โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาวสมุทรสาครยอมเปิดถนน รับผลเจรจาหยุดโรงงานถ่านหิน-ตั้ง กก.ร่วมวางกฎขนถ่าย

Posted: 13 Jul 2011 12:22 PM PDT

กลุ่มต่อต้านถ่านหินสมุทรสาคร รวมตัวปิดถนนพระราม 2 ร้องปิดโรงงานถ่านหิน ชี้ได้รับผลกระทบจากสารเคมี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร เจรจาสั่งโรงงานหยุดดำเนินการ เผยผลหารือตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบแหล่งจัดเก็บ-วางกติกาขนถ่าย

 
วานนี้ (13 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.ชาวบ้านกลุ่มต่อต้านถ่านหินอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตสมุทรสาคร ประมาณ 1,000 คน นำโดย นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้ใช้รถกระบะและรถบรรทุกปิดถนนพระราม 2 ทั้งขาเข้าและขาออก บริเวณทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร หน้าโรงพยาบาลมหาชัย ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดดำเนินการกับกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่ายถ่านหิน ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนใน จ.สมุทรสาคร โดยทำให้สัตว์น้ำในทะเล และพืชไร่ของชาวเกษตรกร ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวได้รวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร แต่ถูกเจ้าหน้าที่ภายในศาลากลางจังหวัดขับไล่และปิดประตูทางเข้า-ออก ทั้งนี้ การกั้นขวางถนนส่งผลให้การจราจรบนถนนพระราม 2 ทั้งสองฝั่งติดขัดกลายเป็นอัมพาต ผู้ใช้รถบางส่วนได้หลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นที่อยู่ใกล้เคียง
 
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน มีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ หยุดการขนถ่ายถ่านหินทุกประเภท ในทะเลปากอ่าวสมุทรสาคร และแม่น้ำท่าจีน, หยุดออกใบอนุญาตสร้างโรงงานประกอบกิจการถ่านหิน หรือเก็บกอง คัดแยกถ่านหินเพิ่มอีก, โรงงานเก็บกองคัดแยกและจำหน่ายถ่านหินต้องเป็นระบบปิดที่ได้มาตรฐานสากล และต้องไม่อยู่พื้นที่สีเขียว (พื้นที่เกษตร) ชุมชน วัด และโรงเรียน, การขนถ่ายถ่านหินทางรถ ต้องเป็นระบบปิดที่ได้มาตรฐานสากลเท่านั้น และหากผู้ประกอบกิจการถ่านหินรายใดยังเพิกเฉย สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนอีก ทางจังหวัดต้องสั่งปิดกิจการทันที
       
ต่อมาเวลา 12.20 น.นายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เข้าเจรจากับผู้ชุมนุม และได้ขึ้นปราศรัยบนรถขยายเสียง โดยกล่าวว่า ตามที่มีผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องจุดยืนของผู้เรียกร้องในการชุมนุมเกี่ยวกับเรื่องถ่านหินนั้น จังหวัดสมุทรสาครจะสั่งให้ผู้ประกอบการถ่านหินทุกรายในจังหวัดสมุทรสาคร หยุดดำเนินการทันที ตั้งแต่วานนี้ (13 ก.ค.) เป็นต้นไป หากผู้ประกอบการถ่านหินรายใดจะดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบการถ่านหินต่อไป ต้องมีการทำประชาคมตามข้อเรียกร้องโดยเร็วที่สุด
 
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าจะจัดส่งเรือ พร้อมเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าเฝ้าระวังไม่ให้มีการแอบลักลอบขนถ่ายถ่านหิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และสั่งการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันผู้ประกอบการถ่านหินทุกรายให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ได้ทำหนังสือที่ สค 0016.3/7100 ลงวันที่ 13 ก.ค.54 แจกจ่ายไปยังแกนนำผู้ชุมนุม
 
ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่กดดันให้ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ให้ย้ายออกจากพื้นที่เนื่องจากวางตัวไม่เป็นกลางในกรณีดังกล่าวนั้น นายจุลภัทร กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีอำนาจ แต่ก็ได้กล่าวว่า นายสุริยะ จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายนนี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมพอใจในผลตอบรับต่อข้อเรียกร้องจึงได้สลายการชุมนุม และเปิดการจราจรบนถนนพระรามที่ 2 ทั้งสองฝั่งในเวลา 12.50 น.
 
ต่อมาเวลา 15.00 น.นายจุลภัทร ร่วมกับตัวแทนผู้ชุมนุมได้หารือร่วมกันอีกครั้ง ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากฝ่ายผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้องไม่ให้มีการทำประชาคม เพราะเกรงว่าฝ่ายนายทุนจะเข้าแทรกแซงการทำประชาคมให้เกิดความไม่เป็นธรรม กระทั่งได้ข้อสรุปออกมาเป็นหนังสือที่ สค 0016.3/7129 ลงวันที่ 13 ก.ค.54 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกการทำประชาคม กรณีที่ผู้ประกอบการถ่านหินรายใดจะดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบถ่านหินต่อไป ตามหนังสือที่ออกมาก่อนหน้านี้
 
ทั้งนี้ ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม (เบญจภาคี) ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ผู้แทนผู้ชุมนุม และผู้แทนสื่อมวลชน เพื่อร่วมสำรวจและตรวจสอบสถานประกอบการที่ยังมีถ่านหินเก็บกองอยู่ และยังมิได้ขนย้ายหรือจำหน่าย เพื่อกำหนดขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาในการขนถ่ายหรือย้าย หรือจำหน่ายให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดร่วมกัน นอกจากนี้ การขนถ่ายถ่านหินที่เหลือ ให้จังหวัดแจ้งกำชับส่วนราชการ หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขัน และปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 

เรียบเรียงจาก: ไอเอ็นเอ็น,  ASTVผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากค่าปรับ 4 แสนเป็น 20 ล้านบาท แก้ปัญหา แพทย์ขาดแคลน ได้หรือไม่?

Posted: 13 Jul 2011 12:14 PM PDT

จากการที่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเปิดเผย ตัวเลขอันน่าตกใจเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2554 ว่า ตามแผนแม่บทกำลังคนด้านสาธารณสุข ปี 2554 ทั่วประเทศ มีความต้องการแพทย์ 40,620 คน โดยในส่วนของ สธ.ต้องการแพทย์ 22,855 คน ปัจจุบันมีแพทย์แล้ว 13,083 คน ยังขาดอีก 9,772 คน โดยขณะนี้แพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเฉลี่ย 7,000 คน ทำให้เกิดกระแสตื่นกลัวการขาดแคลนแพทย์ และนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้เขียนบทความเรื่อง"เพิ่มค่าปรับ...แพทย์หนีใช้ทุน 20 ล้านบาท?" นำเสนอทางมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทำให้มีผู้สงสัยว่า การเพิ่มค่าปรับแรงๆแบบนี้ จะแก้ปัญหา แพทย์ขาดแคลน ได้จริงหรือไม่ ? ผมขอแสดงทรรศนะส่วนตัวต่อคำถามนี้ เผื่อผู้ที่คิดนโยบายของรัฐบาลใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นานนี้ จะได้นำไปพิจารณา

แพทย์ในระบบราชการขาดแคลนจริงหรือ?

ตามข่าวที่ท่านโฆษกแถลงว่าจำนวนแพทย์มีอยู่ 13,083 คน ยังขาดแพทย์อยู่อีก 9,772 คน ตัวเลขที่อ้างถึง เป็นตัวเลขที่อ้างอิงจากการคำนวณตามระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System-GIS) เฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น มิได้นับรวมของกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ (กลาโหม, ทบวงมหาวิทยาลัย, สถานพยาบาลของส่วนท้องถิ่น,และของรัฐวิสาหกิจต่างๆ) อีกทั้งก็มิได้รวมสถานพยาบาลเอกชน ประเภทต่างๆเข้าไปด้วย ฉะนั้นการที่นับเฉลี่ยว่ามีแพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 7,000 คนนั้น อาจจะไม่เป็นความจริง และในความเป็นจริงนั้น ตำแหน่งแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัดใหญ่ๆ ส่วนมากเต็ม ไม่สามารถรับแพทย์เข้ารับราชการได้อีก ที่ขาดนั้นส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กและโรงพยาบาลชุมชนชายแดนที่ห่างไกล กันดาร

เพิ่มค่าปรับ 4 แสนเป็น 20 ล้านบาท แก้ปัญหา แพทย์ขาดแคลน ได้จริงหรือ?

คำตอบของผมคือ "ได้" แต่จะมีผลเสียตามมามากมายดังต่อไปนี้คือ

  1. นักเรียนที่มีศักยภาพสูงๆ อาจไม่นิยมเรียนแพทย์ต่อไป เพราะไม่มั่นใจในอนาคตตนเองว่า เรียนจบแล้ว จะต้องไปอยู่ป่าดง หรือชายแดนที่ไหน ทำให้มาตรฐานความรู้ความสามารถของแพทย์ไทยด้อยลงไป
  2. มีการทำงานแบบอยู่แต่ตัว ไม่มีจิตวิญญาณ ทำงานแบบไม่ตั้งใจ ไม่ขยัน ไม่เอาจริงเอาจัง ซึ่งหากมีแพทย์เพียงบางคนที่เป็นแบบนี้ ยิ่งจะทำให้บรรยากาศการทำงานแย่ไปอีก เพราะผู้ที่ตั้งใจทำงาน จะรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ และหมดกำลังใจไปด้วย
  3. พอชดใช้ทุนหมด จะรีบหนี เพราะความรู้สึกจะเหมือนติดคุก เมื่อพ้นโทษ ก็จะต้องรีบหนีไปทันที
  4. โรงพยาบาลห่างไกลที่อยู่ชายแดน ทุรกันดาร จะมีแต่หมอจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าค่าปรับควรจะเป็น 4 แสนเท่าเดิม อาจเพิ่มขึ้นบ้างก็ได้ แต่ต้องไม่มากจนรู้สึกว่า เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือสัญญาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม การจูงใจให้แพทย์ยอมอยู่ในระบบราชการโดยสมัครใจ น่าจะดี และได้ผลกว่าในระยะยาว

แพทย์ไม่อยากอยู่ในระบบราชการ เพราะค่าตอบแทนน้อย จริงหรือ?

สำหรับแพทย์จบใหม่ (แพทย์ใช้ทุน) แม้ว่า การรับราชการจะมีรายได้น้อยกว่าอยู่ภาคเอกชนถึงเกือบเท่าตัว แต่ก็มีข้อได้เปรียบเอกชนหลายอย่างได้แก่

  1. มีบ้านพักในโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ใช้น้ำไฟ ฟรี
  2. ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
  3. สวัสดิการการรักษาพยาบาลทั้งบุตร, สามี, ภรรยา, บิดา, มารดา แถมยังเป็นสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีสิทธิประโยชน์มากกว่าสิทธิประกันสังคมของภาคเอกชน
  4. สามารถไปฝึกอบรม ดูงานระยะสั้นได้ โดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งยังเบิกเบี้ยเลี้ยง และค่าเดินทางได้ด้วย
  5. สามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับต่างๆได้
  6. มีสถานะในสังคมสูง
  7. สามารถหาทุนไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่ต้องการได้ง่ายกว่า
  8. มีความรู้สึกภาคภูมิใจในการทำงาน เพราะในภาครัฐ แพทย์เปรียบเหมือน "ผู้ให้" การรักษาแก่ผู้ป่วย ต่างจากภาคเอกชน ที่แพทย์เปรียบเหมือน "ผู้รับจ้าง" รักษาพยาบาล ผู้ป่วยในสถานพยาบาลเอกชน มีสถานะเป็นผู้ว่าจ้าง หรือ "ลูกค้า" ซึ่งในระบบทุนนิยมแล้ว ลูกค้าคือพระเจ้า

จะเห็นว่าระบบราชการมีจุดแข็งเป็นจำนวนมาก จุดอ่อนเพียงอย่างเดียวคือการบริหารจัดการ ถ้าสามารถพัฒนาระบบให้ดี ต่อให้ไม่บังคับว่าต้องใช้ทุน ก็อาจมีแพทย์ที่ต้องการเข้าสู่ระบบราชการอีกเป็นจำนวนมาก

อะไรคือปัญหาของระบบบริการสาธารณสุขในปัจจุบัน ?

ก่อนยุค 30 บาทฯ สถานพยาบาลของรัฐคิดราคาจากผู้มารับการรักษาตามจริง แต่ถูกกว่าราคาท้องตลาด เพราะรัฐอุดหนุนอยู่ส่วนหนึ่ง ผู้ใดที่เจ็บป่วย แต่ไม่มีเงิน หรือมีไม่พอ สถานพยาบาลของรัฐก็จะลดราคา หรืองดเก็บค่ารักษาพยาบาล โดยใช้หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลเป็นผู้พิจารณา ปัญหาของยุคก่อน 30 บาทฯก็คือ กระบวนการพิจารณาให้การสงเคราะห์ที่มักจะค่อนข้างเข้มงวด ทำให้ผู้ป่วยที่ยากจนต้องเริ่มต้นจากการใช้สมุนไพร รากไม้ ถ้าไม่หายก็ใช้บริการร้านขายยา หมอเถื่อน คลินิกแพทย์ เป็นลำดับต่อไป ถ้าโชคดียังไม่ตาย แต่อาการหนักจริงๆ จึงจะเข้าโรงพยาบาล เมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้ว เจอค่ารักษาแพงๆ และกระบวนการสังคมสงเคราะห์ที่เข้มงวด บางคนก็ถอดใจ ขอไปตายบ้าน บางคนก็ฮึดสู้ ขายวัวควาย จำนองไร่นา หมดเนื้อหมดตัว กันไป การมาของโครงการ"สามสิบบาทรักษาทุกโรค" จากความคิดริเริ่มของคุณหมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ที่ให้สิทธิประชาชนกำเงิน 30 บาท ยืดอกโดยไม่ต้องพกถุง เข้าโรงพยาบาลได้อย่างสะดวก จึงได้ใจจากชาวชนบทอย่างท่วมท้น

อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้าน ถ้าสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเป็นเหมือนร้านอาหาร เดิมร้านนี้คิดราคาตามจริง แม้จะถูกกว่าท้องตลาด แต่ก็ยังแพงเกินไปสำหรับฐานะของคนชนบทส่วนใหญ่ ผู้มาใช้บริการจึงไม่ค่อยมาก พ่อครัว เด็กเสิร์ฟ คนล้างจาน ก็งานไม่หนักมาก โครงการ 30 บาทฯ เปรียบเสมือนลดราคาอาหารทุกชนิด เหลือจานละ 5 บาท ผู้คนที่เคยใช้สมุนไพร, รากไม้, ร้านขายยา, หมอเถื่อน ฯลฯ ต่างก็แห่มากินที่ร้านนี้ เจ้าของร้านก็หน้าบานรับคำสรรเสริญ เยินยอ ผู้มาทานอาหารก็พอใจ เพราะประหยัด และไม่ต้องเสียความรู้สึกกับกระบวนการสังคมสงเคราะห์แบบเดิม แต่ถ้าลองนึกถึงบรรดาพ่อครัว เด็กเสิร์ฟ คนล้างจาน ฯลฯ ที่จู่ๆ งานของเขาก็เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว โดยเจ้าของร้านบอกว่าหาพ่อครัวไม่ได้ ส่วนเด็กเสิร์ฟคนล้างจานนั้น เป็นนโยบายระดับชาติ นอกจากห้ามจ้างเพิ่ม ยังจะต้องลดจำนวนลงอีก โดยเปลี่ยนจากจ้างประจำ เป็นจ้างชั่วคราว ลดสิทธิประโยชน์ของคนเหล่านั้นลง ใครที่ชอบดูทีวีคงจะเห็นนักการเมืองออกมาประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนไม่อั้น สามสิบบาท ก็ไม่ต้องเสีย บัตรทองก็ไม่ต้องพก บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรค โรคนั้นก็ฟรี โรคนี้ก็ฟรี ที่เขาพูดได้ ก็เพราะเขาไม่ต้องลงมาทำ มีหน้าที่เพียงออกทีวี โฆษณาว่าทุกอย่าง ล้วนเป็นผลงานของเขา

ปัจจุบันนี้ แพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ยังต้องทำงานอย่างหนัก ส่วนผู้ป่วยก็จะต้องรอตรวจ รักษา ผ่าตัดเป็นเวลานาน ทั้งๆที่มีแพทย์ประสงค์จะเข้ารับราชการจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีตำแหน่งให้ ไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้น พยาบาลดูจะประสบชะตากรรมที่เลวร้ายกว่าแพทย์เสียอีก เพราะนอกจากจะไม่ขยายตำแหน่งแล้ว ยังยุบตำแหน่งเดิมที่มีผู้เกษียณออกไปอีกด้วย พยาบาลบรรจุใหม่ ต้องรับเงินเดือนและสวัสดิการในฐานะลูกจ้างชั่วคราว จึงเกิดปัญหาสมองไหลอย่างรุนแรง การขาดแคลนบุคลากรที่ "รุนแรงมากที่สุด" ไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นพยาบาล เพราะการทำงานของแพทย์ ต้องอาศัยพยาบาลเป็นผู้ช่วยที่สำคัญ มีหลายโรงพยาบาลที่แม้มีตึก แต่ไม่สามารถเปิดรับผู้ป่วยในได้ เพราะไม่มีพยาบาลประจำตึก การผ่าตัดนอกเวลาราชการทำไม่ได้ เพราะมีพยาบาลช่วยผ่าตัด และส่งเครื่องมือไม่เพียงพอ นโยบายแบบนี้คล้ายกับการตีสองหน้า คือด้านหนึ่งโหมโฆษณาว่ารักษาฟรีทุกโรค แต่อีกด้านหนึ่ง ให้ทรัพยากรอย่างจำกัด

การทุ่มเทพัฒนาการด้านคุณภาพก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาพยาบาลยุ่งยากมากขึ้น ในสถานการณ์ที่ขาดแคลน ควรคำนึงถึงประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อความขาดแคลนลดลง จึงค่อยพัฒนาเชิงคุณภาพ

วิธีจูงใจให้แพทย์ยอมอยู่ในระบบราชการโดยสมัครใจ จะทำได้อย่างไร?

  1. ผู้เสียสละไปอยู่ที่เสี่ยงภัย ห่างไกล ทุรกันดาร ต้องได้รับผลตอบแทนที่ดี เช่นการขอทุนไปเรียนต่อ เบี้ยเลี้ยง ความเจริญก้าวหน้า ฯลฯ
  2. ควรลดงานของแพทย์ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยตรงลงบ้าง เช่นการประชุม, การพัฒนาคุณภาพที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล, การต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ ฯลฯ เพื่อให้แพทย์มีเวลาตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ และมีเวลาพักผ่อนบ้าง
  3. ค่าตอบแทน ควรระบุให้ชัดว่าจะได้เท่าใด, ได้เมื่อไหร่ ขณะนี้ค่าตอบแทนบางอย่างต้องครม.อนุมัติทุกปี, บางอย่างต้องจ่ายจากเงินบำรุง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าปีนี้จะได้ไหม? ได้เท่าใด? และจะได้เมื่อใด?
  4. โครงการ ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวน 3 โครงการ โครงการแรกได้รับผลผลิตแพทย์ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๕๕ รวม ๓,๐๐๐ คน, โครงการ 2 ได้ผลผลิตแพทย์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ถึงปี ๒๕๕๘ รวม ๒,๗๙๘ คน และโครงการสุดท้าย ได้ผลผลิตแพทย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๒ รวม ๓,๘๐๗ คน รวมทั้งสามโครงการ น่าจะได้แพทย์เติมเข้ามาในระบบอีกเกือบหมื่นคน และแพทย์เหล่านี้ พื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด ได้รับการบรรจุใกล้ภูมิลำเนาเดิม อัตราการสูญเสียจากระบบราชการน่าจะไม่มากนัก ถ้ามีโครงการแบบนี้ต่อไปอีก และเน้นรับนักศึกษาจากระดับชนบทจริงๆ ก็จะยิ่งดีกว่านี้ เนื่องจากโครงการแรกๆนั้น ส่วนใหญ่ผู้ได้รับคัดเลือก มักเป็นผู้ที่อยู่ในเมือง เสียมากกว่า
  5. การแต่งตั้ง โยกย้ายผู้บริหาร ควรใช้แพทย์ ที่สามารถผูกใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานด้วยอย่างสบายใจ เต็มใจ และมีความสุข ยกตัวอย่างจังหวัดน่าน สมัยนพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ซึ่งแม้จะเป็นจังหวัดชายแดนห่างไกลทุรกันดาร แต่ก็มีแพทย์จำนวนมากนิยมไปอยู่ และอยู่กันนานๆ ทำงานอย่างทุ่มเท มีคุณภาพ มีแพทย์ที่ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นจำนวนมาก ที่เจริญก้าวหน้าไปเป็นนักบริหารที่มีคุณภาพก็มากมาย ควรจะต้องศึกษาว่าท่านทำได้อย่างไร

น่าเสียดายที่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการสมัยนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองโดยแท้ แทนที่จะเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ตัวอย่างในกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีเป็นข่าวฮือฮา โดยย้ายผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ (มากกว่าพันเตียง) ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขนาดเล็ก (หกร้อยเตียง) มิหนำซ้ำก่อนเกษียณเพียงหกเดือน ถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป(สี่ร้อยเตียง) ทั้งหมดนี้ก็เนื่องจาก"ไม่ประจบ" ท่านผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้นเอง ยิ่งถ้าดูการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทั้งระบบด้วยแล้ว ยิ่งหดหู่และเศร้าใจ ไม่ว่าจะกรณีพลตำรวจเอกสมเพียร, กรณีอธิบดีกรมการปกครอง, การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ, การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยิ่งถ้านับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่สามารถแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดได้ ต้องรักษาการไปจนเกษียณแล้ว ยิ่งหมดหวังกับระบบราชการไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฉลาดและดี: การศึกษาและศีลธรรมของคนชั้นกลางไทย

Posted: 13 Jul 2011 11:58 AM PDT

ชื่อบทความเต็ม : ฉลาดและดี: การศึกษาและศีลธรรมของคนชั้นกลางไทย (ฉลาดที่สุดและดีที่สุด: ปัญญาญาณและภูมิธรรมของคนชั้นอาวุโสไทย)

 

“คนที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะยึดถือคุณค่าแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตย”

ถ้าทฤษฎีฝรั่งพื้นๆ แบบนี้เป็นความจริง เราก็น่าจะอนุมานได้ว่า คนที่รังเกียจคุณค่าแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีการศึกษาต่ำ

ในประเทศไทย คนกลุ่มไหนที่รังเกียจเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ดึงดันให้คง(หรือกระทั่งเพิ่มอัตราโทษ)กฎหมายที่จำกัดและริดรอนเสรีภาพในด้านต่างๆ เอาไว้ และนิยมอ้างความชอบธรรมจากกฎเกณฑ์ตามจารีตประเพณี?

คนกลุ่มไหนที่หวาดระแวงประชาธิปไตย เกลียดชังการเรียกร้องความเสมอภาคทางการเมืองที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง หมิ่นแคลนเจตนารมย์ของคนส่วนใหญ่ และดื่มด่ำกับวัฒนธรรมที่เน้นลำดับชั้นสูงต่ำของคนในสังคม?

ไม่จำเป็นต้องเหน็ดเหนื่อยมองหา แค่หลับตาก็เห็นแล้วว่ากลุ่มคนที่มีคุณสมบัติข้างต้นอย่างเพียบพร้อม คือชนชั้นกลาง(และ “ขุนนาง อำมาตย์ เสนาบดี แม่ทัพ”)ไทยชื่อกระฉ่อนนั่นเอง สมมติฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูประบบการศึกษาไทยที่ถูกมองข้ามเสมอก็คือ ชนชั้นกลางไทยมีความโน้มเอียงจะเป็นพวกเล่าเรียนสูงแต่มีการศึกษาต่ำ

แน่นอนว่าค่านิยม “อเสรีนิยม” และ “อประชาธิปไตย” สามารถพบเจอได้ทั่วไปในผู้คนทุกหมู่เหล่าไม่ว่าจะคนชั้นล่าง ชั้นกลาง หรือชั้นสูง เพราะสังคมไทย(ราชการ+เอกชน)เป็นสังคมที่เชิดชูวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทยเหนือสรรพสิ่งในจักรวาล ทั้งนี้วัฒนธรรมไทยโดยหลักใหญ่ใจความเป็นวัฒนธรรมจารีตนิยม-อำนาจนิยม และ “จารีตนิยม-อำนาจนิยม” แบบไม่ลืมหูลืมตาเป็นปฏิปักษ์กับ “เสรีนิยม” และ “ประชาธิปไตย” อย่างมิอาจอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันได้

ลึกๆ แล้วกระฎุมพีรอยัลลิสต์(ซึ่งไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็เป็นไพร่)ไม่ต้องการให้ทุกคนนอกจากตัวเองเป็น “ประชาชน/พลเมือง” แต่ต้องการให้สังคมไทยมีทั้ง “ไพร่” และ “อำมาตย์” เพื่อตนเองจะได้ยังคงมีไพร่ไว้คอยรับใช้ มีอำมาตย์ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางเกียรติยศและจิตใจ พร้อมทั้งฝันใฝ่ว่าสักวันหนึ่งจะได้เป็นอภิสิทธิชนกับเขาบ้าง โดยระหว่างนี้ก็คอยสมัคร-สะสม-ใช้บัตร Privilege ประเภทต่างๆ ไปพลางๆ ก่อน

 

ถึงจุดหนึ่งแล้ว มันเป็นเรื่องยากมากที่จะกล่าวถึงกระแสการดูถูกเหยียดหยามคนชนบทภาคเหนือ-อีสานของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ โดยไม่ดูถูกเหยียดหยามคนกรุงฯ เหล่านั้น

แต่ในเมื่อคนกรุงฯ เหล่านี้ไม่ได้มีการศึกษาและไม่ได้มีวัฒนธรรมพอจะสำเหนียกถึงท่าทีที่เรียกกันว่า “politically incorrect” ข้าพเจ้าก็คร้านที่จะพยายาม “politically correct” ด้วยให้เมื่อย ในบางที่ ประเด็น “politically correct” อาจทวีความซับซ้อนจนกลายเป็นเรื่องน่าเยาะหยันอย่างอุนุงตุงนังไปหมดแล้ว แต่ที่นี่ “politically incorrect” เป็นอาการสามัญธรรมดาในสังคมกึ่งอารยะ

ใช่ว่าจะดำเนินนโยบายเยี่ยงนี้ได้ทุกที่ในโลก แต่คุณลักษณะพิเศษของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ ทำให้การต้องดูถูกพวกเขาอย่างถูกต้องเป็นวาระฉุกเฉินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในประเทศที่เจริญแล้ว การแสดงการดูถูกเหยียดหยาม เกลียดชัง ข่มขู่ เลือกปฏิบัติ และมีอคติทางชนชั้น เพศ เพศสถานะ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนาความเชื่อในที่สาธารณะ ถือเป็นความผิดทั้งทางกฎหมายและทางแบบแผนวัฒนธรรมอันมีอารยะ สำนึกเสรีประชาธิปไตยที่เปิดกว้างเช่นนี้มักจะดำรงอยู่อย่างแพร่หลายในหมู่คนที่มีการศึกษาสูงมากกว่ากลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำ ในกลุ่มชนชั้นกลางมากกว่าชนชั้นแรงงาน และในเขตเมืองใหญ่มากกว่าเขตเมืองเล็ก เขตภูธรหรือชนบท

แต่ในเมืองไทย เราจะเห็นภาพของ “ลักษณะเฉพาะทางชนชาติ” ที่กลับตาลปัตรอย่างมีเอกลักษณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจและน่าประกาศให้โลกรู้

พลันที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งและพรรคเพื่อไทยกวาดคะแนนเสียงอย่างถล่มทลายในภาคเหนือและอีสานอีกครั้งหนึ่ง คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้เลือกพรรคที่ชนะต่างออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างมีการศึกษากันอย่างทะลักทลาย

ต่อไปนี้คือการผลิตซ้ำเพื่อการซึมซับอย่างซาบซึ้งยิ่งขึ้น

“นอกจากจะเป็นภาคที่มีคนหน้าตาขี้เหร่ที่สุด ยากจนที่สุดแล้ว ยังโง่ที่สุดอีกด้วย”

“เหนือ, อีสานโง่กันดีนัก ให้ดินถล่มสูบลงนรกไปเลยท่าจะดี”

“ต่อไปคนอีสานจะตกงานทั่วประเทศ เพราะไม่มีคนรับทำงาน...รับพม่าดีกว่า”

“กำหนดสิทธิ์ในการเลือกตั้งให้เฉพาะผู้ที่เสียภาษีเงินได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า...กลุ่มคนเหล่านี้ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ”

“เห็นได้ชัดว่า เสียงส่วนใหญ่ของประเทศนี้ คิดแต่เรื่องเงิน คิดแต่เรื่องปากท้องของตัวเองเพียงอย่างเดียว เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม และไม่ค่อยคิดอะไรไกลๆ “คิดสั้น” กันทั้งนั้น”

“ประชาธิปไตยนั้นเหมาะกับประเทศที่การศึกษาพร้อมแล้วเท่านั้น แต่ไทยแลนด์ยังไม่พร้อม”

“ทำไมภาคที่คนจนมากที่สุด ความรู้น้อยที่สุด ซื้อเสียงได้ง่ายที่สุดถึงมีจำนวน สส. มากที่สุด เท่ากับเปิดโอกาสให้พวกซื้อเสียงได้ง่ายๆ เข้ามาเหยียบย่ำประเทศได้เรื่อยๆ”

“ประเทศไทยมีคนจนเยอะกว่าคนรวย ช่วยคนจนให้มีกินไม่กี่วัน มันยอมขายสิทธิให้เหี้ยเข้ามาปกครอง”

“ทำไงดีครับ พวกผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองชนะแล้ว เรียกทหารมาลุยดีมั้ยครับ”

“ชาวนา...เลือกมานักใช่มั้ยเผาไทยเนี่ย...ขอประกาศตัวไว้ก่อนเลยว่า ต่อไปนี้จะไม่ไปแดกมันแล้ว ข้าวน่ะ...จะกินก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ผัดไทย ผัดซีอิ๊ว ขนมปัง... “จน” กันต่อไปเหอะ พ่อ แม่ พี่ น้อง”

“เบื่ออีสานด้วยคน เบื่อเชียงใหม่ด้วย เลิกเที่ยวแล้ว”

“คนไทยก็ไม่ได้โง่ไปซะหมดจิงๆ แหละค้ะ...อย่างน้อยก้นี้แหละคนนึงที่ไม่ได้โง่เลือกพวกที่หมิ่นพระบรมเดชา เนรคุณแผ่นดิน จะเลือกเอามาให้มันสนตะพายเหรอ ไม่ใช่ความค้ะ คนฉลาดๆ มีการศึกษาเค้าไม่เลือกกันหรอกค่ะ แร้วเค้าก้ไม่ได้เหนเงินแล้วก้ตาโตสังเกตดูได้จากพลพรรครักเอยทั้งหลายแหล่ที่เลือกส่วนใหญ่ก้ได้คะแนนตามต่างจังหวัดทั้งนั้น ไม่ได้มีเจตนาดูถูกใครนะค้ะ นี้ก้คนบ้านนอกเหมือนกันค้ะ แต่พอดีว่าเกิดมาทันในยุคที่พอได้มีการศึกษาอ่านออกเขียนได้อยู่บ้างค่ะ”

“เรียนกันให้เยอะ อ่านหนังสือให้เยอะ เข้าใจอะไรให้เยอะๆ อย่าโง่ดักดาน ขอเถอะ หรือว่าบางกลุ่มยังดักดาน”

“วันนี้เมื่อ 235 ปีก่อนเป็นวันที่ชาวอเมริกันทุกคนได้ประกาศอิสระภาพอย่างชัดเจน (Independence Day) และวันนี้ของปีนี้ก็เป็นวันที่ประเทศไทยสูญเสียการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับไพร่อย่างชัดเจนเช่นกัน”

“เสียงส่วนใหญ่มาจากไหนล่ะ อีสานไง ดูระดับก็รู้แล้ว คนระดับล่างไร้การศึกษาและไม่ได้รับข้อมูลเลือกเพื่อไทย แต่กทม.คนที่มีการศึกษามีคุณภาพเค้าเลือกปชป. ก็ตอบได้ว่าพรรคไหนดี ตรรกะแค่นี้ ง่ายๆ”

“ที่มันชนะก็เพราะคนอีสานนั่นแหละหูพิการ ตาบอด ก็เงี้ยแหละพวกคนลาว คนเขมรไม่มีการศึกษา”

ฯลฯ

ถ้าความคิดเห็นต่างๆ ข้างต้นถือเป็นความคิดเห็นของชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา ก็ต้องตั้งสมมติฐานกันว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลูกฝังสภาวะไร้การศึกษาผ่านระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ถ้อยคำและวัฒนธรรมดูถูกเหยียดหยามอันประจานจิตสำนึกอันต่ำทรามและเต็มไปด้วยความเกลียดชังเสียจนน่าขำแบบนี้ ทำให้เราไม่อาจตำหนิผู้พูด/พิมพ์ตามสำนวนถนัดปากว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” หรือ “พวกไม่ได้รับการอบรม” เพราะจริงๆ แล้วการพูด/พิมพ์ออกมาอย่างนี้นี่แหละที่น่าจะมาจากการสั่งสอนของพ่อแม่ชนชั้นกลาง และ/หรือการได้รับการอบรมอย่างดีเลิศจากสถานศึกษาไทย

ถึงจะได้รับการศึกษาในระบบแบบทางการหรือจบการศึกษาจากเมืองนอก แต่คนชั้นกลางไทยตามแบบฉบับซึ่งมักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มประชากรที่มีสำนึกเสรีประชาธิปไตยต่ำ ตั้งแต่ต่ำปานกลางไปจนถึงต่ำเตี้ยเรี่ยราด

ถึงจะว่องไวกับเทรนด์ในโลกการสื่อสาร/บริโภคนิยม แต่คนชั้นกลางไทยกลับเลือกที่จะเปิดรับ แพร่กระจาย และเชื่อมั่นเฉพาะข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ตอกย้ำและสอดคล้องกับอุดมการณ์หลักที่ถูกบ่มเพาะในสังคม ส่วนข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ขัดแย้งกับความรักความศรัทธาเดิม พวกเขาจะปิดรับและโจมตีว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อล้างสมอง อันเป็นข้อหาเดียวกับที่พวกเขาได้รับเช่นกัน

ถึงจะเชื่อมั่นว่าตนเองมีคุณธรรมจริยธรรมสูงกว่าชาวบ้าน (ไม่ขายเสียง, ไม่ตีรันฟันแทง, ไม่เสพยาบ้า, ไม่ฆ่าสัตว์ - ซึ่งเป็น “บาป” หรือ “อาชญากรรม” ที่ไม่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์กระฎุมพี) แต่คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ก็ไม่มั่นใจว่าตนเองมีคุณธรรมจริยธรรมที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียทีเดียว เพียงแต่เรื่อง “ไม่บริสุทธิ์” เหล่านั้นถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ, ให้อภัยได้, ใครๆ ก็ทำเป็นธรรมเนียม และกระทั่งไม่ถือเป็นเรื่องผิดจริยธรรม

ถ้าเรื่องที่หมิ่นเหม่ทางศีลธรรมของตนเองเป็น “ภาวะจำยอม” ในวัฒนธรรมเส้นสายและคอรัปชั่น แล้วทำไมเรื่องหมิ่นเหม่ของคนอื่นจึงเป็นสิ่งคอขาดบาดตายที่ละเว้นการพิพากษาไม่ได้ การมีศีลธรรมแบบเลือกปฏิบัติเช่นนี้ย่อมเป็นศีลธรรมที่มีมลทิน

ข้าพเจ้าลองสุ่มตัวอย่างถามประชากรที่รู้จักคนหนึ่งซึ่งพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัดแถบอีสานแต่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เดินทางกลับไปใช้สิทธิที่บ้านเกิดด้วยความตั้งมั่นอันแรงกล้า “มีแจกเงินจริงมั้ย” ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนชั้นกลางระดับล่างผู้อาศัยอยู่ในบ้านเช่าและไปไหนมาไหนด้วยมอร์เตอร์ไซค์ท่านนี้ตอบทันทีว่า “จริง” ข้าพเจ้าถามต่อว่า “แล้วคนเลือกพรรคนั้นเพราะเงินที่แจกเหรอ” เขาตอบว่า “ถ้าชอบถึงไม่แจกก็เลือก เพราะนโยบายของเขามันดีจริง เห็นผลจริง เงินเขามีเยอะมาก มันก็ต้องให้เป็นสินน้ำใจกันบ้าง”

ถ้าตัดเรื่องโครงสร้างเครือข่ายอำนาจและความสัมพันธ์ในชุมชนท้องถิ่นและการต่อสู้ฟาดฟันกันทางอุดมการณ์/การสร้างปีศาจทักษิณอันเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เอาเข้าจริง การที่คนชั้นกลางกรุงเทพฯ จำนวนมากซึ่งไม่ได้มีอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยและไม่ต้องการการปกครอง/บริหารประเทศที่ตัดสินจากผลการเลือกตั้ง มั่นใจว่าตัวเองไม่ขายเสียง(หรือไม่รับเงินแจก) อาจไม่ใช่เพราะยึดมั่นในจริยธรรมอย่างแรงกล้า แต่เป็นเพราะมูลค่าของสิ่งแลกเปลี่ยนไม่สูงพอ ไม่จูงใจพอ หรือไม่ตอบสนองความปรารถนาในวิถีชีวิตก็เป็นได้

ถ้าชาวบ้านได้รับเงินแจก 500 บาท ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ก็ควรได้รับสักหัวละ 500,000 บาท ไม่ใช่ได้ 500 บาทเท่ากันซึ่งกิน dinner มื้อหนึ่งบวก drinks & desserts แล้วยังไม่พอยาไส้เลย โดยจะคิดเสียว่าฉลาดรับแล้วก็ไม่จำเป็นต้องโง่เลือกพรรคที่แจกด้วยก็ได้

ข้าพเจ้าลองสุ่มตัวอย่างถามประชากรแถวๆ บ้านอีกคนหนึ่งซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขับรถออกไปกากบาทที่หน่วยเลือกตั้งบริเวณปั๊มน้ำมันหน้าปากซอยว่า “ถ้ามีพรรคการเมืองมาแจกเงินให้หัวละห้าแสนบาทจะเอามั้ย?” คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ท่านนี้ซึ่งมีการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี, อาศัยอยู่ใน “บ้านมีรั้ว”, มีรถยนตร์ราคาเกินหนึ่งล้าน, ไปช้อปปิ้งกินอาหารตามร้านแพงๆ และท่องเที่ยวต่างประเทศตามโอกาส (กลุ่มเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์เห็นๆ) ตอบแบบไม่ลังเลว่า “ห้าหมื่นก็เอาแล้ว!”

ข้าพเจ้าผิดหวังเล็กน้อยว่าเธอช่างเด็ดเดี่ยวเกินคาด น่าจะทำเป็นลังเลสักหน่อย แต่ก็ถูก, ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าห้าหมื่นก็ไม่เลว แม้ว่าได้ซักห้าแสนก็น่าจะดีกว่า และจริงๆ แล้วแค่ห้าพันก็พอถูไถ ส่วนห้าร้อยหรือต่ำกว่านั้นยังเป็นเรทที่ซื้อศีลธรรมและวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยของคนชั้นกลางไม่ได้ และยังกลับช่วยให้คนชั้นกลางตะเบ็งได้อย่างฮึกเหิมขึ้นว่า “ชั้นไม่มีวันรับเงินซื้อเสียงแบบพวกมัน!”

แม้ว่าการเป็นคน “มีเงิน” จะเป็นสิ่งค้ำประกันความสุขสบายและสถานภาพทางสังคมเป็นขั้นต้น แต่ในจินตภาพของกระฎุมพีกรุงเทพฯ “เงิน” ที่จับต้องได้แบบ “ธนบัตร” หรือ “เหรียญ” น่าจะกำลังเสื่อมมนต์ขลังลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าธนบัตรหรือเหรียญนั้น “สกปรก” ซึ่งส่อว่าเป็นเงินที่ผ่านมือของชนชั้นแรงงานมาอย่างโชกโชน ไปซื้อของเซเว่นติดตลาดนัดหน้าปากซอยทีไร ข้าพเจ้าจะได้ธนบัตรทอนในสภาพทรุดโทรมย่อยยับแทบทุกครั้งไป แต่เมื่อไหร่ไปซื้อของในสถานที่ไฮโซสักหน่อย ธนบัตรที่ทอนกลับมามักจะใหม่สดจากแท่นพิมพ์แทบจะเอาไปอัดพลาสติกใส่กรอบติดผนังบ้าน

“เงินสด” ทั้งแบงค์ทั้งเหรียญ (แล้วยังเหรียญสลึงเหรียญห้าสิบตังค์อีก!) เป็นอะไรที่ “out” มากๆ มานานแล้ว มีติดกระเป๋านั้นคงต้องมี แต่สิ่งที่แสดงความโก้เก๋และอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่า “เงินสด” ย่อมคือบัตรเครดิต ซึ่งยังแบ่งเกรดไปตามวงเงินตั้งแต่บัตรเงิน บัตรทอง บัตร Platinum และบัตร Black

“เงินสด” ในจินตภาพการซื้อขายเสียงในชนบทจึงยิ่งเป็นอะไรที่น่ารังเกียจสำหรับคนชั้นกลางไทย ฉะนั้นถ้าจะแจกเงินคนชั้นกลางกรุงเทพฯ กันจริงๆ ก็ควรโอนเข้าบัญชีไปเลย ไม่ต้องหยิบจับกันให้แสลงใจ

อย่างไรก็ดี หากจะจำกัดขอบเขตอยู่แค่การครองชีพตามไลฟ์สไตล์ทั่วๆ ไป “เงิน” อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของชนชั้นกลางเสมอไป (โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่า ระบบการแลกเปลี่ยนที่มี “เงิน” มาเกี่ยวข้องในการเลือกตั้งถูกสร้างภาพให้เป็นวงจรอุบาทว์ของชนชั้นล่าง) เพราะในชีวิตประจำวันพวกเขาไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินๆ ทองๆ ในการกินอยู่ตามปกตินัก สิทธิประโยชน์อื่นๆ กลับน่าจะมีความเย้ายวนมากกว่าด้วยซ้ำ แทนที่จะใช้เงินซื้อเสียงคนชั้นกลาง ใช้สิทธิพิเศษบางอย่างน่าจะโดนใจไลฟ์สไตล์ของกระฎุมพีมากกว่า อาทิเช่น แจกบัตรรับประกันว่ามีที่จอดรถฟรีทุกหนทุกแห่งทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่าตามห้างร้านหรือถนนหนทาง, แจกบัตรรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์และไม่บุฟเฟ่ต์ฟรีตลอดปีในโรงแรมหรูทุกโรงแรม, แจกตั๋วเครื่องบินชั้นบิสซินเนสคลาสไม่จำกัดเที่ยวบินไปไหนก็ได้ทั่วโลกตลอดปี, แจกบัตรวีไอพี ไปไหนก็เป็น “คนสำคัญมาก” ไม่ต้องเข้าคิว ไม่ต้องรอคอย ไม่ต้องโดนตรวจ และไม่มีใครบังอาจมาอ้างกฎระเบียบอะไรด้วย ฯลฯ

พรรคไหนแจก “สิทธิพิเศษ” แบบนี้ได้น่าเชื่ออย่างยิ่งว่าจะได้เสียงจากชนชั้นกลางกรุงเทพฯ แบบแลนด์สไลด์แผ่นดินไหวและอาจถึงขั้นธรณีสูบ และนั่นจะต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพติดนโยบาย “ประชานิยม” แบบแบงค็อกๆ อย่างไม่ต้องสงสัย นโยบายประชานิยมแบบกระฎุมพีกรุงเทพฯ ไม่ต้องการ “สิทธิพื้นฐาน” หรือการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเท่าใดนัก เพราะปกติเกิดมาก็มีเหลือเฟืออยู่แล้ว (ยกเว้นระบบที่ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่มากๆ เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน) ประชานิยมที่จะครองใจกระฎุมพีกรุงเทพฯ ได้คือประชานิยมที่มอบ “สิทธิพิเศษ” หรือ “อภิสิทธิ์” ในด้านต่างๆ ต่างหาก

การที่ไม่มีพรรคไหนสามารถแจกสิทธิพิเศษแบบนี้ได้จึงทำให้คนชั้นกลางกรุงเทพฯ เข้าใจผิดหลงคิดไปว่าตนเองเลือกด้วยอุดมการณ์และศีลธรรมอันสูงส่ง ปราศจากผลประโยชน์ส่วนตัวเจือปน

ในทางกลับกัน หากจะเลือกด้วยอุดมการณ์ที่ “ถูกต้องกว่า” หรือ “เข้าใกล้” หลักการสมัยใหม่ซึ่งมีอารยะกว่าหลักการสมัยเก่าจริงๆ การเลือกพรรคที่สนับสนุนรัฐประหาร ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ปราบปรามสังหารหมู่ประชาชน ส่งเสริมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน โกหกบิดเบือนข้อเท็จจริง ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ ก็ย่อมเป็นการเลือกด้วยอุดมการณ์ที่ไม่สูงส่งอย่างน่าสยดสยอง

ในอีกมุมมองหนึ่ง หากเอาหลักเสรีประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับในโลกสากลเป็นตัวประเมินค่าจริงๆ แล้วล่ะก็ การซื้อสิทธิ์ขายเสียงของ “คนชนบท” ก็ไม่ได้เลวร้ายและสร้างความมัวหมองให้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตย “มากไปกว่า” การสนับสนุนการทำรัฐประหาร เรียกร้องอำนาจนอกรัฐธรรมนูญให้แทรกแซงกลไกประชาธิปไตย เห็นดีเห็นงามกับการล้มรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งด้วยยุทธวิธีอันโสมมครั้งแล้วครั้งเล่า และปกป้องรัฐบาลหุ่นเชิดที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งของ “คนกรุงเทพฯ” แถมยังมีความชอบธรรมและน่าเห็นอกเห็นใจมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ เพียงแต่เสียงประณามคนกรุงเทพฯ ไม่ดังและถูกประโคมให้เอิกเริกเท่าเสียงประณามคนชนบทเท่านั้นเอง

ถ้าสมมติให้การประณามด้วยเหตุด้วยผลเป็นวิธีลัดที่จะชี้ให้เห็นความผิดบาปอันนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ก็หลงระเริงลอยนวลมานานเกินไปจากการไม่ถูกประณามเพียงพอ และการเอาแต่ประณามการซื้อสิทธิ์ขายเสียงของคนระดับล่างโดยไม่ประณามอุดมการณ์และพฤติกรรมต่อต้านประชาธิปไตยของคนระดับบน ก็เป็นเรื่องที่คู่ควรแก่การประณามเช่นกัน

 

ยุคสมัยอันมหัศจรรย์ได้สร้างอาเพศทางสังคมนานาประการ การไม่เพียงไม่มีฉันทามติในเรื่อง “sense of decency” ของสาธารณชน “ที่มีการศึกษา” ของไทยในกรณีร้ายแรงที่มีพยานหลักฐานชัดเจนท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมืองในรอบห้าปีที่ผ่านมา แต่ยังใช้การพิพากษาทางศีลธรรมแบบไทยๆ ที่ผิดศีลธรรมสากล หรือหลักการพื้นฐานด้านมนุษยธรรมสากล คือสิ่งบ่งบอกถึงความวิปริตทางศีลธรรมของชนชั้นมีการศึกษาของไทยซึ่งกลับยังคงหลงเชื่อในความสูงส่งทางศีลธรรมของตนเองได้อย่างเหลือเชื่อ

การประกาศตนว่า “รังเกียจคนโกง” เป็นเครื่องหมายการค้าทางศีลธรรมของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่น่ารังเกียจตามมาตรฐานสังคมศิวิไลซ์อื่นๆ คนชั้นกลางกรุงเทพฯ มากมายกลับไม่รังเกียจเลยแม้แต่น้อย เช่น วัฒนธรรมหมอบคลาน, การจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น, การเอารถถังมายึดอำนาจรัฐ, การมีกระบวนการยุติธรรมที่ “อธรรม”, การข่มเหงรังแกคนด้อยอำนาจ, การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างไร้จรรยาบรรณ ฯลฯ

การจำกัดการรังเกียจไว้แค่การ “โกงเงิน” (ของทักษิณและนักการเมือง) เป็นหัวใจหลัก สะท้อนว่าโลกทัศน์ของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ หมกมุ่นแค่เรื่องเงินๆ ทองๆ (ซึ่งเป็นข้อหาที่คนกรุงฯ มีต่อคน “ชนบท”) แต่ไม่ยึดมั่นในคุณค่านามธรรมที่สำคัญอื่นๆ

ต่อให้มีความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาชีพอันแสนทันสมัย มีเกียรติ หรือใช้ทักษะชั้นสูง แต่ความคิดอ่านและการแสดงออกทางสังคมการเมืองของคนชั้นกลางไทยกลับมีลักษณะล้าหลัง (backward-reactionary) แบบพวกมีการศึกษาน้อย พวกโลกทัศน์คับแคบ พวกจารีตนิยม พวกเคร่งศาสนา และพวก(เชื้อ)ชาตินิยมจัดในโลกตะวันตก ซึ่งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างหลากหลายไปตามภูมิศาสตร์และความถนัดเฉพาะทาง อาทิเช่น “ขวาอนุรักษ์นิยม” “Neo-Nazi” “White Supremacist” “Christian Fundamentalist” ฉลากเหล่านี้เป็นเทอร์โมมิเตอร์บอกอุณหภูมิความเป็นพวก “โลกแคบ” หรือ “บ้านนอก” และลักษณะล้าหลังตกขอบแบบนี้มักกระจุกอยู่ในชนกลุ่มน้อย มิใช่ชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

ถ้าการศึกษาแบบตะวันตกทำให้คนตะวันตกที่มีการศึกษามีแนวโน้มจะเป็นพวก “เสรีนิยม” ตามมาตรฐานปกติ การศึกษาแบบไทยๆ ตั้งแต่ออกจากช่องคลอดจนถึงรับปริญญาในมหาวิทยาลัยกลับหล่อหลอมให้คนไทยเป็นพวก “อนุรักษนิยม อำนาจนิยม ล้าหลัง” เพราะในประเทศอนุรักษนิยมอำนาจนิยมพรรค์นี้ การศึกษา = การปลูกฝังกล่อมเกลาอุดมการณ์ของรัฐราชการ = การล้างสมองด้วยโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษาไทยไม่ได้วางอยู่บนฐานของอุดมการณ์ที่เชื่อในความเป็นปัจเจกของมนุษย์ผู้มีสติปัญญาที่จะเรียนรู้ โต้แย้ง วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล

การศึกษาแบบตะวันตกเริ่มต้นที่การมีจิตวิพากษ์ แต่การศึกษาไทยเริ่มต้นที่การเชื่อฟังอำนาจตามจารีตประเพณี ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบการศึกษาที่มีปรัชญาต่างกันราวฟ้ากับเหวเช่นนี้จึงสร้างมนุษย์คนละประเภท และชนชั้นกลางไทยคือผลิตภัณฑ์อันแทบจะไร้ที่ติของระบอบการสร้างความไร้การศึกษานี้

ตรงข้ามกับที่มักจะโอดครวญและก่นด่ากัน ปัญหาก้นบึ้งของสังคมไทยคือการมีความเป็นไทยมากล้นเกินไป และเอาอย่างฝรั่งน้อยเกินไป

 

วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา (หรือประเทศ “ไม่ประสงค์จะพัฒนา”) นั้นไม่ยาก แถมออกจะสนุกสนานและเต็มไปด้วยความขบขัน อะไรที่ทำในประเทศพัฒนาแล้ว “ผิด” ในประเทศด้อยพัฒนาจะ “ไม่ผิด” (เช่น รัฐประหาร, มือที่มองไม่เห็น, การมีอคติและเลือกปฏิบัติ, เหยียดมนุษย์ ฯลฯ) และในทางกลับกัน อะไรที่ทำในประเทศพัฒนาแล้ว “ไม่ผิด” ถ้าทำในประเทศด้อยพัฒนาจะ “ผิด” (เช่น วิพากษ์วิจารณ์สถาบันอำนาจ, สร้างความเสมอภาคทางวัฒนธรรมและการเมือง, ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ฯลฯ)

สำนึกดูถูกเหยียดหยามแบบคนกรุงเทพฯ มีมิติของทั้ง class และ ethnic ดังนั้นคนชั้นกลางกรุงเทพฯ จึงน่าจะจัดว่าเป็นพวก racist หรือ “เหยียดเชื้อชาติ” ที่สุดพวกหนึ่งในบรรดาประชากรในเขต metropolitan ของโลก

พวกเขาเหยียด “คนผิวดำ” เหยียด “แขก” เหยียด “ชาวเขา” เหยียดคนจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า ลาว เขมร และเหยียดผู้คนในประเทศของตนเอง ส่วน “ฝรั่ง” แม้จะเป็นที่พิศมัยและเกรงขาม แต่ก็ต้องเป็นฝรั่งตามแบบฉบับ คือ ฝรั่งผิวขาวชนชั้นกลางที่รักเมืองไทยและรู้ที่ต่ำที่สูง ถ้าพูดไทยได้และไหว้เป็นด้วย ก็จะยิ่งเป็นที่เสน่หาน่าเอ็นดู ทว่าหากเป็นฝรั่งนอกจินตภาพอันสวยงามนี้ เช่น ฝรั่งขี้นกสกปรก หรือฝรั่งชอบวิจารณ์เมืองไทยในทางเสียๆ หายๆ คนชั้นกลางไทยก็รังเกียจและไล่ด่าเปิดเปิงได้เหมือนกัน

ด้วยตัวอย่างอันมากล้นมหาศาล การแสดงการหมิ่นหยาม “คนอื่น” ของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ ประจานความไม่มีวัฒนธรรมของพวกเขาได้โอ่อ่าตระการตาทีเดียว

สิ่งแรกที่ควรให้การศึกษาคนชั้นกลางกรุงเทพฯ หรือหากจะทำแคมเปญรณรงค์เพื่อการตื่นรู้ไปเลยก็ยิ่งวิเศษ คือความเข้าใจผิดมหันต์ของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ​ว่าตนเองเป็นผู้มีการศึกษาและเป็นคนดี

การศึกษาแสวงหาความรู้ ข้อมูล การถกเถียง และประสบการณ์จริง “นอก” ระบอบความรู้ (ความหลอกลวง/การโกหกมดเท็จ) กระแสหลักภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงเป็นความรู้ที่ “จริงกว่า” และ “ถูกต้องกว่า” ผู้ที่แสวงหาความรู้แบบนี้และสลัดทิ้งการครอบงำความ(ไม่)รู้แบบเดิมจึง “มีการศึกษากว่า” ผู้ที่จมปลักอยู่กับมายาคติและมิจฉาทิฐิเกี่ยวกับเมืองไทยซึ่งบังเอิญเป็นคนชั้นกลางไทยในกรุงเทพฯ นั่นเอง

ตรงข้ามกับที่คนชั้นกลางคิด การทำความเข้าใจขบวนการประชาชนคนเสื้อแดงและคน “ชนบท” ที่ถูกเหยียดหยามเองนั่นแหละที่จะทำให้คนชั้นกลาง(หรืออันที่จริง เราทุกคน) มีการศึกษาขึ้น เข้าใจสังคมการเมืองมากขึ้น และปลดเปลื้องมายาคติ-มิจฉาทิฏฐิที่มีมาแต่เดิมได้เร็วขึ้น

 

ไม่ใช่แค่ชนชั้นกลางเท่านั้นที่น่าเคลือบแคลงเรื่องการศึกษา แต่บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ องค์กรและคณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องใช้ผู้มีวิชาความรู้จำนวนมากมายก่ายกองกลับแสดงความไร้การศึกษาและไร้จริยธรรมออกมากันอย่างน่าสมเพชอเนจอนาถ แบบอย่างล่าสุดที่ควรแก่การจารึกไว้คือ คณะกรรมการ(ทำลาย)สิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ให้ท้ายและแก้ต่างให้กับรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเห็นประจักษ์กันไปทั่วโลก ผู้ใหญ่คนหนึ่งให้โอวาทว่าคนไทยตามบ้านนอกเป็นคนหิวกระหายและนิสัยเสียเพราะอยากได้ของที่มีคนเอามาล่อ ผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งชอบแสดงตนเป็นผู้ทำงานเพื่อแก้ไขความยากจนให้คนจนมีอำนาจมากขึ้น แต่กลับแสดงปาฐกถาคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะผู้ใช้แรงงานควรอยู่อย่างพอเพียง

จะมีอะไรน่าหัวเราะและน่าอาเจียนไปกว่านี้อีก ฝ่ายที่กดขี่ประชาชนทั้งทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจไม่ให้มีโอกาสเลื่อนสถานะให้ดีขึ้นที่แท้จริงและอำมหิตที่สุดแทนที่จะเป็นฝ่าย “ทุนสามานย์” อย่างที่มักประณามกัน กลับเป็นฝ่ายใส่หน้ากาก “คนดีมีคุณธรรม” ทั้งนั้น

ในทางวัฒนธรรม จงเป็นผู้น้อยผู้ไร้ค่าที่กราบไหว้และเชื่อฟังผู้ใหญ่ต่อไปจนตาย ในทางการเมือง จงเป็นพวกไร้การศึกษาที่ถูกเหยียดหยามเสียงในการเลือกตั้ง หากชนะรอบนี้ก็จงรอถูกยึดอำนาจกลับจากกลุ่มอำนาจเก่าที่มีศีลธรรมตอแหลในการปกครองเหนือกว่า ในทางเศรษฐกิจ คนบ้านนอกจงอย่าทะเยอทะยาน อย่าอยากได้อะไรเกินตัว ถ้าเดือดร้อนแสนสาหัส ให้รอถุงยังชีพที่ภูมิลำเนา คนชั้นแรงงานจงพอเพียงและพอใจกับการดำรงชีพอันไร้ศักดิ์ศรีและไร้ความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีกว่าด้วยเงิน 150 บาทต่อวัน ในยุคสมัยที่เงิน 150 บาทนั่งแท็กซี่ไปประชุมคณะกรรมการร้อยพ่อพันแม่เที่ยวเดียวยังไม่ถึงที่หมายเลย

การขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันจะส่งผลกระทบทางดีทางร้ายต่อระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และแม้แต่ตัวผู้ใช้แรงงานเองอย่างไรเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ทัศนคติที่แฝงอยู่ในการให้เหตุผลของผู้อาวุโสเหล่านี้เพ้อฝันอย่างโหดเหี้ยมยิ่งกว่านายทุนที่มีความเห็นต่อเรื่องค่าแรงไปตามสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจสังคม

เลิกทำตัวเป็นนักบุญหลอกลวงสาธารณชนเถิด กดขี่กันตรงไปตรงมา ไม่ต้องตลบแตลงอ้างความสูงส่งทางศีลธรรม ยังจะน่าเลื่อมใสกว่า

เนื่องจาก “คุณธรรมจริยธรรม & ภูมิปัญญา” เป็น “ไสยศาสตร์” ที่พวกที่ได้รับการยกย่องเชิดชูจากสังคมไทยเหล่านี้ใช้สยบและบิดเบือนหลักการและเหตุผลของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างสัมฤทธิผลมาตลอด นอกจากต้องปลดหน้ากากแล้วส่องไฟให้เห็นเต็มตาว่า “พวกคุณไม่ใช่คนดี” แล้ว ยังต้องให้การศึกษาอีกว่าการเรียกร้อง “จิตสำนึกใหม่” กับประชาชนที่ถูกเหยียบย่ำแทนที่จะเรียกร้องกับเครือข่ายชนชั้นนำเก่าที่กระทำการเหยียบย่ำนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลเพ้อเจ้อที่ควรจะหยุดพร่ำเพ้ออย่างไม่รู้จักพอเสียที

การเทศนาซ้ำๆ ซากๆ ในเรื่อง New Consciousness (ซึ่งเป็นทฤษฎีทางภูมิปัญญา/จิตวิญญาณแนวหนึ่งในกระแสนิวเอจของบรรดาชาวตะวันตกในสังคมเสรี-ทุนนิยม-ประชาธิปไตย) แบบปิดตาข้างหนึ่งในสังคมอำนาจนิยม ก็เหมือนกับการเอาเรื่อง Environment หรือ Global Warming มาตำหนิการใช้กล่องโฟมกับถุงพลาสติกในการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยไม่แตะต้องเรื่องการใช้ปืนกับสไนเปอร์สังหารผู้ชุมนุมโดยกองทัพและรัฐบาล ถ้าผู้นำในการเผยแพร่ “New Consciousness” ในเมืองไทยคิดได้แค่นี้ ก็สมควรจะต้องทบทวนขนาดจิตของตัวเองว่าน่าจะ “เล็กๆ แคบๆ” ไม่ได้ “ใหญ่” และ “ใหม่” อย่างที่ชอบยกย่องตัวเองกัน คนที่ชอบเทศนาเรื่อง “จิตสำนึกใหม่” เองนั่นแหละที่ควรจะมีจิตสำนึกใหม่

ควรเพิ่มเติมด้วยว่า เทรนด์ทางภูมิปัญญาแบบ “จิตสำนึกใหม่” นี้เมื่ออิมพอร์ตเข้ามาในเมืองไทยก็สวมรับและบรรสานสอดคล้องกับท่าทีทางภูมิปัญญาเดิม(ซึ่งอิมพอร์ตมาเหมือนกัน)คือพุทธศาสนา หัวใจของภูมิปัญญาทั้งสองแบบคือ Moral (Spiritual) Hierarchy ซึ่งยิ่งได้รับการเน้นย้ำเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนำตามจารีตในบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย ทั้งพุทธศาสนาและจิตสำนึกใหม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำเก่าและเครือข่ายที่จะแบ่งแยกผู้คนตามลำดับชั้นของศีลธรรมและระดับการวิวัฒนาการของจิต ศีลธรรมชั้นสูงสุดและระดับวิวัฒนาการของจิตขั้นสูงสุดย่อมเป็นคุณสมบัติที่ไม่ต้องตรวจสอบของเครือข่ายชนชั้นนำ ในขณะที่ประชาชนสามัญทั่วไปถูกยัดข้อหาว่ามีระดับชั้นทางศีลธรรม(รวมทั้งระดับขั้นของการบรรลุธรรม)และวิวัฒนาการของจิตที่ต่ำกว่าโดยไม่ต้องตรวจสอบเช่นกัน

ความวิปริตทางภูมิปัญญาแบบนี้คือการที่พุทธศาสนาและจิตสำนึกใหม่ถูกอ้างให้เป็น “ที่มา” และ “รากฐาน” ของทั้ง “ปัญญา” และ “ศีลธรรม” ที่ถูกต้องบริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุดในการตัดสิน อธิบาย และเสนอทางออกให้กับปรากฏการณ์ทุกชนิดในสังคม ด้วยท่าทีเช่นนี้ สังคมไทยจึงกลายเป็นหมู่บ้านเด็กในนิทานที่ทุกอย่างถูก simplified ให้ง่ายดายดูบ้องแบ๊วไร้เดียงสา แต่ถ้าขยี้ตาแรงๆ หรือทุบกะโหลกหนักๆ เราก็จะพบว่าเฉพาะในนิทานเท่านั้นจึงจะมีหมู่บ้านเด็กที่ดำรงอยู่ในโลกที่เป็นไปได้แบบนี้ ในความเป็นจริงการใช้พุทธศาสนาและจิตสำนึกใหม่แบบตื้นเขินและหลอกลวงกำลังทำให้สังคมไทยกลายเป็นหมู่บ้านคนปัญญาอ่อนมากกว่า

Moral (Spiritual) Hierarchy แบบ Buddhism และ New Consciousness แบบไทยๆ จะถูกใช้เป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมในสังคมระดับกว้าง (ทั้งที่ควรจะเป็นทางเลือกในการพัฒนาตนเองของปัจเจก) เพื่อกลบเกลื่อน บิดเบือนและหักล้างความ “ผิด” ในระบอบจริยธรรมแบบใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และความรับผิดชอบตรวจสอบได้ ดังนั้นเมื่อระบอบจริยธรรมแบบใหม่ต้องการ “เปิดโปง” และ “เอาผิด” ฝ่ายอำนาจนิยมที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน พวกนิยมพุทธและจิตสำนึกใหม่แบบไทยๆ (ซึ่งถูกตีความและให้อรรถาธิบายจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จะพากันออกมาเทศนาการให้อภัยไม่จองเวร เรียกร้องให้มองทุกอย่างแบบองค์รวม สรรพสิ่งเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่าคิดแยกส่วนตายตัวสุดโต่ง เพราะผิดธรรมชาติความเป็นจริง อย่าแบ่งแยกฝ่ายกดขี่กับฝ่ายถูกกดขี่ อย่าแบ่งแยกคนฆ่ากับคนถูกฆ่า (แต่ดันแบ่งแยกพวกบรรลุธรรมแล้วกับพวกยังไม่บรรลุธรรม แบ่งแยกจิตเล็กกับจิตใหญ่!)

ในที่สุดแล้ว ที่ถูกด่าว่า “ทุน” กับที่ถูกสดุดีว่า “คนดี” ฝ่ายไหนสามานย์อย่างลึกซึ้งกว่ากัน สังคมไทยต้องใช้ “จิตสำนึกใหม่” เพื่อการแยกแยะโดยแยบยล

 

การโหมปลุกระดมเรื่องศีลธรรมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อยกตัวเองและเหยียบฝ่ายเสรีประชาธิปไตยของเครือข่ายชนชั้นนำเก่า ทำให้สังคมไทยสร้างภาพหลอนขึ้นจากมรดกความเป็นสังคมเบาปัญญามาแต่เดิมว่า ความมีศีลธรรมอยู่คู่กับฝ่ายสถาบันตามจารีต และความไม่มีศีลธรรมอยู่คู่กับฝ่ายเรียกร้องเสรีประชาธิปไตย หรือพูดอีกอย่างว่า เสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นลัทธิที่ไร้ศีลธรรม

ถ้าตัดเรื่องศีลธรรมจอมปลอมแบบมือถือสากปากถือศีลของสังคมไทยออกไป การเรียกร้องเสรีประชาธิปไตยโดยมูลฐานแล้วคือการเรียกร้อง “จริยธรรม” แบบใหม่ให้เป็นคุณค่าร่วมของคนในสังคมแทนระบบศีลธรรมแบบเก่าของสังคมโบราณ (traditional values) ซึ่งวางอยู่บนคติการจำแนกคนตามลำดับชั้นและอิงอยู่กับศีลธรรมทางศาสนาและอุดมการณ์อำนาจศักดิ์สิทธิ์นิยมของชนชั้นปกครอง

กล่าวอย่างกว้างที่สุด คุณค่าพื้นฐานที่จริยธรรมแบบใหม่ของเสรีประชาธิปไตยเชิดชู (ซึ่งไม่ได้แปลว่าเป็นอุดมการณ์สัมบูรณ์ปราศจากปัญหา ข้อบกพร่อง ข้อวิจารณ์และความขัดแย้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ) คือ หลักการและกฎกติกาในสังคมต้องมาจากเหตุผล (Reason) ไม่ใช่อำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ (God), การยึดมั่นในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค (Human Rights, Liberty, Equality), ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง (Tolerance), นิติรัฐ (Rule of Law), การเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม (Free & Fair Election), การไม่เลือกปฏิบัติ (Anti-Discrimination), การรับผิดชอบและตรวจสอบได้ (Accountability) ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าการที่สังคมใดจะเปลี่ยนมายึดถือ “คุณค่าแบบใหม่” แบบนี้ได้ก็ต้องมีการปฏิรูป/ปฏิวัติอุดมการณ์วัฒนธรรมเดิมที่ขัดแย้งอย่างถึงรากกับคุณค่าเหล่านี้ด้วย เมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราก็จะยิ่งเห็นว่าคุณค่าเสรีประชาธิปไตยข้างต้นนี้เป็น “จริยธรรมสมัยใหม่” ที่คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ไม่มีหรือมีอย่างกะพร่องกะแพร่ง

ฉะนั้นหากประเมินด้วยหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมสมัยใหม่เหล่านี้อย่างจริงจัง คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ต่อต้านคุณค่าดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นคนดี พวกเขาเป็น “คนไม่ดี” อย่างไม่อาจบิดพริ้วได้

หลักการสมัยใหม่เหล่านี้มีรากมาจากความคิดปรัชญาแบบ Enlightenment การปฏิเสธหลักการพื้นฐานนี้ของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ ในแง่หนึ่งก็คือการปฏิเสธแสงสว่าง เพราะในความมืด ความฉ้อฉลที่พวกเขาเคยชินมิอาจมองเห็นและตรวจสอบได้ “Endarkenment” ของไทยปลุกเสกความมืดให้เป็นสรวงสวรรค์อันน่าหลงใหล ในการสร้างฝันอันสูงสุดถึงความมืดชั่วนิรันดร์ที่ทำให้ความสว่างเป็นอาชญากรรมนี้ บุตรธิดาแห่งรัตติกาลพึงพอใจกับการมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น

 

เฉพาะประเด็นการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป คนชั้นกลางไทยควรทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า การที่พวกเขาจำนวนหนึ่งเลือกประชาธิปัตย์จากความเกลียดกลัวทักษิณ-พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง ไม่ใช่เพราะพวกเขามีการศึกษาสูง มีคุณธรรมจริยธรรมชั้นเลิศ และรู้เท่าทันการเมืองอย่างที่ทึกทักและปลอบประโลมกันเองแต่อย่างใด แต่พวกเขาเลือกพรรคเบอร์สิบเพราะพวกเขาเลือกข้าง และข้างที่พวกเขาเลือกคือข้างอนุรักษนิยม-จารีตนิยม (ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ monarchy-military)

แต่ข้างอนุรักษนิยม-จารีตนิยมซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนสำคัญที่สุดในระบบพรรคการเมืองไม่สามารถเทียบได้อย่างเด็ดขาดกับบรรดาพรรคแนว “Conservative” ของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว เพราะ “อนุรักษนิยม” ในประเทศเหล่านั้นต้องนำเสนอแนวทางอยู่ “ภายใต้” กฎกติกาและคุณค่าประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน แต่สิ่งที่ “อนุรักษนิยม” ในเมืองไทยกระทำอยู่ผ่านเครือข่ายลูกสมุนทุกระดับทั้งในที่ลับและที่แจ้ง คือการสกัดขัดขวางและทำลายการเติบโตของประชาธิปไตย ด้วยวิถีทางและวิธีการที่ละเมิดหลักประชาธิปไตยและมนุษยธรรมสากล

พูดง่ายๆ ก็คือ ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยโดยเนื้อแท้คือเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่ง “มืด” และ “เถื่อน” เกินกว่าจะเอาไปเทียบกับอุดมการณ์อนุรักษนิยมในประเทศศิวิไลซ์ และไม่มีหลักจริยธรรมสมัยใหม่ใดจะสนับสนุนและให้ความชอบธรรมกับเผด็จการอำนาจนิยมได้

ถ้าตระหนักว่าการเลือกฝ่ายจารีตนิยม (the Establishment) ก็เพราะต้องการจะยืนหรือหมอบอยู่ข้างนี้ และต่อให้เห็นความชั่วร้ายฉ้อฉลนานัปการของฝ่ายจารีตนิยม แต่ก็ยังเลือกที่จะอิงแอบแนบชิดอยู่กับระบอบเก่า นี่ต้องถือว่าเป็นการเลือกที่มีเหตุผลของฝ่ายรอยัลลิสต์ แต่การปักใจว่าการเลือกฝ่ายจารีตนิยมของตนเองเป็นการเลือกอันชาญฉลาด สูงส่ง ถูกต้องดีงาม และเท่เก๋ไก๋ต่างหากที่แสดงถึงความไร้การศึกษาของผู้เลือก

และเมื่อคำนึงถึงอาชญากรรมโดยรัฐในการสังหารประชาชน (รวมทั้งสื่อมวลชนต่างชาติ) ที่มีพยานหลักฐานฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ทว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพยังปิดบังอำพราง โกหก ใส่ร้าย โยนความผิดและไม่ยอมรับผิดจนถึงทุกวันนี้แล้ว การเลือกเพื่อให้พรรคนี้ได้กลับมาครองอำนาจอีก เป็นสิ่งที่ผู้เลือกต้องใคร่ครวญและสำรวจศีลธรรมประจำตนด้วยจิตใจอันเที่ยงธรรม(ถ้ามี)เอาเอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม.ลุยสอบละเมิดสิทธิ ‘สร้างด่านใหม่สะเดา’

Posted: 13 Jul 2011 11:50 AM PDT

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ตนและคณะอนุกรรมการฯ จะประชุมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ประกอบด้วยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ด่านศุลกากรสะเดา สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 กรมศุลกากร กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาฯลฯ

นายแพทย์นิรันดร์ เปิดเผยอีกว่า ตนได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียว่า พื้นที่บริเวณฝั่งประเทศมาเลเซียมีนโยบายก่อสร้างด่านศุลกากร บริเวณเดียวกันกับที่ประเทศไทยจะสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่ในพื้นที่บ้านด่านนอก ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาหรือไม่ และได้รับคำตอบว่าทางมาเลเซียไม่มีนโยบายที่จะสร้างด่านบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด

“ที่ตั้งโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เนื้อที่ 720 ไร่ เป็นพื้นที่สวนยางของชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งชาวบ้านได้เข้าไปอยู่อาศัยและประกอบอาชีพมา 60 – 70 ปีแล้ว หากมีการสร้างด่านจะกระทบกับสิทธิชุมชน สิทธิทำกิน และการมีชีวิตอยู่ของชาวบ้านหลายสิบราย” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว

นางชุลีกร ดิษโสภา ชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายชุมชนชาวสวนยางด่านนอก เปิดเผยว่า เบื้องต้นชาวบ้านต้องการให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แจกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ให้มาอยู่ในมือของชาวบ้าน และชาวบ้านยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมที่จะคัดค้านโครงการก่อสร้างด่าน

“ตามแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา จะผ่านพื้นที่บริเวณทับโกบ อำเภอสะเดา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและอยู่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียด้วย ทำไมไม่สร้างด่านแห่งใหม่ที่นั่น เพราะฝั่งตรงข้ามบ้านด่านนอก ทางมาเลเซียก็ไม่ได้ก่อสร้างด่านในฝั่งตรงข้าม มิหนำซ้ำบ้านทับโกบยังอยู่ใกล้ด่านปาดังเบซาร์ซึ่งการขนส่งสินค้าสะดวกกว่า” นางชุลีกร กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ธนาคารเลือดชายแดนใต้’ วิกฤติ หวั่นบริจาคโลหิตผิดหลักอิสลาม

Posted: 13 Jul 2011 11:47 AM PDT

นายแพทย์สุทธิพงษ์ ทักษิณสัมพันธ์ ผู้อำนวยการธนาคารเลือด ประจำโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณเลือดในธนาคารเลือด โรงพยาบาลปัตตานี มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้เลือดที่มีมากถึง 4,000–5,000 ซีซีต่อวัน เนื่องจากมีผู้บริจาคเลือดเฉลี่ย 450 ซีซีต่อวัน หรือน้อยกว่า บางครั้งโรงพยาบาลออกไปขอรับบริจาคเลือด ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่า มาขอรับบริจาคเลือดเพื่ออะไร ทำให้ไม่ได้รับบริจาคเลือดเลยก็มี แต่ละวันยอดผู้มาบริจาคมีเพียง 3–5 คน และบางวันแค่ 1–2 คนเท่านั้น

นายแพทย์สุทธิพงษ์ เปิดเผยต่อไปว่า เลือดส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของทหาร จากค่ายทหาร เยาวชน นักเรียน นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ทางโรงพยาบาลออกจัดกิจกรรมขอรับบริจาคในช่วงเปิดเทอม ขณะที่ช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมขอรับบริจาคเลือดได้ จะเป็นช่วงที่ขาดแคลนเลือดอย่างหนัก ผู้บริจาคเลือดส่วนใหญ่ เป็นชาวไทยพุทธ ส่วนชาวมุสลิมบริจาคเลือดน้อยมาก เนื่องจากกลัวความเจ็บปวด กลัวเข็มฉีดยา บางคนบริจาคเลือดให้เฉพาะญาติเท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้เลือดของตนไปอยู่กับคนอื่น โดยเฉพาะคนต่างศาสนา

นายแพทย์สุทธิพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนมากชาวบ้านจะบริจาคเลือดเมื่อมีอาการป่วย เพราะเชื่อว่าการบริจาดเลือดจะช่วยให้อาการป่วยดีขึ้น การบริจาคด้วยจิตกุศลจึงมีน้อยมาก โดยทั่วไปชาวบ้านไม่ทราบว่า เมื่อบริจาคเลือดแล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ทำให้ชาวบ้านไม่อยากบริจาคเลือด ทั้งที่การบริจาคเลือดทำให้มีสุขภาพดีขึ้น และเข็มที่ใช้รับบริจาคเลือด เป็นเข็มที่สร้างความเจ็บปวดน้อยที่สุด

นายแพทย์สุทธิพงษ์ เปิดเผยอีกว่า มาตรการรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีผู้ป่วยต้องใช้เลือดจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลจะใช้วิธีขอบริจาคจากญาติ แต่ส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธ ทางโรงพยาบาลจึงใช้วิธีขอรับบริจาคเลือดจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องบริจาคหากจำเป็นจริงๆ

“นอกจากนี้ ก็ขออนุเคราะห์เลือดจากโรงพยาบาลใกล้เคียง หรือโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หรือโรงพยาบาล ม.อ. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หรือหากมีความต้องการเลือดจำนวนมาก ก็จะขอจากธนาคารเลือดของสภากาชาด แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เลือด” นายแพทย์สุทธิพงษ์ กล่าว

ดร.มะรอนิง สะแลมิง อาจารย์ประจำแผนกกฎหมายอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ความเข้าใจและทัศนคติของมุสลิมเกี่ยวกับการบริจาคเลือดอยู่ที่ความเชื่อทางศาสนาว่า เลือดเป็นสิ่งนาญิส (สกปรก) ดังนั้นการบริจาคสิ่งที่เป็นที่นาญิส จึงไม่ได้รับอนุญาต การนำสิ่งที่อยู่ในร่างกายออกมาเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ซึ่งเป็นการวินิจฉัย (ฟัตวา) ที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้มุสลิมยังเกรงว่า จะนำเลือดของตนไปให้คนต่างศาสนา

ดร.มะรอนิง กล่าวว่า การบริจาคเลือดเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลามอนุญาต เพราะหลักคำสอนจากคำภีร์อัลกุรอ่านระบุว่า หากผู้ใดได้รักษาหนึ่งชีวิตของมนุษย์ ก็เท่ากับได้รักษาชีวิตมนุษย์ทั้งมวล หากเมื่อใดมีความจำเป็นต้องใช้เลือด การบริจาคเลือดก็จะกลายเป็นเรื่องบังคับ (วาญิบ) ให้ทุกคนต้องบริจาคเลือด ถ้าไม่มีใครบริจาคเลือดเลย ทุกคนจะได้รับบาปทันที

“ผมขอเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาชาวมุสลิมบริจาคเลือดกันน้อย โดยการสร้างธนาคารเลือดที่เป็นของมุสลิมเอง หรือการแยกรับบริจาคเลือดเฉพาะของมุสลิมมาไว้ต่างหาก อาจจะช่วยลดข้อครหาที่ว่า นำเลือดมุสลิมไปให้คนศาสนาอื่นได้ผมเสนอให้องค์กรมุสลิม หรือผู้นำศาสนาอิสลาม เป็นผู้นำการบริจาคเลือดให้มากขึ้น เพราะจะทำช่วยให้ชาวมุสลิมตามไปบริจาคเลือดกันมากขึ้นด้วย ” ดร.มะรอนิง กล่าว

เปาะจิ ชาวบ้านจากชุมชนโรงอ่าง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ตนบริจาคเลือดมาแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากรู้สึกปวดหัว หลังจากบริจาคเลือดแล้ว อาการปวดหัวก็ดีขึ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศรีสุวรรณ จรรยา: รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อมแบบไหนที่ไม่ยี้

Posted: 13 Jul 2011 10:46 AM PDT

ตามที่มีกระแสข่าวที่ว่า จะมีผู้มีบุญหนักตักใหญ่ได้เข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันหลายคนนั้น องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรชาวบ้านหลายองค์กรเท่าที่ได้สำรวจ ตรวจสอบดูพบว่า ทุกคนต่างมีความรู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีดังกล่าว และหากพรรคเพื่อไทยด่วนตัดสินใจโดยไม่ดูภูมิหลังคนที่จะมาเป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ อาจจะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งกับชาวบ้านและเอ็นจีโอต่างๆ รวมทั้งองค์กรชาวบ้านไม่มีที่สิ้นสุด จากนโยบายปรองดองก็อาจจะกลายเป็นการเป็นชนวนความขัดแย้งกลุ่มใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำลายฐานเสียงผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยไปในที่สุดได้

บุคคลที่พรรคการเมืองควรที่จะเสนอให้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งเสนาอำมาตย์ระดับเจ้ากระทรวงนั้น ควรจะเป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับ แต่มิใช่เอาคนที่มีประวัติด่างพร้อยมาทำงาน แม้จะดูเก่งเลิศเลอสักปานใด หากมีประวัติที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และเคยต้องคำสั่งถูกลงโทษทางวินัยมาแล้วก็ยิ่งต้องกลั่นกรองมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้แม้ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อหลายคน จะมีความรู้ความสามารถชั้นเทพเพียงใดก็ตาม แต่ทว่าในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับต้องมีกระบวนการตรวจสอบประวัติและความเหมาะสมกันเสียก่อน มิใช่มีตำแหน่งในพรรคระดับสูงแล้วจะให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงไหนก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ผ่านเลยไป ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะมีผลต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในอนาคตด้วย

ดังนั้นใครก็ตามที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้เข้ามาเป็น รมว.กระทรวงฯนี้ ควรต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าบุคคลคนนั้น...

1) เคยมีพฤติการณ์ แอ็คท่าใช้ปืนสงคราม HK33  เล็งยิงลูกจรเข้ในบ่อเลี้ยงที่นครสวรรค์ มาแล้วเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2538 หรือไม่ เพื่อให้นักข่าวบันทึกภาพ เนื่องจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมปริ่มบ่อแล้ว กลัวมันจะหนีไปทำร้ายชาวบ้าน ทั้ง ๆ ที่มีวิธีหรือมาตรการจัดการให้ปลอดภัยต่อสัตว์และคนอีกมากมายในโลกนี้ แต่คนพวกนี้กลับเลือกใช้วิธีการยิงจระเข้ดังกล่าวทิ้งเสีย ทั้ง ๆ ที่พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ชัดเจน ให้ จระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย

2) เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มีความผิดวินัยร้ายแรง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ม. 23 และ ม.26 เนื่องจากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงเสือโคร่งด้วย เว้นแต่เป็นการทําเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและวิจัยวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งกระทําโดยราชการ และโดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ

แต่กรณีดังกล่าว เป็นการขออนุญาตส่งออกเพื่อประโยชน์ในกิจการสวนสัตว์สาธารณะของบริษัทเอกชน มิใช่การเพาะพันธุ์หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะที่ทําโดยราชการ จึงเป็นการกระทําที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนได้รับประโยชน์จากการส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย การกระทําของบุคคลและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จึงมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 ทั้งนี้ บริษัทที่ขออนุญาตส่งออกเสือโคร่ง คือบริษัทสวนเสือศรีราชา ( ศรีราชา ไทเกอร์ ซู ) ส่งออกเสือโคร่งจำนวน 100 ตัว ไปยังสวนสัตว์ซันหยา ไมตรี คอนเซ็ปท์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน

3) เคยเป็นบุคคลที่ถูกกลุ่มชาวบ้านภาคีฮักเชียงใหม่และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีฟ้องร้องต่อศาลปกครองกล่าวหาว่าโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ก่อสร้างและดำเนินการในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 และขัดต่อมาตรา 42 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และการนำสัตว์เข้ามาอยู่ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นการกระทำผิดต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากล CITES และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นการกระทำทารุณต่อสัตว์ และกรณีสวนสัตว์กลางคืน หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดำเนินการโดยนำสัตว์ป่าสงวนมาจากประเทศเคนยา โดยการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(MOU) ระหว่างประเทศไทยกับเคนยา ซึ่งขัดต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากล CITES โดยเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าดุร้ายมาอยู่ในที่คุมขังหรือไม่

4) เคยถูกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีลงโทษไล่ออกจากราชการจริงหรือไม่ในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง ซึ่งระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำของบุคคลผู้ถูกร้องเรียนมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ...และฐานกระทำอันเชื่อได้ว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง... ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ซึ่ง อ.ก.พ.กระทรวงได้มีมติให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ แม้ต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษรวม ๆ ให้กับผู้กระทำความผิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ในประเด็นเรื่องของจริยธรรมนั้น ไม่มีกฎหมายฉบับใดสามารถยกเว้นความผิดให้ได้

5) เคยมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 174 (4) ประกอบมาตรา 102 (6) ที่ว่าเคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการแล้ว จะสามารถเสนอให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้หรือไม่

6) เคยไปออกรายการ "ถึงถูกถึงคน" ร่วมกับนายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน แต่ถูกคนใกล้ชิดของบุคคลดังกล่าวทำร้ายร่างกายจริงหรือไม่ ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่าเป็นการคุกคามตัวแทนขององค์กรประชาชน ที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมไปถึงการเรียกร้องให้บุคคลดังกล่าวลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีตำแหน่งเป็นถึงอดีตข้าราชการระดับสูงและมีตำแหน่งทางการเมืองเป็นถึงรัฐมนตรีควรต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรียังรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะฉะนั้นการกระทำที่ไม่เคารพต่อประชาชนและมีพฤติกรรมชอบใช้อำนาจไม่ควรที่จะดำรงตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้นในรัฐบาล

7) เคยเป็นบุคคลที่มีทัศนคติหรือมีลักษณะแนวคิดการทำงานที่มีปัญหาขัดแย้งกับชาวบ้านอย่างหนักมาโดยตลอดหรือไม่ นอกจากนั้น การที่บุคคลที่มีบุคลิกที่เชื่อมั่นในตนเองสูงและมีลักษณะการบริหารงานแบบรวมศูนย์ฯได้เข้ามาเป็นรมว.สิ่งแวดล้อมฯ จริงอาจจะเพิ่มปัญหามากขึ้นเป็นหลายเท่าหรือไม่ และอาจจะกลับกลายเป็นผลสะท้อนกลับไปทำลายพรรคเพื่อไทยในอนาคตได้หรือไม่ เนื่องจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็คือคนในชนบท ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ต่อระบบการทำงานแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ภาคราชการเพียงอย่างเดียว ทำให้ในขณะนี้ เกิดปัญหาต่อคนในชนบทอย่างมากมายที่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรในพื้นถิ่นทำมาหากิน ที่ทำให้คนไทยเป็นล้านๆ คนที่อยู่ในป่าต้องกลายสภาพเป็นผู้บุกรุก ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกปล่อยให้คนไม่มีที่อยู่ไม่มีที่ทำกินและต้องมีสภาพอยู่อย่างผิดกฎหมายมากมาย บางรายต้องติดคุกเหมือนกับอาชญากร

ข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ว่าที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ เพื่อที่จะได้หาตัวบุคคลที่มาดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติได้ถูกคนถูกหน้าที่ได้  ที่สำคัญต้องเป็นคนที่ลงมาร่วมแก้ไขปัญหากับชาวบ้านและผู้มีส่วนได้เสียในกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ได้อย่างดี อย่างสมานฉันท์ โดยต้องมีบุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตนสามารถรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วนในบริบทของสังคมได้ ซึ่งคนในพรรคเพื่อไทยน่าจะมีคนที่เหมาะสมหลายคนมากกว่าคนที่เป็นตัวเต็งอยู่ในขณะนี้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อวสานของ “เอกภาพ”: การเลือกตั้ง 3 กรกฎากับบทเรียนของชนมลายู

Posted: 13 Jul 2011 10:36 AM PDT

เป็นที่ทราบกันดีว่าประชาชนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งนราธิวาส ปัตตานี และยะลานั้น มีความแตกต่างทางด้านภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ต่างจากคนไทยในภูมิภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องการก่อเหตุความรุนแรงและความขัดแย้งอันเป็นผลต่อเนื่องจากเงื่อนไขที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ถูกกดขี่ข่มเหงและถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจากส่วนกลางในอดีต

โดยเฉพาะนับแต่ปี 2547 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง หรือค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสเป็นต้นมา สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็เกิดขยายตัวยกระดับมากขึ้นสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจะมีความเข้าใจต่อคนและสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบก็ยังคงเกิดขึ้นรายวันอย่างต่อเนื่อง
 
คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้จะมีความแตกต่างกับคนไทยส่วนอื่นๆของประเทศ ทางภาษา ชาติพันธุ์ และศาสนา แต่ความรู้สึกมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในพื้นที่นี้ไม่ได้ด้อยไปกว่าประชาชนในเขตพื้นที่อื่นๆ ของประเทศแม้แต่น้อย ร้านน้ำชาแต่ละร้านในเขตพื้นที่สามจังหวัดมักเปิดทีวีช่องที่มีการรายงานข่าว ผู้คนมักแลกเปลี่ยนและถกประเด็นทางการเมืองตามร้านน้ำชา สถานที่ สาธารณะต่างๆ รวมทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
 
ตัวอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี นักศึกษาหลายๆ คนทั้งชายและหญิง ต่างยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองอย่างออกอรรถรสจนบางทีผู้หญิงไม่ยอมแพ้ผู้ชาย
 
การเลือกตั้งแต่ละครั้งก็เช่นกัน คนในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งมากขึ้นหากเทียบกับแต่ก่อน นับแต่การเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
 
กระทั่งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา จำนวนเสียงของผู้มาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งอยู่ที่ประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งยังได้สะท้อนสิ่งที่ยากแก่ความเข้าใจต่อคนหลายๆ คนต่อผลการเลือกตั้งที่ออกมา
 
ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีปุจฉาผุดขึ้นมาในใจ 2 คำถาม คำถามแรกคือ “ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงชนะแบบถล่มทลายในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้?” ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย เว้นจากภาคใต้ตอนบน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน พรรคเพื่อไทยเป็นผู้กุมชัยชนะอย่างท่วมท้น ตามมาด้วยคำถามที่สองซึ่งเกิดข้อสงสัยอย่างหนักหน่วงว่า “ทำไมกลุ่มวาดะห์ถึงปราชัยอย่างย่อยยับ?”
 
ในการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตครั้งนี้ สมาชิกในกลุ่มวาดะห์ที่เป็นแกนนำของกลุ่มซึ่งเป็นตัวหลักในการก่อตั้งวาดะห์เมื่อหลายปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นคุณมุข สุไลมาน หรือคุณบูราฮานุดดิน อูเซ็ง และน่าจะถือเป็นกลุ่มตัวแทนของชนมลายูมุสลิมในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างไม่ได้รับการเลือกตั้ง ในอดีตที่ผ่านมานั้น อย่างน้อยๆ ที่สุดก็ต้องมีหนึ่งหรือสองคนจากกลุ่มวาดะห์ที่จะต้องได้รับการเลือกตั้งเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2529
 
แต่ทว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขากลับไม่ได้รับการเลือกตั้งเลย หลายคนถึงขนาดขานถามกันว่า กลุ่มวาดะห์ได้มาถึงจุดอวสานแล้วอย่างนั้นหรือ? (แม้ว่าหลายคนอาจจะเห็นว่าวาดะห์นั้นล้มหายตายไปจากแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2548 ก็ตาม)
 
พื้นที่ภายในภูมิภาคอย่างจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เป็นพื้นที่ที่หลายคนจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อย คนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อาจใช้กรอบของความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ ซึ่งหากมองจากผลการเลือกตั้ง ก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า คนในพื้นที่แห่งนี้ยังคงมีแนวคิดที่ไม่ได้ต่างกับคนในเขตภาคใต้ตอนบนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์ และเลือกที่จะปฎิเสธพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็เท่านั้นเอง
 
วิเคราะห์แบบนี้ก็ไม่ผิด เพียงแต่เป็นการมองที่ขาดมิติด้านลึก เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงไม่ได้มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนในแถบนี้เท่าไหร่ นอกเหนือจากนี้ยังไม่สามารถปฎิเสธได้ว่ามีอีกหลายตัวแปรสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ แล้วอะไรล่ะคือคำตอบ?
 
บางคนก็อาจวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐบาลที่ลงทุนมากมายนานับประการให้กับคนในพื้นที่สามจังหวัดโดยผ่านการใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มรูปแบบทั้งในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ใหม่ การขยายกำลังฝ่ายปกครองท้องที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.)
 
นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังได้กรุยทางเอาไว้โดยดำเนินนโยบายตามแนวทางของมาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เหตุนี้จึงได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นให้ได้กลับมารับใช้ประชาชนอีก เรื่องเป็นเช่นนี้หรือ?
 
จะเท็จจริงมากน้อยเพียงไรว่าชาวบ้านจะซาบซึ้งกับผลงานของพรรคประชาธิปัตย์มากมายอย่างคณานับนั้นก็คงยากที่จะฟันธงว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะควรมีงานวิจัยประเมินผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีผลทำให้ชาวบ้านพึงพอใจมากน้อยขนาดไหนอย่างไร
 
เพื่อที่จะหาคำตอบเฉพาะหน้าที่ชัดเจน จนสามารถไขโจทก์ปัญหาสองปัญหาดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้นั้น จำเป็นที่จะต้องนำข้อมูลคะแนนดิบของผลการเลือกตั้งมาวิเคราะห์ประกอบ นี่เป็นการวิเคราะห์โดยอิงการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
 
ตารางที่ 1 แสดงผลคะแนนการเลือกตั้งของส.ส.เฉพาะแบบแบ่งเขตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเปรียบเทียบเพียงปี 2548 และ ปี 2554 ระหว่างฝ่ายแรกที่เป็นผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้สมัครพรรคไทยรักไทย (มีกลุ่มวาดะห์เป็นส่วนหนึ่ง) ในปี 2548 และผู้สมัคร 4 พรรคการเมืองในปี 2554 ซึ่งแต่ละกลุ่มนำโดยอดีตแกนนำคนสำคัญของกลุ่มวาดะห์เดิมที่กระจายไปอยู่ตามพรรคดังกล่าว ทั้งนี้ เหตุผลที่ไม่ได้นำปี 2551 มาประกอบการวิเคราะห์เนื่องจากปี 2551 มีระบบการเลือกตั้งแบ่งเขตรวมหลายเบอร์ที่แตกต่างออกไปจากปี 2548 และ ปี 2554
 
 
ตารางที่ 1:
ข้อมูลผลการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตแบบเบอร์เดียวต่อหนึ่งเขตของปี 2548 และ 2554
ในพื้นที่ของจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา 


              
หากดูจากผลการเลือกตั้งในปี 2548 จะเห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะพรรคไทยรักไทยในทุกเขตการเลือกตั้ง (ยกเว้นจังหวัดนราธิวาส เขต 3 ที่พรรคชาติไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเขตนี้) หากมองในมุมที่กลับกัน กลุ่มวาดะห์ซึ่งย้ายมาอยู่ภายใต้พรรคไทยรักไทยพ่ายแพ้ต่อพรรคประชาธิปัตย์ทุกเขตการเลือกตั้งหลังเกิดเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในปี 2547 ในอีกด้านหนึ่ง สมาชิกกลุ่มวาดะห์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในคดีปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง นอกจากนี้หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวาดะห์ยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญระดับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ช่วงเวลาดังกล่าว แต่กลับเลือกที่จะเพิกเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
 
ดังนี้แล้ว จะเป็นการสรุปฟันธงได้หรือไม่ว่าคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เอากลุ่มวาดะห์แล้ว?
 
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถฟันธงได้ว่าคนในสามจังหวัดปฎิเสธวาดะห์หรือไม่ คือ การที่กลุ่มดารุสลามภายใต้การนำของนายไวโรจน์ พิพิธภักดี ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้ปีกของพรรคประชาธิปัตย์ มาครั้งนี้ กลุ่มดารุสลามกลับเลือกที่จะโยกย้ายมาร่วมกับพรรคไทยรักไทย ผลการเลือกตั้งที่ออกมาปรากฎว่ากลุ่มดารุสลามต่างก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งเช่นกัน
 
หากประชาชนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปฎิเสธกลุ่มวาดะห์จริง ทำไมกลุ่มดารุสลามที่ปกติก็ได้รับการเลือกตั้งภายใต้พรรคประชาธิปัตย์ พอย้ายมาพรรคไทยรักไทยแล้วก็ยังประสบกับความพ่ายแพ้?
 
จากรูปการรูปการนี้พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของรัฐบาลทักษิณกำลังเจอ “ปรากฎการณ์โหวตลงทัณฑ์" หรือ “punishment vote” ในขณะที่คนที่ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งก็ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์เพราะสูงถึงเกือบ 80% ถือเป็นการตอบโต้อย่างชัดเจนจากประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อพรรคไทยรักไทย เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของรัฐบาลทักษิณที่ใช้กฎเหล็กจัดการกับเหตุการณ์ทั้งในกรณีกรือเซะและตากใบ  
 
 
ตาราง 2:
ข้อมูลผลการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตแบบเบอร์เดียวต่อหนึ่งเขต
เปรียบเทียบคะแนนของผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่งและคะแนนผู้สมัครที่อยู่ใน


 
การเลือกตั้งปี 2554 กลับเกิดปรากฎการณ์ที่น่าสนใจโดดเด่นหลายประการ หากมองจากตารางที่ 2 เพื่อประกอบการวิเคราะห์ เปรียบเทียบระหว่างผู้สมัครของพรรคที่ชนะนำเป็นอันดับหนึ่งกับผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นอันดับสองจะเห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งถึง 8 เขตการเลือกตั้ง
 
หากใครจะมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะแบบถล่มทลายก็คงต้องมานั่งดูคะแนนเสียงว่าชนะกันขาดลอยขนาดไหน ประชาธิปัตย์ชนะขาดลอยอย่างเห็นได้ชัดในจังหวัดยะลาเขต 1 (พรรคประชาธิปัตย์ 69.96% ต่อ พรรคเพื่อไทย 21.5%) ในจังหวัดปัตตานี เขต 2 (พรรคประชาธิปัตย์ 59% ต่อ พรรคภูมิใจไทย 31.5%) ในส่วนของจังหวัดนราธิวาสเขต 1 และจังหวัดยะลาเขต 3 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนผู้ชนะอันดับหนึ่งก็ยังถือว่าชนะห่างกันประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ สำหรับเขตอื่นๆ ที่เหลือถือว่ามีการชนะกันแบบฉิวเฉียด เขตที่คะแนนชนะกันเพียงฉิวเฉียดจนหัวใจเกือบวายคือเขต 2 จังหวัดยะลา พรรคประชาธิปัตย์ชนะพรรคเพื่อไทยเพียง 0.76%
 
มีความแตกต่างของการเลือกตั้งปี 2544 และการเลือกตั้งของปี 2554 นั่นคือในปี 2554 กลุ่มวาดะห์มีการแตกกลุ่มกันเกิดขึ้น วาดะห์เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า “เอกภาพ” การจัดตั้งกลุ่มวาดะห์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2529 ถือเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่เขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มแรกๆ ที่สามารถก่อตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้น เพื่อสามารถที่จะเข้าไปในสภาแล้วมีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลในการที่จะออกตัวบทกฎหมายต่างๆ เพื่อพี่น้องมุสลิมทั้งในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ ทั้งเรื่องการผลักดันในเรื่องการจัดตั้งธนาคารอิสลามในประเทศไทยโดยเสนอร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเข้าสูสภา หรือกระทั่งการแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาให้สามารถคลุมฮิญาบได้ ซึ่งได้ในโรงเรียนทุกระดับ เป็นต้น
 
ดังนี้แล้ว จึงเกิดเป็นสมมุติฐานเกิดขึ้น ว่าหากกลุ่มวาดะห์ไม่แตกตัวกระจัดกระจายไปสู่พรรคต่างๆ ผลคะแนนเสียงของวาดะห์น่าที่จะมากกว่านี้และอาจชนะพรรคคู่ต่อสู้ก็เป็นได้
 
เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานนี้ ถ้าเรารวบรวมคะแนนเสียงของพรรคมาตุภูมิ เพื่อไทย ภูมิใจไทย และพรรคประชาธรรมมาผนวกรวมกัน (พรรคที่ถือว่ามาจากการแตกกันของอดีตวาดะห์) คำนวณหาเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงที่ได้โดยคำนวณจากจำนวนบัตรดีทั้งหมดกับคะแนนเสียงที่ได้ของผู้สมัครแต่ละท่านในเขตการเลือกตั้งของเขตนั้นๆ ระหว่างคะแนนของผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ และคะแนนรวมของพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยของแต่ละเขต ในพื้นที่ของจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา ดังแสดงในตารางที่ 3   
 
 
 
ตาราง 3:
ข้อมูลผลการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตแบบเบอร์เดียวต่อหนึ่งเขต ปี2554  
เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงที่ได้โดยคำนวณจากจำนวนบัตรดีทั้งหมดกับคะแนนเสียงที่ได้ของผู้สมัครแต่ละท่านในเขตการเลือกตั้งของเขตนั้นๆ ระหว่างคะแนนของผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ และคะแนนรวมของพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยของแต่ละเขต ในพื้นที่ของจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา
 
 
ผลที่ได้เป็นไปอย่างที่คาดไว้ หากประมวลนำคะแนนของพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยมาผนวกรวมกัน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดการสลับขั้วไปในทางตรงข้ามทันที แทนที่พรรคประชาธิปัตย์จะชนะ 8 ที่นั่ง กลับกลายเป็นว่าคะแนนของกลุ่มวาดะห์จะชนะ 8 ที่นั่ง แล้วยังชนะแบบถล่มทลายอีกด้วย เขตที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะแบบคะแนนขาดลอยก็ยังยืนอยู่ที่จังหวัดปัตตานีเขต 2 จังหวัดยะลาเขต 1 และนราธิวาสเขต 1
 
เป็นการแสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ชนะแบบถล่มทลายอย่างที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจ แต่ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะครั้งนี้เป็นเพราะความพลาดพลั้งของกลุ่มวาดะห์เองที่แตกตัวกันไปคนละทิศ!
 
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเทียบคะแนนของประชาธิปัตย์ในแต่ละเขตในระหว่างปี 2548 กับปี 2554 ก็แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำคะแนนดีขึ้นอย่างเด่นชัดแต่ประการใด คะแนนของประชาธิปัตย์ลดลงกว่าเดิมถึง 6 เขตเลือกตั้ง ทำคะแนนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเพียง 4 เขตเลือกตั้งเท่านั้น อีก 1 เขตทำคะแนนได้เกือบจะเท่าเดิมหรือต่างกันไม่ถึงห้าร้อยเสียง
 
ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความพลาดของกลุ่มวาดะห์ จะโทษผู้มาใช้คะแนนเสียงไม่ได้เลย เพราะการแตกตัวของกลุ่มวาดะห์ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “split voting” หรือ “โหวตเสียงแตก” คะแนนเสียงที่กลุ่มวาดะห์ควรที่จะได้เป็นมวลเดียว กลับต้องแตกกระเซ็นไปสู่พรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย
 
อีกประเด็นที่จำต้องนำมาพูดถึงในที่นี้ คือ เรื่องวาระนโยบายเขตการปกครองพิเศษในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมานั่งมองดูถึงนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่จะยังคงระบบการปกครองแบบเดิมโดยเน้นการจัดการผ่าน ศอ.บต. ส่วนพรรคการเมืองที่เหลือต่างชูนโยบายลักษณะการจัดการแบบเขตการปกครองพิเศษทั้งสิ้น ดูตามรูปการณ์นี้แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนกับเป็นการทำประชามติย่อมๆ ว่าคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขตการปกครองพิเศษอย่างไร!
 
หากดูภาพแบบผิวเผินจากผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะ ดังนั้นคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเขตการปกครองพิเศษอย่างนั้นหรือ? เช่นนี้แล้วต้องย้อนกลับไปมองตารางที่ 3 คะแนนเสียงที่ได้มวลรวมของกลุ่มวาดะห์ถือว่ามากกว่าประชาธิปัตย์ถึงแปดเขตการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่ได้รวมคะแนนจากพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคความหวังใหม่เข้าไปด้วย
 
ดังนั้น หากมองดูแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนในเขตพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับเขตการปกครองพิเศษ? การนำเสนอในที่นี้ไม่ได้หวังที่จะฟันธงถึงคำตอบอย่างชัดเจน แต่ประสงค์ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อโต้แย้งว่าคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปฏิเสธเขตปกครองพิเศษนั้น ผิดจากข้อเท็จจริงหรือเป็นข้อโต้แย้งที่ผิด (falsified argument)
 
จริงอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นผู้ชนะได้ที่นั่ง ส.ส.มาก ภายใต้ระบบ first past the post หรือระบบที่ผู้ได้คะแนนมากที่สุดเพียงคนเดียวในแต่ละเขตเลือกตั้งเท่านั้นเป็นผู้กำชัย แต่ถ้านับในแง่ของคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดที่กระจายไปแต่ละพรรคที่ตรงข้ามกับประชาธิปัตย์แล้ว นโยบายที่เสนอโดยพรรค ประชาธิปัตย์อาจนับเป็นพ่ายแพ้ก็เป็นได้
 
อย่างไรก็ดีประชาธิปไตยก็คือประชาธิปไตย พวกเราต้องยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมาหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งผลลัพธ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับกลุ่มวาดะห์และชนชาวมลายูมุสลิมในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ในฐานะชนกลุ่มน้อยแล้ว หากจะต่อรองกับรัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง พวกเขาอาจต้องรวมตัวกัน ผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่แตกแยกอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้!
 
ชนมลายูในเขตพื้นที่สามจังหวัดต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทุกฝ่าย การที่จะรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวจะโทษเพียงแค่ฝ่ายการเมืองไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคฝ่ายอย่างภาคประชาสังคม รวมถึงการสื่อสารในท้องถิ่น ที่เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนไล่ระดับขึ้นไปสู่ระดับการแข่งขันทางการเมืองระดับชาติ
 
เมื่อเกิดการแตกแยก เกิดความขัดแย้ง พลังเสียงในการที่จะนำไปใช้เป็นอำนาจต่อรองก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าตัวแทนของคนมลายูจะได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา แต่ก็เป็นแบบกระจัดกระจาย เมื่อไม่มีพลังอำนาจในการต่อรอง จึงไม่น่าส่งผลให้เกิดการผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับปัญหาในพื้นที่ได้
 
การที่กลุ่มวาดะห์แพ้ในการเลือกตั้งระดับภูมิภาคของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ผลการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฏาคมดูเหมือนจะกลายเป็นความพ่ายแพ้ทั้งหมดของทุกๆ ฝ่ายด้วย เพราะพรรคประชาธิปัตย์แม้จะชนะได้ที่นั่งมากที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็แพ้ในระดับชาติกลายเป็นฝ่ายค้าน วาระนโยบายภาคใต้ของพรรคก็ไม่มีผลอะไรต่อนโยบายของชาติ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งได้ประกาศวาระนโยบายสนับสนุนเขตปกครองพิเศษภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. ของตนก็กลับไม่ได้รับเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้แต่ที่เดียว ทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะความซับซ้อนของระบบการเลือกตั้งและปัญหาดังที่กล่าวไปข้างต้น
 
ดังนั้น แม้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคนำในการตั้งรัฐบาล แต่สำหรับคนมลายูมุสลิมโดยรวมนั้นกลับกลายเป็นเสมือนว่า วาระนโยบายปฏิรูปการปกครองของตนก็เสมือนว่าไปแพ้ระดับชาติ เพราะพรรคเพื่อไทยก็อาจจะอ้างว่าวาระนโยบายของตนไม่ได้รับการสนับสนุนยอมรับจากคนในท้องถิ่น แรงผลักดันในการขับเคลื่อนเรื่องการเมืองนำการทหารก็อาจจะลดลงด้วย หากเป็นการคิดสั้นทางการเมือง
 
การมองผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงต้องพิจารณาให้ลึกและรอบด้าน ดังนั้น พลังของประชาสังคมทุกฝ่าย การสร้างพื้นที่การสื่อสารอย่างเป็นเอกภาพของท้องถิ่นและการใช้ความรู้เป็นพลังในการแก้ปัญหาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมว่าด้วยการต่อสู้เพื่อสันติภาพ การดูแลแก้ไขปัญหาของตนเองและการสร้างยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยั่งยืนต่อไป
 
 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Bangkokpost , Election 2011 Regional level, July 6, 2011 (http://www.bangkokpost.com/news/election/map-south)
 
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จังหวัดนราธิวาส ( http://www2.ect.go.th/about.php?Province=narathiwat&SiteMenuID=1609 )
 
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (6 กุมภาพันธ์ 2548) http://www.ect.go.th/newweb/upload/cms07/download/2517-7629-0.pdf
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อายัด ‘โบอิ้ง 737’ ที่มิวนิค อ้างทวงหนี้ดอนเมืองโทลล์เวย์

Posted: 13 Jul 2011 10:06 AM PDT

13 ก.ค. 54 สื่อและสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก อาทิ บีบีซี รอยเตอร์ นิวยอร์กไทมส์ รายงานข่าวเกี่ยวกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของกองทัพอากาศไทยถูกอายัดที่สนามบินมิวนิค โดยเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สินของบริษัทสัญชาติเยอรมัน วอลเตอร์ บาว (Walter Bau AG)

ทั้งนี้รายงานของ ‘แอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาร์แชล’ ให้รายละเอียดว่าเครื่องบินลำดังกล่าวถูกอายัดเนื่องมาจากข้อเรียกร้องทางการเงินที่มีต่อรัฐไทย โดยเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้ของบริษัทในเยอรมันเมื่อวันอังคาร (12 ก.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่ามาจากความพยายามเร่งรัดการทวงหนี้ในส่วนของบริษัทวอลเตอร์ บาว ซึ่งถือหุ้นจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัททางยกระดับดอนเมือง ซึ่งสร้างและดำเนินการทางด่วนยกระดับจากตัวเมืองกรุงเทพฯ เชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง และต่อมาบริษัทวอลเตอร์ บาวล้มละลายในปี 2548 เจ้าหน้าที่จึงพยายามเร่งรัดหนี้ดังกล่าวให้กับเจ้าหนี้ โดยการเรียกร้องสินไหมต่อประเทศไทย สืบเนื่องจากการเปลี่ยนเงื่อนไขของข้อสัญญาในการสร้างทางด่วนและการปฏิเสธการขึ้นค่าทางด่วนในปี 2547  ในสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุให้ทำให้โครงการดังกล่าวขาดทุน

ในปี 2552 คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมีคำสั่งให้ประเทศไทยจ่ายเงินจำนวน 29.2 ล้านยูโรเป็นค่าชดเชย พร้อมค่าปรับ 1.98 ล้านยูโรเป็นค่าละเมิดสัญญา (การตัดสินใจและความเป็นมาที่เป็นปัญหาของโครงการทางยกระดับสนามบินดอนเมือง สามารถอ่านได้ที่นี่) ซึ่งรัฐบาลไทย โดยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ยอมรับผลการตัดสินดังกล่าว และตัดสินใจสู้คดี โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ซึ่งรายงานของ ‘แอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาร์แชล’ ระบุว่า “เพื่อฝังกลบประเด็นดังกล่าวด้วยระบบราชการที่ยืดยาดและไม่มีวันจบสิ้น”

รายงานของอดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ผู้นี้ระบุว่า เหตุพิพาทดังกล่าวและคำสั่งให้รัฐบาลไทยจ่ายเงินค่าชดเชยโดยคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นเหตุให้ผู้ตรวจการทางการเงินของเอาส์เบอร์ก (Ausburg) แวร์เนอร์ ชไนเดอร์ (Werner Schneider) ซึ่งดูแลเรื่องการล้มละลายของวอลเตอร์ บาว ตัดสินใจทำการอายัดเครื่องบินลำดังกล่าวเพื่อเป็นมาตรการบังคับให้ประเทศไทยจ่ายหนี้ที่ค้างชำระ 

ทั้งนี้ รายงานข่าวเกี่ยวกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของกองทัพอากาศไทยถูกอายัดที่สนามบินมิวนิค ถูกนำเสนอในหน้าหนึ่งของเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังหลายแห่ง โดยระบุด้วยว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงใช้เป็นการส่วนพระองค์ และย้ำว่าหนี้ดังกล่าวนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม นิวยอร์กไทม์ รายงานคำสัมภาษณ์ของนายธานี ทองภักดี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศซึ่งยอมรับว่า มีการอายัดพระราชพาหนะลำดังกล่าวจริง แต่พระราชพาหนะดังกล่าวเป็นของส่วนพระองค์ ไม่ใช่ของรัฐบาลไทยตามที่สื่อมวลชนเข้าใจ และการกระทำครั้งนี้ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น.พ.ประเวศ วะสี

Posted: 13 Jul 2011 09:24 AM PDT

การที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายค่าแรง 300 บาทเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนจนในประเทศไทยมีมาก แรงงานไทยมีถึง 38 ล้านคน เกษตรกรไทยมีกว่า 40 ล้านคน

13 ก.ค. 2554

ประชาไทบันเทิง ทงบังชินกิ เดอะซีรีส์4: Back to the Basic in Japan

Posted: 13 Jul 2011 08:36 AM PDT

ในสายธุรกิจ มีการถือหุ้นบริษัทกันข้ามประเทศกันมากมาย ไม่ว่าเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไทย อเมริกา หรืออื่นๆอีกมากมาย หลิ่มหลีไม่ได้มาเขียนเรื่องธุรกิจ ถึงแม้ว่าจะจบสายตรงมาทางด้านนี้ แต่สมองไม่ได้ไปทางความเครียดแนวนั้น หลิ่มหลีถนัดความบันเทิงสบายๆ อย่าให้คิดมาก เด๋วหน้าแก่

แต่หลิ่มหลีก็พอจะรู้สึกว่า การถือหุ้นข้ามประเทศกัน ก็คงสร้างสัมพันธ์ที่ดีในการให้ศิลปินได้ไปเปิดตัวบ้างอะไรบ้างยังประเทศที่มีสัมพันธ์ด้านธุรกิจกัน

ก่อนหน้านี้หลิ่มหลีก็ไม่รู้หรอกค่ะว่ามีศิลปินเกาหลีคนไหนไปdebutที่ญี่ปุ่นมาบ้าง แต่ก็พอรู้ของไทยเพราะว่า ประโคมข่าวกันน่าดู ไม่ว่าจะเป็นก๊อฟไมด์ ทาทายัง ไอซ์ ศรัญยู แต่ของเกาหลีเอง หลิ่มหลีก็มารู้ตอน BOA ที่ค่าย SM ส่งเธอไปค่ายที่ญี่ปุ่น AVEX และทงบังชิงกิก็เป็นศิลปินกลุ่มชายที่ค่ายเพลงส่งไปเปิดตัวที่ญี่ปุ่นเหมือนกัน

พวกเขาที่กำลังเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังมากๆในเกาหลี
พวกเขาซึ่งผ่านความยากลำบากมากมายก่อนที่จะมาโด่งดังในเกาหลี
และการที่พวกเขาต้องไปเริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง นับศูนย์กันใหม่
สำหรับพวกเขาแล้ว มันคือความเงียบเหงา มันคือความโหดร้าย

วัยที่กำลังสนุกสนานและหลงระเริงกับชื่อเสียงที่ได้มา พวกเขากลับต้องบินไปอีกประเทศหนึ่งที่ไม่คุ้นเคย เพื่อเรียนภาษา เรียนการเต้น เรียนการร้องเพลงใหม่ให้เข้มงวด เพราะเพื่อไปเป็นศิลปินของชาตินั้นอย่างเต็มตัว พวกเขาฝ่าฟันมากมายค่ะ ทั้งเรื่องของภาษา อาหาร ความเหงา คิดถึงเพื่อนและครอบครัว และที่สำคัญ แผ่นดินไหว

ประชาไทบันเทิง ทงบังชินกิ เดอะซีรีส์4: Back to the Basic in Japan

ประชาไทบันเทิง ทงบังชินกิ เดอะซีรีส์4: Back to the Basic in Japan

ชางมินเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเคยเหงาจนต้องเอารองเท้ามาทำเป็นโทรศัพท์พูดอยู่คนเดียว แต่อย่างไรพวกเขาก็ยังกล่าวว่า อย่างน้อย พวกเขาก็ยังมีกันและกัน

กรี๊ดเนอะ

หลิ่มหลีเคยได้ยินว่าธุรกิจเพลงของญี่ปุ่นนี่เป็นอันดับสองของโลก ญี่ปุ่นมีวินัยอย่างมากที่จะไม่ใช้ของปลอม ไม่โหลดเพลง และพร้อมจะจ่ายทุกอย่างทันทีที่เขาเป็นแฟนเพลงของวงนั้นๆ นิสัยการฟังเพลงของคนญี่ปุ่นน่าเคารพจริงๆค่ะ แต่ไม่น่าปฏิบัติตามสำหรับคนเบื้ยน้อยหอยเล็กอย่างหลิ่มหลีเลย

เมื่อนักร้องออกซิงเกิ้ล ถ้าพวกเขาชอบพวกเขาก็ซื้อ ยอดขายแผ่นซิงเกิ้ลก็จะนำไปบันทึกเป็นสถิติประจำอาทิตย์ที่รายงานทุกวันพุธใน Oricon Chart ซึ่งโด่งดังมาก ไม่เข้าวงการเพลงนี่ไม่ต้องรู้เรื่องกันเลยล่ะค่ะ ทงบังชิงกิเปิดโลกอีกแง่มุมให้หลิ่มหลีจริงๆเลยค่ะ

ในหนึ่งปี ทงบังชิงกิก็จะออกซิงเกิ้ลประมาณ ห้าถึงหกเพลง หลังจากนั้นก็จะมาทำอัลบั้มโดยในอัลบั้มนั้นก็จะรวมซิงเกิ้ลที่ออกมาแล้วอยู่แล้วด้วยค่ะ

งง ล่ะสิ ซื้อซิงเกิ้ล แล้ว ยังต้องมาเสียเงินซื้อแผ่นอัลบั้มกันอีกหรือนี่

ค่ะ คนญี่ปุ่นทำแบบนี้จริงๆค่ะ ไหนจะ PhotoBook DVD ของต่างๆมากมาย ประเทศนี้ร่ำรวย น่าไปแสวงหารายได้เสียจริงๆเลย และค่ายเพลงเกาหลีก็เห็นผลประโยชน์ตรงนี้แหละค่ะ เพราะถึงแม้ว่าศิลปินของเกาหลีจะโด่งดังสักแค่ไหน แต่เขาไม่ได้เข้มงวดการโหลดเพลงเลย อัลบั้มออกได้วันเดียว หลิ่มหลีก็มีคลิปฉาวให้โหลดแล้ว ฮ่าๆๆๆๆๆ

น่าอับอาย แต่ก็...อ่ะนะ ...ไม่ใช่สิ่งควรทำ แต่..นี่ไม่ใช่บทความทางศีิลธรรมนะ ตัว ...ชิชะ

เหล่าเทพของแคสสิโอเปียก็ได้ออกซิงเกิ้ล 3 ซิงเกิ้ลในปี 2005 และ ในเดือนมีนาคมปีถัดมาก็มีอีกซิงเกิ้ลหนึ่งที่หลิ่มหลีรักมาก ชื่อ Asu wa Kuru Kara แปลได้ว่า Because Tomorrow will come จำได้ว่าตอนฟังเพลงนี้ที่พวกเขาร้องในบูโดกัน (คอนเสิรท์ที่สองในญี่ปุ่นของพวกเขา ไว้คุยให้ฟังทีหลังนะคะ) หลิ่มหลีถึงกับร้องไห้ ทุกวันนี้ถ้าฟังเพลงนี้ ยังน้ำตาไหลได้เลย โอ้ย ชอบ โอ้ย ซึ้ง โอ้ย เสียงจุนซู โอ้ย..สุดยอด ..สุโค่ยมากๆค่ะ

แล้วเกือบทุกครั้งที่คอนเสิรท์ของทงบังชิงกิเล่นที่ญี่ปุ่น เวลามีเพลงนี้ หลิ่มหลีอยากให้สังเกตุระบบไฟ (เหมือนกูรูกูรู้เลย) ว่ามันสวยม๊ากกกกกกกก โอ้ มายดาร์ลิ้ง ยิ่งเขียนถึง ยิ่งคิดถึง

ในเดือนเดียวกัน อัลบั้มเต็มของพวกเขาที่เป็นภาษาญี่ปุ่น ในนาม โทโฮชิงกิ ก็ออกมา ด้วยชื่อว่าHeart Mind and Soul ชื่อเพราะเนอะ คิดได้ไงเนี่ย โอ้ย ฉลาดเทพ หล่อเทพ น่ารักเทพ

แต่อย่างหลิ่มหลีเคยกล่าวไว้ การที่ศิลปินจะดังในญี่ปุ่นได้ ก็ต้องพูดภาษาเขาได้ ร้องเพลงเขาได้ เคารพในวัฒนธรรมของพวกเขา รักพวกเขา เข้าใจพวกเขา ตลกในมุขของพวกเขา ดังนั้น เหล่าเทพจึงต้องไต่เต้าเริ่มใหม่เหมือนศิลปิน New Babe ใหม่หมด

พวกเขาต้องกลับไปร้องเพลงในห้างสรรพสินค้า สวนสนุก สวนสาธารณะ จากเทพในเกาหลี กลับมาสู่นักร้องที่ต้องไปโค้งคำนับแฟนคลับใหม่ในญี่ปุน

คิดดูสิคะ จากคอนเสิรท์ Rising Sun ในเกาหลี ตามด้วยที่มาเลเซีย และไทย คนดูเป็นหมื่นๆ คน แย่งบัตรกัน แฟนเกิลส์แทบตบกันกระจุย

ในปี 2006 ที่เกาหลี พวกเขาเปิดอัลบั้มใหม่ชื่อ “O” Jung Ban Hap อัลบั้มที่ทำให้เหล่าเทพของแคสสิโอเปียดังเป็นพลุแตก กวาดรางวัลอันดับหนึ่งเกือบทุกสถาบัน ไม่ว่าจะรางวัล Best Group Daesang Bonsang Most Popular จนมาถึง Artist of the Year Album of the Year จาก Mnet MTV SBS Gaya Golden Disk Award Channel [V] Thailand Korean Chinese Custome Ceremony

วันที่พวกเขารับรางวัลต่างๆ หลิ่มหลีก็นอนยิ้มไปด้วยความปลื้มใจไปกับพวกเขา เด็กๆของเรา และความโด่งดังนี้ทำให้พวกเขามี Asia Concert Tour อีกครั้งใน ปี 2007 ในนาม 2nd Asia Tour Concert

ไม่ว่าพวกเขาจะได้ก้าวไปสู่เวทีระดับเอเชียที่ไหนก็แล้วแต่
ไม่ว่าพวกเขาได้รางวัลอะไรมากมายรอบๆประเทศในแถบเอเชียก็แล้วแต่
แต่พวกเขาก็ยังต้องกลับมาโค้งคำนับทุกคน และยังต้องร้องเพลงบนเวทีเล็กๆที่ญี่ปุ่น
แต่
การเดินทางรอบโลกของเหล่าเทพ เริ่มต้นที่นี่..ญี่ปุ่น

ไฟต์ติ้ง ทงบังชิงกิ

ประชาไทบันเทิง ทงบังชินกิ เดอะซีรีส์4: Back to the Basic in Japan

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมรุ่นใหม่ยื่นหนังสือตรวจสอบการทำงานกรรมการสิทธิกรณีรายงาน92ศพ

Posted: 13 Jul 2011 07:44 AM PDT


13 ก.ค. 54 - เวลา 14.30 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษ​ยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ตัวแทน“กลุ่มจับตาการทำงานคณะกรร​มการสิทธิฯ” (NHRC-WATCH) ได้เข้ายื่นจดหมายเ​ปิดผนึกต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษย​ชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำง​านของคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวม หลักฐานกรณีเหต​การณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมข​องกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้​านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) โดยมีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห​่งชาติเป็นตัวแทนรับจดหมายดังกล​่าว

นอกจากจดหมายเปิดผนึกดัง​กล่าวแล้ว ทาง “กลุ่มจับตาการทำงานคณะกรรมการสิทธิ” ยังได้มอบแ​บบจำลองหนังสือเรียนวิชาสิทธิมน​ุษยชนเล่ม 1 ที่ภายในบรรจุหลักการสิทธิมนุษย​ชนสากลพร้อมด้วยรายชื่อผู้เสียช​ีวิตใน เหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษายน – พฤษภาคม 2553 จำนวน 92 ราย อีกทั้งยังได้มอบแว่นขยายจำลองข​นาดใหญ่รวมถึง ปืน M16 จำลอง ที่เขียนข้อความว่า "ร่างรายงานผลการตรวจสอบกรณีเหต​การณ์ชุมนุมของ นปช. โดยกรรมการสิทธิฯ" อีกด้วย

นางอมรา พงศาพิชญ์ ได้ตอบข้อซักถามของคณะที่มายื่นจดหมายด้วยว่า รายงานฉบับจริงของ กสม. เรื่องการตรวจสอบกรณีสลายการชุมนุม ยังต้องใช้เวลาพิจารณาเพิ่มอีก เนื่องจากยังมีข้อวิจารณ์มาก นอกจากนี้ ทาง กสม.ก็ได้ใช้ข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น พยานวัตถุ พยานบุคคล และพยานเอกสาร นอกเหนือไปจากข้อมูลของ ศอฉ. และต่อกรณีข้อวิจารณ์ของรายงานที่ได้ปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ นั้น อมรากล่าวว่า ต้องรอพิจารณาฉบับจริง ซึ่งต้องใช้เวลาตรวจสอบเพิ่ม

"ก็คุณก็ยังไม่ได้เห็น (ฉบับจริง) เลย ข่าวก็ไปตัดตรงนี้นิดนึง ตรงนั้นหน่อย และยังมีข้อวิจารณ์ตั้งเยอะแยะต่อรายงาน ก็เลยต้องเลื่อนออกไป โดยเฉพาะยิ่งเกิดข้อวิจารณ์เยอะอย่างนี้ เราก็ยิ่งต้องตรวจมากขึ้นไปอีก ก็คงต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น" ประธาน กสม. กล่าว
 

จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมกา​รสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรียน  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง​ชาติ

เรื่อง  ร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำงา​นของคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจ​ริงและรวบรวมหลักฐานกรณีเหต​ุการณ์
ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของ​กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อ​ต้านเผด็จการแห่งชาติ

          ตามที่ คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงแ​ละรวบรวมหลักฐานกรณีเหตุการ​ณ์ที่เกิดขึ้นจาก การชุมนุมข​องกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต​่อต้านเผด็จการแห่งชาติซึ่ง​มี ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์ เป็นที่ปรึกษา และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมน​ุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธาน เตรียมแถลงข่าวรายงานสรุปผล​การตรวจสอบการชุมนุมในเดือน​เมษายน – พฤษภาคม 2553 กรกฎาคม 2554 การนี้ พบว่ามีหนังสือพิมพ์ไทยบางฉ​บับได้นำเสนอสรุปความซึ่งอ้​างว่าได้มา จากรายงานฉบับร่า​งของกคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จ​จริงฯ ชุดดังกล่าว เผยแพร่ไปเมื่อวันพฤหัสบดีท​ี่ 7 กรกฎาคม 2554[1] ซึ่งกลุ่มจับตาการทำงานคณะก​รรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ​ (NHRC-WATCH) มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

·         กรณีที่ หนึ่ง ข้อความที่ระบุไว้ว่า "การขอคืนพื้นที่เมื่อวันที​่ 10 เมษายน เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อ​คุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่​วไป รัฐบาลทำไปตามมาตรการที่ได้​ประกาศไว้ก่อนจริง เป็นการกระทำจากเบาไปหาหนัก​ จึงเป็นการกระทำภายใต้กฎหมา​ยที่ให้อำนาจไว้” และ “ผู้ชุมนุมต่อต้านและขัดขวา​งการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ทั้งยังมีกลุ่มชายชุดดำติดอ​าวุธปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมถื​อว่าเป็นผู้สนับ สนุนที่พร้อ​มใช้ความรุนแรง...ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงมิใช่ก​ารชุมนุมโดยสงบและปราศจากอา​วุธ” ชี้ให้เห็นถึงข้อสงสัยต่อคว​ามน่าเชื่อถือของเนื้อหาของ​รายงานฉบับดัง กล่าวฯ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจร​ิงฯที่จัดทำรายงานตรวจสอบฯ ฉบับนี้มิได้ยึดหลักกติการะ​หว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเ​มืองและสิทธิทางการ เมืองในก​ารจัดทำรายงาน และยังส่งเสริมให้รัฐบาลใช้​ความรุนแรงกับประชาชนได้โดย​ชอบตามกฎหมาย กล่าวคือ กสม.ให้ความชอบธรรมในการประ​กาศพระราชกำหนดฉุกเฉินในการ​นำทหารพร้อมกำลังอา วุธครบมื​อออกมาปฏิบัติการกับผู้ชุมน​ุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 ทั้งที่ก่อนหน้านี้การชุมนุ​มเป็นไปโดยสงบและไม่เคยมีรา​ยงานข่าวถึงการใช้ อาวุธร้าย​แรงจากฝ่ายผู้ชุมนุมแต่อย่า​งใด โดยมิได้คำนึงถึงหลักความได​้สัดส่วนในการใช้กำลังอาวุธ​ และเนื้อหากฎหมายของพรก.ฉุก​เฉินที่ลดทอนสิทธิของพลเมือ​งไทย
·        
          กรณีที่ หก การเสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมวนาราม รายงานของคณะกรรมการอิสระตร​วจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ​การปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และรายงาน Descent into Chaos: Thailand’s 2010 Red Shirt Protests and the Government Crackdown จัดทำโดยฮิวแมนไรซ์ วอช ต่างได้ข้อสรุปเบื้องต้นจาก​พยานหลักฐานว่าการเสียชีวิต​ดังกล่าวน่าเชื่อ เกิดจากการ​กระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุใดคณะกรรมการของกสม.จึง​อ้างว่าไม่สามารถรวบรวมพยาน​หลักฐานยืนยันได้ ว่าใครเป็น​ผู้กระทำ

·         กรณีที่ เจ็ด การที่กสม.เห็นว่าการที่รัฐ​บาลสั่งปิดสถานีโทรทัศน์พีเ​พิลชาแนลซึ่งเป็น สื่อมวลชนท​ี่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบ​าลไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ​และ เสรีภาพในการแสดงความคิด​เห็น เท่ากับว่าที่ผ่านมารัฐบาลน​ายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่เคยละเมิดสิทธิ​และเสรีภาพในการแสดงความคิด​เห็น ในการชุมนุมและในการรวมกลุ่​มตามกติกาสากลเลยใช่หรือไม่

           นอกจากนี้ สรุปความในรายงานข่าวที่นำเ​สนอยังมีข้อบ่งชี้อีกประการ​ซึ่งทำให้เห็นว่า การจัดทำรายงายฉบับนี้มีที่​มาของแหล่งข้อมูลที่ไม่เป็น​กลาง และขาดความน่าเชื่อถือ กล่าวคือ รายงานได้อ้างถึงแหล่งข้อมู​ลจากรายงานศูนย์อำนวยการแก้​ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่​า ศอฉ. เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลจัดตั​้งขึ้นเพื่อควบคุมดูแลการชุ​มนุมของกลุ่มนปช. ในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีความเป็นได้ว่ารายงาน​ที่จัดทำโดยศอฉ. จะมีความโน้มเอียงไปในทิศทา​งสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล​ 

           ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมา​ข้างต้น กลุ่มจับตาการทำงานคณะกรรมก​ารสิทธิฯ (NHRC-WATCH) เห็นว่า คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริ​งฯ ไม่ได้มีความตั้งใจ และไม่ได้เจตนาที่แท้จริงใน​การแสดงหาข้อเท็จจริงเกี่ยว​กับการเสียชีวิตของ พลเมืองท​ี่ร่วมแสดงสิทธิทางการเมือง​ ตามกำหนดแล้ว กสม.ต้องเผยแพร่รายงานภายใน​ 120 วันนับจากวันที่มีการแต่งตั​้งชุดทำงานเฉพาะกิจ ที่ผ่านมา กสม.ให้สัมภาษณ์ว่าจะเผยแพร​่ในเดือนมกราคม แต่สุดท้ายก็ไม่มีการเผยแพร​่ ล่าสุดกสม.ก็แถลงเลื่อนการเ​ผยแพร่รายงานจากวันที่ 8 กรกฎาคม โดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนต​่อสาธารณะ ทางกลุ่มจึงมีคำถามดังนี้

1. คณะกรรมการสิทธิจะแสดงความร​ับผิดชอบต่อการเผยแพร่รายงา​นที่ล่าช้าเกินกว่าที่ระเบี​ยบกำหนดอย่างไร 

2. เหตุใดจึงเลื่อนการเผยแพร่ร​ายงานครั้งล่าสุดออกไปอีก และจะให้คำมั่นต่อสาธารณะอย​่างไรว่าจะมีการเผยแพร่รายง​าน

3. เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน​ของกสม. กสม.ควรแถลงกระบวนการและขั้​นตอนการจัดทำรายงานฉบับนี้ต​่อสาธารณะและเปิด โอกาสให้ปร​ะชาชนและสื่อมวลชนได้ร่วมซั​กถามในงานแถลงข่าว

 

ขอแสดงความนับถือ

กลุ่มจับตาการทำงานคณะกรรมก​ารสิทธิฯ (NHRC-WATCH)
13 กรกฎาคม 2554

 

[1] หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 หน้า 12

หมายเหตุ: ข้อมูลและคลิปวิดีโอจาก Bus Tewarit

AttachmentSize
มติชน: "เปรียบเทียบ คอป.-กสม"สรุปฆ่า91ศพ-เผาเมือง.pdf974.08 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

TCIJ: คนน่านตื่นแนวสายส่งไฟฟ้า กฟผ. รุดดูผลกระทบพื้นที่อุดรฯ

Posted: 13 Jul 2011 05:05 AM PDT

ชาวบ้านจังหวัดน่านลงพื้นที่ จ.อุดรฯ ศึกษาผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า กฟผ.พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน ชี้ผลกระทบโรงงานไฟฟ้าหงสาปล่อยสารปนเปื้อนมาในอากาศ เผยห่วงกระทบที่ทำกิน

 
 
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.54 ตัวแทนชาวบ้านจาก ต.นาไร่หลวง และ ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้แทนเกษตรกรประจำอำเภอ จำนวน 10 คน ได้เดินทางลงสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 ร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน จ.อุดรธานี พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน
 
สืบเนื่องมาจากช่วงปี 2551 กฟผ.ได้เข้าสำรวจและปักหมุดแนวเขตสายส่งไฟฟ้า ในท้องที่ ต.นาไร่หลวงและ ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน โดยที่ผู้นำชุมชนและชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียกลับไม่เคยได้รับแจ้งข่าวสารใดๆ จนกระทั้งเข้าสู่ช่วงปี 2552 ผู้นำและชาวบ้านเจ้าของที่ดินว่าทาง ได้รับแจ้งจาก กฟผ.ว่าจะมีการขยายแนวสายส่งจากโรงไฟฟ้าประเทศลาวผ่านมาทาง อ.สองแคว พร้อมให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ในแนวสายส่งเข้าตรวจสอบแนวรังวัดปักหมุด เพื่อจัดส่งเอกสารให้กับทาง กฟผ.ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบทรัพย์สิน ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวจึงรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านต่อ กฟผ. และให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวสายส่งใหม่ที่ไม่ผ่านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในช่วงเช้าประมาณ 8.00 น.ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจังหวัดอุดรฯ ได้นำคณะตัวแทนจากจังหวัดน่านเข้าสำรวจพื้นที่ที่กำลังมีการก่อสร้างฐานเสาสายส่ง และพื้นที่ผลกระทบบริเวณบ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ จากนั้นในช่วงเวลา 9.00 น.กลุ่มชาวบ้านได้เดินทางกลับมาร่วมสนทนากันที่บ้านแม่นนท์ ต.หนองไผ่ ภายในวงสนทนาได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง โดยตัวแทนชาวบ้านจังหวัดน่าน ได้ผลัดกันบอกเล่าถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวและความวิตกกังวลเกี่ยวผลกระทบของชาวบ้านกว่า 130 ครอบครัว ในพื้นที่ในหลายประเด็น
 
นอกจากนี้ยังมีการเปิดประเด็นพูดคุยกันถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต ที่ชาวบ้านอาจได้รับผลกระทบจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปนเปื้อนมาในอากาศ จากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าหงสา ในฝั่งประเทศลาว ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่ป้อนเข้าสู่ประเทศไทยตามแนวสายส่งที่พาดผ่านชุมชนต่างๆ ใน อ.สองแควอยู่ในขณะนี้ ด้านชาวบ้านอุดรฯ เองได้เสนอแนะแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมทั้งได้ให้กำลังใจชาวบ้านจาก จ.น่านให้ยืนหยัดปกป้องสิทธิชุมชนต่อไปจนกว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปทางหนึ่งทางใดตามจุดมุ่งหมายได้
 
นายปราภัสร์ โนราช กำนันตำบลนาไร่หลวง อ.สองแคว ในฐานะตัวแทนชาวบ้านที่ร่วมเดินทางมาครั้งนี้ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่และสิ่งที่ได้รับจากการเวทีแลกเปลี่ยนว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านจำนวนกว่า 130 ครอบครัว ก็ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านต่อ กฟผ.ให้ยกเลิกแนวสำรวจเดิมที่ผ่านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เพราะเป็นที่ทำกินดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ บางส่วนมีที่ดินจำกัด ถ้าสายไฟผ่านเขาก็กลัวว่าจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ การบุกเบิกที่ทำกินใหม่ก็ยากลำบาก เพราะแต่ละหมู่บ้านจะมีกฎมีระเบียบห้ามบุกรุกป่าให้ทำกินที่เดิม
 
“แม้การรวมกลุ่มของชาวบ้านยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่วันนี้มาที่จังหวัดอุดรฯ ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติม จากสายไฟฟ้าผ่าน ทางคณะ ทางตัวแทนจังหวัดน่าน ก็ได้มารับทราบปัญหา ได้ข้อมูลมาเยอะเหมือนกัน กลับไปเราก็อยากจะนำไปขยายต่อให้ทางพี่น้องจังหวัดน่าน ได้เข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น”
 
ด้าน นายบุญเลี้ยง โยทะกา แกนนำคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) และเป็นผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อุดรฯ ได้ให้กล่าวถึงประเด็นในการพูดคุยร่วมกันว่า ชาวบ้านที่น่านยังมีความเป็นห่วงวิถีชีวิตของตนเองอยู่มาก พอทราบข่าวว่าทางอุดรฯ ได้รับผลกระทบในเรื่องแนวสายส่งเหมือนกัน ทางชาวบ้านที่ จ.น่านจึงได้เดินทางมาขอคำปรึกษา มาเรียนรู้ ซึ่งส่วนตัวก็ได้ให้คำแนะนำไป
 
“แต่ที่การไฟฟ้าทำกับพี่น้องที่น่านนั้น เป็นกระบวนการที่รวดเร็ว คือชาวบ้านตั้งตัวกันแทบไม่ทัน การไฟฟ้าจะปรับกลยุทธ์ในหลายรูปแบบ ปิดหูปิดตาชาวบ้านได้อย่างเฉียบพลัน เพราะการไฟฟ้าต้องการให้งานสำเร็จเร็วๆ” นายบุญเลี้ยง กล่าว
 
นายบุญเลี้ยง ยังระบุถึงข้อเสนอต่อกลุ่มชาวบ้านด้วยว่า ก่อนอื่นต้องศึกษาในเรื่องของสิทธิของตนเอง ในเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย เพราะการสูญเสียสิทธิมันเป็นปัญหาใหญ่ จึงควรที่จะรักษาสิทธิ และปกป้องสิทธิไว้ให้ลูก ให้หลาน ให้ยาวนานมากที่สุด เท่าที่จะทำได้
 
“อย่าไปขายสิทธิของตนเอง เพราะการขายสิทธินี้เราจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้ เราจะทำอะไรตามใจชอบของเราไม่ได้อีก สุดท้ายลูกหลานของเราจะเป็นผู้รับเคราะห์กรรม” 
 
รายงานโดย: นายฐากูร สรวงศ์สิริ ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธิดา ถาวรเศรษฐ: ความขัดแย้งภายในองค์กรและความขัดแย้งในหมู่ประชาชน

Posted: 13 Jul 2011 04:05 AM PDT

ปกติทุกองค์กรทุกหน่วยงาน จะมีความขัดแย้งกันตลอดเวลา และความขัดแย้งจากทัศนะที่แตกต่างกัน จะทำให้องค์กรพัฒนาไปได้ แต่เมื่อใดที่ยกระดับความขัดแย้งเหนือองค์กร กระโดดข้ามไปสู่สาธารณะก็จะบ่งถึงการสิ้นสุดความขัดแย้ง นำไปสู่ความแตกแยก เพื่อการแตกแยก  การจะเป็นเช่นนี้ แม้แต่หน่วยเล็กที่สุดคือ สามีภรรยา ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำความขัดแย้งไปเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็ยากที่จะคืนดีกันได้ ถ้าเป็นบริษัทองค์กรเอกชนก็จะแยกไปตั้งบริษัทใหม่

สำหรับการต่อสู้ของประชาชนนั้น ยิ่งถูกเรียกร้องหนักมากยิ่งกว่านั้น เพราะเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ประชาชน ตราบเท่าที่ยังอยู่ในขบวนเดียวกัน ในองค์กรต่อสู้เดียวกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีส่วนในองค์กรนำด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม การนำความขัดแย้งออกมากล่าวโทษ กล่าวร้ายและเสียหายต่อการนำในที่สาธารณะ ถือเป็นการเจตนาทำลายการนำ ทำลายองค์กร และทำลายการต่อสู้ของประชาชน

ชัยชนะ 14ตุลา16 ในเวลาเริ่มต้นก็เกิดความแตกแยกเสียหายในการนำของขบวนการนิสิต นักศึกษา นักเรียนอาชีวะทันที ด้วยการดำเนินงานของเครือข่ายอำมาตยาธิปไตยและกลไกรัฐล้าหลัง เพราะหลังจากนั้น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่อาจผนึกกำลังของการต่อสู้ได้อีก จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ด้วยการวางแผนอย่างแยบยลต่อเนื่องจนกลายเป็นกลุ่มที่อยู่กับผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวมและไม่อาจสามัคคีกันทำงานให้ประเทศชาติได้อีกต่อไป ทำงานให้เฉพาะกลุ่มสถาบัน เช่นเดียวกับวันเวลาในยุคเผด็จการครองเมืองนั่นเอง

จากสถานการณ์ที่เราถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหดป่าเถื่อนกลางกรุงเทพมหานคร ทางการทหารและรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ลำพองใจกับชัยชนะ โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังพ่ายแพ้ทางการเมือง ในสายตาประชาชน เพราะความผิดที่แก้การเมืองด้วยการทหาร  ส่วนประชาชนคนเสื้อแดง เราพ่ายแพ้จากการใช้การทหารของฝ่ายตรงข้าม เพราะเรามาต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้คิดหรือเตรียมตัวมาต่อสู้ทางการทหารแต่ประการใด

ความจริงหลังการปราบปรามรุนแรงจาก 10 เมษา จนถึง 19 พฤษภา 53 นานาประเทศทำนายว่าเมืองไทยต้องเป็นกลียุคแน่ๆ จะลุกขึ้นต่อสู้ด้วยอาวุธ เช่นเดียวกับสามจังหวัดภาคใต้ แต่ปรากฏว่า คนเสื้อแดง อดกลั้น อดทน เช็ดน้ำตา เก็บศพวีรชน จำนวนหนึ่งเดินเข้าคุก คนที่เหลือลุกขึ้นเดินหน้าต่อสู้ต่อไปอย่างองอาจกล้าหาญ

จนถึงวันนี้ วันที่ประชาชนประกาศชัยชนะระดับหนึ่ง จากการเลือกตั้ง เป็นชัยชนะที่ได้มาจากการอดทน เสียสละ รักษาหนทางการต่อสู้สันติวิธี พร้อมทำงานสร้างความตื่นตัวทางการเมือง ยกระดับความรู้และจัดตั้งองค์กร สร้างการนำรวมหมู่ จัดตั้งคณะนำในระดับต่างๆ สร้างปัจจัยแห่งชัยชนะ และขยายบทบาทการต่อสู้กับเครือข่ายระบอบอำมาตย์ไปสู่ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างในเขตเมือง

เรากลืนเลือดเพื่อเอาชนะใจประชาขนให้ได้มากที่สุด

ในช่วงเวลาที่เราเพิ่งลุกขึ้นมา ทุกครั้งก็มีคนเยาะเย้ย แต่เราลุกขึ้นมายิ่งใหญ่กว่าเดิม นี่คือการสรุปบทเรียนยกระดับและปฏิบัติได้ผล นี่จึงเป็นชัยชนะทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่โดยประชาชนกว่า 15 ล้านคนตัดสิน ให้ได้ผู้รับเลือกตั้ง 265 คน เกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

ถามว่า เรามีจุดข้อผิดพลาด จุดอ่อนจากการนำที่ผ่านมาหรือไม่? ในองค์กรนำที่เรารู้กันดี ท่ามกลางผลสำเร็จในการขยายมวลชนคนเสื้อแดง การมีแนวทาง นโยบายยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี มีโรงเรียนผู้ปฏิบัติงาน และมวลชนขยายตัวเพิ่มขึ้น

แต่ข้ออ่อนในเรื่ององค์กรนำ โครงสร้างการนำและหลักการนำยังมีปัญหาที่ยึดบุคคลมากกว่าการนำรวมหมู่ ลักษณะลัทธิเอาอย่าง เกิดเป็นวีรชนเอกชน เกิดเสรีไร้ระเบียบวินัย เกิดลัทธิสุ่มเสี่ยงที่ไร้การควบคุมด้วยการนำ เหล่านี้ ล้วนเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องลดข้อเสียเหล่านี้ เพื่อยกระดับการนำองค์กร

หลังจากเกิดคณะรักษาการแกนนำส่วนกลาง จากการตัดสินใจร่วมกันของแกนนำในประเทศทั้งนอกคุกและในคุก

คณะรักษาการก็ออกแถลงการณ์เพื่อภาระกิจเฉพาะหน้าสี่ประการเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้ประกันตัวแกนนำมวลชนคนเสื้อแดง การเยียวยา การเรียกร้องความยุติธรรมและการยกระดับการต่อสู้ของประชาชน

จากนั้นในสัปดาห์ต่อมาก็เริ่มโครงการปรับปรุงโครงสร้างการนำให้ได้กรรมการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ทุกระดับทั่วประเทศ นี่จึงเป็นความพยายามถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงแก้ไข ให้การนำของเราดีขึ้นด้วยการนำรวมหมู่และใช้หลักการแทนบุคคล

ตลอดเวลาแปดเดือน เรามีความเข้มแข็งในการจัดตั้งองค์กรได้มากขึ้น รวดเร็ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ นี่จึงทำให้ยังไม่ได้ขยายแกนนำส่วนภูมิภาคเข้ามาในส่วนกลาง แต่ผลงานการจัดตั้งคณะกรรมการในทุกจังหวัดได้แสดงพลังวิริยภาพอย่างยิ่งในเวลาที่ผ่านมา

ความขัดแย้งในองค์กรประชาชน จะต้องถูกเรียกร้องสูงด้วยวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องยิ่งกว่าความขัดแย้งในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป

ยิ่งองค์กรนั้นเป็นองค์กรต่อสู้ของประชาชนยิ่งจำเป็นต้องเรียกร้องสูงมาก

ถ้าเป็นแกนนำขององค์กรจะต้องมีข้อบังคับระเบียบวินัยองค์กรเข้มงวด ต้องปฏิบัติตามมติโดยเคร่งครัด

ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป เราใช้หลักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างได้ แต่ในระดับแกนนำองค์กรต่อสู้ การสงวนจุดต่างจะทำให้เกิดเรื่องราวพลิกผันใหญ่โตได้ ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นในอดีต หนทางการต่อสู้สันติวิธี ไม่อนุญาตให้มีการกระทำใดสุ่มเสี่ยง อันอาจเป็นเหตุให้ถูกอ้างเพื่อใช้ปราบปรามประชาชน หรือปฎิบัติการใดๆอันละเมิดแนวทางนโยบาย แกนนำในองค์กรเดียวกันย่อมกระทำมิได้

การแก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กรการต่อสู้ จึงต้องทำการต่อสู้ภายในองค์กรเท่านั้น อย่างเข้มข้น จริงจัง ตามหลักการและผลการตัดสินใจใช้หลักการนำรวมหมู่ ภายใต้วิธีการประชาธิปไตยแต่มาตรฐานนี้ต้องใช้กับคนในองค์กรที่มีลักษณะร่วมกันด้วยพื้นฐานความเข้าใจและข้อมูลและหลักคิดใกล้เคียงกัน การนำขององค์กรต่อสู้ของประชาชนที่มีองค์ประกอบแตกต่างกันมากก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์กรได้บ่อยมากๆด้วยธรรมชาติที่แตกต่างกัน

เช่นนี้เป็นเรื่องยาก เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ สถานการณ์ที่ต่างกัน

นักต่อสู้ของประชาชนจะคิดและทำแบบหนึ่ง...

นักการเมืองหรือนักเลือกตั้งจะคิดและทำอีกแบบหนึ่ง...

นักเลงก็จะคิดและทำอีกแบบหนึ่ง...

นักลงทุนก็จะคิดและทำอีกแบบหนึ่ง...

แต่นักต่อสู้ของประชาชนและนักเลงอาจจะมีความคล้ายกันตรงที่ไม่ขยายความขัดแย้งภายในออกไปสู่ภายนอก  ต่อภายนอกจะปกป้ององค์กรประชาชน ปกป้องคนในองค์กร

แต่จะตรงกันข้าม... 

ถ้าเป็นนักการเมืองนักเลือกตั้งหรือนักลงทุนและผู้แสวงหาผลประโยชน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธกส. เผยเตรียมพัฒนากองทุนหมู่บ้านสู่องค์กรการเงินชุมชน

Posted: 13 Jul 2011 03:38 AM PDT

ลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการ ธกส.ระบุแนวทางพัฒนากองทุนหมู่บ้าน และกองทุนชุมชน เป็นองค์กรชุมชน ตั้งเป้านำร่อง 70 แห่งปีนี ด้านเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ระบุ ถึงเวลากระจายอำนาจบริหารจัดการเงิน เช่นเดียวกับการกระจายอำนาจปกครอง

 วันที่ 12 ก.ค. 2554 ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นายลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการผู้จัดการธนาการเพื่อเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) นำเสนอเรื่อง “สถาบันการเงินเพื่อปลดปล่อยศักยภาพชุมชนท้องถิ่น” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปว่า ธกส. มีแนวคิดจะโอนงานบริการการเงินรายย่อยให้ยังสถาบันการเงินชุมชนดำเนินการ และธกส. จะปรับตัวไปสู่การบริการทางการเงินที่สลับซับซ้อนกว่านั้น โดยคิดว่าสามารถนำร่องได้ในปีนี้เป็นปีแรก 70 แห่ง 

“หากมีการกำกับดูแลที่ดี ก็จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในอนาคตได้ ขณะนี้กำลังดูเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ธปท. ก็ไม่อยากให้ใช้คำว่าธนาคาร เราจึงเลี่ยงมาใช้องค์กรการเงินชุมชน แต่อยากยืนยันว่าหลายที่เขาทำได้ดี และทำได้มีประสิทธิภาพกว่า และน่าจะให้ชาวบ้านได้ทำควบคู่กับกับการบริหารจัดการ แล้วเราถอยห่างออกมาเป็นพี่เลี้ยง"

"แล้ว ธกส. จะไปทำอะไร ก็ไปทำอะไรที่สลับซับซ้อนมากกว่า ผมก็ให้กำลังใจพนักงานว่าเรายังมีงานที่ต้องทำอีกมากมาย นี่เป็นแนวทางที่เราจะทำและจะมุ่งมั่นทำให้เกิดเป็นมรรคผลให้ได้ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี เพราะในหลายประเทศที่มีการพัฒนาระบบการเกษตรที่ดี ธนาคารแบบธกส. คือการให้บริการโดยตรงไม่น่าจะอยู่ได้ ส่วนใหญ่เป็นการบริการแบบสองสเต็ปท์คือให้เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการเงินในท้องถิ่น”

นายลักษณ์อธิบายแนวทางของ ธกส. โดยระบุว่า  การทำงานของ ธกส. กว่า 45 ปี แล้ว ซึ่งมีสถิติการเข้าถึงบริการในระดับที่ติดอันดันโลก อย่างไรก็ตาม แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตยังเป็นปัญหาที่สำคัญ ยังต้องเชื่อมโยงเรื่องการสร้างองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรด้วย ดังนั้นต้องมีการบูรณาการ องค์ความรู้คู่กับการทำงานชุมชน และเครือข่ายสนับสนุนงานด้านการตลาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างเครือข่ายเกษตรกร โดยต้องใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อนและจัดการข้อมูล

นายลักษณ์ยกตัวอย่าง ตำบลหนองโสน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งมีการพัฒนาโดยชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ และเชื่อมโยงไปถึงเรื่องที่จะให้ลูกค้า ธกส. ได้รับการดูแล ทั้งแง่การหาปัจจัยการผลิต คุณภาพของผลิตผล แล้วรวมตัวกันเป็นโรงสี ทำการสีขาว ทั้งหมดทำในรูปแบบกิจกรรมกลุ่ม  เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชุมชนทั้งสิ้น และเนื่องจากกองทุนชุมชน หนองโสน มาจากกองทุนหมู่บ้าน ธกส. จึงไปหนุนเสริม ให้บริการทั้ง ดังนั้น ธกส. ทำบริการทั้งในระดับรายบุคคล กลุ่มอาชีพ สถาบันการเงินชุมชน และสินเชื่อโครงการธนาคารชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์ของธกส. แต่สิ่งที่พยายามทำทั้งหมดในปัจจุบันคือให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการสินเชื่อประเภทต่างๆ ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลจากลูกค้าที่เป็นเกษตรกร เพราะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของ ธกส. สูงกว่า “ผมก็พยายามจะบอกว่า สถาบันการเงินชุมชนเป็นของชุมชน ทำแล้วเกิดประโยชน์กับชุมชน ก็พยายามชี้ให้เห็นว่าในสถาบันการเงินชุมชนมีลูกหลานของพี่น้องเกษตรกรเอง คนในชุมชนทำงานอยู่ 4-5 คน ก็จะทำให้เกิดความปร่งใสที่ดี ผลัดกันมาเป็นคณะกรรมการอนุมัติสินเชื่อ โดยคณะกรรมการ 3 คน ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาทุกวัน มีคนหนุ่มคนสาวทำงานอยู่ในชุมชน ถ้า ธกส. แย่งมาทำเสียก็จะไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อทำแล้วก็ไม่ต้องเดินทางไปถึงในเมือง และเมื่อสิ้นปีก็จะคืนเงินปันผลด้วย และสถาบันการเงินชุมชนเหล่านี้ก็จะจัดเอาส่วนเหลือไปจัดการสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ตกกับชุมชนทั้งสิ้น” นายลักษณกล่าวและย้ำด้วยความมั่นใจว่า หากแนวทางนี้มีความชัดเจนและสามารถอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจ ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)
กล่าวเสริมว่าการจัดการกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมา มีทั้งกองทุนที่เข้มแข็งและอ่อนแอ ซึ่งกองทุนที่เข้มแข็งสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรการเงินชุมชนได้ โดยมีข้อเสนอ 2 ประการคือ

1 ให้ ธกส. หรือออมสินที่เป็นแม่ใหญ่ในการดูแลกองทุนหมู่บ้านประเมินศักยภาพของกองทุนที่ดูแลอยู่ ว่าสามารถพัฒนายกระดับได้หรือไม่

2 ปฏิรูป ธกส. สู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศ และลดบทบาทในฐานะ Retail Bank ที่ดูแลลูกค้ารายย่อย โดยผ่องถ่ายลูกค้ารายย่อย ไปสู่องค์กรการเงินชุมชน ถือเป็นการกระจายอำนาจการเงิน ควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจปกครอง

“ชาวบ้านก็ไม่ต้องมาหา ธกส. เหมือนการปฏิรูปประเทศไทยที่ต้องกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น นี่ก็เหมือนกันเป็นการกระจายอำนาจการจัดการการเงิน ต้องหนุนเสริมเขา ผมเชื่อว่าทุกจังหวัดทุกอำเภอมีกลุ่มที่มีความพร้อม ผมเชื่อว่าท่านทำได้ ถ้ามีระบบการจัดการที่พวกเราเข้าไปช่วย” นายเอ็นนูกล่าว  

อย่างไรก็ตาม นายเอ็นนูระบุว่า การกระจายอำนาจการเงิน และการจัดการระบบการควบคุม ระบบการจัดการดูแลเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะรัฐบาลใหม่กำลังจะต้องดำเนินนโยบาย และจะมีงบประมาณลงไปยังกองทุนหมู่บ้านอีกจำนวนมาก  

“ผมคิดว่าขณะนี้เรามีองค์กรท้องถิ่นที่ดีอยู่เยอะพอสมควร เราไม่ต้องกลัว ถ้าเกิดทำแล้วไม่ได้ เราก็ต้องช่วยกัน ทำให้เกิดการสนับสนุนกัน เรามีความสำเร็จแบบนี้อยู่เยอะแล้ว เพียงแต่ไม่มีคนจัดการเรื่องใหญ่ ที่ผมต้องรีบพูดเพราะว่ารัฐบาลใหม่ก็จะมีลดประมาณลงไปมหาศาล ต้องมีการจัดการที่รองรับ เหมือนเรามีวัคซีนที่น่าจะลองใช้ เพราะเงินอย่างเดียว มีปัญหานะครับ ผมมาจาก ธกส. ปล่อยกู้ปีละสี่แสนล้าน ถ้าเงินอย่างเดียวแก้ปัญหาได้ ก็คงไม่มีคนจนแล้ว” นายเอ็นนูกล่าวในที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น.พ.ประเวศ วะสี : อยากเห็นรัฐบาลเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับมหภาคให้เกื้อกูลกัน

Posted: 13 Jul 2011 02:10 AM PDT

น.พ. ประเวศ วะสี เปิดใจถึงนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแรงงานของเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าหมายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดย น.พ.ประเวศเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่อยากให้ส่งเสริมมากกว่านั้น คือทำให้คนจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนไว้เพื่อรองรับการล้มเหลวจากเศรษฐกิจมหภาคด้วย

“การที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายค่าแรง 300 บาทเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนจนในประเทศไทยมีมาก แรงงานไทยมีถึง 38 ล้านคน เกษตรกรไทยมีกว่า 40 ล้านคน คนจนนั้นมีคุณภาพชีวิตต่ำ ขาดความมั่นคงในชีวิต ซึ่งหากคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดความมั่นคง ประเทศก็ย่อมขาดความมั่นคง การที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายเพื่อคนจนเป็นเรื่องที่ดี” น.พ. ประเวศ อธิบายพร้อมหัวเราะ เมื่อถูกถามเท้าความถึงประโยคที่ฮือฮา “เชื่อว่าค่าแรง 150 บาทก็อยู่ได้ หากมีที่พัก-อาหารพอเพียง” ซึ่งเขาอธิบายว่า เป็นการอ้างอิงคำพูดของแหล่งข่าวที่ขาดบริบท

“300 บาท ต่อวัน น้อยเกินไปด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วควรได้มากกว่านั้นด้วยซ้ำ” น.พ.ประเวศกล่าว และอธิบายว่า สาระสำคัญของปาฐกถาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศศช.) เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น อยู่ที่การเสนอแนวทางให้เชื่อมโยงธุรกิจระดับมหภาคกับเศรษฐกิจในชุมชนให้เกื้อกูลกัน ซึ่งขณะนี้ก็กำลังสะท้อนออกมาเป็นความขัดแย้ง เมื่อภาคอุตสาหกรรมเพิ่งแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท วานนี้ (12 ก.ค.)

“ภาคอุตสาหกรรมบอกว่าทำไม่ได้ ก็ต้องดูว่าเขาต้องแข่งขันกับต่างประเทศ ค่าแรงประเทศอื่นต่ำกว่า ถ้าเราค่าแรงสูงกว่าเขาเราก็แข่งขันไม่ได้ นี่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง”

“ทางออกก็คือ ต้องเชื่อมโยงธุรกิจมหภาคเข้ากับเศรษฐกิจชุมชนให้เกื้อกูลกัน ถ้าผู้ใช้แรงงานสามารถอยู่ในชุมชน มีที่อยู่ มีอาหาร ทำการเกษตรไปด้วย และทำโรงงานไปด้วย จัดสวัสดิการ มีรถรับส่งก็จะไม่เป็นอุปสรรค ธุรกิจก็ได้ คนงานก็ได้ ต้องเชื่อมโยงชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคเข้าด้วยกัน ถ้าทำได้ ค่าแรง 150-200 บาทก็เป็นเงินเหลือ”

เสนอรัฐจัดสรรที่ดินให้แรงงานทำการเกษตรควบคู่ไปด้วย
แต่แรงงานบางส่วนก็ออกจากถิ่นฐานมาแล้ว จะทำอย่างไร?

คำถามนี้ น.พ. ประเวศ เสนอว่ารัฐบาลต้องจัดสรรที่ดินให้แรงงาน มากเท่าที่จะมากได้ เพื่อดูดซับความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงจากการเป็นแรงงาน

“ครอบครัวละ 2 ไร่ก็ยังดี ให้เขาได้ทำเกษตรไปด้วย ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยถ้าเขาทำเกษตรได้ เขาก็จะมีกิน ผมคิดว่ารัฐบาลทำได้ อาจจะตักบาตรที่ดิน ตั้งกองทุนซื้อที่ดิน”

น.พ.ประเวศเชื่อว่า หากรัฐบาลเห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้ ก็น่าจะทำได้ และทำได้กว้างขวาง เพราะมีอำนาจที่จะทำ ยกตัวอย่างกรณีที่รัฐและสถาบันการเงินช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนจากเงินทุนหมู่บ้านละล้านในอดีต พัฒนามาสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน โดยมี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารออมสิน เข้าไปให้คำปรึกษาและหนุนเสริมด้านการบริหารจัดการ จนกระทั่งปัจจุบันนี้หลายแห่งมีเงินทุนหลัก 40-50 ล้าน ขณะที่บางแห่งมีเงินในกองทุนเกินกว่า 100 ล้านบาท กลายเป็นสถาบันการเงินชุมชน เป็นตัวอย่างของการจัดการที่ดี

“รัฐบาลใหม่กำลังจะอัดฉีดเงินหมู่บ้านละ 1 ล้าน รวมเป็น 80,000 ล้าน ก็ไม่ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่ จะเข้าใจประเด็นนี้หรือไม่ หากรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปในชุมชนอีก 80,000 กว่าล้านบาท ใน 80,000 กว่าหมู่บ้านจริงๆ ก็คาดหวังว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ”

น.พ.ประเวศย้ำว่า หากเศรษฐกิจระดับชุมชนเข้มแข็ง ก็จะช่วยซึมซับความล้มเหลวจากเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ได้ รองรับคนที่ตกงาน คนที่ยากจนได้ รัฐบาลจึงควรจะส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในขนาดใหญ่และกว้างขวาง และอยากจะย้ำเรื่องการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจมหภาคให้เกื้อกูลกัน และก็ควรจะปรึกษาหารือกัน พูดคุยกัน เป็นการปรองดองอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นแนวทางของรัฐบาลใหม่อยู่แล้ว

“เรืองการทำเพื่อคนจนนั้น ผมเชียร์ให้รัฐบาลทำ ซึ่งคนจนของไทยมีทั้งคนที่เป็นแรงงานและเกษตรกร ส่วนที่ภาคอุตสาหกรรมบอกว่าทำไม่ได้ ต้องลองคุยกันว่าให้ 300 บาทไม่ได้เพราะอะไร ถ้าทำไม่ได้ทันที ก็ทำให้ได้ส่วนหนึ่งก่อน ผมอยากให้ทำงานร่วมกันให้ได้” น.พ.ประเวศกล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น