โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คุยกับคนเชิญการ์ดงานศพ 'อากง' สู่มือ ศาล ตำรวจ นักการเมือง และกรรมการสิทธิ

Posted: 12 May 2012 12:29 PM PDT

 

 

นิธิวัต วรรณศิริ ตัวแทนจากกลุ่มเสรีราษฎรเป็นบุคคลผู้ที่ตระเวนเยี่ยมเยียนนักโทษทางการเมืองและผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นและอย่างสม่ำเสมอ ‘อากง’ ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่เขาดูแลใกล้ชิดและมีส่วนร่วมในการฟังคดีแทบทุกครั้ง

หลังการเสียชีวิตของอากง หนุ่มวัยยี่สิบกว่าที่ผูกพันกับอากงเสมือนเป็นญาติของเขาคนนี้ได้ทำการ์ดเชิญร่วมสวดอภิธรรมศพอากงฉบับขยายใหญ่ ตระเวนยื่นให้แก่บุคคลที่เขาเห็นว่า มีส่วนร่วมต่อการกำหนดชะตากรรมของอากงที่ลงเอยด้วยการเสียชีวิตในเรือนจำ

11 พ.ค.55 เขาเดินทางไปรัฐสภาเพื่อนำการ์ดเชิญให้ ‘สมเกียรติ ครองวัฒนสุข’ อดีตเลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเขาเป็นผู้ได้รับข้อความ 4 ข้อความและแจ้งความต่อตำรวจ

อย่างไรก็ตาม นายวิโรจน์ นุ่นสุวรรณ์ ตัวแทนที่ประชุมฝ่ายค้านในรัฐสภาของพรรคประชาธิปปัตย์ เป็นตัวแทนลงมารับการ์ดเชิญโดยระบุว่านายสมเกียติไม่ได้เข้ามาทำงานที่สภาในวันนั้น

วันเดียวกัน เขาและคณะราว 3-4 คนเดินทางไปยังศาลอาญา เพื่อนำการ์ดไปให้กับอีก 3 คือ  ‘ทวี ประจวบลาภ’ อธิบดีศาลยุติธรรม ซึ่งเพิ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าศาลไม่สามารถพิจารณาให้ประกันตัวได้เนื่องจากจำเลยถอนอุทธรณ์ทำให้คดีถึงที่สุดแล้ว

ต่อมาคือ ‘สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ’ โฆษกศาลยุติธรรม ซึ่งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เรื่อง “อากงปลงไม่ตก” ตอน 1 และตอน 2 ผู้สร้างความฮือฮาด้วยวาทะ “สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก”

และสุดท้ายคือ ‘ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาที่ตัดสินพิพากษาโทษ 20 ปี

ในคราวนี้ สุชาดา แก้วทรงประสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ศาลอาญา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับบัตรเชิญดังกล่าว ต่อมาเว็บไซต์มติชนรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อธิบดีศาลอาญาเตรียมถกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนส่งหรีดให้ "อากง"

ไม่เพียงเท่านั้น นิธิวัตและคณะยังคงวางแผนที่ดำเนินกิจกรรมต่อ โดยในวันจันทร์ที่ 14 พ.ค.นี้ จะนำบัตรเชิญไปส่งถึง ‘พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู’  จาก ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี)  ที่นำกำลังตำรวจเข้าจับกุมตัวอากงนับสิบนาย และ ‘อมรา พงศาพิชญ์’ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยเขาระบุว่าเหตุผลว่า “เป็นเพราะเงียบมาตลอด 481 วัน ที่อากงไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และก็ยังคงเงียบต่อมาอีก 5 วัน ที่อากงต้องเสียชีวิตคาเรือนจำ”

000000

ทำไมจึงคิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา มีวัตถุประสงค์อะไร
ในฐานะของประชาชนคนหนึ่งที่ติดตามคดีอากงมาอย่างใกล้ชิด เราเคยร่วมกัน "ขอความเมตตา ขอความเป็นธรรม" กับบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จนสุดท้ายเราไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ในทางที่ดีขึ้น จนเราต้องสูญเสียอากงไป

เราจึงคิดว่า ท่านทั้งหลายที่เรานำบัตรเชิญไปให้นั้นคือผู้ที่มีส่วนรับรู้ รับทราบ และเคยกุมกุญแจบางอย่างของชะตากรรมอากงไว้ แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะไม่ใช้สิ่งนั้นในยามที่อากงยังมีชีวิต ภายในงานศพอากง อาจจะนับเป็นโอกาสสุดท้าย หากท่านเหล่านั้นยังมีมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ มากกว่าการตกเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์อะไรบางอย่างมาทำลายชีวิตชายชราผู้บริสุทธิ์วัย 62 ปีคนหนึ่ง

 

ปฏิกิริยาของคนที่ได้รับการ์ดเชิญเป็นอย่างไร
ไม่มีใครยอมลงมารับด้วยตนเอง ทุกคนส่งตัวแทนลงมา สำหรับนายสมเกียรติ (ครองวัฒนสุข) ผู้แจ้งความอากง ตัวแทนอ้างว่าวันนั้นไม่ได้เข้ามาทำงานที่สภา สำหรับตัวแทนจากศาล บอกว่าผู้บริหารศาลทุกท่านกำลังติดประชุมอยู่ พอยื่นเสร็จบ่ายสองโมงกว่าๆ ก็มีข่าวลงว่า อธิบดีศาลอาญาจะปรึกษากับผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนว่าจะส่งพวงหรีดมาร่วมหรือไม่ และโฆษกศาลยุติธรรมที่ได้รับบัตรเชิญด้วยนั้นติดภารกิจอยู่ต่างประเทศจะกลับมาหลังวันที่ 18 พ.ค. ซึ่งงานสวดศพอากงจะเสร็จสิ้นในวันที่16 พ.ค.

อย่างน้อยเราก็ได้เห็นฟีตแบ็คจากศาล ซึ่งหากเป็นช่วงที่ไม่เกิดวิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรมแบบตอนนี้ ผมเดินเข้ามายื่นในศาลแบบนี้คงถูกคดีหมิ่นศาลไปแล้วก็เป็นได้

ต้องการให้คนที่ถูกเชิญมางานจริงๆ หรือเป็นเพียงสัญลักษณ์สื่อสารกับสาธารณะ
ถามว่าอยากให้มารึเปล่า ผมคงตอบแค่ว่า ผมเคยเห็นเขาเหล่านั้น "อยากมีส่วนร่วม" กับ "คดีอากง" ทางหน้าสื่อ อยู่แต่เดิมแล้ว ก่อนอากงเสียบ้าง หลังอากงเสียบ้าง หากพวกเขามีแนวคิดว่าสิ่งที่เขากระทำเหล่านั้นไม่ได้ขัดต่อหลักมนุษยธรรม หรือตกเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์อะไรบางอย่างที่ทำให้ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเสียชีวิตคาคุก ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่เขาจะมาร่วมหรือไม่มาก็ได้

เอาเข้าจริง ถ้ามาก็อาจโดนชาวบ้านรุมด่า แต่ถ้าหากเป็นผม ถ้าผมมี "ส่วนรวม" ใดๆ ที่สร้างความชอบธรรมให้กับ "การขังอากงจนตาย" ผมคงยอมไปโดนด่า เพื่อแสดงตนว่าไม่ได้อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่ทำไปตามหน้าที่ พอถึงงานศพ  "ตัวบุคคล" จึงต้องมาร่วมแสดงมนุษยธรรม หากจะโดนใครด่าก็เป็นเรื่องที่เป็นบทเรียนที่ชาวบ้านจะสะท้อนถึงท่านๆเหล่านั้นนั่นเอง

ตัวผมเองแค่มาเชิญพวกท่านในนาม "บุคคล" ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะหัวโขนอะไร ตำแหน่งอะไรก็ตามแต่ ผมไม่ได้จะไปด่าทอ หากแต่ท่านเหล่านั้นก็คือบุคคลที่ "เป็นมนุษย์ขี้เหม็นธรรมดาๆ" เหมือนกับประชาชนอย่างเราๆ ทุกๆคน เช่นกัน อาจจะพอมีจิตใจของมนุษย์อยู่มากกว่าหัวโขนที่สวมใส่อยู่บ้างก็เป็นได้ ก็เท่านั้นเองครับ


เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือตัวบุคคล กิจกรรมนี้มุ่งที่ตัวบุคคลไปไหม?
แน่นอนมันเป็นปัญหาที่ตัวโครงสร้าง และปัญหาหนึ่งของโครงสร้างนั้นคือเรายังแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์ระบบอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ เพราะมีกฎหมายหมิ่นศาล และระบบตุลาการก็ไม่มีอำนาจอะไรจะไปตรวจสอบถ่วงดุลได้ และระบบนี้ใช้ตัวบุคคลที่ถูกตีกรอบตามอุดมการณ์อะไรบางอย่างมาใช้เป็น เครื่องมือ และในเมื่อเราแตะที่ตัวระบบอย่างเต็มที่ไม่ได้ ถ้าเปรียบเป็นเครื่องจักร การทำกิจกรรมนี้ก็เหมือนไล่เลาะไล่ตรวจสอบดูฟันเฟืองแต่ละตัว ว่าทำงานแบบฟันเฟืองตายตัวหรือเป็นฟันเฟืองที่มีชีวิตและจิตวิญญาณ รับรู้ความผิดพลาดของโครงสร้างเครื่องจักร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ : ‘Jan Krogsgaard’ คนเขียนบทหนังสารคดี Burma VJ “สื่อที่อยู่ในมือเรานั้นมีพลังทำให้เปลี่ยนแปลงได้”

Posted: 12 May 2012 09:17 AM PDT

Jan Krogsgaard ผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นคนเดินทางเก็บข้อมูลในพื้นที่มายาวนาน ก่อนจะมาเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์สารคดี Burma VJ จนโด่งดังไปทั่วโลก      

    


 

 

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เบอร์ม่า วีเจ’ (Burma VJ) เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพนักข่าวในพม่า รวมถึงการปราบปรามกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนพม่าที่ออกมาประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2550 ที่ผ่านมา แน่นอน นอกจากภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2553 แล้ว เบอร์ม่า วีเจ ยังกวาดรางวัลมาแล้วกว่า 50 รางวัลจากเทศกาลหนังทั่วโลก อาทิ รางวัล World Cinema Documentary Film Editing Award รางวัล Golden Gate Persistence of Vision Award รวมทั้งยังถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลประเภทหนังสารคดีในการประกาศผลรางวัลหนังยุโรป (European Film Academy Documentaire 2009 - Prix Arte) ด้วย

นั่นทำให้ MR.JAN KROGSGAARD ชาวเดนมาร์กคนนี้กลายเป็นผู้โดดเด่นขึ้นมาทันใด เนื่องจากเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นคนเดินทางเก็บข้อมูลในพื้นที่มายาวนาน ก่อนจะมาเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์สารคดี Burma VJ จนโด่งดังไปทั่วโลก                  

ทำไมคุณถึงมาสนใจเรื่องพม่า?

ที่ผ่านมา ผมสนใจเรื่องราวของเอเชียอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงแรกๆ นั้นผมอยากทำเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม นั่นทำให้ผมตัดสินใจเดินทางออกจากเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี 1995 ด้วยประเด็นที่อยากรู้ อยากเข้าไปตรงนั้น แต่ว่าการเดินทางครั้งนั้นของผม ผมเริ่มจากบินมาเมืองไทยก่อน หลังจากนั้น จึงออกเดินทางไปลาว ไปอยู่ที่ลาวก่อน ยอมรับว่าลาวเป็นเมืองที่สวย แต่มันยังไม่มีประเด็นที่จะนำมาเป็นหนังสารคดีได้เลย                  

ระหว่างนั้น ผมก็เทียวไปเทียวมาระหว่างลาวกับไทย ก็ได้เจอผู้คนในในเชียงใหม่ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกันในเรื่องพม่า แล้วเรื่องพม่าก็เริ่มเข้ามาอยู่ในหัวผมตลอดเลย จากเดิมตั้งใจไปอยู่ ไปดูเวียดนามกับลาว ก็เลยบวกเพิ่มพม่าอีกประเทศหนึ่ง ตอนนั้นจังหวะประจวบเหมาะกับปัญหาในพม่ามันรุนแรงมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ปี 1988 ปัญหามันก็เยอะขึ้น ผมจึงตัดสินใจไปเที่ยวพม่าสองเดือน พอไปถึงพม่าปุ๊บ ก็ได้เห็นเรื่องราว จากความตั้งใจเดิมคือเรื่องเวียดนามก็กลับมาเป็นเรื่องของพม่า แล้วผมก็มีความฝันว่าทำอย่างไรถึงจะทำเป็นหนังสารคดีให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพม่าได้

ตอนที่คุณไปพม่าครั้งแรก คุณไปด้วยสายตานักท่องเที่ยวหรือในมุมมองของสื่อ?                              

ผมเดินทางไปพม่า ในปี 2002 ตอนนั้นผมตัดสินใจไปเพราะว่าอยากทำสารคดี อยากจะไปค้นหาข้อมูลเพื่อหาประเด็นมาทำหนังสารคดีก็เลยเริ่มเดินทาง ผมเริ่มไปเยือนเมืองทางตอนเหนือของพม่า พอออกจากเมืองมัณฑะเลย์ ก็จะเข้าที่รัฐฉาน แล้วก็จะมีเมืองที่เป็นทางผ่าน ซึ่งเมืองเหล่านั้นก็จะมีกองกำลังทหารอยู่เต็มไปหมด ผมก็เข้าไปแอบถ่ายวิดีโอ ตอนนั้นก็รู้สึกกลัวเหมือนกันนะ แต่จะซ่อนกล้องเล็กๆ ไป จ้างรถให้ไปส่ง แล้วรถก็พาผมเข้าไปในค่ายทหาร ผมก็ซ่อนกล้องเอาไว้ถ่ายด้วย                                   

เหมือนว่าคนที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่ายังต้องอยู่กับหวาดหวั่น?

ผมก็รู้สึกว่าชาวบ้านนั้นน่าสงสาร รู้สึกหดหู่ใจ แม้แต่ในบรรยากาศก็สัมผัสได้ว่ามันหดหู่ มันเศร้า มันมีบรรยากาศที่ไม่ค่อยดี พอได้ไปเจอและได้สัมผัสความรู้สึกเอง คิดว่าความรู้สึกนั้นมันหนักหน่วงมากสำหรับชาวบ้าน ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าอยากทำสารคดีมากขึ้น

หลังจากนั้นคุณใช้วิธีเก็บข้อมูลอย่างไรบ้าง นอกจากใช้กล้องวีดีโอซ่อนแอบถ่ายแบบนั้น?

ก็เก็บข้อมูลจากการเดินทาง ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แล้วก็คุยผ่านล่าม หลังจากนั้นผมก็กลับมาสัมภาษณ์นักข่าวและองค์กรต่างๆ ที่แม่สอด ซึ่งผมก็สัมภาษณ์คนหลายๆ คนในแม่สอด อย่างคนแรกที่ผมไปเจอ ก็คือผู้ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี ร่วมกับอองซาน ซูจี ชื่อ วิน แคะ ตอนนี้อายุก็ค่อนข้างเยอะแล้ว รวมไปถึงนายพลของทหารกะเหรี่ยง ผู้ลี้ภัย นอกจากนั้นยังมีอดีตทหารพม่า คนที่เคยเป็นทหารที่อยู่กับกองทัพของพม่าแล้วลี้ภัยเข้าไปอยู่แถวแม่สอด รวมไปถึงกลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่น และพูดกับอีกหลายๆ คน

ใช้เวลานานไหมในการเก็บข้อมูลทั้งหมดนี้?

ก็เก็บข้อมูลอยู่แถวแม่สอดประมาณ 3 เดือน พอเก็บข้อมูลได้แล้ว ผมก็คิดว่าจะทำสารคดีสักเรื่องหนึ่ง คือความจริงผมมีเพื่อนร่วมงานอยู่แล้ว แต่พอเก็บข้อมูลมาได้แล้ว ปรากฏว่าคุยกันไม่ลง ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ก็เลยหยุด แล้วผมก็ให้งานให้ข้อมูลเหล่านี้กับเพื่อนไปเลย ส่วนผมก็พักไปสักช่วงหนึ่ง แล้วก็เริ่มกลับมาพัฒนาใหม่จนกลายมาเป็น เบอร์ม่า วีเจ

ตอนแรกคุณตั้งใจทำเป็นรูปแบบสารคดี แล้วทำไมถึงปรับกลายมาเป็นภาพยนตร์สารคดี เบอร์ม่าวีเจ ได้ยังไง?

คือความจริงแล้วก่อนหน้านั้นผมอยากทำรูปแบบสารคดีนะ แต่พอจะลงมือทำจริงๆ ก็เลยอยากจะทดลองพยายามหาวิธีเล่าเรื่องใหม่ๆ เพราะว่าเรารู้มีคนทำสารคดีเกี่ยวกับพม่าเยอะเหมือนกัน ผมก็เลยคิดว่าน่าจะมีกลวิธีใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องแบบนี้บ้าง

รวมไปถึงเป็นการง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อผลิตงานชิ้นนี้ด้วย?           

ใช่ เพราะว่าเวลาเราจะไปหาเงินทุน มันจะมีหัวข้อเรื่องพม่าอยู่แล้ว ทีนี้ส่วนใหญ่เรื่องเล่า วิธีการนำเสนอ วิธีการมันค่อนข้างคล้ายๆ กัน เวลาไปคุยกับโปรดิวเซอร์ ผมก็เลยนำเสนอเรื่องใหม่ แล้วก่อนหน้านั้น การที่ผมเข้าไปคุยกับคนนั้นคนนี้เพื่อหาข้อมูล ก็ได้ไปรู้จักองค์กรสื่อ DVB(สำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า) จึงหยิบมานำถ่ายทอดเรื่องราวข่าวและสารคดีทุกอย่างผ่านสื่อตรงนี้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่า เราน่าจะเล่าเรื่องโดยคนพม่าที่อยากจะมาถ่ายทอดเรื่องราวของประเทศพม่า                                                     

พอผมเริ่มรู้แล้วว่า ทิศทางมันจะไปทางไหน ก็เลยไปหาโปรดิวเซอร์  แล้วอยากหาผู้กำกับสักคนหนึ่งเพื่อทำให้เรื่องนี้มันไปได้ต่อ พอรอคำตอบได้แล้ว ก็เริ่มมีเงินเข้ามาในโปรเจ็กต์ ผมก็เลยกลับเข้ามาเชียงใหม่อีกรอบ และก็ได้คุณแซม สิทธิพงษ์ กลยาณี ช่างภาพสารคดี ผู้ร่วมก่อตั้ง "เอเชียทัศน์" มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์พื้นที่ หลังจากนั้น จึงเริ่มหาข้อมูลเพื่อจะพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ เบอร์ม่าวีเจ เมื่อปี 2005

คุณมารู้จักกับคุณแซม หรือสิทธิพงษ์ กลยาณี ได้ยังไง?

คือตอนที่ผมไปเชียงใหม่ ตอนนั้นมีโครงการอยู่แล้วว่าอยากทำเรื่องราวเกี่ยวกับพม่า เพราะว่าช่วงนั้นคนที่จะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพม่ามันมีน้อยมาก ท้ายที่สุดมาก็มาเจอคุณแซม เราเจอกันเมื่อปี 2002 ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ก็เลยได้พูดคุยกัน แต่เจอครั้งแรกก็ไม่ได้คุยอะไรกันมาก คุณแซมก็จะให้ดูวีดีโอเก่าๆ ของคนนั้นคนนี้ที่มันเกี่ยวกับพม่า ผมก็เกิดนึกอยากไปถ่ายบ้าง คุณแซมก็เลยให้ยืมขาตั้งกล้องก็บอกว่า เอาไปเลยสามเดือนสี่เดือนก็ไม่เป็นไร ก็เลยรู้สึกว่าเริ่มคุ้นเคยและสนิทกับคุณแซมมากยิ่งขึ้น พอมาตอนหลัง ผมอยากทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องเบอร์ม่าวีเจ ผมก็รู้เลยว่าโปรเจ็กต์นี้จะขาดคุณแซมไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นผู้กว้างขวาง เขารู้จักหลายๆ คนในพื้นที่                                                                    

ใช้เวลาในการทำโปรเจ็กต์นี้นานเท่าไหร่?

ถ้าจะให้เริ่มต้นเบอร์ม่าวีเจ จริงๆ นี่ผมขอย้อนไปตั้งแต่ปี 2002 เลยนะ ที่ไปหาข้อมูลมาแล้วปรากฏว่ามันพลิกล็อกกับเพื่อน พอถึงปลายปี 2004 ก็เริ่มได้คุยกับทีมใหม่ และเริ่มหาเงินกัน เริ่มโครงการจริงๆ ตอนปี 2005 แล้วก็หาข้อมูลอีก 6 สัปดาห์ จากนั้นก็เริ่มวางแผนว่าจะถ่ายทำเมื่อไหร่ แล้วก็ไปเจอผู้กำกับกับตากล้อง ก็เลยไปชวนเขามาเก็บข้อมูลครั้งแรกที่เชียงใหม่ และไปถ่ายทำที่แม่สอด หลังจากนั้นก็กลับมาทำอีกในปี 2008 แล้วก็เอาไปตัดต่ออีก กว่าจะทำอะไรจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็ประมาณปี 2008 ซึ่งถือว่าใช้เวลานานมาก

หลังจากเบอร์ม่า วีเจออกฉาย ได้มีการพูดถึงมากขึ้น มีกระแสตอบรับในแต่ละประเทศอย่างไรบ้าง?

ถ้าในประเทศพม่า ส่วนใหญ่แล้วเขาไม่ค่อยรู้จักเบอร์ม่า วีเจ กันเท่าไหร่นะ แต่จะรู้จักแค่เฉพาะอองซานซูจี แต่สำหรับคนที่เป็นนักข่าวอาสาสมัครจะมีผลค่อนข้างเยอะมาก เพราะว่าสื่อมันสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายอย่าง และวิธีการทำงานมันค่อนข้างมีการตอบรับที่ดีขึ้น แต่พอเรื่องนี้ออกไปฉายทั่วโลก คนก็ไม่ได้คิดว่าประเทศพม่ามีแค่อองซานซูจีเท่านั้น และคนก็ยังรู้ว่ามันก็ยังมีนักข่าวที่พยายามทำหน้าที่นี้อยู่ คนก็เริ่มรู้จักว่า ยังมีอะไรอีกเยอะที่อยู่ข้างหลังประเทศนี้อีก มีคนดูหนังเรื่องนี้สามสิบกว่าล้านคน ส่วนใหญ่นอกจากไปตามโรงหนัง ก็จะเห็นในทีวีช่อง HBO ด้วย ผมก็ได้ไปเป็นตัวแทนของหนังเรื่องนี้ที่จัดฉายให้กับกลุ่ม ส.ส.ของญี่ปุ่น บางคนดูแล้วก็ถึงกับน้ำตาไหลออกมาเลย

มาถึงตอนนี้ เบอร์ม่า วีเจได้รับกี่รางวัล?   

51 รางวัล ล่าสุดนี่ได้รางวัลของ PUMA เขาก็จะเลือกให้กับหนังหรือว่ากิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมันเกิดผลกระทบของคนในสังคม ซึ่งรางวัลต่างๆ ที่ได้มาเป็นตัวเงินนั้น บริษัทที่ทำหนังก็ได้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง ส่วนที่สองก็คือ เรามอบให้กับองค์กรสื่อของดีวีบี ส่วนที่สามก็ให้กับเบอร์ม่า วีเจ หรือนักข่าวในพม่าที่อยู่ในสังกัดเพื่อเป็นทุน เป็นขวัญกำลังใจในการทำงานกันต่อไป

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ มันสะเทือนไปถึงรัฐบาลทหารพม่าบ้างไหม?

ตอนแรกๆ ที่หนังเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป เขาก็โกรธอยู่แล้ว แต่ว่าช่วงนั้น ทางรัฐบาลเขาก็จะมีข้อกำหนดที่ว่า ถ้าไปค้นบ้านไหนแล้วเจอดีวีดีเรื่องนี้ครอบครอง หรือว่าคนนั่งดูอยู่ ก็จะโดนจับเข้าไปจำคุกหนึ่งเดือน สองเดือน หนึ่งปีก็แล้วแต่ แล้วมันก็ยังส่งผลต่อนักข่าวที่ทำงานให้กับสำนักข่าวท้องถิ่นในย่างกุ้งด้วย ก็จะถูกจำกัดสิทธิ ถ้ารู้ก็จะโดนเข้าไปอยู่ในคุก

ตอนนี้กระแสของรัฐบาลพม่าเริ่มเปลี่ยนไป คุณมีมุมมองตรงนี้อย่างไร ในขณะที่นักข่าวพม่าหลายคนยังคงถูกจับอยู่?

ตอนนี้นักข่าวที่ถูกจับเข้าคุกได้รับการปล่อยตัวบ้างแล้ว แต่ยังไม่หมด แต่ว่าก็ค่อยๆ ปล่อยมาเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีการเซ็นเซอร์แล้ว สถานการณ์มันก็ดีขึ้นนะ อย่างเรื่องสื่อ ล่าสุดปีที่แล้วยังมีการจัดเทศกาลหนังที่พม่าเป็นครั้งแรก แล้วก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ หนังอะไรออกมาหรือว่าข่าวอะไรออกมาจะจับเซ็นเซอร์เหมือนเมื่อก่อนหมด แต่อาจจะมีขั้นตอนบ้าง แต่ก็ค่อนข้างดีขึ้นนะ

ในอนาคตถ้าพม่าเปิดประเทศเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ นั่นอาจทำให้ทั้งอาเซียน ทั้งตะวันตก กระหายและเตรียมพุ่งเข้าไปมากขึ้น คุณคิดว่ามันจะส่งผลอย่างไรต่อประชาชนพม่า?

คิดว่าทุกคนทุกฝ่ายก็คงอยากจะเข้าไปกอบโกยเอาผลประโยชน์นั่นแหละ แต่จะให้รัฐบาลทหารพม่านั้นกลับไปเป็นเหมือนเดิมอย่างเก่าก็คงค่อนข้างยาก อาจจะค่อยๆ เปลี่ยน แต่ว่าก็สามารถทำได้ ถ้าต้องการ แต่ว่าถ้าทำแล้วก็อาจจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างเช่น หลังจากเหตุการณ์ปี 88 แล้วมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1991 สุดท้ายรัฐบาลทหารพม่าก็ยังกลับลำได้ ล้มการเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรต่อไป ก็ไม่แน่ใจนะว่าหลังเลือกตั้งเดือนเมษายน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า และผมคิดว่ามันน่าจะส่งผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

คิดว่าในอนาคตข้างหน้าไปจะก้าวไปบนหนทางสันติสุขหรือขัดแย้งมากขึ้น?

ถ้าเราไปประเทศพม่า เราไม่สามารถเดาอะไรได้เลย แต่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าครั้งนี้ มันอาจไม่ได้เกิดขึ้น หรือส่งผลกับรัฐที่อยู่รอบๆ นอกอย่างกลุ่ม คะฉิ่น กะเหรี่ยง ถ้าเป็นแบบนี้ข้างในมันน่าจะเหมือนดูดีเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง ในเนปิดอว์ เท่านั้น แต่เมืองที่อยู่รอบนอก อย่างกลุ่มคนมอญ คนกะเหรี่ยงก็ยังมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่ ผมคิดว่าถ้าผมเป็นคนพม่าที่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง หรือเมืองมัณฑเลย์ ผมคิดว่าผมก็คงไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงจริงหรือ                            

คุณคิดว่าประชาชนชาวพม่าจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไหม?

อาจจะค่อยๆ ดีขึ้น และผมคิดว่าน่าจะมีเงินไหลเข้าไปในพม่ามากขึ้น อย่างตอนนี้ก็จะมีรัฐบาลหลายๆ ประเทศ อยากจะสนับสนุนองค์กรต่างๆ แต่ว่าต้องเป็นอยู่ประเทศพม่าไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องอยู่ฝั่งไทย แต่ว่าส่วนใหญ่ที่เขาให้ก็จะมุ่งไปที่การศึกษาความเป็นอยู่เบื้องต้น

หลังจากทำเบอร์ม่าวีเจ สำเร็จแล้ว คุณอยากทำอะไรเกี่ยวกับพม่าอีกหรือไม่?

ยังไม่รู้เลย แต่ก็อยากกลับเข้าไปพม่าอีกรอบ แล้วเที่ยวให้รอบพม่า ผมคิดว่ามันน่าจะมีอะไรอีกเยอะ

คุณอยากสื่อไปยังเบอร์ม่าวีเจ หรือนักข่าวชาวบ้านในฝั่งพม่าอย่างไรบ้าง? 

ผมเชื่อว่าสื่อที่เรามีอยู่ในมือนั้นมีพลังที่เปลี่ยนอะไรก็ได้ ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นเหมือนบทพิสูจน์ว่าเกมอำนาจของรัฐบาลทหารเหมือนกันว่าจะทำยังไงต่อไป เพราะตอนนี้เรามีเครดิตอยู่ในมืออยู่แล้ว จะทำยังไงให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของพม่า แน่นอนว่า ถ้าไม่มีนักข่าวเหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้เลย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“เราคืออากง” และ “กรรมการสิทธิฯ ก็คืออากง”

Posted: 12 May 2012 08:39 AM PDT

 

เป็นเรื่อง “ช็อก” วงการสิทธิมนุษยชนโลกไปแล้ว เมื่อคุณหมอนิรันดร์กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถูกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นำทีมพนักงาน พร้อมชาวบ้านกว่า 100 คน บุกโรงพักแจ้ง “ข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์” เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อกล่าวหานั้นมีว่า

 
“หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ โดยไม่ให้การเคารพน้อมนำพระราชดำริพระราชกระแส และพระราชเสาวนีย์ โดยมีการมีมติยกเลิกโครงการปลูกพืชอาหารช้างเพื่อเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของช้าง...” (ดู ASTV ผู้จัดการออนไลน์)
 
เห็นได้ชัดว่า โดยนิยามคำว่า “หมิ่นสถาบัน” ที่ตีความกันไปได้อย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต หรือ “ครอบจักรวาล” และใครๆ ก็แจ้งความเอาผิดตามมาตรา 112 ได้นั้น ทำให้ใครก็ตามในประเทศนี้อาจกลายเป็น “อากง” คนต่อๆ ไปได้ทั้งนั้น แม้แต่กรรมการสิทธิฯเอง
 
ข้อโต้แย้งที่ว่า “กฎหมายมันอยู่เฉยๆ ถ้าคนไม่ทำผิด ก็ไม่ต้องเดือดร้อน” นั้น เป็นข้อโต้แย้งที่ “เลื่อนลอย” อย่างยิ่ง
 
ถามว่าในกรณีถ้าคุณหมอนิรันดร์ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา หรือกระทั่งเสียเงินเสียทองขึ้นโรงขึ้นศาล แม้ผลสุดท้ายศาลอาจตัดสินว่า “ไม่ผิด” มันมีความหมายเท่ากับเขา “ไม่เดือดร้อน” หรือ เท่ากับสิทธิมนุษยชนของเขาไม่ได้ถูกละเมิดไปแล้วหรือ? การที่กฎหมายเปิดช่องให้ถูกนำมาใช้ได้ในลักษณะนี้เท่ากับกฎหมายโดยตัวมันเองไม่มีปัญหาอะไรเลยจริงๆ หรือ?
 
บางคนอาจโต้แย้งอีกว่า “นั่นมันเป็นปัญหาของการใช้กฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาของตัวกฎหมาย” ถ้าอย่างนั้นขอให้ดูตัวอย่างของจริงเลยก็ได้คือ กรณีคำพิพากษา “คดีอากง SMS” ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.3111/2554 คดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554
 
 
ศาลพิพากษาว่า “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๒), (๓) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี กับความผิดฐานนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกกระทงละห้าปี รวมสี่กระทง เป็นจำคุกยี่สิบปี”
 
คำพิพากษาดังกล่าถูกตั้งคำถามใน 2-3 ประเด็นสำคัญเป็นอย่างน้อย คือ
 
1. ไม่ได้อ้างอิงประจักษ์พยานว่า “อากงเป็นผู้ส่งข้อความ 4 ข้อความจริง” แต่เพียง “อาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน...” จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การพิพากษาคดีอาญาที่มีโทษจำคุกสูงมากถึง 20 ปี โดย “ไม่มีประจักษ์พยานเป็นเหตุให้สิ้นสงสัย” ว่า จำเลยเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดจริงนั้น เป็นคำพิพากษาที่ยุติธรรมหรือไม่
 
2. การอ้าง “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) กล่าวคือ คำพิพากษาอ้างว่า “...ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรชาวไทย...”
 
จะเห็นว่า ข้อสรุปที่ว่า“ข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง”ไม่ได้มาจากการนำสืบ หรือแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์จนประจักษ์ชัดว่า ข้อความดังกล่าวนั้น “ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” อย่างไร แต่เป็นข้อสรุปที่มาจากข้ออ้างที่ว่า “เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรชาวไทย...” ซึ่งเป็นข้องอ้างที่ไม่เกี่ยวกับการพิสูจน์ “เนื้อหา” ของข้อความที่อ้างว่าจำเลยเป็นผู้ส่งแต่อย่างใด
 
การอ้างเหตุผลดังกล่าวจึง “ไม่สมเหตุสมผล” (invalid) หรือเป็น “เหตุผลวิบัติ” เนื่องจากข้ออ้างกับข้อสรุปไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน หรือ “เป็นคนละเรื่องกัน” เพราะแม้ข้อความที่ศาลอ้างจะเป็นจริง แต่มันก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่า “ข้อความ 4 ข้อความ” นั้นเป็นเท็จ การพิสูจน์ว่าข้อความ 4 ข้อความเป็นเท็จ ต้องพิสูจน์จากการให้แสดงพยานหลักฐานทุกอย่างที่ข้อความนั้นระบุถึง
 
เหมือนเรากล่าวว่า “ข้อความว่าอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชนเป็นเท็จ เพราะอภิสิทธิ์เป็นคนดี” จะเห็นว่าข้ออ้าง “เพราะอภิสิทธิ์เป็นคนดี” ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลกับข้อสรุปว่า “ข้อความว่าอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชนเป็นเท็จ” เนื่องจากการจะพิสูจน์ได้ว่าข้อความนี้จริงหรือไม่ ต้องให้นำพยานหลักฐานมายืนยัน ไม่ใช่อ้าง “ความเป็นคนดี” ของผู้ถูกกล่าวหามายืนยันหักล้าง
 
3. กรณีที่ 1 สะท้อนปัญหาของ “มาตรฐานความยุติธรรม” เรื่องการยึดการพิสูจน์ประจักษ์พยานจนเป็นเหตุให้สิ้นสงสัยในการตัดสินคดีอาญาตามมาตรา 112 กรณีที่ 2 สะท้อนปัญหาความไม่สมเหตุสมผลในการตัดสินคดีอาญาตามมาตรา 112 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่กฎหมายมาตรานี้ไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงพยานหลักฐานว่า ข้อความของตน (ที่ถูกตัดสินว่าเป็นเท็จ) นั้นเป็น “ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ” หรือไม่
 
4. การที่มาตรา 112 ไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงพยานหลักฐานว่า ข้อความของตน (ที่ถูกตัดสินว่าเป็นเท็จ) นั้นเป็น “ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ” หรือไม่ สะท้อนปัญหาของ “ตัวกฎหมาย” โดยตรงว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรม คือถ้าเป็นกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจำเลยย่อมได้รับสิทธิเสรีภาพในเรื่องดังกล่าว
 
การไม่ให้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวย่อมเป็นการ “ลดทอนความเป็นมนุษย์” มากอยู่แล้ว เพราะเท่ากับไม่ให้จำเลยมีเสรีภาพที่จะ “พูดความจริง” เพื่อปกป้อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของตนเอง ทว่าการไม่ให้ประกันตัวในกรณีของอากงทั้งที่ยืนประกันตัวถึง 8 ครั้ง โดยอ้างปัญหาความชราและอาการป่วยด้วยโรคร้ายแรงนั้น ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า อย่าว่าแต่ร้องขอ “ความยุติธรรม” แล้วจะไม่ได้รับเลย แม้แต่ร้องขอ “ชีวิต” ระบบยุติธรรมไทยที่ยืนยัน “ความยุติธรรมภายใต้มาตรา 112” ก็ไม่อาจให้ได้
 
ฉะนั้น ในประเทศนี้ “เราคืออากง” ใครๆ ก็อาจมีชะตากรรมแบบอากงได้ แม้แต่ “คุณตั๊ก บงกช” เองก็อาจอาจตกเป็นอากงคนต่อไปได้ถ้ามีใครไปแจ้งความว่า ที่คุณพูดว่า “...ครอบครัวของพ่อฉัน” นั้น เป็นการแสดงตนเป็นคนในครอบครัวของพ่อหรือ “ตีตนเสมอเจ้า” หรือไม่
 
และเวลานี้แม้แต่กรรมการสิทธิฯ เองก็ตกเป็น “เหยื่อ 112” หรือเป็น “อากง” รายล่าสุด เกิดอะไรขึ้นกับสังคมนี้ เมื่อกรรมการสิทธิฯก็ปกป้องตนเองจากการใช้มาตรา 112 ไม่ได้ ที่กรรมการสิทธิ์ไม่มี “ท่าทีที่ชัดเจน” เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 จนกระทั่ง “นิ่งเฉย” กับกรณี “อากงตายในคุก” ก็เป็นเรื่องน่าอัปยศอดสูในบทบาทการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในชาติมากเหลือเกินแล้ว
 
หากกรรมการสิทธิฯชุดนี้ ยังขาด “จิตวิญญาณปกป้องสิทธิมนุษยชน” ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะยอมรับปัญหาของมาตรา 112 อย่างตรงไปตรงมา และออกมาสนับสนุนให้มีการแก้ไข ก็ “ควรลาออกทั้งคณะ” ได้แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมนี้มี “ลมหายใจแห่งสิทธิความเป็นมนุษย์” ได้บ้าง!
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดฉาก ‘อากง’ เปิดฉาก ‘คุกไทย’ เรื่องใหญ่ต้องยกเครื่อง

Posted: 12 May 2012 05:26 AM PDT

“มันเป็นห้องลูกกรงที่มืดทึบมาก แม้แต่สายลมยังผ่านเข้าไปไม่ได้” ป้าอุ๊ ภรรยาของอากงบรรยายลักษณะห้องนอนที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเธอมีโอกาสขึ้นไปดูในวันที่ไปรับศพอากง

เรื่องราวของอากงสร้างความสะเทือนใจให้ผู้คนอย่างยิ่ง เพราะมันสะท้อนปัญหาการดำเนินคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 อย่างถึงที่สุด ตั้งแต่ต้นจนจบ  

นอกเหนือจากประเด็นข้อกฎหมาย การปฏิบัติตามมาตรา 112 หรือเรื่องสิทธิการประกันตัวแล้ว การจบชีวิตของอากงในเรือนจำ ยังฉายให้เห็นภาพคุกไทยอย่างหมดจด มันเป็นแผลที่หมักหมมมายาวนานและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าเรื่องงบประมาณ เรื่องทัศนคติเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อ “คนจน”  “คนชายขอบ” ไม่ว่าจะเป็นแพะหรือไม่แพะอีกจำนวนมาก หากเรายังยืนยันว่าเขาควรได้รับการดูแลในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

Ø  ไทยมีผู้ต้องขังทั้งหมด 234,678 คน (1 เมษายน 2555,กรมราชทัณฑ์)

Ø  ศักยภาพในการรองรับผู้ต้องขังของไทย คือ 108,904 คน  (งานวิจัย คุกไทย 2554,แดนทอง บรีน)

Ø  ไทยอยู่อันดับ 8 ของโลกในเรื่องความหนาแน่นของนักโทษ (งานวิจัย, อ้างแล้ว)

Ø  งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ ปี 2554 คือ 8.85 พันล้านบาท *

Ø  เทียบกับงบประมาณกระทรวงกลาโหม ปี 2554 คือ 1.68 แสนล้านบาท *

Ø  เทียบกับงบแผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติของกระทรวงยุติธรรม 4.5 พันล้าน (กระทรวงเดียว) *

Ø  เทียบกับงบกลางของปี 2554 เช่น ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2.3 พันล้าน, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 6 ร้อยล้าน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐ 6.2 หมื่นล้าน เป็นต้น *

Ø  ในงบราชทัณฑ์จำนวน 8.85 พันล้าน เป็น “ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของผู้ต้องขัง 12,000,000 บาท” และ “ค่าใช้จ่ายผู้ต้องขัง 2,750,000,000 บาท” หากคำนวณเฉลี่ยกับนักโทษ 234,678 คน จะได้คนละ 11,769 ต่อคนต่อปี หรือ 980 ต่อคนต่อเดือน หรือ 33 บาทต่อวัน**

 

 

 

*ข้อมูล เอกสารงบประมาณ ฉบับที่3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554
http://www.bb.go.th/budget_book/e-Book2554/pdf/vol1.pdf
http://www.bb.go.th/budget_book/e-Book2554/pdf/vol6.pdf

**คำนวณตัวเลขเบื้องต้นจากเอกสารงบประมาณเท่านั้น

 

สำรวจสถานพยาบาลในเรือนจำ

จากคำบอกเล่าของ ณัฐ (ขอสงวนนามสกุล) อดีตผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเดียวอากงมาราว 2 ปี 4 เดือน และเพิ่งถูกปล่อยตัวเมื่อเดือนที่แล้ว (อ่านรายละเอียดคดีได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/28)

เขาเล่าว่า เขาเป็นคนหนุ่ม ไม่ค่อยเจ็บป่วยอะไรนัก แต่เมื่อต้นปี54 ป่วยเป็นโรคหัด และอาการหนักจนทำงานในเรือนจำไม่ไหว เป็นผื่นทั้งตัวจนน่ากลัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงไป “พ.บ.” หรือสถานพยาบาลในเรือนจำ ซึ่งเป็นที่รักษาอาการเบื้องต้นของนักโทษทั้ง 8 แดน หากใครมีอาการหนักมากๆ จึงจะได้รับการส่งตัวออกไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ถัดไปนอกรั้วเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ณัฐว่า นักโทษหลายคนบ่นกับเขาเกี่ยวกับบริการที่นี่ เพราะไม่ว่าจะไปด้วยสาเหตุอะไร พวกเขามักได้รับยาอย่างเดียวกันกลับมาคือ “พาราเซตามอล”

“ผมไปก็เห็นยาหลายอย่างอยู่ในตู้เขา แต่ทำไมเขาให้มาแต่ยาพาราก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนผมเป็นหัดไปหาหมอที่นั่น เขาก็ไม่ค่อยสนใจ แล้วก็ให้ยาพารากลับมาเหมือนกัน”

“การพูดการจาก็ไม่ดีเลย บางคนขึ้นมึงขึ้นกูกับนักโทษ โดยเฉพาะหมอผู้ชาย หมอหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เขาไม่เห็นนักโทษเป็นคนเลย”

ณัฐว่า เรื่องแออัดหรือรอคิวยาวนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องปกติในเรือนจำ เขายังเล่าว่าระบบการรักษาฉุกเฉินก็ค่อนข้างยุ่งยาก หากขึ้นเรือนนอนแล้วแล้วมีใครป่วยหนักฉุกเฉิน พวกเขาต้องพยายามตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ ซึ่งกว่าจะมาเปิดประตูได้นั้นนานมาก เพราะกุญแจไม่ได้อยู่ในแดนนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องวิ่งไปทำเรื่องขอเบิกกุญแจอีกที่หนึ่ง ทำให้ต้องรอนานกว่าจะมีคนเข้ามาดู นอกจากนี้ในเรือนจำยังขังคนป่วยไม่ว่าจะวัณโรค หรือเอดส์ ร่วมกับคนอื่นๆ บางคนเป็นระยะท้ายๆ ไอเป็นเลือดทั้งคืนจนเพื่อนร่วมห้องที่นอนกันอย่างแออัดพากันหวาดกลัวจะติดโรค

 

เปิดคุกดูชีวิต กิน อยู่ หลับนอน

แม้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะมีบริการที่ค่อนข้างดีสำหรับญาติพี่น้องที่จะเข้าเยี่ยมนักโทษเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ แล้วก็ตาม แต่สภาพความเป็นอยู่ภายในยังคงเป็นปัญหาคล้ายกันในเรือนจำทุกที่

หากอยากเห็นภาพชีวิตผู้ต้องขังโดยละเอียดทุกตารางนิ้ว คงหนีไม่พ้นต้องให้ผู้ต้องขังเล่าเอง ซึ่งเคยมีผู้ต้องขัง(คดีหมิ่น) พยายามอธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วโดยละเอียด

“การอาบน้ำของที่นี่ เราอาบรวมกัน ไม่มีการแยกระหว่างคนปกติกับคนป่วย ซึ่งทุกแดนเราอาศัยรวมอยู่กับผู้ต้องขังที่ป่วยสารพัดโรค เช่น โรควัณโรค ที่เราเรียกกันติดปากว่า โรคทีบี (TB) โรคเอดส์ โรคผิวหนังต่างๆ ที่ฮิตที่สุดคือโรคหิด หรือที่ภาษาคุกเรียกว่า “ตะมอย” โรคเหล่านี้สามารถแพร่กันได้ผ่านทางน้ำที่ใช้ เราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะเสี่ยงติดโรคเหล่านี้ได้ทุกคนและทุกเวลา และสามารถติดได้ง่ายมากๆ ด้วย สิ่งที่เราจะทำได้นั่นคือ การป้องกันตัวเอง เช่น ใช้สบู่ฆ่าเชื้อโรคแทนสบู่ธรรมดา และยาสระผมที่มีตัวยาป้องกันเชื้อราแทนยาสระผมธรรมดา และพยายามอยู่ให้ห่างผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ที่เดินกันปะปนกับคนทั่วไป โดยไม่มีการแยก นับเป็นความตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราต้องเผชิญกัน”

“ลักษณะส้วมในนี้เคยมีคนบอกว่าเหมือนส้วมในประเทศจีน ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเหมือนหรือเปล่าเพราะไม่เคยไป แต่พอจะบรรยายให้เห็นลักษณะได้ก็คือ จะเป็นส้วมแบบที่ไม่มีประตู แต่ทำกำแพงล้อมซ้ายขวาและด้านหลังสูงประมาณ 80 cm ด้านบนโล่งไม่มีหลังคา ด้านหน้าเป็นทางเข้า เป็นกำแพงสูงประมาณ 40 cm สำหรับเดินข้ามเข้าไปนั่ง เป็นส้วมแบบนั่งยอง วางต่อๆ กันไป โดยใช้กำแพงร่วมกัน”

 

 

“เวลา 2 ทุ่ม โทรทัศน์จะปิดหมดเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนทุกแดน สวดมนต์ และยืนร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” โดยพร้อมเพรียงกัน เป็นกิจกรรมที่ผู้ต้องขังต้องทำทุกวัน ตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเข้าประตูเรือนจำมา ละครจบโทรทัศน์ปิด ถือเป็นสัญญาณสิ้นสุดทุกสิ่งทุกอย่างในวันนั้น เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ที่เป็นแบบเดิมๆ อย่างนี้ทุกวัน จนกว่าวันแห่งอิสรภาพของแต่ละคนจะมาถึง”

“ที่ พบ.จะมีแพทย์ประจำอยู่เพียง 1-2 คนในแต่ละวันที่เหลือจะเป็นบุรุษพยาบาล หรือคนที่ไม่ใช่แพทย์โดยตรง คนพวกนี้แทบจะเรียกว่าไร้จรรยาบรรณแพทย์ (ก็เขาไม่ใช่แพทย์นี่นา) การออกไปรับการตรวจ ผู้ต้องขังจะถูกปฏิบัติเหมือนคนที่น่ารังเกียจทั้งสายตา คำพูดคำจา และการปฏิบัติทำให้หลายๆ คนไม่อยากออกไป พบ. เพราะทนรับการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ไหว สู้ไม่ออกไปเสียยังดีกว่า”

 

อ่านฉบับเต็มได้ที่

เปิดจดหมาย เรื่องเล่าชีวิตในเรือนจำ (ฉบับละเอียดที่สุดในประเทศไทย)

(ตอนจบ) เปิดจดหมาย เรื่องเล่าชีวิตในเรือนจำ (ฉบับละเอียดที่สุดในประเทศไทย)

 

ทำไมคนล้นคุก ?

แดนทอง บรีน และคณะ เคยทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหามาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังในคุกเมืองไทย รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาคนล้นคุกไว้ว่า

นักโทษล้นคุกสืบเนื่องมาจาก

1. จำนวนผู้ต้องหาจำนวนมากที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน บวกกับระยะเวลาอันยาวนานของขั้นตอนตามกฎหมาย ถ้าหากผู้ต้องหาไม่สามารถประกันตนได้ด้วยจำนวนเงินที่เป็นสัดส่วนกับความสามารถของแต่ละบุคคลอย่างที่ สามารถปฏิบัติได้จริงแล้ว ระบบยุติธรรมทางอาญาก็ไม่ยุติธรรมหรือเท่าเทียมกันอีกต่อไป การกักขังระหว่างการ สอบสวนควรจะเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่ระเบียบปฏิบัติทั่วไป ระยะเวลาการกักขังถึง 2 ปีนั้นยาวเกินไป ไม่ว่าในกรณี ใดๆ ระยะเวลาของการกักขังระหว่างการสอบสวนไม่ควรนานเกิน 6 เดือน ตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรียมีการ กำหนดการกักขังเป็นระยะเวลา 2 เดือน ในกรณีที่เกรงว่าอาจจะมีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างการสอบสวน

2. การลงโทษที่รุนแรงมากเกินกว่ามาตรฐานทั่วไป ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของคน ค.ศ. 1789 กล่าวว่า “กฎหมายจะต้องลงโทษตามความจำเป็นที่ชัดเจนเท่านั้น”

3. การไม่สนใจทางเลือกอื่นของการลงโทษแทนการคุมขัง ดังที่ประกาศใน “ระเบียบโตเกียว” (Tokyo Rule) หรือ ระเบียบมาตรฐานขั้นต่ำของวิธีการไม่คุมขังของสหประชาชาติ

ปัญหารองลงมาคือ การขาดแผนก่อนพ้นโทษที่มีประสิทธิผล ซึ่งประกอบด้วยการฝึกอาชีพสำหรับการดำชีวิตใน ชุมชน และการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเมื่อพ้นโทษไปแล้ว

“นักโทษยังถือว่าเป็นสมาชิกของสังคม พวกเขามีครอบครัวมีภรรยามีสามีและมีลูกหลานซึ่งอาจจะต้องพึ่งพาคู่ชีวิตหรือผู้ปกครองที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน และผู้ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการที่จะช่วยให้นักโทษที่ถูกปล่อยตัวกลับเข้าสู่ชีวิต ปกติการเยี่ยมนักโทษของบุคคลในครอบครัวไม่ควรจะต้องกลายเป็นการตะโกนใส่กันผ่านแผงกั้นตะแกรงเหล็กหรือกระจก พวกเขาควรจะได้โอบกอดกันได้จับมือกันและพูดกันเบาๆได้พวกเขาควรมีโอกาสที่จะพูดคุยกันทางโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ และจดหมายจากครอบครัวไม่ควรจะต้องผ่านการเซ็นเซอร์ ถ้าจดหมายจากครอบครัวจะต้องถูกเปิดก่อนก็ควรเปิดต่อหน้านักโทษ นักโทษควรจะสามารถเข้าถึงสื่อหนังสือพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์เพื่อพวกเขาจะได้รับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายนอกกำแพงกรมราชทัณฑ์”

สิ่งที่แดนทองสรุปไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้ดูเป็นเรื่องพื้นฐานที่แสนธรรมดา แต่ไม่น่าเชื่อว่ามันจะห่างไกลจากสิ่งที่เป็นอยู่ในคุกไทยทุกวันนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น