โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นพดล ปัทมะ

Posted: 23 Jul 2011 10:27 AM PDT

กรณีเรื่องปราสาทพระวิหารนั้น ต้องยุติการเล่นการเมืองในประเท​ศ ต้องมีท่าทีของประเทศ เราจึงจะเจรจากับกัมพูชาได้อย่า​งมีเอกภาพ การรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน​แล้วรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ มันก็แค่นั้น เพื่อไทยคงไม่ทำอะไรกับ พธม. นอกจากการรับฟังความเห็นประกอบเ​ท่านั้น

23 ก.ค. 2554

ขุนรองปลัดชู : วาทกรรมเรื่องชาตินิยม

Posted: 23 Jul 2011 08:34 AM PDT

ภาพยนตร์ที่ได้รับการกล่าวถึงขณะนี้คือ เรื่อง "ขุนรองปลัดชู" ซึ่งออกอากาศที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นตอนๆ รวมทั้งฉายให้ชมฟรีตามโรงภาพยนตร์

โดยนำวีรกรรมที่สำคัญของคนไทยกลุ่มหนึ่งในสมัยอยุธยาที่ต่อสู้กับพม่าจนตัวตายมา สร้างเป็นภาพยนตร์

เป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้าง แต่คงไม่ได้หวังผลกำไรเป็นหลัก เพราะนอกจากฉายทางสถานีโทรทัศน์แล้วยังแจกบัตรให้ชมฟรีในโรงภาพยนตร์ ทำให้น่าสนใจว่าภาพยนตร์เรื่องขุนรองปลัดชู สร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลใด?

ความต้องการตอกย้ำว่าวีรกรรมของขุนรองปลัดชู และชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญจนตัวตาย ไม่ใช่ปัญหา เพราะอย่างน้อยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ทั้งฉบับ กาญจนาภิเษก ของกรมศิลปากร ที่ชำระและตรวจสอบกับฉบับตัวเขียนในหอสมุดแห่งชาติ และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ต่างบันทึกถึงวีรกรรมของขุนรองปลัดชู และชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ

ข้อความในพงศาวดารทั้งสองฉบับต่างสอดคล้องกันว่า วีรกรรมของขุนรองปลัดชูกับชาวบ้านอีก 400 คน จากเมืองวิเศษชัยชาญมีอยู่จริง เพียงแต่การให้น้ำหนักความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันไป ตามบริบทของการชำระพงศาวดารในเวลาต่อมา

เข้าใจว่าผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะได้ภาพการสู้รบวีรกรรมที่ห้าวหาญจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เพราะให้ภาพการสู้รบที่ละเอียดว่า เมื่อพม่ายกทัพมาตั้งอยู่ที่ตำบลหว้าขาว ริมชายทะเล แถบเมืองกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขุนรองปลัดชูกับชาวบ้านก็กรูกันออกโจมตีทัพหน้าของพม่า รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงขั้นตะลุมบอน ฟันแทงพม่าล้มตาย

ส่วนตัวของขุนรองปลัดชูถือดาบสองมือวิ่งเข้าไปในหมู่ข้าศึก ฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก แต่พม่ามีกำลังมากกว่า ในที่สุดขุนรองปลัดชูถูกพม่าจับเป็นได้ ส่วนชาวบ้านที่เหลือถูกรุกไล่โดยพลทัพช้างลงไปในทะเล จนจมน้ำตายจำนวนมาก เหลือรอดมาเพียงเล็กน้อย

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาให้ภาพวีรกรรมของชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญและขุนรองปลัดชูได้ละเอียดมาก อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้นอกจากเขียนไว้ในพงศาวดารแล้ว ยังเป็นตำนานบอกเล่าเกี่ยวกับวีรกรรมความกล้าหาญของชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ ที่เล่าสืบต่อกันมาปากต่อปากว่ามีการสู้รบกันดุเดือดกล้าหาญขนาดไหน

ดังนั้น เมื่อมีการชำระพงศาวดารจากต้น ฉบับสมุดไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงชำระใหม่ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรวจแก้ไข ทำให้ปรากฏพระราชหัตถเลขาอยู่ในต้นฉบับหลวง ในส่วนของวีรกรรมชาวบ้านจึงได้รับการบันทึกให้ละเอียดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับบริบทในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่สยามกำลังถูกคุกคามจากชาติตะวันตก จึงจำเป็นต้องส่งเสริมวีรกรรมของการต่อสู้เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่สืบเนื่องมาเป็นสยาม

อย่างไรก็ตาม วีรกรรมของชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ นอกจากบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย 2 ฉบับแล้ว ยังสอดคล้องกับตำนานคำบอกเล่าในท้องถิ่นที่เล่าสืบต่อกันมากว่า 200 ปี จนบัดนี้ รวมทั้งยังมีหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในท้องถิ่นคือวัดสี่ร้อย ที่ตั้งชื่อตามจำนวนคนเมืองวิเศษชัยชาญที่ไปสู้รบพร้อมขุนรองปลัดชูจนตัวตายถึงสี่ร้อยคน

หากพิจารณาวีรกรรมที่สู้รบอย่างห้าวหาญของชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ ในกองอาสาอาทมาตแล้ว ถือเป็นเรื่องน่ายกย่องชื่นชม เป็นแบบอย่างในการต่อสู้เพื่อปกป้องอาณาจักร

แต่เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ กลับเห็นกลิ่นอายความเป็นชาตินิยมในสมัยปัจจุบันมากกว่าสำนึกแบบอยุธยา ด้วยการปลุกใจให้เกิดความรักชาติ เป็นความพยายามหล่อหลอมกล่อมเกลาทางการเมืองให้ฮึกเหิม เกิดความรักชาติ โดยผ่านวาทกรรมของตัวเอกในเรื่อง ที่ทั้งพูด ทั้งรำพึงรำพันกับตนเอง จนทำให้บางครั้งศัพท์แสงที่ใช้กล่าวออกมาหลุดไปจากสมัยอยุธยา ทั้งแนวคิดเรื่องชาติ เรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแผ่นดิน และเรื่องความเป็น "ข้าราชการ"

ภาพยนตร์สร้างให้ขุนรองปลัดชูในเรื่องนี้ มีวาทกรรมที่เยอะ ออกไปในแนวสั่งสอนคนในยุคนี้ไปในตัว จนทำให้คนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ขุนรองปลัดชู ต้องเป็นนักเขียนมาก่อนแน่ๆ เพราะเน้นเล่นสำนวน

ตลอดจนตัวเอกพยายามจะสื่อสารแนวคิดเรื่องความรักชาติ ความสามัคคี ปรองดอง ด้วยการสะท้อนผ่านเหตุการณ์ความวุ่นวายเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่เจ้านาย ทั้งก่อนที่พระเจ้าอุทุมพร และพระเจ้าเอกทัศน์จะได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ เหมือนจะเน้นการอบรมสั่งสอนคนในยุคปัจจุบัน และชี้ให้เห็นว่าความแตกแยก การแย่งชิงอำนาจ นำไปสู่ความย่อยยับของอาณาจักรในเวลาต่อมา

การให้ภาพกองทัพพม่า พร้อมกับถ้อยคำเจรจาในกองทัพ ด้วยภาษาพม่า เพราะต้องการให้สมจริง? แต่ในทางกลับกันหากคนพม่าได้ฟังแล้วจะรู้สึกอย่างไรหรือ ข้อความที่พูดเป็นจินตนาการของฝ่ายไทยในยุคปัจจุบันล้วนๆ เพราะใครจะบันทึกได้ว่าทหารพม่าจะพูดอะไรกัน!

อีกทั้งบางข้อความกล่าวพาดพิงถึงมอญ ซึ่งในอดีตเป็นอาณาจักรหนึ่งที่ต้องรบรากับพม่าอยู่เนืองๆ ซึ่งการนำวาทกรรมที่พม่าพูดถึงมอญในทางหมิ่นหน่อยๆ อาจทำให้เกิดวิวาทะระหว่างพม่ากับมอญ แล้วเป็นเรื่องอะไรของคนไทยที่ต้องทำเช่นนี้หรือ เพราะประเด็นของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่การยกย่องวีรกรรมของขุนรองปลัดชู กับชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ มิใช่?

ในขณะเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะกับบริบททางการเมืองในปัจจุบันหรือไม่ โดยเฉพาะความสมานฉันท์ปรองดองกับประเทศเพื่อนบ้าน

ที่ผ่านมาไทยมีปัญหากับเพื่อนบ้านรอบทิศ เพราะปล่อยให้มีการปลุกกระแสความรู้สึกชาตินิยม ซึ่งความรักชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมากเกินเหตุอาจทำให้คลั่งชาติจนขาดสติ ทำให้มีการยุยง ปลุกใจจนเกิดการสู้รบกันบริเวณชายแดน โดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คนตามชายแดนทั้งคนไทย และคนในประเทศเพื่อนบ้าน ความคลั่งชาติแบบนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีแก่ประชาชน และความเจริญแก่ประเทศชาติแต่อย่างใด กลับทำให้เป็นที่อิดหนาระอาใจแก่เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่คนในชาติเดียวกัน

การส่งเสริมให้คนรักชาติ โดยนำเรื่องราวประวัติศาสตร์มาใช้เพื่อหล่อหลอมกล่อมเกลาความคิดเห็นทางการเมือง หากไม่ไปพาดพิงเกี่ยวพันถึงประเทศเพื่อนบ้าน ก็คงมิเป็นไร

แต่หากมีบางส่วนบางตอนที่พาดพิงไปถึงเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั้นสั่นคลอน ก็หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะไทยไม่ได้อยู่ในสังคมโลกอย่างโดดเดี่ยวได้

เรื่องราวในประวัติศาสตร์มีไว้ให้ทบทวนความผิดพลาดในอดีตไว้แก้ไข ภูมิใจกับความสำเร็จที่ผ่านมา โดยไม่เยาะเย้ยถากถางซ้ำเติมผู้อื่น เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านเลยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่อย่างไรก็ต้องเดินไปข้างหน้า ท่ามกลางมวลมิตรที่จริงใจ

ดังนั้น การหยิบเรื่องราวในประวัติศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเมืองภายในประเทศ ผ่านวาทกรรมมากมายของตัวเอกในเรื่อง แล้วไปกระทบความรู้สึกต่อผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย น่าจะเป็นสิ่งที่ควรลดละมิใช่?

การมุ่งสอนให้คนรักชาติ เสียสละเพื่อส่วนรวม อาจไม่จำเป็นต้องกระทำการผ่านเรื่องราวที่เน้นศึกสงครามกับเพื่อนบ้านเท่านั้น

หากต้องการสอนให้เด็กเกิดความรักชาติ สามารถสอนผ่านกระบวนการคิด ให้คิดให้เป็น แยกแยะผิดถูก ใช้เหตุใช้ผลอย่างมีปัญญา ดีกว่าการมุ่งเน้นปลูกฝังแนวคิดแบบชาตินิยม

การนำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมุ่งหมายการกล่อมเกลาทางการเมือง เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีภายในชาติ ไม่ควรพาดพิงเพื่อนบ้าน ให้ความสัมพันธ์ต้องสั่นคลอน

อีกทั้งการสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับบริบทของสังคมในสมัยนั้น และเรื่องราวที่สื่อสาร ต้องผ่านกระบวน การทางประวัติศาสตร์ เพื่อนำไปสู่ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

เพราะเรื่องราวในประวัติศาสตร์มีไว้ให้ทบทวน หาใช่มีหน้าที่รับใช้อุดมการณ์ทางการเมือง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมช.ลุยทำนโยบายใหม่ คลุมทุกมิติเน้นความมั่นคงของคน

Posted: 23 Jul 2011 08:22 AM PDT

สมช. จัดเวทีฟังความเห็นทุกส่วน เพื่อทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ปี 2555 – 2559 คลุมหลายมิติ นอกเหนือจากเอกราช ดินแดนและอธิปไตย เดินหน้า Peace Talk ดับไฟใต้
 
นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2554-2559 เพื่อรับทราบสถานการณ์ ข้อเท็จจริง รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในพื้นที่14 จังหวัดภาคใต้ โดยช่วงเช้าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการ ส่วนช่วงบ่ายเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคม รวมกว่า 120 คน
 
นายถวิล เปิดเผยว่า สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีภารกิจในการจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติฉบับต่อไป โดยกำหนดให้มีการศึกษา วิเคราะห์ ประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2554-2559
 
นายถวิล เปิดเผยต่อไปว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างครอบคลุมที่สุด จะนำข้อมูลข้อคิดเห็นที่ได้รับ เพื่อให้การดำเนินงานยกร่องไปจัดทำแผนนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2554-2559 ได้ใช้กระบวนการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิมากที่สุด
 
นายถวิล เปิดเผยด้วยว่า นิยามของความมั่นคงในปัจจุบัน มีมิติที่ครอบคุลมมากกว่าคำว่า เอกราชของชาติ ดินแดนและอธิปไตย แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นผลกระทบในวงกว้าง เช่น ภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โรคระบาด เป็นต้น โดยความมั่นคงในโลกยุคใหม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากขึ้น เป็นความมั่นคงของชาติบวกกับความมั่นคงของประชาชน คือภัยความมั่นคงที่เข้าถึงตัวตนของคนมากขึ้น เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ดังนั้นการจัดทำนโยบายในยุคใหม่จึงต้องครอบคลุมมิติต่างๆ มากกว่า เอกราช ดินแดน  และอธิปไตยของชาติ
 
นายถวิล เปิดเผยอีกว่า นอกจากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรอบใหญ่ที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตาม ซึ่งรวมถึงความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังได้จัดทำนโยบายความมั่นคงเฉพาะอีกหลายเรื่องด้วย เช่น การก่อการร้าย ชายแดน อิทธิพลข้ามชาติ ความมั่นคงทางทะเล เป็นต้น
 
นายถวิล เปิดเผยว่า ส่วนนโยบายความมั่นคงเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำร่างนโยบาย
 
นายถวิล กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ยังมีเหตุการณ์ไม่สงบอยู่ แต่การแก้ปัญหาของฝ่ายรัฐก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเรามีความมั่นใจมากขึ้น การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มีความถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
 
นายถวิล กล่าวอีกว่า สาเหตุพื้นฐานของปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจที่ถูกทอดทิ้งมานาน ขณะที่ลักษณะเฉพาะของพื้นที่ แม้ไม่ใช่สาเหตุของปัญหา แต่ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อความรุนแรง เช่น ประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์และศาสนา
 
“ในช่วงหลังๆ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ถูกเติมเข้าไปด้วย เช่น โลกตะวันตกที่มองการเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมว่าเป็นการก่อการร้าย แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง มองว่าเป็นการปกป้องมุสลิมจากการคุกคามของตะวันตก ซึ่งอิทธิเหล่านี้ได้ขยายเข้ามาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” นายถวิล กล่าว
 
“ช่วงหลังๆ เจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหามากขึ้น การทำงานจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและมุ่งมั่น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดและมีธรรมาภิบาล เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น” นายถวิล กล่าว
 
แหล่งข่าวระดับสูงใน สมช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สมช.ได้ดำเนินกระบวนพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ หรือ Peace Talk โดยขณะนี้มีกลุ่มคนที่เห็นต่างกับรัฐเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้มีการขยายตัวมากขึ้น แต่เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังรอรัฐบาลใหม่อยู่ กระบวนการต่างๆ จึงยังไม่คืบหน้าอะไรมาก เมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้ว ทางสมช.จึงจะรายงานการดำเนินการเรื่องนี้ให้รัฐบาลทราบ
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า กระบวนการ Peace Talk ทางสมช.ได้จัดระบบนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อว่า การพูดคุยทำความเข้าใจกัน จะเป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามว่ากลุ่มคนที่เข้ามาร่วมกระบวนการ เป็นตัวจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สำคัญอยู่ที่วิธีการถูกต้อง ผลที่ออกมาก็จะถูกต้องด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มช. ถอดคณบดีศึกษาศาสตร์ ด้านอาจารย์ราชภัฎราชนครินทร์บุกสภาฯ ยื่นหนังสือขอปลดคณบดี

Posted: 23 Jul 2011 07:43 AM PDT

มติสภา "มช." ตัดสินใจถอดถอน "คณบดีศึกษาศาสตร์" ชี้บกพร่องต่อหน้าที่-หย่อนความสามารถ ด้านราชภัฎราชนครินทร์วุ่น หลังกลุ่มคณาจารย์บุกสภาฯ ยื่นหนังสือขอปลดคณบดี

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 กรกฎาคม สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นำโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะนายกสภาฯ ศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ศ.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดี มช.และคณะจำนวน 22 คน ร่วมประชุมที่ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ ชั้น 4 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยมีการหยิบกรณีเร่งด่วน เรื่องการรวมตัวของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ประท้วงขับไล่ รศ.นิ่มอนงค์ งามประภาสม คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. เข้าสู่ที่ประชุมเป็นวาระสุดท้าย

ที่ประชุมใช้เวลาในการพิจารณานานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนมีการลงคะแนนเสียงในทางลับด้วยมติเสียงข้างมาก ให้ถอดถอนคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ออกจากตำแหน่ง หลังพิจารณาว่าบกพร่องต่อหน้าที่และหย่อนความสามารถ ตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้อ 13 และให้แต่งตั้งรองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ ไปดูแลตำแหน่งแทน

ต่อมาเวลา 13.20 น. อธิการบดี มช.พร้อมผู้บริหารได้ลงมาชี้แจงผลการประชุมต่อกลุ่มคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ทั้งที่อยู่ระหว่างศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และศิษย์เก่า ที่สวมชุดดำและติดปลอกแขวนไว้ทุกข์ จำนวน 200 คน ที่เคลื่อนขบวนอย่างสงบจากศาลาอ่างแก้ว มารออยู่ที่หน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี ว่า สภาฯมีมติถอดถอน รศ.นิ่มอนงค์ ออกจากตำแหน่ง หลังพิจารณาเรื่องการบริหารงานวิชาการ การให้การศึกษาของนักศึกษา และการกำหนดหลักสูตรในปีการศึกษา 2555 ที่ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือทีโอเอฟ พิจารณาผลเสียและผลกระทบต่อคณะที่ต้องผลิตครูออกไป ทั้งนี้ สภาฯได้มอบให้อธิการบดีแต่งตั้งผู้ที่ไปรับผิดชอบดูแลคณะศึกษาเรื่องพัฒนา วิชาการในระหว่างนี้ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเบื้องต้นจะมอบให้ ผศ.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ คาดวันจันทร์นี้ (25 กรกฎาคม) คงดำเนินการ

ด้าน ผศ.พงษ์ศักดิ์ แป้นแก้ว ตัวแทนคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา กล่าวว่า พอใจกับมติที่ประชุมสภาฯมาก และรู้สึกขอบพระคุณที่ทบทวนมติ และขอสัญญาว่า จะร่วมมือกันพัฒนาคณะศึกษาศาสตร์ตามเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่น เพื่อความก้าวหน้าของคณะที่ต้องผลิตครูออกไปรับใช้ประเทศชาติ ขณะที่ทางกลุ่มนักศึกษาที่มารอฟังผลต่างส่งเสียงแสดงความดีใจที่ผลที่ประชุมออกมาในแนวทางที่ต้องการ

ราชภัฎแปดริ้ววุ่น หลังกลุ่มคณาจารย์บุกสภาฯ ยื่นหนังสือขอปลดคณบดี

จากกรณีที่คณาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการจัดการ จำนวน 15 คน ได้แต่งชุดดำประท้วง การบริหารงานภายในสาขาภาควิชา ของ ผศ.ดร.พรพิมล วิริยะกุลย์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัด.ฉะเชิงเทรา โดยอ้างว่า หลังจากที่คณบดีคนดังกล่าวได้เข้ามานั่งบริหารงานเป็นเวลา 9 เดือน ได้สร้างปัญหาให้แก่สาขาวิชา และคณาจารย์ประจำภาควิชาเป็นอย่างมากมาย ทั้งในเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน การเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนของคณาจารย์ในคณะที่ซ้ำซ้อน
       
โดยมีหลักฐานการกระทำผิดที่ชัดเจน พร้อมแทรกแซงการทำงานภายในคณะรวมทั้งไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น เล่นพรรคเล่นพวก เช่น กรณีการลาไปศึกษาต่อของคณาจารย์จะเป็นเฉพาะกลุ่มพรรคพวกของตนเองเท่านั้น และล่าสุดยังได้มีการเรียกประชุมเพื่อรับฟังปัญหาจาก ผศ.เอนก เทพสุภรณ์กุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ และรับปากว่าจะเข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าวภายในวันที่ 23 กรกฏาคมนี้
      
ซึ่งนางวริศรา เชนะโยธิน ประธานสาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์กล่าวว่า หลังเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือดำเนินการตามข้อร้องเรียน จึงทำให้มีคณาจารย์ในคณะอีกกว่า 20 คนต้องเดินทางไปยัง มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ วิทยาเขตบางคล้า เพื่อยื่นข้อเรียกร้องขอให้ปลด ผศ.ดร.พรพิมล วิริยะกุลย์ คณะบดี คณะวิทยาการจัดการอีกครั้ง ต่อ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวังพิธิยานุวัฒน์ นายกสภามหาวิทยาลัยฯ และทางนายกสภาฯ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ โดยได้นำเข้าที่ประชุมเป็นวาระแรก แต่ใที่ประชุมกลับมีมติให้ตีกลับเรื่องดังกล่าวมาให้ ผศ.เอนก เทพสุภรณ์กุล อธิการบดีฯ เป็นผู้พิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ โดยทางสภาฯ จะไม่มีการดำเนินการใดๆ
      
ด้านอาจารย์ผู้หนึ่งซึ่งสอนประจำภาควิชาวิทยาการจัดการ เผยว่า สาเหตุที่สภาฯ มีมติออกมาเช่นนี้ เพราะหนึ่งในคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย มี ผศ.ดร.พรพิมล วิริยะกุลย์ ผู้ถูกร้องเรียน นั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยและส่วนใหญ่กรรมการในสภาทั้ง 21 คน ล้วนแต่เป็นคนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้ถูกร้องเรียน
      
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคมที่ผ่านมา กลุ่มของรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ซึ่งประกอบด้วยนางพรพรรณ นินนาท รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ดร.สมศักดิ์ เอี่ยมคงสี
      
รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาฯ ผศ.ดร.กุลวดี โรจน์ไพศาลกิจ รองอธิการฯฝ่ายวิชาการ ผศ.สุมลวรรณ ยิ้มงาม รองอธิการฯ ฝ่ายกิจการนักศึกษา ผศ.มาณี พันธุ์เมือง ผู้ช่วยอธิการบดี และนายณัฐภูมิ สุทธกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ได้เรียกประชุมคณาจารย์ที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยอ้างว่าได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยฯ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการในการสอบสวนข้อเท็จจริง

โดยไม่มีการแสดงสำเนาหรือติดประกาศหนังสือคำสั่งแต่งตั้งให้แก่ทางคณาจารย์ที่ร้องเรียนรับทราบในรายละเอียด แต่กลับแสดงหนังสือที่อ้างว่าเป็นคำสั่งเพียงชั่วขณะโดยขอให้คณาจารย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวยุติการกระทำดังกล่าว และพยายามขอเอกสาร
      
และหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องต่อการร้องเรียนทั้งหมด ซ่งขณะนี้คณบดีรายที่ถูกร้องเรียนได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสภ.เมืองฉะเชิงเทรา ให้ดำเนินคดีต่อคณาจารย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้ว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ รักจัดหนัก: คำถามหนักๆถึง กสม.กรณีรายงานฉาว...!!!

Posted: 23 Jul 2011 07:15 AM PDT


จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) เรียกร้องให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศยุบสภาที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 12 มีนาคม 2553 จนนำมาสู่การที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าทำการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีความรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั้งทางแกนนำ นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553

จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีทั้งพยานที่อยู่ในเหตุการณ์และหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม. (National Humanrights Commision of Thailand NHRC) จึงเป็นจุดที่ถูกจับตาว่าจะมีรายงานข้อสรุปถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าวอย่างไร

หลังจากเวลาผ่านมากว่าปี มีเอกสารรายงานของกรรมการสิทธิ์ ในกรณีดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกมาจนเป็นที่สนใจในวงกว้าง มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการ สื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน และผู้อยู่ในเหตุการณ์ถึงความน่าเชื่อถือทั้งในด้านหลักการสิทธิมนุษยชน และ ข้อเท็จจริง ว่าน่าจะมีความคลาดเคลื่อนอย่างรุนแรง ทำให้กรรมการสิทธิ์ต้องได้ประกาศขอเลื่อนการรายงานผลการตรวจสอบ ของ กสม.ออกไป

กระทั่งในวันที่ 22 ก.ค.54  นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ และประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ร่วมกันจัดแถลงแถลงข่าว กรณีเหตุผลความล่าช้าในการเปิดเผยรายงาน “การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2553” ขึ้น

นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวจึงได้เข้าร่วมรับฟังและตั้งคำถามต่อนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม.)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีแผนพัฒนาภาคใต้ใต้พังงาจี้รัฐ เร่งพัฒนาคน–เลิกท่าเรือปากบารา

Posted: 23 Jul 2011 07:04 AM PDT

ประชุมกลุ่มย่อยแผนพัฒนาภาคใต้พังงา–ภูเก็ต–กระบี่ลื่น จี้รัฐเน้นพัฒนาศักยภาพประชากร รับนักท่องเที่ยว แนะเปิดสอนภาษาประเทศเพื่อนบ้าน รับเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ระบุควรหยุดท่าเรือปากบารา เลิกสร้างท่าเรือขนาดใหญ่
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 กรกฎาคม 2524 ที่โรงแรมภูงา อำเภอเมือง จังหวัดพังงา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็นในโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ครั้งที่ 1 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากจังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ตบางตา
 
นายสุทัศน์ วรรณเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว กล่าวต่อที่ประชุมว่า พื้นที่จังหวัดแถบอันดามัน มีบทบาทหลักในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รัฐบาลจึงสนใจจะพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นนี้มากที่สุด สำหรับจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ อยู่ตรงที่เป็นแหล่งหลอมรวมวัฒนธรรมไทย จีน มุสลิม มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สามารถส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ ส่วยจุดอ่อนของการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้อยู่ที่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเกาะภูเก็ต ในฝั่งอันดามัน หรือเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฝั่งอ่าวไทย นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย และความสะดวกสบาย เช่น ไม่มีท่าเรือท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีแต่การปรับเปลี่ยนท่าเรือประมง มาเป็นท่าเรือรองรับนักท่องเที่ยว
 
“จากการศึกษาพบว่า ความต้องการของนักท่องเที่ยวมีสองแบบคือ ท่องเที่ยวแบบสันโดษ เน้นธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และท่องเที่ยวชมความเจริญ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเน้นความสะดวกสบาย” นายสุทัศนื กล่าว
 
นายสุทัศน์ กล่าวอีกว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่มีตำแหน่งทางการตลาดของชายหาดคือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ในมุมมองของนักท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศมีคุณสมบัติความใกล้เคียงกับประเทศไทย ถ้าปล่อยให้แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยเสื่อมโทรม ย่อมเสี่ยงที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่าค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศไทยยังสูงกว่าประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย นักท่องเที่ยวจึงหันไปท่องเที่ยวสองประเทศดังกล่าว มากกว่าเลือกเที่ยวในประเทศไทย
 
ตัวแทนจากภาคประชาสังคมสะท้อนว่า ที่ผ่านมารัฐไม่ได้จัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม พร้อมกับเสนอให้เพิ่มมหาวิทยาลัย และเพิ่มสถานบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ประชาชนสามจังหวัดนี้ ต้องเดินทางไปรับการรักษาที่ดีจากพื้นที่อื่น ทั้งๆ ที่พื้นที่นี้สร้างรายได้ให้ประเทศมาก แต่ไม่มีสถานบริการโดยเฉพาะทางการแพทย์ที่ตรงกับความต้องการของคนที่นี่
 
ผู้เข้าร่วมประชุมยังสะท้อนให้เห็นว่า จากสถิติปริมาณประชากรของจังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนมากขึ้น แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่า เป็นประชากรแฝงที่อพยพเข้ามาทำงานและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ โดยไม่ยอมย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ ส่วนนี้ได้กลายเป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแล ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับงบประมาณในการดูแลประชาชนน้อยกว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่จริง เนื่องจากได้รับงบประมาณจากจำนวนประชากรที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้าน ทำให้รายได้กับรายจ่ายของท้องถิ่นไม่สัมพันธ์กัน
 
“คนกระบี่ทำงานระดับไหน ในโรงแรมที่มีมีถึงหมื่นห้อง ความจริงก็คือ คนกระบี่ส่วนใหญ่เป็นเพียงเด็กทำความสะอาด เพราะระดับการศึกษาต่ำ คนยังไม่พร้อมรับแผนเปิดรั้วประชาคมโลก” เป็นเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมประชุม
 
สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานราคาถูก ทางผู้เข้าร่วมประชุมระบุว่า สัมพันธ์กับคุณภาพกิจการที่มีอยู่ในพื้นที่ ส่วนเรื่องคุณภาพของสถานบริการต่างๆ ในพื้นที่ ถ้าสนับสนุนให้มีการยกระดับคุณภาพในขั้นสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่คุณภาพได้ ผู้ประกอบการจะใส่ใจเรื่องคุณภาพการบริการมากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการในพื้นที่ตระหนักเรื่องนี้น้อยลง ทำให้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวราคาถูก ส่งผลให้คุณภาพการให้บริการลดลงไปด้วย อีกปัญหาหนึ่งคือ การเปิดกว้างรับนักท่องเที่ยวมากเกินไป ทำให้การดูแลรักษาทรัพยากรลำบาก
 
ผู้เข้าประชุมยังเสนออีกว่า ปัจจุบันอาหารที่ใช้รองรับนักท่องเที่ยวด้านฝั่งอันดามัน ยังต้องนำเข้ามาจากที่อื่น ทำให้ตัวเลขการลงทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ควรสนับสนุนให้พื้นที่มีแหล่งอาหารรองรับการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตรอีกทางหนึ่งด้วย
 
ร.ท.ดร.สุพรชัย ศิริโวหาร ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีโครงการโรงเรียนนำร่อง เปิดสอนภาษาของประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน นักเรียนสามารถเลือกเรียนภาษาใดก็ได้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับตลาดแรงงานที่เปิดกว้างในอนาคต รวมทั้งมีการเสนอให้จัดตั้งศูนย์การศึกษาอาเซียน ในระดับอาชีวะและสามัญ เน้นการสอนภาษายาวี และภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาพม่า เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวพม่า ถ้าสื่อสารกันไม่เข้าใจ นายจ้างกังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นมาได้ ขณะนี้มีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา เปิดสอนวิชาภาษาพม่าแล้ว
 
ร.ท.ดร.สุพรชัย กล่าวว่า การจัดการเรื่องการศึกษาตามที่ท้องถิ่นเสนอ สามารถทำได้เลย เพราะสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้ตามที่ต้องการได้ เช่น เรื่องภาษาอาเซียน ปัญหาคืออัตราการจัดจ้างครู หรืองบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ เว้นแต่จะให้โรงเรียนแต่ละโรงไปสังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นให้การสนุนงบประมาณ
 
“สำหรับมหาวิทยาลัยอันดามัน ที่มีผู้เสนอในเวทีนั้น ขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกระบี่ เปิดสอนวิชาพานิชยนาวีแล้ว มหาวิทยาลัยอันดามันจะเป็นสถานศึกษาที่เน้นตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เน้นวิชาการที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ตามความต้องการของท้องถิ่น เช่น สาขาวิชาด้านพืช–ปาล์มน้ำมัน การเกษตร ภาควิชาวิศวกรรมการต่อเรือ และภาคการท่องเที่ยว” ร.ท.ดร.สุพรชัย กล่าว
 
ผู้เข้าร่วมประชุมยังเสนอด้วยว่า ไม่ควรสร้างท่าเรือขนาดใหญ่แห่งใหม่ เพราะจะมีปัญหากับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ควรพัฒนาท่าเรือกันตัง จังหวัดตรังที่มีอยู่แล้วขึ้นมา เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ต้องการท่าเรือกับผู้ได้รับผลกระทบ
 
สำหรับนักเรียนในสถาบันปอเนาะ ที่ถูกมองว่าไม่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านแรงงาน ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอให้เร่งจัดการแก้ปัญหานี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรกลุ่มนี้ เป็นปัญหาสังคม หรือเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีงานทำ
 
พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ท้วงติงให้ปรับข้อมูลในเอกสารที่ระบุว่า ฝั่งอันดามันมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวทางทะเลอันดับหนึ่ง เพราะข้อเท็จจริงประชากรส่วนใหญ่ ยังคงมีรายได้จากภาคเกษตรเป็นหลัก จากการท่องเที่ยวเป็นรอง และการท่องเที่ยวที่เป็นอยู่ ยังคงเป็นการท่องเที่ยวแบบไม่ยั่งยืน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สุราษฎร์–ชุมพร’ ยันเลิกแผนพัฒน์ใต้ สภาอุตสาหกรรมไม่เอาเมกะโปรเจ็กต์

Posted: 23 Jul 2011 06:58 AM PDT

คนสุราษฎร์–ชุมพร ยันต้องเลิกแผนพัฒนาภาคใต้ จี้ “สภาพัฒน์” หยุดสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งรัฐชาวบ้าน สภาอุตสาหกรรมสุราษฎร์ฯ ประกาศลั่นไม่เอาเมกะโปรเจ็กต์
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องเพทาย โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาฯ โครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว โดยมีหอการค้า ภาคเอกชน อ็นจีโอ ส่วนราชการ และประชาชนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร เข้าร่วมประชุมประมาณ 40 คน
 
นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช ผู้เชี่ยวชาญการวางผังเมือง กล่าวต่อที่ประชุมว่า การพัฒนาพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย จะเน้นด้านสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เช่น การแปรรูปปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และการแปรรูปอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ภาคเกษตรกรรม สำหรับพื้นที่ที่เหมาะที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรคือ จังหวัดสุราษฏร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา
 
นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาคใต้เป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ เคยมีแนวคิดจะขุดคอคอดกระ มีการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้มาแล้วหลายฉบับ แต่ภาครัฐขาดนโยบายที่ชัดเจน จึงไม่เห็นรูปธรรมของการพัฒนา หลังจากแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติฉบับที่ 11 ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาประเทศจะเป็นรูปธรรมขึ้น
 
นายชาญชัย ช่วยจันทร์ สมาชิกพรรคการเมืองใหม่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสนอว่า เท่าที่ตนอ่านเอกสารที่บริษัทที่ปรึกษาสภาพัฒน์แจกนั้น เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานทั่วไป หลายข้อมูลเป็นข้อมูลเก่าของปี 2551 ควรมีข้อมูลของปี 2553 – 2554 มาประกอบด้วย บริษัทที่ปรึกษารับงานจากสภาพัฒน์มีระยะในการทำงานระหว่างเดือนกรกฎาคม 2553–เดือนกันยายน 2554 เหลือระยะเวลาการทำงานแค่ 2 เดือนได้ข้อมูลมาแค่นี้ ถือว่าบกพร่องอย่างมาก
 
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร ไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานถลุงเหล็ก ต้องการให้รัฐเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ถ้าปล่อยให้บริษัทขุดเจาะน้ำมัน เข้ามาขุดเจาะใกล้แหล่งท่องเที่ยว จะกระทบกับธุรกิจการท่องเที่ยวแน่นอน นี่คือสาเหตุของการลุกขึ้นมาต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันของคนเกาะสมุย และเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตนขอให้บริษัทที่ปรึกษา แจ้งต่อคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้รัฐบาลยกลิกแผนพัฒนาภาคใต้
 
นายนพชัย ส่งเสียง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 14 กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพน้ำของอ่าวไทย บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร ตามที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอเป็นข้อมูลเก่า ถ้าต้องการข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สามารถขอจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 14 ได้
 
นายจตุพร วัชรนาถ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต่อที่ประชุมว่า ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีมติว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่ควรอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เพราะไม่ต้องการให้ใครนำปัญหาในรูปของแผนพัฒนามายัดเยียดให้กับภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร ต้องการให้รัฐแก้ไขระบบการขนส่งในประเทศให้สะดวก และให้มีระบบขนส่งทางรางเพื่อลำเลียงสินค้า โดยให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
 
นายจตุพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ทางโรงงานต้องการความสด จึงต้องการระบบการขนส่งที่รวดเร็วและประหยัด โรงงานอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตร ควรกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ควรกระจุกตัวเหมือนมาบตาพุด ของเสียจากโรงงานเป็นของเสียจากจุลินทรีย์สามารถบำบัดด้วยเทคโนโลยี หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น นำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล
 
นายจตุพร ระบุว่า เอกสารประกอบการประชุมที่จัดทำโดยบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ปรึกษา หน้า 10 บรรทัดสุดท้ายตนในฐานะผู้ประกอบการโรงงานปาล์มน้ำมันพบว่า ปริมาณปาล์มน้ำมันคลาดเคลื่อน ไม่ทราบไปเอาข้อมูลมาจากไหน
 
“ภาคใต้ไม่มีศักยภาพในการรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ผมพอใจที่จะขนสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ควรมีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล หรือท่าเรือน้ำลึกที่ไหนใดๆ อีกแล้ว ควรศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มทุนด้วย” นายจตุพร กล่าว
 
นายนภดล ศรีภัทรา ผู้ประกอบการบริษัท หัวถนน (สุราษฎร์ธานี) จำกัด กล่าวต่อที่ประชุมว่า การผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลงมายังภาคใต้ เป็นความผิดพลาดของภาครัฐ ถึงวันนี้จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่จำเป็นต้องมีโครงการอะไรอีกแล้ว สิ่งที่ควรพัฒนาให้ชัดเจนคือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ
 
นายรนเทพ คมศิลป์ สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร กล่าวต่อที่ประชุมว่า กระบวนการผลักดันให้มีโรงงานถลุงเหล็กในจังหวัดชุมพร มีการแอบอ้างว่า จะส่งผลให้มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ทำให้เกิดรถไฟรางคู่ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีการก่อสร้างเขื่อน เพื่อนำน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าเป็นเขื่อนแก้ปัญหาภัยแล้ง
 
นายประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต เปิดเผยว่า ตนเป็นคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมประชุมมา 15 ครั้ง แต่ที่ตนมาในวันนี้ เนื่องจากได้รับการฟอร์เวิร์ดเมลล์ต่อๆ กันมา
 
“การทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจริงๆ ไม่ใช่จัดการประชุมแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อดำเนินกระบวนการให้ครบตามขั้นตอน ผมและเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ชอบธรรม ข้อมูลที่ใช้ไม่เป็นปัจจุบัน” นายประวีณ กล่าว
 
นายศักดิ์ชัย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ตนได้รับงบประมาณในการจัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นฯ แค่ 4 ล้านกว่าบาท และได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วม การลงพื้นที่มาจัดประชุมทั้ง 7 เวที ควรจะดำเนินการมาก่อนหน้านี้ แต่ติดปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ และอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง ทางบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด จึงสร้างเฟซบุ๊คชื่อผังพัฒนาภาคใต้ และสร้างอีเมลล์ Urb@cot.co.th ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมาร่วมนำเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม
 
นายนภดล ถามนายศักดิ์ชัยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติฉบับที่ 11 ของสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ทำไมถึงยังจ้างบริษัทจัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้อยู่อีก จะนำแผนพัฒนาที่ระดมควสามคิดเห็นครั้งนี้ เข้าแผนยุทธศาสตร์ได้ทันหรือ
 
นายศักดิ์ชัย ตอบว่า คงจะไม่ได้นำบรรจุเข้าแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติฉบับที่ 11 แต่บริษัทจะรายงานการศึกษาไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาทบทวน แต่ตนก็ไม่ยืนยันว่าข้อมูลที่ศึกษาทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะนำไปดำเนินการอย่างไรต่อไป
 
นางนภา สุทธิภาค สมาคมประชาสังคมชุมพร หนึ่งในกลไกสมัชชาสุขภาพ ถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น การจัดการประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้จะมีความหมายอะไร
 
นายสมชาย มโนธัม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หากภาครัฐยังดึงดันเดินหน้าแผนพัฒนาภาคใต้ จะเป็นชนวนก่อให้เกิดความรุนแรงระหว่างคนภาคใต้กับรัฐบาลส่วนกลาง
 
“ชาวบ้านอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าบ้านตัวเองจะมีโรงถลุงเหล็ก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยังไม่ทราบว่าโครงการเหล่านี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเขา หยุดการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน จากแผนพัฒนาภาคใต้เสียที” นายสมชาย กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผลสำรวจคนพอใจ ศอ.บต. แถลงผลงาน 6 เดือน 9 งานเด่น

Posted: 23 Jul 2011 06:52 AM PDT

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมซากูระ แกรนวิว อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ เป็นประธานการแถลงข่าว “ศอ.บต. ใหม่ 6 เดือน 9 งานก้าวหน้าเพื่อชายแดนใต้” มีสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 คนร่วมแถลงข่าว
 
นายภานุ แถลงว่า ตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน 2554 ปรากฏ 9 งานเด่น ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่ม มีความมั่นใจในรัฐมากขึ้น ผลการสำรวจขอสวนดุสิตโพล พบว่า ประชาชนมีความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คิดเป็นร้อยละ 74.10 ประชาชนมีความสามัคคี และหมู่บ้าน/ชุมชนมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 76.08
 
นายภานุ แถลงต่อไปว่า ประชาชน รู้สึกมั่นใจความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และเชื่อมั่นในการะบวนการยุติธรรม ร้อยละ 56.68 โดยมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ประเมินการศึกษาโครงการภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552-2553 และเฉพาะ ปี 2554 เป็นปีแห่งการส่งเสริมมาตรฐานฮาลาลในจังหวัดชายแดนใต้ ศอ.บต. ตั้งศูนย์บริการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล (One Stop Service) เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าในจังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นที่ยอมรับ ในโลกมุสลิมและทั่วโลก
 
นายภานุ แถลงอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการนำสินค้า OTOP ของดีใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ มาโชว์ในการแถลงข่าวในครั้งนี้ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า OTOP ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ช่วยสร้างรายให้เพิ่มกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนใต้
 
นายภานุ แถลงว่า ศอ.บต. เป็นหน่วยงานเฉพาะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 เป็นเป็นหน่วยงานงานในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพโดยการประสานบูรณาการด้านการพัฒนา ควบคู่กับการแก้ปัญหาความมั่นคงของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เน้นกระบวนการ มีส่วนร่วมของภาคประชาชนและหลักนิติธรรม ยึดหลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงตามแนวทางสันติวิธี
 
นายภานุ แถลงว่า ศอ.บต.เน้นการมีส่วนร่วมโดยตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วน นำไปสู่ “ศอ.บต.ของเราทุกคน มั่นใจ พึ่งได้” และนำการพัฒนาแก้ไขความไม่เป็นธรรม อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ บูรณาการแผนงาน กำกับเร่งรัดติดตามการปฏิบัติ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ อำนวยความเป็นธรรม การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
นายภานุ แถลงว่า ศอ.บต.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมการสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมการศึกษา พหุวัฒนธรรม กิจการฮัจย์ การสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้นซึ่งเปรียบเหมือนรัฐบาลส่วนหน้า บูรณาการดำเนินงานครอบคลุมถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้สามารถดำเนินการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงรวดเร็ว
 
นายภานุ แถลงว่า ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินงานของส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาชนทุกภาคส่วนสร้างความเชื่อถือศรัทธา การแก้ไขปัญหา ที่ใช้การเมืองนำการทหาร
 
ที่มา สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใครคือผู้ปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตัวจริง

Posted: 23 Jul 2011 06:47 AM PDT

คำตอบคือสามัญชน หาใช่ใครอื่น ผมเคยทำงานเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง เวียดนาม ไปบรรยายในโครงการของกระทรวงการคลัง กัมพูชา ไปร่วมกับหอการค้าลาว และพม่าจัดสัมมนา และไปทำสำรวจวิจัยอสังหาริมทรัพย์ในประเทศภูมิภาคนี้หลายครั้ง จึงพอรู้เรื่องอินโดจีนบ้าง ผมจึงมั่นใจว่าคนที่ออกมาเย้ว ๆ ว่ารักชาตินั้น มีเพียงส่วนน้อยที่รักจริง แต่ส่วนใหญ่ก็แค่มาแสดงเพื่อเอาดีใส่ตัว ผู้ที่เป็นตัวจริงในการปกป้องบ้านเมือง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คือสามัญชนคนธรรมดาต่างหาก

จากประสบการณ์สงครามอินโดจีนในกรณีลาว เขมร เวียดนามที่เมื่อใกล้ ‘กรุงแตก” คนที่หนีไปก่อนเป็นใครบ้าง

1. พวกคหบดีมีอันจะกิน หรือชนชั้นสูง หากเกิดอะไรขึ้น พวกนี้ก็เตรียมตัวเปิดหนีไปต่างประเทศได้ทันที จำนวนมากก็มีสัญชาติหรือ ‘กรีนการ์ด’ สหรัฐอเมริกาหรือชาติอื่นอยู่แล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติจริง ก็พร้อมจะ ‘สละเรือ’ ได้ทุกเมื่อ

2. อาจารย์ ปัญญาชน – ชนชั้นกลางค่อนข้างสูงที่มีโอกาสไต่เต้า หากเกิดกรณี ‘สิ้นชาติ’ พวกเขาคงไม่อยู่ให้เสียความปลอดภัยของครอบครัว หรือเสียเวลาแห่งความสุขของตัวเองแน่นอน

3. นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมักบูชายศศักดิ์ และยิ่งมียศศักดิ์สูง ยิ่งเห็นคนอื่นต่ำต้อยด้อยค่า คนระดับนี้มีทรัพย์ศฤงคารมากมายอย่างไม่ปรากฏที่มา ในประวัติศาสตร์อินโดจีนที่ผ่านมา พวกนายพล นายพันทั้งหลายหนีไปซุกใต้ปีกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกที่พวกเขาล้วนเรียนจบมา และประเทศเหล่านี้ก็รู้ว่าพวกเขามีทรัพยากรมาก จะได้ไปช่วยสร้างชาติให้พวกฝรั่งตาน้ำข้าวอีกต่อหนึ่ง

4. ข้าราชการระดับสูง ซึ่งมีสถานะไม่ต่างจากพวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ พวกเขาสุขสบายด้วยอภิสิทธิ์มากมายในสมัยรับราชการ พวกนี้ทำตัวให้ชาติเลี้ยง สูบเลือดจากชาติมากกว่าที่จะทำดีเพื่อชาติ

แต่ในยามสงบ คนเหล่านี้ส่งเสียงดังในการโฆษณาชวนเชื่อในการปกป้องชาติกันใหญ่ ซึ่งก็คงเป็นการทำตามกระแส ทำเพื่อเอาดีใส่ตัว เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เพื่อหลอกให้สามัญชนไปตายแทนพวกตน หรือทำไปตามหน้าที่เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางคนในกลุ่มข้างต้นที่ไม่หนีและอยู่ร่วมกู้ชาติจนตลอดรอดฝั่ง แต่ก็คงเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น

ส่วนสามัญชนคนทั่วไปนี่แหละที่อยู่ปกป้องชาติ และฟื้นฟูชาติตัวจริง พวกเขาคือผู้ที่ไปตายเพื่อชาติในสงครามต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่เคยได้ก่อ แต่มักก่อโดยชนชั้นปกครอง แม้ในยามชาติล่มจม เช่น ลาว เขมร เวียดนาม สามัญชนนี่แหละคือผู้ที่ยังอยู่สร้างชาติขึ้นมาใหม่ พวกเขาต้องอยู่เผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายร่วมกับประเทศชาติในภาวะตกต่ำสุดขีด ประเทศอินโดจีนที่ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่นั้นเป็นเพราะพวกสามัญชน “ฝุ่นเมือง” ที่ไร้ที่ไปนั่นเอง พอพวกเขาได้มีโอกาสทำมาหากินตามปกติสุข เศรษฐกิจก็เดินหน้าต่อไปได้

สามัญชนคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละที่บำรุงชาติ เพราะพวกเขาเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ประเทศชาติอยู่ได้ เจริญขึ้น สามัญชนเหล่านี้กลายเป็นแรงงานราคาถูกให้กับนายทุนข้ามชาติที่มาลงทุน จึงทำให้ประเทศเจริญขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด และเมื่อฝุ่นจางลงแล้ว ประเทศเข้าสู่ความสงบอีกครั้ง พวกสามัญชนได้สร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่จนมั่นคงแล้ว เหล่าคหบดี ปัญญาชน-กฎุมพีชาวลาว เขมร เวียดนาม ที่หนีไปก่อนหน้านี้และตอนนี้กลายเป็นอเมริกันชนไปแล้ว ก็ได้ทีกลับมาทำมาหากินในประเทศเกิดอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเรารู้แล้วว่าสามัญชนนี่แหละคือคนปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตรย์ ตัวจริง เราจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของประชาชนคนเล็กคนน้อยในประเทศเป็นสำคัญ นโยบายของรัฐจึงต้องทำเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่พวกคหบดีใหญ่หรือพวกอภิสิทธิ์ชนที่มีทางเลือกซึ่งมักไม่คิดจะอยู่ช่วยกู้ชาติ แต่จะค่อยกลับมาในยามสงบแล้วเท่านั้น
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ผู้ว่าฯ ตรัง เผยกรมอุทยานฯ ย้ายตัดถนนกันแนวเขตเขาบรรทัด ไปพัทลุง

Posted: 23 Jul 2011 06:37 AM PDT

หนังสือจาก ผู้ว่าฯ ตรัง แจงเครือข่ายที่ดินเขาบรรทัด เผยตัดถนนกันแนวเขตเขาบรรทัดเป็นโครงการต้องก่อสร้างในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ แจงกรมอุทยานฯ ยอมย้ายจากตรังไปพัทลุงแทน ด้านเครือข่ายฯ จวกแค่ย้ายไปทำก่อนในพื้นที่ที่ไม่มีการต่อต้าน

สืบเนื่องจาก กรณีที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชยุติการก่อสร้างถนนกันแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่ ม.1 ต.โพรงจระเข้ ม.4 และ ม.8 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่งมีการดำเนินการไปแล้วราว 6 กม.เนื่องจากละเมิดสิทธิชุมชน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
 
 
วันนี้ (23 ก.ค.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมีหนังสือตอบกลับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ลงวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการของกรมอุทยานฯ เพื่อประโยชน์ในการเป็นแนวเขตของพื้นที่และเป็นเส้นทางการตรวจการณ์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดเคลื่อนไหวคัดค้านก็ได้มีการชะลอโครงการ และย้ายพื้นที่การดำเนินโครงการไปในพื้นที่ ม.2 ม.4 และ ม.7 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา จ.พัทลุง แทน
 
หนังสือดังกล่าวชี้แจงด้วยว่า แผนงานโครงการก่อสร้างถนนป่าไม้ลำลองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดเป็นนโยบายของกรมอุทยานฯ ที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างถนนป่าไม้ลำลองภายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 จึงได้เสนอกรมอุทยานฯ ให้ย้ายพื้นที่ดำเนินการโครงการดังกล่าว ไปบริเวณอื่นของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดซึ่งชุมชนรอบพื้นที่มีความต้องการ
 
 
ด้านบัณฑิตา อย่างดี กองเลขาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า การตัดถนนกันแนวเขตจะทำในแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดทั้งหมด ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร แต่เริ่มทำที่ ต.โพรงจระเข้ ต.นาชุมเห็ดก่อน ดังนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นการย้ายพื้นที่โครงการ แต่เป็นการลงมือทำในพื้นที่ๆ ทำได้ง่ายก่อน ส่วนพื้นที่ๆ ทำยาก ค่อยทำทีหลัง ทั้งนี้ โครงการตัดถนนกันแนวเขต ไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ทับลาน ตะวันตก ก็มีโครงการลักษณะเดียวกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียด
 
บัณฑิตา กล่าวด้วยว่า กรณีเทือกเขาบรรทัด ถนนนี้ไม่มีประโยชน์กับชุมชนและสังคมเลย เพราะไม่ได้เชื่อมต่อกับชุม​ชน เป็นถนนแนวขวางซึ่งเป็นการแบ่งแยกชุมชน ไม่ได้กันแนวเขตรักษาพันธุ์​สัตว์ป่าตามความเป็นจริง และยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดดินและหินถล่ม เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินร่วนปนทราย การที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าการ​ตัดถนนนี้จะช่วยรักษาป่าได้​ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แต่จะเปิดทางสะดวกให้คนทำไม้เถื่อน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เครือข่ายฯ​ ร่วมกันคัดค้านโครงการดังกล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

SIU: “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” คุณประโยชน์หรือโทษภัย?

Posted: 23 Jul 2011 06:31 AM PDT

เรื่องค่าจ้างแรงงานไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถอภิปรายกันได้โดยง่ายเพราะมีแง่มุมที่ต้องพิจารณาหลากหลายครับ นับตั้งแต่เรื่อง ความเป็นธรรมทางสังคม (Equity), เรื่องประสิทธิภาพในการแข่งขันของผู้ผลิต (Competitiveness), เรื่องการย้ายถิ่นแรงงานระหว่างพื้นที่ภายในประเทศ, เรื่องแรงงานต่างด้าวและความมั่นคง, เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, เรื่องความมั่นคงในชีวิตและความผาสุขประชากร ฯลฯ ค่าจ้างแรงงานจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจจะกล่าวได้อย่างถี่ถ้วนครอบคลุมภายในบทความเดียว บทความนี้จึงเป็นบนความที่จะเริ่มต้นจากการตอบคำถามสำคัญเพียงประการเดียวคือ การปรับค่าจ้างแรงงานส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจมากน้อยเพียงใดในการดำเนินกิจการ

จากตัวเลขการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานปี 53 (ตัวที่อัพเดตที่สุดขณะนี้คือปี 54 ครับ) พบว่าค่าจ้างแรงงานมีความแตกต่างกันทั่วประเทศโดยภูเก็ตมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงที่สุดคือ 221 บาท, กรุงเทพและปริมณฑลสูงรองลงมาได้แก่ 215 บาท ไล่เรียงไปกระทั่งพะเยามีค่าจ้างแรงงานต่ำที่สุดคือ 159 บาท ซึ่งภายหลังพรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทออกมาก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าจะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคธุรกิจ

หากคิดจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่สูงสุดในปัจจุบัน หมายความว่า ค่าจ้างขั้นต่ำจะสูงขึ้นถึงราว 35.74% และ หากเทียบกับจังหวัดที่ค่าจ้างแรงงานถูกที่สุดถือว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่รัฐบาลเสนอมีส่วนเพิ่มถึงกว่า 88.67% โดยตัวเลขนี้สูงกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศเอาไว้อย่างมาก (ปชป. ประกาศไว้ที่ 25%)

เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นกว่าหนึ่งในสาม กระทั่งกว่าเท่าตัว, ภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบขนาดไหน… คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับ (1) ขนาดและกำลังการผลิตรวมถึงผลิตภาพของแรงงาน (2) ระดับความเข้มข้นการใช้แรงงานราคาถูก (Degree of low skill labor intensive) และ (3) กำไรขั้นต้นต่อชิ้นสินค้า เป็นต้น

ผมจะลองคำนวณแบบง่ายๆนะครับ สมมติให้บริษัทๆหนึ่งมีพนักงาน 1,000 คนที่ถูกจ้างด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ 159 บาท (เอาแบบให้ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดไปเลยคือ +88.67%) บริษัทแห่งนี้ผลิตสินค้าโดยพนักงานคนละ 100 ชิ้นต่อวัน โดยสินค้าแต่ละชิ้นมีกำไรชิ้นละ 10 บาท ผลกระทบที่บริษัทในลักษณะแบบนี้จะได้รับก็คือ

หากค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานถูกผลักขึ้นไปที่ 300 บาท นายจ้างต้องเสียค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 141*1000 = 141,000 บาทต่อวัน ในขณะที่สินค้าที่แรงงานทั้งหมดผลิตขึ้นได้มีจำนวณ 100,000 ชิ้นต่อวันโดยแต่ละชิ้นให้กำไรชิ้นละ 10 บาท นั่นเท่ากับว่ากำไรขั้นต้นต่อวันที่โรงงานแห่งนี้จะได้จะอยู่ราววันละ 1,000,000 บาท ดังนั้นสุทธิแล้วบริษัทแห่งนี้จะทำให้ได้กำไรลดลงมาจาก 1,000,000 เหลือ 1,000,000 – 141,000 = 859,000 บาท หรือกำไรลดลงราว 14.1% ซึ่งหากคิดเฉลี่ยถัวไปเป็นผลกระทบต่อกำไรของสิ้นค่าแต่ละชิ้น (Unit cost) แล้วจะพบว่ากำไรของสิ้นค้าแต่ละชิ้นจะลดลงจากที่เคยได้ชิ้นละ 10 บาทเป็น 8.59 บาท หรือกล่าวได้ว่ากำไรหายไปชิ้นละ 1 บาท 41 สตางค์ นั่นเอง

จากจุดนี้ผมคิดว่าเราคงพอจะเห็นอะไรบางอย่าง กล่าวคือ ภายใต้นโยบายการเพิ่มค่าจ้างแรงงานซึ่งทำให้รายได้ของแรงงานในพื้นที่รายได้น้อย สูงขึ้นกว่า 88% ทว่า ผลกำไรของบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ลดลงเพียงราว 14% เท่านั้น (ภายใต้สมมติฐานหลายประการ เช่น แรงงานควรมีประสิทธิภาพการผลิต และผลิตภัณฑ์ควรมีกำไรต่อหน่วยสูงขนาดหนึ่ง ฯลฯ)

ผมอยากเรียกกระบวนการนี้ว่า กระบวนการแลกได้แลกเสียระหว่างความมั่งคั่งของนายจ้างกับลูกจ้าง และสัดส่วนของผลกระทบที่นายจ้างได้รับ ต่อลูกจ้างได้รับจากการปรับค่าจ้างแรงงาน (-14/+88) น่าจะเรียกว่า สัดส่วนความอ่อนไหว (Sensitive fraction) ที่บ่งชี้ว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบกี่ % ต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน 1 % ในกรณีตัวอย่างจะพบว่า ค่าจ้างแรงงานอ่อนไหวไม่มาก คือ ราว -0.15% ซึ่งหมายความว่าหากค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น 1% จะทำให้กำไรของนายจ้างลดลง 0.15% นั่นเอง

สัดส่วนความอ่อนไหวนี้ไม่ได้เท่ากันในทุกบริษัท บางบริษัทซึ่งมีความอ่อนไหวจากการปรับค่าจ้างแรงงานนี้มากก็อาจจะถึงขั้นปิดกิจการลงไปได้จากนโยบายการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ในทางกลับกันอาจมีบางบริษัทที่แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย, ซึ่งต้อแยกพิจารณากันต่อไปอย่างถี่ถ้วนยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่าน่าคิดต่อก็คือ การที่เรากล่าวโดยทันทีว่าการขึ้นค่าจ้างแรงงานจะทำให้บริษัทประสบความยากลำบาก ในบางครั้งจึง ไม่ใช่ความจริงเชิงข้อเท็จจริง (Factual truth) แต่เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้น (Produced truth) หรือที่เรียกว่าวาทกรรม

วาทกรรมที่ว่านายจ้างทุกคนจะต้องแย่แน่ๆ หากมีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นนั้น ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานาน เฉกเช่นเดียวกับวาทกรรมเรื่องอื่นๆที่ประคองกำไรให้แก่นายจ้าง ผู้ประกอบการกระฎุมพีทั้งหลาย เช่น วาทกรรมเรื่องภาษีที่ดินและทรัพย์สินจะทำให้เกษตรกรลำบาก, ภาษีมรดกไม่มีผลต่อการจัดเก็บจริง (งั้นก็ให้กฎหมายออกมาซิ ทำไมต้องกลัว), การเก็บภาษีฐานทรัพย์สินจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ฯลฯ สิ่งที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ มีความจริงบางส่วนแต่หลายส่วนก็ถูกขยับขยายข้อเสียหรือข้อควรระวังให้น่ากลัวเกินจริง เรียกได้ว่าเป็นโลกมายาของทุนนิยม (Capitalism fantasy) ที่หลอกให้คนจำนวนมากและรัฐบาลไม่กล้าที่จะผลิตนโยบายซึ่งกระทบต่อผลกำไรของกลุ่มทุนเอาเสียเลย

ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าค่าจ้างแรงงานที่สูงนั้นไม่ใช่ตัวชี้ขาดเดียวในการกำหนดความได้เปรียบของประเทศในการแข่งขัน ยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก อาทิ ระบบโลจิสติก, ผลิตภาพและทักษะฝีมือแรงงาน, ฐานทรัพยากรที่จำเป็นทางการผลิต, ตลาดและสายการผลิตที่เกี่ยวเนื่อง ฯลฯ ถ้าค่าจ้างแรงงานคือตัวชี้ขาดความสามารถในการแข่งขันและกำไรจริงๆ ทำไมลำพังในประเทศ จังหวัดที่ค่าจ้างแรงงานถูกสุดอย่างพะเยาไม่มีโรงงานมากสุด หรือกำไรของนิติบุคคลสูงสุดหละครับ!!!

บทความหน้าลุ้นกันนะครับว่า มิติไหนของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำบ้างที่เราจะหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เสียงจากคนจน กลางดงยูคาฯ

Posted: 23 Jul 2011 04:57 AM PDT

เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีสำหรับการเข้าปักหลักตั้งถิ่นฐานในที่ดินเดิมของชาว “ชุมชนบ่อแก้ว” ด้วยความคิดที่ว่า “โฉนดชุมชน” เป็นทางออกของปัญหาที่ทำกิน และหลักประกันเพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดินของเกษตรกร เมื่อที่ดินไม่ใช่สินค้า แต่เป็นฐานความมั่นคงของชีวิต

 
 
(1)

“โฉนดชุมชน” คือความมั่นคง ไม่ใช่สินค้า
 
ผ่านไป 2 ปี กับการทำหน้าที่เผยแพร่แนวคิดและกระบวนการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชนของชุมชนบ่อแก้ว และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ณ วันนี้ การบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ยังเป็นแนวทางที่พวกเขาเชื่อมั่นร่วมกันว่า จะสามารถนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
 
ครบรอบ 2 ปี สำหรับการเข้าปักหลักตั้งถิ่นฐานในที่ดินเดิมของชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ หลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้หรือ อ.อ.ป.ได้ผลักดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่เพื่อให้เข้ามาปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสนานกว่า 30 ปี การได้กลับมาเหยียบผืนดินของบรรพบุรุษอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่การถูกดำเนินคดีรายวัน ทำให้ชีวิตของคนที่นี่ยังถูกแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน
 
 
อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน มองว่า แนวคิดโฉนดชุมชนเป็นความพยายามในการป้องกันไม่ให้ที่ดินเป็นสินค้าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมากเกินไป ซึ่งเอาสิทธิรวมหมู่ สิทธิของชุมชนมาเป็นตัวป้องกันไว้ ให้ที่ดินเป็นสิทธิของชุมชนโดยรวม แล้วถ้าจะเปลี่ยนมือก็เปลี่ยนมือกันในชุมชน อันนี้จะทำให้เกิดความมั่นคงในการดำรงอยู่และสืบทอดวิถีการทำมาหากินของชุมชน
 
นอกจากร่วมกันพลิกฟื้นแผ่นดินเดิมด้วยการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมแล้ว การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชของชุมชนบ่อแก้ว ถือเป็นประจักษ์พยานในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อเลี้ยงชีพ เพราะนั่นคือวิถีชีวิตที่มั่นคงของชุมชน โดยไม่ได้มองที่ดินเป็นสินค้าเหมือนที่รัฐเข้าใจ
 
หนูเกณ จันทาสี เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน บอกว่า การจัดการที่ดินโดยประชาชนหรือการจัดการที่ดินแบบรวมหมู่เป็นวิธีการที่จะสามารถให้เกษตรกรรักษาที่ดินไว้ได้ ประชาธิปไตยจริงๆ อยู่ที่จิตสำนึกของคน โดยเอาความชอบธรรมมาเป็นตัวหลัก บางครั้งสิ่งที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินงาน เช่น การประกาศเขตป่าไปทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน 
 
อุบล อยู่หว้า สรุปท้ายว่า ปัญหาของประเทศไทยเราคือ ประชาชนคนเล็กคนน้อยไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในชีวิตของตนเอง ในแผ่นดินเจ้าของ ในพื้นที่ตัวเอง อันนี้คืออำนาจอธิปไตยจริงๆ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่ประชาชนยอมไม่ได้ เพราะว่ามันหมายถึงความมั่นคงของชีวิต มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่คนจะมีพื้นที่สำหรับการเป็นเรือนตายของชีวิต เป็นที่ฝังสายรก เป็นที่ทำมาหากิน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องถูกน้อมรับ
 
แม้ประเทศไทยจะมีความพยายามในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินด้วยการกระจายการถือครอง ทั้งในรูปแบบการให้เปล่า และให้เช่า หรือการออกเอกสารสิทธิแบบปัจเจกอย่าง สปก.แต่บทเรียนที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรไม่สามารถรักษาที่ดินไว้ได้ ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนมือเป็นของนายทุน
 
แนวคิด “โฉนดชุมชน” จึงน่าจะเป็นหลักประกัน และเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ดิน เพื่อการกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน บนฐานคิดที่ว่า ที่ดินไม่ใช่สินค้า แต่เป็นฐานความมั่นคงของชีวิต 
 
 

(2)

ชุมชนบ่อแก้ว เหยื่อ! กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำซาก
 
“ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ ทุกข์บ่มีข้าวอยู่ท้อง นอนลี้อยู่บ่เป็น” ถ้อยผญาภาษาอีสานของพ่อนิด ต่อทุน ประธานชุมชนบ่อแก้ว หลังการกล่าวต้อนรับเครือข่ายเพื่อนมิตรที่มาร่วมงานครบรอบ 2 ปี ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ บรรยากาศงานวันนี้น่าจะเป็นงานรื่นเริง เฉลิมฉลองการตั้งหมู่บ้าน การพบปะมวลมิตร แต่สีหน้า แววตาความปลื้มปีติของพ่อนิดและผู้คนที่นี่ได้ถูกถมทับด้วยกฎหมายที่อยู่เหนือหยาดเหงื่อแรงงานของคนจนมากว่า 30 ปีแล้ว 
 
พ่อนิด บอกว่า 32 ปีก่อน ที่ดินผืนนี้เคยเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน เลี้ยงสัตว์และทำประโยชน์อื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง หลังนโยบายเปิดป่าให้มีการสัมปทานป่าไม้ธรรมชาติ ทำให้ป่าหมดลงเรื่อยๆ ปี 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป.ได้เข้ามาขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ อ้างการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า โดยการเข้ามาปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส ทั้งที่พื้นที่นี้ไม่อยู่ในเงื่อนไขหรือพื้นที่สัมปทานป่าแต่อย่างใด ที่สำคัญชาวบ้านมีหลักฐานการถือครอง ทำประโยชน์ในที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องออกจากพื้นที่ทำกินของตนเอง เพราะ อ.อ.ป.ใช้วิธีการข่มขู่ ใส่ร้ายป้ายสี รวมทั้งใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งชาวบ้านสารพัด
 
 
หากมองในแง่ของสิทธิมนุษยชน การขับไล่ชาวบ้านบ่อแก้วออกจากบ้านและที่ดินของตนเอง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในเรื่องที่อยู่อาศัย การงาน และอาหารตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อ.อ.ป.ละเมิดสิทธิชุมชนในด้านความมั่งคงในการถือครองที่ดิน สิทธิในด้านการเลือกงานอย่างอิสระ สิทธิในการได้รับอาหารที่พอเพียง และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
 
จากการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งเจ้าของที่ดินเดิม และชาวบ้านที่เป็นครอบครัวขยาย เป็นบุตร เขย สะใภ้ หรือแม้กระทั่งชาวบ้านที่เป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ที่เคยได้รับสัญญาว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการแก้ไขหรือจัดสรรที่ดินให้ทำกินแม้แต่แปลงเดียว
 
แม้ต้องออกจากที่ดินที่บุกเบิกมาด้วยหยาดเหงื่อ แต่ชาวบ้านที่เดือนร้อนก็ไม่ยอมจำนน ชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้ออกเอกสารสิทธิ์แก่คนที่เดือดร้อน และเสนอให้พื้นที่ป่าที่ยังคงสมบูรณ์อยู่ ยังไม่มีการเข้าทำประโยชน์ ก็ให้เป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในรูปแบบของ “ป่าชุมชน” แต่เสียงเล็กๆ ของคนจนก็ยังคงถูกปฏิเสธ เมินเฉยเรื่อยมา
 
วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดิน 169 ครอบครัว ได้เข้าปักหลักตั้งบ้านในที่ดินที่เป็นข้อพิพาท พร้อมๆ กับชาวบ้านที่เดือนร้อนอีกหลายพื้นที่ใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ การได้เข้ามาเหยียบบนผืนดินเดิมของบรรพบุรุษครั้งนี้ พวกเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับการข่มขู่และเผชิญหน้า แต่พวกเขาก็ยืนยันที่จะเลือกแนวทางนี้
 
กระท่อมไม้ถูกสร้างขึ้นแทรกแซมระหว่างต้นยูคาลิปตัส เรียงรายสองข้างถนนลูกรังกลางหมู่บ้าน ธงเขียวสัญลักษณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนสะบัดปลิวลู่ตามแรงลม ศาลาบ้านดินที่สร้างขึ้นจากอิฐทีละก้อนด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนจน เป็นที่ที่พวกเขามาพบปะพูดคุยกัน ถัดไปอีกด้านเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่รวมเมล็ดพันธุ์พืช ผัก สมุนไพรพื้นบ้านกว่า 100 ชนิด เพราะพวกเขาเชื่อว่า นี่คือความมั่นคงของชีวิต นอกจากการมีที่ดินแล้ว การมีเมล็ดพืชพันธุ์เป็นของตนเอง คืออธิปไตยที่แท้จริงของคนบ่อแก้ว
 
เสียงบริเวณเวทีกลางจบลง แต่หลายคนก็จัดวงย่อยกันอัตโนมัติ ต่างแลกเปลี่ยนบทเรียน สถานการณ์ในชุมชนของตนเอง บ้างก็ทยอยออกมาเลือกดูผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนแห่งนี้ บ้างก็ขอเมล็ดพันธุ์พืช ผักติดไม้ติดมือไปลองปลูกที่บ้าน การมีเครือข่าย เพื่อนมิตร มาเยี่ยมเยียน ทำให้พ่อนิดและเพื่อนบ้านมีกำลังขึ้นมาไม่น้อย แต่เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้พ่อนิดรู้สึกว่า ชีวิตยังอยู่บนความไม่แน่นอน
 
2 ปีมานี้ชาวบ้านบ่อแก้วและพื้นที่อื่นๆ ใน อ.คอนสารถูกข่มขู่รุกราน ปะทะกันด้วยวาจารุนแรงกับหน่วยงานรัฐนับครั้งไม่ถ้วน ถูกยัดเยียดคดีความ 24 คดี รวม 98 ราย ทั้งคดีอาญาและฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง
 
“เฮาบ่ได้บุกรุกสวนป่า เฮาเพียงต้องการเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ถูกละเมิด เฮาบ่ได้ทำการเกษตรเพื่อค้าขาย แต่เฮาทำการเกษตรเพื่อยังชีพ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ถึงที่ดินจะมีน้อย ดินไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน แต่เราก็จะใช้ที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” พ่อปุ่น พงษ์สุวรรณ ชาวบ้านบ่อแก้ว บอกกล่าว
 
เช่นเดียวกับพ่อเสี่ยน เทียมเวียง ที่เชื่อมั่นว่า แกและเพื่อนบ้านไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เป็นการต่อสู้บนผืนดินของตัวเอง เป็นที่ดินที่มีประวัติศาสตร์ในการทำมาหากินสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว
 
 
ปัจจุบัน ชาวบ้านบ่อแก้วผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยดำเนินการในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชน และเป็นมาตรการสำคัญในการสร้างความมั่นคงในที่ดินของเกษตรกร
 
การที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความล้มเหลวของนโยบายรัฐที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชน กฎหมายที่อยุติธรรม ทำให้พ่อนิด ชาวบ้านบ่อแก้วและคนจนไร้ที่ดินทำกินทั่วประเทศเจ็บช้ำซ้ำซาก ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทย กลไกรัฐจะเปิดใจ แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
 
อย่าให้ใคร? ต้องตกเป็นเหยื่อ! ซ้ำซากอีกเลย
 

หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้เป็นการนำงานเขียน “เสียงจากคนจน กลางดงยูคาฯ” ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 มารวมไว้เป็นชิ้นเดียว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทางการรวบตัวมือปืนก่อวินาศกรรมในนอร์เวย์ได้แล้ว คาดทำเพื่อหวังผลทางการเมือง

Posted: 22 Jul 2011 09:13 PM PDT

เกิดเหตุระเบิดใจกลางกรุงออสโลเมื่อค่ำวานนี้ เล็งอาคารรัฐบาลพังยับ  ซ้ำ มือปืนโผล่ค่ายเยาวชน เปิดฉากยิงไม่เลือกหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 17 ราย ล่าสุดทางการนอร์เวย์รวบมือปืนได้แล้ว

วานนี้ (22 ก.ค.) เวลา 20.20 (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ บริเวณใจกลางเมืองกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย บาดเจ็บอีก 15 ราย และอาคารที่ตั้งของรัฐบาลได้รับความเสียหายอย่างหนัก ตามมาด้วยการบุกและกราดยิงในค่ายเยาวชนแรงงานในเกาะอูโตยา นอกกรุงออสโล ล่าสุดจับผู้ต้องสงสัยชาวนอร์เวย์ได้แล้วหนึ่งราย และอยู่ในระหว่างการสอบสวน

สำนักข่าวบีบีซีรายงานความคืบหน้าล่าสุดว่า ทางการนอร์เวย์สามารถจับตัวผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อการร้ายดังกล่าวได้แล้ว โดยชายดังกล่าวเป็นชาวนอร์เวย์ เชื้อชาตินอร์เวย์ อายุ 32 ปี และคาดว่าเป็นมือปืนที่ยิงกราดในค่ายเยาวชน ในเกาะอูโตยา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงออสโล ซึ่งจัดโดยพรรคแรงงาน และมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 600 คน โดยมือปืนคนดังกล่าวใส่เครื่องแบบตำรวจและอ้างว่าขอเข้ามาตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่ที่จัดงาน และกราดยิงเข้าใส่คนจำนวนมากอย่างไม่เลือกหน้า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตที่ค่ายแล้วอย่างน้อย 10 ราย โดยเยาวชนจำนวนหนึ่งพยายามว่ายน้ำออกจากเกาะ และหนีไปหลบซ่อนเพื่อเอาชีวิตรอด

ทั้งนี้ เหตุการณ์คาร์บอมบ์ใจกลางกรุงออสโล เกิดขึ้นวานนี้เมื่อเวลา 15.20 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนอร์เวย์ โดยตำรวจรายงานว่า ระเบิดดังกล่าวมาจากรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ใกล้อาคารที่ตั้งของรัฐบาล ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวเป็นชุดอาคารสูง ซึ่งประกอบไปด้วยที่ตั้งของสำนักงานนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและปีโตรเลียม อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีเจนส์ สโตลเทนเบิร์ก ไม่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Sigbjørn Johnsen อยู่ในประเทศเดนมาร์กในขณะเกิดเหตุ จึงปลอดภัยเช่นกัน

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในกรุงออสโลว่า “เราจะหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ และจะไม่มีใครเอาระเบิดมาทำให้เราเงียบเสียงได้ จะไม่มีใครเอาปืนมาปิดปากเราได้ จะไม่มีใครทำให้เรากลัวในการเป็นชาวนอร์เวย์ พวกเขาทำลายเราไม่ได้ พวกเขาจะไม่สามารถทำลายประชาธิปไตยของเรา หรืออุดมคติของเราในการทำให้โลกนี้ดีขึ้น”

 และกล่าวถึงเหตุการณ์การถล่มยิงในเกาะอูโตยาว่า “การโจมตีที่ค่ายการเมืองของเยาวชน ซึ่งเป็นที่ที่สันติที่สุด เป็นสิ่งที่โหดร้ายมาก ถือว่าเป็นการกระทำที่ขี้ขลาด” อย่างไรก็ตามเขาระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะบอกได้ว่ากลุ่มใดเป็นผู้โจมตี หลังจากนั้นนายกฯ ของนอร์เวย์ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาล หลังการแถลงข่าวสิ้นสุดลง

สำหรับสาเหตุในการก่อโศกนาฎกรรมครั้งนี้ สื่อหลายสำนักคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งมุ่งโจมตีนอร์เวย์ในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารขององค์กรนาโต้ ในอิรัก อัฟกานิสถาน และลิเบีย อย่างไรก็ตาม กอร์ดอน คอเรร่า ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงของบีบีซี ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีสาเหตุจากกลุ่มหัวรุนแรงในประเทศได้เช่นกัน เนื่องจากเป้าหมายในการโจมตี คืออาคารของรัฐบาลและกลุ่มทางการเมืองของเยาวชน ทำให้อาจมองได้ว่า น่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง มากกว่าการเน้นสร้างความสูญเสียต่อมวลชนจำนวนมาก ดังที่กลุ่มอัลกออิดะห์มักจะปฏิบัติ

ที่มา: สำนักข่าวบีบีซี  Oslo bomb - latest updates

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น