โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

โสภณ พรโชคชัย: เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง

Posted: 13 Jun 2011 01:31 PM PDT

                ในระบอบประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง คือเสียงสวรรค์ แต่พวกเผด็จการทรราชพยายามบิดเบือนสัจธรรมข้อนี้อยู่เสมอ เรามายืนยันความถูกต้องกันเถิด

                เสียงส่วนใหญ่คือสัจธรรม หรือสัจธรรมยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ย่อมไม่ผิดพลาด ย่อมถูกต้องเสมอ ในกรณีของผู้เขียนซึ่งประกอบอาชีพเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินนั้น วิธีการประเมินค่าทรัพย์สินสำคัญวิธีหนึ่งก็คือ การเปรียบเทียบตลาด (Market Comparison Approach) ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินต้องหาข้อมูลให้เพียงพอ ซึ่งเมื่อหาพบแล้ว เราก็จะทราบได้ว่าในตลาดมีระดับราคาที่เรียกว่า “ช่วงชั้นราคาตลาด” (Zone of Market Prices) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “หั่งเส็ง” หรือ “หั่งเช้ง” ที่คนส่วนใหญ่ซื้อบ้านในราคาตลาด (Market Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Market Value) ของทรัพย์สินที่เราประเมินซึ่งอาจแตกต่างไปบ้างตามลักษณะเฉพาะของทรัพย์สิน

                พฤติกรรมตลาด (Market Behavior หรือ Market Practices) ในท้องตลาด เป็นผู้กำหนดราคาตลาด ซึ่งสะท้อนจากความเป็นไปได้ทั้งทางกายภาพ ตลาด การเงิน และกฎหมาย เช่น ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ ที่ดินที่เป็นที่นากับที่ดินที่เป็นสวนยางพารา หรือที่ดินที่มีระบบชลประทานกับที่ดินที่ไม่มี หรือที่ดินที่ถือครองเป็นโฉนดกับที่เป็น สปก.4-01 ย่อมมีราคาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามพฤติกรรมตลาด อย่างไรก็ตามในตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market) กลไกตลาดอาจถูกบิดเบือนไปได้ในบางขณะสั้น ๆ แต่ไมใช่ตลอดไป

                อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีตลาด ก็จะมีราคา เพราะตลาดเป็นแหล่งสังเคราะห์อุปสงค์และอุปทานให้ออกมาเป็นราคาตลาด ถ้าเราไม่ฟังเสียงตลาดหรือคนส่วนใหญ่ เราก็จะไม่สามารถทราบราคาที่แท้จริงได้ 

                มีตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งก้อนหินจากดวงจันทร์ถูกขโมยหายไปจากองค์การนาซา ปรากฏว่าหินก้อนนี้มีราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีราคาเช่นนี้ก็เพราะมีพฤติกรรมตลาดที่แน่ชัดที่ผ่านการซื้อขายมาหลายต่อหลายครั้งในตลาด จนสามารถทราบได้นั่นเอง  นักวิทยาศาสตร์ประเทศอื่นคงไม่สามารถไปดวงจันทร์ได้โดยง่าย แต่ก็อยากได้หินมาทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงมีระบบตลาดของหินดวงจันทร์เกิดขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่าทรัพย์สิน

                อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงอาจมีข้อมูลที่สูงหรือต่ำผิดปกติ (Outliers) อยู่บ้าง ซึ่งย่อมเป็นความผิดพลาด (Errors) ที่อธิบายได้ หรือยังอธิบายไม่ได้ อันเป็นผลมาจากการจดบันทึกหรือเก็บข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน มีตัวแปรพิเศษ หรือกลุ่มตัวอย่างแตกต่างไปจากกลุ่มส่วนใหญ่จริง เช่น จากการเก็บข้อมูลในจำนวนที่เพียงพอพบว่า ปกติบ้านแบบเดียวกันในย่านนี้ มีราคา 1 ล้านบาท บวก/ลบ 10% แต่มีบางคนซื้อเพียง 5 แสนบาท เพราะเป็นบ้านเก่าที่ทรุดโทรม หรือมีคนฆ่าตัวตายในบ้าน คนเลยกลัว  ในทางตรงกันข้าม บางคนก็อาจซื้อในราคา 2 ล้านบาท เพราะจำเป็นต้องซื้อหรือเพราะความไม่รู้ เป็นต้น เราจึงต้องร่อนเอาข้อมูล Outliers เหล่านี้ออกก่อนการวิเคราะห์และประมวลผล ไม่เช่นนั้นก็จะถือเป็นข้อมูลขยะ ถ้าเราเอาขยะเข้ามาวิเคราะห์  เราก็จะได้ขยะออกมา (Garbage In, Garbage Out).

                ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ให้สาวกยึดมั่นในพระพุทธองค์ แต่ให้ยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนหลังพระองค์ปรินิพพาน ในสมัยพุทธกาลและหลังจากนั้นมาอีกนับร้อย ๆ ปี ก็ไม่มีการสร้างพระพุทธรูป แม้แต่พระวินัยบางข้อ ถ้าที่ประชุมสงฆ์เห็นควรละเว้นแก้ไข พระองค์ก็อนุญาตให้ทำได้  นี่แสดงว่าพระพุทธองค์ยอมรับปัญญา และความเป็นอิสระของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังปฏิเสธการแบ่งชั้นวรรณะ เห็นคนเท่าเทียมกัน ทรงบวชจัณฑาลเป็นพระสงฆ์ จึงนับว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งประชาธิปไตย และจึงถูกทำลายหรือไม่ก็ถูกควบคุมให้อยู่ใต้อาณัติของวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เรื่อยมา

                บางคนอ้างผิด ๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจผิดพลาดได้ เช่น กรณีการเถลิงอำนาจของนาซี เยอรมนี โดยอ้างว่าฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงก็คือ การเลือกตั้งในปี 2476 ดังกล่าว นาซีไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ นาซีได้คะแนนเสียงเพียง 44% เท่านั้น ทั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งสกปรก รวมทั้งการทำลายคู่แข่งของฮิตเลอร์ และแม้นาซีจะชนะการเลือกตั้งใน 33 จาก 35 เขตเลือกตั้ง ก็เป็นการชนะด้วยเสียงที่ได้มากที่สุดแต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อยู่ดี โดยสรุปแล้วในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นเรื่องของปุถุชน ทุกคนรู้เท่าทันกัน เสียงส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ ไม่มีใครโง่กว่าใคร เราจึงเชื่อมั่นในเสียงส่วนใหญ่ได้

                อย่างไรก็ตาม “กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น” เช่น เสียงส่วนใหญ่ของโจรย่อมใช้ไม่ได้ เพราะในความเป็นจริง โจรก็ยังเป็นคนส่วนน้อยในสังคม  ในเชิงเทคนิควิทยาการ เช่น การสร้างจรวดไปดวงจันทร์  เราจะถือเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ เราต้องถามผู้รู้ หรือเรื่องความเชื่อแต่เดิมว่าโลกแบน ถ้าให้ประชาชนผู้ไม่รู้วิทยาการออกเสียงในสมัยโบราณว่าโลกกลมหรือแบน ส่วนใหญ่ก็ต้องออกเสียงว่าโลกแบน เป็นต้น

                ด้วยข้อยกเว้นเหล่านี้ พวกเผด็จการทรราชจึงนำมาบิดเบือน สร้างความสับสนด้วยการอุปโลกน์ตนเป็นผู้นำ เป็นผู้รู้ เป็นอภิชนเหนือคนอื่น และข่มว่ามหาชนเป็นคนโง่ ถูก “ฟาดหัวด้วยเงิน” ได้โดยง่าย ไร้สามารถ ขาดศักยภาพในการตัดสินใจ จำเป็นต้องมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สวรรค์ส่งมาเพื่อนำทางให้อยู่เสมอ ๆ การบิดเบือนเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ท้ายพวกเผด็จการทรราชมาทำการรัฐประหาร แล้วมาควบคุมประชาชน  แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มาโกงกิน  ดังเช่นที่เห็นตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ สามทรราช รสช. หรืออาจรวม คมช. ด้วยก็ได้ มีใครเชื่อบ้างว่ารัฐบาลสุรยุทธ์และรัฐมนตรีเหล่านั้นใสสะอาดกว่ายุคอื่น ในยุคเผด็จการทรราชมักมีการโกงกินมากกว่าพวกนักการเมืองพลเรือนเพราะขาดการตรวจสอบและเพราะมักอ้างตนมีคุณธรรมเหนือผู้อื่น

                เผด็จการทรราชยังใช้อำนาจเขียนประวัติศาสตร์บิดเบือนต่าง ๆ นานา เช่น เมื่อจะโค่นล้มรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม ก็กล่าวหาว่ารัฐบาลดังกล่าวโกงเลือกตั้ง ทั้งที่การโกงกันเพียงบางส่วนจากทั้งสองฝ่าย และอาจเป็นการสร้างสถานการณ์การโกงเพื่อก่อรัฐประหาร ในสมัย 6 ตุลาคม ก็หาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ก็จัดแสดงนิทรรศการอาวุธในธรรมศาสตร์ที่สนามไชย ซึ่งผู้เขียนในฐานะนักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเชื่อว่าไม่เคยมีอาวุธสงครามเช่นนั้น หาไม่ตำรวจ ทหารและกลุ่มฝ่ายขวาที่บุกเข้าไปคงต้องเสียชีวิตกันมากมายไปแล้ว

                ประชาชนมักถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นเมือง” หรือ “ปุถุชน” (บุคคลผู้มีกิเลสหนา) แต่ในความเป็นจริง ปุถุชนหรือสามัญชนนี่แหละคือเจ้าของประเทศตัวจริง ไม่ว่าชนชั้นปกครองจากชาติใด ราชวงศ์ใด หรือลัทธิใดมาครอบครอง สามัญชนก็ยังอยู่สร้างชาติ รักษาความเป็นชาติ เช่นที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์จีน เกาหลี หรือล่าสุดในสมัยสงครามเวียดนามที่มีเพียงประชาชนระดับบนที่มีฐานะและโอกาสที่ดีกว่าที่หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อความอยู่รอดส่วนตัว  ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงคุณค่าของมวลมหาประชาชน ดังบทกวีที่ว่า

                “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า         ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน                             ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป
                เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่                 ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ                         ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

 

 

หมายเหตุ: ผู้เขียน เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อแสดงคารวะถึงเกียรติศักดิ์ของสามัญชนที่มักถูกมองข้าม หยามหมิ่น  ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะให้บทความนี้เป็นผลบวกหรือลบต่อการเมืองฝ่ายใด และที่ผ่านมาและจากนี้ไป ผู้เขียนก็ไม่ได้คิดไปรับใช้การเมืองฝ่ายใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลไม่ให้ประกันผู้ต้องหาหมิ่นฯ สัญชาติไทย-อเมริกัน

Posted: 13 Jun 2011 11:14 AM PDT

13 มิ.ย.54 เวลา 14.00 น. ทนายความและญาตินายโจ กอร์ดอน (Joe Gordon) หรือชื่อไทย เลอพงษ์  วิไชยคำมาตย์  ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสัญชาติไทย-อเมริกัน ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลอาญา โดยในคำร้องอ้างถึง  ”กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และได้อ้างเหตุอาการความดันโลหิตสูง และโรคเกาต์ของผู้ต้องหา  ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและจากแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ  

ต่อมาเวลา 16.30 น.ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องโดยระบุว่า ศาลเคยให้เหตุผลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว  กล่าวคือ  ”พิเคราะแล้วเห็นว่า  ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันกษัติริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ  ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้าน จึงเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว ลงชื่อนายกมล  คำเพ็ญ ผู้พิพากษา”

ทนายความและญาติจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ภายใน 15 วัน ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ต้องหารายนี้ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบุกจับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 112, 116 ของประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งมาตรา 14 (3),(5) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นเจ้าของบล็อกซึ่งมีเนื้อหาหนังสือThe King Never Smiles (TKNS) ภาคภาษาไทย และนำลิงก์ไปโฆษณาไว้ในเว็บบอร์ด sameskyboard.com ให้คนเข้าไปอ่านหนังสือดังกล่าว เหตุเกิดในช่วงปี 2550-2552

อนึ่ง ประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศ ICCPR เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2539 โดยคำร้องขอประกันตัวได้อ้างถึงข้อ 9 ซึ่งบัญญัติว่า

“บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนอื่นของกระบวนพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อถึงวาระนั้น

 

ที่มาบางส่วนจาก:  สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สกอ.จี้ ม.สารคาม รายงานเหตุการณ์รับน้องรุนแรง ด้านกลุ่มหนุนเผยคลิปกิจกรรมสร้างสรรค์สู้

Posted: 13 Jun 2011 11:05 AM PDT

กลุ่มหนุนรับน้องแพร่คลิปกิจกรรมประชุมเชียร์ มมส.ชี้ไม่มีการบังคับน้องเข้าร่วม แนะบุคคลที่เรียกร้องสิทธิทั้งหลาย หยุดทำลายชื่อเสียงสถาบัน ด้าน สกอ.เผยให้ มมส.รายงานเหตุการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

 
วันนี้ (13 มิ.ย.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีคลิปการรับน้องของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ที่ตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้ บนยูทิวป์ยังมีการนำคลิปกิจกรรมเดียวกันนี้ ขึ้นเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นนี้เป็นกิจกรรมประชุมเชียร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งไม่มีการบังคับน้องใดๆ ทั้งสิ้น
 
นอกจากนี้ คำอธิบายคลิปดังกล่าวยังฝากถึงกลุ่มนิสิตขึ้นเรียกร้องบนเวทีกิจกรรมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งบุคคลที่เรียกร้องสิทธิทั้งหลายว่า หยุดทำลายชื่อเสียงสถาบัน บุคคลที่เรียกตัวเองว่า ปัญญาชน ฝากให้ลองเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อมหาวิทยาลัยบ้าง จะได้รู้ว่ากระบวนการของการทำกิจกรรมนั้นแตกต่างอย่างไรบ้างกับกระบวนการประท้วงและทำลายชื่อเสียงมหาวิทยาลัย
 
 ตัวอย่างหนึ่งของคลิปกิจกรรมประชุมเชียร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับการระบุว่าเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์
 
คลิปกิจกรรมสร้างสรรค์ ดังกล่าว โพสโดย 4611220108 มีการเผยแพร่เป็นตอนๆ อาทิ รับน้องมมส (ตักบาตรน้องใหม่), รับน้องมมส (บายศรีสู่ขวัญ1), รับน้องมมส (บายศรีสู่ขวัญ2), รับน้องมมส (บายศรีสู่ขวัญ3) และ รับน้องมมส (ตอนจบ) ขณะที่ คลิปรับน้อง มมส.เดิม ที่สร้างกระแสการถกเถียงเรื่องการรับน้องนั้น ถูกนำมาขึ้นอีกครั้งในชื่อ รับน้องมมส 2 (ฉบับเต็ม)โดยผู้โพสหลายราย
 
 คลิปที่มีเนื้อหาเพิ่มเติมจากคลิปรับน้องที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ จนเกิดกลายเป็นประเด็นถกเถียง
 
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นายสุเมธ แย้มนุ่นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงกรณีปัญหาการรับน้องรุนแรงของ มมส.ที่ถูกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตว่า ตนได้คุยกับรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องของ มมส.แล้ว ซึ่งทาง มมส.ยอมรับว่าการรับน้องที่เกิดขึ้นอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติ และมีทั้งนักศึกษาที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าว ดังนั้นตนจึงขอให้รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของการจัดกิจกรรมรับน้องของทุกมหาวิทยาลัยในปีนี้ถือว่ามีความเรียบร้อย และไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนปีก่อนๆ ทั้งนี้เป็นเพราะ สกอ.ได้กำชับให้มหาวิทยาลัยดูแลเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดและรณรงค์ให้จัดกิจกรรมรับน้องอย่างสร้างสรรค์
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ.ว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ที่เน้นความสร้างสรรค์ 7 มาตรการ ซึ่งสอดคล้องกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดังนี้ 1.ไม่ให้จัดกิจกรรมรับน้องนอกสถานที่ 2.ให้เปิดสาย Call center ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้ปกครองติดต่อสอบถาม หรือรับเรื่องต่างๆ 3.ไม่ให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการจัดกิจกรรมรับน้อง 
 
นายประสาทกล่าวว่า 4.ไม่ให้จัดกิจกรรมที่เป็นการทารุณรุ่นน้อง เช่น โยนบก ล้างสนาม หยดน้ำตาเทียนตามร่างกาย ฯลฯ 5.ไม่ให้แสดงอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางลากมอนาจาร 6.ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีศูนย์รักษาพยาบาล หรือโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมในการดูแลนิสิตนักศึกษา และพร้อมรับมือกับเหตุการณ์โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในแต่ละฤดูกาล และ 7.ให้กลุ่มเครือข่ายนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ร่วมกันเป็นหูเป็นตาในการแจ้งข่าวสาร
 
 
เรียบเรียงบางส่วนจาก: หนังสือพิมพ์มติชน และเว็บไซต์มติชนออนไลน์
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นิสิต ม.สารคาม เดินหน้ากิจกรรมให้กำลังใจน้องใหม่ ต้านระบบว้าก

Posted: 13 Jun 2011 07:18 AM PDT

หลังการเผยแพร่คลิปต่อต้านการรับน้องที่ ม.มหาสารคาม ในอินเทอร์เน็ต กลุ่มนิสิตต้านการว้ากยังเดินหน้าทำกิจกรรมต่อ รวมตัวให้กำลังใจน้องใหม่ พร้อมโชว์ป้ายรณรงค์ให้เกิดการรับน้องแบบสร้างสรรค์

 
 
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่กลุ่มนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ลุกขึ้นมาทำกิจกรรม เพื่อทวงถามถึงรูปแบบและวิธีการรับน้องของคณะกรรมการเชียร์ที่ส่อไปในทางการใช้อำนาจเผด็จการนิยม การว้ากและตะโกนด่าน้อง โดยระบุว่าทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจ และนำให้นิสิตใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมเกิดอาการเป็นลมจำนวนมาก และการล็อคตัวผู้ประท้วงการรับน้องแบบเผด็จการบนเวที และการใช้คำพูดของประธานเชียร์ที่ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย
 
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา นิสิตกลุ่มดังกล่าวได้ไปร่วมให้กำลังใจน้องใหม่ของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยไปนั่งข้างๆ พื้นที่ที่มีการรับน้อง และทำการโชว์ป้ายรณรงค์ให้เกิดการรับน้องแบบสร้างสรรค์ ทั้งนี้ กลุ่มนิสิตดังกล่าวใช้วิธีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คือ การปรบมือ และชูป้ายให้กำลังใจหลังจากที่น้องร้องเพลงเสร็จ และชูป้ายแสดงข้อความให้สตาฟฟ์เลิกว้ากน้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักศึกษาที่ไปทำกิจกรรม ไม่มีการตะโกนพูด และไม่มีการเข้าแทรกแซงกระบวนการรับน้อง อีกทั้ง ไม่มีการใช้ความรุนแรงใดๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อทางกองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามทราบว่านิสิตกลุ่มดังกล่าวมาทำกิจกรรมชูป้ายประท้วงก็ได้มีการรวมตัวกันเข้ามาดูแลความสงบ โดยสั่งห้ามไม่ให้มีการถ่ายรูปและวีดีโอโดยเด็ดขาด อ้างว่าตอนนี้กำลังมีคดีเกี่ยวกับคลิปวีดีโอเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.54 ที่มีการนำไปโพสไว้บนยูทิวป์ ซึงทางกลุ่มนิสิตก็ปฏิบัติตามโดยไม่ถ่ายรูปและวีดีโอ
 
นางสาวสุนิษา ปุ่มวงษ์ นิสิตสาขาการเมืองการปกครองหนึ่งในกลุ่มนิสิตที่เคยไปประท้วงการประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทำกิจกรรมให้กำลังใจน้องใหม่ครั้งนี้ กล่าวให้ข้อมูลว่า กลุ่มนิสิตต้องการเห็นการรับน้องแบบสร้างสรรค์ ซึ่งทางกลุ่มเองก็จะต้องแสดงให้เห็นว่าหากเรียกร้องให้มีการยกเลิกการรับน้องแบบเก่าแล้ว สิ่งที่ต้องการสื่อ หรือรูปแบบวิธีการที่ต้องการให้เป็นรูปแบบของการรับน้องเป็นอย่างไร และสิ่งที่ต้องทำมากในตอนนี้คือการสื่อสารให้คนอื่นๆ ที่ยังไม่รับรู้เจตนารมณ์ของกลุ่มได้รับทราบข้อมูลและวิธีการของกลุ่ม เพื่อหาแนวร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
 
“ที่เรามาวันนี้ ก็เพราะเรายืนยันในเจตนารมณ์ คือ เราต้องการเห็นการรับน้องที่มันสร้างสรรค์ ก็ยอมรับว่าปีนี้วิทยาลัยการเมืองการปกครองก็มีนโยบายการรับน้องโดยให้ลดการว้ากลง แต่ก็ยังมีอยู่ แต่เราต้องการให้ยกเลิก เพราะเราเป็นปัญญาชน พูดดีๆ กันคงรู้เรื่อง อีกอย่างการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับความเป็นรุ่น มันเป็นการแสดงถึงชนชั้น ทำไมไม่บอกว่าเป็นนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ปี 1 หรือ ปี 2 ก็พอ ไม่ต้องมาบอกว่าเป็นรุ่นนั้นรุ่นนี้ และพวกรุ่นพี่เองเวลาที่มีการพิสูจน์รุ่น ก็มักจะปลูกฝังค่านิยมเรื่องนี้ ทำไมเหรอไม่มีรุ่นแล้วจะเรียนไม่จบหรืออย่างไร และเรามาวันนี้เรามาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นเอง เช่น ชูป้าย ปรบมือ และให้กำลังใจน้อง แต่ทำไมต้องมาห้ามเราถ่ายรูปและวีดีโอ เราไม่เข้าใจ” นางสาวสุนิษากล่าว
 
 
หมายเหตุ:  ชื่องานเขียนเดิม "การแสดงออกเชิงสัญญะ กับความท้าทายการรับน้องแบบประเพณีนิยม"
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เบื่อเลือกตั้ง? เบื่อนักการเมือง?

Posted: 13 Jun 2011 06:49 AM PDT

บรรยากาศเลือกตั้งเริ่มขึ้นแล้ว พลเมืองไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งส่วนหนึ่งอาจกำลังงงๆ งงว่าเราควรใช้สิทธิ์เลือกผู้สมัคร สส. ที่อาจไม่ชนะการเลือกตั้ง หรือเราควรใช้สิทธิเลือกผู้สมัครที่หลังชนะเลือกตั้งแล้วเขาก็ไม่เห็นหัวเราอีกเลย หรือว่าควรโหวตโน อย่างที่มีการรณรงค์ สภาพงงๆ เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย ในสังคมต้นแบบประชาธิปไตย เช่น อังกฤษ พลเมืองอังกฤษก็เคยตกอยู่สภาพงงๆ เช่นนี้มาก่อนเหมือนกัน ถึงแม้อาจมีผู้คิดว่าคุณภาพของผู้สมัคร สส. ของเขาอาจดีกว่าของเรา(??) แต่ฝ่ายผู้มีสิทธิออกเสียงก็มีความไม่แน่ใจว่าตนควรทำหรืออยากทำอะไรที่เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกผู้แทนประชาชนเข้าไปเป็นปากเสียงให้ตนอยู่ดี เราอาจลองดูว่า ประชาธิปไตยอังกฤษที่ผ่านการเลือกตั้งมีลักษณะอะไรบ้างที่คล้ายบ้านเรา? คนอังกฤษผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาอย่างไร?

เควิน เจฟฟรีส์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยพลีมัธ ระบุว่าคนอังกฤษก็เบื่อการมาเลือกตั้งเหมือนกัน เมื่อปี 2004 มีผู้มาใช้สิทธิแค่สี่ในสิบคน ที่มาน้อยก็เพราะเบื่อนักการเมือง ของบ้านเราเมื่อปี 2006 มีคนไม่มาเลือกตั้งถึง 12 ล้านคน จากผู้มีสิทธิออกเสียง 47 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนได้ว่ามีผู้มาใช้สิทธิเจ็ดในสิบคน ยังถือว่ามากกว่าของอังกฤษ ทำไมคนอังกฤษจึงเบื่อนักการเมืองและเบื่อการเลือกตั้ง? ที่เบื่อเป็นเพราะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งส่วนหนึ่งไม่แน่ใจว่าพรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ามานั้นไว้ใจได้หรือไม่? รัฐบาลทำเพื่อใคร? เมื่อมีการสุ่มความเห็นโดยถามว่า รัฐบาลทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศหรือของพรรคการเมือง? (โพลเมืองไทยน่าจะถามแบบนี้บ้าง) ยี่สิบห้าปีก่อนมีชาวอังกฤษที่ตอบว่า รัฐบาลทำเพื่อประเทศมากกว่าถึง 39% ปัจจุบันเหลือเพียง 16% ที่คิดเช่นนั้น แปลว่ามีคนเพียงหนึ่งในหกที่เชื่อว่ารัฐบาลทำเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ สำหรับบ้านเราการสุ่มความเห็นอาจต้องถามถึงสองระดับว่า รัฐบาลทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศหรือของพรรคการเมือง? และนักการเมืองทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือของตนเอง?

สื่อกับการเมือง นักการเมืองอังกฤษบ่นว่าสื่อทำให้พวกเขากลายเป็นคนขี้โกหกคนขี้โกงในสายตาของประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ การที่คนมาเลือกตั้งน้อยจึงเป็นผลมาจากการนำเสนอข้อมูลด้านลบของสื่อนี่เอง (ตามความเห็นของนักการเมือง) สื่อแฉโพยข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมนักการเมืองและรัฐบาล เช่นเรื่องการผันเงินอย่างหนักหน่วง ความล้มเหลวทางการข่าว การขึ้นค่าเล่าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การยอมตามอเมริกาในสงครามอิรัก ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนที่รับรู้ข้อมูลเกิดความรู้สึกว่านักการเมืองหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ แล้วเกิดความไม่แยแสต่อการเลือกตั้ง ไม่อยากแม้แต่จะเดินออกจากบ้านมาสักสิบเมตรให้ถึงคูหาเลือกตั้งแล้วหยิบดินสอมากาบัตรเมื่อสิบปีที่แล้ว ร้อนถึงสื่อต้องออกมาพิจารณาบทบาทของตัวเอง 

สถานีบีบีซีวิเคราะห์รายการวิพากษ์การเมืองของสถานีและพบว่าคนไม่ค่อยสนใจชมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูรายการโชว์มากกว่ารายการการเมือง ไม่น่าจะเป็นความผิดของสื่อที่ขุดคุ้ยข้อมูลของนักการเมืองจนประชาชนไม่มาออกเสียงเลือกตั้ง แม้สื่อจะให้ภาพลบเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคสื่อมีข้อมูลทางการเมืองมากขึ้นด้วยในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางกลุ่มก็วิพากษ์ว่า สื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ในอังกฤษมีแนวโน้มจะทำให้การเมืองเป็นเรื่องตื่นเต้น หวือหวา เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไร้สาระ หรือเป็นเรื่องไม่มีความหมาย  จำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การโต้ตอบทางความคิดเห็นระหว่างกลุ่มที่เกี่ยวข้องและแตกต่างกันบนพื้นที่สาธารณะกลับลดลง การเมืองกลายเป็นเกม ไม่ใช่เรื่องซีเรียส ผู้ชมโทรทัศน์บางคนก็งง บางคนก็เบื่อ หรือกลายเป็นเย้ยหยันไปเลยก็มี ผู้ชมจำนวนไม่น้อยคิดว่านักการเมืองไร้น้ำยาหรือโกงกิน หรือทั้งสองอย่าง

จากการวิเคราะห์สื่ออังกฤษ นักวิจัยสรุปว่า ต้องแยกระหว่างสื่อแบบแทบลอยด์กับสื่อน้ำดี ประชาชนกลุ่มต่างกันก็บริโภคสื่อต่างกันตามความต้องการของเขา ผู้อ่านสื่อน้ำดี (ซึ่งมีประมาณหนึ่งในสิบของผู้ใหญ่) ได้รู้ข้อมูลทางการเมืองมากกว่าผู้อ่านสื่อประโคมข่าว แต่คนอ่านสื่อประโคมข่าวมีมากถึงห้าในสิบคน อย่างไรก็ตามคนอ่านสื่อประโคมข่าวซึ่งไม่ได้รับความรู้ทางการเมืองก็ไม่ได้เป็นผู้ที่เบื่อหน่ายทางการเมืองเช่นกัน 

ผู้ชมรายการโทรทัศน์ เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ การวิจัยพบว่าผู้ชมรายการที่ดูโทรทัศน์มาก ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจทางการเมืองสูงขึ้น จำนวนช่องโทรทัศน์ที่ผุดเป็นดอกเห็ดและมีแฟนคลับติดตามกันอย่างเหนียวแน่นของไทยก็อาจเข้าข่ายเดียวกันนี้ กล่าวคือ ถึงดูมากก็ไม่ได้ทำให้ระดับความเข้าใจทางการเมืองสูงขึ้น อาจเป็นเพราะรับรู้ข้อมูลข้างเดียวและข้อมูลที่ได้เป็นความตอกย้ำความเข้าใจเดิม (ที่อาจผิด) ให้ผลิตซ้ำต่อไปโดยไม่มีการยกระดับความเข้าใจก็ได้ 

ที่ประเทศอังกฤษหลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า Black Wednesday 1997 ประชาชนตั้งคำถามว่า นักการเมืองและสื่อพูดความจริงหรือเปล่า ได้มีการสอบถามความเห็นคนทั่วๆ ไปว่า คนกลุ่มไหนพูดความจริง ในระหว่าง หมอ ครูบาอาจารย์ ผู้พิพากษา ตำรวจ ข้าราชการ สื่อ นักการเมือง และรัฐมนตรี ผลการสอบถามคนอังกฤษคิดว่า หมอกับครู พูดความจริงมากที่สุด (86-89%) ที่เหลือลดหลั่นลงมา นักการเมืองได้ต่ำสุด (17 %) สื่อได้ (18%) และรัฐมนตรีได้  (20%) ความเห็นนี้สะท้อนความคิดที่คนมีต่อนักการเมือง สื่อ และรัฐมนตรีได้แจ่มแจ้งดี 

รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้คนมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหานอนหลับทับสิทธิ เช่น ให้โหวตทางอินเตอร์เน็ทและทางไปรษณีย์ได้ แต่ก็ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ  สื่อ เช่น หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน จึงวิพากษ์รัฐบาลว่า ทำให้การโหวตง่ายขึ้นแต่ไม่ได้ทำให้การโหวตมีคุณค่ามากขึ้น การไม่มาออกเสียงของคนจำนวนมากนั่นแหละคือการตัดสินของเขา บทวิพากษ์นี้ฟังดูคล้ายๆ  โนโหวตของพันธมิตรอยู่เหมือนกันนะ

วิธีที่พรรคการเมืองอังกฤษใช้เพื่อโจมตีพรรคฝ่ายตรงกันข้ามดูจะน่ารักกว่าของเมืองไทย ตอนที่ โทนี่ แบลร์ หาเสียงเลือกตั้ง พรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นคู่ต่อสู้จ้างชายร่างสูงใหญ่มาใส่ชุดไก่ยักษ์ แล้วให้วิ่งกระพือปีกอยู่ข้างหลังแบลร์ ฝ่ายหนังสือพิมพ์เดลี่มิเรอร์  ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายหนุนพรรคแรงงานของแบลร์ก็ไปจ้างชายอีกคนมาใส่ชุดสุนัขจิ้กจอกวิ่งไล่กัดไก่อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ ก็ได้มีคนแต่งตัวเป็นแรดสองตัวออกมาร่วมวงกับไก่และสุนัขจิ้งจอก ไม่มีใครอ้างตัวว่าเป็นเจ้าของแรด 

สัตว์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเมืองอังกฤษดูจะดุร้ายน้อยกว่าและสุภาพกว่าสัตว์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเมืองไทย อย่างน้อยก็เห็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเป็นคนเหมือนกัน ในเรื่องนี้การเมืองไทยมีความรุนแรงมากกว่าทั้งโดยวาจาและโดยสัญลักษณ์ รวมทั้งโดยการกระทำด้วย ถ้าไม่เห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นคนแล้วจะยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยด้วยกันไหวไหมเนี่ย คุณโตมร ศุขปรีชา ก็ได้ตั้งคำถามนี้ไว้ในบทความเนชั่นสุดสัปดาห์เมื่อเร็วๆ นี้ ใครที่หาเสียงแบบรุนแรง น่าจะฉุกคิดว่าเมื่อสาดโคลนกันจนเน่าถึงที่สุดแล้ว ประชาชนอาจเบือนหน้าหนีด้วยความสะอิดสะเอียนแล้วไม่เลือกใครทั้งนั้น

เจฟฟรีส์ระบุว่า ความเบื่อนักการเมืองและการเลือกตั้ง เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองค่าย คือพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยม ในอดีตผู้มีสิทธิออกเสียงในช่วงทศวรรษ 1960 เคยคิดว่าสองพรรคนี้ต่างกันมาก (48%) แต่พอถึงปี 2001 ประชาชนกับเห็นว่าสองพรรคนี้ไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก (44%) พูดได้ว่าไม่มีใครดีกว่ากัน

คนรุ่นใหม่เป็นความสนใจของการเมืองในทุกประเทศ อังกฤษพยายามเรียกร้องความสนใจทางการเมืองจากคนกลุ่มนี้ แต่ได้รับผลกลับมาเป็นความไม่แยแสต่อการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ไม่สมัครเป็นสมาชิก กระทรวงศึกษาอังกฤษต้องลุกขึ้นบรรจุวิชาหน้าที่พลเมืองเข้าไปในหลักสูตรระดับมัธยม เพื่อสอนหน้าที่พลเมืองและประชาธิปไตยในโรงเรียน ให้เยาวชนมีความตื่นตัวในความรับผิดชอบต่อโรงเรียนและชุมชนตลอดจนส่วนรวม

พลเมืองวิพากษ์
ใครๆ ก็อยากได้พลเมืองที่มีวิจารณญาณ รู้จักวิพากษ์ เท่าทันนักการเมือง ใช้สิทธิของตนอย่างเต็มภาคภูมิ พลเมืองวิพากษ์น่าจะเป็นคนที่รู้จักมองย้อนกลับไปในอดีต และมีความเข้าใจทางการเมืองว่า ใครเคยทำอะไรไว้บ้าง ได้เคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง พลเมืองที่เรียนรู้ที่จะคิดว่าเราควรป้องกันไม่ให้ข้อผิดพลาดในอดีตเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนั้นยังรู้วิธีที่จะตรวจสอบนักการเมือง เข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองภาคประชาชนด้วยความสมัครใจด้วยตนเอง ไม่ใช่มวลชนจัดตั้ง ไม่รับลดแลกแจกแถมหรือของฟรี ไม่พอใจนโยบายประชานิยมหรือประชาภิวัฒน์อย่างง่ายๆ แต่ตั้งคำถามกลับไปว่า “แล้วเราต้องสูญเสียอะไรบ้าง?”

นายกหญิงดีไหม?
เมื่อ มาร์กาเร็ต แท็ตเชอร์ จากพรรคอนุรักษ์นิยมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทศวรรษ 1970 อังกฤษกำลังสะบักสะบอมจากระบบสวัสดิการของพรรคแรงงานที่ถูกเศรษฐกิจโลกบีบคั้นจน “ไปต่อไม่ได้” คนอังกฤษจึงหันไปเทคะแนนให้พรรคการเมืองที่ประกาศว่าจะยกเลิกรัฐสวัสดิการ แท็ตเชอร์เสนอนโยบายเสรีนิยมใหม่ ซึ่งก็คือการกลับมาของทุนนิยมในรูปแบบของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและความสำคัญของภาคเอกชน  แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดสวัสดิการด้านบำนาญ ลดอำนาจสถานภาพแรงงาน รื้อฟื้นค่านิยมจักรวรรดิอังกฤษ ประกาศต่อต้านแรงงานต่างชาติ ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอนุรักษ์นิยม หลังจากการบริหารประเทศอยู่ถึงสิบเอ็ดปี คนอังกฤษก็ได้บทเรียนว่า รัฐเสรีนิยมใหม่ทำให้เขาต้องปากกัดตีนถีบเพียงใด 

คนที่ไม่ชอบนายกหญิงคนนี้ยืนยันว่า เธอทำให้คนอังกฤษแตกแยกกัน ภาวะว่างงานสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เศรษฐกิจบูมแบบจอมปลอมโดยอาศัยการให้สินเชื่อและการปล่อยกู้ สิทธิแรงงานถูกทำลาย การเรียกเก็บภาษีชุมชน จนผู้คนทนกันไม่ได้พากันออกมาประท้วง ช่องว่างคนรวย-คนจนขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม คนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ความยึดเหนี่ยวในสังคมถูกทำลายลงด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว

ฝ่ายคนที่ชอบก็บอกว่า แท็ตเชอร์ช่วยกอบกู้อังกฤษมาจากความตกต่ำ เศรษฐกิจดีขึ้นทำให้มาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น จัดการปัญหาการประท้วงของกรรมกรเหมืองแร่และสหภาพแรงงานได้เด็ดขาด พัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัยโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จัดการกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น

จะเห็นได้ว่ามีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจในนายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เธอเป็นนายกฯหญิงที่มีนโยบายเหมือนผู้ชาย (ในการตัดสินใจและการกระทำ) เช่นการทำสงครามโฟล์คแลนด์กับอาเจนติน่า จึงมีคนขนานนามเธอว่าเป็น หญิงเหล็ก คู่หูของเธอที่อเมริกาชื่อ โรนัลด์ รีแกน

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานายกหญิงไม่ได้มีแต่ที่อังกฤษ ในเอเชียเองเราก็มีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีหญิง ที่อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ ถ้าดูตัวอย่างจากผู้นำเหล่านี้รวมทั้งของอังกฤษ เธอเหล่านี้ไม่ได้ถูกเลือกมาเพียงเพราะเป็นผู้หญิง แต่เป็นเพราะความสามารถและความเป็นหญิงเหล็กไม่มากก็น้อย การจะขายความเป็นผู้หญิงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งคงไม่เพียงพอ ดูแต่ฮิลลารี่ คลินตัน ผู้หญิงเหล็กอีกคนหนึ่งยังต้องเปิดทางให้ผู้ชายผิวสีชื่อ โอบามา ในยุคสมัยที่พหุวัฒนธรรมสำคัญกว่าเพศภาวะ 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สุเทพ” เชื่อ “ทักษิณ” ใช้โพลล์สร้างกระแส เพื่อหวังผลทางจิตวิทยา

Posted: 13 Jun 2011 06:25 AM PDT

สุเทพ” อัด “ทักษิณ” ทำทุกวิถีทางเพื่อยึดอำนาจรัฐผ่านพรรคเพื่อไทย หวังลบล้างความผิดที่ทำไว้ ลั่นถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลจะไม่ยอมให้ใครมาข่มขู่คนไทย และไม่มีความรุนแรงอีก ขณะที่ระหว่างลงหาเสียงปากน้ำ มีชาวบ้านปาไข่ใส่ แต่สุเทพรอด-รปภ.รับไปเต็มๆ 

สุเทพ” เชื่อมีการใช้โพลล์เพื่อสร้างกระแส โดยเป็นการหวังผลทางจิตวิทยาของทักษิณ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายสุเทพ เทือกสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเดินทางไปปราศรัยที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดงในช่วงเย็นของวันนี้ (13 มิ.ย. 54) ว่าตนเองไม่มีความกังวลแต่อย่างใดเพราะถือว่าเป็นการออกไปหาเสียงเลือกตั้ง และการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะกำหนดทิศทางของประเทศ อย่างชัดเจน และการประกาศยุบสภาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะนายกรัฐมนตรีได้ประคับประคองให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบ และ ถือเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาล หากนายอภิสิทธิ์ ได้กลับมาบริหารประเทศ ก็จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้โดยไม่มีคนเสื้อแดงมาขัดขวางแล้วอ้างว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่สง่างาม

และที่ผ่านมา หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกความเชื่อมั่นของต่างชาติกลับคืนมาได้ จากผลงานที่ได้กระทำระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี ตนเองจึงมีความเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนั้น ตนเองเห็นว่าเป็นกระแสที่มีการสร้างขึ้นมา ตามยุทธวิธี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหวังผลทางจิตวิยา และสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำมาทุกวิถีทาง เพื่อจะยึดอำนาจรัฐผ่านทางพรรคเพื่อไทย เพื่อลบล้างความผิดที่ได้ทำไว้ และรับรองว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นรัฐบาล จะไม่ยอมให้ใครมาข่มขู่คนไทย และจะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาอีกอย่างเด็ดขาด

นายสุเทพ ยังย้ำว่า การรณรงค์หาเสียงในครั้งนี้ พรรค ประชาธิปัตย์จะออกไปบอกประชาชนว่าระหว่างที่เป็นรัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้างและหลังจากนี้จะทำอะไรให้ประชาชนต่อไป

ล่าสุดในช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขณะกำลังลงพื้นที่หาเสียงในตลาดสำโรง จ.สมุทรปราการ ได้มีชายอายุประมาณ 40 ปี ปาไข่ใส่ แต่ถูกมือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเสียก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เข้ามาเจรจา พร้อมได้กันชายดังกล่าวออกจากบริเวณดังกล่าวในทันที

 

อภิสิทธิ์ยังไม่เชื่อโพลล์ เพราะยังมีผู้ไม่ตัดสินใจกว่าครึ่ง ขอให้ดูวันเลือกตั้ง 3 ก.ค.

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมน้อยกว่าพรรคเพื่อไทยทั้งในส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง ว่า ตนเองเคยบอกแล้วว่าหากโพลล์สำนักใดมีจำนวนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจร้อยละ 40-50 ยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยอยากให้รอดูวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ซึ่งตนเองมั่นใจว่า ขณะนี้ประชาชนต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และต้องการให้รัฐบาลเอาใจใส่ปัญหาของประชาชนมากกว่าปัญหาของนักการการเมือง

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า ขณะนี้คะแนนนิยมของสองพรรคการเมืองใหญ่ในกรุงเทพฯ สูสีกันมาก และเชื่อว่าใน 20 วันข้างหน้าจะมีอีกหลายประเด็น ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ด้วยความมั่นใจ เนื่องจากแนวทางในการบริหารบ้านเมืองที่เน้นการรักษากฎหมาย และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นความแตกต่างที่ชัดเจน ส่วนจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการทำงานเพื่อเรียกคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นหรือไม่ นั้น ขณะนี้สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอมีความชัดเจนมากขึ้น เชื่อว่าประชาชนจะตัดสินใจได้ พร้อมยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสานต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรแน่นอน และจะสู้ไม่ให้ใครมายกเลิกโครงการนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความต่างระหว่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับอับราฮัม ลินคอล์น

Posted: 13 Jun 2011 06:05 AM PDT

 
ภาพขณะที่ประธานาธิบดีลินคอล์นปราศรัยเมื่อปี ค.ศ.1865 ถือได้ว่าความสำเร็จของการเป็นผู้นำของประธานาธิบดีท่านนี้คือการนำพาประเทศสหรัฐอเมริกาให้ผ่านพ้นจากความบอบช้ำอย่างหนักจากสงครามกลางเมือง ไปสู่ความสมานฉันท์ของคนในชาติอย่างแท้จริง และเป็นบทบาทฐานนำไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในที่สุด
 

ในบทความ จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 3 "ผมถูกยัดเยียดข้อหาฆ่าประชาชน” นั้น จากที่เคยออกปากว่าจะหาทางปรองดอง และปล่อยให้เพียง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นคนป่าวประกาศว่าแดงเผาบ้านเผาเมือง ส่วนอธิบดีดีเอสไอก็มีหน้าที่จับคนที่เห็นต่างเข้าคุก บัดนี้ นายอภิสิทธิ์ คงเห็นว่าไม่ได้ผล เขาจึงลงมือเล่นบทบาทสร้างความชั่วร้ายให้ขั้วการเมืองอีกขั้วหนึ่งด้วยตนเอง 

เขากล่าวหาว่ากลุ่มคนเสื้อแดงพยายามยั่วยุเพื่อทำลายบ้านเมืองและเมื่อ “ไม่ประสบความสำเร็จมาคราวนี้ปิดจุดอ่อนคราวที่แล้วด้วยการเพิ่มกองกำลังติดอาวุธ...มีการตั้งกองทัพประชาชนซึ่งสื่อมวลชนเรียกขานว่า "กองทัพแดง"”

เขายังบรรยายถึงพฤติการณ์ที่สมควรประณามของ “กองทัพแดง” ว่า “....มีการยั่วยุด้วยการยิง M 79 ในสถานที่ต่าง ๆและมีการเคลื่อนมวลชนไปหลายสถานที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก และยังมีการใช้มวลชนกดดันทหารที่อยู่ในที่ตั้ง...”

ที่เลวร้ายกว่านั้นคือการเรียกขานการสังหารหมู่ที่สี่แยกคอกวัวว่าเป็น “สงครามเต็มรูปแบบ” โดยบอกว่า “จากนั้นสงครามเต็มรูปแบบก็เกิดขึ้นที่สี่แยกคอกวัวหลังคำประกาศบนเวทีราชประสงค์ของนายอริสมันต์ไม่นาน มีชายชุดดำแฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุมใช้คนเสื้อแดงที่บริสุทธิ์เป็นเกราะกำบัง โจมตีทหารจนเกิดการสูญเสียชีวิตทั้งทหารและประชาชน” ซึ่งล้วนเป็นข้อพิสูจน์ที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเองยังไม่กล้าสรุปเช่นนั้น แม้จะใช้เวลาสืบสวนสอบสวนมาเนิ่นนาน
 
การพยายามสร้างความชั่วร้ายให้ฝ่ายตรงข้าม การพยายามยุยงให้เกิดความเกลียดชังต่ออีกฝ่ายหนึ่ง (vilification) ดูเหมือนจะเป็นยุทธวิธีของหมาจนตรอก มากกว่าจะเป็นวิธีการอันเหมาะสมสำหรับนักการเมืองที่ประกาศตนเองว่าจะหาทาง สร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาในสังคมที่แตกแยกให้ได้ น่าเสียดายที่นายอภิสิทธิ์เคยประกาศว่า เขาจะเป็นนายกฯของคนทั้งประเทศ แต่เมื่อผลการสำรวจความเห็นล่าสุดที่ระบุว่า คะแนนเสียงของตนเป็นรองพรรคคู่แข่งอย่างมาก เขาจึงงัดไม้ตายเช่นนี้ออกมาเพื่อตัดคะแนนเสียงพรรคตรงข้ามเผยให้เห็นธาตุแท้ว่า อันที่จริงแล้วเขาไม่เคยคิดจะเป็นนายกฯ ของคนทั้งประเทศเลย หากแต่ของคนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมืองเขาเท่านั้นเอง

เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1865 หรือ 150 กว่าปีก่อน ทั้งๆที่ฝนตกก่อนหน้านั้นนานนับสัปดาห์ บ้านเมืองเต็มไปด้วยน้ำและโคลน คนอเมริกันต่างพร้อมใจกันยืนตากฝนแช่น้ำเพื่อรอฟังคำแถลงในวาระการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีครั้งที่สองของ นายอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ที่หน้ารัฐสภาซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ที่รัฐเพ็นซิลเวเนีย

ในวันนั้น ประชาชนชาวอเมริกันเพิ่งจะผ่านสงครามกลางเมือง (American Civil War) ที่ยืดเยื้อถึงห้าปี และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่าครึ่งล้าน เป็นสงครามแบ่งแยกประเทศระหว่างฝ่ายเหนือและใต้ แต่ต่างจากนายอภิสิทธิ์ที่เลือกเป็นผู้นำของคนเพียงบางกลุ่ม และทำหน้าที่เพียงตอกลิ่มบาดแผลให้ร้าวลึกยิ่งขึ้น ประธานาธิบดีลินคอล์นเลือกที่จะเป็นผู้นำประเทศของ “ประชาชนอเมริกัน” ทุกหมู่เหล่า โดยไม่ได้เลือกว่าจะเป็นฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้

ในย่อหน้าสุดท้ายของคำแถลงของเขาฟังแล้วไพเราะจับใจ หวังว่าจะเป็นอนุสติเตือนนายอภิสิทธิ์ว่า ถ้าเขาต้องการเป็นผู้นำของคนทั้งประเทศอย่างแท้จริง เขาควรจะเริ่มจากการบ่มเพาะความให้อภัยในจิตใจของตนเอง ละเว้นการกล่าวโทษคนที่คิดตรงข้ามกับตน ข้อความที่ประธานาธิบดีลินคอล์นกล่าวมีดังนี้

“ขอให้เราละเว้นจิตประทุษร้ายต่อผู้ใด ขอให้เราแผ่เมตตาแด่ทุกคน ขอให้เชื่อมั่นในพระวจนะที่ชี้ทางอันชอบให้กับเรา ขอให้เราต่างพยายามดำเนินงานที่มีอยู่ให้ลุล่วง ช่วยสมานบาดแผลของประเทศชาติ ช่วยอุ้มชูดูแลผู้ที่มีส่วนร่วมในการสู้รบ ช่วยกันเยียวยาภรรยาม่ายและลูกกำพร้าของพวกเขา ช่วยกันทำสิ่งทั้งปวงอันจะนำเราไปสู่สันติภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับพวกเราทั้งหลาย และสำหรับประชาชาติทั้งปวง”

“With malice toward none, with charity for all, with firmness in the right as God gives us to see the right, let us strive on to finish the work we are in, to bind up the nation's wounds, to care for him who shall have borne the battle and for his widow and his orphan, to do all which may achieve and cherish a just and lasting peace among ourselves and with all nations.”

 

ที่มา:http://www.bartleby.com/124/pres32.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: กระบวนการการสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ผ่านเสื้อผ้า

Posted: 13 Jun 2011 05:47 AM PDT

กระบวนการการสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ผ่านเสื้อผ้า

โอ๊ยยย...จั่วหัวเรื่องมายิ่งใหญ่อลังการมาก อย่างกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ (ดีเด่น) อย่างไรอย่างนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อได้รับไฟเขียวจากบอกอบอกว่าให้มาทำเซ็คชั่น ‘บันเทิง’ ของประชาไท ก็แทบจะเอาเท้าพาดคอ (ท่าเล่นโยคะน่ะค่ะ) ไม่นึกว่าท่านจะเอาจริง ประชาไทนี่นะ !!!

ขึ้นชื่อว่าเรื่อง ‘บันเทิง’ ก็แทบจะหาสาระอะไรไม่ได้ อยู่แล้ว กลัวเขียนลงไปแล้วแฟนคลับประชาไททั้งหลายจะมาถือป้ายโห่ไล่เหมือนเวลาที่พี่มาร์คสุดหล่อ (แต่ตอนนี้บวมมากค่ะ...ขอบอก) ไปหาเสียง ก็พลันให้หวาดกลัว จะถูกคอมเมนต์ว่าไม่มีสมอง (ระวังให้ดีนะคะ...คนที่มาคอมเมนต์งานดิฉัน เดี๋ยวจะใช้พรบ. คอมพิวเตอร์ฟ้องหมิ่นให้หมดเลย) แต่ไหนๆ ก็ไม่เคยใช้สมองหากินอยู่แล้ว เกิดมาสวยและยังสาว (พี่ ‘หลิ่มหลี’ คะ...หนูไม่ได้พาดพิงพี่นะคะ โปรดอย่าเข้าใจผิด) ก็มักจะถูกครหาอยู่แล้วว่าสวยไม่มีสมอง ก็เลยไม่ค่อยใส่ ‘จี’ เท่าไหร่

กลับมาที่หัวข้อเรื่องข้างบน แปลง่ายๆ ว่าจะมาคุย (ตอแหล) ให้ฟังเรื่องเสื้อผ้าการแต่งตัวนั่นเอง ตอนนี้คงไม่มีใครจะฮอตเท่าสองสาวต่างวัยจากสองฝั่งทวีป ฝรั่งอเมริกานั้นมีแฟชั่นไอคอนเป็นมิเชล โอบามา ส่วนฝั่งอังกฤษนั้นก็มีหวานใจคนใหม่ เคท มิดเดิลตัน หรือตอนนี้ต้องเรียกว่า ดัชเชส ออฟ เคมบริดจ์ (ขอประทานอนุญาตใช้คำสามัญชนไพร่พลเดินดินนะคะ...เพคะ)

ย้อนกลับไปดูมิเชล โอบามา เมื่อครั้งที่ฝาละมีลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ การแต่งตัวอันโดดเด่นของเธอก็ทำให้เป็นข่าวกลบการหาเสียงของสามีมาแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่ามิเชลชื่นชอบดีไซเนอร์หน้าใหม่ แบรนด์แปลกๆ ที่ยังไม่ดัง ยังไม่ถือเป็น ‘ซูเปอร์แบรนด์’ เธอก็ช่างสรรหาเสื้อผ้า หยิบจับมาใส่ (ซื้อเองนะคะ...ไม่ได้โทรไปขอ) จนบรรดาดีไซเนอร์เหล่านั้นได้ผุดได้เกิด กลายเป็นแบรนด์ดังชั่วข้ามคืน

แบรนด์ที่เธอใส่เป็นประจำก็อย่าง Isabel Toledo (คิวบา), Narciso Rodriguez (คิวบา แอฟริกัน สเปน), Maria Pinto (อิตาเลี่ยน) , Naeem Khan (อินเดีย), Peter Som (จีน), Roksanda Ilincic (เซอร์เบีย), Jason Wu (ไต้หวัน), Rachel Roy (อินเดีย), Duro Olowu (ไนจีเรีย), Tracy Reese (แอฟริกัน-อเมริกัน), Azzedine Alaia (ตูนิเซีย), Thakoon (ไทย) และอีกมากมาย

จะเห็นว่าบรรดาดีไซเนอร์ที่เธอเลือกส่วนมาก นอกจากจะไม่ใช่ซูเปอร์แบรนด์แล้ว ดีไซเนอร์ยังเป็นคนเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่อเมริกัน (แต่ส่วนมากเป็นอเมริกันบอร์น ที่พ่อแม่อพยพมาจากที่อื่น) เกินครึ่งเป็นดีไซเนอร์เชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน (ช่วงแรกๆ) เธอไม่ค่อยหาอะไรที่หาง่าย ไฮโซเกลื่อนกลาดอย่างซูเปอร์แบรนด์ที่มีตามช็อปทั่วไป ที่เป็นเช่นนี้หนึ่งล่ะ เธอเป็นเฟิร์สเลดี้ผิวสี แอฟริกัน อเมริกันคนแรกของสหรัฐอเมริกา การเลือกใส่เสื้อผ้าดีไซเนอร์ของคนเชื้อชาติเดียวกันก็เหมือนการสำนึกรักบ้านเกิด ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมเชื้อชาติ แต่เมื่อพิจารณาว่า แอฟริกัน-อเมริกัน ไม่ใช่ตัวเลือกทั้งหมดในตู้เสื้อผ้าของเธอ แถมยังมีการงดเว้นซูเปอร์แบรนด์โหลๆ ทั้งหลาย อย่าง Chanel, Dior, Louis Vuitton, Gucci, Armani, Prada ฯลฯ ก็ทำให้เราเห็นนโยบายของเฟิร์สเลดี้คนนี้ต่อการแต่งตัวของตัวเอง

หากเรานำทฤษฎีที่ว่าการสวมใส่เสื้อผ้าไม่ใช่แค่เรื่องชีวิตประจำวันหรือกาละเทศะ แต่มันยังเป็นการ ‘แสดง’ (Perform) ทั้งตัวตนที่เราอยากจะเป็น (อย่างเช่นดิฉันที่ปรกติจะแสดงเป็น โคโค่ ชาเนล เป็นต้น) หรือที่ถูกสังคมกำหนดอยากจะให้เป็น (เช่นการใส่ยูนิฟอร์มต่างๆ) นัยยะของการเลือกเสื้อผ้าของมิเชล จึงไม่ใช่แค่การเสริมส่งคนเชื้อชาติเดียวกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของตัวเองอันว่าด้วยความแตกต่างจากอเมริกันผิวขาวเฟิร์สเลดี้คนก่อนๆ และคนทั่วไป อัตลักษณ์ความเป็นอเมริกันแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ไม่ซ้ำใคร ไม่โหล ไม่บ้า แต่มีเทสต์และดูไม่เป็น ‘อเมริกัน’ (ถ้าหากเราเชื่อว่าความเป็นอเมริกันมันมี Essence บางอย่างร่วมกันอยู่)

เพราะนอกจากแบรนด์ เชื้อชาติของดีไซเนอร์แล้ว แบบ สี ลายพิมพ์ ยังกระเดียดไปทาง ‘เอ็กโซติก’ มากกว่าที่เป็นงานหรูหรา เล่นดีเทล จับเดรป อะไรเทือกนั้น สังเกตดูได้จากเข็มกลัดที่เธอใช้เป็นประจำ แทนที่จะเป็นเข็มกลัดเพชรอย่างใครๆ เขาเธอก็เลือกใช้เข็มกลัดหินสีอย่างเทอควอยซ์รูปทรงดอกไม้ประหลาดๆ หรือเสื้อผ้าลายพิมพ์ก็จะเป็นลายพิมพ์ในแบบที่คนแฟชั่นเรียกว่า ‘Tribal Print’ หรือลายพิมพ์ที่ได้อิทธิพลมาจากงานชนเผ่า สีก็จะเป็นสีในโทนสดใส แต่ไม่ใช่เฉดแบบโมเดิร์น เป็นเฉดร้อนแรงที่เราสามารถพบได้ในงานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสต์แถบแอฟริกา หรือแถบคาริบเบียน ทั้งสีเขียวใบไม้ สีเหลืองมัสตาร์ด สีแดงเลือดนก สีฟ้าเทอควอยซ์

ซึ่งทุกองค์ประกอบนั้นเสริมส่งภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของเธอให้โดดเด่น ‘เอ็กโซติก’ หาใครเทียบได้ ประมาณว่าโลกนี้ต้องจารึกไว้ว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดา แต่ฉันเป็นเฟิร์สเลดี้ผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา แถมยังมีสไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่น เป็นของตัวเอง เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แต่ยังผสมผสานความเป็นโมเดิร์นและแฟชั่น! ไม่ซ้ำทางกับแจ๊กกี้ โอ อดีตเฟิร์สเลดี้ที่ขึ้นชื่อว่าแต่งตัวดีจนเป็นตำนานอีกด้วย! จะว่าไปแล้วการสร้างภาพลักษณ์เอ็กโซติกแบบนี้ก็เป็นการ ‘Discriminate’ ความเป็นอเมริกันผิวขาวของคนอเมริกันทั่วไปเช่นกัน

ที่ต้องมานั่งคิดมากแบบนี้ ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ เพราะหลังจากอ่านชื่อดีไซเนอร์แต่ละคนของเธอแล้ว ดิฉันอ่านไม่ออก ต้องมานั่งคลิกหาคำอ่านออกเสียงจนพลอยได้อ่านว่าเป็นใครมาจากไหน เชื้อชาติอะไรด้วย

ข้ามมาฝั่งอังกฤษกันบ้าง ที่รักของวงการแฟชั่นคนใหม่อย่างดัชเชสเคท ก็ถูกจับตาทุกฝีก้าว ทุกการปรากฏตัวเช่นเดียวกันว่าจะใส่อะไร แบรนด์ไหน ตั้งแต่ชุดแต่งงานที่เป็นข่าวดังตั้งแต่ยังไม่แต่งว่าเธอจะใส่ของแบรนด์ไหน สุดท้ายหวยก็มาออกที่แบรนด์อังกฤษ (ก็แหงล่ะ) Alexander McQueen โดยซาร่าห์ เบอร์ตัน คนที่มาทำงานต่อจากลี อเล็กซานเดอร์ ที่ลาโลกไปแล้ว (ในใจตอนนั้นคิดว่าขอให้เธอใส่ชุดของป้าวิเวียนทีเถอะ...แต่เธอคงกลัวออกมาฟู่ฟ่า แปลก เปรี้ยวเกินไป เลยเชิดใส่แบรนด์อังกฤษเก่าแก่อย่าง Vivienne Westwood)

ความโดดเด่นของการแต่งตัวของเคท มิดเดิลตันอยู่ที่การเลือกซื้อผ้าการ์เม้นต์ถูกๆ ของเธอ เธอใส่แบรนด์บ้านๆ ไม่ต่างจากคนเดินถนนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Zara, Topshop, Issa, Whitles และบรรดาโลคัลแบรนด์เล็กๆ ทั่วไปตามถนนอ็อกฟอร์ด (ปล. Zara กับ Topshop เมืองไทยแพงมากค่ะ ลดราคาแล้วก็ยังแพง ที่เมืองนอก ลดราคาทีตัวละไม่เกิน 10 เหรียญ คนใส่ Zara หรือ Topshop ที่เมืองไทย จึงชูคอว่าใส่แบรนด์ของแพง!) ราคาก็เบาๆ ตัวละ 30 กว่าเหรียญฯ หรือตัวไหนพิเศษหน่อยจะใส่ออกงานก็ร้อยกว่าเหรียญนิดๆ แต่ก็ยังถือว่าถูก เมื่อเทียบกับฐานะและตำแหน่งของเธอ

เธอจึงได้รับการชื่นชมว่า เป็นเจ้าหญิงที่สุดแสนจะสมถะ ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ (ส่วนที่นั่งเครื่องบินเจ็ตไปฮันนีมูนนอนรีสอร์ทคืนละ 4,000 กว่าเหรียญฯ อันนั้นไม่นับนะคะ) แถมยังมีเทสต์ มีสไตล์ เลือกเสื้อผ้าได้ดูดี ใส่แล้วน่ารักดูราคาแพง (แหม...ก็หน้าตาดี หุ่นดี เสียขนาดนั้น ลองเอาชุดเดียวกันมาให้พี่หลีของดิฉันใส่ดูสิ มิวายจะถูกเด่นจันทร์ครหาว่าคนอะไรไม่รู้ บางอันแบรนด์บางอันแพลตินั่ม!)

การเลือกเสื้อผ้าของเคท มิดเดิลตัน ไม่ใช่แค่การประหยัด มัธยัสถ์ สมถะ เก็บเงินไว้ไปนอนโรงแรมหรูแพงๆ แค่นั้น แต่เธอเลือกแล้วที่จะ ‘คีพลุค’ (Keep Look) (ปล. ขอเว้นเว้นการใช้คำว่าการสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์แล้วกัน ฟังดูไม่แฟชั่นเลย!) ตัวเองไว้แบบหนึ่ง อย่างแรก ก็เพื่อให้แตกต่างจากเจ้าหญิงคนก่อน เลดี้ ไดอาน่า ที่แต่งตัวเรียบแต่หรูหรา ราคาแพง ดูเป็นราชนิกูลมากๆ สองก็เพื่อ ‘คีพลุค’ ของตัวเองให้เป็นเจ้าหญิง ‘สามัญชน’ เพราะเธอก็เป็นสามัญชนคนธรรมดามาก่อน ที่ได้เป็นเจ้าก็เพราะแต่งงานกับเจ้า และการเป็นเจ้าหญิงสามัญชนผู้สมถะ ก็ภาพลักษณ์ดีกว่าเป็นไหนๆ ดูน่ารักน่าเอ็นดู แถมยังไม่ซ้ำทางใครอีกด้วย (ดูเจ้าหญิงเบียทริกซ์กับเจ้าหญิงยูจีน แห่งยอร์ค สิ แค่วันแต่งงานก็ขโมยซีนเสียขนาดนั้น) สาม ในขณะที่สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษก็เสื่อมมนตร์ขลังลงเรื่อยๆ การมีเจ้าที่มาจากสามัญชน แถมยังทำตัวเยี่ยงสามัญชน ใส่เสื้อผ้าราคาสามัญชน ก็สามารถช่วยรักษาหน้าตา ภาพลักษณ์ ราชบัลลังก์ของระบบกษัตริย์ในอังกฤษไว้ได้ (เอ๊ะ! ดิฉันจะโดนมาตรา 112 ไหมเนี่ย) เรียกว่า Kate Saves The Queen ก็ว่าได้! การเลือกเสื้อผ้าของเคท มิดเดิลตัน จึงเป็น ‘มิชชั่น’ ที่เธอกำหนดขึ้นเพื่อหาที่ยืนทั้งบนพื้นที่ของราชวงศ์ สื่อ สังคม ที่นอกจากจะต้องให้ตัวเองอยู่รอด (การเลือกเสื้อผ้าราคาถูกมาใส่ในงานสำคัญๆ ที่ใครๆ ก็สวมซูเปอร์แบรนด์ โอต์กูตูร์กันทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ) แต่ยังต้องอยู่รอดแบบมีสไตล์ มีอัตลักษณ์ และโดดเด่นกว่าใครอีกด้วย

การเป็นเจ้า เป็นอำมาตย์ที่ทำตัวสมถะต่ำต้อย อย่างไรเสียก็มีแต่ภาพบวก อย่างเช่นการไปนั่งกินร้านอาหารข้างทางเป็นต้น แต่ไพร่อย่าได้เผลอไปทำอะไรเหมือนเจ้าเหมือนอำมาตย์ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เจียมตน คิดอยากจะตีเสมอ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ดิฉันจะงดเว้นการใส่เสื้อผ้า Zara กับ Topshop เพราะเดี๋ยวจะถูกว่าหาว่าเป็นไพร่แล้วไม่เจียม มาซื้อเสื้อผ้า ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เดียวกับเจ้า ว่าแล้วก็ขอตัวไปช้อปปิ้งก่อนแล้วกันนะคะ—หยิบชุดชาเนล คอลเล็กชั่นล่าสุดที่เป็นผ้าทวีดเจาะรูขาดๆ เยินๆ ทั้งตัว โทรหาพี่หลิ่มหลี โบกแท็กซี่ไปแพลตินั่ม

ประชาไทบันเทิง: กระบวนการการสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ผ่านเสื้อผ้า

มิเชล : คุณน้อง...ใส่ชุดแบรนด์อะไรคะ สวยจังเลย
เคท : โอ๊ย...แบรนด์ธรรมดา ราคาร้อยกว่าเหรียญเองค่ะ ไม่แพงเหมือนชุดคุณพี่หรอก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สนธิ บุญยรัตกลิน" ยันทำรัฐประหารตามวิถีประชาธิปไตย เพราะมีประชาชนอยู่เคียงข้าง

Posted: 13 Jun 2011 04:16 AM PDT

อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยา สัมภาษณ์ออกรายการสรยุทธ ยันรัฐประหาร 19 กันยาถูกต้อง เพราะประชาชนอยู่ข้างหลัง ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ย้อนเวลาได้ก็จะทำอีก ยันไม่มีแผนบันไดสี่ขั้นเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนตีความไปเอง เตือนในอนาคตถ้ามีรัฐประหารอีก คิดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ แนะทหารรุ่นน้องต้องออกจากการเมือง

เมื่อเวลา 17.40 น. วันนี้ (13 มิ.ย.) ในรายการเจาะข่าวเด่น ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ดำเนินรายการโดย นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้สัมภาษณ์ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ตอนหนึ่ง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ที่ต้องทำรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549 เพื่อรักษาประชาธิปไตย โดยตั้งคำถามว่า รัฐบาลที่ผ่านมาตอนนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า และยังกล่าวว่า การทำอะไรก็ตามที่ประชาชนอยู่ข้างหลังเรา จึงถือว่าสิ่งนี้ถูก ถือว่าเป็นประชาธิปไตย และสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลก

นายสรยุทธ ได้ถามย้ำว่า "วันนั้นประชาชนเชียร์ให้ปฏิวัติ" พล.อ.สนธิ ตอบว่า "ถูกต้อง" และกล่าวต่อว่า ปัญหาในช่วงเวลานั้นมีหลายเรื่องไม่ใช่แค่นี้ มีทั้งความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น มีเรื่องความรุนแรงและปัญหาคอรัปชั่น ถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสังคมเป็นผู้กำหนด

นายสรยุทธถามว่า ขณะนั้นจะมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว และมีปฏิวัติ พล.อ.สนธิ ตอบว่า เราในฐานะที่เป็นผู้รักษาความมั่นคง รักษาระบอบประชาธิปไตย เราทำอะไรลงไปก็เพื่อดูแลความสงบเรีบบร้อย ความมั่นคง
ของประเทศ

นายสรยุทธ์ ถามย้ำว่า "สรุปว่าประชาชนเห็นด้วยกับการปฏิวัติในวันนั้น" พล.อ.สนธิ ตอบว่า "ใช่" นายสรยุทธ ถามต่อว่า "ถ้าไม่ปฏิวัติ จะมีการเผชิญหน้าในวันรุ่งขึ้น ท่านเชื่ออย่างนั้น" พล.อ.สนธิ ตอบว่า "ใช่"

นายสรยุทธ ถามด้วยว่า "สังคมแตกแยกรุนแรงไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์เพราะท่านหรือเปล่า" พล.อ.สนธิ ตอบว่า ต้องยอมรับว่า มีรัฐบาลหลังการปฏิวัติ 4 รัฐบาล ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการทำหน้าที่ด้านความสงบเรียบร้อยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ถือเป็นหน้าที่ผู้นำประเทศ ทำไมที่ผ่านมาทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำไมไม่สร้างความรัก ผู้ปกครองประเทศต้องสร้างความรัก ความสามัคคีให้คนในประเทศ ผู้นำประเทศต้องวางตัวเป็นกลาง ตั้งใจจริงแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่ว่าตัวเองอยู่ในภูมิภาคหนึ่งแต่ทำให้อีกภูมิภาคขัดแย้ง

นายสรยุทธ ถามว่า ถ้าย้อนเวลาท่านจะปฏิวัติหรือไม่ พล.อ.สนธิ ตอบว่า ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะประชาชนเป็นผู้เห็น ไม่ใช่แค่ผมเห็นคนเดียว นายสรยุทธถามย้ำว่า "มันเป็นความจำเป็น?" พล.อ.สนธิ ตอบว่า "ใช่"

พล.อ.สนธิ กล่าวด้วยว่า ถ้าตนมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ และกล่าวยืนยันว่า ที่ทำรัฐประหารนั้น ไม่ได้ต้องการมีอำนาจ เพราะทำรัฐประหารได้ 14 วันก็คืนอำนาจให้เขาไป และเพราะตนรักประเทศไทย จึงเข้ามาลงสมัคร ส.ส.

พล.อ.สนธิ ปฏิเสธเรื่องแผนบันไดสี่ขั้นของ คมช. โดยตอบว่า ถือเรื่องของขั้นตอนในการทำงาน เหมือนบริษัทที่มีแผนการทำงาน แต่สื่ออื่นเอาไปตีความเอง มันเป็นแผนการทำงานว่าเราก็ทำเป็นสี่ขั้น ส่วนคนไม่รู้ก็บอกว่าเป็นแผนบันไดสี่ขั้น เลยมีคนตั้งคำถามว่า ท่านสนธิ ไปคิดอะไรกับพรรคไทยรักไทย จริงๆ แล้วเปล่าเลยเป็นขั้นตอนการทำงานเฉยๆ โดย พล.อ.สนธิ ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำลายพรรคไทยรักไทย

สรยุทธถามว่า การลงไปหาเสียงและมีคนด่า ถือว่าเสียฟอร์มหรือเปล่า พล.อ.สนธิ บอกว่าไม่เสียฟอร์ม เพราะตนถือว่าไปลงหาเสียงเป็นประชาธิปไตย และเคยย้อนถามคนที่ตะโกนด่าว่าเข้าใจประชาธิปไตยหรือเปล่า ซึ่งคนที่ตะโกนด่าตนก็พูดไม่ออก พูดไม่เป็น

ตอนท้าย พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ถ้ามีปฏิวัติอีก จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้แน่นอน และบทบาทของทหารต้องมีการแบ่งแยกจากรัฐ โดยรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนกองทัพให้เข้มแข็ง ยืนยันว่ากองทัพต้องแยกออกจากการเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรส.ร้อง "ไอแอลโอ" คนงานพม่าเข้าไม่ถึงกองทุนเงินทดแทน

Posted: 13 Jun 2011 01:35 AM PDT

ผู้นำแรงงานไทยร้ององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ นครเจนีวา ระบุไทยยังกีดกันแรงงานข้ามชาติจากพม่า ขัดกฎหมายระหว่างประเทศ

 

วันนี้ (13 มิ.ย. 2554) เวลา 14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย หรือ 9.00 น. เวลาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อร้องเรียนกรณีที่รัฐบาลไทยละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ หลังพึ่งกลไกในประเทศ ทั้งรัฐบาลและศาลไม่ได้ เพราะยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้ว่าองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และองค์การสหประชาชาติได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยยุติการละเมิดแรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยกลับเพิกเฉย

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน พร้อมเอกสารประกอบกว่า 500 หน้า แสดงหลักฐานยืนยันถึงการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลังแรงงานข้ามชาติได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน การปฏิเสธสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ตามหนังสือเวียน สปส. ที่ รส. 0711/ว 751 เป็นข้อห่วงใยในปี 2553 ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านการมีผลบังคับของอนุสัญญาและข้อเสนอแนะและผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่นที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ทบทวน” หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวและให้นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน แต่รัฐบาลไทยยังนิ่งเฉย และยังคงปฏิเสธสิทธิของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่จะได้รับเงินทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทน

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย. 2554) กระทรวงแรงงานจะขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดตั้งกองทุนประกันอุบัติเหตุเอกชนสำหรับแรงงานข้ามชาติซึ่งให้สิทธิประโยชน์น้อยกว่ากองทุนเงินทดแทน เพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงาน แยกต่างหากจากกองทุนเงินทดแทน

นายสาวิทย์ กล่าวจากนครเจนีวาว่า จากความพยายามหลายปีของการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดย สรส.อย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลยังคงปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ และการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่รัฐบาลมีพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ. 1925 (อ.ที่ 19) ในวันพรุ่งนี้กระทรวงแรงงานวางแผนจะเสนอให้รัฐบาลอนุมัติโครงการการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลขึ้น เพื่อที่จะจ่ายค่าชดเชยให้กับ “แรงงานข้ามชาติ” ที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นแผนการที่คลุมเครือและมิได้ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายที่อ้างว่าจะปกป้องสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก แต่มีการแยกระบบของแรงงานข้ามชาติออกจากแรงงานไทย เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดแจ้ง

นโยบายของรัฐบาลไทยที่ปฏิเสธการเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนยังคงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีวิตของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ทำงานในประเทศไทยซึ่งมีประมาณ 2-3 ล้านคน ที่ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่อาจได้รับบาดเจ็บและเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน การปฏิเสธสิทธิภายใต้กองทุนเงินทดแทนนี้ จึงทำให้แรงงานข้ามชาติหลายต่อหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บอย่างร้ายแรงเนื่องจากการทำงานนั้น กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินแต่อย่างใด

นายสาวิทย์ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นเหยื่อจากการประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน สมควรได้รับการรับประกันการเยียวยาจากรัฐโดยผ่านกองทุนเงินทดแทน เพราะหากไปรอพึ่งให้นายจ้างมาเยียวยาแต่เพียงประการเดียวแล้วนั้น ก็คงเชื่อถือไม่ได้ ดังเช่นที่ สรส. ได้รับรายงานมาแล้ว ในหลายกรณี นายจ้างก็หลบหนี หรือแจ้งตำรวจมาจับแรงงานข้ามชาติ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับภาระแรงงานที่บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เราไม่สามารถยอมรับโครงการประกันอุบัติเหตุสำหรับแรงงานข้ามชาติโดยเอกชน ที่ให้สิทธิประโยชน์น้อยกว่ากองทุนเงินทดแทน และการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่แยกต่างหากจากแรงงานไทยเป็นระบบที่ไม่อาจยอมรับได้ แรงงานข้ามชาติทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับสิทธิในด้านแรงงานโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ และถึงเวลาแล้วที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะต้องได้รับความคุ้มครองเมื่อได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานเฉกเช่นเดียวกับแรงงานไทย

อนึ่ง สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นสมาพันธ์แรงงานของสมาคมแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย 43 แห่ง ประกอบด้วยสมาชิกกว่า 170,000 คน และเป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่าวสารประชาชนรอบสัปดาห์ 6-12 มิถุนายน 2554

Posted: 13 Jun 2011 01:29 AM PDT

หัวข้อข่าว

 

เอ็นจีโอจวกนโยบายพรรคการเมือง รัฐสวัสดิการไม่คืบ
12 มิ.ย.54 เครือข่ายประชาชนด้านสังคม ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จัดเสวนา “เท่าทันนโยบายพรรคการเมือง-วิพากษ์นโยบายรัฐสวัสดิการ” ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดราว 150 คน

4 นโยบาย จี้ยกเลิก – 8 นโยบาย หนุนลงรายละเอียด
เอกสารประกอบการเสวนา จัดทำมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยถึง “นโยบายพรรคการเมืองที่ใช้ไม่ได้ ประชาชนไม่สนับสนุน ต้องยกเลิกทันที” 4 ข้อ คือ 1.นโยบายสร้างเขื่อน ถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่ 2.นโยบายดึงน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากเขื่อนฮัตจีในพม่า เขื่อนน้ำงึมในลาว หรือแม่น้ำสตรึงนัมในกัมพูชา 3.นโยบายสนับสนุนให้รัฐและเอกชนแสวงหาสัมปทานน้ำมันจากทั่วโลก 4.นโยบายยกเว้นภาษีรถยนต์คันแรก

ในส่วน “นโยบายที่น่าสนใจของพรรคการเมือง” ที่ต้องมีรายละเอียดและมีกระบวนการที่ดีในการดำเนินการ มี 8 ข้อ ดังนี้ 1.นโยบายบริการสาธารณะระบบราง เช่น รถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 สาย 12 สายแต่ละสายเก็บ 20 บาท ผลักดันรถไฟฟ้าความเร็วสูง และปฏิรูปรถไฟทั้งระบบ 2.นโยบายเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพื่อเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เช่น โฉนดชุมชน การจำกัดการถือครองที่ดิน การจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน 3.นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ควรใช้วิธีประกันราคาผลผลิตการเกษตร การประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ แทนการประกันราคาหรือจำนำสินค้าเกษตร

4.นโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องมีการดำเนินนโยบายปฏิรูประบบภาษี ปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่ครอบคลุมเป็นธรรม และจัดเก็บภาษีที่ดิน ทรัพย์สิน มรดก หุ้น แบบอัตราก้าวหน้าทันที 5.นโยบายด้านการสร้างหลักประกันสังคมแบบทั่วถึง เป็นธรรม โดยการจัดการภาษีเพื่อรัฐสวัสดิการสังคมอย่างชัดเจนด้วย 6.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ ยกเลิกบีโอไอ ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน 7.ยกเลิกระบบราชการแบบรวมศูนย์ ยกเลิกหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ทำให้กระทรวงเล็กลง ให้อำนาจการปกครองจัดการตนเองกับประชาชนในระดับจังหวัด 8.ประกาศให้คณะรัฐมนตรีหยุดโกง เพื่อนำเงินมาอัดฉีดเศรษฐกิจของชาติ

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นโยบายหาเสียงเลืองตั้งของพรรคการเมืองเป็นเพียงยาหอมหรือการซื้อฝัน แต่เกิดขึ้นจริงนับครั้งได้ และหากวิเคราะห์นโยบายพรรคใหญ่จะที่มีลักษณะที่ไม่หนีจากกันมากนัก อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำทางนโยบายจากอดีตเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งตรงนี้เห็นว่า ทุกพรรคการเมืองควรเน้นนโยบายด้านระบบประกันสุขภาพให้กับประชาชนทั่วประเทศ มากกว่าการทำนโยบายแบบแก้ปัญหาปลายเหตุ นอกจากนี้ ควรต้องส่งเสริมระบบประกันสุขภาพระบบเดียวทั้งประเทศ ที่มีมาตรฐาน เพราะจะทำให้ประชาชนในชุมชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าเขตเมือง ช่วยความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพได้

อ่านรายละเอียดที่: http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35408

 

ชาวบ้านพร้อมใจขึ้นป้ายต้านนายทุนทำเหมืองเหล็กป่าแม่ถอด-ลำปาง
11 มิ.ย.54 ชาวบ้านใน ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่ถอดเหนือ ม.2 บ้านแม่ถอดใต้ ม.10และบ้านท่าสามัคคี ม.11 รวมกว่า 250 หลังคาเรือน ได้พร้อมใจกันติดป้ายข้อความ เพื่อรณรงค์ให้ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมถึงต่อต้านบริษัท ยุพินวัฒนาธุรกิจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ ที่กำลังจะเข้ามาเปิดเหมืองแร่เหล็ก พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรอยต่อของ 3 หมู่บ้านดังกล่าว เป็นการแสดงพลังไม่ให้เกิดบ่อเหมืองแร่เหล็กขึ้นในพื้นที่

เพราะชาวบ้านวิตกกังวลว่า การเปิดบ่อเหมืองจะสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจะกระทบความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เนื่องจากจุดที่มีแร่เหล็ก และเตรียมจะเปิดบ่อเหมือง อยู่เหนืออ่างเก็บน้ำแม่ถอด และยังอยู่ในพื้นที่ป่าลึก ซึ่งเป็นต้นน้ำ สาขาของแม่น้ำวัง

นอกจากนี้ในที่ประชุมของชมรมเรารักษ์แม่ถอด ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ เป็นชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ยังได้รายงานถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาเปิดบ่อเหมือง ว่า ทางบริษัท กำลังทำทุกวิถีทางที่จะเปิดบ่อเหมืองแร่เหล็กในพื้นที่ดังกล่าวให้ได้ เพราะถือว่ามีแร่เหล็กประมาณ 695,000 เมตริกตัน ในเนื้อที่ 158 ไร่ 1 งาน 54 ตารางวา

ล่าสุดขณะนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ และอยู่ในช่วงขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อกรมป่าไม้ และจากข่าวความเคลื่อนไหวดังกล่าว จึงยิ่งทำให้ชาวบ้าน ได้เตรียมพร้อมออกมาเคลื่อนไหวทุกระยะ และติดตามว่า ภาครัฐจะอนุญาตให้บริษัทเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเปิดบ่อเหมืองหรือไม่

ที่มา: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000071434

 

ชาวบ้านแหลมฉบังหวั่นศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ สร้างปัญหาต่อชีวิต-ความเป็นอยู่
10 มิ.ย. ที่ห้องประชุมชั้น 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายธานี เกียรติพิพัฒนกุล รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง เป็นประธาน ประชุมเพื่อสอบถามความคิดเห็นประชาชน “โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีโครงการก่อสร้างที่ท่าเรือแหลมฉบังในเร็วๆนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่จากการท่าเรือแหลมฉบัง ตัวแทนจากบริษัท เซ้าท์อีสท์เอเซียเทคโนโลยี จำกัด บริษัทสแปน จำกัด และบริษัท ไดนามิค เอ็นยิเนียริ่ง คอนซัลแตนทส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการ และชาวบ้านจากชุมชนต่างๆในแหลมฉบัง ร่วมประชุมในครั้งนี้

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่จะต้องสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน เนื่องจากโครงการจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณรอบพื้นที่ข้างเคียง ดังนั้น จึงให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการ แสดงความคิดเห็น เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆนำเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป

ด้านนาวาเอกชาญชัย จันทรรัตน์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น สำหรับรองรับกิจกรรมของการท่าเรือแหลมฉบังในระยะยาว , เพื่อให้มีรายละเอียดตัวเลขการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนขอบข่ายทางธุรกิจ การเงิน ผลได้เชิงเศรษฐศาสตร์ และประโยชน์เชิงสังคม

โครงการดังกล่าวหากสามารถดำเนินการได้และเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้การขนสินค้า โดยใช้เส้นทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 56 ขบวน ซึ่งจะสร้างรายได้ และทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่แหลมฉบังและประเทศชาติ มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

ด้านนายสุวรรณ์ทอง คำภูมี ประธานชุมชนชากยายจีน กล่าวว่า จากการศึกษาและได้รับข้อมูลจากผู้จัดการโครงการ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่ประเทศชาติจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น หากมีสินค้าเข้า- ออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังเป็นจำนวนมาก โดยผู้ดำเนินโครงการได้ศึกษาเพียงเฉพาะพื้นที่ในท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น ประกอบด้วย สิ่งอำนวยความสะดวก แต่พื้นที่รอบนอกที่รถไฟผ่าน และปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้น ผ่านเขตชุมชนต่างๆ ไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเลย

ที่ผ่านมาประชาชนบริเวณชุมชนต่างๆรอบท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากจะต้องเดินทางสัญจรร่วมกับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ที่ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนั้นต้องเสียเวลาในเส้นทางตัดผ่านของรถไฟ เพราะไม่ได้ทำการศึกษาปัญหาดังกล่าวไว้รองรับ

ด้านนางศิริพร ช่างไม้ หัวหน้างานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลอ่าวอุดม กล่าวว่า ในแผนงานโครงการดังกล่าวหน่วยงานที่รับผิดชอบเขียนโครงการไว้อย่างสวยงาม ว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ต่อโครงการที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเลย แต่กลับได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณตู้สินค้าจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และที่สำคัญการเดินทางของชาวบ้านยิ่งไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย

“การจะขึ้นโครงการหรือมีแผนงานต่างๆ ควรจะต้องมีแผนงานรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ เพราะที่ผ่านมาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีแผนงานรอบรับผู้ประกอบการ แต่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับประชาชน จนสร้างความเดือดร้อนมาโดยตลอด “นางศิริพร กล่าว

อนึ่ง การท่าเรือฯ ได้ว่าจ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด เป็นที่ ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมและการเงินของโครงการฯ ซึ่งคณะกรรมการการท่าเรือฯได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 เห็นชอบรายงานการศึกษาฯ รวมทั้งงบประมาณและรูปแบบการลงทุนของโครงการฯ จำนวน 2,570.000 ล้านบาท เป็น แผนการลงทุนในการดำเนินโครงการฯ จำนวน 2,025.300 ล้านบาท (ไม่รวมส่วนของการ จัดหาเครื่องมือย่อยและระบบ Operation (IT) ที่ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน จำนวน 544.700 ล้านบาท)

มติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงคมนาคมแจ้งการท่าเรือฯให้ดำเนินการตามความเห็นที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอโดยให้การท่าเรือฯ ทบทวนแผนการดำเนินงานของโครงการให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของการรถไฟ ฯในปัจจุบัน พร้อมทั้งเร่งศึกษาความเหมาะสมของอัตราค่าภาระในการ ให้บริการและรูปแบบการ ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วย การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ภายใต้กรอบวงเงิน 39.000 ล้านบาท และนำเสนอโครงการให้ สศช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่งโดยด่วน

คณะกรรมการ การท่าเรือฯ อนุมัติตั้งงบประมาณทำการประจำปีงบประมาณ 2554 รายการจ้าง ที่ปรึกษา จำนวนเงิน 30.000 ล้านบาท เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษา ข้อมูลตามความเห็นของ สศช. พร้อมทั้งออกแบบรายละเอียดสำหรับการก่อสร้างและจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ

การท่าเรือฯ ได้ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 จ้างกลุ่มบริษัท เซ้าท์อีสท์เอเซียเทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์โครงการ และออกแบบราย ละเอียดสำหรับก่อสร้างโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ใน วงเงิน 28,424,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน นับถัดจาก วัน ลงนามในสัญญา ปัจจุบันอยู่ระหว่างที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์โครงการและออกแบบรายละเอียด สำหรับก่อสร้างฯ

ที่มา: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000071080

 

ชาวนา 2 ตำบลทะเลาะปัญหาระบายน้ำจากนาข้าวถูกน้ำท่วม
10 มิ.ย.ที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ชาวบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง 10 คน กับ ชาวบ้านหมู่ที่ 9 ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร 30 ราย ได้พิพาทจากปัญหาการปล่อยระบายน้ำออกจากนาข้าว ที่ถูกน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องไหลเข้าท่วมนาข้าวทั้ง 2 ตำบล กว่า 4,000 ไร่ นายเดช บุญก่ำ ชาวนา หมู่ที่ 2 ตำบลไผ่รอบ จากพื้นที่ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า พื้นที่นาข้าวตำบลไผ่รอบ ที่อยู่ต้นน้ำ ที่มีพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วม 1000 ไร่ ไม่สามารถระบายน้ำได้ เนื่องจาก ถูกประตูระบายน้ำที่กำลังก่อสร้างถนนปิดกันอยู่ น้ำไม่สามารถระบายได้ จึงขอให้เปิดประตูออกบ้าง เพื่อขอระบายลงมา แต่ทางชาวนาตำบลวังจิกไม่ยอม จึงขอให้ทางอำเภอช่วยไกล่เกลี่ยให้

ด้าน นางสายรุ้ง เกตุเม้า อายุ 40 ปี ชาวนา หมู่ที่ 9 ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ชาวนาเขตตำบลวังจิกที่ปลายน้ำ กำลังเร่งระดมสูบน้ำ ออกจากพื้นที่ 3,000 ไร่ ที่กำลังท่วมอยู่ แต่ชาวนาตำบลวังจิกไม่ยอม ให้เปิดประตูระบายน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำที่ลงมาไหลท่วมนาข้าวมีปริมาณกว้างขึ้นและสูงขึ้น และจะทำให้นาข้าวเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่

นายโอภาส เกษมสิน ปลัดอำเภอฝ่ายปกครองโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร จึงได้ไกล่เกลี่ยหาข้อตกลงกับชาวนาทั้ง 2 ฝ่าย ให้หยุดการระบายน้ำออก เนื่องจากเกรงว่าหากเปิดระบายน้ำลงมา จากพื้นที่ตำบลไผ่รอบ ที่ต้นน้ำ จะทำให้พื้นที่ตำบลวังจิก ที่อยู่ปลายน้ำ จะได้รับผลกระทบความเสียหายมากกว่า จึงไม่ให้ระบายน้ำลงมา พร้อมทั้งเร่งขุดลอกคลองตะพาน เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำยม เพื่อช่วยเหลือชาวนา ทั้ง 2 ฝ่าย ชาวนาจึงแยกย้ายกลับ

สำหรับพื้นที่ ตำบลไผ่รอบ และ ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ได้รับผลกระทบจากน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้พื้นที่นาข้าวกว่า 4,000 ไร่ ได้รับผลกระทบ ชาวนาจึงต้องเร่งระบายน้ำออกอย่างเร่งด่วน เนื่องจากยังมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=514352&lang=T&cat

 

ฝางจัดทอดผ้าป่า รำลึก 6 ปี คดีลอบสังหารพระสุพจน์ สุวโจ
วันที่ 10 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ บ้านห้วยงูใน หมู่ที่5 ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จัดงานทอดผ้าป่าพันธุ์ไม้และเมล็ดพันธุ์ไม่ป่า ทั้งนี้จะมีการปลูกป่าเพื่อโลก ปลูกต้นไม้คืนลมหายใจให้มนุษย์ ภายในงานจะมีเวทีเสวนา "6 ปี คดีสังหารพระสุพจน์ สุวโจ กับการฟื้นฟูป่าเพื่อรักษาธรรมชาติ" ในวันที่ 16 - 17 มิถุนายน 2554

เวทีเสวนาและกิจกรรมดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจาก สวนเมตตาธรรมเป็นสวนป่าธรรมชาติขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย สามารถเป็นแบบอย่างในการฟื้นฟูสภาพสวนเกษตรเชิงเดี่ยว ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรปลอดสารเคมี ซึ่งสวนเมตตาธรรมในปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพพื้นที่ธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้พระสุพจน์ สุวโจพร้อมพร้อมทั้งเพื่อนกลุ่มพุทธทาสศึกษาจำนวน 4 รูป เป็นผู้บุกเบิกในการจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรมพร้อมกับการฟื้นฟูสภาพป่า

ทั้งนี้ ปี2544-2548 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกับทางการเมือง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมอบายมุขให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งพระสุพจน์ สุวโจและเพื่อนภิกษุได้ร่วมกับหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนถูกขมขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด วันที่ 17 มิ.ย. 2548 พระสุพจน์ สุวโจ ถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ด้วยของมีคมไม่ทราบชนิด จนเกิดบาดแผลฉกรรจ์กว่า 20 แผล และถูกพบศพในพื้นที่สถานปฏิบัติธรรม ทั้งนี้คดีสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2548 จนถึงปัจจุบัน คดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มูลนิธิเมตตาธรรมเป็นองค์กรรับผิดชอบ สวนเมตตาธรรม สวนป่าเมตตาธรรม และสวนปฏิบัติธรรม ซึ่งมีกลุ่มชนเผ่าพร้อมมูลนิธิฯช่วยฟื้นฟูสภาพป่ากว่า 400 ไร่ อีกทั้งส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน การศึกษา การอนุรักษ์ และการรักษาสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ วันที่ 16 มิ.ย. 54 ณ สวนป่าเมตตาธรรม และสถานปฏิบัติธรรม บ้านห้วยงูใน หมู่ที่5 ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จะมีการล้อมวงเสวนาเรื่อง "6 ปี คดีสังหารพระสุพจน์ สุวโจ กับการฟื้นฟูป่าเพื่อรักษาธรรมชาติ" และวันที่ 17 มิถุนายน 2554 จะมีกิจกรรมปลูกป่าและพิธีถวายผ้าป่าพันธุ์ไม้.

ที่มา: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n5_10062011_01

 

สลัม 4 ภาค เปิดข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง
10 มิ.ย. 54 เฟซบุ๊กเครือข่ายสลัม 4 ภาค เผยแพร่ข้อเสนอนโยบายจากการจัดประชุมของเครือข่ายฯ ต่อพรรคการเมืองทุกพรรค ที่จะมาบริหารประเทศภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 โดยข้อเสนอดังกล่าวจะถูกนำไปรวมกับข้อเสนอขององค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้วนำเสนอในเวทีใหญ่ในวันที่ 24 มิ.ย.54 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

ทั้งนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ก่อตั้งเมื่อปี 2541 เป็นภาคองค์กรประชาชน ที่เคลื่อนไหวในฐานะขบวนการของคนจนในเขตเมือง ซึ่งรณรงค์ในประเด็นการปฏิรูปที่ดินในเมือง เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง รวมทั้งผลักดันในเชิงนโยบายเพื่อการแสวงหาความเป็นธรรมทางสังคมโดยร่วมกับขบวนการประชาชนและภาคประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ ปัจจุบันเครือข่ายสลัม 4 ภาค มีองค์กรสมาชิก 10 เครือข่าย 110 ชุมชน ประชากรราว 7,000 ครอบครัว

ข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ต่อพรรคการเมือง
หมวดที่ดิน ที่อยู่อาศัย

  1. ให้มีการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
  2. ให้เร่งจัดตั้งธนาคารที่ดิน สานนโยบายดำเนินการต่อ
  3. ออกนโยบายจำกัดการถือครองที่ดิน
  4. เร่งออกกฎหมายโฉนดชุมชน
  5. ให้ยกเว้นการเก็บค่าบริการติดตั้งและขยายพื้นที่สาธารณูปโภค น้ำประปา-ไฟฟ้าสำหรับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐและคนจน

หมวดคุณภาพชีวิตและสวัสดิการ

  1. ให้มีมาตรการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียว
  2. ให้มีกฎหมายบำนาญชราภาพ
  3. ให้ออกมาตรการการศึกษาที่ฟรีจริง และมีคุณภาพ

หมวดกฎหมายและนโยบาย

  1. เก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า
  2. เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่ม
  3. ยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมโดยทันที

ที่มา: http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35375

 

กฟผ.-ชาวบ้าน เจรจายอมความไม่ฟ้องคดี จากเหตุปะทะค้านวางแนวสายส่งไฟฟ้า
9 มิ.ย.54 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มีการเชิญ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมทั้งชาวบ้านและนักศึกษา เข้าประชุมชี้แจง ตลอดจนหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับความรุนแรงและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเหตุการณ์วันที่ 27 พ.ค.54 จากกรณีการก่อสร้างฐานรากและตั้งเสาไฟฟ้าในโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 –อุดรธานี 3 ในท้องที่ ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี และ ต.หนองไผ่ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ซึ่งถูกกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.เข้าดำเนินการในพื้นที่จนนำไปสู่การจับกุมชาวบ้านและนักศึกษาจำนวน 15 คน

สืบเนื่องจาก กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียน และติดตามประเด็นปัญหาจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงว่า กฟผ.มีแผนการจะเข้าดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพืชผล ในพื้นที่ที่จะก่อสร้างฐานรากและตั้งเสาไฟฟ้าในโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.54 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีข้อกังวลในการเข้าดำเนินการก่อสร้าง โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นพ.นิรันด์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่าไม้ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือ และมีความเห็นขอให้ กฟผ.ชะลอการดำเนินการก่อสร้างโครงการไว้ก่อน เนื่องจากยังมีประเด็นการฟ้องร้องต่อศาลปกครองซึ่งยังไม่มีคำวินิจฉัย อีกทั้งมีการประเมินสถานการณ์ว่า การดำเนินการของ กฟผ.จะทำให้เกิดความขัดแย้ง มีการปะทะรุนแรง และนำมาซึ่งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ผู้สื่อข่าวรายงานผลการพูดคุยว่า ในประเด็นเรื่องคดีความ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ค.54 ทั้งฝ่ายชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ กฟผ.ตกลงร่วมกันไปทำบันทึกประจำวันไม่เอาความกันทั้งสองฝ่าย ที่พนักงานสอบสวน โดยจะมีนายอำเภอ และ ตัวแทนจาก กสม.เข้าร่วมเป็นพยาน ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 13 มิ.ย.54 ทั้งนี้ ในส่วน กฟผ.รับว่าจะทำหนังสือว่าไม่เอาความกับชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านรับว่าจะทำหนังสือว่าจะไม่แจ้งความกลับต่อ กฟผ.จากเหตุการณ์ในวันนั้นเช่นกัน

อนึ่ง การแจ้งข้อกล่าวหาต่อชาวบ้านและนักศึกษาจำนวน 15 คนว่า ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนประเด็นเรื่องค่าทดแทน ตัวแทนจาก กกพ.ยืนยันว่าหลังจากที่พิจารณาอุทธรณ์ค่าทดแทนไปแล้ว กกพ.ก็หมดหน้าที่ แต่นายอภินันท์ บุญญเศรษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายที่ดิน กฟผ.กล่าวว่าในส่วนของ กฟผ.สามารถยืดหยุ่นหรือเพิ่มค่าเสียหายได้จากตามระเบียบเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามจะมีการนัดเจรจาสามฝ่ายในพื้นที่พิพาท เพื่อกำหนดค่าทดแทนรายคน รวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ จากการดำเนินการของ กฟผ.ต่อไป

ในส่วนของรายงานผลการตรวจสอบโดยละเอียดอยู่ระหว่างการจัดทำ ของกองเลขา กสม.

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเสาและวางแนวสายไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 –อุดรธานี 3 มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 86.8 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากสถานีไฟฟ้าย่อยน้ำพอง 2 (จ.ขอนแก่น) ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยอุดรธานี 3 พาดผ่านพื้นที่ 15 ตำบล 8 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น และอุดรธานี มีจำนวนเสาทั้งหมด 210 ต้น ที่ดินได้รับผลกระทบจำนวน 1,167 แปลง ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านยังไม่ยินยอมเหลืออยู่ 16 ราย คิดเป็นที่ดิน 26 แปลง และเสา 3 ต้น ในพื้นที่ ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี และ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดร

โครงการก่อสร้างดังกล่าวเชื่อมโยงระบบมาจากการรับซื้อไฟฟ้าในประเทศลาว คือ สายส่งไฟฟ้า 500 kv ชายแดน (บริเวณจ.หนองคาย) – อุดรธานี3 และเชื่อมต่อไปยังน้ำพอง 2 – ชัยภูมิ 2 - ท่าตะโก (จ.นครสวรรค์) ซึ่งการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้านี้อยู่ในโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 11 มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 - 2554 โดย กฟผ.เป็นผู้ดำเนินโครงการ และมีแผนที่จะให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

ที่มา: http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35353

 

เตรียมจัดเวทีสาธารณะโครงการมาบตาพุด
8 มิ.ย.-องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะจัดเวทีสาธารณะร่างความเห็นโครงการผลิตเอทธิลีนออกไซด์ฯ ที่มาบตาพุดสัปดาห์หน้าก่อนสรุปส่งกลับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(กอสส.) ให้ความสัมภาษณ์ในโอกาสครบรอบ 1 ปีการก่อตั้งตามรัฐธรรมนูญว่า ภารกิจหลักคือการพิจารณาโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง หลังศาลประกาศ 11 กลุ่มโครงการฯ แล้ว โดยโครงการโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์และเอทิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ได้เข้ามาสู่การพิจารณาให้ความเห็นเพื่อส่งกลับไปยัง กระทรวงอุตสาหกรรมภายใน 60 วัน หรือวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ซึ่งในวันที่ 14 มิถุนายน จะจัดเวทีสาธารณะที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมกันให้ความเห็นก่อนสรุปต่อไป และคาดว่ามีอีก 6 โครงการที่จะส่งมายัง กอสส.โดยเร็ว ส่วนใหญ่เป็นโครงการในพื้นที่มาบตาพุด เช่น ท่าเรือ ปิโตรเคมี รวมทั้งโครงการท่าเรือที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งบางโครงการ กอสส.ได้ศึกษาข้อมูลลงพื้นที่ล่วงหน้าแล้ว โดยประธาน กอสส.ยืนยันว่าจะสรุปความเห็นต่อโครงการต่าง ๆ บนหลักการของความไม่เอนเอียง ยึดความถูกต้องเป็นธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคม และต้องเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ยกระดับของทุกภาคส่วนได้

ประธาน กอสส.กล่าวด้วยว่าภารกิจหลักอีกด้านหนึ่ง คือ วางรากฐานขององค์การให้เข้มแข็ง ได้แก่ สำนักงาน บุคลากร การสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม และการเตรียมข้อมูลล่วงหน้าของ 11 โครงการมาบตาพุดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง.-สำนักข่าวไทย

ที่มา: http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/220757.html

 

กลุ่ม “รักษ์แม่ถอด” ย้ำจุดยืนต้านเปิดเหมืองเหล็กเมืองเถิน
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของ อ.เถิน จ.ลำปาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน และชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้านใน ต.แม่ถอด อ.เถิน กว่า 100 คนได้เดินเท้าเข้าไปในป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างบ้านแม่ถอดเหนือ ม.2 บ้านแม่ถอดใต้ ม.10 และบ้านท่าสามัคคี ม.11 ต.แม่ถอด อ.เถิน เพื่อดูหลักหมุดกำหนดจุดที่จะเปิดเป็นเหมืองแร่เหล็ก ที่บริษัท ยุพิน วัฒนาธุรกิจ จำกัด กำลังขอประทานบัตรเหมืองแร่ในผืนป่าดังกล่าว บนเนื้อที่ 158-1-54 ไร่ ที่คาดว่ามีแร่เหล็กอยู่ประมาณ 695,000 เมตริกตัน

หลังจากที่ผ่านมา กว่า 1 ปี ชาวบ้านใน ต.แม่ถอด โดยเฉพาะชาวบ้านใน 3 หมู่บ้านข้างต้น ได้ออกมาคัดค้านการเปิดเหมืองแร่เหล็กนี้มาโดยตลอด โดยระบุว่า บริษัทดำเนินงานไม่โปร่งใส่ ทั้งที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยต่อการเปิดบ่อเหมือง เกรงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น เพราะพื้นที่เหมืองอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำแม่ถอด และอยู่ในป่าลึก ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ

และในการนำเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเข้าตรวจสอบพื้นที่ในครั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์แม่ถอด ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า จะต่อต้านการเปิดบ่อเหมืองอย่างถึงที่สุด

พวกเขาย้ำว่า ชาวบ้านกว่า 250 หลังคาเรือน อยู่ที่นี้มานาน แต่การเปิดเหมืองแร่เหล็ก จะทำให้ชาวบ้านอยู่ในแผ่นดินบ้านเกิดไม่ได้ เพราะปัญหาผลผลกระทบที่จะตามมาอย่างใหญ่หลวง ดังนั้น ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย จึงต้องรวมตัวกันคัดค้าน และต่อต้านอย่างถึงที่สุด

สำหรับพื้นที่ดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีไม้สงวนขนาดใหญ่ อายุกว่า 100 ปี อยู่เป็นจำนวนมาก หากมีการเกิดบ่อเหมืองแน่นอนว่า ต้นไม้จะต้องถูกตัด แหล่งน้ำทางธรรมชาติก็จะต้องหายไป และระบบนิเวศก็จะไม่สมดุล

ที่มา: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000070373

 

ชาวบ้านภูซาง-เชียงคำ บุกจี้จังหวัดฯถอนโฉนด 300 ไร่ทับป่าชุมชน
ชาวบ้านภูซาง - เชียงคำ กว่า 300 คนรวมตัวเข้าเรียกร้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน 300 ไร่ ออกโดยมิชอบและทับที่ป่าชุมชน ขณะที่จังหวัดเรียกแกนนำชาวบ้านเข้าเจรจาเจ้าของกรรมสิทธิ์ พร้อมรับปากตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและพิสูจน์

รายงานข่าวจากจังหวัดพะเยา แจ้งว่า ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง และตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งนำโดยนายกิตติพงษ์ ธนะ กำนันตำบลทุ่งกล้วย อ.ภูซาง รวมกว่า 300 คน ได้รวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา บ่ายวันที่ 8 มิ.ย.54

ทั้งนี้ เพื่อเข้าเรียกร้องกับทางจังหวัดพะเยา ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินของนายทุน ที่ชาวบ้านระบุว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินทับที่ป่าชุมชนของชาวบ้านในพื้นตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จำนวนกว่า 97 ไร่ และในตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ อีกกว่า 200 ไร่ รวมประมาณ 300 ไร่

นายกิตติพงษ์ ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชุมชนที่เคยเข้าทำกินมานานนับหลายสิบปี แต่ล่าสุดได้มีการออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินให้กับกลุ่มนายทุน ทั้งที่รอบบริเวณพื้นที่ก็ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดแต่อย่างใด จึงเรียกร้องให้จังหวัดเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าว

ด้านนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้เรียกเจ้าหน้าที่และกลุ่มเจ้าของสิทธิที่ดินและชาวบ้านเข้าเจรจา ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด โดยตกลงที่จะตั้งกรรมการเข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวว่ามีการออกเอกสารสิทธิถูกต้องหรือไม่

ขณะที่ชาวบ้านไม่พอใจ ได้เรียกร้องที่จะขอพบผู้ว่าฯ และปักหลักรอเพื่อให้ผู้ว่าฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ต่อมานายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้เข้ารับเรื่องอีกครั้งพร้อมทั้งเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อส.กว่า 100 นาย

ผู้ว่าฯพะเยา ยืนยันว่า คณะกรรมการทั้งสองฝ่ายที่จะตั้งขึ้นมานั้น จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการออกโฉนดว่าเป็นการออกโฉนดโดยชอบหรือไม่ พร้อมทั้งแจ้งให้กับชาวบ้านทราบภายใน 10 วัน

ทั้งนี้ ชาวบ้านยืนยันว่าหากไม่เป็นไปตามที่ผู้ว่าฯกล่าวก็จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยต่อไป ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยไม่เหตุการณ์รุนแรงใดๆ

ที่มา: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000070327

 

พบเกษตรกรแพร่เจอโทษจำคุกแล้ว หลังไม่ยอมจ่าย 2 หมื่นให้ ตร.แลกเป่าคดีรุกป่า
เปิดบทเรียนสังคมไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น พบเกษตรกรเมืองแพร่ ถูกศาลสั่งติดคุกข้อหารุกป่าสงวนแห่งชาติ หลังไม่ยอมจ่ายใต้โต๊ะ 2 หมื่นบาท ให้ตำรวจ ทั้งที่ ครม.มีมติผ่อนผันให้อยู่อาศัยในที่ดินเขตป่า สุดท้ายถูกพนักงานสอบสวนร่ายมนต์ส่งฟ้อง ด้านเครือข่ายลุ่มน้ำแม่สรอย เคลื่อนไหวประณามรัฐ

นายทิศ มูลลี อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 130/1 หมู่ 10 ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ เกษตรกรยากจนซึ่งถูกข้อหายึดครองถือครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถางป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องเข้าฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดแพร่ บัลลังก์ 2

ทั้งนี้ มีนายพิทักษ์ รัตนเดชากร ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาศาลได้อ่านคำพิพากษาความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2554 เรื่องความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง 72 ตรีวรรคหนึ่ง ปรับ 10,000 บาท จำคุก 6 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

การตัดสินดังกล่าวทำให้ นายทิศ มูลลี กลายเป็นผู้กระทำความผิดไปในทันที แม้ว่าพื้นที่ของนายทิศ จะมีหลักฐานการถือครอง กรมป่าไม้ทำการรังวัดแยกระวางป่าสงวนแห่งชาติแม่สรอยให้กับนายทิศ รอการออกเอกสารสิทธิทำกิน (สทก.10) ร่วมกับเกษตรกรอีกจำนวน 38 รายก็ตาม และการแบ่งระวางดังกล่าวออกโดยงานการจัดการที่ดินป่าไม้ศูนย์ประสานงานป่าไม้แพร่ 140 ถนนยันตรกิจโกศล ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ โดยได้ออกหนังสือรับรอง ระบุว่า เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ที่จะดำเนินการออก สทก.1 ตามแผนงานของกรมป่าไม้ ซึ่งอยู่ในช่วงดำเนินการ

นายทิศ กล่าวว่า ตนออกไปทำไร่ เตรียมที่ดินปลูกข้าวโพด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ในที่ดินของ นางไพริน มูลลี ภรรยา และ นายสมนึก ตุ้ยหนิ้ว ญาติ ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่บริเวณป่าห้วยปางจาว หมู่ 1 ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งจุดที่ไปทำไร่อยู่ในระวางที่ป่าไม้อนุญาตให้แล้ว ขณะกำลังเตรียมปลูกข้าวโพดมีเฮลิคอปเตอร์ บินลงมาส่งเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม ถึงแม้ว่าตนจะแจ้งว่า เป็นที่ดินที่อนุญาตแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ฟังยังคงจับกุม

หลังถูกจับกุมตนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยภาครัฐ ที่มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นประธาน ซึ่งต่อมากรมป่าไม้ได้เข้ามาตรวจสอบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 ส่ง นายจรัส นีรนาทไพบูลย์ หัวหน้าสายตรวจการปราบปรามการกระทำผิดว่าด้วยกฎหมายป่าไม้ภาคเหนือ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกรมป่าไม้ โดยมีนายธัญภาคย์ ริมฝาย หัวหน้าสายตรวจการกระทำผิดว่าด้วยกฎหมายป่าไม้ จ.แพร่ เข้าตรวจสอบ

พบว่า จุดที่เกิดเหตุนายทิศ ไม่ได้ทำการบุกรุก แต่เป็นพื้นที่ สทก.เก่า และมีการรังวัดใหม่ สังเกตได้จากหลักเขตที่ดินมีตั้งอยู่ 2 หลัก ซึ่งนายจรัส พร้อมที่จะไปให้การในชั้นศาลช่วยชาวบ้าน ในขณะเดียวกันนายสหวิทย์ อภิชัยวิศรุตกุล นายอำเภอวังชิ้น ได้ทำหนังสือยืนยันไปยังอัยการจังหวัดแพร่ ว่า ไม่มีเจตนาบุกรุก

นายทิศ กล่าวต่ออีกว่า การที่ตนต้องถูกดำเนินคดีเนื่องจากพนักงานสอบสวน สภ.สรอย เรียกรับเงินจำนวน 20,000 บาทในการทำคดีให้สั่งไม่ฟ้องแต่ไม่มีเงินจ่าย และเครือข่ายอนุรักษ์ป่าลุ่มน้ำแม่สรอย ยืนยันว่าไม่ต้องจ่าย ทำให้ตนไม่ไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายตำรวจ แต่หลังจากนั้นคดีได้นำส่งอัยการและอัยการก็สั่งฟ้องในเวลาต่อมา

“ผมไม่เข้าใจเลยว่า กฎหมายเมืองไทยทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ที่ดินของผมมีมติคณะรัฐมนตรีให้ผ่อนผันการจับกุมชัดเจน แต่ยังถูกจับดำเนินคดี ชาวบ้านรายอื่นๆ ไม่เห็นถูกจับเหมือนกับผม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งศาลดังกล่าว กำลังทำให้ชาวบ้านที่ถือครองที่ดินแบบเดียวกัน หวั่นว่าจะถูกดำเนินคดีด้วย

พระยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ความไม่เป็นธรรมในสังคม แม้ว่าจะมีการชี้แจงหลักฐาน และแนวทางนโยบายรัฐ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สนใจที่จะรักษาความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในสังคม นายทิศ เป็นเพียงเหยื่อของการโกงกิน ในการรีดเงินใต้โต๊ะ ถ้าไม่ให้ประชาชนย่อมรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตนเอง เพราะฉะนั้นถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปประเทศล่มสลายแน่

“อาตมาจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และกรรมการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป”

ที่มา: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000069811

 

ชาวบุรีรัมย์รุกป่า “ดงใหญ่” บุกร้องผู้ว่าฯ ชะลอคดีฟ้อง 3 แกนนำ-หยุดขับออกจากป่า
ชาวบ้านผู้ไร้ที่ทำกินกลุ่มเก้าบาตร 1 ใน 6 กลุ่มที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์กว่า 100 คนบุกร้องผู้ว่าฯ ให้ประสานอัยการชะลอการสั่งฟ้อง 3 แกนนำที่บุกรุกป่า รวมทั้งให้ทางราชการและทหารยุติผลักดันขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า จนกว่ารัฐบาลจะออกโฉนดชุมชนแล้วเสร็จ

7 มิ.ย. เมื่อเวลา 13.00 น. ชาวบ้านผู้ไม่มีที่ทำกิน ชุมชนเก้าบาตร ม.1 และ ม.10 บ.ลำนางรอง ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มที่เข้าไปบุกรุกทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง กว่า 100 คน ได้รวมตัวชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ และยื่นหนังสือร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

ทั้งนี้ เพื่อให้ประสานกับทางสำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ชะลอการพิจารณาสั่งฟ้อง นายรุน สร้อยสด , นายไพฑูรย์ สร้อยสด และนายนวล เทียนพิมาย 3 แกนนำ ที่ถูกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครอง แผ้วถาง ก่นสร้าง หรือกระทำการใดๆ ที่ผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ”

พร้อมกันนี้ ชาวบ้านที่มาชุมนุมยังได้เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายทหารยุติการเข้าไปผลักดันขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนฯ และให้รอจนกว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการตามนโยบายโฉนดชุมชนเสร็จสิ้น โดยอ้างว่าไม่มีที่ทำกิน

ขณะที่ทางจากนั้นทางจังหวัด ได้มอบหมายให้นายบรรยงค์ วงศ์กนิษฐ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นตัวแทนในการรับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านที่มาชุมนุม

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รับปากกับชาวบ้าน ว่า จะดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาพูดคุยเจรจาตกลงกันตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง เพราะทางจังหวัดไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานอัยการจังหวัดได้

ด้าน นายกว่าง สุทธิ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 32 ม.1 บ.ลำนางรอง ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่มาชุมนุม อ้างว่า เดิมพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นที่ทำกินของชาวบ้านมาก่อนแต่ทางภาครัฐได้ให้บริษัทเอกชนเข้าไปเช่าปลูกต้นยูคาลิปตัส โดยรับปากว่าหากเอกชนหมดสัญญาสัมปทาน จะทำการจัดสรรคืนพื้นที่ให้ชาวบ้านทำกิน และขณะนี้ชาวบ้านกลุ่มบ้านเก้าบาตรกำลังดำเนินการยื่นเรื่อง ขอเข้าไปทำกินในพื้นที่ป่ากับรัฐบาลในโครงการโฉนดชุมชน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติ

แต่ล่าสุด แกนนำทั้ง 3 ได้ถูกจับดำเนินคดีฐานบุกรุกป่า และมีการเข้าไปผลักดันขับไล่ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับทางจังหวัดดังกล่าว

ที่มา: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000069506

 

ชาวบ้านแตกตื่นรถบรรทุกสารคาร์บอนไดออกไซด์รั่วฟุ้งกระจายทั่วขณะขับเข้านิคมฯแหลมฉบัง
รถบรรทุกสารคาร์บอนไดออกไซด์เหลววาล์วรั่ว สารฟุ้งกระจายบนถนนทางเข้านิคมอุตสาหกรรมนิคมแหลมฉบัง ทำให้ประชาชนแตกตื่น

7 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งว่า มีรถบรรทุกสารเคมีรั่วไหลฟุ้งกระจายไปทั่วจอดอยู่ที่ถนนสายข้างทางต่างระดับเข้านิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง หมู่ 3 ต.ทุ่งศุขลาออ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทำให้ต้องทำการปิดถนน โดยให้รถที่จะเข้านิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ไปใช้เส้นทางอื่นเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตราย

หลังจากรับแจ้งจึงประสานไปยังฝ่ายบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครแหลมฉบัง ให้ส่งรถดับเพลิงมาช่วยฉีดน้ำสกัดกลุ่มควันสีขาวที่ลอยฟุ้งกระจายออกมาจากแท็งก์บรรทุกสารคาร์บอนไดออกไซด์เหลว รวมทั้งประสานไปยังท่าเรือแหลมฉบังให้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีออกมาตรวจสอบว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายหรือไม่

โดยรถบรรทุกดังกล่าวยี่ห้อฮีโน่ หัวสีขาว หมายเลขทะเบียน 62-5179 สมุทรปราการ บรรทุกแท็งก์ สารคาร์บอนไดออกไซด์เหลวมา มี นายอนุสิทธิ์ แฝงจันทร์ อายุ 46 ปี คนขับรถแจ้งว่าขณะขับรถมาปรากฏว่ามีกลุ่มควันลอยออกมาจากด้านข้างรถจึงจอดรถตรวจสอบพบว่าวาวที่ปิดข้างแท็งก์นั้นชำรุดจึงทำให้สารคาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่บรรทุกมารั่วไหลออกมารอบๆบริเวณรถ

โดยสารดังกล่าวนั้นไม่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจแต่อย่างไร แต่ประชาชนที่ขับรถผ่านไปมาบนทางต่างระดับต่างตกใจกลัวรวมถึงชาวบ้านข้างเคียงต่างหวาดผวากลัวเป็นสารเคมีที่อันตราย ซึ่งทางรถดับเพลิงพยายามฉีดน้ำขจัดควันสีขาวที่ลอยออกมาจากแท็งก์กว่า 1 ชม.แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดควันที่ลอยออกมาได้ ต้องรอผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบและหาทางแก้ไขต่อไป

ที่มา: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000069560

 

กลุ่มสตรีกาญจน์บุกจี้ผู้ว่าฯจัดการนายทุนบุกรุกแม่น้ำแม่กลอง
กลุ่มสตรีกาญจน์เดินทางขึ้นศาลากลางจังหวัดยื่นหนังสือ ผวจ.กาญจน์ เร่งตรวจสอบนายทุนบุกรุกแม่น้ำแม่กลอง พร้อมมอบภาพถ่ายสถานที่ถูกบุกรุกเพื่อเป็นหลักฐาน ผู้ว่าฯเตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบบุกรุกจริงดำเนินการตาม กม.ทันที

เมื่อเวลา 12.30 น.(7 มิ.ย.) ที่บริเวณศาลากลางชั้น 2 นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มสตรีจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมคณะเดินทางเข้าพบ นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบกลุ่มนายทุนบุกรุกแม่น้ำแม่กลองพร้อมกับมอบหลักฐานเป็นรูปถ่ายในการตรวจสอบ

นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มสตรีจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวภายหลังว่า เนื่องจากพื้นที่หมู่ 2 บ้านท่านกเอี้ยง ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ตลอดลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐได้เวนคืน พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าของที่ดินในขณะนั้นเพื่อให้กรมชลประทานใช้พื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กลอง เพื่อช่วยเกษตรกรในหลายจังหวัด

หลายสิบปีที่ผ่านมาพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่จำนวนหลายพันไร่ หลังจากเวนคืนจากชาวบ้านแต่กรมชลประทานไม่ได้พัฒนาอะไรเลย ปล่อยให้พื้นที่รกร้างและไม่ควบคุมดูแลพื้นที่ จนมีผู้บุกรุกใช้ประโยชน์ส่วนตัวในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อทวงถามกรมชลประทานกลับบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของราชพัสดุ ธนารักษ์เป็นผู้ดูแล

จากการสอบถาม ราชพัสดุ ก็ได้คำตอบว่า พื้นที่ดังกล่าวราชพัสดุไม่เคยอนุญาตให้ใครเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ และไม่อนุญาตให้ใครไปทำการก่อสร้างอาคารแต่อย่างใด มีคนมาขอเช่นกันแต่ก็ไม่อนุญาต แต่อย่างไรก็ตามนส่วนของกรมเจ้าท่าที่มีหน้าที่ดูแลริมน้ำทั้งสองฝั่งได้ปล่อยปะละเลยปล่อยให้มีการ กองหิน กองทราย บุกรุกริมตลิ่งแม่น้ำ ถือว่าผู้กระทำดังกล่าวยึดสมบัติของชาติมาเป็นของส่วนบุคคล

ประธานกลุ่มสตรีจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต่อว่า พวกตนสืบทราบมาว่า การบุกรุกที่หลวงผืนนี้ตลอดสองฝั่งแม่น้ำ มีกลุ่มนักธุรกิจซึ่งเป็นนายทุน รวมทั้งกลุ่มคนมีสี กลุ่มคนใจกล้า บุคคลเหล่านี้ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง กล้าบุกรุกที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ปัจจุบันการตรวจสอบพื้นที่ก็แสนง่าย เพียงเปิดกูเกิ้ล เอเชียพ้อยท์ เท่านั้นดาวเทียมก็ส่งสัญญาณแจ้งแสดงเหตุ สามารถรู้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทันที

“โดยพื้นที่สองริมฝั่งลุ่มน้ำเป็นพื้นที่หลวงที่ผู้แสดงเป็นเจ้าของที่ดินเดิมได้รับเงินจากงบประมาณแผ่นดินไปแล้วเมื่อครั้งก่อสร้างเขื่อนแม่กลอง หลักฐานทั้งหมดยังมีอยู่ ใครก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปจับจองเป็นเจ้าของที่ดินใหม่ได้ จะต้องปล่อยให้ฟื้นสภาพเดิมตามธรรมชาติของมัน ในเมื่อมีผู้บุกรุกดังนั้นวันนี้ ตนจึงมายื่นหนังสือ พร้อมรูปถ่ายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบอย่างจริงจัง ว่าใครมีส่วนร่วมในการบุกรุก จับจอง และถือครองที่หลวงทั้งสองฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย” นางภินันทน์ กล่าว

ด้าน นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผวจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียน พร้อมหลักฐานภาพถ่ายจากกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ซึ่งตนจะประสานกับหน่วยงานรัฐที่มีส่วนดูแลพื้นที่ ถ้าตรวจสอบพบว่า มีกลุ่มนายทุนบุกรุกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามที่กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ร้องเรียนมาจริง ก็จะทำการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป

ที่มา: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000069433

 

ชาวขุนยวมร้องผู้ว่าฯ ค้านนายทุนตัดถนนขนไม้พม่า หวั่นกระทบผืนป่า-วิถีชีวิต
ชาวบ้านแนวชายแดนไทย-พม่า อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 100 คน โร่ร้องผู้ว่าฯ ตรวจสอบบ.นายทุนทำไม้ในพม่าจะสร้างถนนผ่านเขตป่า ชาวบ้านเผยหวั่นผลกระทบผืนป่าและวิถีชีวิตชาวบ้าน

8 มิ.ย. 54 ชาวบ้านแนวชายแดน ไทย- พม่า บ้านนาหัวแหลม ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อคัดค้านการตัดถนนของบริษัททำไม้ในพม่าที่จะสร้างถนนผ่านเขตป่า และให้ยุติการการอนุญาตและยกเลิกโครงการดังกล่าวทันที เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบผืนป่าและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก บริษัท ไนน์ออร์เนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำไม้ในพม่า มีโครงการจะขอสร้างถนนเข้าไปช่องทาง 99 บ้านหัวแหลม ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเข้าทำไม้ในเขตประเทศพม่า ซึ่งได้มีตัวแทนราษฎรบ้านนาหัวแหลม หมู่ที่ 7 และราษฎรจาก 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านหัวเงาหมู่ที่ 2 บ้านห้วยนา หมู่ 5 บ้านนาหัวแหลม หมู่ที่ 7 ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ได้แสดงการคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบผืนป่าและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว

นายสิทธิชัย บุญระชัยสวรรค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เงากล่าวว่า "พื้นที่ตำบลแม่เงามี จำนวน 8 หมู่บ้านซึ่งในจำนวนหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลแม่เงานั้นมีจำนวน 4 หมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ( พม่า )คือ บ้านนาหัวแหลม หมู่ที่ 7 ,บ้านหัวเงา หมู่ที่ 2 ,บ้านห้วยนา หมู่ที่ 5 บ้านห้วยต้นนุ่น หมู่ที่ 4 ซึ่งในขณะนี้ได้มีบริษัทไนท์ ออน เนอร์ ซึ่งอ้างว่าได้รับอนุญาตให้นำไม้เข้ามาในเส้นทางช่องบ้านนาหัวแหลม ( ช่องทาง 99 )

ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่เงาเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่างๆ ตามมาและจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่ทำกินของชาวบ้าน ด้านป่าไม้และสัตว์ป่า เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเวียงหล้า อีกทั้งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน ปัญหาการอพยพของแรงงานข้ามชาติ และรวมไปถึงธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ

ดังนั้นหากมีการอนุญาตให้มีการดำเนินการเปิดเส้นทางดังกล่าวจะเป็นปัญหาในอนาคตแน่นอน ทางชาวบ้านจึงขอให้ทางผู้ว่าราชการในฐานะเป็นพ่อเมือง และกำกับดูแลความสงบสุขของพ่อแม่พี่น้องชาวบ้าน แจ้งให้บริษัทให้ยุติดการเปิดเส้นทางดังกล่าวโดยทันที ส่วนชาวบ้านจะทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงต่างๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจเบื้องบนต่อไป"นายสิทธิชัยกล่าว

ด้านนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า "สิ่งที่ชาวบ้านทำหนังสือร้องทุกข์และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของบริษัทที่จะมีการนำไม้ออกมาในช่องทางนี้นั้น ส่วนทางจังหวัดจะตั้งคณะกรรมการขึ้น สามฝ่ายเพื่อตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ส่วนตัวรับทราบเพียงว่าบริษัทนี้มีความเคลื่อนไหวมานานแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรที่บ่งชัดว่าเขาจะนำไม้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มันเป็นเวลาล่วงมา 1 ปีจนถึงเดือนธันวาคม ทางบริษัทได้นำหลักฐาน เรียกว่าใบ CO ซึ่งพม่าจะขายไม้มาแล้วเป็นถิ่นกำเนิดของไม้ และจะกำหนดว่าจะเข้าทางช่องทางไหน ทางจังหวัดยังไม่ได้พิจารณาเป็นแนวทางว่า จะให้นำไม้เข้ามาในช่องทางนั้นหรือไม่ เพราะคำร้องที่จังหวัด เป็นเพียงการเข้าไปดูสินค้า หลังจากนี้ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนเอง จะต้องดูขั้นตอนอีกหลายขั้นตอน โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมาย แล้วจะแจ้งให้กับทางบริษัทต่อไป"นายกำธรกล่าว

นางสาวผ่องพรรณ สุภรัตน์ประไพ ผู้ใหญ่บ้านนาหัวแหลม ได้เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า "เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมามีบริษัททำไม้เข้าไปทำไม้ช่องทาง 99 มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนั้นได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด แรงงานพม่าทะลักเข้ามา จนเกิดอาชญากรรม และหากมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเจ้าหน้าที่มักจะโยนปัญหาให้กับคนในหมู่บ้านบริเวณนี้มาโดยตลอด

นอกจากนี้ เคยมีประชาชนในหมู่บ้านถูกฆ่าตายแต่ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ กระทั่งรัฐบาลสมัยต่อมามีการสั่งการยกเลิกการทำไม้ในเขตพม่า ประชาชนในพื้นที่กลับมามีความสุขอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และผืนป่าได้เริ่มฟื้นขึ้นใหม่อีกรอบ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าหลายชนิดมาอยู่ในเขตต้นน้ำ และประชาชนในพื้นที่อยู่ด้วยกันทั้ง 3-4 หมู่บ้านได้มีข้อตกลงในการอนุรักษ์ป่าด้วยภูปัญญาชาวบ้านอย่างสงบเรียบร้อย การดำรงชีวิตโดยอาศัยธรรมชาติที่กลมกลืนกับวิถีชีวิตปกาเกอะญอ ต่อจากนี้ไปชาวบ้านก็จะคัดค้านจนถึงที่สุด"ผู้ใหญ่บ้านนาหัวแหลมกล่าว.

ที่มา: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n1_09062011_01

 

ชาวบ้านภาคใต้เสนอ “จัดการภัยพิบัติ” เป็นวาระการเมือง
เวที 60 วันภัยพิบัติภาคใต้ สะท้อนราชการช่วยเหลือไม่เต็มที่-อืดอาดขาดช่วง ผอ.สำนักบรรเทาทุกข์ฯ ชี้ความหวังดีรุมขย้ำชุมชน-สังคมไทยไม่เคยสรุปบทเรียน "หมอบัญชา" แนะรัฐแก้ปัญหาเร่งด่วนให้ชาวบ้านมีที่อยู่-ทำกินก่อน

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ดินโคลนถล่มใน 9 จังหวัดภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง สงขลา ฯลฯ กระทบ 5,086 หมู่บ้าน 622,512 ครัวเรือน มีผู้ได้รับผลกระทบ 2,071,929 คน บ้านเรือนเสียหายมากกว่า 1,200 หลังคาเรือน พื้นที่สวนไร่นาเสียหายกว่า 1.3 ล้านไร่

วันที่ 7 มิ.ย. 54 ที่บ้านพักชั่วคราวห้วยเนียง อ.เขาพนม จ.กระบี่ เครือข่ายผู้ประสบภัย อ.เขาพนม, เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน, คณะกรรมการปฏิรูป มูลนิธิชุมชนไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัด “เวที 60 วันบทเรียน การจัดการภัยพิบัติกับนโยบายทางการเมือง” โดย พลโท.นพ.อำนาจ บาลี ผอ.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ปาฐกาการจัดการภัยพิบัติโจทย์ท้าทายของมนุษยชาติ ว่าสังคมไทยไม่ได้เกิดการเรียนรู้จากบทเรียนภัยพิบัติที่ผ่านมา ทำให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การแก้ไขเหมือนไฟไหม้ฟาง เช่น เมื่อกรณีเขาพนม กี่ร้อยองค์กรทั้งในและต่างประเทศเข้ามารุมขย้ำช่วย ไม่เว้นแม้แต่สื่อ

“เงินที่ผ่านกาชาดไปช่วยสึนามิ เฮติ 2-3 ร้อยล้านบาท แต่เขาพนมมีเท่าไร นี่เป็นความท้าทายจิตสำนึกของคนไทยและสื่อไทยว่าจริงๆ แล้วสังคมได้มองทะลุถึงกันอย่างไรบ้าง”

พลโท.นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่าการเตรียมพร้อมทั้งก่อน ขณะเกิดหรือหลังเกิดเหตุยังไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ต้องเตรียมอุปกรณ์ บุคลากร หรือชุมชนเองยังเลือกที่จะปลูกบ้านริมเขา ยังตัดต้นไม้ แม้ศูนย์เตือนภัยแจ้งเตือนแล้วยังไม่เชื่อ เมื่อเกิดเหตุจึงร้องหาคนช่วย เป็นโจทย์แรกที่ชุมชนต้องคิดใหม่ด้วยว่าต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่าหวังแต่กับคนอื่น

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาถ่ายทอดให้เขาได้ไปตีฆ้องร้องป่าว รวมตัวกันทำเข้มแข็งอย่าเหยาะแหยะ กัดแล้วอย่าปล่อย รู้ให้ได้ว่าชุมชนต้องการอะไร ชุมชนก็ไม่ใช่รับทุกสิ่งที่ยัดเยียด ต้องรู้จักพอ”

ผอ.สำนักงานบรรทุกข์ฯ กล่าวอีกว่าเรื่องการฟื้นฟูบูรณะจากภัยพิบัติ ภาครัฐต้องเป็นตัวตั้ง พระเอกคือผู้ว่าราชการจังหวัดต้องจัดการให้หน่วยงานต่างๆลงไปดูแล พร้อมๆกันนี้ชุมชนก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย

ทั้งนี้มีวงเสวนา “60 วันบทเรียนการจัดการภัยพิบัติกับนโยบายทางการเมือง” โดยนายทวีศักดิ์ ศรีมุข คณะกรรมการเครือข่ายผู้ประสบภัย อ.เขาพนม กล่าวว่า 2 เดือนมาแล้วนับจากเกิดภัยพิบัติที่เขาพนม ปัญหาคือราชการช่วยเหลือชาวบ้านไม่เต็มที่ การฟื้นฟูไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทุกวันนี้ชาวบ้านจำนวนมากยังไม่มีที่อยู่ ไม่มีอาชีพทำกิน และกระบวนการรัฐก็บีบบังคับให้ชาวบ้านยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยการอ้างระเบียบให้ต้องรื้อถอนบ้านหลังเก่าที่อยู่มาตั้งแต่สมัยปู่ย่า เพื่อแลกกับบ้านหลังใหม่ที่รัฐจะสร้างให้

นพ.บัญชา พงษ์พาณิชย์ นักวิชาการและอาสาสมัครสึนามิ กล่าวว่าหากดูจากบทเรียนของสึนามิและที่เขาพนม สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือที่อยู่ที่ทำกินก่อนเป็นอันดับแรก ราชการน่าจะจัดสรรที่ดินให้ก่อน ส่วนที่จะกันเขตป่าหรือเหตุผลอื่นก็ค่อยมาพบกันตรงกลาง เจรจาต่อรองกันให้ชาวบ้านช่วยดูแลรักษาป่า ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ที่ขัดแย้งเพราะต่างคนต่างทำตามกระบวนการของตน ไม่ตั้งโจทย์ใหญ่ร่วมกันว่าจะเติมเต็มส่วนที่ทำไม่ได้อย่างไร

“อเมริกาเป็นต้นแบบการจัดการภัยพิบัติ คิดและสร้างระบบใหม่หมด และที่พิสูจน์แล้วก็คือแผนเดียวจากส่วนกลางทำอย่างไรก็ล่ม ไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นที่ลืมไม่ได้คือพี่น้องต้องกลับไปคิดว่าจะเตรียมรับมืออย่างไรทั้งก่อน ขณะเกิดและหลังเกิดภัย”

นพ.บัญชา กล่าวอีกว่าต้องผูกมิตรกับทุกฝ่ายที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แม้ว่าการทำงานของแต่ละส่วนจะมีปัญหา แต่อย่างน้อยทุกส่วนก็มีน้ำใจ รวมทั้งอย่าไปทำลายพลังสื่อ และที่สำคัญที่สุดชาวบ้านต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง

นายไมตรี กงไกรจักร เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ กล่าวว่าหากชุมชนจัดการกันเองยังไม่ได้ถือว่ายังเสี่ยง ปัญหาใหญ่ของขบวนการจัดการภัยพิบัติจากบทเรียนที่ผ่านมาคือราชการและชาวบ้านไม่ได้คุยกัน ต่างคนต่างทำ และถึงจะมีแผนที่ดีแต่ชาวบ้านไม่รับรู้ไม่เข้าใจก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ

“จริงๆเรามีพระราชบัญญัติการจัดการภัยพิบัติ แต่ไม่มีใครพูดถึง เอาง่ายๆว่าชาวบ้านรู้หรือเปล่า เกิดเหตุคราวก่อนแทนที่จะใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ซึ่งก็เขียนชัดหมดทั้งอำนาจหน้าที่ การช่วยเหลือ แต่ก็ยังตั้งคณะกรรมการอำนวยการติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เป็นเรื่องที่น่าแปลก”

นายไมตรี ยังกล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสการเมืองที่แต่ละพรรคกำลังหาเสียง น่าจะช่วยกันคิดว่าจะดึงเรื่องจัดการภัยพิบัติเสนอเป็นนโยบายรัฐบาลหน้าให้จริงจังได้อย่างไร ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดการที่เป็นปัญหา ต่างฝ่ายต่างทำ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ปล่อยให้เป็นการจัดการโดยรัฐอย่างเดียวซึ่งล้าสมัยไม่ทันการไปแล้ว

พล.ร.ต.ถาวร เจริญดี ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ กล่าวว่าประชาชนต้องกลับมามองตัวเอง เพราะราชการช่วยไม่ได้ทั้งหมดทุกพื้นที่ เนื่องจากยังติดขัดกฏระเบียบต่างๆ ทั้งยังเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งเป็นผลให้เปลี่ยนนโยบาย การจะทำอะไรค่อนข้างลำบาก ดังนั้นชาวบ้านและประชาสังคมต้องมีบทบาทหลัก

“หน่วยงานก็อยากช่วยเหลือต่อเนื่อง แต่ก็ติดขัดอย่างที่บอก ถ้าให้รื้อต้องไปรื้อตั้งแต่ต้นทาง คือกฎกติกาต่างๆ อีกอย่างคือการแจ้งเตือน เราเองทำไม่ได้ทั้งหมด ต้องอาศัยการเรียนรู้จากชุมชนด้วย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับขั้นตอนว่าจะทำงานกันอย่างไร” พล.ร.ต.ถาวร กล่าว .

ที่มา: http://www.isranews.org/กระแสชุมชน/ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม/item/2335-ชาวบ้านภาคใต้เสนอ-“จัดการภัยพิบัติ”-เป็นวาระการเมือง.html

 

คัดค้านเส้นทางชักลากไม้จากพม่า
ชาวบ้านจากหมู่บ้าน บ้านนาหัวแหลม หมู่ที่ 7 บ้านหัวแม่เงา หมู่ที่ หมู่ที่ 2 บ้านหัวนา หมู่ที่ 5 บ้านห้วยต้นนุ่น หมู่ที่ 4 ตำบลแม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมชาวบ้าน กว่า 80 คน ได้เดินทางโดยรถยนต์ จำนวน 8 คัน มายังศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดเส้นทางช่องทางบ้านนาหัวแหลม ( ช่องทาง 99 ) เพื่อนำเข้าไม้ของบริษัทไนท์ ออน เนอร์ จำกัด โดยมีนายสิทธิชัย บุญระชัยสวรรค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เงา นายไชยวัฒน์ ทวีพร ผู้ใหญ่บ้านหัวเงา หมู่ที่ 2 และนางสาวผ่องพรรณ สุภรัตน์ประไพ ผู้ใหญ่บ้านนาหัวแหลม หมู่ที่ 7 เป็นแกนนำ และชาวบ้านเดินทางมาถึงศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายกำธร ถาวรสถิต ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ให้ชาวทั้งหมดพร้อมนำไปร่วมประชุมหารือที่ศาลาประชาคมจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้นายสิทธิชัย บุญระชัยสวรรค์ นายก อบต.แม่เงา ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดเส้นทางช่องทางบ้านนาหัวแหลม ( ช่องทาง 99 ) เพื่อนำเข้าไม้ของบริษัทไนท์ ออน เนอร์ จำกัด ทั้งนี้บริษัท ได้อ้างว่าได้รับอนุญาตให้นำเข้าไม้มาในเส้นทางช่องทางบ้านนาหัวแหลม ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ ต.แม่เงา อ.ขุนยวม เกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมาและจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวในด้านต่าง ๆ อันประกอบด้วย ผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อม ด้านที่ทำกินของชุมชน ด้านทรัพยากรป่าไม้ ด้านทรัพยากรสัตว์ป่า และผลกระทบด้านความมั่นคง ปัญหายาเสพติด ปัญหาคนต่างด้าว และปัญหาด้านสุขภาพอนามัย

ในขณะนี้ผลกระทบที่เกิดจากการที่ต้องต่อสู้เรียกร้องกับนายทุนบริษัทค้าไม่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ตำบลแม่เงา/ชุมชนบ้านนาหัวแหลม,บ้านหัวเงา และหมู่บ้านใกล้เคียง ไม่มีความสุขในการดำเนินชีวิตเหมือเช่นแต่ก่อนมาเนื่องจากเกรงกลัวจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ เข้ามาสู่ชุมชนไม่ว่าจะด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ชุมชนไม่มีเวลาที่จะทำมาหากินหรือประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว

นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวกับแกนนำและชาวบ้านว่า จะเชิญบริษัท เข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออก และในช่วงนี้ขอให้บริษัทชะลอการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวก่อนเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ส่วนที่แกนนำชาวบ้านเสนอให้เปลี่ยนเส้นทางการนำเข้าไม้จากช่องทาง 99 BP 12 มาเป็นช่องทาง PB 13 บ้านนาหัวแหลม จะได้แจ้งให้บริษัท ทราบ อย่างไรก็ตามผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮองสอนได้ชี้แจงกับชาวบ้านดังกล่าวแล้วชาวบ้านก็ได้เดินทางกลับ

ด้านนายชาติชาย กิจเจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไนท์ ออน เนอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้รับสัมปทานไม้จากพม่า มีความประสงค์จะใช้เส้นทางสาธารณะช่องทาง 99 บ้านนาหัวแหลม ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเข้าไปดำเนินการในการถ่ายรูปและทำพิกัดตำแหน่งของกองไม้พม่า ซึ่งเป็นไม้สักท่อนถูกกฎหมายที่ได้ซื้อจากรัฐบาลพม่า และเมื่อคณะของตนจะเดินทางเข้าไปก็ถูกขัดขวางจากชาวบ้าน ซึ่งขั้นตอนต่อไปตนจะยื่นศาลปกครองเพื่อขอใช้เส้นทางดังกล่าวต่อไป กฏหมู่จะอยู่เหนือกฏหมายไม่ได้

ที่มา: http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=513903&lang=T&cat

 

ตรวจสอบจุดเตรียมเปิดเหมืองแร่เหล็กหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม
เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 3 จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของ อ.เถิน จ.ลำปาง พร้อมด้วย และชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้านใน ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง กว่า 100 คน ได้เดินเข้าไปในป่าสงวนแห่งชาติแม่ถอด ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขตรอยต่อระหว่างบ้านแม่ถอดเหนือ หมู่ 2 บ้านแม่ถอดใต้ หมู่ 10 และ บ้านท่าสามัคคี หมู่ 11 ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง เพื่อสำรวจและดูหลักหมุดกำหนดจุดที่จะเปิดเป็นเหมืองแร่เหล็กของบริษัท ยุพิน วัฒนาธุรกิจ จำกัด ที่คาดว่าจะมีแร่เหล็กอยู่ประมาณ 695,000 เมตริกตัน เนื้อที่ 158 ไร่ 1 งาน 54 ตารางวา ซึ่งทางบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างยื่นขอประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่

การเข้าตรวจสอบครั้งนี้ เนื่องจากกรมศิลปากรได้รับแจ้งว่าพื้นที่ที่จะเปิดบ่อเหมืองมีโบราณสถานเป็นวัดร้างอายุกว่า 700 ปี จำนวน 4 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีถ้ำที่สวยงามขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยว ที่ชอบการเดินป่า ได้เข้ามาเที่ยวอยู่อย่างต่อเนื่อง หากเกิดบ่อเหมืองขึ้น ถ้ำที่สำคัญ และสวยงามนี้ จะต้องหายไป ซึ่งหลังตรวจสอบ ทางเขจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะได้ นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาขอประทานบัตร

ชาวบ้านระบุว่า 1 ปี ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ออกมาคัดค้านการเปิดเหมืองแร่เหล็กดังกล่าว ซี่งชาวบ้านระบุว่า บริษัท ดำเนินงานไม่โปร่งใส่ ทั้งๆที่ ชาวบ้านไม่เห็นด้วยต่อการเปิดบ่อเหมือง เนื่องจาก จะได้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก พื้นที่ กำหนดจะเปิดเหมืองอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำแม่ถอด และอยู่ในป่าลึก ที่สำคัญเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่หล่อเลี้ยงชาวบ้าน มานานหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านจึงออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และทำหนังสือร้องเรียนถึงหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก่อนจะนำเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเข้าตรวจสอบดังกล่าว

ที่มา: http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=513987&lang=T&cat

 

"ขบวนคนตรัง" เดินรณรงค์ "ค้านตัดถนน" กันแนวเขตป่าเขาบรรทัด
สืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีการตัดถนนเพื่อกันแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่ ม.1 และ ม.4 ต.โพรงจระเข้ ม.4 และ ม.8 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว และ ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง โดยมีระยะทาง 15 กม.กว้าง 5 ม.โดยในขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 6 กม.

6 มิ.ย. 54 เวลา 13.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จำนวนประมาณ 300 คน ได้เดินรณรงค์คัดค้านการตัดถนนดังกล่าว บริเวณตัวเมืองตรัง โดยเริ่มตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ไปยังศาลากลางหลังใหม่ โดยใช้เส้นทาง รพ.วัฒนแพทย์ ศาลากลางหลังเก่า ตลาดเก่า ถ.พระราม 6 และหอนาฬิกา

ขบวนรณรงค์มีรถติดเครื่องเสียงนำขบวน มีธงและผ้าพันคอแสดงสัญลักษณ์ของเครือข่าย และธงรณรงค์ให้คนตรังตรวจสอบและยุติโครงการ รวมทั้งแผ่นป้ายแสดงภาพการตัดถนน ตลอดเส้นทางมีการแจกใบปลิวบอกเล่าผลกระทบจากโครงการตัดถนนดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อรายงานว่า ขบวนรณรงค์ได้เดินเท้ายื่นหนังสือต่อ นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อให้ผลักดันให้มีการยุติโครงการ โดยระบุว่าแม้ในขณะนี้จะมีการยุติการก่อสร้างชั่วคราว แต่ยังไม่มีคำสั่งให้ยุติโครงการ ทางเครือข่ายฯ จึงขอให้ ผวจ.ตรัง เร่งประสานขอข้อมูลโครงการ และแผนการดำเนินงาน พร้อมทั้งชี้แจงให้เครือข่ายฯ ทราบโดยเร็ว และเร่งรวบรวมข้อมูล ผลกระทบ พร้อมเหตุผลประกอบ และทำความเห็นถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้ยุติการดำเนินโครงการ

รวมทั้งมีข้อเรียกร้องให้ ผวจ.ตรัง มีหนังสือถึงหน่วยงานภายในจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการจัดการทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน เคารพต่อกติกาและแผนการจัดการทรัพยากรขององค์กรชุมชน เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและรักษาความสมดุล ยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติต่อไป ทั้งนี้ ทาง ผวจ.ตรัง รับปากจะดำเนินการให้

จากนั้นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายพงศ์เทพ ปทุมสุวรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง เพื่อให้เสนอความเห็นจากการไถดันถนนกันแนวเขต และหาแนวทางป้องกันภัยพิบัติ โดยระบุว่า ทางเครือข่ายฯ และองค์กรภาคีได้สำรวจพื้นที่ที่มีการตัดถนนไปแล้ว พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตต้นน้ำ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย เมื่อมีการขุดไถดันเปิดหน้าดิน ตัดผ่านสายน้ำในแนวขวาง ทำให้เสี่ยงต่อการพังทลายของดินและหิน อาจทำให้เกิดภัยพิบัติ ในส่วนข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง (ปภ.ตรัง) ก็ระบุชัดว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม

ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระบุข้อเรียกร้องให้ทาง ปภ.ตรัง ดำเนินการ 1.ประมวลข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด เสนอต่อ ผวจ.ตรัง และ 2.ร่วมมือกับทางเครือข่ายฯ องค์กรภาคี ผู้นำท้องที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจและหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในพื้นที่ๆ มีการตัดถนนแล้ว รวมทั้งพื้นที่ๆ จะมีการดำเนินการต่อไป

นายสมนึก พุฒนวล คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า เครือข่ายฯ จัดกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ เพื่อให้คนในจังหวัดตรังได้รู้ถึงผลกระทบจากโครงการตัดถนนกันแนวเขต สำหรับเส้นทางรณรงค์ประกอบด้วย 6 อำเภอในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่สมาชิกเครือข่าย ได้แก่ อ.เมือง ห้วยยอด รัษฎา นาโยง ย่านตาขาว และปะเหลียน

“ถนนนี้ไม่มีประโยชน์กับชุมชนและสังคมเลย เพราะไม่ได้เชื่อมต่อกับชุมชน เป็นถนนแนวขวาง เป็นการแบ่งแยกชุมชน ไม่ได้กันแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามความเป็นจริง แถมยังมีโทษมากมาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดดินและหินถล่ม เพราะเป็นดินร่วนปนทราย เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าการตัดถนนนี้จะช่วยรักษาป่าได้ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย จะเปิดทางสะดวกให้คนทำไม้เถื่อน ในช่วงที่ตัดถนนก็ทำลายต้นไม้ใหญ่ๆ ตามแนวถนนไปมากแล้ว” นายสมนึกกล่าว

สำหรับความเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.54 ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อ นายไมตรี อินทุสุต ผวจ.ตรัง และเรียกร้องให้มีคำสั่งเป็นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการก่อสร้างถนนในพื้นที่ทันที และขอให้จังหวัดชี้แจงรายละเอียดโครงการแก่เครือข่ายฯ เป็นหนังสือภายใน 15 วัน แต่ไม่ได้รับการประสานงานจากทางจังหวัดตรังแต่อย่างใด

ต่อมา วันที่ 25 พ.ค.54 ทางเครือข่ายฯ ได้จัดเวทีสาธารณะเรื่อง "ตัดถนนกันแนวเขตเขาบรรทัด เพื่ออะไร ใครได้-ใครเสีย ณ บ้านลำขนุน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน หลังจากนั้น วันที่ 2 มิ.ย.54 ได้ยื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ผ่าน นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลิก รองประธาน ปจช. เพื่อให้มีการประชุม ปจช. ภายในเดือน มิ.ย.54 โดยนำกรณีการตัดถนนกันแนวเขตเขาบรรทัด และกรณีโนนดินแดง ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน และพื้นที่เตรียมดำเนินการโฉนดชุมชน เข้าพิจารณาหามาตรการแก้ไขปัญหา

ที่มา: http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35313

 

3 ล้านคนไร้สัญชาติกับการทำบัตรประชาชนเมื่อ 7 ขวบ
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ที่บังคับให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ขวบบริบูรณ์ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 60 วันต่อมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์ในการยืนยันตัวบุคคล และหลีกเลี่ยงบุคคลต่างด้าวมาแสวงผลประโยชน์ได้ อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิทธิของคนไทย

กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายนี้ เห็นว่าพรบ. ฉบับใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนให้รัฐให้ความคุ้มครองสิทธิแก่บุคคลสัญชาติไทย ผู้มีเอกสารครบถ้วนได้อย่างทั่วถึง แต่ยังมีคนในประเทศอีกเกือบ 3 ล้านคนที่จัดอยู่ในกลุ่ม "คนไร้สัญชาติ" ทั้งที่เกิดในประเทศไทยอันเนื่องจาก ไม่มีใบเกิด ตกสำรวจทะเบียนราษฎร์ ฯลฯ และเมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ คนเหล่านี้ก็ยังคงเป็นผู้ตกสำรวจ ไร้สิทธิต่างๆ ที่พึงได้ต่อไป เนื่องจาก ไม่มีเอกสารยืนยันสถานะของตัวเอง เพื่อทำบัตรประชาชน

นางมหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย ซึ่งองค์กรที่ช่วยเหลือและดูแลเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสต่างๆ และไร้สัญชาติ ให้ความเห็นว่า "การทำบัตรประชาชนสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่7 ปีขึ้นไป ถือเป็นการยืนยันสิทธิของเด็กไทยที่สามารถเข้ารับการบริการต่างๆ จากภาครัฐ แต่ยังมีเด็กจำนวนมากทั่วประเทศ ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้ เนื่องจากพวกเขาเป็นเด็ก ไร้สัญชาติ ทั้งที่เกิดในประเทศไทย พ่อแม่มีสัญชาติไทย แต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิด เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินขั้นตอนการแจ้งเกิด หรือเอกสารหายไปบ้าง กว่าเด็กจะรู้ตัวว่าตนเองขาดสิทธิไป ก็เข้าย่างสู่ในระดับการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาและส่งปัญหา คือ เด็กส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียน และมีหลายคนที่ไม่สามารถเรียนต่อได้ ต้องออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัวซึ่งงานส่วนใหญ่ก็จะได้รายได้ต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานจ้างมาก เพราะพวกเขาไม่มีบัตรจึงไม่มีทางเลือกในการหารายได้ที่ดีกว่า

เด็กที่ยากจนหรือไร้สัญชาติบางคนทมีโอกาสเรียนจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ก็ไม่สามารถเข้าต่อได้ในระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆที่มากเกินจนไม่สามารถแบกรับภาระไว้ ก็ต้องออกกลางคันเพื่อมาทำงานเต็มตัวแทน" นางมหากล่าว

อ่านรายงานฉบับเต็มที่: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n3_07062011_01

 

กรมควบคุมมลพิษเตรียมฟ้องบริษัทเรือน้ำตาลล่ม ระบุคดีเดิม 4 ปียังไม่จบความ
ชี้เจ้าพระยาคลี่คลายสู่ภาวะปกติแล้ว 9 มิ.ย.นัดถกหน่วยงานฟ้องค่าเสียแพ่งเป็นคดีสิ่งแวดล้อมในนามรัฐ แต่ความเดือดร้อนส่วนตัว ชาวบ้านต้องฟ้องเอง ระบุคดีเก่าปี 50 แบบเดียวกันเยื้อมา 4 ปียังไม่จบความ

วันที่ 6 มิ.ย.54 นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยความคืบหน้ากรณีเรือน้ำตาลทรายแดงล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ คพ.เตรียมเชิญผู้ว่าราชการทั้ง 5 จังหวัดคือพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กทม.และสมุทรปราการ กรมประมง กรม เจ้าท่า ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อดำเนินการทางกฎหมายที่จะฟ้องร้องกับบริษัทเจ้าของเรือบรรทุกน้ำตาล ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม มาตรา 96 และ 97 ซึ่งจะฟ้องค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม
โดยประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยา

“โดยการใช้มาตรการทางกฎหมายแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ความเสียหายกับบุคคล ตัวบุคคลต้องดำเนินการตามกฎหมายเอง เช่น เจ้าของกระชังปลา และ 2.ความเสียทางทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง การฟ้องร้องอาจจะมอบหมายให้ คพ.เป็นผู้แทนหน่วยงานรัฐในการฟ้องร้องแบบเดียวกับกรณีเรือน้ำตาลล่มปี 2550 ที่ได้ยื่นฟ้องค่าเสียหายผ่านทางอัยการรวม 41 ล้านบาท หรืออาจเข้าสู่การพิจารณาของศาลแพ่งในคดีสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปวันที่ 9 มิ.ย.นี้”

อธิบดี คพ. กล่าวว่ากรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งนี้ถือเป็นรอบที่สอง โดยครั้งแรกเมื่อเดือนมี.ค.2550 ซึ่งมีน้ำตาลที่ไหลลงแม่น้ำถึง 650 ตัน จากการที่เจ้าของบริษัทถ่ายน้ำตาลที่จมทิ้งในแม่นำจนมีปลาในกระชังของชาวบ้านในเขตพื้นที่อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีได้รับความเสียหายมาก ซึ่งการฟ้องร้องโดยใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ทาง คพ.ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานรัฐให้เป็นโจทย์ฟ้องร้องเจ้าของบริษัทน้ำตาล 41 ล้านบาทและเพิ่งเดินทางไปให้ปากคำในพยานโจทย์สุดท้ายเมื่อ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาและคดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดทั้งที่ผ่านมา 4 ปีแล้ว

“สำหรับการกู้เรือน้ำตาลที่จมลงนั้น เนื่องจากหลายวันที่ผ่านมากระแสน้ำเจ้าพระยาค่อนข้างเชี่ยว และไหลแรงมาก ทำให้ไม่สามารถกู้ขึ้นมาได้ แต่หลังจากนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรี ทส.ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.นี้ มีประสานกับทางกรมชลประทานขอให้ลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงเหลือเพียง 400-500 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเดิมที่ปล่อยน้ำสูงถึง 900 ลบ.ม.ต่อวัน ล่าสุดกระแสน้ำเพิ่งลดระดับลงจนทีมนักประดาน้ำเตรียมวางแผนลงไปอุดรอยรั่วบริเวณหัวเรือน้ำตาลที่จมลงได้แล้ว อีกทั้งจากผลการตรวจวิเคราะห์น้ำจากเรือที่จมอยู่ก็ไม่พบว่ามีน้ำตาลผสมอยู่แล้ว ซึ่งเท่ากับว่าจะไม่มีน้ำตาลละลายลงในน้ำและเกิดปัญหาได้อีก แต่ก็จะใช้สารสกัดชีวภาพ (อีเอ็ม) ช่วยย่อยน้ำตาลที่หลงเหลือด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีน้ำตาลหลงเหลือในเรืออยู่อีก เพราะถ้ามีจะทำให้เกิดปัญหาได้” นายสุพัฒน์ ระบุ

ที่มา: http://www.isranews.org/กระแสชุมชน/ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม/item/2315-กรมควบคุมมลพิษเตรียมฟ้องบริษัทเรือน้ำตาลล่ม-ระบุคดีเดิม-4-ปียังไม่จบความ.html

 

‘สุราษฎร์ฯ’ ร้อน ยกพลต้านกรมชลฯ ขวางเวนคืนที่โครงการตาปี–พุมดวง
นายวิโรจน์ ทองเกษม คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี - พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 มิถุนายน 2554 นี้ ชาวบ้านจากเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำ–พุมดวงประมาณ 300 คน จะชุมนุมประท้วงการลงสำรวจรังวัดที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกสร้างของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 27 เมษายน 2554

นายวิโรจน์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เป็นการนำโครงการเก่า เมื่อปี 2510 ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านต้องการน้ำมาทำนา มาปัดฝุ่นดำเนินการใหม่ ในขณะที่ปัจจุบันชาวบ้านหันมาปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยกรมชลประทานอ้างว่า ถึงแม้จะไม่มีนาให้ใช้น้ำจากโครงการนี้แล้ว แต่ก็สามารถนำน้ำจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงไปรดยางพาราและปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มผลผลิตได้ ชาวบ้านได้ยินแล้วงง เพราะไม่เคยทราบว่า แนวคิดนี้มีงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการจากสถาบันไหนมารองรับ

“ฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำพุมดวงแห้ง ถ้าสูบออกไปต้องแห้งขอดลงอีก ทำให้น้ำเค็มจากทะเลอ่าวบ้านดอนทะลักเข้ามา ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ และพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังนับสองพันรายริมฝั่ง” นายวิโรจน์ กล่าว

นายสถาพร โรจนหัสดิน ผู้อำนวยการสำนักการก่อสร้าง 10 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง กรมชลประธาน กล่าวว่า ต้องการให้กลุ่มผู้คัดค้านมานั่งคุยกันกับกรมชลประทาน เพื่อร่วมมือในการบริหารน้ำภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ใช่มาคัดค้านโครงการโดยไม่มีเหตุผล แค่ยอมสูญเสียพื้นที่ 2-3 พันไร่ แต่ได้รับผลประโยชน์ถึง 7 หมื่นไร่ คิดอย่างไรก็คุ้มค่า เพราะที่จังหวัดชุมพรเกษตรกรใช้น้ำรดปาล์มน้ำมัน และยางพาราได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ

“เท่าที่ผมรู้ว่ากลุ่มผู้คัดค้านส่วนหนึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ ที่เดินสายต่อต้านโครงการของรัฐในภาคใต้ หาว่าสร้างขึ้นเพื่อรองรับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้(Southern Sea Bord)) ทั้งที่ความเป็นจริงไม่มีอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่า เอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด”

ที่มา: http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35300

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตอบอาจารย์พวงทอง (1): โปรดอย่าปล่อยให้ศาลโลกแปลคำผิด

Posted: 13 Jun 2011 01:09 AM PDT

บทความนี้เป็นการสนทนาทางวิชาการที่ต่อเนื่องจาก บทความ “คำเตือนถึงนักวิชาการ ต้องระวังการแปลคำทางสังคมศาสตร์” โดย ผศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ เผยแพร่โดยประชาไท เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2554

0 0 0

ใจความสำคัญ:
ผู้เขียนขอส่งคำเตือนด้วยความปรารถนาดีไปยังรัฐบาลรักษาการและผู้เกี่ยวข้อง (อีกครั้ง) เพื่อพิจารณาให้รอบคอบว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กำลังเข้าใจจุดยืนไทยผิดหรือไม่?

ผู้เขียนเห็นว่านิติกรศาลโลกได้แปลถ้อยคำที่ตัวแทนฝ่ายไทยแถลงต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 อย่างไม่รอบคอบ กล่าวคือ ไทยอธิบายเป็นภาษาฝรั่งเศสถึงรั้วลวดหนามที่ไทยนำไปกั้นรอบปราสาทพระวิหารเพื่อแสดง “la limite de la zone du temple” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหมายถึง “ขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหาร” หรือ “the limit of the Temple area”

อย่างไรก็ดี นิติกรศาลโลกได้ทำเอกสารแปลคำแถลงของไทย (เอกสารแปล CR 2011/14 ฉบับ uncorrected หน้าที่ 4) ซึ่งแปล “la limite de la zone du temple” เป็นภาษาอังกฤษว่า “the boundary of the Temple area” ซึ่งในทางหนึ่งแม้อาจจะแปลได้ว่า “ขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหาร” แต่ก็เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่ระมัดระวัง ส่งผลให้มีผู้เข้าใจผิดเป็น “เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ซึ่งเป็นการเข้าใจจุดยืนของไทยที่ผิดอย่างมีนัยสำคัญ.

แม้เอกสารแปลฉบับนั้นจะไม่มีผลเป็นทางการ แต่ไทยไม่ควรนิ่งนอนใจปล่อยให้ถูกกัมพูชานำไปอ้างให้เสียรูปคดี หรือยิ่งไปกว่านั้น คือปล่อยให้สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจไทยผิดโดยผู้พิพากษาได้ ผู้เขียนจึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ และทักท้วงหรือชี้แจงหากเห็นว่าจำเป็น

0 0 0

ผู้เขียนขอบคุณน้ำใจของ อ. พวงทอง ในฐานะนักวิชาการรุ่นพี่ที่ให้เกียรติร่วมสนทนาด้วย  แม้ผู้เขียนเองจะมีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่น้อยกว่าก็ตาม และขอใช้โอกาสนี้กล่าวซ้ำอีกครั้งว่า แม้ผู้เขียนอาจไม่เห็นพ้องกับ อ. พวงทอง ทุกเรื่อง แต่งานเขียนของ อ.พวงทอง ในเรื่องปราสาทพระวิหารมีข้อคิดที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในแง่การให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในอดีต และการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศอย่างมีสติและจิตวิทยา ผู้เขียนเองเคยนำงานของ อ. พวงทอง บางส่วนไปแสดงในฐานะข้อมูลที่น่าสนใจ ขอเชิญชวนให้ผู้สนใจได้อ่านงานของ อ. พวงทอง และของผู้อื่นที่หลากหลายได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple

ที่สำคัญที่สุด ผู้เขียนขอหวังร่วมกับ อ. พวงทอง ว่าการสนทนาเรื่องปราสาทพระวิหารและประเด็นสำคัญอื่นๆในสังคมไทย ไม่ว่าจะโดยนักวิชาการหรือผู้มีความเห็นท่านใด มิควรเป็นการโจมตีหรือเพิกเฉยเย็นชา แต่ควรสนทนาแลกเปลี่ยนกันด้วยไมตรีจิต หลักการ เหตุผล และน้ำใจของผู้ที่ล้วนห่วงใยต่อสังคมไม่น้อยไปกว่ากัน ดังที่ผู้เขียนได้รับเกียรติให้สนทนาตอบบทความ “คำเตือนถึงนักวิชาการฯ” ของ อ. พวงทอง ดังนี้

1. เรื่องความหมายของ “la limite”  “frontier” และ “boundary” 
อ. พวงทอง กล่าวในย่อหน้าที่ 2 ว่า ผู้เขียนเห็นว่า “…‘la limite-boundary’ นอกจากจะหมายถึงเส้นเขตแดนแล้ว ยังหมายถึงพื้นที่ที่ติดกับเส้นเขตแดน หรือที่คนไทยมักเรียกว่า ‘พื้นที่ชายแดน’ ได้ด้วย boundary จึงมีความหนา มีขอบเขต หรืออาณาบริเวณ ส่วนคำว่า frontier คุณวีรพัฒน์เห็นว่าหมายถึง (เส้น)เขตแดน หรือเส้นพรมแดน ที่เป็นเส้นตรงหรือเส้นเดี่ยว…”

จากนั้น ในย่อหน้าที่ 4-6 อ.พวงทอง ได้อ้างถึงคำนิยามของคำว่า “boundary” และ “frontier” จากพจนานุกรม 3 ฉบับ และสรุปในย่อหน้าที่ 7 ว่า “…boundary ต่างหากที่หมายถึง เส้นเขตแดน/เส้นพรมแดน (เป็นเส้นเดี่ยว ไม่มีความหนา) แต่ frontier มีความหมายกว้างกว่า ที่สามารถหมายถึงพื้นที่บริเวณชายแดน เป็นพื้นที่ที่มีความหนา ยากที่จะกำหนดขอบเขต ในบางพื้นที่อาจมีผู้คนมากมายอาศัยอยู่, มีตลาดการค้าชายแดน, หมู่บ้าน, ฯลฯ ก็ได้) ดิฉันกล้ายืนยันได้ว่า นี่คือความหมายที่ใช้กัน อย่างน้อยก็ในแวดวงของสังคมศาสตร์”.

ในขั้นแรก เกรงว่า อ. พวงทอง อาจเข้าใจบทความ “คำเตือนถึงอภิสิทธิ” ของผู้เขียนผิด ผู้เขียนไม่เคยให้นิยามคำว่า “boundary” หรือ “frontier” ว่าสิ่งใดหนา สิ่งใดเป็นเส้นเดี่ยว หรือสิ่งใดเป็นบริเวณพื้นที่ แต่ประเด็นสำคัญของผู้เขียนอยู่ที่ว่า “la limit” ในบริบทที่ฝ่ายไทยใช้นั้น หมายความว่า “เขตเเดน” หรือ “ขอบเขต” กันแน่

อันที่จริง คำนิยามจากพจนานุกรมที่ อ. พวงทอง ยกมาเองนั้นกลับเป็นการสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนว่า “boundary” โดยทั่วไปแปลได้สองทาง

ทางแรกแปลได้ว่า “เขตแดน” (ไม่ว่าจะเป็นเส้น “line” หรือ บางสิ่ง “something” ซึ่งรวมถึง “national boundaries”) ที่ใช้แบ่งดินแดน เช่น เขตแดนระหว่างประเทศ.

ทางที่สองแปลได้ว่า “ขอบเขตของพื้นที่หรือบริเวณ” (“farthest limit, as of an area” หรือ “limit or edges of something”) เช่น ขอบเขตของปราสาทหรือวัด

ประเด็นหลักที่ อ.พวงทอง ยังเห็นไม่ตรงกับผู้เขียนก็คือ คำต้นฉบับที่ฝ่ายไทยใช้ว่า “la limite” นั้นแปลว่าอะไร. ที่ผู้เขียนมีความเป็นห่วงก็เพราะนิติกรศาลโลกได้เลือกใช้คำภาษาอังกฤษที่ไม่ระมัดระวัง เพราะเลือกใช้คำว่า “boundary” (ซึ่งตามนิยามที่ อ. พวงทอง ยกมาอ้างก็แสดงให้เห็นได้ว่า “boundary” แปลได้สองทาง) แต่ในกรณีนี้ อ. พวงทอง มองว่า “la limite” แปลว่า “เขตแดน” แต่สำหรับผู้เขียนนั้นแปลว่า “ขอบเขต”

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า แท้จริงแล้วฝ่ายไทยต้องการจะสื่อถึงอะไรกันแน่ (เรื่องนี้จะตอบในข้อที่ 2).

ในย่อหน้าที่ 8 อ. พวงทอง ได้เชิญชวนให้ผู้เขียนอธิบายถ้อยคำเพิ่มเติมในทางนิติศาสตร์ อาจกล่าวพอสังเขปดังนี้

ประเด็นที่ว่า “เขตแดน” ระหว่างไทยและกัมพูชาจะเป็นเส้นเดี่ยว หรือเป็นบริเวณที่มีความหนา หรือไม่อย่างไรนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะโต้แย้ง ณ ที่นี้ เพราะสำหรับผู้เขียนแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศและหลักการจัดทำเขตแดนไม่ได้กำหนดบทนิยามตายตัวว่า “เขตแดน” (boundary) จะต้องเป็นเส้นเดี่ยวเท่านั้นหรือไม่อย่างไร แต่ “เขตแดน”  เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการ (process) ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอนที่หลากหลาย เช่น อาจอาศัยการลากเส้นสมมติบนแผนที่ (ไม่ว่าจะเป็นแผนที่จากสำรวจหรือไม่) หรืออาศัยพรมแดนตามธรรมชาติ เช่น แนวยอดเขา แนวสันปันน้ำ หรือร่องน้ำลึกมาเป็นเขตแดน (ไม่ว่าจะเป็นเพียงบทนิยามหรือมีการสำรวจปักปัน) หรือ อาศัยวัตถุอื่น เช่น แนวกำแพงโบราณหรือรางรถไฟก็เป็นได้  

เรื่องเขตแดนมิใช่เรื่องที่อธิบายได้โดยสั้น ผู้เขียนเคยอธิบายเพิ่มไว้แล้วที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962#TOC-21.[ดูข้อ ๓ (จ.)]

นอกจากนี้ ที่ อ. พวงทอง ยืนยันว่า “frontier” มีความหมายกว้างกว่าในแวดวงของสังคมศาสตร์ ก็มิได้ขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ เพราะผู้เขียนเองก็ได้กำกับคำภาษาไทยว่า frontier หมายถึง “พรมแดน” เหตุที่ผู้เขียนอ้างถึงคำว่า frontier ก็เพียงเพื่อยกตัวอย่างว่าคำต่างๆ ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกัน มิได้มีความชัดเจนเท่ากัน จึงต้องเลือกใช้คำอย่างระวัง ศาลโลกเองก็เคยใช้คำว่า “frontier” หรือ “frontier line” ในคำพิพากษา พ.ศ. 2505 เพื่อสื่อถึงพรมแดนหรือเส้นพรมแดนที่ถูกใช้เป็น “เขตแดน” ตามอนุสัญญาฯ สยาม-ฝรั่งเศส และศาลเองก็เลี่ยงคำว่า “boundary” ซึ่งผู้เขียนได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962#TOC-23.

สรุป ผู้เขียนเห็นว่า บทความ “คำเตือนถึงนักวิชาการฯ” ของ อ. พวงทองในย่อหน้าที่ 2 -7 ดูจะเป็นการเข้าใจประเด็นของผู้เขียนผิดไป แต่โดยรวมแล้วบทนิยามที่ อ. พวงทอง ยกมานั้นกลับสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนว่า “boundary” แปลความหมายได้ทั้งสองทาง คือ “เขตแดน” หรือ “ขอบเขต” แม้ ในกรณีนี้ อ. พวงทองจะเห็นว่าต้องแปลว่า “เขตแดน” ก็ตาม

2. “la limite” ที่ฝ่ายไทยใช้แถลงต่อศาลโลก นั้น หมายถึง “เขตแดน” ไทย-กัมพูชา หรือ “ขอบเขต” ปราสาทพระวิหาร กันแน่?
บทความของ อ. พวงทองในย่อหน้าที่ 11-14 เป็นเครื่องยืนยันว่าคำว่า “boundary” ที่นิติกรศาลโลกเลือกใช้นั้นได้สร้างปัญหาและความสับสนอย่างน่าเป็นห่วง และรัฐบาลไทยต้องพิจารณาให้รอบคอบอย่างยิ่ง

อ. พวงทองกล่าวเชิงสรุปในย่อหน้าที่ 12 “...ดิฉันกลับไปอ่านคำแถลงของฝ่ายไทยอีกครั้ง ดิฉันก็ยังเห็นว่าฝ่ายไทยต้องการยืนยันว่ารั้วที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร”

เหตุผลหลักที่ อ.พวงทองใช้อ้างสนับสนุนข้อสรุปของตนก็คือย่อหน้าที่ 13ซึ่งเป็น ความเข้าใจส่วนตัว ของ อ.พวงทองเอง กล่าวคือ อ.พวงทองได้แปลคำในเอกสารแปล CR 2011/14 ฉบับ uncorrected ว่า “ได้มีการจัดทำรั้วลวดหนามและป้ายแสดงเขตแดนของพื้นที่ของพระวิหาร ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.วันที่ 10 ก.ค. เพื่อปฏิบัติตามคำตัดสินปี 2505 การทำรั้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณวันที่ 5 ส.ค.” (เน้นคำโดยผู้เขียน) กล่าวคือตามความเข้าใจส่วนตัวของ อ. พวงทองนั้น คำของฝ่ายไทยที่ว่า “la limite de la zone du temple”  หรือที่นิติกรศาลแปลว่า “boundary of the Temple area” ต้องหมายถึง “เขตแดนของพื้นที่ของพระวิหาร” (ซึ่ง อ.พวงทองอธิบายว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร”)เท่านั้น

ตรรกะการให้เหตุผลดังกล่าวมีลักษณะวกวน (circular logic) เพราะเป็นการให้เหตุผลซ้อนเหตุผลของตนเอง และนำมาอ้างไม่ได้ เพราะหาก อ.พวงทอง เชื่อว่าตนแปล “boundary” ว่า “เขตแดน” ถูกมาแต่ต้น ข้อสรุปจากคำแปลก็ย่อมต้องถูกเช่นกัน คำสำคัญที่ อ.พวงทอง ต้องวิเคราะห์คือคำว่า “la limite”  ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศสต้นฉบับที่นายวีรชัย พลาศรัย ตัวแทนฝ่ายไทยได้ใช้ แต่ อ.พวงทอง เองกลับมิได้โต้แย้งถึงความหมายของคำดังกล่าว

ที่น่าแปลกใจก็คือ ในย่อหน้าที่ 14 อ. พวงทอง เองกลับอ้างข้อมูลที่ขัดแย้งตัวเอง คืออ้างถึง “ใบแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศไทยวันที่ 31 พ.ค.” ซึ่งย้ำว่า “คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาท ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว โดยนิ่งเฉยมิได้มีการทักท้วงใด ๆ มากว่า ๔๐ ปี จนเมื่อไม่นานมานี้กัมพูชาถึงได้เปลี่ยนท่าทีเนื่องจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก” (ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน).

หากอาศัยใบแถลงข่าวมาเป็นเหตุผล ก็ย่อมหักล้างข้อสรุปของ อ.พวงทองเองว่า “la limite de la zone du temple”  หรือที่นิติกรศาลแปลว่า “boundary of the Temple area” ไม่สามารถหมายถึง “เขตแดนของพื้นที่ของพระวิหาร” ได้ เพราะในเมื่อคำพิพากษามิได้ตัดสินเรื่องเขตแดน แล้วไทยจะมาล้อมลวดหนามเป็นเขตแดนได้อย่างไร? อีกทั้งคำว่า “เส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร”ที่กระทรวงการต่างประเทศใช้ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่าลวดหนามที่กำกับ “la limite de la zone du temple” นั้น หมายถึง “ขอบเขต” มิใช่ “เขตแดน”.

หากยังมีผู้ไม่แน่ใจ ผู้เขียนก็ขอให้อ้างตามบันทึกเอกสาร CR 2011/16 หน้าที่ ใน 25-26 ซึ่งนายวีรชัย พลาศรัย ตัวแทนฝ่ายไทยได้ย้ำเองว่าคำพิพากษาปี พ.ศ. 2505 ไม่ได้ตัดสินเรื่อง “เขตแดน” แต่อย่างใด แนวของลวดหนาม (ที่อ้างถึง “la limite”) เป็นเพียงเส้นปฏิบัติการตามคำพิพากษาที่นำมาใช้ระหว่างกระบวนการจัดทำเขตแดนยังไม่สิ้นสุด

หากยังไม่ชัดเจนอีก ผู้เขียนก็หวังว่าผู้สื่อข่าวจะได้สอบถามกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ความปรากฏชัด

สรุป หลักฐานใบแถลงข่าวที่ อ.พวงทอง ยกมานั้น ประกอบกับคำพูดของนายวีรชัย พลาศรัย เองเป็นการสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนว่า “la limite de la zone du temple” หรือที่นิติกรแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “the boundary of the Temple area” ต้องแปลว่า “ขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหาร” ไม่สามารถแปลว่า “เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ซึ่งเป็นการเข้าใจจุดยืนของไทยที่ผิดอย่างมีนัยสำคัญ

3. “เขตแดน” ไทย-กัมพูชา และ “ขอบเขต” ปราสาทพระวิหาร ต่างกันอย่างไร?
อาจมีผู้สงสัยว่าที่ถกเถียงกันว่า “boundary” ที่นิติกรศาลโลกใช้นั้น หมายถึง “เขตแดน” หรือ “ขอบเขต” และต่างกันอย่างไร?

ขออธิบายว่าการที่ไทยต้องล้อมรั้ว “ขอบเขต” บริเวณปราสาทพระวิหาร ก็เพราะคำพิพากษา พ.ศ. 2505 วินิจฉัยให้ไทยต้องถอนกำลังออกไปจาก “บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร” (vicinity) แต่เมื่อคำพิพากษามิได้ระบุ “ขอบเขต” ของ “บริเวณใกล้เคียง” ไว้ ฝ่ายไทยจึงได้ทำรั้วลวดหนามเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ส่วนที่กัมพูชาเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของการตีความคำพิพากษาซึ่งมีกระบวนพิจารณาอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องนี้ผู้เขียนเคยอธิบายไว้แล้วที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962#TOC-16

ในทางกลับกัน หากเราไปถือว่ารั้วลวดหนามที่แสดง “boundary of the Temple area” นั้น หมายถึง “เขตแดน” ก็เสมือนว่าเรากำลังตีความว่าศาลได้พิพากษาเรื่องเขตแดนไปแล้วในปี พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นความเข้าใจที่อันตรายอย่างยิ่ง

4. ความสำคัญของ “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ “แผนที่ 1:200000”
อ. พวงทองกล่าวในย่อหน้าที่ 12 ว่า “ดิฉันเห็นด้วยกับคุณวีรพัฒน์ที่ว่า “การจะตอบว่าเส้นเขตแดนที่แท้จริงคือเส้นใด ต้องว่าไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ และข้อตกลงอื่น ฯ” ซึ่งดิฉันขอย้ำว่า ข้อตกลงอื่นๆ ที่ว่านี้ รวมถึงแผนที่จากการปักปันของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส หรือแผนที่ที่คนไทยเรียกติดปากว่า 1:200000 ด้วย"

ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อความหลักของ อ. พวงทอง และไม่ประสงค์จะโต้แย้ง แต่ขออธิบายดังนี้

ประการแรกต้องเข้าใจเสียก่อนว่า “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ “แผนที่ 1:200000” นั้นไม่ใช่ผลงานของ “คณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส” ตามที่ อ. พวงทอง เข้าใจ แต่เป็นผลงานของฝรั่งเศสฝ่ายเดียว ศาลโลกได้ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ชัดเจนในคำพิพากษาหน้า 21 เพียงแต่ศาลนำแผนที่ดังกล่าวมาพิจารณาในการตีความอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904

ผู้เขียนได้เคยอธิบายไว้แล้วว่า “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ “แผนที่ 1:200000” นั้นย่อมเป็นข้อที่ต้องพิจารณาประกอบการตีความสนธิสัญญาระหว่างไทยและกัมพูชาในปัจจุบัน และด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงต้องเน้นว่าการตีความสนธิสัญญาในปัจจุบันมิได้ผูกมัดไทยและกัมพูชาว่าต้องยึดตามเส้นที่ปรากฎใน “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ ยึด “สันปันน้ำ” ตามอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 หรือยึด “แนวพิจารณา” ของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 อย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างละเอียดและครบถ้วน

หากถามว่าหลักดังกล่าวมีว่าอย่างไร ผู้เขียนเห็นว่าต้องอาศัยกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่สะท้อนอยู่ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ซึ่งกำหนดให้ไทยและกัมพูชาตีความอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 โดยยึดความหมายปกติของถ้อยคำตัวอักษรในอนุสัญญาฯ เป็นหลัก ประกอบกับบริบทการประพฤติปฏิบัติ (subsequent practice) และความตกลง (subsequent agreement) ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยและกัมพูชาได้มีมาตลอดกว่าร้อยปีหลังได้ตกลงอนุสัญญาฯ เมื่อ ค.ศ. 1904 ไปแล้ว

ยกตัวอย่าง เช่น  สมมติว่าไทยพิสูจน์ได้ว่ามีความตกลงในรูปแบบ “บันทึกความเข้าใจ” (MOU) พ.ศ. 2543 ฉบับหนึ่ง ประกอบกับ “แถลงการณ์ร่วม” (Joint Communiqué) พ.ศ.2551 อีกฉบับหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าไทยกับกัมพูชามีเจตนาจะร่วมกันสำรวจเขตแดนและทำแผนที่ฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนที่แผนที่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหน้านี้ ไทยย่อมอาศัยข้อตกลงดังกล่าวมาตีความอนุสัญญาฯค.ศ. 1904 ได้ว่า “แผนที่ภาคผนวก 1” ที่กัมพูชาอ้างต่อศาลโลกเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว แม้ตอนนั้นศาลจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาฯ แต่การกระทำและการตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาตลอดเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า ณ วันนี้แผนที่ฯ มิได้มีสาระสำคัญสำหรับไทยและกัมพูชาดังที่ศาลเห็นในอดีตอีกต่อไป ดังนั้นบริบทการตีความถ้อยคำในอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 ที่ว่าด้วยเขตแดนไทย-กัมพูชา ในวันนี้จึงต่างไปจากเมื่อ พ.ศ. 2505 เป็นต้นฉันใดก็ฉันนั้น กัมพูชาก็อาจนำข้อตกลงและการประพฤติปฏิบัติต่างๆของไทยมาอ้างตีความในทางตรงกันข้ามได้

สรุป ผู้เขียนย้ำว่า การจะทราบถึงเขตแดนของไทยและกัมพูชา ต้องว่าไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ หลักใหญ่อยู่ที่ถ้อยคำในอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 ประกอบการประพฤติปฏิบัติ (เช่นการยอมรับหรือปฏิเสธแผนที่) และข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่มองไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว สันติภาพและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเรื่องของกระบวนการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน มิได้ยึดติดอยู่กับแผ่นกระดาษหรือภาพวาดในอดีตแต่อย่างใด

อนึ่ง ผู้เขียนก็ไม่ต่างไปจากชาวไทยหรือกัมพูชาที่เป็นมนุษย์ธรรมดา รู้สึกรันทดหดหู่ใจทุกครั้งที่เห็นชาวบ้านไม่ว่าเชื้อชาติใดต้องมารับกรรมจากปัญหาที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ สิ่งที่ผู้เขียนพอทำได้ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง ก็คือการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรมตามกฎหมาย ซึ่งอย่างน้อยต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจในหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องร่วมกัน เมื่อหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีย่อมมีโอกาสสำเร็จได้ แต่หากมนต์ที่สวดพร้อมกันยังเป็นคนละเล่มไซร้ มนต์อธิษฐานภาวนาไม่ว่าจะหวังดีหรือไพเราะเช่นใด ก็คงมิอาจฟังกันรู้เรื่อง.

(จบบทความตอบ อ. พวงทอง ตอนที่ 1: สำหรับประเด็นเรื่อง ไทยสามารถ “สงวนสิทธิ” เอาปราสาทพระวิหารคืนมาได้หรือไม่?ศาลได้ “วินิจฉัย” เรื่อง “แผนที่” หรือไม่? และศาลพิจารณาการประพฤติปฏิบัติของไทยอย่างไร? ผู้เขียนจะขอนำมาตอบในโอกาสต่อไป)

ประเด็นที่กล่าวมาเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนและต้องศึกษาจากคำพิพากษาทั้งฉบับ ผู้เขียนเคยอธิบายไว้แล้วบางส่วน ขอเชิญชวน อ.พวงทอง และผู้สนใจดูบทวิเคราะห์ฉบับเต็มที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์ชี้ ปชช. ต้องตัดสิน เลือกรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา หรือเสียเวลาทำประชามติเพื่อนิรโทษกรรม

Posted: 12 Jun 2011 11:46 PM PDT

ชี้ทักษิณกลับเข้าประเทศได้อยู่แล้ว ถ้าพร้อมกลับมารับโทษ ด้านเลขา กกต. เตือนต่อต้านหัวหน้าพรรคการเมือง อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง

อภิสิทธิ์ชี้ 3 ก.ค. ประชาชนต้องตัดสินว่าจะให้ประเทศเสียเวลาประชามติ หรือต้องการรัฐบาลใหม่แก้ปัญหา
วานนี้ (12 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบข้อถามสื่อมวลชน กรณีหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่มีการทำประชามติเพื่อขอนิรโทษกรรม ว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องอภัย เพราะเรื่องอภัยต้องขออภัยโทษ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผิด หรือว่าได้รับการลงโทษแล้ว

ซึ่งคิดว่าวันที่ 3 กรกฎาคม ประชาชนจะต้องตัดสินใจว่า จะให้ประเทศชาติเสียเวลากับการทำประชามติทั้งประเทศ หรือประชาชนต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ปัญหาอื่นๆ ที่อยู่ในใจของประชาชนมากกว่า เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุ จะกลับประเทศเดือนในพฤศจิกายนเป็นการวางแผนเพื่อรอให้กระบวนการล้างความผิด เสร็จสิ้นใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงเป็นลักษณะนั้น เพราะปกติสามารถกลับได้อยู่แล้ว ถ้าพร้อมกลับมารับโทษ

 

เลขา กกต. เตือนต่อต้านหัวหน้าพรรคการเมือง อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ขณะที่วันนี้ (13 มิ.ย.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการโรงเรียนประชาธิปไตย ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ว่า กรณีผู้ที่ไปแสดงออกคัดค้านการหาสียงของหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น อาจเข้าข่ายกระทำผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 53(5) ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มี สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังกล่าวถึงกรณีการทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิด สอบสวนแล้วปรากฏว่าส่วนใหญ่กระทำไปด้วยความคึกคะนอง ไม่เกี่ยวกับทางการเมืองและผู้เสียหายไม่เอาความ แต่ขอเตือนว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา ข้อหาทำให้เสียทรัพย์

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1], [2]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โรงเรียน"ตักวา"กับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

Posted: 12 Jun 2011 11:43 PM PDT

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี จนแทบจะเป็นความเคยชินเมื่อปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ โดยที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงได้ปะทุขึ้นเกือบทุกวัน

การเกิดขึ้นของโรงเรียนวิถีอิสลาม หรือที่มีชื่อเรียกในภาษามลายูว่า โรงเรียน “ตักวา” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี  ยะลาและนราธิวาส และสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งสำหรับครูและชุมชนในพื้นที่คือ การมีโรงเรียนวิถีอิสลามตอบสนองความต้องการของชุมชนที่นอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
 
ผู้นำคนหนึ่งของเครือข่ายโรงเรียนตักวา จังหวัดชายแดนใต้ได้อธิบายว่า สำหรับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมุสลิมซึ่งเคร่งครัด มีสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญสูงสุดเสมอด้วยชีวิตสองประการคือ ความเป็นศาสนาอิสลาม และความเป็นเชื้อสายมลายู อัตลักษณ์ทั้งสองประการคือประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
แนวคิดโรงเรียนวิถีอิสลามตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ โดยการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนมุสลิมผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียนของรัฐ ซึ่งไม่ใช่โรงเรียนตาดีกา หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามดังที่เคยได้ยินกันมา แต่เป็นโรงเรียนของรัฐบาลที่นักเรียนทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชนมุสลิม
 
อย่างไรก็ตามโรงเรียนวิถีอิสลามไม่ใช่กระบวนการทั้งหมดโดยตัวของมันเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง “กัมปงตักวา” หรือ “ชุมชนศรัทธา” แนวคิดการทำงานของเครือข่ายชุมชนศรัทธาเกิดจากการวิเคราะห์สาเหตุของความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แตกต่างจากความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่มักมุ่งเน้นไปที่ประเด็นของ “การแบ่งแยกดินแดน” ในขณะที่คณะทำงานของชุมชนศรัทธาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเกิดขึ้นจากเหตุผลสำคัญคือ ความไม่เข้าใจของรัฐและสังคมต่อความแตกต่างในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรมและภาษา หลักศรัทธา และความเข้าใจคลาดเคลื่อนของชุมชนทำให้เกิดช่องว่างในการสื่อสารซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม

จากชุมชนศรัทธาสู่โรงเรียนตักวา
การปฏิรูประบบการศึกษาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนา ภาษาและความต้องการของประชาชนโดยรวม เป็นยุทธศาสตร์ข้อแรกที่คณะผู้ขับเคลื่อนแนวทางชุมชนศรัทธาใช้เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างโรงเรียนวิถีอิสลามควบคู่ไปกับแนวทางชุมชนศรัทธา “กัมปงตักวา” 
 
จุดเริ่มต้นของการเกิดโรงเรียนวิถีอิสลาม มาจากการบุกเบิกของโรงเรียนบ้านจะแนะ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ในปี 2547 ผู้ปกครองนักเรียนและกรรมการสถานศึกษาได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านจะแนะ ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน ไปสู่โรงเรียนวิถีอิสลาม ดังนี้
 
1).นักเรียนบางส่วนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคารวะ ขาดวินัย ติดยาเสพติด มั่วสุมในอบายมุข ละเลยคำสอนของศาสนา ไม่ปฏิบัติตามหลักการของศาสนา 2). การที่โรงเรียนไม่ได้สอนความรู้ด้านอิสลามศึกษาอย่างพอเพียง ทำให้ผู้ปกครองซึ่งเคร่งครัดในศาสนาต้องส่งบุตรไปเรียนอัลกุรอาน และไปเรียนตาดีกาหลังเลิกเรียนรวมทั้งในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่งผลนักเรียนซึ่งอยู่ในวัยเยาวชน ต้องใช้เวลาหมดไปกับการเรียน จนไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวและพักผ่อนตามวัยที่ควรจะเป็น3). การที่ผู้ปกครองนักเรียนไม่ศรัทธาในระบบการสอนของโรงเรียน จึงไม่ได้ดูแลให้นักเรียนไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นักเรียนขาดเรียนบ่อย ส่งผลให้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ หรืออัตราการออกกลางคันสูง
               
จากการวิเคราะห์ปัญหาข้างต้น โรงเรียนมีความเชื่อว่า การจัดหลักสูตรแบบบูรณาการโดยสอนหลักการทางศาสนาควบคู่กับความรู้ในหลักสูตรสามัญจะช่วยกล่อมเกลาให้เยาวชนมีคุณธรรมและจริยธรรมดีขึ้น และนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ จึงได้มีการทดลองจัดห้องเรียนวิถีอิสลามสำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ขึ้น 1 ห้อง
 
เมื่อดำเนินการสอนได้ครบ 1 ปี โรงเรียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่เรียนในห้องเรียนวิถีอิสลาม กับนักเรียนที่เรียนในหลักสูตรปกติ ใน 3 ด้าน  คือ1) ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียน 2) คุณธรรม จริยธรรม  และ 3) ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน ผลการประเมินพบว่า นักเรียนที่เรียนในห้องวิถีอิสลามมีผลการเรียนไม่ด้อยกว่านักเรียนในหลักสูตรปกติ และบางวิชา เช่น ภาษาไทย มีผลการเรียนดีกว่า เนื่องจากนักเรียนมาเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอมากกว่านักเรียนในหลักสูตรปกติ ในด้านคุณธรรม จริยธรรม นักเรียนมีพฤติกรรมดีกว่านักเรียนในหลักสูตรปกติ และในด้านความพึงพอใจของผู้ปกครอง พบว่าผู้ปกครองพึงพอใจมาก ส่งผลให้ผู้ปกครองดูแลให้นักเรียนมาโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ
 
จากผลสำเร็จดังกล่าว โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนและจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบบูรณาการจนโรงเรียนบ้านจะแนะ กลายเป็นต้นแบบของโรงเรียนวิถีอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ความสำเร็จของโรงเรียนบ้านจะแนะ ยังมีประเด็นน่าสนใจนอกเหนือจากการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียน คือการที่โรงเรียนมีบทบาทต่อนักเรียนและชุมชนมากกว่าโรงเรียนทั่ว ๆ ไป ที่ทำหน้าที่สอนหนังสืออย่างเดียว โดยเฉพาะ การทำโครงการสวัสดิการแก่นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนหลายโครงการ โดยกิจกรรมที่โรงเรียนจัดเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน

เครือข่ายโรงเรียนตักวา จังหวัดชายแดนใต้
ความสำเร็จของโรงเรียนวิถีอิสลามที่มีโรงเรียนบ้านจะแนะเป็นต้นแบบนำมาสู่การรวมตัวของครูในโรงเรียนของรัฐ เพื่อสนับสนุนแนวทางโรงเรียนวิถีอิสลามในสี่จังหวัดชายแดนใต้ อันประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนวิถีอิสลาม คือการที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของชุมชนให้กลับมายอมรับและเป็นเจ้าของโรงเรียน จากเดิมที่ชุมชนเคยรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่โรงเรียนของคนมุสลิม แต่เป็นโรงเรียนของคนไทยพุทธ เป็นโรงเรียนของรัฐดังคำที่ชุมชนใช้เรียกโรงเรียนของรัฐว่า “สากอเลาะซีแย” (โรงเรียนสยาม) แต่ในปัจจุบันชุมชนเรียกโรงเรียนวิถีอิสลามว่า “สากอเลาะกีตอ” (โรงเรียนของเรา)
 
การก่อตั้งโรงเรียนวิถีตักวาของครูชายแดนใต้ จึงเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง ที่บรรดาผู้บริหารโรงเรียนของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความพยายามที่จะใช้กระบวนการศึกษาในโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของศาสนาอิสลาม มาเป็นแนวทางหล่อหลอมคุณธรรม จริยธรรมของเยาวชน ด้วยความเชื่อที่ว่า เยาวชนที่เป็นมุสลิมที่ดีและเข้าใจในหลักการของศาสนาอย่างแท้จริง จะไม่มีวันเข้าร่วมการก่อความรุนแรง ทำลายล้างชีวิตผู้อื่น และชุมชนที่มีความศรัทธาในโรงเรียนย่อมมีความเต็มใจที่จะสนับสนุนลูกหลานให้มาเรียนในโรงเรียนของรัฐ และพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่โรงเรียนจัดขึ้นอย่างเต็มที่
 
การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่สำคํญที่สุดคือการทำลายเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติของภาครัฐที่มีต่อประชาชนในพื้นที่   ในขณะเดียวกัน การป้องกันเยาวชนและชุมชนไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ต้องการใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่มตนเอง โดยใช้วิถีทางการศึกษาและหลักศาสนาของเครือข่ายโรงเรียนตักวา นับเป็นแนวทางที่น่าสนใจยิ่ง

 

จากบทความเดิมชื่อ:โรงเรียนวิถีอิสลามกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น