โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: เดินหน้าประเทศไทยกับภารกิจรัฐบาลใหม่

Posted: 15 Jul 2011 11:47 AM PDT

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ในเฟซบุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้โพสต์บทความ "เดินหน้าประเทศไทยกับภารกิจรัฐบาลใหม่" โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

 

เดินหน้าประเทศไทยกับภารกิจรัฐบาลใหม่

 

ในที่สุดการเลือกตั้งก็ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย

ผมคาดว่าสภาชุดใหม่จะเปิดประชุมได้ในช่วงต้นเดือนหน้าและรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ารับ หน้าที่ได้ก่อนวันที่  11 สิงหาคม นั่นหมายถึงรัฐบาลใหม่จะสามารถบริหารราชการแผ่นดินหลังแถลงนโยบาย ได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคม เราจะได้ช่วยกัน "เดินหน้าประเทศไทย" กันต่อไป และสิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องการให้เดินหน้ามากที่สุดก็หนีไม่พ้น เรื่องการแก้ปัญหาปากท้องกับการปรองดอง

ช่วงนี้ผมจึงอยากเห็นพรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนให้ชัดเจนในสองเรื่องนี้

เริ่มจากเรื่องปากท้องก่อน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยมีความคาดหวังสูงมากจากนโยบายหาเสียงว่า

ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาททันทีทั่วประเทศ

เงินเดือนคนจบปริญญาตรีจะเพิ่มขึ้นเป็น  15,000 บาททั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

ราคาข้าวจะอยู่ที่ 15,000 บาท

นำ้มันเบนซินจะลดลงลิตรละ 7 บาท ดีเซลลดลงลิตรละ 2 บาท

แต่ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานโยบายเหล่านี้กลับมีแต่ความไม่แน่นอน

ผมคงไม่คาดคั้นว่าทุกเรื่องต้องทำได้ทันที

แต่พรรคเพื่อไทยต้องมีข้อยุติที่ชัดเจนและชี้แจงให้ตรงกันว่านโยบายแต่ละเรื่อง จะทำได้หรือไม่ เมื่อใด อย่างไร มีวิธีแก้ผลกระทบด้านต่างๆหรือไม่

เพราะนโยบายเหล่านี้ถือเป็นสัญญาประชาคม

อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการให้ความเป็นธรรมกับประชาชน

นอกจากนั้นยังเป็นการป้องกันไม่ให้ความสับสนที่มีอยู่กระทบความเชื่อมั่นและการ คาดคะเนซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยตรงจากการฉวย โอกาสขึ้นราคาสินค้าและความไม่แน่นอนในการจ้างงาน

 

หันมาดูเรื่องปรองดองบ้าง

เมื่อการเลือกตั้งผ่านมาแล้ว พรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงได้รับชัยชนะ สิ่งที่จะนำไปสู่การปรองดองอย่างง่ายๆ คือการลดการเผชิญหน้าและการแบ่งแยกประชาชน

ถึงเวลาที่จะสลายหมู่บ้านแดงได้แล้ว

หมดเวลาที่จะใช้มวลชนไปกดดันองค์กรอิสระแล้ว

เพราะการชี้ถูกผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกตั้งหรือการค้นหาความจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์ต่างๆต้องให้ผู้มีหน้าที่ได้ดำเนินการอย่างอิสระ ไม่มีการชี้นำ ไม่มีการกดดัน มิฉะนั้นจะไม่มีทางได้ความจริงและความยุติธรรมอันนะนำไปสู่การปรองดอง

ส่วนสิ่งที่ไม่ควรทำและควรเลิกคิดได้แล้ว

คือการหาทางนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณ

ไม่ว่าจะโดยการออกกฎหมายหรือการแก้รัฐธรรมนูญโดยเอาเรื่องอื่นมาบังหน้า

เพราะนั่นคือการสร้างความขัดแย้งใหม่ ทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้

คนส่วนใหญ่ต้องการก้าวพ้นความขัดแย้งในอตีต

เรามีโอกาสแล้ว รัฐบาลใหม่อย่าทำลายโอกาสนี้

ประเทศไทย ประชาชนไทยไม่ต้องการวิกฤติอีกรอบ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทัพพม่าส่งเครื่องบินรบข่มทหารไทใหญ่ "เหนือ" ขณะสองฝ่ายรบกันเดือด

Posted: 15 Jul 2011 11:14 AM PDT

กองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบ MIG-29 ข่มขวัญกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ขณะที่การสู้รบสองฝ่ายตลอดช่วง 3-4 วันเป็นไปอย่างดุเดือด ฝ่ายทหารพม่ามีการเสริมกำลังและเกณฑ์ลูกหาบต่อเนื่อง

ทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ในพื้นที่สู้รบ "ดอยน้ำปุ๊ก" ในรัฐฉาน (ที่มา: SSPP/SSA / สำนักข่าวฉาน)

มีรายงานว่า บ่ายวานนี้ (13 ก.ค.) กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้ส่งเครื่องบินรบไปบินวนเวียนเหนือพื้นที่เมืองเกซี เมืองไหย๋ และเมืองสี่ป้อ ในรัฐฉานภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' (SSPP/SSA) และเป็นพื้นที่ที่กำลังมีการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างทหารพม่ากับทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" โดยไปบินวน 3 ครั้ง เมื่อเวลา 14.00 น. 1 ครั้ง เวลา 15.00 น. 1 ครั้ง และ เวลา 16.00 น. อีก 1 ครั้ง

ขณะที่เจ้าหน้าที่กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' คนหนึ่งเปิดเผยว่า เครื่องบินรบกองทัพพม่าชนิด MIG-29 ผลิตในรัสเซียจำนวน 2 ลำ ไปบินวนใกล้กับจุดที่กำลังมีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" บริเวณดอยน้ำปุ๊ก ทิศเหนือบ้านไฮ ในเขตเมืองเกซี เมื่อช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. โดยเครื่องบินรบ 2 ลำใช้เวลาบินวนอยู่นานประมาณ 30 นาทีก่อนบินกลับฐานทัพที่เมืองน้ำจาง ในรัฐฉานภาคใต้ ซึ่งไม่ได้มีการโจมตีหรือทิ้งระเบิดใส่ฐานกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' คนเดิมเผยว่า นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบไปบินเหนือพื้นที่เคลื่อนไหวกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" นับตั้งแต่เกิดการสู้รบของทหารพม่าและกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North'ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่ากองทัพพม่าต้องการข่มขวัญกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ทหารพม่าในพื้นที่

ขณะที่มีรายงานว่า การสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 12 ก.ค. มาจนถึงปัจจุบัน ได้เกิดการสู้รบของทหารทั้งสองฝ่ายอย่างหนักและเกิดขึ้นหลายจุดในเขตพื้นที่เมืองเกซี โดยทหาร SSA 'North' บุกยึดฐานทหารพม่าที่น้ำปุ๊ก ขณะที่ทหารพม่าระดมกำลังเข้าโจมตีฐาน SSA 'North' ที่ดอยไก่เผือก ซึ่งล่าสุดยังไม่มีรายงานตัวเลขการสูญเสียของทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' นำโดย ร.ท.จายจิ่ง สังกัดกองพันที่ 187 กองพลน้อยที่ 27 ปะทะกับทหารพม่าใกล้กับดอยน้ำปุ๊ก เขตเมืองเกซี ผลฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 5 นาย เป็นนายทหารยศ ร.อ. 1 นาย ส.อ. 1 นาย และพลทหาร 3 นาย ต่อมาในช่วงดึกวันเดียวกัน ทหาร SSA 'North' บุกเข้าโจมตีฐานทหารพม่าที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านป่าคาใส ตำบลหนองแอ๊ด เขตเมืองสู้ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันนานกว่า 30 นาที แต่ไม่มีรายงานการสูญเสียเช่นกั

ล่าสุดมีรายงานว่า ทหารพม่าได้เสริมกำลังจากหลายกองพันเข้าไปพื้นที่น้ำปุ๊ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังมีการสู้รบกันอย่างหนัก โดยกำลังทหารพม่าถูกส่งมาจากกองพันทหารราบเบาที่ 510, 518, 519 และกองพันทหารราบที่ 510 จากเมืองกึ๋ง และกองพันทหารราบที่ 67, 22 จากเมืองเกซี โดยขณะนี้ทหารพม่าได้ออกตระเวนเกณฑ์รถยนต์ชาวบ้าน และลูกหาบ สำหรับใช้ลำเลียงเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าพื้นที่สู้รบอย่างต่อเนื่อง

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบพยานคดี 2 เยาวชนผู้ต้องหาเผาเซ็นทรัลเวิลด์

Posted: 15 Jul 2011 11:00 AM PDT

 
 
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.54 เวลา 9.00 -16.30 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ออกนั่งพิจารณาคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 1682/2553 ระหว่าง พนักงานอัยการฯ กอง 4 โจทก์ กับนายอัตพล วรรณโต จำเลยที่ 1 นายภาสกร ไชยสีเทา จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 จำเลยทั้งสอง ร่วมกันวางเพลิงเผา เซ็นทรัลเวิลด์ จนเป็นเหตุให้นาย กิติพงษ์ สมสุข ซึ่งอยู่ในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ถึงแก่ความตาย

ในวันช่วงเช้า พนักงานอัยการได้นำนายเด่นอาชา  รักษาคุณ ซึ่งเป็นพนักงานตำแหน่งช่างไฟฟ้า ของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มาเบิกความเป็นพยานว่า ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อประมาณวันที่ 15-16 พ.ค. 2553 พยานได้พบเห็นชายอายุประมาณ 30 -40 ปี ในช่วงเวลาประมาณ 4 ทุ่มที่ ลานจอดรถชั้น บี 1 แต่งตัวใส่กางเกงยีนส์และเสื้อยืดธรรมดา ไม่ได้ปิดบังใบหน้า ได้นำขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งที่ปากขวดไม่มีฝาปิด แต่มีพลาสติกปิดไว้ที่ปากขวด  มายื่นให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งนั่งพักผ่อนภายใน บริเวณลานจอดรถ ชั้น บี 1 ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ จำนวน 2 ขวด  แต่พยานไม่ทราบว่าภายในขวดเครื่องดื่มชูกำลังนั้นจะบรรจุอะไรไว้ในขวด และนายเด่นอาชา ได้เบิกความว่า ตนเองไม่เคยพบเห็นจำเลยทั้งสองมาก่อน

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้ พนักงานอัยการโจทก์ ได้นำตัวนาย อานนท์ เข็มเพ็ชร ซึ่งเป็นพนักงานควบคุมกล้องวงจรปิด (cctv )ของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มาเบิกความโดยมีการเปิดซีดีประกอบด้วย  ซึ่งซีดีนี้บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดของห้างฯ ซึ่งในกล้องวงจรปิดของห้างปรากฏว่า ไม่มีภาพของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด และนอกจากนี้ นายอานนท์ ได้เบิกความว่า คืนวันที่ 18 พ.ค.2553 ตนได้รับทราบจากหัวหน้าของตนว่า ผู้บริหารของห้างให้เตรียมตัวในการดับเพลิง เนื่องจากได้ยินข่าวจากผู้ชุมนุมว่าจะมีการวางเพลิงเผาห้างเซ็นทรัล โดยได้รับทราบข่าวนี้จากทางวิทยุสื่อสารของห้าง และในกล้องซีซีทีวีของห้างฯมีชายบุกเข้าไปในห้างฯ ฝั่งประตูห้างเซ็น ถนนพระราม 1 โดยใช้ถังแก๊สจุดให้ลุกไหม้ในบริเวณแผนกเครื่องสำอาง  และขณะที่มีการลุกไหม้ฝั่งเซ็นทาวเวอร์ ในส่วนอื่นๆของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ก็มีการลุกไหม้ในเวลาไล่เลี่ยกัน

 
ศาลนัดไปเลื่อนสืบพยานโจทก์ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 เวลา 9.00 -16.30 ต่อไป
 
ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าวมีผู้ต้องหาอีก 2 รายที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คือ นายสายชล แพบัว อายุ 29 ปี ชาว จ.ชัยนาท และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 27 ปี ชาว จ.ชัยภูมิ โดยได้มีการสืบพยานโจทก์จำเลยไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ศาลอาญาใต้ ในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือนที่เก็บสินค้า จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ อาคารเซ็นทาวเวอร์และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ตั้งอยู่แยกราชประสงค์
 
โดยในการสืบพยานจำเลยทั้งสองในวันที่ 12 ก.ค. อัยการได้นำเจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการกล้องวงจรปิด CCTV  ซึ่งอยู่ชั้นใต้ดิน ของ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เบิกความเป็นพยาน พร้อมกับนำพยานวัตถุ ซึ่งเป็นภาพที่บันทึกได้จากกล้อง CCTV รวม 6  จุดภายในอาคาร มานำสืบประกอบด้วย
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำห้อง  CCTV ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับภาพที่ปรากฏในกล้อง CCTV  ระบุว่าจะมีชายฉกรรจ์ที่มีผ้าปิดบังใบหน้า ประมาณ 10-20  คน ซึ่งบางคนมีผ้าพันคอสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ด้วย เข้ามาอยู่ภายในอาคาร และพยายามที่จะหาเชื้อเพลิง มาวางเพลิง โดยช่วงเกิดเหตุเจ้าหน้าที่พยายามที่จะเจรจาด้วยแต่ไม่เป็นผลจนเกิดเพลิงไหม้ครั้งแรกซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามเข้าระงับเหตุแล้ว แต่กลุ่มชายฉกรรจ์พยายามวางเพลิงอีกรอบสอง โดยเมื่อเหตุเริ่มลุกลามขึ้นพนักงานทั้งหมดต่างลงมาที่ลานจอดรถชั้น 1 ของอาคาร อย่างไรก็ดีเมื่อเสร็จสิ้นการเบิกความของพยานปากนี้แล้ว ศาลได้นัดสืบพยานปากต่อไปอีกครั้ง
 
คดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2553 ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุมกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยพวกจำเลยได้เข้าไปในบริเวณอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วใช้กำลังทำลายบานกระจกผนังอาคาร บานกระจกประตู อาคารเซ็นทาวเวอร์ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณห้างสรรพสินค้าดังกล่าวจนแตกเสียหายและยังเป็นการกีดขวางการจราจร ขัดขวางต่อการประกอบกิจการของห้าง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน
 
นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองกับพวก ยังได้ร่วมกันเข้าไปภายในบริเวณอาคารเซ็นทาวเวอร์และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นทรัพย์โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วพวกจำเลยได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ เผาอาคารเซ็นทาวเวอร์และไฟไหม้เผาทรัพย์สินต่างๆของผู้เสียหายที่ 1 ถึงผู้เสียหายที่ 270 รวมค่าเสียหายจำนวน 8,890,578,649.61 บาท และยังเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์หรือกิตติพงษ์ สมสุขที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าวถึงแก่ความตาย  เหตุเกิดที่แขวง- เขตปทุมวัน กทม.
 
 
 
ที่มาบางส่วน: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปฐมเทศนากับ “วิถีจริยธรรมแบบพุทธ”

Posted: 15 Jul 2011 10:31 AM PDT

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา แทนที่จะถามกันว่าชาวพุทธนิยมทำบุญ สวดมนต์มากขึ้นหรือน้อยลง ควรฟื้นฟูการสวดมนต์หน้าเสาธงหรือไม่ เราควรจะทบทวนหน่อยไหมว่าเทศนาครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าแสดงในวันนี้นั้น เป็นการวางระบบ “วิถีจริยธรรมแบบพุทธ” อย่างไร
 
เป็นที่เข้าใจกันว่า พระพุทธเจ้าวิพากษ์วิถีจริยธรรม 2 แนวทางว่า เป็น “ทางสุดโต่ง” ไปคนละด้าน กล่าวคือ
 
1) สุดโต่งในทางตอบสนองความต้องการ ทางวัตถุ ทางเนื้อหนังร่างกายโดยถือว่า เมื่อตอบสนองความต้องดังกล่าวอย่างเต็มที่จะทำให้บรรลุนิพพาน แต่พระพุทธองค์วิจารณ์วิถีชีวิตเช่นนี้ว่า เป็น “กามสุขัลลิกานุโยค” หรือเป็นการหมกมุ่นปรนเปรอความต้องการของอัตตามากไป ไม่อาจทำให้พ้นทุกข์ได้
 
2) สุดโต่งในทางเผด็จการกับชีวิตของตนเองมากไป ด้วยการคิดว่าเนื้อหนังร่างกายเป็นบ่อเกิดของกิเลสตัณหา ดังนั้น ต้องทรมานให้ร่างกายได้รับความลำบากจนถึงที่สุดจึงจะทำให้พ้นทุกข์ได้ แต่พระพุทธเจ้าวิจารณ์ว่า แนวทางดังกล่าวเป็น “อัตตกิลมถานุโยค” คือ การทำตัวเองให้ทุกข์ทรมานเปล่า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์
 
แล้วพระองค์ก็เสนอทางสายกลางที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แต่ว่าคำว่า “กลาง” ไม่ใช่ผลของการคำนวณการลดสัดส่วนของทางสุดโต่งสองทางนั้นแล้วสรุปว่า “กลาง” คืออย่างนี้ แต่ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าเสนอมีความหมายจำเพาะว่า เป็น “วิถีจริยธรรมแบบพุทธที่สัมพันธ์กับทุกข์ สาเหตุของทุกข์ และความดับทุกข์ ด้วยปัญญา ศีล และสมาธิ”
 
พูดอีกอย่างว่าทางสายกลางคือองค์ประกอบหนึ่งของอริยสัจสี่ ฉะนั้น เราไม่สามารถพูดถึงทางสายกลางที่ไม่สัมพันธ์กับความเข้าใจทุกข์ สาเหตุของทุกข์ และความดับทุกข์ได้เลย
 
หมายความว่าที่เทศนากันว่า สังคมแบ่งเป็นเหลืองเป็นแดง ทางสายกลางแบบพุทธก็คือ “ความเป็นกลาง” ไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง อาจไม่ใช่ “ทางสายกลาง” เพราะความเป็นกลางที่คุณพูดถึงมันอาจไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความเข้าใจทุกข์ สาเหตุของทุกข์ และความดับทุกข์
 
ในทางตรงข้าม การเลือกข้างก็เป็นทางสายกลางได้ ถ้าเป็นการเลือกด้วยความเข้าใจว่าทุกข์ของสังคมคืออะไร สาเหตุที่แท้จริงของทุกข์คืออะไร และความดับทุกข์นั้นคืออะไร
 
เช่นรู้ว่าทุกข์ของสังคมคือความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกรัฐบาลมาแล้ว รัฐบาลที่ประชาชนเลือกจำเป็นต้องฟังเสียงข้างน้อยของเหล่าอภิสิทธิชนในประเทศ มากกว่าที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และสาเหตุของทุกข์คือโครงสร้างอำนาจที่กดทับอำนาจของประชาชนอยู่ยังไม่ถูกแก้ไข ความดับทุกข์ก็คืออำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ รัฐบาลสามารถทำงานตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง และทางดับทุกข์ก็คือการแก้ไขโครงสร้างอำนาจกดทับที่เป็นปัญหานั้น พร้อมกับเพิ่มอำนาจ เพิ่มช่องทางการตรวจสอบแก่ประชาชน เป็นต้น หากชัดเจนว่าการแบ่งฝ่ายทางการเมืองมีฝ่ายหนึ่งยืนยันแนวทางเช่นนี้ การเลือกข้างที่ยืนยันแนวทางนี้ก็ยังถือว่าเดินสายกลาง
 
ส่วนเป็นกลางที่ไม่เลือกข้าง หรือที่อ้าง “ธรรมะ” ลอยๆ โดยไม่ตอบโจทย์ความดับทุกข์ใดๆ นั้น ไม่ใช่ใช่ทางสายกลาง
 
ที่พูดนี่ผม “ตีความ” นะครับ ถ้าว่ากันตามตัวอักษรจริงๆ ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าพูดถึงในปฐมเทศนา คือทางดับทุกข์ของปัจเจกบุคคล เพราะจริงๆ แล้ว หากความทุกข์มับดับได้จริง หรือหายทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้จริง มันก็น่าจะเป็นไปได้เฉพาะทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ทุกข์ทางสังคม เช่น ความขัดแย้ง ความรุนแรง ความไม่เป็นธรรม ฯลฯ คงไม่มีวันดับได้อย่างสิ้นเชิง โลกที่สมบูรณ์แบบอย่าง “โลกพระศรีอาริย์” คงมีในความฝันเท่านั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะลดทุกข์ หรือปัญหาต่างๆ ทางสังคมให้น้อยลง หรือทำอย่างไรที่แม้ว่าสังคมจะยังมีปัญหาต่างๆ อยู่ต่อไป แต่เราก็มีระบบการจัดการปัญหาต่างๆ นั้น ภายใต้ระบบความยุติธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของหลักเสรีภาพและความเสมอภาคให้มากที่สุด
 
อย่างไรก็ตาม แม้ทางสายกลาง หรือ “วิถีจริยธรรมแบบพุทธ” จะเป็นวิถีที่มุ่งดับทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล แต่เมื่อพิจารณาดู “เนื้อหา” ของทางสายกลางก็มีมิติที่เกี่ยวข้องกับสังคมอยู่ด้วย เพราะเนื้อหาของทางสายกลางประกอบด้วยการฝึกฝนปัญญา (ปัญญาสิกขา) การฝึกฝนศีล (สีลสิกขา) และการฝึกฝนจิต (จิตสิกขา)
 
การฝึกฝนปัญญา คือการเรียนรู้เพื่อให้มีความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือเห็นความจริงตามที่มันเป็น และเห็นถูกต้องว่าครรลองหรือหลักการที่ควรจะเป็นคืออะไร (สมมาทิฐิ) เมื่อเห็นความจริงและครรลองที่ควรจะเป็น ก็ทำให้เกิดความคิดถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ)
 
จะเห็นว่าปัญญาในส่วนที่เป็นสัมมาทิฐิสัมพันธ์กับสิ่งสำคัญสองส่วน คือ 1) ความจริงระดับพื้นฐาน เช่น อริยสัจสี่ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ 5 ฯลฯ 2) ความจริงทางศีลธรรมที่เรียกว่าเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ความจริงอย่างตามข้อ 2) ที่ปัญญาในความหมายของ “สัมมาทิฐิ” เข้ามาเกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องทางสังคมแล้ว คือเป็นเรื่องสังคมควรอยู่ร่วมกันด้วยครรลองที่เป็นธรรมอย่างไร
 
เมื่อมีสัมมาทิฐิเห็นความจริงพื้นฐาน (คือความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของโลกและชีวิต) และความจริงทางศีลธรรม หรือความจริงที่ว่าสังคมควรอยู่ร่วมกันด้วยครรลองทางศีลธรรมอย่างไรแล้ว ก็ทำให้เกิดปัญญาในความหมายที่สองที่เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ คือความคิดถูกต้องหมายถึงความคิดที่มุ่งอิสรภาพ คิดไม่พยาบาทเบียดเบียน มีเมตตากรุณา
 
ฉะนั้น เมื่อพูดถึง “ปัญญา” ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฐิและสัมมาสังกัปปะ แม้ปัญญาจะเป็นคุณสมบัติเฉพาะของปัจเจก แต่ความหมายของมันก็ครอบคลุมถึงการเข้าใจธรรมชาติพื้นฐานของโลกและชีวิต เข้าใจครรลองทางศีลธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งมีความรู้สึกนึกคิดไปในทางรักอิสรภาพจากพันธนาการต่างๆ และมีเมตตากรุณา
 
ฉะนั้น องค์ประกอบของทางสายกลางที่เรียกว่า “ปัญญา” จึงเชื่อมโยงมิติเชิงปัจเจกและมิติทางสังคมเข้าด้วยกัน คือเข้าใจทั้งคุณค่าชีวิตเชิงปัจเจก และคุณค่าเชิงระบบที่พึงประสงค์ของสังคม จึงจะถือได้ว่าความเข้าใจนั้นเป็นการเกิด “ปัญญา”
 
ส่วนการฝึกฝนเรื่องศีลที่ประกอบด้วยการใช้วาจาที่ถูกต้อง (สัมมาวาจา) การกระทำที่ถูกต้องไม่เบียดเบียน (สัมมากัมมันตะ) การเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ (สัมมาอาชีวะ) ก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นหลักการพื้นฐานว่า ขั้นต่ำสุดมนุษย์ควรจะอยู่ร่วมกันด้วยความซื่อสัตย์ การไม่เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัว และการมีอาชีพสุจริต
 
และการฝึกฝนจิตที่ประกอบด้วย ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ) ความมีสติ (สัมมาสติ) และความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) ก็เป็นเรื่องความมุ่งมั่น ความสงบ ความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งปัจเจกแต่ละคนควรจะมี
 
ฉะนั้น วิถีจริยธรรมแบบพุทธตามนัยปฐมเทศนา แม้จะมุ่งไปที่เป้าหมายคือความดับทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล แต่กระบวนการดำเนินชีวิตทางจริยธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ตัดขาดจากการทำความเข้าใจมิติทางสังคม หรือการให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันทางสังคมที่ควรจะมีครรลองหรือหลักการที่ดี ที่ยุติธรรม ไม่กดขี่เบียดเบียน หรือระบบซึ่งเอื้อต่ออิสรภาพ เมตตากรุณาหรือภราดรภาพทางสังคม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดตัว WeWatch วารสารภาพเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 15 Jul 2011 10:04 AM PDT

เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ (DSP) รวมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และมูลนิธิซาซากาว่า ประเทศญี่ปุ่น จัดโครงการบันทึกภาพชายแดนใต้ 2554 : ความจริงที่ถูกมองผ่าน พร้อมเปิดตัววารสารภาพ WeWatch ฉบับแรกภายใต้ชื่อ ‘In Between ; Restive South’ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ร้านกาแฟคอฟฟี่เมคเกอร์เยื้องห้างโคลีเซียม อ.เมือง จ.ยะลา มีช่างภาพทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น เข้าร่วมกว่า 70 คน

หลังการเปิดตัววารสารดังกล่าว มีกิจกรรมให้ช่างภาพผู้เข้าร่วมเดินลงพื้นที่ถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ภายในตัวเมืองยะลา ส่วนใหญ่เดินถ่ายภาพบริเวณถนนยะลาสายกลาง สถานีรถไฟยะลา

ระหว่างการลงพื้นที่ภาพมืออาชีพได้แนะนำเทคนิคในการถ่ายภาพให้ช่างภาพมือสมัครเล่น และผู้สนใจทั่วไป

นายปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ กล่าวระหว่างแถลงเปิดตัววารสารภาพ WeWatch ว่า เครือข่ายภาพชายแดนใต้ เป็นการร่วมกลุ่มของนักถ่ายภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นช่างภาพสื่อมวลชน ช่างภาพสื่อทางเลือก ช่างภาพอิสระ ช่างภาพอาสาสมัคร รวมถึงช่างภาพสมัครเล่น

นายปิยศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายภาพชายแดนใต้ เชื่อว่า “ภาพถ่าย” จะสามารถสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา และจะเป็น เครื่องมือที่ทรงพลัง ในการกระตุ้นหรือชักชวนสังคมให้เกิดการสนทนาถึงแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงความต้องการของทุกฝ่ายโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ 

นายปิยศักดิ์ เปิดเผยว่า เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ จึงร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังชายแดนใต้และมูลนิธิซาซากาว่า ประเทศญี่ปุ่น จึงได้เตรียมจัดงานมหกรรมภาพถ่ายชายแดนใต้ขึ้น ในช่วงปลายปี 2554 นี้ โดยกิจกรรมเริ่มต้นจากการตระเวนบันทึกภาพวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554

นายปิยศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า การตระเวนบันทึกภาพดังกล่าว เพื่อรวบรวมผลงานภาพถ่ายมาจัดแสดงนิทรรศการ และคัดสรรภาพมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่เป็นหนังสือภาพต่อสาธารณะในวงกว้างต่อไป

นายปิยศักดิ์ กล่าวว่า กว่า 7-8 ปีที่ความรุนแรงถาโถมทั่วจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวได้ว่าไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แม้กลายเป็นความชาชินของผู้คนที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยง และบรรยากาศการระแวดระวังภัยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่งคง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นยอมส่งผลต่อวิถีชีวิตและความรู้สึก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ร่องรอยของความสูญเสียทั่งต่อชีวิตและทรัพย์สินยังคงปรากฏให้เห็น ความหวาดกลัวระแวงยังคงซ่อนเร้นอยู่ในแววตา

นายปิยศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่สังคมนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ ยังคงรับรู้ความเป็นไปของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านภาพความรุนแรง หรือไม่ภาพเชิงวัฒนธรรมที่ถูกขับเน้นขึ้น เพื่อจะลดทอนบรรยากาศความไม่ปกติ ส่งผลให้ภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่ดำรงอยู่ตามความเป็นจริงในมิติต่างๆ เช่น เชิงสังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตหรืออื่นๆ มักถูกมองผ่าน

นางสาวตติกานต์ เดชชพงศ บรรณาธิการวารสารภาพ WeWatch เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ที่จัดทำวารสารฉบับนี้ เพื่อต้องการถ่วงดุลการนำเสนอภาพของสื่อกระแสหลัก ที่มักเป็นภาพที่แสดงถึงเหตุการณ์ไม่สงบหรือความรุนแรงรายวัน มากกว่าแง่มุมอื่นๆ วารสารฉบับนี้ จึงเป็นพื้นที่นำเสนอภาพในมุมอื่นๆ ที่ยังไม่เคยนำเสนอ

นางสาวตติกานต์ เปิดเผยอีกว่า ภาพและเนื้อหาโดยรวมของวารสารภาพ WeWatch มีหลายแง่มุม เช่น การช่วยเหลือหรือการจัดการกันเองภายในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นแง่มุมที่คนภายนอกอาจจะไม่ค่อยเห็น

นางสาวตติกานต์ เปิดเผยอีกว่า กลุ่มเป้าหมายผู้อ่านวารสารภาพ WeWatch คือ ทั้งคนในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อในส่วนกลาง นักวิชาการ หรือชาวต่างชาติ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่ยังไม่ได้สามารถเข้าถึงประเด็นดังกล่าวได้

นางสาวตติกานต์ เปิดเผยต่อไปว่า วารสารภาพ WeWatch จัดพิมพ์ 1,000 เล่ม ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ดูแลและจัดการเผยแพร่ให้ประชาชนที่สนใจ โดยพิมพ์ 2 ภาษาในเล่มเดียวกัน คือ ภาษาอังกฤษกับภาษาไทย เพื่อต้องการสื่อการกับคนในวงกว้าง มากกว่าแค่ในประเทศ ต่อไปอาจมี 3 ภาษา แต่ไม่ได้ระบุว่าฉบับต่อไปจะจัดพิมพ์อีกเมื่อไหร่ แต่อาจจะออกตามกิจกรรม

นายฟูอัด แวสะแม ช่างภาพอิสระจากกลุ่มซี้ด จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การใช้ภาพสันติภาพแทนความรุนแรงและความขัดแย้งในสื่อกระแสหลักนั้น ทำได้ยากมาก เนื่องจากสื่อกระแสหลัก มักจะกำหนดลักษณะภาพที่ควรจะเป็นภาพข่าว หรือภาพอะไรก็ตามที่อยู่ในกระแสความสนใจของคน

นายฟูอัด กล่าวต่อไปว่า ภาพวิถีชีวิตต่างๆ ก็เป็นภาพสันติภาพได้เช่นกัน เพราะภาพเหล่านั้น แสดงให้เห็นอัตลักษณ์และความเป็นอยู่ของพื้นที่ที่มีความเรียบง่ายและเป็นภาพที่เชิงสร้างสรรค์อีกด้วย

นายฟูอัด เปิดเผยว่า ลักษณะภาพถ่ายของกลุ่มซี้ด เน้นนำเสนอภาพแสดงให้เห็นความสวยงามให้มากที่สุด การนำเสนอข่าว ควรเป็นรูปแบบรายงานพิเศษเชิงข่าวที่เป็นในเชิงสร้างสรรค์ออกไปให้มากๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างการนำเสนอภาพที่รุนแรงของสื่อกระแสหลักและการนำเสนอภาพแห่งสันติภาพของสื่อทางเลือก

นายฟูอัด เปิดเผยอีกว่า การถ่ายภาพที่สวยงามตามนิยามของกลุ่มซี้ด คือ การถ่ายโดยเน้นการวางองค์ประกอบของภาพ การจัดแสงของภาพ เช่น การถ่ายภาพอาคาร ภาพคน หรือภาพพระอาทิตย์ตกดิน ในขณะที่กลุ่มอื่นจะเน้นถ่ายภาพข่าว หรือภาพกิจกรรม ซึ่งเมื่อกลุ่มเหล่านี้รวมตัวกันก็จะเกิดภาพที่สร้างสรรค์สังคมขึ้น

นายฟูอัด กล่าวอีกว่า แม้ในทางจิตวิทยา ภาพถ่ายสันติภาพจะช่วยเยียวยาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง หากใช้สื่อสังคมออนไลน์(social network)หรือสื่อทางเลือกอื่นๆ นำเสนอภาพดีๆเหล่านี้ ก็อาจจะช่วยให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้มาก และสักวันหนึ่ง ภาพแห่งสันติภาพเหล่านี้ อาจจะไปแทนที่ภาพความขัดแย้งและความรุนแรงในสื่อกระแสหลักได้

นายสุรพันธ์ บุญถนอม ช่างภาพข่าว จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กล่าวในวารสารภาพ WeWatch ‘In Between ; Restive South’ ว่า ช่างภาพต้องมีความคิดเป็นของตัวเองในถ่ายภาพ อย่าให้ใครชี้นำ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือแหล่งข่าว

“สมมติว่า เราไม่ได้เป็นช่างภาพในพื้นที่ เมื่อไปหาเจ้าหน้าที่ เขาก็จะพาเราไป ที่เกิดเหตุหรือสถานที่บางแห่ง แล้วบอกให้เราถ่ายภาพตามที่เขาบอก ซึ่งเราไม่รู้ว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร ตรงนี้จะทำให้เราไม่ปลอดภัย เราจะสูญเสียความเป็นกลางไป เพราะการนำเสนอภาพบางภาพ มันก็ฟ้องว่า คนถ่ายภาพนี้คิดอย่างไร คนดูภาพรู้ว่าเราคิดอย่างไร ต้องการสะท้อนอะไรให้เขารู้” นายสุรพันธ์ กล่าว

นายสุรพันธ์ กล่าวอีกว่า ต้องทำบทบาทช่างภาพให้ชัดขึ้น เพราะตอนนี้สื่อมวลชนภาคใต้ถูกมองว่า ไม่ได้ช่วยสถานการณ์ให้ดีขึ้น ชาวบ้านอยากเห็นว่า สื่อจะช่วยชาวบ้านได้อย่างไร

“พวกเราต้องสร้างให้มีสีสันออกมาจากหมู่บ้าน ให้เห็นรอยยิ้มของคนที่มีความเครียดในพื้นที่ เอามันออกมาให้ได้ วัตถุประสงค์หลัก คือ ให้ได้ประโยชน์กับเขา สร้างความประทับใจให้เขา สร้างรอยยิ้มให้เขา” นายสุรพันธ์ กล่าว

วารสารภาพ WeWatch ฉบับแรกภายใต้ชื่อ ‘In Between ; Restive South’ เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ (DSP)

เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ (DSP) ที่เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัววารสารภาพWeWatch ฉบับแรก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชงกรรมการสิทธิฯ เลิกด่านใหม่สะเดา ฟันธงละเมิดชุมชนยันต้องแจก ส.ป.ก.

Posted: 15 Jul 2011 09:55 AM PDT

กสม. ลุยตรวจสอบโครงการ ‘ด่านใหม่สะเดา’ เผย ‘ศอ.บต.’ เล่นกล ขอหน่วยงานเกี่ยวข้องชะลอแจกเอกสาร ส.ป.ก. 4–1 ชาวบ้านยันไม่รับค่าชดเชย แนะพื้นที่ “ทับโกบ” เหมาะตั้งด่าน ‘อัยการ’ ชงกรรมการสิทธิฯ เสนอรัฐบาลยกเลิกโครงการฯ

ด่านสะเดา – นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานรับฟังคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ก่อนเสนอให้ยกเลิกโครงการฯ ดังกล่าว

เมื่อวันที่  14 กรกฏาคม 2554  ที่ห้องประชุมชั้น 4  สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า เป็นประธานการประชุมรับฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีชาวบ้านร่วมรับฟังประมาณ 80 คน

นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) จังหวัดสงขลาชี้แจงว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  (ศอ.บต.) ได้แจ้งให้ทางจังหวัดสงขลาชะลอการแจกเอกสารการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4–01) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะนำมาก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่า เกรงจะทำให้การเจรจาขอให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ยุ่งยากยิ่งขึ้น

นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาการก่อสร้างด่านศุลกากร จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ต้องการค่าชดเชยต้นยางพาราต้นละ 1,500 บาท ตามที่ทางคณะกรรมการเจรจาจ่ายค่าอาสินโครงการด่านสะเดาแห่งใหม่เสนอ โดยชาวบ้านบ้างก็เสนอค่าชดเชยต้นยางพาราต้นละ 4,000 บาทต่อ 1 ต้น บางคนต้องการที่ดินแห่งใหม่ที่มีจำนวนที่ดินเท่าเดิม ซึ่งตนกจะนำเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

นางชุลีกร ดิษโสภา หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายชุมชนชาวสวนยางด่านนอก กล่าวว่า ชาวบ้านทุกคนไม่ต้องการค่าชดเชยใดๆ ไม่ว่าจะราคาสูงขนาดไหนก็ตาม เพราะต้องการเก็บที่ดินที่ทำกินกันมา 60–70 ปี ไว้ให้ลูกหลาน ไม่ต้องการให้เกิดโครงการด่านศุลกากร ตรงบริเวณชุมชนและสวนยางพาราของชาวบ้าน

“ทางประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาเคยพูดว่า ถ้าสร้างด่านแห่งใหม่ที่ทับโกบ อำเภอสะเดา น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า อีกทั้งยังมีหนังสือแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียว่า มาเลเซียไม่มีนโยบายสร้างด่าน ตรงข้ามบริเวณสวนยางของเรา”  นางชุลีกร กล่าว

นายอาทิตย์ วิสุทธิสมาจารย์ ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรสะเดา ในฐานะตัวแทนด่านศุลกากรสะเดา ชี้แจงว่า  หนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียดังกล่าว เป็นหนังสือที่ออมาตั้งแต่ปี 2552 ข้อมูลล่าสุดทางมาเลเซียมีโครงการจะสร้างด่านแห่งใหม่ในบริเวณฝั่งตรงกันข้ามกับด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้จัดงบประมาณก่อสร้างลงมา

นายชนะ บุษบงค์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด รับผิดชอบงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฏหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยกับชาวบ้าน เสนอว่า ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมา นายนพดล สองเมือง นายอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้ให้ตนเจรจากับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยอมเจรจา หาทางออกไม่ได้ เพราะชาวบ้านยืนยันที่จะคัดค้านโครงการฯ ไม่ยอมต่อรองรับค่าชดเชย”  นายชนะ กล่าว

นายแพทย์นิรันดร์ สรุปมติของอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ชาวบ้านได้อาศัยทำกินอยู่ในที่ดินแปลงนี้มาหลายชั่วอายุคน จึงไม่ได้มีเฉพาะที่ดินและสวนยางพารา แต่มีที่อยู่อาศัยอยู่ด้วย ชาวบ้านมีสิทธิอันชอบธรรมในการได้รับการแจกส.ป.ก. 4–01 การดำเนินโครงการฯ นี้จึงเข้าข่ายละเมิดสิทธิชุมชน ผู้ถูกละเมิดสิทธิสามารถฟ้องศาลปกครองได้

“เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทบทวนไปสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ที่บ้านทับโกบ เพราะที่นั่นกระทบกับชุมชนน้อยมาก อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาก็เห็นว่าเหมาะสม ส่วนกรณีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แจ้งให้จังหวัดสงขลาชะลอการแจกส.ป.ก.4–01 ผมจะเชิญเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มาชี้แจงอีกครั้ง” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว

“เดือนสิงหาคม 2554 นี้ ผมจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ ถ้าจำเป็นผมจะลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงอีกครั้ง” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เยอรมนีแจง การอายัด 'โบอิ้ง 737' เป็น “หนทางสุดท้าย” ในการเร่งรัดหนี้

Posted: 15 Jul 2011 09:47 AM PDT

“วอลเตอร์ บาว” แจง การอายัดเครื่องบินเป็นมาตรการที่จำเป็น “เอพี” ชี้ ปกติเครื่องบินของรัฐบาลจะมีความคุ้มกันทางการฑูต แต่ในกรณีไทยอายัดได้เพราะใช้ส่วนตัว ฝ่ายจนท. เยอรมันเผย ได้เตรียมการอายัดอย่างลับมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว

สืบเนื่องจากการอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นพระราชพาหนะส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้ของบริษัทวอลเตอร์ บาว จากคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีได้รายงานคำพูดของ โรเบิร์ต วิลเฮล์ม โฆษกของสนามบินมิวนิคว่า ในขณะนี้เครื่องบินลำดังกล่าวถูกศาลสั่งอายัดไว้แล้ว ซึ่งในขณะนี้จอดพักอยู่ที่สนามบินมิวนิค และเนื่องจากการที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จมาพำนักที่ประเทศเยอรมนีอย่างบ่อยครั้งนั้น ทำให้พระองค์พลอยตกอยู่ในข้อพิพาททางธุรกิจระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนานไปโดยปริยาย

ทางโฆษกฝ่ายล้มละลายของบริษัทวอลเตอร์ บาว, อเล็กซานเดอร์ โกร์บิง กล่าวว่า “มาตรการที่รุนแรง” ในการอายัดเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยนี้ เป็น “หนทางสุดท้าย” ในการที่จะเร่งรัดเงินค้างชำระ ซึ่งเป็นคำสั่งทางการเงินที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินไว้ในปี 2009

“การตามหาเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นไปอย่างซับซ้อนมาก และแน่นอนว่าต้องทำไปด้วยความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีสัญญาณเตือนหลุดออกไป” แวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายล้มละลายของบริษัทวอลเตอร์ บาว กล่าวในแถลงการณ์

เอพีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ล้มละลายฝ่ายเยอรมนีได้เตรียมการที่จะอายัดเครื่องบินลำดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ยังระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว เครื่องบินของรัฐบาลจะมีสถานะทางการทูต ทำให้โดยส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนืออำนาจศาลจากประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขตามนั้นจะเป็นได้ก็ต่อเมื่อเครื่องบินถูกใช้ในทางการเท่านั้น ซึ่งไม่นับการใช้ในทางส่วนตัว

ทางกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวต่อกรณีดังกล่าวว่า “เราเสียใจสำหรับความขัดข้องที่เกิดขึ้นแก่มกุฎราชกุมาร ที่เกิดขึ้นจากการอายัดดังกล่าว” และมิได้ให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติม

เอพีรายงานว่า เครื่องบินพระราชพาหนะลำดังกล่าว จอดนิ่งอยู่ในลานสนามบินเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และมีรูปที่แสดงถึงคำสั่งศาลที่ระบุว่า “ต่อราชอาณาจักรไทย ที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นผู้แทน” ติดอยู่บนประตูของเครื่องบิน ซึ่งสั่งห้ามไม่ให้มี “การเปลี่ยนแปลง, การนำไปใช้ หรือการลดมูลค่า (ของเครื่องบิน)”

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ลำดังกล่าวซึ่งสร้างขึ้นในปี 1995 น่าจะมีมูลค่าราว 5-6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีที่นั่ง 36 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับเครื่องบินโบอิ้งที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ทั่วไปซึ่งบรรจุที่นั่งราว 189 ที่นั่ง

ทั้งนี้ ชไนเดอร์ ได้กล่าวด้วยว่า เขาได้ใช้วิธีการอายัดเครื่องบินเพื่อเร่งรัดหนี้เช่นนี้มาแล้วในปี 2005 ในกรุงอิสตันบูล โดยได้อายัดเครื่องบินแอร์บัสของสายการบินมิดเดิ้ลอีสต์ เนื่องมาจากข้อพิพาททางการเงินระหว่างบริษัทวอลเตอร์ บาวและรัฐบาลเลบานอน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การประท้วงในมาเลเซียจะยังมาอีกหรือไม่?

Posted: 15 Jul 2011 09:43 AM PDT

ผู้ชุมนุมกลุ่ม Bersih 2.0 เดินขบวนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Simon Roughneen)

กัวลาลัมเปอร์ – การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้ทำให้เดิมพันการเลือกตั้งที่จะมาถึงของมาเลเซียต้องเปลี่ยนไป ในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียยังคงขู่ว่าจะดำเนินการปราบปรามต่อผู้ชุมนุมฝ่ายค้าน

นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ได้แถลงอย่างท้าทายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปการเลือกตั้งด้วยเงื่อนไขของตนเอง โดยกล่าวว่า “เราต้องการให้มาเลเซียและอัมโนเป็นที่เคารพจากประเทศอื่นๆ ในโลก ฉะนั้น จงกลับไปเถอะ เราต้องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และด้วยพระเจ้าอวยพร เราจะประสบความสำเร็จในทำเช่นนั้น”

ท่ามกลางการคาดคะเนถึงการปฏิรูปและการประท้วงของฝ่ายค้านจะมีมาอีก รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ฮิแชม ฮุสเซน กล่าวว่า ตำรวจจะทำการสืบสวนบัญชีทางการเงินของผู้ประท้วง และรัฐบาลยังกล่าวหาผู้ชุมนุมด้วยว่ามีการลักลอบนำอาวุธที่ผิดกฎหมายมาใช้ในการชุมนุม

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนในหลายจุดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ปรากฏว่ามีความวุ่นวาย หรือความพยายามก่อความไม่สงบในกัวลาลัมเปอร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ในวันศุกร์ กัวลาลัมเปอร์ได้กลายเป็นเมืองร้างเนื่องจากมีการปิดถนนโดยตำรวจหลายแห่ง

ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม โดยในบางครั้งก็ไม่มีการเตือนล่วงหน้า ผู้ชุมนุมได้พยายามจะเดินขบวนจากหลายจุดเพื่อไปยังสนามกีฬาเมอร์เดกา ซึ่งเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของการประกาศอิสรภาพของมาเลเซียในปี พ.ศ. 2500 จากการชุมนุมดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน และผู้ชุมนุมอีก 1,667 คนถูกจับในระหว่างการสลายการชุมนุม ในจำนวนนี้ รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภา อันวาร์ อิบราฮิม และแกนนำในการชุมนุม นางอัมพิกา สะรีนาวาซัน แกนนำกลุ่มเบอเซะ 2.0 (Bersih 2.0) ซึ่งเป็นแนวร่วมของเอ็นจีโอ 62 องค์กรที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง โดยมองว่าการเลือกตั้งในปัจจุบันมีการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรครัฐบาลหรือแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan National – BN ) มากเกินไป ทั้งนี้ แนวร่วมแห่งชาติ ได้เป็นรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การประกาศอิสรภาพประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2500

ผู้เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งเป็นเยาวชนสองคน กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังจากที่พวกเขาวิ่งหนีจากแก๊สน้ำตาท่ามกลางความร้อนและสายฝนว่า พวกเขากำลังประท้วงต่อต้านระบบการเลือกตั้งที่มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่รัฐบาล ราชิด อายุ 19 ปี กล่าวถึงรัฐบาลว่า “พวกเขากำลังโกงเราอยู่” ในขณะที่อัซราอิ อายุ 19 ปีเสริมว่า หากไม่มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง เขาจะไม่ไปออกเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป “ระบบมันคอรัปชั่น เลือกไปก็ไม่มีประโยชน์” เขากล่าว

การชุมนุมดังกล่าวไหลทะลักเข้าสู่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ตลอดบ่ายวันเสาร์ ควบคู่กันกับการสลายการชุมนุมของตำรวจด้วยการใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำ  โดยมีความพยายามรวมตัวกันใหม่ของกลุ่มผู้ชุมนุมในหลายๆ จุดบริเวณใจกลางเมือง นายศิวะระศา ราสิอาห์ (Sivarasa Rasiah) สมาชิกสภาฝ่ายค้านและสมาชิกอาวุโสพรรค People’s Justice Party (PJP) ของอันวาร์ อิบราฮิม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อิระวดีว่า ปฏิกิริยาของรัฐบาลต่อการชุมนุม เป็นการแสดงให้เห็นถึงโฉมหน้าอำนาจนิยมที่น่าเกลียดของความเป็นรัฐตำรวจของมาเลเซีย ซึ่งไม่ได้เตรียมตัวมาให้รับมืออย่างอดกลั้น ต่อการชุมนุมที่สันติที่เกิดขึ้นเลย

นักวิชาการมองว่า การสลายการชุมนุมในครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุ และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวนานาชาติของมาเลเซียได้ โดยในปี 2010 พบว่า ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 18 ล้านคนซึ่งมากกว่าประเทศไทยซึ่งมีสถิตินักท่องเที่ยวอยู่ที่ 16 ล้านคน

“มันเกิดอะไรขึ้นที่นี่เนี่ย” นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียที่ปฏิเสธจะให้ชื่อ ถามในขณะที่จ้องมองอย่างงุนงงไปยังผู้ชุมนุม ที่กำลังวิ่งหนีแก๊สน้ำตาบริเวณทางด่วนใกล้กับมัสยิดเนการา

กล่าวกันว่า รัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติหรือ BN ค่อนข้างหวาดหวั่นถึงการประท้วงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและฝ่ายค้าน ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นสาเหตุของปฏิกิริยาที่ตระหนกเกินเหตุต่อการชุมนุมในวันเสาร์ที่ผ่านมา ชุง ปุย ยี (Choong Pui Yee) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนันยางแห่งสิงคโปร์กล่าวว่า ขบวนการเบอเซะ มีต้นกำเนิดมาจากฝ่ายค้าน และค่อนข้างมีผลต่อการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา เราต้องไม่ลืมตำนานและความสัมพันธ์ของการชุมนุมของกลุ่มเบอเซะในปี 2007 ที่ทำให้เกิด “สึนามิทางการเมือง” ซึ่งหมายถึงการที่แนวร่วมแห่งชาติไม่ได้เสียงข้างมากจำนวน 2 ใน 3 ของรัฐสภาเป็นครั้งแรก

ในขณะเดียวกัน ที่ย่านบูกิต บินตัง ตำรวจได้ขัดขวางกลุ่มชุมนุมต่อต้านเบอเซะ นำโดยปีกเยาวชนของพรรคอัมโน (UMNO) พรรคใหญ่ของแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก และประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติ ทั้งนี้ ตำรวจได้พยายามขัดขวางการชุมนุมของกลุ่มเปอร์กาซา (Perkasa) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยม โดยแกนนำกลุ่มดังกล่าว รวมถึงแกนนำของกลุ่มเบอเซะ 2.0 ถูกตำรวจสั่งห้ามไม่ให้เข้ามาชุมนุมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ก่อนหน้านี้ด้วย

เกรก โลเปซ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามสั่งห้ามการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนอัมโน และกลุ่มเปอร์กาซา เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้าง “ความเป็นกลาง” นอกจากนี้เกรก โลเปซ ยังระบุด้วยว่า มีความขัดแย้งภายในระหว่างสมาชิกในแนวร่วมแห่งชาติเนื่องจากนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก พยายามต่อสู้กับความมหาธีร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีและแกนนำของแนวร่วมแห่งชาติผู้ยังคงบารมี ซึ่งพยายามเซาะบ่อนอำนาจของนายราซักในฐานะนายกรัฐมนตรี

ประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศที่ประสบความอ่อนไหวทางด้านเชื้อชาติและศาสนามาตั้งแต่ปี 1969 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์จลาจลทางเชื้อชาติ โดยม็อบผู้ชุมนุมเชื้อชาติมาเลย์ ทำการสังหารชาวจีนกว่า 3,000 คน เนื่องจากมองว่าชาวจีนเหล่านี้ถือครองอำนาจในการทำธุรกิจในบางภาคส่วนมากเกินไป ทั้งนี้แนวร่วมแห่งชาติที่เป็นรัฐบาล และฝ่ายค้านนำโดยอันวาร์ อิบราฮิม ต่างประกอบไปด้วยสมาชิกจากทั้งสามชาติพันธุ์หลักของมาเลเซีย คือ มาเลย์ จีน และอินเดีย อย่างไรก็ตาม เดิมพันทางการเมืองดังกล่าวก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อพรรคอิสลาม PAS ภายใต้ร่มฝ่ายค้านของอันวาร์ อิบราฮิม เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นการตอบโต้ขบวนการชาตินิยมของพรรคอัมโน รวมถึงแนวร่วมที่ขวาจัดมากกว่า เช่น เปอร์กาซา

เช่นเดียวกัน การเรียกร้องให้ปฏิรูปเลือกตั้งเมื่อวันที่เสาร์ที่ผ่านมา เป็นการเรียกร้องจากคนทั้งสามเชื้อชาติที่มารวมกันบนท้องถนน ในขณะที่รัฐบาลอ้างว่าผู้ชุมนุมเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปี 2013 แต่มีการคาดเดาว่าการเลือกตั้งอาจมีขึ้นเร็วกว่านั้น

ความคิดเห็นของผู้อาศัยในกัวลาลัมเปอร์ก็แตกต่างหลากหลายกันไป เกนลี เจ้าของร้านอาหารอินเดีย-มาเลย์ ให้สัมภาษณ์ในย่านปูชง ชานเมืองกัวลาลัมเปอร์ ก่อนที่จะเกิดการชุมนุมว่า รัฐบาลควรจะปล่อยให้ผู้ประท้วงได้ทำการชุมนุมไป และดูเหมือนกับว่า รัฐบาลกำลังกลัวอะไรบางอย่าง

คนขับรถแท็กซี่ เดวิด เทียว ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน กล่าวหลังจากที่การชุมนุมในวันเสาร์สิ้นสุดลงว่า เขาไม่พอใจกับผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย เนื่องจากการปิดถนนเส้นต่างๆ ส่วนใหญ่ของเมือง ทำให้เขาไม่สามารถหารายได้มากนัก ซึ่งปกติแล้วจะมีผู้โดยสารค่อนข้างมากในวันเสาร์ เขาบ่นว่า “มันทำให้ธุรกิจแย่น่ะ” แต่ยอมรับว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน และเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของเบอเซะ แต่ไม่ชอบวิธีที่ทางกลุ่มดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม เกรก โลเปซ กล่าวว่า ในประเทศที่ถูกมองว่ามีวัฒนธรรมทางการเมืองที่จืดชืดเช่นนี้ การพิสูจน์ว่าการชุมนุมในครั้งนี้จะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ยังคงประเมินได้ยากในระยะสั้น โซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ เช่น ทวิตเตอร์ เต็มไปด้วยความคิดเห็นและโพสต์ต่างๆ จากการชุมนุม รวมถึงโปสเตอร์ต่างๆ ที่ไม่แยแสกระแสการเรียกร้องของเบอเซะ 2.0 ในช่วงก่อนวันเสาร์ แต่หลังจากนั้นมาก็เปลี่ยนไปเริ่มสนับสนุน อย่างน้อยก็ในเชิงโวหาร

ชุง ปุย ยี นักวิชาการกล่าวว่า เบอเซะได้กลายเป็นความคิดที่ฝังรากลงไปในหัวจิตหัวใจของชาวมาเลเซียหลายต่อหลายคนไปแล้ว

อูย กี เบง นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษาชี้ว่า การชุมนุมและการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น อาจทำให้ชาวมาเลเซียที่ไม่เคยยินดียินร้ายต่อการเมือง หันมาสนใจในความเป็นไปในเหตุการณ์บ้านเมืองเพิ่มมากขึ้น

เขากล่าวกับอิระวดีว่า “ปฏิกิริยาที่รุนแรงของรัฐบาล และการที่สื่อออกข่าวเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง จะทำให้ผู้คนมากมายรู้สึกไม่พอใจ และจะส่งผลให้ประชาชนคนอื่นๆ หันมาคิดเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยอย่างจริงจังมากขึ้น”

 

ที่มา: แปลจาก
Simon Roughneen,
More Protests to Come in Malaysia?, 11/07/54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์: ชิงปิดคดี "บิ๊ก" ศาลปกครอง ช่วยหรือทำลายกระบวนการยุติธรรม?

Posted: 15 Jul 2011 09:40 AM PDT

นับแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ให้รับเรื่องร้องเรียน อดีตผู้บริหารศาลปกครองสูงสุดและพวกใน 2 กรณีคือ

หนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการเปลี่ยนองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดในการ พิจารณาคดีมิให้นำมติ ครม.นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ซึ่งสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปดำเนินการใดๆ

สอง ถูกกล่าวหา ใช้อำนาจโดยมิชอบในการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 16 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือ ไม่

(คลิกดู ป.ป.ช.หงอศาลปกครองสูงสุด ดองคดีแทรกกระบวนการยุติธรรม)

ปรากฏว่า  เวลาผ่านไปกว่า 7 เดือน การไต่สวนในทั้งสองกรณีไม่มีความคืบหน้าใดๆเพราะ ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ยอมให้เข้ามาตรวจสอบในกรณีดังกล่าวโดยอ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจแทรกแซงการทำงานของตุลาการ

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้เลขาธิการ ป.ป.ช.ทำหนังสือสอบถามข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากสำนักงานศาลปกครอง นอกจาก ดร.หัสวุฒิจะไม่ยอมให้สำนักงานศาลปกครองส่งข้อมูลข้อเท็จจริงให้แก่คณะ กรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ยังนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)หลายครั้งและมี มติให้แต่งตั้งคณะกรรมการขื้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงมีนายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการฯชุดนายวิชัยได้สรุปข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่า ไม่ มีมูลและแจ้งเรื่องให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบซึ่งจะมีการนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณากรณีดังกล่าวว่า จะดำเนินการอย่างไร

แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ

หนึ่ง กรณีการกล่า วหาว่าอดีตผู้บริหารศาลปกครองสูงสุดใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบที่มีกระทบต่อ ความยุติธรรมในการพิจารณาคดี ซึ่งส่งต่อความน่าเชื่อถือของศาลปกครอง

เมื่อผลสอบสวนสรุปว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ควรที่ ดร.หัสวุฒิจะต้องเปิดเผยผลสอบสวนดังกล่าวต่อสาธารณะหรือไม่

สอง ในการสอบสวนดังกล่าว คณะกรรมการได้สอบสวนตุลาการเสียงข้างมากในองค์คณะจำนวน 3 คนคือ นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา และนายธงชัย ลำดับวงศ์ หรือไม่

สาม การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวของ ก.ศป.มีอำนาจเพียงการสอบสวนทางวินัยเท่านั้น(ในกรณีผลการสอบสวนข้อเท็จจริงมีมูล) แต่กรณีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นเรื่องการกระทำผิดในทางอาญา จึงเป็นคนละประเด็นกันหรือไม่

สี่ การที่แต่งตั้ง “คนใน”สอบสวนกันเอง โดยที่อดีตผู้บริหารศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็น “เจ้านาย เก่ายังนั่งค้ำหัวเป็นที่ปรึกษาศาลปกครองอยู่และเดินทางไปทำงานอยู่ทุกวัน เป็นการลูกหน้าปะจมูกหรือไม่ ผลการสอบสวนน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

ด้านคณะกรรมการ ป.ป.ช.เอง เมื่อดูจากกระบวนการแล้วก็ทำแบบกล้าๆกลัวปล่อยให้เรื่องยิดเยื้อมานานกว่า ครึ่งปีโดยไม่ดำเนินการใดๆ ผิดกับบางเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เร่งรัดให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่ข้อกล่าวหาทั้งสองกรณีเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

เพราะถ้าข้อกล่าวหาเป็นจริงเท่ากับเป็นการแทรกแซงและทำลายกระบวนการยุติธรรมโดยผู้บริหารระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมเอง

การปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อแบบซื้อเวลายิ่งทำให้สาธารณะคลางแคลงใจว่า จะมีการช่วยเหลือกันเพื่อปกปิดความผิดหรือไม่

ตรงกันข้าม ถ้ามีการสอบสวนด้วยความโปร่งใสและผลสรุปออกมาว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูลจะทำให้ภาพลักษณ์ของศาลปกครองใสสะอาดหน้าเชื่อถือยิ่ง ขั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุขภาพหรือสุขภาวะเป็นสิทธิของมนุษยชน

Posted: 15 Jul 2011 09:31 AM PDT

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง(มาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐)

แนวความคิดเกี่ยวกับการที่มนุษย์ทุกคนควรมีโอกาสได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น เป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกกล่าวถึงมาโดยตลอด ในปีนี้ ทศวรรษนี้ จะเป็นประเด็นร่วมกันของนานาอารยะประเทศที่จะทำให้ สุขภาพหรือสุขภาวะเป็นสิทธิของมนุษยชน ข่าวเมื่อต้นปี 2553นี้อาจเป็นข่าวเล็กๆ จากการประชุมที่บรัดเซล ประเทศเบลเยียม แต่ก็ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในหมู่ผู้สนใจและศึกษาทางด้านนโยบายสุขภาพนานาชาติ

ในประเทศไทยก็มีข่าวดี ในช่วงนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงนามในหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรี ให้คืนสิทธิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แก่คนไทยไร้สัญชาติ ซึ่งเราคงหวังว่าจะได้รับการตอบสนองจากคณะรัฐมนตรี และจะทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดบริการสุขภาพแก่คนไทยไร้สัญชาติอย่างเสมอภาค มีมาตรฐานเช่นเดียวกับบุคคลสัญชาติไทย ผลเฉพาะหน้าที่ตามมาคือการทำให้โรงพยาบาลชายแดนหรือในพื้นที่ซึ่งมีคนไทยไร้สัญชาติ จะได้จัดบริการอย่างมั่นใจว่าจะได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป

แล้วถ้าสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยมีความพร้อมหรือ?

หากเราย้อนไปพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี ๒๕๔๐และ๒๕๕๐ ทั้งสองฉบับให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญใช้คำว่า บุคคล ในกรณีที่กล่าวอย่างครอบคลุมเช่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง(มาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐) และหากจะเน้นสิทธิบางประการสำหรับเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยก็จะมีการบัญญัติไว้โดยเจาะจง ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญเสมอกัน(มาตรา๕ ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐) ในการระบุถึงบุคคลกลุ่มต่างๆ รัฐธรรมนูญก็บัญญัติแยกไว้อย่างแยบคาย คำว่าบุคคล เป็นคำทั่วไป ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้มีสภาพบุคคลตามกฎหมายต่างๆ และเมื่อต้องการให้มีความจำเพาะ เราก็จะเห็นคำว่า ปวงชนชาวไทย ประชาชนชาวไทย ผู้มีสัญชาติไทย โดยคำว่าบุคคลเป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด นั้นหมายถึงว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยครอบคลุมบุคคลทั้งมวลที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อประสงค์จะมีข้อยกเว้นประเด็นใดก็จะมีการระบุไว้เช่น ระบุว่า “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย” “การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรหรือห้ามมิให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้”

การกล่าวถึงสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ของบุคคลในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยรวมจึงเป็นความหมายถึงบุคคลทั้งหลาย ไม่ได้หมายความเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย และเมื่อประสงค์จะให้จำเพาะเฉพาะคนสัญชาติไทยก็ระบุไว้อย่างชัดเจน ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญเสมอกัน(มาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐) นั้นหมายความว่าบุคคลที่ไม่ใช่ประชาชนชาวไทยอาจจะได้รับความคุ้มครองที่ไม่เท่าเทียมกับบุคคลสัญชาติไทย

สำหรับบุคคลสัญชาติไทยก็อาจมีการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่นการกำหนดอายุหรือคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง สิทธิลงคะแนน และยังมีการกำหนดทั้งในรัฐธรรมนูญหรือในพระราชบัญญัติต่างๆ

ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี ๒๕๔๕ กล่าวถึงบุคคลก็เป็นการใช้คำว่าบุคคลในความหมายที่กว้างเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอยู่หลายตอน เช่น

มาตรา ๕ บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้

 คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

 ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

นอกจากนี้การจะใช้สิทธิ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ดูมาตรา ๖

มาตรา ๖ บุคคลใดประสงค์จะใช้สิทธิตามมาตรา ๕ ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนต่อสำนักงานหรือหน่วยงานที่สำนักงานกำหนดเพื่อเลือกหน่วยบริการเป็นหน่วยบริการประจำ

 การขอลงทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด โดยคำนึงถีงความสะดวกและความจำเป็นของบุคคลเป็นสำคัญ

ปัญหาคือ แล้วใครคือบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้

การตีความเรื่องความหมายของบุคคลจึงเป็นที่มาของปัญหา เพราะมักจะมีการตีความว่าบุคคลคือบุคคลผู้มีสัญชาติไทย เมื่อทบทวนดูพระราชบัญญัติทั้งฉบับและเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ บุคคลในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นบุคคลในความหมายที่กว้างเช่นเดียวกัน คือครอบคลุมบุคคลในราชอาณาจักรไทยทุกคน โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถกำหนดสิทธิของแต่ละกลุ่มบุคคลแตกต่างกันได้ เช่น บุคคลสัญชาติไทย คนไทยไร้สัญชาติ คนต่างด้าว นักท่องเที่ยว กลุ่มอื่นๆ ตามวรรค ๓ ของมาตรา ๕ “ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด”

แล้วปัญหาว่าพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมเฉพาะประชาชนคนไทยที่มีเลข ๑๓ หลักเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

ปัญหาที่มีการตีความว่าหลักประกันสุขภาพจำกัดเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย ด้วยเหตุของการที่บางท่านไปนำหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติมาเป็นคำอธิบาย ซึ่งเป็นที่มาของความคลาดเคลื่อน

ในหมายเหตุตอนต้นกล่าวว่า: “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยมาตรา๕๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้ชนชาวไทย ย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ”

จะเห็นได้ว่าหมายเหตุได้อ้างถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๕๒ ดังกล่าวระบุเรื่องชนชาวไทย ซึ่งมีฐานะเป็นกลุ่มหนึ่งของบุคคลในรัฐธรรมนูญ โดยระบุเจาะจงลงไปให้ชนชาวไทย ย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่การกำหนดให้บุคคลในพระราชบัญญัติต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยแต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงมุ่งหวังเรื่องสิทธิเสมอกันของปวงชนชาวไทย แต่ไม่ได้มีวรรคใดที่จะไปจำกัดสิทธิในการได้รับบริการของบุคคลอื่นๆ ซึ่งพระราชบัญญัติได้มอบให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถกำหนดสิทธิแก่บุคคลกลุ่มต่างๆที่ไม่ได้เป็นชนชาวไทยได้ในขอบเขตของสิทธิที่แตกต่างกัน เช่นอาจจะกำหนดเฉพาะกรณีอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน โรคระบาดร้ายแรง กรณีจำเป็น หรือเพื่อมนุษยธรรม เป็นต้น ตามศักยภาพทางการเงินของประเทศ โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้สิทธิเสมอกันกับชนชาวไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาจเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนกาล แต่ได้กำเนิดขึ้นมาแล้ว หลายท่านอาจมองเห็นข้อด้อยต่างๆอยู่หลายประการ อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าและมองการณ์ไกลที่ปรากฏ ได้นำเรามายังจุดที่ระบบสุขภาพของเราได้ยืนอยู่ในจุดที่สามารถเทียบเคียงกับนานาอารยะประเทศได้อย่างน่าภาคภูมิใจ และเราควรจะใช้กฎหมายที่ก้าวหน้านี้เพื่อประโยชน์ไม่เพียงแต่คนไทย แต่เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ ที่เข้ามาพึ่งพิงพระบรมโพธสมภาร ของพระมหากษัตริย์ไทย

แล้วเราจะก้าวไปสู่โลกยุคใหม่ ที่ตระหนักว่า Health is a Human Right

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยิ่งลักษณ์จะทำให้ภาคใต้สงบลงได้หรือไม่?

Posted: 15 Jul 2011 09:16 AM PDT

มัสยิดกรือเซะในเมืองปัตตานี มัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภาพโดย สตีเว่น โบโรวิค

เมื่อยิ่งลักษณ์ลงมาหาเสียงก่อนการเลือกตั้งที่จังหวัดปัตตานีเธอสวมฮิญาบสีเลือดหมู และสัญญาว่าหากเธอได้รับเลือกเธอจะพยายามนำสันติสุขกลับมาสู่พื้นที่อันขาดความสงบแห่งนี้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และมีเชื้อชาติมาเลย์

พรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์นั้นชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในเดือนนี้ แต่ในปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส -สามจังหวัดภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม- ไม่มีนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งแม้แต่ที่เดียว ที่นั่งทั้งหมดเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามจะแก้ปัญหาความสัมพันธ์ สมานแผลเก่าที่เกิดขึ้นในสมัยที่ทักษิณ พี่ชายของยิ่งลักษณ์นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ในภูมิภาคนี้มีประวัติความขัดแย้ง เมื่อรัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาบริหารงานประเทศนั้นได้มีความหวาดกลัวว่าเหตุการณ์ปัญหานี้จะย่ำแย่ลงกว่าเดิมเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะ ไม่นานหลังจากที่เขาเข้ามาบริหารงานในปี 2554 อดีตนายกฯ ทักษิณนั้นได้ขยายอิทธิพลเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ และนั่นก็นำไปสู่การต่อต้านอย่างรุนแรง

สองวันหลังจากการเลือกตั้ง สมชาย (นามสมมติ) ออกมาถอดป้ายหาเสียงป้ายใหญ่ ๆ ที่เรียงรายอยู่บนถนนในเมืองปัตตานี เมืองใหญ่ที่สุดในบรรดาจังหวัดอื่นทางใต้สุดของประเทศไทย เขาบอกว่ากรอบไม้ของป้ายหาเสียงนั้นจะเน่าเปื่อยไป แต่ตัวป้ายที่เป็นพลาสติกนั้นยังเอาไปขายเพื่อทำการรีไซเคิ่ลได้ สมชายกล่าวต่อ นิวมาทิลด้าว่า “เธอ (ยิ่งลักษณ์) มาขอเสียงจากเรา แต่หากเราอยากจะเจอเธอ เธอก็จะไม่มีเวลาให้เราเพราะเธอเป็นใหญ่เป็นโตไปแล้ว”

ในการเลือกตั้ง กว่า 12,000 กองกำลังรักษาความปลอดภัยนั้นได้ถูกให้มาคุ้มกันที่จุดเลือกตั้ง ถึงแม้จะไม่มีการรายงานเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ แต่การรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่นนั้นก็เป็นเรื่องปกติในพื้นที่แห่งนี้ มีเคอร์ฟิวในเวลากลางคืน และการปิดกั้นถนนของกองทัพ และทหารก็ติดอาวุธหนักผลัดเปลี่ยนกันตรวจตราในพื้นที่ต่าง ๆ

กองกำลังรักษาความปลอดภัยของไทยนั้นถูกกล่าวหาว่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น การทรมาน, การใช้เทคนิคสอบปากคำอย่างผิดกฎหมาย และวิสามัญฆาตกรรม พวกเค้าทำตัวนอกกฎหมาย

“ไม่มีทหารแม้แต่คนเดียวที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นมันจึงมีวัฒนธรรมที่คนบางคนจะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่โดนกฎหมายลงโทษ” ยับ สวี เซง, ผู้อำนวยการบริหารฟอรั่มเอเชีย (Asia Forum for Human Rights and Development) กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากกรุงเทพฯ

กรณีของการละเมิดสิทธิของบุคคลในกองทัพนั้นถูกยกฟ้องโดยศาลชั้นต้นที่บอกว่าไม่มีอำนาจเหนือการกระทำของผู้ที่อยู่ในกองทัพ พระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารประกาศในสภาวะฉุกเฉินที่มีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 ได้เพิ่มอำนาจให้แก่กองทัพ มาตรา 17 ในพระราชกำหนดฯ นั้นตีความได้ว่าบุคคลในกองทัพที่ได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นจะได้รับการละเว้นโทษ

เนื่องจากไม่มีช่องทางกฎหมายให้ประชาชนนั้นได้รับความเป็นธรรม ประชาชนจึงต้องการหาทางออกโดยการใช้ความรุนแรง มันจะเกิดวงจรแห่งการแก้แค้นระหว่างกองทัพกับผู้ที่ก่อความไม่สงบที่ดูจะไม่จบลงง่าย ๆ

ผู้ที่แข็งข้อนั้นปฏิบัติการอยู่เบื้องหลัง และเป็นที่เชื่อกันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามข้ามชาติ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และประชาชนโดยรวมแล้วไม่ได้แสดงความต่อต้านต่อรัฐไทย

ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ทางใต้ และในย่านอันร่ำรวยของประเทศนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง เศรษฐกิจของไทยนั้นอยู่ในขั้นดีในปีที่ผ่าน ๆ มา และยังคาดกันว่าจะยิ่งดีขึ้นไปอีก ในเดือนเมษายน 2554 ธนาคารโลกรายงานว่าการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในประเทศนั้นเป็นที่มาของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่คนที่ยากจนนั้นได้ส่วนแบ่งเพียงนิดเดียวเท่านั้นจากการเจริญเติบโตของความมั่งคั่งนี้ บางคนแย้งว่าการจัดสรรส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรมนี้เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดปัญหาภายในภูมิภาค

ในขณะที่ความสัมพันธ์กับรัฐบาลของทักษิณนั้นเป็นปัญหา ชาวปัตตานีบางคนนั้นยกย่องการกระทำของทักษิณว่าพยามจะลดช่องว่างระหว่างพื้นที่ทางภาคใต้ และที่อื่น ๆ ของประเทศไทย “หลายคนไม่ได้เลือกยิ่งลักษณ์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเห็นว่าเธอไม่ดี อย่างน้อยในขณะที่ทักษิณนั้นยังมีอำนาจเขาพยายามที่จะจัดสรรส่วนแบ่งความมั่งคั่งมาให้บ้าง” มาห์มุด ครูผู้สอนที่มูลนิธิโพมมิงเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมอิสลาม กล่าวต่อนิวมาทิลด้า

อีกจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยมุสลิม และกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธ รัฐบาลไทยนั้นได้ส่งเสริมให้คนไทยชาวพุทธเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ ผู้ก่อความไม่สงบเชื้อสายมาเลย์นั้นได้ใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะขับไล่ชาวพุทธออกไป กองทัพไทยที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวพุทธจึงมีประวัติของการใช้กำลังปราบปราม และต่อต้านชาวมุสลิม

คนในท้องที่บางคนนั้นรู้สึกว่าศาสนานั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แต่เป็นเพราะการขาดการส่งเสริมคนหนุ่มสาวให้ยืนได้ด้วยตนเอง “ศาสนานั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ธุรกิจ ถ้าหากคนหนุ่ม ๆ นั้นมีโอกาสทางธุรกิจที่ดีและเป็นได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ พวกเขานั้นก็คงไม่หันเหความสนใจไปที่การแบ่งแยกดินแดนจากไทย” มีนา อาซิบ, เจ้าของธุรกิจเครื่องแต่งกาย และเครื่องตกแต่งในงานแต่งตามประเพณีอิสลาม กล่าว

คำถามที่ท้าทายนั้นอยู่ที่เรื่องของการเมือง และสังคมไทย: คนยากจนส่วนใหญ่นั้นจะมีชีวิตอยู่อย่างสบายได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการจัดสรรส่วนแบ่งของคนร่ำรวยได้อย่างไร แคมเปญของพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้นได้ให้คำมั่นว่าจะให้ช่วยเหลือคนที่ไม่มีอันจะกิน แต่หลายคนนั้นสงสัยถึงความเป็นไปได้ของโครงการเงินทุนที่ฟุ่มเฟือยของรัฐที่ให้ประโยชน์แก่คนยากคนจน และมันจะก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนรวยของไทย

สิ่งหนึ่งที่ท้าทายรัฐบาลไทยมากที่สุดนั่นก็คือการเริ่มเจรจากับกลุ่มต่าง ๆ ดังที่ สวี เซง จาก ฟอรั่มเอเชีย (Asia Forum for Human Rights and Development) “อนาคต [ของพื้นที่ภาคใต้ของไทย] นั้นขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใหม่นั้นจะใช้นโยบายอะไร เราหวังว่าพวกเขาจะยืนมือเข้ามา และสนับสนุนให้มีการพูดคุย และที่สำคัญที่สุดนั้นพวกเขาต้องจัดการกับปัญหาคอรัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชน และหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ก่อนที่จะก้าวต่อไป”

การทำงานในสมัยของยิ่งลักษณ์นั้นเริ่มต้นด้วยความยากลำบาก คณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นได้ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมนั้นว่าจะไม่รับรองสถานะของเธอจนกว่าการการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้งนั้นเสร็จสมบูรณ์ นี่เป็นที่กลัวกันว่ามันเป็นความพยายามไม่ให้เพื่อไทยขึ้นมามีอำนาจ ถ้าหากว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่รับรองชัยชนะของยิ่งลักษณ์ มันก็อาจจะนำไปสู่การออกมาประท้วงของผู้สนับสนุนที่พร้อมอยู่แล้ว และทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในวิกฤตทางการเมืองตามที่หลายคนนั้นคาดการณ์ไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: การบริหารจัดการมรดกโลกในกระแสโลกาภิวัตน์

Posted: 15 Jul 2011 04:35 AM PDT

นักวิชาการร่วมถกอนาคตการจัดการปราสาทพระวิหาร นักวิชาการ มธ. ชี้ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ไม่มีผลต่อข้อพิพาทเรื่องดินแดน 4.6 ตารางเมตร ผอ.สำนักโบราณคดี ยัน คำตัดสินศาลโลกยังไม่ชัดเจน ชี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติมากกว่าชาตินิยม

วานนี้ (14 ก.ค. 54) เวลา 13.00 น. วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “การบริหารจัดการมรดกโลกในกระแสโลกภิวัฒน์" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาคือ ดร. พิสิฐ เจริญวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการจัดการวัฒนธรรม, ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม และ อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิสิฐ เจริญวงศ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO-SPAFA) มองว่า การที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาคุ้มครองแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่าอนุสัญญามรดกโลกนั้น มีประโยชน์สำหรับประเทศไทยมากกว่า เนื่องจากไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงที่ระบุไว้หากมีปัญหา และสามารถท้วงติงกับภาคีสมาชิกอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ การเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ก็ยังเป็นการส่งเสริมคุ้มครองแหล่งมรดกโลกต่างๆ ในระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน ทั้งในด้านความรู้ การเงิน การจัดการ เป็นต้น

“ถ้าเรายังมีปัญหาหรือข้อขัดแย้ง จะสามารถใช้ข้อตกลงในอนุสัญญาฉบับนี้ได้ ประเทศที่เป็นภาคี มี 187 ประเทศ เกือบเท่าๆ กับจำนวนประเทศสมาชิกของ UNESCO ถ้าหากอนุสัญญาฉบับนี้ไม่ดีจริง คงไม่มีประเทศต่างๆในโลกเข้ามาเป็นภาคีถึง 187 ประเทศด้วยกัน และจากภาคีที่ว่า หากตัดไปแค่กัมพูชา ก็ยังมีอีก 185 ประเทศที่เรายังสามารถใช้ประโยชน์ท้วงติงได้” พิสิฐอธิบาย

อัครพงษ์ ค่ำคูณ นักวิชาการทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ว่า การประท้วงโดยการเดินออกจากที่ประชุมของสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรในการประชุมของ UNESCO นั้น ความจริงแล้วยังไม่มีผลใดๆ โดยทันที เนื่องจากข้อตกลงในอนุสัญญาดังกล่าวระบุไว้ว่า ประเทศไทยสามารถลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกได้ แต่จะต้องส่งจดหมายการบอกเลิกสัญญาแก่ผู้อำนวยการของ UNESCO และการลาออก จะมีผลหลังจากสัญญาตอบรับต่อจดหมายนั้น 12 เดือน

อย่างไรก็ตาม อัครพงษ์ได้ชี้ว่า ในจดหมายที่สุวิทย์ คุณกิตติยื่นให้นางบูรโกว่า ผู้อำนวยการของยูเนสโก ได้ระบุว่า จดหมายการบอกเลิกสัญญา จะส่งตามมาทีหลัง นั่นหมายถึงว่า จดหมายที่สุวิทย์ยื่นไป เป็นการแสดงถึงการประท้วงเท่านั้น แต่ยังไม่มีกระบวนการในการลาออกจาการเป็นภาคีอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ นักวิชาการมธ. ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหาร ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสิทธิของกรณีข้อพิพาทที่ยังคงดำเนินอยู่

“ในอนุสัญญามรดกโลกฉบับปี 1972 นี้ ข้อ 11 วรรค 3 ได้บอกชัดเจนว่าว่าทรัพย์สินที่ร่วมขึ้นทะเบียน ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐที่เกี่ยวข้อง และทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนนั้น หากอยู่ในดินแดน หรืออธิปไตยที่อ้างสิทธิโดยสองรัฐขึ้นไป ไม่มีผลในการทำลายสิทธิของกรณีพิพาท แปลว่าสิทธิการอ้างเรื่องดินแดนยังมีอยู่ แต่นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ได้รับรู้กันมากนัก” อัครพงษ์อธิบาย

 

ภาพประกอบจาก www.downmerng.blogspot.com

นอกจากนี้ หากเราดูแผนการจัดการวัฒนธรรมของกัมพูชา จะพบว่า พื้นที่สีเขียว คือทางด้านตะวันออกและฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ มาผนวกรวมเป็น buffer zone แต่เราจะเห็นว่าไม่รวมพื้นที่สีเหลืองซึ่งเป็นพื้นที่ 4.6 ตารางเมตรที่เป็นข้อพิพาท คำถามคือว่า ที่เราไปคัดค้านแผนการบริหารจัดการนี้ เราไปค้านตรงไหน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อถกเถียงเรื่องถนนที่ตัดเป็นทางขึ้น ซึ่งอาจไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทับซ้อน

อัครพงษ์ พูดถึง ความรับรู้ ความเชื่อ และความรู้สึกของสังคมไทยที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเขาพระวิหารสามประการ อย่างแรกคือ การที่เขาพระวิหารมีทางขึ้นเฉพาะฝั่งไทย โดยในความเป็นจริงแล้ว ทางกัมพูชาเองก็มีทางขึ้นมาสู่เขาพระวิหารเช่นเดียวกัน (ดูในคลิปวิดีโอ) อย่างที่สอง คือ ความเข้าใจผิดที่ว่า ไทยและกัมพูชา ถือแผนที่คนละฉบับ โดยไทยถือของฉบับที่ทำขึ้นโดยอเมริกัน และกัมพูชาถือแผนที่ฉบับฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามหากดูอย่างใกล้ชิดจะพบว่า ไม่มีแผนที่ฉบับใดเลยของนานาชาติ ที่ขีดเส้นให้เขาพระวิหารอยู่ในเขตของประเทศไทย ไม่ว่าจะก่อน หรือภายหลังที่ศาลโลกได้ตัดสินในปี 2505 ว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา นอกจากนี้ เรื่องสันปันน้ำที่เข้าใจผิดว่าสันที่สูงที่สุดต้องเป็นตัวแบ่งเขตแดน ซึ่งในความจริงแล้ว สันปันน้ำที่เอามาเป็นเส้นเขตแดนนั้นจะเป็นสันปันน้ำที่มีความต่อเนื่องและความสูงที่เหมาะสม ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการจะนำประเด็นสันปันน้ำมาต่อสู้กรณีเขาพระวิหารจะต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ชัดเจน

“เรื่องการบริหารจัดการวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับมนุษย์ว่าจะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ เส้นส่วนใหญ่นั้นที่ขีด จะขีดในแผนที่ ขีดในกระดาษ ในที่จริงๆมันไม่มี พอมาขีดในกระดาษมันก็มาขีดในสมองเรา ทำให้เป็นเขากับเรา ทำอย่างไรในทางวัฒนธรรม จะได้เข้าใจในแง่มุมเหล่านี้ว่า ก่อนมีเส้นเขตแดน เราก็อยู่ด้วยกันมา พอมีเส้นเขตแดน กลับอยู่ด้วยกันไม่ได้” อัครพงษ์กล่าวส่งท้าย

ในขณะที่ทางธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า หากดูแผนการบริหารจัดการมรดกโลกของกัมพูชา ที่เสนอต่อยูเนสโกแล้วพบว่า กัมพูชาได้ใช้พื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็น core zone และขยาย buffer zone ให้รุกล้ำเข้ามาในเขตไทยมากขึ้น จึงมองได้ว่าเป็นการ “รุกล้ำอธิปไตยทางเอกสารโดยแผนที่” ซึ่งทางไทยยังมีปัญหาตรงนี้อยู่ ถึงแม้ว่าทางไทยจะยอมรับและสนับสนุนให้ขึ้นเขาพระวิหารในกัมพูชาในที่ประชุมของยูเนสโกอย่างเป็นทางการแล้วในปี 2550 และ 2551 นอกจากนี้ เขายังมองว่า ในกรณีของพื้นที่พิพาท ยังคงไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมาย

 “ในเจตนารมณ์ของคนที่ทำงานเรื่องดินแดน เราถือว่าคำตัดสินของศาลโลก เรายอมรับ ในเรื่องตัวปราสาท เรื่องพื้นที่ใต้ปราสาท ตามที่จอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัตน์) พูดไว้ว่าเป็นสมบัติของกัมพูชา แต่ส่วนอื่นๆ ตามสนธิสัญญา 1904-1907 ตามเขตสันปันน้ำ ยังเป็นของไทยอยู่” ธราพงศ์กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมถึงความจำเป็นที่ต้องพิจารณาแผนการบริหารจัดการเขาพระวิหารของกัมพูชาอย่างใกล้ชิด

“เนื่องจากพื้นที่รอบปราสาท ในความคิดคำนึงของฝ่ายไทย เรายังถือว่าเป็นพื้นที่ของไทยอยู่ ดังนั้น เมื่อมีแผนการบริหารจัดการ เมื่อมีการสร้างนู่นสร้างนี่ในพื้นที่ เราถือว่าเป็นการละเมิดอธิปไตย เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ไทยที่ทำเรื่องนี้กลัวว่า ถ้าแผนการบริหารจัดการฉบับนี้ได้รับการยอมรับ ก็จะเป็นปัญหาผูกพันต่ออนาคตของประเทศไทย”

นอกจากนี้ เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า การประท้วงเดินออกจากที่ประชุมของสุวิทย์ คุณกิตติ ถือเป็นการบอกเลิกสัญญากลางอากาศในที่ประชุม แต่ยังไม่มีผล เนื่องจากคนที่สามารถลาออกจากอนุสัญญาดังกล่าวได้ มีเพียงนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ แต่เนื่องจากวันที่ตัวแทนประเทศไทยไปบอกเลิกอนุสัญญาในตอนนั้น เป็นวันที่ประเทศไทยได้ยุบสภาไปแล้ว จึงไม่สามารถดำเนินการให้สภารับรองตามมาตรา 190 ได้ และหลังจากที่ลาออกจากอนุสัญญาดังกล่าวได้แล้ว ต้องใช้เวลาอีก 1 ปี จึงจะมีผลบังคับใช้ ในขณะนี้จึงยังไม่มีผลอะไร และผลสรุปจึงยังไม่ชัดเจน

 “เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องชาตินิยม แต่เป็นเรื่องบูรณภาพของดินแดน และเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศไทย เพราะฉะนั้น เราใช้ความเป็นสากลที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ความเป็นนักวัฒนธรรม มองเห็นความไร้พรมแดนกับสหภาพยุโรปได้ แต่สำหรับดินแดนแบบนี้ จะไปใช้วิธีแบบนั้นก็คงไม่ได้ บทสรุประหว่างสหภาพยุโรปกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันคนละเรื่องกัน เนื่องจาก มีกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นชนักติดหลังเรื่องโทษของการทำให้เสียดินแดน การเสียดินแดนเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงต้องระมัดระวัง” ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมชี้แจง

 

คลิปประกอบโดย PITV

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กษิต ภิรมย์

Posted: 14 Jul 2011 11:55 PM PDT

ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวและไม่อยากให้กระทบความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อเยอรมนี

กรณีเยอรมนีดำเนินการอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะ, 14 ก.ค. 54

นายอำเภอกันทรลักษ์ –ทหาร หวังนโยบายรัฐบาลใหม่อยู่กับกัมพูชาฉันมิตร

Posted: 14 Jul 2011 10:40 PM PDT

วันที่ 15 ก.ค. 2554 นายเพิ่มศักดิ์ ฉวีลักษณ์ นายอำเภอกันทรลักษ์ หนุนแนวทางอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านฉันมิตร พ.อ.ธวัชชัย แจ้งประจักษ์ รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่หนึ่ง กองกำลังสุรนารี ยันทหารไทย-กัมพูชายังมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐเพราะทหารเป็นเครื่องมือของรัฐ

โดยนายเพิ่มศักดิ์กล่าวในการเปิดเสวนา “ชายแดนไทย-กัมพูชา นโยบายจากรากหญ้าถึงรัฐบาลใหม่” ว่า ไทยไม่ได้อยู่เพียงคนเดียวหรือประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน และมีวิถีชีวิต มีควาสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมืองกับเพื่อนบ้าน ซึ่งแม้จะมีโอกาสกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่การดำรงชีวิตยังคงเป็นไปอย่างปกติ

“กันทรลักษ์เป็นอำเภอชายแดนที่ติดกับกัมพูชา มี 46 หมู่บ้าน 4 ตำบล พื้นที่นี้น่าจะเป็นอนุภูมิภาค เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แบ่งแยกไทยกัมพูชา แต่ความเปลี่ยนแปลงทำให้แยกเป็นไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว เพื่อการบริหารบ้านมือง แต่ในวัฒนธรรมประเพณี เรายังเกาะเกี่ยวกันอยู่ และแม้ว่าเราเป็นชาวภูมิซรอล เสาธงชัย หรือกันทรลักษ์ ทำมาหากิน ไหนอยู่ที่ไหนเราก็ยังรักดินแดน และเราก็ต้องไปมาหาสู่กับเพื่อนบ้าน”

นายอำเภอกันทรลักษ์กล่าวว่า แม้จะมีความขัดแย้งที่ยังไม่ได้ขอยุติแต่ประชาชนในพื้นที่ก็ยังต้องดำเนินชีวิตอยู่ที่นี่ และหวังว่า การได้มาสะท้อนความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่น่าจะเกิดประโชน์ที่จะได้เสนอแนวคิดมุมมองให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวของ อย่างน้อยให้เห็นว่าไทยและกัมพูชาจะอยู่กันแบบไหน

ด้าน พ.อ.ธวัชชัย แจ้งประจักษ์ รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่หนึ่ง กองกำลังสุรนารี เชื่อว่าการพูดคุยจะได้นำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวของให้เป็นไปตามความต้องการของพี่น้องประชาชน ให้ประชาชนได้อยู่อย่างอบอุ่น ปลอดภัย ดำรงชีวิตของตนเองอย่างสงบสุข โดยหน่วยทหารที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ เป็นหน่วยจากกองกำลังสุรนารี เข้ามาดูแลพื้นที่โดยมุ่งเน้นการดำเนินการร่วมกัน ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผล และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งทางฝ่ายพลเรือน นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องประชาชน

“ความรู้สึกที่ดีต่อกันเรามีด้วยกัน แต่เนื่องจากความขัดแย่งชายแดนทำให้มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน อย่างไรทหารก็จะอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนตลอดมา เราก็มีการวางแผนเตรียมความพร้อม พบปะพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ล่อแหลม รับฟังปัญหาความเดือดร้อน รับฟังเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคยวามปลอดภัยมากที่สุด และได้ชี้แจงให้พี่น้องได้เข้าใจ”

พ.อ.ธวัชชัยกล่าวด้วยว่า จากการที่ทหารทหารเข้าไปในพื้นที่ พบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชน ขณะนี้หน่วยเฝ้าระวังสามารถติดตามและควบคุมสถานการณ์ได้ หากมีข่าวลือใดๆ ก็จะไม่ให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใด และถือว่าทหารที่อยู่เขตประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ก็เป็นเพื่อนบ้านกัน ดังนั้นที่ผ่านมา ทหารพยายามแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ก่อนในระดับหน่วยงาน จากนั้นค่อยแก้ไขในระดับสูงขึ้นไป

“การปฏิบัติงานทุกวันนี้ ขอยืนยันว่าหน่วยงานทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาเรายังมีความสัมพันธ์กัน ยังพบปะพูดคุย เพื่อลดความหวาดระแวง และลดการใช้อาวุธ แต่อย่างไรก็ตาม เราทหารทั้งสองประเทศ เราเป็นเครื่องมือของรัฐบาล หากรัฐบาลมอบหมายหน้าที่ให้เราปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเราก็ต้องปฏิบัติตามสายการบังคับบัญชา” พ.อ.ธวัชชัยกล่าว

การเสวนา “ชายแดนไทย-กัมพูชา นโยบายจากรากหญ้าถึงรัฐบาลใหม่” จัดโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน ในวันที่ 15 ก.ค. 2554 ที่ ร.ร. ภูมิซรอล (ประถมศึกษา) หมู่บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น