โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ธเนศวร์ เจริญเมือง: เมื่อไม่มีการกระจายอำนาจ การเมืองจึงเป็นเรื่องของชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม

Posted: 14 Jul 2011 01:55 PM PDT

ธเนศวร์ เจริญเมือง” อภิปรายในการประชุมเปิดตัวโครงการ “ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น” ชี้ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจอย่างมากมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 – ยุคสงครามเย็นจน กระทั่งปัจจุบันการกระจายอำนาจก็ยังมีลักษณะผสม เกิดระบบ “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน” ระหว่างผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง และ นายกฯ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง

ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 54 ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายหัวข้อ "การกระจายอำนาจและการเมืองในท้องถิ่น: การปกครองท้องถิ่น การศึกษา และการปฏิรูปที่ดิน" ระหว่างการประชุมเปิดตัวโครงการ "ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น" (Sapan Project - CMU) โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

 

"การที่ส่วนกลางกระจายอำนาจลงมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือมีการขยักอำนาจเอาไว้ เพราะฉะนั้นท้องถิ่นก็ได้อำนาจไม่เต็มที่  ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการหลายเรื่องได้ คนเชียงใหม่ควรจะคิดตลอดเวลาว่า ในขณะที่พรรคการเมืองที่กรุงเทพฯ พูดถึงการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือจะทำรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 10 สาย เชียงใหม่ยังไม่มีสักสายเลย พี่น้องขอนแก่น โคราช อุบลฯ หรือสงขลา ปัตตานีหาดใหญ่ ภูเก็ต ก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันเป็นเวทีที่ท้องถิ่นจะต้องเปิดขึ้นมา"

ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีลักษณะพิเศษ เพราะว่าอย่างที่ท่านอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) พูดเอาไว้ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ท่านอาจารย์ทำให้การเมืองชนชั้นนำสนุกสนาม เมื่อผมฟังอาจารย์พูดทำให้ผมนึกถึงว่าเราควรจะทำวิทยานิพนธ์ดีๆ เยอะๆ เกี่ยวกับเรื่องการเมืองชนชั้นนำ

การเมืองชนชั้นนำมันวิลิศมาหรา หรือมันสลับซับซ้อน มันน่าสนใจ อย่างที่อาจารย์นิธิพูดได้อย่างนั้น ก็เพราะว่าที่สำคัญคือมันไม่มีการกระจายอำนาจ มันจึงเป็นเรื่องของชนชั้นนำไม่กี่กลุ่มที่กรุงเทพฯ

ประเด็นที่หนึ่งที่อยากเสนอคือ ผมอยากเสนอว่า ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีกรรม เราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นเขา เราก็เลยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจสูงมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 การรวมศูนย์อำนาจที่สูงลิ่วทำให้ท้องถิ่นถูกทำลายในทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ศาสนา วัดวาอาราม ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบการปกครอง การเมือง กฎหมาย

เมื่อเรารวมศูนย์อย่างหนัก ประเด็นที่สองก็คือ เราก็เป็นประเทศที่เป็นที่พิศวาสหมายปองของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นฐานยุทธศาสตร์สำคัญในการสู้กับประเทศสังคมนิยม จึงมีการรวมศูนย์อำนาจเพื่อที่จะระดมสรรพกำลังของประเทศไปสู้กับประเทศกลุ่มสังคมนิยม ก็ทำให้ประเทศที่ดีไซน์การพัฒนาประเทศของเราคือสหรัฐอเมริกา ไม่สนใจเรื่องการกระจายอำนาจเลย ทั้งที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างยิ่งในการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นที่เยอรมัน หรือญี่ปุ่น หรือเกาหลี แต่ของเรากลับละเลยอย่างสิ้นเชิง ทำให้การเมืองชนชั้นนำของท่านอาจารย์นิธิน่าสนใจ น่าพิศวาสมากขึ้น ก็เพราะฝีมือของประเทศตะวันตกที่มาสู้กับประเทศสังคมนิยม

ทีนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เวลาต่อมาหลังจากที่สฤษดิ์ทำรัฐประหารแล้ว ทำให้เผด็จการเข้มแข็งมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเศรษฐกิจของเราก็กระจายลงมาทำให้ภาคท้องถิ่นเติบโตมากขึ้นอย่างที่เราเห็น แต่ก็เติบโตภายใต้โครงสร้างเดิมคือระบบรัฐรวมศูนย์ และไปสร้างระบบที่อาจารย์นิธิเรียกว่า "เส้น" จริงๆ มันก็คือ "ระบบอุปถัมภ์" นั่นเอง มันก็เกิดขึ้นมาจากโครงสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจแบบนี้

เพราะฉะนั้นหลายสิบปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงข้างบน ที่พยายามดิ้นให้พ้นจากความขัดแย้งบางประการ แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถต้านทานการเติบโตของพลังฝั่งประชาธิปไตย ทั้งภาคเศรษฐกิจและการเมือง อย่างที่เกิดอุบัติขึ้นในปี 2540 และ 2549 ได้ มันก็ต้านได้ยาก มันก็ค่อยๆ เติบโตมากขึ้น

ประการหนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นในปี 2540 เป็นต้นมา เนื่องจากว่า พลังข้างล่างมันเป็นการเติบโตแต่เพียงความปรารถนาของนักธุรกิจท้องถิ่นที่อยากจะมีบทบาทและไปจับมือกับพรรคไทยรักไทย เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้ ขณะที่รัฐบาลยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ทำให้การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะผสมสานมากอย่างที่เราเห็น คือมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง มีทั้งนายก อบจ. ที่มาจากเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งมันก็กลายเป็นระบบเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน ซึ่งคำถามคือว่าจะจัดการอย่างไร

ประกายที่สอง การที่เรามีระบบการเลือกตั้งนายกฯ (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – อปท.) โดยตรง ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักธุรกิจท้องถิ่น และสอดรับกับระบบซีอีโอที่พรรคไทยรักไทยเสนอ ทีนี้เรามีสภานิติบัญญัติ หรือสภาเทศบาล หรือสภา อบต. หรือสภา อบจ. ที่ควรทำหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมการทำงานซีอีโอหรือ นายก อบต. นายก อบจ. หรือนายกเทศมนตรี ปรากฏว่าด้วยความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เราไม่ได้มีระบบการศึกษาที่ปูทางให้การศึกษาเตรียมความพร้อมเรื่องกระจายอำนาจแก่ประชาชน เราไม่ได้มีการรณรงค์ ไม่ว่าจะเป็นโดย ฝั่ง กกต. หรือฝั่งกระทรวงมหาดไทย มันก็เลยกลายเป็นการเอาแนวคิดแบบรัฐสภามาใช้ก็คือการเลือกเป็นทีม คือเลือกสมาชิกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นทีม และเลือกนายกฯ (อปท.) ด้วย มันก็เลยจบลงด้วยการกินด้วยกันเป็นทีม หรือการตรวจสอบควบคุมไม่เข้มข้นเท่าที่ควร

จริงๆ แล้วในหัวใจระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง สภากับผู้บริหาร ต้องแยกกันชัดเจน แต่ต้องพูดเรื่องระบบการศึกษา ระบบการประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ด้านสื่อสารมวลชนด้วย แต่ไม่มีสิ่งเหล่านี้

สุดท้าย จริงๆ แล้ว แม้จะเป็นความยากลำบากที่มีระบบเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน แต่ว่าปัญหาสำคัญสองประการที่เกิดขึ้นในการปกครองท้องถิ่นของประเทศเราคือ ประการหนึ่ง การที่ส่วนกลางกระจายอำนาจลงมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือมีการขยักอำนาจเอาไว้ เพราะฉะนั้นท้องถิ่นก็ได้อำนาจไม่เต็มที่  ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการหลายเรื่องได้ คนเชียงใหม่ควรจะคิดตลอดเวลาว่า ในขณะที่พรรคการเมืองที่กรุงเทพฯ พูดถึงการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือจะทำรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 10 สาย เชียงใหม่ยังไม่มีสักสายเลย พี่น้องขอนแก่น โคราช อุบลฯ หรือสงขลา ปัตตานีหาดใหญ่ ภูเก็ต ก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันเป็นเวทีที่ท้องถิ่นจะต้องเปิดขึ้นมา แต่สื่อก็ไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ ไม่มีเวทีให้เรา

พรรคการเมืองระดับประเทศจุดประเด็นให้เราว่า เราควรจะมีรถไฟสำหรับกรุงเทพฯ อย่างนั้น อย่างนี้ ราคาเท่านี้ แต่ว่าแล้วเชียงใหม่จะจัดการอย่างไรในหลายๆ เรื่อง ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่พรรคการเมืองระดับประเทศเป็นคนทำ ท้องถิ่นต้องเป็นคนทำ ท้องถิ่นต้องมีบทบาทในการทำเอง นี่เป็นประเด็นหนึ่ง

แต่ว่าอย่างที่บอก อำนาจที่กระจุกตัวขยักให้ทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การคมนาคม การอะไรต่างๆ ทำให้ท้องถิ่นเติบโตไม่ทันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ประการที่สองก็คือ การยึดอำนาจในปี 2549 ทำให้เกิดกระแสใหม่เกิดขึ้น คือกระแสการกลับไปสู่การรวมศูนย์อำนาจอีกครั้ง คือคณะรัฐประหารพยายามเพิ่มอำนาจให้กับคนที่เขาไว้ใจได้ เช่น ไปทำให้กำนันอยู่จนเกษียณอายุ พยายามเข้าไปควบคุม แทรกแซง อบต. เทศบาล อบจ. วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการซึ่งเราเข้าใจได้อีก นั่นก็คือเมื่อมีการยึดอำนาจ มีการทำลายสถาบันในระบอบประชาธิปไตยลง คณะรัฐประหารก็พยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง ลงไปดูว่ามีระบบราชการหน่วยไหนที่จะสามารถทำให้เขาเข้มแข็งได้ เพื่อกลไกเหล่านี้จะได้ไปสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากระบอบเผด็จการทหาร หรือระบอบของคณะรัฐประหารได้ในอนาคต

เวลานี้ก็เลยเกิดการสู้กันอีก คือเราเดินทางสู่การกระจายอำนาจตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2549 ในที่สุดก็มาสะดุดหยุดลงที่คณะรัฐประหาร ทำให้เกิดกระแสที่เราเรียกในภาษาอังกฤษว่า “Re-Centralization” คือ กลับไปรวมศูนย์อีก

ในแง่นี้ เมื่อกลับไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้งเสร็จแล้วร้อยแล้วเมื่อ 3 ก.ค. คำถามที่เผชิญหน้าเรา ที่ผมคิดว่าวันนี้เราจะคุยกันได้ในเวทีนี้ก็คือทิศทางการเดินจะเป็นอย่างไรต่อไป

สุดท้าย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีองค์กรประชาชนหลายส่วนที่ได้เสนอริเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการระดับชาติเช่น นพ.ประเวศ (วะสี) ตอนนี้เข้าใจว่ามี 26-28 จังหวัดที่มีการรวมกลุ่มขององค์กรประชาชนในการเรียกร้องให้มีการดูแลตนเอง เสียดายประเด็นที่ปัตตานียังไม่มีการถกเถียงชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร แต่ว่า 26-28 จังหวัดที่เรียกร้องให้มีการปกครองตนเอง ผมคิดว่าเมื่อเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง องค์กรเหล่านี้ทั้งหมดก็ควรจะได้โอกาสที่ดี เมื่อมีรัฐบาลแล้ว ที่จะมาประชุม และผลักดันให้นโยบายชองรัฐบาลปรากฏเป็นจริงให้จงได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

iLaw: หมอ vs คนไข้ ยกที่สอง “สิทธิการตาย” ใครกำหนด?

Posted: 14 Jul 2011 11:37 AM PDT

นึกถึงคนไข้จำนวนมาก ที่ตกอยู่ในสภาพ “เจ้าหญิงนิทรา” หรือ สภาพ “ผัก” ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากการป่วยด้วยโรคร้ายแรงบางอย่าง หรือประสบอุบัติเหตุทำให้สมองบางส่วนไม่ทำงาน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่การเจ็บป่วยนั้นทำให้ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถโต้ตอบ และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อีกต่อไป

หรือกรณีป่วยเป็นโรคที่ทางการแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ไม่มีทางรักษาให้หายเป็นปกติได้ สามารถทำได้เพียงแค่ใช้เทคโนโลยียืดชีวิตออกไปโดยไม่มีความหวังว่าจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งบางครั้งเครื่องมือหรือการรักษาต่างๆ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานมากกว่าปกติ เช่น การเจาะคอเพื่อให้อาหาร เป็นต้น

ทั้งที่สิทธิปฏิเสธการรักษา หรือ สิทธิที่จะตายนั้น เป็นสิทธิที่คนไข้มีติดตัวอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีกฎหมายใดมารองรับ แต่ในสถานการณ์ที่คนไข้อาจจะไม่มีสติสติสัมปชัญญะพอที่จะลุกขึ้นมาบอกว่า "ไม่ขอรับการรักษาใดๆ อีกแล้ว ขอเลือกที่จะตายดีกว่า" ไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือญาติก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าผู้ป่วยรู้สึกอย่างไร เจ็บปวดทุกข์ทรมานแค่ไหน และไม่มีใครสามารถตัดสินใจกำหนดการมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตแทนผู้ที่นอนรอการรักษาอยู่ได้

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 กำหนดไว้ว่า

“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ออก กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. ๒๕๕๓ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติงานของสถานบริการสาธารณสุข ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุขตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อกำหนดรายละเอียด แนวทาง และตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข เพื่อให้สิทธิเลือกที่จะตายของคนไข้ เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ

หลังจากกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต้นเดือนพฤษภาคม 2554และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพฉบับดังกล่าวออกมาบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ได้มีความเห็นที่แตกต่างทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดย นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ประเด็นที่แพทย์แสดงความกังวลคือ 1. นิยามคำว่า “ทรมาน” และ “วาระสุดท้ายของชีวิต” ใครกำหนด มีเกณฑ์อย่างไร 2. หนังสือที่แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข แพทย์จะต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ตรงนี้ไม่อยากให้เป็นภาระของแพทย์แต่อยากให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รับไป 3. หากแพทย์และญาติของผู้ป่วยเห็นต่างกันกรณีวาระสุดท้ายของผู้ป่วยจะทำอย่างไร (ที่มาจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ)

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า กฎกระทรวงดังกล่าวมีการกำหนดวิธีการที่ไม่ชัดเจนสำหรับการปฏิบัติจริง และอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะการกำหนดว่าให้แพทย์ทำหน้าที่ถอดสายท่อ หรือที่เรียกว่า ในความเป็นจริงไม่มีแพทย์คนใดอยากทำไม่ใช่กลัวถูกฟ้องร้อง แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม และในมาตรา 12 ก็ไม่ได้กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน การกระทำลักษณะนี้กลับเข้าข่ายขัดกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ.2525 ที่กำหนดชัดเจนให้แพทย์ต้องทำการรักษาให้ดีที่สุด (ที่มาจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ)

ด้าน นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า อยากถามว่าใครเคยตาย และใครเคยพูดคุยกับคนที่ตายไปแล้วบ้าง ถ้าไม่เคยแล้วทำไมจึงรู้จักจิตใจคนไข้ก่อนตายว่าจะต้องตายอย่างมีศักดิ์ศรี แล้วมาออกกฎหมายในสิ่งที่ไม่รู้จริง ขัดหลักกฎหมาย อันตรายมาก เพราะจะนำมาซึ่งการทำหนังสือโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงทั้งที่ไม่รู้ว่าตัว เองจะตายอย่างไร แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีปัจจัยเสี่ยงทั้งสิ้น (ที่มาจากเว็บไซต์สนุก)

จนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน แพทยสภาประชุมกันและเตรียมการที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว โดย ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า มีแพทย์หลายฝ่ายกังวลถึงการบังคับใช้ แนวทางการแสดงสิทธิดังกล่าว เพราะอาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของแทพย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และยังขัดต่อจริยธรรมแพทย์ จึงมีความเห็นว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 14 ก.ค. นี้เพื่อพิจารณาถึงการเคลื่อนไหว ซึ่งเบื้องต้นอาจดำเนินการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว (ที่มาจากเว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์)

ต่อมา เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิด้านสุขภาพ 4 ภาค เดินทางมายังแพทยสภาเพื่อ ยื่นหนังสือแถลงการณ์ขอให้แพทยสภาสนับสนุนการใช้สิทธิการตายของผู้ป่วย เรียกร้องให้กลุ่มแพทย์ที่กำลังเคลื่อนไหวขัดขวางสิทธิของประชาชนได้หยุดคิดว่า กำลังทำอะไรอยู่ หรือคิดและทำไปโดยมีเรื่องผลประโยชน์จากธุรกิจการแพทย์แอบแฝงที่อาจได้รับจากการยืดการตายของผู้ป่วย (ที่มาจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)

ความขัดแย้งระหว่างแพทยสภาและกลุ่มผู้ร่าง กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนกฎหมายนี้ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะต่างจากกรณีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ครั้งนั้นฝ่ายประชาชนพยายามผลักดันให้กฎหมายเกิดขึ้นและฝ่ายแพทยสภาเป็นฝ่ายคัดค้านจนเรื่องยังคั่งค้างอยู่ในสภาถึงวันนี้

แต่ยกที่สองของความขัดแย้งนี้สถานการณ์กลับกัน เพราะพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมาตรา 12 กฎกระทรวง และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้น ฝ่ายคัดค้านคือกลุ่มแพทยสภาต้องดิ้นรนเพื่อให้ชลอการใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน หรือถ้าหากไม่มีการชลอ หรืออาจต้องใช้ช่องทางอื่นๆ เช่น นำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งประเด็นความขัดแย้งครั้งนี้จะต้องขึ้นสู่ศาลหรือไม่ต้องรอดูมติของคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ เป็นสำคัญ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“กษิต” บินไปเยอรมันเพื่อแก้ปัญหาถูกอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะ

Posted: 14 Jul 2011 11:10 AM PDT

กษิต ภิรมย์” จวกเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากการที่ บ.วอลเตอร์ บราวน์ ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ยอมให้ขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ เผยเตรียมไปพบรัฐบาลเยอรมันเพื่อแสดงความกังวล พร้อมยื่นศาลเพื่อให้ถอนอายัด เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินรัฐบาลไทย ยันไม่คิดแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเยอรมัน

กษิต” แถลงเยอรมันอายัดเครื่องบิน-ถือเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงกรณีที่ บ.วอลเตอร์ บราวน์ ของเยอรมนี ซึ่งถือหุ้นใน บ.ดอนเมืองโทลล์เวย์ อายัดเครื่องบินไทยซึ่งจอดอยู่ที่สนามบินนครมิวนิก โดยในเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายกษิต ระบุว่า เยอรมนีดำเนินการอายัดเครื่องบิน ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง หลังจากที่ทราบข่าวว่า เยอรมนีได้อายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ ในวันที่ 12 ก.ค.54 ทาง นายจริยวัฒน์ สันติบุตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีทันที และตนได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งขณะนี้มีภารกิจอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก็ร้อนใจ และมีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี โทรศัพท์ถึงตน โดยตนได้แจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.) ตนและคณะ จะเดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เพื่อเจรจามีเป้าหมายสูงสุดให้ถอนอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์โดยเร็วที่สุด

 

เปรยไม่อยากให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวระหว่างไทย-เยอรมัน เล็งห้าม จนท.วอเตอร์บาวน์เข้าไทย

นายกษิต กล่าวว่า ทางการไทยได้ยื่นเอกสารแสดงทะเบียนความเป็นเจ้าของเครื่องบินดังกล่าวไปยัง เยอรมนีแล้ว และมีสำนักงานอัยการสูงสุดได้ร่วมดำเนินการทางกฎหมายให้กับฝ่ายไทย โดยขอยืนยันว่า เรื่องทั้งหมดไม่เกี่ยวกับพระองค์ แต่การดำเนินการของเยอรมนีเช่นนี้ เป็นความเป็นพลาดอย่างใหญ่หลวง และไม่อยากให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่มีต่อความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี นอกจากนี้ ได้มีการรายงานต่อสำนักราชเลขาธิการ โดยนายกษิต ประกาศไม่ให้ นายเวอร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายล้มละลายของบริษัทวอเตอร์บาวน์ เข้าประเทศไทยอีก

 

กษิตโทษเป็นเพราะ บ.เยอรมันฟ้องรัฐบาลทักษิณ หลังขวางไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทางโทรลล์เวย์

ด้าน สำนักข่าวไทย ยังระบุด้วยความเห็นของกษิตด้วยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมาจากข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทย กับ บ.วอลเตอร์ บราวน์ ที่ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ยอมให้ขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน

โดย บ.วอลเตอร์ บราวน์ ได้ดำเนินการตามกระบวนการตามอนุสัญญานิวยอร์ก ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2552 จนล่าสุด มีผลตัดสินของศาลเยอรมนีออกมา วันที่ 11 ก.ค. 2554 ยืนยันผลการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ราชอาณาจักรไทยชดใช้เงิน เป็นจำนวน 30 ล้านยูโร และดอกเบี้ย ร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน โดยมีผลย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2549 เนื่องจากไทยผิดพันธกรณี ทำให้ฝ่ายเจ้าทุกข์สามารถบังคับให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าเสียหาย

แม้ บ.วอลเตอร์ บราวน์ จะล้มเลิกกิจการไปแล้ว แต่ได้มอบหมายทนายความเป็นผู้จัดจำหน่ายทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน บ.ดอนเมืองโทลล์เวย์ จึงมีการอายัดเครื่องบินดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลไทยได้รับทราบเรื่อง เมื่อวันที่ 13 ก.ค. เวลา 02.00 น. และได้เริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง” นายกษิตกล่าว

 

เผยเตรียมเดินทางไปเบอร์ลินเพื่อถอนอายัด ต่อสู้ทางกฎหมาย

นายกษิตกล่าวว่า รัฐบาลได้ยืนยันเรื่องดังกล่าวผ่านสถานทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน และส่วนตัวได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งขณะนี้ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่อเมริกา ก็ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงโทรศัพท์มาประสานงานแล้ว คืนนี้ตนและคณะจะเดินทางไปกรุงเบอร์ลิน เพื่อพบรัฐบาลเยอรมนี แสดงความกังวลและไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เป้าหมายแรกที่รัฐบาลจะดำเนินการ คือ การถอนอายัด และเตรียมการต่อสู้ในเรื่องกฎหมายต่อไป เพราะเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องของฝ่ายเจ้าทุกข์ต่อกระบวนการยุติธรรมเยอรมนี ซึ่งที่ผ่านมาในการไต่สวน ไม่เคยเรียกฝ่ายไทยไปชี้แจง ยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศไม่ได้คิดแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเยอรมนี เราเคารพกระบวนการของเขา เหมือนกับที่เคารพของเรา และหวังว่าเมื่อศาลได้ข้อมูลที่ครบถ้วนแล้ว จะพิจารณาโดยเร็วที่สุด” นายกษิตกล่าว และว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'วิกิลีกส์' แฉ "กัมพูชา-ไทย" เกือบได้ข้อยุติพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลก่อนรัฐประหาร

Posted: 14 Jul 2011 08:52 AM PDT

 

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เว็บไซต์หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ว่า เอกสารลับทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่เว็บไซต์จอมแฉ "วิกิลีกส์" นำมาเผยแพร่ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 ได้กล่าวถึงรายละเอียดการไปเยือนกรุงพนมเปญของสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชาว่า ผู้แทนบริษัท โคโนโคฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่พลังงานสหรัฐ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชา หาทางคลี่คลายข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย โดยระบุว่าบริษัทฯ ถือสัญญาสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาเกือบสิบปี 

ในระหว่างการประชุมครั้งนั้น นายเกา คิม ฮอร์น เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้งต่อบริษัทฯว่า รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ไม่นานนักก่อนรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกรัฐประหารยึดอำนาจ 

นายเกากล่าวว่า ทั้งสองเห็นพ้องกัน ในหลักการแบ่งรายได้ในพื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด สัดส่วนไทย 80% กัมพูชา 20% ส่วนพื้นที่ตรงกลางแบ่ง 50-50 และสัดส่วนไทย 20 กัมพูชา 80 สำหรับพื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา ในเวลานั้น นายเกาคิดว่า การเจรจาเพิ่มเติมอีก 6 เดือนน่าจะตกลงในประเด็นนี้ได้ ความสำคัญของเขตแดนซับซ้อนทางทะเลต่ออนาคตของภูมิภาค ถูกตอกย้ำในเอกสารที่รั่วอีกฉบับ ซึ่งให้รายละเอียดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา กับนายแกรี ฟลาเฮอร์ตี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเชฟรอน ในปี 2550 เช่นกัน

เอกสารระบุว่า เชฟรอน บริษัทที่ขุดเจาะและสำรวจบ่อน้ำมันส่วนที่เรียกว่า "บล็อค เอ" นอกชายฝั่งของกัมพูชา มีความสนใจอย่างมากในการได้รับสิทธิในการสำรวจบ่อน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนเช่นกัน โดยนายฟลาเฮอร์ตี้ กล่าวว่า พื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยนั้น เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการสำรวจ และอาจเปลี่ยนแปลงกัมพูชาแบบพลิกโฉม ส่วนบล็อค เอ นั้น ไม่มีความสำคัญพอที่จะสำรวจและทำกำไรได้โดยลำพัง

หลัง พ.ต.ท.ทักษิณถูกโค่นอำนาจ กรณีพิพาทน่านน้ำทับซ้อนแทบไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับการตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของกัมพูชาเมื่อปี 2552 ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรีไทยได้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งที่ลงนามในปี 2544 โดยอ้างว่าบทบาทใหม่ของอดีตนายกฯทักษิณ ทำให้สถานะการเจรจาของไทยเสียเปรียบ

เอกสารสถานทูตอีกฉบับในเดือนธันวาคม 2552 ยังกล่าวอย่างชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับกัมพูชาระบุว่า "การไปเยือนพนมเปญของทักษิณฯ ถูกนักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่า เป็นความต่อเนื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณและสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการใช้กันและกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว"

ด้าน นายเมน เดน รองผู้อำนวยการสำนักงานปิโตรเลียมแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องข้อตกลงแบ่งรายได้ระหว่างกัมพูชากับไทย เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ ส่วนนายเกา คิม ฮอร์น กล่าวสั้นๆ ว่า จำไม่ได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แฉกองทัพพม่าให้ทหารข่มขืนเสรีเพื่อตอบโต้ในการสู้รบในรัฐฉาน

Posted: 14 Jul 2011 08:41 AM PDT

องค์กรสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานเผยแพร่รายงานระบุทหารพม่าใช้วิธีการข่มขืนเพื่อตอบโต้กองทัพรัฐฉานภาคเหนือ พร้อมทั้งมีรายงานการทารุณต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการใช้ความรุนแรงทางเพศ เป็นเหตุให้ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพทิ้งถิ่นฐาน 

ภาพจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (SHRF) เผยให้เห็นภาพประชาชนในรัฐฉานในเพิงพักชั่วคราวในป่าลึก พวกเขาอพยพออกจากชุมชนของตนเองกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตน (Internally displaced person - IDP) หลังจากมีการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ โดยรายงานล่าสุดของ SHRF และ เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) ยังเผยถึงการใช้ “การข่มขืน” เป็นมาตรการตอบโต้กองทัพรัฐฉานภาคเหนือด้วย (ที่มาของภาพ: SHRF)


วัดแห่งหนึ่งในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งอยู่ในสภาพถูกทิ้ง หลังจากมีการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ โดยรายงานล่าสุดของ SHRF และ เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) ยังเผยถึงการใช้ “การข่มขืน” เป็นมาตรการตอบโต้กองทัพรัฐฉานภาคเหนือด้วย (ที่มาของภาพ: SHRF)

 

เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN – Shan Women Action’s Network) และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (Shan Human Rights Foundation - SHRF) ซึ่งได้เข้าไปเก็บข้อมูลในรัฐฉานและได้เผยแพร่รายงานด่วนในวันนี้ (14 ก.ค.) โดยระบุว่า “เป็นที่ชัดเจนว่ากองทัพพม่าอนุญาตให้ใช้การข่มขืนเพื่อเป็นมาตรการคุกคามในปฏิบัติการตอบโต้ต่อกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ (SSA-N)”

รายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนดังกล่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 กองทัพพม่าได้เคลื่อนพลจากกองพันทหารราบที่ 513 ไปที่หมู่บ้าน “บ้านหลอย” ในเขตอำเภอเกซี และภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ปล้นสะดมทรัพย์สินทั้งหมู่บ้าน ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงสี่คนในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ประกอบ ด้วยนางมอน อายุ 12 ขวบ นางจ๋าม อายุ 50 ปี นางลอด อายุ 30 ปีและนางเพียง อายุ 35 ปี (ชื่อสมมติ)

นางมอนซึ่งเป็นเด็กนักเรียนหญิงอายุเพียง 12 ปีถูกข่มขืนที่บ้านต่อหน้าแม่ตัวเอง ส่วนแม่ก็ถูกตีเพราะพยายามเข้าไปช่วยลูก เพื่อนบ้านข้างเคียงได้ยินเสียงเด็กร้องแต่ไม่กล้าเข้ามาช่วย ส่วนนางจ๋าม หญิงหม้ายอายุ 50 ปีก็ถูกข่มขืนที่บ้านตัวเองเช่นกัน

นางลอดตั้งครรภ์เก้าเดือนแล้ว เธอถูกลากไปกับพื้นและถูกข่มขืนอย่างป่าเถื่อน ในขณะที่นางลอด ซึ่งอยู่ระหว่างทางไปทำนานอกหมู่บ้าน ถูกทหารพม่าทุบตี เปลื้องเสื้อผ้าและข่มขืนเธอในกระท่อมที่เถียงนา ชาวบ้านพบเธอในขณะที่วิ่งร้องไห้หนีเข้าป่าโดยไม่มีเสื้อผ้าหลังถูกข่มขืน

หมู่บ้าน ‘บ้านหลอย’ ตั้งอยู่ห่างจากกองบัญชาการของกองทัพรัฐฉานภาคเหนือที่ บ้านไฮ เพียง 15 ไมล์ (24 กิโลเมตร) ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ฐานทัพแห่งนี้ได้ถูกทหารพม่ากว่า 3,000 นายโจมตีอย่างหนักหน่วง หลังจากรัฐบาลทหารพม่าได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงที่มีอายุ 22 ปี ทหารพม่าได้ก่อการทารุณต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการใช้ความรุนแรงทางเพศ เป็นเหตุให้ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานไป

“ทหารพม่าได้รับอนุญาตให้ข่มขืนเด็ก คนท้องและคนชราอย่างเสรี” แสงมน ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่กล่าว “เราขอประณามว่าการกระทำเหล่านี้เป็นอาชญากรรมสงคราม”

เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากสมาคมผู้หญิงคะฉิ่นแห่งประเทศไทย (Kachin Women’s Association Thailand) ได้ประณามการข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิง 18 คนเมื่อเริ่มมีการสู้รบระลอกใหม่เมื่อเดือนที่แล้วในรัฐคะฉิ่น การฉีกข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มต่อต้านในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานเป็นเหตุให้การสู้รบแพร่กระจายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั้ง 12 เมืองในตอนเหนือของรัฐฉาน

รัฐฉานตอนเหนือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับเผด็จการทหารพม่า พวกเขาพยายามเข้ามาควบคุมพื้นที่นี้เพราะมีการลงทุนจากประเทศจีนจำนวนมาก ทั้งการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าและโครงการท่อส่งก๊าซและน้ำมันระหว่างประเทศ

“รัฐบาลในต่างประเทศไม่ควรเพิกเฉยต่อความทารุณกรรมเหล่านี้ การดูดายทำแต่ธุรกิจรังแต่จะทำให้การข่มขืนกระทำชำเราในชุมชนของเราเกิดขึ้นต่อไป” แสงมน กล่าว

รายละเอียดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยกองทัพพม่าระหว่างการโจมตีกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ และภาพถ่ายของหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ สามารถดูได้ที่ www.shanhumanrights.org และ www.shanwomen.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาศาลโลก 18 กรกฎาคม: ความผิดพลาด เขตแดนไทย และ MOU ปี 2543 (ตอนที่ 2)

Posted: 14 Jul 2011 08:21 AM PDT

(ต่อจากบทความตอนที่ 1

 
จับตาศาลโลกวันที่ 18 ก.ค.!
ในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค. นี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จะอ่านคำสั่งกรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งกัมพูชาขอไว้สามข้อ คือ
 
(1) สั่งให้ไทยถอนทหารออกไปจากดินแดนของกัมพูชา (territoire cambodgien) ในบริเวณปราสาทพระวิหาร
(2) สั่งห้ามไม่ให้ไทยดำเนินการทางทหารในบริเวณปราสาทพระวิหาร
(3) สั่งให้ไทยงดเว้นการกระทำที่อาจกระทบต่อสิทธิของกัมพูชาหรืออาจทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น
 
ผู้เขียนมิอาจล่วงรู้ผลของคำสั่งในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค. นี้ได้ แต่อาจตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นดังนี้
 
1. จับตาเรื่อง “เขตแดน” ที่แฝงมาในคำขอของกัมพูชา
จากคำขอทั้งสามข้อข้างต้น คำขอข้อแรกมีนัยเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนชัดเจน คือ หากศาลสั่งตามที่กัมพูชาขอ ย่อมแปลว่ามี “พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา ในขณะที่คำขอสองข้อหลังแม้หากศาลสั่งตามที่กัมพูชาขอ ก็มองได้ว่าไม่เกี่ยวกับเขตแดนโดยตรง เช่น อาจมองเป็นเรื่องการรักษาตัวปราสาทที่เป็นวัตถุแห่งคดี
 
ไม่ว่าวันที่ 18 ก.ค. นี้ศาลจะมีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่แบบใด สิ่งที่ควรจับตามองก็ คือ ศาลจะแสดงจุดยืนในเรื่องคำขอข้อแรกที่กล่าวถึง “เขตแดน” อย่างไร? ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้สามแนวทาง
 
- แนวแรก ศาลอาจปฏิเสธคำขอข้อแรกโดยสิ้นเชิง จะด้วยเหตุผลว่าศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตแดนหรือด้วยเหตุผลอื่นที่ฝ่ายไทยอ้าง เช่น ประเด็นเขตแดนในปัจจุบันต้องว่าไปตาม MOU พ.ศ. 2543 ฯลฯ ทั้งนี้ การที่ศาลได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขคำแปลผิด จากคำว่า “boundary” (เขตแดน) มาเป็น “limit” (ขอบเขต) นี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าศาลให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวที่ไทยต่อสู้ไว้
 
- แนวที่สอง ศาลอาจมีคำสั่งเป็นการทั่วไปตามที่กัมพูชาขอ โดยอาจสั่งโดยไม่อธิบายว่า “พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา คือ พื้นที่ใด ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจน แต่ก็เป็นความคลุมเครือที่กัมพูชาอาจนำมาใช้อ้างต่อได้
 
- แนวที่สาม ซึ่งน่ากังวลที่สุดและไม่น่าจะเป็น คือ ศาลอาจอ้างถึงข้อเท็จจริงหรือเอกสารบางอย่าง เช่น MOU พ.ศ. 2543 หรือ แผนที่ภาคผนวก 1 (ซึ่ง MOU ได้อ้างถึงโดยไม่เจาะจง) และกล่าวโดยตรงหรือโดยอ้อมในทำนองว่า “พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชาอาจเกี่ยวข้องกับเอกสารหรือแผนที่ดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการตีความกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงเรื่องเขตแดนดังที่มีผู้ห่วงใยได้เตือนเกี่ยวกับ MOU ตลอดมา
 
2. จับตาแนวทางที่ศาลอาจสั่งได้ 3 ทาง
ไม่ว่าศาลจะมองเรื่องเขตแดนอย่างไร หากพิจารณาถึงคำสั่งในวันที่ 18 ก.ค. ในภาพรวม อาจเป็นไปได้สามแนวทาง คือ
 
- แนวแรก ศาลมีคำสั่งระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว (ศาลอาจสั่งทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนตามที่กัมพูชาร้องขอ) ซึ่งหมายความว่าไทยต้องปฏิบัติตามคำสั่งทันที และศาลยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในส่วนคำร้องที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษา ซึ่งไทยอาจต้องใช้เวลาสู้คดีต่อไปถึง พ.ศ. 2555
 
- แนวที่สอง ศาลยกคำร้องกัมพูชาในส่วนมาตรการคุ้มครองชั่วคราว กล่าวคือ ศาลปฏิเสธคำขอให้ระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวทั้งสามข้อ แต่ศาลยังดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในส่วนการตีความคำพิพากษา ซึ่งอาจดำเนินต่อไปถึง พ.ศ. 2555 เช่นกัน
 
- แนวที่สาม ศาลยกคำร้องกัมพูชาทั้งหมด คือปฏิเสธคำขอทั้งสามข้อ พร้อมทั้งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษา (remove the case from the general list) ทั้งคดี (ในทางกฎหมายเรียกว่าคำขอ in limine ซึ่งในอดีตเคยมีการขอมาแล้วและแม้ไม่สำเร็จแต่ศาลก็มิได้ปฏิเสธว่าสั่งไม่ได้) ซึ่งหมายความว่าไทยประสบความสำเร็จในการยับยั้งการใช้สิทธิทางศาลโดยกัมพูชา ส่งผลให้ไทยและกัมพูชาต้องกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อไป
 
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเพิ่มว่า กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. และศาลนัดอ่านคำสั่งในวันที่ 18 ก.ค. หมายความว่าศาลใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 11 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างนาน หากเทียบจากตัวอย่างในคดีอื่น เช่น กรณีที่เม็กซิโกเคยขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดี Avenaที่พิพาทกับสหรัฐฯ นั้น ศาลได้ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ก่อนอ่านคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราว (ICJ Reports 2008, p. 311) หรือ กรณีที่จอร์เจียเคยขอให้ศาลโลกระบุคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่พิพาทกับรัสเซียนั้น ศาลได้ใช้เวลาประมาณ 8 สัปดาห์ก่อนอ่านคำสั่ง (ICJ Reports 2008, p. 353) ซึ่งศาลได้มีคำสั่งระบุมาตรการในทั้งสองคดี
 
แม้ระยะเวลาดังกล่าวไม่อาจนำมาเทียบกับคดีของไทยและกัมพูชาได้ชัดเพราะบริบทต่างกัน (เช่นไม่มีช่องว่างระหว่างคำพิพากษาและการตีความถึงเกือบ 50 ปี) แต่ในทางหนึ่ง การใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 11 สัปดาห์นี้อาจคาดเดาได้ว่า ศาลไม่สามารถปฏิเสธคำร้องกัมพูชาทั้งสามข้อได้โดยง่าย ซึ่งผู้เขียนยอมรับว่าคดีนี้มีแง่มุมพิเศษที่ไม่มีตัวอย่างชัดเจนให้ศาลเทียบเคียงได้ ดังนั้น ศาลจึงอาจใช้เวลาเพื่ออธิบายเหตุผลในการสั่งคำร้องตามที่กัมพูชาขอ
 
แต่ในอีกทางหนึ่ง การใช้เวลานานก็อาจทำให้ไทยมีความหวังได้ว่า ศาลอาจใช้เวลาเพื่อยกคำร้องกัมพูชาทั้งหมด คือปฏิเสธทั้งเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราว อีกทั้งสั่งให้จำหน่ายคดีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาก็เป็นได้ ทั้งนี้เพราะการวินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราวมี 2 ขั้นตอน คือ (1) ศาลต้องพอใจในข้อสันนิษฐานเบื้องต้น (prima facie) ว่าในที่สุดศาลสามารถรับพิจารณาคดีหลัก (ซึ่งหมายถึงตีความคำพิพากษา) และ (2) ศาลต้องพอใจในเงื่อนไขของมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเอง เช่น ความจำเป็นเร่งด่วน (urgency) หรือภัยอันตรายที่มิอาจแก้ไขเยียวยาได้ (irreparable harm)
 
ดังนั้น หากศาลเห็นด้วยกับฝ่ายไทยว่าไม่มีข้อสันนิษฐานเบื้องต้น (prima facie) ที่เพียงพอแก่การตีความในคดีหลัก เช่น หากศาลพิจารณาว่า กัมพูชามาขอตีความหลังเวลาผ่านมาเกือบ 50 ปี ทั้งที่กัมพูชาเองได้ยอมรับและเห็นพ้องกับการที่ไทยได้ถอนกำลังออกไปจากบริเวณรั้วลวดหนามรอบปราสาท อีกทั้งไทยและกัมพูชาในปัจจุบันได้มีการตกลง MOU พ.ศ. 2543 เพื่อดำเนินการจัดการเรื่องเขตแดนร่วมกัน จึงถือว่าไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทระหว่างกันเกี่ยวกับตัวคำพิพากษาที่จะต้องขอให้ศาลตีความ ศาลย่อมสามารถยกคำร้องและจำหน่ายคดีให้เสร็จสิ้นทั้งหมดไปในเวลาเดียวกัน ก็เป็นได้
 
3. จับตาการเปลี่ยนแปลงคำสั่งหลังวันที่ 18 ก.ค.
แม้สุดท้ายศาลโลกอาจจะสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของกัมพูชาในวันที่ 18 ก.ค. นี้ และแม้ที่ผ่านมาไทยจะได้แสดงเกียรติและศักดิ์ศรีในฐานะอารยประเทศที่รับปากจะปฏิบัติตามที่ศาลสั่ง แต่กฎหมายระหว่างประเทศก็เปิดช่องให้ไทยสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลแก้คำสั่งตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นจริง (Rules of Court Article 76)
 
สังเกตได้ว่าสถานการณ์ชายแดนไทยและกัมพูชาโดยรวมนั้นมีความตึงเครียดลดน้อยลงนับแต่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาล แม้ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ผลของการเจรจาหยุดยิงในระดับพื้นที่ก็ดี ความคืบหน้าเรื่องผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียก็ดี หรือ ท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาหลังการเลือกตั้งของไทยก็ดี อาจเป็นประเด็นที่ศาลนำมาพิจารณาในทางที่เป็นคุณต่อฝ่ายไทยได้ และแม้หากศาลมีคำสั่งตามที่กัมพูชาขอ ไทยย่อมนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์เหล่านี้ไปชี้แจงเพื่อให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้เช่นกัน
 
ในทางกลับกัน หากวันที่ 18 ก.ค. นี้ศาลปฏิเสธที่จะสั่งตามคำร้องของกัมพูชาแต่ไม่จำหน่ายคดีการตีความ กัมพูชาก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องใหม่ (fresh request) หากมีข้อเท็จจริงใหม่ให้กัมพูชายกอ้างได้ เช่น มีการกลับไปใช้กำลังโจมตีกันและทำให้ตัวปราสาทเสียหายมากขึ้น เป็นต้น (Rules of Court Article 75 (3)) ดังนั้น หากศาลมิได้สั่งจำหน่ายคดีทั้งคดี การดำเนินการใดๆของไทยย่อมต้องไม่วู่วามหรือลืมคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในทางศาลเช่นกัน
 
4. จับตาอนาคตของ MOU พ.ศ. 2543 หลัง 18 ก.ค.
ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ไทยยกเลิก MOU (บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก) พ.ศ. 2543 เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดน ในขณะที่บางฝ่ายได้ออกมาปกป้องความสำคัญและประโยชน์ของ MOU ดังกล่าว
 
ล่าสุดรัฐบาลไทยก็ได้นำ MOU พ.ศ. 2543 มาอ้างชี้แจงต่อศาลโลกว่า เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานมัดกัมพูชาว่าแท้จริงแล้วการดำเนินการเกี่ยวกับเขตแดนในปัจจุบันมิได้เป็นไปโดยผลของคำพิพากษา พ.ศ. 2505 แต่เป็นเรื่องที่ทั้งสองประเทศยังต้องเจรจาและร่วมมือกันต่อไป ดังนั้นการที่กัมพูชาอ้างว่าไทยไม่ยอมรับหรือโต้แย้งเขตแดนของกัมพูชารอบปราสาทพระวิหารจึงไม่เกี่ยวกับคำพิพากษา ศาลจึงไม่มีสิทธิตีความ และการที่กัมพูชารุกล้ำเข้ามาก่อสร้างหรือดำเนินการในบริเวณพื้นที่พิพาทนั้นจึงไม่ถูกต้อง (เช่น CR 2011/14 หน้า 12, 16-21 และ CR 2011/16 หน้า 25-26)
 
ผู้เขียนย้ำอีกครั้งว่า MOU พ.ศ. 2543 เป็นเพียงหนึ่งในเอกสารหรือการกระทำภายหลัง (subsequent agreement / subsequent practice) ที่มีผลต่อการตีความเอกสารที่เป็นคำตอบสำคัญของปัญหาเขตแดนไทยกัมพูชา คือ อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ผู้ใดที่ออกมาโจมตี MOU พ.ศ. 2543 โดยไม่ทราบถึงบริบทการตีความทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน ย่อมไม่ต่างไปจากเด็กน้อยที่กรีดร้องเพียงเพราะนึกว่าเมื่อเห็นควันย่อมต้องมีไฟ แต่ผู้ที่คิดว่าเด็กน้อยนั้นผิดเสมอไปก็อาจตกเป็นเชื้อไฟให้เด็กน้อยคอยดูเสียเอง
 
คำสั่งที่ศาลจะอ่านในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค. นี้ ผู้เขียนเชื่อว่าศาลจะได้อธิบายข้อเท็จจริงเรียงเป็นเรื่องๆ (โดยศาลจะใช้คำว่า “Whereas” หรือ “ตามที่”…ทีละย่อหน้า) โปรดจับตาให้ดีว่า ศาลจะเห็นพ้อง “ตามที่” รัฐบาลไทยได้อ้างถึง MOU ฉบับนี้ไว้หรือไม่ หรือ MOU จะย้อนมาทำร้ายประเทศไทยดังที่มีผู้ย้ำเตือนไว้ และเราสมควรจะพิจารณาอนาคตของ MOU ฉบับนี้ต่อไปอย่างไร!
 
สุดท้ายขอฝากกำลังใจไปยังว่าที่รัฐบาลใหม่ ให้สามารถใช้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในเครื่องมือรักษาสันติภาพควบคู่อธิปไตย และยึดชีวิตของทหารและชาวบ้านที่ชายแดนไว้เหนือความพึงพอใจ ไม่ว่าจะของใครคนไหนก็ตาม
 
 
..........................................
สำหรับประเด็นที่ไทยได้ชี้แจงต่อศาลโลกไปเมื่อวันที่ 29 – 30 พฤษภาคม 2554 ดูรายละเอียดได้ที่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"โลตัส" ไม่ยั่นนโยบายค่าแรงวันละ 300 ทุกวันนี้จ่ายมากกว่าอยู่แล้ว

Posted: 14 Jul 2011 08:18 AM PDT

ผู้บริหารเทสโก้ โลตัสเผยนโยบายปรับค่าแรง 300 บาทต่อวัน ไม่ส่งผลกระทบกับการจ้างงานของบริษัท เพราะค่าแรงต่อวันเริ่มต้นมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว เชื่อครึ่งปีหลังผู้บริโภคจะจับจ่ายใช้สอยมากกว่าครึงปีแรกเพราะมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ รายงานเมื่อ 14 ก.ค. ว่า นายเคิร์ท แคมป์ ประธานกรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารห้างเทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า จากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลชุดใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน จะไม่ส่งผลกระทบกับการจ้างงานของบริษัท ส่วนหนึ่งมาจากได้กำหนดค่าแรงงานต่อวันเริ่มต้นที่มากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหนนั้นต้องอยู่กับแต่ละสาขาในจังหวัดนั้นๆ

สำหรับการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น หากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากครึ่งปีหลังผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มมาก ขึ้น จึงส่งผลต่อการซื้อของผู้บริโภค อีกทั้งบริษัทได้จัดกิจกรรมลดราคาสินค้า หรือเทสโก้ โรลแบ็ค เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันกว่า 400 รายการ อาทิ เนื้อสัตว์ ข้าวถุง น้ำมันปาล์ม โดยใช้งบจัดกิจกรรมลดราคากลุ่มสินค้าดังกล่าว 225 ล้านบาท หรือการลดราคาสินค้าแต่ละกลุ่มโดยเฉลี่ยกลุ่มละ 9%

ส่วนมาตรการตรึงราคาสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอร้องให้มีการตรึงราคาไว้ 3 เดือน ซึ่งหมดลงแล้วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันได้มีการปรับราคาแล้วบางกลุ่มคาดว่าไม่น่าจะเกิดจากปัญหาต้นทุนของ ผู้ประกอบการ แต่น่าจะเกิดจากฤดูกาลขายสินค้ามากกว่า

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นักสหภาพแรงงานเกาหลีประท้วง ‘ยืนเดี่ยว’ ต่อเนื่อง จี้ปล่อย ‘สมยศ’

Posted: 14 Jul 2011 08:04 AM PDT

นักสหภาพแรงงานเกาหลีประท้วงยืนคนเดียว เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หน้าสถานทูตไทยประจำกรุงโซล จี้ปล่อยตัว ‘สมยศ’ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 หลังประกาศจะประท้วงเป็นซีรีย์จนถึงวันที่​ 24 ก.ค.นี้

2 ภาพบนนักสหภาพแรงงานจากสมาพันธ์แรงงา​นเคมีภัณฑ์เกาหลียืนประท้วงหน้าสถานทูตไทย ประจำกรุงโซล
เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา 
 
ส่วน 2 ภาพล่าง นักกิจกรรมด้านแรงงานจา​กสถาบันสังคม และแรงงานและนักสหภาพฯ จากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเกาหลี ยืนประท้วงที่เดียวกันในวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา
 
วานนี้ (13 ก.ค.54) 2 นักสหภาพแรงงานจากสมาพันธ์แรงงาน​เคมีภัณฑ์เกาหลี หรือ Federation of Korean Chemical Workers Unions (FKCU) ได้ยืนประท้วงในรูปแบบยืน 'คนเดียว' (one-man picketing) เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หน้าสถานทูตไทยประจำกรุงโซล เกาหลีใต้
 
นับเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันแล้วกับซีรีย์การประท้วงยืนดังกล่าวเพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยปล่อยตัวโดยให้สิทธิในการประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณและเรดพาวเวอร์ซึ่งได้ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมเมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาในหมายจับตามข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางคลองเปรมจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้รับการประกันตัว
 
อนึ่ง สมาพันธ์แรงงาน​เคมีภัณฑ์เกาหลี เป็นสมาพันธ์สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในภาคอุตสาหกรรมเคมีของประเทศเกาหลีใต้ โดยมีสมาชิกทั้งหมดถึง 54,000 คนและอยู่ในเครือสมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (FKTU) ในระดับประเทศ รวมถึงสหพันธ์แรงงานนานาชาติในกิจการเคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ และแรงงานทั่วไป(ICEM) ในระดับสากลอีกด้วย โดยที่ผ่านมาสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในฐานนักกิจกรรมสหภาพแรงงานไทยก็ได้เดินทางมาศึกษาที่สมาพันธ์แรงงาน​แห่งนี้ด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา คิม ดอง มยอง (Kim Dong-myeong) ประธานสมาพันธ์แรงงานเคมีภัณฑ์​เกาหลี (FKCU) ได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศไปยังสถานทูตไทยในเกาหลีแล้วเช่นกัน
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมามีการประท้วง​ในรูปแบบดังกล่าวหน้าสถานทูตไทย​ โดยมีผู้เข้าร่วมมายืนสลับกัน หนึ่งในนั้นมีนักกิจกรรมด้านแรงงานจากสถาบันสังคมและแรงงานเกาหลี หรือ Korean Labour & Society Institute (KLSI) และนักสหภาพฯ จากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเกาหลี หรือ Korean Health & Medical Workers’ Union (KHMU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกประมาณ 40,000 คน ทำงานในโรงพยาบาลมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศเกาหลีใต้ และเป็นสมาชิกของสภาแรงงานระดับ​ชาติของประเทศเกาหลีใต้ (Korean Confederation of Trade Unions - KCTU)
 
ด้านสถาบันสังคมและแรงงานเกาหลีเป็นสถาบันการวิจัยเกี่ยวกับแรง​งานและการจัดตั้งสหภาพโดยทำงานกับขบวนการแรงงานเกาหลี ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 และยังคงรักษาความสัมพันธ์มิตรภาพ​กับสมยศตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
 
ทั้งนี้ การประท้วงในรูปแบบยืน 'คนเดียว' (one-man picketing) เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หน้าสถานทูตไทยเริ่มต้นโดยนักสหภาพแรงงานจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเกาหลีใต้ (Korean Health & Medical Workers' Union - KHMU) เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุขและได้ประกาศว่าจะมีการประท้วงในรูปแบบเดียวกันนี้ ติดต่อกันเป็นซีรีย์จนถึงวันที่​ 24กรกฎาคม2554 (คลิก: สหภาพแรงงานเกาหลีใต้ประท้วงหน้าสถานทูตไทย จี้ปล่อยตัว "สมยศ")
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประเทศที่ไม่สามารถเคารพความจริง และความหมายของ “ความตาย” ของประชาชน

Posted: 14 Jul 2011 07:05 AM PDT

 

“การขอคืนพื้นที่ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนทั่วไป ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนจริง กระทำจากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แม้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อผู้ชุมนุมทั้งการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง แต่เมื่อพิจารณาย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝ่ายผู้ชุมนุมที่มีอาวุธและผู้สนับสนุนที่มีอาวุธสงคราม”

 
เราจะไม่รู้สึกแปลกใจอะไรเลย หากข้อความข้างต้นนี้เขียนจาก “ข้อวินิจฉัย” ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ กองทัพ หรือแกนนำพันธมิตร แต่นี่เป็นข้อความในรายงานผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทหลักในการปกป้องสิทธิในความเป็นมนุษย์ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
แทบทุกย่อหน้าของรายงานฉบับดังกล่าว (แม้จะเป็นฉบับเลื่อนการเผยแพร่) คือ ข้อความที่มีความหมายเชิงปกป้องการกระทำของรัฐบาลว่าเป็นไปตามความจำเป็น ควรแก่เหตุ และข้อความพิพากษาตัดสินการชุมนุมของ นปช.ว่า รุนแรง มีอาวุธ ละเมิดสิทธิ์คนอื่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ
 
ผมคิดว่า “ข้อวินิจฉัยของ” กรรมการสิทธิฯ สะท้อนอย่างชัดเจนถึง “ความไม่สามารถ” แสดงออกซึ่งความเคารพต่อ “ความจริง” และ “ความหมาย” ของความตายของประชาชน!
 
คำว่า “ไม่สามารถ” มีความหมายสำคัญสองย่างคือ 1) ไม่สามารถสรุปความจริงที่สัมพันธ์กับบริบทที่ซับซ้อนอย่างครบถ้วน 2) ไม่สามารถแสวงหา และ/หรือนำเสนอความจริงออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและรอบด้าน เพราะว่าโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่เป็นอยู่จริงไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้
 
ไม่สามารถตามข้อ 1) เกิดจากการไม่ซื่อตรงต่อข้อเท็จจริง และไม่มีความพยายามอย่างเพียงพอ ส่วนไม่สามารถตามข้อ 2) เกิดจากข้อจำกัดเนื่องจากถูกบีบโดยโครงสร้างอำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสวงหา และพูดความจริงที่กระทบต่อโครงสร้างอำนาจนั้น
 
ความไม่สามารถทั้งสองประการนี้มีความความสำคัญคือ เป็น “ความไม่สามารถแสดงออกซึ่งการเคารพความจริง” ซึ่งเป็นการสะท้อนถึง “ความเจ็บป่วย” ของสังคมอย่างรุนแรง
 
คือสังคมนี้รู้อยู่หรือพอจะรู้อยู่ว่าความจริงคืออะไร แต่กลับต้องจำทนเห็นการบิดเบือนความจริง เห็นทั้งการเสแสร้งไม่พูดความจริง ทั้งถูกบังคับไม่ให้พูดความจริง ทั้งการถูกจับติดคุกเพราะพูดความจริง ความเจ็บป่วยของสังคมเช่นนี้คือ อาการสูญเสียความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน อาการขัดแย้งแตกแยก อาการสับสนในการตัดสินความเป็นธรรม-ไม่เป็นธรรม อาการความรุนแรงจิกตีกันเหมือนไก่ใน “สุ่มแห่งโครงสร้างอำนาจครอบงำประชาธิปไตย” ที่ฝ่ายหนึ่งอยากออกจากสุ่ม อีกฝ่ายจิกหัวกดไว้ให้อยู่ในสุ่ม
 
ผลสรุปของกรรมการสิทธิฯ สะท้อนความไม่สามารถสรุปความจริงที่สัมพันธ์กับบริบทที่ซับซ้อนอย่างครบถ้วน ในประเด็นสำคัญ เช่น
 
ข้อสรุปที่ว่า การชุมนุมของ นปช.ใช้ความรุนแรงนั้น เป็นการให้ความหมายของ “ความรุนแรง” ตามนิยามของฝ่ายรัฐและฝ่ายตรงข้ามกับ นปช. ที่มองความรุนแรงที่เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่เฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น การปลุกระดม การใช้หนังสะติ๊ก ก้อนหิน เสาธงเป็นอาวุธ การพกพาอาวุธ การยิงระเบิดเอ็ม 79 การยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ แต่ไม่สนใจว่าปรากฏการณ์ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นภายใต้บริบทอะไร มีความเป็นมาหรือสาเหตุอย่างไร ฯลฯ
 
ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคนเสื้อแดงหรือฝ่ายใดๆ กระทำรุนแรงดังกล่าวเป็นการกระทำที่สมควรยอมรับ เพียงแต่ต้องการจะบอกว่า การมองความรุนแรงแบบกรรมการสิทธิฯ จะเปรียบไปแล้วก็เหมือนการมองเห็นเฉพาะน้ำที่เดือดปุดๆ แต่มองไม่เห็นถ่านเพลิงที่ลุกโหมอยู่ใต้กระทะน้ำร้อน
 
หากน้ำที่เดือดปุดๆ คือความรุนแรงของคนเสื้อแดง ถ่านเพลิงที่ลุกโหมให้น้ำเดือดก็คือการทำรัฐประหารปล้นสิทธิประชาชน กระบวนการทำลายล้างพรรคการเมืองที่เสียงส่วนใหญ่เลือกโดยกลไกและเครือข่ายรัฐประหาร การก่อตั้งรัฐบาลอำมาตย์หนุน การกล่าวหาเรื่องขบวนการล้มเจ้า ขวนการก่อการร้าย การประณามเหยียดหยาม การเชียร์ให้ล้อมปราบ การล้อมปราบด้วย “กระสุนจริง” (กก.สิทธิฯเรียกตาม รบ.อย่างเซื่องๆ ว่า “ขอคืนพื้นที่”) “การกดทับ” สิทธิเสรีภาพหรืออำนาจปกครองตนเองของเสียงส่วนใหญ่โดย “เสียงส่วนน้อย” ของเหล่าอภิชน
 
เมื่อมี “การกดทับ” ก็เกิด “การดิ้นรน” เพื่อให้พ้นไปจากการกดทับนั้น แต่กรรมการสิทธิฯ กลับจงใจมองเห็นเพียง “การดิ้นรน” เท่านั้น และสรุปว่าการดิ้นรนเท่านั้นคือความรุนแรง!
 
ทัศนะต่อความรุนแรงที่เบี่ยงเบนเช่นนั้น ทำให้กรรมการสิทธิฯไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ความรุนแรงในรูปแบบของการดิ้นรนเพื่อให้พ้นไปจากการกดทับนั้น 1) มีระดับความรุนแรงน้อยกว่าความรุนแรงในรูปแบบของการกดทับ 2) มีเหตุอันสามารถเข้าใจได้ และควรแก่การเห็นอกเห็นใจ (แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม)
 
เมื่อมีทัศนะต่อความรุนแรงที่เบี่ยงเบนเช่นนั้น กรรมการสิทธิฯ จึงเห็นว่า ฝ่ายที่ใช้อำนาจกดทับกระทำการสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หมายความว่าโดย “ดุลยพินิจ” ของกรรมการสิทธิฯ อำนาจกดทับซึ่งมีธรรมชาติของความรุนแรงยิ่งกว่าอยู่แล้วมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ดิ้นรนเพื่อให้พ้นไปจากการกดทับนั้น
 
ฉะนั้น จากการสรุปความจริงของ “ความรุนแรง” ที่เบี่ยงเบนดังกล่าวจึงนำไปสู่ความหมายของ “ความตาย” ที่เบี่ยงเบนไป คือในความเป็นจริงประชาชนตายเพราะการต่อสู้ดิ้นรนให้พ้นไปจากการกดทับ หรือตายเพราะยอม “สละชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย” แต่จากข้อสรุปของกรรมการสิทธิฯ เท่ากับประชาชนตายเพราะชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง หรืชุมนุมโดยละเมิดสิทธิคนอื่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ จึงถูกรัฐสังหารโดยควรแก่เหตุ
 
นี่คือความไม่สามารถเคารพต่อความหมายของ “ความตาย” ของประชาชนที่สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่ไม่สามารถเคารพต่อความหมายของความตายดังกล่าวนี้ ประชาชนจึงตายฟรีซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยทางการประเทศนี้ไม่เคยยกย่องวีรชน 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 อย่างจริงจัง
 
เราจึงไม่รู้ความจริงอย่างเป็นทางการของความตายว่า ใครคือฆาตกรตัวจริง และฆาตกรนั้นถูกลงโทษจริง และความหมายอย่างเป็นทางการของความตายก็ไม่ได้ถูกนำมาศึกษาเรียนรู้ในระบบการศึกษาของรัฐในฐานะเป็นความตายของวีรชนผู้สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยที่อนุชนพึงจดจำ
 
จึงน่าเศร้าอย่างยิ่ง ที่ข้อสรุปของกรรมการสิทธิฯ ใน พ.ศ.นี้ สะท้อนอย่างชัดเจนว่าประเทศนี้ยังไม่สามารถเคารพ “ความหมายที่แท้จริง” ของความตายของประชาชนที่สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย
 
แล้วจะมีหลักประกันอะไรว่า ประชาชนจะไม่ตายฟรีอีก และที่ยังมีชีวิตก็ต้องจำทนอยู่ภายใต้การกดทับต่อไป!
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำแหละ กสม. จากที่มาอันน่าชัง สู่ผลงานที่ต้องรับผิดชอบ

Posted: 14 Jul 2011 06:04 AM PDT

หลังจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. เมื่อปีที่แล้ว ได้สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ กสม. อย่างมากจากในแวดวงนักสิทธิมนุษยชน นักข่าว และจากเสื้อแดงเอง

ผู้เขียนในฐานะนักสิทธิมนุษยชนและผู้สังเกตการณ์ กสม. มีความเห็นเช่นเดียวกับเพื่อนนักสิทธิมนุษยชนหลายคน ต่อ กสม. ชุดนี้คือ ไม่ได้มีความคาดหวังกับ กสม. ชุดนี้แม้แต่น้อย ตั้งแต่ถูกแต่งตั้งเข้ามาทำงานเมื่อสองปีที่แล้วมาเพราะเห็นว่ากรรมการฯ หกคนจากเจ็ดคน (ยกเว้นหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ) เป็นเพียงนักสิทธิมนุษยชนที่กินภาษีประชาชน และเป็นกรรมการสิทธิฯ เพียงแต่ชื่อ ไม่ได้ทำงานโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน หรือต้องการทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยดีขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นควรเป็นไปมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรนี้อย่างเอามัน แต่ควรเป็นการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรายงานฉบับนี้ว่ามีที่มาอย่างไร ทำไมเนื้อหาในรายงานนี้ถึงออกมาเป็นแบบนี้ รวมถึงคำถามที่ว่า ใครในกรรมการสิทธิฯ ต้องเป็นคนที่รับผิดชอบกับรายงานฉบับนี้

คณะกรรมการฯ ของ “คนที่ไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชน” 
หากพูดกันจริงๆ ความล้มเหลวของ กสม. ชุดนี้เป็นผลผลิตโดยตรงจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้อำนาจศาลในการเลือกกรรมการฯ แทนที่จะให้มีคณะสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมและองค์กรที่มีความหลากหลายและเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชนมาเป็นกรรมการสรรหา

ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนปี 2540 กรรมการสรรหาฯที่มีความหลากหลายประกอบไปด้วยด้วยตัวแทนจากพรรคการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชน ผู้แทนมหาวิทยาลัย ประธานศาลฏีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ ผู้แทนสื่อมวลชนรวมกันทั้งหมด 22 คน

ในขณะที่กรรมการสรรหา กสม. ตามในรัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบไปด้วยตัวแทนของฝ่ายตุลาการเป็นหลัก คือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาคัดเลือก บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก และตัวแทนฝ่ายค้าน

ผลผลิตอีกอย่างที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้จำนวน กสม. จากทั้งหมด 11 คนต้องลดเหลือเพียง 7 คน

ถ้าหากเราได้อ่านรายงานการสรรหากรรมการฯ ที่ทำโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หลายคนจะต้องตั้งคำถามกับกรรมการสรรหาอย่างแน่นอนว่า ใช้หลักเกณท์อะไรในการเลือกคนเหล่านี้เข้ามา และให้ความชอบธรรมอะไรในการอธิบายว่าคนเหล่านี้เป็น “ผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์”

ทำไมบุคคลอย่างพลตำรวจเอกวันชัย ศรีนวลนัด บุคคลที่มีพื้นเพจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (องค์กรที่เป็นคู่กรณีกับเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด) หรือนายปริญญา ศิริสารการ อดีตนักธุรกิจ รองประธานสภาอุตสาหกรรมนครราชสีมา ถึงเป็นสองคนแรกที่ถูกเลือกเข้ามา ด้วยคะแนน 4 เสียงจาก 6 เสียง โดยการลงคะแนนครั้งแรก  

ด้วยพื้นเพในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ทัศนะของพลตำรวจเอกวันชัยจึงไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างความมั่นคงของรัฐกับสิทธิมนุษยชน หลังเหตุการณ์การชุมนุมเดือนเมษา-พฤษภา 53 ยุติลง พลตำรวจเอกวันชัยได้ออกแถลงการณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการวางเพลิงสามารถมาร้องเรียน กสม.ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้วางเพลิงได้ โดยไม่ได้มีการพูดถึงสิทธิของเหยื่อจากการใช้ความรุนแรงของรัฐเลย

อีกด้านหนึ่งนายปริญญา ศิริสารการ อดีตนักธุรกิจมีชื่ออยู่ในรายงานของ กสม. ชุดอาจารย์เสน่ห์ จามริกว่า เป็น “ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ให้ความเห็นระหว่างกระบวนการรับฟังวิสัยทัศน์โดยวุฒิสภาว่า รัฐบาลพม่าถูกประเทศตะวันตกละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้ความเห็นว่า รัฐบาลพม่า “บริหารการฆ่า” ชนกลุ่มน้อยเก่ง

กรรมการสรรหาฯ มีหลักเกณท์อะไร จะสามารถให้เหตุผลและให้ความชอบธรรมอย่างไรกับการเลือกสองคนนี้เข้ามา แทนการเลือกบุคคลที่มีประสบการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นที่ประจักษ์อย่างคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์การทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนหลายสิบปีอีกหลายสิบคน เช่น บรรจง นะแส บารมี ชัยรัตน์ อังคณา นีละไพจิตร ไพโรจน์ พลเพชร ศุกาน์ตา สุขไผ่ตา สุรพงษ์ กองจันทึก วัลลภ ตังคณานุกรักษ์ มาลี พฤกษ์พงศาวลี เตือนใจ ดีเทศน์ ฯลฯ

แต่ปัญหาไม่ได้จบที่แค่สองคนนี้ กรรมการสรรหาฯ ยังเลือก นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการเมาไม่ขับที่ยังคงรณรงค์แต่เรื่องเมาไม่ขับในฐานกรรมการสิทธิฯ วิสา เบ็ญจะมโน นักสังคมสงเคราะห์ที่ให้สัมภาษณ์ว่า การทำแท้งเป็นการละเมิดสิทธิเด็กได้อย่างมั่นใจ (โดยไม่ได้ศึกษาอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ให้ความนิยามว่า สิทธิเด็กเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กได้เกิดขึ้นแล้ว) หรือไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ อดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญที่ทุกคนรู้จักผ่านวาทกรรม “รองเท้าแตะแม่ค้าเสื้อแดงละเมิดสิทธิอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ตรวจสอบ- ติดตามการทำงานไม่ได้
ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีให้กับงบประมาณของ กสม. ปีละประมาณ 200 ล้าน รวมถึงราคารถเบนซ์-BMW ประจำตำแหน่งราคาหลายล้าน และเงินเดือนแสนกว่าๆ ให้กับกรรมการสิทธิฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่า ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา กรรมการสิทธิฯ ได้ตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไรไปแล้ว

หากเราเช็คดูเว็ปไซต์กรรมการสิทธิฯ เราจะเห็นว่ารายงานการตรวจสอบที่บรรจุในเว็บไซต์เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายงานการทำภายใต้ กสม. ชุดอาจารย์เสนห์เป็นหลัก มีรายงานที่ตรวจสอบโดย กสม. ชุดนี้ไม่ถึง 5 กรณี

ที่ร้ายไปกว่านั้น ตั้งแต่ กสม. ชุดนี้เข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2552 ยังไม่เคยมีการทำรายงานประจำปีออกมาเลย มีเพียงแต่ร่างรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไม่ถึงสิบหน้า ผู้เขียนทราบมาว่า เรื่องร้องเรียนที่ประชาชนร้องเรียนกับกรรมการสิทธิในปี 2553 กว่า 500 เรื่อง ยังไม่มีเรื่องไหนเลยที่ตรวจสอบสำเร็จแล้ว

กรรมการสิทธิฯ ไร้หลักการราคา 200 ล้านบาท
ช่วงที่เกิดการชุมนุมของเสื้อแดง กรรมการสิทธิฯ ภายใต้การนำของอมรา พงศาพิชญ์ ได้นำคณะกรรมการสิทธิฯ ไปพบอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำศาสนา แกนนำเสื้อแดง จนถึงการรณรงค์อย่างไร้เหตุผลและน่าขบขันให้ประชาชนทั่วประเทศอธิษฐานให้สถานการณ์ในประเทศดีขึ้น ทั้งๆ ที่หน้าที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสม. ตามรัฐธรรมนูญและตาม พ.ร.บ.กสม. แม้แต่น้อย เพราะ กสม. เป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

ร่างรายงานอื้อฉาวฉบับนี้ที่ได้รายงานตามหนังสือพิมพ์ นอกเหนือจากมีความ “กล้า” ในการสร้างความจริงชุดใหม่ขึ้นมา กสม. ยังมีความล้มเหลวในการเขียนให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดด้วย

คณะอนุกรรมการสามชุดที่ตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมประกอบไปด้วย 1) อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. 2) คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และ 3) อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการตรวจสอบด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ถูกแต่งตั้งขึ้นวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 โดยมีอายุการทำงานสี่เดือน กล่าวคือ รายงานที่ตรวจสอบต้องเปิดเผยตั้งแต่กันยายน 2553 แต่ตอนนี้จะเข้าเดือนสิงหาคม 2554 แล้วรายงานนี้ก็ยังไม่เสร็จซะที

รายงานฉบับนี้ยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนโดยตรง เช่น การปฏิเสธว่า หน้าที่หลักในการส่งเสริมและคุ้มครองไม่ได้อยู่ที่รัฐแต่อยู่ที่ประชาชน โดยไม่ได้เข้าใจว่า รัฐเป็นองค์กรที่ลงนามในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ดังนั้นระดับความรับผิดชอบในสิทธิมนุษยชนต้องอยู่ที่รัฐเป็นหลัก

ดังนั้นรายงาน กสม. เป็นรายงานที่มีอคติ แทนที่จะตั้งคำถามว่า รัฐในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า กลับไปตั้งคำถามว่าผู้ชุมนุมได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไหม

ปัญหาของรายงานรวมไปถึงการไม่เข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้มีความสำคัญเท่ากันหมด มีสิทธิบางสิทธิที่เหนือกว่าสิทธิอื่นๆและเป็นสิทธิที่ละเมิดไม่ได้เป็นอันขาด

หากการชุมนุมของเสื้อแดงมีการใช้อาวุธ ก็นับว่าเป็นความผิดทางอาญาของคนที่มีอาวุธ แต่ไม่ได้หมายความว่าการที่คนจำนวนน้อยไม่กี่สิบคนกระทำผิดกฎหมายจะสามารถเหมารวมอย่างง่ายๆ ว่าประชาชนที่เข้าชุมนุมอีกกว่าหมื่นคน ที่รวมถึงผู้หญิง เด็ก คนชรา หรือประชาชนธรรมดาทำผิดกฎหมายหมด และรัฐบาลสามารถสลายการชุมนุมโดยมีเป้าหมายในการสังหารประชาชนเหล่านั้นได้ เพราะสิทธิการมีชีวิตอยู่เป็นสิทธิที่สูงที่สุด และเป็นที่ยอมรับกันว่าในภาวะฉุกเฉิน รัฐไม่สามารถอ้างความมั่นคงของรัฐในการปลิดชีพประชาชนได้อย่างชอบธรรม

ความรับผิดชอบควรอยู่ที่ใคร
มาถึงคำถามที่สำคัญ ในขณะที่กระแสข่าวได้เล็งความรับผิดชอบไปให้นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ในฐานะเลขาธิการ กสม. ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยว่า นายแพทย์ชูชัยควรเป็นคนเดียวที่ต้องถูกสังคมตั้งคำถามหรือประณาม

แต่หากเราได้ดูรายชื่อคณะกรรมการฯ ที่เป็นตัวหลักในการเขียนรายงานฉบับนี้ เราจะเห็นว่า มีบุคคลอีกสามคนที่ต้องให้คำตอบกับสังคมกับรายงานฉบับนี้เหมือนกัน และอาจจะต้องมีความรับผิดชอบมากกว่า คือ:  

ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

พลตำรวจเอกวันชัย ศรีนวลนัด ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการตรวจสอบด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสามชุดนี้ ทั้งสามคนนี้ต้องมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และปฎิเสธไม่ได้ว่า ต้องเป็นคนที่เห็นชอบแนวทางการตรวจสอบและตัวรายงานเอง

บุคคลสามคนนี้ต้องให้คำตอบกับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นกับรายงานฉบับนี้และในฐานะผู้บริหารขององค์กรฯ จะมีความรับผิดชอบอย่างไรกับรายงานฉบับนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถึงเวลาทบทวน "ระบบค่าจ้าง"

Posted: 14 Jul 2011 05:15 AM PDT

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม
“ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำและการกำหนดค่าจ้างในประเทศไทย: ถึงเวลาต้องทบทวน”

 

1. ประเทศไทยกับพัฒนาการที่ถอยหลังลงคลองจากสังคมค่าจ้างสูงสู่สังคมค่าจ้างต่ำ

เศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้พัฒนาและขยายตัวในสังคมไทยภายหลังการทำสนธิสัญญาเพื่อเปิดให้มีการค้าเสรีกับนานาประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานรับจ้างจำนวนมาก แต่ขณะนั้นสยามมีประชากรค่อนข้างน้อยและคนไทยยังอยู่ภายใต้ระบบการเกณฑ์แรงงานโดยรัฐที่เรียกว่าระบบไพร่ ประชาชนไทยไม่มีอิสระและเสรีภาพที่จะไปเป็นแรงงานรับจ้างให้กับโรงงานหรือสถานประกอบการต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นได้ ทำให้ต้องมีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนจำนวนมาก แรงงานจีนจึงถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกในประเทศไทยและแม้ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงาน แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงพอใจกับรายได้และการใช้ชีวิตอยู่บนไร่นา เพราะภายหลังการเปิดประเทศ ข้าวได้กลายเป็นสินค้าออกสำคัญของไทย ซึ่งได้พันธนาการแรงงานไทยส่วนใหญ่ไว้กับการใช้ชีวิตอยู่บนผืนนาอีกยาวนานนับศตวรรษเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าแรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนจึงยังคงเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานไทยอีกนานนับศตวรรษเช่นกัน การขาดแคลนแรงงานทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ [1]

แรงงานไทยมาเคลื่อนย้ายออกจากชนบทเข้าหางานทำในเขตอุตสาหกรรมในเมืองอย่างจริงจังเอาก็ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ในปี 1958 ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากเดิมที่เป็น “เศรษฐกิจชาตินิยม” [2] ที่รัฐเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง มาเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ที่หันมาเน้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ตามคำชี้แนะของสหรัฐอเมริกาและธนาคารโลกโดยทอดทิ้งภาคเกษตรกรรม เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ออกมาตรการและสร้างกลไกหลายอย่างเพื่อส่งเสริมธุรกิจเอกชน สร้างสิ่งที่เรียกว่า “บรรยากาศในการลงทุน” โดยได้ทุ่มเทงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุน สร้างนิคมอุตสาหกรรม ให้สิทธิพิเศษอย่างมากมายมหาศาลแก่นักลงทุน เช่นยกเว้นการเก็บภาษีเป็นต้น ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด บรรษัทข้ามชาติพากันหลั่งไหลเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทย ขณะที่ส่งเสริมฝ่ายทุน รัฐกลับใช้นโยบายควบคุมและจำกัดสิทธิของฝ่ายแรงงาน มีการประกาศยกเลิกกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับแรกของไทยซึ่งเพิ่งประกาศใช้ไม่ถึงสองปีก่อนหน้า (1956) ประกาศให้สหภาพแรงงานกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมถูกลิดรอน การนัดหยุดงานเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด และนี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำพาประเทศมาสู่การเป็นสังคมค่าจ้างต่ำในที่สุด

แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มจากใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าก่อนในช่วงแรก ต่อมาไทยได้หันมาใช้กลยุทธ์การพัฒนาเพื่อเน้นการส่งออก ซึ่งได้ทำให้เศรษฐกิจไทยไร้เสถียรภาพ ต้องพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศในอัตราส่วนที่สูงมากตลอดมา มาถึงทศวรรษที่ 1980 ไทยได้กลายเป็นฐานการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมส่งออกของนักลงทุนจากต่างชาติ ในช่วงเดียวกันนี้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมตามชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) มีการกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เริ่มหันมาส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEsุล มีการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรม (Industrial Cluster)

เมื่อประเทศไทยประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1997 ต้องเข้ารับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งถูกกดดันให้ต้องดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งนำไปสู่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export-oriented Industry) ที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากขึ้น การส่งออกของไทยมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของGDP รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปเป็นแบบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น คนงานจำนวนมากถูกผลักออกไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบมากขึ้น คนงานขาดความมั่นคงในการทำงาน อำนาจการต่อรองของฝ่ายแรงงานซึ่งต่ำอยู่แล้วยิ่งตกต่ำมากยิ่งขึ้น ทิศทางการกำหนดค่าจ้างเป็นไปในแนวทางที่ฝ่ายอุตสาหกรรมและรัฐต้องการมากกว่าคำนึงถึงความจำเป็นและเหตุผลทางเศรษฐกิจของคนงาน

รศ. ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้วิเคราะห์สถานภาพของแรงงานในประเทศไทยภายใต้ระบบเศรษฐกิจไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไทยอาศัยการใช้แรงงานราคาถูกแบบ 3 L คือ ค่าจ้างแรงงานถูก Low Wage ผลิตภาพแรงงานต่ำ Low Productivity และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน Long Working Hour ทำให้แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ แรงงานไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย” [3]

 

2. ค่าจ้างขั้นต่ำ: มาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองแรงงานหรือกลไกในการขูดรีดแรงงาน?

ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ในปี 1972 กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย (ขณะนั้นเป็นกระทรวงที่กำกับดูแลเรื่องแรงงาน) ออกประกาศกระทรวง เรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีทำหน้าที่พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นบังคับใช้ คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการค่าจ้างชุดแรก ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1973 และได้มีการประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบังคับใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1973 เมื่อแรกมีค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย กฎหมายได้ให้นิยามของคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนั้นไว้ดังนี้ “...คืออัตราค่าจ้างที่ช่วยให้แรงงานพร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คน มีรายได้เพียงพอเพื่อการใช้จ่ายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคม” แต่ต่อมาในการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในปี 1975 หรืออีกสองปีถัดมารัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงนิยามของคำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เสียใหม่ให้หมายถึง “...อัตราค่าจ้างตามความจำเป็นที่ลูกจ้างคนเดียว (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว) ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้...” และนับจากนั้นเป็นต้นมาการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำก็ได้ยึดถือนิยามนี้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเสมอมา

อัตรค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกที่ได้มีการประกาศใช้ในประเทศไทยคืออัตราค่าจ้างวันละ 12 บาท เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 1973 ค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อแรกใช้มีผลบังคับใช้เฉพาะใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญในขณะนั้น ซึ่งกรมแรงงานประมาณว่ามีลูกจ้าง ได้รับประโยชน์จากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกนี้ประมาณ 100,000 คน แต่จากการศึกษาของอารมณ์ พงศ์พงัน ผู้นำแรงงานคนสำคัญของไทยขณะนั้นพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดในครั้งแรกยังคงต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพของผู้ใช้แรงงานอย่างมาก สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เสนอรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปี 1973 พบว่าผู้ใช้แรงงานสมควรมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 25 บาทจึงจะดำรงชีพอยู่ได้ [4]

ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเมื่อเริ่มต้นบังคับใช้เป็นอัตราเดียวและบังคับใช้เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวม 4 จังหวัดเท่านั้น ต่อมาตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 1974 ได้เพิ่มพื้นที่บังคับใช้เป็น 6 จังหวัด (คือ เพิ่มสมุทรสาครและนครปฐม) และขยายการบังคับใช้ครบทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1974 เป็นต้นมา

ในช่วงระหว่างปี 1974 - 1983 อัตราค่าจ้างข้นต่ำที่กำหนดใหม่จะประกาศให้มีผลบังคับใช้ เริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม ของแต่ละปี (ตามรอบปีงบประมาณรัฐบาล) แต่หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาประกาศให้มีผลบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ทุกวันที่ 1 มกราคม หรือวันที่ 1 เมษายน (วันปีใหม่ของไทย) วาระการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีระบุไว้ชัดเจนในกฎหมาย แต่โดยปกติจะปรับปีละ 1 ครั้ง แต่ก็มีบางปีที่ปรับมากกว่า 1 ครั้ง หรือบางปีไม่ปรับเลยก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ นโยบายทางการเมืองและอำนาจการต่อรองของขบวนการแรงงานในช่วงเวลานั้นๆ

ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงินครั้งใหญ่ในประเทศไทยในปี 1997 ซึ่งมีผลทำให้สถานประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการลง และมีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก รัฐบาลไทยต้องเข้ารับการช่วยเหลือทางด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จึงมีการทำหนังสือแจ้งความจำนงฯ (Letter of Intent) เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจยื่นกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ลงวันที่ 14 สิงหาคม 1997 มีข้อหนึ่งของหนังสือระบุเกี่ยวกับนโยบายค่าจ้างไว้ว่า "เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อราคาอันอาจจะเกิดขึ้นจากการอ่อนลงของค่าเงินบาท ทางการจะเข้มงวดในการปรับเงินเดือนภาครัฐ โดยให้มีการปรับเพิ่มได้ไม่เกินอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่านั้น และต้องดูแลให้การปรับเงินเดือน และค่าจ้างภาคเอกชนให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน" นอกจากนี้ กรอบนโยบายด้านตลาดแรงงานและสวัสดิการสังคมที่รัฐบาลไทยตกลงกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ยังมีเงื่อนไขที่จะไม่ให้มีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในปี 1998 เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดแรงงาน ทำให้มีการแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำยาวนานถึง 3 ปี (มกราคม 1998 - 31 ธันวาคม 2000) เพื่อควบคุมต้นทุนแรงงานให้กับสถานประกอบการต่างๆ [5]

ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่มีการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมหาศาลและขบวนการสหภาพแรงงานอยู่ในสภาวะอ่อนแอ สูญเสียอำนาจต่อรอง ทั้งค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างแรงงานอยู่ในสภาพถูกแช่แข็ง นอกจากรัฐบาลพยายามจะควบคุมไม่ให้ค่าจ้างขยายตัวเพื่อเอาใจฝ่ายผู้ประกอบการแล้วยังได้ฉวยโอกาสทำการเปลี่ยนแปลงระบบและหลักเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเสียใหม่ เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือเพื่อทำให้บางพื้นที่ของประเทศมีค่าจ้างที่ต่ำเพื่อเปิดช่องให้ผู้ประกอบการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากแรงงานราคาถูก สิ่งที่รัฐบาลทำคือหันไปใช้วิธีการกระจายอำนาจการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปในระดับจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นการกำหนดจากองค์กรไตรภาคีระดับชาติ รัฐบาลรู้ดีว่าแรงงานในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่มีการรวมตัวกัน จึงมีอำนาจต่อรองน้อย และคาดได้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำในหลายจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานจะไม่มีการปรับตัวหรือมีการปรับตัวน้อย รัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องนี้โดยออกเป็นประกาศของกระทรวงแรงงานก่อนในปี 1997 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต มีนายมนตรี ด่านไพบูลย์เป็นรัฐมนตรี แม้จะมีเสียงคัดค้านจากฝ่ายสหภาพแรงงานแต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา และต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ในปี 1998 จึงได้นำเอาหลักการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่นี้บรรจุเข้าไว้ในกฎหมายดังกล่าว การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่นี้ทำให้อัตราค่าจ้างที่แต่เดิมส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 อัตราคือ กลุ่มที่ 1. กรุงเทพฯ, 5 จังหวัดปริมลฑลและภูเก็ต กลุ่มที่ 2. จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา ระนอง และสระบุรี และกลุ่มที่ 3 ได้แก่ 63 จังหวัดที่เหลือ แต่ระบบใหม่นี้ได้ทำให้เกิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกันหลายอัตรา ปัจจุบันมีถึง 32 อัตรา

 

3. มาทำความรู้จักกระบวนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

หลักการสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 1998 ซึ่งยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมีสาระสำคัญดังนี้ [6]

1. ความหมายของ "ค่าจ้าง"
มีการเปลี่ยนนิยามของคำว่า "ค่าจ้าง" จากหลักการเดิมที่ว่า “ค่าจ้าง” อาจหมายถึงเงินหรือเงินและสิ่งของ โดยนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันล่วงหน้าได้ หลักการใหม่ให้ความหมายว่า “ค่าจ้างหมายถึง “เงิน” ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่าจะจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง” ความหมายที่เปลี่ยนไปนี้มีผลทำให้นายจ้างไม่อาจจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยหักเป็นค่าสวัสดิการบางอย่างที่จัดให้แก่ลูกจ้างตามความพอใจได้ เช่น อาหาร ที่พัก แบบที่เคยทำ เป็นต้น

2. ขอบเขตการบังคับใช้
ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างเอกชนทั่วไป แต่ยกเว้นไม่บังคับใช้กับลูกจ้างของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ลูกจ้างที่ทำงานเกษตรกรรม ได้แก่ งานเพาะปลูก งานประมง งานป่าไม้ งานเลี้ยงสัตว์ ลูกจ้างที่รับงานไปทำที่บ้าน ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน อันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างที่ทำงานอันมิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ

3. ประเภทของค่าจ้างขั้นต่ำ
กฎหมายได้กำหนดให้มีอัตรค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 2 ประเภท คืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานคือ อัตราค่าจ้างซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างกลางจะเป็นผู้กำหนด เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งจะต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานไม่ได้ และเสนอให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคืออัตราค่าจ้างซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างกลางกำหนด หรือคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง แล้วแต่กรณี และเสนอให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

4. เกณฑ์ในการพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย
พิจารณาจากองค์ประกอบ 3 ประการคือ

  1. องค์ประกอบด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง มี 5 หลักเกณฑ์ได้แก่
    1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่
    2. อัชนีค่าครองชีพ
    3. อัตราเงินเฟื้อ
    4. ราคาของสินค้า
    5. มาตรฐานการครองชีพ
  2. องค์ประกอบด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งมี 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
    1. ต้นทุนการผลิต
    2. ความสามารถของธุรกิจ
    3. ผลิตภาพแรงงาน
  3. องค์ประกอบด้านเศรษฐกิจและสังคม มี 2 หลักเกณฑ์ได้แก่
    1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
    2. สภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

5. โครงสร้างของคณะกรรมการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง 2 ประเภท คือ คณะกรรมการค่าจ้างกลางและคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด

1) คณะกรรมการค่าจ้างกลาง ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสองคน ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเจ็ดคน และหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างของกระทรวงแรงงานเป็นเลขานุการ

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่มาของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างนั้น ตามกฎหมายเดิมที่มาของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างไม่มีหลักเกณฑ์วิธีการแน่นอน บางครั้งมาจากการแต่งตั้งโดยตรงของรัฐมนตรี บางครั้งมาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนสหภาพแรงงานและสมาคมนายจ้างแล้วจึงเสนอชื่อให้รัฐมนตรีประกาศแต่งตั้ง แต่สำหรับที่มาของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างตามกฎหมายใหม่นี้ได้กำหนดให้สภาองค์การลูกจ้าง [7] เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และสภาองค์การนายจ้างเสนอรายชื่อผู้สมัครเพื่อเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง จากนั้นให้สหภาพหรือสมาคมนายจ้างเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้ง โดยใช้หลัก 1 องค์กร 1 เสียงเท่ากันหมด ไม่ว่าจะมีสมาชิกมากน้อยต่างกันเพียงใด
กฎหมายได้กำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายค่าจ้าง
  2. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ข้อแนะนำภาคเอกชนเกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างและการปรับค่าจ้างประจำปี
  3. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน
  4. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ลูกจ้างควรได้รับตามความเหมาะสมแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม
  5. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาระบบค่าจ้าง
  6. ให้คำแนะนำด้านวิชาการและแนวทางการประสาน ประโยชน์แก่หน่วยงานต่างๆ ในภาคเอกชน
  7. รายงานเสนอรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละครั้งเกี่ยวกับภาวะค่าจ้างและแนวโน้มของค่าจ้างตลอดจน มาตรการที่ควรจะได้ดำเนินการ
  8. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมาย อื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างหรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย ในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการค่าจ้าง จะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรายได้ของประเทศด้วยก็ได้

2) คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด มีจำนวนไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด แรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัด และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยประจำภาค หรือผู้แทนศูนย์พัฒนาภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทนส่วนราชการอื่นตามที่จังหวัดเห็นสมควร ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละเท่ากับจำนวนผู้แทนภาครัฐ

วิธีการสรรหาอนุกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ให้สำนักงานแรงงานจังหวัดแจ้งให้สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้างหรือองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้างในจังหวัดทราบ กรณีไม่มีองค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้างในจังหวัด ให้สำนักงานแรงงานจังหวัดประกาศให้นายจ้างและลูกจ้างอื่นๆ ให้ทราบทั่วกัน เพื่อเสนอชื่อผู้แทนหรือยื่นใบสมัครเข้ารับการคัดเลือกภายในระยะเวลาและสถานที่ที่คณะกรรมการสรรหาคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนด

6. การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

  1. ให้คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างในจังหวัดได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นๆ ในจังหวัด ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม สภาพเศรษฐกิจและสังคม
  2. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางกำหนด
  3. ก่อนพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดควรสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้าง มาตรฐานการครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงทางสังคมและเศรษฐกิจในจังหวัด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด
  4. เมื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดแล้ว ให้คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดนำเสนอผลการพิจารณาพร้อมรายละเอียดตามที่เห็นสมควร ให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาลงนามประกาศใช้บังคับ

 

4. ปัญหาของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย

ที่ผ่านมาด้วยนโยบายรัฐที่ต้องการรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการควบคุมต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานให้ต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความอ่อนแอไม่เป็นเอกภาพของขบวนการแรงงานในประเทศไทยทำให้อัตราการเติบโตของค่าจ้างในประเทศไทยมีอัตราที่ช้ามาก จากการวิเคราะห์ของสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงานพบว่าเมื่อเปรียบเทียบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ ตั้งแต่ ปี 2002 - 2011 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศสะสม 10 ปี มีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศสะสม อยู่ร้อยละ 1.9 กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศสะสม มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งประเทศสะสม มีการปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 25.7 นั่นคืออัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ มีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งประเทศเฉลี่ยต่อปี อยู่ร้อยละ 0.19 กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อมีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.76 ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.57 ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดูภาพประกอบที่ 1

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศและอัตราการเปลี่ยนแปลงของ GDP 10 ปีย้อนหลัง (ตั้งแต่ปี 2002 - 2011)
ปี ค.ศ. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
เฉลี่ยทั้งประเทศ
(บาท)
อัตราการเปลี่ยนแปลง
ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
(ร้อยละ)
อัตรา
เงินเฟ้อ
(ร้อยละ)
อัตรา
ผลิตภัณฑ์รวม
ณ ราคาปัจจุบัน
2002 137.0 0.2 0.7 6.2
2003 138.3 0.9 1.8 8.6
2004 139.7 1.0 2.7 9.7
2005 148.1 6.0 4.5 9.3
2006 149.4 0.9 4.7 10.6
2007 154.0 3.1 2.3 8.7
2008 162.1 5.3 5.5 6.5
2009 162.1 0.0 -0.9 -0.4
2010 165.3 2.0 3.3 11.8
2011 (1มี.ค.) 175.8 6.4 3.0 7.0
รวม (2002 - 2011) 25.7 27.6 78
เฉลี่ยต่อปี 2.57 2.76 7.8

 

ภาพที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราเงินเฟ้อ และ GDP

ถึงเวลาทบทวน “ระบบค่าจ้าง”

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ล่าสุดประเทศไทยได้ประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2011 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งล่าสุดนี้นับว่าเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับการปรับครั้งก่อนหน้า ด้วยเหตุผลของการให้สัญญาณจากรัฐบาลที่ต้องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มอำนาจซื้อภายในประเทศ เหตุผลอีกประการคือใกล้การเลือกตั้ง การปรับขึ้นค่าจ้างจะทำให้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากแรงงานไร้ฝีมือซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง

ตารางที่ 2 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2011
อัตราที่ 1 จังหวัด ค่าจ้าง (บาท)
1 ภูเก็ต 221
2 กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 215
3 ชลบุรี 196
4 ฉะเชิงเทรา และสระบุรี 193
5 พระนครศรีอยุธยา 190
6 ระยอง 189
7 พังงา 186
8 ระนอง 185
9 กระบี่ 184
10 นครราชสีมา และปราจีนบุรี 183
11 ลพบุรี 182
12 กาญจนบุรี 181
13 เชียงใหม่ และราชบุรี 180
14 จันทบุรี และเพชรบุรี 179
15 สงขลา และสิงห์บุรี 176
16 ตรัง 175
17 นครศรีธรรมราช และอ่างทอง 174
18 ชุมพร พัทลุง เลย สตูล และสระแก้ว 173
19 ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา สมุทรสงคราม และสุราษฎร์ธานี 172
20 นราธิวาส อุดรธานี และอุบลราชธานี 171
21 นครนายก และปัตตานี 170
22 ตราด ลำพูน และหนองคาย 169
23 กำแพงเพชร และอุทัยธานี 168
24 กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท และสุพรรณบุรี 167
25 เชียงราย นครสวรรค์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และสกลนคร 166
26 ชัยภูมิ มุกดาหาร ลำปาง สุโขทัย และหนองบัวลำภู 165
27 นครพนม 164
28 พิจิตร พิษณุโลก แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ 163
29 ตาก และสุรินทร์ 162
30 น่าน 161
31 ศรีสะเกษ 160
32 พะเยา 159

ที่มา: ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 5)

การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2011 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2011 เป็นการปรับเพิ่มขึ้น เฉลี่ยทั่วประเทศวันละ 10.5 บาท จากวันละ 165.3 บาท เป็นวันละ 175.8 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ได้มีการคำนวณจากสำนักงานค่าจ้าง กระทรวงแรงงานพบว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะมีผลทำให้แรงงานจำนวนประมาณ 4,281,056 คน (ผู้ประกันตน/แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ได้รับการผ่อนผันหรือหลบเลี่ยงการทำงาน) ได้รับประโยชน์จากการปรับค่าจ้างในครั้งนี้คิดเป็นเงิน 47.1 ล้านบาทต่อวัน หรือ 1,224.5 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 14,694 ล้านบาทต่อปี และจะส่งผลให้รายได้ทั้งหมดของครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.422 จากรายได้ ประมาณ 20,903 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 20,991.21 บาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 88.21 บาท/เดือน

ระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบกระจายอำนาจไปที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัดได้ทำให้เกิดค่าจ้างขั้นต่ำหลายอัตรา ปัจจุบันมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกันมากถึง 32 อัตรา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ค่าครองชีพโดยทั่วไปในแต่ละพื้นที่มิได้มีความแตกต่างกันมากนัก จังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานก็จะไม่มีตัวแทนคนงานที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดค่าจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากประสบการณ์ที่เป็นจริงหลายพื้นที่ที่ไม่มีสหภาพไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือมีการปรับขึ้นในอัตราที่น้อยมาก ตัวแทนแรงงานที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำงานจึงเป็นได้แค่ไม้ประดับ การตัดสินใจจึงไปตกอยู่กับตัวแทนฝ่ายนายจ้างและรัฐบาลซึ่งมักจะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และเมื่ออนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดพิจารณาเสร็จแล้วยังต้องส่งไปให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางเป็นคนตัดในใจอีกครั้ง ทำให้อนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดถูกวิจารณ์โดยสหภาพแรงงานว่าเป็นการกระจายอำนาจจอมปลอม เพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำได้จริง ต้องเสนอข้อมูลและมติอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด เข้าสู่คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสินใจ ยังพบว่าในการคัดสรรอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดยังขาดความโปร่งใสชัดเจน พบว่าผู้แทนลูกจ้างที่แสดงความเห็นมาก กล้าโต้เถียงกับนายจ้างและตัวแทนของรัฐ มีโอกาสไม่ได้รับแต่งตั้งให้กลับเข้าไปเป็นอนุกรรมการอีกครั้ง มิหนำซ้ำอนุกรรมการค่าจ้างมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีทั้งความอาวุโส คุณวุฒิและอำนาจมากมาย ทำให้ไม่เกิดการบรรยากาศการปรึกษาหารือที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน

แม้จะมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ชัดเจน แต่ในความเป็นจริง การกำหนดค่าจ้างเป็นไปตามนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลและอำนาจการต่อรองของฝ่ายแรงงาน

ฝ่ายแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัดไม่มีความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้างได้อย่างครบถ้วนเพียงพอ เมื่อเทียบกับทางฝ่ายรัฐและฝ่ายนายจ้างซึ่งมีความพร้อมกว่า บางจังหวัดมีพื้นที่อยู่ติดกัน แต่กลับมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่างกัน ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างกัน ปัญหาอีกประการหนึ่งคือความแตกแยกไม่เป็นเอกภาพในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของขบวนการแรงงาน หลายครั้งที่แต่ละองค์กรเสนอตัวเลขให้รัฐบาลปรับไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่มีพลังในการต่อรองกับรัฐบาล

และจากการที่แรงงานไทยไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากนัก ทำให้สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีการเจรจาต่อรองเพื่อปรับค่าจ้าง สภาพการจ้างและสวัสดิการ ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำ ได้กลายเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูง หรือเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปีให้กับแรงงานระดับล่างของสถานประกอบการจำนวนมาก จากการสำรวจของกระทรวงแรงงานพบว่ามีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างอยู่ในระดับเดียวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำราว 2 ล้านคน และมีอีกจำนวนมากที่ได้สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐกำหนดเพียงเล็กน้อย

ปัจจุบันพบว่านายจ้างบางส่วนหันไปจ้างแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมที่มิได้ขาดแคลนแรงงานเช่น ยานยนตร์ ชิ้นส่วนรถยนตร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งทอ โดยมีการเลิกจ้างแรงงานไทยเนื่องจากเห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีอำนาจการต่อรองต่ำกว่าแรงงานไทยมาก ทำให้อำนาจการต่อรองของแรงงานไทยลดต่ำลง นำไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย้งระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติในบางพื้นที่

 

5. ค่าจ้างไม่เป็นธรรมคือรากเหง้าของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ เห็นว่าประชาธิปไตยจะมีความหมายจริงได้ก็ต่อเมื่อ ขยายเขตวงของมันออกไปยังปริมณฑลทางเศรษฐกิจ นั่นคือการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า Industrial Democracy ขึ้นมา ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ถือว่าในระบบทุนนิยมนั้น ทุนและแรงงานเป็นหุ้นส่วนทางสังคมกัน (Social Partnership) แม้จะมีผลประโยชน์ที่แตกต่างขัดแย้งกัน (ทุนย่อมต้องการกำไรสูงสุด ขณะที่แรงงานก็ต้องการค่าตอบแทน สวัสดิการและสภาพการจ้างที่เหมาะสมจากการลงแรงของพวกเขา) แต่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการแบ่งปันส่วนแบ่งจากการทำงานร่วมกันสองฝ่ายอย่างสมเหตุสมผล โดยทั่วไปจะอาศัยกลไกเหล่านี้เพื่อนำไปสู่แบ่งปันที่เป็นธรรมได้แก่ การตัดสินใจร่วมกัน (Codetermination) การเสวนาทางสังคม (Social Dialogue) การปรึกษาหารือ การยอมรับให้มีการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในการแบ่งปันผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน และการเจรจาต่อรองร่วม (Collective Bargaining) ระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้างหรือองค์กรนายจ้าง กลไกเหล่านี้จะดำเนินไปได้ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นต้องยอมรับก่อนว่าสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรองร่วมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องเคารพและละเมิดไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงานและนายจ้าง เราจะพบว่าประเทศที่มีการแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม จะทำให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจมีช่องว่างระหว่างรายได้น้อยนั้นจะเป็นประเทศที่มีการยอมรับในสิทธิในการรวมตัวกันของคนงาน มีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในอัตราที่สูงมาก เช่นหลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสแกนดินีเวีย เช่น สวีเดน 81% ฟินแลนด์ 76 % เดนมาร์ก 74% เบลเยี่ยม 56% นอร์เวย์ 54% และออสเตรีย 37% ขณะที่ประเทศไทยมีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 1.3% หรือ 532,468 คนจากผู้มีงานทำทั้งหมดราว 38 ล้านคน [8]

สาเหตุที่สหภาพแรงงานในประเทศไทยมีสมาชิกน้อยเพราะสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมยังไม่ได้รับการยอมรับในประเทศไทย ไทยเป็นประเทศสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่เหลือเพียงไม่กี่ประเทศของโลกที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ98ที่ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งทั่วโลกเขาถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การไม่ยอมให้สัตยาบันทำให้เรามียังคงกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่ขัดกับหลักการของอนุสัญญา ซึ่งทำให้คนงานในประเทศไทยเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว ประกอบกับการที่วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นแบบอุปถัมป์ ที่ไม่ยอมรับในหลักความเสมอภาคยังคงมีอิทธิพลอยู่สูงมากในสังคมไทย ในระบบแรงงานสัมพันธ์วัฒนธรรมชนิดนี้ได้ทำให้เกิดกรอบแรงงานสัมพันธ์แบบนายกับบ่าว ที่มองว่านายจ้างหรือฝ่ายทุนเป็นผู้อุปถัมป์มีอำนาจเหนือฝ่ายแรงงาน ผู้รับการอุปถัมป์ กรอบความเชื่อชนิดนี้ได้ทำให้การเจราจาต่อรองร่วมถูกปฏิเสธจากฝ่ายนายจ้างเสมอมา ในแต่ละปีมีข้อตกลงร่วมที่ไปจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานเพียง 200 – 400 ฉบับ จากสถานประกอบการเกือบสี่แสนแห่งที่อยู่ในระบบประกันสังคม นั่นหมายความว่า สถานประกอบการในประเทศไทย ส่วนใหญ่อำนาจตัดสินใจในการแบ่งปันผลประกอบการระหว่างทุนกับแรงงานตกอยู่กับฝ่ายทุน

ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2007 พบว่ากลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนแบ่งรายได้ ถึงร้อยละ 54.9 ในขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 4.4 เท่านั้น คงจะไม่เป็นการสรุปที่เกินเลยไปจากความเป็นจริงนัก หากจะกล่าวว่าต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำ ในสังคมไทยแท้จริงมาจากระบบการกำหนดค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานไม่มีอำนาจการต่อรองอย่างเพียงพอทำให้การแบ่งปันในกระบวนการทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมไทยเกิดความเป็นธรรมได้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่น่าจะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือฝ่ายแรงงานที่มีอำนาจต่อรองน้อยให้ได้รับการคุ้มครองให้ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม แต่ระบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของไทยก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีกฎเกณฑ์และกลไกทำงานที่ชัดเจนเพียงพอ แต่กลับถูกบิดเบือนให้กลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออกที่มุ่งเน้นการแข่งขันด้วยต้นทุนแรงงานต่ำ

 

6. ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างโดยขบวนการแรงงานไทย

องค์กรแรงงานในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะทำงานปฏิรูประบบค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยประกอบด้วยผู้แทนองค์กรแรงงานจากหลากหลายส่วน นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างในประเทศไทยใหม่ ด้วยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้างโดยมีข้อเสนอร่วมกันดังนี้

  1. เสนอให้เปลี่ยนนิยามของคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำเสียใหม่ คือให้หมายถึงค่าจ้างสำหรับลูกจ้างไร้ฝีมือแรกเข้าทำงาน 1 ปีแรก ซึ่งสามารถใช้ครองชีพได้เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัวอีกสองคน
  2. เสนอให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด
  3. เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น % อัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศ หรือตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปี
  4. เสนอให้รัฐออกกฎหมาย กำหนดให้สถานประกอบการต้องปรับค่าจ้างเป็นประจำทุกปี สถานประกอบการที่มีการจ้างงานจำนวนมากควรจะต้องมีการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวางแผนเกี่ยวกับรายจ่ายและรายได้ของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างในอนาคต
  5. เรียกร้องให้ยกเลิกการจ้างงานที่จ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน รายชั่วโมงและรายผลงานเสีย
  6. เสนอให้ปฏิรูประบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างให้โปร่งใสและสะท้อนความเป็นตัวแทนของคนงาน เพื่อให้สะท้อนความจริงของการเป็นตัวแทน องค์กรที่มีสมาชิกมากกว่าควรจะมีสิทธิมีเสียงมากกว่าองค์กรที่มีสมาชิกน้อยกว่า และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการจัดตั้งสหภาพเล็กๆ เพื่อเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง
  7. เสนอให้มีการตกลงร่วมกันให้ชัดเจนว่า จะใช้ตัวเลขอะไรจากแหล่งไหน? เป็นตัวชี้ขาดว่า ควรต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไร? เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคของผู้มีรายได้น้อย ตัวเลขอัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ อัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ถ้าดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่ม 3% ค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีการประกาศเพิ่ม 3% ของอัตราเดิม โดยไม่ต้องมาพิจารณาต่อรองกัน
  8. เสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างบริหารการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการประจำ เพื่อศึกษาพิจารณาข้อมูลประกอบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องชัดเจน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งกรรมการประจำชุดนี้จะไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน โดยมาจากการสรรหาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และคณะกรรมการค่าจ้างจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนข้อมูลข้อคิดเห็นเท่านั้น
  9. เรียกร้องให้รัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจราจาต่อรองร่วมและปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่เพื่อให้มีการยอมรับและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของแรงงานและนายจ้าง จัดวางกรอบให้องค์กรแรงงานและองค์กรนายจ้างสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือ และต่อรองกัน ด้วยข้อมูลที่โปร่งใส สามารถตัดสินใจร่วมกันด้วยเหตุด้วยผล

 


อ้างอิง:

  1. พอพันธ์ อุยยานนท์ ค่าจ้างแรงงานในประวัติศาสตร์ไทย ใน ฉลอง สุนทราวาณิชย์และคณะ ประวัติศาสตร์แรงงานไทยฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร, กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 1998 หน้า 61-113
  2. ระบบเศรษฐกิจชาตินิยมใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 1932 ถึง 1958
  3. ดูวรวิทย์ เจริญเลิศ “วิกฤติเศรษฐกิจ 2008: กับผลกระทบต่อตลาดแรงงาน” เอกสารประกอบการสัมมนามาตรการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกอย่างมีประสิทธิภาพของสหภาพแรงงานไทย จัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) กรุงเทพฯ 5 กุมภาพันธ์ 2009
  4. อารมณ์ พงศ์พงัน "กรรมกร" สหพันธ์สหภาพแรงงานเสรีระหว่างประเทศ (ICFTU) สนับสนุนการจัดพิมพ์ (พฤศจิกายน 2522), หน้า 83 และตารางรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ปี 2514 - 2515 รายจ่ายของผู้มีรายได้ต่ำในระดับยากจนเฉลี่ยวันละ 28.82 บาท ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ หน้า 188
  5. ดูรายละเอียดใน บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ “เหลียวหลังแลหน้า 30 ปีแห่งการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ” จัดทำโดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 2002
  6. บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ "คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด : กระจายอำนาจจริงหรือ" วิเคราะห์การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน, น.30-43, มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน. 2545
  7. ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์การสภาลูกจ้างทั้งสิ้น 13 แห่ง การลงคะแนนเสียงเพื่อลือกผู้แทนฝ่ายลูกจ้างใช้หลัก 1 สหภาพ 1 เสียง ซึ่งได้ถูกวิจารณ์ว่าไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนที่แท้จริง เพราะสหภาพใหญ่มีสมาชิกมากก็มี 1 เสียงเท่าสหภาพเล็ก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการจัดตั้งสหภาพเล็กๆ ขึ้นมากมายเพื่อให้มีฐานเสียงมากในการเลือกตั้งองค์กรไตรภาคีต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการค่าจ้างด้วย
  8. ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2011 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'สมานฉันท์แรงงานไทย' ถกด่วน! โต้กระแสต้านค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

Posted: 14 Jul 2011 05:12 AM PDT

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมศุภชัยศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนมักกะสัน กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เชิญคณะทำงานปฏิรูปค่าจ้างซึ่งประกอบด้วยผู้นำแรงงานและนักวิชาการด้านแรงงาน ร่วมประชุมเพื่อหารือและกำหนดท่าทีต่อกระแสต่อต้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของบรรดานักธุรกิจอุตสาหกรรม

โดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.กล่าวว่า ภายหลังพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจนสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้นั้น นโยบายหาเสียงในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศที่ได้คะแนนเสียงอย่างเป็นกอบเป็นกำจากผู้ใช้แรงงานกำลังถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายนายจ้างและสภาอุตสาหกรรมรวมทั้งนักวิชาการบางส่วน จนทำให้ขณะนี้เสียงจากแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเริ่มโอนอ่อนไปตามกระแสกดดัน ซึ่งที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างมาพิจารณาร่วมกันอย่างละเอียดแล้วเห็นว่า การคัดค้านตั้งอยู่บนพื้นฐานการกลัวเสียผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มมากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และประเทศชาติโดยรวม เช่น อ้างเกิดผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) เป็นเรื่องเหมารวมเอาเองว่าจะได้รับผลกระทบทั้งหมดจนล้มละลาย ทั้งที่ความจริงลูกจ้างในกลุ่ม SMEs ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำกับกลุ่มนี้ ตัวเลขผลประกอบการก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมาอ้างอิงอย่างชัดเจนในการคัดค้าน และกลับมีหลายฝ่ายที่เห็นว่าการเพิ่มค่าจ้างจะเป็นผลดีให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อปรับตัวไปสู่แนวอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้ขายสินค้าหรือบริการได้ราคาสูงขึ้นโดยไม่ต้องแข่งกันเรื่องค่าจ้างต่ำอีกต่อไป

ปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทมากเกินไปหรือไม่
ข้อเท็จจริงคือในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อมาก ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานที่แม้จะทำงานมานาน 10 – 20 ปี มีทั้งฝีมือและประสบการณ์ที่สร้างผลผลิตได้มากกว่าก็ยังได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำหรือสูงกว่าเพียงเล็กน้อย ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอและดำรงชีพอย่างยากลำบาก มีหนี้สินรุงรัง ขณะที่ผู้ประกอบการขยายโรงงานเร่งเพิ่มผลผลิตจนแรงงานต้องทำงานล่วงเวลา (โอที) หามรุ่งหามค่ำ แต่ไม่เคยแสดงผลประกอบการว่ากำไรหรือขาดทุนอย่างไรให้ชัดเจน ช่องว่างทางรายได้และทรัยพ์สินที่ห่างกันมากในสังคมไทยก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำจนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคม

การปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง แต่กลไกไตรภาคีที่มักถูกครอบงำโดยฝ่ายรัฐและนายทุนคงไม่อาจตอบโจทย์นี้ได้ จึงเป็นความชอบธรรมของรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นที่จะดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศตามที่หาเสียงไว้ จะเกิดการว่างงาน การย้ายฐานการผลิต และการทะลักของแรงงานข้ามชาติ เป็นเรื่องที่ฝ่ายนายจ้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใช้โหมประโคมมาตลอดเวลามีการเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างและสวัสดิการจากผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่ความจริงในปัจจุบัน สังคมไทยกำลังพูดกันถึงการยกระดับไปสู่ประเทศที่ผลิตสินค้าราคาสูง ส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าราคาถูกใช้แรงงานราคาถูกนั้นชัดเจนว่าแข่งกับอีกหลายประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไม่ได้แล้ว ถึงแม้จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างก็เตรียมหาลู่ทางย้ายฐานการผลิตกันอยู่แล้ว ส่วนถ้าจะใช้แรงงานข้ามชาติ นายจ้างที่ประกอบการอย่างถูกกฎหมายก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้อย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย แต่หากจะใช้แรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายก็อาจเกิดผลกระทบทางด้านสังคมตามมามากมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็ตกเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องไปดูแลแก้ปัญหา โดยที่นักธุรกิจผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานข้ามชาติไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะรับผิดชอบอย่างไร

ค่าแรงขั้นต่ำ มิติทางสังคม
คสรท.พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องของการเมืองหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ควรพูดถึงในมิติทางสังคมด้วย จึงเห็นว่าจะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมด้วยเหตุด้วยผลบนหลักวิชาการอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสนจากการรับข้อมูลจากฝ่ายคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงกำหนดจัดเวทีสัมมนาวิชาการหัวข้อ “300 บาท ชะตากรรมใคร? รัฐบาล นายจ้าง หรือลูกจ้าง” ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ คสรท.ได้มีการประสานพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไว้แล้วเพื่อจะไปยื่นข้อเสนอ 9 ข้อของ คสรท.ในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554 เวลา 09.00 น.ที่พรรคเพื่อไทย เพื่อให้มีการพิจารณาบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ตามที่ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยได้มารับปากและลงนามให้สัตยาบันไว้กับผู้ใช้แรงงานในงานเวทีสมัชชาแรงงานเรื่อง “จุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมือง” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กทม.เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หมอชูชัยแจง อยู่ระหว่างตรวจสอบรายงาน กก.สิทธิ กรณี นปช.

Posted: 14 Jul 2011 04:58 AM PDT

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยอยู่ระหว่างตรวจสอบรายงานกรณีการชุมนุมของ นปช. ชี้ฉบับที่เผยแพร่ในสื่อขณะนี้ คลาดเคลื่อนจากรายงานที่กำลังพิจารณาอยู่หลายประเด็น

(14 ก.ค.54) นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ กสม.กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาผลการตรวจสอบกรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ยังไม่ได้ผลสรุปสุดท้าย

สำหรับที่มีข่าวในสื่อมวลชนบางฉบับที่กล่าวว่า รายงานของคณะทำงานฯ ที่มี เลขาธิการ กสม. เป็นประธานนั้น กสม. ไม่รับรองและไม่รับรู้หรือไม่มีส่วนร่วมในเรื่องการจัดทำรายงานดังกล่าวนั้น ขอปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะความคืบหน้าของรายงานฉบับนี้ฯ ประธาน กสม. ได้แจ้งต่อที่ประชุมเป็นระยะๆ และยังได้มีการประชุมของ กสม. ทั้งคณะร่วมกับคณะอนุกรรมการ 3 ชุดที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 ตลอดทั้งวันโดยร่วมกันพิจารณารายละเอียดของรายงานฉบับนี้ร่วมกันในทุกประเด็น และที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์นำไปสู่การปรับแก้ในบางประเด็น หลังจากนั้นยังมีการประชุมเฉพาะ กสม. ทั้งคณะพิจารณารายละเอียดโดยให้เจ้าหน้าที่นำเสนอด้วยการอ่านทุกบรรทัดในหัวข้อที่สำคัญๆ ของ 9-10 เหตุการณ์

ส่วนกรณีที่มีข่าวระบุว่านายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่ารายงานฉบับนี้เหมือนตีเช็คเปล่าให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่แน่ใจว่านายสุณัยฯ พูดเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะนายสุณัยฯ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ที่ได้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 ดังกล่าวด้วย และได้ให้ความเห็นที่มีประโยชน์และเป็นไปในทางบวกต่อรายงานฉบับนี้ ทางฝ่ายเลขานุการได้ทำการถอดเทปการให้ความเห็นของนายสุณัยฯ ด้วยแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับข่าวที่ออกมาจากสื่อมวลชนบางฉบับ และจากประวัติการทำงานที่ผ่านมาตนยังเชื่อว่านายสุณัยฯ มีความเป็นกลาง มีความปรารถนาดี รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง

นอกจากนี้ รายงานฉบับที่เผยแพร่อยู่ในสื่อมวลชนขณะนี้นั้น มีความคลาดเคลื่อนจากรายงานของ กสม. ที่กำลังพิจารณากันอยู่หลายประเด็น ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำลังตรวจสอบว่ารายงานหรือข้อมูลที่เป็นเอกสารลับทางราชการรั่วไหลไปสู่สาธารณชนหรือไม่อย่างไร สำหรับรายงานผลการตรวจสอบฯ จะแล้วเสร็จเมื่อใดนั้นทาง กสม. จะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: ทวิภพ History Management

Posted: 14 Jul 2011 02:57 AM PDT

ปลายเดือนที่แล้วไปเดทกับกิ๊กมาค่ะ กิ๊กที่ว่าเป็นหนุ่มนักแสดงรูปหล่อ ที่ไม่อาจเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามหรือเปิดตัว (ดิฉัน) กับนักข่าวได้ (ดิฉันก็เปิดตัวไม่ได้ค่ะ เดี๋ยวแฟนจะแหกอกเอา) แทนที่จะหนีไปสวีตที่หัวหิน (ไปไกลไม่ได้ค่ะ เขามีถ่ายละครอยู่) หรืออย่างน้อยก็ดินเนอร์เก๋ๆ ค่อยไปต่อกันที่คอนโด แต่เขากลับพาดิฉันไปออกงานไฮโซ รอบกาล่าของละครเวทีฟอร์มยักษ์ของคุณหนูบอย—ถกลเกียรติ วีรวรรณ เรื่อง ‘ทวิภพ’ ที่ได้หนุ่มหล่อ โดม-ปกรณ์ ลัม (คนนี้หล่อจริง อยากด้ายยย...) กับนัท มีเรีย มาแสดงเป็นคุณหลวง อัครเทพวรากร กับแม่มณี หรือมณีจันทร์ หรือ เมณี่

(ดิฉันว่าคุณหลวงเวอร์ชั่นนี้ต้องเป็นการตีความใหม่แน่ๆ คืออาจจะได้เป็นคุณหลวงเพราะต้นตระกูลเป็นเจ๊กเป็นจีนแล้วร่ำรวย ค้าขายจนได้เข้ามาทำงานให้กับกษัตริย์ในสมัยนั้น อย่างพวกเจ๊กจีนนามสกุลพระราชทานทั้งหลาย ที่ได้ยศได้ศักดิ์ในภายหลัง หน้าตาของคุณหลวงอัครเทพวรากร จึงได้หล่อขาวจั๊วเป็นเจ๊กเป็นจีนเป็นเวียดนามขนาดนี้ ถือว่าเป็นอะไรที่ ‘ใหม่’ มากๆ กับการตีความรูปร่างหน้าตา ชาติพันธุ์ของคำว่า ‘ไทย’ แบบใหม่ ส่วนนางเอกยังคงคอนเซ็ปต์ลูกครึ่งไว้เหมือนเดิม เหมือนคนที่จะพูดภาษาอังกฤษได้อย่างไรก็ต้องเอาหน้ามาเป็นประกันไว้ก่อน—นี่ไม่ได้หลงในจินตนาการชาติ หรือความเป็นไทย แบบว่าคนหน้าไทยต้องคมเข้มนะคะ คือเอาเวอร์ชั่นหนัง ที่เอก - รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง แสดงนะคะ ส่วนเวอร์ชั่นสิเรียม-ศรัณยู ดิฉันเกิดไม่ทันค่ะ)

ประชาไทบันเทิง: ทวิภพ History Management

วันนั้นมีใครมาเป็นคู่บ้าง ไม่ขอเล่าไปเปิดดูข่าวกอสซิปเอาเอง (เพราะดิฉันก็เหมือนไปคนเดียว เดินเข้ารัชดาลัยเธียร์เตอร์คนเดียว พอไฟปิด ผู้ชายถึงเดินมานั่งที่นั่งข้างๆ ประหนึ่งว่าไม่ได้มาด้วยกัน—เป็นกิ๊กดาราดังแสนจะเซ็งค่ะ) เอาเป็นว่าพอไฟปิดปุ๊บ ผู้ชายเดินมานั่งข้างๆ ปั๊บ ดิฉันก็...ถูกดูด!!! อะแฮ่ม...ดูดเข้าสู่เรื่องราวของละครเวทีเรื่องนี้ทันทีเลยค่ะ

เรื่องราวของ ‘ทวิภพ’ เป็นอย่างไร คาดว่าทุกคนคงพอรู้ดี ทั้งคอนวนิยาย (โดยทมยันตี) คอละคร (เวอร์ชั่นสุดฮิตอย่างสิเรียม ศรัณยู) หรือหนังที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง (เอกกับฟลอเรนซ์) คาดว่าที่คุณหนูบอยหยิบจับละครเรื่องนี้กลับมาทำใหม่ในช่วงเวลาที่ไทยกับกัมพูชามีข้อพิพาทกันเรื่องพื้นที่ทับซ้อนนั้น คงไม่เป็นการบังเอิญแน่ๆ เพราะตอนนี้หลากหลายคนก็เริ่มเรียกร้องให้ประเทศไทยมี ‘เมณี่’ มาช่วยแก้ปัญหาไม่ให้ไทยเสียดินแดนแก่กัมพูชา เหมือนที่เธอช่วยหลวงอัครเทพวรากรกอบกู้สถานการณ์ของสยามไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในยุครัชกาลที่ 5 นั้น (ซึ่งในแบบเรียนสังคมศึกษากล่าวว่าเป็นเพราะพระปรีชาของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงใช้ ‘ทริก’ ทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในการช่วยให้สยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง)

เอ๊ะ! หรือว่าเราจะต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้หญิงเพื่อเป็นการแก้เคล็ดแก้กรรม !

ความนัยของนวนิยายเรื่อง ‘ทวิภพ’ ที่ประพันธ์โดยทมยันตีนั้น หากดิฉันทราบปีที่ตีพิมพ์ หรือถูกเขียนขึ้นคงจะพอจะสามารถเทียบเคียงบริบททางสังคม การเมืองได้ (หาในอินเทอร์เน็ตแล้วไม่ยักกะมี คงต้องไปหาธีสิส แต่ก็ไม่มีเวลาไปห้องสมุดเลย—แก้ตัวน้ำขุ่นๆ มาก! กราบขออภัยมา ณ ที่นี่ ด้วยค่ะ) แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อเรื่องก็คงไม่แคล้วประเด็นเรื่องสิทธิสตรี ชาตินิยม (งมงาย) หรืออาจจะเป็นการสั่งสอนพวกลูกครึ่งแม่เป็นกะหรี่พ่อเป็นจีไอที่เกิดมาเกลื่อนเมือง (ไม่ได้มีนัยในการดูถูกการกำเนิดนะคะ) และเป็นเทรนด์ของดาราในยุคนั้นให้หันมารักชาติ รักความเป็นไทย เลิกกระแดะพูดไทยคำอังกฤษคำได้แล้ว ถ้าจะใช้ภาษาอังกฤษกรุณาใช้ในทางที่ให้ชาติพ้นจากการเป็นอาณานิคมด้วย ไม่ใช่เพื่อให้ชาติตกเป็นอาณานิคมทางภาษาหรือทางชาติพันธุ์ลูกผสมแบบนี้!

หากใครอยากอ่านประเด็นนี้ต่อตามอ่านได้ที่ ‘การศึกษาแนวคิดสตรีนิยมในนวนิยาย ของทมยันตีระหว่างพุทธศักราช 2506-2534’ วิทยานิพนธ์ของ ภัทรพร หงษ์ทอง ค่ะ

ส่วนสำหรับดิฉัน ในขณะที่กำลังเคลิบเคลิ้มกับใบหน้าหล่อๆ ของพี่โดมก็พลันต้องหงุดหงิดเมื่อพี่โดม หรือคุณหลวงอัครเทพวรากร ที่กล่าวกับแม่เมณี่ว่า ‘เป็นผู้หญิงอย่ามายุ่งกับเรื่องการเมือง’ โอ๊ยยย...ฟังแล้วเลือดเฟมินิสต์มันพรุ่งปรี๊ด ยิ่งกว่าตบว้อดก้าไปหลายช็อตเสียอีก หรือบางทีก็อาจเป็นวิญญาณทมยันตีที่เข้าสิง (เอ๊ะ! แต่ป้าแกยังไม่ตายนี่หว่า) ที่โกรธไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นการดูถูกกีดกันผู้หญิงหรอกค่ะ เพราะไม่ว่าจะสมัย ร.5 หรือปัจจุบันเรื่องอย่างนี้ก็ยังมีอยู่ แต่โกรธที่ทำไมทมยันตีถึงชอบเขียนให้ตัวละครผู้ชายดูโง่ๆ อยู่เรื่อยเลย (พี่โดมของดิฉันเลยดูโง่ไปเลย ก็แหงล่ะ ทมยันตีแปลว่า ‘นางผู้ทรมานชาย’ นี่) ที่โง่ไม่ใช่เพราะพูดคำโง่ๆ แบบนั้นออกมา แหมมม..เราก็พอจะเข้าใจได้ว่าอย่าเอาบริบททางสังคมปัจจุบันไปตัดสินอดีต แต่ที่โง่นั้นก็เป็นเพราะ เหมือนหลวงอัครเทพวรากรจะไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือ (ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า เขาอาจจะเป็นลูกเจ๊กลูกจีนคนรวยที่ได้รับนามสกุลพระราชทาน ได้ทำงานเป็นขุนน้ำขุนนางเพราะเงินทอง และต้นตระกูล) เพราะก่อนหน้านี้สยามนั้นมีวีรสตรีอย่างท้าวสุรนารี หรือย่าโม ในช่วงสมัยธนบุรี และท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร หรือท่านผู้หญิงจันกับคุณมุกในช่วงต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์

แล้วผู้หญิงจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้อย่างไร!

เอ๊ะ! หรือว่าการจับดาบขึ้นมาต่อสู้กับข้าศึก ไม่นับรวมเป็นการเมือง หรือว่าเอ๊ะ! หลวงอัครเทพวรากรจะไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือ หรือฟังตำนงตำนานเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ากว่าสยามจะอยู่รอดมาเป็นไทยโดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของผู้ใดนั้น มีใครต้องสละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลีได้ หรือว่าในรั้วในวังไม่มีใครพูดเรื่องนี้ หรือว่าเรื่องนี้ไม่ถูกบรรจุอยู่ในการเรียนการสอนในช่วง ร.5 ไม่มีบันทึก ไม่มีการจดจาร เอ๊ะ! หรือว่า ‘ไม่มีจริง’ !!!

พี่โดม หรือหลวงอัครเทพวรากร อาจไม่ได้โง่ เพราะเขาก็เป็นแค่ ‘ตัวละคร’ หนึ่งของทมยันตี ซึ่งทมยันตีก็นั่ง (เทียน) เขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาในช่วงไม่เกิน 30-40 ปี รัชกาลที่ 9 นี่เอง ไม่ได้อยู่ในสมัย ร.5 แต่อย่างใด การที่เธอใส่ ‘ประโยค’ นั้นเข้าไป ก็อาจเป็นการวางพล็อตแบบเฟมินิสต์ หรือเหตุเรื่องชาตินิยมงมงายอย่างที่เรารู้กันว่าเธอเป็นนักเขียนฝ่ายขวาเจ้านิยมสุดขั้วขนาดไหน (ไปถามสุชาติ สวัสดิ์ศรีเอาเอง หรือจะไปอ่านนิตยสารโลกหนังสือเล่มเก่าๆ ก็ได้!) การเขียนนวนิยายก็เหมือนกับการเขียนประวัติศาสตร์(ก็เพราะเป็นเรื่องแต่งเหมือนกัน!) ซึ่งจะสร้างความทรงจำใหม่ๆ (รวมถึงอุดมการณ์ใหม่ๆ) ให้แก่เหตุการณ์ในอดีต ด้วยอุดมการณ์แบบหนึ่ง ผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง

ซึ่งถ้าดิฉันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมดิฉันจะสั่งแบนนวนิบายเล่มนี้ ละครเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้ ละครเวทีเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นภัยต่อความั่นคงของประวัติศาสตร์ชาติ เพราะเด็กรุ่นใหม่ (ที่อ่านหนังสือน้อยลงตามผลการวิจัยล่าสุด) อาจจะคิดไปว่าที่ไทยไม่ต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสนั้นเป็นเพราะแม่มณีมาช่วยไว้ หาใช่พระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 5 แต่อย่างใด นี่ถือเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์นะคะ แม้จะเป็นนวนิยาย หรือละคร หรือละครเวที อย่าลืมว่าที่ ‘ดอกส้มสีทอง’ ยังกลัวการเลียนแบบ การจดจำ การที่เด็กแยกไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนการแสดง ทีอย่างนี้ไม่เห็นว่าอะไร!

ประวัติศาสตร์ถูกจัดการด้วยปัจจุบัน (และต่อเนื่องไปยังอนาคต) ใครบอกว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะไม่เปลี่ยน (พี่ติ๊นาไงล่ะ) ไม่จริงหรอกค่ะ ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำ แต่ประวัติศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงเสมอ เปลี่ยนทั้งในแง่การค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ข้อโต้แย้งใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ที่ควบคุมการเขียน การจัดการประวัติศาสตร์ ว่าต้องการจะให้เรามองย้อนไปยังอดีตด้วยแว่นตาอุดมการณ์กรอบใด

กรณีคำถามที่ว่าคุณหลวงอัครเทพวรากรไม่มีการศึกษา หรือไม่มีการจดจาร เล่าต่อกันมาถึงเหตุการณ์ที่ผู้หญิงสามคนนั้นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเรื่องการเสียดินแดนของไทย (ซึ่งในวิกิพีเดีย อ้างอิงว่า ‘แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีเรื่องเล่าถึงวีรกรรมของท้าวสุรนารีอย่างแพร่หลายแล้ว’ ก็หมายความว่าคุณหลวงเองนั่นแหละ ไม่มีการศึกษา ไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์ ขี้หลงขี้ลืม ดูถูกผู้หญิง ฯลฯ ซึ่งจะโทษคุณหลวงก็ไมได้ ต้องโทษทมยันตีที่ใจร้ายกับตัวละครชายเหลือเกิน) หรือคุณหลวงลืมไป หรือเหตุการณ์นั้นไม่มีจริง จนมาถึงคำถามที่ว่าประวัติศาสตร์อาจเปลี่ยนเพื่อพบกับข้อมูล หรือข้อโต้แย้งใหม่ๆ นั้น ล้วนแต่ต้องสยบยอมกับ ‘อุดมการณ์ของรัฐ’ (ซึ่งอาจจะไม่มีตัวตนที่จับต้องได้จริง) อย่างเช่นในกรณีของวิทยานิพนธ์ เรื่อง "ภาพลักษณ์ท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์ไทย" โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ ที่ก็ยังพ่ายแพ้แก่อุดมการณ์รัฐชาตินิยมนี้ (ความหมายของการสร้างเรื่องและอนุสาวรีย์ย่าโมก็เพื่อรองรับอุดมการณ์นี้ไม่ใช่หรือ) ซึ่งนี่ก็เป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมเรื่องอย่างนี้กระทรวงวัฒนธรรมไม่เห็นจะ ‘แบน’ เลย เพราะแม้ดิฉันจะเถียงข้างๆ คูๆ ว่าอาจจะทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบี้ยว เด็กจำสับสน แต่สุดท้ายอุดมการณ์ของเรื่องก็ยังรองรับอุดมการณ์ใหญ่ของรัฐชาติเช่นเดิม

สิ่งที่ดิฉันสนใจนอกจากพี่โดมและการจัดการกับประวัติศาสตร์แล้ว ยังรวมถึงประเด็น ‘ความเป็นประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์’ อีกด้วย แม้หลายคนจะปลาบปลื้มกับการที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยเสียที หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานจากการรัฐประหารและ Coup Effect เรื่อยมา แต่อย่าลืมว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ได้หมายความเพียงแค่การมีการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย แต่ยังหมายถึงประชาธิปไตยในด้านอื่นๆ อย่างเช่น การที่เราสามารถโต้แย้งอุดมการณ์ใหญ่ๆ ที่ปกครองรัฐชาติแห่งนี้ได้ด้วย ไม่เพียงแค่โต้แย้ง แต่ยังรวมถึงการมีโอกาสได้แสดงออกโดยไม่ถูก ‘แบน’ ไม่ถูกขู่ฆ่า ขู่ว่าเป็นกบฏ ไม่รักชาติ ไม่ใช่คนไทย ฯลฯ ประชาธิปไตยควรจะเกิดนอกจากคูหาเลือกตั้งด้วย

และเราก็อย่าทำตัวสาระแนเป็นแม่มณี หรือทมยันตีกันบ่อยๆ ที่ชอบไปเสือกไปทึกทักเอาเองว่า ‘ประวัติศาสตร์’ มัน(ต้อง) เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นปัจจุบันและอนาคตมันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ เขาพระวิหารต้องเป็นของเรา! ไทยอย่าเสียดินแดนให้แก่เขมรเด็ดขาด!

แต่ไม่ว่าบทประพันธ์เรื่องนี้จะหวานเลี่ยนไปด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมงมงายจนชวนจะอ้วกขนาดไหน พี่โดมจะยังร้องมิวสิคัลเป็นเพลงป๊อปร็อกอยู่เหมือนเดิม แอ็คติ้งก็ยังแข็ง ตอนร้องก็ทำประหนึ่งเล่นมิวสิควิดีโอป๊อปร็อกอยู่เหมือนเดิม ไม่แม่นในจังหวะ อารมณ์ การร้อง จนหม่อมน้อยที่นั่งอยู่ข้างๆ ดิฉันอดรนทนไม่ได้ต้องออกปากปรึกษากับรัดเกล้า อามระดิษ ว่าต้องรีบหาคิวพี่โดมมาติวเรื่องแอ็คติ้งโดยด่วน! และแม้นัท มีเรีย จะเสียงแหลมจนน่ารำคาญ ปวดหู และกิ๊กหนุ่มนักแสดงคนนั้นจะไปกิ๊กกับคนใหม่แล้ว

โดม ปกรณ์ ลัม ก็ยังหล่อ ล้อ...หล่อ หล่อมากๆ หล่อสาดดด...หล่อ here here หล่อไม่รู้จะหาคำจากราชบัณฑิตคำไหนมาอธิบายได้แล้ว และไม่ว่าประวัติศาสตร์ในอดีตของโดม ปกรณ์ ลัม จะมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ปัจจุบันและอนาคตจะจัดการประวัติศาสตร์ในอดีตของเขาใหม่ ให้เราจดจำในแบบใหม่อะไร ยังไง ความหล่อของเขาก็อยู่เหนืออุดมการณ์ทั้งปวง!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ผู้ว่าฯ ระยองเรียกประชุม เหตุชาวบ้านค้านตั้งนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย

Posted: 14 Jul 2011 01:26 AM PDT

 

 

เมื่อวันที่ 11 ก.ค.54 ที่ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้เชิญผู้แทนประชาชนในพื้นที่อำเภอบ้านค่ายและหัวหน้าส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันรับฟังและติดตามปัญหาการคัดค้านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ซึ่งมีข้อร้องเรียนว่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอาศัยช่องว่างที่กฎหมายผังเมืองรวมจังหวัดระยองที่ยังไม่ประกาศใช้ ดำเนินการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ท่ามกล่างเสียงร้องคัดค้านของประชาชนในพื้นที่

รายงานข่าวแจ้งว่า ชาวบ้านค่อนข้างพอใจกับการดำเนินการครั้งนี้ของผู้ว่าฯ เพราะนับเป็นนิมิตรหมายอันดีที่หน่วยราชการให้ความใส่ใจต่อเสียงของประชาชน พร้อมกันนี้ได้ออกแถลงการณ์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อยืนยันให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว

 

รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

 

 

แถลงการณ์กลุ่มคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด

เรื่อง ยกเลิกการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย)

โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

 

ด้วยวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 จังหวัดระยอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้จัดให้มีการประชุม ในเรื่องการประกาศคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง การจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในท้องที่ตำบลหนองบัวและตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 61 ง ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2554 นั้น

 

พวกเรากลุ่มคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด ก็ยังคงยืนยันในหลักการว่าการดำเนินการของโครงการ ไม่ถูกต้อง ในหลายประเด็น ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1. การประกาศพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ฉบับนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง ซึ่งร่างผังเมืองฉบับนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผ่านกระบวนการตามกฎหมายที่เป็นสาธารณะ เป็นสัญญาประชาคม และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

 

ประเด็นที่ 2. คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีมติเห็นชอบข้อเสนอต่อการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่เกี่ยวข้องฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำผังเมืองในพื้นที่อำเภอบ้านค่ายและอำเภอวังจันทร์ เพื่อควบคุมมิให้มีการพัฒนาใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

ประเด็นที่ 3. ความไม่เหมาะสมของสถานที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในจังหวัดระยอง

 

ประเด็นที่ 4. ความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ในการดำเนินการไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงจัง ดำเนินการเพียงให้มีจำนวนคนเข้าร่วมประชุมเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันที่ 22 เมษายน 2554 ที่มีการจัดประชุมทบทวน (ร่าง) รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ อบต. บางบุตร แต่มีการลงนามในประกาศนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) เมื่อ วันที่ 20 เมษายน 2554 นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าการทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้ครบองค์ประกอบ เท่านั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่

 

ประเด็นที่ 5. เสียงคัดค้านและข้อวิตกกังวลจากประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความสนใจ

 

เห็นได้ชัดเจนว่า เรากลุ่มคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด เมื่อเราได้ทราบว่าจะมีการดำเนินการประกาศพื้นที่ในบ้านเกิดของเราเป็นนิคมอุตสาหกรรม เราก็ได้พยายามแสดงความประสงค์ว่าเราไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรมในบ้านเกิดของเรา ซึ่งเราจะขอเรียนให้ท่านได้ทราบอีกครั้ง คือ ในวันที่ 22 เมษายน 2554 ในขณะที่มีการจัดประชุมทบทวนร่างรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ อบต.บางบุตร พวกเราประชาชนได้ร่วมแสดงพลังลงชื่อคัดค้าน และแสดงข้อกังวลต่อการที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมในบ้านเกิดของเรา มากกว่า 1,400 รายชื่อ และหลังจากนั้น ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 กลุ่มคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด ได้ยื่นหนังสือต่อท่าน พร้อมรายชื่อประชาชนแล้วนั้น ในที่สุดในวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการประกาศพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ในพื้นที่บ้านเกิดเราจนได้

 

ดังนั้น เรากลุ่มคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด จึงขอให้ยกเลิกการประกาศคณะกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง การจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะสนับสนุนและเห็นด้วยกับประชาชนชาวบ้านค่ายในการเรียกร้องครั้งนี้ เพื่อช่วยกันปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัยของประชาชนชาวบ้านค่ายของเราไว้ให้ลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต

 

(นายเศรษฐา ปิตุเตชะ)

ประธานกลุ่มคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด

 

ที่มา: TCIJ: ผู้ว่าฯ ระยองเรียกประชุม เหตุชาวบ้านค้านตั้งนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น