prachatai3.info |
- วธ.เผย 6 สัญลักษณ์-สถานที่-ผลิตภัณฑ์ต้องห้ามทางพุทธศาสนา
- “คปท.” ยื่นหนังสือ “สาทิตย์” เร่งเปิดประชุม คกก.โฉนดชุมชน ภายใน มิ.ย.นี้
- นักข่าวพลเมือง: สหภาพไทรอัมพ์ฯยื่นปรับสภาพการจ้างในรอบ 3 ปี
- “ฝายกั้นน้ำ” ความหวังล่าสุดของชาวบ้านรอบบ่อขยะสระบุรี
- SIU ชี้แจง ใจ อึ๊งภากรณ์ กรณีความเกี่ยวข้องของ SIU กับโครงการ TCIJ และ TPD
- นักข่าวพลเมือง: ผบช. ภ.5 ลงพื้นที่ ค้นความจริง ปัญหาโรงไฟฟ้าเชียงราย
- ถอดรหัส “ลักพาตัวเด็กในโรงพยาบาล”
- ดีเอสไอระดมขุนพลไอทีวางมาตรการล่า ‘หมิ่นสถาบัน’
- นักข่าวพลเมือง: คนงานจี้สมาคมสื่อฯแสดงท่าทีกรณีจับ "สมยศ" ในฐานะสื่อด้วยกัน
- ชำนาญ จันทร์เรือง: พนักงานอัยการกับการดำเนินคดีปกครอง
- “กนก” แจงหลังถูกผู้ใช้เน็ตวิจารณ์ เผยไม่ถือสาเรื่องทำนองนี้ "ที่มาจากพันทิพ"
- นักข่าวพลเมือง: กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ เยือนพื้นที่ค้านไฟฟ้าแรงสูง ยันเคียงข้างสู้ไม่ถอย
วธ.เผย 6 สัญลักษณ์-สถานที่-ผลิตภัณฑ์ต้องห้ามทางพุทธศาสนา Posted: 01 Jun 2011 12:38 PM PDT (1 มิ.ย.54) เนชั่นทันข่าว รายงานว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวถึงกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการสักภาพ (Tattoo) พระพุทธรูป และรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา บนร่างกายหรือในที่ไม่เหมาะสมที่จังหวัดภูเก็ตว่า เมื่อมาตรการทางกฎหมายอาญาไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ ตนจะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้ตรวจสอบหรือวิเคราะห์ว่าการสักเช่นนี้อาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น เพราะเท่าที่ทราบนอกจากคนไทยแล้ว ชาวต่างชาติแถบสแกนดิเนเวียชอบสักพระพุทธรูปตามบริเวณต่างๆ ในร่างกายมาก ที่สำคัญ วธ. จะจัดทำคู่มือข้อควรระวังในการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ที่มีอยู่เดิมแล้วนำมาพิมพ์ใหม่ ประมาณ 10,000 เล่มเพื่อแจกจ่ายไปตามสถานประกอบการ ร้านค้าที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ "เพราะที่ผ่านมามีการนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาเป็นตราสินค้าหรือประดับสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้า ถุงเท้า กางเกง เสื้อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านค้า สถานบันเทิง สถานเริงรมย์ รวมทั้งมีการเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่ออินเทอร์เน็ต พร้อมกันนี้จะประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเชิญผู้ประกอบการมาชี้แจงและขอความร่วมมือในการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนา โดยเริ่มที่จังหวัดภูเก็ตก่อน" รมว.วธ. กล่าว รมว.วธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาที่ไม่ควรนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ 1.พระพุทธรูปปางต่างๆ 2.พุทธพจน์ เถรภาษิต และเถรีภาษิต 3.พระสงฆ์ ภาพถ่าย ภาพวาด สิ่งประดิษฐ์คล้ายพระสงฆ์ บริขารของพระสงฆ์ เช่น ไตรจีวร และบาตร 4.การแต่งการเลียนแบบพระสงฆ์ หรืออ้างตัวเองว่าเป็นพระสงฆ์ในบทภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม 5.โบสถ์ วิหาร เจดีย์ทางพระพุทธศาสนา 6.ธรรมจักรและธงฉัพพรรณรังสี สถานที่ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้ในเชิงพาณิชย์ 1.โรงงานและร้านจำหน่ายแอลกอฮอล์ 2.ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงละคร สถานบันเทิง 3.โรงฆ่าสัตว์และบ่อนการพนันทุกชนิด 4.ห้องน้ำและห้องสุขา ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้เชิงพาณิชย์ 1.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วัตถุมึนเมา ยาพิษและอาวุธ 2.เสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน รองเท้า เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ห้องสุขา 3.เก้าอี้และเตียงนอน รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรกนิกส์ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศสนามาใช้ในเชิงพาณิชย์ ด้าน น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้ดูแลเรื่องดังกล่าว ขณะนี้ทราบว่าได้มีหนังสือด่วนไปยังผู้ว่าราชการจ.ภูเก็ต ให้เร่งเชิญผู้ประกอบการร้านค้า มาประชุมภายในเดือนมิถุนายน 2554 นี้ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และไม่กระทำการใดๆกับทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ "ซึ่งปัญหาดังกล่าว นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่คนไทยต้องรู้เท่าทัน และกำหนดบรรทัดฐานร่วมกัน ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า คนที่ทำถ้ามีความรู้ คงไม่ทำ กลุ่มผู้ประกอบการสักก็เหมือนกัน เป็นธุรกิจใหม่ บางคนก็ทำอาชีพอื่นมาก่อนภายหลังจึงมาทำอาชีพนี้ จึงไม่รู้กฎหมายมาก่อน" น.ส.ลัดดา กล่าวในที่สุด ที่มา:เนชั่นทันข่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
“คปท.” ยื่นหนังสือ “สาทิตย์” เร่งเปิดประชุม คกก.โฉนดชุมชน ภายใน มิ.ย.นี้ Posted: 01 Jun 2011 12:22 PM PDT ชี้ในพื้นที่มีปัญหาเร่งด่วน หากปล่อยลุกลามจะเกิดความเสียหายต่อชาวบ้านและสังคมโดยรวม ทั้งกรณีก่อสร้างถนนกันแนวเขตเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และกรณีชุมชนบ้านเก้าบาตรที่บุรีรัมย์ ถูก กอ.รมน.ใช้ความรุนแรงผลักดันออกจากพื้นที่ วันนี้ (2 มิ.ย.54) เวลา 10.00 น.ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จำนวนประมาณ 20 คน จะเข้ายื่นหนังสือต่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รักษาการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ณ สำนักงานฯ โฉนดชุมชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้เปิดประชุมคณะกรรมการฯ โฉนดชุมชน ในการแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วน โดย กรณีเรื่องเร่งด่วน ในพื้นที่สมาชิกของ คปท.ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาประกาศเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนที่ประสบความเดือดร้อน ได้แก่ 1.กรณีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนกันแนวเขตเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชน 2.กรณีชุมชนบ้านเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ถูกเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ร่วมกับกลุ่มสมาชิกสภาประชาชน 4 ภาค จำนวน 3,000 คน ได้ใช้ความรุนแรงจนส่งผลให้มีชาวบ้านเก้าบาตรบาดเจ็บสาหัสหลายราย ทั้งที่พื้นที่โนนดินแดงได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลและได้เสนอเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการนำร่องฯ โฉนดชุมชนแล้ว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแสดงความเห็นว่า หากมีการปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวลุกลามจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาวบ้านและสังคมโดยรวม จึงจะขอให้ทางสำนักงานโฉนดชุมชนเปิดให้มีการประชุมขึ้นอย่างเร่งด่วน ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้การประชุม คณะกรรมการฯ โฉนดชุมชน ครั้งที่ 3/2554 เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมอนุมัติให้คณะอนุกรรมการสำรวจและตรวจสอบพื้นที่ในการจัดให้มีโฉนดชุมชนสามารถดำเนินการสำรวจและตรวจสอบ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 รวม 3 ชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านมั่นคง ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว 2.ชุมชนบ้านนิคม 1 พัฒนา ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี 3.ชุมชนท่าน้ำชุกโดน ต.บ้านใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และรับทราบผลการสำรวจและตรวจสอบพื้นที่เพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน โดยให้ดำเนินงานโฉนดชุมชน ดังนี้ 1.ภาคเหนือ รวม 16 ชุมชน 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 2 ชุมชน และ 3.ภาคใต้ รวม 2 ชุมชน นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ใช้พื้นที่ในการจัดทำโฉนดชุมชนให้เป็นที่ยุติในระดับกระทรวง เพื่อรับผิดชอบในการจัดให้มีโฉนดชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.53 จำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นักข่าวพลเมือง: สหภาพไทรอัมพ์ฯยื่นปรับสภาพการจ้างในรอบ 3 ปี Posted: 01 Jun 2011 11:58 AM PDT สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯยื่นข้อเรียกร้องปรับสภาพการจ้าง 24 ข้อ ระบุเพื่อให้สอดรับกับสภาพสังคมในรอบ 3 ปี ด้านนายจ้างเปรยอาจมียื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ด้านสมาชิกสหภาพฯ แห่มอบดอกไม้ให้กำลังใจตัวแทน
วานนี้ (1 พ.ค. 2554) เวลา 9.00 น. ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 24 ข้อ เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างงานในรอบ 3 ปี ต่อกรรมการผู้จัดการบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรียี่ห้อดัง "ไทรอัมพ์" ที่บริษัทดังกล่าว ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง สมุทรปราการ โดยนายประยูร วงศ์เล็ก ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ เป็นตัวแทนของทางบริษัทฯได้ออกมารับข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมทั้งกล่าวกับตัวแทนสหภาพแรงงานฯ ว่า "จะพิจารณาดูว่าจะยื่นข้อเรียกร้องสวนหรือเปล่า" จากหนังสือชี้แจงข้อเรียกร้องของทางสหภาพฯ ได้ระบุเหตุผลในการยื่นข้อเรียกร้องว่า ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 นี้ ข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงานฯกับบริษัทจะหมดวาระลง ทางสหภาพแรงงานฯ จึงมีการพิจารณา และมีความเห็นร่วมกันว่าในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในสภาพสังคมไทยของใช้อุปโภค บริโภค ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย และอื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ปรับตัวสูงขึ้นตลอด รวมถึงพนักงานได้ทำงานอย่างหนักเพื่อให้บริษัทมีผลผลิตที่มาก ทางสหภาพแรงงานฯจึงได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในครั้งนี้ โดยในบรรดา 24 ข้อนั้น นอกจากการปรับปรุงค่าแรงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องที่น่าสนใจ เช่น ข้อเรียกร้องลาปวดประจำเดือน 3 วันต่อเดือน กรณีเลิกจ้าง ให้บริษัทปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาคต่อลูกจ้าง รวมถึงเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส เป็นต้น (รายละเอียดทั้ง 24 ข้อดูด้านล่าง) ทั้งนี้หลังจากที่ตัวแทนสหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องเสร็จนั้น ทางสมาชิกสหภาพแรงงานฯได้มีการนำดอกไม้มามอบให้กับตัวแทนสหภาพแรงงานฯเพื่อเป็นกำลังใจด้วย ข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้าง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
“ฝายกั้นน้ำ” ความหวังล่าสุดของชาวบ้านรอบบ่อขยะสระบุรี Posted: 01 Jun 2011 11:46 AM PDT รายงานสถานการณ์ของเครือข่ายคัดค้ “เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว น้ำในห้วยหนองน้ำเขียว ใสจนมองเห็นปลา แต่ทุกวันนี้กลับขุ่น จนมองไม่เห็นอะไรเลย” นี่คือคำรำพึงถึงอดีตที่เคยงดงามของตำบลห้วยแห้ง โดย รัชชา ทันวรักษ์กิจ แกนนำเครือข่ายคัดค้านบ่อฝังกลบขยะจังหวัดสระบุรี รัชชา เล่าย้อนว่า จุดเปลี่ยนของสภาพธรรมชาติในตำบลห้วยแห้ง เกิดจากเมื่อปี พ.ศ.2540 ได้มีการสร้างบ่อฝังกลบขยะโดย บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด บนที่ดินประมาณ 300 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ชาวบ้านก็เริ่มได้รับผลกระทบจากบ่อฝังกลบขยะดังกล่าว ทั้งน้ำเสียและกลิ่นเหม็น จนส่งผลให้ข้าวในนาที่ชาวบ้านปลูกได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร และนอกจากนี้ชาวบ้านจำนวนมาก ต้องกลายเป็นผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งตับ อีกด้วย ดังนั้นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากบ่อฝังกลบขยะดังกล่าว อันประกอบไปด้วย ประชาชนในตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย และตำบลหนองปลาไหล ตำบลกุดนกเปล้า อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มเครือข่ายคัดค้านบ่อฝังกลบขยะ จังหวัดสระบุรี” ขึ้นในปีพ.ศ.2544 เพื่อร่วมกันคัดค้านและแสวงหาแนวทางแก้ไขสภาพปัญหาอันเกิดขึ้นจากบ่อฝังกลบขยะดังกล่าว สำหรับแนวทางในการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก คือ การดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 2,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษที่เกิดจากบ่อกำจัดขยะ โดยล่าสุดเครือข่ายฯ ได้ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี และสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี เข้ามาตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพื่อประกอบการฟ้องร้อง ซึ่งในวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่าน ทีมเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงานได้เข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำในที่นาชาวบ้านเพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพและบอกกับชาวห้วยแห้งว่า ให้รอผลตรวจคุณภาพน้ำประมาณ 2 เดือน แนวทางที่สอง คือ การแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหามลภาวะในเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 7 สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี รวมถึงการยื่นฎีกาไปยังสำนักราชเลขาธิการ เมื่อปี พ.ศ.2550 เป็นต้น และจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในนาข้าวหลายครั้ง เช่น การตรวจคุณภาพน้ำครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมาโดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าน้ำบนผิวดินมีสารตะกั่ว สารหนู แมงกานีส เกินค่ามาตรฐาน และน้ำใต้ดิน มีแมงกานีส นิกเกิล ตะกั่ว ซีลีเนียม เกินค่ามาตรฐานเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัชชาได้รับแจ้งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า ได้แจ้งให้ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด จัดทำฝายกั้นน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลลงสู่ห้วยหนองน้ำเขียวแล้ว เนื่องจากที่ตั้งของบ่อฝังกลบขยะอยู่ใกล้กับห้วยหนองน้ำเขียว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลัก ที่เกษตรกรในพื้นที่ ต้องใช้ในวิถีเกษตรกรรม และที่ผ่านมาพบว่า บ่อฝังกลบขยะได้ปล่อยน้ำเสียลงสู่ห้วยหนองน้ำเขียว โดยไม่มีการปรับสภาพน้ำก่อนแต่ประการใด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าล่าสุดกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แจ้งให้ทางบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด จัดทำฝายกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลลงสู้ห้วยหนองน้ำเขียวแล้ว แต่ทางเครือข่ายฯ ก็ยังคงต้องเฝ้าติดตามผลการดำเนินงานต่อไป เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน แต่ชาวบ้านก็ยังประสบกับปัญหาของบ่อฝังกลบขยะอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
SIU ชี้แจง ใจ อึ๊งภากรณ์ กรณีความเกี่ยวข้องของ SIU กับโครงการ TCIJ และ TPD Posted: 01 Jun 2011 11:43 AM PDT เรียน อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่นับถือ ผมในฐานะตัวแทนของ SIU (Siam Intelligence Unit) ขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้กรุณาเอ่ยถึง SIU ในบทความ “ใจ อึ๊งภากรณ์” วิพากษ์เว็บ “ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง” หรือในชื่อบทความเดิม “เจาะลึก” ข้อมูลเรื่องเวป “ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง” โดยข้อความที่อาจารย์ได้กล่าวถึง SIU นั้นเป็นดังต่อไปนี้
ผมขอเรียนชี้แจงดังต่อไปนี้
1) ความสัมพันธ์ของ SIU และ TCIJ ผมและเพื่อนร่วมงานใน SIU ไม่มีใครทราบและไม่มีใครเคยติดต่อกับทาง ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) มาก่อน และไม่ทราบเลยว่า TCIJ ได้นำโลโกรวมถึงลิงก์ ไปยังเว็บไซต์ของ SIU ด้วยเหตุผลใด วานนี้ (31 พฤษภาคม 2554) ผมได้สอบถาม อาจารย์สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการของ TCIJ โดยตรง จากเบอร์โทรศัพท์ที่ประกาศไว้ที่หน้าเว็บไซต์ของ TCIJ ก็ได้ทราบว่า อาจารย์เห็นว่าเนื้อหาของ SIU มีความน่าสนใจ และน่าจะเหมาะกับการเผยแพร่ต่อให้ผู้อ่านที่เข้ามาชมในเว็บไซต์ TCIJ โดยอาจารย์สุชาดาได้แสดงความเห็นเช่นเดียวกันนี้ในจดหมายเปิดผนึก (เปิดใจ)… ถึงอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ (กรณีวิพากษ์ TCIJ) SIU ไม่มีปัญหาที่เว็บไซต์หรือหน่วยงานใด ๆ ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองในลักษณะใด จะนำโลโก, ลิงก์ และข้อมูลของ SIU ไปใช้ ตราบเท่าที่มีการอ้างข้อมูลกลับ ที่ผ่านมาก็มีเว็บไซต์จำนวนมากที่สนับสนุนฝ่ายต่าง ๆ ได้วางลิงก์ของ SIU หรือเว็บไซต์ที่เป็นผลผลิตของ SIU อาทิ เช่น เว็บไซต์ ThaiEnews (http://thaienews.blogspot.com/), เว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (http://www.tpd.in.th), เว็บไซต์ข่าวไทยโพสต์ (http://www.thaipost.net), และ เว็บไซต์สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (http://www.ids-th.org) เป็นต้น (สองเว็บแรกเชื่อมโยงเว็บไซต์ siamintelligence.com และสองเว็บหลังเชื่อมโยงเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย http://www.politicalbase.in.th)
2) ความสัมพันธ์ระหว่าง SIU กับ TPD SIU ได้เริ่มโครงการศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย (http://www.politicalbase.in.th) มาตั้งแต่ปี 2550 (โปรดอ่านรายงานข่าววันเปิดตัว http://siu.co.th/2008/11/want-to-know-all-about-thailand-politicians/ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการทั้งเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย และเว็บไซต์ Siam Intelligence ก็เพื่อนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านเท่าที่เป็นได้ ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของ SIU เองและข้อจำกัดในเชิงบริบทด้านกฎหมายของประเทศต่อพลเมือง เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างอย่างเต็มที่และนำไปสู่ประโยชน์ สาธารณะดังที่ควรจะเป็น เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thai Political Database หรือ TPD) เป็นการดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ภายใต้ชื่อ “แผนงานวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบทางสังคม” ได้มีการเริ่มโครงการอย่างเป็นทางการตามมาในภายหลังในช่วงต้นปี 2552 โดยมีคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานฯ ทั้งสิ้น 12 ท่าน (ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการและมีจำนวนทั้งสิ้น 9 ท่าน) โดยมี ศ. ดร. จรัส สุวรรณมาลา เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำกับทิศทาง และรับหน้าที่เป็นผู้จัดการแผนงานวิจัยฯ ด้วย การทำงานของแผนงานฯ มีลักษณะเป็นการทำงานในรูปแบบ “เครือข่าย” โดยไม่ได้เป็นการสั่งการหรือมีสายงานบังคับบัญชากัน SIU ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันใน ฐานะภาคีของเครือข่าย ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในโครงการดังกล่าว SIU ไม่มีตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว SIU อยู่ในฐานะภาคีของเครือข่าย โดยวัตถุประสงค์การร่วมมือกันของ SIU และแผนงานฯ เป็นการแลกเปลี่ยนด้านข้อมูลและงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะและการตรวจสอบ นักการเมือง ตลอดจนการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในด้านต่าง ๆ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะอยู่บนพื้นฐานของงานวิชาการเป็นหลักสำคัญ นอกเหนือจากการตรวจสอบนักการเมือง SIU ได้เสนอให้แผนงานฯ ได้พิจารณาการตรวจสอบผู้เล่นที่มีบทบาทสาธารณะที่ไม่ใช่นักการเมืองด้วย ตามเท่าที่ขอบเขตทางกฎหมายไทยได้อนุญาต และทางแผนงานฯ ก็ได้แสดงความเห็นด้วยและตอบรับข้อเสนอนี้ โปรดพิจารณาลิงก์ข้อมูล
2.1 กลุ่มทางการเมือง ที่ผ่านมาการร่วมงานระหว่าง SIU และแผนงานฯ เป็นในลักษณะให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นสำคัญ SIU ไม่เคยได้รับทุนสนับสนุนใด ๆ จากเครือข่าย เนื่องจาก SIU ได้รับทุนสนับสนุนในการทำงานโครงการศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย (หรือ Thailand Political Base) จากมูลนิธิฟรีดิช เนามัน ประเทศเยอรมนี อยู่แล้ว และในปัจจุบันเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย ไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิแล้ว ทาง SIU เป็นผู้รับรองค่าใช้จ่ายทั้งหมด
3) บทบาทและจุดยืนของ SIU SIU เป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย (Think Tank) ภาคเอกชน ด้วยบทบาทดังกล่าวทำให้ SIU มีจุดยืนที่ไม่เลือกฝักฝ่ายทางการเมือง (non-partisan) โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนจุดยืนในการเลือกฝักฝ่ายทางการเมือง (partisan) ควรเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองดังที่ปรากฎให้เห็นในต่าง ประเทศ
SIU พร้อมจะดำเนินการกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ฝ่ายค้าน ภาคราชการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจ ฯลฯ เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ผ่านทั้งการนำเสนองานวิจัย การจัดสัมมนา และการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ นอกจากนี้ SIU ยังรับงานด้านการวิจัยและที่เป็นที่ปรึกษาในด้านต่างๆ ให้กับผู้ว่าจ้างอีกด้วย (โปรดดูข้อมูลพันธมิตรและผู้ว่าจ้างของ SIU เพิ่มเติมได้จาก http://siu.co.th/partners/) อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา SIU ได้จัดทำโครงการ Challenge Thailand 2011 ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ผู้นำทางความคิดจากฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัด แย้งทางการเมืองไทยที่ผ่านมา ดูลิงก์การสัมภาษณ์ทั้งหมดได้จาก http://www.siamintelligence.com/thitinan-pongsudhirak-interview/ (โปรดดูรายละเอียดรายชื่อผู้ถูกสัมภาษณ์ทั้งหมดตอนท้ายของบทความ) รวมถึงได้จัดงานสัมมนา “ก้าวข้ามความขัดแย้งสังคมไทย” และจัดพิมพ์หนังสือถังความคิด เพื่อพยายามสร้างความเข้าใจระหว่างทุกฝ่าย เราได้ข้อสรุปว่าจุดยืนเชิงบวกที่ควรสนับสนุนของทั้งฝ่าย “เสื้อแดง” และฝ่าย “เสื้อเหลือง” คือ การสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม การไม่มีระบบสองมาตรฐาน และการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น SIU จึงพร้อมจะสนับสนุนทุกฝ่ายที่มีจุดยืนในทุกด้านที่กล่าวถึงนี้ สำหรับประเด็นทางการเมืองที่ SIU ไม่เห็นด้วย อาทิ กรณีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา SIU พยายามจัดงานสัมมนาสาธารณะเพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวโดยสันติ และนำไปสู่กรอบของการสร้างประชาคมอาเซียน อาทิเช่น 3.1 งานสัมมนานานาชาติ Looking Towards ASEAN Community 2015 : Constraints, Obstacles and Opportunites เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2011 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการนำเสนอบทความในเชิงคัดค้านข้อขัดแย้งดังกล่าวด้วย อาทิเช่น 3.3 ไทย : แกนนำในการสร้าง “อาเซียนที่เป็นจริง” ด้วยการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ในท้ายที่สุดนี้ขอเรียนให้ทราบว่า SIU ตระหนักดีถึงความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบัน เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมจะต้องเป็นไปโดยสันติ ใช้เหตุใช้ผล เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย เคารพมติเสียงส่วนใหญ่ ในขณะที่ยังรับฟังและไม่กีดกันเสียงส่วนน้อยออกไป ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสังคมครั้งใหญ่นี้ ดังคำของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ที่ได้กล่าวเอาไว้ “แท้จริงแล้ว วิกฤตของสังคมเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าสิ่งเก่ากำลังจะจากไป และสิ่งใหม่ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้ ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ พยาธิสภาพทางสังคมย่อมปรากฎให้เห็น” (The crisis consists precisely in the fact that the old is dying and the new cannot be born; in this interregnum a great variety of morbid symptoms appear) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะใช้สติพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นอย่าง รอบคอบ และด้วยความอดทน จนกระทั่งวันหนึ่ง เราหวังว่าเราจะร่วมกันเปลี่ยนผ่านสังคมนี้จากสังคมที่เอาแพ้เอาชนะกันอย่าง เอาเป็นเอาตาย (ซึ่งใช้แนวคิดแบบ Machiavellian) มาเป็นสังคมที่เน้นการยอมรับความขัดแย้งและแข่งขันแนวคิดแบบไม่ใช่ศัตรูคู่ อาฆาตกัน (Agonistic Pluralism Society) จึงเรียนมาเพื่อทราบ ด้วยความนับถืออย่างสูง ที่มา: http://www.siamintelligence.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นักข่าวพลเมือง: ผบช. ภ.5 ลงพื้นที่ ค้นความจริง ปัญหาโรงไฟฟ้าเชียงราย Posted: 01 Jun 2011 11:12 AM PDT คณะนายตำรวจ แจงเดินทางนอกราชการ ดูพื้นที่กรณีปัญหาก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.เชียงราย รับชาวบ้านเดือดร้อนจริง พร้อมให้กำลังใจชี้ชาวบ้านทำในสิ่งที่ถูกต้อง เผยจะรายงานผู้ใหญ่ตามจริง
วันที่ 29 พ.ค.54 เวลาประมาณ 16.00 น.พล.ต.ท.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช. ภ.5) ลงดูพื้นที่กรณีปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตนเองหลังจากทราบข่าวการคัดค้านของชาวบ้านมานาน โดยมี พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และ พ.ต.อ.ภาสกร ณ พิกุล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเวียงชัย ร่วมเดินทางมาด้วย ในบริเวณเต็นท์ด้านพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “มหาวิทยาลัยป้องกันชุมชน” พบชาวบ้านประมาณ 20 คน จึงได้เข้าไปสอบรายละเอียด ได้ข้อมูลว่า ชาวบ้านจาก 3 ตำบล ใน3 อำเภอ ได้ร่วมกันต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโครงการมาตั้งแต่ต้นจนเกือบครบ 3 ปีแล้ว โดยโครงการดังกล่าวมันไม่โปร่งใสมาตั้งแต่แรก โดยทางบริษัทฯ ได้ให้นายหน้าซึ่งก็คือพวกผู้นำชุมชนในอดีต มาไล่กว้านซื้อที่นาชาวบ้านประมาณ 78 ไร่ โดยบอกชาวบ้านว่าจะเอามาทำโรงสีข้าวและลานรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร โดยไม่มีใครยอมพูดความจริง เพราะถ้ารู้ว่าจะเอามาสร้างโรงงานไฟฟ้า ชาวบ้านก็จะไม่ยอมขายให้เด็ดขาด ส่วนพวกอดีตผู้นำก็หวังแค่เงินค่านายหน้าจากบริษัทฯ เท่านั้น จากนั้น พล.ต.ท.ชัยยะ ได้สอบถามชาวบ้านเพิ่มเกี่ยวกับการทำประชาคม และการไปดูงานที่โรงงานไฟฟ้าในจังหวัดอื่น ได้รับคำตอบว่า การทำประชาคมที่ผ่านมานั้นมีความไม่โปร่งใส โดยมีการนำเอารายชื่อจากการลงชื่อประชุมหมู่บ้านมาระบุในการทำประชาคม ทั้งที่บางหมู่บ้านประชุมเรื่องการยกระดับ อบต.ขึ้นเป็นเทศบาล แต่ที่เลวร้ายที่สุด คือการนำเอารายชื่อของชาวบ้านที่ลงชื่อในการเข้าร่วมประชุมไปแอบอ้างว่าเป็นรายชื่อชาวบ้านที่สนับสนุน ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวบ้านไม่ทราบเรื่อง แต่พอเกิดเรื่องไปขอดูเอกสาร ที่ อบต.เวียงเหนือจึงทราบว่า หน่วยงานรัฐ และนายทุนรวมหัวกันหลอกชาวบ้าน โดยกล่าวอ้างว่าได้ทำประชาคมและผ่านมติชาวบ้านแล้ว ส่วนการไปดูงานก็เอาพวกนายหน้าที่ดิน และอดีตผู้นำชุมชนที่มีส่วนได้เสียกับเรื่องนี้ไปดูงาน 1 วัน 1 โรงงาน กลับมาก็ไม่มีใครพูดอะไร แต่บริษัทฯ ก็ถ่ายรูปแล้วบอกว่าคนที่ไปเห็นด้วยทั้งหมด ซึ่งขัดแย้งกลับความจริง ยิ่งช่วงหลังๆ ให้พวกชาวบ้านที่ได้รับเงินมาหลอกให้คนในชุมชนไปทำบุญ ไปงานกฐิน พอขึ้นรถได้ก็พาไปดูโรงไฟฟ้าแทน แล้วก็เอาชื่อคนที่ถูกหลอกไปแอบอ้างอีก ทาง ผบช.ภ.5 ได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน่วยงานในจังหวัดเชียงราย ในการเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งได้คำตอบจากชาวบ้านว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่สามารถพึ่งใครได้ในจังหวัดเชียงราย นับตั้งแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัด จนถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ โดยทุกฝ่ายใส่เกียร์ว่างไม่สนใจใยดีกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ปล่อยให้ชาวบ้านสู้กันเองจนชาวบ้านอดคิดไม่ได้ว่าภาครัฐทำงานให้ประชาชนหรือใครกันแน่ และเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2554 ที่ผ่าน นายทุนก็นำกำลัง อส.จากกรมการปกครอง กว่า 50 นายมาข่มขู่ชาวบ้าน ตำรวจก็ตั้งด่านจับหมวกกันน็อก ตรวจใบขับขี่ เพื่อสกัดชาวบ้านที่จะเดินทางมาคัดค้าน บนถนนชุมชน จนชาวบ้านหมดศรัทธา ในหน่วยงานรัฐ และข้าราชการ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีการระบุด้วยว่า กอ.รมน. ได้ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง แต่กลับเขียนทำรายงานเข้าไปยังจังหวัดว่า ปัจจุบันเหลือกลุ่มผู้ค้านเพียงแค่ 5 คน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านคัดค้านหลายพันคนในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 17.00 น.ชาวบ้านได้ทราบข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่เข้ามาบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการ จึงทยอยเดินทางมากว่า 500 คน ทำให้บรรยากาศเริ่มตึงเครียด ทาง พล.ต.ท.ชัยยะ จึงได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า ตนเดินทางมานอกราชการโดยไม่แจ้ง เพราะต้องการทราบข้อมูลความเป็นจริงในพื้นที่ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน พล.ต.ท.ชัยยะ กล่าวกับชาวบ้านว่า วันนี้ได้มาเห็นกับตาแล้วว่าชาวบ้านเดือดร้อนจริง และมีจำนวนมาก อีกทั้งได้ทราบถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหาที่แท้จริงแล้ว ซึ่งจะนำเรียนไปยังผู้ใหญ่ให้ได้รับทราบตามจริง พร้อมให้กำลังใจว่าชาวบ้านได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วในการแสดงสิทธิในการปกป้องชุมชน การที่ชุมชนเข้มแข็งขนาดนี้ไม่มีใครมาก่อสร้างโครงการได้ ถ้าชาวบ้านไม่เอาใครก็สร้างไม่ได้ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 18.00น. พล.ต.ท.ชัยยะ และคณะจึงได้เดินทางกลับ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ถอดรหัส “ลักพาตัวเด็กในโรงพยาบาล” Posted: 01 Jun 2011 10:02 AM PDT ภายหลังจากที่น้องไตเติ้ล เด็กชายวัย 3 เดือน ซึ่งถูกคนร้ายลักพาตัวไปจากแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะได้ตัวน้องไตเติ้ลกลับคืนมาภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืนก็ตาม กลับเกิดคำถามมากมายตามมาว่า เหตุใดสถานที่ที่น่าจะปลอดภัยที่สุดอย่างโรงพยาบาล กลับกลายเป็นสถานที่อันตรายที่สุดที่เด็กจะถูกลักพาตัว ทั้งยังมีคำถามตามมาว่า ปลายทางของการลักพาตัวเด็ก จะเอาเด็กไปทำอะไร และนี่คือ ขบวนการค้ามนุษย์ใช่หรือไม่ – มูลนิธิกระจกเงา จะพาท่านร่วมถอดรหัส “ลักพาตัวเด็กในโรงพยาบาล” ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา
ตำนานคดีสะเทือนใจพ่อแม่-ลักเด็กแฝดที่ลพบุรี เดือนมิถุนายน 2550 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนเป็นพ่อแม่ เมื่อมีคนร้ายลักพาตัวเด็กแฝดวัยเพียง 2 วัน จากโรงพยาบาลลพบุรี โดยคนร้ายแต่งตัวด้วยชุดกราวน์คล้ายผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ก่อนก่อเหตุลักพาตัวแฝดผู้น้องที่นอนอยู่ในห้องคลอดไป ทิ้งแฝดผู้พี่ไว้ให้แม่ดูต่างหน้า คดีนี้มีแนวทางในการสืบสวนข้อเท็จจริงอยู่หลายประเด็น ทั้งในด้านเหตุภายในครอบครัว เหตุส่วนตัวระหว่างแม่เด็กและภรรยาอีกคนของพ่อเด็ก แม้ว่าการสืบสวนในระยะแรกจะหลงประเด็นไปจนออกหมายจับผู้กระทำความผิดผิดตัวก็ตาม โชคดีที่คดีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งตำรวจนักสืบฝีมือดีออกไล่ล่าและสืบสวนข้อเท็จอย่างเอาเป็นเอาตาย จนกระทั่งพบข้อมูลบางประการอันนำไปสู่การที่ตำรวจจับคนร้ายพร้อมเด็กที่ถูกลักพาตัวได้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ โดยใช้เวลาในการติดตามตัวเด็กถึง 7 วัน นี่เป็นตำนานคดีแรกในรอบ 7 ปีเหตุการณ์ลักพาตัวเด็ก
สดๆ ร้อนๆ ในรอบปี 2554 กลางโรงพยาบาลดัง 13 กุมภาพันธ์ 2554 ห้องพักฟื้นผู้ป่วยคลอด กลางโรงพยาบาลขอนแก่น กลายเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่มีคนร้ายบุกเข้ามาลักพาตัวเด็กวัยเพียง 2 วันถึงเตียงนอน โดยผู้กระทำผิดเป็นหญิงวัยกลางคน อายุประมาณ 35-40 ปี รูปร่างอ้วน ผิวคล้ำ รวบผม สูงประมาณ 160 ซม.สวมเสื้อสีขาวดำ สวมเสื้อนอกสีขาวทับ กางเกงขาสั้นถึงเข่า ทำทีเป็นญาติของผู้ป่วย เดินเข้าอุ้มเด็กจากเตียงออกไปทางประตูด้านหลังโรงพยาบาล ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่เบาะแสแน่ชัดในการติดตามตัวเด็ก จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งรางวัลเบาะแสนำจับถึง 1 แสนบาท !!! ล่าสุด 30 พฤษภาคม 2554 ห้องโถงผู้ป่วยนอก กลางโรงพยาบาลราชวิถี เกิดเหตุคนร้ายลักพาตัวเด็กชายวัย 3 เดือน โดยผู้กระทำผิดทำทีตีสนิท อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิทำงานด้านเด็ก ก่อนจะขออุ้มเด็กและอาศัยจังหวะแม่เด็กเผลอลักพาตัวเด็กไปในที่สุด เดชะบุญได้ตัวเด็กกลับคืนมาอย่างปลอดภัย โดยกระบวนการกดดันผู้กระทำผิดบางอย่างจนต้องนำเด็กมาส่งคืน!!!!
7 ใน 10 เด็กทารกหาย-ถูกลักพาตัวในโรงพยาบาล ย้อนรอยตำนาน 7 ปีหลังสุดการลักพาตัวเด็กเด็กทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ทั้งสิ้น 10 ราย ดังนี้
ใคร คือ คน ลักพาตัวเด็ก ? การถูกลักพาตัวของเด็กทารก ทั้ง 10 ราย พอจะวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของคนลักพาตัวเด็กได้ว่า เป็นคนที่ต้องการมีลูกเป็นของตัวเอง แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยสาเหตุต่างๆ โดยผู้ก่อเหตุทั้งหมดเป็นผู้หญิง ซึ่งมีท่าทีปกติ และดูเหมือนจะรักเด็กเป็นพิเศษ นอกจากนี้กลุ่มที่ลักพาตัวเด็กทารก ยังอาจเป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งมีความต้องการเด็กไปเลี้ยง และตัดสินใจที่จะหาเด็กไปเลี้ยงโดยวิธีการขโมยไปจากพ่อแม่!!! นอกจากนี้กลุ่มคนที่แท้งลูกก่อนคลอดไม่นาน ก็อาจจะเป็นผู้ที่ตัดสินใจก่อเหตุลักพาตัวเด็กทารก เนื่องจากยังทำใจไม่ได้ที่ลูกของตัวเองเสียชีวิตในครรภ์ และตั้งความหวังไว้สูงว่าจะได้เลี้ยงลูก แต่ปรากฏว่า แท้งเสียก่อน จึงลงมือก่อเหตุลักพาตัวเด็ก ผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนมีฐานะ เพราะพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิด หลายราย ไม่มียานพาหนะส่วนตัว โดยหลังจากการก่อเหตุ มักจะโดยสารรถสาธารณะหรือรถรับจ้าง
เด็กทารกคนไหนจะถูกลักพาตัว เด็กที่จะถูกลักพาตัว อาจขึ้นอยู่กับโอกาสของผู้กระทำความผิดและการดูแลเอาใจใส่ในระหว่างเด็กอยู่ในโรงพยาบาล จากสถิติพบว่าเด็กทารก 10 รายที่ถูกลักพาตัวในรอบ 7 ปีมานี้ เป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย โดยมีอายุตั้งแต่ 1 วันถึง 11 เดือน ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กย่อมมีความน่ารักอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เด็กทุกคนมีความเสี่ยงในการถูกลักพาตัว ทั้งนี้ ที่เกิดเหตุมักเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีคนไข้ และญาติคนไข้เข้าออกจำนวนมาก
ลักพาตัวเด็กทารกไปทำอะไร ถ้าจับประเด็นเฉพาะการลักพาตัวเด็กทารก ไม่นับการซื้อขายเด็กทารกจากแม่ที่ตั้งใจขายลูกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จะพบว่า สมมุติฐานเดิมที่สังคมเคยตั้งกันไว้ว่า การลักพาตัวเด็กทารกในประเทศไทย น่าจะเป็นการค้ามนุษย์ จับเอาเด็กไปตัดแขนตัดขาเพื่อขอทาน ไม่เป็นความจริง !!! เพราะเด็กขอทานในประเทศไทย ส่วนใหญ่ถูกนำพาเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่การลักพาตัวเด็กไทยเพื่อให้ขอทาน เพราะเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน มีเยอะและนำเข้าง่ายกว่าการลักพาตัวตามโรงพยาบาล จากประสบการณ์เด็กทารกถูกลักพาตัวทั้ง 10 ราย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การลักพาตัวเด็กทารกเป็นไปเพื่อการนำเด็กมาเลี้ยงดู ทั้งจากความเสน่หา ความรักใคร่ชอบพอเด็ก และผู้กระทำผิดประสงค์จะมีลูกเป็นของตัวเอง แต่ให้กำเนิดบุตรไม่ได้
ทำไมต้องโรงพยาบาล เด็กทารก 7 ราย จาก 10 ราย ที่หายตัวไป ถูกคนร้ายลักพาตัวไปจากโรงพยาบาล คำถามคือ ทำไมต้องลักพาเด็กในโรงพยาบาล จากการวิเคราะห์สภาพข้อเท็จจริงและวิธีการลักพาตัวเด็กของผู้กระทำความผิด พบว่า โรงพยาบาลเป็นสถานที่เปิด ซึ่งมีคนเข้านอกออกในจำนวนมาก ประกอบกับบุคลากรในสถานพยาบาลมีอย่างจำกัด ทำให้การดูแลด้านความปลอดภัยมีไม่ทั่วถึง นอกจากนี้โรงพยาบาลยังน่าจะเป็นแคตตาล็อคชั้นดี ที่ผู้กระทำความผิดสามารถเลือกเด็กได้ ว่าจะลักพาตัวเด็กคนไหน เพราะมีเด็กจำนวนมากให้เลือก ทั้งเด็กแรกคลอดและเด็กที่มารักษาพยาบาล เนื่องจากภาพจากกล้องวงจรปิดและคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ เห็นตรงกันว่า ผู้กระทำความผิด มักเดินเข้าออกในห้องคลอดหรือบริเวณที่จะลักพาตัวเด็กหลายครั้ง เพื่อสังเกตเด็กตามเตียงต่างๆ ที่สำคัญ คือ เมื่อคนร้ายลงมือลักพาตัวโดยการอุ้มเด็กจากพื้นที่เกิดเหตุ ไม่ว่าเด็กจะหลับหรือเด็กจะร้องไห้ทุกคนในโรงพยาบาล ก็คงคิดเหมือนกันว่าเป็นแม่เด็ก หรือญาติของเด็ก ดังนั้น คนร้ายจึงสามารถอุ้มเด็กเดินออกจากโรงพยาบาลได้โดยง่าย
วิธีการลักเด็กทารก ก่อการลงมือก่อเหตุลักพาตัวเด็กของผู้กระทำความผิด มีการวางแผนและวิธีการเสมอ ดังนั้น ผู้กระทำความผิดจะเข้ามาหาเด็กในรูปแบบต่างๆ ที่แตกต่างกัน เช่น การปลอมเป็นบุคคลกรทางการแพทย์ อันนี้จะแนบเนียนและตบตาญาติเด็กมากที่สุด เพราะน่าไว้วางใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล หรือทำทีเป็นญาติของคนไข้รายอื่นๆ ซึ่งจะตบตาเจ้าหน้าที่ในการเดินเข้านอกออกในห้องผู้ป่วยได้โดยง่าย ผู้กระทำความผิดบางคนเดินเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง จนเจ้าหน้าที่คุ้นหน้าและคิดว่าเป็นญาติที่มาเฝ้าไข้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ในรายล่าสุดที่โรงพยาบาลราชวิถี ยังแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเด็กอ่อนเพื่อมาช่วยอุ้มเด็กขณะรอตรวจรักษา จะเห็นว่าผู้กระทำความผิดลักพาตัวเด็กในโรงพยาบาล มักปลอมเป็นคนที่อยู่ในโรงพยาบาลอย่างแนบเนียน ทั้งบุคคลกรทางการแพทย์ ญาติคนไข้ และ อาสาสมัครในโรงพยาบาล ซึ่งตบตาผู้เสียหายได้แนบเนียน และญาติแทบไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ใครคือตัวจริง ตัวปลอม นอกจากการสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น พยายามตื้อขออุ้มเด็ก หรือเดินเข้าออกห้องผู้ป่วยเพื่อมาดูเด็กตามเตียงต่างๆ หลายครั้ง เป็นต้น
ทำอย่างไรถึงได้เด็กคืน เด็กทารก 9 คนจาก 10 คนที่ถูกลักพาตัว โชคดีที่ได้ตัวกลับคืนสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย มีเพียงกรณีลักพาตัวเด็กในโรงพยาบาลที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อต้นปี 2554 เท่านั้นที่ยังไม่ได้ตัวคืน การได้ตัวเด็กคืนมีด้วยกันหลากหลายวิธี พบว่า วิธีที่ส่งผลต่อการนำตัวเด็กมาคืนโดยผู้กระทำความผิดมากที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์ภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด ที่จับภาพผู้กระทำความผิดได้ และภาพที่พ่อแม่เด็กขอร้องวิงวอนผ่านสื่อมวลชน ทำให้ผู้กระทำความผิดมักใจอ่อน ยอมนำเด็กมาคืน เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ผู้กระทำความผิดมีจิตใจรักเด็ก ไม่ได้มุ่งหวังการทำร้ายร่างกายหรือหวังผลประโยชน์ทางทรัพย์สิน ดังนั้น เมื่อนำเด็กไปจึงพยายามเลี้ยงดูอย่างดี และเมื่อผู้กระทำความผิดเห็นภาพของตัวเองและภาพของพ่อแม่เด็กที่ร่ำไห้ ผู้กระทำความผิดมักจะใจอ่อน สุดท้ายจะนำเด็กมาคืนโดยวิธีการต่างๆ ส่วนใหญ่จะนำเด็กมาวางคืนไว้ตามที่ต่างๆ ใกล้ที่เกิดเหตุ การสืบสวนติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความสำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสืบข้อเท็จจริงจากปมปัญหาภายในครอบครัวของผู้เสียหายก่อน ทั้งเรื่องการแย่งความปกครองบุตร หรือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างครอบครัวเด็กกับบุคคลภายนอก หลังจากนั้นจึงตั้งข้อสันนิษฐานในประเด็นอื่นๆ ต่อไป แต่ต้องไม่หลงทางว่าเป็นกลุ่มแก๊งค์ค้ามนุษย์ เพราะกลุ่มค้ามนุษย์ไม่มีแผนประทุษกรรมในการลักพาตัวเด็กจากโรงพยาบาลมาก่อน นอกจากนี้พบว่า เมื่อผู้กระทำความผิดก่อเหตุแล้ว มักจะต้องพาเด็กไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาล เนื่องจากเด็กทารกเพิ่งเกิดได้ไม่มีวัน มีสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ยิ่งถ้าต้องเดินทางโดยรถประจำทางข้ามจังหวัด อาจทำให้เจ็บป่วย ผู้กระทำความผิดจำเป็นต้องพาเด็กเข้ารับการรักษา จึงทำให้บุคคลกรทางการแพทย์ในการโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีไหวพริบดี สังเกตเห็นว่า น่าจะไม่ใช่แม่เด็ก ทั้งการเลี้ยงดู การอุ้ม การให้นม หรือพฤติกรรมส่วนตัวต่างๆ ที่แสดงออกมาแบบลับๆ ล่อๆ ก็จะทำให้บุคคลกรทางการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็ก เพราะเหตุสงสัยและเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบ ดังนั้น กระทรวงสาธารณะสุขจำเป็นต้องส่งประกาศและข้อมูลเด็กถูกลักพาตัว และวิธีการสังเกตพิรุธของผู้กระทำผิด ตลอดจนขั้นตอนแนวทางปฏิบัติเมื่อพบเหตุสงสัยว่าคนพาเด็กมารักษาไม่ใช่แม่เด็กว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป
ถึงเวลาศูนย์ติดตามคนหายของรัฐเสียที เด็กถูกลักพาตัวหลายกรณี ตำรวจทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เช่น กรณีที่ขอนแก่น พบว่ามีความพยายามทำงานสืบสวนหลายวิธี แต่ก็ยังไร้เบาะแส แต่หลายกรณีพบว่าตำรวจยังเดินตามหลังนักข่าวต้อยๆ ช้ากว่าหน่วยงานอื่นๆ และขาดองค์ความรู้ในการวิเคราะห์ผู้กระทำความผิด วันนี้ต้องบอกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่รู้ว่าเด็กถูกลักพาตัวเอาไปเพื่ออะไร ลักแล้วไปไหนต่อ หลายครั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ยังให้สัมภาษณ์ว่าเด็กถูกลักพาตัวโดยแก๊งค์รถตู้ไปตัดแขนตัดขาเพื่อขอทาน ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง การมีศูนย์ติดตามคนหายของหน่วยงานภาครัฐ จะทำให้เกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้งแผนประทุษกรรมผู้กระทำผิด และแนวทางที่ชัดเจนในการสืบค้นหาอย่างเป็นระบบมากขึ้น และรัฐต้องไม่ตั้งรับกับปัญหา แม้ประชาชนไม่ได้แจ้งรัฐโดยตรง เพราะตอนเกิดเหตุพ่อแม่อยู่ในภาวะตายทั้งเป็น ร้อนรุ่มวุ่นวายในการตามหาลูก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งจะรับภารกิจเรื่องรับแจ้งคนหายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จำเป็นที่จะต้องออกโรงมาร่วมด้วย ทั้งแง่การดูแลสภาพจิตใจครอบครัว การประสานงานหน่วยงานต่างๆ หรือถ้าทำเองไม่ได้ด้วยปัจจัยด้านบุคคลกร ความเชี่ยวชาญและอำนาจตามกฎหมาย ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายด้วยกัน นี่อาจจะเป็นแนวทางตั้งรับในเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ดีเอสไอระดมขุนพลไอทีวางมาตรการล่า ‘หมิ่นสถาบัน’ Posted: 01 Jun 2011 09:29 AM PDT 1 มิ.ย. 54 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเป็นประธานเปิดโครงการสนธิกำลังเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การบูรณาการเทคนิคการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตขั้นสูง ในคดีหมิ่นสถาบัน" ณ ห้องอบรม ชั้น 9 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เพื่อมุ่งหวังที่จะป้องกันปราบปราม และแลกเปลี่ยนความรู้ให้เท่าทันการก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งรัฐ (หมิ่นสถาบันฯ) โดยมี พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้บริหาร ACIS Professional Center ดร.สมนึก พ่วงพรพิทักษ์ รองคณบดี ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และหัวหน้ากลุ่มวิจัยความมั่นคงสารสนเทศและเครือข่ายชั้นสูงและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ยอดนิยมต่าง ๆ อีกทั้ง นายสุรภูมิ จิตอารีรัตน์ หัวหน้าทีมประสาน “กลุ่มอาสาเทิดไท้ – ชูธรรม” (คนรักในหลวง) พร้อมคณะ จำนวน 100 คน จะเดินทางมาให้กำลังใจในการทำงานแด่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ณ บริเวณโถงกลาง ชั้น G อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ................. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นักข่าวพลเมือง: คนงานจี้สมาคมสื่อฯแสดงท่าทีกรณีจับ "สมยศ" ในฐานะสื่อด้วยกัน Posted: 01 Jun 2011 08:27 AM PDT องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย ยื่นหนังสือนายกฯ จี้ปล่อยสมยศ พฤกษาเกษมสุข ชี้ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้สิทธิประกันตัวตามกฎหมาย จากนั้น เดินทางไปสมาคมนักข่าวฯ ขอให้แสดงท่าทีต่อกรณีจับสมยศในฐานะสื่อคนหนึ่ง วานนี้ (31 พ.ค. 54) เวลา 10.00 น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายพรมมา ภูมิพันธ์ ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานเครืออุตสาหกรรมเบอร์ล่า เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้รับสิทธิในการประกันตัว หลังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุมตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม หนังสือดังกล่าวระบุว่า องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่พึงได้รับ ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนควรใต้รับสิทธิในการประกันตัวเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ข้อเท็จจริงจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ในมาตรา 39 วรรค 2 “ในคดีอาญาต้องสันนิฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด” และวรรค 3 บัญญัติว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” จากนั้น เวลา 11.10น. นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาลได้ออกมารับหนังสือและรับปากจะนำหนังสือและข้อเรียกร้องขององค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตยส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต่อมาเวลา 13.00น. องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตยได้เดินทางไปยังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯคนปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้สมาคมนักข่าวฯ ออกมาแสดงท่าทีต่อกรณีดังกล่าวในฐานะที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่ง โดยมีนางสาวเทียมใจ ทองเมือง ผู้จัดการสมาคมฯ เป็นผู้ออกมารับหนังสือ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ชำนาญ จันทร์เรือง: พนักงานอัยการกับการดำเนินคดีปกครอง Posted: 01 Jun 2011 01:59 AM PDT
แต่เดิมก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาในประเทศไทย การดำเนินคดีปกครองถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคดีแพ่งในศาลยุติธรรม การดำเนินคดีของพนักงานอัยการถือเป็นอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง จึงทำให้พนักงานอัยการมีบทบาทในการดำเนินคดีแพ่งของรัฐค่อนข้างมาก โดยบทบาทดังกล่าวมีที่มาจากกฎหมายได้กำหนดให้พนักงานอัยการมีหน้าที่และบทบาทที่มาจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นเสมือนทนายแผ่นดิน การเข้ามาดำเนินคดีปกครองของพนักงานอัยการ แต่ในคดีปกครองนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการออกกฎเกณฑ์หรือการออกคำสั่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่ายปกครองดำเนินการได้เองฝ่ายเดียว มิใช่ตั้งอยู่บนหลักความเท่าเทียมกันเช่นการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตามกฎหมายมหาชน ทั้งยังทำเป็นเอกสารหรือเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในการครอบครองของฝ่ายรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นการยากที่เอกชนจะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันข้อกล่าวอ้างของตน ดังนั้น การถือหลักในการค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัดว่าเป็นหน้าที่ของคู่ความหรือคู่กรณีที่จะต้องพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของตนเช่นคดีทั่วๆ ไปย่อมอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมในการต่อสู้คดีได้ ด้วยเหตุนี้ในคดีปกครองศาลจึงมีหน้าที่มากไปกว่าการรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความหรือคู่กรณีกล่าวอ้าง โดยจะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริง และการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งเรียกว่า “ระบบไต่สวน” โดยยึดหลักการสร้างดุลยภาพระหว่างประโยชน์สาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเอกชน จากลักษณะความแตกต่างในการดำเนินคดีแพ่งกับคดีปกครองในประเด็นต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งพนักงานอัยการมีความคุ้นเคยในการดำเนินคดีแพ่ง จึงมีประเด็นที่น่าคิดว่าการมอบอำนาจให้พนักงานอัยการเข้ามาดำเนินคดีปกครองแทนหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมีผลเป็นการช่วยให้การดำเนินคดีปกครองของศาลปกครองเป็นไปด้วยความรวดเร็วถูกต้องมีข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านหรือไม่ หรือจะมีผลทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณามีความล่าช้าโดยไม่มีเหตุจำเป็น เช่น การจัดทำคำให้การในลักษณะการตัดอำนาจฟ้องของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างเหตุต่างๆ แล้วขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งยกฟ้องผู้ฟ้องคดี หรือในกรณีที่หน่วยงานทางปกครองออกกฎหรือคำสั่งที่มีความผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหน่วยงานทางปกครองควรที่จะได้รับคำปรึกษาหรือคำแนะนำให้แก้ไขกฎหรือคำสั่งดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เหตุแห่งการฟ้องคดีหมดไป แต่กลับต้องมาเสียเวลาในการต่อสู้คดี เป็นต้น ดังนั้น ถ้าหากพิจารณาถึงความคุ้นเคยในการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการที่มุ่งจะรักษาประโยชน์ของรัฐจนมีผลกระทบต่อการคุ้มครองความเป็นธรรมของเอกชน อาจกล่าวได้ว่า ความเคยชินในการดำเนินคดีแพ่งมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับหลักการในการดำเนินคดีปกครองที่ใช้ระบบไต่สวนเป็นหลักในการพิจารณาคดีที่ศาลจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการแสวงหาข้อเท็จจริง จริงอยู่ศาลอาจแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวโดยศาลแสวงหาข้อเท็จจริงโดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากพนักงานอัยการ แต่การดำเนินคดีของพนักงานอัยการในแนวทางที่เคยชินอาจมีผลให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองของศาลมีความล่าช้าได้ ฉะนั้น พนักงานอัยการที่ต้องรับผิดชอบในการดำเนินคดีปกครองจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวความคิดและวิธีปฏิบัติในการดำเนินคดีปกครองเสียใหม่ เพราะมิเช่นนั้นแทนที่พนักงานอัยการจะมีส่วนช่วยให้มีการรักษาความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะ กับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กลับจะเป็นเหตุขัดขวางในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เพราะมุ่งแต่จะคุ้มครองประโยชน์ของรัฐตามความเคยชินที่ได้ถือปฏิบัติในการดำเนินคดีแพ่งมาตลอด
จึงถึงเวลาแล้วที่น่าจะต้องมีการทบทวนการดำเนินคดีปกครองของพนักงานอัยการกันอย่างจริงจังเสียที
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
“กนก” แจงหลังถูกผู้ใช้เน็ตวิจารณ์ เผยไม่ถือสาเรื่องทำนองนี้ "ที่มาจากพันทิพ" Posted: 01 Jun 2011 01:36 AM PDT "กนก รัตน์วงศ์สกุล" แจงกรณีอ่านข่าวรถหาเสียง ส.ส. เปิดประตูชนมอเตอร์ไซค์ ยันไม่ได้บอกว่าคนขับรถไม่ผิด เพราะภาพเห็นอยู่แล้ว แต่การอ่านข่าวเน้นไปที่ผู้หญิงที่ขับมอเตอร์ไซค์น่ารักและไม่เอาเรื่อง ส่วนคนขับรถก็ออกมาช่วย รับนึกไม่ถึงว่ามีคนจ้องเอาเรื่อง เชื่อ "ยิ่งใกล้เลือกตั้ง คงยังต้องเจออีกมาก" ตามที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ตั้งกระทู้ในกระดานข่าวพันทิพ ห้องรัชดา วิจารณ์นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ผู้ประกาศข่าวรายการข่าวค้นคนข่าว ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีของ อสมท. หลังจากเมื่อคืนวันที่ 24 พ.ค. ได้การอ่านข่าวโชเฟอร์รถหาเสียงผู้สมัคร ส.ส. จ.เพชรบุรี ซึ่งเปิดประตูด้านคนขับแล้วชนกับมอเตอร์ไซค์จนล้มคว่ำ แต่เมื่อนำไปอ่านข่าวกลับเป็น “รถเขาจอดอยู่เฉยๆ” นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายกนก ได้ชี้แจงหลังมีผู้นำไปถามในเว็บไซต์เฟซบุค หน้าแฟนเพจของนายกนก [Kanok Ratwongsakul Fan Page] โดยนายกนกชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นคนบอกว่าคนขับรถไม่ผิด เพราะภาพมันเห็นอยู่แล้วว่าประตูมันเปิด แต่เขาเน้นที่ว่าผู้หญิงคนนั้นน่ารัก และไม่เอาเรื่องเอาราว ส่วนคนในรถก็ออกมาช่วย นอกจากนี้ยังไม่ถือสาเรื่องทำนองนี้ที่มาจากพันทิพด้วย เพราะจากเว็บพันทิพไม่ใช่มีแค่เรื่องนี้ "คุณ Chamaiporn ต้องดูจากรายการ จึงจะรู้อารมณ์อย่างที่ คุณ Mingporn บอก เป็นข่าวเน้นสีสัน เฮฮา ผมไม่ได้บอกว่ารถตู้ไม่ผิดนะครับ ภาพมันก็เห็นอยู่แล้วว่า ประตูรถมันเปิดมา ผมเน้นที่คุณผู้หญิงคนนั้นก็น่ารัก ไม่เอาเรื่องเอาราว คนในรถก็ออกมาช่วย ผมอธิบายแค่นี้นะครับ และผมไม่ถือสาเรื่องทำนองนี้ที่มาจากพันทิพด้วย คุณจะเจอเรื่องแบบนี้..ที่คุณบอกว่าไม่สบายใจอีกมาก จากที่นั่น ไม่ใช่แค่เรื่องนี้หรอกครับ" นายกนกยังชี้แจงด้วยว่า "นึกไม่ถึงว่าจะมีคนจ้องจะเอาเรื่องกันขนาดนี้ ยิ่งใกล้เลือกตั้ง คงยังต้องเจออีกมาก" "ขอบคุณ คุณ Mingporn คุณ Kamolpan คุณ Yupa นะครับ ข่าวชิ้นนี้เป็นข่าวฮาเฮครับ ต่อเนื่องกับการไปสมัคร ลง ส.ส. ของพรรค ปชป. ที่เค้าใส่ชุดดับเพลิงไป แล้วรถทีมหาเสียงก็เจอรถมอเตอร์ไซด์คุณผู้หญิงชน เพราะคนขับเปิดประตูโดยไม่ดูให้ดี ผมไม่ได้เน้นตรงประตูรถเปิดเองล่ะครับ เพราะคิดว่าภาพมันเห็นๆ อยู่แล้ว แต่ไปเน้นที่คุณผู้หญิงหน้าตาน่ารัก และไม่เอาเรื่องเอาราว ^^ นึกไม่ถึงว่าจะมีคนจ้องจะเอาเรื่องกันขนาดนี้ ยิ่งใกล้เลือกตั้ง คงยังต้องเจออีกมาก" สำหรับรายการข่าวข้นคนข่าว เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทวิเคราะห์ข่าวประจำวัน ผลิตโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เนชั่นทีวี ออกอากาศ ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 21.50-22.45 น. ทาง โมเดิร์นไนน์ทีวี มีผู้ประกาศข่าว 3 คนได้แก่ นายกนก รัตน์วงศ์สกุล นายธีระ ธัญไพบูลย์ และนายกำภู ภูริภูวดล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นักข่าวพลเมือง: กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ เยือนพื้นที่ค้านไฟฟ้าแรงสูง ยันเคียงข้างสู้ไม่ถอย Posted: 31 May 2011 07:02 PM PDT ชาวบ้านค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 ชี้กรณีโปแตชหรือไฟฟ้าก็เหมือนกัน ต่างถูกทำร้ายจากรัฐและนายทุน วานนี้ (31 พ.ค.) เวลา 10.00 น.ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จำนวนกว่า 10 คน เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของนายสง่า บุญโยรัตน์ วัย 77 ปี ที่บ้านเลขที่ 29 หมู่ 3 บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายและจับกุมชาวบ้านและนักศึกษาจำนวน 15 คน แล้วนำรถแบคโฮเข้าไปขุดแปลงนาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 บรรยากาศการพบปะระหว่างชาวบ้านสองกลุ่มมีขึ้นอย่างเป็นกันเอง โดยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ไต่ถามถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับพ่อสง่าและลูกๆ ได้เล่าให้ฟัง ต่อมา น.ส.จันทร์จิรา บุญโยรัตน์ ลูกสาวนายสง่า ได้นำเดินลงไปสำรวจดูพื้นที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะขึ้นมารับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงเดินทางกลับ โดยก่อนกลับพ่อสง่าได้ให้ ขนุน และกระท้อน เพื่อเป็นของฝากตอบแทนน้ำใจการมาเยือน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย มาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณใกล้เคียงตลอดเวลา ขณะที่การก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงในอีกจุดหนึ่งซึ่งอยู่ถัดจากที่นาของนายสง่าออกไป คนงานของ กฟผ.ก็ยังคงทำการก่อสร้างเป็นปกติ โดยมีตำรวจบ้านมาคอยคุ้มกันเหมือนเช่นทุกวัน นายสง่า กล่าวว่า ตนไม่คาดคิดว่าตำรวจกับเจ้าหน้าที่ กฟผ.จะข่มเหง รังแกกันได้ขนาดนี้ ถึงแม้ว่าชาวบ้านไม่ยินยอมก็ไม่รับฟัง และถึงวันนี้ก็ยังเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอนไม่หลับ วิตกกังวล เพราะห่วงที่นาที่จะถูกทำลาย และก็ยังห่วงลูกๆ ที่ถูก กฟผ.แจ้งจับ ดำเนินคดี “ลูกชาย 2 คน ลูกสะใภ้ 1 คน และลูกเขยอีก 1 คน ที่ถูกจับ ซึ่งในวันนั้นตำรวจเขาเข้ามาจะจับพ่อด้วย แต่ลูกๆ ก็ช่วยกันเอาไว้ ก็ไม่คิดว่าเขาจะทำกับเราขนาดนี้ ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพบเคยเห็น ทั้งๆ ที่นาก็ของเรามีกรรมสิทธิ์ทุกอย่าง พ่อจึงคิดว่าจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ค่าทดแทนตามที่กฟผ.จะให้สักบาทเดียวก็ตาม” นายสง่ากล่าว ด้านนางลำพูน รัตนี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อเยี่ยม และให้กำลังใจกัน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าไม่มีความเป็นธรรมใดๆ เลย ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเขาไม่ยอมและลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญ และมีเหตุมีผลว่าต้องรอฟังคำตัดสินของศาลปกครอง แต่ กฟผ.ก็ยังใช้กำลังตำรวจมาบีบบังคับเอา แล้วบ้านนี้เมืองนี้เราจะหวังพึ่งใครได้ “อยากให้พี่น้องมีกำลังใจในการต่อสู้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เพราะเราก็คือคนทุกข์คนยากด้วยกัน ซึ่งหากเราไม่ช่วยกันก็จะหวังพึ่งใครไม่ได้แล้ว เพราะหน่วยงานของรัฐกับนายทุนเขาจ้องแต่จะมาปล้นเอาทรัพยากรของชาวบ้าน โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าเรื่องโปแตชหรือเรื่องไฟฟ้าก็เหมือนกัน” นางลำพูนกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น