โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

โสมขาวเตรียมเปลี่ยนระบบการสอนเป็น 'ดิจิตอล' ในอีก 3 ปี ข้างหน้า

Posted: 12 Jul 2011 10:16 AM PDT

เกาหลีใต้ ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดจากการทดสอบการอ่านทางอุปกรณ์ดิจิตอล เตรียมพลิกโฉมการศึกษาทั้งประถม-มัธยมฯ เปลี่ยนตำรากระดาษเป็นระบบดิจิตอลและการเรียนรู้อื่นๆ ผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต

สื่อภาคภาษาอังกฤษของเกาหลีใต้รายงานว่าทางการเกาหลีจะทำการปรับเปลี่ยนให้ตำราเรียนทั้งหมดเข้าสู่รูปแบบดิจิตอล โดยรัฐมนตรีศึกษาธิการของเกาหลีกล่าวว่า เด็กนักเรียนจะสามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์แทบเล็ต และสมาร์ทเทเลวิชั่น ในการศึกษาเนื้อหาของตำราเรียนได้

นอกจากนี้ รมต. ศึกษาธิการยังได้บอกอีกว่า ทางกระทรวงมีเป้าหมายในการเปลี่ยนระบบการสอบให้กลายเป็นระบบออนไลน์ด้วย

ทางกระทรวงศึกษาธิการและประธานสภายุทธศาสตร์ข้อมูลข่าวสาร พูดถึงแผน "สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น" ให้กับลีมุงบัง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ทำเนียบ

ซึ่งนอกจากเนื้อหาจากตำราที่เป็นกระดาษแล้ว อุปกรณ์เสริมการเรียนและการเรียนรู้แบบสองทางก็จะถูกนำมาบรรจุไว้ในตำราดิจิตอลด้วย มีตำราบางส่วนที่จะถูกปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการของคนพิการ

ทางกระทรวงวางแผนไว้ว่าจะทำให้ตำราทุกวิชาสำหรับชั้นระดับประถมให้กลายเป็นระบบดิจิตอลภายในปี 2014 และสำหรับของระดับชั้นมัธยมศึกษา ภายในปี 2015 โดยพวกเขาวางแผนไว้ว่าจะเริ่มเพิ่มชั้นเรียนออนไลน์ในปี 2013 เป็นเวลา 3 ปีเพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ไม่ว่าจะจากสภาพอากาศหรือจากปัญหาสุขภาพสามารถศึกษาบทเรียนได้โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน

ทางกระทรวงยังได้วางแผนสนับสนุนให้นักเรียนเข้าเรียนใน "โปรแกรมระดับมหาวิทยาลัย" ซึ่งเป็นวิชาของระดับอุดมศึกษา โดยใช้โทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยยังมีโปรแกรมเรียนหลังโรงเรียนเลิกซึ่งจะสอนวิชาภาษาต่างประเทศ ความรู้เชิงพหุวัฒนธรรม และวิชาอื่นๆ ด้วย

เพื่อช่วยให้ครูอาจารย์สามารถใช้งาน "สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น" ได้ ทางรัฐบาลจึงได้เริ่มฝึกฝนครูภายในปี 2012 นี้ คิดเป็นอัตราร้อยละ 25 ต่อปี

จากการสำรวจขององค์กรความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) พบว่านักเรียนชาวเกาหลีมีคะแนนด้านการอ่านผ่านระบบดิจิตอลมากที่สุด ทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการเชื่อว่า การใช้ระบบดิจิตอลจะทำให้เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนและส่งเสริมการแข่งขันด้านการศึกษาในระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสงสัยบางคนบอกว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแอดมิชชั่นของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่บีบคั้นมากในหมู่นักเรียนและส่งเสริมให้เกิดธุรกิจการเรียนพิเศษของเอกชนแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาใดๆ ในชั้นเรียนอย่างแท้จริง

เมื่อปี 2009 ที่ผ่านมาตัวแทนจากประเทศเกาหลีใต้ได้เข้ารับการทดสอบของ โครงการสอบประเมินนักเรียนนานาชาติ (PISA) ด้านการอ่านทางอุปกรณ์ดิจิตอลซึ่งได้คะแนนสูงสุดคือ 568 คะแนน สูงกว่าระดับเฉลี่ยของ OECD คือ 499 คะแนน ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียได้คะแนนเท่ากันในลำดับที่ 2 คือ 537 คะแนน ตามด้วยประเทศญี่ปุ่น 519 คะแนน และจีนอยู่ที่ 515 คะแนน

........................................................
ที่มา
All textbooks to go digital by 2015, The Korean Herald, 28-06-2554
http://www.koreaherald.com/national/Detail.jsp?newsMLId=20110629000838
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ 'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ': “เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เข้าใจปัจจุบัน” แชร์ ‘อำนาจ-อนาคต’ เส้นแบ่งการเมืองยุคใหม่

Posted: 12 Jul 2011 10:11 AM PDT

หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมน์ “ออกแบบประเทศไทย” ที่สัมภาษณ์ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กรรมการบริหารวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และอดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับเต็ม หลังจากที่เคยลงในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม 2554 ไปแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่ของหนังสือพิมพ์มีจำกัดจึงมีการตัดทอนเนื้อหาไปบ้าง (สัมภาษณ์โดย อริน เจียจันทร์พงษ์ ผู้สื่อข่าวการเมือง นสพ.มติชน)

 

ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยชนะอันดับ 1 ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 เตรียมก้าวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

แต่ชัยชนะถล่มทลายดังกล่าว ที่มีภาพพ.ต.ท.ทักษิณ ฉายอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งกับ อำนาจนอกระบบ “เงาทะมึน” ซึ่งฉาบอยู่เบื้องหลังการเมืองไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายคนยังวิตกว่า การเมืองไทยข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

เพราะบรรดาความเสี่ยงการรัฐประหาร และเงื่อนไขการเผชิญหน้าทั้งหลายยังอยู่ครบ แถมตอกย้ำให้เป็นบรรยากาศแห่งความกลัวเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปีที่แล้ว ที่ฝ่ายรัฐใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจนเสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บหลักพัน    

แต่ในสายตานักประวัติศาสตร์อย่าง “ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” กรรมการบริหารวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และอดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับมองอย่างมีความหวังว่า “มีโอกาสบางอย่างในการที่หลังเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็น เส้นแบ่งการเมืองยุคใหม่ของสังคมการเมืองไทย”  

“เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์จึงจะมีความหวังกับอนาคต การไม่มีมิติประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้ที่จะทำอะไรไม่ว่าจะเป็น ภาคการเมือง ประชาชน รัฐ ราชการ เอกชน เลยเดาไม่ได้ว่า จะเป็นอย่างไรในอนาคต”

อาจารย์ธเนศ อธิบายว่า ถ้าประวัติศาสตร์ลงตัว เข้าใจได้ เห็นได้ มันต้องบอกได้ว่า ถ้าคุณทำอย่างนี้ ใช้อำนาจหนักไปทางนี้ อะไรมันจะเกิดขึ้น แล้วจะแก้อย่างไร ก็ดูจากประวัติศาสตร์ว่าพร่องอย่างไร ก็ไปเติมตรงนั้น แต่ของเราจะแก้ที อย่างรัฐธรรมนูญ ก็ไปเปิดดูของคนอื่น เอาพิมพ์เขียวมาใส่ เช่น พรรคไม่เข้มแข็ง ก็เอาของที่อื่นที่เข้มแข็งมาใส่ พอไทยรักไทยขึ้นมา ก็บอกแข็งเกิน แล้วก็แก้ให้อ่อน คือ เราไม่มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเองอยู่ เลยไม่รู้ว่า ที่ผ่านมามันพร่องเพราะอะไร

ในสายตานักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ธเนศ จึงเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนกังวล เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่สะเด็ดน้ำ และถูกคนมาอธิบายใหม่ตั้งแต่ 2475 จึงมีภาพที่ถูกสร้างโดยนักการเมือง หรือนักประวัติศาสตร์กระแสหลักที่อยู่กับระบอบปัจจุบัน ที่อธิบายไปตามเหตุผลของตัวเอง หรือเหตุผลในตอนนั้น แต่ไม่ได้สนใจหลักฐานความจริงทางประวัติศาสตร์เลย แต่เป็นวาทกรรมใหม่ทั้งนั้น

“ปฏิวัติอเมริกา หรือฝรั่งเศส เขาเลิกพูดกันไปแล้ว เพราะเขาสะเด็ดน้ำว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มีรัฐธรรมนูญ หลักการใหญ่ๆจบแล้ว แต่ของเราตอนนั้นมันยังเหมือนไม่สำเร็จ แต่มันได้เยอะ เริ่มลงรากปักฐาน แต่จับพลัดจับผลู มันเริ่มเปลี่ยน ถอย ถูกยึดพื้นที่กลับ เดินไปได้แป๊บๆก็โดนเบรก คนก็เลยสงสัยว่า เอ๊ะ ตกลงเราเคยปฏิวัติประชาธิปไตยหรือเปล่า ก็เลยกลับมาพูดกันใหม่ทุกปีเมื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน  ว่า มันเป็นเพราะอะไร เพราะระบบการเมือง วาทกรรม ความเชื่อ ค่านิยมที่มากับระบบการเมืองไทย กระทั่งวันนี้ที่มันเริ่มย้อนกลับไปก่อนยุค 2475 ซึ่งมันหนักข้อขึ้นด้วย”

อาจารย์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า อย่างเช่นหลังปี 2490 การเมืองไทยถูกมองว่า เป็นเรื่องของชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่แย่งอำนาจ ใช้อำนาจมิชอบ มันก็ไม่ผิดทั้งหมด มันมีความเป็นจริงอยู่ แต่ว่า เวลาเราดูพัฒนาการ ต้องดูว่า ทำไมมันมาถึงจุดนั้น แล้วก็สกัดเอา แก่นของความจริงออกมา ที่คนชอบประณามพรรคการเมือง หรือนักการเมือง คำถามคือ คนยึดอำนาจที่มาจากสถาบันราชการ ทำไมไม่ถูกประณาม หรืออ้างว่าประณามไม่ได้เพราะมีพันธะที่จะทำ ทั้งที่พันธะที่ว่านั้นมันตรงข้ามระบอบประชาธิปไตย หรือความเป็นจริงที่ระบอบต้องการอีกแบบ แต่ก็ทำด้วย ข้ออ้างเรื่องความมั่นคง การดำรงอยู่ของสถาบัน พอคุณสร้างค่านิยมขึ้นมาจากความเชื่อ ข้อมูลสะเปะสะปะ มันเลยกลายเป็นข้อเท็จจริงที่ตอนนี้คนเชื่อกันว่า ล้มเหลวเพราะรัฐสภา นักการเมืองทำให้ล้มเหลว   

“คนที่เชื่อเรื่องนี้ไม่ใช่ชาวบ้านนะ เป็นคนมีการศึกษาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หรือคนที่ได้ไปเรียนทั่วโลก กลับมาด่านักการเมือง ผมก็บอกว่า ผมเรียนประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา ก็ไม่ได้เห็นนักการเมืองอเมริกามันเก่งกล้า ดี ไหนคุณไปหามาสิ มันดีแบบไม่แตะอะไรเลยจริงเหรอ เฮ้ย มันโดนคดีอยู่ทุกวัน มีเพื่อน มีพวกเหมือนกันแหละ เพียงแต่ระบบก็จัดการมันออกไปสิ ที่เหลือมันก็ทำงานต่อไป ก็เท่านั้น แต่ของเรา โห คุณจะเอาพระอรหันต์เหรอ”

พูดเรื่องนี้ก็คิดถึงวาทกรรม “คนดี” ที่เฟ้อมากในช่วง 5-6 ปี หลัง ซึ่งอาจารย์อธิบายว่า เป็นผลผลิตของการสะสมมาตั้งแต่หลังจอมพลสฤษฏิ์ (ธนะรัชต์) ค่านิยมแบบอำนาจนิยมต่างๆ มันมีพื้นฐานอยู่แล้วในวัฒนธรรมไทย มันเลยง่ายอยู่แล้ว แต่สังคมอเมริกัน ถ้าจะบอกว่า ดีแล้วต้องเชื่อ โอย ไม่มีใครเชื่อหรอก มันต้องพิสูจน์ตัวเอง ทุกคนต้องพิสูจน์ตัวเอง แล้วก็ไม่มีอะไรที่มันเลวหมด มันจะเอาข้ออ้างทางศีลธรรมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ของเรา ระบบมันไม่เคยทำงานได้ ฉะนั้นที่ผ่านมา อะไรที่ทำสำเร็จ เพราะอาศัยคนที่บารมีหน่อยมาเคลื่อน คนก็รู้สึกอือ ออ แต่มันมีคำถามเรื่องคุณภาพของความสำเร็จนั้นที่ไม่ค่อยพูดกัน

สำหรับเรื่อง “โอกาสบางอย่าง” ที่อาจจะเป็นเส้นแบ่งของการเมืองไทยยุคใหม่ อาจารย์ธเนศ เห็นว่า ถ้ามองจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากที่สุดในแง่การเข้าร่วมของประชาชน ความตื่นตัว ความสนใจ ความตั้งใจ รวมๆเรียกสำนึกทางการเมือง

“ตั้งแต่ 2475 จนถึงการเปลี่ยนแปลงหลายช่วง ที่ผ่านมา คนก็มาเลือกตั้งไม่น้อย คือแสดงว่า คนให้ความสนใจและอยากเปลี่ยนแปลงเยอะ รับรู้เรื่องการเมืองบ้างมากน้อยมาก ตามแต่เทคโนโลยีแต่ละยุค อย่างช่วง 2475 คนอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือ เยอะถ้าเทียบกับปัจจุบัน ตอนนั้นหนังสือประวัติศาสตร์โลก หรือพวกเรื่องประชาธปไตย เขาพิมพ์กันที 2,000 – 4,000 เล่ม นั่นปี 2475 นะ แสดงว่า คนสนใจมาก แต่เดี๋ยวนี้ หนังสือผมพันเล่มยังขายไม่หมดเลย มันเกิดอะไรขึ้น”

วันก่อนไปคุยกับทูตประเทศนึง เขาอ่านประวัติศาสตร์มา เขาถามว่า ตอนปี 2475 คนทีเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเป็นพวกปัญญาชน มีการศึกษาสูงถ้าดูจากชื่อ ทั้งภาคราชการ เอกชน แต่เดี๋ยวนี้ คนคัดค้านการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยคือคนกลุ่มนี้ มันตรงข้ามกัน เกิดอะไรขึ้นในเมืองไทย !! ผมหัวเราะเลย ใช่ๆๆ

“ถ้ามองแบบเข้าใจก็รู้สึกมีความหวัง”  

อาจารย์บอกว่า ก็ต้องให้กำลังใจกัน การเมืองมันอาจจะหยุด หรือถอยหลังบ้าง อ่ะ เรียกว่า ย่ำเท้าในช่วงหลายปี แต่ว่า หลัง 2549 พลังประชาชนที่ก้าวหน้าออกมาเข้าร่วมหมด เยอะมาก ยิ่งขยายออกไป อ่ะเรื่องที่คนออกมาประท้วงเพราะถูกหลอกเป็นเครื่องมือไหมเรายังไม่พูด แต่หมายความว่า โดยปรากฏการณ์นี่มันคือ ปรากฏการณ์ทางการเมืองของมวลชนในระบอบการเมือง เขาก็มีเป้าหมาย ต้องการรัฐธรรมนูญ ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล การเลือกตั้ง มันก็เป็นข้อเรียกร้องที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่รับได้ ไม่มีอะไรที่มันเกินเลยไปกว่านั้น ส่วนไอ้ปลีกย่อยอะไรต่างๆ ก็แล้วไป เพราะมันห้ามไม่ได้ พอมันเกิดขบวนการนี้ขึ้นมาแล้ว บางส่วนก็สุดขั้วไปบ้าง มันก็มีทั้งนั้น แต่โดยรวมๆ มันน้อย มันไม่ได้ซีเรียสถึงขนาดว่า ต้องให้บางอย่างพังทลายไปเลย

“ต้องถือว่า เป็นการตื่นตัวของมวลชนประชาธิปไตยที่สวยงามที่สุดอันนึง ถ้าเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางว่า ใบไม้ผลิ คนเรียกร้องใหญ่โต ผมก็บอกว่า ของเรามันเกิดหลายรอบแล้วนะ ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 พฤษภาคม 2535 เสื้อเหลืองตอนแรกผมก็นับ เมษายน-พฤษภาคม 53 มันเป็นดอกไม้ประชาธิปไตยซึ่งมันบาน เราทำมาตลอดเลย ไม่ได้มีน้อยกว่าคนอื่น”

อย่างเรื่องอดีตนายกฯส่วนใหญ่ที่โดนยึดอำนาจ แล้วออกนอกประเทศก็มักไม่ได้กลับมา แต่อย่างทักษิณ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองมันไม่หยุด หลัง 2549 แกไม่ได้ถูกตัดจาดจากความเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าจะตอบว่า เขามีเงิน ก็จริง มีเงินอย่างเดียวไม่พอนะ เพราะถ้ามายุ่งต่อ เงินจะหมดมากกว่านี้ จะมายุ่งทำไม ผมไม่ได้บอกว่า มันถูกหรือผิดนะ แต่ในแง่พัฒนการประชาธิปไตย ถ้าความเชื่อของบทบาทางการเมืองที่มีฐานจากมวลชน มันไม่ถูกทำลาย แสดงว่า มีเชื้อของการเมืองประชาธิปไต ยที่มันแรง จัดการยังไงก็ไม่หมด แสดงว่า องคาพยพของความเป็นประชิปไตยในเมืองไทยมันมีอยู่แล้ว ทำให้ทักษิณ สร้างชีวิตทางการเมืองเขาออกมาได้ บางคนไปมองในแง่ ด่าเขา โกรธเขาก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามองในแง่วิชาการที่เห็นว่า มีพัฒนาการ ต้องมองว่า ปรากฏการณ์แบบนี้มันแสดงว่าอะไรล่ะ ทำไมคนมีเยื่อใย ก็คือการเมืองมันสร้างเขา เขาเป็นผลผลิตของการเมือง

ส่วนการย่างก้าวต่อไปนั้น อาจารย์ธเนศ เห็นว่า ที่เหลือเราต้องสรุปบทเรียนของตัวเองว่า ทำไมมันถึงไม่ทำให้มันออกดอกให้บานเต็มที่เสียที คือ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ อุดมการณ์ สถาบัน ระบบการเมืองมันต้องรองรับที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านมันอยู่ในระบบ สงบ สันติ ไปสู่จุดหมายที่รู้ว่า คนต้องการอะไร ก็ให้ไปถึงจุดนั้น จะได้มากน้อยก็ว่ากันไป

“แต่ตอนนี้คนไม่มั่นใจว่า โครงสร้างดั้งเดิมที่รองรับ จะทำหน้าที่และให้ความมั่นใจมวลชนทั้งหลายได้ไหม เสื้อแดงก็บอกว่า ไม่เชื่อว่า โครงสร้างที่รองรับระบอบ จะทำหน้าที่ เขาเลยพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน ภาคธุรกิจร้อนวันพันปีไม่ค่อยอยากยุ่งการเมือง แต่นี่ออกมาตั้งกลุ่มแอนตี้คอรัปชั่นบ้าง กลุ่มเคารพเสียงเลือกตั้งบ้าง นี่ไง ! แสดงว่า สถาบันโครงสร้างเดิมที่มี มันไม่ฟังก์ชั่น ฉะนั้น ประชาชนถึงได้เอาตัวเองเข้ามา ขอเป็นคนผลักให้มันเปลี่ยนเอง แล้วก็ยืนเฝ้าดูว่า เฮ้ย มันไปจริงไหม เพาะแล้วมันโตจริงไหม จะเฝ้าเองไม่ต้องให้คนอื่นเฝ้าแล้ว แล้วยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ สื่อใหม่มันสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ สร้างพลังมวลชนที่เชื่อมโยงกันรวมกลุ่มได้เหนียวแน่นมากขึ้น ระดับการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจของภาคสังคมจะมากขึ้นเยอะมาก และฝ่ายการเมืองก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้นมาก ส่วนโครงสร้างดั้งเดิมก็ต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นก็ชนกัน”  

เป้าของเราส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการแชร์อำนาจ อำนาจเดิมๆต้องปรับตัว ?

อาจารย์พยักหน้า แต่เล่าถึงปัญหาว่า โดยประวัติศาสตร์จริงๆของเรา มันไม่แชร์การแบ่งอำนาจ เป็นคอนเซปตะวันตกหลังยุคเรอเนสซองซ์ ที่อำนาจมันถูกย้ายจาก อำนาจพระเจ้ามาสู่อำนาจมนุษย์ กษัตริย์ต้องเป็นมนุษย์ด้วย มันถึงแบ่งอำนาจได้ คือตอนนั้น แพ้แล้วเลยยอม แบ่งอำนาจไปให้ สภาโน่นนี่แล้วค่อยลงไปถึงชาวบ้าน

แต่คอนเซปอำนาจแบบเอเชีย อำนาจมันยังมีที่มาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ ของบารมี มันไม่ใช่อำนาจที่มาด้วยเหตุผล รัฐธรรมนูญของเขามันถึงอยู่ได้ คนไม่ไปแตะ ก็ไปตีความเอาเองสิโดยใช้เหตุผลว่า เขาให้คุณได้เท่าไหร่ ก็ได้เท่านั้น แต่ของเรา มันไม่ได้ เพราะสังคมวัฒนธรรมมไม่ได้สร้างด้วยเหตุผล แต่สร้างด้วยความเชื่อที่ต้องอิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เราจึงไม่เคยประสบความสำเร็จในการสร้างระบบที่แยกระหว่างศาสนากับสังคม ความเชื่อศาสนากับสังคม มันอยู่ปนกันตลอดเวลา จริงๆแล้วหลังยึดอำนาจ ฝ่ายกุมอำนาจหาเหตุผลรองรับไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องกลับไปสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก่า สถาบัน ศาสนา ชาติ

“และก็ชาตินิยมของเรา มันไม่เหมือนของคนอื่น ของคนอื่นเป็นของมวลชน แต่ความคิดชาตินิยมนี่พูดแล้วมันปลุกระดมคนข้างล่าง เขาเลยไม่อยากใช้มาก เพราะทำให้คนข้างล่างถามว่า ฉันจะต้องได้อะไร แต่ชาตินิยมของเรารับใช้คนข้างบนและสถาบันของเก่าทั้งนั้น ชาวบ้านไม่ได้ได้ ชาตินิยมแบบเขาพระวิหารดูสิ คนตายคือชาวบ้าน อ้าว รักชาติแล้วกูตายเนี่ย มันได้อะไร เพราะเราทำให้สิ่งอันนี้เป็นของเก่า เพื่อรองรับความชอบธรรมของอำนาจนิยม ฉะนั้นฝ่ายประชาธิปไตย เจอพลังวาทกรรม ความเชื่อ ความคิด พวกนี้จัดการหมด พอเลือกตั้ง คนด่าเลย นักเลือกตั้ง”  

อาจารย์ธเนศ เล่าว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ บอกเลยว่า ประชาธิปไตยคือแบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ระบบแบบนี้มันเกิดขึ้นในธรรมชาติ พร้อมกับการมีมนุษย์มีสังคม ลองไปดูชาวบ้านเวลาทำอะไร เขาก็ต้องคุยปรึกษากันแล้ว เสียงส่วนใหญ่เอาแล้วก็ทำตาม นี่ไง ระบอบประชาธิปไตยแบบบุพกาล มันมีอยู่แล้ว

“แต่ของเราไม่เคยใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงๆในชีวิต มันจึงเปิดโอกาสให้นักวิชาการฝ่ายอำนาจนิยม พวกนี้เขียนได้เร็วมาก ทำไมถึงยึดอำนาจ ยึดแล้วดียังไง คนอ่านก็เข้าใจแล้วเชื่อเขาด้วย เออ มันก็สงบ ความคิดของเขาไม่ได้ทำให้วุ่นวายนี่ อ้าว! ตกลงกลายเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจริงๆ กลายเป็นพวกที่ไม่สงบ พวกวุ่นวายเหรอ เนี่ยพัฒนาการประชาธิปไตยเมืองไทย”

เมื่ออ่านประวัติศาสตร์เพื่อมองเส้นทางอนาคต อาจารย์ธเนศ เห็นว่า มันไม่มีทางจะกลับไปสู่ประชาธปไตยครึ่งใบ หรือเผด็จการอีก เพราะประชาชนไม่ยอม มันเลยเกิดปรากฏการณ์ถล่มทลายแบบเพื่อไทย ส่วนหนึ่งได้ฐานเสียงจากคนเสื้อแดง แต่มันต้องมีส่วนอื่นอีก ประชาธิปัตย์คะแนนโดยรวมเสียเมื่อเทียบกับปี 50 แสดงว่าต้องมีคนเห็นอะไรกับขบวนการที่มันเคลื่อนไหว เขาอาจไม่เห็นด้วยกับกลุ่มรักทักษิณ แต่เขาคิดว่า ไม่ควรจะมีรัฐประหาร การแทรกแซงจากกองทัพ หรือำนาจที่มองไม่เห็น ก็คือกลับไปสู่ที่ปวงชนเป็นใหญ่ กลับไปหาคำนิยามอ.ปรีดี 2477 แสดงว่า มันช้าหน่อย มันคดเคี้ยว แต่มันก็มาแล้ว เริ่มมีอนาคต

“คือถ้าดูจากการเปลี่ยนแปลงมาถึงตรงนี้ มันเป็นบวกนะ คนสนใจการเมืองดีกว่าคนไม่สนใจ คนห่วงใยทุ่มเทให้ อันนี้คือหัวใจของประชาธิปไตย ไม่ต้องไปหาทฤษฎีอะไรยากๆ เอาง่ายๆนี่แหละ ถ้าอย่างนี้ไม่มองว่ามันเป็นด้านดี แล้วจะเอาอะไร จะไปหาเทวดาที่ไหน เอาเทวดามานี่ไม่เป็นประชาธิปไตยเด็ดขาด”

ธรรมเนียมแบบประชาธิปไตยมันจะอยู่ได้ รัฐสภาต้องทำงานติดต่อกันเป็น 50 ปี 100 ปี แต่ระบบเลือกตั้งไม่ใช่เลือกเทวดา ไม่ใช่แบบที่หวังจะเอาอะไรที่มันดีแล้วก็สำเร็จเลย เพียงแต่แต่ถ้าระบบมันทำงาน ระบบเลือกตั้งคือการมาตรวจสอบครั้งใหญ่ แทนที่จะรอศาลลงโทษ ผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินเลย ให้กลับไปนอนแล้วเอาคนใหม่เข้ามา ถ้าเปลี่ยนคนแล้วยังไม่ดีก็เปลี่ยนพรรค เนี่ย ให้ระบบมันดำเนินไป ถ้ามันทำได้ 4- 5 ครั้ง 20 ปี มันจะเริ่มเกิดธรรมเนียม คนจะรู้แล้วว่า ส.ส.ประเภทไหนจะอยู่ได้ อยู่ไม่ได้ แล้วถึงจุดนึง มันจะไม่ใช่พรรคกำหนด แต่ประชาชนเป็นคนกำหนด และสื่อก็เป็นกลไกสำคัญ ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ถ้าตรวจสอบหนักๆมันจะอยู่ได้อย่างไร  

ของเรา รัฐสภาถูกตัดตอน สูงสุดกี่ปีเองล่ะ หลัง 35 – 49 มันสร้างธรรมเนียมอะไรได้ มันจึงกลายเป็นมวยวัด คนนั้นเข้าสายตรง อีกคนเข้าสายเหยี่ยววุ่นวายไปหมด ฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องเข้ามาคิดกันว่า ระบบมันต้องทำเพื่ออนาคต นักการเมืองอมเริกา เขาออกมาหาเสียง เขาต้องพูดเลยว่า เพื่อที่ 5 ปี ข้างหน้า จะได้อะไร ระบอบประชาธิปไตยเพื่ออนาคตเพื่อลูกหลาน ไม่ใช่ทำเพื่อวันนี้ ระบบมันต้องอยู่เพื่อคนข้างหน้า นโยบายมันจึงเป็นระยะยาว แต่ของบ้านเราที่เราโจมตีว่า ทุกพรรคเป็นนโยบายระยะสั้น อ้าว ก็เพราะทุกคนหวังว่าอยู่ 2 ปี 4 ปี ก็บุญแล้ว มันไม่ได้คิดถึงอนาคตไง เพราะลึกๆไม่มีใครเชื่อว่าระบบรัฐสภาไทยจะอยู่นาน 100 ปี

สำหรับเรื่องการปรองดองที่ว่าที่นายกฯหญิงบอกว่า จะไม่ออกกฎหมายช่วยคนๆเดียว อย่างไรก็ดี มันทำอย่างนั้นไม่ได้อยู่แล้ว โดยสภาพ มันต้องยกให้ทุกฝ่ายหมด แต่เท่ากับผู้ที่ต่อสู้กับอำนาจเดิม ยอมประนีประนอม แล้วมวลชนคงไม่ยอม? อาจารย์ธเนศ บอกว่า ใช่ ซึ่งมันยาก ไม่ใช่โจทย์ง่าย สถานการณ์มันต้องลงรอยกว่านี้เยอะ จึงค่อยคิดโจทย์นี้ กว่าจะตอบอันนี้ได้ มันต้องทำอะไรมาก่อนเยอะจนเป็นรูปเป็นร่างก่อน แต่ไม่ต้องกลัวว่าตอนนี้ ยิ่งลักษณ์ มาแล้วจะได้ทักษิณกลับมาด้วย เพราะมันมีกลไกสอดส่องเยอะมาก

แม้มีเสียงข้างมากเป็นเบื้องต้น แต่มีการกำกับตรวจสอบ การกดดันให้ปฏิรูปโครงสร้างระยะยาวไม่ใช่แค่หวังระยะสั้น ทั้ง 3 ขามันดึงกันอยู่ มันก็น่าจะดำรงให้มีเลือกตั้งในระบบไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีใครมายึดกุมอะไรได้ตามใจชอบแล้ว ฝ่ายไหนจะทำอะไรก็ต้องฟังปฏิกริยาจากสาธารณะ และคุณต้องรับผลของการกระทำนั้นได้

จะมาอ้างว่า เพราะความมั่นคงอะไรมันไม่พอแล้ว หรือจะอ้างว่าได้เสียงมามาก เขาก็ต้องถามตัวเอง จะพาซื่อเสียงข้างมากไม่ได้ เพราะในประชาธิปไตยเสียงข้างน้อยก็มีความหมาย ฉะนั้นเขาก็ต้องฟัง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: “สมาคมไตรกีฬาฯ”งานเข้า โดนชาวบ้านโวยละเมิด“กม.ป่าสงวนแห่งชาติ”

Posted: 12 Jul 2011 08:57 AM PDT

ชาวบ้านบางสะพานเดินสายยื่นหนังสือกว่า 20 ฉบับ ค้านใช้ท่าเทียบเรือประจวบจัดแข่งขันไตรกีฬาที่มี บ.สหวิริยา สนับสนุน ชี้พื้นที่อยู่ระหว่างบังคับใช้กฎหมายป่าสงวนฯ ให้บริษัทเอกชนผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ งดการดำเนินกิจกรรมใดๆ

 
 
วันนี้ (12 ก.ค.54) เวลา 10.30 น.ตัวแทนชาวบ้านใน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ราว 200 คนได้เดินทางยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลางกว่า 20 ฉบับ คัดค้านการใช้สถานที่บริเวณท่าเทียบเรือ บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด จัดการแข่งขันไตรกีฬา ของสมาคมไตรกีฬาแห่งประเทศไทย ในวันที่ 7 ส.ค.54 นี้ โดยมีบริษัทในเครือสหวิริยาให้การสนับสนุน
 
นายวิฑูรย์ บัวโรย ตัวแทนชาวบ้านให้เหตุผลว่า สถานที่ดังกล่าวไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการจัดกิจกรรมใดๆ ในขณะนี้ เพราะอยู่ในระหว่างการบังคับใช้มาตรา 25 ของกรมป่าไม้ (มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507) และมีคำสั่งให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ งดเว้นการดำเนินกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้นายอำเภอได้ทำหนังสือเตือนอย่างเป็นทางการให้กับสมาคมทราบไปแล้ว แต่สมาคมยังไม่เคารพกฎหมายยืนยันที่จะละเมิดคำสั่ง ถือเป็นการจงใจทำลายระบบกฎหมายบ้านเมืองไม่มีธรรมาภิบาลแยกส่วนคิดหวังเพียงประโยชน์ตนไม่สนความเดือดร้อนผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สนับสนุนการแข่งขันก็มีชื่ออยู่ในการบังคับใช้กฎหมายนี้ด้วย
 
“วันนี้ที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลและกระตุ้นเตือนให้คำนึงถึงข้อกฎหมายไม่ร่วมกันกระทำความผิดโดยไม่ตั้งใจ” นายวิฑูรย์ กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ทำการติดตามขบวนชาวบ้านที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือทั้งหมดกว่า 10 แห่ง อาทิ นายอำเภอบางสะพาน, ผู้กำกับการสถานีตำรวจ สภ.บางสะพาน, สนง.วนอุทยาน, สนง.กอ.รมน., อบต.แม่รำพึง, สถานศึกษา, ประธาน อสม. และหนังสือส่วนหนึ่งได้ถูกส่งไปทางไปรษณีย์ไปยังหน่วยงานระดับสูง เช่น กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หลังการมอบหนังสือชาวบ้านได้แยกย้ายกันเดินทางกลับอย่างสงบ โดยระบุว่าจะกลับมาติดตามผลความคืบหน้าต่อไป
 
ทั้งนี้ พื้นที่ที่ชาวบ้านอ้างว่าอยู่ระหว่างการบังคับใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 นั้น อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าครองแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของเอกชนแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.53 และเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.53 กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ให้ไล่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างของผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ ล่าสุดยังมีการแจ้งความดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้เขต 10 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.54 อย่างไรก็ตามผู้บุกรุกได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์

Posted: 12 Jul 2011 08:16 AM PDT

สิ่งที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวเอง เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่าแต่ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าจะปรับตัวก็ต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้ชนชั้นนำไม่มี

11 ก.ค. 2554

ความหมายของ “91 ศพ” ในสังคมพุทธ

Posted: 12 Jul 2011 06:24 AM PDT

เมื่อคืนผมดูทีวีช่อง 11 เห็นนักการเมืองคนหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ แต่เป็นนักการเมืองพรรคเพื่อไทย น่าจะอยู่ในมุ้งนายเสนาะ เทียนทอง เพราะเขาอ้างแนวทางปรอดองของนายเสนาะทำนองว่า “การตาย 91 ศพ ควรถือเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราไม่ต้องไปตัดสินว่าใครถูกใครผิด ควรชดเชยให้ครอบครัวคนตาย แล้วทุกฝ่ายก็มาร่วมกันกล่าวปฏิญาณต่อพ่อ-แม่ทั้งสองพระองค์ของเราว่า เราจะปรองดองกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป”

“91 ศพ คืออุบัติเหตุ” มันช่างตลกร้ายเหลือเกิน! แต่ผมไม่เชื่อว่าจะมีนักการเมืองคนนี้หรือนายเสนาะเท่านั้นที่คิดแบบนี้ จะว่าไปแล้วมันคือความคิดของ “นักศีลธรรม” ส่วนใหญ่ของประเทศนี้ด้วยซ้ำ เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปว่า การสลายการชุมนุมทางการเมืองด้วย “กระสุนจริง” ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้านั้น คุณภัควดี ไม่มีนามสกุล ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “นักสันติวิธีส่วนใหญ่ก็อุเบกขาอยู่บ้านกันหมด เมื่อมีคนตายเกือบร้อยศพกลางเมืองหลวง คนเหล่านั้นตายซ้ำสอง พวกเขาถูกนักสันติวิธีประหารทั้งเป็นไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะวิธีการชุมนุมของพวกเขาไม่ต้องตรงกับบรรทัดฐานบนหอคอยงาช้างของนักสันติวิธี” (วารสารอ่าน ม.ค.-มี.ค.2554 หน้า 113)

คณะกรรมการสิทธิฯ ส่วนหนึ่งก็มีภาพของ “คนดีมีศีลธรรม” ส่วนนักสันติวิธีก็มีทั้งพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียง แม่ชี นักปฏิบัติธรรม หรือกล่าวอย่างรวมๆ ผู้ที่มีบทบาทชี้นำทางความคิดในสังคมไทยส่วนหนึ่งนั้น เป็นชาวพุทธที่มีชื่อเสียง ชอบอ้างหลักพุทธศาสนาในการอธิบายปัญหาและเสนอทางออกแก่สังคมอยู่เสมอๆ แต่ดูเหมือนคนเหล่านั้นจะมองว่า “91 ศพ คืออุบัติเหตุ”

ทัศนะของชาวพุทธชั้นนำที่ดูเหมือนจะมองว่า “91 ศพ คืออุบัติเหตุ” จึงเป็นสิ่งบ่งชี้การให้ “ความหมาย” แก่ความตายของประชาชนที่เสียสละชีวิตเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็น “สังคมพุทธ” อย่างมีนัยสำคัญ

เพราะ “91 ศพ คืออุบัติเหตุ” มันมีความหมายต่างกันอย่างลิบลับกับคำว่า “เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย” และหากจะว่าไปแล้ว อุบัติเหตุดังกล่าวก็ดูเหมือนจะเป็นอุบัติเหตุที่จงใจให้เกิดขึ้นโดยบรรดานักศีลธรรมทั้งหลายด้วยซ้ำไป

ผมยังจำติดตาไม่ลืมเลยที่เห็นภาพชายผู้เคร่งศีลธรรมในชุดเสื้อหม้อฮ่อมออกทีวีเรียกร้องให้กองทัพใช้ “กฎอัยการศึก” กับคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เสียงของพระสงฆ์ชื่อดังที่ว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์จะหมดความชอบธรรมมากแค่ไหนนั้น ต้องแยกแยะให้ได้ก่อนว่า 91 ศพตายเพราะชายชุดดำกี่คน ตายพระฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐกี่คน” ยังก้องอยู่ในหูของผม และยิ่งเห็นภาพ ว.วชิรเมธี ในยูทูป พูดถึง “การเผาบ้านเผาเมือง” และสนับสนุนการใช้กฎหมายแบบเด็ดขาดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผมยิ่งรู้สึกหดหู่ใจ

พระ ว.ยังพูดอีกว่า “กฎหมายควรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนเลวควรถูกลงโทษ” แต่ไม่ได้ได้พูดในบริบทของการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือในบริบทของการเรียกร้องให้นำฝ่ายที่ฉีกรัฐธรรมนูญมาลงโทษ ทว่าพูดในบริบทของการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง พูดในบริบทของการที่ฝ่ายรัฐประหารใช้กฎหมายเล่นงานนักการเมืองที่มาจาการเลือกตั้ง นี่คือภาพที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง

ผมเองไม่แคลงใจใน “เจตนาดี” ต่อสังคมของพระสงฆ์ชื่อดังและชาวพุทธชั้นนำเหล่านั้น แต่บางครั้งก็อดแปลกใจไม่ได้ที่คนเหล่านี้ชอบอ้างว่า พุทธศาสนาสอน “สัจธรรม” หรือความจริงที่แท้จริงที่สุดเหนือกว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์ หรือศาสนาใดๆ  แต่เวลาที่เขาจะเสนออะไร เขากลับไม่มอง “ความเป็นจริง” เอาเสียเลย

อีกอย่าง ชาวพุทธเหล่านี้ก็ชอบอ้าง “หิริโอตตัปปะ” อยู่เสมอ แต่พวกเขาไม่ละอายบ้างหรือที่สนับสนุนทรราชเสียงข้างน้อยทั้งโดยตรงและโดยปริยาย ไม่เกรงกลัวต่อบาปเลยหรืออย่างไรที่เรียกร้องให้ใช้ “กฎอัยการศึก” กับคนเสื้อแดง และที่ออกมาร้อง กกต.ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหลังจากล้มเหลวในการรณรงค์โหวตโนนั้น มันไม่ทำให้คุณรู้สึกทุเรศในความมีคุณธรรม ความเป็น “อริยบุคคล” ของตนเองบ้างหรือ ที่คุณธรรมความดีต่างๆ นั้นไม่ได้ทำให้คุณสามารถจะมีแม้แต่ “สปิริตเคารพเสียงส่วนใหญ่” เลย

สังคมของเราเป็นสังคมที่นักอ้างศีลธรรม นักอ้างหลักการ หลักนิติรัฐ นิติธรรม ล้วนแต่ไม่มีสปิริตเคารพเสียงส่วนใหญ่ เห็นไหมครับพวกนี้ดาหน้าออกมาเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เตรียมร้อง กกต.ให้ยุบพรรคที่เสียงส่วนใหญ่เลือกมาเป็นรัฐบาล เราจึงมีแต่นักศีลธรรม นักอ้างหลักการที่ “มือถือสากปากถือศีล” คนเหล่านี้คือ “เสียงส่วนน้อย” แต่เป็นเสียงส่วนน้อยที่ดังกว่า และไม่เคยแคร์เสียงส่วนใหญ่ใดๆ เลย

พวกเขาเหล่านี้พูดถึงความสงบสันติของบ้านเมือง พูดถึงความดีงามต่างๆ นานา แต่เป็นความสงบสันติ ความดีงามตามนิยามของพวกเขา หรือตามที่พวกเขาต้องการจะให้เป็น ส่วนความดีงามที่ต้องอยู่บนกติกาประชาธิปไตย อยู่บนหลักการเคารพเสียงส่วนใหญ่ อยู่บนความเป็นประชาธิปไตยที่ “ทุกคน ทุกสถาบัน” ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพและความเสมอภาค ตามที่เสียงส่วนใหญ่เรียกร้องต้องการ พวกเขากลับรู้สึกเฉยๆ หรือกระทั่งเย้ยเยาะ

ฉะนั้น ในสายตาของเหล่าคนดีมีศีลธรรมทั้งหลาย ความตายของ 91 ศพ จึงมีความหมายเป็นเพียง “อุบัติเหตุทางการเมือง” มันไม่ได้มีความหมายว่าเป็น “การเสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย” เพราะโดยศาสนา ศีลธรรม และหลักการที่พวกเขามักอ้างถึง มันไม่ได้ทำให้พวกเขาสามารถเข้าใจได้ว่า ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายนั้นพวกเขาถูกกระทำรุนแรงยิ่งกว่ามาก่อนโดยรัฐประหาร

การใช้กองทัพ รถถัง ออกมาปล้นอำนาจประชาชนนั้นคือ “ความรุนแรงอย่างยิ่ง” ที่บรรดานักศีลธรรม และนักอ้างหลักการ (แกล้ง) มองไม่เห็น โครงสร้างอำนาจจารีตที่ครอบงำประชาธิปไตยอยู่คือเงื่อนไขความรุนแรงที่พวกเขามองไม่เห็น พวกเขาเห็นแต่ความรุนแรงของชาวบ้านที่ต้องสู้เพราะไม่มีทางเลือก และเมื่อมีประชาชนเลือกที่จะตายเพื่อสังคมที่ดีกว่า พวกเขาจึงมองเห็นเพียงว่า “91 ศพ คืออุบัติเหตุ”

เมื่อความหมายของความตายของประชาชนที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยถูกมองอย่าง “บิดเบือน” โดยเหล่าบรรดาคนดีมีศีลธรรมตลอดมา วาทกรรมปรองดองของพวกเขาจึงไม่แสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อ “การเสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย” ของประชาชน และจึงไม่มีข้อเสนอว่าการปรองดองจะต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจารีตอันเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างไร

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หมอไร้พรมแดนหนุน ประเทศที่ถูกกีดประกาศใช้ซีแอล

Posted: 12 Jul 2011 05:56 AM PDT

องค์การหมอไร้พรมแดนหนุน ประเทศที่ถูกกีดกันจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรร่วม (Patent Pool) ประกาศใช้ซีแอล

(เจนีวา / 12 ก.ค.2554) องค์การหมอไร้พรมแดนเห็นว่า ข้อตกลงที่บริษัทยา กิลิแอด (Gilead) อนุญาตให้ยาต้านไวรัสติดสิทธิบัตรหลายตัว จัดการโดยองค์กรจัดการสิทธิบัตรยาร่วม (Medicine Patent Pool) จะสามารถพัฒนาการเข้าถึงยาได้ในประเทศยากจน แต่ได้จำกัดสิทธิของผู้ติดเชื้อในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากออกไป

“ข้อตกลงดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาขึ้นจากสิ่งที่บรรษัทยาข้ามชาติกำลังทำเพื่อการเข้าถึงยาต้านไวรัสของผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนา” นางมิเชล ไชด์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดนกล่าว “แต่ข้อน่าห่วงใยคือ บ.กิลิแอดไม่ได้ทำมากกว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เดิม ทั้งที่จริงควรทำมากกว่านี้เพื่อให้ระบบจัดการร่วมสิทธิบัตร หรือ Patent Pool สามารถเป็นทางออกเพื่อการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อถ้วนหน้า ดังนั้น ข้อตกลงนี้จึงไม่ควรเป็นต้นแบบของข้อตกลงอื่นๆในอนาคต”

ในด้านบวก ข้อตกลงดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงยาต้านไวรัสตัวใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง 2 ตัว คือ cobicistat และ elvitegravir นอกเหนือจากยาต้านไวรัส Tenofovir ที่สำคัญแล้ว ซึ่งนี่จะสามารถสร้างความมั่นใจให้ประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงยาเทียมเท่ากับประเทศร่ำรวย

ข้อตกลงดังกล่าว อนุญาตให้บริษัทยาชื่อสามัญมาขอเพื่อไปผลิตยาสูตรรวมเม็ด หรือขนานสำหรับเด็ก แต่ยังระบุถึงกลไกยืดหยุ่นในความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยหากประเทศใดถูกยกเว้นไม่ให้เข้าใช้สิทธิบัตรยานี้ บริษัทยาชื่อสามัญสามารถจำหน่ายให้ประเทศนั้นๆได้ หากรัฐบาลของประเทศนั้นประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิหรือ CL และหากในประเทศที่กิลิแอดไม่ได้สิทธิบัตรบริษัทยาชื่อสามัญก็สามารถยกเลิกข้อตกลงได้ทันที โดยข้อตกลงทั้งหมดต้องเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส

ในด้านลบ ข้อตกลงนี้ละเลยเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาสาธารณสุขจากปัยหาเอชไอวีเอดส์ โดยจำกัดการแข่งขันด้านราคา โดยอนุญาตให้ประเทศอินเดียเท่านั้นที่ทำการผลิตได้ และจำกัดแหล่งวัตถุทางยา และที่สำคัญที่สุด ยังละเลยผู้ติดเชื้อในประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะปานกลางออกไปจำนวนมาก อาทิ ประเทศแถบละตินอเมริกา, ยุโรปตะวันออก และ อาเซียน รวมทั้งจีนด้วย หลายประเทศในจำนวนนี้คือประเทศที่มีโครงการให้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้อมานานกว่าทศวรรษ ซึ่งต่างจากใบอนุญาตใช้สิทธิบัตรฉบับแรกของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ หากกลไกสมัครใจเช่น ระบบการจัดการสิทธิบัตรร่วม หรือ Patent Pool ไม่สามารถรับรองการเข้าถึงยาของประชาชนได้ ประเทศที่ถูกกีดกันออกไปต้องตัดสินใจใช้มาตรการที่เข้มข้น เช่น การประกาศซีแอล

“หลายประเทศดูแลให้การรักษาผู้ป่วยของตัวเองพอได้ แล้ว หากประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาถูกกีดกันออกไปจากข้อตกลงเช่นนี้ รัฐบาลในประเทศนั้นๆต้องพิจารณาใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอลเพื่อแก้ปัญหาสิทธิบัตรที่ขวางการเข้าถึงยาอยู่”

สำหรับแนวความคิดเริ่มแรกในการจัดการสิทธิบัตรยาร่วม (Patent Pool) นั้นมุ่งหมายให้ใบอนุญาตสิทธิบัตรครอบคลุมทุกประเทศ โดยบริษัทยาชื่อสามัญใดที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดสามารถขออนุญาตเพื่อผลิตและจำหน่ายยาที่ติดสิทธิบัตรโดยจ่ายค่าสิทธิบัตรในราคาที่ไม่แพงนัก แต่ในข้อตกลงครั้งนี้ ประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตยาชื่อสามัญอย่างไทยและบราซิลถูกกีดกันออกไป และยังไม่แก้ปัญหาให้ประเทศอย่างจีน ที่ยาเทโนฟโฟเวียร์ติดสิทธิบัตรอยู่ (ยาดังกล่าวไม่มีสิทธิบัตรในไทยและบราซิล)

“ทั้งนี้ เราขอเรียกร้องบริษัทยาที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับองค์กรจัดการสิทธิบัตรร่วม อาทิ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แอบบ็อท และเมิร์ค ควรมุ่งมั่นร่วมแก้ปัญหาสาธารณสุขที่โลกเผชิญอยู่มากกว่านี้ พร้อมกันนี้ เราขอให้รัฐบาลในประเทศที่ถูกกีดกันจากข้อตกลงของกิลิแอดตัดสินใจใช้ทุกวิถีทางซึ่งรวมถึงการประกาศซีแอลเพื่อจัดหายาต้านไวรัสที่จำเป็นต่อผู้ป่วยในประเทศ” นางมิเชล ไชด์กล่าวทิ้งท้าย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เมื่อชนชั้นนำขาดเอกภาพการนำและสองหนทางหลังเลือกตั้ง [คลิป]

Posted: 12 Jul 2011 04:32 AM PDT

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการปาฐกถาหัวข้อ “ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง: บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน” โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โดยตอนหนึ่งของการปาฐกถาทั้งนี้นิธิตั้งข้อสังเกตว่า ถึงกลุ่มชนชั้นนำที่ยังเห็นว่าสิ่งที่เกิดขณะนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบเดิม เป็นการต่อสู้ระหว่างทักษิณกับกลุ่มของพวกเขา โดยมองไม่เห็นว่ามันลึกกว่าเรื่องของทักษิณเยอะ นอกจากนี้นิธิยังเสนอว่าช่วงปี 2549 เกิดความแยกแยกในกลุ่มชนชั้นนำสูงมาก ซึ่งทำให้เอกภาพการนำหายไป และต้องยอมทำอะไรหลายเช่น “การใช้ม็อบมีเส้น” ซึ่งเป็นอันตรายในระยะยาวต่อชนชั้นนำ

ขณะที่ผลของการเลือกตั้งก็ชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำไม่สามารถหลบหลีกระบบเลือกตั้งได้ อย่างไรๆ ก็ต้องยอมรับมัน หรืออย่างน้อยไม่สามารถหลบหลีกการเลือกตั้งอย่างง่ายๆ อย่างที่เคยหลบมาแล้วได้ โดยนิธิ เสนอว่าชนชั้นนำมี 2 ทางเลือก หนึ่ง รอจังหวะที่เหมาะสมในอนาคตในการล้มรัฐบาลด้วยวิธีใดก็ตาม ซึ่งอาจจะเกิดรัฐประหารก็ได้ แต่รัฐประหารไม่ใช่คำตอบที่ถาวร รัฐประหารไม่สามารถนำดุลยภาพกลับคืนมาได้ใหม่

สอง คือ สิ่งที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวเอง เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่าแต่ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าจะปรับตัวก็ต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้ชนชั้นนำไม่มี

สำหรับการปาฐกถาของนิธิ ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเปิดตัวโครงการ “ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น” (Sapan Project - CMU) ซึ่งเป็นโครงการรวมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) โดยประชาไทจะทยอยนำเสนอการปาฐกถาทั้งหมดของนิธิ และรายละเอียดจากการประชุมหัวข้อต่างๆ ต่อไป

สำหรับการปาฐกถาที่นิธิตั้งข้อสังเกตถึงชนชั้นนำและทางเลือกหลังการเลือกตั้ง มีรายละเอียดดังนี้

000

"ต่อไปที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวคุณเอง ให้เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ทีนี้เผอิญเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกในภาวะการนำด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าคุณจะปรับตัวคุณต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้คุณไม่มี"

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อคนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ทางการเมืองในการต่อรอง ก็เข้ามาสนับสนุนทักษิณ ประตูเดียวที่เปิดให้เขาสามารถเข้ามามีพื้นที่ทางการเมืองได้ก็คือระบบเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการที่อยู่ๆ คุณทำรัฐประหาร เพื่อทำลายไม่ให้มีระบบเลือกตั้ง หรือเพื่อให้ระบบเลือกตั้งถูกควบคุมมันจึงรับไม่ได้สำหรับเขา และความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างนี้ อย่างไรก็หยุดไม่ได้

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ชนชั้นนำไม่ทันได้ตั้งตัว มองเห็นเป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองแบบเดิม หลังรัฐประหารมาจนถึงทุกวันนี้ บางกลุ่มของชนชั้นนำยังย้ำอยู่ตลอดเวลาว่ามันเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างคุณทักษิณกับกลุ่มพวกเขา มองไม่เห็นว่ามันลึกกว่าเรื่องคุณทักษิณแยะ และอย่างที่หลายท่านก็ทราบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงก็มองว่าตัวเขาจะแยกทางคุณทักษิณ ถ้าคุณทักษิณไม่ผลักดันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง จะเป็นตั้งแต่ปี 2549 หรือก่อนปี 2549 ก็แล้วแต่ ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เกิดความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำเองสูงมากขึ้นด้วย

อย่ามองแต่ความแตกแยกระหว่างคนชั้นกลางในเมือง กับคนชั้นล่าง-คนชั้นกลางระดับล่างเท่านั้น แม้แต่ในกลุ่มพวก Elite พวกชนชั้นนำด้วยกันเอง ก็มีความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ของแปลก ชนชั้นนำมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันแยะมาก และก็มีความขัดแย้งตลอดเวลาแต่ไม่ถึงขนาดแตกแยก เพราะว่าต้องอาศัยการนำที่มีเอกภาพเพื่อทำให้ชนชั้นนำด้วยกันเองที่มีความขัดแย้งกันเอง สามารถที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยได้ ผมคิดว่าการนำที่เป็นเอกภาพมันหายไป ในช่วงตั้งแต่ปี 2549 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นถึงทุกวันนี้

การนำที่ทำให้ชนชั้นนำด้วยกันเองไม่แตกแยก และเป็นเอกภาพนี้หายไป แล้วทำให้ชนชั้นนำต้องยอมทำอะไรหลายอย่างที่ผมคิดว่าในระยะยาวอาจเป็นอันตรายต่อชนชั้นนำเอง เช่น การใช้ม็อบมีเส้น ในโลกนี้ไม่มีใครเป็นไขควง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครเป็นเครื่องมือของใคร 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ทุกคนมีความต้องการบางอย่างในตัวที่ตัวต้องการทั้งสิ้น คือไม่มีใครพร้อมเป็นเครื่องมือให้ใครเต็มที่ ผมอาจเป็นเครื่องมือให้คุณ แล้วในขณะเดียวกันผมมีความต้องการของผมเองโดยที่อาจไม่ตรงกับของคุณ

เพราะฉะนั้นการที่ชนชั้นนำลงมาใช้ม็อบมีเส้นเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง นี่เป็นของใหม่นะครับ ไม่เคยมีมาก่อน แล้วอันตรายมากๆ เลย ไม่ใช่อันตรายต่อเรา แต่อันตรายต่อเขาเองนั่นแหละ เป็นต้น

กลุ่มคนชั้นกลาง คนที่เป็นผู้ปกป้องสถาบันที่เด่นที่สุดในประเทศไทยเวลานี้ ถ้าไม่นับกองทัพนี่คือใคร คุณเนวินว่ะ โอ้โฮแปลกมากเลย และก็ต้องยอมรับเลยนะ นี่เป็นสิ่งใหม่ เพราะว่าการที่คุณยอมรับพรรคภูมิใจไทยได้ถึงขนาดนี้ มันทำให้คนชั้นกลางระดับกลางในเมือง ถอยออกมาคิดว่า "ได้เหรอ?" เป็นต้น

มันมี Contradiction มีความขัดแย้งภายในระบบ ในปัจจุบันแยะมากๆ และผมคิดว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำมาพอสมควร ผมได้ยินมาว่า การตัดสินใจที่ให้มีการเลือกตั้ง มีการยุบสภาไม่ได้เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ชนชั้นนำทั้งหมด ก็มีบางกลุ่มเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ควรจะอยู่ต่อไป อีกกลุ่มบอกว่าต้องยอมรับ เป็นต้น มันไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่เคยเป็นมา และผลการเลือกตั้ง ผมเข้าใจว่าชนชั้นนำคงตระหนกเหมือนกัน คงตกใจเหมือนกัน ว่ามันได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าผลของการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่า คุณไม่สามารถหลบหลีกไปจากระบบเลือกตั้งได้ อย่างไรๆ คุณก็ต้องยอมรับมัน อย่างน้อยคุณไม่สามารถหลบหลีกการเลือกตั้งอย่างง่ายๆ อย่างที่เคยหลบมาแล้วได้ เพราะฉะนั้นทางเลือกของชนชั้นนำหลังการเลือกตั้งแล้ว ผมคิดว่ามีสองอย่าง

หนึ่ง รอจังหวะที่เหมาะสมในอนาคตในการล้มรัฐบาล หรือคุณจะล้มโดยวิธีตุลาการภิวัตน์ โดยอะไรก็แล้วแต่คุณ ให้ใบแดงอะไรก็แล้วแต่คุณเถิด แต่ในจังหวะที่เหมาะสมกว่านี้ เราจะเห็นว่าเขาจะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ให้คอยสังเกตสื่อกระแสหลักให้ดี ถ้าสื่อกระแสหลักเริ่มออกแนวในลักษณะต่อต้านรัฐบาลหนักข้อมากขึ้นๆ แสดงว่าเริ่มมีสัญญาณแล้วว่าจะล้มม็อบมีเส้นเริ่มออกมาใหม่ ระวังให้ดีเขาจะล้มรัฐบาล

เพราะฉะนั้นหลุมพรางหรือกับดักที่จะรอรัฐบาลชุดใหม่อยู่ ผมคิดว่ามีมาก และในที่สุดอาจจะนำไปสู่การรัฐประหารก็ได้ แต่ทีนี้ ก็อย่างที่พูดไปแล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบที่ถาวร อย่างไรๆ คุณก็อยู่ในสภาพรัฐประหารตลอดไปไม่ได้ รัฐประหารไม่สามารถนำดุลยภาพกลับคืนมาได้ใหม่

อันที่สอง ต่อไปที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวคุณเอง ให้เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ทีนี้เผอิญเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกในภาวะการนำด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าคุณจะปรับตัวคุณต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้คุณไม่มี

สู่ประเด็นสุดท้าย อนาคตการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ การเมืองจะไม่ใช่พลังหลักของการปฏิรูป ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะว่า นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เขาไม่ได้สนใจการปฏิรูป จากการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมด ชัดเจนว่าเขาไม่ได้สนใจการปฏิรูป

การปฏิรูปไม่ได้หมายถึงการแก้ไขข้อบกพร่องแบบปะผุ เรื่องนี้เคยก็ก็อย่าโกง อะไรอย่างนั้นนะครับ จริงๆ คุณจะปฏิรูปต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ถ้าเพียงแต่แก้โน้นแก้นี้นิดๆ หน่อยๆ คุณก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากวงจรอันเก่า การเมืองแบบชนชั้นนำไปได้ คุณต้องคิดถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ทั้งหมด

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงอำนาจที่มีอยู่ในทางกฎหมายอย่างเดียว แต่หมายถึงอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน อำนาจในการที่คุณเป็นอิสระจากพันธะทางเศรษฐกิจหรือสังคมอื่นๆ ด้วยทั้งหมด

เมื่อเราหวังการเมืองไม่ได้ ถามว่าเราหวังจากใครได้ ผมคิดว่าเราหวังจากภาคสังคมได้ เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนหลายกลุ่มด้วยกัน ที่เรียกร้องนโยบายที่ปรับเปลี่ยนถึงระดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อย่างน้อยที่สุดข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป 2 ข้อด้วยกันที่พูดถึงกันมาก การเปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจ เป็นสิ่งที่ประชาชนหลายคนตั้งเป็นข้อเรียกร้องต่อนักการเมือง นักการเมืองคนหนึ่งบอกกับผมว่าเขาไม่เคยพบสิ่งนี้มาก่อน ไม่เคยพบมาก่อนว่า เขาออกไปหาเสียง แทนที่เขาจะเป็นฝ่ายพูด ประชาชนกลับเป็นฝ่ายบอกเขาว่าให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ โดยที่เขาไม่ได้เป็นฝ่ายพูด ฝ่ายเสนอให้แก่ประชาชน เขาบอกว่าไม่เคยเจอสิ่งนี้มาก่อนในชีวิตการเมืองของเขา ผมคิดว่ามันมีพลังที่เริ่มเคลื่อนไหวบางอย่างในสังคมของเราเอง ที่อาจนำไปสู่การปฏิรูปได้”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'แม่น้องเกด' ซัด กก.สิทธิฯ ไม่เคยเรียกร้องสิทธิให้คนตาย วอนตรวจสอบให้เป็นกลาง

Posted: 12 Jul 2011 02:09 AM PDT

นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ “น้องเกด” พยาบาลอาสาที่เสียชีวิต ยื่นหนังสือให้กรรมการสิทธิฯ ร้อง “เมื่อกรรมการสิทธิฯไม่มีความเป็นกลาง ก็ควรพิจารณาการทำหน้าที่ของตนเอง”

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานว่า  เวลา 11.00 น. วันที่ 11 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางพะเยาว์ อัคฮาด และ นายณัทพัช อัคฮาด   แม่และน้องชาย น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เข้ายื่นหนังสือถึงนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรม กสม. ขอคำชี้แจงเกี่ยวกับรายงานการตรวจสอบกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 2553 ในกรณีของ 6 ศพ ที่วัดปทุมฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ กสม. รับหนังสือแทน
 
 นางพะเยาว์ กล่าวว่า ตนรับทราบรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา จากหนังสือพิมพ์ ที่ระบุว่าการเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 6 คน ที่บริเวณวัดปทุมฯ ไม่มีพยานยืนยันชัดเจนว่าใครเป็นผู้ยิง แต่กลับระบุว่ามีบางศพที่เสียชีวิตนอกบริเวณวัด และลากศพมารวมกันในวัด ไม่ทราบว่า กสม. ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือเป็นพนักงานสอบสวนกันแน่ ทราบถึงขนาดว่าศพไหนถูกยิงเสียชีวิตนอกวัด หาก กสม. มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ขอให้ระบุเลยว่าศพไหนเสียชีวิตบริเวณไหน อย่างไร 
 
 นางพะเยาว์ กล่าวว่า ไม่เคยคาดหวังกับการทำงานของ กสม. ขนาดมีคนตายกลาง กทม. แท้ๆ ก็ไม่เคยเรียกร้องสิทธิให้คนตาย ไม่เคยนำเสนอว่ามีความเป็นห่วงประชาชนอย่างแท้จริง ที่ผ่านมา ตนไม่เคยมาเรียกร้อง กสม. เพราะจะรอดูผลการตรวจสอบ 1 ปีที่ผ่านมาแทนที่ กสม.จะชี้แจงหรือให้การช่วยเหลือประชาชนที่ถูกฆ่าตาย กลับออกมาให้ข้อมูลไปอีกด้านหนึ่ง ไม่มีความเป็นกลาง ฮิวแมนไรท์ วอชท์ ยังเคยออกมาประณามการทำหน้าที่ของ กสม. ไทย ให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสิทธิมนุษยชนสากล เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา กสม. ไม่เคยปกป้องคนตาย 91 ศพ และช่วยเหลือคนเจ็บกว่าพันคน
 
 “ไม่เรียกร้องสิทธิให้คนเหล่านี้แต่กลับออกมาอุ้ม เห็นดีด้วยกับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ที่ระบุว่ารัฐบาลไม่ได้ละเมิดสิทธิประชาชน จึงมีคำถามว่ากรรมการสิทธิฯ อุ้มใครกันแน่ มัวแต่หูหนวก ตาบอด ไม่ได้ยินเสียงร้องไห้ของคนญาติของผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต อย่าให้ถึงขนาดล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนกรรมการสิทธิฯ เลย หากจะพูดอะไรต้องคิดไตร่ตรองให้ดี เพราะเป็นผู้ใหญ่แล้ว เมื่อกรรมการสิทธิฯไม่มีความเป็นกลางก็ควรพิจารณาการทำหน้าที่ของตนเอง” นางพะเยาว์ กล่าว
 
 นายณัทพัช กล่าวว่า คนอยู่ในวัดปทุมฯ กว่า 1,000 คน หลายคนออกมายืนยันว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ศพ เสียชีวิตมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หาก กสม. ไม่ทราบว่าเป็นคนไหนที่ยิงก็ให้ถามตน จะบอกให้ทราบว่าเป็นใคร มีกี่คน ได้รับคำสั่งจากใคร อยู่สังกัดไหน แต่ละคนทำอะไรบ้าง ที่ระบุไม่มีพยานยืนยันหากต้องการพยาน ตนก็จะหามาให้ เมื่อยื่นหนังสือแล้วก็จะขอรอความคืบหน้าในเรื่องนี้ก่อนหากไม่มี จะแถลงข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง ตนคาดหวังตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้แล้วว่าจะค้นหาความจริงในเรื่องดังกล่าว ก็จะรอดูรัฐบาลชุดต่อไปว่าจะใส่ใจและดูแลคดีของผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ หากไม่มีปฏิกิริยา ตนก็จะออกมาเคลื่อนไหวต่อไป
 
 ด้านนางอมรา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า รายงานดังกล่าว กสม.ยังไม่ได้ออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางประการอยู่ ส่วนกรณีนางพะเยาว์ มายื่นหนังสือร้องเรียน ตนก็จะเร่งตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวต่อไป

 

ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสนอแก้ กม.คนเข้าเมืองให้ทันสมัย-รับเปิดเสรีอาเซียน

Posted: 12 Jul 2011 01:14 AM PDT

สภาทนายความ-คณะกรรมการสิทธิฯ เสนอเร่งแก้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งใช้มานานกว่า 20 ปีให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

http://www.prachatai.com/sites/default/modules/fckeditor/fckeditor/editor/images/spacer.gif
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ จัดการเสวนาเรื่อง “สิทธิในครอบครัวกับเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม โดยได้พิจารณาถึงการที่บุคคลถูกต้องห้ามเข้าประเทศ ในคดีหรือเหตุผลเพียงเล็กน้อย ทำให้ไม่สามารถเข้ามามีชีวิตร่วมกับครอบครัวที่เป็นคนไทยในประเทศไทยได้
 
นายณรงค์ ใจหาญ รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องครอบครัวและเด็กต้องดูอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งสำคัญมากกว่ากฎหมายคนเข้าเมือง และเห็นว่ารัฐไม่สามารถก้าวล่วงความเป็นอยู่ทางครอบครัวได้
 
นายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ กรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า ความเป็นอยู่ของครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ ซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก การห้ามบิดามารดาไม่ให้เข้าประเทศมาพบกับลูกเป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กหลายข้อ และไม่เห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด ทั้งเป็นการใช้กฎหมายที่ขัดต่อหลักหลักนิติธรรม
 
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 บังคับใช้มากว่า 30 ปีแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขเลย จึงควรมีการปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จะเปิดภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ข้อเสนอเร่งด่วนคือ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน โดยให้สามารถเข้าประเทศเพื่อดูแลครอบครัวได้ นอกจากนี้ ควรแก้ไขเรื่องการส่งกลับคนต่างด้าว กรณีที่อาจเกิดอันตราย โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย
 
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำข้อเสนอรัฐบาลในการแก้ไขพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองในทุกๆ ประเด็น ทั้งที่มีในการเสวนาและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป่วนกระแสโดย บุญชิต ฟักมี: จดหมาย (ไม่) ถึงนายกรัฐมนตรี

Posted: 12 Jul 2011 01:13 AM PDT

บุญชิต ฟักมี

แม้บัดนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะยังไม่ประกาศรับรอง ส.ส. ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แต่จากจำนวน ส.ส. และธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง เราอาจแน่ใจได้เกินเก้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้วว่า ประเทศไทยกำลังจะมีนายกรัฐมนตรีที่มีกายภาพเป็นหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

นั่นก็เป็นเรื่องตื่นเต้นของประชาชนทั้งหลายเป็นธรรมดา ถ้อยคำแสดงความยินดี ข้อเรียกร้อง คำถาม ความเห็น ข้อวิพากษ์ทั้งหลายถูกส่งไปที่เธออย่างไม่ขาดสาย สื่อหลักทั้งหลายคงรายงานกันไปหมดแล้ว

แต่ก็มีจดหมายหลงๆ เขียนถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงของเขา แต่ไม่รู้จะส่งไปที่ไหน เพราะไม่ระบุทั้งที่อยู่ผู้ส่งและผู้รับ มีแต่ชื่อผู้ส่งชื่อผู้รับใส่สองหยอดตู้ไปรษณีย์เฉย แสตมป์ก็ไม่ติด ไปรษณีย์ที่คัดแยกจดหมายอ่านแล้วหัวเราะจนฉี่เกือบเล็ด เลยเอามาให้ผมอ่านเล่นๆทั้งปึกก่อนจะนำไปจำหน่ายทิ้ง

ชื่อบุคคลผู้เขียนจดหมายนี้ น่าจะเป็นชื่อสมมติ แต่อาจจะไปพ้องกับบุคคลที่มีอยู่จริงที่ไหนบ้างก็ไม่รู้ ก็เพราะไม่รู้จริงๆหงะ

“ถึง นางยกนอมินี

พวกเรา ในฐานะของกลุ่มรากอนุรักษ์ เพื่ออนุรักษ์รากเหน่าเหง้าขนของปวงชนชาวไทย ที่มีสมาชิกอยู่ชุกชุมกันในเครือข่ายเฟซบุ๊ค ขอยื่นคำขาดให้ท่านทราบว่า เราจะไม่ยอมให้อ้ายอีขี้ข้าหน้าไหน โดยเฉพาะท่าน หรือ ไอ้พวกนักเขียนจังไร บังอาจแตะต้อง รัฐธรรมนูญมาตรา 112 ของเราเป็นอันขาดพวกมึงจะไปเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่ไหนก็ได้ อยากรู้ว่าจะเป็นจะตายไหม ถ้าไม่ได้เขียนถึง พรบ. 112

ขอให้ท่านจงสำเนียกไว้ ว่าถ้ารับลูกจากพวกนักเขียนจังไรพวกนี้เมื่อไร ได้เห็นดีกับพวกเราแน่นอน

ลงชื่อ ใหญ่ ลูกบ้านพระอาทิตย์”

เอ่อ อันนี้อ่านแล้วหนาวแหยงตั้งแต่ปลายผมถึงขนตูด เราข้ามไปก่อนดีกว่า แต่ขอแก้คำผิดหน่อยนะจ๊ะ ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 112 เป็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา คงไม่เกี่ยวอะไรกับรากเหง้าของท่าน ส่วน พรบ. 112 นั้นผู้เขียนนึกไม่ออกว่าจะหมายถึงอะไร ยังไงคุณใหญ่ไปถามโคตรเหง้าสักกะหลาดคุณให้ชัดเจนก่อนแล้วเขียนมาด่าใหม่

“ถึง นายกคนใหม่

ช่วงเวลา 3-4 เดือนที่เพิ่งผ่านไป เวลาที่ผมขับรถเฟอร์รารี่มีสองราคาแสนไปบนท้องถนน ก็รู้สึกเหมือนตัวเองฝันไป มันฝันร้ายชัดๆ ที่พวกไพร่บ้านไทเมืองจะได้มีบ้านมีรถคันแรก คนพวกที่ถูกเอาของพวกนี้มาล่อ ก็หลงเชื่อไปกับลมปากนักการเมือง หิวกระหายอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง และอะไรไหนจะค่าแรง 300 บาทอีก นี่ผมฝันไปใช่ไหม ?

คนพวกนี้ไม่ได้รู้ตัวเลยว่า ชีวิตไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าปัจจัยสี่ มีข้าวราดแกงถุงนึง กับปลาทูนางแบบตัวเดียวหรือปลากระป๋องแบ่งกันกิน อยู่เพิงพักคนงานสังกะสีหรือแฟลต 15 ตารางเมตรทั้งครอบครัวห้าคน ก็อยู่ไปได้ ชีวิตที่เพียงพอแล้วเช่นนี้ ค่าแรงวันละ 150 บาทก็น่าจะพออยู่ได้

ข้าพเจ้าทั้งสองก็หวังว่าท่านในฐานะของนายกคนใหม่ จะดึงสติคืนมาจากสังคมที่ฟุ้งฝัน ฝันว่าอยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเช่นนี้ ให้เรากลับไปสู่สังคมที่ผู้คนรู้จักก้มหัวต่ำแล้ว “พอ” เหมือนเช่นที่เราพยายามแช่แข็งไว้หลายปีด้วย

ลงชื่อ คู่หูดูเอ็ต เมพ เฟอร์รารี่ และ หงอก อาวุโส”

ผู้เขียนอ่านแล้วฝันร้ายไปเลยครับจดหมายฉบับนี้ แต่ เอ่อ เลือกตั้งนี่เขาเพิ่งยุบสภากันพฤษภานี้เองครับ เพิ่งจะสองเดือนเร็วๆนี้ ไม่รู้สามสี่เดือนนั้น ท่านไปแอบหลับไม่รู้คู้ไม่เห็นอยู่ที่ไหน

“ถึง ท่านนายกปู

เรามีคำถามสั้นๆ ถึงท่าน ว่า ท่านเป็นปูอะไรถึงประสบความสำเร็จถล่มทลายขนาดนี้ เพราะท่านคือ“ปูที่มีคริ๊” หรือเป็น“ปูพี่ค้ำโฉก” หรือไม่ และที่สื่อบางสำนักเรียกท่านว่า “ปูแดง” นั้น เป็น “แดงดื้อพ่อ” จริงไหม หรือเพราะถือว่าเป็น “แดงแข็งรอ”

ลงชื่อ สม น้ำหน้าคุณ นายกสมาคมคำผวนแห่งประเภทไทย”

อันนี้ไม่มีความเห็น แต่ว่านะ ความแรงของนางพญาปูแดง งานนี้เล่นเอาผู้ชายหลายคนเป็นปูไปตามๆกัน - ปูลงไปอยู่ในโหลก

“ถึง นายกชะนีไทย

พวกเราขอแสดงความยินดีสำหรับหล่อนและบรรดาชะนีทั้งหลายด้วย ที่จะได้มีนายกเป็นหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่ก็ขอให้รู้ว่า พวกเรานั้นมาก่อนหล่อนเกือบครึ่งศตวรรษย่ะ

ลงชื่อ ...(ลายเซ็นอ่านไม่ออก)... ผู้นำกลุ่มนายกเพศที่สามของไทย”

แรว็งค่ะ ! อิฉันหมดคำจะกล่าว

จดหมายต่อไปนี้ มาสองฉบับพร้อมๆกัน เนื้อความใกล้เคียงกันเลยขอนำมาเสนอต่อกันไว้ ดังนี้

“ถึง ว่าที่นักโทษหญิง

ในนามของกลุ่มสมาคมสหภาพองค์กรเครือข่ายคนไทยหัวใจเชิดชูชาติต่อต้านการทุจริตและติดตามคนผิดมาลงโทษ หรือกลุ่มคนเสื้อหลิ่มสี ขอแจ้งความร้องทุกข์ต่อท่าน นอกจากเรื่องการให้การเท็จในเรื่องการซื้อขายหุ้นของครอบครัวท่านแล้ว ท่านยังกระทำฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญในฐานะที่มี DNA ร่วมกับผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 เอกกูนวีสติ หาไม่เจอพลิกไปให้หมดเล่มหรือไม่ก็ไปซื้อรัฐธรรมนูญมาใหม่ เราจะเข้าชื่อกันยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และศาลเจ้า ตีความคุณสมบัติของท่านต่อไป

ลงชื่อ นายหมอ ตรี ตรวจหุ้น แกนนำกลุ่มพลเมืองหลากชื่อจนตัวเองยังจำไม่ได้ว่ามีกี่กลุ่ม”

...

“ถึง ไอ้ตู่ ผ่าน ว่าที่นักโทษหญิง

อย่าเพิ่งดีใจไป ที่ กกต. ประกาศว่าการไม่ไปเลือกตั้งของเจ้านั้นมีเหตุผลอันสมควร พวกข้าฯ แกนนำกลุ่มชมรมสมาคมคนไทยไม่เอาการเลือกตั้งเพื่อฟอกตัวพวกเผาบ้านเผาเมือง เพื่อดำรงไว้ซึ่งธรรมาธิปไตยอันเจริญรุ่งเรืองมลังมเลืองวัฒนาผาสุก ได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายและกฎแห่งกรรมแล้วและกำลังจะสืบไปว่า ญาติโยม พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า น้า อาลุง เพื่อนย่าป้าเขย เมียน้าลูกเพื่อนพี่สะไภ้ของเจ้า มีคนใดคนหนึ่งไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งกับ กกต. หรือไม่ เพราะถึงเจ้าจะได้แจ้ง กกต. แต่เชื่อว่าญาติๆเจ้าสักคนต้องพลาดละน่า ล้างคุกรอไว้ได้เลย

ลงชื่อ นายมุดดิน ล่องลอยฟ้า ประธานกลุ่มชื่อยาวจนข้าฯเองก็ท่องไม่จบ”

อ่านชื่อกลุ่มพวกท่านตอนนั่งลงบนชักโครก พออ่านจบขี้สุดพอดี ขอชมเชยความสามารถในการตั้งชื่อกลุ่มของท่านมา ณ ที่นี้

“ถึง นายกรัฐมนตรีที่ไม่เคารพ

การที่ทูตสหรัฐ อังกฤษ และอีกหลายประเทศขอเข้าพบกับท่านก่อนการเลือกตั้งนั้น เป็นความผิดที่อภัยไม่ได้ หากท่านไม่ได้สมรู้ร่วมคิดต่อการหยามหมิ่นประเทศเราเยี่ยงนี้ ท่านต้องเรียกทูตพวกนี้มาพบเพื่อ ตบหน้าให้หัน บั่นคอหอย สอยลูกกระเดือก เอาเชือกขันชะเนาะ เลาะกระดูกให้หมาฟัด ตัดเงินเดือน เตือนด้วยลำแข้ง แช่งพ่องตาย ไล่ออกนอกประเทศ ตั้งเพจเสียบประจานบนเฟซบุ๊ค ด้วยโทษฐานไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทย เป็นการแทรกแซงการเมืองไทยโดยตรง เป็นการหยามเกียรติประเทศอภิมหาอำนาจเยี่ยงเรา

ลงชื่อ ดร. ยินดี ทับธานี นักวิชาการอิสระ”

ยิ่งใหญ่มากครับ ท่านอาจารย์ ว่าแต่ไม่ทราบท่านอาจารย์ละเมอตดคิดว่าเรามีเรือดำน้ำติดหัวรบนิวเคลียร์แล่นตรวจการอยู่ในอ่าวไทยเหรอครัฟ !!! T_T

เรามาลากันด้วย จดหมายฉบับสุดท้าย ที่อ่านแล้วเล่นเอายิ้มจนปากฉีกถึงใบหู ดังนี้

“ถึง นายกรัฐมนตรีผู้หญิงถึงผู้หญิง

ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่งใหม่และคะแนนเสียงที่ได้รับด้วยค่ะ ในฐานะที่คาราแมลล์นั้นเป็นผู้ต่อสู้ถึงผู้หญิงถึงผู้หญิงมาตลอดศก ขอเรียกร้องให้ท่านมีนโยบายเกี่ยวกับการที่ผู้ชายมีเมียน้อยบรรจุเป็นวาระแห่งชาติด้วย เนื่องจากการมีเมียน้อยนั้นเป็นการกระทบกระเทือนต่อผู้หญิงอย่างเราๆมากๆ ยิ่งกว่าลูกสาวใครสักคนถูกยิงตายในเขตอภัยทานหรือผัวใครถูกจับขังฟรีไม่ยอมปล่อยเพราะจับผิดตัวเป็นไหนๆ ขอให้ท่านในฐานะตัวแทนผู้หญิงถึงผู้หญิง ช่วยผลักดันให้หนูด้วย

และก็ อย่าลืมไอแพดนะคะ จุ๊บๆ

ลงชื่อ คาราเแมลล์”

เห็นด้วยว่าเรื่องเมียน้อยควรเป็นวาระแห่งชาติอย่างสุดถ้อยคำจะกล่าว แต่ขอบอกน้องแมลล์ หน่อยนะครัฟว่า “แท็ปเลต” ไม่ได้มีแต่ยี่ห้อ “ไอแพด” ก็เหมือน “ผ้าอนามัย” ไม่ได้มีแต่รอลิเอะนั่นแหละคร่ะ ! จุ๊ฟๆ :D.

…......................................................

หมายเหตุจากผู้เขียน :-

1. มีคนจำนวนมาก ที่ออกมา “ด่า” กรณีนักวิชาการและนักเขียนเรียกร้องขอให้ทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเรื่องนี้เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ถกเถียงกัน ไม่ว่ากัน

แต่เรื่องเศร้าคือว่า หลายฝ่ายที่ออกมาด่า จำผิดบ้าง สับสนบ้าง จนกลายเป็นเรื่อง รัฐธรรมนูญมาตรา 112” ไปบ้าง (ดู บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2554) หรือหัวข้อข่าว “แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 112 ละเอียดอ่อนไม่ควรเกี่ยวการเมือง” ในเวบข่าวหลายเวบ

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่ด่า นั้นเป็นเสรีภาพที่ไม่ควรล่วงละเมิด แต่การ “ด่าหรือวิจารณ์” ก็ควรจะมีการ “หาข้อมูล” ในเรื่องที่ “ด่า” ด้วย ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อมวลชนผู้มีการศึกษา

2. การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากการยุบสภา ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ดังนั้น พวกป้ายเลือกตั้งต่างๆ จะปักกันได้อย่างเร็ว ก็น่าจะประมาณ วันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งจนถึงวันนี้ผ่านไปประมาณสองเดือนเท่านั้น (ขอขอบคุณ @RITT41 ในทวิตเตอร์ ที่เห็นข้อสังเกตนี้)

ดังนั้นใครได้เห็นป้ายหาเสียงเลือกตั้งมากว่า “สามสี่เดือน” ก็อาจจะเพราะท่านผู้นั้นฝันไปจริงๆ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า"

Posted: 12 Jul 2011 12:58 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า"

TCIJ: เสวนา 'ความจริงในม่านฝุ่น: มองชนบทไทยและการพัฒนา จากการศึกษาภาคสนาม'

Posted: 11 Jul 2011 08:20 PM PDT

8 กรกฎาคม 2554 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดวงวิชาการเสนอรายงาน ในหัวข้อ “ความจริงในม่านฝุ่น: มองชนบทไทยและการพัฒนาจากการศึกษาจากภาคสนาม” มีผู้ร่วมนำเสนอคือ เนตรดาว เถาถวิล, ชลิตา บัณฑุวงศ์, สุรินทร์ อ้นพรม และทับทิม ทับทิม โดยมี ดร. รัตนา โตสกุล เป็นผู้ร่วมเสนอความคิดเห็น วงวิชาการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนา “ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย” ซึ่งจัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ TCIJ จึงนำสาระสำคัญมานำเสนอแก่ผู้อ่านดังนี้

==============================================


เนตรดาว เถาถวิล  
นักศึกษาปริญญาเอกภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำงานศึกษาในหัวข้อ “เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน: การดิ้นรนของชาวนาอีสานในยุคโลกาภิวัตน์ด้านอาหารและการพัฒนา” โดยตั้งคำถามถึงการทำเกษตรอินทรีย์ว่า เป็นหนทางไปสู่การพึ่งตนเองของชาวนาหรือไม่ สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาได้จริงหรือ และเป็นการหลีกหนีความสัมพันธ์ของรัฐ ทุนนิยม และระบบตลาดจริงได้แค่ไหนอย่างไร

เนตรดาวได้เท้าความถึงที่มาของเกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยว่า เกษตรอินทรีย์เป็นแนวคิดที่นำเข้าจากต่างประเทศสู่ประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ในฐานะที่เป็นทางเลือกเพื่อหลีกหนีจากการปฏิวัติ เขียว โดยองค์กรพัฒนาเอกชนได้สร้างวาทกรรมเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นทางเลือกออกจากการเกษตรแผนใหม่ ส่วนกลุ่มทุนและรัฐที่ผลักดันเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้า อย่างไรก็ตาม แนวคิดเกษตรอินทรีย์ขององค์กรพัฒนาเอกชนได้ถูกนำมาผนวกอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 8 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผนวกรวมแนวคิดเกษตรอินทรีย์ขององค์กรพัฒนาเอกชนและของรัฐ ทั้งในด้านอุดมการณ์และปฏิบัติการ เนตรดาวเสนอว่า เกษตรอินทรีย์ ถูกนำเสนอภาพที่เป็นอุดมคติ และการส่งเสริมเกษตรกรรมอินทรีย์นี้ กระทำผ่านการใช้เทคนิคทางอำนาจสองประเภท เพื่อสร้างภาพแทนความจริงเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์

เทคนิคทางอำนาจประการแรก คือการสร้างภาพแทนความจริงเกี่ยวกับเกษตรเคมี ว่าเป็นภาพปีศาจของระบบทุนนิยม ซึ่งบั่นทอนศักยภาพในการพึ่งตนเองของชุมชน  เทคนิคทางอำนาจประการที่สอง คือการสร้างภาพแทนความจริงเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ว่าเป็นระบบเกษตรกรรมเชิงอุดมคติ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการพึ่งตนเองเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับค่านิยมตามหลักพุทธศาสนา เช่น การนำเสนอภาพว่าเกษตรอินทรีย์ทำแล้วได้บุญ ผู้บริโภคกินแล้วได้บุญ ส่วนเกษตรเคมีทำแล้วบาป เป็นต้น

ในระยะต่อมาเกษตรอินทรีย์ยังถูกเชื่อมโยงกับแนวคิดชาตินิยม เช่น การนำเสนอภาพว่า เกษตรอินทรีย์เป็นคุณค่าที่ฝังรากอยู่ในผืนแผ่นดินไทยและสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านดังปรากฏตามสื่อต่างๆ  การนำเสนอภาพความจริงในเชิงอุดมคติเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ มุ่งสร้างความเชื่อในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับความจริงว่าเกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง และอยู่นอกระบบตลาด ทั้งที่ในความจริงแล้ว เกษตรอินทรีย์เป็นการผลิตในระบบตลาด และความสัมพันธ์ระหว่างทุน แรงงานและผู้บริโภคในระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม ซึ่งมีการหาประโยชน์จากแรงงานของเกษตรกร การหากำไรจากการขายปัจจัยการผลิตและการซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างซับซ้อน

เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ในระบบทุนส่วนใหญ่ผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญา และการค้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่ถูกกำกับควบคุมโดยทุนด้านการเกษตร ทว่าวาทกรรมเชิงอุดมคติเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์กลับทำให้แง่มุมที่เป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองของเกษตรอินทรีย์ถูกกีดกันออกไป และถูกทำให้กลายเป็นเพียงแค่เรื่องเทคนิคการผลิตเกษตรอินทรีย์และสุนทรียะของการเสพความหมายเกษตรอินทรีย์

จากการลงไปทำวิจัยในหมู่บ้านนาสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว จังหวัดอุบลราชธานี มีการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อส่งออก พบว่าชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้ถูกเชื่อมโยงกับระบบตลาดท้องถิ่นและตลาดโลกอย่างซับซ้อน ผ่านทางกระบวนการพัฒนาชนบทที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกรและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และยังเกี่ยวข้องกับมิติของการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน ทั้งในประเทศและข้ามประเทศด้วย

ข้อเท็จจริงที่มักจะถูกมองข้ามและไม่มีการนำมากล่าวถึงก็คือ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขบริบททางเศรษฐกิจสังคมที่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท ชาวนามีการถือครองที่ดินมากน้อยต่างกัน มีทุนไม่เท่ากัน และมีแรงงานไม่เท่ากัน ดังนั้นความสามารถในการปรับตัวเพื่อทำเกษตรอินทรีย์จึงแตกต่างกัน และผลลัพธ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ของชาวนาแต่ละกลุ่มจึงไม่เหมือนกันด้วย จากการวิจัยทางสถิติพบว่า ชาวนารายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องทำงานหนัก แต่กลับได้รับประโยชน์น้อยที่สุดจากการทำเกษตรอินทรีย์ และต้องพึ่งรายได้จากการขายแรงงานเพื่อความอยู่รอดเป็นหลัก ในขณะที่ชาวนาขนาดใหญ่ใช้ทุนในการจ้างแรงงานเพื่อทำเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก แต่กลับได้รับประโยชน์จากการทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุด และมีความมั่นคงในการทำเกษตรอินทรีย์มากกว่าชาวนาจน

นอกจากนี้ ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความอยู่รอดของครัวเรือนชาวนาในปัจจุบัน มาจากการสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่แค่การทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว แต่มาจากการทำเกษตรหลายระบบ และการทำงานรับจ้างนอกภาคเกษตร รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยด้วย นอกจากนี้ ข้อค้นพบที่ว่าชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์มีหนี้สินสูง ไม่ได้แตกต่างจากกับชาวนาที่ทำเกษตรเคมี ทำให้มีข้อโต้แย้งว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่หนทางที่จะช่วยให้ชาวนาหลุดพ้นจากความยากจนหรือการเป็นหนี้สิน ทั้งนี้เพราะเกษตรกรขายผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในราคาที่ไม่ได้แตกต่างไปจากสินค้าเกษตรเคมีมากนัก แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดจะมีราคาสูง แต่ส่วนแบ่งผลกำไรที่เกษตรกรได้รับกลับมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับทุนที่เป็นผู้ค้าปัจจัยการผลิตและรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปแปรรูปส่งขาย ในขณะที่เกษตรกรที่ทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์มีความเสี่ยงสูง จากต้นทุนการผลิตและการจัดการที่เพิ่มขึ้น การใช้แรงงานที่เข้มข้น และความเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธการซื้อผลผลิต หากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไม่ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนด  

กล่าวโดยสรุป การสร้างภาพแทนความจริงว่าเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกสู่การพึ่งตนเองของชาวนายากจน ที่ช่วยให้ชาวนายากจนสามารถมีชีวิตอยู่รอดอย่างพอเพียง และไม่ถูกเอาเปรียบจากระบบตลาด จึงเป็นการนำเสนอภาพเกษตรอินทรีย์ที่ไม่สอดคล้องความจริง จากการวิจัยในพื้นที่หมู่บ้านนาสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานีพบว่า เงื่อนไขความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทำเกษตรอินทรีย์เป็นสิ่งที่สำคัญและควรจะถูกนำมาพิจารณาอย่างละเอียดและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักยภาพที่ไม่เท่ากันของชาวนาแต่ละกลุ่มในการปรับตัวสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ที่มีไม่เท่ากัน การพิจารณาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมของชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เข้าใจว่าแนวทางการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ควรจะได้รับการปรับปรุงหรือหนุนเสริมในด้านใด จึงจะสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรเฉพาะกลุ่ม

นอกจากนี้ การสร้างความอยู่รอดและมั่นคงให้กับการดำรงชีพของชาวนา อาจจะต้องพิจารณาในมิติที่กว้างไปกว่าการทำเกษตร เนื่องจากครัวเรือนชาวนามีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างและการประกอบอาชีพนอภาคเกษตร ดังนั้นการมีมาตรฐานที่หนุนเสริมที่จำเป็นในด้านข่าวสารเกี่ยวกับการจ้างงาน การส่งเสริมทักษะการทำงานนอกภาคเกษตร และการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่แรงงานอพยพที่มาจากครัวเรือนในชนบทจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ชาวนาอยู่รอดได้จริง

=======================================================

ชลิตา บัณฑุวงศ์  นักศึกษาปริญญาเอกทางด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ทำวิจัยเรื่อง “ออแฆกำปง (ชาวบ้าน) ไม่โรแมนติก: การเกษตรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเข้มข้นในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยได้ลงไปวิจัยในหมู่บ้าน กำปงไฮย์ญีแต ในจังหวัดปัตตานี บริเวณลุ่มน้ำสายบุรีซึ่งมีลักษณะเป็นลุ่มน้ำจืด ข้อค้นพบจากงานศึกษาชิ้นนี้โต้แย้งการสร้างภาพโรแมนติกที่ว่าชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวดำรงชีวิตอย่างเกื้อกูลและพึ่งตนเอง และโต้แย้งคำอธิบายที่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของระบบตลาด/ทุนนิยม และการขาดจิตสำนึกของชาวบ้าน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายสภาพแวดล้อม และทำให้ชาวบ้านพึ่งตนเองไม่ได้

ในทางตรงกันข้าม ชลิตาเสนอว่า สภาพที่ไม่ได้โรแมนติกที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการที่ชาวบ้านพยายามปรับตัวให้มีชีวิตรอดได้ท่ามกลางบริบทและเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนในพื้นที่ โดยเฉพาะโครงสร้างและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐไทยกับชาวมลายูมุสลิม แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก จังหวัดชายแดนใต้ มักถูกนำเสนออย่างโรแมนติกว่ามีจัดการทรัพยากรแบบส่วนรวม มีการเคารพสิทธิและการแบ่งปัน ซึ่งวางอยู่บนรากฐานของจิตสำนึกแบบพิเศษและเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีการยกย่องชาวบ้านที่มีความรู้แบบพิเศษนั้นว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน”  

ภาพดังกล่าวนี้เพิ่งมาปรากฏในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น โดยเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเข้ามาขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอที่คัดค้านการสร้างเขื่อนสายบุรีในปี 2535 ซึ่งต่อมาเอ็นจีโอสายทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้ขยายประเด็นการทำงานไปสู่ประเด็นพื้นที่ทำกินและเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ภาพวิถีชีวิตและชุมชนมลายูมุสลิมที่โรแมนติกได้ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง โดยสอดคล้องกับที่ขบวนการภาคประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับ “ภาคประชาสังคม” และลงมาทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้นหลังจากเกิดความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2547

โดยกลุ่มประชาสังคม หรือเอ็นจีโอที่ว่านี้เป็นชนชั้นนำในเมืองที่มีการศึกษาสูง และเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีคุณธรรมสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีบทบาทในการผลักดันและตั้งหน่วยงานอิสระ รวมถึงจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งเอื้อให้ภาพโรแมนติกดังกล่าวปรากฏในสื่อต่างๆ ในโทรทัศน์ และงานวิจัย ในทุกระดับที่ประชาสังคมสนับสนุนเงินทุน

ชลิตาชี้ให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรในหมู่บ้านว่ามีกิจกรรมการผลิตที่หลากหลาย และมีการพึ่งพิงธรรมชาติ ซึ่งดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับภาพโรแมนติกแบบ “เศรษฐกิจชุมชน” แต่หากมองลึกลงไปแล้ว การทำเกษตรในพื้นที่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เนื่องจากมีแนวโน้มการทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ด้วยการใช้ปุ๋ย และสารเคมีอันตรายต่างๆ นอกจากนี้ ระบบการผลิตก็ไม่ได้เป็นอิสระจากตลาดหรือระบบทุนเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้าม การทำเกษตรกรรมในพื้นที่นี้ ล้วนใช้ทุนสูงในหลายขั้นตอน เช่น ค่าปุ๋ย ค่าที่นา ค่าแรง ซึ่งโดยรวมแล้วมีความแนบแน่นกับระบบทุนนิยม และเศรษฐกิจโลกอย่างมาก โดยเฉพาะผ่านการปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ชลิตายังพบว่า คนในหมู่บ้านมีการบริโภคและจับจ่ายใช้สอยในมูลค่าสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมาร์ทโฟน รถยนต์ รถกระบะ เครื่องประดับตกแต่ง มีการจัดทัวร์และวงแชร์ที่วงเงินสูงนับแสนบาท ซึ่งไม่ต่างจากวิถีชีวิตในเมืองมากนัก แต่องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ กลับมองว่า วิถีชีวิตดังกล่าวมีสาเหตุมาจากแนวทางการพัฒนาของรัฐที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและระบบทุนมากเกินไป ทำให้ชาวบ้านถูกครอบงำ และเกิดลัทธิบริโภคนิยมในหมู่ชาวบ้าน ซึ่งอาจป้องกันไม่ให้เป็นเช่นนั้นได้ หากชาวบ้านมีจิตสำนึก เข้มแข็ง และรู้จักความพอเพียง

อย่างไรก็ดี สำหรับในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบาง มีความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ระหว่างคนท้องถิ่นกับรัฐไทย และสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ ดำเนินมาอย่างแหลมคม การทำความเข้าใจสภาพความไม่โรแมนติกด้วยโครงเรื่องตามที่ภาคประชาสังคมเสนอจึงดูจะไม่เพียงพอ   เนื่องจากโครงเรื่องที่ว่านี้ละเลยประเด็นเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบจากการที่รัฐไทยพยายามเข้าจัดการเพื่อครอบครองเป็นเจ้าของเหนือพื้นที่และเพื่อให้ได้การสวามิภักดิ์จากคนมาลายูมุสลิม กระบวนการดังกล่าวดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการโครงการพัฒนา โดยพื้นที่พรุถือเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่สำคัญยิ่งของรัฐไทย แทนที่จะใช้นโยบายกลืนกลายแบบบังคับดังเช่นในอดีต โครงการพัฒนาพรุ เป็นเครื่องมือที่ออกจะดูดีกว่าที่จะช่วยให้ “รัฐไทย” ได้รับความสวามิภักดิ์และความจงรักภักดีจากชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่บนฐานความคิดที่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะนำมาสู่ความมั่นคงแห่งชาติ และป้องกันไม่ให้ชาวบ้านไปร่วมมือกับผู้ก่อการไม่สงบ

โดยโครงการพัฒนาต่างๆ จากรัฐ จะถูกผลักดันผ่านทางโครงการพระราชดำริในช่วงกลางทศวรรษที่ 2520 และได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความเข้มแข็งของสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า ในสายตาของรัฐไทยพรุเป็นเพียงพื้นที่น้ำท่วมขังไร้ประโยชน์ เสื่อมโทรม และไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ การเข้าพัฒนาพื้นที่รกร้างนี้ให้เกิดประโยชน์ และเกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐที่จะต้องกระทำเหนือดินแดนและผู้คนของตน ดังจะเห็นจากการเข้าไปจัดการพื้นที่พรุ ด้วยการระบายน้ำทำให้เป็นพื้นที่แห้ง โดยอ้างว่าทำไปเพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม แต่กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการพรุของชาวบ้าน ก็กลับถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิง 

โครงการพัฒนาพรุในเขตชายแดนภาคใต้เกี่ยวข้องอย่างมากกับลักษณะเฉพาะของรัฐไทยที่สถาบันกษัตริย์มีบทบาทสูงในการเข้าครอบครองหัวใจและความภักดีของชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่ ดังนั้น การพัฒนาพรุของรัฐ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนสภาพของพรุเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเปลี่ยนตัวตนของชาวมาเลย์มุสลิมผู้อาศัยและใช้ประโยชน์จากพรุ จากที่มีสถานะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศาสนาที่แตกต่างให้กลายมาเป็น “พสกนิกร” ทั้งนี้ การละเลยนัยสำคัญในเชิงระบบนิเวศของพื้นที่พรุและการละเลยประสบการณ์และความรู้ในการใช้ประโยชน์จากพรุของชาวมลายูมุสลิม ได้สร้างความชอบธรรมให้กับความพยายามในการเปลี่ยนตัวตนดังกล่าว เพราะเป็นการให้ภาพคนมาเลย์มุสลิมในฐานะกลุ่มคนที่ยากจน ไร้การศึกษา ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขาดศักยภาพในการแก้ไขปัญหาในชีวิต ไม่มีแม้กระทั่งความสามารถในการนำที่ดินพรุรกร้างเสื่อมโทรมรอบๆ ตัวมาทำให้เกิดประโยชน์ได้

"ภาพลักษณ์นี้สอดคล้องกับสถานะของพสกนิกรที่ความผาสุกในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปกป้อง คุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐไทยโดยเฉพาะในส่วนที่ผ่านทางสถาบันจารีต"

ก่อนหน้านี้ พื้นที่พรุในหมู่บ้านกำปงมีสถานะเป็นเพียงป่าพื้นที่น้ำขัง ต่อมาในปี 2547 เริ่มมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ และมีการเข้าไปจัดการพื้นที่ดังกล่าวอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยมีการส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำมาหากินของชาวบ้าน หรือระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามวิถีชีวิตแบบเดิม ทำให้เกิดภาวะลักลั่น เนื่องจากรัฐส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากที่ดินมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีการ ปิดล้อมที่ดิน ทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้น้อยลง

โครงการการจัดการพรุในสามจังหวัดชายแดนใต้ จึงกลายเป็นทะเลงบประมาณที่ไม่มีวันสิ้นสุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น ชลิตาชี้ให้เห็นอีกว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ไม่โรแมนติกและขูดรีดธรรมชาตินี้ เป็นผลจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางความพยายามของรัฐไทยในการเข้ามาจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยการนำเสนอจังหวัดชายแดนเฉพาะภาพที่โรแมนติก หรือกล่าวโทษว่าปัญหาเป็นเพราะทุนนิยมแทรกซึมเข้ามา แต่ละเลยปัญหาที่สำคัญกว่านั้น คือ การที่อำนาจจารีตของรัฐไทยพยายามเข้ามาจัดการระบบนิเวศในพื้นที่

ขณะที่ “ภาคประชาสังคมไทย” ที่เข้ามาก็มีลักษณะอนุรักษ์นิยม และสนับสนุนอำนาจแบบจารีตด้วยเช่นกัน พวกเขาไม่ให้ความสำคัญกับการที่ชาวบ้านพยายามในการปรับตัวและตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งการทำแบบนั้นช่วยให้ภาคประชาสังคมไทยมีที่มีทางในการทำงานต่าง ๆ ต่อไป เช่น ผลิตงานสื่อ และงานวิชาการซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อที่จะหาทางรื้อภาพที่สวยงาม โรแมนติก และจิตสำนึกของชาวบ้านให้กลับคืนมา

ชลิตาสรุปว่า หากปัญหาโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐไทยที่มีต่อชาวมลายูมุสลิมยังไม่ได้รับการแก้ไขและถูกให้ความสำคัญ การดำเนินงานต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะกลายเป็น “อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง” ที่ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ได้ หากแต่จะนำมาซึ่งการดำรงอยู่ และเจริญเติบโตขององค์กรต่างๆ ในประชาสังคมนั้นเองเป็นหลัก

=====================================================

สุรินทร์ อ้นพรม นักศึกษาปริญญาเอก คณะภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ศึกษาในหัวข้อ "ป่าชุมชน: เครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งหรือเพียงแค่เทคโนโลยีอำนาจชิ้นใหม่" เขาพิจารณา “ป่าชุมชน” ในฐานะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกจากการจัดป่าโดยรัฐ/ การจัดการป่าอย่างรวมศูนย์โดยมีชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร โดยตั้งคำถามว่าที่จริงแล้ว ป่าชุมชน สามารถส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้แค่ไหน หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงการใช้อำนาจรัฐเพื่อการควบคุมชุมชนที่แนบเนียนกว่าเดิมเท่านั้น

สุรินทร์เลือกศึกษาวิจัยในบ้านห้วยแก้ว ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีการจัดตั้งป่าชุมชนเป็นแห่งแรกของประเทศไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2530 การศึกษาของเขาทำให้พบว่า "นัยกรรมป่าชุมชน" มีขีดจำกัดอย่างมาก และการพยายามแปลงนัยกรรมดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติส่งผลให้มีการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนจนในชุมชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากป่าอย่างมาก

ในการจัดการป่าชุมชนมีการจัดตั้ง "องค์กรชุมชน" ซึ่งมีกฎระเบียบที่ควบคุมการจัดสรรทรัพยากรป่าภายในท้องถิ่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนที่คอยควบคุมกฎระเบียบดังกล่าวไม่ต่างจากที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยควบคุมชาวบ้าน แต่ต่างกันตรงที่ว่าชาวบ้านภายในชุมชนจะควบคุมกันเอง แต่การควบคุมดังกล่าวได้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน เมื่อคนบางกลุ่มในชุมชนถูกคณะกรรมการป่าชุมชนกีดกันไม่ให้ใช้ประโยชน์จากป่า ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงป่าชุมชนเป็นของใครกันแน่ 

จากข้อค้นพบดังกล่าว สุรินทร์จึงเห็นว่าป่าชุมชนที่ควรจะเป็นทางเลือกจากการจัดการป่าของรัฐ อาจกลายเป็น "เครื่องมือทางอำนาจรูปแบบใหม่" ที่คอยควบคุมและจัดการทรัพยากรป่าไม้ ไม่ต่างจากการใช้อำนาจของกรมป่าไม้ในการควบคุมชาวบ้านและกีดกันไม่ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่าอยู่นั่นเอง

=================================================

ทับทิม ทับทิม คณะสังคมศาสตร์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ทำศึกษาในหัวข้อ "ลูกทุ่งหรือลูกกรุง? ความเป็นเมืองในชนบท" ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างภาพจินตนาการเกี่ยวกับความเป็นลูกทุ่งหรือชนบทไทย ที่แทรกอยู่ในความนึกคิดของคน “ลูกกรุง” หรือคนชั้นกลางในเมือง กับปรากฏการณ์ที่เป็นความจริงในพื้นที่ชนบท

จินตนาการเกี่ยวกับชนบทของคนกรุงสะท้อนผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ ดังเช่นรายการโทรทัศน์ “ฉันจะเป็นชาวนา” กลายเป็นค่านิยมและคาดความหวังที่ไปกดทับการดำรงชีวิตของคนชนบท ที่พยายามกำหนดหรือสร้างแรงกดดันว่าคนชนบทควรอยู่แบบพอเพียง เป็นชุมชน มีวิถีชีวิตแบบ “ดั้งเดิม” รักษาสภาพธรรมชาติที่เขียวขจี มีสุนทรียะและความงาม

ความเข้าใจเหล่านี้ล้วนแต่ภาพชนบทในจินตนาการที่มีลักษณะหยุดนิ่งและไม่สะท้อนความเป็นจริง เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่ราวทศวรรษปลาย 2520 เมื่อชนชั้นกลางเริ่มตื่นตัวกับกระแสสิ่งแวดล้อมนิยมในช่วงที่มีการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน และมีการสร้างและผลิตซ้ำภาพแทนในลักษณะดังกล่าวเรื่อยมา

ในพื้นที่ศึกษาของทับทิมซึ่งอยู่ชานเมืองเชียงใหม่ มีกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ม้ง ไทใหญ่ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในฐานะแรงงานรับจ้าง รวมทั้งคนเมืองที่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ขณะเดียวกัน ก็มีชนชั้นกลางในเมืองและชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยด้วยเช่นกัน ในพื้นที่ดังกล่าวมีอาคารพาณิชย์และร้านขายของชำมากมาย คนในท้องถิ่นมีการสร้างหอพักโดยคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งรายได้แบบ “น้ำซึมบ่อทราย” เป็นต้น

ภาพปรากฏเหล่านี้สะท้อนทั้งวิถีการผลิตที่หลากหลายนอกเหนือจากการทำนาและการทำการเกษตร ตลอดจนวิถีการบริโภคแบบทุนนิยมที่เป็นจริงของคนชนบท ซึ่งไม่ได้มีความโรแมนติก หรือมีสุนทรียะและความงามตามจินตนาการเกี่ยวกับชนบทของคนชั้นกลางในเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนชั้นกลางในเมืองหันไปใช้ชีวิตในพื้นที่ชนบทมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้นำพาเอาความคิดดังกล่าวเข้ามาปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของชนบท เช่น มีการไปซื้อที่ดินเพื่อทำนาปลูกข้าวอินทรีย์แต่ใช้วิธีการจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นเดิม มีการสร้างโรงแรมหรูที่ผู้มาพักจะสามารถได้รับประสบการณ์แบบชาวชนบทคือได้มองเห็นทุ่งนา ได้ทดลองทำนา เกี่ยวข้าว หรือบริโภคข้าวอินทรีย์จากผืนนาดังกล่าว

จินตนาการของคนชั้นกลางในเมืองต่อพื้นที่ชนบทอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เช่น เมื่อคนชั้นกลางไปสร้างบ้านพักในพื้นที่ชนบทก็ไม่อยากให้มีการพัฒนาถนนเพราะเกรงว่าจะไม่หลงเหลือความเป็น “ชนบท” ที่มีสุนทรียะหรือความงามแบบที่ตนเองต้องการ แต่ความต้องการเช่นนั้นกลับขัดแย้งกับความต้องการของคนท้องถิ่นเดิมที่อยากให้มีการพัฒนาถนนและสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น เป็นต้น

ทับทิมทิ้งท้ายด้วยการยกตัวอย่างเกี่ยวกับต้นกล้วยต้นหนึ่งที่เมื่อตัดเครือไปแล้วคนชนบทก็อยากจะตัดใบตองไปใช้ประโยชน์ และตัดต้นทิ้งเพื่อให้หน่อไม้ได้เจริญเติบโตขึ้นมา แต่คนในเมืองกลับเห็นว่ายังควรที่จะเก็บต้นและใบกล้วยที่เหลือเอาไว้เพราะยังมีความงดงาม

ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงวิถีคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนชั้นกลางจากในเมืองและคนท้องถิ่นที่ต่างจะต้องเข้าไปร่วมกันใช้ทรัพยากรในพื้นที่ชนบทเดียวกัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันหรือเพื่อกินเพื่ออยู่ แต่อีกฝ่ายกับเน้นในเรื่องการเสพสุนทรียะความงาม ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแต่ละฝ่ายต่างไม่ได้พูดจาหรือสื่อสารกันแต่ต้องการที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของชนบทไปตามความต้องการของตนเอง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แต่งผีไปเพื่อไทย เตือนยิ่งลักษณ์อย่าลืมคนอยู่ในคุก

Posted: 11 Jul 2011 07:12 PM PDT

นักกิจกรรมเสื้อแดงแต่งผีไปยื่นจดหมายถึงยิ่งลักษณ์ เร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ คืนความเป็นธรรมให้ผู้ต้องขัง

เวลา 11.30 น. วันที่ 11 ก.ค. 54 เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังค​มเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) ได้เดินทางมา ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึ​กต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ นายกรัฐมนตรี  โดยเนื้อหาจดหมายได้แสดงความยิ​นดีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรร​คเพื่อไทยที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้​ง และสามารถเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาลตามร​ะบอบประชาธิปไตยได้ ในจดหมายได้ระบุว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทยมีควา​มหมายในเชิงสัญลักษณ์ ในการต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย. 49  ซึ่งการรัฐประหารดังกล่าวได้ส่งผลเสี​ยต่อระบบนิติรัฐ และกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องวาง​แผนแก้ไขอย่างรอบคอบรอบด้าน​ รวมทั้งฟื้นฟูกระบวนการยุติ​ธรรมของประเทศให้กลับมามีฐา​นะความเป็นกลาง ให้ได้รับความเชื่อถือด้วยก​ารปลอดจากการเมือง

ส่วนกรณีผู้บาดเจ็บจากการชุ​มนุมทางการเมือง รัฐบาลต้องเร่งหาผู้กระทำผิ​ดมาลงโทษ พร้อมฟื้นฟูจิตใจครอบครัวขอ​งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่นักโทษทางการเมือง และคดีที่เกี่ยวข้องกับการแ​สดงความคิดเห็นทางการเมือง รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดคว​ามยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ และรัฐต้องสนับสนุนให้มีการ​ประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษย​ชนพื้นฐาน เพื่อเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดี​ความตามกระบวนการยุติธรรม


ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ทั้ง นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนในการรับหนังสือ
 

                                                            จดหมายเปิดผนึก
                       ถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงค​นแรกของประเทศไทย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

บัดนี้ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของคุณยิ่งลักษณ​์ ชินวัตร ได้รับความเห็นชอบจากประชาช​นส่วนใหญ่ของประเทศผ่านการเ​ลือกตั้ง ให้มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล ตามกระบวนการของประเทศที่ปก​ครองโดยระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้ใช้อำนาจรัฐจะต้องมีท​ี่มาจากอำนาจของประชาชน เรา ในฐานะประชาชนผู้สนับสนุนกา​รปกครองระบอบประชาธิปไตย ขอแสดงความยินดีกับพรรคเพื่​อไทยและคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนกา​รประชาธิปไตย ไม่ข้ามขั้นตอน ไม่แสวงหาอำนาจรัฐโดยคิดพึ่​งพาอำนาจพิเศษนอกระบบใดๆ ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยมีควา​มหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่สำค​ัญอย่างยิ่ง นั่นคือ การต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประชาชนไทยได้ตัดสินแล้วว่า​จะไม่ยอมรับการแทรกแซงของกำ​ลังอำนาจนอกระบบการเลือกตั้​ง พรรคการเมืองที่อาศัยพลังอำ​นาจพิเศษได้ถูกประชาชนปฏิเส​ธและต้องตกจากเวทีอำนาจไปใน​ที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดจากการรั​ฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังหาได้รับการเยียวยาไม่ ประเทศไทยสูญเสียระบบนิติรั​ฐ กระบวนการยุติธรรมถูกนำมารั​บใช้การเมือง ประชาชนจำนวนมากบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต หลายร้อยคนถูกจับกุมคุมขังโ​ดยไร้ซึ่งสิทธิพื้นฐานของพล​เมือง การปะทะทั้งทางความคิดและทา​งกายภาพของผู้เห็นต่างทางกา​รเมือง เป็นปัญหาหลักที่รัฐบาลใหม่​จะต้องวางแผนแก้ไขอย่างรอบด​้านและยั่งยืน

ในระยะยาว รัฐบาลจะต้องฟื้นฟูกระบวนกา​รยุติธรรมของประเทศให้กลับม​ามีฐานะเป็นกลางได้รับความเ​ชื่อถือดังเดิม ด้วยการดึงกระบวนการยุติธรร​มให้ปลอดจากการเมือง

เฉพาะหน้า กรณีของผู้บาดเจ็บและเสียชี​วิตจากการปราบปรามทางการเมื​อง รัฐบาลจะต้องเร่งการสอบสวนห​าตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เยียวยาฟื้นฟูชีวิตจิตใจครอ​บครัวของผู้ได้รับผลกระทบ ให้สามารถมีชีวิตต่อไปได้ตา​มปกติ
กรณีของนักโทษการเมือง ซึ่งหมายถึงทั้งผู้ต้องหาคด​ีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม​ทางการเมือง และคดีที่เกี่ยวข้องกับการแ​สดงออกซึ่งความคิดเห็นทางกา​รเมือง รัฐบาลจะต้องผลักดันให้เกิด​ความยุติธรรมต่อผู้ต้องหาทั​้งหมดตามหลักนิติรัฐ ในเบื้องต้นรัฐบาลควรสนับสน​ุนให้มีการประกันตัวตามหลัก​สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เปิดโอกาสให้มีการต่อสู้คดี​ตามกระบวนการยุติธรมต่อไป

ปัญหาหลักของประเทศคือวิกฤต​ิความยุติธรรม ต้องใช้อำนาจรัฐที่ได้มาเพื​่อแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน

                                                              ประชาชนจงเจริญ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น