โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เวทีเล็ก ทวงสิทธิ 'นักโทษการเมือง'- ประกายไฟการละครสะท้อนปัญหาภายในเสื้อแดง

Posted: 19 May 2012 12:42 PM PDT

 

 

19 พ.ค.55 ในการวาระรำลึกครบ 2 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553  นอกจากเวทีใหญ่ที่ราชประสงค์แล้ว ยังมีการจัดเวที่ย่อยที่ลานพระรูปรัชกาลที่ 6  ข้างสวนลุมพินีด้วย จัดโดยเครือข่ายประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

เวลาประมาณ 16.20 น. เสื้อแดงราว 1,000 คนเดินเท้าจากสวนลุม มายังเวที นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ เพื่อรณรงค์ปล่อยตัวนักโทษการเมือง "คืนความเป็นธรรมให้คนตาย คืนอิสรภาพให้คนเป็น"

 

20.20 น. มีการทำพิธีสาปแช่งผู้สั่งฆ่า โดยผู้จัดยืนยันว่า "เป็นวิธีการต่อสู่ที่สันติวิธีแล้วเมื่อเทียบกับฝ่ายที่สั่งฆ่า"

20.30 น. ร่วมร้องเพลงนักสู้ธุลีดินและยืนไว้อาลัย หลังจากนั้นมีการปราศรัยตั้งคำถามกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเรื่องความล่าช้าในการดำเนินการเรื่องสิทธิการประกันตัวของนักโทษการเมือง ย้ำไม่ได้สู้เพื่อทักษิณ แต่สู้เพื่อความเป็นธรรมและความถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในอีกด้านหนึ่ง บริเวณร้าน แมคโดนัลด์ อัมรินทร์พล่าซ่า เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. มีการแสดงละครโดยกลุ่มประกายไฟการละคร เรื่อง ต่อสู้-สู้ต่อ โดยเนื้อเรื่องเป็นการตั้งคำถามถึงขบวนการคนเสื้อแดงว่าจะพอใจอยู่กับการที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล หรือจะสู้กับอำมาตย์ต่อไป ซึ่งเล่าผ่านเรื่องราวของชายหญิงคู่หนึ่งที่พบรักกันในม็อบ และแต่งงานกัน แต่ภายหลังมีอุดมการณ์ที่ต่างกัน คนหนึ่งต้องการต่อสู้ต่อเพื่อโค่นล้มอำมาตย์ แต่อีกคนหนึ่งพอใจกับการที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เล่าสลับกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่มากระทบความคิดทั้งสองฝ่าย

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง สมาชิกกลุ่มประกายไฟการละคร กล่าวถึงแรงบันดาลใจของละครเรื่องนี้ว่ามาการเห็นคนเสื้อแดงทะเลาะกันเองทั้งในเฟซบุ๊คและตามเวทีการชุมนุมย่อยๆเรื่องจุดยืนของเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย และนปช. ที่มีการวิจารณ์พรรคเพื่อไทยหรือ นปช. แล้วถูกคนที่ไม่เห็นด้วยโต้เถียงกลับ เป้าหมายอาจจะไม่ได้เป็นเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด แต่ไม่ควรจะขัดกันเอง

"เราอยากจะตั้งคำถามกับเขาตั้งแต่แรกว่า สุดท้ายแล้วมันมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันหรือเปล่าว่าใครจะไปแค่ไหน แต่ที่สำคัญคือเราไม่อยากให้ใครเป็นศัตรูของใคร เรารู้สึกว่าคนเสื้อแดงไม่ควรจะมาเป็นศัตรูกันเอง เพราะว่าเรามีเป้าหมายมีศัตรูที่ใหญ่กว่านั้น"

 

ภรทิพย์ให้ความเห็นว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต จะถูกยุบพรรค หรือมีจำนวน ส.ส. น้อยลง แต่ว่าคนเสื้อแดงและคนอื่นๆที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มันจะนำไปสู่การพัฒนา และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ และเตือนว่าไม่ควรไว้วางใจกับอำนาจเผด็จการ เพราะไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่ กองทัพ ระบบราชการ ระบบพรรคการเมืองที่มีการโกงกินคอรัปชันก็ยังมีอยู่ในสังคมไทย สิ่งที่จำทำลายสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ คือพลังของประชาชนที่จะรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิของตัวเองที่ควรจะได้ในสังคม

ที่ผ่านมากลุ่มประกายไฟการละครแสดงละครเกี่ยวกับการเมืองมาหลายเรื่องตั้งแต่ปี 53 ละครเรื่องต่อสู้-สู้ต่อนี้เป็นเรื่องที่ 3 ที่แสดงเพื่อรำลึก 2 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 53 โดยเมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมา มีการแสดงละคร "เรื่องปืนของพ่อ" ตามด้วยเรื่อง "รำลึกเสธ.แดง" และเรื่องต่อไปที่จะแสดงคือเรื่อง "9 แผ่นดิน" ในวันที่ 24 มิถุนายน 55 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมภาพ-ถอดคำ งานรำลึก 2 ปีเหตุการณ์ราชประสงค์

Posted: 19 May 2012 11:51 AM PDT

 

 

 

19 พ.ค.55  ที่สี่แยกราชประสงค์ คนเสื้อแดงจำนวนมากทยอยมาชุมนุมกันตั้งแต่ช่วงบ่ายเพื่อรำลึกครบรอบ 2 ปี โดยมีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สลับกันขึ้นเวทีปราศรัย  ขณะที่บริเวณสวนลุมพินี มีการจัดเวทีย่อยเกี่ยวกับนักโทษการเมืองที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว รวมถึงมาตรา 112

เวลาประมาณ  20.00 น. แกนนำ นปช. และประชาชนที่มาร่วมงานได้ร่วมกันร้องเพลงนักสู้ธุลีดิน และจุดเทียบรำลึกผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเม.ย. - พ.ค. 2553 

‘ทักษิณ’ แจงเหตุคดีล่าช้า ขอให้อดทนรอ
เวลาประมาณ  21.00 น. ทักษิณ ชินวัตร ได้วิดีโอลิงค์จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังที่ชุมนุมโดยกล่าวว่าขอแสดงความยินดีกับจตุพร ที่ได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งของจิตใจอีกครั้ง และการตัดสินลงโทษโดยปกติต้องเป็นการจงใจ กรณีนี้ถือว่าแปลกและเป็น “แบบไทย” อย่างไรก็ตาม เราควรเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ดี นั่นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังจะผ่านวาระสามในเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ตามที่สัญญาไว้แล้วว่าจะนำประชาธิปไตยกลับคืนมา ต่อไปก็จะมี สสร.มาเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยแท้จริงและนำไปสู่การแก้ไขกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม

 

ทักษิณกล่าวอีกว่า วันนี้ครบรอบ 2 ปีของความสูญเสีย นอกจากพวกเราต้องเสียอกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อว่านักประชาธิปไตย ผู้รักความยุติธรรม และนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยังไม่นับคนที่ติดคุกอยู่ แม้แต่ไทยมุงก็ติดคุกไม่รู้กี่สิบปี จึงเห็นได้ว่าไม่มีครั้งไหนที่กระบวนการยุติธรรมจะเสียหายขนาดนี้  ทฤษฎีที่เรียนกันมาทั้งหมดถูกบิดเพี้ยนไปหมด

อดีตนายกฯ ยังกล่าวถึงคดีอากงว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิด กระบวนการยุติธรรมเสียหาย เพราะการคิดไม่เป็น คิดว่าสิ่งเหล่านี้เลวร้าย เลยใช้กระบวนการยุติธรรมที่เกินกว่าเหตุ ตนเคยถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างน้อยก็ 6 ปี รู้ว่าคดีอากงนี้ไม่ทรงสบายพระทัยแน่นอน เป็นคดีที่ไม่เชื่อว่าเจ้านายของเราจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งถูกต้อง เจ้านายของเราไม่เคยชอบในเรื่องนี้เลย หลายครั้งตนเคยเสนอมาตรา 112 กับนักวิจารณ์บางคน ยังทรงรับสั่งว่าอย่าไปยุ่งเลย เพราะไม่ได้ทรงติดพระทัยเรื่องเหล่านี้เลย

ทักษิณกล่าวถึงความล่าช้าในคดี 91 ศพ ว่า สมัยที่เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลในเวลานั้นเป็นเผด็จการ มีกระบวนการรองรับทำให้ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมได้ ทำอะไรก็ได้ ตัดสินยังไงก็ได้ ฟ้องคดีอย่างไรก็ได้ ปั้นพยานอย่างไรก็ได้ เมื่อเราเป็นรัฐบาลและเป็นประชาธิปไตย มีซีซีทีวีจ้องเราหมดทุกทางว่าเราจะทำอะไร เราจึงต้องอาศัยหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน อาศัยกระบวนการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทน ทราบว่าเรื่องนี้อยู่ในขั้นไต่สวนมูลฟ้อง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องอดทนต่อกติกาที่จะให้ความเป็นธรรมดังที่หลายประเทศก็ใช้เวลานับสิบๆ ปีที่จะลงโทษคนผิด

‘ทักษิณ’ ลั่นถึงเวลาเริ่มต้นใหม่ เดินหน้าไทยสู่การแข่งขัน
“สิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีต 6 ปีนี้ก็เพื่ออย่างเดียวคือ เพื่อไล่ล่าผม แลผู้สนับสนุน โดยไม่คำนึงว่าผมนั้นเจ็บน้อยกว่าคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องตกอยู่ในภาวะบ้านเมืองย่ำแย่ ถามว่ามีใครได้ดีบ้าง ไม่มีใครได้ดีนกอกจากผู้ถือโอกาส คนที่เป็นฝ่ายขัดแย้งเจ็บปวดทั้งคู่ ในยามสงครามทุกครั้ง ผู้ที่รบกันบาดเจ็บทั้งคู่ แต่ผู้ได้ประโยชน์คือคนค้าอาวุธ ทั้งสองฝ่ายมีคนค้าอาวุธทั้งสิ้น วันนี้เราต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่าบ้านเมืองนี้จะขัดแย้งกันไปอีกหรือ 6 ปีมากพอแล้ว เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ สถานะของประเทศไทยก็ย่ำแย่ เปรียบเทียบกับหลายประเทศที่ได้โอกาสในเอเชีย...ลูกหลานเราจะหมดโอกาส เพราะโลกมีการแข่งขันสูง ทุกวันนี้ เศรษฐกิจก็ไม่ใช่จะง่ายดายในการทำมาหากินกัน การเรียนการศึกษา การรักษาพยาบาลทั้งหลาย ต้องพัฒนาไปทุกวัน แต่ความขัดแย้งชะลอสิ่งเหล่านี้หมด” ทักษิณกล่าวและว่า หากเราเลิกขัดแย้ง หันหน้าเข้าหากัน รักษาสถาบันทุกฝ่ายไว้รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะคนไทยไม่เคารพกฎ กติกา มีแต่พระองค์ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งชาติ  

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คำนึงถึงความปรองดอง ไม่ชี้นิ้วใส่กัน ก็ต้องค้นหาความจริง เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ต้องมีการชดเชยผู้ได้รับความเสียหายทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม เพราะเป็นก้าวแรกของการนำไปสู่การปรองดองเช่นกัน  

เขากล่าวอีกว่า อย่ามัวพะวงกับสิ่งที่เราไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้ให้ยอมแพ้ แต่วันนี้เราเป็นรัฐบาล เราจะคืนความยุติธรรมให้พี่น้องทุกฝ่าย จะเป็นรัฐบาลที่ดี สร้างความกินดีอยู่ดี ให้ประเทศไทยมีศักดิ์ศรี ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้เราต้องผนึกกำลังกันมากกว่าการเอากันให้ตายไปข้าง

“ถ้าจะโกรธผม เพราะท่านไม่เข้าใจ พี่น้องกลับไปทบทวนดีๆ ในเมื่อผมผ่านสิ่งเหล่านี้มาเยอะ และทำงานถวายเบื้องพระยุคลบาทมา ผมรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผมพูดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังไม่พูดบ้าง แต่ทั้งหมดผมทำด้วยความปรารถนาดี และรักประเทศชาติ อาจไม่พอใจใครหลายคน แต่ในที่สุดทุกฝ่ายจะพอใจว่าสิ่งที่ผมคิดไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่คิดถึงประเทศไทยในภาพรวม”

“วันนี้เราเจ็บ แต่เราควรจะต้องคิดกันให้ดีว่าจะเริ่มต้นกันใหม่ไหม” ทักษิณกล่าว

‘ธิดา’ เตือนรัฐบาลอย่าลืมค้น ‘ความจริง’ อย่าหลงกลปรองดอง ‘หลอก’
ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. ขึ้นกล่าวปราศรัย ว่า การปรองดองต้องคู่กับความจริง ทุกชาติที่เขาปรองดอง ฆ่ากันตายนับพัน นับหมื่น นับแสน เขาต้องทำความจริงให้ปรากฏแล้วจึงมาตกลงกันว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไป เป็นไปไม่ได้เลยที่ไม่เริ่มต้นที่ความจริง คอป. ทำงานมาดีพอสมควร แต่ขอเรียกร้องท่านว่า ท่านลืมชื่อของท่านไปคำหนึ่งคือ “ความจริง” อาจพูดเรื่องปรองดองได้ดีพอสมควร แต่อย่าลืมว่าที่ศึกษาทุกประเทศเขาเริ่มต้นที่ความจริง โปรดทำหน้าที่ให้ครบ ในยุคอภิสิทธิ์ไม่มีใครค้นหาความจริง แต่ในรัฐบาลนี้มาจากประชาชน ความจริงต้องปรากฏให้ได้ ไม่ใช่ไม่ต้องการปรองดอง แต่ต้องการการปรองดองที่แท้จริง เพราะการปรองดองแบบเล่นๆ หลอกๆ มันก็จะหลอกๆ เล่นๆ ต่อไป แต่ของจริงที่เกิดขึ้นคือ จตุพรต้องหลุดจากส.ส. และต่อไปก็ยุบพรรคเพื่อไทย นั่นแหละของจริง และที่ติดคุกไม่ได้ประกันตัวก็ของจริงเหมือนกัน ฉะนั้น เราต้องแยกระหว่างจริง หลอก เล่น ให้ได้

ธิดากล่าวว่า ในวันนี้มาเพื่อรำลึกวีรกรรม เราต้องการบอกคนที่ตายไปว่า เราไม่ลืมเขา เราจะจดจำวีรกรรมที่เขาได้ต่อสู้ รวมถึงคนบาดเจ็บ และมีชีวิตอยู่ทุกคน

ธิดายังกล่าวถึงความยุติธรรมด้วยว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายทั้งปวงจะเป็นก้าวย่างสำคัญของนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งเราต้องทำให้ได้ภายในปีนี้ ปีหน้า เพราะเรามีเวลาไม่มาก อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ก้าวหน้า แม้นว่าเราแก้ได้ แต่ถ้าเครือข่ายอำมาตย์หรือคนใช้กฎหมายยังล้าหลัง เขาก็ต้องหาวิธีจัดการให้ได้ ฉะนั้น แก้กฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องแก้ความคิดคนที่ล้าหลังให้ก้าวหน้าด้วย นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด บางเรื่องเราจำเป็นต้องอดทน เราต้องการชนะหัวใจเขา เป็นความเข้าใจผิดหากคิดว่าแค่มีรัฐบาลแล้วจะทำได้ทุกอย่าง

ประธาน นปช.กล่าวถึงรัฐธรรมนูญว่า เราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือ ปี 2489 ซึ่งปรีดี พนมยงค์ เขียนเอง แต่มันดีเกินไปปีต่อมาก็ถูกทำรัฐประหาร นับจากนั้นรัฐธรรมนูญของไทยก็เลวลงๆ แม้แต่ฉบับปี 2517 , 2540 ก็รับมรดกความเลวของปี 2490 มาเป็นลำดับ

 

            

 

“บางคนบอกอยากแก้ 112 สมมติแก้ 112 มันก็ไปเอามาตราอื่นๆ มาทำจนได้ มันเป็นเรื่องลูกแกะกับหมาป่า ฉะนั้น เราต้องอดทนที่จะเปลี่ยนความคิดของคนในประเทศนี้ให้ยอมรับความแตกต่าง มีความคิดวิทยาศาสตร์ มีความคิดก้าวหน้า นำพาประเทศให้เจริญได้ ฉะนั้น ความยุติธรรมตรงนี้จึงต้องเป็นความยุติธรรมที่ประกอบกันทั้งเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการที่เหมาะสม เราจึงสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้” ธิดากล่าว

ธิดา กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาระหน้าที่ของเราต่อไปนี้คือการทวงความยุติธรรมให้พี่น้องที่ยังถูกคุมขัง เฉพาะกรณีที่เสียชีวิตซึ่งมีการไต่สวนการตายกันอยู่ 16 คดีส่วนที่เหลืออื่นๆ ของให้ผู้เสียหายฟ้องเองไม่ต้องรอรัฐบาลเลย เพื่อให้เร็วขึ้น  อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมเราไม่ได้ทวงให้เฉพาะคนเสื้อแดงแต่สำหรับคนไทยทั้งประเทศ เราต้องการให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นของคนทั้งประเทศ ถ้าพูดถึง 112 การแก้ 112 ไม่ใช่เรื่องสีเสื้อใด ต้องทำให้เป็นของประชาชนทั้งประเทศ

‘จตุพร’ ฉะ ปชป.อย่าหวังยุบเพื่อไทย-เปิดกรณี 1 ล้านอีสวอเตอร์
นายจตุพร พรมพันธ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งถอดออกจากควา

มเป็น ส.ส. กล่าวว่าถึงกรณีนี้ก่อนขึ้นเวทีปราศรัยว่าตนรู้อยู่แล้วว่าผลต้องออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะเปรียบเสมือนเอาตัวเองไปให้ศัตรูพิพากษา

"รู้ว่านี่เป็นกลไกรากเหง้าของเผด็จการอำมาตย์ ผมเป็นศัตรูกับเขาทุกคนที่นั่งอยู่ในบัลลังก์นั้น ที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ และในวงประชุมที่มีการเผยแพร่ภาพเท็จ เรียกผมว่า ไอ้ ทุกคำ เพราะฉะนั้น เมื่อเรื่องส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่คิดว่าคดีจะเป็นคุณ เพราะเอาผมไปให้ศัตรูพิพากษา ผมจึงคิดถึงตอนสุดท้ายปลายทางแล้วว่าก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ผมกับเขาเป็นปฏิปักษ์กัน"

"จะเห็นว่ากลไกอันนี้ไม่เคยมีความเปลี่ยนแปลง มองประชาชนที่มีความเห็นต่างเป็นศัตรูเหมือนเดิม...เราชี้ให้เห็นว่า ทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นกระบวนการเดียวกัน ฉะนั้น ในอนาคต หลังจากผมก็อาจจะมีคนอื่นอีก"

เขากล่าวเสริมว่า ถึงแม้จะมีการพูดกันว่าจะมีการยุบพรรคเพื่อไทย แต่ก็คงทำไม่ได้แน่นอน เพราะการขาดคุณสมบัติของตนนั้นเป็นเพียงเรื่องวันเลือกตั้ง ซึ่งอยู่เหนือความรับผิดชอบของพรรคเพื่อไทย แต่ตนกำลังจะเปิดประเด็นเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการรับเงินบริจาคของบริษัทอีสต์ วอเตอร์ จตุพรชี้ว่า บริษัทดังกล่าวมีสัมปทานกับการประปา ซึ่งรับทุนร่วมเกินร้อยละ 50 ฉะนั้นการรับเงินบริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์เกิน 1 ล้านบาท จะเป็นเหตุถึงการยุบพรรคและเป็นการดำเนินคดีทางอาญา

"ฉะนั้น การเป็นผู้แทนผมจบแล้ว จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า เส้นทางต่อจากนี้ ไม่มีหน้าที่ตำแหน่งทางการเมือง ก็เป็นตำแหน่งทางประชาชนคนอยู่ในขบวนการคนเสื้อแดงต่อไป"

จากนั้นเขากล่าวปราศรัยบนเวทีว่า กรณีของเขาและคนอื่นๆ จะเป็นการปลุกคนเสื้อแดงให้ไม่สามารถยอมรับให้ประเทศอยู่ในสภาพนี้ได้ ซึ่งจะต้องนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ สร้างกติกาประชาธิปไตยให้บังเกิด

“หน้าที่ของเราคือประคับประคองรัฐบาลให้ครบสี่ปี เราจะได้มีโอกาสแก้สิ่งที่มันอยุติธรรม ผมไม่เชื่อว่าผมจะเป็นรายสุดท้ายที่ได้รับความยุติธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ มันจะเตือนสติเราว่า ตราบใดไม่สร้างกติกาที่ยุติธรรม และหาคนมีจิตใจยุติธรรมมาทำหน้าที่ บ้านเมืองจะหาความสงบไม่ได้” จตุพรกล่าวและว่าที่สำคัญไม่ว่าจะอย่างไรฆาตกรที่ฆ่าประชาชนต้องถูกลงโทษ

 

จตุพร ยังกล่าวถึงการเผาห้าง CTWด้วยว่า ที่แกนนำตัดสินใจยุติการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.เวลา 13.30 น. เพราะในแต่ละนาทีได้รับแต่รายงานว่า มีคนตายที่นั่น มีคนตายทีนี่ ขณะที่ดูแววตาพี่น้องที่อยู่หน้าเวที ทุกคนพร้อมสู้ตายทั้งหมด แต่ก็จำเป็นต้องพูดทั้งน้ำตานองหน้า เพราะคนที่ตายไม่ใช่พวกตน

“ความจริงไม่ควรมี 6 ศพในวัดปทุม ทันที่ที่พวกเรามอบตัว เพราะไม่ต้องการให้มีใครตาย  เขารู้ว่าถ้าจบลงแบบนั้นจะจบด้วยการเป็นฆาตรกรของรบ.อภิสิทธิ์ ห้าง CTWจึงถูกล็อกเป้า ทำไมต้องเผา เพราะต้องการอธิบายว่า พวกที่ตายทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้าย ล้มสถาบันและเผาบ้านเผาเมือง มันจึงสมควรตาย”

“พวกผมส่งเสียงเรียกร้องมายาวนาน  บอกเสื้อแดงไม่ได้เผา ท้ายสุดไปถึงหูชุดผจญเพลิงห้าง CTW ซึ่งแท้ที่จริงพวกเขารู้เต็มอกว่าคนเผาห้างฯ ไม่ใช่คนเสื้อแดง จึงประสานงานผ่านพิชิต ชื่นบาน นัดพวกผมไปฟัง เอาภาพปรากฏ กล้องทุกห้างไขว้ไปมา ชายชุดดำมีจริง แต่ใส่รองเท้าคอมแบต มันเผาก็จุดไม่ติด”

“ท้ายสุดชุดผจญเพลิงต้องถอยร่น เพราะมีการใช้ระเบิดเพื่อข่มขวัญให้พวกนั้นออก เวลาเดียวกันนั้น สำหรับการลั่นกระสุนใส่ที่วัดปทุมฯ เขารู้ว่าการจุดไฟไม่สำเร็จ ตัดสินใจใช้ระเบิดเพลิง แลกกับ 6 ชีวิตที่วัดปทุม  ดีเอสไอทำสำนวนด้วยความเจ็บปวด เพราะพบว่าศพหนึ่งตาย เพราะช่วยศพสอง ศพที่สองตายเพราะช่วยศพที่สาม ศพที่สามตายเพราะช่วยศพที่สี่ ศพที่สี่ตายเพราะช่วยศพที่ห้า ศพที่ห้าตายเพราะช่วยศพที่หก นี่คือ ความยิ่งใหญ่ในหัวใจของคนเสื้อแดง”


‘ณัฐวุฒิ’ เตือนสถานการณ์ยังไม่ปกติ เสื้อแดงอย่าเพิ่งขัดกันเอง

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขึ้นเวทีปราศรัยในเวลาเกือบเที่ยงคืน กล่าวว่า เวลานี้ไม่มีใครโค่นล้มคนเสื้อแดงได้ นอกจากคนเสื้อแดงกันเองเท่านั้น ดังนั้นคนเสื้อแดงต้องอดทน หนักแน่น หากมีอะไรไม่พอใจระหว่างทางควรคุยกันไม่ใช่ให้สัมภาษณ์หรือโพสต์ในโซเชียลมีเดียให้เขาเอาไปเป็นเครื่องมือโจมตี เราอาจทำภารกิจเหมือนหรือแตกต่างกันแต่ควรมุ่งหน้าไปทางเดียวกัน การทำงานมากเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่เหตุผลให้ไปเบียดคนที่เราคิดว่าเขาทำน้อยหรือไม่ทำงาน ใครจะไปรู้ว่าในกระบวนการต่อสู้ที่ใหญ่และยาวนานนี้ใครทำภารกิจอะไรบ้าง บางอย่างประกาศได้ บางอย่างประกาศไม่ได้ ขอให้คนในขบวนต้องมีสติ ไว้วางใจและเชื่อมั่นในกันและกัน ทั้งนี้ไม่ได้บอกให้เชื่อแกนนำ เพราะแกนนำก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าท่านที่นั่งข้างหน้า แต่อยากให้เราศรัทธาในความเป็นคนเสื้อแดงของกันและกัน ศรัทธาในสิ่งที่เราต่อสู้ร่วมกัน

เขาย้ำว่า ขบวนนี้มันใหญ่เกินกว่าจะเคลื่อนได้เท่ากัน  นปช.เคลื่อนได้ช้าหน่อย แต่มั่นคง ไม่ล้มง่ายๆ  เขายังชี้ว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่ว่าปกติแล้ว เช่น กรณีของจตุพร ถูกถอดจาก ส.ส.หนึ่งวันก่อนมีการชุมนุมใหญ่ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติแน่ อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าไม่มีการทรยศกันเด็ดขาด หัวใจคนข้างบนและคนข้างล่างนั้นเท่ากัน

ขณะที่โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความอดีตนายกฯ ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีในวันนี้ด้วย โดยเขากล่าวว่า จะยังคงเดินหน้าเรื่องคดีคนเสื้อแดงต่อไป และย้ำว่านักโทษการเมืองต้องได้รับการปล่อยตัว

ต่อเรื่องความคืบหน้าเรื่องคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) อัมสเตอร์ดัมกล่าวว่า จะมีการตัดสินในอีกสองสามเดือนข้างหน้าว่า ศาลจะรับและทำการสืบสวนสอบสวนคดีที่ส่งฟ้องไปหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรต่อกรณีการเสียชีวิตของ 'อากง' ผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ อัมสเตอร์ดัมระบุว่า เขาจะส่งเรื่องคดีอากงไปประกอบการยื่นคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย รวมถึงกรณีของจตุพรที่ถูกศาลตัดสิทธิการเป็นส.ส. เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาด้วย

"มันก็เห็นชัดอยู่แล้วว่ามันไม่มีความยุติธรรมในประเทศนี้ ผมก็ไปที่งานศพอากง ผมก็ทราบอยู่ และไปที่เรือนจำ ผมก็ได้เจอเขา มันเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก เราไม่สามารถจะยอมให้ผู้ต้องขังถูกปฏิบัติเช่นนี้อีกต่อไปแล้ว ผมได้มาเยือนที่นี่ ไปเยือนเรือนจำ และได้รับการบอกว่าเขาจะปรับปรุงสภาพเรือนจำให้ดีขึ้น และถ้ามันยังไม่ดีขึ้น ผมจะนำเรื่องนี้ของไทยไปแจ้งที่สภากาชาดแน่นอน" อัมสเตอร์ดัมกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพรัฐฉานเจรจากับพม่ารอบใหม่ที่เมืองเชียงตุง

Posted: 19 May 2012 11:49 AM PDT

คณะเจรจาสันติภาพของกองทัพรัฐฉานเยือนเชียงตุง เพื่อเจรจากับรัฐบาลพม่าในระดับสหภาพเป็นครั้งที่สอง โดยเน้นตกลงในเรื่องพื้นที่ปกครองตนเองที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เรื่องการปราบปรามยาเสพติด และขอให้ทางการพม่าปล่อยตัวผู้สนับสนุนกองทัพรัฐฉานที่ถูกพม่าจับกุม

แฟ้มภาพทหารกองทัพรัฐฉาน (SSA) ระหว่างการสวนสนามเนื่องในวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน 21 พ.ค. 2554 ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา กองทัพรัฐฉาน และสภากอบกู้รัฐฉานได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเจรจากับฝ่ายพม่าที่เมืองเชียงตุง มีกำหนดเริ่มเจรจาในวันที่ 19 พ.ค. โดยถือเป็นการเจรจาระดับสหภาพเป็นครั้งที่ 2 โดยเน้นเจรจาในเรื่องเขตปกครองตนเองของกองทัพรัฐฉาน การปราบปรามยาเสพติด และหารือเรื่องการปล่อยตัวผู้สนับสนุนกองทัพรัฐฉาน/สภากอบกู้รัฐฉาน ที่ถูกทางการพม่าจับตัว (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

สำนักข่าวฉาน รายงานว่า พ.ต.หลาวแสง โฆษกสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS (Restoration Council of Shan State) กองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พ.ค. 55 นี้คณะเจรจาสันติภาพของสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS กองทัพรัฐฉาน SSA จะมีการพบเจรจากับคณะเจรจาสันติภาพรัฐบาลพม่าอีกครั้ง ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก

โดยการเจรจาครั้งนี้ เป็นการเจรจาครั้งสำคัญระดับสหภาพเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายสภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปร่วมเจรจา นอกจากนี้จะมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงนักการทูตต่างประเทศร่วมสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยานด้วย ส่วนคณะเจรจาฝ่ายรัฐบาลพม่าคาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งอาจเป็นรองประธานาธิบดีเดินทางมาร่วมเจรจาด้วย

พ.ต.หลาวแสง กล่าวถึงประเด็นที่ทาง RCSS / SSA เตรียมนำไปเจรจาหารือกับรัฐบาลพม่าครั้งนี้ว่า มี 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1.หารือเรื่องจัดตั้งสำนักงานที่เมืองหัวเมือง และเมืองทา พื้นที่ที่รัฐบาลพม่ากำหนดเป็นเขตปกครองของ RCSS/SSA ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังมีปัญหาไม่เข้าใจกัน 2.หารือเรื่องการร่วมมือปราบปรามยาเสพติด 3.หารือเรื่องการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกินสำหรับประชาชนในพื้นที่ปกครอง และ 4. หารือเรื่องปล่อยตัวเจ้าหน้าที่และผู้สนับสนุน RCSS/SSA ที่ถูกทางการพม่าจับกุมไว้

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ทหารพม่าในพื้นที่เมืองปางโหลง และในพื้นที่เมืองหัวเมือง รัฐฉานภาคใต้ ได้ออกลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องและได้บุกโจมตีฐานทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA รวมแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 246 เมืองปางโหลง ได้บุกโจมตีฐานชั่วคราวของ SSA บริเวณบ้านเก่าปางหมี ตำบลสะเน็น อ.ปางโหลง 

ต่อมาวันที่ 10 พ.ค. ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 64 ได้โจมตีทหารไทใหญ่ SSA ที่ประจำอยู่บนดอยผาลาย ในตำบลตันหิน อำเภอปางโหลง สองฝ่ายปะทะกันนานกว่า 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 16.00 – 17.30 น. และในวันเดียวกันนี้ ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 286 ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่หัวเมือง ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้บุกโจมตีฐานทหารไทใหญ่ SSA ที่ตั้งบนดอยหมากโอ ทางทิศเหนือของเมืองหัวเมืองอีก อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานการสูญเสียจากการบุกโจมตีของทหารพม่าทั้ง 3 ครั้ง 

ทั้งนี้ การบุกโจมตีทหารไทใหญ่ SSA ของทหารพม่า เกิดขึ้นหลังสองฝ่ายลงนามหยุดยิงกันแล้วอย่างเป็นทางการ และเกิดขึ้นก่อนหน้าสองฝ่ายมีกำหนดพบเจรจาครั้งสำคัญระดับสหภาพครั้ง 2 ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก ในวันที่ 18 – 19 พ.ค. โดย พ.ต.หลาวแสง กล่าวว่า แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีการลงนามหยุดยิง แต่การปะทะกันยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การปะทะส่วนใหญ่เกิดจากฝ่ายทหารไม่ปฏิบัติตามข้อสัญสัญญา ซึ่งข้อสัญญาหยุดยิงสองฝ่ายได้ระบุไว้ ว่า หากทหารไทใหญ่ SSA จะเข้าเมืองก็ให้แจ้งล่วงหน้า และหากทหารพม่าจะออกลาดตระเวณนอกหมู่บ้าน หรือ นอกเมือง ให้แจ้งล่วงหน้า แต่ทหารพม่าไม่เคยปฏิบัติตาม มีการเคลื่อนไหวตามอำเภอใจและเป็นฝ่ายโจมตีทหาร SSA ก่อน ทางทหาร SSA ก็จำเป็นต้องโต้ตอบเพื่อป้องกันตัว

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฟผ.มีแผนผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินสตูล ผญ.ละงูเผยถูกติดต่อกว้านซื้อที่ดิน

Posted: 19 May 2012 07:32 AM PDT

กฟผ.มีแผนผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินสตูล ผญ.ละงูเผยถูกติดต่อกว้านซื้อที่ดินริมชายฝั่งบุโบย-แหลมสน ซักผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม หวั่นเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา นายหน้าวิ่งหาควั่กเสนอไร่ละ 4-5 แสนบาท

ชายหาดบ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายน 2554 เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาหาตนที่มูลนิธิอันดามัน โดยนำสิ่งของจำนวนหนึ่งมามอบให้ ตนจึงเชิญดื่มกาแฟและร่วมนั่งพูดคุยกัน โดยเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนดังกล่าว บอกถึงแผนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่ปลดระวางเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และความสะดวกในการขนส่งถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ

“สำหรับในภาคใต้ เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนนั้น บอกกับผมว่า กฟผ.มีแผนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ 9 โรง บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ อาทิ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ ตรัง สตูล” นายภาคภูมิ กล่าว

นายเจ๊ะยาหยา สาเบต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา มีคนติดต่อทางโทรศัพท์แนะนำตัวว่ามาจากบริษัทสุโขทัยปิโตรเลียมจำกัด สอบถามตนว่าพอจะหาที่ดินในตำบลแหลมสน 400 ไร่ บริเวณชายฝั่งทะเลได้หรือไม่ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งต้องอยู่ใกล้กับปากร่องน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อทำเรือขนถ่ายสิ่งของได้ 

นายเจ๊ะยาหยา เปิดเผยต่อไปว่า ตนถามไปว่าการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แล้วเสียงปลายสายก็ชะงัก ก่อนจะตอบมาว่าจะตรวจสอบให้ว่าสร้างแล้วมีผลกระทบอย่างไร แล้ววางสาย ก่อนโทรศัพท์มาหาตนอีกครั้ง โดยบอกว่ามีผลกระทบกับชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าจากผงถ่านหินที่เผาไหม้กระจายออกไป ประมาณ 30 กิโลเมตรต่อหนึ่งวัน ตนจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นอย่าสร้างดีกว่าเดี๋ยวจะทำให้ชาวบ้านในตำบลแหลมสนเป็นโรคปอดกันหมด กลัวผลกระทบด้านสุขภาพ และกังวลเรือที่บรรทุกขนถ่านหิน 

นายเจ๊ะยาหยา เปิดเผยอีกว่า ตนถามไปว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าสำรองไว้เพื่อคนในจังหวัดสตูลเพิ่มขึ้นในอนาคต และจะปรึกษาทีมงานอีกทีว่าสามารถหาที่ดินได้ที่ไหนอย่างไร แล้วจะโทรมาหาตนอีกครั้ง แล้วก็วางสายไป

“ก่อนหน้ามีคนโทรศัพท์มาหาผมนั้น มีนายหน้าวิ่งหาซื้อที่ดินในไร่ละ 4-5 แสนบาท ส่วนบริษัทสุโขทัยปิโตรเลียมจำกัด เท่าที่ผมรู้นั้นได้กว้านซื้อที่ดินบริเวณรอยต่อระหว่างบ้านบุโบย กับบ้านสนกลาง ตำบลแหลมสน เพื่อสร้างคลังน้ำมันไว้แล้วแต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นผมไม่แน่ใจว่าหน่วยงานไหนดำเนินการ” นายเจ๊ะยาหยา กล่าว

อนึ่งก่อนหน้าได้มีการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่บุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อปี 2540 และได้ทำการศึกษาทบทวนฯเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบาราเปรียบเทียบกับพื้นที่บริเวณบุโบยเมื่อปี 2546 แล้วพบว่าบริเวณพื้นที่ปากบารามีความเหมาะสมมากกว่า โดยได้รับงบประมาณประจำปี 2548-2549 ในวงเงิน 38.40 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มิถุนายน 2548 

ต่อมาบริษัทสุโขทัยปิโตรเลียม จำกัด ขอลงทุนโครงการวางท่อขนส่งปิโตรเลียม มูลค่า30,755 ล้านบาท เพื่อขนส่งน้ำมันทางท่อปริมาณ 536 ล้านบาร์เรล/ปี โดยท่อขนส่งน้ำมันประกอบไปด้วย ท่อบนบก ขนาด 48 นิ้ว ฝังลึกประมาณ 1.5 เมตร จากบ้านบุโบย อำเภอละงู จังหวัดสตูล จากฝั่งทะเลอันดามันไปชายฝั่งทะเลตะวันออกด้านอ่าวไทย ที่บริเวณบ้านวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ระยะทาง 130 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างวางแนวท่อขนส่งน้ำมันตามทางหลวง

ท่อใต้ทะเล แบ่งเป็น ขนาด 36 นิ้ว จำนวน 2 ท่อ จากฝั่งทะเล จ.สตูล ไปกลางทะเลที่ระดับน้ำลึก 27 เมตร ระยะทาง 20-30 กิโลเมตร กับท่อขนาด 36 นิ้ว จำนวน 3 ท่อ จากฝั่งทะเล จ.สงขลา ไปยังกลางทะเลที่ระดับน้ำลึก 16 เมตร และ 25 เมตร ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร และ 23 กิโลเมตร 

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมัน แบบ floating roof ด้านฝั่งทะเลละ 6 ถัง รวม 12 ถัง ความจุถังละ 1 ล้านบาร์เรล, ทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลรวม 5 ทุ่น, สถานีควบคุมบริเวณชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้าน และ การติดตั้ง block valve ตามแนวท่อขนส่งน้ำมันทุกๆ ระยะห่าง 3 กิโลเมตร มีปั๊ม crude oil transmission จำนวน 17 ตัว 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพลเมือง: หวั่นเหมืองโปแตชล้ำเขตทหารกระทบความมั่นคงชาติ

Posted: 19 May 2012 07:03 AM PDT

จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 55 ที่มีการระบุว่า พื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตทหาร พื้นที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์ นอกจากจะเป็นที่ตั้งหน่วย และส่วนการฝึกทหารแล้ว ยังเป็นคลังแสงใต้ดิน และคลังแสงปืนใหญ่ สำหรับเก็บอาวุธกระสุน และระเบิดต่างๆ ที่ค่อนข้างสำคัญมาก ซึ่งจะกระทบต่อความปลอดภัยทางทหาร แต่ทหารไม่รู้ข้อมูล ทั้งนี้ มณฑลทหารบกที่ 24 เตรียมจะทำหนังสือด่วนถึง ผบ.ทบ. ตามขั้นตอน (ดู : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 เหมืองโผล่คลังแสงกองทัพ มทบ.24 หวั่นอันตรายขุดโปแตชจุดเก็บกระสุนปืนใหญ่)
 
ด้านนายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันนี้ (19 พ.ค.) ว่า ตามข้อมูลการรังวัดขอบเขตเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งได้ทำการปิดประกาศไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 54 พบว่าขอบเขตการทำเหมืองที่ลึกลงไปจากผิวดินเกินกว่า 100 เมตร ตามกฎหมายแร่ ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือบริษัทเอพีพีซี คำขอที่ 1/2547 ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตทหาร ได้แก่ พื้นที่เหมืองครอบคลุมค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา ซึ่งมีหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี และกอ.รมน.ภาค 2, ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์ มีกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ซึ่งเป็นคลังแสงใต้ดิน สังกัดกองทัพบก และสำนักงานพัฒนา ภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด
 
“ทหารเองก็มีพ.ร.บ.ว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ.2478 ซึ่งการจะทำกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ทหารไม่ว่าบนดินหรือใต้ดินจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน อย่างไรก็ดี ทหารถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น การที่เอกชนจะทำเหมืองโดยรุกล้ำเข้าไปในเขตทหาร จึงไม่สมควรยิ่ง เพราะจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และประเทศชาติอย่างแน่นอน” นายสุวิทย์กล่าว
 
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการปิดประกาศเขตเหมืองชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เคยไปยื่นหนังสือ ที่ค่ายทหาร เพื่อให้ข้อมูลว่าจะมีการทำเหมืองในเขตทหาร พร้อมขอให้ทหารช่วยติดตามตรวจสอบประทานบัตรโครงการฯ แต่ก็เงียบ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญไปให้ข้อมูล ทหารจึงรู้ข้อเท็จจริง
 
“ที่ผ่านมาบริษัทเอพีพีซี เข้าไปทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในค่ายทหารอยู่บ่อยครั้ง แต่พอฝ่ายชาวบ้านไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้ทหารได้ติดตามตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ กลับเพิกเฉย”
 
นายสุวิทย์ ยังเผยอีกว่า เนื่องจากการทำเหมืองในเขตทหารเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่ออธิปไตย และความมั่นคงของรัฐ แต่ทว่าเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอพีพีซี มีแผนที่กำลังจะขายหุ้นโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เพื่อระดมทุนไปลงทุนโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่า โดยตนเชื่อว่า นายทุนจีนจะเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อดำเนินการต่อ ซึ่งหากต่างชาติเข้ามาแล้วขุดเหมืองใต้เขตทหาร เมื่อนั้นความปลอดภัย และความมั่นคงของชาติก็คงไม่มีอีกแล้ว นายสุวิทย์กล่าว
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธิปัตย์จี้เสื้อแดงเลิกพูด "2 มาตรฐาน"

Posted: 19 May 2012 04:42 AM PDT

โฆษก ปชป. เรียกร้องเสื้อแดงเลิกพูด "2 มาตรฐาน" ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ก่อนหน้านี้เมื่อวาน (18 พ.ค.) 'กรณ์-กษิต' นำทีมรำลึก 2 ปี แห่งความรุนแรง
 
19 พ.ค. 55 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยนั้น ตนเองอยากให้กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการใช้วาทกรรม ไพร่ อำมาตย์ ที่อ้างว่าอำมาตย์อยู่เบื้องหลังกรณีดังกล่าว และให้หยุดใช้วาทกรรม 2 มาตรฐานด้วย ควรยอมรับข้อเท็จจริงตามหลักกระบวนการยุติธรรม
          
ขณะที่การชุมนุมที่แยกราชประสงค์วันนี้ เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิต 91 นั้น นายชวนนท์ เห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงควรไปเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดคดีความต่างๆ พรรคประชาธิปัตย์ยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในทุกกรณี อีกทั้งการชุมนุมวันนี้ควรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เพิ่มความขัดแย้งในสังคม และนายจตุพร ก็ไม่ควรแสดงบทบาทการเคลื่อนไหว ที่เป็นการเพิ่มความขัดแย้ง เพราะตนเองเชื่อว่า อย่างไรก็ตาม นายจตุพร ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อย่างแน่นอน
 
ปชป. ลุยราชประสงค์ รำลึก 2 ปี แห่งความรุนแรง
 
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา Mthai News รายงานว่าบริเวณแยกราชประสงค์ว่า นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยังบริเวณราชประสงค์ เพื่อจัดกิจกรรมสันติภาพ สันติอหิงสา ค้นหาความจริง รำลึกเหตุการณ์ 19 พ.ค. 53 ครบรอบ 2 ปีแห่งความรุนแรง ซึ่งถือเป็นความสูญเสียของคนไทยทั้งชาติ โดยได้มีการปล่อยลูกโป่งสีขาว 500 ลูก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการยุติความรุนแรง และความสงบสุข
 
ทั้งนี้ นายกรณ์ กล่าวว่า ความสูญเสียระหว่างการชุมนุมทางการเมืองที่สี่แยกราชประสงค์ ตนพร้อมด้วยส.ส. ส.ก. และส.ข.ของพรรคตั้งใจจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ตอกย้ำเจตนารมย์ที่ต้องการให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและความขัดแย้งซ้ำรอยกับ 2 ปีที่แล้วด้วยการยึดหลักสันติอหิงสา ค้นหาความจริง ซึ่งตนเชื่อว่าความสงบจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมให้ความสำคัญกับการค้นหาความจริง พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม และอยากส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุนและประชาชนว่า พรรคไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกที่สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนและคนทำมาหากินในพื้นที่ต่างๆ จึงอยากใช้โอกาสนี้ให้ทุกฝ่ายได้เห็นความสำคัญว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องยึดหลักอหิงสา พร้อมกับย้ำว่าอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์ความจริง จากนั้นเชื่อว่าในสังคมไทยจะมีการให้อภัยเกิดขึ้น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง
 
ขณะที่ความสูญเสียที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่คนไทยควรถามตัวเองว่าได้มีบทบาทในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ ตนไม่คิดที่จะใช้โอกาสนี้โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นคนไทยต้องร่วมกันรับผิดชอบไม่ใช่ชี้นิ้วโทษคนอื่น โดยที่ไม่ได้ทบทวนตัวเอง เพราะจะทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งในอนาคตและอยากให้คนไทยได้ช่วยกันมีส่วนช่วยสร้างสังคมที่เป็นธรรมต่อต้านการทุจริต รักษาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และปกป้องสิทธิเสรีภาพตจามระบอบประชาธิปไตยของประเทศ โดยไม่ปล่อยให้ใครนำเอาคำว่าประชาธิปไตยมาแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง คนไทยต้องไม่ยอมในเรื่องนี้ นี่คือบทเรียนที่สำคัญจากเหตุการณ์ทั้งหมด
 
จากนั้น นายกรณ์ พร้อม ส.ส. ได้เดินเท้าไปยังวัดปทุมฯ เพื่อไหว้พระทำบุญสวดมนต์ รวมทั้งกวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

The independent เปิดใจ โมนา เอลตาฮาวี นักข่าวอียิปต์ผู้ต่อต้านลัทธิเกลียดชังทางเพศ

Posted: 19 May 2012 04:29 AM PDT

โมนา เอลตาฮาวี นักข่าวสตรีที่ถูกทำร้ายและถูกกระทำทางเพศจากรัฐบาลขิงอียิปต์ในช่วงที่มีการชุมนุมจันุรัสทาห์เรีย ออกมาเปิดใจหลังจากที่บทความที่เธอเขียนถึงลัทธิความเกลียดชังสตรี (misogyny) ในโลกอาหรับ ถูกวิพากษฺ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
 
 
 
 
ลอว์รี่ เพนนี จากสำนักข่าวดิ อินดีเพนเดนท์ของอังกฤษ ได้พูดคุยสัมภาษณ์โมนา เอลตาฮาวี นักข่าวสตรีผู้ที่ถูกกระทำทางเพศในเหตุการณ์ที่จัตุรัสทาห์เรียของอียิปต์ ซึ่งเธอตอบโต้กลับด้วยการประณามทัศนคติทางเพศที่บุรุษมีต่อสตรีในอาหรับ
 
ในตอนนี้รอยแผลบนแขนของของโมนา เอลตาฮาวี เริ่มบางลงจนกลายเป็นรอยขีดจางๆ สีขาวแล้ว เมื่อ 6 เดือนก่อน เธอเป็นนักข่าวและผู้ที่ออกตัวสนับสนุนการปฏิวัติในอียิปต์ที่ถูกตำรวจอียิปต์ทุบตีอย่างโหดร้าย และถูกกระทำทางเพศที่ข้างถนนของจัตุรัสทาห์เรีย จนทำให้แขนและมือเธอบาดเจ็บ
 
"ฉันคิดว่ามันเป็นแค่การทุบตีไปเรื่อยเปื่อย แต่นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนบอกว่าพวกเขารู้ดีว่าพวกเขากำลังทำอะไร" เธอกล่าว เครื่องประดับสีเงินบนแขนเธอกระทบกันเบาๆ ร่างกายของแอลตาฮาวีในตอนนี้ยังไม่สามารถออกท่าทางได้เต็มที่ แต่เธอก็ดีขึ้นกว่าจากที่เธอเคยบรรยายไว้
 
ลอว์รี่กับโมนานัดพบกันหลังจากที่เธอได้ตีพิมพ์บทความในนิตยสารนโยบายต่างประเทศในชื่อว่า "ทำไมพวกเขาถึงเกลียดเรา" ซึ่งได้แสดงให้เห็นภาพการเกลียดชังสตรีในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอลตาฮาวีเขียนไว้ว่า ความเกลียดชังสตรีเป็นเหมือนกระแสธารสีดำที่ไหลผ่านการเมืองของโลกอาหรับ ตั้งแต่การห้ามผู้หญิงขับรถในซาอุดิอารเบีย ไปจนถึงความรุนแรงทางเพศ การแต่งงานกับเด็ก และการตัดตอนอวัยวะเพศของสตรีในอียิปต์, อัฟกานิสถาน, ซูดาน
 
จะบอกว่าบทความนี้กลายเป็นที่ถกเถียง คงเป็นการกล่าวที่ยังเบาเกินไป นักสตรีนิยมและผู้มีแนวคิดต่อต้านสุดโต่งร่วมวงกับชาวมุสลิมสายอนุรักษ์นิยมโต้กลับบทความนี้เอาไว้ว่าบทความของเอลตาฮาวีนั้นมักง่าย มีแนวคิดล่าแบบล่าอาณานิคมยุคใหม่ และเป็นบทความที่ล่วงละเมิดต่อสตรีของมุสลิม (จากภาพในบทความที่เป็นภาพวาดของผู้หญิงที่กำลังหวาดกลัวและเพนท์ตัวเป็นรูปญิฮาบ) และทำความเสียหายต่อการปฏิวัติโลกอาหรับ
 
อย่างไรก็ตามผู้ที่โต้ตอบเธอจำนวนมาก ไม่ได้กล่าวถึงกรณีที่เธอถูกทำร้ายเลย
 
"ฉันโกรธมาก" เธอกล่าว "ฉันเป็นผู้ถูกกระทำโดยการทุบตีและกระทำชำเราทางเพศ ดังนั้นเมื่อฉันพูดถึงแนวคิดเกลียดชังสตรี ฉันก็ได้ประสบกับมันมาด้วยร่างกายของฉันเอง มันกลายเป็นจุดกำเนิดของความโกรธแค้น ฉันรู้ว่าฉันเขียนบทความชิ้นนี้ด้วยความโกรธแค้น แต่ฉันคิดว่ามันเป็นความโกรธแค้นที่ชอบธรรม"
 
"แทนที่จะท้าทายข้อเท็จจริงที่ฉันนำเสนอ การตอบโต้กลับกลายเป็น 'คุณกล้าดียังไงถึงทำให้พวกเราดูไม่ดี' " เอลตาฮาวี กล่าว
 
"เมื่อผู้หญิงออกมาเดินขบวนเช่นที่พวกเราทำกันในวันสตรีสากลที่เดินขบวนไปยังรัฐสภา มีผู้ชายคอยล้อมคุ้มกันพวกเรา และเมื่อฉันพูดถึงปิตาธิปไตยที่อยู่นอกเขตของกลุ่มผู้ชายที่ห้อมล้อม กลับมีคนบอกฉันว่า คุณไม่รู้หรอกว่าคุณกำลังพูดถึงอะไร คุณกำลังทำให้เราดูไม่ดี แต่มันคือพวกเขาที่แหละที่ทำให้พวกเราดูไม่ดี ฉันเป็นผู้อยู่รอด ฉันเป็นคนส่งสาร" เอลตาฮาวี กล่าว
 
นักข่าวจากสองสำนักนัดพบกันที่ร้านอาหารเล็กๆ ในย่านฮาร์เล็ม รัฐนิวยอร์ก เอลตาฮาวี ซึ่งตอนนี้อายุได้ 44 ปีอาศัยอยู่ที่นี่หลังจากแต่งงานกับชาวอเมริกันในปี 2000 ทุกคนในร้านรู้จักเธอ บริกรทักทายเธออย่างร่าเริงเมื่อเธอเดินเข้ามาด้วยผ้าพันคอสีน้ำเงินสดใส
 
เอลตาฮาวีเติบโตในอียิปต์, ลอนดอน และซาอุดิอารเบีย เธอทำงานเป็นนักข่าวในตะวันออกกลางตั้งแต่อายุ 21 โดยทำข่าวให้กับรอยเตอร์และเดอะ การ์เดียน เขียนคอลัมน์ให้กับ อัสชาค อัล-อัสวัท ก่อนที่สำนักข่าวของซาอุฯ จะไล่เธอออก จากคำบอกเล่าของเธอ เธอถูกไล่ออกเพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมูบารัคของอียิปต์มากเกินไป
 
"การเขียนวิจารณ์รัฐบาลเป็นสิ่งที่ฉันเน้นในงานของฉันมาก ดังนั้นฉันถึงคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติมาตั้งแต่ต้น" เธอกล่าว
 
เอลตาฮาวีถูกยกย่องให้เป็นวีรสตรีหลังจากที่เธอถูกทำร้าย แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าเธอเป็น 'ลุงทอม' หลังจากที่เธอบอกว่าไม่เพียงแค่จากการข่มเหงของรัฐเท่านั้นที่ทำให้เธอถูกทำร้าย แต่เรื่องแนวคิดเกลียดชังสตรีมีส่วนในการทำร้ายเธอด้วย
 
น่าประหลาดที่ผู้คนยอมรับโมนา เอลตาฮาวีได้ในฐานะของผู้กล้า ผู้ที่ถูกทำให้เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศจากรัฐ มากกว่าโมนา เอลตาฮาวี ผู้ที่ส่งเสียงโวยวาย ผู้รอดชีวิตที่รู้สึกฉุนเฉียว ใช้นิ้วทั้งสิบที่เพิ่งรักษาตัวจากการบาดเจ็บจิ้มกดลงไปที่แผล ...'แผล' ซึ่งมีนามว่า "แนวคิดเกลียดชังสตรีที่มีอยู่ในโครงสร้างสังคมของเรา"
 
"มีคนจำนวนมากอ่านบทความฉันแล้วก็บอกว่า คุณทำให้สตรีอาหรับกลายเป็นเหยื่อที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ฉันไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย" เธอกล่าว "การที่บอกว่ามีลัทธิปิตาธิปไตยในวัฒนธรรมอาหรับไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธผู้หญิงในฐานะเป็นผู้กระทำ"
 
เธอบอกอีกว่า การพูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าเธอให้ความชอบธรรมต่อการใช้กำลังแทรกแซงจากชาติตะวันตกรวมถึงการใช้กำลังทางทหาร แม้ว่านักเสรีนิยมใหม่หลายคนจะใช้เรื่องสิทธิสตรีบังหน้าสิ่งที่เป็นวาระจริงๆ ของพวกตน ซึ่งในความจริงนิตยสารนโยบายการต่างประเทศฉบับเดียวกับที่เอลตาฮาวีเขียนบทความถึงนั้นก็มีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้ "การเรียกร้องสิทธิสตรี" เป็นอาวุธที่ "มีขุมพลังทางสติปัญญา" 
 
"ฉันได้เขียนไว้ในส่วนไหนของบทความว่าให้มาช่วยพวกเราหรือเปล่า?" เอลตาฮาวีถาม เธอขึ้นเสียงจนคนโต๊ะข้างๆหันมามอง "สิ่งที่ฉันต้องการสื่อถึงโลกภายนอก โอเคฉันหมายถึงโลกภายนอก นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการให้คุณทำตอนนี้ เมื่อพวกเขาบอกคุณว่านี่คือวัฒนธรรมของพวกเรา อย่ามายุ่งกับมัน ให้รับฟังแต่เฉพาะคนอื่นที่ไม่ใช่เสียงจากผู้หญิงในพื้นที่ซึ่งกำลังต่อสู้ พื้นที่นี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก และถ้าหากเราไม่ได้มาพูดถึงเรื่องนี้กันในช่วงที่การปฏิวัติกำลังดำเนินอยู่ตอนนี้ ผู้หญิงก็จะเป็นฝ่ายแพ้อยู่ดี"
 
เป็นไปได้ว่าสิ่งที่บทความของเอลตาฮาวีเน้นวิจารณ์มากที่สุดคือเรื่องความเกลียดชังทางเพศต่อสตรีในโลกอาหรับ ดินแดนซึ่งความโหดร้ายของลัทธิชายเป็นใหญ่เป็นเหมือนพระอาทิตย์ที่ไม่มีวันตก และเมื่อฉันพูดถึงตรงนี้ เอลตาฮาวีก็แสดงความโกรธอีก
 
"แน่นอนว่ายังคงมีลัทธิชายเป็นใหญ่ในที่อื่น" เธอกล่าว "แต่ในครั้งนี้ฉันขอเน้นย้ำที่ส่วนหนึ่งของโลก โดยที่ไม่ต้องจัดการกับปัญหาของคนอื่นก่อนได้หรือไม่?"
 
จริงๆ แล้วเอลตาฮาวีก็ยืนยันหนักแน่นว่าผู้หญิงมุสลิมทั่วโลกอาจต้องประสบอุปสรรคปัญหามากเป็นพิเศษจากการที่คนที่ยึดถือความเชื่อทางศาสนาไม่ว่าจากศาสนาใด และทัศนคติทางเพศต่อสตรีของพวกเขาดูแทบจะคล้ายกันไปหมด
 
"ในอเมริกา มีกลุ่มภราดรภาพคริสเตียน เช่นเดียวกับที่ในอียิปต์มีกลุ่มภราดรภาพมุสลิม" เธอพูดต่อ
 
แม้ว่าเธอเพิ่งได้รับการรับรองเป็นพลเมืองอเมริกันเมื่อปีที่แล้ว แต่เอลตาฮาวีก็ยังคงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับชาวอียิปต์ที่เป็นคนเดินดินทั่วไป และยังคงเดินทางไปอียิปต์หลายครั้งต่อปี
 
"หลังจากที่ฉันโดนทำร้ายฉันก็กลับไปอียิปต์แทบทุกเดือน" เธอกล่าว "ไม่มีทางที่พวกนั้นจะกันฉันออกจากบ้านเกิดเมืองนอนได้"
 
"เมื่อฉันเอาเฝือกแขนไทเทเนี่ยมนี้ออกแล้ว ฉันจะสักที่แขนนี้ด้วยชื่อถนนโมฮาเม็ด มาห์มูด ที่ฉันถูกจู่โจม เพื่อเป็นเกียรติ์แก่ผู้ที่เสียสละในการประท้วงบนท้องถนนแห่งนี้" เธอกล่าว ด้วยรอยยิ้มซุกซนเหมือนลูกสาวช่างเฉลียวที่ล่วงรู้ถึงความลับของครอบครัวและกำลังจะเปิดเผยมัน
 
"แล้วก็บนแขนนี้ ฉันจะสักรูปของเทพีเชคเมท เทพีแห่งเซ็กส์และการขำระแค้นของอียิปต์โบราณ ผู้ที่มีเศียรเป็นสิงโตตัวเมีย"
 
 
ที่มา:
Mona Eltahawy: Egypt's angry young woman, 17-05-2012, The Independent
http://www.independent.co.uk/news/people/profiles/mona-eltahawy-egypts-angry-young-woman-7758081.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสื้อแดงเริ่มชุมนุมใหญ่ ตำรวจปิดการจราจร ถ.ราชดำริ-เพลินจิตแล้ว

Posted: 19 May 2012 02:49 AM PDT

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดการจราจร ทั้งขาเข้าและขาออกของ ถ.ราชดำริ และ ถ.เพลินจิต หลังจากคนเสื้อแดงเริ่มมาชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมรำลึก 2 ปี เหตุการณ์ชุมนุม

 
19 พ.ค. 55 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าบรรยากาศบริเวณแยกราชประสงค์ ช่วงบ่ายวันนี้ (19 พ.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดการจราจร ทั้งขาเข้าและขาออกของ ถ.ราชดำริ และ ถ.เพลินจิต หลังจากคนเสื้อแดงเริ่มมาชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมรำลึก 2 ปี เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงจำนวนมากขึ้น และนำรถมาจอดกีดขวางการจราจร ทำให้ไม่สามารถสัญจรได้ 
 
ขณะที่ ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมในพื้นที่ชุมนุม แม้จะไม่ปิดให้บริการ แต่ก็ต้องปิดประตูทางเข้า-ออก และเพิ่มการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะการตรวจสัมภาระของผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการ ป้องกันมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระจายกำลังโดยรอบพื้นที่ชุมนุม แต่ไม่เข้มงวดเท่าที่ควร โดยกำลังส่วนใหญ่เข้าไปหลบร้อนอยู่ในห้างสรรพสินค้าและโรงแรมโดยรอบ เนื่องจากบริเวณแยกราชประสงค์อากาศร้อนมาก
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: วิเคราะห์คดี “นายจตุพร” กับ “ภาพหลอน” ในทางรัฐธรรมนูญ

Posted: 19 May 2012 01:04 AM PDT

 
สรุปความเห็น เป็นคำถาม 3 ข้อ
 
1. ศาลได้ปรับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าหรือไม่ ?
2. ศาลได้ตีความกฎหมายอย่างไม่ระวัง จนเป็นการจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจ "คุมขัง" เป็นอาวุธทางการเมืองหรือไม่ ?
3. คำวินิจฉัยนี้ ทำให้เราควรหันมาปฎิรูปองค์กรตุลาการอย่างไร ?
 
ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้สิ้นสุดลง แต่สิ่งที่อาจยังไม่สิ้นสุดก็คือ ภาพเหตุผลทางกฎหมายอันน่าสะเทือนใจ” ที่คงจะค้างคาในมโนภาพของนักนิติศาสตร์และประชาชนอีกหลายคน
 
หลังศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย สำนักงานศาลได้เผยแพร่เอกสาร “ผลการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เอกสารข่าวที่ 15/2555” (http://bit.ly/KHbkKn) มีคำอธิบายผลการพิจารณาตอนหนึ่ง ดังนี้
…ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในวันเลือกตั้งซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๐ (๓) ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง และเมื่อผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจึงมีผลให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง (๓) ผลของการสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของผู้ถูกร้อง ทำให้ผู้ถูกร้องขาดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๓) ซึ่งต้องสังกัดพรรคการเมือง และเป็นผลให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๖ (๔)…”
 
คำอธิบายดังกล่าว มีเนื้อหาสอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่ศาลได้อ่านและสื่อมวลชนได้รายงานไปแล้ว (เช่น http://bit.ly/J2aWCd และ http://bit.ly/JVLh0E) ซึ่งผู้ทำความเห็นจะได้อ้างถึงในความเห็นฉบับนี้
 
สรุปเหตุผลของคำวินิจฉัย
 
คดีนี้ศาลได้ตีความ รัฐธรรมนูญ” ประกอบกับกฎหมายอีกฉบับ คือ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550” (เรียกย่อในความเห็นนี้ว่า “พ.ร.ป.”) โดยศาลได้ปรับใช้กฎหมายเกี่ยวโยงกันหลายมาตรา สรุปได้ดังนี้
รัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ… ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐๑…”
รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (3) “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง…”
 
*** ข้อสังเกต *** เมื่อศาลพบว่า รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดเรื่องการสิ้นสุดของ ความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง” ไว้ ศาลจึงนำ พ.ร.ป. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยขยายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้มีความครบถ้วนยิ่งขึ้นมาพิจารณาประกอบว่า ความเป็นสมาชิกพรรคของนายจตุพรได้สิ้นสุดลงหรือไม่ดังต่อไปดังนี้
พ.ร.ป. มาตรา 20 (3)“สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ...ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙...”
 
พ.ร.ป. มาตรา 19 วรรคหนึ่งผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง
พ.ร.ป. มาตรา 8วรรคหนึ่งผู้มีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ...
*** ข้อสังเกต *** เมื่อศาลพบว่า มาตรา 8 เป็นมาตราที่เขียนข้อความให้ล้อตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ว่าลักษณะต้องห้ามนั้นเป็นอย่างไร ศาลจึงย้อนกลับไปที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 เพื่อพิจารณาว่า ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไว้อย่างไร
 
รัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3) บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง …ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ศาลอธิบายเพิ่มเติมว่า กฎหมายมีจุดประสงค์เพื่อให้บุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย และระเบียบวินัยของพรรคการเมือง การถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาของศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดที่มีความรุนแรงและมีเหตุให้ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญกว่าบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
 
ดังนั้น เมื่อศาลพบว่า นายจตุพร ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายศาลจึงสรุปว่า การถูกคุมขัง” ทำให้ “ความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย” สิ้นสุดลง ซึ่งส่งผลให้ “ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ของนายจตุพรสิ้นสุดลงเช่นกัน
 
ความเห็นทางกฎหมาย
 
แม้ผู้ทำความเห็นจะมิได้ชื่นชอบนายจตุพรไปกว่านักการเมืองทั่วไป แต่ด้วยความเคารพต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ทำความเห็นจำต้องตั้งคำถามว่า การตีความกฎหมายในคดีดังกล่าว ได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างน้อยสามประการ ดังนี้ หรือไม่ ?
 
คำถามที่หนึ่ง: คำวินิจฉัยคุกคาม “ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ ?
 
หลักนิติศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่นักกฎหมายทุกคนทราบดี คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญย่อมใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งหลักการนี้บัญญัติไว้ชัดเจนใน มาตรา 6 แห่ง รัฐธรรมนูญ หลักสำคัญอีกสองประการ คือ หลักการตีความกฎหมายให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และ หลักว่าบทบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงย่อมเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติทั่วไป
 
อย่างไรก็ดี ผู้ทำความเห็นไม่อาจแน่ใจได้ว่า ศาลกำลังสร้างบรรทัดฐานการตีความกฎหมายที่ผิดเพี้ยนอีกทั้งละเมิดรัฐธรรมนูญและหลักนิติศาสตร์ขั้นพื้นฐานดังกล่าวเสียเอง หรือไม่ ?
 
ผู้ทำความเห็นเห็นว่า คดีนายจตุพรเป็นเรื่องว่าด้วย ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ซึ่งบทบัญญัติที่ศาลต้องนำมาปรับใช้โดยตรง ก็คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 แต่ศาลกลับนำ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ในเรื่องที่ว่าด้วย ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมา ตีความคร่อมทับ” ให้มีค่าบังคับเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 106 อย่างแปลกประหลาด
 
ผู้ทำความเห็นเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) กำหนดว่า “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” นั้นให้นำไปโยงกับเรื่อง ลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครเป็น ส.ส.” ตาม มาตรา 102 ซึ่ง มาตรา 102 (3) ก็ได้โยงต่อไปยัง มาตรา 100 ซึ่งเป็นเรื่อง “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” แต่ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้โดยเจาะจงว่า ให้นำ “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” เฉพาะกรณี มาตรา 100 (1) (2) และ (4) มาใช้กับ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.เท่านั้น
 
กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบกับ มาตรา 102 (3) ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า แม้นายจตุพรจะถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลก็ตาม แต่การถูกคุมขังดังกล่าว (ที่มิได้ต้องโทษจำคุก) ก็มิได้เป็นลักษณะต้องห้ามที่นำไปสู่ ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ของนายจตุพรแต่อย่างใด
 
ความน่ากังขาก็คือ ในคดีนี้ ศาลได้มุ่งตีความ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) และนำเรื่อง “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปปะปนกับเรื่องความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง” โดยที่ไม่ได้นำบทบัญญัติและเจตนารมณ์ตาม มาตรา 106 (5) ที่กำหนดข้อยกเว้นเรื่อง “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.มาพิจารณาให้ถี่ถ้วนหรือไม่ ?
 
เรื่องนี้ ศาลอธิบายว่า แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (3) จะไม่กำหนดให้ การถูกคุมขังเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง แต่การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กับการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนและหลังต่างเวลากัน แม้ว่าบุคคลที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อันไม่เป็นลักษณะต้องห้าม แต่การพิจารณาการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เป็นคนละกรณีกัน (นอกจากนี้ ยังอาจมีบางฝ่ายอ้างต่ออีกว่า คำร้องที่ส่งมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรในคดีนี้ ได้ขอให้ศาลตีความ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) และ 106 (4) เท่านั้น มิได้กล่าวถึง มาตรา 106 (5) หรือ 102 (3) แต่อย่างใด)
 
คำอธิบายเช่นนี้ มิอาจรับฟังได้ เพราะนอกจากจะเป็นการนำเรื่อง ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” มาปะปนกับ “ความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.” แล้ว ยังเป็นการผิดหลักการตีความกฎหมาย โดยการตีความรัฐธรรมนูญนั้น จะตีความเพ่งเล็งเฉพาะบางมาตราไม่ได้ แต่จะต้องตีความเชื่อมโยงรวมกันทั้งระบบ โดยเฉพาะในคดีนายจตุพรนั้น ศาลไม่อาจตีความ มาตรา 106 (4) โดยปราศจาก มาตรา 106 (5) ได้เลย เพราะต่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ที่เกี่ยวโยงกับประเด็น “การถูกคุมขัง” ตามมาตรา 100 (3) ด้วยกันทั้งสิ้น
 
อีกทั้งยังเป็นตรรกะที่ผิดมาตรฐานมโนสำนึก เพราะหากศาลยอมรับว่า มาตรา 102 (3) ไม่ได้กำหนดให้ การถูกคุมขังเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครเป็น ส.ส. กล่าวคือ ผู้ถูกคุมขัง” ย่อมสมัครเป็น ส.ส. ได้ แล้วเหตุไฉนศาลจึงมองว่ากฎหมายกลับสร้างมาตรฐานที่ขัดแย้งกันว่า “ผู้ถูกคุมขัง” ย่อมสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ?
 
ยิ่งไปกว่านั้น การยกกฎหมายลำดับรองขึ้นอ้างในคดีนี้ก็เป็นการยกอ้างกฎหมายที่มีปัญหา เพราะบทบัญญัติใน พ.ร.ป. ที่ศาลอ้างมาปรับใช้ในคดีนี้นั้น ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 8 ก็ดี มาตรา 19 ก็ดี หรือ มาตรา 20 ก็ดี กลับไม่มีส่วนใดเลย ที่บัญญัติเจาะจงให้ การถูกคุมขัง เป็นเหตุของ “ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอันนำไปสู่ ความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.
 
พ.ร.ป. มาตรา 8 เพียงแต่บัญญัติว่า ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีเหตุมาจากการมี เหตุต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญซึ่งหากกลับไปพิจารณาเรื่องที่เป็นประเด็นแห่งคดี คือ เรื่อง ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.ก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ได้ยกเว้นอย่างเจาะจงมิให้นำเรื่อง การถูกคุมขัง มาเป็นเหตุของ ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ได้ จึงเป็นการยืนยันว่า พ.ร.ป. มาตรา 8 เป็นกฎหมายที่มิได้บัญญัติเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับ ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.และมิอาจถูกตีความให้ขัดแย้งกับบทบัญญัติที่ยกเว้นเหตุไว้โดยเฉพาะเจาะจงในรัฐธรรมนูญได้
 
ดังนั้น การที่ศาลอธิบายว่า การนำกฎหมายมาตีความประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องสัญชาติ ก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. สัญชาติ เพราะรายละเอียดต่างๆ ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องนำกฎหมายอื่น มาประกอบการวินิจฉัยเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริงนั้น ก็เป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง เพียงแต่ไม่สามารถนำมาใช้ในคดีนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ได้กำหนดยกเว้นมิให้นำ “การถูกคุมขัง มาเป็นเหตุของ “ความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.” โดยเฉพาะเจาะจงไว้แล้ว
 
ที่สำคัญที่สุด หากศาลตีความ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) โดยไม่คำนึงถึง มาตรา 106 (5) แต่กลับนำกฎหมายลำดับรอง คือ พ.ร.ป. มาตีความ คร่อมทับ” เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้วไซร้ ก็เท่ากับว่าศาลได้ตีความให้กฎหมายลำดับรองในชั้น พ.ร.ป. ไปขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายและใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 อย่างปฏิเสธไม่ได้
 
อนึ่ง หากผู้ใดอาศัยหลักนิติตรรกศาสตร์เบื้องต้น ก็อาจสรุปความเชื่อมโยงของกฎหมายทั้งหมดได้ว่า ในเมื่อ:
- รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (3) กำหนดว่า ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- รัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ประกอบ 101 (3) กำหนดว่า ผู้ที่เป็น ส.ส. ต่อไป ต้องยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อไป
- รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบ 102 (3) กำหนดว่าผู้ที่เป็น ส.ส. แล้ว แม้จะถูกคุมขัง (แต่มิได้ต้องโทษจำคุก)ก็ยังเป็น ส.ส. ต่อไปได้
จึงพึงสรุปว่า:
- บุคคลที่ถูกคุมขัง (แต่มิได้ต้องโทษจำคุก)ย่อมยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และ เป็น ส.ส. ได้ และการตีความ พ.ร.ป. มาตรา 8 จึงนำไปเชื่อมโยงได้กับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (1) (2) และ (4) เท่าที่ไม่ขัดต่อ มาตรา 106 (5) เท่านั้น
 
ดังนั้น การตีความกฎหมายในคดีนายจตุพรนั้น จึงน่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่า ศาลได้ตีความกฎหมายโดยขัดต่อหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักการตีความกฎหมายให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และ ขัดต่อหลักว่าบทบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงย่อมเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติทั่วไป หรือไม่ ?
 
คำถามที่สอง: คำวินิจฉัยคุกคาม “สิทธิเสรีภาพ” หรือไม่ ?
ความน่ากังวลอีกประการจากการตีความในคดีนี้ก็คือ ศาลกำลังตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวางหรือไม่ ?
 
รัฐธรรมนูญ มาตรา 65 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองให้บุคคลมีเสรีภาพในการ ดำเนินกิจกรรมในทางการเมือง ซึ่งย่อมหมายความรวมถึง การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และการลงสมัครเป็น ส.ส. ดังนั้น การจะตีความกฎหมายใด ย่อมต้องตีความอย่างระมัดระวัง กล่าวคือ การตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพย่อมต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จะตีความกฎหมายให้จำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวางมิได้เป็นอันขาด
 
หากลองพิจารณา รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) ที่กำหนดให้ “การถูกคุมขัง” เป็น “เหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ก็จะพบว่าจำเป็นและสมเหตุสมผล เพราะมิเช่นนั้น ในวันเลือกตั้ง ก็จะเป็นวันที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่อาจคุมขังผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิด แม้แต่ผู้ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งหน้าได้ อีกทั้งกฎหมายก็ได้บัญญัติยกเว้นมิให้ “การถูกคุมขัง” ในวันเลือกตั้งไปตัดสิทธิบุคคลในการเป็น ส.ส. ตาม มาตรา 106 (5) อีกด้วย
 
อย่างไรก็ดี การที่ศาลตีความโดยนำ เหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ไปปะปนกับ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.นอกจากอาจจะขัดแย้งต่อหลักการตีความกฎหมายตามที่อธิบายมาแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจรัฐในระดับที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ มาจำกัดตัดสิทธิประชาชนทั่วไปได้โดยง่ายอีกด้วย
 
กล่าวคือ ศาลได้ตีความว่าผู้ใดที่ ถูกคุมขัง” ย่อมสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และย่อมสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. เช่นกัน แต่ประเด็นที่ต้องขบคิดต่อไปก็คือ การนำเหตุ “การถูกคุมขัง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) มาใช้จำกัดเสรีภาพทางการเมืองตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 65 นั้น ศาลหมายความถึงเฉพาะ “การคุมขังในวันเลือกตั้ง” เท่านั้น หรือไม่
 
หากลองพิจารณา เหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” อื่นตาม มาตรา 100 เช่น มาตรา 100 (1) การเป็นภิกษุ สามเณร หรือ มาตรา 100 (4) เรื่องการเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่า พ.ร.ป. มาตรา 8 มุ่งหมายให้นำลักษณะต้องห้ามดังกล่าวมาใช้โดยไม่จำเป็นว่าจะมีลักษณะต้องห้ามในวันเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ เช่น หากสมาชิกพรรคการเมืองใดกลายเป็นบุคคลวิกลจริต แม้จะเป็นช่วงที่ไม่ใช่วันเลือกตั้ง ก็ย่อมสิ้นความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยผลของ พ.ร.ป. มาตรา 8
 
ด้วยเหตุนี้ การตีความของศาลที่รวบรัดเอา การถูกคุมขัง” ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 มาเป็นเหตุในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยโยงเข้ากับ พ.ร.ป. มาตรา 8 นั้น ซึ่งอาจกินความเกินไปกว่าวันเลือกตั้ง จึงมีผลพวงที่น่ากังขาอย่างยิ่ง
 
ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า คุมขัง” นั้นมีความหมายทางกฎหมายที่กว้าง เห็นได้จาก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) ซึ่งนิยามคำว่า “คุมขัง” ว่า หมายความว่า “คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก” ซึ่ง ย่อมเกิดผลที่แปลกประหลาดตามมาว่า การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากเพียงได้ “คุมตัว ควบคุม หรือ ขัง” ประชาชน ซึ่งอาจหมายถึงว่าไม่ว่าในวันใด ก็จะสามารถส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนคนธรรมดาทั่วไปที่ประสงค์เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จนเกินเลยไปกว่าความจำเป็นเหมาะสมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?
 
นอกจากนี้ หากการจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวถูกตีความให้กระทำได้โดยง่ายแต่เพียงนี้ ก็อาจเป็นโอกาสให้มีการใช้อำนาจกฎหมายในทางที่มิชอบ ฝ่ายการเมืองอาจอาศัยช่องทางตามกฎหมายฉุกเฉิน หรือแม้แต่กฎหมายของเจ้าหน้าที่ทั่วไปในการเข้า คุมตัว ควบคุม หรือ ขัง” บุคคล หรือ ส.ส. นอกสมัยประชุม เพื่อคุกคามศัตรูทางการเมืองและนำบรรทัดฐานของคดีนายจตุพรมาเป็นเงื่อนไขในการปิดกั้นผู้ที่จะมาแข่งขันทางการเมืองก็เป็นได้
 
ดังนั้น จึงน่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กำลังตีความ พ.ร.ป. มาตรา 8 ประกอบ กับรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 จนกลายเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจรัฐคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนและคู่แข่งทางการเมืองหรือไม่ ?
 
คำถามที่สาม: คำวินิจฉัยคุกคาม “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” หรือไม่ ?
 
แม้ศาลจะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลมิให้ประชาชนได้ ส.ส. ที่ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน หากศาลกลายเป็นสถาบันที่มุ่งหมายปราบปรามนักการเมืองที่ศาลอาจมองว่าเป็นผู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของศาลเสียแล้ว (ดังเช่นกรณีการตีความคดีคุณสมัคร ชิมไปบ่นไป ดูความเห็นที่ http://bit.ly/J6dRLu) หรือ ตีความกฎหมายเรื่องเดียวกันแต่กลับผิดมาตรฐานอย่างอธิบายไม่ได้ (ดังเช่นกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ดูความเห็นที่ http://bit.ly/JXy9tf) การเมืองการปกครองของประเทศชาติก็จะเกิดความโกลาหล เพราะอำนาจที่ยึดโยงโดยตรงกับประชาชนกลับถูกอำนาจตุลาการตีความกฎหมายอย่างแปลกประหลาดก่อให้เกิดผลที่ยากต่อการอธิบาย ไม่ว่าในทางนิติศาสตร์หรือโดยมาตรฐานมโนสำนึกของปุถุชนธรรมดาที่ไม่มีโอกาสคัดเลือกหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้โดยง่าย
 
จึงน่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่า หากประชาชนเกิดความกังวลว่า บัดนี้อำนาจอธิปไตยไม่อาจนำมาใช้ได้อย่างสมดุลแล้ว หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอันใกล้ ประชาชนจะร่วมกันปฏิรูปอำนาจตุลาการและคืนความสมดุลแก่อำนาจอธิปไตยได้อย่างไร ?
 
บทส่งท้าย
 
การวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาล ดังเช่นความเห็นฉบับนี้ที่ประกอบขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยนั้น มักจะถูกวิจารณ์ต่ออีกชั้นว่า ผู้ที่วิจารณ์เองก็ควรจะได้อ่านคำวินิจฉัยทั้งหมดเสียก่อน แต่ก็น่าคิดต่อว่า ในเมื่อกฎหมายกำหนดให้ตุลาการแต่ละท่านต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตนให้เสร็จสิ้น เป็นหนังสือ…ก่อนลงมติ” อีกทั้งยังกำหนดให้คำวินิจฉัย “มีผลในวันอ่าน” (ดูระเบียบศาลเรื่องการทำคำวินิจฉัย http://bit.ly/KH82XB) กฎหมายย่อมมุ่งหมายให้คำวินิจฉัยทั้งของศาลและตุลาการแต่ละท่าน ต้องทำเสร็จสิ้นพร้อมเผยแพร่ในวันอ่านใช่หรือไม่ ?
 
การเปิดเผยคำวินิจฉัยทันทีหลังอ่าน นอกจากจะสมเจตนารมณ์กฎหมายแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ศาลต้องทำคำวินิจฉัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน อีกทั้งป้องกันไม่ให้ศาลหรือตุลาการมีโอกาสปรับแก้ถ้อยคำหรือปรับปรุงเหตุผลหลังจากได้ทราบความเห็นของประชาชนที่ฟังคำวินิจฉัย ที่สำคัญ การเปิดเผยอย่างครบถ้วนยังทำให้ประชาชนได้นำความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อยมาเป็นน้ำหนักถ่วงดุลความชอบธรรมของคำวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เสียงข้างอธิบายแต่เหตุผลของฝ่ายตนในคำวินิจฉัยกลาง โดยไม่ใส่ใจที่จะหักล้างเสียงข้างน้อยตามมาตรฐานทางกฎหมายที่พึงมี และใช้เวลานานกว่าจะเปิดเผยความเห็นจนประชาชนเสียงข้างน้อยก็ถูกเสียงข้างมากกลบทับไปหมดเสียแล้ว (ระเบียบศาลเปิดช่องให้ศาลมีเวลาโดยทั่วไปถึง 60 วัน นับจากวันลงมติก่อนจะส่งคำวินิจฉัยไปเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ดู http://bit.ly/JCYc93)
 
ดังนั้น เมื่อศาลทราบดีว่า ประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชนและนักวิชาการ ต่างให้ความสนใจต่อคดีรัฐธรรมนูญอันพึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามครรลองประชาธิปไตยปกติ แต่ศาลกลับไม่เผยแพร่คำวินิจฉัยทันทีหลังอ่านตามความมุ่งหมายของกฎหมาย และหลักกระบวนการยุติธรรมสากล ก็พึงพินิจว่า ควรเป็นศาลเองมิใช่หรือ ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบพร้อมกับประชาชน กับการวิพากษ์วิจารณ์ที่พึงจะเกิดขึ้นตามครรลองประชาธิปไตย ? และเมื่ออำนาจตุลาการคืออำนาจแห่งเหตุผลที่คุ้มครองประชาชนจากทรราช จึงควรเป็นความรับผิดชอบของนักนิติศาสตร์โดยเฉพาะผู้รับเงินภาษีประชาชนมิใช่หรือ ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบศาลแทนประชาชนอย่างแข็งขันและโดยสุจริตใจ ?
 
หากคำวินิจฉัยของศาลถูกตรวจสอบโดยการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ คำวินิจฉัยนั้นก็จะกลับมาเป็นภาพหลอนต่อสถาบันศาลและรัฐธรรมนูญเสียเอง.

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ราคานี้ยังได้ไม่คุ้มเสีย ฤาจะมีอะไรในกอไผ่

Posted: 19 May 2012 12:54 AM PDT

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตสตรีไทยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม  ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละประมาณ 6,000 คน หรือ เทียบเท่ากับอัตราป่วย 25 รายต่อประชากรหญิงแสนคนต่อปี (incidence rate = 25/100,000/yr.)(1) นั่นหมายความว่าในประชากรหญิงหนึ่งแสนคน จะมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 25 คน
 
นักวิทยาศาสตร์พบว่า การเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งมีหลายร้อยสายพันธุ์ การติดเชื้อไวรัสนี้มาจากเพศสัมพันธ์ แต่ใช่ว่าทุกคนที่มีเชื้อไวรัสนี้จะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก ไวรัส HPV มีสายพันธุ์หลักๆ 4 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70% ของทั้งหมด จึงนำสายพันธุ์เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นวัคซีนชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์ได้สำเร็จ โดยมีเงื่อนไขในการนำมาใช้ที่สำคัญคือ
 
1. จะเกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุดเมื่อฉีดในเด็กนักเรียนอายุ 10-13 ปี ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์
 
2. ต้องฉีดครบ 3 เข็ม ในเวลา 6 เดือน จึงมีประสิทธิภาพเต็มที่
 
3. ไม่สามารถทดแทนการตรวจหาเซลมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป็ปสเมียร์ (pap smear) ได้ เพราะแม้จะฉีดวัคซีนครบ แต่ยังมีโอกาสเกิดมะเร็งอีก 30% จึงยังจะต้องรณรงค์ให้มีการตรวจแป็ปสเมียร์ต่อไป
 
4. ห้ามฉีดในหญิงมีครรภ์  เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในด้านผลต่อทารกในครรภ์
 
เมื่อมองในมุมมองรายบุคคล วัคซีนนี้สามารถป้องกันการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% ซึ่งมีความน่าสนใจมาก แต่ในมุมมองด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่มองภาพรวมทั้งระบบและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่านั้นกลับมีวิธีคิดที่แตกต่าง การนำเสนอต่อไปนี้อาจมีความเป็นวิชาการอยู่บ้าง แต่ไม่ยากเกินไปในการทำความเข้าใจ กล่าวคือ
 
- อัตราป่วยที่ไม่มีการฉีดวัคซีน (Incidence Without Treatment) เท่ากับ 25/100,000 ประชากร/ปี    
 
- เมื่อฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย อัตราป่วยคาดว่าจะลดลง 70% (Relative risk reduction = 70%)
 
- ดังนั้นอัตราป่วยเมื่อมีการฉีดวัคซีน(Incidence with Treatment) จะเท่ากับ 7.5/100,000 ประชากร/ปี
 
- ในทางวิชาการ ตัวเลขอัตราป่วยที่ลดลงต่อประชากรนั้น ไม่ใช่ 70% เพราะไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะป่วยเป็นโรคนี้กันทุกคน  ดังนั้นอัตราป่วยสุทธิที่ลดลงหรือ Absolute Risk Reduction(ARR) จึงเท่ากับ อัตราป่วยเมื่อไม่มีการฉีดวัคซีนลบด้วยอัตราป่วยเมื่อมีการฉีดวัคซีน ซึ่งเท่ากับ 17.5/แสนประชากร/ปี
 
- เมื่อนำอัตราป่วยสุทธิที่ลดลง (Absolute risk reduction) มาคำนวณหาค่าจำนวนผู้ที่ต้องได้การรักษาทั้งหมดเพื่อให้เกิดผลกับคน 1 คน หรือ Number Needed to Treat (NNT) ด้วยสูตร NNT=1/ARR จะพบว่ากรณีนี้ ต้องฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายถึง 5,714 คน จึงหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกกับคน 1 คน/ปี
 
หรืออาจกล่าวได้ว่า ในประชากรเด็ก ป.6 จำนวน 400,000 คนที่จะได้รับวัคซีนนี้ในแต่ละปีนั้น เมื่อคำนวณอายุเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งคืออายุ 30-60 ปีหรือเท่ากับระยะเวลาเสี่ยง 30 ปี  คนที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกจะลดลงไป 2,100 คน แต่ก็ยังจะมีคนป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกอีก 900 คน ส่วนอีก 397,000 คนจะไม่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก  แต่ก็ต้องได้รับวัคซีนไปด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าใครบ้างที่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก 
 
ดังนั้นในการเปรียบเทียบความคุ้มค่า โดยคิดง่ายๆว่าวัคซีนเข็มละ 500 บาท รวม 3 เข็มเป็นเงิน 1,500 บาทแล้วมีความคุ้มค่าแน่นอนเพราะป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วค่ารักษาเป็นแสนนั้น เปรียบเทียบเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก หากใช้ตรรกะเช่นนั้น วัคซีนเข็มละแสนก็ยังน่าฉีด
 
แต่ตรรกะในทางวิชาการนั้น ให้คิดจากค่า NNT กล่าวคือในกรณีวัคซีนนี้ต้องฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย 5,714 คน จึงจะสามารถลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 1 คน/ปี หรือเท่ากับ 30 คนในตลอดช่วง 30 ปีเสี่ยงของชีวิตของคนกลุ่มนี้ นั่นหมายความว่า หากวัคซีน 3 เข็มราคาคนละ 1,500 บาท เมื่อคำนวณรวมราคาวัคซีนของคนที่ต้องฉีดโดยที่ไม่เป็นมะเร็งปากมดลูกตลอดช่วงอายุแล้ว  จะเท่ากับค่าวัคซีนถึง  285,000 บาทต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก 1 คน  นับเป็นการลงทุนที่แพงแสนแพงสำหรับประเทศไทย  และที่สำคัญเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ผู้หญิงทุกคนก็ยังควรจะต้องไปตรวจ pap smear เช่นเดิม เพราะยังมีโอกาสในการเกิดมะเร็งปากมดลูกอีก 30%
 
นักวิชาการในองค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อเสนอแนะต่อประเทศกำลังพัฒนาว่า  การให้วัคซีน HPV จะความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (cost-effectiveness) เมื่อราคาวัคซีนอยู่ที่เข็มละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 150 บาท และเป็นราคาที่องค์กรพันธมิตรโลกเพื่อวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือ GAVI (Global Alliance for Vaccines and Immunization) ได้ต่อรองจนได้ราคาที่ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 150 บาทแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังไม่ได้หยุดการต่อรองเพื่อให้บริษัทยาทั้งสองรายลดราคาลงอีก (2)
 
แต่วันนี้ประเทศไทยพร้อมที่จะลงทุนราคาแพงถึงราคาเข็มละ 500 บาท ด้วยงบประมาณปีละ 600 ล้านบาทสำหรับกลุ่มเป้าหมาย 4 แสนคน/ปี และเมื่อเริ่มฉีดแล้วก็คงไม่สามารถหยุดฉีดเพื่อมาต่อรองราคาได้อีก หากต่อรองราคาจนได้ไม่มากกว่าเข็มละ 150 บาทแล้วค่อยฉีดจะประหยัดงบประมาณได้ปีละกว่า 400 ล้านบาททุกๆปี ไม่ดีตรงไหน
 
ถ้ารัฐบาลอยากทันสมัยก็ไม่มีความจำเป็นต้องรีบซื้อในราคาสูง ภาษีประชาชนต้องใช้อย่างคุ้มค่า ปัจจุบันรัฐบาลยากจนถึงขนาดต้องลดงบบัตรทองหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2556 ลงไป 4.9% แต่ไฉนกระทรวงสาธารณสุขมาเร่งรีบใช้เงินอู้ฟู่กับโครงการจัดซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกราคาแพง ฤาจะมีอะไรในกอไผ่
 

เอกสารอ้างอิง
(1)    Sarikapan Wilailak. Epidemiologic report of gynecologic cancer in Thailand . Journal of Gynecological Oncology 2009;20(2):81-3.
(2)    GAVI Alliance. HPV ( human papilloma virus ) factsheet.  2012.  
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 'อากง' ผู้บริสุทธิ์

Posted: 19 May 2012 12:40 AM PDT

 
ในโลกไซเบอร์ของพวกสลิ่ม มีสมาชิกผู้หนึ่งได้โพสต์ข้อความอย่างหงุดหงิดว่า “อากงก็เป็นชาวบ้านธรรมดา ทำไมถึงให้ความสำคัญกันมากนัก” แต่ปรากฏว่า ฝ่ายเอเอสทีวีผู้จัดการ และกลุ่มฝ่ายขวา พยายามจะโจมตีว่า “ทักษิณ-เพื่อไทย-นปช.” เป็นฝ่ายที่พยายามเอาศพอากงมาหากิน โดยพยายามสร้างให้ชาวบ้านธรรมดาอย่างอากงกลายเป็น”ผู้เสียสละตลอดกาล”
 
ความจริงแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย หรือ นปช.เลย ที่ทำให้”ชาวบ้านธรรมดา”แบบอากง กลายเป็นคนสำคัญถูกเอ่ยถึงอยู่ในสื่อมวลชน แต่เป็นเพราะอากง หรือ นายอำพน ตั้งนพคุณ เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกดำเนินการภายใต้กระบวนการใส่ร้ายป้ายสี ถูกละเลยสิทธิการประกันออกมารักษาตัวทั้งที่ป่วยหนัก และในที่สุดอากงก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในเรือนจำเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ความตายของอากงนี้เอง กลายเป็นสิ่งที่จะท้อนความชั่วร้ายของมาตรา ๑๑๒ ความอำมหิตของศาลไทย และความล้มเหลวของระบบราชทัณฑ์ นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งสะท้อนความงมงายมืดบอดทางปัญญาของพวกสลิ่มฝ่ายขวาในสังคมไทยอีกด้วย
 
กรณีนี้ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังตำรวจหลายสิบคน ไปจับกุมนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” ที่บ้านพัก จังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ ทั้งนี้เพราะในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังกวาดล้างประชาชนคนเสื้อแดง ได้มีบุคคลลึกลับส่งข้อความทางโทรศัพท์ หรือเอสเอ็มเอส เป็นข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ไปยังบุคคลในคณะรัฐบาล ต่อมา นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงได้แจ้งความต่อทางการตำรวจ และเมื่อได้มีการสืบหาตัวคนร้ายแล้ว ทางการตำรวจพบว่า นายอำพนคือผู้ต้องสงสัย จึงได้ดำเนินการจับกุม
 
ความจริงนายอำพน หรืออากง ในขณะนั้นมีอายุ ๖๐ ปี แต่มีสถานะเป็นเพียงผู้สูงอายุคนหนึ่ง ที่เลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน ไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะสุขภาพไม่สมบูรณ์ โทรศัพท์ที่มีก็ไว้ใช้ติดต่อกับลูกหลานเป็นหลัก อากงได้ปฏิเสธข้อกล่าวหามาตั้งแต่ต้น โดยยืนยันว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ เคยพาหลานไปลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช และยังอธิบายว่า ตนเองส่งเอสเอ็มเอสไม่เป็น และไม่เคยรู้จักหรือทราบเบอร์โทรศัพท์ของเลขานุการนายกรัฐมนตรีเลย อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวนขั้นแรก อากงถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ๖๓ วัน จนถึงวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ หลังจากที่ทนายความขอยื่นประกันครั้งที่สอง ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี
 
ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ เมื่ออัยการยื่นฟ้องนายอำพลต่อศาล อากงก็เดินทางมาศาลตามนัดหมาย แต่กลับถูกศาลถอนประกันตัว โดยอธิบายว่า “ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้องกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและ ความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง คดีอยู่ในชั้นพิจารณา หากผลการพิจารณาสืบพยานมีหลักฐานมั่นคงจำเลยอาจหลบหนี” ตั้งแต่นั้นมา อากงก็ต้องติดอยู่ในเรือนจำจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
 
ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ศาลชั้นต้นก็ตัดสินว่า อากงมีความผิดคือ เป็นผู้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๔ ครั้ง ศาลจึงตัดสินจำคุกกระทงละ ๕ ปี รวมแล้วเป็น ๒๐ ปี ในที่นี้จะขออธิบายว่า ศาลตัดสินลงโทษในคดีนี้ทั้งที่หลักฐานอ่อนมาก โดยศาลเชื่อว่า โทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องเดียวกับโทรศัพท์ของอากง เพราะมีเลขอีมี่ของเครื่องตรงกัน ทั้งที่สืบสวนได้ว่า ผู้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นใช้เบอร์โทรศัพท์ของดีแทค ส่วนเบอร์ที่อากงใช้อยู่นั้นเป็นของทรูมูฟซึ่งเป็นคนละเบอร์ แต่ศาลก็อ้างว่าโทรศัพท์ที่อากงใช้ ก็เป็นโทรศัพท์ ๒ ซิมการ์ด อากงจึงสามารใช้ ๒ เบอร์สลับกันได้ ศาลไม่รับฟังคำอธิบายว่าในเดือนที่เกิดเหตุนั้น อากงเอาโทรศัพท์ไปซ่อม จึงไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความ โดยหักล้างว่า จำเลยไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอาโทรศัพท์ไปซ่อมที่ร้านไหน
 
ในประเด็นสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของอากง ก็คือ การที่โจทย์ไม่สามารถสืบพยานได้เลยว่ามีใครรู้เห็นเหตุการณ์ว่าอากงส่งเอสเอ็มเอส แต่ศาลอธิบายเกลื่อนประเด็นนี้ว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้อง ... แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน” คำอธิบายลักษณะนี้ ขัดกับหลักการของกฎหมายเบื้องต้นที่ว่า ในการตัดสินให้จำเลยมีความผิด ศาลจะต้องมีข้อพิสูจน์ให้เห็นอย่างสิ้นสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการ
 
ดังนั้น การตัดสินลงโทษอากงให้ถูกจำคุกถึง ๒๐ ปี จึงเป็นทั้งเรื่องของความไร้เหตุผลของมาตรา ๑๑๒ และเป็นการตัดสินคดีที่เกินกว่าเหตุ เพราะจำเลยไม่มีประวัติเป็นอาชญากรมาก่อนเลย และไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันว่าเป็นผู้ร้ายโดยสันดาน ไม่ได้ก่ออาชญากรรมอันใดที่ร้ายแรง เพราะการส่งข้อความเอสเอ็มเอสจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ส่งสารกับผู้รับสารเพียง ๒ คน ไม่ได้เป็นการก่ออาชญากรรมกับสังคมแต่อย่างใด นอกจากผู้รับข้อความแล้วไม่มีใครทราบข้อความนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะไปกระทบความมั่นคงต่อพระราชอาณาจักร แต่ สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ได้อธิบายไว้ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม  พ.ศ.๒๕๕๔ ว่า อากงนั้น เป็น “...บุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น...”
 
ในที่สุด เมื่ออากงเสียชีวิตในเรือนจำแล้ว ศาลถูกโจมตีอย่างหนัก เรื่องการละเมิดสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา จึงทำให้อากงต้องถึงแก่กรรมในคุก นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ออกมาแก้ต่างว่า คดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาไปแล้ว ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕ เนื่องจากประสงค์จะให้คดีสิ้นสุด และจะได้ใช้สิทธิยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้นเมื่อถอนอุทธรณ์ให้คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยก็ไม่สามารถยื่นประกันตัวอีกได้ ดังนั้น ความรับผิดชอบในเรื่องการเสียชีวิตของอากง จึงเป็นเรื่องความผิดพลาดของราชทัณฑ์ ไม่ได้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของศาล แต่เหตุผลนี้ถูกตอบโต้โดยทันทีจาก นายอานนท์ นำภา ทนายของอากง ซึ่งชี้แจงว่า ทนายได้ขอยื่นประกันมาแล้ว ๘ ครั้ง แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกัน และการไม่ได้ประกันตัวนี้เอง ทำให้อากงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ เพื่อให้คดีสิ้นสุด ทั้งที่อากงยืนยันเสมอว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความ หมายถึงว่ากระบวนการยุติธรรมไทยนั้น บีบบังคับให้จำเลยยอมจำนน ทั้งที่จำเลยยังยึดมั่นว่า ตนไม่ได้กระทำความความผิด
 
กรณีอากงถึงแก่กรรมในเรือนจำจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่สื่อมวลชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก โดยการเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศมักพุ่งไปทีสามประเด็นหลัก คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ปัญหาที่เกิดจากการใช้มาตรา ๑๑๒  และประเด็นเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ในยุคปัจจุบัน ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักของไทยยังเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ ดังนั้น พวกสลิ่มและสื่อมวลชนฝ่ายขวาทั้งหมด พยายามจะเสนอประเด็นว่า นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า และคนเสื้อแดง พยายามเอาศพอากงมาหากินเพื่อจะเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา ๑๑๒ เพื่อล้มเจ้า
 
ในกรณีนี้ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์  ผู้ประสานงาน ครก.๑๑๒ อธิบายว่า “ไม่มีใครอยากให้อากงเสียชีวิต เพียงหวังให้ มาตรา ๑๑๒ เป็นประเด็นที่สังคมกลับมาถกเถียงกันอีก คนปกติทั่วไปที่มีสามัญสำนึกดีจะไม่มีความคิดแบบนี้ นี่เป็นการโยงใยที่ไร้เหตุผลที่สุด แล้วน่ารังเกียจที่สุด มีแต่คนที่ชิงชังรังเกียจและตามืดบอดต่อปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา ๑๑๒ เท่านั้น ที่จะตั้งข้อสงสัยแบบนี้ได้”
 
นี่คือความมืดมนในสังคมไทย!
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฤาลมการเมืองกำลังเปลี่ยนทิศในรัฐเวสต์เบงกอลของอินเดีย

Posted: 19 May 2012 12:30 AM PDT

(1)

 
วันที่ยี่สิบพฤษภาคมนี้ที่จริงน่าจะเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบสามสิบห้าปีของการที่พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์) หรือ Communist Party of India( Marxist): CPI(M)[1]เป็นรัฐบาลปกครองรัฐเวสต์ เบงกอลของอินเดีย หากเป็นเช่นนั้นจริงๆผู้เขียนคงจะหาอะไรๆอันเป็น “สัญลักษณ์”ของ “ค้อนกับเคียว”เป็นของฝากให้กับเพื่อนๆที่เมืองไทยได้ไม่ยาก แต่กาลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะวันนี้กลายเป็นการฉลองครอบรอบหนึ่งปีที่พรรคการเมืองแนวเสรี-นิยมอย่างพรรคตรีนามูล คองเกรส (Trinamool Congress)ฉลองครบรอบการเป็นรัฐบาลในรัฐเวสต์เบงกอลไปเสียแล้ว ....ค้อนกับเคียวไม่ได้หายไปไหนหากแต่(เริ่ม)กลายเป็น “ของต้องห้าม”ในรัฐเวสต์ เบงกอล
 
(2)
 
ที่จริงมีสัญญาณที่เริ่มส่อให้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์) กำลังจะหมดความนิยมในเวสต์เบงกอล เริ่มเมื่อ 6 ปีก่อนเมื่อพรรคฯมาสะดุดขาตนเองจากการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างนโยบาย“ปฏิวัติเขียว”และหันไปส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมในตอนนั้นที่สำคัญก็คือคือโรงงานรถยนต์อีโค-คาร์ “ ตาต้า นาโน” (Tata Nano) ในตอนนั้นโดยรัฐบาลเวสต์ เบงกอลจะทำการเวนคืนที่ดินของชาวนามาเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตนานดิกราม ซิงกรู ปลายปี ค.ศ. 2006 จนถึงต้นปี ค.ศ.2007 รัฐบาลเวสต์ เบงกอลได้ใช้ความรุนแรงในการขับไล่ชาวนาออกจากพื้นที่นาที่จะปฏิรูปเป็นเขตอุสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นทั้งปัญญาชน นักเขียน นักการเมืองและนักศึกษาออกมาเดินเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกระทำดังกล่าว
 
ผลกระทบต่อเนื่องจากกรณีของนานดิกรามและซิงกรูที่ดูเป็นอะไรที่เป็นออกจะเป็นทางการ ก็คือการพ่ายแพ้การเลือกตั้งใหญ่สองครั้ง คือการเลือกตั้งโลกสภา (the Lok Sabha)ในปี ค.ศ. 2010 และการเลือกตั้งสภารัฐเวสต์เบงกอลในปี ค.ศ. 2011 ที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิตส์)แทบไม่เหลือที่นั่งทั้งในโลกสภาของรัฐบาลกลางที่กรุงนิว เดลลีและสภาของรัฐเวสต์เบงกอลเองอีกเลย[2] พร้อมๆกันนั้นทำให้พรรคตรีนามูลคองเกรสซึ่งเป็นพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นที่มีผู้นำหญิงอย่างมามาตา บานาจี (Mamata Bannerjee) เป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทะลาย และกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีระดับความสำคัญระดับชาติไปในทันที เพราะหลังจากนำพรรคตรีนามูลชนะการเลือกตั้งโลกสภาในปี 2010 นั้นเธอ็ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการรถไฟของอินเดีย
 
แต่นั้นยังไม่ใช่เป้าหมายของเธอเมื่อเธอประกาศว่าชัยชนะที่เธอต้องการคือ “การถอนรากถอนโคนพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์)ออกจากเวสต์เบงกอลให้ได้” เพื่อนๆชาวเบงกาลีเคยบอกกับผู้เขียนว่าสโลแกน “Anti-Communism” ของมามาตามีคนจำได้มากกว่าสโลแกนของพรรคตีนามูลที่ว่า “Ma, Mati, Manush” (Mother, Mati, People)เสียอีก ในอดีตมามาตาเคยเป็นนักเมืองของพรรคคองเกรส เคยลงสมัครเลือกตั้งในสภาของรัฐเบงกอลต่อสู่กับคู่แข่งจากพรรคคอมมิวนิสต์ฯมาตลอด และที่สำคัญเลยมามาตาเคยถูกทำร้ายกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ฯในขณะกำลังปราศัยหาเสียงเลือกตั้งปี ค.ศ.1990 แม้เธอจะชนะการเลือกตงในครั้งนั้น แต่พรรคคอมมิวนิสต์ฯก็ได้เป็นรัฐบาลยี่สิปปีให้หลังเธอกกลับมาทวงแค้นคืนได้สำเร็จในปี ค.ศ.2011 แม้ในขณะนั้นมามาตาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟของอินเดียและเป็นสมาชิกของโลกสภา แต่เธอประกาศไม่ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภารัฐเวสต์ เบงกอล ขอช่วยหาเสียงให้ผู้ลงเลือกตั้งคนอื่นๆในพรรคจนพรรคเธอชนะท่วมท้น หลังจากนั้นเธอจึงลาออกจากการเป็นสมาชิกโลกสภาและรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟรับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเวสต์ เบงกอล สิ่งที่เธอทำไม่น่าจะมีคำอธิบายเป็นอื่นนอกจากว่ามันเป็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์ทางการเมือง”ของการล้มคอมมิวนิสต์ฯ สิ่งหนึ่งนี้ยืนยันได้ ก็คือ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริการฮิลลารี คลินตันประสงค์จะเยือนรัฐเวสต์เบงกอลในเดือนพฤษภาคมปีก่อนหลังพรรคตรีนามูลชนะการเลือกตั้ง แต่ถูกยับยั้งจากที่ปรึกษาของเธอว่า “จะเป็นการแทรกแทรงการเมืองภายในของอินเดีย” หากจะกล่าวแบบวาทการกรรมของโลกที่ “อุดมการณ์ทางการเมืองยังไม่ได้สูญสิ้น”การเยือนของเธอดูจะเป็นการออกหน้าออกตาเฉลิมฉลองชัยไปกับการชนะของโลกเสรีนิยมที่มีต่อโลกสังคมนิยมอะไรปานนั้น แต่โทษที!! เวสต์เบงกอล ไม่ใช่เวสต์เบอร์ลินเมื่อ ปี ค.ศ.1989 ทีนี้!! ปัญญาชน มาร์กซิสต์เสรีนิยมสนับสนุนขบวนการเหมาอิสต์ ในขณะที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ (มาร์กซิสต์)ไล่ล่าพวกเหมาอิสต์ ...ที่นี้ (เคย) “แดง”ทั้งรัฐ
 
(3)
 
แต่ในท้ายสุด หนึ่งปีให้หลังนางฮิลลารีก็ได้มาชื่นชมบรรยากาศการเมืองแบบเสรีนิยมในเวสต์ เบงกอลสมความตั้งใจ หลังจากพบกับนายกรัฐมนตรีบังคลาเทศที่กรุงดาร์กาเธอก็มุ่งตรงสู่โกลกาตาเพื่อใช้เวลาในวันที่ 6 และ 7 พฤษภาคมพบกับผู้ว่าการรัฐเวสต์ เบงกอล กลุ่มเอ็นจีโอหญิง และเยาวชนสตรี หนังสือพิมพ์ประโคมข่าวว่าการมาของเธอนับเป็นครั้งแรกที่นักการเมืองระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยมาเยือนรัฐเวสต์เบงกอล แม้ไม่มีการรายงานถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการมาเยือน เพียงแต่แจ้งว่า “แวะพัก”ก่อนไปที่นิว เดลลี แต่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในเวสต์รายการว่าหมายกำหนดการถูกเซทขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการมาเยือนของเธอ แล้วยังย้ำว่าหากพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์)ยังคงครองอำนาจอยู่ “วันเช่นนี้คงไม่อาจเกิดขึ้นได้” ที่จริงฮิลลารีเคยมาโกลกาตาครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1997 ตอนมาเธองานศพแม่ชีเทราซากับประธนานาธิบดีคลินตัน ผมไม่แน่ใจว่าตอนนั้นเธอสะดุดตากับธงแดง สัญลักษณ์ค้อนเคียวบนผนังอาคาร อนุเสาวรีย์เลนิน หรือถนนโฮจิมินต์ บ้างหรือเปล่า
 
อย่างไรก็ดี ดูข่างต่างๆในหนังสือพิมพ์จะยกให้กับบรรยากาศหลังพรรคคอมมิวนิสต์ล้มสลายที่ทำให้บรรยากาศของการลงทุน (จากนักลงทุนทั้งอินเดียและต่างชาติ) กำลังจะเข้ามามีความสำคัญมากขึ้นในเวสต์ เบงกอล สำหรับการมาเยือนของฮิลลารีแม้จะมีการต้อนรับอย่างเป็นทางการโดยผู้ว่าการรัฐมามาตาที่อาคาร Write Building อันเป็นเหมือนที่ทำการของรัฐบาลเวสต์ เบงกอล แต่ก็ว่ากันว่าจะไม่มีการพูดถึงเรื่อง “ธุระทางการ”ระหว่างมามาตากับฮิลลารี หลังจากนั้นสองวันข่าวก็รายงานว่าในเวบไซต์ของสำนักกงสุลอเมริกันในอินเดียก็ปรากฏรายงานว่าคณะของฮิลลารีและบุคคลในรัฐบาลของเวต์เบงกอล ได้มีพูดคุยถึงการลงทุนของนักลงทุนอเมริกัน โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมไอทีและการค้าปลีกในรัฐเวสต์ เบงกอล ซึ่งต่อมารายการดังกล่าวได้ถูกรัฐบาลเวสต์ เบงกอลขอให้ทางกงศุลอเมริกันลบออกจากเวบไซต์ การเชือเชิญนักลงทุนเข้ามาในเวสต์เบงกอลน่าจะเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” ที่สำคัญของรัฐบาลของมามาตา เมื่อรัฐเวสต์เบงกอลโดยเฉพาะกัลกัตตาตลอดช่วงที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นเมืองแห่งการสไตรค์ มีสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานย่อยๆที่เข้มแข็ง ขบวนการฝ่ายซ้ายต่อต้านทุนจักวรรดิ์นิยม ดังนั้น ที่ผ่านมาหากเทียบกับรัฐอื่นๆที่ผ่านมาเวสต์เบงกอลจึงดูไม่ค่อยมีบรรยากาศของการส่งเสริมการลงทุนมากนัก สิ่งสำคัญ “ที่ดิน”อันเป็นปัจจัยสำคัญของการลงทุนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่รัฐบาลของมามาตายังไม่อยากแตะในตอนนี้
 
 
 (4)
 
โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวสต์เบงกอลหลังยุคคอมมิวนิสต์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองเวสต์ เบงกอลอย่างแน่นอน และผลต่อโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของสหพันธรัฐอินเดียไม่มกก็น้อย แต่มันจะนำไปสู่มิติใดบ้างคงเร็วเกินไปที่จะกล่าวถึงหรือคาดการณ์ในขณะนี้ ผู้เขียนในฐานะคนนอกคงไม่อาจกล่าวอะไรได้ว่า 30 ปีกว่าที่พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์) ปกครองเวสต์ เบงกอลมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็คิดว่าประชากรกว่า 90 ล้านของเวสต์ เบงกอลน่าจะรู้และเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเองไปเรียบร้อยแล้ว คุณป้ามามาตา บันนาจีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงไปและสิ่งที่กำลังจะเกิดตามมาในรัฐเวสต์ เบงกอล
 


[1]ในอินเดียพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองถูกกฏหมายและมี 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย( Communist Party of India:CPI)ที่มีฐานเสียงในรัฐเคราล่า และพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์) ( Communist Party of India(Marxist):CPI(M))ที่อยู่ในเวสต์ เบงกอล
[2]ในกรณีนี้พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์)มีที่นั่งในโลกสภามาตลอดและบ้างสมัยร่วมยังจัดตั้งรัฐบาล กลาง-ซ้ายกับพรรคคองเกรสสำหรับในสภาเวสต์เบงกอลพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์)ครองเสียงข้างมาก มาตลอดตั้งแตปี ค.ศ.1977-2011 แต่กลุ่มที่รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลในรัฐเวสต์ เบงกอลจะเรียกว่า “แนวร่วมพันธมิตรฝ่ายซ้าย”หรือ “Left Front” อันประกอบไปด้วยพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์) และพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นหลายพรรคในเขตเวสต์เบงกอล การรวมตัวดังกล่าวเพื่อต้านกระแสพรรคคองเกรส ดังนั้น “การเมือง”ในระดับชาติและระดับรัฐของอินเดียจึงค่อนข้างมีความซับซ้อนและไม่ได้ทีระนาบของความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น