โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

SIU: สื่อนอกโหมกระแส การเสียชีวิตของ อากง sms

Posted: 08 May 2012 12:10 PM PDT

รวมรวมการนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของนายอำพล หรืออากง SMS ในสื่อต่างประเทศ  จากสำนักข่าวใหญ่อย่างเอพี รอยเตอร์ ไปจนถึงหัวเศรษฐกิจอย่างไฟแนนเชียล ไทมส์และวอลล์สตรีท เจอร์นัล ไม่ใช่ในโลกภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังถูกนำเสนอเป็นภาษาเยอรมันและบาฮาซา อินโดนีเซียด้วย 

0000

การสูญเสียชีวิตของอากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล ขณะจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ถูกตีแผ่ในสื่อต่างชาติจำนวนมาก SIU ขอรวบรวมการตีแผ่จากสื่อต่างประเทศหลายสำนัก ให้ท่านได้ติดตามโดยทั่วกัน

Guardian ระบุ ชายไทยวัย 60 ปีผู้ที่กลายเป็น “อากง sms” หลังถูกศาลพิพากษาว่า หมิ่นสถาบันกษัตริย์ด้วย sms ได้เสียชีวิตแล้ว ขณะต้องคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปีโดยไม่รอลงอาญา

อากง-sms-620x403

อากงมีอาการป่วยจากโรคมะเร็งในช่องปากอยู่ก่อนหน้าที่จะถูกตัดสินจำคุกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นโทษหนักสุดนับตั้งแต่การตัดสินรับโทษจากการกระทำดังกล่าว

สาเหตุของการเสียชีวิตของอากง (นายอำพลฯ) ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อากงมีอาการปวดท้องเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาและได้ถูกโอนย้ายไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อากงถูกจับกุมตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2010 ที่ผ่านมา หลังส่งข้อความ 4 ข้อความ (sms) ไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการหมิ่นสถาบันกษัตริย์

อากงปฏิเสธในการส่งข้อความดังกล่าวและกล่าวว่ายังไม่รู้วิธีการส่งข้อความทางโทรศัพท์เลยด้วยซ้ำ เขาร่ำไห้ขณะอยู่ในกระบวนการของศาลและกล่าวว่า “ผมรักในหลวง” (I love the king) การตัดสินดังกล่าวนั้น เชื่อได้ว่าเป็นโทษสูงสุดจากการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตามความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

อากง-sms-ใน-the-Guardian1-620x338

 ภาพจาก The Guardian

Fox News ระบุคำกล่าวของภรรยาหลังทราบข่าวสามี (อากง) เสียชีวิต “อำพล ตั้งนพกุล ตอนนี้คุณสามารถกลับบ้านได้แล้ว” “คุณเป็นอิสระแล้ว กลับบ้านนะ”

“Amphon Tangnoppakul, you can come home now,” she said. “You’re free now. Come home!”

อากง-sms-ใน-Fox-News-620x521

 ภาพจาก Fox News

อากง-sms-ใน-Reuters-620x311

 ภาพจาก Reuters

ขณะที่ Reutersระบุว่า ชายไทยผู้ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ภายหลังพบว่ามีความผิดจากการส่งข้อความหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และมีเนื้อหาข่าวจากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ต่างจาก The Guardian มากนัก โดยทิ้งท้ายว่า สถานทูตสหรัฐอเมริกาได้วิพากษ์ถึงการจับกุมดังกล่าว และกล่าวสนับสนุนเสรีภาพของการแสดงออกทั้งในประเทศไทยและที่อื่นๆ ในโลก 

อากง-sms-ใน-CBCNEWS-620x486

ภาพจาก CBCNEWS

อากง-sms-ใน-Voice-of-America-620x497

 ภาพจาก VOA Voice of America  

อากง-sms-ใน-International-Business-Times-620x631

 ภาพจาก International Business Times 

อากง-sms-ใน-Washington-Post

 ภาพจาก The Washington Post

ส่วน The Washington Postก็นำเสนอข่าวอากงที่นำมาจาก AP เช่นกัน

อากง-sms-ใน-StarTribune-620x538

 ภาพจาก The StarTribune

ด้าน StarTribuneก็นำข่าวจาก AP มานำเสนอแบบเดียวกัน

 อากง-sms-ใน-Huffington-Post-620x471

 ภาพจาก The Huffington Post

ขณะที่ Huffington Postก็นำเสนอไม่ต่างกัน

อากง-sms-ใน-ABC-News-620x402

 ภาพจาก ABC News

ส่วน ABC Newsก็นำเสนอข่าวเช่นเดียวกับ AP

อากง-sms-ใน-BBC-620x600

 ภาพจาก BBC

ด้าน BBCก็นำเสนอข่าวอากงเช่นกัน

 อากง-sms-ใน-AP-620x428

 ภาพจาก AP

0000

สกายนิวส์ สื่อจากประเทศออสเตรเลีย ได้พาดหัวอย่างมีนัยสำคัญว่า "นักโทษทางความคิด" ของไทยได้เสียชีวิตลง

อากง-sky news

ภาพจาก Sky News

นอกจากนี้ สื่อหัวเศรษฐกิจอย่างไฟแนนเชียลไทมส์ และวอลล์สตรีทเจอร์นัล ก็ได้ให้ความสนใจกับข่าวนี้ไม่น้อยเช่นกัน จะเห็นจากไฟแนนเชียลไทมส์นั้นได้เขียนข่าวเชิงวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นในเมืองไทยและแนวโน้มในอนาคต

 อากง Financial Times

ภาพจาก Financial Times

อากง Wall Street Journal

ภาพจาก The Wall Street Journal

นอกจากในสื่อกระแสหลักภาษาอังกฤษแล้ว ยังพบว่า มีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของ "อากง SMS" ในสื่อเยอรมันอย่างเว็บไซต์ TAZ.de ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในกรุงเบอร์ลินด้วย โดยรายงานความคิดเห็นของประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น และสุดา รังกุพันธ์ นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว ที่มองว่ากฎหมายหมิ่นฯ เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณีของจีรนุช เปรมชัยพร ที่กำลังรอคำตัดสินในข้อหาพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อีกด้วย

อากง Taz.de

 ภาพจากเว็บไซต์ Taz.de

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานข่าวในภาษาบาฮาซา อินโดนีเซีย โดยสำนักข่าวอยซ์ ออฟ อเมริกา ประจำอินโดนีเซีย

 อากง VOA Indonesia

ภาพจาก Voice of America Bahasa Indonesia

0000 

ต้นข่าวที่มาจาก AP  การเสียชีวิตในขณะจำคุกของอากง อาจทำให้มีการเคลื่อนไหวแก้มาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น แต่ในห้วงเวลาที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังขับเคลื่อนการใช้นโยบายปรองดองเช่นนี้ อาจจะทำให้ไม่สามารถสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวได้ และอาจนำไปสู่การสร้างความไม่พอใจและปมขัดแย้งจากคนเสื้อแดงบางกลุ่มได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างของอากงกำลังเตรียมรับการชันสูตร ซึ่งเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ระบุว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวตอนยื่นคำร้องเพราะศาลพิจารณาแล้วว่าอาการป่วยของจำเลยไม่อาจทำให้เสียชีวิตได้ เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงออกมาให้ความเห็นว่าอาการป่วยของอากงนั้นพิจารณาแล้วไม่น่าเสียชีวิต

แม้ว่าก่อนหน้านั้น จะมีความพยายามยื่นประกันตัวโดยมีกลุ่มนักวิชาการจำนวน 7 คน ได้เดินทางมายื่นหลักทรัพย์ประกันตัวอากง ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ร่วมกับทนายความของอากง ที่ได้ยื่นขออุทธรณ์คดีอากงนั้น

ทนายอากง กล่าวว่า ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว แบ่งเป็นตำแหน่งนักวิชาการจำนวน 7 คนและเงินสดจากกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจำนวน 1 ล้านบาท รวมหลักทรัพย์ 2 ล้านบาทเมื่อยื่นประกันตัวแล้ว ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถประกันตัวอากงออกมาได้

การประกันตัวออกมาเพื่อมนุษยธรรมก่อนที่จะเกิดการสูญเสียเช่นนี้ คงไม่ทำให้สลดใจเท่ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทาง SIU ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของอากง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คดีอากงจะสะท้อนปัญหาในเมืองไทยและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์ของ นายจักรภพ เพ็ญแข เรื่องอากง

Posted: 08 May 2012 11:45 AM PDT

ชื่อบทความเดิม แถลงการณ์ของ นายจักรภพ เพ็ญแข เรื่อง “นายอำพล ตั้งนพกุล” หรือ “อากง” เสียชีวิต วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2555

ผมรู้สึกเศร้าสลดใจอย่างลึกซึ้งต่อข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ “นายอำพล ตั้งนพกุล” หรือ “อากง” ที่พวกเรารู้จักกันดีในฐานะเหยื่อของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การเสียชีวิตของ “อากง” ได้สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนไทยและชาวโลกที่กำลังเพ่งมองประเทศไทยว่า ยังมีความยุติธรรมและความเป็นธรรมหลงเหลือในคำว่ากระบวนการยุติธรรมหรือไม่

การพิสูจน์ทราบว่า “อากง” เสียชีวิตเพราะอะไร จะเป็นเพราะการกลั่นแกล้งรังแก หรือจงใจเจตนาให้ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกแบบแผนของผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่เวลาจะพิสูจน์ทราบต่อไป แต่สิ่งที่ปรากฏคือ ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย หรือคดีใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐตัวจริง ย่อมอยู่ในภาวะอันตรายและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนศักดิ์ศรีอย่างรุนแรงทั้งสิ้น

ผมขอให้ดวงวิญญาณของ “อากง” ได้โปรดไปสู่สุคติภพและได้ดลบันดาลให้พวกเราที่ยังเหลืออยู่ประสบชัยชนะในการต่อสู้เชิงโครงสร้างของสังคมไทย ไม่เห็นแก่การรอมชอมแบบตื้นเขินที่ไม่มีความหมายใดๆ ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย และมุ่งตรงไปสู่การยกระดับอำนาจและความเสมอภาคของประชาชนชาวไทยด้วยเถิด และขณะเดียวกันขอให้พี่น้องชาวประชาธิปไตยทั้งไทยและต่างประเทศได้ช่วยขยายความ กระจายข้อมูล และชี้ประเด็นอย่างชัดเจนถึงความไม่เป็นธรรมนี้ไปสู่มวลชนต่างๆ ทั่วประเทศไทยและทั่วโลก ขอให้การเสียชีวิตของ “อากง” ได้กลายเป็นอนุสาวรีย์ใหม่ช่วยให้เราทุกคนข้ามน้ำไปสู่ฝั่งที่เราพึงประสงค์ได้ในเร็ววันด้วยเทอญ.

แถลง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2555

นายจักรภพ เพ็ญแข
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อากงเสียชีวิต ใครรับผิดชอบ? ม.112 ขัดสิทธิเสรีภาพใครรับผิดชอบ?

Posted: 08 May 2012 11:00 AM PDT

 


แฟ้มภาพ: กิจกรรมไว้อาลัย 112 นาทีต่อกระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.54 หน้าศาลอาญา  ภาพโดย Kaptan Jng

ยังไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากที่อากง SMS หรือ นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาผู้ถูกตัดสินลงโทษ 20 ปีภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายพระบรมเดชานุภาพเสียชีวิตในโรงพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม ก็เกิดการแสดงความเห็นหลากหลายในโลกออนไลน์ สิ่งที่ผมสรุปได้อย่างหนึ่งก็คือ บรรดาคนที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงสามารถหาข้ออ้างหรือ “ตรรกะ” มาโทษทุกอย่างได้ นอกจากการที่จะยอมรับว่า กฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาและไม่เป็นประชาธิปไตย

พวกเขาสามารถโทษได้ว่า ทำไมทนายของอากงถึงดื้อรั้นอุทธรณ์แทนที่จะรีบขอพระราชทานอภัยโทษ (ทั้งที่ก่อนหน้านี้คนเหล่านี้ไม่เคยรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยอะไรต่อชะตากรรมนักโทษทางความคิดซึ่งรวมถึงอากง) พวกเขาสามารถสรรหาทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (conspiracy theory) ว่ากลุ่มนักการเมืองเสื้อแดงจัดให้เกิดการดำเนินคดีกับอากง แล้วล่าสุด รัฐบาลแดงจัดการกระทำให้อากงเสียชีวิต เพื่อที่จะได้เอาการเสียชีวิตของอากงไปเขย่าสถาบันกษัตริย์

บ้างก็บอกว่า อย่าเอาความตายของอากงไปหาประโยชน์รณรงค์เรื่อง 112 ทั้งๆ ที่อากงก็ติดและตายในคุกภายใต้มาตรา 112 ที่คนเหล่านี้สนับสนุน

คนเหล่านี้มักไม่เข้าใจเรื่องการทำให้การแสดงความเห็นต่างต่อสถาบันเป็นโทษทางอาญา (criminalization of speech) ว่ามันขัดหลักสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกอย่างไร หรือไม่เข้าใจว่า อะไรคือนักโทษทางความคิด หรือ นักโทษทางมโนสำนึก (prisoner of conscience) มีรายหนึ่งบอกว่า ก็คิดได้หนิ แต่ห้ามพูด ผมจึงต้องบอกว่า ก็พวกเขาเป็นนักโทษทางความคิดเพราะเขาติดคุกเพราะแสดงความคิดออกมายังไงล่ะ

คนเหล่านี้มักแยกไม่ออก ระหว่างการวิจารณ์มาตรา 112 กับการวิจารณ์เจ้า แล้วพอใครวิจารณ์ 112 ก็เอะอะว่าเป็นพวกล้มเจ้า รับเงินทักษิณ “ปลุกระดม” มวลชน แต่คนเหล่านี้กลับนึกไม่ออกว่า การยัดเยียดข้อมูล “ดีๆ” ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันฯมากว่า 50 ปีควรจะเรียกว่าอะไรดี

พวกเขามักไม่ยอมรับว่า มีการยัดเยียดข้อมูลด้านเดียวเรื่องเจ้า และไม่รู้หรือไม่ยอมรับว่า สื่อกระแสหลักมีการเซ็นเซอร์ข่าวด้านลบเกี่ยวกับสถาบันอย่างสม่ำเสมอมาหลายสิบปี (เมื่อไหร่เราจะได้รับรู้ข้อมูลในสื่อกระแสหลักเกี่ยวกับรายละเอียดหนังสือ The King Never Smiles, WikiLeaks หรือสารคดีเกี่ยวกับสถาบันฯ ของสถานีโทรทัศน์ ABC แห่งออสเตรเลีย ที่ทำให้คนอย่างนายเอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งขายซีดีนี้ต้องถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112) นี่ยังไม่รวมถึงการประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงคำภาษาอังกฤษที่สามารถแปลได้ว่า คุณไม่สามารถกินเค้กที่คุณกินไปแล้ว (You cannot eat the cake and keep it at the same time.) หมายความว่าคุณไม่สามารถสนับสนุนกฎหมายที่ก่อให้เกิดการเซ็นเซอร์อย่างกว้างขวางแล้วบอกว่าไม่มีการเซ็นเซอร์

คนเหล่านี้พร้อมที่จะโทษทุกอย่างนอกจากตัวกฎหมายมาตรา 112 และตัวพวกเขาเองที่สนับสนุนกฎหมายที่ขัดกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยพื้นฐานนี้

ผู้เขียนเกรงว่า หากสังคมไทยไม่สามารถเรียนรู้อยู่กับความเห็นต่างเรื่องเจ้าได้ โดยไม่ต้องปิดปากหรือโยนคนเข้าคุกจนต้องเสียชีวิต เมืองไทยคงคล้ายคุกมากกว่าสังคม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความรับผิดชอบร่วมของสภาพปิดหูปิดตายัดเยียดข้อมูลด้านเดียวและการโยนคนเห็นต่างเข้าคุก คงตกอยู่ที่คนไทยทุกคน หาได้เป็นความรับผิดชอบของบรรดาผู้รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเท่านั้น

หากสังคมมันป่าเถื่อนและไร้อารยะขนาดนี้ แล้วประชาชนไม่ทำอะไร ก็ป่วยการที่จะไปโทษคนอื่น โทษกฎหมาย หรือแม้กระทั่งโทษบรรดาผู้รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอแต่ถ่ายเดียว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รสมาลิน ภรรยา อากง sms

Posted: 08 May 2012 09:28 AM PDT

นักโทษการเมืองไม่ใช่คู่ต่อสู้ของใคร เขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการเมือง อย่าเอาเขามาเป็นเชลย ปล่อยพวกเขาเถอะ ไม่เช่นนั้นจะมีคนเดินตามอากงต่อไปเรื่อยๆ คนแล้วคนเล่า

8 พ.ค. 2555

บทเรียนจากกรณี "อากง" กลุ่มนักกฎหมายสิทธิฯ เรียกร้องสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว-รักษาพยาบาล

Posted: 08 May 2012 08:45 AM PDT

กลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุการเสียชีวิตของนายอำพล สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ย้ำสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิพื้นฐาน พร้อมเสนอปรับปรุงระบบรักษาพยาบาลเรือนจำ

 

 

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนายอำพล พร้อมระบุว่า การเสียชีวิตของนายอำพล เป็นการสะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ของปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในคดีอาญาอื่น ๆ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 

1. ควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีหมิ่นฯได้รับการปล่อยชั่วคราว ตามมาตรฐานการใช้ดุลพินิจที่ศาลก็ได้เคยอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าอัตราโทษในข้อหาหมิ่นฯ มาแล้ว และในระหว่างที่ยังไม่รับสิทธิดังกล่าวขอให้ย้ายนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมายังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่เพราะถือเป็นนักโทษการเมืองเช่นเดียวกัน

2. เสนอให้มีการปรับปรุงมาตราฐานในการคัดกรองบุคคลเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล เพิ่มงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์ และจัดการรักษาโรคในลักษณะเฝ้าระวังของผู้ต้องขังเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริงและทันทัวงที ไม่ใช่การรักษาเมื่อมีอาการภายนอกรุนแรงแล้วเท่านั้น

3. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาความจริงว่านายอำพลเสียชีวิตด้วยเหตุใด ได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อทำความเป็นจริงให้ปรากฏ รวมถึงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้นายอำพลเสียชีวิต เพื่อความโปร่งใสของกระบวนการและขจัดข้อสงสัยต่อสังคม
 

///////

 

อากง SMS เสียชีวิตในเรือนจำ ระหว่างรับโทษจำคุก 20 ปีในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

องค์กรสิทธิ เรียกร้องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและสิทธิในการรักษาพยาบาล

 

วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เวลา 9.10 นายอำพล หรือที่รู้จักกันในนาม “อากง” ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะถูกลงโทษจำคุก 20 ปี ในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังโทรศัพท์ของเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า นายอำพลถูกส่งมาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องในช่วงเที่ยงวันศุกร์ 4 พ.ค. 2555 ที่ผ่านมา และได้เข้าเตียงเมื่อ 15.40 น. แต่ยังไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดเนื่องจากหมดเวลาทำการของห้องแล็บและเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ได้มีการเจาะเลือดในวันนี้แต่ยังไม่ทราบผล จนกระทั่งนายอำพลได้เสียชีวิตลง ขณะนี้อยู่ระหว่างการชันสูตรพลิกศพ

นายอำพลถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนได้รับการปล่อยตัว แต่ในวันที่18 มกราคม 2554 อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ศาลกลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาจนกระทั่งมีคำพิพากษาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ให้จำคุก 20 ปี ระหว่างการต่อสู้คดีทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหลายครั้งแต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต กระทั่งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด โดยเพียงลำพังหมายเลขอีมี่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดได้ ตามหลักวิธีพิจารณาความอาญาจึงต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวอีกครั้งโดยมีนักวิชาการ 7 ท่านใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน ประกอบกับเหตุผลว่านายอำพลไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ดังจะเห็นได้จากการที่นายอำพลไม่เคยขัดขืนการจับกุมและยังเคยได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ซึ่งระหว่างการประกันตัวดังกล่าวก็ได้มารายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอตามนัด อีกทั้งนายอำพลอายุมากแล้วและป่วยด้วยโรคมะเร็งในช่องปากซึ่งต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับฐานะยากจนอยู่อาศัยกับภรรยาและหลานเล็ก ๆ สามคน ไม่มีความสามารถที่จะหลบหนีได้ แต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายอำพลตามที่ร้องขอ โดยศาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีที่มีความร้ายแรง ประกอบกับยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และการที่อ้างความเจ็บป่วยนั้นก็ไม่ปรากฎว่าถึงขนาดจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งเป็นการปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 8 ต่อมาทนายจำเลยได้ถอนอุทธรณ์และคดีอยู่ระหว่างการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่งต่อครอบครัวของนายอำพล และเห็นว่าการเสียชีวิตของนายอำพล เป็นการสะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ของปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในคดีอาญาอื่น ๆ จึงมีความเห็นและข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ภายใต้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์จนสิ้นสงสัยได้ว่ามีความผิด ดังนั้นหลักกฎหมายอาญาจึงกำหนดให้ “จำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก และการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเพียงข้อยกเว้น” ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองไว้อย่างเป็นสากลทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีในฐานะรัฐภาคี

ในกรณีที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลต้องแสดงเหตุผลซึ่งอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น โดยที่เหตุผลเกี่ยวกับความหนักเบาของโทษและความร้ายของของพฤติการณ์แห่งคดีมิใช่ “เหตุหลัก” ตามกฎหมายที่จะไม่อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราว กรณีการเจ็บป่วยจนเสียชีวิตของนายอำพลจึงเป็นบทเรียนถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย และการใช้ดุลพินิจของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิดังกล่าว จึงควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีหมิ่นฯได้รับการปล่อยชั่วคราว ตามมาตรฐานการใช้ดุลพินิจที่ศาลก็ได้เคยอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าอัตราโทษในข้อหาหมิ่นฯ มาแล้ว และในระหว่างที่ยังไม่รับสิทธิดังกล่าวขอให้ย้ายนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมายังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่เพราะถือเป็นนักโทษการเมืองเช่นเดียวกัน

2. สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลนั้น หมายถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเพียงพอ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีพบว่านายอำพลเป็นโรคมะเร็งช่องปากต้องเฝ้าระวังการลุกลามของโรคโดยต้องไปพบแพทย์ทุก 3 - 6 เดือน แต่เมื่อนายอำพลไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว และทางเรือนจำไม่สามารถให้การรักษาในลักษณะเฝ้าระวังโรคเพียงแต่สามารถรักษาตามอาการได้เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นายอำพลเสียชีวิต จึงขอเสนอให้มีการปรับปรุงมาตราฐานในการคัดกรองบุคคลเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล เพิ่มงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์ และจัดการรักษาโรคในลักษณะเฝ้าระวังของผู้ต้องขังเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริงและทันทัวงที ไม่ใช่การรักษาเมื่อมีอาการภายนอกรุนแรงแล้วเท่านั้น

3. เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ จึงต้องทำการชันสูตรพลิกศพ และมีการไต่สวนเพื่อให้ศาลทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตายตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญามาตรา 150 จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาความจริงว่านายอำพลเสียชีวิตด้วยเหตุใด ได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อทำความเป็นจริงให้ปรากฏ รวมถึงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้นายอำพลเสียชีวิต เพื่อความโปร่งใสของกระบวนการและขจัดข้อสงสัยต่อสังคม

กรณีการเสียชีวิตของนายอำพล ถือป็นบทเรียนหนึ่งสำหรับสังคมไทยและสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นักกฎหมาย ตลอดจนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความคิดต่างทางการเมือง การตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงและการจำกัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคล ตลอดจนสิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ศูนย์ข้อมูลชุมชน(Community Resource Centre)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์: ภรรยา "อากง" ที่บ้านเช่า หลังดูหน้าสามีครั้งสุดท้าย

Posted: 08 May 2012 07:18 AM PDT

8 พ.ค. 55 - "รสมาลิน" ภรรยานายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ "อากง SMS" ให้สัมภาษณ์ที่บ้านเช่าย่านสำโรง หลังกลับจากทราบข่าวการเสียชีวิต และเข้าดูศพสามี ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ บริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

"นักโทษการเมืองไม่ใช่คู่ต่อสู้ของใคร เขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการเมือง อย่าเอาเขามาเป็นเชลย ปล่อยพวกเขาเถอะ ไม่เช่นนั้นจะมีคนเดินตามอากงต่อไปเรื่อยๆ คนแล้วคนเล่า" รสมาลินกล่าว

โดยหลังการสัมภาษณ์รสมาลิน เดินทางไปที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ต่อเพื่อไปร่วมกิจกรรมไว้อาลัยการเสียชีวิตของนายอำพล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมตัวจุดเทียนไว้อาลัย "อากง" หน้าศาลอาญา

Posted: 08 May 2012 05:28 AM PDT

กิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยการจากไปของนายอำพล หรือ "อากง" ทั้งที่กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ คนแน่นขนัด นัดรับศพอากงที่ นิติเวช รพ.ตำรวจ บ่ายสอง พรุ่งนี้

วิดีโอ

 

ประมวลภาพ

ตามที่มีการนัดรวมตัวกันที่หน้าศาลอาญา เวลา 1 ทุ่ม 12 นาที เพื่อจุดเทียนไว้อาลัยการจากไปของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ "อากง" ซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา รวมทั้งไว้อาลัยต่อกระบวนการยุติธรรมไทย

เวลา 19.10น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้หน้าศาลอาญา มีประชาชนเดินทางมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก กินพื้นที่ไปเลนที่สองของถนนรัชดารวมถึงบางส่วนกระจายไปยืนบริเวณเกาะกลางถนน และมีการจอดรถยนต์หน้าศาลแพ่งยาวไปจนถึงหน้าสำนักงานอัยการ โดยมีนักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ที่จัดกิจกรรมจุดเทียนหน้าเรือนจำก่อนหน้านี้ ได้เดินมาสมทบด้วย

กิจกรรมขณะนี้ เป็นการปราศรัยโดยนักกิจกรรม มีการอ่านจดหมายฉบับสุดท้ายของนายอำพล  ต่อมา ไม้หนึ่ง ก.กุนที ได้อ่านบทกวีถึง "อากง" และร่วมกันยืนสงบนิ่ง จากนั้น สุดา รังกุพันธุ์ นักวิชาการเสื้อแดง เป็นตัวแทนอ่านจดหมายที่เพิ่งเขียนโดยนางรสมาลินถึงนายอำพล พร้อมกับมีการจุดเทียนไว้อาลัย

หลังจุดเทียน สุดา ได้ประกาศว่า พรุ่งนี้ เวลาประมาณ 9.00น. ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ จะมีการผ่าชันสูตรศพนายอำพล จากนั้น มีการนัดแนะกันว่าจะนำขบวนไปรับศพนายอำพล ในเวลาประมาณ 14.00น. เพื่อนำมาทำพิธีรดน้ำศพและสวดที่หน้าศาลอาญา ในเวลาประมาณ 16.00น.โดยสวมใส่ชุดสีดำเพิ่อเป็นการไว้ทุกข์ จากนั้นมีกำหนดจะนำศพนายอำพลไปบำเพ็ญกุศล ที่วัดด่านสำโรง

ทั้งนี้ (20.00น.) ผู้ร่วมกิจกรรมได้เริ่มแยกย้ายกันกลับ ขณะที่เวทีปราศรัยยังมีกิจกรรมร้องเพลงอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะเดียวกัน ที่เชียงใหม่ มีกิจกรรมคู่ขนานกับกิจกรรมที่กรุงเทพฯ และมีการถ่ายทอดสดกิจกรรมจากกรุงเทพฯ ไปที่เชียงใหม่ด้วย โดยมีการอ่านบทกวี กล่าวไว้อาลัย ยืนสงบนิ่ง ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับในเวลาใกล้เคียงกัน

ตุ้ม (นามสมมติ) หนึ่งในแกนนำจัดกิจกรรมที่เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ว่า ในวันที่ 12 พ.ค. นี้ จะมีการรวมตัวกันที่จุดเดิมนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าวันนี้มีผู้เข้าร่วมราว 80 คน ในวันนี้ไม่ใช่ นปช. เชียงใหม่ แต่เป็นนักศึกษา คนทำงานทั่วไป โดยส่วนใหญ่มองว่า เหตุการณ์เสียชีวิตของนายอำพลนั้นเกินกว่าเหตุ ในเรื่องการไม่ให้ประกันตัว และถือเป็นการติดคุกจนตายซึ่งคนทั่วไปรับไม่ได้

 

//////////////////////////

จรัล เรียกร้องรัฐบาล เยียวยาครองครัว "อากง" 

 

วันเดียวกัน เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ณ บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ก่อนที่จะมีการจุดเทียนไว้อาลัยในเวลา 1 ทุ่ม 12 นาที จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตแกนนำ นปก.รุ่นสอง กล่าวปราศรัยว่า เหตุการณ์การเสียชีวิตของ "อากง" เป็นเรื่องที่ศาลยุติธรรมจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เพราะว่าถ้าเกิดศาลยุติธรรมได้อนุญาตให้ "อากง" ประกันตัว "อากง" ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาอาการป่วยอย่างเหมาะสมและคงจะไม่ต้องมาเสียชีวิต นอกจากนั้นจรัลยังได้เสนอข้อเรียกร้องต่อกรมราชทัณฑ์ว่าจะต้องสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของอากงและแถลงการณ์การสอบสวนอย่างรวดเร็ว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจในกรณีการเสียชีวิตของอากงและช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของอากงด้วย

ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด (น้องเกด) พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของอากงและยังกล่าวเห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์ในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องด้วยกฎหมายนี้ถูกใช้ในทางที่ผิดและเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นเหตุทำให้ประชาชนอย่างอากงได้รับความเดือดร้อน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใครคือผู้รับผิดชอบต่อความตายของ “อากง”

Posted: 08 May 2012 04:51 AM PDT


“...แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจำเลยว่า “อากง” ฟังดูประหนึ่งว่าจำเลยชราภาพมากแล้ว แต่ตามฟ้องจำเลยอายุ 61 ปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใดสามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด

สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น...”

จากบทความ "อากงปลงไม่ตก" โดย สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม (ข่าวสดออนไลน์ 14 ธันวาคม 2554)

 

เมื่อทราบข่าว “อากง” เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลในเรือนจำเมื่อเช้านี้ ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปอ่านบทความ “อากงปลงไม่ตก” ของ “โฆษกศาลยุติธรรม” อีกครั้ง ในโลก fb วันนี้มีแต่ความโศกเศร้ากับการจากไปของอากง และหดหู่สิ้นหวังกับ “ระบบยุติธรรมไทย”

เพราะ “อากง” ในความรับรู้ของพวกเราคือชายชราท่าทางซื่อๆ ที่มีโรคประจำตัวน่าสงสาร คือไม่ว่าจะดูบุคลิกภาพ บริบทครอบครัว หรือดูอะไร อย่างไร เราก็ไม่สามารถจะมองเห็นอากงในภาพพจน์ของ “บุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย” ไปได้เลย!

ยิ่งย้อนไปอ่านที่โฆษกศาลยุติธรรมระบุว่า “...คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวน การกลั่นกรองจากอัยการ แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ อันเป็นหลักการสากล และหลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม”

ยิ่งทำให้นึกถึงคำถามเก่าๆ ที่ศาลไม่เคยตอบเลย คือคำถามที่ว่า “ศาลได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์พยานจนสิ้นสงสัยแล้วหรือว่า อากงเป็นผู้ส่งข้อความ 4 ข้อความ นั้นจริง?”

และยิ่งเมื่อโฆษกศาลยุติธรรมอ้าง “หลักการสากล” ยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมาก เช่น

1. ตามหลักการสากล มีด้วยหรือที่การกระทำผิดด้วย “ข้อความ” ต้องลงโทษจำคุกถึง 20 ปี

2. ตามหลักการสากล มีด้วยหรือที่การทำผิดด้วย “ข้อความ” โดยชายชราคนหนึ่งที่มีโรคประจำตัว (มะเร็ง) ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้ภรรยาของเขาจะอดข้าวประท้วง หรือกระแสเสียงของประชาชนที่มีมโนธรรมสำนักรักความยุติธรรมจะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องมากมายเพียงใดก็ตาม

ตามหลักการสากล ความยุติธรรมตามกฎหมายต้องไม่คำนึงถึง “มนุษยธรรม” และสิทธิมนุษยชนหรือครับ

หลักการสากลของประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกครับ ที่เขาเป็นเหมือนประเทศไทยที่ปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนต่างอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

3. ตามหลักสากล การที่ศาลจะตัดสินคดีอาญาเอาคนเข้าคุก เขาไม่ต้องพิสูจน์ประจักษ์พยานจนสิ้นสงสัยหรือครับว่า “จำเลยเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดจริง”

4. ตามหลักสากล ในประเทศอารยะประชาธิปไตย เขาต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ตาม “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ในการพิพากษาคดีไม่ใช่หรือครับ (ซึ่งหมายถึงต้องคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด) มีประเทศอารยประชาธิปไตยที่ไหนในโลกครับที่เขายึด “อุดมการณ์กษัตริย์นิยม” ในการพิพากษาคดี

5. ที่โฆษศาลยุติธรรมเขียนว่า “สำหรับคดีนี้ มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายแสดงความอาฆาตมาดร้าย จาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินีด้วยถ้อยคำภาษาที่ป่าเถื่อนและต่ำทรามอย่างยิ่ง เกินกว่าวิญญูชนคนทั่วไปจะพึงพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามกัน...”

ถามว่า ตามหลักการสากล มีด้วยหรือครับ การตั้งข้อหาหมิ่นประมาทที่จำเลยไม่มีสิทธิพิสูจน์ว่าข้อความที่ตนพูดนั้นๆ เป็นความจริงและเกิดประโยชน์แก่สาธารณะหรือไม่ และ

6. ตามหลักการสากล มีด้วยหรือครับที่ “โฆษกศาลยุติธรรม” จะออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะในท่วงทำนองกดเหยียดทางจริยธรรมต่อจำเลยว่าเป็น “บุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย” อันเป็นการหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด

สังคมไทยก็พูดกันอยู่เสมอๆ นะครับว่า คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็น “พุทธมามกะ” และทรง “ทศพิธราชธรรม” ประเทศเราเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน

แต่หลักปรัชญาพุทธและหลักการประชาธิปไตยนั้นต่างยกย่อง “ความเป็นมนุษย์” ของปัจเจกบุคคลว่า เขาแต่ละคนควรมีสิทธิ เสรีภาพ ที่จะใช้เหตุผล ใช้ปัญญาของตนเองแสวงหาการมีชีวิตที่ดีส่วนตัว และร่วมกันสร้างระบบ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เป็นธรรมบนพื้นฐานของความเสมอภาค ภราดรภาพ

โดยเฉพาะผู้ทรงคุณธรรมสูงส่งตามคติของพุทธศาสนานั้น ย่อมต้องมีปัญญาเข้าใจ เคารพความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ เมตตา ให้อภัยในความผิดพลาดบกพร่องของเพื่อนมนุษย์ หากไม่ใช่การกระทำความผิดที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นจริงๆ พุทธศาสนาย่อมไม่เห็นด้วยกับการลงโทษทางกฎหมาย

พุทธะเองนั้นสูงส่งทางคุณธรรมกว่ากษัตริย์มาก และท่านก็แสดงแบบอย่างให้เห็นว่า การมีคุณธรรมสูงส่งกับเมตตาให้อภัยต้องเป็นของคู่กัน

ฉะนั้น ท่านจึงสอนไม่ให้ชาวพุทธโกรธต่อคำจาบจ้วง ล่วงละเมิดพระศาสดา ธรรมะ และสังฆะ ซึ่งแสดงให้เห็น “สปิริตทางศีลธรรม” ว่า พุทธะเองแม้ถูกจาบจ้วงล่วงละเมิดท่านเองก็ไม่ถือสา และกำชับว่าชาวพุทธต้องไม่โกรธผู้ที่กระทำเช่นนั้น อย่าว่าแต่จะต้องเอาผิดทางกฎหมายใดๆ เลย

ถ้าเป็นจริงอย่างที่โฆษกศาลยุติธรรมเขียนว่า “...โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมิใช่คู่กรณีที่มีความขัดแย้งสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่จำเลยแม้แต่น้อยนิดรวมทั้งพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองจากมวลชนทุกหมู่เหล่าจึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยหรือบางคนจะพยายามบิดเบือนว่า คดีนี้มาจากมูลฐานทางการเมือง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นธรรมและห่างไกลจากความเป็นจริง” อันนี้พุทธะยิ่งไม่ให้ใส่ใจเลย เพราะถ้าที่เขาพูดนั้น “ไม่จริง” ความเท็จนั้นก็ไม่อาจทำลายความดีงามที่ “มีอยู่จริง” ได้

ยิ่งชายชราชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งจะใช้ “ข้อความเท็จ” ทำลายความดีงามสูงส่งของ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม” ให้มัวหมอง หรือเสื่อมเสียไปแม้แต่น้อยนิดนั้น ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ “ในโลกของความเป็นจริง” เลย ที่ว่าข้อความเท็จจะทำให้พระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งในความเป็นจริงทรงเปี่ยมล้นด้วยทศพิธราชธรรมเสื่อมเสียนั้นจึงเป็นเพียง “ความเชื่อ” เท่านั้น

ฉะนั้น การลงโทษตาสีตาสาคนหนึ่งที่ทำผิดด้วย “ข้อความ” เพียง 4 ข้อความ (ด้วย “ความเชื่อ” ว่าจะทำให้พระมหากษัตริย์ พระราชินีผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยความดีงามอยู่แล้วเสื่อมเสีย) โดยการจำคุก 20 ปี และไม่ให้ประกันตัว จนกระทั่ง “เขาตายในคุก” นั้น ไม่ว่าจะคิดด้วยหลักพุทธศาสนา หลักประชาธิปไตย หรือคิดจาก “หัวใจ” ของ “มนุษย์” เราก็ไม่มีทางจะเข้าใจได้ว่ามัน “ยุติธรรม” อย่างไร!

คำถามที่ค้างคาใจผู้คนในสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา มีพระราชาทรงทศพิธราชธรรม ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ “ใครคือผู้รับผิดชอบต่อความตายของอากง?” ทั้งในทางมโนธรรมสำนึกของ “มนุษย์” ทางศีลธรรม และรับผิดชอบโดยการร่วมกันผลักด้นให้เกิดการปฏิรูป “ระบบยุติธรรมไทย” ให้อยู่ภายใต้ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื๊อแล้ว" ภรรยาอากง

Posted: 08 May 2012 01:18 AM PDT

นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ "อากง" ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังดูศพสามี โดยกล่าวว่า "แกเคยบอกว่าถ้าแกไปก็เอาไว้วัดด่านนะ แกจะดูแลหลานเอง เรื่องการเสียชีวิตดิฉันไม่ทราบ แต่ติดใจเรื่องอื่นมากกว่าว่าทำไมคนแก่อย่างอากงต้องมาติดคุกทรมานแบบนี้"

 

 


ภรรยานายอำพล ทำพิธีเชิญดวงวิญญาณกลับบ้าน โดยกล่าวว่า "กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใต้เท้าขอรับ: ลาอากงด้วยข้อเท็จจริง

Posted: 08 May 2012 12:26 AM PDT

“ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเวลา 10.43 น. รวมระยะเวลา 18 นาที พิพากษาให้จำเลยมีความผิดในการส่งข้อความสั้นตามฟ้อง โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาททำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้การส่งเอสเอ็มเอสจะต้องส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก่อนประมวลผลไปถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทาง ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ประกอบข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 มาตรา 14 (2) และ (3) การกระทำของจำเลยมีหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักสุด ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ความผิด 4 กระทง รวมโทษจำคุกทั้งหมด 20 ปี”

http://www.prachatai3.info/journal/2011/11/37991

"ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในนักวิชาการที่ยื่นตำแหน่งเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวนายอำพล กล่าวว่า "การยื่นประกันตัวครั้งนี้หวังว่าศาลจะมีความเมตตา พิจารณาว่านายอำพลสูงอายุแล้ว ทั้งยังป่วยและไม่สามารถหลบหนีหรือยุ่งเกี่ยวกับหลักฐาน เนื่องจากนายอำพลมีครอบครัวในประเทศไทย และไม่มีความรู้หรือฐานะที่จะหลบหนีไปต่างประเทศได้ ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัว จึงขอวิงวอนต่อศาลให้อนุญาตให้นายอำพลได้รับการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองด้วย"

http://www.prachatai3.info/journal/2012/02/39322

"พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง ๒๐ ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง"

http://www.prachatai3.info/journal/2012/03/39683

......................................................

ข้อเท็จจริงฉบับย่อที่รวบรวมมาด้วยความมึนงงและด้านชาต่อสิ่งที่เกิดขึนในเช้าวันนี้ เป็นเพียงสิ่งน้อยนิดที่ดิฉันทำได้ในฐานะบรรณาธิการข่าวของเว็บไซต์ที่ตามเสนอข่าวผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพราะเราอยากจะล้มเจ้าแต่เพราะเห็นว่าข้อกล่าวหาและกระบวนการที่ดำเนินอยู่มันส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของมนุษย์ในทางที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และยังถูกตีตราจากสังคม จากสื่อที่ปั่นเอาประเด็นเหล่านี้ไปรับใช้การต่อสู้และโจมตีกันทางการเมือง

ด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้เรา-กองบรรณาธิการได้ข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการรายงานข่าวคดี 112 ว่าจะไม่ลงนามสกุลของผู้ต้องหาหรือจำเลยอีกต่อไป เพราะมันส่งผลไม่เพียงต่อตัวผู้ต้องหา หากแต่ยังกระทบต่อครอบครัวของผู้ต้องหาที่หลายคดีเราพบว่าถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากเพื่อนบ้าน ครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน แม้ข้อตกลงนี้จะดูเป็นเรื่องไร้เดียงสาในเมื่อสื่ออื่นๆ เปิดเผยชื่อ-นามสกุลผู้ต้องหาชัดแจ้งแล้ว แต่เรายืนยันจะทำต่อไปด้วยเหตุผลว่า การละเมิดนั้นต้องไม่มาจากเรา

ดิฉันทำข่าวคดีทำนองนี้ไม่มากนัก แต่พอจะรู้ได้ว่านักข่าวผู้ต้องทำหน้าที่รายงานข่าวสายนี้ ต้องทำงานหนักด้วยความระมัดระวัง ซึ่งดิฉันชื่นชมเสมอมา ด้วยว่ามันเป็นประเด็นข่าวที่ไม่อภิรมย์เลย ดิฉันแทบไม่เคยได้ยินข่าวดีจากเรื่องราวที่เธอเล่าเลยสักครั้ง

ในฐานะมนุษย์ ดิฉันรู้สึกมึนงงจริงๆ และเมื่อสำรวจลงไปในหัวใจ ก็พบเพียงความด้านชาหนักๆ อยู่เท่านั้น คนเราไม่อาจเสียใจได้ซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ ในเรื่องที่เรารู้ซึ้งอยู่แล้วว่าเราจะต้องเผชิญกับความเสียใจเช่นนั้นอีกนับไม่ถ้วน ด้วยยังมีอีกมากหลายคดีที่ค้างคาอยู่ในชั้นศาล และอีกนับร้อยคดีที่ร้องทุกข์กล่าวโทษอยู่ในขั้นสืบสวนสอบสวน

ดิฉันทำได้เพียงกราบลาอากงด้วยข้อเท็จจริงของคดีอากงเท่านั้น และหวังด้วยว่าคนเราควรจะกราบกรานกันด้วยความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยอารมณ์อันถูกเร้าขึ้นให้ผู้ถูกกราบเลิศลอยเหนือมนุษย์

ความตายของอากงจะไม่สูญเปล่า หากมันช่วยเปล่งเสียงให้กับสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยทั้งหลายในคุกของไทย

ความตายของอากงจะไม่สูญเปล่า หากมันได้ช่วยส่งเสียงไถ่ถามถึงการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในการสั่งไม่ให้ประกันตัวว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเพียงใดหรือไม่

ความตายของอากงจะไม่สูญเปล่า หากมันได้ช่วยกระตุ้นคำถามที่หนักอึ้งถึงอุดมการณ์เบื้องหลังการบังคับใช้มาตรา 112 ว่าสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐเพียงใด

ความตายของอากงจะไม่สูญเปล่า หากมันจะได้ทำให้สื่อมวลชนที่ยั่วยุปลุกปั่นความเกลียดชังได้สำนึกละอายในพฤติกรรมของตน

ความตายของอากงจะไม่สูญเปล่า หากบรรดาผู้คลั่งเจ้าอย่างไร้สติจะได้หวนกลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์ที่รู้ร้อนหนาวในทุกข์ของผู้อื่น และไม่มืดบอดอยู่กับการแอบอ้างความรักเจ้าเพื่อจะสร้างความชอบธรรมแก่ความคิดและพฤติกรรมถ่อยเถื่อนของตน

ความตายของอากงจะไม่สูญเปล่า...........

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจจีนล่าตัวผู้กำกับหนัง ฉุนเนื้อหาหนังทำลายภาพพจน์ตำรวจ

Posted: 08 May 2012 12:25 AM PDT

 


อิงเหลียง ผู้กำกับภาพยนตร์นอกกระแสชาวจีน

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 55 ผู้กำกับภาพยนตร์นอกกระแสชาวจีน อิงเหลียง (Ying Liang) ได้โพสต์ข้อความแสดงความเดือดร้อนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าพ่อแม่และครอบครัวของตนเองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยรักษาความมั่นคงของจีนคุกคามมาเป็นเวลาเกือบเดือน และขู่เขาซึ่งกำลังอาศัยอยู่ในฮ่องกงว่าหากเดินทางเข้าจีนเมื่อใดจะถูกจับกุม สาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พอใจเนื้อหาภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของอิงเหลียงโดยกล่าวหาว่าบิดเบือนความเป็นจริง อิงเหลียงกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำบทภาพยนตร์ของตนเองไปตรวจโดยวิธีนอกกฎหมาย


ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของอิงเหลียง

ในเว็บไซต์ www.edmundyeo.com ซึ่งเป็นเว็บล็อกของผู้กำกับหนัง Edmund Yeo ได้กล่าวถึงภาพยนตร์ที่เป็นปัญหาเรื่องนี้ว่า ชื่อเรื่องคือ “When Night Falls” สร้างจากเรื่องจริงที่เป็นข่าวใหญ่ของจีนเมื่อปี 2008 ชายชื่อ หยางเจีย วัย 28 ปีได้บุกเข้าไปในโรงพักใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้และใช้มีดแทงตำรวจดับ 6 คน สาเหตุเพราะต้องการแก้แค้นที่เคยถูกตำรวจจับไปซ้อมและคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมด้วยข้อหาขโมยจักรยาน หยางเจียถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในภายหลัง เหตุการณ์นี้ทำให้หยางเจียกลายเป็นฮีโร่สำหรับชาวจีนจำนวนมากที่ไม่พอใจการใช้อำนาจคุกคามประชาชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาพยนตร์ยังกล่าวถึงกรณีการหายตัวไปของแม่หยางเจียหลังถูกเชิญไปสอบปากคำเกี่ยวกับคดีของลูกชายที่โรงพัก หลังหายตัวไปหลายเดือน มีผู้พบเธออีกครั้งในโรงพยาบาลจิตเวช และพบว่าเธอถูกเปลี่ยนชื่อ

เมื่อไม่นานมานี้ ภาพยนตร์ “When Night Falls” ได้ร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจอนจู (Jeonju International Film Festival 2012) ที่เกาหลีใต้ จากข้อความในเฟซบุ๊กของอิงเหลียง เจ้าหน้าที่ตำรวจจากจีนได้เดินทางมายังเกาหลีใต้และพยายามขอซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยจำนวนเงินสูงถึง 1 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 270 ล้านบาท)

อิงเหลียง ผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งขณะนี้เป็นอาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์ในฮ่องกงและไม่สามารถกลับจีนแผ่นดินใหญ่ ได้กล่าวกับพ่อแม่ของตนเองผ่านเฟซบุ๊กให้พวกเขาอัดคลิปเสียงของเจ้าหน้าที่ตำรวจหากถูกคุกคามเพื่อใช้เป็นหลักฐาน และกระตุ้นให้ลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรมจากการกดขี่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ความร่วมมือกับกลไกรัฐที่เน่าเฟะ

“เมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งอยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรืออำนาจทางการเมือง เราไม่ควรทำเพียงแค่เอาตัวรอดเท่านั้น เพราะสิ่งอยุติธรรมเหล่านั้นมันจะทำลายโลกรอบตัวเรา รวมทั้งสิทธิและอนาคตของทุกๆ คน” อิงเหลียงระบุ

นอกจากนี้ เขายังกล่าวในเฟซบุ๊กอีกว่า เราได้ยินเรื่องการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่คิดว่าจะเกิดกับตนเอง ในประเทศจีนเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ปกติมาก ไม่ว่าใครก็ตามอาจเป็นรายต่อไป ตนเองได้คุยกับนักเรียนในวิชาหนังสารคดีว่าประเทศจีนในโลกความเป็นจริงมันยิ่งกว่าที่เห็นในหนังมาก ลองจินตนาการว่าถ้าคนฮ่องกงไม่มีอิสรภาพไม่ว่าขณะกิน นอน เดิน หรือคุยกับใคร มันจะน่าเศร้าขนาดไหน

 

แหล่งที่มา
https://www.facebook.com/profile.php?id=667186641
http://www.edmundyeo.com/2012/05/ying-liang-chinese-filmmakers-plight.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายอากงเผย อากงปวดท้องหนักตั้งแต่วันศุกร์ เพิ่งได้ตรวจวันจันทร์

Posted: 07 May 2012 11:08 PM PDT

ทนายเผย อากงมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือนแล้ว แต่เพิ่งเป็นหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะนี้ ถอนอุทธรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีกำหนดจะทำภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้า


ภรรยาและลูกสาวนายอำพล

 

(เพิ่มเติม) เวลาประมาณ 13.10น. พันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบการเสียชีวิตของนายอำพล โดยมีเจ้าพนักงานจากกรมราชทัณฑ์ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนท้องที่ นิติเวชจากโรงพยาบาลตำรวจ โดยจะเคลื่อนศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ

สุชาติกล่าวว่า เบื้องต้น ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวมาก่อน โดยเป็นมะเร็งที่ช่องปาก โดยนายอำพลมีอาการปวดท้อง ท้องโตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จึงส่งตัวมาที่ รพ. กรมราชทัณฑ์ อย่างไรก็ตาม อาการโดยทั่วไปไม่ได้รุนแรงขนาดที่จะส่งสัญญาณว่าจะเสียชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.30น. ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) และผู้ใกล้ชิดออกมาพบกับประชาชนที่รออยู่ภายนอก หลังจากพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์อยู่พักใหญ่ โดยนางรสมาลินร้องไห้ และกล่าวว่าตอนนี้ยังไม่ขอพูดอะไร ขอตั้งสติก่อน

ขณะที่พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายของนายอำพล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า มีการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ว่า อากงถูกส่งมาที่ รพ. ด้วยอาการปวดท้องเมื่อช่วงเที่ยงวันศุกร์ที่ผ่านมา และได้เข้าเตียงเมื่อ 15.40 น. แต่ยังไม่ทันได้เจาะเลือดหรือตรวจอะไร เพราะหมดเวลา และติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ต่อมา มีการเจาะเลือดในวันจันทร์ แต่ผลแล็ปยังไม่มา เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับตับ เพราะตับโต โดยนายอำพลเสียชีวิตเวลาประมาณ 9.10 น. ของวันนี้ ด้านแพทย์ยังไม่กล้าฟันธงว่าเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด ขณะนี้กำลังรอการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย

ขณะที่ภรรยานายอำพลระบุว่า ไม่มีการแจ้งข่าวการตายจากราชทัณฑ์ โดยวันนี้ได้เดินทางมาเยี่ยมที่เรือนจำตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงตามมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลในเวลาประมาณ 9.40 น.แล้วจึงได้รับการแจ้งว่านายอำพลเสียชีวิตแล้ว ก่อนหน้านี้นายอำพลมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือนก่อนจะได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ก็ยังพูดคุยและเดินออกมาพบได้เวลาเยี่ยมจึงไม่คิดว่าจะอาการหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต

ทนายของนายอำพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ นายอำพลขอปล่อยตัวมาแปดครั้งแล้ว แต่ศาลยกคำร้องตลอด หากนายอำพลได้สิทธิการประกันตัวตั้งแต่ต้น จะได้ไปหาหมอทุก 3-6 เดือนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะนายอำพลเพิ่งไปผ่าตัดมะเร็งในช่องปาก และอาจจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้

พูนสุข กล่าวว่า จริงๆ อากงมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือนแล้ว แต่เพิ่งเป็นหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะนี้ ถอนอุทธรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีกำหนดจะทำภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีผู้สื่อข่าวและประชาชนที่ทราบข่าวมาให้กำลังใจครอบครัวนายอำพล กว่า 50 คน สำหรับศพของนายอำพล จะออกจากโรงพยาบาลในวันพรุ่งนี้ หลังชันสูตรศพตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน ผู้ต้องหาคดี 112 นำกระดาษโน้ตซึ่งเขียนโดยสุรชัยหลังรู้ข่าวมาให้ โดยมีข้อความ "เอาคนแก่คืออากงมาขังจนเสียชีวิต ที่ตายก็เพราะ ม.112 การรักษาก็ไม่ทั่วถึง ปวดท้องมานานนับเดือน ขอประกันตัวออกไปรักษาตัวภายนอก ก็ไม่ให้ประกันตัว จนอาการหนักมากแล้วจึงส่งตัวไปรักษา อยากฝากบอกญาติและครอบครัวของอากงว่า ควรจะเอาศพอากงทำประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นครั้งสุดท้าย โดยตั้งศพต่อไปอย่าเพิ่งเผา จนกว่าจะมีการแก้ไข ม.112 และได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง"

 

 

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหา เวลา 21.55 น. (8 พ.ค.55)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: อาลัยอากง: น้ำตาหยดนี้จะไม่สูญเปล่า

Posted: 07 May 2012 10:04 PM PDT

"เมื่ออากงเสียชีวิตในวันนี้ ผมก็รู้ว่า ในที่สุด ความพยายามของผมประสบกับความล้มเหลว คนในประเทศนี้ยังใช้กฏหมายหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทางการเมือง น่าอัปยศอดสูที่สุด"

แม้ว่าผมจะเป็นผู้ริเริ่มโครงการฝ่ามืออากง แต่ผมได้มีโอกาสพบอากงเพียงแค่ครั้งเดียวครับ ในโอกาสที่เราได้พบกันครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ เรือนจำคลองเปรม ผมได้พบกับป้าอุ๊ ภริยาของอากงด้วย เมื่อเราได้รับอนุญาตให้เข้าพบอากง ป้าอุ๊ได้แนะนำผมให้อากงรู้จัก ทันทีที่อากงรู้ว่าผมเป็นผู้เคลื่อนไหวโครงการฝ่ามืออากง อากงยกมือขึ้นไหว้ผม และกราบไปบนโต๊ะที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกรงขัง และได้กล่าวขอบคุณผมนับครั้งไม่ถ้วน อากงบอกว่า อากงรู้สึกประทับใจที่คนภายนอกให้ความเห็นใจอากง และขอบคุณผมเป็นพิเศษที่อุตส่าห์เป็นธุระเรื่องการจัดแคมเปญรณรงค์เพื่อปล่อยตัวอากง อากงพูดไปก็น้ำตาไหลไป บอกกับผมแต่เพียงว่า “อาจารย์ ผมไม่ได้ทำนะ ผมไม่รู้เรื่อง” ผมเองได้เพียงแต่ปลอบใจอากง และบอกว่า ผมเข้าใจว่าอากงเป็นผู้บริสุทธ์ และผมจะช่วยอย่างเต็มที่ที่จะให้สาธารณชนรับรู้เรื่องนี้ โดยหวังว่า ความเคลื่อนไหวของผมจะเป็นปัจจัยที่แม้ว่าอาจจะมีพลังเพียงน้อยนิด แต่ก็อยากให้เป็นแรงผลักดันให้อากงได้รับอิสรภาพในที่สุด แต่เมื่ออากงเสียชีวิตในวันนี้ ผมก็รู้ว่า ในที่สุด ความพยายามของผมประสบกับความล้มเหลว คนในประเทศนี้ยังใช้กฏหมายหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทางการเมือง น่าอัปยศอดสูที่สุด

เมื่อเราได้คุยกัน ผมได้ถามถึงทุกข์สุขของอากงในเรือนจำ อากงบอกว่า ก็อยู่พอได้ แต่อยากออกมาพบลูกหลานมากกว่า พูดไป อากงก็มองไปทางป้าอุ๊ ผมเห็นแล้วก็เศร้าใจครับ ป้าอุ๊พูดเสริมเกี่ยวกับความเป็นไปในครอบครัว และขอให้อากงอย่าเป็นห่วง ผมเองก็บอกอากงไปว่า ผมได้นำเงินจำนวนหนึ่งที่ได้รับจากการขายหนังสือเรื่องอากง มามอบให้ป้าอุ๊ในวันนี้ หวังว่าคงจะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากหรือขัดสนได้บ้าง พออากงรู้ อากงก็ร้องไห้อีก ยกมือไหว้ผม และกราบลงไปที่โต๊ะ อำนวยพรขอให้ผมประสบในสิ่งที่ดี -- เป็นภาพที่น่าเศร้าจริงๆ ครับ

ก่อนจะจากไป ผมบอกว่า เราไม่ลืมอากงแน่ๆ และจะช่วยจนถึงที่สุดให้อากงได้รับอิสรภาพ อากงกล่าวขอบคุณผมอีกหลายครั้ง และเมื่อต้องบอกลา อากงไม่ยอมเดินจากไป แต่กลับมองพวกเราเดินออกไปจนลิบตา

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมพบอากง หลังจากที่ผมได้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับป้าอุ๊แล้ว ผมก็ไม่มีโอกาสได้เจอกับครอบครัวอากงอีก เป็นเพราะผมไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ผมจึงไม่สามารถมีโอกาสได้ไปเยี่ยมอีก แต่ผมยังมีโครงการเกี่ยวกับอากงที่อยู่ในใจอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องการนำเรื่องอากงนี้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้รับรู้ถึงความอยุติธรรมทางสังคมที่เกิดจากการใช้กฏหมายหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่อากงก็พลันมาเสียชีวิตเสียก่อน ผมขอให้ทุกคนที่รักความยุติธรรม ได้ต่อสู้ต่อไปเพื่อความถูกต้อง เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงซึ่งความเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา -- อากงจะไม่เสียชีวิตเปล่าครับ แต่จะเป็นพลังที่จะนำไปสู่การต่อสู้ที่เข้มข้นขี้นอีกต่อไป

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันแต่งงานปีที่ 44 ปีของอากงและป้าอุ๊ อีก 3 วันต่อมา เป็นวันจบชีวิตของอากง ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน?? ปกติผมจะไม่ค่อยเชื่อเรื่องผลกรรมเท่าไหร่ครับ แต่วันนี้ ผมหวังว่า คนที่ก่อกรรมกับคนบริสุทธิ์อย่างอากง จะต้องได้รับผลตอบแทนที่สาสมแน่นอน ไม่นานครับ และผมเริ่มจะเห็นถึงผลตอบแทนลางๆ แล้ว

 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
8 พฤษภาคม 2555
เกียวโต ญี่ปุ่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"อากง SMS" เสียชีวิตแล้ว ในโรงพยาบาลเรือนจำพิเศษฯ

Posted: 07 May 2012 09:13 PM PDT

วันนี้ (8 พ.ค.55) เวลาประมาณ 10.30น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากอานนท์ นำภา ทนายความสำนักราษฎรประสงค์ว่า อำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะในนามว่า "อากง" ผู้ต้องขังคดี 112 ได้เสียชีวิตลงแล้วในเช้าของวันนี้ที่สถานพยาบาลภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ก่อนหน้านี้ อำพลได้ถูกแจ้งข้อหาว่าได้ส่ง SMS ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวน 4 ข้อความไปยังเลขานุการส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในช่วงกลางปี 2553 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอำพลถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.53 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่หลังจากอำพลไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้ง ด้วยเหตุที่ว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี ต่อมา เมื่อวันที่ 23 พ.ย.54 ศาลชั้นต้นได้ตัดสินจำคุกนายอำพลเป็นระยะเวลา 20 ปีโดยไม่รอลงอาญา 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เม.ย.  ทนายความของนายอำพล ได้ดำเนินการยื่นถอนอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากเจ้าตัวต้องการจะขอพระราชทานอภัยโทษ ประกอบกับอายุมากและเป็นโรคประจำตัว

(11.45น.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก รพ.ราชทัณฑ์  ว่า ประชาชนที่ทราบข่าวทยอยมารอรับศพนายอำพล ขณะที่ภรรยาของนายอำพลเข้าไปดูศพสามีพร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมราชทัณฑ์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น