โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เท็ด โป และ เดนนิส คูซินิช

Posted: 01 Jul 2011 10:59 AM PDT

ภายใต้ภาวการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้เองที่สหรัฐอเมริกาจำต้องแสดงออกซึ่งจุดยืนอย่างกล้าหาญเพื่อให้เจตนารมณ์ของประชาชนไทยได้รับการรับฟังและเคารพ

สมาชิกรัฐสภาสหรัฐอเมริกา

พันธมิตรฯรณรงค์"โหวตโน"สีลม-ด้าน"สนธิ"ปราศรัยปิดเวทีลั่นไม่สังฆกรรมประชาธิปัตย์อีก

Posted: 01 Jul 2011 10:52 AM PDT

จะชู "ขั้วที่สาม" ไม่เอาเสื้อแดง-ประชาธิปัตย์ เปรียบพันธมิตรฯ เหมือนกองกำลังพระเจ้าตากตีฝ่าออกจากกรุงศรีฯ ไปตั้งป้อมค่ายสั่งสมกำลัง ปล่อยให้เสื้อแดง-ปชป. กัดกัน ชี้พันธมิตรฯ หลุดจากเงื่อนไขเก่าๆ หมดแล้ว พันธมิตรฯ ได้เกิดใหม่โดยไม่มีอะไรมาพันธนาการ นอกจากชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรณรงค์ "โหวตโน" ที่ย่าน ถ.สีลม โดยเป็นการรณรงค์วันสุดท้ายใน กทม. ก่อนยุติการชุมนุมในคืนวันที่ 1 ก.ค. 54 (ที่มา: ประชาไท)

เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายร้อยคนได้เดินรณรงค์ "โหวตโน" ไปตามย่าน ถ.สีลม โดยเป็นการรณรงค์ในกรุงเทพฯ วันสุดท้าย ก่อนการประกาศยุติการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ในคืนนี้

ต่อมาเมื่อเวลา 21.40 น.วันที่ 1 ก.ค. เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่จัดติดต่อกันเป็นวันที่ 158 และเป็นวันสุดท้าย โดยตลอดการปราศรัยนายสนธิเรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่า "แมลงสาบ" และเรียกพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงว่า "วรนุส" หรือ "เหี้ย"

โดยนายสนธิกล่าวว่าเมื่อดูการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในช่วงเย็น วันนี้ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางช่อง 9 แล้วทำให้นึกถึงคนรากหญ้าที่ไปฟังการปราศรัยของทักษิณ ชินวัตร เพราะเห็นแววตาที่ฟังไม่รู้เรื่อง ขณะที่อากัปกิริยาก็เหมือนอยากจะให้เลิกเร็วๆ จะได้กลับบ้านเสียที ตรงกันข้ามกับพี่น้องที่อยู่เวทีพันธมิตรฯ ไม่อยากเลิก มีแต่อยากจะขออยู่ต่อไปเรื่อยๆ

นายสนธิได้กล่าวขอบคุณทุกๆ ฝ่ายที่ทำให้การชุมนุมครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดี และบอกว่าตนชอบใส่เสื้อรำลึก 7 ตุลา เพื่อเตือนสติว่าพี่น้องที่เสียชีวิตในช่วงการชุมนุม 193 วันนั้น ได้ต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมือง สู้เพื่อหลักการ ไม่ได้สู้เพื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือดทุกหยด เหงื่อทุกเม็ดและความยากลำบากที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเรามาขับไล่คนชั่วให้พ้น ไปจากแผ่นดินไทย ใครที่เหยียบศพพี่น้องเรา เหยียบแขนขาที่ขาด เหยียดหยามพวกเราเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ พวกนี้เลวยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน

นายสนธิกล่าวด้วยว่า การชุมนุม 193 วัน และ 158 วัน ตนดีใจที่มันเกิด เพราะได้ช่วยกลั่นกรองพวกห้อยโหนและพวกอีแอบออกไป เวลานี้เหมือนยุคกรุงศรีอยุธยาแตก มีออกญาจักรีหลายคนที่คอยเปิดประตูเมืองให้ศัตรู คนที่ทรยศมีจำนวนมากทั้งข้าราชการตำรวจทหาร ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ที่อยู่ที่นี่และดูทีวีอยู่ที่บ้านคือกองกำลังพระเจ้าตาก หลังจากที่คัดตัวกันเรียบร้อยแล้ว ก็มีกองกำลังนี้ที่ปฏิเสธทั้งแมลงสาบ สัตว์เลื้อยคลาน และต้องการเดินหน้าแสวงหาอนาคตของชาติด้วยพวกเราเอง

พี่น้องครับ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเราต้องเป็นขั้วอำนาจที่ 3 ใครเห็นด้วย ปรบมือ

มันมีไอ้พวกแมลงสาบ มันมีพวกวรนุสสีแดง พี่น้องครับ พี่น้องวันนี้ผมถามพี่น้องจากใจ ด้วยหัวใจของผม ว่าแกนนำ 4 คนที่ยังหลงเหลืออยู่นี้ พี่น้องไว้ใจพวกเรามั้ย (ไว้ใจ) ถ้าพี่น้องไว้ใจ พี่น้องเชื่อพวกผมเถอะ เชื่อพวกผม มันถึงเวลาแล้ว ที่ต้องปล่อยให้พวกแมลงสาบ กับพวกวรนุสเสื้อแดง ให้มันรบกันเอง เมื่อผลเลือกตั้งมันจะออกมาอย่างไรก็ตาม มันจะกัดกันฉิบหายเลย (โทษทีพี่ลอง) มันจะกัดกันอิ๊บอ๋ายเลย

พี่น้องต้องใจเย็นๆ วันนี้เราแหกกรุงศรีอยุธยาออกมาแล้ว ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ เราต้องป้อมค่ายเราอยู่ที่จันทบุรี ระยอง และตราด เรามีหน้าที่สั่งสมกำลัง เรามีหน้าที่ฝึกอาวุธ ถ้าเป็นยุคนี้สมัยนี้ พวกเรามีหน้าที่อยู่เฉยๆ และคอยรับฟังปัญญาที่เราจะเอาไปให้ การฝึกอาวุธของเราในยุคนี้ คือการเพิ่มพูนปัญญาของพวกเราทุกๆ แห่งทั่วประเทศไทย

มันจะเกิดเหตุการณ์ เชื่อผมสิ ว่าไอ้พรรคแมลงสาบมันต้องหันมาดูเรา และมันจะต้องสร้างสถานการณ์เพื่อหาเรื่องให้เราออกไปแนวหน้า ให้พวกเราไปตายแทนมันอีกพี่น้อง ไป/ไม่ไป (ไม่ไป) ไป/ไม่ไป (ไม่ไป) ไป/ไม่ไป (ไม่ไป) ขอให้พี่น้องเชื่อผมและแกนนำ 4 คน ถ้าพวกเราบอกว่ายังไม่มีการชุมนุมเพื่อเคลื่อนขบวน อย่าเคลื่อนเด็ดขาด ให้แมลงสาบสร้างมวลชนเอง มวลชนที่วิ่งหนีฝนให้ไปสร้าง แล้วอย่าหลงกล อย่าฟังใคร ถ้าต้องการรู้ความเคลื่อนไหว พี่น้องดู ASTV เข้าเว็บไซต์ผู้จัดการ อ่านหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ พี่น้อง สื่อมวลชนมีเยอะ อ่านมากปวดตา ฟังมากปวดหู ลดมลภาวะทางหู ทางตา ทางจิตใจ แล้วเสริมสร้างปัญญาด้วยการดู ASTV อ่าน ASTV ผู้จัดการ ดูเว็บไซต์ผู้จัดการ เท่านั้น

ถ้าเราจะรบสิบทิศก็ต้องรบ จะชนกับสื่อสิบฉบับก็ต้องชน วันนี้เราก้าวข้ามการเลือกตั้งไปแล้ว เพราะเรารู้ว่าจะอย่างไรก็ต้องโหวตโน เราจะย้ายไปปักหลัก สะสมกำลัง ให้ความรู้ให้ปัญญาประชาชน จากนี้ต่อไป จะจัดทีมเดินสายสัปดาห์หนึ่ง 2 วัน วันหนึ่งไป 2 จังหวัด 1 เดือนจะไป 16 จังหวัด 5 เดือนก็หมดทั่วประเทศไทย แล้วเราจะย้อนกลับไปให้ปัญญาและปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นจะเป็นอาวุธที่ฆ่าพวกแมลงสาบได้

นอกจากนี้ นายสนธิ ได้ขอฉันทามติจากผู้ชุมนุม แบ่งเงินกองทุนเขาพระวิหารและเงินโหวตโนที่เหลืออยู่ในบัญชีประมาณ 8,500,000 บาท ให้ครอบครัวนายวีระ สมความคิด 5 แสนบาท ให้ครอบครัวนางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ 5 แสนบาท ที่เหลือจะใช้เป็นกองทุนในการเดินสายเพื่อให้ปัญญาประชาชน

“เราต้องตีกำแพงกรุงศรีอยุธยาแล้วหนีออกไป ตั้งเป็นก๊กใหม่พี่น้อง แล้วก๊กนี้จะต้องไม่ร่วมสังฆกรรมกับไอ้พรรคแมลงสาบอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าอยู่จังหวัดไหน ไม่ว่าอยู่ที่ใด ไอ้พรรควรนุสสีแดง กับพรรคไอ้แมลงสาบสีน้ำเงิน อย่าไปร่วมสังฆกรรมกับมันเด็ดขาดพี่น้อง”นายสนธิกล่าว

นายสนธิย้ำในตอนท้ายว่า วันนี้เราหลุดออกมาจากเงื่อนไขเก่าๆ หมดแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เกิดใหม่โดยไม่มีอะไรมาพันธนาการ นอกจากชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พี่น้องอย่าประมาทพลังของตัวเอง พลังที่มีแต่คนอยากเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของพวกเราได้ คนที่จะเป็นเจ้าของเราได้ มีอยู่ 3 คนเท่านั้นเอง คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่าลืมบทเรียนของพวกเรา อย่าหวั่นไหวไปกับเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในเดือน ก.ค., ส.ค. อย่าหวั่นไหว ขอความกรุณาหยุดฟังพวกเราต่ออย่าฟังคนอื่น มันจะมีของปลอมเกิดขึ้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็นหลากสี ไม่ว่าจะเป็นสีขาว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม บางครั้งเหตุการณ์ดูจะเป็นวิกฤต แต่พี่น้องเชื่อเถอะ ถ้าเราวิเคราะห์แล้วว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่าเพิ่งตื่นเต้น ถ้าเราชกต้องชกสุดหมัด ถ้าเราไม่ชกก็ต้องไม่ชก ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ถึงเวลาแล้วที่จะให้พวกเขาแก้ปัญหาของประเทศชาติด้วยตัวพวกเขาเอง เราจะเข้าไปก็ต่อเมื่อ มลงสาบกับวรนุสสีแดง กัดกันจนกระทั่งตายไปทั้งคู่

“ที่สำคัญ อย่าให้พวกแมลงสาบหลอกใช้พวกเราอีก ให้จำใส่ใจ เจ็บแล้วต้องจำ”นายสนธิกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มปัญญาชนสยาม จัดเสวนา เลือกตั้งใหญ่ใกล้จะมาถึง เลือกใครดี?

Posted: 01 Jul 2011 09:30 AM PDT

ปัญชาคนสยาม จัดงานสัมมนาหัวข้อเรื่อง “เลือกตั้งใหญ่ใกล้ถึง เลือกใครดี?”  อดีตนายก อมธ. สมัย 14 ตุลา ชี้ เลือกพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อขจัดทุนผูกขาดของทั้งสองพรรค และต้องเป็นพรรคการเมืองที่เกรงใจประชาชน ยุคทักษิณไม่เกรงใจประชาชนเพราะคิดว่าคุมสื่อคุมคนได้หมด ประชาธิปัตย์ก็ไม่เกรงใจประชาชน

เมื่อวันอังคารที่ 28 ที่ผ่านมา กลุ่มปัญชาคนสยาม จัดงานสัมมนาหัวข้อเรื่อง “เลือกตั้งใหญ่ใกล้ถึง เลือกใครดี?” ณ ห้องประชุมชั้น4 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนาย บุลกิต อำนาจวรประเสริฐ เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา

พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตนายก อมธ. สมัย 14 ตุลา และอดีต สสร.  2550 กล่าวว่า จากโพลสำรวจความคิดเห็น ปรากฎว่าพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำ เป็นเรื่องน่าแปลกประหลาดมากที่โพลล์ของพ.ศ.นี้ กลับกลายเป็นว่าพรรคที่มีอดีตที่ไม่ดี เช่นจัดตั้งกลุ่มเสื้อแดง ทำไมโพลล์ถึงได้ชี้ออกมาเป็นอย่างนี้ ส่วนหนึ่งเพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ ปัจุบันทำผลงานไม่เข้าตาประชาชนเลย และยังทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่ดีในหลายเรื่องหลายกรณี ประชาชนตั้งความหวังไว้สูงว่าจะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน แต่เหมือนกับสุภาษิตโบราณที่ว่าขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา เพราะปัญหาใหญ่หลายเรื่องแก้ไม่ได้เลย เช่นปัญหาข้าวของแพง รายจ่ายสูง รายได้ต่ำ ซึ่งแก้ไม่ได้เลย คนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณ(รัฐบาล) มีเวลาตั้ง2ปีครึ่ง คุณไม่สามารถทำให้ปัญหาความยากจนลดลงไปเลย ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ยังมีความขัดแย้งในสีเสื้อ และปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ในขณะที่คุณไปกล่าวหาทักษิณเค้าว่าโกงกินหลายแสนล้านบาท แต่รัฐบาลชุดนี้ก็มีการทุจริตคอรัปขั่นสูงมาก จนในภาคธุรกิจที่ไม่เคยบ่นก็ยังออกมาบ่น เพราะบางโครงการทุจริตสูงถึง 70-80% ซึ่งเป็นยุคที่แย่ที่สุดในประเทศ เค้กที่กว่าจะมาถึงประชาชนถูกกัดกินจนเละเทะหมดแล้ว การทุจรริตคอรัปชั่นสูงกว่าสมัยทักษิณเสียอีก

การเลือกตั้งก็มีการโกงกิน เป็นการโกงกินที่เอาเงินมาจากภาษีของประชาชนอีกที เช่นบางรายแจกคูปอง แจกสลากกินแบ่ง แจกเงินเริ่มต้นที่หัวละพัน บางที่ยึดบัตรประชาชน กกค.ก็รู้ แต่ทำเป็นไม่รู้ ขนาดตนยังรู้เลย แถมกกต. ยังไม่ต่างประเทศอีก ต้องขอประณามว่ากกต. ทำหน้าที่ไม่เหมาะสมเลย และหวังว่าการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้จะไม่มีความผิดพลาดอีก

สิ่งเหล่านี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่อลง คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้รักพรรคเพื่อไทยจริงๆหรอก แต่ว่าเป็นแนวร่วมมัมกลับ ที่ไม่พอใจประชาธิปัตย์หันมาเลือกพรรคเพื่อไทย แนวร่วมมุมกลับแบบนี้น่าจะสัก 205 เหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะการเมืองไทยเราถูกผูกขาดด้ยสองพรรคใหญ่ซึ่งมีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง อาจกล่าวได้ว่าเป็นทุนผูกขาดและขนาดใหญ่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำไมการเมืองไทยต้องอยู่ภายใต้กลุมทุนผูกขาดสองกลุ่มเท่านั้น จริงๆแล้วการเมืองไทยควรจะเป็นการเมืองที่กระจายอำนาจ

ตนอยากจะแนะนำว่าควรเลือกพรรคการเมืองระดับเล็กให้มากขึ้น เพราะท่านทั้งหลายก็เห็นแล้วว่าทั้งสองพรรคทำผลงานได้ไม่ดีทั้งคู่ แต่ปัญหาคือคะแนนเหล่านี้ จะสามารถผลักดันให้เป็นรัฐบาลหรือปล่าว เพราะพรรคขนาดกลางเหล่านี้ต้องเกาะพรรคใหญ่ นี่คือจุดอ่อนของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก

การตัดสินใจจะเลือกพรรคการเมือง

1.คือเราควรเลือกพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อขจัดทุนผูกขาดของทั้งสองพรรค และต้องเป็นพรรคการเมืองที่เกรงใจประชาชน ยุคทักษิณไม่เกรงใจประชาชนเพราะคิดว่าคุมสื่อคุมคนได้หมด ประชาธิปัตย์ก็ไม่เกรงใจประชาชน เห็นจากการประชุมครม. ทิ้งทวนครั้งสุดแล้วเพื่อผ่านงบประมาณแสนล้านบาท

2. ควรจะเลือกพรรคที่ทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ ไม่ใช่เห็นแก่ตัวหรือโกงกิน หรือนโยบายประชานิยม ซึ่งนำเงินมาใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก แล้วเดี๋ยวก็จะเป็นแบบประเทศกรีซที่ล้มละลาย จะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ

ผลที่จะเกิดตามมาหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็จะได้มาเป็นรัฐบาล เท่าที่ดูขนาดนี้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลสูง แต่ว่าการที่ประชาธิปัตย์ ไปปราศรัยที่เซนทรั่ลเวิร์ลทำให้คะแนนเพื่อไทยลดลงและ ประชาธิปัตย์ กระเตื้องขึ้นมาหน่อย แต่ว่าจะตามทันเพื่อไทยหรือไม่ต้องติดตามดูต่อไป พรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนประมาณ 220บวกลบ10 พรรคประชาธิปัติย์น่าจะได้ราวๆ 170บวกลบ10 ซึ่งพรรคที่สามพรรคคงจะเป็นภูมิใจไทย

รัฐบาลใหม่ที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ คำถามที่อยากจะถามคือรัฐบาลใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนแค่ไหน ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ในความเห็นตนอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่า แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะเรื่องการปฎิรูปประเทศของปชป ก็ไม่เห็นได้นำมาใช้แล้ว

ดังนั้นจึงมีการโหวดโนของพันธมิตร เพื่อจะเป็นการดึงผลคะแนนพรรคการเมือง ถ้ามีถึง5% จะเป็นอันตรายต่อพรรคการเมืองต่างๆมาก

ถ้าถามว่าการเมืองไทยจะมีอนาคตไหม โดยส่วนตัวว่าไม่มีเพราะไม่ว่าใครจะมาเป็น ก็จะไม่แก้ปัญหาอะไรได้เลย อยากเห็นรัฐบาลกลางที่ไม่ใช่ ประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย มาเป็นรัฐบาลสักระยะหนึ่ง เพื่อปฎิรูประเทศอย่างแท้จริง

อ.วิภา ดาวมณี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตรกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า กระบวนการประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ถ้าเรายังเชื่อว่าผู้ที่เป็นเจ้าของประชาธิปไตยคือประชาชน

อ.วิภา ให้ความเห็นต่อไปว่า น่าเสียดายที่พรรคที่เป็นหัวอนุรักษ์นิยมใช้ชื่อว่าประชาธิปัตย์ และพรรคแรงงานในไทยนั้นกลับไม่มีเลย ส่วนพรรคอื่นๆเช่นเพื่อไทย ภูมิใจไทย มาตุภูมิ ก็มีฐานความคิดโดยดูจากชื่อว่าอิงกับระบอบเก่าของความเป็นชาตินิยม และไม่มีพรรคที่แสดงออกชัดของอุดมการณ์เช่น สังคมนิยม ลิเบอรัล ฯลฯ ไม่มีตัวแทนที่เป็นจริงของชนชั้นล่าง ประชาชนที่เป็นชนชั้นล่างคนทำงาน เมื่อไม่มีตัวแทนของพรรคตนเองก็ต้องไปพึ่งพรรคอื่นๆ พรรคที่น่าสนใจเช่นพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตร ก็มีแนวโน้มความเป็นรัฐสวัสดิการแบบ สแกนดิเนเวีย พรรคการเมืองพรรคใหญ่ๆอาจมีวิธีการต่างกัน แต่ในเชิงนโยบายนั้นไม่ต่างกันเลยยืนอยู่บนหลักเสรีนิยมและประชานิยม ในเชิงความคิดต้องบอกว่าประชาธิปัตย์ เป็นอนุรักษ์นิยม ส่วนพรรคเพื่อไทยที่พิจารณานโยบายที่ไม่ต่างกัน ในเชิงเศรษฐกิจอาจจะต่างออกไปบ้างเพียงเล็กน้อย แต่โดยพื้นฐานของพรรคเพื่อไทยก็ยังยืนอยู่บนแนวเดียวกับที่ประชาธิปัตย์ใช้

พรรคเพื่อไทยอาจจะมีความต่างในเชิงที่ว่า พรรคเพื่อไทยทำประโยชน์ให้กับชนชั้นล่างเป็นส่วนใหญ่ ในเมื่อคนจนไม่สามารถมีพรรคของตัวเองจึงต้องพึ่งกลุ่มทุน

สุดท้ายอยากฝากไว้ว่า พลังที่เปลี่ยนแปลงจริงๆไม่ใช่พลังของชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นพลังของประชาชนทุกคน

อ. อานุภาพ ธีรณิศรานนท์ นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งไปก็เหมือนเดิม ถามว่าคนธรรมดาสามารถลงสมัคร สส.ได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะไม่มีโอกาส คนที่เป็น สส. ได้เพราะมีโอกาสในการโกงมากกว่าเรา ที่จะแย่งชิงทรัพยากรไปจากเรา

อ. อานุภาพ กล่าวสนับสนุนให้เลือกชูวิทย์ โดยเชื่อว่าจะมาต้านคอรัปชั่น โดยการเป็นฝ่ายค้าน เพื่อจะได้มาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของแต่ละพรรค

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ว่าฯ อุดร สั่งปลดป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง

Posted: 01 Jul 2011 09:06 AM PDT

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอกุมภวาปี กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ให้บอกชาวบ้านปลดป้ายหมู่บ้านเสื้อแดงลง เนื่องจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการมาเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้

วันนี้ (1 ก.ค.) เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่หมู่บ้านเสื้อแดง ในต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี หลังจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอกุมภวาปี ได้โทรศัพท์มากำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ให้ไปบอกชาวบ้านปลดป้ายหมู่บ้านเสื้อแดงลง เนื่องจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการมาเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้

ตั้งแต่ต้นทางเข้าหมู่บ้านเสอเพลอเรื่อยไปจนถึงบ้านสวนมอญพบว่า มีธงแดงปักตามรั้วหน้าบ้านประปราย  แต่ไม่พบป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง แต่ที่น่าสังเกตก็คือมีป้ายของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ขณะที่ป้ายของพรรคคู่แข่งถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่ชาวบ้านได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่าป้ายที่มีข้อความว่า “หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย โดยกลุ่มคนเสื้อแดงอุดรธานี” และมีภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชูมืออยู่ข้างๆ ถูกนำไปเก็บไว้หมดแล้วเพราะทางอำเภอสั่งมาให้ปลดลง

ดังเช่นที่หลังบ้านของนายสุดใจ  ทองแสนสุข ชาวบ้านสวนมอญ หมู่ที่ 6 ก็มีหนึ่งป้าย ซึ่งนายสุดใจ ก็ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า

ในราววันที่ 25 มิ.ย.กลุ่มคนเสื้อแดงจากหลายพื้นที่ มารวมกันที่บริเวณวัดบ้านสวนมอญ เพื่อร่วมกันทำพิธีกรรมและประกาศก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงในต.เสอเพลอขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเสอเพลอ, บ้านเหล่ากล้วย, บ้านสวนมอญ, บ้านทองอินทร์, บ้านบ้านโคกศรีสำราญ และบ้านวังหน้าผา โดยแต่ละหมู่บ้านก็จะมีป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง และธงแดงติดเพื่อแสดงสัญลักษณ์ แต่พอวันที่ 29 ผู้ใหญ่บ้านก็มาร้องขอให้ชาวบ้านเอาป้ายและธงแดงลงก่อน พร้อมบอกว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยเอาติดใหม่ เพราะนายอำเภอขอมา ซึ่งทางผู้ว่าฯ สั่งให้จัดการเรื่องนี้

“โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามันเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกทางการเมือง ซึ่งผมก็ได้ถามกับกำนัน และผู้ใหญ่บ้านด้วยว่าจะให้ผมปลดลงด้วยเหตุผลใด เขาก็บอกเพียงว่านายสั่งมา และกลัวจะผิดกฎหมายการเลือกตั้ง”

นายสุดใจ ผู้เคยผ่านสมรภูมิราชประสงค์มาแล้ว ยังกล่าวอีกว่า “เราเคารพกฎเมื่อบอกว่าให้เอาป้ายลงก็เอาลง ซึ่งการที่คนเสื้อแดงทำแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองพรรคใด และถึงแม้ว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วใครมาเป็นรัฐบาลพวกเราก็จะดำเนินการต่อไป”

ด้านนายกิตติ  นาทันตอง  ผู้ใหญ่บ้านเหล่ากล้วย หมู่ที่ 3 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้รับโทรศัพท์จากกำนันให้ไปบอกชาวบ้านที่ติดป้ายหมู่บ้านเสื้อแดงให้เอาลงก่อน เพราะทางนายอำเภอสั่งมาว่ามันจะผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ซึ่งพอตนไปบอกชาวบ้านเขาก็ให้ความร่วมมือดี ไม่มีปัญหาอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ได้มีการโทรศัพท์ไปขอสัมภาษณ์ปลัดอำเภอกุมภวาปี 3 ครั้ง แต่ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์เนื่องจากว่าติดภารกิจเตรียมการเลือกตั้ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน:ฉากสุดท้ายบ้านโนนป่าก่อ

Posted: 01 Jul 2011 06:42 AM PDT

 บ้านโนนป่าก่อ 14 ครอบครัวสุดท้าย ยินยอมย้ายออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานแล้ว ปิดตำนานการต่อสู้ที่ยืดเยื้อเกือบ 20 ปี เบื้องหลังพบ กอ.รมน. ใช้สารพัดวิธี ขู่ ปลอบ หลอก


โครงการอพยพราษฎรบ้านโนนป่าก่อ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กปร. (คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ) โดยจัดสรรที่ทำกินและที่ปลูกสร้างบ้านครอบครัวละ 3 ไร่ พร้อมงบประมาณในการก่อสร้างบ้านและจัดหาปัจจัยการผลิต ครอบครัวละ 2 แสนบาท ในที่สุดก็ดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย โดยราษฎรกลุ่มสุดท้าย ซึ่งมี 10 หลังคาเรือน รวม 14 ครอบครัว ยินยอมย้ายออกมาอยู่ในพื้นที่รองรับ ต.บ้านค้อ อ.คำชะอี แล้ว  หลังเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2552

ในการรื้อถอนและขนย้ายบ้านเรือนออกมายังพื้นที่รองรับ มีกำลังจากชุดเฉพาะกิจกองร้อยทหารพรานที่ 2106 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23  เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ภูสีฐาน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามาร่วมกันดำเนินการ

แต่การยินยอมเซ็นมอบพื้นที่ถือครองและรื้อถอนบ้านเรือนออกของชาวบ้านป่าก่อกลุ่มสุดท้ายนี้ มีเบื้องหลังที่น่าเคลือบแคลงไม่น้อย

ชาวบ้านหลายคนให้ข้อมูลว่า หลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานของจังหวัดและอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2553 ทางจังหวัดได้ทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับมาเสนอชาวบ้าน  พร้อมกันนั้น ผวจ.มุกดาหาร ได้กล่าวว่า ภายใน 3 ปี จะพัฒนาพื้นที่รองรับให้ชาวบ้านที่โยกย้ายออกมามีความเป็นอยู่ที่ดี จนกลุ่มที่ยังไม่ย้ายเต็มใจที่จะย้ายออกมาเอง โดยไม่มีการบังคับ ชาวโนนป่าก่อจึงมีความหวังทำกินในที่ดินเดิมต่อ และเปลี่ยนชื่อบ้านเป็นบ้านดงเงินศรีปทุม 

แต่แล้ว  ผ่านกลางเดือนมิถุนายน 2554 ไม่นาน  พ.ท.วรรณชัย แววศรี หัวหน้าชุดพัฒนาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 2 ส่วนแยก 1 ได้ปรากฏตัวมาเยี่ยมชาวบ้านดงเงินศรีปทุม  พร้อมกับมีกองกำลังชุดดำไม่มีสังกัดเข้ามาประจำที่หน่วยป่าไม้ มห.5 ข่าวที่ชาวบ้านได้ยินจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กองกำลังชุดดำคือ สหายเก่าที่มาทำงานให้ กอ.รมน. และข่าวว่าทางการจะรื้อถอนบ้านที่เหลืออยู่ออกให้หมดในวันที่ 30 มิ.ย.

เช้าวันที่ 23 มิถุนายน 2554 นายสงคราม.... ชาวบ้านที่ย้ายออกแล้วเข้าไปชี้ให้กองกำลังชุดดำรื้อถอนศาลาวัดก่อธรรมเมตตา โดยอ้างว่าเป็นบ้านของตน  นายวีนัส อุทโท หนึ่งในชาวบ้านที่ยังไม่ย้ายออกเกิดความโมโหจึงกระโดดเข้าเตะนายสงครามได้รับบาดเจ็บ จากนั้น ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ พ.ท.วรรณชัย กล่าวว่าจะเอาเรื่องให้ได้ พร้อมกับสั่งให้จับตายนายวีนัส  ตกเย็นกำลังทหาร(กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี) ควบคุมตัวชาวบ้านทั้งหมดมาที่ มห.5 โดยแจ้งว่าจะดำเนินคดีเรื่องทำร้ายร่างกายนายสงคราม  แต่ช่วงค่ำ ชาวบ้านก็ถูกพากลับส่งบ้านโดยไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด  แต่กำลังทหารพร้อมเอ็ม 16 ยังคงอยู่ในหมู่บ้าน เดินลาดตระเวณ  สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้หญิงและเด็กเป็นอย่างมาก

วันต่อมา พ.ท.วรรณชัย และปลัดอำเภอคำชะอี เข้าเจรจากับชาวบ้าน(โดยมีกำลังทหารอยู่ล้อมรอบ) ว่าจะไม่เอาเรื่องคดีดังกล่าว แต่ขอให้ย้ายออกก่อนวันที่ 28 มิถุนายน เนื่องจากในวันดังกล่าว แม่ทัพภาค 2 จะเดินทางมาทำพิธีถวายคืนผืนป่าให้ในหลวง  พร้อมทั้งพาชาวบ้านไปดูพื้นที่รองรับแห่งใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยป่าไม้เก่า แต่ยังไม่มีการสร้างบ้านไว้รองรับ มีเพียงบ้านพักเจ้าหน้าที่ซึ่งชำรุดทรุดโทรมจำนวน 4 ห้อง โดยชาวบ้านที่จะย้ายออกมาส่วนหนึ่งจะเข้าอยู่บ้านในพื้นที่รองรับบ้านด่านช้าง ซึ่งเหลือ 6 หลัง และส่วนที่เหลือให้อาศัยอยู่ที่บ้านพักนี้ชั่วคราว ก่อนที่การสร้างบ้านใหม่จะแล้วเสร็จ  พ.ท.วรรณชัย ให้คำมั่นว่า จะนำทหารช่างมาปรับปรุง ต่อน้ำ ต่อไฟ ให้อยู่ได้สบาย  
 
ชาวโนนป่าก่อเดิมจึงยื่นข้อเสนอว่า หากมีการย้ายออก จะปลูกสร้างบ้านเอง โดยขอสนับสนุนสังกะสีครอบครัว 100 แผ่น และงบประมาณในการสร้างบ้านและสนับสนุนปัจจัยการผลิต(วัว,หมู,ไก่) ที่จัดสรรให้สำหรับผู้ที่ย้ายออกตามโครงการครอบครัวละ 2 แสนบาทนั้น จะขอรับเป็นเงินสด  ปลัดอำเภอคำชะอีเพียงแต่รับว่าจะนำไปเสนอจังหวัดต่อไป
27 มิถุนายน 2554 การรื้อถอนบ้านหลังแรกเริ่มขึ้น โดยมีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 30 มีการปิดด่านป่าไม้ที่เป็นทางเข้า-ออกบ้านโนนป่าก่อไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป  ทั้งหมดนี้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับแจ้งจากทางจังหวัด อีกทั้ง ทางจังหวัดก็อ้างว่า ไม่มีแผนการย้ายราษฎรในช่วงนี้

28 มิถุนายน 2554 ไม่มีพิธีถวายคืนผืนป่า ไม่มีแม่ทัพภาค 2 มีเพียงพลตรีธวัช  สุขปลั่ง  ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3  ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 1 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์มาตรวจเยี่ยมการรื้อถอนบ้านเรือนของราษฎร  หลังพล.ต.ธวัช เดินทางกลับ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรีก็ถอนตัวกลับเช่นกัน ไม่ได้เป็นกำลังหลักในการรื้อถอนและขนย้าย ไม่มีกำลังทหารช่างมาปรับปรุงบ้านพัก ต่อน้ำต่อไฟ อย่างที่ พ.ท.วรรณชัยได้ให้คำมั่นไว้

ชาวโนนป่าก่อกลุ่มสุดท้ายจึงถูกอพยพโยกย้ายออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานในช่วงฤดูการเพาะปลูกอย่างเร่งด่วน จากบ้านที่คุ้มแดดคุ้มฝน เพื่อมาอยู่บ้านพักหลังเก่าที่หลังคามีรอยแตกโหว่ไม่คุ้มฝน ไม่มีห้องส้วมให้ใช้  โดยอยู่อย่างไม่มีไฟฟ้า และใช้น้ำห้วยเหมือนเดิม

“เราไม่เต็มใจย้ายออกหรอก แต่มันจำเป็น เราเหลือคนอยู่นิดเดียว กำลังทหารพร้อมอาวุธเต็มไปหมด ถึงเราไม่กลัว แต่ลูกเมีย และเพื่อนบางคนก็กลัว  หันไปพึ่งใครก็ไม่มีแล้ว...  เราจะรอดู ถ้าเขาไม่รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้ด้วยเกียรติของทหาร เราก็คงจะสู้ต่อไป” หนึ่งในแกนนำชาวบ้านเปิดเผยความรู้สึก

และหญิงลูก 2 อดีตเยาวชนของบ้านโนนป่าก่อ ซึ่งนั่งอย่างหดหู่อยู่หน้าห้องพักของเธอ ถอนหายใจพร้อมระบายความในใจ “เคยอยู่สบาย ได้มาอยู่ลำบากเสียแล้ว”สวนทางกับผู้หยิบยื่นการพัฒนา ซึ่งบอกพวกเขาว่า อยู่ในป่าลำบาก ย้ายออกมาอยู่สบาย มีโครงการพัฒนาให้อยู่ดีกินดีดีกว่า

   

หมายเหตุ: บ้านโนนป่าก่อ เริ่มตั้งชุมชนอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติภูสีฐานมาตั้งแต่ ปี 2519  ต่อมา ปี 2526-2529 รัฐบาลเปิดป่าในบริเวณนี้ให้สัมปทานตัดไม้ ปี 2533 กรมป่าไม้ประกาศ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน” โดยมีบ้านโนนป่าก่อเป็น 1 ใน 2 หมู่บ้าน ที่ถูกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ประกาศทับ  ปี 2535   เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ประกาศให้ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน  

ปี 2542 ชาวโนนป่าก่อเข้าร่วมการต่อสู้กับเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสานตอนบน( คกอ.) โดยยืนยันที่จะทำกินในที่ดินเดิมและขอให้ทางราชการออกเอกสารสิทธิ์ให้ ปี 2543 จังหวัดมุกดาหารเตรียมพื้นที่รองรับการอพยพราษฎรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เสร็จ โดยจัดสรรที่ทำกินและอยู่อาศัยให้ครอบครัวละ 9 ไร่ แต่ที่ดังกล่าวทับที่ทำกินของราษฎร บ.แก่งนาง  จึงมีชาวบ้านโนนป่าก่อยินยอมย้ายออกมาเพียง 14 ครอบครัว 

ปี 2544  เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูสีฐาน จึงแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านอีก 54 ครอบครัวที่ไม่ยอมย้ายออก  ในปีเดียวกัน ชาวบ้านเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน เดินเท้าและรถไถทางไกลถึง จ.ขอนแก่น เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและยกเลิกหมายจับ

ปี 2552 กปร.ได้อนุมัติงบประมาณโครงการอพยพราษฎรบ้านโนนป่าก่อ โดยจะดำเนินการก่อสร้างบ้านพักอาศัย จำนวน 47 หลัง ในที่ดินหลังละ 0.5 ไร่ พร้อมที่ทำกินครอบครัวละ 2.5 ไร่ ต้นปี 2553 มีชาวบ้านกลุ่มแรกอพยพออกมา 15 ครอบครัว หลังจากนั้น มีชาวบ้านทยอยอพยพออกมาเรื่อยๆ ส่วนที่เหลือพยายามเจรจาต่อรองให้จัดพื้นที่รองรับที่เหมาะสมและเพียงพอ โดนร้องเรียนผ่านอนุกรรมการป่าไม้ที่ดิน ใน กสม. จนทางจังหวัดยินยอมทำแผนใหม่ 

จนกระทั่ง กอ.รมน.เข้าไปอพยพชาวบ้านกลุ่มสุดท้ายออกมา นับเป็นการปิดตำนานการต่อสู้ของชาวโนนป่าก่อที่ยืดเยื้อมาเกือบ 20 ปี  

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลือกตั้ง รสนิยมทางเพศ กับโอกาสติดคุก

Posted: 01 Jul 2011 06:41 AM PDT

 
 
วันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. นี้จะออกไปเลือกตั้งทำไม?”
 
ตอบ เพราะเราซื้อของต้องได้เงินทอน น้ำดื่มในขวดต้องสะอาดได้มาตรฐาน คุณตำรวจต้องวิ่งจับโจรและห้ามวิ่งมาจับเรา ไม่ว่าทรงผมหรือรสนิยมทางเพศของเราจะเป็นอย่างไร ฯลฯ
 
สิ่งเหล่านี้คือสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์ที่เราเรียกร้องได้จากกฎหมายทุกวัน แต่กฎหมายก็ขอให้เราทำหน้าที่ เช่น ต้องชำระหนี้ จ่ายภาษี รวมถึงไปเลือกตั้ง
 
สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ เป็นของคู่กัน เราจะเป็นเพียงคนเห็นแก่ตัวมัวแต่เอา มีมโนสำนึกแยกเป็นสองมาตรฐาน ใจหนึ่งเรียกร้องประโยชน์จากกฎหมาย แต่อีกใจละเลยหน้าที่เอาปรียบกฎหมาย หาได้ไม่
 
จะ Vote No หรือ Vote ให้ใคร เป็นสิทธิของเรา เสรีภาพของเรา และหน้าที่ของเรา
 
โปรดวัดใจของเรา เรียนรู้จากอดีตให้ดี ใช้คะแนนที่มีให้คุ้ม 3 ก.ค. ผลออกมาเช่นไร ขอให้เรารับผิดชอบร่วมกัน เล่นตามกติกา และพาประเทศไทยเดินต่อไปพร้อมกันครับ!
 
สรุป Vote No มีผลหรือไม่?
 
ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมายืนยันว่า คะแนน Vote No นั้นไม่มีผลต่อการเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครมากกว่า 1 คน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศล้วนมีผู้สมัครมากกว่า 1 คน (http://bit.ly/lGeCot)
 
หากผู้ใดยังหลงเชื่อว่า “มาตรา 89 ภายใต้บังคับ มาตรา 88” หมายความว่า มาตรา 89 กรณีผู้สมัครหลายคนต้องเอามาตรา 88 มาใช้ คือกรณีผู้สมัครคนเดียวผู้จะชนะการเลือกตั้งต้องได้คะแนนมากกว่า Vote No นั้น ก็ขอให้ผู้นั้นอธิบายให้เต็มปากว่า แล้วกฎหมายจะแยกมาตรา 88 และ 89 เพื่ออะไร และท่านจะอธิบายถ้อยคำว่า “มาตรา 81 ภายใต้บังคับ 85” ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ส่วนเดียวกัน มาตราใกล้ๆกัน ในแบบที่ท่านเชื่อได้อย่างไร ในเมื่อ:
 
มาตรา 81 บัญญัติว่า  “ภายใต้บังคับ มาตรา 85 การนับคะแนนเลือกตั้งให้กระทำ ณ ที่
เลือกตั้งโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนนเลือกตั้ง”
 
มาตรา 85 บัญญัติว่า “(หากน้ำท่วม หรือ ไฟไหม้ ฯลฯ) ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดการนับคะแนน...”
 
หรือท่านกำลังบอกว่า คะแนนต้องนับให้เสร็จทีเดียวแต่ (ภายใต้บังคับ) ก็ต้องประกาศงดไม่ให้นับต่อ?
 
ผู้เขียนขอย้ำให้ชัดว่า คำว่า “ภายใต้บังคับ” แปลว่า “ยกเว้นในกรณี” ผู้ร่างตั้งใจเขียนกำกับไว้เพื่อเตือนให้ผู้อ่านกฎหมายรู้ว่ามาตรานี้มีข้อยกเว้น เช่น มาตรา 89 ให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดชนะ “ยกเว้นในกรณี” มาตรา 88 คือมีผู้สมัครคนเดียว ก็ต้องชนะ Vote No ด้วยถึงจะชนะในเขตนั้น เอาสองมาตรามาปนกันไม่ได้
 
ที่สำคัญ หากผู้ใดตีความ มาตรา 88 ปน 89 เพื่อตีหัวประชาชน จูงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด เช่น Vote No เยอะๆ ชนะได้แน่ ตอนนี้ไม่มีใครไปเลือกคนของพรรคที่จะแพ้เพราะคะแนนไม่ผ่าน Vote No ฯลฯ ผู้นั้นอาจมีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งตามมาตรา 53 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปีตามมาตรา 137!
 
ส่วนคำถามว่า การไม่นับคะแนน Vote No ให้ชนะแม้คะแนน Vote No จะสูงสุดในเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครหลายคนนั้น เป็นการไม่เคารพเสียงประชาชน และขัดแย้งกับ "หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ตาม มาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่?
 
ตอบ การที่ มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ทำให้คะแนน Vote No ไม่มีผลทางกฎหมายในเขตที่มีผู้สมัครหลายคนเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องตาม "หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" และไม่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังอธิบายได้ดังนี้
 
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ เป็นเรื่อง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ควบคู่กับ หลักการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ พวกเราผู้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญต้องอ่านให้ครบถ้วน คือ
 
“มาตรา ๓  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
 
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”
 
หมายความว่า แม้อำนาจอธิปไตยจะเป็นของเราปวงชนชาวไทย แต่เราจะใช้อำนาจนั้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร จะกำหนดกฎเกณฑ์รายละเอียดเรื่องต่างๆ ในสังคมอย่างไร ย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญจะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ไปยัง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เป็นผู้ใช้อำนาจหรือทำหน้าที่แทนปวงชน (ส่วนจะเป็นไปตาม "หลักนิติธรรม" หรือไม่นั้น ผู้เขียนขอสงวนไปเขียนเป็นตำรา เพราะมิอาจสรุปสั้นๆได้)
 
ยกตัวอย่าง แม้ปวงชนจะเป็นเจ้าของอำนาจ แต่ปวงชนจะมาตั้งศาลเตี้ยใช้อำนาจวินิจฉัยลงโทษเพื่อรุมประหารชีวิตนักการเมืองที่เลวทรามต่ำช้ากันเองมิได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 บัญญัติให้ศาลเป็นผู้รับแบ่งอำนาจอธิปไตยไปทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีแทนปวงชน
 
ถามว่าแล้วเรื่องการนับไม่นับ Vote No นี้ ปวงชนเจ้าของอำนาจได้ตกลงในรัฐธรรมนูญให้เป็นอำนาจหน้าที่ของใคร ผู้เขียนตอบได้ชัดเจนและปราศจากข้อสงสัยใดๆว่า ปวงชนชาวไทยได้กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้ง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 138-141)
 
ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคสาม บัญญัติว่า
 
“หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา”
 
ดังนั้น จึงไม่มีข้อสงสัยว่า หลักเกณฑ์การนับคะแนน Vote No จะเป็นอย่างไรนั้น ปวงชนชาวไทยได้ตกลงให้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 88 และ 89 ที่เคยอธิบายไว้แล้ว และผู้มีอำนาจวินิจฉัยบังคับใช้กฎหมายย่อมได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (หากมีการโต้แย้งว่าใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ก็ย่อมไปโต้แย้งในศาลตามขั้นตอน)
 
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ จึงสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3  อย่างแท้จริง กล่าวคือ Vote No คืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในลักษณะเป็นไปตามกฎหมาย เขตไหนผู้สมัครคนเดียว (มาตรา 88) Vote No อาจมีผล แต่หากผู้สมัครหลายคน Vote No ย่อมไม่มีผล (มาตรา 89)
 
แต่ทั้งนี้ หากเราเชื่อว่า เสียงข้างมากของการ Vote No เป็นเสียงของเจ้าของอำนาจที่ไม่เห็นด้วยกับ มาตรา 88 และ 89 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วไซร้ เสียง Vote No ข้างมากเหล่านั้นย่อมชอบที่จะดำเนินการแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 88 และ 89 ตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายดังกล่าว การเรียกร้องการทำประชามติที่กำหนดประเด็นชัดเจน หรือการใช้สิทธิเสรีภาพประท้วงเรียกร้อง ซึ่งหากเลือกตั้งครั้งนี้มีคะแนน Vote No ล้นหลาม ก็ย่อมอาจจุดประกายการดำเนินการเช่นนั้น
 
ผู้เขียนย้ำว่า บางคนอาจต้องการ Vote No เพื่อแสดงออกด้วยพลังบริสุทธิ์ตามวิถีรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการเมืองที่ล้มเหลว ซึ่งผู้เขียนยืนยันอีกครั้งว่า Vote No เช่นนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอันประเสริฐยิ่ง
 
ผู้เขียนย้ำอีกว่าสังคมไทยเป็นสังคมนิติรัฐ บ้านเมืองมีกฎหมาย มีกติกา แม้ปวงชนชาวไทยกว่า 67 ล้านคนจะเป็นเจ้าของอำนาจก็จริง แต่จะใช้อำนาจอย่างไรย่อมเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้นสังคมที่มีกว่า 67 ล้านความคิดเห็นก็มิอาจเคลื่อนเดินไปข้างหน้าได้
 
และการเหมารวมว่า Vote No ทุกเสียงคิดเห็นเหมือนกันหมดทุกประการ ก็คงมิใช่ตรรกะที่ถูกต้องนัก บางคนแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจ แต่บางคนอาจทำไปเพื่อขัดขวางวิถีรัฐธรรมนูญ หรือบางคนอาจ Vote No เพียงเพราะรักพี่เสียดายน้อง หรือไม่รู้จะเลือกใคร เมื่อเราสรุปอะไรโดยง่ายไม่ได้ เราจึงต้องมีกฎหมายเป็นกติกา
 
สรุป การไม่นับคะแนน Vote No ให้ชนะกรณีเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครหลายคน มิได้ขัดต่อ "หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" แต่อย่างใด.
 
ในทางตรงกันข้าม ผู้ใดล้มการเลือกตั้ง หรือวางแผนล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้นั้นย่อมไม่เคารพ “อำนาจอธิปไตย" ไม่ต่างไปจากเป็นกบฏต่อปวงชนเจ้าของประเทศ อาจติดคุกเหมือนกันครับ!
 
ย้ำอีกครั้ง จะ Vote No หรือ Vote ให้ใคร เป็นสิทธิของเรา เสรีภาพของเรา และหน้าที่ของเรา
 
โปรดวัดใจของเรา เรียนรู้จากอดีตให้ดี ใช้คะแนนที่มีให้คุ้ม 3 ก.ค. ผลออกมาเช่นไร ขอให้เรารับผิดชอบร่วมกัน เล่นตามกติกา และพาประเทศไทยเดินต่อไปพร้อมกันครับ!
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หลักประกันสุขภาพของประชาชน สิทธิภายใต้ 3 กองทุน ไม่ใช่ตัวประกันขององค์กรใดๆ

Posted: 01 Jul 2011 06:23 AM PDT

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีการนำเสนอประเด็นการเหลื่อมล้ำของสิทธิ ด้านการรักษาพยาบาลพื้นฐาน ของระบบหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และสวัสดิการราชการ มีแง่มุมและเกิดข้อโต้แย้งหลายประการ  จนกระทั่งมีข้อเสนอเรื่องการงดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของการรักษาพยาบาล และการรวมเป็นกองทุนเดียว

การเกิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2545 ก็มีเจตนารมณ์และกลไกที่จะทำให้มีความเสมอภาคในสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพในมาตรา 9 และ 10 แต่เมื่อแรกเริ่ม ก็มีการต่อต้านให้เห็นเป็นเรื่อง การเข้าครอบงำหรือการยึดกองทุน มากกว่าการพิจารณาถึงการทำให้ประชาชนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เท่าเทียมกัน การเดินหน้าในยุคปัจจุบัน สปสช.  สปส.และองค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงควรพิจารณาหามาตรการที่จะเกิดผลดีทั้งต่อประชาชนและการพัฒนากองทุนต่างๆอย่าง win-win  

ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์คือ

1. การถมช่องว่างของสิทธิขั้นพื้นฐาน

2. การเพิ่มเงินกองทุนและการพัฒนาการจัดการอย่างแยกแยะ

การถมช่องว่างของสิทธิขั้นพื้นฐาน

โดยการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ให้มีมติให้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ที่ล้ำหน้า  กองทุนประกันสังคมและสวัสดิการราชการ  เป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้อยู่ในกองทุนประกันสังคมและสวัสดิการราชการ  ได้สิทธิดังกล่าวด้วย(เพราะสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน)

เมื่อประกาศให้สิทธิดังกล่าว  งบประมาณและการจัดการที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นบทบาทที่ทั้ง 3 กองทุนจะได้ร่วมกันพิจารณาต่อไป

การเพิ่มเงินกองทุนและการจัดการอย่างแยกแยะ

เมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบบประกันสังคมและสวัสดิการราชการขาดหายไป  การเสนอแนะและการผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น  แต่สำหรับบทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  การแสดงบทบาทของการถมช่องว่างและประคับประคองระบบด้วยยุทธศาสตร์ win-win จึงจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว

การเพิ่มเงินกองทุนเพื่อถมช่องว่าง

1. กรณีงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  ปัจจุบันคำนวณเริ่มต้นจากประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพ 47 ล้านคน  แล้วจัดสรรขาลงให้ครอบคลุมประชากร 65 ล้านคน  แนวคิดสำหรับประเด็นนี้  คือการของบให้กับประชากรทั้ง 65 ล้านคนตั้งแต่ต้น  นั่นหมายถึงว่าของบให้ประชากรอีก 18 ล้านคนเต็มจำนวน ซึ่งจะทำให้มีงบด้านส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคเพิ่มขึ้นอีก 3,000-4,000 ล้านบาท  ที่จะใช้ในการดูแลลูกหลาน  พ่อแม่  ของผู้มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลรวมทั้งเจ้าตัวและผู้อยู่ในระบบประกันสังคม  เมื่อมีงบประมาณ  การจัดการใด  ในความเชี่ยวชาญของสำนักงานใด  เป็นประเด็นที่ทั้งสามกองทุนจะได้พิจารณาร่วมกัน  และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 9และ 10 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2. กรณีงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล  ในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ สปสช.ได้จัดให้แล้ว  เช่นโรคไต  ยาจำเป็น  โรคร้ายแรง  อุบัติเหตุฉุกเฉิน  บางประการที่สิทธิอื่นๆยังไม่ครอบคลุม  สปสช.และกองทุนต่างๆสามารถที่จะร่วมกันประมาณการให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสม  เพื่อเสนอรัฐบาล  ในระหว่างการรองบประมาณในปี 2555 สปสช.สามารถเปิดโอกาสให้สิทธิอื่นๆได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  สำหรับเม็ดเงินชดเชย  งบประมาณในอนาคตและการจัดการ  ถ้า สปสช.เป็นแกนนำในปัจจุบัน  การจัดการในอนาคตของ 3 กองทุนในการถมช่องว่างของสิทธิขั้นพื้นฐาน  ความยอมรับจากประชาชนและกองทุนต่างๆ  จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานเสมอภาค  ย่อมส่งผลให้กองทุนประกันสังคม  และสวัสดิการราชการ  มีหลังผิงในการร่วมพัฒนาสิทธิขั้นพื้นฐาน  เขายังสามารถพัฒนาสิทธิอื่นๆส่วนที่เกินสิทธิตามแต่ศักยภาพของกองทุนของเขาต่อไป  ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะนำไปสู่ประเด็นการครอบงำหรือการก้าวก่ายการดำเนินงานของแต่ละกองทุน

 ไปให้ถึงหรือไปไม่ถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 เมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพในปี 2545  การที่ประชาชนจะได้สิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพเสมอกัน  ดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ไกลเกินความเป็นจริง  พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพได้กำหนดกลไกต่างๆไว้อย่างชัดเจน  ทั้งการวางระบบการได้สิทธิ  การจัดระบบบริการที่ได้มาตรฐาน การได้รับการชดเชยค่าใช้จ่าย  การรับฟังความเห็นทั้งจากประชาชนและผู้ให้บริการ  โดยมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเป็นกลไกหลัก  และให้มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นองค์กรทางธุรกรรมของคณะกรรมการ นับเป็นก้าวสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพไทย  อีกหนึ่งปีก็จะครบสิบปีของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลายประการอาจถูกหลงลืมไป  แต่ประวัติศาสตร์การสถาปนาระบบหลักประกันสุขภาพไทยได้ถูกบันทึกไว้ในฐานะประวัติศาสตร์บทใหม่  บทเรียนการทวนกระแสและการบิดเบือนระบบเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าของกลุ่มผลประโยชน์แต่ละกลุ่มในหลายประเทศ  เป็นบทเรียนที่ระบบสุขภาพไทยควรจะได้เรียนรู้  และตระหนักว่าด้วยการบริหารจัดการแบบองค์กรของฉัน  พวกของฉันในปัจจุบัน  ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทยทั้งมวล  ได้เดินทางมาถึงช่วงเวลาที่ใกล้ตาแต่ไกลตีนอีกวาระหนึ่ง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาตุรนต์ : ประชาชนไม่ยอมให้หลอกอีกแล้ว?

Posted: 01 Jul 2011 06:15 AM PDT

ผมได้วิจารณ์การหาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้ายไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากเรื่องนโยบายมามุ่งประเด็นโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างดุเดือดของพรรคประชาธิปัตย์

คุณอภิสิทธิ์ดูเหมือนจะพูดจาแบบคนไม่มีอะไรจะเสีย พูดในสิ่งที่คนเป็นนายกฯรัฐมนตรีไม่ควรพูดถี่ขึ้นเรื่อยๆ

คุณอภิสิทธิ์ดูจะไม่ได้โดดเดี่ยวเสียทีเดียว แต่มีพวกออกมาประสานเสียงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะพวกที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารและจ้องล้มทักษิณมาด้วยกัน

ถ้าไม่ใช่ว่าเรากำลังจะมีการเลือกตั้ง การออกมาเคลื่อนไหวด้วยประเด็นเผาบ้านเผาเมือง และประเด็นเกี่ยวกับสถาบันแบบนี้อาจนำไปสู่การรัฐประหารก็ได้

เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผู้คนก็จะพบว่าเรื่องที่ยกขึ้นมา เป็นการเสกสรรปั้นแต่งขึ้นทั้งนั้น หามูลความจริงอะไรไม่ได้

กว่าที่ประชาชนจะพบว่าเรื่องที่ยกมาเป็นการใส่ร้าย เป็นเรื่องเท็จ บ้านเมืองก็เสียหายไปมากจากการรัฐประหาร เป็นแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หนแล้ว

บังเอิญการยกประเด็นใส่ร้าย โจมตีเหล่านี้มาเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง ประชาชนจึงมีโอกาสคิดก่อนตัดสินใจว่า จะเห็นคล้อยตามการใส่ร้ายหรือไม่

ผมยังเชื่อว่า เนื่องจากประชาชนได้ยินการโจมตีแบบนี้มามากแล้ว ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์และพวกจะโหมเรื่องเหล่านี้อีกมากเพียงใดในเวลาที่เหลือก็จะไม่มีผล

ถ้าจะมีผลบ้างก็อาจจะเป็นผลเสียต่อพรรคประชาธิปัตย์และคุณอภิสิทธิ์เอง ไม่เชื่อก็ลองติดตามการปราศรัยหาเสียงของ 2 พรรคใหญ่ที่จะประชันกันในวันนี้ก็ได้

ขณะที่คุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จะไปพูดเรื่องการเมือง ย้อนความหลังเรื่องเหตุการณ์เดือนเมษายน – พฤษภาคม และนำไปสร้างความกลัวตามสไตล์ "ไม่เลือกเราเขามาแน่"

แต่คุณยิ่งลักษณ์กับพรรคเพื่อไทย เขากำลังจะไปพูดเรื่องวิสัยทัศน์ 2020 และสิ่งที่จะทำทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล เป็นเรื่องที่มองไปข้างหน้า  เป็นเรื่องของอนาคต

การปราศรัยวันนี้ของทั้งสองพรรค จึงจะยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และประชาชนน่าจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

คุณอภิสิทธิ์คงลืมไปหรือไม่ก็แกล้งลืม  ว่าคุณอภิสิทธิ์กับพวกได้สร้างภาพความน่ากลัวของฝ่ายตรงข้ามมามาก จนคนรู้สึกว่าถูกหลอกให้กลัวมามากแล้ว

แต่สิ่งที่คนเขากลัวกันมากกว่ากลับเป็นเรื่องของแพง  การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ การทุจริตคอรัปชั่น การบริหารไม่เป็นของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์

วันนี้ประชาชนเขาจึงพร้อมใจกันบอกว่าเขาไม่ยอมให้พวกคุณหลอกอีกต่อไปแล้ว และก็ไม่กลัวในสิ่งที่พวกคุณเสกสรรปั้นแต่งขึ้นอีกแล้ว

การเลือกตั้งครั้งนี้จะพิสูจน์ว่าที่ผมพูดมานี้จริงหรือไม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รับน้อง รัฐประหารและมาโซคิสม์

Posted: 01 Jul 2011 06:06 AM PDT

นับตั้งแต่เป็นนักศึกษากระทั่งพลัดหลงเข้ามาเป็นอาจารย์ ผู้คนรอบกายของผมส่วนใหญ่ มักอธิบายกิจกรรมรับน้องในแง่ดี มีบ้างบางคนที่บ่นและก่นด่าว่าไร้สาระ รุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเป็นสิ่งที่ปัญญาชนไม่ควรกระทำ ทว่า เสียงเหล่านี้แผ่วเบาและถูกกลืนหายไปกับเสียงร้องก้องตะโกนของพี่ว้าก อย่างไรก็ตาม หากเราถอยห่างออกมาจากเสียง “เชียร์” หรือเสียง “สาปแช่ง”  แล้วพิจารณาปรากฏการณ์การรับน้องด้วยแง่มุมเชิงทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ มันอาจช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและเข้าใจสังคมไทยได้มากขึ้น

เริ่มจากทฤษฎีที่โด่งดังอย่างมากในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นคือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionism หรือ Darwinism) ซึ่งเชื่อว่า สรรพสิ่งต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด โดยจะวิวัฒนาการหรือปรับเปลี่ยนสภาพตัวเองและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับตนเองยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งนี้ ผู้ที่เหมาะสมที่สุดหรือแข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด คนที่เชื่อตามแนวคิดนี้จะอธิบายว่า “กิจกรรมรับน้องเป็นการฝึกความอดทน เป็นแบบฝึกหัดก่อนออกไปเผชิญกับอนาคตการทำงาน ที่ยากลำบากมากกว่าอีกหลายเท่าทวีคูณ หนักแค่นี้ ทนไม่ได้ก็ลาออกไปซะ หรือในกรณีที่เคยเป็นข่าวโด่งดังว่านักศึกษา ม.เกษตรฯ ฆ่าตัวตาย เพราะอับอาย ไม่อาจทนเต้นท่าไก่ย่างตามที่รุ่นพี่สั่ง เขาอ่อนแอ ก็สมควรแล้วที่ต้องตาย”

ถ้าเห็นด้วยกับตรรกะเช่นนี้ เมื่อคุณคลอดลูกออกมาพิการ ไม่สมประกอบ คุณก็ควรเอาขี้เถ้ายัดปากลูก เพราะเขาอ่อนแอ ไม่เหมาะกับการเผชิญชีวิตในโลกนี้ หรือคุณก็ควรยอมรับความพ่ายแพ้ที่สยามมีต่อเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสในสมัย รศ.112 เพราะคุณอ่อนแอกว่าเขา คุณไม่ควรมาฟูมฟายว่า “หมาป่า (ฝรั่งเศส) รังแกลูกแกะ (สยาม)” หรือในฐานะนักศึกษา คุณก็ควรยอมรับการติดเอฟโดยดุษณี เพราะความตั้งใจและสติปัญญาอาจน้อยกว่าคนอื่น คุณจึงพ่ายแพ้บนเวทีการแข่งขัน ตัวอย่างทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของทฤษฎีวิวัฒนาการ ว่ามันเหมาะสมกับการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากกว่าเรื่องราวทางสังคม

ทฤษฎีต่อมาที่ทรงอิทธิพลไม่แพ้กัน นั่นคือ ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม (Structural-Functionalism) ซึ่งเชื่อว่า สังคมมี “โครงสร้าง” เหมือนร่างกายของคน ซึ่งอวัยวะหรือ “องค์ประกอบ” ต่างๆ ก็มีบทบาท “หน้าที่” แตกต่างกันไป โดยองค์ประกอบทั้งหลายล้วนดำรงอยู่อย่างสมานฉันท์ ทฤษฎีนี้อธิบายว่า “การรับน้องเป็นพิธีกรรมที่ทำหน้าที่เชื่อมความสามัคคีระหว่างรุ่น ส่งเสริมโครงสร้างสังคมแบบนับถือผู้อาวุโส ให้รุ่นน้องรู้จักเคารพรุ่นพี่ หรือกล่าวได้ว่า มันเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ที่สั่งสมสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน” 

หลายคนคิดว่าประเพณีต้องเป็นสิ่งที่ดีงามและสืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งไม่จริงเสมอไป เช่น คนจีนมีประเพณีหรือความเชื่อว่าลูกสาวเป็นเสนียดจัญไร หลายครอบครัวจึงฆ่าลูกสาวทิ้ง หรือสังคมไทยเอง ก็มีประเพณีให้ภรรยาต้องกราบเท้าสามีก่อนนอน ประเพณีจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีงามเสมอไป นอกจากนี้ การรับน้องก็ไม่ใช่ของไทยแท้แต่ดั้งเดิม มันเริ่มจากอังกฤษและอเมริกาที่ต้องการฝึกคนไปทำงานในประเทศอาณานิคม แล้วเข้าสู่ฟิลิปปินส์ในฐานะเมืองขึ้น จากนั้นก็ส่งต่อสู่รั้วมหาวิทยาลัยของไทยอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัจจุบัน ประเทศตะวันตกยกเลิกประเพณีเช่นนี้ไปแล้ว เพราะไม่สอดรับกับแนวคิดเสรีนิยมของพวกเขา แต่ของไทยยังคงอยู่เพราะมันเข้ากันได้ดีกับภูมิปัญญาไทยแนวอนุรักษ์นิยม

เรายังพบอีกด้วยว่า คำอธิบายตามกรอบโครงสร้างหน้าที่นิยมมีข้อย้อนแย้งอยู่ในตัวเอง กล่าวคือ ขณะที่เชื่อว่ากิจกรรมรับน้องช่วยเสริมสร้างความสามัคคีหรือเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นและต่างรุ่น ไร้ซึ่งการใช้อำนาจและความรุนแรง เมื่อพิจารณาคณะทำงานในกิจกรรมรับน้อง อันประกอบไปด้วยทีมว้ากเกอร์ ทีมสันทนาการ และทีมพยาบาล รวมทั้งการจัดสรรเวลาให้กับแต่ละทีม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทีมว้ากเกอร์รับบทบาทโดดเด่นที่สุด มีหน้าที่ตะโกนข่มขู่ด้วยชุดคำที่เรียกร้องให้รุ่นน้องมีสำนึกต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความเป็นพี่น้อง” (เช่น ไม่อยากได้รุ่นหรือไง พวกพี่เหนื่อยนะที่ต้องมาทำอย่างนี้)  เรื่อง “สถาบันนิยม” (เช่น ไม่ภูมิใจหรือไงที่ได้เข้าเรียนที่นี่)  เรื่อง “ความอดทน” (เช่น แค่นี้ทนไม่ได้หรือไง พวกพี่เขายังทำกันได้เลย)  หรือเรื่อง “ระเบียบวินัย” (เช่น ตัวตรงหน้าตรง ห้ามหันซ้ายหันขวา)  การเรียกร้องจิตสำนึกหรือศีลธรรมที่สังคมเชื่อกันว่าดีงามเหล่านี้ มันคือเทคนิคการใช้อำนาจอันแนบเนียนชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ขู่กรรโชก” (blackmail) ตามรากศัพท์ดั้งเดิมนั่นเอง ดังนั้น กิจกรรมรับน้องที่เน้นการว้ากด้วยเสียงกึกก้องและการขู่กรรโชกด้วยศีลธรรมบางชุด จึงเป็นการใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมาและแนบเนียนซับซ้อน

นอกจากนี้ การแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างเพศก็มีนัยยะสำคัญ เช่น ทีมเสิร์ฟน้ำ อาหาร และพยาบาล มักเป็นเพศหญิง ส่วนทีมว้ากเกอร์นั้น โดยมากมักเป็นเพศชาย กล่าวได้ว่า กิจกรรมรับน้องยังตอกย้ำสถานะทางเพศแบบเก่าที่จัดวางให้ผู้ชายเป็นฝ่ายใช้อำนาจ ส่วนเพศหญิงเป็นฝ่ายเมตตาหรืออ่อนโยน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายก็ทำหน้าที่สอดประสานกันได้อย่างลงตัว นั่นคือ หลังจากฝ่ายชายใช้อำนาจอย่างเข้มข้นแล้ว ฝ่ายหญิงก็มาปลอบประโลมด้วยเครื่องดื่ม รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ จากนั้นจึงกลับสู่โหมดอำนาจของฝ่ายชายต่อ  “การตบหัวแล้วลูบหลัง” ที่ดำเนินสลับกันไปมา จึงเป็นเทคนิคหนึ่งของการใช้อำนาจมิให้มันขมึงตรึงจนขาด ในส่วนของกะเทย ก็มีบทบาทในการเชียร์ลีดเดอร์ ทั้งในฐานะผู้ฝึกสอนและตัวลีดเดอร์เอง แต่ก็ต้องช่วงชิงตบตีกับฝ่ายหญิง ที่มีบทบาทไม่แพ้กัน อาจมองว่ากิจกรรมรับน้องเปิดพื้นที่ให้กะเทยเข้ามาเป็นผู้กระทำการได้ แต่ถ้าการรับน้องเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจแล้วละก็ กะเทยก็เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดนั่นเอง น่าเสียดายที่พวกเธอกล้าจะขบถทางเพศ แต่เลือกจะเป็น “กุลกะเทย” ทางวัฒนธรรม 

ทั้งสองทฤษฎีที่ผ่านมาเป็นกรอบการอธิบายสังคมกระแสหลัก เพราะไม่สะเทือนต่ออำนาจของชนชั้นนำหรือผู้ยึดกุมความได้เปรียบอยู่ในโครงสร้างสังคมแบบเก่า ขณะที่ทฤษฎีตัวสุดท้ายไม่ค่อยมีพื้นที่ในสังคมไทย แต่มีพลังในการอธิบายเชิงวิชาการสูง นั่นคือ ทฤษฎีมาร์กซิสม์ (Marxism) ซึ่งมี คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เป็นเจ้าสำนัก ทฤษฎีนี้มองว่าทุกสังคมย่อมมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้น โดยชนชั้นที่เหนือกว่าหรือที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ย่อมขูดรีดชนชั้นล่างอยู่เสมอ

ทฤษฎีนี้มองว่า “กิจกรรมรับน้องเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่น เป็นพิธีกรรมที่ชนชั้นกลางสร้างและสืบทอดกันมา (เพราะมีแต่ในมหาวิทยาลัย) เพื่อให้ยอมรับหรือคุ้นชินกับอำนาจแบบขั้นบันไดในทำนองเดียวกับระบบราชการ ที่พวกตนจะจบออกไปเจอ”  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การรับน้องเป็นกิจกรรมของชนชั้นกลางไทย ที่ยังสัมพันธ์แนบแน่นกับระบบอุปถัมภ์ ระบบอาวุโส และระบบอำนาจนิยม ซึ่งทั้งสามระบบคิดล้วนเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาสังคมไทย กล่าวคือ ระบบอุปภัมภ์อยู่บนฐานของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแนวดิ่ง ที่มีผู้ให้กับผู้รับ ระบบราชการไทยและระบบหัวคะแนนก็อยู่ภายใต้เครือข่ายเช่นนี้ ยิ่งกว่านั้น หากนักศึกษา ม.อุบลฯ ยอมรับตรรกะเช่นนี้ ก็นับว่าโง่เต็มที่ เพราะคุณไม่มีทางไปสู้ระบบอุปภัมภ์ของจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ได้หรอกครับ

ส่วนระบบอาวุโส คือการยึดเอาเกณฑ์เรื่อง “อายุ” มาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินหรือชี้วัดความถูกผิด โดยเพิกเฉยต่อเรื่องความสามารถ เหตุผล ความดี ความถูกต้อง เช่น การเลื่อนขั้นของระบบราชการโดยเฉพาะแวดวงทหารและตำรวจ ท้ายที่สุด ระบบอำนาจนิยม ซึ่งหมายถึงความเชื่อที่ว่า “อำนาจ” เป็นสิ่งที่ดี ดลบันดาลได้ทุกสิ่ง ผู้ใดมีอำนาจผู้นั้นคือคนดีคือพระเจ้าที่เราต้องเชื่อฟังและสยบยอม ต่างจากตะวันตกที่เชื่อว่า “power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely”  คนไทยจึงมักฝากความหวังไว้กับผู้เป็นใหญ่เป็นโตทั้งหลาย เช่น เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการแต่งตั้งดีกว่าจากการเลือกตั้ง

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมเห็นคนชั้นกลางมอบดอกไม้ให้ทหารและถ่ายรูปคู่กับรถถัง ช่วงเปิดเทอมแรกของทุกปีการศึกษา ผมเห็นและได้ยินเสียงการรับน้อง ผมเศร้า ผมพยายามทำความเข้าใจมันด้วยกรอบคิดทั้งสามแบบที่กล่าวมา หรือว่าแท้จริงแล้ว คนชั้นกลางไทยมันมีรสนิยมทางเพศแบบมาโซคิสม์ (masochism) มันจึงชอบดูหนังตบจูบตบจูบอย่าง จำเลยรัก  และชอบฟังเพลงแบบ “กักขังฉันเถิด กักขังไป...”

หรือว่าผมควรลองเสียวแบบมาโซคิสม์ดูบ้าง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นักกิจกรรมไทยประณามรัฐบาลมาเลเซียปราบประชาชนที่เรียกร้องปฏิรูปการเลือกตั้ง

Posted: 01 Jul 2011 05:50 AM PDT

นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักศึกษาและประชาชนชุมนุมหน้าสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เพื่อประณามกรณีปรามปรามและจับกุมประชาชนที่รณรงค์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้งในมาเลเซีย

ภาพนักกิจกรรมไทยประท้วงรัฐบาลมาเลเซียที่จับกุมกลุ่มรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (Bersih 2.0) ที่หน้าสถานทูตมาเลเซียประจำกรุงเทพ ถ.สาธร เมื่อ 1 ก.ค. 54 (เอื้อเฟื้อภาพโดย: กัปตัน จึงธีรพาณิช)

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (1 ก.ค.54) เวลา 11.00 น. นักกิจกรรมประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มประกายไฟ กลุ่มคนงาน TRY ARM, มูลนิธิศักยภาพชุมชน, กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, องค์กรเลี้ยวซ้าย และนักกิจกรรมอื่นๆ หลายสิบคนมาชุมนุมที่สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องและประณามการจับกุมตัวนักกิจกรรม นักการเมืองของมาเลเซียที่ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสะอาด เสรีและเป็นธรรม โดยทางสถานเอกอัครราชทูตได้ส่งนายนาซารูดิน จาอาแฟ เลขาธิการอันดับ 1 ประจำสถานทูต มารับหนังสือ

เลขาธิการประจำสถานทูตยืนยันว่าจะส่งเรื่องไปยังรัฐบาลมาเลเซีย และยืนยันว่าไม่มีอำนาจในการบังคับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ด้านนักกิจกรรมที่มาประท้วงย้ำว่าจะจับตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหากไม่มีอะไรคืบหน้าก็จะมาติดตามและเรียกร้องใหม่อีกครั้ง

โดยจดหมายที่มีการยื่นต่อสถานทูตนั้นระบุถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอับดุล ราซัก เพื่อประณามการกระทำของตำรวจและรัฐบาลมาเลเซียที่ปราบปรามนักกิจกรรมสังคมในมาเลเซียซึ่งกำลังจัดการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (Bersih 2.0) ในนามองค์กรสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักศึกษาและประชาชนของประเทศไทย

ในจดหมายยังระบุการจับกุมสมาชิกพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ว่า “เป็นการกระทำที่รุนแรงพวกเขาถูกข้อกล่าวหาประกาศสงครามต่อกษัตริย์ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา122ของมาเลเซีย”

และในตอนท้ายของจดหมายยังได้เรียกร้องว่า ขอให้รัฐบาลและตำรวจมาเลเซียปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากการรณรงค์ Bersih 2.0 อย่างไม่มีเงื่อนไขหรืออย่างน้อยก็ต้องยกเลิกการฟ้องข้อหาประกาศสงครามต่อกษัตริย์ต่อพวกเขาการรวมตัวกันและการชุมนุมอย่างสงบจะได้รับการอนุญาตและไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เราคาดหวังในความร่วมมือจากท่านในฐานะที่เหตุการณ์นี้สามารถแสดงถึงอนาคตและความมั่นคงของสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เลขาธิการประจำสถานสถานเอกอัครราชทูต กล่าวกับตัวแทนนักกิจกรรมที่มายื่นจดหมายว่า ที่มามารับจดหมายนี้ ตนเป็นตัวแทนของทูต ส่วนทูตนั้นติดธุระไม่อาจมารับด้วยตนเองได้ ซึ่งสามารถส่งเอกสารผ่านตนได้” อย่างไรก็ตามไม่สามารถแสดงความเห็นได้ แต่ยินดีรบฟังความคิดเห็นของผู้ยื่นจดหมาย แต่ไม่สามารถรับปากได้ว่าจดหมายที่ยื่นถึงทางการมาเลเซียจะมีปฏิกิริยาอะไรจากทางรัฐบาล เพราะไม่ใช่อำนาจของตน

ด้าน วิภา ดาวมณี” ตัวแทนจากองค์กรเลี้ยวซ้าย กล่าวว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ถูกจับกุมในมาเลเซียจากการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งสะอาด เพิ่มจาก 30 คนเป็น 108 คน ซึ่งโดนจับมาตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน ทั้งนี้ผู้ประท้วงเรียกร้องการเลือกตั้งที่ใสสะอาดและเป็นธรรม แต่รัฐบาลมาเลเซียกลับตั้งข้อหาว่ามีการกระทำที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ รวมถึงกล่าวหาว่าพยายามที่จะก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

นี่เป็นการกระทำของเผด็จการอย่างชัดเจน เพราะทั่วโลกกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชนชั้นปกครองทนไม่ได้ และในมาเลเซียมีหัวหอกนำโดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซียเลยกลายเป็นเป้าที่ชนชั้นนำจะเล่นงาน ดังนั้นเราต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ทั้งหมด” วิภากล่าว

ด้าน "ศรวิษฐ์ โตวิวิชญ์" ตัวแทนจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กลุ่มจะจัดกิจกรรมเล็กๆ คู่ขนานไปกับการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในมาเลเซียวันที่ 9 กรกฏานี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสมานฉันท์กับกลุ่มที่กำลังประท้วงในมาเลเซีย

การละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยกับมาเลเซียไม่ต่างกันสักเท่าใดนัก เพราะฉะนั้นการติดต่อเชื่อมโยงระหว่าประเทศกันก็จะทำให้ขบวนการในการเปลี่ยนแปลงของเรามีความเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่มีอาวุธในการไปต่อกรอะไรกับรัฐบาล เรามีเพียงความร่างกายและความคิดเห็น ถ้ารัฐบาลในประเทศอาเซียนที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเสียงประชาชนนั้นต้องได้รับความสำคัญ” ศรวิษฐ์ ทิ้งท้าย

จิตรา คชเดช ตัวแทนจากกลุ่มคนงาน TRY ARM กล่าวว่าสถานการณ์ในไทยและมาเลเซียแทบจะไม่ต่างกัน ถ้าภูมิภาคนี้รัฐบาลเป็นเผด็จการในลักษณะนี้ก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบกันแล้วจะเป็นเผด็จการทั้งภูมิภาค ซึ่งตนไม่ต้องการนี้เป็นภูมิภาคเผด็จการ หลังจากนี้ไปคงต้องติดตามสถานการณ์ในมาเลเซียอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์ในไทยเองก็ยังเลวร้าย พร้อมเตรียมเคลื่อนไหวคู่ขนานร่วมกันต่อไป

ส่วน "พิมพ์ศิริ เพชรน้ำรอบ" ตัวแทนจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า ประเด็นการเมืองในมาเลเซียในขณะนี้ขยายจากปฏิรูปการเลือกตั้งได้ยกระดับเป็นเรื่องแบ่งแยกเชื้อชาติไปแล้ว ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว และเหมือนรัฐบาลกระตุ้นประเด็นนี้เพื่อให้พวกชาตินิยมสุดโต่งออกมาต่อต้านพวกที่เรียกร้องปฏิรูปเลือกตั้ง อย่างเช่นจากเรื่องปฏิรูปเลือกตั้งกลายเป็นข้อหาต่อต้านกษัตริย์”

อยากฝากให้ประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในไทย มองว่าในต่างประเทศก็มีการเรียกร้องเหมือนกับเรา จึงอยากให้แสดงความสมานฉันท์สากลเพราะเป็นการต่อสู้ในประเด็นเดี่ยวกัน อาจจะส่งผลให้ประเด็นการต่อสู้ของเสื้อแดงหรือขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในไทยมีพลังมากขึ้นอีกด้วย” พิมพ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย

โดยขณะกลุ่มดังกล่าวยื่นจดหมายนั้นมีกำลังตำรวจทั้งชายและหญิงประมาณ 20 นายมาดูแลความสงบบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตด้วย

 

 
 

จดหมายเปิดผนึก

1 กรกฎาคม 2554

เรื่อง: ประณามการกระทำของตำรวจและรัฐบาลมาเลเซียที่ปราบปรามนักกิจกรรมสังคมในมาเลเซียซึ่งกำลังจัดการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม(Bersih 2.0)
เรียน: นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ ศรี โมฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัก

เรา องค์กรสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักศึกษาและประชาชนของประเทศไทยขอประณามการกระทำของตำรวจและรัฐบาลมาเลเซียที่ปราบปรามนักกิจกรรมสังคมในมาเลเซียซึ่งกำลังจัดการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม(Bersih 2.0)ซึ่งการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมเป็นสิทธิที่ระบุไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากลและควรได้รับความเคารพจากรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลก การกระทำของตำรวจที่ปีนังและเกอปาลาบาตาสต่อสมาชิกพรรคสังคมนิยมมาเลเซียถือว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงพวกเขาถูกขอกล่าวหาประกาศสงครามต่อกษัตริย์ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา122ของมาเลเซีย

เราเข้าใจว่ารัฐบาลมาเลเซียมีความจำเป็นที่ต้องรักษาความมั่นคงของประเทศแต่สิ่งที่นักกิจกรรมเหล่านั้นได้ทำคือการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องและทัศนคติของรัฐบาลที่มีต่อเสรีภาพทางการพูดในเรื่องการเมืองการรณรงค์นี้อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแต่นั่นก็เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยความมั่นคงของประเทศกับความมั่นคงของรัฐบาลควรถูกแยกจากกันให้ชัดเจนเพียงสัญลักษณ์ของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาไม่ควรที่จะถูกตีความว่าเป็นความพยายามที่จะล้มล้างระบอบการปกครองตามที่รัฐบาลมาเลเซียเคยเซ็นข้อตกลงหาดใหญ่เมื่อปี2532แล้ว

การบุกเข้าจับกุมในสำนักงานของเอ็นจีโอและการจับกุมผู้คนที่สวมใส่สัญลักษณ์ของ Bersih 2.0 จะถูกประณามจากสังคมโลกผู้ถูกจับกุมบางคนที่ปีนังได้ระบุว่าพวกเขาถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐบาลควรเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

ดังนั้น เราจึงขอให้รัฐบาลและตำรวจมาเลเซียปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากการรณรงค์Bersih 2.0 อย่างไม่มีเงื่อนไขหรืออย่างน้อยก็ต้องยกเลิกการฟ้องข้อหาประกาศสงครามต่อกษัตริย์ต่อพวกเขาการรวมตัวกันและการชุมนุมอย่างสงบจะได้รับการอนุญาตและไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เราคาดหวังในความร่วมมือจากท่านในฐานะที่เหตุการณ์นี้สามารถแสดงถึงอนาคตและความมั่นคงของสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลงชื่อ
-มูลนิธิศักยภาพชุมชน
-กลุ่มประกายไฟ
-กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
-กลุ่มคนงาน TRY ARM
-องค์กรเลี้ยวซ้าย

 
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ค้านพรรคการเมือง ชูวิสัยทัศน์เพ้อฝันดูถูกประชาชน

Posted: 01 Jul 2011 05:28 AM PDT

หลอกลวงจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรีสตาร์ท 30,000 บาท อีก10 ปีข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุผลรองรับชี้เป็นการดูถูกสิทธิประชาชนอย่างขาดความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมา วอนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งใช้เหตุผลในการใช้สิทธิ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใหญ่ แสดงแผ่นชาร์ตวิสัยทัศน์นโยบายค.ศ. 2020 หรือพ.ศ.2563 ของพรรคฯในหลาย ๆ สื่อในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงโดยระบุว่า ต้องการจะบอกกับประชาชนให้ทราบถึงวิสัยทัศน์วันข้างหน้าว่าพรรคดังกล่าวจะเดินไปอย่างไร โดยอ้างว่านโยบายที่นำเสนอในการเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้ หากดำเนินการต่อเนื่องเมื่อสิ้นปี พ.ศ.2536 รายได้ของประชาชนจะต้องไม่น้อยกว่า 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ค่าจ้างขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อวัน เงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 30,000 บาทต่อเดือน ประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็น 2 เท่าเป็นต้น

การโฆษณาดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของความเป็นได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยในช่วงระยะเวลา 10 ปีตามอ้างเมื่อพิจารณาถึงอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและสถิติของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงถอยหลังไป 10 ปีที่พบว่าในปี พ.ศ.2540 มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดเพียง 162 บาทต่ำสุดเพียง 130 บาท ปีพ.ศ.2545 มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดเพียง 168 บาทต่ำสุดเพียง 130 บาทเท่านั้น ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดมีเพียง 221 บาทต่ำสุดเพียง 159 บาท ส่วนผู้จบปริญญาตรีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุหากรับราชการมีเพียง 7,940 บาท/เดือนเท่านั้น หากผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคการเมืองใหญ่จะกำหนดว่าในปี พ.ศ.2563 คนไทยจะมีค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 1,000 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีขั้นเริ่มต้นเดือนละ 30,000 บาท ก็จะมีอัตราการก้าวกระโดดของการขึ้นค่าจ้างถึง 452 % จากปัจจุบันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่หากเป็นจริงจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมากมาย เช่น

1) อัตราเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ค่าเงินจะถูกลดค่าลงไปเป็นจำนวนมาก สิ้นค้าต่าง ๆ ทั้งสินค้าที่จำเป็น สินค้าเพื่อการอุปโภค บริโภค จะแพงขึ้นเท่ากับอัตราก้าวกระโดด คือ 452 เท่าทันที เวลาพกเงินไปจ่ายตลาดต้องใส่กระสอบไปเลยทีเดียว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เช่น ประเทศลาว ประเทศคองโก ประเทศอาเจนติน่า เป็นต้น

2) ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะล้มละลายทันทีกว่า 5 แสน ถึง 1 ล้านโรงงาน/บริษัททันที เพราะไม่สามารถมีเงินทุนเพียงพอที่จะมาหมุนเวียนจ่ายค่าแรงคนงานในอัตราก้าวกระโดดเช่นนั้นได้

3) จะเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างคณะกรรมการไตรภาคีที่กำหนดค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน ทั้งภาคนายจ้าง ภาคลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ เพราะต่างคนต่างไม่ยอมกันแน่นอน

4)ประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศจะถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง เพราะมีผลต่อการกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะทุกคนจะตกงานทันที โรงงาน บริษัท ผู้ประกอบการปิดตัวเองลง ชาวบ้านผู้ใช้แรงงานก็จะไม่มีงานทำ เกิดปัญหาทางสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาอื่น ๆ อีกสารพัดตามามากมายเกินคาดการณ์ได้ครบถ้วน

ความเสียหายดังกล่าว ถ้าเกิดขึ้นจริงผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใหญ่และผู้บริหารพรรคดังกล่าวจะรับผิดชอบในทางการเมืองอย่างไร มีวิสัยทัศน์ที่จะแก้ปัญหานโยบายที่ผิดพลาดของตนเองอย่างไร เช่น นโยบายฆ่าตัดตอน นโยบาย 30 บาทตายทุกโรค เป็นต้น หรือเมื่อถึงเวลานั้นก็หอบข้าวหอบของถ่ายเททรัพย์สินของตนเองและครอบครัวไปยังต่างประเทศเพื่อหนีความผิดและเสวยความสุขสบายเรียบร้อยแล้ว เหมือนนักการเมืองใหญ่ในอดีต

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ใคร่ขอวิงวอนให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบนโยบายขายฝันของนักการเมืองต่าง ๆ ดังกล่าวว่า เป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริงหรือเป็นเพียงการขายฝันโฆษณาชวนเชื่อไปวัน ๆ เพียงเพื่อใช้เป็นเล่ห์หลอกลวงการใช้สิทธิของประชาชน เพื่อให้พลั้งเผลอผิดพลาดในการใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้เท่านั้น เพราะการกำหนดนโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นการ “ดูถูกสิทธิของผู้เลือกตั้ง” โดยไม่มีความรับผิดชอบครั้งสำคัญที่สุดเท่าทีนักการเมืองไทยเคยคิดกำหนดนโยบายหาเสียงในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผ่านมาเลยทีเดียว นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: เงื่อนไขการปรองดอง คือความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม

Posted: 01 Jul 2011 05:13 AM PDT

ก้าวต่อไปของสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง อาจเป็นไปได้สองแนวทาง คือ

1. แนวทางยึดหลักคิดแบบสัมบูรณนิยม (Absolutism) ถือว่าถูก-ผิดเป็นของตายตัว ถูกคือถูก ผิดคือผิด ไม่มีการนิรโทษกรรมให้ใคร แต่ละฝ่ายต่อสู้กันตามกฎหมายต่อไป

แต่จะไม่มีคำตอบต่อปัญหาเก่าและที่ยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่น หากถือว่าถูกคือถูก ผิดคือผิดแบบตายตัว ใครทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ปัญหาคือแล้วฝ่ายทำรัฐประหารทำไมไม่ต้องรับผิด นิรโทษกรรมตนเองได้ แต่ฝ่ายถูกทำรัฐประหารทำไมต้องรับผิดเพียงฝ่ายเดียว นิรโทษกรรมตนเอง (จากการเอาผิดโดยกระบวนการรัฐประหาร) ไม่ได้

และการต่อสู้กันไปตามกฎหมายของฝ่ายต่างๆ ก็ไม่มีคำตอบว่าจะนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างไร (หรือจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงตามมาอีกหรือไม่)

2. ยึดหลักคิดแบบประโยชน์นิยม (Utilitarianism) คือ สร้างความปรองดองโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ผมจะ “ลองเสนอ” (จะไม่เห็นด้วยหรือจะด่าก็ไม่เป็นไร) แนวทางการปรองดองแบบประโยชน์นิยม หากไม่ชอบคำว่า “ประโยชน์สูงสุด” แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะขอเปลี่ยนเป็นคำใหม่ว่า “ยุติธรรมมากที่สุด” แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ในที่นี้ หมายถึงตัวละครทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง กองทัพ อำมาตย์ คนเสื้อเหลือง เสื้อแดง รวมทั้งสังคมไทยทั้งหมด

ส่วน “การปรองดอง” ตามนิยามของผมไม่ได้เน้นไปที่การจับมือกัน ความรักสามัคคี อะไรทำนองนั้น แต่หมายถึง “การขจัดเงื่อนไขของความแตกแยก” เมื่อเงื่อนไขความแตกแยกถูกขจัดไป แม้เราจะยังขัดแย้งกัน แต่ก็จะเป็นความขัดแย้งตามปกติในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่ความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรงดังที่เป็นมา

เงื่อนไขความแตกแยกที่เห็นได้ชัดคือ “ความไม่ยุติธรรม” หมายถึง การที่ตัวละครที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองฝ่ายหนึ่งมีแต่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งมีแต่เสีย กล่าวคือกองทัพ อำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์ (รวมพรรคร่วมบางพรรค) มีแต่ได้

คือทหาร อำมาตย์ทำรัฐประหาร (ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรก) ได้อำนาจรัฐมา สร้างกลไกขึ้นมากำจัดฝ่ายตรงข้าม มีกระบวนการสืบทอดอำนาจ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกสนับสนุนขึ้นมาเสวยอำนาจ อำมาตย์ ทหาร (พรรคประชาธิปัตย์) กระชับอำนาจเข้มแข็งขึ้น มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงขึ้น ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ฯลฯ

ส่วนที่ฝ่ายนี้เสียมีเพียงแค่ถูกด่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนจำนวนหนึ่งเสื่อมศรัทธา ถูกประท้วงต่อต้าน แต่พวกเขาก็แก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการสร้างความกลัว ข่มขู่ ใช้กฎหมายหมิ่นฯ ปราบปรามประชาชนที่ประท้วงต่อต้าน จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

ส่วนอีกฝ่ายมีแต่เสียกับเสีย คุณทักษิณอยู่ในประเทศไม่ได้ เสื้อเหลือง-เสื้อแดงกลายเป็นผู้ต้องหาก่อการร้าย เสื้อเหลืองตายไป 2 คน บาดเจ็บร่วม 600 คน เสื้อแดงตาย 93 คน บาดเจ็บร่วม 2,000 คน และยังติดคุกอีกจำนวนมาก

การที่ฝ่ายหนึ่งมีแต่เสียกับเสีย อีกฝ่ายมีแต่ได้กับได้ ทำรัฐประหารแล้วนิรโทษกรรมตัวเองได้ มีอำนาจรัฐอยู่ในมือและใช้ “สองมาตรฐาน” กับฝ่ายตรงข้ามอยู่แทบทุกรณีเช่นนี้ คือภาวะของ “ความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง”

หากยังดำรงสภาวะเช่นนี้ต่อไป ความแตกแยกจะไม่มีวันจบสิ้น ผลเสียที่เป็นมาแล้วคือประเทศขาดโอกาสพัฒนาแทบทุกด้าน และผลเสียต่อไปในอนาคตสังคมอาจจะต้องเผชิญความรุนแรงรอบใหม่ เพราะไม่มีหลักประกันว่าการอ้างสถาบันเพื่อทำรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก

ฉะนั้น ทางแก้ปัญหา จะต้องขจัด “ความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง” อันเป็นเงื่อนไขของความแตกแยก ดังนี้

1) นิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รัฐประหารนิรโทษกรรมแก่ตัวเองไปแล้ว ที่เหลือคือคดีคุณทักษิณ พรรคการเมืองที่ถูกยุบ คดีก่อการร้ายทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การสลายการชุมนุมเมษา – พฤษภา 53 โดยรัฐบาลประชาธิปัตย์และกองทัพ ทั้งหมดนี้ควรนิรโทษกรรม เพราะจะนิรโทษกรรมแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ (แม้จะเป็นไปได้ในทางหลักการ)

แต่การนิรโทษกรรมดังกล่าว ต้องไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของฝ่ายต่างๆ เท่านั้น จำเป็นต้องตอบสนองต่อการแก้ปัญหา “การเปลี่ยนผ่าน” สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ฉะนั้น การนิรโทษกรรมตามข้อ 1) นี้ จะกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขของข้อ 2 – 5 เท่านั้น กล่าวคือ

2) เงื่อนไขการชดเชยและยกย่องผู้บาดเจ็บล้มตายในการเรียกร้องประชาธิปไตย แม้ในความเป็นจริงเราไม่อาจชดเชยใดๆ ให้คุ้มกับการสูญเสียดังกล่าวได้ แต่เราจำเป็นต้องชดเชยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ต้องมีตัวเลขเงินชดเชย หรือดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จัดงบประมาณสร้างอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานยกย่องบุคคลเหล่านี้ในฐานะ “วีรชนประชาธิปไตย” อาจมีการจัดพิธีให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งร่วมรำลึกการเสียสละของวีรชนเหล่านี้เพื่อยืนยันว่า ในอนาคตจะไม่มีความสูญเสียเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศนี้อีก ฯลฯ

3) เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อาจจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นพิมพ์เขียวแล้วปรับปรุง โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ

4) เงื่อนไขการปฏิรูปกองทัพ โดยหลักการคือทำให้กองทัพเป็นกองทัพของประชาชน ทหารเป็นทหารอาชีพ ไม่แทรกแซงทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง มีระบบและกลไกการตรวจสอบ/คานอำนาจการสั่งใช้กำลัง การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ

5) ปฏิรูปสถาบันองคมนตรีและสถาบันกษัตริย์ หมายถึงการกำหนดกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันองคมนตรี และสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค

เงื่อนไขข้อที่ 2-5 นี้ คือคำตอบรูปธรรมว่า “การนิรโทษกรรม” เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างไร หรือมีความหมายต่อ “การเปลี่ยนผ่าน” สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร

หากไม่ทำตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ (เป็นอย่างน้อย) การนิรโทษกรรม หรือการปรองดอง ก็คงเป็นได้แค่ “การเกี้ยเซี๊ย” ของชนชั้นนำทางการเมืองเหมือนเดิมๆ ที่ผ่านมา ประชาชนก็ตายฟรี อนาคตประชาธิปไตยก็ยังคงอยู่ในความมืดมนเหมือนเดิม!      

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่ายิงชาวบ้านไทใหญ่เจ็บ แถมขวางนำส่งโรงพยาบาล

Posted: 01 Jul 2011 03:28 AM PDT

ชาวบ้านไทใหญ่คนหนึ่งในพื้นที่เมืองไหย๋ รัฐฉานภาคเหนือ ถูกทหารพม่ายิงได้บาดเจ็บสาหัสขณะกลับจากทำงาน ญาตินำส่งโรงพยาบาลแต่กลับถูกทหารประจำด่านตรวจขัดขวาง

 

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ชาวบ้านที่ถูกทหารพม่ายิงชื่อ นายจายป่าง อายุ 33 ปี บุตรนายลุงออ นางตานหลู่ อยู่บ้านปุ่ง เขตเมืองไหย๋ โดยเขาถูกทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 325 ซึ่งมีฐานประจำการอยู่ที่บ้านปุ่ง ยิงเข้าใส่โดยไม่ทราบสาเหตุขณะที่เขากำลังเดินทางกลับจากทำงานโรงงานชาแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเขาถูกกระสุนปืนเฉียดเข้าที่แก้ม 1 แห่ง บริเวณลำคอ 1 แห่ง และต้นแขนขวาอีก 1 แห่ง ได้รับบาดเจ็บสาหัส

โดยหลังเกิดเหตุญาติพี่น้องได้ช่วยกันนำตัวคนเจ็บส่งโรงพยาบาลในตัวเมืองไหย๋ แต่ระหว่างทางได้ถูกทหารพม่าประจำด่านตรวจทางเข้าสู่ตัวเมืองไหย๋ทำการขัดขวางไม่ให้นำตัวส่งโรงพยาบาล และได้บอกให้นำกลับไปรักษาที่อื่นโดยที่ไม่เปิดเผยเหตุผลและไม่สนใจต่อคำร้องขอใดๆ กระทั่งญาติพี่น้องจำต้องนำพาผู้บาดเจ็บกลับบ้านด้วยความหดหู่ใจ ขณะที่ทหารพม่าที่ก่อเหตุไม่ได้แสดงความรับผิดชอบหรือชี้แจงถึงสาเหตุการยิงชาวบ้านรายนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' ในพื้นที่ภาคเหนือของรัฐฉานตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่ถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิ์ทั้งรีดทรัพย์ เกณฑ์ลูกหาบ รวมถึงทารุณสอบสวนอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตจากการถูกสงสัยเป็นผู้ให้การสนับสนุนกองกำลังไทใหญ่ SSA แล้วหลายราย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อมูลวิจัยระบุ: ปีนี้ในรัฐฉานมีการปลูกฝิ่นเพิ่มมากขึ้น

Posted: 01 Jul 2011 03:12 AM PDT

สถานการณ์ยาเสพติดในรัฐฉานน่าห่วง ปีนี้พบมีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น เหตุชาวบ้านและกองกำลังอาสาสมัครใต้กำกับของทางการได้รับไฟเขียว ขณะที่ฝิ่นและเฮโรอีนมีราคาพุ่งสูง

ข้อมูลวิจัยยาเสพติดในรัฐฉาน "โครงการฉานดรัควอชท์" ของสำนักข่าวฉานระบุว่า การปลูกฝิ่นในรัฐฉานช่วงฤดูการปลูกปลายปี 2553 และต้นปี 2554 พบมีการปลูกเพิ่มมากขึ้น และในปีนี้มีแนวโน้มที่จะได้ผลผลิตที่ดีด้วย ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องจากฤดูปลูกปีนี้ภูมิอากาศเอื้ออำนวยกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ในภาคตะวันออกรัฐฉานพบมีการขยายพื้นที่ปลูกฝิ่นมากขึ้น

ส่วนสาเหตุมีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากมีชาวบ้านรวมถึงกองกำลังอาสาสมัครซึ่งอยู่ใต้กำกับของทางการพม่าได้รับไฟเขียวมากขึ้นจากเหตุที่พวกเขาให้สนับสนุนการเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่มีผู้นำกองกำลังอาสาสมัครในรัฐฉานหลายคนซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดได้รับเลือกเป็นสมาชิกในหลายสภาของรัฐบาลใหม่

อีกสาเหตุหนึ่งที่มีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากปีนี้กองทัพสหรัฐว้า UWSA ไม่เข้มงวดลงโทษผู้ปลูกฝิ่นเช่นหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในพื้นที่ภาคตะวันออกรัฐฉาน ซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวกองกำลังว้า UWSA มีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ชาวไร่ฝิ่นหลายคนบอกว่า หากการปลูกฝิ่นฤดูใหม่ที่กำลังจะมาถึงในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ได้รับความอำนวยจากฝนฟ้าอากาศก็อาจได้ผลผลิตดีกว่าปีที่ผ่านมา

มีรายงานจากแหล่งข่าวด้วยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่หลายอำเภอของรัฐฉานภาคใต้ได้เริ่มลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ฝิ่นแล้ว เช่น พื้นที่เมืองน้ำจ๋าง , หัวโปง , สี่แส่ง , ลายค่า และ เมืองกึ๋ง ขณะที่การซื้อขายฝิ่นขณะนี้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ฝิ่นมีราคาอยู่ที่จ๊อย (1.6 กก.) ละ 25,000 บาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงจ๊อยละ 40,000 – 45,000 บาทแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเหตุเนื่องจากมีความต้องการสูงจากกลุ่มพ่อค้า ส่วนราคาเฮโรอีนแถบพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำก็พุ่งสู่งเช่นกัน โดยขณะนี้ราคาซื้อขายอยู่ที่ 310,000 - 320,000 บาท ต่อน้ำหนัก 1 จิน (700 กรัม) ขณะที่เมื่อปีที่แล้วราคาอยู่ที่ 290,000 บาท

ทั้งนี้ ช่วงฤดูการปลูกฝิ่นในรัฐฉานระหว่างปี 2551-2553 พบมีปริมาณการปลูกเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนๆ แต่เนื่องจากต้องประสบกับสภาพอากาศย่ำแย่ทั้งหนาวจัด และมีฝนตกชุกทำให้ผลผลิตไม่ดีพอ ส่วนสาเหตุมีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ตามข้อมูลรายงาน "โครงการฉานดรัควอชท์" ที่เปิดเผยเมื่อปีที่ผ่านมาระบุว่า เป็นเพราะกองทัพพม่ายังต้องพึ่งพาการเก็บภาษีจากฝิ่น และมีนโยบายที่ปล่อยให้กกล.อส. ในพื้นที่หลายกลุ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำงานปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ 46 เมืองจาก 55 อำเภอในรัฐฉานยังคงมีการปลูกฝิ่

สำนักข่าวฉาน (SHAN) ได้มีการสำรวจจัดเก็บข้อมูลและทำเป็นหนังสือรายงานเกี่ยวกับยาเสพติดในรัฐฉาน ภายใต้โครงการชื่อ "ฉานดรัควอทช์" (Shan Drug Watch) เป็นประจำทุกปี โดยข้อมูลรายละเอียดจากการวิจัยยาเสพติดในรัฐฉานประจำปี 2553 – 2554 กำลังอยู่ระหว่างเรียบเรียงและจะมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในเร็วๆ นี้


ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนเสื้อแดง “Agent of Change ?”: บทสำรวจบางประการ

Posted: 01 Jul 2011 02:34 AM PDT

บทนำ

การต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อนหน้า 19 กันยา 49 เล็กน้อยจนถึงปัจจุบัน ได้สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด หากว่าสังเกตดีๆก็จะพบสิ่งที่น่าสนใจหลายประการในกลุ่มคนเหล่านี้ อาทิเช่น คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เริ่มต้นการต่อสู้ทางการเมืองแบบ “ไม่มีอะไรในหัว” มาก่อนเลยแต่กลับสู้ยิบตาลองผิดลองถูกตลอด หรือว่าแนวร่วมคนเสื้อแดง “ผู้คร่ำหวอด” ในการต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ภายหลังการพังทลายของระบอบเผด็จการทหาร 14 ตุลาฯมาร่วมแจมแต่กลับไม่มีอิทธิพลต่อคนเสื้อแดงในแนวกว้างมากนัก หรือว่าผู้นำคนเสื้อแดงในรูปแบบกลุ่มนายทุนโลกาภิวัฒน์และพรรคการเมืองในระบบที่เต็มไปด้วยการหนุนหลังของชนชั้นนำมากมายตั้งแต่ข้าราชการจนไปถึงหัวคะแนนในระดับชุมชนซึ่งแม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่มาก  เป็นต้น...

ปรากฎการณ์การต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทย ทำไมผมจึงกล่าวว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ หากพิจารณาการต่อสู้ทางการเมืองในอดีตเราจะเห็นตัวละครในการเมืองไทยเพียงไม่กี่ตัวละครเท่านั้นที่ “กึ่งผูกขาด” ในการต่อสู้ ก่อนและหลัง 2475 การต่อสู้ทางการเมืองจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในหมู่ชนชั้นนำจนกระทั่งก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อนักศึกษา พรรคประชาธิปัตย์ นายทหารฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจอมพลถนอม และเครือข่ายอนุรักษ์นิยม ได้ร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างกันเพียงชั่วคราวเพื่อโค่นล้มระบอบสฤษดิ์ลงไป หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ การต่อสู้ทางการเมืองจึงกลับมาวนเวียนอยู่ภายในชนชั้นนำอีกครั้งเช่นสมัยก่อนแต่ทว่าหากมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองน้อยใหญ่เข้ามามีพื้นที่ในการต่อสู้บ้าง...

หากไม่นับขบวนการปฎิวัติประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆของไทยในอดีตว่าคือการต่อสู้ทางการเมืองที่มีฐานปฎิบัติการทางการเมืองของ “มวลชน” อยู่บ้าง การต่อสู้ทางการเมืองในเมืองของไทยมีข้อจำกัดเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้างมาโดยตลอด เนื่องจากพรรคการเมืองกระแสหลักของไทยไม่ว่าสมัยไหนก็ตามไม่ใช่พรรคการเมืองอย่างในอุดมคติของประชาธิปไตยสมัยใหม่ หมายถึง พรรคการเมืองในฐานะกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง พรรคการเมืองในฐานะผู้ที่มีแนวความคิดต่างๆมาเคลื่อนไหวร่วมกัน ฯลฯ พรรคการเมืองของไทยคือพรรค “นายทุน” และ “ข้าราชการ” มันไม่เคยเป็นการเมืองเพื่อมวลชนหรือประชาชนหรือปรากฎว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันทิศทางนโยบายของพรรคการเมืองโดยตรง แม้ว่าหัวคะแนนจะมีบทบาทมากมายในการระดมคะแนนเสียงสนับสนุนก็ตาม...

ประการต่อมา พัฒนาการการเมืองภาคประชาชนของไทยตั้งแต่ราวปลายทศวรรษที่ 2520 จนถึงปัจจุบันมีความพยายามที่จะเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในฐานะ “การเมืองนอกระบบรัฐสภา” จนประสบความสำเร็จอยู่บ้าง (กล่าวถึงในประเด็นปัญหาด้านต่างๆโดยภาพรวม) โดยจะเห็นได้จากผลพวงของการต่อสู้จนได้กฎหมายก้าวหน้าฉบับต่างๆมาบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาตามที่เรียกร้อง หรือว่าการสร้างสถาบันทางการเมืองภาคประชาชนภายนอกรัฐสภาให้มีความเข้มแข็งขึ้นจนสามารถกดดันในเชิงประเด็นทางการเมืองได้ เช่น การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้น  นอกจากนี้ การต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนตั้งแต่ พฤษภา’35 ได้สร้างคนูปการสำคัญประการหนึ่งให้แก่การเมืองไทย คือ การตอกย้ำว่ากองทัพไม่สมควรเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองอีกต่อไป กองทัพควรปฎิบัติตนเยี่ยงทหารอาชีพ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวกำลังพลออกมาท้าทายระบอบรัฐสภา และได้สร้างทัศนะคติทางการเมืองเพื่อตอกย้ำเรื่อง “ชนชั้นกลางในฐานะผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” การเคลื่อนไหวต่อต้านทหารของชนชั้นกลางเมื่อปี 2535 ทำให้ชนชั้นกลางเริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำกับทิศทางการพัฒนาทางการเมือง หรืออาจจะเรียกได้ว่า Agent of Change ก็คงไม่ผิดแต่ประการใด...

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 พร้อมๆเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมเสรีของไทยพังทลายลงอย่างราบคาบ ชนชั้นกลางไทยอันมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบทุนนิยมเริ่มได้รับผลกระทบโดยตรง ในขณะที่โครงสร้างทางการเมืองของไทยกำลังลงหลักปักฐานในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญออกแบบให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่สามารถเข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างมากคล้ายๆกับสิ่งที่ Max Weber กล่าวเอาไว้ในปลายศตวรรษที่ 19 นั่นคือ Bureaucratic Democracy (รัฐประชาธิปไตยแบบราชการสมัยใหม่อันมีพรรคการเมืองของมวลชนเป็นองค์ประกอบหลัก) โครงสร้างทางการเมืองของไทยหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดทางให้แก่นายทุนในฐานะเจ้าของพรรคตัวจริงให้เข้ามาสู่การเมืองในระบบอย่างเต็มรูปแบบได้เสียทีหลังจากกระมิดกระเมี้ยนเหนียมอายในช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”  พวกเขาสามารถสร้าง Charismatic Democracy (การเมืองแบบผู้มีบารมี)  ได้อีกด้วย เราคงไม่ปฎิเสธว่า “ทักษิณ ชินวัตร” คือ นักการเมืองที่เพียบพร้อมไปด้วยภาพลักษณ์ดีเยี่ยม คือตัวแบบ “ชนชั้นกลางผู้ร่ำรวย” จากการทำธุรกิจสมัยใหม่ เป็นเจ้าของ “นโยบายอันก้าวหน้า” ซึ่งไม่มีใครตามได้ทัน คณะรัฐบาลประกอบไปด้วยบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถในลำดับต้นๆของประเทศไทย ชนชั้นนำในสังคมไทยต่างอ้าแขนต้อนรับด้วยความยินดียิ่ง เขาคือนักการเมืองพลเรือนผู้เปี่ยมไปด้วยบารมีในทางเศรษฐกิจและการเมืองคนสำคัญของไทยตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา วาทกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่เชื่อถือกันโดยทั่วไปก่อนมีการเคลื่อนไหวต่อต้านจากเหล่า “เครือข่ายอนุรักษ์นิยม” ผู้ไม่ยอมให้ทักษิณเข้ามาช่วงชิงการนำจากพวกเขาไปได้โดยง่าย...

การสถาปนาอำนาจของฝ่ายทุนใหม่หลังปี 2540 เป็นมา ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างพวกเขากับเครือข่ายทุนเก่าผู้ครอบครองอำนาจในประเทศไทย(กลุ่มนี้ผงาดเต็มที่เมื่อครั้ง “ชัยชนะ 2490”) ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามอย่างลึกซึ้งเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 เนื่องจากวิธีการแทรกแซงทางการเมืองในแบบเดิมๆอันน่าเบื่อหน่ายไม่สามารถจัดการกับ “ทักษิณ” ได้อย่างราบคาบ ในทางกลับกัน การรัฐประหาร 19 กันยา อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของฝ่ายอนุรักษ์นิยมผู้อ่อนล้า แม้ว่าภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 จากปากกระบอกปืนทหารซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการแยกสลายพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างชัดเจน พวกเขาก็ยังไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองต่อฝ่ายทักษิณได้อย่างเด็ดขาด  รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยืนยันความจริงในทางการเมืองได้อย่างหนักแน่นในประเด็นนี้ พวกเขาต่อสู้กับทักษิณจนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ “เล่นงาน” ฝ่ายทักษิณแทนกองทัพได้ในที่สุด พวกเขาจึงได้รัฐบาลประชาธิปัตย์ผู้มีปัญหาความชอบธรรมขึ้นเป็นรัฐบาลแทนและหวังว่าประชาธิปัตย์จะสามารถนำพาสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ทุกเรื่องราว..

ปรากฏว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่สามารถนำพาได้ทุกเรื่อง ตรงกันข้าม พวกเขาต้องเผชิญกับการถูก “แซนด์วิส” ทั้งจากเสื้อแดงและพันธมิตรฯอยู่ตลอดเวลาที่เป็นรัฐบาล ประชาธิปัตย์มีเพียงสองสิ่งเท่านั้นที่สามารถประคับประคองพวกเขาจนถึงวันประกาศยุบสภาตามรัฐธรรมนูญนั่นก็คือ กองทัพ และ วัง...

บรรดาชนชั้นกลาง (หรือชื่อเล่นอันแสนน่ารักว่า “สลิ่ม”) ทั้งหลายผู้เคยหมดหวังในโชคชะตาทางเศรษฐกิจของตนเองเมื่อปี 2540 ต่างมีความหวังเมื่อเห็นพรรคไทยรักไทยนำเสนออะไรที่ใหม่สดกว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ในยุคนั้น เดือนมกราคม 2544 พวกเขาจึงเทคะแนนให้พรรคไทยรักไทยให้อย่างไม่ลังเลเนื่องจากพวกเขา “ขี้เบื่อ” อะไรเก่าๆอย่างพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่า ทักษิณ กำลังจะโดนศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาในคดีซุกหุ้น แต่ด้วย “พลานุภาพแห่งชนชั้นกลาง” กดดันศาลสารพัดทุกวิถีทาง บางคนถึงขั้นกล่าวว่าถ้าหากศาลตัดสินให้ทักษิณผิดจริงคำตัดสินนั้นก็คือการพิพากษาประเทศไทยไปด้วย (ผมเคยเจอประโยคทำนองนี้ในหนังสือพิมพ์แต่ผมจำไม่ได้ว่าใครพูด เนื่องจากตอนนั้นผมอยู่แค่ ม.ปลาย สนใจเกม counter-strike และเพลง rock มากกว่าเรื่องการบ้านการเมือง)..

เวลาผ่านไปไม่นานรัฐบาลไทยรักไทยเริ่มมีกลิ่นตุๆโชยออกมามากขึ้น ในขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักในขณะนั้นถูกรัฐบาลควบคุมไว้แทบสิ้นเชิง กลางปี 2547 บรรดาปัญญาชน นักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์บางส่วน เริ่มตั้งคำถามการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนโยบายปราบปรามยาเสพติด, การแทรกแซงองค์กรอิสระ, นโยบายภาคใต้, ปัญหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายประชานิยมโครงการต่างๆ, การใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และประเด็นใหญ่ที่สุดคือการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ช่วงเวลานี้ “ชนชั้นกลาง” ออกเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาลอีกครั้งหนึ่งหลังจากพฤษภาทมิฬ ‘35

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยโดยพันธมิตรประชาเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหากมองว่าชนชั้นกลางคือผู้มีบทบาทสูงในทางการเมือง แต่สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ในที่นี้ก็คือ ลักษณะการระดมมวลชนของพันธมิตรนอกจากใช้รูปแบบเก่าๆคือการระดมมวลชนตามสายจัดตั้งแล้ว เขายังใช้สื่อในเครือผู้จัดการไม่ว่าจะเป็น ทีวีดาวเทียม, เวปไซต์, วิทยุ ระดมมวลชนมาจากที่ต่างๆให้มารวมกันเพื่อขับไล่รัฐบาล เพียง “เป่านกหวีด” มวลชนก็พร้อมรบทันที (แต่ได้รับการพิสูจน์ในภายหลังแล้วว่ามวลชนพันธมิตรที่เราเห็นเรือนหมื่นเรือนแสนบนถนนนั้น แท้ที่จริงคือมวลชนของประชาธิปัตย์เสียเป็นส่วนใหญ่)

จากการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อเหลืองมาอย่างยืดเยื้อยาวนานก็ไม่มีท่าทีว่าจะขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยได้เสียที พวกเขาจึงเริ่มยกระดับการชุมนุมกดดันต่างๆนานาเพื่อให้เกิดเงื่อนไข “พิเศษ” ในการขับไล่รัฐบาล ชนชั้นกลางและมวลชนแนวร่วมชนชั้นอื่นๆเริ่มเรียกหา “วิธีการพิเศษ” ไม่ว่าจะเป็นนายกพระราชทานมาตรา 7 (รัฐธรรมนูญ 2540)  รัฐบาลแห่งชาติ จนกระทั่งไคลแม็กส์สำคัญคือ “รัฐประหาร” และพวกเขาก็ได้รับการรัฐประหารสมใจหลังจากประท้วงมาราธอนมาค่อนปี จึงกลายเป็นเรื่องที่ตลกร้ายสุดเนื่องจากเมื่อปี 2535 ชนชั้นกลางต่อต้านทหาร ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้าน รสช. เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ปี 2548-2549 พวกเขาเรียกร้องทหาร สนับสนุนการรัฐประหาร  ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องเผด็จการ “คนดี”...

ฟังดูเหมือนหมดหวัง วาทกรรม “ชนชั้นกลางในฐานะผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย” กลับตาลปัตรกลายเป็นชนชั้นผู้ต่อต้านประชาธิปไตยตัวยง ในขณะที่เรื่องราวดูเหมือนจบลงแฮปปี้เอ็นดิ้งเพราะว่ารัฐบาลไทยรักไทยถูกโค่นลงแล้ว การต่อสู้ของพี่น้องทั้งหลายได้รับชัยชนะตามที่ต้องการด้วยการรัฐประหารโดยกองทัพ แต่ซี่รี่ย์เรื่องยาวกลับไม่จบลงง่ายดายเช่นนั้น เพราะปรากฏว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมให้โค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมาได้ง่ายๆและต่อสู้จนถึงปัจจุบันนี้...    

คนเสื้อแดง

สำหรับประเด็นของบทความชิ้นนี้คือการพยายามหาคำตอบว่าคนเสื้อแดงเป็น Agent of Change หรือไม่ ? ผมพยายามนั่งคิดหาคำตอบมาเป็นเวลาพักใหญ่แล้ว ผมผ่านการวิเคราะห์ถกเถียงจากกลุ่มพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมาย อ่านจากบทความของนักคิดท่านอื่นๆหลายต่อหลายชิ้น และติดตามรับฟังรับชมเวทีสัมมนาต่างๆหากมีโอกาส ผมจึงได้ข้อสรุปบางประการจากสิ่งที่เรียนรู้เหล่านั้นไม่มากก็น้อย แน่นอน...ย่อมไม่ใช่ความคิดของผมเพียงคนเดียวล้วนๆ

คนเสื้อแดงคือใคร ? คำถามนี้ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ใช่ง่ายเอาเสียเลย คนเสื้อแดงที่เราเห็นมาตั้งแต่ก่อนหน้ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เล็กน้อยจนกระทั่งถึง “แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช. ในปัจจุบัน นั้นผ่านกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองมายาวนานถึง 5 ปีเต็มๆ การเรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้นสามารถถอดบทเรียนได้อย่างมากมาย ในที่นี้ผมจะพยายามคิดวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้ “ขบวนการเสื้อแดง” สามารถสร้างความท้าทายให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ กระทั่งผู้กุมอำนาจเบื้องหลังไม่สามารถอดทนอะไรได้มากเหมือนเช่นแต่ก่อน (วิเคราะห์ผ่านปรากฎการณ์ต่างๆ แน่นอนครับเราไม่สามารถยืนยันสิ่งเหล่านี้ได้อย่างตรงไปตรงมา อาจจะต้องรอเวลาให้ “อะไรๆ” หลุดออกมาจนเปลือยเปล่าทั้งหมดเสียก่อน)...

คนเสื้อแดงในฐานะ “ผู้อยู่ภายใต้นโยบายประชานิยม” คนเสื้อแดงกลุ่มนี้มีพื้นฐานทางการเมืองมาจากความชื่นชอบนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย พวกเขาต่างหลงใหลในนโยบายประชานิยมเป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยในภาคอีสานและภาคเหนือ การมาของประชานิยมไทยรักไทยเกิดขึ้นภายใต้ภาวะความกดดันทางเศรษฐกิจและภาวะความกดดันทางการเมืองก่อนหน้าการเลือกตั้ง ปี 2544 ..

ภาวะความกดดันทางเศรษฐกิจก็คือ ประเทศไทยขณะนั้นกำลังเผชิญกับปัญหาความล่มสลายของระบบทุนนิยมเสรี ข้าวยากหมากแพง ทรัพย์สินไร้ราคา ผู้คนตกงานมากมาย จากเศรษฐีกลายเป็นคนขายแซนวิสข้างถนน จากเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดพันล้านบาทกลายเป็นเจ้าของธุรกิจข้าวมันไก่ขนาดหมื่นบาท แรงงานอพยพกลับถิ่นฐานของตนเพื่อรักษาบาดแผลใจด้วยการรับจ้างในไร่นาแลกกับเงินค่าจ้างเพียงน้อยนิด กระเป๋าเงินของทุกคนว่างเปล่า ในขณะที่การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลประชาธิปัตย์คือการเพิ่มหนี้สาธารณะซ้ำเติมประชาชนด้วยการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล การขายทรัพย์สิน NPL ในประเทศในราคาถูกเหลือเชื่อ เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามากว้านซื้อกิจการของคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจธนาคาร อันถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบทุนนิยมไทย หรือการบริหารงานของรัฐบาลในด้านอื่นๆที่ไม่น่าพอใจนัก ความไม่สนใจใยดี “สมัชชาคนจน” หน้าทำเนียบก็ดี การเอาอกเอาใจแต่นายทุนต่างชาติก็ดี  สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนภายใต้ภาวะความกดดันดังกล่าวเลย เมื่อไทยรักไทยออกเคมเปญประชานิยมก่อนการเลือกตั้ง มกราคม 2544 จึงทำให้ผู้คนสนใจ และ “เทใจ” ให้แก่ไทยรักไทยอย่างล้นหลามอย่างที่กล่าวมา อาจกล่าวได้ว่าเพราะประชานิยมของไทยรักไทย ประชาชนจึงรู้สึกว่าพวกเขาเริ่มมีความหวังในพรรคการเมืองขึ้นมาบ้างเนื่องจากพรรคการเมืองในอดีตไม่เคยให้สิ่งเหล่านี้แก่พวกเขา ปฎิเสธได้หรือไม่ว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายหมู่บ้านเอื้ออาทร หรือว่ากองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับคนยากคนจนคนชายขอบทั้งหลาย ? นโยบายประชานิยม “ให้” แก่ผู้คนซึ่งไม่เคยได้รับการบริการจากรัฐเท่านี้มาก่อนในชีวิตของเขา ชนชั้นกลางอาจมองว่านโยบายประชานิยมคือนโยบายกระจอก (เพราะชนชั้นกลางไม่ต้องดิ้นรนอะไรมากมายเหมือนคนจน ?) ไร้สาระ และเก็บภาษีแพงเกินไป แต่สำหรับคนอีกกลุ่ม (ซึ่งมีจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด) มันคือนโยบายจาก “ทักษิณ” ผู้เปี่ยมไปด้วยความเห็นอกเห็นใจคนจน นักการเมืองผู้นี้คือผู้ที่มอบชีวิตมอบโอกาสให้แก่คนที่ไม่เคยได้รับอะไรจากการเลือกตั้งเลย (ยกเว้นเงินซื้อเสียงตามประเพณี)  

อีกประการหนึ่ง การบริหารของรัฐบาลไทยรักไทยมีภาพลักษณ์ความแตกต่างจากรัฐบาล “ราชการ” ในอดีตอย่างเห็นได้ชัด คือ ความรวดเร็ว, ทำจริงตามที่พูด (แม้ไม่ทุกเรื่องก็ตาม), ผู้นำเข้มแข็งมีลักษณะพึ่งพาได้จริงตามแบบฉบับผู้นำในอุดมคติของไทย  และสามารถทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่าง “จับต้องได้” เป็นรูปธรรม แน่นอนว่าสิ่งต่างๆที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางมากมายหลายเวทีแล้วว่ารัฐบาลไทยรักไทยประสบปัญหาในการบริหารประเทศอยู่หลายประการและมีอัตราการคอรัปชั่นสูง แต่ถ้าหากมองในเชิงทางการเมืองแล้ว ไทยรักไทยได้สร้าง “พลังทางสังคม” ขึ้นมาภายใต้นโยบายประชานิยมของเขาเอง พลังสังคมในฐานะการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงนับว่าคือพลังที่สำคัญที่สุดในการ “ชูธงนำ” การต่อสู้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างด้วยซ้ำไป พลังทางสังคมเหล่านี้คือพลังในทาง “โครงสร้าง” อย่างแท้จริงเมื่อพิจารณาบริบทต่างๆหลังปี 2540 เป็นต้นมา

คนเสื้อแดงในฐานะ “ผู้ถูกกดขี่ทางการเมือง”(รวมความถึงคนชายขอบในทางการเมืองด้วย) ดูเหมือนว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงได้ตอกย้ำถึงประเด็นนี้อยู่ตลอดเวลาผ่านวาทกรรม เช่น ไม่เอา 2 มาตรฐาน, มึงทำอะไรก็ถูกหมด กูทำอะไรก็ผิดหมด, ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน, ต่อต้านรัฐประหาร เป็นต้น มีการสร้างวาทกรรมเพื่อต่อสู้ในระดับปัจเจกด้วยเช่นกัน อาทิ โค่นอำมาตย์เปรมชั่ว เป็นต้น การต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าคนเสื้อแดงไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง ไม่ว่าพวกเขาจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร หากว่าการตัดสินใจนั้นได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ “มือที่มองไม่เห็น” เสียแล้ว รัฐบาลที่พวกเขาต้องการก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้เลย พวกเขามองว่าสถาบันยุติธรรมอย่างศาลรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง  คนเสื้อแดงมองว่าศาลได้รับคำสั่งจาก “มือที่มองไม่เห็น” เพื่อตัดตอนการตัดสินใจทางการเมืองของเขา หรือกองทัพ “ผู้หื่นกระหายอำนาจ” คนเสื้อแดงรู้สึกว่าได้รับการปฎิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรงไม่เป็นธรรม ในขณะที่คนเสื้อเหลืองสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากพวกเขา..

ภายหลังกรณีพฤษภาเลือด 2553 ที่สี่แยกราชประสงค์และในพื้นรัศมีโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร แม้ว่ารัฐบาลจะสั่งการให้กองทัพจัดการกับคนเสื้อแดงด้วยกำลังอาวุธอย่างโหดเหี้ยมจนส่งผลให้มีคนตายถึง 91 ศพและมีผู้บาดเจ็บพิการทั้งร่างกายและจิตใจเป็นจำนวนมาก อาฟเตอร์ช๊อคหลังจากนั้นก็คือการ “กวาดล้าง” ด้วยการจับกุมแกนนำระดับต่างๆด้วยข้อหาภัยความมั่นคง หากดูผ่านๆก็น่าจะเข้าใจได้ว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงได้เดินทางมาถึงจุดจบเสียแล้วเนื่องจากรัฐบาลได้รับชัยชนะที่ราชประสงค์อย่างเด็ดขาด แต่หากทว่ากรณีนี้คือจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดของการต่อสู้ทางการเมือง คนเสื้อแดงเริ่มรับรู้แล้วว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังการสังหารโหดกลางกรุงเทพมหานครท่ามกลางแรงสนับสนุนจากชนชั้นกลางผู้ต่อต้านคนเสื้อแดงนั้นเกิดจาก “น้ำมือของใคร” วาทกรรมการต่อสู้ถูกยกระดับขึ้นมาอีกครั้งซึ่งผมมองว่าคือวาทกรรมสำคัญในระดับ radical ของคนเสื้อแดง คือ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” นั่นเอง...

คนเสื้อแดงเริ่มเรียนรู้แล้วว่าการที่พวกเขาถูกกดขี่ในทางการเมืองไม่ใช่มาจาก รัฐบาล หรือ กองทัพ เท่านั้น ก่อนหน้านั้นพวกเขาอาจระแคะระคายถึงมือที่มองไม่เห็นว่าคือใคร ใครเป็นใครกันแน่ แต่ภายหลังพฤษภามหาโหด 2553 พวกเขาตัดสินใจได้ทันทีว่าใครอยู่เบื้องหลัง พวกเขารู้แล้วว่าคู่ต่อสู้ของเขาไม่ใช่คนเสื้อเหลือง ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่ใช่กองทัพ ไม่ใช่ศาล ไม่ใช่ กกต. ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่คนชั้นกลางผู้จงเกลียดจงชังเขา คู่ต่อสู้ที่แท้จริงของคนเสื้อแดงอยู่ที่ “สถาบันอันเก่าแก่ที่สุด” ของประเทศไทย นอกนั้นเป็นเพียง “ดาวเทียม” หมุนรอบๆสถาบันนี้เท่านั้นเอง...

คนเสื้อแดงในฐานะ “แนวร่วม” คนเสื้อแดงในฐานะแนวร่วมต้องการคำอธิบายซักเล็กน้อย ก่อนอื่นผมขอเกริ่นก่อนว่าการต่อสู้ทางการเมืองทุกชนิดไม่ใช่การต่อสู้ด้วยตนเองแบบเพียวๆเพียงฝ่ายเดียว การแสวงหาหาพันธมิตรหรือแนวร่วมในการต่อสู้ทางการเมืองนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแม้ว่าแนวร่วมของเรานั้นอาจจะเป็น “ศัตรูในทางหลักการ” ของเราก็ตาม เช่น ในเอกสารหลายชิ้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีมีการวิเคราะห์ถึงแนวร่วมหลายด้าน พคท. มิได้ปฎิเสธชนชั้นนายทุนน้อย ข้าราชการหัวก้าวหน้า ปัญญาชนหัวก้าวหน้า หรือนักศึกษาหัวก้าวหน้า โดยสิ้นเชิง (แม้ว่าในทางทฤษฎีการปฎิวัติจริงๆของ พคท. คือชนชั้นแรงงานกับชนชั้นชาวนาเท่านั้น) โดยกลับกัน การต่อสู้ทางการเมืองย่อมต้องมี “มิตรของศัตรู”, “ศัตรูของศัตรู”, “มิตรของเรา”, “ศัตรูของเรา” วนเวียนไปมาอย่างนี้ตามความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การวิเคราะห์เพื่อหาทางจับมือเพื่อโค่นล้ม “ศัตรูหลัก” จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ขึ้นอยู่กับโอกาสและเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์การต่อสู้ขณะนั้น..

คนเสื้อแดงที่เป็น “คนเสื้อแดงตามสถานการณ์” ย่อมมีอยู่ด้วยแน่นอน การเป็นคนเสื้อแดงโดยสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองไม่จำเป็นจะต้อง “รักทักษิณ” “รักพรรคของทักษิณ” หรือ “รักคนของทักษิณ” เสมอไป คนเสื้อแดงในฐานะแนวร่วมอาจเข้ามาใส่เสื้อสีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์บางอย่างว่า “กูไม่เอามึง” (หมายถึงศัตรูหลักนั่นเอง) หรืออาจไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อสีแดงเพื่อแสดงตัวอย่างชัดเจนก็ได้เช่นเดียวกัน ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าการเป็นคนเสื้อแดงจะต้องผ่านพิธีกรรมอะไรบางอย่าง คนเสื้อแดงในฐานะแนวร่วมจะมีอุดมการณ์อะไรก็ได้ ซ้ายสุดโต่ง ซ้ายนิดหน่อย กลางนุ่มนิ่ม กลางแข็งกร้าว ขวาบ้างเล็กน้อย จนถึงขวาสุดขั้ว ฯลฯ ก็สามารถเป็นแนวร่วมได้ทั้งนั้นหากศัตรูหลักของคนเสื้อแดงคือคนเดียวกัน (หรือศัตรูในเชิงโครงสร้างก็ได้) บางครั้งการเคลื่อนไหวของแนวร่วมเสื้อแดงอาจส่งผลสะเทือนในทางการเมืองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เช่น กรณีการเปิดประเด็นเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 จนกลายเป็น Talk of the Town ในปัจจุบัน หรือว่าการผลักดันประเด็นรับรองสิทธิเสรีภาพของแรงงานภายใต้อุดมการณ์เสื้อแดง (คือการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง) หรือว่ากลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองอยู่แล้ว หรือว่ากลุ่มปัญญาชนเสื้อแดง หรือแนวร่วมในทางชนชั้นก็ได้ ปัจเจกก็ได้ เป็นต้น นอกจากนี้แนวร่วมเสื้อแดงในแนวทาง “ฮาร์ดคอร์” ก็ย่อมมีแนวทางของเขาเองในการเคลื่อนไหวแต่ประกาศตัวเอง(ใต้ดิน)ว่า “กูไม่เอามึง” เช่นเดียวกัน ดังนั้น คนเสื้อแดงในฐานะแนวร่วม จึงมีความหลากหลาย ระบุได้ยากว่าใครเป็นใคร มีแนวทางอะไร ทั้งนี้โดยสรุปก็คือมีเป้าหมายทางการเมืองเหมือนกันนั่นเอง..

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ คนเสื้อแดงจึงคือกลุ่มทางการเมืองที่มีความหลากหลายเข้ามาต่อสู้ร่วมกัน แต่คนเสื้อแดงที่มาจากโครงสร้างหรือมาจากผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลังปี 2540 มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว และถือว่าเป็น “มวลชนหลัก” ของการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง พลังทางสังคมอันมากมายมหาศาลเหล่านี้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันทำให้ “พรรคการเมืองข้างสีแดง” และ “กลุ่มนายทุนข้างสีแดง” ยังสามารถรักษาสถานะและพลังการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันเอาไว้ได้อย่างดียิ่ง แต่จะสามารถสถาปนาอำนาจนำในระยาวได้หรือไม่คงต้องติดตามดูกันต่อไป...

การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

ผมพูดถึงลักษณะของคนเสื้อแดงไว้บ้างแล้ว มาถึงบทนี้ผมต้องการนั่งคิดต่อเรื่องการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ผมสงสัยว่าพวกเขาใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรในการทำสงครามการเมืองครั้งนี้บ้าง ผมพบว่ามีอยู่หลายเครื่องมือด้วยกัน

การใช้ “สื่อสิ่งตีพิมพ์คนเสื้อแดงประเภทต่างๆ” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ รายเดือน เทปลอยด์ พ๊อกเก็ตบุ๊ค สื่อเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ฯลฯ ถ้าหากว่าคุณเคยไป “ม๊อบ” ของคนเสื้อแดงก็จะรู้ว่ามีอะไรให้ซื้อมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์มหาประชาชน, เสียงของทักษิณ (Voice of Thaksin), เรด พาวเวอร์ และอื่นๆที่ผมจำไม่ได้อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีสิ่งตีพิมพ์ “แนวร่วม” อื่นๆอีก เช่น ฟ้าเดียวกัน หนังสือทำมือ วิซีดีทำเอง เป็นต้น สิ่งตีพิมพ์เหล่านี้นับว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรวบรวมคนเสื้อแดงให้เข้ามาอยู่ร่วมกันในชุมชนทางการเมืองของคนเสื้อแดง  คนเสื้อแดงย่อมต้องอ่านสื่อเหล่านี้เพื่อนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน “การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของสิ่งตีพิมพ์” ถ้าหากพูดในสำนวนของ ประจักษ์ ก้องกีรติ แบบในงานเขียนสุดคลาสสิค เรื่อง “ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ:ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร พ.ศ. 2506-2516” งานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “เครือข่ายวาทกรรมคนเสื้อแดง” สิ่งตีพิมพ์เหล่านี้มีบทบาทในฐานะเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างความคิดทางการเมือง ให้ความเชื่อทางการเมืองแก่คนเสื้อแดงเหมือนๆกัน มันคือการสร้างฐานเชิงอุดมการณ์และวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวผ่านสัญลักษณ์อื่นๆควบคู่กันไปด้วย ถ้าหากท่านใดสนใจศึกษาประเด็นนี้เพิ่มเติม ผมแนะนำว่าให้รีบเก็บสิ่งตีพิมพ์เหล่านี้โดยทันทีเพราะมันยังหาได้ง่าย ถ้านานไปอาจจะหาไม่ได้แล้วเพราะสิ่งตีพิมพ์หลายชิ้นไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐอย่างเป็นทางการ บางชิ้นค่อนข้าง “เถื่อน” ด้วยซ้ำ (แต่มีคุณค่าในเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์)

เครื่องมือต่อมา “สื่อวิทยุโทรทัศน์” ประเด็นนี้คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าคนเสื้อแดงอาศัยการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆผ่านวิทยุคนเสื้อแดงและโทรทัศน์(ดาวเทียมและอินเตอร์เน็ต)คนเสื้อแดง แต่สื่อประเภทนี้เป็นสื่อที่ฝ่ายรัฐสามารถควบคุมการกระจายข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าสื่อประเภทอื่นๆเนื่องจากมันเปิดตัวชัดเจนกว่า สื่อประเภทนี้มักจะมีบทบาทในการให้ข้อมูลทั่วไปมากกว่าการลงลึกในรายละเอียด

ต่อมา “อินเตอร์เน็ตและการปล่อยข่าวใต้ดิน” เครื่องมืออินเตอร์เน็ตคือเครื่องมือที่ง่าย เร็ว กระจายตัวได้กว้างขวาง พูดเรื่องอะไรก็ได้ การเคลื่อนไหวในเน็ตของคนเสื้อแดงมีทั้งด้าน “บนดิน” และ “ใต้ดิน” คำว่าบนดินของผมหมายถึงการกระจายข้อมูลข่าวสารของคนเสื้อแดงโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นส่วนตัว ข่าวการชุมนุม ข้อมูลแกนนำ ข้อมูลกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ ข้อมูลฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ ผ่านรูปแบบ เช่น เวปบอร์ด, โซเซียลเน็ตเวิร์ค, อีเมล์ หรือว่าเวปไซต์เฉพาะกิจเสื้อแดง เป็นต้น

สำหรับการเคลื่อนไหวในแนว “ใต้ดิน” ผมสนใจประเด็นนี้มากที่สุด การใช้แนวทางแบบใต้ดินของคนเสื้อแดงไม่ต่างอะไรกับ “สงครามจรยุทธ์” ในโลกไซเบอร์ นักรบไซเบอร์ทั้งหลายต่างมีประเด็นที่ตนเองต้องการจะเล่นในใจอยู่แล้ว การเข้าจู่โจมในโลกไซเบอร์เริ่มตั้งแต่รูปแบบการเขียนวิเคราะห์การเมืองแบบลงรายละเอียดอย่างสุดๆชนิดที่ว่าสื่ออื่นๆไม่สามารถทำได้ การสร้างเรื่องราววิวาทะอย่างเป็นระบบ (Constructed Narrative) ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อต้องการสร้างสถานการณ์ “ดราม่า” (Controversial) อันนำไปสู่การแฉในรูปแบบอื่นๆตามมา ไปจนถึงบุกจู่โจมพื้นที่เป้าหมายโดยตรงเพื่อสร้างความเสียหายในทางความคิดอุดมการณ์ เข้าตีด้วย “ชุดภาษา” แรงๆซักชุดสองชุดแล้วก็หลบตัวหายไปอย่างไร้ร่องรอยหากเข้าใจวิธีการพรางไอดีแอดเดรสของตนเอง..

นอกจากนี้ การโจมตีด้วย “ข่าวลือ ข่าวลวง” มีเป้าหมายเพื่อการลดความน่าเชื่อฝ่ายตรงกันข้าม ประเด็นการโจมตีด้วยข่าวลือข่าวลวงมีผลสะท้อนมาจากการปิดกั้นความคิดเห็นของฝ่ายรัฐ ในสายตาฝ่ายรัฐ คนเสื้อแดงไม่ต่างอะไรกับ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” เช่นในอดีต วิธีการการจัดการของฝ่ายรัฐล้วนแต่ใช้วิธีเดิมเหมือนในอดีตเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายปิดกั้นการแสดงความเห็นเอาดื้อๆ การจัดตั้งมวลชนฝ่ายรัฐเข้าสืบเสาะค้นหาและทำลายคนเสื้อแดงด้วยวิธี “พิเศษ” สำหรับกรณีเวปไซต์ รัฐใช้ พรบ.ว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ เข้าสกัดกั้นเวปไซต์ ความคิดเห็น ข้อมูลข้อเท็จจริง มีข่าวคนเสื้อแดงถูกจับเพราะเหตุจากเวปไซต์เกิดขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่โดนข้อหาภัยความมั่นคง ...

วิธีคิดโบราณตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นนี่เองจึงทำให้นักรบเสื้อแดงทั้งหลายงัดกลยุทธ์ทุกอย่างขึ้นมาตอบโต้ในอินเตอร์เน็ตอย่างไม่ลดละ เช่น หนีไปเปิดเวปใหม่เรื่อยๆ เปลี่ยนไอพีแอดเดรส หลอกที่อยู่ไอพี ใช้นามแฝงแบบไม่ซ้ำ เขียนถ้อยความประเภทเฉี่ยวไปมาเพื่อให้ผู้อ่านตีความกันเอาเอง หรือการนู๊กเซอร์เวอร์ฝ่ายรัฐให้ปั่นป่วนเล่น หรือแม้กระทั่งเอาข้อมูลลับทั้งหลายมาแฉกันในเน็ต จริงบ้างเท็จบ้างแต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การต่อสู้ทางการเมืองในแบบการสื่อสารใต้ดินก็คือใช้ชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์จู่โจมฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตามฟังดูเหมือนฝ่ายเสื้อแดงไม่ค่อยแฟร์เท่าไรแต่หากเราต้องดูการกระทำของฝ่ายรัฐประกอบไปด้วย...

การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อทุกๆเรื่องในสังคมนอกจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานแล้ว รัฐยังสามารถสร้าง “แนวร่วมมุมกลับ” ได้เป็นอย่างดีอีกต่างหาก กล่าวคือ เมื่อรัฐไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นโต้แย้งระหว่างกันไปมาได้อย่างเสรี เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงแท้แค่ไหนเพราะมันไม่ได้ผ่านการตรวจสอบถกเถียงกันอย่างจริงจังในที่สาธารณะ รัฐบังคับประชาชนว่าเรื่องนี้พูดได้เรื่องนี้พูดไม่ได้ เรื่องนี้ต้อง “เชิดชู” กันอย่างเดียวเท่านั้น จนเกิดคำประชดประชันประเภท “รักได้แต่อย่าสงสัย” หรือ “ไม่รักติดคุกนะ” หรือว่า “เก้าอี้มั้ยสาดดดด” หรือว่า “แซ่บซุ้งจนน้ำหูน้ำตาไหลพรากๆ” ฯลฯ กันเป็นที่สนุกสนานโดยทั่วไป

การที่รัฐยังปิดกั้นไม่ให้ประชาชนพูดทุกๆเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชน “อยากพูดใจจะขาด” (ไม่ว่าในแง่มุมใด) รังแต่จะทำให้สิ่งที่ประชาชนสงสัยนั้นเสื่อมลงทุกที เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเลยว่าสิ่งที่ “พูดๆกันอยู่” นั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะกฎหมาย “บังคับ” ให้พูดถึงด้านดีงามเพียงด้านเดียวเท่านั้น ประชาธิปไตย คือ การสามารถตอบโต้กันได้ภายใต้กฎหมาย แต่ถ้ารัฐยังมีวิธีคิดโบราณเหมือน 30 กว่าปีก่อนอีกก็ไม่รู้จะให้จบลงอย่างไรเช่นกัน เดาได้ว่าคง “พัง” เร็วกว่าปกติเท่านั้นเอง..

ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแนวใต้ดินของเสื้อแดงคือผลผลิตจากวิธีคิดของฝ่ายรัฐ ผมไม่แน่ใจว่ารัฐทำเป็นขึงขังไม่รู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงในสังคมจริงๆ หรือว่าแกล้งโง่เพื่อหวังผลทางการเมืองแบบ “ซึมลึก” เข้าตำรา Conspiracy Theory ทฤษฎีสมคบคิด จับประชาชนและคนเสื้อแดงเข้าคุกให้เยอะๆด้วยข้อหาหมิ่นฯ สร้างความเกลียดชังเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้มันพังไปเร็วๆคนอื่นจะได้ขึ้นเถลิงอำนาจเสียที ประมาณนั้น..

ประการต่อมา “การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์” การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงนับว่ามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากภายหลังการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือชนิดนี้ผ่านกลุ่ม “สมบัติ บุญงามอนงค์” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, NGO, และแนวร่วมคนเสื้อแดงคนสำคัญ หลังจากการล้อมปราบกรณีพฤษภามหาโหด สมบัติจึงได้ออกแบบกิจกรรมเล็กๆแต่ทว่าได้ผลเกินความคาดหมาย การออกแบบรูปแบบกิจกรรมของเขาเน้นไปที่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เป้าหมายของการต่อสู้ไม่ใช่การเอาชนะทางการเมืองในระยะสั้น การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์คือการ “สร้างการรับรู้ในระดับจิตสำนึกทางสังคม” เพื่อมิให้เรื่องราวการต่อสู้ต่างๆของคนเสื้อแดงถูกลืมเลือนไป ทำไมการต่อสู้ในรูปแบบนี้จึงได้ผล ? คำตอบก็คือการจู่โจมด้วยสัญลักษณ์บางอย่างในทางการเมืองไม่ใช่การพูดออกมาอย่างตรงๆด้วยวาจา การกระทำ หรือปฎิบัติการทางการเมืองเชิงกายภาพอื่นๆ เพียงแค่คุณเดินไปตามท้องถนนพร้อมปากกาสีแดงเล็กๆอันหนึ่งคุณก็สามารถละเลงสัญลักษณ์ “วันอาทิตย์สีแดง” ได้อย่างง่ายดายตามที่ต่างๆ คนผ่านไปผ่านมาก็ย่อมต้องเข้าใจว่าถึงแม้คนเสื้อแดงถูกทหารรัฐบาลตีพ่ายกลับไปแต่พวกเขา “ยังคงอยู่” รอบๆตัว ส่วนเคมเปญใส่เสื้อสีแดงในวันอาทิตย์ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมในเครือข่ายของคนเสื้อแดงได้ว่าพวกเขายังคง active อยู่เช่นเดียวกัน ยังไม่รวมกิจกรรมอื่น เช่น เต้นแอโรบิก ร้องคาราโอเกะ ปั่นจักรยาน ปล่อยลูกโป่ง ผูกผ้าแดง วิ่งออกกำลังกาย พายเรือ เก็บขยะ ฯลฯ การต่อสู้เหล่านี้ล้วนทำให้ฝ่ายรัฐ “พะอืดพะอม” เพราะไม่รู้จะจัดการอย่างไรเนื่องจากสิ่งที่คนเสื้อแดงทำไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง  ไม่ใช่การเปิดเวทีปราศรัย หรือการปิดถนนเรียกร้อง มันคือการส่งสัญญาณแก่สังคมว่าคนเสื้อแดงยังดำรงการต่อสู้ทางการเมืองเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือการบ่งบอกว่ากระบอกปืนไม่สามารถ “ฆ่า” อุดมคติในทางการเมืองได้ 

อันที่จริง รูปแบบการเคลื่อนไหวต่างๆของคนเสื้อแดงถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียวนัก พันธมิตรฯก็เคยนำมาใช้มาก่อน เช่น มือตบ (เสื้อแดงตีนตบ), ระดมมวลชนผ่านสื่อเครือ ASTV (เสื้อแดงระดมมวลชนผ่านสื่อเช่นเดียวกันแต่ถูกสกัดตลอดเวลาจนหลายครั้งต้องลงใต้ดิน), การใช้เสื้อสีเหลืองแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มและเสื้อในวาระพิเศษอื่นๆ (เสื้อแดงเช่นเดียวกัน) เป็นต้น แต่สิ่งที่แตกต่างกันคนละโลกก็คือ “เนื้อหา,อุดมการณ์,เป้าหมาย และแนวร่วม” ในการต่อสู้

ข้อจำกัด

ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลกล้วนหนีไม่พ้นสัจธรรมข้อหนึ่ง เราเรียกสัจธรรมแบบรวมๆนั้นว่า “ข้อจำกัด” ในที่นี้ คนเสื้อแดงยังมีข้อจำกัดอยู่บางประการครับ

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม ข้อจำกัดของคนเสื้อแดงมีเรื่องใหญ่อยู่เรื่องหนึ่ง (ในหลายๆเรื่อง) คือ “การยึดโยงการต่อสู้ของตนเองกับชนชั้นนำบางกลุ่ม” สำหรับผมก็คือกลุ่มเครือข่ายทักษิณ

การอ้างประเด็นนี้ของผมถูกโต้แย้งได้มากมาย ซึ่งผมก็รู้ดีว่าการอ้างเช่นนี้มันย่อมต้องมีจุดอ่อนในเชิงเหตุผลอยู่บ้าง ดังนั้น ผมจึงขออ้างเหตุผลว่า “การต่อสู้ของคนเสื้อแดงตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ปฎิเสธไม่ได้ว่ามี “เงา” ของทักษิณลอยอยู่ทั่วไป”

สำหรับแนวร่วมคนเสื้อแดงที่กล่าวว่าตนเองคือพวกหัวก้าวหน้าอาจหงุดหงิดในคำกล่าวอ้างของผม (ซึ่งผมก็มิได้ปฎิเสธเหตุผลของกลุ่มก้าวหน้าในแดงเสียทีเดียว ผมจึงเรียกประเด็นนี้ว่าคือข้อจำกัด) แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างจริงจัง คนเสื้อแดง “กระแสหลัก” (ตามสำนวนของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ต่างอ้างทักษิณ หรือญาติพี่น้องของทักษิณ หรือพรรคของทักษิณ ชูการต่อสู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน ความจริงทางสังคมข้อนี้คือการที่คุณทักษิณยังคงต้องการมีบทบาทหลักในการชี้นำทางการเมืองคนเสื้อแดง เรื่องนี้ใครๆก็รู้ ฝ่ายตรงข้ามจึงถือประเด็นนี้ตอบโต้คนเสื้อแดงอยู่ตลอดเวลา แม้ว่ากรณีพฤษภามหาโหด 2553 ผ่านพ้นไปแล้วจากนั้นจึงเกิดวาทกรรมตาสว่างทั้งแผ่นดินก็ตามแต่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่เกิดจากโครงสร้าง (อภิปรายไปแล้วข้างต้น) ยังคงยึดติดอยู่กับตัวบุคคล ในขณะที่แนวร่วมคนเสื้อแดงหลายต่อหลายกลุ่มต่างช่วยกันยืนยันว่าคนเสื้อแดง “ก้าวข้ามพ้นทักษิณ” แล้วซึ่งฟังดูขัดๆกัน การอ้างปรากฎการณ์แบบนี้มันใช้อธิบายคนเสื้อแดงไม่ได้ทั้งหมด แน่นอนครับว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในระยะเวลาที่ผ่านมาต่างทำให้คนเสื้อแดงทั้งหลายสะสมประสบการณ์ทางการเมืองในแบบก้าวหน้าขึ้นมาบ้างแต่พวกเขายังไม่ถึงขั้นที่จะสามารถสร้างสำนึกทางการเมืองด้วยตนเองจนปลดแอกออกจากตัวบุคคลได้อย่างสิ้นเชิงแล้วเดินหน้าต่อสู้ในเชิงหลักการต่อได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม พวกเขายังต้องประสบปัญหาบางประการในเชิง “ปรัชญาการเมือง” ว่าด้วยสำนึกพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หมายถึง การต่อสู้ทางการเมืองด้วย “สำนึกของตนเอง” อย่างแท้จริงโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใครโดยเฉพาะชนชั้นนำ (คนละความหมายกับแนวร่วม) สำหรับผม ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับเวลาล้วนๆ การคลี่คลายของการต่อสู้ย่อมต้องสร้างอะไรให้แก่ผู้ที่ต่อสู้ทางการเมืองนั้นได้ในระยะยาว คนเสื้อแดงก็หนีความจริงข้อนี้ไปไม่พ้น ในระยะยาวประชาชนต้องถอดเสื้อสีแล้วยืนยันในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียมกัน..

แน่นอนครับว่าสามารถถกเถียงกันต่อไปได้ ผมอาจมีความคาดหวังว่าคนเสื้อแดงจะสามารถก้าวหน้าไปไกลได้ถึงขนาดนั้น เป็นอุดมคติสำหรับใครหลายคน ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงว่าคนเสื้อแดงคือ Agent of change ได้อย่างแท้จริงหรือไม่...      

เมื่อเขียนมาถึงย่อหน้านี้ผมคิดว่ายังมีอะไรให้พูดถึงคนเสื้อแดงอีกมากมาย สำหรับคำถามที่ผมตั้งเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าคนเสื้อแดงเป็น  Agent of Change หรือไม่ ? ผมคงมิอาจฟันธงลงไปอย่างตรงไปตรงมาได้เนื่องจากยังคงต้องอาศัยการทำวิจัยอย่างมีระบบระเบียบเพื่อหาข้อสรุปอย่างจริงจังมากกว่าบทความในเชิงความเห็นส่วนตัวมีเพียงการคาดคะเนจากปัจจัยกว้างๆเท่านั้น ที่สำคัญ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงนี้ “ยังไม่จบ” อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ผมทำการสำรวจเป็นการส่วนตัวน่าจะสามารถสร้างเป็นข้อสมมุติฐานต่อไปได้หากจะทำการศึกษาอย่างจริงจังในอนาคต แน่นอนว่าคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายตั้งแต่หลัง 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาย่อมต้องเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองในอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรามิอาจโหยหวนคุณค่าทางการเมืองเฉกเช่นในอดีตได้อีกต่อไปแล้ว ถึงแม้วาทกรรม “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” จะถูกนำมา “กล่อมประสาท” คนในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และมันถูกใช้เป็นฐานเชิงวัฒนธรรมเพื่อรองรับความชอบธรรมของ “รัฐบาลอะไรก็ได้ที่เป็นคนดีและไม่ได้มาจากคนโง่” แต่มันสามารถทำงานได้จริงหรือไม่ภายใต้การตั้งคำถามเรื่อง “คนดีส่วนน้อยดีกว่าคนโง่ส่วนใหญ่” อย่างหนักจากคนเสื้อแดงในปัจจุบันนี้ ?  

การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่านจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าหัวข้อการถกเถียงที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล คือประเด็นเรื่องของอำนาจการปกครองบ้านเมืองควรจะเป็นของใครกันแน่ระหว่าง คนพิเศษกลุ่มน้อย หรือ คนธรรมดาทั่วไปส่วนใหญ่  ซึ่งกำลังฮอตฮิตในวงวิชาการบ้านเราในขณะนี้...     
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น