โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาวบ้านโป่งอาง รุกเคลื่อนไหวยื่นหนังสือค้านเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

Posted: 27 Jul 2011 10:29 AM PDT

 
 
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 ก.ค.นี้ กลุ่มชาวบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้นัดรวมตัวกันไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อ นางพิมพ์สรณ์ ท้วมศรี นายกเทศบาลตำบลเมืองนะ และนายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ นายอำเภอเชียงดาว เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน และขอให้นำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอและทบทวนการดำเนินการต่อไป
       
โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านโป่งอางได้รวมพลังกันขึ้นป้ายคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน ตั้งแต่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ตามถนนหนทาง และหน้าบ้านของแต่ละครัวเรือน หลังจากรู้ข่าวแน่ชัดว่าจะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงบริเวณบ้านโป่งอาง ซึ่งเคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการสำรวจและจัดประชุมอยู่หลายครั้งแต่ไม่ได้บอกรายละเอียดให้ชาวบ้านได้รับรู้
       
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 22 ก.ค.54 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง นำโดยนายจตุกร กาบบัว ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโป่งอาง, นายเสาร์คำ เขื่อนเพชร สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองนะ, นายแก้ว จองจาย แก่ฝายหลวงบ้านโป่งอาง ฯลฯ ได้ทำหนังสือไปยื่นต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ซึ่งได้เดินทางมาเปิดอาคารเรียนโรงเรียนอรุโณทัยวิทยาคม ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มาแล้ว
       
โดยหนังสือระบุว่า ตามที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นทางคณะศึกษาฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้เข้ามาจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง 3 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 5 เมษายน 2554 และครั้งที่ 3 วันที่ 24 มีนาคม 2554 ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน
       
นอกจากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว คณะศึกษาฯ ยังได้ลงพื้นที่ ณ ที่ตั้งโครงการ คือ บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำข้อมูลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ระบบนิเวศพื้นที่ และสุขภาพของคนในชุมชน
       
ชาวบ้านชุมชนบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียและได้รับผลกระทบโดยตรง ได้มีการประชุมหารือก่อนมีมติ เห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นลักษณะของกระบวนการที่ได้ละเมิดสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากรฯในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
       
1.การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานตามโครงการ ชุมชนไม่มีโอกาสเข้าถึง รับรู้ข่าวสาร รายละเอียดโครงการฯ
2.กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง
3.ขั้นตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรัดในการดำเนินการ ขาดความละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
4.ที่ตั้งโครงการฯ ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง ซึ่งถือว่าเป็นขุนน้ำสำคัญไหลหล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
5.ที่ตั้งโครงการฯดังกล่าว เป็นพื้นที่ป่าของชุมชน ที่ชุมชนได้อาศัย พึ่งพาเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ไม้ใช้สอยของคนในชุมชน
6.ไม่มีการใช้ฐานต้นทุนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในกระบวนการศึกษาความเหมาะสม และดำเนินการทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ            
                                  
ชาวบ้านชุมชนบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 เห็นว่า การเข้ามาศึกษาฯครั้งนี้ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงและสิ่งที่ชุมชนเสนอ ทั้งที่ผ่านเอกสาร และการศึกษาข้อมูล เพราะผลที่ออกมาเป็นรูปแบบของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งความสูง พื้นที่รองรับน้ำ ความยาวของตัวเขื่อน ที่สำคัญการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเข้ามาดำเนินการกระบวนการศึกษา ไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับรู้อย่างทั่วถึงหรือไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของคนในชุมชน ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้ชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง                  
                                                                            
ดังนั้น ทางชุมชนบ้านโป่งอาง จึงขอให้พิจารณา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอ ทบทวน หรือยุติการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามโครงการฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชน แหล่งต้นน้ำปิงที่จะคงความยั่งยืนถึงลูกหลานต่อไปในอนาคต
 
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านโป่งอางทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าหากมีการสร้างเขื่อน จะทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและขอร่วมกันคัดค้านเพื่อปกป้องรักษาชุมชน ผืนดินผืนป่านี้ไว้ให้ลูกหลานต่อไปให้ได้
 
นายสง่า แนะบือ ชาวบ้านโป่งอาง กล่าวว่าเขื่อนมันจะมาทำลายวีถีชีวิตชาวบ้าน เพราะว่าทุกวันนี้ ชาวบ้านเอาป่าเป็นชุบเปอร์มาเก็ต เวลาหิว เข้าป่าก็ได้อาหารมากิน เดินเลาะน้ำปิง ลงทอดแห ก็ได้ปลามากินแล้ว
 
ในขณะที่นางบัวเขียว ชุมภู ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง ก็ออกมากล่าวยืนยันว่า จะไม่ยอมให้สร้างเขื่อนอย่างเด็ดขาด ให้ตายกันไปข้างหนึ่ง จะสู้จนตาย เพราะว่ากว่าที่พ่อแม่เรารักษาผืนป่ามาไว้ให้ เมื่อตกมาถึงรุ่นเรา เราก็ต้องรักษาเอาไว้ให้ลูกหลานให้ได้. 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้สภาพัฒน์ยกเลิกแผนพัฒนาภาคใต้ ‘สตูล–สงขลา’ผนึกต้านแลนด์บริดจ์

Posted: 27 Jul 2011 10:20 AM PDT

ต้านแลนด์บริดจ์ – ชาวบ้านจังหวัดสตูลและสงขลา ร่วมประกาศเจตนารมณ์คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2554  ที่ห้องประชุมนามนิพัทธ์ โรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ นักธุรกิจ นักวิชาการ ประชาชนจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และประชาชนจากจังหวัดสตูล เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 60 คน

นางสาวอุ่นเรือน เล็กน้อย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย 25 ครั้ง และผลสำรวจจากแบบสอบถาม 2 ชุดกว่า 5,000 ฉบับ ระหว่างเดือนกันยายน 2553–พฤษภาคม 2554 ในจังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี ตามโครงการสำรวจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ในจังหวัดสตูล–สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่องอำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

นางสาวอุ่นเรือน เปิดเผยผลการสำรวจว่า ชาวบ้านต้องการให้พัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยพัฒนาภาคการเกษตรและประมง และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในรูปของการท่องเที่ยว ดำรงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร ที่มีการจัดโซนนิ่ง (การกำหนดพื้นที่) ที่ชัดเจน

นายเจะปิ อนันทบริพงษ์ ชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนและชาวบ้านจะนะ เพิ่งทราบจากพี่น้องจังหวัดสตูลว่า จะมีการจัดเวทีฯ ในวันนี้ ทำไมถึงไม่เชิญพวกตน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการรัฐ อีกไม่นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ที่ต้องเจอโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ

นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี ชาวบ้านจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา เสนอในวงเสวนาว่า ขอให้ทางสถาบันวิจัยสุงคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกโครงการแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ปัจจุบันนี้ที่จะนะ มีโรงแยกก้าซทรานไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ ตนและชาวบ้านไม่ไว้ใจใครอีกแล้วไม่ว่า บริษัท สถาบันวิชาการ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ไปรับงานจากภาครัฐก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากแล้ว

“ผลกระทบจากโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้า ทำให้คลองนาทับเน่าเสียเลี้ยงปลาในกระชังไม่ได้ น้ำยางพาราก็แทบไม่ไหล ชาวประมงพื้นบ้านก็หันไปทำงานก่อสร้างกันหมด เพราะในทะเลแทบไม่มีปลา ผู้นำชุมชนกับชาวบ้านก็อยู่กันคนละฝ่ายไม่กล้าเจอหน้ากัน” นางสุไรด๊ะ กล่าว

นางสาวอุ่นเรือน ชี้แจงว่า โครงการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นในโครงการสำรวจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัดสตูล–สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง ขอให้ก้าวให้พ้นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่เราเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อสะท้อนให้สภาพัฒน์พิจารณาจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ จากความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ” นางสาวอุ่นเรือน ชี้แจง

ต่อมา เวลาประมาณ 10.40 น. ชาวบ้านจากจังหวัดสตูล รวมถึงเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ประมาณ 70 คน เดินทางเข้าร่วมเวทีฯ

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า กระบวนการดำเนินการทบทวนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของสภาพัฒน์ โดยไปจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2553 และมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้น

นายวิโชคศักดิ์  ถามว่า เวทีย่อย 25 ครั้งที่จัดเคยเชิญพวกตนไปร่วมเวทีบ้างหรือไม่ ทำไมการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจึงไม่มีการเชิญชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงมาประชุมบ้างเลยสักครั้ง คนจังหวัดสตูลและสงขลาไม่เอาแลนด์บริดจ์ แต่มีแลนบก (เหี้ย)  6 ตัว ที่จับมาจากบ้านอยู่ในกระสอบข้างล่างจะดูหรือไม่ ถ้าจะดูเดี๋ยวจะนำมาเข้าร่วมเวที

นางสุไรด๊ะ ถามว่า คนในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา คนในอำเภอละงู จังหวัดสตูล ทำไมไม่เคยได้ร่วมเวทีกลุ่มย่อยเลยสักครั้ง

นายสมชาย ศักดาเวคีอิศร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การดำเนินการจัดประชุมกลุ่มย่อยนั้น ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจไปพบกับชาวบ้านในพื้นที่ไม่ถูกกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล ได้เติมเต็มประเด็นประสบความเดือดร้อนโดยตรง มาสะท้อนในเวทีนี้

“ความต้องการของชาวบ้านจากจังหวัดสตูลและสงขลา ตรงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ ฉบับที่ 11 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการพัฒนาแบบยั่งยืนและสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้ระบุโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆ ไว้เลย” นายสมชาย กล่าว

นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนได้รับบทความจากอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความระบุชัดว่าแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล เป็นยุทธศาสตร์พลังงาน การขนถ่ายน้ำมัน และรองรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สอดคล้องกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะไม่คุ้มทุนถ้าไม่มีนิคมอุตสาหกรรมรองรับ

นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงว่า สภาพัฒน์ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เพื่อจัดทำร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ต่อมา วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทบทวนแผนดังกล่าว

“ทางสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ไม่เข้าใจจึงนำร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติทบทวน อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรียังตีความผิดว่า ให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจัดทบทวน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนเอง” นายชาญวิทย์ กล่าว

นายชาญวิทย์ ชี้แจงต่อไปว่า สภาพัฒน์ยังไม่มีแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ที่ระบุว่าจะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นการผลักดันของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และโครงการศึกษาออกแบบและรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทางรถไฟเชื่อมโยงขนส่งอ่าวไทย–อันดามัน ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) ส่วนโครงการการวางท่อน้ำมันและคลังน้ำมัน 2 ฝั่ง อำเภอละงู จังหวัดสตูล กับอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน ไม่ได้เป็นแผนของสภาพัฒน์

นายชาญวิทย์ ชี้แจงอีกว่า ตอนนี้สภาพัฒน์ให้ความสนใจกับการลงทุนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า ตั้งแต่การวางโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มีพื้นที่รองรับการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมกว้างขวาง ส่วนที่กระทรวงคมนาคมกับพรรคเพื่อไทย มีนโยบายผลักดันการก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ถ้าไม่สอดรับกับแผนสภาพัฒน์ก็สร้างไม่ได้

“วันนี้ชาวบ้านจากจังหวัดสตูลและสงขลา ได้มายืนยันผลกระทบจากความเดือดร้อน จากโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ผมและทางสถาบันวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำกลับไปเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายชาญวิทย์ กล่าว

ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. ชาวบ้านได้มีการยืนแถวยาวคู่ขนาน แบ่งแถวหนึ่งเป็นชาวบ้านจังหวัดสตูล อีกแถวหนึ่งเป็นชาวบ้านจังหวัดสงขลา จับมือทำพันธสัญญาและประกาศเจตนารมณ์ผนึกกำลังต่อสู้คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูลจนถึงที่สุด

นางสาวอุ่นเรือน กล่าวต่อที่ประชุมว่า เมื่อตนได้รับเสียงสะท้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 รวมถึงสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูลเช่นนี้ ตนจะนำเสนอให้สภาพัฒน์ทบทวนโครงการทั้งหมดต่อไป

“เสียงสะท้อนจากคนจังหวัดสตูลทำให้ทราบว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสตูลมากมาย ไม่ว่าแหล่งหญ้าทะเลที่บริเวณจะสร้างท่าเรือฯ ซึ่งมีฝูงพะยูนหากิน ทั้งมีปะการังเจ็ดสีที่ยังสมบูรณ์ที่สุดในฝั่งอันดามัน อีกทั้งยังมีการเตรียมการจัดตั้งอุทยานธรณีละงู–ทุ่งหว้า–เภตรา–ตะรุเตา ซึ่งเป็นแหล่งฟอสซิลระดับอาเซียน” นางสาวอุ่นเรือน กล่าว 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อยู่ก่อนแต่ง–ท้องวัยเรียน อีกหนึ่งปัญหาสังคมชายแดนใต้

Posted: 27 Jul 2011 10:10 AM PDT

 

“ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทุกฝ่ายต่างหันไปเน้นการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงและความปลอดภัย จนละเลยปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาที่กำลังคุกคามวัยรุ่นมุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น”

เป็นคำพูดที่หลุดออกมาจากปากของ “นายอับดุลเราะห์มัน มะมิงจิ” ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
 
สอดคล้องกับข้อมูลของ “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายฮาลาลและอบรมครอบครัวสุขสันต์ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ที่ระบุกับ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ว่า สถิติการการหย่าร้างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เพิ่มสูงขึ้น จากความไม่เข้าใจการใช้ชีวิตครอบครัว อันสืบเนื่องมาจากการเลือกคู่เองของคู่บ่าวสาว ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากการผิดประเวณี ที่ขัดกับหลักการอิสลาม
 
นี่คือ ปัญหาใหญ่ที่สังคมมุสลิมกำลังประสบ จากถ้อยยืนยันของ “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ”
 
อันเป็นที่มาของโครงการอบรมครอบครัวสุขสันต์ ที่มี “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” เป็นผู้รับผิดชอบการอบรม โดยเปิดหลักสูตรสอนการเลือกคู่ชีวิต รวมไปถึงการแต่งงาน การใช้ชีวิตคู่ และการมีเพศสัมพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม
 
“นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” บอกว่า ในการอบรมจะมีการสอนเรื่อง การมีเพศสัมพันธ์ตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งต้องระมัดระวัง ถึงแม้ไม่มีการห้ามไม่ให้พูดถึง แต่จะพูดอย่างไร ไม่ให้เป็นการชักจูงให้เด็กกระทำในสิ่งต้องห้าม การเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียน ก็ต้องดูให้สอดคล้องด้วย
 
“จากการสุ่มตรวจพฤติกรรมของวัยรุ่นในจังหวัดปัตตานี ตามสถานที่ที่มักเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 พบวัยรุ่นกว่า 200 คู่ ทำผิดประเวณี เมื่อเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีแจ้งให้จับกุม ทางเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล นี่คือความขัดแย้งระหว่างข้อบัญญัติตามกฏหมายกับหลักการอิสลาม เนื่องจากโครงสร้างกฎหมายของประเทศไทย มีหลายเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม ทำให้คณะกรรมการอิสลามฯ แก้ปัญหาไม่ได้” นายอับดุลมานะ กล่าว
 
เมื่อปี 2553 องค์กรอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า ประเทศไทยติดอันดับหนึ่ง วัยรุ่น 15–19 ปี ตั้งท้องมากที่สุดในเอเชีย และติดอันดับสองของโลก
 
ปลายปี 2553 ข้อมูลข้างต้นก็ถูกตอกย้ำด้วยข่าวพบ 2,002 ศพทารก ที่วัดไผ่เงิน กรุงเทพมหานคร
 
จากเหตุการณ์นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการเร่งด่วน โรงพยาบาลมีคลินิกวัยรุ่นให้คำปรึกษากับวัยรุ่นโดยตรง ทุกปัญหา ทุกเรื่องตลอดเวลา
 
“นายอิสมาแอมามะ” นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ประจำจังหวัดปัตตานี มองมาตรการนี้ของกระทรวงสาธารณสุขว่า เป็นการแก้ปัญหาปลายทาง เพราะในบริบทของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถนำหลักการศาสนาอิสลามมาแก้ปัญหานี้ได้
 
ช่วงที่สังคมยังมีพื้นฐานทางศาสนาเข้มแข็ง สังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถจัดการเรื่องนี้ได้เอง แต่ตอนนี้สังคมตระหนักเรื่องศาสนาน้อยลง ขณะที่ครอบครัวก็อบอุ่นน้อยลง ถ้าฐานของครอบครัวเข้มแข็ง ผมเชื่อว่าสังคมจะดีขึ้น” เป็นความเห็นของ “นายอิสมาแอ มามะ”
 
สาเหตุที่ตัวเลขแม่วัยรุ่นพุ่งขึ้นสูงนั้น “นายอิสมาแอ มามะ” มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมแต่งงานกันตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า พฤติกรรมวัยรุ่นปัจจุบันทำให้เกิดการท้องแบบไม่พึงประสงค์มากขึ้น
 
สอดคล้องกับข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุข ที่สรุปปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชน โดยแยกออกเป็น 8 ประเด็น
 
หนึ่ง แนวโน้มวัยรุ่นจะมีเพศสัมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุน้อยลงเรื่อยๆ
 
สอง กลุ่มคนโสดมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงานในอัตราเพิ่มมากขึ้น
 
สาม วัยรุ่นหญิงยอมรับแนวคิดการมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงานมากขึ้น
 
สี่ จำนวนวัยรุ่นและเยาวชนป่วยเป็นโรคกามโรค
 
ห้า แม่วันรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี
 
หก วัยรุ่นและเยาวชนจำนวนมากติดเชื้อ HIV
 
เจ็ด วัยรุ่นมีการทำแท้งมากขึ้น
 
แปด เด็กวัยรุ่นถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกกระทำรุนแรง
 
เพื่อลดปัญหาเบื้องต้น “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ” บอกว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว ได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้ใหญ่หลายฝ่าย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ฝ่ายปกครอง สถานศึกษา ผลจากการหารือคราวนั้น จึงมีมาตรการตรวจเข้มวัยรุ่นตามหอพัก โดยสารวัตรนักเรียนจะออกตรวจตรปัญหาการอยู่ก่อนแต่ง และปัญหายาเสพติด
 
ทว่า มาตรการที่กำหนดขึ้น กลับนำมาใช้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง
 
“ก่อนยังจับแต่งงาน และเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายชายได้อยู่ เด็กสมัยนี้อ้างสิทธิส่วนบุคคลทำให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทำอะไรไม่ได้ ต้องช่วยกันผลักดันให้มีกฏหมายอิสลาม ที่มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงการแก้ปัญหาสังคม จึงจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้” เป็นข้อเสนอแนะของ “นายอับดุลมานะ เจ๊ะและ”
 
ขณะที่ “ดร.นินาวาลย์ ปานากาเซ็ง” หัวหน้าโครงการวิจัยการรวมพลังแม่วัยเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพศึกษาว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จะหาแนวทางแก้ไขได้อย่างไร และทำอย่างไรที่จะตัดวงจรของปัญหานี้ห้ได้ งานวิจัยที่เพิ่งเริ่มต้นไม่ถึงปีชิ้นนี้พบว่า เด็กในกลุ่มเสี่ยงท้องก่อนวัย มาจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่น และไม่เข้าใจหลักการศาสนาอิสลาม
 
“ดร.นินาวาลย์ ปานากาเซ็ง” มองว่า ปัญหาที่วัยรุ่นกลุ่มนี้ประสบอยู่ เป็นเรื่องที่อ่อนไหว สังคมต้องยอมรับว่าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราต้องทำความเข้าใจ และค่อยๆ คิดว่า จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้ มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไม่เป็นทุกข์มากนัก เพราะตัวเด็กก็เป็นกังวล เราจะทำอย่างไรให้ตัวเด็กรู้ว่า สิ่งที่ทำไปไม่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา
 
“สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูและให้ความอบอุ่นแก่เด็กเล็ก ทำให้เด็กโตขึ้นมาในสภาพขาดความอบอุ่น ต้องแสวงหาความอบอุ่นด้วยตัวเอง ประกอบกับสื่อยุคปัจจุบัน ออกมาสื่อสารเรื่องเพศกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธุ์ก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น ซึ่งนำมาสู่การท้องในวัยเรียนมากขึ้น และแนวโน้มอายุของแม่วัยเรียนจะลดลงมาเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่สังคมมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องนำไปคิดต่อว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร”
 
เป็นข้อเสนอแนะของหัวหน้าโครงการวิจัยการรวมพลังแม่วัยเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
“นายรอสาลี สานานะอะ” อดีตนักกิจกรรมและคณะกรรมการชมรมด้านสังคม มหาวิทยาลัยแห่งหนคึ่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่า ปัญหาวัยรุ่นมุสลิมกระทำผิดหลักการอิสลาม หรือ ZINA จากการมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงาน ซึ่งในศาสนาอิสลามถือเป็นการกระทำผิดร้ายแรงต้องถูกลงโทษ สะท้อนให้เห็นว่า ข้อกฏหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันไม่รองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือผู้นำอิสลามก็ไม่มีสิทธิเอาผิดเด็กได้ นอกจากจับแต่งงาน หรือเรียกร้องฝ่ายชายให้จ่ายค่าเสียหายให้ฝ่ายหญิง
 
พฤติกรรมผิดทำนองคลองธรรมทางเพศของนักศึกษา ในช่วงที่ “นายรอสาลี สานานะอะ” ทำกิจกรรม ถึงแม้จะอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง แต่คณะกรรมการชมรมฯ ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เข้าไปตักเตือนว่า การอยู่ก่อนแต่งในหลักการอิสลาม ถือเป็นความผิดมหันต์ นอกจากวัยรุ่นเหล่านั้นไม่ฟัง บางครั้งยังทำร้ายผู้ที่เข้าไปตักเตือนด้วย
 
เป็นอีกหนึ่งข้อมูลจากอดีตนักศึกษา “นายรอสาลี สานานะอะ”
 
“ผมอยากให้มหาวิทยาลัยมีมาตรการสอดส่องดูแลนักศึกษาให้ใกล้ชิดมากกว่านี้ โดยเฉพาะกับวัยรุ่นมลายูมุสลิม ผมคิดว่าหอพักของนักศึกษาทุกหอพัก รวมทั้งหอพักนอกมหาวิทยาลัย ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย จะได้เข้าไปควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ สังคมที่นี่ยังให้ความเคารพผู้นำศาสนาและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผมต้องการให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจจัดการแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเพิ่มเนื้อหาในกฏหมายอิสลาม ให้ครอบคลุมเรื่องนี้ โดยมอบอำนาจให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเข้ามาดูแลได้ ผมเชื่อว่าน่าจะช่วยได้”
 
เป็นข้อเสนอแนะจากวัยรุ่นนาม “นายรอสาลี สานานะอะ” ผู้มีอดีตเป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ห้ามสงสัยเท่ากับห้ามเป็นมนุษย์!

Posted: 27 Jul 2011 10:04 AM PDT

“ตนพูดอยู่เสมอว่า อย่าสงสัยเรื่องความจงรักภักดี
ถ้าสงสัย แสดงว่าไม่ใช่คนไทย
เพราะฉะนั้น คนไทยต้องไม่มีความสงสัยเรื่องความจงรักภักดี
เพราะเราเกิดมากับ คำๆ นี้ และเราต้องตายไปกับคำนี้
ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม” 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.
(ประชาไท,26 ก.ค.54)

มนุษย์เป็น “สัตว์ที่มีเหตุผล” (rational being) ธรรมชาติของความเป็นผู้มีเหตุผล คือความสงสัยใคร่รู้ และต้องการแสวงหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลว่า ทำไมเราจึงควรยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือความจริง ความดี ความยุติธรรม ฯลฯ
 
ฉะนั้น หากพูดในเชิงตรรกะ (ไม่ใช่แค่เล่นสำนวน) การห้ามสงสัยเท่ากับห้ามเป็นมนุษย์ และที่ ผบ.ทบ.บอกว่า “คนไทยต้องไม่มีความสงสัยเรื่องความจงรักภักดี” ประโยคนี้มีความหมายทางตรรกะว่า
 
1. ผู้พูดกำลังจัดประเภทของ “คนไทย” ให้อยู่คนละประเภทกับ “มนุษย์”
 
2. ผู้พูดกำลังทำให้ “ความจงรักภักดี” เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล หรือเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล เพราะในโลกของความเป็นจริงมีแต่สิ่งที่สงสัยได้เท่านั้นที่อยู่ใน “ปริมณฑลของเหตุผล” หรืออยู่ในขอบเขตที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล
 
3. การทำให้ความจงรักภักดีเป็นเรื่องที่สงสัยไม่ได้ หรืออยู่นอกปริมณฑลของเหตุผล ย่อมเท่ากับ (ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม) เป็นการทำให้ความจงรักภักดีมีสถานะเป็น “อำนาจเหนือเหตุผล” ที่กดทับความเป็นมนุษย์ของคนไทย หรือเป็นอำนาจที่แยกประเภทของ “คนไทย” ให้อยู่กันคนละประเภทกับ “มนุษย์”
 
ถึงตรงนี้ บางคนอาจมองว่าผมตีความคำพูดของ ผบ.ทบ.แบบจริงจังเกินไป ผบ.ทบ.อาจแค่ต้องการพูดเพื่อปรามฝ่ายที่เขามองว่าจาบจ้วงหรือหมิ่นสถาบัน และต้องการกระตุ้นให้คนไทยทุกคน ทุกฝ่ายจงรักภักดีต่อสถาบันเท่านั้น
 
แต่ถึงจะมีเจตนาเช่นนั้นจริง ก็ไม่ควรใช้ “คำพูดเชิงเผด็จการทางความคิด” เช่นนี้ และขอให้สังเกตว่า คำพูดทำนองคล้ายๆ กันนี้ มักเป็นคำพูดที่ตีขลุม คลุมเครือ เช่น เมื่อมีผู้วิจารณ์ ผบ.ทบ.เขาก็ปรามว่าอย่าวิจารณ์ทหาร (ผบ.ทบ.= ทหารทั้งหมด?) อย่าวิจารณ์กองทัพ (ผบ.ทบ.=กองทัพ?)
 
ซึ่งเป็นเจตนาที่ทำให้คนเข้าใจเสมือนว่า ผบ.ทบ.คือทหารทั้งหมด ผบ.ทบ.คือกองทัพ ติติงหรือวิจารณ์ ผบ.ทบ.อาจกระทบต่อ “ศักดิ์ศรีทหาร” กระทบต่อความมั่นคงของกองทัพ กระทั่งเลยเถิดไปถึงกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
 
ทว่าที่แย่กว่านั้นคือ คุณกำลังห้ามติติง  วิพากษ์วิจารณ์  “ความรับผิดชอบ”  ของผู้บังคับบัญชาทหาร การทุจริตคอร์รัปชันภายในกองทัพโดยโยงมาสู่กรณี ฮ.ตก 3 ลำ ไล่เลี่ยกัน และมีทหารเสียชีวิตเกือบยี่สิบนาย พร้อมกับการห้ามดังกล่าว คุณก็เสนอให้ซื้อ ฮ.เพิ่มอีก 30 ลำ โดยฝากให้รัฐบาลใหม่พิจารณา
 
ตกลงจะทำให้ทุกเรื่องอยู่นอกปริมณฑลของเหตุผล หรือความสงสัยใคร่รู้ไปหมดเลยใช่ไหม ความจงรักภักดีก็สงสัยไม่ได้ ผบ.ทบ.ก็ไม่ควรติติง หรือวิจารณ์ ฮ.ตก 3 ลำ จะขอซื้อเพิ่มเป็น 30 ลำ เป็นเรื่องที่มีเหตุผลอย่างไร และมันยิ่งทำให้คนสงสัยมากขึ้นอีกเมื่อมีการพูดถึงกรณีผิดปกติเรื่องจัดซื้อ “ไม้ชี้ผี” มาตรวจจับวัตถุระเบิด และจัดซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ ฯลฯ
 
ความไม่ไว้วางใจกัน ไม่เชื่อถือ ไม่สามัคคีกันอย่างที่ ผบ.ทบ.พูดถึง มันไม่มีวันแก้ได้ด้วยการ “ใช้อำนาจบังคับ” ไม่ว่าจะบังคับเรื่องความจงรักภักดี (ห้ามสงสัย!) หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม เพราะเราจะแก้ปัญหาโดยการปิดกั้น ลดทอนการใช้เหตุผลได้อย่างไร
 
การลดทอนการใช้เหตุผลคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ ห้ามสงสัย ห้ามใช้เหตุผลวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งเท่ากับห้ามเป็นมนุษย์ และถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาตามหลักตรรกะ การล็อกสเป็ค “คนไทย” ว่า ต้องเป็นคนที่ไม่สงสัยเรื่องความจงรักภักดี (หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม) เท่ากับล็อกไม่ให้คนไทยเป็น “มนุษย์”
 
แต่ในความเป็นจริง ประชาชนเป็น “มนุษย์” (สัตว์ที่มีเหตุผล) ก่อนจะเป็น “คนไทย” มันจึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้ประชาชนละทิ้งความเป็นมนุษย์เพื่อที่จะเป็น “คนไทย” ที่ถูกห้ามสงสัยในเรื่องใดๆ ก็ตาม  
 
และหากจะพูดให้ถูก ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ควรอย่างยิ่งที่ต้อง “จงรักภักดีต่อประชาชน” ความจงรักภักดีต่อประชาชนเป็นเรื่องที่สงสัยไม่ได้ เพราะแผ่นดินนี้คือของประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน รัฐบาลและข้าราชการภายใต้รัฐบาล คือผู้รับใช้ประชาชน
 
มีแต่ข้าราชการ อำมาตย์ ต้องเกิด “จิตสำนึกใหม่” และเกิด “จิตใหญ่” ที่ “จงรักภักดีต่อประชาชน” ประดุจดังข้าทาสผู้ซื่อสัตย์ดังกล่าวนี้แล้วเท่านั้น ประเทศชาติ ประชาชนทุกฝ่าย ทุกสถาบันจึงจักเกิด “ความรู้รักสามัคคี” คือ รักเสรีภาพ สามัคคีภายใต้หลักความยุติธรรมที่เท่าเทียม หรือมีความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย เสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
แต่จะเป็นเช่นนี้ไม่ได้ ถ้าประชาชนยอมให้ใครๆ หรืออำนาจใดๆ มาห้ามไม่ให้เราสงสัย หรือไม่ให้เราเป็นมนุษย์!
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวคือ สิทธิมนุษยชน

Posted: 27 Jul 2011 09:58 AM PDT

"พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย สู่สถาบันกษัติริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้าน จึงเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว (กรณีนายโจ กอร์ดอน (Joe Gordon) หรือชื่อไทย เลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสัญชาติไทย-อเมริกัน)

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของเหตุผล โดยทั่วไปที่ศาลมักจะไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐหรือคดีที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ประกอบ มาตรา 108/1 ที่มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้ ประกอบด้วย ได้แก่

(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
(3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหาย ที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้

มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็น อุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน ของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล

ปัญหาคือ กฎหมายกำหนดให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจประกอบคำวินิจฉัยในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้น เหตุผลที่ศาลนำมาประกอบในการวินิจฉัยมิให้ได้รับการประกันตัว หรือปล่อยชั่วคราว มี 3 ข้อ คือ คดีนี้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คดีนี้พนักงานสอบสวนคัดค้าน และ เชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

คำถามคือว่า การมิให้ประกันตัวนั้นตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้นสามารถกระทำได้เพียงใด และข้อคำนึงถึงการใช้ดุลพินิจ ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process of Law) หรือไม่

หลักสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและผู้ต้องขัง คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งมีหลักการว่า สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี จะต้องเป็นหลักการที่ได้รับความคุ้มครอง การมิให้ประกันตัวถือเป็นข้อยกเว้นหรือจะกระทำได้ต่อเมื่อไม่มีวิธีการที่เบากว่านี้

โดยปกติบุคคลผู้ถูกตั้งข้อหาคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี โดยการวางหลักประกันหรือมีบุคคลค้ำประกัน การปฏิเสธคำขอประกันตัวควรจะเป็นข้อยกเว้น อย่างเช่น มีความเป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นจะหลบหนีและไม่มาปรากฏตัวในศาลในช่วงการพิจารณาคดี หรือบุคคลนั้นอาจจะทำลายหลักฐาน หรือบุคคลนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณา ถือว่าเป็นการละเมิดข้อ 9(3) ของ ICCPR ซึ่งกำหนดว่า “ การควบคุม คุมขังบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ควรเป็นกฎที่ใช้ทั่วไป”

การคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานเกินระยะเวลาที่สามารถยกเหตุผลอันเหมาะสมมากล่าวอ้างได้ เป็นการกระทำโดยไม่มีกฎเกณฑ์และละเมิดข้อ 9(1) ของ ICCPR ที่ว่า “ บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้”

สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาที่เหมาะสมนั้นมาจากหลักการที่ว่า การรอนเสรีภาพ จักต้องไม่นานเกินกว่าระยะเวลาที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์เฉพาะนั้นๆ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเน้นว่า ในกรณีที่ศาลปฏิเสธการประกันตัว บุคคลผู้ถูกกล่าวหาจักต้องได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระนั้นก็ตาม สำหรับในประเทศไทยโดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคดีของคนเสื้อแดง หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการ ได้รับการประกันตัวได้ถูกละเมิดอย่างสม่ำเสมอ นี่ยังไม่รวมถึงความล่าช้าก่อนการพิจารณาคดี และระหว่างการพิจารณาคดี รวมทั้งการอุทธรณ์ที่กินเวลายาวนานเป็นปี เป็นเรื่องไม่ปกติที่เกี่ยวโยงกับการไม่ได้รับการประกันตัวสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่จะต้องถูกคุมขัง เป็นเวลาหลายปีนับแต่ถูกจับกุม จนถึงการดำเนินคดีสิ้นสุด และถือเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลในการได้รับการพิจารณาคดี ภายในเวลาที่สมเหตุผลภายใต้ข้อ14(3)(c) ของ ICCPR (ซึ่งยังไม่ขอกล่าวถึง ในที่นี้) และสิทธิที่ต้องได้รับการปล่อยตัวตามข้อ 9(3) ของกติกาฯ

ปํญหาคือ การใช้ดุลพินิจของศาลในการไม่ให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่

หลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมในเรื่องระบบการพิจารณาคดีที่ว่ากระบวนการใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบต้องมีการคุ้มครองให้กระบวนวิธีพิจารณาทางอาญา ทำด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอคติ ไม่เลือกปฏิบัติ พอสมเหตุสมผลด้วย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และทนายความต้องคำนึงถึง และปฏิบัติตามหลักการนี้โดยเคร่งครัด

ตัวอย่างในคดีนี้ี ตามมาตรา 112 หากจะดำเนินการตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายในการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวจะต้องเริ่มต้นว่า คดีนี้ผู้ต้องหามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ศาลต้องจัดหาทนายความให้ เพราะเป็นคดีที่มีโทษจำคุกกมากกว่า 10 ปี (ซึ่งนับว่าเป็นโทษที่หนักเกินสมควร) เหตุผลที่ทนายความได้เขียนเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ประกันตัว เป็นไปตามหลักการสากลดังกล่าวข้างต้นและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลได้อนุญาตหรือได้มีการไต่สวนพยานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลักการที่ว่านั้นหรือไม่ ศาลได้ไต่สวนถึงเหตุที่ว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร ซึ่งในประเด็นการจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนี้ ต้องให้พนักงานสอบสวนหรือศาลมีภาระในการพิสูจน์ว่า หากปล่อยตัวไปแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิง หรือไปทำลายพยานหลักฐานอย่างไร จนทำให้ศาลพอใจ และฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องสามารถคัดค้านหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติ ข้ออ้างของพนักงานสอบสวนต่อศาล มักเป็นการอ้างลอยๆ โดยขาดพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ และศาลอาจไม่ได้ทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่มีการกล่าวอ้างด้วย ในวงการกฎหมายคำว่า “ภาระการพิสูจน์” นั้นหมายความว่า ผู้ใดยกข้อกล่าวอ้างอย่างไร ผู้นั้นต้องนำสืบให้ได้ความจริงตามที่กล่าวอ้างนั้น เช่น อ้างว่าหากปล่อยตัวไปแล้วผู้ถูกปล่อยตัวนี้ เป็นผู้มีอิทธิพลจะไปข่มขู่พยานหรือออกไปยักย้ายถ่ายเทเอกสารสำคัญที่จะใช้เป็นหลักฐานในการลงโทษจำเลยหรือผู้ต้องหานั้นได้ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย หากไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ ย่อมทำให้กระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องยกเหตุผลนี้ขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่

การที่ศาลหรือบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเคารพหลักการสิทธิมนุษบชนและหลักนิติธรรมในเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย และ กระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม ย่อมจะนำให้คดีต่างๆ ไม่รกโรงรกศาล เป็นประโยชน์แก่ผู้บริสุทธิ์อีกเป็นจำนวนมากในคดี ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทั้งในทางการเมือง คดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และในคดีอื่นๆ และประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่นานาประเทศให้การรับรอง อันจะทำให้สังคมมีความสงบ ร่มเย็นได้ต่อไป

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ออก พ.ร.ก.ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ไปใช้ ปี 40 ทำไม่ได้

Posted: 27 Jul 2011 09:38 AM PDT

ชำนาญ จันทร์เรือง โต้ 'มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ' กรณีเสนอให้มีการทำประชามติว่าจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 และให้ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้

ผมไม่อยากเชื่อว่าข่าวจากคอลัมน์บุคคลในข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ที่รายงานว่า นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ที่ปรึกษาคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการทำประชามติว่าจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 และเชื่อว่าประชาชนจะเลือกรัฐธรรมนูญปี 40 แล้วหลังจากนั้นก็ให้ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้นั้นเป็นความจริง 

ที่ผมไม่อยากจะเชื่อเพราะนายมานิตย์นั้นเป็นถึงอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มีคนเคารพนับถืออยู่เป็นจำนวนมาก(หนึ่งในนั้นก็หมายความรวมถึงผมด้วย)จะเสนอความเห็นออกมาเช่นนั้น เพราะด้วยเหตุหลักการพื้นฐานง่ายๆที่มีการเรียนการสอนอยู่ในวิชากฎหมายเบื้องต้นว่าด้วยศักดิ์ของกฎหมายนั้นรัฐธรรมนูญอยู่ในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่าพระราชกำหนดนั่นเอง

คำว่า “ศักดิ์ของกฎหมาย” (Hierarchy of Law) หมายถึงลำดับขั้นของกฎหมาย หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของกฎหมายแต่ละฉบับนั้น พิจารณาได้จากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย หมายความว่ากฎหมายแต่ละฉบับจะมีลำดับชั้นของกฎหมายในระดับใด ให้พิจารณาจากองค์กรที่ออกกฎหมายฉบับนั้น ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ออกโดยองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ คือ รัฐสภา แต่บางกรณีในประเทศที่ด้อยพัฒนาและล้าหลังก็อาจมีองค์กรอื่นเป็นผู้จัดทำกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญได้ เช่น คณะรัฐประหารออกธรรมนูญการปกครอง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นต้น

ผลของการจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่า หรือกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่าได้ให้อำนาจไว้ เช่น รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภาในการออกพระราชบัญญัติ ซึ่งก็เท่ากับว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท ส่วนพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดเป็นกฎหมายลูกบท

2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าจะมีเนื้อหาที่เกินขอบเขตอำนาจที่กฎหมายที่มีศักดิ์กฎหมายสูงกว่าให้ไว้ไม่ได้ มิฉะนั้น จะไม่มีผลบังคับใช้

3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีการขัดหรือแย้งกัน จะต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ามาใช้บังคับไม่ว่ากฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าจะออกเป็นกฎหมายก่อนหรือหลังกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า

ในส่วนของกฎหมายไทยที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่ละฉบับจะมีศักดิ์ของกฎหมายหรือ ลำดับชั้นของกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งหมด พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด เป็นกฎหมายลูกของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ส่วนพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เหล่านี้เป็นกฎหมายที่อาศัยพระราชบัญญัติในการออกเป็นกฎหมาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทยจึงเรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้
1) รัฐธรรมนูญ
2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมาย
3) พระราชกฤษฎีกา
4) กฎกระทรวง
5) กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากกว่ากฎหมายฉบับใด กฎหมายฉบับอื่นจะบัญญัติโดยมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ    พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ฯลฯ หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับใช้

พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการบัญญัติให้กับฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี   จะมีอำนาจในการออกพระราชกำหนดเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติได้ในกรณีพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องการการดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยหลังจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดนั้นแล้ว จะต้องนำพระราชกำหนดมาให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะกลายเป็นกฎหมายถาวร แต่หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะสิ้นผลไป แต่ การดำเนินการใด ๆ ก่อนที่พระราชกำหนดจะสิ้นผลไป ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ภายหลังจะปรากฏว่า พระราชกำหนดนั้นสิ้นผลไปก็ตาม

พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ฯลฯ พระราชกฤษฎีกาจะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่ออกโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญ ดังเช่นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดไม่ได้ รวมทั้งจะบัญญัติเนื้อหาที่เกินขอบเขตของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ไม่ได้ด้วย

ในอดีตรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลของการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวว่าเนื่องจากเกิดความแตกแยกในคณะรัฐมนตรีออกเป็น 2 ฝ่าย ด้วยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย(ฝ่ายหลวงประดิษฐ์มนูธรรม)ต้องการวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่ตามแนวทางอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อีกฝ่ายซึ่งมีเสียงส่วนมากไม่ปรารถนาจะให้เป็นเช่นนั้น เพราะจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชน การที่สภาผู้แทนราษฎรพยายามดำเนินการวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่โดยมีลักษณะประดุจการพลิกแผ่นดินเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องปิดสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว

แต่ผลที่ตามมาคือการรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 ให้มีการเปิดสภาเหมือนเดิม จนในที่สุดพระยามโนปกรณ์ฯต้องไปสิ้นชีวิตที่ปีนังในท้ายที่สุด

ซึ่งเป็นตัวอย่างของการรัฐประหารเงียบด้วยการใช้พระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับที่ต่ำกว่าไปยกเลิกหรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า ซึ่งไม่ถูกต้องตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

หรือว่าจะเอากันอย่างนั้น ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่เอาด้วยครับ

 

----------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2554

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กกต.ประกาศรับรองผล 496 ส.ส. - ยังแขวน "จตุพร"

Posted: 27 Jul 2011 09:37 AM PDT

กกต. บรอง ส.ส.เพิ่มเติมอีก 94 คน ทำให้มี ส.ส.ที่ผ่านการรับรองแล้ว 496คน ขณะที่ "จตุพร" ยังโดนแขวน เหตุคณะอนุกรรมการฯ ยังไม่วินิจฉัยสมาชิกภาพพรรคเพื่อไทย เหตุไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 3 ก.ค.

วอยซ์ทีวี รายงานวันนี้ (27 ก.ค.54) ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.เพิ่มเติมอีก 94 คน ส่งผลให้มียอด ส.ส.ที่ผ่านการรับรองเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้วทั้งสิ้น 496 คน 

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่ม นปช.ซึ่งถูกคุมขังในเรื่อนจำ ไม่ได้รับการพิจารณาให้รับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต. โดย กกต. มีมติ 3:2 ไม่ประกาศรับรองโดยให้เหตุผลว่า คณะอนุกรรมการฯยังไม่วินิจฉัยในประเด็นสมาชิกภาพพรรคเพื่อไทย จากการไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

สำหรับ ส.ส. ที่ได้รับการรับรองในวันนี้ก็มี นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ , นายพายัพ ปั้นเกตุ, นางพรทิวา นาคาศัย

นอกจากนี้ กกต. ยังมีมติสั่งจัดการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) 2 เขต คือที่เขต 3 จ.สุโขทัย ซึ่ง นายจักรวาล ชัยวิรัตนุกูล จากพรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 และ หนองคาย เขต 2 ซึ่งมี นายสมคิด บาลไธสง จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิสาสะกับพฤกษ์ เถาถวิล: คำถามถึงนักปฏิรูป….ก่อนปฏิรูปกันต่อไป

Posted: 27 Jul 2011 09:31 AM PDT

 

บทความของพฤกษ์ เถาถวิล เรื่อง คำถามถึงนักปฏิรูป….ก่อนปฏิรูปกันต่อไป (http://www.prachatai3.info/journal/2011/07/36186) ดูเหมือนว่า พฤกษ์ วิพากษ์วิจารณ์ “ขุนนางเอ็นจีโอ” อย่างให้ความหวังลึกๆ กับ”ขุนนางเอ็นจีโอ” เพื่อให้พวกเขาทบทวน เพื่อจัก”ตาสว่าง”ขึ้นได้

บทความกล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า …ปรากฏการณ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ทฤษฏี “ไม่เป็นเบี้ยล่างในการเมืองของชนชั้นนำ แต่ช่วงชิงใช้ประโยชน์จากสถานการณ์” ซึ่งได้กลายเป็นบรรทัดฐานการเมืองภาคประชาชน จะต้องถูกทบทวน

เสมือนว่า ”ขุนนางเอ็นจีโอ” ยึดหลักคิดที่ว่า “อยู่บนภูดูหมากัดกัน” แต่ผู้เขียนกับมองว่า พวกเขา”ขุนนางเอ็นจีโอ” (ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ) มิเพียงไม่ได้อยู่บนภูเท่านั้น พวกเขาลงแรงลงทุนลงคนร่วมและยืนเคียงข้างฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเลยทีเดียว

พวกเขามีจุดยืน วิธีคิด และผลประโยชน์”แบบปฏิกิริรยาล้าหลัง” ต่างหากที่เป็นปัจจัยให้พวกเขาเคลื่อนไหวเช่นนั้น 

บทความพฤกษ์ ยังพูดถึง ทำนองว่า ”ขุนนางเอ็นจีโอ” มองจังหวะการเคลื่อนไหวที่ดีที่สุด ก็คือจังหวะที่รัฐ/รัฐบาลอยู่ในฐานะเป็นรองทางการเมือง นั่นคือนาทีทองที่ภาคประชาชนจะช่วงชิงโอกาสเข้าไปกดดันให้รัฐ/รัฐบาลตอบสนองข้อเรียกร้องของตน

ผู้เขียนมองว่า ขออ้างดังกล่าวเพียงทำให้ดู “ฉลาด” และฉวยโอกาสเท่านั้นเอง

เนื่องเพราะทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมทั้งการยอมรับการมีส่วนสนับสนุนรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ของอำนาจเผด็จการ คมช . (พวกเขา”ขุนนางเอ็นจีโอ” ชอบวาทกรรม “คนดีมีศีลธรรม” ทั้งระดับตัวบุคคล และระดับองค์กร ควรที่ได้รับการ "แต่งตั้งจาก คมช. ซึ่ง ควรพิจารณา "วิจารณ์ตนเอง” อย่างเร่งด่วนในเรื่อง จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ)

ผู้เขียนได้เห็นการเคลื่อนไหว บทบาทที่ผ่านมา โดยภาพรวมทั่วไป พวกเขา "ขุนนางเอ็นจีโอ” เคลื่อนไหวทั้งโดยตรง เปิดเผย ซ่อนเร้น แนบเนียน ร่วมมืออย่างใกล้ชิด มีระยะห่าง แต่ “ธงเดียวดัน” นั่นคือ เชียร์รัฐประหาร เกลียดทักษิณ เกลียดนักการเมือง (ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์) และไม่เคารพหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง (ลองย้อนดูข่าวสารต่างๆจากสื่อในช่วงนั้นได้)

ผู้เขียนสรุปรวบยอดว่า พวกเขา ”ขุนนางเอ็นจีโอ” ไม่นิยมระบอบประชาธิปไตย เลือกข้างสีเหลือง และรับใช้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยนั่นเอง

ในส่วนของบทบาททีวีไทยนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับพฤกษ์ อย่างยิ่ง และมองประมวลสังเคราะห์แล้วพบว่า ทิศทางหลักของข่าวสารกระทำตนเป็นเครื่องมือของฝ่ายอำมาตยาธิไตย มีฐานความคิดเพื่ออำมาตยาธิปไตย แต่ใช่กลยุทธหลอกลวง

หากไตร่ตรองให้รอบด้านจะเห็นว่า เนื้อแท้ชี้นำหลักของข่าวไม่ยอมรับสิทธการเลือกตั้ง หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน นิยมชมชอบเผด็จการ เชียร์การรัฐประหารมาตลอด เสนอวาทกรรม นักการเมืองเลว แต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ตรวจสอบ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ระบบอำมาตย์ มือที่มองไม่เห็น บทบาทกองทัพ

ทีวีไทยได้ร่วมมือกับขุนนางเอ็นจีโอ และขุนนางนักวิชาการที่ไม่นิยมประชาธิปไตย สร้างภาพ ตลอดทั้งหลายครั้งที่ผ่านมาว่า กระทำข่าว “เพื่อภาคประชาชน” แต่เป็นการสร้างพรรคพวกประชาชนส่วนน้อยของขุนนางเอ็นจีโอ แต่ไม่ยอมรับเสียงประชาชนส่วนใหญ่ในแผ่นดิน

สร้างภาพเหมือนต้องการแก้ไขปัญหาประชาชน ดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ไม่นิยมประชาธิปไตย

สร้างความเชื่อว่า ปัญหาดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม ฯลฯ สำคัญกว่าประชาธิปไตยของประเทศ ในช่วงที่มีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น กลับไม่ทำหน้าที่และบิดเบือน (โฉนดชุมชนก็ยังไม่คืบหน้า แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์สร้างภาพได้ใหญ่โต ในช่วงที่ถูกวิจารณ์สังหารคนเสื้อแดงกลางเมืองหลวง)

รวมทั้งหลายครั้งเสนอชี้นำข่าวสารที่ล้าหลังโดยเฉพาะเรื่องพิพาทไทย-เขมร ได้เสนอชี้ชวนให้ประชาชนคนดูคลั่งชาติและบ้าสงครามกับเพื่อนบ้านตามแนวทางเดียวกันกับพันธมิตรฯ

จึงเป็นเพียง “สื่ออิสระจอมปลอมและปฏิกิริยาล้าหลัง” แต่สร้างภาพให้ดูดี มีส่วนประกอบบางรายการให้เสมือนเป็นสื่อที่เป็นกลาง อิสระ รักความเป็นธรรม แต่ภาพรวมรับใช้ระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างมิอาจปฎิเสธได้

ผู้บริหารบางคนก็เป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ยิ่งใหญ่แห่งสำนักข่าวเดอะเนชั่น ที่จุดยืนรับใช้พรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน?

ขอชวนพฤกษ์ มองเลยไปจากบทความว่า พวกเขา “ขุนนางเอ็นจีโอ” ยังได้เข้ายึดครองตำแหน่ง “องค์กรอิสระ” ซึ่งโดยปรัชญาพื้นฐานขององค์กรอิสระ ต้องรับทำหน้าที่ ส่งเสริมสนับสนุน และมีจุดยืนเคียงข้างระบอบประชาธิปไตย

โดยพวกเขา ขุนนางเอ็นจีโอ สยายปีกได้ส่วนหนึ่ง พวกเขายึดองค์กรอิสระ (อิสระจากประชาธิปไตย) ที่สำคัญคือ สสส. สกว. พอช. สถาบันพัฒนาการเมือง

และการเคลื่อนไหวในรอบห้าปีที่ผ่าน กลับปรากฎให้เห็นธาตุแท้ของพวกเขาเหล่านั้น หาได้กระทำตนเช่นปรัชญาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

กลับกระทำตนฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ แม้ชอบอ้างกันเองว่าพวกตนเป็น “คนดีมีศีลธรรม”

ถึงเวลาต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร สสส. สกว. พอช. สถาบันพัฒนาการเมือง เพื่อไม่ให้บุคคลที่สนับสนุนอำนาจพิเศษทั้งหลายครอบงำองค์กรอิสระเหล่านี้ เพื่อมิให้ลัทธิประเวศและลัทธิอานันท์มีอิทธิพลต่อหลายองค์กรเหล่านี้อย่างที่เห็นและเป็นอยู่

เพื่อมิให้บุคคลเหล่านี้ใช้อำนาจสืบทอดตำแหน่งกันภายในแวดวงแคบๆ ของพวกเขา และอ้างเป็น “ภาคประชาชน” ซึ่งมักจะอนุมัติงบประมาณกันภายในกลุ่มของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด ไม่ทราบว่าใช้งบประมาณส่วนนี้ด้วยหรือไม่ ? 

ไม่เคยเปิดเผยฐานะการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใส หลายคนมีหลายตำแหน่ง ไม่ทราบว่ารับเงินเดือนหลายตำแหน่งด้วยหรือไม่ ? จึงต้องดำเนินการตรวจสอบ เปิดเผยข้อเท็จจริง

”ขุนนางเอ็นจีโอ”ยังร่วมมือกับ”ขุนนางวิชาการ” อีกหนึ่งองค์กร คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในห้วงที่อำนาจเผด็จการอำมาตย์คมช.หยิบยื่นให้ ซึ่งปัจจุบันคณะญาติวีรชน กำลังเรียกร้องให้ลาออกอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมานั้นได้กระทำตนเป็นกรรมการปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐ โดยเฉพาะกรณีการล้อมปราบสังหารประชาชน 92 ศพ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ขณะนี้

ทั้งใช้งบประมาณจำนวนมาก ทั้งเงินเดือน ทั้งรถประจำตำแหน่ง แต่กลับไม่รับใช้ประชาชนที่ถูกเข่นฆ่ากลางเมืองหลวง ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนเหมือนชื่อองค์กร

ผู้เขียน จึงมิอาจฝากความหวังให้กับ “ขุนนางเอ็นจีโอ” ได้ เพราะห้วงห้าหกปีที่ผ่านมา ย่อมพิสูจน์ ธาตุแท้ กันได้แล้วกระมั้ง ? 

ว่า พวกเขาคือ “พลังปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมล้าหลัง” หาใช่ “พลังก้าวหน้าเพื่ออนาคต ” แต่อย่างใด

พฤกษ์ว่าไหม ?

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานพิเศษ : โวหารแบ่ง 'ขาวกับดำ' คือชนวนระเบิดตัวจริงของเหตุร้ายในนอร์เวย์

Posted: 27 Jul 2011 09:12 AM PDT

เหตุการณ์สะเทือนขวัญในประเทศอย่างนอร์เวย์ กลายเป็นตราประทับของความโหดร้ายอีกกรณีหนึ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน ทั้งเหตุระเบิดสถานที่ราชการและการกระหน่ำยิงเยาวชนในค่ายของพรรคแรงงาน 

สิ่งที่ตามมาหลังเหตุร้ายคือการเสาะหาบางสิ่งบางอย่างเพื่อที่จะประณาม และสิ่งที่สื่ออเมริกันจะยกมาประณามนั้นก็ไม่พ้นต้องเป็นกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิมหรืออะไรที่ใกล้เคียงกัน และพวกเขาคงช็อคมากเมื่อพบว่าผู้ก่อเหตุที่ยอมรับสารภาพ จริงๆ แล้วเป็นฝ่ายขวาที่เกลียดชังนโยบายพหุวัฒนธรรมเสียอีก 

รายงานชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการเจาะจงว่าแนวคิดการเมืองหรือศาสนาใดที่ทำให้เกิดความรุนแรง แนวคิดทางการเมืองและศาสนาเพียงอย่างเดียวไม่เคยทำให้ความรุนแรงหากมีความอดกลั้นและยอมรับความต่าง เพียงแต่รายงานชิ้นนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งจากการเมืองฝั่งตะวันตก และการใช้สื่อในการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังผู้มีความคิดทางการเมืองตรงกันข้ามหรือมีความเชื่อต่างกัน

อาการตื่นกลัวเกินเหตุของสื่อโลกตะวันตก
ทันทีที่เกิดเหตุ ทอม ลิสเตอร์ จากสำนักข่าว CNN ผู้ท่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ก่อการอุกฉกรรจ์เช่นนี้ เขาก็เริ่มกล่าวหาโดยโยงถึงกลุ่มมุสลิมเสียแล้ว "มันอาจจะเป็นฝีมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกว้างๆ แต่ประเด็นคือ อัล-เคด้า ในตอนนี้ไม่ได้มีความเป็นองค์กรสักเท่าใดแล้ว มันน่าจะเป็นจิตวิญญาณของคนกลุ่มนี้มากกว่า ที่เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน" ลิสเตอร์ถึงขั้นสัญนิษฐานถึงแรงจูงใจของพวกเขาอย่างมั่นใจ

"พวกคุณต้องลองดูที่เป้าหมายที่เป็นที่ทำการนายกรัฐมนตรี และสำนักงานของหนังสือพิมพ์ค่ายใหญ่ที่อยู่ติดกัน มันดูเกี่ยวโยงกันยังไงน่ะหรือ ก็เพราะหนังสือพิมพ์ของนอร์เวย์ได้ตีพิมพ์การ์ตูนล้อพระศาสดามูฮัมหมัดที่ถือเป็นการลบหลู่สำหรับโลกมุสลิม... นี่คือประเด็นที่สร้างความคับแค้นให้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก"

ขณะที่ พอล ครุกแชง นักวิเคราะห์ด้านการก่อการร้ายของ CNN ก็กล่าวออกอากาศในวันเดียวกันว่า "นอร์เวย์ตกเป็นเป้าหมายของ อัล-เคด้า มาระยะหนึ่งแล้ว" เขาบอกด้วยว่าเหตุระเบิดนี้ "เป็นตราประทับขององค์กรก่อการร้าย อัล-เคด้า ในตอนนี้" ถึงค่อยพูดเสริมว่า "พวกเราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำ"

ในรายการโอ รีลลี่ส์ แฟกเตอร์ ของช่อง Fox News Channel ผู้ร่วมรายการที่ชื่อ ลอร่า อินกราแฮม ประกาศว่า "การก่อการร้ายในนอร์เวย์ น่าจะเป็นผลงานของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอีกแล้ว" 

แม้กระทั่งหลังจากที่บรีวิค คนร้ายตัวจริงถูกทางการจับกุมตัวแล้ว จอห์น โบลตัน อดีตเอกอัครราชฑูตประจำสหประชาชาติในสมัยรัฐบาลบุชก็ยังไม่เชื่อ เขาบอกว่าพฤติกรรมเช่นนี้ดูไม่น่าจะเป็นฝีมือชาวนอร์เวย์ น่าจะเป็นภัยทางการเมืองในระดับวงกว้างมากกว่าฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวา โดยก่อนหน้านี้โบลตันกล่าวว่ามันน่าจะเป็นการก่อการร้ายของชาวมุสลิมเนื่องจากมีกลุ่มผู้อพยพจากตะวันออกกลางเข้ามาในนอร์เวย์อยู่จำนวนหนึ่ง

บทบรรณาธิการของ วอล สตรีท เจอร์นัล ถึงขั้นบอกว่าเหตุที่เกิดขึ้นนี้ เป็นราคาที่ชาวนอร์เวย์ต้องจ่ายให้กับการที่นอร์เวย์ธำรงไว้ซึ่งความอดกลั้นและเสรีภาพ และแม้กระทั่งว่าคนร้ายตัวจริงถูกจับกุมตัวแล้ว บทบรรณาธิการของ วอล สตรีท เจอร์นัล ก็ยังคงแสดงความอคติอย่างไม่ลดรา โดยระบุว่า คนร้ายได้แรงบันดาลใจมาจาก อัล-เคด้า "การก่อการร้ายโดยเจาะจงเป็นลายเซนต์ของพวก อัล-เคด้า แต่พวกลอกเลียนที่มีเป้าหมายต่างกันก็อาศัยวิธีการแบบเดียวกัน"

"ทีโมธี แมคเวจ และ แอนเดอร์ บรีวิค ใช้ระเบิดและกระบอกปืน ส่วนพวกคลั่งลัทธิใช้โวหารและนโยบาย"
ไม่ใช่เรื่องใหม่กับนิสัย 'ด่วนสรุป' โดยเฉพาะเรื่องการประณามว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริง เรื่องนี้มีมาตั้งแต่เหตุระเบิดในโอคลาโฮมาเมื่อปี 1995 มาแล้ว มีนักวิจารณ์หลายท่านออกมาให้ความเห็นว่าต้องเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางเป็นแน่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งเหตุในนอร์เวย์ปี 2011 และในโอคลาโฮมาปี 1995 ล้วนเป็นฝีมือของกลุ่มฝ่ายขวาหัวรุนแรงโดยทั้งสิ้น

ในปี 1995 เหตุระเบิดในโอคลาโฮมาเป็นฝีมือของ ทีโมธี แมคเวจ ทหารผ่านศึกเหรียญตราทองแดงจากสงครามอ่าว ขณะที่ในปี 2011 เป็นผลงานของแอนเดอร์ เบอห์ริง บรีวิค ผู้ชิงชังอิสลาม มาร์กซิสม์ และแนวทางพหุวัฒนธรรม ทั้งสองต่างเชื่อว่ารัฐบาลในสมัยของตนกำลังทำลายสิ่งที่พวกตนเชื่อถือ

ปิแอร์ ทริสแทรม บรรณาธิการเว็บข่าว FlagierLive.com เขียนแสดงความเห็นว่าผู้ก่อการทั้งสองรายนี้ต่างก็เป็นผู้มีความคิดเอียงขวาและเป็นคนที่เชื่อว่าเชื้อชาติของคนผิวขาวเหนือกว่าเชื้อชาติอื่น และในขณะที่สื่อของอเมริกันต่างออกความเห็นอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอิสลาม พวกสื่อเหล่านี้เองก็เผยให้เห็นความคลั่งลัทธิของตนเองอยู่ ส่วนเหล่านักการเมืองและนักวิจารณ์เคร่งลัทธิเหล่านี้เองก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ทั้งที่พวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดปีศาจในตัวชายสองคนนี้แท้ๆ

"ทั้งแมคเวจและบรีวิคต่างก็เป็นผู้ที่ย้ำเตือนถึงบาปกำเนิดของวัฒนธรรมตะวันตก คือการเชื่อว่าเชื้อชาติของตนเหนือกว่า ซึ่งบาปนี้ยังคงอยู่และติดตัวคนจำนวนมากจนเป็นชนวนให้เกิดสิ่งต่างๆ" ทริสแทรมกล่าวอีกว่า นอร์เวย์ก็เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปและในสหรัฐฯ ที่อยู่ท่ามกลางการฟื้นคืนของผู้คลั่งไคล้ฝ่ายขวา 

ในรายงานของ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ เสนอว่าพรรคการเมืองบางกลุ่มมีการพยายามเน้นย้ำความรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ของชาติ โดยการพยายามนำการวิพากษ์วิจารณ์ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ รวมถึงชาวมุสลิม ตามร้านเหล้าและในอินเตอร์เน็ตเข้ามาสู่นโยบายการเมืองกระแสหลัก ทำให้แม้ว่าพรรคการเมืองอาจจะไม่ได้ลงมือก่อความรุนแรงด้วยตนเอง แต่ก็ทำให้เกิดบรรยากาศของความเกลียดชังในข้อถกเถียงทางการเมือง นำพาให้เกิดความรุนแรงในระดับปัจเจกบุคคล

"สังคมที่เน้นการอยู่ร่วมกัน ความอดกลั้น การเปิดใจกว้าง และแน่นอนว่าแนวคิดพหุวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้กำลังถูกล้อมปราบโดยแนวคิดเคร่งลัทธิซึ่งเกิดขึ้นในทุกๆ ส่วนของสังคม ทั้งในด้านวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา" ทริสแทรม กล่าวในบทความ "ทีโมธี แมคเวจ และ แอนเดอร์ บรีวิค ใช้ระเบิดและกระบอกปืน ส่วนพวกคลั่งลัทธิใช้โวหารและนโยบาย"

ระวังการมองแบบขาวกับดำ
เหล่าประเทศในสหภาพยุโรปเปิดรับเหล่าผู้อพยพจากภายนอกและการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของประชาชน ซึ่งตรงจุดนี้ก็ค่อยๆ ก่อความไม่พอใจให้กับกลุ่มชาตินิยม นโยบายการอพยพอย่างเสรีในกลุ่มประเทศยุโรปทำให้ เกิดผู้อพยพเข้าประเทศจำนวนมาก ทั้งผู้ที่หนีจากภัยต่างๆ และผู้ที่เข้ามาเพื่อหาแหล่งทำมาหากิน และจำนวนมากเป็นชาวมุสลิม ทำให้เหล่าพรรคการเมืองฝ่ายขวาหยิบยกประเด็นนี้มาเพื่อพยายามเรียกร้องความสนใจ

อย่างไรก็ตามบทความของ ฮวน โคล อาจารย์สอนด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางและเอเชียใต้จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ก็ย้ำเตือนว่าอย่าได้มองอะไรเป็นขาวกับดำ 

โคลเขียนระบุในบทความเรื่องมุมมองการอพยพว่า การอพยพนั้นไม่ใช่กระบวนการที่ราบลื่นและจากประวัติศาสตร์ในสหรัฐฯ กลุ่มสังคมผู้อพยพไม่เคยอยู่ในข่ายที่ 'เหนือกว่า' แต่บรีวิค ผู้ก่อเหตุในออสโลกลับมองว่า ผู้อพยพเป็นภัยต่ออัตลักษณ์ของยุโรป เขากลัวว่ายุโรปจะกลายเป็นเพียงอิหร่านขนาดใหญ่หากชาวตะวันออกกลางอพยพเข้ามาเรื่อยๆ

โคลบอกว่าการแบ่งแยกว่าชาวคริสต์คือยุโรปนั่นฟังดูเขลา เนื่องจากอิสลามเป็นศาสนาที่มีอยู่ในยุโรปมากว่า 1,400 ปีแล้ว และเช่นเดียวกับที่ชาวคาโธลิกที่อพยพเข้าไปในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ชาวมุสลิมในยุโรปก็มีความหลากหลายด้านแนวคิดทางสังคมและการเมือง แต่ขณะเดียวกันมีจำนวนมากที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และที่เหลือก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ฉะนั้นการที่ผู้อพยพจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมยุโรปอย่างที่บรีวิคกลัวนั้นเป้นไปได้ยาก

อาจารย์จากมิชิแกนยังได้พูดถึงความกลัวอีกอย่างหนึ่งของบรีวิค คือเรื่องการมองจุดยืนทางการเมืองของประเทศในยุโรปแบบขาวกับดำ เขามองว่าแนวคิดแบบกลางเอียงซ้าย (Left of Center) ในยุโรปนั้นกำลังเป็นการควบรวมเข้ากับแนวคิดมาร์กซิสม์ ซึ่งในทางตรงกันข้ามแล้วโคลมองว่าพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกับบรีวิคกำลังโตขึ้นในยุโรปด้วยซ้ำ พรรคฝ่ายขวาที่เคยถูกรังเกียจในสวีเดนและฟินแลนด์ ก็เริ่มมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างหน้าจับตา

เช่นพรรคสวีเดนเดโมแครต (SD) ซึ่งเรียกตัวเองว่าพรรคซ้ายจัดก็ได้เสนอนโยบายตัดงบประมาณสำหรับผู้อพยพร้อยละ 90 และหัวหน้าพรรคก็เขียนโจมตีผู้อพยพอย่างเปิดเผย ทำให้ในการเลือกตั้งสวีเดนปี 2010 พรรคสวีเดนเดโมแครตก็ข้ามพ้นกำลังร้อยละ 4 ซึ่งเป็นคะแนนเสียงขั้นต่ำสำหรับการได้มีที่นั่งในสภาได้สำเร็จ

"การเป็นกังวลเรื่องผลกระทบจากผู้อพยพไม่ใช่เรื่องอันตราย การต่อต้านแนวคิดทางการเมืองแบบเอียงซ้ายก็เป้นสิทธิของทุกคนในระบอบประชาธิปไตย การไม่เห็นด้วยในเรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องปกติ" โคลกล่าว

"แต่เมื่อคุณได้ยินคนเอาเรื่องพวกนี้มายำรวมกัน เมื่อคุณได้ยินพวกเขาใช้โวหารแบ่งขาวดำชัดเจน เมื่อคุณได้ยินการพูดถึงภัยต่อการดำรงคงอยู่ และเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อคุณเห็นพวกเขาพยายามทำให้เชื่อว่าการเคลื่อนไหวเล็กน้อยที่พวกเขาชิงชังกำลังจะก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงและโดยทันใด เมื่อนั้นแหละที่คุณควรจะกลัว กลัวมากๆ เพราะนั่นคือเวลาที่พวกสุดโต่งเหล่านี้กำลังเรียนรู้ถึงความเกลียดชัง และจะแปลงมันให้กลายเป็นความรุนแรง" โคลกล่าวในบทความ

"สิ่งที่บรีวิคต้องการจะสื่อจริงๆ คือ พวกเราควรจะสูดหายใจลึกๆ และถอยห่างออกมาจากสภาวะที่ล่อแหลมเช่นนี้"

 

ที่มา
รายงานของกลุ่ม Fairness & Accuracy In Reporting (FAIR), 25-07-2011
http://www.commondreams.org/newswire/2011/07/25-4

The Greater Threat: Christian Extremism From Timothy McVeigh to Anders Breivik, FlagierLive, 24-07-2011
http://flaglerlive.com/25667/pt-mcveigh-breivik

Norway Attacks Put Spotlight on Rise of Right-Wing Sentiment in Europe, The New York times, 23-07-2011
http://www.nytimes.com/2011/07/24/world/europe/24europe.html?_r=1

The bombs in Afghanistan have landed in Norway, Jesse McLaren (blog), 25-07-2011
http://rabble.ca/blogs/bloggers/jesse/2011/07/bombs-afghanistan-have-landed-norway

When Extremism Learns to Blow things Up, Informed Comment, 24-07-2011
http://www.juancole.com/2011/07/when-extremism-learns-to-blow-things-up.html

ข้อมูลประกอบ
http://en.wikipedia.org/wiki/Sweden_general_election,_2010

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว

Posted: 27 Jul 2011 08:57 AM PDT

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี สิ้นพระชมม์แล้ว โดยพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี - พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในสำนักพระราชวังไว้ทุกข์มีกำหนด 100 วัน

วันนี้ (27 ก.ค.) เวลา 16.37 น.สำนักพระราชวัง อออกแถลงการณ์เรื่อง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ ความว่า

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ หลังจากที่ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในพระกระแสโลหิต ณ ตึก 84 ปี ชั้น 5 ด้านตะวันออกโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.54 แม้คณะแพทย์จะถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด จนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในสำนักพระราชวังไว้ทุกข์มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชนุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระ ศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น.เริ่มตั้งแต่วันนี้ 28 ก.ค.54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทุนนิยาม101: สหภาพแรงงานและนโยบายค่าแรง 300 บาท

Posted: 27 Jul 2011 07:26 AM PDT

รายการทีวีออนไลน์ "ทุนนิยาม 101" (Introduction to Capitalism 101) โดยกลุ่มทุนนิยมที่สังคมกำกับ (Embedded Capitalism) ดำเนินรายการโดย "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" นำเสนอตอนที่สอง "สหภาพแรงงาน และนโยบายค่าแรง 300 บาท" โดยเชิญ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อนุชา มีทรัพย์ อดีตประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ร่วมถก

โดยรายการ "ทุนนิยาม101" ตอนนี้ "อนุชา มีทรัพย์" เล่าถึงการก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ซึ่งมีแรงผลักดันมาจากการถูกตัดสวัสดิการของคนงานในโรงงานเจียระไนอัญมณี คนงานในโรงงานเจียระไนอัญมณีดังกล่าวอาศัยวันหยุดในแต่ละสัปดาห์เรียนรู้กฎหมายสิทธิแรงงาน ว่านายจ้างทำอะไรได้บ้าง ลูกจ้างทำอะไรได้บ้าง

"สหภาพแรงงานเป็นทางออกเดียวที่หากว่าลูกจ้างอย่างเราๆ จะอยากเปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่ใช่เงินทองก็ได้ อยากเปลี่ยนเป็นสภาพการจ้างที่ไม่ปลอดภัยก็ได้"

หลังการตั้งสหภาพแรงงาน อนุชาและแกนนำสหภาพแรงงาน ต้องเผชิญการทำลายสหภาพแรงงานโดยฝ่ายผู้บริหาร มีอนุชาถูกฟ้องเลิกจ้างหลายครั้ง รวมทั้งการกดดันหลายรูปแบบในสถานที่ทำงาน แต่คนงานทั้งในโรงงานที่เขาทำงาน และโรงงานอื่นที่ประกอบกิจการเจียระไนอัญมณีเหมือนกันก็สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

ด้านอาจารย์ "วรวิทย์ เจริญเลิศ" กล่าวว่า ในกรณีนี้เมื่อมีการตั้งสหภาพแรงงาน ก็มักจะมีการเลิกจ้าง เพื่อทำให้สหภาพแรงงานล้มลง ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานจะต้องได้รับการคุ้มครองจริงๆ ก็ต้องมีการยอมรับเสรีภาพในการตั้งสหภาพแรงงาน ตามอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยังไม่ยอมรับอนุสัญญาดังกล่าว เมื่อยังไม่ยอมรับอนุสัญญาดังกล่าว เวลาผู้นำแรงงานถูกเลิกจ้างก็ต้องไปใช้วิธีฟ้องร้องในศาล ซึ่งเสียเปรียบ

ในกรณีที่ไทยลงนามในอนุสัญญา ILO ฉบับดังกล่าว ถ้ากรรมการสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้าง ทางสหภาพแรงงานก็สามารถทำเรื่องร้องเรียนไปยัง ILO ให้ตรวจสอบได้ ซึ่งถ้าไม่เป็นธรรม ILO ก็จะทำรายงานให้รัฐบาลไทยเข้าไปดู คือจะไม่ใช่เรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือศาลเท่านั้น แต่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถร้องเรียนหากเกิดการละเมิด

ส่วนในการที่ดีที่สุดที่คนงานจะรักษาสหภาพแรงงานไว้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสหภาพแรงงานจะเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งสหภาพแรงงานแล้วมีการเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้นำและคนงานในสหภาพแรงงานก็ต้องเป็นเสียงเดียวกัน จึงคิดว่าไม่ใช่แค่อนุสัญญา ILO เท่านั้นจะช่วย ที่จริงอยู่ที่พลังของผู้ใช้แรงงาน

วรวิทย์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สหภาพแรงงานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะที่ในนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ลำพูน เพิ่งมีสหภาพแรงงาน 2 แห่ง โดยที่คนงานไม่ทราบสิทธินี้เลย และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมีแนวโน้มที่จะให้คนงานประนีประนอม แทนที่จะรักษาสิทธิให้คนงานกลับให้คนงานยอมเสีย ให้เรื่องมันจบไป เพื่อรักษาบรรยากาศในการลงทุน และลักษณะพิเศษของ จ.ลำพูน คือมีนิคมอุตสาหกรรม เป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเชียงใหม่ แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับต่ำกว่า จ.เชียงใหม่ และลำพูนแรงงานมีอยู่มากมายแต่แทนที่รัฐจะเข้ามารักษาสิทธิ กลับการเป็นรัฐกับทุนในยุคกลับไปสนับสนุนซึ่งกันและกัน ผู้ใช้แรงงานเลยรู้สึกอำนาจต่อรองไม่ดี รัฐควรเข้ามาเสริมให้คนที่อ่อนแอกว่ามีอำนาจต่อรองและให้เขาเจรจากัน ทำให้สังคมมันอยู่กันได้ แต่รัฐกลับเป็นอุปสรรคด้วย ส่วนนายจ้างโดยปกติเขาก็คิดว่าอยู่เมืองไทยแล้ววันหนึ่งเขาก็ไป

ส่วนกรณีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น อดีตประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์กล่าวว่า ทุกวันนี้รายได้ของคนงาน นอกจากค่าแรงขั้นต่ำ รวมกับสวัสดิการอื่นๆ และการทำงานล่วงเวลา ก็ได้รายได้ต่อวันเกิน 300 บาทแล้ว โดยอนุชาประเมินว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 น่าจะทำได้จริง ไม่มีปัญหา แต่โรงงานอาจใช้วิธีไปตัดสวัสดิการออก แต่ยังดีเพราะสวัสดิการ กับเงินเดือนหรือค่าแรงขั้นต่ำนั้นต่างกัน ค่าแรงขั้นต่ำถ้าเรามาทำงานก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว แต่สวัสดิการ ถ้าเราเจ็บป่วยมาทำงานไม่ได้ก็ไม่ได้สวัสดิการ นอกจากนี้ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ก็จะทำให้การทำงานล่วงเวลา และทำงานวันหยุดก็จะยิ่งได้ค่าตอบแทนเพิ่ม คิดถ้าเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ๆ น่าจะทำได้ แต่อุตสาหกรรมเล็กน่าจะมีปัญหา

ส่วนการทำงานโดยรับแค่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 169 บาท ถามว่าพอไหม ตอบได้เลยว่าไม่ได้ ที่คนงานอยู่ได้ทุกวันนี้อยู่กันด้วยการทำโอทีและการทำงานวันหยุด ถ้ารับค่าแรงขั้นต่ำจริงๆ ไม่มีใครอยู่ได้ ถ้าอยู่แบบทำ 8 ชั่วโมงล้วนๆ ได้ค่าสวัสดิการนิดหน่อย ค่ากับข้าว 20 บาท ค่าน้ำมัน 10 บาท ไม่มีโอที ไม่มีฮอลิเดย์ ได้วันละ 200 กว่าบาท คิดว่าอยู่กันไม่ได้

ด้านวรวิทย์ กล่าวว่า "ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ต่างเห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรง พรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นค่าแรง 25% เพื่อไทยเสนอ 300 บาท ก็คือขึ้นค่าแรง 45% เพราะฉะนั้นถ้าคนเขาเลือกเพื่อไทยมาถือว่ามีนัยยะที่สำคัญ คือ เขาเลือกการเมืองแบบนี้"

"ถามว่า 300 บาทควรไหม ควร เพราะคนงานกว่าจะทำงานได้วันละ 300 บาท ต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง บวก 3 ชั่วโมงคือโอที คือคนงานไทยทำงานมากเกินไป ควรทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แล้วมีวันหยุดอย่างน้อย 2 วัน"

ส่วนข้อโต้แย้งจากฝ่ายทุนที่ว่าการขึ้นค่าแรงจะเป็นการเพิ่มต้นทุนนั้น วรวิทย์กล่าวว่า อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการที่เน้นการใช้แรงงานราคาถูก ส่วนกิจการที่ใช้แรงงานที่มีทักษะ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์เขาพยายามดึงแรงงานที่มีฝีมือเข้ามาทำงาน โดยให้ค่าจ้างสูงกว่า 300 บาทต่อวัน คือจริงๆ แล้วเขาจ่ายได้ แล้วเราต้องการให้แรงงานไทยเป็นแรงงานใช้ฝีมือและรัฐต้องสนับสนุน คือไทยต้องออกจากการพัฒนาแบบนี้ที่เน้นใช้ค่าแรงถูกเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน

วรวิทย์ประเมินว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทนี้น่าจะทำได้ ขณะเดียวกันต้องทำเป็นระยะ ไม่ใช่ดำเนินมาตรการนี้ทีเดียว เช่น รัฐบาลควรกำหนดว่าสองปีนี้จะไปสู่จุดนี้ และถ้าไปสู่จุดนี้จะมีมาตรการอื่นอย่างไร เช่น จะทำอย่างไรไม่ให้สินค้าราคาสูง ขณะเดียวกันจะมีวิธีการอื่นไหมที่จะช่วยผู้ประกอบการที่ติดนิสัยใช้แรงงานราคาถูก ให้ปรับยุทธวิธีมาทำในสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคนงานดีขึ้น

"อีกอย่างที่ควรทำควบคู่กันคือจะทำอย่างไรไม่ใช่แค่ให้ค่าจ้าง 300 บาท แต่ควรคิดว่าจะจัดสวัสดิการให้แรงงานกลุ่มอื่นอย่างไร อย่างน้อยแรงงานที่อยู่นอกระบบอย่างน้อยก็ต้องได้รายได้ที่เป็นธรรม หรือมีสวัสดิการ ถ้าเน้นทั้งค่าจ้างและสวัสดิการก็จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น" วรวิทย์กล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา 1 สิงหาคม 2554

Posted: 27 Jul 2011 06:28 AM PDT

พระเจ้าอยู่หัวฯ ตราพระราชกฤษฎีกาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมรัฐสภา 1 ส.ค. นี้

วันนี้ (27 ก.ค.) สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การเปิดประชุมรัฐสภา โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 แล้ว

ตามความในมาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 127 มาตรา 128 และมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ในวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมรัฐสภา ดังต่อไปนี้

วันจันทร์ที่ 1 ส.ค.ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

เวลา 17.00 น.เสด็จฯออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมทั่ง แตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา

จบแล้วมหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับการแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเติมยศ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กระทรวงการต่างประเทศอัดสถานทูตเยอรมนีพาดพิงฯ โดยมิบังควร

Posted: 27 Jul 2011 06:03 AM PDT

กระทรวงการต่างประเทศตอบโต้การแถลงข่าวของเอคอัครราชทูตเยอรมนี ย้ำเป็นการพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ลงทุนเอกชน ไม่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และรัฐบาลเยอรมนีก็ไม่ใช่คู่กรณี โอดผิดหวังต่อท่าทีและการกระทำของรัฐบาลเยอรมนี และพาดพิงฯ โดยมิบังควร

เวลาประมาณ 19.08 น. วันนี้ (27 ก.ค.) เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ "แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศต่อเอกสารแถลงข่าวของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

000

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศต่อเอกสารแถลงข่าวของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ, 27 กรกฎาคม 2554 19:08:46

ตามที่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยได้ออกเอกสารแถลงข่าวเมื่อวัน ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรีบดำเนินการชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทวาลเทอร์ เบา โดยมีข้อความพาดพิงถึงการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นั้น

กระทรวงการต่างประเทศขอแถลงเป็นการย้ำอีกครั้งว่า กรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทวาลเทอร์ เบา เป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับผู้ลงทุนเอกชน  ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบในนามของรัฐบาลไทย โดยกรณีพิพาทนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่ประการใดกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรัพย์สินส่วนพระองค์ พระองค์ทรงเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คู่พิพาทในกรณีดังกล่าว และเช่นเดียวกัน รัฐบาลเยอรมนีก็ไม่ใช่คู่กรณี

กระทรวงการต่างประเทศขอแถลงด้วยว่า ฝ่ายไทยได้แจ้งข้อเท็จจริงข้างต้นให้แก่รัฐบาลเยอรมนีแล้วในทุกระดับตั้งแต่ ต้น ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีก็น่าจะตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงนี้ และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงรู้สึกผิดหวังต่อท่าทีและการดำเนินการของรัฐบาลเยอรมนี ดังเอกสารแถลงข่าวล่าสุดของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ซึ่งยังคงพาดพิงถึงการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยใช่เหตุ และโดยมิบังควร

กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะรักษาและดำรงไว้ซึ่งพระ เกียรติยศของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รวมทั้งกำลังดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เรื่องเกี่ยวกับการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ยุติลงอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพแรงงานย่านรังสิตหนุนนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท

Posted: 27 Jul 2011 05:44 AM PDT

สหภาพแรงงานย่านรังสิตยื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทยหนุนปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนงาน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลคุมราคาสินค้าไม่ให้ขึ้นโดยไม่มีเหตุอันควร

วันนี้ (27 ก.ค.) สำนักข่าวแห่งชาติรายงานว่า นายเสน่ห์ ชุ่มหฤทัย ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ประกอบด้วย สหภาพแรงงาน และองค์กรชุมชนที่เป็นสมาชิก 32 องค์กร พร้อมด้วยประชาชนผู้ใช้แรงงาน 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผ่านทาง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โดยเนื้อหาในเอกสารระบุว่า ขอให้พรรคเพื่อไทย สนับสนุนนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน รวมทั้งรัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ให้ขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลอันควร ทั้งนี้ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต คาดหวังว่า พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการ ตามนโยบายที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง และขอเป็นกำลังใจให้พรรคเพื่อไทย สามารถดำเนินนโยบายให้สำเร็จลุล่วงไปได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์"ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์": ความท้าทายทางการทูตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1

Posted: 27 Jul 2011 04:32 AM PDT

ประชาไท” สัมภาษณ์ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ถึงความท้าทายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ในการฟื้นฟูภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ

ในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ ปวินตอบคำถามเรื่องสิ่งท้าทายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องเผชิญหน้าว่า "ต้องเข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันเกิดความวุ่นวายหลายอย่าง และไทยเสียความเชื่อถือด้านการต่างประเทศไปอย่างมาก เราเปิดโอกาสให้นักการเมืองใช้ประโยชน์ทางการทูต ใช้เป็นเครื่องมือทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง โดยที่มองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำอยู่จะส่งผลร้ายอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กรณีที่เห็นชัดๆ คือกรณีไทย-กัมพูชา"

เพราะฉะนั้นคิดว่า คุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) มีอุปสรรคอย่างมาก เริ่มตั้งแต่จะสามารถการรัฐมนตรีต่างประเทศ บุคคลนั้นจะเป็นใครนักการเมือง หรือเทคโนแครต มีความเข้าใจการเมืองการต่างประเทศดีมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะสิ่งที่ละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

อีกจุดหนึ่งเป็นเรื่องนโยบาย ถึงเวลาแล้วให้ความสำคัญไม่ใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่รวมถึงประเทศอาเซียนด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลาง ไม่ใช่มหาอำนาจ แต่เราก็ไม่ใช่ประเทศเล็ก เพราะฉะนั้นคิดว่าจุดแข็งของเราขึ้นอยู่กับการรวมมือประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่สามารถที่จะโดดเด่นขึ้นมาประเทศเดียวได้ ต้องพึ่งประเทศในอาเซียน ถึงเวลาแล้วที่ผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์ต้องหาประโยชน์จากตรงนี้ แสดงบทบาทของเรามากขึ้นในเวทีอาเซียน ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้เลย มิหนำซ้ำเรายังไม่ให้ความสำคัญอาเซียน คือโดดเดี่ยวอาเซียนไปเลย ซึ่งผมเห็นว่าเป็นแนวทางที่ผิด

ปวินกล่าวด้วยว่า นักการทูตส่วนใหญ่คงจะต้องเข้าใจว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่สามารถแยกออกจากประเด็นทางการเมืองได้ มันมีความเกี่ยวโยงกันทั้งแง่บวกและแง่ลบ ตั้งแต่ยุคทักษิณก็มีนโยบายต่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ ก็เป็นความเกี่ยวโยงอันหนึ่ง ในยุคของคุณอภิสิทธิ์ ก็มีความเกี่ยวโยงที่ว่า นโยบายต่างประเทศถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในยุคของยิ่งลักษณ์ ถ้าจะทำให้การทูตของเราประสบความสำเร็จมากขึ้น คงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการแยกประเด็นทางการเมืองกับการทูตออก ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นไปลำบาก แต่คงต้องพยายามทำ

เพราะประเด็นทางการทูตเราไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีทางการเมือง เพราะฉะนั้นเอามาทำเป็นประเด็นทางการเมือง มันจะแย่ มันจะยุ่งยากมากขึ้น มันมีกลไก ปัจจัยหลายอย่างในประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อยิ่งลักษณ์ ยังมีกลุ่มบ้าคลั่งชาตินิยมอย่างมาก ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการที่คุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล และจะใช้ประเด็นทางการเมืองเพื่อลดเครดิตคุณยิ่งลักษณ์ มันยังมีกลไกด้านกฎหมายภายในประเทศที่ทำให้การทำงานด้านการต่างประเทศยุ่งยากมากขึ้น เช่น รัฐบาลมีสิทธิ มีอำนาจมากน้อยแค่ไหนในการทำสนธิสัญญากับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วกลไกในประเทศ กฎหมายต่างๆ มันสามารถ Overrule ตรงนี้มากน้อยแค่ไหน ในที่สุดแล้ว คิดว่านอกจากการแยกการทูตกับการเมืองภายในแล้ว ต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ในประเทศควบคู่ไปกับการปรับตัวทางด้านการทูตในระดับสากล ต้องทำคู่กันไป

ปวินกล่าวด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักด้านการต่างประเทศ อาจจะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้อย่างเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือ จากหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องด้านการต่างประเทศเช่นกัน แต่ไม่ใช่ตัวแสดงหลัก ยกตัวอย่างเช่นจากรัฐบาล จากทหาร ตรงนี้คิดว่าละเอียดอ่อนตรงที่ว่าแล้วกระทรวงการต่างประเทศจะทำตัวอย่างไร ให้คงความร่วมมือนั้นไว้ได้ในระดับหนึ่ง ที่จะไม่ทำให้เข้ามามีบทบาทเหนือกระทรวงการต่างประเทศ

"เพราะอย่างที่บอก ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าจะเกิดปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศอะไรก็ตาม คนที่แก้คือนักการทูต เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอาจจะไม่แฟร์ ในแง่ที่ว่าหน่วยงานอื่นอาจจะไปสร้างปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ทหาร แล้วทหารก็แก้ไขปัญหาปัญหาอะไรไม่ได้ ก็ต้องลงมาที่นักการทูตอีก ทั้งๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศอาจไม่รู้เรื่องเลยตั้งแต่แรก มันต้องมีความร่วมมือกัน อันนี้เป็นจุดด้อยของเราบอกตรงๆ"

ยกตัวอย่างว่า ในการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กัมพูชา กัมพูชาดูเหมือนว่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนกว่าเราหลายๆ เรื่อง เพราะว่าทุกหน่วยงานเขารับคำสั่งจากหน่วยงานเดียว คือรับคำสั่งจากรัฐบาล แล้วพูดออกมาเป็นเสียงเดียว ขณะที่ของเรามีความแตกแยกกัน มีจุดยืนต่างกัน มีการแข่งขันกันสูงในองค์กรของรัฐ กระทรวงการต่างประเทศก็มีความคิดแบบหนึ่ง ทหารก็มีความคิดแบบหนึ่ง ในยุคนั้น คุณอภิสิทธิ์ก็มีความคิดแบบหนึ่ง มันไม่ส่งผลดี ต่อการทูตของไทย

ส่วนคำถามเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำงานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น ปวินกล่าวว่า ต้องไม่มีลักษณะเหมือนกษิต ภิรมย์ สำหรับในส่วนอื่นๆ ต้องมีความรู้ความสามารถด้านการทูต ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องเข้าใจกลไกการเมืองภายในของไทย ที่สำคัญกว่านั้นที่จะต้องมีคุณสมบัติของรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ คือเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนด้านการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด หมายถึงพม่า ลาว กัมพูชา ความสัมพันธ์นี้ได้ถูกปิดกั้น ถูกบิดเบือนไปด้วยเหตุผลด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเหตุผลด้านประวัติศาสตร์อย่างเดียวก็สร้างความสับสนเพียงพออยู่แล้ว ถ้าไปบวกกับการเมืองภายในจะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ต้องเข้าใจตรงจุดนี้ ต้องได้รับความน่าเชื่อถือจากสายตาระหว่างประเทศ พูดภาษาอังกฤษได้ สื่อสารรู้ และเข้าใจความเคลื่อนไหวการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างดี หวังว่าน่าจะเป็นเทคโนแครตมากกว่านักการเมืองตามโควตาทั่วไป

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มใน "ประชาไท" เร็วๆ นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น