ประชาไท | Prachatai3.info |
- รายงาน : 6 ปีคดีพระสุพจน์ไม่คืบ กระบวนยุติธรรมนั้นยังมืดมน (1)
- เจ้าของผลงาน ‘เขตปกครองชายแดนใต้’ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่น ม.สงขลานครินทร์
- สงขลายันงดแจกส.ป.ก. 4-01 เกรงจ่ายชดเชยยากพื้นที่สร้างด่านใหม่
- เพ็ญ ภัคตะ: ดีแต่พูด
- "สยามสามัคคี" ชี้ขึ้นป้ายเพราะต้องการปกป้องสถาบัน ไม่ได้เจาะยางเพื่อไทย
- ครป. แถลง การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกบิดเบือน-ประชาชนไม่เข้าใจประชาธิปไตย
- ตำรวจพม่าจับ 2 หนุ่มคะฉิ่นสอบสวน อ้างเชื่อมโยงเหตุระเบิด
- การร่วมจ่าย ในระบบหลักประกันสุขภาพ คุณค่าที่มากกว่าตัวเงิน
- จับแกนนำเกษตรกร-แจ้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูง-หลอกลวงประชาชน
- ชยพันธ์ บำรุงพงศ์
- 3 กรกฏา "ไม่เลือกคนดีเข้าสภา!!"
- ศาลยังไม่ให้ประกัน"คำพลอย นะมี"แพทย์ระบุอาการหนัก ผู้คุมยันต้องล่ามโซ่เหตุไม่อยากตกงาน
รายงาน : 6 ปีคดีพระสุพจน์ไม่คืบ กระบวนยุติธรรมนั้นยังมืดมน (1) Posted: 29 Jun 2011 08:27 AM PDT นับจนถึงตอนนี้ ก็ผ่านไปได้ 6 ปีแล้ว คดีพระสุพจน์ สุวโจ คดีเหมือนกำลังคืบ แต่จู่ๆ ล่าสุด ก็มีข่าวปรับเปลี่ยนโยกย้ายหัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนของดีเอสไออย่างมีเงื่อนงำ สงสัยอีกครั้ง
พระสุพจน์ สุวโจ ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 17 มิถุนายน 2548 ที่บริเวณสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกทำร้ายและถูกฆาตกรรมด้วยของมีคมฟันไปทั่วร่างจนถึงแก่มรณภาพ จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่ว หลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่และญาติผู้เสียหายเข้าไปดูในสถานที่เกิดเหตุ พบว่ามีร่องรอยสิ่งของบางอย่างตกอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่พระสุพจน์มรณภาพนั้น เช่น ร่องรอยการตัดลำไม้ไผ่ ขวดสุรา ขวดโซดา เศษก้นบุหรี่กระจัดกระจายเกลื่อนอยู่บริเวณนั้น หลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เข้ามาชันสูตรศพ ได้มีการสั่งให้มีการปรับถางพื้นที่รอบๆ บริเวณนั้นจากเดิมเป็นพงหญ้ารกจนกลายโล่งเตียน ท่ามกลางความงุนงงสงสัยของญาติผู้เสียหายว่าทำไมถึงใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเช่นนี้ นายกิตติพัฒน์ ด้วงประเสริฐ บิดาของพระสุพจน์ สุวโจ กล่าวออกมาด้วยสีหน้าเป็นกังวลว่า สิ่งที่ติดใจก็คือ มีร่องรอยพิรุธให้เห็นหลายอย่างก็คือ วันนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งยศร้อยตำรวจโท บอกผมว่ายังไม่ต้องเก็บศพหลวงพ่อเดี๋ยวทางเจ้าหน้าที่ก็จะมาเก็บเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะกิดอยู่ในใจว่า ทำไมเขาถึงไม่ให้เราเก็บ แล้วจู่ๆ ก็มีรถไถมาไถ มาปรับเกรดพื้นที่ ก็ยังสงสัยอยู่ว่าเขามาหาอะไร หาของหลักฐาน แต่ทำไมต้องใช้รถมาไถปรับพื้นที่เช่นนั้น “และนี่เป็นประเด็นที่ผมสงสัยมาจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งที่สงสัยอีกนั่นก็คือหลักฐาน คือเขาไม่มีการเก็บและสอบถามว่าพื้นที่ตรงที่เกิดเหตุ อยู่ติดริมถนน มีร่องรอยการดื่มสุราหรือไม่ แม่โขง โซดาตราสิงห์ บุหรี่ จำนวนก้นบุหรี่นับได้เป็นร้อยๆ ก้น เหมือนกับว่าจะมีการวางแผนกันไว้แล้ว ไม่รู้ว่ากี่ชั่วโมงนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ แต่ผมมั่นใจว่า นี่มีการวางแผนออกมาเป็นระบบแล้ว คล้ายกับมานั่งกินอะไรและปลอบใจกันไว้ก่อนลงมือ…แต่เราเองก็ไม่ได้เก็บอะไรไว้ซักอย่าง เพราะว่าเราเชื่อใจเจ้าหน้าที่เขา นี่เป็นประเด็นที่ผมยังคาใจ ยังมีความข้องใจในจุดนี้อยู่ ” บิดาของพระสุพจน์ เอ่ยออกมาถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นของคดีดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มแรกนั้น คดีพระสุพจน์ อยู่ในความรับผิดชอบของ ตำรวจ สภ.อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จนกระทั่ง พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ และพระมหาเชิดชัย กวิวํโส ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์เดียวกับพระสุพจน์ พร้อมญาติผู้เสียหาย ได้เดินทางไปยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จนมีการโอนเป็นคดีพิเศษ ซึ่งมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในขณะนั้น รับผิดชอบ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายคดีและนำตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ทั้งที่คดีดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคม จากสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายแห่ง ต่างพากันออกมาเรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ กันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีดีเอสไอ ในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ได้เข้ามารับผิดชอบคดีสำนวนคดีดังกล่าวต่อจากผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษคนก่อน ซึ่ง พ.อ.ปิยะวัฒก์ ได้เปิดเผยว่า ได้ตั้งชุดสืบสวนและสอบสวน จำนวน 2 ชุดประมาณ 10 กว่าคนมาคลี่คลายคดี แต่ข้อเท็จจริงพบว่า พยานหลักฐานถูกทำลายไปบางส่วน และบางส่วนสูญหายไปบ้าง เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี 2548 แต่ก็ได้พยายามทำคดีเต็มที่ ซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ มากพอสมควร พอจะสรุปประเด็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ 2 ประเด็นหลักๆ คือ เรื่องการบุกรุกที่ดินของสำนักสงฆ์หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมจากกลุ่มผู้บุกรุกที่ดิน ซึ่งประเด็นนี้ พระสุพจน์เคยไปแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ที่ สภ.ฝาง จนต่อมามีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปห้ามปรามกลุ่มผู้บุกรุกที่ดินให้เลิกกระทำการแผ้วถางหรือฮุบที่ดินสงฆ์ไปทำประโยชน์ และพบอีกว่ากลุ่มผู้บุกรุกได้ส่งคนไปเจรจากับพระสุพจน์และพระกิตติศักดิ์ที่สถานปฏิบัติธรรมดังกล่าวหลายครั้ง และประเด็นที่สองคือ เดิมพระสุพจน์และพระกิตติศักดิ์ เป็นพระที่มาจาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อย้ายมาตั้งสำนักสงฆ์ที่ จ.เชียงใหม่ ต่อมาพระทั้งสองได้เขียนบทความในหนังสือ รวมทั้งเว็บไซต์เผยแพร่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสมัยนั้น โดยเฉพาะประเด็นเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน จนกระทั่งมีการเข้าไปตรวจสอบการเขียนหนังสือและบทความของพระทั้งสองอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ทางพนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ สำหรับกลุ่มผู้ต้องสงสัยฆ่าพระสุพจน์ทั้งจากประเด็นบุกรุกที่ดินและประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงของรัฐบาลนั้น อาจจะเป็นผู้ต้องสงสัยกลุ่มเดียวกัน แต่อาจจะมีมูลเหตุจูงใจทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้น ตนจึงให้น้ำหนักกับประเด็นทั้งสองค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ทิ้งประเด็นที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชุดเดิมทำมา ก็ยังสืบสวนอยู่ “ให้น้ำหนักประเด็นการบุกรุกที่ดิน และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกือบเท่าๆ กัน ใกล้เคียงกันมาก เพราะจากการรวบรวมพบพยานหลักฐานก็มีประเด็นที่บ่งชี้ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งจากนี้ไปก็คงต้องพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ เพราะว่าพยานหลักฐานบางอย่างถูกทำลายไป เช่นอาวุธที่ใช้ฆ่าพระสุพจน์”ผบ.สำนักคดีอาญากล่าว ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ซึ่งรับผิดชอบคดีพระสุพจน์ยอมรับว่าหนักใจพอสมควร เพราะได้เข้ามาทำงานคดีนี้หลังเหตุการณ์ผ่านมาค่อนข้างนาน แต่ยืนยันว่าคดีคืบหน้าไปมาก และพนักงานสอบสวนชุดนี้ มีอัยการพิเศษข้ามาร่วมหาหลักฐานด้วย ซึ่งทั้งชุดสืบสวนและชุดสอบสวนมีความกระตือรือร้นในการคลี่คลายคดีให้เร็วที่สุด ชี้กระบวนยุติธรรมมีพิรุธ ขณะคดีเหมือนกำลังคืบ กลับมีการปรับย้ายเจ้าหน้าที่ดูแลคดี นับจนถึงตอนนี้ ก็ผ่านไปได้ 6 ปีแล้ว คดีพระสุพจน์ สุวโจ คดีเหมือนกำลังคืบ แต่จู่ๆ ล่าสุด ก็มีข่าวปรับเปลี่ยนโยกย้ายหัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนของดีเอสไออย่างมีเงื่อนงำ สงสัยอีกครั้ง พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวว่า คดีพระสุพจน์ สุวโจ จนถึงทุกวันนี้ยังมีปรากฏการณ์หลายอย่างที่น่ากังวลใจอยู่ เพราะล่าสุด ทางดีเอสไอมีความพยายามเปลี่ยนพนักงานสอบสวนคดี ทั้งที่อาจถือได้ว่าชุดนี้จะทำงานได้ดีที่สุดกว่าชุดใดๆ พระกิตติศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า หนึ่ง เป็นการเปลี่ยนในช่วงการเมืองกำลังเปลี่ยน และสอง เปลี่ยนเพราะคดีกำลังสืบสาวใกล้จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แล้ว “การเปลี่ยนตัวหัวหน้าสอบสวนคดีในลักษณะอย่างนี้ เป็นการเปลี่ยนในช่วงเวลาที่เป็นเรื่องของการบอกเหตุหลายเรื่อง คือ เรื่องของการเมืองเองกำลังจะเปลี่ยน และโดยภาพรวมแล้ว ก็คือการสอบสวนคดีกำลังจะเข้าใกล้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด เพราะว่าหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็แจ้งให้ทราบว่ามีคนที่ทำความผิดอย่างน้อย 6 คน และสามารถระบุชื่อได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้ความพยายามที่จะสอบปากคำให้ 6 คนมีการซัดทอดและระบุยืนยันกันในที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะออกหมายจับและไม่หลุดคดีในชั้นอัยการ” พระกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนจะใช้กระบวนการนี้ ก็มีกระบวนการในการโยกย้ายที่ไม่ใช่โยกย้ายในกรณีพิเศษ แต่เป็นการยุบสำนักคดีอาญาพิเศษ เพื่อให้ตำแหน่งลอย แล้วย้ายไปอยู่สำนักอื่น จากนั้นก็ตั้งสำนักงานคดีพิเศษซ้ำขึ้นมาใหม่ นั่นคือทำให้การตั้งสำนักใหม่ขึ้นมา ทำให้ไม่ได้อยู่ในปริมาณงานที่คุณปิยวัตรจะรับหน้าที่ คือ เป็นการลดขนาดของหน่วยงานลง และตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องเลื่อนขึ้นก็ต้องมีการย้าย พ.อ.ปิยะวัตรไปอยู่ที่อื่น เหมือนกับว่า คดีดังกล่าวนั้นซับซ้อน มีเงื่อนงำ ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างไปจนเจ้าหน้าที่ระดับบน รวมถึงผู้มีอิทธิพล นักการเมืองได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวโยงกันไปหมดหรือไม่ ? “ใช่ เรื่องนี้มีการเชื่อมโยงไปอยู่หลายเรื่อง ในส่วนของ พ.อ.ปิยวัตร ก็เคยมีการปรารภอยู่ตลอดเลยว่า การที่ลงมาในพื้นที่แต่ละครั้ง เป้าหมายของพื้นที่ มีการรับรู้เรื่องของดีเอสไอลงมาสอบสวนก่อนทุกครั้ง ในขณะเดียวกัน พวกเราเองก็รับรู้ได้ว่าพนักงานสอบสวนกำลังจะมา เพราะว่า เป็นที่สังเกตว่า ก่อนพนักงานสอบสวนจะมาประมาณ 2-3 วันก็จะมีเสียงปืนดังขึ้น แสดงให้รู้ว่าจะมีคนจะเข้ามาในพื้นที่ เพราะฉะนั้น ในทางกรมสอบสวนคดีพิเศษนั่นเอง ก็ต้องมีข่าวรั่ว ไปถึงหูของผู้ที่กระทำความผิดแทบทุกครั้ง” ย้ำอุปสรรคของคดีอยู่ที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลต่อสายกับเจ้าหน้าที่รัฐและการเมือง ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้น ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคของคดีพระสุพจน์ที่แท้จริงก็คือ กลุ่มผู้ที่มีอิทธิพลยังมีคอนเน็คชั่นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายการเมืองกันอยู่ ซึ่งลักษณะอย่างนี้ก็จะปรากฏอยู่ทั่วไป ในหลายๆ คดี กรณีการทำร้ายหรือว่าการลอบสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แล้วจะพบได้เลยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เคยประสบความสำเร็จและไม่เคยจับกุมผู้กระทำความผิดในกรณี ลอบสังหาร นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคดีนายสมชาย นีละไพจิตร คดีเจริญ วัดอักษร หรือคดีพระสุพจน์ สุวโจ ในขณะที่คดีพระสุพจน์ นั้นกลับไม่มีการออกหมายจับเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว และแน่นอนว่า ยิ่งนานวัน ยิ่งไม่เป็นข่าว ยิ่งเงียบหาย และหลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงคดีเล็กๆ คดีหนึ่งเท่านั้นเอง หากพระกิตติศักดิ์ กล่าวว่า นี่คือการใช้ความรุนแรงในรัฐไทย เมื่อกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือทำลายประชาชนเสียเอง “เรื่องพวกนี้ ถ้าเรามองว่าเป็นคดีเล็กๆ คดีเดี่ยวๆ มันจะมองไม่เป็นภาพรวม แต่แท้จริงแล้ว นี่คือการใช้ความรุนแรงของภาครัฐหรือไม่ เมื่อคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งต่อสู้เรื่องสิทธิ เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กลับถูกผู้ที่มีอิทธิพลกระทำ หรือทำให้เกิดการขัดผลประโยชน์กับฝ่ายรัฐ ฝ่ายทุน จนทำให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือของการกลั่นแกล้ง ในการกดดัน บีบคั้น การทำร้ายหรือฆ่าให้ตายกับผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งตรงนี้ถ้ามองในภาพรวมแล้วไม่ใช่เรื่องเล็ก” ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าว. ข้อมูลประกอบ: คอลัมน์: ชานชาลาประชาชน: คดีสังหารโหดพระสุพจน์กับความเป็นธรรมหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 6 ก.พ.2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เจ้าของผลงาน ‘เขตปกครองชายแดนใต้’ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่น ม.สงขลานครินทร์ Posted: 29 Jun 2011 08:18 AM PDT ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เจ้าของผลงาน ‘เขตปกครองชายแดนใต้’ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่น ม.สงขลานครินทร์ เผยนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ได้รางวัลน้อยแค่ 5% เมื่อเวลา 8.30 วันที่ 28 มิถุนายน 2554 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัตริครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดงานวันนักวิจัและนวตกรรม ม.อ. ครั้งที่ 5 มีรศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน มีผู้ได้รับรางวัลในฐานะนักวิจัยดีเด่นด้านต่างๆ จำนวนมาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยที่ผลงานวิจัยเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชนในระดับชาติ ปี 2553 เปิดเผยว่า ตนได้รับรางวัลดังกล่าวจากการทำวิจัยการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นรายงานโครงการวิจัยการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ งานวิจัยชิ้นนี้แล้วเสร็จเมื่อปี 2551 ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ และเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์มติชน ไทยรัฐ เป็นต้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคของงานวิจัยชิ้นนี้ อยู่ตรงที่ในช่วงแรกไม่ได้รับความยอมรับจากประชาชนมากนัก และถูกวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปงานถูกพัฒนากลายเป็นประเด็นในเชิงนโยบายที่ใครต่อใครก็พูดถึง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองและสื่อมวลชน แสดงให้เห็นถึงการยอมรับรูปแบบการปกครองพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น “เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้นักวิจัยที่ได้รางวัล เป็นนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์น้อยมาก ประมาณ 5% ของนักวิจัยที่ได้รับรางวัลทั้งหมด แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ให้ความสนใจงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์อยู่” ผศ.ศรีสมภพ กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สงขลายันงดแจกส.ป.ก. 4-01 เกรงจ่ายชดเชยยากพื้นที่สร้างด่านใหม่ Posted: 29 Jun 2011 08:08 AM PDT สงขลามีมติชะลอแจกใบส.ป.ก. 4-01 ให้ชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างด่านใหม่สะเดา เกรงจ่ายชดเชยยาก หารือส.ป.ก.ส่วนกลาง เปิดทางกรมศุลกากรเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้าง นางชุลีกร ดิษโสภา ชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายชุมชนชาวสวนยางด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตนได้รับหนังสือจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก.)จังหวัดสงขลา แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการดำเนินการตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง(คปสม.) ของจังหวัดสงขลา ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ว่า คณะกรรมการมีมติให้ ส.ป.ก.สงขลาชะลอการออกเอกสาร ส.ป.ก.4 – 01 ให้ชาวบ้านหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา บริเวณที่จะมีการก่อสร้างด่านศุลกากรก่อนแห่งใหม่ไว้ก่อน หนังสือดังกล่าวระบุเหตุผลว่า แม้มติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง(คปสม.) ที่ให้ออกเอกสาร ส.ป.ก.4 – 01 ให้ชาวบ้านดังกล่าว ไม่ขัดมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 ธันวาคม 2545 ที่ให้เร่งรัดการจัดทำแผนงานปรับปรุงและพัฒนาด่านชายแดนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หากมอบเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ไปแล้ว จะทำให้การเจรจาจ่ายค่าชดเชยยากยิ่งขึ้น หนังสือดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า คณะกรรมการของจังหวัดสงขลายังได้มอบหมายให้ ส.ป.ก.สงขลา หารือกับ ส.ป.ก.ส่วนกลาง 2 ประเด็น ประกอบด้วย มติของ คปสม. ขัดกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ที่ให้เร่งรัดจ่ายเงินชดเชยหรือช่วยเหลือสิ่งปลูกสร้าง ผลอาสินและซื้อที่ดินสำหรับก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่หรือไม่ หนังสือดังกล่าว ระบุต่อไปว่า ส่วนประเด็นที่ 2 คือ กรณีผู้ได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.บริเวณที่กรมศุลกากรจะก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ ไม่ยอมเข้าร่วมเจรจาจ่ายค่าชดเชยกับกรมศุลกากร ซึ่งต้องจ่ายชดเชยตามเงื่อนไขของส.ป.ก.นั้น จะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กรมศุลกากรเข้าใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างด่านตามแผนได้ หนังสือดังกล่าว ลงนามโดยนายกำพล ภาคสุข ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสงขลา สำหรับพื้นที่ก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ดังกล่าว มีเนื้อที่ 720 ไร่ มีชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในที่ดินจำนวน 41 ราย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 29 Jun 2011 07:49 AM PDT ดีแต่พูด ดีแต่พูด ดีแต่พูด ดีแต่พูดพูดไปสองไพเบี้ย ดีแต่พูด ดีแต่แหล ดีแต่ด่า ดีแต่พูดหยุดเถอะเลอะเทอะแล้ว ดีแต่พูด ดีแต่พูด ดีแต่พูด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
"สยามสามัคคี" ชี้ขึ้นป้ายเพราะต้องการปกป้องสถาบัน ไม่ได้เจาะยางเพื่อไทย Posted: 29 Jun 2011 04:43 AM PDT กลุ่มสยามสามัคคีระบุขึ้นป้ายไม่เลือกคนเผาเมืองไม่ได้กล่าวหาใคร เพียงแต่บอกว่าอย่าเลือกพวกเผาบ้านเผาเมืองและพวกแค้นเคืองสถาบัน เพราะจะกระทบกระเทือนการปกครองของประเทศ ด้านเพื่อไทย มอบทีม กม.รวบรวมหลักฐาน เล็งเอาผิด ที่มาภาพ: คุณดาบมะเขือเทศ เว็บบอร์ด Internet Freedom 29 มิ.ย. 54 - นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เตรียมแจ้งความดำเนินคดีกลุ่มสยามสามัคคี กรณีขึ้นป้าย "ไม่เลือกคนเผาบ้านเผาเมือง ไม่เลือกพวกแค้นเคืองสถาบัน" ว่า ยอมรับเป็นผู้ขึ้นป้ายดังกล่าวเพราะเป็นห่วงประเทศ ส่วนใครที่ไม่ใช่คนเผาบ้านเผาเมือง หรือไม่ใช่พวกแค้นเคืองสถาบัน ก็ไม่ควรร้อนตัว เนื่องจากบนป้ายไม่ได้ระบุถึงพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ต้องการบอกว่า การเลือกตั้ง 3 ก.ค.ต้องไม่เลือกคนที่ไม่ดี ต้องไม่ให้คนไม่ดีมาปกครองบ้านเมือง ในที่นี้คนไม่ดีคือคนเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เผาสยามสแควร์ เผาเซ็นเตอร์วัน เผาบิ๊กซี เผาศาลากลางจังหวัด ซึ่งขณะนี้ต่างกล่าวหากันไปมา แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนพวกนี้ อย่ากินปูนร้อนท้อง เพราะชาวบ้านจะเข้าใจผิด "กลุ่มสยามสามัคคี มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ ปกป้องสถาบัน ที่พวกเราออกมาก็เพื่อปกป้องสถาบัน เราคิดว่าการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งใช้ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย เราจึงเลือกทางนี้ และเราก็บอกต่อว่า พวกไหนที่แค้นเคืองสถาบันอย่าเลือกเข้ามาให้กระทบกระเทือนการปกครองของประเทศ"นายสมชายกล่าว นายสมชาย กล่าวว่า กลุ่มสยามสามัคคี ดำเนินการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 28 สิทธิเสรีภาพที่ไม่ละเมิดบุคคลอื่นและไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และตามหมวดที่ 4 หน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 70 หน้าที่พิทักษณ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมาตรา 71 หน้าที่การป้องกันประเทศ นายสมชาย กล่าวยืนยันว่า กลุ่มสยามสามัคคี ยืนยันเป็นเจ้าของป้าย แต่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง หรือไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการแจกซีดีใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อไทย มอบทีม กม.รวบรวมหลักฐาน เล็งเอาผิด สยามสามัคคี ขึ้นป้ายโจมตี ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน (29 มิ.ย.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มสยามสามัคคี ขึ้นป้ายขนาดใหญ่ไม่ให้ประชาชนเลือกพวกเผาบ้านเผาเมือง และพวกล้มล้างสถาบันว่า การขึ้นป้ายโจมตีพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งในช่วงใกล้การเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่หวังผลทางการเมืองส่งผลให้ตัดคะแนนเสียงของพรรคการเมืองใดการเมืองได้ ทั้งนี้ กลุ่มสยามสามัคคีน่าจะมีบิ๊กนักการเมืองอยู่เบื้องหลังซึ่งสอดคล้องกับการแจกซีดีโจมตีพรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้ ดังนั้นเชื่อว่า น่าจะเป็นกระบวนการกลุ่มเดียวกัน นายพร้อมพงศ์ ได้กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กำลังรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อหาช่องเอาผิด ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองจะต้องเร่งดำเนินการ พร้อมทั้งวิงวอนขอให้กลุ่มคนที่ใช้วิชามาร ทำให้ประชาชนแตกแยกและไม่สร้างสรรค์ หยุดพูดในวังวนข้อกล่าหาเดิมๆ ที่ไม่มีมูลความจริงแล้วหันมาพูดแบบสร้างสรรค์ดีกว่า อนึ่งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมาที่ที่โรงแรมสยามซิตีกลุ่มสยามสามัคคี นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายสมชาย แสวงการ, พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์, พล.อ.ภาษิต สนธิขันธ์, พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์, นายประสาร มฤคพิทักษ์, นายวรินทร์ เทียมจรัส, นายสันติสุข โสภณสิริ, นายชัยวัฒน์ สุรชัย ร่วมกันออกแถลงการณ์ "3 หายนภัย3 ข้อเรียกร้อง" พร้อมกับแจกใบปลิวและสติกเกอร์ มีสโลแกนว่า "3 กรกฎา ไปเลือกตั้ง ไม่ให้คนเลวปกครองบ้านเมือง ไม่เลือก...คน...เผาบ้านเผาเมือง ไม่เลือกพวก...แค้นเคืองสถาบัน" พล.อ.สมเจตน์ อดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อ่านแถลงการณ์ว่า การเลือกตั้งที่มาถึงในวันที่ 3 ก.ค.นี้ หากประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เหตุการณ์ก็จะเลวร้ายอีกครั้ง โดยได้ยกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในตอนหนึ่งว่า "ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบ ร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีไปปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" แกนนำกลุ่มสยามสามัคคีแถลงการณ์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุ่มเสี่ยงซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2552-2553 จนยากที่จะประสานรอยร้าว หากประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย จะเกิดหายนภัย 3 ด้าน คือ 1.หายนภัยอันเนื่องมาจากการคุกคาม สถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้ไม่เพียงแต่มีการวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลที่บิดเบือนความจริงเท่านั้น ได้มีการจัดตั้งกันเป็นกระบวนการ ใช้สื่อทุกรูปแบบ โดยมีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งมีการแสดงออกอย่างเปิดเผยในหลายโอกาส พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกล่าวย้ำมาตลอดว่ามีความจงรักภักดี แต่ก็เอ่ยคำหมิ่นเหม่อย่างยิ่งต่อสถาบัน 2.หายนภัยจากการนิรโทษกรรม พ.ต.ท. ทักษิณ นักโทษคดีอาญา ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ หนีคดีก่อการร้าย และรอถูกฟ้องอีกหลายคดี หากจะอาศัยคะแนนเสียงเลือกตั้งมาลบล้างความผิดให้กับคนคนเดียว แปลว่าคำพิพากษาภายใต้พระปรมาภิไธยถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง แล้วจะมีอะไรหลงเหลืออยู่ให้เป็นหลักยุติธรรม 3.หายนภัยจากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในเหตุการณ์ระยะใกล้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำภาพได้หรือไม่ ภาพอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ อาคารใกล้เคียงอื่นๆ ภาพศาลากลางที่ถูกเผาพินาศลง ใครพาพวกบุกล้มการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา ใครพาพวกถือไม้บุกโรงพยาบาลจุฬาฯ จนสมเด็จพระสังฆราชฯ ไม่อาจประทับอยู่ที่นั่นได้ พล.อ.สมเจตน์กล่าวอีกว่า กลุ่มสยามสามัคคีขอเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ไม่ว่าพรรค การเมืองใดขึ้นมาบริหารประเทศ ต้องให้ความมั่นใจ กับประชาชนว่า จะรักษาและดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.อำนาจตุลาการซึ่งแยกเป็นอิสระจากอำนาจบริหาร จะต้องไม่ถูกแทรกแซงหรือลบล้างเพียงเพื่อนิรโทษกรรมแก้ไขความผิดให้กับคนเพียงคนเดียว 3.วันเลือกตั้ง 3 ก.ค.นี้ เป็นการกำหนดชะตากรรมของประเทศชาติครั้งสำคัญ ประ เทศไทยจะดำรงนิติรัฐ หรือจะเป็นรัฐล้มเหลว จะปรองดองหรือแตกแยก จะมั่นคงหรือสั่นคลอน จะสันติหรือรุนแรง ขึ้นอยู่กับการลงคะแนนเสียงของประชาชนทุกคน "อยากให้ประชาชนได้เลือกคนดี และมองว่าคนไม่ดีในสายตาเราคือคนเผาบ้านเผาเมือง พวกที่จาบจ้วงสถาบัน เราคิดว่าบุคคลต่างๆ เหล่านี้ไม่สมควรที่จะเป็นคนไทย เราไม่เชื่อมั่นว่าใครก็แล้วแต่ที่เผาบ้านเผาเมืองจะมา สร้างบ้านสร้างเมืองได้ เราจึงได้รณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด" พล.อ.สมเจตน์กล่าว ด้านนายสมชายกล่าวว่า วันนี้เราทำในนามของประชาชน ที่เรารวมตัวกันในกลุ่มไม่เกี่ยวข้องกับพรรคใดพรรคหนึ่ง นายประสารกล่าวว่า ไม่ว่าพรรคไหน ได้รับชัยชนะ เราก็เคารพเสียงของประชาชน แต่เราขอเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ให้มากๆ เพื่อจะทำให้เสียงของประชา ชนมีความชอบธรรมอย่างแท้จริง ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลง การณ์ตอบโต้ทันที โดยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า มีการโจมตีใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นขบวนการ พร้อมปฏิเสธและตำหนินายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่กล่าวหาพรรคเพื่อไทยในสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเมื่อช่วงเช้าระบุว่าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ และนิรโทษกรรมเพื่อคืนเงินให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะพรรคไม่เคยมีนโยบายดังกล่าว นายยงยุทธระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ไม่สมควรนำมากล่าว อ้างเพื่อประโยชน์ทางการเมือง กา รที่นายอาทิตย์พูดจาใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ให้กับบางพรรคที่ไม่อาจต่อสู้ในเชิงนโยบายกับพรรคเพื่อไทยได้ สอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสยามสามัคคี ซึ่งมีอดีตแกนนำ คมช.บางคนเป็นหัวหน้าขบวนการ ขอให้ประชาชนพิจารณาว่ามีเจตนาเพื่อต้องการให้ประเทศกลับไปสู่ระบอบเผด็จการรัฐประหารอีกหรือไม่ และพรรคขอสงวนสิทธิ์ในการปกป้องตนเองที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค. ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: โพสต์ทูเดย์, แนวหน้า, ไทยโพสต์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ครป. แถลง การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกบิดเบือน-ประชาชนไม่เข้าใจประชาธิปไตย Posted: 29 Jun 2011 03:17 AM PDT คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยชี้ ความหมายการเลือกตั้งในครั้งนี้ “สาระ” ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงถูก "บิดเบือน" จนไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจรูปแบบการปกครองที่เป็น "ประชาธิปไตยที่แท้จริง" 29 มิ.ย. 54 – คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์ “ความเห็นและข้อเสนอต่อสถานการณ์การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ตำรวจพม่าจับ 2 หนุ่มคะฉิ่นสอบสวน อ้างเชื่อมโยงเหตุระเบิด Posted: 29 Jun 2011 02:57 AM PDT มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าได้บุกจับกุมชายชาวคะฉิ่น 2 คน ที่บ้านพักหลังหนึ่งในเมืองมหาอ่องเม จังหวัดมัณฑะเลย ์เมื่อวานนี้ (28 มิถุนายน) เนื่องจากเชื่อว่า ชายทั้งสองคนอาจเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในมัณฑะเลย์เมื่อวันศุกร์ (24 มิถุนายน) ที่ผ่านมา เหตุจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้น หลังเจ้าหน้าที่พบโทรศัพท์มือถือตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ขณะที่ทราบภายหลังว่า ชายคะฉิ่นทั้งสองคนเป็นแขกที่มาพักยังบ้านพักหลังหนึ่งในเมืองมหาอ่องเม โดยขณะนี้ทั้งสองกำลังถูกสอบสวนและถูกควบคุมตัวอยู่ในมัณฑะเลย์ มีรายงานด้วยว่า ครอบครัวซึ่งให้ที่พักแก่ชายทั้งสองก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไว้เช่นกัน แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อเย็นวานนี้ ในอีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่าได้ออกมารายงานเช่นกันว่า ทางการได้จับกุมชายไทใหญ่ 3 คน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางระเบิดทั้งในเมืองมัณฑะเลย์และในเมืองเหม่เมี้ยว อย่างไรก็ตาม เหตุระเบิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 คน แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ขณะที่ในวันนี้ สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในเมืองตองอู ภาคพะโค และในรัฐมอญ แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
การร่วมจ่าย ในระบบหลักประกันสุขภาพ คุณค่าที่มากกว่าตัวเงิน Posted: 29 Jun 2011 02:37 AM PDT 30 บาท ไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค ในช่วงเริ่มต้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยปี 2544 นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่อยู่แถวหน้าของทั้งผลงานและความพึงพอใจของประชาชน แต่ก็มีเสียงเย้ยหยันอยู่เนืองๆจากผู้ที่ไม่นิยม ไม่พอใจหรือต่อต้านว่า 30 บาทตายทุกโรค จนเมื่อถึงยุครัฐบาลหลัง คมช.ปี 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นก็ประกาศยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาทที่เคยมีการเก็บจากผู้ป่วยบางกลุ่มเมื่อมีการไปรับบริการที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้มีใครต้องร่วมจ่าย 30 อีกเลย หากเราย้อนมองอดีต มีความจริงสำคัญหลายประการ ประการที่สำคัญอย่างแรกคือ 30 บาท ไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค เช่นเดียวกับที่เราควรตระหนัก ว่าท้ายที่สุด ทุกคน ไม่ว่าเขาจะใช้ระบบหลักประกันสุขภาพใด จะยากจน จะมีเงินล้นฟ้า ก็ลงเอยด้วยความตายทุกคน ความจริงอีกประการหนึ่งคือ ในระบบหลักประกันสุขภาพยุค 30 บาทรักษาทุกโรค ก็มีคนอยู่จำนวนกว่าครึ่งของระบบที่ไม่ต้องจ่าย 30 บาท ซึ่งได้แก่ เด็ก ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เขาไม่ต้องจ่ายมาตั้งแต่แรกเริ่มของระบบ 30 บาทจรรโลงโลกและระบบ ความจริงที่สำคัญอีกประการคือเงิน 30 บาทต่อครั้งสำหรับผู้ที่ต้องร่วมจ่ายเป็นรายได้ที่แม้จะจำนวนไม่มากแต่มีความสำคัญต่อสถานพยาบาลทั้งเล็กและใหญ่ เงินที่ได้รับถูกใช้เป็นค่าตอบแทนบุคลากร ค่าวัสดุการแพทย์ ค่าเวชภัณฑ์ การซ่อมบำรุงหรือแม้แต่จัดหาครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างใหม่ ซึ่งจะเป็นคุณูปการทั้งต่อผู้ป่วยที่ร่วมจ่ายเงินและไม่ต้องจ่ายเงิน เงินไม่มากแต่ก็เป็นเงินไม่น้อยเช่น สถานีอนามัยมีผู้ป่วย 20 คนต่อวัน หนึ่งปีประมาณว่ามีผู้ป่วยทั้งสิ้น 4000คนถ้าต้องร่วมจ่าย 2000 คน เขาจะได้รับเงินเพิ่ม 60,000 บาท โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีผู้ป่วยวันละ 2,000 คน ประมาณว่าทั้งปีมีผู้ป่วย 400,000 คน มีคนที่ต้องร่วมจ่าย 200,000 คน โรงพยาบาลก็จะมีเม็ดเงินเพิ่ม 6,000,000 บาท เม็ดเงินจึงไม่ได้น้อยในมุมของผู้ต้องปฏิบัติงานให้บริการผู้ป่วย แม้ว่าเงินจะหายจากระบบไปไม่กี่พันล้านซึ่งเล็กน้อย ในมุมมองของผู้ดูแลกองทุนแสนล้าน แต่สิ่งที่เป็นผลแทรกซ้อนจากการยกเลิกการร่วมจ่ายดังกล่าว กลับมากกว่า คือการที่มีการเพิ่มขึ้นของการเข้ารับบริการที่ไม่เหมาะสม ไม่จำเป็น เพิ่มขึ้นอย่างน่าตระหนก นำไปสู่ภาระงานที่มากล้นของแพทย์ พยาบาลและบุคลากรที่แบกภาระงานอันหนักนี้มาแล้วอย่างต่อเนื่อง ภาระงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไปสู่ผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลและเอาใจใส่ ที่จะถูกเจียดเวลาอันมีค่าและจำเป็นของแพทย์ พยาบาล ในการดูแลพวกเขา ไปรับภาระงานที่มากขึ้นโดยปริยาย การไม่ต้องร่วมจ่าย 30 บาท ในชิงระบบ จึงเหมือนกับการ เดินถอยไปข้างหน้า ของระบบหลักประกันสุขภาพไทย เดินเหมือนไม่รู้ทางอย่างรวดเร็ว จากถนนกรวดของระบบสาธารณสุข ลงไปสู่ขอบทางชันและไถลไปตามขอบคูคลองของถนนอย่างว่องไวในช่วงแรก และกำลังจะผจญกับโคลนตมหากไม่สามารถกลับสู่เส้นทางเดิมได้ ความหวือหวา ฮือฮาของนโยบายเพื่อจะลบคำ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยการไม่ต้องมีการร่วมจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ก่อให้เกิดคุณูปการที่สำคัญให้กับระบบคือ บทเรียน การร่วมจ่าย ช่วยธำรงระบบบริการสุขภาพ การไม่ปล่อยให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดเป็นของรัฐ ซึ่งรัฐก็ได้เงินที่มาจากภาษีของประชาชน มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ด้วยการสร้างระบบการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่มีการดำเนินการอย่างกว้างขวางแม้แต่ในประเทศที่มีฐานะทางการเงินการคลังเข้มแข็ง เช่นบางประเทศมีการร่วมจ่ายตามรายการยา ร่วมจ่ายกรณีใช้ยานอกสิทธิที่กำหนด ร่วมจ่ายกรณีใช้บริการพิเศษที่อยู่นอกสิทธิ ร่วมจ่ายในกรณีที่ไปรับบริการในสถานพยาบาลในระดับที่แตกต่างกัน โดยประเทศส่วนใหญ่ ก็ยกเว้นการร่วมจ่ายไว้สำหรับผู้ยากไร้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางโรคหรือผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล ทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วจึงยังมีระบบร่วมจ่าย เหตุที่ประเทศต่างๆมีระบบร่วมจ่าย เพราะเขาต่างก็มีประสบการณ์ว่า การมีบริการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จะทำให้เกิดการเข้ารับบริการที่ไม่เหมาะสมหรือเกินจำเป็นตามมาในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม เมื่อมีการใช้บริการมากขึ้น ย่อมต้องมีการดึงทรัพยากรต่างๆมาใช้มากขึ้น ในเมื่อของฟรีไม่มีในโลก ต้นทุนที่เกิดขึ้นย่อมต้องมีผู้จ่าย ไม่ว่ารัฐหรือสังคม ในกรณีของบริการสุขภาพ บริการที่ไม่เหมาะสม ก่อนที่รัฐจะเป็นผู้ที่ต้องจ่ายเพิ่มหรือหาทรัพยากรมาเพิ่ม ผู้ป่วยหนักหรือผู้มีความจำเป็นด้านสุขภาพคือผู้ได้รับผลกระทบที่สำคัญเป็นอันดับแรก เนื่องจากทรัพยากรที่จำเป็นส่วนหนึ่งจะต้องถูกนำไปใช้ ในประเทศที่รายรับของรัฐจากภาษีมีจำกัด การร่วมจ่ายนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการใช้บริการเกินจำเป็น ยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มงบประมาณทางด้านสุขภาพ รวมทั้งสามารถลดภาระทางภาษีของประชาชนโดยรวม สำหรับประเทศที่มีฐานะร่ำรวย มีงบประมาณเพียงพอ การร่วมจ่ายก็นำมาเป็นกลไกในการควบคุมการใช้บริการสุขภาพที่เกินจำเป็น บริการสุขภาพที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนในเรื่องประสิทธิผลและความคุ้มทุนของการรักษาพยาบาล ดังนั้นการกำหนดการร่วมจ่ายที่เหมาะสม ยังนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคในเชิงระบบ การจ่ายเพิ่มจึงเป็นความจำเป็นสำหรับบริการเสริมหรือบริการที่เกินสิทธิประโยชน์ที่รัฐได้กำหนด เพื่อรัฐจะได้ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด จัดบริการตามสิทธิทีกำหนดให้ได้ครอบคลุมและได้มาตรฐานตามที่วางไว้แก่คนทั้งมวล ด้วยเหตุนี้การกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ และการกำหนดรายการร่วมจ่ายให้สอดคล้องกับการพัฒนาไปของระบบบริการสุขภาพ ย่อมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ระบบสามารถธำรงอยู่และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับการร่วมจ่าย การกำหนดให้มีการร่วมจ่ายสามสิบบาทเมื่อเข้ารับการรักษาโรค ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ในยุคแรกของระบบหลักประกันสุขภาพ ได้ถูกยกเลิกไปเมือปี 2550 และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดการร่วมจ่ายในลักษณะนี้อีก ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดมาตรการร่วมจ่ายไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยได้กำหนดให้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ จวบจนปัจจุบัน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการกำหนดให้บุคคลต้องร่วมจ่ายอยู่หลายกรณี เช่น กรณีการฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวาย การเข้ารับบริการในกรณีอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน ในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการร่วมจ่ายรูปแบบหนึ่ง แต่การกำหนดอัตราร่วมจ่ายในลักษณะเพื่อธำรงระบบ ในด้านการใช้บริการที่เหมาะสมและการเพิ่มรายรับแก่สถานพยาบาลอย่างจริงจัง ยังไม่เกิดขึ้นใหม่ ผลก็คือยังมีข้อจำกัดและข้อโต้แย้งในเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการส่วนที่เกินสิทธิหรือการชะลอการจัดบริการ ถึงแม้จะอยู่ในสิทธิ แต่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่าย ทำให้มีการส่งผู้ป่วยไปรักษาในสานพยาบาลอื่นและมีปัญหาการตามจ่ายค่าบริการ โดยเฉพาะกรณีที่ค่าบริการดังกล่าวมีราคาที่สูง จนมีผลกระทบทางการเงินและภาระทั้งต่อหน่วยบริการที่ประชาชนลงทะเบียนไว้และสถานพยาบาลที่ให้การรักษา การนำเรื่องการร่วมจ่ายมาพิจารณาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบบริการสุขภาพ จึงเป็นกุญแจสำคัญซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถืออยู่ และสามารถไขเพื่อเปิดประตูของการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ ให้สอดคล้องกับภาวการณ์ทางการเงินการคลังและความก้าวหน้าของระบบการแพทย์การสาธารณสุขไทย พัฒนาการร่วมจ่ายเพื่อความเป็นธรรม แม้ว่ามีการยกเลิกการเก็บ 30 บาทตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไปแล้ว แต่ก็ยังมีการร่วมจ่ายในกลุ่มย่อยบางกลุ่มที่กล่าวมา แต่ในภาพรวมหลายคนอาจเข้าใจว่าไม่มีการร่วมจ่ายใดๆอีกแล้วในระบบหลักประกันสุขภาพ สาเหตุที่พัฒนาการเรื่องการร่วมจ่ายในภาพรวมเกิดชะงักงัน อาจสืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2546 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นของการร่วมจ่าย คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบโจทย์ดังกล่าว และมีผู้นำไปอ้างถึงว่าเป็นสาเหตุที่ไม่สามรถจะกำหนดให้มีการร่วมจ่ายได้ แต่เมื่อได้ลองทบทวนและพิจารณาคำตอบตามเรื่องเสร็จที่ 483/2546 กลับได้ความว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้อธิบายเรื่องดังกล่าวและชี้แนะไว้อย่างชัดเจน
ในคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การกำหนดอัตราร่วมจ่ายต้องไม่กำหนดตามฐานะทางเศรษฐกิจ และแนะนำว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรจะกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขที่บุคคลทั่วไปมีสิทธิได้รับ เพื่อที่จะสามารถกำหนดให้ส่วนที่อยู่นอกเหนือประเภทและขอบเขตของการบริการที่เป็นสิทธิ ก็เป็นส่วนที่สามารถพิจารณาให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วมจ่ายได้ การร่วมจ่ายกฎหมายให้กระทำได้ ทำอย่างไรให้เหมาะสมและเป็นจริง 1. ประเด็นแรกที่เป็นจุดเริ่มคือการกำหนดบุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่าย กฎหมายปกป้อง ผู้ยากไร้และบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ดังนั้นการกำหนดอัตราร่วมจ่าย ผู้ยากไร้และบุคคลที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดก็จะไม่ต้องจ่าย แต่ใครคือบุคคลอื่นในระบบการร่วมจ่าย ปัจจุบันบุคคลอื่นคือบุคคลในระบบหลักประกันสุขภาพทุกคนเมื่อรัฐมนตรีประกาศยกเลิกการเก็บ 30 บาท ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเสนอรัฐมนตรีให้ประกาศกำหนดให้ ชัดเจนว่าบุคคลใดที่จะไม่ต้องจ่ายหรือร่วมจ่ายเช่นเดียวกับผู้ยากไร้ เช่น เด็ก คนชรา ผู้พิการ หรืออาสาสมัครสาธารณสุข 2. การร่วมจ่ายสำหรับบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้หรือบุคคลที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอาจทำได้หลายรูปแบบ แต่คณะกรรมการต้องไม่กำหนดให้มีการร่วมจ่ายแตกต่างกันตามฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะกำหนดในรูปแบบดังนี้ 2.1 การร่วมจ่าย 30 บาท ดังที่เคยมีการดำเนินการในยุคแรก 2.2 หรือจะกำหนดการร่วมจ่าย เฉพาะกรณีที่ไปหน่วยบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามบัตร และหากเป็นการส่งต่อ จากหน่วยบริการตามบัตรหรือเครือข่ายของหน่วยบริการตามบัตร หน่วยบริการดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่กำหนดนี้ อัตราการร่วมจ่าย เช่น 30 บาทที่สถานีอนามัยหรือหน่วยบริการปฐมภูมิ 50 บาทที่โรงพยาบาลชุมชน 100 บาทที่โรงพยาบาลศูนย์และทั่วไป 150 บาทที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย มาตรการนี้นอกจากจะสนับสนุนให้ประชาชนไปรักษาพยาบาลเบื้องต้น ที่หน่วยบริการตามบัตรเพราะจะไม่ต้องร่วมจ่ายตามอัตราดังกล่าว ยังจะเป็นส่วนหนุนเสริมให้โรงพยาบาลใหญ่แยกการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิจากการเป็นโรงพยาบาลรับการส่งต่อ และหากมีการส่งต่อจากหน่วยบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามบัตร ก็เป็นหน้าที่ของประชาชนต้องร่วมจ่ายเนื่องจากเป็นการเลือกไปรับบริการที่ไม่ตรงกับขั้นตอนการรับบริการ แต่ก็เป็นทางเลือกที่เขาต้องการ 2.3 การร่วมจ่ายกรณีของบริการ ที่อยู่นอกขอบเขต ของบริการสาธารณสุขที่บุคคลทั่วไปมีสิทธิ ส่วนที่สำคัญของการกำหนดการร่วมจ่ายกรณีนี้ คือการที่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณา กำหนดขอบเขตของการให้บริการสาธารณสุข ที่บุคคลทั่วไปมีสิทธิได้รับ อย่างรอบคอบ และให้มีความชัดเจน โดยระบบยังปกป้องค่าใช้จ่ายส่วนที่อยู่ในสิทธิให้เขา ส่วนที่อยู่นอกสิทธิก็เป็นบทบาทของแต่ละหน่วยบริการจะกำหนดอัตราร่วมจ่ายในส่วนที่เกินสิทธิแก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอกัน อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบการร่วมจ่ายยังคงต้องการการพัฒนา ต้องการการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งกลไกการรับฟังความเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพ ก็ได้มีการกำหนดไว้แล้ว เรื่องของการร่วมจ่ายซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการมีส่วนได้เสีย จึงเป็นทั้งเรื่องที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพจะได้แสวงหาองค์ความรู้และวิชาการจัดทำข้อเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งยังเป็นจุดร่วมที่จะนำคณะกรรมการเข้าสู่กระบวนการรับฟังอย่างจริงจัง โดยมีเรื่องการร่วมจ่ายเป็นประเด็นสำคัญ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
จับแกนนำเกษตรกร-แจ้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูง-หลอกลวงประชาชน Posted: 29 Jun 2011 01:58 AM PDT พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ จ.แพร่ นำตำรวจรวบแกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ ระหว่างรวมกลุ่มประชุมหน้าศาลากลาง ข้อหาหมิ่นสถาบัน หลอกลวงประชาชน หลังระดมชาวบ้านจ่ายเงินสมัครเป็นสมาชิกคนละ 300 บาท เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเครือข่ายสถาบันเกษตรกรจังหวัดแพร่ นำโดย นายเอกพงษ์ ผดุงวงศ์ แกนนำกลุ่ม พร้อมด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ได้จัดประชุมที่หน้าศาลากลาง เพื่อจัดคิวการเข้าร่วมโครงการของสมาชิก และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการระหว่างองค์กรกับภาครัฐ คือ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในการที่จังหวัดแพร่ได้ออกหนังสือเวียนเตือนชาวบ้านไปทั่ว ว่า เครือข่ายสถาบันเกษตรกร เป็นองค์กรต้มตุ๋นหลอกลวง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 29 Jun 2011 12:16 AM PDT | |
3 กรกฏา "ไม่เลือกคนดีเข้าสภา!!" Posted: 28 Jun 2011 10:17 PM PDT การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ถือว่าเป็นครั้งที่มีประชาชนตื่นตัวมากที่สุด สามารถวัดได้จากจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่มากเป็นประวัติการณ์ เพราะครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เมื่อคิดถึงการเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผมมีโอกาสไปใช้สิทธิ เรามักจะเจอกับวาทกรรมที่ค่อนข้างฟังดูดี แต่ก็แฝงไปด้วยอคติค่อนข้างมากนั่นก็คือ "เลือกคนดีเข้าสภา" เพราะเหตุใดจึงพูดแบบนั้น “การเลือกคนดีเข้าสภา"นั้น ฟังเผินๆ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักของ "อภิปรัชญา" (metaphysics) ที่ยิ่งพูดอีกก็ถูกอีก และสำหรับคนที่เชื่อว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวก็ไม่สามารถถกเถียงได้ เพียงแต่ลองมานั่งคิดให้ลึกกว่านั้นไหมว่า อะไรคือ "คนดี" ตามที่เขานิยามกัน ? และคนดีนั้นเป็นคนดีของใคร? ดังนั้นในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้เราจึงได้เห็นผู้ที่มีอำนาจในประเทศแห่งนี้ เข้ามาพูดทำนองว่า เราควรจะเลือกคนดี เลือกคนที่ทำให้บ้านเมืองไปต่อได้ แน่นอน! ฟังเผินๆ ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ถูกต้องอีกเช่นกัน แต่ถ้ามันไม่ประกอบกับบริบทใน "ตำแหน่ง หน้าที่ และอำนาจ" ที่คนเหล่านั้นดำรงอยู่ การพูดในลักษณะแบบนี้ย่อมบอกเป็นนัยๆ ว่าท่านเหล่านี้ต้องการให้เราสนับสนุนใครขึ้นมาปกครอง หรือถ้าแปลแบบตรงไปตรงมาก็คือ คนที่ขึ้นมาปกครองก็น่าจะเป็นคนที่เอื้อประโยชน์ให้ท่านๆ เหล่านี้ด้วย คนดีของคนบางกลุ่มอาจจะหมายถึงคนที่สามารถทำให้เขาสามารถปากท้องอิ่มได้ คนดีสำหรับบางกลุ่งอาจจะหมายถึงคนที่ดูน่าเชื่อถือ คนดีของท่านผู้มีอำนาจบางกลุ่มอาจจะหมายถึงคนที่จัดสรรงบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับท่านแบบสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือคนดีบางกลุ่มอาจจะหมายถึงคนที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีอำนาจและเกาะโครงสร้างเดิมๆ ในการแสวงหาสิทธิพิเศษเหนือประชาชน อย่าปฏิเสธกันว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของ "ผลประโยชน์" คำผสม ระหว่างคำว่า "ผล" และคำว่า "ประโยชน์"สองคำที่ฟังดูมีความหมายเชิงบวก แต่เมื่อพอมาอยู่รวมกันกลับทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกเชิงลบ จริงๆ แล้วผลประโยชน์ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ หากการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองและปฏิสัมพันธ์กันเชิงผลประโยชน์ แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่ารังเกียจอาจเป็นเพราะชุดความคิดที่หลายคนถูกฝังหัวมาว่า "นักการเมืองเลวเหมือนกันหมด เพราะมันคอร์รัปชั่น!!" ซึ่งอดแปลกใจและรู้สึกสงสารนักการเมืองที่มีสภาพไม่ต่างกับถังขยะที่ไว้รองรับอารมณ์ พอเกิดเรื่องราวอะไรก็มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้คอร์รัปชั่นเสียหมด หรืออย่างมากอาจจะพาดพิงไปยังข้าราชการประจำ แต่เราเคยลองตั้งคำถามกันไหมว่าจริงๆ คอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ณ จุดใดก่อน "คนให้" หรือ"คนรับ"? เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องไก่กับไข่ ประเทศไทยดำรงอยู่ได้ด้วยระบบอุปถัมภ์มาช้านาน เราอาจยกตัวอย่างบางกรณีให้เห็นภาพและลองตั้งคำถามเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นได้ง่ายขึ้น สมมติมีการตั้งด่านสกัดของตำรวจจราจรตามหน้าที่ ความรู้สึกแรกของพวกคนใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่คืออะไร? “แม่ง พวกหัวปิงปองทำมาหาแดกกันอีกแล้ว" แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าบางทีก็เป็นหน้าที่ของเขา การตั้งด่านสกัดจับ บางทีก็เป็นความผิดเช่น โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่ขาดเข็มขัด ขาดต่อทะเบียน แล้วเวลาเราโดนจับเรารู้สึกอย่างไร? หลายคนคิด “อะไรวะ แม่งหาเรื่องจับผิดไถตังค์กันชัดๆ" อ้าว! แทนที่เราจะหันมาต่อว่าตัวเองว่า "โอ๊ย!ฉันสะเพร่าจังเลยทำผิดกฎหมายจนได้" พอตำรวจจะเรียกเราปรับคำแรกที่เราจะพูดคืออะไร? หลายคนๆ พูดว่า "ขอโทษครับจ่า ช่วยๆ กันหน่อย" ซึ่งคำว่า "ช่วยๆ กันหน่อย"นี้หลายๆ ครั้งหมายถึงว่าผู้ที่ทำผิดก็กำลังเสนอ "ผลประโยชน์"ให้กับเจ้าหน้าที่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะตัดสินใจรับหรือไม่รับ (เวลาเขาไม่รับเราก็มักสบถกันว่า "เหี้ยแม่งหยิ่งว่ะ" แต่พอเขารับเราก็บอกว่า "ตำรวจแม่งก็เหมือนกันแดกกันหมด") และเวลาถูกจับได้ว่ารับส่วยส่วนใหญ่ก็โดนเฉพาะตัวเล็กตัวน้อย เพราะที่มันสูงกว่านั้น "ไม่สามารถตรวจสอบได้" นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ สำหรับการคอร์รัปชั่นที่เกิดในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งพวกม็อบหรือกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านคอร์รัปชั่น ผมว่าหลายๆ คนก็เคยฝากลูกเข้าโรงเรียน ติดสินบนเจ้าหน้าที่ แม้กระทั่งข้อครหา "ม็อบมีเส้น"ก็ไม่สามารถปัดพ้นกับระบบอุปถัมภ์อันเป็นต้นกำเนิดของการคอร์รัปชั่นได้ การมองโลกแบบคนนั้นดีไปหมด หรือคนนั้นเลวไปหมดนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลและไร้เดียงสาเกินไป ถึงแม้หลายคนที่ออกมาแอบอ้างในนามแห่งคุณธรรม แต่ทุกคนย่อมมีแผลกันทั้งนั้นเพียงแต่ใครจะปกปิดได้เนียนกว่ากัน ซึ่งการจะแก้ปัญหาตรงนี้ประกอบด้วย 2 สิ่งสำคัญ ก็คือ "อำนาจในการตรวจสอบ" หากคนมีคุณธรรมที่ไม่สามารถวิพากษ์หรือตรวจสอบได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหลังฉากที่สวยงามนั้นอาจจะมีความผุพังเน่าเฟะเต็มไปหมด และอีกข้อที่อยากให้ลองกลับไปตั้งคำถามกันเองว่า แท้จริงแล้วระบบอุปถัมภ์ที่ใหญ่ที่สุดในสังคมเริ่มที่ตรงไหน? และเราจะแก้ไข ปรับปรุงหรือถอดถอนโครงสร้างแบบนี้ได้อย่างไร? หรือว่าเราจะทนและรู้สึกเฉยๆกับระบบแบบนี้ รอวันที่จะยื่นขึ้นเป็นมรดกโลก (ไม่แน่ใจว่าUNESCO เขาจะยอมรับไหม?) อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าคนดีของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป สิ่งที่สำคัญของประชาชนคือเราต้องรู้สึกว่า คนที่เราเลือกคือคนที่เป็น "ตัวแทน"เพื่อไปปกป้องผลประโยชน์ของเราและของสังคม หน้าที่ของเราไม่ใช่เพียงแค่การไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่ต้องคอยตรวจสอบและร่วมปกป้องผลประโยชน์ด้วย เหมือนกับว่าเวลาเราเกิดมาไม่มีใครเป็นคนดีโดยกำเนิด แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการ "การขัดเกลาทางสังคม"(socialize)ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งการขัดเกลาของตัวแทนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนร่วมกันตรวจสอบการทำงานและเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตยจากประสบการณ์พร้อมไปด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น วันที่ 3กรกฏาคม 2554 เราอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แทนที่จะ "เลือกคนดีเข้าสภา" แต่อาจจะต้องเลือกคนที่เข้าไปพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของเราและสังคม อาจจะไม่ใช่คนที่ดี100%แต่เราสามารถตรวจสอบได้ ดีกว่าคนที่ดีมีบารมีอำนาจแต่ไม่สามารถตรวจสอบได้!!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ศาลยังไม่ให้ประกัน"คำพลอย นะมี"แพทย์ระบุอาการหนัก ผู้คุมยันต้องล่ามโซ่เหตุไม่อยากตกงาน Posted: 28 Jun 2011 10:16 PM PDT พ.อาคม อารยาวิชานนท์ ให้การต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี ชี้ นายคำพลอย นะมี อาการหนัก ลุ้นหากไม่มีโรคแทรกซ้อน3 – 6 เดือนจะฟื้น ตัวแทนกลุ่มช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังโวยเรือนจำกลางอุบลราชธานีกรณีล่ามโซ่คนไข้ในห้องซียู พร้อมระบุคำให้การหมอไม่สะท้อนอาการแท้จริงของคนไข้ ชี้ หากใส่ใจกว่านี้อาการจะไม่ทรุดอย่างที่เห็น ส่วนศาลนัดฟังคำวินิจฉัยประกันตัว 30 มิถุนายนนี้
เช้าวานนี้ (28 มิถุนายน 2554) ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี นายอาคม อารยาวิชานนท์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ถูกเบิกตัวเข้ารับการไต่สวนประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) นายคำพลอย นะมี ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงจังหวัดอุบลราชธานี อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นอัมพฤกษ์และกำลังรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลดังกล่าว แพทย์ระบุ"อัมพฤกษ์ อัมพาต" “โรคดังกล่าวมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น เลือดออกในสมองบริเวณส่วนที่ขาดเลือด มีความดันในสมองเพิ่มขึ้น หรือติดเชื้อแทรกซ้อน เหล่านี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคแทรกซ้อน อาจถึงขั้นตายเฉียบพลันได้” อย่างไรก็ตาม วันที่ 14 มิถุนายน 2554 หลังจากพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ 8 วัน แพทย์มีความเห็นให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ เนื่องจากอาการดีขึ้นมากแล้ว เพียงแต่ต้องระวังเรื่องความเครียด ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่และโรคเบาหวาน เพราะทั้งสี่ปัจจัยที่กล่าวมา จะทำให้เส้นโลหิตส่วนที่ขาดเลือดแตกได้ ทั้งนี้ หมอคิดว่าความดันของคนไข้อยู่ในระดับปกติ แต่ที่น่าห่วงคือ คนไข้สูบบุหรี่จัด ช่วงนั้น อาการของนายคำพลอยดีขึ้นอย่างมาก ช่วยเหลือตัวเองได้หรือสามารถเดินได้แล้ว หมอจึงให้กลับบ้านได้” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอาคมระบุวันที่นายคำพลอยถูกส่งเข้าโรงพยาบาลครั้งล่าสุดไม่ได้ แม้จะกางแฟ้มประวัติการรักษาอยู่ตรงหน้า แต่ระบุว่า นายคำพลอยเข้ามารักษาอีกด้วยอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยและอาเจียน น่าจะเกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อม สมองมีเลือดออกตรงที่เดิม ปฏิกิริยาตอบสนองไม่ดี ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตอนนี้อยู่ที่ห้องผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไอซียู “หากไม่มีโรคแทรกซ้อน คนไข้น่าจะดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ภายใน 3 - 6 เดือน” นายอาคมกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อาการของนายคำพลอย ยังทรงตัว ไม่สามารถพูดจาโต้ตอบกับใครได้ ต้องให้อาหารผ่านทางสายยาง ทีมแพทย์ผู้รักษาแจ้งว่า ช่วงนี้ให้ยาลดอาการบวมของสมอง ต้องรอดูอาการไปซักระยะหนึ่งก่อน คาดว่าวันที่ 2 ก.ค. นี้ จะเอกซเรย์อย่างละเอียดด้วยระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะผ่าตัดสมองหรือไม่ ในวันเดียวกันนี้ ตัวแทน “กลุ่มช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมือง: เสื้อแดง อุบลราชธานี” ได้เดินทางเข้าพบรองผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอความเมตตาเห็นใจ ให้นายณัฐพงษ์ อุปัญ ผู้คุมเรือนจำอนุโลมปลดโซ่ตรวนจากขาของนายคำพลอย นะมี เนื่องจากคนไข้อายุเกิน 60 ปี และมีอาการป่วยหนัก แต่ได้รับคำตอบว่า “ขนาดศาลยังไม่ให้ประกันเลย มันเป็นคดีร้ายแรง ผมไม่กล้าหรอก ถ้าถูกไล่ออกจากงาน ใครจะรับผิดชอบ” ชี้คำให้การหมอไม่สะท้อนข้อมูลผู้ป่วย “ที่ให้การว่า ความดันสูงเพราะคนไข้สูบบุหรีจัดนั้น แสดงว่าแพทย์ไม่ได้ใส่ใจคนไข้อย่างจริงจัง จึงไม่ทราบว่า นายคำพลอยไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ขณะที่ข้อมูลจากพยาบาลที่รักษาพบว่า คนไข้มีความดันอยู่ที่ระดับ 90/150 ซึ่งถือว่าสูงมาก “จากการเข้าเยี่ยมไข้เขาตลอดช่วงสัปดาห์ ดูเหมือนแพทย์จะไม่ให้ความใส่ใจคนไข้นัก ปล่อยให้นอนโอดครวญด้วยความเจ็บปวดนับสัปดาห์ เหมือนรอให้อาการทรุดลงไปก่อนแล้วค่อยกระตือรือร้น จนผู้ป่วยมีอาการสมองบวมและมีเลือดออกในสมองตอนนี้ หากเขาใส่ใจมากกว่านี้ อาการของนายคำพลอยจะไม่เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่นี้แน่นอน” ตัวแทนกลุ่มช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น