โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

บนถนน 2475 : ก่อนวันนั้นจะมาถึง

Posted: 24 Jun 2011 06:41 AM PDT

 
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อฉายภาพเส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสยามก่อนจะดำเนินมาถึงวันที่ คณะราษฎรได้ร่วมกันอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ    จึงขอร่วมรำลึกเหตุการณ์นี้ในวาระครบ 79 ปี การปฏิวัติ 2475  มา ณ โอกาสนี้ 
                                                                               ***** 
 
ศตวรรษ ที่19 คลื่นจักรวรรดินิยมพร้อมทั้งกระแสทุนนิยมจากโลกตะวันตกเดินทางมาถึงโลกตะวัน ออก สยามในฐานะ“รัฐกษัตริย์”ซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย เริ่มสั่นคลอนและจำต้องปรับตัวเพราะไม่สามารถทัดทานกระแสทุนนิยมอันเป็น วิวัฒนาการของสังคมตะวันตกได้ก้าวไปถึงแล้ว
 
รัฐบาลสยามยอม เสียเปรียบลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ในปี2398 และได้กลายเป็นต้นแบบให้ชาติตะวันตกอีก 13 ประเทศ เข้ามาเจรจาทำสัญญาในแบบเดียวกัน  นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สยามต้องรับมือกับคลื่นจักรวรรดินิยมและกระแสทุนนิยม ที่ถาโถมเข้าใส่
 
ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่5 อธิปไตยของสยามถูกท้าทายอย่างมากจนราชสำนักได้ตระหนักถึงความด้อยกว่าทั้ง ความรู้และความคิด จึงได้พยายามปรับตัวโดยจัดรูปแบบของรัฐใหม่ตามแบบแผนตะวันตกและไม่ลืมที่จะ ผสานจารีตการเมืองดั้งเดิมของชนชั้นนำเอาไว้บางอย่าง  
 
ในรัชสมัยนี้เองที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยเริ่มเข้าสู่สังคมสยามอย่างค่อนข้าง ชัดเจน เริ่มจากชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งมีทั้งเจ้านายและขุนนางที่ไปศึกษาและปฏิบัติ ราชการในยุโรป ได้ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกในร.ศ.103(พ.ศ.2427) คณะเจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่ง อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มีหนังสือกราบทูลรัชกาลที่5  มีสาระสำคัญเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐ ธรรมนูญ (constitutional  monarchy) โดยเห็นว่าเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้สยามรอดพ้นภัยคุกคามจากตะวันตกได้   และเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวว่า “แผ่นดินสยามเป็นของชาวสยามทั้งหมด”  
 
 
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
 
 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์
 
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
 
 
รัชกาลที่5 ทรงปฏิเสธและตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่เคยคิดที่จะหวงแหนอำนาจไว้เลย แต่ติดขัดที่สถานการณ์ขณะนั้นยังไม่เหมาะสม เพราะขาดคนมีความรู้ความสามารถและความกล้าที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติเพื่อ ถ่วงดุลกับอำนาจบริหารที่ของกษัตริย์
 
ทว่าหลังจากนั้น ก็มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตามแนวทางของพระองค์เอง กล่าวคือ การสถาปนาอำนาจส่วนกลางภายใต้รัฐบาลแบบสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วน กลางแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการก่อร่างสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) โดยมีกษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์สูงสุด มีอำนาจสมบูรณ์และแบ่งแยกไม่ได้ คงสถานะความศักดิ์สิทธิ์เหนือประชาชนเช่นเดียวกับยุคศักดินา และในสมัยนี้นอกจากกลุ่มชนชั้นสูงแล้ว ยังมีสามัญชนหัวก้าวหน้าอย่าง “เทียนวรรณ”  และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ได้พยายามนำเสนอแนวคิดท้าทายและกล้าวิพากษ์วิจารณ์การปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยสำนึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีสิทธิ ความเสมอภาค คนทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน  ดังที่เทียนวรรณ ได้แต่งบทประพันธ์ขึ้น ตอนหนึ่งว่า
 
                                                           “...ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ 
                                                             ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ 
                                                             แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ 
                                                             จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย...”
 
แม้การเปลี่ยนแปลงยังมิได้เกิดขึ้นตามข้อเรียกร้อง แต่ก่อนที่รัชกาลที่5 เสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชดำรัสอันเปรียบเหมือนคำมั่นสัญญาว่า  "จะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์...จะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น"
 
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (คราวเสด็จนิวัติพระนคร หลังทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ)
 
ถึงต้นศตวรรษที่20 หลังจากรัชกาลที่5เสด็จสวรรคต  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารก็เสด็จขึ้นครองราชย์  กล่าวได้ว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 มิได้มีปรากฏการณ์ใดที่จะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยแท้จริง  
 
ทรงมุ่งสร้างความมั่นคงให้กับรัฐตามแนวทางชาติ นิยมและอนุรักษ์นิยม ทรงริเริ่มตั้งเมืองสมมุติ“ดุสิตธานี” จำลองรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้มีหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอข่าวด้วย มีคนบางกลุ่มวิจารณ์ว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงการละเล่นของกษัตริย์และไม่ได้ตั้งใจก่อตั้งรูปการปกครอง แบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง
 
ก่อนหน้านั้นช่วงต้นรัชกาลมีเหตุ ปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ขึ้นในจีน ตุรกีและโปรตุเกส เหตุการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลมาถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในสยาม นั่นคือ เหตุการณ์ รศ.130 กลุ่มนายทหารและปัญญาชนวางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้กษัตริย์พระราชทานรัฐ ธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อนจึงถูกจับกุมเสียก่อน 
 
 
คณะร.ศ.130 หลังถูกจับกุม
 
หลังการก่อการครั้งนี้ รัชกาลที่6 ยังทรงยืนยันหนักแน่นว่า ราษฎรยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย “ระบอบกษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดนั้นดีแล้ว ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับประเทศสยามเพราะราษฎรไม่มีความรู้”  พร้อมกับทรงเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังที่เกิดในหลายประเทศ เช่น  “การปฏิวัติทั้งในจีนและโปรตุเกส เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะนำมาซึ่งความวุ่นวาย”  
 
 
เหตุการณ์ ปฏิวัติจีน ปี1911 (พ.ศ.2454) ขบวนการปฏิวัติภายใต้การนำของดร.ซุน ยัตเซ็น หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งได้เคยเดินทางเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายประเทศรวมทั้งสยาม ได้ปฏิวัติโค่นล้มอำนาจการปกครองระบอบจักรพรรดิของราชวงศ์ชิงได้สำเร็จและ เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
 
 
ดร.ซุน ยัตเซ็น ผู้นำขบวนการปฏิวัติ
 
ปี 2457เกิด สงครามโลกครั้งที่1 และหลังจากนั้นก็มีเหตุปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์เกิดขึ้นอีกหลายประเทศ ทั้งในรุสเซีย  เยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี  ขณะที่ภายในประเทศก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อสามัญชนเริ่มตื่นตัว และแสดงออกทางการเมืองกว้างขวางขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์ “จีนโนสยามวารศัพท์” ของนายเซียวฮุดเสง ที่เผยแพร่โฆษณาความคิดเชิงประชาธิปไตย จนกระทั่งรัฐบาลไม่พอใจถึงกับออกกฎหมายควบคุมและให้รัฐมีอำนาจสั่งปิดได้ นับเป็นกฎหมายเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย
 
ห้วงเวลาสู่วิกฤต
 
 
รัชกาลที่ 6 ในฉลองพระองค์"แฟนซี" เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา วันที่ 29 ธันวาคม 2466 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลสยามกำลังประสบภาวะขาดดุลการคลังอย่างมาก
 
 
รัชกาลที่ 6 ขณะทรงแสดงละครร่วมกับข้าราชสำนัก กล่าวกันว่า รัชสมัยนี้ งานด้านศิลปะการละครเฟื่องฟูมากถึงขีดสุด
 
สถานการณ์ ช่วงปลายรัชกาลที่6  ย่ำแย่ลงเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองที่รุมเร้าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และราชสำนักยิ่งซับซ้อนมากขึ้น  สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของชาติตั้งแต่ พ.ศ.2465เป็นต้นมา งบประมาณแผ่นดินขาดดุลอย่างหนัก ต้นพ.ศ.2467 ใกล้สิ้นรัชกาล สถานการณ์ยิ่งทรุดหนัก และคนจำนวนหนึ่งได้พุ่งเป้าไปที่การใช้จ่ายเงินเกินตัวของราชสำนักเวลานั้น จนกระทั่งเงินคงคลังเหลือน้อยจนรัฐบาลเกือบอยู่ในสภาพล้มละลาย วิกฤตการณ์ในรัชสมัยนี้มีส่วนสำคัญต่อสถานะของระบอบกษัตริย์ที่กำลังสั่น คลอน
 
 
พันธบัตร ที่รัฐบาลรัชกาลที่ 6 ออกจำหน่ายในตลาดยุโรป ปี1922 (พ.ศ.2465) เพื่อกู้ยืมเงิน 2 ล้านปอนด์ มาใช้คืนเงินคงคลัง แก้ปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง ท่ามกลางภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างหนักช่วงปลายรัชกาล
 
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   เสถียรภาพของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มวิกฤต ดังเห็นได้จาก"บันทึกเรื่องการปกครอง" (23 กรกฎาคม-1สิงหาคม 2469)   ที่ รัชกาลที่7ทรงเขียนถึง ดร.ฟรานซิส บี แซร์(พระยากัลยาณไมตรี)อดีตที่ปรึกษาราชการต่างประเทศฯสมัยรัชกาลที่ 6 เนื้อความที่ปรากฏในบันทึกนี้สะท้อนถึงสถานะของราชสำนักสยามในเวลานั้นได้ อย่างชัดเจน
 
"..ในรัชสมัยที่เพิ่งสิ้นสุด(รัชกาลที่6) หลายสิ่งหลายอย่างได้ทวีความเลวร้ายไปมาก เนื่องจากเหตุหลายประการซึ่งข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องเล่า ด้วยท่านเองก็ทราบดีแก่ใจเพียงพอแล้ว  พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นผู้ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของข้าราชการบริพารคนโปรด ข้าราชการทุกคนถูกเพ่งเล็งมากบ้างน้อยบ้างในด้านฉ้อราษฎรบังหลวง หรือเล่นพรรคเล่นพวก  ยังนับเป็นโชคดีที่พระบรมวงศานุวงศ์ยังเป็น ที่เคารพยกย่องว่า เป็นคนซื่อสัตย์ สิ่งที่เป็นที่น่าเสียใจยิ่งคือ พระราชสำนักของพระองค์เป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง  และในตอนปลายรัชสมัยก็ถูกเลาะเลียนเยาะย้อย กำเนิดของหนังสือพิมพ์ฟรีเพสทำให้สถานการณ์ในขณะนั้นขยายตัวเลวร้ายมากขึ้น ฐานะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะลำบาก ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ระยะเวลาของระบอบเอกาธิปไตยเหลือน้อยลงเต็มที...
 
พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)
 
และ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รัฐบาลสยามแก้ปัญหาขาดดุลการคลังด้วยการปลดข้าราชการออกจำนวนมาก ปัญหาเศรษฐกิจได้ขยายวงสู่ความขัดแย้งในวงของผู้บริหารจนกระทั่งถึงขั้นมี การลาออกของเสนาบดี   รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่อนุรักษ์นิยมเน้นการจัดงบประมาณให้เข้า ดุล จึงต้องตัดงบประมาณรายจ่าย ลดเงินเดือน ลดจำนวนข้าราชการพร้อมกับเก็บภาษีในรูปใหม่ซึ่งกระทบคนชั้นกลางมากที่สุด จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างมาก ขณะที่เกษตรกรชาวนาก็อยู่ในภาวะทุกข์ยาก ราคาข้าวและราคาที่ดินตกต่ำอย่างมาก ชาวนาขาดเงินสดที่จะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ในขณะเดียวกันก็ขาดเงินสำหรับเสียภาษีอากร ทั้งยังไม่สามารถจะหาเงินกู้มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เกิดหนี้สินรุงรัง และเกิดอัตราว่างงานสูง
 
แม้ประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจก็ ตาม แต่ถึงกระนั้นเจ้านายและชนชั้นสูงยังคงดำรงสถานะที่สูงส่งเช่นเดิม  ด้วยแนวคิดของระบบเจ้านายต้องผดุงไว้ซึ่งขัตติยะ เพราะหากมีเรื่องใดเสื่อมเสียมากระทบชนชั้นเจ้านาย ย่อมส่งผลต่อพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ด้วย ดังนั้นพระมหากษัตริย์ต้องพระราชทานเงินให้แก่ชนชั้นเจ้าอย่างเพียงพอ
 
สถานการณ์ ดังกล่าวเชื่อมโยงมาถึงกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยที่รุนแรงมากขึ้น “รัฐสภาและรัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่คุ้นเคยกันทั่วไปอย่างน้อยก็ในหมู่ปัญญาชน เวลานั้นมีกระแสข่าวว่า รัชกาลที่7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดก็มิได้เกิดขึ้น พระองค์ทรงแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีเดิม คือ “การปรับปรุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เพราะทรงเห็นว่า “การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแบบฉบับพระบิดานั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด”
 
ถึง ปี2474 รัชกาลที่7 ทรงมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศและที่ปรึกษาร่างเค้าโครงธรรมนูญเพื่อเตรียม ไว้ว่า อาจจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน ในโอกาสครบ 150 ปี ราชวงศ์จักรี หากแต่เค้าโครงธรรมนูญฉบับนี้ ยังเป็นธรรมนูญที่ให้อำนาจสูงสุดแก่กษัตริย์และขุนนางเสนาบดีเช่นเดิม เพราะไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกไปจากสถาบันกษัตริย์   มิใช่ธรรมนูญที่อยู่บนพื้นฐานอำนาจของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป  หากเป็นธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม ดังเห็นได้จากที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ของร่างฯฉบับนี้ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์"  แต่แล้วการพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ล้มเหลวไปพร้อมๆกับโอกาสของสยามที่จะมีระบอบรัฐสภา
 
ขบวนการคณะราษฎร 
 
ทหาร และพลเรือนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ ในยุโรป มีเจตนาตรงกันคือต้องการเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ซึ่งได้เริ่มประชุมกันครั้งแรกตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี2469  ณ กรุงปารีส และตกลงกันใช้วิธี "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์อยู่เหนือ กฎหมาย มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยเน้นแผนการที่หลีกเลี่ยงการนองเลือดเพื่อป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรก แซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คืออังกฤษและฝรั่งเศส 
 
หลัง การประชุมนั้น เมื่อคณะผู้ก่อการกลับมาประเทศสยาม ก็พยายามเสาะหาสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมการปฏิวัติ จนได้สมาชิกจากหลากหลายอาชีพ  
-       สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)  
-       สายทหารเรือ นำโดยน.ต. หลวงสินธุสงครามชัย  
-       สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม  
-       และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา 
 
เมื่อ จัดตั้งขบวนการสำเร็จเป็นรูปร่าง คณะราษฎรได้ประชุมเตรียมการหลายครั้ง แต่ได้ล้มเลิกแผนการบางแผน เช่น การยึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในวันที่ 16มิถุนายน  เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง  จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าจะปฏิบัติการในรุ่งเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกล กังวล เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนในกรุงเทพ ทำให้สามารถเข้ายึดอำนาจโดยหลีกเลี่ยงการปะทะที่เสียเลือดเนื้อได้   เป้าหมายสำคัญของปฏิบัติการนี้คือการเข้าควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลานั้น
 
 
คณะราษฎรสายทหารบก
แถว ที่1 (ยืนจากซ้าย) ร.อ.หลวงเชวงศักดิ์สงคราม ร.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ร.อ.หลวงชาญสงคราม ร.ท.ขุนพิพัฒน์สรการ ร.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ร.อ.หลวงพรหมโยธี ร.อ.หลวงกาจสงคราม ร.ท.ขุนปลดปรปักษ์ ร.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ร.ท.ขุนวิมลสรกิจ พ.ต.หลวงวิจักรกลยุทธ ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ ร.อ.ขุนสุจริตรณการ ร.ท.น้อม เกตุนุติ ร.อ.หลวงสวัสดิ์รณรงค์

แถวที่ 2 (นั่งจากซ้าย)
พ.ต.หลวง อำนวยสงคราม ร.อ.หลวงทัศไนยนิยมศึก พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ ร.อ.หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต พ.ต.หลวงสฤษฎิ์ยุทธศิลป์

แถวที่3 (นั่งพื้นจากซ้าย) ร.ท.ขุนจำนงภูมิเวท ร.ท.ขุนนิรันดรชัย ร.ท.ขุนเรืองวีรยุทธ์ ร.ท.ขุนศรีศรากร ร.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย ร.ท.ไชย ประทีปะเสน ร.ต.จำรูญ จิตรลักษณ์ ร.ต.สมาน เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร.ต.อุดม พุทธิเกษตริน

 
 
สี่ทหารเสือคณะราษฎร (จากซ้าย) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์
 
ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ( หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)
 
 ย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475
 
ย่ำ รุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้นำทหารบกและทหารเรือประมาณ 2,000 ชีวิต มารวมตัวกันรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครองก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป  ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร ด้านสนามเสือป่า ดังปรากฎในทุกวันนี้มีหมุดทองเหลืองฝังอยู่บนพื้นถนน เป็นหลักฐานติดตรึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ มีข้อความจารึกว่า  
      "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" 
 
 
หมุดทองเหลือง ฝังบนพื้นถนน เคียงข้างพระบรมรูปทรงม้า ณ จุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย นับเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
 
คณะราษฎรได้ส่ง น.ต.หลวงศุภชลาศัยไปอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อให้เสด็จนิวัติพระนคร โดยเสนอให้ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปได้แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากทรงปฏิเสธจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไป พระองค์ได้ทรงปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ที่ตามเสด็จและได้ตัดสินพระทัยตกลงตามเงื่อนไขของคณะราษฎร
 
เมื่อเสด็จกลับถึงวังศุโขทัย เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้แทนคณะราษฎร 7 คน ได้เดินทางนำเอกสารสำคัญไปกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช2475 ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ที่เป็นหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของราษฎร ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตราแรกว่า
     "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย"
 
--------------------------------
 
ประกาศคณะราษฎร 
 
ราษฎรทั้งหลาย
 
เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้
 
การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่ รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว
 
รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้ เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป
 
ราษฎรทั้งหลายพึง รู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย
 
เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครอง โดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
 
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
 
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
 
๓.ต้อง บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
 
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
 
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
 
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
 
ราษฎร ทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือ กฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า
 
 
คณะราษฎร
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เหยื่อสารตะกั่วคลิตี้โดนลูกตะกั่วลูกชายเจ้าของเหมือง

Posted: 24 Jun 2011 06:04 AM PDT

ชาวบ้านคลิตี้ล่างที่คัดค้านและได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วถูกลูกชายเจ้าของเหมืองยิงบาดเจ็บ

เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.ของวันที่ 20 มิถุนายน 2554 นายสมภาร  นาสวนประภา ชาวบ้านคลิตี้ล่าง หมู่ที่ 4 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่คัดค้านและได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว ของบริษัทตะกั่วคอนเซนต์เตรส ประเทศไทย จำกัด ได้ดื่มสุรากับนายคมสิทธิ์ (เพล) กลีบบัว บุตรชายนายคงศักดิ์  กลีบบัว เจ้าของเหมืองแร่ตะกั่วและบริษัทตะกั่วคอนเซนต์เตรส ประเทศไทย จำกัด  โดยนายสมภาร ได้กล่าวถึงความไม่รับผิดชอบของบริษัทตะกั่วฯ จากนั้นนายคมสิทธิ์ได้ลุกขึ้นไปหยิบปืนพกจากในรถ และกลับมานั่งคุยต่อ  และยิงนายสมภารเข้าที่ขา  ผู้เห็นเหตุการณ์นำนายสมภารส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลทองผาภูมิ 

ตำรวจทองผาภูมิกล่าวว่า นายเพ เพื่อนของนายสมภารผู้บาดเจ็บ ทำปืนลั่นขณะร่วมวงสุรา กระสุนถูกเข้าหัวเข่าซ้าย ขณะนี้ยังไม่มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์

ผู้บาดเจ็บและญาติมีความเกรงกลัวและเกรงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ปฏิบัติตามหน้าที่  เนื่องจากตระกูลกลีบบัวเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล  แม้นายคงศักดิ์  กลีบบัวเจ้าของเหมืองจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ลูกหลานตระกูลนี้มักมีเรื่องแสดงอิทธิพลอยู่เสมอ

นายสมภารเป็นหนึ่งในชาวบ้านคลิตี้ 151 รายที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กรรมการบริษัทฯ และผู้จัดการมรดกของกรรมการบริษัทฯ เพื่อเรียกค่าชดเชยความเสียหายจากเหตุละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ รวมทั้งขอให้บริษัทฯ แก้ไขและฟื้นฟูลำห้วย ต่อมาในวันที่ ๒๐ธันวาคม ๒๕๕๓  ศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิพากษาให้บริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยจำนวน 36,050,000 บาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์

ล่าสุด เวลา 14.00 น. วันที่ 24 มิถุนายน 2554 นายคมสิทธิ์ ได้เข้าเจรจากับนายสมภารขอชดใช้ค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 150,000 บาท  แต่ไม่ได้ติดต่อเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่นไหมไม่ทราบ: ดวงบ้านดวงเมือง ตอน เกมทำนายกลยุทธ์ เจาะลึกดวงพรรค (อีกรอบ)

Posted: 24 Jun 2011 02:22 AM PDT

 

แม่นไหมไม่ทราบ

 

ตอน เกมทำนายกลยุทธ์ เจาะลึกดวงพรรค (อีกรอบ)

โค้งสุดท้ายใกล้เข้ามาแล้วทุกขณะ ถ้าตอนนี้ประชาชนพลเมืองเหมือนคนกำลังใช้รถใช้ถนน
ก็น่าจะลุ้นระทึกอยู่เหมือนกันว่าทางข้างหน้าจะเป็นทางตรง ทางเรียบ
หรือจะมีอุบัติเหตุให้พลิกหลุดโค้งกันเสียนี่

ไม่ว่าจะเชียร์ฝ่ายไหน มุมฟ้า มุมแดง มุมน้ำเงิน ก็กะพริบตาไม่ได้กันทั้งนั้น

ว่าแต่วันนี้ เราลองมาดูกันสนุกๆ เกี่ยวกับ “กลยุทธ์” ในการเลือกตั้งของแต่ละพรรค
ในมุมมองของไพ่ ถือว่าศึกษาหาความรู้และเช็คความแม่น (ไหมไม่ทราบ)
เจาะลึกแนวทางของพรรคเด่นๆ ดูมีการรุก รับ ขยับเกมกันอย่างไร

โปรดใช้วิจารณญาณเช่นเคยค่ะ

แต่เพื่อความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ ลองอ่านคำพยากรณ์แต่ละข้อความแล้วทายดูก่อนสิว่า
ข้อไหนคือพรรคอะไร แล้วค่อยพลิกไปดูหน้าเฉลย
(อย่าโกงตัวเองล่ะ)

 

♥ เริ่มจากพรรคหมายเลข..........

กลุยทธ์เด่นของพรรคคืออะไร King of Wands

การสนับสนุนหรือเข้าร่วมกับผู้ที่มีศักยภาพ มีอำนาจ เป็นราชาผู้ครองเก้าอี้ตัวที่สูงที่สุดตามความหมายชื่อไพ่ สามารถร่วมได้ทั้งในลักษณะผู้นำ ผู้ตาม ทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง เรียกได้ว่าเน้นเอา “คนเก่งและคนที่มีอำนาจ” เป็นเป้าหมายหลัก พูดง่ายๆ ว่า ไม่อยู่ข้างผู้แพ้อย่างแน่นอน

✔ คติจากไพ่ของหมายเลขนี้ > “ผู้ชนะคือผู้กำหนดนโยบายและแนวทาง”

 

♥ พรรคหมายเลข..........

กลุยทธ์เด่นของพรรคคืออะไร Queen of Swords

ค่อนข้างออกมาแปลกทีเดียว เพราะถ้าจำไม่ผิด เป็นพรรคไม่มีผู้หญิงที่มีบทบาทโดดเด่น แต่ไพ่กลับแสดง “ราชินีดาบ” ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งการปกป้องสถานะตนเองออกมา ราวกับกลยุทธ์หรือแนวทางเด่นๆ มีผู้หญิงเป็นตัวกำหนด หรือให้แรงหนุนสำคัญ อ้อ แต่อีกอย่างที่เป็นความหมายของไพ่ใบนี้ก็คือ ถือว่าศัตรูตนเองก็เป็นผู้หญิงที่มีอำนาจสูง แนวทางพรรคจะโฟกัสไปที่ “ผู้หญิงเก่ง” อย่างเต็มประตู อื่นๆ ไม่ถือว่าเป็นประเด็นเร่งด่วน

✔ คติจากไพ่ของหมายเลขนี้ > “เชื่อมั่นในผู้หญิงที่มีอำนาจ และอย่าประมาทผู้หญิงที่มีพลัง”

 

♥ พรรคหมายเลข..........

กลุยทธ์เด่นของพรรคคืออะไร Four of Pentacles

การถือว่าตนมีทุนสำคัญอยู่ในมือ และเต็มไปด้วยพลังของการยึดมั่นถือมั่น การจะไม่ปล่อยให้พื้นที่ถูกช่วงชิง ไพ่หมายเลขสี่ ยังแสดงถึงแรงหนุนที่มั่นคง ลักษณะทั่วไปของไพ่ใบนี้ ดูภายนอกูเหมือนคนกำลังขัดสน มีความหวั่นกลัว หวั่นไหว ระแวงและวิตกกังวลกับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ แต่ลึกๆ มักเป็นพวกซุกซ่อนทรัพย์สิน มีทุนรองรัง และรู้ว่าตัวเองมีสายป่านพิเศษยาวกว่าใครๆ

✔ คติจากไพ่ของหมายเลขนี้ > “ยึดทุนดั้งเดิมหรือสิ่งสำคัญเอาไว้ให้แนบแน่นที่สุด”

 

♥ พรรคหมายเลข..........

กลุยทธ์เด่นของพรรคคืออะไร King of Pentacles

การลงทุนเต็มพิกัด การจัดการอย่างชาญฉลาดในเรื่องทรัพย์สิน การวางแผนทางธุรกิจ การเกี่ยวข้องกับประเด็นทางเศรษฐกิจ รวมถึงบุคคลที่มีความมั่งคั่งอย่างถึงที่สุดตามความหมายชื่อไพ่ อนึ่ง ไพ่ใบนี้ยังแสดงถึงการใช้เงินจำนวนมหาศาล การใช้เงินเพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนเงื่อนไข การยื่นข้อเสนอและการต่อรอง

✔ คติจากไพ่ของหมายเลขนี้ > “เงินมีอำนาจ และผู้มีอำนาจก็ต้องการเงิน”

 

 

ทีนี้ เรามาดูกันบ้างว่า แล้วแต่ละพรรค มีศัตรูหรืออุปสรรคที่สำคัญคืออะไรกันบ้าง

 

พรรคหมายเลข..........
ไพ่ The Sun

!?! หนทางกระจ่างแจ้งไร้เมฆหมอกบดบัง ไม่มีศัตรูหรืออุปสรรคใดจะขวางทางได้ อำนาจ เกียรติยศ เป็นของหวังได้ อนึ่ง ไพ่ใบนี้ประจำตำแหน่งราศีสิงห์ ดาวอาทิตย์ (1) เกี่ยวข้องกับนักการเมือง, ทหาร, ผู้นำชุมชน, ทิศอิสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) และอยู่ในเรือนปุตตะ หมายถึงการเริ่มต้นใหม่ เทศกาลบันเทิงเริงรื่น

☼ คีย์เวิร์ดของหมายเลขนี้ “ฟ้าจะเปิดให้”

 

พรรคหมายเลข..........
ไพ่ The Chariot

!?! มาแปลกอีก อุปสรรคสำคัญของพรรคนี้คือการควบคุมทิศทางยานพาหนะ กล่าวคือ ความหมายของไพ่ใบนี้ คือการเดินทางไปสู่เป้าหมาย การควบคุมยาพาหนะเพื่อให้ไปตรงทาง ไม่เถลไถล ไม่เจอทางตัน ทางขาด เน้นการกรุยทางให้สะดวกราบรื่นที่สุด เป็นการลงสู่สนามรบเต็มรูปแบบ ตามหน้าไพ่นี้ ศัตรูของหมายเลข 16 นี้จะไม่ใช่แค่ตัวบุคคล หรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่จะเกี่ยวข้องกับการ “ต้องพยายามควบคุมกำลังพล” ให้เคลื่อนไปในทิศที่ตนเองต้องการให้ได้

☼ คีย์เวิร์ดของหมายเลขนี้ “ถ้าไม่ได้เป็นสารถีเอง ก็ต้องควบคุมสารถีให้ได้”

 

พรรคหมายเลข..........
ไพ่ Eight of Wands

การจับปูใส่กระด้ง การจัดการกับสิ่งที่แตกขยาย- เติบโตออกไปโดยไม่อยู่ในความต้องการ แผนการที่ไปเร็วและไกลจนตามไม่ทัน ความเชื่องช้าอืดอาด บรรยากาศสับสนวุ่นวาย เครียด เหนื่อยล้า ผู้คนจำนวนมากที่แตกฮือเหมือนมดพรูจากรัง ยากแก่การควบคุมสถานการณ์

☼ คีย์เวิร์ดของหมายเลขนี้ “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย”

 

พรรคหมายเลข..........
ไพ่ Three of Pentacles

อุปสรรคคือสิ่งที่ “พิเศษ” ทั้งหลายทั้งปวง อาทิ ความชำนาญพิเศษ, ทักษะพิเศษ, บุคคลชั้นพิเศษ หรือข้อแลกเปลี่ยนพิเศษที่มีการตกลงกันในกลุ่มคู่แข่งขัน เช่น การประกาศเกียรติคุณ การให้เกียรติยศ การแปะป้ายยกย่องสรรพคุณ การหยิบยื่นโชคลาภให้ผู้ที่เข้าร่วมสมาคม ซึ่งดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรน่าหวั่น แต่ถ้าของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น คือเป็น “ของมีค่ามากๆ” ในความรู้สึกคู่แข่งขัน การแย่งชิงเก้าอี้เพื่อของรางวัลก็เป็นสิ่งประมาทไม่ได้

☼ คีย์เวิร์ดของหมายเลขนี้ “สิ่งพิเศษมีค่าอนันต์”

 

 

..... (คลิกอ่านเฉลยที่นี่)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทนายจ่อเอาผิด "แนท พีรกร" ศิลปินลูกทุ่ง แจ้งความเท็จ อ้าง "อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์" หมิ่นเบื้องสูง

Posted: 23 Jun 2011 11:56 PM PDT

ทนาย "อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์" แจ้งความกลับ "แนท พีรกร" ศิลปินลูกทุ่ง แจ้งความเท็จ อยากให้เป็นกรณีตัวอย่างเพราะไม่อยากให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมาเว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ในฐานะทนายความ กล่าวถึงกรณีที่ นายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ดารานักแสดง และผู้กำกับละครชื่อดัง ถูกนายภูมิพัฒน์ วงศ์ยาชวลิต หรือ “แนท พีรกร” ศิลปินเพลงลูกทุ่ง แจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สน.คันนายาว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง จากกรณีที่ขึ้นกล่าวบนเวทีระหว่างเข้ารับรางวัลนาฎราช เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ว่า คดีนี้ทางพนักงานสอบสวน และอัยการ พิจาณาให้ความเห็นสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากไม่พบว่าคำพูดของนายพงศ์พัฒน์ เข้าข่ายความผิดดังกล่าว ต่อมาตนจึงเข้าพบ พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พงส.(สบ3) กก.1 บก.ป.เพื่อแจ้งความกลับ นายภูมิพัฒน์ ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน

นายสงกรานต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ทาง บก.ป.ได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน สน.คันนายาว ดำเนินคดี และทาง พ.ต.ท.พลกฤต ภูไชยศิลป์ พงส.(สบ2) สน.คันนายาว ได้นัดหมายตนเข้าให้ปากคำเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ตนติดภารกิจจึงขอเลื่อนนัดเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นวันนี้ (24 มิ.ย.) เวลา 10.30 น.อย่างไรก็ดี เรื่องที่เกิดขึ้นตนก็อยากให้เป็นกรณีตัวอย่างเพราะไม่อยากให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมฯ ต้านโลกร้อนค้านฮั้วประมูลขยะ กทม.

Posted: 23 Jun 2011 11:36 PM PDT

ชี้ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้ กทม. แทนที่จะต้องผลาญภาษีของประชาชนส่อขัด กม.ฮั้วประมูล

24 มิ.ย. 54 - นายศรีสุวรรณ  จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่าสมาคมฯได้ยื่นจดหมายให้ผู้ว่า กทม.ค้านแนวทางการฮั้วประมูลขยะชุดใหม่ที่กทม.กำลังจะเปิดให้มีการว่าจ้างในโครงการจ้างเหมาเอกชนขนมูลฝอยจากสถานีขนถ่ายมูลฝอยระบบใหม่ ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม (ท่าแร้ง) และนำไปทำลายโดยวิธีฝังกลบอย่างเดียววงเงิน 2,920 ล้านบาทจากมูลฝอยกว่า 2,000 ตันต่อวัน  ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขในทีโออาร์ว่า ให้ใช้วิธีฝังกลบขยะเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาทักท้วงว่า การกำหนดเงื่อนไขในทีโออาร์ ของกทม. ครั้งนี้ ส่อไปในทางล็อคสเปคให้เอกชนกลุ่มเดิม ๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับข้าราชการและผู้บริหารของกทม. บางคนเท่านั้น

การกำหนดวิธีการกำจัดขยะโดยวิธีฝังกลบเพียงอย่างเดียวแบบนี้ ถือเป็นวิธีการที่ล้าสมัย ซึ่งในต่างประเทศเลิกใช้วิธีดังกล่าวแล้ว เพราะการฝังกลบขยะจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนที่อยู่บริเวณบ่อฝังกลบ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขลักษณะ การส่งกลิ่นเหม็น ขยะปนเปื้อนสารเคมี ไหลลงสู่ดินและแม่น้ำลำคลอง ทำให้สภาพแวดล้อมเสียหายอย่างมาก ที่สำคัญจะเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซมีเธน ที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนยาวนานกว่า 400 ปีเลยทีเดียว

ในขณะที่นวัตกรรมของการกำจัดขยะสมัยใหม่นั้น สามารถนำขยะมาแปลงเป็นมูลค่าเป็นเงินเป็นทองให้กับท้องถิ่นได้อย่างมหาศาล เช่น นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า นำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ รวมถึงการนำไปผลิตน้ำมันด้วยกระบวนการ Pyrolysis ซึ่งเป็นการนำพลาสติกเข้าสู่กระบวนการหลอมเป็นไอ โดยใช้อุณหภูมิต่ำหรือไม่เกิน 500 องศาเซลเซียส ผลผลิตที่ได้ประกอบด้วยน้ำมันดีเซล 50% น้ำมันเบนซิน 20% ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นน้ำมันเตา พลาสติกวัตถุดิบที่ใช้ก็สามารถใช้ได้เกือบทุกประเภททั้งโพลิโพรพิลีน (เช่น ถุงบรรจุอาหารร้อน กล่องบรรจุอาหารนำเข้าไมโครเวฟได้) และโพลิเอธิลีน (เช่น ถุงหิ้ว ขวดน้ำดื่ม ถังน้ำ) ซึ่งขยะ กทม.มีขยะพลาสติกเหล่านี้ปะปนอยู่มากกว่า 20% เลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้นกทม. พยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อเฉไฉให้สังคมต้องยอมรับแนวปฏิบัติของกทม.เท่านั้นโดยตั้งทีโออาร์ประกวดราคาใหม่ที่ราคาตันละ 800 บาท หากเปิดให้มีการประมูล แต่ถ้าจ้างเอกชนรายเดิมจะได้ราคาถูกลงมาที่ 600 บาท/ตัน/วัน จากสัญญาเดิมที่เคยกำหนด 435 บาท/ตัน/วันหรือโดยเฉลี่ย กทม. จะต้องจ้างเอกชนถึงวันละกว่า 5 ล้านบาท หากคิดรวมตลอดทั้งปีหรือ 365 วันจะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนในกทม. เป็นค่าจ้างให้เอกชนในการกำจัดขยะเฉพาะแห่งเดียวที่ท่าแร้งกว่า 2,000  ล้านบาท/ต่อปี ทั้งนี้ทราบว่ามีเอกชนหลายราย ให้ความสนใจที่จะนำเสนอนวัตกรรมการกำจัดขยะสมัยใหม่ให้กับกทม.แบบฟรีๆโดยกทม. ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่ง กทม. สามารถประหยัดงบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างกำจัดขยะแบบฝังกลบให้เอกชนรายเดิมเป็นวงเงินร่วม 2,000 ล้านบาท/ต่อปี แต่ผู้บริหาร กทม. กลับปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทั้งๆ ที่ กทม. ไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้

ดังนั้นจึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริหาร กทม. ที่ดูแลการกำจัดขยะ จะมีผลประโยชน์กับกลุ่มเอกชนที่รับจ้างกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบรายเดิม ๆ หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวส่อขัดต่อ พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 และพรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อีกด้วย หาก กทม.ยังเพิกเฉยก็ต้องหาข้อยุติกันที่ศาลปกครองเท่านั้น

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสกทม. ควรเปิดกว้างให้เอกชนรายต่าง ๆ มานำเสนอนวัตกรรมการกำจัดขยะแบบใหม่ๆ  พร้อมเสนอราคาหรือผลประโยชน์ให้กับกทม.ได้มากกว่าแทนที่ กทม. จะต้องเสียเงินด้วยภาษีอาการของประชาชนเหมือนเช่นที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด
 

ข้อมูลประกอบ

ในอดีต กทม.จ้างเหมาเอกชนขนมูลฝอยและนำไปทำลายโดยวิธีฝังกลบ แบ่งออกเป็น 3 โครงการ คือ

โครงการที่ 1 เป็นโครงการกำจัดมูลฝอยที่โรงงานกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช วงเงิน 3,546 ล้านบาท ระยะเวลา 11 ปี (ปี 2546-2556) นำขยะไปฝังกลบที่ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคือ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ มีครอบครัวเจริญพจน์ เป็นเจ้าของ (ตันละ 512 บาท) มีขยะ 2,500 ตัน/วัน

โครงการที่ 2 โครงการกำจัดมูลฝอยที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยท่าแร้ง วงเงิน 2,993 ล้านบาท ระยะเวลา 13 ปี (2546-2558) นำขยะไปฝังกลบที่ ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคือ บริษัท วัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด มีนายอนุรัตน์ และ น.ส.สุรัชดา สะสมทรัพย์ เป็นกรรมการบริษัท (ตันละ 435 บาท) มีขยะ 2,000 ตัน/วัน

โครงการที่ 3 โครงการกำจัดมูลฝอยที่โรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม วงเงิน 3,050 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี นำขยะไปฝังกลบที่ ต.สระสี่มุม บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคือ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด มีนายวราวิชช์ และนายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ เป็นกรรมการบริษัท (ตันละ  418  บาท) มีขยะ 3,000 ตัน/วัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง: ราษฎรที่รักทั้งหลาย/ ๗๙ ปี ภารกิจคณะราษฎร

Posted: 23 Jun 2011 06:50 PM PDT

 

ราษฎรที่รักทั้งหลาย

ย่ำรุ่ง ยี่สิบสี่ มิถุนา
พระยาพหลฯ อ่านคำ ประกาศ
เมื่อกษัตริย์ องค์นี้ ขึ้นครองราชย์
สืบอำนาจ ต่อจาก พี่ชาย

ราษฎร บางคน หวังใจว่า
ร่มเย็นจัก แผ่มา ทั้งไกลใกล้
แต่วัน ปีเดือน เคลื่อนผ่านไป
เพียงวาดหวัง งมงาย ให้ร้าวราน

เจ้าถือเอา ราษฎร ลงเป็นทาส
ภาษีชาติ รังแต่ จะล้างผลาญ
ทำนา บนหลังคน มายาวนาน
นอนกินกัน เป็นสุข บนทุกข์ใคร

ราษฎรทั้งหลาย, ชาติใดเล่า
ให้เงินเจ้า มากเท่า เราทั้งหลาย
พระเจ้าซาร์ ไกเซอร์ ถูกโค่นไป
บัลลังก์ใด รอวัน หักโค่นลง

ลมค่อนรุ่ง คลุ้งข้น กลิ่นคาวเลือด
ทางสายนั้น แดงเดือด สู่ทุ่งโล่ง
เปลวแดดหนาว ดาวแสงต่ำ มืดค่ำลง
อำนาจเก่า ชูธง กลับเข้ามา

โอ้ราษฎร ที่รัก ทั้งหลาย
เดินทางไกล จากสอง สี่เจ็ดห้า
ผ่านทุ่ง สังหาร ธารน้ำตา
นั่นพาน แว่นฟ้า อาบเลือดคน

โอ้ราษฎร ที่รัก ทั้งหลาย
ปลายทางใช่ นอนตาย กลางถนน
ประชาธิปไตย ไม่กินคน
วีรชน ตายด้วย เผด็จการ

โอ้ราษฎร ที่รัก ทั้งหลาย
มิปรารถนา จะตาย อย่างอาจหาญ
มีเพียง ประเทศ เผด็จการ
สร้างแดน ประหาร ประชาชน

โอ้ราษฎร ที่รัก ทั้งหลาย
ประชาธิปไตย ใต้ฟ้าหม่น
ผ่านกี่ยุค เราทุกข์ และเราทน
เสียงปืนแตก กี่หน คนล้มตาย

เจ็ดสิบเก้า ปีแล้วเล่า เรารบรุก
ประชาธิปไตย มีประมุข ใช่, ไม่ไช่
ไม่มีดอก เราไม่มี ประชาธิปไตย
กษัตริย์เป็น ประมุข...ใช่! นั่นเรามี

 

บทกวีเนื่องในวาระ ๒๔ มิถุนายน โดย เพียงคำ ประดับความ

 

๗๙ ปี ภารกิจคณะราษฎร

ภารกิจท่านยังมิสำเร็จ
รัฐเผด็จอำนาจนำครอบงำใหม่
๑๕ ปี ท่านอยู่แล้วจากไป
ทรราชขึ้นมาใหญ่ในแผ่นดิน

๖ ประการ สิทธิ เสรีภาพ
ถูกกำราบหมอบกราบเข้าแทนสิ้น
เอกราช การศึกษา การอยู่กิน
หวนถวิลสู่ผืนดินพอเพียง

ความปลอดภัยนั้นคือไร้ขื่อแป
รัฐรังแกปกปิดไร้สิทธิ์เสียง
เสรีภาพซึมซาบทุกสำเนียง
เดินหน้าเรียงสู่ตะราง-พูดความจริง

๒๔ มิถุนาฯ ๒๔๗๕
ราษฎรประกาศกล้าต่อหน้าสิงห์
เมื่ออำนาจประชาชนถูกปล้นชิง
แม้น The King ก็ต้องล้มราชบัลลังก์

เขาโค่นล้มเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เพื่อพี่น้องผองชนในหนหลัง
หลุดออกจากระบอบอันน่าชัง
ด้วยพลังมวลชนคนธรรมดา

มาบัดนี้ ๗๙ ปีประชาธิปไตย
หมุนกลับไปเริ่มใหม่ไร้เดียงสา
เกิดซากเดนความคิดปฏิกิริยา
เทวดาองค์ใดใช้เงื่อนปม

ภารกิจของท่านจึงยังมิสำเร็จ
เวียนมาเจ็ดสิบเก้าปีที่ขื่นขม
เราก้าวเดินทีละย่างอย่างเศร้าตรม
แต่ยังถมทางท่านต่อเพื่อรอวัน!.

Homo erectus/กลุ่มกวีตีนแดง
ขอคารวะต่อคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

 

หมายเหตุประชาไท: บทกวีทั้งสองบท มีนัยทางประวัติศาสตร์ถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๙ ปี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิพากษา เสื้อแดงเชียงใหม่ จำคุก 5 ปี 6 เดือน จากเหตุปะทะกลุ่มพันธมิตรปี 51

Posted: 23 Jun 2011 05:41 PM PDT

เว็บไซต์ประชาธรรมรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 54 เวลาประมาณ 14.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ1530/2553 ที่พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโจทก์ฟ้องนายแดง ปวนมูล ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานพยายามฆ่า (ม.80,ม.288 - ม.290, ม.292 - ม.294), พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ฯลฯ, ความผิดลหุโทษ (ม.367 - ม.398)

สืบเนื่องมาจากเมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 พ.ย.51 ที่เกิดเหตุกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 หรือกลุ่ม "เสื้อแดง" เชียงใหม่ ได้เข้าทำการปิดล้อมที่ทำการของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง แล้วเกิดการปะทะกัน และมีการตอบโต้กันด้วยอาวุธ

ระหว่างการปะทะปรากฏว่าได้นางสาวอัจจิมา ศรีกัลยานิวาท อายุ 43 ปี ได้ถูกกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาดจากฝ่าย "เสื้อแดง" ยิงเข้าที่บริเวณหัวไหล่ด้านขวาได้รับบาดเจ็บ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าผู้ที่ใช้อาวุธปืนยิงคือนายแดง จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ออกหมายจับ จนกระทั่งสามารถจับกุมตัวนายแดงได้

ต่อมาในวันนี้ ศาลพิพากษา สรุปใจความได้ว่าว่า จำเลยมีความผิด  ฐานพยายามฆ่า มีอาวุธปืนฯ ไว้ในครอบครอง และพกพาติดตัวไปในเมืองฯเมื่อวันที่ 26 พ.ย 2551 ลงโทษตาม พรบ.อาวุธปืน ฯ พศ. 2490 ปอ.ม.80, 91, 288, 371 พิพากษาให้จำคุก 6 เดือนฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือนฐานพกพาอาวุธติดไปในเมือง จำคุก 10 ปีฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา รวมจำคุก 11 ปีจำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 5 ปี 6 เดือน

หลังฟังคำตัดสิน นางบัวจันทร์ ปวนมูล มารดาผู้ต้องหา กล่าวว่า จะไม่อุทธรณ์ต่อ เพราะอยากให้เรื่องจบๆไป แม้จะเสียใจอยู่บ้างที่ครอบครัวต้องมาประสบพบเจอกับชะตาแบบนี้ แต่ไม่เสียใจที่เข้าร่วมต่อสู้กับกลุ่มคนเสื้อแดง ถ้าลุกชายมาพูดก็ต้องพูดแบบนี้ และก็ยังดีใจที่ยังทียังมีกลุ่มคนเสื้อแดงคอยให้ความช่วยเหลือดูแลอยู่

ที่มา: เว็บไซต์ประชาธรรม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น