โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ศาลอนุญาติการรถไฟฯ เลิกจ้าง "สาวิทย์" และแกนนำ รฟท. พร้อมสั่งใช้ค่าเสียหาย 15 ล้าน หลังนัดหยุดงาน

Posted: 28 Jul 2011 08:38 AM PDT

ด้านแกนนำ รฟท. เตรียมอุทธรณ์ต่อศาล ขณะที่สหภาพแรงงานรถไฟฯ ออกแถลงการณ์ยืนยันต่อสู้คดีถึงที่สุด ขอให้สมาชิกสหภาพแรงงานยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับสหภาพแรงงาน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ

ศาลนัดอ่านคำพิพากษา 7 แกนนำสหภาพ รฟท. นัดหยุดเดินรถไฟปี 52

วันนี้ (28 ก.ค.) ที่ศาลแรงงานกลาง กรุงเทพมหานคร มีการนัดอ่านคำพิพากษาแกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) 7 คน ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.00 น. ซึ่งประกอบด้วย (1) นายสาวิทย์  แก้วหวาน ประธาน สร.รฟท. (2) นายภิญโญ  เรือนเพ็ชร รองประธาน สร.รฟท. (3) นายบรรจง  บุญเนตร์ รองประธาน สร.รฟท. (4) นายธารา  แสวงธรรม รองประธาน สร.รฟท. (5) นายเหลี่ยม  โมกงาม รองประธาน สร.รฟท. (6) นายสุพิเชฐ  สุวรรณชาตรี เลขานุการ สร.รฟท. และ (7) นายอรุณ  ดีรักชาติ ฝ่ายการศึกษา สร.รฟท. กรณีถูกการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นโจทย์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อขอเลิกจ้าง และ เรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายรวมประมาณ 300 ล้านบาท โดยการฟ้องเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2552 เกิดเหตุรถไฟขบวนที่ 84 วิ่งจากตรังเข้ากรุงเทพฯ ตกรางที่ ต.เขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เจ็บกว่า 100 คน

ทำให้สหภาพแรงงานรถไฟเคลื่อนไหวหยุดให้บริการ ใน จ.สงขลา และนราธิวาส ระหว่างวันที่ 16 - 27 ต.ค.52 โดยทางสหภาพแรงงาน สร.รฟท. เรียกการนัดหยุดงานครั้งนั้นว่า "การรณรงค์เรียกร้องให้การรถไฟฯ  สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินรถ" โดยนายสาวิทย์ กล่าวในขณะนั้นว่าจำเป็นต้องหยุดเดินรถเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามปกติ

 

ผู้นำสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศร่วมฟังคำพิพากษาพรึบ

โดยเว็บไซต์นักสื่อสารแรงงาน รายงานด้วยว่า ในการอ่านคำพิพากษาวันนี้ สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือ และติดตามความคืบหน้าของคดีมาโดยตลอด  และได้ส่งผู้แทนในสาขารถไฟมาร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจแกนนำสหภาพแรงงาน สร.รฟท. ด้วย ได้แก่ นายแม็ด อุราตะ เลขาธิการ สาขาแรงงานขนส่งทางบก ITF ทางรางและถนน จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ นายมาเฮนดรา ชาร์มา  เลขาธิการระดับภูมิภาค ITF ภาคพื้นเอเซีย – แปซิฟิค จากประเทศอินเดีย นายออยสเตน อาสลาคเซน  ประธานสาขารถไฟ ITF สากล จากประเทศนอร์เวย์ นายเวนย์ บัทซันประธานสาขารถไฟ ITF ภาคพื้นเอเซีย – แปซิฟิค จากประเทศนิวซีแลนด์

นายมัสซา ทากาฮาชิ ผู้แทนจากสหภาพแรงงานรถไฟตะวันออกแห่งประเทศญี่ปุ่น นายเอ็ดก้า  บินลายอน ประธานสหภาพแรงงานรถไฟประเทศฟิลิปปินส์ และตัวแทนสหภาพแรงงานรถไฟในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหลายประเทศ  เพื่อเดินทางไปยังศาลแรงงานกลาง เพื่อร่วมฟังคำพิพากษา และเป็นกำลังใจให้กับแกนนำ  สร.รฟท.  ทั้ง 7 คน ในวันดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า จะมีผู้นำแรงงานจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อีกจำนวนมากที่จะเดินทางไปร่วมเป็นกำลังใจให้แกนนำทั้ง 7 คน ด้วย

ศาลตัดสินอนุญาตให้การรถไฟเลิกจ้าง 7 แำกนนำ สร.รฟท. และให้ร่วมกันชดใช้ 15 ล้านบาท

ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลระบุว่า 1.ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีความเคลือบคลุมในคำฟ้องของโจทย์ จำเลยยุยงและหยุดรถไม่ให้บริการในพื้นที่สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยาลา โดยนำหัวรถจักรมาใช้ที่หาดใหญ่ สุไหงโกลก จำเลยมีการให้หยุดงานและทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อ ทำให้โจทย์เสียหายมาก ศาลเห็นจำเลยทั้ง 7 มีความผิดจริง

2.ศาลสั่งให้เลิกจ้าง แต่ให้อำนาจโจทย์เป็นผู้พิจารณาว่าจะเลิกจ้างอย่างไร จะเลิกจ้างหรือให้ลาออกเองและเมื่อไหร่ ให้รฟท.เป็นผู้ตัดสินเอง

และ 3. ศาลสรุปตัวเลขความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 81 ล้านบาท ส่วนค่าเสียหายอีกกว่า 200 ล้านบาทที่โจทย์เรียกนั้น เป็นการคาดคะเน ศาลเห็นควรให้จำเลยทั้ง 7 ร่วมรับผิดชอบเป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท

ด้านนายสาวิทย์ กล่าวหลังศาลมีคำพิพากษาว่า จะดำเนินการยื่นอุธรณ์ต่อศาลภายในเวลา 15 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งต่อไป

 

ด้านสหภาพรถไฟฯ ออกแถลงการณ์จะสู้คดีถึงที่สุด จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถไฟ

ขณะที่ในเว็บไซต์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ "จุดยืนในการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน และคนงานรถไฟ" โดยมีรายละเอียดดังนี้

คำแถลงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย
เรื่อง  จุดยืนในการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน และคนงานรถไฟ

จากกรณีที่ขบวนรถด่วนที่ 84 เกิดอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 7 ราย และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)  เห็นว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของอุปกรณ์บนรถจักร  จึงได้มีการรณรงค์ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ประสงค์ต้องการให้การรถไฟฯปรับปรุง ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ รถจักรและรถพ่วง รวมทั้งระบบป้องกันพนักงานขับรถหมดสติ (Vigilance)  ก่อนที่จะนำรถจักรออกไปทำขบวนทุกครั้ง ซึ่งกรณีนี้ สร.รฟท.ได้ยื่นข้อเรียกร้อง และได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กับการรถไฟฯอย่างชัดเจนไว้แล้ว  และให้สมาชิกถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนและพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ จากการรณรงค์ดังกล่าวเป็นเหตุให้การรถไฟฯมีคำสั่งลงโทษกรรมการสหภาพฯสาขา หาดใหญ่จำนวน 6 คนโดยไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการบริหาร สร.รฟท.จำนวน 7 คน (คดีหมายเลขดำที่ 6977/2552,7002/2552 และ 7140/2552)

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.30 น. ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาว่า อนุญาตให้การรถไฟฯเลิกจ้างกรรมการ สร.รฟท.ทั้ง 7 คน และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินสิบห้าล้านบาท  จาก คำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ทาง สร.รฟท.ขอน้อมรับในคำตัดสินของศาล ทั้งนี้เราจะยืนหยัดต่อสู้ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด  เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงแต่ประการใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม คดียังไม่ถึงที่สุด สร.รฟท.ขอให้พี่น้องมวลสมาชิก และคนงานรถไฟทุกท่าน จงอย่าได้หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องร่วมมือกันยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับสหภาพแรงงาน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ

จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

28 กรกฎาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการยื่น 8 ข้อเสนอ "ยิ่งลักษณ์" หวังถูกร่างเป็นนโนบาย

Posted: 28 Jul 2011 08:27 AM PDT

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 12 เครือข่าย เสนอนโยบายด้านสังคมให้ "ยิ่งลักษณ์" นำไปพิจารณา หวังถูกร่างเป็นนโนบาย ด้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเชียงใหม่ วอน “ยิ่งลักษณ์-ส.ส.เชียงใหม่” สานต่อโฉนดชุมชน

28 ก.ค. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่พรรคเพื่อไทย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกว่า 200 คน ที่มาจากเครือข่ายภาคประชาชนจำนวน 12 เครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย เครือข่ายเด็กเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง เครือข่ายเพื่อการศึกษาเด็ก เยาวชน เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายผู้หญิงด้านสุขภาพ เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรทางเลือก และเครือข่ายชาติพันธ์ นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นข้อเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรค และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. เป็นตัวแทนรับฟังข้อเสนอ

จากนั้นเวลา 15.30 น. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้ยื่นข้อเสนอต่อพรรคเพื่อไทย ให้นำไปจัดทำเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อลดความเลื่อมล้ำทางสังคมด้วยกัน 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.ให้มีหลักประกันสุขภาพระบบเดียวทั่วประเทศ 2.หลักประกันยามชรา โดยให้มีการเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญชราภาพพื้นฐานทันที 3.หลักประกันทางรายได้ การมีงานทำ ประชาชนไทยทุกอาชีพได้รับการประกับรายได้ 4.หลักประกันด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย โดยการเร่งรัดโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และปฏิรูปภาษีที่ดินก้าวหน้า 5.หลักประกันทางการศึกษา เรียนฟรีจริง 12 ปีตามรัฐธรรมนูญรับประกันเข้าถึงการศึกษาทุกระดับ 6.หลักประกันการมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน ของกลุ่มประชากรเปราะบาง 7.หลักประกันพลเมืองเรื่องผู้บริโภค ตั้งองค์กรอิสระผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญทันที และ 8.การบริหารจัดการการเงินการคลังเพื่อรัฐสวัสดิการ ภาษีที่ดิน ทรัพย์สิน มรดกทันที โดยพรรคเพื่อไทยจะนำข้อเสนอทั้งหมดยื่นต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้พิจารณาต่อไป

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเชียงใหม่ วอน “ยิ่งลักษณ์-ส.ส.เชียงใหม่” สานต่อโฉนดชุมชน

ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าวันนี้ (28 ก.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เวลาประมาณ 10.00 น.ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยชาวไทยภูเขาร่วม 100 คน เข้ายื่นหนังสือถึงว่าที่นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินทำกิน โดยมี นายสุวิชา ดามพวรรณ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว
      
ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอให้ภาครัฐสานต่อ และสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งกำหนดให้เป็นนโยบายหลักของรัฐ โดยในหนังสือที่ยื่นถึงว่าที่นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ มีรายละเอียด คือ
      
1.ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้เป็นข้อมูลสาธารณะ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม 2.ให้ดำเนินการการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่มและการป้องกันที่หลุดมือจากเกษตรกร 3.ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลน และไร้ที่ดินทำกิน
      
4.ให้มีการจัดเก็บที่ภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์ 5.ให้มีการยกเลิกคดีคนจน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีที่ดินทำกินในเขตป่า และที่ดินรกร้างว่างเปล่า และ 6.ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นมติที่สร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
      
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งทางเครือข่ายหวังว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยจะติดตามความคืบหน้าของข้อเรียกร้องอย่างใกล้ชิด และหากการเรียกร้องในครั้งนี้ไม่เป็นผลก็จะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอีกอย่างแน่นอน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าสั่งห้ามชาวบ้านออกทำไร่-นา กันส่งเสบียงกองกำลังไทใหญ่

Posted: 28 Jul 2011 08:11 AM PDT

ชาวเมืองกุ๋นฮิง รัฐฉานตอนใต้ถูกทหารพม่าสั่งห้ามออกทำงานในไร่นานอกหมู่บ้าน หวั่นส่งเสบียงกองกำลังไทใหญ่ SSA ระบุใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษหนัก 

มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า ทหารกองทัพพม่าที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่เมืองกุ๋นฮิง รัฐฉานภาคใต้ มีคำสั่งเด็ดขาดห้ามไม่ให้ชาวบ้านออกไปทำไร่นา ระบุหากใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษสถานหนัก คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 246 และ 524 ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ในเมืองกุ๋นฮิง

ทั้งนี้ ทหารพม่าอ้างว่าก่อนหน้านี้ได้มีทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA แต่งกายด้วยชุดทหารพม่าบุกโจมตีฐานทหารพม่า ซึ่งทหารพม่าเชื่อว่าชาวบ้านให้การสนับสนุนจึงออกคำสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านออกไปทำไร่นานอกหมู่บ้าน เพื่อตัดการสนับสนุนเสบียงให้กับกองกำลังไทใหญ่ SSA

แหล่งข่าวเผยว่า หลังจากทหารพม่ามีคำสั่งดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านต่างไม่กล้าออกทำงานนอกหมู่บ้าน ขณะที่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่กล้าออกไปดูแลพืชผลในไร่นาของตัวเอง ทำให้พืชผลโดยเฉพาะข้าวที่เพิ่งปลูกใหม่ได้รับความเสียหายจากการขาดการดูแลและถูกสัตว์เลี้ยงเข้าทำลาย นอกจากนี้ ในช่วงวันเข้าพรรษาเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ชาวบ้านก็ไม่สามารถไปเก็บนำพืลผลในไร่ไปถวายวัดเช่นที่ผ่านมาด้วย

สำหรับพื้นที่เมืองกุ๋นฮิง เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวกองทัพรัฐฉาน SSA/RCSS หรือ กองกำลังไทใหญ่ "ใต้" กลุ่มพลโทเจ้ายอดศึก และเมืองกุ๋นฮิงเป็นอีกเมืองหนึ่งที่เคยถูกทหารพม่าบังคับย้ายหมู่บ้านอย่างหนักในช่วงปี 2539 – 2540

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผย “มติชน” เสนอเลิกจ้าง “ประสงค์” บก.ฉก.

Posted: 28 Jul 2011 07:36 AM PDT

“มติชน” เลิกจ้าง “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” บรรณาธิการเฉพาะกิจสำนักพิมพ์มติชน โดยยินยอมจ่ายค่าชดเชยทุกประการ เพราะไม่ได้กระทำความผิดกฎหมายและระเบียบของบริษัท ยุติความเป็นนักข่าว-บรรณาธิการ และคอลัมน์นิสต์ ในสังกัดมติชนที่ได้ทำงานและมีผลงานมาร่วม 26 ปี

28 ก.ค. 54 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าแหล่งข่าวจาก นสพ.มติชน เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารของบริษัท มติชน (มหาชน) จำกัด ได้เลิกจ้าง นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ บรรณาธิการเฉพาะกิจสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายในมติชน ออกจากการเป็นพนักงานของบริษัท มติชน แล้ว ซึ่งทั้งฝ่ายบริหาร นสพ.มติชน และ นายประสงค์ ได้เจรจาเงื่อนไขต่างๆ เพราะฝ่ายผู้บริหาร นสพ.มติชน เป็นฝ่ายเสนอเลิกจ้าง โดยนายประสงค์ไม่ได้กระทำความผิดกฎหมายแรงงานและระเบียบบริษัทของมติชนแต่อย่างใด ซึ่งการเจรจา ทางฝ่ายบริหารของมติชนยอมจ่ายค่าชดเชยให้ตามระเบียบบริษัทและกฎหมายแรงงานทุกประการ ซึ่งเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย และเป็นการจากด้วยดี และได้นัดให้นายประสงค์มารับเช็คเงินชดเชยในวันนี้
      
นายประสงค์ ยอมรับว่า ได้ออกจากมติชน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพิ์ที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2528 จริงซึ่งเป็นการจากกันโดยดี เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
      
อย่างไรก็ตาม นายประสงค์ เป็นนักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนคนสำคัญของประเทศ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลต่างๆ ตลอดเวลา
      
ตอนเขาเป็นหัวหน้าข่าวในกองบรรณาธิการในมติชน เขามีบทบาทในการเปิดโปงข่าวเรื่องการทุจริต ส.ป.ก.4-01 ในปลายสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี 2537 หลังจากนั้น เปิดโปงการทุจริตธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ (บีบีซี) ของนักการเมืองกลุ่ม 16 ซึ่งมี นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นแกนนำคนสำคัญ หลังจากนั้น เขาเปิดโปงเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ จำนวนเงิน 45 ล้านบาท ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพิกถอนสิทธิ์ พล.ต.สนั่น เป็นเวลา 5 ปี
      
และในช่วงที่ นายประสงค์ เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่เปิดโปงการซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนกันยายน 2543 จนทำให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ต้องถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองนาน 5 ปี

แต่พรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงชนะการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 แบบถล่มทลาย ได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ห้วงเวลาดังกล่าวกระแส “ทักษิณฟีเวอร์” ทำให้สื่อมวลชนและองค์กรใดๆ ไม่กล้าตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มิได้กระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295
      
หลังจากนั้น เขาก็ถูกย้ายออกจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ มารับตำแหน่งรองบรรณาธิการ นสพ.มติชน และและได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบบุกเบิกมติชนออนไลน์ จนได้รับการยอมรับ แต่สุดท้ายเขาก็ถูกฝ่ายบริหารสั่งย้ายออกจากบรรณาธิการมติชนออนไลน์อีกครั้ง และสุดท้ายฝ่ายบริหารของมติชน ที่นำโดย นายฐากูร บุนปาน มีคำสั่งย้ายนายประสงค์ พ้นจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ไปทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจสำหนังพิมพ์มติชน โดยไม่ให้เขียนคอลัมน์ริมคลองประปา ที่ นายประสงค์ เขียนในมติชนรายวัน ในช่วงสุดท้ายอีกต่อไป
      
เมื่อไม่มีคอลัมน์เขียนในมติชน นายประสงค์ จึงมาเปิดเว็บไซต์ของตัวเองชื่อเว็บ www.prasong.com ซึ่งได้เขียนเรื่องหุ้นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไว้น่าสนใจ เช่น เปิดคำให้การ ก.ล.ต.จากกองทุนลับ “ซิเนตร้า” ถึง “วินมาร์ค” สวน “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ-พจมาน”, พลิกแฟ้มคำให้การ “ยิ่งลักษณ์” กรณี “วินมาร์ค” อุ้มครอบครัวชินวัตร? C และ เปิด จม.ประวัติศาสตร์ “Secret Nominee” จุดชนวนมหากาพย์ซุกหุ้น “ทักษิณ”
      
แหล่งข่าวจาก นสพ.มติชน เปิดเผยว่า หลังจาก นายประสงค์ ได้รับคำสั่งย้ายไปเป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจสำนักพิมพ์มติชน นายประสงค์ ย้ายห้องทำงานจากกองบรรณาธิการไปนั่งที่ห้องทำงานสำนักพิมพ์มติชน แต่อยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของหนังสือพิมพ์มติชน ได้ให้ตัวแทนมายื่นเงื่อนไขกับนายประสงค์
      
โดยยื่นเงื่อนว่าให้ นายประสงค์ ออกจากการเป็นพนักงานของบริษัท มติชน โดยบริษัทยอมที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ “ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับนายประสงค์ เช่นกัน ว่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา หรือเขาได้กระทำผิดอะไรที่ทางฝ่ายบริหารมติชน จึงยื่นเงื่อนไขให้เขาพ้นจากการเป็นพนักงานบริษัท มติชน แต่ในที่สุดเขาก็ยินยอมและเจรจาในรายละเอียด จนได้ขอสรุปช่วงต้นสัปดาห์นี้ และในวันนี้ทางบริษัท มติชน ได้นัดให้นายประสงค์ไปรับเช็คเงินชดเชย ขนหนังสือสิ่งของต่างๆ ออกจากหนังสือพิมพ์มติชน ในเย็นวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการยุติการเป็นนักข่าวสังกัดมติชนที่นายประสงค์ทำงานและมีผลงานมาร่วม 26 ปี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทีดีอารืไอ: พันธบัตรป่าไม้ กลไกยุติปัญหา สร้างป่าสมดุล

Posted: 28 Jul 2011 07:12 AM PDT

ความขัดแย้งระหว่างผู้แอบอ้าง ครอบครอง ใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้กับฝ่ายดูแลรักษาเป็นปัญหาปรากฏให้เห็นเสมอ และหยิบยกข้อกฎหมายมาสร้างความชอบธรรมของฝ่ายตน  พร้อมกับสภาพผืนป่าและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายต่อเนื่อง พิสูจน์การทำงานของภาครัฐที่ยังไม่ได้ผล  ส่วนสังคมโดยรวมแม้ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญ  แต่ยังขาดความร่วมมือในการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่อยู่ในสภาพน่าวิตกนั้น มีสาเหตุมาจาก  รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ  ความขัดแย้งจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  คุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสังคมขาดความตระหนักในการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  กล่าวว่า โครงการพันธบัตรป่าไม้ เป็นหนึ่งในข้อเสนอโครงการเร่งด่วน (Flagship Project) ของร่างแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2555-2559 โดยเป็นกลไกภายใต้ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งระบบนิเวศป่าไม้ ทะเล ชายฝั่ง น้ำ และเกษตร ตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยทำการศึกษาและนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม            

พันธบัตรป่าไม้เกิดจากแนวคิดที่ว่า ป่าไม้ให้ประโยชน์แต่ที่ผ่านมาเราไม่สามารถรักษาป่าไว้ได้  ไม่ว่าหน่วยงานภาครัฐจะพยายามทำอย่างไร พื้นที่ป่ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่น ๆ ตามมาเป็นวงกว้าง การจะรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้นั้น ต้องทำให้คนสองกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับป่าเกิดการเชื่อมโยงกัน คือ กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากป่า กับกลุ่มคนผู้ดูแลรักษาผืนป่า ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกัน และยังไม่สามารถเชื่อมถึงกันได้ “พันธบัตรป่าไม้” จึงเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันของคนสองกลุ่มได้   แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน  โดยคนที่ใช้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากป่าก็ควรต้อง “จ่าย” เพื่อให้ผู้รับผิดชอบรักษาป่า นำไปฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลทดแทน

ยกตัวอย่าง สังคมไทยได้ประโยชน์จากการที่สภาพป่าสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและทำหน้าที่ในการควบคุมการไหลของน้ำทำให้ป่าไม่สามารถช่วยป้องกันน้ำหลาก และช่วยให้ประเทศมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ป่าไม้ยังเป็นการดูดซับคาร์บอนช่วยลดภาวะโลกร้อน การบริหารพื้นที่ป่าไม้เชิงพาณิชยังช่วยให้เกิดรายได้จากการขายเนื้อไม้ หรือการรักษาพื้นที่ป่าไม้ทำให้เกิดประโยชน์เชิงนันทนาการ เป็นต้น แต่ในทางตรงกันข้าม คนทำที่หน้าที่ดูแลต้ป่าต้องใช้เงิน(งบประมาณของรัฐ)จำนวนมากมาปกป้อง ดูแลพื้นที่ป่า พันธบัตรป่าไม้เป็นกลไกให้คนที่ได้ประโยชน์กับคนที่เสียประโยชน์ ได้มาเจอกัน คนที่ได้เงินจากป่าก็ควรเอาเงินมาให้คนที่ต้องเสียเงินรักษาป่า เพื่อทำให้สภาพป่าอยู่ได้ ไม่เสียสมดุลจนเกินไป   

ดร.อดิศร์ กล่าวว่า  โดยหลักการพันธบัตรป่าไม้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาบริหารจัดการ โดยให้กระทรวงการคลังรับรองสถานภาพของพันธบัตร เป็นสินค้าทางการเงินสีเขียว ที่ให้ผลตอบแทนเช่นเดียวกับพันธบัตรทางการเงินอื่น ๆ เหมาะสำหรับองค์กรเอกชนหรือผู้สนใจ โดยเฉพาะคนที่ได้ประโยชน์จากป่า มาซื้อพันธบัตรเพื่อเป็นการลงทุน หรือทำ CSR ตอบแทนสังคมทางหนึ่ง 

รายได้ในการดูแลป่าจึงมาจากการลงทุนซื้อพันธบัตรป่าไม้ของผู้สนใจ จากนั้นนำเงินไปใช้เพื่อการดูแลพื้นที่ป่าใน 3 รูปแบบ คือ  1.กรณีผืนป่าสมบูรณ์เพิ่มการคุ้มครองไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ 2.กรณีผืนป่าที่มีการบุกรุกอยู่แล้วโดยชาวบ้านที่ยากจน โดยอาจนำไปใช้เพื่อการจัดหาหรือชดเชยพื้นที่ใหม่ในการทำอาชีพทดแทน 3. กรณีผืนป่าเสื่อมโทรมต้องปลูกทดแทนและจัดระบบการปลูกป่าที่เหมาะสมและสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วย  

ด้านรายจ่ายหรือผลตอบแทนของผู้ซื้อพันธบัตร  จะได้มาจากหลายแหล่งซึ่งสามารถคำนวณมูลค่าได้ อาทิ 1.เนื้อไม้หรือปริมาตรไม้ใหม่ที่ได้จากป่าปลูกและมีการตัดหมุนเวียนแบบยั่งยืนนำมาป้อนอุตสาหกรรม  ช่วยลดการนำเข้าไม้  2. รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต  ซึ่งหวังว่าสังคมนานาชาติจะเข้ามาร่วมจ่ายเงินมาร่วมสนับสนุนการปลูกป่า    3.รายได้จากคนในประเทศที่ได้ประโยชน์จากสภาพต้นน้ำที่ดีขึ้น เช่น การเก็บค่าน้ำ ค่าไฟเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้โดยต้องมีความชัดเจนว่าเขาใช้น้ำหรือไฟฟ้าจากเขื่อนซึ่งรับน้ำจากแหล่งต้นน้ำที่มาจากสภาพป่าที่ดีขึ้น   เช่น จากอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำปริมาณมาก    และ 4. รัฐบาลอุดหนุน 10-20% จากเงินที่ประหยัดได้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้งซึ่งจะลดลงเมื่อสภาพป่ามีความสมดุลมากขึ้น และยังเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ

อย่างไรก็ตาม การทำ “พันธบัตรป่าไม้” เป็นเรื่องใหม่และไม่ง่าย  ต้องสร้างกลไกที่เป็นธรรมและเป็นทางออกให้กับทุกฝ่าย จึงจำเป็นต้องมีองค์กรมหาชนมาบริหารจัดการ  สร้างแนวทางที่เป็นไปได้และไม่สร้างความขัดแย้ง  เช่น ในพื้นที่ที่ต้องการปลูกเป็นป่าเศรษฐกิจก็ไม่จำเป็นให้ชาวบ้านยากจนที่บุกรุกพื้นที่ป่าทำการเกษตรต้องย้ายออกแต่เปลี่ยนมาเป็นการจ้างงานแทน ทำให้เขาไม่ต้องสูญเสียรายได้และไม่ต้องกลับไปรุกป่าทำเกษตรอย่างเคย     สิ่งสำคัญต้องขจัดมาเฟียที่อยู่เบื้องหลังการรุกป่าในรูปแบบต่าง ๆ  ซึ่งจากกลไกการบุกรุกป่าไม้ที่เกิดขึ้นมักมีธุรกิจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้อง การดำเนินการเรื่องนี้จึงไม่ง่าย

ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถให้ใครใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้ได้เลย แต่ควรเป็นการใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพและต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นด้วย เช่น การจัดการพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวในบางจุด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืนก็ทำได้  โดยมีการจัดโซน จัดระบบการจัดการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายธรรมชาติ และมีการควบคุม  เมื่อมีการกำหนดชัดเจนแล้ว   ในบางพื้นที่ก็อาจเปิดให้ภาคเอกชนประมูลไปทำได้  ซึ่งมีตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น ที่ มัลดีฟ  มีการนำจุดสวย ๆ เปิดประมูลให้เอกชนไปทำโรงแรมสร้างรายได้เข้าประเทศ”

นอกจากพันธบัตรป่าไม้แล้ว ทีดีอาร์ไอยังได้เสนออีก 2 มาตรการเร่งด่วนที่ควรทำ คือ จัดทำแผนการใช้ที่ดินของประเทศ และ แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง   เชื่อว่าหากเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังจะเห็นผลการเปลี่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ตำนานคุณยิ่งลักษณ์ (The Yingluck Legacy) ต้องนับแต่วันแรก

Posted: 28 Jul 2011 07:11 AM PDT

ก่อนที่ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือผู้นำประเทศคนใดจะก้าวลงจากตำแหน่ง เขาหรือเธอเหล่านั้นย่อมคิดในใจว่า ผลงาน หรือ  “Legacy” ของตนจะ “ตกทอด” ประหนึ่งมรดกทางการเมืองอันล้ำค่า หรือ “ตกค้าง” ดั่งพิษร้ายที่บ่อนทำลายประเทศ
 
หากเรามอง “Legacy” ในแง่ดีเสมือน “ตำนาน” ที่เล่าขาน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช คงถูกจำในฐานะผู้นำที่ส่งทหารไปต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายอย่างเข้มแข็ง เด็ดขาดและอาจหาญ ในขณะที่วันหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาอาจถูกจดจำในฐานะผู้ถอนทหารกลับบ้านจากสงครามอย่างสำเร็จและปลอดภัย
 
อดีต ปธน. บุช ย่อมไม่อยากให้ใครกล่าวถึงเขาในฐานะผู้สั่งทรมานมนุษย์เพื่อล้วงข้อมูลการก่อการร้ายมาช่วยชีวิตทหารและคนของตนที่ตายไปมาก และ ปธน. โอบามา ย่อมแสลงใจหากใครจะนึกถึงเขาในฐานะผู้ใช้เครื่องบินรบไร้นักบิน (UAV หรือ drone – ควบคุมโดยมนุษย์จากระยะไกล) หากเครื่องจักรเหล่านี้ทำให้ประชาชนในบริเวณที่ถูกโจมตีเสียชีวิตไปมากกว่าการทำสงครามโดยทหารมนุษย์
 
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจถูกจดจำในฐานะผู้นำที่พาชาติผ่านวิกฤติเศรษฐกิจโลก จัดเก็บรายได้เข้าคลังจนประเทศมีเงินสำรองเป็นประวัติกาล และกล้ายุบสภาเพื่อต่อสู้ตามกติกา แต่คุณอภิสิทธิ์ก็ไม่อยากถูกหลอกหลอนโดยวิญญาณของ 91, 92 หรือ 93 ศพ หรืออีกหลายศพของทหารไทยที่ชายแดนกัมพูชา
 
สำหรับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันหนึ่งอาจถูกจดจำในฐานะผู้ที่นำแห่งยุคปรองดองภายใต้ความจริงและกฎหมาย สลายอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ และเทิดทูนประชาธิปไตย หรือ คุณยิ่งลักษณ์อาจเป็นเพียงเผด็จการหน้าสวย ที่อวยประโยชน์ให้พวกพ้อง โดยท่องคาถาปรองดองที่ตนกุมไว้เด็ดขาด พร้อมสมยอมต่ออำมาตย์นอกระบบ
 
เมื่อคนที่บอกว่าตนรู้อนาคตคือคนโกหก และเมื่อความหวังของชาติขึ้นอยู่กับจิตใจของคนในชาติ ผู้เขียนจึงต้องฝากความหวังและกำลังใจไว้กับคุณยิ่งลักษณ์ดังนี้ 
 
1. นับแต่วันแรก คุณยิ่งลักษณ์ต้องเป็นผู้นำการปรองดองอย่างจริงใจ
 
เมื่อประชาชนเลือกคุณยิ่งลักษณ์เป็นผู้นำ คุณยิ่งลักษณ์ต้องชัดเจนนับตั้งแต่การทำงานวันแรกว่าความปรองดองไม่ใช่ภาระของคณะกรรมการหรือหน่วยงานใดแต่ผู้เดียว (ซึ่งอาจต้องใช้เวลาทำงานเป็นปี)  แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน และต้องเริ่มต้นจากความจริงใจของตัวคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยเองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน
 
การเปิดประชุมสภาวันแรกเป็นโอกาสอันดีที่คุณยิ่งลักษณ์จะส่งสัญญาณปรองดองอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าคำพูดนโยบาย  หากคุณยิ่งลักษณ์เชื่อในการเมืองที่ปรองดอง บนพื้นฐานของความโปร่งใส ร่วมมือและรับฟังซึ่งกันและกัน
 
อย่างน้อยที่สุด เรื่องตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น คุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็อาจขอให้พรรคฝ่ายค้านเสนอชื่อรองประธานสภาหนึ่งคนโดยพรรครัฐบาลลงมติสนับสนุน เป็นต้น
 
(รัฐธรรมนูญ มาตรา 124 เปิดช่องให้สภามีมติแต่งตั้งประธานหนึ่งคนและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกสองคน กฎหมายมิได้บังคับให้ผู้นำในสภาทั้งสามคนต้องมาจากพรรคฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด)
 
หลักการเดียวกันนี้สามารถนำไปใช้ในอีกหลายบริบท ไม่ว่าจะในระดับคณะกรรมาธิการของสภาก็ดี หรือแม้แต่การแต่งตั้งนักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าไปสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระชุดใดก็ดี หรือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจสอบรัฐบาล เช่น การคงตำแหน่งของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไว้ก็ดี ฯลฯ
 
2. นับแต่วันแรก คุณยิ่งลักษณ์ต้องสนับสนุนคณะกรรมการอิสระฯ อย่างจริงจัง
 
คุณยิ่งลักษณ์ให้คำมั่นสัญญาว่าการปรองดองจะอาศัยกลไกสำคัญคือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร เป็นประธาน และคุณยิ่งลักษณ์สัญญาว่าจะ “เพิ่มอำนาจ” ให้
 
แต่ผู้เขียนย้ำว่าการสนับสนุนโดยตัวคุณยิ่งลักษณ์หรือรัฐบาลเอง เช่น การประกาศนโยบายต่อสภาเป็นการทั่วไป หรือใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่สุดท้ายยุบได้โดยฝ่ายบริหาร (เช่น โดยระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี) นั้นไม่เพียงพอต่อคำมั่นสัญญา
 
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก หากคุณยิ่งลักษณ์ต้องการแสดงความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรมว่าคณะกรรมการฯจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการทุกภาคส่วน ก็เป็นโอกาสอันดีที่คุณยิ่งลักษณ์จะได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีที่มีผลผูกพันหน่วยงานราชการ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงข้อมูลหรือเชิญเจ้าหน้าที่มาให้ปากคำ ตลอดจนเรื่องงบประมาณหรือช่องทางที่จะนำผลการดำเนินงานมารายงานต่อสังคม
 
นอกจากนี้ เมื่อคณะกรรมการฯ มิได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน คุณยิ่งลักษณ์ต้องช่วยนำแรงสนับสนุนจากผู้แทนของปวงชนมาสู่คณะกรรมการฯ เช่น ประสานกับสภาเพื่อตราพระราชบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่และกระบวนการสนับสนุนการปรองดอง หรืออย่างน้อยในขั้นแรกก็คือการประสานให้มี “มติสนับสนุนของสภา” ที่ผู้แทนทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภาต่างลงมติเป็นการทั่วไปอย่างน้อยก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์สนับสนุนความชอบธรรมของกระบวนการปรองดองอย่างชัดแจ้ง
 
(รัฐธรรมนูญ มาตรา 127 วรรคสี่อนุญาตให้รัฐสภาสามารถ “มีมติพิจารณาเรื่องอื่นใด” ได้)
 
ยิ่งไปกว่านั้น ในวันแรกที่คุณยิ่งลักษณ์แถลงนโยบาย คุณยิ่งลักษณ์ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนที่กล้าเรียกร้องให้ผู้แทนทั้งสองสภาแสดงความจริงใจในการปรองดอง โดยทำงานอย่างขันแข็ง เข้าประชุมพร้อมเพรียงและไม่พิงเก้าอี้นุ่มในห้องแอร์เพียงสัปดาห์ละไม่กี่วัน แต่หมั่นลงพื้นที่และร่วมเวทีเพื่อรับฟังแนวคิดการปรองดองจากประชาชน เพื่อให้พระราชบัญญัติหรือมติของสภา หรือแม้แต่ข้อมูลจากประชาชนที่สนับสนุนงานของคณะกรรมการฯ ได้รับการพิจารณาและปรากฏผลอย่างเร่งด่วน
 
3. นับแต่วันแรก คุณยิ่งลักษณ์ต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
 
คุณยิ่งลักษณ์ต้องยึดมั่นใน “หลักนิติธรรม” หรือ “Rule of Law” ที่พร่ำสัญญาไว้
 
“หลักนิติธรรม” ต้องเป็นมากกว่าคำสวยหรูที่หยิบมาอ้างจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และต้องเป็นหลักการสูงสุดในการปรองดองและบริหารประเทศ เพื่อมิให้การปรองดองเป็นเพียงการปลอกและดองกติกาไว้ขณะผู้มีอำนาจจัดสรรประโยชน์ระหว่างกัน
 
ในฐานะนักกฎหมาย ผู้เขียนย้ำว่า “หลักนิติธรรม” นั้น มิได้แปลว่าสิ่งใดหากมีกฎหมายบอกไว้อย่างเสมอภาคสิ่งนั้นจะถูกต้องเป็นธรรมเสมอไป กล่าวคือ “นิติธรรม” ไม่ใช่ “นิติทำ” ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายเท่าเทียมกันแล้วจะทำอะไรก็ได้
 
หากจะแปล “หลักนิติธรรม” หรือ “Rule of Law” ตามรัฐธรรมนูญไทยให้ชัด อย่างน้อยต้องแปลความรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ให้ครบถ้วนทั้งมาตรา กล่าวคือ “หลักนิติธรรม” ต้องควบคู่กับ “หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” และ “หลักการแบ่งใช้อำนาจ”
 
หลักการเหล่านี้อาจเรียกว่า “หลักนิติธิปไตย” ซึ่งหมายถึง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ปวงชนเป็นใหญ่ ย่อมต้องปกครองด้วยกฎหมายที่เคารพเจตจำนงและสิทธิเสรีภาพของปวงชน มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจของปวงชนตามกฎหมายอย่างสมดุล อีกทั้งสอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและประเพณีการปกครอง
 
และต้องมิใช่กฎหมายที่สร้างขึ้นโดยผูกขาด ไม่ว่าจะโดยอำนาจบริหารที่ขาดการตรวจสอบ อำนาจเผด็จการทางรัฐสภา หรืออำนาจตุลาการที่ตีความกฎหมายอย่างไร้มาตรฐาน และต้องมิใช่การอาศัยเสียงข้างมากกดขี่สิทธิพื้นฐานของเสียงข้างน้อย (กล่าวคือต้องเคารพทั้ง majority rules และ minority rights)
 
(อนึ่ง “หลักนิติธิปไตย” ดังกล่าวย่อมมีสาระใกล้เคียงกับ “หลักนิติธรรม” ตามแนวคิดแบบอังกฤษหรือ “หลักนิติรัฐ” ตามแนวคิดภาคพื้นยุโรป ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมคำอธิบายเรื่องไว้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/rule-of-law)
 
ยกตัวอย่างให้ชัด สมมติวันหนึ่งมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดบางกลุ่มอย่างเสมอภาคถ้วนหน้า ก็มิได้แปลว่าการนิรโทษกรรมนั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ทันที
 
แต่ต้องพิจารณาถึงหลักนิติธิปไตยให้ถ่องแท้ อาทิ กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความแตกแยกหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยซึ่งตรงกันข้ามกับเจตจำนงของประชาชนในการปรองดองหรือไม่ และเป็นการบั่นทอนอำนาจฝ่ายบริหารในการบังคับใช้กฎหมายหรืออำนาจตุลาการในการพิจารณาคดีจนทำให้การแบ่งใช้อำนาจเสียสมดุลหรือไม่ ทั้งนี้ร่างหรือกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวย่อมสามารถถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจตีความให้ร่างหรือกฎหมายดังกล่าวตกไปได้
 
ในทางตรงกันข้าม หากกระบวนการปรองดองหมายถึงการอาศัยประชามติเพื่อเยียวยาแก้ไขการลงโทษอย่างอยุติธรรมที่สืบผลมาจากความไม่ชอบธรรมของอำนาจนอกระบบอันไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชน อันเป็นการกดขี่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด อีกทั้งลุแก่หลักสมดุลแห่งการใช้อำนาจ ซึ่งล้วนไม่ชอบด้วยหลักนิติธิปไตยมาแต่ต้น ย่อมถือเป็นกรณีการปรองดองที่ต่างจากตัวอย่างการนิรโทษกรรมที่กล่าวมาอย่างสิ้นเชิง
 
นอกจากนี้ คุณยิ่งลักษณ์จะพูดถึงหลัก “นิติธรรม” เพียงเฉพาะเรื่องปรองดองหรือนิรโทษกรรมไม่ได้ แต่คุณยิ่งลักษณ์ต้องยึดหลักการดังกล่าวอย่างเสมอต้นแสมอปลายในทุกเรื่อง ทุกที่ และทุกเวลา
 
ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของฝ่ายบริหาร ดั่งที่เคยมีนายกรัฐมนตรีตั้ง “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ไว้ หรือการเร่งรัดสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อาทิ เรื่องภาษีที่ดิน ที่เคยมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังผลักดันเข้าสภาได้สำเร็จ หรือการใช้กฎหมายสนับสนุนประสิทธิภาพของศาล ดังที่อดีตประธานศาลฎีกาท่านหนึ่งเคยให้ผู้พิพากษาเพิ่มเวลาทำงานเพื่อช่วยกันพิจารณาคดีที่มีค้างในศาลเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้หญิงไทยในสายตาชาวต่างชาติ โดยปราบปรามแหล่งมั่วสุมที่กลาดเกลื่อนทั่วประเทศและโจษจันจนขายหน้าไปทั่วโลก ฯลฯ
 
ที่สำคัญ หากคุณยิ่งลักษณ์เชื่อในหลักการเหล่านี้จริง นับแต่วันแรกที่แถลงนโยบายต่อสภา คุณยิ่งลักษณ์ต้องแสดงความกล้าหาญในฐานะผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่ปฏิเสธลัทธิรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง และไม่ปล่อยให้ใครกล้าตบเท้าทับรัฐธรรมนูญและตบหน้าประชาชนได้
 
ในวันเลือกตั้ง 3 ก.ค. ยังมีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ทำนองว่า “การปฏิวัติ” (รัฐประหารยึดอำนาจ) ยังเป็นทางเลือกในสังคมไทย อีกทั้งกล่าวเชิงข่มขู่ว่า “แม้ทหารทุกคนไม่มีใครอยากจะปฏิวัติแต่ถ้ามีปัจจัย…ทหารก็จะต้องมาทบทวนบทบาทกันอีกครั้ง”
 
เมื่อมีผู้ดูถูกเหยียบหยามการตัดสินใจของปวงชนและรัฐธรรมนูญเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุดคุณยิ่งลักษณ์และผู้แทนปวงชนในสภาต้องออกมาร่วมกันประณามบุคคลดังกล่าว และไม่ปล่อยให้การปรามาสสติปัญญาทางประชาธิปไตยของปวงชนเป็นเรื่องปกติอีกต่อไปในสังคมไทย
 
แม้วันนี้คุณยิ่งลักษณ์จะยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และอาจกำลังสาละวนอยู่กับเก้าอี้ดนตรีและร่างนโยบายที่จะแถลงต่อสภา แต่ขอฝากให้คุณยิ่งลักษณ์คิดให้หนักแน่นว่า สิ่งต่างๆที่คุณยิ่งลักษณ์ลงมือทำนับแต่วันแรกจะเป็นเครื่องวัดว่าในวันสุดท้าย ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะถูกขานเป็นตำนานจากชั้นตำราประถมไปถึงบทกวีในพิพิธภัณฑ์ หรือจะเหลือเพียงชื่ออันเจ็บปวดที่ประชาชนคนไทยลืมไม่ลงแม้ไม่อยากจะนึกถึงก็ตาม
 
หมายเหตุ
บทความนี้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2554
 
ข้อมูลเกี่ยวกับเกี่ยวกับ “นิติรัฐ-นิติธรรม” รวบรวมไว้ที่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หนุนต่อเนื่อง สภาฯ ศูนย์กลางแรงงานหนุนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

Posted: 28 Jul 2011 07:02 AM PDT

28 ก.ค. 54 - สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๒/๒๕๕๔ เรื่อง“การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน” สนับสนุนพรรคเพื่อไทยทำนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ให้เป็นจริง โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

   แถลงการณ์ฉบับที่ ๒/๒๕๕๔

เรื่อง“การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน”
 
ต้องยอมรับความจริงว่าในสังคมไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ของบุคคลทุกสถานประกอบการของภาคเอกชนผู้ที่มีตำแหน่งทั้งหลายรายได้จะสูงผู้จัดการบางคนรายได้หลักล้านต่อเดือนก็มีแต่ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากรายได้เพียงขั้นต่ำที่คณะกรรมการไตรภาคีได้กำหนดขึ้นมาเท่านั้นนายจ้างบางคนออกมาพูดว่าค่าจ้างบ้านเราสูงกว่า พม่า,ลาว,เขมรและเวียดนาม สภาฯไม่ขอเถียง หากค่าจ้างประเทศเหล่านี้สูงกว่าบ้านเรา เราคงไม่มีคนงานต่างด้าวมากมายขนาดนี้
 
ต้องตั้งคำถามว่าทำไมประเทศที่ค่าแรงสูง จึงมีความเจริญขึ้นมีการพัฒนาดีขึ้นผู้คนต้องการที่จะไปอยู่ บางครั้งต้องยอมขายนาขายวัว ขายควายเพื่อหาเงินไปทำงานต่างประเทศที่มีค่าจ้างสูงๆ แล้วทำไมบ้านเราจึงขาดแคลนแรงงาน เพราะนายจ้างชอบจ้างค่าแรงต่ำๆและไม่มีสวัสดิการที่ดีให้กับคนงาน เอาเปรียบแรงงานทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ผลประโยชน์เข้าตนเองมากที่สุด ชอบอ้างว่าคนจะไม่เข้ามาลงทุนอาจจะหนีไปที่เวียดนาม พม่า ลาวและเขมร สภาฯอยากให้นายทุนบ้านเรารีบไปลงทุนที่ประเทศเหล่านี้ให้มากๆแล้วแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะได้ไม่หนีมาอยู่บ้านเรา ข่าวต่างๆที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่กระทำกับคนไทยจะได้ไม่มี นายทุนที่ชอบใช้แรงงานราคาถูกมักมีข้ออ้างจำนวนมาก บางโรงงานตั้งมา30ปี บอกลูกจ้างว่าขาดทุนมาตลอดไม่ยอมขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างเลยอย่างนี้ก็มีด้วยในประเทศไทยหากเรายังมีนายทุนประเภทนี้มากเท่าไร เราจะพัฒนาประเทศไทยไปได้อย่างไร? เพราะผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ทำงาน ยังมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่าย การขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาทเมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายของผู้ใช้แรงงานแล้วจะเห็นว่าไม่เพียงพอด้วยซ้ำ
 
การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง ๑๐ ที่ผ่านมา (ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๔๕-๑ มกราคม ๒๕๕๔) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๗ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสะสมในช่วง ๑๐ ปีดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๘.๑ ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศปรับน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อร้อยละ ๒.๔ ส่งผลให้ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
 
การปรับอัตราค่าจ้างเป็นวันละ ๓๐๐ บาทหรือเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ ๔๐ เป็นการยกระดับมาตรฐานการประกันรายได้ขั้นต่ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดช่องว่างของการกระจายรายได้ให้กับลูกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวนประมาณ ๙ ล้านคน
 
ตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ตราอนุสัญญาฉบับที่๑๓๑ว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้จะต้องกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้สำหรับผู้ประกอบการอาชีพที่มีรายได้กลุ่มต่างๆ ตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานของลูกจ้างและครอบครัว (รวม ๓ คน) ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างมาตรฐานความเป็นอยู่ในส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฯลฯ
 
ได้มีนักวิชาการด้านแรงงานหลายท่านที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าจ้างเช่น รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานมูลนิธิ อารมณ์ พงศ์พงัน รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้กล่าวถึงค่าจ้างในปัจจุบัน ว่าไม่สะท้อนความเป็นจริงที่ผู้ใช้แรงงานควรได้รับ รวมทั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ลงพื้นที่สำรวจค่าจ้างที่ลูกจ้างจะดำรงชีพอยู่ได้นั้นจะต้องจำนวน ๔๔๑ บาทต่อวันและได้เรียกร้องไปแล้วด้วย
 
ตามนโยบายพรรคเพื่อไทย สภาฯเห็นว่าสามารถทำได้ หากผู้ประกอบการไม่ต้องการให้ประเทศไทยขายแรงงานราคาถูกอีกต่อไปแต่ต้องการจะแข่งขันฝีมือแรงงานกับกลุ่มประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ความคาดหวังที่ผู้ประกอบการจะแสวงหาแรงงานราคาถูกในประเทศไทยเพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดควรจะต้องหมดไปจากประเทศไทยผู้ประกอบการจะได้รับความยุติธรรมจากการร่วมมือของลูกจ้างเพื่อสร้างผลผลิตที่ดีมีคุณภาพให้กับองค์กร
 
หากดูสภาวะการว่างงานของแรงงานไทยน้อยมาก ปัจจุบัน ณ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ อยู่ที่ ๐.๘ ประมาณ ๒.๘ แสนคนโดยในช่วง๒ปีที่ผ่านมาอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๑.๓
 
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างระบบประกันสังคมให้ตรงกับความเป็นจริงเพื่อรองรับการเกษียณอายุซึ่งเดิมจะได้รับบำนาญเพียง ๑,๔๐๐-๓,๐๐๐ บาทปรับเป็น ๒,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาทโดยประมาณ
 
ตามปกติการลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าและบริการทั่วไปสัดส่วนค่าจ้างแรงงานจะคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ ๕-๖%
ของงบประมาณการลงทุนทั้งหมดถือว่าน้อยมาก การสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุนSMEที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่มีต้นทุนมากถึง๑๕% สภาฯเห็นว่ารัฐคงต้องหารือที่จะมีมาตรการเสริมพิเศษเพื่อให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้          

 

ตารางเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ
10 ปีย้อนหลัง (ตั้งแต่ปี 2545 - 2554)

ปี

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

อัตราการเปลี่ยนแปลง

อัตราเงินเฟ้อ

(ร้อยละ)

เฉลี่ยทั้งประเทศ (บาท)

ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ร้อยละ)

2545

137.0

0.2

0.7

2546

138.3

0.9

1.8

2547

139.7

1.0

2.7

2548

148.1

6.0

4.5

2549

149.4

0.9

4.7

2550

154.0

3.1

2.3

2551

162.1

5.3

5.5

2552

162.1

0.0

-0.9

2553

165.3

2.0

3.3

2554(พ.ค.)

175.8

6.4

3.5

รวม (2545 - 2554)

25.7

28.1

เฉลี่ยต่อปี

2.57

2.81

 

 

 

เพราะฉะนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ๓๐๐ บาท ไม่ใช่เป็นสิ่งเฟ้อฝัน สามารถทำได้หากเราทุกคนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแรงงานให้มีฝีมือไม่ต้องการแรงงานราคาถูกที่นายจ้างหวังแต่ผลกำไรสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทยต้องการเห็นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมเพื่อลดความเหลี่ยมล้ำของคนในสังคมต่อไป

 
โดยสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔
 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: ไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ

Posted: 28 Jul 2011 06:55 AM PDT

หลายวันก่อน ผมเดินไปกินข้าวริมฟุตบาท ได้ยินอาเฮีย 2 คนคุยกัน จับความได้ว่าเป็นเรื่องจตุพร พรหมพันธ์

“กกต.ต้องประกาศรับรองจตุพรเป็น ส.ส.คนแรก เพราะมันไม่ได้ไปซื้อเสียง มันไม่ได้ไปใส่ร้ายป้ายสีใคร มันอยู่ในคุกตลอด”
 
ผมฟังแล้วก็ขำ จริงแฮะ ชาวบ้านยังเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายมากกว่า กกต.หรือพวกนักอวิชาที่สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยเสียอีก
 
กกต.ประกาศรับรองจตุพรเป็นผู้สมัครไปแล้ว จตุพรขาดคุณสมบัติหรือไม่ พ้นอำนาจ กกต.ไปแล้ว ถ้ายังกังขาก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะนี้ กกต.มีอำนาจวินิจฉัยเพียงว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งชนะโดยทุจริตผิดกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งถ้าวินิจฉัยเฉพาะเรื่องนี้ ก็จริงอย่างอาเฮีย 2 คนว่า คือจตุพรควรจะได้รับการประกาศชื่อคนแรก
 
แต่ กกต.กลับกั๊กจตุพรไว้เป็นคนสุดท้าย ให้นอนคุกต่ออย่างไม่มีกำหนด ขณะที่การรับรอง ส.ส.496 คน กลับง่ายดายเสียจนน่าขัน กกต.เก๊กท่าเป็นองค์กรศักดิ์สิทธิ์ แต่เอาเข้าจริงเป็นเสือกระบาก ทำได้แค่ให้ใบเหลืองเลือกตั้งใหม่ 2 เขต นับคะแนนใหม่ 1 เขต ที่เหลือไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งที่ถ้า กกต.ใช้มาตรฐานเดียวกับที่เคยแจกใบแดงเมี่อปี 2550 ก็คงจะโดนอย่างน้อย 5-6 เขต
 
จำได้ไหมว่าที่บุรีรัมย์ ผู้สมัครพรรคพลังประชาชน เด็กเนวิน โดนใบแดงยกพวง เพราะคนใกล้ชิดไปแจกเงิน แม้ผู้สมัครปัดว่าไม่เกี่ยว กกต.ก็ยังแจกใบแดง ครั้งนี้ก็มีผู้สมัครโดนกล่าวหาทำนองเดียวกันหลายราย แต่ กกต.ปล่อยไปเฉย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน
 
เห็นได้ว่า กกต.แหยงจนป๊อด แล้วก็ทำยึกยักไปงั้น เช่นกั๊กยิ่งลักษณ์ไว้ 7 วัน สุดท้ายบอกว่าไม่ผิด มีตัวอย่างที่เคยวินิจฉัยไปแล้ว อ้าว แล้วทำไมไม่วินิจฉัยเสียตั้งแต่วันนั้น อ้างว่าให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณา ฝ่ายกฎหมายที่ไหนกัน ก็ 5 กกต.มีอดีตผู้พิพากษา 3 คน อดีตรองอัยการสูงสุด 1 คน เมื่อเข้ากรณีที่เคยวินิจฉัยแล้วก็น่าจะฟันธงได้เลย
 
แต่ กกต.ไม่กล้าฟันธง ไม่กล้าคอนเฟิร์ม เพราะกลัวครหาว่าปล่อยง่ายเกิน ไหนๆ กั๊กยิ่งลักษณ์แล้ว ก็เลยกั๊กอภิสิทธิ์ด้วย คนจะได้ไม่หาว่าลำเอียง ทั้งที่การจัดงานสินค้าราคาถูกเป็นข้อร้องเรียนงี่เง่า
 
ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนให้ กกต.ใช้ “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ตามความเพ้อฝันของพวกคนชั้นกลางรถบ้านขับมือเดียว แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันสะท้อนให้เห็นความเสื่อมจนเข้าสู่ภาวะล้มละลาย (ยิ่งกว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่) ของ กกต.ต่างหาก
 
รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบ กกต.โดยก๊อปมาจากอินเดีย ไม่ได้ให้อำนาจแจกใบแดง แค่มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ แต่พอได้ กกต.ขั้นเทพ 5 คนแรก สังคมก็หลงระเริงไปกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งปี 2543 ให้ กกต.มีอำนาจเสมือนศาลเลือกตั้ง แต่ความจริงเป็น “ศาลเตี้ย” เพราะวินิจฉัยโดยความเชื่อ “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ไม่ใช่การพิจารณาตามกระบวนการของศาลจนได้ข้อยุติ “มีหลักฐานชัดเจนว่า”
 
กกต.ที่ตั้งใจจะให้มาดูแลการเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง “ขยายอาณาจักร” จนเป็นมหาดไทย 2 จัดเลือกตั้งเอง แล้วก็เป็นศาลเตี้ย ตัดสิทธิผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเสียเอง เมื่อ กกต.มีอำนาจมากขนาดนี้ ทั้งจัดการเลือกตั้ง ทั้งสอบสวน ทั้งวินิจฉัย แจกใบแดงแล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ยังเพิ่มให้ยุบพรรค ก็เป็นธรรมดาที่ขั้วอำนาจต่างๆ ต้องเข้ามาแทรกแซง ทักษิณก็เคยแทรกแซงในยุค “3 หนา” แล้วฝ่ายอำมาตย์ก็เข้ามากินรวบในยุคปัจจุบัน
 
เมื่อ กกต.มีอำนาจมากขนาดนี้ ก็เป็นธรรมดาที่จะมีการยืมมือ กกต.ทำลายล้างกันทางกฎหมาย แทนที่จะเอาชนะกันด้วยคะแนนนิยม ก็ใช้วิธีร้องเรียนหวังจะให้ตัดสิทธิ ยุบพรรค ด้วยข้อหาบ้าจี้ต่างๆนานา เช่น ผัดหมี่ ไปจนถึง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ว่าทำให้ประชาชนสำคัญผิดในคะแนนนิยม (สำคัญผิดที่ไหน ก็ชาวบ้านเขาเลือกทักษิณนั่นแหละ เขาเลือกยิ่งลักษณ์เพราะเป็นโคลนนิงของทักษิณ)
 
พอ กกต.ใช้อำนาจมากๆ เข้า ตัดสิทธิผู้ที่รับเลือกตั้งจากประชาชน ยุบพรรคที่ประชาชนเลือกมาบริหารประเทศ ไม่ยุบพรรคแมลงสาบ ฯลฯ อำนาจนั้นก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เจอแรงต้านหนักๆ เข้า กกต.ก็ไปไม่เป็น ท้ายที่สุดก็โดนกระหนาบจากมวลชน 2 ข้าง ขั้วอำนาจ 2 ฝั่ง จนแหยง ป๊อด กอดเก้าอี้โดยไม่กล้าตัดสินใจ
 
“อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ของ กกต.จึงล้มละลายสิ้นเชิงใน กกต.รุ่นที่ 3 คอยดูสิว่าต่อให้คุณไปสรรหาเทวดาที่ไหนมาเป็น 5 เสือกระบาก กกต.รุ่นต่อไป ก็ใช้อำนาจไม่ได้อยู่ดี จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ จับจ้อง จับผิด ครหา นินทา ร่ำลือ ฯลฯ เพราะอำนาจนั้นมันเป็นอำนาจทื่ฝืนธรรมชาติ ขัดต่อวิถีประชาธิปไตย
 
ตุลาการ: อุปสรรคประชาธิปไตย
 
แกนนำเสื้อแดงบางคนปรามมวลชน ไม่ให้เคลื่อนไหวเรื่องจตุพร กลัวนำไปสู่รัฐประหาร ขอบอกว่าไม่ต้องกลัว ทหารไม่สามารถทำรัฐประหารได้ อย่างน้อยก็ใน 1-2 ปีข้างหน้า ถ้ารัฐบาลไม่ทำให้ตัวเองเสื่อม
 
หรืออย่างน้อยก็ใน 1 เดือน ที่กำหนดเขตห้าม ฮ.บินทั่วประเทศ (ฮาไม่ออก)
 
ท่าทีของ UN ท่าทีของทูตานุทูต ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ไปจนอินเดีย ออสเตรเลีย ฯลฯ หรือเรียกได้ว่าทั่วโลก ที่เข้าพบยิ่งลักษณ์ ไม่ได้แปลว่าเขาเชียร์ทักษิณหรือพรรคเพื่อไทย แต่เขาต้องการให้การเมืองเดินไปตามวิถีประชาธิปไตย ไม่มีปฏิวัติรัฐประหารอีก ถ้าเมริงทำอีก คราวนี้เจอดีแน่ ต่อให้ขนคณบดีรัฐศาสตร์ทุกมหา’ลัยไปโรดโชว์ ก็มีแต่จะโดนโห่กลับ เผลอๆ จะถูกถอดถอนปริญญารัฐศาสตร์ที่ได้จากต่างประเทศ
 
ฉะนั้นต่อให้ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ แล้วปลด ผบ.ทบ.ควบ ผบ.ทอ.ตั้งแต่วันแรก ทหารก็ไม่กล้าหือ เพียงแต่ต้องดูจังหวะก้าว ความเหมาะสม วัดกระแสสังคม เหมือนการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงนั่นแหละ
 
ทหารทำอะไรไม่ได้ มีปืนเหมือนมีกระบาก มี ฮ.เหมือนมีซาเล้ง เก่งแต่ระบายอารมณ์ ลูกน้องตาย 17 คน นึกว่าประชาชนจะแซ่ซ้องสดุดีกองทัพ พอโดนจี้ถามความรับผิดชอบ กลับยัวะ ก็จะไม่ให้ชาวบ้านสงสัยได้ไงละครับ ในเมื่อวันรุ่งขึ้นหลังจากแบลคฮอว์คตก ฮ.กระทรวงทรัพย์ ฮ.กระทรวงเกษตร ลำเล็กๆ เก่าๆ เขายังไปรับศพนายทหาร 5 นายออกมาได้
 
เอ้า พอ “อ้อน” รัฐบาลใหม่ขอซื้อ ฮ.30 ลำ ก็ยัวะนักข่าวอีก หาว่าพาดหัวข่าวให้เสียศักดิ์ศรี ผบ.ทบ.ต้องไปอ้อนผู้หญิง ทำเป็นวัยทองไปได้ ก่อนหน้านี้ก็ออกมาเรียกร้องว่ารัฐมนตรีกลาโหมต้องเป็นคนที่ทหารยอมรับได้ แหม อธิบดีกรมการข้าวเขาก็อยากเรียกร้องเหมือนกันว่ารัฐมนตรีเกษตรฯ ต้องเป็นที่ข้าราชการยอมรับได้ แพ้เลือกตั้งแล้วยังทำเป็นหือ (ถือว่าแพ้เลือกตั้งนะครับ เพราะออกมาเรียกร้องให้ประชาชนเลือกคนดี เลือกเพื่อสถาบัน แล้วไม่มีใครฟัง แม้แต่เขตทหาร เขตดุสิต พรรคเพื่อไทยยังชนะ)
 
แต่ไม่เป็นไร ผมสนับสนุนให้รัฐบาลจัดซื้อ (หรือจัดซ่อม) ฮ.ให้กองทัพอย่างเพียงพอ เพราะภารกิจของกองทัพไทยปัจจุบัน ฮ.มีความจำเป็น ใช้ในการเคลื่อนที่เร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องยกเลิกการสั่งซื้อยุทโธปกรณ์ที่เปล่าประโยชน์ เช่น GT200 หรือเรือเหาะ
 
รัฐบาลต้องสนับสนุนยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทยก้าวไปสู่ความทันสมัย แต่ต้องแลกกับการปฏิรูปกองทัพ ลดกำลังพล โดยเฉพาะกำลังนายพลที่ล้นเกิน ลดหน่วยบริการ สนับสนุน หางเครื่อง หิ้วกระเป๋า ฯลฯ แค่มีนายพลน้อยลงซักครึ่งหนึ่ง ก็มีเงินซื้อ ฮ.เหลือเฟือ
 
ที่สำคัญคือการปฏิรูปอำนาจบังคับบัญชา และแยกกองทัพออกจากข้ออ้าง “ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่เอามาเป็นเงื่อนไขปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง ซึ่งรัฐบาลควรต้องตั้งคณะทำงานศึกษาปฏิรูปกองทัพขึ้นทันที
 
เมื่อกองทัพไม่สามารถทำรัฐประหารได้ พวกคนชั้นกลางรถบ้านขับมือเดียวก็จะฝากความหวังการเตะสกัดตัดขารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไว้ที่อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ ซึ่งแม้ในช่วงต้นๆ ไม่กล้าฝืนกระแส แต่พวกเขาก็จะรอจังหวะ รอให้รัฐบาลถูกถล่มจากสื่อ นักอวิชา และบุคคลสาธารณะทั้งหลาย จนอ่วมเสียก่อน (พันธมิตรฯ คงไม่สามารถแสดงบทบาทในระยะอันใกล้ แต่แนวร่วมของพันธมิตรจะแปลงร่างออกมาทำเป็นหน้าซื่อตาใส)
 
ลองตั้งสมมติฐานดูนะครับ สมมติรัฐบาลบริหารประเทศไป แต่มีคนไปแจ้งจับแกนนำเสื้อแดง หรือแกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นรายๆ แล้วศาลไม่ให้ประกันตัว ขังยาวไม่แยแสใคร อ้างความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ก็จะจุดชนวนความอึดอัดคับแค้นของมวลชน
 
นับแต่ยังไม่ตั้งรัฐบาล เราก็เห็นแล้วว่ามีข้อหาต่างๆ รออยู่มากมาย เช่น ยิ่งลักษณ์เบิกความเท็จ ยิ่งลักษณ์ซุกหุ้นให้พี่ชาย ต่อไปก็อาจจะมียิ่งลักษณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตามจับ นช.ทักษิณ หรือเปิดดิกชันนารีตีความว่า “โคลนนิง” ทำให้ขาดคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ
 
หรือถ้ารัฐบาลใหม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ตกลงกับฮุนเซน ถอนทหารออกจากพื้นที่ 17 ตารางกิโลเมตร ก็อาจจะมีคนไปฟ้องศาลปกครอง ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ว่าไม่เอาเรื่องเข้าสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ จะเอาเข้าสภาไปให้ฝ่ายค้านกับ สว.ลากตั้งอภิปรายเพื่ออะไร เพื่อไม่ทำตามคำสั่งศาลโลกหรือ
 
คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดินแดน เป็นแค่มาตรการป้องกันการปะทะกันด้วยอาวุธ ขนาดนั้นก็ยังมีอาจารย์สอนกฎหมายออกมาบอกว่าไทยไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้ ที่ผ่านมาหลายประเทศก็ไม่ปฏิบัติตาม นี่อาจารย์สอนกฎหมายนะครับ ท่านไม่ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วท่านจะสอนลูกศิษย์อย่างไร
 
รัฐบาลจึงประมาทไม่ได้ ต้องสรุปบทเรียนจากรัฐบาลสมัคร-สมชาย รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ รื้ออำนาจและที่มาขององค์กรอิสระ ให้เร็วที่สุด อย่างช้า 3 เดือนต้องเป็นรูปเป็นร่าง เห็นทิศทาง ที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยลงประชามติ
 
ทั้งยังจะต้องรุกไปสู่การตรวจสอบอำนาจตุลาการ ทำให้อำนาจสถาบันขุนนางที่ไม่มีความยึดโยงกับอำนาจประชาชน เป็นอำนาจที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งอาจจะต้องแก้ไขโครงสร้างทั้งส่วนบนส่วนล่าง ตั้งแต่การสอบผู้พิพากษา ไปจนกำหนดให้ประธานศาลฎีกา รองประธาน หรือประธานแผนก ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
 
ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่สนับสนุนให้อำนาจบริหาร หรือ “ระบอบทักษิณ” เข้าไปแทรกแซงตุลาการ แต่ต้องทำให้อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน ไม่ใช่ของชนชั้นนำ ไม่ใช่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนต้องกลัวจนหัวหด แต่มีความศักดิ์สิทธิ์จากการอำนวยความยุติธรรม
 
สถาบันตุลาการจะต้องมีความเป็นประชาธิปไตยทั้งภายนอกและภายในมากขึ้น เช่นภายในศาลจะต้องมีการกระจายอำนาจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 49 คือความพยายามรวบอำนาจไว้ในมือตุลาการระดับสูง คนรุ่นเก่า อนุรักษ์นิยม เช่น แก้ไขกฎหมายให้ตุลาการเกษียณอายุ 70 โดยทยอยเพิ่มอายุทีละ 1 ปีนับแต่ปี 2550 ทำให้พวกเด็กโบงอกราก คนรุ่นหลังเหงือกแห้งกว่าได้ขึ้นถึงประธานศาลฎีกา
 
หรือสัดส่วน ก.ต.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งแก้ไขกฎหมายลิดรอนสิทธิเสียงของตุลาการระดับล่าง โดยลดจำนวน ก.ต.ที่มาจากศาลชั้นต้น ก่อนหน้านี้เคยมีการแก้ไขกฎหมายให้ศาลชั้นต้นปกครองกันเอง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามาจากผู้พิพากษารุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าก็ไล่ลำดับขึ้นไปเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา แต่หลังรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ก็แก้กลับไปเหมือนเดิม คือเอาตุลาการรุ่นเก่าลงมานั่งเป็นอธิบดีศาลชั้นต้น
 
ตำแหน่งอธิบดีหรือประธานศาล มีความสำคัญมากนะครับ แม้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาคดี แต่ก็ขึ้นกับอธิบดีว่าจะมอบสำนวนไหนให้ใครทำ มอบให้คนที่รู้มือรู้ใจกันหรือเปล่า
 
ก็ดูอย่างกรณีที่ ปปช.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า อ.อักขราทร จุฬารัตน์ อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรียกสำนวนคดีกลับ ทั้งที่องค์คณะลงมติไปแล้ว แต่ศาลปกครองกลับไม่ยอมให้สอบสวน อ้างว่า ปปช.ไม่มีอำนาจ ศาลสอบกันเองแล้วก็สรุปว่าไม่ผิด
 
คดีนี้คือคดีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร ที่ส่งผลสะเทือนทางการเมืองอย่างรุนแรง ต่อรัฐบาลสมัคร ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับแถลงการณ์ร่วมกลางดึก (ศาลทำโอที) รัฐบาลอุทธรณ์ มีข้อกล่าวหาว่า ศาลปกครองสูงสุดองค์คณะที่รับเรื่อง ลงมติไปแล้ว เสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ตุลาการหัวหน้าคณะกลับส่งสำนวนคืนให้ประธาน แล้วประธานก็รับไปเข้าองค์คณะของตัวเอง มีมติให้ยืนคำสั่งคุ้มครองต่อไป
 
เราลองย้อนนึกถึงบรรยากาศการเมืองขณะนั้นดู ถ้าศาลปกครองสูงสุด ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว พวกพันธมิตรฯ และพรรคแมลงสาบที่รุมถล่ม “สมัคร-นพดล” ว่า “ขายชาติ” คงเสียศูนย์ไปไม่เป็น
 
อ.อักขราทรทุกวันนี้ท่านก็ไม่ได้ไปไหนหรอกนะครับ เกษียณแล้ว แต่ท่านก็ยังเป็นปู่โสมอยู่ที่ศาลปกครองนั่นเอง เพราะประธานคนใหม่ตั้งท่านกลับมาเป็นที่ปรึกษา เงินเดือน 6 หมื่น ไม่เกี่ยวกับบำนาญที่รับอยู่แล้ว
 
แก้รัฐธรรมนูญเริ่มตรงไหน
 
กระแส “ปรองดอง” ต้องการความสงบสุข แม้มีส่วนทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ก็มีด้านที่เป็นผลลบ คือประชาชนทั่วไปเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากให้มีความขัดแย้งทางการเมืองอีก อยากให้รัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาทำงาน อย่าเพิ่งแตะเรื่องการเมืองเรื่องนิรโทษกรรม เดี๋ยวพวกขวาจัดโรคจิตจะออกมายิงกราดค่ายเยาวชน-เอ๊ย ออกมายึดทำเนียบยึดสนามบินอีก
 
กระแสนี้มีทั้งประชาชนทั่วไปที่บริสุทธิ์ใจ และพวกเสื้อเหลืองเสื้อสี หรือสาวกแมลงสาบ มุดลงใต้ท่อ แปลงร่างเป็นผู้รักสันติ มาแอบอ้าง “ปรองดอง” เช่น เรียกร้องให้ม็อบเสื้อแดงหยุดเคลื่อนไหว ให้ยุบหมู่บ้านแดง ให้เคารพกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ อย่ากดดัน กกต.อย่าเข้ามารบรากับองค์กรอิสระ
 
แน่นอน รัฐบาลก็ต้องไม่ผลีผลามฝืนความรู้สึกประชาชน แต่ก็ต้องชี้ให้สังคมเห็นว่าความคิดที่จะให้รัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างเดียว โดยไม่แก้ปัญหาทางการเมืองนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะต่อให้เราหยุดแล้ว ท่านก็ยังไม่หยุด จะต้องมีการตั้งแง่ยืมมืออำนาจตุลาการและองค์กรอิสระมาคอยเตะตัดขาจนรัฐบาลทำงานไม่ได้
 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่น่าคิด 2 แง่ ว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้งฉบับ หรือแก้เฉพาะประเด็นก่อน แน่นอนว่าการแก้ให้สมบูรณ์ทั้งฉบับ เป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่ต้องใช้เวลาและต้องผ่านกระบวนการ โดยต้องแก้ไขมาตรา 291 ให้จัดตั้ง สสร.ขึ้น ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล สสร.ก็จะทำงานต่อไป
 
แง่ที่สอง การแก้เฉพาะประเด็น อาจจะไม่สมบูรณ์ในหลักกฎหมาย แต่สามารถทำได้รวดเร็ว ทันการณ์ ตั้งประเด็นให้ลงประชามติในข้อสำคัญๆ เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจ เช่น ที่มาของวุฒิสมาชิก, ที่มาขององค์กรอิสระ, อำนาจ กกต.ตามมาตรา 237, บทเฉพาะกาลมาตรา 309 พร้อมกับมาตรา 291 ตั้ง สสร.ขึ้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์
 
นี่เป็นข้อเสนอเพื่อกระตุ้นให้ช่วยกันคิด ผมก็มองไม่ออกว่าแก้แบบไหนดี เพราะพูดไปแล้วโดยเนื้อหามันยังมีอะไรอีกเยอะ ที่ควรจะแก้ เช่น ยุบองค์กรปาหี่อย่างผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา หรือสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมเสีย หรือยุบศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีแค่ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่เลือกมาพิจารณาเฉพาะคดี หรือแม้กระทั่งยุบวุฒิสภาไปเสียเลย เพราะมันไม่พ้นวนเวียนอยู่กับสภาผัวสภาเมียหรือขั้วอำนาจลากตั้ง
 
คือรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีแนวคิดที่ผิดพลาดอยู่แล้วในเรื่องหวังพึ่งองค์กรอิสระ หวังว่าจะมีผู้วิเศษลอยลงมาใช้อำนาจ รัฐธรรมนูญ 2550 ยิ่งวางกับดักไว้พะรุงพะรัง แถมยังผิดเพี้ยน เช่น ให้อัยการเป็นอิสระ ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก อัยการต้องอยู่กับอำนาจบริหาร เป็นทนายของรัฐ รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชน เมื่อตำรวจจับผู้ต้องหามาได้อัยการก็ส่งฟ้องศาล แล้วอำนาจตุลาการซึ่งเป็นอิสระจึงเข้ามาตัดสิน
 
ถ้าเราตั้ง สสร.แล้วแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 6 เดือน หรือไม่เกิน 1 ปี ก็ควรตั้ง สสร.เพราะอันที่จริง ประเด็นต่างๆ ก็ถกเถียงกันจนตกผลึกพอสมควร อยู่ที่จะมีพวกกวนน้ำให้ขุ่นมากแค่ไหน เพราะถ้าตั้ง สสร.เราก็ต้องยอมรับว่าต้องเปิดกว้าง ให้โอกาสพวกแมลงสาบ พวกเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันวุ่น
 
แต่อย่างน้อยก็ต้องตั้งคณะทำงาน ศึกษาแนวทางแก้ไขมาตรา 291 หาวิธีจัดตั้ง สสร.หรือถ้าจะเลือกแก้เฉพาะประเด็นก่อน ก็ให้คณะทำงานเสนอมาเป็นประเด็น แล้วเปิดให้สังคมดีเบท เชิญพวกสื่อ นักอวิชา แมลงสาบ เสื้อเหลือง เสื้อหลากสี ดีเบทกันตามสบาย ให้เวลาเป็นเดือนๆ ก่อนไปสู่การลงประชามติ
 
อย่างน้อยก็ยังดีกว่าความคิดอดีตอธิบดีศาลอาญาเสื้อแดง ที่ให้ออกพระราชกำหนดนำรัฐธรรมนูญ 40 มาใช้ก่อน เลอะแล้วครับท่าน เลอะเหลือเชื่อ (นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ตุลาการก็เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่เชื่อถือได้ทั้งหมด)
 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ในครั้งเดียวก็ได้ แต่บางครั้งวิธีการก็สำคัญกว่าเนื้อหา สมมติเช่น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงไม่กล้าแตะต้องมาตรา 8 เราก็คงไม่หวังให้แก้ไขมาตรา 8 ในทันที แต่อย่างน้อยขอให้มีการดีเบท ความฝันอันสูงสุดคือ ถ้าประเทศนี้ยอมให้มีการลงประชามติมาตรา 8 หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อไหร่ ต่อให้ฝ่ายต้องการแก้ไขแพ้ถล่มทลาย ก็ถือว่าประชาธิปไตยเปิดกว้างขึ้นแล้ว
 
อ้าว วกมาลงเรื่องนี้จนได้ สรุปว่าผมยังไม่ได้เสนอแนวทางอะไรเลย แต่โยนหินถามทาง อยากให้นักวิชาการ ผู้รู้ ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายช่วยกันคิดนะครับ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเริ่มอย่างไร ต้องเร่ง ต้องรีบ และด่วนด้วย
 
เพราะในทางกลับกัน เราจะไว้วางใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมากก็ไม่ได้ อยู่ๆ ไป 3 เดือน 6 เดือน เสือกทำเรื่องฉาวโฉ่คำโตขึ้นมา ก็พา chip หายทั้งกระบวน
 
                                                                        ใบตองแห้ง
                                                                        28 ก.ค.54
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซูจีถูกกดดันให้นำ NLD จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองระหว่างหารือกับฝ่ายรัฐบาล

Posted: 28 Jul 2011 06:33 AM PDT

Irrawaddy 27 ก.ค.54 - การหารือระหว่างนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีและนายอองจี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานพม่าเมื่อวันจันทร์ (25 ก.ค.) ที่ผ่านมา มีรายงานว่า นายอ่องจีได้เรียกร้องให้นางซูจีนำพรรคเอ็นแอลดีไปจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายงานว่า นางซูจีได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว เพราะเอ็นแเอลดีไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2551

ทั้งนี้ พรรคเอ็นแอลดีต้องสูญเสียสถานะเป็นพรรคการเมืองถูกกฏหมายเมื่อวันที่ 6 เดือนพฤษภาคมเมื่อปีที่แล้ว หลังไม่ยอมจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองและเข้าร่วมการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยที่ผ่านมา พรรคเอ็นแอลดีมีจุดยืนชัดเจนในการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) และไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่า การเลือกตั้งที่จัดขึ้นไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

ด้านนางซูจี หลังได้รับการปล่อยตัวไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลถึง 4 ครั้ง กรณีไม่ให้มีการยุบพรรคเอ็นแอลดี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ท้ายสุดพรรคเอ็นแอลดีจึงตัดสินใจเตรียมยื่นจดหมายร้องเรียนไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council) ซึ่งเรื่องนี้นายอ่องจีได้บอกกับนางซูจีระหว่างที่หารือกันว่า การที่เอ็นแอลดียื่นจดหมายไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพม่าและนางซูจีอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นางซูจีกลับได้รับเชิญจากทางการให้ร่วมงานรำลึกถึงนายพลอองซานที่อนุสรณ์สถานในกรุงย่างกุ้ง  ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางส่วนเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรหยุดความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับขิ่นหม่องส่วย อดีตสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีและเป็นผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Force) แสดงความคิดเห็นว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านควรสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันโดยการร่วมประชุมกัน  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือและตอบสนองความต้องการของประเทศ

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภรรยา-เสื้อแดง-แกนนำ เยี่ยมให้กำลังใจ "จตุพร" ลั่นฟ้อง "กกต." ม.157

Posted: 28 Jul 2011 05:51 AM PDT

ภรรยา-เสื้อแดงให้กำลังใจ "จตุพร" ด้าน "ธิดา" พร้อม "ณัฐวุฒิ"  ลั่น พร้อมเตรียมฟ้อง กกต. หากเปิดประชุมสภาแล้ว ยังไม่ได้รับการรับรอง ด้านเจ้าตัวแนะ ส.ส. ที่เป็นแกนนำ นปช.รายงานตัวก่อนได้เลย เพื่อให้เปิดสภานัดแรกได้


28 ก.ค. 54 - เมื่อเวลา 13.30 น. เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นางพรหมภัสสร ณ กาฬสินธุ์ ภรรยานายจตุพร พรหมพันธุ์  และกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางเข้าเยี่ยมนายจตุพร เพื่อให้กำลังใจและแจ้งความคืบหน้าเรื่องการรับรองการเป็น ส.ส.ของนายจตุพร โดยภรรยานายจตุพรกล่าวว่าช่วงเช้านายจตุพร ยังคงมีความวิตกกังวล เมื่อช่วงบ่ายมาแจ้งข่าวจาก กกต.ให้ทราบ นายจตตุพรมีสีหน้าที่สดชื่นขึ้น แววตาเป็นประกายมากขึ้น ยังคงรอความเป็นธรรมจาก กกต. แต่ต้องให้เวลากับ กกต.ด้วยเพราะยังอยู่ในช่วงกรอบเวลา 30 วัน ส่วนมวลชนไม่ได้ต้องการจะกดดันอะไรเพียงแต่ ปชช.ได้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วและพวกเขาต้องการคนที่เขาเลือกแล้วออกมาทำงาน แต่การที่ กกต.ยังแขวนนายจตุพรไว้เพียงคนเดียว แม้มวลชนที่สิ้นหวังอาจจะเกิดแรงกระเพื่อมเพราะความผิดหวัง แต่แกนนำก็ต้องการให้อยู่ในความสงบ

ต่อคำถามว่านายจตุพรจะได้ออกมาหรือไม่ เมื่อไหร่ ภรรยาจตุพรกล่าวว่า ได้แต่รอความเป็นธรรม ตนผิดหวังมาหลายครั้งแล้ว ที่บ้านเตรียมตัวรอรับการกลับบ้านของนายจตุพรหลายครั้งแต่ต้องผิดหวังมาหลายครั้ง จึงไม่อยากตั้งความหวัวอะไรอีก แต่จะรอความเป็นธรรมจาก กกต. ด้านคดีความตอนนี้ในข้อหา ม.112 ทางดีเอสไอได้เลื่อนไปเป็นวันที่ 19 ส.ค.54 ในขั้นตอนเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหา ส่วนคดีก่อการร้ายทางทนายความยังรวบรวมข้อมูลสู้ในชั้นศาลต่อไป

วันนี้ตนมาเล่าให้นายจตุพรฟังว่า เมื่อคืนนี้น้องปัณปัณ (ปัณณพัฒน์ พรหมพันธ์) ตื่นมาร้องไห้กลางดึกหลังจากกกต.ออกมาแถลง เหมือนกับรับรู้อะไรสักอย่าง ทั้งที่ปกติไม่เคยตื่นมากลางดึก เมื่อนายจตุพรรับทราบถึงกับน้ำตาคลอ

ธิดา-ณัฐวุฒิเยี่ยม'จตุพร' ขู่ฟ้อง กกต.หากไม่รับรอง

ด้านไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำอีกหลายคนเดินทางเข้าเยี่ยม นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ที่เรือนจำกลางคลองเปรม

โดยนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันนี้ เดินทางมาหารือกับ นายจตุพร กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่รับรองคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ให้กับ นายจตุพร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเมื่อ กกต. รับรองให้นายจตุพร ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับเลือกจากประชาชนแล้ว ก็ไม่น่ามีข้อหาใดที่จะไม่รับรองให้นายจตุพร เป็น ส.ส. อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าทาง นปช. จะไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ เพื่อกดดัน กกต. ในช่วงกรอบเวลา 30 วัน แต่หากมีการเปิดประชุมสภา แล้วยังไม่รับรอง นายจตุพร เป็น ส.ส. ก็จะมีการยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาล ตามมาตรา 157 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้านนางธิดา กล่าวว่า นายจตุพร ฝากถึง ส.ส.ที่เป็น นปช. ให้รายงานตัวได้เลย ไม่ต้องรอเพื่อให้ประธานเปิดสภาฯ นัดแรกที่จะมีขึ้น

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แกนนำม็อบต้านขนถ่านหินท่าทรายถูกยิงเสียชีวิต หลังถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์

Posted: 28 Jul 2011 04:23 AM PDT

คนร้ายบุกยิง นายทองนาค เสวกจินดา แกนนำในการต่อต้านกิจกรรมถ่านหินในชุมชนตำบลท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หลังจากที่มีการปิดถนนประท้วงไปก่อนหน้านี้ รวมถึงมีโทรศัพท์ข่มขู่ก่อนเกิดเหตุ

28 ก.ค. 54 - ร.ต.อ.วิชิต ลุนผา ร้อยเวรสภ.เมือง จ.สมุทรสาคร รับแจ้งเหตุมีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่บริเวณร้านขายก๋วยเตี๋ยวหน้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบคนบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลมหาชัย ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทราบชื่อผู้เสียชีวิตคือนายทองนาค เสวกจินดา อายุ 47 ปี ถูกยิงด้วยปืนขนาด9 มม.เข้าไหล่ซ้าย 3 นัด หน้าท้อง 2 นัด ราวนมด้านซ้าย 2 นัด และด้านหลังอีก 2 นัด

จากการสอบสวน พ.ต.ต.พงษ์ศิริ เก่งนอก สว.สส.สภ.เมืองสมุทรสาคร กล่าวว่า ผู้ตายเป็นแกนนำในการต่อต้านกิจกรรมถ่านหินในชุมชนตำบลท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หลังจากที่มีการปิดถนนประท้วงไปก่อนหน้านี้ และก่อนเกิดเหตุ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ตายมาแจ้งความไว้ว่า มีคนโทรศัพท์ขู่ว่า ที่ไปเป็นแกนนำในการประท้วง จนกระทั่งมาเกิดเหตุร้ายถูกยิงเสียชีวิต

ด้านพี่สาวผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์อ้างว่า ก่อนเกิดเหตุน้องชายได้นั่งอยู่ที่หน้าบ้านคนเดียว ระหว่างนั้นได้มีคนร้ายเป็นชาย 2 คน โดยคนขับสวมเสื้อแจ๊คเก็ตสีดำ คนซ้อนสวมเสื้อแจ๊คเก็ตสีเขียวและสวมหมวกกันน๊อกทั้งสองคน ใช้รถจักรยานยนต์ฮอนด้าคลิ๊กสีดำเขียว ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน มาจอดบริเวณข้างร้าน แล้วคนซ้อนก็ลงจากรถเดินอ้อมไปยิงด้านหลังนายทองนาคจำนวนหลายนัด ก่อนวิ่งขึ้นรถหนีไป

ที่มาข่าว: มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้นำพม่าแตกคอ-เหตุเห็นต่างเรื่องแก้ปัญหากองทัพ

Posted: 28 Jul 2011 03:17 AM PDT

ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเปิดประชุมหลังจากกองทัพประสบปัญหานายทหารยื่นหนังสือลาออกอย่างต่อเนื่อง มีนายทหารตั้งแต่ยศนายพันยันนายพลยื่นหนังสือขอลาออกจากกองทัพเกือบ 200 นาย หนึ่งในนั้นมี พล.ท.มิ้นโซ ผู้อำนวยการยุทธการพิเศษที่ 1 ซึ่งรับผิดชอบภาคสะกาย ภาคมัณฑะเลย์ และรัฐคะฉิ่น รวมอยู่ด้วย

(สำนักข่าวฉาน) แหล่งข่าวในรัฐบาลทหารพม่าซึ่งพำนักอยู่ชายแดนจีนเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะผู้นำระดับสูงของพม่าในกรุงเนปิดอว์เมื่อไม่นานนี้ได้เกิดการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดระหว่างพล.อ.เต็งเส่ง ประธานาธิบดี กับนายติ่นอ่อง มิ้นอู รองประธานาธิบดีที่ 1 และพล.อ.มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จากกรณีหารือกันถึงการแก้ไขปัญหาภายในกองทัพ รวมถึงการที่กองทัพเปิดศึกต่อกองกำลังชนกลุ่มน้อยทั้งในรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง

ทั้งนี้ พล.อ.เต็งเส่ง ให้เหตุผลว่า กองทัพควรยุติการเปิดศึกต่อกองกำลังชนกลุ่มน้อยทั้งกองกำลังคะฉิ่น กองกำลังไทใหญ่ SSA และกองกำลังกะเหรี่ยง เพราะส่งผลกระทบต่อกองทัพในด้านงบประมาณอีกทั้งยังทำให้กำลังพลต้องเผชิญกับความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่กำลังพล กองทัพควรยุติการเปิดศึกทุกด้านก่อนจึงจะสามารถแก้ปัญหานี้ การเปิดศึกไม่เพียงส่งผลกระทบต่อกองทัพแต่หากยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ขณะที่นายติ่นอ่อง มิ้นอู และพล.ท.มินอ่องหล่าย โต้แย้งอย่างแข็งขันว่า กองทัพจำเป็นต้องเดินหน้ากวาดล้างกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่อไป โดยเฉพาะกองกำลังไทใหญ่ ต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว ในส่วนของการดูแลกองทัพ หากรัฐบาลได้รับมอบเงินที่กู้ยืมจากทางการจีนแล้วค่อยจัดการแก้ไข กองทัพจำเป็นต้องเดินหน้าเปิดศึกต่อไปและกองทัพจะหาทางชี้แจงทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ แก่กำลังพลไปพร้อมกัน

การประชุมคณะผู้นำรัฐบาลทหารพม่าครั้งนี้ เป็นการเปิดประชุมหลังจากกองทัพต้องประสบปัญหาภายในจากการที่มีนายทหารยื่นหนังสือลาออกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกำลังพลมีความเป็นอยู่อย่างลำบากจากการที่กองทัพดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งมีนายทหารตั้งแต่ยศนายพันยันนายพลยื่นหนังสือขอลาออกจากกองทัพเกือบ 200 นาย หนึ่งในนั้นมีพล.ท.มิ้นโซ ผู้อำนวยการยุทธการพิเศษที่ 1 (Bureau of Special Operations (BSO) #1) รับผิดชอบดูแลภาคสะกาย ภาคมัณฑะเลย์ และรัฐคะฉิ่น รวมอยู่ด้วย

แหล่งข่าวเผยว่า การโต้เถียงกันของผู้นำพม่าจากการที่มีความเห็นไม่ตรงกันนี้ค่อนข้างมีความดุเดือดและถึงกับมีการแสดงอาการอาฆาตต่อกัน ทำให้พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ต้องส่งคนใกล้ชิดไปปลอบใจและร้องขอให้ทั้งสองฝ่ายใจเย็นและทำหน้าที่เพื่อความเป็นเอกภาพต่อไป

ขณะที่ทางด้านพล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน SSA เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นไปได้ที่ผู้นำพม่าแตกคอกันจากเหตุมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะกรณีกองทัพเปิดศึกโจมตีชนกลุ่มน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นคือก่อนหน้านี้กองทัพพม่ามีคำสั่งเข้าตีและยึดบ้านไฮ ที่ตั้งกองบัญชาใหญ่ของกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA/SSPP ให้ได้ โดยมีการเสริมกำลังเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงขณะนี้กำลังเหล่านั้นยังไม่ได้ปฏิบัติการ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะยังไม่ได้รับคำสั่งที่ชัดเจนจากเบื้องบน

อย่างไรก็ตาม พล.ท.ยอดศึก คาดการณ์ว่า กองทัพพม่าต้องบุกยึด บก.กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA/SSPP อย่างแน่นอน เพราะมีการเสริมกำลังจากพื้นที่ต่างๆ เข้าไปอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของกองทัพรัฐฉาน "ใต้" SSA/RCSS ได้ทำการซุ่มโจมตีทหารพม่าเพื่อก่อกวนช่วยกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ได้ทำการซุ่มโจมตีขบวนรถบรรทุกทหารพม่าบนเส้นทางมุ่งหน้าสู่เมืองหนอง พื้นที่เคลื่อนไหวกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ทำให้ทหารพม่าเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย

 

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: Take Me Out : สลิ่มสาวหารัก

Posted: 27 Jul 2011 11:29 PM PDT

 

ประชาไทบันเทิง: Take Me Out : สลิ่มสาวหารัก

ต้นเดือนที่ผ่านมา ต้องไปงานแต่งงานเพื่อนสาวสมัยเรียนมัธยมที่หาดใหญ่ (เธอไปเรียนแพทย์ที่นั่น พบรักที่นั่น และกำลังจะลงหลักปักฐานที่นั่น พ่อเจ้าบ่าวเป็นหมอ พ่อเจ้าสาวก็เป็นหมอ เจ้าบ่าวก็เป็นหมอ เจ้าสาวก็เป็นหมอ !!!) จะไม่ไปก็ไม่ได้เนื่องด้วยครอบครัวเราทั้งสองรู้จักสนิทสนมกัน แม้จะโชคดีที่ไม่ต้องไปเป็นเพื่อนเจ้าสาว แต่การไปงานแต่งงานของเพื่อนสาวคนสนิท ที่พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ทุกคนรู้จักเราหมด ก็จะมีคำถามประดังประเดเข้ามาว่า

“มีแฟนรึยังจ้ะ”

ถ้าตอบว่ามีก็จะมีคำถามต่อไปว่า

“แล้วเมื่อไหร่จะแต่งงานล่ะ”

ดิฉันล่ะอยากจะบอกอาป๊า อาม๊า อาเจ็ก อากู๋ (คนละคนกับที่อยู่ตึกแกรมมี่นะคะ) อาโก อาอี๊ ฯลฯ ว่า การที่เพื่อนของดิฉันได้แต่งงาน ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทั้งโลกที่อยู่ในวัยเดียวกันจะต้องแต่งานพร้อมเธอนะคะ!!!

ก็เข้าใจได้ว่าคงเป็นความภาคภูมิใจของชาติตระกูลที่ลูกสาวขายออก (เหมือนอย่างที่แห็นในหนังย้อนยุคไทยทั้งหลาย หรือง่ายๆ อย่างหนังอังกฤษย้อนยุค Pride and Prejudice ที่หากลูกสาวแก่สัก 20 กว่าปีแล้ว พ่อแม่จะกลุ้มใจ และรีบหาสามีให้ลูกอย่างเร็วด่วน ซึ่งไม่รู้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นทุกชาติทุกภาษาหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เหมือนมันจะยังสืบต่ออุดมการณ์มาจนถึงปัจจุบันในรูปแบบที่อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง) สาววัยเดียวกันที่ (ยัง) ขายไม่ออกอย่างดิฉันจึงได้แต่เซ็งๆ นอนดูโทรทัศน์อยู่บนเตียงในโรงแรม ขณะรอเจ้าสาวแต่งหน้าทำผม แต่การดูทีวีครั้งนี้ก็มีเรื่องตื่นเต้นเร้าใจ เมื่อเปิดเจอรายการใหม่ ที่ชื่อ ‘Take Me Out’ อันเป็นรายการเฟรนไชส์ ที่โด่งดังมาจากอังกฤษ และมีสาขามากมายตามแต่ใครจะซื้อลิขสิทธิ์ แถบๆ บ้านเราก็จะมีที่จีน ญี่ปุ่น อินโดนิเซีย และล่าสุดประเทศไทย

ประชาไทบันเทิง: Take Me Out : สลิ่มสาวหารัก

ประชาไทบันเทิง: Take Me Out : สลิ่มสาวหารัก

รูปแบบรายการ จะเรียกได้ว่าเป็นรายการ ‘หาผัวหาเมีย’ ก็ได้ แต่ขอเรียกน่ารักๆ ว่า ‘หาคู่เดท’ แล้วกัน ที่จริงรายการแบบนี้มีมากมาย และเห็นมาหลากหลายแล้วในประเทศไทย แต่รายการนี้มีลูกเล่นที่สนุกสนานแปลกใหม่ จึงทำให้ติดตลาด โดยเป็นการนำ 30 สาวโสดมาร่วมรายการ และก็จะมี 1 หนุ่มโสด มาเพื่อจะหาคู่เดท ซึ่งที่จริงต้องเรียกว่าต่างคนต่างหามากกว่า โดยกิมมิคของรายการนี้คือ เมื่อชายหนุ่มปรากฏตัว หญิงสาวที่อาจไม่ชอบใจในรูปร่างหน้าตา โหวงเฮ้ง ฯลฯ ก็อาจ ‘ปิดไฟ’ ได้ นั่นหมายถึงคุณขอสละสิทธิ์ในการ ‘เลือก’ และเป็น ‘ตัวเลือก’ ผู้ชายคนนี้ โดยในภาคภาษาไทย ใช้คำว่า ‘ความโสดคืออำนาจ’ (อืมมม...น่าคิด) และหลังจากนั้นก็จะให้ผู้ชายแนะนำตัว และในระหว่างแนะนำตัว หากผู้หญิงคนไหนไม่ชอบใจ ไม่ว่าจะเป็นอากัปกิริยา การพูดการจา โปรไพล์ หรือลักษณะนิสัยผ่านการแนะนำนั้นก็อาจ ‘ปิดไฟ’ ได้

ทำไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 รอบ ก็ถึงคราวผู้ชายใช้ ‘ความโสดคืออำนาจ’ ด้วยการ ‘สะบั้นอารมณ์’ เดินไปปิดไฟบนแท่นที่ผู้หญิงยืนอยู่ ไม่ว่าไฟหรือผู้หญิงนั้นจะเหลือจำนวนเท่าไหร่ ให้ผู้ชายเลือกปิดไฟผู้หญิงที่คิดว่า ‘ไม่ใช่สเป๊ก’ ของเขา ให้เหลือตัวเลือกเพียง 2 คน จากนั้นก็เป็นคำถามสุดท้ายคือให้ผู้ชายถามอะไรก็ได้ ให้ผู้หญิงที่เหลือทั้งสองคนตอบ แล้วก็ให้ผู้ชายเดินไปปิดไฟผู้หญิงที่ตัวเองไม่เลือก เหลือเพียงหญิงสาวที่เขาเลือก และทั้งคู่ก็จะได้เดทกัน ซึ่งหลังจากนั้น เป็นเรื่องหลังรายการแล้วว่าเดทแล้วจะชอบพอกัน จนถึงขั้นพัฒนาเป็นแฟน หรือแต่งงานอะไรยังไงก็แล้วแต่ทั้งคู่ แต่ในเดทแรกก็จะมีการสัมภาษณ์ทั้งคู่ออกอากาศท้ายรายการ ให้ผู้ชมได้ดูด้วย

กรี๊ดดด...ต้องรีบส่งไปสมัครไปร่วมรายการซะแล้ว

ในขณะที่ดิฉันกำลังไล่ดูว่ายังมีเจ้าชายประเทศไทยที่ยังโสด และอาจสนใจจะแต่งงานกับ ‘หญิงสามัญชน’ บ้าง (ปีนี้มีหญิงสามัญชน ที่พิจารณาแล้วก็ไม่ ‘สามัญ’ สักเท่าไหร่ แต่งงานกับเจ้าชายถึง 3 คน!) รายการ Take Me Out ก็ยังแสงสว่างมาให้สาวโสดทั้งประเทศ (?) ให้มีโอหาสหาสามี แม้จะไม่เริ่ดหรูไฮโซถึงกับเป็นเจ้าชาย หรือนักแสดงหนุ่มรูปหล่อ แต่โปรไพล์ก็ไม่ขี้เหร่แน่นอน

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจคิดกันอยู่ก็คือ วิธีการ ‘หาคู่เดท’ แบบนี้ มันดูไม่โรแมนติกเลย หรือเลยเถิดไปถึงผิดธรรมชาติของความรัก ดิฉันจะไม่พูดพร่ำทำเพลง ย้อนประวัติศาสตร์ไปไกลมากว่าเราเคยมีการแต่งานแบบคลุมถุงชน ซึ่งบางคู่ก็อยู่รอด มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง หรือการจับคู่โดยแม่สื่อที่พ่อแม่เป็นคนจ้าง หรือแม้กระทั่งการแต่งงานในรูปแบบอื่นๆ เพราะแค่ว่าเจอกันเพราะเรียนที่เดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน แล้วแต่งงานกัน ดิฉันว่ามันก็ไม่โรแมนติกแล้วนะคะ (แน่จริงมันต้องแบบในหนังเกาหลีสิ! ปล. ณ ที่นี่คือเราจะไม่พูดถึงเรื่องมายาคติของความโรแมนติก เอาเท้าเขี่ยไปไว้ข้างๆ ก่อน) ไม่ค่อยต่างอะไรกับรูปแบบที่กล่าวมาเท่าไหร่ หรือหลายคนก็อาจจะคิดว่า ทำไมเหรอ หญิงสาวเหล่านี้ (หรือหนุ่มคนนี้) หมดหนทางในการหาผัวหาเมียในชีวิตจริงแล้วหรือ จึงยอมมาออกรายการทีวีเพื่อหาคู่ ? (จากวงใน ได้ข่าวว่าไม่ค่อยมีใครอยากมาออกเท่าไหร่หรอกค่ะ โดยเฉพาะฝ่ายชาย หาผู้ร่วมรายการยากเหลือเกิน) หรือแม้กระทั่งพวกที่ต้องพึ่งพาเว็บไซต์หาคู่ คนพวกนี้ไม่มีน้ำยา หรือว่ามีปมด้อยอะไรหรือ ?

จากรายการ (เดี๋ยวจะลงรายละเอียดอีกที) หรือจากประสบการณ์ของดิฉันที่เคยลงสนามไปงานนัดบอดของเว็บไซต์หาคู่ชื่อดังของประเทศไทยมาแล้ว (เพื่อเขียนคอลัมน์ค่ะ) มันทำให้ความคิดของดิฉันที่เคยคิดว่าคนพวกนี้ต้อง ‘บกพร่อง’ อะไรสักอย่างแน่ๆ นั้น (เกือบ) หมดไป เพราะที่เจอคือชายหนุ่มหน้าตาดี การศึกษาดี จบนอกกันทั้งนั้น หน้าที่การงานดี (เงินเดือนคาดว่าจะหลักแสนเลยล่ะ) รวมถึงสาวๆ ที่มานัดบอด (หมู่) จากการ ‘ใช้บริการของเว็บไซต์หาคู่’ นั้น ก็มีหน้าตา โปรไฟล์ดีเริ่ด! ไม่ต่างกัน จากการวิเคราะห์ (เอาเอง) เหมือนว่าพวกเขาไม่มีเวลาที่จะไปเสียเวลากับ ‘เส้นทางเดิมๆ’ อย่างเจอกันตามผับ งานปาร์ตี้ (ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดให้มีการเฟลิร์ตกันได้อย่างไม่เก้อเขินมากนัก ไม่เหมือนร้านกาแฟในตอนบ่าย หรือเดินสวนกันที่พารากอน) และมันอาจจะเสี่ยงเกินไปที่จะได้คนที่ ‘ไม่ดี’ มา อย่างน้อยการที่ใช้บริการจากเว็บไซต์หาคู่นั้น ก็มีการการันตีโปรไพล์มาแล้วระดับหนึ่ง มีการคัดกรองมาแล้วระดับหนึ่ง (ในการจะเข้าไปใช้บริการ นอกจากจะต้องเสียเงินแล้ว คุณยังต้องกรอกประวัติอีกมากมาย ทั้งหน้าที่การงาน เงินเดือน การศึกษา ฯลฯ)

ซึ่งหากคุณไม่อยากระทึกขวัญกับการผจญภัยหาคู่ แต่พร้อมจะสร้างความรัก สร้างครอบครัวกับคน ‘โปรไฟล์ดีๆ’ ไฉนเลยไม่ยอมเสียเงินสักน้อยนิด มาใช้บริการหาคู่ล่ะ นอกจากจะปลอดภัย ได้คนหน้าตาดี โปรไฟล์ดี การศึกษา หน้าที่การงานดีเริ่ด! แล้ว วิธีการในการ ‘เลือกคู่’ ก็ไม่ได้ผิดธรรมชาติแต่อย่างใด ไม่ต่างจากการไปเที่ยวกลางคืน ไปผับไปบาร์หรอก (ช่วงแรกจะมีเกมส์ให้เล่น คือมีเวลาให้คนละ 10 วินาทีในการบอกอะไรสักอย่างแก่คู่ของคุณ แล้วหมุนเวียนไปเป็นเก้าอี้ดนตรี โดยห้ามพูด แต่ใช้การแลกกันเขียนบนสมุดโน้ต หลังจากนั้นพอเกมส์พวกนี้จบแล้ว ก็จะให้เราเขียนชื่อคนที่เราประทับใจใส่กระดาษ เจ้าหน้าที่ก็จะเก็บไว้ หลังงานเลิก เจ้าหน้าที่เขาก็จะบอกเราเอง ว่ามีใครสนใจเราบ้าง ถ้าเราคิดตรงกันก็อาจจะมีการจัดเดทแบบสองต่องสองต่อ ซึ่งที่จริงเกมส์มีมากกว่านี้ ไม่ได้น่ากลัว หรือต้องเขินอายอะไรเลย แล้วก็จะเป็นเหมือนงานเลี้ยงทั่วไปมากกว่า เพราหลังจากนั้นก็จะปล่อยฟรีสไตล์ใครประทับใคร หรืออยากรู้จักใครมากขึ้น ก็เดินถือแก้วไวน์เข้าไปคุยกันต่อได้)

นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการหาคู่เท่านั้น และเป็นรูปแบบที่แฝงไปด้วยเรื่อง ‘ชนชั้น’ ที่น่าสนใจ เห็นไหมว่า เราเลือกชนชั้นก่อนที่จะถามหาความรัก ความโรแมนติกเสียอีก

Take Me Out ก็ไม่ต่างกัน เพียงแค่งานนี้มีคนดูทางบ้าน และอาจจะมีบทที่ต้องแสดงมากขึ้นเท่านั้นเอง หรือบางคนที่อยู่ในรายการก็แค่มาร่วมรายการ อาจไม่ได้มาหาคู่จริงๆ

ในจำนวนหญิงสาว 30 คนที่มาในรายการ จะเห็นได้ว่า สวยๆ แต่งหน้าแต่งตาเช้งกะเด๊ะ แต่งตัวเก๋ไก๋กันทั้งนั้น และส่วนมากก็เป็นหญิงสาวที่มีการศึกษา จบระดับมหาวิทยาลัย พิจารณาจากอาชีพที่พวกเธอทำ ไม่ว่าจะเป็นทนาย สถาปนิก วิศวกร นักบัญชี พนักงานธนาคาร ดีเจ นักร้อง ธุรกิจส่วนตัว พนักงานบริษัทเอกชน ฯลฯ ส่วนชายหนุ่มก็ไม่ต่างกัน หล่อเหลา หน้าตาดี ไม่ถึงขั้นพระเอก แต่ก็ไม่ขี้เหร่แน่นอน (แน่ละ...เอาคนขี้เหร่มาผู้หญิงก็ดับไฟกันหมดน่ะสิ) มีทั้งทหาร (ยศสูง และดูมีฐานะ) ทันตแพทย์ ธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ

หรือเราอาจจะพูดได้ว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือ ‘ชนชั้นกลาง’

ก่อนอื่น ดิฉันต้องขอออกตัวก่อนว่า ที่ใช้ชื่อบทความว่า ‘สลิ่ม’ นั้น นอกจากจะเป็นการเล่นคำ เพื่ออารมณ์ความสนุกแล้ว คำๆ นี้มีนัยยะบางอย่าง ที่เราๆ ท่านๆ รู้กัน แต่แน่นอนว่า เพียงแค่ ‘โปรไฟล์’ ที่เราเห็นในรายการ ไม่อาจเคลมว่าพวกเธอ คือ ‘สลิ่ม’ เพราะหนึ่งเรายังไม่อาจนิยามลงไปได้อย่างแน่นอน ว่าแท้จริงแล้วสลิ่มนั้นมีองค์ประกอบ (ทั้งทางอุดมการณ์ พฤติการณ์ ไลฟ์สไตล์ ชนชั้น ฯลฯ) อย่างไร แม้แต่คำว่าชนชั้นกลางเองก็ยังคลุมเครืออยู่ แต่ก็มีความหมายที่กว้างกว่าสลิ่ม (?) และในกรณีนี้น่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าว่าพวกเธอ (เขาด้วย) คือชนชั้นกลาง แต่ที่มีการยั่วล้อในการใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ อยู่ด้วยนั้น เป็นเพราะภายใต้บทความนี้ งานก่อนหน้านี้ หรืองานชิ้นต่อไป มันคือความพยายามของดิฉันที่จะค้นหาสารัตถะ องค์ประกอบ หรือความน่าสนใจของ ‘ชนชั้นกลาง’ ภายใต้อุดมการณ์แบบหนึ่ง (หรือหลายๆ แบบ แต่ไม่ทั้งหมด) ซึ่งอาจจะเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงในการปักธงโดยใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ ตั้งแต่แรก แต่นั่นแหละ นี่คือความพยายามและการทำงานในโปรเจ็กต์นี้บนพื้นที่นี้ค่ะ อย่าเพิ่งมาเถียงกันเรื่องสลิ่มคืออะไรในตอนนี้เลย (คาดว่ายังอีกยาว และอาจหาคำตอบไมได้ มาดูกันเป็นเรื่องๆ ทีละปรากฏการณ์และคำอธิบาย ‘ปรากฏการณ์’ กันก่อน) ค่อยๆ ดูกันไป ทั้งคนอ่านและดิฉันเองด้วย (อย่าไปซีเรียสค่ะ ว่าอ่านแล้วจะได้อะไรที่เป็นวิชาการ ตัวคนเขียนยังไม่ซีเรียสเลย เพราะเขียนแบบนั้นไมได้อยู่แล้ว นี่ประชาไท ‘บันเทิง’ ค่ะ)

กลับมาที่รายการ Take Me Out อย่างแรก จำนวนผู้หญิง 30 คน ต่อผู้ชาย 1 คน หากจะพิจารณาจากวิชาสถิติ ก็จะเห็นว่าถูกต้องแล้ว (แม้จะไม่ใช่อัตราส่วน 30 ต่อ 1 ก็เหอะ) ประชากรชายไทยตอนนี้อยู่ที่ 31,451,801คน ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 32,426,466 คนซึ่งไม่แน่ใจว่าเมื่อเทียบสัดส่วน ‘วัยเจริญพันธุ์’ นั้นอยู่ที่เท่าไหร่ นี่ยังเป็นแค่การแยกตาม ‘เพศ’ แต่หากแยกตาม ‘ความสนใจทางเพศ’ แล้วละก็ คาดว่าอัตราส่วนคงแตกต่างกันสูงกว่านี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ผู้หญิงถึงต้องมากระดี๊กระด๊าพรีเซนต์ตัวเสียเหลือเกินเพื่อที่จะให้ผู้ชายเลือกในรายการนี้ เพราะลำพังแค่ผู้ชาย ‘แท้’ ก็หายากแล้ว มิพักต้องถามหาผู้ชาย ‘ดีๆ’ เลยค่ะ

และแม้กระแสเฟมินิสต์จอมปลอมจะบอกว่า สมัยนี้ผู้หญิงไม่ง้อผู้ชายแล้ว ผู้หญิงมีงานทำ มีเงินใช้ อยู่ด้วยตัวเองได้ ไม่จำเป้นต้องแต่งงาน สถานะ ‘โสด’ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีการศึกษา มีหน้าที่การงาน มีรายได้เลี้ยงชีพ ซึ่งก็คือผู้หญิง ‘ชนชั้นกลาง’ ฟังดูเหมือนจะจริง แต่ทำไมผู้หญิงที่มาออกรายการ ‘Take Me Out’ นั้นถึงเป็น ‘ผู้หญิงชนชั้นกลาง’ ทั้งนั้นล่ะ บางคนอาจบอกว่าเพราะเขาเลือกหน้าตามาออกทีวี ไม่จริงหรอก หญิงชนชั้นแรงงานพนักงานเสิร์ฟเอ็มเคสวยๆ มีถมไป ทำไมเหล่าทนายความ สถาปนิก วิศวกร นักบัญชี นักร้อง ดีเจ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ เหล่านี้ถึงได้ต้องมาออกรายการหาคู่รัก ในยุคสมัยที่เค้าบอกกันว่าผู้หญิงโสด ที่สวย การศึกษาดี มีหน้าที่การงาน มีอาชีพ มีรายได้ อยู่เป็นโสดก็ได้ ไม่เห็นต้องแต่งงานหรือง้อผู้ชายเลย ทำไมและทำไม

จากงานศึกษา 3 ชิ้น ทั้งที่อังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย ของ David Villetts, June Carbone และ Naomi Cahn และ Angela Shanahan ต่างให้ข้อมูลและนำสู่บทวิเคราะห์ที่ตรงกันว่า แท้จริงแล้ว ผู้หญิงชนชั้นกลาง ผู้มีการศึกษา (จบมหาวิทยาลัย) มีหน้าที่การงาน ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ได้ต้องการอยู่เป็นโสด ทำงานเลี้ยงตัวเอง เป็นสาวเปรี้ยวยุคใหม่ เฟมินิสต์อะไรหรอก (ดูอย่าง 4 สาว ใน Sex And The City สิ มีใครโสดไหม ? ...ไม่มี!) พวกเธอแค่ ‘ชะลอ’ การแต่งงานให้นานออกไปกว่าเดิมเท่านั้นเอง จากสถิติที่ผู้หญิงเคยแต่งงานในราวๆ อายุ 20 ต้นๆ ก็ถูกยืดออกไปเป็น 20 ปลายๆ จนถึง 30 ต้น และในกระบวนการการยืดระยะเวลานี้ ไม่ใช่ว่าเธออยากเห็นโลกกว้าง ใช้ชีวิตโสดให้คุ้ม หรืออยากทำงานอะไรหรอก มันคือการเปิดโอกาสให้พบผู้ชายที่พอแต่งงานกันไปแล้ว (หรือเริ่มตั้งแต่จะแต่งงานว่า จะจัดงานได้อย่างที่อยากได้หรือไม่) เขามีบ้าน มีรถ มีเงินพอถ้าเธอจะลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก มีเงินพอจะส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ และมีเงินพอที่เขาจะยังให้เธอซื้อลูบูแตง (รองเท้าแบรนด์ Louboutin) สักคู่มาใส่ได้ (ดูอย่างยัยแครี่ แบรดชอว์ ใน Sex And The City สิ เขียนคอลัมน์ได้คำละ 2 ดอลลาร์ ยังต้องรอให้มิสเตอร์บิ๊กซื้อมาโนโล บลาห์นิค (รองเท้าแบรนด์ Manolo Blahnik) ให้เลย!

โดยเฉพาะงานศึกษาของ David Villetts ที่สรุปว่า การแต่งงานนั้นกลายเป็นสถาบันของ ‘ชนชั้นกลาง’ ในอังกฤษไปแล้ว ซึ่งนอกจากประเด็นการชะลออายุเพื่อเข้าสู่พิธีแต่งงานแล้ว ยังมีองค์ประกบอื่นๆ อย่างการเสียภาษี สิ่งที่จะได้จากรัฐ ค่านิยมของสังคม ฯลฯ และในงานทั้งสามชิ้นก็ยังได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับหญิงสาวชนชั้นแรงงานอีกด้วย ซึ่งหากมองในสังคมไทย กระแส Wedding Studio, ธุรกิจของชำร่วย, ถ่ายภาพ, พรีเซนเตชั่นในงาน, เพลงประกอบการแต่งงาน (หรือแม้กระทั้งเพลง ‘Will You Marry Me’ ของพี่ปั๊ป โปเตโต้กับสาวลุลาที่กลายเป็นเพลงฮิตอันดับหนึ่งของงานแต่งงานไปแล้ว งานเพื่อนดิฉันก็เปิดค่ะ!) ก็พอจะเห็นภาพออกในกรณีการเปรียบเทียบคล้ายๆ กัน

ผู้หญิงชนชั้นกลางจึงเป็น ‘ตัวดี’ เลยล่ะ ในการเฝ้าฝันถึงการแต่งงาน การได้ถ่ายรูป Wedding Studio สวยๆ (และแปลกๆ ซึ่งเริ่มจะครีเอทมากขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ใครถ่ายในสตูดิโอ เชยมากกก...) ชุดเจ้าสาว (อาจจะไม่ใช่วีรา แวง หรือถ้าอยากได้ก็แค่เอาแบบในหนังสือไปให้ร้านตัดให้ อยากได้แบบของเคท มิดเดิลตันก็ได้ค่ะ ในราคาที่ถูกกว่า!) เพลงในงาน ของชำร่วยน่ารักๆ รวมถึงพรีเซนต์เตชั่นที่ต้องไปขุดรูปตั้งแต่สมัยออกจากท้องแม่มาประกอบ หรือทำเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นได้ยิ่งดี ในขณะที่ผู้หญิงชนชั้นแรงงาน อย่างที่มักเห็น ‘ภาพเสนอ’ ในมิวสิค วิดีโอเพลงลูกทุ่งทั้งหลาย ที่อาจจะแค่อยากได้มือถือสักเครื่องไว้รอให้หนุ่มโทรหา (โท้หาแหน่เด้อ...จำเบอร์ของน้องได้บ่) หรือการได้ใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อแชร์ห้องเช่า เพราะต่างคนต่างเดินทางมาจากต่างจังหวัด การได้พบ ‘คนบ้านเดียวกัน’ เพื่อพอที่จะได้พูดคุยเอื้ออาทรกัน ความในของพวกเธอมักเป็นไปในลักษณะการได้เกื้อกูลกันทั้งทางใจและทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตดำรงอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้

หรือบางทีเธออาจจะฝันแค่ค่าแรงวันละ 300 บาทอยู่ก็ได้

ส่วนผู้หญิงชนชั้นสูงไฮโซ นั้นก็ไม่ต้องพูดถึง งานแต่งงานแบบไหนก็สามารถเนรมิตได้ แต่ผู้ชายที่จะมาแต่งงานกับเธอนั้น นามสกุลอะไรจ้ะ พ่อแม่ทำธุรกิจอะไร เด็กอังกฤษหรือเปล่า แม้ในวงสังคมตอนนี้จะปะปนไปด้วยชนชั้นกลางที่มีเงินพอจะไปดื่มไปเที่ยวในสถานที่เดียวกันกับสังคมไฮโซ แม้ความสวยจะเป็นต้นทุนหนึ่งของสาว (ชนชั้นกลาง) ในการไต่เต้าข้ามชนชั้นได้แต่งงานกับชนชั้นสูง (ต้นทุนนี้คือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจความงามงอกเงย) แต่การแต่งงานของชนชั้นสูง หรือไฮโซทั้งหลายมันก็คือ ‘เงินต่อเงิน’ เป็นการดำรงไว้ซึ่งสถานะและเครือข่ายผลประโยชน์ทางธุรกิจ (และแน่นอน...ชนชั้น) บางคนอาจจะแต่งเอานามสกุล (ผู้ดีเก่าแต่ไม่มีเงิน) เพื่อไปต่อยอด หรือบางคนก็อาจแต่งกับดารา (แต่อย่าลืมว่าดาราอย่างอั้ม พัชราภา นุ่น วรนุช ณเดชณ์ หรือ เป้ อารักษ์ ระดับท็อปพวกนี้ทำเงินปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านนะจ้ะ...พวกเขาก็ไม่ใช่ชนชั้นกลางหรอก!)

ไหน...ใครบอกว่าผู้หญิงยุคใหม่ การศึกษาดี มีงานทำ มีเงินใช้ อยากอยู่เป็นโสดมากขึ้น....ไม่จริ๊งงง...และบางทีเธออาจะไม่ได้ตั้งต้นหา ‘รัก’ แต่เป็นการหาคนที่จะมาเติมเต็ม ‘ฝัน’ แบบสลิ่มๆ ของเธอ ที่มีความรักปะปนอยู่นั้นด้วยเท่านั้นเอง

แน่นอนความพยายามเลื่อนฐานะทางชนชั้นของสาวชนชั้นกลางก็อีกเรื่องหนึ่ง ถึงแม้ไม่สำเร็จ พวกเธอก็พร้อมจะเลือกหัวกะทิของหัวกะทิในชนชั้นเดียวกัน (เหมือนอย่างผู้เข้าแข่งขันหนึ่งบอกว่าผู้ชายที่เธอชอบต้องหน้าตาดี มีรถขับ) เพื่อตอบสนองความฝันแบบ ‘สาวสลิ่ม’ ภายใต้ชนชั้นเดียวกัน ที่การศึกษาสูงสี ฐานะทางบ้านสูสี (หรือผู้ชายต้องดีกว่า ไม่งั้นไม่มีเงินจัดในแบบที่ฝัน) หน้าที่การงานสูสี (หรือผู้ชายต้องดีกว่า) สิ่งที่เหลือที่พอจะต่อรองกันได้ก็เหลือเพียงแค่หน้าตา รูปลักษณ์ ที่ต้องช่วงชิงกัน และนั่นก็คือสาเหตุแห่งธุรกิจความงามที่กำลังเติบโตอย่างสุดขีด ไม่ว่าจะเป็นโบท็อกซ์ วิตซี กลูต้าไทโอน ดัดฟัน เลเซอร์ ฯลฯ

ไม่ผิดแปลกที่คนเราจะฝันถึงสิ่งที่ดีกว่า เพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น และความฝันของสาวสลิ่มก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ สิ่งที่น่าสังเกตคือ ทำไมบรรดาสาวๆ ในรายการ Take Me Out จึงมีแต่สาวสลิ่ม น้องนางฉันทนาก็อาจอยากได้หนุ่มรูปหล่อ หน้าที่การงานดี เป็นหมอ เป็นทหาร เป็นนักธุรกิจเหมือนกัน ทำไมจึงไม่มีพวกเธอเหล่านั้นเป็น 1 ใน 30 สาวในรายการ อาจจะบอกว่าในเมื่อหนุ่มที่มาออกรายการก็สลิ่มไม่แพ้กัน กลัวว่าสาวฉันทนาอาจจะไม่ได้ถูกเลือก เดี๋ยวแห้งคารายการ ไปทำงานทำการเย็บผ้า แกะกุ้ง เก็บเงินดีกว่าจะมาเสียเวลาแบบนี้ แต่แท้จริงไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ความฝันของสาวสลิ่มไม่ได้ลอยฟุ้งแค่ในรายการ Take Me Out แต่ยังลอยอยู่หน้าจอทีวีสำหรับสาวสลิ่มอีกหลายคนที่ไม่ได้ไปออกรายการ เพราะในโทรทัศน์ของเรายังเต็มไปด้วยรายการแนะนำร้านอาหารเก๋ๆ ชิคๆ เปิดใหม่ ไวน์บาร์น่านั่ง ช้อปปิ้งแบรนด์เก๋ๆ ที่ไหนดี ละครสอนศีลธรรมซึ่งคงไว้ซึ่งอุดมการณ์อันสูงส่งแบบชนชั้นกลาง มีรายการธรรมะ มีพระนักเทศน์ เอาอย่างนี้แล้วกัน รายการว่าด้วยการทำนาเกี่ยวข้าว ยังไม่ใช่การทำนาในแบบที่ชาวนาที่เป็นหนี้ค่าปุ๋ยทั้งประเทศเขาทำกันเลย (เพราะเขาไม่ได้ทำในชาวนาดูไงคะ...อย่ามาโวยวาย)

รายการโทรทัศน์จึงเป็นรายกายที่คิดโดยสลิ่ม ทำเพื่อสลิ่ม สนองอุดมการณ์แบบสลิ่มๆ และรายการ Take Me Out ก็เช่นเดียวกัน

หลังจากเพิ่งคิดได้ว่าตัวเองชักจะดูโทรทัศน์มากไปแล้ว ก็รีบปิด เปิดอินเตอร์เนตเสิร์จหาว่ายังมีเจ้าชายประเทศไหนที่ยังโสดอยู่บ้าง ได้ความว่าเจ้าชายแห่งโมนาโคนี่แหละ นอกจากจะยังโสดและหล่ออีกด้วย เอ๊ะ! หรือว่าดิฉันจะเก็บกระเป๋าไปใช้ชีวิตที่โมนาโคสักปีสองปี เผื่อจะได้เป็นหญิงสามัญชนที่ได้แต่งงานกับเจ้าชายบ้าง เอ๊ะ! คิดแบบนี้เขาจะหาว่าเราเป็นสลิ่มไหมนะ...คริคริ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุภัตรา ภูมิประภาส: ผู้หญิงกับการเมือง (1)

Posted: 27 Jul 2011 11:17 PM PDT

สุภัตรา ภูมิประภาส นำเสนอบทความซีรีส์ตอน “ผู้หญิงกับการเมือง” ว่าด้วยสตรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำในเวทีการเมือง สตรีเหล่านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร มีแรงบันดาลใจอย่างไรที่ผลักดันพวกเธอให้เข้าสู่การเมือง

 

Nurul Izzah Anwar แห่งมาเลเซีย

Nurul Izzah Anwar: ผู้หญิงกับการเมือง (1)

Nurul Izzah Anwar (ภาพประกอบจาก last sham)
อีกหนึ่งหญิงที่ก้าวสู่ถนนการเมืองเพราะเคราะห์กรรมของชายอันเป็นที่รัก

Nurul Izzah เกิดปี พ.ศ. 2523 เธออายุเพียง 18 ปี เมื่อบิดาคือ Anwar Ibrahim อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ดร. มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง เผชิญกับข้อกล่าวหาและถูกพิพากษาต้องโทษในคดีทุจริตและพฤติกรรมรักร่วมเพศ

Nurul Izzar ลุกขึ้นมาสื่อสารกับโลกภายนอก เพื่อต่อสู้เป็นปากเสียงให้บิดา

สิบปีต่อมา เธอสมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต Lembah Pantai ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เธอถูกคู่แข่งโจมตีอย่างหนักว่าเธอเป็นหุ่นเชิดกระทำการแทนบิดาที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ถึงกระนั้น Nurul Izzah สามารถเอาชนะคู่แข่งซึ่งเป็น ส.ส. หญิงมาถึงสามสมัย และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสตรี ครอบครัวและชุมชน

ปัจจุบัน นอกจากเป็น ส.ส. แล้ว Nurul Izzah เพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรค Parti Keadilan Rakyat (PKR) ซึ่งมี Dr. Wan Azizah Wan Ismail มารดาของเธอเป็นประธานพรรค

Nurul Izzah จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จาก Universiti Tenaga Nasional และปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก Johns Hopkins University เมื่อปี พ.ศ.2550 เธอแต่งงานกับ Raja Ahmad Shahrir นักการเงิน และมีบุตรชายหญิงด้วยกัน 2 คน

0 0 0 0 0 0

 

แพทย์หญิงวัน อาซีซะฮ์ วัน อิสมาอีล (มาเลเซีย)

AZIZAH Wan Azizah STAR: ผู้หญิงกับการเมือง (1)

AZIZAH Wan Azizah STAR (ภาพประกอบจาก KamalSell)
Dr. Wan Azizah Wan Ismail เกิดปี 2495

เธอเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐมานาน 14 ปีก่อนที่จะลาออกมาทำงานอาสามัครในปี พ.ศ.2536 เมื่อสามีคือ Anwar Ibrahim รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด

เดือนกันยายน 2541 เมื่อสามีถูกมรสุมการเมือง ถูกปลดจากตำแหน่งและถูกจับกุมคุมขัง คุณหมอวัน อาซิซะห์ ได้รับกำลังใจอย่างท่วมท้นจากชาวมาเลเซียในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความ ยุติธรรมให้สามี และการขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปในมาเลเซีย เธอริ่มต้นเข้าสู่การเมืองจากการก่อตั้งองค์กรภาคประชาสังคม ชื่อ Social Justice Movement (ADIL) ก่อนที่จะร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง Parti Keadilan Rakyat (PKR) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2542 ซึ่งเธอได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคให้เป็นประธานคนแรกของพรรค PKR

ปี 2542 Wan Azizah ลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกและชนะการเลือกตั้งในเขต Permatang Pauh ซึ่งเป็นเขตที่สามีของเธอเคยครอบครองที่นั่งในสภาผู้แทนฯ

ปี 2547 เธอชนะการเลือกตั้งอีก แต่ด้วยคะแนนเสียงที่น้อยลงกว่าครั้งแรก

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2551 Wan Azizah ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง และได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Anwar Ibrahim ประกาศเจตนารมณ์ที่จะกลับเข้าสู่เวทีการเมือง ดร.วัน อาซีซะฮ์ได้แสดงความพร้อมที่จะลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคเพื่อเปิดทางให้สามี

เดือนกรกฎาคม 2551 ดร.วัน ลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อเปิดทางให้สามีกลับคืนเข้าสู่เวทีการเมืองในการเลือกตั้งซ่อมซึ่งจะ ต้องจัดขึ้นภายใน 60 วันหลังการลาออกของเธอ

Anwar Ibrahim ชนะการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และคืนสู่เวทีการเมืองปัจจุบันได้จากการเปิดทางของเธอ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น