โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาวบ้านจี้สภาทนายฯร้องศาลปกครอง เลิกโครงการ ‘ตาปี–พุมดวง’

Posted: 19 Jul 2011 11:28 AM PDT

นายประภาส สมลักษณ์ คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 นายเเฉลียว ภิญญานิล นายศักนรินทร์ คชาอนันต์ และนายอัครเดช ขนุนนิล ในฐานะตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยังสภาทนายความ ที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับนำเอกสารและให้ข้อมูลโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ไปมอบให้กับสภาทนายความเตรียมการฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ของกรมชลประทาน โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มชาวบ้านได้มอบเอกสารหลักฐานต่อสภาทนายความมาแล้ว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553

นายประภาส เปิดเผยอีกว่า จากการหารือกับสภาทนายความ ทางสภาทนายความแจ้งว่า จะยื่นฟ้องกรมชลประทาน ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ซึ่งทางเครือข่ายฯ มีความกังวลว่า การยื่นฟ้องในวันดังกล่าวค่อนข้างกระชั้นชิด เพราะการคัดค้านคำสั่งทางปกครองจะต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 และจะสิ้นสุดระยะเวลาคัดค้านคำสั่งทางปกครอง ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554

นายเเฉลียว ภิญญานิล คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เปิดเผยว่า ต่อมา วันที่ 6 กรกฎาคม 2554 นายศักนรินทร์ คชาอนันต์ ได้เดินทางไปที่สภาทนายความอีกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง และเอกสารเพิ่มเติม เพื่อเร่งให้ทนายความของสภาทนายความ เตรียมข้อมูลให้สมบูรณ์เพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองให้เร็วที่สุด ตอนนี้ทางชาวบ้านกำลังรอการติดต่อจากสภาทนายความว่า จะยื่นฟ้องเมื่อไหร่

นายเฉลียว เปิดเผยต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ต่อมา ทนายความจากสภาทนายความได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 โดยชาวบ้านได้มอบเอกสารที่เกี่ยวข้บโครงการฯ ให้กับสภาทนายความ ผ่านทนายความที่ลงมาตรวจสอบข้อมูล แต่ไม่มีความคืบหน้า จนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2554 พวกตนต้องเดินทางไปติดตามเรื่องที่สภาทนายความอีกครั้ง

นายวีระะ ชมพันธุ์ ทนายความจากฝ่ายสำนักงานสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ เปิดเผยว่า ตอนนี้ทีมทนายความกำลังเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเตรียมคดี คาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องได้ ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 นี้ สามารถยื่นฟ้องให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมชลประทาน ยกเลิกโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน

ชาวบ้านจี้สภาทนายฯร้องศาลปกครอง เลิกโครงการ ‘ตาปี–พุมดวง’

นายประภาส สมลักษณ์ (ขวา) กับนางจรรยา สดวิลัย 2 ชาวบ้านเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง สำรวจพื้นที่หัวงานของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ที่บ้านมิด หมู่ที่ 6 ตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี สังเกตได้ว่า 2 ข้างคลองพุมดวงมีความอุดมสมบูรณ์ มีชาวบ้านเลี้ยงปลากระชังจำนวนมาก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำสั่งศาลโลก 18 กรกฎาคม: ประเด็นที่คนไทยควรรู้

Posted: 19 Jul 2011 11:12 AM PDT

ภาพบรรยากาศขณะศาลอ่านคำสั่ง เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2554 (ภาพจากศาลโลก)

 

1. ศาลโลกทำอะไรเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม?

ตอบ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก มี “คำสั่งมาตรการชั่วคราว” เท่านั้น และไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น (อ่านคำสั่งฉบับเต็มได้ที่ http://www3.icj-cij.org/docket/files/151/16564.pdf)

ข้อสังเกต ศาลโลกไม่ได้มี “คำพิพากษา” และศาลโลกยังไม่ได้ “พิพากษา” หรือ “วินิจฉัย” คดีหรือข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาแต่อย่างใด ทั้งนี้ “คำสั่งมาตรการชั่วคราว” (provisional measures order) เป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าและมีผลในเวลาจำกัด ศาลมีอำนาจยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ตลอดเวลา ต่างกับ “คำพิพากษา” (judgment) ซึ่งมีผลผูกพันและสิ้นสุดในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย (adjudge) ซึ่งศาลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยกเว้นภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดเท่านั้น

 

2. ศาลโลกจะมีคำพิพากษาหรือไม่ และเรื่องอะไร?

ตอบ คำสั่งวันที่ 18 กรกฎาคมนี้เป็นเพียงกระบวนพิจารณาส่วนหนึ่ง (incidental proceedings) ของคดีหลักซึ่งกัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ซึ่งยังต้องรอศาลพิจารณาต่อไปและอาจใช้เวลาถึงปีหน้า ทั้งนี้ คำขอตีความของกัมพูชามีนัยทางเขตแดน เช่น ประเด็นบริเวณปราสาทพระวิหารที่เป็นของกัมพูชากว้างขวางเพียงใด เป็นต้น

ข้อสังเกต การที่ศาลมีคำสั่งชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าปีหน้าศาลจะต้องรับตีความคำพิพากษา กล่าวคือ ศาลยังคงมีอำนาจปฏิเสธคำขอของกัมพูชาในคดีหลัก (คือไม่รับตีความคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างคดีศาลโลกในอดีตที่แม้ในตอนแรกศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว แต่ในท้ายที่สุดศาลก็ปฏิเสธไม่รับตีความในคดีหลัก

ดังนั้น ศาลโลกจะรับตีความคำพิพากษาหรือไม่ และจะกระทบเขตแดนอย่างไร ต้องรอดูไปถึงช่วงปีหน้า

 

3. ศาลโลกมีคำสั่งเรื่องใดบ้าง?

ตอบ ศาลระบุคำสั่งในบทปฏิบัติการมีทั้งสิ้น 7 ข้อ โดยเป็นคำสั่งมาตรการชั่วคราว 4 ข้อ และคำสั่งทั่วไป 3 ข้อ

ข้อสังเกต สื่อมวลชนไทยหลายแขนงรายงานว่าศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว 3 หรือ 4 ข้อ ซึ่งเป็นรายงานที่ไม่ครบถ้วน

4. คำสั่งมาตรการชั่วคราว 4 ข้อ มีอะไรบ้าง?

คำสั่งมาตรการชั่วคราวข้อ (1) สั่งให้ไทยและกัมพูชา ถอนกำลังทหารออกจาก “เขตปลอดทหารชั่วคราว” ทันที ตามขอบเขตของพื้นที่ที่ศาลโลกได้กำหนด รวมทั้งห้ามวางกำลังทหารในเขตหรือดำเนินกิจกรรมทางอาวุธใดๆที่มุ่งไปยังเขตดังกล่าว

ข้อสังเกต

- ศาลได้ระบุพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวงเพื่อให้ “เขตปลอดทหารชั่วคราว” มีขอบเขตชัดเจน และศาลได้วาด “ร่างแผนที่” (sketch-map) ดังนี้

(ภาพจากศาลโลก http://www3.icj-cij.org/docket/files/151/16564.pdf)

รูปเปรียบเทียบจากกรุงเทพธุรกิจ:

*** ขอย้ำว่าศาลวาด “ร่างแผนที่” (sketch-map) ดังกล่าวเพื่อให้ไทยและกัมพูชาพอเห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้น (ดังที่ศาลระบุไว้ชัดเจนในคำสั่งหน้า 17 ว่า “this sketch map has been prepared for illustrative purposes only”) ดังนั้นไทยและกัมพูชาจึงมีหน้าที่ต้องนำพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวง ซึ่งศาลระบุไว้ในคำสั่งไปร่วมหารือเพื่อทำแผนที่หรือเส้นปฏิบัติการตามคำสั่งของศาลต่อไป ศาลมิได้สั่งให้นำ “ร่างแผนที่” ของศาลไปใช้เสมือนแผนที่สำเร็จรูปแต่อย่างใด และดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไทยและกัมพูชายังไม่อาจถอนกำลังทหารได้ทันที แต่ต้องหารือกันก่อนว่าจะนำพิกัดที่ศาลกำหนดไปปฏิบัติอย่างไร ***

- “เขตปลอดทหารชั่วคราว” (provisional demilitarized zone) ย่อมไม่ได้ห้ามประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทั่วไปจากเขต ทั้งนี้ศาลอธิบายในคำสั่งย่อหน้าที่ 61 ว่าเขตดังกล่าวย่อมไม่กระทบต่อการดำเนินการทางปกครองตามปกติ เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารเข้าไปประจำในพื้นที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทรัพย์สิน ย่อมทำได้

- อย่างไรก็ดี มองได้ว่าศาลใช้อำนาจกำหนด “เขตปลอดทหารชั่วคราว” ในลักษณะค่อนข้างกว้าง และมีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในศาลไม่เห็นด้วยถึง 5 ท่าน ซึ่งผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยเหล่านี้แสดงความกังวลว่าศาลได้ก้าวล่วงเข้าไปกำหนดคำสั่งที่ครอบคลุมเขตที่มิได้เป็นพื้นที่พิพาท จึงเป็นการใช้อำนาจศาลที่เกินความจำเป็น

 

คำสั่งมาตรการชั่วคราวข้อ (2) สั่งให้ไทยไม่ขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ (free access) รวมทั้งการส่ง “เสบียง” (fresh supplies) ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของฝ่ายกัมพูชาในปราสาทพระวิหาร

ข้อสังเกต

- ศาลใช้คำว่า fresh supplies (ต้องแปลตามคำฝรั่งเศสที่ศาลใช้ว่า ravitailler) ซึ่งกินความถึงเสบียงทั่วไปที่ต้องเปลี่ยนเป็นระยะ เช่น อาหาร เชื้อเพลิง หรือวัสดุสิ้นเปลืองในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมปราสาท และไม่ได้จำกัดแต่เพียงอาหารดังที่สื่อมวลชนหรือหน่วยงานได้รายงานไปเท่านั้น แต่ทั้งนี้ย่อมต้องตีความไปตามคำสั่งเรื่อง “เขตปลอดทหารชั่วคราว” หมายความว่า หากกัมพูชานำเสบียงดังกล่าวเข้าไปในบริเวณเพื่อดำเนินกิจกรรมทางทหาร ไทยย่อมขัดขวางได้

- ที่ศาลสั่งว่าไทยต้อง “ไม่ขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ” (free access) มิได้หมายความว่า กัมพูชาสามารถล่วงเข้ามาใช้ดินแดนของไทยโดยอิสระเพื่อผ่านเข้าไปยังปราสาท แต่หมายความว่า หากกัมพูชามีความจำเป็นต้องขอผ่านดินแดนของไทยเพื่อเข้าไปยังปราสาทตามความมุ่งหมายของคำสั่งศาล ไทยย่อมไม่สามารถปฏิเสธหรือขัดขวางอย่างไร้เหตุผล แต่ไทยย่อมมีดุลพินิจที่จะสอบถามหรือตรวจสอบให้ชัดก่อนการอนุญาต (เช่น เป็นไปตามพื้นฐานของความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาสิทธิของกัมพูชาตามคำสั่งศาล อาทิ การซ่อมแซมรักษาตัวปราสาท มิใช่เข้าไปเพื่อการทหาร) ส่วนที่ว่าอย่างอิสระ (free access) หมายความเพียงว่าไทยไม่สามารถตั้งเงื่อนไขการเดินทางเข้าไปที่ตัวปราสาท เช่น จะบังคับให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยตามเข้าไปที่ปราสาทด้วยไม่ได้

 

คำสั่งมาตรการชั่วคราวข้อ (3) สั่งให้ไทยและกัมพูชาร่วมมือกันตามกรอบของอาเซียน และต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนสามารถเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้

ข้อสังเกต ศาลไม่ได้สั่งว่าคณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนต้องเข้าไปได้อย่างอิสระ (free access) ดังนั้นไทยและกัมพูชาย่อมสามารถประกบติดตามหรือดูแลการดำเนินการโดยคณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนได้

 

คำสั่งมาตรการชั่วคราวข้อ (4) สั่งให้ไทยและกัมพูชาละเว้นจากกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ข้อพิพาทเลวร้ายหรือรุนแรงมากขึ้น หรือทำให้ปัญหาข้อพิพาทมีความยากลำบากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข

ข้อสังเกต ศาลไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่ากิจกรรมต้องห้ามดังกล่าวได้แก่สิ่งใด ซึ่งหากไทยและกัมพูชามีปัญหาในประเด็นดังกล่าว ศาลย่อมมีคำสั่งเพิ่มเติมได้

 

5. นอกจากคำสั่งมาตรการชั่วคราว4 ข้อข้างต้นแล้ว คำสั่งทั่วไปอีก 3 ข้อมีอะไรบ้าง?

คำสั่งทั่วไป ข้อ (1) สั่งไม่จำหน่ายคดี คือ ไม่ถอนคดีออกจากศาล

ข้อสังเกต ศาลหมายความว่า คดีหลักซึ่งกัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ยังต้องรอศาลพิจารณาต่อไปถึงปีหน้า ซึ่งสุดท้ายศาลอาจไม่รับตีความก็เป็นได้

 

คำสั่งทั่วไป ข้อ (2) สั่งให้ไทยและกัมพูชาต้องรายงานให้ศาลทราบถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลสั่งทั้ง 4 ข้อ

ข้อสังเกต ในทางปฏิบัติ ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลต่อศาลก็คือคณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียน แม้ผู้ที่มีหน้าที่รายงานคือไทยและกัมพูชา แต่ข้อมูลที่หน้าเชื่อถือย่อมต้องอาศัยข้อมูลจากคณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนประกอบด้วย

 

คำสั่งทั่วไป ข้อ (3) สั่งว่าศาลยังคงสามารถพิจารณาประเด็นใดๆที่มีสาระเกี่ยวข้องกับมาตรการชั่วคราวต่อไปได้ (remain seised of the matters) จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษากรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505

ข้อสังเกต หลังศาลมีคำสั่งวันที่ 18 กรกฎาคม หากมีเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นมาตรการชั่วคราวที่ศาลสั่งไว้ ไทยหรือกัมพูชาย่อมสามารถนำเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใหม่เหล่านั้นมาขอให้ศาลพิจารณา และศาลย่อมอาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขคำสั่งได้ (Rules of Court Article 76) เช่น หากไทยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ ไทยย่อมสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งเรื่องดังกล่าวได้

 

6. ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง เช่น วัด ตลาด หรือชุมชน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาท (ที่มีผู้เรียกว่า 4.6 ตารางกิโลมตร) หรือไม่?

ตอบ ศาลมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง เช่น วัด ตลาด หรือชุมชน โดยเจาะจง อีกทั้ง “เขตปลอดทหารชั่วคราว” นั้นศาลก็อธิบายว่าสามารถมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ไม่ใช่ทหาร รวมถึงผู้คนหรือทรัพย์สินอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้ (คำสั่งย่อหน้าที่ 61)

ข้อสังเกต อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าคำสั่งอีกข้อหนึ่งที่ศาลสั่งก็คือ สั่งให้ไทยและกัมพูชาร่วมมือกันตามกรอบของอาเซียน ไทยจึงย่อมสามารถเรียกร้องว่ากัมพูชาไม่ควรดื้อดึงเดินหน้าดำเนินกิจกรรมที่สร้างปัญหาต่อกระบวนการเจรจาดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ศาลสั่งว่าศาลยังคงสามารถพิจารณาประเด็นใดๆที่มีสาระเกี่ยวข้องกับมาตรการชั่วคราวต่อไปได้ (remain seised of the matters) ดังนั้นหากไทยเห็นว่ามีเหตุสมควรให้ศาลสั่งให้กัมพูชาหยุดการก่อสร้างชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง ไทยย่อมสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งเรื่องดังกล่าวได้เช่นกัน (Rules of Court Article 76)

 

7. ศาลโลกนำอำนาจมาจากไหนและไทยต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่?

ตอบ ทุกประเทศในโลกนี้อยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศไทยจึงย่อมมีทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสนธิสัญญาที่ไทยเคยตกลงผูกพันไว้ ซึ่งกรณีนี้ได้แก่สนธิสัญญาที่เรียกว่า “กฎบัตรสหประชาชาติ” และ “ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” ซึ่งกำหนดให้ไทยมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิที่จะเรียกร้องให้ประเทศอื่นเคารพอธิปไตยและไม่แทรกแซงกิจการภายในของไทย แต่ในขณะเดียวกันสนธิสัญญาก็กำหนดให้ไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของไทย ก็ได้กำหนดเจตจำนงให้ไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ประกอบกับจารีตประเพณีการปกครองที่ไทยปฏิบัติมายาวนาน) ดังนั้น ไทยจึงย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก

ข้อสังเกต หากผู้ใดยังคิดว่าไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่ต้องฟังคำสั่งศาลโลก ขอให้ลองถามตัวเองว่า หากวันหนึ่งประเทศอื่นใดละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและละเมิดสิทธิหรือรุกรานไทย และศาลโลกสั่งมาตรการชั่วคราวให้ประเทศที่กระทำต่อไทยต้องหยุดการกระทำดังกล่าว (แม้ประเทศนั้นจะยืนยันความบริสุทธิของตนก็ตาม) เราจะบอกว่าประเทศที่กระทำต่อไทยนั้นไม่ต้องทำตามกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่ต้องฟังคำสั่งศาลกระนั้นหรือ?

 

8. ศาลขีดเส้นล้ำเข้าในดินแดนไทยหรือไม่ และศาลพูดถึงเรื่อง เขตแดน” ที่แฝงมาในคำขอของกัมพูชาอย่างไร?

ตอบ หากพิจารณา “ร่างแผนที่” เขตปลอดทหารชั่วคราวที่ศาลสั่งด้วยสายตา มองได้ว่าเขตดังกล่าวครอบคลุมบริเวณดินแดนของไทยและกัมพูชามากยิ่งไปกว่าบริเวณพื้นที่พิพาท (ที่มีผู้เรียกว่า 4.6 ตารางกิโลมตร) ดังตัวอย่างที่เทียบเคียงอย่างไม่เป็นทางการดังนี้

ภาพจาก facebook ของ Noppanan Arunvongse Na Ayudhaya

ข้อสังเกต อย่างไรก็ดี เขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าว เป็นเพียงเรื่องมาตรการชั่วคราวที่มุ่งป้องกันการปะทะกันด้วยอาวุธ แต่ไทยและกัมพูชามีสิทธิขอให้ศาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุผลจำเป็น ที่สำคัญ พิกัดและ “ร่างแผนที่” มิได้มีผลทางกฎหมายต่อเขตแดนแต่อย่างใด ดังที่ศาลได้ย้ำอย่างชัดเจนในคำสั่งหลายครั้ง (เช่น ย่อหน้าที่ 21, 38 และ 61) ว่าการพิจารณาออกคำสั่งครั้งนี้ ศาลย่อมไม่ก้าวเข้าไปวินิจฉัยประเด็นที่กัมพูชาอ้างว่าดินแดนส่วนใดเป็นของใครหรือเขตแดนจะต้องเป็นไปตามเส้นหรือแผนที่ใด (ซึ่งอาจต้องรอการพิจารณาของศาลในปีหน้า)

ดังนั้น คำสั่งของศาลโลกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 จึงมิได้เปลี่ยนแปลงเขตแดนไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด

 

9. กัมพูชาถอนฟ้องได้หรือไม่?

ตอบ กฎหมายเปิดช่องให้ไทยและกัมพูชาสามารถตกลงถอนคดีออกจากศาลได้ (Rules of Court Article 88)

ข้อสังเกต ที่ผ่านมาก็มีหลายคดีที่รัฐคู่พิพาทได้ดำเนินการเจรจาระหว่างคดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา และเมื่อแต่ละฝ่ายถอยไปคนละก้าวจนการเจรจามีความคืบหน้า ก็ถอนคดีออกจากศาล และเป็นโอกาสอันดีให้ผู้นำทั้งสองประเทศได้แถลงข่าวเพื่อประกาศชัยชนะร่วมกัน

---

บทวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าคดีปราสาทพระวิหาร ติดตามได้ที่

http://www.facebook.com/verapat.pariyawong

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พบ 1 ใน 3 ของผู้รับยาต้านไวรัสที่ยะลาเป็นมุสลิม

Posted: 19 Jul 2011 11:11 AM PDT

นายจิรโชติ สัจจกุล ผู้ประสานงานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขายะลา เปิดเผยว่า จากการสำรวจผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ตั้งแต่ปี 2531 ถึง 30 มิถุนายน 2554 พบว่า จังหวัดยะลามีผู้ติดเชื้อเอดส์และผู้ป่วย 1,633 ราย ปัตตานี 3,026 ราย นราธิวาสประมาณ 3,000 กว่าราย สาเหตุหลักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ รองลงมา คือ การใช้ยาเสพติดชนิดฉีด รวมประมาณ 6,500 ราย

นายจิรโชติ กล่าวว่า ในความเข้าใจของสัมคมในพื้นที่คิดว่า ผู้ติดเชื้อเอดส์ไม่ใช่มุสลิมและโรคเอดส์ห่างไกลจากสังคมมุสลิมมาก แต่ในความเป็นจริงมีชาวมุสลิมติดเชื้อเอดส์ด้วย เฉพาะในจังหวัดยะลา มีชาวมุสลิมที่มารับยาต้านไวรัสเอชไอวีจำนวน 336 ราย จากจำนวนผู้ได้รับยาต้านทั้งหมด 900 ราย

นายจิรโชติ เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยของจังหวัดยะลา 1,633 ราย แยกเป็นการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ 71% ติดจากการเสพยาเสพติดชนิดฉีด 17% ผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อหลังจากแต่งงาน และตรวจพบเมื่อไปฝากครรภ์

นายจิรโชติ กล่าวว่า สาเหตุที่โรคเอดส์แพร่ระบาดในสังคมมุสลิม อาจเป็นเพราะทัศนคติเชิงลบของคนในพื้นที่ว่า ผู้ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่เป็นคนส่ำส่อน จึงไม่ค่อยตระหนักในการป้องกัน และทำให้ไม่มีการรณรงค์ให้ความรู้ต่อปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเอดส์ ทำให้สถิติการติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ติดเชื้อหลังจากแต่งงาน

ผู้ติดเชื้อเอดส์รายหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ตนติดเชื้อจากสามี ซึ่งเคยเป็นผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดมาก่อน ตนเพิ่งรู้ตัวว่าติดเชื้อเมื่อตอนไปตรวจครรภ์ ตนไม่เคยคาดคิดว่าตัวเองจะติดเชื้อเอดส์ และยากที่จะยอมรับได้ เพราะตนเชื่อมาโดยตลอดว่า เอดส์ระบาดเฉพาะในหมู่หญิงขายบริการ จึงไม่ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

นายอุสมาน ราษฎร์นิยม นักวิชาการประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงสาเหตุที่โรคเอดส์ระบาดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแหล่งอบายมุขต่างๆ ที่มีมากในพื้นที่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเข้าไปใช้บริการด้วย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวมุสลิมติดเชื้อเอดส์ด้วย

นายอุสมาน กล่าวว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรศาสนาในการควบคุมแหล่งอบายมุข จึงไม่สามารถป้องกันไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าไปเที่ยวสถานบันเทงและแหล่งอบายมุขได้ ประกอบกับความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว ซึ่งเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันกันโรคที่ดีที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จนท.CTWเบิกความคดีเผา เผยมีชายชุดดำคล้ายทหารพรานขว้างระเบิดในอาคาร

Posted: 19 Jul 2011 11:10 AM PDT

19 ก.ค.54 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ห้องพิจารณาคดี 501 มีการสืบพยานโจทก์ในคดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ คดีหมายเลขดำที่ อ.2478/2553 ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นาย สายชล แพบัว อายุ 28 ปีอาชีพรับจ้าง และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 26 ปี อาชีพรับจ้าง ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกันเผาทรัพย์โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าของผู้อื่นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย โดยวันนี้ (19 ก.ค.) มีการสืบพยานโจทก์ 3 ปาก ได้แก่ นายธีรพงษ์ เมธาพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างของห้างเซ็น , นางนงเยาว์  ฟูพรรณ เลขานุการผู้จัดการห้างเซ็น สาขาราชประสงค์ และนายชูพันธ์ อนงค์จรรยา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายอาคารและสถานที่ ของห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ผอ.ฝ่ายก่อสร้างของห้างเซ็นให้การว่า หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของห้างรวมทั้งตนเองร่วมกัน สมาคมวิศวกรรมสถานฯ และกรุงเทพมหานคร ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเพื่อประเมินความเสียหายเบื้องต้นของอาคาร ทั้งห้างเซ็น ส่วนต่อเชื่อมกับเซ็นทรัลเวิลด์ที่เรียกว่า โอลด์เซ็น และอาคารเซ็นทาวเวอร์ 20 ชั้น พบว่ามีมูลค่าความเสียหายราว 1,300 ล้านบาท โดยยังไม่นับรวมบางส่วนของตึกที่ถล่มลงมา ทั้งนี้ บริษัทได้จ้างบริษัทผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินความเสียหายและส่งให้บริษัทผู้ออกแบบออกแบบซ่อมแซมแล้ว

ขณะที่เลขานุการผู้จัดการสาขาของห้างเซ็น เบิกความเพิ่มเติมว่า ในส่วนเซ็นโพเดียม หรือห้างเซ็นต่อเชื่อมกับห้างเซ็นทรัลเวิลด์รวมถึงอาคารเซ็นทาวเวอร์ชั้น 1-7 นั้น เสียหายประมาณ 500 กว่าล้าน ส่วนอาคารเซ็นทาวเวอร์ชั้น 8-20 เสียหาย 173 ล้าน  สินค้าของห้างที่จ่ายเงินแล้วเสียหายประมาณ 400 กว่าล้าน สินค้าเครดิตเสียหายประมาณ 159 ล้าน อุปกรณ์ตกแต่งเสียหายประมาณ 400 กว่าล้าน ระบบไอทีเสียหาย 21 ล้าน และระบบประกอบอาคารทั้งหมดเสียหายประมาณ 600 กว่าล้าน รวมแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ พยานตอบถามค้านทนายจำเลยด้วยว่า อาคารเซ็น ทาวเวอร์นั้น สร้างอยู่บนที่ดินซึ่งเดิมเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ส่วนผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายอาคารและสถานที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นพยานคนเดียวในวันนี้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เบิกความว่า ในวันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณบ่ายโมงได้ประจำการอยู่ที่ลานจอดรถใต้ดินชั้นบี1 บริเวณห้องเก็บอุปกรณ์ดับเพลิง และทราบข่าวว่า แกนนำ นปช.ได้ประกาศสลายการชุมนุม เข้ามอบตัวแล้ว จากนั้นประมาณ 10 นาทีก็ได้รับแจ้งว่าฝั่งห้างเซ็นถูกไฟไหม้ จึงนำหน่วยผจญเพลิง 5 คน ไปช่วยเสริมกำลังดับไฟที่ห้างเซ็น ระหว่างทางเห็นมีการนำยางรถยนต์มาเผาบริเวณถนนราชดำริหลายจุด ทั้งยังมีการนำกระดาษมาสุมเป็นกองเล็กๆ เผาอยู่หน้าประตูห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มีการทุบกระจกร้าน Adidas ด้วย เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุได้ไปสมทบกับทีมของทางห้างเซ็นช่วยกันดับไฟ เสร็จแล้วจึงถอนตัวออกมา จากนั้นได้รับแจ้งอีกว่า บริเวณประตูถนนพระราม 1 ถูกทุบและเผา เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบว่าสปริงเกอร์ทั้งหมดทำงาน กระจายน้ำในการดับไฟแล้ว แม้ตัวอาคารจะโดนตัดไฟเนื่องจากมีคำสั่ง ศอฉ.มาก่อนหน้าหลายสัปดาห์แล้วก็ตาม

ผู้ช่วยผู้จัดการฯ เบิกความต่อว่า จากนั้นได้เห็นคนที่บุกรุกเข้ามาในห้างประมาณ 5-6 คน จึงร่วมกับ รปภ.ภายในห้างเชิญตัวออก พร้อมกำชับกับชายคนหนึ่งในนั้นว่า “ขอร้องอย่าซ้ำเติมกันเลย ทางห้างเสียหายเยอะแล้ว” ซึ่งทั้งหมดก็ยอมออกโดยดี จากนั้นเจ้าหน้าที่ของห้างได้รวมกลุ่มกันบริเวณดังกล่าวประมาณ 50 คนเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์ ขณะเดียวกันเริ่มเห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่ในตัวห้างเซ็น เมื่อไปดูพบเห็นคนนำถังแก๊สโยนเข้าไปในอาคาร โดยกลุ่มผู้กระทำการ 3-4 คน คนใส่หมวกไหมพรมปกปิดใบหน้า จากนั้นไม่นานมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 40-50 คน เดินเข้ามาบริเวณหน้าประตูอีกด้านหนึ่งบางคนถือไม้ ถืออิฐ ขว้างเข้ามา บางคนยิงหนังสติ๊กเข้ามาใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของห้าง แต่ไม่ได้เข้ามาภายในอาคาร กระทั่งมีกลุ่มชายชุดดำ แต่งกายคล้ายทหารพรานจำนวนหนึ่งแหวกฝูงชนขึ้นมาแล้วขว้างระเบิดลูกเกลี้ยงเข้ามาภายในบริเวณที่เจ้าหน้าที่ห้างยืนอยู่ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 8-9 คน และนำส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา

การสืบพยานปากสุดท้ายยังไม่เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานครั้งหน้าวันที่ 26 ก.ค. หลังจากนั้นมีกำหนดการสืบพยานอีกในวันที่ 28 ก.ค. 2-3 ส.ค. 23-24 ส.ค.

ทั้งนี้ คดีเผา CTW ยังมีผู้ต้องการอีก 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชน และศาลเยาวชนนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ส่วนคดีของนายสายชล และนายพินิจ อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2553  สืบพยานไปแล้ว 5 ปาก รวมกับวันนี้ (19 ก.ค.) เป็น 8 ปาก

ในคำฟ้องคดีระบุว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุมกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยพวกจำเลยได้เข้าไปในบริเวณอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วใช้กำลังทำลายบานกระจกผนังอาคาร บานกระจกประตู อาคารเซ็นทาวเวอร์ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณห้างสรรพสินค้าดังกล่าวจนแตกเสียหายและยังเป็นการกีดขวางการจราจร ขัดขวางต่อการประกอบกิจการของห้าง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน
 
นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองกับพวก ยังได้ร่วมกันเข้าไปภายในบริเวณอาคารเซ็นทาวเวอร์และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นทรัพย์โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วพวกจำเลยได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ เผาอาคารเซ็นทาวเวอร์และไฟไหม้เผาทรัพย์สินต่างๆของผู้เสียหายที่ 1 ถึงผู้เสียหายที่ 270 รวมค่าเสียหายจำนวน 8,890,578,649.61 บาท และยังเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์หรือกิตติพงษ์ สมสุขที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าวถึงแก่ความตาย  เหตุเกิดที่แขวง- เขตปทุมวัน กทม.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ นิพนธ์ บุญญามณี: 3 สาเหตุเพื่อไทยแพ้ที่ชายแดนใต้

Posted: 19 Jul 2011 10:46 AM PDT

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี “นิพนธ์ บุญญามณี” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2544

“นิพนธ์ บุญญามณี” บอกเล่าถึงที่มาของชัยชนะคราวนี้อย่างไม่ปิดบังว่า มาจาก 3 สาเหตุด้วยกัน 3 สาเหตุที่ว่ามีอะไรบ้าง เชิญอ่านได้ ณ บัดนี้

0 0 0 0 0

 

เข้ามารับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่ปี 2544 พอปี 2547 ผู้สมัครของพรรคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้ายไปอยู่พรรคไทยรักไทยหลายคน มีแพทย์หญิงพรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส นายเจ๊ะอิสมะแอ เจ๊ะโมง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี

ผมเป็นคนคัดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใหม่ของพรรคแทนคนเก่า ก็ได้นายอันวาร์ สาและ นายซาตา อาแวกือจิ และนายอิสมาแอล เบญอิบรอฮีม ผลการเลือกตั้งผมพลาดไปหนึ่งที่นั่งเท่านั้น

สมัยนั้น นายกูเฮง ยาวอฮาซัน ที่ครั้งล่าสุดลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสาขาพรรคที่ผมรักมาก

เดิมทีผมวางตัวให้นายกูเฮงลงสมัครรับเลือกตั้งเขต 3 สู้กับนายนัจมุดดีน อูมา จากพรรคไทยรักไทย วางตัวหมอพรพิชญ์ ลงเขตเมือง หรือเขต 1 ส่งนายเจะอามิงไปสู้กับนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ จากพรรคไทยรักไทย ที่เขต 4 นายเจะอามิงยอมไปทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสแพ้มีมากกว่าโอกาสชนะ เพราะคะแนนนายเจะอามิงดีที่เขต 1 ไม่ใช่เขต 4

พอหมอพรพิชญ์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พ่อของนายกูเฮงคือ นายกูเซ็ง ยาวอหะซันบอกว่า จะให้นายวัชระ ยาวอหะซัน น้องชายนายกูเฮงลงเขตเมืองคือ เขต 1 แทนหมอพรพิชญ์ ผมบอกว่าไม่ได้ ผมต้องให้นายเจะอามิง โตะตาหยง ลงเขต 1 เพราะในวันที่พรรคให้นายเจะอามิงไปสู้กับนายอารีเพ็ญ ที่เขต 4 นายเจะอามิง ยังไปตามที่พรรคสั่ง ทั้งที่มีแนวโน้มจะแพ้สูงมาก ถ้าผมไม่ให้นายเจะอามิงกลับมาลงเขต 1 ผมไม่มีเหตุผลที่จะพูดกับนายเจะอามิง ผมทำแบบนั้นไม่ได้

พอเป็นแบบนี้ นายกูเฮงก็ไม่อยากลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ทางพรรคชาติไทยก็รับไป ผมเตรียมใครไม่ทัน เลยพลาดให้พรรคชาติไทยไป 1 ที่นั่ง ผมได้ไป 11 ที่นั่ง จากทั้งหมด 12 ที่นั่ง เป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พอปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แค่ 5 ที่นั่ง จาก 12 ที่นั่ง พลาดไป 7 ที่นั่ง ในจำนวนนี้พลาดให้กับพรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน เนื่องจากกระแสของหมอแว หรือนายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะมาแรงมาก

ส่วนอีก 4 ที่นั่ง เราไปแพ้นายนัจมุดดีนกับกลุ่มของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ลงสมัครในนามพรรคพลังประชาชน ช่วงนั้นเหตุการณ์รุนแรงมาก เราไม่กล้าปราศรัยในพื้นที่ ออกปราศรัยได้ไม่มากเท่ากับรอบนี้

รอบนี้ ผมรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งในจังหวัดนราธิวาส กับจังหวัดยะลา ส่วนจังหวัดปัตตานี ทางเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับทีมงานเป็นผู้รับผิดชอบ

คราวนี้ เราปราศรัยได้มากกว่าครั้งก่อน ลงพื้นที่พบปะผู้คนตามตลาดได้มากขึ้น จึงได้รับการต้อนรับจากประชาชนดีขึ้น เราจึงมั่นใจมากขึ้นและทำให้คนมั่นใจเรามากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในตัวเมือง เช่น อำเภอสุโหงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา นอกเมืองเสียงพรรคประชาธิปัตย์ไม่คอยดี แต่ในตัวเมืองคะแนนเสียงเราดี

ผมไปปราศรัยที่เบตง ผมรู้และมั่นใจมากเลยว่า คนเบตงเลือกเรา สมัยก่อน 5–6 โมงเย็นคนก็ไม่อยู่ฟังเราปราศรัยแล้ว แต่คราวนี้คนอยู่กับเรา จนถึง 4–5 ทุ่ม แรกๆ ผมบอกบ่ายๆ เลิกได้แล้ว แต่คนก็ยังอยู่ ที่สุไหงโก–ลก คิดจะเลิกปราศรัยช่วงบ่ายๆ แต่คนยังอยู่อีก

ปราศรัยเสร็จเรายังเดินต่อในตลาด ตอนกลางคืนปราศรัยอีกรอบ ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น เพราะคนมาฟังปราศรัยมากขึ้น ได้มีโอกาสพูดคุยทำความเข้าใจกันมากขึ้น ทำให้คนเข้าใจเรามากขึ้น

พรรคประชาธิปัตย์อธิบายให้รู้ว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่บ้าง บางครั้งลงพื้นที่กับนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พอมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน จากประสบการณ์เรามองสายตาชาวบ้าน เรารู้และมั่นใจเลยว่า เราจะได้คะแนนจากเขาแน่นอน

 

มองความความพ่ายแพ้ของวาดะห์อย่างไร ในฐานะที่ต่อสู้กันมานานหลายปี

ผมคิดว่า การที่กลุ่มวาดะห์ในพรรคเพื่อไทย เสนอนโยบายนครปัตตานี ถึงแม้กลุ่มคนข้างบนตอบรับก็จริง แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ไม่ยอมรับ เพราะชูแต่นครปัตตานีอย่างเดียว ไม่ได้เสนอรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาสามจังหวัด เสนอแต่รูปแบบนครปัตตานี

นครปัตตานีมีต้นคิดจากพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตประธานพรรคเพื่อไทย เมื่อพล.อ.ชวลิตลาออกจากพรรคเพื่อไทย กลับไปพรรคความหวังใหม่ คนของพรรคเพื่อไทยไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ ขณะที่พรรคความหวังใหม่ก็เสนอนโยบายนี้ด้วย ทำให้เกิดความสับสนระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคความหวังใหม่ว่า ใครเป็นเจ้าของนโยบายนครปัตตานีกันแน่

ขณะเดียวกันรูปแบบนครปัตตานีก็ยังไม่ชัดว่าเป็นอย่างไร มีภารกิจอะไรบ้าง ต่างกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วอย่างไร นักการเมืองท้องถิ่นปัจจุบันจะอยู่ หรือจะไป จะมีบทบาทในนครปัตตานีอย่างไร นครปัตตานีจะทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับเทศบาลหรือไม่ องค์การบริหารส่วนตำบลจะยังมีอยู่ไหม จะเหมือนกรุงเทพมหานครหรือเปล่า

ถ้านครปัตตานีเหมือนกรุงเทพมหานคร ก็เท่ากับเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั่นเอง ต่างกันเพียงแค่อำนาจบางตัวเท่านั้น คุณต้องตอบให้ได้ว่า นครปัตตานีจะมีอำนาจจัดกำลังทหารเองได้ไหม มีอำนาจออกหนังสือเดินทางเองได้ไหม มีอำนาจดำเนินการต่างประเทศได้ไหม มีอำนาจจัดเก็บภาษีได้แค่ไหน หรือยังต้องให้ส่วนกลางจัดเก็บให้

ถ้าคุณบอกว่า คุณมีทุกอย่างที่ผมพูดมาแสดงว่า คุณเป็นรัฐอิสระแล้ว ถ้าคุณบอกว่าไม่มี ก็ไม่ต่างอะไรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอว่า จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ด้วยการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ถ่ายโอนงบประมาณให้มากขึ้น อันนี้พรรคประชาธิปัตย์พูดชัดเจน ไม่เสนออะไรใหม่ เราเดินหน้ากระจายอำนาจ เดินหน้ากระจายรายได้ให้กับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น

ผมคิดว่านอกจากเรื่องนครปัตตานีแล้ว สาเหตุที่กลุ่มวาดะห์ หรือพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ ยังมีส่วนสำคัญมาจากการเสียชีวิตครั้งใหญ่ ในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และการประท้วงที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และการจับกุมปราบปรามผู้ต้องสงสัยอยู่ในขบวนการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันนี้เราได้จากปากของผู้นำมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวเอง

อีกประเด็นที่มีการพูดกันมากก็คือ การชูผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อคะแนนของพรรคเพื่อไทยพื้นที่นี้

 

ข้อเสนอของพรรคมาตุภูมิเรื่องทบวงบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร

ถ้าดูดีๆ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปไกลแล้ว ขณะที่ทบวงมีรัฐมนตรีดูแล แต่ศอ.บต.กลับขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีดูแลโดยตรง ทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนา

เหตุที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกใช้รูปแบบนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีดูแลด้านความมั่นคง ผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยนั่งเป็นผู้อำนวยการกอ.รมน.ด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็ดูแลด้านการพัฒนา ผ่านศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ถึงแม้นายกรัฐมนตรีสามารถมอบอำนาจให้ใครดูแลแทนก็ได้ แต่ก็ไม่ได้มอบหมายให้ใครดูแล นายกรัฐมนตรีเลือกที่จะดูแลศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวเอง

เราจึงพูดได้ว่า พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นกับนายกรัฐมนตรี ทั้งด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และงบประมาณโดยตรง ไม่ต้องผ่านรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เท่ากับตลอด 5 – 6 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวเอง

 

มีความเห็นอย่างไร ต่อแนวคิดจะยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังวัดชายแดนภาคใต้

พรรคเพื่อไทยจะยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นนครปัตตานี

เราต้องเขาใจบทบาทก่อนว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ราชการส่วนท้องถิ่น เป็นราชการส่วนกลางที่มาอยู่ในส่วนภูมิภาค มีเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงมาอยู่ในพื้นที่ ลงมาประสานหน่วยราชการส่วนภูมิภาค และส่วนกลางที่มาปฏิบัติอยู่ในพื้นที่

กฎหมายเขียนว่าการพัฒนาใดๆ ที่จะทำใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ จะต้องปรากฏอยู่ในแผนเสียก่อน ถึงจะของบประมาณได้ เท่ากับให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ประสานโครงการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด เพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนในอดีต

ในอดีตศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างนี้ จะของบประมาณก็ต้องขอผ่านองค์กรอื่น แต่กฎหมายใหม่ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบประมาณได้เอง พัฒนาพื้นที่ได้เอง เพื่ออุดช่องว่างของการพัฒนาที่เป็นอยู่

นอกจากจัดงบประมาณได้เองแล้ว ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลข้าราชการที่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ถ้าคนไหนสร้างเงื่อนไขไม่ดี สร้างเงื่อนไขให้เกิดความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ พูดตรงๆ คือรังแกชาวบ้าน สร้างเงื่อนไขให้เกิดความเกลียดชังรัฐ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถย้ายข้าราชการคนนั้นออกจากพื้นที่ได้ทันที ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์แล้ว ขณะนี้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ย้ายตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 คน ออกนอกพื้นที่ไปแล้ว 9 คน

อำนาจนี้เป็นเขี้ยวเล็บของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าข้าราชการคนไหนทำดี ดูแลบ้านดูแลเมือง ดูแลประชาชน แม้ไม่ได้สังกัดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเสนอให้เลื่อนขั้นได้ทุกกระทรวง จะมาบอกว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นยักษ์ไม่มีกระบองไม่ได้แล้ว

นอกจากนั้น ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังทำเรื่องเศรษฐกิจด้วย ผมเป็นคนเพิ่มเติมมาตรานี้เข้าไปในกฎหมาย ให้ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถกำหนดพื้นที่ใดเป็นเขตพัฒนาพิเศษได้ เช่น ประกาศให้พื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นเขตอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นต้น

จะประกาศพื้นที่ใด อำเภอใดอำเภอหนึ่งก็ได้ จะประกาศให้อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุไหงโก–ลก เป็นเขตท่องเที่ยวท่องเที่ยวพิเศษก็ได้ โดยไม่ต้องขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถกำหนดเงื่อนไขเองได้เลย

ทำไมถึงทำได้ เพราะศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ถ้าศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้อนุมัติ ก็เท่ากับคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

 

มองอนาคตของกลุ่มวาดะห์อย่างไร

ผมคิดว่าเขาก็คงต้องปรับกลยุทธ์ วันนี้มันเร็วเกินไปถ้าจะบอกว่า เขาต้องปรับอะไร ต้องลองดูว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จะแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร สิ่งใดบ้างที่เขาจะเพิ่มเติม สิ่งใดบ้างที่เขาจะรื้อออก ต้องรอดูความชัดเจนก่อนว่า จะมีการสร้างเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

วันนี้ ถ้าผมส่งสัญญาณบอกรัฐบาลใหม่ได้ ผมอยากจะบอกว่า ต้องระมัดระวังในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลใหม่จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความหวาดระแวงขึ้นในพื้นที่

ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา มีความไม่เชื่อมั่นกันในพื้นที่ พี่น้องไทยพุทธ กับพี่น้องมุสลิมหวาดระแวงกัน เจ้าหน้าที่รัฐทำหลายสิ่งหลายอย่างให้เกิดความระแวง เช่น โจรนินจา จำได้ไหม คำว่านินจามาจากคนแต่งชุดดำ ไม่รู้เป็นใคร แต่ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พฤติกรรมอย่างนี้อย่าทำ

รวมทั้งส่งสัญญาณผิดๆ ว่า ใครที่ลงไปในพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าผลงานการปราบปรามดี จะได้ขึ้นเงินเดือนเร็วๆ ได้เลื่อนตำแหน่งเร็วๆ จากรองผู้กำกับเป็นผู้กำกับ จากรองสารวัตรเป็นสารวัตร อย่างนี้อย่าทำ เพราะนั่นคือการวัดที่ปริมาณ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการอุ้มฆ่า ซ้อมทรมาน อย่าทำให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นในพื้นที่

คงต้องรอดูก่อนว่า รัฐบาลใหม่จะแถลงนโยบายดูแลแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร จะสานต่อหรือจะรื้อโครงสร้างที่มีอยู่ ต้องดูความชัดเจนก่อน เรื่องเหล่านี้ทั้งหมด มันมีผลต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มวาดะห์

 

มองสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

ผมเชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้น แม้จะมีเหตุร้ายอยู่บ้าง ดูจากความมั่นใจของประชาชน มองจากการจับจ่ายซื้อของที่ตลาด การค้าขายในพื้นที่ ดูที่ร้านค้ารู้เลยว่าดีขึ้น ร้านค้าสมัยก่อนปิดหมด คนอพยพหนีหมด

ต้องเข้าใจว่า ทำไมการเลือกตั้งรอบนี้ จังหวัดสงขลา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มจาก 8 ที่นั่ง เป็น 9 ที่นั่ง ขณะที่จังหวัดนราธิวาสลดลงจาก 5 ที่นั่ง เหลือ 4 ที่นั่ง เพราะผู้คนอพยพหนีออกจากนราธิวาสมาอยู่สงขลา

นั่นชี้ให้เห็นว่า คนขาดความมั่นใจในพื้นที่ เป็นตัวชี้ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน เขาจึงย้ายมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยมากกว่า อย่าว่าแต่คนไทยพุทธที่ย้าย พี่น้องมุสลิมก็ย้ายเข้าไปอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปซื้อหมู่บ้านจัดสรรที่นั่น นี่คือตัวชี้วัดว่า ในช่วง 4–5 ปีที่ผ่านมา คนไม่มั่นใจความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ดังนั้นต้องหาที่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะคน 4,000 กว่าคน ที่ตายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ไม่ใช่พี่น้องไทยพุทธเท่านั้น พี่น้องมุสลิมก็เสียชีวิตด้วย บางคนยังไม่รู้ว่า เกิดจากการกระทำของใคร ยิ่งเราชี้ชัดไม่ได้ว่าใครทำ ยิ่งสร้างความหวาดระแวงระหว่างพี่น้องไทยพุทธและพี่น้องมุสลิม

เมื่อเราไม่รู้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงประกาศชัดว่า ต้องไม่สร้างเงื่อนไข เจ้าหน้าที่รัฐคนไหนสร้างเงื่อนไขอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ เราไม่ปล่อยให้ไปสร้างความหวาดระแวงขึ้นในพื้นที่ ความมั่นใจก็มีมากขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีมากขึ้น แต่มันก็ไม่หมดไปเสียทีเดียว

สำหรับเหตุร้าย ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมก็ยังมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ยังต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ตามโรงแรมต่างๆ มีการใช้เครื่องตรวจ มากกว่าในประเทศไทยด้วยซ้ำ

ประเทศปากีสถาน ประเทศอินเดีย เหตุร้ายมีไหม มี แต่ประเทศเหล่านั้นล้วนสร้างเงื่อนไข ก่อให้เกิดความหวาดระแวงกับมุสลิมคือ ไปรับใช้ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เป็นต้น

เราต้องระมัดระวัง เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ จะต้องไม่เกิด เราจะใช้ 2 มาตรฐานกับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมายต้องมาตรฐานเดียว ใครทำผิด ไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม จะต้องถูกดำเนินคดีโดยกฎหมายฉบับเดียวกัน และทุกคนต้องได้รับความคุ้มครอง นี่คือหลักการที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดถือ

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก เพราะถ้าความมั่นใจเกิดขึ้น ทุกอย่างจะตามมา การลงทุนจะตามมา การใช้จ่ายก็ตามมา ตอนนี้ในเขตเมืองเป็นอย่างนี้ ทั้งเมืองปัตตานี ยะลา เบตง สุโหงโก–ลก นราธิวาส แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปี 2547–2549 อันนี้ผมกล้ายืนยัน

นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไปเดินในตลาดเทศบาลตำบลคอกช้าง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา บนเส้นทางไปอำเภอเบตง เดินทุกแผงลอยแจกบัตรหแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง ถ้าเป็นปี 2547–2548 ไม่มีใครกล้าเดิน

สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่า ความมั่นใจของคนมีมากขึ้น เมื่อเรามีโอกาส เราเชื่อว่า ราคาพืชผลการเกษตร ราคายางพาราราคาดีขึ้น ราคมปาล์มน้ำมันราคาดีขึ้น ส่งผลให้พี่น้องใน 3 จังหวัด ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกรสวนยางพารา และเริ่มปลูกปาล์มกันมากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

เรามั่นใจว่า เราทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น สามารถไปดูได้ เช่น การวางปะการังเทียม ทำให้ชาวบ้านจับปลาได้มากขึ้น ไปดูได้เลยที่อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โครงการต่างๆ ที่ลงไปมีผลต่อเนื่อง พี่น้องชาวประมงชายฝั่ง ตั้งแต่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ถึงจังหวัดนราธิวาส มีชีวิตที่ดีขึ้น จับปลาได้มากขึ้น มีรายได้เข้าครัวเรือนมากขึ้น อันนี้เป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งว่า ทำไม สถานการณ์ถึงได้ดีขึ้น

 

นโยบายอื่นๆ มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ เช่น นโยบายเรียนฟรี 15 ปี

เป็นนโยบายที่จับต้องได้ เช่นเดียวกับนโยบายดูแลผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุถามว่าพรรคอะไรนะที่ให้เงินผู้สูญอายุเดือนละ 500 บาท เราก็บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์

ที่นราธิวาส เราทุ่มเทกับพื้นที่นี้พอสมควร ผมจะพูดเรื่องความยุติธรรมเป็นหลัก เพราะเป็นหัวใจหลักของจังหวัดชายแดนภาคใต้

เราขอชี้แจงว่า เราไม่ได้สร้างเงื่อนไข อุ้มฆ่าไม่มี ทุกอย่างให้ดำเนินไปตามตัวบทกฎหมาย ถ้าผิดก็คือผิด ไม่ผิดก็ไม่ผิด ปล่อยตัวไปแล้วมาเยียวยา เยียวยาคนที่ถูกกระทำ กระทรวงยุติธรรมลงไปดูแลทั้งหมด คนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมแล้วศาลตัดสินว่าไม่ผิด หรือว่าถูกจับกุมแล้วปล่อยตัวไป กระทรวงยุติธรรมลงมาดูแล ทั้งหมด นี่คือนโยบายของรัฐบาล

ผมคิดว่าวันนี้หลังจากทุกฝ่ายลงมาทำงาน แม้บางนโยบายจะมีความบกพร่องอยู่บ้าง เราก็ต้องยอมรับ การรั่วไหลของงบประมาณถ้าจะเกิดขึ้นบ้าง เราต้องยอมรับไปแก้ไขปรับปรุง รัฐบาลที่จะมารับงานต่อก็ต้องระวัง ต้องดูแลเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การอ้างประชาชนในพื้นที่ แล้วของบประมาณมากๆ อันนี้ก็ต้องระวัง

 

งบประมาณการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 2 ปี ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเป็นอย่างไร

มีงบประมาณลงมามากทุกปี ตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงแม้รัฐบาลปัจจุบันให้งบกับจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก แต่ว่าช่วงก่อนโน้นใช้ไปใช้ในเรื่องความมั่นคงมาก ซื้ออุปกรณ์ทางการทหาร มากกว่าใช้ในการพัฒนา แต่ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เราปรับงบประมาณมาใช้ในด้านการพัฒนา มากกว่าด้านความมั่นคง

แม้ให้งบด้านพัฒนามากกว่าด้านความมั่นคง ก็ยังมีคนถามว่า ทำไมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ยังใช้งบประมาณมาก จริงๆ แล้วกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ใช้งบประมาณด้านการข่าวกับการพัฒนาชาวบ้านมากขึ้น ใช้ด้านการทหารน้อยลง

มีการปรับสัดส่วนตัวเลขงบประมาณคือ ดูตัวเลขกลมๆ อาจจะเท่ากับในอดีตคือ ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี แต่เดิมใช้ในเรื่องความมั่นคงหรือการทหารมาก เราก็ปรับลดสัดส่วนนี้ลง มาใช้ในเรื่องการพัฒนามากขึ้น ในวงเงินที่ใกล้เคียงกับวงเงินเดิม

 

ถ้าลดกำลังทหารลง จะมีผลต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

การลดกองกำลังลงเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับกำลังที่มาจากต่างถิ่น ปัญหาคือ เราต้องมีความมั่นใจให้ได้ว่า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ต้องได้รับการดูแล รัฐต้องดูแลให้ได้ ถ้ารัฐไม่สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น ก็ไปเข้าทางฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านอำนาจรัฐ

เพราะฉะนั้น การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในอนาคตเราไม่จำเป็นต้องเอาทหารจากต่างถิ่นมา เพราะมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต การเอาคนต่างถิ่นมา พอครบหกเดือน หรือปีหนึ่ง เขาก็ต้องกลับไปบ้าน คนมาใหม่ก็ต้องเริ่มต้นงานใหม่ เราจึงหันมาใช้กำลังในท้องถิ่นแทน

กำลังท้องถิ่นที่ว่าคือ จากทหารก็มาใช้ อส. (กองอาสาสมัครรักษาดินแดน) กองกำลังพัฒนา หรือกองพลพัฒนาที่มาตั้งในพื้นที่ จะเป็นแค่กองกำลังที่มาดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

อย่างน้อยที่สุด พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องมีความอดทน หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา รัฐจะได้ช่วยคุ้มครอง แต่ถ้าไม่มีความมั่นใจก็จะมีเหตุการณ์ย้ายถิ่น หรือทิ้งพื้นที่เกิดขึ้นอีก เราไม่ต้องการให้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ทิ้งพื้นที่ ระยะหลังมานี้ การทิ้งพื้นที่มีน้อยลงมากแล้ว เรียกว่าเลือดหยุดไหลแล้วก็ได้

วันนี้ คนที่เคยขายที่ดินอยากจะกลับไปอยู่ที่เดิมด้วยซ้ำ เพราะเศรษฐกิจดีมาก ทุกอย่างผมไม่ได้พูดเอง เรื่องเศรษฐกิจต้องว่าด้วยตัวเลข ต้องลงไปดูในเชิงประจักษ์ให้ได้ว่า วิถีชีวิตเป็นอย่างไร

 

บทบาทในฐานะฝ้ายค้าน จะดูแล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

ฝ่ายค้านเองต้องดูแลไม่ให้รัฐทำอะไรตามอำเภอใจ รัฐจะทำอะไรตามอำเภอใจหรือจะทำเลยเถิดตามที่ตัวเองต้องการไม่ได้

วันนี้ ตัวบทกฎหมาย ตามหลักการยุติธรรมต้องมีอยู่ ฝ่ายค้านเองต้องควบคุม นโยบายของรัฐบาล ต้องควบคุมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เราตั้งกระทู้ถามปัญหาชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลได้ ไม่ว่ากระทู้สดหรือ หรือกระทู้แห้ง

มากไปกว่านั้น เราเอาเรื่องนี้มาเป็นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาได้ ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่จะนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น ทำแล้วจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงขึ้น ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายได้ ถามรัฐมนตรีหรือรัฐบาลได้ นี่คือแนวทางในการควบคุมดูแลของฝ่ายค้าน

 

การเคลื่อนไหวในพื้นที่จะทำอย่างไร

การจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลพื้นที่ อันนี้สำคัญ พรรคต้องทำต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าในฐานะพรรคการเมืองหรือผู้แทนราษฎร พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่า เสียงข้างมากคือเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ยังไงเราก็ไม่ทิ้งพื้นที่นี้ ไม่ว่าเป็นการลงมาเยี่ยมพบปะพี่น้องประชาชน หรือการหยิบยกปัญหาต่างๆ เสนอต่อรัฐบาล

เวลาพิจารณางบประมาณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอง ก็ต้องเข้าไปเป็นกรรมาธิการการพิจารณางบประมาณอยู่แล้ว แม้จะของบประมาณเพิ่มเติมไม่ได้ แต่ก็มีงบประมาณที่จะไปดูแลพื้นที่ให้เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ได้

ตอนนี้ไม่มีตัวแทนฝ่ายรัฐบาล หรืออาจจะไม่มีรัฐมนตรีจากภาคใต้ด้วยก็ได้ ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่นี้เป็นพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคมาตุภูมิ วันนี้ รัฐบาลจะทำอะไรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องระมัดระวัง ยิ่งไม่มีตัวแทนของตัวเองอยู่ในพื้นที่ ก็ยิ่งต้องฟังฝ่ายค้านมากขึ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าฆ่าม็อบ 100 ศพโผล่มอบตัว - ขอใช้กรรม

Posted: 19 Jul 2011 10:45 AM PDT

ชาวพม่าสัญชาติออสเตรเลียเข้ามอบตัวกับตำรวจออสเตรเลีย อ้างเคยเป็นสายลับพม่าและสังหารผู้้ต้องสงสัยว่าต่อต้านรัฐบาลพม่ามาไม่ต่ำกว่า 100 ราย เผยมอบตัวเพราะเป็นอาชญากรสงคราม อยากปลดปล่อยสิ่งที่แบกรับตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

เมื่อ 18 ก.ค. เอเอฟพีรายงานว่า รัฐบาลออสเตรเลียแถลงว่า มีชายชาวพม่า สัญชาติออสเตรเลีย ชื่อฮตู ฮตู ฮาน (Htoo Htoo Han) วัย 44 ปี เดินทางเข้ามอบตัวกับตำรวจออสเตรเลีย อ้างว่าตนเคยเป็นเจ้าหน้าที่สายลับทางทหารและเป็นอาชญากรสงครามที่เคย สังหารคนในพม่าไม่ต่ำกว่า 100 ราย ระหว่างปี พ.ศ.2530-2535 ในจำนวนนี้เป็นการประหารชีวิตแบบศาลเตี้ย โดยยิงเหยื่อที่ท้ายทอย 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้นำกลุ่มต้องสงสัยว่าต่อต้านรัฐบาลพม่า

"ผมเป็นอาชญากรสงคราม ผมทำเอง ตอนนี้ผมอยากปลดปล่อยสิ่งที่ผมแบกรับไว้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และเสียใจต่อพ่อและแม่ของคนที่ถูกผมฆ่าตาย" ฮานกล่าวระหว่างมอบตัว และว่า ตนได้รับคำสั่งให้กวาดล้างกลุ่มต้านรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและชาวบ้าน คำว่า "กวาดล้าง" ในหน่วยงานตนหมายถึง "ฆ่าทิ้ง" ตอนนี้ตนพร้อมแล้วกับการชดใช้ในสิ่งที่ได้กระทำ จึงเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลีย และเตรียมใจสำหรับการใช้ชีวิตที่เหลือในเรือนจำโดยคาดว่าภรรยาและลูกของตนคง เสียใจและเสียน้ำตากับการตัดสินใจครั้งนี้ แต่ที่พม่ายังมีแม่อีกนับพันที่ยังคงร้องไห้จากเหตุการณ์ในอดีต

ก่อนหน้านี้ ฮานเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพม่าอยู่ในประเทศออสเตรเลีย เช่น เดินทางไปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อปราศรัยให้เด็กนักเรียนฟัง หรือใช้ความสามารถด้านศิลปะจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน

ด้านนายโรเบิร์ต แม็กเคลแลนด์ อัยการรัฐ แสดงความเห็นว่า ทางการต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังและระมัดระวัง รวมถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย เหตุนองเลือดเพื่อประชาธิปไตยในพม่าเมื่อปี 2531 หรือวันที่ 8 เดือน 8 ปี ค.ศ.1988 นั้น เกิดจากประชาชนลุกฮือต่อต้านทหาร จนถูกล้อมปราบ นอกจากถูกสังหารนับพันแล้ว หลายคนต้องถูกจองจำอยู่ในคุกเป็นเวลาหลายปีและเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อไม่นานมานี้

 

แปลและเรียบเรียงโดยสาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆอีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpostทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารคะฉิ่นอ้างทหารพม่าเสียชีวิต 28 นาย จากการปะทะกันช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

Posted: 19 Jul 2011 10:28 AM PDT

เจ้าหน้าที่จากกองทัพเอกราชคะฉิ่น อ้างว่า มีทหารพม่าเสียชีวิต 28 นาย จากการปะทะกับ KIA เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีทหารพม่าถูกจับอีก 11 นายพร้อมกับอาวุธบางส่วน ส่วนในจำนวนทหารที่ถูกจับพบมีเจ้าหน้าที่ทหารพม่ายศร้อยเอกและร้อยโทรวมอยู่ ด้วย ด้านทหาร KIA เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 4 นายจากการปะทะกันล่าสุด

ขณะที่แหล่งข่าวรายงานว่า ทหารพม่าที่ปะทะกับกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ครั้งนี้เป็นทหารจากกองพันที่ 21 ซึ่งประจำอยู่ในเมืองมิตจีนา รัฐคะฉิ่น โดยเหตุการณ์ปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้นใกล้กับเมืองไลซา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ KIA เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังทหารพม่าพยายามที่จะเข้ามาในเมืองไลซา โดยสำนักข่าว KNG ของคะฉิ่นซึ่งประจำอยู่ในพื้นที่รายงานว่า การสู้รบกันเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมานั้นถือเป็นการรบกันครั้งใหญ่ที่สุดระหว่าง KIA และทหารพม่า นับตั้งแต่การปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีทหารพม่าสูญเสียและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนทหารพม่าที่ถูกจับขณะนี้ถูกกุมขังอยู่ในเมืองไลซา

สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า เหตุการณ์สู้รบครั้งนี้เกิดขึ้น หลังอดีตรัฐมนตรีอ่องถ่อง และอดีตรัฐมนตรีเต็งซอ ซึ่งขณะนี้ทั้งสองดำรงเป็นเลขาธิการพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party) เดินทางมารัฐคะฉิ่นเพื่อประชุมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาชนชาติคะฉิ่น (Kachin Nationalities Advisory Committee) ในเมืองมิตจีนา ระหว่างวันที่ 14 -15 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนการประชุมระหว่างทั้งสองฝ่ายจะไม่ประสบความสำเร็จ  ขณะที่รัฐบาลในเนปีดอว์ปฏิเสธที่จะเจรจากับ KIA โดยตรง ด้านคณะกรรมการที่ปรึกษาตรงชายแดนได้เตือนอดีตรัฐมนตีทั้งสองคนว่า สถานการณ์ในรัฐคะฉิ่นอาจเลวร้ายลงหากไม่ใช้วิธีเจรจาทางการเมือง อย่างไรก็ตาม อดีตรัฐมนตรีทั้งสองรับปากตัวแทนจากฝ่ายคะฉิ่นจะนำรายละเอียดในที่ประชุมไป รายงานต่อรัฐบาลในเนปีดอว์

ขณะที่สถานการณ์ในรัฐฉานเองก็ยังมีการสู้รบกันระหว่างทหารพม่าและกอง กำลัง SSA - เหนืออย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวฉานรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้ส่งเครื่องบินรบ MIG-29 บินวนเวียนเหนือพื้นที่เมืองใย๋ เมืองสี่ป้อ เมืองเกซี ทางภาคเหนือของรัฐฉาน เพื่อข่มขวัญทหาร SSA เหนือ

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า เหตุการณ์ความตึงเครียดกับชนกลุ่มน้อยและการสูญเสียเป็นจำนวนมากของทหารพม่า ที่สู้รบในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศส่งผลให้เจ้า หน้าที่ระดับสูงในกองทัพได้เรียกประชุมด่วนที่กรุงเนปีดอว์เมื่อช่วงปลาย สัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน ตามรายงานมีนายพลเต็งเส่ง ประธานาธิบดี นายพลตินอ่อง มิ้นอู รองประธานาธิบดี และนายพลมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและพลโทโซวิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงอีกหลายคนเข้าร่วมประชุมด้วย

 

ที่มา: สาละวินโพสต์ - แปลและเรียบเรียงจากเว็บไซต์ Irrawaddy /KNG /SHAN 18 ก.ค.54

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นักสหภาพแรงงานเกาหลี ‘ยืนเดี่ยว’ จี้ปล่อย ‘สมยศ’ ต่อ หลังหยุดเข้าพรรษา

Posted: 19 Jul 2011 10:15 AM PDT

วานนี้ (18 ก.ค.) นักสหภาพแรงงานเกาหลีใต้ได้เริ่ม "ยืนเดียว" ประท้วงหน้าสถานทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้อีกครั้งหลังจากวันหยุดราชการของไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ พร้อมด้วยนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ

โดยผู้ประท้วงประกอบด้วยตัวแทนจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโรงพยาบาล(Korean Health & Medical Workers Union - KHMU)และตัวแทนจากสมาพันธ์​แรงงานสิ่งทอและเคมีภัณฑ์เกาหลี(Korean Chemical & Textile Workers Federation - KCTF) ได้ยืนประท้วงในรูปแบบยืน 'คนเดียว' (one-man picketing) เป็นเวลา 2 ชั่วโมง

นักข่าวพลเมือง: นักสหภาพแรงงานเกาหลี ‘ยืนเดี่ยว’ จี้ปล่อย ‘สมยศ’ ต่อ หลังหยุดเข้าพรรษา

ก่อนหน้านี้ นา ซูนจา(Na Soonja) ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโรงพยาบาล(KHMU) ซึ่งมีสามชิกกว่า 40,000 คน ได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสมยศฯ พร้อมด้วยนักโทษทางการเมืองคนอื่นมายังสถานทูตไทยและรัฐบาลไทย เช่นเดียวกันกับ ลี แซงจิน (Lee Sangjin)ประธานสมาพันธ์​แรงงานสิ่งทอและเคมีภัณฑ์เกาหลี(KCTF)ซึ่งมีสมาชิกกว่า 15,000 คน ก็ได้ส่งจดหมายเพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยปล่อยตัวโดยให้สิทธิในการประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณและเรดพาวเวอร์ซึ่งได้ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมเมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาในหมายจับตามข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางคลองเปรมจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้รับการประกันตัว

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า วันนี้ (19 ก.ค.) 2 นักกิจกรรมจากพรรคแรงงานประชาธิปไตย (Democratic Labour Party - DLP) จะมาร่วมยืนประท้วงในรูปแบบเดียวกัน เช่นเดียวกับนักกิจกรรมจาก Korean House of International Solidarity(KHIS) ซึ่งจะมาร่วมยืนเดี่ยวประท้วงในวันที่ 20-21 ก.ค.นี้ จากนั้น KHIS จะแถลงข่าว ณ กรุงโซลในประเด็นนี้ในวันที่ 22 ก.ค.อีกด้วย

สำหรับการประท้วงในรูปแบบยืน 'คนเดียว' (one-man picketing) เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หน้าสถานทูตไทย เริ่มต้นโดยนักสหภาพแรงงานจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเกาหลีใต้ (Korean Health & Medical Workers' Union - KHMU) เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุขและได้ประกาศว่าจะมีการประท้วงในรูปแบบเดียวกันนี้ ติดต่อกันจนถึงวันที่​ 24 กรกฎาคม 2554

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อียูเล็งแก้กฎการแจ้งเตือนประชาชนเมื่อข้อมูลส่วนตัวรั่ว

Posted: 19 Jul 2011 09:41 AM PDT

 

เว็บไซต์โครงการ My Computer Law รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังพิจารณาว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเพิ่มเติมกฎระเบียบและความครอบคลุมเกี่ยวกับการแจ้งเตือนเมื่อข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล

ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับลูกค้า ซึ่งรวมถึง ชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดบัญชีธนาคาร กฎหมายแม่บทเรื่องความเป็นส่วนตัวและการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป (E-Privacy Directive) ฉบับปัจจุบัน ระบุว่าผู้ให้บริการจำเป็นจะต้องเก็บรักษาข้อมูลเหล่านี้ไว้อย่างปลอดภัย และต้องแจ้งเจ้าของข้อมูลทุกคนให้ทราบหากข้อมูลดังกล่าวสูญหายหรือถูกขโมย รวมถึงจะต้องรายงานกรณีการรั่วไหลดังกล่าวไปยังองค์กรดูแลระดับประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ตาม นีลี โครส์ กรรมาธิการวาระดิจิทัลของคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศเมื่อ 14 ก.ค. 2554 ว่าเธอจะเปิดให้สาธารณะเข้าร่วมปรึกษาหารือให้ความคิดเห็น ว่าสมควรจะมีกฎระเบียบอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ [1]

“หน้าที่ที่จะแจ้งให้ทราบถึงการรั่วไหลของข้อมูล เป็นส่วนประกอบสำคัญในกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปว่าด้วยกิจการโทรคมนาคม” เธอกล่าวและว่า “แต่มันต้องสม่ำเสมอกันทั่วทั้งสหภาพยุโรป เพื่อที่ธุรกิจต่างๆ จะได้ไม่ต้องวุ่นวายกับระเบียบที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ฉันอยากจะมอบความสบายใจให้กับทุกคน มีความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและมีวิธีที่ปฏิบัติได้จริงให้กับธุรกิจ”

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วิเวียน เรดิง กรรมาธิการยุติธรรมได้เสนอว่า ข้อบังคับเรื่องการแจ้งเตือนว่าข้อมูลรั่วไหลดังกล่าว ควรจะขยายไปให้ครอบคลุมกิจกรรมอย่าง ธนาคารออนไลน์ เกมออนไลน์ การซื้อสินค้า และสื่อสังคม (โซเชียลมีเดีย) ด้วย

“มันเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้ใช้จะได้รับทราบว่า มีใครสักคนได้เข้าถึงข้อมูลของพวกเขาโดยผิดกฎหมาย บริการเครือข่ายสังคมที่มีผู้ใช้มากกว่า 200 ล้านคนในสหภาพยุโรป จะต้องทำตามกฎหมายของสหภาพยุโรป แม้ว่ามันจะดำเนินกิจการในสหรัฐอเมริกาและข้อมูลของมันถูกเก็บเอาไว้ในสิ่งที่เรียกว่าคลาวด์[2]” เรดิงกล่าวถึงเฟซบุ๊ก

เธอยังเน้นถึงความสำคัญของการแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที “7 วันนั้นนานเกินไปมากๆ” เธอกล่าว โดยอ้างถึงความล่าช้าของโซนี่ ในการแจ้งผู้ใช้เครือข่ายเกมออนไลน์เพลย์สเตชันเน็ตเวิร์ก 77 ล้านคน ให้ได้ทราบว่าข้อมูลของพวกเขานั้นรั่วไปแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การปรึกษาหารือกับสาธารณะนี้จะเปิดไปจนถึงวันที่ 9 กันยายน โดยคณะกรรมาธิการหวังว่าจะได้รับความคิดเห็น โดยเฉพาะในเรื่องเทคนิคความมั่นคง, องค์กรควรแจ้งเหยื่อเร็วแค่ไหน, ช่องทางและเนื้อหาของการแจ้งเตือน, และการรั่วไหลชนิดใดที่จะต้องแจ้งเตือน

ถ้าคณะกรรมาธิการตัดสินใจที่จะเสนอกฎแจ้งเตือนใหม่นี้ คณะกรรมาธิการจะต้องปรึกษากับหน่วยงานความมั่นคงทางเครือข่ายและสารสนเทศยุโรป (European Network and Information Security Agency), คณะทำงานคุ้มครองข้อมูล มาตรา 29 (Article 29 Data Protection Working Party), และที่ปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลของยุโรป (European Data Protection Supervisor)

สำหรับประเทศไทย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งขณะนี้อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพื่อรอ ส.ส.รับหลักการ ไม่มีการพูดถึงมาตรการในการแจ้งเตือนเมื่อข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และไม่ได้ระบุว่า “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” ตาม พ.ร.บ.มีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรบ้างเมื่อพบว่ามีการรั่วไหล

 

 

-------------------------------------
[1] เอกสารฉบับเต็มของการปรึกษาหารือสาธารณะ ดูได้ที่ Public consultation on personal data breach notifications under ePrivacy Directive

[2] คลาวด์ (cloud) หรือ กลุ่มเมฆ เป็นคำที่ใช้เรียกทรัพยากรคอมพิวเตอร์ในฐานะโครงสร้างพื้นฐาน เหมือนไฟฟ้า น้ำประปา คือเราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าข้อมูลนี้ถูกเก็บที่ไหน ถูกประมวลผลอย่างไร รู้แค่ว่าเราจะใช้เมื่อใดก็พอ เหมือนเปิดสวิตช์ บิดก๊อก น้ำ-ไฟ-ข้อมูล ก็จะไหลมาทันที ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เก็บในคลาวด์ อาจอยู่ในศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ได้ในโลก อาจจะอยู่มากกว่าหนึ่งที่หรือสลับที่ไม่แน่นอน ทำให้เป็นคำถามว่า ควรจะใช้กฎหมายของประเทศไหนในการคุ้มครองและควบคุมข้อมูลดังกล่าว

เรียบเรียงจากข่าว IDG: EU Considers Stricter Data Breach Notification Rulesผ่าน Slashdot

 

หมายเหตุ: “My Computer Law” เป็นโครงการเพื่อการเสนอร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จากภาคประชาชน โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและกฎหมายคอมพิวเตอร์, การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชน, การเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา, และการผลักดันร่างดังกล่าวในสภา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกฯ วิเคราะห์แผนที่ปลอดทหารฉบับศาลโลก กินพื้นที่ 2 ฝ่ายครึ่งๆ

Posted: 19 Jul 2011 09:36 AM PDT

เมื่อเวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการนัดประชุมหลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ออกคำสั่งเป็นมาตรการคุ้มครองชั่วครองในพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา โดยให้ทั้งไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ที่เป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ใช้เวลาในการประชุมนาน 1.30 ชั่วโมง

จากนั้นนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมในเบื้องต้น โดยกล่าวว่า จากการวิเคราะห์เชิงข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย ซึ่งในส่วนของข้อเท็จจริงพบว่า จากพิกัดถูกระบุไว้ในคำสั่งของศาลฯ พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดจากกำลังทหารตามคำสั่งของศาลโลกจะเป็นพื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.) และใน 17.3 ตร.กม. ให้มีการคำนวณคร่าวๆ ถ้ายึดสันปันน้ำเป็นเขตแดนตามจุดยืนของรัฐบาลไทยจะเป็นพื้นที่ของไทย 8.5 ตร.กม. และเป็นของกัมพูชา 8.8 ตร.กม. และใน 8.5 ตร.กม. ของไทย หากรวมพื้นที่ที่เราเรียกกันว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ประมาณ 4.5 ตร.กม. ซึ่งจะน้อยกว่าเล็กน้อย นอกจากนี้มีการประเมินกำลังทหารที่เกี่ยวข้องในส่วนของฝายกัมพูชาน่าจะประมาณ 4 พันนาย ส่วนฝายไทยจะน้อยกว่านั้นมาก

“อันนี้คือข้อเท็จจริงที่อยากจะเรียนให้ทราบ ที่ต้องพูดถึงตรงนี้เพราะว่าไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิดว่าคำสั่งของศาลมาระบุเฉพาะดินแดนของไทย ตรงกันข้ามตามที่เรายึดถือคือสันปันน้ำดินแดนที่ถูกกำหนดจะใกล้เคียงกันมาก พูดง่ายๆคือจะคร่อมสันปันน้ำอยู่ ถ้าเป็นในมุมมองของกัมพูชาของเขาเยอะกว่าเยอะ เพราะถ้าเขาไปนับพื้นที่ที่เขาอ้างสิทธิ์ ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์กันอยู่คือไปยึดตามแผนที่เขาเขาต้องถอนจากฝ่ายเขาถึง 13 ตร.กม. แต่เราไม่ได้ยึดถือตามนั้นแต่เรายึดถือตามสันปันน้ำ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าเท่ากับไทยยอมรับคำสั่งคุ้มครองของศาลโลกอย่างเป็นทางการใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในชั้นนี้รัฐบาลจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อที่จะได้นำไปหารือกับทางกัมพูชา เพราะก่อนหน้านี้ไทยเคยเสนอเรื่องของการถอนทหารอยู่แล้ว ส่วนการถอนทหารคงเป็นไม่ได้ที่จะบอกว่าต้องเกิดขึ้นทันที ดังนั้นในชั้นนี้ยังไม่มีการถอน

เมื่อถามถึงปัญหากรณีที่ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชายึดถือแผนที่คนละฉบับ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะมี เพราะตามคำสั่งศาลโลกได้กำหนดแผนที่มาด้วย โดยเป็นแผนที่ที่ศาลขีดให้ เป็นแผ่นที่ที่ศาลกำหนดขึ้นเอง โดยแนบมาพร้อมกับคำสั่งของศาล พร้อมระบุเขตปลอดทหาร (Demilitarized Zone) เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู คร่อมสันปันน้ำอยู่

เมื่อถามว่าศาลกำหนดแผ่นที่ขึ้นมาเองแล้วไทยยอมรับได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปพูดคุยกัน

“เรื่องแผนที่ ที่ศาลโลกกำหนดเอง เพราะให้เหตุผลว่าไม่เกี่ยวข้องกับเส้นแขตแดนอะไรทั้งสิ้น เขาต้องการลดปัญหาความเสี่ยงต่อการปะทะ การเผชิญหน้า ความตึงเครียด” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะไม่ปฏิบัติตามมติของศาลโลก นายอภิสิทธิ์ กล่าว่า วันนี้ยังไม่ไปพูดเรื่องนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่ 2 ฝ่ายควรจะไปพูดคุยกัน เพราะเป้าหมายของทั้ง 2 ฝ่ายคือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการปะทะกัน

เมื่อถามถึงเนื้อหาคดีหลักและความคืบหน้า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คดีหลักเป็นเรื่องที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความว่าที่ตัดสินไปเมื่อปี 2505 ว่าคำว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทคืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องนำเอกสารหลักฐานในมุมมองของตัวเองไปเสนอ ซึ่งการต่อสู้ในคดีหลักยังไมได้ทำ ที่ออกมาเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว คาดว่าภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาที่ศาลจะขอให้คู่ความส่งหลักฐานเข้าไป เมื่อถามว่าจะใช้เวลาหลายปีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ชัดเจน เพราะองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกจะเปลี่ยนในเดือนก.พ.ปี 2555 ทำให้มองได้ว่า จะทำให้เสร็จก่อนเปลี่ยนองค์คณะ หรือจะรอให้เปลี่ยนก่อนค่อยพิจารณาใหม่

 

....................
เรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองทัพไทยเข้มแข็งอันดับ 19 ของโลก

Posted: 19 Jul 2011 08:56 AM PDT

19 ก.ค.54 มติชนออนไลน์ รายงานการจัดอันดับความเข้มแข็งทางการทหารของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในปี 2554 ของเว็บไซต์ Globalfirepower.com โดยเว็บไซต์แห่งนี้ คำนวณจาก 45 ปัจจัย ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ โดยไม่นับรวมความสามารถในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่เลือกเปรียบเทียบเฉพาะความพร้อมและความสามารถในการรบเมื่อต้องทำสงครามตามแบบทั้งภาคพื้นดิน ในทะเลและในอากาศ

นอกจากนี้ยังพิจารณาจากความสามารถการส่งกำลังบำรุง ปัจจัยทางการเงินในการทำสงคราม  ซึ่งตัวเลขเหล่านี้อาศัยข้อมูลจริงและการประเมินตามหลักสถิติ   พบว่า กองทัพไทยอยู่อันดับ 19 สูงขึ้นกว่าปีก่อนซึ่งอยู่อันดับ 28 ของโลก และครองอันดับ 8 ของเอเชียโดยเป็นรองจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิหร่าน ไต้หวัน และอินโดนีเซีย

เว็บไซด์ดังกล่าวอ้างตัวเลขจากห้องสมุดรัฐสภาอเมริกันและสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ระบุว่า ในปีนี้ ไทยมีงบประมาณกลาโหม 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (156,000 ล้านบาท) และเมื่อแยกเป็นรายกองทัพ พบว่า ไทยมีกำลังทหารที่พร้อมรบ 305,860 นาย และกำลังสำรองที่พร้อมรบ 245,000 นาย   โดยกองทัพบกมีรถถัง 542 คัน ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 1,005 คัน ปืนใหญ่ชนิดลากจูง 741 กระบอก ปืนใหญ่อัตตาจร 26 กระบอก ระบบจรวดหลายลำกล้อง 60 ชุด ปืนค. 1,200 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง 818 ชุด อาวุธต่อสู้อากาศยาน 378 หน่วย และยานยนต์ส่งกำลังบำรุง 4,600 คัน

กองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินแบบต่าง ๆ 913 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 443 ลำ และ เครื่องบินบริการ 105 ลำ ขณะที่ราชนาวีไทย มีเรือทั้งสิ้น 164 ลำ แยกเป็นเรือบรรทุกอากาศยาน 1 ลำ เรือฟริเกต 6 ลำ เรือยามฝั่งและเรือตรวจการณ์ 109 ลำ เรือทำสงครามทุ่นระเบิด 7 ลำ และเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก 9 ลำ นอกจากนี้ไทยมีกองเรือพาณิชย์นาวี ประกอบด้วยเรือทั้งสิ้น 382 ลำ และท่าเรือสำคัญ 5 แห่ง

สำหรับกองทัพอันดับ 1 ของโลกในปีนี้ ยังคงเป็นสหรัฐฯ ส่วนอันดับรองลงมาคือ รัสเซีย จีน อินเดีย และอังกฤษ ชาติในเอเชียที่ติดอยู่ 10 อันดับแรกของโลกมีถึง 4 ประเทศ คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนในอาเซียน อินโดนีเซีย และไทย อยู่อันดับ 18 และ 19 ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 23 และมาเลเซียอยู่อันดับ 27

 

..................
ที่มา : มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อ การตลาด การเมือง: ย้อนดูงบประชาสัมพันธ์ “ทรท. vs ปชป.”

Posted: 19 Jul 2011 08:25 AM PDT

จากการที่พรรคเพื่อไทยเปรยที่จะตัดงบ “โฆษณารัฐมนตรี” หาเงินซื้อ “แทบเล็ต” ให้เด็กตามนโยบายที่ถูกปรามาสไว้ ลุ้นว่าจะทำได้ไหม และลองย้อนไปดูการใช้งบประชาสัมพันธ์รัฐบาลในช่วง “ไทยรักไทยขาลง” กับ “ประชาธิปัตย์ขาขึ้น”

ในขณะที่หลายฝ่ายกำลัง “จับตา-จับผิด” นโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศขณะรณรงค์เลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และการซื้อแทบเล็ตแจกเด็กประถม ว่าจะหาวิธีการและเงินจากที่ไหนมาขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 54 ที่ผ่านมา นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรค เปิดเผยความคืบหน้ากับสื่อมวลชนในการจัดทำนโยบายรัฐบาลว่า อยู่ในช่วงกำหนดรายละเอียด หาทางเลือกและเงื่อนเวลาที่จะนำไปปฏิบัติ นโยบายบางเรื่องทำได้ทันที บางเรื่องต้องออกกฎหมาย แต่หลักๆ จะยึดตามที่หาเสียงเอาไว้ โดยในกรณีของ แจกแทบเล็ตให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 800,000 เครื่องนั้นจะใช้งบประมาณเพียง 4,000 ล้านบาท ประโยชน์ที่จะได้รับคือลดค่าพิมพ์ตำราเรียนลงได้ เล็งหั่นงบโฆษณารัฐมนตรี

"ผมกำลังคิดว่าจะห้ามบรรดารัฐมนตรีทำโฆษณาตัวเองเหมือนที่รัฐบาลที่ผ่านมาทำ เพราะมองว่าไม่เกิดประโยชน์ เพื่อเอาเงินเหล่านี้ซื้อแทบเล็ตแจกเด็ก และน่าจะได้งบมากกว่านี้ซื้อแทบเล็ตแจกเด็ก และน่าจะได้งบมากกว่าที่ต้องจ่ายด้วยซ้ำ" สุชาติ กล่าวกับสื่อ

ทั้งนี้เมื่อย้อนอดีตดูการใช้งบประมาณภาษีของประชาชน ในการนำเสนอผลงานของตนเองเมื่อเป็นรัฐบาล “พรรคไทยรักไทย” (ช่วงขาลงก่อนถูกทำรัฐประหาร) และ “พรรคประชาธิปัตย์” (ช่วงพีคสุดขีดเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำพรรครัฐบาล) จะพบว่ามีการใช้เงินจำนวนมหาศาล และพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยตรวจสอบและก่นด่าพรรคไทยรักไทยนั้น ก็ใช้เม็ดเงินที่สูงไม่แพ้กัน ซึ่งอาจเป็นความพยายามสร้างภาพลักษณ์กลบข้อครหาที่ถูกกล่าวว่าเป็น “รัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร”

 

0 0 0

6 ​เดือนแรกรัฐบาลไทยรักไทย (ช่วงขาลงก่อนการรัฐประหาร 2549) ใช้งบประมาณกว่า 1,100 ล้านบาท โฆษณาผลงานตัว​เอง

สิงหาคม 2549 - ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุถึงการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐ (ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย) มีตัวเลขที่เป็นเงินภาษีประชาชนเป็นจำนวนมาก ล่าสุดตั้งแต่เดือนมกราคม — มิถุนายน 2549 พบว่า 6 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐออกสปอตโฆษณาใช้งบประมาณไปทั้งหมด 1,020 ล้านบาท

โดยหน่วยงานที่ใช้งบประมาณสูงสุดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์คือ สำนักนายกรัฐมนตรีใช้ถึง 291 ล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงศึกษาธิการ 111 ล้าน กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ตามลำดับ

9 เดือนแรกรัฐบาลประชาธิปัตย์ ใช้งบประมาณ 2,848.5 ล้านบาท

ตุลาคม 2552 - บริษัท AC Nielsen ทำการสำรวจการใช้งบประมาณผ่านสื่อหลักของหน่วยงานภาครัฐช่วง 9 เดือนแรก ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ พบว่ามีการใช้เม็ดเงินมากถึง 2,848.5 ล้านบาท ในขณะที่กันยายนเดือนเดียวมีการใช้งบประมาณมากถึง 399.3 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นสื่อทีวี ประมาณ 56.3% วิทยุ 19.7% หนังสือพิมพ์ 19.0% แมกกาซีน 1.1% โรงภาพยนตร์ 0.5% เอาต์ดอร์ 1.2% ทรานสิต 0.1% และสื่อในห้างสรรพสินค้า 0.1% ขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ต ยังถือเป็นงบที่ใช้น้อยมาก ไม่ถึง 1%

หน่วยงานที่ใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสูงสุดได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี 29.7% จากตัวเลข 9 เดือนแรก 2,848.5 ล้านบาท และหน่วยงานที่ใช้รองลงมาคือ กระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาครัฐจะกระจายงบผ่านสถานีโทรทัศน์ของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ คือ ช่อง 5, 9 และ 11 หรือเอ็นบีที แต่เนื่องจากปีนี้ ภาครัฐมีความต้องการเข้าถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปมากขึ้น ทำให้เริ่มมีการใช้งบกับสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมสูง คือ ช่อง 3 และช่อง 7 โดยสถานีโทรทัศน์ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้งบสูงสุด คือ ช่อง 5 ประมาณ 28.5% ช่อง 9 ใช้ 26.8% ช่อง 11 ใช้ 22.1% ช่อง 3 ใช้ 11.7% และช่อง 7 ใช้ 10.9%

 


 

วาทะเด็ด
 
“หากจะ​ให้​การ​เมืองสร้างสรรค์ ต้องปรับช่องทาง​การสื่อสาร​ให้​เป็นธรรมมากกว่านี้ ​เปิด​โอกาส​ให้ฝ่าย​ซึ่งอาจจะ​เห็น​ไม่ตรงกับรัฐบาล ​หรือ​เห็น​ไม่ตรงกับฝ่ายอื่น มี​โอกาสออก​ในช่องทาง​การสื่อสารมวลชน ผมคิดว่าจะลดวิกฤต​ได้ ผมคิดว่าสื่อสารอย่าง​ไร​ให้​การ​เมืองสร้างสรรค์นั้น ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของทุกฝ่ายเป็นสำคัญ ​และขึ้นอยู่กับ​การ​ให้​ความ​เป็นธรรม​ในช่องทาง​การสื่อสาร​เป็นสำคัญ”
 
สาทิตย์ วงศ์หนอง​เตย
อภิปรายงานสัมมนา ม.​เกริก
หัวข้อ ‘สื่อสารอย่าง​ไร ​ให้​การ​เมือง​ไทยสร้างสรรค์’
23 ส.ค.49
 
 
ดูบทวิจารณ์เกี่ยวกับ "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ...
 
ชำแหละคอนเน็กชั่นยุค “สาทิตย์” ฟาดงบ ปชส.รัฐ 141 ล้าน
 
“สาทิตย์-มล.พอยศ” และงบ พี.อาร์.รัฐกว่า 39 ล้าน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาตินิยม พลโลก

Posted: 19 Jul 2011 07:41 AM PDT

 

สัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย หรือสนธิสัญญาโอสนาบรึคและมึนสเตอร์ (เยอรมัน: Westfälischer Friede, อังกฤษ: Peace of Westphalia หรือ Treaties of Osnabrück and Münster) เป็นสนธิสัญญาที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1648 ที่เมืองโอสนาบรึค และต่อมาในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1648 ที่เมืองมึนสเตอร์

สัญญาสันติภาพที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นการยุติสงครามสามสิบปีในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และสงครามแปดสิบปีระหว่างสเปน สาธารณรัฐดัตช์ และรัฐทั้งเจ็ด ผู้เข้าร่วมในการสร้างสัญญาสันติภาพ ได้แก่ สมเด็จพระจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 3 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ฮับส์บวร์ก) ราชอาณาจักรสเปน ฝรั่งเศส สวีเดน สาธารณรัฐดัตช์ และพันธมิตรของแต่ละฝ่าย

สัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย เป็นผลของการประชุมทางการทูตสมัยใหม่ และถือเป็นการเริ่มวิถีการปฏิบัติสมัยใหม่ (New Order) ของยุโรปกลางในบริบทของรัฐเอกราช กฎที่ปฏิบัติของสัญญาสันติภาพ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ สนธิสัญญาพิเรนีสที่ลงนามกันในปี ค.ศ.1659 ในการยุติสงครามฝรั่งเศส-สเปน ปี ค.ศ. 1635 ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสันติภาพ (วิกิพีเดีย) นับแต่นั้น โลกก็เข้าสู่สังคมระหว่างประเทศสมัยใหม่ การพัฒนาการในการเมืองระหว่างประเทศผ่านการทดสอบมามากทั้งในเรื่องความร่วมมือประสานประโยชน์ และความขัดแย้ง

ความขัดแย้ง หมายถึง ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างกลุ่มมนุษย์

การประสานประโยชน์ หมายถึง การร่วมมือกันเพื่อรักษาและป้องกันผลประโยชน์ของตน หรือระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันทางการเมือง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

โลกผ่านสงครามที่ทำลายล้างชีวิตมนุษยชาตินับล้านมาถึง 2 ครั้ง ผ่านสงครามตัวแทนแห่งความกลัวที่เรียกว่า ‘สงครามเย็น’ และโลกก็เข้าสู่สงครามก่อการร้าย

โลกเริ่มรังเกียจสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ หันไปเน้นหนักในเรื่องของการร่วมมือกันเป็นหนึ่งในลักษณะประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น ประชาคมยุโรป หรือประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้

โลกพยายามลดเรื่องเขตแดนลง ความพยายามของมนุษย์มุ่งหน้าเข้าไปสู่ความร่วมมือกันในฐานะ ‘พลโลก’ มากขึ้น เมื่อโลกไปทางนี้ แล้วเราไปทางไหน

ประเทศเรายังไม่สามารถคิดผ่านอุดมการณ์ชาตินิยม พาตัวเองผ่านจากความเป็นพลเมืองของชาติไปสู่ความเป็นพลเมืองของโลกได้

แนวคิดชาตินิยมคลั่งชาติ ถูกหล่อหลอมมาว่า เรารบไม่เคยแพ้ใคร เราไม่เคยรุกรานใคร ภายใต้ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานเพื่อตอบสนองการปกครองของชนชั้นสูงในฐานะเทวสิทธิ์  มีบุคคลหลายกลุ่มในสังคมที่มีความคิดแนวคิดที่แตกต่างกัน ท่านจะยอมรับนับถืออะไรย่อมเป็นสิทธิของท่าน เพราะเราเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อใดที่ท่านเอาแนวคิดของท่านมาเคลื่อนไหวผูกพันกับนโยบายต่างๆ ของรัฐแล้วก่อให้เกิดความเสียหายย่อมเป็นเรื่องผิด

แกนนำกลุ่มใดที่เอาอุดมการณ์ชาตินิยมคลั่งชาติสุดโต่งมาครอบงำประชาชน โจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าไม่รักชาติ ถือเป็นเรื่องเลวทรามอย่างยิ่ง

ความรักชาติตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สูงสุดของประชาชนในชาติ คนเรารักชาติ แต่ต้องรักให้ถูกทาง ในกรณีข้อพิพาทกับกัมพูชา เราเคยดำเนินการให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แบ่งปันผลประโยชน์รายได้ซึ่งกันและกันซึ่งเป็นปกติที่นานาอารยะประเทศทำเพื่อมุ่งเน้นเรื่องการประสานประโยชน์

แต่วันหนึ่งที่แนวคิดฝั่งชาตินิยมออกมาบอกว่าไม่ได้ ประโยชน์ที่ว่าต้องเป็นของเราทั้งหมด หากไม่ได้ก็ต้องรบกัน อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่ากองกำลังของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยแสนยานุภาพ เรากำลังอยู่ในยุคไหนของโลก สมัยสงครามเย็น สงครามโลก หรือสมัยอาณาจักรอโยธยากันแน่

ในขณะที่โลกชวนกันร่วมมือ เป็นเพื่อนเพื่อต่อสู้ในสงครามเศษฐกิจ เรากลับเลิกคบเพื่อน และเตรียมต่อสู้ในสงครามอาวุธ

หากมีข้อพิพาทใดๆ เกิดขึ้นแล้ว ความเก่งกาจทางด้านการทหารสำคัญสู้ความเก่งกาจในทางการทูตไม่ได้

การทูตอันเก่งกาจของเราที่ผ่านมาในรัฐบาลที่แล้ว ทำให้ไม่รู้ว่า เราเหลือเพื่อนในเวทีโลกกี่คน 

โลกได้ก้าวไปสู่ความเป็นพลโลก แต่ไทยยังก้าวไม่พ้นความเป็นพลเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้คลั่งชาติไม่เข้าใจ และจะถามเรากลับว่า “ทำไมมึงไม่รักชาติ”

เรารักชาติ และจะทำให้ชาติมีเกียรติภูมิในเวทีโลก หรือเราจะรักชาติที่ยืนอยู่โดดเดี่ยวไร้เพื่อน

เมื่อโลกเปลี่ยนไป เหตุใดเราไม่เปลี่ยนตามโลก

มีคำตอบแบบกวนๆ กลับมาว่า

“ประเทศเรามันอินดี้ ไม่เน้นค้าขายกับใคร เก็บไว้กินกันเอง”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัลจาซีร่า: การฉวยชิงภาพลักษณ์ของ เนลสัน แมนเดลา

Posted: 19 Jul 2011 07:36 AM PDT

(แฟ้มภาพ) เนลสัน แมนเดลา ในวันที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 12 ก.พ. 2533 หลังถูกจองจำมานานกว่า 27 ปี (ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Weekly Mail | February 12 1990)

วันที่ 18 ก.ค. 2554 ในฐานะครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 93 ของ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีผู้ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของแอฟริกาใต้ อัลจาซีร่าได้เผยแพร่บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับเนลสัน ในฐานะผู้ที่เคยเป็นนักโทษการเมืองที่กลายมาเป็นประธานาธิบดี

เนลสัน แมนเดลา เป็นผู้ที่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองมายาวนาน โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อยุติการแบ่งแยกสีผิว (apatheid) ในฐานะผู้นำของกลุ่ม "สภาแห่งชาติแอฟริกัน" (African National Congress หรือ ANC) 

แม้ว่า เนลสัน จะบอกว่าตนได้รับอิทธิพลการต่อสู้ในเชิงสันติอหิงสาจากมหาตมะ คานธี และพยายามผูกมิตรกับเหล่านักการเมืองเชื้อชาติอื่นทั้งคนผิวขาวและคนผิวสี แต่ในปี 1961 เขาก็ก่อตั้งและขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม Umkhonto we Sizwe ซึ่งเป็นฝ่ายติดอาวุธของกลุ่ม ANC

"คนของพวกเราเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพที่ถูกฝึกมาอย่างดี ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย" เนลสันกล่าวไว้ในแถลงการณ์เมื่อปี 1970 "พวกเรากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การปกครองโดยคนหมู่มาก เพื่อสิทธิของชาวแอฟริกันที่จะได้ปกครองแอฟริกา พวกเรากำลังต่อสู้เพื่อแอฟริกาใต้ อันจะนำมาซึ่งความสงบสุข ปรองดอง และให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน"

ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า รายงานแปลชิ้นนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอดีตจนถึงปัจจุบันของรัฐบุรุษแอฟริกาใต้ผู้นี้ โดยไม่ได้มีความเห็นหรือท่าทีใดๆ

ในแฟ้มเว็บ (archive) ของเว็บไซต์ ANC (ตอนนี้เพจถูกลบไปแล้ว) มีหน้าเพจของกลุ่ม Umkhonto we Sizwe ซึ่งมีการประกาศว่าจะโจมตีสถานที่ของรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งขณะเดียวกันกลุ่ม Umkhonto we Sizwe ก็บอกว่าก่อนหน้านี้กลุ่มหลักที่เรียกร้องนั้นดำเนินการโดยใช้วิธีการสันติอหิงสามาโดยตลอด แต่ทางรัฐบาลกลับเห็นว่ามันเป็นไฟเขียวเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลใช้ความรุนแรง พวกเขาจึงไม่เหลือทางอื่นนอกจากต้องใช้ความรุนแรงตอบโต้ไปบ้าง

ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นการเท้าความเพื่อความเข้าใจของท่านผู้อ่าน เนื่องจากถูกนำมาพาดพิงถึงในบทความชื่อ "เนลสัน แมนเดลา จากนักโทษสู่ประธานาธิบดี" โดย เดวิด แอฟริกา นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของประเทศแอฟริกาใต้ ผู้ที่เคยทำงานด้านหน่วยข่าวกรองและการค้นคว้าการต่อต้านการก่อการร้าย และเคยทำงานใต้ดินให้กับกลุ่ม "สภาแห่งชาติแอฟริกัน" มาก่อน

โดยเนื้อหาของบทความมีดังนี้

0 0 0

Nelson Mandela: From prisoner to president 
David Africa
Aljazeera, 17-07-2011

ขณะที่ชาวแอฟริกาใต้เฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของรัฐบุรุษเนลสัน แมนเดลา เหล่าผู้ทรงเกียรติ์ทั้งหลายก็ชื่นชมเขาในฐานะของนักสู้เพื่อสันติ, นักคิดสายกลาง และแม้กระทั่งเป็นนักบุญมาโปรด ภาพลักษณ์ของแมนเดลาถูกฉวยใช้ตั้งแต่ที่เขาพ้นจากการเป็นนักโทษขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้จากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 1994 และภาพลักษณ์นี้ก็เป้นสิ่งที่น่าสงสัยในโครงการทางการเมืองที่มีเป้าหมายคู่ขนานกันไป อีกทางหนึ่งก็สร้างภาพให้เขาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อปลดแอกชาวแอฟริกาใต้ ในอีกทางหนึ่งก็สร้างภาพลักษณ์ 'แมนเดลา' ใหม่ เอามาปรับใช้การโครงการทางการเมืองแบบสายกลาง หรือแม้กระทั่งโครงการอนุรักษ์นิยม

ว่ากันตามธรรมเนียมแล้วชาติตะวันตกออกจะเป็นฝ่ายที่ปฏิปักษ์กับนโยบายของแมนเดลาและของ ANC 

แต่การที่แมนเดลามีภาพลักษณ์แบบนักบุญในสายตาของชาวตะวันตกนั้นถือเป็นสิ่งสะท้อนการยกยออย่างผิดๆ ที่ทางพรรคเดโมเครติก อะไลแอนซ์ พรรคฝ่ายค้านในประเทศของเขาเองสร้างขึ้นมา ซึ่งพรรคนี้จริงๆ ก็มาจากการรวมตัวกันของกลุ่มเสรีนิยมเดิมกับเศษเสี้ยวของพรรคชาตินิยมที่ปกครองแอฟริกามาจนถึงปี 1994 การนำแมนเดลามาใช้ในฐานะรูปเคารพและการเปลี่ยนผ่านภาพลักษณ์ของเขาจากอดีตนักสู้ติดอาวุธมาเป็นนักบุญผู้เดินสายกลาง กำลังจะสำเร้จด้วยดีอยู่แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ภาพของแมนเดลาที่ชาวแอฟริกาใต้รู้จัก พวกเรารู้จักแมนเดลาในฐานะนักสู้ติดอาวุธเสมอมา ตั้งแต่วันที่เขาเป็นผู้นำหนุ่มไฟแรงในช่วงทศวรรษ 1940s มาจนถึงช่วงที่เขานำ ANC ต่อต้านท้าทายรัฐบาลแบ่งแยกสีผิวในปี 1952 และกลายเป็นผุ้บัญชาการคนแรกในกลุ่มติดอาวุธที่กลายเป็นการต่อต้านด้วยความรุนแรงในปี 1961

คำให้การต่อศาลของแมนเดลาในเดือน เม.ย. 1964 ที่เขาและสหายในกลุ่ม ANC ต้องเสี่ยงกับโทษประหารนั้น ประกาศอย่างชัดเจนว่าพวกเขาได้ใช้กำลังอาวุธอย่างมีเหตุผลเพื่อท้าทาย แมนเดลาต้องใช้เวลาในคุกยาวนาน แต่ก็ปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้อิสรภาพส่วนตัวของเขาแลกกับการยกเลิกปฏิบัติการใช้กำลังต่อต้านรัฐบาลแบ่งแยกสีผิว

จากข้อความที่ลักลอบนำออกมาจากคุกเมื่อปี 1985 และนำเสนอผ่านลูกสาวของแมนเดลา เขาประกาศว่าเขาไม่สามารถ "หาฉันทามติร่วม (ในการต่อต้านอย่างอหิงสา) ได้ในขณะที่ประช่าชนอย่างพวกคุณไม่มีอิสรภาพ" แม้กระทั่งหลังจากที่เขาออกจากคุกในปี 1990 เขาก็ได้เน้นย้ำในช่วงที่ปราศรัยกับสาธารณะเป็นครั้งแรกว่าการต่อต้านโดยใช้กำลังอาวุธยังคงมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อปลดแอก และมันจะยังคงมีต่อไปแม้เขาจะสูญเสียอิสรภาพส่วนตัวไปก็ตาม จนกระทั่งถึงจุดที่แรงสะสมในการต่อรองทางการเมืองถึงจุดอิ่มตัวแล้วเท่านั้น แมนเดลาถึงจะยอมสนับสนุนให้หยุดยั้งการใช้กำลังอาวุธต่อรัฐ

การแปลงภาพลักษณ์ของแมนเดลาให้กลายเป็นนักบุญที่มีแนวทางสายกลางนั้น ยังเป็นการหล่อเลี้ยงอะไรบางอย่างที่อยู่ในห้วงลึกของจิตใจของชาวผิวขาวในแอฟริกาใต้อีกด้วย แม้ว่าจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะหลังยุคแบ่งแยกสีผิว ดูเหมือนคนผิวขาวในแอฟริกาใต้จะต้องการจัดให้ผู้นำทางการเมืองผิวดำไว้ในหมู่คนที่มีความคิดสายกลาง เป็นตัวแทนของผู้มีเหตุผล ไปจนถึงคนที่ไร้เหตุผลและอันตราย

ก่อนหน้าที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผู้นำของบันตุสทาน (Bantustan พื้นที่ซึ่งจัดไว้ให้เป็นที่อยู่ของคนผิวดำในแอฟริกาใต้และนามิเบียในอดีตช่วงสมัยที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิว) อย่าง แมงโกซุทู บูเทอเลซี สามารถดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำสายกลางที่คนผิวขาวของแอฟรืกาใต้มีใจร่วมไปกับเขาได้ ขณะที่แมนเดลาและ "พรรคพวกผู้ก่อการร้าย" ของเขาถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อการดำรงตัวตนอยู่ของชาวผิวขาวในแอฟริกาใต้ รวมถึงภารกิจในการทำให้ประเทศแอฟริกาใต้กลายเป็นประเทศอารยะด้วย

หลังจากที่แมนเดลาถูกปล่อยตัวออกจากคุก บทบาทของตัวร้ายก็ตกไปเป็นของคนอื่นๆ แทน อย่าง คริส ฮานี ผู้นำพรรคคอมมิวนิสท์แอฟริกาใต้ที่ถูกลอบสังหาร, อดีตประะานาธิบดี ทาโบ เบกิ และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ยาคอบ ซูมา รวมถึงการกลับชาติมาเกิดของภาพนักการเมืองผิวดำผู้ที่ไร้เหตุผลและอันตรายที่อยู่ในร่างของจูเลียส มาเลมา ผู้นำหน่วยยุวชนของ ANC แต่ก็คงไม่ต้องพูดให้มากความว่า ทั้งฮานี, เบกิ และซูมา จริงๆ แล้วต่างก็เป็นคนที่มีเหตุผลมากพอที่คนผิวขาวในแอฟริกาใต้จะ 'ทำธุระด้วยได้'

ผมรู้สึกประหลาดใจในช่วงไม่นานมานี้ หลังจากได้ชมสารคดีสัมภาษณ์แมนเดลาและฮานี ซึ่งมีผู้ชมชาวผิวขาวเกือบทุกคนโอดครวญว่า พวกเขาขาด 'ผู้นำที่มีเหตุผลและความคิด' อย่างคริส ฮานีในยุคที่วาทกรรมทางการเมืองถูกครอบงำโดยคนพูดจาไม่ระวังปากอย่างจูเลียส มาเลมา นี่คือฮานี คนเดียวกับที่ถูกคนขาวทั่วแอฟริกาใต้เกลียดชัง จนกระทั่งเขาถูกฆาตกรรมจากน้ำมือของคนผิวขาวหัวรุนแรงในปี 1993

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแอฟริกาใต้จนถึงตอนนี้ยังน่าผิดหวังอยู่ในเรื่องความคาดหวังของคนจนและคนไม่มีทรัพยากรทำกิน ในเรื่องเศรษฐกิจ ที่ดิน และสถาบันเอกชน ยังคงอยู่ในกำมือของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้ ขณะที่คนผิวดำถูกคาดหวังว่าพวกเขาจะมีความพึงพอใจกับการได้ทำหน้าตาเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในห้องประชุมบอร์ดของบรรษัท

ในบริบทนี้ ภาพลักษณ์และสิ่งสืบทอดของแมนเดลาควรจะถูกนำกลับมาเพื่อสะท้อนให้เห็นตัวตนที่ก้าวหน้าและไม่หยุดยั้งของชายผู้นี้ แมนเดลาผู้เป็นนักติดอาวุธ ผู้ที่ลุกขึ้นท้าทายแต่ก็มีความรอบคอบ นี่คือตัวเขาจริงๆ ผู้ที่สามารถกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับแอฟริกาใต้ในการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศนี้กำลังต้องการอย่างมาก

 

ที่มา
Nelson Mandela: From prisoner to president , 17-07-2011, David Africa, Aljazeera

ข้อมูลประกอบ
Web Archive ของแถลงการณ์ เปิดตัวกลุ่ม Umkhonto_we_Sizwe
http://en.wikipedia.org/wiki/Nelson_mandela
http://en.wikipedia.org/wiki/Umkhonto_we_Sizwe

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กกต.รับรองอภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ พร้อม ส.ส. อีก 10 ราย

Posted: 19 Jul 2011 06:57 AM PDT

ที่ประชุม กกต.มีมติ 5 ต่อ 0 เสียง ยกคำร้องกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) โดยเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนแกนนำ นปช. ยังไม่รับรองอ้างสำนวนสอบสวนไม่แล้วเสร็จ

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงาน เมื่อเวลา 16.59 น. ระบุนางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.มีมติ 5 ต่อ 0 เสียง ยกคำร้องกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) โดยเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งโดยกรณีนายอภิสิทธิ์ ถูกร้องกรณีจัดธงฟ้า ราคาถูก ที่ประชุมเห็นว่าเป็นการดำเนินการตามนนโยบายของรัฐบาล จึงไม่เข้าข่ายความผิด มาตรา 53

กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกร้องกรณีผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองช่วยหาเสียงขบวนแห่ที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งที่ประชุมกกต.เห็นว่าไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ และกกต. เคยวินิจฉัยยกคำร้องในกรณีดังกล่าวมาแล้ว

ส่วนรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ที่เหลืออีกกว่า 130 คน รวมถึงแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยที่ยังไม่มีการรับรองนั้น เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าสำนวนสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ จึงให้อนุกรรมการ นำกลับไปพิจารณาและส่งกลับมายังที่ประชุมพิจารณาเพื่อรับรอง สส.เพิ่มอีกครั้งในวันที่ 21 ก.ค.นี้
สำหรับ การพิจารณารับรองคุณสมบัติส.ส. จำนวน 12 คน ประกอบด้วย

1.นายองอาจ วชิรพงศ์ พรรคเพื่อไทยเขต 5 พระนครศรีอยุธยา
2.นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ เขต 1 พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา
3.นายบุญแก้ว สมวงศ์ เขต 2 ยโสธร พรรคเพื่อไทย
4.นางสาวตรีนุช เทียนทอง เขต 2 สระแก้ว พรรคเพื่อไทย
5.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ เขต 2 อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย
6.นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เขต 3 อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย
7.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เขต 2 สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์
8.นายสุทธิชัย จรูญเนตร เขต 5 อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย
9.นายธานินทร์ ใจสมุทร เขต 1 สตูล พรรคชาติไทยพัฒนา
10.นางสาวชิณนิชา วงศ์สวัสดิ์ เขต 3 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย
11.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
12.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้เว็บไซต์มติชนออนไลน์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การรับรองน.ส.ยิ่งลักษณ์ เกิดขึ้นหลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กกต.อย่างหนัก ที่ไม่รับรองแกนนำสำคัญของ 2 พรรค ดังเห็นได้จากโพลหลายสำนัก รวมถึงปรากฎการณ์ทูตจากหลายประเทศเข้าพบน.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างต่อเนื่อง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น