โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

มาแล้ว! "ภาคีต้านทุจริต" ร้องยุบ"เพื่อไทย" ชี้ทำผิด กม.เลือกตั้ง

Posted: 06 Jul 2011 02:02 PM PDT

ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) ร้อง กกต. คัดค้านผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตของพรรคเพื่อไทย อาทิ 17 คน อาทิ ยิ่งลักษณ์-ชินณิชา-จตุพร-ณัฐวุฒิ ชี้ผิดกฎหมายเลือกตั้งและขาดคุณสมบัติการลงสมัคร บี้ยุบพรรคไปด้วยกรณีออกแคมเปญ  "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ"

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 54 ที่ผ่านมาเนชั่นทันข่าวรายงานว่า นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) เข้ายื่นหนังสือที่ลงนามโดยนายชาติชาย แสงสุข อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 ร้องถึงกกต.เพื่อคัดค้านผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตของพรรคเพื่อไทยที่ได้รับการเลือกตั้ง ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและขาดคุณสมบัติการลงสมัคร ดังนี้ 1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ฐานที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งที่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แห่ทั่วจ.เชียงใหม่ในวันสมัครวันแรก เป็นการกระทำให้สำคัญผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอื่นหลายกรณีช่วยออกหาเสียงและเดินแจกเอกสารและให้สัมภาษณ์สนับสนุน 2.น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ว่าที่ส.ส.เชียงใหม่ ที่ให้นายสมชาย นางเยาวภาช่วยหาเสียง 3.น.ส.สมหญิง บัวบุตร ว่าที่ส.ส.อำนาจเจริญ ถ่ายรูปคู่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองโดยมีข้อความฝากให้ประชาชนเลือกระหว่างมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง กรณีนี้กกต.เคยให้ใบแดงผู้สมัครส.ส.กรณีแจกซีดีทักษิณแล้ว

4.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 5.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 6.นพ.เหวง โตจิราการ 7.พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย 8.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 9.นายพายัพ ปั้นเกษ 10.นายก่อแก้ว พิกุลทอง 11.นายวิเชียร ขาวขำ 12.นายการุณ โหสกุล 13.จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ 14.นายวรชัย เหมะ 15.นายสถาพร มณีรัตน์ เพราะขาดจากความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เนื่องจากข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ข้อ 10 (5) สมาชิกภาพของสมาชิกพรรคสิ้นสุดลงเมื่อถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยแกนนำนปช.ที่เป็นสมาชิกพรรคเมื่อถูกคุมขังจะต้องขาดจากสมาชิกพรรคทันทีในกรณีมีหมายขังของศาล แม้ภายหลังจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 16.นายพิชิต ชื่นบาน พ้นโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีในคดีละเมิดอำนาจศาลให้เงินใส่กล่องขนม 2 ล้านบาทจึงขาดคุณสมบัติผู้สมัครส.ส. และ17.นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ว่าที่ส.ส.นครปฐม อาจจะขาดคุณสมบัติการลงสมัครส.ส.เพราะเป็นบุคคลล้มละลาย

นายมงคลกิตต์กล่าวว่า ทั้งนี้ยังขอให้กกต.ยุบพรรคเพื่อไทย จากกรณีกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ที่นำพ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองมารณรงค์ขึ้นป้ายหาเสียง "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" ติดป้ายหาเสียงทั่วประเทศและสื่อมวลชนแขนงต่างๆนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์กรณีนี้ทำให้สำคัญผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอื่น จึงร้องคัดค้านผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ดังนั้นจึงยังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยที่ยังถูกร้องคัดค้านยังไม่ได้จนกว่าจะสอบสวนแล้วเสร็จ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปฏิบัติการ‘นิวมีเดีย’ของสมเกียรติ ตั้งนโม:‘รูปทรง’และความเป็นพลเมืองในอนาคตกาล

Posted: 06 Jul 2011 01:14 PM PDT

หมายเหตุ:

1. เผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การจากไปของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

2. นำเสนอครั้งแรกในการอภิปรายหัวข้อ "ความรู้และปฏิบัติการของสมเกียรติ ตั้งนโม" จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมเกียรติ ตั้งนโม (แฟ้มภาพ/สำนักข่าวประชาธรรม)

0 0 0

ผมเดาเอาว่า การกำหนดหัวข้อที่เราจะกล่าวรำลึกถึง อ.สมเกียรติ ในโอกาสนี้ คงจะเกิดขึ้นจากคำถามที่เรามักจะถามถึงผู้ที่จากไป นั่นคือคำถามที่ว่า “เราจะพูดถึง สมเกียรติ ตั้งนโม ว่าอย่างไร” ซึ่งเมื่อเราพยายามจะหาคำตอบ เราก็จะพบว่า มันยากที่จะบอกว่า อ.สมเกียรติ เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง และคงจะต้องอาศัยผู้กล่าวรำลึกอีกหลายคน หากต้องการให้ครอบคลุมถึงสิ่งที่ อ.สมเกียรติ เป็นและทำในตลอดช่วงชีวิตของท่าน

สำหรับผมแล้ว ไม่ว่าเราจะพูดถึงสมเกียรติ ตั้งนโม ในฐานะไหน นักกิจกรรมทางการเมือง นักสื่อเสรี นักการศึกษา หรืออื่นๆ ในฐานานุรูปนั้นล้วนแต่สะท้อนออกมาจากความเป็นศิลปินทั้งสิ้น มันอยู่ในทุกเรื่องที่ อ.สมเกียรติ ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของ ‘New Media’ หรือกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงและเป็นรูปธรรมก็คือ ตัวเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ทำไมผมถึงเห็นว่า ศิลปะแฝงอยู่ในงานและชีวิตของสมเกียรติ ที่จริงผมอ่านงานของสมเกียรติไม่มากนัก แต่ผมไม่สงสัยเลยว่า อ.สมเกียรติให้ความสำคัญกับการมองเห็นของสายตาเพียงใด เวลาเรามองเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หลายคนอาจจะบ่นว่า พื้นดำตัวหนังสือขาวมันทำให้อ่านยากปวดตา แต่เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า ภาพของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นมันติดตา กระทั่งมันช่วยจำ และมันส่งผลต่อรสชาติของการอ่านเอาเรื่องเอาเนื้อหาโดยตรง

ภาพที่ติดตานี้ไม่ได้หมายถึงภาพปีศาจความมืด แต่มันคือการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน มันสร้างแรงบันดาลใจ มันบอกเราถึงความประณีตบรรจง หน้าเปิดหมวดหมู่ทุกหน้า คือการออกแบบใหม่หมด ปั้นมันด้วยมือทีละหน้าทีละชิ้น

และที่สุดอะไรวัดว่า มีศิลปะ สำหรับผมที่มีความรู้ด้อยเหลือเกินในเรื่องนี้ ผมใช้เกณฑ์ว่า มันอยู่ยาวข้ามความร่วมสมัยหรือไม่ เหมือนที่ศิลป์ พีระศรี บอกนั่นแหละว่า “ชีวิตนั้นสั้น ศิลปะยืนยาว”

ยกตัวอย่าง เช่น ผมนึกไม่ออกว่า เมื่อถึงวันที่เว็บไซต์ประชาไทต้องปิดตัวลง จะมีใครนึกหน้าหรือจำภาพเว็บไซต์ประชาไทออก ขณะที่หากคุณไม่ได้เปิดเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมานานหลายปี หรือเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนปิดตัวไป ผมเชื่อว่า ภาพจำของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็จะยังอยู่ หลับตาแล้วก็ยังเห็นภาพ

แต่งานศิลปะที่ อ.สมเกียรติทำ ในแอเรียของนิวมีเดียก็ไม่ได้มีแค่การออกแบบที่เห็นด้วยตาเท่านั้น แต่มันยังอยู่ในบทบาท กระบวนการนำเสนอ ซึ่งก็คือเนื้อหาและบทบาทหน้าที่ของเว็บไซต์ด้วย

 

0 0 0

ผมมีโอกาสไปร่วมงานเทศกาลศิลปะ Documenta  ที่เยอรมนี กับ อ.สมเกรียติและเพื่อนอีกสามสี่คน ในฐานะ ‘นิวมีเดีย’ สื่อทางเลือก หรือจะเรียกว่าสื่ออิสระของสังคมไทยก็ได้ ที่นั่นทำให้เราทั้งหมดผูกพันกัน เราได้รับเชิญไปพูดในเรื่องนอกกรอบสังคมไทย ซึ่งหมายถึงเรื่องที่เราพูดในประเทศไทยไม่ได้ และด้วยความพยายามที่จะยืนยันในสิ่งที่ “ไม่เห็นจะน่ากลัวอะไร” และ “เราต้องพูดได้” ทำให้สิ่งที่เราทำในสนามของ “นิวมีเดีย” นี้กลายเป็นงานศิลปะไปอย่างที่ผมเองซึ่งอ่อนด้อยมากในเรื่องนี้ก็งงๆ ที่ต้องไปในเทศกาลศิลปะระดับท็อบเท็นของโลกนี้

ที่คาสเซิล เยอรมัน ทั่วทุกมุมเมืองกลายเป็นที่แสดงนิทรรศการศิลปะ Documenta ผมเปิดประเด็นเรื่องศิลปะกับ อ.สมเกียรติ ก่อนจะได้รับทัศนวิจารณ์ว่า มันน่าเบื่อเพียงใดที่ศิลปะยังคงหมกมุ่นอยู่กับ ‘รูปทรง’ และบางทีนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เรา (ประชาไท มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ฟ้าเดียวกัน เควสชั่นมาร์ค โอเพ่น) ได้รับเชิญไปร่วมแสดงงานศิลปะระดับโลกนี้

คนใน ม เที่ยงคืนน่าจะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘รูปทรง’ ของ อ.สมเกียรติดีกว่าผม ว่ามันไม่ได้หมายถึงกว้างคูณยาวคูณสูง 2พายอาร์ แต่มันยังรวมไปถึงการตั้งคำถามกับรูปแบบ (pattern) บางทีผมว่านะ อ.สมเกียรติอาจจะคิดแบบนี้นานแล้วก็ได้ นอกกรอบของพวกนอกกรอบในมหาลัยศิลปะมานมนามแล้วก็ได้ งานเขียนของ อ.สมเกียรติก็หนักไปทางโพสต์โมเดิร์นอยู่มาก แต่อาการคงมาหนักขึ้นเมื่อมี ม เที่ยงคืน แล้วก็กระโจนเข้าไปวาดภาพปั้นรูปในมิติทางสังคมการเมืองแทน

ผมอยากจะเล่าด้วยว่า ในงาน Documenta ที่เมืองคาลเซิลนี่เอง ที่ทำให้ผมและเพื่อนอีก 2 คนผูกพันเป็นพิเศษกับ อ.สมเกียรติ ซึ่งต้องเอ่ยนามในที่นี้ คนหนึ่งเป็นนักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อ อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล ซึ่งหลังจาก อ.สมเกียรติจากไป ก็กลับไปอ่านและศึกษาสิ่งที่สมเกียรติทำไว้กับเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ส่วนอีกคนเป็นสาวชาวญี่ปุ่นชื่อ เคโกะ เซ  ผมเข้าใจว่า อ.สมเกียรติ เป็นคนแรกๆ ที่เคโกะรู้จักในเมืองไทย เป็นดีลแรกๆ ที่แกต้องทำงานด้วย เพื่อทำฟอรั่มนิวมีเดียให้กับ Documenta ก่อนที่ อ.สมเกียรติจะเชื่อมโครงข่ายมาถึงพวกเรา

พอกล่าวถึงแง่นี้แล้ว คงต้องพูดด้วยว่า อ.สมเกียรติ คือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการเชื่อมต่อนักกิจกรรมนิวมีเดียที่เป็นสื่ออิสระเข้าหากัน และทำให้ที่ทางของสื่อใหม่ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพอย่างแข็งขัน มีที่ทางขยับขยายเพิ่มขึ้นอีกนิดในนามของ “งานศิลปะ”

 

0 0 0

12 ปีทีผ่านมานับตั้งแต่การเกิดขึ้นของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โลกของการสื่อสารเปลี่ยนไปมากมายและเร็ว เรากำลังพูดถึงเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่บล็อกยังไม่มี Social Media ยังไม่เกิดขึ้น Mark Zuckerberg ผู้สร้าง Facebook อายุเพิ่งจะได้ 13 ปี

ผมจึงอยากจะชวนให้เราเห็นถึงโลกที่เราอยู่กันสักนิดก่อนว่า มันเป็นโลกแบบไหน มีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไร ภูเขาสูง หุบเหว ที่ราบที่เหมาะแก่การหว่านพืชพันธุ์ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โลกของการสื่อสารก็เช่นเดียวกัน ภูมิประเทศของการสื่อสารก็เปลี่ยนไปแล้ว

ในเรื่องของช่องทาง หรือเครื่องมือ ในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะเต็มพื้นที่ในประเทศไทย (หากเรายังเป็นประเทศเสรีอยู่) ผู้คนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ไม่มีคอมพิวเตอร์ก็มีมือถือที่พอจะเข้าถึงได้ และเด็กน้อยอายุ 78 ปี นับจากปี 2475 ก็จะเริ่มพูดได้ อ่านออกเขียน (กับสาธารณะ) ด้วยเรื่องของตัวเองมากขึ้น เขียนไม่เป็นไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวนี้คนเขียนเป็นก็หันไปเขียนสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร แต่เขียนบ่อยๆ แทน เขียนมันใน Social Media อย่าง Facebook อย่าง Twitter ซึ่งใช้ความยากในการส่งผ่านมือถือเท่ากับความยากในการส่ง SMS ช่องทางผ่าน Social Media จะมีบทบาทกำกับ หรือกลายเป็นส่วนสำคัญในระบบศีลธรรมใหม่ในไม่ช้านี้

พอพูดอย่างนี้ บางคนอาจจะนึกไปถึงภาพของการฟ้องหย่าในอเมริกาเกินกว่า 80% ที่ใช้หลักฐานใน Facebook มาอ้างอิง (ซึ่งน่ากลัวมาก) อาจจะนึกถึงตำรวจนิวเจอร์ซี่ ใช้การประจานผ่าน Facebook เป็นมาตรการลงโทษอย่างหนึ่ง เราอาจจะเห็นภาพของการไล่ล่าแม่มดในประเทศไทย แต่เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลาอดทนรอคอยให้มันคลี่คลายไปสักนิดหนึ่ง (Mark Zuckerberg นี่เกิดในปี 1984 เป็นปีเดียวกับชื่อนิยายอันโด่งดัง ‘1984’ แล้วสร้าง Facebook ตอนอายุ 20 ปี นี่ถ้า Facebook มันเกิดในปีที่Zuckerberg เกิด มีหวังเราต้องเรียก Zuckerberg ว่า Big brother แน่) 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะชอบไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี หากพูดด้วยภาษาแบบ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เราก็อาจจะบอกได้ว่า การสื่อสารมันไหลเวียนมากขึ้น ด้วยช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ที่เราอาจจะเรียกรวมๆ ว่า ‘นิวมีเดีย’ แต่การไหวเวียนของข้อมูลข่าวสาร มันไม่ได้เกิดขึ้นในระดับการข้ามชาติไปมาเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการข้ามชนชั้น วัฒนธรรม ในสังคมไทยเอง นิวมีเดีย จึงไม่ใช่แค่อินเทอร์เน็ต หากแต่ยังรวมไปถึง วิทยุชุมชน และเคเบิลทีวี

และไม่ว่าเครื่องมือมันจะเป็นอะไร เนื้อหาของมันคืออะไร แต่ประเด็นและหัวใจของมันยังคงเป็นเรื่องของการไหลเวียนของข่าวสาร ข้ามชาติ ข้ามชนชั้น ข้ามศาสตร์ ข้ามอาชีพ หรือหากจะพูดด้วยภาษาของครูนักการสื่อสารมวลชนอย่าง อ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ก็ต้องบอกว่า นิวมีเดีย เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ที่เป็นคนละเรื่องกับวิชาชีพ หรือจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชน ที่กำลังเป็นคำถามของนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งมักจะเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้สื่อสารกับสาธารณะ ทั้งๆ ในเวลานี้ ผู้สื่อสารกับสาธารณะนั้นกลายเป็นใครก็ได้ไปแล้วในเวลานี้

พูดอีกอย่างก็คือ อำนาจของการสื่อสารกับสาธารณะ มันไม่ได้จำกัดหรือผูกขาดอยู่แต่เพียงโดยรัฐ นักสื่อสารมวลชนแบบมืออาชีพ หรือผู้ทรงภูมิอีกต่อไป ไม่ว่าใครก็สื่อสารกับสาธารณะได้ อาจจะดีกว่าสื่อมืออาชีพ อาจจะเก่งกว่าและส่งผลสะเทือนในทางเหตุและผลกว่าผู้ทรงภูมิ หรืออาจจะผลิตความรู้ได้ดีกว่านักวิชาการ อาจจะทำงานศิลปะได้ดีกว่าศิลปินหลายๆ คน โดยไม่ต้องเรียกตัวเองว่าศิลปิน หรืออาจจะป็นแค่การสื่อสารขยะ ยั่วยุ ไร้ความรับผิดชอบก็ได้

ไม่ว่าอย่างไร สิ่งเหล่านี้ได้ปลดปล่อยพันธนาการหรืออำนาจที่จะนิยามว่า อะไรดี อะไรจริงกว่า และเรียกร้องต้องการให้สังคมวัฒนธรรมก้าวสู่การปรับตัวครั้งใหญ่สู่วุฒิภาวะใหม่ นั่นคือ การคิดเอง เรียนรู้และใช้วิจารณญาณด้วยตัวเอง 

สิ่งเหล่านี้ คือภูมิศาสตร์ใหม่ของการสื่อสารที่เราเห็นเป็นประจักษ์ในปัจจุบัน และสมเกียรติทำมันมาตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว บุกเบิกมันด้วยเว็บไซต์ ม เที่ยงคืน ในสมัยที่ไม่มีโปรแกรมสำเร็จรูปใดๆ

ครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม 2549 ก่อนที่เราจะไปร่วมงานเทศกาลศิลปะที่เยอรมนี Documenta ได้จัดให้มีฟอรั่มขึ้นในเมืองไทยที่เชียงใหม่ เรื่อง “บทบาทของศิลปะและสื่อในการพัฒนาคิดวิเคราะห์สังคมไทย” โดยมี อ.สมเกียรติเป็นแม่งาน ดึงเอาสื่อทางเลือกในประเทศไทยมาคุยกัน ซึ่งเคโกะ เซ เล่าให้ฟังว่า อ.สมเกียรติปักหมุดกิโลเมตรให้กับฟอรั่มนั้นว่า นั่นคือ ‘เวทีของสื่ออิสระเวทีแรกในประเทศไทย’ และในเอกสารโครงการของเวทีนี้ ได้พูดถึงเรา “นิวมีเดีย” (ในเวลานั้น) มีข้อความท่อนหนึ่ง ซึ่งจะขออนุญาตอ่านในที่นี้

“สังคมไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กรทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีอำนาจเหนือชีวิตของทุกคน

ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ สิ่งที่ที่สำคัญสำหรับประชาชน คือความคิด และความสามารถในการอ่านภาพ และเสียง ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของมัน เพราะมันคือสิ่งสำคัญที่จะยืนยันถึงอิสรภาพและการตัดสินใจด้วยตัวเราเอง

เพื่อฝึกฝนสิ่งเหล่านี้ เราต้องสร้างพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับบทสนทนาที่สำคัญ เพื่อสู้กับวาทกรรม และปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการของอำนาจและความรู้ที่ครอบงำสังคมอยู่

วารสารและสื่อออนไลน์เหล่านี้ เป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาในเรื่องที่สำคัญและตั้งคำถามกับวาทกรรมเหล่านี้ บรรณาธิการของนิตยสารและสื่อออนไลน์เหล่านี้ได้ทำประโยชน์ บำรุงความคิดวิจารณญาณของประชาชน”

 

นั่นคือข้อความในเอกสารของ Documenta

และหากกล่าวเฉพาะเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในวาระที่ผมจะได้มากล่าวในที่นี้นี่เอง เคโกะ เซ ยังได้กรุณาส่งข้อเขียนสั้นๆ มาให้ผม ที่ได้บอกถึงความคิดและความทรงจำที่เธอมีต่อสมเกียรติว่า

“สำหรับฉันแล้ว เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คือแหล่งเพื่อการศึกษาออนไลน์ ซึ่งริเริ่มและดำเนินการโดยอาจารย์สมเกียรติ เป็นโครงการบุกเบิก เป็นสถาบันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังสามารถเป็นโมเดลรูปธรรมด้านการศึกษาทางเลือกสำหรับประเทศไทย และประเทศอื่นๆ

ที่ผ่านมา ฉันได้แนะนำโมเดลแบบเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนให้กับนักกิจกรรมด้านการศึกษาชาวพม่าที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน ที่ได้พยายามเริ่มโครงการคล้ายๆ กันนี้เพื่อชาวพม่าที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก จุดประสงค์และความสำเร็จเป็นที่รับรู้และยกย่องทั้งในและนอกประเทศ และเมื่อเว็บถูกบล็อกในปี 2006 นักวิชาการและประชาชนกว่าพันคนจากทั่วโลกได้ร่วมกันเข้าชื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

อ.สมเกียรติเป็นผู้ที่มักจะตั้งคำถามกับการศึกษาที่มีฐานอยู่บนอินเทอร์เน็ต เพราะการเข้าถึงที่จำกัดของมัน แต่ถึงกระนั้น เขาก็เริ่มต้นเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและดำเนินการต่อ พิสูจน์ให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่พร้อมจะเปิดรับและทดลองไปสู่ความท้าทายต่อสื่อใหม่ ในยุคต้นๆ ของอินเทอร์เน็ต

ผู้บุกเบิกอย่างอ.สมเกียรติมักสร้างงานเพื่อพัฒนาสื่อในระยะยาวเสมอๆ และนี่คือสิ่งที่เขาทำ”

 

0 0 0

บทบาทและอิทธิพลของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นทรงพลังมากกว่าที่เราคิดกัน มันได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากมาย น้องในประชาไทคนหนึ่ง ยังบอกกับผมว่า เคยตั้งใจว่าจะอ่านทุกเรื่องใน ม เที่ยงคืนให้ได้ ตั้งใจจะอ่านให้ทัน (แต่ปรากฏว่า อ.สมเกียรติขยันกว่า เลยอ่านไม่ทัน)

เรื่องนี้มันสะท้อนอาการโหยหาความรู้ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้ในท้องตลาด และมันมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้คนลองลิ้มชิมรสกับอิสรภาพ และการหลุดออกจากพันธนาการของอำนาจที่มากับความรู้เดิมๆ มันทำให้คนอ่านออกเขียนเองได้ และการปลดปล่อยนี้ เว็บ และ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ไม่ได้ฉีดโปรแกรมใหม่ๆ หรือให้ความรู้ชุดใหม่ หรือความเชื่อใหม่ๆ เหมือนที่เราเห็นได้ในเว็บเจ้าใหญ่ที่มาพร้อมกับเคเบิลทีวีสีเหลืองนะครับ แต่มันปลดปล่อยเฉยๆ และก็แบให้คุณไปประกอบสร้างเอง คิดเอง ประกอบสร้างเอง และเขียนออกมาเอง

อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล เพื่อนในทริป Documenta เขียนถึง อ.สมเกียรติและเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครอบคลุมใน 2 ประเด็นด้วยกัน คือ ประเด็นเรื่องการข้ามศาสตร์ ข้ามสื่อ กับประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมที่ทุกคนทำได้ อ่านเขียนด้วยกันได้ และฝากประเด็นมาให้ผมกล่าว แต่ผมคงไม่พูด แต่จะขอนำเอาข้อเขียนของอาทิตย์มาอ่านในที่นี้

“ลักษณะสำคัญอันหนึ่งของเวิลด์ไวด์เว็บ ก็คือไฮเปอร์ลิงก์ (hyperlink) ที่เชื่อมโยงบทความ ความรู้ รูปภาพ และสิ่งต่าง ๆ ไปมาหากันอย่างไม่จำกัด ไม่มีจุดเริ่มแรก ไม่มีจุดปลายสุดท้าย

ในทางเทคนิค-รูปแบบ สมเกียรติใส่ลิงก์เหล่านี้อยู่ในทุกหน้าของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (ยกเว้นช่วงแรกๆ) ทั้งลิงก์ไปบทความก่อนหน้า-ถัดไป สารบัญตามลำดับเวลา สารบัญตามประเด็น ตามชื่อผู้เขียน และตามคำสำคัญ

นอกจากนี้ยังมีลิงก์ไปหา "บทความเกี่ยวเนื่อง" ดังที่ได้อธิบายไว้ใน “สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง” ของเว็บไซต์ (http://www.midnightuniv.org/pomo/index.html) ว่า

"อีกประการหนึ่งซึ่งควรสังเกตไว้เพื่อประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ ในแต่ละบทความ จะมีอักษร R ปรากฏอยู่ ซึ่งหมายถึง related หรือบทความเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะโยงไปสู่ความรู้ที่สัมพันธ์กันไปเรื่อยๆ ทำให้นักศึกษาได้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูลดังกล่าว โดยเหตุนี้ จึงควรได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงและข้อมูลสัมพันธ์ตามลำดับ"

อาทิตย์ บอกว่า

“ลิงก์ประเภทต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งปกติธรรมดาในยุค "เว็บ 2.0" สิ่งที่น่าตกใจคือ ในขณะที่เว็บ 2.0 ทุกวันนี้ สร้างลิงก์เหล่านี้ด้วยซอฟต์แวร์อัตโนมัติ สมเกียรติทำมันด้วยมือ (เว็บ 2.0 เป็นคำเรียกลักษณะการทำงานของเว็บ ที่ผู้อ่านก็เขียนเองได้ โพสต์เองได้เช่น วิกีพีเดีย ยูทูป หรือFB เป็นต้น)

พูดง่ายๆ ก็คือ vision ของสมเกียรตินั้นไปไกลกว่าเครื่องมือที่เขามี เขาทำเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนภายใต้ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีของยุคสมัย รวมไปถึงข้อจำกัดการเรียนรู้เทคโนโลยีของผู้ใช้เทคโนโลยีในระดับทั่วๆ ไป แต่ในคนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ แต่ อ.สมเกียรติผลักพรมแดนมันไปจนสุด

ด้วยไฮเปอร์ลิงก์เหล่านี้ ทำให้บทความต่าง ๆ ถูกอ่านข้ามบริบทกัน เทียบบริบทกัน กลายเป็นไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext) และนั่นนำไปสู่สิ่งที่ “อุทิศ อติมานะ” กล่าวถึงใน "สมเกียรติ ตั้งนโม กับโครงการทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จ" คือการพยายามสร้างชุมชน ที่คิดวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยง แบบบูรณาการ-สหวิทยาการ

ไม่เพียงปล่อยให้ไฮเปอร์ลิงก์ทำงาน กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยังทำหน้าที่เหมือนภัณฑารักษ์ ที่ทดลองหยิบงานในสื่อต่าง ๆ มาวางเคียงกัน เพื่อสร้างความหมายหรือคำถามใหม่ที่สัมพันธ์ต่อสถานการณ์ในสังคมในขณะนั้น

ตัวอย่าง เช่น บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 497 ที่ชื่อ "วิลลี บรันดท์-หมอป่วย-ตากใบและ บก.ฟ้าเดียวกัน" http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9721.html ที่รวบรวมข้อเขียน 3 ชิ้น จากเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มารวมทดลองเสนอเป็นชิ้นเดียวกัน ภายใต้คำโปรยว่า "สาระจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ว่าด้วยความรุนแรงหลากมิติ" และหมายเหตุในวงเล็บ "การทดลองนำเสนอ เพื่อเป็นการเชิญชวนนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่านให้ใช้กระดานข่าว"

ข้อเขียนสามชิ้นจากเว็บบอร์ด พูดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่างกัน แต่มีประเด็นร่วมกันที่ กองบก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมองเห็น และได้ทำการเน้นประเด็นนั้น ไฮไลท์มันด้วยวิธีการนำข้อเขียนสามชิ้นนี้มาวางเคียงกัน คล้าย ๆ กับศิลปะภาพตัดปะ (montage)

ไม่ว่าจะเป็นการหยิบเอาข้อเขียนจากเว็บบอร์ดมาวางเคียงกัน หรือข้อเขียนจากสิ่งพิมพ์อื่นตามท้ายด้วยความคิดเห็นข้อวิพากษ์จากเว็บบอร์ดจาก "ผู้อ่าน" เช่นกรณี บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 653 ที่ชื่อ "องค์ภูมิพล: เอกอัครปัญญาชนสาธารณะแห่งความเป็นไทย" <http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9566.html> เหล่านี้

ไม่เพียงแสดงถึงความพยายามในการเชื่อมโยงความรู้ความคิดเห็นต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของสมเกียรติต่อสื่อรูปแบบใหม่ เช่น เว็บบอร์ด

เว็บบอร์ด บล็อก และสื่อใหม่ต่าง ๆ ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า จะมีศักดิ์ศรีในทางความรู้วิชาการหรือความน่าเชื่อถือได้เพียงใด เมื่อเทียบกับสื่อเก่า หรือกระทั่งเว็บไซต์ที่มีการจัดการรัดกุมมีผู้รับผิดชอบชัดเจนกว่า

การหยิบเอาข้อเขียนต่าง ๆ จากเว็บบอร์ดมานำเสนอในอีกรูปแบบ เป็นการทดลองที่จะเสนอให้ผู้อ่านมองเห็นว่า นี่ไง เนื้อหาเดียวกัน คุณภาพแบบนี้ คุณสามารถหาได้ในเว็บบอร์ด มันไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบวารสารวิชาการ หรือจากนักเขียนชื่อดัง มันอยู่ในเว็บบอร์ดได้ มันอยู่ที่ไหนก็ได้ และใครจะเขียนมันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผ่าน บก...(ดังนั้น ไปใช้เว็บบอร์ดกันเถอะ)

ในยุค YouTube ที่ทุกคนพูดถึง user-generated content "ผู้อ่าน" ที่เป็น "ผู้เขียน" ด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร -สมเกียรติพยายามสนับสนุนและชี้ให้คนเห็นสิ่งเดียวกันนี้ อย่างน้อยก็เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

 

อาทิตย์ ลงท้ายไว้ในข้อเขียนที่ส่งตรงถึงผมว่า

“ถ้าเราเชื่อว่า ความคิดเห็นนั้นสำคัญเท่ากับความรู้ เพราะสิ่งที่เรานับว่าเป็น "ความรู้" "กระแสหลัก" ในทุกวันนี้ต่างก็เคยเป็นความคิดเห็นกระแสรองมาแล้วทั้งสิ้น

การเปิดพื้นที่เว็บบอร์ดดังที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทำ ก็คือการยืนยันในความเชื่อนั้น”

 

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่า อ.สมเกียรติ มีทัศนะที่จะปลดปล่อยความรู้ ถอดรื้อ หรือประกอบสร้างแบบของใครของมัน เพราะในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งกับประชาไท เกี่ยวกับเว็บบอร์ด มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ.สมเกียรติพูดถึงเว็บบอร์ดว่า

“มันทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ เป็นที่ที่ผู้คนสามารถเปิดใจรับฟังสิ่งที่แตกต่างจากความเชื่อของตนเอง เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถถกเถียงทางการเมืองได้ ซึ่งในสังคมไทยแทบจะไม่มีเหลือแล้ว เพราะสื่อสาธารณะโดยทั่วไปถูกยึดครองโดยนักการเมืองและโฆษณา แต่การถกเถียงไม่ควรจบเพียงเท่านั้น ควรนำไปสู่ฉันทามติ หรือข้อโต้แย้งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม”

 

0 0 0

ที่จริงยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก เช่น เรื่อง “ลิขซ้าย” ที่แปลมาจาก Copyleft ตรงข้ามกับ Copyright ซึ่งเป็นสิ่งที่ อ.สมเกียรติน่าจะให้ความสำคัญมากพอดู หากดูจากหน้าเว็บที่เรื่องนี้ค่อนข้างจะได้รับการเน้นอย่างโดดเด่น

12 ปีของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นี่นับเป็นเวลาที่ยาวนาน ในโลกที่การสื่อสารมันไหลเวียนคล่องตัวขนาดนี้ แต่เราก็รู้ใช่ไหมว่า เว็บแบบ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมันมีน้อยเกินไป และน้อยจนน่าใจหาย เว็บที่รวบรวมเนื้อหา อาศัยใจและความประณีตทำมัน มีผลต่อการสร้างแรงบันดาลใจ มีผลต่อตั้งคำถาม ถอดรื้อ เชื่อมโยงบูรณาการ เพื่อให้อิสรภาพแก่ผู้คนได้ประกอบสร้าง เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ถกเถียง และอื่นๆ

สุดท้าย ผมนึกถึงคำถามที่ผมเริ่มไว้ตอนต้น เพราะเมื่อเราตระหนักว่า โลกในอนาคตข้างหน้า สถานะและความชอบธรรมของสถาบันต่างๆ จะลดลง หรือถูกท้าทายได้ง่ายขึ้น เมื่อ “นิวมีเดีย” มันเข้าไปตรวจสอบ ถอดรื้อ หรือละลายมัน  แม้กระทั่งความจริงความงาม และการวัดคุณค่า เมื่อมันกลายเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการข้ามชั้น ข้ามวัฒนธรรม ข้ามศาสตร์ ข้ามวีชาชีพ และใครๆ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญได้ โลกของผู้คนจะใกล้กันมากขึ้น ความต่างทางภาษา ทางลำดับชั้น ทางอาวุโสจะลดความหมายลง

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ อ.สมเกียรติจึงไม่ได้สัมพันธ์กับใครด้วยการอวดโอ่ว่าตัวเองเป็นศิลปิน เป็นนักวิชาการ หรือเป็นผู้ทรงภูมิ หรืออาจจะยังมีอยู่บ้างก็ได้ แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็น คือสิ่งที่แกทำ และสิ่งที่แกทำในส่วนที่เกี่ยวกับนิวมีเดีย ได้บอกกับเราว่า

“แกได้เตรียมตัวเป็นพลเมืองของโลกอนาคตก่อนเราเนิ่นนานแล้ว”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ‘ภาคภูมิ โปธา’ : ‘เพราะความคิดถึง คนท้องถิ่นจึงเลือกเพื่อไทยถล่มทลาย’

Posted: 06 Jul 2011 11:17 AM PDT

ภาคภูมิ โปธา เป็นตัวแทนคนท้องถิ่นคนหนึ่งในเขตพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง สมาชิกเทศบาลตำบลปิงโค้ง และกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์สั้นๆ ตรงๆ ว่า เป็นเพราะความคิดถึง...คนท้องถิ่นจึงเลือกเพื่อไทยถล่มทลาย!

สัมภาษณ์ ‘ภาคภูมิ โปธา’ : ‘เพราะความคิดถึง คนท้องถิ่นจึงเลือกเพื่อไทยถล่มทลาย’

0 0 0

ในฐานะที่เป็นตัวแทนคนท้องถิ่น ช่วยวิเคราะห์หน่อยว่าทำไมคนเชียงดาวและทุกอำเภอในพื้นที่เชียงใหม่ถึงเลือกพรรคเพื่อไทย ถล่มทลายเช่นนี้?

ผมในฐานะคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เป็นคนที่ไม่ค่อยจะเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยในแบบของคนอื่น แต่มองแบบชาวบ้านๆ ว่าการได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน ที่ทุ่มเทใจให้กับพรรคเพื่อไทยนั้นคงเป็นเพราะว่า “ความคิดถึง” หลายๆ เรื่อง ดังนี้นะครับ

หนึ่ง การคิดถึงนโยบายพรรค ที่เคยได้ให้ไว้กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นนโยบายที่กินได้ และนโยบายนั้นจะกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน SML พักชำระหนี้ เป็นต้น

สอง การคิดถึงนายกทักษิณ นายกในดวงใจของคนท้องถิ่นที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัวของตนเอง บวกกับด้วยความที่สงสารคนง่ายซึ่งเป็นนิสัยของคนเหนือ ที่เขามองว่านายกทักษิณถูกรังแก จนทำให้ไม่มีแผ่นดินอยู่ ทั้งๆที่ไม่ได้ทำผิดอย่างไร เขาก็ทำตามระบอบประชาธิปไตย เขาผิดตรงไหน ด้วยเหตุนี้จึงสามารถเรียกคะเเนนสงสารได้มาก

สาม การคิดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ความไม่ชอบธรรมในการรัฐประหาร การบริหารประเทศที่ล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญที่สุดการที่ไม่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่มีคนตายนับร้อย และการดำเนินคดีทางการเมืองของคนเสื้อแดง ที่ถูกคุมขัง ยิ่งตอกย้ำความรู้สึก เพราะว่าผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองล้วนแล้วเป็นคนในครอบครัวของเขา สื่อต่างๆที่พยามบิดเบือนความเป็นจริง ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีอารมณ์ร่วมด้วย เพราะเขารู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆเป็นอย่างดี

และสี่ การคิดถึงอนาคตของประเทศ มีความจำเป็นต้องเลือกพรรคเพื่อไทย จึงส่งผลทำให้ได้ส.ส.มากกว่าครึ่ง พื้นที่ในเชียงใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีการประเมินว่าตัว ส.ส.เป็นปัจจัยหนึ่งที่ประชาชนเลือก แต่ก็สู้ที่กระแสพรรคไม่ได้ ตัวอย่างมี ส.ส. คนหนึ่งไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย เป็นที่รักของประชาชนเป็นจำนวนมาก จากผลงานในอดีต และถูกวางไว้เป็นเต็งหนึ่ง แต่ผลที่ได้ก็คือชาวบ้านอิงพรรคมากกว่า เพราะคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ต้องเลือกพรรคเลือกคน

มองนโยบายของเพื่อไทยนั้นแตกต่างกับพรรคอื่นๆ อย่างไรบ้าง และนโยบายดังกล่าวจะนำประโยชน์ให้คนท้องถิ่นได้จริงหรือ ?

จากการติดตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย ตามประสาของคนชายขอบที่อาจจะถูกมองว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ไม่มีการศึกษา ไม่เข้าใจ คำว่าประชาธิปไตย ซึ่งชาวบ้านล้วนแล้วมีความหวังอย่างยิ่งกับผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังจากการเลือกตั้ง นั่นคือตัวนโยบายที่กินได้ สัมผัสจับต้องได้ ก่อนการเลือกตั้งมีวันหนึ่งผมได้พูดคุยกับผู้สมัครส.ส.พรรคหนึ่ง ถามถึงนโยบายที่จะเข้ามาทำในพื้นที่เขตเลือกตั้ง ซึ่งได้เกี่ยวกับนโยบายพรรค แต่อยากทราบว่านโยบายของ ส.ส.เป็นอย่างไร มีแนวทางในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่เขตเลือกตั้งอย่างไร เขาได้แสดงวิสัยทัศน์ตามนโยบายพรรคที่ได้เขียนไว้ แต่ไม่ได้มีนโยบายของตัว ส.ส.ที่ชัดเจน ผมก็เลยแซวเล่นว่าน่าจะมีบ้างก็ได้นะ จะได้นำไปเสนอต่อพรรค เพราะว่าบางนโยบายไม่สามารถนำมาใช้ในพื้นที่ได้โดยตรง ควรจะหานโยบายที่เป็นความต้องการของชาวบ้านบ้างโดยตรงได้ไหม..

ผมคิดว่านโยบายทุกพรรคเป็นอภิมหาประชานิยม แต่ถ้าไม่คิดให้ปวดหัวว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน จะส่งผลกระทบต่อประเทศเช่นไร หากรัฐบาลเพื่อไทยทำได้ตามที่ได้ประกาศนโยบายไว้ก็จะส่งผลต่อความนิยมศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทย จากที่เคยได้คะแนนเสียงถล่มทลายในครั้งนี้ ต่อไปก็จะได้อภิมหาคะแนนเสียงก็เป็นได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะส่งผลในแง่ลบต่อพรรคเพื่อไทย

เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ (พรรคเพื่อไทย) มีนโยบายไหนบ้างที่สอดคล้องกับที่ชาวบ้านต้องการ ?

ประเด็นด้านผลประโยชน์ที่คนในท้องถิ่นจะได้รับจากนโยบายโดยตรง ซึ่งผมคิดว่าหลายๆนโยบายมีความสำคัญสอดคล้องมากพอสมควร ดังนั้นผมจึงขอยกตัวอย่างที่ผมคิดว่ามีส่วนสำคัญต่อชาวบ้านโดยตรงและสามารถทำได้เลย เช่น

นโยบายกองทุนหมู่บ้าน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มเงินทุนขึ้นอีก 1 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนของเงินทุน แก้ไขปัญหาเงินนอกระบบในหมู่บ้าน ถือว่าเป็นการจัดการโดยชุมชนเองมีการบริหารจัดการแบบชาวบ้านจริงๆ เงินกำไรต่างๆจากกองทุนก็นำมาใช้เป็นทุนการศึกษานักเรียน นำมาพัฒนาหมู่บ้าน ถือว่าเป็นการให้โอกาสและความไว้วางใจในศักยภาพของชาวบ้าน

นโยบาย SML ที่จะให้งบประมาณหมู่บ้านไปบริหารกันเอง ซึ่งก็คือการสร้างระบบประชาธิปไตยในหมู่บ้าน ก่อนจัดทำโครงการจะผ่านกระบวนการ ขั้นตอนต่าง ตั้งแต่ร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอ ร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันทำ ร่วมกันได้ประโยชน์

นโยบายพักหนี้ ครัวเรือนที่ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี ถือได้ว่าเป็นการชะลอให้ประชาชนได้ตั้งตัว จากพิษเศรษฐกิจที่ผ่านมาในยุคข้าวยากหมากแพง

คนท้องถิ่นคาดหวังให้รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาในเรื่องใดมากที่สุดในขณะนี้ ?

ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นหรือไม่เป็นก็ตาม ความคาดหวังของประชาชนในรัฐบาลชุดนี้ ย่อมมีความคาดหวังไว้สูงอย่างแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลต้องทำด้วยความจริงใจ เพราะมีมากมายหลายเรื่องพอสมควร จำเป็นที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและดำเนินการแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ต่ำ รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าแรงงานต่ำ ปัญหาต่างๆเหล่านี้หากมีการแก้ให้ตรงจุด ผมคิดว่าน่าจะเป็นที่พอใจของคนในท้องถิ่นและคนในเมือง

สรุปแล้ว ทุกวันนี้ อปท.ยังต้องพึ่งพาอาศัย ระบบกลไกพรรคการเมือง รัฐบาลอยู่เหมือนเดิมใช่มั้ย ?

ในภาพรวมผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่าง อปท.กับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองระดับชาติ มีความสัมพันธ์กันมาก่อนแล้ว เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ในลักษณะของตัวบุคคล ก่อนที่จะมีอปท. ด้วยซ้ำ เนื่องจากความสัมพันธ์ดังกล่าวมีระบบอุปถัมภ์ ของนักการเมือง กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทั้งในด้านอิทธิพลทางด้านความคิด อิทธิพลด้านมืด ทำให้การเลือกตั้งในอดีต มีหัวคะแนนที่มีอิทธิพล ไม่สามารถวิจารณ์ได้ แตะต้องตัวไม่ได้ แต่ปัจจุบันผู้มีอิทธิพลต่างๆถูกจัดอำนาจใหม่ในลักษณะของนักการเมืองท้องถิ่น นายกอบต. นายกเทศบาล สมาชิกสภาท้องถิ่น ที่สามารถวิจารณ์ได้ ด่าได้ถ้าทำงานไม่เป็น ดังนั้น ผมคิดว่าการพึ่งพาอาศัยระบบพรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติ ยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป แต่การใช้อำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนพรรคหรือนักการเมือง ของ อปท.ใดต้องอยู่ในกรอบของบทบาทหน้าที่นั้น แต่ในความเป็นจริงผมคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ อปท. ต้องพึ่งพาอาศัยระบบนี้ แต่อย่าลืมว่าต้องไม่ให้อำนาจการเมืองมาครอบงำทางความคิดหรือมากำหนดทิศทางของทางของท้องถิ่น จนทำให้ไม่สามารถเป็นอิสระในการปกครองท้องถิ่นได้

ถ้าเป็นไปได้ ความคาดหวังของคุณอยากให้ อปท.เปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนแนวคิด การทำงานเป็นแบบไหนบ้าง ?

แนวคิดการทำงานของ อปท.ตามหลักการนั้นดีมาก ถามว่าความคาดหวังเป็นอย่างไรที่จะเปลี่ยนแนวคิด การทำงาน อปท. ผมบอกได้เลยว่าจะต้องเปลี่ยนที่ผู้นำองค์กร หรือผู้บริหาร เพราะนโยบายต่างๆจะต้องชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้ แนวคิดแรกที่อยากเห็นก็คือการกระจายอำนาจให้กับประชาชน ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ อบต. เทศบาล นายก สมาชิกสภา โดยทั่วไปคิดว่าการกระจายอำนาจจากส่วนกลางมายังท้องถิ่นก็จบแล้ว แต่ความเป็นจริงต้องลงให้ลึกกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ได้หมายความว่าเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เป็นการให้อำนาจในการตัดสินใจเองทั้งหมด ต้องกระจายอำนาจในการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การร่วมกันคิด ร่วมกันวิเคราะห์ ร่วมกันทำ ร่วมกันตัดสินใจ

และอีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือวัฒนธรรมองค์กร ที่อยากให้ข้าราชการท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ทำตัวติดดิน ไม่ต้องแสดงตนเองเป็นเหมือนเจ้านายประชาชน เพราะมันหมดยุคไปแล้ว ต้องหันมาให้การรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงอย่างที่มีคนกล่าวถึง ข้าราชการคือ ...ข้า ของประชาชน ไม่ใช่ฆ่า ประชาชน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดันสอนมลายูทุกประเทศ ใช้สื่อสารในอาเซียน

Posted: 06 Jul 2011 11:02 AM PDT

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องเชคดาวุด อัลฟาฏอนี วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติระหว่างมหารวิทยาลัยอิสลามกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศ IMT-GT( The Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ในหัวข้อการศึกษาอิสลาม, เป้าหมาย ,ผลสำฤทธิ์ ,สิ่งที่ท้าทายและแผนในอนาคต มีผู้เข้าร่วมจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทยกว่า 30 คน และมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการมากกว่า 12 เรื่อง

H.Abdulhalim Bin H.Ismail Ibu Syaid Dinaa al-Bar จากมหาวิทยาไซน์ประเทศมาเลเซีย (USM) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของความเป็นประชาคมประชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะต้องเน้นเรื่องของภาษาอาหรับกับภาษามลายูเพื่อใช้ในการศึกษาศาสนาและการติดต่อสื่อสารกับประเทศมุสลิม โดยเฉพาะประเทศทางตะวันออกกลาง แต่ภาษาอังกฤษก็ต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน

ดร.อานิส พัฒนปรีชาวงค์ อาจารย์ประจำสถาบันอิสลาม มหาวิทยานราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมนั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะต้องกำหนดให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูในทุกประเทศ และเป็นภาษาที่อยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารระหว่างกัน เพราะที่ผ่านมา เหมือนมีกำแพงกั้นในการสื่อสารภาษามลายูระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง

ดร.อานิส กล่าวว่า การเป็นอาเซียนในปี 2554 จะเป็นผลดีอย่างมากในเรื่องการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการศึกษา ผลงานทางวิชาการหรือการวิจัย เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการศึกษาโดยอิสระมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาในแต่ประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน

รศ.ดร.อิบรอเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต รักษาการรองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษาฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะพูดถึงการศึกษาอิสลาม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศึกษาอิสลาม และ ประสบการณ์ทางการศึกษาอิสลามระหว่างไทย มาเลเซียและ อินโดนีเซีย

รศ.ดร.อิบรอเฮ็ม เปิดเผยด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการตั้งวิทยาลัยอิสลามเป็นศูนย์การศึกษาอิสลามแห่งชาตินั้น มีการขยับไปเรื่อยๆ อย่างน้อยมีการสัมมนาในระดับอาเซียน มีศูนย์ภาษานานาชาติ และหลักสูตรนานาชาติที่เป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ที่ผ่านมารัฐบาลชุดเก่าได้สนับสนุนการสัมมนานานาชาติ เมื่อวันที่ 21 -23 ธันวาคม 2553 ส่วนรัฐบาลใหม่ กำลังรออยู่ว่าจะมีนโยบายเป็นอย่างไร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดเวทีใหญ่ทบทวนแผนพัฒนา ผลสำรวจยันคนใต้ไม่เอาเมกะโปรเจกต์

Posted: 06 Jul 2011 10:46 AM PDT

ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยสังคม ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยในโครงการสำรวจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัดสตูล – สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง 22 ครั้ง รวมทั้งการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนต่อทิศทางและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในแนวสตูล-สงขลา และพื้นที่ต่อเนื่องด้วยแบบสอบถาม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 - พฤษภาคม 2554 พบว่า ชาวบ้านต้องการการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยภาคการเกษตรและประมง เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในรูปของการท่องเที่ยว ดำรงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร ที่มีการจัดโซนนิ่ง (การกำหนดพื้นที่) ที่ชัดเจน

ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับแบบสำรวจดังกล่าว มี 2 ชุด ไม่น้อยกว่า 5,000 ฉบับ โดยสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่างกระจายไปทุกตำบล โดยนักวิจัยชุมชนของตำบลนั้นๆ เป็นคณะทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเว็บไซต์ www.plan-ss.net เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการศึกษาเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการศึกษาวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้

ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยด้วยว่า ส่วนข้อคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาที่ระบุในแบบสำรวจ อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟขนสินค้าอ่าวไทย-อันดามัน ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 อุโมงค์สตูล-เปอร์ลิศ แนววางท่อขนส่งน้ำมัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ของจังหวัดสตูลและสงขลา รู้สึกกังวลกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต วัฒธรรม ประเพณี ฯลฯ

ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 สถาบันวิจัยสังคม จะจัดเวทีเสวนาครั้งใหญ่ เพื่อนำเสนอข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าว ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมร่วมตรวจสอบ นำเสนอ แสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดสตูลและสงขลา โดยจะเชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสีย กลุ่มเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) เช่น นายบรรจง นะแส จากสถาบันรักษ์ทะเลไทย นายกิตติภพ สุทธิสว่าง เป็นต้น มาเข้าร่วม

ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยด้วยว่า หลังจัดเวทีเสวนาใหญ่ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 แล้วจะสรุปเป็นรายงานทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัดสตูล-สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ทบทวนร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป

ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยว่า สำหรับโครงการสำรวจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัดสตูล – สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทบทวนร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ต่อมาสภาพัฒน์ ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการ ด้วยงบประมาณ 3.98 ล้านบาท

ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยต่อไปว่า เหตุที่การดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากเกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ และอยู่ในช่วงของการเลือกตั้ง

ดร.อุ่นเรือน เปิดเผยว่า การจัดเวทีย่อย ได้เชิญสื่อมวลชนทั้งในสตูลและสงขลา เข้าร่วมด้วย ประกอบด้วย องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อสมท.)จังหวัดสงขลา ประธานชมรมสื่อมวลชนจังหวัดสงขลา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล ประธานชมรมสื่อมวลชนจังหวัดสตูล เป็นต้นแต่มีการนำเสนอข่าวน้อยมาก ทั้งมีข่าวจากนักข่าวพลเมืองเสนอว่าตนรับเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้สนับสนุนท่าเรือน้ำลึกปากบารา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับกระแส ‘สื่อนอก’ ยังมองอนาคตการเมืองไทยสั่นคลอน

Posted: 06 Jul 2011 10:42 AM PDT

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 5 พรรคได้สำเร็จเป็นที่ลุล่วง ดูเหมือนว่าบนผิวหน้าแล้ว การเมืองไทยจะเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศยังคงมองว่า ภายใต้ผิวหน้าที่ดูเรียบร้อยนี้ ยังคงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดความไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะจากทหารและชนชั้นนำ

นิโคลัส ฟาร์เรลลี่ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียแห่งชาติ เขียนบทวิเคราะห์การเมืองไทยใน The Age หนังสือพิมพ์รายวันของออสเตรเลียว่า ในการที่ยิ่งลักษณ์จะสามารถนำพาประเทศไปข้างหน้าและหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากความขัดแย้งจากฝ่ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นนั้น เธอจำเป็นจะต้องใช้วิธีการทางทูตที่ชาญฉลาดในการเจรจาระหว่างชนชั้นนำ ทหาร และรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝ่ายชนชั้นนำพยายามรักษาอำนาจให้ได้มากที่สุดในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัชทายาท และชี้ว่า การพยายามเข้าไปมีส่วนแทรกแซงในกระบวนการดังกล่าวของอดีตนายกฯ ทักษิณเมื่อ 5 ปีก่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำรัฐประหารในปี 2549 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของพรรคและผลประโยชน์ของชาติให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

ทางสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แสดงความคิดเห็นต่อบทความดังกล่าวในเว็บไซต์ นิว แมนดาลาว่า ความพยายามในการเข้าไปแทรกแซงการสืบรัชทายาทของฝ่ายทักษิณ มิใช่เป็นปัญหาหลักของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายราชวงศ์และทักษิณ แต่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่กว้างกว่า คือปัญหาระหว่างทักษิณ ในฐานะการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้นำทางการเมือง กับ วัง-ทหารในฐานะกลุ่มอำนาจที่มาจากประเพณี และถ้าหากมองตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ฝ่ายทักษิณอาจจะพยายามแสดงความจงรักภักดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการสืบทอดรัชทายาท โดยการจัดงานเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาครบรอบ 84 ปีอย่างยิ่งใหญ่ หรือแม้แต่การไม่แตะต้องเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมไปถึงการพยายามควบคุมส่วนของเสื้อแดงที่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ หรืออย่างน้อยที่สุดคือ การเพิกเฉยต่อผู้ต้องหาในคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยังอยู่ในเรือนจำ

ในขณะเดียวกัน ทางฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ได้เขียนบทความวิเคราะห์ในเดอะ การ์เดียนของอังกฤษว่า หากจะรักษาเสถียรภาพในช่วงแรกนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุด ยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องทิ้งระยะห่างจากพี่ชาย ทักษิณ ชินวัตร และยั้งเรื่องการพูดถึงนิรโทษกรรมให้แก่ทักษิณ ในขณะเดียวกัน ทักษิณเองจะต้องยอมให้น้องสาวของตนเองบริหารบ้านเมือง และทำการประนีประนอมกับฝ่ายศัตรูของตนเอง เพื่อให้ความสันติสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ฝั่งชนชั้นนำเองจำเป็นจะต้องยินยอมและยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ ทางหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้ชี้ว่าการเมืองไทยยังคงมีองค์ประกอบที่ยังทำให้อาจเกิดการชุมนุมจากฝ่ายต่างๆ อีก เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้ “โหวตโน” กลุ่ม “เสื้อหลากสี” และกลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ นำโดยนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าววอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า จะออกมาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 12 กรกฎาคม บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยนพ. ตุลย์ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเพื่อไทยจะชนะขาดลอย ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และบางทีอาจจะรู้สึกว่ามีอำนาจมากในตอนนี้ แต่เราอยากจะเตือนว่า พวกเขาไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามใจอยาก”

ทางด้าน Graeme Dobell ผู้สื่อข่าวของบล็อก The Interpreter ในเว็บไซต์ The Lowy Institute for International Policy วิเคราะห์ว่า จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ได้ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งในการเมืองไทย เป็นมากกว่าแค่ความขัดแย้งระหว่างชนบทกับชนชั้นนำในกรุงเทพฯ โดยหากพิจารณาเอกสารโทรเลขของสถานทูตสหรัฐฯ ที่เปิดเผยโดยวิกิลีกส์ในช่วงเร็วๆ นี้ ประกอบกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอย่างแพร่หลาย ทำให้เห็นชัดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ของไทยโดยตรง และชี้ว่า การกลับเข้ามาของน้องสาวทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเร่งหนึ่งที่อาจทำให้เกิด “ฝันร้าย” ขึ้นได้ โดย Dobell ได้อ้างถึงงานของแอนดรูว แมกเกรเกอร์ มาร์แชล ที่ชี้ว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชทายาท อาจเกิดขึ้นอย่างสันติ หรืออย่างรุนแรงก็ได้ ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของชนชั้นนำไทย และแรงกดดันจากภายนอก เช่น การตื่นตัวของประชาชน

สำนักข่าวอัลจาซีร่า ได้ทำการสัมภาษณ์ไมเคิล มอนเตซาโน นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ ถึงความสามารถของยิ่งลักษณ์ในการพาประเทศออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยมอนเตซาโนให้ความคิดเห็นว่า จำเป็นจะต้องมีการตกลงกันระหว่างการเมืองในระบบรัฐสภาและนอกรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายทักษิณ ทางกองทัพ เครือข่ายสถาบันกษัตริย์ ศาล รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ จึงจะสามารถลดความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ทางพิทยา พุกกะมาน ฝ่ายต่างประเทศพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ในรายการเดียวกันว่า ทางรัฐบาลจะมุ่งดำเนินการปรองดอง โดยจะทำการมุ่งค้นหาความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปีที่แล้ว ซึ่งมอนเตซาโนมองว่า การพยายามมุ่งสืบค้นข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นการไปจี้กองทัพ ซึ่งทำให้อาจเกิดปัญหาขึ้นได้

ท้ายสุดนี้ ทางบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม มองว่า การชนะของฝ่ายค้านในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการปฏิเสธการปราบปรามประชาชนในปีที่แล้ว และชี้ว่า หากการปรองดองของยิ่งลักษณ์ จะเกิดขึ้นได้สำเร็จ ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว และไม่ถูกกีดกันออกจากการเมือง และกล่าวด้วยว่า มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่พรรคเสียงข้างมาก ที่ได้ที่นั่งจากการเลือกตั้ง 265 เสียง จะต้องจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมให้ได้ถึง 299 เสียง เพื่อรักษาเสียงข้างมากในรัฐสภาให้ได้ 2 ใน 3 เนื่องจากชนชั้นนำของไทยที่เป็นฝ่ายแพ้ เช่น กองทัพ รอยัลลิสต์ และผู้ใหญ่ คงจะไม่พร้อมมีบทบาทในการเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์เท่าใดนัก และชี้ด้วยว่า ไม่ทันผลการเลือกตั้งเบื้องต้นจะได้ประกาศ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของไทย ก็ได้เริ่มสืบสวนการฉ้อโกงแล้ว และอาจส่งผลให้มีการตัดสิทธิผู้สมัครและลดขนาดของพรรคเพื่อไทยลงได้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พท. ดีเดย์ ปรับเงินเดือน 15,000 ต.ค.นี้-ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ม.ค.ปีหน้า

Posted: 06 Jul 2011 09:00 AM PDT

 

(6 ก.ค.54) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมเศรษฐกิจของพรรคและอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ของพรรคหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนและนักวิชาการว่า เป็นนโยบายที่มุ่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้คนจนและระดับล่างของสังคมหรือรากหญ้าสามารถลืมตาอ้าปากได้ ยืนยันจะให้เท่ากันทุกจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของลูกจ้างที่เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 441 บาท ขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ก็ระบุว่าค่าจ้างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สามารถเลี้ยงดูของแรงงานได้โดยรวมคู่สมรสและบุตร ดังนั้น แนวคิดพรรคจากนี้เมืองไทยจะไม่มีค่าแรงถูกอีกต่อไป โดยจะยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานและยุทธศาสตร์การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในปี 2020

นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ยืนยันจะไม่รื้อระบบไตรภาคีค่าจ้างถือว่าเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว เพราะทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแต่จะแก้กระบวนการสรรหาที่มาของตัวแทนไตรภาคีที่ยังมีปัญหาตัวแทนฝ่ายลูกจ้างไม่สามารถส่งตัวแทนที่แท้จริงเข้ามาเป็นคณะกรรมการได้ เพราะติดขัดเรื่องสหภาพแรงงานที่มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนแรงงานทั้งประเทศ โดยจะเริ่มจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจให้มีเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท คาดจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเริ่มได้เมื่อได้ทำความเข้าใจกับภาคเอกชน รวมถึงหานโยบายสนับสนุนให้เอกชนมีกำลังในการขึ้นค่าจ้าง เช่น การลดภาษีนิติบุคคล ภาษีเครื่องจักร หาตลาดสินค้าส่งออกให้ คาดจะเริ่มได้ในเดือนมกราคม 2555

ส่วนกรณีหลายฝ่ายกังวลปัญหาค่าจ้าง จะส่งผลให้มีการย้ายฐานผลิตนั้น นายจารุพงศ์ กล่าวยืนยันว่าอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น หากจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต ภาครัฐจะสนับสนุนให้เอกชนไปตั้งโรงงานในประเทศที่ค่าแรงถูกหรือตามแนวชายแดนแทน

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เทพไท เสนพงศ์

Posted: 06 Jul 2011 08:51 AM PDT

สิ่งที่ภาคภูมิใจในการทำหน้าที่คือ การปกป้องหัวหน้าพรรคในฐานะนายกฯ เพราะบางเรื่องหัวหน้าไม่สามารถออกมาพูดกับคนบางกลุ่มได้ ตนจึงทำหน้าที่แทน

วันอำลาตำแหน่งโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, 6 ก.ค. 54

อดีต พนง.เคเอฟซี ยื่น ครส. แก้ข้อพิพาทเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

Posted: 06 Jul 2011 08:42 AM PDT

สมานฉันท์แรงงานไทยนำ พนง.เคเอฟซี ยื่นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) แก้ข้อพิพาทกรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมทอดไก่โชว์ ชี้ต่างชาติไม่เคารพกฎหมายไทย ส่วนกระบวนการตามกฎหมายล้มเหลว เตรียมรณรงค์บอยคอตเคเอฟซี ด้าน ครส.นัดถกอีกครั้ง 28 ก.ค.นี้


ภาพจาก http://voicelabour.org/?p=5117

(6 ก.ค.54) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยอดีตพนักงานเคเอฟซี 3 คน ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หลังรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพและเรียกร้องสวัสดิการให้กับพนักงานระดับล่าง ได้มายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กระทรวงแรงงาน เพื่อให้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างบริษัท ยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์ เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เจ้าของแบรนด์เคเอฟซี กับพนักงานทั้ง 3 คน พร้อมสาธิตการทอดไก่โชว์ ที่บริเวณหน้าอาคารสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน


ภาพจาก http://voicelabour.org/?p=5117
 

นายชาลี กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พนักงานทั้ง 3 คน ได้มาร้องเรียนกับสำนักแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เรียกนายจ้างมาเจรจา รับกลับเข้าทำงานถึง 4 ครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ นายจ้างส่งตัวแทนมาเจรจาแค่ครั้งเดียว อีกทั้งนายจ้างยังกดดันให้พนักงานเคเอฟซี ที่ร่วมลงชื่อขอจัดตั้งสหภาพฯ จำนวน 266 คนถอนชื่อออก การทำแบบนี้สะท้อนถึงการไม่เคารพต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ครส.ได้นัดหารือในประเด็นนี้อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ค.นี้

“จากบทเรียนของเคเอฟซี สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย แต่กลับไม่เคารพกฎหมายไทย พอพนักงานออกมาเรียกร้องสวัสดิการก็ถูกเลิกจ้างทันที ขณะเดียวกันกระบวนตามกฎหมายของรัฐและการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” นายชาลี กล่าวและว่าหากการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้ผล ทาง คสรท. ก็จะเริ่มรณรงค์ให้คนไทยเลิกกินเคเอฟซี ควบคู่ไปกับการยื่นฟ้องศาลแรงงาน

ด้าน น.ส.ศิวพร สมจิตร กล่าวว่า ตนทำงานกับเคเอฟซี มากว่า 10 ปี เคยได้รับรางวัลพนักงานดีเด่นมากมาย แต่กลับถูกเลิกจ้างทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เพียงแค่เรียกร้องสวัสดิการเพิ่มให้กับเพื่อนๆ พนักงานระดับล่างเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องการให้นายจ้างมาคุยกัน เพราะพวกเราเพียงแค่ต้องการกลับเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม หากภายใน 90 วัน ข้อพิพาทไม่ได้ข้อยุติก็จะไปยื่นฟ้องศาลแรงงาน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิด และช่วยเหลือให้ดีที่สุด

 

 

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: Sungkyankwan Scandal รักเร้นในโรงเรียนชายล้วน

Posted: 06 Jul 2011 08:37 AM PDT

ประชาไทบันเทิง: Sungkyankwan Scandal รักเร้นในโรงเรียนชายล้วน

หลิ่มหลีเพิ่งหายตาบวมหลังจากนั่งดูซีรีย์เกาหลีจบไปห้าเรื่องซ้อน .. อิอิ อดหลับอดนอนไม่เป็นอันทำมาหากินกัน เอ่ะ..หลิ่มหลีมีงานทำด้วยหรอ

ฮ่าๆๆๆ แหม จะไม่ให้อดใจไหวได้อย่างไรกัน แต่ละเรื่อง พระเอกเกาหลีประกายโอโม่หล่อเหลาน่า...มากเลยค่ะ น่าเอามาอยู่ในอ้อมใจอ้อมกอดนะคะ อย่าได้คิดอะไรมากไป หลิ่มหลีก็แก่แล้ว สูงวัยแล้ว พระเอกเกาหลีที่หลิ่มหลีดูนี่ ยี่สิบต้นๆ อายุคราวลูกทั้งนั้น เฮ้อ.. อยากรีบตายไปเกิดใหม่ จะได้ทันหนุ่มๆ พวกนี้จริงๆเลย

ฮา หลิ่มหลีก็เพ้อเจ้อเป็นกิจวัตรค่ะ อิอิ

หลิ่มหลีได้รับมอบหมายจากสาวๆ หลายนางสาวที่อยากจะทดลองดูซีรีย์เกาหลีสักเรื่อง แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มจากเรื่องไหนดี ในการรีวิวซีรีย์ดีดีสักเรื่อง แบบว่า เธอพอรู้ว่ามันคงดี เพราะฮิตกันเหลือเกิน แต่ก็ไม่รู้ว่าควรจะเลือกเรื่องไหนอย่างไร

จริงๆแล้วในเวปพันทิพห้องเฉลิมไทย กรุ๊ปย่อย บันเทิงเอเชีย ก็มีติ่งหูเกาหลีหลายคนพร้อมจะตอบให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆทราบนะคะ ว่า เรื่องไหนน่าดูอย่างไร เป็นไปในแนวไหน เพียงแค่ไปตั้งกระทู้ถามเขาก็ตอบ หรือไม่กล้าตั้งกระทู้ถาม ลองเลื่อนหน้าเพชไล่ๆลงมาเรื่อยๆ ก็จะเจอสักกระทู้จนได้ค่ะ

หลายๆครั้ง ที่มาเฟียพันทิพจะขี้หงุดหงิดบ้าง เวลาใครไปตั้งกระทู้ถาม ก็จะบอกว่า ทำไมไม่ลองไล่ๆหาดูก่อน ตั้งถามบ่อยๆ ขี้เกียจตอบแล้ว

เฮ้อ.. หลิ่มหลีเห็นคนขี้หงุดหงิด หลิ่มหลีก็ถอนหายใจ อยากจะบอกว่า โดยสันดานสลิ่ม ไม่ชอบถาม ไม่ชอบค้นหา ไม่รู้ก็ยอมไม่รู้ กูไม่รู้ กูก็ไม่ตาย อยากจะให้กูรู้ ก็ป้อนให้กูรู้สิ ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆ

มันเป็นแบบนี้จริงๆ ถ้าคิดไม่ออกว่า ใครเป็นแบบนั้น ...คนเป็นแบบนั้นคือหลิ่มหลีเอง ฮ่าๆๆๆๆๆๆ

อะไรจะปลอดภัยเท่าเลือกด่าตัวเองก่อน คิกๆๆๆ

อ่ะอ่ะ กลับมา หลิ่มหลีจะรีวิวซีรีย์เรื่องที่หลิ่มหลีชอบม๊าก อันนี้ชอบด้วยความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ รักพระเอกค่ะ อิอิ

ถ้าคุณเป็นสาวที่ชอบอยู่ท่ามกลางหนุ่มๆมากหน้าหลายตา หลิ่มหลีแนะนำ แต่น แตน แต๊นนนนนนน ซีรีย์ยอดนิยมเรตติ้งกระฉูดฉุดไม่อยู่ เรื่อง Sungkyankwan Scandal เลยค่ะ

Sungkyankwan Scandal เป็นซีรีย์ที่ทำเป็นหนังโบราณแต่งตัวแบบเกาหลีโบราณ ย้อนไปสู่โรงเรียนชายล้วน อร๊ายยย พระเอก พระรอง พระร้าย ตัวประกอบ หน้าใสหล่อเหลาทุกคน ชนิดว่า แค่จิ้นว่าได้ไปอยู่ท่ามกลางหนุ่มๆหน้าตาใสๆเหล่านั้นแล้ว โอ้ย.... ก็เคลิ้มตายไปเลยค่ะ

แต่คุณๆที่ดูอาจจะโมโหแกมอิจฉานิดหน่อย เพราะเรื่องนี้นางเอกฉลาดมากและปลอมตัวเป็นชายเข้าไปเรียนหนังสือ อยู่ท่ามกลางหนุ่มๆทั้งโรงเรียน กรี๊ดดดดดดด ...ลองนึกสิคะ ว่า สาวนางเดียวอยู่ท่ามกลางหนุ่มๆนับร้อยคน เฮือก..... โอ้ย สมองหลิ่มหลีคิดแต่เรื่องลาม๊กอยู่ในใจ คิกๆๆๆๆ

ประชาไทบันเทิง: Sungkyankwan Scandal รักเร้นในโรงเรียนชายล้วน

พระเอกของเรื่องนี้คือ มิกกี้ ยูชอน หนึ่งในสมาชิกทงบังชิงกิที่ปัจจุบันคือสมาชิกของวง JYJ ค่ะ เล่นเป็นพระเอกเรื่องแรก แล้วเพลงประกอบก็ไพเราะมากค่ะ JYJ เป็นคนร้อง

เรื่องราวของเรื่องนี้ เป็นเรื่องของโรงเรียนชายล้วนในประเทศเกาหลีสมัยโบราณ ซึ่งต้องสอบเข้า และยังกีดกันไม่ให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ และนางเอกผู้เป็นลูกสาวของบัณทิตที่ต้องโดนฆ่าตายเพื่อปกป้ององค์กษัตริย์

เมื่อหมดผู้นำในครอบครัว ทุกคนก็ลำบากกันหมด นางเอกผู้ได้รับการศึกษาจากพ่อและเฉลียวฉลาดมากก็แอบทำเฉลยกับเก็งข้อสอบไปส่งขายที่ร้านหนังสืออยู่อย่างสม่ำเสมอก็ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว

ซุบซิบ ตามเรื่องราวนี่ สมัยโบราณของเกาหลีการที่ผู้หญิงรู้หนังสือเป็นความผิดด้วยนะคะ อันตรายมากเลยค่ะ

เรื่องนี้นางเอก(แสดงโดยพัคมินยอง)เป็นตัวเดินเรื่องหลักค่ะ วุ้ย หลิ่มหลีก็อิจฉาไม่อยากจะเอ่ยถึงเท่าไร แต่ทำไงได้ หลิ่มหลีเล่าต่อนะคะ

นางเอกเกิดความจำเป็นต้องใช้เงิน (เหมือนเดิม นางเอกเกาหลีเดือดร้อนการเงินเกือบทุกเรื่อง) ก็แอบปลอมเป็นผู้ชายไปสอบเข้าโรงเรียน Sungkyankwan แทนคนสอบคนอื่น ทีนี้ก็มาเจอพระเอก ไปทำอีท่าไหน อ่อยกันยังไงหลิ่มหลีก็ไม่ขอเล่า เพราะหลิ่มหลีมัวแต่ตาร้อนกัดฟันอิจฉาที่นางเอกได้เข้าใกล้ชิดมิกกี้ยูชอนของหลิ่มหลี เอ้ยไม่ใช่ ของเหล่าสาวกทั้งหลาย

ไปไปมามา นางเอก !!!!!!!! ก็ต้องปลอมตัวเป็นผู้ชายเข้าไปเรียนหนังสือกับหนุ่มๆนับร้อยคน โอ้ย..อยากจะกระชากเสื้อกรีดร้องด้วยความอิจฉา เรื่องนี้ แม้แต่พระรองฝ่ายร้ายกาจก็ยังน่ากินเลยค่ะ สาวๆดูเรื่องนี้ ไม่เผลอกัดฟัน หลิ่มหลีให้ตบตับแตกเลยค่ะ

หลังจากนั้นในโรงเรียน ก็มีการแข่งขันโน่นนี่มากมาย เหมือนกับแข่งกีฬาคณะ แข่งความรู้โอลิมปิก แข่งให้ได้รางวัลจากองค์กษัตริย์ มีแอบไปขึ้นครูกับนางโคมเขียวด้วย มีการแบ่งแยกชนชั้นกันในโรงเรียนด้วย ตลกดีค่ะ

แบบเรื่องนี้เป็นอะไรที่เต็มไปด้วยเรื่องราวพื้นๆของการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียนชายนะค่ะ ไม่ได้มีอะไรแปลกๆ

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เรื่องของเรื่องคือ มันมี Mission จากองค์กษัตริย์ที่ต้องการให้หาRoadMap ของการพัฒนาประเทศจากองค์กษัตริย์องค์ก่อน ที่ตามหากันมาหลายปี และที่เคยเป็นเหตุให้พ่อนางเอกตายด้วยค่ะ เรื่องราวมันซับซ้อนมากมายนัก

เรื่องนี้มีแต่ความตื่นเต้ลค่ะ ไหนจะนางเอกจะโดนจับได้ว่าเป็นผู้หญิง ไหนจะนางโคมเขียวหลงรักนางเอก ไหนจะพระเอกเกิดความรู้สึกรักนางเอกจนยอมเป็นเกย์ อร๊ายยยยยยยยยยย สนุกค่ะ

เรื่องราวที่น่าสนใจมันมีให้ชวนนึกชมถึงการสอดแทรกนิสัยใจคอของคนในชาติให้กับคนในชาติเกาหลีกันเอง เช่นเรื่องของสปิริตของการเลือกผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว การรักษาความถูกต้องมาก่อนการรักษาสัมพันธ์ส่วนตัว การมองให้เห็นถึงคุณค่าของคำว่าชนชาติใหม่ การที่เห็นว่าการพัฒนาชาติของเขาโดยยึดสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นหลักมากกว่าจะต้องดำเนินรอยตามคำสั่งเสียงของบรรพบุรุษซึ่งเก่าและล้าสมัยไปแล้ว

ไหนจะเรื่องราวของการเล่นเกมการเมืองระหว่างคณะเสนาบดีและองค์กษัตริย์ที่สามารถเอาโรงเรียนชายล้วนมาเกี่ยวข้องด้วยได้ นี่มันยอดเยี่ยมมากทีเดียวค่ะ บอกให้รู้ว่า เกาหลีในสมัยโบราณนั้น ทุกอย่างก้าวของกษัตริย์ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพราะการเมือง ไม่เว้นแม้แต่การก้าวเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนขององค์กษัตริย์ที่แทรงซึมไอเดียการเรียนการสอนของตัวเองไว้ในระบบการศึกษา

ฮั่นแน่..คิดอะไรกันอยู่ คิกๆๆๆ

เรื่องนี้มีทั้งหมด 16 ตอน ทุกตอนก่อนจบ จะจบด้วยหน้าของมิกกี้ ยูชอน และเสียงเพลงที่ร้องโดยคิมจุนซูจากJYJ สมาชิกวงเดียวกัน เป็นเพลงOST ที่ไพเราะมากเลยค่ะ แค่นี้หลิ่มหลีก็ฟินจนสลบแล้วสลบอีกค่ะ เฮ้อออออ... จุดสุดยอดของชีวิต

แต่ตอนนั่งดูเรื่องนี้ หลิ่มหลีก็จะปากจัดไปหน่อย ด่านางเอกไว้เยอะมาก ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆ โมโห โมโห ไปดูกันเองนะคะ ว่าทำไมหลิ่มหลีถึงโมโห ฉุน ฉุน ฉุน อ๊ะ จริงๆก็ไม่มีอะไรหรอกค่ะ

นอกจากอิจฉา มีฉากพระเอกนางเอกจูบกัน

โอ้ย... โมโห แค่คิดก็โมโห อิจฉาตาร้อนนน

อยากเป็นนางเอก กระซิกๆๆๆๆ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: “กรรมแบบพุทธ” (ตามความเข้าใจของผม)

Posted: 06 Jul 2011 08:07 AM PDT

ตามที่อ่านใน “อัคคัญญสูตร” (พระไตรปิฏกเล่ม 11) ผมเข้าใจว่าพุทธศาสนาพูดเรื่องกรรมในสองความหมายหลักๆ คือ อย่างแรกกรรมในความหมายเชิง “ข้อเท็จจริง” (fact) อย่างที่สองกรรมในความหมายทางศีลธรรม หรือความหมายเชิง “คุณค่า” (value)

กรรมในความหมายเชิงข้อเท็จจริง เช่นที่พุทธศาสนาพูดถึงว่า คนมีสถานะต่างกันเพราะ “กรรม” หรือการกระทำการงาน อาชีพ หรือมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน เช่น คนทำโครักขกรรม ก็คือคนมีอาชีพเลี้ยงโค คนทำเกษตรกรรม ก็คือคนมีอาชีพเป็นเกษตรกร หรือคนใช้แรงงานคือศูทร ค้าขายคือแพศย์ สอนศาสนาคือพราหมณ์ เป็นนักรบคือกษัตริย์ ฉะนั้น สถานะทางสังคมที่ต่างกัน จึงเกิดจาก “กรรมเชิงข้อเท็จจริง” หรือการทำอาชีพการงาน หรือทำบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ไมใช่เกิดจากการกำหนดโดยพระพรหม (หรือ “กรรมทางศีลธรรม”)
 
พุทธศาสนาโต้แย้งความเชื่อที่ว่ามนุษย์เกิดจากพระพรหมโดยอ้างข้อเท็จจริงตรงๆ และ “แรง” ว่า “คนทุกวรรณะล้วนแต่เกิดจากโยนีของมารดา” นี่มันเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมาง่ายๆ เหมือนกับบอกว่า คนเรามีสถานะทางสังคมต่างกันเพราะทำกรรมหรือการงานต่างกัน ฉะนั้นการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นข้อเท็จจริงทางชีวภาพ และความแตกต่างของสถานะทางสังคมก็เป็นข้อเท็จจริงทางสังคม (เช่นอาชีพการงาน ระบบ ฯลฯ) ไม่เกี่ยวกับ “สิ่งที่อยู่นอกเหนือข้อเท็จจริง” เช่น พระพรหม เป็นต้น
 
ส่วนกรรมในความหมายทางศีลธรรมหรือความหมายเชิงคุณค่า คือการกระทำที่มีความหมาย “ดี-ชั่ว” ตามเกณฑ์ทางศีลธรรมบางอย่าง เช่น พุทธศาสนาพูดถึงการกระทำที่เป็นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตว่าเป็นการกระทำที่ดี เรียกกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตว่าเป็นการกระทำที่ชั่ว
 
จะเห็นว่าความหมายของ “ดี-ชั่ว” ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จับต้องมองเห็นได้ แต่เป็นคุณค่าเชิงนามธรรมที่จับต้องมองเห็น หรือพิสูจน์ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การตัดสินดี-ชั่วทางศีลธรรม จึงไม่อาจใช้วิธีอ้างอิงข้อเท็จจริงเชิงรูปธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินได้อย่างสมเหตุสมผล
 
เช่น เราไม่อาจอ้างอิง “ข้อเท็จจริง” ว่า จน รวย ความแตกต่างทางชนชั้นในสังคมเป็นต้นเกิดจากกรรมในความหมายทางศีลธรรม เพราะโดยทางศีลธรรมแล้วพุทธศาสนาพูดไว้ชัดว่า กษัตริย์ทำชั่วก็เป็นคนชั่ว พราหมณ์ทำชั่วก็เป็นคนชั่ว แพศย์ ศูทรทำชั่วก็เป็นคนชั่ว ในทางตรงข้ามถ้าคนในวรรณะต่างกันเหล่านี้ทำดีเขาก็เป็นคนดีเสมอเหมือนกัน ดี-ชั่วในทางศีลธรรมจึงไม่เกี่ยวกับสถานะทางสังคม
 
ฉะนั้น กรรมในความหมายเชิงข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสะท้อนความแตกต่างทางสังคมของมนุษย์ แต่กรรมในความหมายทางศีลธรรมสะท้อน “ความเท่าเทียมทางศีลธรรม” ของมนุษย์ คือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีสถานะทางสังคมเช่นไร เมื่อทำดีการกระทำของคุณก็มีความหมายเป็นความดี เมื่อทำชั่ว การกระทำของคุณก็มีความหมายเป็นความชั่ว หรือทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่วเสมอภาคกัน เช่นกษัตริย์ฆ่าคนและกรรมกรฆ่าคนก็ผิดศีลห้าข้อที่ 1 เสมอภาคกัน เป็นต้น
 
ความเสมอภาคทางศีลธรรมดังกล่าวนี้สะท้อนถึง “ความเสมอภาคในความเป็นคน” สองความหมาย คือ 1) ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกการกระทำทางศีลธรรม 2) ทุกคนมีธรรมชาติที่ดีงามหรือ “โพธิปัญญา” หรือที่เรียกกันว่า “พุทธภาวะ” อยู่ในตัวเอง หมายถึงทุกคนมีศักยภาพพ้นทุกข์ในตัวเอง ฉะนั้น จากความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมนี้ จึงทำให้มนุษย์มีความเท่าเทียมทางศีลธรรม
 
กรรมในความหมายทางศีลธรรมจึงเป็นสิ่งบ่งบอกความเท่าเทียมทางศีลธรรม และความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์
 
คำถามคือ เราจะเข้าในความสัมพันธ์ระหว่างกรรมในความหมายทางศีลธรรมกับข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างไร?
 
ผมคิดว่ามีวิธีอธิบายได้สองแบบคือ 1) นำหลักคิดเรื่องความเท่าเทียมทางศีลธรรมและความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ตามความหมายของกรรมทางศีลธรรมไปเป็นพื้นฐานของการออกแบบกติกาทางสังคม เราก็จะเห็นข้อเท็จจริงทางสังคมที่คนอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่ยุติธรรมซึ่งยึดเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นหลัก 2) อธิบายว่าข้อเท็จจริงที่เป็นความแตกต่างทางสังคมเป็นผลของการกระทำกรรมในความหมายทางศีลธรรม
 
จะเห็นว่า วิธีอธิบายแบบข้อ 2) ทำให้ความคิดเรื่องกรรมในพุทธศาสนาเป็นเรื่องไร้เหตุผล น่าหัวเราะขึ้นมาทันที เพราะเมื่อเราอ้าง “ข้อเท็จจริง” อย่างเช่น จน รวย สวย ไม่สวย โง่ ฉลาด สถานะสูง-ต่ำทางสังคม อกหัก ถูกหวย ทำธุรกิจรุ่ง ไม่รุ่ง ฯลฯ ว่า เป็นผลของกรรมดี กรรมชั่วในอดีต มันจะเกิดปัญหาตามมาว่า ความคิดเรื่องกรรมในความหมายทางศีลธรรมของพุทธศาสนามีเป้าหมายอย่างไรกันแน่ หรือการกระทำดี-ชั่ว ตามทัศนะของพุทธศาสนามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความดีงามทางสังคม สันติภาพ ความพ้นทุกข์ หรือมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนแม้กระทั่งเรื่องสวย หล่อ รวย ทำธุรกิจรุ่งเรือง บริโภคนิยม วัตถุนิยม ฯลฯ
 
กลายเป็นว่า แม้แต่สิ่งซึ่งอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อความดีงามทางสังคม สันติภาพ และความพ้นทุกข์ก็ยังถือเป็นผลของกรรมดี หรือผลของการกระทำที่ดีทางศีลธรรมได้ด้วย
 
เพราะเราอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นไปในชีวิตของปัจเจกบุคคล และความเป็นไปทางสังคมโดยโยงไปหากรรมที่เป็นการกระทำทางศีลธรรม จึงเกิดข้อสรุปประเภท “เกิดแต่กรรม” หรือเกิด “ลัทธิแก้กรรม” ที่ตอบโจทย์ความเป็นไปในชีวิตและสังคมได้ทุกเรื่องด้วยการประกอบพิธีกรรมเชิงไสยศาสตร์ต่างๆ ทำให้ความคิดเรื่องกรรมในพุทธศาสนาไม่เกี่ยวอะไรเลยมิติทางสังคม หรือไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความคิดเรื่องความเป็นธรรม การสร้างกติกาที่ยุติธรรมทางสังคม
 
ยิ่งกว่านั้นความเชื่อเรื่องกรรมแบบนี้ยังทำให้คนเราขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำทางศีลธรรมของตนเอง เพราะถึงคุณจะทำผิดศีลธรรมลงไป คุณก็สามารถแก้ความผิดนั้นๆ ได้ด้วยการทำพิธีกรรมบางอย่าง หรือทำให้คนยอมจำนนต่อต่อชะตากรรมเช่น ที่เกิดมาจน ที่ทำอะไรๆ ไม่ประสบผลสำเร็จเป็นต้น เพราะกรรมเก่า หรือทำให้สยบยอมต่อความไม่เท่าเทียมทางสังคมเช่น ยอมจำนนต่ออำนาจของอภิสิทธิชนเพราะเชื่อว่าคนเราทำกรรมาไม่เท่ากัน ฯลฯ
 
แต่หากมองตามทัศนะของพุทธศาสนาที่ว่า ข้อเท็จจริงในชีวิตและข้อเท็จจริงที่เป็นความแตกต่างทางสังคมเกิดจากกรรมในความหมายเชิงข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องเป็นคนดี คนชั่วเกิดจากกรรมในความหมายทางศีลธรรม เราจะเห็นความมีเหตุผลตรงไปตรงมาของหลักคิดเรื่องกรรมที่ว่า “ทำดีได้ (ความ) ดี ทำชั่วได้ (ความ) ชั่ว” อย่างชัดเจน
 
หากจะนำความหมายของกรรมในทางศีลธรรมมา “ปรับใช้” ให้เกิดข้อเท็จจริงในชีวิตและข้อเท็จจริงทางสังคมที่พึงประสงค์ ก็สามารถทำได้ด้วยการนำหลักคิดเรื่องความเสมอภาคทางศีลธรรมและความเสมอภาคในความเป็นคนมาสนับสนุนหลักการ กติกาในการอยู่ร่วมกันทางสังคมที่ส่งเสริมเสรีภาพและความเสมอภาคในด้านต่างๆ
 
แต่มันน่าเศร้าไหมครับ ที่ชาวพุทธบ้านเราดันไปนำหลักกรรมในความหมายทางศีลธรรมมาสนับสนุนให้เกิดข้อเท็จจริงทางสังคม หรือกติกาการอยู่ร่วมกันทางสังคมที่ยอมรับระบบชนชั้น และ/หรือระบบซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการมีเสรีภาพและความเสมอภาคในด้านต่างๆ มาตลอด 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิสา คัญทัพ: ถึงเวลา "ปฏิรูปวัฒนธรรม"

Posted: 06 Jul 2011 07:46 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: ถึงเวลาทำ “วัฒนธรรมแห่งชาติ” ให้เป็น “วัฒนธรรมของประชาชน”

 

“แดงคือชาติประชาชน บนไตรรงค์ธงชาติไทย หยัดยืนไม่ยอมให้ผู้ใด ประชาธิปไตยธำรงมั่น  รัฐประหารเจอกันในทันที”

ผมเคยเขียนเพลงอธิบายสีแดงบนธงชาติ ตามความหมายที่เคยร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า แดงคือชาติ ขาวคือศาสนา และน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ผมขยายความคำว่า “ชาติ” ซึ่งฟังดูเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน ให้มีตัวตน มีจิตวิญญาณขึ้น โดยชี้ชัดว่า “ชาติคือประชาชน” ถ้าไม่มีมีประชาชนก็ไม่มีชาติ

เรื่องนี้เป็นเรื่องรูปการจิตสำนึก เป็นวัฒนธรรม ที่คนไทยทุกคนได้รับการบ่มเพาะ ปลูกฝังมาแต่เยาว์วัยไม่รู้ความ ไม่ว่าผู้ที่คิดให้ความหมายของ “ธงชาติ” ในอดีตจะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาที่จะอธิบายว่าสีแดงคือ “ชาติ” บัดนี้ผมคิดว่าไม่ถูก  เพราะเมื่อชาติคือประชาชน และประชาชนคือชาติ การไม่ใช้คำว่า “ประชาชน” ตรงๆ ก็เหมือนกับความพยายามเลี่ยงบาลี

หากเราจะอธิบายเสียใหม่ว่า แดงคือประชาชน ขาวคือศาสนา และน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ ย่อมจะได้จิตวิญญาณอันมีตัวตน ดูเป็นรูปธรรม และเพิ่มน้ำหนักแห่งความรู้สึกเชิงจิตสำนึกได้มากกว่า คำปฏิญาณต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปเป็น 

“ข้าฯจะจงรักภักดีต่อประชาชน ศาสนา และพระมหากษัตริย์”

การเปล่งคำขวัญดังกล่าวย่อมเตือนให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐฯอื่นๆ รู้สึกผิดชอบชั่วดีได้บ้างในยามที่กระทำการไม่ดีใดๆ ต่อประชาชน ประชาชนที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ชาติที่เป็นนามธรรม

วัฒนธรรมเป็นเรื่องลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน เมื่อฝังอยู่ในจิตใจ ตกผลึกเป็นความเชื่อความศรัทธาแล้วย่อมยากจากการรื้อถอน กว่าจะได้ข้อมูลใหม่ กว่าจะผ่านการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวาง กว่าจะเปลี่ยนความเชื่อจึงต้องใช้เวลา

การบริหารจัดการรัฐกิจของสังคมไทยที่ผ่านมา ข้างที่ให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อประชาชน หากเป็นนักการเมืองในระบอบศักดินาอำมาตย์ที่ครอบงำความคิด กระทำต่อเนื่องยาวนานมาตลอด  เมื่อเรามีกระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกระทรวงนี้สักเท่าไร ปล่อยให้ข้าราชการประจำในระบบความคิดแบบเก่า แผ่อิทธิพลครอบงำดำเนินงาน กระทรวงนี้จึงขาดกลิ่นไอของวัฒนธรรมประชาชน ไม่มีบรรยากาศแห่งวัฒนธรรมประชาธิปไตย กระแสทั่วไปที่ครอบคลุมวัฒนธรรมของชาติจึงเป็น พาณิชย์วัฒนธรรมกับอำมาตย์วัฒนธรรม 

พื้นที่ของสังคมไทยวันนี้จึงปกคลุมไปด้วยกระแสของสองวัฒนธรรมดังกล่าว สถาบันการศึกษา ตลอดจนสื่อสารมวลชนทุกสาขาทั้งประเทศ เกิน 70 % สนองงานเผยแพร่วัฒนธรรมเช่นที่ว่ามายาวนานต่อเนื่อง ครอบงำรูปการจิตสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป มอมเมาให้หลงเชื่อเรื่องกรรมเรื่องเวร บุญทำกรรมแต่ง ยอมรับความต่ำต้อยด้อยค่า กระทั่งบิดเบือนสาระสำคัญต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ กลับดำเป็นขาว กลับขาวเป็นดำ มากมายหลายเรื่อง ผ่านสีสันรูปแบบการนำเสนอต่างๆ อันหลายหลาย เพราะฉะนั้นจึงควรมีการทบทวน สำรวจตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริง  

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จำเป็นต้องปฏิรูปวัฒนธรรมแห่งชาติเสียใหม่ ให้เป็นวัฒนธรรมประชาชน วัฒนธรรมประชาธิปไตย ด้านหนึ่ง สนับสนุนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนให้มีพื้นที่แสดงออกเพิ่มขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ต้องถอดรื้อความคิดผิดๆ ทัศนคติอันไม่ชอบต่างๆ ที่มีต่อประชาชนในกระบวนการแห่งวัฒนธรรมของชาติ

เนื่องจากความเป็นนามธรรมของชาติ หรือชาติที่ให้ความรู้สึกไม่มีตัวตนดังที่กล่าวเกริ่นนำมาแต่ต้นบทความ ทำให้โครงการยกย่อง สดุดี สรรเสริญ “ศิลปิน” ว่ามีความสำคัญต่อชาติบ้านเมือง กลายเป็นเรื่องเลื่อนลอยห่างไกลจากรากเหง้าประชาชนไปไกล คำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” แม้แลดูยิ่งใหญ่ ทว่าก็โน้มเอียงไปในทางพาณิชย์ศิลปิน และอำมาตย์ศิลปินมากไป สมควรได้รับการปรับแก้กระบวนการ และเหตุผลของการมอบตำแหน่งเสียใหม่ให้สมบูรณ์และกินความไปหมายรวมเอาศิลปินที่สร้างสรรค์เพื่อประชาชนด้วย

ที่สำคัญ การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวก็ควรคัดสรรให้มีที่มาอันหลากหลาย ได้กรรมการที่มีความเป็นธรรม เป็นนักประชาธิปไตย ไม่เอนเอียงข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อให้นโยบายไปแล้ว กรรรมการจึงสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างดี

กล่าวโดยสรุป งานสำคัญเร่งด่วนที่สุด คือการปฏิรูปวัฒนธรรมเสียใหม่ ปรับให้ทันสมัย ก้าวทันสังคมประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่เร่อร่า ล้าหลัง ออกมาหยิบจับประเด็นเล็กประเด็นน้อยไปขยายความแล้วควบคุมห้ามปรามโดยไม่เข้าใจรากเหง้าอันแท้จริง

กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำงานคู่ขนานไปกับกระทรวงศึกษาธิการ  สร้างงานในเชิงรุก ถอดรื้อลักษณะโบราณแบบอำมาตย์ศักดินาที่ยึดกุมครอบงำหลักคิดของกระทรวงนี้มายาวนานให้หลุดพ้น 

ถึงเวลาต้องเอาคนที่รู้เรื่องเข้าไปกำกับดูแลกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อวางรากฐานและคุมทิศทางในการสร้างรูปการจิตสำนึกใหม่ เพื่อประโยชน์ของมวลประชาอย่างแท้จริง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนทำงาน มิถุนายน 2554

Posted: 06 Jul 2011 07:36 AM PDT


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

TCIJ: คดีฟ้องชาวบ้านค้าน “โรงไฟฟ้าชีวมวล” เชียงราย บริษัทเรียกค่าเสียหายหลักล้าน

Posted: 06 Jul 2011 06:17 AM PDT

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งข่าวนัดสืบพยานในคดีที่ชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ ถูกฟ้องละเมิดกรณีคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เรียกค่าเสียหาย 1,120,000 บาท

 
สืบเนื่องจากการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่เกษตรกรรม ของชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย จนทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัดผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา
 
เมื่อ 23 พ.ค. 54 ประชาชนจาก อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เดินทางมาที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นคำฟ้องต่อศาล ให้มีการระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์ในพื้นที่
 
วานนี้ (5 ก.ค.54) เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งข่าวนัดสืบพยานในคดีที่ชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ ถูกฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย 1,120,000 บาทกรณีคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ณ ศาลจังหวัดเชียงราย โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2554 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2554 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 8
 
คดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1160/2553 ซึ่งบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ยื่นฟ้องนายบุญซ่น วงศ์คำลือ กับพวกรวม 9 คน ซึ่งเป็นชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ที่ศาลจังหวัดเชียงราย ในฐานความผิดละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากการคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2553
 
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย, ต.ริมกก อ.เวียงเมือง, ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ ได้ร่วมกันคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยเหตุผลว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชาวบ้านในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทั้งเรื่องการแย่งชิงแหล่งน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ สุขภาพอนามัยที่อาจต้องรับฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง
 

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนับเป็นการร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้รับรองไว้ในมาตรา 66 และ 67 ว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

 

 

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เทพไท"ภูมิใจได้ปกป้อง"มาร์ค"เผยบางเรื่องต้องทำแทนเพราะ"หัวหน้า"ไม่สามารถพูดกับคนบางกลุ่มได้

Posted: 06 Jul 2011 06:10 AM PDT

"เทพไท เสนพงศ์" แถลงอำลาตำแหน่ง "โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" แล้ว เผยมีทั้งคนให้กำลังใจ-คนส่งตระกร้อครอบปาก แต่สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามไม่พึงพอใจการทำหน้าที่ถือว่าการทำหน้าที่ของตนประสบความสำเร็จ พร้อมแนะ "ยิ่งลักษณ์" อย่าเอาอย่างพี่ชายเป็นนายกฯ 6 ปี ไม่เคยตอบกระทู้ในสภาเลย เผยเตรียมออกพ็อกเก็ตบุครวบรวมผลงานโฆษก-พร้อมแนบความเห็นจากเสื้อแดง

เทพไทแขวนไมค์โฆษกหัวหน้าพรรคปชป.แล้ว

เว็บไซต์พรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า วันนี้ (6 ก.ค.) นายเทพไท เสนพงศ์ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวอำลาตำแหน่งในฐานะโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยกล่าวว่า การแถลงข่าวในฐานะโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคในวันนี้คงจะเป็นครั้งสุดท้ายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เพราะตำแหน่งของตนเป็นตำแหน่งเฉพาะกิจสำหรับหัวหน้าพรรคที่ชื่อนายอภิสิทธิ์ เท่านั้น

เผยภูมิใจได้ปกป้องมาร์ค บางเรื่องต้องทำแทนเพราะหัวหน้าไม่สามารถพูดกับคนบางกลุ่มได้

ทั้งนี้ ตนทำงานในตำแหน่งนี้มา 2 ปีกว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานมีเสียงตอบรับทั้งด้านบวก และลบ ซึ่งสามารถพิสูจน์และจับต้องได้ในรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคภูมิใจในการทำหน้าที่คือ การปกป้องหัวหน้าพรรคในฐานะนายกฯ เพราะบางเรื่องหัวหน้าไม่สามารถออกมาพูดกับคนบางกลุ่มได้ ตนจึงทำหน้าที่แทน

นายเทพไทกล่าวว่า ซึ่งการทำหน้าที่ในตำแหน่งดัวกล่าวของตนเป็นการพิสูจน์ว่าได้รับเสียงตอบรับมากขึ้นจากในพื้นที่ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นกว่า 62,000 คะแนน แสดงให้เห็นว่าการทำหน้าที่ของตนประสบความสำเร็จต่อคะแนนนิยมพื้นที่

เผยมีทั้งคนให้กำลังใจ-ทั้งส่งตระกร้อครอบปาก แต่สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามไม่พอใจถือว่าตนทำหน้าที่สำเร็จ

นายเทพไท กล่าวต่อว่า ในทางบวกสิ่งที่ได้รับจากประชาชนทั้งประเทศนอกจากจะเป็นที่รู้จักแล้ว ยังมีการส่งจดหมาย การ์ด และดอกไม้มาให้กำลังใจ บางส่วนให้เป็นพระมาบูชา บางส่วนที่เกิน 3,000 บาทก็คืนให้เจ้าของ เช่น สร้อยคอทองคำ นอกจากนี้ กระแสตอบรับในทางลบก็มีจดหมายด่า ซึ่งตนก็เคารพความเห็นของประชาชน ทั้งหมดได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตนก็จะเก็บไว้ มีตระกร้อครอบปากสุนัขที่ได้รับ หรือแม้กระทั่งกางเกงในสีแดง ทั้งนี้ สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามไม่พึงพอใจการทำหน้าที่ถือว่าการทำหน้าที่ของตนประสบความสำเร็จ

แนะยิ่งลักษณ์อย่าเอาอย่างพี่ชาย ไม่เคยตอบกระทู้ในสภาสักครั้ง

“การทำหน้าที่ในฐานะโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคได้สิ้นสุด และต่อไปผมจะทำหน้าที่ตรวจสอบในฐานะ ส.ส.ในสภาฯ โดยเฉพาะการตั้งกระทู้ถามรัฐบาล อยากเรียกร้องว่าการตอบกระทู้ถามผู้ที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญกับสภาฯ โดยเฉพาะนายกฯ คนใหม่ เพราะที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ทำไว้เป็นมาตรฐาน ให้ความสำคัญกับสภาฯ มาตอบกระทู้ถามด้วยตัวเองทุกครั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกฯ ก็ควรเอาเป็นแบบอย่างที่ดี และไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างพี่ชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ 6 ปีไม่เคยมาตอบกระทู้แม้แต่ครั้งเดียว หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์โคลนนิ่งมาคงจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมแน่ เพราะการดำรงตำแหน่งของน.ส.ยิ่งลักษณ์ทุกคนคาดหวัง ไม่อยากให้ถูกมองว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประเทศยิ่งเล็ก” นายเทพไทกล่าว

เผยเตรียมออกพ็อกเก็ตบุครวบรวมผลงานโฆษก-พร้อมความเห็นจากเสื้อแดง

นายเทพไท กล่าวอีกว่า งานแรกที่พรรคต้องทำหลังจากนี้คือ การอภิปรายนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะแลถงต่อสภาฯ ซึ่งเราก็เตรียมทำการบ้านไว้แล้ว ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง และสร้างสรรค์ การแสดงความเห็นทางการเมืองก็จะออกมาพูดเป็นครั้งคราว และเป็นกรณีไป จะไม่นั่งแถลงตอบโต้เหมือนอย่างที่ผ่านมาอีก ทั้งนี้ การทำงานของตนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตนได้รับการประสานงานจากสำนักพิมพ์ที่จะทำหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ค รวบรวมการทำงานในฐานะโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งมุมมองปฏิริยาจากทุกฝ่าย และความเห็นจากกลุ่มเสื้อแดงด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น