โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทักษิณกับคนเสื้อแดงใน “สถานการณ์ปรองดอง”

Posted: 26 May 2012 09:12 AM PDT

ถามว่า ทักษิณกับเสื้อแดงคือเนื้อเดียวกันหรือไม่? แน่นอนว่าเสื้อแดงระดับชาวบ้านส่วนใหญ่รักทักษิณ แต่เสื้อแดงก็มีหลายเฉด บางส่วนอาจเฉยๆ กับคุณทักษิณ ถือว่าคุณทักษิณคือเสื้อแดงคนหนึ่ง บางส่วนอาจวิจารณ์ด้านลบคุณทักษิณ แต่โดยรวมๆ เสื้อแดงทั้งหมดมี “อุดมการณ์ร่วม” เดียวกันคือ ไม่เอารัฐประหารต้องการประชาธิปไตย และความยุติธรรม  

แม้แต่เสื้อแดงส่วนใหญ่ระดับชาวบ้านที่รักทักษิณ สู้เพื่อให้ทักษิณกลับมา ในแง่จริยธรรมทางการเมืองแล้วพวกเขาไม่เอารัฐประหาร ต้องการประชาธิปไตย และความยุติธรรม นี่คือข้อแตกต่างอย่างสำคัญของมาตรฐานศีลธรรมทางการเมืองของเสื้อแดงระดับชาวบ้านกับเสื้อเหลืองที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง  

กล่าวคือ สำหรับเสื้อแดงระดับชาวบ้านพวกเขาพอจะรับได้กับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่เสียภาษี แต่รับไม่ได้กับรัฐประหาร และการที่คณะรัฐประหารตั้ง คสต.เอาผิดคุณทักษิณ ขณะที่เสื้อเหลืองชนชั้นกลางในเมืองส่วนใหญ่รับไม่ได้รับการขายหุ้นไม่เสียภาษี แต่รับได้กับรัฐประหารและกระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหาร  

ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง เสื้อแดงระดับชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าถูกทักษิณซื้อด้วยเงิน และถูกทักษิณหลอกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง แต่น่าสนใจว่าเสื้อแดงระดับชาวบ้านตั้งคำถามกับรัฐประหารและพูดถึง “ความจริงเบื้องหลัง” รัฐประหารกันอย่างแพร่หลาย การเกิดหมู่บ้านเสื้อแดงสะท้อนความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง ต้องการมีอำนาจต่อรองทางการเมือง ต้องการประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกและกำกับผู้แทนของตนเองได้มากขึ้น แสดงออกถึงความไม่ยอมรับเมื่อกองทัพ หรืออำมาตย์พยายามเข้ามากำกับรัฐบาลที่พวกเขาเลือก  

ซึ่งหมายความว่า ขณะที่เสื้อแดงชาวบ้านธรรมดาตื่นจากการครอบงำกำกับของระบบอำมาตย์ ต้องการประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง เสื้อเหลืองระดับชนชั้นกลางในเมืองที่ดูถูกว่าชาวบ้านโง่ ยังคงหลับใหลอยู่ภายใต้การครอบงำกำกับของระบบนี้ต่อไป  

คำอธิบายที่ว่า “สำหรับชาวบ้านธรรมดาๆ สนใจปัญหาหนี้สิน ปากท้องมากกว่าเสรีภาพ และประชาธิปไตย แต่ชนชั้นกลางในเมืองที่ประกอบด้วยสื่อ นักวิชาการ และอื่นๆ สนใจปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่า” จึงอาจไม่จริงเสมอไป เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วใครกันครับที่ขัดขวางการแก้ไข ม.112 มากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็หาเสียงกับชนชั้นกลางในเมืองด้วยการคัดค้านการแก้ ม.112 อ้างเรื่องปกป้องสถาบัน สื่อมวลชน นักวิชาการจำนวนไม่น้อยก็ออกมาคัดค้านเรื่องนี้  

ฉะนั้น ที่ว่าชนชั้นกลางในเมืองให้ความสำคัญกับเสรีภาพอาจไม่จริงเสมอไป ดีไม่ดีผู้ที่ลงชื่อสนับสนุน ครก.112 อาจเป็นเสื้อแดงระดับชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ก็เป็นได้  

ส่วนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่งที่เรียกกันว่า “แดงก้าวหน้า” นั้น แม้อาจไม่ได้รักทักษิณ ไม่ได้สู้เพื่อทักษิณ หรือแม้กระทั่งวิจารณ์ด้านลบของทักษิณ แต่น่าเชื่อได้ว่าแทบทั้งหมดเห็นใจคุณทักษิณที่ถูกทำรัฐประหาร ถูกกลั่นแกล้ง ไล่ล่า ไม่ได้รับความยุติธรรมต่างๆ และแทบทั้งหมดต่าง defend คุณทักษิณในเรื่องที่ถูกทำรัฐประหารและถูกเอาผิดโดยกระบวนการรัฐประหาร  

แต่จุดยืนของแดงก้าวหน้าคือการปฏิเสธรัฐประหาร ต้องการประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม รูปธรรมของการยืนยันดังกล่าวนี้คือ การเสนอให้แก้ไข-ยกเลิก ม.112 การเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร เป็นต้น  

ข้อเสนอเรื่องลบล้างผลพวกรัฐประหารถูกวิจารณ์ว่าเป็นประโยชน์แก่คุณทักษิณ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ “ความถูกต้อง” ถ้าการปฏิเสธรัฐประหาร ยืนยันหลักการประชาธิปไตย และความยุติธรรมคือความถูกต้อง แม้ปฏิเสธหรือยืนยันไปแล้วใครจะได้หรือเสียประโยชน์ก็ต้องยืนยัน  

ฉะนั้น เมื่อจุดยืนของแดงก้าวหน้าเป็นอย่างนี้ ต่อให้เรื่องที่คุณทักษิณ แกนนำ นปช. รัฐบาลเพื่อไทยเห็นว่าเป็นปัญหาต่อการปรองดอง เช่น การเรียกร้องให้ยกเลิก-แก้ไข ม.112 การเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับความเป็นจริงว่านักโทษคดี 112 คือ “นักโทษการเมือง” ควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนักโทษการเมือง การเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่เป็นเสื้อแดงระดับชาวบ้านธรรมดาๆ และนักโทษ 112 การเรียกร้องให้เยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต การเรียกร้องให้เปิดเผยความจริงกรณีการสังหารหมู่ประชาชน ความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร ให้นำตัวนักการเมืองและนายทหารระดับบัญชาการมาลงโทษ ฯลฯ ก็ล้วนจำเป็นต้องเรียกร้อง  

ความจริงแล้ว “จุดร่วม” ระหว่างเสื้อแดงชาวบ้านธรรมดาและเสื้อแดงก้าวหน้า ทักษิณ แกนนำ นปช. และ รัฐบาลเพื่อไทย คือ “ไม่เอารัฐประหาร ต้องการประชาธิปไตยและความยุติธรรม” อาจเรียกว่านี่คือ “อุดมการณ์ร่วม” ที่เป็นแกนหลักในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงโดยรวม หากทุกฝ่ายยังมั่นคงในจุดร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมเดียวกัน การต่อสู้ในแต่ละด้านของแต่ละฝ่ายย่อมเอื้อต่อความสำเร็จของกันและกัน เพราะความสำเร็จของทุกฝ่ายย่อมหมายถึงการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างที่ป้องกันไม่ให้รัฐประหารเกิดได้อีก สังคมเป็นประชาธิปไตย และมีความยุติธรรมมากขึ้น  

แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมุ่งไปสู่ความสำเร็จเฉพาะของตนเองหรือลุ่มตนเอง โดยที่ความสำเร็จนั้นไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างที่จะทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตย และมีความยุติธรรมมากขึ้น ก็เหมือนกับฝ่ายนั้นกำลังถอยห่างออกไปจากจุดร่วมหรืออุดมการณ์ร่วม ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา  

ผมคิดว่าคุณทักษิณ แกนนำ นปช.รัฐบาลเพื่อไทย เหนื่อยหนักและเจ็บปวดกับการต่อสู้ที่ยาวนาน และทุกคนก็รู้ดีว่า “ความยาก” ของปัญหามันคืออะไร อยู่ตรงไหน อย่างไร แต่เราต้องไม่ลืมความเป็นจริงที่เป็นไปได้ว่า การยึดจุดร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมอย่างแน่วแน่มั่นคงเท่านั้น ความสำเร็จของทุกฝ่ายจึงอาจเป็นไปได้  

ซึ่งหมายความว่า ถ้าการปรองดองไม่ตอบโจทย์เรื่องการเปิดเผยความจริง ความยุติธรรม ความเป็นประชาธิปไตย ไม่เยียวยาผู้บาดเจ็บล้มตาย ไม่ปล่อยนักโทษการเมืองระดับชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่ปล่อยนักโทษ ม.112 และไม่นำคนผิดมาลงโทษ การปรองดองนั้นก็ไม่สอดคล้องกับจุดร่วมหรืออุดมการณ์ร่วม ซึ่งเท่ากับการต่อสู้และความตายของทุกฝ่ายล้วนสูญเปล่า เพราะไม่มีคำตอบเรื่องป้องกันรัฐประหารในอนาคต ไม่ได้ช่วยให้สังคมเป็นประชาธิปไตย และมีความยุติธรรมมากขึ้นเลย  

ประเทศไทยไม่มีทางเดินหน้าด้านเศรษฐกิจหรือด้านใดๆ ได้อย่างมั่นคง ถ้าไม่สามารถเดินหน้าเชิงระบบโครงสร้างความเป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรม การต่อสู้และการสูญเสียที่ผ่านมาจะเป็นเรื่อง “ปัญญาอ่อน” แน่นอน ถ้ามันจบลงแค่ให้ทุกฝ่ายลืมอดีต ย้อนกลับไปเป็นเหมือนก่อน 19 กันยา เสมือนว่าไม่มี 92 ศพ ไม่มีคนตายในคุกเพราะ ม.112 ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ไม่ต้องปรับแก้กฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์และกองทัพที่ง่ายต่อการถูกอ้างอิงทำรัฐประหารก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม โดยไม่มีการปฏิรูปใดๆ  

ผมมองว่า การโฟนอินของคุณทักษิณ และ “สถานการณ์ปรองดอง” เป็นการเดินทางมาถึงจุดที่ท้าทายคุณทักษิณ แกนนำ นปช.และรัฐบาลเพื่อไทยอย่างยิ่งว่า ยังดำรงมั่นในจุดร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมเดียวกันกับคนเสื้อแดงทุกเฉดอยู่หรือไม่  

อย่าลืมว่าเสียงที่ตั้งคำถาม ทักท้วง วิพากษ์วิจารณ์ คือเสียงที่อยู่บนจุดร่วม อุดมการณ์ร่วมที่ทุกฝ่ายต่างมีร่วมกันมาก่อน ที่สำคัญเป็นเสียงจากเสื้อแดงที่สูญเสียลูก สามี ญาติมิตรไปกับการต่อสู้ เสียงจากคนที่อยู่ในคุกและญาติมิตรของพวกเขา เสียงจากสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า  

อย่าลืมอดีตว่าช่วง “ขาลง” ของรัฐบาลทักษิณ นักวิชาการฝ่ายตรงข้ามถูกประเมินเพียงเป็น “ขาประจำ” แต่ก็มีพิษสงอยู่มาก แดงก้าวหน้าที่ defend คุณทักษิณจากรัฐประหารและกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม คือฝ่ายที่มีพลังในการสื่อสารกับสังคมในเรื่องจุดร่วม อุดมการณ์ร่วมที่ปฏิเสธรัฐประหาร ยืนยันประชาธิปไตยและความยุติธรรม ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประเมินพวกเขาเสมือนเป็น “ขาประจำ”  

และไม่ควรที่จะเรียกร้องให้พวกเขาเอาปัญหามา “พูดกันเป็นการภายใน” เพราะปัญหาที่พวกเขาเรียกร้องล้วนแต่เป็น “ประเด็นสาธารณะ” เช่น การแก้ไข-ยกเลิก ม.112 การปล่อยนักโทษการเมือง นักโทษ ม.112 การเปิดเผยความจริงและเอาคนผิดมาลงโทษ ฯลฯ  

ข้อเรียกร้องเหล่านี้คือการยืนยันอุดมการณ์ร่วมที่ไม่ต้องการให้รัฐประหารเกิดขึ้นอีก ต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตยและยุติธรรมมากขึ้น มันจึงเป็นข้อเรียกร้องที่กดดันทั้งอำมาตย์และ คุณทักษิณ รัฐบาลเพื่อไทย แกนนำ นปช.(ที่ประกาศอุดมการณ์นี้มาก่อน)   และแน่นอนว่าย่อมเป็นข้อเรียกร้องที่หยุดไม่ได้จนกว่าจะสำเร็จ!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายที่ดินพร้อมฟ้อง‘อุทยาน-ป่าไม้’เลิกคดีโลกร้อน จี้ยิ่งลักษณ์เดินหน้าโฉนดชุมชน

Posted: 26 May 2012 08:59 AM PDT

 

นักวิชาการชี้ขาดความน่าเชื่อถือ-ไม่เป็นธรรม จี้ยิ่งลักษณ์เดินหน้าโฉนดชุมชน-แก้ปัญหาที่ดินตามนโยบาย หวั่นครม.สัญจรกาญจน์อนุมัติงบ50ล้านบุกปราบซ้ำเติม

 

 


 
บุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า วันที่ 28 พฤษภาคม 2555 นี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ มูลนิธิอันดามัน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบการนำแบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือแบบจำลองคดีโลกร้อนที่นักวิชาการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการฟ้องร้องกับเกษตรกรและชุมชนที่มีพื้นที่พิพาททับซ้อนเขตป่าทั่วประเทศประมาณ 200 คน จะเดินทางไปที่ศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ โดยให้เพิกถอนคำสั่งการใช้แบบจำลองดังกล่าว  เพราะการคำนวณค่าความเสียหายขาดความน่าเชื่อถือ และชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
บุญ เปิดเผยต่อไปว่า จากการให้ความคิดเห็นทางวิชาการอิสระด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ 16 คน ถึงข้อมูลผลการประเมินรายงานวิจัยแบบจำลองเพื่อค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือแบบจำลองคดีโลกร้อนของกรมอุทยานฯ ระบุว่ารายงานวิจัยดังกล่าวยังไม่เคยผ่านการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง คุณภาพของงานวิจัยอยู่ในระดับไม่น่าพอใจ รายงานวิจัยยังไม่เหมาะสมมีข้อต้องปรับปรุงหลายประการ และนักวิชาการเกือบทั้งหมดสรุปว่าผลการประเมินโดยรวมแล้วผลงานวิจัยอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้เปิดเผยอีกว่า จากนั้นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และชาวบ้านทั้งหมดจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และเรียกร้องให้ดำเนินการสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ตามที่ได้แถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555  ในข้อ 5.4 ระบุว่ารัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปการจัดการที่ดินจะเกิดขึ้นได้จะต้องทำให้เกิดการกระจายสิทธิในที่ดินอย่างยั่งยืน แนวทางสำคัญคือจะใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย จะผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน
 
“มติคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ที่จังหวัดกาญจนบุรีมีการอนุมัติงบประมาณ 50,128,000 บาท เพื่อดำเนินการตามโครงการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกไม้ยางพาราในท้องที่จังหวัดภาคใต้ ให้กรมอุทยานฯ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมอุทยานฯ ได้บุกตัดฟันต้นยาง รื้อสะพาน และจับชาวบ้านที่นำหมากแห้ง เห็ดแครง ชุมชนในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดที่นำร่องดำเนินการโฉนดชุมชน”  ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด   กล่าว
 
สำหรับแบบจำลองคณิตศาสตร์ประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือแบบจำลองคดีโลกร้อนที่นักวิชาการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้เป็นหลักในการเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งจากเกษตรกร ประกอบด้วย
 
1.การทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย คิดค่าเสียหาย 4,064 บาท/ไร่/ปี เป็นการคิดค่าใช้จ่ายในการซื้อแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ขึ้นไปโปรยทดแทน
2.ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาท/ไร่/ปี
3.ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาท/ไร่/ปี คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงความสูงของน้ำจาก 3 ส่วน คือ น้ำที่ดินไม่ ดูดซับน้ำจากการระเหย และฝนตกน้อยลง คิดเป็นปริมาตรน้ำทั้งหมดต่อพื้นที่ 1 ไร่ แล้วคิดเป็นค่าจ้างเหมารถบรรทุกเอาน้ำไปฉีดพรมในพื้นที่เดิม
4.ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรทุกดินขึ้นไปและปูทับไว้ที่เดิม
5.ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาท/ไร่/ปี คำนวณจากปริมาตรของอากาศในพื้นที่ที่เสียหายเอามาคูณด้วยความหนาแน่น (1.153 คูณ 10-3 ตัน/ลูกบาศก์เมตร) เพื่อหามวลของอากาศ แล้วใช้มวลหาปริมาณความร้อนที่ต้องปรับลด หลังจากนั้นเอาจำนวน B.Th.U. ของเครื่องปรับอากาศขนาด 1 ตัน (3,024,000 แคลอรี่/ชั่วโมง) มาหารเพื่อจะได้รู้ว่าต้องใช้เครื่องปรับอากาศเท่าไหร่ แล้วคิดค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับเดินเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อุณหภูมิของอากาศเย็นลงเท่ากับพื้นที่ป่าปกคลุม
6.ทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นค่าเสียหาย 5,400 บาท/ไร่/ปี
7.มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท การทำลายป่าเบญจพรรณค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท และการทำลายป่าเต็งรังค่าเสียหาย 18,634.19 บาท
เมื่อนำค่าเฉลี่ยของมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่า 3 ชนิด มีค่าเท่ากับ 40,825.10 บาท/ไร่/ปี มารวมกับมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม 1-6 จำนวน 110,117.60 บาท/ไร่/ปี รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับ 150,942.70 บาท/ไร่/ปี แต่เพื่อความสะดวกของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท/ไร่/ปี
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับ ‘เลดี้กาก้า’ ?

Posted: 26 May 2012 07:49 AM PDT

วันที่ศิลปิน “เลดี้ กาก้า” มาเปิดการแสดงดนตรีที่เมืองไทยนั้น เป็นวันเดียวกันกับที่ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...”  (เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะ) ถูกบรรจุเป็นวาระการประชุม “เรื่องด่วน” ของสภาผู้แทนราษฎรช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

“เลดี้ กาก้า” เองได้ใช้ผลงานเพลงยอดนิยม “Bad Romance” ถ่ายทอดภาพผลกรรมของการใช้อำนาจแย่งชิงสิ่งที่สวยในรูป แต่จูบไม่หอม จนสุดท้ายผู้มีอำนาจที่คิดว่าแน่ ก็ได้แต่ไหม้แช่คาเตียง 

คำถามคือ ร่าง พ.ร.บ. “จูบปาก” ที่ว่า จะพบจุดจบรักขมแบบเดียวกันหรือไม่ ? 

ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มีสาระสำคัญ สรุปได้ 3 ประการ คือ 

(1) มาตรา 3 และ มาตรา 4 เป็นการ “นิรโทษกรรม” ให้กับผู้ที่กระทำผิดใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548  จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง กล่าวคือ สิ่งที่ทำไปนั้นให้ถือว่าไม่ผิด

(2) มาตรา 5 ประกอบ มาตรา 4 เป็นการ “ล้างผลทางกฎหมาย” ของการใช้อำนาจโดยผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้กระทำรัฐประหาร 19 กันยาฯ (คปค.) กล่าวคือ การลบล้างผลการใช้อำนาจ เช่น ล้างผลการดำเนินคดีของ คตส. ตลอดจนคำพิพากษาที่ตามมา แต่ไม่ได้นิรโทษกรรมว่าการกระทำใดเป็นให้ถือว่าไม่ผิดหรือไม่  

(3) มาตรา 6 เป็นการ “คืนสิทธิการเลือกตั้ง” ให้กับผู้ที่เคยเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เช่น พรรคพลังประชาชน

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.ฯ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ?
หากมีการเดินหน้าพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังที่ปรากฏ ก็อาจมีผู้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ หรือไม่ ในประเด็นต่อไปนี้

1.1 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 5 ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 หรือไม่ ?

ผู้ที่เห็นว่าขัด อาจมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มาตรา 5 เป็นการล้มล้างผลทางกฎหมายที่สืบทอดมาจากการรัฐประหารโดยตรง เช่น การใช้อำนาจโดย คตส. จึงถือว่าขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ซึ่งรับรองสิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (2549) ได้รับรองไว้ ซึ่ง มาตรา 36 หรือ มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ได้รับรองผลทางกฎหมายของการใช้อำนาจโดย คตส. เช่นกัน หากจะล้างผลดังกล่าวได้ ก็ต้องกระทำโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ขัด ก็อาจมองว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพียงแต่รับรองความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของการดังกล่าว เช่น การใช้อำนาจโดย คตส. แต่ไม่ได้บัญญัติให้การดังกล่าวมีลำดับศักดิ์เท่ากับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การกระทำ เช่น การใช้อำนาจโดย คตส. ก็เป็นเพียงการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และย่อมสามารถถูกล้มล้างโดยกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.บ. เช่นกัน ทั้งนี้ เพราะ มาตรา 5 เองมิได้เป็นการล้มล้างอำนาจของผู้กระทำรัฐประหารโดยตรง เพียงแต่ล้างผลทางกฎหมายจากการใช้อำนาจโดย “องค์กรหรือคณะบุคคล” ที่เป็นผลจากผู้กระทำรัฐประหารเท่านั้น 

1.2 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 6 ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 และ 237 หรือไม่ ?

ผู้ที่เห็นว่าขัด อาจมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มาตรา 6 เป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค จึงขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 216  ซึ่งบัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา...” อีกทั้ง มาตรา 237 ซึ่งบัญญัติถึงการตัดสิทธิเป็นเวลา 5 ปี ที่ชัดเจน ดังนั้น รัฐสภาย่อมไม่อาจตรากฎหมายแก้ไขผลคำวินิจฉัย หากจะกระทำ ก็ต้องกระทำโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ขัด ก็อาจมอง (อย่างลำบาก) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มาตรา 6 มิได้เป็นการแก้ไขคำวินิจฉัย เพราะพรรคก็ย่อมถูกยุบไปแล้ว และสิทธิก็ถูกตัดไปแล้ว เพียงแต่รัฐสภาจะตรากฎหมายที่ให้สิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นอำนาจที่รัฐสภาจะตรากฎหมายได้  

1.3 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 4 หรือ มาตรา 5 หรือ มาตรา 6 ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่ ?

หากผู้ใดศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คดีที่ศาลวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนด จะพบว่า นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจพิจารณาความชอบของพระราชกำหนดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะกรณีที่ฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่แล้ว ศาลยังได้วางหลักทั่วไปว่า ห้ามใช้อำนาจ “โดยไม่สุจริตเพื่อบิดเบือนรัฐธรรมนูญ” อีกด้วย ซึ่งอาจมีผู้มองว่า ศาลกำลังนำหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาประกอบการตีความการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ตรากฎหมายนั่นเอง ซึ่งก็มิอาจทราบได้แน่ว่า ศาลจะนำหลักการดังกล่าวมาพิจารณาการตรากฎหมายโดยรัฐสภา ที่เป็นการนิรโทษกรรม หรือเป็นการล้างผลทางกฎหมาย หรือ เป็นอาจกระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยรวมทั้งหมดว่า ขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่
แม้กรณีที่กล่าวมาอาจทำให้บางฝ่ายกังวลว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความให้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ตกไปทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ หากรัฐสภาปล่อยให้เกิดประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะคุ้มค่าหรือไม่ หากสุดท้ายศาลได้ตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิรัฐประหาร หรือแม้แต่เพิ่มความไม่สมดุลระหว่างอำนาจตุลาการและอำนาจอื่นให้น่าหนักใจยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ?  

2. ร่าง พ.ร.บ.ฯ ขัดแย้งกับจังหวะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่ ?

ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ก็คือ รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมเข้าเสนอนั้น มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยเพียงคนเดียว อีกทั้งหากมองว่าประเด็นของ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่อาจมีผู้มองว่าจำเป็นต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะเป็นเพียงเครื่องมือวัดกระแสสังคม ก่อนที่จะมีการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่ออ้างความชอบธรรมจากการอาศัยกลไกการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการสอดแทรกข้อความ เรื่องนิรโทษกรรม-ล้างผลคดีจากรัฐประหาร-คืนสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่ ?

ข้อน่าคิดก็คือ แทนที่จะมาถกเถียงถึง ร่าง พ.ร.บ.ฯ ประหนึ่งเป็นคำตอบสุดท้ายในตอนนี้ จะดีกว่าหรือไม่หากรัฐสภาจะอาศัยโอกาสในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดบตรากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียในการปรองดองที่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย (เช่น ถูกคุมขัง หรือ การถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง) สามารถใช้โอกาสช่วงที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “เป็นการชั่วคราว” เพื่อดำเนินกิจกรรมได้อย่างเสรีในการร่วมแสวงหาวิธีการในการปรองดองในชาติ จนเกิดเป็นข้อเสนอ “ทางเลือก” ซึ่งประชาชนสามารถตัดสินใจลงประชามติเลือก “แนวทางใดแนวทางหนึ่ง” ได้ในวันเดียวกันกับวันลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อไป (แทนที่จะสอดแทรกแนวทางเดียวมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญในแบบมัดมือชก) จะกระทำได้หรือไม่?

3. ใครเป็นผู้ตีความขอบเขตการนิรโทษกรรม และรวมถึงกรณี มาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ?

แม้หาก ร่าง พ.ร.บ.ฯ ไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีปัญหาตามมาว่า ใครคือ “ผู้มีอำนาจตีความ” ว่า การกระทำที่นิรโทษกรรมได้ ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มาตรา 4 ที่รวมถึง “การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง” มีขอบเขตเพียงใด เพราะเพราะแม้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะมีบทขยายความ แต่ก็ไม่ได้กำหนดนิยามที่สิ้นสุดไว้ เช่น อาจมีผู้ถามต่อว่า ความผิดกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะสามารถตีความว่าเป็นเรื่อง “การแสดงออกทางการเมือง” ได้หรือไม่ ?

ข้อที่น่าคิดก็คือ หากปล่อยให้ ตำรวจ  DSI  อัยการ  ศาล  ต่างมีอำนาจตีความกันเองในส่วนที่เกี่ยวกับตน ก็อาจมีแนวการตีความที่ไม่ตรงกัน และสุดท้ายหากตีความไปแล้วมีปัญหา ก็จะต้องอาศัยอำนาจตุลาการชี้ขาดหรือไม่ ? หรือจะมีการเสนอให้มีคณะกรรมการมารับผิดชอบ “การตีความ” หรือ “ขจัดความขัดแย้ง” โดยเฉพาะ ? 

4. ร่าง พ.ร.บ.ฯ บังคับให้คุณทักษิณ ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงหรือ ?

คำอธิบายที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะลบล้างผลจากการรัฐประหาร แต่ทำให้ “คุณทักษิณ” ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์อีกครั้งนั้น ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นดังที่ว่าหรือไม่ เพราะ ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 5 บัญญัติเพียงว่า เมื่อล้างผลของคดีเดิมแล้ว “ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้นให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป” อีกทั้งให้นำ มาตรา 4 มาอนุโลม ซึ่งความหมายโดยรวมแล้ว แปลว่าอะไร ก็ยังไม่แน่ชัด และสุดท้ายหาก อัยการ หรือ ผู้มีอำนาจฟ้องคดีคุณทักษิณวินิจฉัยเองว่า หลักนิติธรรม หมายถึงการไม่ต้องเริ่มต้นคดีใหม่นั้น จะนำไปสู่ปัญหาให้ศาลหรือผู้ใดต้องตีความคำว่า "นิติธรรม" ต่อไปหรือไม่ ? 

5. ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการปล้นประชาธิปไตย หรือปล้นชีวิต หรือปล้นชาติ ไปจากประชาชน ?

ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มีปัญหาในเชิงหลักการว่า ขอให้สังคมไทยลืมอดีต แต่ไม่ตอบว่าสังคมไทยจะเดินต่อไปสู่อนาคตอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการถอยกลับเข้าสู่วังวนปัญหาเดิม เช่น 

- การมุ่งล้างผลการใช้อำนาจโดย "องค์กร" หรือ "คณะบุคคล" ที่เป็นผลพวง “ลำดับรอง” จากการทำรัฐประการ แต่กลับไม่แตะต้อง "ผู้ทำรัฐประหารลำดับต้น" เช่น คปค. หรือ คมช. ที่กระทำการล้มล้างการปกครองเสียเอง หมายความว่าผู้แทนในสภากำลังจะยอมรับความมีอยู่ต่อไปของวงจรแห่งลัทธิรัฐประหาร แถมเปิดแนวปฏิบัติให้มีการรอมชอมกันเองภายหลัง ใช่หรือไม่ ?

- การล้มเลิกการสอบสวนหรือดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้อำนาจต่อประชาชนหรือในทางกลับกัน โดยไม่มีการกำหนดเรื่องการค้นหาความจริงหรือแสดงความรับผิดชอบ ก็คือการกลับไปสู่วังวนของปัญหาการใช้อำนาจรัฐหรือกฎหมู่มาห่ำหั่นกันเอง ใช่หรือไม่ ? 

- การล้มล้างคดี คตส. โดยไม่มีขั้นตอนที่รัดกุมว่าจะดำเนินคดีใหม่หรือไม่อย่างไร แต่กลับอ้างหลักนิติธรรมอย่างเลื่อนลอย ก็คือการก้าวกลับไปสู่วิกฤติที่ผู้ใช้อำนาจสามารถทุจริตลอยนวลได้ ใช่หรือไม่ ?

สุดท้ายแล้วเราจะได้ "เรียนรู้อะไร" จากการปรองดองจูบปากที่ว่านี้ ? อย่างน้อยที่สุด การปรองดองควรต้องประกอบไปด้วยการค้นหาความจริง หรือการยอมรับผิดขอโทษ  และหากจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ก็ยังให้อภัยได้ เช่น ใช้วิธี “รอลงอาญา” (ไม่ว่าจะใช้กับ คมช. นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ ประชาชน) ย่อมจะเหมาะสมกว่าการผูกมัดรัดมือประชาชนให้ทำลืมว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มิใช่หรือ ? 

6. ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะเป็นโอกาสให้เสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อหลากสี หันมาแสวงหาจุดร่วมกันได้หรือไม่ ?

หากประชาชนในสังคมไทยเริ่มเห็นว่า การปรองดองของผู้มีอำนาจ คือ พัฒนาการล่าสุดของ “ระบอบอำมาตย์ร่วมสมัย” และสุดท้าย ผู้ที่ประชาชนแต่ละฝ่ายมองว่า เป็นผู้ปล้นประชาธิปไตยก็ดี เป็นผู้ฆ่าประชาชนก็ดี หรือเป็นผู้โกงกินบ้านเมืองก็ดี ต่างก็ไม่ต้องรับผิดถ้วนหน้า แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ประชาชนทั้งหลายจะหันมาแสวงหาจุดร่วมเพื่อต่อต้าน “ระบอบอำมาตย์ร่วมสมัย” และทำให้เห็นว่า การ “ตีหน้านิ่ง” เล่นไพ่ปรองดองนั้น สุดท้ายก็คือการจูบปากที่จบลงแบบ “Bad Romance” นั่นเอง!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่าง พรบ.ปรองดองฯกับมาตรฐานและลำดับขั้นความเป็นคน

Posted: 25 May 2012 06:32 PM PDT

เช้าวันนี้ผมได้มีโอกาสอ่านร่าง พรบ.ว่าด้วยความปรองดอง (ต่อไปจะแทนด้วย "ร่าง พรบ.ปรองดอง") ฉบับเต็ม[1] แล้วก็เกิดความกระอักกระอ่วนใจ แต่ด้วยความที่ธรรมชาติของตัวผมเองไม่ได้ถูกฝึก และเรียนมาในฐานะนักกฎหมาย จึงต้องขอละเว้นไม่เข้าไปพูดในประเด็นด้านกฎหมาย และการตีความทางกฎหมายของ ร่าง พรบ.ปรองดองนี้ กระนั้นต่อให้เราตัดประเด็นเรื่องทางกฎหมายออกไปตัวเนื้อหาโดยรวมๆ และการมีอยู่ของ พรบ.ปรองดองนี้โดยตัวมันเองนั้นก็นับว่ามีปัญหามาก และในระดับรากฐานที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเลยก็ว่าได้ นั่นคือ "การทำให้ความเป็นคน ของคนแต่ละคนในสังคมไม่เท่ากัน"
               
คงเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่าการเขียนถึงท่าทีต่อการ "ปรองดอง" และการ "สร้างบรรยากาศของความปรองดอง" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์, ทักษิณ และ นปช. ว่า ปรองดองโดยจงใจหลงลืมผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง และครอบครัวของเขาเหล่านั้น ให้ลืมไปเถิด แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ มีการเขียนถึงมาไม่น้อย โดยเฉพาะจากอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, อาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และอีกหลายท่าน แต่แน่นอนว่า ร่าง พรบ.ปรองดอง มันมีนัยยะสำคัญเกินกว่าการเป็น "ท่าที และการสร้างบรรยากาศ" อย่างที่ผ่านๆ มา ในทางหนึ่งมันย่อมหมายถึงการหักหลังความเชื่อใจทั้งหมดทั้งมวลที่มีต่อรัฐบาล ของเหล่าผู้ซึ่งสูญเสีย และครอบครัว สองมันคือการเรียกร้องอย่างไร้ยางอายต่อผู้ที่เสียสละมามากจนเกินกว่าจะเสียสละอะไรต่อไปได้อีก สามมันเสมือนการตอกตะปูปิดฝาโลงความหวังอันริบหรี่ในการเคลื่อนไหวเพื่อให้ความจริงปรากฏ และสี่มันคือการยัดเยียดมาตรฐานของความเป็นคนอันไม่เท่ากันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร (ซึ่งไม่ใช่ลักษณะใหม่ในสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง ที่ผู้มีใจใฝ่ประชาธิปไตยควรเกิดอาการคลื่นเหียนทุกครั้งที่พบเจอเสียด้วยซ้ำ)
               
ความผุพังทางความคิด และท่าทีที่มีต่อการเมืองสามประการแรกนั้นคงไม่ผิดที่จะกล่าวได้ว่า มันตอบอธิบายตัวมันเอง (self-explanatory) อยู่แล้ว เพราะผู้ซึ่งสละชีวิตให้กับการต่อสู้ทางการเมือง และครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้นนั้น เป็นผู้ที่เสียสละเกินกว่าที่จะมีใครหน้าไหนมีสิทธิมาขอให้พวกเขาเสียสละอะไรเพิ่มเติมได้อีกแล้ว แต่ในขณะนี้ทางรัฐบาล และ นปช. กลับขอให้พวกเขาเสียสละยิ่งขึ้นไปอีก ขูดรีดให้พวกเขา "สละความทรงจำ และความเป็นธรรมทั้งปวงที่มีต่อการสูญเสียนั้น" อนึ่งหากนี่เป็นท่าที่ของรัฐบาล และรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย มันก็คงเป็นระบอบประชาธิปไตยในนัยยะที่ "ประชา" ไม่ได้สื่อถึง "ความเป็นคน" หากแต่สื่อถึง "วัตถุทางการเมือง (Political subject)" อันมีค่าต่ำกว่าคนเสียมากกว่า เป็นวัตถุทางการเมืองที่พวกเขา (รัฐ) สามารถเรียกร้อง และขูดเค้นทุกคุณค่าเหนือตัวตนนั้นๆ ออกมาเพื่อประโยชน์ขอพวกเขาได้อย่างเต็มที่
               
ในแง่นี้เองที่ความฟอนเฟะของ ร่าง พรบ.ปรองดอง นี้นำมาสู่ข้อสรุปข้อที่สี่ ที่ว่ามันกำลังยัดเยียดมาตรฐานของความเป็นคน ว่าตัวตนของผู้ซึ่งสูญเสีย และครอบครัวนั้นไม่ได้เป็นคนดั่งเช่นที่พวกเขาเป็น มันเป็นการบอกกล่าวอย่างทื่อมะลื่อ ผ่านตัวอักษรว่า เฉพาะตัวตนที่มีอำนาจในการลิดรอนสิทธิของผู้อื่นเท่านั้นจึงนับได้ว่าเป็นคน ส่วนตัวตนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ก็จงอยู่ในกองของฝุ่นผงต่อไป ที่มีหน้าที่ (function) เพียงแค่รับเงินไปเมื่อลูกตาย แล้วก็เงียบๆ หายๆ ไปเสีย อย่าได้มาปรากฏตัวอย่างเป็นปฏิปักษ์ใดๆ อีก หากจะปรากฏก็อนุญาตให้ทำได้แต่ในเพียงบทบาทของการเชิดชูเท่านั้น ไม่สู้ต่างจากการเป็นเทพยดาที่ล่องลอยอยู่เหนือสามัญสำนึก ความรับผิดชอบชั่วดี และการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ นัก
               
ปัญหาสำคัญที่ ร่าง พรบ.ปรองดองก่อร่างภาวการณ์ดังกล่าวขึ้นมานั้น เห็นได้จากการ "กราดเกลี่ย (Generalise)" ให้เกิดการนิรโทษกรรม (ลบทิ้งกรรมอันเป็นโทษ ว่าเสมือนไม่เคยเกิดขึ้น) ของทุกๆ ฝ่าย นับแต่19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 หรือพูดง่ายๆ คือ "เก็บทุกอย่างไว้ใต้พรมเสีย เหมือนทุกอย่างไม่เคยเกิดขึ้น ทุกฝ่ายต่างหวังดีกับสังคมด้วยกันหมด"
               
การกราดเกลี่ยที่ว่านี้เองที่เป็นปัญหามากเพราะมันมีค่าเท่ากับการจัดวางโครงสร้างของความเป็นคนขึ้นมาใหม่ กล่าวคือ ความเป็นคนนั้น หาได้เกิดมีขึ้นตามธรรมชาติ มันต้องผ่านกระบวนการก่อสร้าง ลบทิ้ง ต่อเติมชุดคุณค่ามากมายบนตัวตนนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ คนจึงไม่ได้มีความหมายถึงมวลสารของเลือดเนื้อและกระดูก แต่มันต้องหมายรวมไปถึงคุณค่าอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับในสังคม ความยุติธรรม เป็นอาทิ ที่หลอมรวมเป็นตัวคนๆ นั้นขึ้นมาบนพื้นที่ของสังคมโลก ซึ่งการกราดเกลี่ยของ ร่าง พรบ.ปรองดองนี้เองมีนัยยะที่พิเศษอยู่ คือ โดยปกติการกราดเกลี่ย มักจะให้ภาพของการกระจายๆ ตัวออกไปอย่างเท่าๆ กัน แต่กับกรณีของ ร่าง พรบ.ปรองดองนี้ มันกลับตรงกันข้าม มันเป็นการกราดเกลี่ยที่ปัดคุณค่าของความเป็นคนให้กองไว้กับฟากหนึ่ง โดยที่ลดทอนอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ปราณีปราศรัย เพราะมันเป็นการฉาบหน้าให้เท่ากัน จากฐานของความไม่เท่ากันแต่เดิมอยู่แล้ว
               
ร่าง พรบ.ปรองดองนี้ ทำตัวดัดจริตเสมือนว่า คณะรัฐประหาร (คปค./คมช.) และผู้สังหารประชาชน กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเป็นผู้ซึ่งเสียหายอย่างเท่ากัน ในระนาบเดียวกันแต่ต้น จึงจะมาสามารถ "เกลี่ยทุกอย่าง" (นิรโทษกรรม) ได้เหมือนๆ กันไปหมด ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งก่อความผิดระดับโทษประหารชีวิต แต่กลับได้กินดี อยู่ดี รับตำแหน่งสูงๆ ทั้งทางการเมือง และสังคม โดยไม่เคยต้องรับโทษในทางกฎหมายใดๆ เลย ในขณะที่ผู้เสียชีวิตในการชุมนุม และครอบครัวนั้นแม้จะไม่ได้กระทำผิดอะไร (หรือหากจะผิด ก็เป็นความผิดที่มีโทษเล็กน้อยกว่าการรัฐประหาร หรือการสั่งปราบปรามประชาชนมากอย่างเทียบไม่ได้) แต่พวกเขานั้นกลับได้รับความเสียหายอย่างไม่อาจจะประเมินได้อยู่แล้วแต่ต้น นี่มันคือระนาบของความต่างที่เกิดขึ้นแต่แรกอยู่แล้วที่หากตาไม่มืดบอดย่อมมองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามแต่อย่างใด ฉะนั้นการจะมาฉาบเกลี่ยผิวหน้าให้ทุกอย่างมันหายไปหมด เหมือนๆ กัน โดยไม่สนใจความไม่เท่ากันอย่างสิ้นเชิงของรากฐานของปัญหาใดๆ เลยนั้น จึงทั้งเป็นความมักง่าย และเป็นการบอกให้รู้อย่างชัดแจ้งด้วยว่า สำหรับรัฐบาลแล้ว "คนที่ตายไป เป็นเพียงมวลสารของเลือดและก้อนเนื้อที่เคยขยับได้เท่านั้น" ไม่ได้เป็นอะไรที่เกินเลยไปกว่านั้น โครงสร้างของความเป็นคนของเขาเหล่านี้จึงถูกรื้อถอนออกมา อย่างไม่ใยดี
               
สำหรับร่าง พรบ.ปรองดองนี้ ความเป็นคนมันจึงกลายเป็นสิ่งที่มีลำดับขั้น หากแต่เป็นลำดับขั้นที่จะมองไม่เห็นจากภายนอก เพราะโดนฉาบเกลี่ยเอาไว้ ให้ดูเท่าๆ กันไปเสียหมดจากการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ลำดับขั้นของความเป็นคนจึงแสดงออกอยู่แต่เพียงที่ฐานรากของปัญหาอันขรุขระไม่มีเท่าเทียม ที่ ร่าง พรบ.นี้พยายามจะกลบปิดเอาไว้ ความเป็นคนถูกตัดสินผ่านมาตรฐานชุดใหม่ นั่นคือ การดูจากความมีอำนาจเหนือการตัดสินคุณค่าของความเป็นคนนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบุคคลซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยคิดว่าเค้าเป็นคนเหมือนๆ กับเรา เพราะเขาเรียกร้องหาความเท่าเทียม และปัญหาเรื่องการมีหลายมาตรฐานเหมือนกับเรากลับไม่มีอยู่แล้ว เพราะเค้ากลับกลายเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินคุณค่าเหนือความเป็นคนได้แล้ว (และด้วยเสียงของพวกเราๆ เองด้วยนี่แหละ) ความเป็นคนของพวกเค้าหาได้หายไป แต่สิ่งที่ถูกทำให้หายไปนั้นคือความเป็นคนของพวกเรา ที่จะถูกกลบทับไปให้กลายเป็นวัตถุทางการเมือง เพื่อตอบสนองฟังก์ชั่นการทำงานตามวิถีของความปรองดองต่อไป กล่าวอีกอย่างก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่า "หากเราเลือกที่จะปรองดองในรูปแบบนี้แล้ว แปลว่าเรากำลังเลือกที่จะละทิ้งความเป็นคนด้วยมือเราเองอีกถ่ายหนึ่งด้วย" หากเรายังหวังจะอยู่อย่างคนที่เท่าเทียมกันต่อไป คงหนีไม่พ้นให้ทำการเสริมรากฐานอันขรุขระไม่เสมอกันนี้ให้ได้ระดับใกล้เคียงกันก่อน และการณ์นี้จะขาดไม่ได้เลยซึ่ง "การได้มาซึ่งความจริง" และไปสู่การคืนความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสียอย่างยุติธรรมเสียก่อน ความปรองดองนี้จึงจะมีสิทธิเกิดขึ้นได้
               
ผมรู้สึกคลื่นเหียนมากจริงๆ กับร่าง พรบ.ปรองดองนี้...   
               
 
               
 
 
จากบทความเดิมชื่อ:ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ กับมาตรฐาน และลำดับขั้นความเป็นคน
 

[1]สามารถเข้าถึงได้จาก http://www.mediafire.com/view/?acdn1nbxihn66hi
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น