ประชาไท | Prachatai3.info |
- สุรพศ ทวีศักดิ์: เลือกตั้งเพื่อการเปลี่ยนผ่าน?
- พอลลีน: 'ในนามของความเกลียดชัง' อดีตนักสิทธิสตรี ผู้กลายเป็นอาชญากรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และทารุณกรรมทางเพศต่อสตรี
- คำเตือน: ไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกแล้วจริงหรือ?
- เครือข่ายสิทธิฯ เรียกร้องมาตรฐาน “การทรมาน คือ อาชญากรรม”
- นักข่าวพลเมือง: ผู้เชี่ยวชาญเผยสถิติคดีหมิ่นฯ เมืองไทยปีเดียวเฉียด 500 คดี เทียบเยอรมัน 120 ปีก่อน
- คดีทรมานนักศึกษายะลา : บทพิสูจน์ความก้าวหน้ากระบวนการยุติธรรมไทย
- เอกสารลับ ยุทธการกระชับวงล้อม 14-19 พ.ค.53 (2): กระสุนจริงและสไนเปอร์
- รายงาน: สืบพยานมาราธอน คดีเสื้อแดงมุกดาหาร 3 วันรวด
- เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เสนอร่างพ.ร.บ. ป้องกันและต่อต้านการทรมาน
- สุวิทย์ คุณกิตติ
- ฝ่ายหนุนปฏิรูปการเลือกตั้งมาเลเซียถูกตั้งข้อหา "ล้มเจ้า"
- แพร่คลิปเลือกตั้ง"พญาไท"เผยภาพชายจำนวนมากห้อมล้อมกันลงคะแนนนอกคูหา
- ทัพไทใหญ่ “เหนือ” เสียฐานที่มั่นให้พม่าอีกแห่ง หลังถูกโจมตีอย่างหนัก
- พันธมิตรฯ ประกาศชัยชนะประเทศ หลังสุวิทย์ถอนไทยจากมรดกโลก เตรียมยุติการชุมนุม 1 ก.ค.
- ใบตองแห้งออนไลน์: 3 ก.ค. วันปลดแอก เราจะเลือกคนเลว
สุรพศ ทวีศักดิ์: เลือกตั้งเพื่อการเปลี่ยนผ่าน? Posted: 26 Jun 2011 11:34 AM PDT เราได้ยินคำปรามาสทำนองนี้มาตั้งแต่คนเสื้อแดงออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งต้นปี 2553 แล้ว เช่น การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้ง ไม่ทำให้เกิดความปรองดอง ไม่แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ ไม่แก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ฯลฯ แต่ความจริงคือเราจะไม่มีจุดตั้งต้น หรือไม่สามารถเดินต่อไปเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้เลย หากไม่มีการเลือกตั้ง ทว่าเมื่อมีการเลือกตั้งใน 3 กรกฎาคมนี้ เรากลับเผชิญกับความหวั่นวิตกกันว่า จะเกิดความวุ่นวายต่างๆ ตามมา เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่เดิมพันสูงของคู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายที่ต่างก็มี “ชนักติดหลัง” ที่ทำให้แพ้ไม่ได้ ฉะนั้น หากพรรคเพื่อไทยชนะแต่ได้เสียงไม่มากพอจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และถูกประชาธิปัตย์รวบรวมเสียงจากพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของกองทัพอีก คนเสื้อแดงก็จะออกมาชุมนุมอีก หรือหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้วจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณ พันธมิตรก็จะออกมาชุมนุมอีก หรือที่แย่กว่านั้น กระบวนการสกัดทักษิณอาจกระทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แม้กระทั่งสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายเพื่อเป็นข้ออ้างทำรัฐประหาร เพราะภายใต้ระบบการเมืองที่เป็นอยู่จริงที่ “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาแทรกแซงได้เสมอ ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ยิ่งเรามองเห็นปัญหาดังกล่าวชัดเท่าใด เรายิ่งพึงตระหนักว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ในความหมายว่า 1) ไม่ใช่การต่อสู้เพียงแค่ 2 พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ กองทัพ และอำมาตย์ กับฝ่ายพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงซึ่งมีหลายเฉด ตรงนี้เองที่ถ้าการเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรมอาจจะเกิดปัญหาวุ่นวายตามมาได้เสมอ 2) เป็นการเลือกตั้งที่สามารถนำไปสู่จุดเริ่มต้องของ “การเปลี่ยนผ่าน” สู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตระหนักชัดเจนในประเด็นหลักๆ ต่อไปนี้ 1. ทำให้การเลือกตั้งเป็นการต่อสู้ของสองพรรคการเมืองใหญ่ โดยลงคะแนนเลือกสองพรรคใหญ่เป็นหลัก 2. การเลือกสองพรรคใหญ่ เลือกเพราะตระหนักชัดเจนว่า เราเลือกเพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเสรีภาพและความเสอมภาค ฉะนั้น เราจึงต้องเลือกพรรคการเมืองที่เราเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะกำกับควบคุมการทำงานของพวกเขาให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านนั้นได้มากที่สุด 3. เลือกเพราะตระหนักชัดเจนว่า ต้องการแก้ระบบสองมาตรฐาน คืนความเป็นนิติรัฐ นิธิธรรม แก่สังคม หลักคิดตรงไปตรงมาในการเลือกตามข้อนี้คือ สมมติรัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาว่า “สั่งฆ่าประชาชน 91 ศพ” แล้วฝ่ายที่กล่าวหาก็ใช้กำลังทหารยึดอำนาจ เสร็จแล้วก็ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาสอบสวนเอาผิดตามข้อกล่าวหานั้น จากข้อสมมตินี้หากเรายึดมั่นระบอบประชาธิปไตย เราย่อมตัดสินได้อย่างตรงไปตรงมาว่า นิติรัฐได้ถูกล้มไปแล้วโดยการทำรัฐประหาร และกระบวนการสอบสวนเอาผิดโดยคณะกรรมการที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นไม่ไม่ใช่นิติธรรม เพราะนิติธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีนิติรัฐตามระบอบประชาธิปไตยรองรับ ฉะนั้น แม้สมมติว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้สั่งฆ่าประชาชนจริง แต่ก็ต้องถูกดำเนินการเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นไปตามหลักนิติรัฐ และมีนิติธรรม สมมติต่ออีกว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกทำรัฐประหารและถูกคณะกรรมการที่รัฐประหารตั้งขึ้นสอบสวนเอาผิด จนศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง หากวันหนึ่งประเทศกลับสู่การเลือกตั้ง คุณอภิสิทธิ์และพวกก็ย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะต้อสู้ว่า กระบวนการที่ดำเนินการกับตนมาทั้งหมดนั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ฉะนั้น กระบวนการทั้งหมดจึงควรจะเป็นโมฆะ หากคนเสื้อแดงและญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมั่นใจว่า พวกตนมีหลักฐานพยานเพียงพอว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชนจริง ก็ต้องดำเนินการฟ้องใหม่ต่อ “กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ” ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผมเชื่อว่า ถ้าเอาข้อสมมตินี้ไปถามพรรคประชาธิปัตย์ หากพวกเขา “ซื่อสัตย์” ต่อหลักการประชาธิปไตย พวกเขาต้องตอบว่า สิ่งที่ผมเขียนมานี้ไม่ผิด และเป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับได้อย่างแน่นอน ฉะนั้น มีแต่การยอมรับและยืนยันหลักนิติรัฐ นิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น การแก้ปัญหาระบบสองมาตรฐาน และการคืนระบบนิติรัฐ นิติธรรมแก่สังคมจึงจะเป็นไปได้ ในฐานะประชาชนเราคือผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหนที่แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า ยืนยันหรือปฏิเสธหลักนิติรัฐ นิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย 4. เลือกพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์ หรือที่มีแนวโน้มว่าประชาชนจะกำกับควบคุมให้ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยได้ เกือบ 80 ปีแล้ว ที่ประเทศนี้รณรงค์ให้เลือกนักการเมืองที่เป็นคนดี หมายถึงมีความ “ซื่อสัตย์” คือไม่โกง ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก็เป็นการรณรงค์ที่ถูกต้อง (สำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่เรากลับไม่รณรงค์ให้เลือกนักการเมือง พรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตยเลย การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาในวงการเมือง (และวงการอื่นๆ) ของทุกประเทศ มากน้อยต่างกันไป เป็นปัญหาของการทำผิดกฎหมายที่ต้องแก้ไปเรื่อยๆ และต้องแก้ภายใต้กระบวนการยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น แม้จะยังมีนักการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์ในความหมายของการคดโกงคอร์รัปชัน แต่หากเรายึดความซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างมั่นคง ระบอบประชาธิปไตยก็จะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันนั้นๆ เอง และจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ อย่างอารยประเทศ แต่ปัญหาของบ้านเรา คือ “การไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการและระบอบประชาธิปไตย” จึงมีการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยอ้างสถาบัน อ้างว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน แต่ในที่สุดก็แก้ไม่ได้ เกิดคอร์รัปชันหนักกว่าเดิม และตรวจสอบไม่ได้ และที่น่าเศร้าคือ มีพรรคการเมืองที่โจมตีปัญหาคอร์รัปชันมาตลอด แต่ไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะลดปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างไร อ้างประชาธิปไตย อ้างหลักการ แต่การกระทำกลับตรงกันข้ามกับที่อ้าง หรือปากบอกปฏิเสธรัฐประหารแต่พฤติกรรมกลับออกมาในทางสมประโยชน์กับฝ่ายทำรัฐประหาร เป็นต้น ฉะนั้น ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คือผู้จะตัดสินใจว่า เราต้องเลือกพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย หรือที่มีแนวโน้มว่าประชาชนจะกำกับควบคุมให้ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยได้เท่านั้น จึงจะนำไปสู่การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายเป็นการเรียกร้อง “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนผู้บาดเจ็บล้มตายด้วย และมีความหมายต่อการเขียนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนให้ตรงตามความเป็นจริงและเที่ยงธรรมด้วยอย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้น หากการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเสรีภาพและความเสมอภาค เราจำเป็นต้องเลือกพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่ง ที่ประชาชนจะสามารถเรียกร้องและกำกับตรวจสอบให้ดำเนินนโยบายตามเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องต่างๆ ตามที่กล่าวมาเป็นต้น ได้จริง! อย่าลืมว่า “วาระสำคัญ” ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การต่อสู้ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ของคนสองฝ่ายใหญ่ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการให้คงระบอบประชาธิปไตยในกำกับของอำมาตย์ต่อไป กับอีกฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำกำกับของระบบอำมาตย์ !
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 26 Jun 2011 11:21 AM PDT
นางพอลลีน เยียรามาซูฮูโก (Pauline Nyiramasuhuko) เพิ่งถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตต่อความผิดฐานก่ออาชญากรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกคณะตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา (The International Criminal Tribunal for Rwanda: ICTR) พิพากษาให้รับโทษฐานเป็นผู้ก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสนับสนุนให้มีการกระทำทารุณกรรมทางเพศต่อสตรี นางพอลลีน วัย 65 ปีเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสตรีและสวัสดิการครอบครัวแห่งประเทศรวันดา องค์คณะผู้พิพากษาของ ICTR ระบุในคำพิพากษาว่า นางพอลลีนร่วมคบคิดวางแผนในการก่ออาชญกรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ, ทำลายล้าง, ข่มขืน, ไล่ล่าประหัตประหาร, กระทำทารุณกรรมต่อชีวิต และเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวทุตซี่ (Tutsis) กว่า 800,000 คนในประเทศ เมื่อปีพ.ศ. 2537 เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่เป็นรู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ Hotel Rwanda อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ในรวันดา เกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ชาวทุตซี่ที่ตกเป็นเหยื่อของการสังหารหมู่ครั้งนี้มีประมาณ 800,000 คนหรือร้อยละ 77 ของจำนวนประชากรชาวทุตซี่ในรวันดาก่อนเกิดเหตุการณ์ฯ ทั้งนี้ ก่อนปี 2537 จำนวนประชากรชาวทุตซี่ในรวันดามีอยู่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ ในระหว่างการก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้น กลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่รัฐบาลฯจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศได้ข่มขืนผู้หญิงและเด็กหญิงชาวทุตซี่อย่างโหดร้ายทารุณด้วย นางพอลลีนถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในห้ารัฐมนตรีที่ร่วมวางแผนนี้เพื่อทำลายล้างชาวทุตซี่ หลังเหตุการณ์ร้อยวันแห่งการสังหารในรวันดาสิ้นสุดลง นางพอลลีนหลบหนีไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ประทศคองโก สามปีหลังจากนั้น เธอถูกจับได้ที่ประเทศเคนยาในปี พ.ศ. 2540 และถูกนำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่แทนซาเนียเพื่อรอการพิจารณาคดี การพิจารณาคดีของนางพอลลีนเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 นับเป็นการพิจารณาคดีที่ใช้เวลายาวนานที่สุดของ ICTR นอกจากข้อกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในการจัดตั้งกลุ่มพลเรือนติดอาวุธทั่วประเทศเพื่อกวาดล้างชนเผ่าทุตซี่ให้สิ้นสูญไปจากรวันดาให้เร็วที่สุด พอลลีนยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการและส่งเสริมให้มีการสังหารหมู่ในเมือง Butare ทางตอนใต้ของรวันดาซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของเธอด้วย ทั้งนี้ เมือง Butare เป็นเมืองที่มีสัดส่วนของชาวทุตซี่และชาวฮูตู (Hutu) อยู่ร่วมกันจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งในรวันดา นางพอลลีนอายุ 48 ปี ในช่วงที่เธอก่ออาชญากรรมสะเทือนโลก เธอเป็นนักการเมืองและสตรีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของรวันดาในขณะนั้น พอลลีนมาจากครอบครัวชาวนายากจนในชุมชนชนบทที่อยู่เขตรอบนอกของเมือง Butare หลังสำเร็จการศึกษาชั้นประถม พอลลีนได้เข้าไปเรียนต่อที่ Karubanda School of Social Studies ในเมือง Butare เมื่อจบการศึกษาระดับไฮสคูลจากที่นี่ เธอเริ่มต้นทำงานเป็นนักพัฒนาสังคมด้านส่งเสริมและพัฒนาสิทธิสตรี เธอแต่งงานกับ Maurice Ntahobali ปัญญาชนคนดังของรวันดา และมีบุตรชายหญิงด้วยกัน 4 คน พอลลีนเป็นเด็กหญิงจากหมู่บ้านชนบทที่นำความภูมิใจมาสู่ชุมชนของเธอตลอดมา ทั้งยังเป็นผู้มีความอุตสาหะพยายามจนสามารถเรียนจบปริญญาตรีด้านกฎหมายได้เมื่ออายุ 44 ปี ปี 2535 พอลลีนได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกรการพัฒนาสตรีและสวัสดิการครอบครัว ตอนนั้นมีเสียงวิจารณ์กันว่าเธอได้ตำแหน่งนี้มาเพราะเป็นเพื่อนกับนางAgathe Habyarimana ภริยาประธานาธิบดี Juvenal Habyarimana แห่งรวันดา พอลลีนรู้จักกับ Agathe Habyarimana ในช่วงที่เรียนไฮสคูล ประธานาธิบดี Juvenal Habyarimana ถูกลอบสังหารในเดือนเมษายน 2537 อสัญกรรมของประธานาธิบดีเชื้อชาติฮูตู ได้นำไปสู่อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ในรวันดาที่นางพอลลีนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฯนั้น สามีของพอลลีนดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยแห่งชาติรวันดาที่เมืองButare บุตรชายคนหนึ่งของเธอเป็นหัวหน้ากลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่ไล่ล่าสังหารชาวทุตซี่และข่มขืนทารุณกรรมผู้หญิงชาวทุตซี่ตามคำสั่งเบื้องบนซึ่งมีพอลลีนเป็นหนึ่งในผู้สั่งการ ขณะที่หลบหนีอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในคองโกเมื่อปี 2538 นั้น พอลลีนเคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่าเธอไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการสังหารหมู่ในรวันดา เธอตอบโต้ข้อกล่าวหาโดยหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “เพศสภาพ”มาอธิบายประกอบว่า “แม้แต่ไก่สักตัว ฉันก็ยังไม่กล้าฆ่า ถ้ามีใครมาบอกว่าผู้หญิง หรือคนที่เป็นแม่สามารถฆ่าคนได้ ฉันขอบอกเลยว่าฉันพร้อมที่จะโต้ตอบกับคนๆนั้น” พอลลีนบอกว่าเธอตกเป็นเป้าของการถูกกล่าวหา เพราะเธอเป็นผู้หญิงฮูตูที่มีการศึกษาสูง เธอบอกว่า “ผู้หญิงชาวฮูตูทุกคนที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัย ถูกมองราวกับเป็นฆาตกร” ขณะที่สามีของเธอให้สัมภาษณ์นิวยอร์คไทมส์ว่า พอลลีนเคยเป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์ด้านสิทธิสตรี ทำงานส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายมาตลอด เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลยที่เธอจะสนับสนุนให้ลูกชายข่มขืนผู้หญิง อย่างไรก็ตาม คณะผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อรวันดาระบุว่าความผิดของนางพอลลีนนั้น “มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นความวิปริตและความชั่วช้าซึ่งยากหยั่งถึง” บทความเรื่อง "Mother of Atrocities: Pauline Nyiramasuhoko's Role in The Rwandan Genocise" ที่เขียนโดย Carrie Sperling ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ Legal Research and Writing, University of Oklahoma College of Law อ้างถึงรายงานของ Human Rights Watch ที่ระบุว่า “ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือ พวกลูกชายวัยรุ่นถูกบังคับให้ข่มขืมแม่ของพวกเขาเองต่อหน้าสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ” และ “ในหลายเหตุการณ์ มีการเอาน้ำที่กำลังต้มเดือดหรือน้ำกรด เทใส่ช่องคลอดของเหยื่อที่ถูกข่มขืน รวมทั้งการกรีดอวัยวะเพศและการตัดนมของเหยื่อ” ทั้งหมดนี้เป็นอาชญากรรมที่ถูกกระทำขึ้นในนามของความเกลียดชังอันมีอดีตนักสิทธิสตรีอยู่เบื้องหลัง
Sources:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คำเตือน: ไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกแล้วจริงหรือ? Posted: 26 Jun 2011 11:14 AM PDT จากช่วงคืนที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยได้รายงานว่านายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศว่าไทยได้ “ลาออกจากคณะกรรมการมรดกโลก” บ้างก็ว่า “ถอนตัวจากสมาชิกมรดกโลก” บ้างก็ว่า “Thailand has withdrawn from the World Heritage Convention” ล่าสุดคุณสุวิทย์เองใช้คำว่า “คกก.มรดกโลกนำวาระเขาพระวิหารเข้าที่ประชุม จึงเป็นที่มาของการถอนตัวของไทยออกจากกรรมการและสมาชิกภาคีอนุสัญญา” (http://twitter.com/#!/SuwitKhunkitti). ผู้เขียนยังไม่พบหนังสือ ถ้อยแถลง หรือคำอธิบายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทยว่า “การถอนตัว” ดังกล่าวมีรายละเอียดเช่นใด แต่ในยุคสมัยที่สื่อมวลชนต่างชิงเสนอข้อมูลจาก Twitter เพียงไม่กี่บรรทัด ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายจึงจำต้องตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเพิ่มเติมอีกบางบรรทัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนดังนี้ ไทยจะ “ถอนตัว” (withdraw) จาก “ภาคีมรดกโลก” ได้หรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องการตัดสินใจตามอำเภอใจ แต่เป็นเรื่องการใช้สิทธิตามขั้นตอนกฎหมายระหว่างประเทศ โดยหลักก็คือ อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. 1972 (“อนุสัญญามรดกโลกฯ”) ซึ่งไทยอาจ “ยังคง” เป็น หรือ “เคย” เป็น “ภาคีอนุสัญญา” (“ภาคี” ในที่นี้ก็หมายถึง “คู่สัญญา” ที่ยอมผูกพันตามกฎหมายนั่นเอง) กฎหมายระหว่างประเทศรับรองว่าไทยมีสิทธิถอนตัวจากการเป็น "ภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ" โดยการ “ประกาศไม่ยอมรับ” (denounce) ทั้งนี้ตามที่อนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 35 กำหนดสิทธิไว้ ดังนี้: Article 35 2. The denunciation shall be notified by an instrument in writing, deposited with the Director-General of the United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization. 3. The denunciation shall take effect twelve months after the receipt of the instrument of denunciation. It shall not affect the financial obligations of the denouncing State until the date on which the withdrawal takes effect. (เน้นคำโดยผู้เขียน ตัวบทอนุสัญญามรดกโลกฯ อ่านได้ที่ http://whc.unesco.org/en/conventiontext) หากการ “ถอนตัว” ที่คุณสุวิทย์ได้กระทำไปในนามรัฐบาลไทยคือการใช้สิทธิ “ประกาศไม่ยอมรับ” หรือ denounce ตามความในข้อ 35 ข้างต้น ผลทางกฎหมายที่ตามมาก็คือ “การประกาศไม่ยอมรับ” (denounce) นั้น มิได้ส่งผลเป็นการ “ถอนตัว” (withdrawal) โดยทันที แต่การถอนตัวจะเริ่มมีผลต่อเมื่อครบกำหนด 12 เดือน จากวันที่คุณสุวิทย์ได้ยื่นหนังสือไปยังยูเนสโก ซึ่งอาจหมายความว่า (ผู้เขียนย้ำว่า “อาจ”) ณ วันนี้ ไทยเองยังคงมีทั้งสิทธิและหน้าที่ในฐานะภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2555 (นอกจากไทยจะได้ตั้งข้อสงวนเรื่องนี้ไว้ แต่ผู้เขียนไม่พบข้อสงวนของไทยในบันทึกการเข้าเป็นภาคี UNTS Vol 1484 No 15511 เมื่อ ค.ศ. 1987 แต่อย่างใด) หลักกฎหมายและเงื่อนไขระยะเวลาที่ปรากฏอยู่ในอนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 35 ที่ผูกพันไทยนี้ สอดคล้องรองรับกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญ คือ ข้อ 56 และ ข้อ 70 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 (แม้ไทยจะมิได้เข้าผูกพันตามอนุสัญญากรุงเวียนนาโดยตรง แต่อาจมองในทางกฎหมายได้ว่าหลักดังกล่าวเป็นหลักทั่วไปที่ยอมรับนับถือโดยสากลกว่า 100 ประเทศทั่วโลก) ถามต่อว่า ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนนี้ ไทยจะเสียเปรียบกัมพูชา หรือไทยจะตกอยู่ใต้อำนาจของคณะกรรมการมรดกโลก หรือ ไทยจะต้องยอมรับผูกพันตามมติ หรือ แผนบริหารจัดการบริเวณปราสาทพระวิหารอันจะกระทบต่ออธิปไตย หรือความได้เปรียบเสียเปรียบในศาลโลกหรือไม่ อย่างไร? ผู้เขียนตอบเบื้องต้นเป็นขั้นๆ ดังนี้ 1. อนุสัญญามรดกโลกฯ เป็นกฎหมายที่มีความยืดหยุ่น - อนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 4 ใช้ถ้อยคำว่า “[ไทย]จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้” (It will do all it can to this end...) - อนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 5 ใช้ถ้อยคำว่า “[ไทย]จะพยายามอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และเหมาะสมสำหรับ[ประเทศไทย]” (...shall endeavor, in so far as possible, and as appropriate for each country...) - อนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 7 ใช้ถ้อยคำว่า “เพื่อจัดตั้งระบบความร่วมมือและช่วยเหลือระหว่างประเทศอันที่จะสนับสนุนภาคีอนุสัญญาฯ” (...the establishment of a system of international co-operation and assistance designed to support State Parties to the Convention…) - อนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 11 (3) ใช้ถ้อยคำสงวนสิทธิว่าการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะไม่กระทบต่อสิทธิของไทย (...shall in no way prejudice the rights...) ที่ยังมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนหรืออธิปไตยกับกัมพูชา เป็นต้น ดังนั้น แม้หากวันนี้ไทยยังคงเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯอยู่ ไทยย่อมสามารถตีความอนุสัญญาโดยสุจริตว่าไทยจะร่วมมือและช่วยเหลือเท่าที่จะเป็นไปได้และเหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยไม่กระทบต่อสิทธิของไทยที่มีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับกัมพูชา. ผู้เขียนย้ำว่ากฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับประเทศที่ชาญฉลาดและแยบยล 2. กฎหมายระหว่างประเทศให้สิทธิไทยไม่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญามรดกโลกฯ หากมีกรณีจำเป็น ไทยสามารถอ้างสิทธิตามหลักกฎหมายเหล่านี้ เพื่อต่อสู้ว่าสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญและกระทบถึงความมั่นคงปลอดภัยและสันติภาพระหว่างประเทศ ไทยจึงมีสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะไม่ปฏิบัติตามมตินั้น อย่างไรก็ดี การยกข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไทยมีภาระพิสูจน์ตามหลักเกณฑ์ย่อย และมิใช่อ้างได้โดยง่าย 3. เรื่องอนุสัญญามรดกโลกฯ ทำให้ไทยกังวลเกี่ยวกับคดีในศาลโลก จุดนี้อาจเป็นเพราะว่าแท้จริงแล้วไทยอาจกังวลกับผลจากการตีความคำพิพากษาโดยศาลโลกที่มีผลผูกพันไทยโดยตรง มากกว่าเรื่องมติมรดกโลกที่ยืดหยุ่นและเป็นเพียงแง่ทางกฎหมายประกอบแง่หนึ่งเท่านั้น อีกทั้งการกลับเข้าเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ ย่อมไม่เป็นปัญหาเท่ากับความเสี่ยงที่กัมพูชาจะนำมติไปอ้างให้ไทยเสียเปรียบในศาลได้ ข้อสังเกตเพิ่มเติม แต่อีกทางหนึ่ง ก็อาจมีผู้โจมตีว่าไทยขาดความน่าเชื่อถือในเวทีโลก เช่น ไทยขู่ถอนตัวเพื่อตั้งแง่การเจรจาให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการ (โดยทั่วไป) ออกไป และแม้สุดท้ายไทยจะได้ตามที่ต้องการ ก็ยังคงถอนตัวเพื่อประโยชน์ทางรูปคดี (เกี่ยวกับถ้อยคำบางคำ) อยู่ดี ทั้งที่ไทยจะถอนตัวแต่แรกก็ได้ หรือจะมองอย่างเสียดสีว่าเป็นเพียงการเรียกคะแนนนิยมก่อนวันเลือกตั้ง ฯลฯ การมองเหล่านี้มิใช่การมองทางกฎหมาย และอาจเป็นการด่วนสรุปที่ไม่เป็นธรรม แม้ผู้เขียนจะมีความเชื่อว่าคณะคุณสุวิทย์และตัวแทนฝ่ายไทยทุกท่านย่อมยึดประโยชน์ชาติเป็นใหญ่ แต่ผู้เขียนก็มิอาจแสดงความเห็นได้ เพียงแต่เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการตัดสินใจและชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยเร็ว ที่สำคัญ หนังสือพิมพ์ Bangkok Post (http://bit.ly/llkquo) รายงานว่าการตัดสินใจของคุณสุวิทย์นั้น โดยหลักเป็นเพราะคุณสุวิทย์และผู้แทนกรมศิลปากรไม่สบายใจกับถ้อยคำในร่างมติ แต่กระทรวงการต่างประเทศไทยกับไม่ติดใจถ้อยคำดังกล่าว (“Mr Suwit and Fine Arts Department representatives disapproved of the wording, while the Foreign Ministry was happy with it”) ผู้เขียนไม่ทราบว่าข่าวนี้จริงเท็จและมีรายละเอียดเช่นใด แต่หากนักการทูตและนักกฎหมายระหว่างประเทศชั้นนำของไทยไม่มีปัญหากับร่างมติจริง ประชาชนก็สมควรได้รับคำอธิบายอย่างชัดเจนทุกแง่มุม (เท่าที่จะไม่เสียรูปคดี) อาทิ - ถ้อยคำในร่างมติดังกล่าวมีนัยอย่างไรในมุมมองของแต่ละหน่วยงาน? - ปัจจุบันไทยยังคงมีสถานะเป็นภาคีหรือไม่ และไทยเคยตั้งข้อสงวนเรื่องการถอนตัวหรือไม่? - ไทยยังใช้สิทธิผ่านกรรมการของไทยในที่ประชุมมรดกโลกได้หรือไม่? - หากที่ประชุมมีท่าทีเปลี่ยนไปแล้วไทยจะเปลี่ยนใจยับยั้งการถอนตัวได้หรือไม่? - แม้การถอนตัวจะไม่กระทบต่อสถานะมรดกโลกในไทย แต่หากถอนตัวไปแล้ว ไทยจะยังคงดูแลอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา สุโขทัย บ้านเชียง ทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และผืนป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็น ให้สมเกียรติและศักดิ์ศรีของชาวไทยผู้ดูแลมรดกของชาวโลกหรือไม่? อนาคตของว่าที่มรดกโลกอื่นในไทยจะเป็นอย่างไร? - ไทยได้เสียเรื่องอื่นอย่างไร เช่น เงินอุดหนุนที่ไทยต้องจ่าย (ซึ่งอนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 35 บอกว่าไทยยังต้องจ่ายต่ออีก 12 เดือน) เงินสนับสนุนที่ไทยได้รับเกี่ยวกับมรดกโลก หรือ ผลกระทบต่อความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมกับ UNESCO? สุดท้าย สำหรับประชาชนคนไทยที่ห่วงใยสถานการณ์บริเวณปราสาทพระวิหาร โปรดอย่าเชื่อนักข่าวหรือคารมใครโดยง่าย แต่โปรดนำนโยบายและผลงานที่ผ่านมาของพรรคการเมืองเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารไปพิจารณาประกอบว่า นักการเมืองคนใดจากพรรคใด จะนำสันติภาพและความเจริญรุ่งเรื่องมาสู่ประเทศไทยอย่างแท้จริง
บทวิเคราะห์คดีปราสาทพระวิหาร อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เครือข่ายสิทธิฯ เรียกร้องมาตรฐาน “การทรมาน คือ อาชญากรรม” Posted: 26 Jun 2011 10:59 AM PDT 26 มิ.ย.54 หลายองค์กรออกแถลงการณ์ร่วม เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน เรียกร้องให้รัฐกำหนดให้การทรมานเป็นอาชญากรรม กำหนดกลไกเพื่อคุ้มครองพยาน มีระบบเยียวยาเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งตั้งองค์กรสอบสวนอิสระ แถลงการมีรายละเอียดดังนี้ ตามที่มาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายโดยการห้ามทรมาน ทารุณกรรมหรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ซึ่งทำให้การกระทำใดๆโดยเจ้าพนักงานของรัฐที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ซึ่งเป็นกระทำเพื่อให้ได้รับคำสารภาพ ลงโทษ ข่มขู่ให้กลัวหรือเพราะเหตุใดๆบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติถือเป็น “การทรมาน” ซึ่งรัฐมีพันธกรณีในการป้องกันและต่อต้านไม่ให้เกิดการทรมานดังกล่าว อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เป็นภาคีอนุสัญญาฯดังกล่าวจนปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการกำหนดมาตรการใดไม่ว่าในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการกระทำทรมาน เยียวยาผู้เสียหาย คุ้มครองพยาน หรือนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทำให้การทรมานยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดำรงอยู่ในสังคมไทยไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการเรียกร้องทางการเมือง หรือภายใต้การบังคับใช้กฎหมายปกติ ซ้ำร้าย ผู้เสียหายซึ่งร้องทุกข์ว่าถูกทรมานให้รับสารภาพในคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อปีพ.ศ. 2547 ยังถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องคดีกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ หลังจากหลังจากคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูลความผิดว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ทั้งนี้ผู้เสียหายยังเป็นลูกความและพยานในคดีเกี่ยวเนื่องกับการถูกบังคับให้หายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อข้างท้ายจึงขอเรียกร้องรัฐเร่งดำเนินการปฏิบัติตามพันธกรณีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานโดยการออกกฎหมายเฉพาะ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือกำหนดมาตรการใดๆเพื่อ 1. ให้ฐานความผิดเรื่องการทรมานเป็นฐานความผิดเฉพาะ และกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสมกับฐานความผิดดังกล่าว ปัจจุบันในกฎหมายไทยยังไม่มีฐานความผิดว่าด้วยการทรมานที่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ 2. ให้มีกลไกพิเศษในการสืบสวนสอบสวน และมีกลไกในการตรวจสอบที่อิสระและเป็นกลางจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกรณีทรมาน ในคดีซึ่งมีการร้องทุกข์ว่ามีการทรมานเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่ ที่กระทำผิดไม่ถูกนำตัวมาลงโทษเนื่องจากผู้ที่ทำการสอบสวนและผู้กระทำผิดมักมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งทำให้ขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางในการสอบสวน 3. ให้มีการคุ้มครองพยานที่มีมาตรฐานและปลอดภัย ฝึกอบรมและเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงที่จะทำให้ระบบการคุ้มครองพยานเกิดประสิทธิภาพได้จริง 4. ให้สร้างระบบการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางจิตใจต้องมีการบำบัด ฟื้นฟูอย่างเป็นรูปแบบ พร้อมทั้งพัฒนาระบบนิติจิตเวชให้แพทย์มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบภาวะทางจิตของผู้เสียหายที่มีภาวะความเครียด วิตกกังวล ภายหลังผ่านประสบการณ์เลวร้าย (Post Traumatic Stress Disorder -PTSD) 5. ให้มีหลักประกันต่อผู้เสียหายว่าคำร้องทุกข์จะได้รับการตรวจสอบโดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม และจะไม่ถูกดำเนินคดี ดังที่รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 62 ได้รับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยการของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคลซึ่งให้ข้อมูลสุจริตแก่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่นั้นย่อมได้รับการคุ้มครอง แต่ปรากฏในประเทศไทยผู้รอดชีวิตจากการทรมานโดยการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่ได้รับการคุ้มครอง และถูกฟ้องกลับภายหลัง หากกลไกยุติธรรมของรัฐล้มเหลวในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ “การทรมานคืออาชญากรรม” ด้วยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน
1.เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 2.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 3.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 4. คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย 5. ศูนย์ข้อมูลชุมชน 6. มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ 7. โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ 8.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 9. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 10. กลุ่มบุหงารายา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: ผู้เชี่ยวชาญเผยสถิติคดีหมิ่นฯ เมืองไทยปีเดียวเฉียด 500 คดี เทียบเยอรมัน 120 ปีก่อน Posted: 26 Jun 2011 10:47 AM PDT เสวนากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เชียงใหม่ “เดวิด สเตร็คฟัส” เผยสถิติคดีเพิ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร 49 แนะขยายพื้นที่ทางสังคมเพื่อพูดคุยเรื่องนี้ ด้าน “สมชาย ปรีชาศิลปกุล” ชี้ปัจจุบันโทษของกฎหมายหมิ่นฯ สูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้ถูกฟ้องมักไม่ได้ประกันตัวและเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมหลายเรื่อง ด้านผู้นำแรงงานเผยนายจ้างหยิบประเด็นความจงรักภักดี ใช้ฟ้องร้องเลิกจ้างคนงาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง “การเมืองใน Lese Majesty Lese Majesty ในการเมือง” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยมีผู้อภิปรายคือ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.เดวิด สเตร็คฟัส ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาระหว่างประเทศ ม.ขอนแก่น ผู้เขียนหนังสือ “Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste” (การดำเนินคดีกับความจริงในเมืองไทย: กฎหมายหมิ่นประมาท, ข้อหากบฏ, และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ดำเนินรายการโดย อาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพยุคนี้โทษหนักกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดย “สมชาย ปรีชาศิลปกุล” เริ่มอภิปรายว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นกฎหมายที่มีปัญหามาก เขายกคำพูดของผู้ที่เคยต้องคดีหมิ่นคนหนึ่งที่เปรียบเทียบว่า “การมีกฎหมายนี้ เสมือนการตกอยู่ในคุกที่มองไม่เห็น” และสถานการณ์นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนจะยิ่งแย่ลง ซึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับความเห็นของ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ รองราชเลขาธิการ ที่กล่าวไว้ในปี 2530 ปลายรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่าบทลงโทษของกฎหมายนี้น่าจะมีแนวโน้มลดลง หรือกฎหมายนี้อาจจะถูกยกเลิกไปเลย ถ้าประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ “สถานการณ์ปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ความคาดหมายของท่าน ม.ร.ว.ทองน้อย ไม่จริง แต่กลับดำเนินไปในทางตรงกันข้าม จำนวนคดีหมิ่นมีมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และช่วงหลังมีการเสนอให้เพิ่มบทลงโทษด้วยซ้ำ โดยเฉพาะฟากเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองบางส่วน นอกจากนี้ จะตีความได้หรือไม่ว่า ที่เป็นเช่นนี้แสดงว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยยังไม่พัฒนาก้าวหน้า” สมชายกล่าว เขากล่าวด้วยว่า กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ มีการแก้ไข 3 ครั้งด้วยกันโดยบังคับใช้อยู่ในช่วงสมัยต่างกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายนี้ มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ที่น่าสนใจคือ กฎหมายฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมปี 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ซึ่งได้แยกความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นกษัตริย์มาอยู่ในมาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษตั้งแต่ 3-15 ปี และไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ซึ่งเป็นบทลงโทษที่หนักกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ “ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายที่ใช้คือกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 (พ.ศ.2451) มาตรา 98 ซึ่งบทลงโทษในคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์คือจำคุกไม่เกิน 7 ปี และให้ปรับไม่เกินห้าพันบาท ต่อมาในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 การกำหนดโทษเหมือนเดิมคือไม่เกิน 7 ปี แต่ค่าปรับลดลงมาเป็นสองพันบาท” ที่น่าสนใจคือ ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีข้อยกเว้นในมาตรการอื่น ไม่ให้ถือการกระทำต่อไปนี้เป็นความผิด คือถ้าหากการกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ซึ่งถือว่าเป็นการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือแสดงความเห็นโดยสุจริต ติ ชม ตามปกติ ในบรรดาการกระทำของรัฐบาล
เผือกร้อนของกระบวนการยุติธรรม และ “การประกันตัว” ที่กลายเป็นเรื่องยกเว้น นอกจากเปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบทลงโทษของกฎหมายแล้ว รศ.สมชาย ยังเห็นว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น เป็นเผือกร้อน ซึ่งเมื่อเกิดคดีขึ้นเมื่อใด บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะระมัดระวังอย่างมาก “แม้แต่คดีที่เราดูปุ๊บก็ตอบได้ทันทีว่าผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ตำรวจยังต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง มีการโทรศัพท์มาขอความเห็นทางกฎหมายจากผม ตอนที่มาพบมากันสามคน มีเครื่องบันทึกเสียงมาด้วย พอถามว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ตำรวจก็บอกว่าต้องรัดกุม ถ้าสั่งฟ้องก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสั่งไม่ฟ้อง ต้องมีหลักฐานข้ออ้างอิงทางกฎหมายที่ชัดเจน เรื่องนี้ถ้าไปถึงขั้นอัยการ ก็เหมือนกันอีก มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำไมเราต้องทำอะไรมากมายขนาดนั้น” สมชายกล่าว เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สิ่งที่ทำให้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แตกต่างจากคดีอื่นๆ ทั่วไปคือ การประกันตัวกลายเป็นข้อยกเว้น แต่การควบคุมตัวกลายเป็นเรื่องหลัก นอกจากนี้ ในบางกรณี การดำเนินคดีกับนักเขียนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กลับยิ่งทำให้สิ่งที่พวกเขาเขียนได้รับความสนใจ มีคนอ่านเพิ่มมากขึ้น เช่น กรณีของนายแฮรี่ นิโคไลดส์ (Harry Nicolaides) ที่ก่อนถูกดำเนินคดี เคยเขียนหนังสือที่มีการพิมพ์เพียง 50 เล่ม ขายได้จริงแค่ 7 เล่ม แต่พอถูกดำเนินคดี ติดคุกไม่ได้ประกันตัว หนังสือของเขาก็กลายเป็นหนังสือที่คนจำนวนมากอยากอ่าน นอกจากนี้ก็ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ดังขึ้นมา เพราะว่าคนเขียนต้องหาคดีหมิ่นฯ
ภาวะ Prisoner’s dilemma “สู้คดี” หรือ “รับสารภาพ” สมชายกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การพิจารณาคดีในชั้นของศาล เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้ขั้นตอนการพิจารณาไม่ปรากฏต่อสาธารณะ ที่สำคัญคือทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Prisoner’s dilemma” คือความยากลำบากในการตัดสินใจของผู้ต้องหาว่าจะสู้คดีเพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แล้วต้องเผชิญกับผลที่จะตามมาคือ โดนโทษหนัก หรือจะยอมรับผิด ยอมสารภาพ เพื่อให้ได้ลดโทษ อาจจะติดคุกสักปีหนึ่ง แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วติดอีกปีสองปีก็พ้นโทษ “แต่ถ้าสู้ เท่าที่อ่านคดีที่มีการตัดสินแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีใครชนะ มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะแพ้คดี กรณีแฮรี่ นิโคไลดส์ก็รับสารภาพเหมือนกัน แล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับพระราชทานอภัยโทษ มันเกิดภาวะ “Prisoner’s dilemma” จะเอาอย่างไร จะสู้ไหม สู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องคิดด้วยว่า 18 ปี หรือไม่สู้แล้วรับสารภาพ สิ่งนี้เป็นสิ่งน่าตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์แบบนี้ หมายความว่าคนที่โดนคดีนี้แล้วตัดสินใจสู้หรือไม่สู้ ไม่ได้เกิดจากความคิดแค่ว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่ต้องคิดถึงผลที่ตามมาว่าสมควรจะสู้หรือไม่สู้ด้วย” สมชายกล่าว
ความเงียบของสื่อมวลชนต่อข่าวคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขายังกล่าวถึงการตกต่ำของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อมวลชนในประเทศไทย จากการจัดอันดับขององค์กรเฝ้ามองสื่อระหว่างประเทศอย่าง Freedom House ที่จับตามองสถานการณ์เรื่องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ ที่ได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีสื่อมวลชน”กึ่งเสรี” ในปี 2553 แต่ในปี 2554 สถานภาพของสื่อมวลชนไทย ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “ไม่มีเสรีภาพ” ซึ่งประเทศร่วมกลุ่มเดียวกัน คือ พม่า จีน เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย ทั้งนี้เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากตัวชี้วัดเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง การบังคับใช้กฎหมายควบคุมเรื่องสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ รวมทั้งกฎหมายในเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ “เป็นเรื่องน่าตกใจที่เห็นแบบนี้” รศ.สมชาย กล่าว อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าสื่อสารมวลชนมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในเรื่องนี้ เรามักไม่พบข่าวเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสื่อกระแสหลัก แต่จะพบในสื่อใหม่ ประเภทหมูไม่กลัวน้ำร้อน เช่น ประชาไท แต่ส่วนใหญ่สื่อในเมืองไทย เลือกที่จะไม่พูดเรื่องนี้ “นักข่าวบางคนบอกว่า ส่งข่าวเรื่องนี้ให้กองบรรณาธิการตลอด แต่บรรณาธิการก็บอกว่า อย่าไปทำ อย่าแตะต้อง อย่าพูดถึง” สมชายกล่าว
เผยมีการใช้ข้อหาไม่จงรักภักดีจนเลยเถิด ถึงขั้นยกเป็นเหตุเลิกจ้างพนักงาน ส่วนในทางสาธารณะ ก็มีการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเลยเถิด โจมตีฝ่ายตรงข้าม ยัดเยียดข้อหาให้ทั้งที่ไม่เกี่ยว เช่น กรณีของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่ไม่ยืนในโรงหนัง ซึ่งถ้าจะมองก็มองได้ในแง่ที่อาจไม่เหมาะไม่ควร “แต่การไม่ยืนในโรงหนัง ไม่ได้เป็นความผิดทางกฎหมาย ไม่ได้เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือกรณีคุณจิตรา คชเดช หัวหน้าสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่แค่ใส่เสื้อที่เขียนว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ไปออกรายการโทรทัศน์เมื่อปี 2551 พูดเรื่องปัญหาทำท้อง ทำแท้ง ก็ถูกบริษัทยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อเลิกจ้างข้อหาทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง จากเหตุใส่เสื้อยืดดังกล่าว ซึ่งศาลแรงงานเห็นตามที่บริษัทอ้างว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอนุญาตให้เลิกจ้าง สมชาย เกรงว่า หากมีการนำเอาข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปใช้กันอย่างเลยเถิดกว้างขวางแบบนั้น ก็คงจะโดนกันหมด รวมถึงพวกที่ใส่เสื้อที่เขียนว่า “เรารักในหลวง” ด้วย เพราะอาจจะโดนกล่าวหาว่า คุณเป็นใคร เป็นเพื่อนในหลวงหรือเปล่า ที่จะมาบอกว่ารักในหลวง จะพูดยังต้องใช้ราชาศัพท์ แล้วจะมาใช้คำว่ารักกับพระองค์ท่านได้อย่างไร
เสนอระหว่างที่ยังไม่มีการปรับปรุง ม.112 ต้องหยุดใช้กฎหมายนี้บ่อนทำลายประชาธิปไตย สมชายเสนอด้วยว่าประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณากันคือ กฎหมายที่อ้างว่าใช้เพื่อป้องกันการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการคิดกันอย่างจริงจัง ว่าส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไรบ้าง และต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างไร ซึ่งถ้าหากยังมีการใช้กฎหมายแบบไม่ตรงไปตรงมาแบบนี้ และการที่ไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ ที่สุดแล้วปัญหาจะสะท้อนกลับไปที่ตัวสถาบันเอง ดังจะเห็นจากการแพร่ระบาดของข่าวลือ ซึ่งไม่เคยเห็นว่ามีข่าวลือในด้านดี ถ้าไม่สามารถให้พูดในพื้นที่สาธารณะได้ ก็จะเป็นปัญหา หนังสือที่มีปัญหาถูกเซ็นเซอร์หลายเล่มก็เช่นกัน พอถูกแบน ก็มีคนอาสาแปลเป็นไทยให้ฟรี โดยไม่คิดเงิน หนังสือบางเล่มก็มีบทแปลตั้งสี่เวอร์ชั่นแล้ว “ต้องพูดกันอย่างจริงจังว่า กฎหมายนี้ควรมีหรือไม่ หรือควรปรับปรุงอย่างไร และในขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายนี้ สิ่งที่พอจะทำได้คือ พยายามหยุดยั้งการใช้กฎหมายนี้ไปในทางที่บ่อนทำลายหลักการของประชาธิปไตย และคุกคามเสรีภาพของผู้คน” รศ.สมชายกล่าว พร้อมกับเสริมว่า การที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายนี้ ต้องใช้พลังมาก ต้องรอให้ถึงจุดวิกฤติ สังคมไทยขณะนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน และคนยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน แต่ถ้าเปลี่ยนกฎหมายในเรื่องนี้ จะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งคงจะทลายหลายๆ อย่างได้มาก
ผู้เชี่ยวชาญเผย สถิติฟ้องหมิ่นฯ ปีที่ผ่านมาเฉียด 500 ราย เท่าเยอรมันเมื่อ 120 ปีที่แล้ว “เดวิด สเตร็คฟัส” เปิดเผยข้อมูลการเพิ่มขึ้นของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยอ้างอิงข้อมูลของศาลยุติธรรมของไทยว่า ในปีที่ผ่านมา (2553) มีการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจำนวนทั้งสิ้น 478 คดี เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า เทียบกับปี 2552 ซึ่งมี 164 คดี และปี 2550 จำนวนทั้งสิ้น 126 คดี “น่าแปลกใจว่าจะมีประเทศไหนอีกในโลกที่มีคดีประเภทนี้สูงขนาดนี้ ตัวเลขของไทยในรอบหนึ่งปีถือว่าสู้กับจำนวนคดีดังกล่าวในประเทศเยอรมันในรอบ 120 ปีที่ผ่านมาได้แล้ว” เดวิดกล่าว เขากล่าวว่า จำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2549 จากสถิติของศาลยุติธรรมในระยะ 3 - 4 ปีที่ผ่านมามี 46 คดีที่ไปถึงศาลอุทธรณ์ และมี 9 คดีที่ไปถึงศาลฎีกา นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาก่อนการรัฐประหารในปี 2549 มีคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยเฉลี่ย 5-6 คดีต่อปี แต่อัตราชนะแทบจะไม่มี คือมีเพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น “แม้แต่ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยังพูดเลยว่าหากโดนคดีประเภทนี้ก็สารภาพไปเถอะ ... ปัญหาก็คือว่า เราไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไหร่ว่าคนที่ถูกตั้งข้อหา หรือถูกดำเนินคดีนั้นเป็นใครกันบ้าง อาจเป็นไปได้ด้วยว่าเขาไม่อยากเปิดเผย” เดวิดกล่าว
ทิศทางไทยประเทศวัฒนธรรมเชิงเดียว หรือประเทศที่มีความหลากหลายในสิทธิเสรีภาพ นายเดวิดกล่าวว่าการที่มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวนมากนี้ เป็นคำถามใหญ่ที่ท้าทายว่าประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร กล่าวคือจะเป็นประเทศที่เน้น “Monoculture” (วัฒนธรรมเชิงเดี่ยว) หรือจะเป็นประเทศที่มี “ความหลากหลายในสิทธิเสรีภาพในการพูด” ฝรั่งโดยทั่วไปมองประเทศไทยในแง่ดี แม้ว่าจะมีข้อมูลที่แสดงว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยกำลังมีปัญหา เช่นในการจัดอันดับขององค์กร Reporters Without Borders (ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน) ที่จับตามองเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ พบว่าลำดับของประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ กล่าวคือ จากอันดับ 59 ในจำนวน 167 ประเทศ ในปี 2547 มาเป็น อันดับที่ 130 ในจำนวน 175 ประเทศในปี 2552 และอันดับ 153 ในจำนวน 178 ประเทศในปี 2553 ติดอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่ำที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้นี้เห็นว่า เริ่มจะมีการใช้พื้นที่ที่พูดถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นมากขึ้น ซึ่งเขาเห็นด้วยว่าน่าจะมีการขยายพื้นที่เช่นว่านี้ให้มีมากยิ่งขึ้น ที่กรุงเทพฯ มีมาก แต่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่มีเวทีพูดคุยลักษณะเช่นที่จัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านที่อีสานไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ “ชาวบ้านในภาคอีสาน ที่ผมได้พูดคุยด้วย พวกเขารู้เรื่องมาตรา 112 ดีทีเดียว เมื่อไหร่ก็ตามที่มีงานของกลุ่มเสื้อแดง และมีการขอให้ลงชื่อเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 ชาวบ้านก็กล้าลงชื่อ พวกเขาเข้าใจว่าที่ผ่านมามีการนำมาตรา 112 ไปใช้เป็นอาวุธทางการเมือง” “น่าจะมีการจัดเวทีพูดคุยแสดงความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายนี้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกของคนในสังคมว่า การพูดคุยเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือเรื่องที่ทำให้เครียด หรืออาจจะใช้วิธีแบบที่ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์เสนอ คือทำโพลสอบถามความเห็นแบบในสวีเดนเลยก็ได้”
แนะการฟ้องร้องควรมีหน่วยงานกลั่นกรอง ไม่ให้มีผู้นำกฎหมายหมิ่นฯ ไปใช้เป็นอาวุธ เดวิด สเตร็คฟัส กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและคนสำคัญในสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของปัญหา สองปีก่อนมีการตั้งกรรมการชุดหนึ่งที่มีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เพื่อที่จะทางเลือกแทนการฟ้องคดี อาจจะใช้แนวทางอื่นๆแทน แต่การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า นอกจากนี้มีกลุ่มนิติราษฎร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พยายามเสนอหลายแนวทางในการแก้ไขมาตรา 112 อาทิเช่น การให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย เช่นเดียวกับที่ในประเทศนอร์เวย์ ที่การฟ้องคดีหมิ่นต้องให้กษัตริย์เป็นผู้ยินยอมให้มีการฟ้อง หรือในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่การฟ้องคดีนี้ ต้องผ่านการเห็นชอบของกระทรวงยุติธรรมก่อน ทั้งหมดนี้ เพื่อเป็นการกลั่นกรองในระดับหนึ่ง เพื่อยับยั้งไม่ให้ใครนำเอากฎหมายเรื่องนี้ไปใช้เป็นอาวุธ
สมชายไม่เชื่อน้ำยา “เพื่อไทย” จะแก้กฎหมาย ชี้การเปลี่ยนแปลงอยู่ที่พลังทางสังคม ในช่วงที่เปิดให้ผู้ร่วมประชุมอภิปราย สมชาย ตอบคำถามที่มีผู้ถามว่า ถ้าหลังการเลือกตั้ง แล้วพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล คิดว่าจะทำให้เกิดการยกเลิกกฎหมายนี้ได้หรือไม่ โดยสมชายตอบว่า ไม่แน่ใจ เพราะไม่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยพูดเรื่องนี้ชัดเจนแต่อย่างใด อีกอย่างกฎหมายนี้พร้อมที่จะถูกใช้ประโยชน์เพื่อใครก็ได้ ดังนั้น อย่าฝากความหวังไว้กับการเมืองตัวแทน การเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ ขึ้นกับพลังทางสังคมมากกว่า
“จิตรา คชเดช” เผยมีการใช้เรื่องความจงรักภักดี ฟ้องร้องเพื่อทำลายการรวมกลุ่มคนงาน ด้าน น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งร่วมฟังการเสวนา ได้อภิปรายว่า ตอนที่ไปฟังศาลแรงงานมีคำตัดสินนั้น ตนถูกหาว่า “ไม่มีวิญญาณประชาชาติไทย” โดยที่ศาลอ้างว่า คำว่าไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทยนั้น ตามพจนานุกรมหมายถึง ประชาชนคนไทยให้ความเคารพ ยกย่อง เทิดทูนพระมหากษัตริย์ แต่พอตอนที่ตนไปขอคัดคำตัดสินที่เป็นลายลักษณ์อักษร ศาลก็ตัดถ้อยคำที่กล่าวหาตนเช่นนี้ออกไป “ศาลแรงงานเห็นด้วยกับบริษัทที่อ้างว่าดิฉันทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง บริษัทยืนยันว่าเลิกจ้างดิฉันเพราะว่ามีทัศนคติที่ไม่จงรักภักดี เช่นวันจันทร์ บริษัทให้ใส่เสื้อเหลืองก็ไม่ใส่ วันที่สมเด็จพระพี่นางสวรรคตให้ใส่เสื้อดำก็ไม่ใส่ ตอนที่บริษัทให้พนักงานลงชื่อถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งดิฉันก็ไปลงชื่อ แต่บริษัทก็อ้างว่าเธอไม่จริงใจ เพราะใส่เสื้อลายสก็อตมา” น.ส.จิตรา กล่าว “โดยส่วนตัวยืนยันว่าต้องยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ เพราะทุกวันนี้ กลายเป็นว่าตัวกฎหมายถูกหยิบมาใช้กับคนที่คิดว่าใช้กฎหมายอื่นๆ จัดการแล้วไม่ได้ผล
สมชายเห็นต่าง ม.ร.ว.อคิน ชี้แก้กฎหมายหมิ่นฯ คือพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ คนละเรื่องกับการยกเลิกสถาบัน ในช่วงของการถามตอบ นายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ ตั้งคำถามวิทยากรว่า เห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวของ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ซึ่งกล่าวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งตอนหนึ่งระบุว่า “ผมไม่รู้ว่า พวกที่ออกจากป่าคิดยังไง มีหลายคนเคียดแค้นสถาบัน คิดว่า สถาบันมีส่วนเกี่ยวข้อง มีความแค้นอยู่ในใจ มีความคิดจะต่อสู้ ผมคิดว่า ถ้าเมืองไทยไม่มีสถาบันกษัตริย์จะลำบากมาก คนไทยจะฆ่ากันมากขึ้น เมื่อก่อนสยามประเทศจะมีหลายเผ่าพันธุ์ แต่มาอยู่ร่วมกันเพราะสวามิภักดิ์ต่อสถาบันเดียวกัน … ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เมืองไทยก็ไม่ต่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แถบนั้นคนฆ่ากันตายเยอะ ฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากอเมริกา ลึกๆ แล้วคนไทยต้องการความสงบและเลื่อมใสพุทธศาสนา แต่องค์กรพุทธศาสนาก็ตกอยู่ในบ่วงทุนนิยม” โดยสมชาย ตอบคำถามนี้ว่า การที่พูดเรื่องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้หมายถึงว่าต้องยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เป็นแต่เพียงการพูดเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่เกี่ยวกับการล้มสถาบัน
ตั้งข้อสังเกต การโยงเรื่องแก้ ม.112 กับกาล้มสถาบันฯ เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ นอกจากนี้การที่มองว่า คนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ เพราะเคียดแค้นสถาบันนั้นก็ไม่ใช่ เพราะตนเองก็เรียกร้องให้มีการแก้ไข และตนก็ไม่ใช่คนที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม หรือได้รับผลกระทบอะไรจากเหตุการณ์ในตอนนั้น ส่วนที่ยกเหตุผลว่า ถ้าไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้วจะเป็นเหมือนฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซียนั้น คงต้องมองว่า ประเทศที่เขาไม่มีสถาบันนี้ และไม่มีการรบกันก็มี บางครั้งการหยิบยกตัวอย่างอะไรขึ้นมา ก็มีการเลือกในส่วนที่สนับสนุนความคิดของเรา “สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทัศนะที่ผมเชื่อก็คือ สถาบันที่สำคัญทุกอย่างต้องถูกตรวจสอบ สถาบันที่ตามไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมจะเสียหายมาก” อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเชื่อมโยงการแก้ไขมาตรา 112 เข้ากับข้อหาล้มล้างสถาบันนั้นเป็นเรื่องที่พึ่งเกิดมาเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งแม้แต่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง เมื่อ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (เสียชีวิตเมื่อปี 2553) ร่วมลงชื่อให้แก้ไขมาตรานี้ ก็มีใบปลิวว่อนในคณะ กล่าวหาว่าอาจารย์ท่านนี้ต้องการล้มล้างสถาบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในมหาวิทยาลัย ก็มีคนที่เชื่อการเชื่อมโยงเช่นนั้น ซึ่งการแยกคนออกเป็นพวกว่า พวกหนึ่งรักชาติ พวกหนึ่งอยากทำลายชาติ การแยกแบบนี้ อันตรายเพราะทำให้มองว่าคนอีกพวกนั้นไม่ใช่คนไทย มีผู้ตั้งคำถามด้วยว่า ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย ในเว็บไซต์วิกิลีคส์ ที่เป็นการให้ข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศในไทย เช่นนายอีริค จี จอห์น (Eric G. John) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่ให้ข้อมูลว่ามีบุคคลสำคัญเข้าข้างเสื้อเหลืองนั้น เจ้าหน้าที่ทางการไทยสามารถดำเนินการเอาผิดได้กับทูตได้หรือไม่ หรือทำไมไม่ดำเนินการเอาผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่เป็นการกระทำผิดในประเทศไทย เรื่องนี้ นายเดวิด อธิบายว่า ถ้าจะมีการจับกุม ข้อมูลจะต้องถูกเผยแพร่ก่อน และผู้ที่เผยแพร่ข้อมูล จะเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดี ประเด็นเดียวกันนี้ อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลไปสู่สาธารณะ จึงจะถือเป็นความผิด แต่ถ้าทูตพูดในพื้นที่ส่วนบุคคล ก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะกระทำได้
วิดีโอคลิปส่วนหนึ่งจากการอภิปรายหัวข้อ "การเมืองใน lese majesty, lese majesty ในการเมือง"
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คดีทรมานนักศึกษายะลา : บทพิสูจน์ความก้าวหน้ากระบวนการยุติธรรมไทย Posted: 26 Jun 2011 10:47 AM PDT หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องการทรมาน เผยแพร่ในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน 2554 คดียุทธศาสตร์คดีหนึ่งของเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่เรียกกันติดปากว่า “คดีนักศึกษายะลา” เป็นคดีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและทรมานให้รับสารภาพ เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เหตุควบคุมตัวและการทรมานดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2551 ที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 11 จังหวัดยะลา และค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ที่เรียกว่า “คดีนักศึกษายะลา” ก็เพราะว่าผู้ถูกควบคุมตัวและทรมานให้รับสารภาพทั้งหมดรวม 7 คน ยังเป็นนักศึกษาและบางส่วนทำกิจกรรมกับชุมชนและชาวบ้าน โดยเป็นสมาชิกของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ โดยหวังว่าการทำกิจกรรมของตนจะเป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบลงบ้าง แต่บทบาทดังกล่าวกลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ถูกควบคุมตัว ปัญหาการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายพิเศษ ทำให้ประชาชนตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกควบคุมตัว ตลอดจนต้องเข้าสู่ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น สร้างภาระและความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมาก ภายใต้มายาคติว่าชาวไทยมุสลิมเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้แล้ว ยังนำมาสู่ปัญหาการทรมานประชาชนโดยเจ้าหน้าที่เพื่อให้รับสารภาพอีกด้วย คดีนักศึกษายะลาเป็นหนึ่งในคดีที่มีการควบคุมตัวโดยมิชอบและทรมานให้รับสารภาพจำนวนมากที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกฯ ทำได้โดยง่าย เพียงเป็น “ผู้ต้องสงสัย” เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ได้นาน 7 วัน เมื่อครบกำหนด และเจ้าหน้าที่ประสงค์จะควบคุมตัวต่อไป ให้ขออนุญาตต่อศาลเพื่อออกหมายจับและควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 30 วัน หากพบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่สามารถฝากขังตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้อีกไม่เกิน 84 วัน และตลอดระยะเวลานับแต่ถูกควบคุมตัวจนกระทั่งการพิจารณาคดีในชั้นศาล ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายหรือความมั่นคงมีโทษหนัก จะเห็นได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวข้างต้น เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจและดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง การควบคุมตัวโดยไม่ชอบและการทรมานให้รับสารภาพตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่โดยไม่ชอบจึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุเพียงว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบจำต้องให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติการ การควบคุมตัวโดยไม่ชอบและ/หรือการทรมานอาจเกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกคน ตัวเราและตัวท่านเองก็อาจตกเป็นเหยื่อการทรมานได้ หากต้องสัมพันธ์กับการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ผลกระทบร้ายแรง 2 ประการที่เกิดจากการทรมาน ประการแรกคือผลกระทบต่อประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อการทรมาน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต สภาพร่างกายและจิตใจภายหลังการถูกทรมานเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยายาวนาน หลายกรณีที่ประชาชนถูกทรมานให้รับสารภาพและต้องสูญเสียเสรีภาพไปกับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามระบบกระบวนการยุติธรรม โดยจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยในท้ายที่สุดหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี ทั้งหมดคือชีวิตที่ไม่สามารถถามหาความรับผิดชอบจากใครหรือหน่วยงานใดได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีผลในทางสังคม เช่น คดีนี้นักศึกษาถูกควบคุมตัวและเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ย่อมจะส่งผลต่ออนาคตการทำงานหรือการรับราชการในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น ประการที่สองคือผลกระทบต่อระบบกระบวนการยุติธรรม หากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีทรมานแล้วไม่ถูกตรวจสอบหรือดำเนินคดี จะทำให้เกิดภาวะลอยนวลและทำซ้ำจนกลายเป็นวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลต่อหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบบิดเบี้ยวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายบิดเบือนความจริงจนไม่สามารถทำให้ความจริงปรากฏ ผู้กระทำความผิดตัวจริงไม่ได้รับการลงโทษและผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยา การควบคุมและทรมานนักศึกษาทั้งเจ็ดคนเมื่อเดือนมกราคม 2551 นั้น ญาติของนักศึกษาทั้ง 7 โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดปัตตานีปล่อยตัวตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยไม่ชอบ เพราะควบคุมตัวเกิน 7 วัน และพบว่ามีการทรมานผู้ถูกควบคุมตัว ศาลรับคำร้องและไต่สวนผู้ร้องฝ่ายเดียวและมีคำสั่งให้เรียกเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวมาศาลเพื่อไต่สวน แต่ปรากฏว่าก่อนถึงวันนัดไต่สวนของศาล เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดไป ศาลจึงไม่มีเหตุแห่งการวินิจฉัยเรื่องการควบคุมตัวโดยไม่ชอบและสั่งยกคำร้องดังกล่าว นอกจากการควบคุมตัวเมื่อเดือนมกราคม 2551 แล้ว ในเดือนสิงหาคม 2551 เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นและควบคุมตัวนักศึกษาอีก และนักศึกษาสองคนที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ถูกควบคุมตัวเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 10 วัน แต่ไม่พบร่องรอยการทรมาน ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาการควบคุมตัวซ้ำซาก และนำมาสู่คำถามต่องานการข่าวของหน่วยงานความมั่นคงว่าถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด คดีนี้ นักศึกษา 2 คนจากทั้งหมด 7 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในเดือนมกราคม 2552 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ให้รับผิดแทนเจ้าหน้าที่ทหารผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยไม่ชอบและทรมานให้โจทก์ทั้งสองรับสารภาพ แต่ในระหว่างทรมานเจ้าหน้าที่ใช้ผ้าปิดตาผู้ถูกทรมาน การฟ้องเจ้าหน้าที่เป็นคดีอาญาจึงไม่สามารถทำได้ เพราะไม่สามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ที่ทรมานได้ จึงฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏและสามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อไป เมื่อยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการซึ่งทำหน้าที่แก้ต่างให้จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้จำหน่ายคดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษไม่ใช่การใช้อำนาจตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง และศาลปกครองสงขลามีความเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงได้โอนคดีไปยังศาลปกครองสงขลาเมื่อเดือนเมษายน 2552 ปัจจุบันศาลปกครองสงขลามีคำสั่งสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง เครือข่ายฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เลือกคดีการทรมานเป็นคดียุทธศาสตร์ เนื่องจากสิทธิในชีวิตร่างกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นรากฐานที่สำคัญของสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ในชีวิต และเจ้าหน้าที่ยังคงใช้วิธีทรมานให้รับสารภาพ ไม่เฉพาะกรณีปัญหาความไม่สงบเท่านั้น การปราบปรามยาเสพติดก็พบว่ามีการใช้การทรมานให้รับสารภาพจำนวนมากเช่นกัน ที่น่าตกใจคือสังคมไทยยอมรับการทรมาน!! ทั้งที่ระบบกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของจำเลยได้พัฒนามาจนปัจจุบัน และชี้ให้เห็นแล้วว่าการทรมานไม่ได้ทำให้ความจริงปรากฏ หลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาว่ามีความผิด และหลักเรื่องพยานหลักฐานจึงได้พัฒนามากขึ้นจนปัจจุบัน แต่หลักการกับอารมณ์ความรู้สึกมักเป็นเรื่องที่สวนทางกันอยู่เสมอในสังคมไทย ประโยคที่มักได้ยินที่ว่า ถ้าไม่ทรมาน คนร้ายที่ไหนจะยอมรับว่าทำผิด หรือ เจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าใครทำผิด แต่ไม่มีหลักฐาน ต้องทรมานจึงจะรับสารภาพว่าทำผิด ดูจะเข้าใจง่ายและตรงใจผู้คนมากกว่าหลักการต่างๆ ที่สังคมยอมรับร่วมกันมานับศตวรรษ และหากถกถียงกันจนถึงระดับหนึ่ง ก็อาจมีการล้มกระดานคว่ำหลักการ เช่น จำเลยหรือผู้ร้ายไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น หรือในทางตัดพ้อต่อว่า เช่น จำเลยที่ฆ่าคนหรือโจรมีสิทธิดีกว่าผู้เสียหายเสียอีก เหล่านี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดกระแสหลักของคนในสังคมไทยที่ยึดถืออารมณ์ความรู้สึกมากกว่าหลักการเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระบวนการยุติธรรมคือสถาบันหลักในสังคม เป็นผู้กำหนด พัฒนาระบบและหลักการต่างๆ เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องเป็นอิสระจากกระแสสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับเจ้าหน้าที่และประชาชนส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งเกิดความบกพร่องผิดพลาด เกินสมควรกว่าเหตุ การฆ่านอกกฎหมาย การควบคุมตัวโดยไม่ชอบ การทรมานเพื่อให้รับสารภาพ หรือแม้แต่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายใดๆ ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษหรือดำเนินคดี ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากถูกผลักเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมีสถิติการยกฟ้องในปี 2550-2551 ถึง 66% <1> กระบวนการยุติธรรมท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีหน้าที่ดำรงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐ เมื่อประชาชนยอมจำกัดสิทธิเสรีภาพของตนเองและยอมรับการใช้อำนาจของรัฐเพื่อให้รัฐนำพาสังคมสู่ความสงบ แต่รัฐกลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิประชาชนเสียเอง และกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถถ่วงดุลหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ ประชาชนย่อมจะแสวงหาความยุติธรรมด้วยตนเอง และมาตรวัดความยุติธรรมในเชิงสถาบันจะเสื่อมถอยลง กลายเป็นอัตวิสัยของแต่ละผู้คนไปในที่สุด แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32 และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี จะบัญญัติห้ามการทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลใดๆ ไม่ว่าในภาวะสงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์พิเศษใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ ยังให้อำนาจศาลในการกำหนดให้มีการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานตามสมควรอีกด้วย แต่ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดความผิดฐานนี้ไว้โดยตรง และยังไม่มีกฎหมายลำดับรองออกมารับรองบทบัญญัติดังกล่าวทั้งในการห้ามทรมานและการเยียวยา ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อป้องกันการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ คดีนักศึกษายะลาจึงเป็นคดีที่ท้าทายและเป็นบทพิสูจน์บทบาทและความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ผ่านมามีการทรมานเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายไม่กล้าดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ แต่ผู้เสียหายคดีนี้เป็นนักศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการมากขึ้น จึงประสงค์จะฟ้องคดีเพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน และให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดตามกระบวนการยุติธรรม และเป็นงานที่ท้าทายคณะทำงานคดีของเครือข่ายฯ ว่าจะสามารถนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการทรมานเพื่อสร้างความเข้าใจให้กระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใดด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดผลคดีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ และองค์กรภาคีหวังว่าการทำงานในคดีนี้ จะมีผลทำให้กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีได้ทบทวนแนวนโยบายการบังคับใช้กฎหมายและ/หรือการจัดการปัญหาความไม่สงบ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเพื่อให้เป็นไปในทางคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น เพราะความมั่นคงในชีวิตประชาชนคือความมั่นคงของรัฐโดยสมบูรณ์
------------------------------ <1> http://south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/197-40-60--21-.html สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เอกสารลับ ยุทธการกระชับวงล้อม 14-19 พ.ค.53 (2): กระสุนจริงและสไนเปอร์ Posted: 26 Jun 2011 10:46 AM PDT หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารเสนาธิปัตย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2553 เป็นบทความที่เขียนขึ้นเพื่อประกอบการจัดทำ”เอกสารแนวทางในการปฏิบัติทางทหาร: กรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมือง” จากความริเริ่มของพล.ท.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เพื่อกำหนดบทบาทของกองทัพบกในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในเมืองรูปแบบใหม่ 0 0 0 ความสำเร็จทางยุทธการ : การกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์ 2.แผนยุทธการมีการวางแผนเป็นขั้นตอนรัดกุมมีเสรีในการปฏิบัติตามกรอบเวลามีการวางแผนและปฏิบัติโดยปราศจากแรงกดดันด้วยเวลา 3.การปฏิบัติการข่าวสารนับว่าเป็นผลในระดับยุทธการ ทั้งในส่วนการสร้างขวัญและกำลังใจของฝ่ายปฏิบัติการ และลดขวัญกำลังใจของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย 4.ความสำเร็จของการปฏิบัติงานด้านการข่าวในพื้นที่กลุ่ม นปช.ทำให้สามารถใช้หน่วยได้ตรงกับขีดความสามารถและถูกต้องเหมาะสมกับภารกิจ ยกตัวอย่าง การใช้หน่วยสไนเปอร์ของทุกกรม โดยเฉพาะกับพื้นที่ตึกสูงตามเส้นทางถนนวิทยุและสายสารสิน 5.ความสำเร็จในการจู่โจม แม้ว่าแผนยุทธการครั้งนี้ไม่สามารถจู่โจมด้วยเวลาได้ ก็มีการแก้เกมด้วยการจู่โจมด้วยความเร็วโดยการส่งล่วงหน้าเข้ารักษาความปลอดภัยบนพื้นที่อาคารสูง การเข้ายึดพื้นที่สวนลุมพินีเป็นส่วนใหญ่ได้ก่อนสว่าง และการรุกเข้าพร้อมกัน 3 ทิศทาง 6.การปฏิบัติตามแผนยุทธการ กระทำด้วยการรุกคืบด้วยความระมัดระวังของแต่ละพื้นที่โดยการประเมินศักยภาพของกำลังการ์ดนปช.ให้สูงกว่าเมื่อครั้ง10 เมษายน เพื่อให้มีระบบป้องกันตัวทหารที่มากขึ้น ดังนั้นการปฏิบัติการทางทหารที่ใช้กำลังทหารประมาณ 2 หมื่นนาย มีการสูญเสียทหาร 1 นาย กับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นความสูญเสียที่ยอมรับได้ 7.กองกำลังการ์ด นปช.มีการตั้งรับแบบกองโจรวางกำลังเต็มพื้นที่ ขาดผู้เชี่ยวชาญการวางกำลังตั้งรับและร่นถอยแบบทหารที่แท้จริง เนื่องจากการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ทำให้จุดศูนย์ดุลของ นปช.กลายมาเป็นจุดแข็งของการปฏิบัติของกองทัพ 8.แผนยุทธการเป็นการวางแผนการปฏิบัติรบเต็มรูปแบบเสมือนการทำสงครามรบในเมือง ใช้กำลังขนาดใหญ่ถึง 3 กองพล วางแผนเข้าปฏิบัติการ ซึ่งมีอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบสูงกว่ามาก ยิ่งมีการสั่งการให้ใช้กระสุนจริงกับกลุ่มกลุ่มก่อการร้ายผู้ถืออาวุธ และเพื่อป้องกันตัวเองได้ ทำให้ทหารที่เคยสูญเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ 10 เมษายน ก็มีจิตใจรุกรบมากขึ้น 9.แผนยุทธการในการรุกผ่านฝ่ายเดียวกันจากถนนสาทร ถนนสีลม ถนนสุรวงศ์ และถนนวิทยุ ทำให้กองกำลังทหารสามารถรักษาโมเมนตัมในการปฏิบัติการได้อย่างตอ่เนื่อง และสามารถพิทักษ์ป้องกันพื้นที่ส่วนหลัง (พื้นที่สีลม) ได้อย่างปลอดภัย 10.ความมีเอกภาพในการปฏิบัติ จากการสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 1 กับกองกำลัง 3 กองพลให้ปฏิบัติการได้ถูกจังหวะการรุกและการหยุดหน่วย เพื่อผลการรุกของหน่วยอื่นหรือรอเวลาสำหรับการปฏิบัติชั้นสุดท้าย ยกตัวอย่างหน่วยรุกแตกหัก ได้แก่ พล ม.2 รอ.จากทิศทางสีลมมุ่งสู่สี่แยกศาลาแดง ส่วนที่ 2 กองพลที่เหลือคือ พล.ร.9 รับผิดชอบพื้นที่แยกอโศก เพลินจิต ชิดลม และ พล.1 รอ.รับผิดชอบพื้นที่ดินแดง พญาไท ราชปรารภ กำลังส่วนนี้ต้องตรึงกำลัง ปิดเส้นทางหลบหนี ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม นปช.ได้ทยอยออกจากพื้นที่ราชประสงค์ผ่านถนนพระราม 1 ไปแยกปทุมวัน หรือเข้าไปในวัดปทุมวนาราม ความสำเร็จทางยุทธวิธี : การกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์ การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (เวลา 03.30-13.30) ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1.การปฏิบัติการทางยุทธวิธีสอดรับกับแผนยุทธการกระชับวงล้อมของศอฉ.ในระดับยุทธการและนโยบายของรัฐบาลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อการเมืองชัดเจนผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพชัดเจน ผู้บังคับหน่วยชัดเจนนำมาซึ่งแผนยุทธการและแผนปฏิบัติระดับยุทธวิธีก็มองเห็นทิศทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ 2.ปรับยุทธวิธีการปราบจลาจลเป็นยุทธวิธีการรบในเมือง เพื่อการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ หรือผู้ก่อการร้ายที่แอบแฝงในกลุ่ม นปช.ด้วยฐานข่าวของ ศอฉ.ว่ามีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 500 คน มีอาวุธปืนซุ่มยิง อาวุธสงคราม เช่น M 79 M 16 AK 47 และ Travo-21 3.ปรับการยิงกระสุนยางจากปืนลูกซองเป็นการใช้กระสุนจริงจากอาวุธประจำกาย ทำให้ต้องมีการสร้างวินัยอย่างเข้มงวด ตามกฎการใช้กำลัง จากเบาไปหาหนัก ตามหลักสากลมีการยิงให้กรวยกระสุนตกต่ำกว่าหัวเข่า การยิงเมื่อเห็นเป้าหมายหรือบุคคลถืออาวุธ เป็นการยิงเพื่อป้องกันตัวเอง การยิงขู่จะยิงเมื่อม็อบเคลื่อนที่เข้ามาแล้วสั่งให้หยุด ก็ไม่ยอมหยุด 4.การจัดระยะห่างระหว่างการวางกำลังของหน่วยทหารกับแนวตั้งรับของม็อบในระยะยิงหวังผลปืนM16 ประมาณ 400 หลา ซึ่งต้องมีกำลังพลเข้าเวรตรวจดูความเคลื่อนไหวกลุ่ม นปช.ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดเวลา 5.การปรับการวางกำลังและการเคลื่อนที่ภายใต้อาคารและทางเดินเท้าไม่มีการจัดรูปขบวนยืนแถวหน้ากระดานเป็นแผงกลางถนน เพื่อเตรียมตัวผลักดันกับฝูงชนในภารกิจปราบจลาจล เพื่อป้องกันการซุ่มยิงจากด้านหลังผุ้ชุมนุม 6.การดัดแปลงที่วางกำลังเป็นการตั้งรับแบบเร่งด่วนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือถอยร่นด้วยกำบังกระสอบทรายสูงระดับครึ่งเข่า เมื่อต้องนอนราบหรือสูงระดับศรีษะเมื่อต้องการยืนปฏิบัติการ และมีการวางแนวทหารตั้งรับเป็นชั้นๆ ตามเส้นทางเคลื่อนที่เข้าหาม็อบ มิใช่เป็นการวางแนวเป็นปึกแผ่นเพียงชั้นเดียว ซึ่งถ้าม็อบมีจำนวนมากกว่า ก็สามารถล้อมทหารและเข้าถึงตัวแย่งปืนได้ง่าย 7.ใช้ลักษณะผู้นำหน่วยขนาดเล็กสูงมาก เพราะต้องอดทน ใจเย็น รอเวลา ทนต่อการยั่วยุ การรับควันไฟกลิ่นยางรถยนต์ที่เหม็นรุนแรงตลอดทั้งวันทั้งคืน 8.การใช้ส่วนสไนเปอร์คุ้มครองการเคลื่อนที่ในการรุกไปข้างหน้าและการป้องกันให้หน่วยเมื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือเมื่อกองกำลังหยุดนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลาข้ามวันข้ามคืน อีกทั้งต้องรับภารกิจอารักขาผู้บังคับบัญชาระดับสูงอีกด้วย 9.การวางกำลังตามแนวทางเดินเท้าสามารถวางกำลังได้ ยิ่งกระจายกำลังออกไปให้ได้มากก็ยิ่งตกเป็นเป้าหมายคุ้มค่าน้อยลง และไม่ตกเป็นเป้าหมายคุ้มค่าน้อยลง และไม่ตกเป็นเป้าหมายขนาดใหญ่ให้กับกระสุน M 79 ของกำลังก่อการร้าย 10.พัฒนารูปแบบการวางจุดตรวจการณ์ข้างหน้า (Out Post) โดยใช้สะพานลอยข้ามถนนมีการปิดฉากม่านดำเสริมด้วยบังเกอร์และกระสอบทราบ ทำให้ลดการตรวจการณ์ของการ์ด นปช.และเสริมการป้องกันได้อีกทางหนึ่ง ทั้งสามารถปกปิดการถ่ายรูปจากสื่อมวลชน 11.การปรับกำลังและระดมพลแม่นปืนเท่าที่มีอยู่ของกองทัพบกเข้าประจำพื้นที่เพื่อต่อต้านการซุ่มยิงของกลุ่ม นปช.ทั้งบนอาคารสูงและพื้นที่สูงข่ม 12.การกำหนดพื้นที่อันตรายเป็นฉนวนกั้นกลางระหว่างแนวระยะยิงหวังผลของหน่วยทหารกับแนวตั้งรับของกลุ่มนปช.เป็นยุทธวิธีประการหนึ่ง โดยมีการประกาศเขตการยิงด้วยกระสุนจริง (Live Firing Zone) 13.การกำหนดเขตห้ามบิน เป็นแผนยุทธการที่สนับสนุนงานยุทธวิธี ทำให้มั่นใจว่าการรบเหนือน่านฟ้าพื้นที่ราชประสงค์ ฝ่ายเราสามารถครองความได้เปรียบทางอาศัยอยู่ 14.ยุทธวิธียอมเสียพื้นที่ แล้วถอยกลับมาตั้งรับในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า ห่างจากระยะยิงของพลซุ่มยิงกลุ่ม นปช.เห็นได้จากความล้มเหลวในการกระชับวงล้อมในพื้นที่ 14 พฤษภาคม ถือว่าเป็นยุทธวิธีที่ชาญฉลาด ด้วยการไม่บุกตะลุยเข้าสู่คิลลิ่งโซน (Killing Zone) 15.การถอนกำลัง หรือการวางกำลังกระจายตัวมากขึ้นภายหลังค่ำมืด ก็ถือว่าเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการไม่ตกเข้าไปในกับดักที่เป็นเป้าหมายคุ้มค่า 16.การใช้หน่วยรถหุ้มเกราะเมื่อจำเป็นและต้องการผลแตกหักในการสลายการชุมนุมเท่านั้น จึงทำให้ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวของยานเกราะก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 17.การใข้รถหุ้มเกราะกับพลรบเคลื่อนที่ตามกันนั้นเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ได้แปรเปลี่ยนไปเพื่อเป็นการข่มขวัญการ์ด นปช.เพราะลดการสูญเสียพลรบ จากอาวุธ M79 จรวด RPG หรือระเบิดเคโมร์ตามแนวตั้งรับ นปช. 18.การสนธิกำลังอย่างลงตัวของชุดรบที่ประกอบด้วยชุดสไนเปอร์ ขบวนรถหุ้มเกราะพลรบหลังรถหุ้มเกราะขุดผจญเพลิง ขุดกู้ระเบิด (EOD) เป็นที่ประสบความสำเร็จที่น่าสนใจ 19.การกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติการที่ส่งผลให้มีเสรีในการปฏิบัติทางยุทธวิธีเช่น การเริ่มปฏิบัติในตอนเช้าตรู่ ทำให้มีเวลามากพอสำหรับกำลังในการรุกเข้าเคลียร์พื้นที่ แต่การรบในเวลากลางคืนทำให้การมองเห็นจำกัด อาจตกเป็นเป้าหมายของกองกำลังก่อการร้ายที่แอบแฝง และที่สำคัญไม่มียิงฝ่ายเดียวกันหรือยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ 20.การใช้หน่วย ปจว.ทางยุทธวิธี เพื่อทำความเข้าใจก่อนการบุกสลายการชุมนุมถือว่าเป็นหลักสากลประการหนึ่ง 21.การใช้หน่วยในพื้นที่วางกำลังส่วนล่างหน้าไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อตรึงกำลังป้องกันมิให้มวลชนคนเสื้อแดงยกกำลังเข้าช่วยที่ราชประสงค์ ต่อจากนั้นจึงใช้กำลังหลักเข้าสลายกลุ่มชุมนุม 22.การยอมถอนตัวของกำลังทหารออกจากพื้นที่ราชประสงค์ภายหลังถูกโจมตีด้วย M79 ในช่วงตอนเย็นตรงพื้นที่แยกสารสิน ถอยกลับไปยังพื้นที่ปลอดภัยถนนสีลมถือว่าเป็นการตัดสินใจในระดับยุทธวิธีที่ถูกต้อง เพื่อลดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น 23.มีการซักซ้อมแผนและซักซ้อมการปฏิบัติทั้งหมดทั้งในพื้นที่ตั้งหน่วยและที่ร.11 รอ. เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นใจสู่ความสำเร็จ และเป็นการลดเกณฑ์เสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง
(ติดตามอ่านตอน 3 ตอนจบ) อ่านย้อนหลัง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงาน: สืบพยานมาราธอน คดีเสื้อแดงมุกดาหาร 3 วันรวด Posted: 26 Jun 2011 10:15 AM PDT จำเลยส่วนใหญ่แค่มาดูเหตุการณ์ ยันเจตนาร่วมขนยางเพื่อเป็นบังเกอร์เหมือนราชประสงค์และช่วยห้ามปรามตลอดจนขนออกเมื่อสถานการณ์ส่อรุนแรง นอกจากไม่มีทนายและอัยการร่วมสอบปากคำแล้ว ยังถูกเกลี้ยกล่อมให้เซ็นรับรองภาพถ่ายประกอบสำนวนฟ้อง ศาลจังหวัดมุกดาหารนัดสืบพยานจำเลยคดีเผาศาลากลางวันที่ 22-24 มิถุนายน 2554 อันเป็นวันที่ 2,3 และ 4 จำเลยอีก 22 คนขึ้นให้การเป็นพยานให้ตนเอง พร้อมพยานแวดล้อมอีก 15 ในจำนวนนี้มีจำเลย 9 คน ที่ถูกจับและทำร้ายร่างกายในวันที่เกิดเหตุการณ์เผาศาลากลาง (19 พ.ค.53) ถูกจับตามหมายจับ 9 คน จับโดยไม่มีหมาย 1 คน และเข้ามอบตัว 3 คน จำเลยส่วนหนึ่งให้การว่า ผ่านมาเห็นการชุมนุมที่ข้างศาลากลางโดยบังเอิญจึงเข้ามาดูเหตุการณ์ บางรายเป็นสามล้อรับจ้างเห็นที่ชุมนุมมีคนมากจึงนำรถเข้ามาจอดหวังจะได้ผู้โดยสาร บางคนหวังเข้ามากินข้าวที่ทำแจกผู้ชุมนุม และมีหลายคนตั้งใจเดินทางมาศาลากลางเพื่อร่วมชุมนุมกดดันรัฐบาลไม่ให้ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ หลังทราบข่าวจากโทรทัศน์ ส่วนจำเลยที่ 17 นายพรพจน์ พันธ์สุวรรณ ซึ่งเคยขึ้นเวทีเป็นแกนนำได้รับการขอร้องจากเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาในที่ชุมนุม เนื่องจากเกรงว่าเหตุการณ์จะลุกลามรุนแรง และจำเลยที่ 24 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่บ้านให้มาดูแลลูกบ้านซึ่งอาจมาชุมนุม ในช่วงสายที่มีผู้ชุมนุมประมาณ 2,000 คน จำเลยหลายคนและพยานซึ่งเป็นนายตำรวจเบิกความว่า ผู้ชุมนุมขอให้ผู้ว่าฯ ออกมาเจรจาเพื่อขอเข้าชุมนุมในศาลากลางและยื่นหนังสือเรื่องให้ยุติการเข่นฆ่าประชาชน แต่ผู้ว่าฯ ไม่ออกมาพบผู้ชุมนุม ทั้งนี้ นายพรพจน์ให้การว่าก่อนหน้านั้นผู้ว่าฯ ก็ได้เรียกตนเองไปพบ และปฏิเสธที่ให้มีการชุมนุมในศาลากลาง หลังจากนั้น จำเลยหลายคนเห็น อส.เอากุญแจมาไขเปิดประตูรั้วให้ผู้ชุมนุมเข้าในศาลากลางเอง หลังผู้ชุมนุมจำนวนมากเขย่าประตูรั้ว ต่อมา ผู้ว่าฯ ได้ส่งรองผู้ว่าฯ (นางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์) ลงมาเจรจา แต่รองฯสมหมายกลับต่อว่าเรื่องการบุกรุกเข้าในสถานที่ราชการ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ และเริ่มมีการลำเลียงยางเข้าไปกองใกล้มุขของอาคารศาลากลางหลังเก่า จำเลยที่ขับสามล้อรับจ้าง 3 คน เบิกความว่า มีคนมาว่าจ้างให้ไปขนยางรถยนต์เก่าจากริมถนนที่อยู่ห่างศาลากลางออกไปนำมาไว้ที่หน้าประตูรั้วด้านข้างศาลากลาง จำเลยซึ่งคิดว่ายางดังกล่าวจะนำมาเป็นบังเกอร์ป้องกันทหารมาสลายการชุมนุมดังเช่นที่เห็นภาพข่าวในโทรทัศน์ จึงรับจ้างไปขนยางมา แต่เมื่อมาถึงจุดที่ต้องนำยางลง ประตูรั้วเปิดแล้ว และผู้ชุมนุมผลักดันให้นำยางเข้าไปลงไว้ด้านใน ห่างจากประตูรั้วประมาณ 20 เมตร เมื่อการเจรจากับรองผู้ว่าฯ ไม่เป็นผล มีการลำเลียงยางเข้าไปใกล้อาคารศาลากลาง โดยนายพรพจน์ให้การว่า มีชายแต่งชุดรัดกุม สวมหมวกโม่งอำพรางใบหน้าประมาณ 20 คน คอยแทรกในกลุ่มผู้ชุมนุมและยุงยงให้ลำเลียงเข้าใกล้อาคาร มีการประกาศจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งแกนนำอย่างนายพรพจน์ ให้เข็นยางกลับออกมา จำเลยที่ไปขนยางมา รวมทั้งจำเลยคนอื่นก็ได้มีส่วนช่วยในการขนยางออกห่างอาคารด้วย แต่ทั้งนี้ การขนยางออกก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เมื่อเหตุการณ์เริ่มส่อเค้ารุนแรง ไม่มีใครควบคุมอะไรได้ การห้ามปรามโดยแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม รวมทั้งจำเลยบางคนไม่เป็นผล จำเลยหลายคนให้การว่าได้กลับออกมานอกศาลากลาง และบางคนกลับบ้านไปเลย จนกระทั่งมีคนจุดกองยางที่อยู่ชิดอาคาร และมีควันไฟลอยขึ้นท้องฟ้า จำเลย 12 ซึ่งเป็นการ์ดและได้ออกไปดูแลการชุมนุมอีกแห่งหนึ่งกลับเข้ามา เห็นว่าพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งอยู่หน้ามุขอาจจะถูกไฟไหม้จึงบอกให้ตำรวจที่ตรึงกำลังหน้าบันไดทางขึ้นอาคารขึ้นไปเอาลงมา แต่ถูกปฏิเสธ จึงร่วมกับจำเลย 10 ซึ่งไม่รู้จักกัน และผู้ชุมนุมอีกคนปีนมุขอาคารขึ้นไปเอาลงมาและส่งให้คนข้างล่างรับไปวางไว้ที่อนุสาวรีย์ ร.5 ขณะกลับลงมาทางบันได จำเลย 10 และ 12 ให้การว่าเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนอยู่บนชั้นสอง เหตุการณ์ลุกลามไปจนกระทั่งมีไฟลุกไหม้ในอาคารศาลากลาง มีจำเลยเพียง 4 คน ที่ให้การว่าอยู่ในบริเวณศาลากลางในช่วงนี้ แต่ก็เพียงแต่เดินดูเหตุการณ์ไปรอบๆ ไฟไหม้อาคารศาลากลางหลังเก่าอยู่ราว 2 ชั่วโมง ช่วงเวลาดังกล่าว มีจำเลยหลายรายที่เพิ่งผ่านมาเห็นจึงเข้ามาดู บางรายได้ยินข่าววิทยุว่าไฟไหม้ศาลากลางจึงเดินทางมาเพื่อดูเหตุการณ์ แต่ไม่นานก็มีการสลายการชุมนุมโดยกองร้อยควบคุมฝูงชน ซึ่งหลายคนเบิกความว่าเริ่มด้วยการขว้างปาก้อนหินและเหล็กใส่ผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมปาตอบโต้ จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงวิ่งไล่ มี 4 คน ที่ขึ้นเบิกความในวันนี้ถูกจับกุมอยู่ในศาลากลาง และอีก 5 คน ถูกจับอยู่ด้านนอกรั้ว ห่างจากศาลากลางไป 200 ม.ก็มี บางคนบอกว่าตำรวจวิ่งไล่ผู้ชุมนุมผ่านตนเองไปแล้ว ตามจับไม่ได้ จึงวกกลับมาจับตนเองซึ่งกำลังเดินอยู่ โดยทั้งหมดนี้ถูกตีด้วยไม้กระบอง ถูกเตะหรือเหยียบด้วยคอมแบท จนบางคนถึงกับสลบ บางคนต้องแกล้งสลบ ตำรวจจึงหยุดทำร้ายร่างกาย หลังจากกลุ่มที่ถูกจับในวันที่เกิดเหตุ ถูกคุมขังในรถขังผู้ต้องหาอยู่หน้าศาลากลาง 3 วัน 2 คืน และนำไปฝากขังที่เรือนจำแล้ว ตำรวจก็ออกหมายจับและตามจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม ตลอดจนมีคนเข้ามอบตัว จำเลยทั้งหมดให้การตรงกันว่า ในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีทนายและเจ้าพนักงานอัยการเข้าร่วม ไม่มีการอ่านบันทึกคำให้การให้จำเลยฟัง หรือให้จำเลยอ่านก่อนลงลายมือชื่อ การเซ็นรับรองภาพถ่ายว่าเป็นตัวจำเลยก็บอกให้จำเลยเซ็นๆ ไปก่อน ถึงแม้จำเลยบางคนจะเห็นว่ารูปนั้นไม่ใช่รูปตนเอง จำเลยบางคนไม่มีแม้แต่ภาพถ่ายในเหตุการณ์ประกอบสำนวนฟ้อง หลังจากสืบพยานจำเลยเป็นเวลา 4 วัน โดยสืบจนถึง 2 ทุ่ม ทุกวัน ตามที่ศาลได้นัดไว้ ก็ยังไม่สามารถสืบพยานได้หมดทุกปาก ยังคงเหลือจำเลย อีก 1 คน และพยานแวดล้อมอีก 3 ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานที่เหลือออกไปเป็นวันที่ 17 สิงหาคม 2554
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เสนอร่างพ.ร.บ. ป้องกันและต่อต้านการทรมาน Posted: 26 Jun 2011 09:00 AM PDT วันพฤหัสบดีที่ 23มิถุนายนที่ผ่านมา เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจัดสัมนาสาธารณะ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและต่อต้านการทรมาน รูปธรรมของทางออกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทรมานในสังคมไทย” การสัมมนาเริ่มตั้งแต่เวลา 8:30 จนถึง 16:30 น. โดยมีตัวแทนญาติหรือเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหา นักวิชาการและประชาชนเข้าร่วมรับฟังและเสนอความเห็น ในช่วงเช้าของงานสัมมนาได้มีการนำผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานมาเล่าประสบการณ์ของตน เช่นพระทวีศักดิ์ ขีณมโล วันตะโกรวม จังหวัดสิงห์บุรี ที่โดนตำรวจทำการซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าชิงทรัพย์ นางพิกุล พรหมจันททร์ ตัวแทนเครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตและสูญหายในจังหวังกาฬสินธุ์ และนายอิสมาแอ เตะ ตัวแทนเครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม โดยมีคุณ จอม เพ็ชรประดับ นักข่าวอิสระเป็นผู้ดำเนินรายการ หลังจากนั้นมีการนำเสนอรายงานการศึกษาสภาพปัญหาของการทรมาน โดย นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยนางสาวพรเพ็ญ ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาสภาพปัญหาการทรมานเช่น กรณีนักศึกษาราชภัฎยะลา ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก นอกจากนี้ยังถูกทรมานให้รับสารภาพโดยที่ไม่มีหมายค้นหรือหมายจับ และยังควบคุมตัวเกิดระยะเวลากฎอัยการศึกอีกด้วย ทั้งนี้เป้นการใช้อำนาจเกิดขอบเขตและไม่สอดคล้องกับเจนารมณ์ของกฎอัยการศึก ซึ่ง ณ ขณะนี้ผู้ได้รับผลกระทบคนดังกล่าวก็ไม่มั่นใจระบบการคุ้มครองพยาน ปัจจุบันถูกโทรศัพท์ข่มขู่ตลอด และชื่อยังปรากฎตามด่านต่างๆในพื้นที่จังหวัดชายแดน และกระบวนการศาลยังใช้เวลานานมากและหากแพ้ดคีก็เกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องกลับ หรือกรณีคดีกาฬสินธุ์ นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ซึ่งอายุเพียงแค่สิบเจ็ดปี เสียชีวิตโดยการถูกฆ่าแขวนคอในช่วงนโยบายการปราบปรามยาเสพติด เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเหตุเสียชีวิตเนื่องมาจากการฆ่าตัดตอน นางสาวพรเพ็ญ ได้ประมวลสภาพปัญหาของการซ้อมทรมานว่า มักเกิดขึ้นในพื้นที่ของค่ายทหาร หน่วยเฉพาะกิจ สถานีตำรวจ หรือสถานที่อื่นใดที่สามารถเข้าถึงได้ยากทำให้ขาดการตรวจสอบจากประชาชนทั่วไป การตรวจเยี่ยมไม่พบข้อเท็จจริงเพราะมีเป็นการการแจ้งล่วงหน้า ขาดกลไกตรวจสอบการใข้อำนาจของเข้าหน้าที่ โดยอ้างว่าการซ้อมทรมานไม่มีการพิสูจนืไม่การแจ้งความ และผู้เสียหายไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูอย่างเหมาะสม รศ. ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุปสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการทรมาน โดยจากการตรวจสอบประมมวลกฎหมายอาญา พบว่ามีบทบัญญัติสามารถลงโทศเจ้าพนักงานที่กระทำทรมานตามอนุสัฐฐาได้ แต่เป้นการลงโทษตามความผิดที่กระทบต่อสิทธิในร่างกาย เสรีภาพ รวมถึงความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่ยังมีข้อจำกัดในบางกรณีที่กระทำต่อจิตใจหรือทำให้น่าจะเป็นอันตราย หรือเป็นการกระทำอันเป็นการกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ยังไม่เป็นความผิด ปัญหาในกฏหมายวิธีสบัญญัติ เรื่องการห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน มีบทบัญญัติกำหนดไว้แล้วใน ป.วิ.อ.ม. 226 และมีข้อห้ามการทรมานในกระบวนการสอบสวนในมาตรา 135 แต่มีปัญหาทางการบังคับใช้ว่าจะได้หลักฐานอย่างไรว่ามีการทรมานก่อนให้การรับสารภาพ และในทางตรงกันข้าม การที่มีข้ออ้างว่ามีการทรมาน จะมพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเป็นจริง ในกรณีที่มีการทรมานและผู้ทรมานเป็นเจ้าพนักงานและมีอำนาจสอบสวนด้วย จะมีปัญหาว่าจะมีการสอบสวนเจ้าพนักงานอย่างไร ที่จะให้เกิดความเป็นธรรมได้ และมีมาตรการในการป้องกันการทรมานซ้ำอย่างไร ทั้งนี้กระบวนการตรวจสอบ หากเป้นการทำร้ายร่างกาย อาจใช้พนักงานสอบสวนโดยทั่วไปได้ แต่ถ้าเป้นการทรมานจิตใจอาจไม่ปรากฎร่องรอย จะตรวจสอบอย่างไร จึงจะได้หลักฐานว่ามีการทรมานจริง การหาตัวผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงาน ยังมีความยากต่อผู้เสียหาย และหน่วยงานอื่น เพราะการทรมานอาจกระทำในขณะที่ผู้ถูกทรมานถูกปิดตา หรือถูกกระทำโดยไม่รู้จักตัวเจ้าพนักงานได้ จึงทำให้ยากต่อการตรวจสอบหากไม่ได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าหน่วยงาน รศ. ณรงค์ยังเสนอว่า พนักงานสืบสวนสอบสวนควรต้องมีความรู้ความเข้าใจในความหมายของการทรมาน จึงจะสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงตามองค์ประกอบ และต้องมีความรู้ทางเทคนิคที่จะเก็บข้อมูล และมีความรู้ทางด้านเนื้อหากลไกในอนุสัญญาด้วย หรือควรมีมาตรการป้องกันการทรมาน โดยการอบรมและมีมาตรการควบคุมไม่ให้เจ้าพนักงานกระทำทรมาน ทั้งที่กระทำภายในองค์กรและนอกองค์กร หรือควรตั้งคำถามว่าจะต้องมีหน่วยงานพิเศษที่สอบสสวยเกี่ยวกับการทรมานหรือไม่? ทั้งนี้การเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกทรมาน ตามรัฐธรรมนูฐมาตรา 32 วรรคท้ายกำหนดให้ยื่นขอจากศาล แต่ในทางปฏิบัติบังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดวิธีการสั่งและจะเยียวยาในเรื่องใดบ้าง? ควรมีกฎหมายกำหนดชัดเจนหรือไม่? กลไกในการป้องกันการทรมานและการตรวจสอบการบังคับให้เป็นไปตามมาตรการ ในปัจจุบันมีหน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่กำกับดูแลไม่ให้มีการทรมาน ออกระเบียบที่ห้ามมิให้มีการกระทำที่ทรมาน ยกเลิกระเบียบที่ขัดต่ออนุสัญา แต่ยังไม่มีการอบรมหลักสูตรการต่อต้านทรมานที่ชัดเจน ยังไม่มีการจรวจสอบข้อร้องเรียนหรือการตรวจสอบในการป้องกันการทรมานที่ชัดเจน แนวทางแก้ไขเช่น กำหนดให้มีพนักงานสอบสวนพิเศษ หรือกำหนดให้มีแพทย์นิติเวชเข้าร่วมในการสอบสวน รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 26 Jun 2011 07:49 AM PDT |
ฝ่ายหนุนปฏิรูปการเลือกตั้งมาเลเซียถูกตั้งข้อหา "ล้มเจ้า" Posted: 26 Jun 2011 04:23 AM PDT นักกิจกรรมจากกลุ่มพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม และพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย ถูกตำรวจสอบสวนในข้อหา “ซ่องสุมกำลังเพื่อโค่นล้มประมุขของรัฐ” ตามมาตรา 122 ในระหว่างการเตรียมชุมนุมใหญ่ 9 ก.ค. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม กัวลาลัมเปอร์ – หนังสือพิมพ์ เดอะ มาเลเซีย อินไซเดอร์ รายงานว่า นักกิจกรรมจากพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือ Bersih และนักกิจกรรมสามสิบคนจากพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (Parti Sosialis Malaysia - PSM) รวมถึง ส.ส. เมืองสุไหงสิปุต (Sungai Siput) ดร.ไมเคิล จายาคูมาร์ กำลังถูกดำเนินการสอบสวนจากตำรวจมาเลเซีย เนื่องจากถูกตั้งข้อหาว่า “ซ่องสุมกำลังเพื่อโค่นล้มยังดี เปอร์ตวน อากง” ซึ่งเป็นตำแหน่งของประมุขมาเลเซีย ที่หมุนเวียนดำรงตำแหน่งจากสุลต่านรัฐต่างๆ นักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าว ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 122 ซึ่งระบุว่า “ใครก็ตามที่มุ่งสะสมกำลังพล อาวุธ กระสุนปืน หรือตระเตรียมเพื่อปลุกปั่น ด้วยความมุ่งหมายที่จะโค่นล้มประมุขแห่งรัฐ หรือประมุขแห่งสหพันธรัฐ หรือ สนับสนุนการซ่องสุมกำลังเพื่อนำไปสู่การทำสงครามดังกล่าว จะถูกลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกไม่เกิน 20 ปี พร้อมถูกปรับ” นักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าวถูกจับที่ลานสุไหง ดูอา ในเมืองปีนัง ในระหว่างการเดินทางไปร่วมเตรียมงานชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม ที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 9 กรกฎาคม รองผู้บัญชาการตำรวจปีนัง นายอับดุล ราฮิม กล่าววันนี้ว่า กลุ่มดังกล่าวน่าจะพยายามรื้อฟื้นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในประเทศ เนื่องจากพบหลักฐานว่ากลุ่มคนดังกล่าวมีสิ่งของที่เกี่ยวข้องไว้ในครอบครอง เช่น เสื้อเชิ้ตพิมพ์ลายของนักต่อสู้คอมมิวนิสต์มาเลเซียนายเฉินผิง (หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์มลายา คนไทยรู้จักในชื่อ จีนเป็ง) และนายราชิด ไมดิ กฎหมายอาญามาตรา 122 นี้ ถูกใช้ครั้งล่าสุดกับกลุ่มก่อการร้าย อัล มานูอาห์ (Al Ma’unah) ซึ่งเข้าไปเกี่ยวพันกับการปล้นปืนในค่ายทหารเมื่อปี 2543 และมีฐานที่มั่นอยู่ในป่าในรัฐเปรัค ส่งผลให้กลุ่มผู้ก่อการดังกล่าวได้รับโทษประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต กลุ่ม Bersih (เป็นภาษามลายู แปลว่า “สะอาด”) เป็นกลุ่มแนวร่วมฝ่ายค้าน ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรเอกชน รวมถึงกลุ่มนักศึกษา แรงงาน นักสิทธิมนุษยชน และนักเขียน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเลือกตั้งที่ใสสะอาด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียกล่าวว่า จะไม่อนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวดำเนินการชุมนุมเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเลือกตั้งในวันที่ 9 กรกฎาคมที่จะถึงนี้
แปลและเรียบเรียงจาก Bersih supporters nabbed for waging war against King, the Malaysian Insider, June 26, 2011 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แพร่คลิปเลือกตั้ง"พญาไท"เผยภาพชายจำนวนมากห้อมล้อมกันลงคะแนนนอกคูหา Posted: 26 Jun 2011 03:40 AM PDT มีผู้ใช้ยูทิวป์แพร่คลิปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตพญาไท เผยภาพชายจำนวนมากยืนห้อมล้อมกันทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งทั้งสองระบบอยู่ด้านนอกคูหาลงคะแนน 26 มิ.ย. 54 - วันนี้ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้าทั่วประเทศ ได้มีผู้ใช้ชื่อว่า "prainn2011" เผยแพร่คลิปลงในเว็บไซต์ยูทิวป์วันนี้ โดยระบุว่าเป็นภาพในเขตเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตพญาไท โดยในคลิปซึ่งมีความยาว 1.46 นาทีมีภาพชายจำนวนมากยืนห้อมล้อมกันอยู่ภายในพื้นที่ลงคะแนน แต่อยู่นอกคูหาเลือกตั้ง มีชายคนหนึ่งสวมชุดสีกากีคล้ายชุดข้าราชการคอยอำนวยความสะดวก โดยมีการนำบัตรเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อสีเขียว แะแบบแบ่งเขตสีชมพูมาทำเครื่องหมายอยู่นอกคูหาลงคะแนน โดยระหว่างที่มีการเผยแพร่คลิปอยู่นี้ ขณะนี้ยังไม่มีการแถลงข่าวเพื่อชี้แจงใดๆ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทัพไทใหญ่ “เหนือ” เสียฐานที่มั่นให้พม่าอีกแห่ง หลังถูกโจมตีอย่างหนัก Posted: 26 Jun 2011 02:41 AM PDT กองกำลังไทใหญ่ “เหนือ” สูญเสียฐานที่มั่นสำคัญให้กองทั มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” หรือ SSA/SSPP (Shan State Army / Shan State Progressive Party) ได้ถอนกำลังทหารออกฐานท่าผาสอง ฐานที่มั่นสำคัญอีกแห่งในตำบลบ้ ทั้งนี้ ฐานท่าผาสอง ถือเป็นฐานยุทธศาสตร์สำคัญอี มีรายงานด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดการสู้รบของทั้ ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พันธมิตรฯ ประกาศชัยชนะประเทศ หลังสุวิทย์ถอนไทยจากมรดกโลก เตรียมยุติการชุมนุม 1 ก.ค. Posted: 26 Jun 2011 02:30 AM PDT โฆษกพันธมิตรฯ เตรียมประกาศยุติการชุมนุม 1 ก.ค. พร้อมขอบคุณ “สุวิทย์” ถอนประเทศไทยออกจากมรดกโลก อ้างเขาพระวิหารเป็นของไทย ต้องไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก และหลังจากนี้ต้องผลักดันชาวกัมพูชา-ไม่ปล่อยให้บริหารปราสาท โฆษกพันธมิตรฯ ประกาศขอบคุณ "สุวิทย์" ถอนประเทศไทยออกจากมรดกโลก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวประจำวันถึงกรณีที่ประเทศไทยได้ถอนตัวออกจาก การเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก โดยประกาศเป็นจุดยืนของพันธมิตรฯ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรจำนวน 8 ข้อ ดังนี้ ตอนหนึ่งนายปานเทพกล่าวว่า การที่คณะผู้แทนไทยได้ดำเนินการถอนตัวตามคำเรียกร้องของภาคประชาชน นั้น ภาคประชาชนขอขอบคุณนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าผู้เจรจามรดกโลก ที่ได้ตัดสินใจถอนตัว แม้จะมีแรงกดดันขอให้เสนอเลื่อนการพิจารณาวาระแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาท พระวิหารจากทั้งรัฐบาลไทยและข้าราชการเป็นจำนวนมาก “ภาคประชาชนถือว่าการที่รัฐบาลตัดสินใจถอนตัวจากภาคีมรดกโลกเป็นการ ทำตามข้อเรียกร้อง 1 ใน 3 ข้อของภาคประชาชน ถือเป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นความสำเร็จ 1 ใน 3 ข้อของการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน”
อ้างเขาพระวิหารเป็นของไทย หลังจากนี้ต้องผลักดันชาวกัมพูชา-ห้ามไม่ให้บริหารปราสาท “ไทยต้องถือว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของประเทศไทย หากได้เพียงการถอนตัวออกจากมรดกโลกแล้วปล่อยให้ยูเนสโกเข้าไป ขณะที่ทหารและชุมชนกัมพูชาอยู่ที่เดิม ปล่อยให้พัฒนาจนเป็นพื้นที่บริหารจัดการมรดกโลก ก็ถือว่าไทยล้มเหลวในทางปฏิบัติอยู่ดี การถอนตัวจากมรดกโลกก็จะสูญเปล่า ดังนั้นรัฐบาลและทหารไทยต้องดำเนินการผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย และไม่ปล่อยให้มีการเดินหน้าบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารและโดย รอบอย่างเด็ดขาด” นายปานเทพกล่าวด้วยว่า นับจากนี้ประเทศไทยจะต้องประกาศจุดยืนให้ชัดเจนอย่างแข็งขันในการยืนหยัด ที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะในเวทีศาลโลก ที่ประเทศไทยไม่เคยยอมรับอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่คดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ดังนั้น ในเวทีศาลโลกไทยก็ไม่สมควรจะไปรับอำนาจศาลโลกอีก อีกไม่นานศาลโลกจะพิจารณาว่าจะออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้แก่กัมพูชาหรือ ไม่ หากเกิดคุ้มครองเท่ากับเราจะเสียเปรียบทันที ในทางกลับกันหากศาลโลกไม่ออกมามาตรการคุ้มครอง แต่ไทยไปดีใจก็เท่ากับยอมรับอำนาจศาล และจะต้องถูกนำคำวินิจฉัยเมื่อปี 2505 มาตีความเพิ่มเติม ดังนั้นไทยต้องไม่รับอำนาจศาลโลก ไม่เช่นนั้นจะเป็นผลต่อเนื่องไปในอนาคต “เราขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยที่ยืนหยัดต่อสู้กับพวกเราในครั้งนี้ เราถือว่าความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถือว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้ช่วยกัน ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนมา ณ โอกาสนี้” นายปานเทพกล่าว
ประกาศยุติการชุมนุม 1 ก.ค. และจะรณรงค์โหวตโนต่อไป นายปานเทพตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยระบุว่า สิ่งที่ภาคประชาชนคาดหวัง คือ หลังจากที่ถอนตัวจากมรดกโลกแล้ว ไทยต้องดำเนินการปกป้องอธิปไตยของชาติทันที หากยังคงดำรงสถานการณ์ปล่อยให้กัมพูชาอยู่ในพื้นที่ต่อไป ก็จะเปิดโอกาสให้กัมพูชาพัฒนาพื้นที่ไปได้เรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นมรดกโลกของกัมพูชาในทางปฏิบัติ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลและทหารโดยตรงในการผลักดัน จึงถือว่าภารกิจยังไม่จบ จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องรณรงค์โหวตโน เพราะต้องการรัฐบาลที่จะมาแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า หวังว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่ในการกดดันให้กัมพูชาปล่อยนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ออกมาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ นายปานเทพยังเปิดเผยด้วยว่า ทางคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และกองทัพธรรมมูลนิธิ ได้ประชุมหารือกัน โดยมีมติว่าหลังจากที่รอดูสถานการณ์การประชุมมรดกโลกจนสิ้นสุดในวันที่ 29 มิ.ย.แล้ว จะมีการชุมนุมต่อไปถึงคืนวันที่ 1 ก.ค.ก็จะประกาศยุติการชุมนุมทั้งด้านสะพานมัฆวานฯ และสะพานชมัยมรุเชฐ โดยจะใช้เวลาในการเก็บอุปกรณ์ 4-5 วัน และใช้เวลาที่เหลือติดตามสถานการณ์อธิปไตยของชาติ รวมทั้งรณรงค์โหวตโนในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง โดยสัญญาณถ่ายทอดสดของเอเอสทีวีจะเข้าสู่ห้องส่งเริ่มในวันที่ 2 ก.ค.เป็นต้นไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ใบตองแห้งออนไลน์: 3 ก.ค. วันปลดแอก เราจะเลือกคนเลว Posted: 26 Jun 2011 12:23 AM PDT สิบปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ย้อนหลังไปเมื่อปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งท่วมท้น ได้ ส.ส.247 คน ครั้งนั้นผมเลือกพรรคไทยรักไทย แต่ถัดมาอีก 4 ปี เมื่อพรรคไทยรักไทยได้ 19 ล้านเสียง ส.ส.377 คน ผมเลือกพรรคมหาชน ครั้นเลือกตั้ง 2 เมษา 49 ผม Vote No แต่พอเลือกตั้ง 50 หลังรัฐประหาร ผมเลือกพรรคพลังประชาชน มองย้อนไป ผมไม่เคยรู้สึกเสียใจว่าตัวเองคิดผิด แม้แต่ครั้งที่ทำคะแนนตกน้ำหายไปกับไอ้หนุ่มซินตึ๊ง เพราะตั้งใจเลือกเพื่อคานอำนาจไทยรักไทย (แบบว่าไม่อยากฝืนใจเลือก ปชป.) ถ้าจะกังขาอยู่หน่อย ก็คือครั้งที่ Vote No เพราะในแง่หนึ่งเหมือนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายล้มการเลือกตั้ง แต่ทำไงได้ ในเวลานั้น แม้ผมเริ่มไม่เห็นด้วยกับพันธมิตร ผมก็ยังเห็นว่าการคัดค้านทักษิณเป็นเป้าหมายหลัก แต่การเลือกตั้งปี 2544 ปี 2550 (ทั้งที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องเลือกออหมัก) และครั้งนี้ ผมไม่มีวันเสียใจแน่นอน มีบางคนเลือกไทยรักไทยปี 2544 แล้วสำนึกเสียใจเมื่อมาต่อต้านทักษิณภายหลัง ผมก็ต่อต้านทักษิณ ตั้งแต่เริ่มเป็นอำนาจนิยม ทุบม็อบท่อก๊าซ มาจนก่อนถูกรัฐประหารในปี 49 แต่ผมไม่เคยเสียใจ และมองย้อนไปตอนนี้ยิ่งมั่นใจว่าตัวเองถูก ปี 2444 ผมเลือกไทยรักไทยเพราะความเบื่อชวน “คนดี” ที่เชื่องช้า ปลัดประเทศ ผู้ไม่เคยคิดแก้ไขระบบ ไม่เคยแตะต้องปัญหาโครงสร้าง เอาตัวรอดแต่ผู้เดียวกับภาพลักษณ์นายกฯ ลูกแม่ค้าพุงปลา ไม่โกงไม่กิน ไม่ซื้อเสียง ไม่เลี้ยงกาแฟใครแม้แต่แก้วเดียว อาศัยอยู่บ้านเพื่อนซอยหมอเหล็ง ขณะที่นักการเมืองทั้งในพรรคและในรัฐบาล ตลอดจนระบบราชการ ทุจริตฉ้อฉลกันครึกโครม ผมไม่เข้าใจจนบัดนี้ว่านักข่าวจำนวนหนึ่ง ยังกรี๊ดชวนอยู่ได้ไง ชวนเป็นแค่ “ใบบัว” ที่แปะอยู่บนช้างเน่า โดยตัวชวนเองก็เต็มใจและพอใจ ขอเป็นแค่ใบบัวบนช้างเน่า ผมเลือกไทยรักไทย ด้วยความหวังรางๆ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง มีอะไรที่แปลกใหม่บ้าง ให้ตายเถอะ! เหมือนแทงหวยถูก 3 ตัวเต็ง หรือซื้อลอตเตอรีถูกแจคพอต นี่ถ้าเจาะเวลาหาอดีตได้ ถ้าเวียนเทียนได้ ผมคงเวียนเข้าคูหากาเบอร์ 7 ตั้งแต่เช้ายันเย็น เพราะทักษิณ-ผู้มีคุณูปการทั้งด้านตรงด้านกลับ ด้านที่ถูกขับไล่ ด้านที่มีแรงผลักแรงต้าน-ได้ทำให้การเมืองไทย ประวัติศาสตร์ไทย สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเทศทั้งประเทศ เปลี่ยนไปอย่างถอนรากถอนโคน (หรือกำลังจะถอนรากถอนโคน) อย่างที่ผมไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะได้เห็นกับตาตัวเองในชีวิตนี้ (หมดหวังไปแล้วด้วยซ้ำ) นี่ถ้าเป็นคนเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมก็คงร้องว่า พระสยามเทวาธิราชส่งทักษิณมาถูกที่ถูกเวลาดีแท้ๆ แต่ผมเชื่อวิทยาศาสตร์สังคม จึงมองตาม อ.เกษียร เตชะพีระ ว่า “ระบอบทักษิณ” คือทุนเสรีนิยมใหม่ ผู้ร่ำรวยจากโลกาภิวัตน์ ที่ได้คะแนนประชานิยมจากคนยากคนจนคนชนบท ผู้ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ มาเขย่าโครงสร้างเดิมของสังคมไทย ชนชั้นนำเดิมๆ ทุนผูกขาดเดิมๆ ระบอบอุปถัมภ์เจ้าขุนมูลนาย ที่ครอบงำสังคมอยู่ด้วยอุดมการณ์จารีตนิยม เชิดชูตัวบุคคล ยกย่อง “คนดี” มาปกปิดโครงสร้างที่เน่าเฟะ ใช้คำสอนศีลธรรมจรรยา มาปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เปิดกว้าง มีเสรี จึงกลายเป็นศีลธรรมปากว่าตาขยิบ แน่นอน ทักษิณไม่ใช่ตัวดี แต่ถ้าไม่ใช่ทักษิณ ก็คงไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วถึงขนาดนี้ เสรีนิยมใหม่อาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ แต่อย่างน้อย เสรีนิยมใหม่ก็เปิดทางให้อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยเติบโตได้มากกว่าจารีตนิยม “คนดี” ของจารีตนิยม ล้วนเป็น “คนดี” กว่าทักษิณ ในทางส่วนตัว มีไม่น้อยที่น่าเคารพนับถือ ยกมือไหว้ได้ แต่พวกเขาคือคนที่เชื่อว่าสังคมต้องอยู่ในกรอบ ประชาชนต้องเชื่อผู้หลักผู้ใหญ่ มากกว่าให้ประชาชนเติบโต กล้าตัดสินใจ และรับผิดชอบตัวเอง มากกว่าที่จะสถาปนากฎกติกา บนพื้นฐานของเสรีภาพและความเสมอภาค สังคมไทยต้องการ “วิญญาณกบฎ” “วิญญาณเสรี” เพื่อปลดเปลื้องพันธนาการของวัฒนธรรมจารีต แบบครูยังจับนักเรียนเข้าแถวตรวจผม ตรวจเครื่องแบบ เหมือนสมัยผมเป็นเด็ก 40 ปีก่อน ครูเรียกนักเรียนมาเข้าแถวอบรม “ทำดีเพื่อพ่อ” “โตแล้วไม่โกง” ขณะที่ตัวครูเองกว่าจะได้เป็น ผอ.รอง ผอ.ก็วิ่งเต้นเส้นสาย ประจบสอพลอ เอาหน้า (เว็บไซต์โรงเรียนลูกผมเปิดเจอแต่หน้า ผอ.กลายเป็นเว็บพรีเซนส์ตัวเอง) แต่ “คนดี” ของจารีตนิยมกลัว “วิญญาณกบฎ” เพราะความกลัวว่าโลกใบเก่าๆ ที่พวกเขายึดมั่นจะแตกสลาย “คนดี” ของจารีตนิยมคือคนที่มองว่า โลกสมัยใหม่มันเลวลงไปเป็นรุ่นๆ น่าจะเป็นเพราะสัตว์ชั้นต่ำกลับชาติมาเกิดเป็นคนกันยั้วเยี้ย ทั้งโง่ ถูกซื้อ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ไร้การศึกษา ไม่อยู่ในศีลในธรรม พวกเขาจึงเกลียดเสรีประชาธิปไตย เพราะพวกเขายอมรับไม่ได้ที่มีหนึ่งเสียงเท่ากับ “คนชั้นต่ำ” ห้าปีที่ผ่านมา “คนดี” ของชนชั้นนำจารีตนิยม ใช้พลังเฮือกสุดท้าย ทำลายล้างเสรีนิยมใหม่ ด้วยอำนาจบารมีที่พวกเขามีอยู่ในกองทัพ ในสถาบันตุลาการ ในระบบราชการ ในสื่อ ในแวดวงวิชาการ โดยปิดกั้นอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยไปพร้อมกัน เพราะพวกเขาเชื่อว่าประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ “คนเลวปกครองบ้านเมือง” ทั้งที่ในระหว่างนั้น พวกเขาก็ตอบคำถามไม่ได้ ว่าการใช้ปืน รถถัง และใช้กฎหมายสองมาตรฐาน ทำให้พวกเขายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า หรือในหมู่พวกเขาเอง เป็นคนดีจริงทั้งหมดหรือเปล่า เพราะเมื่อเลือกข้างแล้วพวกเขาไม่ได้เลือกคน จะห้อย โหน แอบอิงหาผลประโยชน์ เลว ชั่ว คดโกงอย่างไร ไม่เลือกทั้งตัวบุคคลและวิธีการที่จะไปสู่ชัยชนะ อันทิ่จริงก็ไม่ต่างจากระบอบของพวกเขา ระบอบอุปถัมภ์ ที่ครอบงำประเทศนี้มาตลอด คำสอนให้ยึดมั่นคุณธรรมจริยธรรม เชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ กลายเป็นเครื่องมือปกป้องระบอบอภิสิทธิ์ชน ซึ่งเมื่อเป็นสังคมปิด มีอภิสิทธิ์ชน มีอำนาจนอกระบบ ระบอบนี้ก็เป็นที่แอบอิงของพวกมือถือสากปากถือศีล ประจบสอพลอ วิ่งเต้นเส้นสาย ใครใกล้ชิดขั้วอำนาจ คนนั้นก็ได้โอกาส พลเอกเปรมปกครองประเทศ 8 ปี ข้างตัวเปรมมีคนดีจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีนักการเมืองและนายทหารที่ร่ำรวยมหาศาลจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ชวนเป็นนายกฯ 2 สมัย ผมเคยชอบที่ชวนปาฐกถาว่าเป็นเด็กยากจนมาจากชนบท เห็นตำรวจ เห็นข้าราชการ รังแกชาวบ้าน แต่ชวนไม่เคยทำอะไรที่เป็นการปฏิรูประบบ นอกจากท่องคาถาหัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก ฉลาด วรฉัตร อดข้าวเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง ชวนไม่แยแสสนใจ ตั้งกรรมการปฏิรูปการเมืองพอเป็นพิธี จนบรรหาร “ตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่” ให้สัญญาประชาคมว่าชนะเลือกตั้งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นจุดกำเนิดของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ซึ่งตอนไล่พลเอกชวลิต พวกประชาธิปัตย์ก็กลับมาชูธงเขียวกันได้อย่างหน้าไม่อาย ถามว่าบรรหาร ชวลิต เป็น “คนดี” ไหม ในสายตาคนกรุงคนชั้นกลาง เมื่อเทียบกับชวน ถ้าวันนั้นคนไทยเลือกคนดี (ไม่เลือกเราเขามาแน่) บรรหารไม่ได้เป็นนายกฯ การเมืองไทยคงไม่พัฒนามาถึงขนาดนี้ คำขวัญที่ว่า “เลือกคนดี” ไม่มีอยู่จริง เพราะเอาเข้าจริง ไม่มีคนดีให้เลือก มีแต่คนที่ถูกสร้างภาพขึ้นมาให้เป็น “ใบบัว” อย่างชวน อภิสิทธิ์ ที่เหลือล้วนเป็นตัวแทนกลุ่มทุนระดับชาติและทุนท้องถิ่น การเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์ คือเรื่องของการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ ในระบอบที่ต่อเนื่องมาแบบเดิมๆ เราเพียงแต่ต้องจำใจเลือกคนหรือพรรคที่ “เลวน้อยกว่า” แต่นับจากปี 2544 โดยเฉพาะนับจากปี 2550 การเลือกตั้งกลายเป็นเรืองของการเลือกทางยุทธศาสตร์ เลือกเพื่อรักษาระบอบ หรือเลือกเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบ นักการเมืองไม่มีตัวดี พูดอย่างนี้อาจคล้ายพวก Vote No แต่พวก Vote No คือพวกที่สิ้นหวัง ทุกทุกวันจมอยู่กับโรคซึมเศร้า เห็นแต่ความเลวร้ายของการเมือง มันเลวลงไปเป็นรุ่นๆ หมดหวังกับประชาธิปไตย มองไม่เห็นความตื่นตัวของประชาชน หมดหวังกับการเลือกตั้ง หวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง ปิดประเทศ ให้ครูจับนักเรียนมาเข้าแถวอบรมศีลธรรมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง กระแสหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้มี 3 ส่วนเท่านั้น นอกจากพวก Vote No ผู้น่าสงสาร ก็คือคนชั้นกลางน้ำมันมะกอก ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ปกป้อง “ระบอบอภิสิทธิ์ชน” โดยคนชั้นกลางส่วนหนึ่งก็คือผู้เคยเข้าร่วมกับพันธมิตรแต่ลงรถไฟสถานีสุดท้าย ไม่สุดขั้วสุดโต่งไปกับพันธมิตร พวกเขาพอใจแค่มีพรรคประชาธิปัตย์มารักษาระบอบเดิมๆ พรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงซ้อนกัน 3 มิติ มิติหนึ่งคือ “พรรคเลวน้อยกว่า” ผู้ที่จะปกป้องระบอบเดิมๆ อยู่กันไปอย่างนี้ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร อิงอำนาจทหาร อิงอำนาจตุลาการ คำพิพากษาของศาลชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว (เพราะกรูได้ประโยชน์) เราจะไม่ทำเพื่อคนคนเดียว มิติที่สองคือ ความเป็น “พรรคพลังสะตอ” ซึ่งน่าเหนื่อยใจ เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากพรรคพลังชลบุรี ขณะที่มิติที่สาม ในจังหวัดอื่นๆ นอกกรุงเทพฯ นอกภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แตกต่างจากพรรคอื่นคือ เป็นตัวแทนทุนท้องถิ่น แน่นอน พรรคเพื่อไทยก็มีมิติของตัวแทนทุนท้องถิ่น มีความเป็นท้องถิ่นนิยมอยู่จางๆ ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน แต่มิติที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นตัวแทนของคนชนบท คนชั้นล่าง ที่ต้องการสิทธิเสมอภาคทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องการตอบโต้อำนาจรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ที่ล้มล้างรัฐบาลที่พวกเขาเลือกเข้าไป ด้วยปืน รถถัง และความยุติธรรมสองมาตรฐาน พูดได้ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนของการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตย แม้เป็นเพียงปรากฏการณ์เฉพาะหน้า เป็นสิ่งสัมพัทธ์ เพราะธาตุแท้ของพวกเขาคือทุนเสรีนิยมใหม่ คือทุนท้องถิ่น คือนักการเมืองกเฬวราก แต่เฮ้ย นักการเมืองกเฬวรากมันก็แน่เหมือนกัน มันยังสู้ ทั้งรู้ว่าสู้กับใคร ถ้าไม่แน่จริง ไอ้พวกนี้มันคงย้ายพรรคไปซบภูมิใจไทยแล้ว มันจึงเป็นปรากฏการณ์ประจวบเหมาะอะไรเช่นนี้ ที่ผมจะได้ประกาศอย่างเต็มปากภาคภูมิว่า เฮ้ย การเลือกตั้งครั้งนี้ผมจะเลือกคนเลว ไชโย ดีใจจริงๆ ที่เกิดมาชาติหนึ่ง ยังมีโอกาสได้เลือกคนเลว สนุกสนานเฮฮากับการเลือกคนเลว เพราะอย่างน้อยก็ยังได้ใช้สิทธิกวน teen อำมาตย์ ขุนทหาร ตุลาการ ผู้มีศีลธรรมจรรยาสูงส่งทั้งหลาย ที่เก๊กท่าหน้าขรึมเป็นซูเปอร์ฮีโร่ผู้รักชาติบ้านเมืองแต่ผู้เดียว เพราะอย่างน้อย นักการเมืองเลวๆ ที่ต่อให้มันคิดทำเพื่อ “นายใหญ่” คนเดียว ไม่ได้แยแสประชาชนคนเสื้อแดงอย่างจริงใจ มันก็ต้องเข้าไปรบรากับอำนาจจารีต ซึ่งเปิดทางให้เสรีประชาธิปไตยอยู่ในตัว หลังจากนั้น จะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน เพราะแค่นี้ก็สะใจพอแล้ว เพียงหวังว่าผมจะยังมีชีวิตอยู่จนเห็นสังคมเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน เมื่อถึงตอนนั้น ถ้าประชาธิปไตยกลับมาเต็มใบ ผมคงไม่จำเป็นต้องเลือกเพื่อยุทธศาสตร์ ผมอาจจะเลือกตามใจชอบ เลือกเสี่ยอ่าง เลือกคนบ้าๆบอๆ เลือกหนุ่มหล่อ เลือกสาวสวย หรือ Vote No หรือไม่ไปเลือกตั้งแม่-เลย ตามประสาคนชั้นกลางที่ไม่เห็นจะต้องไปเลือกตั้ง เพียงแต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกเพื่อยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน คนไทยมีทางเลือกแค่ 3 ทางคือ ถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เลือกพรรคเพื่อไทย ถ้าอยากให้ทุกอย่างอยู่แบบเดิมๆ เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าอยากถอยหลัง ก็เข้าคูหากา Vote No ใบตองแห้ง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น