โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

DeepSouthWatch: ไฟใต้หลังเลือกตั้ง (1): รัฐบาลใหม่กับ 3 ประเด็นใหญ่ใน ‘กระบวนการสันติภาพ’

Posted: 20 Jul 2011 11:12 AM PDT

การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปดูจะสำคัญโดดเด่นกว่าการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาหลายประการ เพราะในด้านหนึ่งมันเกิดขึ้นในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติชนิดที่สังคมการเมืองไทยไม่เคยประสบมาก่อน ผู้กำชัยชนะที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จึงถูกคาดหวังทั้งให้ทำและไม่ทำบางอย่างจากแทบทุกฝ่าย

ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ก็เช่นกัน แม้ดูเหมือนว่าจะถูกจัดวางให้มีความสำคัญในระดับรองลงมา แต่บทบาทของรัฐบาลในการจัดการกับความรุนแรงก็สำคัญเสียจนกระทั่งว่าหลายพรรคการเมืองจำต้องหยิบยกนโยบายขึ้นมาประชันขันแข่งกันก่อนหน้าวันเลือกตั้ง กระทั่งสร้างประเด็นอภิปรายไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบทสนทนาว่าด้วยการปรับโครงสร้างอำนาจการบริหารปกครอง การพูดคุยเพื่อสันติภาพ และการรื้อฟื้นและสถาปนาความยุติธรรมให้ผู้คนในพื้นที่สามารถสัมผัสได้จริง

ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับทิศทางของ “กระบวนการสันติภาพ” แทบทั้งสิ้น

ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใคร และจะเดินหน้าการดับไฟใต้อย่างไร จังหวะก้าวต่อจากนี้ เรื่องสำคัญอาจไม่ใช่การตั้งรับวิกฤตความรุนแรงเฉพาะหน้าและผลักดันการพัฒนาอย่างแยกส่วนดังที่ผ่านมา หากแต่คือเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่นผลักดัน “กระบวนการสันติภาพ” อย่างแน่วแน่ ซึ่งสิ่งนี้จะสะท้อนผ่านการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ภาคส่วนของสังคมได้ร่วมกันมีบทบาทหาทางออก อันเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดดัชนีของสันติภาพในอนาคต

ก่อนวันเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์ (27 มิถุนายน) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงานเสวนาผสมนิทรรศการ “แสงเงากลางไฟใต้; ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้” (คลิกดูกำหนดการ) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นการเปิดตัวหนังสือภาพ In Between; Restive South ของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ ในขณะที่ช่วงท้ายก็มีวงเสวนาที่มีหัวข้อว่า “ไฟใต้หลังเลือกตั้ง: ภาพอนาคตที่ควรเป็น” ก็มีเนื้อหาแหลมคมน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการเปิดอภิปรายโดยผู้คลุกคลีกับการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายสาธารณะคนสำคัญ โดยสะท้อนประเด็นแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ควรเพ่งพิจารณา

ข้อเสนอและบทสนทนาที่เกี่ยวกับการสถาปนาความยุติธรรม การผลักดันการกระจายอำนาจ และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ไม่ว่าใครจะนั่งตำแหน่งหัวโต๊ะขององค์กรฝ่ายบริหารควรต้องสนใจวางอยู่บนสมมติฐานเบื้องต้นว่า ประเด็นเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะคลี่คลายความขัดแย้งที่รุนแรงให้ทุเลาลงไป หรืออย่างน้อยก็นำพาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันไปยังพื้นที่การต่อสู้ต่อรองด้วยหนทางที่ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธห้ำหั่นกัน

รายงานชุดนี้เป็นการเก็บประเด็นที่นำเสนอในการอภิปรายครั้งดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยในตอนแรกจะเป็นการนำเสนอของผู้อภิปรายเป็นรายคน ส่วนในตอนหลังจะเป็นการแลกเปลี่ยนขัดเกลาประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น

 

- กระจายอำนาจ -

เมธัส อนุวัตรอุดม

เมธัส อนุวัตรอุดม

นักวิชาการประจำสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
คณะทำงานฝ่ายวิชาการ เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ
คลิกชมคลิปการเสวนา

ผมพูดในฐานะที่เป็น “คนนอก” แต่เป็นคนนอกที่เข้าไปทำงานกับเครือข่ายฯ ซึ่งอาจารย์ศรีสมภพ ก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ทำงานเรื่องการกระจายอำนาจ หลักๆ เรา (สถาบันพระปกเกล้า) อยากเข้าไปสนับสนุนให้ “คนใน” ทำงาน ถ้าทำอะไรได้ก็จะสนับสนุนกันไป วันนี้ผมจะพูดอยู่ 2-3 ประเด็น คือ ภาพในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจจะเป็นอย่างไร การกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีอนาคตหรือหมดอนาคต? ภาพอนาคตดังกล่าวนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ภาพ ได้แก่ ภาพแรก คือ ภาพการเคลื่อนไหวภายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ภาพที่สอง คือ ภาพของการเคลื่อนไหวของคู่ขัดแย้งในที่นี้ คู่ขัดแย้งหลักก็คือ รัฐกับกลุ่มขบวนการ และภาพสุดท้าย ภาพของการเคลื่อนไหวที่เชื่อมต่อกับสังคมใหญ่

๐ ปัตตานีมหานครและประชาสังคม

ก่อนที่จะพูดถึงภาพของการเคลื่อนไหว ผมอยากพูดถึงที่มาของการขบวนการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน ว่าเริ่มต้นมาได้อย่างไร มีสมมติฐาน และฐานคิดอย่างไร มุมมองหนึ่งที่มาจากการศึกษาของคนที่ทำงานเรื่องกระจายอำนาจ เรามองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น หลักๆ แล้วเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา คู่ขัดแย้งหลักในที่นี้ก็คือรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการฯ

เมื่อเรามองความขัดแย้งเป็นแบบนี้ คำถามในใจของเรา คือ คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คิดอะไร? ต้องการอะไร? อยากจะได้อะไร? และอยากจะเห็นการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร? สิ่งนี้เป็นคำถามตั้งต้น

หลังจากนั้นเราก็เปิดเวที 50 เวที มีผู้เข้าร่วม 1,427 คน ทั้งพุทธและมุสลิม มีเครือข่ายจากหลายกลุ่มที่ร่วมกันทำ เราพยายามที่จะเข้าถึงและรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ทั้งกลุ่มเยาวชน อุสตาส โต๊ะครู ทหาร ตำรวจ ปกครอง ฯลฯ โดยหลักการที่ว่า “คนในทำ คนนอกหนุน”

สิ่งที่เราได้จาก 50 เวที คือ ความต้องการของประชาชน 8 ประการ (ดูร่างรายงานฉบับเต็มที่ เอกสารเพื่อการปรึกษาหารือ ร่างที่ 7 - ปัตตานีมหานครภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) สิ่งนี้เราจะใช้เป็นฐานในการมองภาพอนาคต แต่ก็ต้องเน้นย้ำด้วยว่านี่คือความต้องการส่วนหนึ่งของประชาชนในพื้นที่ เพราะว่าเราทราบดีว่าการฟังความคิดเห็น 50 เวทีเองก็ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ความต้องการของประชาชนทั้ง 8 ข้อ มีดังนี้

ประการแรก พวกเขาต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังอยู่ภายใต้รัฐไทย

ประการที่สอง คือ มีความเป็นธรรม มีการปกครองที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติคำนึงถึงอัตลักษณ์ ทั้งของคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อยในพื้นที่

ประการที่สาม เกี่ยวกับผู้บริหารสูงสุด เสียงที่สะท้อนในเวทีบางส่วนไม่ได้บอกว่าเขาอยากจะให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีบ้างที่บอกว่าอยากเลือกตั้งผู้ว่าหรือผู้บริหารสูงสุด แต่หัวใจก็คืออยากได้คนในพื้นที่เป็นผู้นำของพวกเขา ซึ่งจะต้องเป็นคนที่เข้าใจวิถีชีวิตและความต้องการของท้องถิ่นจริงๆ นอกจากนี้ ยังต้องการให้จำนวนข้าราชการในท้องถิ่นนั้นสอดคล้องกับสัดส่วนของคนในพื้นที่

ประการที่สี่ มีกลไกทีเอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ จริงๆ กลไกเรามีอยู่แล้ว ในแง่นี้คือการกระจายอำนาจปกติอยู่แล้ว แต่พวกเขาต้องการเน้นก็คือต้องเป็นกลไกที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของอำนาจจริงๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขามีอำนาจในการจัดการจริงๆ นี่คือจุดที่ต่างและเป็นจุดที่เราได้จากเวที

ประการที่ห้า มีระบบการคัดเลือก คัดกรอง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สามารถที่จะคัดให้บุคคลที่มีคุณธรรมเข้าสู่ระบบได้

ประการที่หก มีการใช้ 2 ภาษา เป็นข้อเสนอที่มีมานานแล้ว ทั้งภาษาไทยและภาษามลายูควบคู่กันไป เป็นข้อเสนอส่วนหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ด้วย

ประการที่เจ็ด หลักสูตรการศึกษาบูรณาการสายสามัญและสายศาสนา รวมถึงมีการสอนวิชาภาษามลายูอย่างเป็นระบบ ถามว่าต้องสอนเป็นภาษามลายูหรือไม่ ข้อมูลจากเวทีที่ได้มาตอบว่าไม่จำเป็น อาจสอนเป็นภาษาไทยได้ แต่อยากให้มีวิชาภาษามลายูในหลักสูตรอย่างเป็นระบบ

และประการสุดท้าย บังคับใช้กฎหมายอิสลามเฉพาะกับคนมุสลิม

เมื่อเครือข่ายฯ ได้สังเคราะห์ผลออกมาเป็นอย่างนี้ ปรากฏว่าไปสอดคล้องกับข้อเสนอของหะยีสุหลง ที่เคยเสนอมาตั้งแต่ 60 ปีที่ผ่านมาโดยไม่ได้ตั้งใจ มีคนถามว่า 60 ปีผ่านไปมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง มีอะไรที่เกิดขึ้นจริงได้แล้วบ้าง ก็ได้แต่หวังว่านี่คือภาพอนาคตในเชิงเนื้อหาว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการ

อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่านี่คือเสียงส่วนหนึ่ง คำถามก็คือแล้วเสียงส่วนใหญ่ จะเหมือนหรือต่างกับเสียงส่วนหนึ่งที่เราได้จาก 50 เวทีหรือไม่? แล้วเราจะขยายวงจากเสียงส่วนหนึ่งไปเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้อย่างไร? เป็นคำถามที่ทางเครือข่ายฯ ตั้งคำถามกับตัวเองพยายามผลักดันให้เกิดจากเสียงส่วนหนึ่งให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ให้ได้

ถัดไปคือรูปแบบการปกครองใดสามารถตอบสนองกับสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนได้ทั้ง 8 ข้อ (กรุณาคลิกดูแผนภาพข้อเสนอโครงสร้างปัตตานีมหานคร) เราไม่ได้มีรูปแบบการปกครองใดเป็นพิเศษในใจ เราเอาฐานของความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วรูปแบบใดค่อยมาออกแบบกันและร่วมคิดกัน สิ่งที่เครือข่ายเสนอ คือ “ปัตตานีมหานคร” ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเพียงตุ๊กตาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงซึ่งกันและกัน ถกเถียงในส่วนของคนที่เกี่ยวข้อง ถกเถียงในส่วนของสังคม เปิดประเด็นให้มองว่า นี่อาจจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ถามว่าความเป็นไปได้ในอนาคตของปัตตานีมหานคร ในฐานะที่เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นั้นมีอยู่ 4 หนทาง นั่นคือ ทางแรก ยังเป็นข้อเสนอที่อยู่บนกระดาษเหมือนเดิม ทางที่สอง ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา ทางที่สาม ให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเอ หรือทางสุดท้าย ให้ ส.ส. รวมตัวกันเข้าชื่อเสนอ ที่จริงแล้วก็มีความเป็นไปได้เพียงเท่านี้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

๐ กระจายอำนาจที่ชายแดนใต้ในอนาคต

ก่อนที่จะมองภาพอนาคต ผมมองว่าปัจจุบันมันเป็นภาพแบบนี้ ปัจจุบันเป็นภาพที่มันวุ่นวาย (ภาพประกอบที่ 1) เหมือนที่ทุกท่านเห็น มองว่าเป็นภาพที่มันวุ่นวาย ไร้ระเบียบ แต่ก็ยังมีกลุ่มประชาสังคมอยู่ข้างนอก ที่ทำหน้าที่คอยตบให้เข้ารูปได้ ประชาสังคมที่ว่านี้จะก่อรูปอะไรบางอย่างที่ทำให้ความยุ่งเหยิงเหล่านี้ไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

ภาพประกอบที่ 1

ความยุ่งเหยิงที่เป็นเส้นสีแดงๆ นั้นอาจหมายถึงความหวาดระแวงของสังคมใหญ่ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า “ปัตตานีมหานคร” คืออะไร? “นครปัตตานี” คืออะไร? “นครรัฐปัตตานี” คืออะไร? ส่วนที่เขียนไว้ว่า “อนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม” นั้น คือ ความขัดแย้งแย่งชิงกันระหว่างกลุ่มอำนาจ นอกจากนี้ ยังมีบริบทของ “การเมือง 2 ขั้ว ไร้เสถียรภาพ” และ “ผู้เกี่ยวข้องยังเห็นต่าง” ซึ่งอย่างหลังหมายถึงความเห็นที่แตกต่างกันในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนนอกพื้นที่และคนในพื้นที่ เห็นต่างทั้งภายในภาครัฐเองและภายในขบวนการ ตลอดจนภายในกลุ่มประชาสังคมด้วยกันเอง ทั้งหมดเหล่านี้ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ว่าข้อเสนอในทำนองนี้เป็นทางออกจริงหรือไม่? และที่สำคัญภายในขบวนการฯ บางส่วนก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้

เมื่อกล่าวถึงภาพอนาคตของการเคลื่อนไหวภายใน ดังที่เกริ่นไปแล้วว่าผู้เกี่ยวข้องยังมองปัญหาด้วยมุมที่ต่างกัน สิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องทำ คือต้องขยายวงการถกเถียงในเรื่องนี้ให้ครอบคลุมในทุกภาคส่วนให้ได้ สื่อสารกับสังคมใหญ่ให้เริ่มเห็นว่าทางการกระจายอำนาจเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหา

ประเด็นถัดไปก็คือ เสียงสะท้อนจากกลุ่มขบวนการฯ บางส่วนที่มองว่าการเคลื่อนไหวผลักดันข้อเสนอนี้เป็นการฉวยโอกาส พวกเขาเป็นคนปลูกต้นไม้ แต่เครือข่ายเหล่านี้เข้ามาเก็บเกี่ยวผลเอาไปกิน ซึ่งไม่แปลกที่พวกเขาจะคิดอย่างนี้ แต่สิ่งที่เครือข่ายประชาสังคมจะต้องทำก้นคือการเปิดพื้นที่ที่จะสื่อสารกับกลุ่มขบวนการฯ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน เปิดพื้นที่ให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มขบวนการฯ เท่านั้น แต่ต้องทำให้ทุกๆ คน ที่เกี่ยวข้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเจ้าของที่ว่าด้วยเช่นกัน

เราจะทำอย่างไรที่จะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มขบวนการฯ เข้ามาในกระบวนการได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจารย์ศรีสมภพจะคุยกันต่อไป ซึ่งก็คือการพูดคุย (dialogue)

ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงและข้อท้าทายของกลุ่มประชาสังคม ก็คือ การเคลื่อนไหวตรงนี้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชั้นนำ (elite) เท่านั้น ทั้งที่เป็นอาจารย์หรือเป็นปัญญาชน ในขณะที่ชาวบ้านเองก็ไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่เครือข่ายและคนที่ทำงานต้องขยับขยายเพื่อสร้างพื้นที่ถกเถียงให้ครอบคลุมมากที่สุดและลงไปถึงฐานชุมชนให้ได้ ไม่เช่นนั้นพลังการต่อรองจะไม่เกิดขึ้นเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น

ประเด็นถัดมาที่สำคัญ คือ หลายฝ่ายไม่เชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริง ทั้งกลุ่มขบวนการฯ บางส่วนเองที่แม้จะเห็นว่าข้อเสนอนี้น่าจะเป็นทางออกได้ แต่ก็มองไม่เห็นความเป็นไปได้ในความเป็นจริง ปัญหาตรงจุดนี้ภาคประชาสังคมคือทางออก โดยเราจะต้องเกาะกลุ่มกันให้แน่นและหนุนเสริมกันและกัน ถ้ามันระเบิดจากข้างในออกมา ข้างนอกก็ต้องฟัง ในขณะเดียวกันต้องมีการสื่อสารในวงเล็กกับกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม เพื่อให้เห็นว่าข้อเสนอนี้ไม่ได้หลุดไปจากกรอบรัฐธรรมนูญหรือหลุดไปจากประเทศไทย

นอกจากนี้ เราจะผลักดัน “พื้นที่เย็น” ให้เป็นมหานครก่อนก็เป็นไปได้ เช่น เชียงใหม่มหานคร หรือในกรณีของมหานครราชสีมา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยเสนอไว้ ประเด็นสุดท้ายที่การเคลื่อนไหวภายในที่เครือข่ายประชาสังคมต้องคิด คือ ปัตตานีมหานครถูกมองว่าเป็นงานที่รับมาจากนักการเมืองและขยับคู่กันไป จริงๆ คงไม่ต้องพูดอะไรมาก ใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการทำงานขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมตรงจุดนี้จะมีความต่อเนื่องและยั่งยืนมากน้อยเพียงใด อย่างที่เรียนว่าปัตตานีมหานครไม่ได้เป็นรูปแบบที่ตายตัว เป็นตุ๊กตาที่เปิดโอกาสให้ถกเถียงกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เป็นงานของเครือข่ายที่จะหมุนไปได้เรื่อยๆ

๐ คู่ขัดแย้งหลักและพื้นที่กลาง

ในส่วนของการเคลื่อนไหวภายในระหว่างคู่ขัดแย้ง การเคลื่อนไหวระหว่างคู่ขัดแย้ง เราจะเห็นว่ารัฐกับขบวนการเป็นขั้วขัดแย้งหลัก และมีตัวที่สำคัญคือภาคประชาสังคมอยู่ตรงกลางข้างล่าง (ภาพประกอบที่ 2) จะเห็นว่าปีกหนึ่งคือ การรวมศูนย์อำนาจ อีกฝั่งหนึ่งคือ เอกราช แต่ละคู่ขัดแย้งยืนกันคนละฝั่ง แน่นอนตอนนี้เป็นแบบนี้ สิ่งที่ภาคประชาสังคมพยายามทำ คือ พยายามที่จะให้เกิดพื้นที่ตรงกลางขึ้นมา เราจะเห็นมีตั้งแต่การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ขั้วหนึ่ง แต่ตรงกลางจะไล่มาตั้งแต่การกระจายอำนาจตามระบบปกติที่ยังคงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามปกติ ต่อจากนั้นก็มีการกระจายอำนาจที่มีลักษณะเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และต่อจากนั้นคือเขตปกครองพิเศษ ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งคือ คือ เป็นเอกราช

ภาพประกอบที่ 2

ตามแผนภาพนี้ ขบวนการฯ ยืนอยู่ฝั่งเอกราช อย่างน้อยก็เป็นอุดมการณ์ที่ประกาศ รัฐยืนอยู่ฝั่งรวมศูนย์ เราจะเห็นเส้นสีแดงที่วางเป็นกรอบซึ่งก็คือ พื้นที่ต่อรอง พื้นที่ต่อรองดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างการกระจายอำนาจในองค์กรปกครองท้องถิ่นธรรมดา รูปแบบพิเศษ หรือเขตปกครองพิเศษ เหล่านี้ คือ ขอบเขตพื้นที่การต่อรองระหว่างรัฐกับขบวนการ สิ่งที่ภาคประชาสังคมทำ ก็คือ เปิดพื้นที่ทางการเมือง คือ เส้นสีเขียวด้านล่าง ผมคิดว่าภาคประชาสังคมต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้หมด รวมถึงเอกราชด้วยก็ได้ ถ้าอยากจะพูด ถ้ารู้สึกว่าพูดแล้วนี่คือสิ่งที่ตัวเองต้องการ ภาคประชาสังคมต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้พูด

แม้ว่าในความเป็นจริงการเปิดพื้นที่ดังกล่าวก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย กล่าวคือคงไม่มีพื้นที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างนั้น หากภาคประชาสังคมทำได้ โดยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้หมด ตั้งแต่ขั้วหนึ่งไปสุดอีกขั้วหนึ่ง สิ่งนี้จะทำให้พื้นที่แต่ละฝ่ายเลือกจะใช้ความรุนแรงหดไป ความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงก็จะหมดไป น้อยลง ลดน้อยลง มีพื้นที่ที่ให้พูดอย่างสันติ และมีพื้นที่ที่ภาคประชาสังคมจะขับเคลื่อนผลักดันไปได้ พร้อมทั้งสร้างอำนาจต่อรองกดดันทั้งรัฐและขบวนการฯ ให้หันมาใช้สันติวิธี

เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน (ก่อนวันเลือกราวตั้ง 1 สัปดาห์) หากเราลองพิจารณาว่าแต่ละพรรคการเมืองอยู่ตรงไหนในมุมมองดังกล่าว เราจะพบว่า ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา จะเอียงมาทางด้านรวมศูนย์และกระจายอำนาจตามปกติ ในขณะที่เพื่อไทยจะอยู่โดดออกมา โดยมีความหวังใหม่ แทนคุณแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกัน ส่วนมาตุภูมิและชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินจะอยู่กึ่งกลาง (ภาพประกอบที่ 3) ตำแหน่งของนโยบายพรรคเหล่านี้สะท้อนว่าพรรคการเมืองนั้นมีความโน้มเอียงไปทางไหน จะมีพื้นที่ต่อรองจะอยู่ตรงไหน

ภาพประกอบที่ 3

จะเห็นว่าเพื่อไทยจะโดดออกมา เนื่องจากเพื่อไทยเสนอนครปัตตานี เช่นเดียวกับพรรคความหวังใหม่ ในขณะที่พรรคมาตุภูมิยังก้ำๆ กึ่งๆ เพราะเสนอให้มีการจัดตั้งทบวงชายแดนใต้ โดยให้มีผู้บริหารมาจากคนในพื้นที่ แต่ก็ไม่ปฏิเสธเรื่องมหานคร ส่วนพรรคประชาธรรมอยู่อีกมุมหนึ่งพร้อมมีเครื่องหมายคำถาม เพราะไม่แน่ใจว่ามีนโยบายอย่างไร เพราะดูจากนโยบายที่ระบุว่ามีการบริหารการปกครองที่ต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นได้กว้างมาก

๐ การขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อกับสังคมใหญ่

การเคลื่อนไหวกับสังคมใหญ่มักจะเชื่อมโยงกับคำถามที่ว่าข้อเสนอที่ว่าด้วยการกระจายอำนาจในลักษณะนี้ (ปัตตานีมหานคร) จะเป็นได้จริงหรือไม่? จริงๆ แล้ว หากมองเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เราอาจพบว่าจะติดล็อคเยอะแยะไปหมด แต่หากเราเปิดออกไปและมองไปทั่วประเทศจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายจังหวัดจัดการตัวเอง 26 จังหวัด ภาคเหนือมี 8 จังหวัด ภาคอีสานมี 8 จังหวัด ภาคกลางมี 5 จังหวัด และในภาคใต้เองอีก 5 จังหวัด ซึ่งยังไม่รวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เครือข่ายเหล่านี้เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้ “จังหวัด” หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ “ท้องถิ่น” สามารถจัดการตนเองได้ ซึ่งในแง่ของการนิยามความหมายแล้วคงมีอยู่อย่างหลากหลาย แต่โดยพื้นฐานการคิดเรื่องนี้เพื่อการขับเคลื่อนแล้วก็คือความต้องการให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียง มีส่วนจริงๆ ในการใช้อำนาจ บางคนก็บอกว่าต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่า ซึ่งไปสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (ดูรายงาน ปรับตัวเพื่อรับมือ: เปิดรายงานคณะกรรมการปฏิรูป "ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ") ที่ต้องการที่จะยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เช่นเดียวกับเครือข่ายประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจในชายแดนใต้ สื่อมวลชน และสภาพัฒนาการเมือง ภาพเหล่านี้สามารถทำให้เห็นอย่างคร่าวๆ ได้ว่าการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ล้วนเชื่อมโยงกันหมด และกระจายตัวไปในขอบเขตทั่วประเทศ

ในเวทีที่เกี่ยวกับนโยบายการกระจายอำนาจก่อนหน้าการเลือกตั้งวันเลือกตั้ง (ในรายการนับถอยหลังเลือกตั้ง ’54 หัวข้อ “กระจายอำนาจ กระจายโอกาสทำกิน” ดูเนื้อหาข่าวที่ “กก.ปฏิรูปจี้ พรรคการเมืองทำให้จริงเรื่องการกระจายอำนาจ”) ทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ที่จะนำเสนอมหานครราชสีมา มหานครขอนแก่น มหานครหาดใหญ่ ในขณะที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอมหานครปัตตานี ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็เสนอเชียงใหม่มหานคร อำนาจเจริญมหานคร และในกรณีปัตตานีมหานครก็เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่มุ่งไปสู่การจัดการตัวเอง ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประชาสังคม

ผมอาจจะมองโลกในแง่ดีไปนิดนึง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีความเคลื่อนไหวจริง ทางเครือข่ายเชียงใหม่มหานครตั้งเป้าที่จะยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่สภาปี 2555 ถ้าพื้นที่อื่นๆ เกิดไปก่อน ในกรณีปัตตานีที่จะเกิดตามมาอาจมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง

สุดท้ายคือภาครัฐต้องสนับสนุนภาคประชาสังคม อย่าดึงเรื่องเหล่านี้ไปทำเอง แต่ต้องเปิดให้ประชาสังคมยื่นกฎหมายเข้าสภา ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็ปล่อยให้ประชาชนจัดการกันเอง จังหวัดไหนอยากได้ก็เดินหน้าไป แต่จังหวัดไหนไม่พร้อมก็ไม่ต้องทำอะไร

(อ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนในตอน 2)

 

- พูดคุยเพื่อสันติภาพ -

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ
คลิกชมคลิปการเสวนา

ผมจะพูดใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็นแรก เริ่มจากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องของความขัดแย้งความรุนแรงที่จะนำมาสู่การประนีประนอม หรือนำมาสู่การลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับกระบวนการในแง่ของการเจรจาในฐานะที่เป็นการหาทางออก และประเด็นที่สาม บทบาทของภาคประชาสังคมในกระบวนการเจรจา

๐ ถึงปัจจุบัน: คุณภาพของความรุนแรง

เริ่มจากประเด็นแรก สรุปสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อจะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ที่ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึง 16 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว 10,891 ครั้ง มีคนตายบาดเจ็บประมาณ 12,536 ราย (ภาพประกอบที่ 4) เฉพาะผู้เสียชีวิต 4,750 ราย และผู้ที่บาดเจ็บ 7,786 ราย

ภาพประกอบที่ 4

นอกจากนี้ ภาพรวมของการประมวลเหตุการณ์ล่าสุด จากข้อมูลชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ภาพรวมเหตุการณ์หลังปี 2550 ถึงปี 2551 เหตุการณ์ความไม่สงบดูเหมือนว่าจะลดลง (ภาพประกอบที่ 5) รัฐบาลเองก็พูดอย่างนั้นและข้อมูลก็ชี้ให้เห็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับ อาจเนื่องมาจากมีมาตรการหลายอย่างทั้งทางการทหาร กฎหมาย และการควบคุมอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มของจำนวนเหตุการณ์จะลงมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้หายไป กลับเป็นลักษณะของการลงแล้วกระดกขึ้น หรือขึ้นๆ ลงๆ ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น บางครั้งก็จะสูงโด่งขึ้นมา อันนี้เป็นลักษณะที่เกิดขึ้น

ภาพประกอบที่ 5

ภาพประกอบที่ 6

ถ้าดูอีกแง่หนึ่ง โดยมองในจากจำนวนผู้ไดรับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งก็จะพบว่ามีความสูญเสียทุกฝ่ายพลเรือน ทหาร และตำรวจ และจากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เราจะพบว่าการแกว่งไกวของจำนวนผู้ที่สูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นมีอยู่สูงกว่าการแกว่างไกวของจำนวนครั้งของเหตุการณ์ กล่าวคือ มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ที่สูงกว่า (กรุณาเปรียบเทียบภาพประกอบที่ 5 และ 6)

เมื่อดูสัดส่วนของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ (ภาพประกอบที่ 7) จากภาพจะเห็นได้ว่าส่วนที่เป็นสีแดง คือ จำนวนของผู้ที่ที่เสียชีวิต จำนวนผู้เสียชีวิตรายเดือนปกติแล้วจะมีความคงที่ไม่ค่อยเปลี่ยนมากนัก ไม่ว่าจะหลังปี 50 หรือ 51 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พบว่าจำนวนเหตุการณ์ลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บก็แกว่งมากขึ้น (ส่วนที่เป็นลายเส้นสีน้ำเงิน) เนื่องจากยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอดเวลา ในแง่ของการวิเคราะห์เราจึงมองว่าเป็นความรุนแรงเชิงคุณภาพที่เกิดขึ้นในระยะหลัง

ภาพประกอบที่ 7

ในขณะเดียวกัน เราก็พบว่าความไม่แน่นอนของสถานการณ์ยังเห็นภาพอยู่ตลอดเวลา ข่าวการยิง การระเบิด และการฆ่ารายวันจากเหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นตลอดเวลาในระยะหลัง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการการป้องกัน การใช้กำลังทหาร การใช้กฎหมายพิเศษ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมากในการจัดการนั้นควบคุมเหตุการณ์ได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นแล้วยังมีสภาพการณ์ของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นๆ ลงๆ

ภาพถัดไปเป็นจำนวนเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตเป็นรายเดือน (ภาพประกอบที่ 8) จะเห็นได้ว่าเส้นสีน้ำเงินที่เป็นจำนวนเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ยังไม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังคงแกว่งขึ้นแกว่งลงอยู่ ถึงแม้ว่าจะลดลงมาส่วนหนึ่ง แต่ว่ามันก็ไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ผมเคยลองวิเคราะห์ในทางสถิติถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้พบว่ายังไม่ค่อยสัมพันธ์กันมากนักกับเหตุการณ์ก่อนและหลังปี 50 แสดงให้เห็นว่าความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ยังมีอยู่

ภาพประกอบที่ 8

อีกภาพหนึ่ง จะพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตจะเป็นพลเรือน (ภาพประกอบที่ 9) ในขณะเดียวกัน เมื่อดูการสูญเสียของพลเรือนเป็นรายปีแล้ว จะพบว่าจำนวนผู้สูญเสียยังแกว่งไปแกว่งมาเช่นกัน (ภาพประกอบที่ 10) เมื่อดูโดยภาพรวมแล้วก็สะท้อนให้เห็นข้อคิดที่ว่าในสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อหรือในภาษาวิชาการจัดการความขัดแย้งที่เรียกว่า Protracted Conflicts ซึ่งหมายถึงความขัดแย้งที่ไม่ว่าเกิดที่ไหนในโลก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีความน่ากลัวตรงที่ไม่สามารถหยุดได้และพร้อมจะกลับมาอยู่เรื่อยๆ สถานการณ์จะขึ้นๆ ลงๆ (ภาพประกอบที่ 11)

ภาพประกอบที่ 9

ภาพประกอบที่ 10

ภาพประกอบที่ 11

มาตรการที่รัฐทำตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา คือ ความพยายามจะลดความเข้มข้นของเหตุการณ์ความรุนแรง (de-escalate) แต่ก็สามารถลดได้ในระดับหนึ่ง เพราะก็ยังมีภาวะที่ขึ้นๆ ลงๆ ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปว่าตัวปัญหาของความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากอะไร และจะแก้อย่างไร ถ้าหากเราลดความรุนแรงไม่ได้ ก็ต้องดูว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาจริงๆ

๐ มุ่งไปยังสาเหตุรากเหง้า

ดูจากสถิติการเสียชีวิตของพลเรือน (ภาพประกอบที่ 12) และสถิติของการใช้ระเบิด (ภาพประกอบที่ 13) แล้ว จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มขึ้นๆ ลงๆ อยู่กระทั่งถึงปัจจุบัน เราอาจเรียกว่าลักษณะของความขัดแย้งทำนองนี้ว่าเป็น ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง (Protracted Conflicts) คือ เป็นความขัดแย้งที่ไม่หยุดลง ความยืดเยื้อเรื้อรังของสิ่งเหล่านี้ดูจากการที่เหมือนจะมีเส้นๆ หนึ่งที่เคลื่อนไปแล้วตกลง หลังจากนั้นก็กระดกขึ้น เป็นเส้นที่มีความต่อเนื่องบนพื้นฐานของความคงที่ของสถานการณ์ความรุนแรง

ภาพประกอบที่ 12

ภาพประกอบที่ 13

การแก้ไขปัญหาจะต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงรากเหง้า หรือว่าสิ่งที่เป็นสาเหตุรากเหง้า(root cause) ของเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด ที่คุณเมธัสพูดถึงประเด็นปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ฯลฯ เป็นเรื่องใหญ่ที่ถือว่าเป็นปมของปัญหาอีกหลายๆ อย่าง ที่จะต้องแก้จากจุดนี้ แต่ดูโดยภาพรวมแล้วประเด็นปัญหาอัตลักษณ์กลายเป็นเรื่องใหญ่กลายเป็นสิ่งที่เป็นสาเหตุรากเหง้าของปัญหาใหญ่ๆ อื่นๆ ที่ตามมา ความพยายามในการแก้ไขปัญหาต้องดูที่รากเหง้านี้

ปัญหารากเหง้าทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาที่สำคัญ คือว่า ในแง่ของการจัดการของรัฐที่ตามมา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม โครงการเศรษฐกิจ โครงการพัฒนา ไม่ว่าอะไรต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะลดความรุนแรง หรือแม้แต่ใช้มาตรการทางกฎหมายที่ลงไปควบคุมไม่สามารถลดความรุนแรงได้ เพราะว่ามันจะกลายเป็นเรื่องของความไร้ความชอบธรรมของรัฐในการจัดการปัญหา

๐ จุดเปลี่ยนและช่องทางทั้งสาม

โมเดลของการจัดการความขัดแย้งซึ่งเป็นของ ดร.โนเบิร์ธ โรเปอร์ส (Norbert Ropers) ที่เคยใช้ในหลายๆ ประเทศ (ภาพประกอบที่ 14) เราก็เห็นว่าหากเหตุการณ์ความขัดแย้งมันเกิดขึ้น โดยมีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ แล้วจะพบว่ามีอยู่จุดหนึ่งที่เราเรียกว่าจุดเปลี่ยน (turning point) ของเหตุการณ์จะนำมาสู่การที่ทุกๆ ฝ่ายของความขัดแย้งถูกบีบจากสถานการณ์ให้หาทางออกร่วมกัน

ภาพประกอบที่ 14

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการที่มีข้อเสนอเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับปัญหาหลายทาง (Tract) แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลักใหญ่อยู่ 3 ทาง (แทร็ค) ด้วยกัน การใช้วิธีการนำเสนอทางเลือกของการแก้ปัญหาที่มีอยู่หลายช่องทางเหล่านี้จะนำไปสู่การเจรจาหรือการพูดคุยกัน เพื่อจะหาทางออก และเพื่อลดความขัดแย้งหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น หลังจากขั้นตอนการเจรจาแล้ว ก็จะมีการตกลงกันหาทางที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน

นี่คือขั้นตอนที่โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่ว่ากระบวนการเหล่านั้นจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จก็ตาม ในส่วนของบ้านเรา จริงๆ แล้วยังอยู่ในขั้นตอนก่อนที่จะถึงจุดเปลี่ยนที่ว่านี้ หรืออาจจะอยู่ในช่วงนี้ก็ได้ ซึ่งเรายังไม่รู้ จนกว่าภายในปีสองปีนี้เราถึงจะเห็น มันจะเข้าไปสู่ “กระบวนการเจรจาพูดคุย” (peace dialogue) หาทางออกเพื่อจะนำไปสู่ “การเจรจา” (peace negotiation) อีกทีหนึ่ง

ในตอนนี้หากว่ามีการพูดคุยในลักษณะอย่างนี้ เราอย่าเพิ่งเรียกว่ามีการเจรจา จริงๆ แล้วยังไม่มีการเจรจาจริงๆ เกิดขึ้น จะมีก็แต่การเตรียมการเพื่อนำไปสู่การเจรจาจริงๆ ซึ่งเราเรียกว่าเป็นช่วง pre-negotiation เราไม่รู้ว่าเรามาถึงจุดนี้หรือเปล่า อาจจะยังไม่ถึงก็ได้ แต่ว่าเราพยายามผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ คือ การเดินไปพร้อมกันทั้ง 3 เส้นทางด้วยกัน (ภาพประกอบที่ 15)

ภาพประกอบที่ 15

สามเส้นทางที่พูดถึงนี้ ได้แก่ แทร็คที่ 1 (Track 1) คือ การพูดคุยเจรจากับตัวแสดงหลักของความรุนแรงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการใต้ดิน หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ต่อสู้หลัก สองฝ่ายนี้ต้องพูดคุยกันเพื่อจะหาทางออก ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง โดยจะมีมาตรการที่ตกลงกันว่าจะจัดการอย่างไร

ส่วนแทร็คที่ 2 คือ กระบวนการที่องค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มผู้นำ ปัญญาชน เอ็นจีโอ หรือกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่เป็นภาคพลเมืองหรือภาคสังคมจะเป็นคนที่สร้างพื้นที่ในการเจรจาหรือการพูดคุยกัน โดยจะเป็นเส้นทางหรือพื้นที่ที่สอง โดยที่แทร็คที่ 1 เองนั้นเมื่อพูดคุยกันไปก็อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้หรือล้มเหลวก็ตาม แต่แทร็คที่ 2 ที่จะเป็นตัวที่ควบคุมให้แทร็คที่ 1 ให้เดินไปสู่หนทางที่ควรจะเป็นตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ของสังคม

คุณเมธัสพูดถึง “พื้นที่กลาง” ปีกหนึ่ง คือ รัฐจะรวมศูนย์อำนาจ อีกปีกหนึ่ง คือ ขบวนการต้องการแยกดินแดน เอกราช แล้วตรงกลางคือคนส่วนใหญ่ต้องการอะไร กระบวนการตรงนี้กำลังก่อเกิดขึ้นผ่านขั้นตอนหลายๆ อย่างที่เราทำกันมาภายในปีสองปีที่ผ่านมา โดยการสร้างกลไกเครือข่ายภาคประชาสังคมและมีการขับเคลื่อนข้อเสนอในเรื่องของการการจัดการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ที่เราเรียกว่า การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ หรือว่า เขตปกครองพิเศษ หรือทบวงปกครองพิเศษ หรือจะเรียกอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นอะไรสักอย่างที่เป็นรูปแบบพิเศษที่จัดการในพื้นที่ภาคใต้ในเรื่องของการปกครอง ซึ่งมีข้อเสนอที่เกิดขึ้น

ในบริบททั้งหมดที่ข้อเสนอซึ่งเราพูดกันในเรื่องของการจัดการปกครองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างโดดๆ หากแต่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของกระบวนการพยายามลดเงื่อนไขของความรุนแรงหรือความขัดแย้งในพื้นที่โดยจะนำไปสู่สันติภาพ โดยกระบวนการเหล่านี้เราเรียกว่าการเปลี่ยนความขัดแย้งให้ไปสู่ความขัดแย้งที่ใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงหรือลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น (Conflict Transformation) เพื่อจะหาทางไปสู่สันติ นี่คือแทร็คที่ 2 ที่เรากำลังทำ

แต่ถ้าหากว่ากลุ่มผู้นำ ปัญญาชน หรือกลุ่มประชาสังคมนั้นกลับลอยจากพื้น ทำกันแต่กลุ่มของตัวเองโดยขาดฐานล่างจากรากหญ้าก็หมายความว่ากระบวนการสันติภาพที่ว่านี้ขาดช่องทางในแทร็คที่ 3 ซึ่งก็คือ ประชาชนในระดับรากหญ้า หรือองค์กรชุมชน หรือกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นประชาชนตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลายที่มีอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งก็ต้องการแสดงออกด้วยเหมือนกัน ทำอย่างไรถึงจะให้แทร็คที่ 2 และแทร็คที่ 3 เดินไปด้วยกันได้

ความจริงแล้วงานของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ ก็คือ ความพยามยามที่จะให้เกิดแทร็กคที่ 3 ด้วยเหมือนกัน คือ ให้คนธรรมดาสามัญสามารถที่จะแสดงออกได้ซึ่งภาพชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการอันจะนำไปสู่สังคมที่ดี สังคมที่มีสันติภาพ ซึ่งมีกระบวนการหลายอย่างที่จะทำให้เกิดแทร็คที่ 3 รวมไปถึงกระบวนการที่ทำให้คนในระดับรากหญ้า ทั้งคนไทยพุทธและคนมุสลิมให้เข้าใจกระบวนการสันติภาพและมีศักยภาพมีความเข้มแข็ง

ถ้าแทร็คที่ 2 และแทร็คที่ 3 พัฒนาไปด้วยกัน ก็จะสามารถดึงหรือเหนี่ยวรั้งแทร็คที่ 1 ให้เดินไปสู่วิถีทางของสันติภาพ โดยมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในการจัดการปัญหามากยิ่งขึ้นรวมทั้งกรณีความเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดความยุติธรรม เช่น สิ่งที่ทางกลุ่มทนายความกำลังทำอยู่ คนสามัญธรรมดาชาวบ้านทุกข์ยากเดือดร้อนที่ต้องการยุติธรรม พวกเขาจำนวนมากถูกทำร้าย ถูกละเมิดสิทธิ และต้องการทางออกในการแก้ปัญหาเพื่อความยุติธรรม ไม่ว่าสิ่งที่ถูกกระทำเหล่านั้นจะมาจากทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการฯ ซึ่งในแง่นี้แล้วก็ไม่ใช่ฝ่ายรัฐทำอย่างเดียว แต่โดนด้วยกันทั้งคู่จากทั้งสองฝ่าย

เราจะทำอย่างไรให้แทร็คที่ 3 ตื่นขึ้นมา และร่วมกับแทร็กที่ 2 ทำให้เกิดพลังในการควบคุมความปั่นป่วนโกลาหลต่างๆ ที่เกิดขึ้น นี่เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนต่อไปที่เราพยายามจะทำให้เกิดขึ้น ความจริงเราทำไปบ้างแล้วในแทร็คที่ 2 และ 3 ซึ่งก็เกิดความตื่นตัวของประชาชนอยู่ไม่น้อย

การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งในแง่นี้รวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ และคนที่ก่อเหตุความรุนแรงหรือคนที่เป็นตัวเงื่อนไขของความรุนแรงกระทำจริงๆ หลัก ๆ ก็มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ กับ ฝ่ายขบวนการฯ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องถูกควบคุม ถูกตรวจสอบ และถูกแปรเปลี่ยนเงื่อนไขของความขัดแย้งให้ยอมรับกระบวนการที่นำไปสู่การไม่ใช่ความรุนแรง กระบวนการทั้งหมดนี้สำคัญมากในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรากำลังทำกันอยู่หลายๆ อย่างในขณะนี้

(อ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนในตอน 2)

 

- ยุติธรรม -

อนุกูล อาแวปูเตะ

อนุกูล อาแวปูเตะ

ประธานคณะทำงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
ประจำจังหวัดปัตตานี

คลิกชมคลิปการเสวนา

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน ผมในนามของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ต้องขอขอบคุณศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ที่เชิญเข้าร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสภาพของปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเราจะไปข้างหน้าอย่างไร มีส่วนในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในตอนนี้อย่างไร เนื่องจากศูนย์ทนายความมุสลิมทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางคดี ในการทำงานเรามีการวางแนวทางการทำงานอยู่ 3 ส่วน เพื่อให้เข้าถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เราจะมีส่วนทนายความทำหน้าที่ว่าความในศาล ในคดีที่เป็นคดีความมั่นคง คดีก่อการร้าย โดยเราให้ความช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้กลุ่มทนายความ เราจะมีสำนักงานอยู่ทั้ง 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของสงขลา

นอกจากมีกลุ่มทนายความ ยังมีกลุ่มทนายความผู้ช่วย คนกลุ่มนี้เรียนจบทางนิติศาสตร์บัณฑิต และกำลังขอใบอนุญาตในการว่าความ เราจะฝึกฝนให้เค้าว่าความได้ด้วยตัวเองให้ได้ ส่วนกลุ่มที่ 3 มีความใกล้ชิดกับพื้นที่มากที่สุด คือ กลุ่มผู้ช่วยทนายความ กลุ่มนี้ไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่ได้จบทางกฎหมาย แต่ว่าพวกเขาคืออาสาสมัครที่จะมาร่วมช่วยกันทำงาน บางคนก็พ่อถูกจับ ญาติเดือดร้อน เคยมาร้องเรียนกับเรา เห็นเราทำงานก็อยากทำงานด้วย กลุ่มนี้ก็จะมีเครือข่ายอยู่ในพื้นที่ เป็นเครือข่ายผู้ช่วยทนายความ

ทั้ง 3 ส่วนมีการทำงานสัมพันธ์กัน ไม่ว่าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของผู้ช่วยทนายความ หรือว่าตัวแทนในพื้นที่ นอกเหนือจากการทำงานเราแล้ว ยังมีองค์กรเครือข่าย เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ สิ่งที่เราทำและสามารถทำงานอย่างนี้ได้เพราะส่วนใหญ่เราอยู่ในพื้นที่ เป็นมุสลิมที่สามารถสื่อสารกับชาวบ้านที่ไม่เข้าใจภาษาไทยได้ ทำให้มีคนมาร้องเรียนกับเราเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อถือในองค์กรของเรา ทั้งๆ ที่หน่วยงานของรัฐก็มี อย่างในส่วนของ ศอ.บต. มีส่วนที่รับเรื่องร้องทุกข์อยู่ต่างๆ แต่ชาวบ้านบางทีต้องเข้าใจว่าไม่สามารถที่จะพูดภาษาไทยได้ พอไปแล้วต้องพูดภาษาไทยทำให้เกิดอุปสรรคและปัญหา นั่นคือประเด็นหนึ่ง

อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่าช่องว่างระหว่างรัฐกับชาวบ้านมีสูงมาก ทุกอย่างที่รัฐทำ ชาวบ้านจะไม่ไว้วางใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขามองว่ารัฐไม่มีความจริงใจ อันนี้เป็นความคิดของพวกเขาที่ถูกปลูกฝังมานานกับเรื่องอย่างนี้ ดังนั้น เมื่อเราตั้งองค์กรขึ้นมา เราก็สามารถทำการช่วยเหลือเค้าได้ เมื่อพวกเขาเชื่อถือในตัวองค์กรของเรา พวกเขาก็มีความเชื่อมั่นที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม หลายต่อหลายคนพอโดนหมายจับก็อยากจะหนีไปอยู่มาเลเซีย แต่ด้วยความที่เราดึงไว้พวกเขาก็สามารถเข้ามอบตัวและต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว เราก็ให้ความช่วยเหลือกับเค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

จากการทำงานของเราตรงนี้ ทำให้เราสามารถเข้าถึงในปัญหากระบวนการยุติธรรม การทำงานของเราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทางฝ่ายศาลก็ดี อัยการก็ดี และก็ทางฝ่ายทหาร กอ.รมน. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราพยายามอธิบายการทำงานของเราให้พวกเขาเหล่านี้เข้าใจว่าเรากำลังช่วยเหลือทางรัฐในการช่วยดึงมวลชนให้เข้ามาอยู่ในแนวทางดีกว่าในชาวบ้านหันหลังให้เรา นึ่คือภารกิจของเรา

๐ ปัญหาของ (กระบวนการ) ยุติธรรม

สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดของกระบวนการยุติธรรม ก็คือการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ปัจจุบันกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในพื้นที่ คือ กฎอัยการศึก (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457) กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548) กฎหมาย 2 ฉบับนี้ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่สามารถเอาตัวบุคคลที่สงสัยเข้าไปทำการควบคุมหรือกักตัวได้ เมื่อบุคคลถูกควบคุมก็เท่ากับว่าเขาได้สูญเสียอิสรภาพ ถึงแม้จะบอกว่าไม่ใช่ตัวผู้ต้องหายังไม่ถูกคดีเพียงแต่ผู้ต้องสงสัย แต่ว่าสูญเสียอิสรภาพแล้ว มองในมุมของชาวบ้าน พวกเขาก็จะมองว่ากลุ่มพวกนี้เป็นคนร้ายแล้ว คือ เป็นคนทำผิดกฎหมายแล้ว อันนี้คือสิ่งที่พวกเขาได้รับผลกระทบที่เห็นได้ชัด

กระบวนการของการใช้กฎหมายพิเศษที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ตัวกฎหมาย เช่น กฎอัยการศึก เอาตัวไปกักได้ 7 วัน ไม่ว่าจะไปกักไว้ที่ไหนที่ฐาน ฉก. ที่ต่างๆ ได้ กฎหมายให้กักตัวได้ในฐานะที่เขาเป็นคนหนึ่งที่ถูกสงสัย และคือส่วนหนึ่งของแหล่งข่าวของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เวลาเจ้าหน้าที่ซักถาม พวกเขาก็ให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ก็บันทึกคำซักถาม คำซักถามของพวกเขาคือส่วนหนึ่งของข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ในการที่จะไปดำเนินการแสวงหา จะให้ค่าความเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่กลับใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎอัยการศึกไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมานเขาได้ แต่วิธีการที่เจ้าหน้าที่ทำปฏิบัติต่อเขา มันเป็นผลที่ทำให้ตัวเค้าได้รับความเสียหาย

และที่สำคัญก็คือว่า สิ่งที่พวกเขาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ สมมติว่าเขาคือคนที่อยู่ในขบวนการจริง มีความคิดจริง รับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่กลับเอาเอกสารที่รับสารภาพในชั้นกฎอัยการศึกมาใช้เป็นพยานหลักฐาน ดำเนินคดีกับเค้า อันนี้คือปัญหา เพราะอย่าลืมว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมีความแตกต่างกับคดีทั่วๆ ไป เพราะคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงนั้นเกี่ยวข้องกับแนวความคิดหรืออุดมการณ์ ลำพังมีแนวความคิดหรือมีอุดมการณ์ นั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าลงมือกระทำความผิด ถึงจะผิดกฎหมาย ถ้าผิดกฎหมายการดำเนินการทางกฎหมายก็ต้องใช้วิธีการสอบสวน ศาลจะพิพากษาก็ต้องแสวงหาพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุต่างๆ เหล่านี้ นำมารวบรวมเพื่อให้ศาลลงโทษตัวผู้กระทำความผิด

แต่ที่ผ่านมา เราไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐาน แล้วคนที่ทำก็ไม่ได้ถูกจับ คือ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่กลับนำเอาข้อมูลที่มีการซัดทอดก็ดี ข้อมูลที่ได้จากการซักถามก็ดี คิดว่าคนนี้อยู่ในกลุ่มไหนมาเอาตัวพวกเแล้วมาบีบบังคับให้รับสารภาพ แล้วมาดำเนินคดีกับพวกเขานับหลายร้อยคน

ข้อมูลศูนย์ทนายความมุสลิมตอนนี้ใน 3 จังหวัดมีประมาณ 448 คดี ทั้งหมดนี้กระจายอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา (ศาลจังหวัดอำเภอนาทวี) คดีเหล่านี้บางคนไม่ได้ถูกคดีเดียว บางคนถูกหลายข้อหา เช่น คนหนึ่งถูกดำเนินคดี 4-5 คดี ในข้อหาซ้ำๆ ก็คือ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร เพราะข้อหาเหล่านี้กล่าวหาได้ง่ายมาก แล้วไม่มีมาตรฐานหรือบรรทัดฐานที่มันชัดเจน แต่พอมาสืบในชั้นศาล ไม่มีพยานหลักฐานอะไรเลย ยกเว้นผลซักถามที่เขาสารภาพ ในชั้นของการควบคุมของกฎหมายพิเศษ ซึ่งไม่ใช่ชั้นสอบสวน เพราะจริงๆ แล้ว กฎหมายจะรับฟังแต่ชั้นสอบสวนเท่านั้น แต่ชั้นการควบคุมตามกฎหมายพิเศษนั้น เช่น กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ถือว่าไม่มีมีคุณค่าในทางพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการสอบสวนตามกระบวนการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม ณ ปัจจุบัน จำเป็นที่ต้องเร่งสะสางคดีที่มันมีปัญหาอยู่ในศาลตอนนี้ คือ จะใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่ จะเพิ่มจำนวนผู้พิพากษา จะเพิ่มจำนวนของอัยการก็แล้วแต่ เราก็ต้องทำ จำเป็นต้องทำ ที่ผ่านมาคดีล่าช้าเพราะหลายเหตุ บางครั้งพอนัดแรกที่มีการสืบพยานต้องสืบพยานเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ บางทีก็ขอเลื่อนคดีบ้าง อ้างเหตุว่าต้องไปอบรมติดราชการ ทำให้คดีต้องเลื่อนไปเหตุล่าช้าไป การเข้มงวดคดีให้มันจบโดยเร็วเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ นั่นคือประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สอง วันนี้ทางการมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงใช้ไม่ได้แล้ว และเล็งที่จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551) แต่รายละเอียดและปัญหาใน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใช่ว่าจะไม่มี วันนี้ที่ยังไม่ประกาศใช้เป็นทางการก็เพราะว่าเรายังถามถึงเรื่องข้อห่วงใย เราไม่อยากให้เกิดซ้ำเหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะในช่วงก่อนที่จะเริ่มใช้ในในสมัยรัฐบาลทักษิณ เราไม่ได้ตั้งคำถามว่าเราจะคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกเอาตัวไปอย่างไร ตอนนี้ก็ใช้กันแบบเละเทะ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความมุสลิมและองค์กรในเครือข่ายก็มีข้อเสนอต่อทางการมาโดยตลอด โดยเฉพาะข้อเสนอต่อศาลฏีกาที่สุดท้ายทำให้มีข้อแนะนำของศาลฏีกา [กรุณาดูเอกสาร คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 21 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) และกรณีหมาย ฉฉ. (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)] เหตุผลหนึ่งที่ศาลอยากจะเข้ามามีบทบาทการที่จะคุ้มครองสิทธิของคนที่ถูกควบคุมตัว ก็เพราะการยอมรับว่า มีการปฏิบัติตัวต่อบุคคลเหล่านี้ไม่ถูกต้องตามวิธีการของกฎหมาย หลายต่อหลายครั้งที่เรายื่นคำร้องต่อศาล บางครั้งศาลก็ไม่ได้ทำการไต่สวน

อย่างเช่น มีกรณีที่ผมเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัว เพราะว่ามีเหตุว่ามีการไปซ้อมทำร้ายทรมาน พอในวันรุ่นขึ้นก็ถูกแจ้งข้อหาเลย ไม่ได้ควบคุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้ว พอแจ้งข้อหา กระบวนการขอปล่อยตัวก็สิ้นสุดไป สิ้นผลไปตามกฎหมาย แต่หากว่าศาลอยากใช้บทบาทในการคุ้มครองสิทธิจริงๆ ศาลควรจะไต่สวนให้ได้ความก่อนว่า เจ้าหน้าที่ไปซ้อมทำร้ายร่างกายหรือไม่ นั่นคือประเด็นที่หนึ่ง ในส่วนของการดูแลคนที่ถูกควบคุมตัวเค้าก็ใช้อำนาจของศาล เพราะเวลาควบคุมตัวตามกฎหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต้องใช้หมายศาล แต่ว่าขอหมายของศาล เวลาเอาไปควบคุม กลับเอาไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธฯ หรือไม่ก็ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่นอกเหนือสายตาของศาล

ในส่วนของ พ.ร.บ.ความมั่นคง วันนี้ที่ยังไม่มีการใช้อย่างเป็นจริงเป็นจัง แม้ว่าใน 4 อำเภอของสงขลาเริ่มใช้บังคับแล้ว แต่ว่าแนวทางปฏิบัติยังไม่ชัด ประเด็นที่เราเป็นห่วงก็เพราะว่า บุคคลที่ถูกออกหมายจับหรือว่าเป็นผู้ต้องหา กฎหมายบอกว่า ถ้าเขาคนนั้นกลับใจเข้ามามอบตัวหรือพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นผู้หลงผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พนักงานสอบสวนสามารถที่จะเสนอคำร้องต่อศาล ให้ศาลพาตัวบุคคลเข้ารับการอบรมแทนการดำเนินคดีตาม ป.วิอาญา

ดูอย่างนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหามันจะมีอยู่ว่า คนนี้ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว เมื่อไหร่ที่เขากลับใจ เข้ามามอบตัว เขาจะมีทางเลือกสองทาง ทางที่หนึ่ง เลือกที่จะไปอบรม ทางที่สอง เลือกที่จะถูกดำเนินคดี ถ้าเลือกที่จะไปอบรม เขาต้องรับสารภาพในข้อหานั้น แต่ว่าถ้าเลือกที่จะถูกดำเนินคดีก็ต้องให้การปฏิเสธ ต้องว่าไปตามกระบวนการของกฎหมายไป ปัญหาก็มีอยู่ว่า ถ้าเขารับสารภาพ โดยเลือกที่จะเข้ารับการอบรม มีการเอาตัวไปอบรมตามโครงการหกเดือน เพราะว่ากฎหมายกำหนดหกเดือน อบรมเสร็จแล้วต้องมีการประเมินด้วย ว่าคนเหล่านี้ผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องกลับเข้าไปสู่กระบวนการการดำเนินคดี

คำถาม ก็คือว่า ที่เขารับสารภาพตั้งแต่ตอนแรกจะทำอย่างไร เพราะในทางคดีเขารับสารภาพไปแล้ว อันนี้คือปัญหาของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ

เวลาเราสอบข้อเท็จจริง เราก็ต้องดูข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาให้ข้อมูลกับเรา ในกรณีที่เขาบอกว่าเขาทำผิดจริง เราต้องให้เขารับสารภาพ แต่ว่าในคดีความมั่นคงบางครั้ง มันยากมากที่จะให้รับหรือไม่รับ เพราะในบางคดี เขาอาจจะไม่ได้ทำผิดก็ได้ แต่ไปมีส่วนร่วมในส่วนใดส่วนหนึ่ง อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ก็มาคลุมว่าเขามีส่วนร่วมกัน เราต้องแนะนำ ถ้าเขาทำผิดจริงต้องให้การรับสารภาพ แต่ถ้ายืนยันที่จะปฏิเสธก็เป็นสิทธิของเขา เพราะว่าทางกฎหมายนั้นจะตั้งสันนิฐานในเบื้องต้นว่าเขาบริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ในกรณีที่มีผู้ต้องหาตามหมายจับ พอเห็นว่าตัวเองมีทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่ง คือ เข้าอบรม กับสองคือ ถูกดำเนินคดี ถ้าเกิดทำผิดจริง เขายอมรับว่าทำผิดและยินดีที่จะเข้าอบรม เราก็ไม่มีปัญหาตรงนั้น แต่บางคนไม่ได้ทำผิด แต่เลือกที่จะเข้าอบรมเพราะว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะต้องไปหาประกัน ต้องถูกขัง อยู่ในเรือนจำ เป็นเรื่องที่น่าคิดมากในทางกฎหมาย มันเหมือนคดียาเสพติดเมื่อก่อนที่บอกว่าฟื้นฟู เยียวยา ให้ทางเลือก บางครั้งจำเป็นจำใจต้องรับสารภาพ ทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิด เพราะว่าถ้าไม่รับสารภาพจะต้องถูกคุมขัง หลักทรัพย์ก็ไม่มีที่จะประกันตัว ผมเกรงว่าจะมีลักษณะอย่างนี้ ลักษณะว่าถูกบังคับให้รับสารภาพ เหมือนลักษณะของการต่อรอง

แต่ถึงอย่างนั้น ในแง่หลักการแล้ว เราก็เห็นด้วยที่จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง อย่างน้อยมันก็เบากว่ามาตรการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ข้อห่วงใยของเราก็มีอยู่เหมือนกัน

ผมยกตัวอย่าง อย่างคดีที่ออกหมายจับเป็นกลุ่มในอำเภอสายบุรี ประมาณ 40 คน ที่ออกหมายจับ ตาม ป.วิ อาญา ข้อหา อั้งยี่ ซ่องโจร คดีนี้มีคนไปมอบตัวสู้คดี 35 คน อีก 5 คนหนี ไม่ได้เข้ามอบตัว 35 คนสู้คดีในชั้นศาล ปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีก็จบ แล้วอีก 5 คนล่ะ ถูกคดีเดียวกัน เพราะว่าออกหมายจับเดียวกัน พยานหลักฐานก็ชุดเดียวกัน ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ที่มาเบิกความก็คนเดียวกัน ผลของคดีถ้าเขามอบตัว มันก็ต้องยกฟ้องอยู่ดี แต่ถามว่าตัวเขาตราบใดที่ยังมีหมายจับ มันก็คาอยู่อย่างนั้น กลับบ้านก็ไม่ได้ ต้องหนีระหกระเหิน มีทางเดียวคือต้องหาหลักทรัพย์เตรียมไว้เพื่อมอบตัวและประกันตัวเองออกมา แต่ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ เขาต้องยอมที่ต้องอยู่ในห้องขัง ในเรือนจำ กว่าที่ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ กว่าที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเค้า ถ้าอัยการสั่งฟ้องก็เป็นปัญหาแก่เค้าอีก เพราะถูกขังระหว่างพิจารณาคดี

(อ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนในตอน 2)

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/2124

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: AF 8 กระแสจิ้นคู่วาย - จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

Posted: 20 Jul 2011 10:43 AM PDT

ประชาไทบันเทิง:  AF 8 กระแสจิ้นคู่วาย - จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

ที่มา: เว็บไซต์พันทิป

ชอบดูรายการเรียลิตี้กันไหมคะ...

เขาบอกว่าตามทฤษฎีเนี่ย พวกที่ชอบดูรายการเรียลิตี้แบบมีกล้องส่อง จับ ฉาย ความเคลื่อนไหวของผู้เข้าร่วมรายการนั้น เป็นพวกมีพฤติกรรม ‘ถ้ำมอง’ หรือ ‘Voyeur’ แต่อาจจะไม่ตรงเท่าไหร่นัก เพราะตามความหมายของคำว่าถ้ำมองหรือ Voyeur นั้น คือการแอบมองผู้อื่นประกอบกิจกาม แต่ถ้านับผลที่ผู้แอบดูว่า ‘ฟิน’ ไหม ดิฉันคิดว่าน่าจะใช้เทียบเคียงกันได้

คาดว่าพฤติกรรมเช่นนี้คงเป็นพฤติกรรมที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอ หรือจิตใต้ (ไร้?) สำนึกของคนส่วนใหญ่ เพราะความนิยมชมชอบในการ ‘ส่อง’ นี้เองทำให้รายการเรียลิตี้ทั้งหลายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และทำกำรี้กำไรจนต้องมีต่อเป็นซีซั่นทุกๆ ปี แหมมม...ดิฉันล่ะเห็นใจคนที่เล่นแคมฟร็อกเสียจริง ที่ถูกประณามว่าเป็นแหล่งลามกอนาจาร เล่มกล้องส่องการทำกิจกามกัน ถ้าหากดิฉันเป็นประธานกลุ่มแคมฟร็อกแห่งประเทศไทย จะรวบรวมสมัครพรรคพวกออกมาประท้วงให้มันรู้แล้วรู้แรดไปเลยว่า แม้แคมฟร็อกจะ ‘ส่อง’ ก็ส่องเฉพาะตอน ‘นั้น’ ไม่ได้แปรงฟันก็ส่อง กินข้าวก็ส่อง ดูทีวีก็ส่อง อาบน้ำก็ส่อง แม้กระทั่งนอนก็ส่อง แบบไหนมันจะดู ‘จิต’ กว่ากันมิทราบ

ปกติดิฉันไม่ค่อยดูโทรทัศน์สักเท่าไหร่ เปิดโทรทัศน์ทีก็กดรีโมทหนีไปยังช่องรายการเพลง หรือไม่ก็ช่องหนังทางเคเบิ้ลไปเลย เลยไม่ค่อยจะได้ติดตามกระแสรายการเรียลิตี้โชว์ประกวดร้องเพลงในบ้านเราสักเท่าไหร่ เพราะดูทีไรก็อารมณ์เสียทุกที ถ้าประกวดร้องเพลงแต่คุณภาพเสียงมีได้เท่านั้น ก็ไม่แปลกใจที่ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยนักร้องที่ขายแต่ท่าเต้น กับท่อนฮุกของเพลง เอาไว้ใช้เป็นริงโทนตอนโทรเข้า-โทรออกเท่านั้น กลับไปดูการประกวดร้องเพลงฝั่งเมืองนอกอย่าง American Idol หรือ The Voice ยังดีเสียกว่า แม้แต่คนที่ตกรอบแรกยังเสียงดีกว่าคนที่ได้รางวัลชนะเลิศในบ้านเราตั้งเยอะ ซึ่งจริงๆ แล้วหากจะพูดถึงเรื่องนี้คงได้คอลัมน์สักอีกคอลัมน์ว่า การเกิดขึ้นของเพลงแปลกๆ และศิลปินอินดี้บ้านเราที่ตอนนี้โด่งดังกว่าพวกกระแสหลัก มันก็เติบโตมาจากช่องว่างอาการเหม็นเบื่อนักร้องไม่มีคุณภาพพวกนี้แหละ

แต่ก็มีเหตุให้ดิฉันต้องไปนั่งดูรายการเรียลิตี้โชว์ที่กำลังออนแอร์ตอนนี้อย่าง Academy Fantasia 8 จนได้ เมื่อเพื่อนสาว (หากเป็นแฟนคอลัมน์ดิฉันจะเห็นว่างานเขียนเกือบทุกชิ้นล้วนมี ‘ต้นเหตุ’ ข้อมูลมาจากเพื่อนๆ ทั้งนั้น หวังจะให้คิดเอง คาดว่าคงส่งต้นฉบับไม่ทันแน่ ขอบคุณ Mark Zuckerberg ที่สร้างเฟซบุ๊กมาให้ใช้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ) โพสต์ลิ้งค์เกี่ยวกับกระแส ‘ฮอต’ ในบ้านเอเอฟตอนนี้ อันว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าประกวดสองคนที่ชื่อ ‘ต้น’ กับ ‘เจมส์’ (ผู้ชายทั้งสองคนค่ะ) ที่คนนอกบ้านกำลังจับตาดูว่า สองคนนี้กำลังสร้างกระแส Y (Yaoi) หรือ ชายรักชาย กลายเป็นกระทู้ฮอตในห้อง AF8 ของพันทิป แถมยังมีคลิปส่งเสริมกระแส ทำเป็นมิวสิค วิดีโอ หรือคอยจับตาดู ‘พฤติกรรมที่ส่อเค้าว่า Y’ ตามยูทูบ ของบรรดาแฟนคลับที่กำลัง ‘จิ้น’ (เป็นภาษาของชาว Y ซึ่งมาจากคำว่า ‘Imagine’) คู่นี้อยู่ออกมาเรื่อยๆ ดิฉันผู้ซึ่งหาเรื่องเขียนคอลัมน์ไม่ได้ จึงต้องตามไปนั่งไล่ดูยูทูบของคู่นี้ทุกคลิป รวมถึงอ่านกระทู้ประกอบอีก 40 กว่ากระทู้

แม้คอลัมน์จะไม่ได้ความแต่ก็ทำการบ้านหนักนะคะ

สำหรับผู้อ่านที่ไม่เข้าใจคำว่า ‘Y’ ซึ่งมาจากภาษาญี่ปุ่นในคำว่า Yaoi นั้น จากบทความชื่อ ‘สาว Y ปรากฏการณ์ฝันเลือนเส้นแบ่งเพศ’ ในนิตยสาร ‘สารไท’ ได้ให้ข้อมูลที่มาที่ไป และอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า

“สาว Y คือชื่อเรียกเด็กสาวที่หลงใหลในการ์ตูน Boy’s Love อันเป็นการ์ตูนที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักโรแมนติคระหว่างผู้ชาย-ผู้ชาย โดยคำว่า Y นั้นมาจากคำว่า Yaoi ซึ่งเป็นตัวย่อมาจากคำในภาษาญี่ปุ่น 3 คำ คือ Yama Nachi, Ochi Nashi, Imi Nachi ซึ่งแปลว่า ไม่มีไคลแม็กซ์ ไม่มีประเด็น ไม่มีความหมาย อันเป็นการยั่วล้อแนวพล็อตเรื่องเดิมๆ ของการ์ตูนญี่ปุ่น”

และอีกหนึ่งคำที่ควรรู้จักคือคำว่า ‘จิ้น’ อันย่อมาจากคำว่า ‘Imagine’ ในความหมายของสาว Y คำว่าจิ้น นั้นหมายถึง อยากจับคู่ให้สมรักกัน

ก่อนจะไปพูดถึงว่า ‘ต้นกับเจมส์’ แห่งบ้าน AF8 นั้น ทำอะไรกันจึงกลายเป็นคู่จิ้นของสาว Y ได้ เราก็ควรศึกษาเรื่องสาว Y และการ์ตูน Boy’s Love อันเป็นต้นกำเนิดของปรากฏการณ์ที่กระโดดจากหน้ากระดาษหนังสือการ์ตูนมาสู่จอโทรทัศน์และคนจริงๆ ในเรียลิตี้โชว์ อีกนิดหนึ่งเสียก่อน

ข้อสังเกตอย่างแรก (ต้องใช้คำว่าข้อสังเกต เพราะดิฉันไม่อาจหาญและไม่มีปัญญามากพอที่จะวิเคราะห์ วิจารณ์ เพื่อนำไปสู่บทสรุปของอะไรทั้งนั้น) ของดิฉันคือ จากต้นกำเนิดสาว Y ที่หมายถึงกลุ่มเด็กผู้หญิง (ซึ่งที่จริงแล้วมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เป็น ‘ผู้หญิง’ ดิฉันไม่แน่ใจว่ามีคนทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้หรือไม่ แต่จากการไปนั่งทำวิจัยสั้นๆ ที่ร้านหนังสือการ์ตูนที่ขายหนังสือแนวนี้ที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ที่โบนันซ่า สยามสแควร์ และเป็นแหล่งคอมมิวนิตี้ของสาว Y ที่ใหญ่ที่สุดก่อนที่จะมีเว็บไซต์ หรือคอมมิวนิตี้ออนไลน์ ที่เห็นและที่ได้พูดคุยล้วนเป็นผู้หญิงค่ะ) แต่ตอนนี้กระแสจิ้นที่อยู่ในโทรทัศน์ รายการเรียลิตี้โชว์ บรรดาสาว Y ทั้งหลายที่มาปรากฏตัวกันในกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปนั้น มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และเรายังใช้คำเรียกกลุ่มคนเหล่านี้กับปรากฏการณ์นี้ว่า ‘สาว Y’ อยู่เหมือนเดิม

นี่คือช่องว่างที่ Peter Jackson ไม่ได้กล่าวถึงในหนังสือเล่มใหม่ของเขา Gay Thailand เพราะมัวแต่โฟกัสไปที่บุคคลที่เป็นเกย์ผู้ชาย (Gay Men) มากกว่าจะมองถึงปรากฏการณ์ทาง Gender และรูปแบบของสาว Y ที่มีต้นกำเนิดจากหนังสือ Boy’s Love สู่สาว Y ตามเว็บบอร์ดกับกระทู้ ต้นเจมส์ AF8 (หรือก่อนหน้านั้นตั้งแต่ซีซั่น 2 และสื่อทางโทรทัศน์ เช่นตัวละคร ก้องกับพี ในละครเรื่อง ‘พรุ่งนี้ก็รักเธอ’ หรือก่อนหน้านั้นกับละครเรื่องรักแปดพันเก้า) นั้น มี ‘อะไร’ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเพศ (Sex) ที่ทำให้มีผู้ชายเข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่ม ‘สาว Y’ ซึ่งข้อสังเกตของข้อสังเกตของดิฉันคือ ปรากฏการณ์อินเตอร์เน็ต หรือเว็บบอร์ด ที่อนุญาตให้เราสร้างตัวตนขึ้นใหม่ เปลี่ยนเพศ หรือไร้เพศ นั้นทำให้เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็น Taboo ของสังคมได้ โดยไม่ต้องแอบซ่อน เพราะไม่มีใครสามารถสาวมาถึงตัวตนที่แท้จริงที่ไม่อยากจะเปิดเผยได้ เช่น การที่ผู้ชายเดินเข้าไปซื้อหนังสือการ์ตูน Boy’s Love ที่ร้านนั้นคงสร้างความกดดันหวาดกลัวมากกว่าการมาเป็นสมาชิกสาว Y ในเว็บบอร์ด กรณีนี้อ้างอิงได้เช่นเดียวกันกับผู้หญิง

อย่างที่สองคือแม้จะเป็นการ์ตูนว่าด้วยเรื่องราวความรักโรแมนติก (ที่แฝงฉากเซ็กซ์ด้วย ขึ้นอยู่กับความฮาร์ดคอร์ของเรื่อง มีให้เลือกหลายเรต ตั้งแต่กอดจูบกันเฉยๆ ไปจนถึงมีเซ็กซ์กันด้วย) ของชาย-ชาย และมีกลุ่มผู้อ่านคือ ‘ผู้หญิง’ ที่เราเรียกว่าสาว Y แต่แบบจำลองความสัมพันธ์ของการ์ตูน Boy’s Love นั้น ยังเป็นแบบจำลองคาแร็กเตอร์ของ ‘ชาย-หญิง’ ไม่เพียงแค่การมีคู่ ‘รุก-รับ’ (ซึ่งก็เป็นปรกติ หากเพิ่มความซับซ้อนไปมากกว่านี้ การ์ตูนก็คงอ่านไม่สนุก เช่น รับ-รับ เบี้ยนกันเอง) แต่ยังรวมถึง ‘บุคลิก’ แบบ ฝ่ายที่เป็นรุกก็จะตัวหนาใหญ่ (แต่ยังหล่อหน้าสวยเหมือนหญิง อันเป็นแบบฉบับของผู้ชายในการ์ตูน Boy’s Love) กว่าฝ่ายที่เป็นรับ ที่ตัวเล็กบอบบาง ไม่ต่างจากผู้หญิง หรือแม้แต่บุคลิกของฝ่ายรับที่กระเดียดไปทางผู้หญิง หรือถ้าไม่มีจู๋ก็คงคิดว่าเป็นผู้หญิงไปแล้ว (ก็วาดมาเสียหน้าสวยขนาดนั้น) ปรากฏการณ์ที่ดูเว้าๆ แหว่งๆ หญิงสาวชอบอ่านเรื่องความรักของชาย-ชาย เหมือนจะเป็นฝันเลือนเส้นแบ่งเพศอย่างทีชื่อบทความนั้นว่าไว้ ที่จริงแล้วกลับเป็นแค่แบบจำลองความสัมพันธ์ทางเพศแบบชาย-หญิง ไว้อย่างเหนียวแน่น (ภาษาเฟมินิสต์เขาบอกว่า ก็ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ใช่ไหมคะ)

เอาล่ะ...กลับมาที่บ้าน AF8 กัน พฤติกรรมของผู้เข้าแข่งขันสองคน (ผู้ชาย) ที่ชื่อต้นกับเจมส์ ( V เท่าไหร่ ดิฉันจำไม่ได้ เพราะไม่ได้กะจะโหวต) ที่ทำให้กลุ่มสาว Y (ในที่นี้ บริบทใหม่คือรวมทุกเพศ) ‘จิ้น’ (อยากให้เป็นคู่สมรักกัน) จนเกิดเป็นกระแสวาย คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็กอดก็โอบก็ซบกันอยู่นั่นแหละ เอะอะ กอด เอะอะ กอด ทั้งกอดทั้งซบ นั่งดูโทรทัศน์ก็กอด นอนก็ (ก่าย) กอด มีการเล่นทะลึ่งๆ กันเล็กน้อย (หากไม่เห็นภาพ กรุณาดูในยูทูบค่ะ ค้นหาคำว่า TonJames AF8) และเมื่อเราใช้กฎแห่งการจิ้น (เดี๋ยวจะเล่าทีหลังว่าคืออะไร) ก็จะเห็นว่ามีการบอกรักกัน มีโค้ต หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้เห็นและเป็นไปได้ว่าสองคนนี้กำลังอินเลิฟกัน นอกจากนี้ภายในเว็บบอร์ดที่นอกจากจะมีการจับคู่เพื่อติดตามบอกเล่าถึงพฤติกรรมของคู่นี้โดยเฉพาะแล้วนั้น (หรือที่เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการ ‘จิ้น’) ยังมีการเขียนสตอรี่เอง ตั้งชื่อ ‘ต้น’ ว่าเป็น ‘คุณนาย’ (ด้วยบุคลิกและพฤติกรรมรักสวยรักงามแลดูเป็นคุณนาย) เรียกเจมส์ว่า ‘หมีหมู’ (เพราะตัวใหญ่) และเมื่อคุณนายไม่สบาย ต้องไปหาหมอ ก็มีการเขียนสตอรี่ขึ้นว่าคุณนาย ‘ท้อง’ (เพราะคืนก่อนหน้านั้นหมีหมูนอนกอดคุณนาย) และกลายเป็นสตอรี่ต่อๆ มา หมีหมูต้องดูและคุณนายให้ดีๆ เพราะกำลังท้องอยู่ ต้องเข้าใจอารมณ์คนท้อง ฯลฯ

สตอรี่ของผู้ชายสองคน ที่มีคนหนึ่งถูกเรียกว่า ‘คุณนาย’ แถมยังถูกกล่าวหา (แม้จะเล่นๆ สนุกๆ หยิกแกมหยอกตามประสาการจิ้นแบบสาว Y) ว่าท้องนั้น คงอธิบายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ หากไม่ใช่ว่า ผู้ชายสองคนนี้ (ถูกจิ้นว่า) กำลังมีความสัมพันธ์แบบรักโรแมนติกกันอยู่

คลิปวิดิโอโดย TonJames910

ที่จริงเรื่องกระแสวายกับบ้าน AF นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ กระแสวายนั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่ซีซั่นที่ 2 ระหว่างคู่กระรอกน้อย (ฉายา) ออฟ กับ บอย AF2 ที่แม้จะไม่ ‘โฮก’ (เป็นอีกหนึ่งศัพท์ที่เราควรจะรู้ มีความหมายประมาณว่า ‘มากมาย’ หรือ ‘น่ากิน’ ก็ได้) เท่าซีซั่นนี้ แต่ก็เกิดเป็นกระทู้ เป็น ‘บ้าน’ (หมายถึงชุมนุมชน) ออฟบอย เป็นกระแสได้มากพอดู แต่ที่ ‘โฮก’ ไม่แพ้กันคือซีซั่น 4 คู่ของ นัท-ต้อล ที่ยังทรงพลัง (ในกลุ่มแฟนคลับ) มาจนถึงทุกวันนี้ และกระแสเหล่านี้ก็เป็นตัวเกื้อหนุนให้ ‘คู่จิ้น’ ทั้งหลายโด่งดังและมีผลงาน (งานจ้างคู่) ต่อมาเมื่อรายการจบและเข้าสู่วงการจริงๆ

มีหลายคนพูดว่าหรือ ‘ต้นกับเจมส์’ จะใช้แนวทางคู่วายของ ออฟกับบอย และ นัทกับต้อล เป็นแนวทางในการสร้างกระแสของตัวเองในการแข่งขันครั้งนี้ ทั้งในแง่การสร้างแฟนคลับเพื่อโหวตให้เข้ารอบลึกๆ จะได้ดู ‘สตอรี่’ แบบ Y ไปเรื่อยๆ ซึ่งกระแสวายในเรียลิตี้โชว์ของ AF ถูกพิสูจน์จากสองคู่วายที่ผ่านมาแล้วว่าเป็นแรง ‘สนุบสนุน’ มากกว่าจะเป็นแรง ‘ต่อต้าน’ และในแง่ของการประกอบอาชีพต่อไปหลังจากจบรายการ (อย่างงานจ้าง เหมือนนัทกับต้อล ที่รวมกันเราอยู่ แยกคู่เราไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่) ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยเหตุใด ทั้ง (สองคนนั้น) ตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือ (สาว Y) จิ้นไปเอง ปรากฏการณ์นี้ทำให้ดิฉันนึกถึงคำว่า ‘Gay Marketing’

อย่างที่รู้กันว่าเม็ดเงินก้อนใหญ่ของสังคมการบริโภคในทุกวันนี้มาจาก ‘Pink Money’ หรือเงินจากกลุ่มเกย์ ในวิถีการใช้ชีวิตหรือ ไลฟ์ไสตล์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการกินดื่ม หรือเสพสิ่งต่างๆ (แม็กกาซีน แฟชั่น ฯลฯ) Gay Marketing คือแผนการตลาดที่ดึงดูดให้กลุ่มคนพวกนี้ใช้จ่ายเงินกับสินค้าเหล่านั้นมากขึ้น ด้วยการวางภาพลักษณ์ อิมเมจ แบรนดิ้ง ให้ดึงดูด หรือเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเกย์ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างนิตยสารที่มีการ์เก็ตเป็นเกย์ ก็จะใช้ Gay Marketing ในรูปแบบการทำอิมเมจ หรือแบรนดิ้ง ที่ล่อหลอกความสนใจของเกย์ในการขาย ไม่ว่าจะเป็นภาพผู้ชาย (แท้) เซ็กซี่ อย่างเช่นนิตยสาร Image, Volume หรือ Attitude ที่เปิดตัวว่าเป็นนิตยสารเกย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังใช้ Gay Marketing แบบผู้ชาย (แท้) เซ็กซี่ ในการขายกลุ่มลูกค้าเกย์

แต่ในเรื่องกระแสวายนั้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ มันเป็นการกลับ (reverse) Gay Marketing โดยนำ ‘ความเป็นเกย์’ (ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบสาววาย) มาขายผู้คนทั่วไป ที่มีทั้ง Straight อย่างผู้หญิงที่เป็นสาววาย หรือเกย์เอง ที่กำลังจิ้นไปกับบทโรแมนติกของสตอรี่ที่เกิดขึ้นนี้ ที่สำคัญมันได้ผล (มาก) เสียด้วย (อย่างน้อยเราก็เห็นกลุ่มก้อน คอมมิวนิตี้ที่แท้จริง และเห็นถึงการสนับสนุนทางการเงินไม่ว่าจะเป็นการโหวต การติดตามผลงาน การขายแพ็กเกจคู่อบบทัวร์ต่างประเทศ คอนเสิร์ต อีเว้นต์ของคู่วายหลังออกจากบ้าน)

ใครยังไม่มีหัวข้อวิทยานิพนธ์...เชิญนะคะ

อะไรคือประเด็นของกระแสวาย...?

หากคนที่เคยอ่านการ์ตูนพวก Boy’s Love จะเห็นว่า ฉากอีโรติก (ในแบบฉบับที่ไม่ฮาร์ดคอร์ เพราะถ้าเป็นฮาร์ดคอร์ก็จะกลายเป็นการ์ตูนโป๊ไป จากทาร์เก็ตสาววายก็จะกลายเป็นเกย์หื่น นี่คือความแตกต่างของการ์ตูนวาย กลุ่มทาร์เก็ตที่ถูกเรียกว่าสาววายที่เป็นเกย์) ทั้งหลายจะถูก ‘เซ็นเซอร์’ ด้วยตัวหนังสือที่เป็น ‘คำอุทาน’ หรือคำแสดง ‘อารมณ์’ ทั้งหลาย (อย่างที่คอการ์ตูนอื่นๆ เห็นในรูปแบบของแทนเสียงอื่นๆ เช่น ‘เคว้งงง...เพล้งงง...วิ้ววว...ว้าวว...) อันเป็นการ ‘ปกปิด’ เพื่อให้เกิด ‘จินตนาการ’ เหมือนที่หนังโป๊เรตอาร์ สร้างอารมณ์ให้คนดูได้จินตนาการมากกว่าหนังโป๊ที่เปิดให้เห็นทุกอณูขุมขน (ซึ่งหลายคนบอกว่าการได้จินตนาการนั้นกระตุ้นอารมณ์กว่าเยอะเลย) ซึ่งประเด็นการ ‘เซ็นเซอร์’ และการ ‘จินตนาการ’ นี่เอง ที่เป็นส่วนเชื่อมต่อกระแสวายจากหนังสือการ์ตูนสู่เรียลิตี้โชว์ในโทรทัศน์ เพราะในโทรทัศน์นั้น ก็ถูก ‘เซ็นเซอร์’ ด้วยกฎหมาย ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี หรืออุดมการณ์ของสังคม (พฤติกรรมแบบไหนที่ถูกเผยแพร่ได้) เช่นเดียวกัน ตัวละคร หรือบุคคลที่อยู่ในเรียลิตี้โชว์ แม้จะเกิด ‘ความสัมพันธ์ทางจิตใจ’ กันจริง (หรือไม่จริง) ก็สามารถแสดงออกได้เท่าที่ถูก ‘เซ็นเซอร์’ เพื่อเปิดโอกาสให้คนดู ‘จินตนาการ’ เอาเอง ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือความหมายของภาพที่เห็นนั้นคืออะไร

เชื่อตามที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พูดหรือยังว่า ‘จินตนาการน่ะ มันส์! เอ้ย! สำคัญกว่าความรู้’

และหากคิดกันโดยที่ไม่ลงไปในรายละเอียดมากนัก จะเห็นว่ากระแสวาย ก็ไม่ต่างอะไรกับกระแสเกย์ หรือชายรักชาย เพียงแต่แตกต่างกันในชื่อเรียก (ที่โยงใยไปถึงกลุ่มผู้เสพ หรือเรื่องราวอย่างเช่น การจิ้น) ในขณะที่กระแสวาย (แม้จะถูกกล่าวหาเป็นเพียงการจิ้นไปเองของคนดู พอออกจากบ้านผู้ชายสองคนนี้ก็จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นแค่เพื่อนสนิทกัน) ดูจะเป็นไปในทางบวก การคิดบวก และการสนับสนุนให้สุขสมเป็นคู่รักเหมือนเราลุ้นพระเอกนางเอกในละครหลังข่าว (ไม่เชื่อเข้าไปอ่านกระทู้ในบ้านเอเอฟได้ คุณจะเข้าสู้โลกการจิ้น ที่อาจทำให้ลืมไปเลยว่า เอ๊ะ! ดูละครหลังข่าวอยู่หรือเปล่านะ) แต่ตัวละครชายรักชายอื่นๆ ที่ปรากฏตามสื่อในโทรทัศน์ (โดยเฉพาะในละคร) ยังเป็น Taboo ของสังคมไทย ในข้อหา ‘เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม เยาวชนอาจออกเลียนแบบ’ ไม่เห็นมีใครเชียร์อย่างออกหน้าออกตา และไม่กล่าวหาว่าไม่เหมาะสม เดี๋ยวเยาวชนลอกเลียนแบบ

ซึ่งที่จริง หากเราเคารพกฎแห่งการจิ้น คือจินตนการไปตามสตอรี่แบบคู่วายอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้หวังเอาเป็นเอาตายว่าเขาทั้งสองคนจะออกมายอมรับว่ารักกันจริง และสนุกสนานไปกับสตอรี่แบบวายที่เกิดขึ้น ลุ้นไปเรื่อยๆ จนจบซีซั่น ก็จะเห็นว่าเรียลิตี้โชว์นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับละครหลังข่าว ผู้เข้าประกวดก็ไม่ต่างอะไรกับตัวละครที่มีเรื่องราว มีบทบาท และพูดกันจริงๆ อย่างทุบโต๊ะไปเลย เรียลิตี้โชว์นั้นมันไม่จริงอยู่แล้ว ที่ดูๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เอามาเขียนบทเขียนสตอรี่กันต่อในเว็บบอร์ดนั้น ก็ละครหลังข่าวชัดๆ แล้วเหตุใดปฏิกิริยาของคู่รักชาย-ชาย ภายใต้กระแสวายกับคู่รักชาย-ชาย ภายใต้กระแสเกย์ (ทั้งเรื่องจริงในสังคมและในละครหลังข่าว ที่ไม่มีบทเข้าพระเข้านางให้เห็นสักเท่าไหร่ คู่ต้นเจมส์ที่ขยันกอดกันยังมีบทเข้าพระข้านางมากกว่าเสียอีก!) ถึงต่างกัน

ในแง่หนึ่งกระแสวายอาจถูกเคลมว่าคนดู ‘เพ้อเจ้อ’ ไปเอง (ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่มีมูลหมามันถึงขี้...ว่าไหม) แต่จาก ‘ภาพ’ ที่เห็น ที่บอกว่ามีการเข้าพระเข้านางยิ่งกว่าคู่เกย์ในละครเสียอีกนั้น รวมถึงการเกิดชุมนุมชนอย่างเว็บบอร์ดกระแสวายพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังและมากมายอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็เห็นได้ว่ามันก็ไม่ต่างอะไรกับเรื่องที่เกิดในละครเลย อาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ที่ผลลัพธ์ออกมาที่ต่างกันนั้น ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะการเชื่อมต่อของคำว่า ‘วาย’ ที่เริ่มต้นมาจาก ‘เรื่องราวความรักโรแมนติค’ แบบฉบับการ์ตูน Boy’s Love ที่ยังคงเป็น ‘เค้าโครง’ (หรือเราอาจจะเรียกว่า Imagined Love Story ในความหมายคล้ายๆ กับ Imagined Community ก็ได้) หลักของเรื่องราวแม้ว่าเรื่องราวนั้นจะกระโดดมาสู่คนจริงๆ ในเรียลิตี้โชว์ก็ตาม มันยังเป็นแค่เค้าโครงหลวมๆ และปลอมๆ ที่ลดทอน ‘ภาพความเป็นจริงอื่นๆ’ (ดูได้อย่างฉากมีเซ็กซ์ของตัวละครก็จะเห็นได้ว่า คุณเอ๋ย...ผู้ชายกับผู้ชายเขาจะมีเซ็กซ์กันน่ะ ไม่ใช่นึกจะ ‘เสียบ’ ก็เสียบนะคะ มันต้องล้าง ทำความสะอาด อีกหลากหลายขั้นตอน มันไม่ได้สวยงาม โรแมนติคเลยสักนิด และถ้าเกิดล้างไม่สะอาดนี่ ทั้งกลิ่นทั้งสิ่งที่ตามออกมาให้เห็น ห่างไกลจากคำว่าโรแมนติกอีกมากโข—ถามเพื่อนเกย์ของคุณดูสิคะ) ไปเสียหมด

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้างต้นที่บอกไปว่า นอกจากกระแสวายจะจำลองความสัมพันธ์แบบ ‘ผู้ชาย-ผู้หญิง’ มาแล้ว ยังลดทอนรูปแบบอีกหลายๆ อย่างในความจริงแบบเกย์ ให้เหลือแค่ความโรแมนติคปลอมๆ ซึ่งก็ไม่ต่างจากนวนิยาย หรือการ์ตูนรักหวานแหววของผู้ชาย-ผู้หญิง สักเท่าไหร่ ผิดแต่ว่าตัวละครเป็นชาย-ชาย (ซึ่งอีกคนก็ดูไม่เหมือนผู้ชายเลย เป็นผู้หญิงที่มีจู๋ยังจะเชื่อเสียกว่า หรือแม้แต่ในบ้าน AF ก็ยังไปตั้งชื่อเขาว่า ‘คุณนาย’ ซึ่งหมายถึงผู้หญิงนี่) โดยเนื้อแท้นั้นมันจึงเป็นเพียงการบิดคาแร็กเตอร์เล็กๆ น้อยๆ แต่ยังเป็นกรอบแบบ ‘ชาย-หญิง’ อยู่นั่นเอง ซึ่งก็เป็นคำตอบว่าทำไม เรื่องชายรักชายที่แท้จริงในสังคม (ที่แม้จะจำลองรูปแบบชาย-หญิง เหมือนกัน แต่มันไม่โรแมนติคแบบปลอมๆ เพราะยังอิงอยู่กับอุดมการณ์ของสังคมหรือเรื่องสุขอนามัยโรคภัยมากกว่า) จึงยังเป็น Taboo อยู่ นั่นเอง

ซึ่งหากจะสรุปปรากฏการณ์นี้เทียบเคียงกับงานของ Reina Lewis นักวิชาการที่ศึกษาภาพลักษณ์ของเกย์ เลสเบี้ยนในสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็พอจะบอกได้ว่า คนที่ดู (พวกสาว Y ?) เชียร์ เรื่องราว ภาพ ที่มันเป็น Taboo แบบนี้ ก็เพื่ออยากจะแหกกรอบขนบธรรมเนียม ศีลธรรมของสังคม เพื่อสนองความสุของการได้แหกกรอบของตัวเอง (อยู่ในใจ) แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังเรียกร้องให้ภาพหรือสิ่งที่เขาดูนั้นอยู่ในขอบเขตที่ ‘ปลอดภัย’ ต่ออุดมการณ์กระแสหลักที่เขาสังกัดอยู่

เอ๊ะ! นี่มันอุดมการณ์สลิ่มชัดๆ นี่นา...คริคริ

ปล. บทความชิ้นนี้ไม่ได้เป็นการดูถูก ย่ำยี เหล่าสาว Y หรือใครที่กำลังจิ้นคู่ต้นเจมส์อยู่ในขณะนี้ และท่านทั้งหลายก็จงจิ้นต่อไป ส่วนใครอ่านแล้วหงุดหงิดก็ให้ถือว่ารุ้งรวีกำลังจิ้นเรื่องอะไรของมันก็ไม่รู้แล้วกันค่ะ เราต่างคนต่างจิ้นนะคะ...นะคะ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาองค์การลูกจ้าง '130 สหภาพ' เปิดตำราสู้สภาอุตฯ หนุนค่าแรง 300 บาท

Posted: 20 Jul 2011 09:51 AM PDT

20 ก.ค.54 สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “สนับสนุนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท วอนสื่อขยันทำงาน สัมภาษณ์แรงงานบ้างอย่าเอาแต่คุยกับอุตสาหกรรม ค้านเงื่อนไขสภาอุตฯที่ให้รัฐจ่ายส่วนต่าง เปรียบเแรง รัฐต้องไม่จ้างโจรให้มาปล้น (กดขี่) โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ ดังนี้

0 0 0

แถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2554
สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย

“สนับสนุนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

 

เสียงคัดค้านต่อต้านนโยบายค่าแรง 300 บาท ของพรรคเพื่อไทยดังไปทั่ว เมื่อเห็นได้ชัดแล้วว่า พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน โดยเฉพาะในส่วนข้อคัดค้านของฝ่ายทุน เช่น สภาอุตสาหกรรมนั้น แม้ยังฟังไม่ขึ้น แต่ก็เข้าใจได้คือเป็นความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง พูดอะไรก็ถูกทุกที  

แล้วมีใครที่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทบ้างนอกจากแรงงาน เพราะสื่อไม่ขยันพอจะไปเที่ยวหาคนที่ไม่ใช่นักการเมืองที่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 300 บาท เพื่อเอาความเห็นของเขามานำเสนอบ้าง มีแต่คนด่ากันผ่านสื่อ นั้นแหละที่สื่อจะเปิดพื้นที่ของตนให้ หากเป็นเช่นนี้ในไม่ช้า สังคมไทยก็จะคล้อยตามฝ่ายทุนว่า หากขึ้นค่าแรงระดับนี้ เศรษฐกิจทั้งระบบจะพังครืน (ทั้งๆ ที่อาจพังเพราะสาเหตุอื่น เช่นสหรัฐกำลังจะล้มละลายก็ได้)

นโยบายค่าแรง 300 บาทของพรรคเพื่อไทย  สภาองค์การลูกจ้าง สภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย เห็นว่าไม่ใช่ตัวเลขลอยๆ ที่ได้มาจากการหาเสียง มีเหตุผลของชีวิตแรงงานในฐานะมนุษย์รองรับอยู่  เว้นแต่คนที่จะเห็นว่าชีวิตของแรงงานไม่ใช่ชีวิตของมนุษย์เท่านั้นที่คิดว่า 300 บาทเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป  หากแรงงานได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท แล้วจะทำให้สินค้าไทยราคาแพงขึ้นจนกระทั่งไม่อาจแข่งขันในตลาดโลกและตลาดภายในได้จริงหรือ ?

ค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตก็จริง แต่ยังมีอีกหลายปัจจัย เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น 40 บาทต่อวัน มิได้หมายความว่าสินค้าจะเพิ่มขึ้นชิ้นละ 40 บาท เพราะในกลไกการผลิตย่อมมีการดูดซับต้นทุนระหว่างกันจนกระทั่งราคาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มค่าแรงอาจไม่มากนัก หากรัฐเข้าไปหนุนช่วยในกลไกการผลิตในส่วนอื่น เช่น ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ หรือลดภาษีรายได้บริษัทลงเหลือ 27% ตามพรรคเพื่อไทยเสนอก็จะช่วยได้มาก

ยิ่งกว่านี้ การหนุนช่วยของรัฐต้องมีจุดมุ่งหมายที่มากกว่าราคาสินค้าเฉพาะหน้า  ควรเป็นการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด  โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พ้นจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ใช่ข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมที่จะให้รัฐเข้ามาช่วยจ่ายค่าแรงเสมือนรัฐต้องจ้างอุตสาหกรรมมิให้กดขี่แรงงาน อาจจะเป็นตรรกะเดียวกันที่นำเราไปสู่การจ้างโจรไม่ให้ปล้นด้วย

การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท จะนำไปสู่ของแพงขึ้นจริงหรือไม่ ก็คงมีผลให้ของแพงขึ้นในระยะหนึ่ง  เพราะเมื่อครอบครัวแรงงานสามารถกินไข่ได้ทุกวัน ก็เป็นธรรมดาที่ไข่ย่อมแพงขึ้นในระยะหนึ่งจนกว่าผู้ผลิตไข่ซึ่งขายดิบขายดีจะเร่งผลิตไข่ออกมาให้มากกว่าเดิม  การเพิ่มรายได้ทำให้ของแพง ก็เมื่อสินค้าใดเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ราคาสูงขึ้น ทำไมจึงไม่แย่งกันผลิตเพื่อทำกำไร และเมื่อแย่งกันผลิต ราคาสินค้านั้นก็น่าจะลดลงมาสู่ราคาที่สมเหตุสมผล ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่รายได้ซึ่งเพิ่มขึ้น แต่น่าจะอยู่ที่ว่ากลไกตลาดของเราเองต้องมีอะไรบางอย่างบิดเบี้ยวทำให้ไม่มีใครแย่งกันผลิต

ดังนั้นการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมนั้นไม่มีจริงในตลาดไทย  เราน่าจะไปจัดการกับการเก็งกำไรของอำนาจเหนือตลาดในรูปแบบต่างๆ  ซึ่งครอบงำตลาดไทยอยู่ และที่จริงก็มีมากเสียด้วย การเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท จึงต้องมาพร้อมกับมาตรการที่จะทำลายอำนาจเหนือตลาดในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่ไปห้ามไม่ใช้จ่าย 300 บาท มิเช่นนั้นไม่ควรมีใครในโลกได้รายได้เพิ่มขึ้นสักคนรวมทั้งนักวิชาการด้วย

การลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ผู้ประกอบการ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิต ปัจจุบันธนาคารเอาเปรียบผู้ประกอบการและประชาชนมาก ธนาคารสามารถขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตามใจชอบ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากถูกกดให้ต่ำติดดิน นักวิชาการ นายทุน ผู้ประกอบการ น่าจะถามคำถามว่า ทำไมธนาคารจึงมีเสรีภาพในการเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ แทนที่จะโจมตีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน

อันที่จริงนโยบาย 300 บาทนี้ ก็เดินตามนโยบายของรัฐบาลของพี่ชายว่าที่นายกฯ เป็นการฟื้นเศรษฐกิจวิธีหนึ่ง (แทนการแจกเงินเฉยๆ แก่ข้าราชการและลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) คือทำให้เกิดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในตลาดให้มากขึ้น อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ เพียงแต่ว่าไม่ได้มุ่งเน้นแต่ตลาดต่างประเทศอย่างที่สภาอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ แต่เพิ่มกำลังซื้อภายในให้สูงขึ้น   อย่าลืมด้วยว่าตลาดภายในนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น

บางคนแสดงความห่วงใยว่า 300 บาท จะดึงเอา พม่า ลาว  กัมพูชา หลั่งไหลเข้ามาอีกมากมายก็คงจะดึงจริงแน่  และถึงจะมีหรือไม่มี 300 บาท  อีก 5 ปีข้างหน้า ในเงื่อนไขของเศรษฐกิจเสรีอาเซียน  การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ปัญหาอยู่ว่าเหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานต่างชาติ ส่วนหนึ่งก็เพราะแรงงานไทยขาดแคลนและงานบางอย่างแรงงานไทยไม่ทำ  การมีแรงงานต่างชาติเข้ามาก็ดี   เป็นการช่วยอุตสาหกรรมบางประเภทให้อยู่ได้   แต่สาเหตุส่วนนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า แรงงานต่างชาติรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย  แม้กฎหมายไทยไม่ได้ยกเว้นแรงงานต่างชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก   อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆ ที่กฎหมายกำหนดเลย

สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิก 130 สหภาพแรงงาน มีลูกจ้างที่จะต้องดูแลถึง 60,000 คน ขอสนับสนุนนโยบายพรรคเพื่อไทยในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

 

หยุดกดขี่แรงงาน หยุดขูดรีดแรงงาน หยุดการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

คืนความเป็นธรรมให้คนในสังคม แล้วความสันติสุขจะกลับคืนมา

ขอบพระคุณพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายดี

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

BungarayaNews: ทบทวนบทเรียน ‘กระบวนการสร้างสันติภาพ’ เริ่มต้นอย่างไร?

Posted: 20 Jul 2011 09:31 AM PDT

ทบทวนบทเรียนจากเวทีความรู้ที่ 1 กระบวนการสันติภาพ เริ่มต้นอย่างไร? เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ณ ห้องประชุมอิบนุลคอลดูน วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  จัดโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มบูหงารายา มีนักศึกษากฎหมายสองท่านจากประเทศออสเตรเลีย และแคนาดา แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากต่างแดน เพื่อการเข้าถึงความยุติธรรม พลังของความรู้ การแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ด้วย 4 เรื่องเล่า
 

 

 

TOM FALLON
(อาสาสมัครมูลนิธิผสานวัฒนธรรม)
นักศึกษากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยโมนาส กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เล่าประสบการณ์ที่เคยประสบกับตนเอง

เรื่องที่ 1 แทมเมอรา ผู้ลี้ภัย
แทมเมอรา เป็นอาสาสมัครด้านกฎหมาย ชาวเอธิโอเปีย อายุ 58 ในปี 1990 อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะ เป็นวิศวกร เขาสนับสนุนรัฐบาลเก่า และมีโรงแรมส่วนตัว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ส่งผลกระทบต่อโรงแรมของเขา

น้องชายของแทมเมอรา ถูกจับกุมในฐานะนักโทษทางการเมือง ปัจจุบันอยู่เรือนจำประเทศเอธิโอเปีย เขารู้สึกกลัวว่าจะโดนชาตากรรมเดียวกับน้องชาย จึงออกเดินทางหนีไปยังประเทศที่คิดว่าปลอดภัย คือ ประเทศเอริเทรีย เป็นที่ภรรยาของแทมเมอราอาศัยอยู่ (ประเทศเอริเทรีย ชื่อทางการคือ รัฐเอริเทรีย (State of Eritrea) เป็นประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกาตะวันออก มีชายฝั่งทะเลติดกับทะเลแดงเกือบหนึ่งพันกิโลเมตร ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดทะเลแดง ทิศตะวันตกติดซูดาน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดจิบูตี ทิศใต้ติดเอธิโอเปีย มีเมืองหลวงชื่อแอสมารา : วิกิพีเดีย )

เขาตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ และดำเนินการขอสถานภาพผู้ลี้ภัย เพื่อให้ได้ไปอาศัยร่วมกันกับภรรยาของเขาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั้งปี 2001 ได้รับสิทธิในการตั้งถิ่นฐานในอเมริกา เพื่อให้ได้อยู่อาศัยร่วมกับครอบครัว แต่ช่วงที่เขาจะเดินทาง เกิดเหตุการณ์ 9/11 แทมเมอราต้องรอในประเทศเอริเทรียเป็นเวลา 5 ปี จึงขอเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย

เมื่อเดินทางไปถึงประเทศออสเตรเลีย วุฒิการศึกษาของแทมเมอราไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้หางานทำที่มั่นคงไม่ได้ งานที่ทำก็เป็นงานเล็กๆ และปัจจุบันก็ตกงานอยู่ ภรรยาเขาเริ่มไม่พอใจในการย้ายถิ่นฐานมายังประเทศนี้ทำให้หางานทำไม่ได้

วันหนึ่งมีเหตุการณ์ เขายืมรถเพื่อน แล้วไปประสบอุบัติเหตุ คู่กรณีเขาอ้างว่า เหตุการณ์นี้เกิดจาก แทมเมอรา บริษัทประกันไม่จ่าย ปัดภาระไปให้แก่แทมเมอรา ทำให้เขาต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าเสียหายและขึ้นศาล

สิ่งที่แทมเมอราได้รับรู้คือ ความเกลียดชังคนออสเตรเลีย มีความรู้สึกอยากจะฆ่าตัวตาย

ผมเริ่มสร้างความเชื่อมั่นต่อแทมเมอรา ทำให้แทมเมอราเชื่อใจ และเป็นตัวแทนส่งจดหมายไปยังบริษัทประกันภัยเพื่อเล่ารายละเอียดเหตุการณ์แท้จริงที่เกิดขึ้นกับเขา และที่จริงทางบริษัทไม่ได้ดูรายละเอียดหรือคำให้การอะไรก่อนหน้าที่จะปัดความรับผิด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีคำให้การของพยานสองคนก่อนจะโทษว่าแทมเมอราเป็นคนผิด และพบว่าคำให้การของพยานสองคนขัดกันเองไม่ตรงกับข้อเท็จจริง บริษัทก็ยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และยอมจ่ายเสียหาย ทำให้แทมเมอราไม่ต้องขึ้นศาล

ตอนนี้ผมก็ให้แทมเมอราเป็นล่าม เพราะเขาพูดภาษาเอธิโอเปียได้ เขาได้งานทำ ภรรยาก็กลับมาพูดกับเขาปกติเหมือนเดิม ความคิดเกลียดคนออสเตรเลียเปลี่ยนไป เริ่มชอบประเทศออสเตรเลีย

ข้อชวนคิด แทมเมอราไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วเขาจะเป็นอย่างไรหากว่าไม่มีหน่วยงานที่จะพาเขาไปสู่ความยุติธรรม

เรื่องที่ 2 วิถีอะบอริจิน
ชาวอะบอริจิน ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ออสเตรเลียมา 40,000-60,000 ปีที่ผ่านมา อยู่โดยวิถีชีวิตคนในป่า ต่อมาคนขาวเข้ามาในพื้นที่ ขโมยที่ดิน เอาทรัพยากรทุกสิ่งไป โดยไม่รู้และไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนอะบอริจิน ในวัฒนธรรมของอะบอริจินซึ่งแตกต่างจากคนขาว เช่น คนขาวจะจับมือ และมองหน้าเวลาทักทาย แต่คนอะบอริจินจะไม่มองหน้าตรงๆ กับคนที่อายุมากกว่า

กว่าจะรู้ว่าอะบอริจินและคนขาวมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ทำให้กระบวนการยุติธรรมของคนขาวไม่สอดคล้องกับคนอะบอริจิน เช่นเวลาเบิกความ คนอะบอริจินจะไม่มองตา และแต่ละคำถามที่คนอื่นถามต้องใช้ความคิด ไม่ใช่ตอบไปทันที นี้ก็เป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวชาวอะบอริจิน ทำให้ศาลคิดว่าเขาพูดเท็จ ทำให้มีคนอะบอริจินอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก กว่าจะเข้าใจถึงวัฒนธรรมของชนท้องถิ่นก็ใช้เวลานาน และต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทำให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรม

ปัจจุบันเริ่มมีความพยายามแก้ไขปัญหา ในปี 2002 รัฐบาลออสเตรเลียได้ตั้งศาลสำหรับชาวอะบอริจินโดยเฉพาะ และในศาลจะมีผู้อาวุโสที่จะคอยสร้างความเข้าใจถึงวัฒนธรรม การลงโทษในรูปแบบทางวัฒนธรรมของชาวอะบอริจิน แม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นช่องทางที่ทางชนพื้นเมืองจะสามารถเข้าสู่ความยุติธรรมได้มากขึ้น

ข้อชวนคิด กระบวนการเข้าถึงความยุติธรรม และความรู้ความเข้าใจ

เรื่องที่ 3 ชนอินเดียในเมลเบิร์น
เรื่องคนอินเดียในกรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ชาวอินเดียเข้ามาศึกษาในเมืองนี้จำนวนถึง 1 แสนคน ผมมีเพื่อนเป็นคนอินเดีย และผมได้ถามพวกเขาว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่เกี่ยวกับสีผิว เพื่อนชาวอินเดียก็บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ด้วยเมืองเมลเบิร์นเป็นเมืองใหญ่ มีอัตราการก่ออาชญากรรมค่อนข้างสูง มีการปล้นจี้ ชิงทรัพย์ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็มีทั้งคนขาว คนอินตาลี รวมทั้งคนอินเดียด้วย

ในปี 2007 มีสถิติรายงานเกี่ยวกับอาชญากรรม การปล้นจี้ ชิงทรัพย์ ไม่ได้เกิดจากการเหยียดสีผิว หรือการเลือกปฏิบัติทางเชื่อชาติใดๆ อาจจะเกิดกับคนติดยาเสพติด ดื่มสิ่งมึนเมา แต่การรายงานข่าวทั้งในออสเตรเลีย และอินเดียเองกลับไปสื่อสารไปในเชิงว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นเพราะรังเกียจชนชาวอินเดียในเมลเบิร์น อาจเป็นว่าข่าวประเภทนี้มีความน่าสนใจ และขายได้

คนที่รับข่าวสารก็เชื่อว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุความแตกต่างทางเชื่อชาติหรือการเหยียดสีผิว โดยไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง ทำให้นักศึกษาและชนชาวอินเดียในเมลเบิร์นรู้สึกว่าตัวเองถูกรังเกียจจากคนขาว ทำให้เกิดความไม่ชอบพอกัน ตั้งแต่มีข่าวเรื่องนี้ รู้สึกว่าถูกเหยียดสีผิว และชาวออสเตรเลียก็มีความรู้สึกว่า มาว่าคนออสเตรเลียทำไมว่ามีการเหยียดสีผิว ทำให้มีการเข้าใจผิด

ผมได้ถามเพื่อนคนเดิมว่ามีความรู้สึกอย่างไรหลังจากได้ยินข่าว เพื่อนตอบว่า เริ่มมีความรู้สึกว่าถูกเหยียดสีผิวหลังได้ฟังข่าวที่ประโคมออกไป

ผมจึงตั้งของสังเกตว่า ทำไมถึงปล่อยให้มีการเผยแพร่สื่อสารออกมา จนส่งผลกระทบให้เกิดความคิดที่แตกต่างและความเกลียดชังขึ้นในสังคม เป็นเรื่องที่เศร้าเสียใจมาก ที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น กลุ่มคนขาวและกลุ่มคนอินเดียจึงได้ร่วมกันค้นหาว่าความจริงในเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นว่าเป็นเช่นไร

เรื่องที่ 4 ความเชื่อ “ม้ง”
เป็นเรื่องของผมเอง ผมได้รับฟังเรื่องของ ‘ไหม’ ซึ่งเป็นชนเผ่าม้ง อาศัยอยู่ในแค้มป์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แต่ได้รับอนุญาตให้ไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ไหมตั้งท้องที่ออสเตรเลีย และหมอที่ออสเตรเลียบอกว่า ลูกของไหมผิดปกติ ต้องคลอดด้วยวิธีการผ่าตัด ไหมต้องคลอดบุตรเพียงลำพัง เพราะสามีไม่อยู่ ร่างกายไหมไม่แข็งแรง และไหมก็เชื่อว่าวิญญาณของเธอหายไปในช่วงที่เธอสลบระหว่างผ่าตัด จึงเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยของไหม

ความเชื่อของชาวม้งเชื่อว่า คนหนึ่งคนจะมี 3 วิญญาณ ซึ่งเชื่อว่าทั้งสามดวงจะทำให้คนมีสุขภาพดี ไหมเชื่อว่าจะสามารถนำวิญญาณกลับเข้าสู่ร่างได้แต่ต้องทำพิธีในห้องผ่าตัด และโรงพยาบาลก็อนุญาตให้ทำพิธีตามความเชื่อของตนเองได้ แต่ต้องเป็นเวลาห้องว่างเท่านั้น ไหมได้ทำพิธีในห้องผ่าตัด และทำให้สุขภาพของไหมดีขึ้น เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ทำงานอย่างไร เราก็สามารถทำหน้าที่ของเราให้ได้ดี

TOM กล่าวทิ้งทาย
การจัดการความขัดแย้งที่ประเทศออสเตรเลีย จะมีคนกลางมาไกล่เกลี่ย และความสมานฉันท์ หรืออนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นคนกลางที่มาจัดการความขัดแย้ง เช่น จะมีแรงงานมาจากประเทศแอฟริกันมาออสเตรเลียจำนวนมาก ตำรวจปฏิบัติกับคนเหล่านี้ไม่ดีนัก จึงมีการอบรมตำรวจเพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมคนแอฟริกัน และคนแอฟริกันได้รับการอบรมให้รู้กฎหมายและวัฒนธรรมของออสเตรเลียด้วย และมีการทำงานในชุมชนเพื่อให้คนมีความรู้ ตลอดจนทบทวนว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบได้อย่างไร

สิ่งนี้เองเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน ถ้าเราเข้าใจว่าคนที่เราทำงานด้วย มีแรงจูงใจอย่างไร
 

ERIC MARQUES
(อาสาสมัครมูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

นักศึกษากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยกรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา และสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เกิดที่เมืองออตโตวา ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนหลากหลาย ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และชนชาติอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน  มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน เป็นคนเลบานอนประมาณ 4 หมื่นคน และก็มีคนไทยด้วย

ปัจจุบันผมอาศัยอยู่ที่เมืองโตรอนโต ซึ่งมีชุมชนเกาหลี อิตาลี และจีน มีความหลากหลายผสมผสานเยอะมาก แต่ประเทศแคนนาดามีขนาดใหญ่ และมีประชากรน้อย จึงมีคนจากทั่วโลกอพยพไปทำงานเป็นจำนวนมาก

พ่อของผมอพยพมาจากประเทศโปรตุเกส เมื่อปี 1970 เพราะตอนนั้นมีปัญหาเรื่องความยากจน และมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนวัฒนธรรมเดียวกัน ทำให้เกิดโครงสร้างทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการที่คนที่มีวัฒนธรรมเดียวกันอยู่รวมกันจำนวนมาก เกิดกลุ่มก้อนเป็นโครงสร้างทางสังคมเช่นนี้หลายๆ ชุมชน เช่น แอฟริกาใต้ ฯลฯ แม้กระทั่งออสเตรเลีย จะมีกลุ่มชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมหลายกลุ่ม แต่เด็กๆจากทุกกลุ่มก็ต้องเรียนในโรงเรียนเดียวกัน และมีวิวัฒนาการของการสร้างโครงสร้างทางสังคมอีกลักษณะหนึ่ง

ตอนที่ผมยังเด็ก ผมมีเพื่อนสนิทจากประเทศฟิลิปปินส์ และเฮติ เด็กบางคนอพยพเข้ามาพร้อมกับพ่อแม่ บางคนก็เกิดที่ประเทศแคนาดาจากพ่อแม่ที่อพยพเข้ามา รัฐบาลของประเทศแคนนาดา มีพื้นที่ให้ทุกวัฒนธรรมสามารถเฉลิมฉลองหรือแสดงออกทางวัฒนธรรมของตัวเองได้ แทนที่จะทำให้วัฒนธรรมรวมเป็นสิ่งที่เหมือนๆ กัน แต่เขาจะคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมหรืออัตตลักษณ์ของตัวเอง และเด็กๆ ก็จะภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะในโรงเรียน เด็กๆจากวัฒนธรรมต่างๆ ก็จะทำรายงานหรือแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ก็มีเหตุการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม และมีการเหยียดสีผิวด้วยเช่นกัน แต่ได้รับการแก้ปัญหาด้วยกลไกต่างๆ ทางสังคม มีการพูดคุยกันในชุมชนว่า หากเราเกลียดเขา เขาก็จะเกลียดเรา เป็นต้น

เมื่อปี 1933 ที่โตรอนโต มีการชุมนุมประท้วงของชาวยิว เนื่องจากมีการแข่งขันกีฬาระหว่างคนนับถือศาสนาคริสต์และศาสนายิว ปีนั้นเป็นปีที่ฮิตเลอร์อยู่ในอำนาจ เป็นช่วงที่มีการล้างเผ่าพันธุ์ที่เยอรมัน และยิวเป็นคนกลุ่มใหญ่ของเมือง แต่ยากจน เป็นคนในชั้นแรงงาน ถูกกดขี่ และถูกกีดกันไม่ให้ใช้สถานที่สาธารณะต่างๆ มีการรวมกลุ่มของคนที่เหยียดผิว มีการแสดงสัญลักษณ์ และข่มขู่คุกคามชาวยิว ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนประมาณ 6 ชม. ซึ่งประชาชนบริเวณนั้นก็สนับสนุนกลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์ รวมทั้งตำรวจด้วย ทำให้ไม่มีตำรวจไปห้ามปราม เพราะไม่ชอบคนยิว แต่กลุ่มคนอิตาลีที่นับถือศาสนาคริสต์กลับเข้ามาช่วยเหลือชาวยิว ทั้งที่นับถือคริสต์ แต่เป็นคนกลุ่มน้อยเช่นกันและถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม จึงมีความเห็นอกเห็นใจชาวยิว

เมื่อกลุ่มศาสนาคริสต์ด้วยกันเองออกมาปกป้องศาสนาอื่นๆ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนเรียนรู้ความอดทนอดกลั้นต่อกันระหว่างกลุ่มที่มีวัฒนธรรมและศาสนาแตกต่างกัน ต่อมาได้มีการบัญญัติเรื่องความอดทนอดกลั้นต่อกันในกฎหมายของแคนนาดาด้วย 

ผมมีเพื่อนหลากหลายวัฒนธรรมและศาสนามาก แต่ด้วยความเป็นเพื่อนกันทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่ากับคนในวัฒนธรรมเดียวกันและวัฒนธรรมที่ต่างออกไป

นอกจากนี้ที่แคนาดา มีศาสนาหลากหลายมากๆ จึงไม่มีศาสนาประจำชาติ ผู้นำศาสนาต่างๆ ก็จะรู้จักกัน และจะมาปรึกษาหารือกันเรื่องของความขัดแย้งในรูปของสภาผู้นำศาสนาของชุมชนที่ชุมชนตั้งขึ้นเอง


แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
บัณฑิตจากประเทศอินเดีย:   ประเทศไทยไม่ตระหนักถึงพหุวัฒนธรรม จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงได้มีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ใน มอ.ก็จะมีบ้างที่ทำค่ายลงพื้นที่ร่วมกันระหว่างนักศึกษาพุทธและมุสลิม หากไม่มีการเรียนรู้เรื่องมิติด้านศาสนา โลกทั้งโลกจะมีความวุ่นวาย

ผมเองก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธเพื่อเรียนรู้และก้าวข้ามสิ่งที่แตกต่าง และเข้าใจว่าเราอยู่ตรงไหน แต่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด กระบวนการเยียวยาเรื่องสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นเพราะคนทิ้งปรัชญาทางศาสนา

สันติภาพที่แท้จริงไม่ได้มาจากนโยบายของรัฐ และมาจากปรัชญาทางศาสนา ที่ประเทศอินเดีย สังคมมุสลิมที่นั่นจะมีความแตกต่างกันหลายลัทธิ แต่จะไม่ดูถูกกัน สุเหร่าทำไว้สามชั้น ลัทธิละชั้นเลย ใครเชื่ออะไรก็ไปตามที่ตัวเองเชื่อ อย่าพยายามว่าสิ่งกูดี สิ่งมึงไม่ดี

การผลิตครู ซึ่งทำให้วัฒนธรรมต่างๆดำรงอยู่ และเราทำโครงการให้ นศ.ได้เรียนรู้ศาสนาต่างๆ หลากหลาย รอนโยบายของรัฐมากเกินไป แท้จริงแล้วสันติวัฒนธรรมอยู่ในวิถีชีวิตของเราอยู่แล้ว บางครั้งในห้องเรียนครูเองก็คุกคามความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเด็ก ในห้องเรียนเองก็มีความขัดแย้งมาก เด็กแต่ละคนเติบโตมากับชุดความเชื่อของตัวเอง ในมิติของครู เราเชื่อว่าสันติภาพอยู่ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว

คำถามผู้เข้าร่วม
รัฐบาลออสเตรเลียใช้เวลาในการแก้ปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างคนขาวกับคนอะบอริจินนานเท่าใด?

TOM ตอบว่า ประมาณปี 1780 คนขาวอพยพมาที่ออสเตรเลีย จนกระทั่ง 1950 มีการศึกษาแล้วพบว่าประชากรอะบอริจินมีแค่ 1% ของประชากรทั้งหมด แต่มีนักโทษเป็นชาวอะบอริจินถึง 14% ของนักโทษทั้งหมด ซึ่งมีอัตราที่สูงมาก การศึกษาทำให้คนรู้และตระหนักถึงปัญหา จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ยอมรับว่า การศึกษาทำให้เกิดการพัฒนาในการแก้ไขปัญหา แต่ก็คงใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ

 

ขอขอบคุณข้อมูล คุณภาวิณี ชุมศรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Prachatai Eyes View: 9 ปี งานวันเด็กไร้สัญชาติ การเดินทางไกล ของ(อคติ)ชาติพันธุ์

Posted: 20 Jul 2011 07:59 AM PDT

ผู้จุดไฟ

9 ปี งานวันเด็กไร้สัญชาติ พี่หลวง สันติพงษ์ มูลฟอง กล่าวถึงความคิด

“การจัดงานแต่ละปีเหมือนทำประชดประชันอะไรบางอย่าง ถ้าไม่จำเป็นคงจะไม่จัดงานนี้อีกต่อไปนั่นหมายความว่า เด็กทุกคนในแผ่นดินต้องมีสถานะและสัญชาติที่ถูกต้อง” เขากล่าว

รอยยิ้มของชายหนุ่มเป็นดั่งแสงสว่างเรืองแก่เด็กชายขอบ ชาติพันธุ์นานาริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน

เขาเห็นว่า เมื่อโลกมาถึงยุคไร้พรมแดน ทำไม รัฐและสัญชาติจะไร้พรมแดนบ้างไม่ได้ !!!

พรมแดนอันเกิดจากอคติที่มนุษย์มองมนุษย์

รางวัล 40 ปี มูลนิธิโกมลคีมทอง(2554)และพลเมืองคนกล้า(2552) ถือเป็นอีกหนึ่งบทสะท้อนของ ‘ความกล้า’ เขาได้รับการบันทึกว่าเป็นนักสู้เพื่อคนไร้สัญชาติและเป็น ‘อ้ายหลวง’ สำหรับเด็กๆ ในศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน

จากจุดเริ่มต้น ยาวนานถึง 9 ปี งานวันเด็กไร้สัญชาติได้รับการตอบรับ ยอมรับจากเครือข่ายประชาชนและสื่อมวลชน แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักแต่หากไม่มีลมมรสุม เราคงหานักเดินเรือที่เชี่ยวชาญได้ยาก

พี่หลวงเริ่มงานของเขาด้วยความคิด

ชาวบ้านจากบ้านท่าเรือ 34 คน ถูกจับกุมทุกครั้งที่พวกเขาออกนอกเขตหมู่บ้าน เขาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ชาวบ้านล่องเรือมาแม่เงาเพื่อซื้อยาและข้าวสาร แย่ที่สุด คือ ผู้หญิงบางคนถูกจับขณะกำลังให้นมลูก”

บ้านท่าเรือเป็นหมู่บ้านชาวกระเหรี่ยง พวกเขาข้ามจากฝั่งพม่าเข้ามารับจ้างขุดเหมืองแร่ในเขตอำเภอสบเมย- -นั่งเรือหางยาวจากแม่น้ำเงา บริเวณสะพานเขตรอยต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก กินเวลาไม่เกิน 45 นาที ชาวบ้านที่นั่นกว่า 21 ครัวเรือนไร้สัญชาติและเจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่า บ้านท่าเรือเป็นจุดพักฝิ่น

พวกเขาถูกจับกุมด้วยเหตุผลนั้น- -นับเป็นจุดเริ่มต้น

งานวันเด็กไร้สัญชาติของศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน

“พวกเขาไม่มีเจตนาหลบหนีหรือลอบเข้าเมืองแต่ถูกจับเพราะความคิดเรื่องความมั่นคงซึ่งไม่ใช่ทางออก การจัดระบบทะเบียนประวัติชุมชนและมอบสิทธิพื้นฐานในการเดินทางและอยู่อาศัยต่างหากที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้”

ให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของเรา

พี่หลวงเริ่มต้นงานความคิดอย่างจริงจังและยาวนาน

ณ.บางจุด สิ่งเล็กๆ ได้ถือกำเนิด

 

18 มกราคม 2546 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่1

ณ.บ้านท่าเรือ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

บนเรือหางยาว 2 ลำ ทะยานฝ่าลำน้ำเงามุ่งสู่บ้านท่าเรือ- -ข้าวของเท่าที่รวบรวมได้จากเครือข่ายฯ จำพวก ไฟฉาย มุ้ง สบู่ ยาสีฟัน แชมพู เทียนไข ชุดยาสามัญประจำบ้าน ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว- -ข้าวของเหล่านี้ คือ ของขวัญวันเด็ก

ไม่มากไปกว่านี้ เท่าที่จำเป็นและหาได้- -เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มทำงานด้านสัญชาติในและนอกพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้งานวันเด็กทุกสัปดาห์ที่สองของปีมีค่าสำหรับคนอีกกลุ่ม- -คนนอกรัฐ

บ้านท่าเรือ หมู่บ้านชายแดน รอยต่อระหว่างแม่น้ำเงาและแม่น้ำเมย ชาวกระเหรี่ยงจากฝั่งพม่าข้ามมารับจ้างทำเหมืองแร่ในอำเภอสบเมย ต่อมา เมื่อปิดเหมือง พวกเขาลงมือทำเรือกสวนไร่นา ตั้งถิ่นฐาน (2504-2507) จนปัจจุบัน มากกว่า 30 ปี ชาวบ้านกว่า 96 คน 21 ครัวเรือน พูดภาษาไทย- -เด็กๆ เกิดและเติบโตในแผ่นดินไทย

หม่องละ (พ่อของมึดา นาวานาถ) ยอมรับอย่างเปิดเผย เขาเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ข้ามฝั่งมารับจ้างทำเหมืองแค่เรือวิ่งผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านจะพากันหลบซ่อนตามสุมทุมพุ่มไม้ด้วยความหวาดผวา ถึงแม้ว่า เด็กๆ บางคนจะคลอดที่โรงพยาบาลแม่สะเรียงและมีบันทึกการคลอดแต่ทางอำเภอไม่ยินยอมออกสูติบัตร

ผลจากการเป็นคนไร้รัฐและสายตาของความไม่ไว้วางใจ

ปัจจุบัน บ้านท่าเรือ หมู่8 ได้รับการสำรวจและอยู่ระหว่างการยื่นขอสถานะบุคคลตามกฎหมาย

 

หนึ่งในตัวละครของคนไร้รัฐ

มึดา นาวานาถ ในวัย 24 ปี หญิงสาวเป็นที่รู้จัก- -เพราะความมุ่งมั่นในความคิดและคำพูด ยืนยันหนักแน่นถึงการเป็นคนไทยจนได้รับทุนระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ มึดาเลือกคณะนิติศาสตร์- -งานด้านกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องที่ไม่ถูกรับรองสัญชาติจากรัฐ

หญิงสาวใช้ตัวเองเป็นแรงผลักเพื่อคนไร้สัญชาติ

3 กันยายน 2551- -มึดา นาวานาถ ได้รับสัญชาติไทย เธอใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการให้สัญชาติตัวเองกับที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายอีกหลายคนที่หญิงสาวติดปากเรียกพวกเขาว่า ‘ผู้ใหญ่ใจดี’- -คือ เด็กไร้สัญชาติคนแรกในอำเภอสบเมยที่ได้บัตรประชาชนตามมาตรา 23

ในสายตาของคนส่วนใหญ่ บัตรที่มีเลข 13 หลัก ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลใจ

มึดาเข้าใจถึงการเป็นคนไร้รัฐได้เป็นอย่างดี เธอกล่าวว่า “การไร้สัญชาติทำให้เราขาดไร้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานและการมีส่วนร่วมในรัฐหรือการรักษาพยาบาล เรียกว่า เป็นพลเมืองชั้นสอง ถึงวันนี้ หนูคิดว่า สังคมรู้ดีว่ามีเด็กจำนวนมากที่ไม่มีสัญชาติ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไร้สัญชาติ รับรู้ความรู้สึกว่า เด็กไร้สัญชาติคิดอย่างไร ถูกเรียกว่า พวกต่างด้าวหรือพวกพม่า พวกถ่วงความเจริญหรือขยะของสังคม พูดไม่ออก ‘เรา’ คือ ขยะของสังคมจริงหรือ หนูผิดใช่ไหม”

แม้แต่บัตรเขียวขอบแดง มึดายังใช้เวลากว่า 4 ปี- -ในนั้นระบุว่า หญิงสาวเป็นเผ่าพม่า ทั้งที่เธอพูดภาษาพม่าไม่ได้สักคำ- -ระหว่างเรียนอยู่ที่เชียงใหม่ เธอต้องไป-กลับ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เพื่อต่ออายุบัตรสำหรับการเดินทางออกนอกพื้นที่ทุก 6 เดือน- -มากกว่านั้น เมื่อบิดาของเธอป่วยด้วยโรคมะเร็ง- -เขา ไม่อาจเข้าสู่ระบบสวัสดิการรัฐเพื่อรับการรักษาพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ไม่มีเหตุผลมากไปกว่านั้น

วันนี้ หญิงสาวอาสาเป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม- -ให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่คนไร้รัฐในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและรวมกลุ่มนักเรียนกฎหมายในนามกลุ่มหัวรถไฟเพื่อทำกิจกรรมให้ความรู้และสร้างสำนึกทางกฎหมายแก่นักกฎหมายและคนไร้รัฐ

มึดาไม่ได้ต่อต้านรัฐ เธอต้องการสิทธิพื้นฐานของความเป็นคนในฐานะพลเมืองไทย

 

8-9 มกราคม 2547 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่2

ณ.ชายหาดสาละวิน บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“อนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเด็กไทยยังไร้สัญชาติ” เป็นหัวข้อใหญ่ในการจัดงานเชิงรณรงค์ ครั้งที่ 2 ของศูนย์พัฒนาเด็กและชุมชนซึ่งได้รับการตอบรับจากเครือข่ายประชาชน-สื่อมวลชน พร้อมกับ ข้อเสนอ ทำงานเชิงนโยบายคู่ขนาน

ประเด็นใหญ่ คือ การทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น นายอำเภอและเจ้าหน้าที่ทะเบียน

(2547)- -มึดาและกลุ่มเด็กไร้สัญชาติไปยื่นหนังสือขอสัญชาติจากรัฐบาล หน้าทำเนียบฯ ประเด็นหลักที่พวกเธอร้องขอกลับได้รับการตอบรับด้วยการเดินหนีของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

เหตุการณ์ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำ

“วันนั้น เด็กไร้สัญชาติกว่า 50 คน จากหลายจังหวัด เช่น พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ประจวบคีรีขันธ์ ในนามเครือข่ายเด็กและเยาวชนชาวเขาสัมพันธ์นัดชุมนุมกันหน้าทำเนียบรัฐบาลขอพบนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร(2547)”

เชื่อไม๊ว่า เด็กบางคนไม่รู้ว่ามีวันเด็ก หญิงสาวกล่าว

ห้วงเวลานั้น เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่งคุกรุ่น นายกฯ เชิญเด็กจากภาคใต้เข้าทำเนียบ “เราอยากเล่าเรื่องของเราบ้าง” มึดาเล่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(ตำรวจ)เข้ามากันเราเอาไว้ หนึ่งในนั้น บอกเราว่า นายกฯท่านจะออกมาพบเราเอง พวกเราถูกค้นด้วยเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด

ทันทีที่นายกฯ เดินลงจากเวที ‘นายกฯพบเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้’- -ท่านไม่ตรงมาหาเราแต่กลับเดินเข้าทำเนียบฯ ก่อนจะนั่งรถออกไป- -มึดาวิ่งตามรถแต่ถูกเจ้าหน้าที่ดันจนล้ม หญิงสาวร้องไห้- -ทำไม!! เธอตั้งคำถาม

7 ปี ของเหตุการณ์ คำถามถูกแปรเป็นพลัง

 

7-8 มกราคม 2548 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่3

ณ.โรงเรียนบ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

คนไร้สัญชาติ ร่วมงาน 1,500 คน นับเป็นจำนวนที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย

การจัดงานครั้งที่ 3 พุ่งเป้าไปที่การเปิดโอกาสทางการศึกษาของเด็กในโรงเรียนบ้านแม่สามแลบ- -โรงเรียนแห่งนี้มีเด็กนักเรียน จำนวน 220 คน เด็กที่มีสัญชาติมีเพียง 9 คน อีก 211 คน เป็นเด็กไร้สัญชาติ- -ประเด็นใหญ่ คือ จำนวนเด็กไร้สัญชาติทำให้การดำเนินการของบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นเรื่องยุ่งยาก- -อย่างไรก็ตาม ครูโรงเรียนบ้านแม่สามแลบยินดีสอนเด็กทุกคน- -การศึกษาเป็นเรื่องที่รอกันไม่ได้

เด็กทุกคนที่บ้านแม่สามแลบจะได้รับสิทธิ์ บันทึกประวัติและมอบวุฒิบัตร

รัฐบาล(2540) ถอนข้อสงวนทางด้านการศึกษา ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หมายความว่า เด็กทุกกลุ่มในประเทศนี้จะต้องได้รับการส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับจนถึงระดับอุดมศึกษาและสามารถดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มตนได้อย่างเสรี(ตามมติครม. 11 เมษายน 2540)

ประเด็นที่ลักลั่น คือ ขณะมีการเปิดโอกาสทางด้านการศึกษา- -คนไร้รัฐยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ ยกตัวอย่าง หากมึดาต้องเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ มึดาจะต้องต่ออายุการเดินทางจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทุก 15 วัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่ง

ถึงวันนี้ สถานศึกษาทุกระดับต้องจัดการศึกษาแก่เด็กไร้สัญชาติและพิจารณาเรื่องการเดินทาง เพื่ออำนวยการ

 

6-8 มกราคม 2549 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่4

ณ.ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

การเดินทางไกล สู่ หมู่บ้านนอกแผนที่ประเทศไทย

หากชีวิตพลเมืองปราศจากความมั่นคง รัฐจะมั่นคงได้อย่างไร? นับเป็นคำที่ไม่เกินเลย

การเดินทางไกลสู่หมู่บ้านนอกแผนที่เป็นดั่งการฉายสปอตไลท์ไปยังมุมมืดของสังคม- -แม้ว่า การทำงานเพื่อพิสูจน์สถานะบุคคลในพื้นที่จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและได้รับการตอบรับจากหน่วยงานราชการแต่ยังมีชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนอีกเป็นจำนวนมากที่ตกสำรวจ- -ในบางพื้นที่จังหวัดชายแดน ‘คน’ กลุ่มนี้ถูกกระทำทารุณ

การทำงานด้านสถานะเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างทางกฏหมายที่ซับซ้อน ภายใต้อคติทางชาติพันธุ์ จนถึงวันนี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่า แนวคิดของคนส่วนใหญ่ยังมองไม่ออกว่าทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้- -มีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญและน่าจะทำ ประเด็นใหญ่ คณะทำงานด้านสถานะบุคคล- -มองว่า การให้ความรู้ สนับสนุนข้อมูลเชิงกฎหมาย จำเป็นและเร่งด่วน

บ้านแม่ดึ๊ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน- -บ้านท่าเรือ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน- -บ้านเว่ยโพคี ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก- -ลงพื้นที่ 3 หมู่บ้านกับวันเด็กแห่งชาติครั้งที่4 และจำนวนตัวเลข 150,000 คน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ กลุ่มคนที่ถือบัตรสีกลุ่มต่างๆ แบ่งออกเป็นกลุ่มตกสำรวจและเด็กๆ รุ่นลูก

นายสิทธิชัย ประเสริฐศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน (2549)มีความเห็นเกี่ยวกับเด็กไร้สัญชาติว่าไม่อยากใช้คำนี้ เพราะทุกคนล้วนมีสัญชาติทั้งสิ้น ทางรัฐบาลไทยกำลังให้ความช่วยเหลือ แม้ว่า ในการให้สัญชาติจะถูกกำหนดโดยกฎหมายและกติกาไว้มากมาย อยากให้เด็กเหล่านี้ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของประเทศ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

สักวันหนึ่งเขาอาจได้สัญชาติเพราะเรื่องนี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาก

เขากล่าวไว้ในครั้งนั้น

 

8-10 มกราคม 2550 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่5

ณ.โรงเรียนบ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

จากการทำงานต่อเนื่อง 4 ปี มีคำสั่งด่วนให้ศูนย์การศึกษาในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน บ้านแม่ดึ๊- -บ้านท่าเรือ- -บ้านแม่เว่ยโพคี รับเด็กไม่มีสัญชาติเข้าเรียน- -เด็กที่ทดสอบการอ่านเขียนพยัญชนะผ่านสามารถสอบเทียบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่2 ได้

ซอมุ ครูโรงเรียนบ้านแม่ดึ๊ นำเด็กจากหมู่บ้านมาร่วมงาน 70 คน- -เด็กหลายคนป่วย หมออนามัยบ้านสบเมยเจาะเลือดตรวจ พบว่า หลายคนมีเชื้อไข้มาเลเรีย มีเด็กในหมู่บ้านเป็นไข้กันมาก ไม่มีหมอ ต้องไปโรงพยาบาลฝั่งพม่าจะมาโรงพยาบาลไทยก็ไม่มีเงินเพราะต้องเดินทางไกล ครูบ้านแม่ดึ๊ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหา

ประเด็น คือ ระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐไม่ครอบคลุมกลุ่มคนไร้รัฐ

ปัญหา คือ เมื่อพวกเขาเจ็บป่วย เขาต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตามแนวชายแดน แม้ไม่มีเงินแต่โดยหลักมนุษยธรรมเจ้าหน้าที่พยาบาลจะต้องทำการรักษาแม้จะขาดงบประมาณสนับสนุน

ปัญหา คือ เมื่อพวกเขารู้ตัวว่าไม่มีเงินและไม่มีสิทธิ์จะไม่กล้ามารักษา ปล่อยให้โรคกระจาย(ตามแนวชายแดน)กลายเป็นปัญหาอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ

ระหว่าง บัตรประชาชนกับมนุษยธรรม เราควรยึดอะไรเป็นหลัก

ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้

ภาระหนักยังคงตกอยู่กับโรงพยาบาลในแทบทุกจังหวัดตามแนวตะเข็บชายแดน

 

8-9 มกราคม 2551 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่6

ณ.ชายหาดสาละวิน บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพยังไม่มีความคืบหน้าแต่แนวคิดทางด้านการศึกษาถ้วนหน้าได้รับการตอบรับ

การรับแจ้งเกิด เป็นประเด็นที่ได้รับการหยิบยกมาพูด- -ผ่านคำบอกเล่าบนป้ายผ้า

หนูขอให้รัฐบาลยกเลิกข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 7 "เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังเกิดและจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับตั้งแต่เกิดและสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ"

การสงวนไว้ คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน

การรับแจ้งเกิดจะทำให้คนเป็นคนตามกฎหมายและได้รับการดูแลจากรัฐและสังคมในฐานะคนคนหนึ่ง

คนที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิด หมายถึง ไม่ถูกยอมรับให้เป็นคนตามกฎหมายเสี่ยงต่อการข้องเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม ขบวนการยาเสพติดหรือกระบวนการค้ามนุษย์

ใช่หรือไม่ว่า เราต่างหากที่เป็นผู้ผลักดันคนกลุ่มนี้เข้าสู่ ด้านมืด- -ด้วย อคติ เชิงชาติพันธ์

 

ยายคำ แม่เก็บชาวไทใหญ่ หมอสูติของคนไร้รัฐ

ยายคำ ชาวไทใหญ่ อายุ 77 ปี(2551) นางเป็นหมอตำแยมาตั้งแต่รุ่นสาว- -เรียกกันว่า ‘แม่เก็บ’ ในภาษาไทใหญ่ อาศัยอยู่ที่ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แข็งแรงและมีรอยยิ้มอยู่เสมอ

ปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่า ยายคำ เป็นอย่างไร

ยายคำเป็นหญิงชราที่ดูอารมณ์ดีที่สุดในโลก แววตาอ่อนโยน ไม่แข็งกร้าวแต่จัดเจนและเข้าใจชีวิต ผมดกดำ พูดจาฉะฉาน ไม่หลงๆลืมๆ เหมือนกับคนเฒ่าในวัยเดียวกัน ชวนให้คิดถึงคำพูดที่ว่า หนุ่มแก่อยู่ข้างในหัวใจ

หลังการแต่งงาน ยายคำกับสามีชื่อนายหม่องคนกะเหรี่ยง ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ที่บ้านแม่สามแลบ ยายคำไม่มีทางรู้ว่า การตัดสินใจไปค้าขายยังฝั่งพม่าในครั้งนั้น(ประมาณ 30 ปี ที่แล้ว)ของสามีจะทำให้นางต้องอยู่คนเดียวตราบจนวันนี้

ปัจจุบัน ยายคำอยู่กับลูกสาวคนเล็ก(นางนงนุช)ในจำนวนลูกทั้งหมด 8 คน

ยายคำ เป็นแม่เก็บหรือหมอตำแยและอย่างไม่เป็นทางการ ยายคำ คือ หมอทำคลอดของคนนอกรัฐ มากกว่า 40 ปี ยายคำทำคลอดให้คนที่รัฐไม่สนใจมาแล้วมากกว่า 100 คน ที่น่าทึ่งมากไปกว่านั้น ไม่เคยมีรายใดเสียชีวิต- -บางคนยายคำทำคลอดให้พ่อกับแม่แล้วยังทำคลอดให้ลูก- -บางคนมีลูก 3, 4, 5 คนขึ้นไปก็มาหายายคำ- -รักษาตัวก่อนคลอดก็มาหายายคำ- - ต้มสมุนไพร อยู่ไฟ หลังคลอดก็มาหายายคำ- -ชีวิตใหม่อยู่ภายใต้น้ำมือของยายคำ- -อย่างระมัดระวังและรอบคอบ- -อย่างผู้เชี่ยวชาญและเจนจัดในการให้กำเนิด- -ไม่เคยร้องขอค่าตอบแทน- -ไม่เคยปฏิเสธความช่วยเหลือ

หากเกินกำลัง ยายคำจะแนะนำให้ไปหาหมอ- -ยายคำเป็นผู้ให้มาตลอดชีวิต มีลูกหลานเหลนไม่ต่ำกว่า 30 คน จากลูกของตน 8 คน ทำคลอดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คน

จนวันนี้ ยายคำยังไม่ได้รับสัญชาติ

สำหรับนาง สัญชาติสำคัญน้อยกว่ามนุษยธรรมในหัวใจ

 

6-8 มกราคม 2552 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่7

ณ.ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

ย้อนรอยอดีต ‘เด็กไร้สัญชาติ’ กับสิทธิตามมาตรา23

“With faith in human dignity”

ด้วยความศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ปีนี้ พันธมิตรด้านสัญชาติเฮลั่น มาตรา 23 ที่ผลักดันมาต่อเนื่องเป็นผลบังคับใช้

28 กุมภาพันธ์ 2551 พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่4) มาตรา23 เปิดโอกาสให้เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ- -ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยและขยายการสำรวจคนไร้รัฐครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก

เด็กไร้สัญชาติในเขตอำเภอสบเมย ยื่นคำร้อง(มาตรา23) จำนวน 40 คน อนุมัติ 18 คน

เด็กและครอบครัวในเขตอำเภอสบเมย ได้สัญชาติตามมาตร 7 ทวิ จำนวน 154 คน

เด็กและครอบครัวบ้านแม่สามแลบและชุมชนเครือข่าย รับบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 1,584 คน

เด็กโรงเรียนบ้านโพซอ,ชุมชนเขตแม่สะเรียง รับการสำรวจและรับบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 617 คน

เด็กและครอบครัวบ้านแม่ดึ๊ รับการสำรวจและรับบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 101 คน

บ้านแม่ดึ๊ รับทะเบียนบ้าน (ทร.13) จำนวน 262 ครอบครัว

ทั้งหมดนี้กินเวลาถึง 7 ปี

การจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ หมายถึง สัญญะของการก้าวเข้าสู่ความเป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์แบบ- -จากการจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง 6 ปี ได้รับเสียงตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาได้รับการคลี่คลาย เช่น ปัญหาการศึกษา การสำรวจเพื่อพิสูจน์สถานะ หลายคนได้รับบัตรแสดงความเป็นคนและหลายคนได้รับสัญชาติไทย- -บัตรประชาชนที่แสดงความคนไทยโดยสมบูรณ์

วันเด็กไร้สัญชาติ- -วันเด็กแห่งชาติ นั่นคือความหวังที่สูงสุด

เด็กทุกคนในแผ่นดินต้องมีสถานะและสัญชาติที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ผลการบังคับใช้มาตรา23 ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพื่อเผยแพร่และทำความเข้าใจในภาคปฏิบัติการ อีกหลายพื้นที่ อย่างน้อย คนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ ราว 300,000 คน ทั่วประเทศ จำเป็นต้องได้รับบริการจากรัฐ

ที่น่ากลัวที่สุด คือ ทัศนคติของข้าราชการ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

9-13 มกราคม 2553 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่8

ณ.บ้านแม่แพะ ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ตรวจสอบดินแดนอันลึกลับ อุดมด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรม

กล่าวกันว่าต้องข้ามลำห้วยอย่างน้อย 28 ห้วย จึงจะไปถึงบ้านแม่แพะ

!!...เปล่าผมไม่ได้พิสูจน์

บ้านแม่แพะติดเขตปกครองอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องเดินทางด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ จากตัวอำเภอสู่หมู่บ้านใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง ข้ามเนินเขา- -ลงลำห้วย สลับหว่างที่ราบหุบเขา พบเห็นหมู่บ้านคนเรียงราย- -บ้านของคนไร้รัฐ- -สิ้นสุดหลักเขตแดนไทยที่ตำบลเสาหิน รวมระยะทางประมาณ 97 กิโลเมตร ติดพื้นที่กันชนกลุ่มติดอาวุธดาวแดงเขตบ้านห้วยทราย ประเทศพม่า

บ้านแม่แพะเป็น 1 ใน 100 หย่อมบ้านที่ต้องทำการสำรวจ ครั้งนี้มีการเปิดห้องทะเบียนราษฎรเคลื่อนที่ พิสูจน์สัญชาติ มาตรา 23 ตามพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 (28 กุมภาพันธ์ 2551) เริ่มต้นการสำรวจโดยกลุ่มอาสาสมัครนักศึกษากฎหมายการ ซักประวัติและจัดทำข้อมูลทางทะเบียน นำทีมโดย กลุ่มหัวรถไฟและศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ในพื้นที่บ้านแม่เหลอ บ้านมอโกจ่อ บ้านแม่แพะ บ้านนาป่าแป๋และบ้านเสาหิน

ส่งข้อมูลให้กับทางอำเภอเพื่อดำเนินการ

สำรวจใน 11 หมู่บ้าน จำนวน 278 คน

อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อพิสูจน์สถานะบุคคล

 

5-8 มกราคม 2554 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่9

ณ.บ้านแม่สลิดหลวง ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

เปิดประตูสู่สิทธิและสถานะของเด็กไร้สัญชาติ

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ครั้งนี้ ให้ชื่องานว่า วันเด็กแห่งชาติ หาใช่ วันเด็กไร้สัญชาติอีกต่อไปไม่ !!!

ปัญหาสถานะบุคคลเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน หากคนไม่คุ้นเคยก็ยากที่จะเข้าใจ ปัญหาดังกล่าวจะลดลงก็ต่อเมื่อเจ้าของปัญหาเปิดเผยข้อเท็จที่เป็นความจริงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มองข้ามปัญหาและไม่ควรทำงานโดยมีอคติ เช่น ไม่เหมารวมว่าคนไร้สัญชาติเป็นคนไม่ดีทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กๆ ที่มีปัญหาสถานะบุคคลที่กำลังโตวันโตคืนมากมาย เมื่อลืมตามองโลกใบนี้กลับถูกตราไว้แล้วว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ...เราจะทำอย่างไรกับเด็กๆ เหล่านี้นะ...จะปล่อยให้เขาต้องเผชิญชะตากรรมที่เขาเลือกเกิดไม่ได้อย่างนี้ต่อไปเหรอ...ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องเข้าหากัน

จงภูมิใจที่ท่านได้มีโอกาสช่วยเหลือไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม ..

มึดา นาวานาถ หญิงสาวบันทึกเอาไว้เช่นนี้

ทุกเรื่องมีทางออกของมันเสมอ

 

กัมพูชาย้ำ ไม่ถอนทหารจนกว่าผู้สังเกตการณ์จะเข้ามา

Posted: 20 Jul 2011 07:20 AM PDT

สื่อกัมพูชา ชี้ การถอนทหารจากพื้นที่พิพาทของทั้งสองประเทศ คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ในขณะที่สื่อตะวันตกมอง ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาอาจดีขึ้น นิวยอร์กไทมส์ มอง กลุ่มชาตินิยมไทยถึงคราวพ่ายแพ้

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค. 54) สืบเนื่องจากคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่สั่งให้พื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหารเป็นเขตปลอดทหารชั่วคราวนั้น จนในขณะนี้ ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชายังคงไม่มีการดำเนินมาตรการตามคำสั่งของศาลโลกใดๆ ที่ชัดเจน โดยวานนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีรักษาการ ได้แถลงว่า เนื่องจากการถอนทหารในบริเวณดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการหารือกันทั้งจากฝ่ายไทยและกัมพูชา และได้มอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมไปหารือในแนวทางต่อไป

วันนี้ (20 ก.ค.) หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชา ได้รายงานคำพูดของ Phay Siphan โฆษกคณะรัฐมนตรีของกัมพูชาที่เห็นว่า ทั้งสองประเทศสามารถดำเนินการถอนทหารได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการหารือใดๆ และย้ำว่า ทางกัมพูชา จะไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท จนกว่าผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียจะมาถึงในพื้นที่ดังกล่าว และรายงานว่า ทางแม่ทัพภาคที่สามของกัมพูชา Srey Doek ยังไม่ได้รับคำสั่งให้มีการดำเนินการถอนทหารเช่นกัน
นอกจากนี้ สม รังสี (Sam Rainsy) ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชา ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลฮุนเซน โดยระบุว่า คำสั่งของศาลโลกเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายของรัฐบาลฮุนเซน และได้เรียกร้องให้รัฐบาลฮุนเซนลาออก เนื่องจาก”ไม่อาจดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีในการรักษาดินแดน และปกป้องผลประโยชน์ของกัมพูชาจากการรุกรานของต่างชาติได้... หลังจากที่ถูกประเทศไทยรุกรานและล่วงล้ำพรมแดนของประเทศไทยมากว่าสามปี” และมองว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก เป็นการนำเงื่อนไขเดียวกันมาใช้ทั้งต่อผู้บุกรุกและผู้ที่ถูกกระทำ

ปวิน ชัชวาลย์พงษ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า เป็นการยากที่จะฟันธงว่าทั้งสองฝ่ายจะยึดถือคำสั่งของศาลโลกหรือไม่ และมองว่า ชัยชนะในครั้งนี้ เป็นของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เท่าๆ กับเป็นของอินโดนีเซีย เนื่องจากคำตัดสินนี้ จะสามารถช่วยให้อินโดนีเซียใกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสองประเทศได้ง่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยสามารถชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล โดยที่กัมพูชาเองมีความใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เคยแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ จึงน่าจะดีขึ้นจากในสมัยของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เป็นคู่ปรับของทักษิณ ชินวัตร

เช่นเดียวกันกับหนังสือพิมพ์คริสเตียนไซเอนซ์มอนิเตอร์ ของสหรัฐอเมริกาที่มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาน่าจะดีขึ้นอย่างมาก เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยนอกจากการที่ทักษิณ ชินวัตรเคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของฮุน เซนแล้ว ยังอ้างถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชา ฮอร์ นัมเฮง ผู้เคยให้สัมภาษณ์ หลังผลการเลือกตั้งในประเทศไทยออกมาว่า “ใช่ เราปิดบังไม่ได้เลยว่า เราค่อนข้างแฮปปี้กับการที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง”

ในขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ วิเคราะห์ต่างออกไปว่า ถึงแม้คำตัดสินดังกล่าวจะออกมาแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาก็ยังคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมองว่า ประเด็นพิพาทเรื่องเขาพระวิหารนี้ ยังคงเป็นประเด็นให้กลุ่มทางการเมืองในประเทศเอามาใช้กล่าวหาอีกฝ่ายว่าขายชาติให้แก่กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายชาตินิยมไทยก็ล้มเหลวในการได้รับความสนับสนุนต่อการจุดประเด็นดังกล่าว และสุดท้ายต้องค่อยๆ สลายกำลังไปในที่สุด

นอกจากนี้ ความไม่ประสบความสำเร็จดังกล่าว ยังสะท้อนจากการที่ สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร ผู้ซึ่งใช้ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารในการหาเสียง ไม่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาเลย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: หย่อนไปรษณียบัตร 6 พันใบถึง “ยิ่งลักษณ์” จี้แก้ปัญหาที่ดินลำพูน

Posted: 20 Jul 2011 05:35 AM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูนยื่นไปรษณีย์ถึง “ยิ่งลักษณ์” ร้องรัฐบาลใหม่ดูแลปัญหาการบุ​กรุกที่ดินในพื้นที่ อ.เวียงหนองล่อง เผยหากข้อเรียกร้องไม่ประสบผล เตรียมเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ

 
 
วันนี้ (20 ก.ค.54) เวลา 08.00 น.สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูนราว 200 คน นำโดยนายสุแก้ว ฟูงฟู ผู้ใหญ่บ้านแพะใต้ หมู่ 7 ต.หนอล่อง อ.เวียงหนองล่อง และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายรังสรรค์ แสนสองแคว ชาวบ้าน บ้านน้ำดิบ ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง และคณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพู​น เดินทางไปที่เรือนจำจังหวัดลำพูน เพื่อรับนายเชาวลิต เจริญผิว ชาวบ้าน บ้านท่าหลุก หมู่ 4 ต.หนองล่อง ที่ถูกจับกุมคดีบุกรุกที่ดินและได้รับการปล่อยตัววันนี้ เพื่อมาร่วมกับสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ส่งไปรษณียบัตรถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
หลังจากรับนายเชาวลิตเสร็จแล้ว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดลำพูน เพื่อร่วมกันเขียนไปรษณียบัตรจำนวน 6 พันใบ จากนั้นได้ตั้งขบวนรณรงค์ถือป้ายและไปรษณียบัตร เดินขบวนจากศาลากลางไปยังที่ทำการไปรษณีย์ลำพูน เพื่อนำไปรษณียบัตรทั้งหมดส่งถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สำนักงานที่ทำการพรรคเพื่อไทย กรุงเทพฯ
 
นายสุแก้ว กล่าวถึงจุดประสงค์ในการเดินทางมาครั้งนี้​ว่า เพื่อส่งไปรษณีย์ถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้ดำเนินการสาน​ต่อการบุกรุกที่ดิน และการจัดสรรที่ดินโดยให้เป็นรูปแบบของโฉนดชุมชน จากการที่รัฐบาลเดิมได้อนุมัติงบประมาณ 167 ล้านบาท จัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรในพื้นที่ดำเนินกา​ร ส่วนการมายื่นไปรษณียบัตรครั้งนี้ หวังว่าจะเป็นสื่อที่เข้าไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์โดยตรง เพื่อให้ได้รับทราบปัญหา และเกิดการแก้ไข รวมทั้งหาทางให้การช่วยเห​ลือต่อไป หากว่าทางกลุ่มเครือข่ายฯ ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาตามที่ได้เรียกร้องในวันนี้ ทางกลุ่มฯ จะมีการเดินทางด้วยเท้าเพื่อเข้า​ไปเรียกร้องต่อที่กรุงเทพฯ
 
จากนั้นเวลา 10.00 น.นายสุแก้ว ได้นำขบวนรถปิคอัพของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จำนวน 20 คัน จากศาลากลางจังหวัดลำพูด เดินทางไปยื่นแถลงการณ์แก่ นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน ที่สำนักงานพรรคเพื่อไทยเขต 1 ต.ริมปิง อ.เมือง แต่เนื่องจากนายสงวนติดภารกิจที่กรุงเทพฯ จึงมอบหมายเลขาฯ มารับแถลงการณ์ดังกล่าวฯ จากนั้นกลุ่มเครือข่ายฯ ได้แยกย้ายกันเดินทางกลับภูมิลำเนาต่อไปใน​เวลา 11.20 น.
 
 
รายงานโดย: กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9.8 แสนคน

Posted: 20 Jul 2011 03:28 AM PDT

สรุปยอดจดทะเบียนต่างด้าว 9.8 แสนคน แรงงานประมงยังจดได้ถึง 13 ส.ค. พร้อมเร่งหาบริษัทเก็บ Bio  Data - บ.ประกัน-ชี้ไม่บังคับนายจ้างทำประกันให้ต่างด้าว แต่เพื่อลดการค้ามนุษย์และทำตามไอแอลโอ ด้านสมาคมประมงเสนอเปิดจดทะเบียนต่างด้าวตลอดปี

กรมการจัดหางานสรุปยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9.8 แสนคน

วันนี้  (20 ก.ค.) นายประวิทย์  เคียงผล   รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน (รง.)     เปิดเผยผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. - 14 ก.ค.2554 ซึ่งผลสรุปข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.มีนายจ้างยื่นขอจดทะเบียน 164,474  ราย   จำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น  984,535 คนแยกเป็นแรงงานพม่า 643,095 คน กัมพูชา 238,586 คนและลาว 102,854 คน  ซึ่งแรงงานต่างด้าวด้านประมงนั้นยังมีเวลายื่นขอจดทะเบียนอีก 1  เดือนไปจนถึงวันที่ 13  สิงหาคมนี้  จึง คาดว่าแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 1  ล้านคน  อย่างไรก็ตาม ทาง กกจ.ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอให้จับกุมและปราบปรามแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยโดยผิดกฎหมายและลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนไทยอย่างเข้มงวด ยกเว้นแรงงานต่างด้าวด้านประมง
      
รองอธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะจัดเก็บข้อมูล Bio  Data  แรงงานต่างด้าวทั้งภาพใบหน้าและลายนิ้วมือซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทเอกชนสนใจซื้อซองประมูล เพื่อเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ 15 บริษัท แต่มายื่นซองประมูลแค่ 3 บริษัท ซึ่ง กกจ.จะคัดเลือกเหลือ  1 บริษัทที่คิดค่าดำเนินการต่ำสุด นอกจากนี้ ได้แจ้งสมาคมประกันภัยและสมาคมวินาศภัยขอให้แจ้งสมาชิกเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการประกันภัยความปลอดภัยในการทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าวโดยจะมีการออกประกาศกระทรวงแรงงานรองรับเพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนในครั้งนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเทียมกับที่ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 กำหนดไว้   ทั้งนี้  ขณะนี้ กกจ.รอข้อมูลจากทั้งสองสมาคมและจะคัดเลือกให้เหลือ 1 บริษัทซึ่งต้องมีข้อเสนอเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนและคิดเบี้ยประกันในราคาต่ำสุด  อย่างไรก็ตาม  การดำเนินการในกรณีการประกันภัยนี้ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้าง 
      
“คาดว่าการคัดเลือกบริษัทเพื่อดำเนินการใน 2 เรื่องจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ การซื้อประกันให้แก่แรงงานต่างด้าวไม่ได้บังคับนายจ้าง แต่อยากเชิญชวนให้ซื้อประกันไว้เพื่อให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ได้รับการ ดูแลตามสนธิสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งไอแอลโอและอเมริกากำลังจับตาดูไทยในเรื่องนี้” นายประวิทย์กล่าว
      
รองอธิบดี กกจ.กล่าวด้วยว่า  เมื่อได้ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่มาจดทะเบียนครั้งนี้ในภาพรวมทั้งหมดแล้วก็จะประสานไปยังประเทศพม่า กัมพูชาและลาวเพื่อแจ้งยอดตัวเลขแรงงานต่างด้าวของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยกับทั้ง 3 ประเทศจะประชุมกันโดยจัดขึ้นทุกปีแต่ปีนี้ยังไม่รู้ว่าจะประชุมเมื่อไหร่ ทั้งนี้ จะขอให้แต่ละประเทศไปพิจารณาว่าจะออกเอกสารรับรองสัญชาติให้แก่แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนหรือไม่ หากออกเอกสารรับรองสัญชาติ  กกจ.จะหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อออกวีซ่าให้แก่แรงงานต่างด้าว แต่ถ้าประเทศต้นทางไม่ออกเอกสารรับรองสัญชาติ หลังครบกำหนดผ่อนผันให้อยู่ในไทยชั่วคราว 1 ปี จะต้องผลักดัน กลับประเทศ แล้วให้มีการออกเอกสารรับรองสัญชาติและให้กลับเข้าไทยอีกครั้งผ่านเอ็มโอยู นำเข้าแรงงานต่างด้าวระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

สมาคมประมงเสนอเปิดจดทะเบียนต่างด้าวตลอดปี

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. มีการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารกระทรวงแรงงานและผู้แทนกลุ่มกิจการประมง เกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนแรงงานไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว พร้อมแนวทางการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง

นายกิตติ โกศลสกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดตราด  เปิดเผยว่า เวลาในการเปิดจดทะเบียนเพียงช่วง 2-3 เดือนถือว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากกิจการประมงจะต้องออกเรือไปไกล บางรายต้องเจอปัญหาจากมรสุมไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาจดทะเบียนได้ทัน จึงอยากเสนอให้ 1.มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตลอดปี  ซึ่งรัฐจะได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้นและแก้ไขปัญหาการลักลอบจ้างแรงงานเถื่อน   2.ยกเว้นการเอาผิดกับผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในขณะนี้เพื่อลดปัญหาส่วยแรงงานและลดระบบอุปถัมภ์แรงงานที่ผิดกฎหมาย ฝ่ายปราบปรามต้องมีการตรวจจับและผลักดันอย่างจริงจัง หากแรงงานที่ผิดกฎหมายต้องการทำงานก็ต้องหาแนวทางจัดระบบให้เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะผลักดันออกก็ต้องมีการลักลอบเข้ามาอีก

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการประมงไทยมีประเด็นหลัก ๆ คือ แรงงานในกิจการนี้มีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา บางครั้งจดทะเบียนแล้วออกเรือแต่พอกลับเข้าฝั่งแรงงานส่วนนี้ก็หลบหนีไป  ในขณะที่มีเปิดจดทะเบียนเพียงแค่ปีละครั้งทำให้เกิดการขาดแรงงานในช่วงออกเรือ กลายเป็นปัญหาการลักลอบจ้างงานแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหรือแรงงานเถื่อน จึงอยากขอให้ภาครัฐพิจารณาในเรื่องการหาแรงงานทดแทนเพราะผู้ประกอบการไม่อยากจะกระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น  

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กำหนดเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในภาคประมงจะสิ้นสุดวันที่ 13 ส.ค. จึงอยากให้สมาคมประมงแห่งประเทศไทยช่วยประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในกลุ่มให้ความสำคัญกับเงื่อนเวลาดังกล่าวด้วย  เพราะการอนุญาตจดทะเบียนแต่ละครั้งผ่านขั้นตอนการนำเสนอและการพิจารณาที่กวดขันและรัดกุมเพื่อการจัดระบบแรงงานต่างด้าว ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น อยากให้ทางกลุ่มกิจการประมงโดยเฉพาะสมาคมประมงแห่งประเทศไทยสรุปตัวเลขความต้องการใช้แรงงานที่ชัดเจน ตัวเลขแรงงานที่ยังขาดแคลนอยู่ เพื่อจะได้ร่วมกับที่จะหาแนวทางแก้ไข

นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน  กล่าวว่า ควรจะมีการออกแบบสัญญาการจ้างงานที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาหลักฐานการจ้างงานหรือจ่ายเงินมักจะใช้วิธีแบบดั้งเดิมที่มีการจดลงสมุดบัญชี ควรจะมีการทำเอกสารในลักษณะสัญญาการจ้างงาน เป็นต้น

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, โพสต์ทูเดย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลแพ่งสั่งกลาโหม-ทัพบกชดเชยครอบครัวอิหม่ามยะผา กาเซ็ง 5.2 ล้าน เหตุตายระหว่างคุมตัว

Posted: 20 Jul 2011 03:11 AM PDT

ผลการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐของครอบครัวอิหม่ามยะผา กาเซ็งที่ตายในระหว่างคุมตัว ศาลแพ่งไกล่เกลี่ยจำเลยยอมรับทำผิดจริง และอิหม่ามยะผาไม่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ไม่สงบ ยอมชดเชย 5.2 ล้าน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผย วันนี้ศาลแพ่งได้รายงานกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 1084/2552 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มีความว่า นางนิม๊ะ กาเซ็งและพวกรวม 4 คน โจทก์ และกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวม 3 หน่วยงาน จำเลย นัดพร้อมไกล่เกลี่ย โดยศาลได้ไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วคดีสามารถตกลงกันได้โดยจำเลยทั้งสามแถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ที่ทำให้นายยะผา กาเซ็ง เสียชีวิต เป็นการปฏิบัติการร่วมกันของจำเลยทั้งสามภายใต้กรอบของกฎหมายตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะเกิดเหตุ เมื่อมีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดจนข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว พบว่านายยะผา กาเซ็งผู้ตายและครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด จำเลยทั้งสามรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยจำเลยที่1 และที่ 2 ยอมรับที่จะเยียวยาความเสียหายให้กับฝ่ายโจทก์ตามที่ศาลได้มีการไกล่เกลี่ยและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายโจทก์ เป็นค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตาย เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน 87,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นจำนวนเงิน 4,624,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,211,000 บาท และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน

คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่า คดีสามารถตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ยื่นต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาตามยอม

ศาลตรวจสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเห็นว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประจักษ์ ก้องกีรติ: แนวโน้ม 7 ประการหลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค.

Posted: 20 Jul 2011 02:16 AM PDT

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ แต่การแข่งขันไม่สูสี ชี้สร้างเสถียรภาพการเมืองไทย ต้องช่วยให้ ปชป.อยู่ในสภาพแข่งขันได้จริง พร้อมแนะพรรคใหญ่กระจายฐานเสียง สร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศ

 
 
(20 ก.ค.54) ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาโต๊ะกลม "วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง และแนวโน้มรัฐบาลใหม่" ดำเนินรายการโดย สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
 
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา สะท้อนความต่อเนื่องของเทรนด์บางประการของระบบการเมืองและการเลือกตั้งไทย ตั้งแต่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา โดยมีแนวโน้ม 7 ประการ ได้แก่ 1) มุ่งสู่ระบบสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างชัดเจน แม้จะมีการเปลี่ยนไปใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อทำลายระบบสองพรรคการเมืองใหญ่และความเข้มแข็งพรรคการเมือง
 
2) แม้ว่าจะมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ แต่การแข่งขันระหว่าง 2 พรรคไม่สูสี ตั้งแต่ก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 40 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แพ้การเลือกตั้ง 6 ครั้งต่อเนื่อง ขณะที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งสองครั้ง ปชป.ไม่เคยได้ที่นั่งเกิน 165 ขณะที่จุดที่เลวร้ายที่สุดของพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังมี 233 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าจุดที่ ปชป.ทำได้สูงสุด ดังนั้น ช่องว่างของ 2 พรรคใหญ่ มีถึง 80 ที่นั่งเป็นอย่างต่ำ โดยเทรนด์นี้เกิดตั้งแต่ 2544
 
ประจักษ์เสนอว่า หากต้องการสร้างเสถียรภาพการเมืองไทย ต้องช่วยให้ ปชป.อยู่ในสภาพที่แข่งขันได้จริง โดยไม่ใช่เพียงแต่แฟนคลับ แต่ผู้ที่รักประชาธิปไตยจะต้องช่วย ปชป.ปฏิรูปพรรคให้มีความเข้มแข็ง เพื่อจะได้ไม่เป็นที่สองตลอดกาล พร้อมยกตัวอย่างว่า ในสหรัฐอเมริกาการเมืองมีเสถียรภาพเพราะพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคมีศักยภาพในการแข่งขัน ผลัดกันแพ้ชนะ
 
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ชี้ว่า หากทั้งสองพรรคยังคงครองอันดับเดิมตลอด การเมืองไทยจะไม่มีเสถียรภาพ โดยชนชั้นนำไทยจะพยายามใช้วิธีไม่ปกติแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคที่สนับสนุนขึ้นมามีอำนาจ และสภาพนี้จะอยู่ตลอดไปตราบที่ ปชป.ไม่อาจแข่งขันในระบบ
 
3) อนาคตของพรรคขนาดกลางและเล็กไม่โปร่งใส โดยมีผลงานแย่ตั้งแต่ 2544 เป็นต้นมา โดยอาจปรับได้โดยการรวมพรรคทั้งหมดให้เหลือพรรคเดียว เพื่อเป็นพรรคขั้วที่สามหรือคงสภาวะนี้ต่อไป ปรับไปเป็นพรรคของจังหวัด แบบ "พลังชลโมเดล" ซึ่งจะมีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่แคบๆ ตัวเลขที่นั่งต่ำสิบ
 
4) เริ่มเกิดภูมิภาคนิยม บางภาคเป็นฐานเสียงที่ชัดเจนของพรรคการเมืองบางพรรค เหนือ-อีสาน พท.ช่องว่างชนะห่างมาก ปชป.มีฐานเสียงเหนียวแน่นในภาคใต้ ทิ้งห่างคู่แข่งเยอะมากกว่าที่เพื่อไทยชนะคู่แข่งในเหนือและอีสาน ปรากฏการณ์นี้คงจะอยู่กับการเมืองไทยไปอีกพักใหญ่ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นหลังพฤษภาทมิฬ ดังนั้น จึงยังเปลี่ยนแปลงได้
 
5) การแข่งขันในกรุงเทพฯ สูสีกว่าที่คิด โดยเมื่อดูตัวเลขปาร์ตี้ลิสต์ และ ส.ส.เขตสูสีสูง สะท้อนความเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยจงรักภักดีต่อพรรคการเมืองใด เปลี่ยนไปทุกการเลือกตั้ง ไม่เคยมีพรรคใดครองเสียงคนกรุงเทพฯ ได้เกิน 2 สมัย
 
6) ความตื่นตัวในการเลือกตั้งของประชาชนคนไทย จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงขึ้นตลอด แม้แต่ในภาคใต้ที่มีความรุนแรง สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ สะท้อนความผูกพันกับการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้มองว่าการเลือกตั้งสกปรกเลวร้าย แต่คนที่มองว่าเลวร้ายเป็นนักวิชาการกลุ่มเล็กมากกว่า
 
7) สะท้อนการลดบทบาทของตระกูลการเมืองเก่าๆ โดยพบบางตระกูลสูญพันธุ์ไป กรณีที่บอกว่ามี ส.ส. 38 ตระกูล เข้าสภานั้น ไม่ได้สะท้อนอิทธิพลของตระกูล ที่มี ส.ส.นามสกุลซ้ำ พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์และระบบเขต มีรายที่ชนะด้วยอิทธิพลตระกูล เหลือเพียง 2-3 ตระกูลเท่านั้น
 
ประจักษ์เสนอว่า การใช้ความรุนแรงในช่วงเลือกตั้งไม่ได้มากกว่าที่ผ่านมา จำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต น้อยลง โดยที่ผ่านมา เหยื่อความรุนแรงกลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในที่สุด เนื่องจากได้รับความเห็นใจ อาทิ ประชา ประสพดี หรือ นายกอบจ.ที่ลพบุรี ที่พี่ชายถูกยิงเสียชีวิต ดังนั้น การใช้ความรุนแรงจึงเป็นวิธีที่ไม่ได้นำมาสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง ส่วนการซื้อเสียงเริ่มลดลงและไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด
 
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เสนอว่า ถ้าอยากมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ทั้งสองพรรคใหญ่ต้องพยายามกระจายฐานเสียงของตัวเองให้กระจายทั้งประเทศ มากกว่ากระจุกตัวบางจังหวัด
 
ประจักษ์ สรุปว่า การเมืองไทยมาถึงจุดที่ระบบการเลือกตั้งลงหลักปักฐานมีเสถียรภาพ มุ่งสู่การมีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค ไม่ว่าจะใช้วิธีพิเศษ รัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยและความนิยมต่อพรรคการเมืองนี้ได้ ทางออกทางเดียวของชนชั้นนำที่ไม่ชอบทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทย อยู่ที่การมาแข่งขันในระบบเท่านั้น โดยต้องทำให้ ปชป. เข้มแข็งกว่านี้และแข่งขันได้จริงในระบบ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอแบคโพลล์ระบุคนส่วนใหญ่รับได้รัฐบาลทุจริต แต่ทำให้ประเทศรุ่งเรือง

Posted: 20 Jul 2011 02:08 AM PDT

เอแบคโพลล์ เผยส่วนใหญ่รับได้ทุจริตแต่ทำให้ประเทศรุ่งเรืองและตัวเองได้ประโยชน์ รายได้สูงยิ่งรับได้ ร้อยละ 71 อายุต่ำกว่า 20 ปี วัยสูงสัดส่วนลด

20 ก.ค. 54 - ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ "เรื่องความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการสร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18  ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งเก็บตัวอย่างความคิดเห็นใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ อ่างทอง ระยอง ราชบุรี นนทบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ หนองบัวลำภู มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น สตูล นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,559 ตัวอย่าง ดำเนินการระหว่าง 13 - 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีช่วงคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 จากการเลือกตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้ ค้นพบสิ่งน่าสนใจ คือ

เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถาม ถึงระยะห่างของการแจ้งความเอาผิดต่อผู้ทุจริต พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.4 จะแจ้งความเอาผิด ถ้าพบเห็นแกนนำชุมชนของตน ทุจริต รองลงมาร้อยละ 72.9 จะแจ้งความเอาผิด ข้าราชการทุจริต ร้อยละ 72.2 ระบุจะแจ้งความเอาผิด นักการเมืองทุจริต ร้อยละ 71.7 จะแจ้งความเอาผิดรัฐมนตรีทุจริต และร้อยละ 70.8 จะแจ้งความเอาผิดคนพักอาศัยในบ้านเดียวกันทุจริต

นอกจากนี้ ร้อยละ 61.0 จะแจ้งความเอาผิดเพื่อนบ้านสนิททุจริต ร้อยละ 51.0 จะแจ้งความเอาผิดญาติพี่น้องตนเองอยู่ในบ้านเดียวกันที่ทุจริต ร้อยละ 43.0 จะแจ้งความเอาผิด พ่อ แม่ หรือ ลูกของตนเองที่ทุจริต และเพียงร้อยละ 38.1 จะให้ดำเนินการเอาผิดตนเอง ถ้าตัวผู้ตอบแบบสอบถามเองเกิดทำพลาดไปทุจริต

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.5 คิดว่ายอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย ขณะที่ร้อยละ 35.5 ยอมรับไม่ได้

จำแนกกลุ่มตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่ทุกเพศ ทุกวัย ระดับรายได้ ทุกสาขาอาชีพ และการศึกษา ต่างยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย เป็นชายร้อยละ 63.4 และหญิงร้อยละ 65.4 ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วตนเองได้รับประโยชน์ด้วย

ที่น่าเป็นห่วงอีกคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.0 ของกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และร้อยละ 70.5 ของผู้มีอายุ 20 - 29 ปี ต่างก็ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วพวกเด็กและเยาวชนได้รับประโยชน์ด้วย ขณะที่ ร้อยละ 67.2 ของผู้มีอายุ 30 - 39 ปี ร้อยละ 63.6  ของผู้มีอายุ 40 - 49 ปี และร้อยละ 61.7 ของผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป คิดว่ายอมรับได้เช่นกัน ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วตนเองได้รับประโยชน์ด้วย

นอกจากนี้ คนยิ่งมีรายได้สูงกลับมีสัดส่วนของจำนวนผู้ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วตนเองได้รับประโยชน์ด้วย พบร้อยละ 64.0 ของผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน ยอมรับได้ ขณะที่ ร้อยละ 71.0 ของผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ยอมรับได้ เช่นกัน

จำแนกตามอาชีพ น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก กลุ่มนักเรียน นักศึกษา มีสัดส่วนสูงสุดคือร้อยละ 72.3 ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย โดยรองลงมาคือ พ่อค้า กลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนตัว ร้อยละ 67.0 พนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 64.9 กลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 56.4

และที่น่าสนใจพิจารณาคือ กลุ่มข้าราชการ/ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 50.9 ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย

และเมื่อจำแนกระดับการศึกษา พบส่วนใหญ่ไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับใด ก็ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วตนเองได้รับประโยชน์ด้วย ร้อยละ 66.7 ของผู้สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 58.4 ของผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วตนเองได้ผลประโยชน์ด้วย

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 67.8 เห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เหมาะสมจะเป็นประธานรณรงค์สร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง อย่างจริงจังต่อเนื่อง ขณะที่ร้อยละ 32.2 ระบุว่าไม่เหมาะสม

สำหรับข้อมูลทั่วไปตัวอย่างสุ่มสำรวจมีดังนี้ ร้อยละ 48.4 เป็นชาย ร้อยละ 51.6 เป็นหญิง, ร้อยละ 4.1 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 20 - 29 ปี ร้อยละ 22.4 อายุระหว่าง 30 - 39 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40 - 49 ปี และร้อยละ 31.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่างร้อยละ 74.9 ต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่างร้อยละ 31.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ตัวอย่างร้อยละ 10.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.3 ระบุพนักงานเอกชน ร้อยละ 6.6 ระบุเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ ร้อยละ 8.4 ระบุเป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.9 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ที่มาข่าว: กรุงเทพธุรกิจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: เครือข่ายที่ดินลำปางร้อง "ว่าที่นายกหญิง" ดันต่อ “โฉนดชุมชน”

Posted: 20 Jul 2011 01:38 AM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ลำปาง ส่งไปรษณียบัตรถึง “ยิ่งลักษณ์” ร้องสานต่อโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-ภาษีก้าวหน้า ยึดจัดการที่ดินโดยชุมชนเป็นโยบายหลัก พร้อมย้ำเจ้ากระทรวงทรัพย์ฯ ต้องไม่ใช่ “ปลอดประสพ”

 
 
วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 เวลา 9.00 น.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินและชุมชนจัดการที่ดินโดยชุมชนจังหวัดลำปางราวประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่หน้าสถานีรถไฟ และทำการเคลื่อนไปยังที่ทำการไปรษณีย์เพื่อส่งไปรษณียบัตร ถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ถึงข้อเสนอให้มีการผลักดันนโยบายเรื่องโฉนดชุมชนที่รัฐบาลชุดเดิมเคยได้ให้คำมั่นว่าจะการผลักดันต่อ หากได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปางได้ร่วมกันผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน และที่ผ่านมามีการตอบรับจากนโยบายของรัฐบาลชุดเก่า แม้ยังเป็นระเบียบสำนักนายกว่าด้วยเรื่องการจัดให้มีแนวชุมชน ปี 2553 แต่เมื่อผู้ที่ได้รับคะแนนและได้รับการไว้วางใจในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็นพรรคการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลชุดเดิม ทำให้เกิดความกังวนใจต่อการสานต่อนโยบายดังกล่าว
 
 
เนื้อหาในไปรษณียบัตรถึงยิ่งลักษณ์ ระบุข้อเรียกร้องว่า 1.ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้เป็นข้อมูลสาธารณะ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม 2.ให้ดำเนินการการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่ม และการป้องกันที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร 3.ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลน และไร้ที่ดินทำกิน
 
4.ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์ 5.ให้มีการยกเลิกคดีคนจน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีที่ดินทำกินในเขตป่า และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 6.ไม่ให้เอานายปลอดประสพสุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นมติที่สร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
 
“หนึ่งคะแนนเสียงที่เราเลือกคุณ หวังเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะใช้โอกาสของคุณในการพัฒนาประเทศ” ไปรษณียบัตรระบุ
 
 
จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นหนังสือเกี่ยวกับข้อเสนอการจัดการที่ดินโดยชุมชนเพื่อการเกษตรให้กับว่าที่ ส.ส.จังหวัดลำปาง และอ่านแถลงการณ์ถึงจุดยืนเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยนายภูมินทร์ เลขานายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ 1 ใน 4 ว่าที่ ส.ส.จังหวัดลำปาง ได้มารับหนังสือและรับว่าจะนำหนังสือดังกล่าวไปยื่นกับว่าที่ ส.ส.จังหวัดลำปางต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำการพรรคเพื่อไทย จ.ลำปาง มีตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา แต่การชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านไม่มีความรุนแรงใดๆ และเมื่อทำกิจกรรมเสร็จ ชาวบ้านได้สลายการชุมนุมไปอย่างสงบ
 
 

 
แถลงการณ์
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง
 
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดลำปาง เกือบทั้งหมดได้มีการลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อของพรรค โดยเลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งจังหวัด ลำปาง ส.ส. 4คน คือ 1.นาย สมโภช สายเทพ 2.นาย วาสิต พยัคฆบุตร 3.นาย จรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ 4.นาย อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งหมด ที่เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวจังหวัด ลำปางไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนฯ ตลอดจน ว่าที่นายกรัฐมนตรี คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ไปบริหารประเทศ
      
ตลอดระยะเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมา บ้านเมืองของเราตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง สภาพดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อชาวไทยทุกหมู่เหล่า และไม่เป็นที่พึงปรารถนาของผู้ใด อีกทั้งยังสั่นคลอนศักยภาพของประเทศในการสร้างสรรค์สังคมที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรือง
 
การปฏิรูปที่ดินอย่างรอบด้านเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับบ้านเมืองของเรา และเป็นวาระแห่งชาติที่พี่น้องประชาชนทุกท่านควรเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผลักดัน
 
ในปัจจุบันมีเกษตรกรรายย่อยจังหวัด ลำปาง ที่ไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน ขณะที่กลไกตลาดทุนนิยมและปัจจัยอื่นๆ ได้ส่งผลให้ที่ดินในชนบท กระจุกตัวอยู่ในมือของคนจำนวนน้อย ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบอาชีพในด้านเกษตรกรรมด้วยตนเอง สภาพดังกล่าวส่งผลให้ที่ดินหลายแห่งถูกทิ้งไว้รกร้าง และไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใด
 
ในฐานะที่ดินเป็นเครื่องมือการผลิต และเป็นฐานชีวิตของประชาชน การไม่มีที่ดินทำกินหรือสูญเสียที่ดินที่เคยมี จึงมิเพียงก่อให้เกิดปัญหาความยากจนในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นฐานวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกร
 
การขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกรมิเพียงบั่นทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากยังเป็นสภาพที่กัดกร่อนถอนรากการดำรงวิถีของเกษตรกร ดังนั้นความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดินทำกินเป็นปัญหาร่วมกันของพวกเราทุกคน
 
จากแนวคิดดังกล่าว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปางจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะลดฐานะความเป็นสินค้าเสรีของที่ดินเกษตรกรรมลง และหาทางให้เกษตรกรที่เดือดร้อนได้เข้าถึงที่ดินที่ถูกกักตุนทิ้งร้างไว้โดยเอกชนที่ไม่ใช่เกษตรกร ตลอดจนเข้าถึงที่ดินของรัฐที่ประกาศเขตป่าทับซ้อนที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ทำให้เกษตรกรขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ หวาดระแวง ถูกข่มขู่ คุกคาม จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนั้นยังเห็นควรให้มีการกำหนดเงื่อนไขโดยกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกินอีกต่อไป
 
ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัด ลำปาง จึงให้ท่านว่าที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และ สส.ทั้ง 4 คน ได้ผลักดันข้อเสนอของชาวบ้านเข้าไปบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภา ในเวลาอันใกล้นี้
 
1.      ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้เป็นข้อมูลสาธารณะเพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม
2.      ให้ดำเนินการการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่ม และการป้องกันที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร
3.      ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลน และไร้ที่ดินทำกิน
4.      ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์
5.      ให้มีการยกเลิกคดีคนจน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีที่ดินทำกินในเขตป่า และที่ดินรกร้างว่างเปล่า
6.      ไม่ให้เอานายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7.      ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นมติที่สร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
 
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างความเป็นธรรมและการลดความเหลื่อมล้ำนั้นจะบังเกิดขึ้นได้ก็ด้วยฉันทานุมัติของประชาชนส่วนใหญ่ ที่มองเห็นปัญหาของประเทศ และพร้อมที่จะร่วมือสร้างสังคมที่ผาสุกให้อยู่อาศัยร่วมกันโดยสันติสุข
 
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัด ลำปาง
วันที่ 19กรกฎาคม 2554
 
 
 

 
ข้อเสนอการจัดการที่ดินโดยชุมชนเพื่อการเกษตร
 
ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานชีวิตและปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับคนทุกคน   แต่โครงสร้างการจัดการที่ดินของประเทศไทยโดยปล่อยให้รัฐและอำนาจทางทุนเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัดได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่สังคม กล่าวคือ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินซึ่งคนเคยถือครองหรือทำมาหากินมานมนาน แต่กลับมีที่ดินที่ปล่อยให้ทิ้งร้างว่างเปล่าจำนวนมหาศาล มีการเก็งกำไรที่ดินจนมีราคาแพงทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก ไม่คุ้มกับการลงทุนทำการเกษตร มีปัญหาการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศ มีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์และพื้นที่สาธารณะโดยไม่คำนึงถึงความมีอยู่ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว มาเป็นเวลาช้านาน ส่งผลให้เกษตรกรทำกินอยู่ในพื้นที่ซ้อนทับอย่างผิดกฎหมาย ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชน เกษตรกรต้องประสบกับความทุกข์ยากทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งถูกจำกัดในเรื่องการพัฒนา ซึ่งสร้างความอ่อนแอแก่สังคมการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม
 
เมื่อวิเคราะห์ถึงรากฐานความขัดแย้งเรื่องที่ดินพบว่ามีปัญหาหลายระดับ ประการแรก ระดับความคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ซึ่งได้เปลี่ยนคุณค่าที่ดินจากฐานชีวิตมาเป็นสินค้า กำหนดทิศทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนรายใหญ่มากกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรรายย่อยตลอดจนความมั่นคงทางอาหารและฐานทรัพยากร และระดับโครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับระบบกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกที่ผูกติดกับกลไกตลาด รวมทั้งการครอบครองและจัดการที่ดินแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐเข้ามาเบียดขับระบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกันของชุมชนหรือสิทธิชุมชนในท้องถิ่นรวมทั้งการกระจายการถือครองที่ดินที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
อนาคตสังคมไทย ซึ่งจะมีจำนวนสูงสุดราว 70 ล้านคน ตามที่คาดไว้ในอีกสิบปีข้างหน้า มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดี มีระบบการศึกษาที่สอนคนให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความรักคุณค่าทางวัฒนธรรมและท้องถิ่น มีอาหารบริโภคที่มีคุณภาพและปลอดภัย เกษตรกรมีที่ดินทำการเกษตรเป็นของตนเองเพื่อเลี้ยงชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยวิถีการเกษตรที่สมดุลยั่งยืน มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีฐานทรัพยากรดินน้ำป่าที่สมบูรณ์ซึ่งชุมชนสามารถดูแลจัดการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เกษตรกรที่ประสงค์จะทำการผลิตเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถเข้าถึงที่ดินขนาดที่เพียงพอคุ้มกับการลงทุนหรือบริหารจัดการร่วมกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ด้วย เหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อการเกษตรโดยวิธีการปฏิรูปโครงสร้างอย่างเป็นระบบ
 
กระบวนการปฏิรูปต้องเริ่มจากปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนประสบอยู่ โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งความเข้มแข็งมุ่งมั่นของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างเชิงนโยบายและสถาบัน ให้สอดคล้องกันไปด้วย
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัด ลำปาง จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งระบบ ดังต่อไปนี้
 
1. การแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน
 
สภาพปัญหา
ที่ดินในชนบทมีปัญหาเกษตรกรสูญเสียที่ดินจนไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน ข้อมูลของศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ในปี 2547 รายงานว่ามีผู้ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย ที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มน้อย ที่ดินจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ จึงกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก เกิดปัญหาสังคมทั้งในชนบทและในเมือง รวมทั้งส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
 
ข้อเสนอ
การปฏิรูปแนวความคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการถือครองและใช้ประโยชนที่ดินเพื่อการเกษตร มีข้อเสนอดังนี้
 
1.1จัดระบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศให้เป็นข้อมูลสาธารณะ โดยบูรณาการข้อมูลการถือครองที่ดินการเกษตร ทั้งข้อมูลการถือครองที่ดินและข้อมูลแผนที่ทั่วประเทศให้ทันสมัยตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อใช้ในการวางแผนกระจายการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการถือครองและใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรให้เหมาะสมและเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 
1.2การกำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นใหม่ ใช้ฐานข้อมูลที่ดินและการมีส่วนร่วมของชุมชนกำหนดเขตและการทำแผนที่การใช้ที่ดินขึ้นใหม่ เริ่มจากแผนที่ดินเพื่อการเกษตรระดับชุมชน โดยแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร พื้นที่เมือง พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เพื่อคุ้มครองรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันให้ชัดเจน ซึ่งรวมทั้งเขตที่ดินของชุมชนดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาแต่บรรพบุรุษเพื่อรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนไว้ด้วย แล้วจึงบูรณาการแผนระดับชุมชนเป็นแผนระดับจังหวัดและแผนระดับชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แล้วออกกฎหมายว่าด้วยแผนการใช้ที่ดินหลักของประเทศและแผนการใช้ที่ดินระดับชุมชนให้มีผลบังคับใช้ทันที
 
สำหรับที่ดินของส่วนราชการต่างๆ ที่ขอกันไว้เป็นจำนวนมากแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามภารกิจหลักของหน่วยงาน ขอให้รัฐนำที่ดินเหล่านั้นกลับคืนมาวางแผนใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ส่วนที่ดินที่เหมาะสมกับการเกษตรขอให้มอบให้กองทุนธนาคารที่ดินนำไปบริหารจัดการต่อไป
 
1.3คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกกฎหมายคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อช่วยหยุดยั้งการกว้านซื้อที่ดินเพื่อซื้อขายเก็งกำไรรายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ราคาที่ดินลดลง ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินคืน และเป็นการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่ให้นำไปใช้ผิดประเภท
 
1.4กำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสม เพื่อให้ที่ดินเพื่อการเกษตรที่จำแนกไว้แล้วได้กระจายไปยังเกษตรกรรายย่อยผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองได้อย่างทั่วถึง เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องกำหนดเพดานการถือครองที่ดินไว้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ตลอดจนให้เหมาะกับศักยภาพและความสามารถของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในการใช้ที่ดินสร้างเศรษฐกิจในครอบครัวและชนบทให้เข้มแข็ง รวมทั้งการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ และการดูแลรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
 
1.5ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการเกษตรกับเกษตรกรที่ทำเกษตรด้วยตนเอง ผู้ที่มีสิทธิถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรจะต้องเป็นผู้ที่ครอบครองและทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น ห้ามไม่ให้ผู้อื่นเช่า หรือปล่อยทิ้งร้าง หรือกระทำการเป็นการอำพรางโดยไม่มีเจตนาทำการเกษตรจริง และควรใช้มาตรการทางภาษีอัตราก้าวหน้าสูงเป็นกลไกควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรดังกล่าว
 
กรณีที่ดินของรัฐตามโครงการจัดสรรที่ดินในรูปแบบต่างๆ ที่จัดให้เกษตรกรไร้ที่ทำกินแล้วถูกเปลี่ยนมือไปยังผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐนำกลับคืนมาเป็นที่ดินส่วนกลางเพื่อให้กองทุนธนาคารที่ดินฯ ได้นำไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกินหรือผู้มีที่ดินไม่พอทำกินต่อไป
 
1.6จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อนำเงินทุนไปซื้อที่ดิน รวมทั้งจัดซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์ประกันหนี้เสียของธนาคารและสถาบันการเงินมาบริหารให้กระจายไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดินและที่มีที่ดินไม่พอทำกิน
 
1.7 ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรและมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรมีผลบังคับใช้ตามข้อเสนอดังกล่าวนี้
 
1.8 สร้างกลไกประกันการสูญเสียที่ดิน เพื่อไม่ให้ที่ดินเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนอีก โดยสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นองค์กรเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีอำนาจต่อรองในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมีพลัง
 
โดยสรุป เสนอให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการ ได้แก่ ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร ให้มีความทันสมัยเป็นเอกภาพ และเป็นข้อมูลสาธารณะที่โปร่งใสประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ปฏิรูปการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้มุ่งกระจายการถือครองที่ดินสู่ประชาชนระดับล่าง และมีมาตรการจำกัดการถือครอง มาตรการการแทรกแซงกลไกตลาด และมาตรการทางภาษี เพื่อป้องกันการผูกขาดที่ดินและสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยกำหนดมาตรการทางกฎหมายรองรับระบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนควบ และปฏิรูปการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยกำหนดเขตพื้นที่การใช้ที่ดินและทรัพยากรอย่างเหมาะสมและได้ดุลภาพทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ และให้การคุ้มครองพื้นที่เกษตรและเกษตรกรรายย่อยให้มีความมั่นคง และปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
 
2. ให้โอกาสและสิทธิคนจนต้องคดีที่ดินเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
 
สภาพปัญหา
เกษตรกรในชนบทจำนวนมากประสพปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม เกษตรกรถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสภาพที่ต้องขังแล้ว 836 ราย (ข้อมูลถึงเดือนธันวาคม 2553) ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดินคนจนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีและที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีเป็นจำนวนหลายแสนครอบครัว
 
ข้อเสนอ
เพื่อให้การพิจารณาคดีที่ดินทำกินของเกษตรกรยากจนที่ถูกจับกุมคุมขังขณะยังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาทางนโยบายของรัฐ มีความเป็นธรรม โดยเกษตรกรได้รับโอกาสและสิทธิในการเข้าถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่หลากหลายและสอดคล้องกับกรณีพิพาท จึงมีข้อเสนอดังนี้
 
2.1คดีที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ขอให้มีการพักโทษ ลดโทษ และคุมประพฤติ โดยให้ผู้ต้องโทษกลับไปอยู่ดูแลครอบครัว ทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัวในที่ดินเดิม และให้ทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นแทนการจำคุก
 
2.2คดีที่ดินอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว อนุญาตให้เกษตรกรผู้ต้องหาและครอบครัวอยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิม และให้ทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ
 
2.3 กรณีปัญหาที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเนื่องจากยังมีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการดำเนินการไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล จึงสมควรระงับการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเพิ่มความเดือดร้อนและความรุนแรงกับคนจน โดยขอให้ระงับการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์ ระงับการจับกุมประชาชนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งเดิมที่ไม่ใช่การถางป่าใหม่ รวมทั้งระงับการจำกัดการพัฒนาชุมชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็น
 
การปฏิรูปแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรจะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของภาคสังคมเป็นสำคัญ เข้ามาช่วยเชื่อมโยงภาคประชาชนให้ร่วมกันคิดและสร้างโอกาสให้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ ด้วยตัวเองจึงต้องช่วยกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการให้มีรูปธรรมของความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ และสื่อสารกับสังคมทั้งในท้องถิ่นและในระดับชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางและให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป ภาคประชาชนจึงจะมีอำนาจต่อรองและมีพลังขับเคลื่อนข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรให้ไปสู่ปฏิบัติการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำของสังคมได้จริง
 
----------------------------------------------------------------
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุชาติ ธาดาธำรงเวช

Posted: 20 Jul 2011 01:02 AM PDT

ผมกำลังคิดว่าจะห้ามบรรดารัฐมนตรีทำโฆษณาตัวเองเหมือนที่รัฐบาลที่ผ่านมาทำ เพราะมองว่าไม่เกิดประโยชน์ เพื่อเอาเงินเหล่านี้ซื้อแทบเล็ตแจกเด็ก และน่าจะได้งบมากกว่านี้ซื้อแทบเล็ตแจกเด็ก และน่าจะได้งบมากกว่าที่ต้องจ่ายด้วยซ้ำ

19 ก.ค. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น