ประชาไท | Prachatai3.info |
- คำตอบจากเยอรมัน(1) “ทำไมเลิกนิวเคลียร์ หันหัว(พุ่ง)สู่พลังงานหมุนเวียน”
- พุทธแถ/ประชาธิปไตยแถ
- ร่างทรงเจ้าแม่กวนอิมถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- ‘รับน้องใหม่’ : การสืบทอดวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย
- กรุงเทพโพลล์ พบเพื่อไทยกวาด 21 เขต ปชป.6 สูสี 6
- นิติราษฎร์ ฉบับ 24: ปิยบุตร แสงกนกกุล กฎหมาย vs กฎหมู่
- แถลงข่าวเรื่อง 'จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ ว่าด้วย มาตรา 112'
- “ยกระดับเจรจา” ไฮไลต์ดีเบตดับไฟใต้
- จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 3
- สนนอ.กร้าว!!...ปกป้องเสรีภาพนิสิต มมส. ค้าน โซตัสทุกระดับ ทั่วภาคอีสาน!!
- นักสหภาพฯ-นักวิชาการทวงสิทธิประกันตัวผู้ต้องหา ม.112 ตัดวงจรอุบาทว์
- ประชาไทบันเทิง: เปิดใจเลขาธิการพรรค “เพื่อเธอ”
- ITUC เผยสิทธิแรงงานเอเชียถดถอย เลิกจ้าง-จับกุม-ขู่ฆ่า-สังหารเพิ่มขึ้น
- “เอ็นจีโอ” ถลกนโยบายพรรคการเมือง ชี้ “รัฐสวัสดิการ” ไม่คืบ จี้เลิก 4 ดัน 8 นโยบาย
- "กนก" ลั่น "อย่าให้พวกเผาเมืองยึดประเทศไทย"
คำตอบจากเยอรมัน(1) “ทำไมเลิกนิวเคลียร์ หันหัว(พุ่ง)สู่พลังงานหมุนเวียน” Posted: 12 Jun 2011 12:07 PM PDT เร็วๆ นี้ มีข่าวฮือฮาว่าประเทศเยอรมันยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหรรมของโลก ประกาศกร้าวตัดสินใจจะทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังเห็นตัวอย่างโรงไฟฟ้าฟุกุชิมาที่ประสบปัญหาหลังสึนามิถล่มญี่ปุ่น เยอรมันเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรม ความต้องการไฟฟ้านั้นมหาศาล มากกว่าไทย 5 เท่า มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 17 โรง ผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 20,000 เมกกะวัตต์ หรือคิดเป็น 23% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ตอนนี้ปิดถาวรไปแล้ว 8 โรง อีก 6 โรงที่เพิ่งสร้างใหม่จะปิดอย่างช้าที่สุดปี 2021 และอีก 3 โรงจะปิดอย่างช้าที่สุดในปี 2022 ถามว่ายกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วจะเอาไฟฟ้าจากไหน เพราะพลังงานฟอสซิล หลักๆ คือ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินนั้นสร้างมลภาวะเยอะ ผิดกับเป้าหมายสูงลิบของเยอรมันในการลดก๊าซเรือนกระจก แถมเป็นแหล่งพลังงานที่กำลังจะหมดไป คำตอบของ Dr. Georg Maue ตัวแทนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน ที่มาร่วมงานเสวนาเรื่องพลังงานหมุนเวียนในเมืองไทย เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.54* ระบุว่า เยอรมันกำลังมีนโยบายเบนเข็มทิศไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างมโหฬาร แต่ระหว่างที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปิดไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซเพิ่มขึ้นอีก 17 โรง และจะเริ่มจ่ายไฟในปี 2013 อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลพวกนี้น่าจะเป็นล็อตสุดท้าย เพราะในระยะถัดไปประเทศนี้มีเป้าหมายจะใช้พลังงานหมุนเวียนเกือบทั้งหมดภายในปี 2050 การตั้งเป้าหมายในปี 2050 เป็นผลมาจากการเยอรมันตั้งใจจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด มากกว่าที่ตกลงไว้ในพิธีสารเกียวโต ที่น่าสนใจคือ ประเทศนี้ทำการศึกษาความเป็นไปได้อย่างหนัก ไม่ใช่พูดลอยๆ เป็นคำสวยๆ โดยมี 2 กระทรวงหลักที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน นั่นคือ กระทรวงด้านสิ่งแวดล้อม กับ กระทรวงด้านเศรษฐกิจ หลังมหันตภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา รัฐบาลเยอรมันกดดันให้คณะทำงานเร่งการศึกษาให้เสร็จภายใน 1 ปี ทางออกสำคัญที่สรุปได้ คือ จะมีการเน้นไปที่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า (Demand-Side Management/ DSM) , พลังงานหมุนเวียน, การสร้างระบบโครงข่ายสายส่ง (Grid) ที่ทั่วถึงและ “ฉลาด”
แผนภาพเปรียบเทียบสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ปี 2010 กับเป้าหมายในปี 2050 Dr. Maue บอกว่าสิ่งที่ทำให้การตัดสินใจระดับนโยบายเป็นไปได้นั้น นอกจากจะเป็นกระแส “ไม่เอานิวเคลียร์” ภายในประเทศแล้ว ยังเป็นเพราะการศึกษาวิจัย ซึ่งได้มีการการวางแผนยุทธศาสตร์นโยบายด้านการผลิตไฟฟ้าของเยอรมัน ซึ่งเพิ่งผ่านรัฐสภาไปเมื่อเร็วๆ นี้ ภายในแผนดังกล่าวดู 3 ปัจจัยหลักคือ ประชากรโลกเพิ่มขึ้น จนปี 2050 จะมี 9 พันล้าน, ความต้องการใช้พลังงานก็มากขึ้นโดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล, ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องหันไปสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ สัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของเยอรมันในปี 2010 ประกอบด้วย ถ่านหิน 45% นิวเคลียร์ 23% พลังงานหมุนเวียน 17% ก๊าซธรรมชาติ 14% ปิโตรเลียม 1% ขณะที่เป้าหมายในปี 2050 พลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนถึง 83% ส่วนของไทยนั้นปัจจุบันใช้ก๊าซเป็นหลักเกือบ 70% ขณะที่แผนพีดีพี 2010 ของไทย (วางแผนล่วงหน้า 20 ปี) จะลดการใช้แก๊สให้เหลือ 40% โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้นิวเคลียร์ราว 5 โรง สำหรับพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะอยู่ในระดับเล็กน้อยมาก “เราต้องดูว่าหากมีพลังงานหมุนเวียนในแผนมากๆ จะส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างไร ความยั่งยืนเป็นอย่างไร เราต้องการให้เศรษฐกิจโตด้วย แต่โดยไม่ทำลายตัวเราเองและอนาคตของเรา... เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมจึงต้องแสดงความรับผิดชอบในการลดการปล่อย คิดว่าจะได้น้อยกว่าที่ลงนามในพิธีสารเกียวโตเสียอีก” Dr.Maue กล่าว
สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแบบต่างๆ เทียบปี 2010 กับเป้าหมายในปี 2050
Dr.Maue บอกว่าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นไปได้ในแผนพลังงาน ก็ต้องต้องมีนโยบายเรื่องสภาพภูมิอากาศ (climate policy) ซึ่งเยอรมันตั้งเป้าหมายสูง หวังสูง ว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2050 ให้ได้ 95% เทียบกับปี 1990 ส่วนขณะนี้ลดไปได้ 1 ใน 4 แล้ว ไม่ใช่หวังดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว (โดยไม่ทำกำไร) เยอรมันยังต้องการเป็น “ผู้นำทางการตลาด” ในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วย ซึ่งกำลังคืบหน้าไปด้วยดีเพราะตลาดนี้ยังมีผู้เล่นน้อยราย นอกจากนี้การใช้พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าลม, แดด ฯ ซึ่งมันยังมีศักยภาพในลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอซซิลได้มาก สามารถประหยัดได้ 22,000 ล้านยูโร ขณะที่จีดีพีจะยังคงเพิ่มขึ้นตามปกติ “การลงทุนใหม่เกี่ยวกับพลังงานหมนุเวียนในปีที่แล้ว ทำให้เกิดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม 17% มีเงินลงทุน 27,000 ล้านยูโร มีการจ้างงานเพิ่ม 370,000 ตำแหน่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 120 ล้านตัน”
สัดส่วนตลาดเทคโนโลยีสีเขียวของเยอรมัน หากสำรวจตลาด Green Technology เยอรมันมีส่วนแบ่งการตลาดโลกถึง 1,000 พันล้านยูโรในปี 2005 และคาดว่าภายในปี 2020 อาจมีส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 2,200 พันล้านยูโร “นี่คือแรงจูงใจสำคัญให้เกิดยุทธศาสตร์พลังงานแนวใหม่อย่างที่เป็นอยู่” Dr.Maue ว่า ตัวแทนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมเยอรมันสรุปความสำเร็จของตนว่า แผนพลังงานเช่นนี้เป็นไปได้ เพราะการศึกษาที่ชัดเจน โดยดูว่าปี 2050 เราต้องการอะไร เราต้องการพลังงานอะไรในปีนั้น และจะไปถึงได้อย่างไร จะใช้มาตรการอะไร และประเมินความเป็นไปได้ มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า เราจะไปไหน อย่างไร เป้าหมายคืออะไร ทุกฝ่ายต้องมีส่วนผลักดันและปฏิบัติจริง อีกส่วนหนึ่งคือยังต้องมีความพร้อมในการสนับสนุนเรื่องการเงินด้วย สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือการ มีรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงนั่งด้วยกัน โดยแต่ละคนก็มีข้อมูลทางเทคโนโลยีที่แน่นปึก ทั้งคู่มี “clear view” และได้รับความร่วมมือจากภาคีเยอะ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม เขายังอวดว่า เป้าหมายพลังงานหมุนเวียน ในภาคพลังงานโดยรวมนั้นคาดหมายว่าปีสุดท้ายของแผน ต้องมีพลังงานหมุนเวียน 60% เฉพาะส่วนของการผลิตไฟฟ้าต้องเป็นพลังงานหมุนเวียน 80% เป้าหมายด้านประสิทธิภาพพลังงาน ตั้งใจให้ลดพลังงานต้นน้ำถึง 50% ภายในปี 2050 ขณะที่(ย้ำอีกที)เศรษฐกิจก็ต้องเติบโตด้วย ดังนั้น จึงต้องหามาตรการให้ลดใช้พลังงานถึงครึ่งหนึ่ง เช่น การสร้างความร้อนในอาคารนั้นต้องเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องนี้ 1-2% โดยการปรับรื้อโครงสร้างเก่า, ปรับปรุงโครงสร้างสายส่ง และอีกมากมายกว่าร้อยมาตรการ ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบมาตรการต่างๆ ทุก 3 ปี ฟังแล้วอย่าเพิ่งอิจฉาหรือทำหน้าไม่เชื่อ ในตอนหน้าเราจะมาลงลึกในแผนพลังงานของเยอรมัน ทั้งเรื่องพลังงานหมุนเวียน โครงข่ายสายส่งอัจฉริยะ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้เพื่อลดการใช้ไฟ
-------------------------------------------------- หมายเหตุ เรียบเรียงจากการบรรยายของ Dr. Georg Maue, Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation, and Nuclear Safety, Germany สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
Posted: 12 Jun 2011 10:48 AM PDT อ่านบทความของรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมโต้ “วาด รวี” กับ “ปราบดา หยุ่น” ที่มีการอ้าง “หลักกาลามสูตร” ด้วย และบทความเปิดผนึก “จากใจนายกฯอภิสิทธิ์ถึงประชาชน” แล้ว สะท้อนให้เห็นปัญหาวิธีคิดของพุทธแบบไทย และประชาธิปไตยแบบไทยอย่างชัดเจน ปัญหาที่ว่าคือ วิธีคิดที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง เหตุผล และหลักการ พูดสั้นๆว่า “แถ” นั่นเอง เราจึงเป็นได้แต่ “พุทธแถ” และ “ประชาธิปไตยแถ” เท่านั้นเอง ยกตัวอย่าง “พุทธแถ” นะครับ (เอาแค่ตัวอย่างบางตอน) เช่น กรณีที่คณะสงฆ์ไทยไม่อนุญาต/ไม่ยอมรับการบวชภิกษุณี และไม่รับรองสถานะของภิกษุณีที่บวชมาจากนิกายอื่น โดยอ้างพระธรรมวินัย “ตามตัวอักษร” อย่างเคร่งครัดว่า “การบวชภิกษุณีต้องประกอบพิธีบวชในสงฆ์สองฝ่ายคือฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายภิกษุสงฆ์” เมื่อภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทไม่มีแล้ว ย่อมไม่สามารถบวชภิกษุณีได้ จะไปทำพิธีบวชในนิกายมหายาน สงฆ์ไทยก็ไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่เป็น “ลายลักษณ์อักษร” แต่ถามว่า ปัจจุบันพระสงฆ์ไทยรับเงินได้หรือไม่ ตอบว่ารับได้ (มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว มีรถเบนซ์ ฯลฯ ส่วนตัวได้ด้วย) ถามว่าเป็นไปตามพระวินัยที่เป็น “ลายลักษณ์อักษร” ไหม ไม่ครับ เพราะวินัยหรือศีลของพระ 1 ใน 227 ข้อ บัญญัติว่า “ห้ามภิกษุรับเงินและทอง” หรือกำหนดว่าเงินและทองเป็น “วัตถุอนามาส” คือเป็นของต้องห้ามสำหรับพระสงฆ์ผู้มุ่งละกิเลสแสวงอิสรภาพทางจิตวิญญาณ เมื่อพระวินัยที่เป็นลายลักอักษรบัญญัติไว้เช่นนั้น ทำไมพระสงฆ์ปัจจุบันจึงรับเงินได้ และชาวพุทธก็นิยมถวายเงินเสมือนว่าไม่มีวินัยห้ามไว้เลย ก็เพราะพระสงฆ์ (สังคมไทยด้วย) อ้างเหตุผลว่า วินัยข้อนี้บัญญัติในสมัยเมื่อกว่า 2,500 ปีแล้ว สมัยนั้นเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตประจำวัน แต่ทุกวันนี้จะทำอะไรต้องใช้เงิน พระเรียนหนังสือ เดินทาง ไม่สบายไปหาหมอ ฯลฯ ก็ต้องใช้เงิน ฉะนั้น การที่พระต้องรับเงินถือว่าเป็นการอนุโลมตามยุคสมัย อ้าวแล้วถ้าวินัยที่เป็นลายลักษณ์อักษร “ห้ามพระรับเงินและทอง” ถูกละเว้นการปฏิบัติได้โดยอ้างยุคสมัย ทำไมการบวชภิกษุณีจึงอ้างความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไม่ได้ ไม่ยอมแม้กระทั่งการเปิดช่องทางที่เป็นไปได้ เช่น ไปทำพิธีบวชภิกษุณีในโบสถ์ภิกษุณีนิกายอื่น แล้วมาทำพิธีในโบสถ์พระสงฆ์ไทย เป็นต้น หรือเงื่อนไขการบวชภิกษุณีที่เรียกว่า “ครุธรรม 8” ซึ่งเป็น “กฎเหล็ก” ของความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ เช่น กำหนดว่าภิกษุณีแม้บวชมานานร้อยพรรษาก็ต้องเคารพกราบไหว้ภิกษุที่เพิ่งบวชเพียงวันเดียว หรือภิกษุณีต้องฟังคำสั่งสอนจากพระสงฆ์เท่านั้นจะสอนพระสงฆ์ไม่ได้ เป็นต้น รู้ทั้งรู้ว่า “กฎเหล็กนี้” บัญญัติขึ้นในบริบททางวัฒนธรรมที่ยึดถือความไม่เสมอภาคทางเพศยุคโบราณ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำไมคณะสงฆ์ไทยไม่ยอมเปลี่ยน ถ้าพุทธศาสนายอมให้สตรีบวชภิกษุณี เพราะยอมรับว่าสตรีกับบุรุษมีความสามารถบรรลุธรรมได้เท่าเทียมกัน แต่ที่ต้องมี “ครุธรรม 8” เพราะต้องอนุโลมตามวัฒนธรรมของสมัยนั้น และถ้าการอนุโลมตามวัฒนธรรมทางสังคมในบริบทของยุคสมัยเป็นสิ่งที่พุทธศาสนายอมรับได้และเคยปฏิบัติมา ถามว่าเหตุใดพุทธศาสนาแบบไทยจึงไม่ยอมรับการบวชภิกษุณีโดยยอมรับวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ก้าวหน้ากว่าคือ สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี เป็นต้น คณะสงฆ์ไทยก็มักจะตอบว่า “ไม่สามารถแก้สิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว” แล้วการปฏิบัติที่เป็นอยู่นี้ การรับเงินก็ดี การมีสมณศักดิ์ (ศักดินาพระ) ก็ดี ฯลฯ ไม่ใช่การแก้สิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างไรไม่ทราบ นี่มันเป็นการแก้เชิง “เนื้อหา” อย่างสำคัญเลยทีเดียว ทำให้พุทธศาสนาเชิงเนื้อหาหรือเชิงวิถีชีวิตตรงกันข้ามกับพุทธแบบสมัยพุทธกาลอย่างสิ้นเชิง (ที่จริงผมอยากเสนอเพิ่มว่า พระสงฆ์ควร “เสียภาษี” เพราะตามพระวินัยพระสงฆ์ไม่มีสิทธิรับเงินตั้งแต่ต้น แต่ทุกวันนี้พระสงฆ์มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว มีเงินเดือนจากงบฯแผ่นดินในตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยสงฆ์ เงินค่าตำแหน่ง ผศ.,รศ.,ศ. ตำแหน่งบริหาร ฯลฯ) แล้วปัญหาพุทธแบบไทยที่ว่ามานี้มันเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยแบบไทยอย่างไร มันเกี่ยวตรงที่มันเป็นวิธีคิดแบบเดียวกัน คือ “แถ” เหมือนกันไงครับ ! รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมแถว่า “ไม่มีการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง มีแต่คนพยายามทำผิด ม.112 มากขึ้น” (ใครจะ “พยายาม” ทำผิดวะ) นี่คือความไม่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง และความไม่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริงนี้ก็แสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์ต่อเหตุผลและหลักการ เพราะในเชิงเหตุผลและหลักการ ม.112 ที่อิงเหตุผลและหลักการในการจำกัดเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ และอ้างสถานะพิเศษของพระมหากษัตริย์เหนือประชาชนผู้เจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น ย่อมขัดแย้งต่อเหตุผลและหลักการประชาธิปไตย คือหลักเสรีภาพและความเสอมภาคโดยพื้นฐานเลยทีเดียว คนเป็นถึงรัฐมนตรีออกมาเขียนบทความเปิดผนึกแบบนั้น ถ้าไม่เรียกว่าแถ ก็ต้องบอกว่ามีความรู้เรื่องประชาธิปไตยสู้คนขับแท็กซี่ ป้า ลุง ชาวบ้านธรรมดาๆ (ที่ไปทวงถามความรับผิดชอบกับนายกฯอภิสิทธิ์เรื่อง 92 ศพ) ไม่ได้ วิธีคิดที่แบบแถสุดๆ ไม่เคารพข้อเท็จจริง แหตุผล หลักการ บนพื้นฐานประชาธิปไตยไงครับที่เป็นอุปสรรคต่อ “วัฒนธรรมทางปัญญา” แล้วยังปล่อยขี้เท่อว่า “อีก 20 ปี วาด รวี กับปราบดา หยุ่น อาจเขียนจดหมายเปิดผนึกขอโทษ ผมจะรอ” (ฮา) ส่วนบทความของนายกฯอภิสิทธิ์ผมวิจารณ์ไปแล้ว สรุปว่าท่วงทำนองการแถของรัฐมนตรีวัฒนธรรม (ผู้สูงอายุกว่าคุณวาด รวี และปราบดา หยุ่น) ก็เจริญรอยตามท่านนายกฯ นั่นเอง ข้อเสนอของผม (เดี๋ยวหาว่า “ดีแต่ติ”) คือ ถ้าชาวพุทธต้องการแก้ปัญหาพุทธศาสนาแบบไทยกันจริงๆ และสังคมไทยต้องการแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบไทยกันจริงๆ เราต้องรู้ทันวิธีคิดแบบแถ หรือวัฒนธรรมการอ้างเหตุผลแบบแถเข้าอ้างตัวเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง เหตุผล หลักการ เราต้องไม่ชื่นชม “จอมแถ” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ปัญญาชน นักวิชาการ นักการเมืองที่พูดเก่ง ฯลฯ หรือใครก็ตามที่ชอบแถเพื่อหลบเลี่ยงเบี่ยงประเด็น ไม่มีความกล้าหาญเผชิญกับ “ประเด็นปัญหาที่แท้จริง” และข้อเท็จจริง เหตุผล หลักการบนพื้นฐานของพุทธศาสนาและประชาธิปไตยที่แท้จริงกันตรงๆ และเราต้องสร้างวัฒนธรรมการคิดแบบพุทธแบบประชาธิปไตยกันจริงๆ คือวัฒนธรรมการคิดที่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง เหตุผล หลักการ บนพื้นฐานความเป็นพุทธและความเป็นประชาธิปไตยที่ยืนยันเสรีภาพ ความเสมอภาค และกติกาที่เป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ร่างทรงเจ้าแม่กวนอิมถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ Posted: 12 Jun 2011 10:39 AM PDT ตำรวจจับกุมร่างทรงเจ้าแม่กวนอิม ที่ จ.มุกดาหาร ในข้อหาเผยแพร่เอกสารที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีรายงานจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ว่า วานนี้ (12 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมุกดาหาร ได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดมุกดาหาร เลขที่ ค.161/2554 เพื่อสืบค้นลานธรรมพระแม่กวนอิม พิทักษ์พุทธศาสนา หลังสายข่าวรายงานว่า นางสาวรัชนก ไชยพันธ์ อายุ 33 ปี ได้เปิดลานธรรมพระแม่กวนอิม พิทักษ์พุทธศาสนา โดยได้พิมพ์เอกสารมีข้อความลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ออกเผยแพร่แจกจ่ายแก่ประชาชนบริเวณตลาดอินโดจีน ถนนสำราญชายโขง ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ผลการตรวจค้นพบ เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาว่า เอกสารจำนวน 502 แผ่น ที่นางสาวรัชนกเผยแพร่ เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบสำเนาบัตรประชาชนของประชาชนจากที่ต่าง ๆ พร้อมธนบัตร ฉบับละ 20 บาท จำนวน 564 ชุด รวมยอดเงินทั้งหมด 11,351 บาท ด้วย โดยเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า ตำรวจยังได้ยึดป้ายที่มีรูปนางสาวรัชนก ไชยพันธ์ ซึ่งมีขอความในรูปภาพด้านบน เขียนว่า "พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม" ด้านล่างใต้รูปมีข้อความว่า "ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน จ.มุกดาหาร" เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหารดำเนินคดีตามกฎหมาย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
‘รับน้องใหม่’ : การสืบทอดวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย Posted: 12 Jun 2011 10:39 AM PDT ฤดูกาลของพิธีกรรมรับน้องใหม่หวนกลับมาเยือนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยอีกครั้งหนึ่งแล้ว ในแต่ละปีของพิธีกรรมนี้มักจะเกิดการบาดเจ็บและถึงขั้นเสียชีวิตจนเป็นข่าวคราวใหญ่โตสร้างความเศร้าโศกแก่ครอบครัวและความเสียหายต่อประเทศชาติที่ต้องสูญเสีย ทรัพยากรมนุษย์อันมีค่า แต่บรรดารุ่นพี่ทั้งหลายก็ยังคงสืบทอดพิธีกรรมนี้อย่างต่อเนื่องทุกปีโดยไม่สนใจใยดีว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้น นอกเหนือจากไม่ได้ส่งผลดีต่อสังคมไทยโดยรวมแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบในระยะยาวแก่สังคมไทยอีกด้วย ผลกระทบด้านลบที่สำคัญของพิธีกรรมรับน้องใหม่ก็คือ การปลูกฝังรุ่นน้องให้ยอมรับและสืบทอดวัฒนธรรมอำนาจนิยมให้ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมที่คุ้นชินกับการใช้อำนาจในการดำเนินการและแก้ไขปัญหา การยอมรับในอำนาจ หรือการยอมจำนนต่ออำนาจของคนส่วนใหญ่ ในด้านการเมืองการปกครองเป็นตัวอย่างที่เห็นชัด การปฏิรูปทางการเมือง การผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2540) บรรลุผลตามเจตนารมย์ที่วางไว้ยังห่างไกลจากความเป็นจริงส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม พิธีกรรมรับน้องใหม่มองในแง่ดีอาจจะเห็นว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่รุ่นพี่รุ่นน้อง สร้างความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นในหมู่คณะ แต่เป้าหมายที่ว่านี้ก็ สามารถกระทำได้ภายใต้วิธีการหรือกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งมีมากมายหลายวิธีไม่จำเป็นต้องเล่นบทโหด รุนแรงอย่างที่กระทำกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะวิธีการที่เลวร้ายไม่สมควรรับใช้หรือเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ในทางบวก ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่สังคมไทยเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในด้านต่าง ๆ ด้วยแล้ว กิจกรรมรับน้องใหม่ที่กระทำกันอยู่นั้นไม่มีเหตุผลทางจริยธรรมใด ๆ รองรับเพื่อให้สืบทอดต่อไปได้ กิจกรรมรับน้องใหม่ที่กระทำกันอยู่เปรียบเสมือนการฝึกฝนให้รับฟังคำสั่งและปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งก็คือการยอมรับในอำนาจ ยอมจำนนต่ออำนาจโดยไม่สามารถโต้แย้งได้เพราะมาตรการลงโทษที่หนักหน่วงทั้งทางร่างกายและจิตใจจะตามมา วิธีการเช่นนี้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดในการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย หากเป็นสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคง สถาบันการศึกษาของกองทัพ วิธีการนี้อาจจะเหมาะสมเพราะโดยภารกิจต้องข้องเกี่ยวกับความเป็นความตาย การฝึกฝนให้รับฟังคำสั่ง เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง อะไรคือต้นตอของปัญหาหรือความคิดที่อยู่เบื้องหลังผลักดันให้รุ่นพี่ต้อนรับน้องใหม่ด้วยวิธีการที่โหดร้าย แสดงอำนาจบาตรใหญ่สั่งรุ่นน้องให้แสดงพฤติกรรมแปลกประหลาดที่ในชีวิตประจำวันปกติไม่กระทำกัน เช่น ยกมือไหว้เสาไฟฟ้า เกลือกกลิ้งไปมาบนพื้นถนนหรือดินโคลน ใช้เสียงข่มขู่กระโชกโฮกฮากเพื่อให้ยำเกรงหวาดกลัว ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่า ความคิดที่ผลักดันรุ่นพี่ให้มีพฤติกรรมเช่นนี้ต่อรุ่นน้องก็คือ วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานในสังคมไทย ผ่านกระบวนการอบรมกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ในเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัว เรื่อยมาจนกระทั่งถึงในระดับโรงเรียน เมื่อมาถึงระดับอุดมศึกษาที่ค่อนข้างมีอิสระเสรีจากกฎระเบียบต่าง ๆ พอสมควร รุ่นพี่จึงกลายเป็นผู้แสดงบทบาทสืบทอดวัฒนธรรมอำนาจนิยมนี้เสียเอง แทนพ่อแม่ และครูในโรงเรียนที่ตนเองได้รับการปลูกฝังมา แต่เดิมนั้นคณะที่มีธรรมเนียมประเพณีพิธีกรรมรับน้องใหม่มักเป็นคณะที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจเมื่อจบการศึกษาแล้วไปทำงานโดยเฉพาะในระบบราชการ เช่น คณะรัฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันการรับน้องใหม่ได้แพร่กระจายไปยังคณะต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ยังผลให้เกิดการผลิตซ้ำและสืบทอดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมให้ดำรงคงอยู่ต่อไป ปัญหาก็คือว่า ขณะที่สังคมไทยกำลังเร่งปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตย รณรงค์ให้ผู้คนทั้งหลายตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยกลับมีการบ่มเพาะให้สมาชิกยอมรับและสืบทอดวัฒนธรรมที่ขัดขวางวิถีประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จ ฤดูกาลแห่งพิธีกรรมรับน้องใหม่ปีนี้หวังว่า มหาวิทยาลัยทั้งหลาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพทั้งหลาย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาคมสิทธิเสรีภาพเพื่อประชาชน จะให้ความสนใจดูแล และหามาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะหากปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ การรณรงค์ให้ผู้คนในสังคมคำนึงสิทธิมนุษยชนจะไร้ความหมาย เสียเงินเสียทอง เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะแม้กระทั่งในสังคมมหาวิทยาลัยที่พร่ำสอนผู้คนทั้งหลายให้ตระหนักถึงเรื่องนี้ ผู้คนของตนเองกลับไม่สนใจและกลายเป็นผู้ละเมิดเสียเอง
หมายเหตุ : ผู้เขียนได้ส่งบทความนี้เพื่อเผยแพร่ในประชาไท โดยแจ้งว่า เป็นบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อปี 2548
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
กรุงเทพโพลล์ พบเพื่อไทยกวาด 21 เขต ปชป.6 สูสี 6 Posted: 12 Jun 2011 10:29 AM PDT ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,323 คน โดยเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 2 - 9 มิถุนายน ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,323 คน โดยเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 2 - 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส ระบบบัญชีรายชื่อ คนกรุงเทพฯ ระบุว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.6 (เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจครั้งก่อน เมื่อวันที่ 20 – 22 พ.ค. ร้อยละ 7.8) จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 17.1 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4) และจะเลือกพรรครักประเทศไทย ร้อยละ 3.2 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2) อย่างไรก็ตามมีถึงร้อยละ 44.1 ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบแบ่งเขตพบว่า คนกรุงเทพฯ ระบุว่าจะเลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.8 (เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจครั้งก่อน เมื่อวันที่ 20 – 22 พ.ค. ร้อยละ 7.5) จะเลือกผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 17.6 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4) และจะเลือกผู้สมัครของพรรครักษ์สันติ ร้อยละ 1.3 (เท่ากับผลสำรวจครั้งก่อน) อย่างไรก็ตามมีถึงร้อยละ 46.4 ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครของพรรคใด โดยเกณฑ์ที่คนกรุงเทพฯ ใช้ในการเลือก ส.ส. ระบบแบ่งเขตคือ เลือกจากคุณสมบัติและผลงานในอดีตของผู้สมัคร (ร้อยละ 49.4) รองลงมาคือ เลือกจากนโยบายที่ใช้หาเสียง (ร้อยละ 31.6) และเลือกจากพรรคการเมืองที่สังกัด (ร้อยละ 19.0) ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายเขตพบว่า พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำอยู่ 21 เขต ได้แก่ เขต 3 เขต 4 เขต 5 เขต 7 เขต 8 เขต 10 เขต 11 เขต 12 เขต 13 เขต 14 เขต 16 เขต 17 เขต 18 เขต 20 เขต 23 เขต 24 เขต 26 เขต 27 เขต 29 เขต 32 และเขต 33 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนำใน 6 เขต ได้แก่ เขต 1 เขต 2 เขต 15 เขต 19 เขต 22 และเขต 30 ส่วนอีก 6 เขตทั้ง 2 พรรคมีคะแนนสูสีกันได้แก่ เขต 6 เขต 9 เขต 21 เขต 25 เขต 28 และเขต 31 เมื่อสอบถามว่าอยากได้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุดพบว่าอยากได้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 42.6 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7) รองลงมาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 23.6 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2) ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 3.9 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0) และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ร้อยละ 2.4 (ลดลงร้อยละ 1.2) ขณะที่อีกร้อยละ 27.5 ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกใครดี สำหรับสิ่งที่คนกรุงเทพไม่อยากเห็นมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้พบว่า อันดับแรกได้แก่ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง (ร้อยละ 23.2) รองลงมาคือ การก่อกวน ข่มขู่ ทำร้ายผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม (ร้อยละ 20.5) และการหาเสียงด้วยวิธีใส่ร้ายป้ายสี (ร้อยละ 20.1) ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพและบริสุทธิ์ยุติธรรมพบว่า ร้อยละ 66.9 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย (เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจเมื่อวันที่ 20 – 22 พ.ค. ร้อยละ 0.8) ขณะที่ร้อยละ 33.1 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงเชื่อมั่นมาก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
นิติราษฎร์ ฉบับ 24: ปิยบุตร แสงกนกกุล กฎหมาย vs กฎหมู่ Posted: 12 Jun 2011 10:07 AM PDT “J’apprenais du moins que je n’étais du côté des coupables, des accusés, que dans la mesure exacte où leur faute ne me causait aucun dommage. Leur culpabilité me rendait éloquent parce que je n’en étais pas la victime. Quand j’étais menacé, je ne devenais pas seulement un juge à mon tour, mais plus encore : un maître irascible qui voulait, hors de toute loi, assommer le délinquant et le mettre à genoux.” “... การที่โดดเข้าไปช่วยเหลือจำเลยนั้นก็เพราะอาชญากรรมของเขาไม่เป็นภัยต่อสวัสดิการของผม ผมแก้คดีของเขาด้วยอรรถาธิบายอันไพเราะจับใจ เพราะผมไม่ได้เป็นผู้รับเคราะห์จากการกระทำของเขา ทว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาอาจเป็นอันตรายต่อผม เมื่อนั้นผมจะจัดการพิพากษาเขาทันที ยิ่งกว่านั้นก็พร้อมจะกลายเป็นคนคลั่งอำนาจ กฎหมายว่าอะไร กูไม่ฟัง จำจะต้องลงโทษมันให้ได้” Albert Camus, La Chute, Gallimard, 1956, p.66. สำนวนแปลโดย ตุลจันทร์ ใน อัลแบร์ กามู, มนุษย์สองหน้า, สำนักพิมพ์สามัญชน, 2543, หน้า 68.
- 1 - “กฎหมาย” วัฒนธรรมการเมืองไทยในทุกวันนี้ มักอ้าง “กฎหมาย” กันเป็นสรณะ หากต้องการเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตน ก็ต้องอ้างกฎหมาย เช่นกัน หากต้องการทำลายความชอบธรรมของการกระทำของศัตรู ก็ต้องอ้างว่าการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเถลิงอำนาจของ “กฎหมาย” เป็นส่วนหนึ่งของชัยชนะอุดมการณ์ประชาธิปไตย-เสรีนิยม-นิติรัฐ เมื่อประเทศไทยอยู่ในสังคมโลก จึงไม่อาจตกขบวน “นิติรัฐ-ประชาธิปไตย” ได้ [1] เราจึงพบเห็นบุคคลจำนวนมากหยิบยกคำใหญ่ๆโตๆจำพวก “นิติรัฐ” “นิติธรรม” “เคารพกฎหมาย” “กฎหมายเป็นใหญ่” “ปกครองโดยกฎหมาย” “ศาลตัดสินแล้วเป็นที่สุด ทุกคนต้องยอมรับ” เพื่ออ้าง "กฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม-คำพิพากษา" ไว้อุดปากฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมให้ฝ่าย ตนเอง โดยจงใจไม่พูดถึงที่มาอันอุบาทว์ของ “กฎหมาย” ปัจจัยรอบด้านของ "กฎหมาย" เนื้อหาของ “กฎหมาย” ไม่อนาทรร้อนใจต่อการใช้กฎหมายแบบเสมอภาค การแสดงออกของคนจำนวนมากว่าไม่ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากคณะรัฐประหาร ไม่ใช่เรื่อง “การเมือง” มารังแก “กฎหมาย” ไม่ใช่เรื่อง “กฎหมู่” อยู่เหนือกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากต้องการ “โต้” ว่าสิ่งที่พวกท่านอ้างว่าเป็น “กฎหมาย” นั้น เป็น “กฎหมาย” จริงหรือ? หรือมันเป็น “กฎหมู่” ที่ใส่เสื้อผ้า “กฎหมาย? “กฎหมู่” หากเชื่อว่าในประเทศไทยนี้มี “กฎหมู่” จริง “กฎหมู่” ก็คงมิได้มีเพียงแต่ “กฎหมู่ชินวัตร” เท่านั้น ยังมีกฎหมู่อีกหลายตระกูล “กฎหมู่” ของบางตระกูลได้ทำลายระบอบประชาธิปไตย “กฎหมู่” ของบางตระกูลได้ตัดตอนบอนไซไม่ให้ประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 ได้เจริญเติบโตงอกงามในสังคมไทย และ “กฎหมู่” อีกหลายประเภทอาจสร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาล รัฐประหารเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะรัฐประหารรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของตนเองและการกระทำต่อเนื่อง ตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ 2549 [2] เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมตนเองและพรรคพวกตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ 2549 [3] เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะรัฐประหารออกประกาศ คปค ฉบับที่ 27 ข้อ 3 [4] เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? ที่มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 [5] เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? กระบวนการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือจนนำมาสู่การยุบพรรคการเมืองหลายพรรค ตัดสิทธินักการเมืองหลายคน เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็น “กฎหมู่” หรือไม่? ขบวนการ “ตลก ภิวัตน์” เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? สาธุชนพึงพิจารณาได้เอง ข้าพเจ้าเห็นว่า ด้วยความสามารถและความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ มนุษย์จึงไม่ควรมีความจำที่สั้นจนเกินไปนัก มนุษย์ผู้มีเหตุมีผลต้องตระหนักรู้ได้ถึงเหตุการณ์ที่กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุนนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่รัฐประหาร 19 กันยา 49 การพิจารณาให้ความเห็นในเชิงคุณค่าต่อเรื่องใดก็ตาม โปรดพิจารณาให้สม่ำเสมอและเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย มิใช่ติดตั้งสวิตช์ตัดไฟ พร้อมเปิด-ปิดได้ตามสถานการณ์ เรื่องหนึ่งเปิดสวิตช์ “นิติรัฐ” เต็มที่ พออีกเรื่องหนึ่ง กลับปิดสวิตช์ “นิติรัฐ” ทิ้งเสีย น่าเสียดาย ถ้าคนเหล่านี้ “ขยันขันแข็ง” กับการต้านรัฐประหาร ต้านรัฐประหารได้สักเสี้ยวหนึ่ง ต้านกระบวนการทางกฎหมายที่บิดเบี้ยวมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา 49 ได้สักครึ่งหนึ่งของสิ่งที่พวกเขากำลังกระเหี้ยนกระหือรือกระทำกันอยู่... ก็คงดี ข้าพเจ้าเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ควรกลับมาทบทวน ตั้งสติ ลดอัตตา และแอมบิชันส่วนตนลงเสียบ้าง มิใช่ตั้งคำตอบไว้ในใจ ฝังลงไปในสมอง ลึกเข้าไปในจิตสำนึกว่ามันผิด มันโกง มันชั่ว ข้าขออาสาเข้ามาจัดการมันเอง เมื่อจัดการมันแล้ว ได้ผลสำเร็จมาบางส่วน ก็จะตามราวีมันต่อ เพื่อสนองตอบจิตสำนึกของตน เพื่อขับเน้นว่าสิ่งที่ข้าคิดนั้นมันถูก สิ่งที่ข้าทำนั้นมันดี เมื่อข้าอาสาเข้ามาทำงานนี้แล้ว ผลงานที่ข้าร่วมรังสรรค์ขึ้นต้องเดินหน้าไปให้ถึงจุดหมาย วิธีคิดแบบนี้มีแต่พาไปสู่อันตราย ข้าพเจ้าเป็นคนไม่สันทัดเรื่องพระเรื่องศาสนา แต่ครั้งนี้ขอยืมคำพระมาใช้บ้าง : “ปล่อยวาง” อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิติราษฎร์
อ้างอิง:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
แถลงข่าวเรื่อง 'จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ ว่าด้วย มาตรา 112' Posted: 12 Jun 2011 10:07 AM PDT (ชมคลิปแถลงข่าว http://www.vimeo.com/24989294 )
ในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม พ. ศ. 2554 ที่ผ่านมา พวกเราทั้งแปดลบหนึ่งนักเขียนในที่นี้ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนด้วยกัน เรื่องขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง (อ่านจดหมายได้ที่ http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=3668.0) นับจากวันที่จดหมายได้กระจายออกไปถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ จนถึงวันนี้ วันที่ 7 มิถุยายน พ. ศ. 2554 มีผู้ลงชื่อเห็นด้วยกับเนื้อความในจดหมายเป็นจำนวน 320 คน เป็นรายชื่อนักเขียนที่หลากหลายทั้งอายุ สถานะ และแขนงงาน มีทั้งนักเขียนอาวุโส นักเขียนรุ่นใหม่ มีทั้งนักเขียนผู้เป็นศิลปินแห่งชาติ นักเขียนและกวีผู้มีชื่อเสียงในระดับกว้าง นักเขียนรางวัล เช่น รางวัลศรีบูรพา รางวัลศิลปาธร รางวัลซีไรต์ รางวัลรพีพร มีทั้งคอลัมนิสต์ยอดนิยม บรรณาธิการผู้มีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรม นักเขียนสารคดีคุณภาพ นักวิจารณ์ นักแปล รวมถึงนักเขียนบล็อก เขียนโฆษณา เขียนเนื้อเพลง เขียนการ์ตูน เขียนข่าว และอื่นๆ โดยท่านสามารถเข้าไปอ่านรายชื่อทั้งหมดได้ด้วยตนเองตามลิงก์ของเว็บไซต์ที่ปรากฏบนจอขณะนี้ ในรายชื่อนักเขียน 320 คน ประกอบไปด้วยผู้มีความเชื่อและศรัทธาที่หลากหลายแตกต่าง บ้างถึงขั้นยืนอยู่คนละขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทัศนะทางการเมือง มีทั้งนักเขียนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนหลากสี เป็นสลิ่ม เป็นคนสีส้ม สีรุ้ง สีดำ สีขาว สีแดงระเรื่อ สีแดง ไปจนถึงสีชมพู นอกจากนักเขียนที่ร่วมลงชื่อ ยังมีเพื่อนนักเขียนอีกจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ หรือแสดงทัศนะเห็นด้วยกับพวกเราเป็นการส่วนตัว แต่ไม่สามารถร่วมลงชื่อ ด้วยเหตุผลต่างๆกัน พวกเราเคารพเหตุผลของเพื่อนนักเขียนทุกท่านที่ไม่อาจแสดงตัว ทว่าเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เพื่อนนักเขียนไม่อาจลงชื่อ เป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในจดหมายและยิ่งตอกย้ำให้เราเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสั่นคลอนเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ เหตุผลนั้นคือความกลัว แม้ว่าพวกเราในที่นี้จะเป็นผู้ร่างจดหมายเปิดผนึกขึ้น แต่เนื้อความและข้อเรียกร้องในจดหมายมิได้สะท้อนตัวตนเชิงปัจเจกของพวกเราแต่ละคนในด้านอื่นแต่อย่างไร อีกทั้งมิอาจแสดงทัศนะและอัตลักษณ์ส่วนบุคคลในมิติที่ข้ามเลยขอบเขตของเนื้อความในจดหมาย พวกเรามิใช่กลุ่มก้อนที่ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือระดมแนวร่วมเชิงอุดมการณ์ พวกเราปราศจากผลประโยชน์ส่วนตัวและไม่มีเจตนาแอบแฝงใดๆ นอกเหนือไปจากการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และความเป็นธรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงได้รับ และเป็นหัวใจของการทำงานเขียน ซึ่งผูกพันเกี่ยวข้องกับพวกเราและนักเขียนผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมดโดยตรง คงไม่เกินเลยความจริง หากจะสรุปในเบื้องต้นจากเสียงตอบรับของเพื่อนนักเขียนท่ัวประเทศว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่นักเขียนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นว่ามีปัญหาและถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนแก้ไข เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นกับประชาชนอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และแท้จริง นับตั้งแต่วันที่จดหมายเปิดผนึกได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ มีสื่อมวลชนและกลุ่มคนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามกับเจตนารมณ์ของพวกเราและเพื่อนนักเขียนที่ร่วมลงชื่ออย่างค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ท่าทีในการตั้งคำถามมีทั้งการโต้แย้งแสดงทัศนะอย่างมีเหตุผล ไปจนถึงด่าทออย่างหยาบคายและใส่ร้ายบิดเบือนข้อเรียกร้องของเราโดยสิ้นเชิง หากบุคคลประเภทหลังนี้มีความเข้าใจภาษาไทยและได้อ่านจดหมายเปิดผนึกอย่างละเอียด ย่อมจะพบว่ามิได้มีข้อความใดถูกเขียนขึ้นด้วยถ้อยคำหรือความคิดเชิงลบหลู่ดูหมิ่น หวังร้ายต่อบุคคลหรือสถาบันใดทั้งสิ้น อีกทั้งยังระบุไว้ชัดเจนหนักแน่นว่า ข้อเรียกร้องของพวกเราเป็นข้อเรียกร้องต้องการเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และความเป็นธรรม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สำหรับสื่อมวลชนและกลุ่มคนที่ออกมาโต้แย้งข้อความในจดหมายของพวกเราด้วยความเห็นที่ว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่เคยสร้างปัญหา ไม่เคยสร้างความไม่เป็นธรรม และไม่เคยตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร ดูเหมือนพวกท่านจะพยายามเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่มีข้อมูลหลักฐาน เป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง และเป็นหัวข้อในการเสวนาทางวิชาการ ทั้งในสถาบันการศึกษาและในสื่อกระแสหลักสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน กระทั่งนักการเมืองและบุคคลชั้นปกครองของประเทศหลายกลุ่มหลายฝ่าย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็ได้เคยแสดงความเห็นในที่สาธารณะไว้อย่างชัดเจน ว่ากฎหมายมาตรานี้มีปัญหาและสมควรได้รับการทบทวนแก้ไข สำหรับเพื่อนนักเขียนบางกลุ่มบางท่าน ที่มีความเคลือบแคลงใจในเจตนาของพวกเราผู้ร่างจดหมาย ขอให้สบายใจได้ว่าไม่มีพวกเราคนใดคิดนำการตอบรับของเพื่อนนักเขียนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม เราขอยืนยันอีกครั้งว่าจดหมายเปิดผนึกของเรามิได้เป็นตัวแทนทางความคิด ความเชื่อ และทัศนะทางการเมืองด้านอื่นๆของพวกเราแต่ละคนไปเสียทั้งหมด เราเชื่อว่าเพื่อนนักเขียนมีวุฒิภาวะเพียงพอในการแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากข้อเรียกร้องเพื่อส่วนรวม และมีความหนักแน่นในตัวเองเพียงพอจะไม่หวั่นไหวไปกับข้อกล่าวหาเหมารวมที่ไม่สร้างสรรค์ และมีแต่จะนำมาซึ่งความแตกแยกร้าวฉานระหว่างผู้มีความต้องการเดียวกัน นั่นคือเสรีภาพ ความเป็นธรรม และประชาธิปไตย เรามิใช่คนกลุ่มแรกที่นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 กระทั่งในแวดวงนักเขียนก็มีผู้รณรงค์เรื่องนี้มาก่อนและยังเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เสียงตอบรับจากเพื่อนนักเขียนในครั้งนี้ถือเป็นอีกสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกอย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า มีความเป็นห่วงกังวลกับบรรยากาศในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นในสังคมไทย และการคุกคาม ข่มขู่ การก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในสังคมด้วยกฎหมายมาตรา 112 โดยคนบางกลุ่มนั้น มีอยู่จริงอย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะนักเขียนต่างสายต่างแขนง ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง สิ่งที่เราทำได้คือแสดงพลังเสียง และเราเชื่อว่าเสียงตอบรับอย่างกว้างขวางจากเพื่อนนักเขียนในครั้งนี้มีพลังเพียงพอในการเรียกร้องให้สังคมนำกฎหมายมาตรา 112 มาทบทวนอย่างเปิดเผยและจริงจัง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสัญญาณเสียงของเราและเพื่อนนักเขียนจะดังไปถึงนักการเมืองและบุคคลในระดับชั้นปกครองทุกฝ่าย และส่งผลให้พวกท่านตระหนักว่า ไม่อาจรีรออีกต่อไปที่จะนำกฎหมายมาตรา 112 มาไตร่ตรอง ทบทวน และแก้ไขเพื่อส่วนรวม และเพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็ง มีสำนึกประชาธิปไตย และมีความสามัคคี ด้วยเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น มิใช่ด้วยอำนาจมืดและความหวาดกลัว ด้วยความเคารพและขอบคุณ
บินหลา สันกาลาคีรี 7 มิถุนายน 2554
หมายเหตุ – เราจะปิดลงชื่อในคืนวันที่ 24 มิถุนายน 2554 นี้ โดยจะมีการออกแถลงการณ์ปิดการลงชื่อ ณ เวลา 23.00 น. และเจ้าภาพทุกคนจะออนไลน์พร้อมกันที่กระทู้แถลงปิดการลงชื่อดังกล่าว พร้อมกับแสดงความเห็นกันคนละเล็กละน้อย จึงขอเรียนเชิญผู้ลงชื่อทุกท่านที่ต้องการแสดงความเห็นในวาระดังกล่าวนี้ โดยท่านต้องสมัครสมาชิกเว็บไซต์ไทยโพเอ็ทโซไซตีนี้ก่อน จึงจะสามารถโพสต์ความเห็นได้ (http://www.thaipoetsociety.com/index.php?action=register) จึงเรียนมาล่วงหน้าเพื่อให้ท่านที่ต้องการแสดงความเห็นเตรียมสมัครสมาชิกไว้ก่อน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
“ยกระดับเจรจา” ไฮไลต์ดีเบตดับไฟใต้ Posted: 12 Jun 2011 09:43 AM PDT เชื่อว่าเกือบทุกพรรคการเมืองในประเทศไทย ต้องบรรจุเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไว้ในนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ด้วย ด้วยเหตุนี้ ทุกเวทีดีเบต หรือเวทีประชันนโยบายของผู้สมัครจากพรรคต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จึงต้องให้มีการแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายในเรื่องนี้ไว้ด้วย อย่าง 2 เวทีที่จัดขึ้นที่จัดขึ้นในช่วงวันสองวันนี้ เวทีแรก คือ รายการข่าวสามมิติของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อเวลา 22.30 น.ของวันที่ 11 มิถุนายน 2554 ถ่ายทอดสดจากลานหน้าหอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เวทีนี้มี 3 ผู้สมัครของพรรคที่ส่งลงเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ลำดับที่ 3 พรรคมาตุภูมิ นายถาวร เสนเนียม ผู้สมัครเขต 6 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายสมพงษ์ สระกระวี ผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดสงขลา พรรคเพื่อไทย
อารีเพ็ญขอยกระดับเจรจาดับไฟใต้ “ต้องยกระดับการเจรจากับขบวนการก่อความไม่สงบ เพราะต้องยอมรับว่า ขบวนการมีจริง เราต้องมาคุยว่าที่เขาต่อสู้และเคลื่อนไหวนั้น เขาต้องการอะไรและมีเงื่อนไขอะไร ที่จะทำให้เขาสามารถยุติความรุนแรง ส่วนภาครัฐเองต้องไม่ใช้ไม้แข็งในการแก้ปัญหา” นายอารีเพ็ญ เสนอยุบ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) โดยตั้งทบวงบริหารกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาแทนที่ เพื่อขจัดปัญหางบประมาณทับซ้อน มีรัฐมนตรีควบคุมดูแลโดยตรงส่วนตัวบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีไม่เน้นว่าต้องเป็น ส.ส.อาจเป็นข้าราชการก็ได้ ถ้ามีความเหมาะสม นายอารีเพ็ญ กล่าวว่า จะนำเรื่องทบวงกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาเป็นเงื่อนไขในการต่อรองเพื่อร่วมรัฐบาล ‘ถาวร’ ขอคุมชายแดนใต้ต่อ นายถาวร กล่าวว่า ต้องคงไว้โครงสร้าง ศอ.บต.ดังเดิม แต่เพิ่มงบประมาณให้มากขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเน้นแก้ปัญหาความยากจน โดยที่ตนเองจะรับผิดชอบดูแลปัญหาชายแดนภาคใต้ต่อไป เพื่อสานงานเก่าที่ยังคั่งค้างให้แล้วเสร็จ ‘เพื่อไทย’ ยัน 4 ปีดับไฟใต้ได้แน่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาไม่ต้องเน้นเรื่องโครงสร้างการเมืองการปกครอง เพราะโครงสร้างไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ควรเน้นการสร้างความเข้าใจ เน้นงานพัฒนามากกว่างานปราบปราม เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “พรรคเพื่อไทยจะไม่แก้ไขโครงสร้างการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ แต่จะเร่งสร้างความเข้าใจต่อประชาชน”นายสมพงษ์ กล่าว ส่วนอีกเวทีมีขึ้นก่อนหน้านั้นในเวลา 18.00 น. วันที่ 10 มิถุนายน 2554 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มีผู้สมัคร ส.ส.จาก 5 พรรคมาร่วม โดยมีประเด็นหลักคือนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษาและเศรษฐกิจ ประชาธิปัตย์สานต่อศูนย์กลางอิสลามศึกษา ส่วนตัวเห็นว่า การรวม 2 จังหวัดดังกล่าวเข้ามาร่วมอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สามารถทำให้เกิดการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น การลงทุนทางด้านการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือน้ำลึกของจังหวัดสงขลาออกไปสู่ต่างประเทศ และความร่วมมือลงทุนการค้าระหว่างประเทศทั้ง AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) หรือ IMT-GT(สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย) สำหรับนโยบายด้านการศึกษาในพื้นที่คือ ยึดมั่นที่จะสานต่อวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พัฒนาให้เป็นสถาบันศูนย์กลางอิสลามศึกษานานาชาติ ‘หมอแว’ชูส่งเสริมสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ย นโยบายหลักด้านการศึกษา คือ เน้นการผลิตคนที่มีความรู้ และมีคุณธรรม จริยธรรมทางศาสนา รวมถึงต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ นโยบายด้านเศรษฐกิจ จะเน้นการพัฒนาอุสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตะวันออกกลาง ส่งเสริมสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ย และผลักดันให้จังหวัดนราธิวาสเป็นประตูสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ชาติไทยฯ ดันอุตสาหกรรมฮาลาล-ท่าเรือปากบารา นโยบายด้านเศรษฐกิจ จะผลักดันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้เป็นที่รู้จักในประเทศแถบตะวันออกกลางและประเทศอินเดีย และเพิ่มการขนส่งสินค้าแบบโลจิสติกส์ผ่านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล เห็นด้วยกับการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ต้องดูสถานการณ์ในช่วง 5 - 6 เดือนก่อนยกเลิกว่า ดีขึ้นหรือไม่ แต่ต้องเอาทหารนอกพื้นที่ออกไป เหลือไว้เพียงทหารสังกัดกองทัพภาคที่ 4 เท่านั้น เนื่องจากทหารเหล่านั้น เป็นคนในพื้นที่ มีความเข้าใจวัฒนธรรม และสามารถสื่อสารกับประชานในพื้นที่ได้อย่างเข้าใจ อยากให้มีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นมากกว่านี้ เพื่อให้มีงบประมาณในการบริหารจัดการกันเองในท้องถิ่น โดยหวังผลการแก้ปัญหาภายใน 4 ปี เพื่อไทยปัตตานีชูเลือกตั้งผู้ว่าฯ สอน 3 ภาษา การจัดตั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นนครปัตตานี ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย จะสามารถแก้ปัญหาในชายแดนภาคใต้ได้ โดยจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการนครปัตตานี และยกเลิก ศอ.บต. ตอนนี้พรรคได้ร่างกฎหมายจัดตั้งนครปัตตานีเสร็จแล้ว หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการจัดตั้งนครปัตตานีภายในไม่เกิน 1 ปี มาตุภูมิตั้งทบวงดับไฟใต้ นโยบายด้านเศรษฐกิจ จะเน้นด้านการท่องเที่ยว โดยการพื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ เช่น น้ำตกปาโจ อ่าวมะนาว หรือป่าบาลาฮาลา ในจังหวัดนราธิวาส ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และให้เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่มากขึ้น เห็นด้วยกับการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยลดกำลังทหาร คงเหลือไว้เพียงทหารสังกัดกองทัพภาคที่ 4 และเพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านแทนกำลังทหารที่ลดไป การจัดตั้งทบวงเพื่อดูแลจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ จะสามารถแก้ปัญหาในชายแดนภาคใต้ได้ แต่ยังคงศอ.บต.ไว้ และมีรัฐมนตรีทบวง 1 คน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนในพื้นที่ แต่ต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 3 Posted: 12 Jun 2011 09:08 AM PDT นายกอภิสิทธิ์ เปิดใจถึงเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 "ผมต้องพิจารณาทบทวนตัวเองอยู่หลายครั้ง เพราะได้เกิดความสูญเสียขึ้น แต่เพราะความเข้มแข็งของสังคมไทยที่รับทราบข้อเท็จจริงว่าความสูญเสียไม่ได้เกิดจากการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ" เดิมทีตั้งใจจะเขียนเรื่องการต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่น 2 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างอิงถึงความสูญเสีย 91 ศพ (ซึ่งรวมทหาร -ตำรวจ ทุกคนคงจำได้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงมีมาตั้งแต่ปี 2552 ในครั้งนั้นคุณทักษิณกับพวกพยายามกล่าวหาว่ารัฐบาลฆ่าประชาชน ชนวนเหตุการณ์ปี 2553 เริ่มจากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์คุณทักษิณจากการทุจริตเชิงนโยบายจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท. คุณทักษิณ วิดีโอลิงค์จากต่างประเทศทันทีที่ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาจบ เท่ากับว่าถ้าศาลตัดสินแล้วตัวเองได้ประโยชน์ถือว่าเป็นธรรม คุณทักษิณ ระบุในการวิดีโอลิงค์ครั้งนั้นว่า ผมทราบทันทีว่าประเทศชาติกำลังตกอยู่ในอันตราย ผมพยายามอย่างที่สุดในการประนีประนอมบนหลักกฎหมายและความถูกต้อง อย่างไรก็ตามการเจรจาไร้ผล ความแตกต่างในการเคลื่อนไหวปี 2553 คือการเก็บเกี่ยวบทเรียนจากปี เมื่อถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง ก็ทำให้ พล.อ.พัลลภ ตลอดเวลาเจ้าหน้าที่แสดงความอดทนอดกลั้นมาโดยตลอด จากนั้นสงครามเต็มรูปแบบก็เกิดขึ้นที่สี่แยกคอกวัว ขณะที่ผมและผู้นำเหล่าทัพกับบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อมีการต่อสายระหว่างนักการเมืองผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย คืนวันนั้นจนถึงวันรุ่งขึ้นเป็นคืนที่ผมไม่อาจหลับตาลงได้แม้แต่นาทีเดียว แต่เพราะความเข้มแข็งของสังคมไทยที่รับทราบข้อเท็จจริงว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องคนไทยในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดสำหรับประเทศ กระนั้นก็ตามผมก็ยังมุ่งมั่นคิดถึงแผนปรองดอง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
สนนอ.กร้าว!!...ปกป้องเสรีภาพนิสิต มมส. ค้าน โซตัสทุกระดับ ทั่วภาคอีสาน!! Posted: 12 Jun 2011 09:02 AM PDT นายพัฒนศักดิ์ อภัยสม เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.) ร่อนแถลงการณ์ถึงเพื่อนนักศึกษาชี้แจงจุดยืน และข้อเสนอในนามของ สนนอ. ต่อกรณีประเพณีการรับน้องในสถาบันอุดมศึกษา ชื่นชมเพื่อนนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ( มมส.)ที่มีความกล้าหาญ ถามถึงผู้บริหาร คณาอาจารย์ อนุญาตให้มีการปลูกฝังค่านิยมเผด็จการในมหา’ ลัยได้อย่างไร! ย้ำเดินหน้าปกป้องเสรีภาพนักศึกษา ต่อต้านการรับน้องแบบกดขี่ทั่วภาคอีสาน
ด้าน น.ส.กนกพร กระโทก จากกลุ่มอิสระซุ้มเกี่ยวดาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพทั่วไปของการรับน้อง ในมหาวิทยาลัยของตัวเองว่า มีลักษณะไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยสารคาม คือใช้ระบบโซตัสเหมือนกัน มีการว๊าก มีการไซโค โดยแต่ละคณะมีความเข้มข้น รุนแรง หนัก เบา ต่างกันไป ทางกลุ่มมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันกับเพื่อนนิสิต มมส. และ สนนอ. คือเห็นควรมีการปรับเปลี่ยนประเพณีการรับน้องให้มีแนวทางไปในเชิงสร้างสรรค์ และในตอนนี้ทางกลุ่มกำลังมีการเตรียมการรณรงค์ภายในมหาวิทยาลัยตัวอยู่ ในเริ่มแรกนั้นจะมีการทำเอกสารแถลงการณ์ของกลุ่มออกออกเผยแพร่ภายในมหาวิทยาลัย และยังจะมีการขึ้นป้ายผ้าไม่เห็นด้วยกับการรับน้องแบบเก่าบริเวรหน้าซุ้มเกี่ยวดาวใกล้ๆกลับองค์การบริหารนักศึกษา ม.ขอนแก่นด้วย ต่อเนื่องกันดังกล่าว มนัส ทองชื่น จาก ม.อุบล ก็ได้มีจดหมายจากเพื่อนถึงเพื่อน ให้กำลังใจ เพื่อนนิสิต มมส. ในการต่อสู้เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ค
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
นักสหภาพฯ-นักวิชาการทวงสิทธิประกันตัวผู้ต้องหา ม.112 ตัดวงจรอุบาทว์ Posted: 12 Jun 2011 08:40 AM PDT ในวงเสวนา “กรรมกรกับการถูกละเมิดสิทธิในระบอบประชาธิปไตย กรณีคุณสมยศและคนอื่นๆในสังคมไทย” นักสหภาพแรงงานชี้คนงานถูกกฎหมายสารพัดละเมิดสิทธิ นักวิชาการทวงถามทำไมผู้ต้องหาไม่ได้สิทธิประกันตัว ทั้งที่หลายกรณีไม่สามารถยุ่งกับหลักฐานได้อีกแล้ว (12 มิ.ย.54) องค์กรแรงงานเพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนาเรื่อง “กรรมกรกับการถูกละเมิดสิทธิในระบอบประชาธิปไตย กรณีคุณสมยศและคนอื่นๆ ในสังคมไทย” ณ ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนิน จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนงานถูกละเมิดสิทธิโดยกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ก็ถูก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดค่าจ้างโดยไม่ได้มองว่าเงินจำนวนเท่าใดจึงจะพอกับการครองชีพของคนงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ละเมิดสิทธิการรวมตัว โดยจะรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานได้ต้องให้กระทรวงแรงงานจดทะเบียนรับรอง ไม่เช่นนั้นไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ นอกจากนี้ จิตรา มองว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการรัฐประหาร รัฐก็จะออกกฎหมายให้นายทุนมีอำนาจเหนือกว่าคนงานทุกครั้ง โดยในปี 2534 รสช.ออกกฎหมายให้จากเดิมที่สหภาพแรงงานสามารถแต่งตั้งใครก็ได้เป็นที่ปรึกษาสหภาพฯ มาเป็นที่ปรึกษาสหภาพต้องได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น "นี่คือสิ่งตกค้างของเผด็จการในสมัยนั้น ซึ่งพวกเรายังไม่จำกัดมันออกไป" จิตรากล่าวและว่า เหตุที่ รสช.ออกกฎหมายเช่นนี้ก็เพราะไม่ต้องการให้นักศึกษา นักวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรรมกร นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ชุมนุม ซึ่งผ่าน ครม.แล้ว กำหนดให้ต้องขออนุญาตจากตำรวจก่อนการชุมนุม ไม่ชุมนุมใกล้วัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ต้องขอใบอนุญาตชุมนุม ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน โดยมีผู้จัดการชุมนุม ซึ่งต้องอยู่ในที่ชุมนุมตลอด จิตรา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สิทธิแรงงานยังได้รับผลกระทบในกระบวนการยุติธรรมหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ หรือศาล รวมไปถึงการคุกคามจากทหารด้วย "เมื่อไหร่ที่คุณลุกมาสู้ คุกก็รอคุณอยู่ข้างหน้า" จิตรากล่าวเมื่อพูดถึงการต่อสู้ของคนงานที่ลุกมาเรียกร้องสิทธิ นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐและนายจ้างมองเป็นเครื่องมืออีกอันคือ มาตรา 112 ของกฎหมายอาญา ที่มีความพิเศษคือ ใครแจ้งจับใครก็ได้ เพราะเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้กลายเป็นเครื่องมือใส่ร้ายกันง่ายๆ อีกทั้งเป็นระบบกล่าวหา ที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องใช้ต้นทุนในการแก้ข้อกล่าวหาสูงมาก และการประกันตัวเป็นไปได้ยาก โดยยกตัวอย่างกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและการเมือง ซึ่งถูกจับและดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 112 และปัจจุบันยังไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลเห็นว่าคดีนี้กระทบกระเทือนจิตใจ เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และมีโทษสูง จึงเกรงว่าจะหลบหนี จิตรา กล่าวเสริมว่า กฎหมายอีกฉบับที่เริ่มใช้กัน คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งล่าสุดมีเพื่อนคนงานทีไอจี ถูกฟ้องด้วยข้อหานี้ ซึ่งโชคดีที่ได้เก่งกิจ กิติเลียงลาภ นักวิชาการจาก ม.เกษตรศาสตร์ เป็นนายประกันให้ เธอมองว่า นี่เป็นที่มาว่าทำไมรัฐจึงพยายามกีดกันนักวิชาการออกไปจากวงกรรมกร เพราะเมื่อก่อน คนงานตั้งนักวิชาการด้านกฎหมายเป็นที่ปรึกษาสหภาพได้ แต่เมื่อกฎหมายจากสมัย รสช. ยังอยู่ ก็คงไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยังมองว่า ที่แย่กว่านั้นคือ การที่รัฐทำให้เกิดการละเมิดสิทธิกันเองระหว่างคนงานด้วยการเอาใจคนงานกลุ่มหนึ่ง ไม่สนใจกลุ่มหนึ่ง จิตรากล่าวถึงการละเมิดสิทธิคนเสื้อแดงเมื่อปีที่ผ่านมาด้วย เพราะเธอมองว่าคนเสื้อแดงก็เป็นผู้ใช้แรงงานเช่นกัน พวกเขาถูกละเมิดสิทธิ ไม่ใช่แค่จับกุมคุมขัง แต่เสียชีวิตถึง 91 ศพ โดยยังไม่มีคนผิด ทั้งที่ประชาชนก็เห็นว่ามีทหารออกมา คิดตามเหตุผลแล้ว คนที่มีอาวุธก็คือคนฆ่า เพราะหากผู้ชุมนุมยิงกันเอง หลัง 10 เม.ย.ก็คงไม่มีใครมาชุมนุมแล้ว ทั้งนี้ จิตราทิ้งท้ายว่า หากไม่ต้องการให้ถูกละเมิดสิทธิ การรวมตัวกันสู้เป็นสิ่งสำคัญ อย่าปล่อยให้ใครสู้อย่างโดดเดี่ยว ชี้การไม่ได้ประกันตัว ก่อวังวนอุบาทว์ สุดาเล่าถึงประสบการณ์การเป็นนายประกันให้กับจิตรา คชเดชและเพื่อน ในคดีที่ตำรวจฟ้องว่า พวกเธอเป็นแกนนำ พาคนงานชุมนุมมั่วสุมเกินกว่า 10 คน เมื่อครั้งที่คนงานหลายกลุ่มไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบ-รัฐสภา ซึ่งจากการต้องเดินทางไปศาล ทำให้เห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ชอบธรรม โดยหน่วยงานในศาลแนะนำกับสุดาว่า ไม่ต้องการให้นักวิชาการประกันตัวผู้ที่ต่อสู้ด้านประชาธิปไตย ให้ใช้เงินประกันตัวแทน คำแนะนำดังกล่าวทำให้เข้าใจว่า นอกจากระบบกล่าวหา ซึ่งทำได้ง่ายๆ และถ้าพนักงานสอบสวนคือตำรวจ และดีเอสไอ ไม่พยายามทำความเข้าใจกับการกล่าวหานั้นอย่างจริงจัง หรือถูกอิทธิพล ก็อาจส่งฟ้องต่ออัยการ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องประกันตัว ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก สุดา เปิดเผยว่า หลังการประกันตัวให้จิตรา มีจดหมายจากศาลอาญาไปที่คณะอักษรศาสตร์ เพื่อแจ้งคณบดีว่า เธอได้ไปประกันตัวผู้ต้องหาในคดีร้ายแรง และขอให้ตรวจสอบว่าเธอไปประกันตัวในคดีอื่นหรือไม่ ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ สุดาระบุว่า ปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนและการไม่ได้รับการประกันตัว ที่ชัดเจนคือ กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ราวสามปีก่อน จนบัดนี้ ที่ศาลวินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีลับควรนำไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เธอก็ยังไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนี้ ยังมีผู้นำในขบวนการประชาธิปไตยคนสำคัญอย่าง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สรุชัย แซ่ด่าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอีกหลายร้อยคนที่อยู่ในเรือนจำ ที่ไม่ได้สิทธิประกันตัว โดยล่าสุด มีคนสัญชาติอเมริกันด้วย ทำให้ต่างชาติได้รู้ว่า ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากล สุดากล่าวเพิ่มเติมว่า การจะไม่ให้ประกันตัวนั้นก็ต่อเมื่อผู้ต้องหามีโอกาสยุ่งกับพยานหลักฐาน ซึ่งเธอมองว่า ในกรณีการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นโดยทั่วไป มาจากการแสดงทัศนะด้วยคำพูด ข้อเขียน ซึ่งอาจกระทบต่อบุคคล องค์กร เสียหายในแง่ชื่อเสียง เมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้พิจารณาหลักฐานชิ้นนั้นอย่างถ่องแท้ว่ามีมูล จึงฟ้อง เช่นนั้น พยานหลักฐานจะยุ่งเหยิงได้อย่างไรอีก เช่น กรณีสมยศ ในฐานะสื่อมวลชน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีบทความที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ บทความนั้นๆ ในนิตยสารก็ถูกตีพิมพ์เป็นหมื่นฉบับ ถ้าทุกฉบับมีเนื้อหาตรงกันแล้วจะยุ่งกับพยานหลักฐานได้อย่างไรอีก หรือกรณีสุรชัย ก็มีคลิปวิดีโอแล้ว ถามว่า จะยุ่งอะไรได้อีก ในฐานะคนที่ทำงานด้านภาษาแล้ว สุดา มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่สังคมต้องการการสื่อสาร สังคมประชาธิปไตยต้องเปิดกว้างด้านสิทธิเสรีภาพให้คนได้แสดงออกผ่านภาษา แต่ตอนนี้ ภาษาถูกนำมาอ้างเป็นเครื่องมือ ตั้งข้อกล่าวหา โดยเธอมองว่า การปิดกั้นการแสดงความเห็นนี้ อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ได้ จึงควรเปิดให้มีการแสดงออก เพื่อนำไปสู่การตกลงร่วมกันและทางออกที่ดีของทุกฝ่าย เธอกล่าวว่า สังคมยังไม่เข้าใจคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงทำให้ไม่มีการพูดถึง หรือมองว่าไม่ควรพูดถึง ครอบคลุมถึงในเรือนจำ ที่ผู้ต้องขัง นักโทษคดีร้ายแรง ซึ่งไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ยิ่งไม่เข้าใจ เมื่อนักโทษคดีหมิ่นฯ เข้าสู่เรือนจำ ทำให้ถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย เป็นผลให้ผู้ต้องคดีมีแนวโน้มหวาดกลัวจนหลบหนี พอหนีไปต่างประเทศมากเข้า พนักงานสอบสวนจึงอ้างกับศาลว่า เกรงจะหลบหนี และไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคนอื่นๆ เป็นวังวนในวงจรอุบาทว์ต่อไปอีก ทั้งนี้ สุดา เรียกร้องให้ประเด็นกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกพูดถึงอย่างสร้างสรรค์ในวงกว้างอย่างเพียงพอ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคม จึงควรถูกพูดคุยอย่างรอบด้าน เริ่มจากการที่นักวิชาการกล้าออกมาพูดคุยในส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้อง นักกฎหมายตีแผ่ สื่อเผยแพร่ ประชาชนมองอย่างรอบด้าน ก็จะเกิดการตัดสินใจร่วมกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ประชาไทบันเทิง: เปิดใจเลขาธิการพรรค “เพื่อเธอ” Posted: 12 Jun 2011 07:50 AM PDT แอนดี้ วอลฮอลล์ ศิลปินป๊อปอาร์ตคนดังแห่งยุคทศวรรษ ๑๙๖๐ – ๑๙๗๐ เคยกล่าวว่าในอนาคต มนุษย์ทุกคนจะมีระยะเวลาความดังอยู่ที่ ๑๕ นาที (คงจะกล่าวประมาณนี้แหละ ผมเองก็จำได้แบบงุนๆ งงๆ เหมือนกัน) ตาแอนดี้คงหมายถึงว่าต่อไปมนุษย์จะกลายเป็นคนมีชื่อเสียงได้เร็วขึ้น และช่วงเวลาของความดังก็จะสั้นลงไปตามกัน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาถึงยุคที่อินเตอร์เนตถือกำเนิด จากสื่อราคาแพง กลายเป็นสื่อที่สามารถหาซื้อได้ไม่ยากนัก และจากคอมพิวเตอร์ยุคจอสีเดียว สู่ยุคที่คอมพิวเตอร์กลายเป็นศูนย์รวมความบันเทิงเต็มรูปแบบ...ก็ถึงวันที่สิ่งที่ตาแอนดี้แกพูดเอามันกลายเป็นจริง ทุกวันนี้เราได้เห็นคนดังชั่วพริบตาที่เกิดขึ้นจากอินเตอร์เนตมากมาย ตั้งแต่บริการรับสารภาพรัก Delivery ที่เชียงใหม่ (คิดดูว่าดังเร็ว ไปเร็วขนาดไหน...ขนาดว่าผมจำชื่อกลุ่มของพวกไม่ได้แล้ว - -”), ป้าซูซาน บอยด์, วงดนตรี Room39 เรื่อยมาจนถึงเชฟหมีแห่งรายการครัวกากๆ ซึ่งก็ไม่คิดว่า วันหนึ่งความดังพรรค์นี้มันจะมาถึงตัวผมและเพื่อนเข้าจนได้...แถมยังมาแบบงงๆ จนผมไม่ทันตั้งตัว เรื่องทั้งหมดมันเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคมที่ผ่านมา... ในขณะที่ผมนั่งเล่น Facebook อยู่ดีๆ อะไรก็ไม่ทราบ ดลใจให้ผมตั้ง Status ใน Facebook ว่า... ขอเป็นสมาชิคพรรค "เพื่อเธอ" (ตอนนั้นก็พิมพ์ผิดแบบนี้แหละครับ) จากนั้นคุณแพท (โฆษกพรรค - ที่ปัจจุบันเดินทางไปตามรอยเรยา พร้อมๆ กับศึกษาต่อที่โอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์) แกก็เข้ามาโพสต์ตอบด้วยคำสั้นๆ (แต่ออกเสียงโคตรยาว) ว่า "กรีีสสสสสสสสสสสสสสสสสสสส" พร้อมทั้งกล่าวว่า "ทำเพจเลยพี่เดี๋ยวผมช่วยกดไลค์" ใช้เวลาอีกไม่นานนัก คุณโจ้ - ซึ่งต่อมาได้รับการอุปโลกน์ว่าเป็น “หัวหน้าพรรค” (ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า คนอื่นๆ มีตำแหน่งกันหมดแล้ว เหลือแต่มันคนเดียวที่ยังไม่มี... หรือเรียกง่ายๆ ว่า “โบ้ย” นั่นเอง อิอิ...) แกก็เข้ามาโพสต์ต่อว่า “เรากำลังจะมีโครงการ “ใจเข้มแข็ง” เร็วๆ นี้ 555+” หลังจากนั้น... “พรรคเพื่อเธอ” ก็เกิดขึ้นบนหน้า Facebook โดยแอดมินประกอบด้วยผม, แพท, โจ้ เสริมทัพด้วยบอม - มือเบสวงดนตรีอินดี้ชื่อดัง ที่แกก็นิยมเล่นมุขน้ำเน่าแบบนี้เหมือนกัน (เมื่อไม่นานมานี้พรรคเราก็ลากพุฒิ - นักร้องนำของวงของบอมมาเป็นแอดมินอีกคน) เพจนี้เริ่มต้นด้วยสมาชิกหลักร้อยในวันแรกของการตั้งพรรค ก่อนจะค่อยๆ ขยับไปถึงหลักพันโดยใช้เวลาไม่กี่วัน ก่อนจะถึงวันสิ้นเดือนพฤษภาคม มียอดผู้เข้ามากด Like กว่า 6,000 คนเข้าไปแล้ว ซึ่งแค่นั้น... บรรดาแอดมินก็ดีใจปนเหวอรับประทานกันไป และก็คิดว่าแค่นี้ก็เกินความคาดหมายแล้ว... แต่มันไม่จบลงแค่นั้นครับ จู่ๆ พรรคของเราก็ถูกพูดถึงทางสื่อต่างๆ เริ่มจากรายการ Wake Up Thailand โดยทั่น บก. ชูวัสแห่งประชาไทนี่ล่ะ และอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่เอาเราไปพูดถึงในรายการ (หลังจากที่บรรดาแอดมินนั่งดูเทปรายการนั้น เราก็ได้แต่สงสัยว่า “ตอนพวกกูตั้งพรรค กูคิดมากขนาดนั้นเลยเหรอฟะ” (ฮา)) ตามมาด้วยการลงในมติชนออนไลน์ ก่อนที่จะกระจายไปยังเว็บบอร์ดต่างๆ แต่มาถึงจุดพีกสุด ก็คงเป็นวันที่รายการ " เรื่องเล่าเช้านี้" พูดถึงพรรคเราออกอากาศ (สำหรับผมแล้ว... ผมไม่ค่อยสนใจที่สรยุทธพูดถึงเรานัก แต่การที่คุณไบร์ท และพี่หมวย แกกรี๊ดกร๊าดกับมุขเรานั้น ในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง นั่นถือเป็นความสำเร็จของพรรคเราแล้วครับ อิอิ...) จากนั้นสมาชิกก็พุ่งพรวด จากไม่ถึงหมื่นคน มาถึงสองหมื่นสามพันกว่าๆ คน ในวันที่ผมกำลังนั่งพิมพ์บทความชิ้นนี้ แต่จากความดังแบบไม่ทันตั้งตัวนี่ล่ะ ที่พาคนกลุ่มนึง ที่นำเรื่องปวดประสาทมาให้พวกเรา กลุ่มคนที่ว่า ก็คือกลุ่มที่คิดว่าพรรคเราตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง แล้วก็เที่ยวโยงเรากับพรรคโน้น พรรคนี้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็เริ่มตั้งแต่คนที่พยายามโยงโลโก้ของเพจ กับโลโก้ของพรรคเพื่อไทย (ด้วยความเคารพครับ ถ้าไม่ทำโลโก้ให้คล้ายกับพรรคที่เรากำลังล้อเขาเนี่ย...มันจะตลกเหรอครับ) หรือมีคนดังบางคนก็บอกว่าเราเป็น “แผนของไอ้แม้ว” (อันนี้ว่าตามที่พี่เขาพูดนะครับ) (เอิ่มมมม พี่คร้าบ... ด้วยความเคารพนะพี่... ผมว่าพี่คิดมากไปหน่อยนะ ถ้ามันเป็นแผนของตาแม้วจริงๆ ผมจะมานั่งคิดมุขน้ำเน่ากันทำแป๊ะอะไร สู้ทำอะไรให้มันดูเนียนกว่านี้ไม่ดีเหรอ...มานั่งทำตัวน้ำเน่าแบบนี้มันเสียลุคพรรคเขาเปล่าๆ) บางคนจู่ๆก็มาบอกว่า “ผมขอประณามพวกคุณ ที่เพิกเฉยต่อการปราบปรามประชาชน” (อะไรของพี่ครับ...) เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ผมรู้แล้วว่าคนที่บ้าการเมืองจนประสาทรับประทานนั้นมีอยู่พอสมควร และเกิดขึ้นได้กับทุกสี ทุกฝั่งซะด้วยสิ แต่ถึงกระนั้น ผมก็ดีใจตรงที่ในเพจนี้ มีหลายๆ คนที่เข้าใจพวกเรา และที่ดีใจกว่านั้น คือในเพจนี้มีทั้งคนฝั่งเสื้อแดง, เหลือง, หลากสี, ฯลฯ อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ตบตีกัน สำหรับผมเอง...นี่ถือเป็นสิ่งที่งามที่สุด สำหรับแฟนเพจตลกๆ เพจนี้แล้วละครับ ปล. กดไลค์เรา เราไม่ว่า แต่อย่าเผลอไปกา “เบอร์ว่ารักแถบ” ในบัตรเลือกตั้งจริงๆ ละกัน... มันจะพาลฮากันไปใหญ่ ^_^ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ITUC เผยสิทธิแรงงานเอเชียถดถอย เลิกจ้าง-จับกุม-ขู่ฆ่า-สังหารเพิ่มขึ้น Posted: 12 Jun 2011 07:27 AM PDT รายงานสำรวจการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานประจำปี 2011 โดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) เปิดเผยว่า การปราบปรามสหภาพแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มสูงขึ้น รายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งเปิดตัวไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ระบุถึงสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยว่า นายจ้างมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อสหภาพแรงงานอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐ ซึ่งมีการจัดฝึกอบรมวิธีการควบคุมสหภาพแรงงานด้วย ในรายงานได้สรุปว่า กรอบทางกฎหมายของไทย เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมของสหภาพแรงงาน สมาชิกสหภาพฯ ประสบกับปัญหาการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพฯ นอกจากนี้ ในข้อพิพาทแรงงานหลายกรณี ฝ่ายรัฐเลือกที่จะเข้าข้างฝ่ายนายจ้างมากกว่าฝ่ายแรงงาน และฝ่ายนายจ้างมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับสหภาพแรงงานอย่างชัดเจน ส่วนการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติยังคงดำเนินอยู่ ตลอดปีที่ผ่านมา ในเอเชีย พบว่ามีนักสหภาพกว่า 1,000 คนถูกทำร้ายและจับกุม และสถิติการสังหาร และการขู่ฆ่านักเคลื่อนไหวด้านแรงงานยังสูงขึ้นจากปี 2009 กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินเดีย ปากีสถาน ที่ซึ่งนักสหภาพแรงงานหลายคนถูกสังหารในระหว่างการชุมนุม หรือนัดหยุดงาน นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการเลิกจ้างคนงานจำนวนมากที่มีบทบาทการต่อสู้เพื่อสิทธิ รายงานดังกล่าว ยกตัวอย่างกรณีข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและสมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศไทยหลายกรณี เช่น กรณีของบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย), มิชลิน, ไทคูนส์ และไฮคอม ออโตโมทิฟ พลาสติกส์ และยังได้กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะโสภณ ซารัมย์ รมต.ว่าการกระทรวงคมนาคม เพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่เรียกร้องให้รับคนงานการรถไฟแห่งประเทศไทย 6 คนกลับเข้าทำงาน ซึ่งโสภณเสนอให้ไปสหภาพแรงงานรถไฟไปยื่นเรื่องต่อศาลแรงงานแทน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงกรณีการคุมขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและอดีตผู้นำสหภาพสหพันธ์แรงงาน ภาคเคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ และแรงงานทั่วไป นานาชาติอีกด้วย จากรายงาน พบว่าในเกาหลีเหนือและพม่า รัฐบาลสั่งห้ามการจัดตั้งสหภาพแรงงานในทุกรูปแบบ ส่วนจีน ลาว และเวียดนาม กฎหมายกำหนดให้มีระบบสหภาพแรงงานเดี่ยว คือสหภาพฯที่จัดตั้งโดยรัฐ นอกจากนี้ ในประเทศจีน ถึงแม้ว่ามีกฎหมายห้ามตั้งสหภาพแรงงานอิสระ โดยมีโทษถึงจำคุก แต่ปรากฏว่าเริ่มมีการตั้งสหภาพแรงงานในระดับบริษัทในจีนมากขึ้น และยังมีการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นด้วย ที่มา: Achara Ashayagachat. Survey: More anti-union repression in Asia สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
“เอ็นจีโอ” ถลกนโยบายพรรคการเมือง ชี้ “รัฐสวัสดิการ” ไม่คืบ จี้เลิก 4 ดัน 8 นโยบาย Posted: 12 Jun 2011 06:49 AM PDT ตัวแทนเครือข่ายประชาชนวิพากษ์นโยบายพรรคการเมือง เน้นการตลาด ถามเอามาจากไหน ย้ำต้องรวมกองทุนประกันสุขภาพทุกระบบเพื่อความเท่าเทียม พร้อมเผย 4 นโยบาย “ต้อง” ยกเลิก – 8 นโยบาย “น่าสนใจ” วันนี้ (12 มิ.ย.54) เครือข่ายประชาชนด้านสังคม ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จัดเสวนา “เท่าทันนโยบายพรรคการเมือง-วิพากษ์นโยบายรัฐสวัสดิการ” ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดราว 150 คน 4 นโยบาย จี้ยกเลิก – 8 นโยบาย หนุนลงรายละเอียด เอกสารประกอบการเสวนา จัดทำมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยถึง “นโยบายพรรคการเมืองที่ใช้ไม่ได้ ประชาชนไม่สนับสนุน ต้องยกเลิกทันที” 4 ข้อ คือ 1.นโยบายสร้างเขื่อน ถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่ 2.นโยบายดึงน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากเขื่อนฮัตจีในพม่า เขื่อนน้ำงึมในลาว หรือแม่น้ำสตรึงนัมในกัมพูชา 3.นโยบายสนับสนุนให้รัฐและเอกชนแสวงหาสัมปทานน้ำมันจากทั่วโลก 4.นโยบายยกเว้นภาษีรถยนต์คันแรก ในส่วน “นโยบายที่น่าสนใจของพรรคการเมือง” ที่ต้องมีรายละเอียดและมีกระบวนการที่ดีในการดำเนินการ มี 8 ข้อ ดังนี้ 1.นโยบายบริการสาธารณะระบบราง เช่น รถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 สาย 12 สายแต่ละสายเก็บ 20 บาท ผลักดันรถไฟฟ้าความเร็วสูง และปฏิรูปรถไฟทั้งระบบ 2.นโยบายเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพื่อเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เช่น โฉนดชุมชน การจำกัดการถือครองที่ดิน การจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน 3.นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ควรใช้วิธีประกันราคาผลผลิตการเกษตร การประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ แทนการประกันราคาหรือจำนำสินค้าเกษตร 4.นโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องมีการดำเนินนโยบายปฏิรูประบบภาษี ปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่ครอบคลุมเป็นธรรม และจัดเก็บภาษีที่ดิน ทรัพย์สิน มรดก หุ้น แบบอัตราก้าวหน้าทันที 5.นโยบายด้านการสร้างหลักประกันสังคมแบบทั่วถึง เป็นธรรม โดยการจัดการภาษีเพื่อรัฐสวัสดิการสังคมอย่างชัดเจนด้วย 6.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ ยกเลิกบีโอไอ ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน 7.ยกเลิกระบบราชการแบบรวมศูนย์ ยกเลิกหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ทำให้กระทรวงเล็กลง ให้อำนาจการปกครองจัดการตนเองกับประชาชนในระดับจังหวัด 8.ประกาศให้คณะรัฐมนตรีหยุดโกง เพื่อนำเงินมาอัดฉีดเศรษฐกิจของชาติ จวก “พรรคการเมือง” ผลิตซ้ำนโยบายเก่า หวังแค่ผลทางการเมือง สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นโยบายหาเสียงเลืองตั้งของพรรคการเมืองเป็นเพียงยาหอมหรือการซื้อฝัน แต่เกิดขึ้นจริงนับครั้งได้ และหากวิเคราะห์นโยบายพรรคใหญ่จะที่มีลักษณะที่ไม่หนีจากกันมากนัก อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำทางนโยบายจากอดีตเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งตรงนี้เห็นว่า ทุกพรรคการเมืองควรเน้นนโยบายด้านระบบประกันสุขภาพให้กับประชาชนทั่วประเทศ มากกว่าการทำนโยบายแบบแก้ปัญหาปลายเหตุ นอกจากนี้ ควรต้องส่งเสริมระบบประกันสุขภาพระบบเดียวทั้งประเทศ ที่มีมาตรฐาน เพราะจะทำให้ประชาชนในชุมชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าเขตเมือง ช่วยความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพได้ สุรีรัตน์ กล่าวด้วยว่า จากการที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง สิ่งที่ลดปัญหาตรงนี้ได้คือ การมีสวัสดิการสังคม อาทิ การจัดบำนาญชราภาพขั้นพื้นฐาน โดยการจ่ายรายเดือนให้ผู้สูงอายุในระดับเส้นความยากจน (1,500 บาท) เพื่อใช้ยังชีพและสามารถมีรายได้นำไปสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติได้ รวมทั้งจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีอย่างมีคุณภาพ การเรียนฟรีที่เข้าถึงอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำได้จริงหากนักการเมืองเอาจริงเอาจัง ในส่วนเงินรายได้ของรัฐที่จะนำมาบริหารจัดการในส่วนนี้ สุรีรัตน์ กล่าวว่า ควรมาจากระบบภาษี ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ไม่ดีพอ ที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีของประเทศมาจากภาษีทางอ้อมเป็นหลัก การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินไม่ทั่วถึงและเป็นธรรมจริง อีกทั้งยังมีความซ้ำซ้อนด้วย อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ ดร.สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ให้เห็นว่า สวัสดิการอย่างเท่าเทียมก้าวหน้าได้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีความเติบโต คนมีรายได้ มีความสามารถการจ่ายภาษีได้ จี้ถามที่มาเงิน-วิธีคิดนโยบาย ส่วน สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า พรรคการเมืองควรต้องตระหนักในเรื่องความเหลื่อมล้ำ แตกต่างทางรายได้ของประชาชน ซึ่งแก้ไขได้โดยการจัดรัฐสวัสดิการ แต่นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอนั้นเป็นนโยบายการตลาด ประชานิยม ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือสร้างรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นโยบายส่วนใหญ่ยังขาดความชัดเจน ตัวเลขที่ระบุในป้ายหาเสียงเป็นเพียงตัวเลขลอยๆ เช่น นโยบายการให้เบี้ยยังชีพคนชราที่เสนอเพิ่มให้กับผู้สูงอายุ 1,000 บาท ทั้งนี้ พรรคการเมืองควรชี้แจงให้ชัดเจนในเรื่องวิธีคิด เอาเงินมาจากไหน กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร และควรบอกที่มาที่ไปของนโยบายให้ประชาชนได้รับรู้ สุนทรี กล่าวด้วยว่า การเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องแฟนขับ แม่ยก หรือเป็นเรื่องพรรคพวก จนมีการพูดกันว่าหากเป็นพวกของตนเอง ต่อให้ส่งเสาไฟฟ้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะไปลงคะแนนให้ ซึ่งภาคประชาชนควรร่วมกันเปลี่ยนแปลงความคิดเหล่านี้ เพื่อให้คนหันมาสนใจนโยบาย เลือกพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน ส่วนพรรคการเมืองเองก็ต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้ได้ “สิ่งที่เราควรคำนึงถึง คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้สนใจนโยบายของพรรคการเมืองอย่างจริงจัง ไม่ใช่ไปสนใจแต่เรื่องของสีเสื้อหรือพวกของตนเอง” นางสุนทรี กล่าว ชี้ “ปชป.” สนใจเรื่องหลักประกันสุขภาพมากกว่า “พท.” ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวแสดงความเห็นจากการศึกษานโยบายของพรรคการเมืองว่า แทบทุกพรรคไม่สนใจให้ความสำคัญในเรื่องนโยบาย ดังนั้นสิ่งที่นำเสนอจึงเป็นการนำของเก่ามาเล่าใหม่ และการแข่งขันกันว่าพรรคให้อะไรมากกว่ากัน แม้แต่พรรคการเมืองใหม่ที่ดูน่าจะเป็นความหวังของภาคประชาชนก็ไม่ได้มีความแตกต่างออกไป ทั้งนี้เมื่อดูเป็นรายกรณี เห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สนใจในเรื่องหลักประกันสุขภาพมากกว่าพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่มีความกล้าหาญในการประกาศในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านหลักประกันทางสุขภาพที่มีอยู่หลายระบบให้มาเป็นระบบเดียว นอกจากนี้ การเป็นรัฐบาลที่ก่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) แต่กลับไม่มีการนำเอานโยบายที่นำเสนอโดยคณะกรรมการเหล่านี้มาพูดถึง เพียงเรื่องเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกมาทำคือเรื่องโฉนดชุมชน แต่ก็ยังไม่ไม่ถึงขั้นการปฏิรูปที่ดิน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่พูดถึงเรื่องนโยบายปฏิรูปที่ดินเลย อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีสิ่งใดใหม่ เป็นเพียงการสานต่อนโยบายเก่าที่สามารถทำต่อไปได้ แนะพรรคการเมือง ตั้งใจทำเรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องพูดเรื่องรวมกองทุนฯ ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวถึงการศึกษานโยบายของพรรคเพื่อไทยว่า เป็นพรรคเดียวที่พูดถึงนโยบายต่อผู้ติดเชื้อ แต่ไม่เห็นถึงปรัชญา ความคิด ความเชื่อที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ ทั้งนี้ มีการพูดถึงสวัสดิการในส่วนของแรงงาน โดยระบุว่าเป็นสวัสดิการแก่ผู้ส่งเงินประกันกับรัฐทุกสาขาอาชีพ ส่วนในด้านการศึกษา มีการชูนโยบายการทำการตลาด โดยบอกว่าเด็กเข้าโรงเรียนจะได้แล็ปทอปคอมพิวเตอร์คนละเครื่อง ไม่ได้ดูภาพรวมการศึกษาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ทุกนโยบายเน้นเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพ ศักยภาพ และความทันสมัยเป็นหลัก “ถ้าฉลาด และตั้งใจเรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องพูดเรื่องรวมกองทุนด้านสุขภาพ” นิมิตร์ ให้ความเห็นถึงการวางนโยบายเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพต่อพรรคการเมือง พร้อมย้ำด้วยว่า การรวมกองทุนด้านสุขภาพจะป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งแยก และสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ แต่การเสนอนโยบายที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึงเรื่องนี้ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน ในเรื่องสุขภาพไม่โดดเด่นอะไร ยังวนคิดเก่า ทำเก่า ไม่ได้เพื่อไทยทุกคน แต่เพื่อคนบางกลุ่ม บางพวกเท่านั้น” นิมิตร์ กล่าวทิ้งท้าย สลัม 4 ภาค เตรียมกิจกรรมเสนอนโยบายพรรคการเมือง 19 มิ.ย.นี้ จากนั้น เครือข่ายประชาชนด้านสังคมในประเด็นต่างๆ อาทิ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติด เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตร เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ให้ข้อเสนอต่อนโยบายพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.ที่จะถึงนี้ อาทิ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติด กล่าวเสนอถึงการให้ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐอย่างแท้จริง และไม่เน้นการแก้ปัญหาโดยการปราบปรามผู้เสพหรือการจับไปบำบัด แต่ควรมีกระบวนการให้การบำบัดอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพมาตรฐาน อีกทั้งควรมีการแก้ไขปัญหาเรื่องทัศนคติของสังคมต่อผู้ติดสิ่งเสพติดด้วย ส่วนตัวแทนเครือข่ายเกษตรทางเลือก ระบุว่า สวัสดิการชาวนามีความสัมพันธ์กับบำนาญชราภาพ และต่อไปจะมีการตั้งบำนาญชาวนา บำนาญชาวสวน เกิดขึ้นซึ่งจะเป็นการสลายพลังของการรวมกลุ่ม ดังนั้นเสนอว่าควรมีการรวมบำนาญเหล่านี้ให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน นอกจากนั้นในสภาวะวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวนมากในภาคต่างๆ ตรงนี้อาจนำไปสู่การพูดถึงรัฐสวัสดิการเพื่อความมั่นคงทางอาหารกันต่อไปได้ ขณะที่ พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้ลงความคิดเห็นร่วมกันแล้วว่า นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอเป็นเพียงนโยบายขายฝัน เช่น นโยบายบ้านมั่นคง และบ้านหลังแรกลดดอกเบี้ยของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ต่างก็ไม่พูดถึงการกระจายการถือครองที่ดิน และการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้านไม่ถูกพูดถึง ส่วนนโยบายโฉนดชุมชน ที่ผ่านมาทำสำเร็จเพียงที่เดียวคือที่คลองโยง ส่วนที่อยู่ในกระบวนการอีก 35 พื้นที่ และอีกหลายร้อยแห่งที่รอการพิจารณา ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย พงษ์อนันต์ กล่าวด้วยว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาคจะจัดกิจกรรมเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ที่ชุมชนโรงปูน คลองตัน โดยใช้รถเครื่องเสียงและการแจกใบปลิว เหมือนกับการเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ของนักการเมือง อีกทั้งจะมีการติดตั้งป้ายผ้าที่ระบุถึงข้อเสนอของทางเครือข่ายด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
"กนก" ลั่น "อย่าให้พวกเผาเมืองยึดประเทศไทย" Posted: 12 Jun 2011 05:39 AM PDT "กนก รัตน์วงศ์สกุล" ชี้เสื้อแดงเกณฑ์คนมาจาก ตจว. อ้างประชาธิปไตย-ต่อสู้เผด็จการทั้งที่หลังปี 49 มีนายกรัฐมนตรี "เป็นของเขา" ถึง 2 คน แต่พอคนที่ 3 มาเป็นนายกฯ มาจากสภาเดียวกันแท้ๆ กลับไม่ยอมรับ ชี้ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาล ได้นายกฯ ที่ทำเพื่อคนๆ เดียว เพื่อคนในตระกูลเดียว พร้อมเรียกร้องผู้อ่านช่วย "พระสยามเทวาธิราช" คุ้มครองประเทศไทย วันนี้ (12 มิ.ย.) นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ผู้ประกาศข่าวรายการข่าวข้นคนข่าว ได้โพสต์เผยแพร่บันทึกในเฟซบุค " Kanok Ratwongsakul" ตั้งชื่อหัวข้อว่า "อย่าให้พวกเผาเมืองยึดประเทศไทย" โดยเขาชี้แจงกรณีที่ก่อนหน้านี้เขาไม่สามารถล็อคอินหน้าเฟซบุคของเขาด้วย ก่อนที่จะมีผู้ช่วยเหลือทำให้สามารถกลับมาเล่นใหม่ได้ โดยบันทึกของกนก โจมตีขบวนการคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยอย่างดุเดือด "เขาเกณฑ์คนต่างจังหวัด อ้างว่ามาเรียกร้องประชาธิปไตย อ้างว่าต่อสู้เผด็จการ ทั้งที่หลังเผด็จการ ปี 49 มีนายกฯ เป็นคนของเขาถึง 2 คน พวกเขาทำไมไม่รู้สึกว่าต้องเรียกร้องประชาธิปไตย ... ทำไมไม่ออกมาต่อสู้กับ ทหารหรืออำมาตย์ พอคนที่ 3 ขึ้นมาเป็นนายกฯ จาก ส.ส.ชุดเดียวกันโหวตในสภาแท้ๆ พวกนี้ไม่ยอมรับ" ตอนหนึ่งของบทความระบุ เขาเห็นว่า เมื่อคนกลุ่มนี้ต่อสู้ตามระบอบแพ้ในสภาแล้ว จึงออกมายึดถนน ยึดสี่แยก โจมตีองคมนตรี ทำเว็บไซต์ลบหลู่สถาบันพระมหากษัตริย์ "มีใบปลิวอ่านผวนคำกลับมาก็เห็นชัดเจนว่า ด่าทอสถาบันรุนแรง! ชายชุดดำฆ่าทหาร! ลอบยิงเอ็ม 79 ฆ่าตำรวจ ประชาชน" นายกนกระบุในบทความของเขา ตอนท้ายบทความเขาเรียกร้องให้ผู่อ่านช่วยพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองประเทศไทยด้วย "ไม่น่าเชื่อว่า 2 เหตุการณ์ทำลายชาติใน 2 ปีที่ผ่านมากำลังผ่านไปเหมือนเกิดอัคคีภัยธรรมดาๆ ลำพังแค่แกนนำราว 20 คนที่ยุให้คนเผาบ้านเผาเมือง..กำลังจะได้เป็น ส.ส. ก็ยากจะทำใจแล้ว แต่นี่..เรากำลังจะได้รัฐบาล ได้นายกฯ ที่รู้ทั้งรู้ว่า เขาทำเพื่อคนๆเดียว เพื่อคนในตระกูลเดียวเท่านั้น?!?" "พวกเรา..จะไม่ช่วยพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองประเทศไทยแล้วหรือครับ?" สำหรับรายการข่าวข้นคนข่าว ที่นายกนกเป็นผู้ประกาศข่าว เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทวิเคราะห์ข่าวประจำวัน ผลิตโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เนชั่นทีวี ออกอากาศ ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 21.50-22.45 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี นอกจากนายกนก ยังมีผู้ประกาศข่าวคนอื่นๆ ได้แก่นายธีระ ธัญไพบูลย์ และนายกำภู ภูริภูวดล โดยรายละเอียดบันทึกของนายกนกมีดังนี้ 000
"อย่าให้พวกเผาเมืองยึดประเทศไทย" กลับมาแล้วพี่น้อง กลับเข้าบ้านตัวเองได้แล้วครับ ไม่ใช่ทำกุญแจหาย แต่ถูกผู้ไม่หวังดียึดกุญแจไป ดีที่มีแขกรับเชิญที่ช่อง 9 เขาช่วยกู้คืนมาได้ ผมขอบคุณมากครับ (เขาไม่ประสงค์ออกนาม) จะไปเปิดเพจใหม่ก็เสียดายข้อมูลที่เพจนี้ บ้านผมหรือบ้านคุณหากถูกยึด ก็เดือดร้อนมากแล้ว แต่ยังไม่เท่า "บ้านเมืองของเรา" ถูกยึด! สงกรานต์ปี 2552 มีคนทำลายการประชุมอาเซียน แขกเหรื่อผู้นำระดับประเทศ ต้องรีบเผ่นหนีแทบไม่ทัน ผู้บริหารประเทศเราช่วยอะไรเขาไม่ได้ เพราะตัวเราเองก็แทบเอาตัวไม่รอด นายกฯ กับรองนายกคุมความมั่นคง..ถูกไล่ทุบรถอย่างถ่อยเถื่อน เลขานายกฯ ถูกทุบและลากตัวออกมาอย่างไม่น่าเชื่อว่า คนชาติเดียวกันจะทำได้ หลังจากนั้น..แกนนำหลายคนไม่ถูกคุมตัว บ้างมีเอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มครอง บ้างได้รับการประกันตัว สงกรานต์ปี 2553 คนหน้าเดิมหวนกลับมาก่อเหตุซ้ำที่รุนแรงกว่าปี 52 อย่างไม่น่าเชื่อ! เขาเกณฑ์คนต่างจังหวัด อ้างว่ามาเรียกร้องประชาธิปไตย อ้างว่าต่อสู้เผด็จการ ทั้งที่หลังเผด็จการ ปี 49 มีนายกฯ เป็นคนของเขาถึง 2 คน พวกเขาทำไมไม่รู้สึกว่าต้องเรียกร้องประชาธิปไตย..ทำไมไม่ออกมาต่อสู้กับ ทหารหรืออำมาตย์ พอคนที่ 3 ขึ้นมาเป็นนายกฯ จาก ส.ส.ชุดเดียวกันโหวตในสภาแท้ๆ พวกนี้ไม่ยอมรับ ต่อสู้ตาม ระบอบแพ้ในสภาแล้ว จึงออกมายึดถนน ยึดสี่แยก โจมตีองคมนตรี มีบางคนจาบจ้วงสถาบันบนเวทีชุมนุม ประจวบเหมาะกับมีเว็บไซด์ลบหลู่สถาบันมากมาย มีใบปลิวอ่านผวนคำกลับมาก็เห็นชัดเจนว่า ด่าทอสถาบันรุนแรง! ชายชุดดำฆ่าทหาร! ลอบยิงเอ็ม 79 ฆ่าตำรวจ ประชาชน ไม่น่าเชื่อว่า 2 เหตุการณ์ทำลายชาติ ใน 2 ปีที่ผ่านมา กำลังผ่านไปเหมือนเกิดอัคคีภัยธรรมดาๆ ลำพังแค่แกนนำราว 20 คนที่ยุให้คนเผาบ้านเผาเมือง..กำลังจะได้เป็น ส.ส. ก็ยากจะทำใจแล้ว แต่นี่..เรากำลังจะได้รัฐบาล ได้นายกฯ ที่รู้ทั้งรู้ว่า เขาทำเพื่อคนๆ เดียว เพื่อคนในตระกูลเดียวเท่านั้น?!? ไม่น่าเชื่อว่า 2 เหตุการณ์ทำลายชาติ ใน 2 ปีที่ผ่านมา กำลังผ่านไปเหมือนเกิดอัคคีภัยธรรมดาๆ ลำพังแค่แกนนำราว 20 คนที่ยุให้คนเผาบ้านเผาเมือง..กำลังจะได้เป็น ส.ส. ก็ยากจะทำใจแล้ว แต่นี่..เรากำลังจะได้รัฐบาล ได้นายกฯ ที่รู้ทั้งรู้ว่า เขาทำเพื่อคนๆเดียว เพื่อคนในตระกูลเดียวเท่านั้น?!? พวกเรา..จะไม่ช่วยพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองประเทศไทยแล้วหรือครับ? สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น