ประชาไท | Prachatai3.info |
- อเล็กซานเดอร์ โกร์บิง
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10 – 16 ก.ค. 2554
- นาวาอากาศตรีขึ้นศาลนัดแรก ข้อหาโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายหมิ่นฯ
- เสวนา 'ความจริงในม่านฝุ่น': การพัฒนาทางเลือกกระแสหลัก
- นักวิชาการนิด้าชี้ ขึ้นค่าจ้าง 300 เหมาะสม
- อย่ายัดเยียดคนดี
- ชาวไทย-พม่าที่สมุทรสาครร่วมทำบุญวันเข้าพรรษา
Posted: 16 Jul 2011 05:56 AM PDT |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10 – 16 ก.ค. 2554 Posted: 16 Jul 2011 05:35 AM PDT กก.ค่าจ้างฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 ทั่วประเทศ 11 ก.ค. 54 - คณะค่าจ้างฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเอกชนปรับตัวไม่ทัน แต่ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูเก็ตก่อน ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ไม่เห็นด้วยหากจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากภาคเอกชนไม่สามารถปรับตัวทัน และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันยังผันผวนสูง แต่หากรัฐต้องการปรับแบบก้าวกระโดด ก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่มากกว่าด้านภาษีนิติบุคคล (สำนักข่าวไทย, 11-7-2554) นักวิชาการ เสนอรัฐบาลใหม่ปรับค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนภาคการผลิต นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และปรับเงินเดือนระดับปริญญาตรี 15,000 บาท จะกระทบต่อต้นทุนภาคแรงงานร้อยละ 28 ทำให้ต้นทุนการผลิตรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88 รัฐบาลจึงควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว และทยอยปรับจากกลุ่มแรงงานที่มีศักยภาพในการผลิต เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ อาหาร หรือปรับขึ้นตามรายภูมิภาค และควรระวังการใช้จ่ายงบประมาณที่ทำผ่านโครงการประชานิยม เพราะจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและสร้างหนี้ประเทศโดยรวม ขณะเดียวกัน ควรเร่งการใช้กรอบการค้าเสรีอาเซียน ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการส่งออก โดยผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทย ไปลงทุนในกลุ่มอาเซียนให้มากขึ้น (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 11-7-2554) ก.แรงงานสรุป 30 จังหวัดมีมติปรับขึ้นค่าจ้าง นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากอนุกรรมการกลางค่าจ้างแต่ละจังหวัดโดย 30 จังหวัด มีมติให้ปรับขึ้น โดยมีมติ 2 ใน 3 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย 5 จังหวัด มีมติให้ปรับขึ้น แต่เสียงมติมีไม่ถึง 2 ใน 3 ในขณะที่อีก 40 จังหวัด มีมติให้ปรับขึ้นในเดือน มกราคม 2555 เหลือเพียงจากอนุกรรมการค่าจ้างของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐมนตรีคนใหม่ก่อน อย่างไรก็ตามในส่วนของการปรับค่าจ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามมติเดิมให้ปรับขึ้นอีก 7 บาท คณะกรรมการฯได้มอบหมายให้กลับไปทบทวนความเหมาะสม และนำกลับเข้ามาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากมาตรการดังกล่าว กระทบต้นทุนค่อนข้างมาก แต่หากมีการปรับขึ้นจริง ต้องมีการพิจารณาจากดัชนีค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ส่วนมาตรการลดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ในส่วนที่ได้ประโยชน์จะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอยู่ร้อยละ 20 แต่ผู้ประกอบการรายย่อยอีกร้อยละ 80 จะเสียประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เป็นจำนวนมาก (ไอเอ็นเอ็น, 11-7-2554) ส.อ.ท. เสนอ ออกคูปองชดเชยให้เอกชน นโยบายขั้นต่ำ 300 บาท นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล ควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ ด้วยการออกคูปองชดเชยให้ผู้ประกอบการ ในสัดส่วนร้อยละ 70 - 80 ของภาระค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งคูปองดังกล่าว จะสามารถนำไปใช้แทนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับภาครัฐ อาทิ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เงินจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม และหากไม่มีมาตรการใดออกมารองรับ อาจจะทำให้ผู้ประกอบการ หรือ SME ที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านราย ทั่วประเทศ ต้องปิดกิจการลงกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจาก ไม่มีทุนที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าได้ (ไอเอ็นเอ็น, 12-7-2554) ยันเดินหน้าขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายคณวัฒน์ วศินสังวร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยในฐานะทีมยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) คัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ว่า พรรคเพื่อยังยืนยันที่จะเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันต่อไปแต่วิธีการต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควรเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ ประกอบการมากนัก ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือ 23 เปอร์เซ็นต์ ในปี 55 และปี 56 เหลือที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคงนำร่องในพื้นที่ๆ ตัวเลขค่าแรงใกล้เคียงกับ 300 บาทตัวอยู่แล้ว เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น เมื่อถามถึงกรณีที่มีความเป็นห่วงว่า จะการปรับขึ้นค่าจ้างจะกระทบเศรษฐกิจภาครวมซึ่งควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไก ตลาด นายคณวัฒน์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของนโยบายดังกล่าวเริ่มต้นจากที่การมองปัญหาความเดือดร้อนจากค่า ครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเงิน 300 บาททุกวันนี้แทบไม่พอใช้ โดยที่ผ่านมาเวลาที่บริษัทมีผลประกอบการดีก็แทบจะไม่มีการขึ้นค่าจ้างให้แรง งาน และ 10 ปีที่ผ่านมาย้อนไปดูได้เลยว่าการขึ้นค่าแรงกับอัตราเงินเฟ้อไม่เคยสอดคล้อง กัน ทั้งนี้การจะออกนโยบายใดๆ ตามหลักแล้วเราต้องช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนที่สุดก่อนเพื่อไม่ให้คนเหล่า นั้นถูกเอาเปรียบและนี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล สิ่งนี้คือหลักคิดของเรา ดังนั้นอันดับแรกต้องดูที่หลักคิดว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องก็ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา ส่วน ส.อ.ท.ก็คงต้องมาคุยกัน อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทและการปรับเพิ่มเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่ที่เป็นพนักงานของรัฐให้ เป็น 1.5 หมื่นบาท นี่คือการลงทุนคือการเอาเงินใส่กระเป๋าให้ประชาชนเพื่อเพิ่มกำลังซื้อซึ่งจะ เกิดเงินหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น (เดลินิวส์, 13-7-2554) เผยไร้การเมืองแทรกบอร์ดค่าจ้าง เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)ค่าจ้างกลาง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) คัดค้านนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทยว่า จะนำความเห็นในส่วนนี้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้บอร์ดค่าจ้างกลางอยู่ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างต้องใช้ความละเอียดและรอบคอบ ทั้งนี้ยืนยันว่าการทำงานของบอร์ดค่าจ้างกลางในระบบไตรภาคีมีความเป็นอิสระ โดยที่ฝ่ายการเมืองไม่สามารถมากดดันหรือสั่งการใดๆได้ และการทำงานตั้งแต่ตนมาเป็นประธานบอร์ดไม่มีข้อขัดแย้งในการทำงานและการ พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องจบลงที่บอร์ดซึ่งมีกฎหมายรองรับ ซึ่งกรณีเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททางฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้เข้ามาสั่งการหรือกดดันใดๆ (เดลินิวส์, 13-7-2554) กรมสวัสดิการแรงงานชี้ ผลดีขึ้นค่าแรง 300 บ. นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน และผลดีผลเสีย โดยในส่วนของผลดี เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า แรงงานในระบบที่เป็นผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ เนื่องจากจูงใจให้ผู้ใช้แรงงานที่อยู่นอกระบบ เช่น ในภาคเกษตร กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ในขณะที่การจ้างงานต่างด้าวลดลง สำหรับผลเสีย อาจทำให้ผู้ประกอบการย้านฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่า แต่ยังเชื่อว่า จะคงเหลือผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ โดยจากการประเมินเบื้องต้น สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เป็นสถานประกอบการที่ใช้จำนวนแรงงานมาก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร โรงแรม และบริการ ซึ่งมีแรงงานรวมแล้วกว่า 4 ล้านคน (ไอเอ็นเอ็น, 13-7-2554) ปลัดแรงงานเผยยานยนต์ขาดแรงงานกว่า 1.6 แสนคน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาทิศทางการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมยาน ยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ว่า ปัจุบันกลุ่มยานยนต์ขาดแคลนแรงงานกว่า 1.6 แสนคน คาดว่าอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มอีกหลายแสนคน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี ควบคู่กับการพัฒนาทักษะให้มากขึ้น และมองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ได้รับผลกระทบกับการปรับค่าจ้างหากมีฝีมือ ซึ่งในส่วนกลุ่มจบใหม่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะส่งเสริมให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ส่วนการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง จะพิจารณาจากสภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพและกำลังจ่ายของผู้ประกอบการ ส่วนนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ต้องรอดูมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งข้อมูลและข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบการพิจารณาส่วนแนวคิดปรับใน 3 พื้นที่ก่อน ล่าสุดภาคเอกชนบางส่วนขานรับนโยบายเป็นพื้นที่นำร่องแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จะได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ด้านนายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ส่วนกลุ่มจบใหม่ เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งปัจจุบันแรงงาน 1 คน สามารถผลิตรถยนต์ได้ 3.5 คันต่อวัน แต่ในปี 2555 ต้องพัฒนาให้ได้4 คันต่อวัน พร้อมยืนยันค่าจ้างแรงงานกลุ่มยานยนต์ สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและมีการปรับร้อยละ 5-6 ทุกปี (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 14-7-2554) สมานฉันท์แรงงานฯ เตรียมบุกเพื่อไทย 18 ก.ค. ทวงค่าจ้างวันละ 300 บาท นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์(คสรท.) กล่าวว่า ในวันที่ 18 ก.ค. ทางคสรท.จะเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อเพื่อทวงถามนโยบายหาเสียงที่เคยประกาศไว้ โดยเฉพาะนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ300 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีแรกเข้า 1.5หมื่นบาท และในวันที่ 25กรกฎาคมนี้ ก็จะมีการเสวนา เพื่อติดตามนโยบายหาเสียงของรัฐบาลที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชาลี กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำ 300 บาทส่งผลให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้นอย่างแน่นอนเพราะปัจจุบันค่าครองชีพ ต่างๆมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งค่าแรงในกทม.ในขณะนี้215บาทมันไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ อยากให้รัฐบาลเร่งปรับค่าจ้างโดยเร็วทั้งนี้ คสรท.มีจุดยืนว่าค่าจ้างที่เป็นธรรมโดยแรงงานสามารถเลี้ยงครอบครัวพ่อแม่ลูก ได้ ต้องอยู่ที่ 421 บาทก็คงต้องเป็นขั้นตอนต่อไป แต่ตอนนี้ขอให้ได้ 300 บาทมาก่อนตามที่หาเสียงไว้ ส่วนกรณี ส.อ.ท.ออกมาคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้าง 300บาท นายชาลี มองว่าทำไมทางส.อ.ท.ถึงออกมาคัดค้าน ทำไมไม่ลองขึ้นค่าจ้างดูก่อนถ้าเกิดผลกระทบก็ค่อยออกมาพูด เพราะความจริงการปรับขึ้นไป300บาทมันไม่ได้ส่งผลกระทบเรื่องต้นทุนการผลิต มากนักหรือถ้าจะกระทบจริงๆก็แค่ขาดทุนกำไร ไม่ได้ขาดทุนจนธุรกิจเจ๊งและก็คงไม่ส่งผลกระทบถึงการเลิกจ้างครั้งใหญ่อย่าง ที่คาดการณ์กันไว้ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่ารัฐบาลควรต้องหามาตรการออกรองรับ สำหรับการทำงานของคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้างกลางนั้น นายชาลี มองว่าหากรัฐบาลมีนโยบายที่ขึ้นค่าจ้างจริงๆบอร์ดก็ต้องรับลูกมาพิจารณาให้ ได้ตามนโยบายของรัฐบาลแน่นอนอย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการทำงานของบอร์ดค่าจ้าง ในทุกยุคทุกสมัยมักจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆที่มีส่วนได้เสียเพราะก่อนที่จะ เคาะเป็นตัวเลขสุดท้ายออกมาจะต้องมีการเจรจาไกล่เกลี่ยต่อรองกัน ต่างฝ่ายต่างเสนอตัวของตัวเองซึ่งฝ่ายภาครัฐจะต้องเข้าไกล่เกลี่ยเป็นตัว กลางทำให้การพิจารณาค่าจ้างไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่แท้จริง นายนคร สุทธิประวัติ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทยและอดีตบอร์ดค่า จ้างกลาง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า แม้จะขึ้นค่าจ้างไปถึง300บาท ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบันมันแค่พอประทังชีวิตไปได้บ้าง แต่มันไม่ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างของบอร์ดในแต่ละจังหวัดมันมีสูตรตาย ตัวอยู่แล้วซึ่งจะต้องดูผลกระทบให้รอบด้านต่างๆในทางกลับกันลูกจ้างก็ต้อง เข้าใจหัวอกของนายจ้างด้วย ถ้าจะขึ้นทีเดียว300บาท มันอาจจะทำให้นายจ้างอยู่ไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่อลูกจ้างตามมา (กรุงเทพธุรกิจ, 14-7-2554) 'โลตัส'ไม่หวั่นปรับขึ้นค่าแรง กรุงเทพฯ : นายเคิร์ท แคมป์ ประธานกรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารห้างเทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า จากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลชุดใหม่เพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน จะไม่ส่งผลกระทบกับการจ้างงานของบริษัท ส่วนหนึ่งมาจากได้กำหนดค่าแรงงานต่อวันเริ่มต้นที่มากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาในจังหวัดนั้นๆ สำหรับการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค จะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น หากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากครึ่งปีหลังผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มมาก ขึ้น จึงส่งผลต่อการซื้อของผู้บริโภค อีกทั้งบริษัทได้จัดกิจกรรมลดราคาสินค้า หรือเทสโก้ โรลแบ็ค เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันกว่า 400 รายการ อาทิ เนื้อสัตว์ ข้าวถุง น้ำมันปาล์ม โดยใช้งบจัดกิจกรรมลดราคากลุ่มสินค้าดังกล่าว 225 ล้านบาท หรือการลดราคาสินค้าแต่ละกลุ่มโดยเฉลี่ยกลุ่มละ 9% ส่วนมาตรการตรึงราคาสินค้าในกลุ่ม อุปโภคบริโภค ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอร้องให้มีการตรึงราคาไว้ 3 เดือน ซึ่งหมดลงแล้วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันได้มีการปรับราคาแล้วบางกลุ่มคาดว่าไม่น่าจะเกิดจากปัญหาต้นทุนของ ผู้ประกอบการ แต่น่าจะเกิดจากฤดูกาลขายสินค้ามากกว่า (โลกวันนี้, 14-7-2554) บิ๊กรง.ยาสูบเมินเสียงค้านสหภาพ เดินหน้าสร้างโรงงานใหม่-ซื้อเครื่องจักร 6 พันล้าน นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ประธานกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โรงงานยาสูบยังจะเดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ต่อไป แม้จะถูกร้องเรียนและคัดค้านจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ล่าสุดได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แจ้งมาแล้วว่า อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาการร้องเรียนการก่อสร้าง พร้อมระบุด้วยว่าหากโรงงานยาสูบจะดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินแปลงที่มีการ กล่าวหาก็เป็นดุลพินิจของโรงงานยาสูบที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และกฎระเบียบที่วางไว้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบรับทราบคำชี้แจงจาก ป.ป.ช. และให้เร่งรัดดำเนินการตามแผนต่อไป ก่อนหน้านี้ นายวินนนท์ แสงมาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ได้เคลื่อนไหวคัดค้านการลงทุนก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่บนที่ดินในสวน อุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วงเงิน 582 ล้านบาท โดยเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารโรงงาน ยาสูบยกเลิกการจัดซื้อที่ดิน โดยระบุว่ามีเรื่องไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อ เนื่องจากโรงงานยาสูบดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อกำหนดทีโออาร์ และมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ซึ่งได้ทำหนังสือร้องเรียนให้กรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและ เสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภาตรวจสอบแล้ว ขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินการอยู่ที่ ป.ป.ช. นอกจากนี้ยังคัดค้านการลงนามเซ็น สัญญาก่อสร้างกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลก่อสร้างโครงการดังกล่าว วงเงิน 4.94 พันล้านบาท พร้อมกับทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการโรงงานยาสูบ ให้ชะลอการลงทุนก่อสร้างโครงการนี้ และขอให้ชะลอการจัดซื้อเครื่องจักรที่จะใช้ติดตั้งในโรงงานแห่งใหม่ วงเงินงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาท โดยระบุในหนังสือร้องเรียนว่าจะทำให้โรงงานยาสูบได้รับความเสียหาย เนื่องจากมีผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวจากที่เสนอตัวทั้ง หมด 3 ราย ส่งผลให้ไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น
ผลสำรวจ ส.อ.ท.ค่าจ้างขั้นต่ำ ยอมรับได้ไม่เกิน 230 บาท/วัน ส.อ.ท.ได้สำรวจผลกระทบจากนโยบายดัง กล่าวกับสมาชิก 513 ราย ครอบคลุม 40 กลุ่มอุตสาหกรรม แยกเป็นกลุ่มขนาดย่อม 32.6% มีจำนวนแรงงาน 1-49 คน, ขนาดกลาง 36.1% มีจำนวนแรงงานตั้งแต่ 50-199 คน และขนาดใหญ่ 31.4% มีจำนวนแรงงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป แบ่งเป็นภาคกลาง 39.4%, ภาคเหนือ 19.7%, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16.2%, ภาคตะวันออก 13.3% และภาคใต้ 11.5% ข้อสรุปของการสำรวจคือ ผู้ประกอบการทุกขนาด และทุกภาคได้รับผลกระทบทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และมีแนวโน้มจ้างงานลดลง ภายหลังการปรับเพิ่มค่าแรง ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กลุ่มตัวอย่างยอมรับได้ คือ อุตสาหกรรมขนาดย่อมยอมรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 200 บาท/วัน, ขนาดกลางยอมรับที่ 211 บาท/วัน และขนาดใหญ่ยอมรับที่ 205 บาท/วัน หากแบ่งเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมแฟชั่น อาทิ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยอมรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 218 บาท/วัน 2) อุตสาหกรรมก่อสร้าง อาทิ เหล็ก ปูนซีเมนต์ เฟอร์นิเจอร์ ยอมรับค่าจ้างได้เฉลี่ยที่ 192 บาท /วัน 3) อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล ยอมรับค่าจ้างเฉลี่ยที่ 210 บาท/วัน 4) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยอมรับได้ที่ 200 บาท/วัน 5) อุตสาหกรรมอาหารและยา เช่น น้ำตาล, สมุนไพร ยอมรับได้ที่ 210 บาท/วัน และ 6) อุตสาหกรรมพลังงาน อาทิ โรงกลั่น ก๊าซ ยอมรับได้ที่ 223 บาท/วัน (ประชาชาติธุรกิจ, 16-7-2554) นักวิชาการ ชี้ ขึ้นค่าจ้าง 300 เหมาะสม ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ของรัฐบาลใหม่ว่า เป็นการปรับขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่ประเทศไทย ควรปรับโครงสร้างอัตราค่าแรงให้มีความสอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูง ขึ้นในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงจะต้องดูความเหมาะสมในทุกภาคส่วนด้วย อย่ามองเพียงด้านเดียว ควรมองทั้ง 3 ด้านพร้อมกันคือ ภาคประชาชน ผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน โดยผู้ประกอบการเอง ปัจจุบันก็มีภาระอยู่แล้ว จากภาวะเงินเฟ้ออื่นๆ รัฐบาลจะดูแลเรื่องการชดเชยภาคเอกชน อย่างไรก็ต้องหารือกัน ขณะประชาชนก็มีภาระเช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และทำอย่างไรไม่ให้ค่าครองชีพสูงขึ้นกว่านี้มากนัก (ไอเอ็นเอ็น, 16-7-2554)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นาวาอากาศตรีขึ้นศาลนัดแรก ข้อหาโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายหมิ่นฯ Posted: 16 Jul 2011 04:50 AM PDT นาวาอากาศตรี ชนินทร์ (ขอสงวนนามสกุล) นายทหารคนแรกที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขึ้นให้การต่อศาลทหารแล้วในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (14 ก.ค.54) ภายหลังจากที่ผู้บัญชาการทหารอากาศได้ตั้งข้อกล่าวหานาวาอากาศตรีชนินทร์ หัวหน้าฝ่ายกรมช่างทหารอากาศ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 นาวาอากาศตรีชนินทร์ ถูกตั้งข้อกล่าวหาละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 112 และอีกหลายมาตราด้วยกัน เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ พยานฝ่ายโจทก์คนแรกที่ถูกเบิกตัวโดยอัยการทหาร คือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตโดยกองทัพอากาศไทย ทำการยื่นฟ้องนาวาอากาศตรีชนินทร์ และศาลทหารได้นัดหมายอีกครั้งในวันที่ 14 กันยายน นาวาอากาศตรีชนินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ หลังจากเข้ารับฟังการพิจารณาคดีแบบปิดลับว่า มันเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายที่เขาได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงขนาดนี้โดยพิจารณาจากข้อความที่ตัด แปะ ลงในหน้าเฟสบุ๊ก ข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นยังรวมไปถึง ข้อความที่ถูกโพสต์ ในเดือนกันยายน และตุลาคม 2553 จากการเขียนแสดงความคิดเห็นต่อละครที่ออกอากาศทางช่อง 5 “ชิงชัง” และบทเพลงเพื่อชีวิต “ถั่งโถม” “ผมกล่าวอ้างถึงความเป็นเผด็จการของพ่อในละครซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆในครอบครัวเพลงถั่งโถมเป็นเพลงที่หาฟังได้ทั่วไปตามท้องตลอด แต่เขากล่าวหาว่าผมหมายความถึงอย่างอื่น ซึ่งมันแปลกประหลาดมาก” นาวาอากาศตรีชนินทร์กล่าว บิดาของผู้ต้องหา ข้าราชการตำรวจเกษียณ อายุ 63 ปี ได้เดินทางมาจากจังหวัดเพชรบุรีอีกครั้ง เพื่อมาประกันตัวลูกชาย หลังจากที่เคยมาประกันตัวแล้วหนหนึ่งหลังจากที่เขาได้เข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนปีที่แล้ว บิดาของผู้ต้องหาผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยว่า “เรามาจากครอบครัวผู้รับใช้ประชาชน เขาไม่เคยโกหกผม ถ้าเขาทำผิดต่อสถาบันฯจริง ผมคงไม่ต้องวุ่นวายประกันตัวเขาหรอก เขาสมควรได้รับโทษไปแล้ว” ทั้งนี้บิดาของนาวาตรียังได้สอบถามจากหลายๆคน รวมไปถึงพี่สาวของนาวาตรีชนินทร์ด้วยว่า สิ่งที่ลูกชายเขียนไปมีจุดมุ่งหมายอย่างนั้นจริงๆหรือไม่ ซึ่งพี่สาวของนาวาตรีตอบว่าไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นเลย “ผมไม่มีความสันทัดในสังคมออนไลน์ แต่เพื่อนในเฟสบุ๊กของนาวาตรีชนินทร์ที่มาให้กำลังใจในวันที่เขามอบตัวในเดือนพฤศจิการยน ต่างพูดว่านาวาตรีชนินทร์ไม่ได้โพสต์ข้อความที่เป็นปฎิปักษ์ต่อสถาบันเบื้องสูงดังข้อกล่าวหา” บิดาของนาวาตรีกล่าว นาวาตรีชนินทร์ถูกพักราชการในวันที่ 12 เมษายนปีนี้ บิดาของเขากล่าวว่า เขาและภรรยา รู้สึกเป็นห่วงในชะตากรรมของลูกชายมาก “มันคงจะง่ายกว่านี้ถ้าเป็นคดีฆาตกรรม เพราะคดีนี้มีความร้ายแรงกว่า ถ้าเรื่องทั้งหมดไม่เป็นความจริง มันจะเป็นเรื่องที่น่าเกลียดมากในการใส่ความกัน” ทางด้านนาวาอากาศตรีชนินทร์กล่าวว่า เขารู้สึกว่ามันเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยมาก เนื่องจากเป็นการนำข้อความของเขามาปะติดปะต่อกันในช่วงเวลาที่ต่างกรรมต่างวาระ “ผมอยากให้การพิจารณาสอบสวนเป็นการพิจารณาที่เปิดสู่สาธารณะ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่ทราบเลยว่าพวกเขานำสิ่งที่ผมโพสต์4ครั้ง ที่แตกต่างกันมากล่าวหาผม” นาวาตรีชนินทร์กล่าว คดีของนาวาอากาศตรีชนินทร์ นับเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีแรก ที่ถูกนำมาใช้กับข้าราชการทหาร ซึ่งโดยปกติแล้ว ศาลทหารจะมีการเปิดการพิจารณาคดีอย่างเป็นสาธารณะ แต่ในกรณีนี้ถูกสั่งให้มีการพิจารณาแบบปิดลับ อีกคดีที่มีการพิจารณาแบบปิดลับคือกรณีของ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ “ดา ตอปิโด” เมื่อครั้งการพิจารณาคดีของดารณี มีการพิจารคดีแบบปิด โดยการอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ แต่ในปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในเดือนกุมภาพันธ์ว่าการสอบสวนแบบปิดในกรณีของดารณีเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเธอก็ไม่ได้รับการประกันตัวแต่อย่างใดและกระบวนการพิจารณาก็ยังยืดเยื้อต่อไปขึ้นอยู่กับโชคชะตาของเธอ จำนวนคดีความที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ และการละเมิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้ดัชนีเสรีภาพสื่อในประเทศลดลงจากลำดับ 107 ในปี 2548 มาเป็น 153 ในปีที่แล้ว จากการจัดลำดับขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders)
ที่มาข่าว แปลจาก Achara Ashayagachat. Sqn Ldr's lese majeste trial begins. 14/07/54 http://www.bangkokpost.com/breakingnews/247065/chanin-lese-majeste-case-begins
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสวนา 'ความจริงในม่านฝุ่น': การพัฒนาทางเลือกกระแสหลัก Posted: 16 Jul 2011 04:39 AM PDT หมายเหตุ: เรียบเรียงจากงานเสวนา "ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย" ช่วงของ อัจฉรา รักยุติธรรม จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การพัฒนาทางเลือกกระแสหลัก” งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 8 ก.ค.54 โดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัจฉรา รักยุติธรรม
น่าเสียดายที่วางโครงบทความนี้ไว้ก่อนช่วงเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นคงมีเรื่องที่จะพูดมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วมีคนบอกว่าผลการเลือกตั้งเป็นคะแนนเสียงของ “คนโง่” และ “คนที่คลั่งแค้น” ไม่คิดอะไรให้รอบคอบ และมีเอ็นจีโอบางคน (เช่น เลขาธิการ ครป.) บอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกชี้นำโดยโพลก่อนการเลือกตั้ง ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าคนที่อ้างตัวว่าทำงานกับประชาชน หรือเพื่อประชาชนอย่างเอ็นจีโอนั้น มองประชาชนอย่างไร เชื่อมั่นศักยภาพในการคิดและเลือกของประชาชนหรือไม่ เอ็นจีโอแบบนี้ยอมรับสิทธิที่เท่าเทียมกันแค่ไหน โดยเฉพาะสิทธิของประชาชนในชนบทที่เป็นเจ้าของคะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกรัฐบาลใหม่ที่ผ่านมา บทความฉบับนี้ไม่ทันได้พูดถึงผลการเลือกตั้ง แต่เน้นไปที่การตรวจสอบแนวคิดและการทำงานของเอ็นจีโอ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน “การพัฒนาทางเลือก” และส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำงานอยู่ในชนบท เอ็นจีโอเป็นกลุ่มที่มีภาคปฏิบัติการที่ชัดเจน (มากกว่านักวิชาการ) คือนำความคิดไปปฏิบัติ และผลักดันนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ในช่วงที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทีวีช่อง Thai PBS เผยแพร่ชุดคำและความคิดบางอย่างอย่างแพร่หลาย เช่น คำว่าโฉนดชุมชน ป่าชุมชน เกษตรพอเพียง เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ชุดความคิดเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางเลือก ที่ขับเคี่ยวกับการพัฒนากระแสหลักมาโดยตลอด ทุกวันนี้แม้แต่นโยบายรัฐเองก็พูดถึงเรื่องพวกนี้อย่างมากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นหมายความว่าเอ็นจีโอผลักดันการพัฒนาทางเลือกสำเร็จแล้วใช่หรือเปล่า? ในช่วงแรก บทความทบทวนความหมายของ “การพัฒนาทางเลือก” ว่าหมายถึงการพัฒนาจากข้างล่าง ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ และมีแนวคิดที่น่าสนใจที่มองว่าการพัฒนาทางเลือกควรเป็นบทวิพากษ์ของการพัฒนากระแสหลัก ไม่น่าจะมีแบบแผนหรือกระบวนทัศน์ที่ตายตัวเพราะจะเป็นการทำลายความหลากหลายอันเป็นลักษณะสำคัญของทางเลือก มาถึงตรงนี้ก็น่าคิดว่าตอนนี้การพัฒนาทางเลือกในประเทศไทยยังเป็นบทวิพากษ์อยู่หรือเปล่า? วิพากษ์กับอะไร? ในเมื่อแนวคิดต่างๆ ของการพัฒนาทางเลือกได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมหลักในสังคมที่แพร่หลายไปแล้ว ในบทความมีการทบทวนประวัติศาสตร์นิดหน่อยว่าในสังคมไทยพูดถึงการพัฒนาทางเลือกตั้งแต่เมื่อไหร่ หมายความว่าอย่างไรบ้าง สรุปคร่าวๆ ว่า ครั้งหนึ่งเอ็นจีโอเคยนำเสนอการพัฒนาทางเลือกเพื่อโต้แย้งการผูกขาดอำนาจการพัฒนาโดยรัฐ และวิพากษ์และต่อรองกับรัฐอย่างแหลมคมโดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ต่อมาการพัฒนากระแสหลักก็ปรับมาพูดถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดีย อย่างน้อยตั้งแต่แผนพัฒน์ฉบับที่ 5 ช่วงกลางทศวรรษ 2520 เริ่มพูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และพูดคำสำคัญอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น ช่วงที่รัฐขาดแคลนงบประมาณไม่มีศักยภาพที่จะจัดการปัญหาเศรษฐกิจ แผนพัฒน์ก็พูดถึงการส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง แต่พอเศรษฐกิจดีขึ้นแผนพัฒน์ก็พูดถึงการมีส่วนร่วมว่าเป็นการไปเข้าไปร่วมกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เป็นต้น พอมามองนอกกรอบของแผนพัฒน์ และเน้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงื่อนไขทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “การพัฒนาทางเลือก” ย้ายตำแหน่งแห่งที่ หลังจากที่รัฐบาลสุรยุทธขึ้นมาบริหารประเทศก็เน้นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่าเป็นทางเลือกจากการพัฒนาที่เน้นทุนนิยมสุดโต่งของรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสรยุทธ์มีนโยบายเกี่ยวกับ “ชุมชน” พึ่งพาตนเอง พอเพียง เกษตรยั่งยืน ฯลฯ มากขึ้น และสอดแทรกเรื่องจริยธรรม ความดี คุณค่าความเป็นไทย เพื่อเปรียบต่างจากภาพลักษณ์ปีศาจทุนนิยมของรัฐบาลทักษิณที่เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ ทุจริต มีคนมองว่ารัฐบาลสุรยุทธ์กำลังใช้การอ้างเรื่องจริยธรรมความดีมากลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลของตนขึ้นมามีอำนาจโดยมิชอบตามระบอบประชาธิปไตย หรือพูดอีกอย่างว่าให้ความสำคัญกับคุณค่าทางศีลธรรมเหนือกระบวนการประชาธิปไตยนั่นเอง จริงๆ ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยเอ็นจีโอและหน่วยงานรัฐเริ่มหันมาร่วมมือกันมากขึ้นแล้ว เพราะเอ็นจีโอหันมารับทุนจากรัฐมากขึ้น เริ่มจากช่วงต้นทศวรรษ 2540 มีการตั้งกองทุนเพื่อสังคมหรือ SIF เพื่อฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจรัฐบาลก็เอาเงินกู้จากธนาคารโลกมาให้เอ็นจีโอทำงาน ราวกลางทศวรรษเดียวกันก็มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ต่อมาก็จัดตั้ง สสส. ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้กลายมาเป็นแหล่งทุนสำคัญของเอ็นจีโอหลายแห่งในปัจจุบัน มีการวิจารณ์กันว่าการรับเงินจากหน่วยงานรัฐทำให้เอ็นจีโอถูกรัฐครอบงำ หรือสยบยอมต่ออำนาจรัฐ แต่ผู้เขียนมีข้อมูลในเบื้องต้นว่าเอ็นจีโอไม่ได้ “จำใจ” ร่วมมือกับรัฐเพียงเพราะเห็นแก่เงิน เอ็นจีโอไม่น้อยที่ “ตั้งอกตั้งใจ” ร่วมมือกับรัฐเพราะเป็นยุทธศาสตร์การทำงานแบบใหม่แบบหนึ่ง บทความนี้เสนอว่ามีแนวคิดอย่างน้อย 2 ประการที่ทั้งแหล่งทุนในกำกับของรัฐ และเอ็นจีโอยึดถือคล้าย ๆ กัน หรือเป็นความคิดความเชื่อร่วมกันบางอย่างที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน หนึ่ง การใช้แนวคิดประชาสังคม ที่เชื่อว่าประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ควรร่วมมือกับรัฐมากกว่าสร้างความขัดแย้ง เอ็นจีโอลดบทบาทในการตรวจสอบรัฐลงโดยให้เหตุผลว่าทุวันนี้มีองค์กรอิสระมาทำหน้าที่แทนมากมาย ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านั้นก็เกิดขึ้นเพราะเอ็นจีโอผลักดัน และเอ็นจีโอบางส่วนก็เข้าไปอยู่ในกลไกขององค์กรอิสระนั้นด้วย มีเอ็นจีโอที่เห็นว่าหากรัฐรับข้อเสนอของเอ็นจีโอแล้ว อย่างเช่น ข้อเสนอเรื่องโฉนดชุมชน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เอ็นจีโอจะต้องไปคัดค้านหรือต่อต้านรัฐ แต่ก็มีเอ็นจีโอที่เห็นว่าการต่อรองกับรัฐยังจำเป็น แต่ต้องใช้ยุทธวิธีหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่ชุมนุม ประท้วง หรือเดินขบวน และพวกเขาก็ยืนยันว่าในการร่วมมือกับรัฐนั้นก็ยังมีการต่อรองไปด้วย และสามารถทำให้รัฐยอมรับข้อเสนอต่าง ๆ มากขึ้นจากการเปลี่ยนยุทธวิธีมาร่วมมือมากกว่าขัดแย้ง ถึงแม้จะรับทุนจากหน่วยงานรัฐแต่เอ็นจีโอบอกว่าตนเองไม่ได้อยู่ใต้การอุปถัมภ์ของรัฐ เพราะยังมีอิสระที่จะเลือกรับหรือไม่รับทุน และสามารถยืนยันแนวทางการทำงานของตัวเอง เอ็นจีโอนิยมเรียกความสัมพันธ์กับรัฐว่า “เครือข่าย” หรือ “ภาคี” มากกว่า แต่ส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าการรู้จักกัน หรือการต่อสาย มีส่วนสำคัญที่ทำให้ได้ทุนจาก สสส. และ พอช. มีงานศึกษาที่บอกว่าการมีส่วนร่วมของเอ็นจีโอในหน่วยงานภาครัฐเป็น ”การมีส่วนร่วมแบบชายขอบ” ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างมีมีนัยยะสำคัญ และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างเอ็นจีโอกับรัฐแบบนั้นก็เอื้อให้เอ็นจีโอวิพากษ์วิจารณ์รัฐอย่างถึงรากถึงโคน ในเรื่องนี้เอ็นจีโอที่รับทุนจาก สสส. น่าจะบอกรูปธรรมตัวอย่างได้ชัดเจน..ถ้าจะกล้าเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา แนวคิดอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เอ็นจีโอกับหน่วยงานรัฐร่วมมือกันได้อย่างดี ก็คือแนวคิดเรื่องการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่แพร่หลายมากในหน่วยงานรัฐและโดยทั่วไป เบื้องหลังของการสถาปนาแนวคิดนี้ก็คือการตอบโต้กับระบบทุนนิยมที่เน้นปัจเจก ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งไปสัมพันธ์กับการผลิตซ้ำอุดมการณ์จารีตว่าด้วยจริยธรรม ความดี ความงาม ความเป็นไทย และการต่อรองกับการที่รัฐผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากร เน้นกรรมสิทธิ์ปัจเจก แล้วเบียดขับชุมชนท้องถิ่น การผลิตซ้ำอุดมการณ์จารีตเรื่องความดี ความเป็นไทย มีส่วนสำคัญในการผลิตซ้ำช่วงชั้น ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมในสังคม ทำให้คนบางกลุ่มที่เชื่อว่าตนเองเป็น “คนดี” สถาปนาอำนาจขึ้นมากำหนดชีวิตของผู้อื่น ดิฉันเคยเขียนเรื่องนี้ไปบ้างแล้วในบทความที่เสนอเมื่อปีก่อน การเน้นเรื่อง “ชุมชน” มากเกินไปจนลดทอนความสำคัญ หรือไม่เชื่อมั่นการคิดและตัดสินใจของปัจเจกก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย อย่างเช่นการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่บอกไปแล้วว่ามีเอ็นจีโอบางส่วนที่ดูเบาสิทธิเสียงของ “ชาวบ้าน” ซึ่งเป็นปัจเจก บอกว่าชาวบ้านเลือกเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้น หรือถูกหลอก หรือรู้ไม่เท่าทัน เรื่องการมีอยู่จริง หรือสภาวะที่เป็นอยู่จริงของ “ชุมชน” หรือพลังในการต่อรองกับอำนาจรัฐและทุนยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่มาก เอ็นจีโอไม่น้อยที่เลิกคิดเรื่องการสร้างชุมชนพึ่งตนเองแบบในอุดมคติไปแล้ว และมีงานที่ชี้ว่า “ชุมชน” กลับกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชน แทนที่จะเป็นเครื่องมือให้ประชาชนต่อรองกับรัฐ ถึงแม้ว่าแนวคิดหรือชุดคำมากมายจะแพร่หลาย แต่เอ็นจีโอบางส่วนก็ยอมรับว่าเอ็นจีโอยังต่อรองกับรัฐไม่ทะลุเป้า คือแพร่หลายแต่คำ แต่ความคิดและนโยบายยังไปไม่ถึง หรือพูดง่าย ๆ ว่าถูกรัฐ co-opt หรือฉกฉวยคำไปใช้ในแบบอื่น อย่างเช่นการรณรงค์เรื่องเกษตรยั่งยืน ก็กลับเกิดกระแสเกษตรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มากกว่าการคำนึงถึงสิทธิและอำนาจของเกษตรกร หรือข้อเรียกร้องเรื่องป่าชุมชน โฉนดชุมชน ก็ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่หนักแน่นมารองรับ เอ็นจีโอเหล่านี้จึงไม่เห็นด้วยที่บอกว่าการพัฒนาทางเลือกกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว ในส่วนบทสรุป ผู้เขียนชวนให้คิดต่อว่าถ้าหากการพัฒนากระแสหลักปรับเปลี่ยนตัวเองไปเยอะ และรับเอาชุดความคิดหลายอย่างของการพัฒนาทางเลือกมาใช้แล้ว การพัฒนาทางเลือกจะยังคงสถานะเป็นบทวิพากษ์ต่อไปหรือเปล่า หรือว่าไม่จำเป็นแล้ว แต่ปล่อยให้ถูกผนวกรวมกับกระแสหลักไปเลย แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นเอ็นจีโอยังต้องทำงานต่อหรือเปล่า ทำอะไรแค่ไหน หรือว่าไปช่วยรัฐทำงานเสียเลย แล้วก็ร่วมมือกับรัฐสถาปนาโมเดล “ที่ดี” บางอย่างขึ้นมา ซึ่งก็อาจจะทำให้กลายเป็น “ทางเลือก” แบบเดียวหรือทางที่จำต้องเลือกแบบไม่หลากหลายไปอีก เราก็ทราบกันอยู่ว่าเอ็นจีโอไม่ได้คิดเหมือนกันทั้งหมด หรือแม้แต่คิดขัดแย้งแตกต่างกัน แต่ก็มีเอ็นจีโอบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าไปร่วมมือกับรัฐ แล้วผลักดันแนวความคิดของตนให้รัฐยอมรับได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเอ็นจีโอที่คิดต่างจากรัฐ หรือมีไม่มีศักยภาพในการต่อสายกับรัฐล่ะ แนวความคิดทางเลือกที่พวกเขาพยายามผลักดันจะอยู่ตรงไหน มีสถานะอย่างไร เอ็นจีโอส่วนใหญ่ยืนยันว่ายังต่อรองกับรัฐ แต่คงต้องมีการถกเถียงกันเรื่อง “การต่อรอง” ให้มากขึ้นว่าหมายถึงอะไร หรือควรจัดความสัมพันธ์กับรัฐหรือแหล่งทุนในกำกับของรัฐแบบไหนหากจะต่อรองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนจริง สุดท้าย การแพร่หลายของชุดคำหรือแนวคิดทางเลือกต่าง ๆ ได้ช่วยพลิกภาพลักษณ์ของ “ชนบท” “การเกษตร” “ชาวบ้าน” “ชุมชน” จากบ้านนอก ล้าหลัง ด้อยพัฒนา มาเป็นพื้นที่แห่งภูมิปัญญา เรียบง่าย สงบสุข และอนุรักษ์ความเป็นไทย แต่การสร้างภาพแทนแบบนี้ก็ถูกวิจารณ์มาตลอดว่าทำให้มีการกักขังอัตลักษณ์ นำไปสู่การเก็บกด ปิดกั้น หรือเบียดขับกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในกรอบแบบนี้ ซึ่งเป็นผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในสังคม แต่น่าสนใจที่จะคิดต่อว่าทำไมภาพแทนแบบนี้ที่ถูกวิจารณ์กันมานานว่ามีปัญหายังคงถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้ก็ไม่ได้มีเฉพาะเอ็นจีโอหรือกระบวนการพัฒนาทางเลือกที่ผลิตเพียงฝ่ายเดียวแล้ว แต่ว่าทั้งรัฐและชนชั้นกลาง ชั้นสูง พากันมาร่วมเสพและผลิตซ้ำภาพแทนแบบนี้กันอย่างมากมาย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักวิชาการนิด้าชี้ ขึ้นค่าจ้าง 300 เหมาะสม Posted: 16 Jul 2011 04:25 AM PDT 16 ก.ค. 54 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่า ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ของรัฐบาลใหม่ว่า เป็นการปรับขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่ประเทศไทย ควรปรับโครงสร้างอัตราค่าแรงให้มีความสอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงจะต้องดูความเหมาะสมในทุกภาคส่วนด้วย อย่ามองเพียงด้านเดียว ควรมองทั้ง 3 ด้านพร้อมกันคือ ภาคประชาชน ผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน โดยผู้ประกอบการเอง ปัจจุบันก็มีภาระอยู่แล้ว จากภาวะเงินเฟ้ออื่นๆ รัฐบาลจะดูแลเรื่องการชดเชยภาคเอกชน อย่างไรก็ต้องหารือกัน ขณะประชาชนก็มีภาระเช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และทำอย่างไรไม่ให้ค่าครองชีพสูงขึ้นกว่านี้มากนัก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 16 Jul 2011 03:50 AM PDT นักปรัชญาเมธีชาวกรีกโบราณ ที่สำคัญสามคน อันได้แก่ โสเครติส เพลโต อริสโตเติล เหล่าผู้รักในความรู้เหล่านี้พยายามแสวงหาความจริงอันเป็นนิรันดร์ ว่าการเมืองการปกครองแบบใดกันแน่ที่เหมาะสมกับมนุษย์ เหล่าอาจารย์ศิษย์เหล่านี้พยายามค้นหา แต่ก็มีข้อสรุปที่ต่างกัน การพยายามหาข้อสรุปในเรื่องการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ยังคงมีอยู่เรื่อยมา มีบ้างที่ได้ข้อสรุปอย่างเพ้อฝัน เลื่อนลอย การปกครองในอุดมคติที่เรียกว่า ราชาปราชญ์ (Philosopher King) ที่เพลโตสรุปได้ในท้ายที่สุด ช่างเป็นการปกครองในฝันเสียนี่กระไร เพลโตเชื่อว่ารัฐที่ดีที่สุดคือรัฐที่มีความยุติธรรมเป็นหัวใจหลักของรัฐ นั่นคือ คนในรัฐทุกคนทำหน้าที่ตามที่ของตน โดยไม่ก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกันเพลโตกำหนดให้ราชาปราชญ์ (Philosopher King) ผู้ที่ทรงปัญญา รู้ซึ้งถึงความจริงเป็นผู้ปกครองรัฐ เพราะเพลโตเห็นว่าการเมืองเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่จะรู้ซึ้งและเข้าถึงศิลปะแห่งการเมืองได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้อย่างดีเลิศ และในการปกครองนั้นจะต้องใช้ความรู้ในหลักการปกครองด้วย ซึ่งผู้ทรงปัญญาก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้โดยใช้เหตุผลเพลโตมีความเชื่อมั่นในตัวของนักปรัชญามาก เพราะเขาเห็นว่านักปรัชญาคือผู้ที่กระหายที่จะได้มาซึ่งความรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น จึงทำให้เขาเห็นว่านักปรัชญาเท่านั้นที่จะมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะเป็นผู้ปกครองและนำความยุติธรรมมาสู่รัฐได้ รัฐในอุดมคติอาจจะปกครองในระบบราชาธิปไตย หรืออภิชณาธิไตยก็ได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ปกครอง ถ้าปกครองโดยราชาปราชญ์เพียงองค์เดียวก็เป็นราชาธิปไตย แต่ถ้าปกครองโดยคณะราชาปราชญ์ก็จะกลายเป็นอภิชนาธิปไตย รัฐในอุดมคติตามจุดประสงค์ที่แท้จริงของเพลโตนั้น เขาต้องการให้อำนาจในการปกครองขึ้นอยู่กับคณะหรือกลุ่มบุคคลจำนวนพอสมควร มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียวหรือสองสามคน เพราะเพลโตเห็นว่า การปกครองโดยคนๆเดียวหรือสองสามคน อาจจะร่วมกันใช้อำนาจไปในทางที่ไม่สุจริต กดขี่ประชาชนและแสวงหาประโยชน์เข้าตัวเองได้ ผู้เขียนเคยเชื่อว่าการปกครองแบบนี้ดีที่สุด แต่เราจะหา ราชาปราชญ์ ที่แสนดี เก่งกาจ ฉลาดเฉลียว ได้ที่ไหนในปัจจุบันและเราจะทราบได้อย่างไรว่าคนดีผู้ฉลาดดั่งปราชญ์ผู้นี้ จะทำเพื่อประชาชนและทำให้ประชาชนมีความสุขได้จริงๆ แค่คุณสมบัติที่ว่าคนดีนั้น ก็ต้องมานั่งตีความเรื่องความดีว่ามันดียังไง ดีจริงรึป่าว ประชาธิปไตยจึงเป็นการตอบคำถามเหล่าประชาชน ว่าเมื่อในรัฐประชาชน เป็นผู้อยู่อาศัย เป็นเจ้าของด้วยการเสียภาษีร่วมกัน การจะให้ใครมาปกครองพวกเค้าต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนเสียก่อน เพราะประชาชนเท่านั้นที่จะรู้ได้ดีว่า ผู้นำผู้ปกครองคนไหนทำให้ประชาชนมีความสุข อย่างน้อยก็สุขที่จะได้เลือกด้วยตัวเองไม่ใช่ให้ใครก็ไม่รู้สถาปนาอำนาจเหนือประชาชน แล้วยัดเยียดคนที่บอกว่าเป็นคนดี แล้วบอกให้เอาคนดีที่เค้าเลือกให้มาปกครองบ้านเมือง แล้วบอกว่าไอ้คนที่ประชาชนรากหญ้ารากเน่าเลือกนั้นมันไม่ดี มันเลวอย่าไปเลือกมัน ทำไมต้องมายัดเยียดความคิดให้ประชาชน ทำไม ต้องเอากรงขังเรื่องดีเลว มากักขังเสรีภาพทางความคิดของประชาชน เมื่อบ้านนี้เมืองนี้ได้ตกลงกัน จะปกครองโดยเคารพเสียง และยกอำนาจสูงสุดให้กับประชาชน ทำไมต้องครอบงำดูถูกประชาชนด้วย เสียงส่วนใหญ่จะด้อยคุณภาพ หรือ จะทรงคุณภาพ ไม่ได้สำคัญ วาทกรรม ดูถูกสติปัญญา ชาวบ้านพรั่งพรูออกมาหลังทราบผลคะแนนเลือกตั้งมากมาย ไม่รู้ว่าประเทศนี้คนมันโง่ลง หรือจิตใจความเป็นประชาธิปไตยมันเสื่อมถอยลงกันแน่ (จริงอยากใช้คำว่าจิตใจมนุษย์ด้วยซ้ำ) แนวคิดประเภทใครไม่จบ ปริญญาตรีห้ามเลือกตั้ง รายได้ต่ำกว่าเท่านี้ห้ามเลือกตั้ง คนภาคนั้นภาคนี้โง่ มันออกมาจากปากผู้มีการศึกษาได้อย่างไร ถ้าจะอธิบายให้โรแมนติก คงต้องอธิบายว่า เมื่อ อคติ และ โทสะ ฝังลงในความคิดทางการเมืองของคน เค้าก็จะไม่เลือกมองเหตุผลใดๆทั้งนั้น มองการเมืองแบบพระแอก แบบผู้ร้าย เมื่อพระเอกหนุ่มหล่อถูกรังแก คนเหล่านี้ไม่สนว่าไอ้พระเอกคนนี้จะเลวทราม ระยำแค่ไหน เพราะคนเหล่านี้เกลียดพวกผู้ร้ายในสายตาเข้า พระเอกหนุ่มหล่อลากไส้จะลากปืนมายิงผู้ร้าย ตายกลางเมืองก็ได้ จะโกหกตอแหลอะไร คนเหล่านี้ก็พร้อมเชื่อ แต่เมื่อผู้ร้ายในสายตาเขาเกิดเป็นฝ่ายชนะ (ตามกติกา) เขาก็จะออกมาดราม่าว่า ไอ้พวกที่เลือกมันโง่ เห็นแก่เงิน โดยล่ะสายตาและสมองเพื่อตรองถึงเหตุผลว่าทำไมคนไม่เลือกพระเอกรูปหล่อคนนั้น ประชาชนคงต้องสู้กันอีกหลายยก เพราะเป็นธรรมดาที่ฝ่ายมีอำนาจนำประเทศก็ยังคงหวงอำนาจเค้าอย่างเหนียวแน่น ชัยชนะในการเลือกตั้งนี้เป็นเพียงเบื้องต้นที่ไม่ยั่งยืน ตราบใดที่ ความหมายคำว่าประชาธิปไตยคนไทยยังเข้าใจไม่เหมือนกัน การต่อสู้ยังคงมีต่อไป แต่ถ้าการต่อสู้เป็นไปโดยกติกาที่รับฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่แล้วจบแล้วถือเอาอำนาจของประชาชนคืออำนาจสูงสุดของประเทศ ก็ถือเป็นธรรมดาของประเทศประชาธิปไตยแต่เมื่อใดมีใครลากปืนลากรถถัง หรือลากปากออกมายัดเยียดคนดีให้ประชาชนโดยประชาชนไม่ต้องการอีก เมื่อนั้นประชาชนก็จะลุกขึ้นมาบอกท่านดังๆ ให้ฟังชัดๆ ว่า “อย่าเสือก”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ชาวไทย-พม่าที่สมุทรสาครร่วมทำบุญวันเข้าพรรษา Posted: 16 Jul 2011 12:26 AM PDT (16 ก.ค.54) เส่ง เท แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ซึ่งทำงานในไทยมากว่า 16 ปี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติจากพม่าและคนไทยในพื้นที่กว่า 2,000 คนได้ร่วมกันทำบุญถวายจีวรและสิ่งของเนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัดเทพนรรัตน์ ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เขาเล่าว่า โดยปกติ แรงงานข้ามชาติจากพม่าและคนไทยในพื้นที่ไม่ค่อยได้เข้าหากันเท่าไหร่ เนื่องจากยังมีอคติต่อกัน แต่ปีนี้ เจ้าอาวาสได้แนะนำให้จัดงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสานความสัมพันธ์กันต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ถ้าไม่มีคนในพื้นที่ร่วมด้วยจะจัดงานได้ยากลำบาก วันนี้ได้ร่วมกันจัดแล้ว ครั้งๆ ต่อไป น่าจะง่ายขึ้น เส่ง เท กล่าวเสริมว่า สำหรับการร่วมงานวันนี้ ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใดเนื่องจากวันสำคัญทางศาสนาถือเป็นวันหยุด ทำให้ไม่ต้องลางาน นอกจากนี้ อบต.ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลความเรียบร้อยด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น