ประชาไท | Prachatai3.info |
- UN HRC ถกประเด็นไทยละเมิดเสรีภาพออนไลน์และสิทธิแรงงานข้ามชาติ
- หามผู้ต้องขังเสื้อแดงอุบลฯ เข้า ร.พ.อัมพาตครึ่งซีก เหตุเครียดจัด ไม่ได้ประกัน
- ครม. สั่งข้าราชการใส่ชุดผ้าไทยทำงานสัปดาห์ละวัน
- บทวิเคราะห์ มาตรา 112 ของศาสตราจารย์ กม.มหาชน อังกฤษ "ผ่านสายตา"บัวแก้ว”
- อิระวดีสัมภาษณ์นักโทษการเมืองพม่า : ผมมีดนตรีอยู่ในสายเลือด
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: การเมืองเชิงอุดมการณ์
- สื่อ-การตลาด-การเมือง: “ยิ่งลักษณ์” จะ “ดีเบต” อย่างไร
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: พระพุทธรูปและมาตรา 112
- กสม.เชิญเจ้าหน้าที่ กพผ.-ชาวบ้าน แจงข้อเท็จจริง เหตุรุนแรงกรณีสายส่งไฟฟ้า
- นักข่าวพลเมือง: "ขบวนคนตรัง" เดินรณรงค์ "ค้านตัดถนน" กันแนวเขตป่าเขาบรรทัด
- ชาวบ้านศีรษะจระเข้น้อยฟ้องไล่คลังน้ำมันสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อมลพิษแถมสร้างทับพื้นที่สีเขียว
- บีบีซี วิเคราะห์โฉมหน้าการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง ชี้กองทัพไม่ปล่อยมือจากการเมือง
- สืบพยานโจทก์คดีเผาศาลากลางมุกฯนัดสุดท้าย
- ยื่น 104,136 รายชื่อถวายคืนพระราชอำนาจ
UN HRC ถกประเด็นไทยละเมิดเสรีภาพออนไลน์และสิทธิแรงงานข้ามชาติ Posted: 07 Jun 2011 12:58 PM PDT องค์กรสิทธิมนุษยชนเผยในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุไทยละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐ นายจ้างและบุคคลทั่วไป ด้านเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตถูกจำกัดมากพอๆ กับปากีสถาน โดยใช้ ป.อาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ อย่างเข้มงวด เว็บไซต์บางกอกโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ระบุสถานการณ์การละเมิดเสรีภาพในอินเตอร์เน็ต และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทยถูกนำมาอภิปรายในที่ประชุม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN HRC) ในกรุงเจนีวา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และองค์กรฮิวเมนไรท์วอช ได้ร่วมกันออกแถลงว่า แรงงานข้ามชาติจำนวน 2 -3 ล้านคนในประเทศไทยต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชีวิตประจำวัน การละเมิดสิทธินั้นรวมไปถึงการใช้ใช้กำลังหรือการสังหารทั้งโดยปัจเจกบุคคลและโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย มีการทรมาน และทารุณกรรมในระหว่างถูกควบคุมตัว การละเมิดทางเพศ การละเมิดสิทธิแรงงานอย่างกว้างขวาง รวมถึงการรีดไถซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลาย การอ่านแถลงการณ์ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจาก จอร์จ บุสตามานเต ผู้นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ โดยเขาบรรจุประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานในไทยลงไปในรายงานดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอชและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนายังได้อ้างถึงรายงานซึ่งถูกนำเสนอเมื่อปีที่แล้ว โดยรายงานดังกล่าวใช้ชื่อว่า “หนีเสือปะจระเข้: การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” ซึ่งเป็นรายงานที่แสดงให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติอย่างกว้างขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทย ตำรวจ บุคคลทั่วไปและนายจ้าง ซึ่งแรงงานที่ถูกละเมิดเหล่านั้นเป็นขาวพม่า ลาวและกัมพูชา ทั้งที่มีเอกสารการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามและไม่มีเอกสาร “ทุกๆ พื้นที่ที่เราได้เข้าไปสำรวจ ทั้งในเขตจังหวัดที่ห่างไกลจนถึงเขตอุตสาหกรรมใกล้ๆ กรุงเทพฯ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติล้วนเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และผู้ที่ร้องเรียนจะต้องเผชิญกับการโต้ตอบในทันทีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐ และนายจ้าง” แถลงการณ์ที่กล่าวต่อหน้าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจำนวน 47 คนนั้น ยังระบุต่อไปด้วยว่า ฮิวแมนไรท์วอชได้เสนอข้อเสนอ 30 ข้อต่อรัฐบาลไทยและกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น การเสนอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษที่เป็นอิสระขึ้นมาสืบสวนสอบสวนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ เพื่อที่จะหยุดยั้งการทรมานและการกระทำทารุณกรรมต่อแรงงานข้ามชาติที่ถูกควบคุมตัว รวมถึงเรียกร้องให้ปรับแก้กฎหมายแรงงานเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิของตน “ทว่าหนึ่งปีหลังจากนั้น รัฐบาลไทยก็ล้มเหลวโดยไม่สามารถนำข้อเสนอไปปฏิบัติให้เป็นจริงได้แม้แต่ข้อเดียว มันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องทำให้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิมนุษยชนปฏิบัติได้จริง รวมถึงต้องมีกรอบการทำงานที่นำไปสู่การยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ” ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาตินี้ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเจนีวา ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการประชุมปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวทันที โดยระบุว่า ทางการไทยนั้นมีความพร้อมอยู่แล้วที่จะแลกเปลี่ยนและร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาดังที่ได้กล่าวมา อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้รับฟังข้อมูลจาก ปูจา ปาเตล ตัวแทนจากองค์กรฟอรัมเอเชียซึ่งให้ข้อมูลเรื่องการละเมิดเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต โดยเธอกล่าวว่า เป็นที่น่าเสียใจที่การคุกคามผู้ใช้อินเตอร์เน็ตนั้นเพิ่มขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยและปากีสถาน ซึ่งรัฐบาลยังคงตีความสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นซึ่งได้รับการคุ้มครองตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรา 19 (3) ตามอำเภอใจ และนำมาสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นผ่านอินเตอร์เน็ต ปูจา กล่าวด้วยว่า มาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงเกินไปซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พระราชบัญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้น ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อจัดการกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ โทษจำคุกตามกฎหมายทั้งสองมาตราถูกกำหนดไว้สูงมาก คือ 10-15 ปี และส่วนใหญ่แล้วผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว Mr. Frank La Rue ผู้จัดทำรายงานด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ ได้แจ้งแก่คณะมนตรีว่ารัฐบาลไทยและปากีสถานได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อบล็อกเนื้อหา มอนิเตอร์ เจาะจงตัวนักเคลื่อนไหวและนักวิจารณ์ เขากล่าวด้วยว่าไม่กี่เดือนมานี้ คณะผู้จัดทำรายงานพบว่ามีความเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจและเรียกร้องการเคารพในสิทธิมนุษยชนในระดับที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะเฉพาะตัวของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเปิดช่องทางให้ปัจเจกชนได้เผยแพร่จ้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วทันทีทันใดเพื่อที่จะรวมตัวกัน และเพื่อที่จะสื่อสารกับโลกให้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียม ก็ได้สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่รัฐบาลและผู้มีอำนาจ ซึ่งเขากล่าวว่า ข้อจำกัดในการถ่ายเทข้อมูลข่าวสารผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นควรมีให้น้อยที่สุด โดยเหตุผลที่เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่งและกรณีที่จะจำกัดเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตนั้นต้องเป็นกรณีที่กำหนดโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ปูจา ปาเตล กล่าวว่า รัฐบาลไทยยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อยูอาร์แอลที่ถูกบล็อกจำนวน 75,000 ยูอาร์แอล รวมทั้งยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดถึงความจำเป็นและความชอบธรรมในการบล็อกยูอาร์แอลเหล่านั้น เธอให้ข้อมูลต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนถึงกรณีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทด้วยว่า กรณีของจีรนุชเป็นกรณีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งคดีดังกล่าวเกืดขึ้นจากกรณีที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรายอื่นโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ที่จีรนุชเป็นผู้ดูแล โดยตัวแทนจากฟอรัมเอเชียอ้างถึงความเห็นของ Mr. Frank La Rue ว่า “ตัวกลาง” ไม่พึงถูกดำเนินคดีด้วยข้อความที่ตนไม่ได้เป็นผู้เขียน และไม่ควรถูกบังคับให้ต้องทำการเซ็นเซอร์ในนามของรัฐ “เราเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดให้ตัวกลางต้องรับผิด” ตัวแทนจากฟอรัมเอเชียกล่าว ไม่มีรายงานว่า ตัวแทนรัฐบาลไทยมีท่าทีอย่างไรต่อประเด็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ถูกหยิบยกขึ้นในที่ประชุม สำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 17 นี้ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม ซึ่งเป็นสมัยประชุมสุดท้ายของเขาในตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
หามผู้ต้องขังเสื้อแดงอุบลฯ เข้า ร.พ.อัมพาตครึ่งซีก เหตุเครียดจัด ไม่ได้ประกัน Posted: 07 Jun 2011 09:38 AM PDT
ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลฯ เครียดจัด อัมพาต ครึ่งซีก นำส่ง ร.พ.ด่วน พบข้อมูลปัญหาสุขภาพย่ำแย่หลังถูกขังลืมกว่าปี ล่าสุด 8 ราย มีแนวโน้มต้องใช้ยาระงับประสาท
เมื่อ เวลา 15.30 น.วานนี้ (6 มิถุนายน 2554) รถพยาบาลของเรือนจำกลางอุบลราชธานีได้นำตัวนายคำพลอย นะมี อายุ 60 ปี ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดง ส่งเข้ารักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ หลังจากในช่วงเช้าของวันดังกล่าวได้มีอาการหน้ามืดและชาตามร่างกายซีกซ้าย ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ต้องอาศัยเพื่อนผู้ต้องขังพยุงและนวดบรรเทาอาการ โดย วันดังกล่าวศาลได้นัดผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลฯ จำนวน 21 คน มารอคิวไต่สวนที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อผู้สื่อข่าวไปยังห้องพักพบว่า นายคำพลอยกำลังนอนกับพื้นให้เพื่อนบ้านที่มาเยี่ยมบีบนวดเพื่อคลายอาการ แต่นายคำพลอยยังมีอาการปากเบี้ยวและไม่สามารถกลอกนัยน์ตาไปทางซ้ายได้
นายพิเชษฐ ทาบุดดา หนึ่งในผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลฯ เปิดเผยว่า จากการสังเกตพบว่า นายคำพลอยมีอาการตาลอยมาประมาณ 1 สัปดาห์เห็นจะได้ อาจจะเกิดจากอาการเครียดจนนอนไม่หลับตอนกลางคืนจึงกินยาระงับอาการ ขณะ ที่นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายความคดีดังกล่าวได้นำเรื่องนี้เข้าหารือกับผู้พิพากษาเพื่อขออนุญาตนำ ตัวนายคำพลอยเข้ารับการรักษาเร่งด่วน และศาลก็ได้อนุญาตในเวลาต่อมาโดยมีผู้คุมเรือนจำและตำรวจนำส่ง นางปรารถนา นะมี ภรรยาของนายคำพลอยเปิดเผยผลการตรวจของแพทย์ว่า เป็นอาการเส้นโลหิตอุดตันจนทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงสมองได้เพียงพอ หมอจึงให้พักรักษาตัวที่ห้องอายุรกรรมชาย อาคาร 3 ชั้น 3 ของโรงพยาบาล โดยมีผู้คุมเรือนจำมาเฝ้า 1 คน ขณะที่ผู้ป่วยถูกล็อกด้วยตรวนที่ขาข้างซ้ายไว้กับเตียงคนไข้ พบอีก 8 ราย อาจต้องใช้ยาระงับประสาท ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงคนหนึ่งเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่พยาบาลจากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยทางจิตเวชได้เข้ามาตรวจสุขภาพผู้ต้องขัง คดีการเมืองเสื้อแดงทั้ง 21 คน พบว่า มี 8 คนที่มีอาการเครียด อาจจะต้องใช้ยาระงับประสาทเพื่อบรรเทาอาการเครียด
ศาลเร่งไต่สวนนอกเวลาราชการ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สืบเนื่องจากคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเป็นคดีการเมือง แต่ที่ผ่านมาพบว่า การดำเนินคดียืดเยื้อมาจนครบปีแล้ว ล่าสุด นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายความของผู้ต้องขังเปิดเผยว่า ได้มีการหารือกับศาลและอัยการแล้วได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ศาลมีความเห็นใจที่คดีล่าช้า ดังนั้นจึงจะนัดไต่สวนผู้ต้องขังที่เหลือนอกเวลาราชการ คือ เวลา 16.00 - 20.00 น.ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานีว่าจะขัด ข้องหรือไม่ เพราะเกี่ยวข้องกับการเบิกตัวและส่งตัวผู้ต้องขังนอกเวลาราชการ สำหรับ อาการของนายคำพลอย นะมี ล่าสุดระหว่างที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์นั้น พบว่า ยังคงมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงค่ำจนไปถึงใกล้สว่าง โดยมีภรรยาเฝ้าไข้อย่างใกล้ชิด ส่วนการยื่นเรื่องเพื่อประกันตัวนั้น ทนายความและตัวแทนของกลุ่มช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดง อุบลราชธานีกำลังรวบรวมเอกสารและคำวินิจฉัยจากแพทย์ประกอบการยื่นขอประกัน ตัวต่อศาล เพื่อให้เขาได้เข้ารับการรักษาและบำบัดอาการอัมพาตครึ่งซีกต่อไป
คำพลอย นะมี ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานี อายุ 60 ปี ในวันที่เขายังแข็งแรงระหว่างรอการไต่สวนที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ครม. สั่งข้าราชการใส่ชุดผ้าไทยทำงานสัปดาห์ละวัน Posted: 07 Jun 2011 08:13 AM PDT 7 มิ.ย.54 ทำเนียบรัฐบาล นพ.มารุต มัสยวานิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.ได้พิจารณาเรื่องการปฏิบัติตามพระราชกระแสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถฯ กรณีมีพระราชกระแสรับสั่งระหว่างเปิดอาคารที่ทำการกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ต่อผู้ร่วมโต๊ะเสวย ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี องคมนตรี และผู้เกี่ยวข้องว่า ฝรั่งถามว่าทำไมคนไทยชอบใส่สูท ไม่ใส่เสื้อตัดเย็บแบบกระดุม 5 เม็ด ที่สวยและเหมาะสมกับสภาพอากาศของไทย ที่สามารถนำผ้าไหมหรือผ้าไทยมาตัดเย็บได้ ที่ประชุมครม.จึงมีมติให้ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใส่เสื้อผ้าดังกล่าวสัปดาห์ละ 1 วัน โดยมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมไปดูแบบเสื้อที่เหมาะสม นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบตามที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอให้เชิญชวนคนไทยใส่เสื้อที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค.2554 เพื่อถวายความจงรักภักดี โดยให้ใส่นับแต่วันนี้จนถึงช่วงเวลาจัดงาน ซึ่งสามารถใส่ได้ทุกสี ยกเว้นสีดำกับสีน้ำเงินเข้ม
ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
บทวิเคราะห์ มาตรา 112 ของศาสตราจารย์ กม.มหาชน อังกฤษ "ผ่านสายตา"บัวแก้ว” Posted: 07 Jun 2011 08:06 AM PDT เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554 เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรุปประเทศไทย (Thaireform) เผยแพร่รายงานการบรรยายของศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนของมหาวิทยาลัย London Metropolitan University เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกในไทย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ซึ่งสรุปคำบรรยายโดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีเนื้อหา ดังนี้ 0 0 0 หมายเหตุ: รายงานนี้ เป็นการบรรยายของนาย ปีเตอร์ เลย์แลนด์ (Peter Leyland)ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนของมหาวิทยาลัย London Metropolitan University ในหัวข้อ "การต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย:เจ้าพ่อสื่อ,พระมหากษัตริย์,สิทธิพลเมืองและกฎหมาย" (The Struggle for Freedom of Expression in Thailand: Media Moguls, the King, Citizen Rights and the Law) ณ School of Oriental and African Studies (SOAS) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ทั้งนี้ อุปทูตและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตของไทย ณ กรุงลอนดอน ได้เข้าร่วมฟังการบรรยายดังกล่าวและสรุปคำบรรยายส่งให้ปลัดกระทรวงกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 เพื่อใช้เป็นข้อมูลโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนสรุปสาระสำคัญของการบรรยายข้างต้น และข้อสนเทศที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับจากสถานเอกอัครราชทูตฯ มาดังนี้ 1. เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 (United Nations Universal Declaration on Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1976 (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นภาคี นอกจากนี้ เสรีภาพในการแสดงออกยังได้รับการรับรองไว้เช่นกันโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2540 และฉบับปัจจุบัน (2550) อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ถูกละเมิดโดยทางการ ผ่านการแทรกแซงสื่อในยุคของรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน 2. ในอดีต วิธีการแทรกแซงสื่อในประเทศไทยมีการดำเนินการใน 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การซื้อสื่อไว้ในการครอบครองเพื่อให้สามารถควบคุมการรายงานข่าวได้โดยตรง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงได้ระบุข้อบทใหม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ การห้ามมิให้นักการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม นอกจากนี้ ยังมีการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พุทธศักราช 2551 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ดี นาย Leyland ยังมีข้อกังวลอยู่ 2 ประการ คือ (1) การที่ฝ่ายทหาร (กองทัพบก) ยังคงเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์หลายสถานี 3. ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นาย Leyland เห็นว่ าด้วยบริบทเฉพาะของสังคมไทย โดยเฉพาะสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย การมีอยู่ของกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่รับได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ข้อบทและการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) ยังคงมีจุดบกพร่องซึ่งควรได้รับการปฏิรูปโดยเฉพาะในประเด็น ดังนี้ 3.1 ขอบเขตและนิยามของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังขาดความชัดเจน โดยมีข้อสังเกตว่า มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นข้อบทที่สั้นและไม่มีการอธิบายเพิ่มเติม โดยเฉพาะคำนิยามของการกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะบัญญัติไว้ใกล้เคียงกับความผิดฐานหมิ่นประมาทในกรณีบุคคลทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดของกฎหมาย common law ของสหราชอาณาจักร แต่ความแตกต่างกันคือ ในขณะที่การหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปในมาตรา 326 และระบบกฎหมาย common law น้ำหนักของคดีจะขึ้นกับการพิสูจน์หลักฐานว่า การกระทำนั้น ก่อให้เกิดผู้ถูกหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น เสื่อมเสียชื่อเสียงขึ้นจริงหรือไม่ แต่การตัดสินกระทำผิดตามมาตรา 112 ของไทยที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาบนพื้นฐานของสมมุติฐานที่มาจากการตีความของศาลว่า การกระทำหรือคำพูดเช่นว่า สามารถส่งผลกระทบในทางลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากการสืบพยานหลักฐานว่า บุคคลที่สามได้หลงเชื่อในคำพูดที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น ไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ เพราะหากบุคคลดังกล่าวยอมรับว่าได้หลงเชื่อ ก็อาจถูกตั้งข้อหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยเช่นกัน 3.2 แนวโน้มการตีความและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีขอบเขตกว้างกว่าการกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมาตราดังกล่าว แต่รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และแนวคิดสาธารณรัฐนิยม 3.3 กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ผ่านมา ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ตั้งแต่ในอดีต โดยฝ่ายทหารที่ต้องการเสริมสร้างอำนาจให้แก่กองทัพ และปัจจุบันโดยผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 3.4 นอกจากปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตและคำนิยามแล้ว มาตรา 112 ของประมวลอาญา ยังมีประเด็นที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนด้วย อาทิ - มาตรา 112 เป็นฐานความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ นอกจากนี้ ความผิดดังกล่าวไม่มีการพิสูจน์องค์ประกอบด้านจิตใจ (เจตนาหรือประมาท) อันเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการรับผิดทางอาญา - มาตรา 112 ไม่สามารถควบคุมกรณีผู้กล่าวหามีความประสงค์ร้ายแอบแฝง โดยอ้างความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเกราะกำบัง - การบังคับใช้มาตรา 112 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ เนื่องจากตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่างต้องแสดงความจงรักภักดีในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มิฉะนั้น อาจถูกกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเองได้ 4. นาย Leyland เสนอแนวทางการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย ดังนี้ 4.1 ควรจำกัดขอบเขตและแนวทางในการดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม อาทิ ไม่ควรระบุให้บุคคลทั่วไปสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อเริ่มต้นกระบวนการการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีได้ 4.2 ควรจำแนกและกำหนดบทลงโทษที่แตกต่างตามลำดับความร้ายแรงภายใต้ฐานความผิดตามมาตรา 112 4.3 ควรระบุข้อยกเว้นของความผิดบางประการ เพื่อป้องกันการลงโทษคดีที่ไม่เป็นสาระ อาทิ กรณีของนาย Harry Nicolaides 4.4 ควรกำหนดให้การพิสูจน์องค์ประกอบด้านจิตใจ (เจตนาหรือประมาท) เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบการรับผิดชอบทางอาญาในฐานความผิดนี้ ซึ่งที่มีบทลงโทษสูงถึงขั้นการจำคุก 4.5 ควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายฯ (พยาน ตำรวจ อัยการ ทนายความ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง) ได้รับความคุ้มกันอย่างเต็มที่จากการถูกดำเนินคดี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกระบวนการพิจารณาคดีและพิพากษาที่เป็นธรรม 5. ในช่วงถาม - ตอบ ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติประมาณ 30 คน ได้ถามคำถามและร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย (เป็นส่วนน้อยและส่วนใหญ่เป็นชาวไทย) และผู้ที่คัดค้านการมีอยู่และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ โดยรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณฯ 6. ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของสถานเอกอัครราชทูตฯ นาย Leyland ตระหนักดีถึงเรื่องความอ่อนไหวของหัวข้อการบรรยายข้างต้น และได้ออกตัวว่าการทำวิจัยในหัวข้อดังกล่าวเป็นไปในเชิงวิชาการ ซึ่งตนมีความสนใจประเทศไทยเป็นพิเศษในการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ และต้องการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความบกพร่องของกฎหมาย โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และตนเองก็มิได้ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งนี้ จากการสนทนาเพิ่มเติมกับนาย Leyland สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า นาย Leyland เป็นนักวิชาการที่ไม่แข็งกร้าวและพร้อมรับฟังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะพยายามหารือ ชี้แจงและทำความเข้าใจกับนาย Leyland ในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแนบเนียนต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
อิระวดีสัมภาษณ์นักโทษการเมืองพม่า : ผมมีดนตรีอยู่ในสายเลือด Posted: 07 Jun 2011 07:29 AM PDT "เมื่อใดที่คุณเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศของพวกเรา คุณมีโอกาสกว่าร้อยละ 90 ที่จะพบจุดจบในคุก ผมเองก็ได้คิดถึงเรื่องนี้ก่อนที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ฉะนั้นผมจึงไม่ได้รู้สึกแย่กับตัวเอง ที่จริงแล้วผมรู้สึกภาคภูมิใจด้วยซ้ำ" เซยา ตอ เซยา ตอ เป็นหนึ่งในนักดนตรีแนวฮิปฮอปที่มีคนรู้จักมากที่สุดในพม่า วง ACID ของเขาได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นแนวดนตรีที่ค่อนข้างก้าวหน้าสำหรับประเทศที่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆสามารถนำปัญหามาสู่ตัวศิลปินเองได้ เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง Generation Wave (GW) กลุ่มเคลื่อนไหวใต้ดินที่หมายมุ่งจะใช้ดนตรีเป็นตัวสร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้แก่เยาวชน Generation Wave ก่อตั้งขึ้นภายใต้การนำของ เซยา ตอ ในช่วงสั้นๆของการปฏิวัติชายจีวร เดือนกันยายน ปี 2550 จนกระทั่งอาทิตย์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน เซยา ตอ ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองพม่ากว่า 2000 คน ในปี 2551 เขาถูกตัดสินให้ต้องจำคุก 6 ปี ด้วยข้อหาว่าเขาได้ก่อตั้งกลุ่มองค์กรขึ้นมาอย่างไม่ถูกกฎหมาย และละเมิดข้อบังคับว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ แต่ต่อมาโทษของเขาถูกลดลงเหลือ 2 ปี และเขาก็กำลังจะได้รับการปล่อยตัวในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ จนกระทั่งประธานาธิบดี เต็งเส่ง ประกาศนิรโทษกรรม ระยะเวลาจำคุกของเขาจึงลดลง และได้รับการปล่อยตัว ผู้สื่อข่าวอิระวดี โค ฮตวี ได้พูดคุยกับ เซยา ตอ ไม่นานหลังจากที่เขาถูกปล่อยตัว เกี่ยวกับชีวิตของเขาในฐานะนักโทษการเมือง และแผนของเขาในอนาคต 000 ถาม : ในฐานะที่เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อคุณอยู่ในคุก ตอบ : เมื่อใดที่คุณเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศของพวกเรา คุณมีโอกาสกว่าร้อยละ 90 ที่จะพบจุดจบในคุก ผมเองก็ได้คิดถึงเรื่องนี้ก่อนที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ฉะนั้นผมจึงไม่ได้รู้สึกแย่กับตัวเอง ที่จริงแล้วผมรู้สึกภาคภูมิใจด้วยซ้ำ ถาม : ทำไมคุณถึงตัดสินใจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ตอบ : ในฐานะที่เป็นศิลปิน ผมมักจะได้ใกล้ชิดและได้สัมผัสกับความรู้สึกของพวกเขาเสมอ ผมมักจะรู้สึกได้ถึงความยากลำบากและความเจ็บปวดของพวกเขา นั้นเป็นเหตุผลที่ผมพยายามที่จะทำให้ความรู้สึกของพวกเขาเป็นที่ได้ยิน ถาม : คุณช่วยเล่าให้พวกเราฟังเกี่ยวกับการถูกจับกุมของคุณได้ไหม ตอบ : ตอนนั้นผมกินข้าวอยู่กับคนอื่นๆอีกห้าคนในร้านอาหาร เมื่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้ามาจับผมไป ถาม : พวกเราได้ยินมาว่าคุณถูกทรมานในระหว่างสอบสวน เล่าให้พวกเราฟังว่าคุณถูกปฏิบัติยังไงในตอนนั้นได้ไหม ตอบ : ผมถูกนำไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด คือ สถานีตำรวจเมืองบาฮัน จากนั้น ในช่วงตอนเย็น ผมก็ถูกปิดตาและถูกพาไปยังสถานที่ที่ไม่รู้จักอีกแห่งหนึ่ง ในช่วงของการสอบสวน มีเหตุการณ์เลือดตกยางออก ผมไม่ได้มีความโกรธแค้นอะไรกับพวกเขา ผมไม่ได้เกลียดพวกเขา ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นผลผลิตโดยตรงจากระบบที่มันแย่ และก็เพราะการดำรงอยู่ของระบบที่แย่ๆนี้เอง ทำให้พวกเราต้องอยู่คนละฝ่ายกัน ซึ่งผมก็อยู่กับฝ่ายที่ต่อต้านกับฝ่ายที่แย่ แต่เจ้าหน้าที่คนที่สอบสวนผมก็กำลังปกป้องฝ่ายนั้นอยู่ ถ้าพวกเราสามารถกำจัดระบบที่แย่นี้ไปได้ พวกเราก็ไม่ต้องอยู่คนละฝ่าย ผมจึงพูดถึงระบบที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น ผมต้องการที่จะให้เรื่องนี้เป็นที่ชัดเจนว่า สิ่งที่ผมพูดทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความโกรธแค้นใดๆทั้งสิ้น ถาม : คุณอธิบายแบบเฉพาะเจาะจงมากกว่านี้ได้ไหมว่าพวกเขาทำอะไรกับคุณบ้าง ตอบ : ผมไม่อยากจะลงในรายละเอียด เพราะผู้คนมักจะคิดว่าผมกำลังโกรธแค้นพวกนั้นอยู่ ฉะนั้นมันจะเป็นการดีกว่าที่จะไม่พูดลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างที่ผมบอก มันมีเหตุการณ์เลือดตกยางออก แค่นั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผมคิดว่านะ ถาม : คุณถูกสอบสวนกี่วัน ตอบ : พวกเราทุกคนถูกจับแยกเข้าไปอยู่ในห้องขังที่มีแสงสลัวๆเพียงคนเดียว ฉะนั้นพวกเราจึงไม่รู้วันและเวลา หลังจากที่ได้ออกมากจากห้องสอบสวน พวกเราแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน พวกเราคุยกันถึงความยาวนานที่พวกเราต้องอยู่ในห้องสอบสวนและความหนักเบาของการสอบสวน ผมไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ พวกเขาสมควรได้พูดด้วยตนเอง หลังจากที่ช่วงของการสอบสวนเสร็จสิ้น ผมถูกพาตัวไปยังคุกอินเส่ง ที่นั้นผมได้รับทราบคำตัดสิน หลังจากนั้นผมจึงถูกส่งตัวไปยังคุกคอตัง ถาม : คุณได้เจอกับนักโทษการเมืองคนอื่นไหมในคุกคอตัง ตอบ : คอ เพียวเนะ โช หนี่งในผู้นำของกลุ่มนักเรียน 88 Generation คือนักโทษทางการเมืองเพียงคนเดียวในคุก คอตัง เมื่อผมไปถึงที่นั้น แล้ว คอ อัง เมียว ไป ก็มาถึง ตามมาด้วย คอ ซอ มิน, คอ เมียวมิน, คอตันมินอัง และนักโทษการเมืองอายุ 65 ปี อู ชิต คิน ทั้งหมดแล้วก็มีนักโทษการเมือง 6 คนที่ถูกขังอยู่ที่คุกคอตัง ตอนที่ผมอยู่ที่นั้น คอตันมินอัง ถูกปล่อยเมื่อปี 2009 และ อู ชิต คิน ก็ถูกปล่อยตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2010. ถาม : คุณได้คุยกับ คอ เพียวเนะ โช ไหม ตอบ : มันมีคุกอยู่สองห้อง คอ อัง เมียว ไป, คอ เมียว มิน และ คอ ซอ มิน อยู่ในห้องหนึ่ง ส่วนคอ เพียวเนะ โช และผมก็อยู่ในอีกห้องหนึ่ง ผมไม่ได้เห็นคนอื่นๆ แต่ผมมักจะได้คุยกับคอ เพียวเนะ โช เพราะเราได้อยู่ในห้องเดียวกัน ถาม : คุณคุยกับ คอ เพียวเนะ โช เรื่องอะไรบ้าง ตอบ : ผมขอไม่บอกดีกว่า แค่ผมเปิดเผยความจริงที่ว่าผมได้คุยกับ คอ เพียวเนะ โช ก็อาจจะทำให้เกิดผลร้ายต่อเขาในคุกแล้ว ถาม : ขอให้คุณช่วยเล่าถึงชีวิตในคุกให้พวกเราฟังหน่อย ตอบ : ในคุกมีกฎและกติกาที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ความยากลำบากอะไรก็ตามที่ผมต้องเผชิญในคุก ผมพยายามที่จะเอาชนะมันโดยการยึดมั่นในความเชื่อของผม ถาม : สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในคุกคอตังเป็นอย่างไรบ้าง ตอบ : ผมอยู่ในห้องแยกที่มีผนังและกำแพง ฉะนั้นผมจึงไม่สามารถรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายนอกห้องของผมบ้าง เท่าที่ผมเห็น ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนคือการให้การรักษาพยาบาล ตัวอย่างเช่น คอ เพียวเนะ โช กำลังทุกข์ทรมานจากความตึงเครียด และหมอประจำเรือนจำสั่งให้รับการตรวจความดันเลือดทุกวัน และให้รายงานถ้าเขารู้สึกผิดปกติ แต่ว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ก็ไม่มีการรักษาพยาบาลใดๆ ในคุกเลย ถาม : คุณอยากจะพูดอะไรกับเพื่อนศิลปินของคุณที่ถูกคุมขังจากข้อหาทางการเมืองหรือไม่ ตอบ : คอ มิน มอ ถูกจับก่อนผม เขาได้รับโทษจำคุก 7 ปี มาก่อนหน้านี้แล้ว และตอนนี้ก็ได้รับโทษจำคุกอีก 14 ปี แล้วก็มีศิลปินคนอื่นที่ถูกจำคุก เช่น คอ ซากานา เขาไม่สมควรถูกจำคุกจากสิ่งที่เขาทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่21 ไม่สมควรมีใครที่จะต้องถูกจำคุกจากการที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน ความแตกต่างสามารถไกล่เกลี่ยได้ด้วยการพูดคุย การจับคนเหล่านั้นเข้าคุกไม่ได้ทำให้เกิดผลดีต่อประเทศนี้แต่อย่างใดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ถาม : คุณจะทำอย่างไรให้บรรดานักทางเมืองได้รับการปล่อยตัว ตอบ : มีนักโทษทางการเมืองมากมายทั่วพม่า ผมจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัว ถาม : คุณคิดอย่างไรกับกิจกรรมของกลุ่ม Generation Wave (GW) ที่คุณเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้ง ตอบ : ผมไม่รู้เลยว่า GW ได้ทำอะไรไปบ้างและกำลังทำอะไรอยู่ เพราะผมเพิ่งออกจากคุก ผมเชื่อมั่นในตัวพวกเขา ผมเชื่อว่าพวกเขากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศ มี สมาชิก GW มากมายที่ถูกจำคุก ผมอยากช่วยเหลือให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน ถาม : คุณเคยร้องเพลงล้อเลียนรัฐบาลไหม ตอบ : ผมไม่เคยร้องเพลงประเภทนั้น แต่ผมช่วยเหลือคนที่อยากทำเช่นนั้น เพลงพวกนี้ไม่ได้เป็นเพียงมุกตลกล้อเลียนรัฐบาล แต่พยายามที่จะชี้ให้เห็นสิ่งที่ผิดพลาดเกี่ยวกับทิศทางการปกครองในประเทศนี้ ถาม : เพลงพวกนั้นเป็นเพลงต่อต้านรัฐบาลหรือเป็นเพียงผลผลิตของการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตอบ : มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่เพลง แต่เป็นความพยายามที่จะเรียกร้องความสนใจในการปฏิรูปที่พวกเราต้องการอย่างเร่งด่วน ฉะนั้นจึงเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ทุกคนสามารถกระทำได้ การประนามรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่ได้ผล พวกเราไม่ควรแค่ทำให้พวกเขารุ้ว่าอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเราสามารถแสดงให้เขาเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องที่สมควรทำ พวกเราจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ ถาม : คุณวางแผนที่จะแต่งเพลงและร้องเพลงอีกไหม ตอบ : ดนตรีนั้นอยู่ในสายเลือดของผม คำถามคาใจเพียงข้อเดียว คือ ผมจะสามารถแสดงต่อหน้าแฟนเพลงของผมได้อีกไหม ผมจะสร้างสรรค์ต่อไป ผมอยากจะบอกในฐานะศิลปินและในฐานะประชาชนพม่าว่า ผมจะทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะนำสิ่งที่ดีกว่ามาให้แก่ประชาชนและประเทศของเรา 000 เผยแพร่ครั้งแรกใน : ประชาธรรม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นิธิ เอียวศรีวงศ์: การเมืองเชิงอุดมการณ์ Posted: 07 Jun 2011 07:18 AM PDT ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไปด้วยอุดมการณ์ ส่วนอีกเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด ไปด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุดมการณ์ นับตั้งแต่ยังมองหาคนถูกใจหรือพรรคที่ถูกใจที่สุดอยู่ ไม่แน่ว่าวันที่ 3 ก.ค.จะว่างหรือไม่ แล้วแต่อารมณ์ ไปเรื่อยจนถึงราคาของการขายเสียง เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีผู้ตัดสินใจเลือกตั้งโดยอุดมการณ์สูงถึงเพียงนี้ ทั้งนี้เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การเมืองเชิงอุดมการณ์เข้ามาครอบงำการเมืองไทยอย่างกว้างขวางกว่าที่เคยเกิดมาแล้วในช่วง 2516-2519 เพราะความก้าวหน้าของการสื่อสาร และเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งไม่เคยเกิดในเมืองไทยมาก่อน อุดมการณ์คืออะไร ความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์และทฤษฎีอยู่ตรงที่ว่า ทฤษฎีอธิบายได้เฉพาะในบริบทเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง จะนำไปใช้อธิบายเรื่องที่ต่างบริบทไม่ได้ทั่วไป และด้วยเหตุดังนั้น ทฤษฎีจึงไม่อาจอ้างความเป็นสากล และไม่เป็นอกาลิโก ในขณะที่อุดมการณ์อ้างว่าสามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนและซ่อนเงื่อนได้ทุกเงื่อนไข นับตั้งแต่ความรู้สึกในใจของตนเอง ไปจนถึงความรักระหว่างเพศ, การศึกษา, แฟชั่น และระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ครอบงำสังคมทั้งสังคม อุดมการณ์จึงอ้างความเป็นสากลและอกาลิโก เพราะอุดมการณ์มีลักษณะที่ผนวกได้รอบทิศทางเช่นนี้ อุดมการณ์จึงแบ่งแยก "พวกเรา" กับ "พวกเขา" ได้ชัด ผมจำได้ถนัดว่าในช่วงปี 2518-19 นั้น แม้แต่ทรงของกางเกงที่ผู้ชายนุ่ง ก็สามารถแยก "พวกเรา" ออกจาก "พวกเขา" ได้แล้ว ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงทรรศนะที่มีต่อประชาธิปไตย, สถาบันพระมหากษัตริย์, กองทัพ, ตุลาการ, อภิสิทธิ์ (ทั้งเวชชาชีวะและอภิสิทธิ์เฉยๆ), ฯลฯ ความต่างของเสื้อจึงไม่ได้อยู่ที่สี แต่อยู่ในทรวงอกที่เสื้อสีคลุมเอาไว้ต่างหาก ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือลักษณะผนวกรวมเอาไว้รอบด้านของอุดมการณ์ทำให้ "พวกเขา" กลายเป็นศัตรู เป็น "อมนุษย์" เป็น "สิ่ง" ที่ต้องล้างผลาญทำลายให้สิ้นซาก การเมืองเชิงอุดมการณ์จึงนำไปสู่ความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก และความรุนแรงก็มักนำไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเช่นกัน ดังที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนับตั้งแต่การล้อมปราบประชาชนอย่างป่าเถื่อนที่สี่แยกราชประสงค์เป็นต้นมา การเมืองเชิงอุดมการณ์เป็นการเมืองที่ไม่มีการประนีประนอม มีได้แต่ความสมานฉันท์หรือความปรองดอง (ซึ่งให้ความหมายถึงอะไรที่เหมือนกันไปหมด) แต่การประนีประนอมเป็นเงื่อนไขหลักของการอยู่ร่วมกัน ทุกฝ่ายได้แต่ไม่หมด เพราะต้องยอมให้ฝ่ายอื่นได้บ้าง การเมืองที่ก้าวหน้าและสงบเรียบร้อย คือการเมืองที่กอปรด้วยการประนีประนอมเสมอ ในขณะที่การเมืองแบบปรองดองสมานฉันท์มักมีการกำกับด้วยอำนาจอยู่เบื้องหลังเสมอ การเมืองเชิงอุดมการณ์ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในทุกสังคม แม้แต่ในสังคมที่ผู้ปกครองอ้างอุดมการณ์เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้เสมอ ประชาชนก็ได้แต่จำนนต่ออำนาจ หาได้สมาทานอุดมการณ์นั้นมาจัดการโลกและชีวิตของตนตามไปด้วย ดังเช่นกัมพูชาสมัยเขมรแดง "ประชาชนมูลฐาน" (คือเป็นชาวนามาก่อนการปลดปล่อย) ย่อมพอใจกับอภิสิทธิ์ที่ผู้ปกครองมอบให้ (เช่น ได้ข้าวกินประจำวันมากกระป๋องนมกว่า) แต่ก็พร้อมจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกับประชาชนใหม่ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเขตเมือง (แน่นอนอย่างเอาเปรียบ) และในหลายกรณีก็ปฏิบัติต่อประชาชนใหม่เหล่านี้อย่างเพื่อนมนุษย์ แต่ในเมืองไทยเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในการเมืองเชิงอุดมการณ์-อย่างน้อยในหมู่ผู้จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเกือบครึ่ง-แต่เป็นการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่กลับตาลปัตรกับเขมรแดง เพราะการเมืองเชิงอุดมการณ์ครอบงำประชาชน ไม่ได้ครอบงำนักการเมืองเอาเลย ผมย้อนกลับมาคิดว่า เหตุใดอุดมการณ์จึงไม่เคยมีอิทธิพลในเชิงแบ่งแยกสังคมไทยมากเท่านี้ในอดีต จะว่าคนไทยไม่เคยมีอุดมการณ์เลย ก็ออกจะเกินไปหน่อย อย่างน้อยก็ว่ากันว่าคนไทยมองโลกและชีวิตจากจุดยืนของพุทธศาสนาแบบไทย เช่น อธิบายทุกเรื่องได้ด้วยกรรมเรื่องเวร เป็นต้น มองเข้าไปในวรรณกรรมโบราณ ก็พบลักษณะที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอในเรื่องนี้จริงเสียด้วย แต่แม้คนไทยโบราณเคยมีพุทธศาสนาแบบไทยเป็นอุดมการณ์ "ร่วมกัน" แต่เอาเข้าจริงแล้ว มีความแตกต่างในพุทธศาสนาแบบไทยสูงมาก จนแทบจะหาอะไร "ร่วมกัน" จริงได้ยาก นอกจากชื่อ แม้เมื่อรัฐเข้ามาปฏิรูปศาสนาเพื่อให้เกิดมาตรฐานร่วมกันบางอย่าง การปฏิบัติพุทธศาสนาแบบไทยก็ยังมีความหลากหลายอยู่นั่นเอง และทุกฝ่ายก็รู้ว่าคนอื่นปฏิบัติไม่เหมือนตน แต่ก็มีขันติธรรมพอจะปล่อยให้เขาปฏิบัติไปตามความเชื่อของเขา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้มีอุดมการณ์ แต่เป็นอุดมการณ์ที่ไม่เรียกร้องความเป็นสากล วิธีเลือกผู้แทนของคนไทยนั้นใช้ฐานการวินิจฉัยที่ต่างกันมานมนานแล้ว และต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่าคนอื่นเลือกใครเพราะเหตุใดไม่เหมือนกับตน ผมโตมาในประเทศที่คนไทยแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นปัญหาแต่อย่างไร คนบ้านนอกทรงเจ้าเข้าผี ผู้ดีกรุงเทพฯ ก็อาจบอกว่านั่นไม่ใช่พุทธ แต่ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องของเขา ไม่มีใครคิดว่าต้องรวมกลุ่มกันไปเผาหรือยิงทิ้งคนทรงเจ้าเข้าผี ผมไม่ทราบหรอกว่าจะเรียกความไม่ยี่หระต่อกันเช่นนี้ว่า "ขันติธรรม" ได้หรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าที่มันดำรงอยู่ได้ก็เพราะเราอยู่ในสังคมแห่งสถานภาพที่ลดหลั่นกันอย่างชัดเจน พวกทรงเจ้าเข้าผีคือคน "บ้านนอก" ที่ไร้การศึกษา ค่อนข้างยากจน และยังไม่ได้ "พัฒนา" ผู้ดีกรุงเทพฯ อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างได้ ก็เพราะเขาคือ "เด็ก" จึงเป็นธรรมดาย่อมเลือกตั้งแบบเด็กๆ แต่งกายแบบเด็กๆ พูดแบบเด็กๆ วิ่งขอขนมแบบเด็กๆ ฯลฯ ถ้าจะเป็นขันติธรรม ก็เป็นขันติธรรมที่ตั้งอยู่บนความไม่เสมอภาค และตราบเท่าที่ทุกฝ่ายยอมรับความไม่เสมอภาคนี้ จะแตกต่างกันอย่างไรก็ไม่เป็นไร การเคลื่อนไหวของเสื้อแดง โดยเฉพาะใน พ.ศ.2553 ทำให้ "ขันติธรรม" ประเภทนี้หมดไปในสังคมไทย เพราะการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เรียกร้องความเสมอภาคอย่างชัดเจนและกึกก้องที่สุด (ไพร่-อำมาตย์) พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งไม่อาจเลื่อนไหลไปตามแต่สถานการณ์หรือสถานภาพของบุคคลอีกต่อไป เป็นประชาธิปไตยที่มีความหมายอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องยึดถือความหมายขั้นพื้นฐานนี้เหมือนกัน อุดมการณ์ไทยกลายเป็นสากล และการเมืองเชิงอุดมการณ์จึงถูกปลุกปั่นจนกลายเป็นการนองเลือด ต่างฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังที่มีออกมาเผชิญหน้ากัน แม้การเผชิญหน้าบนท้องถนนจะสุดสิ้นลง แต่การเผชิญหน้ากันในคดีความ, ในสื่อ, ในห้องสัมมนาและอบรม, ในพิธีกรรมชนิดต่างๆ ฯลฯ ยังดำเนินต่อไป และบัดนี้ก็ได้โอกาสที่จะขยายลงมาถึงการเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งเชิงอุดมการณ์เป็นครั้งแรกของไทย อย่างน้อยเกือบครึ่งของผู้ลงคะแนนเสียงเข้าคูหาด้วยอุดมการณ์ และดังที่กล่าวแล้วว่าการเมืองเชิงอุดมการณ์ เป็นการเมืองที่ไม่มีการประนีประนอม โอกาสที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นจากการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นได้ยาก หากสังคมไทยจะกลับมาสู่ความสงบที่ขัดแย้งกันได้ภายใต้กติการ่วมกัน เราต้องกลับมาคิดถึงอุดมการณ์ที่ไม่เป็นสากล แต่กติกาที่ยอมรับร่วมกันนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วว่าต้องประกอบด้วยหลักความเสมอภาค ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทุกฝ่ายต้องพร้อมจะประนีประนอมภายใต้กติกานี้ ใครจะยึดถืออุดมการณ์ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์อย่างเหนียวแน่นอย่างไรก็ได้ แต่สถาบันทั้งสามนี้ต้องดำรงอยู่ภายใต้สำนึกถึงความเสมอภาคที่แพร่ขยายไปอย่างกว้างขวางให้ได้ เช่น เราจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อย่างไร จึงจะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งกับคติความเสมอภาค เราจะรักษาชาติไว้อย่างไร โดยไม่ปล่อยให้กองทัพมีอภิสิทธิ์แทรกแซงการเมืองได้เหนือกว่าพลเมืองอื่นๆ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สื่อ-การตลาด-การเมือง: “ยิ่งลักษณ์” จะ “ดีเบต” อย่างไร Posted: 07 Jun 2011 07:12 AM PDT หมายเหตุกองบรรณาธิการ: เพื่อป้องกันความสับสน อันอาจจะมีผลต่อการพิจารณาบทความ ‘กองบรรณาธิการประชาไท’ ขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียนว่า ‘ศูนย์วิจัยหมูหลุม’ Mooloom Intelligence Unit (MIU) คือนามแฝงของกลุ่มบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อยั่วล้อและมีนัยของการตั้งคำถามต่อสถาบันทางวิชาการที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน
ในการต่อสู้แย่งชิงมวลชนทางการเมืองว่าด้วยกลยุทธ์ “การสื่อสาร-การตลาด” ที่ใช้กับเรื่อง “การเมือง” ถูกพัฒนาในประเทศที่เป็น “ประชาธิปไตย” มาอย่างช้านาน เทคนิคการ “ดีเบต” (debate) เป็นหนึ่งในเทคนิคที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และในบางครั้งอาจจะเป็นตัวตัดสิน “ชัยชนะ” ของการรณรงค์เลือกตั้งในครั้งนั้นๆ กรณีศึกษา “Kennedy Vs Nixon” วัฒนธรรมการเผชิญหน้าทางการเมืองของ “สองขั้วความคิด” ในประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่ามีมาอย่างช้านานตั้งแต่ยุคการก่อร่างสร้างประเทศ แต่จุดเริ่มของการสื่อสารทางการเมืองสมัยใหม่ในสหรัฐฯ นั้นก็คือการดีเบตผ่านสื่ออย่างโทรทัศน์และวิทยุระหว่างเคนเนดี (John F. Kennedy) และนิกสัน (Richard Nixon) ในปี ค.ศ. 1960 ซึ่งเป็นครั้งแรกในการณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีการดีเบตผ่านโทรทัศน์ มีการประมาณการกันว่ามีชาวอเมริกันรับชมการดีเบตครั้งนี้มากกว่า 70 ล้านคน ถึงแม้ที่ปรึกษาของนิกสันจะเตือนว่าเคนเนดี้ในขณะนั้นที่ยังเป็นที่รู้จักน้อยกว่าตัวเขาจะได้ประโยชน์จากการดีเบตมากกว่า แต่นิกสันก็ตกลงที่จะดีเบตกับเคนเนดี ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ 4 ครั้ง โดยมั่นใจว่าตนเองจะเป็นผู้ชนะสามารถครอบครองใจผู้ชมผู้ฟังการดีเบตเพราะมีประสบการณ์มากกว่านักการเมืองอายุน้อยกว่าเขา ในด้านการจัดการเรื่อง “ภาพพจน์” ทีมงานและนิกสันก็เพลี่ยงพล้ำไปตั้งแต่ขั้นแรก บุคลิกของเขาดูเครียด หนวดเคาโกนไม่เรียบร้อย ซึ่งตรงกันข้ามกับเคนเนดี้ซึ่งดูสดใสร่าเริง และมีความมั่นใจ ทีมงานของนิกสันยังตัดสินใจพลาดหลายอย่าง เช่น คาดการณ์ว่าจะมีผู้ชมการดีเบตผ่านโทรทัศน์และวิทยุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการอภิปรายครั้งหลังๆ และจัดคิวให้นิกสันอภิปรายครั้งแรกในหัวข้อที่ตนชื่นชอบและถนัดน้อยที่สุด และเก็บเรื่องนโยบายต่างประเทศ (ที่คาดว่าจะเป็น “หมัดน็อค” เคนเนดี้ ) ไว้หัวข้ออภิปรายครั้งสุดท้าย แต่ปรากฏว่ามีผู้ชมการดีเบตหนแรกสูงถึง 70 ล้านคน แต่จำนวนผู้ชมกลับลดลงเรื่อยๆ ในครั้งต่อไป ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่าประชาชนส่วนใหญ่พอใจและประทับใจกับการอภิปรายหนแรกมากที่สุด คะแนนเสียงที่นิกสันแพ้ต่อเคนเนดี้ประมาณ 100,000 เสียงนั้น ถือว่าเฉียดฉิวมากๆ สำหรับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ ว่ากันว่าการอภิปรายหนแรกในการดีเบตครั้งนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นิกสันพ่ายแพ้เลือกตั้ง ในกาลต่อมานักวิชาการด้านการประชาสัมพันธ์ทางการเมืองได้ยกย่องเคนเนดี้ (และทีมงาน) ว่าเป็นนักการเมืองคนสำคัญคนแรกที่ยอมเรียนรู้การแสดงหน้ากล้องโทรทัศน์ (ซึ่งเป็นประโยชน์มหาศาลในการดีเบตแข่งกับนิกสัน) ความน่าจะเป็นและข้อเสนอแนะของการดีเบต “อภิสิทธิ์ Vs ยิ่งลักษณ์” สำหรับฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายเสนอให้มีการดีเบตก่อน คาดว่าทางทีมงานมีการเตรียมความพร้อมและประสบการณ์การพูดบนโพเดียมของอภิสิทธิ์เหนือกว่าทุกด้านแล้ว MIU จึงไม่มีคำแนะนำ สำหรับฝั่งพรรคเพื่อไทย ดังที่ได้กล่าวไป แม้ว่าการดีเบตจะเป็นเทคนิคที่เหมาะสำหรับฝ่ายผู้ท้าชิงที่มีวาทศิลป์ และอาจเป็นไพ่ไม้ตายสุดท้าย (หมัดน็อค) สำหรับฝ่ายที่มีคะแนนนิยมเป็นรอง ส่วนในการเลือกตั้งครั้งนี้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยที่มีการประเมินว่า เพื่อไทยได้เปรียบประชาธิปัตย์อยู่มหาศาล เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี 2544 ที่พรรคไทยรักมีความได้เปรียบประชาธิปัตย์อยู่มากจนทำให้ประชาธิปัตย์เองต้องเป็นฝ่ายออกมาท้าทายก่อน MIU คาดการณ์ว่า เวทีดีเบตแบบไทยๆ ที่จะเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยจะต้องเลี่ยงการเผชิญหน้า “ตัวต่อตัว” กับพรรคประชาธิปัตย์ หากจะเป็นเพียงการนำเสนอนโยบายซึ่งมีตัวแทนจากหลายพรรคเข้าร่วมการเสนอนโยบายกัน แต่ก็อย่าชะล่าใจว่า จะไม่มีคำถามชงให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างยิ่งลักษณ์กับอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ แต่หากเกิดกรณีที่ “เลี่ยงไม่ได้” จริงๆ จำเป็นต้องมี การดีเบต “ตัวต่อตัว” เกิดขึ้น เมื่อประเมินในด้านบุคลิกภาพแล้ว ทั้งสองคนมีภาพลักษณ์ของนักการเมือง “หนุ่ม-สาว ฟอร์มดี” สูสีกัน แต่ยิ่งลักษณ์จะได้เปรียบเรื่องเพศสภาพที่สังคมวัฒนธรรมมักให้ภาพเป็นรองชายเสมอ ซึ่งสามารถเรียกคะแนนความเห็นใจได้หากมีการโต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อน (สร้างจริตแบบผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ถูกรังแก) ด้านวาทศิลป์อภิสิทธิ์มีประสบการณ์มากกว่า แต่จะติดตรง “จุดเดือดต่ำ” ซึ่งทีมงานจะต้องวางแผนให้อภิสิทธิ์เกิดอาการ “หลุด” ในการดีเบต ทั้งนี้ทีมงานพรรคเพื่อไทยจะต้องเตรียมการไว้ 2 กลยุทธ์ คือ “การรุกไล่” (ประเด็นการบริหารงานผิดพลาด, ประเด็นการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง, ยั่วล้อเล่นกับจุดเดือดต่ำของอภิสิทธิ์) และ “การตั้งรับ” (ประเด็นโจมตีเรื่องประสบการณ์, ประเด็นเรื่องความจงรักภักดี) ที่ต้องเตรียมการไว้ดังนี้ ประเด็นการบริหารงานผิดพลาด · อภิปรายถึงประเด็น ชั่งกิโลไข่, น้ำมันปาลม์, การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม, การอนุมัติเงินใน มติ ครม. นัดสุดท้าย ฯลฯ (คาดว่าทีมงานพรรคเพื่อไทยมีข้อมูลมากกว่านี้) ประเด็นการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง · เปรียบเทียบความสูญเสียของการ “จัดการกับฝูงชน” ในรัฐบาลต่างๆ ตัวเลขผู้บาดเจ็บเสียชีวิตและฝูงชนที่มาขับไล่รัฐบาลทั้งในอดีตจนมาถึงยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ นำตัวเลขเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 กับยุคของพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ การยั่วล้อ “เล่น” กับ “จุดเดือดต่ำ” ของอภิสิทธิ์ · ต้องไม่ยั่วล้อตรงๆ อย่างไม่มีรสนิยม พยายามนำคำที่อภิสิทธิ์ถูกกล่าวขวัญถึงในแง่ลบสอดแทรกไปในบทพูด เพื่อให้อภิสิทธิ์เดือดดาล เช่น “… ดิฉันไม่รับปากว่าหากจะมีประชาชนหนึ่งคนหรือแสนคน ออกมาขับไล่รัฐบาลแล้วดิฉันจะลาออกทันที หากไม่เป็นตามครรลองประชาธิปไตย แต่ดิฉันรับปากว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุมอย่างเหี้ยมโหดในรัฐบาลของดิฉัน… ” หรือ “ … ดิฉันอาจจะถูกต่อว่าว่าดีแต่พูดหรือไม่ในอนาคต แต่สิ่งนั้นดิฉันคาดไม่ได้ ต้องให้ประชาชนให้โอกาสดิฉันเพื่อไปรับเกียรติได้รับเสียงสะท้อนในฐานะผู้นำรัฐบาล … ” เป็นต้น ประเด็นความจงรักภักดีต่อสถาบัน · เน้นย้ำว่าทักษิณหรือคนของพรรคเพื่อไทยยังไม่มีใครถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีแต่ข้อกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้าม เช่น กรณีปฏิญญาฟินแลนด์, ข้อกล่าวหาของคณะรัฐประหาร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่มีมูลความจริง · ต้องอ้างอิงกรณีการพูดถึงปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ-การบังคับใช้ จากฝ่ายตรงข้าม (พรรคเพื่อไทย) ที่มีประโยชน์ มาโต้ตอบพรรคประชาธิปัตย์ เช่น ข้อเสนอของ หมอประเวศ, อานันท์ ปันยารชุน, ส.ศิวลักษณ์, ธงทอง จันทรางศุ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, (หรือแม้แต่ข้อเสนอของหมอตุลย์) ที่บุคคลเหล่านี้เคยเสนอไม่ให้นำกฎหมายนี้มาโจมตีกันทางการเมือง · เน้นย้ำการป้ายสีกรณี “แผนผังล้มเจ้า”
ข้อมูลประกอบบทวิเคราะห์: หนังสือ การสื่อสาร การเมือง และประชาธิปไตยในสังคมพัฒนาแล้ว, เสถียร เชยประทับ, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551 เว็บไซต์ United States presidential election, 1960 (Wikipedia, เข้าดูเมื่อ 6-6-2554) THE KENNEDY-NIXON PRESIDENTIAL DEBATES, 1960 (museum.tv, เข้าดูเมื่อ 17-5-2554) Two Party System Debate and Poll: Do you believe the Two Party System is best for America ? (youdebate.com, เข้าดูเมื่อ 17-5-2554) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: พระพุทธรูปและมาตรา 112 Posted: 07 Jun 2011 05:42 AM PDT สังคมไทยเป็นสังคมพุทธศาสนา ประชาชนไทยส่วนข้างมากไหว้พระพุทธรูปมาช้านาน เพราะถือว่าพระพุทธรูปเป็นรูปแทนของพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนของคุณงามความดี ความบริสุทธิ์ การไหว้เคารพพระพุทธรูปนี้ดำเนินตลอดมาตั้งแต่ในอดีต และคนไทยส่วนใหญ่คงจะไหว้หรือเคารพพระพุทธรูปไปอีกนานในอนาคต ตราบเท่าที่พระพุทธศาสนายังอยู่คู่สังคมไทย ความสำคัญอยู่ที่ว่าการเคารพกราบไหว้พระพุทธรูปของคนไทยดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง การเคารพศรัทธาพระพุทธรูปเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่ต้องมีใครบังคับ การไม่มีกฎหมายห้ามหมิ่นพระพุทธรูปไม่ได้ทำให้การกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปยุติลงได้ ถ้าหากมีใครกล่าววาจาหมิ่นพระพุทธรูป จาบจ้วงพระพุทธรูป ลบหลู่ หรือไม่เคารพบูชาพระพุทธรูป แม้ว่าทำได้แต่จะไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ เลย เพราะไม่สามารถทำให้คนไทยเสื่อมศรัทธาหรือคลายความนับถือพระพุทธรูป ตราบเท่าที่พระพุทธรูปยังเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องแทนความดี ความบริสุทธิ์ในสังคม การไม่มีกฎหมายห้ามหมิ่นพระพุทธรูปจึงทำให้พระพุทธรูปปลอดจากการตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่มีอำนาจรัฐหรือใครสามารถใช้มาตราใดทางกฎหมายห้ามหมิ่นพระพุทธรูปไปใส่ร้ายป้ายสีใคร ไปจับกุมใคร ไปจำคุกใคร หรือทำร้ายใครได้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมากฎหมายอาญา มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างสำคัญของรัฐและชนชั้นปกครองในการใส่ร้ายป้ายสี ทำลายศัตรูทางการเมือง และทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องถูกจับกุมคุมขังติดคุก แม้กระทั่งในขณะนี้มีปัญญาชนฝ่ายค้านและประชาชนหลายคนถูกติดคุก ถูกดำเนินคดี ทั้งที่เรื่องทั้งหมดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดกับหลักประชาธิปไตยในด้านเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางความคิดทั้งสิ้น หลักฐานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนชี้ว่านับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้มีประชาชนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แล้วราว 400 คดี และในวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้จับกุมประชาชนคือ นายเลอพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล-ประชาไท) ชาวไทย-อเมริกัน ที่นครราชสีมา ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเผยแพร่หนังสือ The King Never Smile ทางเว็บไซต์ และผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว จึงเป็นที่คาดหมายว่าการจับกุมและลงโทษประชาชนตามมาตรา 112 นี้จะไม่หยุดและจะยิ่งเพิ่มทวีขึ้น ภายใต้การดำเนินงานล่าแม่มดของกรมสอบสวนคดีพิเศษปัจจุบัน จนกระทั่งปัญญาชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปไม่มีความแน่ใจเลยว่าในอนาคตอันใกล้จะมีผู้ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าใด ที่น่าสังเกตคือผู้ต้องหาจำนวนมากในจำนวนที่ถูกดำเนินคดีเป็นฝ่ายสนับสนุนคนเสื้อแดง กลุ่มสนับสนุนฝ่ายเสื้อเหลืองมักรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี ปรากฏว่าผู้ถูกจับกุมตามกฎหมายมาตรา 112 เกือบทั้งหมดจะไม่ได้รับการประกันตัว เพราะศาลจะอ้างว่าเป็นคดีที่มีโทษสูง ถ้าให้ประกันตัวจำเลยจะหลบหนี ผู้ต้องหาคดี 112 จึงต้องติดคุกทันทีที่ถูกจับกุมเสมอ จากนั้นในจำนวนคดีมากกว่าครึ่งผู้ต้องหามักต้องยอมรับสารภาพและถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด มีการต่อสู้คดีน้อยรายมาก เพราะผู้ต้องหาคดี 112 ส่วนใหญ่จะตกเป็นจำเลยสังคม และบุตรภรรยามักจะได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ในรายที่ต่อสู้คดีก็มักถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยการตีความของฝ่ายผู้พิพากษา ดังกรณีคดี น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งเคยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกถึง 18 ปี กลายเป็นตัวอย่างที่ขู่ให้ผู้ต้องหาจำนวนมากรับสารภาพไว้ก่อน แทนที่จะยืนยันความถูกต้อง เพราะวิตกกันว่าถ้าสู้คดีแล้วจะถูกศาลตัดสินจำคุกยาว ความจริงการตีความให้ผู้ถูกจับกุมต้องมีความผิดอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นสอบสวนด้วยซ้ำ เช่น กรณีของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่พูดเรื่องระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยก็ถูกแกล้งฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 หรือกรณี น.ส.ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ สตรีเสื้อแดงโคราช ที่เขียนคำ “พระองค์ท่าน” นำหน้าชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บนโลงแล้วเผาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552 ก็ถูกจับดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และศาลตัดสินจำคุก โดยตีความว่าคำ “พระองค์ท่าน” นั้นหมายความถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสูงสุดของบุคคลทั่วไป ทำให้มีการพูดทางวิชาการว่าจะเป็นการตีความเกินบริบทเพื่อจะให้ผู้ต้องหามีความผิดหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เององค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) จึงเสนอต่อรัฐบาลไทยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ว่าขอให้หยุดใช้กฎหมายมาตรา 112 ไปก่อนจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยตัวโดยทันที ส่วน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การใช้มาตรตรา 112 ทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดเสรีภาพ ทำให้สังคมไทยตกอยู่ใต้ความเงียบและความกลัว นอกจากนี้ยังเสนอว่า “ในการบังคับใช้มาตรา 112 ดูเผินๆอาจจะดูเหมือนกับเป็นการจงรักภักดีหรือต้องการรักษาสถาบัน แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดพบว่าผลกระทบของการบังคับใช้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการประกันตัว สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิตและความปลอดภัย สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในฐานะพลเมือง ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันมาก” คำกล่าวของ นพ.นิรันดร์นั้นเป็นเสมือนคำเตือนให้เห็นว่าถ้าฝ่ายชนชั้นนำยังใช้มาตรา 112 ทำร้ายและจับกุมคุมขังประชาชนมากยิ่งขึ้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะเป็นมาตรการอันดีในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เสนอเพิ่มเติมว่า หากสถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงรักษาอยู่ได้ สถาบันจะต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ควรมีการพูดอย่างเปิดเผยและได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง กล่าวโดยสรุปแล้วถ้าพิจารณาจากการไหว้พระพุทธรูปดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าความจำเป็นของการใช้กฎหมายมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่มีเลย ในประเทศเช่นอังกฤษและญี่ปุ่นก็มิได้มีกฎหมายมาตรา 112 กระแสจาบจ้างหรือล้มเจ้าก็มิได้มีบทบาทสำคัญแต่อย่างใด
ที่มา: นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 313 วันที่ 4 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
กสม.เชิญเจ้าหน้าที่ กพผ.-ชาวบ้าน แจงข้อเท็จจริง เหตุรุนแรงกรณีสายส่งไฟฟ้า Posted: 07 Jun 2011 04:33 AM PDT กมส.สอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเจ้าหน้าที่ กฟผ.นำกำลังตำรวจบุกเข้าสลายและจับกุมกลุ่มชาวบ้าน-น.ศ.ค้านการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ (น้ำพอง2-อุดรธานี3) วันที่ 9 มิ.ย.นี้ ภาพ: เหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ค.54 ที่เจ้าหน้าที่ กฟผ.พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดำเนินโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 –อุดรธานี 3 ในท้องที่ ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี วันนี้ (7 มิ.ย.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะมีการเชิญแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง และเกิด เนื่องด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน และติดตามประเด็นปัญหาจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนการจะเข้าดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพืชผล ในพื้นที่ที่จะก่อสร้างฐานรากและตั้งเสาไฟฟ้าในโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 –อุดรธานี 3 ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2554 เป็นต้นไป และมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีข้อกังวลในการเข้าดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.นิรันด์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่าไม้ ได้เชิญแต่ละฝ่ายเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือ อาทิ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ, ผู้แทนจาก กฟผ., ผู้แทนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), ผู้แทนข้าราชการฝ่ายปกครองในจังหวัดอุดรธานี อ.เมือง และ อ.กุมภวาปี โดยมีความเห็นขอให้ กฟผ.ชะลอการดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าในวันที่ 27 พ.ค.ไว้ก่อน เนื่องจากยังมีประเด็นการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งยังไม่มีคำวินิจฉัย อีกทั้งมีการประเมินสถานการณ์ว่า การดำเนินการของ กฟผ.จะทำให้เกิดความขัดแย้ง มีการปะทะรุนแรง และนำมาซึ่งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้น (26 พ.ค.) กสม.จึงได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อขอให้ชะลอการดำเนินการ และขอให้มีเวทีพูดคุยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาท ก่อนที่จะดำเนินการ แต่เมื่อถึงวันที่ 27 พ.ค.54 กฟผ.ยังคงเดินหน้าต่อเพื่อก่อสร้างเสาไฟฟ้า จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีความรุนแรง ลุกลามบานปลายขึ้น กล่าวคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ กฟผ.ได้นำกำลังตำรวจจากหลายสถานีในจังหวัดอุดรธานี ได้แก่ สภ.เมือง, สภ.หนองหาน, สภ.บ้านดุง, สภ.ทุ่งฝน และสภ.ไชยวาน รวมจำนวนกว่า 100 นาย บุกเข้าใช้กำลังสลายและจับกุมกลุ่มชาวบ้าน และนักศึกษา จำนวน 15 คน ที่ร่วมกันคัดค้านการลงก่อสร้างเสาไฟฟ้า ในที่นาของนายสง่า บุญโยรัตน์ ชาวบ้านเหล่ากล้วย หมู่ที่ 3 ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งจากเหตุการณ์ในวันนั้น นอกจากกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาจะได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังพบว่ามีทรัพย์สินสูญหาย เช่น โทรศัพท์มือถือ และมีการยึดกล้องบันทึกภาพ และลบไฟล์ทั้งหมดทิ้งด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นักข่าวพลเมือง: "ขบวนคนตรัง" เดินรณรงค์ "ค้านตัดถนน" กันแนวเขตป่าเขาบรรทัด Posted: 07 Jun 2011 03:17 AM PDT เครือข่ายที่ดินเดินขบวนค้านการตัดถนนเขาบรรทัด ยื่นหนังสือถึงพ่อเมืองตรังให้ยุติโครงการ จี้ทำหนังสือถึงหน่วยงานในจังหวัด ทำความเข้าใจแนวทางจัดการโฉนด สืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งช วานนี้ (6 มิ.ย. 54) เวลา 13.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือก ขบวนรณรงค์มีรถติดเครื่องเสียงนำขบวน มีธงและผ้าพันคอแสดงสัญลักษ ผู้สื่อรายงานว่า ขบวนรณรงค์ได้เดินเท้ายื่นหนังสือต่อ นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อให้ผลักดันให้มีการยุติโครงการ โดยระบุว่าแม้ในขณะนี้จะมีก รวมทั้งมีข้อเรียกร้องให้ ผวจ.ตรัง มีหนังสือถึงหน่วยงานภายในจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการ จากนั้นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือก ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือก นายสมนึก พุฒนวล คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ “ถนนนี้ไม่มีประโยชน์กับชุม สำหรับความเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.54 ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้าน ต่อมา วันที่ 25 พ.ค.54 ทางเครือข่ายฯ ได้จัดเวทีสาธารณะเรื่อง "ตัดถนนกันแนวเขตเขาบรรทัด เพื่ออะไร ใครได้-ใครเสีย ณ บ้านลำขนุน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อขบวนรณรงค์เดินทางถึงหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ใช่เวลาราวหนึ่งชั่วโมงนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังก็ลงมาพบปะและรับหนังสือจากชาวบ้าน ขบวนธงเขียว ผ่านตลาดเก่า บรรยากาศขบวนชาวบ้านร่วมกันให้ข้อมูลคนเมืองตรั สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ชาวบ้านศีรษะจระเข้น้อยฟ้องไล่คลังน้ำมันสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อมลพิษแถมสร้างทับพื้นที่สีเขียว Posted: 07 Jun 2011 01:52 AM PDT นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้รับมอบอำนาจจากนายสมบัติ พุฒพลายงามและพวก ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ศีรษะจระเข้น้อย หมู่ 10 อำเภอบางเสาธง จ.สมุทรปราการ ให้ช่วยเป็นธุระในการฟ้องร้องต่อสู้ทางคดีปกครอง กรณีที่ฟ้องบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และองค์การบริหารส่วนตำบลศีรษะจระเข้น้อย ที่อนุญาตให้บริษัทเอกชนมาก่อสร้าง และประกอบกิจการคลังน้ำมันเชื้อเพลิง ภายนอกรั้วสนามบินสุวรรณภูมิในพื้นที่ใกล้ชุมชน โดยผูกขาดป้อนน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินที่เข้ามาใช้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2546 ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนความเสียหายและความเสี่ยงให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียง เนื่องจากเกิดการแพร่กระจายของมลพิษไอระเหยของน้ำมันเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวทนสูดดมไอพิษจากน้ำมันไม่ไหวเสียชีวิตไป 2 รายแล้ว นายศรีสุวรรณ ให้ข้อมูลด้วยว่า ไอน้ำมันเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs เป็นสารก่อมะเร็งร้ายแรง มีความเสี่ยงสูงที่ชาวบ้านที่สูดดม และได้รับสัมผัสทางอากาศเป็นระยะเวลานานๆ จะเกิดอาการแพ้สารดังกล่าว กลายเป็นโรคร้ายได้ อีกทั้งคลังน้ำมันดังกล่าวอยู่ใกล้ชิดบ้านเรือนประชาชนมาก มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะเกิดการระเบิดจาดอุบัติเหตุต่างๆ หรือเกิดการวินาศกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบตามมามากมาย มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังกรณีที่มักเกิดเหตุคลังน้ำมันระเบิดอยู่เนืองๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งการก่อสร้างคลังน้ำมันดังกล่าวเป็นการสร้างทับทางสาธารณะประโยชน์ที่ชาวบ้านบริจาคไว้ให้รัฐเป็นทางสาธารณะแล้ว รวมทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการด้วย ถือว่าเป็นพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนั้นการที่หน่วยงานท้องถิ่น (อบต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้อำนาจทางปกครองอนุญาตให้บริษัทเอกชนก่อสร้างและประกอบกิจการคลังน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวได้ จึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อนึ่งบริษัทเจ้าของคลังน้ำมันดังกล่าวมีองค์มนตรีท่านหนึ่งเป็นประธานกรรมการของบริษัทดังกล่าวด้วย ซึ่งไม่ทราบว่าท่านรู้หรือไม่ว่าพื้นที่ดังกล่าวกฎหมายห้ามสร้างเป็นคลังน้ำมัน และได้รับรายงานปัญหาหรือความเดือดร้อนของชาวบ้านดังกล่าวหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า เรื่องดังกล่าว สมาคมฯ จะต่อสู้ทางคดีให้กับชาวบ้านอย่างเต็มที่ไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น โดยได้ยื่นเรื่องเข้าเป็นตัวความในคดีในวันนี้ เมื่อศาลอนุญาตแล้ว สมาคมจะเพิ่มเติมข้อมูลรายละเอียดการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของหน่วยงานรัฐทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อศาลเพื่อให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างและการประกอบการคลังน้ำมันดังกล่าวของเอกชนรายดังกล่าว พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านต่อไป นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
บีบีซี วิเคราะห์โฉมหน้าการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง ชี้กองทัพไม่ปล่อยมือจากการเมือง Posted: 07 Jun 2011 12:41 AM PDT ราเชล ฮาร์วีย์ จากสำนักข่าวบีบีซี มองการเมืองไทยพร้อมตั้งคำถาม ทหารจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 54 ราเชล ฮาร์วีย์จากสำนักข่าวบีบีซี เขียนบทวิเคราะห์ชื่อ "Thai military′s political past looms over elections" ว่าด้วยบทบาทกองทัพต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะต่อการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะมาถึงในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 โดยมีสาระสำคัญดังนี้ การเมืองไทยประสบปัญหาความผันผวนอย่างมากนับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งขับไล่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดน มาจนถึงเหตุการณ์การสลายผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาลในปีที่แล้ว โดยการใช้กองกำลังทหารภายใต้คำสั่งจากนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กองทัพมีบทบาททางการเมืองไทยมาตลอดอย่างยาวนาน ถ้าหากว่าลองเปิดทีวีและวิทยุช่องต่างๆ ที่ควบคุมโดยทหาร พร้อมทั้งช่องข่าวและเกมโชว์ต่างๆ ก็จะเจอกับรายการพิเศษต่างๆ ที่พูดถึงคุณงามความดีของกองทัพไทยอย่างสม่ำเสมอ คริส เบเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยกล่าวว่า ภาพลักษณ์ของกองทัพเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างแยกไม่ออก “กองทัพไทยเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างยาวนานกว่า 50 ปีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ในช่วงนั้นกองทัพชูอุดมการณ์ว่ากองทัพมีสิทธิในการเมืองการปกครองเพราะเป็นสถาบันที่พิเศษ อีกทั้งยังใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์เป็นพิเศษด้วย และถึงแม้ในช่วงทศวรรษที่ 2520 กองทัพจะถูกลดบทบาทจากการเมือง เนื่องจากรัฐสภามีบทบาทมากขึ้น แต่เบเกอร์ก็ยังเชื่อว่ากองทัพไทยไม่เคยหมดความคิดที่ว่ากองทัพมีสิทธิแทรกแซงทางการเมือง “เพื่อแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะนักการเมืองและการคอร์รัปชั่น” เป็นที่น่าสนใจว่า ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ทหารจะยอมปล่อยวางและยอมให้รัฐบาลพลเรือนมีบทบาทได้เต็มที่หรือไม่ เมื่อทหารเข้ามามีบทบาทครั้งแล้วครั้งเล่า ในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทหารให้เหตุผลกับสาธารณะว่าเป็นเพราะเรื่องการคอร์รัปชั่น และการไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ของอดีตนายกฯทักษิณ นอกจากนี้ทักษิณยังเข้าไปแทรกแซงกระบวนการการแต่งตั้งของทหาร และสามารถสถาปนาฐานอำนาจที่แข็งแรงและกว้างขวาง ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจเก่า สองปีถัดมา ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทหารมีส่วนในการจัดวางเกมทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยจัดตั้งรัฐบาลร่วมที่ต่อต้านทักษิณ และสนับสนุนสถาบัน ซึ่งมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นแกนนำ วาสนา นาน่วม ฟันธงว่า ถึงแม้ว่าเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ เนื่องจากจะมีการแทรกแซงของทหาร แต่จะไม่โฉ่งฉ่างเช่นการทำรัฐประหาร เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว “หากฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เด็ดขาด กองทัพอาจจะล็อบบี้พรรคร่วมไม่ให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล (กับพรรคเพื่อไทย)ก็เป็นได้” วาสนากล่าว ดูเหมือนว่ากองทัพจะทำหน้าที่ก่อนการเลือกตั้งไปแล้ว จะเห็นจากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบกได้สั่งฟ้องจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย แต่ได้รับการประกันตัว ในการให้สัมภาษณ์ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้ทำเพื่อฝ่ายใด แต่ทำเพื่อปกป้องชาติ สถาบัน และประชาชน กองทัพ ยังคงอยู่ใน “กรอบ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ให้ความเห็นว่า ทหารนั้นมีส่วนในการเมืองอย่างแน่นอน และเมื่อรัฐบาลพลเรือนและฝ่ายทหารเกิดขัดแย้งกัน ฝ่ายทหารก็มักจะเป็นฝ่ายชนะเสมอ “ทหารอาจจะกล่าวว่าพวกเขาทำตามคำสั่งของรัฐบาล แต่ในเมืองไทย มันมักจะไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป” แบรด อดัมส์กล่าว เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อทางกองทัพเพื่อขอสัมภาษณ์ ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยกล่าวว่าการให้สัมภาษณ์ในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้นไม่เหมาะสม อาจจะเดายากว่าเหล่าทหารคิดอะไรอยู่ แต่ที่แน่ๆ ผลงานที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นไปแล้วว่าเดิมพันของกองทัพขึ้นอยู่กับอะไร คริส เบเกอร์ กล่าวว่าตั้งแต่การรัฐประหาร กองทัพจัดการให้ทหารได้งบประมาณเพิ่มขึ้น 50% นอกจากนี้ ยังได้นำเอากฎหมายความมั่นคงภายในกลับมาใช้อย่างสม่ำเสมอ และกองทัพก็ได้กลับมาอยู่ในศูนย์กลางของการเมืองไทยอีกครั้ง และคงจะไม่ออกไปในระยะเวลาอันใกล้ และนักการเมืองที่ลงสมัครสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ก็คงจะรู้เรื่องนี้อย่างเต็มอก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สืบพยานโจทก์คดีเผาศาลากลางมุกฯนัดสุดท้าย Posted: 06 Jun 2011 06:04 PM PDT พนักงานสอบสวน 3 คน ขึ้นเบิกความไม่เห็นเหตุการณ์ และไม่มีพยานคนไหนเห็นว่าใครเป็นผู้จุดไฟเผาศาลากลาง นัดต่อไปสืบพยานจำเลย ร่นเวลาจาก 12 นัด เหลือ 4 นัด61ปาก สืบมาราธอนถึงสองทุ่มครึ่งทุกวันติดต่อกัน หลังจากอัยการขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ในคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร 6 คนสุดท้าย มาแล้ว 3 ครั้ง ด้วยเหตุผลว่า พยานปากหนึ่ง ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุมีการย้ายที่อยู่ พนักงานสอบสวนยังตามตัวไม่พบ อีกทั้งพยานที่เหลือจะต้องสืบประกอบเอกสาร แต่เอกสารถูกส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่ได้รับคืนมา ประกอบกับอัยการสูงสุดยังไม่มีความเห็นชี้ขาดในเรื่องการสั่งฟ้อง ซึ่งดีเอสไอมีความเห็นแย้งกับอัยการ http://www.prachatai.com/journal/2011/05/34484 ในที่สุด ในวันที่ 30-31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อัยการก็ได้สืบพยานโจทก์ที่เหลือ ถึงแม้จะยังไม่มีเอกสารและความเห็นมาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการสืบพยานจำเลยตามวันที่ศาลได้มีการนัดหมายไว้แล้ว โดยใช้เอกสารประกอบการสืบเท่าที่มีอยู่ และตัดพยานที่ยังตามตัวไม่ได้ออกจากบัญชีพยาน ส่วนพยานที่เป็นผู้ทำหน้าที่ด้านการข่าวของทหาร พยานได้ให้ปากคำไว้ในชั้นสอบสวนแล้ว โดยโจทก์และทนายจำเลยไม่ติดใจสืบอีก จึงเหลือพนักงานสอบสวนขึ้นเบิกความ 3 ปาก ในวันที่ 31 พ.ค. โดยศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยที่ 21-29 ซึ่งในวันที่ 31 พ.ค. ไม่สามารถมาศาลได้ ทำการซักค้านในวันที่ 3 มิถุนายน พนักงานสอบสวนทั้ง 3 ขึ้นเบิกความว่า ได้รับแต่งตั้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ให้เป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจในการสอบสวนคดีดังกล่าวร่วมกับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ และเจ้าพนักงานอัยการ โดยทั้ง 3 คน ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เผาศาลากลางที่เกิดขึ้น เพียงแต่ทำหน้าที่สอบสวนจำเลย รวมทั้งสอบสวนพยานบุคคล และดูภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ที่ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ได้บันทึกไว้ แล้วออกเป็นหมายจับ พ.ต.ท.จเด็จ ตรีพูล ซึ่งเป็นผู้รวบรวมหลักฐานส่งให้คณะกรรมการสอบสวนออกหมายจับ ให้การว่าส่วนใหญ่จะพิจารณาจากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งถึงแม้จะมีเพียงภาพเดียว แต่ถ้าเห็นหน้าชัดเจนก็จะออกหมายจับ ทั้งนี้จำเลยที่ถูกออกหมายจับ บางคนมีภาพกลิ้งยางเข้ามาในศาลากลางก่อนเกิดเพลิงไหม้ บางคนมีภาพอยู่ใกล้ชิดกองยางที่กำลังลุกไหม้นอกอาคาร บางคนมีภาพชี้ไม้ชี้มือ บางคนถูกออกหมายจับเพราะเชื่อว่าเป็นแกนนำ โดยไม่มีภาพในการร่วมก่อเหตุ แต่ในที่นี้พยานไม่ยืนยันภาพถ่ายที่อัยการอ้างส่งว่าเป็นภาพของจำเลยคนใดเนื่องจากภาพไม่ชัดเจน ส่วนจำเลยที่ถูกจับในที่เกิดเหตุ ซึ่งบางคนถูกจับอยู่นอกรั้วศาลากลาง แต่ชุดจับกุมให้การว่าวิ่งออกมาจากในรั้ว ถึงแม้จะไม่มีภาพถ่ายเป็นหลักฐาน แต่ก็ถือว่าเป็นผู้ร่วมก่อเหตุ ทั้งนี้ การสอบสวนในวันเกิดเหตุ พยานไม่รู้ว่าจำเลยได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมด้วย และชุดจับกุมไม่ได้ส่งวัตถุที่อ้างว่าใช้ในการก่อเหตุ เช่น ไม้ ขวดน้ำมัน เลย พ.ต.ท.วิจิตร บุญวรรณ ทำหน้าที่รับตัวผู้ต้องหาในวันเกิดเหตุ และสอบสวนจำเลย รวมทั้งพยานบุคคลอื่นๆ เช่น ผวจ., ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ซึ่งมีพยานที่ยืนยันตัวจำเลยบางคนว่าเป็นคนกลิ้งยางหรือถือไม้วิ่งไปรอบๆ อาคารศาลากลาง แต่ไม่มีพยานคนไหนเห็นว่าใครเป็นผู้จุดไฟเผาศาลากลาง อีกทั้ง พยานยังรับว่าจากภาพถ่าย เห็นจำเลยที่ 12 ปีนขึ้นไปปลดพระบรมฉายาลักษณ์ลงมา ขณะไฟกำลังจะลุกไหม้อาคาร นอกจากนี้ การไปรับตัวผู้ต้องหาในวันเกิดเหตุ พยานไม่เห็นว่ามีใครบาดเจ็บ แต่เห็นผู้ต้องหา 1 คน พันศีรษะด้วยผ้าพันแผล และไม่มีของกลางที่ใช้ในการก่อเหตุ พ.ต.ท.สุริยันต์ จินดาวรรณ ได้รับมอบหมายให้สอบปากคำพยานและจำเลย โดยเป็นผู้สอบปากคำนายสันติภาพ สมรูป ประจักษ์พยานที่ไม่สามารถติดตามตัวมาให้การในชั้นศาลได้ ซึ่งนายสันติภาพได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า รับจ้างขนยางมาศาลากลาง และได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ทั้งนี้ ในภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวปรากฏรูปนายสันติภาพเห็นใบหน้าชัดเจน แต่กรรมการชุดสอบสวนไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับ นอกจากนี้ ในการสอบสวนนายสันติภาพ ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ก็ไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมตามที่กฎหมายบังคับ รวมทั้งไม่มีพนักงานอัยการเข้าร่วมตามมติของคณะกรรมการคดีพิเศษที่ 3/2553 ทั้งนี้ หลังการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นลง นัดต่อไปจะเป็นการสืบพยานจำเลย ซึ่งทนายจำเลยแถลงขอไว้ 12 นัด เท่าการสืบพยานโจทก์ แต่จากการที่พนักงานอัยการได้เลื่อนการสืบพยานโจทก์จนกินเวลานัดสืบพยานจำเลยซึ่งได้นัดไว้เดิม จนเหลือเวลาการสืบพยานจำเลยจำนวน 61 ปาก อีกเพียง 4 วัน และศาลก็ได้เร่งการสืบพยานให้จบภายในนัด จึงได้ขยายเวลา การสืบพยานจำเลยออกไปจนถึง 20.30 น. ของทั้งสี่วัน(21-24 มิ.ย.54) ซึ่งทนายจำเลยมีความเห็นว่าอาจทำให้การสืบพยานจำเลยเป็นไปโดยไม่เต็มที่และเกิดความเครียดได้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ยื่น 104,136 รายชื่อถวายคืนพระราชอำนาจ Posted: 06 Jun 2011 02:53 PM PDT เครือข่ายถวายคืนพระราชอำนาจ ยื่น 104,136 ชื่อถวายคืนพระราชอำนาจ ซัดนักการเมืองโกงกิน หวัง10เปอร์เซ็นจากทั้งประเทศ จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ 6 มิ.ย. 54 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเมื่อเวลา 09.40 น. เครือข่ายกลุ่มกองทัพประชาชนรวมหัวใจถวายคืนพระราชอำนาจ รวมตัวกันประมาณ 15 คน ที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี สำนักพระราชวัง เพื่อยื่นรายชื่อถึงราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง เรื่อง “ถวายคืนพระราชอำนาจครั้งที่ 10” นางฟ้างาย อโศก แนวร่วมกลุ่มกองทัพกองทัพประชาชน กล่าวว่า เราดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ปีที่แล้ว เพื่อหวังพึ่งบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ปัญหาบ้านเมือง เพราะต้องการคนดีเข้าปกครองประเทศ ที่ผ่านมานักการเมืองมีแต่คนโกงกินแผ่นดิน ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่มีศีลธรรม ประชาชนไม่มีความสุข ซึ่งการล่ารายชื่อครั้งนี้ทำเป็นครั้งที่ 10 มีประชาชนมาร่วมลงชื่อกว่า 104,136 คน ซึ่งกลุ่มกองทัพประชาชนจะดำเนินการไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ จนกว่าประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น "เราจะทำจนกว่าสังคมจะได้รับการสังเคราะห์ เชื่อว่าถ้ามีคนในประเทศเพียง 10 เปอร์เซ็น จาก 63 ล้านคนจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ การเคลื่อนไหวนี้ก็ทำในนามประชาชนทุกกลุ่ม อย่างประเทศญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกวันนี้เพราะการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เคยรวมตัวกันเพื่อขับไล่โชกุนที่ฉ้อฉุน และให้คืนอำนาจให้จักรพรรดิญี่ปุ่นเพื่อปกครองประเทศ จนทำให้ญี่ปุ่นดีถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม วันจันทร์หน้าจะมายื่นรายชื่อที่สำนักพระราชวังอีกครั้ง และจะมาให้ถี่ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวจนกว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลง” นางฟ้างาย กล่าว ซึ่งหนังสือระบุข้อความว่า "ตามที่ประชาชนได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มกองทัพประชาชนรวมหัวใจถวายคืนพระราชอำนาจ พร้อมทั้งได้นำส่งชื่อประชาชน และแบบถวายคืนพระราชอำนาจถึงท่านราชเลขาธิการมาแล้วจำนวน 9 ครั้ง บัดนี้ประชาชนต่างๆ ทั่วประเทศขอถวายคืนพระราชอำนาจอีกเป็นครั้งที่ 10 โดยลงชื่อในแบบถวายคืนพระราชอำนาจ และรับเป้าหมายเพื่อไปขยายผลต่อจำนวน 104,136 ราย ตามรายชื่อที่แนบมาพร้อมกันนี้ จึงเรียนมายังท่านราชเลขาธิการได้โปรดพิจารณา นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย จักเป็นพระคุณอย่างสูง ซึ่งการจะควรมิควรประการสุดแต่จะมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทาน" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น