โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ซาอุฯ ออกกฎยกเลิกนำเข้าแม่บ้านฟิลิปปินส์-อินโด 2 ก.ค. นี้

Posted: 30 Jun 2011 01:36 PM PDT

ประเทศซาอุดิอาระเบีย เศรษฐีน้ำมันที่ขาดแคลนแรงานระดับล่างนั้น กำลังมีปัญหากับประเทศฟิลิปปิน์และอินโดนีเซีย ในประเด็นเรื่องคนทำงาน “แม่บ้าน” ที่จะเดินทางไปทำงานยังซาอุฯ
 
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงงานซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศว่าจะหยุดออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานที่มาจากประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยจะมีผลทันทีในวันเสาร์นี้ (2 ก.ค.) นี้ ซึ่งถือเป็นการตอบโต้ทั้งสองประเทศที่ได้ประณามซาอุฯ ในระดับนานาชาติ ต่อโศกนาฏกรรมและคำตัดสินที่รุนแรงที่เกิดกับแม่บ้านชาวต่างชาติในซาอุฯ
 
โดยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 54 อินโดนีเซียเองก็ได้ออกมาสั่งห้ามประชาชนของตนไปทำงานแม่บ้านที่ซาอุฯ หลังแม่บ้านชาวอินโด วัย 54 ปี รูยาติ บินตี ซูปาบี (Ruyati binti Sapubi) ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. โดยเธอได้สารภาพว่าเป็นคนสังหารนายจ้างของเธอ เนื่องจากเธอถูกนายจ้างรายนี้ข่มขืน
 
เหตุการณ์นี้ทำให้นายมาร์ตี นาตาเลกาวา (Raden Mohammad Marty Muliana Natalegawa) รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียได้เรียกเอกอัครราชทูตของตนประจำซาอุดีอาระเบีย กลับประเทศ เนื่องจากไม่พอในการลงโทษด้วยการประหารชีวิตแบบนี้ รวมถึงไม่ได้แจ้งให้ทางการอินโดนีเซียทราบล่วงหน้า
 
ทั้งนี้อินโดนีเซียหวังว่าคำสั่งห้ามประชาชนของไปทำงานแม่บ้านที่ซาอุฯ นี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2011 และอาจจะมีการยกเลิกคำสั่ง จนกว่าทั้งสองประเทศจะตกลงกันได้ สำหรับหลักการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรม แต่ซาอุฯ กลับชิงออกกฎห้ามคนงานจากอินโดนีเซียก่อน โดยกระทรวงแรงงานของซาอุฯ อ้างว่าคำสั่งนี้จะช่วยเปิดตลาดแรงงานแม่บ้านจากประเทศใหม่ๆ ได้
 
ส่วนความขัดแย้งกับฟิลิปปินส์นั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้พยายามต่อรองกับซาอุฯ ให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์  400 ดอลลาร์ต่อเตือน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ตามหลักมนุษยชน แต่รัฐบาลซาอุฯ กลับเสนอให้เพียงค่าแรงขั้นต่ำที่ 210 ดอลลาร์
 
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางการซาอุเปิดเผยว่ากำลังอยู่ในช่วงเจรจานำเข้าแม่บ้านจากประเทศต่างๆ เพื่อชดเชยแม่บ้านจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นจากเอธิโอเปีย, อินเดีย, เนปาล, ศรีลังกาและเอริเทรีย
         
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่าแรงงานชาวเอเชียส่วนใหญ่ในซาอุดีอาระเบียนั้นมักจะถูกทำร้ายร่างกาย ถูกโกงค่าแรง เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มีฐานะยากจน และประเทศในกลุ่มอาหรับก็มีมาตรฐานเรื่องกฎหมายแรงงานที่ต่ำ รวมถึงนายจ้างมักจะหลบเลี่ยงอยู่บ่อยครั้ง
 
ประมาณการว่ามีแรงงานอินโดนีเซียราว 1.5 ล้านคนในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานเป็นแม่บ้าน ส่วนฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศส่งออกแม่บ้านรายใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2009 พบว่ามีแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ราว 9 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทำงานบ้าน ส่งเงินกลับประเทศมาให้ญาติๆ หรือเพื่อการลงทุนในด้านต่างๆ มากถึง 17,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
 
 
ที่มาบางส่วน:
 
Saudi bans domestic workers from Indonesia, Philippines (By Adek Berry | AFP – Wed, Jun 29, 2011)
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน : 6 ปีคดีพระสุพจน์ไม่คืบ กระบวนการยุติธรรมไทยนั้นมืดมน (ตอนจบ)

Posted: 30 Jun 2011 11:50 AM PDT

 

 ‘ยิ่งยึดเวลาการสืบสวน สอบสวนออกไปนานเท่าไหร่ ก็เท่ากับช่วยเหลือผู้กระทำความผิด ด้วยน้ำมือของ DSI”

“เพราะจริงๆแล้ว การที่คนดีถูกฆ่าถือว่าเป็นความล้มเหลวของ รัฐ ในการที่จะมีการอำนวยความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และตรงนี้เองก็ยังเป็นปัญหา”

“ถึงแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะทำคดีให้ไปตามเป้าหมายได้ แม้ว่าจะหมดอายุความ เราก็ต้องมีหน้าที่ทีจะทำต่อกันไป สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น นั่นคือ เกิดกระบวนการเรียนรู้”

พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์

 

 

วิพากษ์บทบาท ‘ดีเอสไอ’ ไม่ใช่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่เพื่อเบี่ยงเบนปัญหา ซ้อนทับตำรวจ-หน่วยงานอื่น และยังตกอยู่ในมือของนักการเมือง

พระ กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวถึงการสืบสวนสอบสวนคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ว่า ที่ผ่านมาทำให้มองเห็นถึงการตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมาว่าไม่ใช่เป็นการ แก้ไขปัญหา แต่เป็นการตั้งเพื่อเบี่ยงเบนปัญหาออกไปจากวิถีที่ควรจะเป็น ก็คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นอกจากมีการตั้งอำนาจหน้าที่ขึ้นมาซ้อนทับกับทางตำรวจ ซ้อนกับหน่วยงานของ รัฐอื่นๆ แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ไปตกอยู่ในมือของนักการเมือง และเป็นหน่วยงานที่อ่อนไหว กับกลุ่มนักการเมือง ที่เข้ามาสั่งการ กำกับนโยบายต่างๆได้ง่าย

“และ 6 ปีที่ผ่านมา อาตมามีความเชื่อว่า นับตั้งแต่นี้ไป ภาพจะมีความชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะว่า ดีเอสไอ ในระดับของผู้บริหาร ไม่จริงใจที่จะปิดคดีนี้ และยังเป็นอุปสรรคของการปิดคดีนี้ด้วย นั่นทำให้อาตมาถึงต้องมีการทำป้ายติด ที่ศาลาว่า…ยิ่งยึดเวลาการสืบสวน สอบสวนออกไปนานเท่าไหร่ ก็เท่ากับช่วยเหลือผู้กระทำความผิด’

สาเหตุคดีไปไม่ถึงไหน เพราะขาดความต่อเนื่อง

พระ กิตติศักดิ์ กล่าวว่า การที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงมาพื้นที่แต่ละครั้งก็ลงมาถึงตัว แต่ไม่มีความต่อเนื่อง ไม่เป็นกระบวน ก็เพราะว่า ดีเอสไอ มีการทำตามกระแสสังคม

“พอสังคมให้ความสนใจในเรื่องนี้และมีการส่งข่าวคราวผ่านสื่อ ก็ลงมาทีหนึ่ง และพอผู้มีอำนาจในบ้านเมือง แสดงท่าทีว่าคุณต้องรับผิดชอบ แต่หลังจากนั้นก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ จะมีการอ้างว่าเจ้าหน้าที่มีน้อยก็ ไม่ได้ เพราะว่าโดยอำนาจของดีเอสไอ ก็สามารถที่จะมีการใช้ทรัพยากรของรัฐได้อย่างมากมาย เพราะดีเอสไอ มีเงินเดือนที่สูง และเบี้ยเลี้ยงสูงกว่าตำรวจอยู่หลายเท่า”

กระบวนการพิสูจน์หลายครั้งที่ผ่านมา บางครั้งอาจดูเหมือนว่าคลี่คลาย มีความชัดเจน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมก็จัดทีมลงมาค้นหาหลักฐานประกอบคดี แต่พระกิตติศักดิ กล่าวว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เข้ามา ก็เพียงเพิ่มสีสันเท่านั้นเอง

“คือ การใช้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เข้ามา ก็เพื่อเพิ่มสีสันให้กับข่าวมากกว่าจะหาผู้ที่กระทำความผิด ไม่ได้ต้องการพิสูจน์หาผู้ที่กระทำความผิด เหมือนอย่างการที่มาตรวจกุฏิคดีพระสุพจน์ ก็เพียงเพื่อพยายามที่จะเชื่อมโยงไปว่าพระสุพจน์ มีประเด็นชู้สาว แทนที่จะหาร่องรอยลายมือแฝง ร่องรอยของการชักชวนพระสุพจน์ไปที่เกิดเหตุจนมรณกรรม แต่กลับมาพยายามที่จะดูว่า บนผ้าปูที่นอนของพระสุพจน์นั้นมีร่องรอยของการมี เพศสัมพันธ์หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศก็อาจมีการฟ้องกลับก็ได้ แต่ถ้าจะมีการเปิดประเด็นอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ก็ต้องมีตัวบ่งชี้หรือแรงจูงใจของผู้ที่กระทำความผิดหรือว่าพฤติกรรมของผู้ เสียหายมีการบ่งชี้ไปทางนั้น แต่ในกรณีนี้ไม่มี ก็พยายามทำอะไรต่างๆ แต่ถ้ามีการบอกว่า มาตรฐานของการทำงานที่อยู่ในสภาพที่จะไว้ใจได้ก็สามารถจับได้แล้ว” พระกิตติศักดิ์ กล่าว

เผย ‘คดีพระสุพจน์’ เป็นคดีเดียวที่ไม่มีความคืบหน้าและมีการพยายามเบี่ยงเบนคดีมาตลอด

ประธาน มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวอีกว่า คดีพระสุพจน์นี้ เป็นคดีเดียวที่มีข่าวระดับนี้แล้วไม่มีความคืบหน้า ส่วนคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ก็สามารถที่จะเอาพันตำรวจตรีเงิน ทองสุข ไปขึ้นศาล และสุดท้ายพอรู้ว่ามีความผิดก็เลยหนี ส่วนคดีเจริญ วัด อักษร ยังมีการจับผู้สารภาพ 2 คนเข้าไปอยู่ในคุก และปรากฏว่าผู้ที่สารภาพว่ากระทำความผิดก็ไปตายในเรือนจำอย่างมีเงื่อนงำ อีก แต่สำหรับคดีของพระสุพจน์ กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย

“เบื้อง ต้นคดีพระสุพจน์ ก็มีความพยายามเบี่ยงเบนไปว่า พระสงฆ์กลุ่มนี้เข้ามาอยู่อย่างไม่ถูกต้อง และไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ และยังไม่เคยเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ในท้องที่ ต่อมาพอรู้ว่า เป็นพระในสังกัดวัดพระบาทอุดม วัดเจ้าคณะอำเภอฝาง พอเจ้าคณะอำเภอฝางเข้ามาร่วมปลูกต้นไม้ เจ้าคณะจังหวัดเข้ามา รองอธิการบดี มจร. มาที่นี่ จากนั้นก็มีการเบี่ยงเบนไปเรื่องอื่นอีก คือ เมื่อเอาเรื่องของกฎหมายคณะสงฆ์ไม่ได้ ก็ไปหาความผิดในคดีของเรื่องส่วนตัว ซึ่งก็จะเหมือนกับคดีของนายสมชาย ที่หายไป ก็มีการบอกว่ามีปัญหาทางครอบครัว ส่วนเรื่องของเจริญ วัดอักษร ที่เกิดเหตุขึ้น ก็พยายามจะโยงไปเป็นเรื่องของชู้สาวหรือว่าการพนัน ที่ตำรวจมีการสันนิษฐานและลักษณะของบาดแผลเป็นลักษณะของการที่มีความ แค้น คดีพระสุพจน์ก็เหมือนกัน”

สุดท้าย กว่าจะพิสูจน์ได้ หลักฐานและพยานก็หายไปแล้ว

เช่น เดียวกับ พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร ผู้อำนวยการสถาบันโพธิยาลัย วัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่ได้แสดงความเห็นต่อคดีพระสุพจน์ ว่า คดีหลายๆ คดีส่วนใหญ่ มักมีการตั้งข้อหา การตั้งสมมุติฐาน การตั้งสาเหตุของการฆ่า การลอบสังหาร ให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องบุคคล

“ถ้าเรามีการมองแบบมุมมองแบบพุธ แบบประเพณี ก็เน้นเรื่องบุคคล ปัจเจกเป็นสำคัญ ซึ่งลักษณะปัญหาแบบนี้ถือเป็นปัญหาทางสังคม แต่เป็นปัญหาของคนทุกคน แน่นอนว่า ตราบใดที่ยังไม่มาถึงตัวเราโดยตรง หรือว่าคนใกล้ชิดของเรา เราก็จะไม่รู้ว่านี่มันคือปัญหา”

ด้านนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กล่าวถึงคดีนี้ว่า แม้ว่าเรื่องคดีพระสุพจน์ จะยาวนานเท่าไหร่ แต่ก็ต้องมีการทำให้ความเป็น จริงนั้นปรากฏ เรื่องของความเป็นธรรมที่ควรได้รับจากกระบวนการสอบสวนและสืบสวนของหน่วยงาน ของรัฐที่ต้องเข้ามารับผิดชอบ ในการหาคนผิดมาให้ได้ แต่ความยึดเยื้อยาวนานก็ต้องเชื่อมกับการเปลี่ยนโครง สร้าง คือ คดีพระสุพจน์ ต้องเข้าไปสู่คดีของการปฏิรูปกระบวนการของความยุติธรรม และคดีของพระสุพจน์เองก็ต้องมีการเทียบกับคดีเจริญ วัดอักษร และคดีชาวบ้านอื่นๆ ด้วย

“ที่ สำคัญ คือ ต้องมีการนำไปในการปรับเปลี่ยนของดีเอสไอ และถ้าหากดีเอสไอ ไม่มีหน้าที่หาความจริงให้กับคดีนี้ได้ ก็สมควรที่จะถูกยุบ และคดีต่างๆ ที่ดีเอสไอรับไปทำนั้น ต้องมีการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในคดีที่เป็นคดีพิเศษ ที่ยุโรป อเมริกา นั้นเป็นอย่างไร ต้องมีการยกระดับ เอาศึกษาดู และในส่วนของภาคประชาชนควรมีหน้าที่ในการกระทุ้งให้กับหน่วยงานเข้ามาทำ อย่างต่อเนื่องด้วย”

นาย สุริยันต์ กล่าวอีกว่า ทำอย่างไรถึงจะใช้ตัวอย่างของคดีพระสุพจน์ ให้นำไปสู่การเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของดีเอสไอ ถ้าตอบคำถามของคดีพระสุพจน์ไม่ได้ ความเป็นธรรมไม่ปรากฏ ก็จำเป็นที่จะต้องมีดีเอสไอ และการเปรียบเทียบการยกระดับคดีของพระสุพจน์ ไปสู่ระดับสากล มีการคลี่คลายและแก้ไขและต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ครอบคลุมและกว้าง ไปกว่านั้น

“เพราะ ฉะนั้นคนที่จะมาเป็นพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็จะต้องเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย และต้องมีข้อมูลด้านสังคม แต่ส่วนที่เขามาเรียนไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมก็จะมีการถูกตัดออก ไป ในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ ซึ่งเราจะมองว่า การเมืองจะต้องเข้ามาข้องเกี่ยวด้วย และสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขในส่วนของคดีความเป็นธรรมของสังคมด้วย”

เผยคดีพระสุพจน์กลายเป็นกรณีตัวอย่างให้นักสิทธิมนุษยชน ใช้สิทธิคุ้มครองพยาน-ขอชดเชยเยียวยาความสูญเสียจากรัฐ

อย่าง ไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรณีของพระสุพจน์ นั้นได้กลายเป็นคุณูประการให้กับนักเคลื่อนไหว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นั่นคือ การใช้สิทธิในเรื่องของการคุ้มครองพยานที่อาจจะได้รับผลกระทบ ถูกข่มขู่ ทำให้ไม่ปลอดภัยในชีวิต

“ตอนนี้การคุ้มครองพยาน ในกรณีของพระสุพจน์เป็นตัวอย่าง ที่จะต้องมีการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จากเดิมจะมีการคุ้มครองพยานนั้นเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ พอหมดกระแสก็จบ แต่ล่าสุด ก็มีการใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการใช้อ้างอิง ในเรื่องของการคุ้มครองพยาน ซึ่งแท้จริงแล้วในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีการคุ้มครองพยาน โดยถือว่าการคุ้มครองพยานนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นตัวที่สำคัญของการอำนวย ให้เกิดความยุติธรรม แต่บ้านเรา พยานมักจะตกอยู่ในช่วงของชะตากรรม ซึ่งบางครั้งไม่ลำบากเดือดร้อน แต่หลายครั้งก็เกือบตาย” พระกิตติศักดิ์ กล่าว

อีก กรณีหนึ่ง ที่กลุ่มผู้เสียหายจากคดีพระสุพจน์ ได้มีการดำเนินการเรียกร้องจนได้สิทธินั้น คือ การได้รับความชดเชยให้ผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากคดีอาญา 

“เรื่อง ของการได้รับความชดเชยให้ผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากคดีอาญา ซึ่งในตัวบท กฎหมายนั้นมีอยู่ เหมือนกับคนดีที่ไม่เคยมีคดี ไม่มีความผิด แล้วถูกฆ่าตาย หรือถูกลอบสังหาร กฎหมายนั้นได้บทบัญญัติไว้แล้วว่า จะต้องมีการเยียวยา ชดเชยชดใช้ตามสมควร กรณีพระสุพจน์ นี้ถือเป็นกรณีแรกที่ รัฐจำเป็นต้องจ่าย ทั้งที่ไม่อยากจะจ่าย เพราะยังมีคดีที่เข้าคิวรอเรื่องนี้อีกหลายต่อหลายคน เพราะจริงๆแล้ว การที่คนดีถูกฆ่าเป็นความล้มเหลวของรัฐ ในการที่จะมีการ อำนวยความปลอดภัยในชีวิต และตรงนี้เองก็ยังเป็นปัญหา”

ย้ำผ่านไป 6 ปี แม้ความหวังเลือนราง หากบทสะท้อนความล้มเหลวของนั้น จะต้องเคลื่อนไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย

นาย กิตติพัฒน์ ด้วงประเสริฐ บิดาของพระสุพจน์ สุวโจ กล่าวในงานทำบุญครบ 6 ปี การมรณภาพของพระสุพจน์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ว่า มาถึงตอนนี้ ก็ยังหวังกับความคืบหน้าของคดีอยู่ แต่คงหวังประมาณ 50:50 เพราะอย่างที่เราคุยกันนั่นแหละว่า คดีมันมีการหยุดชะงักอยู่ตลอดเวลา

“การที่จะหวังพึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ถ้ายิ่งคนที่มีเงิน มีฐานะ เขาก็จะเข้าข้างกัน แต่เราไม่มีเงินและเราก็ไม่สามารถที่จะตอบโต้ได้ ประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไรถ้าเป็นแบบนี้ ขนาดพระยังอยู่ไม่ได้ แล้วประชาชนธรรมดาจะอยู่ได้ยังไง สิ่งที่สำคัญ คือ ปัญหาที่เราไม่รู้ว่ามันมีอิทธิพลมากขนาดไหน ใครอยู่เบื้องหน้าเบื้อง หลัง” บิดาของพระสุพจน์ กล่าวในตอนท้าย 

ในขณะพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ได้มองไปข้างหน้าว่า อนาคตข้างหน้า เราคงจะต้องทำให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง แล้วเป็นกรณีของการพัฒนากระบวนการ ยุติธรรม คือ ถึงแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะทำคดีให้ไปตามเป้าหมายได้ แม้ว่าจะหมดอายุความ เราก็ต้องที่จะมีการทำต่อกันไป สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น นั่นคือ เกิดกระบวนการเรียนรู้ และจะต้องนำไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรม เนื่องจากหลายๆ คดี เจ้าหน้าที่มักไม่มีการลงลึกในรายละเอียด ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของปรากฏการณ์แต่เป็นเรื่องของภาพรวม แต่ก็มีความพยายามจะใช้หลักการในการปิดคดี แล้วจบ ทำให้ความจริงไม่ถูกพิสูจน์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่ความบกพร่องไม่รับการแก้ไข

“ซึ่งอาตมาถือว่านี่เป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเหล่านี้ ก็คือ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วคุณไม่แก้ไข ไม่สามารถทำให้รู้ว่าจริงๆแล้วมันคืออะไร ยกตัวอย่าง ประเด็นที่มีความแตกต่างจากทางความคิดทางการเมือง ถึงตอนนี้ประเด็นอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ กลายเป็นที่มาของความแตกต่างและความแตกแยก แต่ถามว่ามีการสรุปบทเรียนหรือไม่ แล้วตอนนี้และหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีการติดปัญหาอยู่ ตรงนี้ก็ต้องมีการปฏิรูปในเชิงของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด และต้องมีการรื้อกันทั้งระบบ”

นอกจากนั้น ยังสนับสนุนแนวคิดที่ว่า กระบวนการภาคประชาชน ควรเข้าไปมีบทบาท มีส่วนร่วมในกระบวนการสืบสวน สอบสวน ที่จะคู่ขนานไปกับของรัฐ การพยายามรักษาที่เกิดเหตุ การรวบรวมพยานหลักฐาน การพิสูจน์ความจริง โดยดูได้จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ดำเนินการมาอย่างต่อ เนื่อง

พระกิตติศักดิ์ ได้ยกตัวอย่าง กลุ่มสิทธิมนุษยชน เอิร์ทไรท์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งมีสำนักงานในกรุงปารีสของฝรั่งเศส แต่มีการฟ้องรัฐบาลพม่า รัฐบาลอินเดีย เป็น NGOs ที่ช่วยเหลือผู้ที่เสียหาย ผู้ที่ถูกกระทำ การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการดำเนินการกับรัฐ ในกระบวนการของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อความยุติธรรม ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ อย่างเช่น กรณีการฟ้องบริษัทที่ขุดเจาะน้ำมันที่อ่าวเบงกอล ฟ้องโรงงานที่ระเบิดสารเคมีที่อยู่ในอินเดีย ถามว่า อเมริกาเขามีการช่วยเหลือกันทั้งหมด

“ส่วน ประเทศไทยไม่ต้องถึงคดีพระสุพจน์ เพียงแค่ว่าขบวนการของรัฐนั้นมีการถูกดำเนินการให้กระบวนการยุติธรรม ที่ไม่น่าจะเป็นธรรม ไม่น่าจะมีการถูกหยิบยกขึ้นมาแล้วรัฐก็มีมุมมองว่า คนที่มีการวิจารณ์รัฐ ไม่ต้องช่วย ให้โดนเสียบ้างจะได้เข็ด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หลักของนิติรัฐ นิติธรรม กลายเป็นความรู้สึก และประเด็นเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้จะนำไปสู่อะไรที่รุนแรงกว่านี้ เช่น พันธมิตร ถูกแก๊สน้ำตา แขนขาด ขาขาด ตาย ฝ่ายเสื้อแดงสมน้ำหน้า พออีกฝ่ายตาย เสื้อเหลืองก็สมน้ำหน้า และฝ่ายที่ไม่เลือกสักฝ่ายก็มีการสมน้ำหน้ากันเหมือนกัน ถามว่าจะนำไปสู่ อะไร? บ้านเมืองไม่มีขื่อแป สุดท้ายก็กลียุค เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นคดีพระสุพจน์ คดีเจริญ หรือคดีทนายสมชาย นี้เป็นตัวชี้วัดคดี ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่าจะต้องมีตุลา การภิวัฒน์ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องผู้พิพากษาจะมาทำเรื่องโน่นเรื่องนี้อีกเลย” พระกิตติศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โหวตโน ไม่เอาอะไร อย่างไร?

Posted: 30 Jun 2011 11:30 AM PDT

โหวตโนไม่ใช่ของใหม่ อย่างน้อยในรอบสองสามปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ blank vote ในเมกซิโก (ปี 2009) และ no vote ในพม่า (ปี 2010)

blank vote ในเมกซิโกเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่พอใจคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้งและปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาล

no vote ในพม่า เกิดจากความวิตกกังวลว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นนั้นไม่บริสุทธ์ ยุติธรรม จึงรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิใช้เสียง 

ในประเทศไทย ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนปรากฎในบัตรเลือกตั้งหลายปีก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่มีผู้สมัครที่รักและพรรคในดวงใจออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่เคยปรากฎการส่งเสริมให้โหวตโนอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อน

การเลือกตั้งทั่วไปของไทยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ มีการรณรงค์โหวตโนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่อาจนับได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวส่งเสริมให้โหวตโนครั้งใหญ่ที่สุดของการเมืองไทย
 
การให้เหตุผลของการรณรงค์ให้โหวตโนของ พธม. แม้แสดงออกว่าวางอยู่บนฐานคิดเรื่องความไม่พึงพอใจคุณภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ความโกรธเกรี้ยวต่อความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น คล้ายคลึงกับฐานคิดเรื่องการโหวตโนทั่วไป แต่ตีความจากพฤติกรรมและคำปราศรัยของแกนนำ พธม. หลายคน ชวนให้คิดว่าเป้าหมายของการโหวตโนของ พธม. ไปไกลกว่านั้น

โดยเฉพาะคำปราศรัยของ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. คนสำคัญ ที่กล่าวถึงสาเหตุของการสนับสนุนการโหวตโน จำนวนหลายครั้ง หลายตอน ใจความสรุปรวมคือ นักการเมืองเลวทุกคน พรรคการเมืองหาดีไม่ได้ ปฏิเสธระบบการเมืองปัจจุบันของไทย และไม่เชื่อว่าประชาชนควรมีเสียงทางการเมืองเท่าเทียมกัน (สามารถฟังรายละเอียดได้ใน “ความเห็นสนธิ ลิ้มทองกุล ทำไมต้องโหวตโน” โดยเฉพาะคลิปที่ 19 เขาประกาศว่า ตลอดชีวิตของเขา “ไม่เคยเชื่อระบอบการเลือกตั้งวันแมนวันโหวต” http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000064434

Schattschneider นักรัฐศาสตร์อเมริกัน เขียนไว้ในหนังสือ Party Government (1942) ว่า “พรรคการเมืองสร้างประชาธิปไตย และประชาธิปไตยสมัยใหม่จะยั่งยืนมิได้หากปราศจากพรรคการเมืองหลายพรรค” Jacques Ranciere ศาสตราจารย์ปรัญชาชาวฝรั่งเศส สรุปหลักมูลฐานอุดมการประชาธิปไตยคลาสสิกว่า ประกอบด้วยหลักสองประการคือ หนึ่ง ความเสมอภาค (Equality) และสอง ความเห็นต่าง (Dissensus)

ดังนั้น อาการรังเกียจพรรคการเมืองและความเสมอภาคของเสียงประชาชนของคุณสนธิ อาจจะสรุปได้ว่า โหวตโนตามความคิดของเขามีความหมายไปในทิศทางว่าต้องการปฏิเสธ “ประชาธิปไตยที่มีฐานอำนาจจากระบบการเลือกตั้งโดยประชาชนทั่วไป” การเลือกตั้ง และระบบเลือกตั้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา

การที่ความหมายของประชาธิปไตยไม่ตายตัว และในปัจจุบัน ไม่ว่าจะรักหรือชังระบอบนี้ ก็ยากที่จะมีผู้ใดปฏิเสธนามประชาธิปไตย แม้แต่จีนยังมีประชาธิปไตยแบบจีน ๆ (The Chinese democratic model) การถกเถียงว่า หากปฏิเสธระบบการเลือกตั้งแล้วจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จึงน่าจะเป็นเรื่องยืดเยื้อหาข้อสรุปลงตัวยากในระยะเวลาอันสั้น

แต่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า หากปฏิเสธระบบการเลือกตั้งแล้ว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากหน้าที่และเป้าหมายของการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์

อาจารย์รัฐศาสตร์ไทยท่านหนึ่งสรุปหน้าที่และเป้าหมายของการเลือกตั้งไว้ว่า ประโยชน์ของการเลือกตั้งคือ ทำให้เกิดการผลัดอำนาจโดยสันติ ประชาชนรับรู้ปัญหาของชาติ ผู้ปกครองรับผิดชอบต่อประชาชน ตอบสนองต่อมติประชาชน เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้เลือก พรรคการเมือง และรัฐบาล เป้าหมายของการเลือกตั้งคือ ทำให้ประชาชนสามารถต่อรองกับชนชั้นนำ และให้ความชอบธรรมในการขยายอำนาจรัฐ หรือลดอำนาจรัฐเมื่อเห็นว่ารัฐใช้อำนาจในทางมิชอบได้

ดังนั้น หากไม่มีการเลือกตั้ง หรือไม่ยอมรับการเลือกตั้ง

การผลัดอำนาจมักจะต้องหลั่งเลือด

ประชาชนถูกกีดกันออกจากชาติโดยง่าย

ผู้ปกครองสามารถกระทำการตามอำเภอใจ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

ไร้กลไกตัวกลางประสานระหว่างรัฐกับสังคม

ผลกระทบต่อประชาชนคือ

ประชาชนจะไม่มีกลไกต่อรองกับชนชั้นนำโดยสันติ

ประชาชนจะไม่สามารถขยายหรือจำกัดอำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของตนได้โดยสันติ

ด้วยเหตุผลดังข้างต้น แม้ว่าจะมีความพยายามสร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตย 4 วินาที” เพื่อลดทอนความสำคัญของการเลือกตั้งที่มีต่อประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเลือกตั้งมีความสำคัญต่อประชาชนมาก ไม่ว่าภาพของการเลือกตั้งจะถูกป้ายสีให้มีสภาพเป็นระบบที่เลวร้ายอย่างไรก็ตาม

แน่นอนว่าระบบการเลือกตั้งนี้ไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์แบบ ในทางปฏิบัติจริงบ่อยครั้งที่ไม่สามารถทำหน้าที่และพาไปสู่เป้าหมายตามหลักการของมันทุกประการ แม้แต่ในประเทศที่เป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยก็เผชิญกับปัญหาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และก็เป็นความจริงที่ว่าการเลือกตั้งอาจเป็นกระบวนการเสริมอำนาจของชนชั้นนำ เป็นวิธีการสร้างความชอบธรรมให้อำนาจควบคุมสังคมของชนชั้นนำ รวมไปถึงอาจเป็นช่องทางที่สร้างความมั่นคงให้กับอำนาจของชนชั้นนำด้วยการครอบงำในระดับความคิดความเชื่อของประชาชน

แต่.. เหตุแห่งความไม่สมบูรณ์แบบของระบบเลือกตั้ง ไม่อาจถือเป็นความชอบธรรมที่จะล้มล้างความสำคัญของระบบนี้ได้

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าระบบเลือกตั้งจะพิกลพิการไปบ้าง หากสังคมกุมหลักการประชาธิปไตยให้มั่น ไม่ทำลายระบบพรรคการเมือง ที่เป็นกลไกเชิงสถาบันที่เชื่อมประชาชนกับรัฐ ยอมรับหลักการความเสมอภาคของประชาชน และไม่ปิดกั้นความเห็นต่าง ยอมให้มีการเสนอความเห็นและตั้งคำถามกับทุกเรื่องได้

การปกป้องหลักการสำคัญของประชาธิปไตย จะทำให้กระบวนการต่อรองทางอำนาจโดยสันติระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมสามารถดำเนินไปได้  สังคมสามารถปรับตัวเพื่อปรังปรุงระบบหรือวิถีการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนหมู่มาก

ในความหมายนี้ สิ่งที่สำคัญกว่าการโจมตีความชั่วร้ายของระบบเลือกตั้ง คือ การรักษาหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ใช่หรือไม่?

ความคิดที่จะกวาดล้างฝ่ายที่เห็นต่างออกไปจากเวทีการเมือง เพื่อรอคนดีมาปกครอง เป็นการปิดพื้นที่ทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งออกไปจากการเมืองเสมอ นับเป็นวิธีคิดที่เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณต่อประชาชน และเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้วในยุคนี้ ตัวอย่างนับจากอดีตกาลจนถึงปัจจุบันชนิดเหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อวานนี้คือ การปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองด้วยวิธีการต่าง ๆ จะนำไปสู่ความรุนแรง ยิ่งปิดกั้นให้เก็บกดสวนทางกระแสสังคมและกระแสโลก การปะทุระเบิดออกของปัญหายิ่งรุนแรง

วิธีคิดที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ การเปิดพื้นที่ทางการเมือง โดยธำรงรักษาหลักการที่ถูกต้องร่วมกัน แล้วให้หลักการนั้นนำพาคนทั้งสังคมเดินหน้าโดยสันติ แม้ว่าอุดมการณ์และผลประโยชน์อาจแตกต่างหรือกระทั่งขัดแย้งกัน แต่ไม่จำเป็นต้องทำร้ายกันและกัน

เพราะ นับจากนี้ ไม่เกิน 4 ปี เราจะมีโอกาสได้เลือก ได้เปลี่ยนแปลง อีกครั้ง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บัน คี มุน เรียกร้องไทยเคารพเจตจำนงประชาชน

Posted: 30 Jun 2011 10:47 AM PDT

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเรียกร้องไทยจัดการเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรม และเคารพการลงคะแนนเสียงของประชาชน ระบุ การเลือกตั้งที่เชื่อถือได้จะนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์และบรรทัดฐานแห่งความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ

วันที่ 29 มิ.ย. โฆษกส่วนตัวของนายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ว่า เลขาฯ ยูเอ็น กำลังติดตามการเลือกตั้งในประเทศไทยซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. นี้ โดยนายบันคีมุนคาดหวังว่า การเลือกตั้งจะดำเนินไปอย่างสันติและเป็นธรรม น่าเชื่อถือและมีการจัดการที่โปร่งใสซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์และการสร้างบรรทัดฐานแห่งความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศ

ทั้งนี้ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติยังเรียกร้องต่อพรรคการเมืองต่างๆ ให้ยุติความรุนแรงทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งที่ รวมถึงยอมรับและเคารพในเจตจำนงของประชนที่แสดงออกผ่านการลงคะแนน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รับน้องถ้าดีจริง ต้องตรวจสอบได้ : เสวนา “วัยรุ่น วัฒนธรรม และอำนาจนิยม” (ตอนที่ 2)

Posted: 30 Jun 2011 10:27 AM PDT

เสวนา “วัยรุ่น วัฒนธรรม และอำนาจนิยม” ช่วงที่ 2 ตัวแทนนักศึกษาบอกเล่าเชื่อมโยงประวัติศาสตร์การรับโซตัสเข้ามาในประเทศไทย และเหตุใดมันถึงรับใช้อำนาจนิยม ด้านธเนศวร์ชี้ ระบบการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยถึงยังมีระบบแบบอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2554 ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “วัยรุ่น วัฒนธรรม และอำนาจนิยม” ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการเสวนาแบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกมีหัวข้อว่า “ชีวิต วัฒนธรรม และกิจกรรมนักศึกษา” มีวิทยากรคือ รศ.ดร. อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ, นายเมธิชัย โอบอ้อม นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์, นายอานนท์ พลแหลม นายกสโมสรนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว

ซึ่งในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงช่วงที่ 2 ที่มีหัวข้อว่า “รับน้อง พิธีกรรม ผลิตซ้ำอำนาจนิยม?” มีวิทยากรคือ ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, นางสาวรวีพร ดอกไม้ นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ และนายธนพงษ์ หมื่นแสน แนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสรีชนล้านนา และกลุ่มนักศึกษาผู้ไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมความรุนแรง

Order คือระบบชนชั้นตั้งแต่ยุคขุนนาง

นางสาวรวีพร ดอกไม้ จากสาขาวิชาไทยศึกษา คณะสังคมศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นมาของระบบโซตัสที่ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจริงๆ เป็นระบบที่มีมาตั้งแต่ยุคจารีตประเพณีหรือยุคขุนนางศักดินา (Feudal) แล้ว อย่างตัวย่อของโซตัสเช่น S ที่มาจากคำว่า Seniority ก็เป็นเรื่องชนชั้นทางสังคม ส่วยคำว่า O ซึ่งมาจาก Order ไม่ได้แปลว่าคำสั่งอย่างที่หลายคนเชื่อกัน แต่มาจากคำว่า Social Order หรือมิติทางสังคมที่จะนำมาใช้กับระบบทางชนชั้น เพื่อสถาปนาอำนาจสร้างตัว T คือ Traditional ขึ้นมา โดยชนชั้นนำเชื่อว่าหากสร้างประเพณีได้แล้ว ก็จะสามารถสร้างความชอบธรรมและครอบงำชนชั้นที่อยู่ต่ำกว่าของตัวเองได้ เพื่อจะนำไปสู่ Unity หรือจุดร่วมเดียวกัน เนื่องจากประเพณีเองก็มีความหลากหลาย

รวีพรกล่าวต่อว่า ระบบนี้เข้ามาทางสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2440 ช่วงนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัชกาลที่ 5 โดยใช้ในระบบข้าราชการ นำมาใช้กับโรงเรียนมหาดเล็ก ก่อนจะสถาปนาเป็นโซตัสในช่วงปี 2480 จนถึงช่วง 2490 เป็นช่วงยุคของจอมพล ป. เป็นยุคลัทธิอาณานิคมจากภายนอก ซึ่งก็มีลัทธิต้องเชื่อผู้นำ

วสันต์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวเสริมรวีพรว่า ระบบโซตัสเป็นเรื่องที่ผลิตซ้ำ ตอกย้ำ ระบบโครงสร้างอำนาจบางอย่าง แต่ว่าเมื่อมันถูกนำมาแปลงเข้าสู่ระบบของนักศึกษา ก็ถูกดัดแปลงจากคณะต่างๆ เอาไปใช้ไม่เหมือนกัน ความหลากหลายพวกนี้เรารับรู้กันอยู่

“แต่มันมีอะไรมากกว่านี้หรือไม่ในยุคสมัยใหม่ที่ข่าวสารแพร่ได้ง่ายขึ้น อยู่ในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย” วสันต์ตั้งคำถาม

รวีพรกล่าวถึงกรณีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถูกโยนบกและการฆ่าตัวตายของนิสิตนักศึกษาทำให้สถาบันอุดมศึกษาสั่งยกเลิกกิจกรรมการรับน้องไป โดยบอกว่ามันได้แสดงให้เห็นว่าเป็นประเพณีที่สอดแทรกความรุนแรงเอาไว้ คล้ายเป็นมรดกตกทอดที่ยังคงหลงเหลือไว้ในระบบการศึกษาของประเทศไทย

ห้ามรู้ ห้ามคิด ห้ามถาม เป็นรั้วทึบใหญ่ของการศึกษาไทย

ธนพงษ์ หมื่นแสน แนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสรีชนล้านนา และกลุ่มนักศึกษาผู้ไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมความรุนแรง เริ่มต้นโดยกล่าวว่าการที่พวกเรามารวมกันในวันนี้เกิดจากความคิดที่หลากหลาย มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยที่อ้างนักอ้างหนาว่าเป็นวิถีประชาธิปไตยจ๋า ทุกอย่างในสังคมเป็นเบ้าหลอม ที่หล่อหลอมให้สังคมเกิดการถ่ายทอดอุดมการณ์ ความคิด วิธีคิดทางสังคม ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องการศึกษาให้เชื่อมโยงกับการเมือง เพราะการผลิตซ้ำแนวคิดทางสังคมยังมีการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการส่งผ่านอุดมการณ์

ธนพงษ์ กล่าวต่อว่า เสรีภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการนำไปสู่เรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างไม่มีการกำหนดขอบเขต

“ผมเชื่อในหลักธรรมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาส (พุทธทาสภิกขุ)” ธนพงษ์กล่าว “การที่มาบอกว่าห้ามรู้ ห้ามคิด ห้ามถาม ห้ามกระทั่งตั้งข้อสงสัย นั่นคือการขีดกรอบทางสังคมเป็นรั้วทึบใหญ่ๆ ให้การศึกษาในสังคมไทยไร้เสรีภาพอย่างแท้จริง”

หลักสูตรแฝงจากพิธีกรรมแสดงความเป็นเจ้าของสถาบันการศึกษา

ธนพงษ์บอกอีกว่า วัฒนธรรมการรับน้องแบบไทยนั้น มันเป็นฐานรากของสังคมเผด็จการอำนาจนิยมยุคใหม่ ที่ยังซ่อนอยู่ในระบบการศึกษาไทยแม้ว่าการรับน้องจะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาไทย แต่ในทางทฤษฎีนั้นเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นหลักสูตรแฝง

“มันแฝงมาในทุกๆ ปริมณฑลชีวิตของการเป็นนักศึกษา มันแฝงมาในทุกๆ กิจกรรม” ธนพงษ์กล่าว

จากนั้นธนพงษ์ก็ได้กล่าวถึงการรับน้องแบบไทยๆ ที่มีการยึดถือความเป็นสถาบันการศึกษาซึ่งผูกขาดความเป็นเจ้าของ และการที่รุ่นน้องจะเข้าร่วมเป็นเจ้าของได้ต้องผ่านพีธีกรรมบางอย่าง

“แล้วเจ้าของคือใครล่ะ คือผู้ที่เข้ามาอยู่ในสาระบบนั้นก่อนใช่หรือไม่ เจ้าของคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบนั้นหรือไม่ แล้วคำถามที่ตามมาก็คือรุ่นน้องเป็นเจ้าของสถาบันนั้นหรือไม่” ธนพงษ์ตั้งคำถาม

“หรือการที่รุ่นน้องจะเข้าไปเป็นเจ้าของในสถาบันนั้นจำต้องผ่านระบบพิธีกรรมการสถาปนา แล้วคุณถึงจะเข้าไปมีสิทธิเต็มที่ ภาษาแบบพวกเราก็คือได้รุ่น ได้พรรค ได้พวก แต่ถ้าคนที่อยู่นอกสาระบบนั้นคือหมดสิทธิ์” ธนพงษ์กล่าว

เปลือกอันว่างเปล่าของสถาบันการศึกษา

ธนพงษ์ มองว่าสถาบันการศึกษามันไม่ได้มีชีวิตในตัวของมันเอง แต่ที่แท้จริงแล้วมันถูกสร้างมาเพื่อการรับใช้อะไรบางอย่าง และตั้งคำถามว่ามันได้รับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตามวิถีทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? อย่างไร?

“ถ้าหากเรารักษาเปลือกอันว่างเปล่าของสถาบัน(การศึกษา)เอาไว้ โดยต้องสูญเสียความเป็นคน หรือความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของบุคคลที่มันมีมาแต่กำเนิด มันอยู่กับตัวเรา มันชอบธรรมแล้วหรือที่จะต้องไปถูกลิดรอนเมื่อคุณจะเข้าไปสู่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง”

“สิทธิเสรีภาพของคนเราถูกลดทอนได้หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ต้องฝากไปถึงปัญญาชน ผู้ที่คนทั้งหลายยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้ และเป็นอนาคตแห่งการชี้นำสังคม และที่สำคัญเขาบอกว่าคนพวกนี้จะมีปัญญาเป็นเลิศ ในการสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ธนพงษ์กล่าว

ขอบคุณที่สอนให้รู้จัก ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’

ธนพงษ์กล่าวถึงประเด็นเรื่องเหตุใดกลุ่มรุ่นพี่ถึงคิดอยากถ่ายทอดสืบต่อประเพณีการรับน้องโดยแบ่งเป็น 3 ประการคือ ประการที่ 1 คือการกระทำของพวกเขาเหล่านั้นวางอยู่บนฐานของความรักที่จะมอบให้น้องใช่หรือไม่? ประการที่ 2 ปัญญาชนเหล่านั้นต้องการจะดำรงวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของสังคมไทยเพื่อไม่ให้สูญสลายไปกับกาลเวลา วัฒนธรรมนั้นคือการธำรงสภาวะความเป็นชนชั้น หรือ Social Order ในระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ประการที่ 3 ธนพงษ์บอกว่าเราควรเคารพนับถือบุคคลเหล่านั้น เพราะพวกเขาทำให้พวกเราได้นึกถึงระบอบ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’

“แล้วรุ่นน้องผิดอะไรถึงต้องทำให้เขามีสิทธิ์เป็นศูนย์ เพียงแค่เขามาทีหลังเราใช่หรือไม่?” ธนพงษ์ตั้งคำถาม

ไม่มี รธน. ข้อไหนอนุญาตให้รุ่นพี่มีอำนาจด่ารุ่นน้อง

ธนพงษ์กล่าวว่า หากจะมองคำว่า ‘อำนาจ’ นั้นเราควรจะพิจารณาจากแง่มุมของรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมาย ฉะนั้นการที่จะสร้างอำนาจเพื่อเป็นเครื่องกีดกันทางสังคม ผู้ที่กระทำเช่นนี้ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ ไม่มีการบรรจุในรัฐธรรมนูญว่ารุ่นพี่มีอำนาจด่ารุ่นน้อง

ธนพงษ์มองว่า เครื่องมือที่กลุ่มรุ่นพี่ใช้นำมาสร้างอำนาจ มีอยู่ช่องทางเดียวคือรหัสนักศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มาก่อนมีอำนาจกว่า แสดงให้เห็นลำดับขั้นทางสังคมในมหาวิทยาลัย โดยการสถาปนาอำนาจเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่ “เธอจะเข้ามาเป็นพวกเดียวกับฉันได้ เธอต้องผ่านกระบวนการแบบเดียวกับฉัน”

สังคมประชาธิปไตยต้องยอมรับความต่าง

“ผมไม่พูดว่ารับน้องดีหรือไม่ดี ผมไม่ขอแสดงความคิดเห็นในที่นี้” ธนพงษ์กล่าว เขามองว่าปัญหาอยู่ที่ฝ่ายรุ่นพี่จะสามารถยอมรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องได้แค่ไหน

“แต่สังคมประชาธิปไตยมันต้องมีความแตกต่างเป็นธรรมดา” ธนพงษ์กล่าว “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ารุ่นน้องจะเอารุ่นหรือไม่เอารุ่น รุ่นน้องจะทำตัวแปลกแยก ปัญหาอยู่ที่ว่าคนที่กำหนดวิถีประชานั้นๆ ยอมรับได้หรือไม่ที่จะให้พื้นที่ความแตกต่างเกิดขึ้นในสังคม คุณยอมได้หรือไม่”

รับน้องถ้าดีจริง ต้องตรวจสอบได้

ธนพงษ์บอกว่า แต่จากข่าวคราวที่เขาทราบมาเช่นกรณีที่ ม.มหาสารคาม พบว่าคนกลุ่มนี้รับไม่ได้ และมีการห้ามถ่ายรูป

“ถามว่าคุณเอาบรรทัดฐานอะไรมาวัดว่าไม่ให้คนถ่าย ถ้าคุณดีจริงคุณต้องกล้าเปิดเผยสิครับ” ธนพงษ์กล่าว “ถ้าคุณดีจริง คุณต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถาม”

ธนพงษ์มองว่าใครจะเอารุ่นหรือไม่เอารุ่นก็เป็นสิทธิของคนๆ นั้น ว่าเขาอยากเอารุ่นหรือไม่เอารุ่น คนที่พร้อมใจที่จะไปโดนว๊าก ก็เป็นสิทธิ์ของคุณที่จะไป ขณะเดียวกันมันก็เป็นสิทธิของคนที่ไม่เอาด้วยเช่นเดียวกัน แต่การที่ไม่เอานั้นยอมรับได้หรือไม่ในสังคมทุกวันนี้ เพราะยังมีการลงทัณฑ์ (Sanction) ทางสังคม ใช้วิธีการล่าแม่มด

มีการกล่าวว่าการว๊ากทำให้น้องมีระเบียบวินัย ทำให้คนรักกัน ซึ่งธนพงษ์ก็ให้ความเห็นเป็นในเชิงสีสันการเสวนาว่า “เป็นไปได้ไหมว่าเราจะเอาคนว๊ากเก่งๆ ไปล้อมนักการเมืองในสภา 400-500 คน แล้วว๊ากให้รักกันสามัคคีกัน ถ้าทำได้อย่างนั้นผมจะเชื่อเลย”

ธนพงษ์ กล่าวอีกว่า ถ้าหากใช้การว๊ากหรือระบบใดๆ ก็ตามเข้ามาควบคุมให้สังคมมีระเบียบแล้ว แม้จะทำให้สังคมในมหาวิทยาลัยมีวินัย แต่การว๊ากก็ไม่ได้มีการนำไปใช้กับแม่ค้าหลังมหาวิทยาลัย เพราะเขาไม่ได้ผ่านระบบการสถาปนาเช่นนี้ พื้นที่ของมหาวิทยาลัยก็ไม่เหมือนพื้นที่ข้างนอก

“ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมีการสถาปนาความเป็นรัฐอิสระขึ้นมาหรือเปล่า” ธนพงษ์ตั้งคำถาม “มันมีกฎมันมีวิธีการ หลักการที่ปฏิเสธหลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า”

ธนพงษ์เปิดเผยอีกว่าบางคณะมีการให้น้องเซนต์สัญญาเพื่อแสดงความยินยอมให้มีการว๊ากเพื่อป้องกันการฟ้องกลับ การสถาปนารัฐอิสระขึ้นในมหาวิทยาลัยถูกทำให้ดูวิลิศมาหรา บางมหาวิทยาลัยถึงขั้นมีเพลงชาติประจำมหาวิทยาลัย

โซตัสเป็นวิธีคิดระดับกลุ่มย่อย แต่ไทยเราเอามาใช้ทั้งประเทศ

ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ แนะนำให้ผู้เข้าฟังเสวนาไปอ่านหนังสือที่ชื่อ ‘รับน้อง’ ซึ่งตัว ศ.ดร. ธเนศวร์ เองเคยเขียนไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อสมัยที่มีการนำโซตัสมาใช้ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็มีการนำไปใช้กับบางสถาบันเท่านั้น เช่นสถาบันทหาร เพื่อเน้นผลลัพธ์ของการทำงานอย่างมีวินัย การผนึกกำลังกัน แต่พอมีการนำมาใช้ในไทยก็ลามออกไปทั่วประเทศ

“จุดนี้เป็นปัญหาของเรา ระบบการศึกษาของเรารับเอาวิธีคิดในระดับที่เป็นไมโคร (ระดับย่อย) ของตะวันตกมาใช้ในระดับทั้งประเทศ” ธเนศวร์ กล่าว

ชมรม ‘รับน้อง’ ในสหรัฐฯ

ธเนศวร์กล่าวต่อว่าในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ มักจะมีชมรมอยู่ 2 ชมรมคือ Sorority กับ Fraternity (แปลว่า ‘สมาคมสตรี’ กับ ‘สมาคมบุรุษ’ ตามลำดับ) โดยสองชมรมนี้จะมีอาคารเป็นของตนเองเกิดจากรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่รักชมรมนี้ออกงบสร้างให้ ผู้ที่สมัครเข้าชมรมนี้จะเข้ามาอยู่ด้วยกัน เรียนหนังสือด้วยกัน แล้วรุ่นพี่จะมีบทบาทสำคัญในการดูแลและอบรมบ่มเพาะน้อง เช่น ซักผ้า เช็ดรองเท้าให้ เป็นต้น

ธเนศวร์เล่าต่อว่า ตอนเช้าชมรมนี้จะแต่งชุดเขียวๆ คล้ายทหาร เดินอย่างสง่างามเป็นแถว มีหยุดซ้ายหันขวาหัน ก่อนจะแยกย้ายกันขึ้นตึกเรียน แต่ลักษณะของการรับน้องเช่นนี้มีความเป็นชมรมที่อาศัยความสมัครใจเข้าร่วมเป็นสำคัญ และมีระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทำให้รุ่นน้องได้งานดีๆ เมื่อจบออกไปแล้ว

“มันเกิดมาแบบชมรมแล้วก็อยู่กันอย่างชมรม มันไม่ได้กระทบกับชีวิตของนักศึกษาปีหนึ่งทั้งหมด” ธเนศวรกล่าว

ธเนศวร์เล่าถึงชมรม Sorority กับ Fraternity ต่ออีกว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีรุ่นพี่ที่กระทำกับรุ่นน้องรุนแรงเกินไป จนเกิดการบาดเจ็บ บางรายเสียชีวิต จนกระทั่งหลายรัฐ ในสหรัฐฯ ออกกฎหมายไม่ให้มีชมรม 2 ชมรมนี้อีก เพราะแม้ว่าน้องจะยินยอม แต่ก็เกิดความเสียหาย

มหาวิทยาลัยแต่เดิมสร้างเพื่อรับใช้ระบบราชการ

ธเนศวร์กลับมาพูดถึงเมืองไทย ในยุคสมัย 2480-2490 ที่มีคนไปเรียนต่างประเทศกลับมาในประเทศไทยก็เข้ามาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จากนั้นก็เข้ามาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เนื่องจากสมัยก่อนคนที่แค่จบปริญญาตรีก็มีศักดิ์ศรีมากแล้ว ตัวมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นก็ต้องการผลิตคนเข้ามารับใช้ในระบบราชการ คนที่สอนก็จะเป็นข้าราชการระดับสูงและพูดถึงความยิ่งใหญ่อลังการณ์ของความเป็นข้าราชการ

“ฉะนั้นมหาวิทยาลัยอื่นในสมัยนั้นยกเว้นธรรมศาสตร์ก็เกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้ระบบราชการ” ธเนศวร์

ธเนศวร กล่าวต่อในประเด็นเดียวกันว่า หลังจากนั้นก็มีการสร้างความภาคภูมิใจในสถาบันอุดมศึกษาของตนเอง และไปรับเอาไอเดียจากต่างประเทศ ก็เลยรู้สึกว่าตนมีส่วนในความเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย รู้สึกเป็น ‘ใครสักคน’ (Somebody) ในสังคม เมื่อมองเห็นน้องจึงรู้สึกว่าเขา ‘เป็นน้องอยู่’ ทั้งที่อายุต่างกันไม่มาก หรือปีหนึ่งบางคนอาจแก่กว่ารุ่นพี่ แต่การสร้างความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องเช่นนี้นำไปสู่บรรยากาศการรับน้อง เกิดการขยายอำนาจสิทธิต่างๆ เกิดการสร้างระบบสถาบันที่ละชั้นๆ

ธเนศวร์ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์เรื่องการรับน้องในมหาวิทยาลัยหลายๆ มหาวิทยาลัยที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่และเวลา โดยมีอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดที่มีการรับน้องด้วยการให้น้องมายืนเรียงอาบน้ำกลางถนนทั้งสายทำให้คนไม่กล้าสัญจรไปมา ธเนศวร์มองว่าสิ่งที่แสดงให้เห็นความมีอภิสิทธิ์ โดยอาศัยระบบของมหาวิทยาลัย

เมื่อประเทศเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย จะเอาอะไรกับอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัย

ธเนศวร์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่สถาบันเชียร์ สถาบันการว๊ากน้องยังคงดำรงอยู่ได้ เหตุผลหนึ่งมาจากระบบการเมืองของประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย หรืออาจจะเป็นประชาธิปไตย ‘นิดๆ หน่อยๆ’ เท่านั้น

“ตลอด 79 ปีที่ผ่านมา เรามีแต่ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกข่มขืน ทำลายข่มเหง ครั้งแล้วครั้งเล่า เรามีการรัฐประหารถึง 18 ครั้ง มีการฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ครั้ง เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าเราไม่มีประชาธิปไตย” ธเนศวร์ กล่าว

ธเนศวร์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทยแสดงให้เห็นจากการที่รัฐบาลพลเรือนที่อยู่ครบวาระมีเพียงครั้งเดียวคือรัฐบาลไทยรักไทย ขณะที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอย่างเช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลถนอม กิตติขจร, พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มอำมาตยาธิปไตยกลับครองตำแหน่งยาวนาน

“ความไม่มั่นคงทางการเมืองประชาธิปไตยของไทย เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาซึ่งเต็มไปด้วย ศ. ผศ. รศ. และบัณฑิตผู้เก่งกล้าสามารถของประเทศเราอยู่ยาวที่สุดและมีอำนาจมากที่สุด” ธเนศวร์กล่าว

จากนั้นธเนศวร์จึงกล่าวเปรียบเทียบงบประมาณของมหาวิทยาลัยกับงบประมาณบริหารจังหวัดว่าว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีงบประมาณ 7 พันกว่าล้านบาท จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งหมด 1,600,000 คน อบจ. มีงบ 9 ร้อยล้านบาท

“ฉะนั้นคนในมหาวิทยาลัย 40,000 กว่าคนได้รับผลประโยชน์จากงบประมาณจำนวนมหาศาลนี้ขนาดไหน ” ธเนศวรตั้งคำถาม “แล้วคุณคิดดูว่า 100 กว่าสถาบันในประเทศเรา ถ้ารวมเอางบประมาณที่รัฐให้มามันจะขนาดไหน”

“และต้องไม่ลืมว่า 79 ปีนี้ก็ไม่มีรัฐบาลไหนลงมาดูแลระบบการเชียร์การว๊ากต่างๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย” ธเนศวร์กล่าว

เราถูกปลูกฝังให้สยบยอมต่ออำนาจมาตั้งแต่ประถมแล้ว

ธเนศวร์บอกอีกว่า ในท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเมืองของประเทศ สถาบันที่มีบทบาทในการผลิตคนป้อนสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือสถาบันอุดมศึกษา แต่กลับผลิตคนออกมาให้ยอมรับกับความไร้เหตุผลยอมรับกับการถูกดุด่าว่ากล่าว

“คนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 17 ปี เรียนจบม.6 มีความสามารถในการติดมหาวิทยาลัย คุณไม่ใช่ขี้ไก่ พวกคุณนี้มันสุดยอดมันสมองของทุกอำเภอทุกจังหวัดอยู่แล้ว แล้วมาเจอระบบบางอย่างที่รู้สึกว่ามันแปลก” ธเนศวร์กล่าว

“คงไม่มีพ่อแม่ครอบครัวไหนที่รักลูกมากแล้วก็ว๊ากลูกตลอดเวลา คงไม่มีการบีบบังคับกัน แล้วผมเชื่อว่าถ้าผมรักใครสักคนหนึ่ง แล้วไปข่มขืนเลยจะได้แต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ คงไม่มีความรักที่ยั่งยืนแน่ๆ” ธเนศวร์กล่าวเปรียบเปรย “ฉะนั้นทฤษฎีที่ว่าการว๊ากทำให้เกิดความรักความสามัคคีมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”

ธเนศวร์เสนอว่า แม้จะมีนักศึกษาบางคนที่ยินยอมพร้อมใจกับการถูกว๊ากจริง เนื่องจากสังคมข้างบนกดทับอยู่แล้ว แต่หลายคนก็อาจจะมีประสบการณ์ที่ต่างกัน มาจากชุมชนที่แตกต่างหลากหลายไม่อยากให้มีการพูดข่มเหงดูถูกกัน

ธเนศวร์เล่าให้ฟังอีกว่า โรงเรียนมัธยมกับประถมก็อำนาจนิยมพอๆ กัน โดยเล่าว่าจากการที่มีนักศึกษาไปทำวิจัยโดยขอนั่งสังเกตการณ์ในชั้นเรียนวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่งแล้วครูด่าเช็ดว่าอย่าถาม อย่าเถียงในห้อง

“อยากให้นักศึกษากลับไปคิดด้วยว่า บรรยากาศของการสร้างความรู้สึกให้อดทน ยินยอมกับความไร้เหตุผล มันพัฒนามาตั้งแต่ป.1 มาจนถึง ป.6 แล้ว พวกทรงผมแบบนี้ รองเท้าแบบนี้ กระเป่าเบอร์นี้ เปียแบบนี้ โบว์สีนี้ ยกทรงหนาข้างหลังขนาดไหน นี่มันควบคุมพฤติกรรมชีวิตทุกอย่างของนักเรียน” ธเนศวร์กล่าว “กว่าที่เราจะฝ่าฟันเข้ามาจนถึงมหาวิทยาลัย นักศึกษาได้ถูกพลังอำมาตยาธิปไตย อำนาจนิยม ทำลายจนแทบไม่เหลืออยู่แล้ว”

ธเนศวร์ยังได้กล่าวถึงกรณีการกลัวการถูกเผยแพร่ข่าวสารเรื่องการรับน้อง จึงมีการกำชับว่าอย่างให้มีแผล อย่าให้มีการบาดเจ็บเสียชีวิต แต่อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีแผลในทางกายภาพ แต่ความไร้เหตุผลและการบังคับขืนใจให้ยินยอมก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้เลย

“แล้วผมไม่แปลกใจเลยว่าหลาย 10 ปีมานี้ของการมีสถาบันอุดมศึกษาไทยที่มันผลิตคนออกมาให้ยอมจำนนต่อความไร้เหตุผล เราจึงยอมจำนนต่อความตาย 91 ศพ หรือ 2000 ศพ และการโกหกตอแหลของผู้นำประเทศทุกวันนี้”

“ทุกย่างก้าวของความยากลำบากในการเดินไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศเรา พิธีกรรมของอุดมศึกษาเป็นเชลยตัวสำคัญที่อยู่ตรงนั้น วันหลังประวัติศาสตร์จะต้องชำระและจารึกเอาไว้ ... ผมคิดว่าวัยรุ่นไทย นักศึกษาไทยน่าสงสารมาก ที่เรามาคุยกัน ทะเลาะกันตั้งแต่บ่ายโมง เราไม่ได้มีบทบาทอะไรเลย เราเป็นเพียงตัวละครที่ข้างบนเขากำหนดให้เราเล่น ให้เรามาตีกันแล้วแตกกันแบบนี้” ธเนศวร์กล่าว

ในช่วงท้ายของการเสวนา ธเนศวร์ยังได้เสนอแนวทางการตรวจสอบการว๊ากไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงโดยบอกว่าการให้อาจารย์คอยสอดส่องดูแลอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้เนื่องจากต้องคอยจับตาดูทุกกิริยาท่าทาง และบางครั้งนักศึกษาก็แอบไปรับน้องกันตามที่ลับตาคนและมีการปิดล็อกห้องเชียร์ไม่ให้ผู้ปกครองเขา แสดงว่าต้องทำอะไรที่ไม่ดีกันถึงไม่อยากให้คนเห็น จึงได้เสนอให้มีการบันทึกเทปทุกครั้งที่มีการรับน้องหรือห้องเชียร์ เพื่อจะมีหลักฐานให้อธิการบดีได้ตรวจสอบ

อีกวิธีการหนึ่ง ธเนศวร์เสนอว่า เราต้องอาศัยการค่อยๆ เดินของสังคมประชาธิปไตย หรือไม่ก็ต้องหวังความแกร่งกล้าสามารถของนักศึกษาปีที่ 1 ว่าจะกล้าพูดหรือไม่

“สังคมที่เรารับฟังความเห็นของทุกฝ่ายมันมีความสุข” ธเนศวร์กล่าว “เปิดโอกาสให้นักศึกษาปีที่ 1 ได้พูด ได้ถาม ได้ออกความเห็น แล้วก็แก้กันตรงนั้น”

ถึงไม่รับน้องก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากให้เลือกทำ

จากนั้นจึงมีการตั้งคำถามในวงเสวนาว่า เราจะสามารถรวมตัวนักศึกษาปี 1 ผู้ที่ไม่อยากเข้ารับน้องได้หรือไม่ แล้วนักศึกษาจะไปทำกิจกรรมอะไรหากไม่รับน้อง

ธนพงศ์ตอบว่าผู้ที่ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมคณะก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมของสโมสรกลาง หรือชมรมกลางของมหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงยุคที่ไม่มีการรับน้องทำให้มีการเกิดขึ้นของกิจกรรมนักศึกษาที่มีอยู่อย่างหลากหลายในเชียงใหม่ เช่น กลุ่มวลัญชทัศน์ ของนิสิตจิรโสภณ ไม่เคยมีใครพูดถึงนักกิจกรรมเหล่านี้

“ถ้าคุณไม่ได้ไปรับน้องคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง พื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยมีปัญหาอยู่มากมายทำไมไม่ไปพัฒนา ค่ายอาสาฯ ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัย อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เพื่อให้ไปรับรู้ปัญหาภายนอกมหาวิทยาลัยทำไมไม่เลือกอย่างนี้บ้าง” ธนพงษ์กล่าว

ธเนศวร์ก็กล่าวเสริมในช่วงท้ายว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่อิสระของนักศึกษาในการทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ แต่ทุกวันนี้ยังต้องคอยอนุมัติจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยู่

“เราต้องให้นักศึกษามีพื้นที่เสรีภาพ ถ้าอย่างนั้นก็อย่าเรียกว่ามหาวิทยาลัย” ธเนศวร์กล่าว “ที่นักศึกษาพูดกันว่ามหาวิทยาลัยมันตายแล้วก็คือเหตุผลอันนี้ มันตายแล้วจริงๆ เวลานี้ มันมีแต่พิธีกรรมและเครื่องแบบที่เดินไปเดินมา จิตวิญญาณมันหามีไม่”

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: 50 องค์กรชาวบ้านเหนือ-อีสาน ถามหา “จุดยืน” มข.ต่อ “ปัญหาประชาชน”

Posted: 30 Jun 2011 10:19 AM PDT

 
29 มิ.ย.54 เวลา 13.00 น.กลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนาและราษีไศล ฯลฯ จำนวน 50 องค์กร ในนาม “เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือและภาคอีสาน” ได้มารวมตัวกัน ณ บริเวณหน้า สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อยื่นหนังสือทวงถามจุดยืนต่อสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้าน พร้อมกระตุ้นเตือนให้สถาบันการศึกษาตระหนักถึงสภาพปัญหา และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับทุกฝ่าย
 
สืบเนื่องจาก ที่ผ่านมาสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านในหลายกรณี ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ถูกให้ความสำคัญจากสถาบันอุดมศึกษา แต่สถานศึกษากลับมุ่งเน้นการสร้างผลกำไร และผลิตบัณฑิตเข้าไปรับใช้ระบบทุน อีกทั้งล่าสุดยังมีปัญหาภายในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม
 
นายประดิษฐ์ โกศล แกนนำชาวบ้านจาก สมัชชาคนจน เขื่อนราศีไศล ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการเดินทางมายื่นหนังสือต่ออธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ว่า ต้องการมาฟังผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาว่าท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในขณะนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีจุดยืนอย่างไร และจะมีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมายในขณะนี้
 
“ที่พวกเรามากันในวันนี้ ก็เพื่อที่จะทวงถามถึง สาเหตุของการสั่งย้ายที่ไม่เป็นธรรมต่ออดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มข.ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ลงไปช่วยเหลือพวกเราด้านคดีความในการเรียกร้องต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน และอยากจะทราบถึงทิศทางข้างหน้าของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าต่อไปจะเป็นไปอย่างไร” นายประดิษฐ์ กล่าว
 
ส่วน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานองค์กรประชาชนภาคเหนือและภาคอีสาน แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามจะนำปัญหาที่ชุมชนถูกละเมิดสิทธิ ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริง แต่มหาวิทยาลัยกับมาท่าทีที่เพิกเฉยต่อปัญหาของชาวบ้าน พวกเขาจึงต้องพากันมาทวงถามจุดยืนของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สังคมได้รับรู้และร่วมกันตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษา
 
“ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องยืนเคียงข้างประชาชนต้องรับใช้ชุมชน ต้องทำความเข้าใจว่ากลุ่มชาวบ้านที่มากันในวันนี้เป็นชาวบ้านที่ประสบกับปัญหาได้รับผลกระทบจากการพัฒนา” นายสุวิทย์ กล่าว
 
สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในปัจจุบันนี้ กรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง เต็มไปด้วยบรรดานักธุรกิจ พ่อค้า และนักลงทุน ซึ่งกลุ่มคมเหล่านี้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางในการบริหารหลักสูตรการศึกษา จึงทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตออกมารับใช้ระบบทุนนิยมเป็นหลัก ทั้งที่มหาวิทยาลัยน่าจะผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคม
 
ด้าน รศ.ดร.สมหมาย ปรีเปรม รองอธิการฝ่ายการคลังและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ออกมารับหนังสือในครั้งนี้ได้กล่าวว่า ส่วนตัวไม่สามารถตอบคำถามของชาวบ้านแทนอธิการบดีฯ ได้ แต่จะรับหนังสือไว้ แล้วจะนำไปมอบให้อธิการบดีฯ อีกครั้ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลุ่มชาวบ้านทำการยื่นหนังสือเสร็จ ตัวแทนชาวบ้านจากแต่ละพื้นที่ได้ร่วมสรุปผลและกำหนดทิศทางร่วมกัน โดยได้กำหนดนัดหมายว่าจะกลับมาทวงถามข้อคำตอบจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 54 เครือข่ายองค์กรประชาชนอีสานได้ออกแถลงการณ์ ประณามอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้อำนาจเผด็จการสั่งปลดคณบดีคณะนิติศาสตร์ให้ไปเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เปิดทางให้คนของตนนั่งในตำแหน่งแทน พร้อมระบุว่าการทำงานของคณบดีคนเดิมที่มุ่งปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้ชุมชนรักษาสิทธิของตนเอง และคอยยืนเคียงข้างชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิฯ เป็นมูลเหตุสำคัญสำหรับการถูกปลดในครั้งนี้
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

Posted: 30 Jun 2011 08:51 AM PDT

เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง คนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ฐานะใด ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทย เราคนไทยต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวช่วยกันพาประเทศไทยให้เป็นผู้นำในภูมิภาค

ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง พรรคเพื่อไทย

"ธาริต" แจงเหตุไม่สั่งฟ้อง "แม้ว-อ้อ" ซุกหุ้น 2 เพราะไม่เข้าองค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์

Posted: 30 Jun 2011 08:14 AM PDT

30 มิ.ย. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอมีความเห็นพ้องกับอัยการในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหนังสือกล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ชินวัตร) สืบเนื่องจากผลตามคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป และจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ผู้ต้องหาทั้งสองได้โอนหุ้นชินคอร์ปที่ถือครองอยู่ทั้งหมดไปให้บุคคลในครอบครัว และบริษัท แอมเพิลริชฯ โดยได้รายงานต่อ ก.ล.ต.ว่า มีหุ้นคงเหลือศูนย์หุ้น ซึ่ง ก.ล.ต.มีความเห็นว่าเป็นการรายงานเท็จ จึงได้กล่าวโทษว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งดีเอสไอได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาวิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามตัวบทกฎหมายที่กล่าวโทษมา จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว

 นายธาริตยังกล่าวว่า กรณีที่ดีเอสไอเห็นพ้องกับอัยการกรณีสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นคนละคดีกับที่เครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอร์รัปชั่นทักษิณ (คนท.) ยื่นคำร้องให้ดีเอสไอตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานความผิดเกี่ยวกับการให้ข้อมูลถือครองหุ้นว่าเป็นเท็จหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.พเยาว์ทองเสน ปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 เป็นผู้ตรวจสอบคำร้องว่ามีมูลความผิด และเข้าข่ายอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Stateless Watch: วันที่ใช้สิทธิในสัญชาติไทยของนายบุญสม

Posted: 30 Jun 2011 06:48 AM PDT

บทความจาก “จันทราภา จินดาทอง” วันที่ “บุญสม” อดีตคนไร้สัญชาติรอคอย ในวันที่เขาได้สิทธิสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2551

บุญสม ไม่ได้เป็นคนไข้ของโรงพยาบาลอุ้มผาง แต่พวกเรารู้จักเขาในฐานะที่เป็นเด็กนักเรียนทุน(ส่วนตัว)ของหมอตุ่ย (นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง) ตอนนี้บุญสมกำลังเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ชั้นปีที่ 1 แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ ที่ N-TECH เทคโนภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ 

บุญสม มาถึงมือฉันด้วยเพราะข้อเท็จจริงของบุญสมนั้น เขาเป็น “คนไทยตามมาตรา 23” หรือเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ยังไม่สามารถใช้สิทธิความเป็นคนไทยได้

จากการย้อนไปตรวจสอบข้อมูลของบุญสม โดยการทดลองใช้แบบสอบถาม[1] ทำให้พบว่าบุญสม เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2532 ที่บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 1 ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลอุ้มผาง) คลอดโดยหมอตำแย ชื่อ นางสีวรรณา ดวงคำ และมีพยานรู้เห็นคือ นายป๊ก จิตธรรม เป็นเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันนายบุญสมอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 365 หมู่ 1 ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ในทะเบียนบ้านสำหรับคนอยู่ชั่วคราว อยู่ที่ 178/ช หมู่ที่ 9 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ออกโดยสำนักทะเบียนกลาง

นายบุญสมเป็นบุตรชายคนที่ 4 ของนางบุญมี ถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (ไม่ระบุเลข)

จากปากคำของบุญมีผู้เป็นแม่ บุญสมเกิดเมื่อ พ.ศ. 2494 ที่ตำบลอุ้มผางโดยหมอตำแยทำคลอดให้ที่บ้าน เป็นลูกของนายผัด และนางน้อย ส่วนพ่อของบุญสมคือ นายขิ่น เชื้อชาติพม่า เกิดเมื่อ พ.ศ. 2495 บุญมีไม่แน่ใจว่าสามีของเธอเกิดที่ไหนในพม่า และปัจจุบันนายขิ่นเสียชีวิตไปแล้ว บุญสมมีพี่สาว 2 คนคือ ณัฐกาณ เกิดเมื่อ 2519 และดาวเรือง เกิดเมื่อ 2522 และมีพี่ชายหนึ่งคนคือ นายศราวุฒิ เกิดเมื่อ 2526 ทั้งสามคนถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0

หลังได้รับแบบสอบถามคืนและสอบปากคำเพิ่มเติม พบว่า ไม่สามารถหารายละเอียดหรือบุคคลมายืนยันการเกิดในประเทศของบุญมีผู้เป็นแม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับพ่อของบุญสม เมื่อนำเรื่องของบุญสมไปปรึกษากับปลัดทะเบียนอำเภออุ้มผาง ก็ได้รับคำแนะนำให้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ณ สำนักทะเบียนของเทศบาลตำบลอุ้มผาง

เอกสารพร้อมรายชื่อพยานที่รวบรวมไว้ ก็ไปถึงเทศบาลตำบลอุ้มผางในวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2553 พยานที่ยื่นชื่อไปในวันนั้น ได้แก่ หมอตำแย เพื่อนบ้าน พยาบาลวิชาชีพ ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยขั้นตอนก็คือ วันนั้นปลัดทะเบียนซึ่งรับคำร้อง จะทำการสอบปากคำพยานและรวบรวมเอกสารเสนอต่อนายทะเบียนอำเภอ(นายอำเภออุ้มผาง) เพื่อพิจารณาต่อไป

กว่ากระบวนการจะสิ้นสุดกลับใช้เวลาต่อเนื่องกว่าที่คาดคิดไว้ จนนายทะเบียนอำเภออุ้มผาง ได้มีคำสั่งให้นายทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผางจัดทำประชาคมชาวบ้านในชุมชนที่นายบุญสมอาศัยอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพื่อความรัดกุมในการอนุมัติ”

ค่ำวันที่ 10 มีนาคม 2554 ณ ที่ทำการชุมชนแผ่นดินดอย ตำบลอุ้มผาง คือวันนัดทำประชาคม วันนั้น-บุญสมถึงกับหลั่งน้ำตา พร้อมกับให้สัญญาว่าจะเป็นคนดีหากได้รับการพิจารณาให้ลงรายการสัญชาติไทย หลังจากผู้เข้าร่วมทำประชาคมทั้งหมดยกมือรับรองว่า นายบุญสม “เป็นคนที่ชุมชนรู้จักและอาศัยในพื้นที่จริง”

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2554 นายบุญสมเดินทางไปยังห้องทะเบียนที่ว่าการอำเภออุ้มผาง เพื่อเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านเลขที่ 615 หมู่ 1 ตำบลอุ้มผาง มีเลขประจำตัวประชาชน 8-6308-73001-42-7 และยื่นคำร้องขอจดทะเบียนชื่อสกุล กลายเป็น นายบุญสม ศักดิ์ดาศิริชัย

วันเวลาที่รอคอยมาร่วมยี่สิบปีของชายคนหนึ่ง วันที่เขาเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียน แม้จะมีเสียงเย้ยหยันว่า “จะเรียนไปทำไม ถึงจบก็ไม่มีงานดีๆ ทำเพราะไม่ใช่คนไทย” ได้เป็นวันที่พิสูจน์ว่าเมื่อจบสิ้นกระบวนการพิสูจน์ มันได้ยืนยันว่าคนหนึ่งคนสามารถ “ใช้สิทธิในสัญชาติไทย” ได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว นับจากนี้

 


[1] แบบสอบถามเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ข้อเท็จจริงเพื่อการจัดการปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านเขาคูหากระอัก เจอฟ้องกลับเรียก 64 ล้าน

Posted: 30 Jun 2011 06:22 AM PDT

กลุ่มชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ถูกบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 64 ล้านบาท เหตุขวางต่ออายุสัมปทานเหมืองหิน แกนนำลั่นพร้อมสู้ ศาลพิพากษาคดีชาวบ้านฟ้อง 1 สิงหาฯ

ถูกฟ้อง 64 ล้าน - กลุ่มชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ที่ถูกบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 64 ล้านบาท จากการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหาจนไม่สามารถประกอบกิจการได้

นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตนถูกบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสงขลาพร้อมกับชาวบ้านรวม 9 คน เรียกค่าเสียหาย 64,740,485 บาท ฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหา ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จนไม่สามารถประกอบกิจการได้

นายเอกชัย เปิดเผยต่อไปว่า คดีนี้ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9 สิงหาคม 2554 และพร้อมต่อสู้คดี โดยในเบื้องต้นจะแต่งตั้งทนายความและเขียนคำร้องให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับหมายเรียกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554

นายเอกชัย เปิดเผยอีกว่า สำหรับชาวบ้านที่ถูกฟ้องประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ นายครื้น บุญรัตน์ นายสุทธิวงศ์ รักเงิน นายบรรจง ทองเอื่อย นายประเวศ จันทะสระ นายสุวรรณ อ่อนรักษ์ นายนิพนธ์ ปราบฤทธิ์ และนางสาวอรปรียา บุญรัตน์

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลแขวงสงขลา นายนวพล บุญสิทธิ์ ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีหมายเลขดำที่ พ.588/2553 ระหว่างนางเรณู แสงสุวรรณ กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ความผิดฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการประกอบกิจการเหมืองหินเขาคูหา ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มีชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา 15 คน ร่วมรับฟัง

โดยเป็นการสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย คือนายธม เหมพันธ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด

นายธม เบิกความสรุปว่า ตั้งแต่ตนดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด มีชาวบ้านบางส่วนได้รับมีผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหาจริง เช่น บ้านแตกร้าว และมีการเรียกร้องค่าชดเชย ทางบริษัทฯจึงได้จ่ายค่าชดเชยให้ อีกทั้งได้มอบเงินให้แก่ชุมชนในพื้นที่ผ่านผู้นำชุมชน

นายธม เบิกความต่อไปว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา ได้ทำหนังสือร้องเรียนและคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหาของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัดไปยังหน่วยงานต่างๆของรัฐ ทำให้ไม่สามารถต่ออายุประทานบัตรได้ ทั้งที่รายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบการต่ออายุสัมปทานดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม (สผ.) แล้ว

นายธม เบิกความต่ออีกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ได้ยื่นฟ้องนายเอกชัย และพวกรวม 9 คน ในฐานความผิดละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตร จนไม่สามารถประกอบกิจการได้ โดยเรียกค่าเสียหาย 64,740,485 บาท

จากนั้นผู้พิพากษาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2554
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ครป." และ "กลุ่มสยามสามัคคี" : กลไก "อำมาตยาธิปไตย" เพื่อทำลาย "ประชาธิปไตย”

Posted: 30 Jun 2011 06:02 AM PDT

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง นอกจากฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ให้สุวิทย์ คุณกิตติ เดินเกมคลั่งชาติ ถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขานรับ เพื่อสร้างคะแนนนิยมที่ประชาชนอาจไม่นิยม และอาจก่อให้เกิดสงครามโดยใช่เหตุในอนาคตก็เป็นไปได้

ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ยังได้ให้เครือข่าย ในนาม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือครป. ซึ่งควรเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการรัฐประหาร ต่างหาก เนื่องเพราะสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สมัยสุริยะใส กตสิลา เป็นเลขาธิการ

ครป ออกแถลงการณ์ ในนามของ สุริยันต์ ทองหนูเอียด ใช้วาทกรรม ทิ่มแทงนักการเมืองอันเป็นวาทกรรมเดียวกันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เพียงแต่เนียมอายไม่เสนอให้โหวตโนโดยตรงเท่านั้นเอง แต่ถ้าตีความข้อเสนอก็เพื่อต้องการให้โหวตโนได้เช่นกัน

วาทกรรมที่มีนัยยะว่า “ประชาชนโง่ ตามนักการเมืองไม่ทัน”

คิดว่า “ประชาชนเข้าใจว่าการเลือกตั้งเท่ากับประชาธิปไตย”

แต่สี่ห้าปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มิอาจทราบได้ว่าค รป. ไปหมุดดินอยู่หนใด ไม่รู้เลยหรือว่า ประชาชน โดยเฉพาะคนเสื้อแดง ผู้รักประชาธิปไตย เขาเคลื่อนไหวมาตลอดไม่ว่าเรื่องเสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็น

ยังมีเรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องเอาคนสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ เรื่องไม่ให้ทหาร มือที่ไมองไม่เห็นอำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมือง เรื่องปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม เรื่องสองมาตรฐาน เรื่องนิติรัฐนิติธรรม เป็นต้น

เท่ากับว่า ประชาชน มองว่า “ประชาธิปไตยต้องมากกว่าการเลือกตั้ง แต่ประชาชนเขาไม่ปฏิเสธว่าการเลือกตั้งสำคัญต่อประชาธิปไตย” ต่างหาก

ในแถลงการณ์ของ ครป. ยังได้สร้างวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” เฉกเช่นฝ่ายอนุรักษ์นิยมอำมาตยาธิปไตยกระทำมาโดยตลอดภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

เพียงหวังเพื่อมิให้ระบบรัฐสภา เพื่อมิให้ระบอบประชาธิปไตยได้มีกระบวนการพัฒนา เติบโตอย่างมั่นคง และเพื่อให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยครองอำนาจการเมืองเผด็จการเบ็ดเสร็จอำนาจนิยมเหมือนเดิมเท่านั้นเอง

ครป.ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองเหมือนนักวิชาการเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ว่าเอาเงินในอนาคตมาใช้ ทำให้เสียวินัยทางการคลัง และถ้าถามกลับว่าการเสียวินัยทางการคลังของระบบทุนนิยมเท่ากับว่า

“เอาเงินการคลังมารักษาชีวิต มาดูแลสุขภาพประชาชน มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดีกว่าเอาเงินการคลังไปซื้ออาวุธ ไปปราบปรามสังหารประชาชน ควรกระทำหรือไม่? “

อย่างนี้ควรเสียวินัย ควรเอาเงินในอนาคตมาใช้หรือไม่?

ทีจริงแล้ว นโยบายประชานิยม เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการ ต่างหาก (มีรายละเอียดมากมิอาจเขียนในที่นี้ได้)

นอกจากนี้แล้ว แถลงการณ์ของครป. ก็ไม่ต่างกับ อานันท์ ปันยารชุณ ประเวศ วะสี เสนอให้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่กลับไม่เสนอแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการเมืองอันเป็นรากเหง้าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั้งปวง

เพราะกลไกอำมาตยาธิปไตย ย่อมคิดทางเดียวกัน บิดเบือนความหมายของ”ประชาธิปไตย” เหมือนกัน

เอาเข้าจริง ครป. ต่างหากที่บิดเบือนประชาธิปไตย และยังมองว่าประชาชนไม่เข้าใจประชาธิปไตยอยู่

พูดในตรรกะเดียวกัน ประชาชนโง่ หรือครป. โง่กันแน่ ?

หันมามอง กลุ่มสยามสามัคคี อีกกลไกหนึ่งของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย นำโดยเจ้าเก่าสมชาย แสวงการ ประสาร มฤคพิทักษ์ สว.ลากตั้งมรดกจากคณะรัฐประหาร ชัยวัฒน์ สุรวิชัย พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย สันติสุข โสภณสิริ สามีของรสนา สว. นักอนุรักษ์นิยมอำมาตยาธิปไตย ได้ขึ้นป้ายรณรงค์ว่า

"ไม่เลือกคนเผาบ้านเผาเมือง "

คนเหล่านี้สรุป แล้ว มีธงอยู่แล้วว่าใครเผาบ้านเผาเมือง เขาเหล่านั้นจึงหาได้ใช้สัมมาฐิติ หลักกาลามสูตร และ หิริโอตัปปะเพ่งพินิจแต่อย่างใด ?

เท่ากับว่าเสนอให้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่เคยสนใจใยดีเลยว่า

“.ใครฆ่าประชาชน 92 ศพ ใครคือฆาตรกร ใครต้องรับผิดชอบ ?“

แม้ว่าบางคนของกลุ่มสยามสามัคคีจักกระทำตนเสมือนเจริญรอยตามพระพุทธเจ้าก็ตาม หรือชอบอ้างคำว่า “คนดีมีศีลธรรม” ก็ตาม

ปรากฎการณ์ ที่เห็นและเป็นอยู่ ชี้ให้เห็นว่า หาต้องการ “สยามสามัคคี” อย่างใดไม่ ? แต่จะเลือดเย็นหรือไม่? มิอาจหยั่งรู้ได้

แต่ที่แน่ๆ ครป.และกลุ่มสยามมัคคี เป็นเพียงกลไกหนึ่งของ”ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย” เพื่อทำลายความชอบธรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย” เท่านั้นเอง
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันผู้ต้องหาหมิ่นฯ สัญชาติไทย- อเมริกัน

Posted: 30 Jun 2011 05:04 AM PDT

 

 30 มิ.ย.54 นายอานนท์ นำภา ทนายความสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ และทนายเจ้าของคดี แจ้งว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืน ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายโจ กอร์ดอน หรือในชื่อไทย นายเลอพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล) หลังจากศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวไปครั้งหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้ในวันที่ 13 ม.ย.54

ศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพฤติการณ์แห่งคดี ลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนบูชาของคนไทยทั้งชาติ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนผู้จงรักภักดี ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เกรงจะไปทำลายพยานหลักฐานซึ่งเป็นพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน จึงไม่อนุญาต คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทราบโดยเร็ว ลงชื่อ นางอารีย์ เตชุหรูวิจิตร, นายสิทธิพร บุญฤทธิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ 29 มิถุนายน 2554

ส่วนคำร้องของจำเลยในคำร้องของปล่อยชั่วคราวที่ส่งศาลอุทธรณ์ในครั้งนี้ระบุว่า ผู้ต้องหายืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา อีกทั้งมีอาการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและเก๊าท์ นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญไทยก็กำหนดว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ ผู้ต้องหาต้องมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม มีโอกาสสู้คดีอย่างเพียงพอ และได้รับการปล่อยชั่วคราว บทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วย การขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนในเรือนจำนั้นเป็นเสมือนหนึ่งว่า ผู้ต้องหาได้ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดไปแล้ว ย่อมขัดรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศ ริดรอนสิทธิของผู้ต้องหาอย่างร้ายแรง

“ผู้ต้องหาขอยืนยันว่าผู้ต้องหามิได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา และจากพฤติการณ์หากผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง ไฉนเลยผู้ต้องหาจะเดินทางกลับมาในราชอาณาจักรเพื่อให้ถูกดำเนินคดี”

“ผู้ต้องหาขอเรียนต่อศาลว่า แม้ผู้ต้องหาต้องหาคดีร้ายแรงต่อความรู้สึกของประชาชน แต่ขณะที่ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหลายรายที่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว เช่น คดีนายสุลักษณ์ ศิวลักษ์ คดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล หรือคดีนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท บุคคลดังกล่าวล้วนมีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ ผู้ต้องหาจึงเห็นว่าการปล่อยตัวชั่วคราวควรเป็นไปตามหลักแห่งกฎหมายและพฤติการณ์ของผู้ต้องหา และแม้ผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือในสังคม แต่ในฐานะพลเมืองของประเทศคนหนึ่ง ผู้ต้องหาย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน” คำร้องขอปล่อยชั่วคราวระบุ

ทั้งนี้ ทั้งนี้ ผู้ต้องหารายนี้ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบุกจับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัด นครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 112, 116 ของประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งมาตรา 14 (3),(5) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นเจ้าของบล็อกซึ่งมีเนื้อหาหนังสือThe King Never Smiles (TKNS) ภาคภาษาไทย และนำลิงก์ไปโฆษณาไว้ในเว็บบอร์ด sameskyboard.com ให้คนเข้าไปอ่านหนังสือดังกล่าว เหตุเกิดในช่วงปี 2550-2552          

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะกรรมการสิทธิฯ เตรียมแถลงผลสอบสลายชุมนุมคนเสื้อแดง 8 ก.ค. นี้

Posted: 30 Jun 2011 05:01 AM PDT

30 มิ.ย. 54 - นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แถลงความคืบหน้าของการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. ในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม ถึง วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวได้ปรากฏเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนที่สังคมไม่สามารถรู้ความจริงได้ว่า กลุ่มใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงได้ใช้เวลา กำลังคน และงบประมาณอย่างมากในการดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งประกอบด้วยพยานบุคคลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในแต่ละเหตุการณ์ พยานเอกสาร และพยานวัตถุ ตลอดจนพยานผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำมาสังเคราะห์จนได้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้ อันนำไปสู่การสรุปความเห็นของ กสม. ทั้งในภาพรวมของการชุมนุมตั้งแต่ต้นจนยุติ ตลอดจนรายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์ นอกจากนี้ กสม. ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย มาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาล

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม. จะประชุมครั้งสุดท้ายในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2554 หลังจากนั้นได้มีการกำหนดการเบื้องต้นว่าจะแถลงข่าวรายงานผลการตรวจสอบฯ ในวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม นี้ โดยจะเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบฯ ทั้งฉบับ ซึ่งมีความยาวประมาณ 90 หน้า ต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนต่อไป สำหรับเวลา สถานที่ หรือห้องแถลงข่าว จะประกาศรายละเอียดให้ทราบต่อไป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่าย "บ้านชุ่มเมืองเย็น" ชี้ "ประชานิยมมิใช่ทางออก"

Posted: 30 Jun 2011 04:23 AM PDT

เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นออกแถลงการณ์ "ประชานิยมมิใช่ทางออก" วอนประชาชนเลือกพรรคที่มีนโยบายกระจายอำนาจ ข้ามพ้นนโยบายประชานิยมที่เพ้อฝันและห่างไกลความเป็นจริง

30 มิ.ย. 54 - ที่บ้านพักนานาชาติภราดรภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ได้แถลงข่าวโดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่าในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่กระแสการรณรงค์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที 3 กรกฎาคม 2554 ที่จะถึงนี้ แต่ละพรรคต่างโหมโฆษณาเพื่อหาคะแนนให้พรรคตนเองอย่างบ้าคลั่งและดุเด็ดเผ็ดมัน มีการโฆษณาชวนเชื่อในนโยบายประชานิยมอย่างหนักหน่วงโดยไม่คิดถึงความเป็นจริงว่าจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด และไม่คำนึงว่าหากทำตามนโยบายประชานิยมที่ให้ไว้แล้ว จะสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายของระบบการเงินการคลังของประเทศสักเพียงใด

เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นจึงมีมติร่วมกันว่าพรรคการเมืองต่างๆแทนที่จะโหมกระหน่ำในนโยบายประชานิยมที่ไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง พรรคการเมืองควรที่จะให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ ให้ความสำคัญต่อการจัดการตนเองของท้องถิ่น และ การยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในที่สุดซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยและปัญหาการรวมศูนย์อำนาจที่เรื้อรังของการบริหารราชการมาอย่างยาวนาน แล้วจัดให้มีการบริหารราชการเฉพาะส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นดังเช่นนานอารยประเทศทั้งหลาย

เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นขอเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายพิจารณาเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครที่มีนโยบายและมีความจริงใจต่อการกระจายอำนาจดังกล่าว โดยข้ามพ้นเสียซึ่งนโยบายประชานิยมที่เพ้อฝันและห่างไกลความเป็นจริง

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ได้ความสนใจและการสอบถามจากสื่อมวลชนเป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการยุบเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยใช้เวลาในการซักถามถึงเกือบสองชั่วโมง และเชื่อว่าประเด็นนี้จะได้ถูกนำไปปฏิบัติต่อไป



 

แถลงการณ์เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น
เรื่อง ประชานิยมมิใช่ทางออก
---------

เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นเป็นการรวมตัวกันอันเนื่องมาจากวิกฤติทางสังคมที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งถึงแม้เราจะไม่สามารถชี้ชัดลงไปว่าสาเหตุการเกิดนั้นอะไรกันแน่  ไม่ว่าเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างของคนในสังคมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย หรือเกิดจากกลุ่มผลประโยชน์ทางสังคมต่าง ๆ เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดวิกฤติดังกล่าว แต่ผลจากวิกฤติครั้งนี้ ส่งผลให้สังคมไทยมีการแบ่งฝ่ายแบ่งสีกันอย่างชัดเจน โดยใส่สัญลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงฝ่ายของตนเอง  จนทำให้สังคมไทยที่สีแตกต่างไม่มีช่องทางในการประสานความเข้าใจกัน ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนถูกนำเข้าไปสู่ความขัดแย้งกันทั้งหมด ดังนั้น กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งได้มองเห็นอันตรายของความขัดแย้งดังกล่าว จึงได้รวบรวมกลุ่มคนที่อยู่ทั้งสองฟากฝ่าย เข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาช่องทางในการนำพาสังคมผ่านพ้นวิกฤติให้  จงได้ การพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งผลให้ลดความขัดแย้ง ลดการปะทะกันอย่างรุนแรงของสังคมได้หลายครั้ง จนในที่สุดใด้จัดตั้งเป็นเครือข่ายขึ้น โดยมีกลุ่มคนจากเกือบทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย โดยงดเว้นที่จะตอกย้ำในความเห็นที่แตกต่างกัน แต่จะแสวงหาแนวทางที่เห็นพ้องต้องกัน

เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นมีความเห็นว่าในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่กระแส การรณรงค์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ แต่ละพรรคต่างโหมโฆษณาเพื่อหาคะแนนให้พรรคตนเองอย่างบ้าคลั่งและดุเด็ดเผ็ดมัน มีการโฆษณาชวนเชื่อในนโยบายประชานิยมอย่างหนักหน่วงโดยไม่คิดถึงความเป็นจริงว่าจะสามารถทำได้มากน้อย แค่ไหนเพียงใด และไม่คำนึงว่าหากทำตามนโยบายประชานิยมที่ให้ไว้แล้ว จะสุ่มเสี่ยงต่อ  การล่มสลายของระบบการเงินการคลังของประเทศสักเพียงใด

เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นจึงมีมติร่วมกันว่าพรรคการเมืองต่างๆแทนที่จะโหมกระหน่ำในนโยบายประชานิยมที่ไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง พรรคการเมืองควรที่จะให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ ให้ความสำคัญต่อการจัดการตนเองของท้องถิ่น และ การยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในที่สุดซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยและปัญหาการรวมศูนย์อำนาจที่เรื้อรังของการบริหารราชการมาอย่างยาวนาน แล้วจัดให้มีการบริหารราชการเฉพาะส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นดังเช่นนานอารยประเทศทั้งหลาย

เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นขอเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายพิจารณาเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครที่มีนโยบายและมีความจริงใจต่อการกระจายอำนาจดังกล่าว โดยข้ามพ้นเสียซึ่งนโยบายประชานิยมที่เพ้อฝันและห่างไกลความเป็นจริง
                           

เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น
๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ทักษิณ’ กับ ‘อภิสิทธิ์’ ในการเผชิญปัญหา ‘ความชอบธรรม’

Posted: 30 Jun 2011 04:12 AM PDT

ความชอบธรรมทางการเมือง อาจมองจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ 1) ความชอบธรรมตามกติกา 2) ความชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม หรือความรู้สึกของสังคม การยอมรับของประชาชน

น่าสนใจว่า หากเราลองเปรียบเทียบวิธีการเผชิญปัญหาความชอบธรรม ระหว่างคุณทักษิณและคุณอภิสิทธิ์ช่วงกึ่งทศวรรษมานี้ เราจะเห็นอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างกรณีต่อไปนี้

กรณีที่ 1: การเผชิญปัญหาความชอบธรรมเรื่อง “ขายหุ้นไม่เสียภาษี” คุณทักษิณอ้าง “ความชอบธรรมตามกติกา” ว่า ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะตามกฎหมายการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในสถานการณ์เวลานั้นกระแสสังคมไม่พอใจคุณทักษิณสูงมาก ฉะนั้น แม้คุณทักษิณจะมีความชอบธรรมในแง่กติกา แต่ในแง่ “มโนธรรมทางสังคม” หรือความรู้สึกของประชาชนดูเหมือนคุณทักษิณจะสูญเสียความชอบธรรมไปมาก

แต่ข้อสังเกตคือ เมื่อคุณทักษิณรู้ตัวว่า ตนเองสูญเสียความชอบธรรมในแง่มโนธรรมทางสังคมไปมาก และต้องเผชิญกับการกดดันของพันธมิตร การขอเสียงสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทยเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยประชาธิปัตย์ คุณทักษิณก็ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน

การตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่ มีความชอบธรรมในสองความหมายคือ 1) เป็นการเดินตามกติกาประชาธิปไตย 2) เคารพต่อมโนธรรมทางสังคม โดยคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน

แต่ในกรณีดังกล่าวนี้ คุณอภิสิทธิ์ขอเสียงสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทยเพื่อเปิดอภิปรายคุณทักษิณ เมื่อไม่ได้ และคุณทักษิณยุบสภา คุณอภิสิทธิ์กลับบอยคอตการเลือกตั้งและชวนพรรคการเมืองอื่นๆ บอยคอตการเลือกตั้งด้วย ความชอบธรรมของคุณอภิสิทธิ์ในกรณีนี้คือ 1) ไม่ผิดกติกา 2) มีกระแสสนับสนุนจากประชาชนจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจการกระทำนั้น อย่างน้อยก็คือประชาชนจำนวนมากที่เลือกพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้ง 2 เมษา 49

แต่หากพิจารณาเหตุผลของคุณอภิสิทธิ์ตอนนั้นที่ว่า คุณทักษิณยุบสภาเพราะเห็นว่าตนเองได้เปรียบ ถ้าเลือกตั้งตนตองชนะแน่ๆ เหตุผลเช่นนี้จึงเป็นเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ของตนเองไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของชาติ เราก็ย้อนถามคุณอภิสิทธิ์ได้เช่นกันว่า ที่คุณอภิสิทธิ์รู้ว่าตนเองเสียเปรียบ ลงเลือกตั้งต้องแพ้แน่ๆ จึงบอยคอตการเลือกตั้ง เหตุผลเช่นนี้เป็นเหตุผลเพื่อประเทศชาติอย่างไร

ฉะนั้น ตรรกะทำนองนี้มันฟ้องถึงภาวะผู้นำในการตัดสินใจแก้ปัญหาของคุณอภิสิทธิ์อย่างชัดเจน และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญสืบเนื่องจากการตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้ง ก็คือรัฐประหาร 19 กันยา 49 จนถึงการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 มันสะท้อนว่าคุณอภิสิทธิ์ตัดสินใจไม่ตรงไปตรงมา และผิดพลาด เพราะขาด “สปิริตประชาธิปไตย”

กรณีที่ 2 : เมื่อการเลือกตั้ง 2 เมษา 49 เป็นโมฆะ และคุณทักษิณถูกกดดันจากพันธมิตร อำมาตย์ และพรรคการเมืองที่บอยคอตการเลือกตั้ง รวมทั้งกระแสความไม่พอใจของสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน คุณทักษิณตัดสินใจขอใช้กติกาประชาธิปไตยด้วยการให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งราวกลางเดือนตุลาคม 49 พร้อมกับแสดงออกถึงการเคารพต่อมโนธรรมทางสังคมด้วยการ “ถอยหนึ่งก้าว” โดยประกาศจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ หากพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง

แต่คุณอภิสิทธิ์กลับใช้ภาวะผู้นำตัดสินใจเผชิญปัญหานี้ด้วยการเสนอ “นายกฯ พระราชทานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7” ซึ่งเป็นการเดินตามเกมของพันธมิตร จนเป็นที่มาของฉายา “มาร์ค ม.7” อันมีความหมายเป็น “ตัวตลก” ทางการเมืองในเวทีประชาธิปไตย

กรณีที่ 3 : เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา จนมาถึงคุณทักษิณถูกตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาในข้อหา “เซ็นชื่อยินยอมให้เมียซื้อที่ดิน” คุณทักษิณเผชิญปัญหานี้ด้วยการหนีคุกไปอยู่ต่างประเทศ เป็นเหตุให้ถูกโจมตีว่าไม่เคารพ “กระบวนการยุติธรรม” แต่เหตุผลของคุณทักษิณคือ นั่นไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม แต่เป็นกระบวนการรัฐประหาร เพราะมันเริ่มจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนไป แล้วก็ใช้กลไกของรัฐประหารคือ คตส.ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับเขา ซึ่งมันไม่ใช่ “กระบวนการยุติธรรมตามครรลองประชาธิปไตย”

เหตุผลของคุณทักษิณ เราอาจเข้าใจได้ว่า ความยุติธรรมจะมีได้ในระบบที่มีนิติธรรม (หมายถึงมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระและเป็นกลาง) ซึ่งนิติธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมี “นิติรัฐ” ทว่านิติรัฐคือรากฐาน (key element) ของระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาธิปไตยถูกล้มไปโดยรัฐประหารนิติรัฐย่อมถูกล้มไปด้วย กระบวนการต่อมาที่เอาผิดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จึงเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า “เป็นอิสระและเป็นกลาง” ฉะนั้น จึงไม่ใช่กระบวนการที่มีนิติธรรม

ในกรณีนี้คุณอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่กลับเห็นว่ารัฐประหารสร้างระบบนิติรัฐนิติธรรมขึ้นมาได้ ดังที่คุณอภิสิทธิ์แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ค ว่า หากนิรโทษกรรมคุณทักษิณเท่ากับเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและนิติธรรม และยังเป็นการทำลายความมั่นคงของ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (หมายความว่าคุณอภิสิทธิ์เห็นว่า “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ถูกสถาปนาขึ้นโดยรัฐประหาร และถูกค้ำจุนด้วยกระบวนการสืบเนื่องจากรัฐประหารใช่หรือไม่?) 

กรณีที่ 4 : การตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร คุณอภิสิทธิ์อ้างว่าเป็นนายกฯ โดยผ่านกระบวนการรัฐสภา หมายความว่าเขามีความชอบธรรมตามกติกา แต่ไม่แคร์ต่อความชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม คือไม่สนใจว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไรกับการที่มีการร่วมมือกับอำนาจพิเศษไปฉกเอา ส.ส.จากฝ่ายตรงข้ามแล้วไปวางแผนตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

กรณีที่ 5 : เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 คุณอภิสิทธิ์อ้างความชอบธรรมตามกติกาเพียงประการเดียวคือ “การรักษากฎหมาย” แต่ไม่สนใจความชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม คือไม่สนใจว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไรกับการที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้ “กระสุนจริง” สลาย “การชุมนุมทางการเมือง” ของประชาชนหลายหมื่นคน จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และข้อพิสูจน์ว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่แคร์ต่อมโนธรรมทางสังคมใดๆ เลย คือการเปิดปราศรัยปฏิเสธความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงที่ “ราชประสงค์”

กรณีที่ 6 : การเลือกตั้งใน 3 ก.ค. คุณทักษิณเห็นว่า พรรคที่ควรเป็นรัฐบาลควรมีความชอบธรรม 2 ส่วน คือ 1) ความชอบธรรมตามกติกาคือ การมีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2) ความชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม คือการชนะเลือกตั้งได้คะแนนเสียงอันดับ 1 แต่คุณอภิสิทธิ์เห็นต่างออกไปว่า พรรคที่ควรเป็นรัฐบาลมีความชอบธรรมเพียงประการเดียวก็พอ คือมีความชอบธรรมตามกติกา เมื่อกติกาเปิดให้แข่งจัดตั้งรัฐบาลได้ เขาก็มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนที่ลงคะแนนให้กับพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1

สรุป ความชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมืองของคุณทักษิณ คือการพยายามต่อสู้ตาม “กติกาประชาธิปไตย” และอ้างอิง “มโนธรรมทางสังคม” หรือ “เสียงส่วนใหญ่” เป็นหลัก (ส่วนกรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ ข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องจัดการด้วยวิธีรัฐประหาร)

ขณะที่คุณภิสิทธิ์อ้างอิง “กติกา” แต่แทบไม่แคร์ต่อมโนธรรมทางสังคมเลย ในส่วนของการอ้างอิง “กติกา” หากในสถานการณ์ที่ถ้าการต่อสู้กันตามกติกานั้นตนเองจะแพ้ คุณอภิสิทธิ์ก็ปฏิเสธจะต่อสู้ เช่น บอยคอตการเลือกตั้ง หรือหากใช้กติกาใดแล้วจะทำให้คู่ต่อสู้ไม่ได้กลับคืนสู้อำนาจอีกตนเองก็จะใช้กติกานั้น เช่น เสนอ ม.7 หรือไม่ก็อ้างกติกาแบบ “ขัดแย้งในตัวเอง” เช่น ปฏิเสธรัฐประหารแต่ยืนยันว่ารัฐประหารมีนิติรัฐและนิติธรรม หรืออ้างกติกาอย่างไม่แคร์ต่อมโนธรรมทางสังคม เช่น กรณีตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร หรืออ้างกติกาแบบทั้งไม่แคร์ต่อมโนธรรมทางสังคมและอย่างไร้มนุษยธรรม เช่น อ้างการรักษากฎหมายด้วยการสลายการชุมนุมโดยใช้กระสุนจริง และสุดท้ายก็อ้างแค่ความชอบธรรมตามกติกาในการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยไม่แคร์ต่อเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1

การไม่แคร์ต่อเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ใน “สถานการณ์ความแตกแยกของประเทศ” เช่นนี้ มีความหมายสำคัญว่า คุณอภิสิทธิ์ไม่แคร์ต่อ “โอกาสของประเทศ” ที่ควรจะมีโอกาสป้องกันความขัดแย้งเฉพาะหน้าที่อาจปะทุขึ้นมาอีก ด้วยการให้พรรคการเมืองที่มีความชอบธรรมมากกว่าคือ ทั้งชอบธรรมตามกติกา และชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน

ฉะนั้น วาทกรรมปรองดอง อ้างว่าตนไม่ใช่เงื่อนไขความขัดแย้ง ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่เป็นผู้อาสานำพาประเทศข้ามพ้นความแตกแยก กลับคืนสู่ความสงบสุข จึงเป็นวาทกรรมที่หลอกตัวเอง และลวงโลกอย่างเหลือเชื่อ!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น