โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

“สนธิ”ชี้มีแนวโน้มเกิดมิคสัญญี-นองเลือด-แบ่งแยกประเทศ

Posted: 08 Jul 2011 12:26 PM PDT

สนธิ ลิ้มทองกุลโฟนอินเข้าเอเอสทีวี ชี้มวลชนเสื้อแดงเกิดจากการดูทีวีเสื้อแดงที่ใส่ข้อมูลให้เชื่อเพียงด้านเดียว ด้วยสติปัญญาที่ด้อยกว่าคนอื่น-โอกาสน้อย จึงรู้สึกที่ว่าเสื้อแดงถูกรังแก แค่ปลุกระดมคนที่ลงคะแนนให้เพื่อไทยเข้ามาในเมืองก็ยึดเมืองได้หมด เชื่อความรุนแรงพร้อมเกิด ขาดอยู่อย่างเดียวคืออาวุธ

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อคืนวานนี้ (8 ก.ค.) นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โฟนอินเข้าในรายการ "คนเคาะข่าว" ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี โดยระบุว่า ตนขอเสริมว่าปัญหาชาติบ้านเมืองคือปัญหาจิตวิญญาณ เราเคยหวังว่าประชาธิปัตย์เข้ามาแล้วจะแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง แต่ดันเข้ามาสวมตอต่อ การสวมตอต่อเพราะผลประโยชน์ถูกพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย วางทิ้งเอาไว้ แทนที่จะใช้จิตวิญญาณที่เสียสละและรับใช้ส่วนรวมมาทำ แต่กลับไปสวมตอต่อ ก็เลยทำให้ลืมทำหน้าที่ที่ควรจะทำตามความคาดหวังของประชาชน

นายสนธิ กล่าวว่า ตนยิ่งเชื่อมั่นโหวตโนของเราคือคำตอบที่ถูกต้อง พวกโหวตโน พันธมิตรฯ ก้าวข้ามเรื่องการเมืองซึ่งมันพื้นฐานเกินไปจนเราเห็นว่ามันไร้สาระ แต่สื่อมวลชนและสังคมไทยส่วนใหญ่ยังก้าวไม่ข้ามตรงนี้ จำได้ไหมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัวดี เคยพูดว่าจากนี้ไปให้ 500 คนในสภา เป็นคนแก้ปัญหาประเทศชาติ ปรากฏว่าผลเลือกตั้งแดงเต็มอีสาน และครึ่งหนึ่งของภาคเหนือ นายสุเทพก็ออกมาพูดว่าแดงเต็มบ้านเต็มเมืองแล้วต้องระวัง ก็หัวหน้าพรรคพูดเองว่า 500 ตัวในสภา คือคนแก้ปัญหา

เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของการสับปลับอย่างบัดซบที่สุด ขณะนี้เรากำลังลุ่มหลงกับมายาคติการเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวต คนเราทำไมต้องแลก 1,000 บาทกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องทำชาติบ้านเมืองเสีย ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องปัญญาอย่างเดียว บางครั้งต้องยอมรับแล้วว่าการที่คนเข้ามาเล่นการเมือง การเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไม่ใช่คำตอบ มันจะเป็นได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างเป็นการลงทุนเพื่อขอซื้อสัมปทานประเทศ แย่งกันกินสัมปทานประเทศ

เอาง่ายๆประชาธิปัตย์ที่โกรธโหวตโน เพราะหวังว่าเพื่อไทยจะชนะไม่ถึงครึ่ง ประชาธิปัตย์จะได้เอาทหารไปบีบพรรคเล็กให้มาร่วมตั้งรัฐบาล ตนขอถามกลับถ้าคิดอย่างนี้แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร แค่คิดก็ผิดแล้ว เห็นชัดว่าแม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวแทนภาพสะท้อนนักประชาธิปไตย รวมถึงลูกน้อง ยังมองว่าทุกอย่างต้องจบที่สภา

ทุกวันนี้โหวตโนสู้กับนักการเมืองอาชีพ นักการเมืองอาชีพก็สู้เพื่อรักษาอาชีพนี้ไว้ให้ตัวเอง เพราะเป็นอาชีพที่หากินง่ายสุด

นึกดูพรรคภูมิใจไทย ตั้งเป้าได้ส.ส.ประมาณ 80 คน ตีซะว่า 1 คน ใน 80 คน ลงทุนประมาณ 50 ล้าน ไม่ผิดหรอก เพราะว่าเพื่อไทยจ่าย 200 บาท เขาจ่าย 1 พันบาท รวมแล้ว 4 พันล้าน สำหรับ 80 คน แล้วอีก 200 กว่าคนที่หว่านไป ภูมิใจไทยใช้ไม่ต่ำกว่าหมื่นกว่าล้าน แล้วเอาเงินมาจากไหน กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ก็พูดเองว่าเลือกตั้งครั้งนี้ใช้เงิน 4-5 หมื่นล้าน ฉะนั้นประเทศไทยก็สามารถซื้อขายได้หรืออย่างไร

นายสนธิ กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องสื่อ ถ้าสื่อเลวระยำอย่างนี้ต่อไป เมืองไทยไม่มีวันแก้ได้หรอก พินาศฉิบหาย เชื่อการนองเลือดมีแน่และอาจถึงขั้นแบ่งแยกประเทศด้วยซ้ำ เมื่อดูแผนที่ที่เขาติดมาแล้ว เห็นชัดเลยงานนี้ จะบอกให้ถ้าเขาปฏิวัติก่อนมีการเลือกตั้งแล้วจัดระเบียบชาติ บ้านเมืองสงบ แต่ถ้าจากนี้ไปแล้วมีอะไรเกิดขึ้นนองเลือดแน่นอน

นายสนธิ กล่าวอีกว่า ปฏิวัติตอนปี 2549 คนที่ทำปฏิวัติคิดว่าปฏิวัติแล้วนายทักษิณไปต่างประเทศ ทุกอย่างจบแล้ว แต่ว่ารากเหง้าเครือข่ายที่เขาสร้างมามันลงลึก จนกระทั่งเราลืมนึกไปว่าที่ปรึกษาของนายทักษิณคืออดีตฝ่ายซ้ายจัด ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในยุทธศาสตร์กิจกรรมสร้างมวลชน ตั้งแต่ปี 2549 มา กระบวนการสร้างมวลชนเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างหมู่บ้านเสื้อแดงก็เกิดหลังจากที่นายทักษิณไปแล้ว

มวลชนที่สร้างขึ้นมา จะดูทีวีเสื้อแดงที่ใส่ข้อมูลให้เชื่อเพียงด้านเดียว ด้วยสติปัญญาที่ด้อยกว่าคนอื่น เนื่องจากโอกาสน้อยกว่า ความรู้สึกที่ว่าเสื้อแดงถูกรังแกมีเยอะมาก เพราะเขาถูกสื่อเสื้อแดงใส่หัวเขาตลอดเวลา ตรงนี้อันตรายมาก

ขณะนี้ถ้าพวกเรามองนักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย เห็นชัดว่าทางอีสานเขาชนะเรื่องมวลชนแล้ว ส่วนมวลชนอีสานจุดไหนที่จะเป็นมวลชนรุนแรง ไม่รุนแรง ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่เขาวางแกนนำระดับล่างลงไปจนเกือบครบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน อำเภอ ตรงนั้นเขาพร้อมแล้ว แต่ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นเขาขาดอยู่อย่างเดียวคืออาวุธ

"คิดดูเขาชนะทั้งอีสานเหนืออีสานใต้ แค่ปลุกระดมคนที่ลงคะแนนให้เพื่อไทย เข้ามาในเมือง ยึดเมืองได้หมดนะ เราก็รู้อยู่แล้วตำรวจอีสานเป็นยังไง เห็นแล้วว่ากองทัพภาค 2 เป็นยังไง ถึงบอกว่าแนวโน้มเกิดมิคสัญญีค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับว่าการเดินทางการเมืองจากนี้ไปเขาเดินกันอย่างไร" นายสนธิ กล่าว

นายสนธิ กล่าวด้วยว่า คิดว่า เราคิดนอกกรอบกันมาตลอด แต่กว่าจะได้ผลจากวันนั้นที่ตั้งพันธมิตรฯมาจนถึงตอนนี้ ดูจำนวนคนก็ยังถือว่าน้อย เพราะเรามีแค่เอเอสทีวีที่สถานะง่อนแง่นๆอยู่ ทำให้เดินได้ช้า สร้างอะไรให้เกิดขึ้นมันลำบาก แต่วิทยุเสื้อแดงเต็มไปหมด เพราะมีการทุ่มเงินลงไป มีช่วงหนึ่งใครต้องการวิทยุชุมชนจะลงไปติดตั้งให้เลยแห่งละ 5 แสนบาท นั่นคือการลงทุนทางการเมือง

ถามว่าต้นทุนวิทยุชุมชน 5 แสนบาท พันแห่งต้องใช้ 500 ล้าน ตนคิดว่าตอนนี้อีสานมีวิทยุชุมชน 1-2 พันแห่ง สำหรับการลงทุนทางการเมืองถือเป็นเรื่องเล็ก เล็กสำหรับการยึดครองประเทศไทย แนวคิดลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แต่เป็นของที่ปรึกษาฝ่ายซ้าย ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบไปมากกว่าการล้างสมองคน ให้คิดไปในแนวทางเดียวกัน และไม่ต้องใช้ปัญญา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” ร้องรัฐบาล ร่างรธน.ฉบับใหม่- รื้อสร้างกลไกยุติธรรม-สมานฉันท์กับประเทศเพื่อนบ้าน

Posted: 08 Jul 2011 12:12 PM PDT

กลุ่ม “ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” ร่อนแถลงการณ์ถึงรัฐบาลใหม่ เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมปฏิรูปกฎหมาย- ลงนามในศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อรื้อฟื้นความยุติธรรมในเหตุการณ์สูญเสียทางการเมือง

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์มีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้พิจารณาเพื่อนำไปปฏิบัติ ดังนี้ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ให้มีการรื้อฟื้นความเป็นธรรมและค้นหาความจริงในกรณีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 จนถึงกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยให้มี “คณะกรรมการสืบค้นความจริงแห่งชาติ” ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจากรัฐสภาทั้งหมด

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้รัฐไทยลงนามในกลไกสิทธิมนุษยชนและยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในสัตยาบันโรม ซึ่งจะทำให้รัฐไทยผูกพันกับการตรวจสอบของศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย โดยรายละเอียดของแถลงการณ์กลุ่มดังกล่าวมีดังนี้

 

000

จดหมายเปิดผนึก

ถึงว่าที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล

เนื่องด้วยผลของการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย เป็นกุญแจสำคัญของการกำหนดทิศทางของประเทศนับจากนี้ พวกเรา กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยอันประกอบด้วยกลุ่มนักศึกษาที่มีความ คิดและจิตส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยนั้น ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งต่อพรรคเพื่อไทยที่ได้รับชัยในการเลือกตั้งครั้ง นี้จากการสนับสนุนของประชาชนอย่างท่วมท้น ปฏิเสธไม่ได้อย่างยิ่งที่ประชาชนจำนวนมากล้วนคาดหวังกับการแก้ไขปัญหาและ ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยความพยายามและความสามารถของผู้แทนของประชาชน เพื่อฝ่าฝันไปสู่อนาคตได้ และนักศึกษากลุ่มเราก็เช่นกัน ที่ได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ไทยในทุกระดับ จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จึงเป็นการแสดงเจตจำนงและ จุดยืนของพวกเราต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ ซึ่งพวกเราใคร่ขอเสนอแนวทางแก่พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรค ได้พิจารณาประกอบการบริหารและพัฒนาประเทศและประชาธิปไตย ในประการต่อไปนี้

 

ประการแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีที่มาซึ่งไร้ความชอบธรรมจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 บทบัญญัติหลายข้อมีเนื้อหาคลุมเครือ สร้างระบบกลไกที่บิดเบือนต่อหลักการแยกอำนาจ เกิดความเสียสมดุลและประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ หากตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ก็ล้วนถูกกล่าวหาอย่างไร้ความเป็นธรรม  แน่นอนว่าเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวบทและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยเสียงของประชาชน ด้วยเจตจำนงเสรีของประชาชน หาใช่การบังคับข่มขู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้มีความเป็นประชาธิปไตยและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญต้องเคารพการ ตัดสินใจของประชาชนในการเลือก เคารพอำนาจอธิปไตยของปวงชนเป็นหลักการสูงสุด ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงกันได้ และเคารพชีวิต เสรีภาพและสร้างความยุติธรรมกับประชาชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่าง  และ ปรับเปลี่ยนบทบาทของกองทัพที่ถือว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้อยู่ภายใต้ อำนาจของประชาชน บทบาทของกองทัพจักต้องมุ่งปกป้องชีวิต อิสรภาพของประชาชนในประเทศและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนเป็นอุดมการณ์สูงสุด รวมทั้งต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพทั้งหมด และกำหนดกรอบที่ไม่ให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองของประชาชน แต่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดบทบาทของกองทัพ

 

ประการที่สอง  การพิจารณาคดีที่ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยและการสืบหา ความจริงในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่ กรณี 7 ตุลาคม 2551 เมษายน 2552 และเมษายน –พฤษภาคม 2553 รวมถึงคดีทางทางการเมืองที่พิจารณาอย่างไร้ความเป็นธรรม

ช่วงความวุ่นวายทางการเมืองหลังการรัฐประหารนั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่ปกปิดและยังไม่ได้สร้างความกระจ่างเท่าที่ควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความยุติธรรมและหาความจริงเพื่อแก้ไขสิ่ง ที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง ลำพังคณะกรรมค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาตินั้น เราเสนอว่าอาจไม่เพียงพอ จึงต้องการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมค้นหาความจริง รวมถึงประชาคมโลก องค์กรระหว่างประเทศด้านความยุติธรรม สิ่งที่เราต้องการคือ (1) ให้ คอป.กลายเป็น คณะกรรมการสืบค้นความจริงแห่งชาติ (คสช.) ด้วยคณะกรรมการชุดใหม่ที่รัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อลดข้อครหาเรื่องมีส่วนได้ส่วนเสีย และที่มาของกรรมการที่เข้ามาทำงาน ต้องสามารถดำเนินการตามกรอบอย่างเป็นอิสระ ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และพยานเหตุการณ์ ต้องได้รับการคุ้มครอง อีกทั้งประชาชนต้องสามารถตรวจสอบการทำงานของ คสช.ได้อย่างเสรี  (2) ลงสัตยาบันในสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะธรรมนูญกรุงโรม เพื่อให้คณะอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาร่วมค้นหาความจริงกับ คสช. (3) การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ขอเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคณะก่อการรัฐประหารในนาม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศาลพิเศษกรุงเทพ พิจารณาคดีตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดความยุติธรรมและเผยความจริงต่อประชาชน จำเลย ผู้เสียหายทุกฝ่าย สิ่งเหล่านี้เราอาจถือว่าเป็นงานหลักที่รัฐบาลจะต้องหาความจริงและบอกกับ สาธารณชนเพื่อให้ความกระจ่างท่ามกลางความเชื่อและความเห็นที่เข้าใจกันอย่าง ผิดๆ และสำหรับเราถือว่ามันไม่ใช่การกระทำเพื่อแก้แค้น แต่มันคือการแก้ไขความผิดปกติในประเทศนี้ให้เกิดความถูกต้องและสร้างหนทาง ที่ดีต่อประชาชนทุกคน (4) นักโทษคดีทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าคดีความผิด มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คดีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ต้องได้รับการพิจารณาคดีใหม่อย่างเปิดเผย รวมถึงชำระความจริงให้สังคมได้ทราบและสามารถตรวจสอบเนื้อหาข้อเท็จจริงใน สิ่งที่ได้บอกกับสาธารณชนได้

 

ประการที่สาม ปฏิรูปกฎหมายทั้งหมดที่ไม่เอื้อต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดขวางการตรวจสอบการบริหารประเทศขององค์กรภาครัฐทุกส่วน

มีกฎหมายหลายฉบับที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องต่อยุคสมัยที่ประชาชนต้องการสิทธิ เสรีภาพในการกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและคนรอบข้าง ขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาทำการพิจารณาแก้ไขกฎหมายทุกฉบับและต้องให้ ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหากฎหมายที่กำลังพิจารณาได้โดยไม่ถูกปิดกั้นและ ตรวจสอบการพิจารณาเนื้อหาของสมาชิกรัฐสภาทุกคนได้ เพราะเราเห็นว่านโยบายที่จะนำไปใช้ แต่กฎหมายไม่เอื้ออำนวยนั้น อาจทำให้การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศมีอุปสรรคในเรื่องโครงสร้างการบริหาร

 

ประการที่สี่   นโยบายต่างประเทศและจุดยืนของไทยบนเวทีระหว่างประเทศ

ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องดินแดนและอคติต่อเพื่อนบ้านใน เรื่องเชื้อชาติ จะต้องไม่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องสร้างความมิตรที่ดี ยอมรับความผิดพลาดในเรื่องที่ผ่านมา และร่วมมือกับประเทศต่างๆที่มีจุดยืนและปฏิบัติในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน อย่างจริงใจ ประเทศไทยพร้อมยินดีให้ความร่วมมือ รวมถึงการตัดสินใจในการต่างประเทศต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และชีวิตของมวลมนุษยชาติที่มีผลกระทบต่อเหตุการณ์โลก นอกจากนี้ประชาคมอาเซียนในอีกสี่ปีข้างหน้านั้น ประเทศไทยจะต้องแสดงความกระตือรือร้นต่อการพัฒนาความสัมพันธ์และต้องสร้าง ตัวอย่างให้เห็นเป็นประจักษ์สายตาแก่นานาชาติในอาเซียนและนานาชาติ ในการกลับมาเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ดีเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้อีกครั้ง และร่วมมือในด้านต่างๆกับองค์กรระหว่างประเทศระดับรัฐ และองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ใช่รัฐด้วย

 

และประการสุดท้าย ต้องรักษาการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่เน้นในเรื่อง เสรีภาพ ความเสมอภาคและความยุติธรรม เหนือกว่าอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ไม่ให้กลุ่มการเมืองนอกระบอบประชาธิปไตยเข้ามาแทรกแซงจนเกิดความเสียหายหรือ ลิดรอน ต่อโครงสร้างการเมืองการปกครองภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเด็ดขาด

เราหวังว่ารัฐบาลใหม่นี้จะสามารถเป็นเครื่องมือให้ประชาชนสามารถสร้างอนาคต กับชีวิตและเสรีภาพที่ทุกคนใฝ่หา เสียสละด้วยเลือดเนื้อ ชีวิตที่ล้มหายตายไปมากมาย ซึ่งทุกท่านไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประชาชนยอมได้แม้กระทั่งชีวิตของพวกเขาเอง เพื่ออนาคตของลูกหลานและตัวเขา และเราจะติดตามการทำงานของพวกท่าน อาจมากกว่าสมัยรัฐบาลก่อนหน้าหลายเท่า เพราะเมื่อเราได้ทุกท่านมาดูแลพวกเรา เราก็ต้องสามารตรวจสอบ ตั้งข้อสงสัยและชี้แนะแนวทางให้ได้เช่นกัน

จึงขอเรียน ให้พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย อันเป็นความหวังของประชาชนและผู้รักประชาธิปไตย รับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอของกลุ่มในฐานะประชาชนคนหนึ่งเพื่อการพิจารณา และปฏิบัติตามความเห็นชอบและสมควร

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

เขียนที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4 กรกฎาคม 2554

 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฝูงชนห้อมล้อมต้อนรับ "ออง ซาน ซูจี" ระหว่างเยือนพุกาม

Posted: 08 Jul 2011 11:07 AM PDT

สัปดาห์นี้นางออง ซาน ซูจี ยังคงตระเวนเที่ยวชมเมืองเก่าพุกามและบริเวณใกล้เคียง ขณะที่เริ่มมีฝูงชนมาห้อมล้อมต้อนรับนางออง ซาน ซูจีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สนใจตำรวจนอกเครื่องแบบหลายสิบนายที่คอยจับตาซูจี

เมื่อเช้าวันที่ 6 ก.ค. นางออง ซาน ซูจี ผู้นำประชาธิปไตยในพม่าได้เข้าเยี่ยมหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่เชิงเขาโปปา (Popa) ซึ่งเป็นการออกเดินสายครั้งแรกนอกกรุงย่างกุ้งนับตั้งแต่วันที่เธอถูกโจมตีโดยฝูงชนที่หมู่บ้านเดปายินเมื่อเดือน พ.ค. 2545 ทำให้ผู้สนับสนุนเธอเสียชีวิตไป 70 ราย

ซูจี เดินทางไปพุกามเมื่อวันจันทร์ (4 พ.ค.) ที่ผ่านมาพร้อมกับลูกชายของเธอ คิม อริส ที่มาเยือนพม่าเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ในฐานะที่เป็นวันเกิดปีที่ 66 ของมารดา

ซูจีและลูกชายเดินทางไปพร้อมกับผู้อารักขาที่ทางพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จัดไว้ให้ราว 100 นาย มีผู้คนในท้องถิ่นและนักข่าวรุมล้อมจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบหลายสิบคนเดินตาม

ผู้ที่ชื่นชมซูจีหลายคนรุมล้อมและขอลายเซนต์ ขณะที่คนอื่นๆ ตะโกนว่า "แม่ซู!" หรือ "ดอว์ (ป้า) ออง ซาน ซูจี จงเจริญ"  ขณะที่เธอเดินผ่าน ผู้พบเห็นกล่าวว่าซูจีดูมีกำลังใจดีและโพสท์ท่าถ่ายรูปกับเหล่าผู้สนับสนุนเธอ

ก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรค NLD ถูกรัฐบาลพม่าเตือนเรื่องการปรากฏตัวในเชิงการเมือง ในช่วงที่เธอไปเยือนพุกาม เธอก็ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองใดๆ "คราวนี้ฉันมาเพราะลูกชาย" ซูจีลก่าวอย่างยิ้มแย้มต่อผู้สนับสนุนเธอ "คราวหน้าฉันจะพูดกับพวกคุณมากกว่านี้"

ในตอนแรกผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเข้าหาซูจี เนื่องจากมีตำรวจนอกเครื่องแบบตามเธออย่างเห็นได้ชัด และตำรวจก็จะถ่ายรูปบุคคลใดก็ตามที่เดินตามผู้นำพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มมีผู้สนับสนุนเธอหลายสิบคนเริ่มเข้าหาเธอ ก็มีอีกหลายร้อยคนเบียดเสียดกันเพื่อจะได้เห็นผู้เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

"เรามีความสุขมากที่ได้เห็น 'ลูกสาวของประเทศ' เรา" คนขายดอกไม้ในวัดอายุ 70 ปีกล่าว "ไม่มีใครอื่นนอกจากซูจีที่จะสามารถรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวได้"

จ่อ ซอ หน่าย (Kyaw Soe Naing) หนึ่งในผู้อารักขาของซูจี บอกกับอิระวดีว่ามีหลายคนที่ทักทายเธอ แต่หลายคนก็กลัวแทนเธอ

"โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเธอ" เขากล่าว

ขิ่น ซอ เท (Khin Saw Htay) คณะกรรมการพรรค NLD จากเมืองเยนานยอง ภาคมะเกว บอกว่าเธอต้องการไปพบซูจีที่พุกาม

"ฉันไม่สนว่าพวกเขาจะจับฉันหรือไม่" เธอกล่าว "หากดอว์ซูมาที่เมืองเรา เจ้าหน้าที่ทางการก็ไม่อาจหยุดยั้งฝูงชนที่แห่ตามท้องถนนมาเพื่อต้อนรับเธอได้"

มินท์ มินท์ เอ (Myint Myint Aye) เลขาธิการพรรค NLD ในเมืองเม้ยติลา ภาคมัณฑะเลย์ บอกว่าเธอไม่เห็นด้วยที่ซูจีจะเดินทางไปยังพุกาม เพราะเกรงว่าเธอจะไม่ปลอดภัยหากไม่อยู่ในย่างกุ้ง

"ออง ซาน ซูจี สามารถพบปะกับผู้คนได้โดยใช้สถานที่ทำการของพรรค NLD" เธอกล่าว "เธอไม่จำเป็นต้องออกรณรงค์หาการสนับสนุน เพราะประชาชนอยู่ข้างเธออยู่แล้ว"

ซูจีและลูกชายยังได้ไปเยือนแหล่งซากโบราณสถานในพุกาม รวมถึงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและร้านค้างานฝีมือด้วย

นับเป็นการเดินทางออกนอกสถานที่ครั้งแรกตั้งแต่ที่เธอถูกปล่อยตัวจากการกักบริเวณเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุการณ์ "สังหารหมู่ที่เดปายิน"

ในตอนบ่ายของวันที่ 7 ก.ค. ซูจีถูกรุมล้อมด้วยฝูงชนขณะที่เธอกำลัง เดินไปในตลาดหย่องอู ใกล้กับพุกามกับลูกชายคิม อริส เมื่อผู้สื่อข่าวอิระวดี โทรศัพท์สอบถามทีมงานข่าวในพื้นที่ ก็มีเสียงร้องของผู้คนดังจนกลบการสนทนา ผู้อารักขาคนหนึ่งของซูจีบอกว่าเขาเห็นผู้คนหลายร้อยคนออกมาดูแม่ลูกคู่นี้จนพวกเขาทั้ง 2 คนติดอยู่ในหมู่ฝูงชนออกไปไหนไม่ได้

แปลจาก: Suu Kyi Draws Crowds in Pagan, The Irrwaddy, 07-07-2011
http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=21651

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทูตจีนเข้าพบยิ่งลักษณ์-ยินดีที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

Posted: 08 Jul 2011 06:22 AM PDT

"ก่วน มู่" ทูตจีนเข้าพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชี้ไทยจีนสัมพันธ์ยาวนาน รัฐบาลจีนหวังว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวแสดงความยินดีที่ไทยจัดการเลือกตั้งราบรื่น และเสถียรภาพทางการเมืองของไทยสอดคล้องกับผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยและจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยพัฒนาก้าวหน้าไป

เนชั่นทันข่าว รายงานว่า วันนี้ (8 ก.ค. 54) นายก่วน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ที่ห้องรับรอง ชั้น 8 ที่อาคารไอโอเอ ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อแสดงความยินดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

นายก่วน มู่ กล่าวว่า ไทยกับจีนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีน มีความมุ่นมั่นและหวังว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกันในประเทศ ซึ่งเป็นความปรารถนาจากทุกฝ่าย เพื่อประเทศไทยจะได้เดินไปข้างหน้าได้อย่างดี

โดยก่อนหน้านี้ วิทยุสากลแห่งประเทศจีน ภาคภาษาไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายหง เหล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวที่กรุงปักกิ่งว่า จีนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีของไทยขอแสดงความยินดีที่การเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยดำเนินอย่างราบรื่น

นายหง เหล่ยกล่าวว่า เสถียรภาพทางการเมืองของไทยสอดคล้องกับผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย และจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยพัฒนาก้าวหน้าไป จีนหวังว่าสังคมไทยมีความสมานฉันท์ เศรษฐกิจไทยพัฒนาก้าวหน้า บ้านเมืองไทยมีความมั่นคง และประชาชนไทยมีความอยู่เย็นเป็นสุข

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าบังคับย้ายอีกหมู่บ้านในรัฐฉาน หลังเกิดการสู้รบกับกลุ่มต่อต้าน

Posted: 08 Jul 2011 05:49 AM PDT

ยุทธวิธีตัดกำลังกลุ่มต่อต้านของทหารพม่าโดยการสั่งย้ายหมู่บ้านยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดจี้ย้ายอีกหลายหมู่บ้านในตำบลเมืองปูหลวง รัฐฉานภาคตะวันออก เหตุสงสัยหนุนกลุ่มต่อต้าน ขณะที่มีชาวบ้านหนีสู่แดนไทยไม่ขาดสาย

มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า ทันทีหลังเกิดการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารกองกำลังไทใหญ่  SSA กลุ่มพล.ท.เจ้ายอดศึก บริเวณบ้านเป็งคา ในตำบลเมืองปูหลวง (อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเชียงตุง) รัฐฉานภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 43 ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ได้มีคำสั่งด่วนบังคับย้ายหลายหมู่บ้านในตำบลเมืองปูหลวง เหตุเนื่องจากสงสัยชาวบ้านรู้เห็นเป็นใจและให้การสนับสนุนกองกำลัง SSA
 
ทั้งนี้ หมู่บ้านที่ถูกสั่งบังคับโยกย้ายล่าสุดได้แก่บ้านสะลึง (มีหลังคาเรือนราว 30 หลัง) และบ้านสี่ป้อ (มีหลังคาเรือนราว 40 หลัง) โดยให้ย้ายเข้าไปอยู่รวมกันที่เมืองปูหลวง ซึ่งเป็นตำบลและให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ขณะที่มีรายงานว่า ระหว่างที่ทหารพม่าเข้าไปยังหมู่บ้านดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้กับที่เกิดสู้รบนั้น ได้มีการจับทารุณสอบสวนผู้ใหญ่บ้าน เป็นเหตุให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับบาดเจ็บขาหักไปข้างหนึ่ง นอกจากนี้ทหารพม่ายังได้ทำร้ายทุบตีชาวบ้านอีกร่วม 10 คน เหตุสงสัยเป็นผู้ให้การสนับสนุนกองกำลัง SSA 
 
ขณะที่มีรายงานว่า มีอีกหลายหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ตำบลเมืองปูหลวง มีแนวโน้มที่อาจถูกทหารกองทัพพม่าบังคับโยกย้ายเพิ่ม เช่นบ้านนาป่าไม้ และบ้านเป็งคา หมู่บ้านชาวปะหล่อง ซึ่งอยู่ใกล้ที่สู้รบมากที่สุด โดยขณะนี้ชาวบ้านได้ทะยอยขนข้าวออกจากพื้นที่ล่วงหน้าแล้ว
 
ทั้งนี้ เมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ทหารพม่าชุดเดียวกันนี้ได้ก่อเหตุเผาทำลายหมู่บ้านชาวลาหู่และหมู่บ้านชาวปะหล่อง ในตำบลเมืองปูหลวงแล้วครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้มีหมู่บ้านถูกเผาเสียหายรวม 7 แห่ง เป็นหมู่บ้านชาวลาหู่ 4 แห่ง และหมู่บ้านชาวปะหล่อง 3 แห่ง มีบ้านเรือนถูกเผาทำลายวอดกว่า 50 หลัง สาเหตุเกิดจากทหารพม่าสงสัยชาวบ้านให้การสนับสนุนทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA เช่นเดียวกัน
 
อีกด้านหนึ่งมีรายงานด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดเกิดสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA/SSPP ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวบ้านในหลายตำบลถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิ์ทั้งบังคับเป็นลูกหาบ เกณฑ์รถยนต์ ให้เฝ้าเวรยามคอยแจ้งข่าวการเคลื่อนไหวกองกำลังไทใหญ่ SSA รวมถึงยึดเอาข้าวของอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านอยู่ไม่เป็นสุขและไม่มีเวลาทำงานให้ครอบครัวจึงพากันอพยพมายังชายแดนไทยด้านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่แล้วนับสิบครอบครัว
 
ผู้อพยพรายหนึ่งจากเมืองเกซี หนึ่งในพื้นที่สู้รบเปิดเผยว่า ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นทหารพม่ากดขี่ข่มเหงรังแกชาวบ้านเช่นนี้ ขณะนี้มีทหารพม่าเป็นจำนวนมากเข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นเมืองเกซีและมีเหตุละเมิดสิทธิ์ชาวบ้านต่างๆ นาๆ แทบทุกวัน โดยก่อนหน้านี้มีชาวบ้านอพยพมายังชายแดนไทยราว 40-50 คน ซึ่งมีทั้งเด็กและคนแก่
 
ทั้งนี้ หลังจากกองทัพเมืองไตย MTA ของขุนส่าล่มสลาย ตั้งแต่ปี 2539 ในรัฐฉานได้เกิดการบังคับโยกย้ายและเผาทำลายหมู่บ้านจากการกระทำของทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานหนังสือ "ผู้ถูกช่วงชิง" จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน SHRF ระบุ ระหว่างปี 2539 - 2540 กองทัพพม่าได้ใช้ยุทธการตัดสี่ (4 cuts) ต่อกลุ่มต่อต้าน คือตัดกำลังพล ตัดการสื่อสาร ตัดเสบียงอาหาร และตัดเงินสนับสนุน โดยมีการบังคับโยกย้ายหมู่บ้านกว่า 1,400 แห่งในหลายอำเภอในรัฐฉานภาคใต้ มีชาวบ้านกว่า 3 แสนคนไร้ที่อยู่อาศัยและส่วนใหญ่ได้อพยพเข้าประเทศไทย
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฎหมายการประกอบกิจการของคนต่างด้าว: ได้เวลาที่จะสะสางแล้วหรือยัง?

Posted: 08 Jul 2011 05:40 AM PDT

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  สื่อต่างๆ มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัท DTAC ว่ามีลักษณะของการถือหุ้นแทนหรือไม่ และมีบทความจำนวนมากที่เสนอให้มีการปรับปรุงนิยามของคนต่างด้าวให้เข้มงวดมากขึ้นดังเช่นในต่างประเทศซึ่งมีการพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง อำนาจในการควบคุมบริษัทในทางปฏิบัติ ฯลฯ  ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเรื่องการลงทุนของคนต่างด้าวมิใช่เพียงเรื่องของนิยามของคนต่างด้าวเท่านั้น  หากแต่ต้องพิจารณาถึงข้อบทของกฎหมายในภาพรวมและสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย  ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงบางประการที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาว่าเราควรที่จะมีการแก้นิยามของ “คนต่างด้าว” พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542  หรือไม่ และอย่างไรดังนี้

ประการแรก  นิยามของ “คนต่างด้าว” ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบันที่มีความหละหลวมนั้นมิได้เกิดจากความไม่รอบคอบหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ร่างกฎหมาย หากแต่เกิดจากเจตนาของรัฐบาลที่จะผ่อนปรนกฎ กติกาในการควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวเพื่อที่จะรักษาและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อประมาณ สองทศวรรษมาแล้ว

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515  เป็นกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติที่ไทยประกาศใช้เพื่อจำกัดสิทธิการลงทุนของต่างชาติฉบับแรก ประกาศฯดังกล่าว ได้จำกัดสัดส่วนหุ้นส่วนคนต่างด้าวในธุรกิจในบัญชีแนบท้ายกฎหมายไว้ไม่เกินร้อยละ 49  สำหรับธุรกิจที่ปรากฏในบัญชีแนบท้าย (ก)–(ค) บัญชีดังกล่าวห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจในภาคการผลิตและบริการบางประเภทที่เกี่ยวโยงกับการประกอบธุรกิจทางเกษตรกรรม หัตถกรรม  การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับวิชาชีพที่สงวนสำหรับคนไทย ฯลฯ โดยความแตกต่างระหว่างบัญชีแต่ละบัญชีขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามอยู่เดิมจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมาย และ วิธีการและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวรายใหม่จะสามารถขออนุญาตในการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามเหล่านั้น แต่ที่สำคัญคือ บัญชี (ค) นั้นห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทโดยไม่ระบุสาขา  ข้อจำกัดดังกล่าวยังคงปรากฏอยูในบัญชี 3 ใน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน  

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวไว้ในข้อ 3 ของประกาศฯ ว่า หมายถึง “ นิติบุคคล ซึ่งทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของบุคคลนั้นเป็นของคนต่างด้าว “  ต่อมาได้มีการร้องเรียนให้สอบสวน บริษัทเอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด ว่าเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ คือ บริษัท เอบีบี อาเซีย อาบราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้ง ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ถือหุ้นโดยตรงร้อยละ 49 และถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน เอเซีย อาบราวน์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทยอีกร้อยละ 49 อีกชั้นหนึ่งทำให้มีสัดส่วนของทุนรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 74 เกินกว่ากึ่งหนึ่ง  คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด เป็นนิติบุคคลต่างด้าวเนื่องจากทุนมากกว่ากึ่งหนึ่งมาจากผู้ถือหุ้นต่างชาติ [1]

สืบเนื่องจากผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีของบริษัท เอบีบี  ดิสทรีบิวชั่น จำกัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์  ได้ดำเนินการเพื่อตรวจสอบการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลไทยในหลายลำดับชั้นของการถือหุ้นและพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากที่มีสัญชาติเป็นคนต่างด้าวหากนับรวมการถือหุ้นทางอ้อมด้วย  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนต่างด้าวมีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจไทย  รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ในสมัยนั้นมีความเห็นว่าหากมีการตีความคำจำกัดความของคำว่า “ทุน” ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว  เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 โดยให้ยกเลิกบทนิยามของคำว่า `คนต่างด้าว' ในข้อ 3(1)  แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“คนต่างด้าว”  หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลซึ่งมีคนต่างด้าวลงหุ้นมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น'  เพื่อให้มีความชัดเจนว่าสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวนั้นจะพิจารณาจากการถือหุ้นและทุนในนิติบุคคลนั้นๆ ชั้นเดียวโดยไม่พิจารณาถึงทุนของคนต่างด้าวในนิติบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมลงทุนในนิติบุคคลนั้น จึงเข้าหลักเกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นคนไทยกับต่างชาติที่ร้อยละ 49:51 ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น  การแก้ไขนิยามของคนต่างด้าวให้กลับไปเหมือนกับนิยามที่กำหนดใน ปว. 281 ย่อมหมายถึงการปฏิเสธการลงทุนจากต่างประเทศดังเช่นนโยบายของคณะปฏิวัติเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขนิยามของคนต่างด้าว และคงจะยิ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนมากขึ้น

ข้อเท็จจริงประการที่สองคือ นิยามของคนต่างด้าวในต่างประเทศมีความรัดกุมกว่าประเทศไทย  หากแต่ประเทศเหล่านี้มีข้อจำกัดการลงทุนของคนต่างด้าวเพียงไม่กี่สาขา  ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุนในทุก “สาขาบริการ” ในขณะที่ประเทศอื่นมักจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในสาขาบริการหลักๆ เช่น การธนาคาร การขนส่ง การสื่อสาร เท่านั้น  นอกจากนี้แล้ว  เป็นที่น่าสังเกตว่า จีน เวียตนาม กลับมีข้อกำหนดสัดส่วนทุนต่างชาติ “ขั้นต่ำ” ไม่ใช่ “ขั้นสูง” เพราะเขาต้องการดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศ   หากแต่มีการกำหนดเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เข้มงวดกว่าไทย  ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาก็ยังมีข้อจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติอยู่ในบางธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม มีการจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติไว้ที่ร้อยละ 20 และมีนิยามของคนต่างด้าวที่ค่อนข้างรัดกุม  หากแต่กฎหมายเปิดช่องให้หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Federal Communication Commission หรือ FCC) สามารถอนุญาตให้บริษัทต่างชาติประกอบกิจการได้หากเห็นว่าการเข้ามาของบริษัทต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน  ซึ่งต่างจากในกรณีของกฎหมายไทยที่ไม่ได้เปิดช่องดังกล่าว  ซ้ำร้ายหน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาบางแห่งยังมีการร่างประกาศที่จะทำให้นิยามของคนต่างด้าวสำหรับธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของตนมีความเข้มขึ้นเพื่อที่ป้องกันมิให้บริษัทต่างชาติเข้ามา “ฮุบ’ บริษัทไทย  หากแต่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าหากต่างชาติที่ให้บริการแก่ประชาชนคนไทยอยู่นั้นต้องถอนทุนไปทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดแล้ว  คนไทยและเศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร  ครั้นจะหันไปพึ่งพากฎหมายป้องกันการผูกขาดของเราก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงเศษกระดาษเนื่องจากไม่มีการบังคับใช้มามาเป็นเวลากว่า 12 ปี 

ผู้เขียนมองไม่เห็นว่า  การห้ามธุรกิจต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทแบบครอบจักรวาลที่เป็นอยู่นั้นเป็นผลดีอย่างไรต่อคนไทยและเศรษฐกิจไทย  เพราะสุดท้ายแล้วการที่เราห้ามเปรอะไปหมดทำให้เราก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะมีธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาจำนวนมากในหลากหลายสาขา รวมถึงบาร์เบียร์หรือสถานบันเทิงจำนวนมากแถวพัทยาที่เป็นของคนต่างด้าวที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่อเศรษฐกิจไทย  ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการลงทุนแบบ “ปากว่า ตาขยิบ” ของไทย คือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยบางกลุ่มที่พอใจที่จะเห็นคู่แข่งต่างชาติถูกกีดกันในการประกอบธุรกิจ และพร้อมที่จะงัดกฎหมายนี้ออกมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ทางธุรกิจกับคู่แข่งที่มีหุ้นส่วนต่างชาติ  เพราะหากปราศจากการแข่งขันจากบริษัทต่างชาติแล้ว  กลุ่มทุนเหล่านี้จะสามารถแผ่ขยายอำนาจทางธุรกิจเพื่อยึดครองตลาดภายในประเทศได้ง่ายดายขึ้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่ารัฐบาลควรที่จะทบทวนบัญชี 3 ของกฎหมาย่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจุบัน  ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อ“ธุรกิจไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน”   หากภาคบริการของไทยยังคงไม่พร้อมที่จะแข่งขันหลังจากเวลาเนิ่นนานมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 40 ปีนับจากที่มี ปว. 281 ในปี พ.ศ. 2515 เราก็คงต้องเลิกพูดกันเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะภาคบริการจะเป็นตัวถ่วงภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมทำให้เราล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในการตักตวงประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ. 2558

ผู้เขียนเห็นว่า  บัญชีสามควรให้การคุ้มครองแก่ ธุรกิจที่เป็นแหล่งทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเท่านั้น  มิใช่ส่งเสริมให้ทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางตลาดสูงเอาเปรียบเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดย่อมและผู้บริโภคไทย  จากการผูกขาดตลาด  ประเทศไทยจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้   หากนโยบายของภาครัฐยังคงให้การคุ้มครองกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในภาคบริการที่สำคัญของประเทศ 

สุดท้าย  ผู้เขียนหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีความกล้าหาญที่จะเข้ามารื้อกฎหมายฉบับนี้เพื่อปฏิรูปให้ภาคบริการของประเทศไทยโดยเฉพาะในสาขาที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับภาคการผลิตของเราที่เติบโตแข็งแกร่งจากทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ และจากแรงกดดันของการแข่งขันจากทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพิงกฎหมายที่กีดกันคู่แข่งจากต่างชาติแต่อย่างใด

....................
[1] บันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เลขเสร็จ 332/2535) เรื่อง ความหมายของคนต่างด้าว ตามข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ 2515 (กรณีบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผลสอบกรรมการสิทธิฯชี้มาร์คประกาศภาวะฉุกเฉินจำเป็น-เหมาะสม-ไม่ละเมิดสิทธิฯ

Posted: 08 Jul 2011 05:38 AM PDT

“ข่าวสด” เผยรายงานกรรมการสิทธิฯ ฉบับเลื่อนการเผยแพร่ ระบุเสื้อแดงชุมนุมไม่สงบ-ติดอาวุธ พร้อมใช้ความรุนแรงตลอดเวลา ส่วนอภิสิทธิ์ฯ ประกาศ พรก.ฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็นเหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การสลายชุมนุมไม่เกินกว่าเหตุเพราะเจ้าหน้าที่ใช้กระบอง-แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง ส่วนฝ่ายสนับสนุนผู้ชุมนุมมีอาวุธสงคราม ด้านมาตรการกระชับพื้นที่เป็นไปตามความจำเป็นของ พรก. 

หมายเหตุ: หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 ก.ค. หน้า 3 ได้เปิดเผย “ผลการตรวจสอบ กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค.2553” ของคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยในรายงานมีทั้งหมด 9 กรณีที่สำคัญ

โดยรายงานนี้มีการนำเสนอเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุม กสม. ที่มีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. เป็นประธานในการประชุม แต่ต่อมาเมื่อ 7 ก.ค. นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม. และเป็นประธานของคณะทำงานดังกล่าว ได้แถลงขอโทษที่ไม่สามารถเปิดเผยรายงานตรวจสอบกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในวันศุกร์ที่ 8 ก.ค. ตามที่เคยให้ข่าวก่อนหน้านี้ได้ เนื่องจากมีกรรมการสิทธิบางคน ที่ยังเห็นว่าจะต้องมีประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมและต้องพิจารณาให้ครบถ้วน และเห็นว่าการขยายเวลาเปิดเผยรายงานออกไปจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ พร้อมทั้งยืนยันว่าการเลื่อนไม่ได้มีปัจจัยทางการเมืองมาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ทั้งนี้ในรายงานดังกล่าวมีความยาว 80 หน้า กำหนดการตรวจสอบไว้ 9 กรณี โดย “ข่าวสด” ได้นำเสนอรายงานการตรวจสอบของ กสม. เอาไว้ดังนี้

 

000

กรณีที่ 1 เหตุการณ์การสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติหน้าที่และผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553

ผลการสอบสวนได้ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2553 นปช.ได้ปลุกระดมมวลชนนัดชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาหรือลาออก บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน และเคลื่อนขบวนปิดล้อมสถานที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และมีลักษณะยืดเยื้อยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ต่อมานายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

วันที่ 17 มี.ค. นปช.ได้เจาะเลือดและนำไปเทและขว้างใส่บ้านพักส่วนตัวนายกฯ และวันที่ 21 มี.ค. สถานการณ์ตึงเครียดลดลง นำไปสู่การเจรจา ที่สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถ.แจ้งวัฒนะ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และเหตุการณ์ได้ขยายกว้างขึ้น

วันที่ 7 เม.ย. นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และกลุ่มนปช. ได้ปิดล้อมอาคารรัฐสภา ต่อมารัฐบาลมีคำสั่งปิดระบบสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีทีวี ทำให้สถานการณ์เริ่มมีความรุนแรง กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และเกิดการปะทะกันจนมีประชาชนเสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 889 คน

ในรายงานระบุว่า ข้อเท็จจริงจากการให้การของพยานบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 28 ราย นปช. 54 ราย ผู้ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อยู่ในเหตุการณ์ 26 ราย รวมทั้งพยานเอกสาร เช่น ข้อเท็จจริงจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทำให้ฟังได้ว่า

1.1 ผู้ชุมนุม การชุมนุมของกลุ่มนปช. ซึ่งชุมนุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค. - 10 เม.ย. ได้ปิดกั้นการจราจร ทั้งที่ถนนราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเกินสมควร และกระทบต่อสิทธิ์ของคนอื่นในการใช้ชีวิตโดยปกติ และถือเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ

แม้ในเบื้องต้นการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ แต่วันที่ 10 เม.ย. การที่รัฐบาลขอคืนพื้นที่ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่ม นปช.ได้มีการต่อต้านและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ทั้งมีกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม อันถือว่าเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีอาวุธและมีลักษณะเป็นกระบวนการที่พร้อมใช้อาวุธและความรุนแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

1.2 รัฐบาล การขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนทั่วไป ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนจริง กระทำจากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แม้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อผู้ชุมนุมทั้งการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง แต่เมื่อพิจารณาย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝ่ายผู้ชุมนุมที่มีอาวุธและผู้สนับสนุนที่มีอาวุธสงคราม

การขอคืนพื้นที่ของรัฐบาลในครั้งนี้ ยังขาดการวางแผนที่ดี ทั้งเชิงรุกและรับ การข่าวที่ไร้ประสิทธิภาพและการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของฝ่ายผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและมีอาวุธร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก ซึ่งการที่รัฐบาลไม่สามารถวางแผนหรือบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นเหตุให้ประชาชนและผู้ชุมนุมเสียชีวิต รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการชดใช้เยียวยาความเสียหาย

นอกจากนี้เหตุระเบิดในที่ประชุมนายทหารโดยการเข้าเป้าด้วยแสงเลเซอร์ แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนเพื่อฆาตกรรมนายทหาร ได้แก่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และ ส.ท.ภูริวัฒน์ ประพันธ์ อันเป็นการกระทำที่แฝงอยู่ในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มชายฉกรรจ์ จึงเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐบาลต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

 

กรณีที่ 2 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2553

จากการสอบถามพยานบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ 21 ราย และพยานเอกสาร สรุปว่าการชุมนุมของนปช.เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ มีการใช้ความรุนแรงโดยระเบิดเอ็ม 79 ทั้ง 5 ลูกถูกยิงมาจากทิศทางที่กลุ่มนปช.ชุมนุม โดยมีแกนนำรับรู้ล่วงหน้า มีการเตรียมการระวังป้องกันมิให้ผู้ชุมนุม นปช.ได้รับบาดเจ็บ มีการวางแผนจุดพลุตะไลและประทัดเพื่อบิดเบือนการยิงระเบิดเอ็ม 79 ขณะที่รัฐบาลมอบให้ตำรวจเข้ามาแก้ไขสถานการณ์

แต่จากพยานหลักฐาน นอกจากตำรวจจะนำรถควบคุมผู้ต้องหามากั้นบริเวณสี่แยกศาลาแดงแล้ว มิได้ดำเนินการอื่นใดให้เหตุการณ์สงบ นอกจากนี้เวลา 21.45 น. ตำรวจได้ออกมาจากโรงแรมดุสิตธานี โดยตั้งแถวหน้ากระดานและเปิดไฟสว่างใส่กลุ่มวัยรุ่นบนถนนสีลมที่ขว้างปาขวดใส่ผู้ชุมนุม นปช. และไล่ตีกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงประชาชนที่ไม่รู้เรื่องโดยไม่มีการประกาศเตือน การกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

กรณีที่ 3 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553

คณะกรรมการเห็นว่า การที่มีทหารเสียชีวิตจากอาวุธปืน ประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไปและทหารที่เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพได้ให้ข้อมูลว่า ทหารที่เสียชีวิตถูกยิงจากระยะไกลเนื่องจากไม่พบคราบเขม่า ดังนั้น รัฐบาลต้องมีหน้าที่นำคนผิดมาลงโทษ

 

กรณีที่ 4 เหตุการณ์กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทย และการบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2553

คณะกรรมการเห็นว่า กลุ่มนปช.ได้ขยายพื้นที่การชุมนุม จากสี่แยกราชประสงค์ มาถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ และการชุมนุมมีการจัดตั้งถังแก๊สหน้าโรงพยาบาลจนต้องย้ายผู้ป่วย ถือเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิ์ของผู้ป่วย รวมทั้งแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนการเข้าไปตรวจค้นในโรงพยาบาลจุฬาฯ นั้น เข้าข่ายบุกรุกและเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ มีการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ทำลายทรัพย์สินของโรงพยาบาล


กรณีที่ 5 เหตุการณ์กรณีการสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.2553 รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่อง เช่น การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารต่างๆ

คณะกรรมการเห็นว่าการชุมนุมของ นปช. เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและมีอาวุธปืนอยู่ในสถานที่ชุมนุม มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในกลุ่มชุมนุมส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ

ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 13-19 พ.ค.2553 ตามประกาศของศอฉ.นั้น เห็นว่าเป็นกรณีที่รัฐบาลกำหนดขึ้นโดยความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดดังกล่าว แต่มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผู้เสียชีวิต 57 ราย และบาดเจ็บ 437 คน

แม้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏกรณีเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย จากการยิงปะทะกันระหว่างทหารและกลุ่มผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในนปช. ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่ามาจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาผู้ที่เสียหาย และต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ส่วนพฤติการณ์การกระทำของฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมในการเผาอาคารทรัพย์สิน ขยายไปถึงการเผาศาลากลางในหลายจังหวัด เห็นได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นและกระทำผิดกฎหมายอาญา

 

กรณีที่ 6 การเสียชีวิต 6 ศพและการกระทำในรูปแบบอื่นๆ ในวัดปทุมวนาราม ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค.2553

คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า รัฐบาลโดย ศอฉ.ได้ปฏิบัติการกดดันกระชับพื้นที่อย่างจริงจังมาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. จนเกิดสถานการณ์การยิงปะทะในบริเวณพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่โดยรอบ ในสภาพที่บ้านเมืองวุ่นวาย ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ศพและบาดเจ็บ 7 คน ในวัดปทุมฯ

การรวบรวมหลักฐานในชั้นนี้ ไม่มีพยานยืนยันว่าใคร ฝ่ายใดเป็นผู้ยิงทั้ง 6 ศพและผู้เสียชีวิตบางรายเป็นการเสียชีวิตนอกวัด บางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณใด แต่ทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ในวัด ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น และควรสืบสวนหาข้อเท็จจริงและหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม

 

กรณีที่ 7 เหตุการณ์กรณีนายกฯประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 และการดำเนินการเพื่อระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล และการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสถานีวิทยุชุมชน

คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวมีเจตนาให้อำนาจแก่นายกฯ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การที่นายกฯใช้มาตรการดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายและเป็นความจำเป็นเหมาะสมในสถานการณ์ความรุนแรง และไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

กรณีที่ 8 เหตุการณ์กรณีชุมนุมและการเคลื่อนขบวนของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 20 พ.ค.2553 ทั่วกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงการล้อมอาคารสถานที่ต่างๆ

คณะกรรมการพิจารณาแล้วแยกเป็น 2 กรณี 1.การเคลื่อนไหวของ นปช.ทั่วกทม.และปริมณฑลในลักษณะขบวนรถยนต์และจักรยานยนต์นับพันคัน รวมทั้งมีเครื่องขยายเสียงกว่า 10 คัน เป็นการกระทำให้เกิดการจราจรติดขัดไปทั่วกทม. และเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2553 ยังปรากฏว่า นปช.ได้ทำร้ายคนขับแท็กซี่และทุบกระจกรถจนแตก เป็นการละเมิดสิทธิ์ในร่างกายและทรัพย์สิน

2.กรณีที่ นปช.เจาะเลือดของผู้ชุมนุมและนำไปเทที่พรรคประชาธิปัตย์และทำเนียบรัฐบาล การเจาะเลือดนั้น เป็นการกระทำของแพทย์และพยาบาลนั้น เป็นการกระทำผิดต่อวิชาชีพตนเองและละเมิดต่อผู้ที่รับการเจาะเลือดอีกด้วยแม้เจ้าตัวยินยอม และการนำไปเทที่พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น

 

กรณีที่ 9 การเสียชีวิตและบาดเจ็บ ตลอดจนความรุนแรงต่อสื่อมวลชนในรูปแบบอื่น

คณะกรรมการฯ พิจารณาว่าผลการเสียชีวิตและบาดเจ็บของสื่อมวลชนเกิดขึ้นจากการยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธแฝงในกลุ่มผู้ชุมนุม แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้ยิง และกลุ่มที่ติดอาวุธแฝงเป็นใคร ดังนั้น รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบจึงมีหน้าที่เยียวยาช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

กสม. ยังได้ทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาไว้ 7 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ การสังเคราะห์บทเรียนจากความขัดแย้ง เป็นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ปรับ "ดา ตอร์ปิโด" หมิ่นฯ "คมช."

Posted: 08 Jul 2011 03:45 AM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ปรับ "ดา ตอร์ปิโด" ผิดฐานหมิ่นประมาท "เปรม-สุรยุทธ์-สนธิ-สพรั่ง" หมิ่นว่าเอาทหารมาปกครองประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายให้กับ "คมช." ปรับ 50,000 บาท

8 ก.ค. 54 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ หมายเลขดำที่ อ. 4767/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ "ดา ตอร์ปิโด" แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยการกระจายเสียง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328จากกรณีเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 50 เวลากลางคืน จำเลยได้ปราศรัยบนเวทีหน้ากระทรวงศึกษาธิการ บริเวณแยกมิสกวัน กล่าวโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และผู้ช่วยเลขาธิการ (คมช.) ผู้เสียหาย เกี่ยวกับการรัฐประหารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำนองว่าเอาทหารมาปกครองประเทศ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่ง คมช.ได้มอบอำนาจให้นายทหารพระธรรมนูญแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เมื่อเดือน มิ.ย. 2550

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.52 ว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 328 แต่เนื่องจากจำเลยนำสืบว่าเคยเป็นสื่อมวลชนและจบการศึกษารัฐศาสตร์ เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยที่จะต้องระมัดระวังในการใช้คำพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่น เห็นสมควรลงโทษสถานเบา เพื่อให้เป็นการหลาบจำ จึงให้ปรับเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีที่หมิ่นประมาทนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในคดีหมายเลขดำ อ. 3634/2551 นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาสั่งปรับเท่านั้น ไม่มีโทษจำคุกจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ อ้างว่าผู้เสียหายไม่มาเบิกความด้วยตนเองยืนยันเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจ การมอบอำนาจจึงไม่สมบูรณ์ อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คมช. ผู้เสียหาย ได้มอบอำนาจในการร้องทุกข์ โดยมีหนังสือมอบอำนาจก็ไม่จำเป็นต้องเบิกความด้วยตนเอง ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบา เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายทหารซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ระบุว่าได้ยินจำเลยใช้วาจาด้วยถ้อยคำหยาบคายกล่าวหาผู้เสียหาย ประกอบกับยังมีนายทหารที่ตรวจแผ่นบันทึกเสียง ระบุว่าได้ถอดเทปคำพูดที่จำเลยขึ้นปราศรัย หน้ากระทรวงศึกษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2550 ด้วย ศาลเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความตามการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เชื่อว่าไม่ได้เบิกความผิดไปความเป็นจริง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ซึ่งโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์ที่จำเลยใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรงกล่าวพาดพิงผู้เสียหาย และบุคคลอื่นอีกหลายคนแล้ว จึงพิพากษายืน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: รัฐบาลนี้มาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง

Posted: 08 Jul 2011 03:33 AM PDT

เปล่า ไม่ใช่จะสนับสนุน ขวัญชัย ไพรพนา ที่เรียกร้องว่าแกนนำเสื้อแดงต้องได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง 

เพราะการมอบเก้าอี้รัฐมนตรีให้แกนนำเสื้อแดง ไม่ใช่การตอบแทนบุญคุณมวลชนเสื้อแดงที่พลีชีวิตเลือดเนื้อ จนพรรคเพื่อไทยมีวันนี้ 

แต่ขวัญชัย ไพรพนา พูดถูกที่ว่า ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะของประชาชนคนรากหญ้า ที่ให้บทเรียนแก่รัฐบาล 2 มาตรฐาน เป็นชัยชนะของคนเสื้อแดงที่พลีชีวิตต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย 

กระนั้น ชัยชนะนี้ก็ยังเป็นเพียงก้าวหนึ่งเท่านั้น เจตนารมณ์ของคนเสื้อแดงผู้พลีชีพยังไม่บรรลุง่ายๆ 

ผมไม่ปฏิเสธว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ส่วนหนึ่งมาจากความเชี่ยวชาญ “การตลาด” และการวางยุทธศาสตร์ที่เหนือชั้น 

และแน่นอน อีกส่วนหนึ่งมาจากระบบหาเสียงแบบเก่า คะแนนจัดตั้ง ตลอดจนกระสุนดินดำ ผมไม่ได้ไร้เดียงสานี่ครับ เพียงแต่ที่สดับตรับฟังมา มันใช้กันทุกพรรค แต่พรรคเพื่อไทยใช้น้อยกว่าและใช้เข้าเป้ากว่าทุกพรรค เพราะมีฐานมวลชนของตนเอง นั่นคือคนเสื้อแดง เห็นชัดเลยว่าที่ไหนมวลชนเสื้อแดงเข้มแข็ง ที่นั่นยกจังหวัด หรือแทบจะยกจังหวัด

มีแต่พวกสลิ่มที่ไม่ยอมรับ เดินผ่านร้านลาบยโสพาลโกรธ หาว่าคนอีสานโง่แล้วยังยโสโอหัง โถ ก็สมควรโกรธอยู่หรอก ที่ยโสชนะยกจังหวัด ถีบ ส.ส.ปชป.ร่วงอีกต่างหาก (ร้านลาบ 101 ก็โดนหมั่นไส้ เพราะเลขสวย เท่าจำนวน ส.ส.เพื่อไทยในภาคอีสานพอดี)

มวลชนเสื้อแดงเลือกพรรคเพื่อไทย โดยไม่ได้สนใจด้วยว่า นาย ก.หรือนาย ข.เป็นผู้สมัคร บางเขต ผู้สมัครเป็นที่รักของมวลชน เป็นคนที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่มาตลอด แต่หลายๆ เขต ผู้สมัครเป็นที่หมั่นไส้ของมวลชน เหินห่างมวลชน เป็นเพียงตัวแทนกลุ่มก๊วนการเมือง กระนั้นพวกเขาก็ยังเลือก

อย่างไรก็ดี คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของมวลชนเสื้อแดง ไม่ใช่แค่การเป็นฐานเสียง เป็นคะแนนเสียง ที่มั่นคงเหนียวแน่นเท่านั้น คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของมวลชนเสื้อแดง ที่นักการเมืองอาจมองข้ามไป ก็คือการสร้าง “ความชอบธรรม” ให้กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดนี้

ถ้าเรามองย้อนกลับไป เมื่อปี 2549 ที่ทักษิณถูกรัฐประหาร แม้ถูกโค่นล้มด้วยวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตย ที่สากลโลกไม่ยอมรับ แต่นานาชาติก็ยังมองทักษิณเป็น Telecoms Tycoon ผู้ร่ำรวยจากสัมปทานรัฐและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งสำหรับฝรั่ง ทั้งอเมริกา ยุโรป พวกสื่อ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน เขาไม่ชื่นชอบผู้นำแบบทักษิณ และต่อต้านด้วยซ้ำ

แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต 2553 ทัศนะของสื่อฝรั่งกระแสหลัก นักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนท่าทีของอารยะประเทศเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่พวกสลิ่มมองว่าเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง แต่สื่อต่างชาติมองว่านี่คือการปราบปรามประชาชน ผู้เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยอย่างอารยะประเทศ ประชาธิปไตยตะวันตก ที่ปราศจากการแทรกแซงของมือที่มองไม่เห็น

เช่นเดียวกับทัศนะของคนชั้นกลาง คนทั่วไป “พลังเงียบ” จำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนไป... ผมเชื่อว่าเปลี่ยนไป แม้จะถูกกลบด้วยบทบาทของพวกสลิ่ม หรือแม้แต่พวกสลิ่มส่วนหนึ่งก็จำใจยอมรับ ว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ม็อบรับจ้าง คนเหนือคนอีสานไม่ได้ถูกซื้อ อย่างที่พวกเขาเคยปรามาส

ทัศนะที่เปลี่ยนไปนี้แลกมาด้วยการต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ ยอมอุทิศแม้ชีวิตเลือดเนื้อ ของมวลชนเสื้อแดง คนจนคนชั้นล่าง ผู้ลุกตื่นขึ้นมาปกป้องสิทธิ “ประชาธิปไตยกินได้” นับตั้งแต่บรรพชนเสื้อแดงอย่างลุงนวมทอง ไพรวัลย์ มาจนถึงน้องเกด มวลชนต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า แพ้แล้วแพ้เล่า แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้

ภาพของคนเสื้อแดงที่กล้ายืนประจัญหน้ากับทหารอาวุธครบมือ ถาโถมเข้าหา “กระสุนยาง” และแก๊สน้ำตา แม้ถูกปราบปรามจนพ่ายแพ้ย่อยยับเมื่อสงกรานต์ปี 2552 แต่ก็ยังกลับมาใหม่ในปี 2553 ภาพของ “ทัพไพร่” ยาตราเข้ากรุง ได้รับการต้อนรับจากคนจนเมือง “ชนชั้นต่ำ” ของสังคมกรุงเทพฯ ผนึกพลังชาวนา แท็กซี่ สามล้อ แมงกะไซค์ คนงาน ช่างฟิต ช่างไฟ แม่บ้าน ยาม คนจรจัด ฯลฯ ยึดสี่แยกราชประสงค์ ศูนย์กลางธุรกิจของเมืองฟ้าเมืองอมร แหล่งสินค้าแบรนด์เนม ที่คนอย่างพวกเขาทำมาหากินชั่วชีวิตยังไม่มีวันซื้อหาได้แม้สักชิ้นเดียว ภาพของมวลชนที่จัดแถวเป็นระเบียบปิดล้อมปลดอาวุธทหารด้วยสองมือเปล่าที่สถานีไทยคม ภาพของมวลชนที่ฮือต้านการ “ขอคืนพื้นที่” แม้ถูกยิงร่วงผลอยๆ ที่ผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 10 เมษายน ก็ยังรุกไล่จน “ทหารเสือ” แตกกระเจิง ภาพของมวลชนที่ถูก “กระชับพื้นที่” ด้วย “เขตใช้กระสุนจริง” ก็ยังใช้บั้งไฟสู้สไนเปอร์ ยืนหยัดอยู่จนวินาทีสุดท้าย ไม่กลัวตาย พร้อมที่จะตาย และยอมพลีชีพไป 70 กว่าคน บาดเจ็บอีกร่วม 2,000 คน

ภาพเหล่านี้ที่ออกสู่สายตาชาวโลก ทำให้นานาชาติและคนไทยที่มีใจเป็นธรรมตระหนักว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของ Telecoms Tycoon เพียงผู้เดียว แต่มันคือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเสมอภาค ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่อำนาจและโอกาสถูกผูกขาดอยู่ในมือคนหยิบมือเดียว

สื่อระดับโลกอย่างนิวยอร์คไทม์ จึงระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า รอแยลลิสต์ กลุ่มทุนเก่า และนายทหารระดับสูง เหล่าผู้อยู่ส่วนบนสุดของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง (ในทางสากล โดนระบุอย่างนี้เท่ากับจบเห่)

สื่อฝรั่งส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ด้วยว่านี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมไทย ที่กำลังจะมาถึง

ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่เลขา UN กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และทูตานุทูตประเทศต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับการเลือกตั้ง ปรามกองทัพไม่ให้ทำรัฐประหารอีก เช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งได้เข้ามาทำงาน เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ต้องการให้หาเหตุโค่นล้มกันด้วยรัฐประหารตุลาการภิวัตน์อีก

แม้แต่อองซานซูจี ยังแสดงความยินดีกับยิ่งลักษณ์ แสดงความยินดีกับประชาธิปไตยไทย เป็นสิ่งที่อภิสิทธิ์ไม่เคยได้รับ (ทั้งที่ทักษิณเคยซูเอี๋ยกับเผด็จการทหารพม่ามาก่อน)

สิ่งที่แตกต่างระหว่างรัฐบาลสมัคร กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้ชนะการเลือกตั้งมาเหมือนกัน ในทางหลักการมีความชอบธรรมไม่ต่างกัน ก็คือชัยชนะของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แลกมาด้วยการลุกขึ้นสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของมวลชน ที่ถั่งถมลงศพแล้วศพเล่า ปูร่าง เลือด หยาดเหงื่อ น้ำตา ความสูญเสีย ผนึกเป็นความชอบธรรมที่มีชีวิตเลือดเนื้อ มีจิตวิญญาณ

นี่จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย 3 วินาที อย่างที่คนชั้นกลางปรามาส เพราะมันผลของการต่อสู้เสียสละมายาวนาน 4 ปี

นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจึงควรตระหนักว่า ชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดงคือ “โควตา” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เหนือโควตาของกลุ่มก๊วนใดใด นอกเหนือจากชัยชนะที่ได้มาด้วยฐานมวลชนเสื้อแดง ความเสียสละของมวลชนยังสร้างความชอบธรรมในอำนาจ ที่คุณซื้อหาไม่ได้ สร้างเองไม่ได้ และเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีก

มวลชนไม่ได้เสียสละเพื่อให้คุณมากัดกันแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อมีผู้ติดตามเป็นโขยง โชว์หน้าตาอัปลักษณ์โฆษณาผลงานในสื่อ ในป้ายคัทเอาท์ และหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง มวลชนเสียสละเพื่อให้คุณเข้ามาทำงาน ทำเพื่อปากท้องของพี่น้องคนยากไร้ ให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญเหนืออื่นใด มวลชนต้องการให้คุณมีอำนาจแทนพวกเขา เพื่อทวงความยุติธรรม เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง สร้างความเสมอภาค เสรีภาพ และ “โค่นอำมาตย์” ไม่ให้มี “มือที่มองไม่เห็น” มาแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงสามารถถูกโค่นล้ม ด้วยรัฐประหาร ด้วยตุลาการภิวัตน์ ด้วยวิธีการบ่อนทำลายต่างๆ นานาของพวกสลิ่มและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะล้มแล้วยังสามารถสู้ใหม่ด้วยพลังมวลชนที่เนื่องหนุน แต่รัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถพังเพราะการแก่งแย่งผลประโยชน์ ช่วงชิงตำแหน่ง กัดกันเอง ประจบสอพลอ ทอดทิ้งภารกิจการต่อสู้เพื่อมวลชน เพราะถ้าล้มแบบนั้น ถ้าทำให้มวลชนผิดหวัง เสื่อมศรัทธา คุณจะไม่มีวันได้กลับมาอีก และคุณจะไม่มีค่าอะไรเลย เหลือแต่ความเป็นนักการเมืองกเฬวราก เหมือนกับนักการเมืองที่ออกไปจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน

โดยเฉพาะทักษิณ ทักษิณควรตระหนักว่า คนที่รักและซื่อสัตย์ต่อคุณอย่างจริงใจ นอกจากลูกเมีย พี่น้อง ก็มีแต่มวลชนเท่านั้น ที่จะพาคุณกลับบ้านได้ นักการเมืองสมุนบริวารที่อยู่รอบข้าง ต้องรู้จักแยกแยะ รู้จักใช้คน ถ้าคุณสานต่อเจตนารมณ์ของมวลชน วันหนึ่งคุณจะกลับมาอย่างรัฐบุรุษ แต่ถ้าคิดแต่จะฮั้ว ซื้อ จ่าย แจก ประนีประนอมเอาตัวรอด คุณก็จะถูกหลอกอีกตามเคย

 

ยุทธศาสตร์ 2 ขา

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแบกรับความหวังของประชาชน 2 ประการสำคัญคือ หนึ่ง การทำให้บ้านเมืองสงบ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นความหวังของประชาชนทั่วไป และสอง ปฏิรูปการเมือง ทวงความยุติธรรม ทวงประชาธิปไตย พูดในทางรูปธรรมคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นความหวังของมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย

โดยอุปสรรคสำคัญคือ การก่อกวนบ่อนทำลายของพวกสลิ่มและแมลงสาบ สื่อและนักอวิชา ซึ่งมีเป้าหมายจะปลุกกระแสมวลชนออกมายึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ย้อนอดีตพันธมิตร

อย่างไรก็ดี ด้วยกระแสโลก และกระแสหลักของสังคมไทยที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ กองทัพจะยังไม่กล้ากระดิกเข้ามาแทรกแซงการเมือง หรือทำรัฐประหาร ในระยะอันใกล้นี้ เว้นแต่พวกสลิ่ม-แมลงสาบ จะ remake สถานการณ์ได้ถึงขั้นสร้างความปั่น่วุ่นวาย ฉะนั้น ในระยะอย่างน้อย 1 ปี กองทัพจะต้อง “ลงใต้ดิน” ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ทำได้อย่างมากก็แค่ตั้งการ๋ดปกป้องตัวเอง

 

(บันทึกการดักฟังโทรศัพท์)

อะโหลๆ ขอเรียนสายคุณปูครับ คุณปูหรือครับ ผมตู่ครับ”

อ้าว คุณตู่ ได้ประกันตัวออกมาเมื่อไหร่คะ ดิฉันไม่ยักรู้ เอ๊ะ ทำไมเสียงเปลี่ยนไป”

ไม่ใช่ตู่นั้นครับ ไม่ใช่ตู่ ล้มเจ้า ผมตู่ โหนเจ้า แถวบ้านเรียกบิ๊กตู่”

(เงียบไปพักหนึ่ง) “เอ้อ คุณตู่มีอะไรหรือคะ”

เอ้อ ก็เรื่องที่คุณปูเคยอยากมาพบผม แต่ตอนนั้นผมเห็นว่าช่วงเวลามันไม่เหมาะสม ถึงตอนนี้คงจะเหมาะสมแล้ว ให้ผมไปพบคุณปูก็ได้นะครับ ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ครับ”

(เงียบไปชั่วครู่) “เอ้อ คุณตู่คะ ดิฉันว่าช่วงเวลานี้ก็ไม่เหมาะสม ดิฉันยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเลย”

ครับ ครับ ไม่เป็นไรครับ แต่ผมจะบอกว่าคุณปูรับตำแหน่งเมื่อไหร่ หวังว่าคงยินดีให้ผมเข้าพบ”

เอ้อ คุณตู่คะ สงสัยจะคิวยาวนะคะ หลังรับตำแหน่ง CEO ดิฉันต้องพบผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายผลิต ผู้จัดการฝ่ายบัญชี ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ต้องกระตุ้นให้บริษัทเรามียอดขายมีกำไรสูงขึ้น คงอีกนานละค่ะกว่าจะได้พบหัวหน้าฝ่าย รปภ.อย่างคุณ เผลอๆ บอร์ดจะสั่งเปลี่ยนหัวหน้า รปภ.ก่อน”

อ้อ แล้ว-ทานโทษนะคะ คราวหน้าคราวหลัง คุณตู่อย่าโทรมาเบอร์นี้อีก คุณตู่ต้องติดต่อเลขาหน้าห้องก่อนนะคะ”

 

อ้าว หลงฟังตั้งนาน นึกว่าเรื่องการบ้านการเมือง ที่แท้เรื่องในบริษัท กลับมาเข้าเรื่องของเราดีกว่า

 

เมื่อทหารทำอะไรไม่ได้ พวกอำมาตย์และสมุนแมลงสาบ ก็เหลือแต่วิถีทางใช้สื่อ ใช้นักอวิชา และใช้อำนาจตุลาการภิวัตน์เข้ามาเตะตัดขา ดังที่เริ่มเห็นเค้าลางกันอยู่ แต่อำนาจตุลาการภิวัตน์ก็ใช้ได้อย่างจำกัด ภายใต้กระแสหลักที่ต้องการเห็นความสงบหลังเลือกตั้ง พวกเขาไม่สามารถใช้อำนาจยุบพรรค ตัดสิทธิ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองอีก แม้แต่การใช้อำนาจให้ใบเหลืองใบแดง ก็ยังต้องทำอย่างระมัดระวัง

นี่คือโอกาส ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องรีบทำงานสนองความต้องการของประชาชน เพียงแต่ ภายใต้กระแสหลักที่ต้องการให้รัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภารกิจ 2 ด้านของรัฐบาลจึงขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง นั่นคือ สมมติรัฐบาลจะเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ สังคมก็เกรงว่าจะจุดชนวนให้มีพวกโพกผ้าเหลืองออกมาต่อต้านอีก การวางจังหวะก้าว กำหนดขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สำคัญและน่าวิตกด้วย เพราะดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะไม่มีทีมงานยุทธศาสตร์ เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย การกำหนดขั้นตอนทางยุทธศาสตร์จะมาจากดูไบโน้น

ยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนจะเหมาะสมคือ รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเท่าที่ดู พรรคเพื่อไทยก็กำลังจะเดินแนวทางนี้ เหมือนยุทธศาสตร์หาเสียง ที่หันไปชูปากท้องเป็นประเด็นสำคัญ “ไม่คิดแก้แค้นแต่คิดแก้ไข” และเมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์สร้างกระแสบีบคั้น ก็ต้องยืนยันว่าจะไม่นิรโทษกรรมทักษิณคนเดียว และจะไม่รีบทำตอนนี้

ถ้าเดินแนวทางนี้ สมมติผ่านไป 6 เดือนถึง 1 ปี รัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจบูม พวกที่คอยเตะตัดขาก็จะกลายเป็นหมาหัวเน่า คนเขาจะทำงานยังระรานรังควาน แมลงสาบจะถูกโดดเดี่ยว พวกคนชั้นกลางน้ำมันมะกอกจะตีอกชกหัว รัฐบาลจะมีอำนาจมั่นคงจากคะแนนนิยมล้นหลาม แล้วค่อยเข้าสู่ขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านการลงประชามติ และการแก้ไขรื้อล้างกลไกต่างๆ

แต่การเดินตามยุทธศาสตร์นี้ ก็มีปัญหาสำคัญ 2 ด้าน ด้านแรกคือ ภาพลักษณ์ของรัฐบาล ที่จะต้องประกอบด้วยตัวบุคคลที่เหมาะสม วางตัวบุคคลที่เหมาะกับงาน มีตัวแทนกลุ่มก๊วนบ้าง แต่ไม่มากนัก และต้องควบคุมพฤติกรรมให้แข็งขัน อย่าสร้างเรื่องฉาวโฉ่ อย่าลืมว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีเรื่องปลากระป๋องเน่า สื่อยังให้อภัย แต่ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย สื่อรุมเอาถึงตาย

แน่นอน การแก่งแย่งตำแหน่งก็เป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ตั้งแต่แรก ไม่รู้แม่-จะแย่งอะไรกันนักหนา กระทั่งตำแหน่งประธาน นปช.ทีตอนที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ท้าทายอำนาจรัฐ ไม่ยักมีใครอยากเป็น ชนะขึ้นมาแล้วอยากเป็น

เรื่องเศร้าคือพวกโง่ๆ เหล่านี้ไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทำลายชัยชนะของมวลชนตั้งแต่เริ่มต้น พวกนี้คิดจะใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ หารู้ไม่ว่านักข่าวกำลังใข้พวกคุณทำลายพวกคุณด้วยกันเอง

ด้านกลับของชัยชนะ” ก็มีพิษภัยอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อคุณกุมอำนาจชี้ขาดผลประโยชน์ ก็จะมีแต่คนแห่แหน ถ้า “นายใหญ่” หูเบา ไม่แยกแยะว่าใครจริงใจ ใครทำงาน ใครประจบสอพลอ คนที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกันก็จะหมดกำลังใจ ไม่ต้องดูอื่นไกล ถ้าพูดกันตามความจริง เนวินคือคนที่ยืนซดยืนสู้อย่างเด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่รัฐประหาร เนวินคือหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้พรรคพลังประชาชนชนะ แต่พอชนะ พวกที่รู้หลบเป็นหลีกก็โผล่ขึ้นมาประจบสอพลอ ได้ดิบได้ดีกันเพียบ

นี่ผมจะคอยดูการคัดเลือกประธานสภา ว่าระหว่างคนที่สร้างภาพ เอาแต่บินไปดูไบบ่อยๆ กับคนที่ทำงาน พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง และต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับมวลชน “นายใหญ่” จะเลือกใคร

ถ้าข้อแรกคือจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทย และบุคลากรกเฬวรากของพรรคเอง ข้อสองก็คือ การระรานตีรวนของฝ่ายตรงข้าม ที่จะมาในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เกมต่ำๆ แบบร้องเรียนยิ่งลักษณ์ผัดหมี่โคราชแจกชาวบ้านระหว่างหาเสียง (ปล่อยให้มันร้องไป ประชาชนเขาส่ายหน้า) ไปจนการแปลงร่างของพวกนักอวิชาพันธมิตร ที่หนีหายไปชั่วครู่ คิดว่าชาวบ้านลืมกำพืด กลับมาสวมบทกูรูเศรษฐกิจ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล

วันก่อน ผมฟังรายการเล่าข่าวทางวิทยุ ยังมีพวกสลิ่มสมอ้างเป็นนักลงทุนต่างชาติ ส่ง SMS มาเป็นภาษาอังกฤษว่าถ้าขึ้นค่าแรง 300 จะย้ายไปลงทุนที่เวียดนาม สลิ่มชัดๆ ฝรั่งที่ไหนจะมาฟังรายการเล่าข่าว

อันที่จริง นโยบายประชานิยมของรัฐบาล ก็มีหลายข้อที่ผมไม่เห็นด้วย ไว้วันหลังค่อยๆ พูดกัน แต่ไอ้พวกที่ดาหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่มี Agenda โดยไม่ต้อง hidden กันทั้งนั้น ประเด็นก็คือรัฐบาลจะรับมืออย่างไรกับพวกนักอวิชาและสื่อกระแสหลัก จะรับมือไหวไหม

วิธีการรับมือของรัฐบาล ที่ดีที่สุด คืออย่าปล่อยให้ฝายตัวเองมีจุดอ่อน มีมลทินมัวหมอง แสดงให้เห็นว่าตั้งหน้าตั้งตาทำงาน และถ้าทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็จะปิดปากพวกวิพากษ์วิจารณ์เอง (เหมือนทักษิณสมัยแรก) เพราะเวลาเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผู้ที่ได้อานิสงส์ก่อนเพื่อนไม่ใช่ใครหรอก ก็คนชั้นกลางนี่แหละ

ส่วนการรับมือกับสื่อ วิธีการที่ดีที่สุด ก็คือต้องวางตัวเป็นผู้ใหญ่ อดทน อดกลั้น ใช้การชี้แจงแต่ไม่ตอบโต้ระราน ไม่จำเป็นต้องมีโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค อย่างเทพไท ไม่จำเป็นต้องให้ “เสด็จพี่” แสดงฝีปากอย่างหมอท็อป คนแพ้กับคนชนะ ต้องวางตัวคนละอย่าง ปชป.เป็นรัฐบาล 2 ปีกว่า จิตใต้สำนึกพวกเขายังมีปมด้อยว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ จึงทำตัวเป็นเด็ก

การรับมือกับสื่อกระแสหลัก จะต้องใช้วิธีการเปิดเสรีภาพสื่อ คืนเสรีภาพ สนับสนุนเสรีภาพสื่อทางอินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม ASTV เปิดได้เปิดไป ปชป.จะเปิดทีวีดาวเทียมมั่ง ก็ให้เขาทำไป แต่ก็ยังมีเอเชียอัพเดท มี Voice มีสปริงนิวส์ ที่หลากหลาย และที่สำคัญยังมีวิทยุชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นของคนเสื้อแดง

ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แก้ไขหรือยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง กสทช.โดยเร็ว เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่กันใหม่ เอาคลื่นวิทยุทหารมาเกลี่ยใหม่ เขาอาจจะจัดให้ NGO ให้ใครก็แล้วแต่ มันก็ยังดีกว่าผูกขาดอยู่ในมือทหาร

รัฐบาลไม่จำเป็นต้องแทรกแซงเสรีภาพสื่อ ปล่อยให้เป็น “นิวส์ออฟเดอะเวิลด์” ไป เข้าข่ายล่วงละเมิดทางกฎหมายก็ฟ้อง ส่วนวิธีการจัดการทางอ้อมคงไม่ต้องสอนหนังสือสังฆราช ฮิฮิ แต่ถ้าจะตัดโฆษณารัฐ ก็ทำให้เนียนหน่อย เช่น แฉว่ารัฐบาล ปชป.ใช้งบโฆษณาเป็นพันๆ ล้าน ประกาศลดงบโฆษณาเพื่อเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ที่ประชาชนได้มรรคผลมากกว่า แล้วก็ยกเลิกเสีย ไอ้ป้ายโฆษณาที่มีแต่โชว์หน้ารัฐมนตรี

ส่วนตัวผมสันนิษฐานว่าถ้ารัฐบาลใช้วิธีการจัดการทางอ้อม สื่อที่จะหลบหัวลมก่อนก็คงเป็นเดลินิวส์กับค่ายโพสต์ เพราะเจ้าของมีธุรกิจอื่นสำคัญกว่า

 

ปฏิรูปการเมือง

ถ้ามองปัญหาสองด้านที่กล่าวมา ก็น่าวิตกไม่น้อย (โดยเฉพาะด้านพรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งควบคุมกมลสันดานนักการเมืองได้ลำบาก) ชวนให้คิดว่าจะใช้ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วค่อยรุกทางการเมืองดีหรือไม่

เอ้า ยกตัวอย่างรูปธรรม หลังตั้งรัฐบาลแล้ว เด้ง “บิ๊กตู่” ทันทีทันใดดีหรือไม่ ยังไงทหารก็ไม่กล้ารัฐประหาร แต่ก็จะกระทบกระแสที่ต้องการให้รัฐบาลทำงานมากกว่าล้างแค้นทางการเมือง

แต่ถ้าไม่เด้ง ปล่อยเสืออยู่ในป่า รัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลย ไม่ริเริ่มปฏิรูปกองทัพ ปีหนึ่งผ่านไป โดนถล่มหนัก หัวหน้า รปภ.เอ๊ย-กองทัพกลับมามีฤทธิ์เดช กลับมาหือ ผนึกกำลังกันโค่นรัฐบาล เท่ากับเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่เลือกรัฐบาลนี้เข้าไปสูญเปล่า

ตัดสินใจยากนะครับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เหมือนกัน ถ้าคุณรีบทำ สังคมก็จะว่าอย่าเพิ่งขัดแย้งกันเลย แก้ปัญหาปากท้องก่อน ถ้าคุณไม่รีบทำ เดี๋ยวกระแสตก ถูกรุมกระหน่ำ ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย

การจับอารมณ์สังคมแล้ววางจังหวะก้าวที่เหมาะสมจึงสำคัญ

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผมกลัวทักษิณและแกนนำพรรคเพื่อไทยได้อำนาจแล้วจะไม่สนใจการปฏิรูปประชาธิปไตย สมมติเช่น กองทัพ ทักษิณอาจจะใช้วิธีเดิมๆ ใช้ผลประโยชน์ซื้อใจกองทัพ (มีข่าวสะพัดว่าจะเอาใจกองทัพเรือ ซื้อเรือดำน้ำให้ เพราะ ทร.ไม่พอใจรัฐบาล ปชป.ไม่ซื้อให้) ทักษิณอาจจะไม่เด้ง “บิ๊กตู่” แต่ตั้งคนของตัวแซม แล้วก็ให้งบให้สวัสดิการทหารเต็มที่ แทนที่จะตัดงบ

ทักษิณอาจจะไม่ปฏิรูปอะไรเลย ถ้าตัวเองเข้ามาครอบครองปรปักษ์ได้ โหนได้ กลับบ้านได้ แบบสมมติ-จู่ๆ ทักษิณบินกลับมา เดินเข้าคุก แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ ยอมเข้าไปนอนในคุกซักพัก ในขณะที่น้องสาวเป็นนายกฯ เรียกความเห็นใจจากคนไทยได้อีกต่างหาก

เราต้องเข้าใจด้วยว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจริงๆ คือนักธุรกิจ พวกนี้สนใจแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อที่ตัวเองจะร่ำรวยไปด้วย พวกนี้ไม่ได้สนใจการแก้ปัญหาโครงสร้าง การปฏิรูปประชาธิปไตย การปฏิรูปประเทศ เพียงแต่คุณูปการที่ผ่านมาคือพวกเขาต่างตอบแทนด้วยนโยบายประชานิยม ซึ่งแม้จะไม่ใช่นโยบายที่ดีทั้งหมดแต่ก็ทำให้มวลชนตื่นตัวขึ้นมา ตระหนักในอำนาจ “ประชาธิปไตยกินได้”

แต่ถึงที่สุดในการที่จะไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตามเจตนารมณ์ของมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตย คนพวกนี้ไม่ได้กระตือรือร้นไปด้วย พวกเขาเพียงต้องการบดขยี้กลุ่มทุนเก่า รัฐราชการ กองทัพ ตุลาการ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยทุนนิยม ฉะนั้นถ้าได้อำนาจมั่นคง พวกเขาก็พอใจแล้ว

นั่นคือข้อแตกต่างที่จะส่งผลต่อไปในอนาคต แต่ตอนนี้ จะต้องให้พวกเขาตระหนักว่า คุณจำเป็นต้องปฏิรูปประชาธิปไตย ถ้าไม่อยากถูกโค่นล้มอีก

รัฐบาลอาจยังไม่แก้รัฐธรรมนูญโดยทันที แต่หลังรับตำแหน่ง ควรตั้งคณะกรรมการศึกษาปฏิรูปการเมือง ที่ไม่เอาหมอประเวศหรืออานันท์มาเป็นประธาน แต่ยินดีรับข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทยของหมอประเวศ-อานันท์ เข้ามารวมอยู่ด้วยกัน แต่เน้นเรื่องสำคัญที่สุดที่หมอประเวศ-อานันท์ ไม่ได้ทำ คือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ โดยเปิดรับความคิดเห็นจากคนทุกสี หาข้อสรุปใน 6 เดือน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติ และแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ ด้วยการลงประชามติ

ย้ำ ลงประชามติ พวกพันธมิตรพวกสลิ่มอย่าหาเรื่องมาต่อต้าน ไม่พอใจก็ไปรณรงค์คัดค้านกันด้วยเหตุด้วยผล

รัฐบาลต้องสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เปิดกว้างให้เสรีภาพประชาชนแสดงออกได้เต็มที่ ตลอดจนเพิ่มอำนาจประชาชน เพราะมวลชนเท่านั้นที่จะปกป้องรัฐบาล สมมติเช่น คุณจะต้องเดินหน้าไปสู่การยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ยุบ กอ.รมน.อย่าคิดว่าจะใช้ กอ.รมน.ค้ำจุนอำนาจ เพราะ “หมู่บ้านเสื้อแดง” ต่างหากที่เป็นเสาค้ำอำนาจคุณ คุณจะต้องยกเลิก พรบ.คอมพิวเตอร์ โดยเร็วที่สุด เพราะนักประชาธิปไตยยึดครองโลกไซเบอร์อยู่เป็นส่วนใหญ่ คุณจะต้องมุ่งกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ลดอำนาจผู้ว่าฯ ข้าราชการจากส่วนกลาง ทำให้แต่ละพื้นที่เป็น “เขตปกครองตนเอง” กลายๆ เพราะไม่เห็นหรือว่าสีแดงพรืดไปหมดทั้งภาคอีสานและล้านนา ต้องให้พวกเขาขึ้นมามีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น ลดอำนาจส่วนกลางลง เพื่อสร้าง “ฐานที่มั่น” ระยะยาว

ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจะต้องเร่งทำโครงการระเบียงเศรษฐกิจ เหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก เปิดรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงลงมากรุงเทพฯ เชื่อมเส้นทางขนส่งจากดานังไปทวาย เพื่อเปิดมิติใหม่ทางเศรษฐกิจให้คนเหนือคนอีสาน ทำให้ความเจริญไม่ต้องมากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ

ขบวนประชาธิปไตย ขบวนคนเสื้อแดง (ที่ไม่ได้หมายถึงแกนนำ ซึ่งบ้างก็เป็นนักการเมือง บ้างก็เป็นพวกฉวยโอกาส) มีภารกิจสำคัญที่จะต้องพิทักษ์เจตนารมณ์ของมวลชนผู้พลีชีวิต เลือดเนื้อ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จนมีวันนี้ ภารกิจนั้นมีทั้งสองด้าน คือปกป้องรัฐบาล จากการโจมตีบ่อนทำลายด้วยอคติความเกลียดชัง ของพวกสลิ่ม แมลงสาบ สื่อ นักอวิชา ขุนนางอำมาตย์ อำนาจตุลาการภิวัตน์ ทั้งยังอาจต้องเป็นแนวหน้าให้รัฐบาล ในการรุกรบอย่างมีจังหวะก้าว สมมติเช่น การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ รณรงค์เนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ปลดผู้นำเหล่าทัพ

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ก็คือการตรวจสอบรัฐบาล อย่างจริงจังและว่าไปตามเนื้อผ้า การวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุผล สิ่งใดที่พวกสลิ่มหรือพวกแมลงสาบยกมากล่าวหา ถ้าเป็นจริง ถ้ามีเหตุผล มีพยานหลักฐาน (น่าจะน้อยเต็มที) เราก็ต้องยอมรับ และเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลแก้ไข สิ่งใดที่ไม่จริงก็ด่ามันกลับไป แต่อย่าปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาทำลายชัยชนะของมวลชนที่แลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อ

ในอีกแง่หนึ่ง ขบวนประชาธิปไตย ขบวนคนเสื้อแดง ยังต้องเรียกร้องกดดันรัฐบาล ให้เดินหน้าไปสู่การปฏิรูปการเมือง เพราะธาตุแท้ของนักการเมืองเป็นดังที่กล่าว ถ้าขบวนประชาชนไม่เรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล พวกเขาก็ไม่ทำ (มิพักต้องพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่กล้าแอะ)

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่เกิดความขัดแย้งใน นปช.เป็นเรื่องธรรมดามาก เมื่อผ่านการต่อสู้สู่ชัยชนะ พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นปช.ก็จะแตกตัว ไม่ต่างกับพันธมิตร ส่วนหนึ่งก็จะแตกตัวไปเป็นผู้รับใช้นักการเมือง หรือแสดงธาตุแท้ของความเป็นนักการเมือง อีกส่วนหนึ่งจะเดินหน้าต่อไปในอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยไม่ผูกติดกับรัฐบาล กระบวนการนี้กำลังจะเริ่มขึ้น

แต่ขบวนประชาธิปไตยจะไม่เป็นอย่างพันธมิตร เพราะเรายึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมสุดขั้วสุดโต่ง

 

ใบตองแห้ง
8 ก.ค.54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Bangkok Pundit วิเคราะห์ว่าที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เกี่ยวกับท่าทีต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

Posted: 08 Jul 2011 03:06 AM PDT

 

ในการให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าว The Independent[1] นักข่าวถามยิ่งลักษณ์เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีข้อความบางตอนที่สำคัญดังนี้: 

“ประเด็นนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ละเอียดอ่อน และเราต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะอภิปรายเรื่องนี้” เธอกล่าว “ดิฉันไม่ต้องการให้คนไทยใช้กฎหมายนี้บ่อยเกินไป และไม่ต้องการให้คนไทยใช้กฎหมายนี้แบบผิดๆ”[2]

เธอชี้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ซึ่งนำมาใช้หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ที่ทำให้พี่ชายของเธอ นายทักษิณ ชินวัตร หลุดจากตำแหน่ง) น่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขหลังจากผ่านกระบวนการปรึกษาหารือกันแล้ว

“เราจะถามประชาชนก่อนว่า ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับไหน เราต้องจัดให้มีการประชาพิจารณ์ในประเด็นนี้” เธอกล่าว “แต่เราจะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องลำดับต้นๆ สำหรับดิฉัน สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ”[3]

ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานกลุ่ม นปช. กล่าวว่า กลุ่มเคลื่อนไหวต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“เราอยากให้มีคณะกรรมการและตัวแทนมาศึกษาและหารือกันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เธอกล่าว “ไม่ใช่แก้แค่กฎหมายหมิ่นฯ นั่นเป็นแค่ประเด็นหนึ่งเท่านั้น”

 

ความคิดเห็นของ BP:

1. ถ้าความจำของ BP ยังดีอยู่ ครั้งสุดท้ายที่มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคือในสมัยรัฐบาลทหาร/รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของทหารในช่วงทศวรรษ 1970 เพราะฉะนั้น อย่าคาดหวังว่าจะมีการแก้ไขได้รวดเร็วทันใจ เพราะการพยายามแก้ไขจะปลุกข้ออ้างที่ว่า “ทักษิณคิดล้มเจ้า” ขึ้นมาทันที

2. คำตอบของยิ่งลักษณ์ค่อนข้างคลุมเครือ และ BP จะไม่ประหลาดใจเลย ถ้าเธอโยนเรื่องนี้ไปให้คณะกรรมการสักชุดเป็นคนจัดการ (นี่คือสิ่งที่ BP ตีความคำว่า “ผู้เชี่ยวชาญที่จะอภิปรายเรื่องนี้”) และวิธีนี้ดูเหมือนค่อนข้างสอดคล้องกับกระบวนการที่ธิดาต้องการ หน้าที่นี้จะตกเป็นของกรรมการรัฐสภา คณะกรรมการชุดใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือคณะกรรมการชุดคณิตที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้?

3. ฉะนั้น คุณผู้อ่านก็คงพอเห็นแนวทางคร่าว ๆ เช่นเดียวกับประเด็นนิรโทษกรรม เรื่องเศรษฐกิจต้องมาก่อน รัฐบาลจะมีเวลา 6-12 เดือนก่อนที่คณะกรรมการจะทำรายงานสรุปพร้อมทางเลือก ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างหนึ่งในกระบวนการนี้ก็คือ ถ้าระหว่างนั้นมีใครสักคน/หลายคนเกิดถูกจับภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลของเธอจะแสดงออกอย่างไร? หากมีคดีของใครสักคนที่มีชื่อเสียง[4] ต้องขึ้นพิจารณาในศาล?

4. อนึ่ง รัฐมนตรีไอซีทีคนใหม่จะร่วมมือกับคณะปฏิบัติงานที่ตั้งขึ้นมาแล้วในการค้นหาจับกุมผู้แสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่? คณะปฏิบัติงานนี้จะถูกยุบทิ้งหรือเปล่า? ตอนนี้คงยากเพราะเดี๋ยวก็โดนข้อหา “ทักษิณคิดล้มเจ้า” ขึ้นมาอีก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีไอซีที[5] รัฐมนตรีคนใหม่อาจใช้วิธีค่อย ๆ ตัดงบประมาณของคณะปฏิบัติงานลงไปเรื่อย ๆ ก็ได้ ตราบใดที่ข้อ 3 ยังไม่เกิดขึ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจเอาตัวรอดไปได้ในระยะสั้น คนเสื้อแดงจำนวนมากต้องการความก้าวหน้า กองทัพและข้าราชการจะคอยต่อต้านขัดขวาง ดังนั้น รัฐบาลคงต้องรักษาสมดุลไว้อย่างยากลำบาก ซึ่งอาจสะดุดล้มคว่ำได้ง่าย ๆ จากคดีใดคดีหนึ่งหรือการจับกุมใครขึ้นมา



[2] คำแปลคัดมาจากข่าวประชาไท http://www.prachatai.com/journal/2011/07/35911
[3] คำแปลตัวเน้นคัดจากข่าวประชาไท
[4] ยังมีอีกหลายคดีที่เราไม่รู้ ดังนั้น นับจากนี้จนถึงประมาณปีหน้า น่าจะมีหลายคดีที่ขึ้นศาล
[5] ตัวเลือกรัฐมนตรีที่ดูดี มักจะกลายเป็นรัฐมนตรีประเภท “ปิดเว็บไซท์กันเถอะ” ไปได้อย่างรวดเร็ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอลิซาเบตตา โปเลนกี

Posted: 08 Jul 2011 02:58 AM PDT

ขอให้คุณมีพลังและสติปัญญาสมแก่ตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายมา ทั้งนี้ดิฉันมุ่งหวังเต็มหัวใจว่า การสืบสวนการตายที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2553 จะได้รับการทบทวนและรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ การเสียสละของประชาชนจำนวนมากจะไม่เสียเปล่า และจะได้รับการชดเชยด้วยความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ปณิธานและความรับผิดชอบ เพื่อให้ประเทศไทยพลิกฟื้นเกิดใหม่พร้อมกับความยึดมั่นในการปกป้องชีวิตมนุษย์

7 ก.ค. 2554, แสดงความยินดีและเรียกร้องต่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีความตายจากการสลายการชุมนุม 2553

จดหมายเปิดผนึกของพี่สาวคุณฟาปิโอ โปเลนกี ถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงของไทย

Posted: 08 Jul 2011 12:57 AM PDT

เอลิซาเบตตา โปเลนกี พี่สาวของฟาปิโอ โปเลนกี ผู้สื่อข่าวชาวอิตาลีซึ่งเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร เมื่อ 19 พ.ค. 53 เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงของไทย

หมายเหตุจากประชาไท:

1. "ภัควดี ไม่มีนามสกุล" แปลจดหมายนี้จาก Open Letter. To the Prime Minister of Thailand , fabiopolenghi.org

2. สำหรับเอลิซาเบตตา โปเลนกี เป็นพี่สาวของฟาปิโอ โปเลนกีช่างภาพอิสระชาวอิตาลี ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมในกรุงเทพมหานครวันที่ 19 พ.ค. 2553 รวมอายุได้ 48 ปี ก่อนหน้านี้ครอบครัวของฟาปิโอได้ร้องขอรายงานชันสูตรพลิกศพทางการแต่ยังไม่ได้รับ

สำหรับรายละเอียดของจดหมายมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แฟ้มภาพ ฟาปิโอ โปเลนกิ ช่างภาพชาวอิตาลี ถ่ายเมื่อปี 2551 (ที่มา: fabiopolenghi.org)

 

จดหมายเปิดผนึกถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศไทย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ข่าวคราวล่าสุดเกี่ยวกับชัยชนะในการเลือกตั้งของคนเสื้อแดงทำให้ดิฉันกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ มันเป็นความรู้สึกที่ยากอธิบาย ระคนทั้งความยินดีและความเศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยความหวังอันเลือนราง ดิฉันร้องไห้ด้วยความหวังว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป อรุณรุ่งแห่งความยุติธรรมและการให้เกียรติกันจะเริ่มต้นขึ้น และเหยื่อทุกคนที่ใฝ่ฝันให้ประเทศนี้ดีกว่านี้และได้อุทิศพลีชีวิตเพื่อความเปลี่ยนแปลง ต่อไปนี้จะได้รับความเคารพและความจริงที่พวกเขาเหล่านั้นล้วนสมควรได้รับ

ถึงแม้สถานะของดิฉันมิได้เอื้อต่อการแสดงความรู้สึกของการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่ แต่ในฐานะผู้หญิงและมนุษย์คนหนึ่ง ดิฉันตระหนักถึงความสำคัญในชัยชนะของคุณ ดังนั้น ดิฉันจึงขอแสดงความยินดีกับคุณ ขอให้คุณมีพลังและสติปัญญาสมแก่ตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายมา ทั้งนี้ ดิฉันมุ่งหวังเต็มหัวใจว่า การสืบสวนการตายที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2553 จะได้รับการทบทวนและรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ การเสียสละของประชาชนจำนวนมากจะไม่เสียเปล่า และจะได้รับการชดเชยด้วยความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ปณิธานและความรับผิดชอบ เพื่อให้ประเทศไทยพลิกฟื้นเกิดใหม่พร้อมกับความยึดมั่นในการปกป้องชีวิตมนุษย์

ด้วยความนับถือ
เอลิซาเบตตา โปเลนกี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"หมอเสม พริ้งพวงแก้ว"ถึงอนิจกรรมแล้ว

Posted: 08 Jul 2011 12:21 AM PDT

นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้มีบทบาทด้านการแพทย์ชนบทถึงแก่อนิจกรรมแล้ว รวมอายุได้ 100 ปี

มีรายงานข่าวว่า นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ได้เสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 04.50 น. วันนี้ (8 ก.ค.) ด้วยโรคชราภาพ รวมอายุได้ 100 ปี ทั้งนี้ นพ.เสม เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2553 โดยมีกำหนดพิธีรดน้ำศพที่โรงพยาบาลราชวิถี เวลา 15.00 น. และจะเคลื่อนศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 18 วัดธาตุทองวันที่ 9 ก.ค. และกำหนดสวดพระอภิธรรม 7 วัน

ตลอดการทำงานของ นพ.เสม มีบทบาทด้านการบุกเบิกการแพทย์ชนบท โดยหลังจบการศึกษาด้านการแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2478 นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้วก็ได้ออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดทันที่โดยไปจัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศขึ้นที่อำเภออัมพวา สมุทรสงครามเพื่อต่อสู่กับการระบาดของโรคอหิวาตกโรคจนโรคสงบลง ในปีต่อมาก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทศบาลนครสวรรค์เป็นเวลา 2 ปี และที่นี่เองที่ท่านได้เริ่มงานศัลยกรรมและงานทันตกรรมเป็นครั้งแรกในชนบท

เมื่อครั้งที่ นพ.เสม ย้ายมาประจำที่ จ.เชียงรายเมื่อ พ.ศ. 2480 ได้รณรงค์ร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัดคือพระพนมนครานุรักษ์และกรรมการจังหวัด รวมทั้งธรรมการจังหวัดคือ บ. บุญค้ำ เพื่อนร่วมงานบุกเบิกซึ่งต่อมาท่านได้ช่วยชีวิตไว้ระหว่างสงคราม ร่วมกับพ่อค้าประชาชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดจนเป็นผลสำเร็จ แม้จะใช้เวลามากกว่ 10 ปี โรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงรายจึงได้รับการตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” ซึ่งงบประมาณการสร้างทั้งหมดมาจากเงินบริจาคของประชาชน

นพ.เสม เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดย นพ.เสม สามารถสร้างคุณูปการด้านสาธารณสุขไว้อย่างมาก เช่น ปฎิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขให้แพทย์และบุคลากรทำการรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการป้องกันโรค กระจายระบบสาธารณสุขสู่ชุมชน ด้วยการผลักดันให้มีสถานีอนามัย โรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดบัญชียาหลักแห่งชาติ

นพ.เสม เคยให้ฉายา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ว่า "อัศวินควายดำ" ด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น