โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาเร่งด่วน จำเลยคดีเสื้อแดงเชียงใหม่ปี 51

Posted: 26 Jul 2011 10:49 AM PDT

ศาลอุทธรณ์ภาคห้านัดจำเลยคดีอาญากรณีเสื้อแดงปะทะเสื้อเหลืองปี 51 ที่ปากทางหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ด่วน จำเลยพลาดโอกาสกอดลูก

 

เช้าวานนี้ (26 กรกฎาคม 2554) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 16 ศาลจังหวัดเชียงใหม่  ศาลอุทธรณ์ภาคห้านัดจำเลยคดีอาญากรณีเสื้อแดงปะทะเสื้อเหลืองที่ปากทางหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ ตามคดีอาญาของศาลจังหวัดเชียงใหม่หมายเลขแดงที่ อ.650, อ.651, อ.652, อ.653/2553 มาฟังคำพิพากษาโดยเร่งด่วน

จำเลยทั้งห้าซึ่งตกเป็นผู้ต้องขังหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำคุก 20 ปีมาปรากฏตัวพร้อมญาติบางส่วนซึ่งเพิ่งจะทราบข่าวการมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาเมื่อคืนก่อนหน้าจากเจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่

โดยสรุป  ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่า  แม้ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้กระทำความผิด  แต่อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น  อย่างไรก็ตาม  กรณีบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ตายมีส่วนยั่วยุ  กำหนดโทษของศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าคนละ 20 ปีนั้น หนักเกินไป เห็นสมควรให้จำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 16 ปี  และมีเหตุบรรเทาโทษ  จึงให้คงจำคุกคนละ 12 ปี  นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น

ส่วนบรรยากาศการเข้าฟังคำพิพากษานั้น  เนื่องจากตัวจำเลยทั้งห้าเพิ่งทราบคำสั่งศาลในเวลาเช้าวันเดียวกัน  และญาติจำเลยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เรือนจำในเวลาประมาณ 20 นาฬิกาของวันก่อนหน้า  จึงมีญาติจำเลยเพียงบางส่วนได้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้  โดยไม่มีทนายจำเลยเข้าร่วมรับฟังแต่อย่างใด

หลังจากการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์  นางเล็ก เอื้องคำ ภรรยาชาวไทยใหญ่  ซึ่งมาไม่ทันการอ่านคำพิพากษานี้  ได้โผเข้าสวมกอดนายประยุทธ บุญวิจิตร จำเลยที่ 2 ด้วยเสียงสะอื้นโฮน้ำตานองหน้า  ขณะที่นายพะยอม ดวงแก้ว  จำเลยที่ 5 กล่าวว่า  ตั้งใจว่าหากมีโอกาสได้ออกมาภายนอกเรือนจำอีกครั้งก็อยากจะกอดลูกชายอายุ 7 ขวบอีกสักครั้ง  แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาคห้านัดฟังคำพิพากษาโดยเร่งด่วน  ญาติไม่มีเวลาได้เตรียมตัว  จึงไม่ได้พาลูกชายมาด้วย  รู้สึกเสียใจและเสียดายอย่างมาก  แม้ว่าศาลอุทธรณ์จะไม่ได้พิพากษายกฟ้อง  แต่ก็ยังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน  ยืนยันว่าจะขอยื่นฎีกาต่อสู้คดีต่อไป  เช่นเดียวกับนายสมศักดิ์ อ่อนไสว จำเลยที่ 4 ซึ่งนางอุดม เมฆขุนทดเพิ่งทราบข่าวการอ่านคำพิพากษนี้หลังจากที่ส่งบุตรสาวไปโรงเรียน  จึงไม่สามารถไปรับลูกสาวอายุ 4 ขวบมากอดพ่อได้ทันเวลา

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ภาคห้ามิได้แจ้งเหตุแห่งการนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์โดยเร่งด่วนแต่อย่างใด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แนะนำหนังสือ: พระทำไมต้องแดง! เสี้ยวประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสงฆ์ไทยในสงครามแบ่งสี

Posted: 26 Jul 2011 10:25 AM PDT

ผู้เขียน: สุรพศ ทวีศักดิ์

คำนิยม โดย พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) เจ้าของนามปากกา “ปิยโสภณ”
             และ ศ.ดร.สมภาร พรมทา
 
 
เป็นหนังสือปรับปรุงจากงานวิจัยชื่อ “ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน” ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนทุนวิจัย
 
เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วย
 
บทที่ 1 : บทนำ
บทที่ 2 : หลักการทางพระธรรมวินัยกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองในบริบทที่ซับซ้อน
บทที่ 3 : การเลือกฝ่ายทางการเมืองและเหตุผลทางจริยธรรมของพระสงฆ์
บทที่ 4 : การเมืองกับจริยธรรม เหรียญคนละด้าน สู้เพื่อ “ทักษิณ” หรือเพื่อ
   “ประชาธิปไตย”
บทที่ 5 : บทสรุปและข้อเสนอแนะ
 
จุดเด่นของหนังสือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การชุมทางการเมืองของพระสงฆ์ และทัศนะทางการเมือง เหตุผลทางจริยธรรมของพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเหลือง-แดง-กลาง แสดงตัวเลขเชิงสถิติของพระสงฆ์ทุกภาคของประเทศที่เลือก-ไม่เลือกฝ่ายทางการเมือง วิเคราะห์ปัญหาการเลือกฝ่าย บทบาทเป็นกลาง สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรม (moral dilemma) ของการเลือกฝ่ายและเลือกเป็นกลาง วิเคราะห์ทัศนะทางการเมืองของพุทธศาสนา และหลักการทางพระธรรมวินัยกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์โดยละเอียด พร้อมกับเสนอมุมมองของนักวิชาการด้านพุทธศาสนาเกี่ยวกับการเลือกฝ่ายและการชุมนุมทางการเมืองหลากหลายแง่มุม
 
ข้อมูลที่นำเสนอได้มาจากการใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเสวนาแบบโฟกัสกรุ๊ป จากพระสงฆ์กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 512 รูป ประกอบด้วยพระนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ พระลูกวัด พระสังฆาธิการ และพระราชาคณะ
 
สัมภาษณ์พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียง เช่น พระพยอม กลฺยาโณ พระไพศาล วิสาโล ว.วชิรเมธี สมณะโพธิรักษ์ ดร.พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ดร.พระมหาโชว์ ทสฺสนีโย ฯลฯ และสัมภาษณ์นักวิชาการ เช่น ศ.ปรีชา ช้างขวัญยืน ศ.ดร.สมภาร พรมทา ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ รศ.โคทม อารียา ฯลฯ
 
และที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยเชิงคุณภาพที่รวบรวมและวิเคราะห์ความเห็นของพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายและเป็นกลางทางการเมืองไว้อย่างรอบด้านมากที่สุด จึงเป็นหนังสือที่ผู้สนใจประเด็นทัศนะทางการเมืองของพุทธศาสนา บทบาทของพระสงฆ์กับการเมือง ปัญหาการเลือกฝ่ายและการชุมนุมทางการเมืองของพระสงฆ์ หรือปัญหาว่า “ตามหลักการทางพระธรรมวินัยพระสงฆ์เลือกฝ่ายทางการเมืองได้หรือไม่?” ควรอ่าน!   
 
 
หมายเหตุ: จัดพิมพ์ โดย สำนักพิมพ์ธงธรรม
จัดจำหน่าย โดย สายส่งศึกษิต บริษัทเคล็ดไทย จำกัด โทร. 0 -2225-9536 ถึง 9
จำนวนหน้า 162 หน้า (ราคา 140 บาท)
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อดีตคนงานเคเอฟซี วอนสถานทูตสหรัฐฯ เตือนนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายไทย

Posted: 26 Jul 2011 10:20 AM PDT

สมานฉันท์แรงงานไทย-อดีต พนง.เคเอฟซี วอนสถานทูตอเมริกาช่วยเหลือ ให้ผู้บริหารบริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกา ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานไทย

กรณี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน เคเอฟซี และ พิซซ่าฮัท ในประเทศไทย เลิกจ้างพนักงาน 3 คน หลังพนักงานเคเอฟซี-พิซซ่าฮัทในกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 200 คน ร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้าง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54

ล่าสุด (26 ก.ค.54) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยอดีตพนักงาน เดินทางยื่นหนังสือต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา โดยเรียกร้องต่อสถานทูตฯ ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย โดยให้ผู้บริหารบริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกา ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และหยุดละเมิดสิทธิแรงงาน เพื่อให้เกิดมาตรฐานแรงงาน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับพนักงาน

ด้านนางอภันตรี เจริญศักดิ์ หนึ่งในสามพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า ยังอยากกลับเข้าทำงานและอยากให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา พวกตนได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กระทรวงแรงงาน เพื่อให้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างพวกตนกับบริษัท ยัมฯ ซึ่ง ครส.ได้เรียกพวกตนเพื่อสอบถามความเป็นมาในวันที่ 28 ก.ค.ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ นางอภันตรีระบุว่า ปัจจุบัน ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อสมาชิกสหภาพฯ ระดับแกนนำ ซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน 5-6 ราย อาทิ ไม่อนุญาตให้เข้าประชุมประจำไตรมาสตามปกติ ติดกล้องวงจรปิดจำนวนมากในสาขาที่พนักงานนั้นๆ ทำงาน เป็นต้น

 

------------------------------------------------------------
แถลงการณ์
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
“หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน หยุดคุกคามสหภาพแรงงาน”

สืบเนื่องจาก บริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ ผู้บริหารและผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน KFC และ PIZZA HUT ในประเทศไทย ได้ประกาศเลิกจ้างผู้แทนพนักงานจำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายกฤษ สรวงอารนันท์ นางสาวศิวพร สมจิตร และนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ในขณะที่พนักงานบริษัทฯ ในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และปทุมธานี จำนวน 260 คน จากพนักงาน 900 กว่าคน ได้ร่วมกันลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 พร้อมแต่งตั้งผู้แทนเจรจา 7 คน และนายจ้างมีพฤติกรรมที่ขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงานของพนักงาน ด้วยการข่มขู่คุกคาม

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่าการเลิกจ้างพนักงาน KFC ทั้ง 3 คน และการขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน เนื่องจากอยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ระหว่างการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และนายจ้างกระทำการละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 64

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่า บริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ในด้านการให้บริการอาหารบริการด่วน KCF และ PIZZA HUT ที่มีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคในระดับสากลได้ เพราะเกิดจากกำลังแรงงาน การทำงานอย่างทุ่มเทของพนักงานเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นต้องปฏิบัติต่อพนักงานด้วยมาตรฐานแรงงานสากลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสิทธิแรงงานภายใต้อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอเรียกร้องต่อสถานทูตอเมริกา ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย โดยให้ผู้บริหารบริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกา ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และหยุดละเมิดสิทธิแรงงาน เพื่อให้เกิดมาตรฐานแรงงาน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับพนักงาน

ท้ายนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอสนับสนุนการต่อสู้ของพนักงาน KFC ในการเรียกร้องสิทธิในนามของ “สหภาพแรงงานอาหารและบริการ ประเทศไทย” อย่างถึงที่สุด

ด้วยความสมานฉันท์
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
26 กรกฎาคม 2554
สถานทูตอเมริกา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนหายอีก 2 ในบันนังสตา ร้อง DSI รับเป็นคดีพิเศษ

Posted: 26 Jul 2011 10:15 AM PDT

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 26 กรกฎาคมพ.ศ. 2554 ญาติของนายอิบรอเฮง กาโฮง และนายดุลหามิ มะแร ชาวบ้านอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) กระทรวงยุติธรรม รับเรื่องการหายตัวไปของบุคคลทั้งสองเป็นคดีพิเศษ รวมทั้งช่วยติดตามเรื่องและประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ในการหาตัวบุคคลทั้งสองด้วย โดยมีนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์ด้วย

จากนั้นญาติของทั้ง 2 คน ได้ไปยื่นหนังสือให้ช่วยติดตามเรื่องและประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
นางสาวพรเพ็ญ เปิดเผยว่า ในเวลา 11.30 น. ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ญาติจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวต่อสำนักพระราชวัง และผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนด้วย
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม แจ้งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติของทั้งสองคนว่า ทั้งสองคนได้หายตัวไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2554 โดยมีข้อมูลเบื้องต้นจากญาติว่า ในวันดังกล่าว ทั้งสองคนได้ไปติดตามเรือที่ถูกยึดไปที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ค่ายนเรศวร บ้านสันติ 1 ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าค่ายตำรวจพลร่ม จากนั้นได้หายตัวไป
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งต่อไปว่า ที่ผ่านมานับแต่วันที่หายตัวไปญาติของบุคคลทั้งสอง ได้เดินทางไปยังค่ายค่ายนเรศวร เพื่อติดตามตามหาบุคคล 2 คนตลอดมา และแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจท้องที่ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2554 พร้อมกับได้ขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานในพื้นที่มาโดยตลอด
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งอีกว่า ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ได้ยอมรับว่า บุคคลทั้งสองสูญหายจริง แต่จากการติดตามคดีพบว่า ไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงแก่ญาติแต่อย่างไร อีกทั้งการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อาจประสบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลและการติดตามบุคคลสูญหาย จึงได้เดินทางมากรุงเทพเพื่อยื่นขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษเพื่อติดตามหายบุคคลสูญหายให้ได้ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่อย่างไร
 
“การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง การติดตามหาอย่างเร่งด่วนอย่างจริงจังในระยะวันแรกๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการค้นหาความจริงและนำบุคคลกลับคืนสู่สภาพเดิม แต่อย่างไรก็ดี การสืบสวนสอบสวนนั้น ต้องดำเนินการอย่างเป็นอิสระอย่างจริงจังเท่านั้น จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องเป็นธรรม และสามารถให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาและผู้เสียหายได้” มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ
 
“อีกทั้งขณะนี้ญาติและชุมชนที่ใกล้ชิดกับบุคคลที่หายไปทั้งสองเกิดความหวาดกลัวอิทธิพลในพื้นที่และต้องการให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน และสร้างความเชื่อมั่นจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการทำคดี เนื่องจากข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้น เชื่อมโยงกับการติดตามเรือที่ถูกยึดไปโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของค่ายตำรวจพลร่มดังกล่าว” มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีสิทธิพลเมืองชายแดนใต้ อยากได้ประชาธิปไตยรากหญ้า-พื้นที่ภาษามลายู

Posted: 26 Jul 2011 10:11 AM PDT

สิทธิของพลเมืองในชายแดนใต้ หลายอย่างยังถูกปิดกั้น” น่าจะเป็นเสียงสะท้อนหนึ่งของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้จากเวทีเสวนาเรื่อง สร้างการเรียนรู้สิทธิ อำนาจหน้าที่ และการป้อนกันสิทธิตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ที่หอประชุมอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

เป็นเวทีที่จัดโดย คณะกรรมการส่งเสริมการเมืองภาคพลเรือนภาคใต้ สภาพัฒนาการเมือง มีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน ส่วนหนึ่งของมุมมองจากเวทีนี้ สะท้อนออกมาจากตัวแทนผู้เข้าร่วมดังนี้
 
นายยะโกะ เบ็ญมะเซ็ง สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองจังหวัดปัตตานี
การเสวนาครั้งนี้ พูดถึงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิทธิต่างๆ ของประชาชนใน 3 จังหวัด ชายแดนใต้ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง อำนาจหน้าที่ โดยภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง
 
ประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันคือ การขาดคุณธรรมและจริยธรรมของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนักการเมือง ข้าราชการและประชาชนเอง เมื่อขาดคุณธรรมแล้ว จะเกิดการคอรัปชั่น เสพสิ่งมึนเมา ยาเสพติด และขาดการมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม
 
ปัจจุบันนี้ เรากำลังสร้างการเมืองในภาคพลเมือง เราจะต้องสร้างประชาธิปไตยชุมชนในจังหวัดปัตตานีให้ได้ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ประชาชนประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น การตรวจสอบ การติดตามการทำงานของนักการเมืองและข้าราชการ เป็นต้น
 
จะต้องสร้างประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานศาสนาที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีรูปแบบคือ ผู้ที่จะลงสมัครเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง จะต้องมาจากการคัดเลือกของสภาชูรอ หรือ สภาแห่งการปรึกษาหารือก่อน
 
การคัดเลือกของสภาชูรอ คือการให้ประชาชนเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมของแต่ละพรรคการเมืองมาก่อน ในเขตละเขตเลือกตั้ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Primary election หรือ การเลือกตั้งขั้นต้น เมื่อได้ตัวแทนที่จะลงสมัครการเลือกตั้งแต่ในแต่ละพรรคของแต่ละเขต ก็การแข่งขันตามปกติ
 
สิทธิที่สำคัญที่สุดที่ประชาชนจะต้องได้รับนั้น คือ 1.ต้องได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ 2.ต้องได้รับการยอมรับในความเป็นเชื้อชาติที่แตกต่างกับพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย อาจจะหมายถึงการที่ระบุเชื้อชาติมลายูในบัตรประชาชนได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะนี้เป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่ประชาชนจะต้องย่อมรับ
 
นายเสรี สะแม อุปนายกคนพิการจังหวัดปัตตานี
สิทธิของคนพิการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังขาดอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.สถาบันการศึกษาสำหรับคนพิการ ที่เป็นระบบสำหรับมุสลิม โดยเฉพาะอาหารฮาลาล และครูผู้สอนที่สามารถพูดภาษามลายูได้
 
2.ต้องการให้สถานที่สำคัญทางศาสนาทั้งพุทธและอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของสงขลา มีทางเดินสำหรับคนพิการ โดยเฉพาะบันไดต้องมีราวจับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ สามารถประกอบศาสนากิจได้เหมือนกับคนปกติ ได้
 
3.ต้องการให้สถานที่ราชการ เอกชนและสถานที่สาธารณะต่างๆสร้างทางเดินหรือทางสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ เพื่อง่ายต่อการมาใช้บริการสำหรับคนพิการ
 
ขอเรียกร้องให้บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้มีการตั้งชมรมคนพิการ ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อง่ายต่อการให้ความช่วยเหลือ เยี่ยมเยือน และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
 
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ผมและพรรคพวกจะตั้งสมาคมคนพิการมุสลิมให้ได้ เพื่อให้สามารถขอความช่วยเหลือจากภายในประเทศและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะจากเงินซากาต(การบริจาคทานที่บังคับสำหรับมุสลิม) จากประเทศมุสลิม
 
นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้
สิทธิในด้านภาษาที่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขาดไปอย่างเห็นได้ชัด คือ สิทธิในการได้อ่านป้ายข้อความต่างๆ หรือคำประกาศ โดยเฉพาะที่เป็นทางราชการ ที่เป็นภาษามลายูอย่างเดียว หรือภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยมีน้อยมาก
 
จริงแล้วๆมันเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ไม่สนับสนุนการใช้ภาษามลายู นี่คือการลดบทบาททางอ้อมของภาษามลายูในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นี่คือนโยบายที่กดทับไม่ให้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พูดภาษามลายู เมื่อคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่พูดภาษามลายูแล้ว ความเป็นอัตลักษณ์มลายูมันก็จะค่อยๆหมดไปด้วย
 
น่าแปลกเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลให้เกียรติต่อภาษาฝรั่งหรือภาษาจีน เกาหลีและอื่นๆ โดยให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐบาล แต่สำหรับภาษามลายู รัฐบาลไม่สนับสนุนให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐ ทั้งๆที่ ภาษามลายูเป็นภาษาที่คนใช้มากกว่า 300 ล้านคนในโลกมลายู และกำลังจะใช้เป็นภาษาหลักของอาเซียน
 
สิ่งที่น่าเป็นห่าง คือ การที่หน่วยงานของรัฐบาลบางหน่วยงานรัฐที่เขียนภาษามลายู โดยใช้อักษรไทย เป็นสิ่งประชาชนและนักวิการไม่เห็นด้วย เพราะการเขียนภาษามลายู มี 2 รูปแบบเท่านั้น คือ 1.เขียนด้วยอักษร Romanic และ 2.เขียนด้วยอักษรยาวี ดังนั้น การเขียนภาษามลายูด้วยอักษรไทย จึงไม่เป็นที่ยอมในโลกมลายูและในประชาคมอาเชียน เนื่องจากตัวอักษรไทย ไม่สามารถแทนเสียงภาษามลายูได้ทั้งหมด
 
ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เปิดสอนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องภาษามลายู ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับภาษามลายู แต่ยังไม่ถึงจุดที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพได้ เพราะมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่สามารถใช้ภาษามลายูได้ดีเท่าที่ควร
 
วันนี้กระแสการใช้ภาษามลายู ถูกแทรกแซงโดยภาษาอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ไม่สามารถสกัดกั้นหรือทำลายกระแสของการใช้ภาษาเหล่านั้น แต่จะทำอย่างไรที่จะให้ภาษามลายูยังยั่งยืนอยู่ได้ต่อไป ท่ามกลางกระแสเหล่านั้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘แทบลอยด์’ สัมภาษณ์ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ลุ้นศาลโลกไม่ตีความ

Posted: 26 Jul 2011 10:02 AM PDT

คำสั่งศาลโลกเมื่อ 18 ก.ค. ในทางกฎหมายใช้คำว่าข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หรือ prima facie หมายความว่าสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนว่า น่าจะเข้าไปตีความคำพิพากษาได้ แต่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ตีความเลยก็ได้ แต่การที่ศาลไม่จำหน่ายคดีออกไป แปลว่าผู้พิพากษาเห็นว่ามันมีมูลเบื้องต้น ส่วนจะตีความเรื่องอะไรนี่สำคัญ เพราะถ้าตีความเรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 ว่ามีความผูกพันทางกฎหมายหรือเปล่า ไทยอาจจะชนะในประเด็นนี้ และมีผู้พิพากษาชื่อ Joan Donoghue พูดไว้ชัดเจนเลยว่า การจะกลับมาตีความเรื่องอะไรนั้น ใช้หลัก Long but Narrow ก็คือตีความย้อนกลับไปได้นาน แต่ต้องตีความอย่างแคบๆ ฉะนั้นคุณจะมาตีความสะเปะสะปะตะแบงไปในทางที่กัมพูชาต้องการมันทำไม่ได้

0 0 0

ผ่านไปครบสัปดาห์หลังจากศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้พื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหารเป็นเขตปลอดทหาร จนถึงวันนี้ทั้งไทยและกัมพูชาก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจน และมีอีกไม่น้อยที่ยังตะแบงว่าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หนำซ้ำอาจตีความกฎหมายถึงขนาดส่ง ตชด.เข้าไปแทนทหาร มีข้อเท็จหลายอย่างที่คนไทยควรรู้ก่อนลุ้นว่า ปีหน้าศาลโลกจะรับตีความในคดีหลักที่กัมพูชายื่นหรือไม่ โดยเฉพาะความเป็นห่วงว่าไทยจะเสียเปรียบ แต่ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังบอกว่า  50:50

ตีความแค่รอบประสาท

ให้เคลียร์เลยว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่มีพันธกรณีทางกฎหมายอย่างที่กลุ่มชาตินิยมอ้างหรือเปล่า 

“ถามว่ามีพันธกรณีทางกฎหมายหรือไม่มันต้องถามว่าเราไปตกลงอะไรกับเขาไว้หรือเปล่า คำตอบคือเราตกลงไว้ เราตกลงที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และในข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติบอกว่าเรารับที่จะเป็นภาคีของธรรมนูญศาลศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าเป็นภาคีแล้วมันก็จะมีเงื่อนไขของมันว่าทำอย่างไรที่จะต้องมีพันธกรณี ที่บอกว่าเราไม่เคยรับอำนาจศาลมาตั้ง 50 กว่าปีแล้ว นั่นจริงอยู่ แต่หมายความว่าไม่สามารถไปขึ้นคดีใหม่ที่ศาลได้ แต่คดีนี้เป็นการตีความคดีเก่า ซึ่งข้อกฎหมายเปิดช่องว่าหากคุณเคยรับอำนาจศาลในคดีเก่าไปแล้ว เวลาจะผ่านมาเท่าไหร่กฎหมายไม่ได้พูดไว้ คุณสามารถกลับมาตีความใหม่ได้ ต้องเข้าใจตรงนี้ว่าการที่จะบอกว่าศาลสามารถมีเขตอำนาจเข้ามาตีความได้ ไม่ได้แปลว่าศาลจะต้องตีความเสมอไป ศาลอาจจะไม่รับตีความก็ได้ เหมือนกับเวลาเราฟังข่าวว่าศาลพิจารณาคำร้องแล้วไม่รับคำร้อง คำร้องฟังไม่ขึ้นหลักฐานพยานไม่พอ ก็เหมือนกันครับคดีศาลโลกก็หลักการคล้ายๆ กัน สมมติว่าพิจารณาไปแล้วศาลเอาคดีเข้ามาดูในเขตอำนาจของตัวเอง แต่ปรากฏว่าดูไปดูมาไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดี ศาลก็อาจจะบอกว่าไม่วินิจฉัยคดี ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้พอสมควร เพราะว่าสิ่งที่กัมพูชาขอมันมีทั้งสิ่งที่อาจจะต้องตีความและสิ่งที่ตีความไม่ได้”

เหตุผลหลักที่ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพราะไม่ต้องการให้เกิดการสู้รบ

“ใช่ครับ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีขึ้นในระหว่างที่คดีหลักยังไม่เสร็จ มันอาจจะทำให้สิ่งที่เขาทะเลาะกันอยู่ในคดีหลักเสียหายไปได้ ซึ่งคำว่าสิ่งที่ทะเลาะกันอยู่ในทางกฎหมายก็คือสิทธิของกัมพูชาในการที่จะรักษาทรัพย์สิน ผู้คนของเขาในพื้นที่ที่เขาถือว่าเป็นของเขา แต่เราก็บอกว่าพื้นที่ตรงนั้นจะบอกว่าเป็นของเขาไม่ได้ พื้นที่นั้นคือ 4.6 ตร.กม. ถ้าก็พิจารณาว่าขืนปล่อยให้คุณยังดำเนินการสู้รบต่อไปโดยไม่มีคนเข้ามาห้ามปราม ก็จะเกิดความเสียหายต่อสิ่งที่กัมพูชาเขาอ้าง ตลาด วัด หมู่บ้านก็อาจจะถูกกระสุน ถูกระเบิด ประชาชนก็อาจจะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในทางกฎหมายถ้าเกิดขึ้นแล้วมันยากที่จะเยียวยา ฉะนั้นศาลก็เลยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ได้หมายความศาลจะต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่กัมพูชาบอกในคดีหลัก ฉะนั้นเมื่อคดีเดินไปจนถึงปีหน้าศาลอาจจะรับตีความบางข้อไม่ตีความบางข้อก็ได้”

แต่ก็เคยมีกรณีตัวอย่างที่ศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปแล้วกลับไม่พิจารณาตีความในคดีหลัก

“เป็นคดี Avena เป็นคดีระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก ซึ่งทะเลาะกันว่าสหรัฐมีสิทธิที่จะประหารคนเม็กซิโกไหม บังเอิญมีข้อกฎหมายบางประเทศว่าถ้าจะประหารชาวต่างชาติจะต้องแจ้งกงสุลของชาตินั้นให้เขาเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในการสู้คดี แต่บังเอิญศาลเทกซัสของสหรัฐไม่ได้แจ้งกงสุลเม็กซิโก อยู่ดีๆ ก็ไปจับเขามาเอามาดำเนินคดี และจะประหารตามกฎหมายของเขา เม็กซิโกบอกคุณทำอย่างนี้ไม่ได้เป็นการข้ามขั้นตอนทางกฎหมาย เม็กซิโกก็เลยเอาคดีไปฟ้องศาลโลก แต่ระหว่างศาลยังตัดสินไม่เสร็จว่าสหรัฐผิดหรือไม่ผิด แต่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนเพราะถ้าขืนปล่อยให้ประหารชีวิตไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรมาให้ว่ากันต่อแล้ว ศาลก็สั่งคุ้มครองชั่วคราวไป สหรัฐก็พยายามทำตาม ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ออกคำสั่งในฝ่ายบริหารออกมาไปยังอัยการสูงสุด รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมบอกว่าจะต้องหยุดการประหารชีวิตไว้ก่อน เพราะเรามีหน้าที่ต้องทำตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ฉะนั้นนี่เราเห็นแล้วว่าที่มีบางคนบอกว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวประเทศอื่นเขาไม่ปฏิบัติตาม มันไม่จริง”

“สหรัฐก็พยายามจะปฏิบัติตาม แต่บังเอิญประธานาธิบดีบุชสั่งลงไป แต่ศาลเทกซัสไม่ทำตาม เพราะว่าในประเทศของเขารัฐธรรมนูญเขาแบ่งแยกอำนาจฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารออกอย่างชัดเจน ตุลาการก็บอกว่าคนที่จะสั่งฉันได้คือสภา สภาต้องออกกฎหมายมา แต่สภาคองเกรสออกกฎหมายมาไม่ทันว่าจะรับรองคำสั่งของศาล พอไม่มีกฎหมายก็เลยไปสู้ถึงศาลฎีกาสหรัฐ ศาลฎีกาบอกว่าถึงแม้คำสั่งศาลจะมีผลทางกฎหมายต่อฝ่ายรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหาร แต่มันไม่สามารถผูกพันศาลได้ ถ้าปราศจากข้อกฎหมายของสภาคองเกรส สุดท้ายก็เลยต้องประหารชีวิตไป แต่ท้ายที่สุดถึงประหารชีวิตไปแล้วศาลก็ยังดำเนินคดีต่อไป และก็วินิจฉัยว่ามันไม่มีเรื่องที่ต้องมาตีความ เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าถึงแม้ศาลคุ้มครองไปก่อนก็ไม่ได้แปลว่าสุดท้ายจะต้องตีความ”

กรณีปราสาทพระวิหารมีแนวโน้มที่ศาลจะรับตีความตามคำร้องของกัมพูชาหรือไม่นั้น วีรพัฒน์ ให้ดูความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษา

“มันก็มีแนวโน้มที่เราสังเกตได้จากความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษาในการออกคำสั่ง เพราะเวลาศาลโลกออกคำสั่งศาลท่านจะให้คำสั่งมา 1 ฉบับ แต่ผู้พิพากษาแต่ละท่านถ้าอยากจะเขียนความเห็นอธิบายออกมาท่านก็จะเขียนแยกออกมา ซึ่งวันนี้เราเห็นแล้วว่าแต่ละท่านเริ่มแบไต๋ออกมาแล้ว บางท่านตีความในลักษณะที่ว่า ถ้าคดีเดินต่อไปก็อาจจะต้องรับคดีมาพิจารณา เพราะท่านมองว่ามันมีเหตุให้ตีความ แต่ว่าเหตุที่จะต้องตีความในที่นี้หมายความว่าอะไร ก็คือหนึ่งมันมีข้อพิพาทความเห็นทางกฎหมายที่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งบอกอย่างหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งบอกอีกอย่าง เรื่องนี้มันชัดว่ากัมพูชากับไทยก็อ้างกันว่าพื้นที่รอบปราสาทเป็นของใคร”

“แต่พอมาถึงขั้นที่สองบอกว่าถึงแม้คุณจะเห็นไม่ตรงกันแต่สิ่งที่คุณเห็นไม่ตรงกันต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในขอบเขตของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ยกตัวอย่างนะครับ คำพิพากษาปี 2505 พูดว่าปราสาทเป็นของใคร แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่าเส้นเขตแดนหรือเส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่ 1:200000 โดยมันเองถือว่าเป็นกฎหมายผูกพันอะไรยังไง ศาลไม่ได้วินิจฉัยตรงนั้น กัมพูชาพยายามจะบอกว่าการที่ศาลบอกว่าปราสาทเป็นของเขามันก็มีอยู่เหตุผลเดียวที่เป็นไปได้คือเส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 มันมีผลทางกฎหมาย แต่ไทยกำลังจะบอกว่าศาลไม่ได้พูดอย่างนั้น ฉะนั้นตรงนี้มันก็มีความเห็นไม่ตรงกันแล้ว  ถามว่าไม่ตรงกันแล้วศาลจะไปตีความได้ไหม ศาลต้องดูก่อนว่าเรื่องแผนที่ 1:200000 หรือแผนที่ภาคผนวก 1 มันตกอยู่ในขอบเขตของคำพิพากษาเดิมหรือเปล่า”

“ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมถ้าเรากลับไปอ่านคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ศาลเขียนไว้ชัดเจนว่าศาลนำเรื่องแผนที่และเส้นตามแผนที่มาพิจารณาในฐานะข้อเท็จจริงประกอบเท่านั้น ข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยคือเรื่องว่าปราสาทเป็นของใครตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 ผมย้ำนะครับว่าคนส่วนใหญ่นึกว่าแผนที่ผูกพันเรา ความจริงไม่ใช่ สิ่งที่ผูกพันไทยทุกวันนี้ก็คืออนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1904 ที่เราไปทำเอาไว้ แต่บังเอิญวิธีการตีความของศาล ศาลดันเอาแผนที่มาตีความประกอบ แต่ถามว่าตัวที่ผูกพันคืออะไร ก็คืออนุสัญญา เพราะอนุสัญญาคือกฎหมายระหว่างประเทศ แผนที่ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นถ้าเดินคดีต่อไปศาลก็อาจจะรับพิจารณาว่าที่กัมพูชาขอให้ตีความว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เส้นตามเขตแดนมีความผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ ศาลไม่รับตีความ ผมคิดว่าศาลไม่รับตีความ”

“แต่มันจะมีบางประเด็นที่ศาลรับตีความ คือประเด็นที่ว่าถึงแม้แผนที่ภาคผนวก 1 ศาลจะไม่บอกว่ามันมีอะไร แต่มันอยู่ในอำนาจขอบเขต แต่คำว่าบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท มันกว้างแคบแค่ไหน กัมพูชาไม่ได้ถามศาลว่ากว้างแคบแค่ไหน แค่บอกว่าไทยมีหน้าที่ต้องถอนทหารออกไป ที่เราอ้างว่าเป็นดินแดนของเรา และเราไม่ถอนทหารออกไปมันก็เหมือนกับไปกินบริเวณรอบตัวปราสาทเขา ฉะนั้นท้ายที่สุดศาลก็ต้องเอาเข้ามาวินิจฉัยว่าบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทเป็นแค่ไหน ซึ่งประเด็นนี้ผมวิเคราะห์ว่าถ้าเราไปดูความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาแต่ละท่านเวลาออกสั่งชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 ก.ค. เราจะเห็นเลยว่าผู้พิพากษาทุกคนให้ความสำคัญกับประเด็นตรงนี้มากว่าบริเวณรอบปราสาทมากน้อยแค่ไหน”

นี่เป็นความเห็นของส่วนผู้พิพากษาในฝ่าย 11 เสียง หรือ 5 เสียง

“ทั้งใน 11 และ 5 เลยครับ แม้แต่ผู้พิพากษาที่ชื่อ Jean-Pierre Cot ซึ่งเป็นผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสที่ไทยแต่งตั้งเข้าไปเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจ หมายความประเทศที่ไม่ได้มีผู้พิพากษาที่เป็นคนชาติตน คือไทยไม่มีผู้พิพากษาไทยอยู่บนบัลลังก์ กัมพูชาไม่มีผู้พิพากษาชาวกัมพูชาอยู่บนบัลลังก์ ก็แต่งตั้งผู้พิพากษาเฉพาะกิจเข้าไปได้ โดยสถิติผู้พิพากษาเฉพาะกิจจะวินิจฉัยคดีไปในแนวทางที่ต้องตรงกับประเทศที่แต่งตั้งเข้าไป เพราะเวลารัฐบาลเขาแต่งตั้งใครเขาไม่ได้ไปบอกว่าคุณต้องตัดสินให้เราชนะ แต่เขาจะเลือกว่าผลงานทางวิชาการหรือแนวคิดสอดคล้องกับแนวต่อสู้ของใคร ผู้พิพากษา Cot ก็ตีความค่อนข้างจะสอดคล้องกับเมืองไทย แต่ท่านก็บอกชัดเจนว่าท่านเห็นว่ามันมีข้อพิพาทอยู่ว่าพื้นที่รอบๆ ตัวปราสาทเป็นของใคร”

“ถ้าเราดูคะแนนเสียงโดยรวมที่ออกมา 16 เสียงวันนั้น มันมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะรับตีความในประเด็นว่าพื้นที่รอบตัวปราสาทมันกว้างแคบแค่ไหนที่ไทยต้องถอนทหารออกไป ทีนี้มันก็มีประเด็นอีกว่าแล้วถ้าเดินคดีต่อไปเราจะถูกตีความแล้วเสียเปรียบหรือเปล่า ซึ่งก็มีคนไปตีความว่าหวยออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะการตีความก็อย่างที่บอกแล้วว่ามันต้องตีความอย่างแคบในสิ่งที่คำพิพากษาเมื่อปี 2505 ได้บอกเอาไว้ เพราะฉะนั้นเราจะมาดูว่าพื้นที่รอบปราสาทเป็นของใคร ถ้าสมมติเราชัดเจนว่าแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ได้มีผลทางกฎหมายอย่างชัดเจนในตัวของมันเองมันก็เป็นไปได้ที่จะตีความว่าตัวบริเวณรอบตัวปราสาทก็น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าส่วนประกอบของตัวปราสาทอย่างแท้จริง หมายความว่าเวลาเราไปวัด ไม่ได้มีแค่เจดีย์มีอุโบสถ มันมีลานวัดมีศาลาวัด ไปจนสุดกำแพงวัด แต่ปราสาทพระวิหารปัจจุบันไม่มีแนวกำแพงให้เราเห็นแล้ว แต่ถ้าไปฟังความเห็นของนักโบราณคดีก็อาจจะตีความว่าบริเวณตัวปราสาทก็คือบริเวณที่เป็นของตัวปราสาท จะมีกินความรวมถึงพื้นที่รอบๆ ไม่ได้ อันนี้คือเรื่องที่ต้องไปต่อสู้ในอนาคตแล้ว”

“แต่ก็จะมีผู้พิพากษาบางท่านที่ตีความกว้างไปกว่านี้อีก ที่ท่านบอกว่ากฎหมายระหว่างประเทศเวลาตีความต้องตีความไปเพื่อปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติ จะไปเน้นเรื่องเขตแดนจะไปเน้นเรื่องระหว่างรัฐบาลอาจจะไม่สำคัญเท่ากับความเป็นจริงในพื้นที่ว่าชาวบ้านเขาอยู่ด้วยกัน พอตีความอย่างนี้มันก็ทำให้เกิดความน่าสงสัยว่าผู้พิพากษาท่านนี้ซึ่งก็คือผู้พิพากษาชาวบราซิล ท่าน Antônio A. Cançado Trindade ท่านก็บอกไปในทางนั้น ถ้าเรามองว่ามันมีความเป็นได้ว่าท่านอาจจะเป็นห่วงประชาชนมากกว่าเป็นห่วงเขตแดน ก็อาจจะตีความลักษณะว่าขีดเส้นออกมาเลยให้ชัดเจนจะได้ไม่ต้องมีเรื่องมาทะเลาะกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังเร็วเกินไปที่เราจะบอกว่าผู้พิพากษาท่านไหนจะตัดสินมาอย่างไร เพราะต้องไม่ลืมว่าคำสั่งศาลโลกเมื่อ 18 ก.ค. ในทางกฎหมายใช้คำว่าข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หรือ prima facie หมายความว่าสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนว่าน่าจะเข้าไปตีความคำพิพากษาได้ แต่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ตีความเลยก็ได้ เหมือนกับเราสันนิษฐานว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ นั่นคือข้อสันนิษฐานว่าเรื่องที่ไทย-กัมพูชา ทะเลาะกันอยู่ ศาลมีอำนาจจะเข้าไปตีความในเบื้องต้น แต่หากคดีเดินต่อไปจนถึงปีหน้าแล้วศาลอาจจะไม่รับตีความก็ได้”

หากศาลโลกไม่รับตีความคดีหลัก  คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะยังมีผลเพียงใด

“ศาลพูดไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาในการตีความมาตรการชั่วคราวก็ยังดำเนินต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าศาลพิพากษามาแล้วไม่รับตีความมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็จะสิ้นผลไปโดยอัตโนมัติ หรือศาลอาจจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีคำพิพากษาในปีหน้าก็เป็นไปได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไทยหรือกัมพูชา เห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปหรือมีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น เราสามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลโลก ศาลที่เคารพครับ บัดนี้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาแล้ว เรามีการทำการเจรจาข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา และอาเซียน สถานการณ์ดูดีมากขึ้น รัฐบาลไทยชุดใหม่เข้ามามีการเจรจาตกลงร่วมมือกันอย่างชัดเจน จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมาออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเรื่องเขตปลอดทหาร สมมติกัมพูชาก็เห็นด้วยกับไทย และทั้งสองฝ่ายก็ไปยื่นต่อศาล ศาลก็อาจจะยกเลิกก็ได้โดยที่ไม่ต้องถึงปีหน้าก็ได้”

กรณีนี้จะต่างจากกัมพูชาไปถอนคดีจากศาลโลก

“มันไม่เหมือนกัน การไปขอให้ศาลแก้ไขคำสั่งคดียังเดินต่อ เพราะฉะนั้นคดีที่กัมพูชาขอให้ตีความก็เดินต่อไปจนถึงปีหน้า แต่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมันจะหายไปแล้ว แต่ในประวัติศาสตร์ของศาลศาลไม่เคยใช้อำนาจเข้าไปแก้ไขคำสั่งในลักษณะนั้น นอกจากจะมีกรณีที่จำเป็นจริงๆ หรือชัดเจนจริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะต้องลุ้นต่อไปว่าถ้าเราจะเอาคำร้องไปยื่นต่อศาลมันต้องมีความจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ผมยกตัวอย่างมีคนถามเยอะเหลือเกินว่าบริเวณตลาด วัด ชุมชน ที่เราเป็นห่วงกัน ศาลไม่ได้สั่งให้หยุดสร้าง แปลว่ากัมพูชาสามารถสร้างต่อได้โดยสบายๆ เลยหรือ ก็ต้องตอบว่าพอเราไปอ่านคำสั่งศาลก็อาจจะไม่ได้พูดไว้ชัดเจน แต่ว่าศาลเปิดช่องไว้ว่าห้ามทั้งไทยและกัมพูชาไปดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก หรือทำให้สถานการณ์มันแก้ไขได้ยากเย็นขึ้น”

“เพราะฉะนั้นถ้าทะเลาะกันอยู่ แต่ว่ามีการไปสร้างสิ่งปลูกสร้าง สร้างชุมชน ตัดถนน สุดท้ายศาลตีความออกมาแล้วกัมพูชาต้องถอยออกมันก็ทำให้มีความยุ่งยากเกิดขึ้น ทำให้การเจรจาของทั้งสองฝ่ายยากขึ้น ผู้สังเกตการณ์อาเซียนก็ทำงานไม่สะดวก เราก็เอาเรื่องเหล่านี้แหละไปยื่นต่อศาลได้ว่า ได้โปรดแก้ไขคำสั่ง สั่งลงไปเลยว่าให้หยุดการก่อสร้างหรือขยายชุมชนของกัมพูชา เพราะต้องอย่าลืมว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ภาษาอังกฤษใช้คำ preserve คือรักษาสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้ถูกทำลายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เพิ่มพูนสิ่งที่มีอยู่ให้มากขึ้น ฉะนั้นกัมพูชาจะเอาคำสั่งศาลโลกมาตีความว่าต้องขยายพื้นที่ ขยายชุมชน ผมว่าไม่ถูกต้อง เพราะศาลสั่งว่าคุณต้องร่วมมือกัน”

“ส่วนอีกข้อหนึ่งที่คนไทยเป็นห่วงคือศาลบอกว่าห้ามไปขัดขวางกัมพูชาในการเข้าไปถึงตัวปราสาทอย่างอิสระ เรื่องนี้เราก็ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจน คำสั่งศาลบอกไว้ว่าห้ามไปขัดขวางหากกัมพูชาจะเข้าไปที่ตัวปราสาท ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปในบริเวณ 17 ตร.กม. ศาลบอกว่าห้ามไปขัดขวางในกรณีที่กัมพูชาจะเข้าไปที่ตัวปราสาทเท่านั้น”

ก็เพราะตัวปราสาทเป็นของเขา

“ถูกต้องครับ และคำว่าห้ามขัดขวางก็ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งข้ออื่นๆ เช่น ห้ามเอาทหารเข้าไป ห้ามไปซ่องสุมกำลังอาวุธข้างใน และถ้าหากเขาจะผ่านในบริเวณที่เป็นของเราก็ต้องคุยกันก่อน คำว่าห้ามขัดขวางมันไม่เหมือนกับคำว่าต้องอนุญาต ห้ามขัดขวางหมายความว่าห้ามไปขัดขวางอย่างไร้เหตุผล คือถ้าจู่ๆ เขาจะยกกำลังเข้ามาเราก็ต้องไม่อนุญาต เพราะถือว่าคุณทำผิดคำสั่งศาลแล้ว แต่ถ้ากัมพูชาจะเอารถขนอิฐขนปูนเข้าไปซ่อมแซมปราสาทเราก็ถือว่าไม่ได้ขัดคำสั่งศาล ส่วนเขตปลอดทหารผมก็มีข้อสังเกตเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง ก็คือหากเราไปดูคำสั่งส่วนตนของผู้พิพากษา ซึ่งกัมพูชาแต่งตั้งเข้าไปผมฟังดูแล้วค่อนข้างเป็นห่วง เพราะท่านตีความไปทางกัมพูชาพอสมควร คือท่านบอกว่าที่ศาลสั่งให้มีเขตปลอดทหาร 17 ตร.กม. ท่านไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่าบริเวณตัวปราสาทที่อยู่ตรงกลางของเขตนั้นควรจะถูกแยกออกไปว่าไม่ต้องปลอดทหารก็ได้ ในเมื่อเป็นของกัมพูชา กัมพูชาก็ควรต้องมีทหารประจำอยู่ มันก็ทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างว่าถ้าเขตทหารออกแบบมาเพื่อเลี่ยงการปะทะแล้วคุณมาบอกว่าไม่ให้มีทหารอยู่เลยยกเว้นตรงกลางพื้นที่มีทหารมีปืนใหญ่ตั้งอยู่ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ถูกไหมครับ แต่บังเอิญศาลส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ทำให้เราเห็นแล้วผู้พิพากษาที่กัมพูชาแต่งตั้งเข้ามามีแนวโน้มที่จะตีความไปในทางที่เห็นอกเห็นใจกัมพูชาพอสมควร”

 

แถลงการณ์ฝ่ายเดียวโชว์ภาวะผู้นำ

“รัฐบาลไทยในวันนี้ต้องมีความชัดเจนในแง่ของจุดยืนว่าเราได้รับคำสั่งศาลมาแล้วเราถือว่าคำสั่งศาลมีความชัดเจน แปลว่าอะไร สมมติมีคนบอกว่า ตชด.เข้าไปได้ไหม ถ้าผมเป็นท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ผมต้องชัดเจนว่าเข้าไปได้หรือเข้าไม่ได้ เราอย่าไปบอกว่าต้องรอดูก่อนว่าเป็นอย่างไร ต้องฟังกัมพูชาก่อนว่าอย่างไร ไม่ใช่นะครับ เพราะว่าคำสั่งศาลค่อนข้างจะชัดเจนว่าต้องเอาทหารออกไป และก็จะต้องไม่มีกองกำลังติดอาวุธหรือกิจกรรมทางทหารในบริเวณนั้น เพราะฉะนั้นสมมติเราส่ง ตชด.เข้าไปแต่เราส่งไป 1 กองร้อยเลย แต่แต่ละคนก็ถืออาวุธหนัก มีระเบิดมีเครื่องมือพร้อมที่จะรบกันแล้ว มันก็เสมือนกับว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธที่พร้อมจะรบ แต่สมมติเราส่งเข้าไปเป็นอาวุธขนาดเบา ส่งเข้าไปประจำเป็นแต่ละจุดๆ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย”

“ศาลก็บอกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าไปได้ แต่คำว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเวลาตีความเราต้องตีความให้ตรงกับข้อเท็จจริงปกติ เวลาเราอยู่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เราไม่ได้มี ตชด.มาเดินดูแลทรัพย์สินของชาวบ้าน อย่างมากก็ตำรวจจราจรที่พกปืน ตำรวจนครบาลคอยดูแลความเรียบร้อย ก็ต้องเป็นลักษณะนั้น กำลังตำรวจเจ้าหน้าที่ของเราก็ไม่ได้ถูกห้าม สามารถส่งเข้าไปได้ และเรื่องนี้เราต้องคุยกับผู้สังเกตการณ์อาเซียนให้ชัดเจนว่าเราจะให้เขาเข้ามาในหน้าที่อย่างไร เพราะที่ศาลบอกว่าจะต้องให้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาศาลไม่ได้บอกว่าให้เข้ามาโดยอิสระ แค่บอกว่าต้องร่วมมือกัน คำว่าร่วมมือกับอาเซียนหมายความว่าเราต้องร่วมมือกับอาเซียน แต่อาเซียนก็ต้องร่วมมือกับเรา ไม่ใช่อาเซียนจะเข้ามาได้ตามสบาย แต่ส่วนจะอนุญาตในลักษณะไหนนั้น เป็นเรื่องที่ไทย กัมพูชา และอาเซียน ต้องพูดคุยกัน” 

ทั้งไทย-กัมพูชา ยังตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย ฝ่ายเราก็จะส่งตชด.เข้าไป กัมพูชาก็รอผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาก่อน

“คือคำสั่งเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติพร้อมกันก็เป็นเรื่องปกติว่าคุณทำก่อนสิ กัมพูชาบอกว่าเอาอาเซียนเข้ามาก่อน ไม่อย่างนั้นไม่ถอนทหาร มันก็กลับไปสู่เรื่องเก่า วิธีแก้ปัญหาคือบัดนี้ทั้งสองฝ่ายรู้แล้วว่าศาลสั่งมาแล้วว่าต้องทำทั้ง 2 อย่าง วิธีที่ง่ายที่สุดคือมาเจรจากันว่าเราจะทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันเลย นัดกันมาเลย สมมติพรุ่งนี้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาปุ๊บ ทั้งสองฝ่ายถอนทหารพร้อมกัน และต้องมีบริเวณเขตปลอดทหารชั่วคราวที่ชัดเจน ตรงนี้ผมขอย้ำนิดหนึ่งว่าภาพที่สื่อมวลชนเสนอไป ที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมู ความจริงนั่นเป็นเพียงแค่ร่างแผนที่ ศาลใช้คำว่า sketch map ซึ่งศาลอธิบายไว้ในคำสั่งหน้า 17 ว่าร่างแผนที่นี้เป็นเพียงตัวอย่างให้ไทย-กัมพูชา นำไปพอให้เห็นรูปเห็นร่างเท่านั้น ฉะนั้นเขตปลอดทหารสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของไทยและกัมพูชาที่ต้องเอาพิกัดแผนที่ เส้นรุ้งเส้นแวงไปคุยกับกรมแผนที่ทหาร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแผนที่ในพื้นที่นั้น ศาลท่านอยู่ที่กรุงเฮกท่านไม่เคยมาเห็นหรอกว่าบริเวณนี้เป็นอย่างไร”

“ซึ่งจุดนี้แหละที่ผมบอกว่าเวลาศาลบอกว่าต้องดำเนินการตามคำสั่งทันที มันไม่ใช่ว่าเราเหมือนหุ่นยนต์ที่กดปุ่มปุ๊บถอนปุ๊บ การดำเนินการมันมีขั้นมีตอนของมัน ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ก็ดำเนินการนะครับ วันรุ่งขึ้นท่านนัดประชุมทันทีเลย กระทรวงกลาโหม กฤษฎีกา อัยการสูงสุด กรมแผนที่ทหาร และท่านก็สั่งการไปว่าไปจัดทำแผนการให้เรียบร้อย แต่ข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่ากัมพูชาก็ต้องทำขั้นตอนเดียวกัน และสุดท้ายพอได้แผนที่ที่ตัวเองจะเอาไปใช้ในการถอนทหารก็ต้องเอามาเทียบกันว่ามันตรงกันหรือเปล่า สมมติว่าตรงกันทั้งสองฝ่ายก็นัดกันเลยว่าเราจะคุยกับอาเซียนเพื่อให้เข้ามาบนเงื่อนไขที่เราเห็นด้วยตรงกัน เช่น เวลาคุณจะเดินลาดตระเวนก็ขอให้แจ้งมาก่อนว่าจะเดินตรงไหน และให้มีฝ่ายไทยและกัมพูชาเดินพร้อมๆ กัน และตกลงถอนทหารพร้อมกัน คราวนี้ก็ติดปัญหาอีกว่าถ้ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลรักษาการ คุณยิ่งลักษณ์จะเปิดสภาเมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี ครม. จะทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อไหร่ ขอยังไม่แน่ใจ ถ้าจะไปเซ็นตกลงอะไรกันรัฐบาลชั่วคราวทำได้หรือเปล่า อันนี้มันไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศแล้ว เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของบ้านเราแล้ว”

เพราะหากไปทำหนังสือสัญญาโดยไม่ผ่านสภา ก็จะเข้ามาตรา 190 แบบสมัยคุณนพดล

“มาตรา 190 ไม่ได้ห้ามให้รัฐบาลไปทำหนังสือสัญญากับประเทศอื่น แค่บอกว่าหากคุณไปทำหนังสือสัญญาแค่บางประเภทเท่านั้นที่ต้องผ่านสภา หนึ่งก็คือไปเปลี่ยนแปลงเขตแดน หรือเขตอธิปไตย สองคือต้องมีกฎหมายออกตามมา สามไปมีผลผูกพันหรือกระทบทางการค้า เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะฉะนั้นข้อเหล่านี้ถ้าเราทำไปแล้วมันไม่เข้าข้อเหล่านี้มันก็ย่อมไม่ใช่กรณีที่ต้องไปผ่านสภา เพราะว่าในรัฐธรรมนูญ การทำสัญญามันเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันมีแค่ข้อยกเว้นที่ต้องไปเข้าสภาบางเรื่องเท่านั้นเอง ฉะนั้นถ้าเราบอกว่าจะถอนทหารพร้อมๆ กัน ถามว่าเรื่องการถอนทหารมันอยู่ในอำนาจของฝ่ายไหน อยู่ในอำนาจฝ่ายบริหาร เวลาเราจะส่งกองทัพไปปกป้องประเทศชาติต้องถามสภาก่อนหรือเปล่า ต้องถามศาลก่อนหรือเปล่า มันไม่ใช่เรื่องนิติบัญญัติหรือตุลาการ ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร จึงไม่เข้ามาตรา 190”

“คราวนี้มาถึง step ที่สอง ถามว่าไม่เข้ามาตรา 190 แล้วมันติดขัดมาตรา 181 หรือเปล่า มาตรา 181 บอกว่ารัฐบาลชั่วคราวต้องดำเนินการต่างๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็น และต้องไม่ดำเนินการที่กฎหมายห้ามไว้ กฎหมายห้ามเรื่องอะไรบ้าง หนึ่งห้ามโยกย้ายข้าราชการ ห้ามไปใช้งบประมาณฉุกเฉิน ห้ามไปให้คุณให้โทษเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มันมีข้อสุดท้ายที่บอกว่าห้ามอนุมัติหรือโครงการที่มันมีผลผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดหน้า เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าเราจะมาถอนทหารกันมันเป็นโครงการหรือเปล่าเป็นงานหรือเปล่า อันนี้ต้องตีความให้ชัดนะครับว่าการเคลื่อนย้ายทหารภายในเขตแดนของประเทศไทย มันไม่ใช่เรื่องโครงการ มันเป็นเรื่องปกติของการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ฉะนั้นผมก็มองว่ามาตรา 181 ก็ไม่ได้ห้ามรัฐบาล ไม่เช่นนั้นอยู่ดีๆ รัฐบาลชั่วคราวมีความจำเป็นที่ต้องย้ายกำลังพล ปกป้องอธิปไตยของชาติ จะบอกว่าไปติดขัดมาตรา 181 จะเป็นการตีความกฎหมายที่แย่มากนะครับ”

“ดังนั้นโดยสรุปแล้วมาตรา 181 มาตรา 190 ไม่เข้าทั้งคู่ รัฐบาลรักษาการก็ยังเป็นรัฐบาลที่มีหน้าที่ที่ต้องเป็นรัฐบาลของคนไทย คุณจะมาใส่เกียร์ว่างบอกว่าโอ้ยรอรัฐบาลชุดหน้าเข้ามาเพราะผมไม่อยากจะโดนคนนั้นคนนี้ว่า นั่นคือคุณไม่รับผิดชอบต่อประชาชนแล้ว ซึ่งไม่ได้นะ คุณยังมีหน้าที่ต้องทำ แต่ก็ถามอีกว่ากลัวศาลปกครองศาลรัฐธรรมนูญเดี๋ยวบอกว่าทำไปแล้วผิด ผมก็เสนอย่างนี้ว่าคุณก็ต้องใช้นักกฎหมายเก่งๆ กำหนดเอกสารให้ชัดเจน สมมติว่ากลัวเข้ามาตรา 190 ซึ่งบอกว่าห้ามไปทำหนังสือสัญญาที่เข้ากรณีมาตรา 190 ก็ไม่เห็นต้องทำหนังสือสัญญาเซ็นด้วยกันนี่ ต่างฝ่ายต่างก็ทำแถลงการณ์ฝ่ายเดียวก็ได้ แต่ว่าเป็นแถลงการณ์ฝ่ายเดียวที่มีผลมาจากการเจรจากันมาก่อนแล้ว เช่นสมมติเราบอกจะถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวเราจะให้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามา ไทย-กัมพูชา ต่างฝ่ายต่างแถลงพร้อมกันเลย บัดนี้เรามีคำสั่งศาลโลกมาแล้วประเทศไทยพร้อมที่จะทำตามโดยตีความคำสั่งว่าเราจะถอนทหารจากบริเวณนี้ เราจะให้ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาแบบนี้ และก็ต้องคุยกับกัมพูชาให้ชัดเจนว่ากัมพูชาก็ต้องแถลงในลักษณะเดียวกัน แต่ถามว่าทั้งสองฝ่ายมาตกลงกันไหม ไม่ได้ตกลงกัน ถ้าเกิดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะถอนคำพูดของตัวเองก็ถอนได้ ไม่ผูกพันอะไร แต่อย่างน้อยมันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งสองฝ่ายว่าเรามีอะไรที่มันชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่”

“มันก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและก็ชาวโลกว่าบัดนี้ไทยและกัมพูชาพร้อมที่จะปฏิบัติตามที่ศาลบอก โดยที่ไม่ต้องไปเป็นห่วงว่ามันจะเข้ามาตรา 190 หรือเปล่า เพราะไม่ได้เซ็นหนังสืออะไรกัน มันเป็นการแถลงการณ์ฝ่ายเดียวของแต่ละรัฐบาล และถ้าทำให้ชัดก็ต้องแถลงการณ์ในงานเดียวกันด้วย อาจจะมีท่านสุรินทร์ พิศสุวรณ ซึ่งเป็นเลขาธิการอาเซียน เป็นเจ้าภาพจับมือถ่ายรูปต่างคนต่างแถลง ส่วนจะไปเข้ามาตรา 181 ที่ห้ามไปผูกพันรัฐบาลชุดหน้าไหม ก็ต้องชัดเจนในแถลงการณ์ว่านี่คือแถลงการณ์ที่รัฐบาลชุดคุณอภิสิทธิ์ต้องการจะทำ และก็เป็นไปตามคำสั่งศาลโลก แต่ทั้งนี้ย่อมเป็นดุลยพินิจของรัฐบาลต่อไปว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร”

นี่คือขั้นตามกฎหมายที่ควรจะดำเนินต่อไป และเป็นการทูตในอุดมคติ แต่สำหรับการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะความขัดแย้งกับกัมพูชาก็เป็นประโยชน์กับฝ่ายการเมืองของทั้งสองประเทศ และเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาทุกอย่างก็จะเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ 

“ผมคิดว่าเราต้องอย่าลืมว่าการที่เราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะแก้สถานการณ์ได้ มันยังเป็นเพียงแค่ความหวัง และเราก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนที่เอารถถังเอาเครื่องยิงระเบิดมาประจันหน้ากันมันมีความเสี่ยงที่การปะทะกันมันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ถามว่ามันคุ้มไหมถ้ามันเกิดขึ้น มันคุ้มไหมที่ชาวบ้านต้องมาวิ่งหนีอุตลุด ผมมองว่ามันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลปัจจุบันนี่แหละที่ต้องดำเนินการทุกอย่าง ถามว่าจะดำเนินการอย่างไรให้มันสมกับความเป็นจริงหน่อย ผมก็จะบอกว่าคุณอภิสิทธิ์ก็ต้องคุยกับคุณยิ่งลักษณ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เลยว่าทีมที่จะมาเป็นทีมที่คุมกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง ในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีใครบ้าง และคุณอภิสิทธิ์วางแผนจะคุยอะไรก็ต้องให้ชัดเจนกับกัมพูชาว่าวันนี้ไม่ได้คุยเฉพาะกับคุณอภิสิทธิ์นะ คุยพร้อมกับรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ที่กำลังจะเข้ามา กัมพูชาเขาจะได้สบายใจว่าแถลงการณ์ฝ่ายเดียวที่เราจะทำออกไปมันมีความต่อเนื่องแน่นอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็กลับเข้าไปสู่กระบวนการทางการทูต เราไม่สามารถประกันอะไรทุกอย่างได้หรอกว่ามันจะต้องเป็นไปตามที่เราต้องการ แต่ถ้ามีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับผู้ปฏิบัติงาน เช่น ท่านทูตกับท่านทูตคุยกัน ยิ่งถ้าคุณยิ่งลักษณ์ส่งสัญญาณบอกฮุน เซน ว่าจริงนะที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าเวลาที่คุยเรื่องนี้ได้มีการหารือร่วมกันมาก่อน ขอให้ท่านสบายใจได้ว่าเมื่อแถลงออกไปแล้วแต่ละฝ่ายจะดำเนินการต่อไปดังที่คุณอภิสิทธิ์ได้แถลงไว้ ”

“เราอย่าลืมนะครับว่าสิ่งที่กัมพูชาเขาต้องการอะไร ก็คือเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ การเอาพื้นที่รอบตัวปราสาทมาทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ  และเขาพยายามจะไปศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งออกมาก่อนที่ยูเนสโกจะมีมติที่กรุงปารีส แต่บังเอิญศาลใช้เวลานานกว่าที่ทุกฝ่ายคาดไว้ พอมันเป็นอย่างนี้ อนุมัติว่ามีความพยายามจะซ่อมแซมตัวปราสาทอะไรก็แล้วแต่ บัดนี้มันก็เป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะมาคุยกันว่า ในเมื่อศาลสั่งและมันทำให้เราอึดอัดว่ามีบริเวณเขตปลอดทหาร เรามาร่วมมือกันดีไหม ในเมื่อตอนนี้เงื่อนงำที่มันไปงัดกันไว้ ที่ไทยบอกว่าคุณต้องถอนทหารออกไปถึงจะเอาผู้สังเกตการณ์อาเซียนออกมาได้ กัมพูชาบอกว่าเราจะไม่ถอนทหารคุณต้องเอาผู้สังเกตการณ์มาก่อน บัดนี้เมื่อมีคำสั่งศาลออกมาพร้อมๆ กันแล้วมันก็คลี่คลายไปพร้อมๆ กันถูกไหมครับ สิ่งที่เคยงัดกันมาสุดท้ายมันก็ต้องทำ เพราะว่าศาลได้สั่งมาแล้ว ฉะนั้นมันง่ายกว่าไหมถ้าเราจะบอกว่าแทนที่จะปล่อยให้ศาลค้ำหัวเรา ถอนคดีออกมา แล้วมาคุยกันเลยว่าเราจะมาบริหารพื้นที่รอบๆ กันอย่างไร วงเล็บว่าเขตแดนจะเป็นของใครเก็บไว้คุยกันทีหลัง เราเอานักท่องเที่ยวเข้ามาก่อน  เราเอาประชาชนให้อยู่ดีกินดีก่อน แล้วถึงเวลานั้นมันก็ยังคุยกันได้”

วีรพัฒน์ ย้ำว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ได้มีนัยเรื่องเขตแดน

“ศาลย้ำอย่างชัดเจนในคำสั่งว่าคำสั่งชั่วคราวเป็นไปเพื่อทำให้ไม่เกิดการปะทะทางการทหารเท่านั้น และการที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลย้ำหลายจุดเลย อย่างน้อยก็ 3-4 จุด ในคำสั่งบอกว่าศาลจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยสิ่งที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความว่าเขตแดนต้องเป็นไปตามแผนที่หรือไม่ เขตแดนบริเวณรอบๆ ตัวปราสาทกว้างแคบแค่ไหน ศาลจะไม่ได้เข้าไปแตะในเวลานี้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตีความในปีหน้า เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ขอให้ชัดเจนว่าสิ่งที่ศาลสั่งเป็นเรื่องชั่วคราว และอย่างที่บอกว่า เมื่อเป็นคำสั่งชั่วคราวย่อมถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตลอดเวลาหากมีความจำเป็น สมมติกัมพูชาและเอาผู้เชี่ยวชาญแต่ละฝ่ายมาคุยกันแล้วว่าถ้าขืนเราถอนอย่างนี้วุ่นวายแน่ เพราะพื้นที่มันกว้างมาก ก็อาจจะทำข้อตกลงหรือข้อสรุปร่วมกันไปขอศาลว่าศาลครับลดลงมาหน่อยได้ไหม ถ้าจะเป็นและเหมาะสมศาลอาจจะลดก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล”

หากทั้งสองประเทศยังยึกยักไม่ทำตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

“มันก็จะเกิดความตึงเครียดอยู่ในบริเวณที่ทหารก็ต้องเห็นหน้ากัน  แต่หลังจากศาลมีคำสั่งมาแล้วข่าววันนี้เสนอว่าในบริเวณชายแดนอื่นมีการชักธงชาติทั้งสองประเทศขึ้นพร้อมกัน ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะเขาถือฤกษ์ว่าศาลมีคำสั่งออกมาแล้วหรือเปล่า แต่พอนักท่องเที่ยว ชาวบ้านเห็นว่ามีการชักธงชาติทั้งไทย-กัมพูชาขึ้นพร้อมกัน มันก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่าถึงแม้ไม่ถอนทหาร แต่เราก็รู้ว่าบัดนี้ศาลมีคำสั่งมาแล้วมันก็น่าจะเป็นไปได้ทันทีที่รัฐบาลใหม่เข้าก็น่าจะทำให้ความตึงเครียดมันดีขึ้น รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์คุณยังเป็นรัฐบาลของคนไทยอยู่นะครับ คุณไม่ได้เป็นรัฐบาลเกียร์ว่าง คุณยังมีหน้าที่ต่อประชาชนชาวไทยที่ต้องรับผิดชอบว่าทำอย่างไรให้การสูญเสียให้การปะทะกันมันเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด ซึ่งก็ต้องทำตามที่ศาลบอก ก็คือเอาทหารออกไป อยู่ใกล้กันเดี๋ยวก็ได้ฮึ่มๆ ใส่กันอีก เอาผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามาให้เร็วที่สุด เวลาที่เถียงกันว่าคุณเตรียมจะยิงเรา ก็ถามอาเซียนว่าตกลงอาเซียนอยู่ในพื้นที่คุณเห็นว่าใครทำอะไร ใครกำลังพูดปด ใครกำลังพูดจริง และหากคุณยิ่งลักษณ์ฉลาดต้องออกมาพูดวันนี้เลยว่าท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ท่านยังเป็นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอยู่ ดิฉันยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีดิฉันเคารพ แต่หากมีเรื่องอันใดที่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์อยากให้ดิฉันหรือสมาชิกพรรคเพื่อไทยช่วยเหลือในเรื่องความร่วมมือกับกัมพูชา พร้อมที่จะช่วยเหลือเต็มที่ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ว่าใครอยากจะช่วยงานรัฐบาลก็เข้าไปช่วยได้ และในวันเลือกตั้งกัมพูชาเขาก็แสดงความดีใจทั้งฮุน เซน, ฮอร์ นัมฮง ก็บอกว่าเขาเตรียมพร้อมจะเจรจาแล้ว ฉะนั้นคุณยิ่งลักษณ์กับคุณอภิสิทธิ์ก็ควรจะต้องทำงานพร้อมกันตั้งแต่วันนี้ไปเลย โดยที่ต้องชัดเจนว่าคุณอภิสิทธิ์ยังเป็นนายกฯ ของเราอยู่ แต่ว่าอะไรที่ทำไปขอให้เอาคุณยิ่งลักษณ์กับทีมความมั่นคง เข้ามาคุยกันในห้องประชุม เวลาสื่อสารไปหาฮุน เซน คุณยิ่งลักษณ์จะได้โทรศัพท์ไปบอกได้ว่าดิฉันเห็นด้วยกับท่านนายกฯ อภิสิทธิ์พูดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะถอนทหารตอนนี้ถอนได้เลย เมื่อสภาเปิดเมื่อไหร่ โปรดเกล้าฯ ครม.เมื่อไหร่ จะดำเนินการตามสิ่งที่มีการแถลงการณ์ไปแล้ว อันนี้เป็นโอกาสที่ดีมากที่คุณยิ่งลักษณ์จะพิสูจน์ฝีมือนับตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนายกฯ เลย แต่ต้องพิสูจน์ในแง่ที่ว่าดิฉันยังเคารพนายกฯ อภิสิทธิ์ แต่พร้อมจะช่วยสนับสนุน”

“ผมเชียร์เรื่องแถลงการณ์ฝ่ายเดียวเต็มที่เลย เพราะมันแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะความเป็นผู้นำของไทย และยิ่งถ้าไทย-กัมพูชาทำออกมาในงานเดียวกัน โดยมีประธานอาเซียนอยู่ด้วย มันคือความภูมิใจของอาเซียนนะครับ ประชาคมอาเซียนที่เราบอกว่าจะตั้งในปี 2015 ได้พิสูจน์ฝีมือ เพราะศาลก็มั่นใจว่าอาเซียนจะทำได้ ดังนั้นอาเซียนดำเนินเกมเต็มที่ และไทยก็ต้องเดินเกมรุกเจรจาไปล็อบบี้กับสมาชิกอาเซียนว่าหากคุณจะเข้ามาเจรจาส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาคุณต้องไม่เข้ามาในลักษณะยุ่มย่ามหรือละเมิดดินแดนไทยจนเกินไป ต้องเข้ามาในลักษณะแขกของบ้านเราซึ่งเราต้อนรับอย่างดี และกัมพูชาก็ควรจะทำในลักษณะเดียวกัน เป็นการแสดงภาวะผู้นำของแต่ละประเทศที่จะร่วมมือกันและเอาสันติภาพกลับคืนมา”

“เมื่อผู้สังเกตการณ์อาเซียนเข้ามา ทหารออกไป ผมเชื่อว่าสถานการณ์ก็จะคลี่คลายดีขึ้น สุดท้ายถ้าทำอย่างนั้นได้ถามว่าใครชนะ คุณอภิสิทธิ์ก็จะมีผลงานฝากทิ้งไว้ คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้เครดิต ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ อาเซียนก็ได้พิสูจน์ฝีมือ ภาพที่ผู้นำทั้งสองประเทศ คุณอภิสิทธิ์ คุณฮุน เซน ยืนบนโพเดียมจับมือกันและมีท่านเลขาธิการอาเซียนซึ่งเป็นคนไทยยืนอยู่ด้วย ถ่ายรูปและแถลงการณ์พร้อมกัน มันจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ อย่างน้อยคุณอภิสิทธิ์มีผลงานฝากเอาไว้ให้ประธิปัตย์ได้บอกได้ว่าวันนี้ที่กัมพูชายอมถอนออกไปเพราะเรามีนโยบายการเจรจาที่สุขุมนุ่มลึก เอาคุณยิ่งลักษณ์เข้ามาช่วย ผมเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์พร้อมที่จะช่วย”

ควรจะเป็นผลงานของนายกฯ อภิสิทธิ์ฝากไว้ก่อนลงจากตำแหน่ง 

“ถ้าหากกลัวว่าจะเข้า 190 ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือสัญญา ทำเป็นแถลงการณ์ฝ่ายเดียวจะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ ทำได้เลยประกาศว่าผมเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคนอย่างที่คุณอภิสิทธิ์เคยพูดอยู่ตลอดเงลา ผมทำเพื่อพี่น้องประชาชนทุกคน และเมื่อตอนนี้สันติภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งคุณอภิสิทธิ์มีโอกาสที่จะทำก็ทำไปเลย อย่าไปมองว่าตัวเองกำลังจะเป็นฝ่ายค้าน คุณอภิสิทธิ์ยังเป็นนายกฯ ของเราอยู่ เรายังมีสิทธิ์ขอให้คุณทำงานให้พวกเราอยู่”

ในแง่กฎหมายรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์น่าจะรู้ว่าไม่เข้ามาตรา 181, 190 แต่เป็นห่วงเรื่องทางการเมืองมากกว่า เดี๋ยวพันธมิตรโจมตีว่าขายชาติ  

“มันก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการเมือง ถ้าผมเป็นคุณอภิสิทธิ์ ผมต้องคุยกับคุณยิ่งลักษณ์ให้ชัดเจน ว่าคุณต้องช่วยผมด้วยนะเวลาผมไปแถลงการณ์ฝ่ายเดียวมาขณะที่เป็นรัฐบาลรักษาการ จุดยืนของพรรคเพื่อไทยและคุณยิ่งลักษณ์ต้องชัดเจนว่าพร้อมที่สานต่อกระบวนการสันติภาพเหล่านี้ คุณยิ่งลักษณ์ต้องรับไม้ต่อสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ทำไว้ เพื่อความสงบของชาวบ้านชายแดน ซึ่งเราเห็นชัดว่าฐานเสียงเพื่อไทยซึ่งเป็นคนเสื้อแดงและเขาบอกว่าเอาความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านตาดำๆ กลับมาดีกว่า ทำไมจะต้องให้คนที่เคยไปมาหาสู่กันไปต้องลำบาก ไปดูผลเลือกตั้งศรีสะเกษจะรู้ว่าพี่น้องประชาชนตรงนั้นเขาต้องการอะไร ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งมาแม้วันนี้สภายังไม่เปิดแต่คุณมีหน้าที่แล้ว ถ้ามันมีการดำเนินการอย่างนี้ทุกคนก็จะแฮปปี้ ทุกคนจะรู้สึกว่ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ถึงแม้ตอนเลือกตั้งก็แข่งกัน แต่เวลาเขาทำเพื่อชาติเขาก็ทำร่วมกันได้ ถ้าทำไม่ได้ทำไม่ทันจริงๆ ก็ต้องคุยกับคุณยิ่งลักษณ์ให้ชัดเจนว่าวันนี้เราจะส่งสัญญาณไปทางกัมพูชาอย่างไร”

ถามถึงบทบาทกองทัพ เพราะแม้จะต้องรับนโยบายจากรัฐบาล แต่มุมมองด้านมั่นคงของกองทัพอาจจะต้องปรับให้สอดคล้องกับกระบวนการสันติภาพ

“ผมก็ต้องบอกตรงๆ ว่าเวลาพูดถึงกองทัพเราจะบอกว่ามีกองทัพที่อ่อนเอียงตามรัฐบาลทั้งหมด และไม่เคยแสดงความฮึกเหิมเข้มแข็ง ผมก็คงไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ ฉะนั้นผมก็ภูมิใจที่เรามี ผบ.ทบ.อย่างคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ท่านก็มีความเข้มแข็ง พูดไว้ชัดเจนว่าถ้าคุณรุกเข้ามาคุณบุกเข้ามาเราต้องโต้ตอบ อันนี้ก็เป็นบทบาทของกองทัพ แต่ผมฟังท่านสัมภาษณ์วันก่อนก็บอกว่า บัดนี้ศาลสั่งเขตปลอดทหารชั่วคราวออกมาแล้ว กองทัพก็ยังฟังอยู่ว่ากระทรงกลาโหม นายกรัฐมนตรีจะสั่งการอย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นสัญญาณที่ถูกต้องแล้ว และถ้าเราไปฟังคำสั่งท่านประยุทธ์ชัดๆ ท่านไม่ได้โต้แย้งต่อศาลนะ ท่านบอกว่าคำสั่งของศาลเป็นเรื่องของเขตปลอดทหารชั่วคราว จึงไม่ใช่เขตแดนที่จะมาเปลี่ยนแปลงอะไร เราก็ยังยึดอธิปไตยตามที่เรายึดเพียงแต่ว่าเราถอนทหารออกไปก่อนเพื่อเลี่ยงการปะทะกัน  ผมดีใจที่ท่านประยุทธ์พูดในลักษณะนั้น และยิ่งดีใจเมื่อท่านส่งสัญญาณว่าท่านเป็นทหารที่ตอบสนองประชาชน โดยที่ท่านตอบสนองผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้นถ้าคุณอภิสิทธิ์คุณยิ่งลักษณ์จะร่วมมือกันทำอะไรผมก็หวังว่ากองทัพต้องรู้บทบาทของตัวเอง คือพร้อมที่จะปกป้องประเทศไทยแต่ถ้ามีโอกาสที่สันติภาพเกิดขึ้นโดยการตกลงผ่านการแถลงการณ์แต่ละฝ่ายให้ถอนออกไปพร้อมกัน เอาอาเซียนเข้ามาพร้อมกัน กองทัพก็ต้องมีความชัดเจนว่าต้องมีบทบาทในการสร้างสันติภาพไม่น้อยไปกว่าบทบาทในการปกป้องความมั่นคงของประเทศชาติ”

จากนี้จนถึงปีหน้ามองว่าเปอร์เซ็นต์ที่ศาลโลกจะรับตีความในคดีหลักมากน้อยแค่ไหน

“ผม 50:50 เลยเพราะว่าแนวโน้มในวันนี้เราก็เห็นมาแล้ว ศาลบอกว่ามีความเป็นไปได้ในเบื้องต้นที่จะตีความได้ และเอกฉันท์ด้วยนะครับ เพราะว่าข้อแรกที่บอกว่าไม่จำหน่ายคดีออกไปแปลว่าผู้พิพากษาทุกท่านเห็นว่ามันมีมูลเบื้องต้นเห็นว่าตีความได้ แต่ว่าตีความเรื่องอะไรนี่สำคัญ เพราะถ้าบอกว่าตีความเรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 มันมีความผูกพันมีผลทางกฎหมายหรือเปล่า ผมค่อนข้างจะมองไปในแง่ที่ว่าไทยอาจจะชนะในประเด็นนี้ คือศาลไม่น่าจะตีความเรื่องเส้นแผนที่ แต่เราก็อย่าลืมว่ามีผู้พิพากษาบางท่าน ชื่อ Joan Donoghue ผู้พิพากษาชาวสหรัฐ ท่านพูดไว้ชัดเจนเลยว่าการจะกลับมาตีความเรื่องอะไรท่านใช้คำว่า Long but Narrow ก็คือตีความย้อนกลับไปได้นาน แต่เวลาเข้าไปตีความ ต้องตีความอย่างแคบๆ”

“ฉะนั้นคุณจะมาตีความสะเปะสะปะตะแบงไปในทางที่กัมพูชาต้องการมันทำไม่ได้ แต่มันต้องตีกรอบให้ชัด คำว่าตีกรอบให้ชัดก็คือศาลบอกชัดเจนในคำพิพากษาเมื่อ 2505 ว่าศาลไม่ได้เข้าไปวินิจฉัยผลทางกฎหมายของเส้นแผนที่ เส้นแผนที่ผูกพันหรือไม่ศาลไม่ได้ยกขึ้นมาพูด ฉะนั้นถ้าพูดไปตามแนวของท่าน Donoghue หรือตามแนวของท่าน Cot ก็ย่อมต้องไม่พูดเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะถ้าเกิดพูดแล้วมันมีผลขึ้นมามันทั้งยวงเลยนะ เพราะเส้นแผนที่มันยาวตลอดแนว"

“ส่วนเรื่องเขตรอบๆ ตัวปราสาทว่ากว้างไกลแค่ไหน ผมก็อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า คำว่าเขตรอบๆ ตัวปราสาทภาษาอังกฤษใช้คำว่า vicinity แต่ขณะเดียวกันก็มีการใช้คำว่า area of the temple แต่ถ้าเราไปอ่านคำสั่งย่อหน้าที่ 61 ศาลใช้คำว่าศาลจะกำหนดเขตปลอดทหารซึ่งเรียกว่า the zone around the area of the temple แปลว่ากำหนดเขตปลอดทหารที่อยู่รอบๆ ตัวปราสาท มันแปลว่าอะไร แปลว่าบริเวณ 17-18 ตร.กม.มันกว้างกว่าเขตของตัวปราสาท ดังนั้นเขตตัวปราสาทก็ต้องเล็กว่าแผนที่สี่เหลี่ยมคางหมูที่เราเห็น ดังนั้นเราก็สบายใจอย่างหนึ่งแล้วว่าสิ่งที่ศาลกำลังพูดในวันนี้ มันต้องไม่ไกลไปถึงภูมะเขือ อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งเราสบายใจได้เปลาะหนึ่งแล้วว่าหากศาลเข้าไปตีความว่าโดยรอบๆ แล้วคืออะไรบ้าง ก็ไม่ควรจะกว้างขนาดที่เราเห็นในสี่เหลี่ยมคางหมูนี้ ฉะนั้นอย่าไปตกใจ เพราะศาลพูดไว้ชัดเจนว่ามันเป็น zone ที่อยู่รอบ area ของตัวปราสาทอีกทีหนึ่ง ก็ชัดเจนว่า area ปราสาทต้องเล็กกว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นกรอบสี่เหลี่ยมคางหมูในวันนี้ หากศาลรับตีความเฉพาะเรื่องรอบตัวปราสาทก็น่าจะเข้าข้างไปในทางเรา ก็คือไม่น่าจะกินอาณาบริเวณไปกว้าง”

 ทางออกที่ดีที่สุดคือมีความหวังว่าทั้งสองประเทศจะมีข้อตกลงก่อนที่ศาลจะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับตีความคดีหลัก

“เพราะถ้ากัมพูชาเขาอ่านเกมว่าสุดท้ายศาลไม่รับตีความมันก็ไม่ดีสำหรับเขา เพราะเขาอ้างมาตลอดว่าคำพิพากษาทำให้เส้นแผนที่ภาคผนวก 1 แผนที่ 1:200000 มีผลผูกพัน แต่ถ้าศาลบอกว่าศาลไม่รับตีความกัมพูชาก็เสียเปรียบ ฉะนั้นเขาก็มองเกมว่ามันอาจจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็สู้ถอนคดีออกมาก่อนแล้วมาเจรจากันดีกว่า เพราะเจรจามันยังกำหนดกติกาเองได้ เช่นบอกว่าวันนี้เขตแดนเป็นอย่างไรเก็บไว้ก่อนนะ แต่ขอให้พ่อค้าแม่ค้ามาทำมาหากิน เอานักท่องเที่ยวฝรั่งเข้ามา มันก็ดีกับทั้งสองฝ่าย รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เข้ามาและสามารถพิสูจน์ฝีมือให้คนไทยเห็นได้ก็จะถูกจดจำเลยว่าคุณทำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมขอเน้นว่าภาคประชาชนก็ดี กลุ่มเคลื่อนไหวทั้งพันธมิตรหรือเสื้อแดงก็ดี ต้องอย่าไปเชื่อเขาหมดนะว่าเวลาเขาไปเซ็นเอ็มโอยูอะไร ต้องตามนะครับว่าคุณไปแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า แน่นอนเราคงไม่สามารถไปบอกได้ว่าคุณสร้างสันติภาพได้ เพราะคุณเอาน้ำมันในอ่าวไทยไปแลก เราพูดอย่างนั้นมันคงน่าเกลียดไปเขาอาจจะเจรจากันดีๆ ก็ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ต้องไปติดตาม ทั้งสื่อมวลชน ภาคประชาชน”

หลังจากไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกความร่วมมือน่าจะยิ่งยากขึ้น 

“เรื่องมรดกโลกนี่นะครับต้องให้ชัดเจนว่า ณ วันนี้ยังไม่ได้ถอนตัวนะครับ การประกาศก็ยังไม่ได้เริ่มนับ 12 เดือนนะครับ เรายังไม่ได้ส่งเอกสารอย่างเป็นทางการ หรือส่งไปแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้บอกประชาชน ผมมองว่ามันเป็นความพยายามช่วงก่อนเลือกตั้ง ถ้าท่านบอกว่าการถอนตัวมันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศแล้วทำไมท่านไม่ส่งเอกสารไปล่ะ ทำไมท่านพูดลอยๆ แล้วปล่อยให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปเป็นคนตัดสิน ถ้าเขาบอกไม่ถอนฉะนั้นสิ่งที่ท่านพร่ำพูดกับประชาชนว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่เกิดขึ้นใช่ไหมครับ”

กระนั้นก็ตาม นักกฎหมายฮาร์วาร์ดผู้นี้เชื่อมั่นว่าปัญหาไทย-กัมพูชา มีโอกาสเดินหน้าไปสู่สันติภาพ

“ผมเชื่อว่าปัญหามันจบลงได้ เพราะหนึ่งกัมพูชาไม่ได้มีโยบายแข็งกร้าวที่จะเข้ามายึดแผ่นดินไทย เขาต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องการเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว ซึ่งเขาย่อมต้องการเพื่อนบ้านที่พร้อมจะช่วยเหลือเขา ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้สนับสนุนเม็ดเงินเข้าไปทำโครงการนั่นโครงการนี่ให้เขา กัมพูชาก็ต้องพึ่งไทย ไทยเองก็ต้องพึ่งกัมพูชา เพราะว่าจะให้สถานการณ์การเมืองถูกเอามาบี้รัฐบาลตลอดเวลา กรุงเทพฯ ก็ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นต่างฝ่ายต่างมีความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน เพียงแต่ว่าช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีเงื่อนไขมางัดกัน แต่วันนี้ศาลสั่งมาแล้ว และทั้งสองฝ่ายรู้ตัวว่าคนใดคนหนึ่งก็ต้องทำ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียหน้าก็ทำไปพร้อมๆ กัน แถลงการณ์ฝ่ายเดียวไปพร้อมๆ กัน มันก็ได้ทั้งสองฝ่าย”

“ประเทศที่เขาอยากจะมาลงทุนเขาก็มองดูอยู่ เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ เศรษฐกิจขาลงที่ยุโรป กรีซ อิตาลี จะล่มแหล่ไม่ล่มแหล่ อเมริกาก็หนี้สินทะลุ เงินทุกอย่างย้ายมาที่จีนย้ายมาที่เวียดนาม ถ้าไทยและกัมพูชาทำให้สถานการณ์สงบได้ ศัยกภาพโครงสร้างขั้นพื้นฐานของไทยแข็งอยู่แล้ว เราเคยเป็นอดีตว่าที่เสือในเอเชียมา เม็ดเงินที่จะหนีจากวิกฤติยูโรโซน ที่อเมริกาก็จะไหลมา   ผมเชื่อว่าปัญหาจะจบลงได้ และสัญญาณที่ฮุน เซน, ฮอร์ นัมฮง ส่งออกมาวันแรกที่รู้ว่าคุณยิ่งลักษณ์จะเข้ามามันเป็นสัญญาณที่ดี ฉะนั้นก็ต้องฝากไว้ว่าคุณยิ่งลักษณ์ ก็อย่าทำให้ประชาชนไทยผิดหวัง ถ้าคุณเอาสัญญาณที่ดีเหล่านี้ไปเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และเขาจับคุณได้ คุณก็จะจบตั้งแต่ปีแรกๆ เลย แต่ถ้าเกิดออกมาชัดเจนว่าดิฉันโปร่งใส ทำเพื่อประชาชนคนไทย และรับไม้ต่อจากนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็จะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าใครจะมาหาว่าคุณเป็นหุ่นเชิดของพี่ชาย ผมเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์จะเป็นผู้นำที่โดดเด่นและถูกจดจำได้อีกนาน แต่ถ้าไปทำตัวเหมือนนักการเมืองอดีต ไปหวังเอาน้ำบ่อน้อยมันก็จะจบอยู่ตรงนั้น เอาละ ป.ป.ช., ส.ส., ส.ว. ก็ต้องตรวจสอบกันไปตามกระบวนการทางการเมือง แต่ผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์คงไม่อยากให้ลูกตัวเองโตขึ้นมาแล้วอ่านข่าวว่าแม่ตัวเองโกงหรอก ถ้าผมเป็นพ่อเป็นแม่ผมอยากให้ลูกภูมิใจในตัวผม ดังนั้นก็ขอให้คุณยิ่งลักษณ์มองไปให้ไกลๆ”

 

..............................................................

ขอเชิญร่วมฟังการอภิปราย “กรณีปราสาทพระวิหารจะลงเอยอย่างไร?”
วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2554 เวลา 13.30-17.00 น. ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.lawchulaalumni.com/

บทวิเคราะห์คำสั่งศาลโลกทางรายการโทรทัศน์ ชม คลิป vdo ย้อนหลังได้ที่
https://sites.google.com/site/verapat/temple/video

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยกฟ้อง ‘ก่อการร้าย’ คดีแรก! เสื้อแดงปาระเบิดเพลิงใส่ ธ.กรุงเทพ สำโรง

Posted: 26 Jul 2011 08:36 AM PDT

ยกฟ้องก่อการรายคดีแรก มวลชนปาระเบิดเพลิงใส่ ธ.กรุงเทพสาขาสำโรง ส่วนร่วมกันวางเพลิงและฝ่าฝืน พ.ร.ก. ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี

(26 ก.ค.54) ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ศาลนั่งบัลลังก์พิพากษาคดีเลขที่ดำ 3539/2553 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการยื่นฟ้อง นายเอกรินทร์ บุญนิรันดร์ จำเลยที่1 และนายวีระศักดิ์ โพธิ์ศรีแก้ว จำเลยที่ 2 ในความผิดข้อหาฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9(1) แห่งพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 2 รวมทั้งความผิดฐานก่อการร้าย เหตุเกิดในวันที่ 19 พ.ค.53 ที่ธนาคารกรุงเทพสาขาสำโรง เป็นผลให้ประตูเหล็กม้วนด้านหน้าเสียหาย โดยศาลพิพากษายกฟ้องความผิดฐานก่อการร้าย ส่วนความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นให้ลงโทษจำคุก 2 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน

นายสุรพล บุญแซม ทนายความของจำเลยทั้งสองระบุว่า นี่เป็นการยกฟ้องคดีก่อการร้ายคดีแรก นอกเหนือจากคดีของแกนนำ นปช. โดยข้อหานี้ศาลยกฟ้อง ขณะที่ข้อหาร่วมกันวางเพลิงโดยใช้ระเบิดเพลิง ซึ่งเป็นขวดเบียร์บรรจุน้ำมันเบนซินปาเข้าไปบริเวณประตูลานจอดรถของธนาคาร รวมถึงข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม แต่ไม่ได้รับสารภาพว่าเป็นผู้ทำ เพียงแต่เป็นผู้ที่ขับรถไปดูเหตุการณ์ดังกล่าวจริง เมื่อศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีก็เท่ากับจำเลยทั้งสองยังต้องถูกคุมขังต่ออีกราว 10 เดือน เนื่องจากถูกจับกุมคุมขังมาปีกว่าแล้วโดยไม่สามารถประกันตัวได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หวั่นกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ออนไลน์ของสหรัฐอาจทำเน็ตปั่นป่วน

Posted: 26 Jul 2011 07:54 AM PDT

วิศวกรระบบอินเทอร์เน็ตเตือน กฎหมายป้องกันละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ อาจทำระบบชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ต (ดีเอ็นเอส) เสียหายได้ อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้บริโภค ทำประสิทธิภาพเน็ตลดลง และเกิดความเสียหายกับผู้ไม่เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้สภาทบทวน ก่อนทำอินเทอร์เน็ตปั่นป่วน

ร่างพ.ร.บ.ป้องกันความเสี่ยงออนไลน์ต่อความสร้างสรรค์เชิงเศรษฐกิจและการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (Preventing Real Online Threats to Economic Creativity and Theft of Intellectual Property Act of 2011) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ร่างพ.ร.บ.ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (Protect IP Act) ของสหรัฐอเมริกา จะอนุญาตให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ขอหมายศาลเพื่อบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเสิร์ชเอนจิน หยุดส่งการจราจรหรือลิงก์ไปหาเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวคัดค้านกฎหมายดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ได้ระบุว่า เว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นหรือผู้บริโภคที่ต้องการเข้าถึงเว็บไซต์นั้น ก็สามารถเลี่ยงการบล็อคได้อยู่ดี โดยเปลี่ยนไปใช้บริการดีเอ็นเอสแห่งอื่น ที่ไม่ใช่ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ภายในเวลาเพียง 30 วินาที โดยไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์พิเศษใด ๆ

ระบบชื่อโดเมน (ดีเอ็นเอส) หรือ Domain Name System (DNS) เป็นระบบที่ใช้เพื่อแปลงชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ต (เช่น abc.com) ไปเป็นหมายเลขที่อยู่อินเทอร์เน็ต (82.54.101.2) ระบบดีเอ็นเอสนี้มีความสำคัญมากสำหรับระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เนื่องจากสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว มันง่ายกว่าที่จะจำชื่อโดเมนที่มีความหมายหรือออกเสียงได้ เมื่อเทียบกับจำชุดตัวเลขที่ไม่มีความหมาย 4 ชุด

ในแต่ละปี มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ประมาณ 53,000 ล้านครั้ง กฎหมายที่ปิดกั้นเว็บไซต์ที่ระดับดีเอ็นเอสนี้ จะกระตุ้นให้ผู้ใช้เน็ตในสหรัฐหนีไปใช้บริการดีเอ็นเอสที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งบริการดีเอ็นเอสเหล่านั้นจำนวนหนึ่งอาจไม่ปลอดภัย

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อผู้ใช้เปลี่ยนบริการดีเอ็นเอส ไม่เพียงแต่การเข้าชมเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ที่จะวิ่งไปหาดีเอ็นเอสใหม่ที่ตั้งอยู่นอกประเทศ แต่การเข้าชมเว็บไซต์ทั้งหมด รวมถึงเว็บไซต์ธนาคารก็จะวิ่งไปดีเอ็นเอสใหม่ดังกล่าวด้วย ซึ่งเท่ากับว่าสหรัฐกำลังผลักผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของตนให้อยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากบริการดีเอ็นเอสอาจดักฟังข้อมูลการจราจรและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ และนำมันไปใช้ทำอะไรก็ได้

นอกจากนี้ ข้อกำหนดตามกฎหมายที่ระบุให้มีการโอนการจราจรเพื่อปฏิเสธการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ยังสร้างปัญหาให้กับเทคโนโลยี DNSSEC ซึ่งออกแบบมาให้บริการดีเอ็นเอสมีความปลอดภัยมากขึ้น นั่นหมายความว่าความปลอดภัยโดยรวมของอินเทอร์เน็ตจะลดลง หากกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้

ในบทความวิจัยเกี่ยวกับปัญหาทางเทคนิคที่กฎหมายดังกล่าวจะสร้างขึ้น ยังระบุปัญหาทางเทคนิคอื่น ๆ อีก เช่น ประสิทธิภาพของระบบที่จะลดลง และความเสียหายของผู้ไม่เกี่ยวข้อง (collateral damage) ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ระดับดีเอ็นเอส (เว็บไซต์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องถูกปิดกั้นไปด้วย) บทความดังกล่าวมาจากการวิจัยโดยกลุ่มวิศวกรอินเทอร์เน็ต ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียและผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมความปลอดภัยคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

การแถลงข่าวของกลุ่มวิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบอินเทอร์เน็ตดังกล่าว จัดโดยศูนย์เพื่อประชาธิปไตยและเทคโนโลยี (Center for Democracy and Technology) ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ โดยจัดขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่หอการค้าสหรัฐได้พยายามวิ่งเต้นล็อบบี้เพื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยกลุ่มวิศวกรพยายามเตือนให้ผู้ตัดสินใจนโยบายทบทวนกฎหมายดังกล่าวอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมการค้า รัฐบาล บริษัท และศูนย์ความคิดจำนวนมาก ส่วนกลุ่มที่คัดค้านประกอบด้วยประชาชน กลุ่มสิทธิผู้บริโภค เช่น Electronic Frontier Foundation บริษัทอินเทอร์เน็ตเช่น ยาฮู! กูเกิล อีเบย์ อเมริกันเอ็กซ์เพรส และกลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น Reporters Without Borders แและ Human Rights Watch

ประเด็นคัดค้านหลักคือกฎหมายดังกล่าวจะคุกคามความเสรีเปิดกว้างของอินเทอร์เน็ต และประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายนั้น “ได้ไม่คุ้มเสีย” หรือถ้าเป็นสำนวนไทยก็คงต้องบอกว่า “ชี่ช้างจับตั๊กแตน” หรือ “เผานาฆ่าหนูตัวเดียว”

กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายอินเทอร์เน็ตและทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยครับ


 

เรียบเรียงส่วนหนึ่งจากข่าว IDG – Engineers: PROTECT IP Act Would Break DNS, 14 ก.ค. 2554. และข้อมูลจากวิกิพีเดีย

 

 

 

หมายเหตุ: “My Computer Law” เป็นโครงการเพื่อการเสนอร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จากภาคประชาชน โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและกฎหมายคอมพิวเตอร์, การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชน, การเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา, และการผลักดันร่างดังกล่าวในสภา

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://mycomputerlaw.in.th/2011/07/protect-ip-act-break-dns/

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Posted: 26 Jul 2011 06:02 AM PDT

อย่าสงสัยเรื่องความจงรักภักดี ถ้าสงสัยแสดงว่าไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้นคนไทยต้องไม่มีความสงสัยเรื่องความจงรักภักดี เพราะเราเกิดมากับคำๆ นี้ และเราต้องตายไปกับคำนี้ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม

ผู้บัญชาการทหารบก, 26 ก.ค. 2554

TCIJ: จวก “เขตรักษาพันธุ์ฯ” หวงผลประโย​ชน์ ถ่วงเวลาเดินหน้า “โฉนดชุมชุน” ย่านตาขาว

Posted: 26 Jul 2011 04:32 AM PDT

ประชุมโฉนดชุมชนย่านตา​ขาวไม่คืบ เขตรักษาพันธุ์ฯ ยันต้องทำ​แผนที่รายแปลง ด้านกรรมการโฉนดชุมชนยันข้อมูลครบ ชี้การคัดเลือกพื้นที่ผ่านความเห็นชอบจากหลายภาค​ส่วนแล้ว แต่ไม่มอบพื้นที่เหตุหวงอำนาจ-ผลประโยชน์ 

 
 
วานนี้ (25 ก.ค.54) เวลาประมาณ 13.30 น.นายพรชัย สุขโสม ปลัดอาวุโส อ.ย่านตาขาว เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องการบ​ริหารจัดการที่ดินและป่าในพื้นที่ ต.นาชุมเห็ด และ ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว ที่ห้องประชุม อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน ประกอบด้วย หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์​ป่าเทือกเขาบรรทัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต.ในพื้นที่ ต.นาชุมเห็ด และ ต.โพรงจระเข้ องค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านลำขนุน องค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านยูงงาม-ลำพิกุล สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)
 
ผู้สื่อว่ารายงานว่า ที่ประชุมได้หารือถึงความร่วมมือในการจัดทำโฉนดชุมชน ซึ่งบ้านลำขนุนได้รับการคัด​เลือกเป็นพื้นที่นำร่องโฉนด​ชุมชน 1 ใน 35 พื้นที่ แต่ยังไม่มีการประกาศรับรอง​เป็นพื้นที่โฉนดชุมชน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่มีความเห็นว่าควรดำเนินการจัดการที่ดินและป่าร่วมกัน โดยไม่ต้องรอให้ฝ่ายนโยบายสั่ง​การลงมา
 
นายคม ชัยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์​ป่าเทือกเขาบรรทัด กล่าวให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธร​รมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม โดยจัดทำแผนที่รายแปลง และสำรวจต้นไม้ แต่ติดขัดที่ชาวบ้านยังไม่ได้จัดส่งพิกัดขอบเขตพื้นที่​มาให้ และไม่ให้ความร่วมมือในการรังวัดรายแปลง อีกทั้งในส่วนกระทรวงทรัพย์ฯ และสำนักงานโฉนดชุมชนก็ไม่ได้จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่มาให้ จึงไม่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้
 
ด้านนายสมนึก พุฒนวล กรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) กล่าวว่า บ้านลำขนุนเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนเพราะมีความพร้อม​ทั้งการจัดการพื้นที่และข้อ​มูลต่างๆ การคัดเลือกพื้นที่โฉนดชุมชนผ่านความเห็นชอบจากหลายภาค​ส่วน ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ฝ่ายปกครองท้องที่ และ อบต. ไม่จำเป็นต้องทำแผนที่รายแป​ลงเพิ่มเติม เพราะการจัดทำโฉนดชุมชนจะทำ​เป็นแปลงใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากชุมชนจะทำแผนที่รายแปลงก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง ทั้งนี้ ไม่มีการสำรวจพิสูจน์สิทธิ์ตามมติ ครม.30 มิ.ย.41 ในพื้นที่โฉนดชุมชน
 
“โฉนดชุมชนคือสิทธิชุมชนภาย​ใต้รัฐธรรมนูญ หมดยุคที่ส่วนราชการจะมาละเมิดสิทธิชุมชน และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ​เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หากข้าราชการคัดค้านโฉนดชุม​ชนก็เป็นเรื่องของบุคคล การตัดสินใจว่าชุมชนจะได้โฉนดชุมชนหรือไม่ ไม่ใช่อำนาจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อำนาจตัดสินใจอยู่ที่กรรมกา​ร ปจช.ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นกรรมการอยู่ด้วย” นายสมนึก กล่าว
 
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริม​สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) กล่าวว่า ปจช. ได้ส่งหนังสือถึงจังหวัดว่า​บ้านลำขนุนเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน ขั้นตอนในขณะนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของชาวบ้าน​กับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ จึงขอความร่วมมือให้ส่วนราช​การสนับสนุนคนดูแลรักษาป่า ร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกทำลายป่า
 
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุปถึงความร่วมมือที่ชัดเจน ดังนั้น ประธานในที่ประชุมจึงสรุปผล​การประชุมโดยมอบหมายให้ นายสมนึก ซึ่งเป็นกรรมการ ปจช. เร่งรัดให้สำนักงานโฉนดชุมชนจัดส่งข้อมูลให้หัวหน้าเขต​รักษาพันธุ์ฯ พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมที่หลายภาคส่วนร่วมกันดูแลรักษาป่า
 
นายสมนึก พุฒนวล ให้สัมภาษณ์หลังปิดการประชุมว่า หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ไม่ให้ความร่วมมือในการจัดทำโฉนดชุมชน โดยอ้างว่าชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือเรื่องการจัดทำแผนที่ ตรงนี้เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่กรมอุทยานฯ ชี้แจงในที่ประชุม ปจช. ทั้งที่ชุมชนผ่านการพิจารณาเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน มีความพร้อมเรื่องข้อมูล​แล้ว และสิ่งที่ชุมชนดำเนินการก็​เป็นเจตนาของกรมอุทยานฯ ที่ต้องดูแลรักษาทรัพยากรของชาติ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการถ่วงเวลา บ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งมอบพื้น​ที่ เพราะกลัวเสียพื้นที่ อำนาจ และผลประโยชน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุจิตต์ วงษ์เทศ: "กลาโหม" เป็นคำเขมร "แม่ทัพ" ก็เป็นคำเขมร

Posted: 26 Jul 2011 02:06 AM PDT

ที่มา: เฟซบุคสุจิตต์ วงษ์เทศ (Sujit Wongthes), 25 ก.ค. 54

 

กลาโหม เป็นคำเขมร แปลว่าสังเวียนแห่งการบูชาไฟ อันเป็นพิธีพราหมณ์กัมพูชาสมัยโบราณ ทำก่อนยกทัพ

ไทยรับวัฒนธรรมพร้อมคำกลาโหมจากเขมรตั้งแต่ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา แล้วปรับใช้สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกกระทรวงกลาโหม

คำอธิบายเรื่องกลาโหม สรุปจากหนังสือ ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ว่า

กลา มาจากคำเขมรว่า กระลา, กฺรฬา แปลว่า สังเวียน (คำแปลของเสด็จในกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร)

โหม หมายถึง เซ่นสรวงบูชาไฟ (ที่เชิญจากสังเวียนบูชาไฟ คือ กลา, กระลา) กร่อนจากโหมกูณฑ์ หมายถึง ใส่สิ่งของเซ่นสรวงบูชาไฟ ในพิธีบูชาไฟของพราหมณ์

โหมกูณฑ์ คือ บูชาไฟ เป็นพิธีพราหมณ์ต้องทำทุกครั้งเมื่อยกทัพ โดยราชโหดา (หรือโหรดา, อาจารย์โหม) ในกระบวนทัพนั้น ได้แก่พราหมณ์ผู้ทำไสยเวทฝ่ายการบูชาไฟในราชสำนัก

ครั้นไทยรับจากเขมร มาแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า ถึงยุคพระบรมไตรโลกนาถแห่งต้นอยุธยา เมื่อคราวปรับปรุงระเบียบราชการครั้งใหญ่ก็เปลี่ยนให้ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่าย ทหารทำการบังคับบัญชา และอำนวยการโหมกูณฑ์ในพระกลาโหม หรือสังเวียนบูชาไฟทุกครั้งที่จะไปทัพ

จึงยกให้ผู้ว่าราชการฝ่ายทหาร ดำรงตำแหน่ง“สมุหพระกลาโหม”ซึ่งไม่มีในเขมร

แม่ทัพ ในคำว่า แม่ทัพบก, แม่ทัพเรือ, แม่ทัพอากาศ ก็มาจากคำเขมร หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในกองทัพ

แม่ คำเขมรออกเสียง เม หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ เป็นคำเรียกยกย่องผู้หญิง ตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีร่องรอยอยู่ในคำว่า แม่ทัพ, แม่น้ำ, แม่เหล็ก, ฯลฯ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประยุทธ์ลั่นต้องการ ฮ.ใหม่ 30 ลำ - คนไทยต้องไม่สงสัยเรื่องความจงรักภักดี

Posted: 26 Jul 2011 01:44 AM PDT

ลั่นยอมไม่ได้หากใครละเมิดสถาบัน ย้ำห้ามสงสัยเรื่องความจงรักภักดี ถ้าสงสัยแสดงว่าไม่ใช่คนไทย เผยตนและผู้บังคับบัญชาทุกคนนั่ง ฮ.เก่าๆ มาแล้ว ต้องการซื้ออีก 30 กว่าลำแต่ยังไม่ได้ จึงต้องฝากรัฐบาลใหม่ดูแล วอนอย่าติติงทหาร แต่ต้องให้กำลังใจมากๆ ที่หน้าตาออกทีวีดุดันไปหน่อยเป็นเรื่องธรรมดา ปกติแล้วเป็นคนใจดีไม่มีอะไร

ประยุทธ์ลั่นยอมไม่ได้หากใครละเมิดสถาบัน ย้ำคนไทยต้องไม่มีความสงสัยเรื่องความจงรักภักดี
สำนักข่าวไทย รายงานวันนี้ (26 ก.ค.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บัญชาการทหารบก ไปเป็นประธานการประกวดดนตรีสากลร่วมสมัยระดับมัธยมศึกษาโครงการบทเพลงรักแห่งแผ่นดิน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหา กษัตริย์ ผ่านการแต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงที่ถ่ายทอดความรักความจงรักภักดี โดยกล่าวว่าได้ฟังเพลงแล้วรู้สึกซาบซึ้งเพราะบทเพลงได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อประเทศไทยมาตลอด และการแสดงออกของเยาวชนที่เปล่งเสียง มีแววตาของความตั้งใจ จึงขอชื่นชมด้วยใจจริง และทำให้รู้สึกสบายใจว่า วันข้างหน้าของประเทศไทยยังมีอยู่โดยเยาวชนทั้งหลาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยมีทุกวันนี้ คือพระมหากรุณาธิคุณที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยทั้ง ประเทศ เป็นเวลายาวนาน เป็นความภาคภูมิใจ และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในหัวใจของคนไทยทั้งชาติ เพราะฉะนั้นเราคงยอมรับไม่ได้หากใครก็ตามที่จะละเมิดหรือทำให้เกิดผลเสียต่อ สถาบัน เพราะสถาบันเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเรา ตนพูดอยู่เสมอว่าอย่าสงสัยเรื่องความจงรักภักดี ถ้าสงสัยแสดงว่าไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้นคนไทยต้องไม่มีความสงสัยเรื่องความจงรักภักดีเพราะเราเกิดมากับ คำๆ นี้ และเราต้องตายไปกับคำนี้ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ทุกคนที่มาอยู่ ณ ที่นี้ ถือว่าได้รับเกียรติจากกองทัพบกในการที่จะนำชาติบ้านเมืองไปได้ และสถาบันอยู่รอดเพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สยามเมืองยิ้มได้เหมือน เดิม

“สิ่งที่ผมคิดอยู่เสมอ และอยากถ่ายทอดให้ทุกคนรู้ ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านคิดอะไรไม่ออก ขอให้หันไปดูพระบรมฉายาลักษณ์ แล้วก็จะนึกออกว่าจะทำอะไร ถ้าท่านเห็นความเหน็ดเหนื่อย รอยยิ้ม หยาดเหงื่อของพระองค์ท่านแล้วท่านจะนึกออกว่าจะต้องทำอะไร และท่านทรงทำแค่ไหน ท่านต้องทุ่มเทหรือเปล่า จึงขอให้ทำด้วยใจและความจงรักภักดีและมั่นใจว่าสิ่งที่ท่านทำถูกต้อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ย้ำประเทศไทยมีอุปสรรคเรื่องความรักความสามัคคี ความเข้าใจซึ่งกันและกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยของเรามีอุปสรรคอยู่หลายประการ ที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ความรักความสามัคคี ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกส่วนกลับมาได้คือสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องรวมจิตใจของคนในชาติให้กลับมาสู่สิ่งยึดเหนี่ยวเดียวกัน คือสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้

“ประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่เฉพาะทหาร พลเรือน แต่เราต้องไปด้วยกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชนต้องไปด้วยกันทั้งหมด ในอันที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า ผมอยากให้สิ่งเหล่านี้ทำเป็นกิจกรรมประจำปีโดยการจัดหางบประมาณขึ้นมา เพราะเป็นการเริ่มต้นสร้างเซลล์หรือภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันให้ได้ในอนาคต

 

เผยตนและผู้บังคับบัญชาทุกคน ฮ.เก่ามาแล้ว ต้องการซื้ออีก 30 กว่าลำแต่ยังไม่ได้ จึงต้องฝากรัฐบาลใหม่

ผู้บัญชาการทหารบก ได้กล่าวกับเยาวชนว่า ถ้าใครอยากรับราชการทหาร คงต้องเรียนหนังสือเก่งๆ และไปสอบคัดเลือกให้ได้ ตนก็อยากได้นายทหารที่เก่งๆ มาทำงานในโอกาสข้างหน้า พร้อมกับขอให้เยาวชนยกมือขึ้นหากใครอยากเป็นทหาร หรือไม่มี หรือกลัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ถือเป็นเรื่องธรรมดา ทหารก็เป็นอย่างนี้ ต้องเสี่ยง ตนและผู้บังคับบัญชาทุกคนก็เคยนั่งมาแล้ว ฮ.เก่าๆ ซึ่ง ฮ.พวกนี้ตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นเด็ก แต่ก็ได้รับการซ่อมบำรุงมาตลอด เพราะประเทศเรามีงบประมาณไม่มาก ถึงแม้จะมีแผนต้องการจะเปลี่ยนแต่รัฐบาลไม่มีงบประมาณให้ ซึ่งเราต้องการซื้ออีก 30 กว่าลำ แต่ก็ยังไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องฝากไปยังรัฐบาลใหม่ในการดูแลทุกอย่าง ไม่ได้ได้มาง่ายๆ อย่าไปมองว่าผู้บังคับบัญชาไม่เอาใจใส่

 

วอนอย่าติติงทหาร แต่ต้องให้กำลังใจมากๆ หน้าตาออกทีวีดุดันไปหน่อยเป็นเรื่องธรรมดา ปกติแล้วเป็นคนใจดีไม่มีอะไร

“วันนี้อย่าเพิ่งติติงทหารนักเลย เราพร้อมที่จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ขอให้กำลังใจทหารมาก ๆ แม้บางทีเห็นผมในทีวีหน้าตาจะดุดันไปหน่อยก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของบทบาท ที่เป็นผู้นำองค์กรก็ต้องเป็นอย่างนี้ ผมต้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของกองทัพบกไว้ยิ่งกว่าชีวิต เป็นสิ่งที่เราปลูกฝังกันมา กองทัพบกใครจะมาแตะต้องไม่ได้ ผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้องจึงต้องขออภัย ถ้าหากว่าดุเดือดไปนิดหนึ่ง แต่ปกติแล้วผมเป็นคนใจดีไม่มีอะไร” ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์เพียงสั้น ๆ ถึงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบ ฮท.1 (ฮิ้วอี้) ว่า ขณะนี้กำลังเสนอโครงการให้รัฐบาลซึ่งคาดว่าในปี 2555 เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้รับการอนุมัติ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป่วนกระแสกับบุญชิต ฟักมี: คณะกรรมการเทวดา กับตำรารู้แจ้งแห่งประเทศไทย

Posted: 26 Jul 2011 12:58 AM PDT

ป่วนกระแสกับบุญชิต ฟักมี: คณะกรรมการเทวดา กับตำรารู้แจ้งแห่งประเทศไทย

ยังมีหน่วยงานลับๆ อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ลับมาก ลับเสียจนไม่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด ลับจริงๆ จนน้อยคนนักที่จะรู้ถึงความมีจริงของหน่วยงานนี้

หน่วยงานที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเบื่อหน่ายในบรรดาหน่วยงาน คณะกรรมการ และองค์กรอิสระทั้งหลายที่แทบจะจำชื่อจำตัวย่อไม่ได้แล้วของประเทศไทย เช่น กกต. ป.ป.ช. ป.ป.ท. กอ.รมน. กบข. กทช. สพฐ. สลค. กกน. ก.ก.ง. ฯลฯ (อันหลังแปลว่า กูก็งง)

หน่วยงานนี้ มีหน้าที่ให้คำตอบและชี้ขาดในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยไม่เลือกหน้า กล่าวคือใครสงสัยอะไรตอบให้หมด ประมาณนั้น

มีชื่อเรียกว่า “คณะกรรมการวินิจฉัยข้อยุ่งยาก” หรือชื่อย่อว่า … อ้ะ อย่าดีกว่า, แค่นี้ตัวย่อก็จะท่วมประเทศอยู่แล้ว – หน้าที่ของคณะกรรมการนี้คือ เมื่อเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้น องค์กรนี้จะเป็นผู้ชี้ขาด โดยว่ากันว่า คณะกรรมการนี้ได้ครอบครองหนังสือเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า “ตำรารู้แจ้ง (แห่งประเทศไทย)”

ทุกคำถาม มีคำตอบอยู่ในตำรารู้แจ้งเล่มนี้

หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานลับจริงๆ ให้ดิ้นตาย แต่บังเอิญข้าพเจ้าไปได้เอกสารบันทึกความเห็นที่หลุดรอดมาได้จากองค์กรนี้โดยความเผอเรอของกรรมการคนหนึ่ง ที่เผลอเอาเอกสารสำคัญไปชั่งกิโลขายซาเล้ง เราจึงได้รู้ถึงการมีอยู่และการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าว ผ่านเอกสาร ที่มีชื่อเรียกว่า “Sa-Leang leak” หรือ “ซาเล้งหลีก” โดยอาเฮียที่ชื่อ จูเลียง รับเซ้ง

ที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ คือเอกสารหลุดดังกล่าว

 

ข้อหารือที่ 010/2554 จาก รัฐบาล

เนื่องด้วยศาลโลกสั่งให้ทางเราและเขมรถอนทหารออกจากพื้นที่ที่ได้ขีดเส้นใต้ไว้ที่แนบมานี้ อยากทราบว่า ทางเราควรดำเนินการต่อไปอย่างไร - ขอแสดงความนับถืออย่างสูงปรี๊ด

ตอบ : ทางคณะกรรมการของเราได้เปิดตำรารู้แจ้งแล้ว พบว่า ทหาร นั้น ตำราท่านกล่าวไว้ว่า “...[ทะหาน] น. ผู้มีหน้าที่ในเรื่องรบ, นักรบ.” พอไปดูคำว่านักรบท่านว่าหมายถึง “....น. ผู้ชํานาญในการรบ, ทหาร.” (สาดดดด) เลยต้องไปเปิดดูต่อว่า การรบ นั้นคือ “...ก. สู้กัน, ต่อสู้ในทางศึก, เช่น ไปรบกับข้าศึกที่ชายแดน, สู้ เช่น รบกับหญ้าไม่ชนะ; เร้าจะเอาให้ได้ เช่น ลูกรบแม่ให้ซื้อตุ๊กตา.” ดังนั้น ศาลโลกจึงให้ถอนเฉพาะ ผู้มีหน้าที่ในการรบ สู้กัน หรือต่อสู้ในทางศึก

ส่วน ตำรวจ นั้นท่านว่าหมายถึง “[–หฺรวด] น. เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุมและปราบปรามผู้กระทําผิดกฎหมายเรียกชื่อตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ เช่น ตํารวจสันติบาล ตํารวจกองปราบ ตํารวจดับเพลิง ตํารวจนํ้า ตํารวจรถไฟ ตํารวจป่าไม้. (ข. ฎํรวต, ตมฺรวต).”

จะเห็นว่าตามตำรารู้แจ้งแล้ว “ตำรวจ” มีหน้าที่รักษาความสงบ แต่ไม่ได้มีหน้าที่รบ ดังนั้น ตำรวจจึงไม่ใช่ทหาร เราจึงมีสิทธิเอาตำรวจเข้าไปในพื้นที่ โดยไม่ขัดกับคำสั่งของศาลโลก อนึ่ง เราได้พบว่า คำว่า “ตำรวจ” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำเขมร ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ เราควรหาคำอื่นมาใช้เรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุมและปราบปรามผู้กระทําผิดกฎหมายเรียกชื่อตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ ฯลฯ นี้เถิด

ลงนาม - คณะกรรมการ ว.ย.

 

ข้อหารือที่ 4545/2554 จาก กลุ่มเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ

เราขอให้ท่านชี้ขาดว่า กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน เกย์ เลสเบี้ยน หรือคนข้ามเพศอื่นๆ ควรมีสิทธิแต่งงานกันได้ตามกฎหมายหรือยัง - ขอแสดงความนับถืออย่างแรวงงง

ตอบ [1] : เราได้เปิดตำรารู้แจ้งแล้ว “แต่งงาน” คือ “...ก. ทําพิธีเพื่อให้ชายหญิงอยู่กินเป็นผัวเมียกันตามประเพณี.” “ชาย” คือ “...น. คนที่ไม่มีมดลูก, ผู้ชาย ก็ว่า.” ส่วน “หญิง” คือ “...น. คนที่มีมดลูก, ผู้หญิง ก็ว่า.” ดังนั้น การแต่งงาน คือ การทำพิธีเพื่อให้คนไม่มีมดลูกกับคนมีมดลูกมาอยู่กินเป็นผัวเป็นเมียกันตามประเพณี ดังนั้น ถ้าเป็นคนไม่มีมดลูกด้วยกันอยู่กินกัน หรือคนมีมดลูกสองคนมาอยู่ด้วยกัน จึงไม่ถือว่าเป็นการแต่งงานไปได้ ตามที่ตำรารู้แจ้งท่านได้กำหนดไว้

อนึ่ง ใครเป็นมะเร็งแล้วผ่าตัดเอามดลูกออกไป มันผู้นั้นมิใช่ผู้หญิงอีกต่อไป ตามที่ตำรารู้แจ้งท่านกล่าว

ลงนาม - คณะกรรมการ ว.ย.

 

ข้อหารือที่ 168,501,828,300/2554 จาก หน่วยงานความมั่นคง

เราอยากทราบสั้นๆ เท่านั้นแหละว่า ทำไม ฮ. ของเราจึงตกบ่อยนัก - ขอแสดงความนับถืออย่างเข้มแข็ง

ตอบ : เราได้เปิดตำรารู้แจ้งดูแล้ว ตก ท่านว่าคือ “...ก. กิริยาที่ลดลงสู่ระดับตํ่าในอาการอย่างพลัดลง หล่นลงเช่น ตกบันได ตกต้นตาล เครื่องบินตก; ไหลลง, หยดลงมา, เช่น นํ้าตก ฝนตก เหงื่อตก” เราจึงตอบท่านได้อย่างมั่นใจว่า การที่ ฮ. ของท่านตก ไม่ว่าจะกี่ลำ นั้นเป็นเพราะว่า ฮ. ของท่านนั้นได้ลดลงสู่ระดับต่ำอย่างพลัดหลง ซึ่งเป็นความผิดของแรงดึงดูดที่มากระทำ ไม่ใช่ความผิดของท่านเป็นอันขาด ตอบโต้พวกผู้สื่อข่าวหรือพวกขี้สงสัยได้เลย

ลงนาม - คณะกรรมการ ว.ย.

 

ข้อหารือที่ 09210/2554 จาก เบิ้ม ลูกพระอาทิตย์ ในนามของ สภาสมาคมสหภาพองค์กรเครือข่ายคนไทยหัวใจรักและเชิดชูชาติไทยทนุบำรุงให้รุ่งเรืองต่อต้านการทุจริตและติดตามคนผิดมาลงโทษ (กลุ่มคนเสื้อสีขนมซ่าหริ่ม)

การที่ “มัน” ใช้คำว่า “มหาราษฎร์” ถือว่าหมิ่นหรือไม่ - ตอบเร็วกูจะไปแจ้งความ

ตอบ : อันว่า “มหา” นั้น คือ “...ใหญ่, ยิ่งใหญ่, หรือ น. สมณศักดิ์ที่ใช้นําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไป.” ส่วน “ราษฎร์” นั้นคือ “... น. พลเมืองของประเทศ. (ส.).” ดังนั้น มหาราษฎร์จึงมีสองความหมายคือ พลเมืองใหญ่ของประเทศ หรือ พลเมืองของประเทศที่สอบได้เปรียญธรรมสามประโยคขึ้นไป ดังนั้น หากมันผู้ใดอวดอ้างว่าเป็นมหาราษฎร์ มันผู้นั้นควรจะเป็นพลเมืองใหญ่ของประเทศ หรือไม่ก็สอบได้เปรียญธรรมสามประโยค ดังนั้น ทางคณะกรรมการ ว.ย. ว่า เราแจ้งความมันข้อหาหลอกลวงประชาชนดีกว่า เพราะ “มัน” ไม่น่าจะสอบได้เปรียญ หรือไม่น่าจะใหญ่มากหากมองจากรูปร่างภายนอก

อนึ่ง ขอความกรุณาอย่าแตะต้อง บริษัทสุรามหาราษฎร์ เป็นอันขาด หาไม่แล้ว คณะกรรมการ ว.ย. ของเราหลายคนคงลงแดงตายแน่

ลงนาม - คณะกรรมการ ว.ย.

 

ข้อหารือที่ (ด่วนมากที่สุดของที่สุด) 737/2554 จาก รัฐบาล

สถานทูตเยอรมันออกแถลงการณ์เป็นทางการขอให้เรา ชำระหนี้ 36 ล้านยูโรเพื่อความสัมพันธ์อันดี เราเอาอย่างไรดีท่าน - T_T

ตอบ : ท่านตอบไปเลยว่า เรายินดีชำระเงินให้ 36 ล้านยูโร หรือจะกี่ร้อยล้านยูโรก็ได้ เพราะ “ชำระ” นั้น ตำรารู้แจ้งท่านหมายถึง “...ก. ชะล้างให้สะอาด เช่น ชําระร่างกาย; สะสาง, ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น” ดังนั้น เรายินดีรับชำระเงินให้ท่าน ไม่ว่าเงินนั้นจะเปื้อนคราบเลือดหรือแป้งมันที่ไหนก็ตาม อนึ่ง ทางประเทศเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการชำระเงินให้เอี่ยมอ่องอยู่มาก เรื่องนี้หาใช่ปัญหาอันใดเลย

และขอย้ำให้ท่านมั่นใจว่า หากมีปัญหาอะไรยุ่งยาก คิดไม่ตก ไปไม่เป็น ท่านไม่ต้องนึกให้หนักสมอง เพียงถามหาพวกเราที่ คณะกรรมการวินิจฉัยข้อยุ่งยาก และ ตำรารู้แจ้ง ที่เรียกว่า “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน [2]

ลงนาม - คณะกรรมการ ว.ย.
ประทับตราศรีธนญชัยขี่สลิ่มโบกธง มาเป็นสำคัญ

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1. เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาเช่นนี้จริงๆ ถือเป็นหนึ่งในฎีกาคลาสสิกที่คนเรียนกฎหมายน่าจะเคยผ่านตามาแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 157/2524 “ผู้ร้องเป็นชายโดยกำเนิด แต่ได้รับการผ่าตัดเป็นหญิงแล้ว ขออนุญาตเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็นนาง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เพศของบุคคลนั้นกฎหมายรับรองแล้วถือเอาตามเพศที่กำเนิดมา คำว่า “หญิง” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า คนที่ออกลูกได้ ผู้ร้องถือกำเนิดเป็นชาย ถึงจะมีเสรีภาพในร่างกายผ่าตัดไปเป็นหญิง แต่ผู้ร้องก็คลอดบุตรไม่ได้ ฉะนั้นโดยธรรมชาติและตามที่กฎหมายรับรอง ผู้ร้องก็ยังเป็นเพศชายอยู่ ไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธิผู้ร้องขอเปลี่ยนเพศที่ถือกำเนิดมาได้ ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่จะใช้สิทธิตามมาตรา 55 (ถูกโต้แย้งสิทธิ) จึงสั่งยกคำร้อง” (นิยามคำว่า “หญิง” น่าจะถือตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน 2493 ที่ใช้อยู่ในสมัยนั้น)

2. ท่านสามารถ “ปรึกษา” ตำรารู้แจ้งแห่งประเทศไทยได้ ผ่านทางเวบไซต์ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp

การเปิดพจนานุกรมตอบอาจจะใช้ได้ในบางวงการ แต่ถ้าใช้กับเพื่อนฝูงหรือเจ้าหนี้ ระวังโดนเตะหรือพาไปเลี้ยงจระเข้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดักคอ "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" ทำให้ปลอดผลประโยชน์ก่อนคิดออกนอกระบบ

Posted: 26 Jul 2011 12:10 AM PDT

ภาคประชาสังคมเพื่อการเข้าถึงยา เตือนกรมทรัพย์สินทางปัญญา ปลอดผลประโยชน์ก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องการเป็นองค์กรมหาชน ชี้อิสระในการทำงาน หมายรวมถึงอิสระทั้งจากนักการเมือง โลกทัศน์คับแคบของระบบราชการ และผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนด้วย


ภาพจาก weisserstier (CC BY 2.0)
 

(26 ก.ค.54) กรณีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเสนอแผนงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ผลักดันกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกจากระบบราชการไปเป็นองค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยอ้างว่าเพราะกรมทรัพย์สินฯ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้นั้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แสดงความเห็นว่า จริงอยู่ การเป็นองค์กรมหาชนทำให้หน่วยงานมีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น แต่ความคล่องตัวหรืออิสระในการทำงานนั้น ควรต้องหมายถึงความเป็นอิสระทั้งจากนักการเมือง กฎระเบียบและโลกทัศน์ที่คับแคบของระบบราชการ และที่สำคัญต้องเป็นอิสระจากผลประโยชน์ของบริษัทที่เข้ามาจดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

“แต่จากการทำงาน ผลงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมา รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของอธิบดีฯ แสดงให้เห็นแต่ด้านที่กรมฯทำให้ตัวเองอยู่รอด ไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนสองฝั่ง คือทั้งผู้ทรงสิทธิและสาธารณชนอย่างไร เพราะการหารายได้เลี้ยงตัวเองได้มาก ในที่สุดจะมาจากการเร่งจดทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ทั้งสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ฯลฯ ให้ได้จำนวนมากๆ อย่างไม่รอบคอบ ทั้งที่เป้าหมายอีกด้านที่กรมฯต้องทำคือ สร้างความสมดุล โดยทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นจะต้องมีคุณภาพเพียงพอต่อสังคมจึงจะได้สิทธิผูกขาดไป และจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคน”

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งทำงานด้านการเข้าถึงยามาอย่างยาวนาน กล่าวว่า ณ เวลานี้ บทบาทของกรมทรัพย์สินฯยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ยังไม่เห็นว่าเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากพอ และยังมีความน่าเคลือบแคลงมากว่า โดยเป็นหน่วยราชการที่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสั่งได้-ประเทศพัฒนาแล้วกดดันได้

“เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานข่าวระบุว่า บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทยาข้ามชาติจำนวนมากได้ ยื่นหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ทบทวนคำสั่งปฏิเสธข้อถือสิทธิการใช้ยาเพื่อเตรียมเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ได้มีการปฏิเสธก่อนหน้านี้ทั้งหมด ทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐานของคณะกรรมการสิทธิบัตร ปรากฏว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแทนที่จะส่งให้คณะกรรมการสิทธิบัตรพิจารณา กลับส่งให้ ‘คณะอนุกรรมการสิทธิบัตร สาขาเคมี’ ซึ่งมีประธานซึ่งมีผู้ใกล้ชิดทำงานให้กับบริษัทยาข้ามชาติชี้ขาดว่า คำวินิจฮัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรไม่เป็นบรรทัดฐาน แล้วจะให้สาธารณชนไว้วางใจได้อย่างไร”

นายนิมิตร์กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ในการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญายังตั้งกรรมการจำนวนมากจากฝ่ายผู้ทรงสิทธิบัตรและที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทยาข้ามชาติ โดยที่ไม่มีตัวแทนจากเครือข่ายผู้ป่วย หรือผู้บริโภคที่ทำงานเรื่องนี้มาโดยตลอด ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงควรตั้งต้นจากการเริ่มหัดคิดและทำให้เป็นอิสระจากผลประโยชน์เสียก่อน จึงค่อยคิดเรื่องการเป็นองค์กรมหาชนที่อาจดีแค่เรื่องการจัดการ แต่อาจส่งผลเสียหายในระยะยาว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น