โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รายงาน: Politics of Poll – ภาพรวมโพลล์ก่อนการเลือกตั้ง 2554

Posted: 07 Jul 2011 02:17 PM PDT

 
"ตอนนี้มี 170 กว่าเสียง อยากได้เพิ่มมากกว่า 200 เสียง ทั้งนี้จากการทำโพลล์ทุกสำนักระบุว่า ภาคเหนือเป็นภาคที่คะแนนพรรคมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนภาคอีสานมีคะแนนร้อยละ 30 จากตอนเข้ามามีอยู่ร้อยละ 7 แต่การได้ ส.ส.ยังเป็นเรื่องยากอยู่"
 
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
8 กุมภาพันธ์ 2554
 
รายงานฉบับนี้เป็นการนำผลโพลล์ในช่วงต่างๆ ที่มีการเปรียบเทียบคะแนนนิยมระหว่าง 2 พรรคการเมือง คือ “พรรคประชาธิปัตย์” และ “พรรคเพื่อไทย” และการเปรียบเทียบระหว่างบุคคลที่เสนอตัวลงแข่งขันชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปลายปี 2553 หลังการตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์, ต้นปี 2554 การประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และหลังการยุบสภา (โดยไม่ได้นำโพลล์ที่ไม่มีคำถามให้ประชาชนมีการเปรียบเทียบเพื่อเลือกพรรคการเมืองอย่างชัดเจน มาพิจารณาในรายงานฉบับนี้)
 
ทั้งนี้โพลล์ทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ อาจจะไม่ใช่โพลล์ทั้งหมดที่มีการสำรวจและเผยแพร่ในช่วงเวลาที่ได้กล่าวไป แต่ผู้เรียบเรียงพยายามค้นหาให้ได้มากที่สุดเท่าที่ผู้เรียบเรียงจะสืบค้นได้ และพยายามอ้างอิงโพลล์หลัก คือ เอแบคโพลล์, สวนดุสิตโพลล์ และกรุงเทพโพลล์ ที่มีการทำผลสำรวจอย่างสม่ำเสมอ
 
 
สรุปภาพรวมผลการสำรวจความนิยมจากโพลล์หลัก* (เฉพาะที่ทำภาพรวมทั้งประเทศ) ** ในช่วงเวลาต่างๆ (ปลายปี 2553 – ก่อนเลือกตั้ง 2554)
 
ช่วงหลังการตัดสิน “ไม่ยุบ” พรรคประชาธิปัตย์และครบรอบ 2 ปี รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
 
29 พฤศจิกายน 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยกคำร้องเหตุคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ 4 ต่อ 2 เหตุ กกต.ยื่นฟ้องเกิน 15 วันตามกฎหมายกำหนด และ 20 ธันวาคม 2553 เป็นวันครบรอบ 2 ปี การทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยผลการสำรวจความนิยมจากโพลล์มีดังนี้
 
เอแบคโพลล์: ใครแพ้ใครชนะ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศ (12 ธ.ค. 53) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
กรุงเทพโพลล์: ประเมินผลงาน 2 ปี รัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ (20 ธ.ค. 53) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
กรุงเทพโพลล์: ประเมินผลงาน 2 ปี รัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ เปรียบเทียบก่อนและหลังนายกฯ แถลงผลงาน (27 ธ.ค. 53) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
 
ช่วงหลังการประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์
 
9 มกราคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายรัฐมนตรี แถลงนโยบายปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ "คิดนอกกฎ บริการนอกกรอบ" เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน 9 ข้อ
 
เอแบคโพลล์: หลังรัฐบาลประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ ประชาชนจะเลือกใคร ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง (20 ม.ค. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
ช่วงก่อนและหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
 
15-17 มีนาคม 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี
 
เอแบคโพลล์: การตัดสินใจของประชาชนคนไทย เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือก (14 มี.ค. 54)  [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
สวนดุสิตโพลล์: ประชาชน “สมหวัง” หรือ “ผิดหวัง” กับ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” (18 มี.ค. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
ช่วงก่อนการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร
 
ในเดือนเมษายน 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยืนยันว่าจะยุบสภาช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และจะมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเดือนกรกฎาคม โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก็มีสัญญาณจากหลายฝ่ายว่าจะมีการยุบสภา
 
เอแบคโพลล์: คะแนนนิยมของสาธารณชนต่อ พรรคการเมือง ในบรรยากาศโหมโรงปลุกกระแสเลือกตั้งใหม่ (4 เม.ย. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
เอแบคโพลล์: สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและความรู้สึกของสาธารณชนคนไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา (3 พ.ค. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
เอแบคโพลล์: เปรียบเทียบจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค และความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมืองถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง (9 พ.ค. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]
 
ช่วงหลังการประกาศยุบสภา พรรคการเมืองเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
 
9 พฤษภาคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภา โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 โดยกำหนดให้มีวันเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
 
เอแบคโพลล์: ประชันนโยบายของพรรคการเมืองในความชื่นชอบของประชาชน (18 พ.ค. 54)  [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]
 
สวนดุสิตโพลล์: ประชาชนกับการเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ (23 พ.ค. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]
 
เอแบคโพลล์: สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่สอง (23 พ.ค. 54)  [อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมมากกว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร]
 
สวนดุสิตโพลล์: ประชาชนกับการเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ (ครั้งที่ 2) (30 มิ.ย. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]
 
เอแบคโพลล์: สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่สาม (6 มิ.ย. 54)  [อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมมากกว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร]
 
สวนดุสิตโพลล์: ประชาชนกับการเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ (ครั้งที่ 3) (20 มิ.ย. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]
 
เอแบคโพลล์: เสนอผลวิจัยเพื่อประมาณจำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทั่วประเทศ (22 มิ.ย. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]
 
 ตารางแสดงช่วงเวลากับความนิยมต่อสองพรรคใหญ่และผู้ท้าชิงตำแหน่งนายก
 

 
ช่วงเวลา
 
 
สถานการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจในขณะนั้น
 
 
คะแนนความนิยมจากผลโพลล์
ปลายปี 2553
29 พฤศจิกายน 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยกคำร้องเหตุคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ 4 ต่อ 2 เหตุ กกต.ยื่นฟ้องเกิน 15 วันตามกฎหมายกำหนด
 
20 ธันวาคม 2553 เป็นวันครบรอบ 2 ปี การทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มี 3 โพลล์ [ให้ประชาธิปัตย์ชนะทุกโพลล์]
ต้นปี 2554
9 มกราคม 2554 นายกอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายรัฐมนตรี แถลงนโยบายปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ "คิดนอกกฎ บริการนอกกรอบ" เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน 9 ข้อ
มี 1 โพลล์ [ให้ประชาธิปัตย์ชนะทุกโพลล์]
มีนาคม 2554
15-17 มีนาคม 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี
 
มี 2 โพลล์ [ให้ประชาธิปัตย์ชนะทุกโพลล์]
เมษายน 2554 (จนถึง 9 พฤษภาคม 2554 )
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยืนยันว่าจะยุบสภาช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และจะมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเดือนกรกฎาคม โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก็มีสัญญาณจากหลายฝ่ายว่าจะมีการยุบสภา
มี 3 โพลล์  [มีการเปรียบเทียบความนิยมพรรคการเมือง 2 โพลล์ เพื่อไทยชนะ 1 ประชาธิปัตย์ชนะ 1 มีโพลล์เปรียบเทียบอภิสิทธิ์กับยิ่งลักษณ์ 1 โพลล์ อภิสิทธิ์ชนะทั้งหมด]
พฤษภาคม 2554 (หลัง 9 พฤษภาคม 2554)
9 พฤษภาคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภา โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 โดยกำหนดให้มีวันเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
มี 7 โพลล์ [มีการเปรียบเทียบความนิยมพรรคการเมือง 5 โพลล์ (พรรคเพื่อไทยชนะ 4 ประชาธิปัตย์ชนะ 1 ) มีโพลล์เปรียบเทียบอภิสิทธิ์กับยิ่งลักษณ์ 2 โพลล์ (อภิสิทธิ์ชนะทั้งหมด)]
 

 
หมายเหตุ
 
* ได้แก่ เอแบคโพลล์, สวนดุสิตโพลล์ และกรุงเทพโพลล์
** ส่วนผลโพลล์ที่ทำสำรวจเฉพาะกลุ่มได้แก่ กลุ่มเยาวชนและความนิยมในกรุงเทพ ได้ตัดออกมาจากการสรุปภาพรวม โดยได้ผลดังนี้ สวนดุสิตโพลล์: ความสนใจของ “วัยรุ่น/เยาวชน” กับการเลือกตั้ง (18 พ.ค. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย], กรุงเทพโพลล์: "คะแนนนิยมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงโค้งแรกของการเลือกตั้ง 54” (23 พ.ค. 54) [พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์], กรุงเทพโพลล์: "คะแนนนิยมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงโค้งที่ 2 ของการเลือกตั้ง 54” (13 มิ.ย. 54) [พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์], กรุงเทพโพลล์: “คะแนนนิยมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงโค้งที่ 3 ของการเลือกตั้ง 54” (23 มิ.ย. 54) [พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์]
 
 
โพลล์ที่แม่นที่สุด “ทักษิณโพลล์”
 
นอกเหนือจากสำนักวิจัยของสถาบันต่างๆ ที่ทยอยทำการสำรวจผลโพลล์เผยแพร่ต่อหน้าสื่อแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ ก็ได้มีการซุ่มทำโพลล์และเปิดเผยต่อหน้าสื่อ เพื่อหวังผลทางด้านคะแนนเสียง และบลัฟฝ่ายตรงข้ามอย่างสนุกสนาน โดยโพลล์ของแต่ละพรรคมีดังนี้ โพลล์พรรคเพื่อไทยประเมินว่าจะกวาด ส.ส. เข้าสภาถึง 263 - 267 เสียง, โพลล์พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า มีโอกาสได้ส.ส. 205 -213 เสียง ส่วนพรรคภูมิใจไทยช่วยประเมินคะแนนเสียงให้สองพรรคใหญ่ว่าสูสีกัน มีโอกาสได้ส.ส. พรรคละ 170-180 เสียง แพ้ชนะไม่เกิน 10-20 เสียง ส่วนพรรคภูมิใจไทยจะได้ 63-68 เสียง (ผลการเลือกตั้งจริง พรรคเพื่อไทยได้ 265 พรรคประชาธิปัตย์ได้ 159 พรรคภูมิใจไทยได้ 34)
 
โดยโพลล์ของพรรคเพื่อไทยหรือโพลล์ทักษิณ ที่มีความแม่นยำที่สุด เคยคาดการณ์ผลการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งและก็ได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับผลการเลือกตั้งจริงมากที่สุด ซึ่งมีข่าวยืนยันว่าเบื้องหลังความแม่นยำนี้ก็คือการว่าจ้างสำนักโพลล์มืออาชีพอย่างแกลลัพโพลล์ (Gallup Poll) เป็นผู้สำรวจวิเคราะห์
 
โดย ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 ทักษิณโพลล์ทำนายว่าพรรคไทยรักไทยจะได้ ส.ส. 249 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งจริงได้ 248 ที่นั่ง และในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ทักษิณโพลล์ทำนายว่าพรรคไทยรักไทยจะได้ ส.ส. 370 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งจริงได้ 377 ที่นั่ง ส่วนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2550 ทักษิณโพลล์ทำนายว่าพรรคพลังประชาชนจะได้ ส.ส. 240 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งจริงได้ 233 ที่นั่ง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ท่าเรือทวายปิดฉาก ‘ปากบารา-สงขลา 2’

Posted: 07 Jul 2011 09:19 AM PDT

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องสมิหลา 2 โรงแรม บี.พี. สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำนักงานจังหวัดสงขลาจัดการประชุมสัมมนาการเตรียมความพร้อมของจังหวัดเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยมีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ตัวแทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีด่านชายแดน หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด และส่วนกลาง ประมาณ 120 คนร่วม

นายเอนก มีมงคล ผู้อำนวยการส่วนเศรษฐกิจ สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า จะส่งผลกระทบกับพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เพราะจะไปแย่งชิงโอกาสในการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าในฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย และจะทำให้ความเป็นได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราน้อยลง

นายเอนก กล่าวว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงาน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ที่เป็นพลังงานสำคัญของอาเซียน

นายเอนก กล่าวอีกว่า ส่วนยุทธศาสตร์โลจิติกส์จะให้อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จะเป็นชุมทางศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า(ICD) ทางรถยนต์ และรถไฟ แล่นผ่านมอเตอร์เวย์(ทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง) ผ่านด่านสะเดาไปยังท่าเรือน้ำลึกปีนัง ประเทศมาเลเซีย

 “ผลสืบเนื่องจากการเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกทวายที่ชัดเจน ทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึกนาเกลือ ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรังก็ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ตามโครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle:IMT-GT)” นายเอนก กล่าว

นายพรชัย ด่านวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ บรรยายเรื่อง การเตรียมความพร้อมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในระดับจังหวัด ภายใต้กรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดความร่วมมือภายใต้กฎบัตรอาเซียน ที่มีประชาคมด้านการเมือง ความมั่นคง ประชาคมด้านเศรษฐกิจ ประชาคมด้านวัฒนธรรม และประชาคมภาคประชาสังคม (NGOs)

 “ การเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าสูประชาคมอาเซียนนั้น จะต้องมีการ ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รวมถึงการพัฒนาบุคลากร และแรงงานฝีมือ เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในประชาคมอาเซียน ” นายพรชัย กล่าว

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บรรยายเรื่อง ทิศทางการพัฒนาการค้าลงทุนของไทยในประชาคมอาเซียน สรุปสาระสำคัญได้ว่า แนวโน้มการแข่งขันลงทุนในอนาคตจะรุนแรง ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาส และเป็นแรงกดดันในตัว ขึ้นอยู่กับการบริหารและจัดการ ภาครัฐควรสนับสนุนภาคเอกชนให้มากขึ้น สำหรับการลงทุนของไทยที่มีอนาคตในภูมิภาคอาเซียน คือ การท่องเที่ยว การบริการ สุขภาพ ฯลฯ

“ต่อไปในประชาคมอาเซียนจะต้องการแรงงานฝีมือ สาขาวิศวกรรม แพทย์ พยาบาล นักสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ สถาปัตยกรรม ซึ่งไทยจะต้องเน้นหลักสูตรการศึกษาด้านวิชาชีพเหล่านี้ หรือไม่ก็ส่งเสริมให้เรียนทางด้านอาชีวะเพิ่มมากขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว

นายชูชาติ เถาธรรมพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 5 กล่าวว่า ไทยยังพึ่งพิงต่างชาติสูงในการดึงให้มาลงทุนในประเทศ  แม้ไทยจะมีการส่งออกสูงแต่ต้นทุนการผลิตสูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องจักร เทคโนโลยี  วัตถุดิบบางชนิดที่ต้องนำเข้า ทั้งยังต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศที่บริโภคพลังงาน 6 แสนบาเรลต่อวัน ถ้าเปิดเสรีจริงผู้ประกอบการของไทยจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ความสามารถในการแข่งขันต่ำ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก

“ภาครัฐควรนำไปพิจารณาในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมบริเวณชายแดนประเทศไทย-มาเลเซีย เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการต่อต้านของชาวบ้านที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปัจจัยโครงสร้างโลจิสติกส์ และระบบรางที่ใช้ไม่ได้เต็มที่ ส่วนท่าเรือน้ำลึกก็สร้างไม่ได้สักที” นายชูชาติ กล่าว

นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โครงการมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา ได้บรรจุเข้าแผนพัฒนาจังหวัดสงขลาแล้ว โดยต่อไปจากนี้จะมีการติดป้ายโปสเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา ตามตัวเมืองหาดใหญ่ และสงขลา เพื่อป้องกันการเกิดกระแสต้านจากชาวบ้านเหมือนโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย

“ถ้าต้องการเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานระหว่างอ่าวไทย-อันดามัน ต้องผลักดันสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เดินหน้าสร้างด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อเป็นประตูสู่อาเซียน ผมจะต้องดึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์มาให้ได้” นายสุรชัย กล่าว

นายชำนาญ นพคุณขจร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสงขลาต้องดูก่อนว่าสงขลามีอะไร ชาวบ้านประกอบอาชีพอะไร ประกอบธุรกิจอะไร ที่ผ่านมาคนข้างนอกที่เข้ามาทำธุรกิจเปิดห้างร้านขนาดใหญ่ในจังหวัดสงขลา จนผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่สามารถแข่งขันได้

“สงขลามียางพารา อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารามีน้อย สงขลา มีทะเล มีปลา แต่โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำก็มีน้อย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพอมีบ้าง แต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน” นายชำนาญ กล่าว

นายประณีต โชติกีรติ เวช ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดเสรีภาคการเงินและหลักการเงินทุนเคลื่อนย้ายภายในกรอบอาเซียน แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ การเปิดเสรีตลาดทุน การบริการทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และการพัฒนาระบบชำระเงิน ซึ่งมีมาตรการเปิดเสรีเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในช่วงปี 2553-2554 ระยะเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันในช่วงปี 2555-2556 และระยะแข่งขันสุดเหวี่ยงในปี 2557 เป็นต้นไป

“เพื่อให้สามารถสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบการด้านธุรกิจ แล้วยังทำหน้าที่เป็นทางการเงินโดยคอยให้ความรู้ ความเสี่ยง การวางแผนการลงทุน และคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินด้วย สำหรับแนวทางการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยเฉพาะผู้สูงอายุ” นายประณีต กล่าว

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บ้านดาโต๊ะฟื้น อียูหนุน 5 แสน

Posted: 07 Jul 2011 09:04 AM PDT

ชาวประมงดาโต๊ะ

 

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่โรงเรียนตาดีกาบ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วัฒน์วงศ์ เป็นประธานการประชุมนำเสนอความก้าวหน้า และแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการฟื้นฟูภัยพิบัติ มีเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 3 พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พื้นที่ลุ่มน้ำจังหวัดพัทลุงและพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี ประมาณ 60 คน

นายมะรอนิง สาและ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี และประธานกลุ่มประมงหัวทราย หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการฟื้นฟูหมู่บ้านว่า หลังจากที่โครงการนี้จัดขึ้นประชาชนในหมู่บ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองได้

นายมะรอนิง เปิดเผยว่า หมู่บ้านดาโต๊ะ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ 2 ส่วน ส่วนแรก 10,000 บาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในหมู่บ้าน ส่วนที่สอง 15,000 บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมเรือประมง

“หลังเกิดภัยพิบัติไม่นาน ได้รับงบประมาณซ่อมจากรัฐบาล จำนวนหนึ่ง สามารถซ่อมเรือได้เพียง 20 ลำ จากนั้นได้รับงบประมาณซ่อมเรือจากอียู จำนวน 500,000 บาท สามารถซ่อมเรือได้เพิ่มอีก 50 ลำ เงินบางส่วนมาทำธนาคารปู แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากน้ำทะเลมีความเค็มน้อย ทำให้ปูตาย”นายมะรอนิง กล่าว

นายมะรอนิง เปิดเผยอีกว่า แนวทางแก้ปัญหาปูตาย คือ จะศึกษาการเพาะเลี้ยงปูจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประมงโดยตรง สามารถทำบ่อเพื่ออนุบาลปูได้ และจะจัดอบรมเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติในชุมชน ขณะนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น อย่างน้อยก็มีที่ปรึกษา มีคนช่วยเหลือ เพราะจะรอรัฐช่วยเหลืออย่างเดียวคงไม่ได้

นศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วัฒน์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ หรือ วพส. เปิดเผยว่า วพส.สนับสนุนโครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติใน 3 พื้นที่ ได้แก่ โครงการฝ่าวิกฤตฟื้นตนเองหลังประสบภัยน้ำท่วมชุมชนเมืองหาดใหญ่ โครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกการสร้างชุมชนเข้มแข็งให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติ : กรณีศึกษาลุ่มน้ำจังหวัดพัทลุง และโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยและสนับสนุนการสร้างกลไกของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง โดยดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 6 เดือน

ศ.นพ.วีระศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า ทั้ง 3 โครงการได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ สหภาพยุโรป หรือ อียู (EU) มหาวิทยาลัยทักษิณและประชาชนในพื้นที่ วพส.เป็นพี่เลี้ยง เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ การสร้างความสมานฉันท์ในกลุ่มผู้ประสบภัย ประชาชนมีทักษะทางวิชาการและนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้

ศ.นพ.วีระศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ทั้ง 3 โครงการได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้ชาวบ้าน 15 ชุมชนของทั้ง 3 พื้นที่ โดยงบประมาณทั้งหมด มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และเงินบริจาคจากองค์กรต่างๆ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ศิษย์เก่า ม.อ. เป็นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความหลากหลายทางเพศในฟินแลนด์: นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนยังไม่ยอมแพ้

Posted: 07 Jul 2011 07:49 AM PDT

 
ภาพโดย LAURI HANNUS
 

“ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้ต้องเข้าร่วมขบวนให้ได้ ที่จริงฉันไม่ค่อยอยากจะพูดแบบนี้ แต่รู้สึกว่าการจัดงานปีนี้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมาคอยอธิบายว่า ทำไมถึงต้องจัด แต่ละคนมีความมุ่งมั่นในการแสดงพลังกันมาก และรู้ว่ายังมีอะไรที่ต้องทำอยู่อีกเยอะ”Anne-Mari Seppola ผู้อำนวยการจัดงานจากองค์กร Seta สาขากรุงเฮลซิงกิและปริมณฑลกล่าว
 
Seppola สังเกตว่าบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากที่ขบวนพาเหรดไพรด์ปี 2010 ถูกโจมตี และผู้เดินขบวนถูกทำร้ายด้วยสเปรย์พริกไทย
 
“พวกเราพยายามจะทำความเข้าใจว่า ความเกลียดชังต่อคนกลุ่มต่างๆ มีมากขึ้นหรือเปล่า หรือว่าแค่ถูกแสดงออกอย่างเปิดเผยมากขึ้น ลัทธิเหยียดผิวสีได้รับการยอมรับมากขึ้นหรือเปล่า”
 
หลังจากที่ขบวนปีที่แล้วถูกโจมตี สังคมฟินแลนด์เกิดการถกเถียงเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศขึ้นครั้งใหญ่ ผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมากแสดงท่าทีโกรธเกรี้ยวและหาว่า ความผิดอยู่ที่การเรียกร้องสิทธิพิเศษสำหรับชนกลุ่มน้อย
 
“สมมุติว่าเราอยากมีสิทธิเดินจูงมือกัน นั่นคือสิทธิพิเศษหรือ ฉันยังแปลกใจกับข้อกล่าวหาที่ว่า เราพยายามยัดเยียดความเป็นคนรักเพศเดียวกันให้กับสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้วคนเราไม่สามารถบังคับให้ใครเปลี่ยนวิถีทางเพศได้ และไม่ควรพยายามเปลี่ยนด้วย”
 
Seppola เน้นว่า ทุกคนมีสิทธิในความคิดเห็นของตนเอง แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือการทำร้ายกลุ่มอื่นๆ
 
“ความคิดเห็นของเรานั้นจะเป็นอะไรก็ได้ แต่อย่าไปกีดกันชีวิตของคนอื่น อย่างตัวฉันเองก็ไม่เคยคิดที่จะไปโจมตีการเดินขบวนของ Päivi Räsänen (ผู้นำพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนที่มีนโยบายอนุรักษ์นิยม) ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับจุดมุ่งหมายการเดินขบวนของเขาแค่ไหนก็ตาม ตรงกันข้าม ดิฉันกลับพร้อมสู้ตายเพื่อปกป้องสิทธิของ Päivi Räsänen ในการแสดงความคิดเห็นของเขา”
 
ผู้ร่วมจัดเป็นอย่างไร ขบวนก็เป็นอย่างนั้น
“ในฟินแลนด์ เราก็ยังเจอความคิดที่ว่า วิถีชีวิตที่ถูกต้องมีแบบเดียว ยังมีเยาวชนจำนวนมากฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุเรื่องวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ส่วนในที่ทำงานคนก็ยังแอบกันอยู่ แถมยังคิดกันไปเองว่า การเลือกปฏิบัติไม่มีอีกแล้ว แต่คนรักเพศเดียวกันเยอะแยะกลับไม่กล้ากลับบ้านจากบาร์ตอนกลางคืนโดยจูงมือกัน (กับแฟนที่เป็นเพศเดียวกัน) เราก็อึ้งกันว่า นี่มันกำลังเกิดขึ้นในฟินแลนด์อยู่จริงๆ หรือ”
 
Seppola กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโลกเป็นค่านิยมหลักขององค์กร HeSeta [สาขาเฮลซิงกิและปริมณฑลขององค์กร Seta] สิทธิมนุษยชนก็เป็นประเด็นหลักของเทศกาลไพรด์ด้วย แต่ทางองค์กรไม่ได้กำหนดว่าไพรด์ควรจะต้องมีรูปแบบเป็นอย่างไร เพราะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนร่วมมือกันด้วยจิตอาสา หน้าตาของกิจกรรมจึงมาจากทุกคนที่เข้าร่วม
 
มีเพียงเรื่องเดียวที่ไม่ต้องมีการอภิปรายกันเลย คือ การเดินขบวน เพราะการที่คนบางกลุ่มยอมรับไม่ได้เมื่อชนกลุ่มน้อยทางเพศออกมาเป็นตัวของตัวเองบนท้องถนนแค่หนึ่งชั่วโมงต่อปี ก็เป็นสาเหตุให้ยิ่งต้องเดินขบวน
 
“วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อโลกใบนี้มีแต่ความเท่าเทียม เราอาจจะแค่เฉลิมฉลองกันก็ได้ เพราะการเฉลิมฉลองโดยแสดงออกความเป็นตัวตนก็เป็นการแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกัน”Seppola มองว่า ไม่มีเทศกาลใดที่จะหลากหลายเท่ากับไพรด์ เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมหลากหลายมากกว่า 80 กิจกรรม
 
ถูกตีหัวด้วยไบเบิ้ล
Seppola แสดงความแปลกใจต่อความสามารถของพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนในการครอบงำประเด็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่นกฎหมายแต่งงานหรือการทำแท้งในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา
 
“เราถึงกับอึ้งไปว่า นี่มันกำลังเกิดขึ้นในฟินแลนด์จริงๆ หรือ สิทธิเท่าเทียมเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด ไม่ว่ารสนิยมของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เช่น ต่อให้ฉันเองไม่อยากแต่งงาน แต่ฉันก็ยังอยากที่จะมีสิทธิในการแต่งงาน”
 
Seppola คิดว่า มุมมองของคนบางกลุ่มที่ว่า กฎหมายแต่งงานที่ให้ความเสมอภาคต่อคนรักเพศเดียวกันจะเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันการแต่งงานนั้น ไม่มีเหตุผลให้เข้าใจได้เลย “จริงๆ แล้วน่าจะเป็นการสนับสนุนสถาบันการแต่งงานซะด้วยซ้ำ ถ้าคนจำนวนมากพร้อมที่จะผูกพันตนเองภายใต้สถาบันอนุรักษ์นิยมแบบนี้ แต่รู้สึกว่าการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์อะไรก็ตามต้องจบลงทุกครั้งเมื่อมีคนอ้างถึงคัมภีร์ไบเบิ้ล”
 
สถานภาพของคนข้ามเพศ
กฎหมายครอบครัวและการรับลูกบุญธรรมเป็นประเด็นความเสมอภาคที่สำคัญที่สุดจากมุมมองของ Seppola แต่เธอก็ยังอยากยกประเด็นของคนข้ามเพศมาพูดถึงด้วย “ชาวบ้านยังพอเข้าใจเกย์ได้ว่า คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวเอง แต่อะไรที่หลุดพ้นไปเลยจากกรอบการแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามนั้นยากเกินไปสำหรับเขาที่จะเข้าใจ คนเรามีความต้องการที่จะแบ่งมนุษย์เป็นหมวดหมู่อยู่มากจริงๆ”
 
ในทางปฏิบัติ ฟินแลนด์เป็นประเทศตะวันตกประเทศเดียวที่มีการจดทะเบียนคนแปลงเพศ และตามกฎหมายคนที่จะผ่าตัดแปลงเพศยังต้องยอมทำหมันด้วย นอกจากนี้แล้ว สถานภาพของเด็กที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์ (มีลักษณะไม่เป็นเพศชายหรือหญิงอย่างชัดเจน) ยังควรได้รับการดูแล เพราะในปัจจุบันพ่อแม่หลายคนถูกยกให้ทำหน้าที่ตัดสินเพศของลูกแทนตัวเด็ก
 
“เพศมีทั้งด้านฮอร์โมน สรีระ โครโมโซม และจิตใจ ซึ่งสองอันหลังนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ การผ่าตัดต่างๆ มักถูกให้เหตุผลว่าจะเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับตัวเด็ก แต่สาเหตุจริงๆ แล้ว คือมันเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับสังคมรอบข้าง แต่ไม่ใช่สำหรับเด็ก”
 
ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมากมาย และไพรด์ก็เป็นก้าวหนึ่งในเส้นทางสู่ความเสมอภาค “เราจะเดินด้วยความภาคภูมิใจ หวังว่าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง” Seppola กล่าว
 
 
 
.................................................... 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Kansan Uutiset ประเทศฟินแลนด์ ฉบับวันที่ 1 ก.ค. 2554
http://www.kansanuutiset.fi/uutiset/kotimaa/2585050/ihmisoikeustaistelijaa-ei-lannista-mikaan

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอฟทีเอวอทช์จูเนียร์บุกเทศกาลหนังอียู แฉกดดันไทยขายเหล้า

Posted: 07 Jul 2011 07:39 AM PDT

 

 

กลุ่มเยาวชนบุกเปิดโปงอียู กลางงานเปิดเทศกาลภาพยนตร์ยุโรป กดดันไทยลดภาษีเหล้าหวังทำลายนโยบายป้องกันสุขภาวะ

เมื่อค่ำวานนี้ (6 ก.ค.) ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มเยาวชนศึกษาปัญหาแอลกอฮอล์ในเอฟทีเอประมาณ 25 คนได้ไปยืนถือป้ายประท้วงด้านหน้างานเปิดเทศกาลภาพยนตร์สหภาพยุโรป 2011 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และแจกเอกสารให้กับผู้ร่วมงาน 

ป้ายประท้วงมีข้อความว่า “EU หน้าไหว้หลังหลอก: เบื้องหน้าฉายหนัง เบื้องหลังขายเหล้า” และ “EU Hypocrisy: Showing Films as Highlight, Its Dark Side - Selling Booze” เพื่อประท้วงความพยายามของสหภาพยุโรปที่พยายามเร่งให้ประเทศไทยเริ่มการเจรจาการค้าทวิภาคี (เอฟทีเอ) โดยหวังที่จะให้มีการลดภาษีแอลกอฮอล์ เพิ่มการนำเข้า และมีข้อเรียกร้องซึ่งจะบ่อนทำลายการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อปกป้องสุขภาวะประชาชนจากพิษภัยของแอลกอฮอล์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้  
 
 
 
EU ขอให้จริงใจ เห็นโทษภัยแอลกอฮอล์ 
“เบื้องหน้าฉายหนัง เบื้องหลังขายเหล้า ” 
 
สหภาพยุโรป (EU) มีแง่มุมด้านหนึ่งสนับสนุนงานด้านศิลปวัฒนธรรมแบบที่เราเห็นในงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ ซึ่งมีประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนที่ดีต่อกัน อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งของสหภาพยุโรปที่ซ่อนไว้แต่สาธารณชนควรรับรู้ คือการที่สหภาพยุโรปพยายามเปิดช่องทางการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น ซึ่งจะมอมเมาชีวิตของคนไทยและคนในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ
 
สหภาพยุโรปต้องการเปิดเจรจาการค้าเสรีระดับทวิภาคีกับไทยอย่างเร่งด่วน โดยหวังกดดันให้ไทยลดอัตราอากรในส่วนของสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง 90% ภายใน 7 ปี ซึ่งปัจจุบันนี้พบว่าคนไทยบริโภคสุราที่นำเข้าจากอียูเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึง 73% ของการนำเข้าทั้งหมด จึงเชื่อว่า หากมีการลดอัตราอากรลงตามที่ อียู เรียกร้อง จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย และก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมาอีกมาก
 
ไม่เพียงเท่านั้น  ในการเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมา สหภาพยุโรปจะบังคับให้ประเทศคู่ค้ายอมรับบทการคุ้มครองลงทุนที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องเพื่อยกเลิกนโยบายสาธารณะต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการแสวงหากำไรของนักลงทุนแม้ว่านโยบายสาธารณะนั้นๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสุขภาวะของประชาชนในประเทศก็ตาม
 
ขณะนี้สหภาพยุโรปร่วมมือกับธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการค้าเสรี กำลังโฆษณาชวนเชื่อถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้จากการทำเอฟทีเอกับอียูอย่างเร่งด่วน และพยายามร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้ามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใยดีว่า ต้องแลกกับสุขภาพคนไทยหรือเป็นการบ่อนทำลายนโยบายสร้างสุขภาวะของประเทศ
 
พวกเรา  กลุ่ม FTA Watch และ กลุ่มนักศึกษาปัญหาแอลกอฮอล์ในเอฟทีเอ ขอเรียกร้อง
 
1. ให้สหภาพยุโรปมีจริยธรรม-คุณธรรมไม่น้อยไปกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ และควรกล้าหาญที่จะสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการตระหนักว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าไม่ธรรมดา ที่ไม่ควรอยู่ในบัญชีใด ๆ ของการเจรจาจากการค้าเสรี
 
2. ขอให้สหภาพยุโรปเห็นแก่ลูกหลานไทย ให้เคารพการตัดสินใจของไทยที่ไม่ต้องการให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาอยู่ในการเจรจาการค้าเสรี
 
3. ขอสำนึกความรับผิดชอบของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหภาพยุโรป และธุรกิจในไทยอื่นที่หวังจะได้ประโยชน์จากการเจรจา หรือองค์กรนอมินีใดๆ ที่เห็นแก่ประโยชน์ทางการค้า มากกว่าสุขภาพ ชีวิต และความเป็นความตายของคนไทย
 
                                                                                                             6 ก.ค.2554
                                                                                           ณ  เทศกาลภาพยนตร์ยุโรป 2011
                                                                                       หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม. เบรกรายงานผลตรวจสอบชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 เหตุไม่ครบถ้วน

Posted: 07 Jul 2011 07:29 AM PDT

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเลื่อนการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบ กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. 

7 ก.ค.54 นายแพทย์ชูชัย  ศุภวงศ์  เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แถลงข่าวขอโทษสื่อมวลชนที่ไม่สามารถเปิดเผยรายงานตรวจสอบกรณีเหตุการณ์การชุมนุมกลุ่ม นปช. ในวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2554 ตามที่เคยให้ข่าวก่อนหน้านี้  แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับประธาน กสม. ศาสตราจารย์ ดร.อมรา  พงศาพิชญ์  และได้ข้อสรุปตรงกันว่า การประชุม กสม. ในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม น่าจะเป็นการพิจารณารายงานครั้งสุดท้ายสามารถเสนอต่อสาธารณะได้ในวันที่ 8 กรกฎาคม  ดังกล่าวแล้ว 

นายแพทย์ชูชัยฯ  เปิดเผยว่า  ทั้งนี้เนื่องจากกรรมการบางท่านเห็นว่า มีประเด็นอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากการประชุมครั้งที่แล้ว และที่ประชุม กสม. เห็นว่าควรพิจารณาให้ครบถ้วน  และเห็นว่าเงื่อนไขเวลาในการเปิดเผยรายงานที่ขยายออกไปอีกไม่น่าจะเป็นปัญหาใดๆ

ต่อข้อถามว่า เป็นเพราะสถานการณ์และกระแสการเมืองในขณะนี้ทำให้ กสม.เลื่อนการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบฯ นี้หรือไม่ นายแพทย์ชูชัยฯ กล่าวว่า  ไม่น่าเป็นเช่นนั้นเพราะ กสม. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีความอิสระ  เป็นกลาง  ไม่ขึ้นกับรัฐบาลใด ๆ อีกทั้ง กสม. ยังมีกลไกสากลตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา  โดยอาศัยหลักการปารีส ที่ว่า กสม. จะต้องดำรงตนอย่างเป็นกลาง  อิสระ  โปร่งใส  ตรวจสอบได้  และมีความน่าเชื่อถือ  หากไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามหลักการปารีส  หรือรัฐธรรมนูญ จะถูกลดระดับจากเกรดเอ  เป็นบี  หรือซี  ดังนั้น  กสม. ในประเทศต่าง ๆ จึงถูกคาดหวังจากสังคมว่า  เป็นองค์กรที่จะทำความจริงให้ปรากฏในสังคมในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยความอิสระ  เที่ยงธรรม  และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม  ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจรัฐใด

ต่อข้อถามที่ว่ามีปัญหาการเมืองใน กสม. ของกรรมการหรือไม่ นายแพทย์ชูชัยฯ ชี้แจงว่า  ไม่สามารถตอบคำถามแทนกรรมการท่านใดได้ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีและไม่ควรจะมี เป็นการดีที่สื่อมวลชนสนใจติดตามตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะตนในฐานะอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ทราบดีว่าได้มีการเพิ่มอำนาจและบทบาทหน้าที่ของ กสม.  และผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างมาก  จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องถูกตรวจสอบจากสื่อมวลชนและสังคมอย่างหนัก

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก้าวสำคัญของความเสมอภาคด้านสุขภาพ

Posted: 07 Jul 2011 07:25 AM PDT

 

 

ความไม่เสมอภาคในระบบสุขภาพไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในระบบสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยทางสังคมต่างๆ อีกมากมาย การจะเข้าใจและแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสุขภาพ ต้องการการประสานความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ ทั้งที่อยู่ในภาคสาธารณสุขและนอกภาคสาธารณสุข แต่ในขณะเดียวกันองค์กรทางสุขภาพควรที่จะแสดงบทบาทที่สำคัญให้เกิดความเสมอภาค ภายใต้เงื่อนไขที่ตนเองรับผิดชอบ พื้นฐานสำคัญของการดำเนินการ คือการปฏิรูปไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อการเข้าถึงและการปกป้องสุขภาวะของประชาชนและของสังคมอย่างแท้จริง

ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพอย่างไร
ความไม่เสมอภาคทางด้านสุขภาพยังคงดำรงอยู่ ทั้งในประเทศที่ใกล้มีหรือมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว และก็ยังมีปัญหาการขาดการยอมรับในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสมอภาค จากกลุ่มต่างๆทั้งในแวดวงผู้ให้บริการสุขภาพและนักการเงินการคลัง แต่สำหรับกลุ่มที่อยู่ในแวดวงการเมือง การเกิดความครอบคลุมและเป็นธรรมทางด้านสุขภาพเป็นความสำเร็จที่สำคัญของนักการเมือง ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถนำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับประเทศเกาหลี เม็กซิโก คอสตาริกา

อย่างไรก็ตามหากจะก้าวต่อไปให้มั่นคง จำเป็นที่จะต้องมีกรอบคิดและมีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกได้เสนอมุมมองในการปฏิรูปหลายด้านเพื่อให้เกิดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นกลไกสำคัญไปสู่ระบบสุขภาพแบบใหม่  การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นกลไกที่สำคัญประการหนึ่ง 

กรอบคิดที่สำคัญคือการมีมุมมองของการปฏิรูปในสามมิติคือ ด้านกว้าง (Breadth)  ด้านลึก (Depth) และด้านสูง (Height)

แผนภูมิข้างล่างเป็นมุมมองในมิติต่างๆที่เสนอไว้ใน  World Health  Report  2008, Primary Health Care. Now More Than Ever

ประเทศไทยเรายืนอยู่ ณ จุดใด และควรจะทำอย่างไรเพื่อจะก้าวต่อไปให้มั่นคงและไปสู่เป้าประสงค์ เราอาจนำกรอบในมิติต่างๆ มาพิจารณาและแสวงหาหนทางที่จะสามารถทำสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ ควบคู่ไปกับการก้าวทันนานาอารยะประเทศ

1. การขยายฐานด้านกว้าง (The breadth of coverage)
ประเทศไทยสามารถขยายฐานด้านกว้างได้อย่างรวดเร็วหลังจากการเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยยังดำรง 3 กองทุนหลักไว้คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพ การมี 3 กองทุนทำให้เกิดความครอบคลุมเกือบถ้วนหน้า

แต่เงื่อนไขภายใต้แต่ละกองทุน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดผู้มีสิทธิว่างขึ้นในระบบ เช่น ภายใต้กองทุนประกันสังคม ผู้ประกันตนจะสิ้นสุดสิทธิเมื่อหมดการจ้างงานและไม่ส่งเงินสมทบต่อเนื่อง สวัสดิการข้าราชการ-สิทธิของบุตร ธิดา จะสิ้นสุดลงเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การเกิดสิทธิว่างในกลุ่มเหล่านี้แก้ไขได้ไม่ยากด้วยการจัดการให้เข้าสู่สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

แต่ปัญหายังคงมีอยู่ในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาในการแสดงสิทธิ เช่น บุคคลไทยไร้สัญชาติ คนต่างด้าว รวมทั้งยังมีผู้ไร้สิทธิด้วยเหตุของการขาดความรู้ความเข้าใจและโอกาสในการเข้าถึง เช่น กลุ่มคนเร่ร่อน ซึ่งแม้เป็นคนไทย แต่เงื่อนไขของการเข้าถึงสิทธิ เช่น การใช้เลขสิบสามหลัก ก็อาจมีผลให้เขาไม่ได้รับสิทธิ การพยายามจะขยายให้ครอบคลุมกับบุคคลกลุ่มต่างๆ และการแก้ปัญหาระหว่างรอยต่อของสิทธิที่แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการกำหนดบุคคลที่ระบบจะครอบคลุมและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมที่จะจัดให้บุคคลแต่ละกลุ่ม

2. ชุดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ด้านลึกของระบบหลักประกันสุขภาพ (The depth of coverage)
ในด้านลึกของระบบ มีคำถามที่สำคัญคือ จะครอบคลุมสิทธิประโยชน์มากน้อยเพียงใด และจะเพิ่มเติมอีกมากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องคำนึงถึงความครอบคลุมในบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีประสิทธิผลอย่างแท้จริงต่อสุขภาพของประชาชน การขยายสิทธิในด้านลึกจึงต้องพิจารณาควบคู่กันไประหว่างความต้องการ ความคาดหวัง และทรัพยากรของสังคม โดยเฉพาะงบประมาณและบุคลากร ว่ามีความเพียงพอและมีศักยภาพที่จะรองรับการจัดบริการสุขภาพได้มากน้อยเพียงใด นั่นคือการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม (Essential Package)  

สำหรับหลักประกันสุขภาพไทย การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ครั้งสำคัญ คือ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2544  หลังจากนั้นมีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ย่อยๆ อีกหลายครั้ง เช่น สิทธิการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ การรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย หรือสิทธิอื่นๆ โดยมีการใช้การบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกลไกในการดำเนินการเพิ่มเติมบางประการ ซึ่งจะมีบางส่วนแตกต่างออกไปจากระเบียบที่ได้เคยมีการประกาศไว้และยังไม่ได้ยกเลิก การทบทวนอย่างเป็นระบบในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของการทำให้ด้านลึกของระบบหลักประกันสุขภาพไทย เป็นด้านลึกที่สามารถจัดสิทธิประโยชน์เหมาะสมและครอบคลุมประชาชน โดยมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพ ให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้เห็นถึงสิทธิที่เข้าถึงได้จริง ครอบคลุม และหน่วยบริการได้รับการชดเชยเหมาะสม

3. ต้นทุนเท่าไรเพื่อให้ครอบคลุม (The height: what proportion of the costs is covered?)
การลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเป็นมิติที่สำคัญของการขยายความครอบคลุม ภาระทางการเงินที่ประชาชนต้องจ่ายเพื่อบริการสุขภาพ ถ้าลดลงได้มากขึ้นย่อมเป็นผลดีต่อประชาชน และเปรียบเสมือนมิติทางด้านสูงของระบบหลักประกัน แต่ส่วนที่ประชาชนยังต้องจ่าย ไม่ได้หมายถึงเฉพาะส่วนที่เขาจ่ายเมื่อมารับบริการในหน่วยบริการของระบบหลักประกันต่างๆ แต่หมายรวมถึงส่วนที่เขาต้องไปซื้อยากินเอง ไปหาหมอคลินิก/โรงพยาบาลเอกชน หรือซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพิ่มเติม เนื่องจากศักยภาพของสถานพยาบาลในระบบไม่สามารถจัดได้เพียงพอ แออัด และต้องรอคิวนาน และอาจไม่จัดบริการให้ครบตามสิทธิของประชาชน 

ดังนั้นการกำหนดสิทธิประโยชน์อย่างกว้างขวางโดยประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้ารับบริการสุขภาพ หากงบประมาณไม่เพียงพอ การจ่ายชดเชยแก่สถานพยาบาลไม่เหมาะสม นอกจากจะทำให้ความครอบคลุมในด้านกว้าง สิทธิประโยชน์อย่างมากมายและการไม่มีภาระที่ต้องจ่ายใดๆ จึงกลายเป็นภาพลวงตา ประชาชนในแต่ละระบบที่เคยใช้บริการ เริ่มไปใช้บริการนอกระบบและมีภาระค่าใช้จ่าย โดยที่ระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญ การบริการที่แน่น ล่าช้า การจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม ภาระงานที่มาก การชดเชยที่ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย เป็นผลให้หน่วยบริการขาดโอกาสในการร่วมเป็นกลไกการหนุนเสริมให้เกิดความครอบคลุมทั้งบุคคลและสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อให้คนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้มากขึ้น หน่วยบริการเริ่มเลือกให้บริการที่มีการชดเชยเหมาะสม ลดหรือเลี่ยงบริการที่มีปัญหาการชดเชย  เริ่มจัดระบบเพื่อความอยู่รอดของโรงพยาบาล และท้ายสุด กลับมีผลให้การเข้ารับบริการที่มีคุณภาพของบริการพื้นฐานได้รับผลกระทบ

การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ การจัดหางบประมาณและการขยายความครอบคลุมประชากรกลุ่มต่างๆ จึงต้องมีการดำเนินการอย่างสมดุล ความสำเร็จในบางมิติอาจมีผลกระทบและผลแทรกซ้อนซ่อนอยู่ทั้งในมิตินั้นและต่อการพัฒนาทั้งระบบ

การจัดสรรงบล่วงหน้า (Pre-payment) ร่วมกับการชดเชยภายหลัง เป็นความก้าวหน้าของระบบหลักประกันสุขภาพและประกันสังคมไทย แต่ความเพียงพอของงบประมาณตามต้นทุนที่แท้จริงยังเป็นไปได้ยาก ประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษใช้เวลากว่าสามสิบปีจึงจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม และเนื่องจากมีความพยายามกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ที่กว้างขวางขึ้นตามสภาวการณ์ของความก้าวหน้าทางการแพทย์และความต้องการของประชาชน การมีระบบร่วมจ่ายและความร่วมมือของกองทุนต่างๆในการจัดการ จะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน การคลังสุขภาพ และสามารถร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพระบบบริการ ระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์สำหรับประชาชนไทยและบุคคลที่อาศัยในประเทศไทย  
ก้าวที่สำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานสำหรับประชาชนไทย ไม่จำเป็นต้องเป็นชุดเดียวกันกับการกำหนดสิทธิประโยชน์กับบุคคลต่างด้าว คนเร่ร่อนหรือแม้แต่ผู้มีสิทธิว่าง โดยสิทธิพื้นฐานที่ควรถูกกำหนดคือการให้ได้รับสิทธิในบริการกรณีอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน และการควบคุมป้องกันโรค สำหรับขอบเขตของสิทธิดังกล่าวและสิทธิอื่นๆสามารถกำหนดให้สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุขและภาระทางการเงินการคลังของประเทศ การกำหนดสิทธิประโยชน์โดยครอบคลุมบุคคลทุกกลุ่มสอดคล้องกับหลักของสิทธิมนุษยชนและยังสามารถบรรเทาภาระของหน่วยบริการบางหน่วยที่รับภาระดังกล่าวด้วยตนเอง

กรณีตัวอย่างแนวทางการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ของประเทศชิลี

1. จัดลำดับความสำคัญของสิทธิประโยชน์ที่กำหนดขึ้นจากความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างครอบคลุม

2. กำหนดบริการที่จะจัดให้กับประชาชนในระดับปฐมภูมิและทุตติยภูมิอย่างชัดเจน

3. ชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนดสามารถคิดต้นทุนได้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย/การเมือง ได้ตระหนักว่าถ้าบริการสุขภาพยังได้รับงบประมาณต่ำกว่าความเป็นจริง จะต้องพิจารณาว่าบริการสุขภาพใดควรบรรจุหรือไม่ควรบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ 

4. มีการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่จะทบทวนข้อมูลเชิงประจักษ์ของชุดสิทธิประโยชน์

ให้ประชาชนได้รับข้อมูลเรื่องสิทธิประโยชน์และมีองค์กรกลางในการดำเนินกลางกรณีที่ไม่ได้รับสิทธิ

สำหรับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทย พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งของไทยที่มีความก้าวหน้าทั้งในเจตนารมณ์และตัวบทกฎหมาย โดยได้มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดว่าบุคคลใดจะได้รับบริการสุขภาพโดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ดั้งนั้นหากกลไกเหล่านี้ได้มีการดำเนินอย่างจริงจังจะอุดช่องว่างทั้งกรณีของ 3 กองทุนและกรณีอื่นๆ ได้อย่างครอบคลุม 

อย่างไรก็ตาม องค์กรทางด้านสุขภาพและองค์กรวิชาชีพต่างๆควรมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดความครอบคลุมและเกิดการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะเป็นคุณูปการทั้งต่อระบบหลักประกันสุขภาพและระบบสุขภาพไทยต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรรคประชาธิปัตย์ต้องทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง

Posted: 07 Jul 2011 07:12 AM PDT

 
ทำไมความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุด มีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุด มีสมาชิกพรรคที่ดูดีมีคุณภาพที่สุด (อย่างน้อยในสายตาคนกรุงเทพฯ คนภาคใต้ที่ว่ากันว่ามีความตื่นตัวทางการเมืองสูงกว่าภาคอื่น) จึงไม่ได้ช่วยให้ประชาธิปัตย์เอาชนะคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ คุณทักษิณเองก็เป็นนักการเมืองหน้าใหม่เมื่อเทียบกับคุณอภิสิทธิ์ และขนาดคุณทักษิณกลับเข้าประเทศไม่ได้ แค่ส่งคุณยิ่งลักษณ์ที่ไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อนเลยลงต่อสู้ก็ทำให้คุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์แพ้อย่างหมดรูป
 
ผมคิดว่าหากประชาธิปัตย์ไม่ยอมทบทวนตัวเองอย่างตรงไปตรงมา และอย่างจริงจังในประเด็นหลักๆ (อย่างน้อย) ต่อไปนี้ ประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านตลอดไป
 
1.ตามไม่ทันการแข่งขันเชิงนโยบายและความเป็นนักบริหารแบบมืออาชีพ จะเห็นว่าการแข่งขันเชิงนโยบายและนักบริหารมืออาชีพ คือยุทธศาสตร์หลักในการหาเสียงของคุณทักษิณตั้งแต่เขาลงเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลสมัยแรก ทำให้นโยบายและความเป็นนักบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ตกเป็นรองในทันที แม้ต่อมาจะพยายามแข่งนโยบาย วิสัยทัศน์ สร้างภาพลักษณ์นักการเมืองรุ่นใหม่อย่างคุณอภิสิทธิ์ แต่ก็ยังตามไม่ทันคุณทักษิณ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ยิ่งสะท้อนให้เห็นความอ่อนด้อยทางนโยบาย ภาวะผู้นำ และความเป็นนักบริหารมืออาชีพอย่างชัดเจน
 
ประชาธิปัตย์อาจต้องกลับไปทบทวนเรื่องนโยบายอย่างหนัก และต้องสามารถสร้างนโยบายก้าวหน้า ขึ้นมาแข่ง เช่น ไปทำนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” ให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน และมีขั้นตอนการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม
 
ส่วนนักบริหารมืออาชีพอาจต้องดึงคนเก่งเข้ามาในพรรค ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่ออย่างคุณชวน หลีกภัย ที่ว่า “ความเป็นนักการเมืองมืออาชีพ จะทำให้บริหารประเทศได้อย่างมืออาชีพ” เพราะนักการเมืองมืออาชีพอย่างสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีมากแล้ว แต่นักการเมืองมืออาชีพเหล่านั้น (แม้แต่คุณชวน) ไม่เคยแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักบริหารมืออาชีพเทียบเท่าคุณทักษิณได้เลย
 
2. ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์โจมตีคู่แข่งว่าไม่ซื่อสัตย์ในความหมายของการทุจริตคอร์รัปชัน ซื้อเสียง กระทั่ง “ใช้เงินซื้อประเทศ” ฯลฯ แต่ในความขัดแย้งกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้มองเห็นแล้วว่า (ยืนยันโดยผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา) ความไม่ซื่อสัตย์ที่ก่อความเสียหายแก่ประเทศมากยิ่งกว่าการโกง คือ “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ”
 
ประชาธิปัตย์อ้างหลักการเสมอ แต่กลับไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ เช่น อ้างหลักการตรวจสอบจนกระทั่งไปขอเสียง ส.ส.จากพรรคไทยรักไทยเพื่อเปิดอภิปรายคุณทักษิณ ซึ่งถ้าอภิปรายแล้วทำให้สังคมเชื่อว่าคุณทักษิณมีความผิดตามข้อกล่าวหาจริง ผลของการอภิปรายก็คือคุณทักษิณลาออกหรือยุบสภา คุณทักษิณไม่ให้ เสียง ส.ส.ของเขาไปสนับสนุนให้ประชาธิปัตย์เปิดอภิปราย แต่ตัดสินใจยุบสภาไปเลย ซึ่งเท่ากับลงโทษตัวเองในทางการเมืองไปแล้ว
 
แต่เมื่อประกาศเลือกตั้งใหม่ให้ทุกพรรคการเมืองต่อสู้ตามกติกาประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์กลับบอยคอตการเลือกตั้งและชวนพรรคอื่นให้บอยคอตด้วย ต่อมาเมื่อการเลือกตั้งครั้งนั้นถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ คุณทักษิณเสนอให้เลือกตั้งใหม่ คุณอภิสิทธิ์กลับเสนอ มาตรา 7
 
มันจึงเป็นการสะท้อน “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ” ซึ่งในที่สุดมันเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการเมืองไม่สามารถหาทางออกได้โดยกระบวนการประชาธิปไตย จนนำไปสู่การสนับสนุนให้ใช้วิธีการรัฐประหาร 19 กันยา 49
 
เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 ประชาธิปัตย์บอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ต่อมากลับตั้งรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายรัฐประหาร โดยกองทัพและอำมาตย์ นี่คือความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยที่ทำให้เครือข่ายรัฐประหารกระชับอำนาจของฝ่ายตนเอาไว้ได้อย่างหนาแน่นจนเป็นอุปสรรคที่ยากยิ่งต่อ “การเปลี่ยนผ่าน” สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยืนยันหลักเสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จริง
 
นอกจากนี้ ประชาธิปัตย์ยังคัดค้านการนิรโทษกรรมคุณทักษิณด้วยการอ้างหลักนิติรัฐ และนิติธรรม ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ขัดแย้งในตัวเองอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเมื่อคุณบอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่กลับยอมรับกระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหาร เท่ากับยอมรับว่ารัฐประหารสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรมขึ้นมาได้
 
หรือการค้านนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหารและถูกใช้กลไกรัฐประหารเอาผิด ก็เท่ากับคุณกำลังปกป้องหลักนิติรัฐ นิติธรรมของรัฐประหาร ทั้งที่คุณบอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร นี่คือ “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ” ที่สะท้อนวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์!
 
3. การไม่แสดงความรับผิดชอบต่อการฆ่า 91 ศพ โดยพยายามอธิบายแบบ “ลอยตัวเหนือปัญหา” ว่าฝ่ายตนไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่ใช่เงื่อนของความแตกแยก เป็นเพียงผู้รักษากฎหมายและอาสามานำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า
 
แต่ความจริงก็คือ เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลสิ้นดีที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสั่งสลายการชุมนุมของประชาชนที่มาขอการเลือกตั้งด้วย “กระสุนจริง” เป็นเรื่องไร้เหตุผลสิ้นดีที่จะรักษากฎหมายด้วยการสังหารประชาชนที่มาขอการเลือกตั้ง แม้คุณจะไม่เห็นด้วยที่คนเสื้อแดง “สู้เพื่อทักษิณ” เท่านั้น (ตามข้อกล่าวหาของคุณ) แต่คุณก็ต้องเคารพแนวทางการต่อสู้ของพวกเขาที่ขอต่อสู้บนเวทีการเลือกตั้งตาม “วิถีทางประชาธิปไตย” เท่านั้น ด้วยแนวทางการต่อสู้เช่นนี้ไม่ว่าจะคิดด้วยเหตุผลในแง่มุมใดๆ มันไม่ควรจะถูกตอบโต้ด้วยลูกปืน
 
ฉะนั้น การสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงมันจึงเป็นนโยบายที่ผิดพลาดที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ประชาธิปัตย์นอกจากลอยตัวไม่รับผิดชอบใดๆ แล้วยังกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นขบวนการก่อการร้าย ล้มเจ้า และฆ่ากันเอง สะท้อนถึงพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมของพรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศที่ประกาศว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
 
จากรัฐประหาร 49 มันมาถึง 91 ศพ ได้อย่างไร? หากประชาธิปัตย์ไม่ทบทวนตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าควรมีส่วนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร ก็เท่ากับประชาธิปัตย์ได้กลายเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ตรงกันข้ามกับประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยตลอดไป
 
หากประชาธิปัตย์ไม่ทบทวนตัวเองอย่างหนักในปัญหาหลักๆ อย่างน้อย 3 เรื่องดังกล่าวนี้ คงยากยิ่งที่จะพลิกฟื้นกลับมาเป็นคู่แข่งที่เทียบเท่ากับพรรคเพื่อไทยได้ ยกเว้นว่าในอนาคตพรรคเพื่อไทยอ่อนแอ เพลี่ยงพล้ำต่ออำนาจนอกระบบ หรือไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย แตกกันเอง หรือแพ้ภัยตนเอง
 
แต่หากประชาธิปัตย์จะกลับมาชนะพรรคเพื่อไทยได้อีกเพียงเฉพาะเมื่อเวลาที่พรรคเพื่อไทยอ่อนแอ หรือถูกทำให้อ่อนแอเท่านั้น ชัยชนะเช่นนั้นก็คงไม่มีคุณค่าอะไรต่อประเทศและพรรคประชาธิปัตย์เอง
 
มันจะเป็นเพียงชัยชนะที่สะท้อนความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ และความพ่ายแพ้ของประเทศ เหมือนชัยชนะในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เพิ่งผ่ามา ซึ่งกลายเป็น “ตราบาป” ตลอดไป! 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

SIU:"Vote No"เกมส์นี้ที่มีแต่เจ็บกับเจ๊าของพันธมิตรฯ

Posted: 07 Jul 2011 02:01 AM PDT

สีสันในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างหนึ่งของประเทศไทยซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ใด ในโลก ก็คือ กระแสรณรงค์ “โหวตโน”ของ พันธมิตรมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้การนำของนาย สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญของพันธมิตรฯ

หลังจากที่พันธมิตรเริ่มมีท่าทีความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ นายสนธิ ได้ประกาศ กลยุทธ์ โหวตโนโดยได้วางยุทธศาสตร์ว่า “จะขอจุดเทียนเล่มที่ 2 ด้วยการลงคะแนนในช่องไม่เลือกใครเพื่อปฏิรูปการเมืองที่เลวร้าย” และตั้งเป้าไว้ถึง 10 ล้านเสียง ตามที่ได้ประกาศในวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา

ภายใต้แคมเปญดังกล่าวยังปิดบังเงื่อนงำหลายประเด็นไว้ ทั้งเรื่องความแตกคอในหมู่แกนนำพันธมิตรฯ ที่ นาย สมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำประกาศลงสู้ศึกเลือกตั้งในนาม “พรรคการเมืองใหม่” จนเป็นที่แตกแยกในหมู่แกนนำ มีการขุดเรื่องฉาวโฉ่มาแฉกันทั้งปมเรื่องเงินบริจาคเข้าพรรค 3 ล้านบาท ที่เกิดวิวาทะโดยนายสมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า นายสนธิ “รับงานใครมา?” รวมไปถึงกรณีความขัดแย้งของนาย สมศักดิ์และ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กรณีเงินจากการจัดคอนเสิร์ตการเมือง

รวมไปถึงภาพความร้าวฉานระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฯ อดีตแนวร่วมอุดมการณ์ โดยจุดแตกหักน่าจะเกิดขึ้นจากกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถยื่นประกันตัว นาย วีระ สมความคิด และ น.ส. ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ที่เดินเข้าไปให้จับกุมในชายแดนกัมพูชาในข้อหาบุกรุก แต่ได้ประกันตัวนาย พนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์พร้อมคณะบางส่วน

หลังจากนั้น พันธมิตรฯได้ปล่อยแคมเปญดังกล่าว ด้วยการขึ้นป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่บริเวณทางด่วน และเวทีที่มัฆวาฬว่า “อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา” ก่อนที่ป้ายดังกล่าวจะถูกกระจายไปยังรอบๆเมืองหลังจากที่ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีการประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 พฤษภาคม

ป้ายรูปแบบแรกถูกติดตั้งในภาพของ “ควาย ตัวเงินตัวทอง สุนัข ลิง และเสือ” โดยมีเนื้อหาเชิงเสียดสีนักการเมืองบนตรรกกะชุดความคิด “นักการเมืองเลวไม่แตกต่างจากสัตว์” และถูกร้องเรียนจากผู้สมัครหลายพรรคไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนนายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง ด้านสืบสวนสอบสวน ได้มีมติที่ประชุมมีเสียงข้างมาก 4-1 เสียง ให้ปลดป้ายดังกล่าวลงในวันที่ 8 มิถุนายน เนื่องจากไม่ได้เป็นการรณรงค์หาเสียง

โดยตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ตามมาตรา 10 ระบุว่า การโฆษณาด้วยการปิด ทิ้งหรือโปรย แผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้หรือไม่อนุญาตได้ และมาตรา 11 ระบุว่า หากไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้สั่งเป็นหนังสือ ปลด รื้อ ถอน ขูด ลบหรือล้างข้อความหรือภาพนั้นภายในเวลาที่กำหนด

ต่อมาพันธมิตรได้แจ้งว่าป้ายดังกล่าวนั้นเป็นของ “พรรคเพื่อฟ้าดิน” ซึ่งเป็นพรรคของเครือข่ายสันติอโศก และมีการนำหมายเลข 18 และโลโก้พรรคเพื่อฟ้าดินมาติด และออกเวอร์ชั่นที่สองที่มีสโลแกน ต่างๆ เช่น “หนีเสือปะจระเข้” “3 ก.ค. วันตบโหลกนักการเมือง” หรือรูปของควายที่ใส่สูทสีเสื้อคล้ายของพรรคการเมืองใหญ่ และโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งได้ออกป้าย “อย่าปล่อยให้คนเผา และ คนปล่อยให้เผา เข้าสภา”

โดยได้เสียงตอบรับจากบรรดาแม่ยกพอสมควร และมีการตั้งเป้าว่าถ้าหากมีการโหวตโนมากกว่าคะแนนผู้สมัครได้ถึง 26 เขต ก็จะไม่สามารถทำให้เปิดประชุมสภาได้ โดยได้อ้างว่ามีความหมายทางกฎหมายแล้ว จากประเด็นดังกล่าวภาคประชาชนได้ตรวจสอบไปยังกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 93 วรรคท้าย ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งวรรคที่ 7 บอกว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร และต้องดำเนินการให้มี ส.ส.ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่จะมีอายุของ ส.ส.ที่เหลืออยู่

โดยถ้าหากมีกรณีดังกล่าวรัฐอาจจะต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งซ่อมไม่น้อยกว่า หลักร้อยล้านบาทตามมาด้วยแต่เมื่อผลปิดหีบผลกับพลิกล็อก!! ไม่แรงอย่างที่กระแสพันธมิตรฯโหมโปรโมทในเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการและช่อง ASTV ว่าได้รับกระแสการตอบรับที่ดี โดยในครั้งนี้มีผู้ไปกาในช่องงดออกเสียง 1,405,037 บัตร ในแบบแบ่งเขต คิดเป็นร้อยละ 4.04 ในขณะที่การเลือกตั้งในปี 2550 มีผู้กาในช่องงดออกเสียงถึง ร้อยละ4.57 และไม่ได้มากกว่าผู้สมัครสักเขต แม้กระทั่งชลบุรีที่ถือว่าเป็นเมืองหลวงของพันธมิตรฯ

จากการสำรวจสาเหตุหนึ่งคือ ผู้ที่แต่เดิมมีความตั้งใจจะกางดออกเสียงมีความรู้สึกว่าอาจจะถูกเหมารวมว่า สนับสนุนพันธมิตรฯ จึงไปเลือกพรรคอื่นแทน โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวกลับไปเป็นตัวสกัดกั้นผู้สมัครของประชาธิปัตย์ที่มี ฐานคะแนนเสียงทับซ้อนกับพันธมิตรฯ คะแนนจึงถูกแบ่งไปยัง พรรครักษ์สันติ และพรรครักประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร

แต่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้เหตุผลในกรณีดังกล่าวว่า “จริงๆแล้วอาจจะมีคนโหวตโนเยอะ แต่ถูกกรรมการนับคะแนนขานเป็นบัตรเสีย” โดยในความเป็นจริงมีการตั้งข้อสังเกตว่าบัตรเสียที่มีมากถึงร้อยละ 5.75 ส่วนหนึ่งจะมาจากกรณีที่บนบัตรเลือกตั้ง โลโก้ของพรรคเพื่อไทยมีขนาดเล็กทำให้ผู้ลงคะแนนสับสนและกาผิดช่องมากกว่า

หากประเมินในด้านการลงทุน นี่เป็นการลงทุนที่ล้มเหลวอย่างมาก หากคำนวนค่าป้ายหาเสียงราคาเฉลี่ยป้ายละ 200 บาท จำนวน 1แสนป้าย ก็ตกมูลค่า 20ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเป็นการประเมินหลักการตลาดเมื่อเราลงโฆษณาสินค้าเราจะหวังผลหรือยอด ขายที่เพิ่มขึ้น 20 – 30% แต่กรณีดังกล่าวกลับมีจำนวนลดลง

SIU ประเมินว่าก่อนหน้านั้นที่พันธมิตรดำเนินกลยุทธดังกล่าวเพื่อหวังกระแส “ซาวนด์เช็ก” มวลชนว่ามีผู้สนับสนุนตนมากน้อยเพียงใด โดยแยกจากมวลชนประชาธิปัตย์และไปตัดคะแนนเสียงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ จำนวน ส.ส.ต่ำกว่าเป้า และเป็นการกระทำเพื่อจะสามารถกำหนดวิธีการดำเนินการต่อไปหลังจากการเลือก ตั้งเสร็จสิ้นของพันธมิตรฯ โดยถ้าหากมีผู้โหวตโนจำนวนมากก็สามารถเรียกความเชื่อมั่นและสามารถต่อรองกับ สังคมได้มากขึ้นทำให้พันธมิตรฯต้องหันมาทบทนตัวเอง นาย ปานเทพ ยังกล่าวไปอีกว่า “พรรคการเมืองใหม่ของนายสมศักดิ์ที่ได้รับเลือกตั้งเพียง 3หมื่นกว่าเสียงควรจะพิจารณาแนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่อไป”

หากวิเคราะห์กันแท้จริงกลยุทธดังกล่าวล้มเหลวโดยสิ้นเชิงทั้งภาพความแตกแยก ในหมู่แกนนำ กระแสการตอบรับที่น้อยเกินคาดทำให้ต่อไปนี้อาจถูกลดความสำคัญในสังคมลงไปอีก ข้อเสนอแนะของ SIU คือแทนที่พันธมิตรฯจะสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ของ นาย สมศักดิ์ เพื่อที่จะเข้าไปเป็นผูัตรวจสอบอำนาจรัฐ แบบที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อาสาเป็นฝ่ายค้านต้านคอร์รัปชั่น แต่มวลชนกลับถูกนำมารับใช้ความขัดแย้งทั้งภายในแกนนำเอง และพรรคประชาธิปัตย์

เชื่อว่าหลังจากนี้พันธมิตรฯ อาจจะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่กันอีกครั้ง และเป็นหลักฐานที่ชัดว่าการกระทำบางอย่างนั้นอาจจะได้ความสะใจจากกลุ่มผู้ สนับสนุนหรือแม้กระทั่งเจตนารมณ์ที่ดีในการสกัดกั้นการคอร์รัปชั่น แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง พันธมิตรฯยังคงเป็นเพียงแค่สีสันของการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่ความหวังของพรรคการเมืองแบบมวลชนในความฝันของการเมืองใหม่ที่พวกเขา อยากเห็น การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์หากคุณจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของมวลชน คุณจำเป็นที่จะเข้ามาอยู่ในเกมส์!!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กกต.สอบกรณี"ยิ่งลักษณ์"ทำผิดกม.เลือกตั้ง-เหตุผัดหมี่โคราชเข้าข่ายรับจัดเลี้ยง

Posted: 07 Jul 2011 01:24 AM PDT

กกต.โคราชสอบกรณี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ผัดหมี่โคราชถวายอนุสาวรีย์ย่าโมและแจกผู้สนับสนุน เมื่อ 31 พ.ค. เข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ห้ามผู้สมัครจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเสียง และห้ามรับจัดเลี้ยงผู้ใด ผิดจริงถึงขั้นตัดสิทธิ์เลือกตั้ง ด้านแม่ค้าให้การ กกต. ยันควักเงินซื้อเส้นหมี่โคราช 1 กิโลเอง เพื่อให้ยิ่งลักษณ์แสดงฝีมือทำอาหารเป็นสีสันทางการเมือง

ที่มาของภาพ: สปริงนิวส์

หนังสือพิมพ์หนังสือพิมพ์โคราชรายวัน คนอีสาน รายงานว่า ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา (กกต.นครราชสีมา) เมื่อ 2 ก.ค. เจ้าหน้าที่งานสืบสวนสอบสวน ได้เรียกนางจงรัก แววโคกสูง อายุ 63 ปี แม่ค้าขายผัดหมี่โคราช อยู่ที่ 26 สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ มาสอบปากคำเพิ่มเติม

กรณี นสพ.ไทยรัฐ ฉบับที่ 19490 วันที่ 2 กรกฎาคม 2554 เสนอภาพข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ผัดหมี่โคราชถวายอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) และแจกจ่ายพี่น้องประชาชนที่มาให้กำลังใจ ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ร้องกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 53 ห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง (4) เลี้ยงหรือรับจัดเลี้ยงผู้ใด โดยใช้เวลาในการสอบสวนคนละประมาณ 30 นาที

นางจงรัก แววโคกสูง แม่ค้าขายผัดหมี่ในสถานีรถไฟจิระ เปิดเผยว่า “ข้อเท็จจริงตนมีความรักและศรัทธาพรรคเพื่อไทย เมื่อทราบข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มาหาเสียง จึงชักชวนเพื่อนๆ ให้มาต้อนรับ และเพื่อแสดงความเป็นท้องถิ่นโคราช ซึ่งมีอาหารพื้นเมืองขึ้นชื่อ คือ ผัดหมี่โคราช ตนซึ่งมีอาชีพขายผัดหมี่ จึงนำอุปกรณ์ และเครื่องปรุง โดยใช้เส้นหมี่โคราช 1 กิโลกรัม มาตั้งโต๊ะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แสดงฝีมือทำอาหาร เป็นสีสันทางการเมือง โดยไม่มีอะไรแอบแฝง ที่สำคัญค่าใช้จ่ายทุกบาทเป็นของตนเพียงคนเดียว ประมาณ 320 บาทเท่านั้น จึงขอชี้แจงให้สังคมรับทราบ”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 นายกนก สิริเพ็ญโสภา หัวหน้างานสืบสวนสอบสวน กล่าวกับหนังสือพิมพ์โคราชรายวัน คนอีสานว่า ขณะนี้กกต.นครราชสีมา สรุปสำนวนการสอบปากคำผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ผัดหมี่โคราชถวายอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) และแจกจ่ายพี่น้องประชาชน ระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาไปให้ กกต.กลางได้พิจารณาแล้ว แต่ในชั้นสืบสวนสอบสวนทางกกต.นครราชสีมาไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ซึ่งกรณีนี้จะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 53 (4) และอาจถึงขั้นถูกตัดสิทธิ์การเลือกตั้ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดิ อินดิเพนเดนท์: ยิ่งลักษณ์เปิดใจ มีความสามารถพอ ตัดสินใจได้เอง

Posted: 06 Jul 2011 11:12 PM PDT

เว็บไซต์ ดิ อินดิเพนเดนท์รายงานคำสัมภาษณ์ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีของไทย ยันเป็นผู้นำได้ด้วยตัวเอง ระบุกฎหมายหมิ่นเป็นปัญหาใหญ่

ดิ อินดิเพนเดนท์ ระบุว่าเพียงไม่กี่วันหลังการเลือกตั้งที่เธอได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่ยิ่งลักษณ์ว่าที่ผู้นำหญิงคนแรกของไทยกลับต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะกดดันอย่างหนักที่จะต้องจัดการกับว่าที่อดีตนายกรัฐมนตรีในข้อหาฆาตรกรรม และปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีลักษณะรุนแรงมาก

แม้จะยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ยิ่งลักษณ์กต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องจากขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ซึ่งช่วยให้พรรคเพื่อไทยได้เข้าสู่อำนาจอย่างมั่นคง ที่เรียกร้องกดดันนโยบายที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมาอีก

ดิ อินดิเพนเดนท์ระบุว่า แม้ยิ่งลักษณ์จะได้รับชัยชนะถล่มทลายจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาโดยเธอได้สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นกลาง ประนีประนอม และชูนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ และพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในประเทศ แต่เหล่านั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างจากความต้องการของคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย

สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ ต่อกรณีความตายกว่า 90 ศพจากเหตุปะทะการระหว่างกองกำลังทหารกับคนเสื้อแดงในช่วงเม.ย.-พ.ค. ปีที่แล้วนั้น ยิ่งลักษณสนับสนุนการทำงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่กลุ่มคนเสื้อแดงไปไกลกว่านั้น พวกเจาเรีกร้องให้นำตัวอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผู้กำลังจะลงจากตำหน่งนายกขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับบทบาทของอภิสิทธิ์ในการสลายการชุมนุมเมื่อปีทีแล้ว

ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ ดิ อินดิเพนเดนท์และสื่อต่างประเทศรายอื่นเป็นครั้งแรกว่าเธอตระหนักดีถึงความคาดหวังในระดับสูงมากที่เธอกำลังเผชิญ

“เราต้องบอกให้ประชาชนรับรู้ถึงแผนการทำงาน ดิฉันเชื่อว่าคนไทยมีความอดทน และอย่างน้อยที่สุด ประชาชนก็ให้โอกาสดิฉันพิสูจน์ความสามารถของตัวเองในการช่วยเหลือพวกเขา”

สำหรับกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่กำหนดโทษจำคุกสูงถึง 15 ปี สำหรับการแสดงความเห็นที่เข้าลักษณะดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้น เธอกล่าวว่าต้องมีการทบทวน ทั้งนี้ นักสิทธิมนุษยชนระบุว่ากฎหมายนี้ถูกใช้มากขึ้นภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือปิดปากความเห็นต่างและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองแกนนำคนเสื้อแดงหลายคนก็ถูกฟ้องด้วยข้อหานี้ รวมถึงจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในคุก

ในประเด็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า “ประเด็นนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ละเอียดอ่อน และเราต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะอภิปรายเรื่องนี้ ดิฉันไม่ต้องการให้คนไทยใช้กฎหมายนี้บ่อยเกินไป และไม่ต้องการให้คนไทยใช้กฎหมายนี้แบบผิดๆ”

ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งถูกเขียนขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 ซึ่งโค่นล้มทักษิณ ชินวัตรพี่ชายของเธอจากตำแหน่ง โดยเธอกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องถูกแก้ไขโดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ และต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อการแก้รัฐธรรมนูญด้วย “แต่เราจะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องลำดับต้นๆ สำหรับดิฉัน สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแก้ไขปัญหเศรษฐกิจ”

ดิ อินดิเพนเดน์ ยังได้ยกตัวอย่างของการเห็นต่างในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายระหว่างยิ่งลักษณ์กับนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงรายอื่น เช่น กรณีของนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการแกนนำ นปช. ได้เรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญต่อการหาความจริงกรณีการสายการชุมนุม “สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อการสร้างความปรองดองก็คือ ความจริง ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ดิฉันไม่ยอมรับการนิรโทษกรรม การปรองดองแตกต่างจากการนิรโทษกรรม” โดยรักษาการแกนนำ นปช ยังระบุด้วยว่านักเคลื่อนไหวเสื้อแดงต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

นอกจากนี้ นายใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปลดผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และดำเนินคดีกับทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และนายอภิสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ดิ อินดิเพนเดนท์ระบุว่า สิ่งที่ท้าทายยิ่งลักษณ์ที่สุดก็คือ การหาตัวหลอกในการดึงความสนใจออกจากข่าวที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะเดินทางกลับเขาประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนก็เห็นพ้องกันว่า ทักษิณยังคงมีอิทธิพลในการควบคุมพรรคเพื่อไทย “พี่ชายของดิฉันมีประสบการณ์การเมืองมาก แต่ดิฉันมีความสามารถพอที่จะตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วนตัวเอง ดิฉันสามารถที่จะเป็นผู้นำได้ด้วยตัวเอง” ยิ่งลักษณ์กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น