ประชาไท | Prachatai3.info |
- TCIJ: ชาวประจวบเตือน กฟผ.อย่าดึงฟ้าต่ำ ผุดโรงไฟฟ้าอย่าอ้าง ‘เทิดพระเกียรติ’
- จิตตา คชเดช: ค่าแรง 300 ขนหน้าแข้งนายทุนไม่ร่วง
- ใบแถลงข่าวศาลโลกว่าด้วยคำตัดสินกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ฉบับภาษาไทย (ไม่เป็นทางการ)
- "กษิต ภิรมย์" ถวายรายงานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กรณีเยอรมันอายัดเครื่องบินพระที่นั่ง
- ศาลโลกตัดสินไทย-กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทเขาพระวิหาร
TCIJ: ชาวประจวบเตือน กฟผ.อย่าดึงฟ้าต่ำ ผุดโรงไฟฟ้าอย่าอ้าง ‘เทิดพระเกียรติ’ Posted: 18 Jul 2011 01:04 PM PDT 18 ก.ค.54 จากกรณีที่นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ประกาศให้อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ในเนื้อที่ 4,000ไร่ พร้อมกับได้ส่งทีมประชาสัมพันธ์เข้านำร่องด้วยการประกาศต่อชุมชนว่าจะก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ จำนวน 5 เมกกะวัตต์ บนเนื้อที่ 100 ไร่ และอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทิดพระเกียรติ นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ กฟผ.เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านมีคำถามกันว่าที่ดินที่เหลืออีก 3,900 ไร่ กฟผ.จะทำโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างในที่ดินแปลงเดียวกัน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งวางไข่ปลาทู แหล่งวางไข่เต่าทะเล ทำลายแหล่งท่องเที่ยวหาดแหลมกุ่ม อยู่ห่างชุมชนตลาดทับสะแก 1,500 เมตรและพื้นที่โดยรอบเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวดีที่สุดของประเทศไทย ถือเป็นโครงการเทิดพระเกียรติด้วยหรือเปล่า แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกกล่าวอีกว่า ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์กันในพื้นที่อย่างหนักว่า กฟผ.กำลังใช้โครงการเทิดพระเกียรติเป็นแค่เครื่องมือในการดำเนินงานรุกงานมวลชนในพื้นที่ทับสะแกเท่านั้น ถ้าใครค้านโครงการของกฟผ.เท่ากับค้านการเทิดพระเกียรติ “ทำแบบนี้เราขอเตือนกฟผ.ว่าสุ่มเสี่ยงกับข้อครหาว่า “ดึงฟ้าต่ำ” โดยสามัญสำนึกของคนหรือองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อยากเห็นความสงบสุขของบ้านเมืองไม่ควรทำ ไม่ควรเดินเกมส์สร้างเงื่อนไขที่ก่อความไม่สบายใจให้กับชาวบ้านและทุกส่วนในสังคม แบบที่กฟผ.กำลังทำ และกฟผ.ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการแบบนี้” สุรีรัตน์กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
จิตตา คชเดช: ค่าแรง 300 ขนหน้าแข้งนายทุนไม่ร่วง Posted: 18 Jul 2011 12:47 PM PDT จากการที่พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่ผ่านมา นโยบายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาทที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียงจึงกลายเป็นประเด็นที่ทำให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แถลงค้านทันทีว่าปรับ 300 บาทไม่ได้ ด้วยหลายเหตุผลเช่น ควรปล่อยให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกตลาด, เป็นการทำให้ต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น ต่างชาติก็หนีไปลงทุนประเทศอื่น จนอาจทำให้ SMEs ที่มีอยู่กว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศต้องปิดกิจการลงไปกว่าครึ่ง ส.อ.ท.ยังมีข้อต่อรองว่าหากจะขึ้นจะต้องมีเงื่อนไข เช่นถ้ารัฐบาลต้องการจ่ายค้าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ให้รัฐบาลไปหาค่าจ้าง 300 บาท มาจ่ายเอง แต่หากรัฐบาลยืนยันจะขึ้นจริงๆ ให้ภาครัฐช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนต่างของค่าจ้างที่ปรับขึ้น รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยการออกคูปองชดเชยให้ผู้ประกอบการ ในสัดส่วน 70-80 % ของค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการนำคูปองนี้ไปใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ หรือเงินที่จะจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม หากไม่มีมาตรการใดรองรับ และเห็นว่าเหมาะสมอยู่ที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 220 -240 บาท ต่อวัน ส่วนความเห็นของกรรมกรอย่างพวกเรา เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่นายทุนต้องออกมาคัดค้าน เพราะการที่จะได้มาซึ่งกำไรก็คือการขูดรีดแรงงานซึ่งก็คือการกดค่าแรงนี่เอง ดังนั้นนายทุนก็ต้องออกมาคัดค้านเรื่องการปรับค่าจ้าง และหาข้อต่อรองเพื่อให้ได้กำไรสูงสุดเสมอ บางทีเผลอๆ การเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท อาจจะได้ส่วนต่างจากรัฐบาลเป็นกำไรอีกต่อ เนื่องจากรัฐบาลที่เคยหาเสียงไว้แล้วก็ต้องหาเงื่อนไขจูงใจให้เหล่าบรรดานายทุนเห็นด้วย กรรมกรอย่างพวกเราเห็นว่าการปรับค่าจ้างวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของผู้ใช้แรงงานได้ทั้งหมด เพราะเพียงแค่จะประกาศขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคคงแข่งกันขึ้นล่วงหน้าไปแล้ว ก็ทำให้คนงานก็ยังไม่พอกินอยู่ดี การปรับค่าจ้างต้องควบคู่ไปกับการควบคุมราคาสินค้า และการจัดสวัสดิการให้กับคนงาน เช่นลูกของคนงาน รัฐต้องจัดให้เรียนฟรี อาหารกลางวันฟรี ค่ารถโรงเรียนฟรี อุปกรณ์และเครื่องแบบฟรี เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ส่วนใหญ่คนงานเป็นแรงงานย้ายถิ่นสิ่งที่จำเป็นคือที่อยู่อาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟและรัฐต้องควบคุมราคาที่เหมาะสมกับพื้นที่และค่าจ้างเช่นค่าที่อยู่อาศัยควรไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเพราะปัจจุบันที่อยู่อาศัยห้องเช่าอยู่ที่ประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างขั้นต่ำ และแรงงานส่วนใหญ่จะส่งลูกไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดดูแลจึงต้องส่งเงินค่าอาหาร และการศึกษารวมถึงเงินดูแลพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่ช่วยดูแลลูกให้ รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นสำหรับคนงาน เช่น ข้าวเปล่า แกงถุง ก๋วยเตี๋ยว อาหารจานเดียว บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง ไข่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค่าไฟฟ้า/น้ำประปาจากห้องเช่า นมผงเด็ก สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก และร้านค้าขายปลีกตามหอพักห้องเช่าจะขายราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป รัฐก็จำเป็นต้องเข้ามาควบคุม รัฐต้องสนับสนุนให้ลูกจ้างมีสหภาพแรงงานเพื่อจะได้นำไปสู่การรวมตัว ยื่นข้อเรียกร้องเจรจาต่อรองค่าจ้างสวัสดิการ ให้มีรายได้สวัสดิการเหมาะสมกับผลกำไรของบริษัท และทำให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิของคนงาน เพราะบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทยักษ์ใหญ่มีกำไรมหาศาลและนำเงินออกนอกประเทศในขณะที่คนไทยได้แค่ค่าจ้างถูกๆ ในขณะเดียวกันรัฐกลับส่งเสริมการลงทุนทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่เสียภาษี นำเข้าเครื่องจักร และภาษีรายได้ส่วนบุคคล และเตรียมจะลดภาษีอีกซึ่งขณะนี้สัดส่วนการจ่ายภาษีของนักลงทุนต่างๆ น้อยมากอยู่แล้ว รัฐต้องจัดให้บริษัททำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อจะทำให้คนงานมีเงินออมและเมื่อเกษียณจะได้มีเงินส่วนหนึ่งไปใช้ดำรงชีพต่อไปและเงินรายได้ของลูกจ้างควรมีมากพอที่จะออมได้ด้วยตัวเองเพราะตอนแก่ไม่สามารถทำงานได้หรือความไม่มั่นคงของการทำงานเมื่อตกงานจะได้มีเงินสำรองในการกินอยู่ ในปัจจุบันคนงานส่วนใหญ่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้จำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบและส่วนใหญ่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะเป็นหนี้สะสมมาอย่างยาวนาน เช่นหาเงินใช้หนี้ ธกส.ให้กับครอบครัว การผ่อนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้ในการศึกษาลูก ผ่อนมอเตอร์ไซค์ เล่นแชร์ ส่วนใหญ่คนงานดำรงอยู่ได้ด้วยการทำงานล่วงเวลา หรือหาอาชีพอื่นเสริมเช่น ธุรกิจขายตรง ขายประกัน เสริฟอาหาร หรือขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (ซึ่งค่าเสื้อวินก็แพงมาก) ขับแท็กซี่ ไม่เช่นนั้นทำให้เงินไม่พอใช้ จึงเกิดธุรกิจรายย่อยเช่นการปล่อยเงินกู้ดอกแพง หรือการตั้งตัวเป็นคนรับหวยเถื่อนเพื่อกินเปอร์เซนต์ และส่งต่อเจ้าใหญ่ เพราะมันเป็นทางออกอีกอย่างของคนที่รายได้ไม่พอใช้คือการเสี่ยงโชค บางบริษัทมีคนงานได้รับค่าจ้างมากกว่า 300 บาท/วัน แต่หลายบริษัทขึ้นค่าจ้างตามกฎหมายขั้นต่ำไม่สนใจว่าจะอายุงานเท่าไหร่ อยากแนะนำว่าถ้าบริษัทไหนที่ปรับค่าจ้างแล้วจะทำให้อยู่ไม่ได้ควรจะเรียกดูผลกำไรของแต่ละปีว่าเท่าไหร่ถ้าปรับขึ้นค่าจ้างจะเสียหายหรืออยู่ต่อไปได้หรือไม่ และควรเรียกดูเป็นระบบถึงบริษัทแม่ในประเทศและต่างประเทศด้วย เพราะจะได้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงที่ไม่สามารถปรับค่าจ้างได้คืออะไร ไม่มีเงินหรือไม่อยากสูญเสียกำไร เพราะบางบริษัทหมดเงินไปกับการโฆษณาสินค้า จ่ายเงินค่าโฆษณานางแบบนายแบบต่อครั้งเท่ากับการทำงานของคนงาน 1 ปี การจ่ายเงินเดือนสำหรับผู้บริหารมากกว่าคนงานถึง 17 เท่าต่อเดือน การลดช่องว่างระหว่างผู้บริหารและการใช้หลักการคนงานมีคุณภาพชีวิตดีสินค้าที่ผลิตก็ดี การที่บริษัทโฆษณาการดูแล CSR ของบริษัทปลูกต้นไม้ ทำบุญ 9 วัด สร้างโรงเรียนกลับมาสร้างCSR กับพนักงานของตัวเอง จัดค่าจ้างสวัสดิการให้กับลูกจ้างแทนสิ่งเหล่านั้นและยกภาระการสร้างวัดสร้างโรงเรียนเป็นของรัฐบาลจะดีกว่า การปรับค่าจ้างของคนงานที่ผ่านมาได้ปรับตามค่าจ้างขั้นต่ำยกตัวอย่างกรุงเทพฯและปริมณฑลจากวันละ 206 บาทมาเป็น 215 บาท นายจ้างจ่ายค่าจ้างเฉพาะวันทำงานเท่ากับ 26วันต่อเดือนเท่านั้น เท่ากับคนงานมีรายได้ต่อเดือน 5590 บาทหรือเฉลี่ยวันละ 186 บาทเท่านั้นและเห็นว่ามีการปรับค่าจ้างเพิ่มมาประมาณ 4.5 เปอร์เซ็นต์ แต่มาดูการปรับค่าอุปโภคบริโภคจากปีที่แล้วมาปีนี้และอย่าลืมว่าคนต้องกินอาหารทุกวันไม่เว้นวันหยุด เปรียบเทียบราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ค่าที่อยู่อาศัยที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ประเภทอาหาร
ประเภทที่อยู่อาศัยและค่าเดินทาง
ประเภทค่าใช้จ่ายจำเป็น
สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ผู้ค้าปลีกปรับเพิ่มอีกประมาณ 10 เปอร์เซ็น
ตัวอย่างค่าใช่จ่ายของคนงาน 1 คน ต่อเดือน ค่าอาหาร 3000 บาท ค่าที่อยู่อาศัย 1800 บาท ค่าน้ำประปา+ค่าไฟฟ้า 500 บาท ค่าอุปโภค 500 บาท ค่าพาหนะ 1000 บาท ค่าโทรศัพท์ 300 บาท รวม 7100 บาท
ซึ่งยังไม่รวมเครื่องนุ่งห่ม บันเทิง หรือผ่อนทีวี ตู้เย็นและภาษีสังคมเช่นซองผ้าป่า กฐิน งานศพ งานแต่งและที่สำคัญพ่อแม่ขั้นต่ำคนละ 1000/ เดือน เด็กเล็กเดือนละ 5000/เดือนลูกโต ขั้นต่ำ 3000/เดือน เปรียบเทียบให้เห็นว่าค่าจ้างเงินจะหมดไปกับค่าอาหารและที่อยู่อาศัย โดยสรุปการปรับค่าจ้างวันละ 300 บาทไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัทใหญ่ๆและขนาดเล็ก และถ้าบริษัทไหนไม่พร้อมที่จะปรับค่าจ้างทำให้กำไรลดลงจนยอมไม่ได้ก็ต้องปิดกิจการ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรเช่นที่ดินว่างเปล่าอีกมากถ้านักลงทุนต้องถอนทุนปิดกิจการ รัฐก็สนับสนุนให้คนงานบริหารจัดการทำกันเอง หรือจัดสรรที่ทำกินให้คนตกงาน จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดิน มรดก ลดการใช้จ่ายภาษีที่ไม่จำเป็นเช่นพิธีกรรมที่ฟุ่มเฟือย งบประมาณทหารที่ไม่เกิดประโยชน์ส่วนใหญ่ของประชาชน พวกเราก็อยู่กันได้ เพื่อให้เป็นไปได้ตามนโยบายพรรคเพื่อไทย 1. ปรับค่าจ้างทันที 300 บาทเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2555 และพิจารณาการปรับค่าจ้างสำหรับคนงานอายุงาน 3 ปีขึ้น(ที่ยังได้ค่าจ้างขั้นต่ำมาตลอด)ไปตามฝีมือแรงงานหรือตามอายุงาน 2. ให้บริษัทที่ไม่สามารถปรับค่าจ้างได้ตามกฎหมายกำหนด ให้นำหลักฐานทางการเงินเข้ามาให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขว่าปรับค่าจ้างไม่ได้เพราะอะไร 3. ให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนให้ทุกสถานประกอบการมีสหภาพแรงงาน เพื่อจะได้เกิดการยื่นข้อเรียกร้องเจราจาต่อรองค่าจ้างสวัสดิการตามผลกำไรบริษัท 4. ค่าจ้างสำหรับคนเรียนจบปริญญาตรีต้องไม่น้อยกว่า 15000 บาทตามสาขาอาชีพที่เรียนมา
หวังว่าคงไม่มีใครออกมาปฏิเสธหรือคัดค้านเพราะมนุษย์เราควรจะทำงาน 8 ชั่วโมง มีรายได้ที่เป็นธรรมคือดูแลตัวเองและคนอื่นได้อีกสองคน อย่าทำตัวเป็นนายทุนหน้าเลือด บริษัทอยู่ได้ ลูกจ้างอยู่ได้ การจ้างงานที่เป็นธรรมต้องเกิดขึ้นได้จริงตาม ปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights, 1948) ข้อ 23 แต่ละคน มีสิทธิมีงานทำ ที่เสรี - เป็นธรรม - เหมาะสม / ค่าจ้างเท่ากัน สำหรับการทำงานที่เท่ากัน / ค่าจ้างที่เป็นธรรมและเหมาะสม / สิทธิที่จะก่อตั้ง - เข้าร่วมในสหภาพแรงงาน ข้อ 24 แต่ละคน มีสิทธิพัก - ผ่อนคลาย - จำกัดชั่วโมงทำงาน – วันหยุดโดยมีค่าจ้าง
จิตรา คชเดช 18 กรกฎาคม 52554
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ใบแถลงข่าวศาลโลกว่าด้วยคำตัดสินกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ฉบับภาษาไทย (ไม่เป็นทางการ) Posted: 18 Jul 2011 12:11 PM PDT ใบแถลงข่าวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระบุ มีมติเป็นเอกฉันท์ ปฏิเสธไทยขอยกคำร้องกัมพูชา พร้อมแถลง มีมติ 11 ต่อ 5 ให้พื้นที่พิพาทเป็นเขตปลอดทหาร พร้อมชี้ คำสั่งศาลมีพันธะผูกพันพึงปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ใบแถลงข่าวอย่างไม่เป็นทางการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คำร้องขอให้ตีความคำตัดสินวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ในกรณีเขาพระวิหาร (ระหว่างกัมพูชาและไทย) คำร้องขอให้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ศาลพบว่า ทั้งสองฝ่ายต้องถอนกำลังทหารออกจากบริเวณพิพาทโดยทันทีและให้เป็นเขตปลอดกำลังทหาร โดยห้ามมีกองกำลังทหารในบริเวณดังกล่าวและไม่ให้มีปฏิบัติการทางทหารใด ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
กรุงเฮก- 18 ก.ค. 54 – ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice –ICJ) หน่วยงานหลักทางด้านตุลาการแห่งสหประชาชาติ ตัดสินคำร้องขอให้มีการมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ที่ยื่นโดยประเทศกัมพูชา โดยให้ตีความคำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ในกรณีเกี่ยวกับเขาพระวิหาร (ระหว่างกัมพูชาและไทย) โดยเรียงตามลำดับคำสั่ง ศาลตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้ปฏิเสธการร้องขอจากฝ่ายไทยให้ยกคำร้องของกัมพูชา จากนั้น ศาลได้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ศาลเริ่มโดยการระบุว่า ด้วยมติ 11 ต่อ 5 ทั้งสองฝ่ายควรถอนกองกำลังทหารที่อยู่ในบริเวณเขตปลอดทหารชั่วคราวโดยทันที ดังที่ได้กำหนดไว้ในย่อหน้าที่ 62 ของคำสั่ง (สามารถดูภาพแผนที่ประกอบที่แนบมากับคำสั่งและแถลงการณ์ฉบับนี้) และห้ามมีกองกำลังทหารใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว และไม่ให้มีปฏิบัติการทางทหารใดๆ ในบริเวณดังกล่าวด้วย ศาลยังกล่าวว่า ด้วยมติ 15 ต่อ 1 ประเทศไทยไม่ควรขัดขวางทางเข้า-ออกเขาพระวิหาร หรือขัดขวางไม่ให้กัมพูชาขนส่งเสบียงอาหารให้บุคลากรทางด้านพลเรือน และศาลกล่าวว่ากัมพูชาและไทยควรจะดำรงรักษาความร่วมมือในอาเซียน โดยเฉพาะการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนสามารถเข้าไปในบริเวณเขตปลอดทหารดังกล่าวได้ และให้ทั้งสองฝ่ายยุติการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้สถานการณ์และความขัดแย้งย่ำแย่ลง หรือทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้นในการแก้ไข สุดท้ายนี้ ศาลตัดสินด้วยมติ 15 ต่อ 1 ว่าแต่ล่ะฝ่ายควรรายงานผลปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าวต่อศาล และจนกว่าศาลจะสามารถพิจารณาคำร้องให้ตีความคำตัดสินเสร็จสิ้น ศาลจะถือว่าข้อปฏิบัติดังกล่าวจะยังคงผูกมัดตามคำสั่งของศาล
เงื่อนไขทางตุลาการและกฎหมายที่จำเป็นในการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ศาลสรุปว่า (ย่อหน้าที่ 19 ถึง 32 ของคำสั่ง) ว่าข้อพิพาทดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความหมายของคำตัดสินปี 2505 ดังนั้น ศาลจึงสามารถรับคำร้องขอให้ตีความของกัมพูชาได้ ตามมาตรา 60 ของบทบัญญัติ และยังประกาศด้วยว่าศาลไม่สามารถดำเนินตามคำร้องขอของประเทศไทยให้ยกเลิกคำร้องดังกล่าว และเสริมด้วยว่ามีมูลเพียงพอให้ศาลกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ตามที่ร้องขอโดยกัมพูชา หากว่ามีเงื่อนไขที่จำเป็นเพียงพอ หลังจากนั้น ศาลได้พิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวทีละข้อ (ย่อหน้าที่ 35 ถึง 56) และสรุปว่าเงื่อนไขดังกล่าวมูลเหมาะสม อย่างแรก ศาลพิจารณาว่าสิทธิที่กัมพูชาได้อ้าง ตามคำตัดสินปี 2505 ตามคำตีความนั้นสามารถเป็นไปได้ อย่างที่สอง ศาลจึงพิจารณาว่ามาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่กัมพูชาเรียกร้องให้พิทักษ์สิทธิ ตามการตีความและความเกี่ยวข้องตามสิทธิที่อ้างและมาตรการที่ร้องขอจึงได้กำหนดขึ้น อย่างที่สาม ศาลพิจารณาว่า มีความเสี่ยงที่เป็นจริงและอันตรายในการเกิดความเสียหายอันแก้ไขไม่ได้ ต่อสิทธิที่อ้างโดยกัมพูชา ก่อนที่ศาลจะตัดสินครั้งสุดท้าย จึงมีความจำเป็นที่เร่งด่วน สุดท้ายนี้ ศาลย้ำว่าคำสั่งที่กำหนดให้มีการมาตรการชั่วคราว มีภาระผูกพันและเป็นพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองประเทศจักต้องปฏิบัติตาม ศาลยังมีบันทึกด้วยว่า การตัดสินใจในกระบวนการดังกล่าว ต่อคำร้องขอให้มีมาตรการคุ้มครอง มิได้เกี่ยวข้องและมีนัยยะใดๆ ต่อสิ่งที่ศาลจักต้องตัดสินเกี่ยวกับคำร้องขอให้มีการตีความ (คำตัดสินของศาลโลกปี 2505 – ผู้แปล) เขตปลอดทหาร: พื้นที่ล้อมกรอบด้วยเส้นสีส้ม เป็นเขตปลอดทหารในบริเวณพื้นที่ ที่มา แปลจาก International Court of Justice. Unofficial Press Release.18/07/54 http://www3.icj-cij.org/docket/files/151/16582.pdf
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
"กษิต ภิรมย์" ถวายรายงานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กรณีเยอรมันอายัดเครื่องบินพระที่นั่ง Posted: 18 Jul 2011 03:43 AM PDT กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่ท่าอากาศยานแฟรงเฟิร์ต เยอรมนี เพื่อถวายรายงานการดำเนินการทางการทูตและกฎหมาย กรณีศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินรัฐบาลไทย ซึ่งนำไปสู่การอายัดเครื่องบินพระที่นั่งซึ่งจอดอยู่ที่ท่าอากาศยานมิวนิค เผยอธิบดีกรมการบินพลเรือนเตรียมเบิกความต่อศาล 18 ก.ค. นี้ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ รายงานข่าววันนี้ (18 ก.ค.) โดยพาดหัวว่า "รัฐมนตรีว่าการฯ ถวายรายงานความคืบหน้ากรณีศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินรัฐบาลไทย" โดยมีรายละเอียดดังนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ถวายรายงานความคืบหน้ากรณีศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินรัฐบาลไทย 18 กรกฎาคม 2554 15:30:21 เช้าวันที่ 17 กรกฎาคม 2554 ที่ท่าอากาศยานแฟรงเฟิร์ต เยอรมนี นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อถวายรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งทางด้านการทูตและทางด้านกฎหมาย กรณีศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินรัฐบาลไทย ซึ่งนำไปสู่การอายัดเครื่องบินพระที่นั่ง ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าอากาศยานนครมิวนิค ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2554 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1.เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับรักษาการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี (นาง Cornelia Pieper) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี (นาย Werner Hoyer) ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งรัฐมนตรีฯ ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งและย้ำถึงความละเอียดอ่อนของการดำเนินการของฝ่าย เยอรมนีในเรื่องนี้ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่มีการอายัดเครื่องบินลำดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ มิใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทย จึงจำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันหาทางแก้ไขโดยทันที โดยพิจารณาถึงประเด็นความสำคัญทางการเมืองและกฎหมายควบคู่กัน ซึ่งทางฝ่ายเยอรมนีรับทราบข้อห่วงกังวลของไทยและเห็นพ้องว่าไม่ควรให้เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศ พร้อมทั้งแสดงความเสียใจที่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท 2. สำหรับการดำเนินงานด้านกฎหมายนั้น คณะทำงานด้านกฎหมายของไทยนำโดยอัยการสูงสุดพร้อมด้วยอธิบดีกรมสนธิสัญญาและ กฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยจะนำเสนอข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมตามที่ศาลร้องขอ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและรูปถ่าย พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องของหลักฐานของทนายความของบริษัท Walter Bau และจะมีการเบิกความต่อศาลโดยอธิบดีกรมการบินพลเรือน ในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554 นี้
ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ศาลโลกตัดสินไทย-กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทเขาพระวิหาร Posted: 18 Jul 2011 02:18 AM PDT ศาลโลกตัดสินเมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ ให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท และกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปลอดทหาร พร้อมให้ไทยหยุดการขัดขวางเขมรบริเวณทางเข้า-ออกประสาทพระวิหาร 18 ก.ค. 2554 – เมื่อเวลา 15.00 น. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice –ICJ) หรือศาลโลก ได้ตัดสินให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท โดยมีมติ 11 ต่อ 5 โดยกำหนดให้เขตดังกล่าวเป็นเขตปลอดทหาร และให้ประเทศไทยยุติการขัดขวางทางเข้า-ออกปราสาทพระวิหาร รวมถึงสั่งให้ 2 ฝ่ายละเว้นการปฎิบัติการใดๆ ที่จะทำให้เกิดการปฎิบัติการทางทหาร โดยให้เหตุผลว่า ศาลไม่เห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์กับไทย ที่ร้องให้ศาลจำหน่ายคดี ที่กัมพูชาร้องให้พิจารณคาคำตัดสินเดิมปี 2505 ทิ้งไป และเห็นว่ากัมพูชามีสิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลโลก และให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นรายงานว่า ทางฝั่งกัมพูชาได้เตรียมเครื่องจรวดหลายลำกล้องรุ่น BM-21 จำนวน 5 เครื่องมาประจำใกล้บริเวณใกล้ปราสาทพระวิหารตรงข้ามจังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งอยู่ในวิถีปืนใหญ่ของฝั่งไทย ในขณะที่ทางโฆษกกองทัพภาคที่สอง พ.อ. ประวิทย์ หูแก้ว ประจำพื้นที่ ยืนยันว่ายังมีการเตรียมพร้อมของพลทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างเต็มที่เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังชี้ว่า หากศาลโลกมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวปราสาทพระวิหารตามที่กัมพูชาได้ร้องขอไป ทางกองทัพภาคที่สองก็จะยังคงรักษาอธิปไตยในพื้นที่ตามคำสั่งของผู้บัญชาการกองทัพบก พ.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา และแม่ทัพภาคที่สองพล.ท. ธวัชชัย สมุทรสาคร ที่ได้สั่งการลงมาให้ดูแลพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นพื้นที่อ้างสิทธิที่ทางกองทัพภาคที่สองได้เข้าไปดูแลมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ทางรัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้พิจารณาตรวจสอบคำพิพากษาที่ศาลโลกตัดสินเมื่อปี 2505 ว่าด้วยปัญหาพื้นที่พิพาท และการบริหารจัดการเขาพระวิหาร รวมทั้งได้ยื่นคำร้องให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเขาพระวิหารสามข้อ คือ ให้รัฐบาลไทยถอนทหารจากพื้นที่พิพาทโดยทันที, ให้รัฐบาลไทยยุติการกระทำใดๆ ที่ละเมิดสิทธิของกัมพูชาในการดูแลอนุรักษ์เขาพระวิหาร และยุติความเคลื่อนไหวทางทหารใดๆ ในพื้นที่บริเวณกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ที่มาบางส่วนจาก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น