โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

บันทึกนักศึกษา-อาสาสมัคร ครก.112: จากกระดาษ 3 แผ่นสู่เบื้องหลังงานรณรงค์

Posted: 30 May 2012 01:06 PM PDT

 

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี” กลายเป็นที่รู้จักสนใจของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.55 ครก.112 หรือ คณะรณรงค์แก้ไขม.112  เปิดตัวคณะรณรงค์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการรณรงค์ ลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆเรื่อยมา เพื่อ ให้ประชาชนร่วมกันเสนอชื่อแก้ไขเพิ่มเติมม.112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์  จนมาถึงวันที่5 พ.ค.55 ครบ 112 วันของการรณรงค์ มีผู้เสนอชื่อมากกว่าสามหมื่นคน และในวันที่ 29 พ.ค.55 ครก.112 นำรายชื่อที่สมบูรณ์เรียบร้อยทั้งหมด 26,986 ชื่อ ไปยื่นต่อรัฐสภา

ย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคมของปีนี้ ฉันยังอยู่ที่มหาวิทยาลัยและเป็นเวลาช่วงสอบ วันหนึ่งในเดือนนั้นหลังทำข้อสอบเก็บคะแนนเสร็จ ฉันนำเอกสารลงชื่อขอแก้ไขกฎหมายนี้ไปส่งยังห้องพักอาจารย์ผู้เป็นตัวแทนรับ ระหว่างทางเดินไปห้องนั้น ฉันก้มมองเอกสารในมือเห็นข้อความในวงเล็บเขียนชัดเจนว่า “แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์” ฉันอ่านซ้ำไปมาหลายรอบและคิดไปต่างๆนานา ไม่ใคร่แน่ใจนักว่าการกระทำของตัวเองครั้งนี้ จะส่งผลต่อใคร แค่ไหนอย่างไร รู้เพียงว่า “อากง” “สมยศ” และคนอื่นๆ ที่ฉันไม่รู้จักนักกำลังอยู่ในคุกเพราะกฎหมายข้อนี้  ฉันรู้ว่ากฎหมายนี้มีโทษรุนแรงอย่างเหลือเชื่อและยังไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอนในการตีความ ส่วนนิติราษฎร์ก็เป็นกลุ่มนักวิชาการที่ออกมาเสนอให้แก้ไขกฎหมายนี้ ฉันเห็นว่าข้อเสนอของพวกเขาน่าสนใจ  คิดว่ามันน่าจะช่วย”อากง”คนนี้และคนอื่นๆ ได้ โดยไม่ยากเย็นนัก แค่เขียนเอกสารสามแผ่นและส่ง ณ จุดรับ ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ เมื่อคิดจนได้ข้อสรุปฉันก็เดินถึงห้องอาจารย์ วางเอกสารเรียบร้อยก็เดินออกมา ความคิดสุดท้ายก่อนจะหันเหไปหาข้อสอบ ฉันรู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้อื่นแม้ว่าจะน้อยนิดเพียงเท่านี้ก็ตาม แต่ฉันไม่เคยคิดว่าจะได้ทำอะไรมากไปกว่าการลงชื่อเช่นนี้อีกแล้ว กระทั่งได้มาทำงานอาสาสมัครให้กับครก.112

โดยหลักการแล้ว ประชาชนที่จะร่วมผลักดันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ต้องใช้เอกสาร3ฉบับ ประกอบด้วย หนึ่ง แบบ ขก.1 หรือแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย สองสำเนาบัตรประชาชนหรือหลักฐานอื่นๆของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ และสาม สำเนาทะเบียนบ้าน เมื่อผู้เสนอฯกรอกรายละเอียดและรับรองสำเนาถูกต้องเรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งมายังตู้ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200 หรือส่ง ณ จุดรับลงชื่อเพื่อให้ส่งต่อมายัง ครก.112 จึงจะเห็นได้ว่า ครก.112เป็นคณะที่ทำงานโดยตลอดกระบวนการเสนอชื่อ หากจะแบ่งงานของ ครก.112 ออกเป็นฝ่ายๆ อย่าง่ายที่สุดน่าจะแบ่งได้ 2 ฝ่ายคือส่งออกและรับเข้า ส่งออกหมายถึงส่งออกข้อมูลและความรู้เรื่องกฎหมาย ส่วนรับเข้า หมายถึง รับเอกสารที่ประชาชนลงชื่อแล้วนำมาจัดการตามกระบวนการให้เป็นระเบียบ 

ฉันเข้าใจว่าเป็นโอกาสโอกาสอันดีประกอบกับความตั้งใจที่จะช่วย จึงเริ่มร่วมงานกับครก.112 ตั้งแต่ก่อนกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายของการรณรงค์ แต่กลับเป็นช่วงเวลาอันหนักหน่วงสำหรับกลุ่มผู้รับเข้า หรือแรงงาน หากจะแบ่งการทำงานของส่วนรับเข้าออกเป็นขั้นๆ ฉันคงแบ่งได้แค่สองขั้น ซึ่งแต่ละขั้นนั้นมีความแข็งไม่แพ้กัน ขั้นที่หนึ่ง หลังแข็ง คือเราต้องนั่งตรวจความเรียบร้อยของเอกสารว่า มีเอกสารครบสามแผ่นหรือไม่ เอกสารทั้งสามแผ่นเป็นชื่อเดียวกันหรือไม่  มีลายมือชื่อรับรองครบถ้วนถูกต้องหรือไม่  หรือแม้กระทั่งการเรียงเอกสารก็จะต้องมีแบบแผนที่ชัดเจนว่า ใบปะหน้าคือ ขก.1 ตามด้วยบัตรประชาชนและปิดท้ายด้วยทะเบียนบ้าน ขั้นตอนนี้ดูจะไม่ยากและใช้เวลาไม่นานนัก หากผู้ลงชื่อได้อ่านเงื่อนไขและรวบรวมมาเรียบร้อยแล้ว กระนั้นก็ตาม ฉันเพิ่งประจักษ์กับตาว่ากฎหมายก็ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ทำให้คนธรรมดาที่ไม่รู้จักมันต้องตื่นเต้นประหม่าอยู่เสมอ เราจึงได้พบว่ามีผู้ลงชื่อบางคนเซ็นเอกสารไม่ครบ ส่งหลักฐานไม่ครบ เรียงเอกสารผิด ส่วนนี้เราต้องแกะลวดเย็บออกและจัดการเย็บใหม่ และการทำงานในขั้นหลังแข็งก็ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากเราจะต้องแยกเอกสารว่าผู้ลงชื่อนั้นมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านที่จังหวัดใด เมื่อจัดแยกเรียบร้อยแล้วก็จะต้องนับจำนวน ให้ได้ปึกละ 100 ชุด พอดิบพอดี เพื่อให้การทำงานในขั้นต่อไปง่ายขึ้น และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ฟังดูเหมือนไม่ยากนัก แต่ขั้นหลังแข็งนี้แรงงานหลายคนนั่งทำตั้งแต่สายๆ จนดึกดื่น เป็นเวลากว่าสามวันเราจึงนับเอกสารเกือบสี่หมื่นชุดได้หมด

ขั้นแข็งขั้นที่สอง คือ ตาแข็ง เพราะต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้อง “คีย์” รายชื่อลงในคอมพิวเตอร์ หรือจะเรียกว่ากรอกรายละเอียดของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายให้เป็นระเบียบ รายละเอียดนั้นประกอบไปด้วย วันที่ลงชื่อ ชื่อนามสกุลที่บอกเพศ และที่อยู่อย่างละเอียด จะให้ผิดไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลขประจำตัวประชาชน สำหรับผู้ลงชื่อคนเดียวก็มีมากถึง 13 ตัว นี่ยังไม่นับเลขที่บ้าน วันที่ลงชื่อ รวมๆ กันแล้ว 1 รายชื่อ ต้องใช้ตัวเลขมากกว่า 20 ตัว และการคีย์แต่ละครั้งเราจะต้องทำให้เสร็จ100ชุดที่นับไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน นั่นก็หมายความว่า ตัวเลขกว่า 2000 ตัวจะได้ผ่านประสาทสัมผัสเราไปในการคีย์แต่ละปึก ซึ่งก็แน่นอนว่าในหนึ่งวันอาสาสมัคร 1 คน ต้องคีย์ให้ได้มากกว่า 1 ปึก ส่วนจะมากขึ้นไปแค่อีกไหนก็เป็นไปตามความถนัดและความตั้งใจ ตั้งแต่วันที่นับเสร็จเราก็คีย์กันมาเรื่อยๆ ผู้ต้องการเสนอชื่อก็ส่งชื่อเข้ามาเรื่อยๆ กระทั่งใกล้ถึงวันงานบันทึก112วัน แก้ไขม.112 เราก็ยังคงคีย์กันอยู่

 

ทว่า งานของครก.112 ก็ไม่ได้มีแค่หลังแข็งและตาแข็งเท่านั้น  หากยังมีหน้าที่จัดเวที เตรียมห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้พร้อมสำหรับการรองรับประชาชนที่จะมาร่วมงานบันทึก 112 แก้ไขม.112 วัน ในวันที่27 ดังนั้น ในช่วงสายๆ ของวันที่ 26 อาสาสมัครจึงทยอยเดินทางไปสถานที่จริง เพื่อร่วมกันจัดเวที สิ่งที่เราจะต้องตั้งบนเวทีประกอบด้วยตัวเลขใหญ่ยักษ์ 5 ตัว กับตู้ไปรษณีย์อีก1ตู้  แน่นอนว่ามันไม่มีขาย เราจึงต้องสร้างขึ้นเอง งานนี้ใช้กระดาษลังไปนับร้อยใบ ประกอบขึ้นเป็นตัวเลขและตู้ไปรษณีย์ หากไม่คิดเป็นเด็กจนเกินไป ฉันรู้สึกว่าการทำงานในวันนี้สนุกมาก เหมือนเป็นช่วงเวลาของการทำความรู้จักกันระหว่างอาสาสมัครที่เคยคุ้นอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ เหมือนเป็นการทำละครเวทีสักเรื่องหนึ่ง เหมือนเป็นสนามเด็กเล่นเพราะเราแอบทำไปเล่นไป แกล้งเพื่อนไป เถียงกันไป ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก การทำงานร่วมกันต้องมีความขัดแย้ง มีการใช้เหตุผลและตกลงกันได้ แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมเวทีก็เสร็จสิ้นลงทันเวลา เราสามารถ ประกอบ ติด ต่อ ตัด แปะ ตั้ง กล่องทั้งหมด ให้เป็นเลข 3 9 1 8 5 พร้อมกับตู้ไปรษณีย์สีแดงสดใสได้เรียบร้อยสมบูรณ์ก่อนที่เจ้าหน้าที่หอประชุมจะมาปิดประตู

งานหนักชิ้นต่อมาของครก.112 ก็อยู่ตรงที่การรวบรวมรายชื่อทั้งหมด ขนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า ที่บริเวณหมุดหมายของคณะราษฎรเพื่อจะเดินขบวนไปยังรัฐสภาในวันที่ 29 และก็เช่นเคย 1วันก่อนนั้น เราเหลืองานที่จะต้องทำ คือ คีย์รายชื่อที่เหลือให้เสร็จ จัดเอกสารลงกล่องดำ จัดทำเอกสาร ขก.2 และขนเอกสารทั้งหมดไปยังจุดนัดหมายในเวลา 9.00 น. ก่อนจะเริ่มงานวันนี้ ฉันเข้าใจว่า งานคงจะเหลือน้อยเต็มที หรือ เรียกว่าไม่มีไรมากนัก แต่เอาเข้าจริง แต่เมื่อถึงเวลาทำงาน อาสาสมัครที่เคยมาช่วยทุกวันๆกันต่างก็เหนื่อยนักอยากพักหน่อย คราวนี้การเกณฑ์แรงงานจึงต้องข้ามไปยังองค์กรเพื่อนบ้าน ฉันรู้สึกว่าเมื่องานเดินมาจนถึงวันสุดท้าย เราจะต้องทำงานทุกกระบวนการที่เคยทำมาในวันนี้วันเดียวเพื่อตรวจทาน จัดทำทุกอย่างให้ครบถ้วนสมบูรณ์ คืนวันที่ 28 เราจึงต้อง ทั้งนับ แยก คีย์ แปะกล่อง ฯลฯ จนดึกดื่น และสุดท้ายงานทั้งหมดก็สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี

เช้าวันที่ 29 เป็นวันสุดท้ายของทีมแรงงานครก. 112 เราก็ยังคงติดตามส่งเอกสารจนถึงสถานที่เก็บ เช้าของวันนี้ฉันไปถึงหมุดหมายคณะราษฎร การแบกหามนั้นดูจะเหลือกำลังเกินไปฉันจึงมีหน้าที่เพียงแค่ถ่ายรูป รอดูการจัดเรียงกล่องดำ รอดูการตั้งขบวน และคอยตรวจตราว่ากล่องที่เราขนกันมานั้นยังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ มีรอยถลอกฉีกขาดหรือไม่ ส่วนพี่ๆทีมงานครก.112 ที่เป็นผู้ดูแลกล่องก็ยังต้องทำหน้าที่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สภา ยกกล่องลงรถ ขนกล่องขึ้นรถ กระทั่งกล่องทุกใบถูกขนไปเก็บ ถึงตอนนี้ ฉันเองก็อยู่ร่วมด้วย ครั้งสุดท้ายที่กล่องดำใบใหญ่ถูกหามเข้าห้องเก็บเอกสาร ฉันนึกไปถึงวันแรกที่เดินไปส่งเอกสาร3แผ่นนั้นตามลำพัง วันนั้นฉันคิดถึงหลายๆ เรื่อง แต่ไม่ได้คิดเลยว่าจะได้คัดแยกเอกสารนานถึงสามวัน ไม่คิดว่าจะได้เห็นรายชื่อของผู้ร่วมเสนอเป็นพันๆ ชื่อ ไม่คิดว่าจะได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรณรงค์ และไม่คิดว่าจะว่าจะมีคนอีกมากมายที่เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนกฎหมายข้อนี้ ท้ายที่สุดฉัน การทำงานหนักและสนุกที่ผ่านมาก็ทำให้ฉันได้ตระหนักว่า มีประชาชนอีกมากมายที่เห็นความสำคัญถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองตามระบอบประชาธิปไตย แวบหนึ่งก่อนกล่องดำทั้งหมดจะลับตาไป ไม่ว่าจะเพราะทำงานหนักมาหลายวันหรือเพราะยังเชื่อในความมีเหตุผลของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ฉับแอบคิดอยู่คนเดียวว่า มันจะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างสิน่า

             

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บรรยากาศ พธม.ชุมนุม ยื่นสภาถอน 4 ร่างกฎหมายปรองดอง

Posted: 30 May 2012 10:38 AM PDT

 
 
 
"สนธิ" ประกาศลั่นจะสู้จนกว่าได้ชัยชนะ
 
30 พ.ค.55 เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า เมื่อเวลา 13.53 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ขึ้นเวทีปราศรัยระบุว่าจุดเริ่มต้นของพันธมิตรฯ เริ่มเมื่อ ก.พ.2549 มีการเคลื่อนขบวนจากสวนลุมพินีมายังลานพระบรมรูปทรงม้าแต่ระหว่างนั้นเจอพวกกุ๊ยรังแก จากประชาชนที่มาฟังความรู้ จึงแปรรูปมาเป็นมวลชนสู้แบบพันธมิตรครั้งแรก จากนั้น 6 ปีที่ผ่านมา พธม. ย้อนมาที่นี่อีกครั้ง ซึ่งรูปแบบจะไม่ยืดเยื้อเหมือนปี 2549 แต่บอกว่าไม่มีพลังใดจะชนะพลังศีลธรรมได้ นอกจากนี้ ตอนพ่อของตนได้ตั้งชื่อ สนธิ ก็ไม่เชื่อว่ามีอีกคนตั้งชื่อสนธิ เหมือนกัน "สนธิ" คนหนึ่งเป็นลูกเจ๊ก แต่อีกคนเป็นลูกแขก ซึ่งคนหนึ่งขายสมบัติเพื่อชาติ อีกคนกลับขายชาติเพื่อสมบัติ คนหนึ่งเติบโตมาเพื่อทำงานประจำ อีกคนเรียนโรงเรียนที่สาบานต่อธงชัยเฉลิมพล แต่สุดท้ายก็มาขายชาติ ใช่หรือไม่
 
นายสนธิ กล่าวว่า วันนี้มีข่าวลือว่า สนธิ รับเงิน จึงอยากรู้ว่า สนธิ ไหนกันแน่ การชุมนุมครั้งนี้จะทิ้งข้อบาดหมาง 1 ปี ที่ผ่านมาเพื่อจับมือเดินหน้าต่อไปสำหรับเวทีพันธมิตรฯ เท่านั้น ให้ทุกคนให้สัจจะว่าใครมาทำลายสถาบันได้เจอกันแน่ และเมื่อใดมีการออกกฎหมายให้พ้นผิดจะได้เจอกัน ซึ่งพันธมิตรจะไม่เคยถอยจากสองเรื่องนี้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันภายหลังการตั้งรัฐบาล เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้วจนถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พธม. ถูกถามว่าทำไมไม่ยอมออก แต่ตอนนี้ยืนยันได้ว่า พธม. คือทัพหลวง จะออกมาเมื่อมีการผิดสัจจะ จะสู้จนกว่าจะได้ชัยชนะ การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้เพื่อส่วนตัวแต่เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน
 
 
“การยกเลิกคำพิพากษาเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของในหลวง เพราะศาลได้ตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธย งานนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องบ้านเมืองล้วนๆ เพราะนักการเมืองไม่มีศีล ไม่มีจริยธรรมกันแล้ว ส่วนจะชุมนุมกี่วันจะเป็นวันนี้วันพรุ่งนี้หรือจนกว่าจะได้ชัยชนะ ขอให้ฟังแกนนำ ทั้งสี่คนเท่านั้น หากแกนนำให้เคลื่อนขบวนก็ขอให้เคลื่อน เพื่อบอกว่าจะขอเข้าไปใช้ห้องนำ แต่ถ้าขอใช้ห้องน้ำ ก็ขอให้ฉี่กลางถนนได้เลย”
 
นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า ขณะนี้แกนนำรับทราบมติวิปรัฐบาลที่จะให้เลื่อนวาระพิจารณาร่าง พรบ.ปรองดอง เป็นพรุ่งนี้ว่า เบื้องต้นจะเคลื่อนไปหน้าสภาอย่างแน่นอน ส่วนท่าทีการเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไร ขอให้แกนนำหารือกันอีกครั้งว่าจะปักหลักค้างคืนชุมนุมต่อพรุ่งนี้หรือไม่
 
 
สำหรับบรรยากาศการชุมนุมมีมวลชนทยอยมาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เต็มลานพระบรมรูปทรงม้าที่ร้อนอบอ้าว เพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนไปยังหน้าสภา เวลา 15.00 น. ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนรักษาความปลอดภัยบริเวณแยกต่างๆ อย่างเข้มงวด
 
 
ม็อบ พธม.เริ่มทยอยเข้าพื้นที่ชุมนุม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มทยอยเดินทางเข้ามามากขึ้นแล้ว ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุ ส่วนบริเวณรอบๆ ลานพระบรมรูปกลายเป็นที่จอดรถของกลุ่มผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ ทำให้การจราจรบนถนนศรีอยุธยา เริ่มชะลอตัวและยังส่งผลกระทบไปยังถนนราชดำเนินนอก โดยเฉพาะเส้นคู่ขนานเป็นที่จอดรถของกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณดังกล่าวก็ไม่มีมาดำเนินการตรวจสอบแต่อย่างใด มีเพียงคนของกลุ่มพันธมิตรหรือการ์ด พธม.เท่านั้นที่จัดการ ส่วนการรักษาความปลอดภัยที่รัฐสภา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 กองร้อยดูแลทั้งภายในและรอบนอกรัฐสภา
 
 
 
“พันธมิตร” เคลื่อนขบวนไปหน้ารัฐสภาแล้ว “จำลอง” ลั่น “ยิ่งลักษณ์” อยู่ต่อยาก
 
เมื่อเวลา 14.25 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ขึ้นเวทีปราศรัย โดยระบุว่าครั้งแรก พธม. ชุมนุมเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 รวมทั้งเรียกร้องให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งก็สำเร็จ เราจึงเป็นนักไล่นายกฯมืออาชีพ ดังนั้นขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ฟังไว้ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือนายกฯหุ่นเชิดคนที่ 4 หากจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปคงทำได้ยากเพราะ พธม.มาแล้ว นอกจากนี้ การชุมนุมครั้งนี้ เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้งสี่ฉบับเพราะถือว่าเป็นกฎหมายทำลายชาติ พธม.จึงยอมไม่ได้ ซึ่งวันนี้มีข่าวจากสภา เรายืนยันจะชุมนุมต่อไปและสู้ให้ถึงที่สุด
 
 
พล.ต.จำลอง กล่าวต่อว่า การชุมนุมจะสำเร็จหรือไม่ขอให้ผู้ร่วมชุมนุมทำตามประกาศการชุมนุมดังนี้ 1.ขอให้ผู้ชุมนุมยึดมั่นในสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 โดยให้ผู้ชุมนุมเข้าร่วมโดยปราศจากอาวุธ 2.ให้ผู้ชุมนุมยึดแนวทางเคลื่อนไหวตามเวทีหลักแห่งเดียวเท่านั้นและระมัด ระวัง ไม่เชื่อผู้ที่ไม่ประสงค์ดี มาชวนผู้ชุมนุมไปก่อเหตุความวุ่นวายนอกแนวทางเวทีชุมนุมหลัก และ 3.พธม. จะเคลื่อนมวลชนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังหน้ารัฐสภาเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นไม่ใช่พื้นที่และความรับผิดชอบของ พธม. หากมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใดขอให้ฟังมติจากแกนนำเท่านั้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษก พธม. ได้ประกาศว่าขณะนี้มติวิปรัฐบาลได้เลื่อนวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขึ้นมาเป็นพรุ่งนี้เช้า ดังนั้นขอให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังหน้าสภาในทันที โดยทันทีที่ประกาศก่อมีการตั้งขบวน และเริ่มเดินหน้าไปยังรัฐสภาทันที
 
 


พธม. รื้อแผงเหล็กประชิดรั้วสภา ตร.แตกกระเจิง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.52 น.หัวขบวนกลุ่ม พธม.ได้เคลื่อนมาถึงหน้าอาคารรัฐสภาเพื่อสมทบกับกลุ่มเสื้อหลากสี ที่มี น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เป็นแกนนำ โดยขณะนี้มวลชนทั้งสองกลุ่มยืนแน่นเต็มพื้นที่ถนนอู่ทองใน ซึ่งผู้ชุมนุมรื้อแผงเหล็กรั้วเหล็กเพื่ออยู่ประชิดกำแพงรัฐสภา ทำให้ตำรวจที่ยืนรักษาการอยู่ถึงกับแตกกระเจิง
 
 
ขณะเดียวกัน รถเครื่องเสียงที่ใช้เป็นเวทีปราศรัย ได้นำมาตั้งขวางถนน ติดทางเข้าสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งมีการปราศรัยว่าจะไม่ให้มวลชนปีนเจ้าไปในสภาแน่นอน ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมได้ตะโกนส่งเสียงเป็นระยะๆ
 
ขณะที่ด้านในอาคารรัฐสภามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรึงกำลังด้านในชิดกับรั้วกำแพงรัฐสภา ท่ามกลางข้าราชการของสภาได้มายืนดูการชุมนุมเป็นจำนวนมาก
 
 
 
 
“จำลอง” ท้าอย่าถอน พ.ร.บ.ปรองดอง จะได้จบไวๆ
 
เมื่อเวลา 15.10 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดเป็นกฎหมายทำลายชาติเท่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ตนขอให้ สส. ในสภาอย่าถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกขอให้ทำถึงที่สุดจะได้จบไว และขอให้รีบเร่งพิจารณาออกมาโดยเร็ว พธม. จะสู้ให้ถึงที่สุด เป็นอย่างไรเป็นกัน ส่วนการชุมนุมจะเป็นอย่างไรแกนนำจะพิจารณาเป็นขั้นตอน แต่จะต่อสู้ไม่หยุดชะงักแต่จะมีจังหวะรอขั้นตอน ซึ่งมีวันเผด็จศึกแน่นอน ส่วนจะเป็นวันไหน อาจจะเป็นวันนี้วันพรุ่งนี้หรือไม่ก็ได้ แกนนำนำจะพิจารณาอย่างรอบคอบ
 
 
 
พันธมิตรฯ บุกยื่นหนังสือล้มกฏหมายปรองดอง
 
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อเวลา 16.10 น. ที่รัฐสภา แกนนำ พธม.โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายประพันธ์ คูณมี ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้หยุดยั้งการตรากฎหมายล้างความผิดให้กับนักการเมือง
 
ทั้งนี้นายเจริญ ได้เดินทางออกมายังบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับหนังสือดังกล่าว โดยระหว่างที่ยืนรอรอแกนนำพันธมิตรฯ อยู่นั้นปรากฏว่าได้ถูกกลุ่มพันธมิตรโห่ไล่ พร้อมต่อว่านายเจริญ อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเหตุใด ไม่ไปรับหนังสื่อภายในอาคาร เพราะปลอดภัยกว่า นายเจริญ กล่าวว่า เป็นเงื่อนไขของแกนนำพันธมิตรฯ ต้องการให้รับหนังสือตรงจุดดังกล่าว โดยมีกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา น.ส.สุมล สุตวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายสาย กังกะเวคิน ส.ว.ระยอง เป็นผู้ประสานงาน
 
 
สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุว่า จากการที่พันธมิตรตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง พบว่ามีปัญหาในหลายประเด็น คือ 1.เป็นร่างกฎหมายที่มุ่งหวังแต่จะลบล้างความผิดของบุคคลต่างๆ ในอดีต ทั้งที่บางคดีมีคำพิพากษาของศาลฎีกาจนถึงที่สุดแล้วจะตอกลิ่มสร้างความแตก แยกในหมู่คนในชาติให้เลวร้ายลงไปยิ่งกว่าเดิม 2.กฎหมายฉบับนี้ มีสภาพบังคับที่ไร้ขอบเขต ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการ เมือง นอกจากนี้ การบัญญัติที่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูป ก็มีความไม่ชัดเจน และกินความกว้าง ครอบคลุมกระทบไปถึงองค์กรต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างไม่มีข้อจำกัด
 
3.มีการก้าวล่วงไปถึงการล้มล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบการถ่วงดุลตรวจสอบของศาลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง 4.ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลายคนยัง ได้รับประโยชน์โดยตรงจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว และ 5.พ.ร.บ.ปรองดองเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา จึงขอให้ระงับ หยุดยั้งการพิจารณาหรือการให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติทุกฉบับ
 
 
นายเจริญ กล่าวภายหลังรับข้อเรียกร้องว่า ขณะนี้ ส.ส.ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมาแล้วและจะต้องบรรจุเป็นวาระ ส่วนจะมีการเลื่อนวาระการประชุมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภา เพราะหากพวกตนไม่นำ พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การประชุม ตามที่ได้มีผู้เสนอก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นในการประชุมในวันที่ 30 พ.ค. ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็จะมีการอภิปรายในที่ประชุม
 
เมื่อถามว่า หากที่ประชุมเห็นว่าควรที่จะเลื่อนวาระการประชุมขึ้นมาเป็นวาระที่ 1 ในวันที่ 31 พ.ค. จะทำให้ผู้ชุมนุม ไม่พอใจและบักหลักค้างคืน และยังจะประชุมต่อหรือไม่ นายเจริญ กล่าวว่า การประชุมยังคงต้องเดินต่อไป เพราะในสภา ยังมีการประชุมหลายเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง เท่านั้น และยังมีทางที่สามารถเข้าออกสภาได้อยู่ ซึ่งไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะยังถือว่าผู้ชุมนุมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ตามระบอบประชาธิปไตย จึงเชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
 
 
เสื้อหลากสี-บลูสกาย ยันค้านถึงที่สุด ชี้ พ.ร.บ.ปรองดองเอื้อทักษิณ
 
ทั้งนี้ในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น.น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ได้นำกลุ่มเสื้อหลากสีและผู้สนับสนุนช่องโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกาย เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณหน้าประตูประสาทเทวริทธิ์ โจมตี พ.ร.บ.ปรองดอง อย่างต่อเนื่อง แม้ต่อมาจะมีฝนตกลงมาโปรยปรายก็ตาม
 
น.พ.ตุลย์ กล่าวบนเวที่ปราศรัยว่า เนื้อหาใน พ.ร.บ.ปรองดองมีการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกพ้อง จึงขอคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง และจะปักหลักชุมนุมให้ถึงที่สุดจนกว่าจะมีการถอนร่างฯ ออกไป และหากมีการลงมติผ่านร่างในวาระ 2 จะชุมนุมยึดพื้นที่บริเวณ ถ.ราชวิถี ชิดกับรั้วรัฐสภาเพื่อชุมนุมกดดัน
 
น.พ.ตุลย์ ยังได้กล่าวยกย่องการทำหน้าที่ของ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อหลากสีด้วย 
 
 
 
ม็อบ พธม.สลายตัว ชุมนุมใหม่วันพรุ่งนี้ 9 โมงเช้า
 
เนชั่นทันข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.00 น. ภายหลังที่ประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ทราบว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีการลงมติเรื่อง การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง เป็นวาระแรก ในวันที่ 31 พ.ค. ส่งผลให้ท่าทีการชุมนุมของ พธม.มีการเปลี่ยนแปลงไป
 
นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกพธม. กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ทราบผลประชุมสภาว่า ทางกลุ่มแกนนำพธม.เห็นว่าควรให้ผู้ชุมนุมที่สามารถกลับบ้านได้ก็ขอให้กลับ และกลับมาร่วมชุมนุมกันใหม่ในวันพรุ่งนี้(31 พ.ค.2555) เวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นเวลาการเปิดประชุมสภาฯ ส่วนผู้ที่สมัครใจนอนค้างสามารถอยู่ได้ โดยขอให้เดินทางไปยังสวนสันติชัยปราการ ซึ่งที่นั้นจะมีการจัดเตรียมเต็นท์ที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เอาไว้ อย่างไรก็ตามในช่วงสายของวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมของแกนนำเพื่อสรุปท่าทีของกลุ่มพธม.อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการประชุมแบบวันต่อวัน โดยในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้จะมีประชาชนจากต่างหวัดมาร่วมชุมนุมด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่บนเวทีปราศรัยยังคงมีการปราศรัยโจมตีเน้นเนื้อหา พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ล้มล้างกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาเป็นการทำลายระบบศาลที่เปรียบเสมือนการทำหน้าที่แทนภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งขอให้ผู้ชุมนุมให้เดินทางกลับมาร่วมชุมนุมพร้อมกันพรุ่งนี้ เนื่องจากมีรายงานข่าวออกมาว่าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองวันพรุ่งนี้ พรรคเพื่อไทยเตรียมที่จะหักดิบผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 3 วาระรวด ดังนั้นพี่น้องประชาชนจะต้องออกร่วมกันคัดค้าน
 
อย่างไรก็ตามบนเวทียังคงมีการสลับการเล่นดนตรีบนเวทีอยู่ตลอดเวลาและมีส่วนการรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงปักหลักกระจายกำลังดูแลกันในหลายจุด แต่ที่เข้มงวดมากเป็นพิเศษจะเป็นบริเวณพื้นที่ภายในอาคารรัฐสภา ขณะเดียวกัน กทม.ได้มีการนำรถสุขาอีกจำนวนหลายคันมาจอดให้บริการกับผู้ชุมนุมด้วย
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอส ลาเจอร์เนส หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กูเกิล

Posted: 30 May 2012 06:41 AM PDT

บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ไม่ถูกลงโทษจากบทสนทนาของผู้ใช้โทรศัพท์ ในขณะเดียวกันเจ้าของเว็บไซต์ที่มีความรับผิดชอบไม่ควรได้รับการลงโทษจากความเห็นของผู้ใช้ที่ไปโพสต์บนเว็บไซต์นั้นๆ แต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กำลังถูกใช้เพื่อการนี้

 

ความเห็นต่อการบังคับใช้กฏหมาย พรบ.คอมฯ ต่อ ผอ.ประชาไท วันที่ 30 พ.ค. 2555

'กูเกิล' หวั่น พ.ร.บ.คอมฯ คุกคามเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตไทย

Posted: 30 May 2012 04:22 AM PDT

กูเกิล โดย รอส ลาเจอร์เนส หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยจากกรณีที่ได้มีการบังคับใช้กฏหมาย พรบ.คอมฯ ต่อ ผอ.ประชาไท ว่าอาจยับยั้งการเกิดของนวัตกรรมและตัดโอกาสการลงทุนในประเทศได้

รายละเอียดมีดังนี้ ...

 

 

 

รอส ลาเจอร์เนส
หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ที่มา: http://googlethailand.blogspot.com/2012/05/threat-to-potential-of-thailands.html

 

 

ธุรกิจนับล้านไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลางหรือขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทยเติบโต เจริญรุ่งเรืองและมีความหวังจากการทำให้ธุรกิจออนไลน์ เรื่องราวความสำเร็จจากอินเตอร์เน็ตของประเทศไทยที่ผมได้พบเห็นเป็นการบันดาลใจอย่างแท้จริง - จากนักตกแต่งบ้านที่ใช้เว็บไซต์ฟื้นฟูธุรกิจที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ไปจนถึงผู้ผลิตชุดกีฬาและอุปกรณ์กีฬามวยไทยที่สร้างปรากฎการณ์เผยแพร่วัฒนธรรมที่โดดเด่นของไทยไปสู่ตลาดโลกได้อย่างงดงาม

มีเรื่องราวดีๆ อีกมากมายของคนไทยและธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จจากโลกออนไลน์ในลักษณะนี้ ซึ่งนี่เป็นแค่ตัวอย่างเพียงหยิบมือของศักยภาพที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่อนาคตของอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยกำลังมีการคุกคามอย่างร้ายแรงอันหนึ่งเกิดขึ้น

วันนี้มีการประกาศคำพิพากษาของคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นในศาลไทยที่กำลังวิ่งสวนทางกับความน่าตื่นเต้นของประเทศและบทบาทที่สำคัญที่จะนำมาซึ่งเสรีภาพ การเปิดกว้างและความรุ่มรวยของอินเตอร์เน็ตมาสู่ชีวิต เรื่องย่อๆ ของกรณีนี้คือการที่ผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่เปิดเว็บไซต์ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน โดยให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี ด้วยข้อหา มีเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีผู้โพสต์ไว้ ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ ซึ่งเธอได้ลบข้อความนั้นออกหลังจากที่เธอรับรู้ การตัดสินจำคุกเธอจากสิ่งที่เธอไม่เคยเขียนส่งสาส์นถึงผู้ประกอบการและนักธุรกิจชั้นนำที่ทำธุรกิจบริการอินเตอร์เน็ตแพลต์ฟอร์มในประเทศไทยว่าพวกเขาอาจหรือถูกลงโทษอย่างรุนแรงจากการกระทำของผู้ใช้

การตัดสินครั้งนี้เป็นแบบอย่างที่น่ากังวลอย่างมากเพราะว่าอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มหรือที่อ้างถึงบ่อยๆ ว่า “ตัวกลาง” เป็นเครื่องมือและเว็บไซต์ที่พวกเราหลายๆ คนใช้อยู่ทุกวันเพื่อเชื่อมโยงกับเพื่อนฝูง ครอบครัว และลูกค้าทั่วโลก เช่น เครือข่ายสังคม ตลาดออนไลน์และเว็บสนทนาต่างๆ เหล่านี้เป็นฐานรากของเว็บทั้งสิ้น

ลองจินตนาการดูว่าหากพรุ่งนี้บริการออนไลน์ทั้งหลายที่คุณใช้อยู่ปิดลงเพราะว่าเจ้าของบริการเหล่านั้นเกรงการถูกจำคุกเพราะเห็นความเสี่ยงที่มีมากกว่าสิ่งที่จะได้กลับมา เราไม่เพียงแต่จะเสียบริการที่เราชอบหรือต้องใช้งาน เราอาจต้องเสียความสามารถที่จะมีส่วนร่วมกับบทสนทนากับคนทั่วโลก และนั่นเป็นหัวใจและวิญญาณของอินเตอร์เน็ต เชื่อมโยงกับคนทั้งโลก สร้างสรรค์นวัตกรมและรับประสบการณ์จากโอกาสที่มีอยู่ในหลายๆ ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจดิจิตอลประกอบอยู่อย่างแนบแน่น

อินเตอร์เน็ตเชื่อมเราเข้ากับความคิดของเรา เสรีภาพและการเปิดกว้างของอินเตอร์เน็ตทำให้เรามั่นใจว่าความคิดที่ยอดเยี่ยม ความคิดที่จุดประกายให้เกิดนวัตกรรมและมีศักยภาพในการเปลี่ยนโลกของเราไปสู่โลกที่ดีกว่าจะมีพื้นที่ให้คนได้เห็น ให้ได้ยินและให้ได้แบ่งปัน

บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ไม่ถูกลงโทษจากบทสนทนาของผู้ใช้โทรศัพท์ ในขณะเดียวกันเจ้าของเว็บไซต์ที่มีความรับผิดชอบไม่ควรได้รับการลงโทษจากความเห็นของผู้ใช้ที่ไปโพสต์บนเว็บไซต์นั้นๆ แต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กำลังถูกใช้เพื่อการนี้

พ.ร.บ. คอมพ์ฯ​ ยับยั้งการเกิดของนวัตกรรมและตัดโอกาสการลงทุนในประเทศที่มีคนที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ เราเข้าใจดีว่าเรื่องนี้ไม่่ใช่เรื่องธรรมดาๆ เรื่องนี้ซับซ้อนและหลายๆ ครั้งก็ไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่าผิดหรือถูก แต่หากมีความโปร่งใสในกฏระเบียบเกี่ยวกับการระบุให้ชัดเจนและการดำเนินการกับเนื้อหาที่ไม่ถูกกฎหมายประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าสู่เสรีภาพและการเปิดกว้างของอินเตอร์เน็ต และนั่นเป็นการช่วยให้คนไทยหลายล้านคนตั้งแต่เจ้าของกิจการขนาดเล็ก นักเรียน นักศึกษาไปถึงข้าราชการเชื่อมโยงกับคนทั้งโลกได้ และช่วยระบบเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไป

Google มุ่งมั่นกับประเทศไทยและผู้ใช้ชาวไทย เราปรารถนาที่จะอยู่ในประเทศไทยในระยะยาว และเราหวังที่จะเห็นอนาคตอันสดใสที่ให้เราทั้งหมดได้เชื่อมโยงกัน

----------------------------------

Millions of small, medium and large businesses across Thailand have found growth, prosperity and hope by going online.  The Internet success stories I have seen from Thailand have been truly inspiring - from the home decorator who used the web to rebuild his business after the floods, to the maker of customized Muay Thai gear that found a global market for one-of-a-kind pieces of Thai culture.

There are many more stories just like these, of Thai people and businesses finding success online, and this is just the tip of the iceberg of Thailand’s potential - but, unfortunately, a serious threat has emerged to the future of the Internet in Thailand.

Today, a decision was made in a Thai courtroom that runs counter to the country's exciting and important role in bringing a free, open and prosperous Internet to life.  To summarise the case quite simply - a Thai woman who runs a website has been fined and sentenced to eight months in prison (though that sentence has been suspended) for offensive comments left on her site by users, comments that she removed once notified.  Though she was only convicted on one of ten counts, convicting her for something she never wrote sends a clear message to the entrepreneurs and business leaders who run Internet platforms in Thailand that they can and will be penalized for the independent actions of users.

The precedent set by this decision is deeply concerning because Internet platforms, often referred to as ‘intermediaries’ - basically, the tools and sites many of us use every day to connect with friends, family and customers around the world, such as social networks, online marketplaces and web forums - are the foundation of the web. 

Imagine if tomorrow your favorite online services decide to shut down because their owners, fearing prison time, start seeing the risks as far outweighing potential returns.  We would not just lose the services we love or rely on, we would lose our ability to connect with the world, to innovate and to experience the opportunities available in countries that embrace the digital economy. The Internet connects us and our ideas.  A free and open Internet ensures that great ideas, the ones that spark innovation and have the potential to change our world for the better, have a platform to be seen, heard and shared.

Telephone companies are not penalized for things people say on the phone and responsible website owners should not be punished for comments users post on their sites.  Unfortunately, Thailand’s Computer Crimes Act is being used in this case to do just that.

The Computer Crimes Act stifles innovation and deters investment in a country and a people full of potential.  We understand this is not simple.  It is complicated and it is often not black and white.  But if there were transparent rules about how to identify and react  to unlawful content,  Thailand will have a more free and open Internet and in doing so, allow millions of Thais, from small business owners to students to civil servants, to connect with the world and grow the Thai economy. 

Google is committed to Thailand and our Thai users.  We are here for the long term.  And we look forward to a future that keeps all of us connected.

Posted by Ross LaJeunesse, Head of Public Policy, Asia Pacific

 

 

ที่มา: Official Google Thailand Blog

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การใช้กฎหมายอย่างคึกคะนอง

Posted: 30 May 2012 04:00 AM PDT


 " มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี    
รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี "


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ผมรู้สึกปรี๊ดขึ้นสมองขึ้นมาทันทีพลันที่เห็นข่าวนายวิพุธ สุขประเสริฐ หรือไอแพด ร้องทุกข์กล่าวโทษนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และคอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ประชาไท ด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด โดยอ้างบทความจำนวน 7 ชิ้น โดยที่ผ่านมานายวิพุธ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้เขียนบทความและผู้แสดงความเห็นในเว็บไซต์ประชาไทไปแล้วทั้งสิ้น 15 ราย รวมบรรณาธิการและผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท และในกรณีนี้หลังจากร้องทุกข์แล้วยังไปโพสต์ข้อความใน   เฟซบุ๊กโอ้อวดผลงานของตนเองเสียอีกด้วย

หลังจากที่สงบสติอารมณ์แล้วความคุกรุ่นยังคงดำรงอยู่ ความคิดอันชั่วร้ายเริ่มผุดขึ้นมาว่าในเมื่อการกระทำของนายวิพุธนั้นเป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศอันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทพระองค์ท่าน เข้าข่ายกระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  เช่นกัน จึงสมควรที่จะต้องไปแจ้งความดำเนินคดีนายวิพุธเสียให้เข็ด

แต่เมื่อความคุกรุ่นหายไปแล้วความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบชั่วดีเริ่มกลับคืนมาเพราะเห็นว่าการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา  112  เพื่อแก้แค้นเอาคืนกันนี้ รังแต่จะทำให้ความชั่วร้ายเผยแพร่หนักขึ้นไปยิ่งกว่าเก่า และแทนที่จะดีกลับจะตกเป็นผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก ไว้ให้เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกกล่าวหาพิจารณาแจ้งความกลับด้วยข้ออื่นที่ไม่ใช่ มาตรา 112  ดีกว่า เช่น ข้อหาแจ้งความเท็จ เป็นต้น

การใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างคึกคะนองเช่นนี้เป็นผลเนื่องมาจากการเปิดโอกาสให้ใครๆก็ฟ้องได้ ทำให้เป็นการเปิดช่องให้มีการใช้กฎหมายนี้ไปกลั่นแกล้งผู้อื่น ส่งผลให้คดีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จะเห็นได้ว่าสถิติในการดำเนินคดีในปี 2553 สูงถึง 478 คดี ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีไม่ถึง 10 คดีต่อปี

กอปรกับความไม่สมเหตุสมผลในอัตราโทษที่รุนแรงโดยมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี และสูงสุด15ปี ขณะที่ความผิดฐานก่อการร้ายซึ่งร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ กฎหมายกำหนดโทษจำคุกเพียง 2 ปี ถึง 10 ปี สะท้อนถึงความไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เมื่อเปรียบเทียบการกระทำโดยวาจาตามมาตรา  112  กับ  การกระทำความผิดฐานก่อการร้ายซึ่งอาจมีผลร้ายแรงถึงกับอาจสูญสิ้นความเป็นรัฐหรืออธิปไตยของรัฐได้

เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการนำคดีขึ้นสู่ศาลจนมีคำพิพากษาออกมานั้นเล่า ผู้ต้องกล่าวหาซึ่งผิดหรือไม่ผิดยังไม่รู้(แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญจะสันนิษฐานว่าตราบใดที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดว่ากระทำความผิด จะปฏิบัติต่อเขาเหมือนผู้กระทำความผิดมิได้ก็ตาม) ต้องเผชิญกับความยุ่งยากตั้งแต่การเตรียมตัวต้องไปพบพนักงานสอบสวนซึ่งอาจอยู่ห่างไกลออกไปเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตร และภาระค่าใช้จ่าย ความยุ่งยากในชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งถูกกระทบอย่างแน่นอนสำหรับคนที่ถูกฟ้องคดี บางรายถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่านและวิตกกังวล  

เมื่อคดีถึงพนักงานสอบสวนแล้วอาจจะได้ประกันตัวหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆคดีแบบนี้เป็นเผือกร้อน พนักงานสอบสวนตั้งแต่ชั้นตำรวจและพนักงานอัยการน้อยรายที่จะกล้าหาญชาญชัยสั่งไม่ฟ้อง ร้อยละเกือบทั้งร้อยต่างก็ใช้บริการส่งต่อกันไปเป็นลำดับ เหมือนกับโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคเสียกระนั้น ยกเว้นกรณีผังล้มเจ้าที่มูลคดีอ่อนปวกเปียกจนไม่รู้จะเข็ญอย่างไรให้มีมูลพอสั่งฟ้องได้ ซึ่งก็ต้องรอดูผลการร้องเรียนดีเอสไอของคุณสุเทพต่อ ปปช.ว่าผลจะออกมาอย่างไรในกรณีนี้

เมื่อคดีถึงอำนาจการพิจารณาของศาลนอกจากกรณีคุณสนธิ ลิ้มทองกุลแล้วผมยังไม่เคยได้ยินว่าใครได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวเลย บางรายจนถึงต้องกับตายในคุก เช่น กรณีอากง เป็นต้น และคงมีการตายในคุกกันต่อไปอีกเรื่อยๆ ว่าแต่จะมีข่าวหรือไม่มีข่าวเหมือนกรณีอากงเท่านั้นเอง แต่ที่แน่ๆกรณีอากงนี้ปรากฎเป็นข่าวไปทั่วโลกและในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆเรียบร้อยแล้ว

ที่น่าเศร้าอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อคดีอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาล จำเลยก็ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงเพื่อเป็นเหตุยกเว้นโทษได้ดังเช่นกรณีทั่วไปตามมาตรา 330 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงก็ไม่ต้องรับโทษ เว้นเสียแต่ว่าเป็นการส่วนตัวและไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ซ้ำร้ายหากศาลพิจารณาว่าจำเลยมีความผิดจริงก็ไม่สามารถได้รับการยกเว้นโทษได้ เนื่องเพราะโทษปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นใหม่โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน(จริงๆก็คือคณะรัฐประหารนั่นแหล่ะ)ยกเลิกมาตรา  112 เดิม ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุก7 ปี โดยไม่มีโทษขั้นต่ำ แล้วบัญญัติขึ้นมาใหม่เป็นสูงสุด 15 ปีและเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำ คือ ตั้งแต่ 3 ปีเอาไว้ด้วย ซึ่งก็หมายความว่าหากศาลเห็นว่ามีความผิดก็ต้องพิพากษาลงโทษจำคุกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีการกำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้

ผมจะไม่กล่าวถึงว่าควรหรือไม่ควรแก้ไข ควรหรือไม่ควรยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา  112  นี้ เพราะได้กล่าวไว้เยอะแล้ว แต่จะชี้ให้เห็นว่าผลร้ายจากการที่กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้นั้น ได้สร้างความทุกข์ ความยุ่งยาก สับสน แก่ผู้ถูกกล่าวหาและสังคมเป็นอย่างยิ่ง

ความบกพร่องของมาตรา  112 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างจริงใจ การนำมาตรา  112 มาใช้กลั่นแกล้งกันย่อมเป็นเหตุให้เสียพระเกียรติยิ่งกว่าเชิดชูพระเกียรติ ผู้ที่ขาดความจงรักภักดีหรือผู้ไม่ยอมรับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้นที่ยินดีกับข้อบกพร่องของมาตรา  112 

แทนที่กฎหมายจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาความสงบสุขในสังคมตามหลักปรัชญาของการมีกฎหมายในสังคมมนุษย์ กลับกลายเป็นว่ากฎหมายกลายเป็นตัวสร้างความไม่สงบสุขขึ้นมาเสียเอง ด้วยเหตุแห่งความบกพร่องของตัวกฎหมายเอง และความคึกคะนองของคนบางคน ดังเช่นกรณีที่ผมได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น

ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112   เพราะกฎหมายเกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น เมื่อใช้ไปแล้วมีปัญหา มนุษย์เองก็ย่อมที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือแม้กระทั่งยกเลิกไปเสีย หากเห็นว่ามีไว้ไม่เกิดประโยชน์อันใด รังแต่จะเป็นโทษต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ยกเลิกเสีย เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือการไม่จงรักภักดีแต่อย่างใด  

---------------  

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2555  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำพิพากษา ผอ.ประชาไท: มาตรฐาน ตัวกลาง-เสรีภาพ-ความมั่นคง

Posted: 29 May 2012 11:42 PM PDT

 

 

ย่อคำพิพากษา

คดีหมายเลขดำที่ อ.๑๑๖๗/๒๕๕๓

                                                            ศาลอาญา

            วันที่ ๓๐ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

 

ระหว่าง    พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด                                            โจทก์

            นางสาวจีรนุช   เปรมชัยพร                                                                 จำเลย

เรื่อง      ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์โดยเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ (Web master) ชื่อว่า ประชาไท (www.prachatai.com) จำเลยจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการดำเนินการนำข้อความอันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์  พระราชินี  รัชทายาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำนวน ๑๐ กระทู้ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในความควบคุมของจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ , ๑๕ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทย์จำเลยแล้วเห็นว่า ข้อความตามกระทู้ทั้งสิบมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมีการนำเข้าสู่ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท แต่โจทย์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยจะเป็นผู้นำข้อความตามกระทู้ทั้งสิบดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือ จงใจ สนับสนุน ให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๓) และฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจ หรือสนับสนุน ให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย ส่วนจะเป็นการ ยินยอม ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยหรือไม่นั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๕ มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเกี่ยวกับระยะเวลานับแต่เกิดการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ความควบคุมของผู้ให้บริการว่า ควรมีระยะเวลานานเพียงใด กับมิได้กำหนดระยะเวลาในการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ดำเนินการแก้ไขกรณีที่มีการนำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสมสู่ระบบอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการ ซึ่งมีฐานะตัวกลางระหว่างผู้ใช้บริการในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลที่ไม่เหมาะสมที่ผู้ใช้บริการโพสต์หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้บริการรับผิดชอบดูแลอยู่ หรือระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไว้เพียงใด กรณีจะถือว่าผู้ให้บริการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในความควบคุมของตน และต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยทันทีหลังจากมีการนำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสมสู่ระบบอินเตอร์เน็ตของตัวกลางนั้นนับว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการในฐานะตัวกลางระหว่างผู้ใช้บริการในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แต่ผู้ให้บริการเองจะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนโดยมิได้คำนึงถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ หรือ Web master ของผู้ให้บริการเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิดดังกล่าว และทำให้บทบัญญัติตามกฎหมายไม่มีสภาพบังคับนั้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ดังกล่าว


ศาลเห็นว่าหากจำเลยมีความใส่ใจดูแลและตรวจสอบตามหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยแล้ว ควรจะใช้เวลาในการตรวจสอบและพบเห็นตลอดจนนำข้อมูลที่ไม่เหมาะสมตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๔ ดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยภายในระยะเวลาอันสมควรที่อาจจะพึงคาดหมายได้ว่าจำเลยรู้อยู่ว่ามีการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่นำเข้าสู่ระบบโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะหากปล่อยเวลาให้เนินนานไปกว่านี้อาจมีการนำข้อความที่มีลักษณะเป็นการไม่เหมาะสมเผยแพร่ต่อไปไม่จบสิ้นจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติได้ เมื่อปรากฏว่ากระทู้จำนวน ๙ กระทู้ ตามเอกสารหมาย จ.๒๓ ถึง จ.๓๑ อยู่ในกระดานสนทนาหรือเว็บบอร์ดที่จำเลยเป็นผู้ดูแล เป็นเวลา ๑๑ วัน ๑ วัน ๓ วัน ๒ วัน ๒ วัน ๑วัน ๓ วัน ๒ วัน และ ๑ วัน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ภายในกรอบเวลาอันสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะเป็นผู้ควบคุมเว็บบอร์ด จึงมิอาจฟังได้ว่าจำเลยได้รู้ถึงการนำกระทู้ตามเอกสารหมาย จ.๒๓ ถึง จ.๓๑ ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย อันจะถือว่าเป็นการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย ส่วนกระทู้ตามเอกสารหมาย จ.๓๒ นั้น ปรากฏว่าอยู่ในกระดานสนทนาหรือเว็บบอร์ดที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยเป็นเวลาถึง๒๐วัน ซึ่งศาลเห็นว่า  เกินกำหนดเวลาอันควรที่จำเลยจะตรวจสอบพบตลอดจนนำข้อมูลที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่จำเลยเป็นผู้ดูแล จึงเป็นการงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการภายในเวลาอันสมควร กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยาย ในการนำข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารหมายเลข จ.๓๒ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย เมื่อข้อมูลที่นำเข้าดังกล่าว มีลักษณะเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔(๓) จำเลยในฐานะผู้ให้บริการในการนำเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้ยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย

ที่จำเลยนำสืบว่าหลังจากรัฐประหารมีผู้เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเว็บบอร์ดของเว็บประชาไทมากขึ้น จึงได้เพิ่มมาตรการในการควบคุมดูแล โดยให้มีการตรวจสอบข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ของประชาไทกับให้มีอาสาสมัครที่เป็นสมาชิกที่ใช้บริการเว็บบอร์ดประชาไทเข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่นำเข้าของเว็บประชาไท เมื่ออาสาสมัครท่านใดตรวจพบว่ามีข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่เหมาะสมก็สามารถนำออกได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อนนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ภาระหน้าที่ของจำเลยในการควบคุมดูแลมิให้มีการกระทำคงวามผิดตามมาตรา๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยมีอยู่เช่นใดก็ยังคงมีอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

และส่วนที่ว่าเว็บไซต์ประชาไทเป็นโครงการหนึ่ง ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน จุดประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มุ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตยนั้น ศาลก็ยอมรับว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึงธรรมาภิบาลและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศหรือองค์กรนั้นๆ การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบแล้ว ย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กร และตนเองให้ดียิ่งๆขึ้น แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นในระบบคอมพิวเตอร์ที่จำเลยเป็นผู้ให้บริการและอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อคิดเห็นหรือข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของประเทศรวมทั้งเสรีภาพของผู้อื่นที่ต้องเคารพเช่นกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยยินยอมให้มีการนำข้อคิดเห็นหรือข้อมูล ตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.๓๒ ลงในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงมิอาจอ้างถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดได้

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๑๔ (๓) ตามฟ้องข้อ ๑.๑๐ ลงโทษจำคุก ๑ ปีและปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่ การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๘ เดือน และปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้จำเลยมีโอกาสเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ข้อหาและคำขออื่นให้ยก./

 


 

 

 

 

อ่านรายละเอียดคดีได้ที่
http://freedom.ilaw.or.th/th/case/112

 

AttachmentSize
ย่อคำพิพากษาคดีจีรนุช หน้า1.pdf611.65 KB
ย่อคำพิพากษาคดีจีรนุช หน้า2.pdf768.62 KB
ย่อคำพิพากษาคดีจีรนุช หน้า3.pdf807.97 KB
ย่อคำพิพากษาคดีจีรนุช หน้า4.pdf370.33 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ซูจีปราศรัยที่มหาชัย ยันต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

Posted: 29 May 2012 11:02 PM PDT

โดยการเยี่ยมชุมชนแรงงานข้ามชาติเป็นภารกิจแรกในการเยือนต่างประเทศของนางออง ซาน ซูจีในรอบ 24 ปี ก่อนจะเข้าร่วมในงานเวิร์ลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม ในวันพรุ่งนี้ 

ทันทีที่นางออง ซาน ซูจีได้เดินทางมาถึงตลาดกุ้ง ย่านมหาชัย ในช่วงเช้าวันที่ 30 พ.ค. ชาวพม่าในมหาชัยนับพันคนที่มารอต้อนรับนางออง ซาน ซูจี ได้ตะโกนโห่ร้องด้วยความยินดี และเปล่งเสียงอวยพรให้นางออง ซาน ซูจีสุขภาพแข็งแรง (ที่มาของภาพ: สุลักษณ์ หลำอุบล)

"วันนี้มารอรับแม่ซู มารอตั้งแต่ตีห้า" "พี่ตัน" อายุ 42 ปี ชาวเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศพม่า เขากล่าวว่าเคยร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในปี 2531 หรือเหตุการณ์ 8888 ก่อนที่จะออกมาทำงานในมหาชัยจนถึงตอนนี้ นับเป็นเวลา 20 ปีแล้ว

หล้า หล้า วิน (ขวา) จากเมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศพม่า มาทำงานเป็นแม่บ้านที่กรุงเทพฯ มาแล้ว 4 ปี เช่นเดียวกับ รวย อู (ซ้าย) ทำงานที่กรุงเทพได้ 9 ปี ทั้งคู่เดินทางมาที่มหาชัย จ.สมุทรสาครวันนี้นอกจากเพื่อต้องการพบกับนางออง ซาน ซูจีแล้ว เขาทั้งสองยังมาที่นี่เพื่อ "ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" และเพื่อเป็นการสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี

 

ขบวนรถของนางออง ซาน ซูจี เดินทางต่อไปยังตลาดมหาชัยวิลล่า ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชุมชนแรงงานพม่า โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น

ชาวพม่าที่มหาชัยวิลล่า รอต้อนรับนางออง ซาน ซูจี

ต่อมานางออง ซาน ซูจี ได้กล่าวปราศรัยกับชาวพม่า จากระเบียงของอาคารสำนักงานของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ระหว่างการเยือนมหาชัย ซึ่งเป็นย่านของชุมชนแรงงานพม่าที่มาทำงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และย่านประมง (ที่มาของภาพ: ปาลิดา ประการะโพธิ์)

30 พ.ค. 55 - เมื่อเวลาราว 9.00 น. นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าจากพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ได้เดินทางเยือนตลาดกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และตลาดมหาชัยวิลลา เพื่อเยี่ยมชุมชนแรงงานพม่าในประเทศไทย โดยหลังจากกล่าวปราศรัยกับชุมชนในบริเวณนั้น นางซูจีได้เข้าพูดคุยกับตัวแทนแรงงาน ณ ศูนย์เรียนรู้แรงงานข้ามชาติ โดยมีประชาชนต้อนรับอย่างคับคั่งราวสามพันคน

หลังจากที่นางออง ซาน ซูจี เดินทางมายังประเทศไทยเป็นวันแรกราว 22.00 น. เมื่อวันที่ 29 พ.ค. และในเช้าวันนี้ นางได้เดินทางเข้าเยี่ยมชุมชมแรงงานพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งนับเป็นชุมชนแรงงานพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเยือนตลาดกุ้งเป็นที่แรก ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักและแน่นขนัด มีประชาชนชาวพม่านับพันคน ตะโกนโห่ร้องยินดีต้อนรับ "อะเหม่ซู" ในภาษาพม่าหรือ "แม่ซู" อย่างกระตือรือร้น

ต่อมานางออง ซาน ซูจีได้เดินทางต่อไปยังตลาดมหาชัยวิลลาซึ่งเป็นบริเวณที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร และเข้าเยี่ยมศูนย์เรียนรู้แรงงานข้ามชาติ ของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และได้ปราศรัยกับประชาชนที่มารอต้อนรับราว 2 พันคน ก่อนที่จะเข้าพูดคุยหารือกับตัวแทนแรงงานข้ามชาติ

เธอปราศรัยจากชั้นสามของอาคารของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยกล่าวว่า เธอต้องการมาเยี่ยมแรงงานที่มหาชัย เพราะอยากเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่นี่ และที่นี่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนอยู่พม่า เธอกล่าวต่อว่า แรงงานที่นี่อย่ารู้สึกน้อยใจหรือรู้สึกถูกทิ้ง เพราะนางจะยังต่อสู้เพื่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานพม่า และแรงงานต่างชาติอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย

สุดท้าย เธอกล่าวว่า อยากให้ทุกคนรอโอกาสดีๆ ดูแลตนเอง และให้รอวันกลับไปทำงานที่พม่า แต่ตอนนี้ให้ทำตัวให้เรียบร้อย มีความสามัคคี อย่าสร้างปัญหาให้เจ้าบ้าน และถ้ามีปัญหาอะไรก็ขอให้บอก จะช่วยประสานกับทางการไทยให้ 

ส่วนในวันพรุ่งนี้เช้า นางมีกำหนดการกล่าวปาฐกถาในงานเวิร์ลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีกำหนดการเยือนค่ายผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ในวันที่ 2 มิ.ย. นี้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] ออง ซาน ซูจีจับมือทักทายผู้สนับสนุนที่มหาชัย

Posted: 29 May 2012 10:33 PM PDT

คลิปนางออง ซาน ซูจี เปิดประตูรถออกมาทักทายผู้สนับสนุน (ที่มา: ประชาไท)

เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. วันนี้ (30 พ.ค.) นางออง ซาน ซูจี ส.ส. และ ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี พร้อมคณะได้เดินทางเยือนย่านอุตสาหกรรมที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อเยี่ยมชมสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานชาวพม่า โดยมีผูู้สนับสนุนหลายพันคนออกมาต้อนรับนางออง ซาน ซูจี

ทั้งนี้ระหว่างการเยี่ยมชมตลาดกุ้ง ที่ ต.มหาชัย ระหว่างที่ขบวนรถของนางออง ซาน ซูจี เคลื่อนผ่านผู้สนับสนุน รถของนางออง ซาน ซูจี ได้หยุดและนางออง ซาน ซูจี ได้ยื่นตัวออกมาจากรถ พร้อมโบกมือและจับมือทักทายผู้สนับสนุน

ทั้งนี้ตามกำหนดการเยือนเดิมที่ตลาดกุ้ง เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ได้ขอให้นางออง ซาน ซูจี อย่าลงจากรถเพื่อเยี่ยมชมตลาด แต่ให้อยู่ภายในรถยนตร์แทนด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยการยื่นตัวออกจากรถเพื่อทักทายผู้สนับสนุนของนางออง ซาน ซูจีครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย และสร้างความยินดีให้กับผู้สนับสนุนชาวพม่านับพันคนที่มารอต้อนรับ

แรงงานชาวพม่าหลายรายให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า วันนี้ได้ลางานมาเพื่อรอต้อนรับนางออง ซาน ซูจีโดยเฉพาะ และรู้สึกดีใจมากที่จะได้พบกับนางออง ซาน ซูจี

ทั้งนี้ระหว่างเข้าเยี่ยมสำนักงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติที่มหาชัย นางออง ซาน ซูจี ได้ปราศรัยผ่านระเบียงชั้น 3 ของอาคารโดยกล่าวว่า ต้องการมาเยี่ยมแรงงานที่มหาชัย เพราะอยากเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่นี่ ที่นี่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนอยู่พม่า นางออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่าขอให้พี่น้องที่นี่อย่าน้อยใจหรือรู้สึกว่าถูกทิ้ง เพราะนางจะยังต่อสู้เพื่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานพม่า และแรงงานต่างชาติอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ประชาไทจะนำเสนอข่าวการเยือนมหาชัย ของนางออง ซาน ซูจี โดยละเอียดต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลตัดสิน “ผอ.ประชาไท” ผิดคดีตัวกลาง สั่งจำคุกแต่ให้รอลงอาญา

Posted: 29 May 2012 10:15 PM PDT

ศาลพิพากษาลงโทษ ผอ.ประชาไท ตาม ม.15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ให้ความร่วมมือลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี 

 

วันนี้ (30 พ.ค.55) เมื่อเวลา 10.50 น.ที่ศาลอาญารัชดา ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลพิพากษาคดี จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (prachatai.com) ในความผิดตามมาตรา 14 และ 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท และจำเลยไม่เคยกระทำความผิดให้รอลงอาญา 1 ปี  ก่อนหน้านี้ ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ในวันดังกล่าว ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์แจ้งขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.55 โดยให้เหตุผลว่า เอกสารคดีนี้มีจำนวนเยอะมาก
 
สำหรับบรรยากาศในการเข้าฟังคำพิพากษาวันนี้ มีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 100 คน โดยมีตัวแทนจากสถานทูตประจำประเทศไทยจากประเทศต่างๆ กว่า 11 ประเทศ อาทิ อเมริกา อังกฤษ แคนาดา สวีเดน ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี ตัวแทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
 
//////////////////////////////////
 
ศาลได้อ่านคำพิพากษา น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการประชาไท จากข้อกล่าวหาว่าจำเลยได้มีการปล่อยให้มีการนำเข้าข้อมูลที่มีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศอยู่ในเว็บบอร์ดโดยที่ข้อความส่วนใหญ่ปรากฏอยู่นาน 1-3,10วัน และมีข้อความหนึ่งปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดนานถึง20วันนั้น

ศาลถือว่าเป็นเวลาที่ควรจะรู้และควรที่จะทำการลบข้อความที่เป็นปัญหาแล้ว จึงถือเป็นการการงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาอันสมควร จึงถือเป็นการยินยอมโดยปริยายให้มีการนำเข้าข้อมูลที่มีความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จริง

ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าเหตุเกิดจากมีการแสดงความคิดเห็นตามเว็บบอร์ดมากขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 และทางเว็บได้เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบมากขึ้นตามลำดับนั้น ถือว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่แต่ยังไม่ถือว่าเพียงพอ

ในส่วนที่จำเลยยกเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ศาลยอมรับว่ามีความสำคัญและถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ การมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ได้สะท้อนถึงหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยขององค์กรและของประเทศนั้นๆ

แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นก็ต้องดูแลตรวจสอบข้อความที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเคารพเช่นกัน

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การให้บริการทางเว็บบอร์ด ข้อความที่ผู้ใช้บริการโพสต์ได้ปรากฏขึ้นทันที โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ล่วงหน้า ซึ่งตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา15 ว่าด้วยความรับผิดชอบของผู้ใช้บริการไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องเวลา ว่าจะต้องให้จัดการกับข้อความที่ผิดกฎหมายภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการแจ้งเตือน

แต่หากจะถือว่าผู้ให้บริการยินยอมและต้องรับผิดชอบโดยทันที ก็ถือว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการ แต่หากผู้ให้บริการจะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้พ้นจากความผิด ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ศาลพิจารณาว่า ข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในเว็บบอร์ดในระยะเวลา 1-3,10วัน ยังอยู่ในกรอบเวลาที่ฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้รับรู้ถึงการนำเข้าของข้อมูลดังกล่าว แต่สำหรับข้อความที่ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเวลา20วัน ไม่อาจรับฟังได้ว่าไม่ได้รับรู้ถึงการนำเข้าของข้อมูล จึงถือว่าเป็นการยินยอม จงใจ หรือ สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด

ศาลจึงพิพากษาให้มีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 15 ประกอบ มาตรา4(3) ให้จำคุกเป็นเวลา1ปี ปรับเป็นเงิน 30,000 บาท แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000บาท โทษจำให้รอลงอาญา 1ปี

ลงชื่อผู้พิพากษา กำพล รุ่งรัตน์ และนิตยา แย้มศรี

/////////////////////////

 
 

หลังฟังคำพิพากษา จีรนุช ให้สัมภาษณ์ว่า ค่อนข้างพอใจกับคำพิพากษาที่เรียบเรียงได้อย่างมีเหตุมีผล อย่างไรก็ตามในกระทู้ที่มีความผิด คงเป็นจุดที่ยังไม่พอใจนักและคงต้องปรึกษาทนายว่าจะอุทธรณ์ต่อหรือไม่ เนื่องจากเป็นหนึ่งกระทู้ที่นำไปสู่ประเด็นว่าในฐานะผู้ให้บริการไม่ตรวจตราข้อมูลในเว็บอย่างดีพอ ทำให้มีความผิดฐานยินยอมให้มีข้อความดังกล่าว ซึ่งในทางสากลก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า บทบาทของผู้ให้บริการที่ต้องทำหน้าที่ตำรวจตรวจตราเนื้อหา ถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน และหากจะพูดถึงเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในบ้านเรา หรือโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร คงต้องถกเถียงกันต่อไป เพราะจะทำให้การทำงานในลักษณะเซ็นเซอร์ตัวเองไว้ก่อนเกิดมากขึ้น

ส่วนคดีที่ขอนแก่นนั้น จีรนุชกล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่รู้ว่าตำรวจจะสั่งฟ้องหรือไม่

สำหรับข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น จีรนุช มองว่า ไม่ควรมีการผนวกรวมการควบคุมเนื้อหาไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ขณะที่ในส่วนของผู้ให้บริการนั้น ควรมีระเบียบและข้อบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งคำพิพากษาในวันนี้ก็พูดถึงการที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้กำหนดรายเอียดไว้ว่าระยะเวลาเท่าใดจึงเท่ากับจงใจ

ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความจำเลย ให้สัมภาษณ์ว่า คำพิพากษาครั้งนี้ โดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะศาลได้พิจารณาเรื่องระยะเวลาด้วย คือ กรณีของข้อความบางข้อความที่ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ศาลก็ได้วินิจฉัยว่า จำเลยได้จัดการลบข้อความออกในระยะเวลาอันสมควรแล้ว

อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังมีความเห็นต่างในกระทงที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษโดยวินิจฉัยว่าการที่ข้อความในกระทู้ดังกล่าวปรากฏอยู่เป็นระยะเวลา 20 วัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีการตรวจตราตรวจสอบเท่าที่ควรจะเป็น ถือเป็นการงดเว้นสิ่งที่จะต้องกระทำ จึงวินิจฉัยว่าจำเลยยินยอมโดยปริยาย

“กรณีที่จำเลยตรวจสอบไม่พบหรือไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพออย่างที่ศาลกล่าว เช่นนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็น่าจะเป็นเพียงความบกพร่องหรือผิดพลาดเท่านั้นเอง ในขณะที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า การจะเป็นความผิดได้ ผู้ให้บริการต้องจงใจ สนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดหรือให้มีการโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมาย ผมเห็นว่ากรณีที่จะเป็นการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมต้องเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานรับฟังได้โดยแน่ชัด ว่าตัวจำเลยได้รับทราบถึงข้อความที่มีผู้โพสต์ลงในเว็บบอร์ดแล้ว เมื่อทราบแล้วกลับเพิกเฉยไม่จัดการลบออกในทันทีหรือในเวลาอันควร เช่นนี้จึงจะเป็นการจงใจสนับสนุนยินยอม นี่เป็นประเด็นที่คิดว่าถ้าจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ ศาลสูงก็น่าจะวินิจฉัยประเด็นนี้”

ธีรพันธุ์กล่าวว่า คำพิพากษาลักษณะนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีอื่นๆ เพราะตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่เคยมีคดีที่เป็นแบบอย่างเป็นบรรทัดฐานมาก่อน แม้ว่าคำพิพากษาในคดีนี้จะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่หรือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงไอซีที หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14

 

 

หมายเหตุ: ติดตามรายละเอียดคำตัดสินเร็วๆ นี้
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูโร 2012: บางแง่มุมเกี่ยวกับ 16 ทีมที่คุณควรรู้ (กลุ่ม A)

Posted: 29 May 2012 04:10 PM PDT

สำหรับคอกีฬา เราลองมารู้จักบางแง่มุมของ 16 ประเทศที่จะร่วมโม่แข้งในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปนอกเหนือจากเรื่องฟุตบอล โดยตอนแรกขอนำเสนอเกร็ดเล็กๆ ของประเทศในกลุ่ม A เจ้าภาพร่วมโปแลนด์, กรีซ, รัสเซีย และเช็ก

 

โปแลนด์


ปัญหาการเหยียดผิว - ความกลัวเรื่องการเหยียดผิวในการแข่งขันครั้งนี้ที่โปแลนด์ก็มาจากฐานความจริงที่ในประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมนี้กลับสวิงมาเป็นชาติที่มีปัญหาความรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อย่างสุดขั้ว โดยไม่นานมานี้สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษเพิ่งนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มนิยมลัทธินาซีใหม่ (Neo-Nazism) ในยูเครนและโปแลนด์ซึ่งมักแสดงท่าทีหยามเหยียดนักเตะผิวสี รวมถึงเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กรชาวยิวในโปแลนด์ ได้เปิดเผยว่าพวกหัวรุนแรงได้บุกทำลายสุสานชาวยิว ในเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์ พร้อมมีการพ่นสีสเปรย์เป็นสัญลักษณ์สวัสดิกะบนหลุมศพ และบางข้อความเขียนว่า "ที่นี่คือโปแลนด์ ไม่ใช่อิสราเอล"

ฟุตบอลกับชาวสีรุ้ง - นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันในเรื่องการเมืองเกี่ยวกับเพศสภาพและเกมฟุตบอล โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2011 กลุ่มสิทธิเกย์และเลสเบียนกลุ่มหนึ่งในโปแลนด์บางกลุ่มได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้จัดการแข่งขัน จัดที่นั่งสำหรับกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยน เพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดและความรุนแรงจากแฟนบอลหัวรุนแรง แต่กระนั้นก็มีกลุ่มเกย์และเลสเบียนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ เนื่องจากว่าแนวคิดนี้สร้างความ “แปลกแยก” และ “แบ่งแยก” กลุ่มเกย์และเลสเบียนออกไปอย่างชัดเจนจนอาจเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายมากขึ้น และมีเกย์กับเลสเบียนอีกจำนวนมากในโปแลนด์ที่ก็ไม่ต้องการให้เรียกร้องความสนใจในตัวพวกเขาด้วยวิธีการแบบนี้

ในขณะที่สนามแข่งขันบางสนามยังปฏิเสธที่จะแบ่งพื้นที่สำหรับกลุ่มรักร่วมเพศโดยเฉพาะด้วย โดยให้เหตุผลว่าอาจเป็นการล่อเป้ามากเกินไป โดยสนามแข่งแห่งหนึ่งในเมือง Gdansk ได้ปฏิเสธคำร้องของกลุ่มดังกล่าวแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินการดังกล่าวน่าจะเป็นประทับตราความเป็นเกย์-เลสเบี้ยนพวกเขา

อนึ่งเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา โปแลนด์ก็มี ส.ส. ที่ผ่าตัดแปลงเพศคนแรกของประเทศ คือ Anna Grodzka วัย 57 ปี เธอได้รับการผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทย จากนั้นจึงลงเลือกตั้งและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคม 2011 โดยเธอสาบานตนเข้ารับตำแหน่งพร้อมกับ  Robert Biedron ซึ่งเป็น ส.ส. คนแรกของโปแลนด์ที่เปิดเผยตนเองต่อสาธารณะชนว่าตนเองเป็นเกย์

ประเด็นรุมกระหน่ำยูเครน – แม้จะเป็นเจ้าภาพร่วมและเป็นมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับยูเครน แต่โปแลนด์ก็อดไม่ได้ที่จะเล่นการเมืองระหว่างประเทศถล่มยูเครนที่กำลังติดหล่มเรื่องการละเมิดสิทธิของนาง Yulia Tymochenko อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของยูเครน (ซึ่งจะขออภิปรายถึงกรณียูเครนต่อไปในกลุ่ม D)

ประธานาธิบดี Bronisław Komorowski ของโปแลนด์ เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศในยุโรปที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยูเครน ยอมผ่อนปรนปรับเปลี่ยนกฎหมายบางมาตราเพื่อเป็นการคำนึงถึงสภาพร่างกาย และให้มีการรักษาอาการป่วย และบาดเจ็บที่เกิดจากการอดอาหารประท้วง ของนาง Tymochenko อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของยูเครน ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 7 ปี ในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบขณะดำรงตำแหน่ง แต่กระนั้น Komorowski  ก็มิได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร 2012) ครั้งนี้ แต่เขาหวังว่าการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 น่าจะเป็นสื่อกลางช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรปได้

ป้องกันเอดส์ช่วงบอลยูโร - กระทรวงสาธารณสุขของโปแลนด์ มีนโยบายแจกถุงยางอนามัยให้กับแฟนบอลหลายแสนคนที่เดินทางเข้ามาชมยูโร 2012 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยจะมีการแจกถุงยางอนามัยจำนวน 150,000 ชุด และใบปลิวต่างๆ ในบริเวณแฟนโซน

 

กรีซ


คนป่วย (หนัก) แห่งยุโรป – ในประเทศที่ซึ่งเภสัชกรกินเงินบำนาญยังต้องฆ่าตัวตาย หญิงมีครรภ์ไม่มีค่าทำคลอดบุตร และอีกสาระพันปัญหาที่รุมเร้า กรีซอาจจะเป็นประเทศที่กำลังย่ำแย่หนักที่สุดของยุโรปในขณะนี้

วิกฤตการเงินของกรีซเริ่มจากการที่รัฐบาลขาดวินัยการคลังประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลสูงถึง 14.5% ของมูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) และมีหนี้สาธารณะสูงมากถึง 113% ของ GDP ตั้งแต่ในปี 2009 ได้ส่งผลต่อเนื่องมาให้รัฐบาลต้องพยุงเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตัดสวัสดิการต่างๆ ของประชาชน อันทำให้เกิดการประท้วงเรื่อยมาทั้งจากประชาชนทั่วไปและองค์กรสหภาพแรงงาน

และกรีซก็ไม่สามารถพลิกฟื้นแก้ปัญหาได้ถึงแม้จะมีการการอัดฉีดเม็ดเงินกู้จากต่างประเทศ ทั้งนี้มีความกลัวที่ว่ากรีซอาจจะต้องถอนตัวออกจากการใช้ค่าเงินยูโร ที่อาจจะฉุดยุโรปทั้งทวีป โดยความเสี่ยงที่กรีซจะกลับไปใช้สกุลเงิน Drachma มีสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เมื่อสถานการณ์การเมืองในประเทศถึงทางตัน เพราะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มความกังวลว่าวิกฤตหนี้สาธารณะอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน

นอกจากนี้กรีซยังประสบกับปัญหาจำนวนคนว่างงานโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 15-24 ปี ที่มีสูงเป็นอันดับสองในประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ (ดู: ยูโร 2012: ว่าด้วยเกร็ดตัวเลขนอกเหนือเรื่องฟุตบอลของทั้ง 16 ทีม) รวมถึงจำนวนคนที่คิดจะฆ่าตัวตายที่พุ่งสูงกว่าเดิมถึง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ โดยจากข้อมูลขององค์กรสายด่วนรับฟังปัญหาเพื่อป้องกันคนฆ่าตัวตายแห่งหนึ่งในกรีซ พบว่าจำนวนคนที่โทรเข้ามาขอรับคำปรึกษา มีมากกว่า 100 สายต่อวัน และในสัดส่วน 3 ใน 4 พบว่ามีความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

ขาดแคลนยา - ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ การตัดลดสวัสดิการ ส่งผลทำให้กรีซขาดแคลนยา 250 ชนิด รัฐบาลกรีซเป็นผู้กำหนดราคายาโดยสำนักงานประกันสังคมของรัฐดูแลค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดของใบเรียกเก็บเงินที่ออกโดยบริษัทผู้ผลิตยาและผู้ค้าส่งที่ส่งยาให้กับโรงพยาบาลและร้านขายยา วิกฤตเศรษฐกิจทำให้เกิดการตัดลดสวัสดิการในกรีซ ในช่วงครึ่งปีของปี 2011 รัฐบาลกรีซที่สามารถกำหนดราคายาได้ได้ลดราคายาลงเพื่อหวังที่จะลดรายจ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพของประเทศ ที่มีมูลค่ารวมในปี 2010 มากกว่า 1.3 หมื่นล้านยูโร (5% ของ GDP) แต่ผลที่ตามมาก็คือการผ่องถ่ายผลิตภัณฑ์ยาจากบริษัทยาจากกรีซสู่ที่อื่นๆ มีมากขึ้น

 

รัสเซีย


เสียอำนาจในภูมิภาค – รัสเซียซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจในแถบยุโรปตะวันออก ต้องโคจรมาอยู่กลุ่มเดียวกับโปแลนด์และเช็ก ซึ่งทั้งสามประเทศนี้เคยจะมีข้อขัดแย้งกันเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งตัวชูโรง เมื่อปี 2008 นาง Condoleezza Rice อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ลงนามและ NATO ได้ให้การรับรองแผนการติดตั้งสถานีเรดาร์ในเช็ก และติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธทางตอนเหนือของโปแลนด์ในปีเดียวกัน โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสกัดการโจมตีด้วยจรวดจากประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐ โดยครั้งนั้นได้สร้างความไม่พอใจและเกิดการจุดกระแสการประท้วง อันได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับระหว่างทั้งโปแลนด์และเช็กกับรัสเซียมีปัญหาขึ้น เพราะว่าข้อตกลงนี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซียโดยตรง แต่ในปี 2009 หลังเปลี่ยนรัฐบาล ทางสหรัฐก็ได้มีการการยกเลิกโครงการนี้ไป

ประท้วงเลือกตั้ง – ในต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Vladimir Putin แห่งพรรค United Russia ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนอันท่วมท้นถึง 63.60% ตามมาด้วย Gennady Zyuganov จากพรรค Communist ได้คะแนนเสียง 17.18% และผู้สมัครอิสระอย่าง Mikhail Prokhorov ที่ได้คะแนนเสียง 7.98%  

อย่างไรก็ดีหลังจากที่ Putin ชนะเลือกตั้ง ก็ต้องเจอการประท้วงจากกลุ่ม “ขาประจำ” นั่นคือกลุ่มชนชั้นกลางที่เริ่มมองว่าความจริงแล้ว Putin นั้นเป็นอุปสรรคของการพัฒนาหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน กลุ่มนักเคลื่อนไหว ศิลปิน ผู้สื่อข่าวและบล็อคเกอร์ ฯลฯ โดยข้อกล่าวหาคลาสสิคก็คือ Putin ทุจริตในการเลือกตั้ง และมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเป็นแค่พิธีการสืบทอดเก้าอี้กันระหว่าง Dmitry Medvedev สลับสู่ Putin อีกครั้งเท่านั้น

เศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ที่สุดในโลก – ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีมาเฟียยุบยับแห่งนี้ จากข้อมูลของ Bloomberg Businessweek พบว่ามูลค่าของเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่จ่ายภาษีให้แก่รัฐในรัสเซียนั้นเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยคิดเป็น 44% ต่อสัดส่วนของ GDP เลยทีเดียว (อันดับ 2 ได้แก่บราซิล 39% อันดับ 3 ปากีสถาน 36% อันดับ 4 อียิปต์ 35% และอันดับ 5 คือตุรกี 31%)

 

เช็ก

ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ – ถึงแม้จะไม่มีอะไรให้พูดถึงเช็กมากนัก แต่เช็กเองก็หนีไม่พ้นปัญหาเกี่ยวเนื่องจากการติดหล่มของยุโรปและส่งผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐบาลเช็กก็ถูกรัฐสภาเปิดการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ก็สามารถได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเฉียดฉิว 105 ต่อ 93 หลังการอภิปราย 9 ชั่วโมง โดยนายกรัฐมนตรี Petr Nečas ประกาศจะเดินหน้าปฏิรูปและตัดลดค่าใช้จ่ายต่อไป หลังที่ชาวเช็กราว 100,000 คนชุมนุมประท้วงในกรุงปรากเมื่อกลางเดือนเมษายนเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เพราะไม่พอใจที่ขึ้นภาษีรายได้อีก 7% ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคประกาศถอนตัวจากรัฐบาลผสม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น