ประชาไท | Prachatai3.info |
- หมอไทยสุดเครียด สารพัดโรครุมตอม
- หน่วยแพทย์ฉุกเฉินผวาเจอบึ้มซ้ำ ไม่มั่นใจแผนเซฟโซนทหาร
- มูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา “งบทหารต้องผ่าน ศอ.บต.”
- ประชานิยมเพื่อผู้ใช้แรงงาน ...ทำได้จริงหรือ!
- นักข่าวพลเมือง: เสวนา “รำลึกศรีบูรพาและ 24 มิถุนายน”
- คนงานร่อน จม.อัด สส.ปชป.ให้ทบทวนตัวเองในกรณีเสนอขับจิตรา คชเดชเจ้าของวาทะ"ดีแต่พูด"ออกจากขบวนการแรงงาน
- นโยบายเกษตรกรมีบัตรเครดิต: อคติการกดเหยียดของคนเมือง ให้เกษตรกรกลายเป็นอื่นที่นอกเหนือจากตน
- โซตัส : เมล็ดพันธุ์อุดมการณ์อำนาจนิยมที่ตกค้างในสังคมไทย
- ปากคำชาว "หมู่บ้านเสื้อแดง" แห่งแรก ตั้งปลุกขวัญกำลังใจ..ไม่ใช่ล้มสถาบัน!
- ร้องไห้ทั้งคืน ร้องไห้ไปอีกนาน
- รายงาน ศปช.: (1) ชำแหละ คอป.และองค์กรอิสระ ความไม่คืบหน้าหลังโศกนาฏกรรมราชประสงค์
- ส่งผู้ต้องขังเสื้อแดงอุบลเข้าไอซียู
- ประชาไทบันเทิง: ทงบังชิงกิ เดอะซีรีย์ 3: The Rising Period of TVXQ
- เอรินา โบโควา
- นักข่าวพลเมือง: ขบวนการแรงงานในเอเชียเคลื่อนเรียกร้องปล่อย “สมยศ”
หมอไทยสุดเครียด สารพัดโรครุมตอม Posted: 27 Jun 2011 11:41 AM PDT จากรายงานการวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตแพทย์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของแพทย์หญิงพัชรี พุทธชาติ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 ระบุว่า วิชาชีพแพทย์เป็นวิชาชีพที่มีภาวะเจ็บป่วยด้วยความเครียด ภาวะซึมเศร้าและการติดสุราสูงกว่าบุคลากรอาชีพอื่น และยังมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าประชากรทั่วไปด้วย ในรายงานการวิจัยชิ้นนี้ ระบุถึงผลการสำรวจสุขภาวะแพทย์ไทย เมื่อปี 2546 ว่า แพทย์ไทยร้อยละ 36.2 มีปัญหาสุขภาพกาย ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรงเบาหวาน และโรคมะเร็งตามลำดับ ในด้านสุขภาพจิต พบความชุกของปัญหาสุขภาพจิตของแพทย์ไทย คิดเป็นร้อยละ 7.4 สูงกว่าประชากรโดยทั่วไป สำหรับภาวะวิกฤติซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานวิจัยฉบับนี้ พบว่าส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยรวมแพทย์ในพื้นที่ไม่ดีเท่าที่ควร โดยอ้างถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของแพทย์ในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า (CES–D) พบว่า อัตราความชุกของแพทย์ในจังหวัดสงขลา มีภาวะซึมเศร้าถึงร้อยละ 52.4 และประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ปัญหาการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าของแพทย์ในจังหวัดสงขลาสูง จากการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขภาคใต้ เมื่อปี 2547 พบว่า บุคลากรสุขภาพทุกกลุ่มวิชาชีพร้อยละ 70–80 ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผลการศึกษาจากงานวิจัยปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตแพทย์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ภาวะวิกฤตซึ่งเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อประชาชนและผู้ให้บริการในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งระบบบริการสุขภาพ ผลที่จากการตอบกลับจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 116 ราย จากทั้งหมด 234 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของแพทย์สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แยกเป็นเพศชายร้อยละ 52.2 และหญิงร้อยละ 44.8 อายุเฉลี่ย 30.55 ปีนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 70 อิสลามร้อยละ 30 สถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 34.5 และโสดร้อยละ 65.5 ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิลำเนาอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ 72.4 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย และรู้สึกว่าสถานการณ์ความไม่สงบมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำสูงถึงร้อยละ 95.7 และร้อยละ 93.9 ตามลำดับ ในส่วนของความไม่สบายใจของบุคคลในครอบครัวก็สูงเช่นกันถึงร้อยละ 94 กลุ่มตัวอย่าง 69.8 มีคุณภาพชีวิตในระดับกลางและร้อยละ 30.2 มีคุณภาพชีวิตในระดับดี โดยมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิต 83.2±10.3 คะแนน องค์ประกอบคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่ในระดับดีมากที่สุด คือ ด้านร่างกาย ร้อยละ 54.3 รองลงมาคือ ด้านจิตใจ ร้อยละ 50 และด้านสัมพันธภาพทางสังคมร้อยละ 35.3 ส่วนองค์ประกอบคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับไม่ดีมากที่สุด คือ ร้อยละ 7.8 ประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างรู้สึกไม่พึงพอใจมากที่สุด คือ การเดินทางไปไหนมาไหน (การคมนาคม) ไม่ปลอดภัยร้อยละ 52.6 รองลงมาคือ ชีวิตไม่มีความมั่นคงปลดภัยร้อยละ 40.5 ไม่พึงพอใจกับสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ร้อยละ 32.8 และไม่มีโอกาสได้พักผ่อนคลายเครียดอย่างเหมาะสมร้อยละ 30.1 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของแพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัจจัยด้านระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความพึงพอใจรายได้ ความพึงพอใจในวิชาชีพแพทย์ ความขัดแย้งกับผู้ร่วมงาน และความรู้สึกไม่ปลอดภัยในจากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งสามารถอธิบายความแปรปรวนของคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมได้ถึง ร้อยละ 33 ปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์ในทางบวกกับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความพึงพอใจในวิชาชีพแพทย์ รองลงมาคือ ระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความพึงพอใจรายได้ ปัจจัยที่สัมพันธ์ในทางลบกับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความขัดแย้งกับผู้ร่วมงานและความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบ นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าเป็นปัญหาของกลุ่มตัวอย่างก็มีความสอดคล้องกับปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตโดยรวมเช่นเดียวกัน ได้แก่ปัจจัยด้านความพึงพอใจรายได้ ความพึงพอใจต่อโอกาสศึกษาต่อ ความพึงพอใจในวิชาชีพแพทย์ และความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งสามารถอธิบายความแปรปรวนของคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมได้ถึงร้อยละ 47. 3 ในรายงานการวิจัยได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจคือ ต้องเพิ่มจำนวนแพทย์ หรือควรเปิดโอกาสให้แพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีโอกาสพักผ่อนอย่างเหมาะสม เช่น มีแพทย์จากสถาบันอื่นๆ หมุนเวียนกันมาช่วยแบ่งเบาภาระงาน เพื่อการดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า การทำงานเชิงรุกด้านสาธารณสุขทำได้ค่อนข้างลำบาก เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยไม่กล้าปฏิบัติงานในพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล ยิ่งเพิ่มความแออัดในโรงพยาบาลมากขึ้นหรือผู้ป่วยมีอาการหนักแล้วจึงจะมาโรงพยาบาล ซึ่งอาจทำให้ได้รับการรักษาที่ล่าช้าเกินไป ผลข้างเคียงจากโรคต่างๆ ก็มีมากขึ้น การทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่สารถทำได้ดีเท่าที่ควร จึงเป็น “การซ่อมมากกว่าสร้างสุขภาพ” ไม่เป็นไปตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดของภาคอื่นๆแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพยังมีอยู่มากและไม่สามารถสร้างสุขภาพได้ดีเท่าที่ควร นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มีความเครียดอยู่แล้ว จึงอาจจะเกิดความเครียดสะสมบ้าง ตนไม่เคยทราบมาก่อนว่า มีแพทย์ติดสุรา และผู้ประกอบอาชีพแพทย์มีอัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าประชาชนทั่วไป นายแพทย์สุภัทร กล่าวถึงแพทย์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาว่า ในช่วงเกิดสถานการณ์รุนแรงระยะแรกๆ ระหว่างปี 2547–2550 แพทย์มีความเครียดสูง แต่ในปัจจุบันปี 2554 แพทย์รู้สึกผ่อนคลายและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้มากขึ้น ดูจากจำนวนของแพทย์ในพื้นที่ไม่ลดลง เมื่อเทียบกับในปีแรกๆ ที่เกิดสถานการณ์รุนแรง ในส่วนของชมรมแพทย์ชนบท ได้ผลักดันให้มีการเพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัยแพทย์ โดยพิจารณาจากสถานการณ์ความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ ส่วนสภาพจิตใจของแพทย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการดูแลเป็นรายๆ ไป แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กล่าวว่า แพทย์มีความเครียดเป็นเรื่องปกติ สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แพทย์คุ้นชินกับสถานการณ์มากขึ้น แต่ถ้าเหตุการณ์เกิดกับคนรู้จัก ก็ยังคงสะเทือนใจและเครียดอย่างมาก การนั่งพูดคุยและให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการเยียวยาจิตใจแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ สิ่งที่ก่อความเครียดให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบก็คือ การเผชิญหน้ากันในโรงพยาบาล ระหว่างญาติผู้ป่วยฝ่ายเจ้าหน้าที่กับฝ่ายชาวบ้านในพื้นที่ ในส่วนของการเยียวยาจิตใจแพทย์นั้น ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะเป็นคนดูแล โดยแต่ละโรงพยาบาลจะมีวิธีการผ่อนคลายความเครียดต่างกันออกไป แพทย์หญิงเศรษฐญาณี ตั่นไพบูลย์ แพทย์ใช้ทุนโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ตนเป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกมาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลปัตตานี เพราะมีเพื่อนเป็นคนในพื้นที่นี้ ต้องปรับตัวเยอะ เพราะมีปัญหาด้านภาษา พูดคุยกับคนไข้ไม่ค่อยรู้เรื่อง แม้จะมีล่ามแปลภาษาแต่ล่ามก็ไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของผู้ป่วยจริงๆ ได้ หรือถ้าวันไหนไม่มีคนที่สามารถสื่อสารทางภาษา วันนั้นก็ไม่สามารถตรวจได้ แพทย์หญิงเศรษฐญาณี กล่าวต่อไปว่า ตนไม่ได้มีความเครียดและความกดดันในการทำงาน แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเกิดเหตุการณ์ยิงกันหน้าโรงพยาบาลก็ตาม ถึงแม้เหตุการณ์นั้นทำให้หมอรู้สึกกลัวอยู่บ้างก็ตาม ตั้งแต่มาใช้ทุนที่โรงพยาบาลปัตตานี เคยออกปฏิบัติหน้าที่ในชุมชนที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งเพียงครั้งเดียว กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะมีพยาบาลฉุกเฉินออกไปดูแลหรือรับผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุมายังโรงพยาบาล ถึงแม้การมาเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงพยาบาล พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จะสามารถย้ายออกนอกพื้นที่หลังจากที่ใช้ทุนไปแล้วหนึ่งปี แต่ตนยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
หน่วยแพทย์ฉุกเฉินผวาเจอบึ้มซ้ำ ไม่มั่นใจแผนเซฟโซนทหาร Posted: 27 Jun 2011 11:36 AM PDT พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า ขณะนี้ (ปี 2554) ได้มีการวางแผนป้องกันการระเบิดซ้ำสองต่อเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยการจัดพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) และเคลียร์พื้นที่จนมั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุซ้ำอีก “ขณะนี้กองทัพได้ปรับแผนเชิงรุกเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยใช้คนพื้นที่ดูแลพื้นที่ เพื่อตัดทอนกำลังของขบวนการก่อความไม่สงบฯ ปฏิบัติการให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ลดการใช้ทหารพรานในเขตชุมชนเมือง ดึงเยาวชนที่เป็นแนวร่วมและหลงผิด มาร่วมพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน ให้ความช่วยเหลือด้านคดี เพื่อแปรเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตรทางการเมือง” พล.ต.อัคร กล่าว นางสาวกนกวรรณ รอดผล พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) โรงพยาบาลจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ตนไม่ค่อยมั่นใจแผนรักษาความปลอดภัยของกองทัพ โดยเฉพาะลูกหลงจากเหตุระเบิดซ้ำสอง (second bomb) เพราะตนเคยประสบเหตุขณะออกไปรับผู้ป่วย บริเวณหน้าร้านน้ำชา โรงเรียนบ้านปราณี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อปี 2549 แม้ตนจะเชื่อว่า บุคลากรสาธารณสุขไม่ใช่เป้าหมายการโจมตีของขบวนการก่อความไม่สงบก็ตาม นางสาวกนกวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการดูแลหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กรณีออกรับผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินต่างๆ ผู้บริหารโรงพยาบาลสั่งให้เข้มงวดการออกนอกพื้นที่กว่าในอดีต โดยเฉพาะหากเป็นยามวิกาลหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ควรขอกองกำลังทหาร หรือตำรวจ คุ้มกันนั่งประจำรถพยาบาลด้วย หรือกรณีประเมินแล้วมีโอกาสเสี่ยงต่ออันตราย และเป็นสถานที่ที่ไม่รู้จัก จะไม่ออกรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ หรือกรณีเกิดเหตุระเบิด มักมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก อาสาสมัครกู้ชีพของมูลนิธิฯ จะเผชิญเหตุเป็นทีมแรกพร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทีมเก็บกู้ระเบิด เพื่อช่วยเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัยก่อน “รัฐควรทำประกันชีวิตกรณีบาดเจ็บขณะปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย นอกเหนือจากการเยียวยากรณีเสียชีวิตและพิการขณะปฏิบัติงาน” นางสาวกนกวรรณ เสนอ นายแพทย์จิรายุวัฒน์ ชัยพานิชยกุล ผู้ดูแลระบบงานการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ระบุตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตของบุคลากรสาธารณสุขระหว่างไปช่วยเหลือคนป่วยนอกพื้นที่ แต่อย่างใด นายอาแว มะแด หัวหน้าศูนย์ปะนาเระ มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีทั้งหมด 12 ศูนย์ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาอาสาสมัครกู้ชีพฯ ไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี เพราะเราทำงานเชิงรุก ร่วมกับหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เข้าช่วยเหลือคนเจ็บคนตาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพียงความแตกต่างทางศาสนาและอุดมการณ์ วางตัวเป็นกลาง และไม่ยุ่งเกี่ยวกิจกรรมทางการเมือง “หลายพื้นที่ที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินของแต่ละโรงพยาบาล ไม่สามารถออกหน่วยรับส่งผู้ป่วยด้วยตนเอง เราต้องทำแทน สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานคือ บางพื้นที่ทหารพรานมีความเข้มงวดตรวจค้นรถมูลนิธิฯ ขณะลำเลียงผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล จึงวอนให้ทหารพรานอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเราทำงานแข่งกับความเป็นตายของผู้ป่วย” นายอาแว กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
มูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา “งบทหารต้องผ่าน ศอ.บต.” Posted: 27 Jun 2011 11:30 AM PDT “ชาติไทยพัฒนา” เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่วางเป้าหมายที่จะยึดที่นั่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในชายแดนใต้ใต้ของไทยให้ได้ ทั้งการรักษาที่นั่งเดิมเพียงหนึ่งเดียวในจังหวัดนราธิวาสและชิงพื้นที่ใหม่เข้ามาเพิ่ม นายมูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตีลิสต์)ลำดับ 78 ของพรรคชาติไทยพัฒนา แม้ไม่ได้ลงสมัครแบบแบ่งเขต แต่ก็ถือเป็นกุนซือหลักด้านนโยบายชายแดนใต้ พรรคนี้มีจุดขายอะไรอ่านคำอธิบายจาก มูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา ดังนี้ .........................
ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ พรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งเป้าว่าจะได้ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2 ที่นั่ง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และอีก 1 ในจังหวัดสตูล สำหรับนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ ยังเป็นนโยบายเดิมที่พรรคเคยใช้หาเสียงมาก่อน คือการตั้งศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ครบวงจร หรือ วันสต็อบเซอร์วิส โดยให้เป็นศูนย์รวมของหน่วงงานราชการทุกกระทรวงมาอยู่ที่เดียวกัน รวมทั้งงบประมาณทั้งหมด ทั้งงบประมาณด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคง เนื่องจากปัจจุบันมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) อยู่แล้ว จึงปรับศอ.บต.ให้เป็นตั้งศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ให้อำนาจเลขาธิการศอ.บต.และสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น เพราะการการแก้ไขกฎหมาย ง่ายกว่าการออกกฎหมายใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนาจากคิดนโยบายที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด สิ่งแรกที่ต้องแก้คือ คำนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา ให้เหลือแต่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส 4 อำเภอของสงขลาและสตูล เนื่องจากมีวัฒนธรรม ศาสนา และอัตลักษณ์มลายูเหมือนกับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะให้งบประมาณทั้งด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องผ่าน ศอ.บต.เพียงหน่วยงานเดียว จะทำให้ง่ายในการตรวจสอบ เนื่องจาก ศอ.บต.มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสมาชิกที่คนในพื้นที่คัดเลือกมาตัวแทนและสภาที่ปรึกษานี้ สามารถถ่วงดุลการทำงานของหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ได้ ผมเป็น 1 ใน 6 กรรมการนโยบายพรรคชาติไทยพัฒนาที่เป็นมุสลิมจากจังหวัดนราธิวาส ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 70 ผมเป็นคนร่างขึ้นมา โดยเฉพาะนโยบายด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอยากให้ความสำคัญด้านการศึกษาโดยเฉพาะหลักสูตรอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนโยบายที่ต้องการยกระดับให้มีหน่วยงานดูแลการศึกษาด้านอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐให้เทียบเท่ากระทรวง ส่วนในระดับโรงเรียนจะให้มีรองผู้อำนวยการโรงเรียนหรือสถานการศึกษาของรัฐด้านอิสลามศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้รับผิดชอบอิสลามศึกษาโดยตรงในโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่แค่เอาวิชาอิสลามศึกษาไปแปะไว้ในตารางเรียนเท่านั้น นอกจากนี้ ผมต้องการกำหนดให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีวันหยุดราชการ คือ ศุกร์และเสาร์ เป็นต้น ที่ผ่านมาพรรคชาติไทย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาเคยมีผลงานในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลายเรื่อง จนกลายเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาของประเทศ เช่น ระบบการให้เงินอุดหนุนการศึกษาเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัว คนที่ทำเรื่องนี้ คือ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.2542 โดยได้เดินทางมาดูงานการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นยังมีปัญหาในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ จึงคิดระบบการอุดหนุนเป็นรายหัว จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องการดูแลการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นได้ว่า การที่มีคนไกลจากภาคกลางมาเป็นรัฐมนตรีซึ่งต้องดูแลรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย จะสามารถแก้ปัญหาได้ทันที ถ้าเขาเห็นมีปัญหาและต้องแก้ไข โดยเห็นว่าถ้าแก้ไขแล้วมีประโยชน์ เพราะเขาไม่มีอคติ ถ้าเป็นคนในพื้นที่ใกล้เคียงปัญหาแบบนี้คงไม่ได้แก้ไขแน่ ส่วนนโยบายด้านวัฒนธรรมและศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เพิ่มเงินเดือนโต๊ะอิหม่าม บิลาลและคอเต็บตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องทำงานหนักในพื้นที่ของตัวเอง ต้องรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตายของสัปปะบุรุษประจำมัสยิด เช่น การสมรส การย้ายร้างของชายหญิง การเกิด การตาย ซึ่งล้วนต้องมีพิธีการทางศาสนาอิสลาม หรือต้องให้คำวินิจฉัยในหลักการต่างๆและพิธีกรรมทางศาสนาอื่นๆ ในชุมชนมุสลิม เป็นต้น อีกทั้งจะเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณให้แก่มัสยิด เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมทางศาสนาและซ่อมแซมมัสยิด เป็นต้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ประชานิยมเพื่อผู้ใช้แรงงาน ...ทำได้จริงหรือ! Posted: 27 Jun 2011 11:19 AM PDT “ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 25 % ในเวลา 2 ปี หรือเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หรือ เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และประเทศนี้ต้องไม่มีคนว่างงาน (กองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง) ฯลฯ” ล้วนเป็นตัวอย่างนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองนำเสนอหวังขอคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานในการเลือกตั้งที่จะมาถึง 3 ก.ค.นี้ ซึ่งในแง่หนึ่งนับเป็นเรื่องดีเพราะหมายถึงผู้ใช้แรงงานมีความสำคัญที่พรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมและช่วยเหลือ แต่นโยบายนั้นสามารถทำได้จริงหรือเพียงขายฝันหวังคะแนนเสียง เป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานพึงไตร่ตรอง ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สะท้อนมุมมองให้ได้คิดว่า เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ จะว่าไปแล้วรัฐไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่มีกฎหมาย (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี คือประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง และตัวแทนฝ่ายรัฐ ซึ่งมาตรา 79 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และมาตรา 87 “..ให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม” และมาตรา 88 “ เมื่อได้ศึกษาข้อมูลและพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 87 แล้ว ให้คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือโดยเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ในทางปฏิบัติแม้จะมีคนของรัฐคือปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องของการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโดยมีตัวแทนฝ่ายรัฐทำหน้าที่คนกลางเท่านั้น ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่นายอภิสิทธิ์เคยตั้งเป้าให้อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท (มติชน 17 ส.ค. 2553 น.5) แต่คณะกรรมการค่าจ้างกลางไม่เห็นด้วยและในที่สุดค่าจ้างที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนมกราคม 2554 สูงสุดคือ 221 บาทสำหรับจังหวัดภูเก็ตในขณะที่รองลงมา คือ 215 บาทสำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑล การกำหนดเป้าหมายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ในเวลา 2 ปี พอจะมีความเป็นไปได้ เพราะเพิ่มจาก 221 บาท เป็น 276 บาท และใช้เวลา 2 ปี แต่ที่ยากกว่าคือ การจะเพิ่มจาก 221 บาทเป็น 300 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 35.7 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะได้เมื่อไร เมื่อพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา ระหว่างพ.ศ. 2541-2554 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยไม่เคยเพิ่มถึง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยเพียง 2.4 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยเพิ่มสูงสุดคือ 9.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2550-2551 และรองลงมาคือ 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2553-2554 ส่วนประเด็นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท อาจพอมีทางเป็นไปได้ในภาคเอกชน สำหรับผู้จบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สำหรับภาคราชการยังต่ำกว่าอยู่มาก ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเงินเดือนปริญญาตรี แต่เป็นความแตกต่างระหว่างเงินเดือนปริญญาตรีกับผู้จบระดับมัธยมปลาย ปวช. และปวส. ซึ่งดูเหมือนคนคิดนโยบายนี้จะไม่ได้ศึกษาตลาดแรงงานเลยว่าในปัจจุบันมีความขาดแคลนแรงงานระดับล่างและระดับกลางมาก ในขณะที่แรงงานระดับปริญญามีมากเกินไปจนว่างงานจำนวนมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะช่องว่างของค่าจ้างเงินเดือนสำหรับผู้จบมัธยมหรือ ปวช.ต่ำกว่าระดับปริญญามาก (ข้าราชการบัญชีเก่า ปวช. 5,760 บาท ปวส. 7,100 บาท และ ปริญญาตรี 7,940 บาท ปรับใหม่ปี 2554 ปวช. 6,100 บาท ปวส. 7,300 บาท และ ปริญญาตรี 8,700 บาท) จึงทำให้ใช้แรงงานระดับล่างและระดับกลางพยายามไขว่คว้าหาปริญญา และเกิดปัญหาความไม่สอดคล้องของโครงสร้างแรงงาน นโยบายที่น่าจะเหมาะกับสถานการณ์แรงงานของประเทศไทยจึงน่าจะเป็นการยกระดับเงินเดือนแรงงานระดับกลางให้สูงขึ้นและไม่ต่างจากแรงงานระดับปริญญาจนเกินไป ดร.สราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายประเทศไทยไร้คนว่างงานด้วยกองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์แรงงานคงบอกได้ทันทีว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีการว่างงาน ในสหรัฐอเมริกาถือว่าอัตราการว่างงานธรรมชาติ คือ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ถือว่าต่ำมาก เนื่องจากเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก ประเทศไทยมีภาคเกษตรและเศรษฐกิจนอกระบบอยู่มหาศาล ลักษณะของการว่างงานในภาคดังกล่าวเห็นไม่ชัดเนื่องจากทุกคนมีงานทำแม้จะไม่ได้ทำเต็มที่ทุกคน ประการที่สอง คือระบบประกันการว่างงานของประเทศไทยเพิ่งเริ่มได้ไม่นานนัก (เริ่มเก็บเงินสมทบ วันที่ 1 ม.ค. 2547) จึงไม่ค่อยมีผู้สนใจแจ้งว่าตนเป็นผู้ว่างงานเนื่องจากมองไม่เห็นประโยชน์และยังรู้สึกเป็นการเสียหน้าด้วย อีกทั้งนโยบายเรื่องกองทุนการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่งก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะจ้างงานเป็นเวลากี่วัน กี่เดือนหรือนานเท่าใด ทันทีที่ครบกำหนดจ้างก็จะมีการว่างงานเกิดขึ้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กองทุนจะสามารถจ้างงานได้ตลอดไป (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับกองทุนมิยาซาว่า ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ) กองทุนจ้างงานที่พูดถึงยังเป็นการซ้ำซ้อนกับการประกันสังคมกรณีการว่างงานซึ่งมีกฎ กติกา มารยาทที่เริ่มเข้าที่เข้าทางดีอยู่แล้ว. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นักข่าวพลเมือง: เสวนา “รำลึกศรีบูรพาและ 24 มิถุนายน” Posted: 27 Jun 2011 11:03 AM PDT สมัชชาสังคมก้าวหน้าได้จัดการเสวนา “รำลึกศรีบูรพาและ 24 มิถุนายน” เพื่อรณรงค์ปลดปล่อยนักโทษการเมือง และเชิดชูเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กิจกรรมเริ่มเวลา 13.30 น. เปิดงานด้วยการอ่านบทกวีของ ประกาย ปรัชญา สองบทที่เขียนโดยเดือนวาด พิมวนา “การอมสากอันแสนสุข” และ “เสรีภาพโบยบินอยู่ในตัวข้า” ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ สมัชชาสังคมก้าวหน้า กล่าวรำลึกว่า ศรีบูรพาเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตลอดชีวิต เกียรติยศของศรีบูรพาได้นำไปสู่การตั้ง “รางวัลศรีบูรพา” ผู้ได้รับรางวัลบางคนที่ไปรับใช้อำมาตยาธิปไตย เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ควรคืนรางวัลเพราะทำให้ศรีบูรพามัวหมอง ท่านได้รับการเชิดชูจากยูเนสโก ศรีบูรพา ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีเนื้อหาแท้จริงคือข้อหาล้มเจ้า เหมือนกับสิ่งที่เราเผชิญในช่วงปัจจุบัน วัฒนะ วรรณ องค์เลี้ยวซ้าย เสนอว่าการต่อสู้ของศรีบูรพายังไม่สิ้นสุด เหมือนบทเรียนของการต่อสู้ของประชาชนอียิปต์ที่ยังคงต่อสู้ต่อไป มีการตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม นที สรวารี กล่าวว่า ในปีที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกจับ แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพถูกคุกคาม ซึ่งเขาได้เขียนลำนำที่บอกว่า “ถ้าให้ฉันหยุดคิด ก็หยุดลมหายใจฉันเสีย” ต่อมามีการจับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และสมยศ พฤษาเกษมสุข รวมถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถ้าห้ามไม่ให้พวกเราคิด ก็ต้องหยุดลมหายใจของพวกเรา ศรีบูรพากล่าวถึงผู้ยากไร้และต่อสู้เพื่อพวกเขา มีผู้ยากไร้เร่รอนไม่น้อยกว่า 7 คนถูกยิงตายในปีที่แล้วเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน ธีรวัฒน์ แซ่วี นักโทษการเมือง 19 พฤษภา เล่าว่า เขาถูกจับขณะที่พยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เขาเก็บปะทัดยักษ์ที่ตกได้และถูกจับ ปะทัดยักษ์ได้เป็นหลักฐานว่า เขาพกพาระเบิดแสวงเครื่อง ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี เขาเห็นมีผู้สูญเสียมากกว่าเขาในเหตุการณ์ครั้งนั้นและเขายืนยันที่จะต่อสู้ต่อไป ตัวแทนกลุ่มเอื้ออาทร มีนบุรี เรียกร้องให้เสื้อแดงโปรดไปเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือกับผู้ต้องขังเสื้อแดง ทั้งจากเหตุการณ์ชุมนุมและข้อหาหมิ่นฯ เสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่สนใจไปเยี่ยมเพราะพวกเขาไม่ใช่แกนนำ การเสวนาเริ่มต้นเมื่อเวลา 14.00 น. คมรักษ์ ไชยะ ผู้ดำเนินรายการ เริ่มต้นด้วยให้นำเสนอถึง บทบาทและคุณูปการของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เดือนวาด พิมวนา กล่าวถึง ศรีบูรพาว่า เป็นที่ยอมรับในการปัญญาชนที่ต่อสู้เคียงข้างประชาชน ศรีบูรพามีความสำนึกทางด้านเสรีภาพที่เข้มแข็งมาก แม้ในยุคเริ่มที่ยังเป็นงานที่โรแมนติก ศรีบูรพานอกจากจะมีสำนึกแล้ว ยังมีความสามารถ ในยุคนั้นที่เป็นยุคของเผด็จการทหาร เมื่อชนชั้นปกครองสามารถควบคุมวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ก็สามารถควบคุมทิศทางความเชื่อของประเทศ เปรียบเทียบกับวันนี้ที่มีคนตื่นตัวมากมาย อาจจะเป็น “แลไปข้างหน้า” ที่ศรีบูรพาต้องการมองเห็น ในวันนี้เราไม่ได้มีเสรีภาพ เพราะความใจดีของชนชั้นปกครอง แต่วันดี คืนดีเช่นนี้ได้เพราะโลกเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เมืองลับแลอย่างประเทศไทยไม่สามารถปกปิดได้อีกแล้ว ในยุคของกุหลาบ ถ้ามีคนถูกจับทุกอย่างก็เงียบ แต่ขณะนี้เป็นไปไม่ได้ คนถูกจับคนหนึ่งด้วยข้อหาทางการเมืองก็จะเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในยุคนี้ เสรีภาพของประชาชนเป็นไปตามสถานการณ์ของโลก ในยุคที่การสื่อสารไปถึงทุกคน คนในยุคนี้คนอยู่บ้านเฉยก็สามารถก็รับรู้ข่าวสาร และจะต้องตระหนักถึงเสรีภาพ ศรีบูรพาต่อสู้ด้วยความเข้มแข็งทางอุดมการณ์ของตัวเอง ในนวนิยายจะเขียนถึงอุดมคติ เมื่อทำหนังสือพิมพ์ก็จะตรวจสอบรัฐบาล ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกจะเป็นการพิสูจน์จุดยืน เมื่อถูกบังคับ เขาเลือกที่จะลาออก ศรีบูรพาไม่เคยเลือกที่จะเสียจุดยืนของตัวเอง มาถึงยุคที่มีการโขมยเสรีภาพ ฆ่าคนไปแล้วร้อยกว่าศพ ถ้าจะเขียนก็ต้องพูดถึงสถานการณ์ที่เป็นจริง เมื่อเปรียบเทียบกับยุคของศรีบูรพาที่เป็นยุคเผด็จการ ศรีบูรพายังคงเขียนงานในเชิงอุดมการณ์ มาถึงวันนี้ นักเขียนหลายคนรู้สึกว่าไม่มีทางสร้างสรรค์ในประเทศที่ปกครองอย่างอยุติธรรม ในประเทศที่คุกคามเสรีภาพด้วย ม.112 ท่ามกลางความอยุติธรรม การสร้างสรรค์แบบอารยะย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องถมหลุมดำแห่งความอยุติธรรมลงเสียก่อน วาดรวี อภิปรายเป็นคนต่อมา เริ่มจาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดในสมัย ร. 5 เมื่อ ร.6 ขึ้นครองราชย์ เขามีอายุ 6 ขวบ ร.7 ครองราชย์ เขามีอายุ 21 ปี เมื่อเกิดเหตุการณ์ 2475 กุหลาบอายุได้ 28 ปี เขาจึงเป็นนักเขียนที่พบเห็นกับเหตุการณ์ผันผวน เขาเริ่มเขียนหนังสือเมื่อเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ 2471 กุหลาบเขียนนวนิยายเรื่อง “ลูกผู้ชาย” เป็นผลงานชิ้นแรก ตัวละครมี 3 ตัวคือ มาโนช เป็นลูกชาวนาหรือไพร่ รำพัน และคีรีเป็นลูกขุนนางหรืออำมาตย์ เนื้อเรื่องเป็นเรื่องชิงรักหักสวาทที่ทีลักษระชนชั้น คีรีจะดูถูกมาโนช แต่เรื่องคลี่คลาย โดยมาโนช มีความสำเร็จด้านการเรียนและการงาน จนสามารถสอบเป็นผู้พิพากษาและได้รับแต่งตั้งเป็นคุณหลวง คีรีประพฤติตัวเหลวแหลก จบลงด้วยการเป็นโจร และมาโนชต้องเป็นผู้พิพากษาคดีของคีรี ส่วนความรักกับรำพัน ก็ไม่สมหวัง กุหลาบได้สะท้อนความไม่เท่าเทียม แต่กุหลาบเห็นว่าคนดีไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด 2474 กุหลาบเขียนบทความเรื่อง “มนุษยภาพ” 6 เดือนก่อนหน้า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ในบทความชิ้นนี้กุหลาบพูดถึงนักคิดหลายคน พูดถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค ที่เป็นแนวคิดใหม่มากด้วยคำนึงถึงความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ ในยุคนั้นนับเป็นการวิจารณ์ที่รุนแรงมาก ด้านหนึ่งสะท้อนว่าพัฒนาการของสังคมที่ทำให้ กุหลาบ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บทบาทสำคัญของกุหลาบอีกด้านหนึ่งคือ นักหนังสือพิมพ์ กุหลาบมีบทบาทนำในค่ายบางขุนพรหม หนังสือพิมพ์เล่มสำคัญที่ทำคือ ประชาชาติ ประชามิตร และสุภาพบุรุษ กุหลาบติดคุก 2 ครั้ง ครั้งแรก ติดนาน 80 วันในช่วงสงครามโลกปี 2484 เพราะเกี่ยวข้องกับแจกใบปลิวต่อต้านพระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 ครั้งที่สองติดนาน 4 ปี เศษ ช่วง 2495 – 2500 กรณีนั้น เรียกว่า กบฎสันติภาพ ขอตั้งข้อสังเกต เมื่อดูจากประวัติศาสตร์การเมือง มีจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง พ.ศ.2478 – 79 มีความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง จอมพล ป. กับ พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นคณะราษฎร์สายนิยมเจ้า กุหลาบไปอยู่ญี่ปุ่น 1 ปี เรื่องที่สอง พ.ศ.2490 ฝ่ายคณะราษฎร์กำลังเพลี่ยงพล้ำฝ่ายอนุรักษ์นิยม กุหลาบไปอยู่ออสเตรเลีย ทำให้เห็นว่ากุหลาบเป็นนักเขียนที่ไม่ radical กุหลาบเป็นพวกที่สำนึกด้านมนุษยธรรมและไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ในช่วงสถานการณ์พัฒนาสู่ความแหลมคม กุหลาบจะไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน กิตติพล สรัคคานนท์ มีความเห็นว่า บทความ “มนุษยภาพ” ทำให้เขารู้จักกุหลาบ มีสงสัยหลายประเด็น เช่น ความจริง กุหลาบเห็นว่า “ความจริง” ต้องอยู่พื้นฐานที่สังคมมีความเท่าเทียมกัน ในช่วงสถานการณ์ที่แหลมคม จึงเป็นสถานการณ์ไม่ปกติที่แสดงออกถึงความจริงได้ อาจจะต้องนำปัจจัยนี้มาร่วมพิจารณาถึงความ radical ของกุหลาบ ถ้าอยากรู้ว่าความจริงของ “ความไม่เท่าเทียมกัน” ในสังคมไทย ให้ดูไทยรัฐหน้า 4 เช่น ขณะที่มีการปราบปรามเข่นฆ่าผู้ชุมนุม ในอีกมุมหนึ่งชนชั้นสูงยังมีการเปิดงาน ตัดริบบิ้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้เราต้องมองเห็นว่ามีความจริงหลายชั้น ธนาพล อิ๋วสกุล กล่าวว่า ฐานะของศรีบูรพาได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว การอ้างถึงกุหลาบ อย่างไรก็ไม่ผิด อยากให้ดู “รางวัลศรีบูรพา” ผู้รับรางวัลควรจะมีคุณสมบัติสอดคล้องกับแนวคิดของกุหลาบ เช่น ทมยันตี ไม่ควรมารับรางวัล เป็นต้น ซึ่งจะขัดแย้งในตัวเอง แต่ขอยกตัวอย่างของ ชัย ราชวัตร เขาเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมือง ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลา จนต้องไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราว ต่อมาชัย ราชวัตรเป็นผู้เขียน “พระมหาชนก” ฉบับการ์ตูน ในเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดงก็ได้แสดงความปรปักษ์ชัดเจน ข้อความที่ถูกอ้างเสมอ เช่น “ถ้าเรายืนอยู่ที่เดิม ... พอฝุ่น ควันนั้นจางไป เราก็จะพบว่าเรายังยืนอยู่ที่เดิม” ถูกนำไปใช้โดยสนธิ ลิ้มทองกุล และคำนูญ สิทธิสมาน ความศักดิ์สิทธิของศรีบูรพาที่เห็นได้ เช่น การเปิดห้องประชุมศรีบูรพาโดยสมเด็จพระเทพฯ อาจจะเป็นบอกว่าฝ่ายประชาชนไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อชนชั้นปกครอง ปัญหาหนึ่งคือเรายังยึดติดกับตัวบุคคล ในขณะเดียวกัน ถูกไฮแจ็คไปเป็นการสะท้อนว่าอุดมการณ์ได้รับการ establish แล้ว ขณะนี้ เราควรทำในสิ่งที่เราเชื่อ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร รอบต่อมาได้พูดถึง “บทบาทของนักเขียนในสถานการณ์ปัจจุบัน” เริ่มจาก วาดรวี กล่าวว่า ประวัติวรรณกรรมสามารถตีความได้ ศรีบูรพามีคุณสมบัติเฉพาะและ establish แล้วจึงถูกนำไปใช้ ต่างจากจิตร ภูมิศักดิ์ และอัศนี พลจันทร์ ที่ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ ศรีบูรพาและคณะสุภาพบุรุษพยายามสถาปนาความเท่าเทียม ความเสมอภาคในสังคม ขณะนี้สังคมไทยยังมีปัญหานี้อยู่ เดือนวาด เห็นว่า ในอดีตการต่อสู้มีความชัดเจนระหว่างประชาชนกับชนชั้นปกครอง มาถึงยุคปัจจุบัน คนบางกลุ่มอยู่กับชนชั้นนำ แต่อ้างว่าตัวเองคือประชาชน มีการสร้างวาทกรรมว่าประชาชนต้องมีการศึกษา คนที่ไม่มีการศึกษาไม่ควรนับเป็นประชาชน สำนึกเสรีภาพและอุดมการณ์ไหลไปตามกระแส ส่วนไทยรัฐหน้า 4 บอกถึงความแตกต่าง โดยความเป็นจริงเราพาตัวเองไปอยู่ภายใต้ความเป็นทาส เหมือนลิงล่ามโซ่ ได้รับอาหาร มีความปลอดภัย ถึงเวลาออกไปเก็บมะพร้าวมาให้เจ้าของ มองเห็นลิงตัวอื่นที่กระโดดโลดเต้นไปมาตามต้นไม้อย่างไม่สนใจ ประเทศไทยมีประชาชนที่ล่ามตัวเองอยู่ สื่อหลายช่องได้บอกตัวตนเป็นอย่างดีว่า พวกเขาอยู่ข้างชนชั้นสูง ไม่ได้อยู่ข้างประชาชน ประชาชนมีสิทธิที่จะพูด คิดต่อปัญหาบ้านเมือง สำหรับนักเขียน ม.112 ไม่ได้หนักหัวพวกเขา แต่หนักหัวประชาชน อยากให้มีการสำรวจเสรีภาพในสังคม กิตติพล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการเลือกตั้งเพื่อสถาบัน เขาพูดในฐานะอะไร ถ้าพูดในฐานะประชาชน เขากำลังขโมยฐานะของประชาชน การชิงใช้คำหนึ่ง เช่น “ประชาชน” ของแต่ละฝ่าย ต้องมีการโต้แย้งเพื่อหาเหตุผล ประชาชนต้องหมายถึงทุกคน ทหารและพันธมิตรใช้คำว่าประชาชน แต่ในความหมายเพียงบางด้าน ธนาพล นำเสนอว่า เสรีภาพต้องเป็นเสรีภาพของคนส่วนน้อย เช่น ประสบการณ์การตั้งเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน พยายามเปิดเสรีมากที่สุดแล้วให้สังคมเป็นผู้ควบคุม เราควรมีเสรีภาพที่กล่าวหาว่าประชาชนโง่ เพราะคนต้องมีการพัฒนาก่อนที่จะไม่โง่ ในการเลือกตั้ง ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แล้วพันธมิตรชุมนุม ก็ต้องไม่เอาปืนมาไล่ยิงพันธมิตร จะจัดการอย่างไรกับรายการคลายปมของเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จะปิดหรือไม่ คำพูดของธนพล ทำให้เสื้อแดงที่มาฟังไม่พอใจมาก บางส่วนออกจากห้อง หลายคนบนว่า “บอกว่าประชาชนโง่ได้ยังไง” “เสื้อแดงนะหรือจะไปยิงคนอื่น” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเสนอกับนักเขียนที่นำการเสวนา เช่น เรื่องของศรีบูรพาเก่าไปแล้วตั้ง 80 ปี อยากจะให้นักเขียนรวมตัวนำเสนอปัญหาในปัจจุบัน เป็นต้น ในการจัดเสวนาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สน.ชนะสงคราม มาบันทึกรายการตั้งแต่เริ่มต้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 27 Jun 2011 10:58 AM PDT 37 องค์กรแรงงานและองค์กรนักกิจกรรม รวมถึง 248 รายชื่อประชาชน นักศึกษา ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ทบทวนตัวเอง หลังนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาแถลงเรียกร้องให้ขบวนการแรงงานทั้งหมด ตัดชื่อ จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เจ้าของวาทะ “ดีแต่พูด” ออกจากผู้ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงาน 27 มิ.ย.54 องค์กรแรงงานและองค์กรนักกิจกรรม จำนวน 37 องค์กร รวมถึงนักศึกษาและประชาชน ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ทบทวนตนเอง หลังจากที่นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาแถลงเรียกร้องให้ขบวนการแรงงานทั้งหมด ตัดชื่อ จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เจ้าของวาทะ “ดีแต่พูด” ออกจากผู้ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงาน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 โดยในจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวนอกจากเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ทบทวนตนเองแล้ว ยังได้มีการยกข้อมูลเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลในเรื่องนโยบายด้านแรงงาน เช่น เคยสัญญาว่าจะขึ้นค่าแรง 250 บาท ก็ได้เพียง 215 บาทในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น เคยสัญญาว่าจะให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87 และ 98 ภายใน 3 เดือน ก็ยังไม่มีการให้ นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ในเรื่องมาตรการชะลอการเลิกจ้าง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนก็มีปัญหา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างคนงานไทรอัมพ์ฯ การสลายการชุมนุมของคนงานด้วยเครื่องยิงหูดับ และการส่งมอบจักรให้คนงานไม่ครบของ รมต.แรงงาน เป็นต้น โดยในท้ายจดหมายได้ย้ำเรื่องสถานะของคนที่จะเสนอตัวเป็นผู้แทนและผู้บริหารประเทศ ควรที่จะ “ฟัง” ประชาชนหรือแรงงาน และ “ทำ” ในสิ่งที่เคย “พูด” หรือเคยสัญญาไว้ด้วย จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นโยบายเกษตรกรมีบัตรเครดิต: อคติการกดเหยียดของคนเมือง ให้เกษตรกรกลายเป็นอื่นที่นอกเหนือจากตน Posted: 27 Jun 2011 10:41 AM PDT หลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายให้เกษตรกรมีบัตรเครดิต ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมีความเห็นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย ผลสำรวจความคิดเห็นออกมาว่านโยบายนี้ “โดนใจ ชาวรากหญ้าสุด ๆ” แต่ในทางตรงข้ามก็เกิดกระแสความเป็นห่วงเป็นใยในโลกอินเตอร์เนท สำหรับนโยบายนี้ที่จะสร้างหนี้ และภาระความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ชาวนา ซึ่งโยงใยมาสู่ปัญหาที่จะกระทบต่อคนเมืองด้วย เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับการส่งต่อเมล์ (forward mail) ที่ให้เหตุผล ลำดับความได้อย่างสอดคล้องต่อความเชื่อ (stereotype) ของสังคมไทย แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่การสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกครั้ง คาดการณ์ว่า จะเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมามากที่สุดเมล์ฉบับนั้นกล่าวถึงนโยบาย “ให้เกษตรกรมีบัตรเครดิต” ว่า จะสร้างปัญหายุ่งยากต่าง ๆ ตามมา โดยให้เหตุผลว่า เกษตรกรมีหนี้สินมากอยู่แล้วเพราะขาดวินัยทางการเงิน การนำเงินไปให้ในรูปของเครดิตจะทำให้เกษตรกรใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยด้วยเหตุผล 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก คนเหล่านี้ไม่เคยมีเงิน และอยากที่จะได้ทรัพย์สินสิ่งของเครื่องอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกับคนเมืองแต่ไม่สามารถมีเงินซื้อหาได้ ทำให้เก็บกดความต้องการนี้ไว้ เมื่อมีบัตรเครดิตก็จะใช้จ่ายอย่างไม่ยั้งคิด ประการที่สอง พวกเขาและเธอมักจะคิดว่า “กู้ไปเถอะ ใช้ไปเถอะ แล้วหลังจากนั้นรัฐบาลก็จะยกหนี้ให้” เหตุผลทั้งสองประการนี้ทำให้เกิดความเป็นห่วงเป็นใยถึงนโยบายพรรคเพื่อไทยที่จะทำให้คนชนบท เป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น และคาดการณ์ต่อไปว่า จะนำไปสู่การสูญเสียที่ดินทำกิน กลายเป็นลูกจ้างในที่ดินของตนเอง แล้วก็จะไปบุกรุกป่า อพยพเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในเมืองหลวง สร้างปัญหาสังคม และปัญหายาเสพติดตามมา และสรุปปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมาว่าเป็นเพราะ “ปัญหาต้นตอคือตัวเอง เกษตรกรเรานั้นเองที่ยังขาดความรู้” (ธนชัย โกศิรสันต์, เมล์ส่งต่อ) ซ้ำร้ายคนที่ผมรู้จักที่ทำงานกับชนบท เคยสัมผัสใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านก็แสดงความเห็นคล้อยตามต่อทัศนะดังกล่าว ผมรู้สึกขัดแย้งรุนแรงกับความเป็นห่วงเป็นใยนี้อย่างมาก เพราะลึก ๆ แล้วผมคิดว่าไม่ใช่ความห่วงใย แต่เป็นมุมมองในทางลบ การกันแยกคนชนบท เกษตรกร ออกไปจากคนปกติทั่วไป ที่จะสามารถคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้เฉกเช่นที่สามัญชนทั่วไป ทัศนะที่มีต่อคนชนบท เกษตรกร ในลักษณะที่เขาและเธอไม่เท่าทัน ไม่มีความรู้ และไม่ฉลาดพอ ควรจะยุติล้มเลิกไปนานแล้ว แต่กลับยังคงฝังแน่นในความรู้สึกของคนเมือง พร้อมๆ ไปกับการยกตนเองขึ้นมามีสถานะความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่า สามารถมีอะไรๆ ได้มากกว่า เท่าทัน และถูกต้องชอบธรรมกว่าเสมอๆ คนเมืองสามารถมีบัตรเครดิตได้ก็เพราะมีความรู้ เท่าทัน และรู้จักใช้ประโยชน์ แต่คนชนบท เกษตรกรนั้นยังไม่สมควรมีใช้ เพราะจะสร้างปัญหา และปัญหาเหล่านั้นก็จะมากระทบ เบียดบังถึงคนเมืองจากการอพยพเข้ามาทำงานสร้างปัญหาสังคม ในข้อเท็จจริงหนี้สินภาคการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบราคาพืชผลการเกษตร และการทำการเกษตรแบบที่ต้องพึ่งปุ๋ย สารเคมี สภาพดินฟ้าอากาศ และภาระค่าใช้จ่ายในสังคมสมัยใหม่ ไม่ใช่ปัญหาด้านวินัยทางการเงินอย่างที่คนเมืองมักหมิ่นเหยีดคนชนบทว่าไม่พอเพียง การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2552 ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,903 บาท กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดคือกลุ่มนักวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร มีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 48,745 บาท ส่วนรายได้เฉลี่ยต่ำสุดคือครัวเรือนเกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง 17,765 และเกษตรกรทำประมง ล่าสัตว์ หาของป่า 8,818 บาทต่อเดือน ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยของคนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ จาก 9,848 ในปี 43 เป็น 16,205 บาท ในปี 2552 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, การสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2552) จะเห็นได้ว่ารายได้ของกลุ่มเกษตรกรแทบจะไม่พอกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำประมง ล่าสัตว์ หาของป่านั้น รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของคนทั่วไป เมื่อรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แน่นอนว่าหนี้สินย่อมตามมา หนี้ของเกษตรจึงต่างไปจากหนี้ของคนเมือง ความฟุ่มเฟือยย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากความยากจน ไม่มีจะกินยังคงดำรงอยู่ ซึ่งต่างจากหนี้ของคนที่มีรายได้สูงที่มีหนี้สินในสภาวะที่มีเงินเดือนมากกว่าค่าใช้จ่าย และหากจะกล่าวหาว่าเกษตรกรฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเกินตัว ข้อมูลก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนกลุ่มที่รวยที่สุดที่มีรายได้สูงมีกว่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ ส่วนคนยากจนที่มีรายได้ต่ำสุดมีค่าใช้จ่ายร้อยละ 9 เท่านั้น (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, การสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2553) ตัวเลขค่าใช้จ่ายเหล่านี้สอดคล้องตัวเลขหนี้สินในปี 2550 คนในเขตเมืองเป็นหนี้ในระบบเฉลี่ยครัวเรือนละ 152,391 บาท ชนบท 89,998 บาท หนี้นอกระบบ 9,077 บาท ชนบท 5,820 บาท ต่อครัวเรือน หนี้ของคนเมืองจึงมีสัดส่วนมากกว่าหนี้ของชนบทร้อยละ 60 กล่าวคือ ครัวเรือนชนบทเป็นหนี้ 100 บาท ครัวเรือนในเมืองจะเป็นหนี้ 160 บาท เมื่อมาพิจารณาที่สัดส่วนหนี้ในระบบเปรียบเทียบกับหนี้นอกระบบของคนเมืองเท่ากับ 16.7 ต่อ 1 หมายถึงคนเมืองเป็นหนี้ในระบบมากกว่าหนี้นอกระบบถึง 16 เท่าตัว ซึ่งแสดงให้เห็นโอกาสของการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือคนชนบทมีหนี้ในระบบ 1.5 ต่อ 1 ของหนี้นอกระบบ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำรวจจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ แหล่งเงินกู้ และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม,2550) ซึ่งหมายถึงว่า หนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบของคนชนบทสูงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน หนี้ในระบบต่างจากหนี้นอกระบบตรงที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า และมีสัญญาที่ถูกควบคุมด้วยกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และโอกาสการถูกเอารัดเอาเปรียบ ภาระดอกเบี้ย และกลไกการประนอมหนี้ที่มีความแตกต่างกันของคนในเมืองและชนบท โดยคนเมืองมีโอกาสที่ดีมากกว่า ประการต่อมาที่ผมอยากจะบอกกล่าวให้ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสชีวิตชนบท หรือแม้เป็นชาวชนบทที่ทิ้งไร่ทิ้งนามาทำงานในเมืองและหลงลืมรากเหง้าของตนเองให้รับทราบว่า หนี้ที่เกิดจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงนั้น เป็นภาระหนักของเกษตรกรที่พวกพ่อค้า เถ้าแก่เงินเชื่อผู้ขายเคมีภัณฑ์ ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยแบบเหมาจ่ายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ต่อระยะเวลา 1 ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งสร้างภาระหนี้สินอย่างมากให้กับเกษตรกร แน่นอนผมไม่เชื่อว่า หากบัตรเครดิตที่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยจะเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่านี้ เกษตรกรจะไม่สามารถคิดคำนวณได้ว่า เขา-เธอควรจะใช้บริการบัตรเครดิตดังกล่าวหรือไม่ วิธีคิดคำนวณแบบนี้ผมไม่เชื่อด้วยว่าคนเมืองจะสามารถมากกว่า หรือคิดได้ดีกว่า เพราะหากเป็นเช่นนั้นคงไม่มีคนเป็นหนี้บัตรเครดิต ในปี 2541 ที่มีจำนวนบัตรเครดิต 1,906,645 ใบ เพิ่มเป็น 12,003,368 ใบ ในปี 2550 หรือเพิ่มขึ้นราว 10 ล้านใบ ในระยะเวลาเพียง 9 ปี! ยิ่งไปกว่านั้น สินเชื่อคงค้างตั้งแต่ปี 2541-2550 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ณ สิ้นปี 2550 มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้น 79,760 ล้านบาท คิดเฉลี่ยเท่ากับ 6,644 บาท ต่อบัตร แต่มูลค่ายอดสินเชื่อคงค้างกลับมีจำนวนมากกว่าคือมีทั้งสิ้น 179,276 ล้านบาท คิดโดยหารด้วยจำนวนบัตรเครดิตทั้งหมดในปี 2550 จำนวน 12,330,369 ใบ จะมียอดคงค้างโดยเฉลี่ยเท่ากับ 14,935 บาทต่อบัตร (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , 2554) แสดงให้เห็นการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตของคนเมือง ที่บัตรหนี่งใบมีมูลค่าหนี้ที่ไม่ชำระสูงกว่า มูลค่าการใช้จ่ายโดยเฉลี่ย ซึ่งคงต้องตอบคำถามว่าพฤติกรรมเช่นนี้ชาญฉลาดกว่าคนชนบทตรงไหน? แต่คนเมืองกลับแสดงความเป็นห่วงเป็นใยเชิงดูแคลนการบริหารจัดการหนี้ของคนชนบท ที่นโยบายก็ระบุชัดเจนว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตที่จะให้กับการซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และหากจะกล่าวหาว่าคนชนบทเบี้ยวหนี้ ผมก็ขอยกตัวอย่าที่ชี้ให้เห็นว่าคนชนบทนั้นมีวินัยทางการเงินเข้มงวดกว่ามากนัก ได้แก่กรณี กองทุนหมู่บ้าน ที่ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านฯ 79, 255 กองทุน เป็นเงินรวม 8 หมื่นล้านบาท มีดอกผลงอกเงย 3 หมื่นล้านบาท ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกล่าวว่า “เงินกองทุนยังอยู่ในมือชาวบ้านไม่ได้หายไปไหน เพราะชาวบ้านมีวินัยทางการเงินและมีความรับผิดชอบสูง กองทุนทั้งหมดชาวบ้านบริหารกันเอง ด้วยฝีมือผู้บริหารที่จบ ป.4, ป.6 และสูงขึ้นมาหน่อยอาจจะจบ ชั้นมัธยม แต่สามารถบริหารเงินได้ดี เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เบี้ยวหนี้หรือติดค้างชำระ เนื่องจากเขามีความละอาย ใครเป็นหนี้ 2 หมื่นบ้าน รู้กันทั้งหมู่บ้าน ถ้าค้างชำระก็ติดชื่อไว้ที่ศาลาวัด หรือไม่ก็ให้ลูกหลานช่วยทวงถามให้” นอกจากนั้นยังมีกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความเข้มแข็ง และประสบผลสำเร็จจนสามารถยกฐานะเป็นสถาบันการเงินชุมชนแล้ว 1,149 แห่งทั่วประเทศ (สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง, 2554) ความสำเร็จของสถาบันการเงินขนาดเล็กที่เรียกว่า “micro finance” ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำมาช่วยบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนยากจน ซึ่งเกิดขึ้นและสรุปตรงกันทั่วโลกว่า คนยากจน ชาวบ้านนั้น มีวินัยทางการเงิน อันสืบเนื่องมากจาทุนทางสังคม ที่มีความยึดมั่นผูกพันกันเหนียวแน่นในแบบแผนบรรทัดฐานทางสังคม และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งแตกต่างจากคนเมืองที่แทบจะไม่หลงเหลือทุนทางสังคมเหล่านี้อยู่แล้ว ข้อมูลนี้คงจะลบล้างความเชื่อที่หมิ่นแคลนคนยากจน เกษตรกร ได้เป็นอย่างดี จากที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้ต้องการสนับสนุน หรือยกชูนโยบายของพรรคเพื่อไทย หากแต่ทนเห็นความเข้าใจผิด การปลูกฝังวิธีคิดแบบกดเหยียดเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ภายใต้ความเป็นห่วงเป็นใย ความปรารถนาดีอย่างล้นเหลือ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์ กลับยิ่งจะสร้างความขัดแย้งชิงชังเพิ่มขึ้นในสังคมไทย สาระสำคัญที่เราควรเป็นห่วงสำหรับนโยบายนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้บัตรเครดิตที่จะออกมานี้มีดอกเบี้ยต่ำ มีเงื่อนไขที่สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของเกษตรกร ไม่ขูดรีดเหมือนบัตรเครดิตที่คนเมืองใช้และกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ มาตรการป้องกันการฉวยโอกาสของร้านค้าที่จะบังคับขายปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ด้วยราคาเครดิตให้กับบางบริษัทที่มีผลประโยชน์ร่วม หรือขายในราคาเงินเชื่อที่สูงกว่าปกติ, การปลอมปน หลอกลวง และแสวงหาผลกำไรด้วยกลยุทธทางการค้าอื่น ๆ ซึ่งนี่ไม่ได้หมายความว่าคนชนบทจะไม่เท่าทัน แต่สภาพเช่นนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วในสังคมเมือง หากแต่ในสังคมเมืองนั้นรัฐมีมาตรการปกป้องคุ้มครอง และให้การช่วยเหลือมากกว่า หากบทความนี้จะมีข้อมูล ความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง ผู้เขียนก็ขอวิงวอนให้หยุดมองคนชนบทแบบแบ่งแยกในลักษณะที่เป็นสิ่งที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนา ไม่เท่าทัน ไม่คู่ควร เมื่อเทียบกับคนเมืองเสียที เพราะเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นไม่มีใครเหนือกว่าหรือฉลาดกว่าใคร อยู่ที่ว่าจะใช้มาตรฐาน คุณค่าแบบใดเข้าไปตัดสิน ความขัดแย้ง ความสูญเสียที่ผ่านมา เพียงพอที่เราจะได้หันกลับมามองและช่วยกันสร้างระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ทางสังคมที่ไม่แบ่งแยก สร้างความแตกต่าง และเปิดให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างทัดเทียมกันหรือยัง ? อ้างอิง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
โซตัส : เมล็ดพันธุ์อุดมการณ์อำนาจนิยมที่ตกค้างในสังคมไทย Posted: 27 Jun 2011 10:26 AM PDT
เหล่านี้คือประโยคที่ถูกเปล่งออกมาจากปากของนิสิต "รุ่นพี่" ซึ่งเป็นประธานเชียร์ในงานรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อประฌามนิสิตกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรม “ห้องเชียร์” และได้พยายามขึ้นเวทีแสดงป้ายประท้วงและขออ่านแถลงการณ์ที่พวกตนเตรียมมา จนถูกกลุ่มผู้จัดงานโห่ไล่ให้ออกไปจากสถานที่จัดงาน (1) วีดีโอนี้ได้รับการเผยแพร่ในเวปไซต์ Youtube และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์และเวบบอร์ดต่างๆในอินเตอร์เนต ล่าสุด เวปไซต์ประชาไทได้ลงสัมภาษณ์หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิสิตที่ดำเนินกิจกรรมคัดค้านห้องเชียร์ (2) และมติชนออนไลน์ได้เผยแพร่ “จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทย เรียกร้องปฏิรูประบบรับน้อง/ห้องเชียร์” ซึ่งมีอาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อมากกว่า 200 คน (3) และยังคงมีผู้ทยอยลงชื่อสนับสนุนจดหมายนี้อย่างต่อเนื่องใน Event ซึ่งถูกสร้างขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook (4)
จากระบอบการปกครองแบบเจ้าอาณานิคม สู่เผด็จการห้องเชียร์ : เส้นทางประวัติศาสตร์ของ “อุดมการณ์โซตัส” ครั้นต่อมา เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้สานต่อระบบอาวุโส ผนวกกับแนวคิดเรื่องระเบียบ ประเพณี สามัคคีและน้ำใจ จนคำว่า โซตัส (SOTUS) กลายเป็นคำขวัญทั้ง 5 ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเป็นปณิธานในการอบรมสั่งสอนของผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ ไม่ปรากฎการใช้ความรุนแรงใดๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระบบโซตัสในระยะแรกมีลักษณะของความเป็น “อุดมคติ” คือเป็นจินตนาการร่วมของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ข้าราชการพลเรือน (ซึ่งต้องออกไป “ปกครอง” ท้องถิ่นแดนไกลอันป่าเถื่อนล้าหลังในนามของราชการไทย) ต้องไปให้ถึง ซึ่งสอดรับเป็นอย่างดีกับบริบททางการเมืองของการผนวกรวมชาติและการสร้างมาตรฐานเดียวให้กับคุณค่าต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องเป็นมาตรฐานของ “ส่วนกลาง” เท่านั้น ต่อมา ระบบโซตัสในรูปแบบที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งหมายถึงการผนวกรวมกิจกรรมการว้ากและการลงทัณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งนั้น ประเทศไทยรับมาในช่วงสงครามเย็นหรือประมาณทศวรรษ 2480 โดยได้มีการส่งนักศึกษาไปเรียนระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา (โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยออเรกอนและมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์) และในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติ ณ เมืองลอสแบนยอส ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในขณะนั้น ฟิลิปปินส์ถูกยึดครองโดยอเมริกามาเกือบครึ่งศตวรรษก่อนหน้า “ผู้ปกครอง” ได้ถ่ายทอดรูปแบบเทคโนโลยีและรูปแบบการเรียนการสอนให้กับ “ผู้ถูกปกครอง” จึงทำให้แนวคิดและระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้เป็นไปในแบบอเมริกัน เมื่อจบกลับมา นักศึกษาของไทยก็ได้นำเอาระบบการว้าก (การกดดันทางจิตวิทยา) และการลงโทษ (การทรมานทางร่างกาย) มาใช้กับมหาวิทยาลัยไทย โดยเริ่มจากโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้ เชียงใหม่ ซึ่งผลิตนักเรียนเพื่อเข้าเป็นนิสิตของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (5) เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้นำคำว่า “โซตัส” ซึ่งเป็นคำขวัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาปรับใช้เรียกระบบการรับน้อง “นำเข้า” รูปแบบใหม่นี้ จากมุมมองทางประวัติศาสตร์นี้ ระบบโซตัสถือเป็น “ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการหยิบยืม “องค์ความรู้” และ “เทคโนโลยี” สมัยใหม่มาจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยมทั้งอังกฤษและอเมริกัน แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็อิงอยู่บนฐานกรอบคิดเดียวกัน กล่าวคือ กรอบคิดแบบเจ้าผู้ปกครองอาณานิคม ซึ่งมีรูปแบบที่เข้มข้นรุนแรงเพื่อกำราบ “เมืองขึ้น” ให้สยบยอม โดยในทางเนื้อหานั้น การเข้าไปรุกรานและควบคุม จำต้องนำรูปแบบการปกครองแบบทหารเข้ามาใช้ โดยผ่านกลไกของระบบการศึกษาของพลเรือน นอกจากนี้ หากพิจารณาบริบททางการเมืองของไทยในยุคที่โซตัสลงหลักปักฐานอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยไทยนั้น เรากำลังอยู่ในยุค “รัฐนิยม” ที่มาพร้อมกับการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้แก่เยาวชนและราษฎรไทย จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากแนวคิดและรูปแบบของการปกครองนี้จะถูกหยิบมาใช้ในสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยมีจุดประสงค์เชิงอุดมการณ์ เพื่อสร้างราษฎรที่มีคุณภาพ (ตามอุดมคติของรัฐ) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ เพราะในลัทธิชาตินิยม ไม่มีพื้นที่ให้กับความเป็นปัจเจกและความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเป็นของตน จะมีก็เพียงแต่สำหรับราษฎรที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามหน้าที่ของตน (ตามที่รัฐบอก) อย่างเชื่องๆ ต่อมาในทศวรรษ 2510 เมื่อกระแสสำนึกประชาธิปไตยถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารโดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา ประเพณีและวิถีปฏิบัติจารีตนิยมหลายอย่างได้ถูกตั้งคำถามในฐานะฟันเฟืองสำคัญทางวัฒนธรรม ซึ่งผู้นำเผด็จการและเครือข่ายอุปถัมภ์นำมาใช้ครอบงำความคิดในระดับจิตใต้สำนึกของประชาชนอย่างแนบเนียน ระบบโซตัส ภายใต้ชื่อเรียกว่า “การรับน้อง” และ “ห้องประชุมเชียร์” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตั้งคำถามในฐานะหัวขบวนแห่งกระบวนการปลูกฝังกล่อมเกลาปัญญาชนคนหนุ่มสาวให้อยู่ในสภาพเกียจคร้านทางปัญญาและสภาพชินชาทางการเมือง ในยุคนี้ เรามีตัวอย่างมากมายของ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดประเด็นถกเถียงเรื่อง “วัฒนธรรมการรับน้อง” ดังกรณีของกลุ่มวลัญชทัศน์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ส่งตัวแทนชิงตำแหน่งประธานชมรมเชียร์ โดยมีนโยบายสำคัญคือการ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเชียร์ ซึ่งก็ได้รับชัยชนะ และสิ่งแรกที่ทำคือการแจกบทกวี ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ของ วิทยากร เชียงกูล ให้แก่นักศึกษาใหม่ในห้องเชียร์ (6)
แต่หลังจากความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาหลัง 2519 ระบบโซตัสก็ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง คู่ขนานไปกับการกลับมาของการเมืองแบบจารีต ที่มีฐานมาจากระบบอุปถัมภ์และเครือข่ายความสัมพันธ์ของชนชั้นปกครอง การใช้อำนาจปกครองทางการเมืองและวัฒนธรรมถูกทำให้ซับซ้อนและนุ่มนวลขึ้นด้วยเครื่องมือใหม่ที่ชนชั้นนำไทยรับมาจากระบอบจักรวรรดินิยมใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น ภายใต้โฉมหน้าของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ซึ่งใช้กลไกระบบตลาดในการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนในสังคมจากการกดขี่และจากปัญหาทีี่แท้จริงได้อย่างเหนือชั้นยิ่งกว่าระบบใดๆในประวัติศาสตร์ การตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (แม้จะมีมาช้านานก็ตาม) จึงถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคมไทย เฉกเช่นจิตสำนึกทางสังคมที่เจือจางไปจากคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของบัณฑิตรั้วมหาวิทยาลัย หากพิจารณาภาพรวมทางประวัติศาสตร์การเดินทางของระบบโซตัสเพื่อฝังรากในวัฒนธรรมไทยนั้น จะเห็นได้ว่า จาก “อุดมคติทางจริยธรรม” ในยุคแรกเริ่มพัฒนาสยามประเทศ ระบบโซตัสได้อวตารมาเป็น “อุดมการณ์โซตัส” อันเข้มเข็งและแข็งทื่อในยุครัฐนิยมและยุคเผด็จการทหารในตอนปลายพุทธศตวรษที่ 25 และตอนต้นพุทธศตวรรรษที่ 26 และได้สร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองอีกครั้งหลังความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้า และก็เป็นรูปแบบ “เผด็จการห้องเชียร์” เดียวกันนี้เองที่ยังคงสืบต่อมาจนปัจจุบัน
การว้าก การลงทัณฑ์และห้องเชียร์: ฤาเยาวชนไทยจะไร้ซึ่งจินตนาการ? “การว้าก” คือการสร้างบรรยากาศของความกดดันและความหวาดกลัวทางจิตวิทยา ด้วยกระบวนการทำให้เกิด “ความรู้สึกผิด” (emotional guilt) ผ่านการใช้ชุดคำแบบแผนสำเร็จรูปชุดหนึ่งซ้ำไปมา โดยกลุ่มคนซึ่งสถาปนาตนเองเป็น “รุ่นพี่” บนฐานข้ออ้างเรื่องความอาวุโส (Seniority อักษรตัวแรกของชื่อย่อ SOTUS) เป็นผู้บังคับใช้คำสั่งและการลงโทษทรมานทางร่างกายซ้ำไปมา ในฐานะเครื่องมือละลายพฤติกรรม โดยทั้งหมดทั้งมวลมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างกลุ่มรุ่นน้องที่เชื่อฟังอย่างมีระเบียบวินัย (Order จึงถูกใช้ในสองความหมาย คือคำสั่งและระเบียบวินัย) มีความเป็นหนึ่งเดียว (Unity) และมีความรักเทิดทูนและภูมิใจในสถาบันของตน (Spirit) ทั้งหมดนี้ เรียกกันทั่วไปว่า กระบวนการสืบทอดส่งต่อ “ประเพณีรับน้องใหม่” (Tradition) หากพิจารณาคำพูดของนักศึกษาผู้นำเชียร์ที่ยกมาในตอนต้นของบทความและเชื่อมโยงเหตุการณ์นี้เข้ากับวันที่บนปฏิทิน (5 มิถุนายน พ.ศ. 2554) เราจะเห็นความลักลั่นระหว่างบริบทของยุคสมัยกับชุดคำพูดซึ่งสะท้อนชุดความคิดของอุดมการณ์โซตัสได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ในยุคซึ่งฉันทามติของสังคมไทยเรียกร้องความเท่าเทียม ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก อุดมการณ์โซตัสกลับผลิตซ้ำวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของยุคเผด็จการ อันมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความซาบซึ้งกับจารีตนิยมอย่างปราศจากการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลและการผูกขาดการตีความรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสถาบัน (ในที่นี้ คือสถาบันการศึกษาและสถาบันอาวุโส) ให้มีลักษณะแข็งทื่อไร้พลวัต โดยโจมตีกลุ่มคนที่เห็นต่างว่าเป็นพวกบ่อนทำลาย “เจตนารมณ์” และ “ประเพณีอันเก่าแก่” หรือเป็นพวก “ร้อนวิชาสิทธิมนุษยชน” หรือ “ทำลายชื่อเสียงสถาบัน” (ดังตัวอย่างบทสัมภาษณ์อันน่าเศร้าสลดใจของอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามและความคิดเห็นของกลุ่มสนับสนุนกิจกรรมประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (7) วิวาทะว่าด้วยระบบโซตัสจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การตั้งคำถามกับรูปแบบและวิธีการของประเพณีการรับน้องภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น (กล่าวคือ เราจะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้ แม้ว่าจะล้าหลังหรือขัดแย้งกับยุคสมัยเพียงใด เพื่อให้ได้มาซึ่งจุดมุ่งหมายอัน “ดี” หรือ? ซึ่งในที่นี้ ยังไม่ได้ตั้งคำถามกับ “เจตนาดี” นี้ ว่าแท้จริงมาจากมุมมองของใคร เพื่อใครกันแน่และ “ดี” จริงหรือ) แต่หมายรวมถึงการเชื่อมโยงระบบโซตัสเข้ากับบริบทภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย เข้ากับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันที่รากเหง้าของปัญหาทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมมาจากการไม่ยอมรับและไม่เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและจากการดำรงอยู่ของระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้องอันนำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติและความอยุติธรรมทั้งหลายในสังคม ในแง่นี้ พื้นที่ปิดของห้องเชียร์จึงกลายมาเป็นพื้นที่จำลองของปฏิบัติการใช้อำนาจที่ไร้ความชอบธรรมใดๆ เป็นพื้นที่ฝึกความชาชินให้สยบยอมต่อ “ความเป็นธรรมชาติ” (ภายใต้ชื่อเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ว่า “ประเพณี”) ของโครงสร้างเดิมทางสังคม ซึ่งถูกประกอบสร้างและสถาปนาขึ้นจากอำนาจภายนอก จนนำไปสู่การสมยอมให้ถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อไป และยังเป็นพื้นที่ของการส่งทอด “วัฒนธรรมเหยียด” ผู้อื่น จึงไม่น่าแปลกใจเลยหาก แท้จริงแล้ว ชนชั้นกลางมีการศึกษาทั้งหลายจะเป็นผู้ชื่นชอบในระบอบเจ้าขุนมูลนายและดูถูกผู้อื่นที่ไม่มีการศึกษาเท่าเทียมตน เพราะคนเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์ที่สถาปนาผ่านระบอบการศึกษา จึงต้องพยายามปกปักรักษาอุดมการณ์โซตัสนี้ไว้เพื่อรักษาสถานภาพความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ในสังคมให้คงทนถาวรสืบไป ภายในพื้นที่ปิดของห้องเชียร์และรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องได้กระทำการ “สืบทอด” พิธีกรรมปิดหูปิดตาและปิดจินตนาการของคนหนุ่มสาวในนามของ “อัตลักษณ์” อันคับแคบของการเป็นนักศึกษาของสถาบันใดสถาบันหนึ่งอย่างเดียว การปฏิเสธที่จะตั้งคำถามหรือเปิดเวทีเสวนาถกเถียงถึงความชอบธรรมของการมีอยู่ของระบบโซตัส ในท่ามกลางสังคมไทยยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่โครงสร้างทางสังคมการเมืองแบบจารีตนิยมสั่นคลอนอย่างถึงราก เป็นเสมือนการเลือกขีดเส้นวงกลมล้อมรอบตนเองเพื่อปิดตายศักยภาพของความเป็นปัญญาชนที่ควรจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและเลือกการกดทับปิดกั้นพลังสร้างสรรค์แห่งวัยรุ่นด้วยการสร้างความเป็นอื่นให้กับตนเองและให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่พวกตน นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายหากพวกเขาไม่สามารถมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆของรูปแบบการต้อนรับ “เพื่อนใหม่” ที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมนุมโดยรอบมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนรู้จากของจริง ปัญหาจริงและคนจริง ฤาพวกเขามองไม่เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่พื้นที่ปิด แต่เป็นพื้นที่เปิดสู่ความท้าทายของการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริงของสังคมภายนอกซึ่งพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ในท่ามกลางเสียงเรียกร้องของสังคมเพื่อการปฏิรูปทางการเมือง การตั้งคำถามกับระบอบคุณค่าอันเป็นฐานเชื่อมโยงและจัดระเบียบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมเป็นสิ่งที่พึงกระทำร่วมกัน ประเพณีการรับน้องของสถาบันอุดมศึกษาไทยนี้เป็น “พื้นที่สีเทา” ซึ่งไม่มีที่ทางชัดเจนในภูมิทัศน์ของระบบการศึกษาไทย สวนทางกับยุทธศาตร์การพัฒนาการศึกษา สวนทางกับปณิธานของการผลิตบัณฑิตที่มุ่งเน้นให้นิสิตนักศึกษามีทักษะทางปัญญา สวนทางกับสปิริตของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่ควรอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการวิพากษ์ ท้ายที่สุด ประเพณีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อปรัชญาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่สามารถประนีประนอมได้ เพราะระบบโซตัสเป็นกลไกหลักของการครอบงำเชิงวัฒนธรรมและเป็นเมล็ดพันธุ์ของ “อุดมการณ์อำนาจนิยม” ที่ตกค้างอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกและความคิดความอ่านของผู้คนอย่างแยบยลและแยบคาย อันเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาการเมืองที่นำไปสู่การสังหารหมู่เมื่อพฤษภาคม 2553
เชิงอรรถ
หมายเหตุ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ปากคำชาว "หมู่บ้านเสื้อแดง" แห่งแรก ตั้งปลุกขวัญกำลังใจ..ไม่ใช่ล้มสถาบัน! Posted: 27 Jun 2011 10:12 AM PDT รถปิกอัพที่ผู้เขียนร่วมโดยสารออกจากตัวเมืองอุดรธานี มุ่งสู่ "บ้านหนองหูลิง" ได้ไม่นาน ภรรยาของผู้ใหญ่บ้าน กองชัย ชัยกัง ชื่อ คำแสน ชัยกัง วัย 42 ปี ก็เริ่มบ่นว่า ตั้งแต่หมู่บ้านตกเป็นข่าวว่าเป็น “หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย” หมู่บ้านแรกใน จ.อุดรธานี ทหารและทางการก็เริ่มเข้ามาสอดส่องและโดนแม้กระทั่งข้อกล่าวหาว่ามีการฝึกกำลังอาวุธ เพื่อต่อต้านและล้มล้างสถาบันเลยทีเดียว “คุณก็เอาหลักฐานมาสิ...เมื่อวานตอนเช้าก็มา กอ.รมน. มาคุกคามเราตลอด" คำแสนบ่นต่อว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ทาง กอ.รมน.ได้ส่งมอบบ้านที่ซ่อมให้ชาวบ้านในหมู่บ้านหนองหูลิงสองหลัง “เขาบอกมามอบบ้าน มันเสร็จแล้วนะ แต่ก็ยังเข้ามา ชาวบ้านเขานั่งคุยกัน ทหารเข้ามา มันไม่ปกติแล้วนะ” ได้ยินเช่นนั้น ผู้ใหญ่กองชัยผู้เป็นสามีและคนขับรถปิกอัพก็พูดแทรกขึ้นมา “ถามเหมือนกันว่า ทำไมมาบ่อยครั้ง เขาก็บอกว่า เขาติดผู้หญิง” ด้านภรรยาก็พูดต่อว่า ตอนนี้กระแสเสื้อแดงมันแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ในหลายจังหวัด ส่วนที่หมู่บ้านนั้น ทั้งนายอำเภอและปลัดอำเภอก็มาเยี่ยม และโทรมาถามวันละสามสี่ครั้งว่า "นักข่าวมาถามอย่างไรบ้าง" เพื่อจะไปเขียนรายงานให้เจ้านาย 20 นาทีผ่านไป พวกเราก็มาถึงปากทางเข้าหมู่บ้านหนองหูลิง ซึ่งมีป้ายหมู่บ้านสีแดงพร้อมรูปอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กับข้อความเขียนว่า “หมู่บ้านคนเสื้อแดง เพื่อประชาธิปไตย” ผู้เขียนจึงขอให้ทั้งสองสามีภรรยาพร้อมหลานสาวตัวน้อยช่วยลงไปยืนหน้าป้าย เพื่อถ่ายรูปไว้สำหรับประกอบบทความ หลังกดชัตเตอร์เสร็จ นางคำแสนก็กล่าวต่อว่า นายอำเภอได้ขอให้ชาวบ้านปลดธงแดงหน้าบ้านออก แต่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่ยอม พร้อมย้ำว่า ทางการ “จะห้ามเราเป็นแดงก็ห้ามไม่ได้” ก่อนถึงบ้านผู้ใหญ่บ้าน มีบ้านของยายอายุ 76 ปีชื่อยายทองใบ วัลพัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหนึ่งในสองหลังที่ทางทหารช่วยซ่อมแซมและส่งมอบเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ สิ่งที่น่าสังเกตคือ บนกำแพงแผ่นยิปซัมด้านนอก มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงและพระราชินีใหม่เอี่ยมติดอยู่ด้านนอก พอถามไปว่าติดแบบนี้ไม่โดนแดดโดนฝนแย่หรอกหรือ ยายทองใบตอบว่า “เขาบ่ให้เอาออก [ถ้าเอาออก] เดี๋ยวยุ่งสิ” * ณ บ้านผู้ใหญ่บ้าน มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งมาล้อมวงพูดคุยด้วย หญิงคนหนึ่งชื่อ นางทองบ่อ ศิริปรี บอกว่า เธอเสียใจที่ตอนนี่หมู่บ้านถูกกล่าวหาอย่างเสียๆ หายๆ ขณะที่ นางสมภาท ชินคำ กล่าวว่า ชาวบ้านหมู่บ้านเสื้อแดงเพียงต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม ผู้ใหญ่บ้านกองชัยกล่าวเสริมว่า หลังเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ชาวบ้านที่นี่รู้สึกหวาดกลัวมาก บางคนเอาเสื้อแดงไปเผา บ้างก็เอาซีดีของนปช.ไปฝังดิน "ความคิดเรื่องการประกาศให้หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเสื้อแดงจึงเกิดขึ้นเพื่อรักษาขวัญกำลังใจของมวลชนเสื้อแดง และเพื่อไม่ให้เกรงกลัวอำนาจรัฐ” พูดเสร็จผู้ใหญ่บ้านก็หยิบเอาเอกสาร “บันทึกข้อความ” ของทางทหารที่เขาได้รับเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ในระหว่างที่ กอ.รมน.ภาค 2 ได้ทำพิธีส่งมอบบ้านที่ซ่อมแซม 2 หลัง พร้อมทั้งให้สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสมาทำข่าว ผู้เขียนพลิกดูกระดาษสองหน้าก็พบโปรแกรมหน้าสนใจอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นโปรแกรมของวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ระหว่างเวลา 13.20-14.20 น. ซึ่งเป็นรายการ “พบปะประชาชน / ศึกษาสภาพสังคมจิตวิทยา” "เราไม่ได้ล้มล้าง เราไม่เคยคิด แต่เราเห็นด้วยกับการให้สถาบันอยู่เหนือการเมือง" ภรรยาผู้ใหญ่บ้าน กล่าวย้ำหนักแน่น “ทำไมเขาถึงอยากมาเปลี่ยนใจเฮา? เขาสิมาให้เฮาเปลี่ยนใจ แต่อย่างไรก็เปลี่ยนบ่ได้หรอกใจน่ะ” นางสมภาทกล่าวเสริม อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่กองชัยพยายามมองโลกในแง่ดีว่า การที่ชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อย "ปลดธงแดง" อาจเป็นผลดีต่อการพิจารณาคดีลูกของเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวอุดรกว่า 20 คน ที่ถูกจับหลังเหตุการณ์เมื่อปีก่อน และจนป่านนี้ก็ยังไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเร็ววันนี้ พวกเขาก็อดเป็นห่วงไม่ได้ โดยพวกเขาเกรงว่า อาจมีการแทรกแซงจาก “มือที่มองไม่เห็น” หรือไม่ก็เกิดการ "รัฐประหาร" ภรรยาของผู้ใหญ่บ้านโพล่งขึ้นว่า "หากเกิดรัฐประหารอีก แล้วคนในสังคมยอมรับได้ ก็แสดงว่าคนในประเทศโง่น่ะสิ” พลางหัวเราะชอบใจ ด้านผู้ใหญ่กองชัยมองว่า ไม่น่าเกิดรัฐประหาร แต่จะมีการจัดตั้ง "รัฐบาลซ่อนรูป" ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างยิ่ง “คนยิ่งรู้ ยิ่งกลายเป็นเสื้อแดงเยอะ” ภรรยาผู้ใหญ่บ้านกล่าวทิ้งท้าย ก่อนจากหมู่บ้าน สองสามีภรรยาบอกด้วยว่า หนึ่งในคำถามที่พวกเขาถูกทางการถาม ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา คือ พวกชาวบ้านจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงกันเอง โดยที่ไม่มีคนข้างนอกมาช่วยจัดตั้งหรือ? “เขา(ทหาร)มาสืบว่า จัดตั้งอย่างไร มีใครมาช่วยไหม ผมก็บอกไม่มีหรอก” ผู้ใหญ่กองชัย กล่าวยืนยัน กอ.รมน.ลั่นต้องไม่มี"รัฐซ้อนรัฐ" พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกอ.รมน. กล่าวถึงกรณีชาวบ้านหมู่บ้านเสื้อแดงพาดพิงว่า กอ.รมน.ส่งกำลังไปคุกคาม โดยได้ปฏิเสธเรื่องการคุกคาม แต่ยอมรับในประเด็นที่ว่า กอ.รมน.ได้ส่งกำลังพลไปสอดส่องดูแลจริง ส่วนประเด็นเรื่องการข่มขู่คุกคาม พล.ต.ดิฏฐพร ยืนยันว่า ไม่มี ส่วนที่ต้องลงไปจับตาหมู่บ้านเสื้อแดง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "ความมั่นคง" ของประเทศ โดยมีการร้องเรียนว่า มีการจัดตั้งหมู่บ้าน และตั้ง "ผู้นำชุมชน" ขึ้นมา "ทับซ้อน" กับผู้นำท้องที่ คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายอำเภอ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะ "ผอ.รมน.จังหวัด" จึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะดูว่า "ผิดกฎหมายปกครอง" หรือไม่ "ทหารมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตย และรักษาความมั่นคงของชาติ หากมีอะไรที่กระทบความมั่นคง เราปล่อยปละละเลยไม่ได้เพื่อไม่ให้มันลุกลามบานปลายออกไป ซึ่งเรากำลังจับตาดูอยู่ ส่วนเรื่องกฎหมายปกครอง คงต้องขอความชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทย ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ แต่หลักการคือ รัฐไทยต้องเป็นหนึ่งเดียว จะตั้งรัฐขึ้นมาทับซ้อน และแบ่งแยกไม่ได้" หมายเหตุ * ย่อหน้าที่ถูกตัดออกโดยกองบรรณาธิการคมชัดลึก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ร้องไห้ทั้งคืน ร้องไห้ไปอีกนาน Posted: 27 Jun 2011 10:04 AM PDT อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอก 10 เมษาฯ 2553 นอน "ร้องไห้ทั้งคืน" แต่ญาติวีรชนที่ถูกฆ่าต้อง 0 0 0 หลับตาลง ได้อย่างไร. ไอ้โหดหื่น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงาน ศปช.: (1) ชำแหละ คอป.และองค์กรอิสระ ความไม่คืบหน้าหลังโศกนาฏกรรมราชประสงค์ Posted: 27 Jun 2011 09:52 AM PDT *ประชาไทเรียบเรียงจาก เวทีอภิปรายเรื่อง “1 ปี เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 53 ความยุติธรรมที่หายไป”
รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2553โดยมี คณิต ณ นคร เป็นประธาน จากนั้นให้มีการสรรหากรรมการ โดยออกระเบียบสำนักนายกฯ มารองรับ 3 ภารกิจ คือ 1.ตรวจสอบและค้นหาความจริง รวมถึงรากเหง้าปัญหาความขัดแย้ง 2.เยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ 3.วางมาตรการเพื่อลดความขัดแย้งและป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดในอนาคต กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุด 16 ก.ค.2555 โดยต้องจัดทำรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน ในการนี้ คอป. ตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 5 ชุด ที่สำคัญมากคืออนุฯ ชุดค้นหาความจริง มี สมชาย หอมลออ เป็นประธาน ทำงานจนถึงเดือนเม.ย.54 เพิ่งจะออกรายงานมา 1 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลักการแนวคิด คอป. การดำเนินการเบื้องต้นอย่างไรบ้าง แต่ไม่มีการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าได้ทราบอะไรบ้าง นอกจากนี้ ระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย.54 คอป.ได้จัดรับฟังความคิดเห็น หรือ “hearing” ถึง 12 ครั้ง มีการเชิญหน่วยงานและส่วนต่างๆ มาให้ข้อมูล แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลใดปรากฏออกมาสู่สาธารณะอย่างเป็นระบบ แม้ยังไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต คอป.ระบุเพียงสั้นๆ ในรายงานว่า มีอย่างน้อย 13 ราย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้ตรงกับดีเอสไอ และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เขาได้พูดถึงปัญหาในการไม่มีอำนาจเรียกบุคคลที่มีอำนาจมาให้ข้อมูล, ขาดการคุ้มครองความปลอดภัยบุคคลที่มาให้ข้อมูล, การที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากบางฝ่าย จากการติดตามการทำงานก็เห็นด้วยกับการวิเคราะห์อุปสรรคดังที่ คอป.ระบุมา แต่ก็เห็นปัญหาอีกบางประการซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากคือ กรอบคิดและกรอบการทำงานใหญ่ของ คอป. มุ่งเน้นความปรองดองมากกว่าความยุติธรรม ทำให้มีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่ คอป.จะหลีกเลี่ยงการค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อชี้ถูกชี้ผิดว่าใครต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการสังเกตการณ์เวทีรับฟังข้อมูลน่าสนใจว่า เวทีครั้งหนึ่งที่คุยเรื่องกรณีวัดปทุมวนาราม หลังเสร็จเวที พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน้องกมนเกด พยาบาลที่เสียชีวิตในวัด พยายามโต้แย้งกับทหารว่าทหารฆ่าลูกของเธอ ปรากฏว่าสมชาย หอมลออ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมฯ พยายามตัดบทและว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่เป็นเรื่องของเหตุการณ์ สถานการณ์ และถามคุณพะเยาว์ว่า “เข้าใจหรือยัง”ท่าทีอย่างนี้ไม่น่าเป็นท่าทีที่เราจะสามารถคาดหวังได้ว่าจะค้นหาข้อเท็จริงไปสู่ควมยุติธรรมได้ในบั้นปลาย และจากการสังเกตเวทีรับฟังข้อเท็จจริง มีประเด็นที่มีปัญหา เช่น ดูเหมือนเป็นเวทีเปิด แต่โดยกระบวนการคัดเลือกคนเชิญมันกลายเป็นเวทีปิด ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่รู้ว่ามีการพูดถึงเรื่องที่พวกเขาเกี่ยวข้อง และคนที่ คอป.เชิญจำนวนมากก็มักไม่ใช่บุคคลที่สำคัญ หรือมีข้อมูลโต้แย้งกับอีกฝ่ายหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ คอป.จำนวนมากเป็นข้าราชการ หลายเวทีพยายามตั้งคำถามทั้งกับผู้สูญเสียเองว่า เห็นชายชุดดำไหม พยายามหาชายชุดดำให้ได้ เป็นข้อสังเกตที่เห็น การดำเนินงานที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและการแสวงหาความยุติธรรมที่สำคัญอีกอันคือ การสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอและตำรวจ จุดเริ่มต้นของการดำเนินการของดีเอสไอเกิดจากครรภ์ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยตรง เพราะ ศอฉ.เป็นผู้ริเริ่ม เห็นว่ามีการกระทำผิดทางอาญาและกระทบความมั่นคงของประเทศ หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย.จึงเห็นควรให้คดีที่เกี่ยวข้องเป็นคดีพิเศษ มอบหมายให้สุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ.และรองนายกฯ และประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ให้นำเสนอที่ประชุมในเรื่องนี้ หลังจากนั้นคณะกรรมการประชุมที่ราบ 11 สุดท้ายให้คดีความผิดทางอาญา การก่อการร้าย การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางการ ในช่วงปลายปี 2552 เป็นต้นไป ไม่มีปลายปิด ให้ยกเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ จากนั้นเดือนสิงหาคม ที่ประชุม ศอฉ.ยังมีมติให้ดีเอสไอจัดตั้งชุดสืบสวนกรณีผู้เสียชีวิต 10 เม.ย.-21 พ.ค.53 ในแต่ละราย โดยนำรายงานการชันสูตรพลิกศพ และหลักฐานทางนิติวิทยาต่างๆ มาเป็นหลักฐานในการประกอบสำนวน และรายงานผลดำเนินการให้ ศอฉ.ทราบภายใน 60 วัน หากเราเชื่อว่าความสูญเสีย การเสียชีวิตและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ระหว่างนั้นมี ศอฉ.เกี่ยวข้องด้วย ในทางกลับกันหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการสืบสวนสอบสวนกลับดำเนินการภายใต้การควบคุมกำกับของ ศอฉ. และอธิบดีดีเอสไอเองก็นั่งเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ.ด้วย ผลมันจึงออกมาอย่างที่เห็น มติของ ศอฉ.และคณะกรรมการคดีพิเศษดังกล่าวออกมาแล้ว ตำรวจได้เข้าไปดำเนินการตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท้องที่ ก็ต้องมอบสำนวนการสอบสวนคดีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมให้ดีเอสไอสอบต่อทั้งหมด แม้ว่าจะมีญาติผู้เสียชีวิตไปแจ้งความไว้ ณ ท้องที่ใด ทุกกรณีจะถูกโอนมารวมไว้ที่ดีเอสไอทั้งหมดจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน คดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ครอบคลุม 89 ราย ความคืบหน้าล่าสุด คือ กลางเดือน พ.ย.53 ธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกมาแถลงเรื่อยๆ จนถึงต้นม.ค.54 สรุปความได้ว่า เมื่อสืบสวนไปได้ระยะหนึ่งแล้วก็แบ่งคดีเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าเป็นการกระทำของ นปช.และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง มี 8 คดีรวมผู้เสียชีวิต 12 รายส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ 2.คดีที่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน “เข้าข่ายน่าเชื่อ” ว่ามีความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ 8 คดี มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ดังนั้น ดีเอสไอจึงส่งใน 8 คดี (13 ราย) นี้กลับไปยังพนักงานสอบสวนในท้องที่อีกครั้งหนึ่งเพื่อดำเนินการเก็บพยานหลักฐานในท้องที่ที่พบศพอีกครั้ง เพื่อดำเนินการการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 150 (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ต่อในตอนหน้า โดย สาวตรี สุขศรี นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์) ขณะเดียวกันน่าสนใจว่า คดีกลุ่มที่สอง “การตายจากเจ้าหน้าที่” เมื่อส่งกลับไปยังตำรวจท้องที่แล้ว มีแนวโน้มว่าตำรวจอาจจะกลับข้อสรุปของดีเอสไอ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ( รอง ผบช.น.) ให้สัมภาษณ์ราวเดือนมีนา-เมษา ในทำนองว่า พยานหลักฐานอ่อน ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าการตายเกิดจากเจ้าหน้าที่ และพูดว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดแสดงตัวว่า “เป็นคนทำให้ประชาชนเสียชีวิต” นอกจากนี้กลไกที่เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ยังมีส่วนของวุฒิสภา โดยมีการตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองขึ้นมา เรียกฝ่ายต่างๆ มาให้ข้อมูลเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่มีรายงานอะไรออกมา ล่าสุด ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์ จะปราศรัยที่ราชประสงค์ กมธ.ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ในเชิงปรามว่า ไม่อยากให้แต่ละฝ่ายนำเรื่อง 91 ศพมาโจมตีกันในทางการเมือง พร้อมให้ข้อมูลว่าทุกฝ่ายมีส่วนรับผิดชอบกับการเสียชีวิต รวมทั้งฝ่ายรัฐด้วย อีกองค์กรหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการหาข้อเท็จจริงด้วย คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หลังเหตุการณ์ ในเดือน มิ.ย.53 กสม. ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้น 3 ชุด ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวช้องกับการชุมนุม กำหนดเวลาเบื้องต้นว่าต้องเสร็จแล้วเสร็จเมื่อไร จนปัจจุบันเลยเวลาแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายงานใดๆ สู่สาธารณะ นี่เป็นภาพของกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงภายในประเทศ ซึ่งแทบจะไม่มีความก้าวหน้าใดๆ แต่ในความไม่ก้าวหน้า มีข้อเท็จจริงเบื้องต้นหลายอย่างที่เป็นที่ยุติแล้ว น่าเสียดายว่า แกนนำรัฐบาล หรือพรรคประชาธิปัตย์นั้นกลับยังพูดเหมือนเดิม ในกรณีผู้บาดเจ็บ ยอดตัวเลขที่รายงาน คอป.รายงานว่า 1,885 ราย แบ่งเป็น จนท.รัฐ 542 ราย นอกนั้นเป็นพลเรือน อย่างไรก็ตาม 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บโดยเฉพาะจากอาวุธสงครามจำนวนมากได้แจ้งความกับตำรวจ แต่เท่าที่ทราบความคืบหน้าการสืบสวนเรียกได้ว่าไม่มีความคืบหน้าเลย และไม่เห็นดีเอสไอมากระตือรือร้อนในกรณีนี้ยกเว้นผู้บาดเจ็บที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากข้อมูลผู้บาดเจ็บไม่ค่อยได้รับความสนใจ แต่จากข้อเท็จจริงที่เราติดตาม จำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน ผู้บาดเจ็บได้รับเงินเยียวยาจากบางหน่วยงาน แต่มีจำนวนมากที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ เราพบว่า ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งได้เสียชีวิตลงหลังเหตุการณ์ด้วย เราไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไรแน่ แต่ที่แน่ๆ ศพที่ 92 ที่เราพูดกันก็ตัวอย่างหนึ่งของผู้เสียชีวิตหลังเหตุการณ์หลังจากได้รับแก๊สน้ำตา แต่โชคดีที่เสียชีวิตหลังเหตุการณ์เพียงวันเดียว จึงถูกนับรวมไว้ด้วย ล่าสุด ที่เราทราบและไม่ยังถูกนับรวมคือ มีผู้ชุมนุมจากขอนแก่น มาร่วมชุมนุมแล้วได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาเหมือนกันและเพิ่งจะเสียชีวิตไป โดยผู้ใกล้ชิดระบุว่าหลังได้รับแก๊สน้ำตาก็มีปัญหาระบบปอดและเข้ารับการรักษาพยาบาลหลายครั้ง แม้ว่าแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นอาการปอดอักเสบ นี่เป็นตัวอย่างว่าอาจมีกรณีที่อาจต้องนับเป็นการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมด้วย ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน กรณีเรื่องคนหาย จากการติดตาม 1 ปีที่ผ่านมา เราพบว่ามีรายชื่อของบุคคลจำนวนหนึ่งที่เชื่อได้ว่าอาจจะสูญหายจากการสลายการชุมนุมด้วย อย่างน้อยในมือของ ศปช. มี 5 ราย หลังเหตุการณ์หน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องคนหายมีอยู่หน่วยงานเดียว คือ ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมารับหน้าที่นี้ เนื่องจากเมื่อญาติผู้สูญหายมาติดต่อกับ ศอฉ.ทาง ศอฉ.ก็โยนมาให้มูลนิธิกระจกเงา ประกอบกับมูลนิธินี้เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องติดตามคนหายมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขณะนั้น สมบัติ บุญงามอนงค์ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิอยู่ด้วย หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ศูนย์ข้อมูลคนหายมีการเปิดเผยข้อมูลเป็นระยะว่ามีกี่ราย มีการตรวจสอบแล้วเหลือกี่ราย ที่สำคัญ ทางมูลนิธิได้มีการเสนอกับภาครัฐว่าให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องคนหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเสนอว่าให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เอ็นจีโอ และตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ให้มีหน้าที่รับแจ้งเรื่องคนหายโดยเฉพาะ กระทั่งปัจจุบัน กลางมีนาคมที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลคนหายก็ปิดตัวลงไป ตอนนี้ไม่มีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญมาติดตามกรณีคนหายเลย ข้อมูลที่ ศปช.ได้ ส่วนหนึ่งก็ได้รับส่งทอดมากจากศูนย์ข้อมูลคนหายฯ นั้นเอง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ส่งผู้ต้องขังเสื้อแดงอุบลเข้าไอซียู Posted: 27 Jun 2011 09:49 AM PDT จองจำแม้เจ็บป่วย – แม้นายคำพลอย นะมี ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงวัย 60 ปี จะป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ครึ่งซีกจะนอนหมดเรี่ยวแรง แต่นายณัฐพงษ์ (ไม่ทราบนามสกุล) เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางอุบลราชธานีก็ยังตรึงขาข้างซ้ายที่ไร้เรี่ยวแรงของเขาไว้ด้วยโซ่อย่างแน่นหนากับเตียง แม้ภรรยาของผู้ป่วยจะร้องขอให้หย่อนโซ่ลงบ้างแต่ก็ไม่เป็นผล คำพลอย นะมี ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานี ถูกส่งตัวเข้ารักษาในห้องไอซียู ร.พ.สรรพสิทธิประสงค์ หลังพบอาการสมองบวมและมีเลือดออกในสมอง ภรรยาหมดคำพูด รอลุ้นศาลพิจารณาประกันตัว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำวันที่ 27 มิถุนายน 2554 นายคำพลอย นะมี หนึ่งใน 21 ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานี ได้ถูกส่งตัวเข้ารักษาด่วนที่ห้องไอซียู ชั้น 4 อาคารวิชิต โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ หลังจากวันนี้แพทย์ได้เอกซเรย์ศีรษะแล้วพบว่า ผู้ป่วยวัย 60 ปีมีอาการสมองบวมและมีเลือดออกในสมอง ก่อนหน้าที่จะถูกส่งเข้าห้องไอซียูนั้น นายคำพลอย ถูกควบคุมตัวออกมาจากเรือนจำกลางอุบลราชธานีเพื่อมารักษาตัวที่ห้องอายุรกรรมชาย เตียง 23 ชั้น 3 ตึก 3 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 โดยเขามีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะรุนแรง รับประทานอาหารไม่ได้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตลอดเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายคำพลอยถูกพันธนาการด้วยโซ่ที่ข้อเท้าซ้ายซึ่งเคยมีอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีกอย่างหนาแน่น โดยที่นายณัฐพงษ์ (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้คุมจากเรือนจำกลางอุบลราชธานีไม่ได้สนใจฟังคำร้องขอจากนางปรารถนา นะมี ภรรยาของผู้ป่วยว่า อย่าล็อกโซ่ให้ตึงนัก เพราะเมื่อต้องเปลี่ยนชุดตอนขับถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระลำบาก แต่คำขอของนางถูกปฏิเสธ สำหรับความคืบหน้าล่าสุด นายคำพลอยถูกส่งตัวเข้าดูอาการที่ห้องไอซียู โดยเขาไม่สามารถลุกนั่งได้และมีอาการปวดหัวตลอดเวลา ซึ่งญาติของผู้ป่วยกล่าวว่า หากนายสันติ สงห้อง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุบลราชธานีเมตตาให้ประกันตัวเพื่อออกไปรักษาตัวอย่างเหมาะสมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา อาการของนายคำพลอยจะไม่เป็นอย่างนี้ นางปรารถนา นะมี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตลอดเวลาหนึ่งปีที่นายคำพลอยถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางอุบลราชธานีและไม่ได้ประกันตัวนั้นได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างยิ่งทั้งทางเศรษฐกิจ ด้านจิตใจ และเมื่อถึงตอนนี้ การไต่สวนคดีเสร็จสิ้นแล้วสามีของตนกลับกลายเป็นผู้ป่วยที่ไม่รับรู้ความเป็นไปรอบตัวได้มันยิ่งทำให้ตนเองไม่มีคำพูดถึงกระบวนการยุติธรรม สำหรับการไต่สวนประกอบการของปล่อยตัวชั่วคราวกรณีนายคำพลอย นะมีที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2554 นี้ ทางนายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายจำเลยจะได้เบิกตัวแทนพยาบาลจากเรือนจำกลางอุบลราชธานี ตัวแทนแพทย์จากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์และตัวแทนผู้ต้องขังคดีเสื้อแดงที่ทำหน้าที่ดูแลนายคำพลอยที่เริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2554 ขึ้นไต่สวนประกอบคำร้อง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ประชาไทบันเทิง: ทงบังชิงกิ เดอะซีรีย์ 3: The Rising Period of TVXQ Posted: 27 Jun 2011 08:57 AM PDT เหล่าเทพเขาทำได้ (ชื่อพวกเขาแปลว่าเทพเจ้า เราเรียกพวกเขาว่าเหล่าเทพ) ไม่ได้มีทุกวงที่สามารถที่จะมีคอนเสิรท์เปิดอัลบั้มที่เรียกว่า Showcase Concert ได้ ทงบังชิงกิเองก็เคยเป็นวงที่ไปเล่น Showcase ให้กับ BOA อัลบั้มแรก ของทงบังชิงกิ ที่ชื่อ Triangle นั้น ทงบังชิงกิเองก็ไม่ได้มีคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม แต่ความแรงของเหล่าเทพหลังจากอัลบั้มแรกของปีก่อนด้วยยอดขายที่มากกว่าสามแสนก๊อบปี้ ก็ทำให้พวกเขาได้มีคอนเสิรท์เปิดอัลบั้มในอัลบั้มที่สอง Rising Sun (อัลบั้ม Rising Sun วางขายเมืื่อวันที่ 12 กันยายน 2005) (ยอดขาย สองแสนเก้าหมื่นกว่าก๊อบปี้) ด้วยท่าเต้นที่ทรงพลัง เพลงที่ชื่อเหมือนอัลบั้ม Rising Sun กลายเป็นเพลงยอดฮิตในพริบตา จนได้รางวัล Best Music Video และพวกเขาสามารถนำวงที่รักของเขาไปสู่ความโด่งดังอย่างถึงขีดสุด จริงๆแล้ว ความแรงความไพเราะบวกกับท่าเต้นสุดเท่ของเพลงนี้ ได้ทำให้เพลง Rising Sun กลายเป็นเพลงชาติประจำทงบังชิงกิไปแล้วด้วยซ้ำ (อันนี้แซวกันเองในหมู่สาวกแคสสิโอเปีย) แคสสิโอเปียคืออะไร แคสสิโอเปียคือชื่อแฟนคลับของทงบังชิงกิ มันเกิดมาจากชื่อภาษาจีนของทงบังชิงกิที่ใช้ตัวย่อ TVXQ แล้วชางมินน้องเล็กสุดหล่อก็บอกว่า ตัว TVXQ ที่อยู่บทคีย์บอร์ดแป้นพิมพ์ มีรูปลักษณ์เวลาพิมพ์เหมือนกลุ่มดาวแคสสิโอเปียที่อยู่บนท้องฟ้า อร๊ายยยยยยย ฉลาดจริงๆเลย นี่คือสมาชิกที่ฉลาดที่สุดของวง หล่อสุด สูงสุด แต่ดุสุด ชื่อวงของพวกเขา แปลว่าเทพเจ้า แฟนคลับของพวกเขา คือ ดวงดาวที่เจิดจรัส ส่องสว่างให้เหล่าเทพได้ชื่นใจ แน่นอนค่ะ หลิ่มหลีก็คือดวงดาวเล็กๆดวงหนึ่งในหมู่ดาวแคสสิโอเปียนับล้านดวง อาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่าดาวคนอื่นๆหลายๆคน แต่ก็มีพลังแห่งความรักพอที่จะให้คิดถึงจนต้องเขียนถึงได้ ว๊ายๆๆ ๆๆ ๆ ต่อนะคะ เพ้อจนเพลิน อิอิ สองวันก่อนเปิดคอนเสิร์ตโชว์แคสของทงบังชิงกิ เรื่องร้ายก็เกิดขึ้นมาเมื่อ แจจุงแจจ๋าคนงามของพวกเรา (หน้าหวานหน้าสวย เลยเรียกว่าคนงาม) เกิดเต้นแล้วพลาดตอนกระโดดทำให้เกิดขาหัก ดังนั้นเพลงแด๊นส์ทุกเพลง ก็ต้องใช้ Phantom มาเต้นแทน พวกเขาทั้งวงได้รู้ความสำคัญของกันและกันเป็นครั้งแรก ว่า เมื่อวงขาดใครคนใดคนหนึ่งไป ความยากลำบากจะเกิดขึ้นทันที และผู้ที่มีปัญหาก็จะเสียใจเป็นที่สุดที่ทำให้สมาชิกคนอื่นๆเดือดร้อน นี่คือการกล่อมเกล่าความสามัคคีของพวกเขาที่ทำให้เหล่าแคสสิโอเปียของพวกเราได้หลงรัก เอ้ยไม่ใช่ ซาบซุ้ง เอ้ย ซาบซึ้ง เฮ้อ...... หลิ่มหลีก็ถอนหายใจยาว ยิ่งเขียนก็ยิ่งรักและคิดถึง การโปรโมทศิลปินนักร้องของเกาหลีก็คือการไปออกเกมโชว์ต่างๆ ปีที่แล้วคนที่ได้ออกเป็นส่วนใหญ่ก็คือหัวหน้าวง ยุนโน แต่ปีนี้ สมาชิกคนอื่นได้รับการเทรนที่เพียงพอต่อการออกทีวีบ้างแล้ว เหล่าเทพของพวกเราก็เร่ิมออกรายการดังๆ อย่าง XMEN Love Letter และอื่นๆ ทุกรายการจะให้โอกาสศิลปินได้แสดงความสามารถของตัวเองเล็กๆน้อยๆ ไม่โชว์พลังเสียง ก็โชว์แดนส์ แสดงความสามารถต่างๆบ้าง เช่น การกีฬา ความรัก ในปี 2005 เป็นปีแรกที่พวกเขาเริ่มมีงานที่เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำ Photo Album เล่มแรกของพวกเขาที่วางขายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ภายใต้ชื่อ Travel Sketches in L.A. แล้วต่อด้วย Summer Paradise in Borabora ที่วางขายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ในปีเดียวกัน สำหรับคนไทยที่ไม่คุ้นเคยกับ Photo Album จะต้องให้ได้ทราบว่า ภายในอัลบั้มนี้จะต้องประกอบด้วย รูปถ่าย วีดีโอ หรือ ดีวีดี ที่รวบรวมงานของศิลปินของพวกเขาเป็นหลัก อาจจะมีไดอารี่ โปสการ์ด โปสเตอร์ หรือสติกเกอร์บ้าง ซึ่งเป็นการทำมาหากินของค่ายเพลงที่มาสูบเงินแฟนคลับที่พร้อมจะจ่ายทุกบาททุกสตางค์เพื่อเลี้ยงศิลปินที่เรารักเป็นหลัก เท่าไรเราก็จ่าย ขอให้เลี้ยงเทพของเราให้กินดีอยู่ดีก็พอ แต่พวกเขามีความสามารถที่มากกว่าที่จะจำกัดไว้ที่เกาหลี ค่ายเพลงของพวกเขามองเห็นศักยภาพของพวกเขามากกว่าที่พวกเขาจะเห็นในตัวของพวกเขาเอง เหล่าเทพของเราได้รับการเทรนให้เรียนภาษาญี่ปุ่น พร้อมๆกับเริ่มออกเพลงซิงเกิ้ลเป็นภาษาญี่ปุ่น สามซิงเกิ้ลแรกคือ Stay with me tonight ตามด้วย Somebody to Love และ My Destiny ในปี 2005 นั้นเอง (ซุบซิบหน่อย ออกอัลบั้มเพลงญี่ปุ่นทั้งๆที่ยังพูดไม่ได้เลย) (หมายเหตุ สำหรับคนที่ไม่ค่อยทราบเรื่องวงการเพลงของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะฟังเพลงที่เป็นเพลงญี่ปุ่นเท่านั้นค่ะ นอกเหนือจากเพลงภาษาอังกฤษ ดังนั้น ใครจะไปเปิดตลาดเพลงที่ญี่ปุ่นก็ต้องร้องเพลงญึ่ปุ่นค่ะ) ในขณะเดียวกัน พวกเขาเองก็มีการร้องเพลงร่วมกับเพื่อนร่วมค่ายเพลง ซึ่งจะออกทุกสองอัลบั้มต่อปี คือ SM Town Summer และ SM Town Winter แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาได้ยืนอยู่ในแถวหน้าของวงการเพลงเกาหลี และปลุกกระแสเพลงเกาหลีได้อย่างคึกคักที่สุด ก็คงเป็น อัลบั้ม Rising Sun นั้นเอง ในที่สุด สิ่งที่ได้รับการตอบรับกลับมาคือ รางวัล People Choice Award และ รางวัลที่ยิ่งใหญ่ Artist of the Year 2005 และตามมาด้วยคอนเสิร์ตทั่วเอเชียที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาในปีถัดมา ภายใต้ชื่อคอนเสิร์ต Rising Sun 1st Asia Tour ได้มีการเดินทางไปยัง มาเลเซีย และประเทศไทย ค่ะ ปี 2006 เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้เข้ามาให้พวกเราชาวแคสสิโอเปียไทยแลนด์ได้เชยชม”ออร่า”อันสดใสของพวกเขากัน กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด อาจุม่า สลบ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 27 Jun 2011 08:37 AM PDT | |
นักข่าวพลเมือง: ขบวนการแรงงานในเอเชียเคลื่อนเรียกร้องปล่อย “สมยศ” Posted: 27 Jun 2011 08:30 AM PDT คนงานและนักกิจกรรมในอินโดนิเซียและบังคลาเทศประท้วงหน้าสถานทูตไทยเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข ส่วนนักกิจกรรมในฮ่องกง-ออสเตรเลียจ่อเคลื่อนเร็วๆ นี้
วันนี้ (27 มิถุนายน 2554) ตัวแทนจากสมาพันธ์สภาพันธมิตรสหภาพแรงงานอินโดนีเซีย(Confederation of Congress of Indonesian Unions Alliance - Konfederasi KASBI) ประมาณ 20 คน ได้เดินทางมาที่หน้าสถานทูตไทยประจำกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อประท้วงการคุมขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว โดยทางกลุ่มคนงานและนักกิจกรรมดังกล่าวได้มีการยื่นจดหมายเรียกร้องต่อรักษาการนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ผ่านทางสถานทูตไทย ขอให้ให้สิทธิการประกันตัวแก่สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร RED Power ในทันที นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ดำเนินการปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด หยุดการใช้กฎหมายอาญา ม.112 เพื่อก่อกวนนักกิจกรรมฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย, ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์, ปฏิรูปกองทัพและกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงการลงโทษทหารและนักการเมืองที่สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค. 53 โดยนอกจากการเดินขบวนรณรงค์และการปราศรัยบริเวณหน้าสถานทูตไทยประจำกรุงจากาตาร์แล้ว ยังมีกิจกรรมแสดงละครสะท้อนปัญหาการจับกุมสมยศ พฤกษาเกษมสุข อีกด้วย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 54 ที่ผ่านมา ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานสิ่งทอแห่งชาติบังคลาเทศ(The National Garment Workers Federation.) ประมาณ 30 คนได้เดินขบวนไปยื่นหนังสือที่สถานทูตไทย ณ กรุงดักก้า ประเทศบังคลาเทศเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข เช่นกัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในวันพุธที่ 29 มิ.ย.นี้ เวลา 11.00 น. ที่หน้ากงศุลไทยประจำฮ่องกง สมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง(HONG KONG CONFEDERATION OF TRADE UNIONS-HKCTU) จะไปประท้วงพร้อมยื่นจดหมายเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข และวันที่ 1 ก.ค.นี้ ทางเครือข่ายคนงานเอเชียออสเตรเลีย(Australia Asia Workers Link) จะไปประท้วงและยื่นหนังสือหน้ากงศุลไทยประจำรัฐวิคทอเรีย เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลียด้วยเช่นกัน อนึ่ง สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุมและแจ้งข้อหาความผิดหมิ่นเบื้องสูง ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะประกอบธุรกิจพานักท่องเที่ยวทัวร์ประเทศกัมพูชา ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยทนายความของสมยศตั้งข้อสังเกตว่า การที่ถูกจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นทั้งที่เป็นการเข้า-ออกช่องทางตามปกติของผู้ผ่านแดนทั่วไป แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่นำไปอ้างว่าจะหลบหนีออกนอกประเทศ โดยในวันนี้ 27 มิ.ย.ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกรอบ แต่ศาลได้ยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าเป็นความผิดร้ายแรงเช่นเดิม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น