โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

‘รอลงอาญา’ 4 ปี 9 เสื้อแดงอุบล อีก 21 ผู้ต้องขังรอตัดสิน 5 ก.ย.54

Posted: 09 Jun 2011 11:47 AM PDT

 
 
ภาพ – หลังฟังคำพิพากษาจำเลยทั้ง 9 ต่างแสดงออกถึงความโล่งใจในอิสรภาพ แม้ว่าจะต้องรายงานตัวต่อกรมควบคุมความประพฤติทุก 4 เดือน
 
ศาลอุบลฯ ตัดสินจำคุก 7 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 30,000 บาท คดีเสื้อแดง 9 ราย หลังรับสารภาพลดโทษเหลือครึ่งหนึ่งและให้การเป็นประโยชน์ต่อศาลจึงลดโทษเป็น รอลงอาญาคนละ 4 ปี ปรับ 15,000 บาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ส่วนกรณีผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดง 21 คน ล่าสุด การไต่สวนพยานสิ้นสุดแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 5 กันยายน 2554 ส่วนทนายความเตรียมยื่นประกันตัวกรณีจับผิดตัวและผู้ป่วยอัมพฤกษ์ครึ่งซีก
 
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 9 มิถุนายน 2553 ณ บัลลังก์ 6 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี นายยุทธนา คุ้มมี ผู้พิพากษาทำหน้าที่อ่านคำพิพากษาคดีอาญา หมายเลข 1218/2553 โดยอัยการจังหวัดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายระวี ดำริห์และพวก รวม 9 คน ฐานความผิดต่อความสงบเรียบร้อย โดยศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดรวมกัน 5 กระทง คือ 1.ร่วมกันก่อความวุ่นวายและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท 2.ก่อให้เกิดเพลิงไหม้และกีดขวางการจราจร โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 6,000 บาท 3.ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและมีอาวุธ โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท 4.ร่วมกันทำให้เสียหายต่อสมบัติสาธารณะ โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4,000 บาท 5.ประทุษร้ายเจ้าพนักงาน โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 6,000 บาท รวมโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท
 
แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี 6 เดือน ปรับ 15,000 บาทอีกทั้ง จำเลยมิได้มีพฤติกรรมเสียหาย จึงให้รอลงอาญา 4 ปี โดยต้องรายงานตัวต่อสำนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน เป็นระยะเวลา 2 ปี และบำเพ็ญประโยชน์อีก 36 ชั่วโมง ดังนั้นจึงเหลือแต่โทษปรับ 15,000 บาท ซึ่งทั้ง 8 คน ได้ติดคุกมาแล้วนาน 6 เดือน จึงสามารถนำจำนวนวันที่ติดคุก x 200 บาท/วัน (36,000 บาท) มาหักลบค่าปรับได้ ยกเว้นกรณีนายไพบูลย์ ดวงศรี ที่ต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มจำนวน 2,600 บาท
 
นอกจากนี้ ศาลยังสั่งห้ามจำเลยทุกคนเข้าร่วมชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือก่อความวุ่นวายส่วนรถยนต์ที่ถูกยึดไว้นั้น เป็นเพียงพาหนะการเดินทาง มิได้เป็นเครื่องมือในการก่อความวุ่นวาย จึงเห็นควรให้คืนต่อเจ้าของ
 
ส่วนค่าปรับนั้น จำเลยส่วนใหญ่ได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 6 เดือนแล้วโทษปรับหักวันละ 200 บาทระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำ จึงทำให้จำเลยคดีการเมืองส่วนใหญ่ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน
 
หลังจากฟังคำพิพากษาจำเลยทั้ง 9 ต่างแสดงออกถึงความโล่งใจในอิสรภาพ แม้ว่าจะต้องรายงานตัวต่อกรมควบคุมความประพฤติทุก 4 เดือน แต่ก็ยังดีที่พวกเขาได้รับอิสรภาพนอกห้องขัง
 
ยังสู้ต่อ - เพื่อความเป็นธรรม
 
นายระวี ดำริห์ เปิดเผยว่า แม้จะต้องรอลงอาญานับว่าพวกเขาทั้ง 9 คนยังโชคดีกว่า ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเสื้อแดงอีก 21 คนที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ ณ เรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี อย่างน้อยก็สามารถทำมาหากินและออกมาจัดการกับภาระหนี้สินที่พอกพูนในช่วงที่ถูกควบคุมตัว ส่วน 21 คนนั้นไม่ได้รับแม้สิทธิในการประกันตัว
 
“หากรัฐหวังจะใช้กฎหมายมาควบคุมความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน ก็อย่าหวังว่า เราจะยอมจำนน ผมจะยังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไป เพราะที่ผ่านมาเราก็เห็นการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วว่า กับบางกลุ่มเขาเพิกเฉย กับบางกลุ่ม เขาก็ตั้งข้อกล่าวหาเกินความเป็นจริง หากมีความไม่เป็นธรรม เราจะต้องแสดงออกทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมายต่อไป อย่างน้อยก็เพื่อให้อำนาจรัฐรู้ว่า เราไม่พอใจ”
 
นายระวี จำเลยที่ 1 เป็นชาวตำบลบุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นั้น เขาเดินทางเข้าเมืองเพื่อซื้ออะไหล่รถไถนาแบบเดินตาม และเห็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่หน้าศาลากลางจังหวัด จึงแวะเข้าร่วมเพราะต้องการประท้วงรัฐบาลที่สั่งฆ่าประชาชนที่กรุงเทพ แต่เพียงไม่ถึงชั่วโมงก็ถูกยิงที่ขาขวา 2 แผล และถูกคนเสื้อแดงนำส่งโรงพยาบาล พักรักษาตัวอยู่ 5 วันเขาก็ถูกจับพร้อมข้อหาอุกฉกรรจ์ดังกล่าว
 
“บักนี่ มึงจับแม่กูเฮ็ดหยัง?”
 
นางสาวสิณีนาถ ชมพูษาเพศ ชาวตำบลกิ่งโดม อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี หนึ่งในห้า จำเลยที่ถูกยิง เปิดเผยว่า วันนั้นเธอเข้าร่วมชุมนุมเพราะเห็นด้วยกับแนวทางของคนเสื้อแดง และเธอได้ถือป้าย “หยุดฆ่าประชาชน” ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจะสื่อสารไปยังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเธอถูกยิงที่ขาระหว่างเดินตามกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัด
 
“หนูเดินใกล้ๆ ตำรวจตลอด เพราะคิดว่าอยู่ใกล้ตำรวจแล้วจะไม่ถูกยิง แต่ยังไม่ได้เดินไปถึงด้านหน้าศาลากลางก็ได้ยินเสียงปังลงมาจากศาลากลางจังหวัดและรู้สึกชาที่ขาขวา แล้วก็ล้มลง จากนั้นก็มีคนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่รู้ พอมองดูขาก็เห็นกางเกงเป็นรู จึงรู้ว่าถูกยิง จากนั้นก็ถูกนำส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ตกค่ำวันนั้น พยาบาลเล่าให้ฟังว่า ศาลากลางจังหวัดถูกเผาแล้ว ก็มีทั้งพยาบาลเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจ และพยาบาลเสื้อเหลืองก็กระแนะกระแหน”
 
วันต่อมาเธอได้รับอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน จากนั้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นายก็ไปควบคุมตัวเธอที่บ้านมาสอบปากคำที่ สภ.เมืองอุบลราชธานีตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงเวลา 18.00 น.เธอต้องนอนให้ปากคำเพราะบาดแผลยังไม่หาย จากนั้นเธอก็ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีแม่ของสามีวัย 83 ปีดูแลลูก 3 คน (ลูกสาววัย 11 ขวบ และ 9 ขวบ และลูกชายวัย 7 ขวบ) ตลอดเวลา 6 เดือนที่ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ ก่อนจะได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
 
“เรายิ่งเจ็บหนัก เรายิ่งไม่หลาบจำ ยิ่งกำหราบเรายิ่งเพิ่ม การจับกุมคุมขังเท่ากับการสุมฟืนใส่ไฟ ขนาดลูกชายคนเล็กของหนูเวลาเห็นหน้าอภิสิทธิ์ทางโทรทัศน์ เขาก็จะโกรธจะวิ่งไปเตะจอโทรทัศน์พร้อมด่าว่า “บักนี่ มึงจับแม่กูเฮ็ดหยัง” มันออกมาเองโดยที่เราไม่ได้สอนให้เขาทำแบบนั้น” นางสาวสิณีนาถกล่าว
 
สำหรับจำเลยทั้ง 9 ส่วนใหญ่ถูกคุมขังอยู่นาน 6 เดือน แล้วได้ประกันตัวออกไป ได้แก่ 1.นายระวี ดำริห์ 2.นายทิวา ประภา 3.นายจิระศักดิ์ (หรือ นิธิศ) พรมโนภาศ 4.น.ส.สิณีนาถ ชมภูษาเพศ 5.นายสหชน สีใส 6.น.ส.เบ็ญจวรรณ วรรณวงศ์ 7.นายไพบูลย์ ดวงศรี8.นายโพธิ์ชัย ทองชุม และ 9.น.ส.พชรมน เพ็ชรงาม
 
5 ก.ย. ตัดสิน 21 เสื้อแดงที่เหลือ
 
ส่วนความคืบหน้าของผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงจังหวัดอุบลราชธานี 21 คนนั้น เวลา 16.45 น.ของวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลได้นัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายโดยได้เบิกตัวนางสาวปัทมา มูลนิล จำเลยที่ 3 และนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ “อาจารย์ต้อย” จำเลยที่หนึ่งขึ้นให้การและสิ้นสุดเมื่อเวลา 20.30 น.โดยศาลนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 5 กันยายน 2554
 
นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายความของผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานีเปิดเผยว่า ในวันที่ 10 มิถุนายน 2554 นี้จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้กับนายคำพลอย นะมี ซึ่งกำลังพักรักษาอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีกที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ พร้อมกับนายธนูศิลป์ ธนูทอง ที่รองผู้บังคับการตำรวจเมืองอุบลราชธานีให้การว่าจับผิดตัว หลังจากก่อนหน้านี้เคยยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้ง 21 คนมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ครั้งนี้จึงขอแยกยื่นเป็นรายบุคคล โดยใช้เหตุผลทางสุขภาพและความผิดพลาดของกระบวนการสอบสวนและจับกุม
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกทนายความ ฉ. 3 : ขบวนการหยุดหนูหริ่ง ขบวนการหยุดประชาชน !

Posted: 09 Jun 2011 10:33 AM PDT

” ห้ามฉันพูด  ฉันจะพิมพ์
ห้ามฉันพิมพ์  ฉันจะเขียน
ห้ามฉันเขียน  ฉันก็ยังคิด
หากจะห้ามฉันคิด  ก็ต้องห้ามลมหายใจฉัน”

ในช่วงเวลาที่สังคมถูกปกคลุมไปด้วยความกลัว ต้องยอมรับว่าคุณ “หนูหริ่ง” หรือ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ คือผู้ที่แหวกม่านของความกลัว และลุกขึ้นท้าทายความอำนาจของปีศาจ และประกาศว่าประชาชนย่อมมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ ไม่มีอำนาจใดมากดหัวให้ความเป็นคนสยบยอมได้…

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ภายหลังจากที่ทหารได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพียง 2 วัน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และประชาชนจำนวนหนึ่งจึงได้นัดพบปะทำกิจกรรม ณ บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพาน เลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม โดยได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เช่นการให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มาถ่ายทอดเหตุการณ์ รวมทั้งมีประชาชนผู้ที่มีข้อมูลเช่น ภาพถ่ายเหตุการณ์มาแสดงในเชิงนิทรรศการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ โดยในวันดังกล่าวเหตุการณ์ก็มิได้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด ต่อมา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้เดินทางไปผูกผ้าแดงที่สี่แยกราชประสงค์ และถูกควบคุมตัวตามหมายควบคุมตัวของศอฉ.เป็นเวลาถึง 14 วัน ภายหลังจากนั้นศาลได้มีคำสั่งให้ ศอฉ.ปล่อยตัวเนื่องจากไม่มีเหตุในการควบคุมตัวต่อไปตามกฎหมาย และในวันปล่อยตัว พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลางได้นำเขาส่งพนักงานอัยการและฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือว่า เขาได้ชุมนุมกันเกิน 5 คนโดยก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นการมั่วสุมกันเกินกว่า 10 คน ตามพรก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216… เขาปฏิเสธ !

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 เวลา 09.30 น. ศาลแขวงพระนครเหนือได้ออกพิจารณาคดีนัดแรกโดยพนักงานอัยการโจทก์ได้นำพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายเข้าเบิกความประกอบรูปถ่ายว่า ในวันเกิดเหตุ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ร่วมกับประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ได้จัดกิจกรรมเป็นเชิงนิทรรศการ โดยมีการเอารูปคนตายมาปิดแสดง และมีการพูดทำนองว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และมีการให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์พูดแชร์ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ได้ประสบมา โดยขณะนั้นได้มีรถมาชลอดู ทำให้รถติด รวมทั้งมีประชาชนจำนวนหนึ่งยืนบนพื้นผิวถนน อันเป็นความผิดตาม พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งห้ามชุมนุมกันเกิน 5 คน และรับว่าภายหลังจากนั้นนายสมบัติ และประชาชนก็ได้แยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ

ฝ่ายนายสมบัติ บุญงามอนงค์ได้นำสืบว่า ตนไปทำกิจกรรมที่มิได้ก่อให้เกิดความรุนแรงเป็นเพียงการจัดนิทรรศการ และพูดจาแลกเปลี่ยนข้อมูลเท่านั้น ทั้งนี้มิได้มีการตั้งเวทีปราศัย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด และในขณะนั้น ประชาชนแทบไม่มีใครกล้าออกจากบ้าน รถราก็น้อยมาก ดังนั้นที่ตำรวจกล่าวหาว่าตนทำให้รถติดนั้นจึงไม่เป็นความจริง และยืนยันว่าตนเองใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับตนนั้นเป็นการทำโดยมีเจตนาที่จะสกัดกั้นมิให้ตนเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น ฯ และวันนี้( 9 มิถุนายน 2554 ) ได้มีการสืบพยานจำเลยต่อโดยมี อ.กฤตยา แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าเบิกความว่า ช่วงเหตุการการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมเดือน เมษายน-พฤาภาคม 2553 รัฐบาลได้มีการประกาสสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ชอบ และไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศ และมีเจตนาจะใช้กฎหมายดังกล่าวสร้างเงื่อนไขในการเข้าสลายการชุมนุม รวมทั้งยังมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก และมีอ.ธีระ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความให้ความเห็นทางกฎหมายว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพรก.ฉุกเฉิน นั้น ต้องเป็นการชุมนุมเกิน 5 คน และมีลักษณะอันเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และต้องตีความประกอบเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่บทที่ประกาศดังกล่าวอาศัยเป็นฐานแห่งอำนาจ และหากจะตีความเพียงว่ามีการชุมนุมตั้งแต่ คนก็จะเป็นความผิดทุกกรณี การตีความเช่นนั้นก็จะเป็นการตีความกฎหมายที่เกิดผลประหลาด ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินความจำเป็น ฯ

อย่างใดก็ตาม ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 กันยายน 2554 เวลา 9.00 น.

น่าสนใจว่า … กระบวนการยุติธรรมไทยจะมองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร

น่าสนใจว่า … นี่จะเป็นกระบวนการหยุด “หนูหริ่ง” มิให้เคลื่อนไหวหรือไม่

และน่าสนใจว่า … เมื่อไหร่ประชาชนจะหลุดจากวงจรกฎหมายอุบาทว์เช่นนี้เสียที !

 

ที่มา: เว็บไซต์สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟ้องกลับจำเลยปล้นปืน ‘ภาณุพงศ์’พ้นผิดคดีซ้อมทรมาน

Posted: 09 Jun 2011 10:19 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า ในเวลา 10.00 น.วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2554 นายซูดีรือมัน มาและ พร้อมพวก รวม 8 คน ซึ่งเป็นผู้ถูกควบคุมตัวที่ถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่า ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 และทนายความจากสภาทนายความจะเดินทางไปรายงานตัวที่กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามหมายเรียก กรณีที่ถูกนายตำรวจระดับสูงฟ้องกลับ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งด้วยว่า การฟ้องกลับดังกล่าว ทำให้เหยื่อซ้อมทรมานซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าพนักงานตำรวจนั้น กลับตกเป็นจำเลยเสียเอง แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมทั้งในระบบตำรวจและกลไกพิเศษ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ รัฐตำรวจไทยยังคงมีอิทธิพลในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมการไม่รับผิด (Impunity) ในสังคมไทย

ผู้ต้องหาคดีปล้นปืน 5 คน ได้แก่ นายมะ กะตา ฮารง, นายสุกรี มะมิง, นายมะนาแซ มามะ, นายซูดีรือมัน มาเละ และนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม กล่าวหาว่า พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งในปัจจุบัน) และพล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ตำแหน่งปัจจุบัน) กับพวกรวม 19 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นตำรวจชุดจับกุมซ้อมทรมานให้พวกตนรับสารภาพว่า เป็นตัวการร่วมกันปล้นปืน

คดีดังกล่าวเกี่ยวพันกับคดีการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร ในคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 เนื่องจากวันที่ 11 มีนาคม 2547 นายสมชายฯ เป็นทนายความให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา ได้ทำจดหมายร้องเรียนให้แก่ผู้ต้องหาทั้งห้า ซึ่งต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม

อีกทั้งนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารีพยานในการคุ้มครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษถูกบังคับให้หายตัวไปในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนธันวาคมพ.ศ. 2552 โดยปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่อย่างไร

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงถึงกรณีผลการพิจารณาชี้มูลความผิดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาพลตำรวจนายหนึ่งและพวกรวม 10 นาย กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกลั่นแกล้งผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 โดยใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนด้วยอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 6 ปี และ ป.ป.ช. ใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อชี้มูลเป็นเวลากว่า 3 ปี

ผลการพิจารณาเป็นแต่เพียงว่า การซ้อมทรมานไม่มีหลักฐาน คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า “จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา กับพวก รวม 19 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามที่ถูกกล่าวหาให้ข้อกล่าวหาตกไป”

จึงเป็นเหตุให้นายตำรวจระดับสูงกลุ่มนี้ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษพยานทั้ง 8 ในคดีดังกล่าว โดยที่พยานกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองพยานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษในระหว่างการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช. แต่หลังจากป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิดดังกล่าวการคุ้มครองพยานก็สิ้นสุด

สำหรับนายซูดีรือมัน มาเละ ยังคงได้รับการคุ้มครองพยานอยู่โดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 พล.ต.อ ภาณุพงศ์ เป็นโจทก์ฟ้องนายซูดีรือมันแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล

นอกจากนี้ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ก็เป็นโจทก์ฟ้องนายซูดีรือมันมาแล้วหนึ่งคดี เป็นคดีดำหมายเลข อ.2161/2552 ว่า แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช. และขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพในวันที่ 30 มิถุนายน, 1, 5 และ 6 กรกฎาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ประยุทธ์” ถามใครขวางหน่วย “ปส.315” เอี่ยวยาเสพย์ติดหรือเปล่า

Posted: 09 Jun 2011 10:13 AM PDT

ไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์” เตรียมแจ้งความโฆษกกองทัพบกฐานกล่าวหาเท็จว่าข่มขู่ชุดเฉพาะกิจ “ปส.315” “สรรเสริญ” แจงไม่ได้บอกว่าชักปืน แค่บอกว่าลูกน้องไพโรจน์เปิดชายเสื้อให้ดูปืน ผบ.ทบ.ลั่นยอมไม่ได้ หากมีใครขวาง “ปส.315” เล็งเพิ่มกำลังเป็นชุดละ 50 – 100 นาย “ดูซิว่าจะมาล้อมทหารอีกหรือเปล่า” พร้อมให้ทัพภาค 2 ตรวจสอบหมู่บ้านเสื้อแดง และขอประชาชนทบทวนดูหมู่บ้านเสื้อแดงถูกต้องหรือไม่ 

ผู้สมัครเพื่อไทยเล็งแจ้งความกลับกองทัพบก หลังถูกฟ้องว่าข่มขู่หน่วย ปส.315

วานนี้ (9 มิ.ย.) เว็บไซต์สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 9 พรรคเพื่อไทย ได้นำภาพถ่ายมาแถลงยืนยันว่า ไม่ได้พาพาอาวุธ ข่มขู่ ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติด 315 หรือ ชุดเฉพาะกิจ 315 ตามที่ถูกกองทัพแจ้งความดำเนินคดี และว่าวันเกิดเหตุได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีทหารขับรถฮัมวี่เข้ามา จึงเข้าไปสอบถาม และขอดูเอกสาร ซึ่งได้ถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งให้ประสานกับ กกต. เพื่อไม่ให้ขัดต่อกระบวนการเลือกตั้ง

ยืนยัน ไม่ได้กระชากเอกสารมาดู หรือพูดจาข่มขู่ขัดขวางเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ได้สอบถามตำรวจ ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี เป็นเพียงการลงบันทึกการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น ดังนั้น ขอให้ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ยุติการออกมาพูดกล่าวหา อย่าให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล วันนี้ กำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง” นายไพโรจน์กล่าว และว่า จะไปแจ้งความดำเนินคดี พ.อ.สรรเสริญ เพราะเป็นการกล่าวหาเท็จ ทำให้ได้รับความเสียหาย

ขณะที่ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องไปยังกองทัพบก กกต. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ทบทวนเรื่องการปฏิบัติการของทหาร-ตำรวจ ตามมาตรการ 315 ของรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ได้ไปให้ข้อมูลกับ กกต.แล้ว และจะเชิญเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลด้วย ต้องการเรียกร้องไปยังรัฐบาลรักษาการว่า ไม่ควรทำในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนรับฟังนโยบาย เพื่อตัดสินใจในการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีการกล่าวหานายไพโรจน์ ขอให้มีการนำหลักฐานมาแสดง เพราะเท่าที่ตรวจสอบ เป็นการกลั่นแกล้งนายไพโรจน์ ซึ่งพรรคก็จะมีมาตรการทางกฎหมายต่อไป” นายวิชาญ กล่าว

 

สรรเสริญ” แจงไม่ได้บอกว่าชักปืน แต่บอกว่าลูกน้องนายไพโรจน์เปิดชายเสื้อให้ดูปืน

ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานคำพูดของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ซึ่งกล่าวว่า ไม่ได้พูดว่านายไพโรจน์ชักปืน แต่ลูกน้องของนายไพโรจน์ได้เปิดชายเสื้อให้เจ้าหน้าที่ดูปืนที่พกมาที่เอว ในลักษณะข่มขู่ รวมถึงได้มีการกระชากเอกสารจากมือไปอ่าน จึงถือเป็นการไม่ให้เกียรติและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้แจ้งความไว้แล้วที่สถานีตำรวจนครบาลหนองจอก ในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่ของทหาร ไม่จำเป็นที่ต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบก่อน เพราะไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และไม่ได้เป็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง เพราะได้ประกาศไปแล้วว่า จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ก่อนยุบสภา หลังพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่าถูกกลั่นแกล้ง

 

ผบ.ทบ.ลั่นยอมไม่ได้ หากมีใครขวาง ปส.315

ด้าน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยวานนี้ (9 มิ.ย.) ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานยืนยันว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของชุดปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด 315 (ปส. 315) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

ซึ่งการกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งที่ตนเองยอมรับไม่ได้ และไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์มาปิดล้อมเจ้าหน้าที่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะไม่หยุดการปฏิบัติหน้าที่ของชุดแผนยุทธการ 315 หลังจากนี้อาจจะมีการเพิ่มจำนวนทหารเข้าไปปฏิบัติภารกิจมากขึ้น พร้อมกันนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ อาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมาย หรือยาเสพติดด้วยหรือไม่ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้กองทัพเกิดความบาดหมางกับพรรคการเมืองใด นอกจากผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเท่านั้น

 

ลั่นจะส่งกำลังเพิ่มชุดละ 50 ถึง 100 นาย “ดูซิว่าจะมาล้อมทหารอีกหรือเปล่า”

ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆได้แก่ กรุงเทพธุรกิจ, คมชัดลึก, เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์, เดลินิวส์ เป็นต้น ได้รายงานตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเพิ่มกำลังทหารในการปฏิบัติการอีกโดยอาจส่งทหารลงไปปฏิบัติการชุดละ 50 ถึง 100 นาย

ท่านเป็นใครมาจากไหน แล้วท่านมาขมขู่เจ้าหน้าที่ได้อย่างไร ซึ่งผมไม่ยอม หากให้ทหารไป 2 คน แล้วมีปัญหา ก็จะเอาทหารไป 50 คน ดูซิว่าจะมาล้อมทหารอีกหรือเปล่า ถ้าไม่ได้อีก 50 ก็เป็น 100 ก็ต้องใช้วิธีการนั้น ถ้าทหารเข้าไปน้อย แล้วเข้าไปไม่ได้ ก็เอาทหารเข้าไปให้มาก ให้เขาจัดตั้งเจ้าหน้าที่มากขึ้น และอาจจะมี ส.ห. ที่มีอำนาจหน้าที่กฎหมายทางทหารลงไปด้วย ท่านมาปิดล้อมทหารไม่ได้ มาปิดล้อมเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ไม่ได้ ผมสอบสวนในชั้นต้นเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่าท่านมากดดันทหารให้ออกจากพื้นที่ ไม่ให้เขาทำงาน ผมถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผมให้เกียรติท่านมาโดยตลอด ช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่า ผมสงบปากสงบคำไปเยอะ พยายามสร้างบรรยากาศที่ดีในการเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกคนมีความสุขในการเลือกตั้ง อยากจะโฆษณาอะไรก็ว่ากันไป แต่ถ้าท่านมาพาดพิงทหาร และมารังแกทหาร ผมรับไม่ได้” ผบ.ทบ.กล่าว

 

ลั่นไม่เข้าใจว่ามาขวางเพราะอะไร ถามกลับมีส่วนร่วมกับขบวนการยาเสพย์ติดหรือ

ในข่าวยังรายงานคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม เราจะไม่หยุดในการทำหน้าที่ของ ปส. 315 เพราะเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่เข้าใจว่าขัดขวางเพราะอะไร เพราะงานการเมืองหรือเปล่า เราไม่เคยไปยุ่งกับการเมืองของท่าน การไม่ให้ทหารทำหน้าที่ ก็ไม่ทราบว่า ท่านไปมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับขบวนการหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำงาน ตนถือว่าน่าจะมีส่วนร่วมหรือไม่ ก็ต้องมีการสอบสวนว่า มี พยาน หลักฐาน หรือไม่ เพราะฉะนั้น อย่าเข้ามาหาเรื่องตรงนี้ เพราะจะทำให้มองว่าท่านมีประโยชน์เกื้อกูลกันหรือไม่กับการทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ จะหาเสียงหรือเลือกตั้ง อย่านำทหารไปเกี่ยวข้อง ซึ่งเคยบอกแล้วว่า ใครให้เกียรติเรา เราก็ให้เกียรติท่านเสมอ ขอยืนยันว่า กองทัพบกไม่เคยเปลี่ยนแปลง ตนไม่เคยเปลี่ยนแปลง ตนยังเป็นตนเองอยู่อย่างนี้ หน้าที่คือรักษาประเทศชาติ ราชบัลลังก์ ถือเป็นหน้าที่ของทหารทุกคน เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

พร้อมให้กองทัพภาค 2 ตรวจสอบหมู่บ้านเสื้อแดง ชี้คนไทยไม่ควรแบ่งแยกสี

นอกจากนี้ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ยังรายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเห็นต่อกรณีหมู่บ้านคนเสื้อแดงว่า ได้มีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้น โดยให้กองทัพภาคที่ 2 เข้าไปดูแลเพิ่มขึ้น และขอให้ประชาชนทบทวนดูว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ พร้อมระบุว่า คนไทยไม่ควรมีการแบ่งแยกสีและควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศ

ผู้บัญชาการทหารบก ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการร้องเรียนว่า พลทหารวิเชียร เผือกสม กองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต โดยเชื่อว่าเป็นเรื่องของการฝึกทหารใหม่ซึ่งอาจจะมีความผิดพลาด ไม่ใช่การทำร้ายร่างกายจนทำให้เสียชีวิต แต่ได้สั่งการให้มีการสอบสวน หากพบว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

10 ประเด็นกำหนดอนาคตแรงงานข้ามชาติ-ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในไทย

Posted: 09 Jun 2011 10:12 AM PDT

หมายเหตุ ชื่อบทความเดิม: อนาคตคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล 10 โอกาสเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยหลายกลุ่ม ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีทั้งในส่วนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมแต่ตกสำรวจจากทางราชการ และกลุ่มที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยเหตุผลทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยบางส่วนไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้จำนวนประมาณ 1-2 ล้านคนเศษ และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สถานภาพการดำรงชีวิตของบุคคลดังกล่าวไม่เอื้อต่อความมั่นคงและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้นหากปล่อยไว้โดยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาวอย่างรุนแรง โดยผลกระทบดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะที่จะเกิดจากกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้โดยตรงเท่านั้น แต่จะรวมถึงกลุ่มบุตรหลานที่จะเกิดขึ้นในภายหลังซึ่งจะมีปัญหาด้านสังคมตามมา อันจะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของสภาพปัญหาให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย [2]

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ตระหนักดีถึงความสำคัญของบุคคลกลุ่มนี้โดยเฉพาะต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยมีการพิจารณาที่จะบรรจุประเด็นดังกล่าวในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 เพื่อจัดระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของประเทศ และความต้องการทางเศรษฐกิจควบคู่กัน 

จากการประมวลบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในอนาคต อย่างน้อยมี 10 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

(1) ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา รวมแนวชายแดนระยะทางประมาณ 5,502 กิโลเมตร มีช่องทางการค้าชายแดนระหว่างกันกว่า 70 จุด รวมทั้งมีการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาทิ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประตูการค้าเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor) เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การค้าชายแดนมีบทบาทสำคัญที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาค รวมถึงในเรื่องของการเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงานข้ามชาติ และปัจจัยการผลิตอย่างเสรีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศไทยยังขาดการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับในเรื่องนี้ เช่น จังหวัดชายแดนขาดหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และการมีอำนาจในการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติแถบชายแดนได้โดยตรง

(2) ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความมั่นคงในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศพม่าที่มีปัญหาการถูกปิดกั้นทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศตะวันตก และมีปัญหาชนกลุ่มน้อยภายในที่ยังมีความขัดแย้งและสู้รบ ส่งผลให้เกิดการลี้ภัยของประชาชนเข้ามาในประเทศไทยบ่อยครั้ง รวมถึงประเทศไทยเองก็ไม่มีนโยบายการจัดการด้านผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน ยิ่งทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ซึ่งหวาดกลัวภัยจากความตายเนื่องจากการต้องถูกส่งกลับ จึงต้องผันตนเองจากผู้ลี้ภัยกลายเป็นแรงงานข้ามชาติเพื่อความอยู่รอดของชีวิตแทน ดังนั้นการพิจารณาถึงการมีนโยบายจัดการประชากรข้ามชาติอย่างเป็นระบบในประเทศไทยที่สอดคล้องกับบริบทของคนทุกกลุ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

(3) แนวทางบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน อาทิ การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ตามพรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือการไม่มีการสร้างระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของกลุ่มต่างชาติพันธุ์ รวมถึงยังเห็นได้จากอัตราส่วนแรงงานข้ามชาติที่ต้องเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้สูงขึ้น มีการแบ่งแยกสร้างความเกลียดชัง เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการรองรับแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาในประเทศมากขึ้นในอนาคต

(4) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเข้าถึงสิทธิและกระบวนการทางยุติธรรม ยังเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่สำคัญในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ในด้านเศรษฐกิจ ประชากรกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานที่มีคุณค่าได้ การทำงานต้องเผชิญกับความเสี่ยง/ความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม เมื่อประสบปัญหาและต้องการการเข้าถึงสิทธิและกระบวนการทางยุติธรรมเป็นไปได้ยาก ทั้งข้อจำกัดจากการสื่อสารและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น นอกจากนั้นการเข้าถึงบริการทางสังคมยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา หรือการคุ้มครองแรงงาน นี้ยังมิพักกล่าวถึงเรื่องของการถูกกีดกันออกจากระบบกฎหมาย ขาดสิทธิที่ได้รับการยอมรับ ยิ่งทำให้มีความเปราะบางต่อการถูกเอาเปรียบ ถูกเลือกปฏิบัติ แสวงหาสินบนมากยิ่งขึ้นไป

อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้ดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยพยายามส่งเสริมสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนทุกกลุ่มภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือทางสังคม การประกันสังคม และการบริการทางสังคม

(5) โครงสร้างประชากรไทยมีแนวโน้มประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ทำให้จำเป็นต้องมีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 15 ปีข้างหน้า ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนในอนาคต พบว่าสัดส่วนประชากรเด็ก: แรงงาน: ผู้สูงอายุ = 20.5: 67.6: 11.9 ในปี 2553 และจะลดลงเป็น 18.3: 66.9: 14.8 ในปี 2559 [3] แต่อย่างไรก็ตามความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจกลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นการขาดแคลนแรงงานไทยจะเป็นปัญหาสำคัญ ผนวกกับสถานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจะมีมากขึ้น ทั้งการเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ และเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทย

(6) ความคืบหน้าของพรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติกับการค้ามนุษย์มีความเชื่อมโยงและคาบเกี่ยวกัน เนื่องจากมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ การมีพรบ.ฉบับนี้ได้ทำให้เกิดความชัดเจนในแนวทางที่จะวิเคราะห์กรณีที่มีผู้เสียหาย อันจะนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้อย่างสอดคล้องและมีกลไกการช่วยเหลือดูแลที่ชัดเจน

(7) รัฐบาลไทยมีนโยบายที่เอื้อต่อการเข้าถึงคุณภาพชีวิตแรงงานทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นมาของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 รวมถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ... หรือการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับบูรณาการแรงงาน) พ.ศ..... เหล่านี้ถือว่าเป็นการเอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานมากยิ่งขึ้น

(8) ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาหลักด้านต่างๆที่จะเอื้ออำนวยให้แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลได้รับการคุ้มครอง เช่น ด้านสิทธิมนุษยชนจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ (1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และพิธีสารเลือกรับเรื่องการรับข้อร้องเรียน (4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพิธีสารเลือกรับทั้ง 2 ฉบับ เรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันทางกำลังอาวุธ และเรื่องการค้าเด็ก โสเภณีเด็กและสื่อลามกเด็ก (5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (6) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และ (7) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ในขณะเดียวกันยังเป็นภาคีกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ค.ศ. 1949 รวมอีก 4 ฉบับ นอกจากนั้นประเทศไทยกำลังพิจารณาที่จะลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยบังคับ รวมถึงประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศจำนวน 14 ฉบับ และมีเจตนารมณ์ที่จะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

(9) การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี 2558 การเป็นประชาคมอาเซียนเป็นความท้าทายและโอกาสของประเทศไทย ทั้งนี้การจัดตั้งประชาคมอาเซียนมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Committee: ASC) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: SCC และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ซึ่งถือเป็น 3 เสาหลัก ที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง ในส่วนของประเทศไทย การรวมตัวกันอย่างใกล้ชิดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ในการแก้ไขปัญหาหรือการเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น การค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการวิจัยเรื่องแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน ตั้งแต่ปี 2550-2553 ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับระบุว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีแนวโน้มที่จะทำให้มีเด็กเร่ร่อนที่เป็นเด็กข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นถึง 50% โดยเด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กพม่า กัมพูชา ลาว อาจส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรมและการขายบริการทางเพศสูงขึ้น

(10) แนวนโยบายของรัฐบาลไทยในระดับชาติ รัฐบาลไทยได้มีความพยายามในการจัดการกับปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา สถานะบุคคล และการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่ว่าจะเป็น

1 การมีแนวกำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

1.1 ด้านสุขภาพ ในมาตรา 51 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงในมาตรา 80 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบาย ด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ในข้อที่ (2) ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุขโดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย”

1.2 ด้านการศึกษา ในมาตรา 49 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ”

2 นโยบายของรัฐบาลไทย

2.1 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 เรื่องสุขภาพ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้มีการจ้างพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ช่วยงานในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งต่อมากรมบัญชี กลางได้เปิดช่องให้ใช้งบประกันสุขภาพในการจัดจ้าง พสต. ได้

2.2 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ มติครม.ดังกล่าวครอบคลุมกลุ่มบุคคลตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ ครม.มีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3,4,5,8) (2) กลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6,7) และ (3) กลุ่มที่ถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0) ซึ่งเป็นนักเรียนในสถาบันการศึกษา, คนไร้รากเหง้า และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์เป็นเงิน 472,823,683.30 บาท รวม 457,409 คน

2.3 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เรื่องการศึกษา กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายโอกาสทางการศึกษาของบุคคลในกลุ่มดังกล่าวซึ่งทำให้เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งรวมถึงเด็กชาติพันธุ์ เด็กไร้รัฐ บุตรของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งเด็กที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองทุกคน มีสิทธิเรียนฟรี 15 ปี รัฐบาลได้จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กกลุ่มนี้ในอัตราเดียวกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้กับเด็กไทย และเมื่อจบการศึกษาแล้ว เด็กกลุ่มนี้มีสิทธิที่จะได้รับวุฒิบัตรเช่นเดียวกันกับเด็กไทย” ทั้งนี้ในมติครม.นี้ ได้ยกเว้นผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่ายังคงให้เรียนอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว โดยในขณะนี้องค์กรเอกชนระหว่างประเทศได้มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 4 ในพื้นที่พักพิงทั้ง 9 แห่ง อย่างไรก็ตามหลักสูตรการศึกษายังไม่ได้รับการรับรองจากระบบการศึกษาภายนอก

2.4 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มกราคม 2548 เรื่องสถานะบุคคล กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้คำนึงถึงความรอบคอบและความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ให้จัดทำโครงการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตน สำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร และโครงการเร่งรัดให้สถานะตามกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล”

2.5 ในปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยได้ประกาศถอนข้อสงวนของไทยต่อข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประกันสิทธิของเด็กที่จะได้รับการจดทะเบียนเกิดทันทีภายหลังจากการเกิด และสิทธิที่จะได้รับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ในปัจจุบันเด็กทุกคนที่เกิดในไทยมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเกิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2551 และภายใต้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2551 นั้น บุตรของบุคคลต่างด้าวหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานหากเกิดในไทยมีสิทธิที่จะขอสัญชาติไทยได้ แต่หากมิได้เกิดในไทยแต่จบสถาบันอุดมศึกษาในไทยก็มีสิทธิขอสัญชาติไทยได้ กรณีเด็กไร้รากเง้าหากอยู่ในไทยอย่างน้อย 10 ปี และมีหลักฐานการเกิด ก็สามารถขอสัญชาติไทยได้เช่นกัน นอกจากนี้กรณีบุตรของแรงงานอพยพข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการดำเนินการที่จะให้เด็กเหล่านี้ได้รับสัญชาติตามบิดาและมารดาของประเทศต้นทาง โดยได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานการจดทะเบียนการเกิดและการพิสูจน์สัญชาติของบิดามารดาที่เป็นแรงงานอพยพข้ามชาติ

2.6 สิทธิในการทำงานและได้รับการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิได้รับค่าแรงที่ไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด ชั่วโมงการทำงาน ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการต่างๆ ในอัตราที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณอย่างเดียวกัน ดังนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่ได้รับการจ้างงานในฐานะแรงงาน ก็ย่อมได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและมีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกับกับแรงงานประเภทอื่น ๆ

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า

ปี 2548 รัฐบาลไทยเปิดให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศลาวและกัมพูชาได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อปรับสถานะจากแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไปสู่การมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย

ปี 2549 มีการขยายการประกันสุขภาพไปยังครอบครัวและผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติตามความสมัครใจ ทำให้ผู้ติดตามสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น

ปี 2551 เกิดแนวปฏิบัติด้านการประกันสุขภาพ ที่ได้เปิดกว้างให้กับแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่ไม่มีเอกสารใดๆเลยเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น โดยให้แต่ละสถานบริการพิจารณาตามความเหมาะสมได้ด้วยตนเอง

ปี 2552 กระทรวงแรงงานเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในกิจการบางประเภทที่ไม่สามารถจดทะเบียนในปีที่ผ่านๆมาได้ ก็สามารถจดทะเบียนได้แล้ว เช่น กิจการสถานศึกษา มูลนิธิ สมาคมและสถานพยาบาล, กิจการให้บริการต่างๆ เช่น ซักอบรีด การบริการที่พัก เป็นต้น

ปี 2553 สำนักงานประกันสังคม ตื่นตัวและดำเนินการชี้แจงเรื่องหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน และการให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วเข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน พร้อมทั้งจ่ายเงินสมทบ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533 ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

ปี 2554 มิถุนายน รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันมีแรงงานมากกว่าหนึ่งล้านคนที่ทำงานแบบไม่ถูกกฎหมายและเข้าไม่ถึงการจดทะเบียน ทำให้แรงงานต้องเผชิญกับการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิด้านสุขภาพ เป็นต้น

โดยสรุปจากที่กล่าวมาจึงเห็นชัดเจนว่าวันนี้สถานการณ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง เข้าถึง สิทธิขั้นพื้นฐาน และบริการของรัฐอย่างมีคุณค่าและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสังคมอนาคตที่น่าอยู่และทุกคนสร้างร่วมกันได้จริง

คำว่า “บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” หมายถึง บุคคลที่ตกอยู่ในสถานะไร้รัฐ หรือไร้สัญชาติ หรือไม่มีสถานะที่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร กฎหมายสัญชาติ กฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว รวมถึงภาวการณ์ไร้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามบทบัญญัติในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 [4]

ประการต่อมาเวลากล่าวถึงคำว่า “บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” คำๆ นี้มีความเกี่ยวพันกับเรื่อง “การไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทย” นั้นหมายความว่า การไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทยสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่บรรพบุรุษอาจอยู่อาศัยและเกิดในประเทศไทยมาเป็นร้อยปีแต่ไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทย หรือบุคคลที่พ่อแม่เป็นคนข้ามชาติแต่ตนเองเกิดในประเทศไทย กลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็อาจเข้าข่ายว่าเป็นคนต่างชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย และหากว่าคนกลุ่มนี้ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะมีสถานะการเข้าเมืองอย่างใดก็ตาม ก็จะเข้าข่ายเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายตามไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามมาตรา 57 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นั้นได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าว จนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย”

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จำแนกประเภทกลุ่มคนไร้รัฐ หรือไร้สัญชาติ ที่เกิดแก่บุคคลธรรมดาที่เกิดหรืออาศัยในประเทศไทย 4 ประเภท คือ [5]

  1. ความไร้รัฐที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชนพื้นเมือง เหตุจากที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยหน่วยงานราชการของไทย หรือหากมีเอกสารที่ทางรัฐไทยออกให้ก็เป็นเอกสารที่มิได้ยอมรับความเป็นไทยโดยสัญชาติของพวกเขา เช่น กลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สูงของประเทศไทย (ชาวเขา หรือชาวไทยภูเขา ปัจจุบันเรียกว่า บุคคลบนพื้นที่สูง) กลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่บริเวณชายทะเล ได้แก่ ชาวเลในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ และบุคคลที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ป่าตามแนวชายแดน ซึ่งการปักปันเส้นเขตแดนประเทศยังไม่สำเร็จ
  2. ความไร้รัฐเกิดกับบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือที่เรียกว่า ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาความไร้รัฐเกิดจากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบรรพบุรุษซึ่งไม่ใช่คนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักการสืบสายโลหิต กลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาไร้รัฐ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษที่เกิดนอกประเทศไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษที่เกิดในประเทศไทย ที่ขาดเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลบกพร่อง
  3. ความไร้รัฐที่เกิดแก่ผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย หรือผู้ลี้ภัย หรือผู้หนีภัยการสู้รบ รวมทั้งเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า จากการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยในพม่า ที่ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนได้ เป็นต้น
  4. ความไร้รัฐที่เกิดแก่บุคคลไร้รากเหง้า คือ เป็นบุคคลที่สูญเสียความรู้ในรากเหง้าของตนเอง โดยไม่ทราบว่าคนนั้นเป็นบุตรของใคร หรือบุคคลนั้นไม่รู้ว่าตนเกิด ณ ที่ใด เช่น บุคคลที่เป็นเด็กจรจัด หรืออดีตเด็กจรจัด ที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่ก่อนจำความได้ หรือเด็กที่เกิดในยุคที่การจดทะเบียนราษฎรของประเทศไทยยังไม่ชัดเจน หรือเด็ก หรืออดีตเด็กที่อาศัยในพื้นที่ที่ปฏิบัติการด้านทะเบียนราษฎรยังมีความบกพร่องไม่ทั่วถึง

 

จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง แสดงถึงจำนวนผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ อย่างน้อย 4 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 3,261,058 คน (เมื่อ 4 เมษายน 2554) แบ่งเป็น

  1. แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา (มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 00) รวม 2,581,360 คน ในที่นี้ตัวเลขมาจากการจดทะเบียนรวม 6 ครั้ง คือ พ.ศ.2547 1,161,013 คน, พ.ศ.2549 256,899 คน, พ.ศ.2550 12,479 คน, พ.ศ.2551 96,708 คน, พ.ศ.2552 1,054,261 คน, พ.ศ. 2552 เฉพาะบุตรของแรงงานข้ามชาติ จำนวน 5,317 คน
  2. ชนกลุ่มน้อยที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย (มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 6 และ 7) รวมประมาณ 323,084 คน ตามความหมายกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศเป็นกรณีพิเศษ ตามอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้ รวม 15 กลุ่ม คือ ญวนอพยพ (ประมาณ 3.6 หมื่นคนเศษ), อดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่ออพยพ (ประมาณ 2.1 หมื่นคนเศษ), จีนฮ่ออิสระ (ประมาณ 1.4 หมื่นคนเศษ), อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (ประมาณ 498 คน), ไทยลื้อ (ประมาณ 9 พันคนเศษ), ลาวอพยพ (ประมาณ 9 พันคนเศษ), เนปาลอพยพ (ประมาณ 1 พันคนเศษ), ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (ประมาณ 3.2 หมื่นคนเศษ), ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า (ประมาณ 1 แสนคนเศษ), ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย (ประมาณ 7.8 พันคนเศษ), บุคคลบนพื้นที่สูง เผ่าตองเหลือง และชุมชนบนพื้นที่สูงที่มิใช่คนไทย (ประมาณ 6.6 หมื่นคนเศษ), ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา (ประมาณ 1.3 หมื่นคนเศษ), ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา (ประมาณ 2.2 พันคนเศษ), ม้งถ้ำกระบอกที่ทำประโยชน์ (ประมาณ 2 พันคนเศษ), ชาวมอร์แกนที่ประสบภัยสึนามิ (ประมาณ 539 คน) คนกลุ่มที่ 2 นี้กระจายอยู่ในทุกจังหวัด และมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และทางภาคตะวันตก คือ ตาก และกาญจนบุรี
  3. คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ/ไร้รากเหง้า หรือบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งกรมการปกครองได้เริ่มสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 (มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0) จำนวน 218,538 คน แบ่งเป็น
    1. กลุ่มที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมานาน กลับประเทศต้นทางไม่ได้ รวม 148,389 คน คือ เป็นกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่มีความเกี่ยวพันกับผู้ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยไว้เดิมแต่ตกสำรวจ (คือเกี่ยวพันกับคนในกลุ่มข้อ 2) กับเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับชนกลุ่มน้อยแต่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานาน ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ในที่นี้รวมถึงกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นประมาณ 20,000 คน
    2. กลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา รวม 65,663 คน คือ เป็นนักเรียน นักศึกษา ทุกระดับชั้นและทุกประเภทการศึกษารวมถึงการศึกษานอกโรงเรียน ที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรและเลขประจำตัว 13 หลัก ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ และจะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยก่อนวันที่ 18 มกราคม 2548
    3. กลุ่มคนไร้รากเหง้า รวม 4,461 คน เป็นบุคคลที่ไร้รากเหง้าหรือไม่ปรากฏบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้ง ซึ่งอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือควบคุมดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.13 หรือ ท.ร.14) ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันก่อนวันที่ 18 มกราคม 2548
    4. กลุ่มบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ รวม 25 คน คนกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันก่อนวันที่ 18 มกราคม 2548 และเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยในด้านต่างๆที่มีผลงาน ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เช่น ด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การกีฬา รวมถึงด้านอื่น ๆ เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม และจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ต่ำกว่าระดับกรมหรือเทียบเท่าเป็นผู้รับรอง
  4. ผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแถบชายแดนไทย-พม่าทั้ง 9 แห่ง รวม 138,076 คน (มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 000) หมายถึง ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิง 9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 ค่าย (บ้านในสอย, บ้านแม่สุรินทร์, บ้านละอูน, บ้านลามาหลวง) เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี รวม 49,696 คน ส่วนค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ตั้งอยู่ในจังหวัดตาก 3 ค่าย (แม่หละ,อุ้มเปี้ยม, นุโพ) รวม 77,030 คน จังหวัดกาญจนบุรี (บ้านต้นยาง) รวม 3,917 คน และจังหวัดราชบุรี (บ้านถ้ำหิน) รวม 6,808 คน จังหวัดละ 1 ค่าย กลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัยสงครามรวมถึงผลกระทบจากสงคราม เป็นชาวบ้านที่ตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย และได้หลบหนีเข้ามาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 รัฐบาลไทยจึงไม่เรียกประชาชนที่อพยพมาจากพม่าว่า ผู้ลี้ภัย แต่เรียกว่า ผู้หนีภัยจากการสู้รบหรือผู้หลบหนีจากภัยสงครามแทน และเรียกค่ายผู้ลี้ภัยว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราว

 

อ้างอิง:

  1. บทความนี้เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง: ปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติ ได้รับทุนวิจัยจากชุดโครงการความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและแรงงาน: ปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบาย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระยะเวลาดำเนินการ 1 มีนาคม 2554 – 31 กรกฎาคม 2555
  2. ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548
  3. (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11
  4. คนไร้สัญชาติ หมายถึง สภาพที่บุคคลที่ไม่มีสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งในโลกนี้เลยจากเหตุผลที่ตัวเขาเองหรือบุพการี หรือกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติของประเทศต่างๆ ส่งผลให้คนเหล่านั้นกลายเป็น "คนไร้รัฐ" รวมทั้งกลายเป็น "คนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย" ของทุกรัฐในโลกนี้ (รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา 2554) ในบทความฉบับนี้เรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล”
  5. อ้างแล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ประชาธรรม’พรรคเล็กๆ “ขอเป็นแกนกลางดับไฟใต้”

Posted: 09 Jun 2011 09:49 AM PDT

พรรคประชาธรรม ก่อกำเนิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคนในพื้นที่ ซึ่งมุ่งหวังที่จะผลักดันการแก่ปัญหาความไม่สงบจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก นโยบายหลักๆจึงไม่พ้นเรื่องนี้ บวกกับผู้สมัครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ จึงเป็นคนในพื้นที่เสียส่วนใหญ่

พรรคเล็กๆ แห่งนี้จะสามารถเบียดพื้นที่ของพรรคการเมืองใหญ่ๆ เข้าไปนั่งในสภาได้หรือไม่ อ่านสัมภาษณ์นายมุกตา กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรมได้ดังนี้

‘ประชาธรรม’พรรคเล็กๆ “ขอเป็นแกนกลางดับไฟใต้”

นโยบายพรรคประชาธรรมมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้?

ปี 2547 เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนปัจจุบันยังไม่มีนักการเมืองคนไหน มีทางออกการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบัน ส.ส. จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ไปอาศัยพรรคอื่น ทำให้การเสนอประเด็นการแก้ปัญหายากขึ้น เพราะไม่ใช่พรรคของตัวเอง

พรรคประชาธรรม ก่อตั้งขึ้นโดยคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหัวหน้าพรรคและนายทุนของพรรคก็เป็นคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้น พูดได้ว่า เราคือพรรคของพี่น้องคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ลักษณะเหมือนบางพรรคการเมืองในประเทศไทย เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคของคนจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคพลังชลก็เป็นพรรคของคนจังหวัดชลบุรี

ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักการเมืองไม่เคยเสนอทางออกที่เป็นระบบในทางการเมือง ที่ครอบคลุมรอบทุกด้าน ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีคนตายประมาณ 4,000 คน มีเด็กกำพร้า 8,000 กว่าคน วันนี้ เกิดบ้านร้าง แรงงานย้ายไปทำงานที่มาเลเชีย เพราะมีแต่สถานการณ์รุนแรงและความไม่มั่นใจต่อฝ่ายรัฐเอง วันนี้ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ เหมือนขาดที่พึ่งทางการเมือง นี่คือสาเหตุของการเกิดขึ้นของพรรคประชาธรรม

การเกิดขึ้นของพรรคประชาธรรม ไม่ใช่เพื่อจะสร้างความยิ่งใหญ่ ได้เป็นรัฐมนตรีหรืออยากจะดัง แต่เราเกิดมาเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ยุทธศาสตร์ใหญ่ของพรรคประชาธรรมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เป็นแกนกลางในการสร้างสันติภาพ ในลักษณะเรียกทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมกำหนดอนาคตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่คือ หัวใจของพรรคประชาธรรม

พรรคประชาธรรมไม่ใช่ตัวหลักในแก้ปัญหา แต่พรรคประชาธรรมจะดึงทุกภาคส่วน คือ ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่อยู่ในมุมมืด ใครก็แล้วแต่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบหรือให้พรรคประชาธรรมขอเป็นเจ้าภาพ เพราะคิดว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น มันเกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น การเกิดขึ้นของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็เป็นประเด็นการเมือง เพราะเขาต้องการปกครองตนเอง

วิธีการแก้ปัญหาจะทำอย่างไร ?

พรรคประชาธรรมต้องการฉันทานุมัติจากประชาชน โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. และต้องการให้ได้ส.ส. ไม่จำเป็นต้องหลายคน อาจแค่คนเดียวก็ได้ เราก็จะอาสาเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหา ซึ่งพรรคประชาธรรมสามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นคนที่นี่ เกิดที่นี้และจะขอตายที่นี่ ส่วนพรรคอื่นๆ แม้เป็นพรรคใหญ่ แต่มาแล้วก็ไป

ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้พรรคไหนใหญ่ คนก็ไปพึงพรรคการเมืองนั้น เพราะตัวเองอยากเป็น ส.ส. มันก็ถูก แต่ทำไมประชาชนขาดความศรัทธา เพราะ ส.ส.ในพื้นที่ไม่เคยอยู่นิ่งทางการเมือง พยายามไปพึ่งคนอื่นตลอด

การใช้พรรคเป็นจุดขายจะชนะเลือกตั้งได้อย่างไร ในเมื่อคนที่นี่มักจะเลือกคนมากกว่าเลือกพรรคอย่างเช่นการเลือกตั้งที่ผ่านๆมา ?

พรรคประชาธรรมขอเป็นแกนกลาง ที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามา เพราะทุกพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งในโลกนี้ จะต้องมีคนกลางในการแก้ปัญหา ดังนั้นพรรคขอเสนอตัวเป็นแกนกลาง ไม่ว่าจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

พรรคประชาธรรมไม่ได้ให้ความสำคัญที่รูปแบบการแก้ปัญหา แต่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด บางพรรคเสนอเรื่องการตั้งทบวงบริหารกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือนโยบายมหานครปัตตานี หรือสานต่อ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่มีอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่คนที่คิดเรื่องเหล่านี้เป็นคนนอกพื้นที่ วันหนึ่งเขาก็ต้องทิ้งเรื่องนี้ไป

สำคัญที่ว่า คนที่นี่ไม่มีสิทธิคิดหรืออย่างไร รับแต่นโยบายจากส่วนบน เพราะกระบวนการจัดการ การบริหารที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาจากข้างบนลงมาสู่ข้างล่าง แต่พรรคประชาธรรมจะทำเวทีข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน

วันนี้พรรคประชาธรรม จะคิดโมเดล(รูปแบบ)ของตัวเองไม่ได้ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าประชาชนจะเอาอะไร คนไทยจะเอาอะไร คนไทยเชื้อสายจีนจะเอาอะไร คนมลายูจะเอาอะไร คือ ทุกภาคส่วนจะต้องมีเจ้าภาพในการสร้างสันติภาพ เราไม่อยากพูดแทนคนมลายู แต่เราจะเป็นเจ้าภาพในการดึงองค์กรต่างๆ มาสู่เวทีการสร้างอนาคตของตนเอง

ว่างเป้าหมายของการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร

พรรคประชาธรรม มีผู้สมัคร ส.ส. เกือบ 100% มาจากพื้นที่ 3 จังหวัดชาวแดนภาคใต้ โดยแบ่งเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ 25 คน และแบบแบ่งเขต 15 คน แต่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ส่งลงสมัคร ส.ส.ครบทุกเขต ทั้ง 11 เขต โดยตั้งเป้าว่าจะได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ 2 คน และจากแบบแบ่งเขต 3 คน

นโยบายอื่นๆ?

ได้แก่ ด้านสาธารณสุข คือ จะผลักดันสถานบริการสาธารณสุขระดับต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีการทำคลอดบุตรโดยแพทย์หญิงเท่านั้น ซึ่งคิดว่าถ้านายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง ก็จะยิ่งผลักดันเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น

ด้านความมั่นคง จะผลักดันให้ผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงให้สามารถประกันตัวได้ ด้านการศึกษา จะจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลอุสตาซ(ครูสอนศาสนาอิสลาม)ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และจะสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ

ในการหาเสียงจะใช้สโลแกน(คำพูดจูงใจ) ว่า “ผมเป็นเพียงผู้เริ่มต้น อนาคตของพรรคอยู่ที่ประชาชน”

คิดอย่างกับกำกล่าวที่ว่า เป็นพรรคไม้ประดับ เพราเป็นพรรคเล็กที่ต้องแข่งขันกับพรรคการเมืองใหญ่ๆ

ภาคภูมิใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่คนมลายู สามารถก่อตั้งพรรคการเมืองได้ เป็นการยกฐานะของคนมลายู จากอดีตที่คนมลายูไม่สามารถทำอะไรได้ทางการเมือง แต่ปัจจุบันพรรคประชาธรรมได้ก่อตั้งพรรคของคนมลายูขึ้นมา เพราะอนาคตของพรรคอยู่ประชาชน

พรรคประชาธรรมไม่ได้สนใจพรรคใหญ่ๆ เราสนใจแต่พรรคเล็กๆ ว่า แต่ได้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจ และขอจากอัลลอฮ์ให้พวกเราประสบความสำเร็จ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาพถ่ายดาวเทียมเปิดเผยให้เห็นค่ายกักกันนักโทษการเมืองในเกาหลีเหนือ

Posted: 09 Jun 2011 07:44 AM PDT

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตีพิมพ์ภาพถ่ายดาวเทียมของค่ายกักกันนักโทษการเมืองในเกาหลีเหนือ พร้อมทั้งคำให้การที่เผยให้เห็นถึงสภาพอันเลวร้ายภายในค่ายดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่ามีนักโทษอยู่ราว 200,000 คน

ภาพถ่ายเปิดเผยถึงตำแหน่ง ขนาดและสภาพแวดล้อมภายในค่ายกักกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งตั้งแต่ผู้ที่เคยถูกกักกันอยู่ในค่ายโยดอกไปจนถึงยามรักษาการณ์จากค่ายกักกันแหล่งอื่น เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตภายในค่าย

จากคำกล่าวของผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวที่ค่ายกักกันดังกล่าว นักโทษจะถูกบังคับให้ทำงานไม่ต่างจากทาส และถูกทารุณกรรมอยู่บ่อยครั้ง และได้รับการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม ผู้ถูกคุมขังทุกคนในค่ายโยดอกต่างเป็นประจักษ์พยานต่อการสังหารนักโทษภายในค่าย

“เกาหลีเหนือไม่สามารถปฏิเสธเรื่องนี้ได้อีก เป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่ทางการปฏิเสธการมีอยู่ของค่ายกักกันดังกล่าว” แซม ซาริฟิ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกล่าว

“มีสถานที่หลายแห่งบนโลกใบนี้ที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ ที่ซึ่งสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานกฎหมายสากลซึ่งเราพยายามรณรงค์ในช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมาไม่ได้รับการปกป้อง”

“เกาหลีเหนือกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผู้นำเป็นคิมจองอัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ความกังวลของเรา คือ ค่ายกักกันกำลังขยายพื้นที่มากขึ้น”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อว่าค่ายกักกันทางเมืองนี้มีมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1950s หรือราวปี 2493-2503 และเป็นที่รู้กันว่าเคยมีนักโทษเพียงแค่สามคนเท่านั้นที่หลบหนีออกจากค่ายได้สำเร็จในส่วนของพื้นที่เขตควบคุมเบ็ดเสร็จและหลบหนีออกนอกประเทศได้ ประมาณ 30 คนได้รับการปล่อยตัวจากส่วนพื้นที่เขตปฏิวัติในค่ายกักกันนักโทษการเมืองโยดอกและหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือเช่นกัน ซึ่งจากคำให้การของนักโทษที่เคยถูกคุมขังในค่ายกักกันดังกล่าว เชื่อว่าประมาณร้อยละ 40 ของนักโทษเสียชีวิตภายในค่ายเนื่องจากภาวะขาดสารอาหารในช่วงปี 2542-2544

ภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงค่ายกักกันประมาณ 4-6 ค่ายครอบคลุมบริเวณกว้างของพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัด เปียงอัน พื้นที่ทางตอนเหนือและใต้จังหวัดฮัมคยุง ซึ่งเป็นเขตการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เต้าเจี้ยว ขนมหวาน ไปจนถึงถ่านหินและซีเมนต์

ภาพเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ถ่ายได้ครั้งล่าสุดกับภาพถ่ายเมื่อปี 2544 แสดงให้เห็นถึงการขยายพื้นที่ค่ายกักกันที่กว้างขึ้นอย่างมาก

ในค่าย Kwanliso 15 ที่ค่ายโยดอก ผู้คนจำนวนหลายพันคนถูกจับกุมเนื่องจากสมาคมกับผู้กระทำผิด หรือเพียงแค่ญาติของพวกเขาถูกจับกุมไปก่อนหน้านั้น

นักโทษส่วนใหญ่ รวมถึงนักโทษที่โดนจับกุมเพราะสมาคมกับผู้กระทำผิดจะถูกควบคุมตัวในส่วนของเขตควบคุมเบ็ดเสร็จซึ่งนักโทษในส่วนนี้จะไม่มีทางได้รับการปล่อยตัว

ที่น่าตกใจก็คือ ผู้คนจำนวนมากที่ถูกส่งไปยังค่ายกักกันเหล่านี้ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตนเองถูกตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องอะไร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พูดคุยกับ คิม อดีตนักโทษของค่ายกักกัน Kwanliso 15 ในค่ายโยดอกเขากล่าวว่า ทุกคนที่ Kwanliso เป็นพยานเห็นการสังหาร คนที่พยายามหลบหนีเมื่อถูกจับได้จะถูกสอบปากคำเป็นเวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นก็จะถูกฆ่าทิ้ง

Jeong Kyoungil นักโทษอีกหนึ่งรายที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์ในกรุงโซลในเดือนเมษายน 2554 เขาถูกจับกุมครั้งแรกเมื่อปี 2542 และถูกคุมขังอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543-2546

“นักโทษ 30-40 คนถูกบังคับให้นอนในห้องขนาด 50 ตารางเมตร เราถูกบังคับให้นอนบนแผ่นไม้กระดานโดยมีผ้าห่มปกคลุม แต่ละวันจะเริ่มต้นการทำงานตั้งแต่ตีสี่ไปจนถึงเจ็ดโมงเช้า ซึ่งเรียกว่ากะก่อนอาหาร อาหารเช้าเริ่มตอนเจ็ดโมงถึงแปดโมง แต่อาหารแต่ละมื้อก็แค่โจ๊กที่ทำมาจากข้าวโพด หลังจากนั้นก็จะเป็นการทำงานกะเช้า ตั้งแต่แปดโมงจนถึงเที่ยง และอาหารกลางวันตั้งแต่เที่ยงจนถึงบ่ายโมง และบ่ายโมงจนถึงสองทุ่มคือกะเย็น อาหารเย็นช่วงสองทุ่มถึงสามทุ่ม หลังจากสามทุ่มถึงห้าทุ่มจะเป็นชั่วโมงเล่าเรียนอุดมการณ์ ซึ่งถ้าพวกเราจำกฎ 10 ข้อที่เราโดนบังคับให้ท่องไม่ได้ เราก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้านอน นี่คือตารางประจำวันของนักโทษ”

 “โจ๊กข้าวโพด 200 กรัมซึ่งปรุงอย่างหยาบๆ จะให้เฉพาะนักโทษที่ทำงานเสร็จเท่านั้น ถ้าเกิดทำงานไม่เสร็จก็ไม่ได้รับอาหาร งานประจำที่ต้องทำทุกวัน คือ กำจัดวัชพืชที่ขึ้นรกในทุ่ง ทุกคนจะโดนสั่งให้กำจัดวัชพืชในทุ่งซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1157 ตารางเมตร และคนที่ทำงานเสร็จเท่านั้นที่จะได้รับอาหาร ถ้าเราทำงานเสร็จแค่ครึ่งเดียว เราก็จะได้รับอาหารแค่ครึ่งเดียว”

“การเห็นคนตายอยู่เป็นประจำแทบทุกวันไม่ใช่เรื่องแปลก มันไม่เหมือนกับสังคมปกติ พวกเรายินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่รู้สึกเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าเรานำศพคนตายไปฝัง เราก็จะได้รับอาหารเพิ่มอีกถ้วยหนึ่ง ผมเคยมีหน้าที่รับผิดชอบฝังศพคนตาย เมื่อเจ้าหน้าที่ออกคำสั่ง ผมรวบรวมผู้คนและช่วยกันฝังศพ หลังจากทำงานเสร็จ เราก็จะได้รับอาหารเพิ่มตามสัญญา พวกเราดีใจมากกว่าที่จะเสียใจครับ”

เป็นที่รู้กันว่าทางการเกาหลีเหนือใช้กรงทรงลูกบาศก์ในการกักขังทรมานนักโทษ นักโทษที่โดนขังในกรงดังกล่าวไม่สามารถยืน หรือนอนในกรงได้ นักโทษที่กระด้างกระเดื่องจะถูกกักขังอยู่ในกรงประมาณหนึ่งสัปดาห์ แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สืบทราบมาว่า มีกรณีที่เด็กถูกขังอยู่ในกรงดังกล่าวเป็นระยะเวลา 8 เดือน

ในค่ายกักกันส่วนใหญ่ ไม่มีเครื่องนุ่มห่มให้นักโทษต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บในฤดูหนาว นักโทษต้องทำงานเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง เป็นงานที่ใช้แรงงานอย่างหนักและไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น

อาหารในค่ายกักกันขาดแคลนอยู่เสมอ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับการรายงานว่า มีหลายครั้งที่นักโทษกินหนูหรือคุ้ยหาเศษเมล็ดข้าวโพดจากมูลสัตว์เพื่อความอยู่รอด แม้จะเสี่ยงต่อการถูกจับได้ คนที่ถูกจับได้จะถูกแยกขังเดี่ยวหรือถูกทรมาน

“ผู้คนนับแสนมีชีวิตอยู่โดยไม่มีสิทธิใดๆ โดนปฏิบัติเยี่ยงทาส ถือได้ว่าเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่เราบันทึกได้ในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา” แซม ซาริฟี กล่าว

“สภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายกักกันเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม และคิมจองอิลจะต้องปิดค่ายดังกล่าวโดยเร็วที่สุด”

 

 

รายงานข่าวใน VOICE TV
http://news.voicetv.co.th/global/9514.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำเตือนถึงอภิสิทธิ์: โปรดอย่าปล่อยให้ศาลโลกแปลคำผิด

Posted: 09 Jun 2011 07:14 AM PDT

ที่มา: http://www.facebook.com/verapat.pariyawong

ผู้เขียนขอส่งคำเตือนด้วยความปรารถนาดีไปยังรัฐบาลรักษาการและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้รอบคอบว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กำลังเข้าใจจุดยืนไทยผิดหรือไม่?

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 หนังสือพิมพ์ประชาไทได้เผยแพร่บทความเรื่อง “คำถามถึงอภิสิทธิ์ ทำไมทะเลาะกับเขมรแทบตาย เพื่อกลับไปที่เดิม?” โดย ผศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35327  ผู้เขียนเห็นว่าบทความดังกล่าวมีข้อคิดที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในแง่การให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในอดีต และการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศอย่างมีสติและจิตวิทยา

กระนั้นก็ดี ด้วยความเชื่อมั่นในน้ำใจความเป็นนักวิชาการของ ผศ. ดร. พวงทอง ผู้เขียนพึงเสนอความเห็นแย้งต่อบทความดังกล่าวอย่างน้อยสองประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก: “ขอบเขต” ปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่สิ่งเดียวกันหรือส่วนหนึ่งของ “เขตแดน” ไทย-กัมพูชา
บทความของ ผศ. ดร. พวงทอง สื่อให้เห็นว่า ศาลโลกอาจแปลคำพูดของไทยผิด หรือไม่ก็อาจแปลให้มีผู้อ่านเข้าใจผิดได้ ดังนี้

ผศ. ดร. พวงทองกล่าวถึงถ้อยแถลงของไทย ณ ศาลโลก เมื่อวันที่ 30-31 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า:

“[นายวีรชัย พลาศรัย] แถลงว่า ‘ประเทศไทยมีความสม่ำเสมอในจุดยืนของตนที่ยอมรับคำตัดสินของศาลเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 และได้ปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าวอย่างสมบูรณ์’ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากศาลมีคำตัดสินออกมา คณะรัฐมนตรี (ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ได้จัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.ค. เพื่อกำหนดพื้นที่ของพระวิหารให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาล ต่อมาในวันที่ 19 ก.ค. ฝ่ายไทยได้จัดทำรั้ว [ลวดหนาม] ขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.ค. เพื่อเป็นเครื่องหมายเขตแดนของพระวิหาร และฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับเส้นเขตแดนดังกล่าวตลอด 40 ปีที่ผ่านมา”

จากนั้น ผศ. ดร. พวงทอง ตั้งข้อสังเกตโดยกล่าวเชิงสรุปว่า:

“คำแถลงของฝ่ายไทยชี้ว่านับแต่ปี 2505 เป็นต้นมา ฝ่ายไทยได้ยึดรั้ว [ลวดหนาม] ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร”

เนื่องจากมิได้มีการระบุเอกสารอ้างอิงไว้ ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า ผศ.ดร.พวงทอง อ้างถ้อยคำจากเอกสารบันทึกของศาลCR 2011/14 หน้า 12 ในส่วนที่นายวีรชัย พลาศรัย กล่าวเป็นถ้อยคำภาษาฝรั่งเศส ความว่า:

“10. Le 19 juillet, des travaux commencèrent pour ériger une clôture en fil de fer barbelé et un panneaumarquant la limite de la zone du temple, conformément à la ligne qui avait été retenue par le conseil des ministres du 10 juillet aux fins de l’exécution de l’arrêt de 1962. Vers le 5 août, les travaux furent terminés” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

ศาลโลกได้แปลเอกสาร CR 2011/14  เป็นฉบับ uncorrected (ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยคู่ความ) ซึ่งเอกสารแปลหน้าที่ 4 ได้แปลถ้อยคำภาษาฝรั่งเศสของนายวีรชัย พลาศรัยข้างต้น เป็นภาษาอังกฤษดังนี้:

“On 19 July, work began to erect a barbed wire fence and a sign marking the boundary of the Templearea, according to the line which had been adopted by the Council of Ministers on 10 July for the purposes of implementing the 1962 Judgment. The work was completed by around 5 August.” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

หากข้อสันนิษฐานถูกต้อง ผู้เขียนจำต้องทำความเห็นแย้งว่า ลวดหนามที่ ผศ. ดร. พวงทอง อธิบายว่าเป็น “เครื่องหมายเขตแดนของพระวิหาร” และเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร” นั้น เป็นการแปลถ้อยคำที่คลาดเคลื่อนในทางกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ตรงกับสิ่งที่นายวีรชัยเรียกว่า “la limite de la zone du temple” ดังนี้:

1. ในบริบทคดีปราสาทพระวิหาร คำว่า “เขตแดน” เป็นคำเฉพาะในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ต่างจากคำว่า “la limite” ในภาษาฝรั่งเศสที่นายวีรชัยใช้ ซึ่งมีความหมายยืดหยุ่นกว่า กล่าวคือ “la limite” ในทางหนึ่งอาจแปลโดยเจาะจงว่า “เขตแดน” กล่าวคือเขตที่ถูกกำหนดเพื่อบ่งชี้หรือแบ่งดินแดนของรัฐหรือดินแดนอื่นในทางกฎหมาย แต่ในอีกทางหนึ่ง คำว่า “la limite” คำเดียวกันนี้ยังสามารถแปลอย่างทั่วไปได้ว่า “ขอบเขต” คือเขตที่กำหนดจุดสิ้นสุดของบริเวณหรือสถานที่ เช่น ขอบเขตของวัดนั้นสิ้นสุดที่กำแพงวัด

2. ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่นายวีรชัยในฐานะตัวแทนประเทศไทยเรียกว่า “la limite de la zone du temple” นั้นหมายถึง “ขอบเขตของตัวปราสาทพระวิหาร” ซึ่งในทางกฎหมายไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ตามที่ ผศ. ดร. พวงทองกล่าวถึง  ถามว่าเป็นเพราะอะไร ตอบได้ว่า:

2.1 เขตแดนที่มีการกล่าวถึงในบริบทของคดีนี้คือเขตแดนของรัฐ ประสาทพระวิหารเป็นเพียงวัตถุ ไม่อาจมีเขตแดนของตนเองในทางกฎหมายได้

2.2 ไทยและกัมพูชาไม่เคยทำข้อตกลงเรื่องเขตแดนหรือขอบเขตเฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหาร มีแต่อนุสัญญาเรื่องเขตแดนสมัยที่สยามทำกับฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ได้กล่าวถึงปราสาทพระวิหารไว้ ดังนั้น “เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร” จะมีอยู่หรือไม่อย่างไรจึงต้องว่าไปตาม อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ

2.3 ศาลโลกไม่เคย “วินิจฉัย” (adjudge) ว่าเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาคือเส้นใด คำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 เพียงแต่วินิจฉัยผูกพันไทยว่า อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ ส่งผลให้ประสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนกัมพูชา จริงอยู่ว่าการที่ศาลวินิจฉัยเช่นนั้นศาลได้นำ “แผนที่ภาคผนวก 1” มา “พิจารณา” แต่ศาลเองก็ย้ำในคำพิพากษาว่า “การพิจารณาแผนที่” มิใช่ “การวินิจฉัย” ว่าเส้นเขตแดนหรือแผนที่ใดผูกพันไทยหรือไม่ เพราะศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะ “วินิจฉัย” เรื่องเขตแดน

2.4 การจะตอบว่าเส้นเขตแดนที่แท้จริงคือเส้นใด ต้องว่าไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ และข้อตกลงอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของการตีความสนธิสัญญาในสมัยปัจจุบัน ผู้มีอำนาจตีความคือไทยและกัมพูชา (ยกเว้นไทยและกัมพูชาจะมอบอำนาจให้ศาลตีความ) ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องสนธิสัญญาเปิดช่องให้ไทยและกัมพูชาตีความได้แตกต่างจาก “แนวพิจารณา” ของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 (ซึ่งศาลโลกย้ำเองว่าไม่ผูกพันไทย).

(ประเด็นเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนในทางกฎหมาย และอาจเกิดความสับสนได้ง่าย ผู้เขียนได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ที่https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962#TOC-17)

3. การจะกล่าวว่า ผศ.ดร.พวงทอง เข้าใจคลาดเคลื่อนไปฝ่ายเดียวก็คงไม่เป็นธรรมนัก เพราะนิติกรศาลโลกเองก็แปลเอกสาร CR 2011/14  ฉบับ uncorrected อย่างไม่ถี่ถ้วน โดยในหน้า 12 นิติกรได้แปลคำฝรั่งเศส “la limite” เป็นอังกฤษว่า “boundary” ที่ว่าแปลไม่ถี่ถ้วน “boundary” เองแม้โดยทั่วไปจะสื่อความหมายถึง “เขตแดน” แต่ก็มีความหมายกว้างพอที่จะหมายถึง “ขอบเขต” ได้ ซึ่งต่างไปจากคำอื่น เช่น คำว่า “frontier” (พรมแดน) ซึ่งมีนัยในทางเขตแดนที่ชัดเจนกว่า.

4. ที่สำคัญที่สุด ที่ว่านิติกรศาลโลกไม่ถี่ถ้วนนั้น เป็นเพราะว่าตลอดการแถลงคดีทั้งสองวัน ตัวแทนและทนายความฝ่ายไทยเองต่างก็ได้แถลงคำพูดทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่า คำว่า “เขตแดน” ฝ่ายไทยเลือกใช้คำฝรั่งเศสว่า “la frontière” คู่กับคำอังกฤษว่า “boundary” (ตัวอย่าง ดู CR 2011/14 หน้า 12 ย่อหน้าที่ 8, หน้า 15 ย่อหน้าที่ 12, หน้า 19 ย่อหน้า ที่ 33, หน้า 28-30 ฯลฯ) ทั้งนี้ นายวีรชัยก็ได้ย้ำจุดยืนของไทยอีกครั้ง เช่น ตามบันทึกเอกสาร CR 2011/16 หน้าที่ ใน 25-26 ว่า คำพิพากษาปี พ.ศ. 2505 ไม่ได้ตัดสินเรื่อง “เขตแดน” แต่อย่างใด แนวของลวดหนาม หรือ “la limite” เป็นเพียงเส้นปฏิบัติการตามคำพิพากษาที่นำมาใช้ระหว่างกระบวนการจัดทำเขตแดนยังไม่สิ้นสุด

5. ในทางกลับกัน หากผู้ใดหลงแปลคำว่า “la limite” ว่า “เขตแดน” แล้ว ก็อาจสับสนว่าไทยยอมรับ “เขตแดน” ไปแล้ว และพูดจาขัดกันเองหรือไม่ อาจเป็นการเสียรูปคดีในที่สุด
 
6. ข้อที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า คำว่า “la limite” ในเอกสาร CR 2011/14 หน้าที่ 12 นั้น มิได้หมายถึง “เขตแดน” หรือ “boundary” ตามที่ผศ.ดร.พวงทองเข้าใจ ส่วนคำว่า “boundary” ที่นิติกรศาลโลกใช้ ก็เป็นการแปลถ้อยคำอย่างไม่รอบคอบ อีกทั้งรัฐบาลไทยเองก็น่าจะนำกรณีดังกล่าวไปทบทวนการใช้ถ้อยคำให้ระมัดระวังมากขึ้น หากจะต้องมีการใช้ถ้อยคำลักษณะดังกล่าวในอนาคต
 
เมื่อบัดนี้มีผู้นำถ้อยคำ “la limite-boundary-เขตแดน” มากล่าวอ้างในสื่อมวลชนแล้ว อีกทั้งคำว่า “boundary” ที่นิติกรศาลใช้ก็ดูสุ่มเสี่ยง ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายก็ขอแนะนำให้รัฐบาลไทยตรวจสอบคำแปลคำแถลงที่จัดทำโดยนิติกรศาลโลกอย่างละเอียด แม้จะเป็นเพียงเอกสารที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ (uncorrected) ก็ตาม เพราะไทยก็มิอาจนิ่งนอนใจว่า จะมีผู้พิพากษาศาลโลกท่านใดที่ไม่ชำนาญภาษาฝรั่งเศสและนำคำแปลภาษาอังกฤษที่นิติกรแปลอย่างไม่รอบคอบไปพิจารณาหรือไม่ หรือฝ่ายกัมพูชาจะนำไปใช้อ้างต่อไปอย่างไร หากจำเป็นไทยก็สามารถแสดงท่าทีที่ชัดเจน เช่น ท้วงติงเอกสารคำแปลว่า “la limite de la zone du temple” มิใช่ “เขตแดน (boundary) ในบริเวณปราสาทพระวิหาร”  แต่หมายถึง “ขอบเขต (limit) ของบริเวณปราสาทพระวิหาร” เป็นต้น.
 
ประการที่สอง การ “สงวนสิทธิ์” เป็นได้มากกว่าเครื่องมือหากินทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ
ผศ. ดร. พวงทองกล่าวว่า:
 
“คำพูดเรื่อง ‘สงวนสิทธิ์’ ที่จะเอาพระวิหารคืนมานั้น มีที่มาจากจอมพลสฤษดิ์ และจดหมายที่นายถนัด คอมันตร์ รมต.กต. มีถึงเลขาธิการยูเอ็น แต่การพูดแบบนี้เมื่อปี 2505 ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะยังมีอายุความอยู่ แต่เมื่ออายุความหมดไปตั้งเกือบ 40 ปีแล้ว โดยที่ไทยไม่เคยพยายามรื้อฟื้นคดีในช่วงที่ผ่านมาเลย มันย่อมเป็นได้แค่เครื่องมือหากินทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ”
 
ผู้เขียนไม่ขอโต้เถียงว่าเคยมีใครใช้เรื่อง “สงวนสิทธิ์” มาเป็นเครื่องมือหากินทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบหรือไม่ แต่หากมีผู้ทำจริง ก็ต้องขอชื่นชม สนับสนุน และเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่นำประเด็นมาตีแผ่และเตือนสติให้แก่สังคม
 
กระนั้นก็ดี ผู้เขียนจำต้องแย้งว่าการ “สงวนสิทธิ์” เอาปราสาทพระวิหารคืนมาตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น “เป็นไปได้” ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ การสงวนสิทธิในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องการขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาหรืออายุความเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสงวนอย่างทั่วไป ต่อเนื่อง และไม่มีระยะเวลาจำกัด ที่ผ่านมาไม่มีนักกฎหมายอธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดเจน แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้เขียนจะขอยกกรณีที่เป็นไปได้ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ (ซึ่งแม้เป็นกรณีสุดวิสัยและเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังเป็นไปได้) ให้เป็นตัวอย่างพอสังเขปดังนี้
 
ตัวอย่างแรก เป็นเรื่องหลักการได้มาซึ่งอธิปไตยเหนือดินแดนทั่วไป เช่น หากในอนาคต มีสถานการณ์หรือเหตุที่ทำให้กัมพูชาไม่ใส่ใจที่จะครอบครองปราสาทพระวิหาร หรือสละการครอบครองปราสาทพระวิหาร หรือมีเหตุตามกฎหมายทำให้สงสัยได้ว่าบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารถือเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ (terra nullius) การประพฤติปฏิบัติของไทย  เช่นการ “สงวนสิทธิ์” ย่อมเป็นข้อสนับสนุนการอ้างสิทธิ (claim) การได้มาซึ่งอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารตามกฎหมาย เช่น ในดคีศาลโลกระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซีย มีการโต้เถียงทำนองเดียวกันว่า โขดหินในทะเลที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิไม่ชัดเจนนั้นเป็นของใคร (ICJ Reports 2008)
 
ตัวอย่างที่สองเป็นกรณีที่การใช้อำนาจตามหมวดที่ 7 (Chapter 7) ประกอบกับข้อ 2 (7) และ ข้อ 103 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ เช่น กรณีที่สถานการณ์ไทยและกัมพูชาทวีความรุนแรงจนกระทบถึงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) อาจมีมาตรการตามความจำเป็นเพื่อปกป้องรักษาสันติภาพและความมั่นคงดังกล่าว ซึ่งไทยและกัมพูชามีหน้าที่ตามกฎหมายต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ไม่มีข้อห้ามในทางกฎหมายที่จะห้ามมิให้มีมาตรการเกี่ยวกับตัวปราสาทพระวิหาร หากมาตรการนั้นมีความจำเป็นและชอบธรรม ในเรื่องการพิจารณาความชอบธรรมของมาตรการนั้น ส่วนหนึ่งย่อมขึ่นอยู่กับว่าไทยได้สงวนสิทธิทวงคืนปราสาทพระวิหารและโต้แย้งคำพิพากษาศาลโลกอย่างชอบธรรมมาโดยตลอดหรือไม่
 
แม้จะไม่มีหลักประกันใดว่าการสงวนสิทธิจะก่อให้เกิดสิทธิ ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐบาลพึงระวังสงวนสิทธิไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ในอนาคตอย่างแยบยลและถูกกาลเทศะ หากแต่มิใช่เป็นเงื่อนไขที่ขัดขวางโอกาสสร้างประโยชน์ร่วมกันในปัจจุบัน หรือเป็นเครื่องมือหากินกับประชาชน
 
บทย่อและบทวิเคราะห์คดีปราสาทพระวิหารฉบับเต็ม อ่านได้ที่https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำเตือนถึงอภิสิทธิ์: โปรดอย่าปล่อยให้ศาลโลกแปลคำผิด

Posted: 09 Jun 2011 07:10 AM PDT

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฟผ.-ชาวบ้าน เจรจายอมความไม่ฟ้องคดี จากเหตุปะทะค้านวางแนวสายส่งไฟฟ้า

Posted: 09 Jun 2011 07:03 AM PDT

กสม.จัดประชุมหาทางออก กรณีความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเหตุการณ์ค้านวางโครงข่ายไฟฟ้า น้ำพอง 2 –อุดรธานี 3 ชาวบ้าน-กฟผ.ตกลงร่วมทำบันทึกประจำวันไม่เอาความต่อกัน นัดนายอำเภอ และ กสม.เป็นพยาน 13 มิ.ย.นี้

 
ภาพ: เหตุการณเมื่อวันที่ 27 พ.ค.54 กลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.เข้าดำเนินการในพื้นที่จนนำไปสู่การจับกุมชาวบ้านและนักศึกษาจำนวน 15 คน
 
วันนี้ (9 มิ.ย.54) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มีการเชิญ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมทั้งชาวบ้านและนักศึกษา เข้าประชุมชี้แจง ตลอดจนหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับความรุนแรงและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเหตุการณ์วันที่ 27 พ.ค.54 จากกรณีการก่อสร้างฐานรากและตั้งเสาไฟฟ้าในโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 –อุดรธานี 3 ในท้องที่ ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี และ ต.หนองไผ่ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ซึ่งถูกกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.เข้าดำเนินการในพื้นที่จนนำไปสู่การจับกุมชาวบ้านและนักศึกษาจำนวน 15 คน
 
สืบเนื่องจาก กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียน และติดตามประเด็นปัญหาจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงว่า กฟผ.มีแผนการจะเข้าดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพืชผล ในพื้นที่ที่จะก่อสร้างฐานรากและตั้งเสาไฟฟ้าในโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.54 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีข้อกังวลในการเข้าดำเนินการก่อสร้าง โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นพ.นิรันด์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่าไม้ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือ และมีความเห็นขอให้ กฟผ.ชะลอการดำเนินการก่อสร้างโครงการไว้ก่อน เนื่องจากยังมีประเด็นการฟ้องร้องต่อศาลปกครองซึ่งยังไม่มีคำวินิจฉัย อีกทั้งมีการประเมินสถานการณ์ว่า การดำเนินการของ กฟผ.จะทำให้เกิดความขัดแย้ง มีการปะทะรุนแรง และนำมาซึ่งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานผลการพูดคุยว่า ในประเด็นเรื่องคดีความ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ค.54 ทั้งฝ่ายชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ กฟผ.ตกลงร่วมกันไปทำบันทึกประจำวันไม่เอาความกันทั้งสองฝ่าย ที่พนักงานสอบสวน โดยจะมีนายอำเภอ และ ตัวแทนจาก กสม.เข้าร่วมเป็นพยาน ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 13 มิ.ย.54 ทั้งนี้ ในส่วน กฟผ.รับว่าจะทำหนังสือว่าไม่เอาความกับชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านรับว่าจะทำหนังสือว่าจะไม่แจ้งความกลับต่อ กฟผ.จากเหตุการณ์ในวันนั้นเช่นกัน  
 
อนึ่ง การแจ้งข้อกล่าวหาต่อชาวบ้านและนักศึกษาจำนวน 15 คนว่า ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ส่วนประเด็นเรื่องค่าทดแทน ตัวแทนจาก กกพ.ยืนยันว่าหลังจากที่พิจารณาอุทธรณ์ค่าทดแทนไปแล้ว กกพ.ก็หมดหน้าที่ แต่นายอภินันท์ บุญญเศรษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายที่ดิน กฟผ.กล่าวว่าในส่วนของ กฟผ.สามารถยืดหยุ่นหรือเพิ่มค่าเสียหายได้จากตามระเบียบเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามจะมีการนัดเจรจาสามฝ่ายในพื้นที่พิพาท เพื่อกำหนดค่าทดแทนรายคน รวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ จากการดำเนินการของ กฟผ.ต่อไป 
 
ในส่วนของรายงานผลการตรวจสอบโดยละเอียดอยู่ระหว่างการจัดทำ ของกองเลขา กสม.
 
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเสาและวางแนวสายไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 –อุดรธานี 3  มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 86.8 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากสถานีไฟฟ้าย่อยน้ำพอง 2 (จ.ขอนแก่น) ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยอุดรธานี 3 พาดผ่านพื้นที่ 15 ตำบล 8 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น และอุดรธานี มีจำนวนเสาทั้งหมด 210 ต้น ที่ดินได้รับผลกระทบจำนวน 1,167 แปลง ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านยังไม่ยินยอมเหลืออยู่ 16 ราย คิดเป็นที่ดิน 26 แปลง และเสา 3 ต้น ในพื้นที่ ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี และ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดร
 
โครงการก่อสร้างดังกล่าวเชื่อมโยงระบบมาจากการรับซื้อไฟฟ้าในประเทศลาว คือ สายส่งไฟฟ้า 500 kv ชายแดน (บริเวณจ.หนองคาย) – อุดรธานี3 และเชื่อมต่อไปยังน้ำพอง 2 – ชัยภูมิ 2 - ท่าตะโก (จ.นครสวรรค์) ซึ่งการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้านี้อยู่ในโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 11 มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 - 2554 โดย กฟผ.เป็นผู้ดำเนินโครงการ และมีแผนที่จะให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"โฆษก ปชป." ลั่นจะตรวจสอบ "หมู่บ้านเสื้อแดง" เอี่ยวฝึกก่อวินาศกรรมหรือไม่

Posted: 09 Jun 2011 05:49 AM PDT

ส่วน "วิฑูรย์ นามบุตร" ชี้มีบ้านเสื้อแดงในภาคอีสานไม่มาก 100 หลังจะมีราว 10 หลังคาเรือนเท่านั้น และมักส่งเสียงดัง เชื่อคนส่วนใหญ่ในอีสานไม่ได้เป็นเสื้อแดง ชี้ยิ่งคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวรุนแรงจะยิ่งเสียคะแนน และประชาธิปัตย์จะหาเสีงง่ายขึ้น

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อ 8 มิ.ย. ว่า นายวิฑูรย์ นามบุตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนว่า ในฐานะรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งในอีสาน ยอมรับว่ามีเครือข่ายของคนเสื้อแดงในภาคอีสานจริง แต่มีเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ใน 1 หมู่บ้าน มี 100 หลังคาเรือน จะมีเสื้อแดงอยู่ราว 10 หลังคาเรือนเท่านั้น และคนเสื้อแดงก็ไม่ได้เป็นคนส่วนใหญ่ในภาคอีสาน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อยากยุ่งกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง ส่วนใน จ.อุดรธานี มีหมู่บ้านเสื้อแดงจำนวนมากนั้น ก็มีเฉพาะบางพื้นที่ เพราะยังมีคนที่อยู่ตรงกลางอีกจำนวนมาก แต่คนเหล่านี้เสียงไม่ดังเท่าคนเสื้อแดงที่พยายามเคลื่อนไหวในแนวทางต่างๆ จนเกิดเสียงดัง

"ยืนยันว่าคนส่วนใหญ่ในอีสานไม่เห็นด้วยกับแนวทางเคลื่อนไหวสร้าง ความวุ่นวาย และต่อต้านแนวทางของคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ ยิ่งเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวรุนแรงมากเท่าไร จะยิ่งเสียคะแนน และพรรคประชาธิปัตย์จะหาเสียงได้ง่ายขึ้น การกำเนิดหมู่บ้านเสื้อแดงในอีสานจะไม่มีผลต่อการหาเสียง และผลการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ เรายังตั้งเป้ากวาด ส.ส.อีสานให้ได้เพิ่ม 10-15 ที่นั่งเหมือนเดิม" นายวิฑูรย์กล่าว

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษก ปชป. กล่าวกรณีสำนักข่าวรอยเตอร์นำเสนอข่าวหมู่บ้านเสื้อแดงในภาคอีสานว่า ในวันที่ 14 มิถุนายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า ปชป. จะให้สัมภาษณ์สำนักข่าวที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าว ส่วนเรื่องอื่นจะตรวจสอบความเชื่อมโยงทั้งเส้นทางการเคลื่อนไหว การฝังตัวในหลายพื้นที่ที่เคยมีการเคลื่อนไหวในการก่อวินาศกรรมคือบริเวณที่ เคยมีการฝึก และมีโรงเรียน นปช.บางแห่งในอดีตที่มีการฝึก เช่น เอาผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมันมาประกอบระเบิด เป็นต้น
 
"เป็นเรื่องที่หน่วยงานความมั่นคงจะต้องดูแล ไม่ให้การเคลื่อนไหวเหล่านี้กระทบต่อการหาเสียง แต่เป็นเพียงบางแห่งบางพื้นที่ และประชาชนในหมู่บ้านไม่ได้สนับสนุน แต่มีการเคลื่อนตัวของแกนนำหัวรุนแรงอยู่ และสิ้นสุดตรงที่การเผาศาลากลางจังหวัด" นพ.บุรณัชย์กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สตาฟฟ์ หยุดเผด็จการ”

Posted: 09 Jun 2011 03:11 AM PDT

ชื่อของบทความมีที่มาจากข้อความบนป้ายต่อต้านการรับน้องที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ที่กำลังเผยแพร่ไปทั่วในอินเทอร์เน็ตตอนนี้ ซึ่งจะว่าเป็นเรื่องใหม่ก็คงไม่ใช่ เพราะการต่อต้านการรับน้องแบบรุนแรงนั้น ไม่ใช่เพิ่งมี กลุ่มโซตัสใหม่ของนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบรับน้องดิบๆ แบบนี้ ก็มีมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2512

ครั้งนี้ถ้าจะใหม่หน่อยตรงที่มันเร้าใจกว่า เพราะเป็นข่าวผ่าน Youtube และ/หรือ Facebook เรียกว่า น้องเป็นลมกันเห็นๆ คำพูดน้ำเสียงของรุ่นพี่แสดงสติปัญญาขนาดไหนก็ได้ยินกันตรงๆ เรียกว่าเหมือนกำลังดูรายการ Thailand’s got Tyrant กันเลยทีดียว 

และอีกอย่างคือ เรื่องอย่างนี้ถ้าไม่ได้พื้นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งทำให้คนที่มีแค่มือถือก็สร้างเนื้อข่าวได้เอง ป้ายที่ว่าคงไม่มีโอกาสให้คนนอกได้เห็นแน่นอน  เพราะสื่อปกติอย่างหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ไม่นิยม ข่าวมันไม่แรง ไม่ดราม่า ไม่เหมือนข่าวเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่ นิสิตชั้นปี 1 คณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ใช้ปืนยิงตัวตาย เพราะเครียดจากกิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัย

ตอนนั้นประเพณีการรับน้องในทุกมหาวิทยาลัยก็ถูกตัดคอเรียบร้อย ไม่ว่าจะโดยความยินยอมพร้อมใจหรือไม่ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.) ออกคำสั่งห้ามทุกมหาวิทยาลัยจัดการรับน้องโดยเด็ดขาด ท่าทีของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ก็ดัง และรุนแรง เหมือนเสียงขู่ และ “ว้าก” ที่สนั่นห้องประชุมเชียร์ เล่นเอาผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ต่างหัวหดก้มหน้าติดพื้นกันเป็นทิวแถว

ปัญหาการรับน้องก็เหมือนกับอีกหลายปัญหาที่เหง้าอยู่ใต้ดินที่เมื่อเลยช่วงประเด็นร้อน “ตอนนั้น” มันก็จะโผล่มา “ตอนนี้”

การรับน้องหรือรับเพื่อนในนิยามของบางมหาวิทยาลัย มักผูกอยู่กับการซ้อมเชียร์ตามระบบโซตัส (SOTUS) ซึ่งเน้นให้มี การเชื่อฟังคำสั่ง(Order: O) ของผู้มีอาวุโส (Seniority: S) แบบตามๆ กันไป (Tradition: T) อย่างพร้อมเพียงเป็นหนึ่งเดียว (Unity: U) ด้วยความเสียสละทั้งกายใจ (Spirit: S) ซึ่งตัวแปรทั้ง 5 นี้หากเราแก้สมการออกมาก็ได้ผลลัพธ์เป็นอำนาจนิยมแบบอนุรักษ์นิยมนั่นเอง

ระบบโซตัสนั้นเกิดขึ้นจากระบบอาวุโสในโรงเรียนกินนอนของอังกฤษ ในมหาวิทยาลัยเช่น อ็อกฟอร์ด และเคมบริดจ์ รวมทั้งโรงเรียนนายร้อย แซนด์เฮอสท์ ( Sandhurst) ซึ่งใช้เพื่อฝึกคนไปปกครองอาณานิคม จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกา ระบบนี้เข้ามาในประเทศไทย เมื่อมีการก่อตั้งวชิราวุธวิทยาลัยตามแบบโรงเรียนกินนอนในอังกฤษ และการตั้งโรงเรียนนายร้อยสำหรับฝึกทหารและตำรวจ เพื่อส่งคนไปปกครองตามหัวเมือง หรืออดีตอาณานิคมของไทย ส่วนในมหาวิทยาลัยระบบโซตัสเริ่มขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปลี่ยนมาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการส่งอาจารย์รุ่นแรก ๆ ไปเรียนด้านการเกษตรที่ สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์

จากข้างต้นทำให้เห็นว่าระบบโซตัสเป็นประดิษฐกรรมคร่ำครึ ที่เปลือกยังถูกนำมาใช้ในมหาวิทยาลัยอย่างผิดยุคผิดสมัย

ถึงจะผิดหวังกับวุฒิภาวะและปัญญาความคิดอ่านของนักศึกษาอาณานิคมเหล่านี้ แต่รุ่นพี่ทั้งหลายก่อนจะเปิดเทอมใหม่ให้มีรุ่นน้องมารับ ก็เรียกได้ว่ายังเป็นเด็กปีหนึ่งจะขึ้นปีสอง ต่อให้เจ้าตัวนึกว่ากลายเป็นผู้ใหญ่ข้ามคืนในเทอมใหม่ แต่จริงๆ ก็เป็นเด็ก(ปีหนึ่ง)เมื่อวานซืนดีๆ นี่เอง

แทนที่จะตั้งคำถามกับเด็กนักศึกษา เราจึงน่าจะตั้งคำถามให้มากกว่ากับอาจารย์ มหาวิทยาลัย หรืออาจเลยไปถึงสังคมไทย เพราะพิธีกรรม ความเชื่อ กิจกรรมต่างๆ ย่อมอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่สอดคล้องกับระบบ หรือแนวคิดที่มีอยู่ โดยเฉพาะบางที ก็เป็นแนวคิดอนุรักษนิยมที่เร้นอยู่ในโครงสร้าง ที่ฉาบไว้ด้วยปูนชื่อ เสรีภาพอิสรภาพ ความเป็นเลิศทางวิชาการ และความเป็นไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก

ขณะที่สังคมและคนในสังคมมีความเป็นปัจเจก และหลากหลายมากขึ้น สังคมที่เด็กรุ่นใหม่อยากไปเลี้ยงหมู เก็บผัก อบคุ้กกี้ มากกว่าอยู่ในห้องเชียร์ อยากหาแอดชื่อเพื่อนใหม่ใน Facebook มากกว่าไล่จดชื่อเพื่อนร่วมรุ่นตามคำสั่งรุ่นพี่ อยากเล่นเพลย์สเตชั่นมากกว่าไปวิ่งรอบคณะ ฯลฯ มหาวิทยาลัยไทย เดินช้า ล้าหลังจนตามไม่ทันสิ่งเหล่านี้ และไม่สามารถปรับตัว เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงได้

การตกค้างของฟอสซิลกิจกรรมแบบโซตัสนี้ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้เลย หากปราศจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในการช่วยอนุรักษ์ไว้ ในหลายกรณีการเปลี่ยนหรือยกเลิกกิจกรรมโซตัส มักถูกค้านจากอาจารย์บางส่วนด้วยซ้ำ เพราะโซตัสช่วยรักษารูปแบบหลายอย่างที่ถูกจริตอาจารย์ไว้ได้เยอะทีเดียว เช่น นักศึกษาใหม่จะแต่งตัวอย่างเรียบร้อยถูกระเบียบร้อยเปอร์เซนต์ และนอบน้อมกับอาจารย์ (ตามคำสั่งรุ่นพี่)เป็นอย่างยิ่ง

จริงๆแล้วหากอาจารย์หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองยังไม่เชื่อและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนมากพอจะระงับหรือห้ามกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพแบบนี้ เสรีภาพทางวิชาการที่อ้างกันย่อมกลายเป็นคำเทศน์ที่จำเขามาอีกที โดยที่ตัวเองไม่ได้เคยเชื่อแนวคิดนี้เลย มิพักต้องพูดถึงคุณค่าต่างๆ ที่อ้างว่ามีในมหาวิทยาลัยเพราะมหาวิทยาลัยจะมีเสรีภาพทางวิชาการได้อย่างไรถ้าปล่อยให้ปัจเจกชนต้องก้มหน้าติดพื้นไม่สามารถพูดแสดงความคิดเห็น หรือถกเถียงได้อย่างอิสระเพราะอีกฝ่ายเกิดมาก่อนหนึ่งปี

มหาวิทยาลัยจะสอนให้นักศึกษา มีความคิดเป็นของตัวเองเลิกเก็บกากวัฒนธรรมที่เขาทิ้งเรี่ยราดอย่างโซตัส ในเมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยเองก็ยังตามเก็บงานวิจัยเขามาลอก หรือเลียนแบบ

มหาวิทยาลัยจะกระตุ้นให้นักศึกษาทำกิจกรรมที่มีเนื้อหาสาระได้อย่างไร ในเมื่อมหาวิทยาลัยยังคงหาเงิน โดยรับออกแบบและตัด(หลัก)สูตรออกมาเป็นโหลๆ เหมือนตัดสูท โดยไม่ได้คำนึงถึงเนื้อหาสาระ           

ป้าย“สตาฟฟ์ หยุดเผด็จการ” จริงๆ ออกจะน่าสงสัยด้วยซ้ำว่าตั้งใจยกให้ สตาฟฟ์เชียร์ สตาฟฟ์มหาวิทยาลัย หรือให้สังคมไทยอ่านกันแน่      


*ดัดแปลงจากบทความ
“โซตัส ปอมปอมเกิร์ลและความตายของมหาวิทยาลัยไทย”โดยผู้เขียน

 

 หมายเหตุกอง บก.:คลิปวิดีโอข้างต้นเป็นคลิปที่เพิ่งถูกเผยแพร่ใหม่หลังจากคลิปวิดีโอเดิมได้ถูกลบทิ้งไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

143 ชื่อ หนุนเลิก "โซตัส" ย้ำจุดยืนเรื่องของ นศ. "ผู้ใหญ่" อย่ายุ่ง

Posted: 09 Jun 2011 02:01 AM PDT

กรณีมีการเผยแพร่กิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมรับน้องอย่างกว้างขวาง ล่าสุด (9 มิ.ย.54) กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไป ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทย เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการรับน้อง/ห้องเชียร์ รวมถึงให้กำลังใจกับนักศึกษาผู้ประท้วงในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและ/หรือผู้ใดก็ตามที่เชื่อมั่นในแนวทางเดียวกันและกำลังสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาของไทยหลุดพ้นจากค่านิยมและทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเช่นนี้


นิสิตชูป้ายต่อต้านระบบโซตัส
ส่วนหนึ่งจากคลิปดังกล่าว (ล่าสุด คลิปดังกล่าวถูกลบออกไปแล้ว)

 

0000

จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทย
เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการรับน้อง/ห้องเชียร์

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรม “รับน้อง” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งถูกเผยแพร่ทางยูทูปตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2554 ระบุว่าเป็นภาพเหตุการณ์ในคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2554 นั้น พวกเรา กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในประเด็นนี้ ต้องการแสดงความวิตกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรม “รับน้อง” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ และต้องการให้กำลังใจกับกลุ่มนักศึกษาเสียงข้างน้อยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทุกคนในการแสดงความเห็นตามวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยและสันติวิธี

พวกเราทุกคนตามรายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ รู้สึกหดหู่และสะท้อนใจกับสิ่งที่นักศึกษาส่วนใหญ่กระทำกับนักศึกษาผู้ประท้วงกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกับทัศนคติและท่าทีของผู้จัดกิจกรรมที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาผู้ประท้วงได้ทำการชี้แจงและ/หรือเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้างกับนักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด

พวกเราทุกคนมีความเชื่ออย่างมั่นคงและจริงใจว่ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานศึกษาขั้นสูงต้องเป็นพื้นที่ที่สมาชิกทุกคนได้รับการประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขั้นพื้นฐาน และควรเป็นสถานที่บ่มเพาะและขัดเกลาให้เชื่อมั่นและยึดถือในคุณค่าประชาธิปไตยและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมของทุกคน ไม่ใช่สถานที่บ่มเพาะและปลูกฝังให้ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจที่ไร้ความชอบธรรมหรือการบังคับกล่อมเกลาให้ฝักใฝ่ในระบบเผด็จการอำนาจนิยม รวมทั้งระบบอุปถัมภ์แบบจารีต ซึ่งสวนทางกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง หรือหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาจนอาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอัน “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือ “ลบหลู่” ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากข้อโต้แย้งหรือคำอธิบายของผู้จัดกิจกรรมตามที่ได้ประจักษ์จากวิดีโอนี้ พวกเราจึงเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมการรับน้องแบบนี้จะยังเกิดขึ้นต่อไปในสถานศึกษาทุกแห่งตามที่เคยได้ปฏิบัติกันมา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและค่านิยมของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวนิสิตนักศึกษาเอง

ถึงแม้พวกเราจะเชื่อว่ากิจกรรม “รับน้อง” ที่ถูกออกแบบจากวิธีคิดดังกล่าว ในนามของระบบ “โซตัส” จะเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างเสรี ปลอดจากความรับผิดชอบและไม่ควรจะได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นต่อไปอีกนั้น แต่พวกเราก็ไม่เชื่อมั่นเช่นกันว่าการบังคับออกคำสั่งจากผู้บริหารสถานศึกษาหรือการกำหนดบทลงโทษกับนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่จะทำให้ระบบการศึกษาไทยหลุดพ้นจากวัฒนธรรมเผด็จการอำนาจนิยมไปได้

พวกเรากลับเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องเกิดจากความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อของนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการนักศึกษาทั้งระบบ รวมถึงการตระหนักรู้ต่อความอันตรายและผลกระทบเชิงอุดมการณ์ของระบบ “โซตัส” นี้จากสังคมไทยเองด้วย สุดท้าย พวกเราขอให้กำลังใจกับนักศึกษาผู้ประท้วงในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและ/หรือผู้ใดก็ตามที่เชื่อมั่นในแนวทางเดียวกันและกำลังสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาของไทยหลุดพ้นจากค่านิยมและทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเช่นนี้

ลงชื่อ

  1. เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
  2. วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  3. ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
  4. พวงทอง ภวัครพันธ์ คณะรัฐศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  6. อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. วรวิทย์ ไชยทอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. ปริยกร ปุสวิโร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  9. ศุภฤทธิ์ ศิลารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  10. บัณฑูร ราชมณี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  11. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  12. วิจักขณ์ พานิช วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  13. ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา) นักเขียน คอลัมนิสต์
  14. ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ร้านหนังสือก็องดิด
  15. ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ กองบรรณาธิการเว็บไซต์โลกสีเขียว
  16. ณัฐเมธี สัยเวช บรรณาธิการสำนักพิมพ์ชายขอบ
  17. วัฒนะ วรรณ บรรณาธิการ นสพ.เลี้ยวซ้าย
  18. ภัควดี วีระภาสพงษ์
  19. ภู กระดาษ (ราษฎรเต็มขั้น)
  20. ธนาวิ โชติประดิษฐ นักศึกษาปริญญาเอก Birkbeck, University of London
  21. ธนศักดิ์ สายจำปา นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  22. ภูริพัศ เมธธนากุล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  23. วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการเมืองปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  24. พงศกร แก้วลังกา ปี3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  25. อนุวัฒน์ พรหมมา อดีตนิสิตวิทยาลัยการเมืองการเมืองปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  26. ท้าวบุญหลาย นาโพนแต้ (วีระศักดิ์ ไชยคุณ) อดีตรองประธานสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  27. ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร นิสิตภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  28. เชฏฐพงศ์ จงภัทรนิชพันธ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  29. ศรวิษฐ์ โตวิวิชญ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  30. ธนพงษ์ หมื่นแสน ชั้นปีที่3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนวร่วมนักเรียน นิสิตนักศึกษาเสรีชนล้านนา
  31. ปกรณ์ อารีกุล กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา
  32. ธัญสก พันสิทธิวรกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  33. จักรพงษ์ เอี่ยมสอาด ภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  34. นุจรินทร์ อินธิยะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  35. ชาตรี มงคลศรีสวัสดิ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  36. จุฑานันท์ จรรยาลิขิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  37. ครองขวัญ ทัศนภักดิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  38. วรรษชล ศิริจันทนันท์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  39. นายมนัส ทองชื่น คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และชมรมวรรณกรรมเยาวชน
  40. ธนุต มโนรัตน์ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  41. คมสัน พรมรินทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  42. พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์
  43. เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์
  44. นฆ ปักษนาวิน
  45. ใจ อึ๊งภากรณ์
  46. นรชิต จิรสัทธรรม 
  47. พัชรี แซ่เอี้ยว
  48. พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ 
  49. ชุมพล นนทาโซะ  
  50. ปรัชญา สุรกำจรโรจน์
  51. ฝอยฝน ชัยมงคล
  52. ชลัท ศานติวรางคณา
  53. เทวฤทธิ์ มณีฉาย
  54. นครินทร์ วิศิษฎ์สิน
  55. ธนชาติ กาญจนพังคะ
  56. อดิศร เกิดมงคล
  57. จรรยา ยิ้มประเสริฐ
  58. ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
  59. สุธารี วรรณศิริ
  60. นครินทร์ วิศิษฎ์สิน
  61. นิพาดา ทองคำแท้
  62. พิษณุ แก้วเทพ
  63. คณิต กำลังทวี
  64. สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์
  65. บุญยืน สุขใหม่
  66. เจียระไน นะแส
  67. ประเวศ ประภานุกูล ทนายความอิสระ
  68. ดาราณี ทองศิริ
  69. ชานันท์ ยอดหงษ์
  70. การ์ตูน บุญมิ่ง
  71. สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์
  72. ปฐมพร ศรีมันตะ
  73. พรพิศ ผักไหม
  74. สิทธิพล เครือรัฐติกาล
  75. กษมา วิชชุปราชญา
  76. ธนพล พงศ์อธิโมกข์
  77. อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ
  78. วนิดา เจียมรัมย์
  79. ยุทธศักดิ์ วรวิเศษ
  80. ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ
  81. กรรณิกา ขันศร๊โพธิ์
  82. โอภาส สินธุโคตร
  83. อาจินต์ ทองอยู่คง
  84. นนทวุฒิ ราชกาวี
  85. พีรชิต โตนชัยภูมิ
  86. ปวรรัตน์ ผลาสินธุ์
  87. รัฐ ปัญโญวัฒน์
  88. จิตพล ทองภา
  89. เทพวุธ บัวทุม
  90. รักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  91. พนิดา บุญเทพ
  92. พิพัฒน์ วิมลไชยพร
  93. ธนภัทร์ ศรีประเสริฐ คณะเทคโนโลยีการบิน สถาบันการบินพลเรือน
  94. สรัช สินธุประมา
  95. พัชราภา ตันตราจิน คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  96. อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์
  97. กฤษณ์ แป้นพัฒน์
  98. จิตพล ทองภา
  99. นวพร ศุภวิทย์กุล
  100. อังสุกานต์ โฉมอินทรีย์
  101. ประมวล ดวงนิล เถียงนาประชาคม
  102. อันธิฌา ทัศคร
  103. มนตรี อัจฉริยสกุลชัย
  104. ภูษิต มณีพงษ์
  105. ณัฐพล อิ้งทม นศ.คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล
  106. ศุภกานต์ กิ่งก้าน วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  107. ศิริวัฒน์ โปษะยานนท์
  108. สุนิษา ปุ่มวงศ์ เถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  109. กิรพัฒน์ เขียนทองกุล
  110. ประวิทย์ วงศ์ละ
  111. ปองภพ บุญชูธนาวงศ์ เศรษฐศาสตร์ มธ.
  112. สมกมล วสุวุฒิโรจน์
  113. วรรณลพ สุขาวาปี
  114. มงคล ไชยบุญแก้ว รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  115. ศรายุธ ตั้งประเสริฐ
  116. นีรนุช เนียมทรัพย์
  117. เพ็ญศรี ชิตบุตร ม.มหาสารคาม
  118. สุธัมมะ ธรรมศักดิ์
  119. ขนิษฐา ประทุมมา นิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  120. พัชรวีร์ พรหมวงศ์
  121. ดวงรัตน์ เลอมันน์
  122. อาทร แก่นจันทร์
  123. กิตตินันท์ นาชัยคำ
  124. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  125. ทวีพัฒน์ แพรเงิน
  126. กันตภณ ทับเที่ยง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  127. นราวดี หนองสูง
  128. ภัทรเดช ขวัญอยู่
  129. ณัฐพล ไทยสะเทือน
  130. นัธธินี เดชะคุณาพงษ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  131. เอกชัย สุขชื่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
  132. กฤษฎา คงพรหม์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏฌพชรบุรี
  133. จิราภรณ์ หิรัญบูรณะ
  134. ประภัสชัย กองศักดิ์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  135. วันเพ็ญ ก้อนคำ
  136. ภาส พัฒนกำจร
  137. ชัยพงษ์ สำเนียง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  138. กัญจน์ แสงจันทร์
  139. เมธา เชื้อนาคา รัฐศาสตร์ การปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  140. ณพงศ์ มาลีหอม
  141. ทศิกา แพงลาด คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  142. นายวรวุฒิ เทือกชัยภูมิ
  143. เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: ทงบังชิงกิ เดอะซีรีย์ ตอน1 Before Debut

Posted: 09 Jun 2011 01:02 AM PDT

ลักไก่จังหวะชุลมุนลุ้นเลือกตั้ง ประชาไทขอเปิด section บันเทิงและวาไรตี้ โดยนักเขียนสาวสองนาง “หลิ่มหลี” และ “รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์” ที่จะมาประจำการนำเสนอข่าวสารบันเทิงปนสาระ โดยหลิ่มหลี ขอจองพื้นที่ข่าวแรกด้วยการนำเสนอซีรีส์เคป๊อปในดวงใจ

 

การจะเขียนถึงวงนักร้องชายที่ดังที่สุดในเอเชียที่มีแฟนคลับมากกว่าล้านคนทั่วเอเชีย ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลิ่มหลีเลย แต่หลิ่มหลีไปขอเขาเขียนเอง คุยกับบอกอ บอกเล่าถึงความประทับใจที่มีให้กับวงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ในปัจจุบัน ที่เหมือนจะยากเย็นยิ่งกว่าสำหรับพวกเขาในการต่อสู้กับ ค่ายเก่า หรือมาเฟียวงการบันเทิงของเกาหลีใต้

บอกอ ก็หลงกล ฮ่าๆๆๆๆ

ไม่ใช่เพราะแค่ตัวเองเป็นแฟนคลับ แต่เพราะประทับใจในความรักความสามัคคีที่พวกเขาทั้งห้าคนมีต่อกัน และมากไปกว่านั้น ยังเป็นเรื่องของการต่อสู้ฝ่าฟันที่จะมาเป็นนักร้องดังในระดับเอเชีย แล้วยังรวมถึงการต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อให้ได้ขึ้นเวทีในแต่ละครั้ง แต่ละครั้งของเขา

กระซิกๆๆ ยังไม่ทันเริ่มเขียน แต่คิดถึง.. น้ำตาก็คลอเบ้าตาไปแล้น ซึ้ง ..คิดถึง .. ห่วง และ รัก เต็มหัวอก

อร๊ายยยยยยยยย ปวดร้าว คิดถึง หลากหลายอารมณ์มากเลย หลิ่มหลีอัดแน่นเต็มหัวอก

หนุ่มๆ ห้าคนที่หลิ่มหลีรักนักรักหนา รักกว่าพ่อ รักกว่าแม่ รักกว่าประเทศไทย ก็ไม่ใช่วงไหนเลย

ทงบังชิงกิ 동방신기” ในชื่อเกาหลี หรือ “โทโฮชิงกิ 東方神起” ในชื่อญี่ปุ่น หรือ “ตงฟางเสินฉี่ 東方神起” ในชื่อจีน ซึ่งแปลเป็นไทยว่า เทพเจ้าขึ้นมาจากทิศตะวันออก ดงบัง = โทโฮ = ทงฟาง แปลว่า ตะวันออก ส่วน ชิง หรือ ฉิง แปลว่า เทพเจ้า ส่วน กิ หรือ ฉี่ แปลว่า ขึ้น

ประชาไทบันเทิง: ทงบังชิงกิ เดอะซีรีย์ ตอน1 Before Debut

ประชาไทบันเทิง: ทงบังชิงกิ เดอะซีรีย์ ตอน1 Before Debut

ตอนแรกเขาจะตั้งชื่ออื่น อะไรก็ไม่รู้ ที่แปลว่า กล้ามเนื้อส่วนสำคัญของร่างกาย ฮ่าๆๆ แต่ก็มาเป็นทงบังชิงกิได้ในที่สุด แล้วเหล่าสมาชิกทั้งห้าคนก็มีชื่อที่เพี้ยนไปจากชื่อจริงของตัวเอง คือ ไม่มีแซ่ของตัวเอง แต่เป็นการตั้งสมญานาม

คนแรกเป็นหัวหน้าวง ชื่อ ยูโน (จัง) ยูนโฮ เป็นคนเสียงออกเบสต่ำ เต้นเก่ง ความรับผิดชอบสูง อึด ชอบสาวอายุมากกว่า คนสองอายุมากสุด ชื่อ ยองอุน (คิม) แจจุง ยองอุงแปลว่า Hero ส่วนแจจุงเป็นชื่อ เป็นคนที่ถือเสียงหลัก เสียงหวานมาก หน้าสวยสุด กล้ามเนื้อเวลาถอดเสื้อสวยมาก อร๊ายยยย น้ำลายไหล

คนที่สามคือ มิกกี้ (ปาร์ก) ยูชอน มาจากเมกา หลิ่มหลีไม่เคยฟังเสียงภาษาอังกฤษของมิกกี้ออกเลย ฮ่าๆๆๆ มันรัวลิ้นมาก แต่เป็นคนที่ขี้เล่นมาก น่ารัก สาวๆ ติดเยอะ ไม่หล่อมากแต่เสน่ห์เหลือร้าย คู่ขา เอ้ยไม่ใช่ คู่หูของมิกกี้คือ หนุ่มที่หลิ่มหลีชอบที่สุด คือ ซีอา (คิม) จุนซู ซีอา เป็นภาษาเกาหลีเวลาเรียกแถบเอเชีย จะเรียกว่า อาซีอา (Asia) แต่ตัดมาแค่ซีอาให้จุนซู จุนซู เป็นชื่อจริง หน้าตาน่ารัก เหมือนเด็กไม่โต ร้องเก่ง เสียงแปลก เต้นสวย หน้าเด็กก็จริงแต่มีลักษณะผู้นำที่ดี คนสุดท้ายคือ ชเวคัง (ชิม) ชางมิน เสียงสูงมาก หน้าหล่อที่สุด หุ่นดี สูงสุด แต่ดุสุดด้วย

ทั้งหมดเกิดปีเดียวกันยกเว้น ชางมิน ที่อ่อนสมาชิกคนอื่นสองปี

ทั้งห้าคนนี้ เริ่มต้นการเป็นนักร้องจากการ Audition ภายใต้ค่ายเพลงที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลี คือ ค่าย SM Entertainment แล้วก็เข้ามาเป็น Trainee หลายคนก็เทรนกันหลายปี ต่อสู้ฝ่าฟัน เพื่อให้ได้รับคัดเลือกให้ได้เป็นนักร้อง

แก๊งค์หรือรุ่นที่เขาซ้อมด้วย ก็คงเป็นเหล่าศิลปินกลุ่ม Super Junior, BoA, Girl Generation, The Grace นี่จะเป็นพวกที่เทรนเป็นเทรนนีรุ่นเดียวกับทงบังชิงกิ แต่เวลาเขาเรียกพี่เรียกน้องกัน เขาจะนับตามรุ่นที่ได้รับการเป็นศิลปินก่อน เช่น ในรุ่นนี้ BoA ก็เป็นรุ่นพี่ใหญ่สุด เพราะได้เดบิว (Debut) ก่อน ถัดมาก็คือทงบังชิงกินี่แหละ

แต่เขาไม่ได้นับแต่ในค่ายนะคะ ทั้งวงการบันเทิงของเกาหลีเลย เขาก็ดูว่าใครเดบิวกันก่อน ก็จะเรียกรุ่นพี่รุ่นน้องให้เห็นชัดๆ

ต้องยอมรับว่า BoA is the best. จริงๆ ทั้งเสียงร้องและการเต้น เหมาะจะเป็นศิลปินเดี่ยว แต่ทงบังชิงกิ คือการเลือกนักร้องนักเต้นชายที่ดีที่สุดในรุ่นในค่าย SM ในที่สุดโปรดิวเซอร์ก็เลือกมาได้ห้าคน ยกเว้นที่คนที่ห้า คือ มิกกี้ ยูชอน คนเดียวที่มาจากอเมริกา Audition มาจากอเมริกา เลยไม่ได้เป็นเพื่อนกับใคร แต่.. ความเป็นกันเองก็ทำให้มิกกี้มีเพื่อนได้ไม่ยากนัก

ช่วงของการต่อสู้ฝ่าฟันของพวกเขา มีเสียงกระแสข่าวเล่าข่าวลือว่า เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ไม่เคยได้ยินจากปากของเขาจริงๆ ยกตัวอย่าง เช่น

บางครั้ง แจจุงไม่มีเงิน ก็ไปขายเลือดเอาเงินมาใช้กิน โถ... จริง ไม่จริง หลิ่มหลีไม่สน หลิ่มหลีเศร้า น่าสงสาร ตอนนั้น ทำไมไม่มาหาหลิ่มหลีจ๊ะ กระซิกๆๆ

ส่วนหัวหน้าวง ยุนโฮ พ่อแม่ไม่เห็นด้วยที่จะมาให้เป็นนักร้อง ความที่ตัวเองชอบเต้น ก็หนีออกจากบ้านมาเป็นเทรนนีที่กรุงโซล แต่ตัวเขาเป็นคนบ้านนอก กวางจู (เมืองที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลทหารเมื่อช่วงปี 80) แล้วบางครั้งก็มาอยู่บ้าน จุนซู อาศัยเพื่อนอยู่บ้าน อะไรบ้าง ลำบาก พ่อแม่เคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ไทยเป็นต้นเหตุลามไปถึงเกาหลี ยุนโฮนี่เคยเก็บกระดาษ เก็บขวดขายหาเงินด้วย เคยนอนใต้สะพานด้วย จริง ไม่จริง หลิ่มหลีไม่สน หลิ่มหลีรัก หลิ่มหลีสงสาร กระซิกๆๆ

ส่วนจุนซูเอง พ่อแม่มีเงินบ้างเพราะมีกิจการเป็นของพ่อ คือขายพิซซ่า แต่ตัวเองต้องไปเป็นเทรนนีถึง 6 ปี ซึ่งถือว่านานที่สุดในค่าย และการเฝ้ารอดูเทรนนีคนอื่นได้ไปเป็นนักร้อง ในขณะที่ตัวเองยังไม่เห็นอนาคตของตัวเอง ประกอบกับช่วงเสียงแตก โอ้ย จุนซูเคยบอกว่าร้องไห้กรีดร้องแทบเป็นสายเลือด เมื่อเสียงแตกหนุ่ม มันช่างเป็นการเฝ้ารออย่างทรมานที่สุดของเขาจริง ๆ โอ้ย น่าสงสาร เขียนไป น้ำตาหลิ่มหลี คลอเบ้าตาไป กระซิกๆๆๆ

ตัวยูชอนเองก็มาจากครอบครัวที่แตกแยก แตกตอนไหนไม่แตก แตกตอนทั้งครอบครัวไปอยู่อเมริกา ถ้าใครเคยอยู่ในสังคมอเมริกา จะรู้ได้เลยว่าการมีเพื่อน เป็นเรื่องยากมาก ทำให้ยูชอนเหงา และมีแต่น้องชายเป็นเพื่อน แต่ความเหงาก็นำมาซึ่งความโรแมนติกให้เขา ยูชอนจึงได้ชื่อว่าแต่งเพลงได้หวานซึ้งที่สุดในกลุ่มก็ว่าได้

แต่ละคนที่ฝ่าด่านมาเพื่อมาเป็นนักร้องแนวหน้าในวงการบันเทิงของเกาหลี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ใช่เรื่องของการมีพ่อแม่ที่ร่ำรวย มีชื่อเสียง มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ บากบั่น มานะ อดทน ขยันฝึกซ้อม และมีพรสวรรค์ที่แฝงไปด้วยพรแสวงที่พึงมีทุกขณะทันทีคุณเลือกเส้นทางนี้

พวกเขาเคยเป็นไอดอลที่ดังที่สุด
ยังไม่มีไอดอลไหนในเอเชียลบสถิติหรือความรักที่แฟนคลับมีให้กับเขาได้ ไม่ว่าอุปสรรคที่แยกพวกเขาจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน พวกเขาก็ขอแค่ให้ได้มีที่ยืนบนเวที ได้พบแฟนเพลงที่ยังฟังเขาร้อง ดูเขาเต้น

การกระเสือกกระสนต่อสู้กับม่านเมฆหมอกหนาดำทมึน คือสิ่งที่น่าติดตาม
ทงบังชิงกิ (5 คน) หรือ ทงบังชิงกิ (2 คน) และ JYJ (3 คน)

นี่คือ ซีรีย์การต่อสู้ ความสำเร็จ ความรัก และอุปสรรค ของพวกเขา ในทุกย่างก้าวที่เขาเดินมาและยังเดินต่อไป………

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุยกับคนในคลิปรับน้อง "ผมไม่ล้มเชียร์ แต่ผมอยากปฏิรูป"

Posted: 08 Jun 2011 04:38 PM PDT

ขยายวงถกเถียงจากในสังคมออนไลน์ ต่อคลิปรับน้องที่ ม.มหาสารคาม เมื่อนักศึกษากลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงระบบการรับน้องในมหาวิทยาลัย ที่แสดง “อำนาจเผด็จการ” และควรได้รับการ “เปลี่ยนแปลง”

 
 
กรณีมีการเผยแพร่คลิปต่อต้านการรับน้องที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงและเผยแพร่ต่อๆ กันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ล่าสุด (7 มิ.ย.54) ยุทธนา ลุนสำโรง นิสิตชั้นปีที่ 4 เอกการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนิสิตที่ร่วมตัวกันทำกิจกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปนั้น เป็นเหตุการณ์ช่วงค่ำของวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสนามกีฬามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเรียกว่าเป็นวันพิสูจน์รุ่น (ยอมรับเป็นรุ่นน้อง) มมส. หลังจากจากมีการรับน้องทั้งมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.54 โดยน้องปีหนึ่งทุกคณะจะต้องมาร่วมกิจกรรมเชียร์ ด้วยการขู่ว่าไม่มาจะไม่ได้รุ่น
 
ยุทธนา ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ใช่การสร้างสถานการณ์ มีน้องนักศึกษาเป็นลมจริง ในการรับน้อง และก็มีการการพูดว่า การที่มีคนเป็นลมเป็นปกติอย่างนี้ทุกปี ซึ่งส่วนตัวรู้สึกไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ทุกๆ ปีที่ผ่านมาเขาและเพื่อนๆ ทำกิจกรรมชูป้ายต่อต้านการใช้ความรุนแรงในการรับน้องมาโดยตลอด เพราะเขาและเพื่อนๆ ซึ่งผ่านกระบวนการรับน้องมาแล้ว อีกทั้งส่วนตัวยังเคยเข้าร่วมจัดกิจกรรมเชียร์ในฐานะกรรมการสโมสรนิสิต ได้เห็นถึงความเป็นเผด็จการ จากการกระทำของรุ่นพี่ ทั้งยูนิฟอร์มสีเขียว การให้จัดแถวเหมือนทหาร การก่นด่า ไซโค กดดัน ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมอำนาจนิยม ขณะที่รุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ ยังไม่รู้จักใคร ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็อาจมีผลกระทบกับทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต 
 
ยุทธนา กล่าวด้วยว่า จุดหมายของกิจกรรมของเขาคือการขึ้นอ่านแถลงการณ์คัดค้านการรับน้องบนเวที เพราะอยากสื่อสารจุดยืนของพวกเขาออกไปในวงกว้าง โดยเชื่อว่าไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มของพวกเขาที่คิดแบบนี้ หากแต่คนอื่นๆ อาจยังไม่กล้าออกมา และประเมินว่ากิจกรรมที่ผ่านมายังไม่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ จึงคิดกิจกรรมนี้ขึ้น แต่เมื่อขึ้นไปบนเวทีได้กลับไม่สามารถเจราจาเพื่ออ่านแถลงการณ์ผ่านเครื่องขยายเสียงบนเวทีได้ และถูกกันออกไป  อีกทั้งยังถูกประกาศไล่ให้ออกจากบริเวณดังกล่าว จึงต้องลงมาเจรจาข้างล่างแต่ก็ไม่เป็นผล
 
นิสิตเอกการเมืองการปกครอง กล่าวต่อมาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งชี้ถึงการใช้อำนาจเผด็จการที่รุ่นพี่พยามแสดงออกกับรุ่นน้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดที่ว่า “คุณท้าทายอำนาจประธานเชียร์อย่างผม” การขู่ว่าจะเอาชื่ออกจากระบบการเป็นนักศึกษา รวมทั้งการออกคำสั่งว่าให้จดชื่อและบันทึกภาพใบหน้าของเขาและเพื่อนเอาไว้ให้หมด
 
ในสถานการณ์วุ่นวาย ยุทธนาเล่าว่า เขาและเพื่อนๆ อีกราว 30 คนที่ทำกิจกรรมร่วมกันได้เตรียมตัวรับไว้แล้วกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากทราบว่าสต๊าฟเชียร์มีจำนวนมากกว่าในหลักร้อย แต่การทำกิจกรรมครั้งนี้ยึดตามแนวทางสันติวิธีเพราะพวกเขาเชื่อว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง และหากเกิดการใช้ความรุนแรงกลุ่มสต๊าฟเองจะเป็นคนถูกตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจป่าเถื่อน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์คลี่คลายลงได้เนื่องจากมีรุ่นพี่คนหนึ่งมาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และสุดท้ายรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนิสิต ได้ลงมารับหนังสือที่ลงท้ายชื่อกลุ่มประชาคมเสรี ม.มหาสารคาม ชมรมคนสร้างฝัน ชมรมรัฐศาสตร์สัมพันธ์ กลุ่มเถียงนาประชาคม โดยการรวมตัวของนิสิตจากหลายคณะ ซึ่งเขาคิดว่าอย่างน้อยก็เป็นการสื่อสารไปยังระดับของผู้บริหารมหาวิทยาลัย
 
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามคัดค้านการใช้ความรุนแรงในการรับน้องหรือไม่ ยุทธนาตอบว่า จากที่เคยมีโอกาสเป็นกรรมการสโมสรนิสิต เขาได้พยายามเสนอประเด็นนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับในที่ประชุม โดยได้คำตอบว่าเป็น "ประเพณี" แต่เขามองว่า คำตอบนี้ไม่มีการตั้งคำถามว่า ประเพณีนี้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ส่วนการยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านที่ผ่านมามีการทำผ่านคณบดี และกองกิจการนักศึกษา  
 
"ผมไม่ล้มเชียร์ แต่ผมอยากปฏิรูป เปลี่ยนวิธีการใหม่" เขากล่าวและว่า จุดยืนของเขาและเพื่อนๆ คือการยกเลิกกระบวนการว้าก ส่วนการสอนร้องเพลงก็ควรพูดคุยกันดีๆ ให้มีการใช้วิธีการรับน้องแบบใหม่ๆ เช่น กระบวนการค่ายที่ปลุกจิตสำนึกของนิสิต นักศึกษา เพื่อร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชน ซึ่งปัญหาของชาวบ้านหรือชุมชนโดยรอบมหาลัยเองก็มีอยู่มากมาย ที่ผ่านมาเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกล้มเชียร์ แต่สิ่งที่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการมากกว่า
 
เมื่อถามถึงผลที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมดังกล่าว ยุทธนา เล่าว่า ในวันรุ่งขึ้น คณบดีได้เรียกเขาเข้าพบโดยการรายงานของกองกิจการนักศึกษา ซึ่งคณบดีแสดงความกังวลว่าการทำกิจกรรมในครั้งนี้ของเขาอาจกระทบต่อการเรียน เนื่องจากขณะนี้เขาอยู่ในช่วงภาคเรียนสุดท้ายแล้ว แต่เขาเชื่อว่าผลกระทบเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้น ส่วนนิสิตด้วยกัน บางกลุ่มที่เชื่อในระบบเดิมจะถูกตั้งคำถามว่า “ทำไปทำไม” หรือบอกว่าเขาเป็นพวก "มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ”  “เป็นพวกกลุ่มก่อกวน” และมีการข่มขู่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย ขณะที่บางกลุ่ม เช่น เพื่อน หรือรุ่นพี่ที่รู้จักซึ่งจบไปแล้วก็จะเข้ามาแสดงความชื่นชม
 
ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่ากิจกรรมที่เขาและเพื่อนทำเป็นการข้ามขั้นตอนจากระบบที่มีอยู่แล้ว แต่เขามีความคิดว่าแม้จะยื่นเรื่องขอขึ้นพูดบนเวทีแต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้รับอนุญาต
 
ยุทธนา กล่าวต่อมาถึงกิจกรรมภายหลังจากนี้ว่า จะมีการรณรงค์ต่อเนื่องในเรื่องกิจกรรมรับน้องของคณะต่างๆ ซึ่งจะมีขึ้นต่อจากนี้ โดยผ่านการให้ข้อมูลแจกใบปลิว ป้ายผ้า ในตลาดนัดของมหาวิทยาลัย และใช้รถเครื่องเสียงตระเวนไปตามคณะต่างๆ เพื่อให้ข้อมูล โดยตั้งคำถามกับการรับน้อง และผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการโยงไปถึงแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย
 
“เชื่อว่ากิจกรรมที่ทำไปจะทำให้ทุกคนตื่นตัว อย่างน้อยก็ตั้งคำถาม ว่าทำไมมีคนไม่เห็นด้วย และคนที่คิดเหมือนกันไม่ใช่แค่นี้ อยากบอกว่าคุณเลิกกลัวได้แล้ว เวลาของความกลัวหมดลงแล้ว” ยุทธนา กล่าวพร้อมย้ำความเชื่อที่ว่าพลังของคนตัวเล็กตัวน้อยสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยแค่เพียงการให้กำลังใจให้กับคนที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรม หรือร่วมกันเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่อๆ กันไป เท่านี้ก็ถือว่าเป็นเพื่อนกันแล้ว
 
ยุทธนา ฝากถึงนิสิต นักศึกษาในสถาบันอื่นๆ ว่า มีสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่ยังเป็นแบบนี้ และดุเดือดไม่แพ้กัน เสนอว่า ถ้ามีคนคิดแบบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรม โดนกดขี่ ก็ลุกขึ้นมาสู้ร่วมกัน และมันอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าได้ ไม่ใช่เพียงแค่ที่มหาสารคาม เรื่องแบบนี้น่าจะถกเถียงได้เยอะ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาโดยตรง
 
 คลิปวีดิโอที่ถูกอัพโหลดโดย   เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2554
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น